แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อาตมาขอแสดงความยินดีว่าท่านทั้งหลายสามารถใช้โลกเวลา 5 น.ให้ได้มากขึ้นตามลำดับ ใช้โลกเวลา 5 น.คือเวลาอย่างนี้ ให้เป็นประโยชน์มากขึ้นตามลำดับ แล้วคงจะรู้จักใช้ต่อๆไป ต่อไป ไม่ใช่เฉพาะที่นี่ แม้แต่กลับไปที่บ้านที่เรือน หรืออยู่ที่ไหนก็คงจะสามารถจัดเวลาให้ได้ใช้โลกเวลา 5 น.ให้เป็นประโยชน์เต็มที่ และเชื่อว่าคงจะสามารถฝึกการเดินโดยไม่ต้องมีผู้เดินได้มากขึ้นบ้าง ทีแรกมันก็ขลุกขลักเป็นธรรมดา แต่เมื่อฝึกไปๆมันก็ค่อยๆได้เหมือนกับขี่รถจักรยาน ครั้งแรกมันก็มีแต่ล้ม แล้วมันก็ค่อยๆได้ ก็ไปได้สบาย แล้วก็สามารถปฏิบัติได้ไปถึงว่ามีการกระทำทุกอย่างโดยไม่ต้องมีผู้กระทำ พึงกระทำทุกอย่างไม่ว่าจะทำอะไรก็ทำได้โดยไม่ต้องมีความรู้สึกว่ากูกระทำ ไม่มีการกระทำเพื่อกู นั้นก็คือสามารถที่จะปล่อยความยึดถือว่าตัวตนได้มาก ไอ้แบบที่เขาเรียกกันว่าแบบหนอๆนั่นก็ดีถ้าใช้ถูกต้อง ให้เข้าใจถูกต้องหรือใช้ให้มันถูกต้อง คำว่า “หนอ” นั้นมันหมายความว่าไม่มีตัวกูกระทำ ที่ว่าเดินหนอ นั่งหนอ ยืนหนอนี่มันหมายความว่ามีแต่อิริยาบถเดิน มีแต่อิริยาบถนั่งเท่านั้นหนอ คือไม่มีตัวกูกระทำ คือฝึกยกเท้าหนอ ย่างเท้าหนอ เหยียดเท้าหนอ มันไม่ได้หมายมั่นว่ากูทำ ทำ นั่ง เดิน ยืนหรือเหยียบยก ถ้าอย่างนั้นมันตรงกันข้ามน่ะมันเน้นไปในทางมีผู้ทำ มีตัวผู้ทำ ทำหนอ กินหนอ ที่ถูกต้องมันสักแต่ว่าอิริยาบถอย่างนั้น เท่านั้นหนอ เป็นเดินนี่มันยกขา อิริยาบถก้าวขาเดินไปเท่านั้นหนอ ไม่มีตัวกูเดิน บางคนมันเข้าใจผิดตรงกันว่าเดินหนอนั่งหนอยืนหนอเน้นลงไป เน้นลงไปว่ามีตัวกูเดินกูทำกูอะไร อันนี้มันผิด ถ้าจะใช้วิธีหนอก็มันต้องให้รู้อย่างเป็นเพียงมันสักว่าอิริยาบถนั้นเท่านั้นหนอ เดินหนอคือเดินเท่านั้นหนอ มันไม่มีตัวผู้เดิน แต่นี้ก็อย่างเดียวกันน่ะที่ว่าเราจะเดินโดยไม่ต้องมีตัวผู้เดิน นั่งนอนยืนอะไรก็โดยไม่ต้องมีผู้นั่งนอนยืน นี่ขอให้ฝึกมีสติในการเคลื่อนไหวโดยอิริยาบถต่างๆทุกอย่างทุกประการ โดยเฉพาะอิริยาบถที่มักจะหมายมั่นเอามากๆเช่นเรื่องกินอะไรอย่างกินหนอๆ มันต้องสักว่าเป็นอิริยาบถกิน ไม่ใช่มีตัวผู้กิน ไอ้ชอบจะใช้หนอก็หนอให้เป็น อย่าหนอให้มันเน้นหนักลงไปอีกมันตรงกันข้าม นี่หวังว่าคงจะรู้จักทำการฝึกชนิดที่ว่าทำอะไรโดยไม่ต้องมีตัวผู้ทำ มีการกระทำโดยไม่ต้องมีผู้กระทำ เป็นเรื่องอนัตตา เป็นเรื่องหัวใจของพระพุทธศาสนา งั้นขอให้ทำให้ได้มากยิ่งๆขึ้นไป ไม่ใช่เคลิ้ม ไม่ใช่ใจลอย แต่กลับมีสติ มีสติอย่างยิ่ง ให้มันเหลือแต่อิริยาบถเคลื่อนไหวไปตามเหตุตามปัจจัย ตามกฎ อิทับปัจจยตาปฏิจจสมุปบาท ไม่ต้องมีตัวผู้กระทำหรือผู้อะไร หวังว่าคงจะทำได้ดีขึ้นทุกวัน ทุกวัน ทุกวัน
ทีนี้การบรรยายในวันนี้ก็จะพูดถึงไอ้ธรรมปริทัศน์ตอนที่ 3 คือว่าธรรมะจะให้อะไร ตอนที่ 1 ว่าธรรมะทำไม ธรรมะทำไม ตอนที่ 2 ว่าธรรมะอย่างไร ธรรมะทำอย่างไร ปฏิบัติอย่างไร ตอนที่ 3 นี่ก็ว่าแล้วมันจะได้อะไร มันจะได้อะไร ขอให้ทำความเข้าใจให้ถูกต้องเป็นหลักทั่วๆไปว่าให้มันมีความถูกต้องตลอดสาย มันจะได้อะไรในที่สุด การที่จะทำให้เป็นหัวข้อย่อยๆ ง่ายๆ น้อยๆข้อนี่ช่วยให้เข้าใจได้ง่าย และจำได้ดี ถ้าคุณจะไปจำโดยรายละเอียดมันก็จำไม่ไหวหรอก มักจะพูดกันโดยรายละเอียดก็สับสนจนไม่รู้อะไรไปทางไหน ถ้าอย่างนั้นมันต้องจำต้องอะไรน่ะ 84,000 ข้อตามที่พระพุทธวจนะมี 84,000 ธรรมขันธ์น่ะมันคงจะตายเสียก่อน มาจับในหัวข้อจำโดยหัวข้อก็เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าฉันพูดแต่เรื่องความทุกข์กับความดับไม่เหลือแห่งทุกข์เท่านั้นมี 2 เรื่องเท่านั้น มันมี 2 เรื่องเท่านั้นแหละ ไอ้ 84,000 ข้อมารวมโดยเหลือ 2 เรื่อง เอ้า 2 เรื่องจะขยายออกไปว่าความทุกข์นั่นขยายออกไปเป็นว่ามีเหตุให้เกิดทุกข์อย่างไร เรื่องดับทุกข์นั่นก็จะดับมันอย่างไรก็จะได้เป็น 4 เรื่อง ความทุกข์คืออย่างไร เหตุให้เกิดทุกข์คืออย่างไร ความดับทุกข์เป็นอย่างไร ทางให้ถึงความดับทุกข์นั้นเป็นอย่างไร ไปได้เป็น 4 เรื่อง 4 เรื่องที่เรียกว่าอริยสัจ ถ้าจะแจกไปมากออกไปเป็นเรื่องปฏิจจสมุปบาทก็จะได้สัก 11 หัวข้อหรืออย่างมากที่สุดก็ 22 คือว่ามันแจกไปตามการเกิดอีกที แจกไปตามการดับอีกที 22 เรื่องก็พอ 22 ข้อก็พอแล้ว นี่ขอให้มองให้เห็นแล้วก็เข้าใจว่าสรุปให้เป็นหัวข้อๆ เป็นเรื่องๆไม่กี่เรื่องก็จำได้ งั้นสำหรับที่จะศึกษาปฏิบัติเนี่ยจึงแยกให้เป็น 3 หัวข้อว่าธรรมะทำไมกันและธรรมะอย่างไรกัน และธรรมะจะให้อะไรแก่เรา ถ้าเข้าใจหมดทั้ง 3 หัวข้อนี้ก็เรียกว่าพอที่จะดำเนินชีวิตไปตามหลักของธรรมะ กำจัดความทุกข์ออกไปได้มากมาย เราจะต้องศึกษาหรือปฏิบัติหรือมีธรรมะ แล้วก็ใช้ธรรมะให้เป็นประโยชน์ ให้ทันในเวลาที่จำกัดอยู่คือเวลาที่มีชีวิตอยู่ 80 ปี 100 ปีอย่างมากน่ะ ให้รู้ครบถ้วนและให้ทันเวลา จึงต้องศึกษาให้ถูกทาง
ข้อแรกที่ว่าธรรมะทำไม ธรรมะทำไมนั้นก็หมายความว่าถ้าไม่มีธรรมะ ชีวิตนี้มันก็จะเต็มไปด้วยความทุกข์ เหมือนกับตกนรกทั้งเป็นอยู่ตลอดเวลาแหละ เพราะว่าเกิดขึ้นมาในโลกนี้มันต้องเผชิญกับสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ฟังดูให้ดี แล้วก็เรียกชื่อมันให้ถูกต้อง คือสิ่งที่มันมีอยู่ตามธรรมชาติที่จะเป็นความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายเหล่านี้เป็นต้นมันมีอยู่ตามธรรมชาติ เมื่อเราเกิดขึ้นมาเผชิญกับสิ่งเหล่านี้ ถ้ามันไม่มีความรู้ที่ถูกต้องมันก็เป็นความทุกข์มันก็กัดเอา หรือว่าเรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เราก็จะต้องเผชิญกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฎฐัพพะ ธรรมารมณ์ 6 อย่าง 6 ประการที่จะเข้ามาสัมผัสกับตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้าไม่มีความรู้ทางธรรมะที่ถูกต้องและเพียงพอ มันก็ทำผิดหมดแหละ ทำผิดหมด หมายความไปในทางทำให้เกิดความทุกข์ เกิดความทุกข์ยุ่งยาก ถ้ามีความรู้ทางธรรมะเพียงพอไปต้อนรับสิ่งเหล่านี้ได้โดยไม่มีปัญหาโดยไม่มีความทุกข์ มีหนำกลับจะเป็นประโยชน์นำมาซึ่งความสุขเสียด้วยซ้ำไป สิ่งต่างๆที่มันมีอยู่ในโลกที่จะต้องเผชิญมันมากมาย อย่างที่ท่านทั้งหลายก็คงจะพอมองเห็นได้เอง จัดการกับมันไม่ถูก มันก็เต็มไปด้วยปัญหา เป็นโรคประสาท เป็นบ้าไปเสียก็มาก เพราะเขาไม่มีธรรมะ เกิดมาในครอบครัวที่ไม่สนใจธรรมะ ทั้งครอบครัวทั้งพ่อแม่อะไรมันไม่สนใจธรรมะ มันไม่อบรมธรรมะ ไม่ได้สั่งสอนธรรมะ โตขึ้นมาไปเข้าโรงเรียนมันก็ไม่ได้เรียนธรรมะ มันก็เรียนแต่วิชาที่ฉลาดๆสำหรับไปทำมาหากิน ไม่มีธรรมะควบคุมชีวิต มันก็มืด มันก็ผิดทาง มันก็มีความทุกข์ หนักเข้ามันก็เป็นบ้า มีแต่จะทำผิด มีแต่จะทำผิด มันไม่มีทางที่จะทำถูก งั้นขอให้ถือว่าเป็นความจำเป็นที่จะต้องศึกษาธรรมะ นี่ธรรมะทำไมกัน เพื่อใช้ชีวิตที่มีอยู่ชั่วเวลาจำกัดนี่ให้ถูกต้อง ให้สำเร็จอยู่ รู้ แล้วก็ปฏิบัติไม่ให้เกิดความทุกข์ได้ นี่ธรรมะโดยเหตุนี้ ขอให้ใช้ธรรมะเพราะเหตุนี้ ไม่ใช่ว่าไปเกิดในสวรรค์แล้วก็จะพ้นจากความทุกข์ ไม่ใช่ไปเกิดในสวรรค์มันก็มีปัญหาอย่างเดียวกันเรื่องเกิด เรื่องแก่ เรื่องเจ็บ เรื่องตาย เรื่องกิเลสทั้งหลาย บางทีก็มีมากกว่าไอ้ชาวโลกเสียด้วยซ้ำไป เพราะว่าไอ้เรื่องสวรรค์มันเต็มไปด้วยไอ้สิ่งที่ยั่วยวน งั้นเราไม่พูดกันแล้วถึงเรื่องสวรรค์หรือเรื่องอะไรทำนองนี้ พูดแต่เรื่องทุกข์ ต้องดับทุกข์ 2 เรื่องตามที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสเอง ถ้าว่าเรื่องเหล่านั้นจำเป็นพระพุทธเจ้าท่านก็จะตรัสว่าเราพูดเรื่องนรกเรื่องสวรรค์เรื่องอะไรมากมาย แต่พระพุทธเจ้าตรัสว่าท่านพูด 2 เรื่องคือทุกข์กับดับทุกข์ นี่ขอให้จำใจความสำคัญนี้ไว้ แล้วก็ศึกษาไปตามลำดับ ทุกข์เป็นอย่างไร ดับทุกข์เป็นอย่างไร คือธรรมปริทัศน์ ขั้นที่ 2 ตอนที่ 2 ว่าดับทุกข์อย่างไร ดับทุกข์อย่างไร ปฏิบัติอย่างไร มันก็ต้องรู้เรื่องว่าความทุกข์เป็นอย่างไร ชีวิตเป็นอย่างไร ธรรมชาติทั้งหลายเป็นอย่างไร สรุปว่าความทุกข์มันจะเกิดขึ้นมาอย่างไร ความทุกข์มันจะดับลงไปอย่างไร นี่เรียกว่าเรื่องปฏิจจสมุปบาท ขอพูดย้ำอีกทีหนึ่งเพื่อให้มันแน่นอน ให้มันชัดเจน เพื่อให้มันไม่ลืม เรื่องปฏิจจสมุปบาทบอกให้เรารู้ว่าทุกข์เกิดอย่างไรทุกข์ดับอย่างไร มีเหตุปัจจัยอย่างไร พอเรารู้อย่างนี้แล้วเรายังปฏิบัติไม่ได้เพราะจิตของเรามันยังไม่ได้รับการฝึกฝนเรียกว่าจิตมันยังป่าเถื่อน