แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านสาธุชนผู้สนใจในจิตตภาวนาทั้งหลาย อาตมาจะขอแสดงความยินดีในการที่ท่านทั้งหลายได้ประพฤติกระทำไปในลักษณะอย่างนี้ เพื่อประโยชน์ทั้งแด่ตนเองและเพื่อนมนุษย์ แด่พระพุทธศาสนาด้วย
รู้สึกว่ามีความเข้มแข็งก็ยินดีในการฝึกจิตของตนเองนับตั้งแต่ตื่น ตั้งแต่เนิ่นใช้เวลา ๕ น.ให้เป็นประโยชน์เต็มตามความหมายของมัน ถือเป็นเวลาที่เบิกบานแห่งจิตใจ ถ้าเติมอะไรลงไป เติมอะไรลงไปตามที่ต้องการได้ ได้ใช้โลก ๕ น. โลกในเวลา ๕ น.ให้สำเร็จประโยชน์ได้เต็มที่ถึงขนาดนี้ และก็เชื่อว่าคงจะได้เดินยามเช้าแบบจิตตภาวนา .... ฟังไม่ออก (นาทีที่ 2:46)...แล้วก็เดินจงกรม
เดินอย่างไม่มีตัวผู้เดิน มีการเดินไปอย่างไม่มีตัวผู้เดิน ถ้าฟังคำนี้ถูกจะดีมาก มันมีแต่อิริยาบทของนามและรูปที่เคลื่อนไป ๆๆ ด้วยสติสัมปชัญญะซึ่งเป็นตัวธรรมะอย่างยิ่ง ไม่มีความคิดนึกรู้สึกว่าตัวกู ตัวกูเดิน ๆ ของกูหรือเดินเพื่อประโยชน์อะไรแก่กู เรียกว่าจิตมันเปลี่ยนจากความรู้สึกว่ากู ก็เลยไม่มีตัวกูผู้เดิน แต่แล้วมันอิริยาบทเดินที่เดินไป ๆ อาการอย่างนี้ต้องฝึกทุกอิริยาบท ยืนโดยไม่ต้องมีผู้ยืน นั่งโดยไม่ต้องมีผู้นั่ง นอนโดยไม่ต้องมีผู้นอน มีแต่อิริยาบท คือ การเคลื่อนไหวของสิ่งที่เรียกว่านามและรูปล้วน ๆ คือ กายกับใจล้วน ๆ ไม่มีความยึดมั่นถือมั่นด้วยอุปาทานว่าตัวตนหรือตัวกูรวมอยู่ในนั้นเลย นี่เป็นบทเรียนที่สูง แต่คุณไม่รู้ฟังแล้วทำเล่น ขอให้จดจำหรือว่าฝึกฝนให้ดี ๆ เพราะนั่นแหละหัวใจของการปฏิบัติ
เอาละทีนี้ ในวันนี้จะพูดสิ่งที่เรียกว่า สรุปแนวการปฏิบัติโดยสังเขป สรุปแนวการปฏิบัติโดยสังเขป เพื่อจำง่าย เพื่อจำง่าย เข้าใจง่ายแล้วปฏิบัติง่าย สังเขปไปทุกอย่าง สรุปคำพูดให้สั้นที่สุด ที่เรียกว่า สรุปแนวทั้งหมด มันก็มีว่า มีชีวิตอยู่โดยไม่มีความรู้สึกว่าตัวกู มีชีวิตอยู่โดยไม่มีความรู้สึกว่าตัวกู แล้วก็จะพูดเรื่อง ทำอย่างไรจึงจะไม่เกิดตัวกู
ข้อหนึ่ง เราต้องการมีชีวิตอยู่โดยไม่ต้องมีความรู้สึกว่าตัวกูตลอดเวลา
ข้อสอง คือ ทำอย่างไรมันจึงจะไม่เกิดตัวกู เกิดความรู้สึกว่าตัวกู
สำหรับว่า ไม่เกิดความรู้สึกว่าตัวกูอยู่ตลอดเวลานั้น บางคนได้ยินแล้วก็สั่นหัว สั่นหัว เหลือวิสัยจะทำได้ ข้อนี้เป็นสิ่งที่ทำได้ ถ้าเราได้ฝึกฝนให้เพียงพอ ฝึกฝนให้เพียงพอ ก็คือ ฝึกให้มีสติสัมปชัญญะ มีปัญญา มีสมาธิ รวมกำลังกัน ปัญญามันรู้ความที่ว่ามันไม่มีตัวตนโดยแท้จริง โดยธรรมชาติอันบริสุทธิ์แท้จริงมันไม่มีตัวตน ไม่มีตัวกู มันเพิ่งเกิดเมื่อเผลอ ไม่มีปัญญา โง่ไป เกิดความรู้สึกว่าตัวกูขึ้นมา
เราจะมีความรู้สึกในความจริง ความจริงแท้ ความจริงสูงสุด ความจริงของธรรมชาติ ที่ว่ามันไม่มีตัวกูตามธรรมดา ธรรมชาติอันแท้จริงมันไม่มีตัวกู มันมีอยู่จริง ก็คือ นามรูป นามรูป ใจกับกาย ภาษาบาลีเขาเรียกว่า นามรูป ใจกับกาย ภาษาไทยเรามักจะเรียกกลับกันว่ากายกับใจก็ได้เหมือนกัน มันมีแต่เพียงสองอย่าง มีกายกับใจ แล้วก็มีส่วนประกอบของกายของใจนั้นตามเรื่องของมัน ครบถ้วนของมัน
ส่วนที่เป็นกายก็มีระบบประสาททางกาย ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายมีระบบประสาทให้เรารู้สึก และใจก็ค่อยรับความรู้สึก ระบบประสาททางกายมันจะส่งขึ้นมา แล้วมันก็รู้เองว่าอย่างนี้อันตรายหรือนี้ไม่อันตราย นี้ควรจัดการอย่างไร นี้ควรจัดการอย่างไร ก็ควรจัดการไปตามนั้นโดยอย่าให้รู้สึกว่าตัวกูหรือของกู
เปรียบเทียบกันดู นามรูป รู้สึกต่ออารมณ์ว่าเป็นอย่างไร แล้วส่วนที่เป็นจิตใจก็จัดการให้ถูกต้อง นี่มันไม่มีเรื่องกู ก็คือไม่มีเรื่องได้เรื่องเสีย เรื่องแพ้เรื่องชนะ เรื่องสุขเรื่องทุกข์ เรื่องอะไรทุก ๆ เรื่อง มันมีแต่จัดไปตามธรรมชาติให้ถูกต้องตามที่ควรจะจัด
ยกตัวอย่างว่า หนามตำนี้มันเป็นเรื่องของร่างกาย หนามตำเจ็บปวดใจก็บอกเอาออก ๆ อย่างเรียบร้อย อย่าให้มันเกิดความรู้สึกว่าหนามตำกู กูจะตาย อย่าให้ไปถึงนั่น ถ้ามันเลยไปถึงอย่างนั้นว่า หนามมันตำกูแล้วกูก็จะตายแล้วกูก็เจ็บ ความเจ็บของกู นี่มันเป็นเรื่องกู ออกมาเป็นเรื่องกู มันก็มีปัญหาเต็มไปหมด มันเจ็บปวดทั้งเป็นทุกข์ทั้งอะไร
ลองเปรียบเทียบดูสักนิดดูว่า เมื่อตาเห็นรูป แล้วเป็นเพียงแต่ตาเห็นรูป มันก็จัดการไปได้ หรือไม่จัดการอะไรเลยก็ได้เพราะมันไม่เกี่ยวข้องกัน แต่ถ้ามันลึกไปกว่านั้น มันก็เป็นกูเห็น แล้วก็สวยก็อยากได้ ไม่สวยก็ไม่อยากได้ หรือเกิดกิเลสนานาชนิดตามหลังมาเพราะว่ามันเป็นเรื่องของกูมันก็เกิดกิเลส ถ้าเป็นเรื่องของนามและรูปล้วน ๆ ก็ไม่มีกู มันก็ไม่เกิดกิเลส
ฉะนั้นจึงสรุปความสั้น ๆ อย่างที่แล้วมาว่า มีชีวิตอยู่อย่างไม่มีความรู้สึกว่าตัวกู ช่วยจำไว้ตลอดกาล มีธรรมะนี่คือมีชีวิตอยู่อย่างไม่มีความรู้สึกว่ากู จะทำเช่นนั้นได้อย่างไรค่อยพูดกันอีกตอนหนึ่ง นี่เป็นตอนหลักทั่วไป หลักสำคัญว่า สรุปแล้ว การปฏิบัติธรรมะได้ความว่า จะมีชีวิตอยู่อย่างไม่มีตัวกู
สำหรับการมีชีวิตอยู่โดยไม่ต้องมีตัวกูนั้น มีข้อที่พอจะทราบหรือควรจะทราบเป็นข้อ ๆ เป็นเรื่อง ๆ ไป เป็นองค์ประกอบความรู้ คือ เราจะให้จิตมีความรู้สึกที่เป็นควาสะอาด สว่าง สงบ ๓ คำ มีความรู้สึกที่เป็นความสะอาด สว่าง สงบ อยู่เป็นพื้นฐาน ให้จิตมีความรู้สึก ๓ อย่างนี้เป็นพื้นฐาน แล้วความรู้สึก ๓ อย่างนี้เป็นพื้นฐานของจิตก็ได้แล้วแต่จะพูด เป็นปกติ เป็นปกติ ทุกเวลา ทุกนาที ทุกกระเบียดนิ้ว เมื่อจิตมีความสะอาด สว่าง สงบของจิต ของจิตเองเป็นพื้นฐานอยู่ด้วยความรู้สึกอย่างนี้ แล้วท่านก็ดูเอาเองเถอะ มันจะสบาย .... ฟังไม่ออก (นาทีที่ 13:57)... ได้อยู่อย่างมีความรู้สึกสะอาด สว่าง สงบเป็นพื้นฐานไม่ว่าในกรณีใด ๆ ในการศึกษาเล่าเรียน ในการทำการทำงาน ในการหาเงิน ในการได้เงิน ในการมีเงิน ในการใช้เงิน ไม่ไปหลงกับมัน ไม่ไปหลงกับมัน ทำไปด้วยสติสัมปชัญญะ ใช้ทำสิ่งเหล่านี้ทั้งหมดด้วยสติสัมปชัญญะ ไม่ไปหลงอะไรกับมัน ก็สามารถรักษาความสะอาด สว่าง สงบไว้ในความรู้สึกของจิตอยู่เสมอ
เรียกอย่างธรรมะสูงสุดก็มีชื่อเรียกเหมือนกัน เรียกว่า อยู่ด้วยสุญญตาวิหาร สุญญตาวิหาร มีอยู่ด้วยสุญญตา อยู่ด้วยสุญญตา ก็อยู่ด้วยความว่าง ความว่างก็ว่างจากตัวกู อยู่ด้วยสุญญตาวิหาร แล้วถ้ามันอยู่ด้วยความว่างจากตัวกูแล้วมันก็มีความสะอาด สว่าง สงบ แต่คำนี้มันสูงเป็นคำสูง ที่มีใช้กับพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าท่านก็ใช้คำนี้ ว่าตถาคตอยู่ด้วยสุญญตาวิหารตลอดเวลา บางทีก็เดิมคำให้สูงยิ่งขึ้นไปอีกว่า อนุตรสุญญตาวิหาร อนุตรก็สูงสุดไม่มีอะไรเหนือกว่า
อนุตรสุญญตาวิหาร การอยู่ด้วยความว่าง อยู่ด้วยสุญญตาหรือความว่าง สูงสุดไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น คำนี้พระพุทธเจ้าตรัสเอง ไม่ใช่จะทรงยกยอตัวเอง แต่จะบอกให้ทราบว่าท่านอยู่อย่างไรตามปกติ อยู่ด้วยสุญญตาวิหาร ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปนอกจากว่าง ๆๆ อยู่ตลอดเวลา ว่างจากตัวกู ว่างจากตัวกูอยู่ตลอดเวลา บางเวลามีคนมาเต็มวัดเป็นประชาชนก็มี เป็นพราหมณ์มหาศาลก็มี เป็นคหบดีคหบดีมหาศาลก็มี เป็นกษัตริย์มหาศาลก็มี มาเป็นกองทัพก็มี จิตก็ไม่ได้หวั่นไหวไปจากเดิม คงอยู่ด้วยสุญญตาคือความว่าง
