แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เมื่อวานเราพูดกันเรื่องอบรมธรรมะ วันนี้พูดกันเรื่อง อบรมจิต คือการอบรมจิต ครั้งที่แล้วมา ก็ได้พูดกันจนเป็นที่เข้าใจกันแล้ว ว่าเราจะต้องพัฒนาสิ่งที่เรียกว่าชีวิตนี่ให้ถึงที่สุด คือธรรมชาติให้มาสำหรับพัฒนา เรียกโดยอุปมาว่า สิ่งสูงสุด จะเป็นพระเจ้าหรือเป็นอะไรก็แล้วแต่ สิ่งสูงสุด ให้มาสำหรับพัฒนาเอาเอง รับผิดชอบเอง เมื่อใครไม่พัฒนาหรือพัฒนาไม่ได้ ก็ไม่ได้รับประโยชน์ ไม่ได้รับประโยชน์ในการมีชีวิต หรือว่าได้น้อยเกินไป ถ้าพัฒนาผิดก็กลับเป็นโทษ ต้องมีการพัฒนา พัฒนาถูกต้อง แล้วก็จะได้รับประโยชน์เต็มที่ตามที่ควรจะได้ ทีนี้ ในการที่จะพัฒนานั้น ต้องมีเครื่องมือ ท่านทั้งหลายก็เห็นอยู่แล้ว ไม่ว่าจะทำอะไร มันต้องมีเครื่องมือ ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง จะทำไร่ ทำนา จะค้าขาย ก็ล้วนแต่มีเครื่องมือ เดี๋ยวนี้ในการพัฒนาจิตนั่น พัฒนาชีวิตเนี่ย ในการพัฒนาชีวิตจะต้องมีจิตที่เหมาะสม คือมีเครื่องมือที่เหมาะสมในการพัฒนาชีวิต การที่จะมีจิตที่เหมาะสม ก็ต้องพัฒนาจิตโดยเฉพาะ การพัฒนาจิต เรียกในบาลีว่าจิตภาวนาโดยมาก แต่ที่ท่านพระพุทธเจ้าท่านตรัสเรียกอีกอย่างหนึ่งซึ่งมีความหมายดีมาก ก็เรียกว่า พัฒนา อธิจิต (นาทีที่ 04:08) อธิจิต เรียกรวมกันว่า อธิจิตตาโยคะ อธิจิตตาโยคะ หรืออธิตาโยค อธิจิตาโยค คือการกระทำจิต ให้เป็นจิตที่ยิ่งกว่า ยิ่งกว่าธรรมดา พัฒนาจิตให้มีคุณสมบัติยิ่งกว่าที่จิตตามธรรมดามันมี นี่เรียกว่าอธิจิตตาโยค เรามาศึกษาธรรมะ แล้วก็ฝึกจิตด้วยเป็นสองเรื่องด้วยกัน ขอให้ท่านสังเกตดูให้ดี รู้หลักธรรมะ ก็คือรู้ว่าชีวิตคืออะไร เป็นอย่างไร เป็นไปตามกฎเกณฑ์อะไร มีปกติอย่างไร แล้วก็ต้องรู้ว่าจะต้องพัฒนามันอย่างไร (เสียงหาย นาทีที่ 05:27) ที่บอกให้รู้ว่าความทุกข์เกิดขึ้นอย่างไร ความทุกข์ดับไปอย่างไร ความทุกข์อาศัยอะไร แล้วเกิดขึ้น อาศัยอะไรแล้วดับไป โดยละเอียดนี้เรียกว่าเรื่องปฏิจจสมุปบาท (นาทีที่ 05: 47) พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าผู้ใดเห็นธรรม ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา เห็นฉัน เรื่องปฏิจจสมุปบาทเป็นเรื่องที่ต้องเห็นถึงจะเข้าใจแจ่มแจ้ง นั่นเรียกว่าเห็นธรรม เห็นธรรมคือเห็นพระพุทธองค์ ครั้นเห็นพระพุทธองค์แล้วก็มีการปฏิบัติตามนั้น เหมือนกับเดินตามพระพุทธองค์ไป นี่เรียกว่าเรามีทั้งการศึกษาในส่วนหลักวิชา แล้วเราก็มีการปฏิบัติในส่วนที่เป็นการปฏิบัติ ดังนั้นจึงได้รับประโยชน์ คือผลของการปฏิบัติ โดยไม่ไปไหนเสีย โดยไม่ไปไหนเสีย เป็นอันว่าเราต้องฝึกจิต เอามาเป็นเครื่องมือพัฒนาชีวิต ให้เกิดผลตามที่เราต้องการ ท่านคิดดูเอาเองเถอะว่า ถ้าไม่มีการกระทำอย่างนี้จะเป็นอย่างไร มันจะเปะปะๆ ไปตามบุญตามกรรม เหมือนที่เป็นกันโดยมาก แล้วถ้าผิดพลาดอย่างนั้นก็ไปเป็นอันธพาลเลย อันธพาล รับผลร้าย การมีธรรมะจึงเท่ากับการอยู่กับพระพุทธเจ้า หรือพระธรรม หรือพระสงฆ์ มันก็เป็นการปลอดภัย จะมีพระพุทธเจ้าอยู่กับเรา หวังว่าท่านทั้งหลายจะพยายามอย่างสุดความสามารถในการที่จะรู้ธรรมะ แล้วก็ปฏิบัติธรรมะ ทีนี้ก็จะได้พูดกันถึงการปฏิบัติธรรมะ ปฏิบัติจิต อบรมจิต ต่อไป ที่เรียกว่าอธิจิตโยค โดยเปรียบเทียบ เปรียบเทียบเหมือนกับจับสัตว์ในป่ามาฝึกให้มันเป็นสัตว์บ้าน สัตว์ป่าธรรมดาดุร้าย อันตราย แล้วโง่ แล้วก็ฝึกยาก แล้วเอามาฝึกจนได้ตามที่ต้องการ เช่นช้างป่า ควายป่า จับมาฝึก ช้างเนี่ยฝึกได้สนิทสนมจนเชื่อง เหมือนกับแมว ใช้ประโยชน์ ใช้งานได้ดี ควายป่าก็ไถนาได้ แม้แต่ลิงก็เอามาเล่นละครได้ เอามาเล่นละคร แต่มันก็มีความยาก ท่านลองคิดดูเถอะ สังเกตดู มันมีความยากในการที่จะฝึกสัตว์ป่า และนอกจากจะมีความยาก บางทีก็มีอันตรายด้วย ผู้ฝึกฝึกไม่ดี สัตว์ป่าทำอันตราย จิตนี่ก็เหมือนกันนะ ต้องฝึกถูกต้อง ฝึกไม่ดีจัดการกับมันไม่ดี ผิดๆ ถูกๆ ก็เป็นอันตรายเป็นบ้าเป็นบอ เป็นอะไรไปก็ได้ นี่เรียกว่าส่วนที่มันเป็นอันตราย ดังนั้นเราจึงต้องมีระบบการฝึกที่ถูกต้อง ที่ถูกต้อง ในสมัยพระพุทธกาล พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ระบบเดียวเท่านั้น คือระบบอาณาปานสติ (นาทีที่ 10:07) สอนให้ภิกษุอยู่ด้วยระบบอาณาปานสติ จะไม่เกิดเรื่องอย่างนั้นอย่างนี้ แต่บางทีเรียกว่าระบบสติปัฏฐาน มันเรื่องเดียวกัน สติปัฏฐาน ตั้งสติ อาณาปานสติ ก็คือฝึกสติทุกครั้งที่มีการหายใจเข้าออก ก็ตรัสว่า เมื่อตถาคตอยู่ด้วยวิหารธรรมคืออาณาปานสติก็ได้บรรลุสัมมาสัมโพธิญาณ (นาทีที่ 10:42) หมายความว่า ท่านตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าด้วยการปฏิบัติอาณาปานสติ ส่วนเรื่องการประกอบ ไอ้ส่วนบทประกอบเช่นกายคตาสติ หรือพรหมวิหารนี้เป็นเรื่องช่วยให้อาณาปานสติเป็นไปได้ด้วยดี มันจึงได้ไม่ได้มีปัญหาอะไรมาก ฝึกสติ ฝึกสติ จะเรียกว่าฝึกสติปัฏฐานก็ได้ จะเป็นคำกล่าวรวมๆ ไป ถ้าพูดว่าฝึกอาณาปานสติตามที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ชัดเจนในสูตรชื่อนั้น สูตรชื่ออาณาปานสติ สูตรนั้นละก็ชัดเจนมาก เราใช้เป็นหนังสือคู่มือ แบ่งออกเป็น 16 ขั้นตอน ปฏิบัติไปตามลำดับ ตั้งแต่ต้นจนปลาย คือตั้งแต่เริ่มกระทำจนถึงกับบรรลุมรรคผล ท่านอาศัยหนังสือเล่มนั้นเป็นคู่มือก็ขอให้อ่านสิบครั้ง อ่านสิบเที่ยวแล้วก็ปฏิบัติดูไปทีละนิดๆๆ แล้วมันก็จะสอนให้เอง การสอนที่ดีที่สุด คือการปฏิบัติ มันสอน ข้อนี้ดีกว่า ดีกว่าคนสอน ดีกว่าหนังสือสอน หรืออะไรสอน คือไม่ลึกซึ้งเท่ากับที่ว่าการปฏิบัติมันสอน เหมือนท่านหัดขี่รถจักรยาน ท่านลองคิดดูว่าใครสอน ไอ้รถนั่นแหละมันสอน ไอ้ตัวรถนั่นแหละมันจะสอน ถ้าลึกลงไปกว่านั้นอีก ไอ้ตัวการหกล้มนั่นแหละ มันจะสอน มันช่วยสอนจนไม่หกล้ม จนขี่ได้เป็นว่าเล่น คนสอนได้ คนสอนได้ แม้แต่ว่าจะพายเรือ ใครสอนได้ บอกเถอะ มันก็พายเก้ๆ กังๆ มันต้องไปพายๆๆ แล้วพายนั่นแหละมันสอน เรือนั่นแหละมันสอน นี่เรียกว่าการกระทำมันสอน อย่าไปสนใจแต่เพียงว่าอ่านหนังสือ หรือคนบอก หรืออาจารย์บอก ต้องมีการกระทำ แล้วการกระทำนั้นมันจะสอนตลอดเวลา
เอาละ ไม่ว่า สอนเด็กให้เดิน สอนเด็กให้นั่ง สอนเด็กให้เดิน อย่าเข้าใจไปว่าคนสอน การกระทำนั่นนะมันจะสอน คือเด็กมันจะยืน หรือมันจะล้ม หรือมันจะรู้สึกขึ้นมาเอง ว่าทรงอย่างไร ทรงตัวอย่างไร ขยับอย่างไร ทรงตัวอย่างไร มันค่อยๆ รู้ของมันเองนะ นี่เป็นความลับ คนโง่ก็จะมัวแต่คนให้อื่นสอน แต่โดยแท้จริงแล้ว ธรรมชาติกำหนดมาให้การปฏิบัติเป็นผู้สอน ดังนั้นจึงต้องปฏิบัติ ท่านจะทำงานฝีมือ หรือจะเล่นกีฬา หรือจะทำอะไรก็ตาม ผู้ที่สอนที่ดีที่สุดคือ การลงมือปฏิบัติๆๆ เราอ่านหนังสือ หรือเราฟังคำอธิบายนั้นเพียงแต่รู้ค้าว (นาทีที่ 14:51) รู้ค้าว แล้วไปปฏิบัติเอาเอง พอปฏิบัติเอาเอง เรื่องก็สำเร็จประโยชน์ คนเราทำอะไรเป็นขึ้นมาก็เพราะเหตุการณ์ที่ไปกระทำเท่านั้นมันสอน ทีแรกไม่มีใครมีความรู้ แล้วมันมีความรู้ขึ้นมาได้อย่างไร แล้วคนป่าสมัยหมื่นปีแสนปี มันไม่มีความรู้อะไร แต่แล้วมันมีความรู้ขึ้นมาได้อย่างไรเนี่ย เพราะมันไปมีประสบการณ์ ไปทำอะไร ประสบการณ์มันสอน มันจึงรู้อะไรมากขึ้นๆ จนคนเดี๋ยวนี้รู้อะไรเหลือประมาณ อะไรมันสอนล่ะ ก็ไม่ได้มีครูสอน พบจากการกระทำเพิ่มขึ้นๆ ขอให้ยึดหลักนี้เป็นหลักในการปฏิบัติธรรมะอบรมจิต ขอให้อบรมๆๆ ไอ้คำว่าอบรมๆ มันไม่ใช่ว่าเรียนท่องจำ มันคือการกระทำที่ละเอียดๆ ประณีต ฉลาด อบรม จะขอพูดสักหน่อยเผื่อว่ายังไม่ทราบ สำหรับคำว่าสิกขา (นาทีที่ 16:21) สิกขา ศีลสิกขา จิตตสิกา ปัญญาสิกขา สิกขา สิกขาเนี่ยแปลว่าการศึกษา ศึกษา ภาษาไทยเราเรียกว่าศึกษา ภาษาบาลีเรียกว่าสิกขา ภาษาสันสกฤตเรียกว่า สิจฉา (นาทีที่ 16:44) ถ้าออกเสียงอย่างสันสกฤต ตัวหนังสือเขาออกเสียงว่าสิจฉา รวมกันก็คือ ศึกษา ศึกษา คำว่าศึกษาหรือสิกขานั่น ในตัวหนังสือมันบอกชัด บอกชัดเลย มันประกอบขึ้นด้วยคำว่า สะ กับคำว่าอิกขะ สะ แล้วก็อิกขะ รวมกันเป็นสิกขะ ที่จะยาวเป็นขานั่นเป็นวิธีออกเสียง สะ แปลว่า เอนก็ได้ แปลว่าข้างในก็ได้ แปลว่าใกล้ๆ ก็ได้ ทีนี้อิกขะ อิกขะ แปลว่าเห็นๆๆ ถ้าตาเห็นก็เห็นด้วยตา ถ้าปัญญา สติปัญญาเห็นก็เห็นด้วยสติปัญญาเห็น แปลว่าเห็น งั้นสิกขา สิกขา จึงแปลว่า ดูเอง ดูตัวเอง ก็ในตัวเอง แล้วก็เห็นตัวเองนั่น คำว่าสิกขานั่นแปลอย่างนั้น สะ แปลว่า เอง ดูตนเอง ด้วยตัวเอง ในตัวเอง เห็นตัวเอง xx (นาทีที่ 18:10) ก็มีการดู การดู การเพ่งอารมณ์ในสมาธินี่ก็เป็นการดู ต้องมีการดู ครั้นมีการดูก็จะมีการเห็น จังหวะมันเป็นอย่างนี้ ครั้นมีการเห็น จะมีการรู้จัก เห็นแต่ไม่รู้จัก ไม่เรียกว่าเห็นนะ ดู แล้วก็เห็น เห็นแล้วรู้จัก เพราะรู้จักก็เอามาวิจัยวิจารณ์ในสิ่งที่เรารู้จัก นี่คือเรียกว่าวิจัย วิจัย คำนี้เก่าแก่พระพุทธเจ้าเคยใช้ ไม่ใช่คำใหม่ๆ ที่เด็กสมัยนี้ใช้ วิจัย ธัมมวิจัย ธัมมวิจยะสัมโภชฌงค์ (นาทีที่ 18:56) วิจัยจนรู้เป็นอย่างไร วิจัยโดยเหตุ วิจัยโดยผล วิจัยโดยรอบด้าน นี่วิจัยๆ ทำแล้วก็โอ้ รู้แล้วว่านี่จะต้องปฏิบัติอย่างไร เพราะฉะนั้น ขอให้ท่านดูเข้าไปข้างใน จะดูจิต ดูอะไรก็ดูตัวความทุกข์ ดูเข้าไปข้างในของตนเอง ด้วยตนเอง โดยตนเอง ก็มีการเห็น เห็นก็รู้จัก รู้จักก็วิจัยให้ละเอียด ก็จะพบว่าจะต้องปฏิบัติอย่างไร จึงมีเวลาที่ตั้งต้นด้วยการดู ด้วยการเห็น ด้วยการรู้จัก ด้วยการวิจัย วิจารณ์ แล้วก็ปฏิบัติถูก ถูก ตรงเรื่อง ไม่มีทางจะผิดพลาด ไอ้การทำอย่างนั้นแหละ คือ สิ่งที่เรียกว่า ศึกษาแหละ ท่านจะศึกษาอะไร ก็จงใช้วิธีนี้ ไม่ใช่ศึกษาเรื่องไม่ใช่ธรรมะ ศึกษาเรื่องธรรมดาก็จงใช้วิธีนี้ ศึกษาสิ่งของ ศึกษาการงาน ศึกษาอะไรก็ใช้ให้มันครบ ก็ต้องดูเข้าไปที่สิ่งนั้น แล้วก็เห็น เห็นแล้วก็รู้จัก รู้จักแล้วก็วิจัยวิจารณ์แล้วก็สามารถจะจัดการกับมันเลย นี่เป็นการศึกษา แปลเป็นอย่างอื่นไม่ถูก ไม่พอ ต้องใช้คำว่า ศึกษาไปตาม สิกขา ทีนี้ก็ดูว่ามันทำแต่อะไร กระทำแก่อะไร ก็กระทำแก่จิตใจ ซึ่งเป็นธรรมชาติ หรือเหมือนๆ กับเดิมพัน ที่ได้มาพร้อมกับร่างกาย ไอ้สิ่งที่เราเรียกว่าอัตภาพร่างกายเนี่ย ประกอบมาพร้อม คือฝ่ายวัตถุก็มี ฝ่ายจิตก็มี มีสองอย่าง นอกนั้นก็มันขึ้นอยู่กับกายหรือจิต อย่าไปมีสิ่งที่สามว่าอัตตา อัตตา เข้าไปอีก ถ้ามีสิ่งที่สามอย่างนั้นแล้วมันเป็นลัทธิอื่น ไม่ใช่ลัทธิพุทธศาสนา ถ้าที่พระพุทธศาสนามีแต่กายกับจิต แล้วก็มีความโง่เอาเองด้วยอวิชชา ว่ามีอัตตา อัตตา เป็นตัวกู เป็นตัวกู มันจึงเกิดสิ่งที่สาม มันยุ่ง มันยึดมั่น ถือมั่นเป็นของกู อะไรเข้ามามันก็ยุ่ง มันก็เกิดความทุกข์ เพราะไอ้สิ่งที่สามแหละทำให้เกิดความทุกข์ คืออัตตา มีอัตตา แล้วก็มีตัวกู ก็มีของกู แล้วก็เห็นแก่ตน เห็นแก่ตน คำนี้ช่วยจำไว้ตลอดกาล เห็นแก่ตน เพราะมีตนแล้วเห็นแก่ตน พอเห็นแก่ตนก็เกิดกิเลส มานะอัตตา เกิดกิเลสประเภทบวกจะเอา เกิดกิเลสประเภทลบจะฆ่า เกิดกิเลสประเภทโง่ก็วนเวียนมัวเมาหลงใหลอยู่ เพราะมันมีความเห็นแก่ตน ถ้าเราปฏิบัติสำเร็จ ก็กำจัดความเห็นแก่ตนได้ โลกนี้ก็จะมีสันติภาพ เดี๋ยวนี้กำลังมีความเห็นแก่ตน ดูเอาเองเถอะ ไม่ต้องบรรยายรายละเอียด เต็มไปด้วย ความเลวร้าย ล้วนแต่มาจาก มาจากความเห็นแก่ตนทั้งนั้น เรื่องเล็กก็ดี เรื่องใหญ่ก็ดี การบ้าน การเมือง การเศรษฐกิจ การปกครอง การเมือง อะไรก็ มันมาจากความเห็นแก่ตนมากขึ้นๆ ตามความเจริญทางวัตถุ ไม่มีตนก็เหลือแต่กายกับจิต ก็ฝึกมันให้ถูกต้อง ให้ร่างกายมีสมรรถนะดี สุขภาพดี มีอนามัยดี แล้วก็มีระบบประสาท ในร่างกายนั้นมีระบบประสาทสำหรับจะรับอารมณ์ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีระบบประสาท แล้วทีนี้ก็จะมีส่วนจิตที่จะรับรู้ทางระบบประสาท คิด นึก รู้สึกได้ ว่าจะต้องทำอย่างไร จิต จิต เกิด รู้จักหน้าที่ของตนเองโดยไม่ต้องมีอัตตา กายก็ทำหน้าที่ของตนเองได้โดยไม่ต้องมีอัตตา ทั้งกายและทั้งจิต ก็ไม่มีอัตตา ไม่ใช่อัตตา คำๆ นี้ถ้าพูดให้ถูกต้อง ต้องพูดว่า มิใช่อัตตา คือเป็นอนัตตา ไม่ใช่มันจะไม่มีอะไรเสียเลย มันมีแต่มันมิใช่อัตตา ในตัวอัตตา อัตตาเป็นความรู้สึกซึ่งเรามีอยู่ตลอดเวลาโดยความโง่ของเรา อัตตาเป็นสิ่งที่มีอยู่ตลอดเวลา แต่มันเป็นเรื่องผีหลอก ไม่ใช่เรื่องจริง เป็นเรื่องของความโง่ คิดไปตามความโง่ ไม่รู้จักสิ่งเหล่านั้นตามที่เป็นจริง ก็เกิดความรู้สึกขึ้นมาเองว่าอัตตา อัตตาตามธรรมชาตินั้นก็มีอย่างนี้ ในบรรดาสิ่งที่มีชีวิตต้องมีความรู้สึกว่าอัตตาอย่างนี้เพื่อเป็นจุดกลาง เป็นแกนกลาง สำหรับที่จะได้มีชีวิต จะบริหารชีวิต แต่มันไม่มากถึงกับเห็นแก่ตัว ไอ้มากจนเห็นแก่ตัวนี่คือโง่ทีหลัง โง่ว่ามีอัตตา อัตตาหนักขึ้นๆ ของๆ อัตตา คืออัตตนียา อัตตนียา (นาทีที่ 25:15) ก็มากขึ้นๆ จนเห็นแก่ตัว ความเห็นแก่ตัวนี้ก็คือ ปัญญาที่เห็นแต่ประโยชน์ของตน เรียกเป็นบาลีว่า