แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อาตมาภาพ ขอแสดงความยินดี ในการที่ท่านทั้งหลาย สามารถใช้โลกเวลา ๐๕.๐๐ น. คือ เวลาอย่างนี้ เวลา ๐๕.๐๐ น. ให้สำเร็จประโยชน์เพิ่มขึ้นกว่าธรรมดา ตามธรรมดาคงยังจะนอนอยู่เป็นส่วนมาก ไม่ได้ใช้โลกในเวลา ๐๕.๐๐ น. เหมือนที่เรากำลังทำ มันเท่ากับเพิ่มอายุให้มากขึ้นอีกหนึ่งชั่วโมง ถ้าไปนอนเสีย มันก็ไม่ได้มีอะไรเพิ่มขึ้นมา ฉะนั้นถ้าเอามาใช้ให้เป็นประโยชน์ เหมือนอายุมันยืนเข้าไปอีกหนึ่งชั่วโมง แล้วมันไม่ใช่ยืนอย่างธรรมดา เป็นชั่วโมงพิเศษ เป็นเวลาที่ร่างกายเหมาะสม พร้อมที่จะศึกษา เรื่องที่มันลึก ที่มันยาก ตามที่ธรรมชาติจัดให้อย่างนั้น เวลาก่อนรุ่งอย่างนี้ เป็นเวลาที่จิตใจเบิกบาน หรือพร้อม เหมือนที่ดอกไม้ในป่าทั้งหลาย ก็พร้อมที่จะบาน มันเริ่มแย้ม แล้วมันจะบาน ตามธรรมชาติมันจัดให้อย่างนี้ เราจะใช้เวลาอย่างนี้ให้เป็นประโยชน์ที่สุด เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าท่านเคยใช้ตรัสรู้ เวลาหัวรุ่ง แม้ว่าท่านจะได้ใช้ตลอดคืนก็ตามเถิด แต่เวลาที่สำเร็จประโยชน์สูงสุดนั้นคือเวลาหัวรุ่ง เป็นเวลาที่ดอกไม้ในป่าทั้งหลายนั้นจะบาน นี้ขอให้ฝึกฝนใช้มันให้สำเร็จประโยชน์ยิ่งๆ ขึ้นไป ไม่เฉพาะเมื่ออยู่ที่นี่ เมื่อมาอยู่ที่สถานที่ฝึกอย่างนี้ ขอให้รู้จักใช้ตลอดไปเรื่อยๆ จนตลอดชีวิตก็ยิ่งดี เป็นเวลาที่จิตใจพร้อมที่จะทำอะไรลึกๆ หรือละเอียดจนถึงที่สุด มันเป็นเวลาที่เหมาะสำหรับจะเติมอะไรลงไ เพราะมันยังว่างอยู่ มันเติมอะไรลงไปได้ ถ้ามันเต็มแล้วมันเติมไม่ได้ เหมือนกับน้ำเต็มถ้วยแล้วเติมอีกไม่ได้ นี่ก็เป็นเวลาที่มันเติมได้ แล้วเป็นเวลาที่มีความสามารถที่จะคิดนึก รู้สึก หรือใคร่ควรต่างๆ อย่างลึกซึ้ง เพราะกำลังมีจิตใจสดชื่น แจ่มใส เข้มแข็ง ก็สามารถที่จะประสบความสำเร็จได้ง่ายๆ ในทางคิดทางนึก นี่เป็นเวลาที่เยือกเย็น เยือกเย็น นี่ประโยชน์ที่จะได้จากการใช้โลกในเวลา ๐๕.๐๐ น. ขอให้ลองฝึกฝนเถิด ฝึกฝนดู จัดให้ทุกอย่างมันเข้ารูป ในเวลา ๐๕.๐๐ น. นี้ ได้ใช้ในทางคิดนึก ศึกษาเรื่องทางจิต ทางใจ ไม่เท่าไรก็จะมีการก้าวหน้า ก้าวหน้าไปในทางจิตทางใจ จึงขอแสดงความยินดี ที่สามารถใช้โลกเวลา ๐๕.๐๐ น. เพิ่มขึ้นอีกชั่วโมง การเดินมานี่ก็เหมือนกันนะ ไม่ใช่ว่าเป็นเรื่องลำบากเปล่าๆ แต่เป็นบทเรียน บทเรียนตลอดเวลาที่เดินมา ๒๐ นาที ๓๐ นาที ก็แล้วแต่ ฝึกการเดินโดยไม่ต้องรู้สึกว่ามีตัวเรา ตัวกูผู้เดิน เดินโดยไม่ต้องมีผู้เดิน ถ้ามันเกิดมีตัวกูผู้เดินขึ้นมา ก็รีบระงับเสีย ไม่ให้มีตัวกูผู้เดิน ให้มีแต่อิริยาบทของชีวิต อิริยาบทของนามและรูป คือ กายกับใจ ให้มันปรุงแต่งกันได้ จนมีการเดิน มีความคิดนึกของมันเอง อย่ามีตัวกูเข้าไปผูกพัน ว่าจะเอานั่น จะเอานี่ จะได้อย่างนั้น จะได้อย่างนี้ ถ้าอย่างนั้นมันกลายเป็นมิใช่บทเรียนไปเสีย ถ้าจะเป็นบทเรียนนั้นต้องฝึกเดินโดยไม่ต้องมีตัวผู้เดิน มันจะเกิดตัวผู้เดินขึ้นมาเสมอ มันจะมีความคิดว่า เมื่อไรจะถึง แหมลำบากจริง หรือเดินสะดุดนั่นนี่ ก็เดินแล้วก็ยิ่งฟุ้งซ่าน ยิ่งมีตัวกู เดินอย่าต้องมีตัวกูชนิดนั้น ก็เป็นสมาธิอยู่ในตัวการเดิน อย่างนี้เรียกว่าเดินด้วยสมาธิ เดินด้วยสติ เดินด้วยปัญญา มันจะช่วยบทเรียนใหญ่ บทเรียนทั้งหมด ที่มีชีวิตอยู่โดยไม่ต้องมีตัวตน ไม่ต้องมีตัวตน เพราะมันจะนำไปสู่การกระทำโดยไม่ต้องมีผู้กระทำ ต่อไปจะเดิน จะยืน จะนั่ง จะนอน จะรับประทาน จะอาบ จะถ่าย จะอะไรก็ตาม ในบรรดาการกระทำทั้งหลายก็ให้น้อมมาสู่บทเรียนนี้ กระทำโดยไม่ต้องมีตัวผู้กระทำ ตามธรรมดามันเกิดตัวผู้กระทำขึ้นมาเสมอ นี้ธรรมชาติ หรือความจริงตามธรรมชาติ อันลึก อันละเอียดว่า ไอ้ตัวผู้กระทำนั้นมันจะมา จะเกิดมาทุกที ที่มีการกระทำ ก่อนที่จะมีการกระทำมันไม่ได้เกิด แม้แต่การคิด มันต้องมีการคิดก่อน มันจึงจะรู้สึกว่ามีตัวผู้คิด มันก็ต้องมีการกระทำ เช่น เดิน เป็นต้น แล้วจึงจะรู้สึกว่าเดิน ผู้เดิน หรือ เดินแล้ว แม้แต่จะรับประทานอาหารนี่ มันต้องรับประทานอาหารแล้วมันจึงจะเกิดความรู้สึกว่า กู ผู้รับประทานอาหาร ถ้ามันไม่อร่อย มันต้องไม่อร่อยแล้ว มันจึงจะเกิดความรู้สึกว่า กู ไม่อร่อย ไอ้กู้นี่มาที่หลังลากหางมาเสมอ เพราะมันไม่ใช่ของจริง มันของแฝงอยู่กับการกระทำ เจ็บอะไรขึ้นมาก่อน เช่นหนามตำมานี่ มันต้องเจ็บก่อน แล้วจึงจะ กู ผู้เจ็บ ตามมา มีดบาดมือนี่ มีดบาดมือแล้ว จึงจะรู้สึกว่า กู ถูกมีดบาดมือ อย่างนี้เป็นต้น นี้การกระทำ หรือความรู้สึก เพียงความรู้สึกของจิตเกิดแล้ว ก็จะเกิดโดยความรู้สึกที่โง่เขลาของอวิชา ว่ามีตัวกู ตัวกู ผู้ถูกระทำ ผู้กระทำ ผู้ได้ ผู้เสีย ผู้แพ้ ผู้ชนะ ผู้อะไรทุกๆ อย่างนี่หละ กู้ผู้ที่มาที่หลัง เป็นความโง่ที่อวิชชาปรุงแต่งขึ้นมา ที่นี้เราจึงแก้ลำมัน โดยฝึกฝนบทเรียนชนิดที่ว่า ทำอะไรก็ตาม โดยไม่ต้องมีผู้กระทำ จะเดิน จะยืน จะนั่ง จะนอน จะกิน จะอาบ จะถ่าย จะทุกอย่างนั่นหละ เรามีสติ อย่าให้เป็นตัวกูผู้กระทำ มีแต่การเคลื่อนไหวของกายและใจไปตามสิ่งที่มันปรุงแต่ง ข้อนี่จะได้ผลในข้อที่ว่ารู้ความจริง รู้ความจริงว่าไอ้ตัวกูมันไม่มี มันไม่ได้เกิดอยู่ มันไม่ได้รออยู่ก่อน มันเพิ่งเกิด อาศัยการกระทำแล้วทำให้เกิด นี้เป็นคำที่มีความหมายมากคำหนึ่ง ขอให้จำไว้ดีๆ ว่า อาศัยการกระทำ หรืออาศัยกันอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็เกิดความรู้สึกว่าตัวกูขึ้นมา อาศัยปัจจัยอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วเกิดตัวกูขึ้นมานี้ เป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องพูดกันโดยเฉพาะในวันนี้ ทีนี้จับความจริงของธรรมชาติให้ไดเสียก่อนว่าไอ้ตัวกู ตัวกู หรือตัวตนนี้ มิได้มีอยู่จริง เป็นเสมือนผีหลอก ผีหลอกเกิดขึ้นชั่วขณะ ชั่วขณะ ตามที่มันรู้สึก หรือการปรุงแต่ง อาศัยการปรุงแต่งเกิดขึ้น แม้เรื่องสำคัญๆ เช่นความรัก อย่างนี้ แล้วมันต้องเกิดความรักก่อน มันจึงจะเกิดตัวกูผู้รัก จะโกรธก็เหมือนกัน มันโกรธแล้ว มันจึงจะมีความรู้สึกว่า กู ผู้โกรธ ความเกลียด ความกลัว ความอะไรต่างๆ ก็ต้องมีสิ่งนั้นปรากฏแก่จิตแล้ว จึงจะรู้สึกว่ามีตัวกู ผู้ที่ทำอย่างนั้น ที่ทำอย่างนี้ เมื่อเรารู้สึกอย่างนี้ เราก็มีโอกาสที่จะควบคุมมัน ควบคุมมันไม่ให้มันเกิดตัวกูอย่างนั้นอย่างนี้ มีความเจ็บแล้วมันจึงจะเกิดความคิดว่าตัวกูเจ็บ แล้วกูจะตายแล้วมันจึงจะเกิดความคิดว่าตัวกูจะตาย อย่างนี้เป็นต้น ถ้าอย่าให้ตัวกูๆ นี้ปรากฏมันก็หมดปัญหา มันจะอยู่เหนือการกระทำ เหนืออำนาจของการกระทำ แม้ของธรรมชาติที่จะต้องเกิด ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย ไม่ให้ตัวกูเกิดขึ้นมา มันก็ไม่มีการเกิด การแก่ การเจ็บ การตาย ของผู้ใด นี่ที่เรียกว่าอยู่เหนือเกิด แก่ เจ็บ ตาย หรือ ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย เพราะไม่ให้ตัวกูมันเกิด มันก็ไม่มีใครที่จะเกิด แก่ เจ็บ ตาย เพราะฉะนั้น อย่าได้เห็นเป็นเรื่องเล็กน้อยเลย แม้ที่จะเดินมาจากที่ฝึก เป็นที่ฝึกทางฝั่งนู้น มาสู่ที่นี่ ก็ถือเอาเป็นเวลาเรียน เป็นบทเรียน เป็นเวลาเรียน ตลอดเวลาที่เดินมา มีการเดินโดยไม่ต้องมีตัวผู้เดิน ถ้าพลาดไป เราก็ทำใหม่ ที่มันพลาดไป ทำใหม่ จะพลาดไปกี่ครั้ง ก็ทำใหม่ ถ้ามันไปเกิดตัวกูผู้เดินขึ้นมาแล้ว เอ้า ไล่ไปๆ กำหนดใหม่ เหลือแต่ว่าเป็นอิริยาบทที่เคลื่อนไหว เป็นเรื่องของการปรุงแต่งของความคิดความนึก แล้วก็บังคับร่างกายนี้เดิน เคลื่อนไหว นั่นแหละหัวใจของพุทธศาสนา แม้ไม่ใช่ทั้งหมด และมันก็มีความหมายอย่างนั้น คือ กำจัดไอ้ตัวผู้ หรือตัวตน หรือตัวกู หรือของกูนั้น ออกไปเสีย ขอให้พยายามฝึก และขอแสดงความยินดีอีกถ้าฝึกได้ เอาละ เป็นอันว่าเราจะรู้จักใช้โลกเวลา ๐๕.๐๐ น. อย่างนี้ให้เป็นประโยชน์ที่สุด มีค่าที่สุด ดีกว่าไปนอน แล้วก็จะฝึกการกระทำโดยไม่ต้องมีตัวผู้กระทำ ทุกอย่าง ตื่นขึ้นมา จะล้างหน้า จะถ่าย จะถ่ายปัสสาวะ มีสติสัมปชัญญะ โดยไม่ต้องแยกว่ามีตัวกูเป็นผู้กระทำ คือเป็นการกระทำโดยอาศัยเหตุ อาศัยปัจจัยที่ทำให้เกิดการกระทำอย่างนั้น มีกายและมีใจ ที่กระทำไป ตามอำนาจเหตุปัจจัยที่มาปรุงแต่ง นั่นคือการฝึกบทเรียนสูงสุด เรื่องหนึ่ง ตัวอย่างหนึ่ง ข้อหนึ่ง ขอให้พยายามทำ นี่เรียกว่าเราเข้าโรงเรียน ฝึกฝนการเล่าเรียนทุกอิริยาบท และเรียกว่าทุกเวลา ทุกวินาทีก็ได้ ทุกอิริยาบท และทุกการเคลื่อนไหว ทุกหน ทุกแห่ง