ไม่อยู่ในอำนาจของความถูกต้องไปตามเรื่องของป่าเถื่อน คือยินดีหลงใหลในการที่จะสุขหรือทุกข์ สุขหรือทุกข์คือขึ้นหรือลง บวกหรือลบ ได้หรือเสีย แพ้หรือชนะ นี่เป็นเรื่องหลงเป็นคู่ๆ คู่ๆ คู่ๆไปเสียไม่มีที่สิ้นสุด ทุกคู่ ทุกคู่มันไม่เกิดกิเลสนะ เพราะมันมีความเป็นบวกเป็นลบอย่างใดอย่างหนึ่งเสมอ มันก็เกิดตัวตนบวกเกิดตัวตนลบ ก็มีปัญหาอย่างความเป็นบวกอย่างความเป็นลบ ได้มาก็เกิดกิเลส เสียไปก็เกิดกิเลส ไปฟังดูให้ดีๆ ได้มาก็ได้มาเพื่อเกิดกิเลส พอเสียไปก็เกิดกิเลสอีกประเภทหนึ่งคือตรงกันข้าม นี่ความเป็นบวกความเป็นลบมันเป็นอย่างนี้ ถ้าเรามีธรรมะถูกต้องได้มาก็ไม่เกิดกิเลส เสียไปก็ไม่เกิดกิเลส มันอยู่กับความว่างจากกิเลสโดยตรงตลอดเวลา ตลอดเวลา ทำอย่างนี้ได้น่ะคือปฏิบัติได้ เรียกว่าฝึกจิต ฝึกจิตให้ปฏิบัติได้ ก็ฝึกตามหลักที่เรียกว่า “อานาปานสติ” อานาปานสตินี่จะเรียกว่า “สติปัฏฐาน 4” ก็ได้ แต่เราจะเอาเฉพาะที่เรียกว่าอานาปานสติ คือมันรัดกุมมันไม่ยืดยาว ถ้าไปเรียกเป็นมหาสติปัฏฐานแล้วก็อู๊ยไม่ไหวหรอก เพียงแต่อ่านมันก็อ่านไม่จบ เมื่อปฏิบัติอานาปานสติครบทั้ง 4 หมวดมันก็จบมหาสติปัฏฐาน มีความถูกต้องในเรื่องกาย เรื่องเวทนา เรื่องจิตและเรื่องธรรม 4 เรื่อง เราจะเป็นนายเหนือร่างกาย เพื่อจะบังคับมันได้ทั้งกายเนื้อและกายลม เราจะเป็นนายเหนือร่างกาย แล้วเราจะเป็นนายเหนือเวทนา บังคับเวทนาได้ ให้เป็นอย่างไรก็ได้ ไม่ให้ปรุงแต่งในทางกิเลสในทางที่จะเกิดความทุกข์ ให้เกิดความคิดไปในทางที่ถูกต้อง ไม่เกิดกิเลส ไม่เกิดความทุกข์ อย่างนี้เรียกว่าเราเป็นนายเหนือเวทนาซึ่งเป็นสิ่งที่จะต้องมีอยู่ตลอดเวลาไอ้เวทนา เดี๋ยวสุขเดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวไม่ทุกข์ไม่สุขมีอยู่ 3 ชนิด แล้วไอ้ชนิดที่ทำเราหลงใหลที่สุดก็คือชนิดที่เป็นสุข ก็ไปหลงกับมันเข้ามันก็ไปทำไปตามกิเลส หรือมันเกิดกิเลสมันทำไปตามกิเลส มันก็เต็มไปด้วยความทุกข์ จะบังคับเวทนาได้ควบคุมได้มันก็มีแต่เรื่องไม่ทุกข์ มันคิดไปแต่ในเรื่องถูกต้องและไม่เป็นทุกข์ หมวดที่ 3 ก็บังคับจิตได้ บังคับจิตได้ตามที่ต้องการ ไม่บันเทิงปราโมทย์อยู่อย่างถูกต้องก็ได้ ให้ตั้งมั่นอยู่อย่างเป็นสมาธิก็ได้ ให้ปล่อยๆ ปล่อยสิ่งที่ยึดถืออยู่และเป็นทุกข์น่ะปล่อยๆออกไปได้ อย่างนี้ก็ได้ อย่างนี้เรียกว่าเป็นนายเหนือจิต อันสุดท้ายบทที่ 4 เรียกว่าธรรม ธรรมในที่นี้จำกัดเฉพาะธรรมที่เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือที่กำลังยึดถืออยู่ ก็ธรรมะมันหมายถึงทุกสิ่งไม่ยกเว้นอะไร แต่ในหมวดนี้เอามาเฉพาะธรรมะที่เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ แล้วก็กำลังยึดถืออยู่ แล้วก็เป็นความทุกข์ เอาสิ่งเหล่านั้นเอาธรรมะเหล่านั้นมาพิจารณาให้เห็นด้วย จิตที่ฝึกดีแล้ว ฝึกดีแล้วมันก็เห็นได้ดี ก็เห็นความไม่เที่ยงของธรรมที่เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือที่กำลังถืออยู่ เห็นความไม่เที่ยงของสิ่งเหล่านั้นธรรมะเหล่านั้นแล้วมันก็จะค่อยๆคลายความยึดถือ คลายความยึดถือ ความยึดถือมันก็จางออกไป เมื่อมันจางออกไป จางออกไปอยู่เรื่อยมันก็หมดมันก็สิ้นสุดเรียกว่าดับ ดับความยึดถือ ไม่มีความยึดถือมันคือไม่มีความทุกข์ จบกันที่ตรงนี้ไม่มีความทุกข์ แต่ยังมาดูอีกทีหนึ่ง ดูซ้ำลงไปอีกทีว่าโอ้โหเดี๋ยวนี้มันจบแล้ว มันหมดปัญหาแล้ว หมดเรื่องความทุกข์ หมดเรื่องที่จะต้องศึกษาและปฏิบัติแล้ว นี่หมวดที่ 4 เป็นนายเหนือธรรมะหรือสิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ ก่อนนี้เราเป็นทาส เป็นขี้ข้าของสิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ เราก็ยึดถือๆ ยึดถือทำไปตามความยึดถือแล้วก็เป็นทุกข์ เป็นทุกข์ตามที่มันจะให้เกิดขึ้นอย่างไรเรียกว่าเป็นทาสเป็นบ่าวของมัน ของสิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ เดี๋ยวนี้ก็ไม่แล้ว เป็นนายเหนือธรรมะที่เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ 4 ประการนี้ให้มั่น จำไว้ให้มั่น ศึกษาให้เข้าใจและปฏิบัติให้ได้ ให้เป็นนายมันทั้ง 4 อย่าง เป็นนายเหนือกาย เป็นนายเหนือเวทนา แล้วก็เป็นนายเหนือจิต แล้วก็เป็นนายเหนือสิ่งที่เรายึดถืออยู่คือเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถืออยู่เรียกสั้นๆว่าธรรม ธรรมที่เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ ตรงนี้ขอให้มองให้กว้างให้ฉลาดสักหน่อยว่าทุกสิ่งเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ ธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ แต่ต่ำที่สุดเลวที่สุด ขี้ฝุ่นสักเม็ดหนึ่งก็เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ เป็นนั่นเป็นนี่เป็นรูป เป็นเสียง เป็นกลิ่น เป็นรส โผฎฐัพพะ ธรรมารมณ์ กระทั่งเป็นพระนิพพานก็เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ แต่จะไปโทษพระนิพพานไม่ได้หรอก ต้องโทษคนโง่โทษความโง่ที่มันไปยึดถือ แล้วก็ยึดถือเอาตามชอบใจของตัวเสียด้วยว่านิพพานมันเป็นอย่างนั้น นิพพานต้องเป็นอย่างนี้ตามความโง่ของตน ทุกสิ่งมันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือได้ทั้งนั้นน่ะ แต่เดี๋ยวนี้เราก็ดูว่าที่เฉพาะนะ เฉพาะที่เรากำลังยึดถืออยู่นี่คืออะไร เรากำลังยึดถืออยู่ในเวลานี้คืออะไร เพื่อเห็นความจริงของสิ่งเหล่านั้นเสีย โดยหลักอนิจจตา ทุกขตา เป็นต้น แล้วก็หมดความยึดถือเป็นลำดับไป ลำดับไป ลำดับไป กระทั่งไม่มีความยึดถือในสิ่งใดๆไม่ว่าจะเป็นกุศลหรือเป็นอกุศลหรือเป็นอัพยากฤตหรือเป็นอะไรก็ตาม ไม่ยึดถือโดยความเป็นตัวตนหรือของตน ให้จิตมันว่าง จิตมันฟรี ฟรีคือเป็นอิสระ มีเสรีภาพ ไม่เป็นทาสของอะไร มันก็ไม่มีความทุกข์ เรื่องมันก็จบ
นี่ศึกษาโดยหัวข้อที่มันมีอยู่ชัดๆอย่างนี้ จำง่าย เข้าใจง่าย ปฏิบัติง่าย ถ้าปล่อยเพ้อๆไปตามนึกอะไรได้ก็เรียนก็พูดอย่างนี้ ไม่มีหลักไม่มีเกณฑ์อย่างนี้มันเฝื่อหมด มันก็ไม่ถึงที่สุดหรอก ขออภัยที่จะพูดกันว่าอย่างที่ทำๆกันโดยมากนั่นน่ะมันไม่มีต้นไม่มีปลาย มันไม่มีหัวข้อ มันไม่มีหลักไม่มีเกณฑ์ มันปล่อยไปตามที่จะนึกอะไรได้ก็พูดกัน งั้นขอให้มากำหนดรู้โดยเป็นหัวข้อเหมือนกับเป็นต้นเป็นปลาย โดยเฉพาะรู้เรื่องทุกข์ เรื่องเหตุให้เกิดทุกข์ เรื่องความดับทุกข์ และหนทางที่จะให้ถึงความดับทุกข์มันเป็นลำดับไปอย่างนี้ เมื่อเราไม่รู้ปฏิจจสมุปบาท เราก็ไม่รู้ว่าทุกข์เกิดอย่างไร ไม่รู้ว่าทุกข์ดับอย่างไร เมื่อท่านได้รับการสั่งสอนอธิบายชี้แจงเรื่องปฏิจจสมุปบาท สมควรแล้วท่านจะรู้ทันทีว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร แล้วมันจะดับไปอย่างไร กระแสที่มันไหลเชี่ยวเป็นเกรียวไปนั้นมันเป็นอย่างไร รู้ รู้ เดี๋ยวรู้แล้ว เรารู้แล้ว จะจัดการกับมันอย่างไร จะดับกับมันอย่างไร จะบังคับกระแสหรือเกรียวของมันอย่างไรนี่ก็ปฏิบัติเพื่อเรียนเรื่องอานาปานสติ ซึ่งเป็นนายทั้ง 4 อย่างนั้นแล้วมันก็มาจัดการกับไอ้เรื่องความทุกข์นี้ได้ เรามีสติ สติมากพอ มีปัญญา ปัญญารู้ความจริงของสิ่งเหล่านั้นมากพอ มีสมาธิ สมาธิกำลังจิตที่เข้มแข็งให้มากพอ มีวิริยะมีความเพียรมีอะไรมากพอ เห็นความจริงแล้วก็มีศรัทธาความเชื่อมั่นคงว่ามันจะดับทุกข์ได้โดยแน่นอนอย่างนี้ ถึงนิยมเรียกกันว่าอินทรีย์บ้าง พละบ้าง มีศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา เข้าใจว่าเคยได้ยินมาแล้วถ้าเคยเรียนนักธรรมมาบ้างแล้วมันเป็นหมวดต้นๆ แต่ถ้ายังไม่เคยได้ยินก็ได้ยินเสียเถิดว่าท่านจำแนกไว้ให้มันเป็น 5 ข้อ เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะชนะไอ้ความทุกข์ ศรัทธาคือเชื่อแน่ว่าดับทุกข์ได้ ไม่ใช่เชื่อผู้บอก ไม่ใช่เชื่อผู้พูด ไม่เชื่อ ถ้าถือตามกาลามสูตรแล้วไม่เชื่อแม้แต่พระไตรปิฎก ไม่เชื่อแม้แต่พระพุทธเจ้า แต่ถ้าท่านไม่เข้าใจก็อย่าเพิ่งพูดถึงขนาดนั้นเลยมันมากเกินไป แต่ความจริงมันเป็นอย่างนั้น ไม่ต้องเชื่อว่ามีอยู่ในปิฎก ไม่ต้องเชื่อพระพุทธเจ้าตรัส เพราะมันแสดงอยู่ในตัวมันเองแล้วนี่ คำใดที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้นั่นมันแสดงอยู่ในตัวมันเองว่ามันจะเป็นอย่างนั้นๆ เราก็เชื่อที่นั่นแหละ ไม่ต้องอ้างว่าพระพุทธเจ้าหรอก ในตัวมันมันมีเหตุผลให้เชื่อ นี่พอมองเห็น มองเห็นว่าทุกข์เกิดอย่างนี้ ทุกข์เกิดอย่างนี้ ดับอย่างนี้มันก็เชื่อ มีความเชื่อที่ถูกต้องขึ้นมา เมื่อได้ศึกษาโดยปัญญาเห็นแจ้งสิ่งเหล่านี้พอสมควรแล้วความเชื่อก็ตั้งต้น ก็ตั้งต้น ลงราก ตั้งต้น ทีนี้ก็มีวิริยะ ก็พากเพียรไปตามที่จะต้องทำ ศรัทธา วิริยะ สติ มีสติควบคุมให้มันทำไปอย่างถูกต้อง สมาธิ กำลังใจมาก เข้มแข็งเพียงพอก็ทำสำเร็จ ปัญญา ปัญญารู้ตามที่เป็นจริงทั้งเบื้องต้น ทั้งกลาง ทั้งเบื้องปลาย คือรู้อยู่ตลอดเวลาน่ะ นี่ยกตัวอย่างมาเพียง 5 อย่างว่าศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ได้มาจากการปฏิบัติอานาปานสติ ท่านประสบการปฏิบัติอานาปานสติเพื่อที่จะได้สิ่งเหล่านี้มาใช้เป็นเครื่องมือ อาตมายัดให้เรียกให้มันสั้นไปอีก เอาไปอีก 4 ข้อเรียกว่า “ธรรมะสี่เกลอ” ธรรมะสี่เกลอคือสติ แล้วก็ปัญญา แล้วก็สัมปะชัญญะ แล้วก็สมาธิ แทนที่จะเป็น 5 ข้อมาเป็น 4 ข้อตรงๆง่ายๆว่ามีสติ สติ ระลึกได้เร็ว ไม่มัวงุ่มง่าม มืดมน โง่งมงายลมๆอะไรอยู่ สติระลึกได้เร็ว เร็วเหมือนกับสายฟ้าแลบ ตามพระบาลีก็เรียกว่าสติเร็วเหมือนกับลูกศร ลูกศรคำเดียวกัน คำว่าสติกับคำว่าลูกศรมันเป็นคำเดียวกัน มีสติระลึกได้เร็ว เพราะอะไรเป็นอย่างไร นั่นแหละคือปัญญาแหละ เอาปัญญาที่ได้เห็นแจ้งตลอดเวลา ปฏิบัติอานาปานสติ มีปัญญาเห็นแจ้งเรื่องกาย เรื่องเวทนา เรื่องจิต เรื่องธรรมเป็นปัญญา สติและปัญญามาเฉพาะหน้าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคือมีอะไรมาเกิดขึ้นทางตาหูจมูกลิ้นกายใจ นี่พอมันเกิดขึ้นอย่างนี้แล้วสติไปเอาปัญญามา แต่ก็ไม่ได้เอามาทั้งหมดหรอก เอามาเฉพาะเรื่อง เฉพาะเรื่องนี้ ปัญญามันมีมากมันมีทั้งหมด เก็บไว้มันก็เก็บไว้ แต่พอจะเอามาใช้ สติจะเอามาใช้เอามาเฉพาะเรื่องที่ให้มันตรงกับเรื่อง เหมือนกับว่าเรามียาในตู้ยาครบทุกอย่างในตู้ยา แต่พอจะกินยานั้นมันกินทีละอย่าง หรือว่าเหมือนกับเรามีอาวุธครบทุกอย่างในบ้านในเรือน พอเราจะใช้ต่อสู้ข้าศึก โจรขโมยอะไรก็ใช้อย่างเดียวทั้งนั้นแหละ สติและปัญญาเฉพาะเรื่องที่มา แล้วก็เป็นสัมปะชัญญะเฉพาะ เฉพาะเหตุการณ์นั้น รู้สึกตัวทั่วพร้อมอยู่มันก็ปัญญามาเป็นปัญญาเฉพาะเรื่อง พร้อมที่จะแก้ไขเหตุการณ์เหล่านั้นเรียกว่าสัมปะชัญญะ สัมปะชัญญะก็คือปัญญานั่นเอง ปัญญาที่เลือกมาเฉพาะเรื่องตรงดีแล้ว มันก็ต่อสู้กันกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคืออารมณ์มากระทบ ทีนี้ถ้าว่ามันอ่อน กำลังมันอ่อน มันสู้อารมณ์ไม่ได้ กำลังจิตมันอ่อนก็ใช้สมาธิ ตลอดเวลาที่เราฝึกอานาปานสติถ้าว่าฝึกถูกต้องมันจะมีสมาธิอย่างที่ว่ามาแล้ว มีสมาธิ 3 ความหมายอย่างที่ว่ามาแล้ว นั่นแหละกำลังมหาศาล กำลังมหาศาล เหมือนกับแก้วรวมแสงแดดจนไฟลุก นี่ก็เหมือนกันแหละ รวบรวมกำลังจิตทั้งหมดมาจ่อลงไปที่ความจริง เห็นความจริงลึกซึ้งถึงที่สุด นี่กำลังของจิต กำลังของสมาธิ สมาธิเป็นตัวกำลังให้เพียงพอ ปัญญาก็ต่อสู้กับเหตุการณ์ ทำลายข้าศึกนั้นได้ ตรงนี้ได้เข้าใจให้ดี จำให้ดีสักหน่อยหนึ่งว่าไอ้ปัญญา ปัญญานั้นมันเหมือนกับความคมน่ะ มันเหมือนกับความคม แม้จะคม คมเท่าไรแต่ถ้าไม่มีน้ำหนักที่จะกดลงไปมันก็ตัดไม่ได้ ดูสิคมเหมือนมีดโกนน่ะ ถ้าไม่มีอะไรกดลงไปมันก็ตัดไม่ได้หรอก งั้นปัญญาเป็นความคมเอามา แล้วก็สมาธิเป็นกำลังเป็นน้ำหนักที่จะกดให้มันตัดลงไป สมาธิมากปัญญามันก็ทำหน้าที่มาก ก็ตัดปัญหานั้นเด็ดขาดออกไป อย่างนี้ก็จะเรียกว่าธรรมะสี่เกลอ ชื่อนี้ไม่มีในบาลีหรอก แต่ก็เอาไปเก็บเอาสิ่งที่มีอยู่ในพระบาลี ในพระพุทธวจนะมาทำให้ออกเป็นสี่เกลอ มาใช้เป็นคู่มือสำหรับพวกเราทุกคนเพื่อต่อสู้กับข้าศึกคือกิเลส แล้วอยากจะบอกในทำนองคุยโตสักหน่อยว่าไอ้ธรรมะสี่เกลอใช้ได้ทุกเรื่องแหละ ใช้ได้ทุกเรื่องแม้ไม่ใช่เรื่องธรรมะ เรื่องที่บ้าน เรื่องทำมาหากิน เรื่องอะไรต่างโลกๆนี่ใช้ได้ ธรรมะสี่เกลอนี่ จะมาปฏิบัติธรรมะเพื่อชนะกิเลสคือไปนิพพานก็ใช้ได้ ทำไมมันต้องพูดธรรมะสี่เกลอ ไม่เอาตาม 5 อย่างที่มีในพระบาลี ก็เพื่อช่วยให้มันง่ายขึ้นสักหน่อย ให้มันชัด เห็นชัดยิ่งขึ้น มีสติไปเอามา ปัญญาเอามาเฉพาะเรื่อง เป็นสัมปะชัญญะเผชิญกับเหตุการณ์ที่มันเกิดขึ้น ไปเอาสมาธิมาให้มันมีกำลังถึงที่สุด แม้จะทำการทำงาน ทำไร่ทำนาเรือกสวนอะไรก็ได้ใช้ธรรมะสี่เกลอมันก็สำเร็จ ต่อให้ไปคนขอทาน เป็นคนขอทาน นั่งขอทานอยู่ น่ะใช้ธรรมะสี่เกลอนี่สำเร็จ มันจะพ้นจากขอทาน เอาไปใช้เรื่องโลกๆ เรื่องโลกๆ ทำๆกันได้ ใช้เพื่อบรรลุธรรมะในชั้นสูง เรื่องไปนิพพานก็ได้ ที่จริงมันก็อย่างเดียวกันแหละศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา มันก็ไม่ค่อยได้พูดถึงศรัทธา เพราะเราพูดถึงปัญญามันมีปัญญา มีสติ มันก็เป็นการใช้ธรรมะกันแหละ แต่มีศรัทธาแน่ใจด้วยมันก็ยิ่งดี แต่ท่านอย่าลืมว่าคำว่าศรัทธา ศรัทธาคำนี้มันรวมอยู่ในคำว่าสมาธิ สิ่งที่เรียกว่าศรัทธาน่ะเป็นธรรมะประเภทสมาธิ มีสมาธิทำอะไรก็มีศรัทธา มีศรัทธาเท่าไรสมาธิมันก็สูง เพราะงั้นศรัทธาเอาไปไว้กับสมาธิ มันเหลือเพียง 4 อย่างก็พอแล้ว มีสติ มีปัญญา มีสัมปะชัญญะ มีสมาธิ งั้นขอทบทวนอีกทีหนึ่งจำให้ดีๆว่าสติฝึกไว้เร็ว ระลึกได้เร็ว ระลึกถึงอะไร ระลึกถึงความรู้ความจริงที่เราได้ศึกษาไว้มากมายตลอดเวลาเรียกว่าปัญญาเก็บไว้เป็นคลังใหญ่ ระลึกไปถึงคลังแห่งปัญญา แล้วก็ดึงออกมาข้อหนึ่งที่จะตรงกับเรื่องที่กำลังเกิดอยู่ทางตาหูจมูกลิ้นกายใจอะไรก็ตาม ดึงออกมาตัวหนึ่งที่เหมาะสม ตัวนี้จะมาเป็นสัมปะชัญญะ เผชิญหน้ากับข้าศึกกำลังเกิดอยู่ สู้กันด้วยปัญญา นี่เรียกว่าสัมปะชัญญะอ่อนแอ กำลังไม่มากพอก็ต้องเพิ่มสมาธิ เอาสมาธิมาเป็นน้ำหนัก นี่ปัญญาหรือสัมปะชัญญะมันก็มีการตัดสิเพราะมันมีทั้งคมและมีทั้งน้ำหนัก มีแต่ปัญญาไม่มีสมาธิเหมือนกับมันมีแต่ความคม มันไม่มีน้ำหนักสำหรับจะตัด ไอ้ความคมมันก็เป็นหมัน มันต้องมีน้ำหนักคือสมาธิมาทำให้ความคมมันตัดลงไป ลงไป ก็ตัดปัญหา ตัดกิเลส ตัดเรื่องราวที่กำลังเกิดอยู่ให้มันหมดไป รวมความว่ามันไม่เกิดกิเลส ไม่เกิดความทุกข์ เพราะสิ่งเหล่านี้มันตัดเสียแล้ว งั้นพยายามให้มีธรรมะสี่เกลอเป็นคู่ชีวิต ธรรมะสี่เกลอเป็นคู่ชีวิต มีสติ มีปัญญา มีสัมปะชัญญะ มีสมาธิ ส่วนนอกนั้นมันก็เป็นความประกอบที่มันดึงมาได้เองแหละ ดึงมาได้เองเช่นความพากเพียรความอะไรไปดึงมาได้เอง ความอดกลั้นอดทนก็ดึงมาได้เอง เพราะว่าไอ้ตัวปัญญาน่ะมันรอบรู้ ไอ้ที่ว่าจะสำคัญๆเป็นตัวการตัวงานก็ขอให้เรียกว่าธรรมะสี่เกลอ สติต้องว่องไว ต้องมาทันเวลา มัวงุ่มง่ามอยู่ไม่ได้ สติที่มีอยู่ตามธรรมชาติมักจะงุ่มง่าม มาไม่ได้ทันเวลา ถ้าฝึกๆ ฝึกๆกันไว้มันจะเร็ว มันจะมาก มันจะเร็ว แล้วปัญญาก็เหมือนกันแหละศึกษาอบรมไว้เรื่อย อบรมไว้เรื่อยมันก็มีมากขึ้นๆ สติไปเอามาทันควันทันเรื่อง แล้วก็มาเป็นสัมปะชัญญะต่อสู้กับเหตุการณ์ ถ้าว่ามันอ่อนแอก็ใช้สมาธิเพิ่มกำลัง ปัญญามันก็ตัดๆ ตัดๆจนถึงที่สุด นี่ศึกษาธรรมะจนถึงกับว่าใช้ให้มันได้ ใช้ให้สำเร็จประโยชน์ได้ ไม่ใช่เรียนเพราะท่องไว้เฉยๆมันโดยมากเสียจนไม่ได้ใช้ ไม่ได้อะไรเรียนท่องจำนกแก้วเป็นนกขุนทอง เป็นบันทึกแผ่นเสียงมันไม่ได้ใช้ไม่ได้อะไร
นี่เดี๋ยวนี้เรามีธรรมะที่เกิดจากการปฏิบัติอานาปานสติมากพอ มีความรู้เรื่องปฏิจจสมุปบาทมากพอ ชีวิตประจำวันก็มีแต่ชนะ ชัยชนะ ชนะๆ ไม่ว่ากิเลสจะเข้ามาทางไหน จะเข้ามาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ 6 ทางนั้นน่ะก็สามารถที่เอาชนะได้ ผลก็เกิดขึ้นมาสิ ผลก็เกิดขึ้นมา เป็นความดับทุกข์ๆ ดับทุกข์ ดับไม่เหลือแห่งความทุกข์ พระพุทธเจ้าท่านตรัสเฉพาะดับไม่เหลือแห่งความทุกข์ ท่านจะตรัสเป็นธรรมะจริงๆไม่ใช่โฆษณาชวนเชื่อนะ ไม่ใช่เพื่อจะชวนเชื่อให้คนมาสนใจท่านจะพูดแต่เรื่องทุกข์กับดับทุกข์เท่านั้น ท่านไม่ได้พูดถึงความสุข เพราะความสุข ความสุขนี้มันเป็นคำที่โลเล เป็นที่ตั้งแห่งความหลงไอ้ความสุขน่ะ บ้าความสุข หลงความสุขก็เป็นวินาศหมด ไม่พูดถึงความสุขหรอก เอ้าแต่เดี๋ยวนี้คนธรรมดามันต้องการความสุขก็ต้องพูดกันแหละว่านี่ดับทุกข์แล้วก็เป็นสุข เป็นสุข ก็ดึงมาให้เกิดความสนใจในการดับทุกข์ๆ ดับทุกข์ เมื่อไม่มีทุกข์มันก็เป็นความสุขอยู่โดยอัตโนมัติแหละ แต่ไม่หลง ไม่หลงความสุข ไอ้คนโง่มันหลงความสุข มันบ้าความสุข มันถูกหลอกให้หลงใหลไปด้วยเรื่องของความสุข พระเป็นผู้หลอกเสียเองก็มี ทายกทายิกาคนนั้นก็แย่ไปด้วยถ้ามันหลอกด้วยความสุข เอาเรื่องของความสุขมาเป็นเรื่องหลอก เราไม่ต้องหลงไอ้ความสุขเรื่องสวรรค์เรื่องอะไรอย่างที่เขาหลงๆกันไม่ต้อง ฉันต้องการเพียงไม่มีความทุกข์แล้วเต็มไปด้วยสติปัญญา มีความสงบเย็น สงบเย็น ไม่หลงความสุข