แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านสาธุชน ผู้สนใจในธรรมทั้งหลาย อาตมาขอแสดงความยินดีอนุโมทนาในการมาของท่านทั้งหลาย สู่สถานที่นี้ ในลักษณะอย่างนี้ ที่มาแสวงหาความรู้ ธรรมะ สำหรับไปใช้เป็นหลักในการปฏิบัติดำเนินชีวิตให้มีความสงบสุขและมีประโยชน์ สมกับค่าของมัน ต้องสงบเย็นและมีประโยชน์ ฟังดูให้ดีๆ ชีวิตนี้จะต้องมีความสุขสงบเย็น ส่วนตัวบุคคลนั้น แล้วจะต้องมีประโยชน์โดยทั่วไป ทั้งแก่ตนเองและแก่ผู้อื่นหรือแก่โลก เราเลยใช้คำว่าสงบเย็น หรือบวกด้วยเป็นประโยชน์สองอย่าง
ขอทำความเข้าใจเกี่ยวกับเวลาที่มาพูดกันในเวลาอย่างนี้ ซึ่งบางคนก็สงวนไว้นอนเป็นสุข ก็ต้องไม่ได้ทำอะไร เพราะใช้นอนเสีย งั้นข้อนี้ดูจะใช้เวลาผิด เวลาอย่างนี้มันเป็นเวลาที่จิตใจ ชีวิตจิตใจพร้อมที่จะทำอะไรเป็นพิเศษมากกว่าเวลาอื่น ซึ่งมันพร้อมที่จะเบิกบาน สดชื่น ว่องไวในการที่จะคิด จะนึก จะพิจารณา จะศึกษา จะเข้าใจ จะรู้แจ้ง โดยธรรมชาติ ดอกไม้ทั้งหลายในโลก ส่วนมากมันก็จะเบิกบานกันในเวลาอย่างนี้ แม้จะมีดอกไม้บางชนิดเบิกบานเวลาเย็น เวลาหัวค่ำ เวลาแดดจัดแล้ว ก็มี ก็ตามใจ แต่ว่าดอกไม้ส่วนใหญ่มันพร้อมที่จะเบิกบานในเวลาใกล้รุ่ง แล้วเราก็ทราบกันอยู่ทั่วไปทุกคนว่าพระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้เวลาใกล้รุ่ง งั้นจะต้องมีความหมายเป็นพิเศษ คนพวกหนึ่งก็มองเห็นว่าเป็นเวลาที่น้ำชายังไม่ล้นถ้วย คือถ้วยมันยังว่างอยู่ ยังเติมลงไปได้ ถ้าสว่างรุ่งเรือง สว่างกลางวันไปแล้ว มันก็เติมอะไรลงไปมากแล้ว จะเติมอะไรไม่ค่อยลง เป็นเวลาที่น้ำชามันล้นถ้วย เวลาอย่างนี้มันยังว่าง เติมอะไรได้มาก เราก็ควรจะถือโอกาส
ถ้าเราไม่ได้ใช้ เรานอน มันก็ขาดอะไรไปมาก ขาดโอกาส หรือขาดความรู้อะไรไปมาก เราไม่นึก ไม่มีหรือไม่ได้ใช้ โลกในเวลาอย่างนี้ โลกในเวลาอย่างนี้ซึ่งมันจะทำอะไรได้ นี่เราไม่ได้ทำ ก็ขาดไป ก็เลยไม่ได้ ความสะดวกหรือโอกาสไอ้ที่จะพัฒนาจิตใจให้มันยิ่งขึ้นไป ขอให้สนใจ ไปใช้ให้มันเป็นประโยชน์ แม้ว่าจะกลับไปจากที่นี่ไปอยู่ที่บ้านก็ขอให้พยายามใช้เวลาอย่างนี้เป็นเวลาที่ทำประโยชน์ในการศึกษาหรือในการพัฒนาจิตใจ ก็จะได้อะไรมากไปกว่าที่จะใช้เป็นเวลาที่ยังนอนสบายอยู่ เด็กๆ ของเราได้รับการตามใจให้นอนตามสบาย สายจนแสงแดดส่องยังไม่ลุกขึ้น ในยุคโบราณ เด็กๆ ได้รับการปลุกให้ทำอะไรตั้งแต่ไม่ทันสว่าง โดยเฉพาะเด็กวัด อาตมาก็เคยเป็นเด็กวัด อยู่วัด ทำอะไรตามระเบียบของเด็กวัด ต้องลุกขึ้นทำอะไรบางอย่างพร้อมกับพระกับเณร ตั้งแต่เวลาอย่างนี้แหละ เวลาไก่ขัน เวลาจวนจะรุ่ง ใครจะนอนอยู่ก็เป็นที่ดูหมิ่นของเพื่อนฝูง อาจารย์เขาอนุญาตให้เอาน้ำไปรดมันเลยถ้ามันยังนอนอยู่จนไก่มันลงจากเล้าหมดแล้ว มันยังนอนอยู่นี่ มีสิทธิที่จะเอาน้ำไปรดมันบนที่นอน นี่เป็นระเบียบที่ดี รู้สึกว่าเป็นระเบียบที่ดี แคล่วคล่องว่องไวกันตั้งแต่พระอาทิตย์ยังไม่ขึ้น ไม่งัวเงีย
อีกอย่างหนึ่งก็พูดถึงเกี่ยวกับส่วนตัว มันคล้ายกับจะเอาเปรียบ แต่มันไม่ใช่เอาเปรียบหรอก อาตมาไม่มีเรี่ยวแรง ไม่มีเรี่ยวแรง เดี๋ยวนี้อายุ 85 ปีแล้ว ไม่ค่อยจะมีเรี่ยวแรง เวลาที่มีเรี่ยวแรงที่สุดก็คือเวลาอย่างนี้เหมือนกัน เวลาที่นอนหลับไปแล้วตื่นขึ้นมาในเวลาอย่างนี้ เป็นเวลาที่มีเรี่ยวแรงพอที่จะทำอะไรได้ โดยเฉพาะในการพูดจาสั่งสอน จึงได้ถือเอาโอกาสเดียวกันนี้ทำการสั่งสอน เพราะฉะนั้นขอให้ท่านเตรียมใช้เวลาอย่างนี้ให้เป็นประโยชน์ สมมติว่าเป็นชาวบ้าน ชาวบ้านผู้ยากจนก็เตรียมไปทำไร่ทำนา หรือกระทั่งไปหาปลา หาปลาตั้งแต่เวลาอย่างนี้ ไม่ใช่รอจนสว่าง ไปอยู่ที่ทุ่งนาหรือไปที่ทะเลแล้ว ที่ไปหาปลากันตามแบบธรรมดา แบบโบราณ มันได้ดีกว่าหรือมากกว่าคนที่นอนสาย แมลงขึ้นตั้งหลายตัวมาอยู่ที่หลอดไฟฟ้านี่คิดดู มันก็ไม่ได้เห็นแก่พักผ่อน มาเที่ยวมาแสวงหาอะไรตามเรื่องพวกนี้ เป็นอันว่าเป็นเวลาที่เหมาะสมที่เราจะปรับปรุงหรือพัฒนาชีวิตจิตใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องพัฒนา นี่ก็ต้องมองให้เห็นเป็นอีกความหมายหนึ่ง ใจความสำคัญว่า ชีวิตนี้ต้องพัฒนา ธรรมชาติให้มาหรือว่าพระเป็นเจ้าให้มา แล้วแต่จะเชื่อ มันให้มาสำหรับพัฒนา จะทำให้เจริญรุ่งเรืองและมีประโยชน์ที่สุด มันจะมีค่า มีราคา มีประโยชน์ก็ต่อเมื่อได้รับการพัฒนาแล้ว เมื่อไม่ได้รับการพัฒนามันก็จะยังไม่มีประโยชน์อะไร เหมือนข้าวเปลือกยังกินไม่ได้ ต้องพัฒนาให้เป็นข้าวสาร เป็นข้าวสุก มันถึงจะกินได้ นี่เรียกว่าเป็นการพัฒนา ชีวิตเป็นสิ่งต้องพัฒนา หรือว่าเป็นเดิมพันที่จะไปเล่นการพนัน หรือไปเล่นอะไรก็สุดแต่ ที่มันจะเป็นเดิมพัน เป็นทุนที่จะไปทำให้มันเกิดกำไรให้มากที่สุด เราจะต้องรับรู้ในข้อนี้ ที่จะต้องพัฒนาชีวิตนี้ให้ถึงที่สุดตามที่ธรรมชาตินั้นมันมีเจตนาก็ได้ จะเรียกว่าเจตนาของธรรมชาติก็ได้ จะให้พัฒนา
อ้าวที่นี้จะพูดถึงคำว่า พัฒนาอีกสักเล็กน้อย ไอ้พัฒนาๆ นี่มันมีความหมายกำกวม เพราะมันเป็นภาษาบาลีที่เอามาใช้อย่าง เรียกว่าเอามาใช้อย่างพลุนพลัน คำว่า พัฒนาๆ มันมาจากคำว่า วัฒนา วัฒนะ วัฒนา ไอ้คำว่าวัฒนาในภาษาบาลีนั้นมันไม่แน่ว่าให้ดี ให้ถูก ให้เจริญ มันมีแต่เพียงว่าให้มันมากๆๆๆๆ ขึ้นเท่านั้นแหละ ขนหัวรกรุงรังขึ้นมาก็เรียกว่ามันพัฒนา นั่น จะต้องจัดการกับมันอย่างถูกต้อง แปลว่าทำให้มากขึ้นๆ จนรกเต็มไปหมด จนไม่มีทางเดิน แล้วบังเอิญว่าไอ้คำฝรั่งมันก็มีความหมายอย่างเดียวกันนี้ก็มี คำว่า Progress Progressive เป็นไปเพื่อพัฒนา คำๆ นั้นแปลว่าบ้าก็ได้ คำว่า progress นั่นแปลว่าบ้าก็ได้ แต่เรามาแปลกันว่าพัฒนา บ้านเมืองพัฒนา อะไรๆ ต้อง progress คำว่า พัฒนานี้มันแปลว่าทำให้มากขึ้น จึงมีพระพุทธภาษิตที่น่าสนใจอยู่บทหนึ่งว่า นัตถิยา โลกะ วัฒโน ตัวหนังสือแท้ๆ ก็แปลว่า อย่าทำโลกให้วัฒนา อย่าทำโลกให้วัฒนา เพราะวัฒนามันรกรุงรังไปหมด ไม่ได้เป็นประโยชน์ เป็นระเบียบเรียบร้อย ปลอดภัยอะไรนัก แต่เราเอามาใช้ในภาษาไทยในความหมายที่ดีโดยส่วนเดียว ไอ้คำเดิม มันทำให้มากขึ้นก็แล้วกัน ถ้าจะเอาความหมายโดยที่ดีในส่วนเดียว มันมีคำอีกหลายคำ เช่น คำว่า ภาวิตา ภาวิตา ภาวิตะ นี่ก็ทำให้เจริญๆ โดยส่วนเดียว ไม่ใช้ในแง่ความผิด เป็นปัญหา ไอ้ นาทีที่ 14.29 ไม่มั่นใจว่าเขียนถูก วัฒทิตะๆ เป็นกิริยา มันไม่ได้มีความหมายอย่างนั้น มันเอาแต่ทำให้มากขึ้นๆๆๆ เดี๋ยวนี้ก็ชอบอย่างนี้กันมาก พัฒนาๆ จนกระทั่งในบ้านเรือนของบางคนเต็มไปด้วยสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องมี กลับไปดูที่บ้าน คราวนี้สังเกตดูให้ดี มันมีอะไรบ้างที่เกินไปไม่ต้องมีก็ได้ แต่มันก็มามีอยู่ มันก็เป็นนิสัยหรือว่าเป็นธรรมชาติที่ชอบจะเป็นอย่างนั้น มันก็เรียกว่าบ้าๆ บอๆ ไปตามเรื่อง ไอ้แจกันดอกไม้หรืออะไรเหล่านี้ มันไม่จำเป็นจะต้องมี มันบ้าเอามา บ้าเอามาวางให้มันรกรุงรัง มันไม่ต้องมี ที่บ้านคุณก็เหมือนกันแหละ มันจะต้องมีอะไรที่ไปซื้อ นี่อาตมาไม่ได้ซื้อ เขาเอามาวางเอง ไม่รู้จะทำยังไง ทั้งหมดนี่ เขาเอามาวางเองไม่ได้ขอร้อง แล้วมันก็เป็นเรื่องเกิน เป็นเรื่องของพัฒนาบ้ามากกว่า จะทำอย่างไรได้มันก็มีขนบธรรมเนียมอย่างนี้ นี่ขอทำความเข้าใจกันในคำว่าพัฒนา ในภาษาบาลีมันไม่ปลอดภัย มันมากขึ้นเท่านั้น แต่เดี๋ยวนี้ในภาษาไทยเอามาใช้กันในความหมายที่ดี ดีด้านเดียว แต่ก็ดูเถอะ แล้วมันก็ทำให้เกิดส่วนเกินๆ กินอาหารส่วนเกิน แปลกเกิน แพงเกิน เครื่องนุ่งห่มที่เป็นส่วนเกิน แปลกเกิน แพงเกิน บ้านเรือนเครื่องใช้ไม้สอยก็ แปลกเกิน ดีเกิน แพงเกิน แม้แต่ยูกยาก็เป็นส่วนเกินที่กลายเป็นของกินเล่นไป เพื่อสวยงาม เพื่อหรูหราไปเสีย นี่มันเรียกว่ามันเกิน นั้นขอให้ชำระ สะสางกันให้ถูกต้อง ให้ดีที่สุดว่ามันพอดีได้อย่างไร ถ้าจะถือตามหลักพระพุทธศาสนาของพระพุทธองค์แล้วท่านอย่าลืมคำว่า พอดีๆ ไม่มาก ไม่น้อย ไม่ตึง ไม่หย่อน ไม่ขาด ไม่เกิน นั่นแหละ พอดีๆ คำนี้เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา เป็นภาษาใช้กันตามธรรมดาอีกคำหนึ่ง คือคำว่า มัธยัสถ์ๆ มัธยะ แปลว่ากลาง ยัสถะ แปลว่าอยู่ มัธยัสถ์ มันแปลว่าอยู่ตรงกลาง คือพอดีๆ มัธยัสถ์นี่ไม่ใช่ขี้เหนียว ขี้ตืดน่ะ ถูกต้องพอดี เป็นอยู่อย่างมัธยัสถ์ตรงนั้นก็เป็นอยู่ถูกต้องพอดี ขอให้ปรับปรุงให้มันมีความถูกต้องและพอดี เป็นอยู่ กินอยู่ ใช้สอยอะไรก็ตามอย่างมัธยัสถ์ คือพอดี พอดีไม่ใช่เบียดกรอ ไม่ใช่ขาดแคลน จะใช้แรงงานก็ใช้ให้พอดี จะใช้ประโยชน์ ใช้เงินใช้ของ ก็ใช้พอดี จะเป็นอยู่ จะมีชีวิตอยู่ก็ขอให้มันพอดีๆ ไอ้คำมัธยัสถ์มันเป็นภาษาสันสฤต เป็นภาษาบาลีคือคำว่ามัชฌิมา มัชฌิมา แปลว่า มีในท่ามกลาง อยู่ในท่ามกลาง แปลเหมือนกันแหละมัธยัสถ์กับมัชฌิมา ตกลงคำว่าพัฒนานั่น ทำให้ถูกต้อง ให้พอดี มีลักษณะพอดี หรือเป็นกลาง ไม่ขาด ไม่เกิน ไม่มาก ไม่น้อย นี่ปรับปรุงให้มันเป็นอย่างนี้ จะได้มีการพัฒนาที่ถูกต้อง อย่าพัฒนาอย่างหลับหู หลับตา ถูกหลอก ถูกยั่วด้วยการโฆษณา เดี๋ยวนี้โลกนี้มันยิ่งเต็มไปด้วยการโฆษณา มันโฆษณาเก่งจนต้องซื้อ ของมีอยู่แล้วยังต้องไปซื้อของใหม่มา ลักษณะเดียวกันมันเปลี่ยนเรื่อย เขาโฆษณา อย่างไอ้ คุณยายแก่ๆ ขี้เหนียว ซื้อตู้เย็นก็ได้ เขาโฆษณามันเก่งกันถึงขนาดนั้น นี่จะเป็นเรื่องตกหลุมของไอ้การโฆษณา ก็เลยเป็นอยู่ไม่ถูกต้อง ไม่พอดี นี่เรามาหาความรู้ทางธรรมะว่าพัฒนาชีวิตให้ถูกต้อง ให้พอดี ให้ถูกต้อง ให้พอดี คำว่าถูกต้องๆ นี่คือว่ามีแต่ประโยชน์ ไม่มีโทษ ไม่ต้องอ้างอะไร ไม่ต้องอ้างเหตุผลอะไรให้ยุ่งยากลำบาก ที่เขาเรียนกันว่าถูกต้องอย่างไรจนไม่รู้ว่าจะถูกต้องกันอย่างไร เอากันง่ายๆ ตามภาษาธรรมดาในทางธรรมะก็คือ มันเป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ไม่เป็นโทษแก่ฝ่ายใด แล้วสิ่งนั้นก็เรียกว่าถูกต้อง ไม่ต้องอ้างเหตุผลทางตรรกะวิทยา ทาง logic ทาง philosophy ไม่ต้อง ไม่ต้องป่วยการณ์ ถูกต้องที่เห็นอยู่ชัดๆ น่ะว่ามันไม่ทำอันตรายใคร แล้วมันให้ประโยชน์กับทุกฝ่ายนั่นแหละถูกต้องๆ เพราะงั้นขอให้เราทำให้มันเกิดการถูกต้องๆ แต่ถ้าว่าวางกฏเกณฑ์อะไร กฏเกณฑ์อะไรมันก็มักจะอ้างกันต่างๆ นานา แต่ถ้าเป็นธรรมะในพุทธศาสนามันก็ถูกต้องตามกฏเกณฑ์ของธรรมชาติ คำว่าธรรมชาตินี่ก็เหมือนกัน เป็นคำที่ยังไม่ค่อยจะรู้จักกันนัก และก็รู้จักเพี้ยนๆ ไปเสีย ธรรมชาติ ไปตามธรรมชาติ เป็นอยู่ตามธรรมชาติตายตัว ถูกต้องตามธรรมชาติ มีกฎของธรรมชาติอยู่ว่าถ้าทำอย่างนี้จะผลอย่างนี้ ทำอย่างนี้ผลเกิดอย่างนี้ ทำอย่างนี้ผลเกิดอย่างนี้ ตายตัวๆ แต่ว่ากฎ อิทัปปัญจจยตา ก็มี กฎปฏิจจสมุปบาทก็มี นี่เป็นกฎธรรมชาติ ถูกต้องตามกฏของธรรมชาติ ในส่วนที่เราต้องการ ในส่วนที่ไม่ดี ที่เป็นโทษ เป็นทุกข์ เราไม่ต้องการ เราก็ไม่ต้องทำ ถ้าต้องการจะให้มันสงบสุขก็ทำแต่ในทางที่สงบสุข ถูกต้องตามกฏเกณฑ์ของธรรมชาติ นี่ไปเห่อตามคน พวกฝรั่ง ชาวต่างประเทศ อะไร ไปเห่อว่าถูกต้องตามพวกนั้น มันก็ไม่ถูกต้องตามกฏของธรรมชาติก็ได้ ถ้าเราไปเห่อตามพวกฝรั่งแล้ว ขออภัยที่มันพูดกันตรงๆ อย่างนี้ ก็ดูสิว่าพวกฝรั่งมันอยู่กันอย่างเป็นสุขหรือเปล่า มันจะฆ่ากันเก่ง มันจะโกงกันเก่ง มันจะอะไรกันเก่ง มันจะเต็มไปด้วยคนบ้า ด้วยการฆ่าตัวตายมากกว่าพวกเราเสียอีก เพราะงั้น จะไปตามมันได้อย่างไร จะเอากฏเกณฑ์อะไรกับพวกนั้น มันก็ต้องเอาธรรมะของธรรมชาติ ธรรมะของธรรมชาติที่ถูกต้องตามกฏเกณฑ์ของธรรมชาติ ทำแล้วมันเป็นไปเพื่อความสงบสุข เพื่อให้เราสงบสุข นี่ก็ใช้คำธรรมดาๆ ว่า เย็นๆ ก็สบาย ถ้าร้อนก็ไม่ไหว ถ้าหนาวก็ไม่ไหว ถ้าหนาวมันปัญหายุ่งยากถึงตายเลยก็มี ไอ้ร้อนก็ไม่ไหว ถ้าเย็นสิพอดี สบายๆ เพราะว่ามันเย็น คำนี้ที่เป็นชื่อของนิพพาน ของพระนิพพาน เมื่อก่อนชาวบ้านก็พูดกันอยู่ตามภาษาชาวบ้าน ก็พูดกันว่า นิพพานๆๆ นี่ก็หมายถึงเย็นๆ เย็นชนิดที่สบายพอดี เรียกว่าดับแห่งความร้อน ดับแห่งความร้อน เรียกว่านิพพาน ไฟดับ ไฟแดงๆ ดับ ก็เรียกมันนิพพาน ข้าวต้มข้าวแกงกับอะไรร้อน กินไม่ได้ มันร้อนจัด ก็ต้องรอให้มันนิพพาน เพื่อที่จะกินได้ นี่คำว่านิพพานมันใช้อยู่ในครัว อย่างนี้มาก่อน ก่อนจะถูกยืมมาใช้ในทางศาสนา ภาษาบาลีก็มีอยู่ชัดเจนในคำว่านิพพาน ข้อความมีว่า ช่างทองหลอมทอง เหลวคว้างเป็นทอง เหลวละลาย แล้วก็ทำให้เย็นเพื่อให้มันจะทำเป็นอะไรต่อไป ก็มีคำบาลีว่า นาทีที่ 25.01 นิพพาพอยะ แปลว่าทำให้มันนิพพาน ไอ้ทองที่เหลวคว้างทำให้มันนิพพานก็คือทำให้มันเย็น ทำให้มันเย็น จับได้ก็ทำอะไรได้ นี่คำว่า นิพพานมีความหมายว่าเย็นๆ ใช้กันอยู่ในหมู่คนตามบ้านตามเรือนที่ไหนก็ได้ ทำสัตว์เดรัจฉานเลวร้าย เช่น ช้าง เช่น ควาย เช่นอะไร สัตว์ป่า เอามาทำให้หมดความร้าย ก็เรียกว่าทำให้มันเย็น ใช้คำว่านิพพานก็ได้ สำหรับสัตว์เดรัจฉานลักษณะอย่างนั้น เอาความร้ายก็แปลว่าเย็นๆๆ ไม่ร้อนและไม่หนาว ก็สบาย นี่เราทำชีวิตนี่ให้เย็น ทำชีวิตนี่ให้เย็น เมื่อเย็นแล้วก็ไม่หยุด ทำประโยชน์ต่อไปอีก