อะไรจะเกิดขึ้น อย่างในพุทธประวัติอย่างที่ท่านทั้งหลายก็อ่านก็เรียนกันมาแล้ว มีคนมาชี้หน้าด่าหาเรื่อง.... ฟังไม่ออก (นาทีที่ 17:17)... ก็มี ก็อยู่ด้วยสุญญตาวิหาร เมื่อมีคนมาสรรเสริญเยินยอ มีคนมาถวายวัตถุปัจจัย มีคนมาทำอะไรก็สุดแท้ ท่านก็อยู่ด้วยสุญญตาวิหาร แม้ท่านจะสอนภิกษุก็ด้วยสุญญตาวิหาร สอนคนพวกไหนก็ด้วยสุญญตาวิหาร จะพักผ่อนสักหน่อยก็อยู่ด้วยสุญญตาวิหาร ไม่ว่าทำกิจทุกอย่างด้วยจิตที่ยังคงเกลี้ยงหรือว่างจากอัตตาตัวตน ไม่มีความรู้สึกเป็นอัตตาตัวตน ที่เราเรียกในที่นี้ว่าตัวกู ๆ ไม่มี.... ฟังไม่ออก (นาทีที่ 18:04)... นี่เป็นเรื่องของพระพุทธเจ้า เอามาเปรียบเทียบให้เห็นว่าพระพุทธเจ้าผู้เป็นบรมครูสูงสุด ท่านอยู่ด้วยความรู้สึกว่าอะไร ว่าเป็นอย่างไรในชีวิตของท่าน ท่านก็เรียกมันว่าสุญญตาวิหาร เราก็จำลองมาใช้ ก็จะอยู่ด้วยความรู้สึกของจิตใจที่สะอาด สว่าง สงบ นั้นก็เกลี้ยงหรือว่างเหมือนกัน สะอาดก็ไม่มีกิเลส สว่างก็รู้แจ้ง สงบก็ไม่มีอะไรกวน นี่เรียกว่า เราอยู่ด้วยสุญญตาวิหารเหมือนพระพุทธเจ้าก็ได้ จะขอพูดสั้น ๆ เป็นธรรมชาตินะ ภาษาธรรมชาติ ภาษาธรรมดา ตามธรรมชาติว่าอยู่ด้วยจิตที่มีภาวะสะอาด สว่าง สงบ เป็นพื้นฐานตลอดไป
เราไม่ว่าอารมณ์อะไรจะเข้ามา ไม่ว่าอารมณ์อะไรจะเข้ามาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายหรือทางใจเอง รับอารมณ์ด้วยจิตที่สะอาด สว่าง สงบ คือ ควบคุมไว้ได้ อารมณ์เหล่านั้นไม่มาปรุงแต่ง นี้ก็มีสติสัมปชัญญะทันควันทันทีที่อารมณ์มากระทบ ทางสายตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ครบ ปกติก็เผชิญหน้าทันที รู้สึกด้วยปัญญา มีสัมปชัญญะ...ฟังไม่ออก (นาทีที่ 20:26)... อย่างนี้กันทั้งนั้นนะ การกระทบนี่มันมี ๒ ขั้นตอน ทีเรียกผัสสะหรือกระทบมี ๒ ขั้นตอน ที่เรียกมากระทบ อย่างของมากระทบตา หู จมูก รับเอาอย่างของมากระทบ เรียกเป็นภาษาวิทยาศาสตร์หน่อยก็เรียกว่า มันรู้สึกเพียงมิติ มิติของสิ่งที่เข้ามากระทบ เช่น เข้ามากระทบตา ก็รู้ว่ารูปมีมิติอย่างไร กว้างเท่าไร ยาวอย่างไร สูงต่ำอย่างไร สีสันอะไร มีเท่านั้นนะ คือเรียกว่ามันรู้ทางคลื่นแสงว่ามันเป็นอย่างไร เป็นธรรมชาติ เป็นวิทยาศาสตร์ กระทบทีแรกมันเป็นเพียงเท่านี้ ทีนี้ ถ้ากระทบอย่างนี้แล้ว ใจ ใจมาอีกที มาสัมผัสอีกที ทีนี้จึงรู้ว่า โอ้ อะไรละนั่น เป็นดอกกุหลาบหรือเป็นขี้หมา ทีแรกรู้แต่มิติ ลักษณะอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่รู้ว่าอะไร ต่อมาก็รู้ว่าอะไร และต่อมาก็รู้ว่ามีความหมายอย่างไร มีคุณสมบัติอย่างไร ทีแรกเห็นเป็นตะคุ่ม ๆ รูปยาว ๆ สูง ๆ นี่เข้ามาเป็นเพียงผัสสะล้วน ๆ ต่อมาจิตก็สัมผัสสิ่งที่เห็น นั่นคือ อ้อ นั่นรูปผู้หญิง นั่นรูปผู้ชาย...ฟังไม่ออก (นาทีที่ 22:09)...และก็มีความหมายอย่างไร มีคุณสมบัติอย่างไร น่ารักน่าเกลียดอย่างไรก็รู้ต่อมา ถ้าอย่างนี้มันเป็นเรื่องถึงขีดที่เป็นปัญหา ถึงขีดที่เป็นอันตราย
ทางหูก็เหมือนกัน เพียงแต่เสียง มิติของคลื่นเสียงเข้ามาเป็นอย่างนั้น ๆ ยังไม่รู้ว่าเสียงอะไร ยังไม่เห็นความหมายของมัน เสร็จแล้วมันสัมผัสด้วยจิตอีกทีว่า โอ้ เสียงอะไร เสียงนก เสียงกา หรือว่าเสียงผู้หญิง เสียงผู้ชาย เสียงอะไร ทีนี้ก็เกิดความหมาย
ทีนี้ก็เหมือนกัน เพียงแต่ว่ารู้สึกว่ากลิ่นมากระทบจมูก ต่อมารู้กลิ่นอะไร กลิ่นอะไร
รสทางลิ้นก็เหมือนกัน ใส่ลงไปที่ลิ้นก็รู้สึกว่าเป็นรสอะไร ต่อมาก็รู้ว่า โอ้ รสอะไร อร่อยหรือไม่อร่อย กระทั่งว่าแพงหรือถูก กระทั่งว่าเกียรติหรือไม่มีเกียรติ คนมันจึงไปกินอาหารมื้อละพัน มื้อละหมื่น มื้อละแสน ก็หลงในความหมายในคุณค่าของอาหาร
สัมผัสผิวหนังก็เหมือนกัน มันถูกกันเข้าก็รู้สึกมันมีอะไร มีลักษณะอ่อน แข็งเท่าไร ตึงเต่งเท่าไร มีเพียงเท่านั้น ต่อมามีการกระทบครั้งที่ ๒ จึงจะรู้ว่าของอะไร ของอะไร กระทั่งเป็นของที่เป็นคน เป็นหญิงเป็นชาย เป็นอะไรอย่างนี้ มันมีโอกาสให้เกิดสติสัมปชัญญในการกระทบทีแรก ซึ่งเป็นเพียงความรู้สึกของระบบประสาท ระบบประสาทรู้สึกอย่างไร ทำไมยังติดใจเท่านั้นเอง นั่นแหละ ว่าไป (นาทีที่ 24:24)มันเป็นเพียงระบบประสาทเท่านั้นเอง อย่าเป็นเหยื่ออันโอชะอะไรของกู (นาทีที่ 24:27) รู้สึกว่าสิ่งที่กระทบมาส่งความรู้สึกนั้นเป็นเพียงสิ่งที่มากระทบระบบประสาทที่ตา ที่หู ที่จมูก แล้วแต่ ส่งเข้ามาที่ยังจิตในลักษณะอย่างนั้น และจิตก็พอจะรู้ได้เองว่าอันตรายหรือไม่อันตราย ควรจะทำอย่างไร ควรจะจัดการอย่างไร มันก็ไม่เกิดตัวกูว่า กูได้อะไร กูเสียอะไร ไม่เกิดความรู้สึกประเภทตัวกู ทว่าสิ่งที่มันเป็นบวก คือ มันถูก อร่อย กับระบบประสาทมันเป็นบวก มันจะเกิดความรู้สึกตัวกูที่เป็นบวกว่าตัวกูได้ ๆ ในสิ่งที่เป็นบวก ถ้ามันเป็นลบ ถ้ามันไม่สบายเสียเลย ตัวกูที่เป็นลบมันก็เกลียดมันก็โกรธอะไรไปตามเรื่อง ระวังความรู้สึกเป็นบวกและเป็นลบมันจะเกิดขึ้นมา
ความเป็นบวกหรือเป็นลบมันก็เฉพาะคน บางคนมันไม่รู้สึกเหมือนกับคนอื่นก็มี แต่ถึงอย่างนั้นมันก็มีความรู้สึกเป็นบวกหรือเป็นลบสำหรับคนนั้นเองแหละ ทุกคนจะมีสิ่งที่ชอบหรือไม่ชอบตามความรู้สึกของตนเป็นคน ๆ ไป กว่าจะขึ้นมาถึงตอนชอบหรือไม่ชอบอย่างนี้แล้ว มันก็เกิดตัวกูแน่นอน หรือว่าจะเอาชอบ นี่เขาชอบกันโว้ย นี่เขาไม่ชอบกันโว้ย อย่างนี้ก็ได้ แต่ฉันไม่ไปชอบหรือไม่ชอบกับมัน มันจะรู้สึกแต่เพียงว่าจะต้องจัดการกับมันอย่างไรหรือว่าไม่ต้องจัดการอะไร ทิ้งเฉย ๆ เสียก็ได้ ถ้ามันไม่จัดการอะไร ไม่มีเรื่องอะไรก็ทิ้งไปเสีย ถ้ามันต้องจัดการก็จัดการ จัดการอย่างผู้ชนะ ไม่หลงความเป็นบวก ไม่หลงความเป็นลบ ก็เป็นผู้ชนะจัดการเรียบร้อยหมด ไม่ว่าอะไรจะเข้ามากระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทางใจนั้นเฉพาะนั้นยากมากมันไวมาก มันเกิดรักหรือไม่รัก เกิดยินดียินร้าย เกิดบวกเกิดลบเสียอย่างรุนแรง สำเร็จได้ด้วยการฝึกสติสัมปชัญญะให้มากพอ เผชิญหน้ามันให้ได้
เมื่อทำอย่างนี้ได้ก็สามารถรักษาภาวะสะอาด สว่าง สงบ ไว้ได้ ข้อแรกสิ่งมีชีวิตอยู่ในภาวะสะอาด สว่าง สงบ ถ้าเก่งกล้าจนสามารถเผชิญกับอารมณ์ทุกชนิดโดยสติสัมปชัญญะอย่างนี้ได้ บุคคลนั้นก็รักษาภาวะสะอาด สว่าง สงบ ของจิตไว้ได้โดยที่ไม่ต้องเกิดตัวกู ตัวกูไม่ใช่ของจริง โผล่ขึ้นมาจากความโง่ที่ไปหลงบวกหลงลบ ถ้าไม่มีโง่เป็นหลงบวกหลงลบ ความรู้สึกว่าตัวกูเกิดไม่ได้ ข้อนี้ไว้พูดกันตอนหลัง
ตอนนี้ว่าเราจะมีชีวิตอยู่โดยไม่มีความรู้สึกประเภทตัวกู เราก็มีความสามารถมากขึ้น ๆ สามารถเผชิญกับอารมณ์ที่มากระทบได้อย่างเร็วและก็อย่างฉลาด อย่างถูกต้อง ไม่เกิดตัวกูอย่างที่กล่าวแล้ว รักษาความสะอาด สว่าง สงบไว้ได้ในทุกกรณีที่มีอารมณ์เข้ามากระทบ สรุปความชีวิตนี้ก็เย็นไม่ร้อน ไม่เกิดกิเลสก็ไม่ร้อน ไม่เกิดตัวกูของกูมันก็ไม่เกิดกิเลส ไม่เกิดบวกเกิดลบก็ไม่เกิดตัวกูของกู มันเนื่องกันอยู่อย่างนี้ เราก็ได้มีชีวิตเย็น สงบเย็นส่วนตัว และก็เป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่าย นี่การมีชีวิตชนิดที่ไม่มีตัวกูของกูมันเป็นอย่างนี้ มันมีค่าสูงสุดอย่างนี้
สงบเย็นตามความหมายของพระนิพพาน คือ เย็นเพราะไม่มีความร้อนของกิเลส ก็เรียกว่า มีความสุขอย่างนิพพาน แต่ที่แท้ท่านไม่เรียกว่าความสุข ท่านเรียกว่าความหมดสิ้นแห่งความทุกข์ ความสุขเป็นคำล่อให้หลงรัก หมดสิ้นแห่งงความทุกข์นี่มันไม่ล่อให้หลงรัก เอาเพียงว่ามันสงบเย็นและมันไม่มีความทุกข์ ก็เป็นอิสระพอที่จะทำประโยชน์ ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ ก็กิเลสมันไม่มีมา กิเลสไม่มีมาลากไปเป็นบ่าวของกิเลส เขาก็สามารถปฏิบัติธรรมะที่เป็นประโยชน์กับตัวเอง เป็นประโยชน์กับผู้อื่น เป็นประโยชน์ทั้งสองฝ่าย เรียกว่า ประโยชน์
คำว่า ประโยชน์ นั้นเมื่อกล่าวเต็มตามความหมายมี ๓ ชนิด ประโยชน์ตนเองโดยเฉพาะ ประโยชน์ผู้อื่นโดยเฉพาะ และประโยชน์ที่มันเกี่ยวข้องกันอย่างที่ไม่อาจจะแยกกันได้ มันจึงมี ๓ ประโยชน์ พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้อย่างนี้
ประโยชน์ตน เรียกว่า อัตตัตถประโยชน์
ประโยชน์ผู้อื่น เรียกว่า ปรมัตถประโยชน์
ประโยชน์ทั้งสองฝ่ายเกี่ยวข้องกัน เรียกว่า อุพยัตถประโยชน์ (นาทีที่ 31:02)
ขอให้เราได้บำเพ็ญประโยชน์ครบทั้ง ๓ ประการนี้โดยทั่วกัน