ที่นี้ก็จะพูดกันต่อไปถึงเรื่องที่จะพูดกันในวันนี้ ในวันที่แล้วมา พูดถึงธรรมะทำไมกัน ธรรมะทำไมกัน นี่เรียกพูดอย่างชี้ให้เห็นทั้งหมด ชี้ให้เห็นทั้งหมด คำว่าปริทัศน์ ปริ แปลว่ารอบ หมด ทัศน์ แปลว่าเห็น ปริทัศน์ แปลว่าเห็นรอบหมด เหมือนกับเราขึ้นไปสูงสุด แล้วมองลงมาดูข้างล่าง มันเห็นหมดหมด เรียกว่าเห็นปริทัศน์ ใช้เป็นหลัก การกระทำทุกอย่าง Bird’s eye view ใช้คำธรรมดา เห็นโลกนี้เท่าที่ตาของนกมันจะมองเห็นจากที่สูง พูดภาษาง่ายๆ ภาษาธรรมดา ภาษาคนพูด ก็ดูอย่าง Bird’s eye view คือเห็นทั้งหมด บางที่ก็เรียกว่า Panoramic View ก็เห็นทั้งหมด เห็นทีเดียวทั้งหมด ก็รู้อะไรอยู่ที่ไหน อะไรเป็นอย่างไร อะไรอยู่ที่ไหน แล้วมันจะได้มีความคิดต่อไปอย่างถูกต้องว่าอะไร จะทำอะไรที่ตรงไหน อย่างไร เมื่อไหร่ การมองเห็นทั้งหมดนั้น มันมีดีอย่างนั้น เดี๋ยวนี้เราก็มองจากที่สูง เห็นชีวิตทั้งหมด ชีวิตทั้งหมด ไอ้ที่มันเรียกกันว่า ชีวิต ชีวิตนี้คืออะไร ต้องมามองดูธรรมะทั้งหมด ธรรมะทั้งหมด จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตนี้อย่างไร ในที่สุดก็ตอบคำถามที่ว่า ธรรมะทำไมกัน ธรรมะทำไมกัน มีธรรมะไปทำไม มันก็จะตอบได้เอง จะมีธรรมะแก้ปัญหาในส่วนไหน ส่วนไหน มันต้องการการแก้ไขอย่างไร ส่วนไหนต้องการอย่างไร ส่วนไหนต้องการอย่างไร แล้วมันก็จะต้องทำให้สำเร็จทันเวลา ทันเวลา ในลักษณะที่ว่าเหมือนกับของยืมมา ธรรมชาติให้ยืมมา ชั่วเวลาอันจำกัดเท่านั้นปี เท่านี้ปี สมมติกันว่าไม่เกินร้อยปี ธรรมชาติให้ยืมมาไม่เกินร้อยปี ก็จะต้องคืนธรรมชาติ คือตาย ฉะนั้นภายในร้อยปีนี้ จะพัฒนากันได้อย่างไร ดูให้เห็นเสียประเดี๋ยวนี้ว่าทำไมจึงต้องมีธรรมะ โดยส่วนใหญ่ก็ว่าที่เพื่อจะพัฒนาให้ทันในเวลาอันจำกัดที่ยืมมา เหมือนกับข้อผูกพัน หรือว่าจะมองดูในแง่ว่าจะต้องใช้เป็นประโยชน์ เป็นประโยชน์ เป็นประโยชน์ที่น่าพอใจเท่าไร อย่างไร นั่นก็ได้ ก็ต้องทำให้ทันแก่เวลา ที่จะมองดูที่ลึกกว่านั้นว่า ถ้าไม่ทำเล่า ถ้าไม่ทำก็คือเสียชาติเกิด มันเสียชาติเกิด ไม่ได้รับประโยชน์อะไร ในการที่เกิดมา นี่เรียกว่าธรรมะปริทัศน์ ข้อหนึ่ง พูดว่า ธรรมะทำไมกัน ที่พูดไปแล้วเมื่อวาน วันนี้ ธรรมะปริทัศน์ ก็จะพูดไปในแนวที่ว่า ธรรมะอย่างไรกัน อันแรกว่าทำไมจึงต้องปฏิบัติธรรมะ อันที่สองวันนี้ก็จะปฏิบัติกันอย่างไร นี้จึงมีหัวข้อว่าธรรมะอย่างไรกัน เมื่อรู้ว่าทำไมจะต้องปฏิบัติธรรมะแล้ว ก็รู้ต่อไปว่าจะปฏิบัติมันอย่างไร ฉะนั้นขอให้ตั้งใจฟังด้วยความมุ่งหมายที่ว่า ธรรมะอย่างไรกัน จะเรียนอย่างไร จะปฏิบัติอย่างไร จะได้ผลอย่างไรนี่ รวมกันหมดแล้วก็เรียกว่าธรรมะอย่างไรกัน ขอให้จับใจความสำคัญให้ได้ จับใจความสำคัญให้ได้ ก็คือเข้าใจ เข้าใจ เข้าใจแล้วก็ไม่ลืม ถ้าเพียงแต่จำ จำเดี๋ยวก็ลืม ถ้ายิ่งจำตัวหนังสือเดี๋ยวมันก็ลืม มันต้องเข้าใจเรื่องราวทั้งหมด ทั้งสิ้น คิดออกมาเมื่อไรอีกก็ได้เลย ไม่ลืม ไม่ลืม ธรรมะอย่างไรกัน ที่เรื่องที่จะพูดโดยหัวข้อ มันก็คือเรื่องปฏิจจสมุปบาท และ อานาปานสติ มันมีอยู่สองเรื่อง เรื่องปฏิจจสมุปบาท เป็นเรื่องที่ต้องรู้ ต้องเห็น ต้องเข้าใจ ต้องมองเห็น นี่เป็นเรื่องของปฏิจจสมุปบาท แล้วเรื่องอานาปานสตินั้น เป็นเรื่องที่ทำให้ได้ ปฏิบัติให้ได้ ตามที่มองเห็น ไม่ใช่เห็น มองเห็น แล้วก็อย่างนั้น อย่างนั้นแล้วปฏิบัติไม่ได้ บังคับจิตไม่ได้ มันก็ทำก็ไม่ได้ผลอะไร มันต้องมองเห็นว่าจะต้องทำอย่างนั้น แล้วก็ต้องทำให้ได้ด้วย ตามนั้น เรื่องแรกก็คือว่าเห็น แล้วมันมีความจริงอย่างไรตามธรรมชาติ กระทั่งว่าจะต้องปฏิบัติอย่างไร แล้วข้อที่สองก็ว่า ปฏิบัติให้มันได้ คือมีสติ ปัญญา สมาธิ ที่เพียงพอ ที่จะปฏิบัติให้ได้ตามที่มองเห็น โดยลักษณะของปฏิจจสมุปบาท ถ้าจำชื่อของมันไว้ให้ดี มันจะง่ายขึ้น ส่วนที่เราจะต้องรู้ ต้องเห็น จะต้องเข้าใจนี้จะเรียกว่า ปะ-ติด-จะ-สะ-หมุบ-บาด ปฏิจจสมุปบาท แปลว่า อาศัยกันเกิดขึ้น หรืออาศัยกันดับลง ใจความสำคัญมันอยู่ที่คำว่า อาศัยกัน อาศัยกัน อาศัยกัน อาศัยกัน จะเกิดขึ้นก็ดี จะดับลงก็ดี นี้เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท บางคนก็อ่านเอาตามชอบใจว่า ปะ-ติด-จะ-สะ-หมุบ-ปะ-บาด ก็มี นั้นมันมากไป อ่านว่า ปะ-ติด-จะ-สะ-หมุบ-บาด เฉยๆ ก็พอ นี้มันรู้ว่ามันเกิดขึ้นอย่างนี้ อาศัยกันเกิดขึ้นอย่างนี้ ดับลงไปอย่างนี้ ควบคุมมันไม่ได้ ควบคุมมันไม่ได้ ให้เกิดก็ไม่ได้ ให้เกิดตามที่ถูกที่ควรก็ไม่ได้ นี้เราควบคุมมันไม่ได้ ก็ต้องฝึกส่วนที่ว่าควบคุมมันให้ได้ นี้เรียกว่าอานาปานสติ มีสติ ฝึกการมีสติ ศึกษาสิ่งที่จะต้องศึกษา คือความจริงของธรรมชาตินั่น อยู่ทุกครั้งที่หายใจเข้า-ออก ศึกษาเรื่องที่สำคัญที่สุด สำคัญที่สุด เรื่องใดเรื่องหนึ่ง แง่ใดแง่หนึ่งก็ได้ อยู่ทุกครั้งที่หายใจเข้า-ออก ฝึกอยู่อย่างนี้ ฝึกอยู่อย่างนี้ มันก็เกิดปัญญา รู้แจ้ง ก็เกิดสติ เกิดสัมปชัญญะ เกิดสมาธิ อะไรอีกหลายๆ อย่างนั่นหละ แล้วสิ่งเหล่านั้นมันจะช่วยให้เรา ควบคุมกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาทได้ เมื่อเราควบคุมได้เราก็ไม่ให้มันเกิดก็ได้ ให้มันเกิดแต่ทางที่ถูกที่ควร คือ ไม่เป็นทุกข์นี้ก็ได้ เรื่องมันก็จบ ถ้าความทุกข์ไม่เกิด เกิดแต่ความไม่ทุกข์ ใช้คำว่าไม่ทุกข์ดีกว่า ถ้าใช้คำว่าสุข สุขเดี๋ยวก็จะหลงใหลไปเสียอีก เอาแต่เพียงไม่ทุกข์ ไม่ทุกข์ แล้วก็เป็นประโยชน์ที่สุด เท่าที่ควรจะเป็นได้ นี้ก็พูดแล้วในครั้งก่อน เมื่อวานนู้น ให้ชีวิตนี่มันไปจบลงด้วยความสงบเย็น และเป็นประโยชน์ ถ้าเราปฏิบัติได้สำเร็จ จะมีผลเกิดขึ้นคือชีวิตนี้จะสงบเย็น มันก็เป็นประโยชน์ ชีวิตนี้จะไม่กัดเจ้าของ ไม่มีความทุกข์ ร้อน อะไร ทรมาน มันก็สงบเย็น สงบเย็น และก็เป็นประโยชน์รอบด้าน เพราะว่าเป็นประโยชน์ตัวเองนี้อย่างหนึ่ง เป็นประโยชน์ผู้อื่นอีกอย่างหนึ่ง แล้วเป็นประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกันระหว่างตัวเองกับผู้อื่นที่ไม่อาจจะแยกกันได้ พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสสิ่งที่เรียกว่าประโยชน์ ประโยชน์ ไว้เป็น ๓ ประการอย่างนี้แหละ ก็จำไว้ด้วยเถิด อัตตัตถะประโยชน์ ประโยชน์แก่ตัวเอง ปรัตถะประโยชน์ ประโยชน์แก่บุคคลอื่น อุภยัตถะประโยชน์ ประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย ผู้ที่เอาชนะความทุกข์ได้แล้ว มีชีวิตเป็นอิสระจากความทุกข์แล้วก็สามารถจะบำเพ็ญประตนเอง และผู้อื่น และเกี่ยวข้องกัน ต้องไม่ลืมว่าธรรมชาติจัดให้เรามาอยู่ร่วมกัน ไม่ใช่จัดให้มาอยู่คนเดียวเดี่ยวโดด ไม่ใช่ มันจัดให้มาอยู่ร่วมกัน หรือว่าทั้งโลกก็ได้ ต้องร่วมกันอยู่ จึงมีหน้าที่ ที่จะต้องคิดถึงประโยชน์ทั้งหมด ทั้งของตนเอง ทั้งของผู้อื่น และทั้งที่มันแยกกันไม่ได้ นี้เรียกว่าได้รับประโยชน์ถึงที่สุด แล้วไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์และพบพระพุทธศาสนา เรียกสั้นๆ ภาษาสั้นๆ ธรรมดาว่า มันไม่เสียชาติเกิด มันได้รับสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ แล้วทำได้ทันเวลา ทันเวลา ยืมชีวิตนี้มาจากธรรมชาติ สมมติว่า ๘๐ ปี หรือ ๑๐๐ ปี นี้เรียกว่าทันแก่เวลา สามารถปฏิบัติให้ได้รับประโยชน์ทั้งหมด ครบถ้วน ถูกต้อง แล้วก็ทันแก่เวลา นี่เมื่อเรารู้แล้วว่าธรรมะทำไมกัน จะธรรมะอย่างไรกัน อย่างไรกัน แล้วก็ได้สามารถปฏิบัติมัน ในส่วนที่จะต้องเรียนรู้ก็ดี ในส่วนที่ต้องปฏิบัติด้วยกาย วาจา ใจ ก็ดี และผลที่จะเกิดขึ้นมาอย่างถูกต้องก็ดี ถูกต้องกันหมด ถูกต้องในการเรียน ถูกต้องในการปฏิบัติ ถูกต้องในการรับผลของการปฏิบัติ ท่านมีหลักไว้ทั้ง ๓ ประการอย่างนี้ ขอให้ศึกษาให้ครบถ้วน แม้ว่าจะทำไม่ได้ทั้งหมดภายใน ๑๐ วัน ก็ขอให้เข้าใจ เข้าใจ เข้าใจแจ่มแจ้ง แล้วก็ไปทำต่อไป เมื่อไร ที่ไหน ที่บ้าน ที่ไหน เมื่อไรก็ได้ ทำไป ต่อไป ต่อไป ต่อไป จนมันได้รับผล ๑๐ วันนี้มันทำไม่ทันแน่ แต่อย่างน้อยก็ให้รู้ว่าทำอย่างไร แล้วก็ไปทำต่อที่ไหน ต่อไปอีกก็ได้ ก็ได้รับผลอยู่ดี อย่าให้พลาดในข้อที่ว่า ให้ได้ความรู้อย่างถูกต้อง และเพียงพอ สำหรับที่จะไปประพฤติปฏิบัติตลอดไป ทีนี้ก็มาดูกันถึงในเรื่องการปฏิบัติ อย่างไรกัน อย่างไรกันนี้ ที่จะเรียนให้รู้อย่างไรกัน แล้วก็จะปฏิบัติกันอย่างไร จะได้รับผลอย่างไร แยกเป็นสองเรื่องดังที่กล่าวแล้ว เรื่องปฏิจจสมุปบาท ให้รู้ เป็นเรื่องของความรู้ แล้วก็ควบคุมมันให้ได้ อันเป็นเรื่องของอานาปานสติ เราต้องรู้จักปัญหา แล้วก็รู้จักควบคุมปัญหา หรือแก้ปัญหา เมื่อครบทั้งสองเรื่องก็สำเร็จประโยชน์ ปฏิจจสมุปบาท ตัวหนังสือ แปลว่า อาศัยกันแล้วเกิดขึ้น เกิดขึ้นเป็นความทุกข์ก็ได้ เป็นความดับทุกข์ก็ได้ ต้องอาศัยเหตุปัจจัย ครบถ้วนแล้วก็เกิดขึ้นมา เป็นความทุกข์ก็ได้ เป็นความดับทุกข์ก็ได้ แล้วแต่เราจะจัด หรือว่าการกระทำนั้นมันเป็นอย่างไร เป็นหลักของพระพุทธศาสนาที่ว่า สิ่งเหล่านี้ สิ่งทั้งปวงนี้มันมีปัจจัย มันมีเหตุมันมีปัจจัย แล้วมันต้องเป็นไปตามเหตุ เป็นไปตามปัจจัย ที่เราก็จัดมันเป็นไปอย่างถูกต้อง ถูกต้อง ถูกต้อง มันก็ไม่เป็นทุกข์ มันปรากฏเป็นความไม่มีทุกข์ ไม่เกิดทุกข์ ก็ควรจะพอใจ คำว่าความสุขนั้นมันไม่ได้เป็นเรื่องจริง มันเป็นเรื่องหลอก เป็นเรื่องหลอก พอใจก็เท่านั้นหละ ยิ่งไปพอใจมันหนักเข้ามันก็กลายเป็นความทุกข์ไป การดีใจ การเป็นสุข การเสวยสุขนั้น มีความเหน็ดเหนื่อย มีการต้องใช้กำลังงาน ใช้ให้ยุ่งไปเหมือนกัน ถ้ามันไม่เกิดอะไร มันดับทุกข์ มันดับทุกข์ได้สนิทแล้วมันสบายกว่า นี้เรามารู้เรื่องปฏิจจสมุปบาท ออกชื่อมันบ่อยๆ ควรออกชื่อมันบ่อยๆ แล้วมันจะออกชื่อถูกต้อง ระวังให้ดี ปฏิจจสมุปบาท ปะ-ติด-จะ-สะ-หมุบ-บาด แปลว่า อาศัยกันแล้วเกิดขึ้น ออกมาเป็นรูปความทุกข์ก็ได้ ความดับทุกข์ก็ได้ นี้เป็นเรื่องลึกซึ้ง ของธรรมชาติ มีอยู่ในธรรมชาติ ในชีวิตจิตใจ โดยเฉพาะของมนุษย์ เอาประโยชน์ข้อแรกกันเสียก่อน สำหรับเรื่องปฏิจจสมุปบาท นี้ท่านฟังให้ดีๆ ที่ว่าเรานับถือพระพุทธเจ้า แต่ไม่รู้ว่าพระพุทธเจ้าอยู่ที่ไหน นั่นมันเสียหายมาก มันเจ็บปวดมาก พระพุทธเจ้าอยู่ที่ไหน อยู่ที่พระธาตุ อยู่ที่พระพุทธรูป อยู่ที่คนคนหนึ่งที่อยู่ที่อินเดียและนิพพานแล้ว เผาแล้ว หรือว่าอยู่ที่ไหน พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้เองว่า ผู้ใดเห็นธรรมะผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเราผู้นั้นเห็นธรรมะ หรือเห็นฉัน เห็นตถาคต ผู้ใดเห็นธรรมะผู้นั้นเห็นตถาคต ผู้ใดเห็นตถาคตผู้นั้นเห็นธรรมะ ผู้ใดไม่เห็นธรรมะ ก็คือไม่เห็นฉัน ไม่เห็นตถาคต เพราะตัวตถาคตแท้จริงนั้นคือตัวธรรมะ ไม่ใช่ตัวองค์เนื้อหนังร่างกายของพระสิทธัตถะ ที่เกิดมาอยู่ได้ ๘๐ ปี ตายแล้ว เผาแล้ว มันไม่ใช่องค์นั้น องค์นั้นมันเป็นข้างนอก ส่วนข้างในเป็นธรรมะ คนเป็นอันมากในอินเดียครั้งพระพุทธกาลมีอยู่เป็นพัน เป็นหมื่น เป็นแสน เป็นล้าน ได้เห็นองค์พระสิทธัตถะด้วยตา ด้วยตาแล้วก็ไม่สำเร็จประโยชน์เยอะแยะไปหมด มันไม่เห็นธรรมะนี่ มันเห็นด้วยตานี่ มันไม่เข้าใจ แล้วก็ไม่เลื่อมใส ไม่นับถือพระพุทธเจ้าเอาเสียเลยก็มี แล้วเข้าใจผิดจนเกลียดพระพทุธเจ้า เกลียดพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นนั่นแหละ ตามเหตุผลของเขานั่น ในบาลีก็มีว่าผู้หญิงเขาเกลียดพระพุทธเจ้า ที่พระพุทธเจ้าทำให้ผู้หญิงเป็นหม้าย นี่เขาหาเรื่องอย่างนั้น พอคนไปบวชกันเสียหมด ผู้หญิงเลยเป็นหม้าย ก็โกรธพระพุทธเจ้า เขาก็ด่าพระพุทธเจ้าอย่างนี้ก็มี ก็ว่าเห็นองค์พระพุทธเจ้าแท้ๆ นั่นมันยังไม่สำเร็จประโยชน์อะไร เพราะมันไม่เห็นธรรมะ ก็จึงมีพระพุทธเจ้าเป็นชั้นอยู่ เป็นชั้นๆ ชั้นๆ อยู่ พระพุทธเจ้าพระองค์จริงคือธรรมะ ธรรมะ ธรรมะ ถ้าพระพุทธเจ้าพระองค์รองลงมาคือคน เป็นบุคคล เป็นบุคคล คือพระสิทธัตถะ เป็นบุคคลคนหนึ่ง เกิดขึ้นมาแล้ว ตรัสรู้แล้ว สอนแล้ว นิพพานแล้ว เผาแล้ว นั่นส่วนบุคคล พระพุทธเจ้าที่เป็นบุคคล ทีนี้ต่อมาก็เหลือพระพุทธเจ้าที่เป็นพระองค์แทน อยู่แทน เช่นพระธาตุ พระสารีริกธาตุ กระทั่งเป็นพระพุทธรูป กระทั่งเป็นต้นโพธิ์ เป็นอะไรทุกอย่างนี้ เรียกว่าพระองค์แทน พระองค์แทน ปัจจุบันนี้ส่วนใหญ่ก็เป็นพระพทุธรูปนั่น เป็นพระองค์แทน มองดูก็จากพระองค์แทน เช่นพระพุทธรูปเป็นต้น ลึกเข้าไป ลึกเข้าไป แล้วถึงพระองค์คน พระองค์คน คือคนๆ หนึ่งชื่อสิทธัตถะ เกิดในอินเดีย สองพันกว่าปีแล้ว ตายแล้ว เผาแล้วนั่น พระองค์คน นี้อีกองค์ก็พระองค์ธรรม พระองค์ธรรม เมื่อใดเห็นพระองค์ธรรม เมื่อนั้นก็เห็นพระพุทธเจ้าที่แท้จริง องค์นี้ไม่มีเกิด ไม่มีดับ พระองค์ธรรมนี่มีอยู่ตลอดกาล ไม่เกิดขึ้นมา แล้วก็ไม่ต้องตรัสรู้ แล้วก็ไม่ต้องนิพพาน แล้วก็ไม่ต้องดับ ไม่ต้องอะไรหมด นี้เป็นพระองค์ธรรม อาศัยคำที่พระพุทธเจ้าตรัสเองว่าผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นเห็นธรรม แล้วผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นเห็นธรรม นี่ใจความสำคัญมันอยู่ที่ตรงนั้น ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเราตถาคตโดยแท้จริง ท่านจงเห็นปฏิจจสมุปบาท แล้วท่านจะเห็นพระพุทธเจ้าพระองค์จริง แล้วก็มีพระพุทธเจ้าพระองค์จริงอยู่กับท่าน พระพุทธเจ้าพระองค์ธรรมนี้ไม่มีนิพพาน ไม่มีนิพพาน มีอยู่ตลอดกาลนิรันดร ตลอดกาลนิรันดร ที่ไหนก็ได้ เมื่อไรก็ได้ เห็นธรรมเมื่อไรก็เห็นพระพุทธเจ้าพระองค์จริงเมื่อนั้น เหมือนกับเห็นปฏิจจสมุปบาทเมื่อไร ก็เห็นพระพุทธเจ้าพระองค์จริงเมื่อนั้น ฉะนั้นขอให้พยายามทำความ พยายามสุดความสามารถ สุดความสามารถ ที่จะให้เห็นธรรม เห็นธรรม หรือเห็นปฏิจสมุปบาท คือเห็นธรรม เห็นธรรม คือเห็นปฏิจจสมุปบาท แล้วก็จะเห็นพระพุทธเจ้าพระองค์ธรรม คือพระองค์จริง ก็มีอยู่ตลอดกาลนิรันดร ตลอดกาลนิรันดร เพราะมันเป็นกฎความจริงของธรรมชาติ มีอยู่ตลอดกาลนิรันดร ไม่รู้จักดับ ไม่รู้จักสิ้น อย่าเห็นแต่พระองค์คน ซึ่งเขาก็ตายแล้ว เผาแล้ว แล้วก็อย่าเห็นแต่เพียงพระองค์แทนอยู่ที่นี่ พระพุทธรูป เป็นต้น นั่นเป็นพระองค์แทน พระองค์แทนนี่เห็นแล้วก็ลึกเข้าไปถึงพระองค์คน พระองค์คนเห็นแล้วลึกเข้าไปถึงพระองค์ธรรม นั่นหละพระพุทธเจ้าพระองค์จริง ฉะนั้นขอให้เห็นพระองค์ธรรม คือปฏิจจสมุปบาท พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้เอง ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา เห็นตถาคต พยายามให้เห็นปฏิจจสมุปบาท ซึ่งเรากำลังจะได้ศึกษา และปฏิบัติ อะไรกันต่อไป เพื่อให้เห็นปฏิจจสมุปบาท คือเห็นพระพุทธเจ้าพระองค์จริง การกล่าวว่า พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ของเราก็จะมีความหมาย มีความถูกต้อง มีความหมาย เพราะว่าเราได้เห็นพระพุทธเจ้าพระองค์จริง คือเห็นธรรมะ เห็นธรรมะ คือเห็นปฏิจจสมุปบาท ทีนี้ก็จะพูดกันละเอียด ว่าปฏิจจสมุปบาทนั้นมันคืออะไร การเรียนปฏิจจสมุปบาท นั้นคือการเรียนพระพทุธศาสนา ตั้งต้นที่การเรียนปฏิจจสมุปบาท เรียกว่า อาทิพรหมจรรย์ อาทิพรหมจรรย์ ก็จุดตั้งต้นของการประพฤติพรหมจรรย์ เรื่องในพระบาลีก็มีว่า ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าท่านทรงสาธยาย นั่นคือ เหมือนกับท่องเล่น อย่างนั้นสาธยาย สาธยายเรื่องปฏิจจสมุปบาทนี่อยู่ ท่องหลักปฏิจจสมุปบาทนั่นหละ ตากับรูปถึงกัน เกิดวิญญาณ วิญญาณ สามประการนี้อยู่ร่วมกันเรียกว่าผัสสะ พอผัสสะมีเวทยา เรื่อยไปจนจบ ท่านท่องเล่น น่าหัวไหม แม้เป็นพระพุทธเจ้าท่านก็ยังตรัสปฏิจจสมุปบาท ในลักษณะที่ท่องเล่นนั่น เหมือนกับคนร้องเพลงเล่น หรือว่าท่องอะไรเล่น ท่านคิดว่า ท่านไม่ได้ดูว่ามีใครอยู่บ้าง คิดว่าอยู่พระองค์เดียว ท่านก็ท่องเล่น ทีนี้เผอิญมีภิกษุองค์หนึ่งมาแอบอยู่ข้างหลัง พอจบแล้วท่านเหลือบเห็น ก็อ้าว แกอยู่ที่นี่เอง ก็เอาไป เอาไป เอาไป เรื่องนี้ เรื่องปฏิจจสมุปบาทนี่ มันเป็นอาทิพรหมจรรย์ อาทิพรหมจรรย์ เป็นจุดตั้งต้นของการประพฤติพรหมจรรย์ แล้วก็มอบหมาย และกำชับให้พระภิกษุองค์นั้นศึกษาเล่าเรียนเอาไป นี้เรื่องปฏิจจสมุปบาท อันเป็นจุดตั้งต้นของการประพฤติพรหมจรรย์ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งก็เรียกว่า กอ ขอ กอ กา ของการศึกษา หรือปฏิบัติพระพุทธศาสนา ถ้าเห็นปฏิจจสมุปบาทแล้วจะเห็นพระพุทธเจ้าพระองค์จริง แล้วก็เห็นคำสอน เห็นพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติตาม หรือว่าตนเอง ตนเองนั่นแหละ กลายเป็นพระสงฆ์ไป เห็นพระธรรม คือเห็นตัวปฏิจจสมุปบาท เห็นพระพุทธก็คือสิ่งที่แสดงปฏิจจสมุปบาท ก็เลยได้เห็นพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พระองค์จริง ไม่ใช่ทำแต่เพียงพิธีรีตอง ปากว่า ใจไม่รู้อยู่ที่ไหน เหมือนกับที่กระทำกันอยู่โดยมาก เอ้า ทีนี้ก็มาพูดเรื่องปฏิจจสมุปบาทกันต่อไป ปฏิจจสมุปบาทนั้นตั้งต้นตัวกอ ตัวขอ กอ กา กันที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ๖ อย่างนี่ รู้จักกันเสียให้ดีๆ อย่ารู้จักแค่รู้จักเล่นๆ อย่ารู้จักเพียงคร่าวๆ รู้จัก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ๖ อย่างนี้ให้ดีๆ ว่ามันมีอยู่ในภายใน เป็นอายตนะที่มีอยู่ในภายใน แล้วก็รู้จักคู่ของมัน ที่เป็นภายนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ มี ๖ เหมือนกัน แต่นี่อยู่ข้างนอก ข้างในมี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ข้างนอกมี รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ อันเป็นคู่จับ หรือคู่ปรับกัน ตา คู่กับ รูป หู คู่กับ เสียง จมูก คู่กับ กลิ่น ลิ้น คู่กับ รส ผิวกาย คู่กับ สิ่งที่จะมากระทบผิวกาย แล้วความคิดที่จะมากระทบจิต ความรู้สึกจะมากระทบจิต นี่คู่กันกับใจ มองเห็นให้ชัด ๖ คู่ ๖ คู่นี้ให้ชัด ให้ชัดแจ๋ว นั้นเป็นเรื่องของกอ ขอ กอ กา ให้ชัดว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี้มีอยู่อย่างไร รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ มีอยู่อย่างไร แล้วมันก็มาจับคู่กัน