กลับไปหลงความสุขสงบเย็นหรอกมันวุ่นไปหมดถ้าไปหลงไอ้เรื่องความสุข ซึ่งมันก็มีมากมาย วุ่นไปหมดน่ะ ไม่หลงทั้งสุขและทุกข์ ก็ไม่หลงมันทั้งนั้นแหละมันก็สงบเย็น สงบเย็น สงบเย็นคำนี้ช่วยจำไว้ดีๆ เป็นความหมายของคำว่านิพพาน นิพพานแปลว่าเย็น มันก็ได้ชีวิตสงบเย็นเป็นนิพพานมา เป็นความสุขอยู่ในตัวมันเองเพราะมันไม่มีทุกข์นี่ เอ้าเรื่องของเราเสร็จ เรื่องของเราสำเร็จคือยังไม่ตาย ยังไม่ตาย นิพพานไม่ได้แปลว่าตายหรอก มีนิพพานโดยไม่ต้องตาย มีความสงบเย็นเพราะไม่มีกิเลส เรื่องของเราเสร็จแล้วก็ช่วยเพื่อนมนุษย์ ช่วยผู้อื่น ช่วยผู้อื่น ช่วยผู้อื่นดีกว่าอยู่เฉยๆ ไม่รู้ว่าไอ้ชีวิตนี้มันอยู่นิ่งไม่ได้มันต้องเคลื่อนไหว เพราะฉะนั้นไอ้เรื่องของตัวเสร็จแล้วมันก็เคลื่อนไหวเรื่องของผู้อื่น มันก็ช่วยผู้อื่น โดยธรรมชาติมันก็เป็นอย่างนั้น เพราะมันอยู่นิ่งไม่ได้ เมื่อเราไม่มีเรื่องอะไรที่ต้องทำเพื่อส่วนตัวแล้วมันก็ทำเพื่อผู้อื่น มันอยู่นิ่งไม่ได้ นี่จึงว่าเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น ผลสุดท้ายมันได้ความสงบเย็นและเป็นประโยชน์ 2 อย่าง ส่วนเรามีแต่ความสงบเย็น สงบเย็นแล้วก็เป็นประโยชน์ไปช่วยผู้อื่น วิเศษสูงสุดตรงที่ว่าไม่เห็นแก่ตัว ตรงนี้ขอพูดสักหน่อยนะเป็นเรื่องแทรก ถ้ามันยังมีกิเลสมันก็เห็นแก่ตัว เห็นแก่ตัว มันไม่ช่วยผู้อื่นมันเห็นแก่ตัว พอเห็นแก่ตัวมันก็เกิดกิเลส เกิดกิเลส ให้มันรักอะไรขึ้นมามันเห็นแก่ตัวมันก็จะเอา มันก็จะเอา ไม่ได้โดยตรงมันก็ได้โดยอ้อม มันก็มีการขโมย มีการปล้นมีการจี้ มีการฆ่ามีการอะไรเพื่อจะได้สิ่งที่ตัวรัก มีการฆ่าการขโมยมันก็เกิดขึ้น การประพฤติผิดในกาม ล่วงกาเมก็เกิดขึ้น โกหกก็เกิดขึ้น ไอ้ดื่มน้ำเมาก็พลอยเกิดขึ้นเพราะมันกระตุ้นมันเป็นเรื่องกระตุ้น มันเป็นเรื่องทำให้ฟุ้งซ่านและกระตุ้นมันก็เกิดขึ้น นี่มันมีกิเลสเห็นแก่ตัว เห็นแก่ตัว ถ้าหมดกิเลสมันไม่เห็นแก่ตัวมันก็ไม่ทำอย่างนั้นน่ะ มันก็ไม่ทำอย่างที่ว่า มันไปทำตรงกันข้าม เป็นประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ เลยเป็นความสงบสุขกันทั้งตัวเองและผู้อื่น เดี๋ยวนี้มันมีกิเลสแล้วมันก็เห็นแก่ตัว เห็นแก่ตัว ที่ว่าจะขอพูดสักนิดหนึ่งก็เพื่อให้ท่านทั้งหลายมองเห็นว่าความเลวร้ายทั้งหลายทั้งหมดทั้งสิ้น กี่ร้อยกี่พันกี่หมื่นกี่แสนกี่ล้านอย่างน่ะมาจากความเห็นแก่ตัวทั้งนั้นแหละ พอเห็นแก่ตัวก็ดูสิ เอาคนเห็นแก่ตัวมาดูสักคนน่ะ มันก็ขี้เกียจไม่อยากจะทำอะไร อยากจะนอน เพราะเห็นแก่ตัว แต่จะเอาประโยชน์ จะเอาประโยชน์ จะเอาประโยชน์แต่ว่าจะนอน จะนอน เห็นแก่ตัวมันขี้เกียจอย่างนี้ เห็นแก่ตัวแล้วก็เอาเปรียบ เอาเปรียบ เอาเปรียบผู้อื่น เอาเปรียบอย่างหน้าด้าน มันก็ริษยา ริษยา ริษยาไม่ยินดีด้วยใครทั้งนั้น อิจฉาริษยา แล้วก็ไม่สามัคคี ไม่สามัคคี แต่จะเอาประโยชน์เรื่อยไป นี่มันเลวถึงขนาดนี้ถ้ามันเห็นแก่ตัว แล้วก็เป็นอาชญากร อาชญากรรมทำแต่ให้ได้ประโยชน์ของตัว มันปล้นจี้ซึ่งหน้า มันขโมยลับหลัง มันคดโกงอะไรทุกอย่าง นี่ก็เป็นอันธพาล เป็นอันธพาล แล้วมันเห็นแก่ตัวแล้วมันก็สร้างไอ้สิ่งที่เราเรียกกันว่ามลภาวะ ก่อนนี้อาจจะไม่เคยได้ยินคำนี้ เดี๋ยวนี้เรียกกันจนดื่นแล้ว มลภาวะ โพลูชั่น (pollution) อย่างที่ฝรั่งมันเรียกน่ะ คนเห็นแก่ตัวสร้างมลภาวะสกปรกรกรุงรังเกะกะไปหมด ความเน่าความเหม็น ความสกปรกรกรุงรัง ความขัดขวางอะไรต่างบนหนทางอะไรต่างๆนี่ความเห็นแก่ตัวมันสร้างขึ้นมา แล้วมันทำลายธรรมชาติ ทำลายป่า ทำลายต้นน้ำลำธาร ทำลายธรรมชาติทุกอย่างทุกประการนั่นคนเห็นแก่ตัว แล้วมันก็สร้างอุบัติเหตุสารพัดอย่างเพราะว่าความเห็นแก่ตัวมันทำให้ไม่รอบคอบ เมื่อเห็นแก่ตัวแล้วมันกลัดกลุ้มอยู่แต่เรื่องเห็นแก่ตัว มันไม่รอบคอบ มันคิดไม่รอบคอบมันก็มีช่องโหว่ อุบัติเหตุมันก็เกิดขึ้นบนถนนหนทาง เช่นรถชนกัน เฉียดกันอะไรกันจนเป็นอุบัติเหตุบนถนน บนท้องถนนนี่คนมันเห็นแก่ตัว ถ้าไม่เห็นแก่ตัวสิ่งเหล่านี้ไม่มีเพราะมันระวังๆ นี่รายงานทางโรงพยาบาลออกมาใหม่ๆนี่ว่าคนเจ็บไปโรงพยาบาลเดี๋ยวนี้มีมูลเหตุมาจากอุบัติเหตุ อุบัติเหตุท้องถนนน่ะมากกว่าโรคมะเร็งเสียอีก คนเจ็บไปโรงพยาบาลมีเหตุจากอุบัติเหตุบนท้องถนนมากที่สุด มากที่สุด นี่มันสร้างอุบัติเหตุ ไอ้วันก่อนอะไรนะที่ว่าไอ้รถแก๊สระเบิด แล้วเมื่อ 2 วันนี้ไอ้ดินระเบิด ระเบิดมันเรื่องความเห็นแก่ตัวทั้งนั้นแหละของเจ้าของรถ ของคนขับรถ ของผู้เกี่ยวข้องทุกคน ดูสิมันตายกันตั้งกว่าร้อย กว่าร้อย 2 ครั้ง นี่ตัวอย่างอันใหญ่ๆที่มันจะเห็นได้ว่าไอ้อุบัติเหตุบนท้องถนนมาจากความเห็นแก่ตัว นี่คนเห็นแก่ตัวมุ่งจะได้ท่าเดียว สนุกสนานเอร็ดอร่อยท่าเดียว มันก็ทำอบายมุข ดื่มน้ำเมา เที่ยวกลางคืน ดูการเล่น เล่นการพนัน คบคนชั่วเป็นมิตร เกียจคร้านทำการงาน อบายมุขทั้ง 6 ประการก็สมบูรณ์แก่คนเห็นแก่ตัว มันจะเป็นอย่างไร มันก็ยุ่งหมด ยุ่งหมด ยุ่งหมดจนปัญหาเต็มไปหมด หลงทางน่ะมันก็เรื่องมีความเคียดแค้น มีโรคประสาทแล้วก็เป็นบ้า เป็นบ้า ทำอะไรไม่ถูกมากขึ้นๆ เป็นบ้ามากขนาดฆ่าพ่อฆ่าแม่ฆ่าลูกฆ่าเมีย แล้วฆ่าตัวเองตายตามไปน่ะเห็นแก่ตัว จบลงด้วยความเป็นบ้าหรือฆ่าตัวเองตาย ขอให้ดูเถอะความเห็นแก่ตัว เห็นแก่ตัว มาจากกิเลสคือความเห็นแก่ตัว ถ้าว่าหมดกิเลส ความเห็นแก่ตัวไม่มี สิ่งเหล่านี้ก็ไม่มี สิ่งเหล่านี้ก็ไม่มี เดี๋ยวนี้มีความเห็นแก่ตัว นี่สร้างเรือนจำเท่าไรก็ไม่พอ กระทรวงมหาดไทยเขาออกรายงานว่าไม่มีเงินจะสร้างเรือนจำ สร้างเรือนจำเท่าไรก็ไม่พอ สร้างตำรวจเท่าไรก็ไม่พอ สร้างศาลยุติธรรมเท่าไรก็ไม่พอ สร้างโรงพยาบาลบ้าเท่าไรมันก็ไม่พอ ไม่พอกับการที่คนมันเห็นแก่ตัวมากขึ้น มากขึ้น มากขึ้น ถ้าไม่เห็นแก่ตัวสิ่งเหล่านี้ก็ไม่ต้องสร้าง เพราะว่าไม่เห็นแก่ตัวแล้วมันไม่มีเรื่องร้ายกาจอะไรเกิดขึ้นได้ มันก็ไม่ต้องสร้าง ไม่ต้องสร้างคุกเรือนจำ ไม่ต้องสร้างตำรวจ ไม่ต้องสร้างศาล อาตมาขอพูดไว้เป็นการยืนยันว่าถ้าไม่เห็นแก่ตัวแล้วไม่ต้องมีรัฐบาลปกครองประเทศให้มันยุ่ง เลิกรัฐบาลเสียได้ทั้งหมดเลยถ้าไม่มีเห็นแก่ตัวในหมู่มนุษย์ พลเมือง รัฐบาลไม่มีงานทำหรอก ผู้ไม่เห็นแก่ตัวจะทำถูกต้องปลอดภัยไปหมด เลิกรัฐบาลเลิกการปกครองได้เลย เลิกพระศาสนาหมดเลยก็ได้ ไม่ต้องมีศาสนา เลิกศาสนาหมดเลยก็ได้ถ้ามนุษย์มันไม่เห็นแก่ตัว มันดีอย่างนั้นนะ งั้นจงศึกษาไอ้ธรรมะสูงสุดที่ว่าไม่มีตัวแล้วไม่เห็นแก่ตัว ถ้าทุกคนไม่เห็นแก่ตัวจะมีปัญหาอะไร มันไม่ต้องมีการปกครอง ทางกายทางจิตใจไม่ต้องมี เลิกศาสนาออกไปเสียหมดก็ได้ ไม่มีรัฐบาล ไม่ต้องมีการปกครองอะไรก็ได้ ถ้าว่ามันไม่เห็นแก่ตัว นี่มันมีความจริงที่ไม่ค่อยมอง ไม่ค่อยมอง แล้วก็เห็นแก่ตัว เห็นแก่ตัว เห็นแก่ตัว พวกเราทั้งหลายนี้ก็เห็นแก่ตัวระดับใดระดับหนึ่งแหละมันจึงเกิดความทุกข์ต้องมาศึกษาธรรมะ เพราะมันมีความเห็นแก่ตัว มีความทุกข์ระดับใดระดับหนึ่งจึงต้องมาศึกษาธรรมะ ถ้าไม่เห็นแก่ตัว เลิก ไม่ต้องมีกฎหมาย ไม่ต้องมีตำรวจ ไม่ต้องมีรัฐบาลที่จะปกครอง ไม่ต้องมีงานทำ ศาสนาก็ไม่มีงานทำหรอกถ้ามนุษย์มันไม่เห็นแก่ตัว มันไม่มีกิเลสใดๆ มันเป็นความสงบสุข สันติสุข เป็นศาสนาพระศรีอาริยเมตไตรย์เลย นี่เดี๋ยวนี้ยังมีความเห็นแก่ตัว มีความเห็นแก่ตัวไม่มีอย่างใดก็อย่างหนึ่ง เอ้าถ้าว่าครูเห็นแก่ตัวมันก็ขูดรีดนักเรียน หมอเห็นแก่ตัวมันก็ขูดรีดคนเจ็บไข้ ตุลาการเห็นแก่ตัวมันก็ขูดรีดจำเลย พระเจ้าพระสงฆ์เห็นแก่ตัวก็เป็น .......(นาทีที่ 58:31) ขูดรีดทายกทายิกา ทำนาบนหัวทายกทายิกา ถ้าพระเจ้าพระสงฆ์มันเห็นแก่ตัว คุณลองคิดดูให้ดีๆ หมดความเห็นแก่ตัวก็คือหมดปัญหาแหละ ถ้าคนกรุงเทพฯยังเห็นแก่ตัวอยู่ ยุง ยุงจะครองกรุงเทพฯอยู่ตลอดเวลา ถ้าคนกรุงเทพฯยังมีความเห็นแก่ตัวอยู่ ยุงจะครองกรุงเทพฯอยู่ตลอดไป ถ้าคนกรุงเทพฯหมดความเห็นแก่ตัวเมื่อไร ยุงก็ไม่มีโอกาสครองกรุงเทพฯ คิดดูให้ดีสิมันมารวมอยู่ที่ความเห็นแก่ตัว มีตัวเห็นแก่ตัว เป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ทุกอย่างทุกประการ งั้นยินดีพอใจที่จะกำจัดความเห็นแก่ตัว รู้ปฏิจจสมุปบาทว่าความเห็นแก่ตัวหรือความทุกข์เกิดขึ้นอย่างไร แล้วก็ปฏิบัติอานาปานสติ สามารถที่จะมีธรรมะ กำจัดความเห็นแก่ตัวออกไปโดยสิ้นเชิง ปัญหามันก็หมด ปัญหามันก็หมด ทุกคนมีแต่ความสงบเย็น สงบเย็น สงบเย็น ก็เป็นประโยชน์ เป็นประโยชน์ รักใคร่ รักใคร่ซึ่งกันและกัน ปัญหามันหมดเท่านี้แหละ เป็นประโยชน์แก่กันและกัน ขอให้ถือว่าการทำประโยชน์แก่ผู้อื่นนั้นมันก็เท่ากับทำให้ตัวเราเองด้วย เพราะว่าเมื่อทำประโยชน์แก่ผู้อื่นไอ้โลกนี้มันสงบ โลกนี้ทั้งโลกมันสงบ แล้วเราก็อยู่ในโลกนี้เพราะงั้นเราก็พลอยได้รับประโยชน์ด้วย งั้นจงถือหลักของธรรมชาติว่าเกิดมาเพื่ออยู่ด้วยกัน เป็นเพื่อนเกิด เพื่อนแก่ เพื่อนเจ็บ เพื่อนตายด้วยกันอย่างนี้ มันก็หมดปัญหา เพราะงั้นเราจึงช่วยผู้อื่นตามที่เราจะช่วยได้ ตามความสามารถที่เราจะช่วยได้ เมื่อช่วยตัวเองเสร็จแล้วก็ยิ่งดี ช่วยผู้อื่นสนุกไปเลย แต่อย่าลืมว่าเราช่วยตัวเองได้เท่าไร เราก็ช่วยผู้อื่นได้เท่านั้น ดังนั้นเราช่วยผู้อื่นไปพรางก็ได้ ช่วยตัวเองไปพราง ช่วยผู้อื่นไปพราง สิ่งใดเราช่วยตัวเองได้แล้วเราก็ช่วยผู้อื่นได้ ทำไปพรางได้ นี่เป็นช่วยกันสร้างสันติภาพขึ้นมาในโลก ความสงบสุขขึ้นมาในโลก เดี๋ยวนี้มันมีแต่คนเห็นแก่ตัว เห็นแก่ตัว เห็นแก่ตัวไปเสียทุกอย่างสารพัดอย่าง มันเต็มไปด้วยวิกฤตการณ์ความเลวร้ายทุกอย่างกำลังมากขึ้นในโลก มากขึ้นในโลก ความเบียดเบียนกันคือสงครามระหว่างบุคคล ระหว่างประเทศชาติ สงครามมันก็มีตลอดเวลา ตลอดเวลา ไม่สงบเย็นและไม่เป็นประโยชน์แก่กันและกัน