อัตตัตถะปัญญา อัตตัตถะปัญญา (นาทีที่ 25:34) อัตตะ แล้วก็อัตถะ แล้วก็ปัญญา อัตตัตถะปัญญา ปัญญาที่เห็นแก่ประโยชน์ของตน อย่างอื่นไม่ดูเลยไม่เห็น เห็นแต่ประโยชน์ที่ตนจะได้มันก็มีความเห็นแก่ตน นี่พระบาลีตรัสไว้เรื่องนี้ ก็น่า น่าสนใจที่สุด อัตตัตถะปัญญา อสุจี มนุสสา (นาทีที่ 26:12) ผู้มีปัญญาเห็นแต่ประโยชน์ตนเป็นมนุษย์อสุจิ ต้องใช้คำว่า อสุจี มนุสสา เป็นมนุษย์อสุจิ คือมนุษย์สกปรก ทีนี้มันไม่สกปรกเฉยๆ มันทำอันตราย มันทำอันตรายโลก ความเห็นแก่ตัว นี่เราเห็นได้ว่าเป็นความเข้าใจผิด เป็นความโง่ เป็นความหลงอะไรที่มันเกิดตัวตนก็ของตนอะไรขึ้นมา จึงเห็นแก่ตน สัญชาตญาณอันนี้ที่เห็นแก่ตนได้เองตามธรรมชาตินี้ต้องจัดการ ต้องจัดการ คือแก้ไข หรือพัฒนาให้เห็นแก่ความถูกต้อง ให้เห็นแก่ผู้อื่น อย่ามัวเห็นแก่ตนอยู่นักเลย ว่าไปตามธรรมชาติล้วนๆ ไม่ได้รับการพัฒนา ไอ้ความเห็นแก่ตัวมันก็จะมากขึ้นๆ กระทั่งเป็นอันตรายทั้งแก่ตนเองและแก่ผู้อื่น นั้นการพัฒนาจิตก็คือ ทำไอ้สัญชาตญาณนะให้มันถูกต้องเสีย ให้มันเป็นโพธิเสีย จงพยายามรู้จักตัวตน ตัวตนที่มันเกิดขึ้นๆ ด้วยความโง่เนี่ย ให้เข้าใจแจ่มแจ้งจึงจะปฏิบัติธรรมะได้ง่ายหรือได้สะดวก ถ้าไม่รู้จักตัวตนอันนี้ ไม่รู้จักความจริงอันนี้มันก็ยาก ยากที่จะปฏิบัติ เมื่อมีการกระทำตามธรรมชาติของทางกาย ทางจิตก็จะเข้าใจว่าเป็นตัวตนๆ เสมอ มันเป็นความรู้สึกที่มันเกิดง่าย เกิดตามธรรมชาติ เช่นตาเห็นรูป ตาเห็นรูป ตามีระบบประสาทตา รูปมาก็เห็นรูป ก็มีการเห็นรูป ระบบประสาทตาเห็นรูปรายงานไปที่จิต จิตก็รู้ก็คือเห็นรูป แต่ความรู้สึกมันกลายไปเป็นว่ากูเห็นรูป ตาเห็นรูป มันรู้สึกว่ากูเห็นรูป หูได้ยินเสียงก็กูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่นก็กูได้กลิ่น มันเป็นกู กู กู ไปเสียหมด พอมีดบาดนิ้วเนี่ยมันก็มีดบาดกู มันก็มีดบาดกู มันโง่กี่มากน้อย มันมีดบาดนิ้ว พอมีดบาดกู หรือว่ามันจะ อย่างดีมันแค่มีดบาดนิ้วของกู นิ้วของกู ตัวกูก็ไม่มี แล้วของกูจะเอามาจากไหน ถ้าจะแก้ไขไอ้ความเข้าใจผิดๆ ตามธรรมชาติเนี่ยคือการพัฒนาจิต หัวใจการพัฒนาอยู่ที่นี่ พูดรวมความก็พัฒนาสัญชาตญาณที่มันเกิดได้เอง มันเกิดได้เองโดยไม่ต้องมีใครสอนนั่นเรียกว่าสัญชาตญาณ มันคอยแต่จะไปทางโง่ ทางหลง ไปในทางว่าตัวตนว่าของตนมากขึ้นที่ควบคุมไว้ได้ ที่มันเป็นไปในทางตรงกันข้าม ไม่ได้เป็นไปในทางฉลาด ให้มันหมดโง่ หมดโง่ แล้วมันก็ฉลาดๆๆ เรียกว่าให้มันมา ออกมาเสียจากกิเลส และก็มาเป็นโพธิ กิเลสกับโพธินี่ตรงกันข้าม ปล่อยไปตามความโง่มันก็เป็นกิเลสๆๆ มากขึ้น พอไอ้ฉลาดมันถูกตามความเป็นจริงก็เรียกว่าโพธิๆ เชื้อ หรือเมล็ดพืชสำหรับจะเป็นโพธินี่ มีอยู่แล้วในจิตตามธรรมชาติ แต่มันไม่ได้รับการพัฒนา มันก็เลยสูญหาย ตายไป มันก็เป็นการพัฒนาผิดไป พัฒนาผิดไป กลายเป็นตัวตนมากขึ้น เห็นแก่ตนมากขึ้น กิเลสก็หนาขึ้นๆ แล้วก็ทำอันตรายทั้งตนเอง ทำอันตรายทั้งผู้อื่น นี่เรียกอย่างนี้ก็เรียกว่าพัฒนาสัญชาตญาณ ให้ออกมาเสียจากกิเลส ไม่ไปทางกิเลส ก็เป็นโพธิ ก็เป็นไปในทางโพธิ เนี่ยที่ว่าเราจะมาศึกษาให้รู้ แล้วก็ทำสมาธิจิต ทำอะไรต่างๆ เหล่านี้ก็ให้รู้แจ้งขึ้นมา รู้แจ้งขึ้นมา รู้แจ้งขึ้นมาโดยจิต ไม่ใช่อัตตา นั่นมันก็จะเดินไปในฝ่ายโพธิ ไม่เป็นจิตโง่ ถ้ามันเป็นจิตโง่ แล้วมันก็สร้างอัตตาเสียเอง ก็สร้างกิเลสเสียเอง ก็เป็นจิตที่ทำผิด ความทุกข์ก็เกิดขึ้นมา ที่นี่มีความลับอีกอย่างหนึ่งที่จะต้องทราบ ว่าการพัฒนาจิต พัฒนาจิต อบรมจิตนี้มันเป็นไปได้ไกล ไกลเหลือเกิน มากเหลือเกิน ลึกลับประเสริฐเหลือเกิน เกินกว่าที่เราจะคาด จะคิด จะประมาณว่าจะได้สักเท่าไหร่ แต่เราไม่สามารถทำได้ถึงขนาดนั้น เราก็เลยไม่รู้ ไม่รู้ว่ามันจะทำได้ถึงขนาดนั้น พัฒนาจิตให้เป็นจิตที่มีอิทธิปาฏิหาริย์ก็ได้เกินคาด พัฒนาจิตที่หมดกิเลสเป็นพระอรหันต์ นี่ก็เรียกว่าเป็นเรื่องเกินคาดของคนธรรมดา งั้นขอให้ทราบไว้ว่า จิตเป็นสิ่งที่พัฒนาแล้วได้ผลเกินคาดเหลือประมาณ แต่เราไม่รู้ กิเลสมันก็มายึดครอง เอาเวลาไปหาความสุข ความสนุกสนานสำราญของกิเลสเสีย ก็เลยไม่ได้พัฒนา เลยไม่ได้รู้ในส่วนที่ว่าดีหรือประเสริฐที่จะพัฒนาได้ โดยมากตามธรรมดามันเป็นอย่างนี้ แต่ถ้ามาศึกษาแล้วก็พัฒนาได้ก็จะรู้สึกประหลาดใจ ว่าแหมนี่ มันพัฒนากันได้ถึงขนาดนี้ ที่มีกิเลส ไม่มีกิเลส ที่มีทุกข์ มันก็ไม่มีทุกข์ แล้วจะมีปาฏิหาริย์เหลือประมาณ แล้วแต่จะฝึกได้ ในสมัยยุคที่เขามีพอใจการฝึกทางปาฏิหาริย์ ก็มีเรื่องทางปาฏิหาริย์มาก เดี๋ยวนี้มันก็หายๆ ไป สูญหายไป ก็เลยเป็นของลับไป ลับไป ไอ้ความน่าอัศจรรย์นั้นก็ไม่ค่อยปรากฎ มาในฝ่ายธรรมะที่จะละกิเลส จะเป็นพระอรหันต์ก็พลอยไม่ปรากฎ เพราะไม่มีใครสนใจที่จะปฏิบัติ สนใจแต่เรื่องทำมาหากิน จนไม่มีเวลา ที่จะศึกษาหรือปฏิบัติธรรมะนี้ก็ยังมี ก็ยังมี แล้วก็มากเสียด้วย เขาก็ต้องได้รับความทุกข์เนื่องจากการทำมาหากินนั่นเอง ที่จริง ไอ้จิตนี้มันก็มีธรรมะ มีคุณธรรม หรือมีธรรมะ จิตตามธรรมชาติ จิตตามธรรมชาติที่ปล่อยมาตามธรรมชาติเนี่ย มันก็มีธรรมะ หรือคุณธรรมที่เรียกว่าธรรมะ ตามมาก ตามน้อยมาเหมือนกัน ไม่ใช่ว่ามันจะไม่มีเอาเสียเลย อย่างเรื่องที่เกี่ยวกับสมาธิ เกี่ยวกับสมาธิ มันต้องมีสมาธิ หรือว่าเกี่ยวกับสัญญา ความรู้สึก ความจำ ความมั่นหมายอย่างนี้ มันก็ต้องมีมาตามสมควรแก่ธรรมชาติ แต่มันมีน้อย มันมีไม่พอ เหมือนกับเด็กๆ มันก็มีสมาธิที่มันจะทำอะไรได้ อย่างมันโตขึ้น มันเล่นหยอดหลุม เล่นทอยกอง เล่นขว้างแม่น มันอาศัยสมาธิตามที่มีอยู่ตามธรรมชาตยังไม่ทันได้ฝึกสมาธิ แต่แล้วมันก็ฝึกไปในตัว เมื่อมันเล่นหยอดหลุม เล่นทอยกอง เล่นคว้างแม่นอะไรมากเข้าๆๆๆ มันก็เป็นการฝึกสมาธิในแบบนั้นของมันเอง ที่มันมีตามธรรมชาตินั้น มันไม่พอ มันไม่พอใช้สำหรับจะละกิเลส ไม่พอใช้สำหรับจะไปสู่โลกุตตระนู่น อย่างจะพอใช้ก็เพื่อจะอยู่ในโลกนี้ จะทำมาหากินอย่างในโลกนี้มันจึงจะพอใช้ เราจะดูกันง่ายๆ ก็ ปลาชนิดที่เรียกว่า ปลาเสือนั่น เป่าฟองน้ำไปถูกแมลงตกลงมา ให้มันกิน ถ้าไม่มีสมาธิตามธรรมชาติ มันก็ทำไม่ได้หรอก มันทำไม่ได้ หรือว่าถ้าไม่มีสมาธิเสียเลย มันก็ไม่รู้จะกินด้วยอะไร มีสติ มีสมาธิ จึงหยิบอาหารกเข้ามาใส่ปากแล้วเคี้ยวกิน สมาธิอย่างนี้มันก็มี ไม่ใช่ไม่มี ตามธรรมชาติ มันก็มีอยู่พอสำหรับจะรอดชีวิตนั่นเอง หรือว่าเป็นเรื่องโลกๆ รู้จักทำสิ่งที่เป็นเรื่องโลกๆ ไม่ลึกซึ้ง ไม่อะไร เป็นอันว่า สมาธิ เป็นต้น ที่มีอยู่ตามธรรมชาตินั้น ไม่พอใช้ ไม่พอใช้ จะต้องฝึกให้มากขึ้นถึงขนาด ไอ้ที่เรียกว่าพอใช้ แล้วก็ให้พอใช้จนกระทั่งฝ่ายโน้น ฝ่ายโลกุตตระนั่นนะ พอใช้ฝ่ายโลกนี้มันก็ไม่เท่าไหร่หรอก สำหรับเจริญอยู่ในโลกนี้มันก็ไม่เท่าไหร่ ให้พอใช้ในฝ่ายโลกุตตระ แถมทบด้วยเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์นั้นไม่ใช่ธรรมะนะ มีฤทธิ์ มีเดช มีอิทธิปาฏิหาริย์นั้น ไม่ใช่ธรรมะนะ ถ้ามีก็เป็นเรื่องโลกๆ เพราะมันเป็นเรื่องหาประโยชน์อย่างโลกๆ ถ้าสมาธิมีพอ ก็พอสำหรับที่จะปฏิบัติเพื่อพ้นโลกเหนือโลกที่เรียกว่าโลกุตตระ ไอ้คำๆ นี้ก็ขอทำความเข้าใจหน่อย เพราะคนมักจะเข้าใจว่า มันเป็นโลกอีกโลก อยู่ที่โลกอื่น แล้วก็ไปกันที่โลกนั้น เรียกว่า โลกุตตระ ถ้าอย่างนี้ก็เป็นการเข้าใจผิด โลกนี้แหละ ตัว ตัวร่างกายก็อยู่ในโลกนี้ แต่จิตใจมันอยู่เหนือโลกนั้น คือเหนือปัญหา เหนือความทุกข์ เหนือความยั่วยวน หลอกลวง ในโลกนี้เต็มไปด้วยอารมณ์ที่ทำให้รักบ้าง ทำให้โกรธบ้าง ถ้าเราอยู่ใต้โลก เราก็หลงรัก หลงโกรธ อยู่ในโลกนี้ นี่เรียกว่าอยู่ใต้โลก ถ้าเราอยู่เหนือความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว อะไรต่างๆ เหล่านี้ ก็เรียกว่าอยู่เหนือโลก ไม่ต้องไปไหน เป็นพระอรหันต์โลก ตัวก็อยู่ในโลก แต่จิตอยู่เหนือปัญหาของโลกทุกๆ อย่างในโลกจะทำให้ท่านเป็นทุกข์ไม่ได้ จึงเรียกว่าอยู่เหนือโลก เมื่อฝึกจิตถึงขนาดนี้แล้ว ก็ไม่มีปัญหาใดๆ คือว่าสิ่งใดในโลกไม่มาทำให้เกิดกิเลส ไม่เกิดกิเลส ทางยินดีหรือยินร้าย ยินดีก็กิเลส ยินร้ายก็กิเลส ความเป็นบวก ก็กิเลส ความเป็นลบก็กิเลส เดี๋ยวนี้จิตมันไม่ยินดี ไม่ยินร้าย ไม่เป็นบวก ไม่เป็นลบ เรียกว่าเป็นโลกุตตระอยู่เหนือโลก เหนือโลก โลกุตตระ อย่าคิดว่าตายแล้ววิญญาณไปอยู่ที่โลกอื่น เหนือโลกนี้ขึ้นไปทางข้างบนๆ นั่นเป็นความเดาของคนที่ไม่รู้ หรือว่าเป็นการสอนที่ผิดๆ อยู่ในโลกนี้ แต่โลกครอบงำไม่ได้ นี่เหนือโลก ไม่หัวเราะ ไม่ร้องไห้ ไม่มีอะไรมาทำให้หัวเราะ ไม่มีอะไรมาทำให้ร้องไห้ เพราะมันอยู่เหนืออิทธิพลของโลก แต่นี่เราก็เดี๋ยวหัวเราะ เดี่ยวร้องไห้ เดี๋ยวดีใจ เดี๋ยวเสียใจ เดี๋ยวรู้สึกว่าได้ เดี๋ยวรู้สึกว่าเสีย เดี๋ยวรู้สึกว่ากำไร เดี๋ยวรู้สึกว่าขาดทุน เดี๋ยวรู้สึกว่าแพ้ เดี๋ยวรู้สึกว่าชนะ เดี๋ยวรู้สึกว่าถูกเอาเปรียบ เดี๋ยวรู้สึกว่าได้เปรียบเนี่ยมันโง่ สิ่งต่างๆ ในโลกมาครอบงำทำให้คิดไปอย่างนั้น ขึ้นลงๆๆๆ วุ่นวายไปด้วยความทุกข์ อย่างนี้เรียกว่าคนธรรมดา อยู่ในวิสัยโลก ก็เรียกว่าโลกียะ โลกียะวิสัย (นาทีที่ 41:20) แต่ถ้าทำจิตดีจนสิ่งเหล่านี้ครอบงำจิตไม่ได้ก็จะ เป็นโลกุตตระ เป็นโลกุตตระวิสัย การปฏิบัติธรรมะทั้งหมด มุ่งหมายผลเป็นโลกุตตระวิสัย ทำให้มีจิตใจอยู่เหนือโลก โลกไม่เป็นปัญหา โลกไม่เป็นความทุกข์อะไรแก่เราอีกต่อไป แต่เดี๋ยวนี้มันยากลำบาก ที่ว่าการจะอยู่ใต้วิสัยโลกไปตามอารมณ์ มันสนุกสนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือกามอารมณ์ กามอารมณ์ซึ่งเป็นของสำคัญในโลก มันมีรสชาติ ที่จะจับใจคนให้ลุ่มหลงไม่มีสร่าง ก็เลยอยู่ใต้วิสัยของกามอารมณ์ไม่มีสร่าง เนี่ยอยู่ใต้โลก กว่าจะหลุดพ้นออกมาได้เนี่ย แก่ ชรา เข้าโลง โดยไม่หลุดก็มี หลุดจากอำนาจเหล่านี้เสียได้ตั้งแต่ก่อนเข้าโลงก็ดีมาก เดี๋ยวนี้เราจะให้มันเร็วกว่านั้น จะเอากันที่นี่ เดี๋ยวนี้ ยังไม่ต้องแก่ชรา เห็นโทษของโลก หรืออิทธิพลของโลก วิสัยของโลกครอบงำ ไม่มีความสงบสุข ไม่มีสันติสุข เดี๋ยวบวก เดี๋ยวลบ เดี๋ยวบวก เดี๋ยวลบ เดี๋ยวยินดี เดี๋ยวยินร้าย เดี๋ยวหัวเราะ เดี๋ยวร้องไห้ เดี๋ยวดีใจ เดี๋ยวเสียใจนั่นนะ ไม่มีเสรีภาพ ไม่มีเสรีภาพจากโลก โลกบีบคั้นเราเสมอ เดี๋ยวดีใจ เดี๋ยวเสียใจ แต่คนเราก็ชอบดีใจ ใช่มั๊ย ชอบดีใจ ชอบการดีใจ หารู้ไม่ว่าการดีใจก็คือการถูกหลอกชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ความปกติสุข ความดีใจก็เป็นเรื่องวุ่นวายใจเหมือนกันนี่แหละ แต่มันคนละแบบกับเสียใจ เสียใจมันวุ่นวายในแบบที่มันทนไม่ค่อยจะไหว แต่ถ้าดีใจ มันวุ่ยวายในแบบที่สนุกดี ถ้าจิตมันต่ำ มันหลงใหล ไปในเรื่องนั้นด้วย มันก็ชอบ ชอบไอ้ที่ดีใจที่สนุกสนาน เอร็ดอร่อย เป็นเรื่องกิเลส เป็นเรื่องกามอารมณ์โดยเฉพาะ กว่าจิตจะขึ้นอยู่เหนือนั้น สูงนั้นมันก็ ก็ไปไกล ก็มีลำดับไปเหมือนกัน ที่จะขึ้นเหนือไป เหนือไปตามลำดับ จนไปถึงบรรลุมรรคผลนิพพานก็มี แต่มันไม่ได้ไป มันอยู่ในวิสัยโลกเสียเรื่อย เรียกว่าโลกมันกักขังไว้เรื่อยไป มันไม่ได้ไป ติดคุก ติดคุกของโลก ติดคุกของตัวเอง ติดคุกของตัวตน ติดคุกของตัวกูๆ ไม่อาจจะปลดเปลื้องตัวกูออกไปได้ ข้อนี้ไม่ค่อยจะได้ยินใครพูด ที่ว่าตัวกู ตัวเอง มันเป็นคุกขังตัวเอง ขังตัวเอง ให้อยู่ในกองกิเลส อยู่กับกองกิเลส หลุดคุกตัวกู หลุดจากคุกตัวตนเสียได้ มันก็ไม่ต้องพบกับกิเลส นี่มันก็เป็นเสรีภาพ สูงสุดก็เป็นพระนิพพาน พระอรหันต์ก็คือบุคคลจำพวกนี้ หลุดจากคุกแห่งตัวกู มีความสะอาด บริสุทธิ์ถึงที่สุด มีความสว่างแจ่มแจ้งถึงที่สุด มีความสงบเย็นถึงที่สุด ไอ้เราก็ต้องการอย่างนั้น แต่เราก็ไม่รู้สึกว่าเราต้องการอย่างนั้น เพราะว่าเรามามัวหลงอยู่กับเรื่องสนุกสนาน เอร็ดอร่อยในคุกของตัวกู ดูให้ละเอียด ละเอียดไปอีกสักหน่อยในเรื่องการฝึกฝนจิต หรือสมาธิเนี่ย ก็จะรู้จักไอ้สิ่งที่เรียกว่าสมาธิได้มาก มากขึ้น ดีที่สุด เราจะพูดว่า สมาธินี่มีประโยชน์ ทั้งทางโลก และทั้งทางธรรม แม้ว่าสมาธิเป็นเรื่องทางธรรม มันก็มีประโยชน์แก่ทางโลก แต่ถ้าพูดอย่างลึกซึ้งสูงสุดตามหลักธรรมะในพุทธศาสนาแล้ว มันเป็นเรื่องธรรมกันทั้งนั้นนะ โลกก็คือธรรม ธรรมก็คือธรรม ไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ธรรม ธรรมอย่างต่ำเรียกว่าโลก ธรรมอย่างสูงเรียกว่าธรรม ไม่มีอะไรที่มิใช่ธรรม หรือจะได้บอกกันแล้วในวันก่อนว่าไอ้ตัวธรรมชาติทั้งหลายก็คือธรรม ตัวกฎธรรมชาติทั้งหลายก็คือธรรม หน้าที่ทั้งหมดตามธรรมชาติก็คือธรรม ผลที่ออกมาเป็นยังไง ดีชั่ว บุญบาป สุขทุกข์ยังไงก็คือธรรม แต่เดี๋ยวนี้ในภาษาง่ายๆ ที่เราพูดกันอยู่ตามธรรมดา เราแยกกันออกเป็นสองชั้นให้พูดกันง่าย รู้จักกันง่าย เรียกว่าโลก เรียกว่าธรรม เป็นไปทางโลก เรียกว่าคดีโลก คติโลก เป็นไปทางธรรมเรียกว่าคดีธรรม หรือคติธรรม เกิดมีเป็นสองชั้นขึ้นมา เราไปยอมรับภาษาอันนี้ แล้วก็ใช้กันอยู่ เดี๋ยวนี้ก็กำลังบอกท่านทั้งหลายว่า สิ่งที่เรียกว่าสมาธิเนี่ย เป็นประโยชน์ทั้งคดีโลก ทั้งคดีธรรม มีสมาธิจะทำอะไรได้ดี คนมีสมาธิ ก็เล่นไพ่เก่งกว่าคนไม่มีสมาธิ ลองดูๆ ลองฝึกดู คนมีสมาธิก็เล่นหมากรุกเก่งกว่าคนไม่มีสมาธิ แม้ว่าจะผ่าฟืน จะผ่าฟืน คนมีสมาธิผ่าฟืนได้ดีกว่า ปลอดภัยกว่าคนไม่มีสมาธิ จะไปทำบาป ไปยิงนกตกปลาเนี่ย คนมีสมาธิก็ทำได้ดีกว่า เพราะว่าคนมีสมาธิมันยิงปืนแม่นกว่า หรือมันมีความคิดที่ดีกว่า มันไปยิงนกตกปลาก็ได้ผลกว่า ทีนี้ไอ้งานจริงๆ จริงๆ ทำไร่ ทำนา ทำสวนงานฝีมือ ทำศิลปะหัตถกรรมก็ทำได้ดีกว่าผู้ไม่มีสมาธิเสมอ จะเป็นพ่อค้า เป็นทนายความ คนเป็นสมาธิก็ต้องทำได้ดีกว่า แม้จะเป็นกรรมกรแบกหาม ก็เป็นได้ดีกว่า ก็อยากจะพูดว่า แม้จะเป็นคนขอทาน คนขอทานที่มีสมาธิต้องดีกว่า ต้องรอดตัวได้เร็วกว่า มีสมาธิมันเป็นประโยชน์แม้ในคดีโลกๆ ถึงขนาดนี้ ไม่เสียหลายหรอก แม้ไม่ต้องการธรรมะ ยังอยากจะอยู่กับโลก ก็ฝึกสมาธิเถอะ จะได้เปรียบ จะได้ประโยชน์มากกว่าคนที่ไม่มีสมาธิ ทีนี้สมาธินี่มันมีประโยชน์ลึกลงไปถึงสุขภาพอนามัย ถ้าร่างกายของเรามีสมาธิดี มีสิ่งรบกวนจิตน้อย เราก็จะมีสุขภาพอนามัยดี ร่างกายดี เป็นโรคภัยไข้เจ็บน้อย เป็นก็หายเร็ว เอ้า ถ้าสมมติว่าจะต้องตายกันก็ตายดีกว่า คนมีสมาธิจะตายได้ดีกว่าคนไม่มีสมาธิ ไม่เป็นโรคภัยไข้เจ็บ จะเป็นน้อยกว่า จะหายเร็วกว่า หรือจะตายก็ตายดี สมาธิมีประโยชน์แก่สุขภาพและอนามัย สมาธิมันจะช่วยให้มีความสุขุมรอบคอบ เรียกกันง่ายๆ ว่าไม่สะเพร่า ไม่ประมาท คนธรรมดามันโง่ มันสะเพร่า มันทำอะไรหวัดๆๆๆ คิดอะไรหวัดๆ ทำอะไรหวัดๆ มันไม่ลึกซึ้งเพราะมันไม่มีสมาธิ ถ้ามันมีสมาธิ มันจะแหลมคม มันจะคิดได้ลึก มันจะถูกต้องกว่า มันจะมีสติสัมปชัญญะในการระมัดระวัง ในการคุ้มครอง ในการรักษาอะไรได้ดีกว่า แล้วมันจะมีความอดกลั้น อดทนได้ดีกว่า เพราะมันอดทนด้วยกำลังของสมาธิ มันอดทนได้ดีกว่า นี่เรียกว่าประโยชน์ที่มันลึกเข้าไป ในที่สุด มันก็เป็นคนที่เฉลียวฉลาดกว่า เฉลียวฉลาดกว่า มันแหลมกว่า พอเฉลียวฉลาดกว่า มันจึงคิดได้ลึกกว่า มันจำได้ดีกว่า มันตัดสินใจได้ถูกต้องกว่า คนโง่ไม่อาจจะทำอย่างนี้ คนโง่มันเชื่อว่าตัวเองฉลาด มันทำอะไรผิวๆ เผินๆ ตื้นๆ แล้วมันก็อวดว่าฉลาด แล้วก็เถียงคอเป็นเอ็น ถ้ามีสมาธินั่นจึงจะจริง จะมีความเฉลียวฉลาด จึงจะคิดเก่ง จะจำเก่ง จะตัดสินใจเก่ง จะเผชิญหน้ากับอารมณ์เก่ง แม้ในการทะเลาะ สมมติว่าจะทะเลาะกัน จะด่ากัน คนที่มีจิตเป็นสมาธิจะทำได้ดีกว่า นี่ก็ (นาทีที่ 52:22) พูดนอกขอบเขต สรุปความว่า สมาธิมันมีประโยชน์แม้ไอ้เรื่องทางโลกๆ จะเลี้ยงวัว เลี้ยงควาย เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ เลี้ยงปู เลี้ยงปลาได้ดีกว่า
เอ้าทีนี้มาพูดถึงคดีธรรม ทางฝ่ายธรรมกันบ้าง ว่าสมาธิมีประโยชน์ในฝ่ายธรรม ที่กล่าวไว้โดยพระพุทธเจ้าเองมีอยู่ในพระบาลี ประโยชน์ของสมาธิ นี่แบ่งออกไว้เป็นสี่อย่าง เป็นใหญ่ๆ เป็นหลักๆๆ นั้นสี่อย่าง ประโยชน์ของสมาธิ
ข้อที่หนึ่ง หมวดที่หนึ่ง อย่างที่หนึ่ง
จะหาความสุขได้ทันทีในปัจจุบันนี้ เขาใช้คำว่าในทิศธรรม (นาทีที่ 53:32) คือว่าในชีวิตนี้ ในโลกนี้ที่ตนเห็น ตนรู้จัก ต้องการความสุขเมื่อไหร่ ได้ทันที ต้องการความสุขเมื่อไหร่ ได้ทันที ถ้าเขามีสมาธิ จะถึงฌาณ ถึงฌาณ ถึงสมาบัติก็ยิ่งดี แต่ว่าแม้จะไม่ถึงฌาณ ไม่ถึงสมาบัติ ถ้าเขามีสมาธิ เขาก็สงบจิตได้ทันที ก็ยังจะมีความสุข มีความพักผ่อนที่แท้จริง เมื่อไร ที่ไหน เขาก็หาได้ทันที สรุปเรียกว่ามีความสุขได้ทันทีที่ฉันต้องการ ข้อที่หนึ่ง คุณจะไปที่ไหน จะอยู่ที่ไหน จะทำอะไรอยู่ พอต้องการจะมีความสงบสุข ก็ทำได้ทันที โดยใช้สมาธิ นี่มีสมาธิก็เป็นสุขทันที ถ้าเก่งถึงขนาดมีสมาบัติ นี่เรียกว่าสูงสุดไปเลย เนี่ยเหมือนพรหม เป็นพรหมโลกขึ้นมาทันที