ดูที่ตัวจริง ไม่ใช่อ่านหนังสือ ไม่ใช่แต่อ่านหนังสือ หรือเพียงแต่ฟังอาตมาพูด อย่างนี้มันยังไม่ใช่จริง มันต้องดูที่ตัวจริง ว่าตาเป็นอย่างไร รูปเป็นอย่างไร หูเป็นอย่างไร เสียงเป็นอย่างไร มันจับคู่กัน จับคู่กัน เป็นคู่ๆ ที่ว่ามันปฏิจจะ นั้นแปลว่ามันอาศัยกัน คู่แรก ก็ตา มาจับคู่กันกับรูป มันก็เกิดจักษุวิญญาณ คือการเห็นทางตา บาลีว่า จักขุญฺจ ปฏิจฺจ รูเปจ อุปปัชฺชติ วิญฺญาณํ จำไม่ได้ ก็ไม่ต้องจำ แต่ว่ารู้ใจความของมันว่า ตาอาศัยรูป ตาอาศัยกันกับรูป ปฏิจจะ แปลว่าอาศัย ก็เกิดการเห็นทางตา นั่นหละคือจักษุวิญญาณ ไม่ต้องเชื่อใคร ไม่ต้องเอาตามหนังสือหนังหาที่ไหน ไอ้ตาของเราที่เรารู้จักมันนี่ มีระบบประสาทตาอยู่ในตา พอรูปผ่านมาถึงกันเข้ามันก็มีการเห็นทางตา ที่เรียกว่าจักษุวิญญาณ นี่ตัวกอ ตัวขอ มันตั้งต้นอย่างนี้ เสียงมากระทบหู มันก็เกิดได้ยินทางหู เรียกว่า โสตวิญญาณ กลิ่นมากระทบจมูก ก็เกิดความรู้สึก รู้จักกลิ่น ก็เรียกว่า ฆานวิญญาณ เรียกเป็นบาลี ฆานวิญญาณ คือวิญญาณทางจมูก รสมากระทบลิ้น เกิดความรู้สึกที่ลิ้น เกิดวิญญาณที่ลิ้น ก็เรียกว่าชิวหาวิญญาณ วิญญาณทางลิ้น โผฏฐัพพะมากระทบผิวหนัง รู้สึกขึ้นที่ผิวหนัง ก็เรียกว่าวิญญาณทางกาย กายวิญญาณ ความคิดนึก รู้สึก มากระทบใจ คือมโน ก็เกิดมโนวิญญาณ มโนวิญญาณ มันเลยมี ๖ ด้วยกัน อายตนะข้างในมี ๖ อายตนะข้างนอกก็มี ๖ ก็มาจับคู่กันก็เป็นวิญญาณ วิญญาณมันก็เลยมี ๖ มันเป็นเรื่อง หก หก หก ทีนี้ก็ดูต่อไปว่า ไอ้ตา ตานี่ กระทบรูปแล้วเกิดจักษุวิญญาณแล้ว ๓ อย่างนะ จึงจะเรียกว่าผัสสะ คือตาด้วย ไอ้รูปนั้นด้วย แล้วก็จักษุวิญญาณด้วย ๓ อย่างทำหน้าที่ร่วมกันอยู่ จึงจะเรียกว่าผัสสะ ผัสสะ เพียงแต่ตากระทบรูป ไม่มีจักษุวิญญาณ นี้ไม่เรียกว่าผัสสะ แต่มักจะพูดกันผิดๆ ว่าพอตากระทบรูปก็เรียกว่าผัสสะ มันต้องมีวิญญาณเกิดขึ้น แล้ววิญญาณทำหน้าที่อยู่ที่ตา กำหนดอยู่ที่รูปนั่นจึงจะเรียกว่าผัสสะ ฉะนั้นสิ่งที่เรียกว่าผัสสะ หรือการกระทบนี่ มันมี ๓ อย่างกระทบ คือตาด้วย รูปด้วย จักษุวิญญาณด้วย นี่ช่วยจำไว้ให้ดีๆ อย่าพูดผิดๆ ตามที่เขาพูดกันอยู่ แม้ตามศาลาวัด ตามโรงเรียนนักธรรม ก็พูดผิดๆ อยู่ก็มีเหมือนกัน ผัสสะ ต้อง ๓ อย่าง ต้อง ๓ อย่าง คือ อายตนะภายใน อายตนะภายนอก แล้วก็วิญญาณที่เกิดขึ้นนั่น จะเป็น ๓ อย่าง อย่างนี้ แล้วไอ้สิ่งที่เรียกว่าผัสสะๆ หรือการกระทบมันก็พลอยมี ๖ อย่างไปด้วย เพราะมันเกิดจากอายตนะซึ่งมี ๖ มันก็พลอยมี ๖ ไปด้วย ผัสสะก็พลอยมี ๖ ไปด้วย พอมีผัสสะๆ ผัสสะอย่างนี้แล้วก็เกิดความรู้สึกทางผัสสะ เรียกว่าเวทนา เวทนา เวทนา มันก็พลอยมี ๖ ไปด้วยอีก เวทนาเกิดจากสัมผัสทางตา เกิดจากสัมผัสทางหู สัมผัสทางจมูก ไอ้เวทนาก็พลอยมี ๖ ไปด้วย นี่มัน ๕ ชุดแล้วนะ ชุดละ ๖ เป็น ๓๐ นี่ กอ ขอ กอ กา ที่จะต้องรู้จักกันให้มันชัดเจน อายตนะภายใน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อายตนะภายนอก รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ กระทบกันแล้วเกิดวิญญาณทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ ๖ อย่าง แล้วถ้า ๓ อย่างนั้นกระทบกันอยู่เรียกว่าผัสสะ มันก็มี ๖ ผัสสะเกิดเวทนา เวทนามันก็มี ๖ ฉะนั้นจำไอ้ ๖ หมวดนี้ไว้ให้ดีๆ หมวดละ ๖ แล้วก็มี ๕ หมวด อายตนะภายใน ภายนอก ผัสสะ เวทนา อายตนะภายใน อายตนะภายนอก วิญญาณ ผัสสะ เวทนา ช่วยจำไว้ให้ดีๆ เถิด มัน ๕ หมวดๆ ละ ๖ เป็น ๓๐ นี่คือตัว กอ ขอ กอ กา ที่เราจะศึกษาพระพุทธศาสนา อะไรๆ มันจะเกิด มันจะเป็นทุกข์ มันจะอะไร ก็อยู่ที่เรียกว่าไอ้ ๓๐ นี้ อันนี้ก็พูดต่อไปอีก เรื่องมันยังไม่ถึงที่สุด เมื่อเกิดเวทนาขึ้นมาแล้ว อย่าให้มันหลง อย่าให้มันงงไปหมดนะ อายตนะภายใน ๖ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อายตนะภายนอก ๖ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ วิญญาณเกิดขึ้นจากอายตนะนั้นๆ ก็เรียกว่าวิญญาณ ๖ แล้วก็มีผัสสะ ๖ ตามนั้น ก็มีเวทนา ๖ ไปตามนั้น เอ้าทีนี้มันจะแสดงบทบาทที่เป็นทุกข์ เวทนาให้เกิดตัณหา เวทนามันรู้สึกอย่างไร มันก็เกิดตัณหาอย่างนั้นแหละ ถ้าเวทนามันรู้สึกไปในทางเป็นสุข สุขเวทนามันก็จะเอา จะได้ จะมี จะยึดครอง จะสะสม ถ้าเวทนาเป็นทุกข์ ก็เกิดตัณหาในทางจะฆ่า จะทำลาย จะอะไร ตรงกันข้าม ถ้าเวทนาไม่สุข ไม่ทุกข์ มันก็ได้แต่สงสัย สงสัยอยู่ นั่นโมหะ งมงายอยู่ที่นั่น อย่างนี้เรียกเวทนาให้เกิดตัณหา คือความอยาก ไปตามความหมายของเวทนา ถ้าเวทนาเป็นสุข ก็อยากไปแบบหนึ่ง เวทนาเป็นทุกข์ก็อยากไปแบบหนึ่ง เวทนาไม่เป็นสุข ไม่เป็นทุกข์ ก็อยากไปอีกแบบหนึ่ง ความอยากทุกชนิดเรียกว่าตัณหา ตัณหา ความอยากทุกชนิดนั่น จะเป็นกามารมณ์ หรือไม่เป็นกามารมณ์อะไรก็ตาม ถ้ามันอยากซะแล้วมันก็เป็นตัณหา เพราะว่ามันอยากด้วยความโง่ เพราะว่าตลอดเวลาเหล่านี้ไม่มีสติปัญญา ตั้งแต่แรกกระทบทางอายตนะมาจนถึงผัสสะ มาถึงผัสสะถึงนี่มันไม่มีปัญญา ไม่มีวิชชา มันโง่ มันจึงโง่ว่าสุขบ้าง โง่ว่าทุกข์บ้าง โง่ว่าไม่สุขบ้างไม่ทุกข์บ้าง แล้วมันก็อยากไปด้วยอำนวจของความโง่นั้น ฉะนั้นตัณหาคืออยากด้วยความโง่ ถ้ามีสติปัญญาถูกต้องแล้วอยาก นั่นมันไม่เรียกว่าตัณหา ก็เรียกอย่างอื่น เรียกชื่ออย่างอื่น เป็นอยากด้วยความโง่ หวังด้วยความโง่ อะไรด้วยความโง่ นั่นก็เรียกว่าตัณหาๆ พอมีความอยาก อยากคือตัณหา ตัณหาคืออยาก อยากคือตัณหา อยากๆ อยากๆ มันก็โง่ออกมาว่า กูผู้อยาก มีกูผู้อยาก อยากอย่างนั้น อยากอย่างนี้ขึ้นมา นี่เรียกว่าอุปาทาน ตัวกูที่เพิ่งโผล่นี่ มันไม่ได้มีตัวจริง มันอาศัยไอ้ความโง่เกิดขึ้น มาจากความอยาก แล้วเกิดตัวกูขึ้นมา นี่เรียกว่าอุปาทานๆ ความอยาก ความอยากด้วยความโง่ อยากแล้วทำให้เกิดความคิดว่ามีตัวกูผู้อยาก นี่เห็นไหม ความอยากทำให้เกิดตัวกูผู้อยาก ตัวกูผู้อยากไม่ได้มีอยู่จริง มันเป็นแต่เพียงความอยากมันพร่างขึ้นมา ทีนี้พอมีตัวกูอย่างนี้ ได้การแล้ว มันจะมีเรื่องมากมายเป็นทุกข์ไปจนได้ ที่แรกมันก็มีเพียงรู้สึก เป็นอุปาทาน จุดตั้งต้น แล้วไอ้ตัวกูผู้อยากนี่ มันมากขึ้น มากขึ้นๆ ในจิตเป็นภพ เรียกว่าภพ ภว ความเป็นอยู่ มีอยู่แห่งตัวกูผู้อยาก มากขึ้นๆ เรียกว่า ภพ ภพ ภพ พอถึงขนาดเต็มแก่ เต็มแก่แล้วมันก็คลอด เป็นชาติ เป็นชาติ ชา-ติ ชา-ติ ชาติ ชา-ติ ชาติ ไอ้ตัวกูก็แสดงบทบาท แสดงบทบาทต่างๆ นานา เอาอะไรมาเป็นตัวกู เอาอะไรมาเป็นของกู เอาความเกิด แก่ เจ็บ ตาย มาเป็นของกู เอาการได้ ไม่ได้ เอาการเสีย การหาย การอะไร มาเป็นของกู มาเป็นตัวกู แล้วแต่เรื่อง นี่ความทุกข์ก็เกิดขึ้นโดยสมบูรณ์ หมดนี้เรียกว่าปฏิจจสมุปบาท มันจะรุงรังไปหน่อยมีถึง ๑๑ อาการนี้ก็อุตส่าห์เถิด อุตส่าห์เข้าใจ อุตส่าห์ทำความเข้าใจ มีผลคุ้มค่า แต่ถ้าคนเขาขี้เกียจ เขาไม่อยากจะสนใจก็ไม่รู้ ก็ไม่รู้กันอยู่อย่างนี้ จนเดี๋ยวนี้มันก็ไม่รู้ ก็มันไม่รู้ปฏิจจสมุปบาท มันก็มีความทุกข์ มีความทุกข์ไปตามอำนาจของปฏิจจสมุปบาท บางทีก็จนเข้าโรงตาย เข้าโรงไปมันไม่เคยรู้ เดี๋ยวนี้เราจะรู้นี่ ก็พยายามจะรู้นี่ ฉะนั้นจำไว้ให้ดีๆ ไอ้ ๑๑ อาการที่มันปรุง หนึ่งอายตนะภายใน หมวดหนึ่งมี ๖ อายตนะภายนอก หมวดหนึ่งมี ๖ วิญญาณถ้ากิดตามนั้นก็มี ๖ ผัสสะเกิดจากตามนั้นก็มี ๖ เวทนาก็มี ๖ ตัณหาก็มี ๖ ส่วนอุปาทานนี้ไม่แจกเป็น ๖ แต่แจกตามไอ้ที่มันไปยึด ไปถือ จะเป็นกาม เป็นศีลและพรต เป็นอะไรก็ตาม ไม่ได้แจกเป็น ๖ แต่จะแจกเป็น ๖ ก็ได้เหมือนกันนะ ก็มันยึดถือไปในไอ้ตัณหาที่มีอารมณ์ ๖ แล้วก็มีภพเป็นการตั้งครรภ์ ตั้งครรภ์เป็นตัวกู ตัวตน ตั้งครรภ์ อยู่ในครรภ์ ภพนี้แก่เข้าๆ ครรภ์แก่เข้า ครรภ์แก่เข้าถึงที่สุด ก็คลอด เป็นชาติๆ พอมีชาติ คือชา-ติ คือคลอดเป็นตัวกู ตัวกูมันก็แสดงบทบาท เอามาเป็นตัวกู เป็นของกู เป็นความทุกข์ นับตัวอย่างจะได้ ๑๒ นับโดยที่มันเกี่ยวข้องกันจะได้ถึง ๑๑ คู่ อาศัยกันนั่น ๑๑ คู่ ตลอดสายนี่ก็เป็นปฏิจจสมุปบาทโดยสมบูรณ์ นี่ปฏิจจสมุปบาทโดยสมบูรณ์เป็นอย่างนี้ แล้วสิ่งที่น่าหัวที่สุด น่าหัวที่สุดก็คือว่า มันเกิดอยู่ในชีวิตจิตใจทุกวันๆ ทุกวันนี่ ทั้งวัน ทั้งคืน แต่ก็ไม่รู้จัก มันน่าหัว หรือไม่น่าหัวเล่า สิ่งเหล่านี้มีอยู่กับมนุษย์ที่ยังไม่ตาย มนุษย์ที่ยังเป็นๆ นี่ มันก็มีสิ่งเหล่านี้อยู่ตลอดเวลา ตลอดวัน ตลอดคืน บางทีหลับแล้วก็ยังฝัน นั่นหละคือปฏิจจสมุปบาท มีอยู่จริง เป็นอยู่จริง ที่ชีวิตจิตใจ ที่ร่างกาย แล้วก็ไม่รู้จักๆ นี่คือ อวิชชาๆ ไม่รู้ปฏิจจสมุปบาท เป็นยอดอวิชชา ยอดอวิชชา ฉะนั้นต้องศึกษาปฏิจจสมุปบาท โดยคำพูด คำเหล่านี้ ศึกษาให้รู้ แล้วก็ไปศึกษาเวลาที่มันเกิดขึ้นจริง เมื่อใดตาเห็นรูป ให้รู้จักว่ามันมีวิญญาณ มีผัสสะ มีเวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ อย่างไร เมื่อไร ได้ยินเสียง ก็ศึกษาอย่างเดียวกัน