แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านสมาชิกที่ฝึกจิตตภาวนาทั้งหลาย ขอทำความเข้าใจกันก่อนสักเล็กน้อย อาตมาขอแสดงความยินดีในการมาของท่านทั้งหลายสู่สถานที่นี้ ในลักษณะอย่างนี้ นี้คือเพื่อฝึกจิตตภาวนา เรียกว่าพัฒนาจิต คือทำจิตให้สามารถในหน้าที่จนถึงที่สุดเท่าที่จะทำได้ และนั้นก็คือการพัฒนาชีวิตนั้นเอง เพราะว่าสิ่งที่เรียกว่าชีวิตนั้นมันก็คือรวมๆลงที่จิต เป็นส่วนใหญ่เป็นผู้บันดาลควบคุมให้เป็นไป แต่ต้องอย่าลืมว่าในพุทธศาสนานี้ไม่มีอัตตา มีแต่นามและรูป ชีวิตเป็นสิ่งที่ต้องพัฒนา มันจึงจะใช้ประโยชน์ได้ และขอให้ถือว่าชีวิตเป็นสิ่งที่ยืมใช้จากธรรมชาติ ที่ว่าไม่มีอัตตานั้นกินความไปถึงว่ายืมธรรมชาติเอามาใช้ เป็นธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุอากาศ ธาตุวิญญาณ ธาตุอะไรต่างๆรวมกันมา แล้วเป็นชีวิตนี้ มันเป็นเรื่องที่ธรรมชาติให้ยืมใช้ ยืมฟรีไม่คิดดอกเบี้ยไม่คิดค่าสึกหรอไม่ยอมให้พัฒนาเอาตามชอบใจได้ด้วย ท่านพัฒนาได้เท่าไหร่ก็เป็นประโยชน์แก่ท่านเท่านั้น แต่แล้วมันก็มีลักษณะที่ยืมใช้ อย่าโกงมาเป็นของกูเป็นของตัวกู เมื่อพัฒนาได้จนถึงที่สุดมันก็มีความสงบเย็นและเป็นประโยชน์ สองคำพอ ชีวิตที่สงบเย็นไม่มีไฟเรียกกิเลสไม่ร้อน ไม่เย็นเฉยๆ เป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่ายคือฝ่ายตัวเองและฝ่ายยผู้อื่น ประโยชน์นั้นพระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้เป็นสามอย่าง ประโยชน์ตัวเองอย่างหนึ่ง ประโยชน์ผู้อื่นอย่างหนึ่ง และ ประโยชน์ที่มันเกี่ยวข้องกันอย่างแยกกันไม่ได้คือทั้งตัวเองและผู้อื่นสัมผัสกันโดยไม่แยกกัน นี้เป็นประโยชน์ครบทั้งสามประโยชน์ นี้เราจะต้องรู้ว่าต้องพัฒนาให้มาถึงจุดนี้ แล้วก็จะเรียบร้อย จะเรียบร้อยคือมีสติสัมปชัญญะ มีความรู้สึกตัว พอจะไปไหน จะไปอย่างไร จะไปที่ไหน จะไปเท่าไร มิฉะนั้นมันก็น่าหัว เหมือนกับเรื่องอุปมาไว้เตือนสติในข้อนี้ว่า ชายหนุ่มคนหนึ่งกระโจนขึ้นนั่งบนหลังม้า ตัวพยศเสียด้วย มันบังคับไม่ได้ ม้าก็พาวิ่งไปวิ่งไปอย่างสุดเหวี่ยงมันเพียงแต่ระวังตัวอย่าตกจากม้าเท่านั้นน่ะทำอะไรไม่ได้ เพื่อนข้างๆเห็นก็ถามว่าจะไปไหน มันก็บอกว่าแล้วแต่ม้า ลองคิดดูมันจะเป็นอย่างไร ชีวิตของเราท่านทั้งหลายกำลังเป็นอย่างนั้นหรือไม่ ที่จะบำรุงส่งเสริมที่จะพัฒนาเนี่ย แต่ไม่รู้พัฒนาไปที่ไหน มันจะเหมือนกับชายหนุ่มคนนั้น เดี๋ยวนี้รู้เสียตั้งแต่ล่วงหน้าว่าจะไปสู่จุดหมายปลายทางอันสูงสุดของมันคือสงบเย็น สงบเย็น เป็นชีวิตเย็นและก็เป็นประโยชน์ที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ นี้เป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจกันเป็นการล่วงหน้าว่าจะฝึกจิตตภาวนานั้นคืออย่างนี้ ทีนี้เราก็มีระเบียบที่วางไว้ว่าจะฝึกกันอย่างไร มีสถานที่ฝึกกำหนดการฝึก ไปมีเรื่องที่ว่าจะเดินมาที่นี้ตามธรรมดาเดินมาตั้งแต่ตีห้า เดินมาที่นี้ นี้ก็เป็นบทเรียน นี้ก็คือบทเรียน เป็นโรงเรียนตลอดเวลาที่เดินมาสองกิโลเนี่ย จากที่ฝึกมาถึงที่นี้เป็นสองกิโล โรงเรียนยาวสองกิโล ก็ต้องฝึกเดินตามความมุ่งหมายคือเดินอย่างไม่มีตัวผู้เดิน ไม่ต้องมีตัวผู้เดิน เดินสุญญาตา เรียกกันง่ายๆคือ เดินสุญญาตา เดินไม่ต้องมีตัวผู้เดิน มีสติรู้สึกตัวอยู่เสมอว่ามันเป็นเพียงอิริยาบทยกเท้าแล้ววางลงไป ยกเท้าแล้ววางลงไป ไม่ได้มีตัวกูผู้เดิน ไม่ต้องมีตัวตน มีแต่นามรูปเคลื่อนไหวไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่ว่ามันจะไปเหยียบหนามเหยียบอะไรบ้าง ก็ไม่ต้องเกรงเพราะหนามไม่ได้ตำกู มันตำที่เท้า เรียกว่าไม่มีตัวตนที่เป็นผู้เดิน เรียกสั้นๆแปลกๆก็คือเดินโดยไม่ต้องมีตัวผู้เดิน ฝึกตลอดเวลาที่เดินมาสองกิโล เนี่ยโรงเรียนของเราสองกิโล เดินสุญญาตา เดินที่ไม่ต้องมีตัวตน ไม่มีตัวตนอย่างนี้ต้องฝึกทุกอิริยาบทไม่ใช่เฉพาะเดิน นั่ง นอน ยืน จะต้องกินอาหาร ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ อาบน้ำอะไรก็ตาม ทุกอย่างจะต้องฝึกในลักษณะที่ไม่มีตัวตน ไม่มีตัวกูเป็นผู้กระทำ อิริยาบทเหล่านั้นเป็นเพียงธรรมชาติของนามและรูป เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ฝึกอย่าให้มันเกิดรูปเป็นตัวกูทำ กูเดิน กูยืน กูนั่ง กูนอน กูกิน กูอาบ กูถ่าย อย่างนี้ ไม่ใช่ว่าเดินให้ลำบากสองกิโลไม่ใช่ มันเป็นโรงเรียนสำหรับเดินมาตลอดเวลา ครึ่งชั่วโมงได้ราวๆนั้น มันเป็นห้องเรียนตลอดเวลาที่เดินมา มันจะต้องว่างจากตัวตนไม่ใช่เดินคุยกันมาสนุกสนานหัวเราะเฮฮา อย่างนี้ผิด คือเดินอย่างไม่มีผู้เดิน จำไว้สิว่าเดินสุญญาตา เนี่ยเอาไปขยาย ไปนั่ง นอน ยืน ทุกอย่าง ทุกอิริยาบทโดยที่ไม่ต้องมีตัวตน นี้จึงฝึกในการเดินมา สู่สถานนี้เป็นเวลาราวๆเกือบครึ่งชั่วโมง สองกิโลได้ ทีนี้ก็มาถึงข้อที่จะต้องทำความเข้าใจว่าทำไมจึงใช้เวลาอย่างนี้ ใช้เวลาหัวรุ่งไม่ทันสว่าง นี้ก็มีความหมายมีความลับ เวลารุ่งอรุณนั้นมีความหมายมาก มันเป็นจุดตั้งต้นของวัน เรียกว่ามันจะสว่างมันจะเป็นจุดตั้งต้นของความสว่าง ตามความหมายของหลักพระธรรมที่ว่า เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน มันคือสว่าง มันเป็นจุดตั้งต้นของความสว่างตามธรรมชาติ ดอกไม้โดยมากในป่าบานเวลาจะหัวรุ่งทั้งนั้น มันเป็นเวลาที่จะเบิกบาน เป็นเวลาที่เหมาะสมที่จะเบิกบาน เราอย่านอนอยู่เลย ลุกขึ้นมาเดินสูดอากาศในเวลาที่มันเป็นที่เบิกบาน เรียกให้นั้นสักหน่อย เรียกให้ขลังสักหน่อยก็สูดลมปราณแห่งชีวิตอันสดชื่น ลมปราณแห่งชีวิตอันสดชื่นในเวลาอย่างนี้มาตลอดทาง ก็โดยไม่ต้องมีตัวกู หายใจโดยไม่ใช่ตัวกู หายใจ แล้วก็สูดความสดชื่นแห่งอากาศในตอนเช้าตรู่นี้ได้ ดอกไม้บานเพราะเราจิตใจบาน ที่มีประจักษ์พยานก็คือพระพุทธองค์ก็ได้ตรัสรู้เวลาอย่างนี้ พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้เวลาอย่างนี้ เวลาหัวรุ่งอย่างนี้ มีตัวอย่างประจักษ์พยานแล้ว และเชื่อว่าไม่ใช่แต่เฉพาะพระพุทธเจ้าพระองค์นี้ แม้พระพุทธเจ้าองค์อื่นๆก็เหมือนกันตรัสรู้เวลาหัวรุ่ง