จนกระทั่งเย็นและทั้งเป็นประโยชน์ นี่เป็นเรื่องของการพัฒนา ทำชีวิตที่มันจะร้อน ให้มันเย็น ปล่อยไปตามความโง่ มันร้อน ชีวิตนี้มันร้อนด้วยกิเลส เพราะมันเกิดกิเลสมากขึ้นมันก็ร้อน ถ้ามันเย็น ทำให้มันเย็น นี่มันเย็นทางจิตใจ ไม่ใช่เย็นทางวัตถุ วัตถุ เอาคำนี้มาใช้ทางธรรมะ ทางศาสนา มันก็เปลี่ยนเป็นเย็นทางจิตใจ เย็นทางจิตใจ ไม่มีไฟคือกิเลส กิเลสเหมือนกับไฟ ทำให้มันร้อนพอมันไม่มีไฟคือกิเลสมันก็คือคำว่าเย็น เย็นอย่างนี้คือความหมายของคำว่านิพพานที่ถูกต้อง เย็นอย่างไม่มีไฟ คือกิเลส เรียกว่าเย็น ถ้านิพพานที่จะเข้าไปมีในจิตใจของมนุษย์เรา มีอย่างเดียว มีข้อเดียว มีอย่างเดียวคือนิพพานเย็น เพราะไม่มีไฟ ส่วนนิพพานในห้องเรียน เรียนนักธรรม เรียนบาลี เรียนอัตถา มีหลายสิบคำ บ้าทั้งนั้นแหละ มันเกินจำเป็นทั้งนั้น ไม่ต้องไปถึงตั้งหลายสิบคำอย่างนั้นหรอก เย็นคำเดียวก็พอ นิพพานในห้องเรียนมันมีตั้งหลายสิบคำ นับดูไม่น้อยกว่า ๕๐ คำ แต่ถ้าว่านิพพานเย็น เย็นในจิตในใจของมนุษย์นี่มีคำเดียวคือเย็นเพราะไม่มีไฟ ที่ใช้คำว่าเย็นๆ มันผิดพลาดมากๆ ออกไปตามไอ้ความต้องการของมนุษย์ไม่มีสติปัญญา ให้นิพพานเป็นบ้านเป็นเมืองไปเสียก็มี รออีกหลายชาติ หลายร้อยชาติ หลายพันชาติ ก็ตายไปอยู่เมืองนิพพาน บ้านนิพพาน เข้าใจไปเสียอย่างนี้ ก็ยังมีๆ และที่มันเลวร้ายที่สุดก็คือว่าต้องรอต่อตายแล้ว คุณจะเอาเหรอ ต่อตายแล้วถึงจะได้ ตายแล้วถึงจะได้ นี่เอาไปทำประโยชน์อะไรก็ยังสงสัยอยู่ มันต้องได้กันที่นี่และเดี๋ยวนี้ ไม่ทันตายหรือก่อนตายได้ความเย็น ต้องรอต่อตายแล้วไม่รู้ใครมันได้ มันก็ไปเต็มบ้านเต็มเมืองอยู่ที่ไหน ก็ยังไม่แน่นอน อยู่ในความฝันๆ ว่าโอ้ จะต้องสนุกสนานบันเทิงเริงรื่นมากกว่าเมืองมนุษย์ มีกามารมณ์ ไม่รู้มีอะไร พอใจสบายใจ ยิ่งกว่าเมืองมนุษย์ยิ่งกว่าเมืองสวรรค์ไปเสียอีก นั่นน่ะมันเกิดความเข้าใจผิดไปเสียอย่างนั้น ต้องที่นี่ และก็ต้องเย็นเพราะไม่มีไฟ ที่จริงตามธรรมชาติ ตามธรรมดา ไอ้เราก็ไม่ได้มีกิเลสตลอดเวลา เวลาที่กิเลสไม่เกิด เวลานั้นศึกษาให้ดีๆ มันเย็นอย่างไรๆ มันไม่ร้อน มันไม่หนาว มันเย็นพอดี
ก่อนพุทธกาล คนมันเข้าใจผิด เขลา โง่เอาเรื่องของกามารมณ์เป็นนิพพานก็ยังมี อย่างนี้มันลูกเด็กๆ มันเป็นลูกเด็กๆ เกินไป เพราะว่ากามารมณ์มันก็ทำให้เย็นไปแบบกิเลส เย็นแบบกิเลส สนองความใคร่ให้แก่กิเลส มันก็เย็นไปพักหนึ่งตามแบบกิเลส สำหรับคนยุคหนึ่ง สมัยหนึ่ง แห่งหนึ่ง เอานิพพาน เอากามารมณ์เป็นนิพพาน อย่างนี้ก็มีกล่าวอยู่ในพระบาลี จนโอ้ไม่ไหวกูไม่เอากับมึง เอาความสงบใจเป็นนิพพานสูงขึ้นมาๆ ทำสมาธิ ทำสมาบัติ เป็นนิพพาน นิพพาน สูงขึ้นมา มันก็ยังอีกแบบหนึ่ง ยังไม่ใช่พุทธศาสนา พุทธศาสนาเอาความไม่มีกิเลสเป็นนิพพาน มีพระบาลีชัดๆ ว่า นาทีที่ 30.25 ไม่แน่ใจว่าเขียนถูก ราคะคโย โทสะคโย โมหะคโย นิพพานัง สิ้นราคะ สิ้นโทสะ สิ้นโมหะ นี่คือนิพพาน ช่วยจำกันนิพพานในพุทธศาสนามีอย่างเดียว เย็นเพราะไม่มีกิเลส ราคะ โทสะ โมหะ ถ้าเย็นในห้องเรียน ห้องเรียนธรรมะห้องเรียนบาลีมีหลายสิบนิพพาน
เอาล่ะ เป็นอันว่าท่านทั้งหลายมาเพื่อแสวงหาความรู้ทางธรรมะเพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาชีวิต อันเป็นสิ่งที่ต้องพัฒนา เพราะว่าธรรมชาติให้มาสำหรับพัฒนา ไม่พัฒนาก็โง่เองไม่ต้องไปโทษใคร พัฒนาไม่ถูกต้องมันก็ไม่ได้ผลอะไร มันจะต้องมีการพัฒนาอย่างถูกต้องโดยสิ่งที่เรียกว่า ธรรมะๆ นี่อาตมาก็จะกล่าวถึงสิ่งนี้แก่ท่านทั้งหลายในโอกาสนี้ หมายความว่าการบรรยายครั้งนี้ วันนี้ ที่นี่ จะกล่าวถึงสิ่งนี้คือธรรมะในฐานะเป็นเครื่องมือแห่งการพัฒนา ในทีนี้ก็จะกล่าวกับท่านทั้งหลายในฐานะที่เป็นชาวบ้านทั่วไป ไม่ใช่นักศึกษาปริญญา ไม่ใช่อะไรให้มันมากมายเกินกว่าธรรมดา จัดว่าเป็นชาวบ้านทั่วไปก็เลยพูดธรรมะสำหรับชาวบ้าน หัวข้อการบรรยายที่นี่ เดี๋ยวนี้ วันนี้จึงมีว่า ธรรมะชาวบ้าน ธรรมะชาวบ้าน จะพูดกับท่านทั้งหลายถึงเรื่องธรรมะชาวบ้าน ที่ชาวบ้านจะต้องมี จะต้องรู้ จะต้องประพฤติปฏิบัติและก็อยู่ในวิสัยที่ทำได้ ไม่เหลือวิสัย ธรรมะชาวบ้านขอให้ฟังให้ดีๆ ให้สำเร็จประโยชน์ เป็นชาวนาก็ได้ เป็นชาวสวนก็ได้ เป็นพ่อค้าก็ได้แล้วแต่อาชีพ เป็นขอทานก็ได้ ขอให้มีความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้องว่าธรรมะคืออะไร แล้วจะไปพัฒนาได้อย่างไร เท่าที่พูดมาแล้วมันก็พอจะจับถือเป็นหลักได้ว่าเราต้องพัฒนาชีวิตให้เย็น เป็นชีวิตเย็น ไอ้ธรรมะทั้งหลายก็เป็นไปเพื่อนี่ เพื่อทำให้เย็น ถ้าร้อน ร้อนก็ทนไม่ไหว หนาวก็ทนไม่ไหว ขอให้มันเย็นนะ มันเย็นพอดี
เย็นเอาความหมายว่าไม่มีปัญหา ไม่มีความลำบาก ยุ่งยาก เดี๋ยวนี้มันร้อนเพราะกิเลส เป็นไฟ ในทางนามธรรม ทางจิต ทางวิญญาณ ไอ้ไฟข้างนอก ไฟในเตาน่ะคุณรู้จักดีแล้วไม่ต้องพูด ไฟในหัวใจ ไฟในจิตใจคือกิเลสนี่จะต้องพูดกันบ้างเพราะยังไม่ค่อยจะรู้ว่ามันมีขึ้นมาได้อย่างไร ในหัวใจนี่มันเกิดเป็นสิ่งที่เรียกว่าไฟราคะ โทสะ โมหะ ขึ้นมาได้อย่างไร
คำว่ากิเลส ตัวหนังสือแท้ๆ มันแปลว่าของสกปรก แต่เดี๋ยวนี้เอามาใช้ในฐานะที่ว่ามันเป็นไฟ กิเลสเป็นไฟที่ทำให้ร้อน ของสกปรกมันมีความหมายว่าทำให้ยุ่งยากลำบาก เราอยู่กันไม่ไหวอยู่กับของสกปรก วิธีว่ามันเป็นของปิดบังไม่ให้เห็นอะไรอย่างแจ่มแจ้งนี่ก็เรียกว่ากิเลสก็ได้ มันโง่มันเองๆ แล้วมันก็ทำอะไรผิดๆๆๆ มันก็เกิดเป็นความร้อน เป็นของร้อน เป็นความทุกข์ขึ้นมา แล้วก็ปิดบังความเย็น ปิดบังความสงบสุขจนหมด เรียกว่ามัน ไอ้ของสกปรกอย่าไปเอากับมันเลย ไอ้ที่เรียกว่ากิเลสทั้งหลายๆ อย่าไปเอากับมันเลย อย่าไปเอากับมันเลย