ในวันนี้เราจะพูดธรรมปริทัศน์เรื่องธรรมะจะให้อะไรแก่เรา ก็หมายความว่าให้ความสงบเย็นและเป็นประโยชน์ เมื่อมีธรรมะ ปฏิบัติธรรมะ ใช้ธรรมะแล้ว มันก็ให้ความสงบเย็นและความเป็นประโยชน์ ขอโอกาสพูด 2 เรื่องนี้ให้ชัดเจนออกไปอีกทีหนึ่งว่าสงบเย็น สงบเย็นมันเป็นอย่างไร นิพพานแปลว่าเย็น ไม่ได้แปลว่าตาย มันมีการสอนผิดๆว่านิพพานคือตาย ตายแล้วไม่เกิดอีกอย่างนั้นกันเสียมากว่านิพพานแปลว่าตาย มันเป็นคำสอนในลัทธิอื่น ในศาสนาอื่นที่ไม่ใช่พุทธศาสนา ก็สอนอยู่อย่างนั้น แล้วเผอิญมันก็ได้เข้ามาสู่เมืองไทย บางทีจะมาก่อนพุทธศาสนาเสียอีก ลัทธิอื่นที่สอนว่านิพพานคือตายน่ะเข้ามาก่อนพระพุทธศาสนา มาสอนคนที่นี่เข้าใจอย่างนั้นไปก่อน แล้วอย่าลืมว่าทุกศาสนาที่ในอินเดีย ในอินเดียเขามุ่งหมายนิพพาน นิพพานกันทั้งนั้นแหละ แต่อธิบายต่างกัน ความหมายต่างกัน นิพพานไปตามแบบของตนๆ ของตน ที่นี้พุทธศาสนาก็มีนิพพานตามแบบของพุทธศาสนา คือเย็นๆ เย็นเพราะไม่มีไฟ ไฟคือความร้อน คือกิเลส หมดกิเลสก็เป็นนิพพาน ที่จริงทุกศาสนาใช้คำว่านิพพานในความหมายที่เย็นเหมือนกัน เย็นเหมือนกันน่ะ ไอ้พวกนั้นเรียกว่าตายเสียมันก็เย็น ก็เรียกว่าตายเป็นนิพพาน เพื่อทำความเข้าใจเรื่องนี้ให้ดีสักหน่อยจะพูดกันถึงเรื่องกำเนิดของคำว่านิพพานหรือเย็นนี่ตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ยังไม่มีศาสนาเกิดขึ้น ยังไม่มีศาสนาใดๆเกิดขึ้น มนุษย์มีแล้ว พูดจากันอยู่แล้ว เขาใช้คำว่าเย็นนี่คือนิพพาน นิพพานนี่หมายถึงในอินเดีย ภาษาอินเดีย ซึ่งเป็นที่เกิดของภาษาบาลี นี่ภาษาพุทธศาสนาน่ะประชาชนเขาใช้คำว่านิพพาน นิพพานะ นิพพานนี่มาแต่ก่อน ก่อนแต่ที่จะเกิดศาสนาใดๆในความหมายว่าเย็น เย็น ไม่เกี่ยวกับศาสนาเลย แต่เขาก็พูดคำนี้กันอยู่ก่อนแล้ว เมื่อไฟดับก็เรียกว่าไฟนิพพาน “ปัชโช ปัตเสวะ นิพพานัง” “นิพพานัง” แปลว่าดับ “ปัชโช ตัสสะ” ไฟ ดับไฟคือนิพพาน เมื่ออาหารร้อนอยู่ จะเป็นข้าวต้มข้าวสวย แกงกับอะไรยังร้อนอยู่ ยังกินไม่ได้ ก็ต้องรอ รอจนกว่ามันจะนิพพาน พอมันเย็นแล้วกินได้ คนในครัวก็ร้องบอกว่านิพพานแล้ว มันนิพพานแล้วมาชิมกันได้ ของกินยังร้อนอยู่กินไม่ได้น่ะคือมันยังไม่นิพพาน นี่ภาษาพูดธรรมดาไม่เกี่ยวกับศาสนาพูดกันอยู่อย่างนี้ ร้อนหรืออะไรก็ตามก็เรียกว่านิพพาน ทำให้เย็น ทำให้เย็นเรียกว่าทำให้มันนิพพาน ช่างทองเอาน้ำรดทองที่หลอมเคว้งละลายอยู่ในหม้อให้เย็นลงก็เรียกว่าทำให้มันนิพพาน คำว่านิพพานนั่นแปลว่าเย็นหรือทำให้เย็นอย่างนี้ เป็นชาวบ้านใช้พูดอยู่ตามธรรมดาในครัวหรือที่ไหน ที่ไหนก็ตาม แล้วต่อมาก็พบเรื่องว่าทำให้มันหมดพิษร้อนพิษร้ายก็เรียกว่าทำให้นิพพาน นี่ออกมาถึงสัตว์เดรัจฉาน สัตว์ดุร้ายในป่าเช่นช้าง เช่นควาย เช่นวัวเป็นของป่าเอามา ดุร้ายใช้การไม่ได้ ฝึกมันๆ ฝึกมันจนเชื่อง เชื่องเหมือนกับแมว ช้างป่าเอามาฝึกจนเชื่องเหมือนกับแมว วัวป่าควายป่าเอามาฝึกกันจนเชื่องใช้การใช้งานได้ ก็ใช้คำว่านิพพานกับสัตว์เหล่านี้เหมือนกัน สัตว์เหล่านี้นิพพานแล้วคือหมดอันตรายแล้ว หมดไอ้ความร้อนความโง่ความอะไรของมันหมดแล้ว ให้เรียกว่ามันนิพพาน นิพพาน เย็น คือมันเย็นเหมือนกันหมด ทีนี้ต่อมาเรื่องมันมาจนถึงกับว่าคนนั่นแหละมันรู้จักความร้อนในทางภายใน ในทางจิตใจ ไม่ใช่ร้อนอยู่ที่ถ่านไฟหรือเตาไฟหรือไอ้อย่างนั้น มารู้เรื่องร้อนในจิตใจมันก็อยากจะดับร้อนในจิตใจว่าอะไรจะเย็น อะไรจะเย็น คนแรกพบว่าโอ้วได้อย่างที่ต้องการนั่นแหละคือเย็น เมื่อเราได้อย่างที่เราต้องการนั่นแหละคือเย็น คนพวกนี้เลยบัญญัติขึ้นมา สอนขึ้นมาว่ากามารมณ์ที่ได้ตามที่ต้องการนั่นแหละเป็นนิพพาน งั้นที่ไหนมีกามารมณ์ที่ได้ตามต้องการที่นั่นเป็นนิพพาน จะเรียกว่าสวรรค์จะเรียกว่าอะไรที่ไหนก็ได้ กามารมณ์ที่ได้ตามต้องการนั้นคือนิพพาน คำกล่าวนี้ก็มีอยู่ในพระสูตรในพระคัมภีร์ในพระไตรปิฎก เมื่อเล่าถึงศาสนาหรือลัทธิของผู้อื่นว่าพวกนี้ได้ถือเอากามารมณ์เป็นนิพพานกันอยู่ยุคหนึ่งสมัยหนึ่งในโลกนี้ ในโลกนี้ คนจึงลุ่มหลงในทางที่จะแสวงหาไอ้กามารมณ์มาดับทุกข์ดับร้อน แต่มันก็เป็นเรื่องของความโง่มันไม่ใช่เรื่องของความจริง มันก็ดับไม่ได้ถึงที่สุด มันก็ดับได้แต่หลอกๆหรือผิวๆหรือกลบเอาไว้ กลบเอาไว้ ไม่ได้ดับจริง ต่อมานานเข้าอีกก็คนที่ฉลาดกว่านั้นน่ะ เป็นพวกฤษี มุนี ชีไพรอะไรก็ตามที่ไปนั่งคิดนั่งค้นอยู่ในป่าในดง เกิดพบขึ้นว่าโอ้วเย็นกว่านั้นโว้ยก็คือสมาธิ กามารมณ์ไม่ใช่เย็นหรอก ไม่ใช่ต้องเย็น เขาก็ค้นพบสมาธิ ทำจิตให้เป็นสมาธิแล้วก็เย็น เย็น และสมาธินี่ก็มีหลายชั้นหลายระดับสูงขึ้นไป สูงขึ้นไป สูงขึ้นไปจนหลายระดับ ทุกระดับมีความเย็นตามมากตามน้อย สมาธิที่เอารูปธรรมเป็นอารมณ์ก็มีอยู่ 4 ชั้น ที่เอานามธรรมเป็นอารมณ์ก็มีอยู่ 4 ชั้น เรียกว่า “รูปฌาน” เรียกว่า “อรูปฌาน” เย็นๆ เย็นๆสูงขึ้นไปจนถึงอรูปฌาน ก็ไปติดกันอยู่ที่นั่นแหละไปติดตันกันอยู่ที่อรูปฌานชั้นสูงสุดเป็นนิพพานจึงเกิดพระพุทธเจ้าขึ้นมา พระพุทธเจ้าก็ไปเรียนศึกษา ศึกษาลัทธิเหล่านี้จนหมดแล้วเหมือนกัน ท่านว่าโอ้ยยังไม่ชัด ยังไม่ชัด ไอ้ที่ว่าเนวสัญญานาสัญญายตนอรูปฌานอันสุดท้ายเป็นภวัคคพรหมของพวกนั้นน่ะ ยัง ยังไม่ใช่นิพพาน มันจึงมาบอกใหม่ว่าสิ้นราคะ สิ้นโทสะ สิ้นโมหะเป็นนิพพาน ต้องสิ้นไฟคือราคะ โทสะ โมหะจึงจะเป็นนิพพาน มีบาลีสั้นๆง่ายๆ จำง่ายๆว่า “ราคกฺขโย โทสกฺขโย โมหกฺขโย นิพพานัง” สิ้นไปแห่งราคะ สิ้นไปแห่งโทสะ สิ้นไปแห่งโมหะนั่นคือนิพพาน นี่นิพพานมันมีประวัติมาอย่างนี้ มันมีคำพูดที่เปลี่ยนแปลงมาอย่างนี้ เปลี่ยนแปลงมาอย่างนี้ ตั้งแต่ว่าถ่านไฟในเตาดับ จนถึงกับว่าสัตว์เดรัจฉานหมดพิษร้าย จนกระทั่งว่ามีสมาธิ สมาธิ สมาธิมาตามลำดับๆสูงสุด พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นเพราะมีปัญญา ปัญญาดับราคะ โทสะ โมหะได้เป็นนิพพาน การศึกษาและการปฏิบัติของเราโดยเฉพาะอานาปานสติภาวนาเพื่อจะดับไฟคือราคะ โทสะ โมหะ แต่เราก็เน้นกันมากที่ว่าดับไฟคือโมหะน่ะเพราะว่ามันลึกซึ้งมันละเอียดน่ะ มันอยู่เป็นลึกซึ้งกว่าอะไรๆเพราะว่าถ้าโมหะแล้วมันก็ราคะเลยโทสะแหละ ที่มันราคะก็เพราะโมหะ มันโทสะก็เพราะมันโมหะ ถ้าไม่โมหะมันก็ไม่ราคะไม่โทสะ แต่แยกกันเป็นประเภทไป เป็นประเภทไป กิเลสนี่มันมีอยู่เป็น 3 ประเภทราคะ โทสะ โมหะ ประเภทราคะหรือโลภะก็แล้วแต่จะเรียก ประเภทแรกมันจะเอาเข้ามา เอาเข้ามา เพราะมันรักเพราะมันต้องการ มันเอามา เอามา เอามายึดถือ กิเลสประเภทราคะ ทีนี้กิเลสประเภทที่ 2 มันไม่เอา มันไม่ต้องการ มันเกลียด มันจะฆ่า มันจะทำลาย มันผลักออกไปนี่เรียกว่าพวกโทสะ โทสะ ยิ่งไอ้พวกสุดท้ายนี่มันโง่จนไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ไม่รู้เป็นอะไรมันก็เลยวนเวียนอยู่นั่นน่ะ ก็เรียกว่ามีอาการเหมือนกับวิ่งอยู่รอบๆ วิ่งอยู่รอบๆด้วยความหลงแล้วก็สงสัยเรียกว่าโมหะ โมหะ กิเลสประเภทที่ 1 ดูดดึงเข้ามาหาตัวเรียกว่าราคะ กิเลสประเภทที่ 2 ผลักออกไปจากตัวเรียกว่าโทสะ กิเลสที่ 3 วิ่งอยู่รอบๆ วิ่งอยู่รอบๆไม่รู้จะทำอะไรดีเรียกว่าโมหะ ราคะ โทสะ โมหะทำให้เกิดความร้อน ร้อนยิ่งกว่าไฟธรรมดาเสียอีก เพราะว่ามันเผาข้างใน ไฟธรรมดามันเผาข้างนอก แต่ไฟกิเลสมันเผาจิตใจมันร้อนที่สุด งั้นดับไฟทั้ง 3 นั้นเสียคือนิพพาน