ทีนี้ ที่จะดูกันต่อไปก็คือ มีวิปัสสนาเป็นปกติ มีวิปัสสนาอยู่เป็นปกติ ในทุกกรณีหรือว่าในทุกขั้นตอน โดยเวลาก็ว่าทุกวินาที โดยเนื้อที่ก็ว่าทุกกระเบียดนิ้ว ทุกนาทีทุกกระเบียดนิ้วของชีวิตนี้เรามีสติสัมปชัญญะ คำพูดนี้ใช้ได้ ๒ ความหมาย คือ มีสติสัมปชัญญะก็ได้ แต่ที่ง่ายกว่านั้น เรียกว่า เราไม่สูญเสียสติสัมปชัญญะ เราไม่ปราศจากสติสัมปชัญญะที่ตั้งไว้ดีแล้วมันก็มีของมันเองติดต่อกัน ฉะนั้น เวลาหลับก็ไม่เกิดความผิดพลาดเสียหาย ตื่นขึ้นมาก็มีสติสัมปชัญญะต่อไป อย่างนี้ก็เรียกว่ามีสติสัมปชัญญะแม้ในเวลาหลับ ในเวลาหลับก็ไม่สูญเสียสติสัมปชัญญะ ไม่ฝันร้าย ไม่คิดใต้สำนึกตามความหลับ เรียกว่า มีสติสัมปชัญญะ นั้นค่อนข้างจะยาก แต่ว่าไม่สูญเสียสติสัมปชัญญะ มีสติสัมปชัญญะคุ้มครองอยู่ในลักษณะใดลักษณะหนึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ทำได้
เราก็สามารถมีวิปัสสนา คำว่า วิปัสสนา ความเห็นแจ้งต่อชีวิตติดต่อกันไปได้ เมื่อเราสามารถกำจัดป้องกันไม่ให้อารมณ์มันหลอกล่อเราจนเกิดความทุกข์แล้ว เราก็เจริญวิปัสสนาต่อไปเพื่อจะกำจัดอนุสัยแห่งกิเลสที่เหลืออยู่ในจิตในใจที่เหลืออยู่ให้หมดไปอีกทีหนึ่ง แล้วก็อบรมวิปัสสนาหรือสัจจวิปัสสนา (นาทีที่ 34:05) เห็นแจ้งในความเป็นจริงของสิ่งทั้งปวง แต่ต่อไป ๆ เป็นปกติเป็นงานประจำ ทุกท่านเมื่อเสร็จภาระที่ต่อสู้กับอารมณ์ทุกอย่างปกติแล้วก็อบรมวิปัสสนา สัจจวิปัสสนา ความจริงของสัจจะของที่จะให้ก้าวหน้าต่อไป ก้าวหน้าต่อไป
ข้อนี้ก็ขอเสนอแนะวิปัสสนา ๙ ตา วันก่อนก็พูดทีนึงแล้ว ๙ ตาเป็นอย่างไรโดยสังเขป มีอยู่ ๙ ลักษณะหรือ ๙ ชนิดก็ตาม เป็น ๙ แบ่งออก ๓ ชุด ชุดละ ๓ ชุดละ ๓ ก็เป็น ๙
ชุดแรกว่า อนิจจตา ทุกขตา อนัตตตา มีเวลาว่างเมื่อไหร่ก็มาสืบต่อวิปัสสนานี้ เห็นอนิจจตา คือ ความไม่เที่ยงยิ่งขึ้นไปอีกกว่าที่แล้วมา เห็นทุกขตายิ่งขึ้นไปอีกกว่าที่แล้วมา เห็นอนัตตตายิ่งขึ้นไป จนกว่ามันจะถึงที่สุด เดี๋ยวนี้มันยังไม่ถึงที่สุด เห็นเพียงส่วนหนึ่ง จับปัญหาได้ส่วนหนึ่ง ยังไม่ถึงที่สุด
เห็นอนิจจตาความไม่เที่ยงของทุกสิ่งที่เป็นภายนอกและภายใน ในภายในและภายนอกก็ได้เพราะมันเนื่องกัน ส่วนที่เป็นร่างกายนี้มันเนื่องกับเหตุปัจจัยภายนอก ด้วยความไม่เที่ยงของภายนอกมากที่สุด ส่วนที่เป็นจิตใจมันจึงจะมีเรื่องที่เป็นภายในมากขึ้น เห็นความเปลี่ยนแปลงไม่คงที่ เรียกว่า อนิจจัง อนิจจัง หรือ อนิจจตา ความเปลี่ยนแปลงเรื่อยไม่คงที่ เห็นชัดสรุปความว่า โอ ทุกอย่างเหล่านั้นมันมีเหตุมีปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดขึ้นมา แต่ละอย่างที่เป็นเหตุปัจจัยมันไม่เที่ยง แล้วเหตุที่มันปรุงแต่งขึ้นมาโดยเหตุปัจจัยเหล่านั้นมันจะเที่ยงได้อย่างไร จักรวาล โลกทั้งโลกทั้งหมดนี้มันประกอบอยู่ด้วยปรมาณู ปรมาณู ที่ละเอียดที่สุดที่ไม่แบ่งแยกกันอีกต่อไปแล้วเป็นปรมาณู ปรมาณูประกอบขึ้นเป็นกลุ่ม ขึ้นมาตามลำดับ ๆ ขึ้นมาเป็นเซลล์ที่มีชีวิต ก็ทุก ๆ ปรมาณูมันไม่เที่ยง และทุกสิ่งที่เกิดจากปรมาณู โดยปรมาณู ดูสิมันจะเที่ยงได้อย่างไร ปฏิเสธได้หมดเลยว่ามันไม่เที่ยง ถ้ามันถูกปรุงขึ้นมาโดยปรมาณูที่ไม่เที่ยงที่ปั่นป่วนอย่างยิ่งอยู่เสมอ
ทีนี้ เมื่อภายในที่เป็นร่างกายก็อาศัยภายนอก ของภายนอก มันมีโลกภายนอกก่อนแล้วมันจึงจะมีสิ่งที่มีชีวิต มีต้นไม้ มีสัตว์ มีคนขึ้นมา มาทีหลังเขา ก็ยิ่งอาศัยปรมาณูชนิดที่ไม่เที่ยงยิ่งขึ้นไปอีก เป็นความไม่เที่ยงของนามและรูปนั่นแหละ รูปกายก็ไปตามแบบรูปกาย นามกายก็เป็นไปตามแบบนามกาย ล้วนแต่อาศัยปัจจัยที่ไม่เที่ยง ที่เปลี่ยนแปลงอยู่เป็นนิจ ดีกว่าไปดูกีฬา โดยเหมือนดูกีฬา โดยสนุกเหมือนไปดูกีฬา ไม่ต้องไปดูกีฬา ดูความไม่เที่ยงที่มีอยู่เต็มไปหมดในที่ทุกหนทุกแห่งทั้งภายในและภายนอกร่างกายของเรา อย่างนี้ไม่สนุก อย่างนี้ไม่สนุกดีกว่าไปดูกีฬา ซึ่งจะไม่โง่ให้ตื่นเต้น ๆๆ จนไม่รู้จะไปตาม...ฟังไม่ออก (นาทีที่ 39:15)...เห็นความไม่เที่ยงแล้วมันก็เป็นการกีฬาขึ้นมาเอง ถ้าเราต้องต่อสู้กับความไม่เที่ยง เราเล่นกีฬากับความไม่เที่ยง เอาชนะมันให้ได้ อยู่ก็ไม่เที่ยง แล้วไปอยู่กับสิ่งที่ไม่เที่ยง ต้องอยู่กับสิ่งที่ไม่เที่ยง มันก็เป็นทุกข์ เป็นทุกข์ ก็ดูความทุกข์ แล้วก็เล่นกีฬากับความทุกข์ เอาชนะความทุกข์ให้ได้ ให้สติปัญญาของเราต่อสู้กับความทุกข์เหมือนกับเล่นกีฬา แล้วดูว่าใครจะแพ้ ใครจะชนะ เราก็ตัดสิน ให้ชีวิตมันเป็นกีฬา เป็นการเล่นกีฬาก็สนุก พร้อมกันนั้นก็เห็น อ้าว ไม่เคยเล่นอย่างนี้เลย ไม่มีตัวตนที่ไหนเว้ย มีแต่ความเปลี่ยนแปลงของสิ่งที่เปลี่ยนแปลง ไปจับฉวยเอามาเป็นของตนเข้าก็เป็นทุกข์ มันมีแต่สิ่งอย่างนี้ มีแต่สิ่งอย่างนี้ นั่นแหละ คือเห็นอนัตตา อนัตตา
เห็นชุดแรกของวิปัสสนา หรือสัจจะของวิปัสสนา ก็คือเห็นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เป็นความจริงสูงสุด ประโยชน์สูงสุด แต่คนที่ไม่เคยรู้ไม่เคยเรียนโดยเฉพาะเด็กสมัยใหม่แล้วมันก็เยาะ ...ฟังไม่ออก (นาทีที่ 40:50)... ฉันไม่สนใจ ฉันไม่เรียน ไอ้เด็กรุ่นนี้มันถึงได้เป็นบ้าเป็นหลัง นี่เรียกว่าชุดแรกของสัจจวิปัสสนา เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นชัดแจ้งเต็มที่แล้วก็เห็นชุดที่ ๒ แน่นอน
ชุดที่ ๒ ก็คือ ธัมมัฏฐิตตา สิ่งทั้งปวงตั้งอยู่ตามธรรมชาติอย่างนี้ มีอยู่ เป็นอยู่ ตั้งอยู่ โดยธรรมชาติอย่างนี้ เรียกว่าเห็น ธัมมัฏฐิตตา แปลว่าตั้งอยู่ตามธรรมดาอย่างนี้ จะเห็นว่ามันตั้งอยู่โดยธรรมดาอย่างนี้โดยแท้จริง เห็นจริงแล้วว่า โอ มันมีกฎของธรรมชาติบังคับอยู่โว้ย กฎของธรรมชาติ เรียกว่า ธัมมนิยาม ธัมมนิยามตา กฏของธรรมชาติบังคับอยู่โว้ย มันจึงตั้งอยู่อย่างนี้ นี่คือเห็น ธรรมนิยามตา คือ ความที่มันต้องเป็นไปเป็นตามปัจจัยของมัน เป็นไปตามปัจจัยของมันอยู่เนืองนิจ นี้เรียกว่าเห็น อตัมมยตา (นาทีที่ 40:50) ในเทปเป็นอตัมมยตา แต่ไม่แน่ใจว่าจริง ๆ ควรจะเป็นอิทัปปัจจยตาหรือเปล่าคะ? อ้างอิงตามหนังสือ “ธรรมะ ๙ ตา” ของท่านพุทธทาส อิทัปปัจจยตา เป็นธรรมะ ๙ ตาชุดที่ ๒ ค่ะ (ถ้าข้อสงสัยนี้ผิดพลาด ขอโทษด้วยนะคะ) สูงสุดในข้อที่ว่า เห็นชัดว่าเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยอย่างไร ความทุกข์จึงเกิดขึ้น ไม่เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยอย่างไร ก็จะไม่เกิดความทุกข์เลย เห็นอตัมมยตา เห็นในทั้งสองฝ่าย ไม่ว่าจะปรุงแต่ง ไม่ว่าจะเป็นความทุกข์ เมื่อเห็นฝ่ายที่ไม่ถูกปรุงแต่งไปตามนั้นแล้วก็ไม่เกิดทุกข์ นี้เห็นสัจจวิปัสสนาชุดที่ ๒ ที่เห็นธัมมัฏฐิตตา ธัมมนิยามตา อิทัปปัจจยตา ถ้าเห็นชัดจะเห็น โอ้ มันเนื่องกันอย่างยิ่ง มันสัมพันธ์กันอย่างยิ่ง มันตั้งอยู่อย่างนี้เพราะมันมีกฏธรรมชาติบังคับ และมันก็ต้องเป็นไปตามกฏธรรมชาติอย่างนั้นเรื่อยไป ๆ นี่คือการเห็นธัม มัฏฐิตตา ธัมมนิยามตา อิทัปปัจจยตา เป็นสัจจะของวิปัสสนา ชุดที่ ๒ ก็มี ๓ ข้อเหมือนกัน
ทีนี้ ก็มาถึงชุดที่ ๓ เมื่อเห็นอิทัปปัจจยตาเรื่อยไป ๆ ไม่มีอิสระแก่นามรูป ไม่มีเสรีภาพแก่นามรูป ก็มันว่างจากตัวตน นี่เห็นสุญญตา สุญญตา ว่าง ๆๆๆ จากตัวตน เห็นสุญญตา เรียกว่า เห็นสุญญตา ว่างจากตัวตน ว่างจากความหมายแห่งตัวตน หรืออีกทางหนึ่งก็ว่านามและรูป นามและรูปนี้ไม่ต้องมีอัตตา ไม่ต้องมีตัวตน มันก็ทำหน้าที่ของมันได้ ไม่ต้องมีสิ่งที่สามเข้ามา มีสองสิ่งพอแล้ว มีนามและรูป ทางกาย เรียกว่า รูป ทางใจ เรียกว่า นาม มันรู้จักทำหน้าที่ รู้จักทุกอย่างที่มันควรจะรู้จัก ไม่ต้องมีที่สามเข้ามา คือ ตัวอัตตา ไม่ต้องเข้ามา ถ้ามีอัตตาเข้ามาก็คือความโง่ คิดเอาเองว่ามีอัตตา ความโง่นั้นแหละเป็นที่ตั้งแห่งอัตตาแล้วก็เป็นทุกข์ เป็นทุกข์ไปเปล่า ๆ