เอาทีนี้เรามาดูกันถึงข้อที่ว่า กิเลสมันเกิดขึ้นอย่างไร คือไฟ มันเกิดขึ้นอย่างไร ถ้าดับได้แล้วมันดีอย่างไร กิเลสน่ะหมายถึงตัวเหตุให้เกิดความทุกข์ ตัวมันเองก็ร้อน ไปถูกเข้ากับอะไรก็ทำให้สิ่งนั้นมันร้อน มันเลยกลายเป็นความทุกข์ แต่ถ้าว่าจะมองกันอย่างละเอียดล่ะก็ เป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ คำว่าความทุกข์นี่หมายความว่าทำให้มันทนอยู่ไม่ได้ เป็นปัญหา ลำบากยุ่งยากขึ้นมา ทนอยู่ไม่ได้เรียกว่าความทุกข์ มันไม่ได้หมายถึงความเจ็บปวดทางเนื้อทางหนังทางร่างกาย ทางอะไรโดยส่วนเดียว มันหมายถึงปัญหาทุกชนิด ปัญหาที่ทำให้มนุษย์ลำบากยุ่งยาก ทนอยู่ไม่ได้เรียกว่าความทุกข์ เรียกว่าความทุกข์ สิ่งไม่พึงปรารถนามีมาแล้วเป็นความลำบากยุ่งยากทนอยู่ไม่ได้ เรียกว่าความทุกข์ เหมือนกับไฟมันลุก กิเลสมันก็เป็นเหมือนกับเชื้อไฟหรือเชื้อเพลิง เราพูดกันว่าดับทุกข์ๆ พระพุทธเจ้าก็สดับคำนี้ ดับทุกข์ ดับไม่เหลือแห่งทุกข์ แต่พอท่านอธิบาย พอดีท่านอธิบาย ท่านกลายเป็นไปชี้ถึงดับตัณหา ต้องพูดให้ว่าดับทุกข์ แต่ตัวจริงไปดับตัณหาคือกิเลสที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ คือว่าท่านไม่ได้ดับที่ไฟ แต่ไปดับที่เชื้อเพลิง ดับที่ต้นเหตุให้เกิดไฟ เราอาจจะโง่ไปก็ได้ เพราะฟังของท่านไม่ถูก เรื่องอริยสัจว่าความทุกข์เป็นอย่างนั้นๆ แล้วสมุทัยคือตัณหา นี่ทุกขนิโรธดับตัณหาไม่ใช่ว่าดับด้วยตัวไฟ ดับด้วยกิริยาที่เป็นทุกข์ มันดับตัณหา เรียกว่าทุกขนิโรธ มันดับเชื้อไฟ มีวิธีเรียกว่า มรรคหรือมัชฌิมาปฏิปทา เป็นวิธีที่ทำแล้วมันก็ดับตัณหา พอดับตัณหาแล้วความทุกข์มันก็ดับ เราจัดการที่เชื้อเพลิง ที่เชื้อเพลิงไม่ให้มันมีอยู่ได้ ไฟมันไม่มีอะไรจะหล่อเลี้ยงมันก็ดับ คุณลองคิดดูเปรียบเทียบกันดู ไปดับที่ตัวไฟกับไปดับที่ต้นเหตุแห่งไฟอันไหนมันน่าดูกว่ากัน ไปดับที่ไฟมันลองดูสิ มันเผาไหม้หน้าถลอกปอกเปิก ตาดำมอมแมมก็คือดับที่ไฟ แต่ไปดับที่เหตุแห่งไฟที่เชื้อเพลิงนั่นแหละมันเรียบร้อย มันได้เปรียบ ไปดับที่ต้นเหตุ ไปดับที่ปลายเหตุ โง่เป็นหมา ไปมัวดับที่ปลายเหตุๆ มันโง่เป็นหมา เขามีข้อที่แนะให้ดูว่าหมา ถ้าคุณเอาไม้ไปแหย่ๆๆ มัน เอาไม้ยาวๆ ไปแหย่มันก็กัดๆ ที่ปลายไม้ กัดที่ปลายไม้ แต่มันเป็นเสือหรือเป็นราชสีห์มันไม่โง่ มันไม่กัดที่ปลายไม้ มันกระโจนเข้าไปหาผู้แหย่ ไปกัดผู้แหย่ ผู้เอาไม้ไปแหย่นั่น มันจัดการที่ต้นเหตุ ถ้าไปจัดการที่ปลายเหตุน่ะมันโง่เป็นหมา นี่พวกเรากำลังจะโง่เป็นหมากันอยู่ทุกคน ก็ได้ไหมเล่า ถ้าไปมัวจัดการที่ปลายเหตุมันก็โง่เป็นหมากันทุกคนแหละในโลกนี้ว่ากันอย่างนั้นดีกว่า ต้องเชื่อพระพุทธเจ้าๆ ต้องไปจัดการที่ต้นเหตุ ต้นเหตุให้เกิดทุกข์คือกิเลส งั้นก็ต้องรู้เรื่องกิเลส รู้เรื่องกิเลสให้มันถูกต้อง แล้วจัดการกับมันให้ถูกต้อง ให้ไฟมันดับ จัดการที่เชื้อเพลิงให้เพลิงมันดับนั่นแหละจัดการที่ต้นเหตุ จะได้ฉลาดเป็นราชสีห์หรือเป็นเสือ ไม่โง่เป็นหมาอีกต่อไป นั่งดับทุกข์อย่างที่ปลายเหตุดับสินั่งดับสิ มันไม่มีที่สิ้นสุด บางทีมันจะเพิ่ม เพิ่มขึ้นเสียอีก ต้องดับที่ต้นเหตุ ตามหลักที่ว่าธรรมะมันมีเหตุ ที่มีเหตุแล้วก็ต้องดับที่เหตุ เกิดแห่งเหตุและความดับแห่งเหตุ ให้เห็นชัดแล้วก็ดับเสียที่ต้นเหตุ
เอาทีนี้ก็จะมาพูดกันถึงในเรื่องกิเลสๆ กิเลสมันมาอย่างไร มันเกิดขึ้นอย่างไร อาตมาก็ยังสงสัยอยู่ในข้อที่ว่ามันจะยาวหรือมันจะเกินไปไหม ท่านอย่าเพิ่งคิดว่าเกินนะ ต้องตั้งใจฟังดูดีๆ แล้วพอรู้เรื่องว่ากิเลสมันมาจากไหน พูดอย่างอภิธรรม ปรมัตถ์อย่างลึกซึ้งกันเลย ว่ากิเลสมันมาจากไหน สิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ตามธรรมดา ตลอดเวลานิรันดร คือ ธาตุ ธา-ตุ เขียนว่าธาตุ แล้วก็อ่านว่า ธาตุ มันมีอยู่ตามธรรมชาติ ๖ ธาตุ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุอากาศ ธาตุวิญญาณน่ะ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ไอ้ ๔ ธาตุ นี่เป็นธาตุหยาบๆ เป็นเนื้อเป็นตัวเป็นวัตถุหยาบๆ ก็มีอยู่ ๔ ธาตุ ธาตุดินเป็นธาตุที่ทำให้เกิดการกินเนื้อที่ เป็นของแข็ง กินเนื้อที่ ไม่ได้หมายถึงดินนี้ หรือไม่ได้หมายถึงเนื้อหนังอะไรโดยตรง หมายถึงคุณสมบัติของมัน ที่มันจะต้องกินเนื้อที่ แล้วมันมีความแข็ง แล้วมันกินเนื้อที่ นี่เรียกว่าธาตุดิน ถ้าธาตุน้ำ ก็ไม่ใช่คือน้ำ ตัวอย่างเห็นได้เช่นนั้น แต่ตัวจริงของมันคือคุณสมบัติแห่งการยึดเกาะกัน ยึดเกาะกัน มีลักษณะให้เห็นชัดอยู่ในน้ำ น้ำน่ะมันมีลักษณะยึดเกาะกัน ใครแบ่งแยกมัน พอปล่อยมัน มันก็เกาะกันอย่างเดิม คุณสมบัติแห่งการยึดเกาะกันนี่เรียกว่าธาตุน้ำ สิ่งใดมีคุณสมบัติอันนี้สิ่งนั้นเรียกว่าธาตุน้ำ นี่ธาตุไฟมันเผาไหม้ๆ เมื่อมีการเผาไหม้ มันมีการเปลี่ยนแปลง สิ่งใดมีคุณสมบัติทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง สิ่งนั้นเรียกว่าธาตุไฟ นี่ธาตุลมหมายถึงระเหย เกิดอาการเคลื่อนไหวๆ ได้ เคลื่อนไหวได้ ไอ้ดิน น้ำ ไฟ ลม เมื่อรวมกันเข้าเป็น ๔ อย่างแล้วมันก็เกิดของใหม่ขึ้นมา มันจะเป็นดินนี้ก็ได้หรือจะเป็น เกศา โลมา นขา ทันตา อาการ ๓๒ ก็ได้ มันจะมีลักษณะที่ว่ากินเนื้อที่ แล้วก็เกาะกุมกัน แล้วก็เปลี่ยนแปลงไปแล้วก็เคลื่อนไหวได้ ๔ ธาตุ ในตัวเรานี่มีผม ขนและฟัน หนัง เป็น ๓๒ อย่าง ไอ้นี่เรียกว่าธาตุทั้ง ๔ มันรวมกัน มันเกิดเป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งขึ้นมา จะดูที่เนื้อ ที่เนื้อมันก็มีธาตุดินที่เป็นของแข็ง ก็มีธาตุน้ำที่ทำให้มันเกาะกุม มีธาตุไฟที่มันเปลี่ยนแปลง มีธาตุลมที่มันระเหย เคลื่อนไหว ถ้าศึกษาธาตุตามความหมายของคำว่าปรมัตถ์หรืออะไรขั้นสูงสุดแล้วก็จะเห็นว่า ๔ อย่างนี้มีคุณสมบัติอย่างนี้ก่อน ซึ่งมันจะรวมกันเป็นอะไรขึ้นมา ถ้าจะพูดอย่างวิทยาศาสตร์นี่มันจะรวมกันเป็นเซลล์ขึ้นมา หรือมันจะรวมเป็นกลุ่มแห่งเซลล์ขึ้นมา กลุ่มแห่งเซลล์รวมกันแล้วมันก็เป็นอวัยวะหนึ่งๆ ขึ้นมา นี่คืออาการของสิ่งที่เรียกว่าธาตุ แล้วธาตุที่ ๔ คือ อากาศที่ว่างๆ อากาศที่ว่างเป็นธาตุด้วยเหมือนกัน ถ้าไม่มีที่ว่างมันก็ตั้งอยู่ไม่ได้ อะไรๆ มันต้องได้เนื้อที่ มันจึงจะตั้งอยู่ได้ ที่นั้นมันต้องว่าง ถ้าไม่ว่างมันจะตั้งอยู่ได้อย่างไรเล่า มันต้องมีอากาศที่ว่างสำหรับให้สิ่งต่างๆ เหล่านี้ตั้งอาศัยอยู่บนที่ว่าง ธาตุว่างหรืออากาศธาตุก็มีคุณสมบัติสำหรับเป็นเครื่องรองรับสิ่งทั้งปวง ถ้าไม่ว่าง ไม่ได้ เก้าอี้ไม่ว่างอาตมาจะนั่งได้อย่างไร ถ้วยชามหรือแก้วน้ำนี่ถ้ามันไม่ว่างมันจะใส่อะไรลงไปได้อย่างไร มันต้องมีที่ว่างสำหรับให้รองรับสิ่งต่างๆ มันจึงจะตั้งอยู่ได้ มันจึงมีธาตุว่างหรืออากาศธาตุ ๕ ธาตุฝ่ายนี้แหละจะเป็นธาตุฝ่ายนาม เอ้ย ฝ่ายรูปที่มีรูป นี่ธาตุสุดท้ายคือวิญญาณธาตุเป็นฝ่ายนาม เป็นธาตุพิเศษไม่ต้องมีรูปไม่ต้องมีอะไร สำหรับรู้สึก คิดนึกได้ สำหรับรู้สึกได้ คิดนึกได้เรียกว่าวิญญาณธาตุ เอามารวมกันเข้ามันก็เป็น ๖ ธาตุ ไอ้ ๔ ธาตุนี่ทางกาย พูดตรงๆ ไอ้ ๔ ธาตุมันทางกาย ธาตุว่างนี่ไม่เรียกว่ารูปไม่เรียกว่านามก็ได้ ส่วนวิญญาณธาตุ มันเป็นนามล้วนๆ เป็น ๖ ธาตุมีอยู่ตามธรรมชาติ จะรู้จักหรือไม่รู้จักก็สุดแท้แต่มันมีอยู่ตามธรรมชาติ ไอ้ธาตุทั้ง ๖ นี้มันประกอบกันตามหน้าที่ตามธรรมชาติของมัน ทำให้เกิดตัวอัตภาพ อัตภาพร่างกายคนขึ้นมา มันทำให้เกิดมีสิ่งที่เรียกว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จำไว้ดีๆ ว่า ๖ คำนี้มันเป็นคำสำคัญ ถ้าไม่มีไอ้ ๖ อย่างนี้โลกนี้มันไม่มีๆ เพราะมันไม่มีอะไรให้รู้สึกหรือรู้จัก เพราะมันมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ โลกนี้จึงมี ในแง่ของตาก็ได้เห็น ในแง่ของหูก็ได้ยิน ในแง่ของจมูก ก็ได้กลิ่น ในแง่ของลิ้นก็ได้รส ในแง่ของผิวหนังทั่วไป ก็สัมผัส แล้วก็ในแง่ของจิตก็คิดนึกได้ มันเป็น ๖ ธาตุมารวมกันแล้วก็เกิด ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไอ้ ๖ อย่างนี้ก็เหมือนกันถ้ามันไม่มีคู่ ไม่มีคู่ที่จะมาเนื่องกัน มันก็ไม่ทำอะไรได้ มันตายด้าน เป็นหมัน เดี๋ยวนี้ธรรมชาติมันก็มีให้ มีให้เป็นคู่เป็น ๖ อย่างเหมือนกัน คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ รูปเป็นคู่กับตา เสียงเป็นคู่กับหู กลิ่นเป็นคู่กับจมูก รสเป็นคู่กับลิ้น โผฏฐัพพะ คือสัมผัสทางผิวหนังก็คู่กับผิวหนังคู่กับกาย นั้นความรู้สึกคิดนึกทางจิตใจก็คู่กับใจ คู่กับใจ วัตถุสำหรับจิตใจ รู้สึกรู้จักนี่ เรียกว่าธรรม ธรรมารมณ์หรือธรรม เป็นคู่กับใจ มันเลยได้ ๖ คู่ นั้นแหละเป็นตัวการ เป็นตัวเรื่อง เป็นตัวที่ทำให้อะไรเกิด มันก็มีการกระทบสัมผัสกันอยู่เสมอ เกิดเป็นอายตนะ ๖ ขึ้นมาเป็นตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วก็มีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์อยู่ข้างนอก ข้างในคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ข้างนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ เป็น ๖ อย่าง ๖ คู่ นี่มันก็ทำหน้าที่ของมันอยู่ข้างในพบกันเข้ากับข้างนอกมันก็เกิดวิญญาณ เกิดสิ่งที่เรียกว่าวิญญาณ คือ ตาพบกันเข้ากับรูปก็เกิดจักษุวิญญาณ วิญญาณทางตา รู้สึกทางตา เสียงมากระทบเข้ากับหู ก็เกิดวิญญาณทางหู รู้สึกทางหู กลิ่นมากระทบกับจมูก ก็เกิดวิญญาณทางจมูก รสมากระทบเข้ากับลิ้นก็เกิดวิญญาณทางลิ้น นี่สิ่งมากระทบผิวหนัง ผิวกายก็เกิดวิญญาณทางกาย ทางผิวกาย ทางคิดนึกรู้สึกเกิดขึ้นแก่จิต มันกระทบกับจิต ก็เรียกว่าวิญญาณทางจิต เรียกว่า มโน มโนวิญญาณ เราจึงมีจักขุวิญญาณ โสตะวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ ๖ ขึ้นมา
ทีนี้มีวิญญาณมันไม่ได้หยุดแค่นั้น ยกตัวอย่างเรื่องตาอย่างเดียว ตา เรื่องอื่นนี่ก็เหมือนกัน ตา นี่ตากระทบเข้ากับรูป เมื่อมันกระทบกันเข้ามันก็เกิดจักษุวิญญาณ การเห็นทางตา เกิดสิ่งใหม่ขึ้นมาเรียกว่าจักขุวิญญาณ รูปด้วย เอ้ยตาด้วย รูปด้วย จักขุวิญญาณด้วย ๓ อย่างนี้ถึงกันอยู่ ทำงานด้วยกันอยู่ เรียกว่า สัมผัสๆ ตาสัมผัสทางอะไรอยู่โดยจักขุวิญญาณ สัมผัสก็ต้องมี ๓ มีตัวที่จะสัมผัส มีสิ่งที่จะถูกสัมผัส อันนี้ วิญญาณที่จะเป็นผู้ทำหน้าที่สัมผัส นี่เรียกว่าสัมผัส มีทั้งทางตา ทางหู กายสัมผัส โสตสัมผัส ฆานสัมผัส ๖ อย่างนี้ พอสัมผัสแล้วมันไม่ได้นั่น มันเกิดต่อไปอีกก็เกิดเวทนา สัมผัสทางตาก็เกิดเวทนาทางตา สัมผัสทางหูก็เกิดเวทนาทางหู อย่างนี้ไปจนครบทั้ง ๖ มันก็มีเวทนา ๖ ในอัตภาพในจิตใจของคนยังเป็นเช่นนี้ เวทนาๆ เกิดขึ้นในจิตใจแล้วมันก็รู้สึกว่าเป็นสุขบ้างเป็นทุกข์บ้าง เป็นสุขเป็นทุกข์บ้าง มันก็มีความรู้สึกในขั้นต่อไปตามเรื่องของจิตใจก็เรียกว่าสัญญาๆ สำคัญมั่นหมายลงไปที่เวทนานั่นน่ะ เวทนาเป็นสุข เวทนาเป็นทุกข์ เวทนาหยาบละเอียด ประณีต น่าปรารถนาไม่น่าปรารถนา นี่เป็นเวทนามาจากฝ่ายหญิง นี่เวทนามาจากฝ่ายชาย เรียกว่าสัญญาๆ ลงไปที่เวทนา พอมีสัญญาลงไปที่เวทนาแล้ว มันก็เกิดสัญเจตนา มีเจตนาจะทำอะไรสักอย่างกับสิ่งนั้น นี่เรียกว่าสัญเจตนา มันก็มี ๖ เหมือนกัน ๖ เหมือนกันทุกหมวด พอมีสัญเจตนา จะทำอะไรมันก็อยากจะทำ มันก็เรียกว่าตัณหาๆ ก็มี ๖ ตัณหา ทางรูป ทางเสียง ทางกลิ่น ทางรส ทางโผฏฐัพพะ ทางธรรมารมณ์ พอมีความอยากคือตัณหาแล้วมันก็มีความคิดที่จะทำตามความอยาก สักแต่คิดให้เรียกว่า วิตกๆๆ ทางตา ทางหู ทางจมูก ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส แล้วมันก็คิดอย่างละเอียดๆ ใคร่ครวญอย่างละเอียด เป็นเรื่องไปอย่างละเอียดเรียกว่า วิจารณ์ๆ มี ๖เหมือนกัน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจก็มี ๖ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ก็มี ๖ วิญญาณทางตา ก็มี ๖ อักษะก็มี ๖ เวทนาก็มี ๖ ตามอายตนะ สัญญาก็ ๖ สัญเจตนาก็ ๖ ตัณหาก็ ๖ วิตกก็ ๖ วิจารณ์ก็ ๖ ในจิตของมนุษย์เรามีการเปลี่ยนแปลงอยู่ในขอบเขตอันนี้นับได้ตั้ง ๖๐ อย่าง ก็มัน ๑๐ หมวดๆ ละ ๖ ละ ๖ อายาตนะภายใน อายาตนะภายนอก วิญญาณ ผัสสะ เวทนา สัญญา สัญเจตนา ตัณหา วิตก วิจารณ์ ตั้ง ๑๐ กิริยาอาการที่มันทำ แต่ละอย่างมันมี ๖๖๖๖ นี่ก็เรียกว่ามัน ๖๐ ถ้าไม่เรียนก็ไม่รู้ แต่ก็คอยดูเอาเอง เรียนเอาเอง ไม่ต้องเรียนเอาจากหนังสือ ดูเอาจากที่รู้สึกในจิตใจ ให้รู้สึกครบได้ทั้ง ๖๐ อย่าง นี่คนนี้เก่ง คนนี้รู้อภิธรรมมากมาย รู้จริงด้วย รู้ได้ประโยชน์ได้ด้วย มันก็มีความคิด มันก็มีการกระทำ ไปตามเรื่องของไอ้นั่นน่ะ มีกรรม มีรับผลกรรมไปตามเรื่องของน่ะ แต่เดี๋ยวนี้เราจะมาดูกันเฉพาะที่มันจะเป็นตัวปัญหา คือมันจะเกิดสิ่งที่เรียกว่าขันธ์ทั้ง ๕ ขันธ์ทั้ง ๕ คือ รูป รูปกายมันก็เป็นรูปขันธ์ ทุกอย่างที่อาศัยอยู่กับรูปก็เรียกว่ารูปทั้งนั้นน่ะไม่ว่าอะไร มันจึงมีหลายรูป ดิน น้ำ ลม ไฟก็เป็นรูป สภาวะใดใดที่แสดงอยู่ที่นั่น ภาวะหญิง ภาวะชาย ภาวะเฉื่อยชา ภาวะรวดเร็ว ภาวะเคลื่อนไหวก็เรียกว่ารูป รูปนี่ รูปขันธ์ ดูที่ตัวเราจะเห็นรูปขันธ์ แล้วก็เวทนาขันธ์ รู้สึกเป็นเวทนาอย่างนั้นอย่างนี้ในความรู้สึก แล้วก็มี สัญญาขันธ์ สำคัญหมั่นหมายอย่างที่ว่ามาแล้ว ก็เกิดสังขารขันธ์ คิดนึกๆๆ จะทำอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วก็มีวิญญขันธ์คอยรู้แจ้งที่นั่นที่นี่ นับตั้งแต่รู้ข้างนอกมารู้ข้างใน เช่น เวทนาเกิดขึ้นก็มีมโนวิญญาณ สัมผัสเวทนา จะทำสัญญาอะไรก็ต้องอาศัยมโนวิญญาณเป็นเครื่องช่วยให้ทำสัญญา ทำสังขารนี่วิญญาณ สำคัญมากมาไว้หลัง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี่คือตัวคน ตัวเราเอง ถ้าไม่รู้ ถ้าไม่รู้จะเรียกว่าโง่หรือฉลาดก็ไปเรียกเอาเอง สิ่งที่มันมีอยู่จริง มีอยู่แท้ ทำงานอยู่ตลอดเวลาคือขันธ์ ๕ เดี๋ยวนี้มันก็ไปยึดถือเป็นตัวกู ตัวกู รูปก็ตัวกู พอรูปมันรู้สึกอะไรได้ ร่างกายรู้สึกอะไรได้ก็ตัวกู ไอ้เวทนาก็เป็นตัวกู มีตัวกูเป็นผู้ทำเวทนา มีตัวกูเป็นผู้ทำสัญญา มีตัวกูเป็นผู้ทำสังขารคือคิดนึก มีตัวกูเป็นวิญญาณ รู้แจ้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย มีตัวกูๆ ทีนี้มันจะเกิดกิเลส ถ้าต้องการ ถ้าถูกใจตัวกูก็เกิดกิเลส ราคะ โลภะ ถ้ามันถูกใจตัวกู ถ้าไม่ถูกใจตัวกูมันก็เกิดโทสะหรือโกธะ ถ้ามันไม่รู้แน่ว่าถูกใจไม่ถูกใจมันก็เกิด โมหะ สงสัย วนเวียนอยู่ที่นั่น มันเกิดกิเลสอย่างนี้ๆ ในขันธ์ทั้ง ๕ คือคนๆ หนึ่งในชีวิตประจำวัน มันมี ๕ ส่วนที่ทำหน้าที่ต่างๆ กัน แล้วก็เนื่องกันส่งเสริมกันจนเกิดสิ่งที่เรียกว่ากิเลส เรื่องขันธ์ ๕ นี่ถ้าจะอธิบายให้ละเอียดออกไป มันก็เป็นเรื่องปฏิจจสมุบาท มันจะละเอียดไปจนยุ่ง ไม่อธิบายดีกว่า อธิบายเพียงว่าขันธ์ ๕ ขันธ์ทั้ง ๕ ก็พอ มีรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ๕ อย่างเป็นที่ตั้งสำหรับจิตมันจะได้โง่ ร่างกายเป็นอะไรขึ้นมาก็ว่ากูเป็นอย่างนั้น กูเป็นอย่างนี้ มีดบาดนิ้วก็มีดบาดกู ใครเคยรู้สึกอย่างไหน ถ้ามีดบาดนิ้วมันก็โง่ว่ามีดบาดกู มันเอาเบญจขันธ์เป็นตัวกู เอารูปเป็นตัวกู รู้สึกต่อเวทนา อร่อยไม่อร่อยนี่ก็ตัวกู สัญญามั่นหมายอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นหญิงเป็นชาย เป็นผัวเป็นเมีย เป็นอะไรก็ตามใจ มันก็เป็นเรื่องของตัวกู รู้ตัวกูรู้สึกเอาเป็นของกู สังขารคิดนึกก็กูคิดนึก วิญญาณรู้แจ้งทางตาก็กูไปรู้แจ้งรู้ทางตาทางหูนี่เป็นตัวกูๆ แล้วก็เกิดความเห็นแก่ตัว แล้วก็เกิดกิเลส สรุปเอาถ้าถูกใจ พอใจก็เกิดกิเลส หมวดแรก เรียกว่า ราคะ โลภะ ถ้าไม่พอใจก็เกิดกิเลสหมวดที่ ๒ คือ โกธะ โทสะ ถ้าไม่แน่ก็เกิดหมวดที่ ๓ ไม่รู้ว่าอะไร อัดอยู่ด้วยความสงสัย นี่เรียกว่าเกิดกิเลส ท่านทั้งหลายจงรู้จักตัวราคะหรือโลภะให้ดี แล้วก็โทสะ หรือโกธะให้ดี แล้วก็โมหะ อวิชชานี้ให้ดี มันแบ่งได้เป็น ๓ ประเภท ประเภทแรกเรียกว่า โลภะก็ได้ ราคะก็ได้ กิเลสประเภทนี้มันจะเอา มันจะเอา มันจะจับ จะยึด จะถือเอามา เป็นฝ่าย มาอยู่ด้วย มาเอา มาครอบครอง มาสะสม กิเลสประเภทนี้มันมีอาการดึงเข้ามาหาตัว นี่กิเลสประเภทที่ ๒ มันไม่ชอบ มันไม่ต้องการ มันก็จะผลักออก คือ โทสะ โกธะเป็นกิเลสหมวดที่ ๒ เป็นผลักออก ทีนี้ ความโง่ โมหะนั่นไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร มันได้แต่วิ่งอยู่รอบๆ ถ้าดูกิเลสทั้งหมดทั้งสิ้นกี่อย่าง จะพบว่าโอ้ มันมีอยู่ ๓ ประเภท ประเภท ๑ ดึงเข้ามาหาตัว ประเภทที่ ๒ ผลักออกไปจากตัว จะฆ่าจะทำลาย ประเภทที่ ๑ เอามากอดรัดยึดถือไว้ด้วยความพอใจ ประเภทที่ ๒ ผลักออกไปด้วยความไม่พอใจ ประเภทที่ ๓ ยังทำอะไรไม่ถูก ได้แต่วิ่งอยู่รอบๆ นี่กิเลส มีอยู่ที่ตัวแท้ๆ แล้วก็ยังไม่รู้จัก ไม่รู้จะเรียกว่าอย่างไร รู้จักแต่แก้วแหวนเงินทองที่เอามาประดับประดาตกแต่ง แต่ไม่รู้จักสิ่งที่ละเอียดประณีตไปกว่านั้นคือกิเลสๆๆ ขอให้รู้จักกิเลส รู้จักกิเลส พอรู้จักกิเลสก็รู้ได้เอง โอ้นี่มันร้อนนี่ มาเมื่อไรร้อนเมื่อนั้นๆ ถ้าไม่มีต่างหากจึงจะเป็นเย็น เย็น เย็นเป็นนิพพาน
ที่เราจะต้องรู้เรื่องกิเลสนี่ให้มากกว่านี้อีกสักหน่อย กิเลสมี ๓ พวกดึงเข้า โลภะ ราคะ พวกผลักออก โทสะ โกธะ พวกวิ่งอยู่รอบๆ คือโมหะ เรามีกิเลสวันหนึ่งกี่ครั้ง วันหนึ่งกี่หน ก็ดูเอาเองไม่มีใครบอกได้ มันรู้สึกอยู่ในจิตใจ แต่เราจะเรียกอาการอันนี้ลงไปว่ากิเลส กิเลสได้เกิดขึ้น จำคำว่ากิเลสไว้เป็นคำแรก กิเลสๆ คืออย่างนี้ ทีนี้เมื่อมันได้เกิดกิเลสแล้ว เกิดกิเลสแล้ว เกิดกิเลสแล้วนี่ มันมีสิ่งอันหนึ่งเกิดตามขึ้นมา คือความเคยชิน เคยชินที่จะเกิดอีก เช่น รักเข้าทีหนึ่งมันก็ง่ายที่จะรักเป็นครั้งที่สองที่สาม โกรธเข้ามาทีหนึ่งมันก็จะง่ายที่จะโกรธเป็นครั้งที่สองที่สาม โง่ไปครั้งหนึ่ง มันจะง่ายจะโง่ๆๆ เป็นครั้งที่สองที่สาม นี่ความเคยชินแห่งกิเลส ทุกคราวที่เกิดกิเลสมันจะสร้างความเคยชินที่จะเกิดซ้ำ เกิดกิเลสซ้ำขึ้นมา นี่เรียกว่า อนุสัย อนุ-สะ-ยะ ภาษาบาลี ภาษาไทยว่าอนุสัย เข้าไปสะสมไว้เป็นความเคยชินที่จะเกิดกิเลสอีก กิเลสคือตัวกิเลสโดยตรง ตัวความเคยชินที่จะเกิดกิเลสนั่นเรียกว่าอนุสัย แต่ที่บางคนเขาเรียกว่ากิเลสประเภทละเอียดก็ได้ตามใจเขา อาตมาไม่เรียกล่ะ อาตมาไม่ละเอียดละเอิดอะไร กิเลสนั่นมันมีความเคยชินที่จะเกิดกิเลส มันมีกิเลสเท่าไรมันก็เพิ่มความเคยชินทุกทีๆ ถ้าวันหนึ่งเกิดกิเลสร้อยหนมันก็เกิดความเคยชินเพิ่มขึ้นร้อยเท่า ร้อยเท่า ง่ายหรือเร็วที่เกิดกิเลสเรียกว่าอนุสัยๆ อนุสัยนี่มันง่ายที่จะโลภ ง่ายที่จะโกรธ ง่ายที่จะหลง ง่ายที่จะมีกิเลส และที่มันเลวร้ายมากเป็นชั้นหัวหน้าก็เรียกว่า อหังการ มะมังการมานานุสัย อหังการทำความสำคัญว่าตัวกู มมังการทำความสำคัญว่าของกู อนุสัยแปลว่าความเคยชิน ความเคยชินที่จะเกิดความรู้สึกว่าตัวกู ว่าของกู นี่อนุสัยชั้นหัวหน้า ชั้นนักของปุถุชนคนธรรมดา ถ้าไม่มีอนุสัยนี่เรียกว่าเป็นพระอรหันต์ ปุถุชนยังมีอยู่เรื่อยไป ความเคยชินที่จะเกิดความรู้สึกว่ากู ว่าของกู ส่วนนี้เรียกว่าอนุสัย มาจากกิเลส กิเลสให้เกิดอนุสัยคือความเคยชินแห่งกิเลส เมื่อสะสมกิเลส เมื่อสะสมอนุสัยๆ ให้มันมากๆ มันก็จะดันกลับออกมา มันจะไม่อยู่แต่ในใจ ทีนี้มันจะดันกลับออกมาอีกเมื่อได้อารมณ์ เป็นอารมณ์อะไรออกๆ ทางตา ทางหู ทางจมูก กลับเป็นกิเลสอีกทีนี้เรียกว่า อาสวะๆ ไหลออกมา ไหลกลับออกมาจากอนุสัยที่เก็บไว้ข้างใน ถ้าข้างในมีอนุสัยมาก อาสวะก็ออกมาง่าย ออกมาเร็ว ออกมามาก นี่เรียกว่า อาสวะ อาสวะ ถ้าไม่มีอนุสัย มันก็ไม่มีอาสวะออก ถ้าสิ้นอาสวะก็หมายความว่าข้างในมันไม่มีอนุสัย มันไม่มีอนุสัย มันใช้หมด ทำลายหมดหรืออะไรก็ตาม มันไม่มีอนุสัยมันก็ไม่มีอาสวะ เรื่องของกิเลสมันจะมี ๓ ขั้นตอน เป็นกิเลส โลภะ โทสะ โมหะ แล้วมันจะมีอนุสัย เคยชินที่จะเกิดกิเลส พอเก็บไว้ๆ มันก็พร้อมที่จะไหลออกมาๆ มี ๓ ขั้นตอนแบบนี้ เรียกว่า วัฏจักรของกิเลส คือเกิดกิเลส พร้อมจะไหลกลับออกมาเป็นกิเลสอีก เรียกว่ากิเลสชั้นแรก และกิเลสอนุสัยเป็นความเคยชิน กิเลสชั้นอาสวะที่จะไหลกลับออกมา ถ้าจะเรียกเป็นภาษาธรรมดาๆ ก็เรียกว่ากิเลส นี่ข้อแรก และความเคยชินแห่งกิเลสนี่เป็นข้อที่สอง กับการไหลกลับออกมาแห่งอนุสัย แห่งกิเลสนั้นอันที่สาม ถ้าเราควบคุมไว้ได้ๆ มีสติสัมปชัญญะอยู่ มันก็จะไม่เกิดอนุสัย มันจะไม่เกิดอนุสัย อนุสัยมันจะไม่มาก มันจะไม่เพิ่มขึ้น แต่ถ้าเราควบคุมไว้ไม่ได้ มันเพิ่มอนุสัยๆ อัดอยู่ข้างใน ง่ายที่จะไหลกลับออกมา ยกตัวอย่างเหมือนกับตุ่มใส่น้ำ ถ้าเราใส่น้ำลงไปๆๆ มันก็มีแรงดันที่จะออกมาน่ะมันมาก ถ้ามีรูรั่วอยู่ข้างในจากนี้มันจะออกพุ่งปริ๊ดออกมาเลยเพราะมันมีแรงดันมาก สันดานคนนี่ก็เหมือนกัน เมื่อมีอนุสัยมากๆ ก็เกิดกิเลสง่ายที่จะดันกลับออกมาเป็นอาสวะง่าย แต่ถ้าอนุสัยไม่มี มันก็ไม่มีอะไรออกมา นี้อนุสัยๆ ที่ขังอยู่ในสันดานนี่ มันมีวิธีอะไรที่จะทำให้มันหมดไป ก็คือมีวิธีที่จะทำไม่ให้เกิดกิเลส เรื่องที่ควรเกิดกิเลสมาถึงถ้าบังคับไว้ได้ บังคับไว้ได้ไม่ให้เกิดกิเลส นี่มันจะไปลดอนุสัยข้างในเสียหน่วยหนึ่ง เรื่องหนึ่ง หน่วยหนึ่ง ข้อหนึ่ง เราบังคับไม่ให้เกิดกิเลสได้ทุกที มันจะไปลดอนุสัยนั่นน่ะ เสียหน่วยหนึ่งๆ อนุสัยมันก็ลดๆๆ ไม่อาจจะออกมาเป็นอาสะวะ ถ้าเราทำวิปัสสนาถึงขีดสุด เห็น นาทีที่ 67.04 เขียนไม่ถูก อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สักกะตา ธรรมะยะตา ในที่สุด มันทำลายอนุสัยในโอ่งนั่นน่ะหมด ไม่มีอะไรจะไหลออกมา นี่ถ้าว่าทำวิปัสสนาสำเร็จ อนุสัยที่ขังอยู่ในสันดานถูกทำลายหมด ไม่มีอะไรจะไหลกลับออกมาเป็นอาสวะนี่ก็สิ้นอาสวะเป็นพระอรหันต์ นี่จะเย็นเป็นนิพพาน จะเย็นเป็นนิพพาน ไม่มีกิเลส ไม่มีอนุสัย ไม่มีอาสวะ ทั้งหมดนั่นน่ะมันเป็นกิเลส มันเป็นเรื่องของกิเลสไฟทั้งนั้น มันก็เย็นๆๆ ชีวิตนี้ก็เย็นๆๆๆ สะอาดบริสุทธิ์ด้วย สงบเย็นด้วย สะอาด สว่างและก็สงบ สะอาดคือไม่มีกิเลส นาทีที่ 68.06 เสียงไม่ดี ไม่โง่ สงบคือสงบเย็น ทั้งหมดนี้เป็นอิสระ เป็นอิสระจากกิเลส เรียกว่า วิมุตติๆๆ หลุดพ้นจากคุก จากตารางของกิเลส ซึ่งรวมอยู่ที่ตัวกูของกู หลุดจากคุกแห่งกิเลส ก็คือ หลุดจากคุกแห่งตัวกู ก็ได้รับความสงบเย็นเป็นนิพพาน
เรื่องมันมีเท่านี้ ธรรมะชาวบ้าน รู้เท่านี้ก็เกินพอ ธรรมะชาวบ้าน รู้เรื่องกิเลสเกิดอย่างไร ก็จะรู้ว่าธาตุทั้ง ๖ ปรุงอายตนะ อายตนะปรุงขันธ์ ปรุงอะไรก็ตามเรื่อง แล้วก็มีกิเลสอยู่ที่นั่น อยู่ที่ในความรู้สึกประจำวัน พอใจเกิดกิเลสประเภทหนึ่ง ไม่พอใจกิเลสประเภทหนึ่ง โง่ ไม่รู้แน่ว่าอะไรก็เกิดกิเลสอีกประเภทหนึ่ง กิเลสเกิดแล้วก็สะสมไว้เป็นอนุสัย มากเข้ามันก็จะไหลกลับออกมาโดยง่ายและโดยเร็ว เรียกว่าอาสวะ จะให้อนุสัยหมดก็ระวังอย่าให้เกิดกิเลสอีก ไม่เติมเชื้อเพลิง ไม่เติมอะไรมันอีก มันก็ลดๆ ลงไป เราทำวิปัสสนาเฉียบขาดลงไป ทำลายอนุสัยนั่นเสีย มันก็หมดไปในสันดาน ไม่มีอาสวะ ก็เป็นพระอรหันต์ ถ้าเป็นพระอรหันต์มากเกินไป ยังไม่ต้องการก็ได้ ยังไม่ต้องการเป็นพระอรหันต์ แต่ขอให้มีชีวิตเย็น เย็น เย็น ชีวิตนี้เย็น เย็นตามธรรมดาที่ชาวบ้านจะพึงมี เย็นอกเย็นใจจะพึงมีนี่เรียกว่า นาทีที่ 69.42 เขียนไม่ถูกนิพพุติ นิพพุติก็แปลว่าเย็น เย็นชั่วคราว เย็นเป็นคราวๆ ถ้าเย็นเด็ดขาด หมดกันเลยก็เรียกว่า นิพพานะ นิพพาน นิพพานเย็นเด็ดขาดไปเลย นิพพุติเย็นไปตามคราว ตามทาง ขอให้ชีวิตนี้มีนิพพุติ เย็นๆๆ
พระมาบอกให้ทุกคราวที่มีการให้ศีล ที่ไหนมีการให้ศีล รับศีล ท่านจะบอกอานิสงส์ศีลว่า สีเลนะสุคติง ยันติ เป็นสุคติเพราะศีล สีเลนะโภคะ สัมปทา สมบูรณ์ๆ ด้วยโภคะเพราะศีล สีเลนะนิพพุตติงยันติ ถึงนิพพุตติเพราะศีล นึกถึงความเย็นอกเย็นใจที่นี่ เดี๋ยวนี้ เรียกว่านิพพุตติ ตัสะมา สีลัง วิโสธะเย เพราะฉะนั้นท่านทั้งหลายจงทำศีลให้บริสุทธิ์ ก็จะได้นิพพุตติ คือ เย็นๆๆๆ ที่เรียกว่านิพพานน้อยๆ นิพพานชั่วคราว เมื่อใดกิเลสไม่รบกวน ก็มีนิพพานน้อยๆ นิพพานชั่วคราว เป็นสิ่งที่รู้สึกได้ด้วยตนเอง ไอ้ความเย็นนี่รู้สึกด้วยตนเอง คนอื่นมารู้สึกแทนไม่ได้ จึงเรียกว่า สันทิฏฐิกนิพพาน นิพพานเป็นสิ่งที่ท่านต้องรู้สึกได้ด้วยตนเอง ถ้ามันเป็นชั่วคราว มันเป็นแล้วมันกลับไม่เป็นแล้วกลับเป็นนี่ ชั่วคราวๆ นี่ จะเรียกว่า สามายิกนิพพาน นิพพานชั่วสมัยๆ ที่นี้ใช้ว่าเป็นนิพพานบังเอิญ มีอะไรเข้ามาบังเอิญอยู่ในเวลานั้นก็เรียกว่า ตทังคนิพพาน เช่นเวลานี้เราอยู่กับสิ่งที่ทำให้ไม่เกิดกิเลสได้ ซากศพก็ดีอะไรก็ดี มาอยู่เฉพาะหน้า กิเลสไม่เกิดก็เรียกว่า ตทังคนิพพาน มีองค์นั้นๆ เป็นเหตุให้นิพพาน หรือไปเข้าสมาธิเสีย ปฐมญาณ ทุติยญาณอะไรก็ตาม ด้วยสิ่งนั้นมันไม่เกิดกิเลส นิพพานอย่างนี้ก็เรียกว่า ตทังคนิพพาน นิพพานชั่วขณะบังเอิญด้วยเหตุนั้นๆ ทีนี้ถ้าไปสูงขึ้นไป สูงขึ้นไป เป็นนิพพานสูงสุด เรียกว่า นิพพาน ๒ ชนิด สอุปาทิเสสนิพพาน สิ้นกิเลสแล้ว แต่ยังรู้สึกสุขหรือทุกข์อยู่ ไม่เกิดกิเลสอีกนะ สิ้นกิเลสแล้วนะ แต่ว่าไอ้ตาหู จมูก ลิ้น กาย ใจยังรู้สึกสุขทุกข์อยู่ ตัวนี้เรียกว่า สอุปาทิเสสนิพพาน ถ้ายิ่งขึ้นไปกว่านั้นอีก สิ้นกิเลสแล้ว ไม่รู้สึกสุขหรือทุกข์ ไม่รู้สึกเป็นบวกเป็นลบ ไม่รู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์ เวทนาทั้งหลายทั้งปวงเย็นสนิท ไม่มีความหมายเป็นบวกเป็นลบ นี่เรียกว่าอนุปาติเสสนิพพาน พูดให้มันสั้นที่สุดก็ว่า สิ้นกิเลสแล้ว เวทนายังไม่เย็น เวทนายังไม่เย็น ยังรู้สึก นี่เรียกว่า สอุปาทิเสสนิพพาน สิ้นกิเลสแล้ว เวทนาเย็นสนิทไม่มีปัญหาอีกต่อไป เรียกว่า อนุปาติเสสนิพพาน นี่สูงสุดแล้ว ไม่มีอะไรสูงกว่านี้แล้ว เป็นนิพพานๆ
ชีวิตนี้ได้พัฒนามาจนถึงระดับนี้แล้วก็หมด เรื่องมันก็จบที่นิพพานนั่นน่ะ ขอให้เราเข้าใจนิพพาน สามารถจะควบคุมไม่ให้ไฟลุกขึ้นมา มันก็จะมีนิพพานไปตามบุญ ตามมีตามเกิด ตามมีตามเกิดดีกว่า ดับไฟได้เท่าไรก็มีนิพพานเท่านั้น ดับไฟได้เป็นเวลายาวนานเท่าไรก็มีเท่านั้น แต่ขอให้มันเป็นเรื่องที่รู้สึกอยู่กับจิตใจ เป็นสันติฎฐิโก สันติฎฐิโก มีอยู่ในใจ เรียกใครมาดูก็ได้ เอหิปัสสิโกๆ ใครมาดู มีอย่างนี้ๆ นี่เรียกว่านิพพานๆ สิ้นสุดแห่งกิเลส ทบทวนอีกทีว่า มันมีธาตุ มีธาตุ ๖ ปรุงเป็นอายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กายใจ ทำเป็นเรื่องเป็นราว เป็นเรื่องเป็นราวของมัน เช่นมีสิ่งที่เรียกว่าขันธ์ ๕ มีความรู้สึกพอใจก็เกิดกิเลสประเภทโลภะ ไม่พอใจก็เกิดกิเลสประเภทโทสะ โง่ เกิดกิเลสประเภทโมหะ กิเลสๆ เกิดแล้วก็สะสมอนุสัย เคยชินที่จะเกิดกิเลส ทำลายอนุสัยเสียมันก็หมด ไม่มีกิเลส ไม่มีอนุสัย ไม่มีอาสวะเป็นพระอรหันต์ ถ้าเห็นว่ามันมากไป ยังไม่ต้องการก็ถูกแล้วมันจะมากเกินไป เดี๋ยวนี้ยังไม่ต้องการเป็นพระอรหันต์ แต่ขอให้มันมีความเย็น คือ กิเลสเกิดน้อย ให้มีความเย็นพอสมควรแก่ความต้องการของเรา เรามีชีวิตอยู่ด้วยความเย็น เป็นพระนิพพานน้อยๆ เรียกว่า นิพพุตติๆๆ ไปพลางก่อน เข้าใจอันนี้ไปพลางก่อน แล้วทำให้มากขึ้นไปๆๆ ในอนาคตข้างหน้า มันจะถึงนิพพานโดยสมบูรณ์เข้าสักวันหนึ่ง ธรรมะชาวบ้านจบแล้ว มากเกินกว่านี้ก็ไม่ใช่ธรรมะชาวบ้าน นี่มันก็มากพออยู่แล้วไม่ใช่เล็กน้อยเลย ธรรมะชาวบ้านโดยหัวข้อๆ แท้จริงมันมีอย่างนี้ ธรรมะชาวบ้าน รู้เรื่องธาตุ รู้เรื่องอายตนะ รู้เรื่องขันธ์ รู้เรื่องกิเลส รู้เรื่องความดับกิเลส ก็พอ ถ้าเป็น ๕ เรื่องก็จำไว้ ๕ เรื่องว่านี่มีเสา ๕ เสาอยู่บนหลังคา แสดงความหมายกันอย่างนี้ มันมีสิ่งที่ต้องจัดการกัน ๕ เรื่อง ๕ ความหมาย