นิพพานแปลว่าเย็นๆ เย็นๆ เย็นเพราะไม่มีไฟ นิพพานสูงสุดของพระพุทธเจ้า สอนสูงสุดจนไม่มีใครจะมาสอนให้สูงกว่านั้นได้อีกต่อไป นิพพานนั้นคือดับกิเลส ดับไฟคือกิเลส เย็นๆ เย็นเพราะหมดไฟคือกิเลส นี่คือนิพพาน นิพพานเป็นจุดหมายปลายทางที่จะได้รับเพราะการปฏิบัติพระพุทธศาสนาอย่างถูกต้องและแท้จริง นี่ธรรมะจะให้สิ่งนี้แก่เรา ธรรมะจะให้พระนิพพานแก่เรา ปริทัศน์บทที่ 3 ที่ว่าธรรมะจะให้อะไรแก่เราน่ะคือให้นิพพาน นิพพาน เย็นจริง เย็นแท้จริง งั้นขอให้ทราบไว้ ทราบว่ามันเย็นแท้จริงมันต้องหมดไฟคือกิเลส พอไม่มีกิเลสแล้วก็ไม่มีความผิดพลาดใดๆแหละ ไอ้ความผิดพลาดที่ว่ามันกัดเจ้าของ พูดกันวันก่อนแล้วขอร้องว่าอย่าลืมเสีย ช่วยจำไว้ดีๆ ความรักก็กัด ความโกรธก็กัด ความเกลียดก็กัด ความกลัวก็กัด ความตื่นเต้นก็กัด วิตกกังวลก็กัด อาลัยอาวรณ์ก็กัด อิจฉาริษยาก็กัด ความหวงก็กัด ความหึงก็กัด อย่างน้อย 10 อย่างนี้มันเป็นตัวเผาไหม้ ไฟเผาไหม้ ถ้าไม่มีอย่างนี้ก็มันไม่มีกิเลส มันก็ไม่ร้อนมันก็ไม่กัด ชีวิตนี้ไม่มีอะไรกัด นี่เราได้ความสงบเย็นในชีวิต แล้วก็เป็นประโยชน์จะทำประโยชน์อะไรก็ได้ นี่เรียกว่าได้ความสงบเย็นและเป็นประโยชน์ สงบเย็นนั้นมันคือนิพพาน นิพพานนี้มีประวัติมาโดยพิสดารดังที่กล่าวมาแล้ว นับตั้งแต่ว่าดับของไฟในเตาหรือที่ถ่านไฟมันดับ อาหารการกินร้อนอยู่มันดับ ช่างทองดับไอ้ความร้อนของทองที่หลอม หรือว่าสัตว์ดับความเป็นอันตรายร้ายกาจของมัน หรือว่าคนได้กามารมณ์มากลบเกลื่อนจิตใจพักๆหนึ่ง หรือว่าคนได้สมาธิได้ฌานได้สมาบัติมาตามลำดับๆ เรียกว่าเย็นๆ เย็น ถึงที่สุดแห่งความเย็นชนิดนั้นแล้วจึงเกิดความเย็นตามแบบของพระพุทธเจ้าคือนิพพาน เพราะหมดไฟคือกิเลสที่มีอยู่ตามธรรมชาติ เราต้องเข้าใจว่าตามธรรมชาติที่ยังโง่ยังไม่รู้อะไรน่ะชีวิตจะต้องเกิดราคะ โทสะ โมหะเป็นประจำวัน ไปดูสิ เมื่อเราเองก็ดี ใครๆก็ดีมันยังไม่รู้ธรรมะอะไร ราคะ โทสะ โมหะมันก็เกิดขึ้นเป็นประจำวัน ไอ้คนโง่มันก็ดับไม่ได้มันก็ร้อนไปด้วยไอ้กิเลส เผลอก็ว่าเห็นแก่ตัว เป็นบ้า ฆ่าตัวตายไปอย่างที่กล่าวมาแล้ว มันเห็นแก่ตัวเพราะความโง่เพราะความไม่รู้ ถ้ามันรู้มันไม่เห็นแก่ตัวมันก็มีความสงบเย็น มีความสงบเย็น เราจึงถือเอาความสงบเย็นมาเป็นผลเลิศผลสุดท้าย ความสงบเย็นแห่งจิตแห่งวิญญาณ เป็นอิสระจากความทุกข์แล้วก็สามารถจะทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น นี่แหละนิพพานที่จะเป็นผลได้รับจากธรรมะที่ปฏิบัติครบถ้วนและถูกต้องแล้ว นิพพานไม่ใช่ความตาย ถ้าเชื่อว่าที่นั่งที่อยู่ที่นี่ทุกคนเมื่อเป็นเด็กๆเคยเล่าเรียนในโรงเรียน ครูในโรงเรียนจะบอกว่านิพพานคือความตายของพระอรหันต์ มันมีราชาศัพท์ ตายของพระราชาเรียกอย่างนั้น ตายของไอ้รองลงมาเรียกอย่างนั้น ตายของพระอรหันต์น่ะ ตายของช้างม้าวัวควายเรียกอย่างนั้น ตายๆอย่างนั้น บอกตายของพระอรหันต์เรียกว่านิพพาน ไปเข้าใจว่านิพพานคือการตาย ทีนี้มารู้ความจริงกันเสียทีว่าตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้นนิพพานไม่ได้แปลว่าตายหรอก ไม่ได้แปลว่าตายของคนหรอก ถ้าอยากจะใช้คำว่าตายก็ตายของกิเลส กิเลสตายนั่นแหละคือนิพพาน คนยังไม่ต้องตาย คนอยู่อย่างหมดกิเลส มันก็มีความสุข มีความเป็นประโยชน์ไปตามกัน งั้นนิพพานไม่ใช่ตาย สอนกันมาผิดๆตั้งแต่เล็กๆโรงเรียนสอน มารู้เสียใหม่ว่ามันไม่ใช่ตาย ถ้าใครอยากจะตายนะไปตายของกิเลสสิ อย่าตายของชีวิต ถ้าเชื่อว่านิพพานคือความตายแล้วถ้าตายของกิเลส กิเลสตายหมดนั่นน่ะนิพพาน ชีวิตยังอยู่ ชีวิตยังทำประโยชน์อะไรต่อไป นี่ข้อหนึ่งที่เขาสอนกันผิดๆว่านิพพานแปลว่าตาย เลิกๆ เลิกโง่เรื่องนี้กันเสียทีนิพพานไม่ได้แปลว่าตาย เดี๋ยวจะได้พูดให้ชัดเจนยิ่งกว่านี้ตามพระพุทธวจนะ นี่อยากจะพูดถึงไอ้ความเข้าใจผิดเรื่องพระนิพพานอีกเรื่องหนึ่ง อีกเรื่องหนึ่ง คนแก่ๆโดยเฉพาะคนแก่ๆตามศาลาวัด กินวัดน่ะคนแก่ๆ แม้แต่พระเจ้าพระสงฆ์ก็ได้ไอ้พวกรุ่นนั้นน่ะจะพูดว่านิพพานน่ะต้องปฏิบัติไปอีกร้อยชาติพันชาติหมื่นชาติแสนชาติ ตายแล้วเกิด ตายแล้วเกิด ตายแล้วเกิดอีกแสนๆชาติจึงจะนิพพาน นี่มันก็บ้า มันหลับตาพูด มันไม่รู้แล้วมันก็พูดตามๆกันมา สิ้นกิเลสเมื่อไรก็นิพพานที่นั่นเดี๋ยวนั้น ที่นี่เดี๋ยวนี้ก็ได้ นิพพานน่ะสิ้นกิเลสไม่ต้องรอ พอสิ้นกิเลสก็มีนิพพาน เอ้าทีนี้อยากจะให้เกียรติมันหน่อย ให้คำพูดของมันถูกต้องว่านิพพานต้องรออีกหมื่นชาติแสนชาติอย่างนี้ก็เอา แต่ขอให้นับชาติให้เป็น นับสิ่งที่เรียกว่าชาติให้เป็น อย่างที่เราเรียนปฏิจจสมุปบาทที่พูดมาแล้ว ปฏิจจสมุปบาทน่ะ อายตนะ วิญญาณ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพชาติ และทุกข์ มีคำว่าชาติรวมอยู่ในปฏิจจสมุปบาท มีปฏิจจสมุปบาทที่ไหนก็มีชาติรวมอยู่ที่นั่น ปฏิจจสมุปบาทวันหนึ่งเกิดได้หลายหน เดี๋ยวเกิดทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจเวียนไปเวียนมาวันหนึ่งๆเกิดปฏิจจสมุปบาทได้หลายหนหรือหลายรอบ ทุกๆรอบมันมีชาติ มีชาติ ถ้าสมมติว่าวันนี้เกิดปฏิจจสมุปบาท 30 รอบมันก็มี 30 ชาติแล้วในวันเดียว บางคนมันเกิดเก่ง เกิดตัวกูของกูอย่างนั้นอย่างนี้ตามปฏิจจสมุปบาทตั้ง 100 ชาติ ตั้ง 200 ชาติก็ได้น่ะ หมายความว่าเกิดปฏิจจสมุปบาททีหนึ่งก็มีชาติหนึ่งแหละ เกิดปฏิจจสมุปบาททีหนึ่งก็รอบหนึ่งก็คือมีชาติหนึ่งเสมอไป ถ้าวันหนึ่งมันเกิด 200 ชาติวันเดียวมันก็ 200 ชาติแหละ ถ้ามันเกิด 200 รอบน่ะ ปฏิจจสมุปบาทเกิด 200 รอบมันก็เกิด 200 ชาติ เดือนหนึ่งมันเกิดเท่าไร แล้วปีหนึ่งมันเกิดเท่าไร 20 ปี 30 ปีมันเกิดกี่หมื่นกี่แสนชาติอย่างนี้ก็ได้เหมือนกัน คือมันผ่านปฏิจจสมุปบาทซึ่งมีชาติๆ ชาติมาตั้งหลายหมื่นหลายแสนครั้งมันจึงจะนิพพานก็ได้ เพราะมันเจ็บปวดๆ เจ็บปวดๆ ทนไม่ได้มาเป็นแสนชาติ มันก็เปลี่ยน มันก็เปลี่ยน มันก็ปฏิบัติ มันก็เปลี่ยนเพราะฉะนั้นไม่ทันตาย ยังไม่ทันจะเข้าโลง นับชาติอย่างนี้ก็ได้ถึงหมื่นชาติแสนชาติก็ได้เหมือนกัน เอ้าถ้าอย่างนี้ยอมรับ ยอมรับในข้อที่พูดว่านิพพานต้องรออีกหมื่นชาติแสนชาติก็ได้เหมือนกัน แต่ต้องชาติอย่างนี้ ไม่ใช่ชาติเข้าโลง ชาติเข้าโลงไม่มีเรื่อง แต่ว่าชาติอย่างนี้มันมีเกิดทุกทีเป็นทุกข์ทุกที เกิดทุกทีเป็นทุกข์ทุกที ถ้าวันหนึ่งเกิด 200 ชาติก็เป็นทุกข์ 200 ครั้งนะ ไปดูให้ดีให้เห็นชัดว่าไอ้ชาติน่ะคืออย่างนี้ แล้วก็เกิดทุกทีเป็นทุกข์ทุกที เมื่อเกิดมาตั้งหลายหมื่นหลายแสนชาติมันก็เบื่อๆ เบื่อมันก็ปฏิบัติดับทุกข์ไปสิ้นชาติ นี่คือนิพพาน นิพพานแปลว่าเย็น เย็น เย็น สิ่งที่ธรรมะจะให้แก่เราก็คือนิพพาน สิ่งที่ธรรมะจะให้แก่เราในที่สุดก็คือสิ่งที่เรียกว่านิพพาน สงบเย็นและเป็นประโยชน์ สงบเย็นและเป็นประโยชน์ ประโยชน์ตัวเองก็ได้ ประโยชน์ผู้อื่นก็ได้ ประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกันแยกไปจากกันไม่ได้ก็ได้ มันมีอยู่เป็น 3 ประโยชน์ ประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน ประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกันไม่แยกกัน สงบเย็นแล้วจะเป็นประโยชน์อย่างที่ว่ามานี้คือเราได้จากธรรมะที่เรียนรู้แล้วปฏิบัติแล้ว มันก็ให้ผลเป็นนิพพานคือเย็น เย็น
เอ้าทีนี้ก็จะพูดเรื่องเย็นของพระนิพพานนี้ให้เข้าใจชัดเจนอีกทีหนึ่งว่ามันเย็นสักกี่มากน้อย จะต้องรู้ว่าไฟมันร้อนเท่าไร ไฟธรรมดาร้อนเท่าไร แล้วไฟกิเลสราคะ โทสะ โมหะร้อนเท่าไร พอหมดไฟโดยประการทั้งปวงมันจะไม่ร้อน มันจะเย็นสักเท่าไร ความเย็นเรียกว่านิพพาน ท่านจัดว่าเป็นทาสตามธรรมชาติชนิดหนึ่งด้วยเหมือนกัน เรียกว่า “นิพพานธาตุ” นิพพานธาตุ นิพพานเป็นธาตุตามธรรมชาติ ที่พูดอย่างนี้ก็เพื่อว่าอย่าเอานิพพานเป็นตัวตน อย่าให้นิพพานเป็นตัวตนขึ้นมาเลยมันจะโง่ อันสุดท้ายเลยจนถอนไม่ออกถอนไม่ขึ้น แม้นิพพานก็เป็นสักว่าธาตุตามธรรมชาติ จิตลุถึงธาตุนั้นมันก็คือจิตลุถึงนิพพาน หมายความว่าจิตหมดกิเลส จิตหมดกิเลส นิพพานธาตุตามธรรมชาติก็เข้าถึงจิตนั้น เข้าสัมผัสกับจิตนั้น นี่เรียกว่าจิตลุถึงพระนิพพาน เมื่อใดไม่มีกิเลสเมื่อนั้นก็ไม่มีไฟ เพราะฉะนั้นดูให้ดีๆเป็นข้อแรก เป็นข้อแรก อันดับแรกก่อนว่าบางเวลา บางเวลานะที่เราไม่มีกิเลสน่ะ เวลาใดจะนาทีสองสามนาทีอะไรก็ตามเราไม่มีกิเลส ไม่มีราคะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ เวลานั้นจิตของเราก็เย็น เย็น แต่มันน้อยไปมันไม่สังเกตบ้าง มันไม่สนใจบ้างเพราะมันไปบ้ากามบ้าอะไรเสียที่ไหนก็ไม่รู้ จิตว่างจากกิเลสชั่วขณะเลยไม่รู้ นิพพานชั่วขณะเลยไม่รู้ งั้นขอให้รู้ว่าบางเวลาเรานี่แหละกิเลสไม่เกิดขึ้น จิตนี่แหละกิเลสไม่ได้เกิดขึ้น มันก็มีความเย็นตามธรรมชาติแต่มันน้อยเกินไป แล้วจิตมันไปหลงใหลยึดถืออะไร หลับหูหลับตาอยู่ ไม่รู้จักนิพพานน้อยๆชนิดนี้ เวลาที่กิเลสไม่เกิดเวลานั้นเป็นนิพพาน เวลานั้นหล่อเลี้ยงชีวิต เอ้าถ้าสมมติว่าจิตนี้มีกิเลสเกิดหรือกิเลสเกิดแก่จิตทุกนาที ทุกนาที ทุกนาทีทั้ง 24 ชั่วโมงเดี๋ยวเสร็จแล้วมันก็ตายเองแหละ คนนั้นมันต้องตายคือมันเป็นบ้าหรือตาย ช่วยดูกันตอนนี้หน่อยทีว่าถ้ากิเลสไอ้ราคะ โทสะ โมหะมันเกิดทั้ง 24 ชั่วโมงไม่ว่างเว้นเลยนะ มันก็ต้องเป็นบ้า หรือไม่งั้นก็ตายภายในวัน 2 วัน นิพพานมันเข้ามาแทรก มาแทรกเข้าไว้ให้มากพอ คือกิเลสไม่ลุกเป็นไฟมาก มีมากพอที่จะไม่ต้องตาย อย่างน้อยเวลานอนหลับเสียมันก็ไม่มีไฟ ไม่มีกิเลสเผา เราจึงต้องนอนหลับให้เพียงพอ มันมีเวลาที่ว่างจากกิเลสตามธรรมชาติโดยธรรมชาตินั้นเพียงพอ ก็เลยไม่ต้องตาย ไม่ต้องตาย นี่เป็นนิพพานตามธรรมชาติ กิเลสไม่เกิดเองตามธรรมชาติมันก็มีอยู่ งั้นเมื่อใดมันไม่เกิดกิเลสอย่างนี้จงดูให้ดี ดูให้ดี มันมา มันมา มันมาเป็นประจำแต่เราไม่ต้อนรับ เราไม่สนใจ เราไปหลงใหลไอ้เรื่องกิเลส เราจะรู้คุณของนิพพานตามธรรมชาติเกิดเองอย่างนี้ก็ว่าเอ้อมันหล่อเลี้ยงชีวิตของเราไว้ มิฉะนั้นเราจะต้องตาย พูดกันสั้นๆง่ายๆว่าถ้ามันเกิดกิเลสทั้ง 24 ชั่วโมงสองสามวันก็ตายหรือเป็นบ้าแล้วก็ตาย เวลาที่ไม่เกิดกิเลสใน 24 ชั่วโมงนั่นนานเท่าไร นั่นแหละมันทำให้รอดอยู่ ทำให้รอดอยู่ งั้นขอบคุณพระนิพพานอย่างนี้ ขอบคุณพระนิพพานอย่างนี้ที่ช่วยให้เราไม่ต้องตาย อยู่อย่างทนทุกข์ก็ยังดี คือไม่ต้องตาย มันจะได้ดับทุกข์ต่อไป ขอบคุณพระนิพพาน ขอบคุณพระนิพพานที่ทำให้ไม่ต้องตาย ให้ยังเหลืออยู่สำหรับต่อสู้กับความทุกข์ต่อไป อย่างน้อยก็ต้องขอบคุณพระนิพพานเรื่องนี้ เดี๋ยวนี้มันมีสัตว์อกตัญญู เป็นนักปราชญ์บัณฑิตด้วยซ้ำไป อยู่ในกรุงเทพฯนั้นด้วยซ้ำไปมันเกลียดนิพพาน มันเกลียดเรื่องนิพพาน ไม่ให้เอานิพพานไปสอนในโรงเรียน ไม่ให้เอานิพพานไปใช้ในกิจการใดๆเช่นการพัฒนาเป็นต้น มันเกลียดนิพพาน หาว่านิพพานนี่ทำให้ไม่พัฒนาตายด้านไม่มีประโยชน์อะไร บัณฑิตนักปราชญ์แม้ในกรุงเทพฯนั่นแหละ ท้าทายอย่างนี้ ยืนยันอย่างนี้ว่ามันยังมีคนเกลียดนิพพาน มันเป็นสัตว์อกตัญญู ไม่รู้ข้อที่ว่านิพพานคุ้มหัวมันให้รอดชีวิตอยู่วันหนึ่งๆ วันหนึ่ง คือไม่เกิดกิเลสทั้ง 24 ชั่วโมง เอาล่ะเดี๋ยวนี้เราก็รู้แล้วว่ามันมีนิพพานอย่างนี้อยู่ แต่มันไม่ดับทุกข์นี่มันมีโอกาสที่จะเกิดความทุกข์อยู่มากนี่ ยังเกิดราคะ โทสะ โมหะเผาอยู่ตลอดเวลานี่เราจะต้องจัดการให้มันหมด คือให้มีนิพพานจริง นิพพานแท้ นิพพานที่หมดราคะ โทสะ โมหะโดยแท้จริง ทำอย่างไร ก็นี่งรู้ปฏิจจสมุปบาท และปฏิบัติอานาปานสติ มีธรรมะจากอานาปานสติสมบูรณ์แล้วก็ดับกิเลสได้ เป็นนิพพานแท้จริงขึ้นมาได้ ปฏิบัติอานาปานสติสำเร็จก็จะเกิดไอ้ปัญญาสูงสุดขึ้นมาตามลำดับ ละกิเลสไปตามลำดับ ละกิเลสไปตามลำดับคือเป็นพระอรหันต์นั่นเอง มีนิพพานธาตุอย่างใดอย่างหนึ่งก็เป็นพระอรหันต์อย่างใดอย่างหนึ่งใน 2 อย่าง มีนิพพานประเภทสอุปาทิเสสะก็เป็นพระอรหันต์ประเภทสอุปาทิเสสะ ดับกิเลสเป็นอนุปาทิเสสะก็เป็นพระอรหันต์ประเภทอนุปาทิเสสะ ประเภทสอุปาทิเสสะนั้นเป็นพระอรหันต์แล้ว กิเลสสิ้นแล้ว แต่ความรู้สึกทางเวทนายังไม่สิ้นสุด เวทนายังไม่เย็นสนิท พระอรหันต์ประเภทนี้ยังรู้สึกว่าอย่างนี้เรียกว่าสุข อย่างนี้เรียกว่าทุกข์ อย่างนี้เรียกว่าน่าพอใจ และอย่างนี้เรียกว่าไม่น่าพอใจ แต่ท่านก็ไม่เกิดกิเลส สิ่งนั้นทำอันตรายอะไรท่านไม่ได้ แต่ท่านยังรู้สึก เวทนายังเกิดอยู่ อินทรีย์ทั้งหลายยังทำหน้าที่อยู่ มีบาลีว่า “อรหํ โหติ ขีณาสโว” เป็นพระอรหันต์อาสวะแล้ว “วุสิตวา” จบพรหมจรรย์แล้ว “โอหิตภาโร กตจิโจ” ทำจิตเสร็จแล้ว “โอหิตภาโร” ลงของหนักลงได้แล้ว “อนุปฺปตฺตสทตฺโถ” มีประโยชน์ตนตามถึงแล้ว “ปริกฺขีณภวสํโยชโน” มีกิเลสที่ผูกพันในภพสิ้นสุดแล้ว “สมฺมทญฺญา วิมุตฺโต” หลุดพ้นด้วยปัญญาอันชอบ นี่สิ้นกิเลสสิ้นเชิงอย่างนี้แล้ว แต่ว่า “ตสฺส ติฏฺฐนฺเตว ปญฺจินฺทริยานิ” คืออินทรีย์ทั้ง 5 ของเธอนั้นยังตั้งอยู่ ตาหูจมูกลิ้นกายยังตั้งอยู่ “มนาปามนาปํ ปจฺจนุโภติ” จึงรู้สึกอารมณ์ว่าชอบใจไม่ชอบ สิ่งที่ชอบใจคือไม่ชอบใจ “สุขทุกฺขํ ปฏิสํเวเทติ” รู้สึกว่าอย่างนี้เป็นสุขอย่างนี้เป็นทุกข์ “ตสฺส ราคกฺขโย โทสกฺขโย โมหกฺขโย” แปลว่าความสิ้นราคะ สิ้นโทสะ สิ้นโมหะของภิกษุนั้น ของเธอนั้นมีอยู่ “อิทังวุจติ สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ” นี่คือนิพพานธาตุที่ยังมีอุปาทิเหลือ และสิ้นกิเลสแล้ว สิ้นกิเลสแล้ว แต่เวทนายังรู้สึกอยู่ นี่เป็นพระอรหันต์ประเภทนี้ เย็นเท่าไรก็ไปคิดดู มันไม่มีราคะ โทสะ โมหะมาด้วยประการทั้งปวง นี่ประเภทที่ 2 ก็เหมือนกันอีก ขึ้นมาเหมือนกันอีกว่า “อรหํ โหติ ขีณาสโว” เป็นอรหันต์สิ้นอาสวะแล้ว “วุสิตวา” จบพรหมจรรย์แล้ว “กตกรณีโย” ทำจิตที่ควรทำเสร็จแล้ว “โอหิตภาโร” ปลงของหนักลงได้แล้ว “อนุปฺปตฺตสทตฺโถ” มีประโยชน์ตนตามถึงแล้ว “ปริกฺขีณภวสํโยชโน” สิ้นสังโยชน์อันผูกพันไว้ในภพแล้ว “สมฺมทญฺญา วิมุตฺโต” หลุดพ้นด้วยปัญญาอันชอบ “ตสฺส อิเธว ภิกฺขเว” ในอัตภาพนี้ของเธอนั้นนั่นเชียว “สพฺพเวทยิตานิ” คือเวทนาทั้งหลายของเธอนั้น “อนภินนฺทิตานิ” อันเธอไม่ยินดีแล้ว “สีติภวิสฺสนฺติ” จัดเป็นเวทนาอันสงบเย็น “อิทังวุจติ อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ” นี่คือนิพพานธาตุชนิดที่ไม่มีอุปาทิเหลือ หมายความว่าเวทนาจะไม่ปรากฏเป็นไอ้สุขหรือทุกข์ เวทนาเย็นสนิท จะไม่อาจแสดงความเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ไอ้พวกแรกพวกที่ 1 ยังมีเวทนาปรากฏเป็นสุขหรือเป็นทุกข์แก่จิตใจของท่าน พวกนี้เวทนาทั้งหลายจะไม่ปรากฏเป็นมนาปามนาปํ หรือสุขทุกฺขํ จึงเรียกว่าเวทนาเย็นสนิท เนี่ยอันสุดท้ายอันสูงสุด เป็นพระนิพพานที่เป็นอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ นั่นมันเย็นถึงขนาดนี้ กิเลสหมดแล้ว แต่องค์หนึ่งยังมีเวทนาสำหรับรู้สึกสุขหรือทุกข์ แต่ก็ไม่เกิดกิเลสไม่เกิดตัวตนนั่นแหละ องค์หนึ่งไม่มีเวทนาปรากฏเป็นสุขหรือทุกข์ นี่เย็นเท่าไรคุณคิดดู เวทนาไม่ปรากฏเป็นสุขหรือทุกข์มันไม่เกิดกิเลสใดๆได้ เรียกว่าเกิดกิเลสแล้วท่านสิ้นอาสวะแล้วมันก็ไม่ทำให้เกิดกิเลสใดๆได้อีกเหมือนกัน แปลว่าไม่เกิดกิเลสด้วยกันทั้ง 2 ฝ่ายแหละ แต่ฝ่ายหนึ่งเวทนายังไม่เย็นสนิทยังรู้สึกต่อเวทนา ไอ้ฝ่ายนี้เวทนาเย็นสนิทไม่รู้สึกต่อเวทนาโดยประการใดๆ นี่ความเย็นสูงสุด สูงสุดในพระพุทธศาสนา นี่เรียกว่านิพพานธาตุมีอยู่เป็น 2 อย่างๆนี้ นี่เย็นอย่างนี้ เย็นอย่างนี้ เย็นถึงที่สุดอย่างนี้ เป็นนิพพานเย็นในพระพุทธศาสนาสูงสุด พระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างนี้แล้วไม่มีใครมาพูดให้สูงสุดไปกว่านี้อีกได้ เรื่องของนิพพานก็จบ จบแค่พระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างนี้ เขากล่าวกันมาตามลำดับๆ ตามลำดับๆ ตามลำดับจนพระพุทธเจ้าตรัสรวบยอดว่าต้องเป็นอย่างนี้เรียกว่านิพพานที่แท้จริง นี่คือสิ่งที่ธรรมะจะให้แก่เราในที่สุดคือบรรลุถึงนิพพานธาตุชนิดมีอุปาทิเหลือคือรู้สึกต่อเวทนาต่างๆ ชนิดไม่มีอุปาทิเหลือไม่รู้สึกใดๆต่อเวทนาก็ตาม เย็นสูงสุดเป็นนิพพาน 2 อย่าง นี่คือสิ่งสูงสุดที่ธรรมะจะให้แก่เรา ทีนี้ก็เหลืออยู่แต่ความเย็น เย็นก็สะอาด ก็สว่าง ก็สงบ แล้วก็มีเสรีภาพ ไม่มีอะไรผูกพัน มันก็เย็นจริง สงบจริง เย็นจริง เป็นประโยชน์ได้จริง