แม้ว่าศาสนาอื่นเขาจะสอนให้มีอัตตาก็ตามใจเขา เราพุทธศาสนาไม่มีอัตตา ว่างจากอัตตา ตรงนี้จะต้องทราบกันสักทีหนึ่งก่อนว่าลัทธิที่ว่ามีอัตตา มีอัตตานั้น เขาก็มาสอนพวกเราชาวไทยที่นี่ ก่อนพุทธศาสนาเสียอีก ก่อนพุทธศาสนามาถึงดินแดนแหลมทองนี้ พวกฮินดู พวกโน้น พวกที่มีอัตตาก็มาสอนเรื่องอัตตาไว้ก่อนเต็มเปา มันยังมีเชื้อเหลือจนกระทั่งบัดนี้ มาปนกันกับพุทธศาสนายุ่งไปหมด ต้องรู้จักแยกว่าถ้ามีอัตตาก็ไม่ใช่พุทธศานา ถ้าไม่มีอัตตาก็คือพุทธศาสนาซึ่งสอนเรื่องสุญญตา
ข้อความในตำนานกล่าวไว้ให้พอจะเข้าใจได้ง่ายว่า เมื่อพระสมณฑูตฝ่ายพุทธเข้ามาถึงดินแดนนี้ เข้ามาสอนพุทธศาสนานี้มาทำด้วยความยากลำบาก ต้องมาปราบผี ปราบยักษ์ ปราบรากษส ปราบมาร อะไรต่าง ๆ เสียก่อนมันจึงสอนได้ นั่นแหละคือลัทธิที่เข้ามาสอนไว้ก่อน มันเหนียวแน่นถึงขนาดนั้น ต้องมาเลิกล้างลัทธิที่เข้ามาสอนไว้ก่อน ถึงจะเข้ามาสอนพุทธศาสนา คือ สุญญตา นี้ได้ เพราะได้มีผู้มาสอนแต่อัตตา อัตตาไว้เต็มที่ ต้อง...ฟังไม่ออก (นาทีที่ 46.22)…มันออกไปก่อนจึงจะสอนพุทธศาสนาได้ นี่สุญญตา หัวใจแท้ของพุทธศาสนา ต้องมาสอนในถิ่นที่เขามีอัตตากันเสียเต็มที่ มาสอนแล้วก็ลำบาก
แต่เดี๋ยวนี้เราก็ไม่ได้ไปสอนที่ไหนนี่ เราจัดการความรู้สึกในใจของเรานี่ เห็นสุญญตา สุญญตา ว่างจากตัวตน จิตเป็นจิต นามเป็นนาม รูปเป็นรูป ไม่ต้องมีตัวตน และก็ควบคุมมันให้ได้ อย่าให้มันเกิดความทุกข์ขึ้นมา เห็นสุญญตา สุญญตา ว่างจากตัวตน เรียกว่าตัวตน เรียกตามความโง่ เรียกตามความรู้สึกโดยไม่ต้องมีตัวตน
เขามีอุปมาเรื่องนี้ไว้น่าฟัง ที่ว่าเปรียบเหมือนหนวดเต่าเขากระต่าย หนวดเต่าเขากระต่าย ถ้าท่านไปดูภาพปริศนาธรรมในตึกนั้นแล้วก็จะพบเรื่องนี้ที่เป็นเรื่องหนวดเต่าเขากระต่าย มันมีแต่ชื่อ มันมีแต่ชื่อ ตัวจริงมันไม่มี หนวดเต่ามีแต่ชื่อ เขากระต่ายมีแต่ชื่อ อัตตา อัตตา มีแต่ชื่อที่ความโง่ตั้งขึ้น ตัวจริงมิได้มี แต่แล้วนั่นกลับเป็นอันตราย กลับเป็นอันตราย ทำให้เกิดความทุกข์ทุกอย่างทุกชนิดเพราะมันให้เกิดอุปาทาน กามุปาทาน ฑิฏธุปาทาน สีลัพพตุปาทาน อัตตวาทุปาทาน นี้มันเป็นทุกข์ ทำเล่นกับมันสิ ไม่มีตัวตนที่แท้จริง มันโง่ขนาดให้มีตัวตนแล้วยึดมันถือมั่นจนเกิดทุกข์ และภาพชุดนั้นยังน่าขันน่าหัวต่อไปอีกว่า แก้ลำมัน แก้ลำมัน เอาน้ำบ่ง
(48.54-49.04ไม่มีเสียง)
(เริ่มที่ 49.05) ที่แท้จริงมาทำลายตัวตน ตัวตนที่ไม่แท้จริง แก้ลำกันอย่างเอาเกลือจิ้มเกลือ เอาความรู้เรื่องสุญญาตา ความรู้เรื่องสุญญตา มาแก้ความเลวร้ายที่มาจากการไม่เห็นสุญญตา ความไม่เห็นสุญญตานี่เลวร้ายที่สุด เลวร้ายที่สุด เป็นทุกข์ ก็เอาความรู้เรื่องสุญญตามา มาแก้ปัญหาของการไม่เห็นสุญญตา ไอ้ที่เราโง่นั้นแหละเอามาใช้เสียใหม่ให้ถูกต้อง เห็นโง่ว่ามีอัตตา อัตตา เอาอัตตามาพิจารณาดูให้ดี จนรู้จักอัตตา รู้จักอัตตา รู้จักอัตตา มันก็จะกลายเป็นอาวุธฆ่าตัวมันเอง เชือดคอตัวมันเอง จนหมดอัตตา จนหมดอัตตา เป็นสุญญตาว่างจากอัตตา เป็นสุญญตา
สุญญตาไม่ใช่สูญเปล่านะอย่าไปแปลผิด ๆ อย่าไปพูดผิด ๆ เหมือนที่พูดกันในกรุงเทพ มันสอนผิดๆ สุญญตาสูญเปล่า สุญญตาไม่ได้แปลว่าสูญเปล่า แปลว่าว่างจากอัตตา อ้าว เห็นชัด อะไร ๆ ที่ไหนไม่เห็นมี ไม่เห็นมีอัตตา มันก็เป็นอย่างนั้นเอง มันเป็นอย่างนั้นเอง คือมันไม่มีอัตตา นี้ก็เรียกว่าเห็น ตถาตา ตถาตา
ตถา แปลว่า เช่นนั้น ๆๆ ไม่ใช่อย่างอื่น ไม่ใช่เช่นอื่น เช่นนั้น ๆๆๆ ก็เป็นเช่นนั้น ๆ ก็เห็นตถาตา เห็นตถาตา มันเช่นนั้น มันเช่นนั้น เท่านั้น พอเห็นจริง ๆๆ เช่นนั้น ๆ มันก็หยุดนะ หยุดบ้า หยุดหลง หยุดไปผูกพัน ยึดมั่นถือมั่นกับอะไร นี่ก็เกิดความหลุดพ้นสิ้นเชิง ไม่โง่อีกต่อไป อวิชชาหรือความโง่มันมาเกี่ยวข้องไม่ได้อีกต่อไป มันมีแต่ความรู้ ความจริง ความฉลาด ความถูกต้อง เรียกว่า อตัมมยตา อตัมมยตา มันจะแปลกหูมาก คำนี้พิเศษมาก พิเศษมาก และก็พิเศษอีกอย่างคือ ไม่เอามาสอนกัน พออาตมาเอามาสอนเป็นครั้งแรกหรือสอนต่อมาหรือสอนเรื่องอตัมมยตานี้ มีคนด่านะ มีคนด่า ผู้เป็นมหาเปรียญ เป็นพระมีสติปัญญา มีเกียรติ ด่าอาตมาโกหก เอาสิ่งที่ไม่มีอยู่จริงมาสอน อาตมาบอก อ้าว ไปดูสิมันมีอยู่ที่หน้านั้น ๆ เลยเงียบไป ไม่หาว่าโกหกอีกต่อไป เรื่องนี้มันยากจนไม่มีผู้เอามาสอน มันค้างเงียบอยู่ในพระไตรปิฏก แต่เป็นเรื่องที่มีประโยชน์ที่สุด พอเอามาสอนก็ถูกด่าหาว่าของปลอมอะไรไม่รู้มาสอน
ความคงที่อยู่ในความถูกต้อง เรียกว่า อตัมมยตา ถ้าท่านอ่านพระไตรปิฏกแปลไทย พระไตยปิฏกแปลไทยจบทั้งชุด ท่านก็ไม่พบคำนี้หรอก ท่านไม่พบคำนี้เพราะเขาแปลไปแล้ว เขาแปลเป็นภาษาไทยเสียแล้ว เขาแปลบ้า ๆ บอ ๆ ผิด ๆ ถูก ๆ ว่าอะไรก็ไม่รู้ไม่ได้ความ จึงไม่พบคำว่า อตัมมยตา ในพระไตรปิฏกที่แปลเป็นไทยแล้ว พระไตรปิฏกที่ยังเป็นบาลีท่านก็อ่านไม่ได้ แล้วก็มันมีอยู่น้อย น้อยที่น้อยแห่ง ในที่ ๆ ยาก ...ฟังไม่ออก(นาทีที่ 53.28)...จึงเอามาสอนให้รู้กันว่ามันสูงสุด สูงสุดของพระธรรมที่ควรจะรู้นั้น สูงสุดอยู่ที่นี่ เรียกว่า อตัมมยตา คือเห็นมาตามลำดับ เห็นมาตามลำดับอย่างที่ว่าแล้ว ให้มันเห็นจบสิ้นสูงสุดอยู่ที่เห็นอตัมมยตาได้เฉพาะเห็นสุญญตาว่างจากตัวตน แล้วได้เห็นตถาตาว่าเช่นนั้นเอง จะเห็นสิ่งนี้ได้
ที่รู้สึกต่อสิ่งนี้ขึ้นมาทันที จิตมันเปลี่ยนเป็นสภาพอันหนึ่งขึ้นมาทันที คือ ไม่เอาอะไร ไม่เอาอะไรกับอะไร อะไร ๆ ก็มาทำจิตให้เปลี่ยนแปลงไม่ได้ จิตก็ไม่ไปเอากับอะไร ไม่ยึดมั่นกับอะไร ๆๆ มันก็มีความคงที่ ๆๆ อยู่ในความไม่มีความทุกข์หรือความถูกต้อง คำนี้ก็แปลอยากอยู่หน่อย ตามตัวหนังสือมันแปลว่า ไม่สำเร็จมาจากอะไร ไม่สำเร็จมาจากอะไร เพราะว่าสำเร็จ ๆ นี้ฟังยาก อย่างเช่น เสื้อผ้าของคุณมันก็สำเร็จมาจากฝ้ายหรือจากขนสัตว์ สำเร็จมาจากฝ้าย แว่นตาของคุณก็สำเร็จมาจากแก้ว แว่นตามันก็เลยสำเร็จมาจากโลหะ นี่คำว่าสำเร็จ ๆ หมายความอย่างนี้ เดี๋ยวนี้มันไม่ได้สำเร็จมาจากอะไร จิตนี้มันเป็นอิสระ พบสิ่งที่ไม่สำเร็จมาจากอะไร ก็หมายความว่าอะไร ๆ ปรุงแต่งมันไม่ได้ มันอยู่นอกเหนือความปรุงแต่ง จิตก็ไม่ไปหลงใหลไปจับฉวยอะไร มันก็ไม่มีอุปาทาน ไม่มีความยึดมั่นถือมั่น มันก็ไม่มีความทุกข์เลย เรื่องมันจบกันตรงนี้ อตัมมยตา
จิตคงที่ ไม่หวั่นไหวเพราะปัจจัยอะไรมาทำให้หวั่นไหวได้ยิ่งกว่าภูเขาหิมาลัย ภูเขาอะไรที่ยังต้องหวั่นไหวเมื่อแผ่นดินไหว จิตนี้ไม่ไหว อะไรจะไหวก็ไหวเถอะ โลกจะไหว จักรวาลจะไหว มันก็ไม่ไหวเรียกว่ามันคงที่ แล้วมันถึงที่สุดแห่งปัญญากันแล้วอะไรมาหลอกไม่ได้อีกต่อไป ไม่หลงไม่อะไรอีกต่อไป ถ้าเป็นผู้หญิงก็ไม่มีใครมาเกี้ยวให้สำเร็จได้ ถ้าเป็นผู้ชายก็ไม่มีผู้หญิงมาหลอกเอาไปเป็นทาสเป็นสามีอะไรที่ไหนได้ นี่มันคงที่ ๆ อยู่ในความถูกต้อง ถูกต้องคือ จะไม่มีความทุกข์เลย ที่ว่าถูกต้อง ๆ คือจะไม่มีความทุกข์เลย เรียกว่าเห็นอตัมมยตา เป็นวิปัสสนา ๓ ตาชุดที่ ๓ นี่โดยชื่อมันมีอย่างนี้ อธิบายพอเข้าใจได้ก็มีอย่างนี้
ชุดที่ ๑ ; ๓ตา คือ อนิจจตา ทุกขตา อนัตตตา
ชุดที่ ๒ ; ๓ ตา คือ ธัมมัฏฐิตตา ธัมมนิยามตา อิทัปปัจจยตา
ชุดที่ ๓ ; ๓ ตา คือ สุญญตา ตถาตา อตัมมยตา
ความที่จิตอยู่เหนือเหตุเหนือปัจจัยคงที่อยู่ในความไม่เปลี่ยนแปลง ถ้ามีอตัมมยตาก็เป็นพระอรหันต์ พระอรหันต์ ถ้าจะเป็นพระอรหันต์ต้องมีอตัมมยตา ผู้มีอตัมมยตา เรียกว่า อตัมมโย อตัมมโย คือพระอรหันต์
นี้มีเวลาว่างเมื่อไหร่ มีเวลาไม่ต้องไปต่อสู้กับอารมณ์อะไรที่ไหน มีเวลาว่างเท่าไหร่ก็ศึกตาเพิ่มเติมในเรื่องตา ตานี้ ๙ ตานี้ ทำงานก็ทำไป มีสติสัมปชัญญะ ไม่ให้งานนั้นหลอกลวงเป็นบวกหรือเป็นลบ เป็นตัวกูหรือของกู นี้ก็เป็นการศึกษา ตา ตา อยู่ในตัวแล้ว เวลาพักผ่อนก็ค่อยรู้สึกความเป็นของจริงตามธรรมชาติ นี่พักผ่อนนอนหลับสบาย ๆ มีเวลาจะคิดอะไรเล่นก็คิดในความจริงข้อนี้ ไม่ต้องไปตากอากาศชายทะเล ไม่ต้องไปเที่ยวภูเก็ต ไม่ต้องไปเที่ยวเกาะสมุยหรอก ใช้เวลาเห็นในความจริงของสิ่งเหล่านี้ ที่ไหนก็ได้ เมื่อไหร่ก็ได้ ต่อให้นั่งอยู่ในรถไฟกรึง ๆๆๆๆ ไปตลอดทางมันก็คิดได้มองเห็นได้ในความจริงเหล่านี้ ไม่ต้องไปหลงคิดว่าจะต้องไปอยู่ในป่าช้าแล้วก็ไม่มีโอกาสที่จะไป พอแก่ตัวแล้วผมก็ทำไม่ได้เพราะผมไม่มีโอกาสไปนั่งในป่าช้า อย่างนี้เป็นเรื่องใกล้ตัว ที่ไหนก็ทำได้ ที่เรามาที่นี่ก็ศึกษาเรื่องนี้ให้เป็น ...ฟังไม่ออก(นาทีที่ 59.05)...เป็นเงื่อนเป็นต้นตอของความรู้สำหรับไปศึกษาต่อไป
