แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ตอบปัญหาของคณะผู้ปฏิบัติจิตภาวนา ... (นาทีที่ 00.11) ครั้ง ๓ วันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๓๓ เวลา ๕ นาฬิกา ณ ลานม้าหินหน้ากุฏิ
ผู้อ่านคำถาม: กราบเรียนท่านเจ้าคุณอาจารย์ คณะผู้ปฏิบัติมีคำถามที่เนื่องกับการฝึกอานาปนสติบางประการ ตามหลักที่กล่าวว่า ถ้ามีสติสัมปชัญญะแล้วจะสามารถกำจัดนิวรณ์ได้ แต่เมื่อเป็นผู้เริ่มปฏิบัตินั้น นิวรณ์บางตัวเป็นอุปสรรคอย่างมาก เราจะมีวิธีการ หรือมีเคล็ดอย่างไรในการกำจัดนิวรณ์ต่างๆ เหล่านั้น เช่น ความง่วงนอน
ท่านพุทธทาส: ไหนว่าอีกทีสิ ไหนว่าอีกทีสิ ยังจับไม่ได้ว่าถามว่าอย่างไร คือฟังไม่ค่อยถนัด
ผู้อ่านคำถาม: คือ จะแก้ปัญหานิวรณ์ หรืออารมณ์ร้ายบางอย่างได้อย่างไร เช่น ความง่วงนอนในการฝึกสำหรับผู้เริ่มต้น
ท่านพุทธทาส: คำพูดที่เกี่ยวกับข้อนี้ มันกำกวมอยู่ คืออยากจะพูดเสียใหม่ว่า ทำสมาธิหรือกำหนดอารมณ์แห่งสมาธิให้ถูกวิธีเถิด เอ่อ นิวรณ์ ถ้ามีอยู่ก็จะหายไปเอง คือมันหนีไปเอง ถ้ายังไม่เกิดก็ยังไม่เกิด มันก็คือทำไปได้โดยสะดวก ถ้ามีนิวรณ์ก็คือไม่เป็นสมาธิ ถ้าเป็นสมาธิก็คือไม่มีนิวรณ์ ซึ่งโดยหลักที่แท้จริงของธรรมชาติ มันก็คือว่า ทำสมาธิให้ถูกต้อง ทำเรื่องของสมาธิ แล้วนิวรณ์ก็ไม่ปรากฏ ไม่ปรากฏ ไปอยู่ที่ไหนก็ตามใจ จงศึกษาเรื่องการกระทำสมาธินั้นน่ะให้ถูกต้อง เรียนให้มันถูกต้อง กำหนดนิมิตหรืออารมณ์ของสมาธิให้แรง ... กำหนดให้แรง (นาทีที่ 03.27) เช่น เช่น การหายใจให้มันแรงเข้า ... (นาทีที่ 03.33) เมื่อกำหนดได้ นิวรณ์จะเกิดได้อย่างไรกัน เพราะว่าจิตมันอยู่ที่อารมณ์ของสมาธิ เสร็จแล้วนี่ นี่คือเคล็ดของมัน เมื่อจิตมันอยู่ที่อารมณ์ของสมาธิ เสร็จแล้วก็มีวิธีปรับปรุงอารมณ์หรือนิมิตของสมาธินั้นให้ละเอียดเข้า ละเอียดเข้า จิตก็มันต้องระงับลงไปเอง เพราะมันต้องละเอียดตาม ถ้าไม่ละเอียดตาม มันกำหนดไม่ได้ แล้วเมื่อจิตมันมาทำหน้าที่เกี่ยวกับอารมณ์หรือนิมิตเสียแล้ว นิวรณ์ก็ไม่มีโอกาส ความง่วง ความอะไรเป็นต้น มันจะหายไป แต่ว่าถ้ามันเป็นความง่วง เพราะความเหนื่อยอ่อน อดหลับอดนอนมาก่อนนั้น มันต้องไปแก้กันอย่างอื่น ไปแก้กันโดยวิธีใดก็ตาม แต่คงไม่ใช่ไปกินยาเม็ดยาอะไรที่แก้ง่วงนอน ในสำหรับทั่วๆ ไปนี่ กำหนดอารมณ์หรือนิมิตน่ะ ให้แรงเข้า ให้แรงเข้า ลมหายใจให้ดังวี๊ด วี๊ด วี๊ดดูสิ ให้มันสลายนิวรณ์ไปเอง แล้วนิวรณ์ไม่ใช่มีแต่ง่วงนอนหรือมึน ซาซบเซาก็มี ความรู้สึกทางกามารมณ์ การเกลียด การโกรธ การอิจฉาพยาบาท แล้วก็การห่อเหี่ยว การฟุ้งซ่าน ฟุ้งซ่าน และความที่ลังเล ลังเล ปัญหาน่าจะมีที่ความลังเลมากกว่าความง่วงหง่าวหาวนอน ลังเล หมายถึง ไม่เอาจริง เอาจริง เอาจริงด้วยความแน่ใจ แน่ใจ ไม่ลังเล ไม่ เอ่อ ไม่สงสัย ไม่ขยักอะไรไว้ กระทำจิตเต็มที่ในการกำหนดอารมณ์หรือนิมิตแล้ว ความ...กิเลสหรือง่วงนอน ง่วงหง่าวหาวนอน ก็มันไม่มี มันง่ายกว่า มัน มันหายไปได้ง่ายกว่า มีความแน่ใจ แน่ใจ แน่ใจในการกระทำ มีฉันทะ ฉันทะ พอใจในการกระทำ จะเรียกว่ามีความกระหายก็ได้ แต่ไม่ใช่กระหายอย่างกิเลส มันกระหายด้วยสติปัญญาในการที่จะกระทำ พออันนี้ทำได้ นิวรณ์ทั้งหลายก็มีไม่ได้ เพราะจิตมันไปอยู่กับอารมณ์เสียแล้ว ไม่เปิดโอกาสให้นิวรณ์ใดๆ แม้แต่คำว่าใด (นาทีที่ 07.03) เข้ามาครอบงำ ความจริงหรือข้อเท็จจริง ๒ อัน ทำสมาธิ เรียกว่าปัญหาเกี่ยวกับนิวรณ์ก็มีอยู่อย่างนี้ พูดอย่างตำราเขาว่า มีอิทธิบาทให้มากขึ้น ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสาน่ะ มีมากขึ้น การทำสมาธิก็มีเข้มแข็งมากขึ้น นิวรณ์ก็เป็นอันว่าไม่มี แล้วก็กำหนดสมาธิต่อไปๆๆๆ ตามลำดับที่จะต้องกำหนด แล้วก้าวหน้าไปเรื่อยไปตามทางของสมาธิ เคล็ด เคล็ดหรืออุบาย หรือเทคนิกก็แล้วแต่จะเรียก ของการทำมันมีอยู่อย่างนี้
ผู้อ่านคำถาม: กระผมขอเรียนถามถึงเรื่องนิวรณ์ข้อต่อไปนะครับ คือความลังเลสงสัย มีบางท่านไม่ทุ่มเทในการปฏิบัติอานาปนสติ เพราะยังคิดว่า แม้ไม่เจริญอานาปนสติ แต่ถ้ามีการฟังธรรม มีการสวดมนต์อยู่เป็นประจำ ก็อาจจะเข้าถึงธรรมได้จริง คิดว่าน่าจะเป็นทางอื่นก็ได้ อันนี้จะเป็นอย่างไร อยากจะ...
ท่านพุทธทาส: ... (นาทีที่ 08.37) สวดมนต์ก็ได้
ผู้อ่านคำถาม: คือการสวดมนต์ การฟังธรรม เท่านั้น หรืออ่านหนังสือคิด ขบคิดธรรมะนี่ จะสามารถทำให้เข้าถึงธรรมะได้โดยไม่ต้องทำอานาปนสติได้หรือไม่ เพื่อขจัดความลังเลสงสัยว่าจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องทำภาวนา จะได้ทุ่มเทลงไป
ท่านพุทธทาส: การทำสมาธิโดยเจาะจงว่าจะทำสมาธิ มันเป็นสมาธิโดยอ้อม ถ้าสวดมนต์ก็เป็นการทำสมาธิ แต่ว่าเล็กน้อยโดยอ้อม เพราะจิตมันก็กำหนดอยู่ที่การสวด สวดไม่ให้ผิดก็ได้ หรือว่าไพเราะจับใจ จับใจอยู่ในคำที่สวด หรือฟังเขาสวดนี่ก็ได้เหมือนกัน แต่เพียงเท่านั้นมันไม่พอ สมาธิโดยอ้อมมีหลายอย่าง ล้วนแต่ไม่พอ ตั้งใจจะทำอะไรก็เป็นสมาธิทั้งนั้น ตั้งใจจะพูดก็เป็นสมาธิ ตั้งใจจะฟังก็เป็นสมาธิ ตั้งใจจะสวดร้องท่องบทมันก็เป็นสมาธิ เมื่อคิด นึก กำหนดอยู่นี่ ดีกว่า จริงกว่า จริงกว่า (นาทีที่ 09.52) สำเร็จประโยชน์ได้มากกว่า ถ้าว่าหมายถึงสมาธิที่ลึกซึ้ง ลึกซึ้ง ที่จะให้มีปัญญาอันลึกซึ้ง ไม่ใช่สมาธิเล่นๆ เพียงว่าขว้างก้อนหินถูกเป้าหมาย ยิงปืนถูกเป้าหมาย นั่นมันสมาธิที่น้อยๆ ไม่พอ ต้องมาทำตามแบบที่เป็นสมาธิ แล้วทีนี้ ถ้าจะให้เป็นสมาธิที่จะส่งเสริมปัญญาให้ลึกซึ้งถึงที่สุดจนละอนุสัย อาสวะ ได้ ก็ต้องทำตามแบบนี้ แบบที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ดีแล้ว ๑๖ ขั้น ไม่มีปัญหาอะไร อยากทำเล่นๆ ก็ทำเล่นๆ อย่างนั้น
ผู้อ่านคำถาม: ในกรณีของผู้ปฏิบัติที่มีความตั้งใจมาก แล้วเกิดความเคร่งเครียด เช่นว่า ปวดศีรษะ แน่นหน้าอกในการปฏิบัติ จะมีวิธีการแก้ไขอย่างไร
ท่านพุทธทาส: ไม่ใช่ว่าแน่นหน้าอก หรือปวดศีรษะนั้นนี่ ไม่จำ ไม่ใช่เฉพาะว่าทำสมาธิเคร่งเครียด มันมีเรื่องอย่างอื่นก็มี เกี่ยวกับร่างกายไม่ปกติอย่างอื่นก็มี ฉะนั้นต้องแก้ไขไปโดยทางร่างกาย ถ้าไม่มีอะไรผิดปรกติในทางร่างกาย มันก็ไม่มีอาการเหล่านั้น ถ้ามันมีอย่างชนิดที่ว่าเป็นโรคประจำตัว ก็แก้ไขตามวิธีการป่วย ไปขอความช่วยเหลือจากหมอ จากอะไรนั่น ที่พูดนั้นมันผิด ข้อเท็จจริงอยู่ที่ว่าทำสมาธิแล้วเครียด ขอให้เชื่อเถอะ ถ้าทำสมาธิแล้วเครียดน่ะ มันไม่ใช่สมาธิหรอก เพราะว่าสมาธิมันแก้เครียด มันแก้เครียด ทำสมาธิถูกวิธี ความเครียดที่มีจะค่อยละลายหายไป ถ้าทำสมาธิแล้วเครียดล่ะก็ ไม่ ไม่ ไม่ใช่สมาธิ ไม่ถูกเรื่องของสมาธิ เป็นมิจฉาสมาธิไปเสียแล้ว มันมีเรื่องผิดอะไรอยู่อย่างลึกซึ้ง เพราะว่าถ้าเป็นสมาธิแล้วจะคลายความเครียดของนิวรณ์ หรือของกิเลสก็ตาม ฉะนั้น ผู้นั้นต้องไปสังเกตดูให้ดีเสียใหม่ว่าความเครียดนั้นเกิดมาจากอะไร ทางหนึ่งมันเกิดมาจากกิเลสตัณหา มาทำสมาธิ มันอยากได้สมาธิ ในฐานะที่จะเอาไปใช้เพื่อเกิดประโยชน์ผลทางวัตถุ ได้เปรียบผู้อื่น อย่างนี้เป็นต้น แต่ถ้าหวังว่ามันมีปาฏิหารย์ เหาะเหินเดินอากาศได้ ถ้าอย่างนี้มันเป็นมิจฉาสมาธิแล้ว อาจจะเกิดความเครียดขึ้นได้ ถ้าเป็นเรื่องถูกต้องตามความมุ่งหมายที่แท้จริง สมาธิจะผ่อนคลายความเครียดเสมอไป สมาธิลึก ลึกเท่าไหร่ ก็ผ่อนคลายความเครียดได้อย่างลึกซึ้งเท่านั้น นี่ข้อเท็จจริงมีอยู่อย่างนี้
ผู้อ่านคำถาม: ขอกราบเรียนถามเพิ่มเติม วิธีที่จะแก้อารมณ์ร้าย ที่ท่านเจ้าคุณอาจารย์เคยกล่าวมา ๑๐ ข้อ เช่น ความรัก ความกลัว ความตื่นเต้น เป็นต้น อยากจะทราบเพิ่มเติม วิธีการแก้ปัญหา นอกจากว่าถ้าทำอานาปนสติไปแล้วปัญหานี้จะหมดไปเอง แต่ว่าเมื่อมีปัญหานี้ในตอนเริ่มต้นทำ แล้วทำให้ปฏิบัติยังไม่ได้ดีนัก จะแก้อย่างไร เช่นความกลัว กลัวความมืดเพราะไม่คุ้นเคย