เอ้าทีนี้จะขอแถมสักหน่อยว่าแม้เรายังไม่บรรลุนิพพาน ยังกำลังปฏิบัติอยู่ เราก็พยายามทำตามหลักอันนี้สิ ทำตามหลักอันนี้สิ ว่าเมื่อเวทนามันเกิดขึ้นเป็นสุขหรือทุกข์ก็ตามน่ะเราอย่าให้มันปรุงแต่งให้เป็นกิเลสสิ เวทนาเกิดขึ้นก็อย่าให้มันปรุงแต่งให้มันเป็นกิเลส เวทนาสุขก็อย่าให้ปรุงแต่งเป็นราคะ โลภะ เวทนาเป็นทุกข์ก็อย่าให้มันปรุงแต่งเป็นโทสะหรือโกธะ เวทนาไม่ใช่สุขไม่ใช่ทุกข์เกิดขึ้นก็อย่าให้มันปรุงแต่งให้เป็นโมหะ อย่างนี้ปฏิบัติตามรอยพระอรหันต์หรือปฏิบัติพระนิพพานได้ แต่เดี๋ยวนี้ที่ยังไม่บรรลุนิพพาน แต่ปฏิบัติตามรอย ร่องรอยของพระนิพพานได้ ระวังอย่าให้กิเลสมันปรุงแต่ง อย่าให้กิเลสเกิดขึ้นมาจากการปรุงแต่ง เรามีสติ มีปัญญา มีสัมปะชัญญะ มีสมาธิอะไรก็ตามน่ะที่เราได้รับมาจากการปฏิบัติอานาปานสติ ธรรมะเหล่านั้นจะมาคุ้มกันไว้ไม่ให้เกิดกิเลสใดๆไปตามอารมณ์ที่มากระทบทางอายตนะแต่ละวันๆ จะมีอะไรมากระทบทางอายตนะตาหูจมูกลิ้นกายใจก็ไม่เกิดกิเลสได้ นั่นแหละปฏิบัติตามรอยพระอรหันต์หรือว่าปฏิบัติพระนิพพานไปพราง ทั้งที่ยังไม่นิพพานน่ะปฏิบัติหลักพระนิพพาน ตามหลักพระนิพพานไปพราง อารมณ์มากระทบแล้วไม่เกิดกิเลส ถ้าดีกว่านั้นก็ประเภทที่ 2 เพราะว่ามากระทบแล้วก็ไม่เกิดรู้สึกเป็นสุขหรือเป็นทุกข์เสียเลย คือไม่เกิดเวทนาเป็นสุขเป็นทุกข์เสียเลย ให้มันเป็นเช่นนั้นเอง เช่นนั้นเอง ไม่รู้สึกว่าเป็นสุขหรือเป็นทุกข์นี่ก็ยิ่งดีใหญ่ เวทนาเย็นสนิท ไม่มีแสดงอาการเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ควรจะจำให้ดีนะมันจะงงก็ได้นะ ว่าหมดกิเลสด้วยกัน หมดกิเลสด้วยกันน่ะ แต่อันแรกนั้นน่ะมันยังรู้สึกเวทนาว่าเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ พวกที่ 2 นี้ไม่รู้สึกเวทนาเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ เย็นสนิท อย่างแรกเรียกว่ามีอุปาทิหรือเชื้อเหลือ อย่างที่ 2 เรียกว่าอนุปาทิคือไม่มีเชื้อเหลือ มีเวทนาเป็นหลัก ตัดสินว่าเป็นสอุปาทิเสสหรือเป็นอนุปาทิเสส ถ้าเวทนายังรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์อยู่ ยังไม่เย็นสนิท ก็เป็นอุปาทิเหลือ ถ้าเวทนาไม่อาจแสดงเป็นสุขหรือเป็นทุกข์คือเย็นสนิทนั่นก็เป็นอนุปาทิ ไม่มีปาทิเหลือนี่คือพระนิพพานแท้จริงในพระพุทธศาสนา ที่เมื่อพระพุทธองค์ทรงประกาศิตไปแล้วมันไม่มีใครมาลบล้างได้ ไม่มีใครมาแก้ไขได้ เพราะว่ามันถึงที่สุดแห่งความจริง ขอให้ท่านทั้งหลายถือเป็นหลักปฏิบัติ มีสติ ปัญญา สัมปะชัญญะ สมาธิ ควบคุมชีวิตนี้ไว้ตลอดเวลา อย่าให้มันเกิดกิเลสใดๆในเมื่อมีอารมณ์มากระทบ แม้จะรู้สึกเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ก็ไม่เกิดกิเลสนี่อย่างหนึ่ง อย่างที่ 2 ไม่รู้สึกเป็นสุขหรือเป็นทุกข์เลยนี่อย่างหนึ่ง ไม่มีอะไรสูงสุดกว่านี้แล้ว ไม่มีเรื่องอะไรจะสูงสุดไปกว่าเรื่องพระนิพพานนี้แล้วในพระพุทธศาสนา นี่สรุปความว่าไอ้สิ่งที่ธรรมะจะมีให้แก่เรานั้นมันคืออย่างนี้ ธรรมะทำไมกันน่ะ ข้อแรกธรรมะทำไมกัน เพราะมันต้องปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ให้ทันเวลา ธรรมะอย่างไรกัน คือปฏิบัติอานาปานสติเพื่อจะควบคุมกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาทให้ได้ แล้วธรรมะจะให้อะไรเรา ก็ธรรมะให้พระนิพพาน นิพพานในความหมายที่กล่าวมานี้ เย็นๆ เย็นไปตามที่เราจะทำได้ เย็นๆ เย็นจนไม่มีความร้อนเหลือ
อ้าวขอสรุปอีกสักนิดหนึ่ง เวลามันเหลืออยู่นิดหนึ่ง ก็ว่าความรู้จากอานาปานสติที่เรียกว่าวิปัสสนาหรือปัญญา หรืออะไรแล้วแต่จะเรียก แต่ที่แท้มันคือความรู้ ความรู้ ความรู้แจ้ง ความรู้โดยประจักษ์แจ้ง พอที่จะแจกแจงออกเป็นความรู้ 9 ขั้นตอน 9 9 9 ขั้นตอน จะมาหรือจะยุ่งยากไปเสียอีกก็ไม่ทราบ แต่ว่าคงจะไม่มากเกินไป 9 ขั้นตอน ขั้นตอน 1 ที่ 1 เรียกว่า “อนิจจตา” เห็นความไม่เที่ยง ไม่เที่ยงเปลี่ยนแปลงของไอ้สิ่งที่เรายึดถือว่าตัวตนน่ะ สิ่งที่เรายึดถือว่าเป็นตัวตนของตนน่ะเราเห็นความไม่เที่ยง เห็นความไม่เที่ยงของสิ่งเหล่านี้ ขั้นที่ 2 เรียกว่า “ทุกขตา” เห็นความเป็นทุกข์ของสิ่งเหล่านี้ เพราะมันไม่เที่ยงแหละ นี่ขั้นที่ 3 เรียกว่า “อนัตตตา” เห็นความไม่ใช่ตน ไม่เป็นตัวตนของสิ่งเหล่านี้ ทีนี้ขั้นที่ 4 เรียกว่า “ธัมมัฏฐิตตา” เห็นว่ามันเป็นอย่างนี้เองตามธรรมชาติ ตามธรรมชาติ มันเป็นอย่างนี้เองคือมันเป็นไม่เที่ยง เป็นทุกข์เป็นอนัตตา มันเป็นอย่างนี้เอง มันเป็นอย่างนี้เอง นี่เรียกว่าธัมมัฏฐิตตา ธัมมัฏฐิตตา อันที่ 4 และเห็นอันที่ 5 ต่อไปว่า “ธัมมนิยามตา” มันมีกฎของธรรมชาติบังคับอยู่ ธัมมนิยามน่ะกฎของธรรมชาติเรียกว่าธัมมนิยาม ธัมมนิยามตามันมีกฎของธรรมชาติบังคับอยู่ นี่เราเห็นธัมมนิยามตา โอ้วท่านเห็นว่ามันเป็นไปอย่างนี้ อย่างนี้ อย่างที่ว่ามาแล้วนี้ นี่เราเรียกว่า “อิทับปัจจยตา” อิทับปัจจยตาคือความเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยที่มันมี สิ่งทั้งหลายทั้งปวงมันมีเหตุมีปัจจัย มันจึงเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ถ้ามันไม่มีเหตุไม่มีปัจจัยมันก็ไม่ต้องเป็นไปอะไรแหละ แต่เดี๋ยวนี้มันมีเหตุมีปัจจัย มันต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยเรียกว่าเห็นอิทับปัจจยตา ท่านเห็นว่าโอ้มันมีแต่เป็นไปตามปัจจัย เป็นไปตามปัจจัยมันก็เป็น “สุญญตา” สุญญตาว่างจากไอ้ตัวตนที่คงที่น่ะ ว่างจากตัวตนเรียกว่าเห็นสุญญตา สุญญตา เห็นความว่างจากตัวตน เพราะต้องเป็นมาอย่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้นน่ะว่ามันเป็นอนิจจตา ทุกขตา อนัตตตา ธัมมัฏฐิตตา ธัมมนิยามตา อิทับปัจจยตา มันจึงเป็นสุญญตา เมื่อเห็นสุญญตา ว่างจากตัวตนแล้วก็พบโอ้วมันไม่มีทางอื่นโว้ยมันเป็นอย่างนี้ เป็นอย่างนี้มันไม่มีทางอื่น มันต้องเป็นอย่างนี้เท่านั้น เรียกว่าเห็น “ตถาตา” ตถาตา พอเห็นว่ามันเป็นอย่างนี้ไม่เป็นอย่างอื่น มันเห็นตถาตานี่มันคงที่แหละ มันก็คงที่ มันไม่เกิดกิเลสใดๆเพราะมันเป็นอย่างนี้ มันเป็นอย่างนี้ มันไม่น่ารักหรือน่าเกลียด มันไม่น่าอะไรทั้งนั้นเลย ไม่เกิดตัณหาไม่เกิดอุปาทาน มันเป็นตถาตา แล้วก็อันสุดท้ายหลังจากเห็นตถาตาชัดเจนแจ่มแจ้งเป็นตถาตาจริงๆแล้วมันก็เห็น “อตัมมยตา” อตัมมยตา ความที่จิตนี้ไม่เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยอะไรอีกต่อไป จิตนี้ไม่ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยอะไรอีกต่อไป จิตนี้คงที่ๆ คงที่ๆ คงที่อยู่ในความถูกต้อง ถูกต้อง คือไม่เปลี่ยนแปลง ไม่เกิดไม่ดับไม่อะไรหมดเรียกว่าอตัมมยตา หัวข้อ 9 ข้อนี้มีประโยชน์ที่สุด มีประโยชน์ที่สุดขอยืนยันอย่างนี้ ถ้าเข้าใจแล้วรักษาไว้ ปฏิบัติให้ได้ ให้คล้อยไปตามนี้อยู่ตลอดเวลา จะเร็วขึ้น จะมีความเร็วขึ้นในการที่จะถึงจุดหมายปลายทางของการปฏิบัติพระพุทธศาสนา
เอ้าจะทบทวนอีกทีก็ได้ คุณดูที่คุณจดสิถ้าจดนะ อันที่ 1 เรียกว่าเห็นอนิจจตา อนิจจตาความไม่เที่ยง อันที่ 2 ทุกขตา ทุกขตาความเป็นทุกข์ อันที่ 3 อนัตตตาความไม่ใช่ตน ไม่ใช่ตน ไม่ใช่ตน ที่ 4 ธัมมัฏฐิตตา ธัมมัฏฐิตตาเป็นเช่นนั้นเองตามธรรมชาติ เป็นเช่นนั้นเองตามธรรมชาติ ที่ 5 ธัมมนิยามตา มีกฎของธรรมชาติบังคับไว้ มีธัมมนิยามคือกฎของธรรมชาติบังคับอยู่ เรียกว่าธัมมนิยามตา ก็มาถึงอิทับปัจจยตาเป็นไปตามปัจจัย เป็นไปตามปัจจัย เป็นไปตามปัจจัย เป็นไปตามปัจจัย นี่อันที่ 6 นี่ก็เห็นอันที่ 7 เรียกว่าโอ้วสุญญตา ว่างจากตัวตนที่จะบังคับได้ ไม่มีตัวตนที่บังคับได้เป็นสุญญตา สุญญตา นี่ที่ 8 เห็นว่ามันเป็นเช่นนั้นเอง ตถาตา ตถาตาเป็นเช่นนั้นเอง เป็นเช่นนั้นเอง เห็นตถาตาแล้วก็เป็นตถาคตน่ะ เป็นตถาคต เห็นตถาตาจะเป็นตถาคตคือเป็นพระอรหันต์ คือมันทำให้เห็นอันสุดท้ายว่าอตัมมยตา อตัมมยตา อันที่ 9 อตัมมยตา “ตัม” มันแปลว่านั้น “มย” มันแปลว่าสำเร็จไปตามนั้น หรือว่าขึ้นอยู่กับสิ่งนั้น อตัมมยตามันไม่เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยนั้นๆ มันไม่ขึ้นอยู่กับปัจจัยนั้นๆน่ะคือเป็นพระอรหันต์ ใครมีอตัมมยตาผู้นั้นเป็นอตัมมโยคือเป็นพระอรหันต์ เรื่องมันจบ เรียกว่า 9 ตา 9 ตา จะเรียกว่าลูกตาก็ได้แต่ว่าตัวหนังสือมันแปลว่าความเป็นอย่างนั้น มีความ ความเป็นน่ะเรียกว่าตา ตา ตา ทำเครื่องรางเป็นอะไรน่ะ 9 รูปมาแขวนข้อมือ กันลืม 9 ตา 9 ตา จะเป็นเครื่องรางที่ดีมาแขวนคอ มาแขวนข้อมือ เป็นลูกกลมๆอะไรก็ได้ 9 ตา 9 ตา นี่มีความรู้แจ่มแจ้งในชั้นวิปัสสนาจริงๆ ใน 9 ตา 9 ตานั้นจบ จบ จบเรื่อง เป็นอันทั้งหมดที่ธรรมะจะมีให้แก่เรา ธรรมะจะให้ความรู้ 9 ประการนี้แก่เรา แล้วก็จบ แล้วก็เป็นพระอรหันต์ งั้นขอให้ท่านทั้งหลายสนใจ 9 ตา 9 ตา เอามาท่องเล่นให้เหมือนกับท่องสูตรคูณ อนิจจตา ทุกขตา อนัตตตา ธัมมัฏฐิตตา ธัมมนิยามตา อิทับปัจจยตา สุญญตา ตถาตา อตัมมยตา 9 ตา 9 ตา 9 ตา แก้วตา จะรักเหมือนกับแก้วตาก็ได้ หรือจะตาเพราะเห็นๆ เห็นๆอะไรก็ได้ ให้มันมีอยู่ 9 ตาอย่างนี้เถิด แล้วเรื่องมันก็จบ
ขอแสดงความหวังว่าท่านทั้งหลายปฏิบัติอานาปานสติสำเร็จ เกิดปัญญา เกิดวิปัสสนา จนเห็นชัดใน 9 ตา 9 ตา แล้วก็สามารถที่จะชนะกิเลสราคะ โทสะ โมหะ มีความเยือกเย็นสนิท เป็นประโยชน์ด้วยกันจงทุกๆท่านเทอญ ขอยุติการบรรยาย