ที่นี้ ก็จะมาถึงว่าฝึกให้ชีวิตนี้อยู่ด้วยความรู้เหล่านี้ให้มากเท่าที่จะทำได้ เรียกว่าให้ชีวิตประจำวันของเรานี้มันแจ่มแจ้งอยู่ด้วยความรู้เหล่านี้ให้มากเท่าที่จะทำได้ มีสติ เอาความรู้สูงสุด ๙ ตานี้มาใช้ได้ทันท่วงทีในทุกกรณีที่มันเกิดขื้น ที่มันจะทำให้เราโง่ให้เราหลง แล้วก็มีสติ มีอตัมมยตา รักษาอตัมมยตา ใช้อตัมมยตา พูดถึงข้อสุดท้ายเลย ที่จริงก็คือทั้ง ๙ ใช้ทั้ง ๙ นั่นแหละ แต่เมื่อพูดคำเดียวว่าอตัมมยตา มันก็คือทั้งหมด มันดึงมาทั้งหมด มีความรู้ข้อนี้ ใช้ความรู้ข้อนี้อยู่อย่างคล่องแคล่ว ๆ ไม่โง่ไม่หลงจนเกิดตัวตน ที่พูดว่าไม่ประมาท ไม่ประมาท เป็นธรรมะสูงสุดที่รวมแห่งธรรมะทั้งหลาย ก็จะขอระบุว่ามีสติในการมีอตัมมยตาอยู่ตลอดเวลา อยู่ตลอดเวลา นั่นแหละเป็นยอดแห่งความไม่ประมาท ไม่ประมาท พระพุทธเจ้าสรรเสริญข้อนี้ เมื่อจะนิพพานก็ยังคงตรัสเตือนว่าจงทำความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม มีความไม่ประมาท ก็คือข้อนี้ มีความรู้ข้อนี้อยู่เป็นประจำ แล้วก็พอได้รับรสความไม่มีทุกข์ความเย็นจากธรรมะนี้ก็ดื่มสิ ดื่มเหมือนเขาดื่มเหล้า เราดื่มรสของความมีอตัมมยตา ดื่มรสของความเย็น ของพระนิพพานก็ได้ ก็เรียกได้เหมือนกันแหละ ดื่มรสของความมีอตัมมยตา มีจิตใจคงที่ ๆ อยู่ในความถูกต้อง มีรสประเสริฐอันหนึ่งเกิดออกมาจากความมีอตัมมยตา สักนิดก็พยายามดื่มรสอันนี้ ดื่มรสอันนี้ เรียกว่าดื่มเครื่องดื่มอย่างอื่นดีกว่าดื่มเหล้าหรือดื่มอะไรที่มันแพง แล้วดื่มเข้าไปแล้วบ้า ดื่มรสของอตัมมยตาอยู่ทุกเวลา ทุกโอกาสที่เราจะทำได้ มีเวลาสัก ๕ นาทีก็ยังทำได้ หัดดื่มรสของอตัมมยตา แล้วนี่จะเป็นนิสัย นิสัยไปในทางที่จะหลุดพ้น หลุดพ้น มันไม่ถอยหลังเข้าไปสู่คุกตารางหรืออุปาทาน มันจะออกมาจากคุกตาราง นั่นคืออุปาทาน มันจะไม่กลับเข้าไปอีกในคุกตารางของอุปาทานนั้น ไปตามลำดับ ๆ จนถึงจุดสูงสุดคือพระอรหันต์ เดี๋ยวนี้ยังไม่เป็นพระอรหันต์ แต่ว่ากำลังเดินไปตามทางนั้น เดินไปตามทางนั้น จนกว่ามันจะไปถึงจุดหมายปลายทาง
นี้เรียกว่ามีชีวิตเป็นอยู่ด้วยการควบคุม ไม่ให้เกิดตัวกู ประโยคสั้น ๆ ที่บอกทีแรก มีชีวิตความเป็นอยู่โดยปราศจากความรู้สึกว่าตัวกู เรื่องทั้งหมดที่ปฏิบัติทั้งหมดเพื่อหลุดออกมาเหลือประโยคสั้น ๆ ว่าเรามีชีวิตอยู่โดยปราศจากความรู้สึกว่าตัวกู ควบคุมระบบนามรูปทั้งหมด ไม่ให้โอกาสที่จะเกิดตัวกูของกู นี้เป็นตอนหนึ่ง สรุปแนวการปฏิบัติทั้งหมดว่า มีชีวิตอยู่อย่างไม่ให้เกิดความรู้สึกว่าตัวกู
ทีนี้ ก็มาถึงตอนที่ ๒ ว่าทำอย่างไร โดยเฉพาะที่จะไม่เกิดตัวกูของกู มันก็ต้องรู้จักเรื่องตัวกูของกูกันอย่างชัดเจน อย่างแจ่มแจ้ง อย่างแทงตลอด รู้จักภาษาชาวบ้านตลาด ๆ รู้จักกำพืด ๆ คำนี้แปลกดี กำพืด รู้จักเรื่องรากเหง้าอะไรของมันทั้งหมด รู้จักธรรมชาติของตัวกู ของสิ่งที่เรียกว่าตัวกู
ธรรมชาติของสิ่งที่เรียกว่าตัวกู คือ ความโง่ความหลงของอวิชชา ทำให้เกิดความเข้าใจผิด รู้ผิดเห็นผิด อะไรผิด ๆๆ จนเกิดความรู้สึกเป็นตัวกู แต่ว่าข้อนี้มันลำบากอยู่อีกอย่างหนึ่ง ก็คือว่า ในบรรดาสิ่งที่มีชีวิต มีชีวิต ต้นไม้ ต้นไร่ สัตว์เดรัจฉาน คน มนุษย์ มีชีวิต ชีวิตนั้นมันมีรากฐานสำคัญอยู่ที่สัญชาตญาณ สัญชาตญาณ คือ ความรู้ที่มันเกิดได้เอง มันเกิดได้เองโดยไม่ได้ศึกษามาจากที่ไหน มันเกิดได้เองในสิ่งที่มีชีวิต จะเรียกว่ามันถ่ายทอดมาจากพ่อแม่ก็ตามใจ แต่ข้อนั้นมันพิสูจน์ยาก ไม่ต้องพิสูจน์ เอารู้กันเฉพาะหน้า มันมีอยู่เอง มันต้องมีอยู่เอง เป็นสัญชาตญาณที่ไม่ต้องเรียนต้องรู้แล้วมันก็ทำได้เอง การที่มันต้องกินอาหาร ต้องแสวงหาอาหาร กินอาหาร กินกันเอง ลูกไก่ก็ออกมาจากไข่ กินอาหารเป็นนี้ รู้จักการพักผ่อนการนอน การหนีอันตราย การขี้ขลาดหนีอันตราย หรือมีความกลัวสิ่งที่ต้องกลัว รู้จักกลัว กระทั่งสามารถสืบพันธุ์ได้เองโดยความรู้สึกของสัญชาตญาณโดยไม่ต้องเห็นตัวอย่าง เช่น เอาสัตว์ไปเลี้ยงไว้ต่างหาก พอถึงวัยสืบพันธุ์ มันก็สืบพันธุ์ได้เองโดยความรู้ของสัญชาตญาณ นี้ทั้งหมดนี้ เรียกว่า สัญชาตญาณ
ในความรู้ที่เป็นสัญชาตญาณอย่างนี้ มันจะต้องมีความรู้สึกว่าตัวกูนี้รวมอยู่ด้วย แต่ไม่เข้มข้นอย่างเดี๋ยวนี้ เดี๋ยวนี้มันเข้มข้นมากจนเป็นไฟจนเป็นกิเลส สัญชาตญาณมีตัวกูน้อย ๆ มีตัวกูชนิดที่เรียกว่าลางเลือน มีความหมายแห่งตัวกู สำหรับจะได้เป็นจุดศูนย์รวมว่าจะรักษาไว้หรือว่าจะพัฒนามันอะไรมัน มันจะได้เป็นจุดศูนย์กลางสำหรับพิทักษ์รักษาชีวิต เป็นตัวกูชนิดที่ว่ายังไม่เป็นบวกเป็นลบอะไร ยังไม่เป็นกิเลสอะไร ยังไม่เป็นตัณหาอุปาทานอะไร นี่ต้องมีสัญชาตญาณอย่างนี้อยู่ในสิ่งที่มีชีวิต แล้วมันก็รวมความรู้สึกว่า ตัวฉัน ที่จริงมันไม่ควรจะเรียกว่าตัวฉันหรือตัวกู แต่มันไม่มีคำเรียก มันไม่มีคำเรียก มนุษย์ไม่มีคำพูด ก็เลยต้องเรียกว่าสัญชาตญาณว่าตัวฉันว่าตัวกู รวมอยู่สำหรับเป็นจุดศูนย์กลางศูนย์รวมให้ทุก ๆ อย่างมันดิ้นรนเพื่อรักษาชีวิตนี้ไว้ สรุปความสั้น ๆ ว่า ความรู้สึกที่จะรักษาชีวิตนี้ไว้ให้พ้นทุกข์ ให้ดับทุกข์ มันเป็นสัญชาตญาณ มีอยู่แล้วในสิ่งที่มีชีวิต
พวกเราไม่พูดอย่างพวกมหายานเขาพูด พวกมหายานเขาพูด เขาพูดว่าเชื้อที่จะเป็นพระพุทธเจ้าพืช (นาทีที่ 01.08.49) จะเป็นพระพุทธเจ้านั้นมีอยู่แล้วในทุกชีวิต แล้วแต่ว่าจะได้งอก จะมีโอกาสงอกหรือไม่ แต่มีได้ในทุกชีวิต ก็หมายถึงสัญชาตญาณที่มันมีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะพัฒนาไปในทางที่ถูกต้อง ไปเป็นพระพุทธเจ้า คือ ผู้รู้ผู้ดับทุกข์ ถ้าไม่พัฒนาให้ถูกต้อง มันไปทางนี้ คือ ทางกิเลส ไปทางกิเลสเพื่อดับทุกข์ สัญชาตญาณนั้นมีความหมายเป็นตัวกูที่ศูนย์กลางยังไม่บวกไม่ลบ ยังไม่มีปัญหาเลวร้ายอะไร เป็นจุดศูนย์กลางสำหรับจะให้มีชีวิตอยู่ แล้วพัฒนาไปในทางโพธิถูกต้องและดับทุกข์ได้ และก็ไม่พัฒนาไปในทางกิเลสที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ นี่เพราะเหตุว่าในสัญชาตญาณล้วน ๆ มันมีก็มีความรู้สึกที่เป็นตัวกูรวมอยู่ด้วย แต่ยังไม่ใช่ตัวกูอย่างที่กำลังมีเข้มข้นเดี๋ยวนี้นะ มันเป็นตัวกูกลาง ๆ ตัวกูที่จะไปทางกิเลส หรือตัวกูจะไปทางโพธิ เพราะฉะนั้นมันจึงยากที่จะลำตัวกูโดยสิ้นเชิง เพราะว่ามันมีไว้สำหรับเป็นจุดศูนย์รวมศูนย์กลางสำหรับพัฒนาให้เป็นจิตใจที่อยู่เหนือความทุกข์โดยประการทั้งปวง มันยังไม่เป็นกิเลส มันเป็นตัวตนชนิดที่ว่ามันจะเจริญงอกงามไปตามนั้น แต่แล้วตัวตนนั้นมันได้รับการพัฒนาผิด ๆๆ จนเป็นตัวตนที่เกิดทุกข์
เราจะไปละตัวตนนั้นมันก็เรียกว่ายาก ตัวตนที่เป็นสัญชาตญาณ แต่จะต้องละตัวตนที่เป็นกิเลส ตัณหา อุปาทานที่เกิดขึ้นทีหลังที่เต็มอัตราของมัน เด็กในท้องมารดามีความรู้สึกตามสัญชาตญาณว่าเป็นตัวตนของชีวิตที่มันก็ดิ้นรนที่จะรอด มันเป็นตัวตนที่ยังไม่ทำอันตรายอะไร แต่พอทารกคลอดมาจากท้องแม่แล้วนี่มันแวดล้อมไปด้วยทุกอย่าง ๆ แวดล้อมไปในทางให้เกิดตัวกู เกิดตัวตน รุนแรงด้วยอำนาจอวิชชา สติปัญญาไม่เกิด ไม่มีมาแต่ในท้อง พอออกมาจากท้องแม่ก็ได้รับสิ่งแวดล้อมชนิดที่จะให้เข้าใจผิดว่ามีตัวตนของอุปาทาน อะไรแวดล้อมให้เด็กทารกเพิ่งคลอดออกมาเกิดความรู้สึกเป็นตัวตน ทุกอย่าง ทุกอย่างที่ว่าเราแวดล้อมเด็กทารกอย่างไร สิ่งที่แวดล้อมมันมีโดยบุคคลที่เข้าไปเกี่ยวข้อง โดยวัตถุที่เข้าไปเกี่ยวข้องก็ได้ โดยกิริยาอาการอะไรก็ได้ เราถูกแวดล้อมให้เกิดความรู้สึกเป็นตัวตนจากผู้เลี้ยงเรา จะเป็นบิดามารดา เป็นพี่เลี้ยงแม่นมอะไรก็ตาม เพราะเขาจะพูดว่าตัวตนของตน ตัวตนของตน กรอกหูอยู่ทุกวันทุกเวลา บ้านของหนู พ่อแม่ของหนู ตุ๊กตาของหนู อะไรของหนู นี่อร่อยชอบใจของหนู มันก็เพิ่มตัวตน ๆๆ นี่เพราะบุคคลแวดล้อม