ได้กลิ่นก็อย่างเดียวกัน ลิ้มรสทางปาก ทางลิ้นก็อย่างเดียวกัน สัมผัสทางผิวหนังอย่างเดียวกัน คิดนึกอยู่ในใจก็อย่างเดียวกัน เรียกว่ามัน ๖ อย่าง เป็นไปตลอดวัน ตลอดคืน มีอยู่อย่างที่เราไม่สนใจ แล้วก็ไม่รู้สึก แม้จะเกิดเป็นความทุกข์ขึ้นมาเราก็ไม่รู้ว่ามันเกิดขึ้นมาอย่างไร แม้ว่าชีวิตนี้จะถูกกัดอยู่ๆ เราก็ไม่รู้ว่าอะไรมันทำให้กัด อะไรมันทำให้เกิดขึ้น มันก็คือเรื่องปฏิจจสมุปบาทนั่นเอง ความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ความตื่นเต้น วิตกกังวล อาลัยอาวรณ์ อิจฉาริษยา ความหวง ความหึง อย่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนั่นหละ มันเกิดมาจากสิ่งเหล่านี้ เกิดมาตามปฏิจจสมุปบาท โดยอาการของปฏิจจสมุปบาท ฉะนั้นตลอดเวลาที่มีชีวิตประจำวันนี้ คอยรู้สึกแต่ว่าทางตาเป็นอย่างไร ทางหูเป็นอย่างไร ทางจมูกเป็นอย่างไร ทางลิ้นเป็นอย่างไร ทางผิวกายเป็นอย่างไร ทางจิตใจเป็นอย่างไร ค่อยๆ รู้ ค่อยๆ ทำไป ค่อยๆ รู้ ค่อยๆ รู้ ไม่เหลือวิสัยที่จะทำได้ จะรู้จักปฏิจจสมุปบาท จะรู้จักเรื่องความทุกข์เกิดขึ้นอย่างไร ความทุกข์เกิดขึ้นอย่างไร แล้วอย่าลืมว่าเมื่อเห็นปฏิจจสมุปบาทนั้นคือเห็นพระพุทธเจ้าพระองค์จริง สิ่งที่แสดงให้เห็นปฏิจจสมุปบาทนั่นแหละคือพระพุทธเจ้าพระองค์จริง ฉะนั้นอย่าได้ถือว่าเสียเวลาเปล่า เสียเวลาไป อย่างคิดอย่างนั้น เพราะการเห็นสิ่งนี้คือการเห็นพระพุทธเจ้าพระองค์จริง แล้วก็จะมีพระพุทธเจ้าพระองค์จริงอยู่กับจิตใจ กับจิตใจ มันได้ประโยชน์สูงสุดอย่างนั้น ในที่สุดเราก็เราก็ควบคุม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไว้ได้ ควบคุมไว้ได้ มันก็ไม่เกิดกิเลสใดๆ ไม่เกิดกิเลสใดๆ มันก็ไม่มีความทุกข์ใดๆ เพราะควบคุมปฏิจจสมุปบาทไว้ได้ อย่าให้โง่ที่ตอนไหนเลย ตอนผัสสะนั่นสำคัญที่สุด อย่าให้โง่ เวทนา ตัณหา แต่ละตอนนี้อย่าให้โง่ อย่าให้โง่ ให้มันเลิก ให้มันฉลาดเสีย มันโล่มาตามลำดับ ก็จะเลิกมันเสีย ให้มันฉลาดเสีย แล้วความทุกข์มันก็จะดับไปทันที ที่ว่าเลิกโง่ หมดโง่ หายโง่ แล้วมันก็ฉลาด นี่คือปฏิจจสมุปบาท มีอยู่ในชีวิตประจำวันของแต่ละคนๆ แล้วก็ทุกคนๆ ทุกคนๆ ทั้งหญิง ทั้งชาย ทั้งเด็ก ทั้งผู้ใหญ่ จะรู้หรือไม่รู้นั่นมันอีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้ารู้ ถ้ารู้แล้วมันก็มีประโยชน์ จะควบคุมได้ ความทุกข์จะไม่เกิด นี่คือเรื่องปฏิจจสมุปบาท เมื่อกล่าวโดยย่อๆ ก็มีอย่างนี้แล เรียกว่ารู้จักตัวเอง รู้จักตัวเองนั่นแหละ ไอ้ตัวเอง ตัวเองนั้นมันไม่ใช่ของจริง มันของปรุงแต่ง ประกอบกันด้วยของหลอกอย่างนี้ๆ มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วก็มี รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ มาเกี่ยวข้อง เกิดวิญญาณทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันเกิดผัสสะทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เกิดเวทนาไปตามสิ่งที่มากระทบ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เกิดความอยาก ตัณหา ไปตามเวทนานั้นๆ เกิดตัวกูผู้อยากเป็นอุปาทานขึ้นมา แล้วก็อุปาทานแก่เข้าๆ เป็นภพ คือเป็นตัวกู ของกู ตัวกู ของกู ตัวกู ของกู แก่เข้าๆ จนทำหน้าที่ ทำหน้าที่ในชีวิตประจำวันอย่างน่าเกลียด น่าชัง หรือน่ากลัว นั่นหละมันเป็นความทุกข์ นี้ขอให้มองเห็นว่าปฏิจจสมุปบาทนี่ไม่ใช่เรื่องนอกฟ้าหิมพานต์อยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ ไม่ใช่อย่างนั้น ไม่ใช่อย่างนั้น มันอยู่ที่นี่ อยู่ที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ในชีวิตประจำวันที่นี่ นี่เห็นปฏิจจสมุปบาท คือเห็นธรรม เห็นธรรมคือเห็นพระพุทธเจ้าพระองค์จริง ตามที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ อย่างน้อยก็เป็นบุญกุศลสูงสุดอยู่แล้วที่ว่าได้เห็นพระพุทธเจ้าพระองค์จริง มันได้ผลเหลือประมาณแล้ว ทีนี้ได้ผลมากไปกว่านั้นอีกคือดับทุกข์ได้ๆ ทุกข์ได้ ความทุกข์ไม่เกิด ความทุกข์ไม่อาจจะเกิด นี่ผลอันสูงสุดของการเห็นปฏิจจสมุปบาท ขอให้ท่านทั้งหลายรู้เรื่องปฏิจจสมุปบาทอย่างนี้ ในฐานะว่ามันเป็นธรรมะปริทัศน์ เหมือนกับว่ามองดูจากข้างบนแล้วเห็นทุกอย่าง ทุกอย่างๆ รอบด้าน อย่างนกมันมองเห็นโลกข้างล่างนั่นมันเห็นรอบด้าน เห็นทั่ว เราก็เห็นให้ทั่วอย่างนั้นหละ เห็นอายตนะภายในหมวดหนึ่ง อายตนะภายนอกหมวดหนึ่ง วิญญาณหมวดหนึ่ง ผัสสะหมวดหนึ่ง เวทนาหมวดหนึ่ง ตัณหาหมวดหนึ่ง อุปาทานหมวดหนึ่ง ภพหมวดหนึ่ง ชาติหมวดหนึ่ง ความทุกข์ทั้งปวงอีกหมวดหนึ่ง สรุปเป็น ๑๒ กลุ่มที่มองเห็นชัดเจน ก็เรียกว่าเห็นปฏิจจสมุปบาทฝ่ายที่มันเกิดทุกข์ เกิดทุกข์ขึ้นมาในลักษณะอย่างนี้ ฝ่ายเกิดทุกข์ก็เห็นอย่างนี้ เรียกว่าเห็นปฏิจจสมุบาทฝ่ายที่เกิดทุกข์ ทีนี้ฝ่ายที่ตรงกันข้ามนั่น ฝ่ายที่ตรงกันข้าม ก็หมายความว่า ทีนี้วิชชา ปัญญา แสงสว่างเข้ามา พอเกิดผัสสะ เกิดผัสสะแล้วไอ้ความรู้ธรรมะมันเข้ามา เอาเป็นผัสสะฉลาด ผัสสะมันฉลาด ผัสสะมันไม่โง่ มันก็เกิดเวทนาที่ฉลาด พอเกิดเวทนาที่ฉลาด มันไม่หลงไอ้เวทนา มันก็ไม่เกิดตัณหาโง่ ไม่เกิดตัณหาโง่ มันก็ไม่เกิดอุปาทานโง่ ไม่เกิดภพโง่ ไม่เกิดชาติโง่ ความทุกข์ก็ไม่เกิด นี่มันก็ดับไป หรือมันตรงกันข้าม เดี๋ยวนี้มันโง่มาตั้งแต่แรก จุดแรกนั้น ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันโง่ กระทบ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็เกิดความโง่ วิญญาณก็โง่ ผัสสะก็โง่ อะไรก็โง่ๆ โง่ๆ มาตามลำดับ เป็นความทุกข์ที่สมบูรณ์ นี่ธรรมะปริทัศน์ การเห็นรอบด้านของปฏิจจสมุปบาท เราไม่ฉลาดในขณะแห่งผัสสะ ไม่มีสติที่ฉลาดในขณะแห่งผัสสะ ปฏิจจสมุปบาทก็เดินไปตามสบาย จนไปเกิดทุกข์ ถ้าเราฉลาดๆ มีปัญญาเสียในขณะแห่งผัสสะ ตรงผัสสะนั่น ก็ไม่เกิดผัสสะโง่ ไม่เกิดเวทนาโง่ ไม่เกิดตัณหาโง่ ไม่เกิดอุปาทานโง่ ความทุกข์ก็เงียบไป ดับไป ไม่เกิด นี่มันมีอย่างนี้ เดี๋ยวนี้เราไม่มีนี่ ไม่มีสติ ไม่มีปัญญา ไม่มีความรู้ที่ถูกต้องนี่ มันก็เลยไม่มีอะไรมาควบคุมปฏิจจสมุปบาท ฉะนั้นจึงมาอบรม อบรมๆ ให้เกิดสติ ให้เกิดปัญญา ให้เกิดสมาธิ ให้เกิดอะไร จะได้ควบคุมปฏิจจสมุปบาทในขณะแห่งผัสสะ ก็มันมีผัสสะนี่ให้มีสติ ปัญญา สมาธิ มาควบคุมผัสสะ อย่าให้ผัสสะมันโง่ ผัสสะไม่โง่ เวทนาก็ไม่โง่ อะไรก็ไม่โง่ มันก็ไม่เกิดความทุกข์ นี่จึงมาเหลือเป็นเรื่องที่สอง คือเรื่องอานาปานสติ ฝึกให้เกิดสติมากพอ ปัญญามากพอ สมาธิมากพอ นี้เป็นตัวหลักๆ ตัวหลักๆ มีสติมากพอ มีปัญญามากพอ มีสมาธิมากพอ ไอ้เรียงลำดับนี้เรียงตามเรื่องของมัน ตามเรื่องของมันแท้ๆ มันต้องมีสติมาก่อน แล้วไปเอาปัญญามา คือระลึกถึงปัญญามา เอามาเฉพาะเรื่อง แล้วก็ปัญญาก็มาคุมอยู่เป็นสัมปชัญญะ เป็นสัมปชัญญะ ถ้าแรงสู้กิเลสไม่ได้ ก็เอาสมาธิมา เอาสมาธิมา ก็มีเรี่ยวแรงแข็งขันสู้กิเลสได้ มีสติ มีปัญญา มีสัมปชัญญะ มีสมาธิ ๔ อย่างนี้สำคัญที่สุด ก็ควบปฏิจจสมุปบาทได้ ไม่ให้เกิดความทุกข์ ปัญหาก็เหลือต่อไปว่าเราจะเจริญอานาปานสติกันอย่างไร นี่เป็นเรื่องที่สอง เป็นธรรมะปริทัศน์ของการปฏิบัติเรื่องที่สอง คือ อานาปานสติ เรื่องที่หนึ่ง คือ ปฏิจจสมุปบาท อย่างที่ว่ามาแล้ว อย่างที่สองนั่นก็คืออานาปานสติที่ฝึกได้ เอามาใช้ควบคุมกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาทได้ ความทุกข์ก็ไม่เกิด เรื่องไม่ให้เกิดความทุกข์มันก็มีอยู่อย่างนี้ มีความรู้ มีการปฏิบัติถูกต้อง คือมีสติ ปัญญา สมาธิ มาควบคุมกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท ถ้าไม่มีอะไรมาควบคุมกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท มันก็ไหลเฉี่ยวเป็นเกลียวไปหาความทุกข์ มันไม่ไปทางอื่น ไหลเฉี่ยวเป็นเกลียวไปหาความทุกข์ตามลำดับ เกิดตัวกู ของกู ขึ้นมาเต้นอยู่เร่าๆ เอาอะไรมาเป็นตัวกู เป็นของกู มันบ้าที่สุด เอาความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย มาเป็นของกู แล้วก็เป็นทุกข์อยู่ นี้มันโง่ถึงขนาดนี้ มันไม่สามารถที่จะสลัดออกไป เป็นเรื่องของธรรม เป็นเรื่องของธรรมชาติ อย่าเอามาเป็นของกู เวทนา ตัณหา ก็ไม่มาเป็นของกู อุปาทาน ภพ ชาติ ก็ไม่มาเป็นของกู เป็นของธรรมชาติ จิตก็ไม่ต้องเป็นทุกข์ ถ้าจิตไม่โง่เอามาเป็นของกู มันเป็นของธรรมชาติ ตามธรรมชาติ ผลักดันออกไปเสียได้จากจิต ไม่มาครอบงำจิต จิตก็ไม่เป็นทุกข์