ที่มันเป็นธรรมชาติอีกอย่างหนึ่งก็ที่ควรจะทราบก็คือว่าเป็นเวลาที่น้ำชายังไม่ล้นถ้วย อุปมาเพื่อจำง่ายนะ ถ้วยชามันยังไม่ใส่น้ำชาลงไปจนเต็มจนล้น ยังว่างอยู่ น้ำชายังไม่ล้นถ้วยยังเติมอะไรลงไปได้มาก คือจิตมันว่างอยู่ เราจึงใช้โอกาสนี้สำหรับทำการศึกษาเพื่อจะเติมความรู้ลงไปๆนั้นเอง ถ้ามันเช้าแล้ว สายแล้ว เที่ยงแล้ว มันเติมอะไรลงไปเต็มถ้วยหมดแล้วแทบจะใส่อะไรใหม่ไม่ลง เวลาอย่างนี้เป็นเวลาที่น้ำชายังไม่ล้นถ้วยยังจะเติมลงก็ถือโอกาสเติม เป็นเวลาที่ดีที่สุดที่จะเติมอะไรเป็นของใหม่ๆลงไปในเวลาเช่นนี้ เนี่ยขอทำความเข้าใจในเบื้องต้นว่าอาตมายินดี มีความยินดีที่ท่านทั้งหลายมาเพื่อฝึกจิตตภาวนา พัฒนาชีวิตในถึงจุดที่สุดที่มันจะเป็นไปได้ เมื่อเดินสุญญาตาหัวรุ่งเนี่ย มันก็อยู่ในอากาศแห่งการ แห่งความรุ่งอรุณ หากใครยังนอนอยู่ก็หลับไป หากใครไม่นอนมาสัมผัสโลก โลกที่ไม่เหมือนเวลาอื่น เวลาตีห้าเป็นเวลาที่โลกไม่เหมือนกับเวลาตีอื่น จะได้สัมผัสเห็นโลกชนิดนี้ ใช้ให้มันเป็นประโยชน์ นี้หัวข้อเบื้องต้นที่ต้องทำความเข้าใจว่าทำไมจึงใช้เวลาอย่างนี้แต่ให้บทเรียนอย่างนี้ ทีนี้จะเตรียมตัวเตรียมนั่งเตรียมการพัฒนาจิตน่ะ จิตตภาวนาก็อยากจะพูดถึงท่านั่ง การนั่ง ท่าของการนั่งให้เหมาะสมส่วนใหญ่มันใช้เวลานั่ง ยืน เดิน นอนมันก็ทำ แต่ว่าส่วนใหญ่ใช้เวลานั่ง ก็ต้องอิริยาบทนั่งที่เหมาะสมโดยทั่วไปก็เรียกกันว่านั่งขัดสมาธิตามภาษาบาลี ถ้าจะเรียกอย่างชาวบ้านก็เรียกว่า ขัดสมาด นี้ก็ขอทำความเข้าใจในทางภาษาสักหน่อย เพราะมันอย่างเดียวกันแหละ ที่เด็กๆที่เรียกนั้นขัดสมาดก็คือขัดสมาธิ คงผ่านมาทางพม่า ในประเทศพม่าเค้าออกเสียง ส.เสียง เป็น ต.เต่า สมาธิ มันเลยกลายเป็น ตมาด ตมาธิ เราจึงใช้คำว่านั่งขัดสมาด นั่งขัดสมาด ถ้าที่สอนกันมาก็อย่างที่คงจะเข้าใจกันแล้ว นั่งขัดสมาด ขัดสมาธิก็คือนั่งในความหมายที่ว่ามันล้มยาก มันแน่น มันมั่นคง ก็ลองคิดดูสิคือนั่งในลักษณะเหมือนกับรูปกรวยปิรามิด สูงแหลม มันล้มยาก ล้มข้างหน้าก็ยาก ล้มข้างๆก็ยาก เราจึงใช้วิธีนั่งอย่างนี้ ซึ่งคงจะรู้จักกันมาเป็นพันๆปี อาตมาเคยเห็นจากหนังสือภูมิศาสตร์น่ะ ประเทศอียิปต์มีหินสลักนั่งขัดสมาธิเพชรที่เราเรียกว่าสมาธิเพชรน่ะ หินพวกนั้นอายุก็ตั้งห้าพันปีแล้ว นี้แสดงว่ามนุษย์รู้จักนั่งขัดสมาธิเพชรในอียิปต์มาตั้งห้าพันปีแล้ว ใช้มาในอินเดีย ใช้กันมาต่อๆกันมา นั่งในลักษณะที่มันล้มไม่ได้ พอจิตมันเป็นสมาธิกึ่งสำนึกหรือไม่ร้ายสำนึกก็เถอะ มันล้มไม่ได้ มันดีอย่างนั้น ขอให้พยายามหัดนั่ง ที่เรียกว่านั่งขัดสมาธิ ที่พระพุทธเจ้า หรือ พระอรหันต์ โยคี นูนี (นาทีที่ 15:56) ฤาษี เค้าคล่องแคล่วกันก็หัดเถิด ที่อาตมาอยากจะเสนอแนะว่ามันมีท่านั่ง ผนวกนะ เรียกว่าผนวกก็แล้วกัน อีกท่าหนึ่ง ส่งเสริมในความเป็นสมาธิเหมือนกัน ล้มไม่ได้เหมือนกัน แล้วยังได้ผลวิเศษว่ามันเป็นการพักผ่อนอยู่ในตัว ได้หลับ นั่งหลับก็ยังได้ คือนั่งอย่างนี้ เอาข้างขวาทับข้างซ้ายอย่างนี้ หุบเข้าอย่างนี้ ทำอย่างนี้ ลองดู ลองไปปรับปรุงดู นั่งในลักษณะอย่างนี้ หลับไปก็ได้ ไม่ล้ม จะทำสมาธิก็ได้ก็สะดวกดี ไม่ใช่หายใจไม่ได้ แล้วมันก็ compact ที่เรียกว่าแข็ง ล้มไม่ได้ มั่นคงที่สุด มันจะมั่นคงกว่าการนั่งขัดสมาธิเสียอีกซึ่งมันทำอย่างนี้มันยังดูหลวมอยู่ ถ้าทำแบบนี้มันอัดปึกเป็นก้อนกลมเลย ศึกษาไว้ฝึกฝนไว้ ในเมื่อจะต้องใช้ เป็นการพักผ่อนไปในตัว หรือจะสมาทานธุดงไม่นอน ก็อยู่ได้ด้วยอิริยาบทอย่างนี้ได้ แล้วก็มีประโยชน์เรียกว่าเตรียมนั่งให้ครบถ้วนให้ทุกวิธีที่เราจะต้องใช้มัน นั่งแล้วก็ พอลงนั่งแล้วก็ทำจิตใจพร้อมเตรียมพร้อม ลงมือหายใจยาวๆ เหมือนกับไล่ขี้ตะกอน ไล่ขี้ตะกอนในจิตใจเป็นนิวรณ์เป็นต้นออกไปเสียจากจิตใจ เรียกว่าไล่ขี้ตะกอนทำจิตว่างไม่มีความหมายเป็นตัวตน ไม่มีความหมายว่าไชยา ไม่มีความหมายว่ากรุงเทพ เพราะไม่มีความหมายว่าตัวตัน ไล่ขี้ตะกอนออกไปให้หมดเวลานั้นจิตสะอาด สิ่งที่มันรบกวนจิตเป็นประจำวันถูกไล่ออกไปหมด เป็นขี้ตะกอนออกไปหมด ตัวอย่างเช่นความรัก ผู้ที่มีปัญหาเรื่องความรักก็ไล่ออกไป ความโกรธก็ไม่ต้องมีไล่ออกไป ความเกลียดก็ไล่ออกไป ความกลัวก็ไล่ออกไป ความตื่นเต้นตื่นเต้นอะไรอยู่ก็ไล่ออกไป วิตกกังวลสิ่งใดในอนาคตก็ไล่ออกไป อาลัยอาวรณ์สิ่งที่เป็นอดีตก็ไล่ออกไป อิจฉาริษยาใดๆไม่มีเหลืออยู่สักนิดหนึ่ง ความหวงหรือความหึงใดๆ หวาดระแวงใดๆก็ไม่มีเหลืออยู่สักนิดหนึ่งเหล่านี้ออกไปหมด เรียกว่าไล่ขี้ตะกอนแห่งจิตใจออกไปให้หมดสิ้นโดยสิ้นเชิง เนี่ยเราจะทำการศึกษาในชั้นลึกกว่าธรรมดาที่ที่บ้านไม่เคยจะฝึกกัน แต่จะฝึกที่บ้านก็ได้เหมือนกัน ก็ได้ไม่ใช่จะไม่ได้มันก็ได้เหมือนกันแต่มันไม่สะดวกเหมือนกับในที่ที่จัดไว้เฉพาะ ความที่จิตมันว่างจากตัวตนว่างจากความรู้สึกที่รบกวนเหล่านี้ มันเป็นเรียกได้ว่าหัวใจของพระพุทธศาสนา คือจิตที่ว่างจากความยึดมั่นถือมั่น ไม่มีความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวตนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเบญจขันธ์ เมื่อมีความรู้สึกว่างถึงขนาดนั้น นั้นน่ะองค์พระพุทธเจ้าในขั้นสุดท้ายที่จะต้องรู้จักเพราะว่าเป็นผู้รู้ เป็นผู้ตื่น เป็นผู้เบิกบาน เป็นพุทธเจ้าพระองค์จริงโดยรู้ว่าทุกข์คืออะไร ดับทุกข์คืออะไร เรียกอีกชื่อหนึ่งก็เรียกว่ารู้เรื่องอิทัปปัจจยตา หรือ ปฏิจจสมุปบาท เป็นคำฟังยาก จำยาก สำหรับท่านทั้งหลายที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน เห็นปฏิจจสมุปบาท เห็นทุกข์เห็นความดับทุกข์ เห็นทุกข์เกิดอย่างไรทุกข์ดับอย่างไรอยู่ในใจเท่านั้น ไม่มีตัวกูนะ ไม่ใช่ทุกข์ของกู ไม่ใช่ตัวกูเป็นทุกข์ เห็นแต่เพียงสภาพที่ทุกข์เกิดอย่างไรทุกข์ดับอย่างไรหรือความคิดนึกอย่างอื่นแม้ไม่ใช่เป็นทุกข์ที่เรียกว่าสังขารธรรม สังขธรรม (นาทีที่ 21:32) ใดๆก็ได้มันเกิดอย่างไร มันดับอย่างไร อย่างนี้เรียกว่าเห็นปฏิจจสมุปบาท พระพุทธเจ้าตรัสว่าผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเราผู้นั้นเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเราผู้นั้นเห็นธรรม จำไว้ดีๆ จะสรุปว่าเมื่อเห็นปฏิจจสมุปบาทนั้นแหละคือเห็นธรรม เห็นทุกข์เกิดขึ้นอย่างไรทุกข์ดับลงไปอย่างไร ในความรู้สึกนี้เค้าเรียกว่าเห็นพระพุทธเจ้าพระองค์จริง พระองค์ธรรม ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่เห็นพระพุทธเจ้าบุคคลชื่อสิทธัตถะ แต่ว่าเห็นพระพุทธเจ้าพระองค์จริงซึ่งไม่มีชื่อ พระองค์ธรรม นี้เรียกว่าเราเรียนธรรมะจากพระพุทธเจ้าโดยตรงนะ เรียนธรรมะจากพระพุทธเจ้าโดยตรง จำให้แม่นยำ พระธรรมพระพุทธเจ้าพระองค์จริงเกิดขึ้นด้วยการเห็นเกิดดับแห่งสังขารหรือความทุกข์แล้ว นั้นเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์จริง เราก็ศึกษาจากองค์นั้นแหละ เรียกว่าเรียนธรรมะรับธรรมะจากพระพุทธเจ้าพระองค์จริง ถ้าจะเรียนจากพระไตรปิฏกก็เรียกว่าเรียนพระไตรปิฏกจากตัวชีวิตไม่ใช่จากเล่มหนังสือในตู้ๆนี้ไม่เอา พระไตรปิฏกในตัวชีวิตที่มีอยู่ในตัวชีวิตแสดงอยู่ในตัวชีวิต พระไตรปิฏกในตัวชีวิตเนี่ยเรียนกันตอนนี้ พระพุทธเจ้าพระองค์จริงก็เรียนกันเห็นกันในตอนนี้ รับธรรมะจากท่านโดยตรงกันก็ในตอนนี้ มันน่าหัวที่ว่าพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าเราสอนเท่ากับใบไม้กำมือเดียว ใบไม้กำมือเดียวที่ได้ตรัสรู้โดยสัพพัญญุตญาณนั้นน่ะเท่ากับใบไม้หมดทั้งป่า คุณนั่งอยู่ตรงนี้ก็ลองเปรียบเทียบดูสิ ใบไม้หมดทั้งป่าน่ะมันเท่าไหร่ละ แล้วใบไม้กำมือเดียวมันเท่าไหร่ละ พระพุทธเจ้ากล่าวว่าเราสอนเท่ากับใบไม้กำมือเดียวแต่ที่ตรัสรู้มันเท่ากับใบไม้ทั้งป่าหมายความว่า ที่เราสาวกไม่ต้องเรียน มากเหลือเกินเนี่ย กำมือเดียวก็ได้ มันก็เรื่องทุกข์กับดับทุกข์ ขยายออกไปว่าเหตุที่เกิดทุกข์และหนทางดับทุกข์นี้ก็เป็นสี่อย่างก็คือ อริยสัจ นี้ก็เท่ากับใบไม้กำมือเดียว แต่นี้มันงวดเข้มขึ้นมาอีกก็เรื่องทุกข์ก็ดับทุกข์ ก็เรียนจากพระพุทธเจ้าโดยตรง เรียนจากพระพุทธเจ้าโดยตรง คำนี้ถ้าเข้าใจไม่ได้ก็แล้วไปถ้าเข้าใจได้ดีที่สุด ว่าพระพุทธเจ้าพระองค์จริงโดยตรงนั้นคือที่ที่เห็นปฏิจจสมุปบาท รู้สึกแจ่มแจ้งอยู่ในตัวชีวิตนั้นเอง ชีวิตนี้มันเป็นการเล่าเรียน เป็นการสอน เป็นการสอบไล่ เป็นการตัดสินได้ตกอยู่ในตัวมันเอง เราใช้ชีวิตเป็นโรงเรียน ธรรมะที่ปรากฏอยู่ในตัวชีวิตนั้นแหละมันแสดงปฏิจจสมุปบาททุกอย่างทุกประการ จึงพูดได้ว่าพบพระพุทธเจ้าพระองค์จริงเรียนจากท่านโดยตรงก็คือเรียนธรรมะจากชีวิต ในโรงเรียนนี้มีให้ครบ แต่เรามันไม่ได้เรียนหรือเรียนไม่ได้เองอย่าไปโทษใคร เราไม่สามารถจะศึกษาชีวิตให้ครบถ้วนได้ เราก็ไม่เอามากหรอก เอาเพียงว่าความทุกข์เกิดอย่างไร ความทุกข์ดับอย่างไร ชัดแจ้งๆ อยู่อย่างนี้เรียกว่ามีพระไตรปิฏกอยู่ในตัวชีวิตเรียนโดยตรงจากชีวิต มีพระพุทธเจ้าเป็นผู้สอนให้โดยตรง คนไม่เข้าใจมันก็บ้าแล้วพูดอย่างนี้บ้าแล้ว แต่ถ้า(นาทีที่26:03) ความจริงที่สุด เรียนจากพระพุทธเจ้าโดยตรงในห้องเรียนคือตัวชีวิตนี้ เนี่ยคือการฝึกจิตตภาวนา ทำจิตให้แจ่มแจ้ง ให้คุ้น ให้ประจักษ์ขึ้นมาอย่างนี้ เป็นจิตตภาวนา ที่เรียกว่าเข้าถึงหัวใจของพระพุทธศาสนา จิตตภาวนา เข้าถึงหัวใจของพระพุทธศาสนา เห็นปฏิจจสมุปบาท ก็คือเห็นความไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงนามรูปในการปรุงแต่งเกิดดับๆ ไม่มีตัวตนในเบญจขันธ์ ในชีวิตน่ะ ก็เรียกว่าในชีวิตก็ได้ ในเบญจขันธ์ก็ได้ ในสังขารธรรมทั้งปวงก็ได้ ไม่มีตัวตน เห็นข้อนี้คือเห็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ชีวิตก็ชีวิตเป็นนามรูปอาศัยกันอยู่ ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าตัวตน เนี่ยคือความลึก ลึกที่สุด ที่เข้าใจยากที่สุดที่พระพุทธเจ้าท่านเคยคิดว่าไม่สอนๆ ไม่มีใครเข้าใจ แต่แล้วท่านก็เห็นว่าคนบางคนเข้าใจได้ ตกลงสอนๆ งั้นขอให้ท่านทั้งหลายทำตัวเสมือนหนึ่งเป็นบุคคลหนึ่งในจำนวนบุคคลที่พระพุทธเจ้าท่านคิดว่าคงจะรู้ได้ เราจัดตัวเองเอาไว้ในจำนวนคนเหล่านั้น คือคนที่อาจจะรู้ได้ที่พระพุทธเจ้าจะสอนให้รู้ได้ เราจัดตัวเองเอาไว้ในหมู่คนเหล่านั้น คือรู้จักชีวิตซึ่งไม่ใช่ตัวตน รู้จักธรรมทั้งปวงซึ่งไม่ใช่ตัวตน ถ้ามันเข้าใจไม่ได้ก็จะใช้คำว่าตัวตนซึ่งมิใช่ตัวตน บรรดาสิ่งทั้งหลายที่ท่านทั้งหลายรู้สึก อะไรเป็นตัวตนของกู ตัวตนของตนอยู่สิ่งนั้นมิใช่ตัวตน เอาตัวตนซึ่งมิใช่ตัวตน เนี่ยถูกต้องที่สุดตรงตามความจริงที่สุด คือมันไม่ใช่ไม่มีอะไรซะเลยมันมีตัวตนมันมี ตัวตนที่รู้สึกอยู่ในใจน่ะ รู้สึกด้วยความโง่ ความโง่ปรุงแต่งขึ้นมาเป็นความรู้สึกว่าตัวตนโดยสัญชาตญาณ สัญชาตญาณตามธรรมชาติ ไม่ต้องมีใครสอน พอเรากินอาหารก็คือกูกินน่ะ กูกินอาหาร พอตาเห็นรูปมันก็กูเห็นรูป พอหูได้ยินเสียงก็กูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่นก็บอกกูได้กลิ่นขึ้นมาเองไม่ต้องมีใครสอนนั้นน่ะเป็นตัวตน เป็นผีหลอก เกิดขึ้นมาจากความโง่คืออวิชชา นี้มีตัวตนเต็มไปหมด ท่านทั้งหลายมีตัวตนอย่างนี้ แล้วก็โอ้มันเป็นตัวตนซึ่งมิใช่ตัวตน ช่วยจำคำนี้ไว้ให้ดีที่สุดว่าตัวตนซึ่งมิใช่ตัวตนเนี่ยหัวใจของพระพุทธศาสนา จิตมันโง่ไปเอาอะไรเป็นตัวตนก็รู้มันไม่ใช่ตัวตน แล้วก็มันไม่ใช่ของตน ถ้าว่าไม่มีตัวตนแล้วจะมีของตนมาจากไหนเล่า แล้วก็สมบัติของตนอะไรของตนมันก็ไม่มีเหมือนกันเพราะว่าตัวตนมันไม่มี พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า อัตตาหิ อัตโน อัตติ ปุตโป ปุตโต กะโลธัมมัง (นาทีที่ 30:04) เมื่อตัวตนมันก็ไม่มีแล้วทรัพย์สมบัติของตนบุตรภรรยาของตนมันจะมีมาแต่ไหนเล่า ถ้ามองเห็นความจริงข้อนี้ก็มองเห็นหัวใจของพระพุทธศาสนาคือมีแต่สิ่งที่มิใช่ตัวตน เราก็พูดเอาง่ายๆรวมๆว่าไม่มีตัวตน ไม่มีตัวตน ถ้าพูดให้ถูกจะถือเป็นหลักก็มีตัวตนซึ่งมิใช่ตัวตน ตัวตนซึ่งมิใช่ตัวตน มันก็มีผลเท่ากับไม่มีตัวตนอยู่นั้นแหละ จะพูดโดยสำนวนไหนก็ได้ไม่มีสิ่งใดยึดถือว่าเป็นตัวตนหรือของตนในชีวิตนี้ ซึ่งจะแยกเป็นขันธ์ ๕ หรือจะแยกเป็นอะไรเป็นธาตุ ๖ ก็ตาม ไม่มีสิ่งที่ควรจะเรียกว่าตัวตน มันโง่เรียกว่าตัวตนไปตามอวิชชา เมื่อเกิดมาทีหลังการกระทำ เช่นเรารู้สึกอร่อยเสียก่อนที่จะรู้สึกกูอร่อย