ไอ้ความรู้สึกตัวตนที่เป็นอวิชชา ตัวตนที่จะเป็นโทษเป็นภัยนี้เกิดขึ้น เอาของสวยของงามมาแขวนกันตั้งแต่เล็ก มีพวงดอกไม้ ปลาตะเพียนนั้นมาแขวนให้ดู แล้วก็มาร้องเพลงขับกล่อมให้ฟัง ขับกล่อมให้ฟังส่งเสริมความรู้สึกทางหู ทางตา ทางจมูก ทุกอย่าง ทารกก็ค่อย ๆ เกิดความรู้สึกเป็นบวกเป็นลบ เป็นบวกเป็นลบ พอรู้สึกว่าเป็นบวก คือ อร่อยหรือพอใจ มันก็เกิดความรู้สึกตัวกูเข้มข้นขึ้นมา เป็นผู้อร่อย ก็เกิดเรื่องไปในบวก พอไม่อร่อยขึ้นมาก็เกิดความรู้สึกตัวกูลบ โกรธแค้นขัดใจขึ้นมา ร้องไห้ขี้นมา จะทำลายขึ้นมา อาการอย่างนี้มันมากขึ้น ๆๆ นั่นแหละรู้ไว้เถิด พอเราคลอดมาจากท้องแม่ก็ถูกอบรมแวดล้อมไปในทางให้เกิดความรู้สึกว่าตัวกูของกูทั้งนั้น ไม่มีเพราะพ่อแม่พี่เลี้ยงคนไหนมาสอนเรื่องอนัตตาและอนิจจตา ถึงสอนมันก็ฟังไม่ถูกและก็ไม่มีปัญญาจะสอนด้วย เพราะว่าผู้สอนเขาก็มีแต่ความรู้สึกว่าเป็นตัวกูของกูด้วยเหมือนกัน ฉะนั้น เด็ก ๆ ก็ถูกปล่อยมาเจริญ ๆ ขึ้นด้วยความรู้สึกส่งเสริมตัวกู ๆ มากขึ้น ๆ ที่เห็นง่าย ๆ ที่สุด ก็พอเด็กเขาเดินไปชนเสาหรือชนเก้าอี้ เจ็บ ร้องไห้อยู่ คนเลี้ยงเด็กก็จะเข้าไปช่วยตีเก้าอี้ ตีเสา เพื่อปลอบให้เด็กมันหายร้อง นี้เป็นตัวกูขึ้นมา ในสิ่งที่ไม่มีตัวกู ความรู้สึกระหว่างเป็นกูเป็นสู เป็นกูเป็นมึงก็เกิดขึ้น ๆๆ อัตตาตัวตนก็เจริญขึ้นมา เจริญขึ้นมา
สรุปรวมความว่า มันได้รับการแวดล้อมแต่ในทางที่จะให้เกิดตัวกู ความรู้ที่จะไม่เกิดตัวกูนั้นมันไม่มีทางที่จะสอนได้ ผู้สอนก็ไม่อาจจะสอนเด็ก เด็กก็ไม่อาจจะรับได้ มันก็ถูกแวดล้อมไปในทางตัวกู ๆๆ มากขึ้น ๆ จนเป็นฝ่ายตัวกูไปเสียเลย เป็นฝ่ายตัวกูไปเสียเลย
คำอุปมาสอนธรรมะในข้อนี้ มีอยู่ข้อหนึ่งในคำกลอนสอนธรรมะของคนโบราณภาคใต้ น่าสนใจ แต่ภาคอื่นจะมีหรือไม่มีก็ไม่ทราบนะ แต่ในภาคใต้ก็มีคำกลอนสอนธรรมะตอนนี้ว่า เด็กที่มันโตขึ้นมาอย่างนี้ หลงบวกหลงลบ หลงเป็นตัวกูอย่างนี้มันก็สูงสุดขึ้นมาถึงขนาดที่เรียกว่า ทิ้งพ่อแม่หนีตามโจรไป ควรจะจำประโยคนี้ให้ดี ทิ้งพ่อแม่หนีตามโจรไป จะได้กับตัวเราเองหรือไม่ก็ลองไปคิดดู
สัญชาตญาณเดิม ๆ ล้วน ๆ ที่ไม่มีตัวกูเข้มข้นอวิชชานี้ ตัวกูเท่านั้นมันถูกละเลยทิ้งไปเสีย ว่ามีตัวกูที่มีอวิชชา อวิชชาเต็มที่ หรือว่าจะพูดให้มันง่ายมันชัดกว่านั้น มันก็ไปหลงตัวกู คือ ความอร่อยของกิเลส ความอร่อยของอารมณ์ อารมณ์ที่มีรสอร่อยให้เกิดกิเลส ก็เกิดตัวกูประเภทบวก อารมณ์ที่ไม่อร่อยให้เกิดอารมณ์ประเภทลบ (นาทีที่ 01.17.38) ก็เกิดตัวกูประเภทลบ เขาก็ยึดนี้เป็นหลัก เป็นตัวกู ๆๆ ตลอดไป ทิ้งความเป็นกลางเสีย ทิ้งความถูกต้องเสีย ให้เป็นตัวกู ๆๆ นี้เรียกว่า ทิ้งพ่อแม่หนีตามโจรไป หนีตามโจรไป ให้มีตัวกูอย่างเต็มที่ ให้มีตัวตนตัวกูอย่างเต็มที่แล้วก็ทำไปอย่างนั้น ถ้าเป็นเด็กเป็นหนุ่มเป็นสาว มันก็จะมีลักษณะอย่างนี้ คือ ไม่ยึดหลักความถูกต้อง ไปยึดหลักความพอใจด้วยอำนาจของกิเลส อายุ ๕๐ ปีแล้วก็ยังไม่กลับมาหาพ่อแม่ ไปคำนวณดู อายุ ๕๐ ปีแล้วกลับตัวได้หรือยัง ทิ้งโจรหนีกลับมาหาพ่อแม่หรือยัง ถ้ายังเอาเรื่องกิเลสตัณหาก็ไปอยู่กับโจรเป็นโจร เป็นโจร ทำลายตัวเอง ทำลายผู้อื่น ทำแบบโจร จนกว่าเมื่อไหร่ถ้าโชคมันดีหรือมันบังเอิญได้รับคำสั่งสอนที่ถูกต้อง มันรู้ว่านี่โจร นี่ไม่เอาโว้ย นี่จะหนีโจรมาหาพ่อแม่ หรือว่าจะฆ่าโจรซะเลย ฆ่าโจรหมดเลย มาหาความถูกต้อง ใครเป็นอย่างนี้ได้ ความผิดพลาดที่โง่มาแต่เล็กจนไปบูชากิเลสนั้น ไปบูชากิเลสนั้น เรียกว่า หนีตามโจรไป เมื่อไหร่จะมารู้ เอ้า นี่มันกิเลส นี่มันโจร ต้องฆ่ามันเสีย กลับไปหาพ่อแม่คือความถูกต้อง
แม้ว่าจะมีเรียนธรรมะ สอนธรรมะกันอย่างนี้ ยังยากที่จะกลับมา เห็นมั้ย เพราะว่าไปเป็นโจรเสียจนเคยชิน เป็นตัวกูของกูเสียจนเคยชิน เป็นบวกเป็นลบเสียจนเคยชิน ยากที่จะกลับมาสู่ความว่าง คือ ความไม่มีตัวกู ยากลำบากกี่มากน้อยคำนวณดูเอง ว่าเด็กทิ้งพ่อแม่ คือไม่รู้จากความถูกต้อง ความดับทุกข์ ไปหาความเอร็ดอร่อยสนุกสนานของกิเลสเรื่อยไป ๆๆ ไกลออกไป ๆ มีความเป็นโจรไกลออกไป จนกว่าเมื่อไรจะรู้สึกตัว แล้วกี่คนที่จะมาฟลุ๊ค (นาทีที่ 01.20.15)แล้วบังเอิญมาพบความรู้ที่ถูกต้อง หนีโจรกลับมาหาความถูกต้อง คือ บิดามารดา
มันเป็นความผิดเลวร้ายที่ไม่รู้ว่าจะให้ใครรับผิดชอบ จะให้บิดามารดารับผิดชอบก็ไม่ไหว บิดามารดาก็ทำไปตามธรรมชาติด้วยความรัก รักบุตรสุดสวาท นี่แหละได้แต่ตามใจไป ตามใจไป จนเขาหลงพอใจในเรื่องของกิเลส ยินดียินร้าย ยินดียินร้าย ยินดียินร้าย ถ้าว่าได้มาได้ยินได้ฟัง กระทั่งว่าได้มาบวชมาเรียนนั้นแหละมันจึงจะทิ้ง ๆๆ ทิ้งโจรกลับมาหาพ่อแม่
ในการที่เรามาศึกษาธรรมะอย่างที่กระทำอยู่ในเวลานี้ก็เหมือนกัน ให้มันสงเคราะห์รวมอยู่ในคำว่า ทำให้รู้จักโจร รู้จักโจร แล้วก็หนีโจรหรือฆ่าโจรมาหาความถูกต้อง ตัวกู ๆ มันลำบากอย่างนี้ เพราะมันมีเชื้อแห่งตัวกูที่จะมาเป็นตัวกูเลวร้าย ตัวกูผิด ๆ อยู่ในสัญชาตญาณ แล้วสิ่งแวดล้อม สิ่งแวดล้อมที่เข้ามาแวดล้อม มันก็มีอยู่ ๒ อย่าง อย่างหนึ่งบวก คือ อร่อย อย่างหนึ่งลบ คือ ไม่อร่อย พอได้รับรสอร่อยมันก็เกิดตัวกู ผีหลอกขึ้นมาเป็นตัวกูยินดี เมื่อไม่อร่อยมันก็เกิดผีหลอกเป็นตัวกูขึ้นมาเป็นยินร้าย ตรงนี้สำคัญมาก สำคัญตรงที่ความรู้สึกว่าตัวกู ๆๆ นั้นไม่ได้มีอยู่ก่อนโดยแท้จริง มันเพิ่งเกิดเมื่อถูกหลอกด้วยของอร่อยหรือไม่อร่อย คือ บวกหรือลบ ตัวกูกลาง ๆ กลาง ๆ ที่ยังไม่เป็นบวกไม่เป็นลบ พอได้รับของอร่อยพอใจมันก็เกิดตัวกูบวกรุนแรง ถ้ามาได้รับที่ไม่อร่อยมันก็เกิดตัวกูลบรุนแรง เพราะว่าสิ่งที่เข้ามาแวดล้อมเรามันมีอยู่ ๒ พวก พวกบวกก็หลอกให้หลง พวกลบก็หลอกให้โกรธ ให้เกลียด ให้ฆ่า
กิเลสจึงมีประเภทเป็นบวก คือ จะเอา ๆๆ โลภะก็ดี ราคะก็ดี ตัณหาก็ดี มีหลายชื่อกิเลสบวก จะเอา ๆๆ จะทะนุถนอม จะหวงจะแหน จะอะไรไปตามเรื่องของกิเลสบวก
นี้อีกฝ่ายหนึ่ง เป็นลบ ไม่ถูกใจมันก็เกิดกิเลสประเภทลบ คือ โทสะบ้าง โกรธะบ้าง การทำร้ายสิ่งที่จิตมันไม่ชอบ มันทำร้ายไปหมด มีกิเลสประเภทลบ ประเภทดุร้าย
อีกประเภทหนึ่ง คือ มันไม่แน่ว่าบวกหรือลบ มันก็สงสัยอยู่นั่น วนเวียนอยู่นั่น ติดตามอยู่นั่น เผื่อว่ามันจะเป็นบวกหรือจะเป็นลบ
เราจึงมีกิเลส ๓ ประเภท คือ กิเลสบวก กิเลสลบ กิเลสที่หลงไปโดยไม่รู้ว่าบวกหรือลบ
มันยากลำบากตรงที่ว่า อวิชชา ความไม่รู้นี่ ความโง่ ความไม่รู้ตามที่เป็นจริง รู้ผิด ๆ นี้เรียกว่า อวิชชา มันคล้ายกับสิ่งพิเศษ มีอยู่ในที่ทุกหนทุกแห่ง มีอยู่ในที่ทุกแห่งคอยครอบงำจิตที่ปราศจากความรู้ เมื่อใดจิตปราศจากความรู้ มีความโง่อวิชชาครอบงำทันที จะมีความรู้สึกเป็นบวกเป็นลบ เกิดตัวกูบวก ตัวกูลบ