ท่านพุทธทาส: ถ้าว่ามันมาอยู่ก่อนทำสมาธิ มันก็เป็นพวกนิวรณ์ ถ้ามาก่อนการทำสมาธิ ก็มาในรูปของนิวรณ์ ซึ่งมีฤทธิ์เดชเพียงครึ่ง ครึ่งหนึ่งของกิเลสโดยตรง ถ้ามีกิเลสโดยตรง ก็เป็นกิเลส กิเลสไม่เรียกนิวรณ์ มันมาเต็มอัตราของมัน ความรักก็ดี ความโกรธก็ดี ความเกลียดก็ดี ความกลัวก็ดี ความตื่นเต้นก็ดี วิตกกังวลก็ดี อาลัยอาวรณ์ก็ดี อิจฉาริษยาก็ดี ความหวงก็ดี ความหึงก็ดี ถ้ามาเต็มรูปแบบของมัน เราเรียกว่ากิเลส ทำไม่ได้ ทำสมาธิไม่ได้ถ้ากิเลสกำลังเผา มันต้องมีวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่งที่ระงับกิเลสอันรุนแรงนั้น ให้เหลืออยู่แต่เพียงเป็นนิวรณ์ ...เป็นนิวรณ์ (นาทีที่ 15.11) มาตอม ตอมให้รำคาญอยู่นี่ สมาธิก็จะไล่ไปได้หมด ถ้าความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ... (นาทีที่ 15.25) เต็มอัตราเผาผลาญ ก็ต้องด้วยธรรมะอย่างอื่นน่ะ จะเรียกว่าวิปัสสนาก็ได้ ปัญญาอย่างอื่นน่ะที่มองเห็นว่า อันนี้มันเป็นเรื่องกิเลส มันจึงมีการกระทำบุพพภาค การเตรียมอย่างบุพพภาคเสียก่อน เช่น การไหว้พระ สวดมนต์ การแผ่เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา หรือการนึกในทางใดทางหนึ่ง กิเลสเหล่านั้นก็หยุดพลุ่งพล่าน มาเหลืออยู่แต่เพียงของตอม ตอมให้รำคาญเล็กๆ น้อยๆ นี่ก็ไล่ไปได้ทีหนึ่งด้วยอำนาจของการทำสมาธิตามแบบฉบับที่จะทำนี่ ความ ความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว กำลังสูงสุดนี่เหมือนกับคนบ้า คือทำไม่ มันต้องมีอะไรมาจัดการกันเสียก่อนพอสมควร แล้วจึงทำสมาธิอย่างละเอียด ประณีต สุขุม ต่อไป
ผู้อ่านคำถาม: ขอความกรุณาอธิบายเพิ่มเติมเป็นการเฉพาะที่กิเลสบางตัว เช่น เมื่อเกิดความกลัวขึ้นในปัจจุบันนี้น่ะ จะกำหนดแก้ไขกิเลสนั้นอย่างไรครับ ด้วยวิธีการวิปัสสนา หรือว่าใช้ข้อธรรมะอย่างไร จึงจะแก้ความกลัวได้ หรือความกำหนัดยินดีในทาง ในเพศตรงกันข้าม อันนี้เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์กับญาติโยมที่จะเอาไปใช้ที่บ้าน
ท่านพุทธทาส: ถามอะไรนะ ถามเรื่องความกลัว
ผู้อ่านคำถาม: ครับ เมื่อเกิดกิเลสขึ้นอย่างชัดเจน เช่น เมื่อความกลัวเกิดขึ้น จะกำหนดอย่างไรเพื่อให้ความกลัวนั้นหายไป
ท่านพุทธทาส: ถามเฉพาะความกลัวใช่ไหม
ผู้อ่านคำถาม: ครับ จะถามเป็นข้อๆ ตอนนี้จะถามเรื่องความกลัวก่อน
ท่านพุทธทาส: ความกลัว มันก็มีหลายๆ ระดับ ความกลัวอย่างหยาบ อย่างหยาบ อย่างอ่อน อย่างโง่เขลา เช่น กลัวผี กลัวความมืด กลัวอะไรเหล่านี้ ก็ไปแก้ไขโดยวิธีซึ่งยังไม่ถึงกับเป็นสมาธิ แต่มันก็มี มี มีหลักที่ว่า ถ้าทำสมาธิได้ ความกลัวมันก็ไม่มีเหมือนกัน แต่นี่มันกลัวมากจนทำสมาธิไม่ได้ ต้องดูว่า มันเป็นโรคจิตชนิดหนึ่งหรือไม่ เช่นว่า พอมาอยู่ในที่โล่งเปลี่ยวนี่ (นาทีที่ 18.30) กลัว กลัวคนจะมาฆ่า กลัวศัตรูจะตามมาฆ่า หรือว่ากลัวสัตว์ร้ายจะกัด กลัวผีจะหลอกอย่างนี้ นี่เป็นความกลัวที่หยาบ หยาบ ต้องหาทางกำจัดในทางที่หยาบๆ พอกัน ความกลัวที่ละเอียด เช่น มันกลัว มันกลัว กลัวตาย กลัวไม่ได้สิ่งที่ต้องการ ความกลัวที่เป็นพื้นฐานของจิตใจ คือ มันระแวงอยู่ว่าจะสูญเสียในสิ่งที่ไม่ต้องการให้สูญเสีย และจะไม่ได้สิ่งที่ต้องการจะได้ นี่ความกลัวอย่างนี้น่ะละเอียด ละเอียด เมื่อเรากำจัดความกลัวหยาบๆ โง่ๆ อย่างความกลัวของเด็กๆ กลัวกระทั่งไส้เดือน จิ้งจก ตุ๊กแกนี่ นั่นมันไม่ใช่เรื่องของสมาธิ มันเป็นเรื่องของความโง่พื้นฐานต้องไปจัดการกัน ถ้าเรื่องนี้มันมีความจริงอยู่ว่า ถ้าเรามาสนใจเรื่องสมาธิและความกลัว อันนั้นมันระงับไปเองแหละ มันระงับไปเอง มีวิธี วิธีแบบโบราณ แบบโบราณ... (นาทีที่ 20.02) เป็นเรื่องงมงายนิดๆ หน่อยๆ ก็ทำพิธีบนบานศาลกล่าวก็มีนะ แล้วก็เชื้อเชิญพระพุทธเจ้ามาคุ้มครองก็มี นี่ อย่างนี้มันระงับความกลัวแบบนั้น พอจิตสงบ ระงับลงได้พอสมควรที่จะทำสมาธิ ความกลัวมีหลายอย่าง หรือหลายสิบอย่าง หาวิธีกำจัดไปตามธรรมชาติ ต่อมาถึงมี ต่อมามาถึงความกลัวอันละเอียด อันละเอียด เช่น กลัวความตาย กลัวความสูญเสีย กลัวความพบกับสิ่งที่ไม่เป็นมิตร เป็น แต่เป็นศัตรู ตอนนี้เป็นความกลัวที่ละเอียด จะกำจัดเสียได้ด้วยสมาธิภาวนา ในชั้นสมาธิก็ได้ หรือในชั้นวิปัสสนาก็ได้ ศึกษาวิปัสสนาโดยเฉพาะ ให้รู้ให้เห็นชัดว่าความกลัวเป็นความโง่เสีย เสียก่อนก็ดีเหมือนกัน ความกลัวเป็นความโง่ ขี้กลัว ขี้กลัวจนเดือดร้อน คือมันไม่ต้องกลัว นี่เรียกว่าศึกษานอก นอก นอกสมาธิ นอกจิตภาวนา หรือศึกษาอย่างการศึกษาเป็นจิตตะในที่ชุมนุม ผู้ศึกษาอย่างนี้ก็ช่วยได้ จะตอบโดยส่วนเดียวอย่างเดียวมันก็คงไม่ได้ เพราะความกลัวมันหลายชั้น หลายชั้นนัก ให้ขจัดดูตามชั้นของมัน แล้วก็กำจัดไปให้ตรงตามชั้นของมัน ชั้นโง่มาก ชั้นโง่ไม่สู้มาก ชั้นโง่น้อย หรืออะไรก็ตามเรื่อง ทำให้เกิดความรู้สึกว่าปลอดภัยได้พอสมควรแล้วก็ทำสมาธิต่อไป ไม่ต้องไปนึกถึงความกลัว ทำเป็นสมาธิ ระงับความรู้สึกกลัวได้ พอหมดปัญหาด้วยวิปัสสนานั้น ตัดขาดเลย ตัดขาดเลย สมาธิช่วยข่มไว้ได้ วิปัสสนาจะตัดขาดเลย ความ เอ่อ ความกลัวมาจากความโง่อย่างใดอย่างหนึ่ง ลดความโง่ความกลัวก็หายไป วิปัสสนาตัดความโง่โดยเด็ดขาดเลย วิปัสสนาที่แท้จริง คือ อนัตตา สุญญตานี่ ตัดความกลัวโดยสิ้นเชิง
ผู้อ่านคำถาม: แล้วกิเลสข้อต่อไปที่เป็นปัญหาต่อคนปัจจุบันมาก คือ ความกำหนัดยินดีในเพศตรงข้าม ซึ่งเป็นสิ่งที่รบกวนจิตใจเป็นอย่างยิ่ง จะแก้อย่างไรครับ
ท่านพุทธทาส: เมื่อกี้เรียกชื่อว่าอะไรนะ เรียกชื่อว่าอะไร
ผู้อ่านคำถาม: ความยินดีพอใจในกามารมณ์นี่ จะแก้อย่างไร โดยอาศัยธรรมะข้อใด เพื่อจะให้จิตใจสงบลงได้
ท่านพุทธทาส: กามารมณ์
ผู้อ่านคำถาม: ครับ
ท่านพุทธทาส: มันก็อยู่ในกามฉันทะ นิวรณ์ข้อที่ ๑ อยู่แล้ว กามารมณ์ที่รุนแรง รุนแรงนั้น มันเกินนิวรณ์ ถ้าเป็นเพียงคุกรุ่น แล้วมาตอมให้รำคาญอย่างนี้ ก็เรียกว่านิวรณ์ได้ ถ้าเป็นกามารมณ์รุนแรง ถึงขนาดเป็นกิเลส เป็นกิเลสแล้วก็ต้องไปกำจัดอย่างเดียวกับความกลัวรุนแรง คือ โง่เขลา การถือศีล ถือธุดงค์ เมื่อถือศีล ถือธุดงค์ที่ถูกวิธี จะลดความรู้สึกทางกามารมณ์ได้ในตัวมันเอง แล้วก็พอสมควรที่จะทำสมาธิ พวกที่มีความคิดอุตริวิตถารพวกหนึ่ง เขาก็ไปใช้กามารมณ์บำบัดกามารมณ์ คือพวกที่เอานิพพานเป็นกามารมณ์ เอากามารมณ์เป็นนิพพานเสียเองก็มีอยู่พวกหนึ่ง พวกนี้ก็ไปแก้กามารมณ์ด้วยการกระทำกามารมณ์ แต่ในหลักธรรมะเป็นไปอย่างอื่น คือ ไม่ ไม่ถืออย่างนั้น มันถูกอย่างของเขา มันไม่ถูกอย่างกับเรา ดังนั้น เตรียมตัวตั้งแต่เบื้องต้นในเรื่องศีล ในเรื่องศีล อย่าไปคิด นึก ทำในใจเรื่องกามารมณ์ แล้วก็ระวังการกินอาหาร การแต่งตัว เป็นต้น อย่าให้ส่งเสริมกามารมณ์ กระทั่งถือธุดงค์ ถือธุดงค์ การบังคับร่างกาย บังคับอิริยาบถ บังคับการกินอาหารแต่น้อย ไม่กินอาหารที่ส่งเสริมกามารมณ์ นี่เป็นวิธีทางธุดงค์ ก็เป็นเบื้องต้น เบื้องต้น เป็นบุพพภาคเบื้องต้นของการทำสมาธิ ในพระบาลีจึงมีลำดับไว้ว่า มีศีล ตามที่จะต้องถือศีล แล้วก็มีอินทรีย์สังวร ซึ่งรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อย่าให้มันตกไปตามอำนาจของกิเลส แล้วก็ถือสมาทานธุดงค์ ธุดงค์ ขัดเกลาหรือข่มขี่ความรู้สึกที่ต่ำนั้น ให้จึงไปสู่ที่สงัดและทำสมาธิ ดังนั้น ปัญหาเรื่องนี้มันจึงเรียกว่าไม่มีหรือไม่มี เพราะมันมีเทคนิคที่ดีมาตั้งแต่ต้น ป้องกันหรือควบคุมไปแล้วตั้งแต่ต้น
ผู้อ่านคำถาม: บางท่านแนะนำว่า ให้ใช้อสุภกรรมฐานเพื่อแก้ไข จะดีหรือไม่อย่างไรครับ
ท่านพุทธทาส: ไหนว่ายังไงนะ ฟังไม่ทัน
ผู้อ่านคำถาม: บางท่านบอกว่าให้ใช้อสุภกรรมฐานในการแก้อารมณ์นี้ จะได้ผลเพียงไรหรือไม่
ท่านพุทธทาส: อันนั้นน่ะ อย่างที่เป็นบุพพภาค บุพพภาค อสุภกรรมฐาน หมายความว่า ไม่งาม หลงในวัตถุสงครามอารมณ์ มันก็ช่วยได้ แต่เรียกว่าเป็นวิธีที่ ที่จำเป็น ที่จำเป็นสำหรับคนบางคน พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสเรื่องนี้โดยตรงน่ะว่า อสุภ เป็นบุพพภาคของอานาปนสติ เพราะถ้าทำอานาปนสติอันละเอียดสุขุมได้ เรื่องกามารมณ์มันก็ไม่มี มันจะยกเว้นพิเศษคนบางคนที่เป็นราคจริต ผิดปกติ พวกจริตทั้ง ๖ คนพวกนี้ควรจะตั้งต้นมาจากอสุภกรรมฐาน แน่นอน ดี เป็นอุบายที่ดี เฉพาะคนที่มีปัญหา เป็นราคจริตในนิสัย ควรจะตั้งต้นด้วยอสุภกรรมฐาน แต่ถ้าไม่มีปัญหานี้ คนปกตินี่ก็ทำอานาปนสติ กระโดดไปทำอนัตตานุปัสสนา เรื่องไม่มีตัวตน อันนี้แก้ปัญหาทางราคจริตได้มากกว่า แก้ราคจริตด้วยอสุภกรรมฐานก็ได้ผล แต่ว่าที่ดีกว่า เหนือกว่า เก่งกว่า นั่นก็คือ อนัตตา สุญญตาน่ะ เห็นความไม่มีตัว เห็นความมายาแห่งอายตนะ ภายในอายตนะ ภายนอกและเวทนา ตัณหาล้วนเกิดเป็นของหลอกลวง เป็นมายา กามารมณ์เป็นเพียงความบ้าวูบเดียว บ้าวูบเดียว แล้วก็ลดไป ลดไป แล้วแต่คนไหนจะเหมาะ ถ้าเหมาะที่จะต้องใช้อสุภกรรมฐานก่อนก็ดีเหมือนกัน ตระเตรียมมา (นาทีที่ 30.46) แล้วจึงค่อยมาเข้าระบบอานาปนสติ แล้วรีบเจริญอนัตตานุปัสสนาให้มาก คือ อนิจ อนิจจาน่ะ อนิจจตา ทุกขตา อนัตตตานี่ ข้อนั้นกำจัดความรู้สึกทางกามารมณ์ได้ เฉียบขาดหรือว่ารุนแรงกว่า