เอาทีนี้เวลาที่เหลืออยู่ต่อไปนี้ก็พูดถึงปริทัศน์ ปริทัศน์ของอานาปานสติว่ามันมีอย่างไร ก็พูดแล้วว่าเหมือนกับขึ้นไปอยู่สูงสุดเหมือนกับนก แล้วก็ดูข้างล่างก็เห็นทั้งหมด เห็นตรงๆ ก็มี เห็นข้างๆ ก็มี เห็นโดยรอบก็มี แล้วแต่นกมันอยากจะเห็นที่ตรงไหน นี้เราก็เห็นชีวิต เห็นธรรมะ เห็นชีวิตให้ครบถ้วนอย่างนั้นหละ เดี๋ยวนี้มาดูไอ้ตัวปัญหา ปัญหาคือเหตุให้เกิดทุกข์ ธรรมชาติที่มีอยู่ในโลกที่หลอกให้เราหลงรัก หลงโกรธ หลงเกลียด หลงกลัว ไปหลงยึดมั่นถือมั่น ไอ้สิ่งเหล่านั้นแหละมันเป็นตัวปัญหา จะต้องดูให้เห็นชัด อย่าให้มันหลอกเราได้อีกต่อไป เมื่อมันหลอกเราไม่ได้ เราก็ไม่มีความหลง ไม่หลงรัก ไม่หลงโกรธ ไม่หลงเกลียด ไม่หลงกลัว ไม่หลงตื่นเต้น วิตกกังวล อาลัยอาวรณ์ อย่างที่ว่ามาแล้ว ไม่หลงแล้ว นี้ความทุกข์ก็ไม่มี มันรู้จักว่าเราหลงอยู่ในไอ้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ในเรื่องของปฏิจจสมุปบาทนั่นหละเป็นที่ตั้งแห่งความหลง รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ นี่คือทั้งหมด ไม่มีอะไรยกเว้น ต่ำที่สุด สูงที่สุด อะไรทั้งนั้น ก็เป็นเรื่อง รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ทั้งนั้น มารู้จักมันให้ดี รู้จักมันให้ดี รู้จักถึงที่สุด อย่าไปหลงกับมันโดยประการใดๆ นี้การปฏิบัติแยกออกให้เป็นเรื่อง อย่างที่เรียกว่าเป็นเทคนิค เป็นเทคนิค เป็นวิชาความรู้ที่สมบูรณ์แยกออกเป็น ๔ เรื่อง คือ เรื่องกายเป็นเรื่องที่หนึ่ง เวทนาเรื่องที่สอง จิตเรื่องที่สาม ธรรม ธรรมะเรื่องที่สี่ กาย เวทนา จิต ธรรม กายนี่แบ่งเป็นสองส่วน คือว่า ลมหายใจก็คือกาย ร่างกาย เนื้อหนังนี้ก็คือกาย คำว่ากาย แปลว่า หมู่ เป็นหมู่ รวมกันเป็นหมู่ ลมหายใจก็เป็นหมู่ เนื้อหนังร่างกายนี้ก็เป็นหมู่ เรียกว่ากาย ลมหายใจหล่อเลี้ยงร่างกายอยู่ ร่างกายเนื้อหนังนี้มันล่อเลี้ยงอยู่ด้วยลมหายใจ แล้วมันก็ไปด้วยกัน มาด้วยกัน ถ้าลมหายใจหยาบ ร่างกายมันก็หยาบ คือกำเริบ หยาบ ไม่สงบ ถ้าลมหายใจละเอียด ร่างกายนี้ก็ละเอียด สงบ ระงับ มันขึ้นอยู่แก่กันและกันอย่างนี้ เราก็ควบคุมร่างกายนี้ให้สงบ ระงับ โดยควบคุมลมหายใจให้สงบระงับ ถ้าเรามีวิธีทำให้ลมหายใจละเอียด สงบ ระงับ แล้วก็ร่างกายนี้ก็พลอยละเอียด สงบ ระงับ เราก็มีร่างกาย ที่ละเอียด สงบ ระงับ เราก็มีร่างกายที่เหมาะสม ที่จะทำวิปัสสนาต่อไป ร่างกายเป็นจุดแรก เป็นที่ตั้งของจิต เป็นที่ตั้งของชีวิต เป็นที่ตั้งของทุกๆ อย่างที่เป็นปัญหา ถ้าเราควบคุมร่างกายได้ ก็แปลว่าควบคุมที่ตั้งของปัญหาได้ ฉะนั้นจงฝึกควบคุมกายนี้ให้ได้ ฝึกรู้จักลมหายใจยาวเป็นอย่างไร ลมหายใจสั้นเป็นอย่างไร แล้วลมหายใจนี้ปรุงแต่งร่างกาย เนื้อหนังอย่างไร แล้วถ้าทำให้ลมหายใจละเอียด แล้วก็ร่างกายเนื้อหนังพลอยละเอียดอย่างไร เป็น ๔ บทเรียน ๔ บทเรียนในหมวดนี้ มารู้ว่าลมหายใจยาวเป็นอย่างไร ลมหายใจสั้นเป็นอย่างไร ก็รู้จักทำให้หยาบก็ได้ ละเอียดก็ได้ สงบระงับก็ได้ ฟุ้งซ่านก็ได้ ให้สามารถจะบังคับได้ แต่เราบังคับไปแต่ในทางที่เป็นประโยชน์ คือให้มันละเอียด ให้มันสงบระงับ ให้มันเป็นไปแต่ในทางที่จะไม่เกิดความทุกข์ ต้องฝึกลมหายใจให้อยู่ในอำนจของเรา ให้ยาวได้ ให้สั้นได้ ได้สงบระงับได้ ให้ละเอียดได้ ให้ประณีตได้ เมื่อลมหายใจได้อย่างไร ไอ้ร่างกายก็พลอยเป็นไปตาม ร่างกายเนื้อหนังก็พลอยเป็นไปตามลมหายใจ เดี๋ยวนี้เราก็หายใจทีเดียวร่างกายสงบระงับ มันวิเศษขนาดนั้น ถ้าฝึกได้นะ ถ้าฝึกได้ฝึกสำเร็จแล้วนะ ความกลัดกลุ้มก็ดี ความเครียดครัดก็ดี อะไรก็ดีที่มันกลุ้มอยู่นี้ ตะเพิดทีเดียวมันก็ออกไป ด้วยการหายใจที่ถูกต้อง ที่ได้ฝึกมาดีแล้วในเรื่องของอานาปานสติ นี่ก็เรียกว่าขจัดไอ้ร่างกาย ที่เป็นเรื่องยุ่งๆ ยากๆ ยุ่งยาก ออกไปได้
ทีนี้มาหมวดที่สองเรื่องเวทนา เวทนาทั้งหลายนี่มันถือว่าเป็น ที่รวม ที่รวมของไอ้โลกทั้งโลก โลกทั้งโลกมันมารวมอยู่ที่เวทนา มันมาทำให้เราลำบากยุ่งยาก เพราะมันให้เวทนา โลกมันให้เวทนา ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันให้เวทนา ให้เวทนา ถ้าควบคุมมันไม่ได้มันก็กัดเอา ก็ไปเป็นทุกข์ ฉะนั้นอย่าให้มันปรุงแต่งเราได้ เราควบคุมมันให้ได้ ไม่ตื่นเต้นไปตามทุกขเวทนา ไม่ตื่นเต้นไปตามสุขเวทนา ทำให้มันอยู่ในอำนวจของเรา นี่เรียกว่าชนะเวทนา เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่ปรุงให้เกิดความคิดทางโง่ ไอ้เวทนานั่นมันปรุงให้เกิดความคิดเป็นทุกข์ ถ้าฉลาดเวทนาก็ไม่ปรุงให้เกิดความคิดที่เป็นทุกข์ ถ้าเราควบคุมเวทนาได้ก็เท่ากับเราคุบคุมความคิดได้ ไม่ให้เกิดความคิดที่เป็นทุกข์ วิเศษ คำสั้นๆ ว่าเวทนา เวทนา นี่ความรู้สึกในจิตในนี่ ปรุงให้เกิดความคิดอย่างนั้น ความคิดอย่างนี้ ความคิดอย่างโน้น ไปตามอำนาจของเวทนา ถ้าเวทนาโง่ ก็คิดโง่ ก็เกิดความทุกข์ ถ้าเวทนาฉลาด มันก็ไม่เกิดความทุกข์ แม้กระทั่งว่าไม่คิดเลย ไม่ให้เกิดความคิดเลยก็ได้ อย่างที่เราต้องการ ให้เกิดความคิดแต่ในทางที่ดี ที่ถูก ที่สงบเย็นก็ได้ ถ้าเราต้องการ ถ้าเราสามารถจะควบคุมความคิดของเราได้โดยเวทนา โดยเวทนา นี่ฝึกให้รู้จักว่าเวทนาเกิดขึ้นอย่างไร เวทนาเกิดขึ้นอย่างไร แล้วปรุงแต่งความคิดอย่างไร ปรุงแต่งความคิดอย่างไร จะหยุดมันได้อย่างไร หรือว่าจะไม่ให้คิดอย่างนั้น แต่ให้คิดอย่างนี้ก็จะทำได้อย่างไร นี่บทเรียนหมวดที่สอง เรียกว่าเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน รู้จักเวทนาเป็นสุขหยาบๆ เรียกว่าปีติ ความสุขที่ยังหยาบอยู่ ยังสั่นระรัวอยู่ ยังตื่นเต้นอยู่ ความสุขอย่างนี้เรียกว่าปีติ โอ้ มันทำยุ่ง ทำยุ่งมากไอ้ปีตินี่ ทีนี้ว่าไอ้ปีตินี่มันสงบลง สงบลง ไม่สั่นระรัว เป็นความสงบ ก็เรียกว่าความสุข ตัวความสุขนี่ก็น่าปรารถนาอยู่ แต่ถ้าควบคุมไม่ได้มันก็ปรุงให้คิดอย่างนั้น คิดอย่างนี้ คิดไปอย่างโง่เขลา ไปแสวงหาเหยื่อของกิเลสเสียอีกนะ ถ้าหลงในสุขเวทนา ก็ไปซื้อไอ้สิ่งสนองกิเลสมาเต็มบ้านเต็มเรือน ไปดูที่บ้านเรือนของเรา อะไรมันเกิน เกินจำเป็น ไปซื้อหามารกรุงรังไปหมด เพราะมันหลงในเวทนา อาตมาดูโฆษณาสินค้าในหน้าหนังสือพิมพ์แล้วก็ฉงน ว่านี่มันใครจะซื้อ หนังสือพิมพ์เดี๋ยวนี้เต็มไปด้วยโฆษณาสินค้า ไม่เหมือนแต่ก่อน ก็สงสัยนี่ใครมันจะซื้อ โฆษณามหาศาลขนาดนี้ ไอ้คนโง่ที่ว่าเวทนานั่นหละที่มันเป็นผู้ซื้อ ซื้อหมดนั่นแหละ เครื่องจักรจะผลิตออกมาเท่าไรมันก็ซื้อกันจนหมดในโลก เพราะมันหลงในเวทนา อย่าหลงในเวทนามันก็ไม่คิดเกินขอบเขต มันจะคิดพอดี พอดีๆ เป็นความสงบสุขพอดี ไม่มีขาด ไม่มีเกิน ไม่มีขาด ไม่มีเกิน ถูกต้อง พอดี ถูกต้อง พอดี ไม่ต้องลำบากยุ่งยากด้วยแสวงหาไอ้สิ่งเหล่านี้มา เดี๋ยวนี้มันกำลังเกินๆ เกินๆ ในโลกทั้งโลก ทั้งโลกมันกำลังเกิน เกินๆ ในสิ่งที่สนองเวทนา สนองความอยากของเวทนา ในการกินก็ดี มันก็เกิน อาหารการกินมันก็เกิน นุ่งห่มแต่งตัวมันก็เกิน เครื่องใช้ไม้สอย ที่อยู่อาศัยมันก็เกิน แม้แต่ยารักษาโรคมันก็ยังเกิน ควบคุมเวทนาไว้ไม่ได้ ก็เรียกว่าเป็นทาส เป็นขี้ข้า เป็นบ่าว เป็นทาสของเวทนา แล้วแต่ว่าเวทนามันจะใช้สอยอย่างไร ก็ทำไปตามนั้น พวกลูกเด็กๆ เกิดมาทีหลังไม่รู้เรื่อง ก็ทำตามผู้ใหญ่ มันก็เลยเป็นทาส หรือเป็นบ่าว เป็นทาสของเวทนากันทั้งโลก ถ้าควบคุมเวทนาได้สิ่งเหล่านี้มันไม่เกิด มันไม่มีการเกินให้ยุ่งยากลำบาก มันมีแต่ความพอดี สงบ เยือกเย็น พอดี มีลักษณะเป็นเวทนาที่พอจะอาศัยกันได้ มันไม่เกิน ไม่ยุ่งยาก อย่าให้เวทนาหลอกเรา คิดไปในทางที่ผิด ที่เกิน ที่เป็นปัญหา เราควบคุมเวทนาได้ ควบคุมเวทนาได้ มันก็หลอกเราไม่ได้นี่ มันก็มีแต่ความถูกต้องๆ ทางเวทนา ความทุกข์มันก็ไม่เกิด นี่จงพิจารณา เวทนา ที่เรียกว่าปีติๆ ก็ไม่หลงกับมัน สุข สุข ก็ไม่หลงกับมัน แล้วมันจะปรุงแต่งความคิด ความนึก ก็ควบคุมมันไว้ ปรุงแต่งแต่ในทางที่ถูกที่ควร หรือไม่ปรุงแต่งเลยก็ได้ ควบคุมได้ นี่เราก็ไม่มีปัญหา ชีวิตจะไม่กัดเจ้าของ ถ้าควบคุมเวทนาได้มันไม่มีเรื่องผิดๆ หรือเกิน หรือว่าความทุกข์มันก็ไม่มี ชีวิตนี้ก็ไม่ถูกกัดโดยกิเลส โดยเวทนา โดยตัณหา นี้เป็นอานาปานสติหมวดที่สอง เกิดปัญญาขึ้นแยะแล้วนะมาถึงตอนนี้ สติกระทำอย่างดี ควบคุมลมหายใจมาอย่างดี ควบคุมเวทนามาอย่างดี สติก็มีแยะแล้ว ปัญญารู้จักสิ่งเหล่านี้ก็มีแยะ แล้วกำลังจิตเป็นสมาธิก็มีแยะแล้ว