ใจความสำคัญในข้อนี้ก็ให้รู้ว่า ตัวกูนั้นเพิ่งเกิด เพิ่งเกิดเมื่อมีการกระทำตามธรรมชาติ ก็ได้รับอารมณ์บวก เห็นรูปสวย ฟังเสียงเพราะ กินอาหารอร่อย นี้ก็เกิดตัวกูบวกขึ้นมา ก่อนนั้นไม่รู้ว่าหัวหูมันอยู่ที่ไหน มันไม่มี มันเพิ่งเกิดเพิ่งมีขึ้นมา เมื่อมีการรับอารมณ์ทางอายตนะ ถ้าไม่มีอารมณ์ทางอายตนะ เช่น ความไพเราะ ความสวยงามทางตา ไพเราะทางหู อร่อยทางลิ้นแล้ว มันไม่เกิด แล้วมันก็ผิด และผิดที่ว่ามันเกิดจากการกระทำ ตัวกู ๆ นี้มันไม่มีอยู่ก่อน มันเกิดทุกข์ขึ้นมาด้วยความโง่ หลังจากมีการกระทำทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ได้รับความรู้สึกที่อร่อยถูกใจก็เกิดไปอย่าง ที่ไม่อร่อยมันก็เกิดไปอย่าง คนจะไม่เชื่อว่ามันไม่ได้เกิดอยู่เอง ไม่ได้เกิดด้วยตนเอง มันเกิดจากการกระทำ ก็ต้องอธิบายกันเป็นวรรคเป็นเวรที่จะให้ฝรั่งเขาเข้าใจว่า ตัวผู้กระทำนี้มันเกิดจากการกระทำ มันเกิดทีหลังการกระทำ นี้มันผิดความรู้สึกตามธรรมดา common sense หรือว่าเด็ก ๆ ว่ามันต้องมีผู้กระทำสิ มันจึงจะเกิดการกระทำ นี้ทำไมผู้กระทำมาเกิดทีหลังการกระทำ เกิดจากการกระทำ คือมันต้องมีอร่อยที่ตา หู อะไรก็แล้วมันจึงจะเกิดตัวผู้อร่อยนั้น ก็ตัวกูมันไม่ใช่ของจริง มันเป็นผีหลอก มันเกิดมาจากความรู้สึกของอายตนะ นี่เป็นคำสำคัญอีกคำหนึ่งที่ท่านทั้งหลายจะต้องสังเกตดูให้ดีว่า จะรู้เรื่องอนัตตา อนัตตา ได้โดยแท้จริงแล้ว ก็ต้องรู้เรื่องนี้ว่า ตัวผู้กระทำเกิดจากการกระทำหรือภายหลังการกระทำ เพราะมันเป็นผีหลอก ไม่ได้เกิดจริง ๆ เหมือนเกิดจากท้องแม่ มีแม่แล้วคลอดออกมา นี้มันเพิ่งเกิดจากความโง่เมื่อมีการกระทำ พอใจในความสวยงาม ไพเราะ เอร็ดอร่อยแล้วมันก็เกิดความรู้สึกเป็นตัวกูผู้อร่อยขึ้นมา ดังนั้น มันจึงมิใช่ตัวตนที่แท้จริง ความโง่มันเป็นผีหลอก เป็นอัตตาเป็นตัวตนขึ้นมา เป็นอย่างนี้ มันจึงยาก มันจึงลำบาก แล้วมันไม่ได้มีอยู่จริง เป็นเพียงปฏิกิริยาของการเสวยอารมณ์ การเสวยอารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ อารมณ์บวกก็เกิดผีหลอกชนิดบวก อารมณ์ลบก็เกิดผีหลอกชนิดลบ นี้มันจึงเกิดตัวกูเป็นคอยบวกและคอยลบ จะเกิดกิเลสบวก กิเลสลบ ต่อไปแล้วก็ทนทุกข์ทรมานไปกว่านั้น
นี้วิธีที่กำจัดไม่ให้เกิดตัวกู ก็คือ ต้องมีสติปัญญารู้เท่าทันว่า อย่าให้ตา หู จมูก ลิ้น กายนี้มันหลอกเอา ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันหลอกเอา แล้วมันก็เกิดตัวกูบวก ตัวกูลบ เกิดกิเลสบวก เกิดกิเลสลบ มันก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่มันก็ไม่ใช่สุดวิสัย ศึกษาธรรมะให้ดี มีสติสัมปชัญญะให้พอ ควบคุมให้ทุกเรื่องมันเป็นเพียงเรื่องของนามรูป เป็นระบบประสาทที่เกิดขึ้นทางนามรูปแล้วหลอกให้หลง ตัวกูมิได้มี นี้เรียกว่าเป็นการควบคุมมิให้เกิดตัวกู
พูดสักหน่อยว่า เราไม่มีวัฒนธรรมประจำบ้านเรือนที่จะอบรมลูกทารก ลูกเด็ก ๆ ให้เกิดความรู้สึกถูกต้องว่าไม่มีตัวกู ทุกคนในบ้านเรือนระดมกัน ทำให้เด็ก ๆ รู้สึกหลงไปว่ามีตัวกูเสมอไป จนเป็นหนุ่มเป็นสาวก็ยังไม่รู้ จนเป็นพ่อบ้านแม่เรือนบางทีก็ยังไม่รู้ บางทีก็ตายเปล่า ไม่รู้เรื่องว่าความจริงนั้นไม่มีตัวกู ต่อเมื่อได้ศึกษาธรรมะในพุทธศาสนา จึงค่อยรู้ว่ามันเป็นอย่างนี้ ตัวกูผีหลอกนี้เกิดทีไรเป็นทุกข์ทุกที เป็นทุกข์ทุกที อย่าให้มันเกิดมา แล้วก็รู้จักกำพืดของมัน กำพืดของมัน ป้องกันไว้ได้ อย่าให้มันหลอกได้ต่อไป
ทีนี้ มันหลอก ๆๆ จนว่าเราอยู่ในอำนาจของมัน ในกระแสแห่งความหลอก โง่ลงไปในกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาทที่ท่านคงจะได้ยินได้ฟังได้เรียนมาแล้ว กระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท ๑๒ อย่าง ๑๑ (นาทีที่ 01.30.17) จะมาพลัดตกลงไปในกระแสนี้ แล้วโง่หลงอยู่ด้วยกัน ในกระแสนี้แหละเป็นทุกข์ คิดเสียว่าอารมณ์ทางอายตนะ เกิดอารมณ์ เกิดผัสสะ เกิดเวทนา เกิดตัณหา เกิดอุปาทาน เกิดภพ เกิดชาติ เกิดทุกข์ นี่พลัดลงมาอยู่ในกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท ถอนตัวไม่ขึ้น จึงต้องเรียนเรื่องนี้ก่อน เรียนเรื่องนี้ก่อน เข้าใจว่าความทุกข์เกิดอย่างนี้ ดับทุกข์เกิดอย่างนี้ แล้วจึงปฏิบัติ ปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ ปฏิบัติอานาปานสติ
สัตว์มีความทุกข์เรื่อย ๆ มา เพราะไม่รู้ตามที่เป็นจริงจนกว่าจะได้มาพบพระพุทธเจ้า ได้รับพระพุทธเจ้าเป็นกัลยาณมิตร เมื่อเรามีพระพุทธเจ้าเป็นกัลยาณมิตรมาชี้ทาง มาบอกทาง มาแนะให้ เราจึงสามารถถอนตัวออกมาได้จากกระแสแห่งความทุกข์ ข้อนี้พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสไว้เองตรง ๆ ว่า ถ้าสัตว์เหล่านี้ได้อาศัยเราเป็นกัลยาณมิตรแล้วไซร้ สัตว์ที่มีความเกิดเป็นทุกข์ก็จะพ้นจากความเกิด สัตว์ที่มีความแก่เป็นทุกข์ก็จะพ้นจากความแก่ สัตว์ที่มีความตายก็จะพ้นจากความตาย เกิด แก่ เจ็บ ตาย พ้นได้ ไม่มาเป็นความทุกข์อีกต่อไปเพราะได้อาศัยเราเป็นกัลยาณมิตร เพราะเหตุใด เพราะได้อาศัยพระพุทธเจ้าเป็นกัลยาณมิตรแล้วได้ปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญา ปฏิบัติอริยมรรค และมันก็รู้เรื่องตา ๆๆๆ เหล่านั้นทั้งหมด ความทุกข์มันก็เกิดไม่ได้ ได้อาศัยพระพุทธเจ้าเป็นกัลยาณมิตร ลืมตา ลืมตารู้ความเป็นจริงว่า โอ้ ตามโจรมาตั้งเยอะแยะแล้วโว้ย กลับบ้านที หนีโจร ฆ่าโจร กลับบ้านที ได้พระพุทธเจ้าเป็นกัลยาณมิตร เป็นกัลยาณมิตร
ข้อปฏิบัติเพื่อจะชนะสิ่งเหล่านี้ ท่านก็เรียนกันมาแล้วทั้งนั้น แต่ว่าจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จมันก็อยู่ที่ว่าเข้าใจหรือไม่เข้าใจ ปฏิบัติได้หรือไม่ปฏิบัติได้ ยกตัวอย่างเช่นว่า ไตรสิกขา ไตรสิกขา พระพุทธเจ้าประทานอาวุธไว้ให้ ไตรสิกขา ศีล สมาธิ ปัญญา ลองปฏิบัติมีศีล สมาธิ ปัญญา ก็หมดปัญหา หมดตัวกู หมดของกู ไม่เกิดตัวกู รู้จักโจร รู้จักหนีโจร รู้จักฆ่าโจร กลับไปหาพ่อแม่ คือ ความถูกต้อง อริยมรรคมีองค์ ๘ ก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา นั่นแหละ ไปเรียนรู้โดยตัวหนังสือเอาว่าอริยมรรคมีองค์ ๘ อันไหนเป็นศีล อันไหนเป็นสมาธิ อันไหนเป็นปัญญา
แล้วที่ว่าประเสริฐที่สุดอีกหมวดหนึ่งเรียกว่า โพชฌงค์ โพชฌงค์ นี้ไม่ค่อยมาผ่านหูผ่านตา แต่ว่านี่วิเศษที่สุด พูดกันสักหน่อยก็ได้ โพชฌงค์ โพชฌงค์ ก็คือ องค์แห่งการตรัสรู้ คือมันจะรู้ข้อนี้ทั้งหมดโดยอาศัยโพชฌงค์ คือ ตรัสรู้ ไปจนสูงสุดเป็นพระอรหันต์
ข้อที่ ๑ เรียกว่า สติ สติ สติ ระลึกได้ทุกสิ่งอย่างถูกต้อง เพราะมีความรู้ในทุกสิ่ง แล้วก็ระลึกไปถึงทุกสิ่งว่าอะไรเป็นอย่างไร อะไรเป็นอย่างไร นี้เป็นอะไร นี้เป็นอะไร นี้เป็นความทุกข์ นี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ นี้เป็นความดับแห่งความทุกข์ นี้เป็นทางดับแห่งความทุกข์ รู้ ๆๆ เลือกมาเลย แล้วก็เอามาเลือก เอามาเลือก เรียกว่า ธัมมวิจยะ เหมือนกับเราเลือกมาทั้งหมดที่เรามีอยู่ ไม่ว่าเราจะใช้อันไหน การเลือกนั้น เรียกว่า ธัมมวิจยะ เราเรียนเรื่องธรรมะทั้งหลาย แล้วก็เลือกที่จะเอามาใช้ในกรณีนี้ กรณีนี้ เรียกว่า ธัมมวิจยะ ธัมมวิจัย มีธัมมวิจัยเห็นชัดว่าอาศัยอันนี้เป็นเครื่องดับทุกข์ แล้วก็มีวิริยะ วิริยะ พากเพียรเต็มที่ พากเพียรเต็มที่ กล้าหาญเต็มที่ในการที่จะปฏิบัติ วิริยะ วิริยะ ถ้ามีวิริยะแล้วก็มีปีติ มีปีติ พอใจ พอใจว่ามันถูกแล้ว มีปีติพอใจมันก็หล่อเลี้ยงวิริยะโดยไม่รู้จักเหนื่อย ถ้าเรามีความพอใจในการกระทำ เราจะไม่รู้จักเหนื่อยในการกระทำ ในเมื่อมีวิริยะในการปฏิบัติธรรม ต้องมีปีติหล่อเลี้ยง มีปีติหล่อเลี้ยง เช่น ท่านทั้งหลายต้องมีความพอใจในการศึกษาและการปฏิบัติ จึงจะศึกษาและปฏิบัติอยู่ได้ พอใจ พอใจ นี้คือ ปีติ มันหล่อเลี้ยงไว้ให้พอใจ พอใจ แล้วปฏิบัติ วิริยะความพากเพียร หล่อเลี้ยงไว้ด้วยปีติ ปีติ
พอมันหล่อเลี้ยงไว้ด้วยปีติเป็นไปเรื่อยไป ๆๆ มันก็ลงรูปลงรอย เข้ารูป คือ ถูกต้อง ถูกต้อง เรียกว่า ปัตสัตธิ (นาทีที่ 01.35.59) ลงรูปลงรอย มันถูกต้อง เหมือนกับว่าการงานในโลกนี้ จัดกันไป จัดกันไปจนกว่ามันจะเข้ารูปลงรอยแล้วก็นั่งดู ต้องมีวิริยะ มีปีติ ทำไป ๆ มันเข้ารูปลงรอย เรียกว่า ปัตสัตธิ ตัวหนังสือแปลว่า สงบ ระงับ ถ้ามันไม่เข้ารูปลงรอยแก่กันแล้ว มันไม่มีทางสงบ ระงับ มันจะต้องเข้ารูปลงรอยแน่นอนแล้ว มันจึงจะสงบ ระงับ เรียกว่า ปัตสัตธิ