ผู้อ่านคำถาม: มีบางท่านมีปัญหาเรื่องความเป็นคนตื่นเต้นวิตกกังวลง่าย จนนอนไม่หลับบ่อยๆ จะมีวิธี จะมีข้อธรรมะอย่างไรที่จะแก้ปัญหานี้ได้ นอกเหนือจากการฝึกสมาธิให้ได้ผล
ท่านพุทธทาส: นั่นก็อยู่ในพวกวิตกจริต เป็นผู้มีความคิดฟุ้งซ่านจนเป็นนิสัย เคยชิน จิตเคยชินกับความคิด จนเป็นปกตินิสัยก็เรียกว่าพวกวิตกจริต ซึ่งมีความคิด มีความคิด คิดอย่างไม่มีเหตุผล คิดอย่างไม่มีอะไรก็คิด นี่เรียกว่า คิดจนนอนไม่หลับน่ะ พอจะนอนหลับ ความคิดก็เกิดขึ้นเอง เกิดขึ้นมาเองจนนอนไม่หลับ แล้วก็มีอยู่มากเหมือนกัน ว่าที่เป็นอย่างนี้ก็มีอยู่มาก ความคิดเลื่อนลอยเอง ฟุ้ง ฟุ้งขึ้นมาเอง แล้วก็นอนไม่หลับ จงไปแก้ไขตั้งแต่เบื้องต้น แก้นิสัยอันนั้นมาเสียตั้งแต่เบื้องต้น หัดไม่คิดเมื่อจะนอน เมื่อจะนอนแล้วก็ไม่คิด หัดนอนให้มันง่าย ให้มันเข้าระเบียบของธรรมชาติ เหมือนสัตว์เดรัจฉานดีกว่ามั้ง พูดอย่างนี้ดีกว่า ไม่ใช่คำหยาบคาย นี่สัตว์เดรัจฉานไม่มีปัญหาแบบนี้นะ ไม่มี ไม่มีการนอนไม่หลับ กระสับกระส่ายเหมือนคน สัตว์เดรัจฉาน ม้า หมา ช้าง หมา ช้าง ม้า วัว ควาย เป็ด ไก่ นี่มันหลับก็หลับเป็นปกติ นี่แสดงว่าความคิดวิตกจริตนั้น ผิดธรรมชาติแล้ว ...เข้าไปหาธรรมชาติ (นาทีที่ 33.09) นับตั้งแต่ว่าจะไม่สร้างนิสัยพอล้มตัวลงนอนแล้วก็คิด คิด คิด แก้นิสัยว่า ถ้าจะคิดก็นั่งคิด เดินคิด นั่งคิด เดินคิด จนมันไม่ไหวก็นอน ล้มลงแล้วก็หลับเลย นี่แก้ทางกาย แก้ทางภายนอก แก้ทางกาย แล้วก็ทำสมาธิต่อ นิสัยอันนี้แก้ได้แล้วก็แก้ด้วยสมาธิต่อ มัน มันลำบากเพราะมันเนื่องด้วยกิเลสอย่างอื่น เนื่องด้วยตัณหา ความต้องการมันมีมาก มากเกินไป เมื่อความต้องการไม่มีที่สิ้นสุด ทำให้คิดไม่มีที่สิ้นสุด จะมีคนธรรมดาสามัญ ชาวบ้านธรรมดาสามัญ ไม่ใช่จะทำสมาธิ ภาวนา กรรมฐาน ไม่ใช่คนธรรมดานี่ ชาวบ้านธรรมดา ชาวนาธรรมดา ก็ยังมาถามปัญหาข้อนี้ ไม่ใช่เขาทำสมาธิ เขาอยู่ที่บ้านที่เรือนตามธรรมดาก็ยังมาถามปัญหาข้อนี้ พอนอนไม่หลับ พอล้มลงนอนก็ความคิดก็มาท่วมหัวท่วมหู แต่เขาก็ได้สังเกตเห็นว่า มีเพื่อนของเขาบางคนนั้นน่ะ เพื่อนด้วยกันแท้ๆ ระดับเดียวกัน พอล้มลงนอนก็หลับ ล้มลงนอนก็หลับ มันมีบุญ พอล้มลงนอนมันก็หลับ เขาทรมานอยู่ตลอดคืนก็ยังนอนไม่หลับ ... (นาทีที่ 35.12) ของคนที่มีความต้องการมาก คิดอยู่แต่เรื่องที่จะทำอะไร จะทำอะไร วิตกกังวลอยู่เรื่อยไป หวาดผวาอยู่เรื่อยไป กลายเป็นเสียนิสัย เรียกว่าระบบประสาทของบุคคลนั้นเสียหมดแล้ว รวนเรหมดแล้ว เป็นเรื่องของโรคทางกาย หรือโรคทางระบบประสาทเข้ามามากแล้ว ไปปรึกษาหมอทางกาย ทางประสาทก่อนเถิด แก้ไขทางกายทางนั้นเสร็จแล้วค่อยมาแก้ไขในทางจิตกันต่อไป ถ้าจะแก้กันง่ายๆๆๆ อย่างง่ายๆ ในตอนนี้ คือหลักว่า ล้มลงนอนแล้วจะไม่คิด ถ้าคิด ก็คิดเมื่อเดิน เมื่อนั่ง เมื่อยืนไปค่อยคิด พอง่วงนอน ก็จะนอน จะไม่คิด จะไม่นอนก่ายหน้าผากคิดเรื่องใดๆ นี่เป็นการแก้ตามธรรมชาติ ถ้าทำสมาธิได้ ทำอานาปนสติได้ ก็ทำอานาปนสติหมวดต้นๆ ที่ทำให้หยุด ให้ระงับ อย่าไปทำหมวดพิจารณา โดยเฉพาะหมวดที่ ๔ อย่าไปเอามาคิด ทำเพียงกำหนดลมหายใจ กำหนดลมหายใจ รวบรวมจิตให้อยู่ที่แห่งเดียวกันแล้วจึงปล่อยให้มันหลับ แต่ว่าพูดนี้ง่าย การกระทำจริงๆ มันไม่ได้ง่ายขนาดนี้ แต่ว่าเมื่อฝึกไปเรื่อยๆ ฝึกไปเรื่อย มันก็ไม่เหลือวิสัย ไม่เหลือวิสัย มันจะทำได้ มันจะค่อยๆ ทำได้ อย่าให้ไปกินยาระงับประสาทจนติดยาระงับ อย่างนั้นก็ไม่ถูกเหมือนกัน ต้องแก้ไขโดยธรรมชาติ ให้เข้ามาสู่ครรลอง ร่องรอยของธรรมชาติ ตื่นได้ หลับได้ เหมือนกับสัตว์เดรัจฉาน ถ้ามันเกิดมีอาการอย่างนี้ขึ้นมา ก็นึกละอายหมา ด่าตัวเองนี่มันคงจะช่วยได้
ผู้อ่านคำถาม: มีคนอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีปัญหามากเกี่ยวกับเรื่องโทสะ เป็นคนที่ใจร้อนแล้วก็ผูกใจเจ็บ เมื่อเรามีความโกรธขึ้นนี่จะระงับได้อย่างไร
ท่านพุทธทาส: เดี๋ยวๆ ฟัง จับ จับไม่ถนัด จับใจความไม่ถนัด
ผู้อ่านคำถาม: สำหรับผู้ที่มีปัญหาเรื่องโทสะ เป็นคนโกรธง่าย แล้วก็ผูกใจเจ็บ เป็นปัญหามาก จะแก้ได้อย่างไร จะมีธรรมะข้อไหน
ท่านพุทธทาส: อย่างนี้ก็มากิเลสประเภทโทสะไงล่ะ ประเภทราคะแล้ว ประเภทโมหะแล้ว ทีนี้ก็โทสะ โดย โดยหลักใหญ่ๆ กิเลสมันก็เหมือนๆ กัน แต่นี่มันเป็นกิเลสประเภทโทสะ กิเลสมี ๓ ประเภท อธิบายกันมาหลายหนแล้วจะจำได้หรือจำไม่ได้ กิเลสประเภทบวก จะเอาเข้ามา จะเอาเข้ามา จะยึดมั่น จะยึดถือไว้ จะทนุถนอม จะอะไร นี่กิเลสประเภทบวก ก็เกิดราคะ เกิดโมหะ เกิดกิเลสประเภทลบ ไม่เอา อยากจะให้ไปเสียให้พ้น หรือฆ่ามันเสียให้ตาย ก็เกิดประเภท กิเลสที่ชื่อว่าโทสะบ้าง โมหะบ้าง พวกโมหะน่ะ ไม่แน่ว่าบวกหรือลบ ได้แต่โง่ๆ วนเวียนๆ สงสัยอยู่ อันนี้เป็นกิเลสประเภทลบ ประเภทที่จะทำลาย ประเภทที่จะทำลาย มันก็เป็นความโง่ชนิดหนึ่งเหมือนกันแหละ ทุกประเภท กิเลสทุกประเภทมาจากอวิชชา อวิชชาทั้งนั้น แล้วก็ความมีตัวมีตัวทั้งนั้น ถ้ามันไม่มีความรู้สึกว่ามีตัวแล้วมันก็โกรธใครไม่ได้ ถ้ามันไม่มีความรู้สึกว่ามีตัว มันก็ไม่มีมึง ไม่มีกู มันไม่มีมึงไม่มีกู มันก็โกรธกันไม่ได้ ความโกรธนี่ มันก็มาจากตัณหา คือไม่ได้อย่างใจ มันกระทบกับสิ่งที่ไม่พอใจ หรือพลัดพรากจากสิ่งที่พอใจ มันก็ขัดใจ มันก็โศก ก็ลดเสีย ลดสิ่งที่หลงรัก หลงพอใจ หรือความหวังเรื่องอะไรเหล่านี้ลงไป ความโกรธหรือการที่จะโกรธมันก็ลดลงตามลงไปเอง ถ้าจะดูกันให้หมดจดมันก็มาแต่นิสัย คนบางคนมีนิสัยโกรธง่าย เพราะถูกทำให้โง่ ถูกตามใจ มาเป็น จนเกิดเป็นนิสัยตามใจตัวเอง มีคนตามใจจนมีนิสัยตามใจตัวเอง อย่างนี้มันโกรธง่าย มันก็ถือว่ามันเป็นกรรมแล้วกัน ได้รับการแวดล้อม ได้รับการอบรมมาผิดตั้งแต่ในบ้านในเรือนตั้งแต่เป็นเด็กๆ มา มีนิสัยโกรธง่าย ในบ้านเรือนที่เป็นสัมมาทิฏฐินี่ มันจะมีวัฒนธรรมประจำบ้านเรือนที่ผู้ใหญ่ ผู้แก่ ผู้เฒ่า รู้จักสนเด็กๆ เล็กๆ ไม่ให้มันโกรธ ไม่ให้มันผูกโกรธ มันช่วยได้มาก เรียกว่ามันโชคดี มีบุญ ได้เกิดในตระกูล ในครอบครัวที่มีวัฒนธรรมดี หรือว่ามีศีลธรรมดีก็ได้ นี่ช่วยได้มาก แต่ถ้ามันเกิดมาในตระกูลที่เป็นโจรใจบาปหยาบช้า อย่างนี้แล้วมันก็ยาก ยากหน่อย จะต้องแก้กันโดยพื้นฐาน พื้นฐานก่อน ไม่เกี่ยวกับสมาธิ วิปัสสนาอะไรโดยตรงนัก แก้โดยพื้นฐาน โดยการศึกษา ว่าเรานี่มันอยู่คนเดียวไม่ได้ เราต้องอาศัยกันอยู่เป็นหมู่เป็นคณะ ถ้าเรามาโกรธกัน มันเท่ากับว่าฆ่ากันเสียเอง เป็นผู้นึกกันในทางอย่างนี้ มันก็จะเกิดความรักผู้อื่น รักผู้อื่นขึ้นมา ซึ่งทำให้โกรธยาก แต่ที่จริงความโกรธนี่มันเกิดมาจากตัณหา ประเภทวิภวตัณหา หรือประเภทก็ได้ทั้งนั้น กามตัณหา มันรัก พอมันไม่ได้อย่างรัก มันเกิดโกรธ ภวตัณหา อยากจะเป็นอย่างนั้น อยากจะเป็นอย่างนี้ แต่ สวยอย่างนั้น จะสวยอย่างนี้ พอมันไม่ได้อย่างนั้น มันโกรธ ลด ลด ลดตัณหาน่ะ แล้วความโกรธก็จะ จะลดลง ก็ศึกษานอก นอก คือนอกเวลาสมาธิ คือว่าศึกษาอย่างธรรมดาๆ นี่ ให้เห็นว่าความโกรธนี่มันกัดตัวเอง มันเผาตัวเอง พอเกิด พอเกิดเมื่อไหร่ก็กัดผู้โกรธ กร่อนผู้ถูกโกรธ บางทีผู้ถูกโกรธไม่รู้เรื่องเลย พวกไปโกรธเขานี่ถูกไฟเผา ถูกความโกรธเผาจนเป็นบ้า มันก็จะกลัว จะมีความรู้สึกกลัวความโกรธ ความโกรธนี่เป็นมายา หลอกลวง มองให้เห็นว่าเป็นมายา หลอกลวง เมื่อโกรธนั้นน่ะ เมื่อโกรธในเบื้องต้นน่ะ เหมือน เหมือนกับน้ำตาลน่ะ อร่อยๆ ได้โกรธ อร่อย แต่พอโกรธเสร็จแล้วตอนปลายจะเป็นยาพิษ มันหวานที่โคน