ก็มาถึงหมวดที่สาม คือหมวดจิต หมวดจิตนี่ นี่ตอนนี้จะมีสมาธิกันถึงที่สุด สิ่งที่เรียกว่าจิต คือสิ่งที่คิดนึกได้ บรรดาสิ่งที่มีชีวิตแล้วต้องมีจิตทั้งนั้นแหละ มันรู้สึกคิดนึกได้ ถ้าควบคุมไม่ได้มันก็คิดไปในทางเป็นปัญหายุ่งยาก ถ้าควบคุมได้มันก็คิดแต่ในทางที่ควรคิด มันก็ไม่มีปัญหา ฉะนั้นเราจงควบคุมจิตให้ได้ ใช้คำสั้นๆ ว่าควบคุมจิตให้ได้ ทีนี้เราจะควบคุมจิตได้ เราต้องรู้จักจิตดี เราจะควบคุมสิ่งใดได้เราต้องรู้จักสิ่งนั้นดี เดี๋ยวนี้เราจะลองรู้จักสิ่งที่เรียกว่าจิตนี้ให้ดี จิตมีราคะเป็นอย่างไรก็รู้จักดี จิตมีโทสะเป็นอย่างไรก็รู้จักดี จิตมีโมหะอย่างไรก็รู้จักดี แล้วถ้ามันไม่มีก็รู้จักดี แล้วมันมีราคะกัดจิตอย่างนี้ รู้จักอย่างนี้ อนุมานว่าถ้าไม่มีราคะจะเป็นอย่างไร มันก็รู้จักจิตที่ไม่มีราคะ หรือว่าเมื่อจิตไม่มีราคะสบายดีก็รู้จักดี หรือว่าจิตที่หลุดพ้นของพระอรหันต์นั่นเราก็รู้ได้โดยการอนุมาน เราไม่เป็นพระอรหันต์ จิตกัดเราอยู่ กิเลสกัดเราอยู่ อะไรๆ กัดเราอยู่ ทีนี้ถ้าว่ามันไม่มีสิ่งเหล่านั้นกัดจะเป็นอย่างไร เราก็รู้จักจิตที่ไม่มีกิเลส จิตของพระอรหันต์ จิตฟุ้งซ่านเป็นอย่างไรก็รู้จักดี ถ้าไม่ฟุ้งซ่านจะเป็นอย่างไรก็รู้จักดีอีกเหมือนกัน จึงรู้จักจิตได้ทุกชนิดนั่น ทั้งชนิดที่เรารู้สึกอยู่กับจิต กับทั้งชนิดที่เรายังไม่รู้จัก แต่เราต้องคำนวณ ว่าจิตหลุดพ้นเป็นอย่างไร เดี๋ยวนี้จิตไม่หลุดพ้นจะเกาะเกี่ยวนั่นนี่ นู้นนี่อยู่ เป็นทุกข์ มันเป็นอย่างไร แล้วก็อนุมานว่าถ้าไม่เป็นอย่างนั้น จะเป็นอย่างไร นี้แหละเป็นเหตุให้เรารู้จักจิตของพระอรหันต์ก็ได้ ว่าจิตของท่านมันตรงกันข้ามกับจิตบ้าๆ บอๆ ของเรา นี่เราสามารถจะรู้จักจิตทุกชนิดโดยตรงบ้าง โดยคำนวณบ้าง รู้จักจิตทุกชนิดนี่ฟังดูให้ดีๆ มันคือว่ามาเลือกเอา ว่าเราจะเอาจิตชนิดไหนกันโว้ย เราจะเอาจิตชนิดไหนกันโว้ย มาเลือกนี่ เมื่อรู้จักจิตทุกชนิดแล้วก็มาเลือก ก็ฝึกจิตๆให้เป็นไปชนิดที่เราต้องการ หลังจากที่รู้จักจิตทุกชนิดแล้วก็สามารถที่จะเลือกเอาว่าชนิดไหนที่ควรจะต้องการ แล้วก็มุ่งหมายฝึกจิตชนิดนั้น โดยวิธีอุบายต่างๆ นานา จนจิตยอมแพ้ แล้วแต่ว่าเราจะฝึกมันอย่างไร อานาปานสติหมวดที่สามนี้เรื่องจิตอย่างเดียว จิตทั้งปวงเป็นอย่างไร บังคับจิตให้บันเทิงเป็นธรรมะถูกต้อง บันเทิงทางธรรมะไม่ใช่กิเลส มาบันเทิงถูกต้องตามธรรมะนี่เป็นอย่างไรก็บังคับได้ แล้วก็บังคับจิตให้หยุดเป็นสมาธิตั้งมั่นก็ทำได้ แล้วบังคับจิตให้ปล่อย ปล่อยๆ สิ่งที่มันยึดถือไว้จนกัดหัวใจนั่น ไอ้สิ่งที่มันกัดเจ้าของ กัดหัวใจนั่นก็ปล่อยๆ ปล่อยๆ ปล่อยได้ จึงมี ๔ บทเรียน ว่า บทเรียนที่หนึ่งรู้จักจิตทุกชนิด แล้วก็บทเรียนที่สองบังคับให้มันปราโมทย์ หรือถูกต้องหรือบันเทิง บทเรียนที่สามบังคับให้เป็นสมาธิตั้งมั่นๆ บทเรียนที่สี่บังคับให้ปล่อยๆ ปล่อยๆ สิ่งที่ไม่ควรจะยึดถือไว้ แต่ยึดถือไว้กัดเจ้าของ ยึดถือไว้กัดเจ้าของ ปล่อยๆ ปล่อยออกไปเสีย นี่เรียกว่ารู้จักจิตทั้งปวง บังคับจิตให้บันเทิง บังคับจิตให้เป็นสมาธิตั้งมั่น แล้วบังคับจิตให้ปล่อยๆ ปล่อยที่ไม่ควรจะมี ทำได้อย่างนี้ก็เรียกว่ามีอานาปานสติหมวดที่สาม คือ จิต การทำจิตให้บันเทิงได้ ในชั้นแรก หมวดที่หนึ่งนั่น บังคับกายสังขารให้สงบ ลมหายใจสงบ แล้วมันก็บันเทิงได้ บังคับกันง่ายๆ อย่างนี้ก็ได้ ถ้าได้เคยทำความดี ทำถูกต้องไว้ก็มาคิดดูใหม่ก็บันเทิงได้เหมือนกัน หรือรู้สึกอยู่ว่าเดี๋ยวนี้เรากำลังปฏิบัติถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง แน่นอน พอใจที่จะไม่เป็นทุกข์ มันก็บันเทิงได้ ไอ้สิ่งที่เป็นกิเลสนั่นไม่มารบกวน มันก็บันเทิงของมันได้ จิตบันเทิงของมันได้ นี่ที่บทเรียนขั้นที่สามของหมวดนี้ ก็ว่าบังคับให้ตั้งมั่นๆ เป็นสมาธิ คำว่าสมาธิ สมาธินี้ยังเข้าใจผิดกันอยู่มาก เพราะไม่ได้ศึกษาให้มันถูกต้อง บางคนเข้าใจว่าสมาธิต้องไปนั่งหลับตาตัวแข็งอยู่ที่แห่งใดแห่งหนึ่งเป็นสมาธิ อย่างนั้นมันว่าเอาเอง มันไม่ใช่สมาธิตามแบบของพระพุทธเจ้า สมาธิตามแบบของพระพุทธเจ้าคือการจัด ทำ ให้จิตมันมีลักษณะ ๓ ประการ สมาธิมันมีลักษณะ ๓ ประการ คือ จิตใจมันสะอาดๆ ไม่มีกิเลส ไม่มีนิวรณ์ ไม่มีกิเลส ไม่มีนิวรณ์ พอให้เรากำหนดอารมณ์ของสมาธิเถิดนิวรณ์จะหายไป ถ้ากำหนดถูกวิธีนะ ถ้าทำถูกวิธีนะ กิเลสจะไม่เกิดขึ้นมา นิวรณ์จะไม่เกิดขึ้นมา จิตมันก็สะอาดๆ นี่เรียกว่าปริสุทโธ ปริสุทโธ จิตมันสะอาด จิตมันบริสุทธิ์ เพราะไม่มีกิเลส เพราะไม่มีนิวรณ์รบกวน ทีนี้องก์ที่สองก็คือว่า ตั้งมั่นๆ สมาหิโตๆ มีสมาธิ ก็ตั้งมั่นเป็นสมาหิโต ไอ้สมาหิโต้นี้มันก็ต้องรวมกำลัง รวมกำลัง กำลังจิตที่มันพร่าไปทุกทิศทุกทาง มารวมกำลังให้มันจุดอยู่ที่นี่ มาจดจ่ออยู่ที่นี่ กำลังจิตก็เข้มแข็งเหลือประมาณ ที่จะมีปัญญา มีวิชชา แทงทะลุอะไรออกไป เหมือนกับแสงสว่างที่มันพร่าอยู่นั่น เรามีแก้วรวมแสง แก้วที่นูนๆ ตรงกลางมารวมแสง มันก็รวมไอ้พร่าๆ นั่นมารวมเป็นจุดเล็กศูนย์กลาง มันลุกเป็นไฟได้ ไม่เคยเห็นเหรอเมื่อเด็กนั่นเคยเล่น ไอ้แก้วรวมแสงนี่ รัศมีดวงอาทิตย์ที่มันกระจายๆ พร่าๆ อยู่นั่นมารวมเข้าเป็นจุดเดียวมันลุกเป็นไฟได้ กระแสจิตนี้ก็เหมือนกัน มีวิธีที่จะรวม รวมจุดศูนย์กลาง นี่ก็เรียกว่ามันตั้งมั่น เข็มแข็งๆ มีกำลังเหลือประมาณ ที่นี้ยังมีองก์ที่สาม ประกอบขึ้นมาที่ว่า จิตนั้นมีลักษณะ ใช้คำในบาลีว่า อ่อนโยนควรแก่การงาน นิ่มนวลอ่อนโยน อ่อนโยน นิ่มนวล ควรแก่การงาน คือพร้อมที่จะทำหน้าที่ จิตนี้ไม่ใช่แข็งทื่อเหมือนกับหลับ หรือตาย แต่ว่าจิตนี้ว่องไวๆ เฉลียวฉลาดพร้อมที่จะทำหน้าที่ เรียกว่ากัมมนีโย กัมมนีโย สมควรแก่การงานหน้าที่ เรียกว่ากัมมนีโย จิตที่สมควรแก่หน้าที่เหมาะสม ที่สมควรแก่หน้าที่เท่านั้นแหละที่จะทำอะไรได้ดี เป็นเรื่องทั่วๆ ไป เราเรียกว่ามัน Active ยืมคำฝรั่งมาใช้ คำบาลีว่ากัมมนีโย ไม่ค่อยมีใครพูดเป็น หรือใช้เป็น ไปยืมคำฝรั่งว่า Active, Active, Activeness ความเป็น Active นั่นหละเอามาใช้ ยิ่งมี Activeness มากเท่าไร มันก็สามารถใช้ได้ดีเท่านั้น ใช้ได้ดีเท่านั้น คือมันพร้อมที่จะทำหน้าที่ ว่องไวในหน้าที่ ไวกับความรู้สึกที่จะทำหน้าที่ นี่จิตเป็นสมาธินั้นไม่ใช่ว่านั่งหลับตาแข็งทื่อเป็นท่อนไม้ มันมีองค์ประกอบวิเศษ ๓ อย่าง คือ สะอาด นี่อย่างหนึ่ง แล้วเข้มแข็งอย่างหนึ่ง แล้วก็ว่องไวในหน้าที่ ปริสุทโธ สะอาด สมาหิโต ตั้งมั่น เข้มแข็ง กัมมนีโย ว่องไวในหน้าที่ แล้วจะเอาอะไรกันอีก เกี่ยวกับจิตเท่านี้มันก็เกินพอแล้ว ความเป็นสมาธิของจิตมันแก้ปัญหาอะไรหมด ที่จิต จิตฝึกดีแล้วก็ให้มันรู้สึกปล่อยๆ ไอ้ที่เอาไว้แล้วกัดเจ้าของนั่น อะไรเอาไว้กัดเจ้าของนั่นปล่อยๆ ความรัก ความโกรธ ความกลัว ความตื่นเต้น อิจฉา ริษยา วิตก กังวล ปล่อยๆ ปล่อย ขับไล่ ปล่อยไอ้สิ่งที่ไม่พึงปารถนาออกไป ถ้าทั้งหมวดก็มี ๔ ขั้น คือ รู้จักจิตทุกชนิด แล้วก็ทำให้มันปราโมทย์บันเทิง แล้วก็ทำให้มันตั้งมั่น แล้วก็ทำให้มันปล่อย เป็นนายเหนือจิต เราเป็นนายเหนือจิต จิตไม่เป็นนายเหนือเรา นี่เรียกว่า จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน
เดี๋ยวนี้จิตมีสมรรถนะถึงที่สุด ถึงที่สุด เราก็เอามาใช้ในหมวดที่ ๔ อานาปานสติ หมวดที่ ๔ เรียกว่า ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน รู้จักสิ่งทั้งปวงอย่างถูกต้องตามที่เป็นจริง จนกระทั่งหมดปัญหา หมดปัญหา หมวดที่ ๔ มาศึกษาตัวธรรม ธรรม ธรรมชาติ ธรรมชาติที่ให้เกิดความยึดมั่นถือมั่น แล้วเป็นทุกข์ บรรดาสิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นถือมั่นแล้วเป็นทุกข์ เอามาให้หมด เอามาศึกษา แล้วก็ทำลายเสียให้หมด ทำลายความยึดมั่นถือมั่นเสียให้หมด เดี๋ยวนี้จิตฝึกดีแล้วมันก็ทำได้ง่าย ไอ้สิ่งที่เคยยึดมั่นถือมั่น หลงรัก หลงโกรธ หลงเกลียด หลงพอใจ อะไรที่เคยหลงมันนั่น เอามา ทำลายให้หยุดความยึดมั่นถือมั่น เอามาดูให้เห็นโอ้ ไอ้หมอนี่มันหลอกลวงนี่ เปลี่ยนแปลงเรื่อย เปลี่ยนแปลงเรื่อย อนิจจัง เปลี่ยนแปลงเรื่อย ไม่เคยหยุดหย่อน นี่ปัญญา ทีแรกก็เห็นอนิจจัง ของสิ่งที่เราเคยหลงรัก หลงโกรธ หลงเกลียด หลงกลัว หลงตื่นเต้น วิตก กังวล อาลัย อาวรณ์ อิจฉา ริษยา หวง หึง เหล่านั้นเอามาดู โอ้ไอ้หมอนี่อนิจจังทั้งนั้น อนิจจังทั้งนั้น ก็เลยไม่ให้มันทำอะไรอย่างนั้นได้อีกต่อไป นี่เรียกว่าเห็นอนิจจัง อนิจจัง ไม่เที่ยงๆ ของทุกสิ่ง ที่เราเคยโง่ไปหลงรัก หลงพอใจ หลงยึดมั่นถือมั่น พอเห็นความไม่เที่ยง ก็คือการเห็นความหลอกลวงของมัน มันก็หยุดหลงรัก มันก็หยุดยึดมั่น ฉะนั้นจงเห็นความไม่เที่ยงๆ ไม่เที่ยงนี่เสียก่อน พอเห็นความไม่เที่ยงๆ ของสิ่งที่เราเคยหลงรัก ยึดถือไว้นั่น พอเห็นความไม่เที่ยงมันก็เริ่มๆ ปล่อย เริ่มคลายๆ คลายความยึดมั่นถือมั่น ไอ้ความยึดมั่นถือมั่นนิส่งที่เคยรัก เคยหลง เคยอะไรนั่นก็คลายๆ ออก นี่เรียกว่าเห็นความคลายออก เห็นความจางคลาย คือเห็นวิราคะ ถ้าเห็นอนิจจัง ไม่เที่ยงๆ เพียงพอแล้ว มันจะเกิดคลายออก จางออก แล้วก็เห็นไอ้ความกคลายออก จางออกเป็นขั้นที่สอง บทเรียนที่สองของหมวดนี้ เอ้าคลายออกๆ คลายออกๆ เดี๋ยวมันก็หมด มันก็ดับหมด คลายความยึดมั่นถือมั่นนั่นออกไปๆ คลายออกๆ เดี๋ยวมันก็หมด ดับ เป็นนิโรธ นิโรธ ดับหมด แห่งความยึดมั่นถือมั่น นี่ดับทุกข์ พอเห็นอีกครั้ง อันที่ ๔ นี่ อ้อ หมดแล้ว เดี๋ยวนี้หมดหน้าที่แล้ว หมดเรื่องแล้ว โยนคืนหมดแล้ว ที่เราเคยยึดมั่นถือมั่นไว้เป็นความทุกข์ เดี๋ยวนี้โยนคืนหมดแล้ว นี่บทที่ ๔ โยนคืนไปหมดแล้วก็หมายความว่าไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไรอีกต่อไป