พอถูกต้องลงรอยอย่างนี้แล้วก็มีสมาธิ ระดมกำลังลงไป กำลังทั้งหมด กำลังทั้งหมดโดยเฉพาะนี่รวมอยู่ที่ว่าเป็นสมาธิ มีน้ำหนัก ระดมกำลังลงไปในการปฏิบัติที่ถูกต้องลงรูปลงรอยแล้ว ระดมกำลังทั้งหมดลงไปแล้ว ต่อไปนี้ก็ อุเบกขา รอดูความสำเร็จประโยชน์สำเร็จผล จะอุเบกขาควบคุมความถูกต้องเป็นไปนะ มันถูกต้องแล้ว มันไม่ต้องทำอะไรก็ได้ แต่ต้องควบคุมให้เป็นไปอย่างถูกต้อง เหมือนกับโบราณเขาอุปมาไว้ว่า ถ้าบนถนนหนทางก็ดีแล้ว รถก็วิ่งดีแล้ว ม้าก็วิ่งดีแล้ว คนขับรถก็เพียงแต่ถือเชือกอยู่เฉย ๆ ถือบังเหียนม้าอยู่เฉย ๆ เหมือนสมัยนี้ ถนนก็ดีแล้ว ฟังไม่ออก (นาทีที่ 01.37.33) ก็ตรงแล้ว รถยนต์ก็ดีแล้ว เครื่องก็ดีแล้ว อะไรก็ดีแล้ว คนขับจะถือพวงมาลัยอยู่เฉย ๆ แต่เฉยอย่างนี้มันไม่ใช่เฉยหลับ ไม่ใช่มันเฉยไม่รู้อะไรเลย มันเฉยอยู่ในความถูกต้อง ควบคุมความถูกต้อง เฉยต่อไปถึงที่สุด คือได้รับผลนี้ เรียกว่า จุดหมายปลายทาง เหมือนกับว่าคุณจัดการงานของคุณเข้ารูปแล้ว แล้วก็นั่งดูว่ามันจะออกผลที่สุดอย่างไร หรือแม้ที่สุดแต่ชาวไร่ชาวนา เขาทำสวนทำนา เขาทำทุกอย่างถูกต้องแล้ว เรื่องดินก็ดี เรื่องน้ำก็ดี เรื่องพืชผักก็ดี อะไรก็ดี ถูกต้องแล้ว เป็นนาที่ทำถูกต้องดีแล้ว เขาก็นั่งรอดูอยู่ได้ว่าเมื่อไรมันจะออกผลมาเป็นข้าวเปลือก หลักการนี้ใช้ได้ทั่วไปทุกอย่าง เรียกว่า โพชฌงค์ เป็นอาวุธที่พระพุทธเจ้าประทานให้ สำหรับจะกำจัดตัวกู เมื่อดำรงอยู่ในโพชฌงค์อย่างนี้แล้ว ตัวกูไม่เกิด จะอยู่ในรูปไตรสิกขา ศีล สมาธิ ปัญญา ก็ได้ อยู่ในรูปอริยมรรคมีองค์ ๘ ก็ได้ อยู่ในรูปโพชฌงค์ ๗ อันนี้ก็ได้ ตัวกูมันก็ไม่เกิด ตัวกูมันก็ไม่เกิด อาวุธทุกชนิดมันไปรวมอยู่ตรงที่ ๙ ตา ๙ ตาอย่างที่ว่าเมื่อกี้
ท่านปฏิบัติไตรสิกขา ศีล สมาธิ ปัญญา มันก็ได้ ๙ ตาออกมา ปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ ในที่สุดมันก็ได้ ๙ ตานี้ออกมา ปฏิบัติโพชฌงค์ ๗ ในที่สุดมันก็ได้ ๙ ตานี้ออกมา เพราะธรรมะทั้งหลายมันอย่างเดียวกัน มันเรื่องเดียวกัน เอามาเรียกชื่อแปลก ๆ ออกไปตามแต่ที่เราจะเอามาบัญญัติ ๆๆ แต่แล้วมันก็เป็นไปในลักษณะเดียวกัน คือ ดับตัวกู ดับอัตตา ดับอุปาทานว่าตัวกู แล้วผลมันก็เกิดขึ้นเป็นความดับทุกข์
แยกเป็นไตรสิกขา แยกเป็นอริยมรรคมีองค์ ๘ แยกเป็นโพชฌงค์ ๗ แต่แล้วอาตมาก็ขอยืนยันว่า อานาปาณสติ คำเดียวเท่านั้น มันรวมเอาไว้ทั้งหมด ปฏิบัติอานาปาณสติให้สำเร็จ ก็มีไตรสิกขา ศีล สมาธิ ปัญญา ปฏิบัติอานาปาณสติให้สำเร็จ ก็มีอริยมรรคมีองค์ ๘ ปฏิบัติอานาปาณสติให้สำเร็จ ก็มีโพชฌงค์ ๗ มีครบอยู่ เรื่องมันก็จะจบ มันดับตัวตน ตัวตนที่เป็นที่ตั้งแห่งความเห็นแก่ตน เดี๋ยวนี้โลกกำลังจะวินาศนะ ดูเถอะ ดูเถอะ โลกกำลังจะวินาศ รวมทั้งเราที่ติดอยู่ในโลกนี้ด้วยจะวินาศเพราะเห็นแก่ตัว เห็นแก่ตัว เพราะมีตัวกู ตัวกู จะเห็นแก่ตัว เห็นแก่ตัว เอาเปรียบทุกอย่างทุกประการ ความเห็นแก่ตัวกำลังครองโลก ความเห็นแก่ตัวทั้งหมดนี้มาจากความมีตัวกูที่โง่เขลา มีตัวกูที่โง่เขลาแล้วก็เห็นแก่ตัว แล้วก็ทำบางอย่างเห็นแก่ตัว เต็มไปด้วยปัญหาทั้งโลก ประเทศไทยก็ดี ประเทศไหนก็ดี เรื่องในโลกก็มีปัญหาเพราะเห็นแก่ตัว เมื่อจะไปนิพพานก็มีปัญหาเพราะเห็นแก่ตัว มันเห็นแก่ตัวมันไปนิพพานไม่ได้ เห็นแก่ตัวแล้วมันจะสงบสุขอยู่ในโลกนี้ก็ไม่ได้ จงกำจัดความเห็นแก่ตัว กำจัดความเห็นแก่ตัวก็ต้องกำจัดตัวเสีย ตัวมายา ตัวผีหลอก อย่าให้มีขึ้นมา เราก็จะอยู่กันอย่างสงบเย็นเป็นประโยชน์
พูดกับท่านทั้งหลาย ในฐานะเป็นชาวกรุงเทพนะ สมมติว่าท่านเป็นชาวกรุงเทพ อาตมาจะพูดว่า ถ้าชาวกรุงเทพทั้งหลายลดความเห็นแก่ตัว ลดความเห็นแก่ตัวเสียบ้าง ยุงก็จะไม่ครองกรุงเทพ เดี๋ยวนี้ยุงมันครองกรุงเทพอยู่ ลองลดความเห็นแก่ตัวเสียคนละนิดละหน่อย เครื่องไม้เครื่องมือแถวนั้น ยุงหมดไปจากกรุงเทพ ยุงครองกรุงเทพอยู่ได้เพราะว่าคนกรุงเทพเห็นแก่ตัว เพียงแต่ทุกบ้านทุกเรือนทุกคนช่วยกันปราบคนละนิด เดี๋ยวมันก็หมด ไม่มีเหลือ เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ต่ำ ๆ อย่างนี้มันก็มีปัญหามาจากความเห็นแก่ตัว มลภาวะเต็มไปทั้งกรุงเทพก็เพราะเห็นแก่ตัว อาชญากรเต็มไปทั้งกรุงเทพก็เพราะเห็นแก่ตัว สร้างเรือนจำเท่าไรก็ไม่พอ สร้างโรงพัก สร้างศาล สร้างโรงพยาบาลบ้า เท่าไรมันก็ไม่พอ เพราะความเห็นแก่ตัวมันเพิ่มขึ้น ๆ ประชาชนก็เห็นแก่ตัว เลือกผู้แทนก็เห็นแก่ตัว ไปสร้างปัญหาเรื่อยไป คนมั่งมีก็เห็นแก่ตัว คนยากจนก็เห็นแก่ตัว ลูกจ้างก็เห็นแก่ตัว นายจ้างก็เห็นแก่ตัว แล้วก็เพิ่มปัญหาเรื่อยไป ต้นตอมันอยู่ที่ดับตัวกู ดับตัวกู ดับตัวกู ดับตัวกู แล้วมันไม่มีความเห็นแก่ตัว ปัญหาอันมากมายมหาศาลนี้มันก็จะหมดไป เดี๋ยวนี้โลกกำลังจะวินาศเพราะเห็นแก่ตัว เห็นแก่ตัว เล่าเรียนฉลาดมาเท่าไร ก็ยังเอาไปใช้เพื่อเห็นแก่ตัวหมด ไม่ใช้เพื่อดับกิเลสเลย นี่เรามีปัญหาอยู่ตรงนี้ยิ่งกว่าภูเขาเลากา เรามีปัญหากันเต็มบ้านเต็มเมืองเต็มโลก เพราะมีตัวกูอย่างเดียว แล้วก็เห็นแก่ตัว แล้วก็ทำไปทุกอย่าง ด้วยความเห็นแก่ตัว กำจัดตัวกู กำจัดตัวกูเสียได้ หมดความเห็นแก่ตัว โลกนี้ก็สงบเย็น สงบเย็นและเป็นประโยชน์
ขอร้องท่านให้ทั้งหลายอย่าท้อถอย อย่าปฏิเสธว่ามันไม่ใช่หน้าที่ของเรา แต่เมื่อเราเกิดมาแล้วมันเป็นหน้าที่ของเรา แม้ว่าเราไม่ได้ตั้งใจจะเกิดมา แต่เราก็เกิดมาแล้วนี่ มันปฏิเสธไม่ได้ มันต้องปฏิบัติให้สมกับที่ว่าได้เกิดมาแล้วจะต้องปฏิบัติอย่างไร จะต้องปฏิบัติชนิดที่จะดับความทุกข์ให้ได้ ให้สมกับที่ได้เกิดมา ทางอื่นไม่มี ให้รู้ธรรมะ ปฏิบัติธรรมะ ให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ ไม่เกิดกิเลสประเภทตัวกู ทุกอย่างมันก็จะเป็นไปอย่างถูกต้อง นี่คือประโยชน์ของธรรมะ
เอ้า สรุปเรื่องตามที่พูดมาแล้วว่า
๑. เราจะต้องมีชีวิตอยู่อย่างปราศจากตัวกู ให้มีชีวิตสะอาด สว่าง สงบอยู่ตลอดเวลา
๒. เราต้องรู้วิธีกำจัดตัวกู กำจัดตัวกู อย่างที่กล่าวมาว่าเป็นอนัตตา ผีหลอก เกิดทีหลังการกระทำ ไปโง่ไปหลงในเรื่องบวกเรื่องลบ มันก็เกิดตัวกู
มีเท่านี้เอง อยู่อย่างไม่มีตัวกู แล้วก็ปฏิบัติกำจัดตัวกู รู้เรื่องอานาปาณสติ ช่วยได้ทั้งหมด แล้วการปฏิบัติปฏิจจสมุปบาทจะตับตัวกูได้สิ้นเชิง จึงขอให้ท่านทั้งหลายประสบความสำเร็จในการมาศึกษาปฏิบัตินี้ คือ รู้เรื่องทุกข์เกิดและทุกข์ดับอย่างไร แล้วก็ปฏิบัติให้ได้ตามนั้น ปฏิบัติให้ได้ตามนั้น คือ ทุกข์ไม่เกิด ทุกข์ไม่เกิด ก็มีแต่ความสงบสุข ให้มันใช้เป็นประโยชน์ได้ทุกวินาที ทุกกระเบียดนิ้วของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเวลากลางวันหรือกลางคืน ให้มันคงที่ ๆๆ อยู่ในความถูกต้อง ขอร้องท่านทั้งหลายอย่าได้ประมาทในข้อนี้ ปฏิบัติอย่างนี้แล้วก็จะมีพระพุทธเจ้ามาเป็นกัลยาณมิตรช่วยคุ้มครอง จบเรื่องมันจบ เป็นอันว่าขอให้พยายามเถอะ ให้รู้เรื่องความจริง เรื่องความทุกข์เกิดดับอย่างไร แล้วปฏิบัติให้มันได้ การปฏิบัติอานาปาณสติแต่ต้นจนปลาย ช่วยสำเร็จประโยชน์ข้อนี้แหละ รู้ว่าจะปฏิบัติอย่างไร แล้วก็ปฏิบัติได้ด้วย ก็มีธรรมะ มีธรรมะมาใช้ในชีวิตประจำวันเป็นคู่มือติดมือ คือ ความมีสติ ปัญญา สัมปชัญญะและสมาธิ จะมีชีวิตประจำวันที่บ้านที่เรือนที่ไหนก็ตาม มีสติรวดเร็ว มีปัญญารู้ว่าจะทำอย่างไร และสัมปชัญญะควบคุมให้มันทำอย่างนั้น และก็สมาธิทุ่มกำลังลงไป ทุ่มกำลังลงไป ทุ่มกำลังลงไป ให้มันชนะให้จงได้ มีธรรมะเป็นเพื่อนเกลอ ๔ ข้อ คือ สติ ปัญญา สัมปชัญญะ สมาธิ สิ่งเหล่านี้เก็บมาได้จากการปฏิบัติอานาปาณสติซึ่งมีให้อย่างเหลือเฟือ
ข้อแสดงความหวังว่า ท่านทั้งหลายจะเข้าใจเรื่องนี้ จะสามารถปฏิบัติในข้อนี้ และก็มีความเจริญงอกงามตามทางของธรรมะ ของพระธรรม ของคำสั่งสอน และของผู้มีพระภาคเจ้า มีชีวิตสงบเย็นและเป็นประโยชน์ยิ่งขึ้น ๆๆๆ อยู่ทุกพาราตรีกาลเทอญ