แล้วมันขมที่ปลาย ด่าเขาก็สนุกดี ตีเขาก็สนุกดี แต่เสร็จแล้วมันกลายเป็นโทษในตอนปลาย มีคำอุปมาไว้ว่ามันหวานที่ข้างต้นแล้วมันขมที่ตอนปลาย ถ้าเห็นได้อย่างนี้ นึกได้อย่างนี้ มันก็กลัว มันก็กลัวที่จะรับผลขมตอนปลาย นี่ก็ได้ เรียกว่ามี มีโอตตัปปะ ความกลัว แล้วก็มีหิริ ความละอาย ละอาย เกิดขึ้นมาทีไรก็ละอายผู้อื่นที่เขาไม่โกรธ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นพระ เป็นเณร เป็นคนถือศีลเข้าวัดเข้าวา ถ้าไปโกรธเข้ามันน่าละอาย น่าละอายอย่างยิ่ง ความละอายนี่มันก็ช่วยได้เหมือนกัน แล้วเราก็ค่อยๆ มองเห็นด้วยสติปัญญาธรรมดาๆ นี่แหละ ก็จะเบื่อหน่ายในความโกรธ มันก็จะ จะไม่อยากโกรธ จะไม่อยากโกรธ กลัวความโกรธ เกลียดความโกรธ แล้วก็ส่งท้ายด้วยการทำสมาธิ วิปัสสนา เห็นคุณประโยชน์ของการไม่โกรธ ถ้ามีวิปัสสนา เห็นอนัตตา ความไม่ใช่ตนแล้ว มันไม่โกรธโดยเด็ดขาด มีวิปัสสนาเห็นสุญญตา เห็นอนัตตาโดยตรงเต็มทีแล้วมันโกรธไม่ได้โดยเด็ดขาด นี่ก็ไปพิจารณาดูตัวเองแล้ว เราอยู่ในระดับไหน ในขนาดไหน จะใช้วิธีแก้ระดับไหน ระดับไหน ระดับง่ายๆ ระดับต้นๆ ระดับเด็กๆ หรือว่าสูงขึ้นไปๆ จนหมด หมดความโกรธ ก็เพียงเป็นพระอนาคามี (นาทีที่ 47.43) ไม่ต้องถึงกับเป็นพระอรหันต์ ก็หมดความโกรธได้ พิจารณาเห็นโทษของความโกรธอยู่เสมอ จนเกลียดจนกลัวความโกรธ ก็บังคับให้อดกลั้นอดทน อดกลั้นอดทน อย่าให้ถูกไฟเผาเสียเรื่อยไป เสียเรื่อยไป เกิดทีไรก็เหมือนถูกไฟเผาทุกทีไป รู้จักกลัวบ้าง รู้จักละอายบ้าง ก็จะ จะดีๆ ก็จะค่อยดีๆ กันไป แต่ว่าในหมู่คนอันธพาลทั้งหลายมันไม่ละอาย มันไม่ละอายแล้วมันก็ไม่กลัวด้วย อย่างนี้ก็ลำบาก บทที่ว่าหวานตอนต้นขมตอนโคน เอ้ย หวานตอนโคนขมตอนปลาย มันก็ไม่กลัว มันก็ไม่กลัว มันยินดีที่จะเป็นอย่างนั้น นี่เพราะว่ามีโมหะ มีความโง่เกินไป มองพิจารณา พิจารณา มองให้ชัดดูว่าความโกรธไม่มีส่วนดี แม้แต่สักนิดเดียว สักนิดเดียวไม่มี มีแต่ความร้าย ความเลว ความยุ่งยากลำบากตลอดเวลา ตลอดกาลไปเลย หาความดีสักนิดหนึ่งก็ไม่ได้ในความโกรธนั้น ทำให้จิตใจเป็นไฟ เป็นสกปรกไปหมด ก็จะเปลี่ยนแปลงเป็นรัก รักในความไม่โกรธ พอใจในความไม่โกรธ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ทำง่าย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่เหลือวิสัย ถ้าว่าตั้งใจจริง มอบชีวิตจิตใจให้แก่ธรรมะจริงก็พอจะทำไปได้ จงได้อย่าท้อถอยเลย เกิดมาเผาตัวเองด้วยความโกรธตลอดชาตินี่มันบรมโง่ นึกแล้วมันก็ละอายเหลือเกิน เจริญพรหมวิหารอยู่เป็นประจำ แล้วเจริญอนัตตา สุญญตา ไม่มีมึง ไม่มีกู ไม่มีมึง ไม่มีกู อยู่เป็นประจำ ความโกรธก็จะลดหายไป จะเลิกไป มันหลายชั้นอย่างนี้ไปเลือกเอาเอง
ผู้อ่านคำถาม: มีปัญหาของผู้ปฏิบัติธรรมที่อยู่ครองเรือน คือตนเองสนใจปฏิบัติ แต่ไม่สามารถจะมาวัดได้ เพราะว่าทางบ้านไม่ต้องการให้มา ในกรณีอย่างนี้ควรจะทำอย่างไร เมื่อมาปฏิบัติที่วัดนี้ได้ผลดี แต่เมื่อกลับไปบ้านก็มีความขัดแย้ง คือทางบ้านไม่ต้องการให้มาวัด ควรจะทำอย่างไรดี
ท่านพุทธทาส: มันไม่ใช่ปัญหาธรรมะ
ผู้อ่านคำถาม: ครับ
ท่านพุทธทาส: มันไม่ใช่ปัญหาธรรมะ มันปัญหาเรื่องสังคม เรื่องครอบครัว เรื่องอะไรต่างๆ ไม่ใช่ปัญหาธรรมะ จะ จะให้มันเป็นปัญหาธรรมะ มันก็ต้องหาเหตุผล หาอะไรมาปรับความเข้าใจแก่กันและกันเสีย คือว่า ฝ่ายโน้นไม่ต้องการ ก็ทำให้เขาเข้าใจถูกต้องเสียว่า เป็นสิ่งที่ควรต้องการ มันจะสามารถทำความเยือกเย็นสงบเย็นขึ้นมาในครอบครัว อย่าให้เห็นว่าธรรมะนั้นเป็นนอกเรื่อง หรือว่าเป็นเรื่องอะไรนอกเรื่อง ธรรมะนี่เป็นเรื่องสำหรับมนุษย์ ถ้ายังเป็นมนุษย์มันต้องมีธรรมะ ไม่มีธรรมะมันก็ไม่เป็นมนุษย์ มันจะเป็นต้นที่มีแต่เพียงโคน ไม่มีใบ เต็มไปด้วยความร้อน ร้อนๆ ด้วยความไม่มีธรรมะ จะทำความเข้าใจกัน หรือว่าแสดงให้เขาเห็นประโยชน์ เห็นอานิสงค์ของธรรมะ นี่ธรรมะในชั้นที่ไม่ต้องไปที่วัด ไม่ต้องเข้าไปในป่า จะปฏิบัติได้ที่บ้านมันก็ยังมี ควรตั้งต้นด้วยธรรมะแบบนี้ แล้วก็มีโอกาสร่วมกันศึกษาด้วยกันทั้งสองฝ่าย มันก็จะเกิดการทำความเข้าใจกันได้ ในครั้งพุทธกาล ก็ไม่ ไม่ ไม่เคยพบข้อความที่ว่าจะต้องทิ้งบ้านไปอยู่วัด ไม่มีล่ะ ถ้าเป็นฆราวาส เป็นเพศที่ครองเรือน ก็ไปรับธรรมะที่วัดจากพระพุทธเจ้า แล้วมาปฏิบัติอยู่เป็นประจำแม้ที่บ้านที่เรือน ปัญหาอย่างนี้มันก็ไม่มี นี่มันยึดมั่นถือมั่น ยึดมั่นถือมั่นว่า ต้องไปป่าช้า ต้องไปที่วัด ไปที่สงบสงัด มันก็เกิดปัญหา เพราะมันมีความยึดมั่นถือมั่น ซึ่งไม่ใช่เป็นความจริง แม้แต่การทำสมาธิ ต้องให้ถือว่าที่บ้านก็ทำได้ ในรถไฟก็ทำได้ อยู่ติดกับเครื่องจักร อุตสาหกรรมก็ทำได้ คือ พอไม่ไปกำหนดอื่นๆ มากำหนดแค่อารมณ์ของสมาธิมันก็เป็น เป็นสมาธินะ หรือทำให้อารมณ์ หรืออะไรที่มันมีอยู่ข้างนอกนั้นน่ะ เป็นอารมณ์ของสมาธิเสีย เสียงไก่ขันอย่างนี้ บางคนก็รู้สึกหนวกหู แต่คนที่ฉลาดคนเป็นอารมณ์ทางหู อารมณ์ทางเสียง มีสมาธิเสียก็ได้ มันแก้ลำกันอย่างนั้น พูดกระโดดข้ามไปหน่อยก็ว่า ลืมตัวกู ลืมตัวกู ลืมความรู้สึกว่าตัวกู ลืมความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกู ที่ไหนก็จะเป็นสมาธิทันที ทันที ถ้ามีตัวกู ตัวกู ความรู้สึกเป็นตัวกู เป็นของกู มีได้มีเสีย มีดีมีชั่ว มีแพ้มีชนะอยู่เป็นตัวกู เป็นของกู ไม่มีที่สงัดแล้ว ต่อให้ไปอยู่ในป่าช้า ไปอยู่ในถ้ำ ในภูเขา คนเดียวมันก็ไม่สงัด เพราะตัวกูๆๆๆ นี่มันพลุ่งอยู่เรื่อย ถ้าตัวกูๆๆๆ ไม่พลุ่ง ไม่เกิด ไม่พลุ่งขึ้นมา มันสงัดไปหมด ตรงไหนก็ได้ ไปนั่งในป่าช้า แต่จิตใจมีเรื่องตัวกู ของกู เต็มไปหมดมันก็ไม่มีทางที่จะสงัด ... (นาทีที่ 56.14) นี่ก็เป็นตัวกูอีกแบบหนึ่ง ก็ยิ่งไม่สงัด งั้นเคล็ดลับดีที่สุด สูงที่สุด ก็คือ ลืมตัวกูเสีย ที่ไหนก็ตามลืมตัวกูเสีย มันก็เป็นที่สงัดเมื่อนั้น สิ่งรบกวนอย่างยิ่งกว่าสิ่งใดก็คือ ความรู้สึกว่าตัวกู ว่าของกู บ้านเรือนของกู เงินทองของกู บุตรภรรยาสามีของกู เมื่อมันมีความรู้สึกอันนี้แล้วมันไม่สงัด พยายามทำความรู้ให้เข้ารูปเข้ารอย แล้วก็อย่าไปยึดมั่นถือมั่นเรื่องสถานที่กันนัก โดยถือหลักว่า เกิดความทุกข์ที่ไหนก็ดับทุกข์ที่นั่นน่ะ เกิดความทุกข์ที่บ้านแล้วมาดับทุกข์ที่วัด จะไปมีประโยชน์อะไรล่ะ เกิดความทุกข์ที่บ้านจะไปดับทุกข์ที่ในถ้ำ ในเขา ในป่านี่ มันก็ไม่ ไม่ได้เรื่อง ไม่ใช่เรื่อง มันไม่ใช่เรื่อง มีเพียงการดับทุกข์ในที่ที่มันเกิดทุกข์ ถ้าความทุกข์มันเกิดในจิตใจก็พยายามดับมันที่จิตใจ เกิดที่ร่างกายก็ดับกันที่ร่างกาย เกิดที่บ้านที่เรือนที่สมบัติพัสถาน ก็ดับกันที่นั่นแหละดีกว่า ทำอย่างนี้มันถูกต้องด้วย แล้วจะไม่มีปัญหาเรื่องบ้านเรือนด้วย ขัดใจกันในระหว่างผู้ที่อยู่ครองเรือนด้วยกัน สรุปความว่า พยายามทำความเข้าใจแก่กันและกัน ว่าธรรมะจะดับทุกข์ได้ และเราก็พยายามดับทุกข์เมื่อมีทุกข์ ในที่ที่มีทุกข์ ในเวลาที่มีทุกข์ ขอย้ำอีกทีในพระบาลีไม่เคยพบว่า จะต้องไปอยู่บ้าน เอ้ย จะต้องทิ้งบ้านไปอยู่วัด แม้จะถือศีลอุโบสถ (นาทีที่ 58.46) ต้องมาถืออยู่ที่บ้าน ต้องถืออยู่ที่บ้าน ไม่ต้องไปนอนที่วัด ถ้าบ้านเหมาะสม บ้านเหมาะสมอยู่ในอำนาจของเรา บางทีจะดี จะสะดวกกว่าที่วัดเสียอีก ที่วัดบังคับเขาไม่ได้ เขารบกวน บางทีที่วัดน่ะเป็นบ่อน สรวลเสเฮฮา สนุกสนานเสียอีก ในบ้านที่เราบังคับได้ เพราะว่าเป็นเจ้าบ้านที่มีสิทธิ มีอำนาจ จัดบ้านให้เป็นป่าเมื่อไหร่ก็ได้ แล้วในบ้านอยู่กันกี่คน กี่คน ลูกเล็กเด็กแดงก็มาสอนให้เข้าใจเรื่องนี้กันเสียให้หมด ว่าอยู่ด้วยความสงบ เยือกเย็นๆ ไม่รัก ไม่โกรธ ไม่เกลียด ไม่กลัว ไม่อะไรอย่างที่ว่านี้ ปัญหาก็จะลดลงหรือหมดไป ไปศึกษาที่วัด ถ้าไม่อาจจะศึกษาที่บ้าน ศึกษาที่วัด แล้วก็มาปฏิบัติที่บ้าน หรือในที่ที่เหมาะสม ที่ไหนก็ได้ แล้วหมดปัญหาไปที ที่ว่าตกลงกันไม่ได้ ถ้าสามีขี้หึง ภรรยาขี้หึงแล้วก็ทำไม่ได้แน่เรื่องนี้
ผู้อ่านคำถาม: ท่านเจ้าคุณอาจารย์เสนอแนะว่าให้ปฏิบัติธรรมที่บ้าน จะมีหมวดธรรมหมวดใดหมวดหนึ่งหรือไม่ที่ควรจะยึดถือเอาไปปฏิบัติที่บ้าน เพื่อเป็นเรื่องส่งเสริม...