ขอแสดงความยินดีครั้งหนึ่งในการมาของท่านทั้งหลายสู่สถานที่นี้ เพื่อแสวงหาความรู้ทางธรรมะ เพื่อไปประกอบชีวิตนี้ให้เป็นชีวิตที่มีการเจริญก้าวหน้าไปตามทางของพระนิพพานที่เย็นๆๆๆ เป็นชีวิตที่เย็น เป็นชีวิตที่ไม่กัดเจ้าของ ถ้าไม่มีธรรมะแล้ว ชีวิตนี้ ไม่ต้องชีวิตไหน มันกัดเจ้าของ มันกัดตัวเอง มันเลวกว่าหมา เพราะว่าหมามันยังไม่กัดเจ้าของ ชีวิตนี้ถ้าไม่มีธรรมะมันกัดเจ้าของ เดี๋ยวความรักกัด เร่าร้อนเป็นไฟ เดี๋ยวความโกรธกัดอ้าวร้อนเป็นไฟ เดี๋ยวก็เกลียดนั่นเกลียดนี่กัดร้อนเป็นไฟ เดี๋ยวความกลัว กลัวนั่นกลัวนี่กัดร้อนเป็นไฟ เดี๋ยวตื่นเต้นอย่างนั้นอย่างนี่ วุ่นวายอย่างนั่นอย่างนี่ กัดร้อนเป็นไฟ วิตกกังวลถึงสิ่งที่ยังไม่มา ร้อนเป็นไฟ อาลัยอาวรณ์สิ่งที่ล่วงไปแล้วก็เป็นไฟ อิจฉาริษยาก็เป็นไฟ ความหวงก็เป็นไฟ ความหึงก็เป็นไฟ เพราะมันถึงกับฆ่ากันตายได้ นี่ชีวิตมันกัดเจ้าของ มันกัดเจ้าของ เพราะชีวิตมันไม่ได้รับการพัฒนา มันมีแต่กิเลส ชีวิตกัดเจ้าของ เอาธรรมะมาใส่ในชีวิต ชีวิตเป็นชีวิตธรรมะไม่มีการกัดเจ้าของ มีแต่ความเยือกเย็นเป็นนิพพาน
ขอให้ท่านทั้งหลายรู้จักสิ่งนี้ คือสิ่งที่เรียกว่าชีวิต ธรรมชาติให้มาเพื่อพัฒนาเป็นสิ่งสูงสุด ได้รับความสงบเย็น ไม่เสียชาติที่เกิดมา ไม่เสียชาติที่เกิดมาเป็นมนุษย์และพบกับพุทธศาสนา ขอให้ท่านทั้งหลายได้รับสิ่งนี้ ไม่เสียชาติที่เกิดมา ธรรมะๆ ที่จะช่วยได้นี่จะเรียกว่าธรรมะชาวบ้าน ธรรมะสำหรับชาวบ้าน มีรายละเอียดดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ขอให้ท่านทั้งหลายพยายามศึกษาให้เข้าใจและปฏิบัติให้ได้ ก็จะได้รับผลสมตามความมุ่งหมาย ไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์และพบกับพุทธศาสนา มีความสุขสวัสดีเป็นชีวิตเยือกเย็นอยู่ทุกทิพาราตรีกาลเทอญ ขอยุติการบรรยาย
นาทีที่ 78.33 มีคำถามฟังไม่ออก ของปติฏจจสมุปบาท ก็มีนรก เกิดขึ้นที่ตา หู จมูก ลิ้น กายใจ นรกใต้ดิน สวรรค์บนฟ้าฝากไว้เป็นของคนโง่ เป็นของขวัญแก่คนโง่ ถ้ามันเป็นพุทธบริษัท มันอยู่ที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทำผิดหรือถูก นี่คือนรกของพระพุทธเจ้า ลองทำอะไรผิดๆ สิ มันจะร้อนขึ้นมาที่ ตา หู จมูก ลิ้น กายใจ ทำให้ถูกมันสบาย มันเย็นขึ้นมาที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จริงที่นี่และเดี๋ยวนี้เป็นสันทิฏฐิโกๆ อะกาลิโก คืออย่างนี้ เอาไปไว้ใต้ดินหรือบนฟ้า ต้องรอต่อตายแล้ว นาทีที่ 79.42 ไม่แน่ใจ คนดี ดีฆ่าใกล้ๆ คนบ้าใบ้ฆ่าไกลๆ คุณไปเลือกเอาเอง จะเอาต่อตายแล้วหรือจะเอากันที่นี่ เดี๋ยวนี้ ไม่ต้องเชื่ออาตมาพูดหรอก เพราะพระพุทธเจ้าตรัสว่าไม่ต้องเชื่อแม้แต่พระพุทธเจ้าตรัส แต่ไปมองให้เห็นว่ามันเป็นอย่างนั้นๆ จริงๆ แล้วก็ปฏิบัติดูเองเถิด ก็ฟังแล้วไม่ใช่ไม่ฟัง แต่ยังไม่ต้องเชื่อ ไปดูให้เห็นว่ามันจริงอย่างนั้นแล้วปฏิบัติๆ ดู ค่อยเชื่อทีหลัง ธรรมะคืออย่างนี้ พระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างนี้ ไม่ต้องเชื่อผู้อื่น ไม่ต้องเชื่อภายนอก แต่เชื่อภายใน เห็นเหตุปัจจัยที่มันมีอยู่จริง คำพูด เหตุผลมันมีอยู่ที่คำพูด ก็ลองปฏิบัติดู ลองปฏิบัติดูก็โอ้ มันก็จริงๆ ก็ได้รับผล
เรื่องกาลามสูตรไปศึกษาดีๆ มีประโยชน์ที่สุด แต่ว่าถ้าศึกษาไม่ดีแล้วมันไม่เชื่อแล้วมันก็บ้าที่สุด ไม่เชื่อโดยอาการ ๑๐ อย่าง แต่เชื่อโดยอาการอย่างเดียวคือเห็นเหตุผลอยู่ที่คำพูดคำกล่าว ว่าทำแล้วจะดับทุกข์หรือทำกันแล้วไม่ดับทุกข์ ธรรมะสำหรับชาวบ้านเท่านี้ก็พอ เกินพอ โดยหัวข้อ โดยรายละเอียดก็เหมือนอย่างอธิบาย ให้เกิดสติปัญญา สัมปชัญญะ ดับไฟให้ทันท่วงที ถ้าไฟจะลุกขึ้นมา ถ้าคนโง่มันดับไม่ได้ มันยังลุกอยู่ได้ ถ้าคนฉลาดมันดับได้ๆ ทุกๆ ไฟ ทุกๆ คราวที่ไฟมันจะเกิดขึ้น ก็ไม่ต้องเดือดร้อนด้วยไฟ ถ้าไม่พัฒนาก็ช่วยไม่ได้ พัฒนาชีวิตให้เป็นสิ่งที่สะอาด สว่าง สงบ วิมุตติหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง ๕ วัน ๑๐ วันนี้มันไม่พอหรอก เพียงแต่รู้วิธีว่าจะปฏิบัติอย่างไร กลับไปบ้านแล้วไปศึกษาต่อไปปฏิบัติต่อไป มันก็จะพอเข้าสักวัน แต่ ๓ วัน ๕ วัน ๑๐ วันที่นี่ไม่พอ มันไม่พอ แต่มันพอเพียงแต่ให้รู้ๆ ว่าจะทำอย่างไร มาศึกษาเพียงให้รู้ว่าจะทำอย่างไร ต้องลองปฏิบัติดูแล้วด้วยว่าไปปฏิบัติเป็นตัวอย่างว่ามันดับทุกข์ได้จริงๆ นี่เรียนเรื่องปติฏจจสมุปบาท แล้วก็ปฏิบัติอานาปานะสติ ก็ดับทุกข์ที่เกิดจากปติฏจจสมุปบาท เราก็เป็นผู้ที่พ้นทุกข์ ถ้าได้ความเข้าใจ ความรู้เพียงพอ ก็เรียกว่าคุ้มค่ามาๆ ถ้าไม่เข้าใจ หรือไม่ได้รับประโยชน์อะไรกลับไปก็เรียกว่าไม่คุ้มค่ามา ใช้เงินใช้เวลาไม่คุ้มค่ามา ยมบาลเฉดกระบาล ยมบาลจะเฉดศีรษะว่าท่านใช้เงินไม่คุ้มค่ามา อย่างน้อยใช้เงินให้คุ้มค่ามา ได้รับความรู้ ได้รับการปฏิบัติ เข้าใจพระพุทธศาสนา อย่างนี้แล้วยมบาลไม่เขกหัว จะไหว้ เขาจะไหว้ ยมบาลจะไหว้เอา จำให้ดีๆ เกิดกิเลสแล้วเกิดอนุสัย เมื่อสะสมไว้ในสันดานมากๆ มันจะมีอาสวะที่จะพุ่งออกมา ทำลายอนุสัยเสียด้วยฌาน ด้วยอริยมรรค ด้วยอริยฌาน คือปฏิบัติถูกต้องตาม นาทีที่ 84.25 ฟังไม่ออก อนุสัยถูกทำลายไม่ไหลกลับออกมาเป็นอาสวะ สิ้นอาสวะ มันไม่ขัดกัน จะทำไร่ทำนา ขอทานไปพลางก็ได้ ศึกษาธรรมะอย่าให้เกิดกิเลสหรือความทุกข์ในจิตใจ ทำไร่ทำนาไปพลางก็ได้ มองเห็นความจริงอย่างนี้อยู่ ก็ควบคุมไว้ได้ก็ไม่เป็นทุกข์ ทำนายิ้มแฉ่ง ทำสวนยิ้มแฉ่ง มีความเยือกเย็นพอใจ พอใจว่าเรารู้มากขึ้นในการที่จะดับทุกข์ๆ รู้มากขึ้นๆ ทำนาอยู่ก็ได้ ทำสวนอยู่ก็ได้ อย่าแก้ตัวๆ ว่ากูไม่มีเวลา เอาเวลาไปเป็นทาสกิเลสเสียหมดมันก็ไม่มีเวลา เอาเวลามาควบคุมกิเลสมันก็จะดับทุกข์ เพราะฉะนั้นขอปิดประชุม