ชอบใจดีใจเสียก่อนมันจึงจะรู้สึกว่ากูอร่อย ต้องเจ็บปวดเสียก่อนแล้วมันจึงค่อยเกิดว่ากูเจ็บปวด นี้ตัวตนเป็นผีหลอกเกิดทีหลังความรู้สึกหรือการกระทำมิได้มีอยู่จริง ขอให้สังเกตุข้อนี้ให้มาก นี้คือเรื่องปฏิจจสมุปบาท หรือ ถ้าใช้กับสิ่งทั้งปวงทุกสิ่งทั้งสากลจักรวาลเรียกว่าอิทัปปัจจยตา ก็แยกเอามาใช้เฉพาะชีวิตจิตใจของมนุษย์ที่มีชีวิตจิตใจ ก็เรียกว่าปฏิจจสมุปบาท มันเป็นเรื่องเดียวกันเพียงแต่ว่ามันกว้างแคบกว่ากัน เอามาใช้เรียกกับสิ่งที่มีชีวิต มีความรู้สึกได้ นี้เรียกว่าปฏิจจสมุปบาท ถ้าใช้กับทุกสิ่งก้อนหินก้อนดินนั้นก็เรียกว่าอิทัปปัจจยตา อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น ดับลง อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น ดับลง นี้คืออิทัปปัจจยตาในความหมายกว้างครอบจักรวาล แต่ถ้าเอากันเพียงผู้หรือสัตว์มีชีวิตรู้สึกสุขทุกข์ละก็เรียกเสียใหม่ว่าปฏิจจสมุปบาท ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาทผู้นั้นเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเรา พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ว่าอย่างนั้น เห็นแล้วก็เป็นการเห็นพระพุทธเจ้าพระองค์จริง ไม่ใช่พระองค์คน พระองค์คนที่เรียกว่าพระเจ้าชายสิทธัตถะเป็นพระองค์คนยังไม่ใช่พระองค์จริง พระองค์จริงคือธรรมะที่พระองค์สิทธัตถะได้ตรัสรู้ นั้นคือเรื่องปฏิจจสมุปบาท ดังนั้นท่านจึงตรัสในตอนหลังว่าเห็นปฏิจจสมุปบาทคือเห็นธรรม เห็นธรรมคือเห็นเรา เห็นปฏิจจสมุปบาทคือเห็นพระพุทธเจ้าพระองค์จริง เห็นธรรมะสูงสุดที่ดับทุกข์ได้คือการเกิดขึ้นมา สิ่งที่เกิดดับลงไป สิ่งที่ดับ เรียกว่าสิ่งทั้งปวงยกเว้นพระนิพพานเสียมันมีการเกิดและการดับ เห็นการเกิดการดับและปัจจัยแห่งการเกิดการดับนี้เรียกว่าเห็นธรรมะสูงสุดคือเห็นปฏิจจสมุปบาท มีค่าเท่ากับเห็นพระพุทธเจ้าพระองค์จริง ทรงขวนขวายพยายามอย่างยิ่งตลอดเวลาเพื่อรู้ข้อนี้โดยตั้งปัญหาขึ้นมาว่า ความทุกข์มันมาจากอะไร ค้นอยู่ตลอดเวลาตลอดคืนที่ตรัสรู้ก็เรื่องนี้จนในที่สุดก็พบว่าความทุกข์มันเกิดขึ้นมาอย่างนี้อย่างนี้เป็นสายเรียกว่าเห็นปฏิจจสมุปบาท ตรัสรู้ปฏิจจสมุปบาท ร่ายกันง่ายๆว่า ตั้งต้นว่าทุกข์เกิดมาจากอะไร พบว่าเกิดมาจากชาติ ความยึดมั่นถือมั่นที่เป็นตัวตนโพร่งออกมาแล้ว ชาติเกิดมาจากอะไร เกิดมาจากภพ ความรู้สึกที่ปรุงแต่งให้ว่าจะมีตัวตนนี้เหมือนกับแรกตั้งต้น ภพมาจากอะไร มาจากอุปาทาน ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่เป็นอารมณ์ของตัณหา อุปาทานมาจากอะไร มาจากตัณหา ตัณหามาจากอะไร มาจากเวทนา เวทนามาจากอะไร มาจากผัสสะ ผัสสะมาจากอะไรก็มาจากการกระทบทางอาสนะให้เกิดวิญญาณ เกิดวิญญาณแล้วก็เกิดสามประการแหละ อายตนะภายในคือตาก็เกิดที่ตา อายตนะภายนอกคือรูปก็เกิดวิญญาณ เกิดสามอย่างขึ้นมา สามอย่างนี้นะ สามอย่างนะไม่ใช่สองอย่างนะ ทำหน้าที่กันอยู่นี้เรียกว่าผัสสะ ค้นอย่างนี้ ค้นจนพบอย่างนี้เรียกว่าพบปฏิจจสมุปบาท ครวญพิจารณาอยู่กี่วันกี่วันในรัตนกราชเจดีย์(นาทีที่ 35:18) ก็นั่งพิจารณาปฏิจจสมุปบาทอันนี้แหละ ก็ทบทวนทบทวนอยู่เสมอ จนมีน่าขัน ที่มีเรื่องเล่าว่าพระพุทธเจ้าท่องสูตรคูณ เหมือนกับเด็กๆท่องสูตรคูณไม่ให้ลืม ครั้งหนึ่งวันหนึ่งพระองค์รู้สึกว่าอยู่คนเดียวไม่มีใคร อยู่องค์เดียว ท่านก็เลยท่องปฏิจจสมุปบาทนี้ขึ้นมา ภาษาบาลี (นาทีที่ 35:50 ถึง 36:22) ทุกข์ทั้งปวง ท่องเรื่องตาเสร็จแล้วท่องเรื่องหู เรื่องจมูก เรื่องลิ้น เรื่องกายเรื่องใจ มันไม่ขำที่ว่าเหมือนกับเด็กๆท่องสูตรคูณแต่ท่านไม่ได้ท่องเพื่อกันลืม ท่องเพราะท่านพอใจ พอใจความจริงสูงสุดตรัสรู้แล้วพอใจ นี้ปฏิจจสมุปบาทสั้นๆที่จะเข้าใจง่ายอย่างนี้เรียกว่าพระพุทธเจ้าได้ทรงเอามาสาธยายอยู่พระองค์เดียว เราเลยสมมุติเรียกว่าปฏิจจสมุปบาทแบบฮัมเพลง เหมือนกับเด็กๆเอามาร้องเพลงเล่นอย่างนั้นน่ะ ตัวอย่างเป็นไทยๆก็ว่า ตาถึงกันเข้ากับรูปก็เกิดจักษุวิญญาณ สามประการนี้ทำงานร่วมกันอยู่ เรียกว่าผัสสะ ผัสสะเป็นปัจจัยก็เกิดเวทนา เวทนาเป็นปัจจัยก็เกิดตัณหา ตัณหาเป็นปัจจัยก็เกิดอุปาทาน อุปาทานเป็นปัจจัยก็เกิดภพ ภพเป็นปัจจัยก็เกิดชาติ ชาติเป็นปัจจัยก็เกิด(นาทีที่ 37:42)หรือทุกข์ทั้งปวง ท่องเรื่องตาเสร็จแล้วก็ท่องเรื่องหูมันก็อย่างเดียวกัน ทั้งหกเรื่องทบไปทบมาอยู่อย่างนี้ พอเสร็จแล้วท่านเหลือบไปเห็นภิกษุองค์หนึ่งมาแอบฟังอยู่ข้างหลัง เนี่ยเอาไปๆ นี้คืออาทิพรหมจรรย์ จำคำนี้ไว้ได้ก็ดี อาทิพรหมจรรย์ แปลว่าจุดตั้งต้นแห่งพรหมจรรย์ จงตั้งต้นพรหมจรรย์ด้วยการรู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ ปฏิบัติอย่างนี้ เรียกว่าอาทิพรหมจรรย์ คือปฏิจจสมุปบาทนั้นเอง ในที่สุดเมื่อการตรัสรู้ของท่านสิ้นสุดแล้วได้แน่นแฟ้นในปฏิจจสมุปบาทแล้วจึงมาถึงปัญหาที่ว่าจะสอนไหม ครั้งแรกท่านคิดว่าจะไม่สอนป่วยการมันไม่มีใครฟังถูกไม่มีใครรู้ไม่สอน แต่แล้วท่านกลับพระทัยว่ามันคงมีบางคนรู้น่ะก็กลับใจสอน ตอนนี้พุทธประวัติทำเป็นอุปมาว่าท้าวมหาพรหมลงมาจากพรหมโลก มาอ้อนวอนว่าขอให้พระองค์สอนเถิด พระองค์รับอาราธนาของพรหม ถ้าพูดอย่างนั้นมันเป็นบุคลาธิษฐานแต่ตัวแท้ตัวจริงของมันก็คือว่า ท่านเห็นว่ามันลึกเกินไป สอนก็ป่วยการไม่มีใครรู้ แต่แล้วก็ฉงนว่ามันคงมีบางคนรู้นะ เห็นแก่คนบางคนเถอะ มาสอน ท่านทั้งหลายก็ตัดสินดูสิว่าท่านอยู่รวมอยู่ในจำนวนบุคคลเหล่านั้นหรือเปล่า ในจำนวนบุคคลบางคนที่อาจจะรู้หรือไม่ ถ้าท่านแน่ใจว่าอาจจะรวมอยู่ในบุคคลที่อาจจะรู้แล้วก็ดีมากเลยแล้วก็มาฝึกเรื่องนี้ ก็ต้องเรียนแล้วก็ฝึกเรื่องปฏิจจสมุปบาทนี้แหละ ความรู้อันแรกคืออาทิพรหมจรรย์ อาทิพรหมจรรย์จุดตั้งต้นของพรหมจรรย์ ท่านต้องตั้งต้นด้วยเรื่องนี้คือเรื่องรู้ปฏิจจสมุปบาท แล้วท่านก็ปฏิบัติปฏิจจสมุปบาทซึ่งควรจะทำความเข้าใจ ทางที่ดีที่สุดซึ่งอาตมาประจักษ์พยานช่วยเหลือให้ท่านทั้งหลายได้รับความสะดวกเท่าที่จะเรียกว่าความง่ายเท่าที่จะทำได้ เท่าที่จะทำได้นะ และเป็นอันว่าอาทิพรหมจรรย์ อาทิพรหมจรรย์จุดตั้งต้นของพรหมจรรย์นั้นคือการศึกษาและปฏิบัติเรื่องปฏิจจสมุปบาท ลบเรื่องอื่นทิ้งเสียทีอย่าได้มีเรื่องใดๆมายุ่งอยู่ในจิตใจ เริ่มตั้งต้นเรื่องใหม่เรื่องอาทิพรหมจรรย์และเรื่องปฏิจจสมุปบาท ปฏิจจสมุปบาทอยู่ที่ไหนศึกษากันที่ไหนเรียนกันที่ไหน ก็เรียนในตัวชีวิต ตัวชีวิตนั้นเองแหละ ชีวิตประจำวันในแต่ละวัน แต่ละวันนั้นเองแหละ เรียนปฏิจจสมุปบาทในตัวชีวิตนั้น คือในกระแสแห่งการปรุงแต่งทางจิตใจในชีวิตประจำวัน ท่านทั้งหลายก็ดูเอาเองว่าวันหนึ่งวันหนึ่งเราเห็นรูปทางตากี่มากน้อย ฟังเสียงทางหูกี่มากน้อย ดมกลิ่นทางจมูกกี่มากน้อย รู้รสทางลิ้นกี่มากน้อย สัมผัสผิวหนังทางผิวกายกี่มากน้อย คิดนึกทางจิตใจกี่มากน้อย เรียกว่าทางอายตนะทั้ง ๖ คำว่าอายตนะทั้ง ๖ อย่าเห็นเป็นคำเล่นๆเป็นคำสำคัญที่สุด มันเป็นตัวบทเรียนเหมือนตัว ก. ข. ก.