ท่านพุทธทาส: เดี๋ยวฟังไม่ถูกเลย
ผู้อ่านคำถาม: หมวดธรรมที่ควรจะนำไปปฏิบัติที่บ้านนี่ ได้แก่อะไร
ท่านพุทธทาส: หือ
ผู้อ่านคำถาม: หมวดธรรมที่จะนำไปปฏิบัติที่บ้าน
ท่านพุทธทาส: เลือกเอาเอง เลือกเอาเอง ในที่นี้ โดยเฉพาะเจาะจงก็ว่าอุโบสถศีล (นาทีที่ 01.01.00) นั่นแหละ ถ้าจัดทำที่บ้านได้ล่ะก็ เก่งกว่าทำที่วัด ทำสมา...เอ่อ ถือศีล หรือถือสมาธิได้ในที่ที่มีอารมณ์ยั่วยวนนี่ เก่งกว่าไปทำในที่ที่ไม่มีอะไรยั่วยวน เพียงแต่ว่ามันจะทำยากสักหน่อย ถ้าทำได้ก็เก่งกว่า ทำสมาธิตามโรงละครน่ะยากกว่าทำในป่า แต่ว่าถ้าทำได้แล้ว เก่งกว่าคนที่ไปทำในป่า มากมายหลาย... (นาทีที่ 01.01.46) มันอยู่ที่จิตมันทำ จิตมันทำแล้วไม่มี ไม่มีอะไรเป็นอุปสรรค ทำสมาธิได้ก็ทำได้ ไม่รู้ไม่ชี้ ไม่รู้ไม่ชี้กับสิ่งที่เข้ามา กำหนดแต่อารมณ์อยู่เสมอ
ผู้อ่านคำถาม: ถ้าเราจะสอนเด็กๆ ที่บ้านให้ฝึกอานาปนสติ เราควรจะสอนอย่างไรครับ
ท่านพุทธทาส: อ้าว ก็ศึกษาดูเองให้รู้ดีเสียก่อนสิ ตัวเองทำได้เสียก่อนสิ อย่าเพิ่งไปสอน... (นาทีที่ 01.02.28) ตัวเองทำได้เสียก่อน มันก็จะเข้าใจตลอดสายว่าเป็นอย่างไร อะไร อย่างไร เพื่ออะไร วิธีใด เราควรจะ อะไรล่ะ ให้เรียกว่าล่อใจ ล่อใจให้เกิดฉันทะ เกิดความพอใจในการจะทำเสียก่อน แล้วถามตัวเด็กๆ ตัวเล็กๆ ว่า อยากจะจำเก่งไหม อยากจะคิดเก่งไหม อยากจะตัดสินอะไรเก่งไหม อยากมีความสบายใจ สบายใจ ยิ่งกว่าที่ไปเล่นกีฬาไหม อย่างนี้ให้มัน มันเข้าใจว่า สิ่งเหล่านี้น่าพอใจก่อนเถอะ จิตของเด็กๆ ก็จะน้อมมาเพื่ออยากลอง มันไม่รู้ว่าอะไรหรอก แต่ถ้าบอกอานิสงค์ บอกประโยชน์อย่างนี้มันก็อยากจะลอง อยากจะคิดเก่ง จำเก่ง มันก็เรียนหนังสือเก่งก็สอบไล่ได้ดี อยากให้สอบไล่ได้ดี ต้องทำให้คิดเก่ง จำเก่งขึ้น จะคิดเก่ง จำได้ดีก็ต้องฝึกสมาธิ แม้อยากจะทำเล่นเด็กๆ นั่น จะเล่นหยอดหลุม ทอยกลองอะไรอย่างเด็กๆ เล่นกัน ถ้าทำสมาธิจะทำได้ดีกว่า เมื่อเด็กๆ เขาสนใจขึ้นมาตอนนั้นล่ะ เราค่อยกำหนดไปตามลำดับ แล้วอย่างง่ายๆ อย่างง่ายๆ กำหนดลมหายใจอย่างง่ายๆ แล้วสรุปให้มันสั้นให้เหมาะสมกับเด็ก เดี๋ยวนี้เราเย็น มีความเย็น มีความสงบ ระงับด้วยความเย็น ก็ให้เขารู้จัก รู้จักไปตามลำดับ เราก็บังคับอะไรได้ บังคับจิต ไม่ให้กลัว ไม่ให้ตื่นเต้น ไม่ให้เกิด ไม่ให้อะไรได้ มันก็ดีขึ้นๆๆๆ ทันเวลากับเด็กที่มันโตขึ้นๆๆๆ มันก็รู้ในเรื่องเหล่านี้มากขึ้นๆๆ ไม่มีอุปสรรคอะไร กลัวแต่ว่าผู้ใหญ่นั่นแหละจะไม่มีความอดกลั้นอดทนพอ ที่จะสอน ที่จะควบคุม ผู้ใหญ่ทำล้มเหลวเสียเอง จะโกรธเสียเอง จะไปตีเขาเสียอีก งั้นผู้ใหญ่ทำให้ได้เสียก่อน ทำให้ได้เสียก่อน แล้วก็ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง แม้จะหลอกกันสักหน่อย ก็ไม่เป็นไรไม่บาป จะเหาะได้ ทำอย่างนี้จะเหาะได้ ต่อไป อ้าวไหนเหาะดูสิจิตใจของฉัน จิตของฉันมันเหาะได้ไปทุกหนทุกแห่ง แม้ร่างกายจะไม่ไป แต่จิตมันไปทั่วทุกหนทุกแห่ง อย่างนี้ก็เรียกว่าเหาะได้เหมือนกัน ฉันไม่ต้องเมืองนอกหรอก แต่ว่าฉันก็ ไม่ต้องไปโดยร่างกาย แต่จิตใจฉันก็ไปได้ มีเรื่อง หรือมีโอกาส หรือมีตัวอย่างที่จะทำความเข้าใจ ทำให้เกิดความพอใจ พอใจ พอใจ จะเป็นบุญกุศลแก่เด็กน้อยนั้นมาก พ่อแม่ก็จะได้รับประโยชน์มาก เพราะว่าลูกเล็กๆ มันเป็นเด็กที่ดี โตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่ดี แม้แต่ว่าจะมีคำพูดจาที่จะดึง... (นาทีที่ 01.07.04) แม้จะเป็นเรื่องพูดไม่จริง ไม่เป็นไร ไม่ขัดศีล เช่นบอกว่า เอาล่ะ ต่อไปนี้ ใครด่าเราไม่เจ็บ ใครยิงเราไม่ถูก ... (นาทีที่ 01.07.26) เพราะยังหลอกเด็กเล็กๆ ว่า อย่าขี่หมาฟ้าจะผ่า อย่าเอาขันไปรองน้ำที่ปากโอ่งมันฟ้าจะผ่า ที่จริงมันต้องบอกอย่างอื่น แต่ว่าถ้าบอกอย่างนั้นมันได้ดี มันได้ผลดี ต่อไปนี้เราจะสอบได้ที่ ๑ ตลอดไปเลย สอบไล่ได้ที่ ๑ ของชั้นทุกตลอดเวลาไปเลย เพราะว่าเรามีจิตใจดี จิตใจดี จะนอนหลับสบาย จะเจ็บไขได้ป่วยน้อย มันอยู่ที่ความฉลาดสามารถของผู้ที่จะสอน แต่ต้องสอนในสิ่งที่ตัวเองทำได้แล้ว ทำได้แล้ว ถ้าผู้ใหญ่โกรธเป็นฟืนเป็นไฟอยู่ตลอดเวลาจะไปสอนเด็กอย่างไร ตัวเองสูบบุหรี่อยู่ตลอดเวลาแล้วจะไปสอนเด็กอย่างไรว่าอย่าสูบบุหรี่ ผมเชื่อว่ามีหนทางเต็มที่ในการที่จะอบรมเด็กให้มีธรรมะ นับตั้งแต่มีศีลธรรม จริยธรรม เรื่อยๆ ขึ้นไปจนมีสมาธิ วิปัสสนา เข้าใจได้เรื่องของการไม่มีตัวตนหรือของตนตามหลักที่ได้อธิบายกันมาแล้ว ว่าตัวกู ของกู เป็นความคิดโง่ๆ เกิดมาจากความโง่ เกิดมาจากการกระทำที่รู้สึกอยู่โดยอายตนะ ซึ่งเกิดทีหลังไม่ใช่ของจริง ยิ่งสอนก็ยิ่งสนุก แต่เดี๋ยวนี้ที่สอนไม่ได้ก็เพราะว่าพ่อแม่มันตันมืดทุกทิศทุกทางอยู่ มันมืดไปทุกทิศทุกทางจะไปสอนลูกได้อย่างไร ถ้าอยากจะสอน พ่อแม่ต้องรีบทำให้ได้ รีบทำให้ได้ ก็สอนทุกๆ แง่ ทุกๆ มุมที่เด็กเขาจะได้รับประโยชน์เห็นชัดเจน เป็นครอบครัวพุทธบริษัทที่น่าเลื่อมใสไปเสียเลย ไปเสียเลย
ผู้อ่านคำถาม: ขอเรียนถามต่อไปถึงเรื่องหลักธรรม ๕ ประการที่จะควรใช้ในการปฏิบัติ คือที่สวนโมกข์นี่มีเสาอยู่ ๕ ต้น ทำให้สงสัยว่าท่านอาจารย์มุ่งหมายให้เป็นปริศนาธรรมหมวดใดหรือไม่ อย่างไร
ท่านพุทธทาส: ก็บอกแล้วบอกกันตลอดเวลาแล้วว่า แล้วแต่ใครจะตีความหมายเอาตามความพอใจ ตามความเข้าใจนี่ เมื่อรู้น้อยก็ตีความหมายน้อย ตีความหมายได้น้อย สูงขึ้นไปมันก็สูงขึ้นไป บางคนมันก็จะตีความหมายว่า นิ้วมือ ๕ นิ้วก็ได้ ก็มีความคิดเพียงเท่านั้น หรือมันจะตีความหมายเป็นขันธ์ทั้ง ๕ ก็ได้ เป็นขันธ์ทั้ง ๕ ก็ได้ หรือว่าเรามีเท้า ๒ มือ ๒ ศีรษะ ๑ คนน่ะมันมีเท้า ๒ เท้า มีมือ ๒ มือ มีศีรษะอยู่ ๑ ศีรษะ ก็นับว่าเป็น ๕ ก็ได้ จะได้แก่ตัวเองล่ะมั้ง เลื่อนขึ้นไปๆ จนเป็นธรรมะที่มันสูงขึ้นไป จนกระทั่งว่าไปถึงพละ ๕ อินทรีย์ ๕ ที่เป็นเหตุให้ทำ ปฏิบัติธรรมะสำเร็จน่ะ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา อันนี้ประเสริฐที่สุด ลองมีดู ลองมีดูเถอะ มันทำอะไรสำเร็จหมดล่ะ มีศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา อ้าวทีนี้ยังไม่หมด ยังไม่ครอบจักรวาลก็เลื่อนขึ้นไปอีกทีหนึ่งถึง ธรรมขันธ์ ๕ กองแห่งธรรมะ กลุ่มกองแห่งธรรมะ ๕ กอง ๕ กอง นี่แสดงทั้งเหตุและผลน่ะ แสดงทั้งตอนปฏิบัติและรับผลของการปฏิบัติแล้ว คือ ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ จะเรียกว่าธรรมขันธ์ก็ได้ จะเรียกว่าแก่นสารก็ได้ สีลสาระ มีศีลเป็นแก่นสาร สมาธิสาระ มีสมาธิเป็นแก่นสาร ปัญญาสาระก็มีปัญญาเป็นแก่นสาร มันสูงขึ้นไปก็วิมุตติสาระ มีความหลุดพ้นจากกองทุกข์เป็นแก่นสาร วิมุตติญาณทัสสนะสาระ มีความรู้ว่าเดี๋ยวนี้หลุดพ้นจากความทุกข์แล้วโดยประการทั้งปวงนี้เป็นแก่นสาร (นาทีที่ 01.12.40) นี่เป็นแก่นสารหมด ทั้งหมดน่ะ ทั้งตัวปฏิบัติและผลของการปฏิบัติ และรู้ว่าได้รับผลนี้แล้ว ทีนี้ถ้าจะเรียกเป็นธรรมขันธ์ก็เป็นตัวธรรม ตัวกองแห่งธรรม ก้อนแห่งธรรม สีลขันธ์ สีลขันธ์ สีลขันธ์ก็ตัวศีล ตัวศีล กองศีล เป็นตัวศีล สมาธิขันธ์ก็ตัวสมาธิ กองสมาธิ ปัญญาขันธ์ก็ปัญญา เป็นตัว แล้ววิมุตติขันธ์ วิมุตติขันธ์ก็มีกองวิมุตติ วิมุตติ หลุดพ้นๆ จากกิเลส หลุดพ้นจากความทุกข์ ก็เพราะหลุดพ้นจากอุปาทาน วิมุตติขันธ์ วิมุตติญาณทัสสนขันธ์ในธรรมขันธ์ ก็คือความสบายๆ อยู่เหนือความทุกข์ตลอดชีวิต อยู่เหนือกองทุกข์ทั้งปวง ถ้ามี ๕ กองนี้ก็คือมีหมด มีหมด ในส่วนปฏิบัติก็มีหมด ในส่วนผลของการปฏิบัติก็มีหมด แล้วมันจะเอาอะไรกันอีกล่ะ พอกันทีแล้ว ๕ อย่างเป็นธรรมขันธ์ก็ได้ ธรรมสาระก็ได้ แต่ถ้าไม่เคยเล่าเรียนธรรมะมาอย่างนี้มันก็นึกไม่ถูก มันนึกเอาถึงว่าเราก็มีนิ้ว ๕ นิ้ว แล้วเราก็ไม่แพ้ใคร ทำอะไรได้เหมือนกัน แล้วเราก็มีหัวมีมือมีตีนมีเท้า เราก็เป็นคนแล้วเราก็ต้องเป็นคนให้สำเร็จ เรามีอะไรล่ะ มีขันธ์ ๕ ... (นาทีที่ 01.15.23) ให้สำเร็จประโยชน์ ยังมีอีก เท่านี้ก็พอแล้ว แต่ว่ามันยังมีอีก แต่เท่านี้ก็พอแล้ว มองดูไปตามลำดับอย่างนี้ เลข ๕ ก็จะเป็นประโยชน์แก่บุคคลนั้น นี่ก็จำติดตาไว้ว่า ๕ ๕ เสา ๕ หลัก
ผู้อ่านคำถาม: ขอเรียนถามธรรมะที่อยู่ในบทสวดมนต์ครับ บท บทที่ว่าด้วยพระพุทธคุณที่บอกว่าพระผู้มีพระภาคเจ้า ฟังแล้วไม่เข้าใจว่า พระผู้มีพระภาคเจ้านี้เป็นอย่างไร ภค (นาทีที่ 01.16.09) เพราะไม่มีคำแปลไว้ แล้วก็เป็นพระอรหันต์ พระอรหันต์นี้เป็นอย่างไร ตรัสรู้ชอบโดยพระองค์เอง การตรัสรู้นี้เป็นอย่างไร ๓ อย่างนี้
ท่านพุทธทาส: นี่มันเป็นปัญหาทางภาษา ตามตัวหนังสือ เราก็ไปศึกษาทางภาษา ศึกษาทางหนังสือก็รู้ได้ ไม่ๆๆๆ ไม่ลึกซึ้งหรอก ไม่ๆ ไม่เหลือวิสัยก็รู้ได้ ผู้มีพระภาค คำว่าภาค คือมีคุณธรรมสูงสุด ภาคฺย มีคุณธรรมสูงสุด พระผู้มีพระภาค คำว่าอรหันต์ อรหันต์นี่ อธิบายได้หลายอย่าง เพราะว่าคำนี้มันได้ใช้มาก่อนพุทธกาล เอ่อ ก่อนพุทธกาล ก็ให้อธิบายกันอย่างไรก็ตามใจ ก็ต้องพอใจ ต้องพอใจ ก็หมายความว่ามันหมดปัญหา หมดความทุกข์น่ะ เพราะว่าดับกิเลสได้ ดับความชั่วร้ายได้อะไรได้ แต่ผมอยากจะถือเอาตามตัวหนังสือแท้ๆ นะ ดีมากตัวหนังสือของคำนี้ ดีแท้ๆ อ กับ รห อ กับ รห อ ก็ไม่ รห ก็ลับ ความลับ อรห ก็แปลว่าไม่มีความลับเหลืออยู่อีกต่อไป ไม่มีความโง่เหลืออยู่อีกต่อไป สิ่งที่ควรรู้แล้วไม่รู้ ไม่มีเหลือแล้ว ไม่มีอะไรเหลืออยู่เป็นความลับ สำหรับจะเป็นปัญหา เหลืออยู่เป็นความลับในการที่จะดับทุกข์ แล้วดับไม่ได้ เพราะมันยังมีสิ่งที่ไม่รู้เหลืออยู่ ก็เลยต้องแปลตรงๆ ว่าผู้ที่ไม่มีความลับอะไรเหลืออยู่ให้เป็นปัญหา เพราะความลับน่ะเป็นของมืด มืดๆ ไม่รู้ว่าอะไร แล้วเป็นปัญหาทำอะไรไม่ถูก ทำไปผิดๆ ก็เกิดทุกข์ เรียกว่าสิ่งนี้ยังเป็นความลับเหลืออยู่ ถ้าสิ่งเหล่านี้หมดไปโดยสิ้นเชิงก็เรียกว่าเป็นผู้ไม่มีความลับเหลืออยู่ รวมทั้งความสะอาด ความอะไรไม่ ก็ถึงที่สุด ไม่มีความสกปรกเหลืออยู่ น่าไหว้ น่าบูชาอย่างยิ่ง ทีนี้ สัมมาสัมพุทธนี่ ก็ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง ความหมายตรงกันมีอยู่ ๒ คำ คือ ชอบ ความรู้ถูกต้อง ตรัสรู้ถูกต้อง แล้วก็เอง เอง ด้วยตนเอง ชอบนี่ไม่อธิบายกันแล้ว ถ้ามันดับทุกข์ได้ คือ ชอบหรือถูกต้อง เป็นสัมมา สัมมา สัมมาหรือ... (นาทีที่ 01.19.27) ที่เรียกว่าชอบ ที่เรียกว่าเองนี่ อธิบายกันอย่างไร ใครมันรู้แทนกันได้บ้างล่ะ ใครมันเป็นทุกข์แทนกันได้ที่ไหนล่ะ ใครมันดับทุกข์แทนกันได้ที่ไหน ก็ต้องเองทั้งนั้นแหละ จัดให้รู้ขึ้นมาด้วยตนเองตามลำดับ คิดเสียว่าเอง เอง คือว่าไม่ได้อาศัยความรู้ของผู้อื่น คือไม่เอาของผู้อื่นมา ก็เรียกว่าเอง แต่ที่ว่าจะไม่ศึกษาจากผู้อื่นเลยเห็นจะเป็นไปไม่ได้ เพราะว่าพระพุทธเจ้าออกบวชแล้วก็เที่ยวศึกษาจนหมดครูบาอาจารย์ที่ว่าดีที่ว่าเลิศในสมัยนั้น ท่านเที่ยวศึกษา แต่แล้วที่ว่าท่านมาประมวลเอาเอง คัดเลือกเอาเอง สรุปความเอาเอง อะไรเอง ซึ่งไม่เหมือนกับที่เขาสอน เขาสอนให้ แล้วถึงที่สุด ดับทุกข์ได้ถึงที่สุดนี่ เรียกว่าตรัสรู้เอง แต่ว่าเอง เองนี่มันมีความหมายว่า ทำเอง ด้วยตนเอง ในตนเอง เพื่อตนเอง เองๆๆๆ เป็นความจริงที่ว่ามันแทนกันไม่ได้ เพราะความทุกข์อยู่ที่ใครคนนั้นมันต้องดับเอง ทีนี้ความดับทุกข์มันก็ต้องดับเอง ความทุกข์ก็ทุกข์เอง พระพุทธเจ้าได้ศึกษาถึงที่สุด จนรู้เองถึงสิ่งที่ยังไม่เคยรู้ ที่ใครยังไม่เคยรู้ ที่ยังไม่มีใครรู้ รู้กันมา ก็เรียกว่าด้วยพระองค์เอง เราควรจะถือเอาตัวอย่างในข้อที่ว่า พยายามช่วยตนเอง ถ้าเราไม่ช่วยตนเองแล้ว พระพุทธเจ้าก็ช่วยเราไม่ได้ ดังนั้น จงพยายาม พยายามช่วยตนเอง แล้วมันก็ง่ายที่พระพุทธเจ้าจะช่วยเหลือเรา คือคำสั่งสอน แนะนำมากมายมหาศาลของพระพุทธเจ้าที่มีอยู่ในพระไตรปิฎกนั้นมันมีไว้สำหรับช่วยตัวเอง เรียนเอง ศึกษาเอง เห็นเอง ปฏิบัติเอง ได้รับผลเอง เรียกว่าเอง เอง เราควรจะเอาความหมายข้อนี้เป็นหลัก เป็นตัวอย่าง ว่าพระพุทธเจ้าท่านช่วยตัวเองได้อย่างไร เราก็จะอาศัยวิธีของท่านที่สอนให้ มาช่วยตัวเองอย่างนั้นด้วย ก็จะเป็นสาวกที่ดีของพระพุทธเจ้าในความหมายว่า ช่วยตนเอง ช่วยตนเอง ไม่คิดไปในทาง อะไรล่ะ ว่าเราไม่นั่นกับใคร แปลว่าเราช่วยตนเอง เราไม่จองหองในการที่จะช่วยตนเอง เพราะเราต้องคลำไปตามทางที่ผู้อื่นได้ทำไว้แล้ว ทางที่เขาเดินกัน เดินกัน ขึ้นไปดับทุกข์ได้ทั้งนั้น เราก็เดินไปตามทางนั้นด้วยตนเอง อย่างนี้ก็เรียกว่าทำตามพระพุทธเจ้า มีพระผู้มีพระภาค คือ มีความประเสริฐสูงสุด ประเสริฐอะไรที่มันจะเป็นความประเสริฐสูงสุดก็มีอำนาจ แล้วก็ไม่มีอะไรที่ดีไปกว่าความดับทุกข์ได้สิ้นเชิง หมดปัญหา อรหันต์ ไม่มีอะไรเหลืออยู่สิ่งที่ไม่รู้ในการดับทุกข์ ไม่มีอะไรเหลืออยู่ที่ยังไม่รู้ นี่เป็นพระอรหันต์ แล้วก็รู้ชอบ รู้ถึงที่สุดได้ด้วยตนเอง ตามพระพุทธเจ้าไปโดยอาศัยการชี้ทางของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสว่า ตุมฺเหหิ กิจฺจํ อาตปฺปํ (นาทีที่ 01.24.35) ความเพียรหรือกิจ หรือหน้าที่นี้ท่านทั้งหลายต้องทำเอง อกฺขาตาโร ตถาคตา (นาทีที่ 01.24.47) พระตถาคตเจ้าทั้งหลายเป็นแต่ผู้บอก คือบอกหนทาง ชี้หนทางเท่านั้น คือทำแทนไม่ได้ เดินแทนไม่ได้ ได้แต่เป็นผู้บอก บอกว่าเดินอย่างไร ไปทางไหน เราก็ทำตามพระพุทธเจ้าด้วยการเดินไปตามทางที่พระพุทธเจ้าแนะให้ สอนให้ หรือที่มีใครเป็นตัวอย่างเดินๆ กันมาแล้ว แล้วก็ด้วยตนเอง ในบทว่าเป็นที่พึ่งแก่ตนเอง แม้ว่าตนเองมันจะเป็นอนัตตา ก็เอาอนัตตานั่นแหละแก้ลำมัน รู้ความเป็นอนัตตา แล้วก็ดับทุกข์เอง ถ้าตัวความทุกข์เป็นอนัตตา ความดับทุกข์มันก็เป็นอนัตตา อนัตตามันก็แก้ปัญหาของอนัตตา
ผู้อ่านคำถาม: มีบางท่านกล่าวว่า สตินี่เป็นเมล็ดพันธุ์ของการตรัสรู้ คือว่าจะงอกงามไปสู่การตรัสรู้ได้ ความข้อนี้ถูกต้องหรือไม่
ท่านพุทธทาส: ไม่ถูก เมล็ดพืชของการตรัสรู้นั้นต้องเป็นปัญญา สติเป็นอุปกรณ์ของปัญญาที่ใช้ปัญญา เป็นการใช้ปัญญา เป็นการนำปัญญามาใช้ เมล็ดพืชที่จะเป็นความรู้แจ้งแทงตลอดยิ่งๆ ขึ้นไปนั่นแหละ ก็เป็นปัญญาในขั้นต้น ปัญญาในขั้นต้น คือรู้ความจริงว่าเป็นอย่างไร แล้วความรู้ขั้นต่อไปก็คือปฏิบัติ ปฏิบัติ ปฏิบัติ ความรู้ที่เป็นเมล็ดพืชแท้ๆ เมล็ดพืชแท้ๆ นี่จะเป็นเรื่องเพียงสัญชาตญาณก็ได้ คือเป็นความรู้ก็แล้วกัน ความรู้จะเบ่งบานงอกงามเป็นความรู้ถึงที่สุด ฉะนั้นธรรมชาติแห่งความรู้ที่มีอยู่เป็นทาส ทาสชนิดหนึ่งเรียกว่า ...ทาสแห่งความรู้ เป็นวิญญาณทาส เป็นโพธิทาส (นาทีที่ 01.27.15) อะไรก็ตาม มันเป็นทาสแห่งความรู้ ไปตั้งต้นที่ตรงนั้น เป็นเมล็ดพืช เอามาเพาะ ปลูก แล้วมันงอกงาม งอกงาม เป็นต้นขึ้นไป ธรรมะนอกนั้น ธรรมะทั้งหลายเป็นอุปกรณ์ของการทำให้ปัญญา เมล็ดพืชงอกงามไปจนถึงเป็นปัญญา ที่เป็นดอก เป็นผล เป็นนิพพาน เพราะว่าต้นไม้ต้นนี้เป็นต้นไม้แห่งปัญญา พืชของมันก็เป็นปัญญา สติเป็นเพียงเครื่องหล่อเลี้ยง รักษา หรือจัดการให้ทันแก่เวลา อย่าให้ต้นไม้ตายเสีย
ผู้อ่านคำถาม: กระผมขอเรียนถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับพระผู้มีพระภาค บางท่านแปลว่าผู้จำแนกแจกธรรม คือ แสดงถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระศาสดา ในความหมายอย่างนี้ใช้ได้หรือไม่
ท่านพุทธทาส: ตัวหนังสือคำนี้มันแปลได้ ภาษาบาลีรากศัพท์บางทีก็พ้องกัน เลยทำให้แปลได้หลายอย่าง ... นี่แปลว่า แจก แจก ... ก็แปลว่า ผู้แจก ถ้าเป็น ภค ภค มันแปลว่าความประเสริฐ ความดี ความงาม (นาทีที่ 01.28.36) มันต้องมาก่อนน่ะ ก็ต้องมีความรู้ที่เป็นความดี ความงาม ความประเสริฐ มาก่อน แล้วจึงมีการแจก ถ้าไม่มีความรู้ ความดี ความงาม ความประเสริฐแล้วล่ะก็ไม่รู้จะแจกอะไร แต่เอาล่ะ เราจะถือเอาความหมายไหนก็ได้ มันไม่มีโทษ มันไม่มีโทษ ถือเอาความดี ความงามก็จะได้เคารพนับถือพระองค์ ถือเอาการแจกเป็นหลักก็จะได้ขอบพระคุณพระพุทธองค์ กตัญญูกตเวทีต่อพระองค์ก็ได้เหมือนกัน ตัวหนังสือมันแปลได้หลายอย่าง บางทีมากกว่านี้อีก มากกว่า ๒ คำ แต่ก็ใช้เป็นคำเรียก บุคคลผู้ประเสริฐสูงสุดมาตั้งแต่ก่อนพุทธกาลโน่น ผู้เป็นประเสริฐสูงสุดเหนือบุคคลทั้งหลายก็เรียกว่าภควา ภควา
ผู้อ่านคำถาม: คือที่เรียนถามนี่ เพื่อให้เห็นว่าความแตกต่างของพระผู้มีพระภาคในความหมายของชาวพุทธนี้ ไม่ใช่พระผู้แบ่งภาคมาเกิด อย่างเช่นพระเยซูแบ่งภาคมาเกิดจากพระบิดา พระจิต สำหรับมาเป็นพระบุตร หรือไม่ใช่พระนารายณ์อวตารมาเกิดเป็นพุทธาวตาร ไม่ได้แบ่งภาคอย่างนั้นใช่ไหมครับ คือมีบางคนเข้าใจว่าเป็นการแบ่งภาคแบบนั้น ถึงได้เรียกพระผู้มีพระภาคเจ้า กระผมมาเรียนถามเพื่อให้กระจ่างขึ้น เพราะว่ามีชาวพุทธ...