ก็เพราะว่าเห็นไม่เที่ยง พอเห็นไม่เที่ยงแล้วมันก็เริ่มคลายความยึดถือ คลายความยึดถือเดี๋ยวมันก็หมด พอหมดแล้วก็รู้ได้เอง โอ้ หมด หมด หมด นี่บทเรียนหมวดที่ ๔ มันเป็นอย่างนี้ วิเศษสุดกันอยู่ที่ตรงนี้ ฉะนั้นพยายามเห็นที่มันไม่เที่ยง ที่มันไม่เที่ยง ไม่เที่ยง คือเปลี่ยนแปลงเรื่อย เปลี่ยนแปลงเรื่อย ของสิ่งที่เราหลงรัก หลงยึดถือ เห็นความไม่เที่ยง ไม่เที่ยง ไม่เที่ยง มันจะคลายความรัก คลายความยึดถือ คลายไป คลายไป คลายไป เดี๋ยวก็หมด เดี๋ยวก็หมด พอหมดแล้ว โอ้ หมดแล้วโว้ย หมดแล้วโว้ย จบแล้วโวย จบแล้วโวย เรื่องจบ เรื่องจบ ปฏิบัติธรรมะจบ ธรรมะปฏิบัติสิ้นสุดแล้ว จบแล้ว นี่เรียกว่าหมวดที่ ๔ พูดเป็นอุปมา จำง่ายๆ ว่า ก่อนนี้เราโง่ เราหลง เราไปเอาของธรรมชาติมาเป็นของกู มาเป็นตัวกู จนเกิดความทุกข์ เกิดความทุกข์ เพราะเราไปโกงเอาของธรรมชาติมาเป็นของกู มายึดมั่นถือมั่น ด้วยกิเลสตัณหา จนเป็นทุกข์ เดี๋ยวนี้เห็นความไม่เที่ยง เห็นความไม่เที่ยง ของสิ่งที่เราหลงยึดนั่น ก็เริ่มปล่อย คือจางออก จางออก จางออก เดี๋ยวก็หมด หมดความยึดมั่นถือมั่น ก็หมดความทุกข์ หมดความทุกข์ เท่ากับว่าเดี๋ยวนี้เราไม่เป็นคนขโมย ไม่ยักยอกธรรมชาติ ไม่โกงธรรมชาติ คืนให้ธรรมชาติ คืนให้ธรรมชาติ นั่นแหละ ก็เป็นอิสระสิ เราก็มีจิตสะอาด จิตสว่าง จิตสงบ จนมีเสรีภาพ หลุดพ้นเหนือทุกสิ่งเหนือทุกอย่างบรรลุนิพพาน บรรลุนิพพาน คืออยู่เหนือปัญหาทุกๆ ประการ เพราะว่าไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใดๆ ไว้โดยความเป็นตัวตน หรือของตน หมวดที่ ๔ ก็จบ ธรรมปริทัศน์มองดูอย่างทั้งหมดของอานาปานสติมันเป็นอย่างนี้ เราจัดการกับร่างกาย กายลม กายเนื้อ ให้ถูกต้อง เราจัดการกับเวทนาทุกชนิดให้ถูกต้อง จัดการกับจิตทุกชนิดให้ถูกต้อง แล้วจัดการกับสิ่งที่เคยยึดมั่นถือมั่น หลงรัก หลงยึดอะไรให้ถูกต้อง ๔ อย่างนี้มันก็หมด นี่เป็นตัวการปฏิบัติ มันจะไม่โง่เมื่อมีผัสสะ เมื่อมีเวทนา ตัณหา มันจะไม่โง่ในกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท กระแสแห่งปฏิจจสมุปบาทมันก็หยุด มันก็เป็นไปไม่ได้ มันก็ไม่เกิดความทุกข์ เราเอาสติปัญญาที่ได้มาจากอานาปานสติมาควบคุมกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท ไม่ให้มันปรุงแต่งจนเกิดความทุกข์ เรื่องมันมีเท่านี้ นี่เรียกว่าธรรมปริทัศน์ ส่วนที่เป็นการปฏิบัติ ว่าจะปฏิบัติธรรมะนี้อย่างไร อย่าลืมว่าธรรมะปริทัศน์เมื่อวานนี่เราพูดว่าธรรมะทำไม ธรรมะทำไม ทำไมจึงต้องปฏิบัติธรรมะ พอวันนี้เราก็พูดถึงธรรมะปริทัศน์ว่า ปฏิบัติอย่างไร ปฏิบัติอย่างไร หรือธรรมะอย่างไร ธรรมะอย่างไร ที่เหลือไว้ในวันพรุ่งนี้จะพูดว่า ธรรมะได้ผลอะไร จะได้อะไร ธรรมะจะให้อะไร ธรรมะจะให้อะไร จะพูดอีกครั้งหนึ่ง เป็นธรรมปริทัศน์ที่สมบูรณ์ ว่าธรรมะทำไม ธรรมะทำไม แล้วก็ธรรมะอย่างไรๆ แล้วก็ธรรมะจะให้อะไร ธรรมะจะให้อะไร เมื่อครบทั้งสามทิศทางอย่างนี้แล้วก็จบแล้ว จบเรื่องของธรรมะ ในวันนี้ขอให้กำหนดเรื่องปฏิจจสมุปบาทให้ดีๆ ว่าความทุกข์เกิดขึ้นอย่างไร ความทุกข์จะไม่เกิดขึ้นอย่างไร นี่เรียกว่าปฏิจจสมุปบาท เป็นกฎของธรรมชาติ เป็นความจริงของธรรมชาติ เป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้า จนพระพุทธเจ้าตรัสว่า ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นเห็นธรรมะ ผู้ใดเห็นธรรมะ ผู้นั้นเห็นเรา คือเห็นฉัน เห็นองค์พระพุทธเจ้านั่น เราจงปฏิบัติ รู้จักปฏิจจสมุปบาทในลักษณะที่เห็นพระพุทธเจ้าพระองค์จริง พระองค์ธรรม ก็ขอบพระคุณพระองค์บุคคลที่มาสอน ถ้าพระองค์บุคคลไม่มาสอน เราก็ไม่รู้จักพระพุทธเจ้าพระองค์ธรรม ก็เราเคารพพระพุทธเจ้าพระองค์คน คือพระสิทัตถะ ที่ตรัสรู้แล้ว สอนแล้ว นิพพานแล้วนั่น ขอบพระคุณท่าน ที่มาสอนให้รู้จักพระพุทธเจ้าพระองค์ธรรม เอ้าเดี๋ยวนี้พระองค์คนก็นิพพานไปแล้ว ก็เหลือแต่พระองค์แทน พระองค์แทน จงใช้พระพุทธเจ้าพระองค์แทนให้ดีๆ ถ้ามีพระบรมธาตุก็ใช้ให้ดีๆ ถ้ามีพระพุทธรูปแขวนคออยู่ก็ต้องใช้ให้ดีๆ ให้รู้จักพระพุทธเจ้าพระองค์คน แล้วให้รู้จักพระพุทธเจ้าพระองค์ธรรม มันก็ดับทุกข์ได้หมดจดสิ้นเชิง เอาพระพุทธเจ้าพระองค์แทน เช่นพระพุทธรูป มาแขวนคอนี่ก็ เพื่อให้เราระลึกนึกถึงความจริงเรื่องนี้ เรื่องปฏิจจสมุปบาท เรื่องดับทุกข์นี้ให้ดีๆ อย่ามาแขวนคอในลักษณะที่ว่าอ้อนวอน อ้อนวอน ขอให้ช่วย ขอให้ช่วย แล้วโดยไม่ต้องทำอะไร โดยมากเขาแขวนกันอย่างนั้น แล้วซื้อมาแพงๆ เสียด้วย เอามาแขวนคอให้คุ้มครองอย่างนี้มันงมงาย เอามาแขวนคอก็ได้แต่ให้ระลึกๆ ให้ถูกต้อง ระลึกให้ถูกต้อง ปฏิบัติให้ถูกต้อง ให้ถูกต้องเรื่องปฏิจจสมุปบาทนี้ แล้วจะมีพระพุทธเจ้าพระองค์จริง พระองค์ธรรมขึ้นมาในจิตใจของเรา เรามีพระพุทธเจ้าพระองค์จริงช่วยได้ ช่วยได้เพราะมีความรู้และมีการปฏิบัติที่ถูกต้องเนื่องด้วยพระพุทธเจ้าพระองค์จริง รูปภาพในตึก รูปภาพนั้นมีอยู่รูปหนึ่ง ขอแนะนำให้ทุกคนไปดูให้ดี รูปนั้นสำคัญมาก ประตูทางเข้าซ้ายมือรูปแรก ภาพแรกของประตู เข้าไปที่ทางซ้ายมือ เป็นภาพที่เขียนให้เข้าใจว่าพระพุทธเจ้าอยู่ที่หลังม่านแห่งความโง่ของคุณ พระพุทธเจ้าพระองค์จริงอยู่ที่หลังม่านแห่งความโง่ของคุณ หาม่านนั้นให้พบ แล้วก็เปิดม่านนั้น จะพบพระพุทธเจ้าพระองค์จริง นั่งอยู่ที่ตรงนั้น ที่หลังม่านแห่งความโง่ของคุณ ไม่ต้องไปหาที่วัด ไม่ต้องไปหาที่อินเดียให้เสียค่าเรื่องบิน ก็พระพุทธเจ้าพระองค์จริงนั้นนั่งอยู่ที่หลังม่านแห่งความโง่ของคุณเองนั่นหละ หาม่านนั้นให้พบแล้วแหวกสักนิดก็จะโอ้ พระพุทธเจ้านั่งอยู่ที่ตรงนี้เอง ไม่ต้องไปที่วัด ไม่ต้องไปที่อินเดีย ไม่ต้องไปที่ไนหรอก หาม่านแห่งความโง่ อวิชชาของเราให้พบ ที่ว่าหลงยึดมั่น ถือมั่น ตัวตน อย่างนั้นอย่างนี้ ม่านแห่งความโง่ หาให้พบ แหวกเอาไปแล้วก็พบพระพุทธเจ้า หรือเอาไปเผาไฟเสียให้หมดก็ยิ่งดี ไม่ให้มีม่านเหลือ พระพุทธเจ้าพระองค์จริงจะปรากฏแก่เราในที่ทุกหนทุกแห่ง ในตลอดชีวิต ในที่ทุกหนทุกแห่ง พระพุทธเจ้าพระองค์จริงจะอยู่กับเรา คือความรู้เรื่องปฏิจจสมุปบาท แล้วปฏิบัติได้อย่างครบถ้วนโดยอานาปานสติ ระหว่างนี้ขอให้สนใจ สนใจศึกษาปฏิบัติอานาปานสติให้สำเร็จ แล้วควบคุมกระแสปฏิจจสมุปบาทได้ ความทุกข์จะไม่มีเหลือ นั่นคือพระพุทธเจ้าพระองค์จริงอยู่กับเราเป็นนิรันดร เรื่องมันก็จบเท่านี้ เห็นอนิจจัง อนิจจังให้จริง อย่าไปหลงเรื่องอนิจจัง ไปหลงก็เป็นทุกข์ เห็นว่าอนัตตา มันไม่มีตัวตน เห็นว่ามันเป็นอย่างนี้เองตามธรรมชาติ มันมีกฎของธรรมชาติบังคับอยู่อย่างนี้ มันเป็นไปตามปัจจัยอย่างนี้ เราจะไม่เป็นไปตามปัจจัย เพราะเรามีธรรมะ ควบคุมไว้ให้ถูกต้อง ถูกต้องๆ เราก็เห็นว่า โอ้ ว่างจากตัวตน มันเช่นนั้นเอง เช่นนั้นเอง ไม่หลงรัก หลงโกรธ หลงเกลียด หลงกลัว ตื่นเต้น วิตกกังวล อาลัย อาวรณ์ อิจฉาริษยา หวงหึง ไม่มี ไม่มี ไม่มี โดยประการทั้งปวง ฉะนั้นเราก็เป็นอันว่าจบ จบเรื่อง จบเรื่องของการเกิดมา เป็นมนุษย์ ได้รับสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ คือไม่มีความทุกข์เหลืออยู่เลย ไม่มีความทุกข์ใดๆ เหลืออยู่เป็นปัญหาเลย ขอให้ท่านทั้งหลายมีความไม่ประมาท ตั้งใจศึกษาและประพฤติปฏิบัติ ให้เป็นอย่างดี ให้ได้รับผลอย่างนี้ ภายในเวลาอันสมควร ถ้าไม่ได้รับผลโดยตรงในเวลาเท่านี้ ก็เอาไปปฏิบัติต่อไปที่บ้านที่เรือน ที่ไหนก็ได้ ปฏิบัติต่อไป ปฏิบัติต่อไป จนถึงที่สุดของการปฏิบัติ อย่างน้อยที่สุดก็ให้ได้ความรู้ว่าปฏิบัติอย่างไร ให้ได้ความรู้ว่าปฏิบัติอย่างไร แม้ยังปฏิบัติไม่เสร็จ แต่ขอให้รู้ว่าปฏิบัติอย่างไร แล้วปฏิบัติต่อไป ต่อไปๆ จะมาศึกษาซ้ำอีกก็ได้ ไม่มาซ้ำอีกก็ปฏิบัติต่อไปที่บ้านที่เรือน ที่ไหนก็ทำไป ให้มันมีสัมมาทิฏฐิ ความรู้ ความเห็น ความเข้าใจถูกต้อง แล้วดำเนินไปอย่างถูกต้อง พูดจาถูกต้อง ทำการงานถูกต้อง เลี้ยงชีวิตถูกต้อง พากเพียรถูกต้อง ในที่สุดก็ดับทุกข์สิ้นเชิง นี้เรียกว่าธรรมะปริทัศน์ ส่วนที่เป็นการปฏิบัติอย่างไร เรียกว่าธรรมะอย่างไร ธรรมะอย่างไร ธรรมทำไม ธรรมทำไม พูดกันเมื่อวานแล้ว วันนี้ก็ธรรมะอย่างไร ธรรมะอย่างไร พรุ่งนี้ก็จะว่าธรรมะจะให้อะไร หรือจะได้รับอะไรจากธรรมะ ไว้พูดกันพรุ่งนี้ เอาแล้วเป็นอันว่าวันนี้ ก็ท่านทั้งหลายทนฟังมาสองชั่วโมงเต็มแล้ว ขอขอบพระคุณอุตส่าห์ทนฟังมาสองชั่วโมงเต็มแล้ว ขอยุติการบรรยาย ขอให้ความรู้ความเข้าใจนี้ ช่วยให้ท่านทั้งหลาย ประสบความสำเร็จในการกำจัดความทุกข์ เหลืออยู่แต่ความไม่ทุกข์ ไม่เป็นทุกข์ ไม่เป็นทุกข์ มีแต่ความสดชื่น เบิกบาน แจ่มใส เยือกเย็น เป็นประโยชน์ เยือกเย็น เป็นประโยชน์ ชีวิตของเราเยือกเย็น เป็นประโยชน์ เยือกเย็น เป็นประโยชน์นั้นคือบรรลุพระนิพพาน ในเวลาอันสมควรด้วยกันจงทุกท่านทุคนเทอญ ขอยุติการบรรยายในวันนี้