กา ถ้าไม่มี ก. ข. ก.กา ก็ไม่รู้จะเรียนอะไรกัน อายตนะทั้ง ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่มันมีคู่ ตาก็คู่กับรูปสำหรับจะเห็นรูป หูก็คู่กับเสียงสำหรับจะได้ยินเสียง จมูกก็คู่กับกลิ่นสำหรับจะได้กลิ่น ลิ้นก็คู่กับรสสำหรับจะได้รู้รส ผิวกายผิวหนังทั่วไปก็คู่กันกับโผฏฐัพพะคือสิ่งที่จะมาสัมผัสผิวหนังผิวกาย และความคิดต่างๆก็คู่กับจิต ใจใช้คำว่าใจ คู่กับใจที่จะรู้ทางใจ เป็นหกคู่ หกคู่นี้เรียกว่าอายตนะ นั้นแหละคือตัวชีวิต มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สำหรับทำอะไรได้อยู่ชีวิตก็ยังอยู่ ก็ดูเอาเองไม่ต้องเชื่อใครไม่ต้องเชื่ออาตมาไม่ต้องเชื่อใคร ในแต่ละวันๆตาก็เห็นรูปอยู่ หูก็ได้ยินเสียงอยู่ จมูกก็ได้กลิ่นอยู่ ทั้งหกอาการเหล่านี้ ปฏิจจสมุปบาทมันตั้งต้นอยู่ที่สิ่งทั้งหกนี้ที่เป็นไปในชีวิตประจำวัน ฟังให้ดีถ้าฟังไม่ดีก็เป็นเรื่องเป่าปี่ให้แรดฟัง อาตมาก็เป็นผู้เป่าปี่ให้แรดฟัง ท่านทั้งหลายก็เป็นแรดที่ไม่รู้จักฟังเสียงปี่ มันจะเป็นอย่างนี้ ขอให้ตั้งใจฟังให้ดี เรียนปฏิจจสมุปบาทในชีวิตประจำวัน ก็อย่างที่ว่ามาแล้วออกชื่อมาแล้ว อันแรกที่สุดคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อยู่ข้างใจเรียกว่าอายตนะภายใน อายตนะภายนอกที่คู่กันคือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ เมื่อข้างในมีหก ข้างนอกก็มีหก แล้วมันก็เป็นคู่กัน เรียกว่าอายตนะภายในกับอายตนะภายนอก เมื่ออายตนะภายนอกมากระทบอายตนะภายในมันก็เกิดสิ่งที่เรียกว่าวิญญาณ วิญญาณ ในพระพุทธศาสนาคือผลที่เกิดมาจากอายตนะภายในกระทบอายตนะภายนอก แต่ถ้าทางวิญญาณในศาสนาอื่น ในศาสนาอื่นไม่ใช่พุทธศาสนานะก็มีความหมายอย่างอื่นเช่น วิญญาณจุติ วิญญาณปฏิสนธิ วิญญาณเป็นอัตตาท่องเที่ยวไปในวัฐสงสารอย่างนั้นวิญญาณในศาสนาอื่น ซึ่งพลัดเข้ามาอยู่ในวงพุทธบริษัทสอนกันอยู่ก็มีแต่ให้รู้ว่านี้มันไม่ใช่พุทธศาสนา ที่พูดกันว่าวิญญาณเนี่ยวิญญาณที่พูดที่คิดนึกอยู่เนี่ยมันเป็นวิญญาณที่จะไปจุติ แล้วมันก็เกิดปฏิสนธิ แล้วมันก็ท่องเที่ยวไปในวัฐสงสาร เที่ยวพูดอยู่อย่างนี้ ภิกษุทั้งหลายไปกราบทูลพระพุทธเจ้า ท่านตรัสว่า เอ้า แกพูดว่ายังไง ท่านก็บอกว่า วิญญาณน่ะที่เป็นเหตุให้เราเห็นได้พูดได้อะไรได้ทุกวันแต่ละวันเนี่ยพอร่างกายดับมันก็ไปจุติ ไปปฏิสนธิ ท่องเที่ยวไปในวัฐสงสาร พระพุทธเจ้าบอกว่า พอๆ วิญญาณของเราคือเพียงความรู้สึกที่เกิดขึ้นเมื่อมีอายตนะกระทบกัน อายตนะภายในภายนอกกระทบกัน ตากับรูปกระทบกันก็เกิดจักษุวิญญาณ หูกับเสียงกระทบกันก็เกิดโสตวิญญาณ จมูกกับกลิ่นกระทบกันก็เรียกว่าฆานวิญญาณ ลิ้นกับรสกระทบกันก็เรียกว่าชิวหาวิญญาณ กายกับสัมผัสผิวหนังกระทบกันก็เรียกว่ากายวิญญาณ มโนจิตกระทบกับอารมณ์ก็เรียกว่ามโนวิญญาณ วิญญาณอยู่ที่นี่อย่างนี้ คนเกิดนะเรียกว่ามีการกระทบทางอายตนะ กระทบแล้วก็เลิกไปแล้วก็กระทบใหม่ก็เกิดอีก เนี่ยคือวิญญาณ อายตนะกระทบกันก็ให้เกิดวิญญาณ ตั้งข้อวิญญาณในพุทธศาสนาว่าอย่างนี้ ทีนี้สามอย่างนี้ทำงานร่วมกันอยู่เรียกว่าผัสสะ สามอย่างนี้ก็คืออายตนะภายใน เช่น ตา เป็นต้น อายตนะภายนอก เช่น รูป เป็นต้น ก็เกิดจักษุวิญญาณขึ้นมาคือการเห็นทางตาได้เป็นสามอย่าง อายตนะภายในภายนอกกับวิญญาณ สามอย่างนี้ทำงานร่วมกันอยู่คือเห็นรูปด้วยตานั้นแหละเรียกว่าผัสสะ ท่านจงจำคำว่าผัสสะไว้ว่ามันเป็นแรงกระทบของสิ่งสามสิ่ง ไม่ใช่สองสิ่งอย่างที่พูดกันตามศาลาวัด ผัสสะคือการกระทบกันของสิ่งทั้งสาม คือตา กับ รูป กับ จักษุวิญญาณ ทำงานร่วมกันอยู่หมายความว่าเห็นรูปอยู่ ตาเห็นรูปอยู่ด้วยจักษุวิญญาณ มันจึงเป็นสามอย่างสามประการ ทำงานร่วมกันอยู่เรียกว่าผัสสะ ตอนนี้สำคัญที่สุดผัสสะเนี่ย ถ้าโง่ โง่คือถ้าตอนนั้นไม่มีวิชชา ไม่มีปัญญา ไม่มีความรู้อะไรเป็นผัสสะ โง่ แล้วมันจะโง่ตลอดสายเป็นปฏิจจสมุปบาทขึ้นมา เมื่อผัสสะมันโง่เพราะมันไม่มีวิชชา ไม่มีปัญญาเป็นผัสสะโง่ ถ้าเผอิญมีปัญญามีวิชชาเข้ามาเป็นผัสสะฉลาด มันจะเปลี่ยนกระแส มันจะไม่ปรุงแต่งเป็นปฏิจจสมุปบาทอีกต่อไป มันจะไปทางดับทุกข์นะ ถ้าผัสสะมันโง่ ผัสสะมันโง่ มันก็เข้าใจผิดนะ เมื่อผัสสะโง่แล้วเวทนามันก็โง่ คือเวทนามันก็หลอกให้เป็นเวทนาน่ารักไม่น่ารักขึ้นมา คือเป็นเวทนาน่าพอใจหรือไม่น่าพอใจขึ้นมาเรียกว่า เป็นบวกหรือเป็นลบขึ้นมาในเวทนา เวทนานั้นเป็นเวทนาโง่ เรียกเป็นบวกหรือเป็นลบทั้งที่จริงมันมิได้เป็น พอเวทนาโง่ก็เกิดตัณหาโง่ ความอยากความต้องการที่โง่ไปตามเวทนา ถ้าเวทนาเป็นบวกตัณหาก็อยากจะเอาอยากจะได้ ถ้าเวทนาเป็นลบตัณหามันก็อยากจะฆ่าอยากจะทำลาย มันจึงมีสองอย่างทั้งนั้นอะ ถ้าเป็นเรื่องบวกมันก็จะเอาๆๆ เกิดราคะ เกิดโลภะขึ้นมา ถ้าเวทนาเป็นลบคือไม่ถูกใจมันก็เกิดโทสะหรือโกธะขึ้นมาอยากจะฆ่าอยากจะทำลายอยากจะไม่เหลือไว้ เนี่ยตัณหามันโง่ ความอยากมันโง่ มันโง่เมื่อเกิดผัสสะ แล้วเวทนาก็โง่ ตัณหาก็โง่ พอตัณหามันโง่แล้วความยึดมั่นถือมั่นมันก็โง่ อุปาทาน มันก็โง่มันก็ยึดมั่นไปตามความโง่ จะเอาเป็นตัวตน ยึดมั่นว่าตัวตนเป็นตัวสุดท้าย มันก็ยึดมั่นว่าเป็นกาม ยึดมั่นในกาม ยึดมั่นในทิฐิ ความคิดความเห็นว่าอย่างนี้ถูก ความเห็นของกูถูกของคนอื่นผิด อย่างนี้ก็ยึดมั่นในทิฐิ ยึดมั่นในสีลัพพรต ศีลพรตน่ะ โง่ยึดถือศีลพรตผิดความหมาย ศีลก็ดี วัดก็ดี มันเป็นไปเพื่อดับกิเลส แต่มายึดมั่นด้วยความโง่ว่ากูวิเศษ กูจะเป็นคนเก่งกูจะเป็นคนเด่นเป็นคนดีเป็นผู้วิเศษขึ้นมา คนประเภทนี้มันยึดถือเอาวัดแต่ปฏิบัติ เช่น ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นเรื่องวิเศษวิโสไปหมด เป็นไสยศาสตร์ เป็นบ้าบอไปหมด มันอุปาทานมันโง่อย่างนั้น ให้ถูกต้องก็ศีลมันเพื่อกำจัดกิเลสอย่างนี้ สมาธิก็กำจัดกิเลสอย่างนี้ ปัญญาก็กำจัดกิเลสอย่างนี้ อย่างต่ำที่สุดเช่นให้ทาน ให้ทานนี้ก็เพื่อกำจัดความเห็นแก่ตัวไม่ใช่ให้ทานแลกเอาสวรรค์เหมือนอย่างที่เขาถือกันอยู่ แลกแทนเอาสวรรค์ เอาหน้าเอาตา เอาชื่อเสียงนี้ไม่ใช่หลักธรรมะ เป็นอุปาทานโง่มันยึดถือศีลและวัดต่างๆผิดจากความหมายที่ถูกต้องและในที่สุดมันยึดถือเป็นตัวตนเป็นของตนเป็นเหตุให้ปากนั้นพูดออกมาว่า ตัวกูบ้างของกูบ้าง นี้อุปาทาน อุปาทานโง่ยึดมั่นถือมั่น โง่ไปตามอำนาจของตัณหาที่โง่ ที่เกิดคล้ายๆกับเกิดสถาบัน(นาทีที่ 51:12) น่ะคือความรู้สึกทางจิตใจแน่นแฟ้นขึ้นมาเป็นจุดตั้งต้นว่าตัวกู อัตตาตัวตนตัวกูตั้งครรภ์เหมือนกับแรกตั้งครรภ์ เรียกว่าภพ อุปาทานความยึดมั่นถือมั่นเป็นจุดตั้งต้นให้เกิดสิ่งที่จะเรียกว่าตัวตนคือภพขึ้นมา แต่เป็นในระยะตั้งครรภ์ ต่อมามันก็แก่ครรภ์แก่มันก็คลอด คลอดภพให้เกิดชาติ ภพเป็นปัจจัยให้เกิดชาติ พอเกิดชาติมันก็เกิดตัวกูโดยสมบูรณ์ตัวกูอย่างนั้นตัวกูอย่างนี้ ของกูอย่างนั้นของกูอย่างนี้ เอาตัวกูเป็นผู้ เกิด แก่ เจ็บ ตาย หรือเอาความ เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นของกู เอาสิ่งต่างๆที่เข้ามาเกี่ยวข้องเนี่ยเป็นของกู อะไรๆก็มันมีเป็นตัวกูและเป็นของกูไปหมดนี้เรียกว่าชาติ ชาติได้มีแล้วไม่ได้จากท้องแม่ ชาติจากท้องแม่นั้นมีแล้วเสร็จแล้วมีแล้วยุติไปแล้วครั้งเดียวเท่านั้นแหละ แต่ว่าชาติ ชาติในความหมายอย่างนี้ในอุปาทานอย่างนี้มีได้ไม่รู้จะกี่ร้อยครั้งกี่พันครั้งต่อไป วันหนึ่งก็มีได้หลายครั้ง เกิดตัวกูขึ้นครั้งหนึ่งก็เรียกว่าชาติหนึ่ง เกิดทางตา ทางหู ทางจมูกก็ตามใจมัน ถ้าเกิดก็เรียกว่าชาติ วันหนึ่งๆเกิดด้วยอุปาทานไม่รู้กี่ชาติ รู้ไว้เถอะว่านี้คือ ปฏิจจสมุปบาท ถ้าท่านเข้าใจความรู้ข้อนี้ก็รู้ว่าชาติมันมีสองชนิด เกิดจากท้องแม่ไม่มีปัญหา เพราะมันก็เสร็จไปแล้ว ทีเดียวเท่านั้นกว่าจะโคลง(นาทีที่ 53:15) ชาติจากอุปาทานเป็นตัวกูของกูอย่างนั้นอย่างนี้เป็นตัวกูผู้หญิงเป็นตัวกูผู้ชายเป็นตัวกูเป็นคนรวยคนจนเป็นคนมีเกียรติเป็นคนอะไรก็ตามสารพัดอย่างเนี่ย ชาติๆอย่างนี้เกิดได้วันหนึ่งหลายชาติหรือหลายสิบชาติแล้วแต่มันจะโง่มากหรือมันจะโง่น้อย นี้ก็สรุปคือเกิดทุกทีเป็นทุกข์ทุกที เกิดอย่างนี้ทุกทีเป็นทุกข์ทุกที เกิดเป็นตัวกูของกูขึ้นมาทีไรก็เป็นทุกข์ทุกที ชาติเกิดตัวกูอย่างนี้เป็นทุกข์ทุกที มันมีความหนักขึ้นมาทุกที ทำความรู้สึกว่ากูเป็นแม่ กูเป็นพ่อ ก็มีปัญหา กูเป็นลูกก็มีปัญหาของลูก เป็นนายก็มีปัญหาของนาย เป็นบ่าวก็มีปัญหาของบ่าว เป็นนายจ้างก็ปัญหาของนายจ้าง ลูกจ้างก็ปัญหาของลูกจ้าง เป็นขอทานก็ปัญหาของขอทาน เศรษฐีก็ปัญหาอย่างเศรษฐี สำคัญว่ากูเป็นอะไร เป็นชาติอย่างไรขึ้นมาก็มีปัญหาอันมาจากความรู้สึกอันนั้น จึงสรุปความว่าเกิดทุกทีเป็นทุกข์ทุกทีไม่ว่าจะเกิดเป็นอะไร เกิดได้สารพัดอย่าง ถ้าคิดอย่างโง่เขลาก็เกิดเป็นสัตว์เดชฉานในร่างกายนี้แหละ ถ้าขี้ขลาดไม่มีเหตุผลก็เกิดเป็นอสูรกาย อสูรกายในร่างกายนี้ ร้อนเป็นไฟก็เกิดเป็นสัตว์นรกในร่างกายนี้ หิวๆๆจะขาดใจอยู่ตลอดเวลาก็เป็นเปรตในร่างกายนี้ เปรตในร่างกายนี้แหละ เกิดเป็นเปรต ชาติในปฏิจจสมุปบาทเป็นอย่างนี้ ไม่วกวน ถ้าคุณฟํงไม่ดีก็คล้ายกับวกวน มันไม่มีวกวน ทบทวนกันอีกทีว่าอายตนะภายในเช่น ตาเป็นต้น กระทบกับอายตนะภายนอกเช่นรูปเป็นต้น ก็เกิดจักษุวิญญาณ สามเรื่องขึ้นมาแล้วน่ะ สามประการสามอย่างนี้ทำงานร่วมกันอยู่คือเห็นรูปด้วยตาเรียกว่าผัสสะ ในกรณีทั่วไปมันเป็นผัสสะโง่เพราะมันยังไม่ได้ศึกษา มันไม่มีความรู้มาแต่ในท้องแม่ออกจากมันจึงโง่ มันจึงมีผัสสะโง่ คือผัสสะด้วยความโง่ตามความรู้สึกด้วยความโง่ เมื่อเกิดเวทนาโง่คือพอใจหรือไม่พอใจ ที่จริงไม่ควรจะพอใจหรือไม่ควรจะไม่พอใจ ปล่อยให้มันเป็นเรื่องของเวทนาตามธรรมชาติ ถ้าอย่างนี้ไม่โง่ นี้มันโง่ไปตามที่มันรู้สึก ถ้าพอใจมันก็ว่าดี ถ้าไม่พอใจมันก็เรียกว่าไม่ดี นี้เรียกว่าเวทนาโง่ มีเวทนาโง่ก็เกิดความต้องการไปตามความโง่ ชอบใจมันก็จะเอาไม่ชอบใจมันก็จะฆ่าจะทำลายเสีย ถ้ามันไม่แน่มันก็โง่เท่าเดิม สงสัยอยู่ตลอดเวลา ความสุขเกิดก็อยากได้อยากเอา ความทุกข์เกิดก็อยากทำลายเสีย ถ้าไม่สุขไม่ทุกข์ก็สงสัยอยู่นั้นคือโง่เท่าเดิม นี้เรียกว่าตัณหา เป็นไปตามอำนาจของเวทนา มันก็อยากไปตามนั้นแหละ ที่มันชอบใจมันก็อยากจะเอาอยากจะได้ ที่มันไม่ชอบใจก็อยากฆ่าอยากทำลาย ที่ไม่แน่ว่าชอบใจหรือไม่ชอบใจก็สงสัยอยู่นั้นว่ามันคงมีค่ามีดีอะไรอยู่ เป็นเวทนาชนิดหนึ่งด้วยเหมือนกัน เป็นความอยากไปตามนั้น เรายึดถือไปตามนั้น อุปาทานหมายมั่นไปในสิ่งที่รู้สึกอยาก แล้วก็จะมีตัวกู มีความรู้สึกเป็นตัวกูผู้ ผู้กระทำอย่างนั้น ผู้จะได้อย่างนั้น ผู้จะเสียอย่างนั้น ผู้จะขาดทุน ผู้จะได้กำไร ผู้จะเสียเปรียบไปตามนั้น แล้วในที่สุดมันก็โพร่งออกมาเป็นการกระทำ เป็นการกระทำในชีวิตประจำวันโดยแท้จริง แล้วก็ปัญหายุ่งไปหมด เกิดความโลภความโกรธความหลงก็ทำไปตามอำนาจความโลภความโกรธความหลง ได้อย่างใจก็ไปอย่าง ไม่ได้อย่างใจก็ไปอย่าง ยุ่งทั้งนั้นแหละ ได้อย่างใจมันก็บ้าไปตามที่มันได้อย่างใจ ไม่ได้อย่างใจมันก็บ้าไปตามที่มันไม่ได้อย่างใจ มันมีบวกมีลบอย่างนี้ ทั้งหมดนี้มีอยู่ในชีวิตประจำวัน ใครไม่เห็นก็คือคนโง่ที่ไม่เห็นสิ่งที่มีอยู่ที่หน้าผาก อยู่ปลายจมูกก็ได้ มันไม่เห็นสิ่งที่มีอยู่ที่หน้าผาก มันโง่ขนาดนั้น ขอพยายามศึกษาปฏิจจสมุปบาทในชีวิตประจำวัน เห็นแล้วจะเห็นพระพุทธเจ้าพระองค์จริง รู้เรื่องดับทุกข์ นั้นแหละหัวใจหรือว่าจุดตั้งต้นของพรหมจรรย์ จุดตั้งต้นของพรหมจรรย์เป็นอย่างนี้ ทุกข์ทั้งปวงมาจากความโง่ตั้งแต่ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน มาตลอดเวลา มันเห็นแก่ตัว เมื่อมันรู้สึกว่ามีตัวแล้วก็เห็นแก่ตัว โปรดช่วยจำคำนี้ไว้ให้ดีๆว่าเห็นแก่ตัวๆ มันมาจากความรู้สึกว่ามีตัว มันไม่ได้มีตัว มันเป็นของธรรมชาติ เป็นไปตามธรรมชาติ มันก็โง่ว่าตัว ตาเห็นรูปมันก็กูเห็นรูปนะ ที่จริงระบบประสาทที่ตามันสัมผัสรูปแล้วมันรู้สึกมันเป็นของธรรมชาติแต่มันโง่ว่ากูเห็นรูป แล้วก็มีตัวขึ้นมา ตาของกู รูปของกู นี้ก็เห็นอัตตนียาเห็นของกูขึ้นมา ทีนี้ก็เกิดปัญญาจะเอาแต่ประโยชน์ของกู อัตถปัญญามีความรู้แต่ที่จะเอาเป็นประโยชน์ของกู รู้แต่ประโยชน์ของกู จะเอาแต่ประโยชน์ของกูนี้คือความเห็นแก่ตัว เห็นแก่ตัว มีตัวและมีของตัวและมีปัญญาที่จะเห็นแต่ประโยชน์ของตัวนี้ ในชีวิตประจำวันมันเป็นอย่างนี้ มันเลยมีความทุกข์ เบียดเบียนตนเองเบียดเบียนผู้อื่น เห็นแก่ตัวๆช่วยจำไว้ให้ดี ต้นเหตุแห่งปัญหาทั้งหมดสารพัดอย่างในโลกในสากลจักรวาล ความทุกข์มาจากความเห็นแก่ตัว ถ้าไม่มีความเห็นแก่ตัวจะไม่มีปัญหาใดๆในโลก ก็คุณคิดดูพอเห็นแก่ตัวมันก็ขี้เกียจมันอยากจะนอนไม่ทำงานไม่อยากจะช่วยตัวเองด้วยซ้ำไป เห็นแก่ตัวแล้วเอาเปรียบๆ เห็นแก่ตัวแล้วอิจฉาริษยา เห็นแก่ตัวแล้วก็คอยจ้องจะเอาประโยชน์ของผู้อื่นมาเป็นของตน ไม่ต้องทำงานดีกว่าไปปล้นไปจี้ไปขโมยดีกว่าก็เป็นอันธพาล จึงเต็มไปด้วยอันธพาลทำลายธรรมชาติซะหมดสิ้น สร้างมลภาวะจนไม่มีที่จะหายใจ ไปหลงยาเสพติดซึ่งเป็นความโง่จนไม่รู้ว่าจะเรียกว่าโง่อย่างไร เกิดโรคภัยแปลกๆโรคแอดส์โรคแอดอะไรก็ไม่รู้เป็นไปโดยความเห็นแก่ตัว อาชญากรอาชญากรรมเต็มไปหมดทั้งบ้านทั้งเมืองเพราะมันเห็นแก่ตัวนะ กล้าพูดได้เลยว่าถ้าไม่มีความเห็นแก่ตัวนะ สิ่งเหล่านี้ไม่มีหรอกเดี๋ยวนี้มันเห็นแก่ตัว คนมั่งมีก็เห็นเกิดตัว คนยากจนก็เห็นแก่ตัว ลูกจ้างก็เห็นแก่ตัว นายจ้างก็เห็นแก่ตัว เศรษฐีก็เห็นแก่ตัว ยาจกก็เห็นแก่ตัว มันเห็นแก่ตัวเข้ามามากขึ้นๆเท่าที่กิเลสตัวตนมันมากขึ้น ถ้าหมอเห็นแก่ตัวมันก็หมดความเป็นหมอ มันเป็นพ่อค้านะ พอหมอเห็นแก่ตัวมันขูดรีดคนเจ็บน่ะ ถ้าครูเห็นแก่ตัวมันหมดความเป็นครูมันขูดรีดเด็กนักเรียนขูดรีดพ่อแม่ ถ้าตุลาการเห็นแก่ตัวมันก็หมดความเป็นตุลาการมันก็ขูดรีดจำเลย เนี่ยความเห็นแก่ตัวมันให้โทษอย่างนี้ เห็นแก่ตัวจนกระทั่งว่าผัวเมียเห็นแก่ตัวต้องหย่ากันอยู่กันไม่ได้ เดี๋ยวนี้มันเป็นมาก เห็นแก่ตัวระหว่างพ่อ แม่กับลูก คุณช่วยดูให้ดีหน่อยนะ เดี๋ยวนี้มันเจริญสูงสุดจนมาเห็นแก่ตัว ระหว่างแม่กับลูกทั้งนั้นน่ะ นี้แหละความทุกข์ทั้งหลายมันมาจากความเห็นแก่ตัว สร้างคุกเรือนจำเท่าไหร่ก็ไม่พอ ไม่มีเงินจะสร้าง สร้างโรงพักตำรวจเท่าไหร่ก็ไม่พอจนไม่มีเงินจะสร้าง สร้างโรงพยาบาลบ้าเท่าไหร่ก็ไม่พอไม่มีเงินที่จะสร้าง ประกาศของรัฐบาลออกมาในลักษณะอย่างนี้ เดี๋ยวนี้ไม่มีเงินจะสร้างคุกเพิ่ม สร้างตำรวจเพิ่ม สร้างโรงพยาบาลบ้าเพิ่ม คนก็ยังเห็นแก่ตัวกันมากขึ้นๆ ดีที่สุดไม่เห็นแก่ตัวมันก็จบชีวิตอย่างเลวที่สุดมันฆ่าได้แม้แต่พ่อแม่ ฆ่าตัวมันเองตาย ฆ่าพ่อฆ่าแม่ตาย ฆ่าตัวมันเองตาย ฆ่าลูกฆ่าเมียตายก็เรื่องความเห็นแก่ตัว มาจากการมีตัวแล้วโง่ โง่ในความเห็นแก่ตัว ฉลาดแต่ในทางที่จะเห็นแก่ตัว มีปัญญาแต่จะหาประโยชน์ใส่ตัว นี้คือผลของปฏิจจสมุปบาทที่กำลังมีอยู่ในโลก ถ้ามันตรงกันข้าม ตรงกันข้ามก็น่าชื่นใจเท่าไร ควรพิจารณาในทางเลวร้ายให้หมดเสียก่อน เลวร้ายเท่าไรๆแล้วพอตรงกันข้ามมันจะน่าชื่นใจสักเท่าไร นั้นแหละเรื่องเอาชนะควบคุมปฏิจจสมุปบาทได้มันก็ยืดยาวไว้ว่ากันวันหลัง ซึ่งมันกินเวลา เอาเป็นว่าจะเป็นคนช่วงไหน เป็นชาวไร่ชาวนาเป็นพ่อค้าเป็นข้าราชการค้าขายทำขนมขายนั่งทอดขนมขาย มันก็มีกระแสปฏิจจสมุปบาทครอบงำมันอยู่ตลอดเวลา ถ้ามันมีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีใจ มันก็เกิดเรื่องทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย อยู่ตลอดเวลา บางทีก็เหมือนกับร้องไห้ บางทีก็เหมือนกับหัวเราะเมื่อเป็นบ้า บางทีก็ร้องไห้ก็เป็นบ้า คือมันอยู่ด้วยความดีใจ เสียใจ ดีใจ เสียใจ สลับกันไป ชีวิตนี้มันมีแต่ดีใจและเสียใจอย่างนี้ มันหัวเราะมันร้องไห้ มันหัวเราะมันร้องไห้ แล้วแต่ว่าปฏิจจสมุปบาทมันจะเดินไปทางไหนกระแสไหน ปฏิจจสมุปบาทเป็นอย่างนี้ ไม่ยกเว้นใครแม้แต่ลูกเล็กเด็กแดง คนชราแก่เฒ่าเข้าโลงก็ถูกครอบงำอยู่ในกระแสปฏิจจสมุปบาททั้งนั้น ถ้าเห็นความจริงข้อนี้นะ ง่ายที่สุดที่จะเข้าใจธรรมะเพราะธรรมะเกิดขึ้นเพื่อที่จะทำลายโทษร้ายของข้อนี้ หรือว่าเพื่อจะควบคุมกระแสของปฏิจจสมุปบาทไม่ให้เกิดขึ้น ถ้ามันจะเกิดขึ้นมันเกิดในทางตรงกันข้าม คือไม่มีตัว เนี่ยหัวใจพระพุทธศาสนารวมอยู่ในคำว่าปฏิจจสมุปบาท เมื่อถ้ามาตั้งต้นเรียนปฏิจจสมุปบาทศึกษาปฏิจจสมุปบาทก็หมายความท่านตั้งต้นเรียนหัวใจของพระพุทธศาสนา ไม่ต้องกลัวเข้าใจข้อนี้ก่อนเถิดแล้วจะเข้าใจพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เข้าใจทุกอย่างที่จะต้องเข้าใจ ถ้าไม่เข้าใจเรื่องนี้แล้วไม่เข้าใจพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์หรอก เข้าใจพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์แต่ปากว่าแต่สมมุติแต่ไม่ใช่ตัวจริง พระพุทธเจ้าตรัสไว้แล้วว่าถ้าผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา มันก็เห็นปฏิจจสมุปบาทถึงจะเห็นธรรม เห็นธรรมแล้วจึงจะเห็นพระพุทธเจ้า เดี๋ยวนี้ไม่เห็นธรรม ไม่เห็นปฏิจจสมุปบาท เอาพระพุทธเจ้ากรอกหู พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็กรอกหูให้เด็กๆก็ว่าได้ แต่ไม่ใช่พระพุทธเจ้าพระองค์จริง ท่านจงเห็นปฏิจจสมุปบาทที่ว่า เกิดทุกข์อย่างไรดับทุกข์อย่างไร นั้นแหละจะเห็นพระพุทธเจ้าพระองค์จริง ไม่เสียชาติที่เกิดมาเป็นมนุษย์และพบพระพุทธศาสนา เรื่องปฏิจจสมุปบาทมันมีอย่างนี้ พูดต่อไปนี้ทำอย่างไรจึงจะควบคุมกระแสปฏิจจสมุปบาทได้ พอตาเห็นรูปเกิดผัสสะแล้วไม่โง่น่ะ ทำอย่างไรจึงจะทำอย่างนั้นได้ เรียกว่าควบคุมกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาทได้ ข้อนี้คำตอบสั้นๆคำเดียว สติ เพราะมีสติ เพราะมีสติเห็นเป็นเพียงธรรมชาติอย่างนั้น ไม่ใช่ตัวกู ไม่ใช่ของกู ไม่มีผัสสะโง่ ไม่มีเวทนาโง่ ไม่มีตัณหาโง่ ไม่มีตัวตน มีแต่สติๆๆ จำไว้เถอะ ที่พึ่งของเราน่ะคือสติ พระพุทธเจ้าสอนเรื่องสติ สอนให้ใช้สติ ให้พัฒนาสติ ให้ทำสติแล้วสติจะเป็นที่พึ่ง จะเป็นที่ช่วยให้รอด พระพุทธเจ้าจะมาช่วยเองไม่ได้ก็ท่านสอนให้รู้จักทำสติ แล้วสติก็จะคุ้มกันหรือจะช่วยให้รอด เรื่องต่อไปของเราก็คือฝึกสติ เราเข้าใจปฏิจจสมุปบาทดีแล้วเรื่องต่อไปก็คือเรื่องฝึกสติ อานาปานสติ สติคำนี้มีบทนิยามที่จะต้องจำให้แม่นว่า การระลึก สติโดยการระลึก ระลึกถึงความรู้ ที่จะต้องใช้ในกรณีนั้นๆ ความรู้ที่จะต้องใช้ในกรณีนั้นๆได้ทันเวลา ได้ทันเวลาแล้วก็ใช้มัน ใช้ไปเถอะใช้มัน สติคือการระลึกได้ถึงความรู้ที่จะต้องใช้ในกรณีนั้นๆได้ทันเวลาแล้วก็ใช้มันคือมีสติ ถ้าอย่างนี้ไม่มีความทุกข์ใดๆไม่มีปัญหาใดๆ สติป้องกันได้หมดหรือเพิกถอนได้หมด มีสติอย่างเดียว การปฏิบัติสูงสุดในพระพุทธศาสนาก็คือการมีสติ จะเรียกว่าสติปัฏฐานก็ได้ จะเรียกว่าอานาปานสติก็ได้ แล้วแต่จะชอบคำไหน แต่เราที่นี้ชอบคำว่าอานาปานสติ ตามคำที่พระพุทธองค์ท่านได้เคยใช้แล้วก็จะได้ฝึกฝนในเรื่องอานาปานสติกันต่อไป มีสติระลึกได้ทันควันว่าไม่มีตัวตนไม่ใช่ตัวตนไม่มีตัวกูไม่ใช่ของกู ไม่ใช่ตัวกูไม่ใช่ของกู มันเป็นเรื่องของปฏิจจสมุปบาทดังที่กล่าวมาแล้วในชีวิตประจำวัน จะเป็นชาวนาชาวสวนเป็นพ่อค้าแม่ค้าเป็นข้าราชการเป็นอะไรก็ตาม ในชีวิตประจำวันนั้นมีกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท ถ้าไม่รู้เท่าทันควบคุมไม่ได้ก็ต้องเป็นทุกข์ ต้องร้องไห้ หัวเราะเป็นบ้า หรือว่าจะฆ่าตัวตาย ถ้ารู้เท่าทันก็ควบคุมได้ไม่มีความทุกข์เลย ก็รู้เรื่องปฏิจจสมุปบาทควบคุมปฏิจจสมุปบาทได้ด้วยอำนาจของสิ่งที่เรียกว่าสติ สติ สติ มีความเพียรในการที่จะให้เกิดสติสัมปชัญญะ กำจัดเสียได้ซึ่งอวิชชาและโทมนัสในโลกนี้ ในโลกนี้มีแต่เรื่องบวกเรื่องลบ เรื่องบวกเรื่องลบในโลกนี้ ถ้าเรามีสติแล้วไม่เป็นบวกไม่เป็นลบ เรากำจัดเสียได้ ไม่ต้องเป็นบวกไม่ต้องเป็นลบ ไม่ต้องหัวเราะไม่ต้องร้องไห้ ไม่ต้องดีใจไม่ต้องเสียใจ แต่ทีนี้คนโง่บรมโง่ มันชอบดีใจมันชอบหัวเราะนี้จะทำยังไง มันชอบเรื่องบวก จะบวก จะได้อย่างกิเลสตัณหาของมันไว้เสมอไปก็ต้องได้ความทุกข์สมน้ำหน้าไป ไม่ต้องมีใครมาแช่งหรอก ก็มันหลงบวกในโลกปัจจุบันนี้ทั้งโลกทั้งจักรวาลนี้มันหลงบวกมันบ้าบวก มันทำแต่สิ่งที่ส่งเสริมความเป็นบวกคือความอยากความต้องการหรือกิเลสตัณหา มันผิดด้วยเครื่องจักร อุตสาหกรรมเครื่องจักรผลิตสิ่งเหล่านี้ออกมาเพื่อหล่อเลี้ยงกิเลสตัณหาของคนในโลก ล้วนแต่ไม่จำเป็นแล้วก็ผลิตออกมาแล้วก็มีคนซื้อ เพราะมันโฆษณาเก่ง เปิดหนังสือพิมพ์ดูแต่ฉบับมันมีอะไรบ้างที่จำเป็น ทำไมมันจึงขายได้ มันโฆษณาเก่ง มันโฆษณากันว่าคุณยายขี้ตืดขี้เหนียวก็ยอมซื้อตู้เย็น มันเป็นอย่างนั้น การโฆษณามันเก่ง ก็ความเห็นแก่ตัวมันก็ไม่เห็นแก่ใคร มันก็ทำเพื่อประโยชน์ของมัน มันใช้เครื่องจักรอุตสาหกรรมเป็นเครื่องมือ ติดเหยื่อของความโง่หรือวัตถุส่วนเกินมาหล่อเลี้ยงไว้เรื่อยไป คนจึงหลงความเป็นบวก หลงความเป็นบวก หลงความเอร็ดอร่อยสนุกสนานทางเนื้อทางหนังทางกามารมณ์ ไม่มีที่สิ้นสุด แล้วมันจะดับทุกข์ได้อย่างไรละ ก็หยุดโง่ เลิกโง่ เลิกหลงบวก เลิกหลงลบ ฉันไม่ดีใจ ฉันไม่เสียใจ เอาอย่างนี้กันดีกว่า ฉันไม่หัวเราะ ฉันไม่ร้องไห้ หัวเราะก็เหนื่อย ร้องไห้ก็ไม่ไหว ไม่หัวเราะไม่ร้องไห้ดีกว่า ฉันไม่ดีใจ ฉันไม่เสียใจ ดีใจหนักเข้าก็กินข้าวไม่ลง นอนไม่หลับ เป็นบ้าได้เหมือนกันน่ะดีใจ เสียใจก็ไม่ไหวมันไม่ไหว แต่ว่าดีใจมันก็ไม่ไหวเหมือนกัน ไม่ดีใจไม่เสียใจเวลานั้นสบายที่สุด เป็นสุขที่สุดเมื่อไม่รู้สึกว่าดีใจไม่รู้สึกว่าเสียใจ ดีใจก็รบกวนเสียใจก็รบกวน ไม่มันทั้งสองไม่รบกวนเรียกว่าว่าง ว่างจากบวกว่างจากลบ ว่างจากดีใจว่างจากเสียใจ ว่างจากร้องไห้ ว่างจากหัวเราะ คือมันไม่มีตัวกู ไม่มีตัวกู ไม่มีการได้ ไม่มีการเสีย ไม่มีการแพ้ ไม่มีการชนะ ไม่มีกำไร ไม่มีขาดทุน ไม่ได้เปรียบ ไม่เสียเปรียบ ไม่ทุกคู่ๆ ไม่ๆนั้นแหละคือความดับแห่งความทุกข์ เยือกเย็นเป็นนิพพาน ไม่เข้าใจก็เกลียด เกลียดธรรมะว่าง ใครไม่เข้าใจก็ย่อมจะเกลียดพระนิพพานหรือธรรมะที่เป็นไปเพื่อว่าง เพราะเค้ายังชอบบวกไม่ชอบว่าง ชอบหัวเราะ ชอบดีใจ ชอบเอร็ดอร่อย ชอบสนุกสนาน เป็นทาสของมัน ไม่อยากจะหลุดออกมาจากความเป็นทาสของอารมณ์เหล่านั้น นี้แหละชีวิตมันฝังจมอยู่ในกองทุกข์ เรามันศึกษาจิตตภาวนาพัฒนาจิตให้ถูกต้องเป็นจิตที่ถอนออกมาเสียจากความโง่เหล่านั้น เราจัดการอบรมการศึกษาและการปฏิบัติขึ้นที่นี้ด้วยความมุ่งหมายอย่างนี้ เพื่อว่าให้เพื่อนมนุษย์ออกมาเสียจากความโง่ความหลงไม่ต้องเป็นทาสของการเป็นบวกหรือความเป็นลบ แต่โลก โลกทั้งโลกกำลังโง่หลงความเป็นบวก อยากให้เป็นบวก ให้พรก็ให้เป็นบวกมากๆนะ ให้ลบมันไม่ชอบแล้วแต่ว่ามันหลงบวกก็เลยเป็นทาสของความเป็นบวก เมื่อความเป็นบวกมีก็ต้องมีความเป็นลบ ก็ความดีใจมีก็ต้องมีความเสียใจน่ะ ความสุขมีก็ต้องเป็นทุกข์ เลิกมันเสียให้หมด เอาความว่างกันดีกว่าซึ่งเรียกว่าพระนิพพาน ว่างจากตัวตน ว่างจากของตน ว่างจากความเห็นแก่ตน มีแต่ความเยือกเย็นและเป็นประโยชน์ เยือกเย็นเป็นประโยชน์ท่องไว้ ชีวิตนี้เยือกเย็น ชีวิตนี้เป็นประโยชน์ ชีวิตนี้ก็จะไม่กัดเจ้าของ ถ้าเต็มไปด้วยกิเลสมันก็ร้อนมันก็กัดเจ้าของ สุนัขมันยังไม่กัดเจ้าของเลย นี้มันกัดเจ้าของมันเลวกว่าสุนัขอีกนะกิเลสน่ะ ตัวตนน่ะ ตัวตนมันเลวกว่าสุนัข มีเมื่อไหร่กัดเจ้าของเมื่อนั้น ถอนออกไปเสียให้หมด นี้คือพระพุทธศาสนา เวลาหมดแล้ว จำต้องจำเป็นต้องหยุดไว้เพียงเท่านี้ก่อน ขอขอบคุณท่านทั้งหลายที่เป็นผู้ฟังที่ดีตั้งใจฟังโดยตลอด คงจะได้รับความรู้ความเข้าใจโดยสมควรแก่สติปัญญา เป็นผู้เจริญงอกงามก้าวหน้าในการบำเพ็ญจิตตภาวนาให้สมตามความประสงค์ทุกๆประการทุกคนเทอญ ขอยุติการบรรยาย