ท่านพุทธทาส: ในเรื่องแบ่งภาคหรืออวตารมาเกิดนั้น ถ้าจะอธิบาย หาแง่อธิบายมันก็มีทางเหมือนกัน แบ่งภาคมาจากธรรมธาตุ หรือธาตุแห่งความเป็นพุทธซึ่งมีอยู่ตามธรรมชาติ แล้วก็มา ออกมาเป็นพระพุทธเจ้าหลายๆ ชั้น แต่คำอธิบายอย่างนี้ไม่ใช่ ไม่ใช่ของเถรวาท เป็นของฝ่ายมหายาน ก็มีอาทิพุทธ อาทิพุทธนี่ทำให้เกิดพุทธอีกหลายๆ ชั้น หลายๆ ตอนออกมา เป็นธยานิพุทธ เป็นมานุษีพุทธ แต่ถ้าเราอยากจะรับเอาคำอธิบายนี้ก็ได้นะ ก็ได้ ไม่ใช่จะไม่ได้ มันมี...ธาตุแห่งพุทธเป็นต้นตออยู่ (นาทีที่ 01.31.36) แล้วก็แบ่ง แบ่งตัวออกมาเป็นธรรม ธรรมธาตุ ธรรมธาตุ ...เป็นพระพุทธเจ้า (นาทีที่ 01.31.46) แล้วก็จะมาสำเร็จประโยชน์ได้ก็ต่อเมื่อมามีบุคคล บุคคลผู้มีธรรมธาตุ เผยแผ่ธรรมธาตุ สั่งสอนธรรมธาตุ ก็มีพระพุทธเจ้าอย่างบุคคล แล้วสิทธัตถะที่เราเรียนประวัติน่ะ ก็เป็นพระพุทธเจ้าอย่างบุคคล ซึ่งเรายอมรับว่าเป็นพระพุทธเจ้าแท้จริง แต่มันเป็นอย่างบุคคล เพราะพระองค์ทรงตรัสไว้ว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นเห็นธรรม ผู้ใดไม่เห็นธรรม ผู้นั้นไม่เห็นเรา ไม่ใช่จับ ถือตัวไว้ ก็ไม่ใช่ว่าเห็นเรา ในกรณีนี้ ธรรมธาตุ ธรรมธาตุน่ะเป็นองค์พระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นต้นกำเนิดตลอดกาลนิรันดร เป็นธาตุแห่งพุทธ ออกมาเป็นส่วนองค์ๆๆๆ แต่ละองค์ ทีนี้พระพุทธเจ้าอย่างบุคคลก็คือผู้รู้สิ่งเหล่านี้ รู้สิ่งเหล่านี้แล้วก็สอนให้รู้ ตามท่านไปรู้พระพุทธ พระพุทธเจ้า พระองค์ที่เป็นธรรมะ เพราะฉะนั้น อย่าทิ้งหลักที่ว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา พระพุทธเจ้าตรัสไว้เอง ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นเห็นธรรม ข้อนี้ตอนสำคัญ เรายังอาจจะเห็นพระพุทธเจ้าองค์จริงได้อยู่ เมื่อเห็นปฏิจจสมุปบาท เห็นปฏิจจสมุปบาทนั่นคือเห็นทางที่จะดับทุกข์ เห็นการดับทุกข์ เห็นวิธีดับทุกข์ จนดับทุกข์ได้ นี่เรียกว่าเห็นปฏิจจสมุปบาท โดยสรุปแล้ว สรุปว่าความทุกข์อาศัยเหตุปัจจัยอะไรเกิดขึ้น ความทุกข์อาศัยเหตุปัจจัยอะไรดับลง ถ้าเห็นทั้งเกิดและดับลงมันก็สามารถที่จะดับลง จึงพูดสรุปเสียทีเดียวว่าเห็นวิธีทางที่จะดับทุกข์ได้นั่นแหละ คือเห็นพระพุทธเจ้า นี่เห็นพระพุทธเจ้าคือเห็นธรรม ธรรมที่แบ่งตัวมาจากธรรมธาตุตามธรรมชาติ แต่ทีนี้มันเป็นบุคคล ไม่ใช่บุคคล เป็นสัตว์ไม่ใช่บุคคล จะเรียกว่าอวตารมาก็ไม่ถูก ถ้าจะเรียกว่าแบ่งภาคมา ก็เรียกว่าแบ่งภาคมาอย่างมิใช่บุคคล มันผิดกันมาก มันตรงกันข้ามกับลัทธิอื่นที่เขาสอนกันว่าอวตารมาจากพระเป็นเจ้าสูงสุด จะเรียกว่าสูงสุด ธรรมธาตุนี่สูงสุด บันดาลให้เกิดเป็นภาพเป็นธรรมะเป็นบุคคล เกิดเป็นอะไรขึ้นมา แล้วเราก็ได้อาศัยพระพุทธเจ้าองค์บุคคล คือพระสิทธัตถะนั่นแหละ เราจึงได้รู้จักพระพุทธเจ้าองค์ที่ลึกเข้าไป คือธรรมะ พระองค์ธรรม พระพุทธเจ้าพระองค์ธรรมน่ะ ทำให้เราเห็นได้โดยพระองค์คนสอนเรา แต่เราไม่ถือว่าอวตาร อวเตินอะไร จะมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้อง จนทำให้หลงไปว่าเป็นอวตารเป็นอะไรไปหมด เรื่องนี้พระพุทธเจ้าพระองค์คนก็นิพพานไปแล้ว เหลืออยู่แต่พระองค์แทน พระองค์แทน เป็นพระธาตุ พระสารีริกธาตุก็เรียกว่าพระองค์แทน เรียกเป็นพระพุทธรูป เป็นพระพุทธรูป รูปปั้น รูปเขียนอะไรขึ้นมาก็เรียกว่าพระองค์แทน แล้วเราเห็นพระพุทธรูปเป็นทะลุพระพุทธรูป พอเห็นพระพุทธเจ้าพระองค์บุคคล คือพระพุทธเจ้าสิทธัตถะโคตมะ พระพุทธเจ้าพระองค์บุคคล แล้วก็ทะลุพระพุทธเจ้าพระองค์บุคคลอีกทีจนถึงพระองค์ธรรม พระองค์ธรรม แล้วก็ทะลุพระองค์ธรรมไปจนถึงพระธาตุ พระองค์ธาตุตามธรรมชาติ มีได้อย่างนี้ อาการอย่างนี้จะเรียกว่าอวตารหรือแบ่งภาคได้หรือไม่ก็ตามใจ เพราะถ้าไปพูดเรื่องแบ่งภาค อวตารมันเป็นเรื่องบุคคล บุคคล บุคคลเป็นอัตตาอะไรไปเสีย ไม่ใช่เป็นธาตุตามธรรมชาติ แต่ว่าแม้แต่จะเป็นธาตุตามธรรมชาตินั้นก็ยังมีการสืบต่อๆๆๆๆ กันมาอย่างนี้ อธิบายให้เป็นเหมือนกับว่าแบ่งภาคมาก็ได้ เพื่อให้มันเป็นภาษาคน ปฏิเสธไปเลยก็ได้ว่ามันไม่ได้แบ่งภาคอะไรมา มันเป็นการสัมพันธ์กันเท่านั้นเอง แต่ว่าเราเสียเปรียบนะ อธิบายอย่างตรงมีบุคคลแบ่งภาคกันมานั้นได้เปรียบ บุค...เอ่อ ผู้ฟังนั้นรับได้ง่ายโดยเฉพาะเด็กๆ สอนเรื่องอนัตตานี่ยาก และเสียเปรียบกว่าสอนเรื่องอัตตา ดังนั้น ศาสนาที่มีพระศาสดาอย่างเป็นบุคคลๆ แบ่งภาคมาจากพระเป็นเจ้าตัวสุด องค์สุด ได้เปรียบกว่า เขาสอนให้คนชอบใจได้ง่ายกว่า ถืออย่างบุคคลอย่างนี้มาตลอดเวลา จนกว่าจะเกิดพระพุทธเจ้าสอนปฏิเสธอัตตา หรือบุคคล เป็นเพียงธรรมชาติ ธรรมชาติ กฎของธรรมชาติ หน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ งั้นขอให้พิจารณาเอาเองว่าจะใช้คำว่าแบ่งภาคหรืออวตารได้หรือไม่ ถ้าจำเป็น ใช้สำหรับสอนเด็กก็เห็นว่าได้ แต่ถ้าสอนผู้ใหญ่ที่มีสติปัญญาแล้วไม่ต้องใช้คำนี้
ผู้อ่านคำถาม: ขอเรียนถามเกี่ยวกับพระอรหันต์ที่ว่า พระอรหันต์คือผู้ที่สิ้นภพ สิ้นชาตินั้น ไม่เวียนว่ายตายเกิดอีกนั้น โดย โดย หมายความอย่างไรครับ โดยย่อๆ หมายความไม่ไปเกิดอีก หรือว่าเป็นเพราะท่านไม่มีตัวตนปัจจุบันเท่านั้น
ท่านพุทธทาส: ข้อนี้ต้องรู้ ต้องรู้ความจริงซึ่งยังไม่รู้ ซึ่งยังโง่อยู่นั่นแหละ ไอ้เรื่องภพ เรื่องชาติ เรื่องเกิดนี่ ภพหรือชาตินี่เขาสอนกันอยู่ก่อนพระพุทธเจ้าน่ะ ว่าเกิดมาจากท้องแม่ แล้วก็อยู่มาตลอดเวลาจนเข้าโลง ตายเข้าโลง แล้วไปเกิดอีก ไปเข้าท้องแม่อีก แล้วเกิดจากท้องแม่อีก แล้วตายไปเข้าโลง เข้าท้องแม่ เกิดจากท้องแม่ นั่นแหละภพหรือชาติที่เขาสอนกันอยู่ก่อนพระพุทธเจ้า ดังนั้น คนคนหนึ่งเกิดทีหนึ่งก็ตายทีหนึ่ง นี่แหละภพหรือชาติตามที่เขาสอนกันอยู่ก่อนพระพุทธเจ้า เป็นเรื่องของร่างกาย เอาร่างกาย วัตถุนี่เป็นหลัก พอพระพุทธเจ้าท่านเกิดอย่างนั้นมันเด็กเล่น เด็กเล่น มันต้องเป็นเกิดทางจิตใจ ว่าตัวกู ว่าตัวกูก่อนจึงจะสมบูรณ์ แม้จะเกิดมาจากท้องแม่แล้ว ถ้ายังไม่มีความรู้สึกว่าตัวกู ยังไม่เกิดโดยสมบูรณ์ ดังนั้น ท่านจึงสอนให้เป็นทางจิตใจล้วนๆ เกิดความโง่เขลา ด้วยอวิชชา ว่าตัวกู ตัวกู ครั้งหนึ่งก็เรียกว่าชาติหนึ่งล่ะ ก็เกิดในกระแสแห่งความคิดที่มีอยู่ในชีวิตประจำวัน คือมีอายตนะ แล้วก็มีผัสสะะ แล้วก็มีเวทนา มีตัณหา มีอุปาทานนั่น อุปาทานว่าตัวกูทีไรก็มีภพ มีชาติทีหนึ่งล่ะ ฉะนั้น วันหนึ่งเรามีอุปาทานว่าตัวกูร้อยครั้ง มันก็เกิดร้อยครั้งในวันเดียวล่ะ มีภพมีชาติร้อยครั้ง นี่ ชาติหรือภพในปฏิจจสมุปบาทสอนอย่างนี้ ไม่เกี่ยวเข้าโลง ไม่เกี่ยวกับท้องแม่อะไร ออกมาจากท้องแม่แล้ว ค่อยๆ รู้จักเกิดตัวกู เกิดตัวกู เกิดตัวกูบ่อยเข้า อยากจะเกิดน้อยหน่อย โตขึ้นก็เกิดมากหน่อย โตเต็มที่ก็เกิดได้มาก วันหนึ่งไม่รู้กี่สิบครั้งกี่ร้อยครั้ง ชาติหรือภพอย่างนี้ล่ะเป็นความทุกข์ที่เราจะต้องดับอย่าให้มันเกิด คืออย่าให้มันเกิดอวิชชา เมื่อไม่เกิดอวิชชาแล้วก็ไม่เกิดภพ เกิดชาติ นี่ล่ะ แล้วก็เป็นพระอรหันต์ก่อน ก่อนดับขันธ์ ก่อนร่างกายตาย สิ้นภพสิ้นชาติก่อนร่างกายตายแล้วไม่ต้องเข้าโลงด้วย นี่แหละสิ้นภพสิ้นชาติโดยไม่ต้องตายไม่ต้องเข้าโลงด้วย เป็นพระอรหันต์สิ้นกิเลส ไม่มีความ ไม่มียึดถือว่าตัวกู ของกู นี่ภพชาตินี้ แบบนี้ของพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าท่านสอนอย่างนี้ ภพชาติแต่ก่อนมันโง่ มันรู้แค่เพียงร่างกายเท่านั้น แล้วที่พูดตามภาษาธรรมดาว่าเกิดทีหนึ่ง เกิดจากท้องแม่ อยู่ ๙๐ ปี ๑๐๐ ปีก็ตาย ตายเข้าโลง เข้าท้องแม่เกิดใหม่นั้นน่ะ กว่าจะได้สักชาติหนึ่งก็กินเวลากี่ ๑๐ ปีหรือเป็น ๑๐๐ ปีปัญหาไม่มี ก็ความทุกข์นี่มันเกิดจากความรู้สึกว่า ตัวกู ตัวกู ตัวกู เกิดตัวกูครั้งหนึ่งเรียกว่าชาติหนึ่ง เกิดตัวกูทุกทีเป็นทุกๆ ที เราเป็นพุทธบริษัท เราจงรู้จักภพ รู้จักชาติ รู้จักการเวียนเกิด เวียนเกิดอย่างนี้ วันหนึ่งเวียนเกิดได้ตั้งหลายสิบหน ก็อย่าให้มันเกิด เพราะถ้าเกิดมันเป็นทุกข์ จึงสอนให้มีชีวิตอยู่โดยไม่ต้องมีตัวกู ไปทำวิปัสสนา เห็นว่าไม่มีตัวกู มีชีวิตอยู่โดยไม่ต้องมีตัวกู มีแต่นามรูป เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ป้องกันแก้ไขอย่าให้เกิดความทุกข์ อย่าให้เกิดตัวกูก็ไม่เกิดความทุกข์ ถ้าเกิดตัวกูก็เกิดความทุกข์ เป็นศิลปะที่สูงสุด สวยงามที่สุด แต่ก็ว่าปฏิบัติยากที่สุด ปฏิบัติยากที่สุดที่จะไม่ให้เกิดตัวกู ถ้าเป็นความโง่สมบัติเดิมมาตั้งแต่ทีแรก มีตัวกู ตัวกู เรื่อยมาตั้งแต่ท้องแม่ จนมีความเคยชินเป็นนิสัยที่จะเกิดตัวกู เกิดตัวกู นี่แยกกันให้ดีๆ ว่าเรื่องภพ เรื่องชาติ เรื่องเกิดใหม่ เรื่องนี้ในทางพุทธศาสนาสอนอย่างไร ศาสนาอื่นที่เขาสอนกันอยู่ก่อนโน่นสอนอย่างไร แล้วเราได้รับเอามาเข้าใจผิดว่าพุทธศาสนาก็สอนอย่างนั้น ข้อนี้เพราะเหตุว่าลัทธินั้นเขามาสอนให้มนุษย์แถวนี้ก่อนพุทธศาสนา เข้ามาสอนเรื่องตัวกู ตัวกูให้เกิดอย่างนั้นน่ะก่อนพุทธศาสนามาถึง พุทธศาสนามาทีหลังแล้วสอนยากกว่า ดีกว่า ลึกกว่าก็สอนยาก แล้วก็คนที่ไม่ฉลาดก็เอามาปนกันยุ่งไปหมด เอาคำสอนอย่างพวกมีตัวตนมาปนกับคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ไม่มีตัวตน เลยไม่รู้ว่าจะเกิด แก่ หรือตาย หรือเกิดใหม่กันอย่างไร นี่คือปัญหา ศึกษาให้เข้าใจว่า เกิด ตาย เกิดใหม่นั้นในพุทธศาสนาสอนอย่างไร ในพวกโน่นของฮินดูของพราหมณ์ก่อนพุทธนั้นเขาสอนอย่างไร แล้วความจริงอยู่ที่ไหน ความทุกข์อยู่ที่ไหน ดับทุกข์อยู่ที่ไหน ขอให้ดับทุกข์ให้ได้เพราะเกิดตัวกูทุกที เป็นทุกๆ ที เกิดตัวกูวันละสิบครั้งก็เป็นทุกข์สิบครั้ง เกิดร้อยครั้งก็เป็นทุกข์ร้อยครั้ง ฉะนั้นอย่าให้ความโง่เกิดอุปาทานว่าตัวกู ของกู เขาเรียกว่าไม่มีชาติ มันไม่มีภพแล้วมันก็ไม่มีชาติ ไม่มีชาติมันก็ไม่มีภพ เรื่องมันก็เท่านั้นเอง สรุปความว่า เรื่องเกิด เรื่องตาย เรื่องเกิดใหม่ในพุทธศาสนาสอนไว้อย่างหนึ่ง นอกพุทธศาสนาสอนอีกอย่างหนึ่ง ให้ดูว่าอย่างไหนมันจะดับทุกข์ได้ก็ถือเอาอย่างนั้นก็แล้วกัน นี่ปัญหาเรื่องเกิด เรื่องตาย และเรื่องเกิดใหม่
ผู้อ่านคำถาม: มีคำถามสุดท้ายครับ อันนี้ตอนท้ายของการสวดมนต์หรือทำบุญนี้จะต้องมีการ ทำไมต้องมีการอุทิศส่วนบุญให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว จะมีการได้รับจริงหรือเปล่า
ท่านพุทธทาส: มันเป็นเรื่องทำตามธรรมเนียม ตามธรรมเนียมเป็นเรื่องปลอบโยน ให้คนโง่มันหายเป็นทุกข์เพราะความรักในบุคคลที่ตายไปแล้ว เขาก็สอนกันอยู่ตอนพุทธกาล ทำบุญอุทิศให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว วิธีนี้สอนกันอยู่ก่อนพุทธกาล จะได้รับหรือไม่ได้รับก็ตามใจ แต่มันทำให้คนโง่สบายใจ มีความกตัญญูกตเวที เกิดขึ้นเป็นนิสัยเพื่อจะสร้างความดีต่อไป เรื่องได้รับหรือไม่ได้รับไม่มีใครรับประกัน แต่เขาสอนกันไว้ว่า ให้ได้รับ ถ้าว่าผู้ตายตายไปแล้วรู้ และอนุโมทนาด้วยก็ได้รับ พูดเอาเปรียบว่าผู้ที่ตายไปแล้วรู้และอนุโมทนาด้วยก็ได้รับ ถ้ามันมีอยู่อย่างนั้นจริงก็ได้รับ แต่ไม่มีใครพิสูจน์ แต่ที่มันแน่นอนว่าลูกหลานที่อยู่ข้างหลังนี่สบายใจ สบายใจ รักผู้ที่ตายไปแล้วอย่างจะขาดใจแต่ยังพอสบายใจได้ แล้วสร้างนิสัยกตัญญูกตเวทีที่จะอยู่กันในโลกนี้อย่างผาสุกต่อไปอีก มันก็ดี การบำเพ็ญบุญกุศลอุทิศแก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วนี่มันเกิดก่อนพุทธกาลนาน... พุทธศาสนาเกิดขึ้นก็ไม่ได้ยกเลิก (นาทีที่ 01.47.39) ก็ให้ทำเพื่อว่าไม่ต้องเป็นทุกข์เพราะผู้ที่ตายไป แล้วก็สร้างนิสัยกตัญญูกตเวทีสำหรับจะทำความดีต่อไป บูชาคุณของผู้ที่ตายไปแล้ว มันก็เป็นประโยชน์แก่ผู้ยังอยู่และแก่โลกทั้งโลก แก่โลกทั้งโลก ถ้ายังเคารพบูชาคุณของผู้ที่ตายไปแล้วมันก็ไม่ทำความชั่ว โลกนี้ก็มีสันติภาพ มีความสงบสุข ... (นาทีที่ 01.48.23)
ผู้อ่านคำถาม: ในท้ายที่สุดของการฟังธรรมนี้ อยากจะขอคำแนะนำสุดท้ายของท่านเจ้าคุณอาจารย์ พุทธพจน์หรือบทสวดมนต์ที่ควรจะไปทำไว้ในใจตลอดเวลานั้นคืออะไร หรือว่ามีข้อธรรมะอะไรที่จะฝากไว้กับผู้ปฏิบัติธรรมตลอดไปเมื่อกลับไปแล้ว
ท่านพุทธทาส: หลักธรรมะที่ควรทำไว้ในใจตลอดเวลา ก็คือว่า สิ่งทั้งปวงอันใครๆ ไม่ควรเข้าไปยึดมั่นว่าตัวตน ว่าของตน คืออย่าไปอุปาทานในสิ่งใดว่าเป็นตัวตน เป็นของตน มีสติสัมปชัญญะ มีปัญญาอยู่เสมอไม่ไปยึดมั่นสิ่งใดว่าเป็นตัวตน ว่าเป็นของตน ทีนี้สิ่งที่ควรทำในใจอยู่เสมอคือ ความรู้แจ้ง รู้แจ้งๆ ว่าไม่มีอะไรที่ควรยึดมั่นว่าเป็นตัวตน ว่าเป็นของตน ก็ไม่เกิดกิเลส ไม่เกิดความทุกข์ เรื่องอนัตตาเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา เอาเรื่องอนัตตาไม่ใช่ตน ไม่ใช่ตนน่ะมายึดถือไว้เป็นหลักก็ไม่เกิดความทุกข์ได้โดยประการทั้งปวง คำว่าอนัตตาจะเรียกชื่อว่าเป็นสุญญตาก็ได้ ... (นาทีที่ 01.49.40) ก็ได้ อย่างอื่นก็ได้ แต่ให้มันได้ความหมายที่ว่า มันไม่มีสิ่งใดที่ยึดถือว่าเป็นตัวตน สัพเพ ธัมมา นาลัง อะภินิเวสายะ ธรรมทั้งปวงคือสิ่งทั้งปวงอันบุคคลไม่ควรเข้าไปยึดมั่นถือมั่นว่าตัวตน อย่างนี้ก็ได้ หรือไม่งั้นสั้นกว่านั้นก็ สัพเพ ธัมมา อนัตตา สิ่งทั้งปวงเป็นอนัตตา อย่างนี้ก็ได้ มีความแจ่มแจ้ง แน่ใจ ชัดเจนอยู่เสมอว่าสิ่งทั้งปวงเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตน ที่มีธรรมะ มีธรรมะปรากฏอยู่ ก็อยู่ในผู้ที่เห็นธรรมะ แล้วเห็นพระพุทธเจ้า เห็นอนัตตาความทุกข์ก็เกิดไม่ได้ ก็เห็นปฏิจจสมุปบาทในแง่ที่มีประโยชน์ที่สุด เกิดความทุกข์ไม่ได้ งั้นมีสติ สติ สติ สติอย่าให้มีตัวตน ดังนั้นจึงบอกว่า แม้แต่เดินมานี่ก็เดินแบบไม่ต้องมีตัวผู้เดิน มาศึกษาก็ไม่ต้องมีตัวผู้ศึกษา ไม่มีตัวตนผู้ศึกษาแต่มีนามรูป คือกายกับใจศึกษา ศึกษา แล้วปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ แล้วไปปฏิบัติที่บ้าน แม้แต่กินข้าวก็อย่าว่ากูกินข้าวเลย เพราะนามรูปมันกินอาหารตามธรรมชาติของนามรูป จะกินน้ำหรือว่าจะทำอะไรทุกอย่างก็อย่าให้ตัวกูเป็นผู้ทำเลย ให้มีนามรูปคือกายกับใจ ใจมีสติปัญญาบังคับบัญชากาย ให้ทำไปตามสติปัญญา ในทางกายก็มีระบบประสาทรู้สึกรับอะไรได้โดยไม่ต้องมีตัวตน ไม่มีตัวตน ก็ดับทุกข์ได้ ความทุกข์ก็ไม่ใช่ตัวตน แล้วความดับทุกข์มันก็ต้องไม่ใช่ตัวตน ในเมื่อทุกข์มันไม่ใช่ตัวตน ก็ดับไฟแห่งสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตน เหมาหมดเลยไม่มีอะไรที่ควรจะถือไว้เป็นตัวตน สิ่งทั้งปวงมิใช่ตัวตน มิใช่ตัวตน อย่างตัวเรานี่ก็ไม่ใช่ตัวเราที่แท้จริง เป็นตัวเราที่ความโง่ทำให้เข้าใจว่าตัวเรา หมดความโง่นี้เสียตัวเราก็ไม่มีอีกต่อไป ความทุกข์ก็ไม่มีอีกต่อไป เรื่องก็จบโดยสมบูรณ์
ผู้อ่านคำถาม: ขอกราบขอบพระเดชพระคุณพระอาจารย์ครับ
ท่านพุทธทาส: ตั้งใจฟังดีๆ เถอะ ไม่เท่าไหร่ก็รู้ ตั้งใจฟังดีๆ ไม่เท่าไรจะรู้เพียงพอแก่การดับทุกข์ ขออนุโมทนา ขอแสดงความหวังว่าท่านทั้งหลายคราวหน้าในการศึกษาธรรมะ ใช้ธรรมะให้เป็นประโยชน์ ควบคุมชีวิตนี้ไม่ให้มีความทุกข์ ไม่ให้มีความทุกข์ เจริญไปในทางของพระนิพพานคือดับทุกข์อยู่ทุกทิพาราตรีกาลเทอญ
ผู้ปฏิบัติธรรม: สาธุ