ทีนี้หมวดที่สอง จะทำให้มีญาณทัศนะอันเป็นทิพย์ บาลีเรียกอย่างนั้น คือว่าจะมีการเห็น หรือการรู้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจอะไรก็ตาม มีความรู้ อย่างกับว่ามันเป็นทิพย์ เป็นของทิพย์ เช่นตาเห็นอะไรที่ตาธรรมดาเห็นไม่ได้ ที่ตาธรรมดาเห็นไม่ได้ ตาที่ประกอบด้วยสมาธิเห็นได้ ได้ฟังเสียงที่ธรรมดาไม่ได้ยิน แต่ถ้ามีจิตเป็นสมาธิ จะได้ฟังเสียงนั้น เสียงที่ตามธรรมดาไม่ได้ยิน จะได้กลิ่น จะได้รส จะได้อะไรก็ตาม ซึ่งตามธรรมดาไม่มี ไม่ได้ยิน หาไม่ได้ ก็จึงมีเรียกว่า มีตาทิพย์ มีหูทิพย์ มีอะไรทิพย์ๆๆ อย่างนี้ก็ได้ แต่อันนี้ไม่ใช่ความมุ่งหมายที่แท้จริงของธรรมะ มันจะบ้ากันไปใหญ่ ถ้ามันไปติดอย่างนั้น มันจะไม่อยากไปนิพพาน มันอยากจะสนุกสนานอยู่กับอารมณ์ แต่ว่ามันเป็นสิ่งที่มีได้ จะมีอะไรๆ เป็นทิพย์ไปเสียหมด มันก็ดี ถ้าเรามีอะไรที่มากไปกว่าธรรมดา เช่นตาเห็นอะไรมากกว่าธรรมดา หูได้ยินอะไรมากกว่าธรรมดา ละเอียดละออกว่าธรรมดา มันก็ดี แม้ในทางโลกมันก็ดี แต่ในทางธรรมก็จัดไว้ว่าเป็นผลพิเศษอันหนึ่งเรียกว่าอุตตริมนุสธรรม (นาทีที่ 56:38) อุตตริมนุสธรรม คือเกินธรรมดาของมนุษย์ สิ่งใดเกินธรรมดาของมนุษย์ สิ่งนั้นเรียกว่าอุตตริมนุสธรรม มีหูทิพย์ ตาทิพย์ เป็นต้น
ทีนี้หมวดที่สามที่จะได้รับก็คือว่า สมบูรณ์ด้วยสติสัมปชัญญะ เพราะเมื่อฝึกข้อนี้ มันฝึกมีความสติสมบูรณ์ อาณาปานสติที่พวกคุณกำลังฝึก ถ้าคุณกำลังฝึกอยู่ มันจะสร้างความสมบูรณ์แห่งสติสัมปชัญญะ คอยกำหนดลมหายใจ เกิดขึ้น ดับไป เกิดขึ้น ดับไป แต่โดยเฉพาะ ท่านต้องการให้กำหนดความเกิดขึ้นและดับไปแห่งเวทนา สัญญา และวิตก เวทนาเกิดขึ้น สุข ทุกข์ อทุกขมสุข รู้เท่าทันเลย มันหลอกไม่ได้ มันหลอกไม่ได้ เวทนาถูกหลอกให้เกิดกิเลสบวกไม่ได้ เวทนาทุกข์หลอกให้เกิดกิเลสลบก็ไม่ได้ เวทนาไม่บวกไม่ลบก็หลอกให้เกิดกิเลสโง่ไม่ได้ เพราะว่ามีสติรู้สึกเท่าทันในเวทนา ไม่ให้เวทนาหลอกได้ สัญญามั่นหมายอย่างนั้น มั่นหมายอย่างนี้เป็นสัญญาก็หลอกไม่ได้ เพราะมีสติสัมปชัญญะในการเกิดขึ้น ในการดับไป วิตกคือความคิด คิดอย่างนั้น คิดอย่างนี้ คิดดี คิดชั่ว คิดอย่างนั้นอย่างนี้ ก็มีสติสัมปชัญญะ รู้เท่าทันการเกิดกับการดับ มันเกิดมาผิด ดับทันที เกิดมาถูก เอ้าส่งเสริมมันไป นี่เรียกว่ามีสติสัมปชัญญะในเวทนา ในสัญญา ในวิตก ท่านเอามาพูดเพียงสามอย่าง สามชื่อ เพราะมันเป็นจุดสำคัญ ที่จริงมันมีมากกว่านั้น ก็หมายความว่าก็มีสติสัมปชัญญะทุกเรื่องๆๆ แต่ที่เป็นหลักที่สำคัญ เอามาเพียงว่า เวทนา สัญญา และวิตก ถ้าเป็นคนมีสติสัมปชัญญะอย่างนี้แล้วก็ดู ไม่มีอะไรเป็นอันตราย ไม่มีอะไรเกิดขึ้นเป็นความผิด ความเสียหายในทางจิตใจ
งั้นข้อสุดท้ายก็มี ความสิ้นอาสวะ กิเลสที่เป็นอนุสัยความเคยชินอยู่ในสันดานจะหมดไป ร่อยหรอไปๆ จนอนุสัย สิ่งนั้นเรียกว่าอนุสัย ความเคยชินของกิเลสในสันดาน หมดไปๆ ไม่มีอะไรที่จะไหลกลับออกมาเป็นกิเลสอีกเลย จะสิ้นอาสวะ สิ้นอาสวะ เพราะปฏิบัติควบคุมอุปาทาน การเกิดดับแห่งอุปาทานว่าตัวตน ในเบญจขันธุ์ ในชีวิต ในร่างกาย รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ สามารถจะควบคุมอุปาทานไม่ให้มันเกิด ไม่xx (นาทีที่ 01:00:05) เนี่ยมันจะเป็นไปเพื่อสิ้นอาสวะ แล้วไม่มีเรื่องอะไรจะสูงไปกว่าเรื่องนี้ ถ้าสิ้นอาสวะแล้วมันก็สูงสุด มันก็จบเรื่อง สมาธิ การเจริญสมาธิมีผลเป็นสมาธิ มันได้ผลในทางโลกอย่างที่ว่ามาแล้ว ได้ผลในทางธรรมอย่างที่ว่ามาแล้ว ในทางโลก ก็ได้รับประโยชน์อย่างโลกๆ อย่างถูกต้อง ในทางธรรมก็ได้รับประโยชน์ในทางธรรมอย่างถูกต้อง แล้วก็ไปสูงสุด สิ้นกิเลส สิ้นอาสวะ เป็นพระอรหันต์ นี่เรียกว่าประโยชน์ของสมาธิ พูดถึงลักษณะของจิตที่เป็นสมาธิกันสักหน่อย แล้วท่านก็จะรู้ได้เองว่าทำไมมันจึงมีประโยชน์มากถึงขนาดนั้น ทำไมสมาธิจึงมีประโยชน์มากถึงขนาดนั้น ในบาลีหรือว่าในหลักที่มีอยู่ก็มีแสดงไว้ชัดว่า จิตที่ประกอบไปด้วยสมาธิ ที่มีสมาธิมันประกอบอยู่ด้วยคุณสมบัติสูงสุดสามประการ สามประการ จิตที่เป็นสมาธิมีคุณสมบัติสูงสุดอยู่สามประการ ประการแรก ขอเรียกอย่างธรรมดาๆ ภาษาชาวบ้าน ภาษาเด็กๆ หรือxx (นาทีที่ 01:01:52) ว่า มีจิตเกลี้ยง ภาษาเด็กใช่ไหม มีจิตเกลี้ยง เกลี้ยงคือไม่สกปรก ไม่สกปรกด้วยกิเลส ด้วยนิวรณ์อะไร เวลานั้นจิตเกลี้ยง จิตบริสุทธิ์ เรียกเป็นบาลีว่าปริสุทโธ จิตมันบริสุทธิ์ มันเกลี้ยง มันไม่มีความหม่นหมองด้วยกิเลสใดๆ ด้วยนิวรณ์ใดๆ นี่ข้อที่หนึ่งก็จิตมันเกลี้ยงอย่างเนี้ย มันจะสามารถ จะสามารถ ในทุกกรณี ถ้าจิตไม่เกลี้ยงกิเลสกุ้มรุมรบกวน มันก็โง่ไป
นี้ข้อที่สอง มันรวมกำลังตั้งมั่น รวมกำลังเป็นอันเดียวกันแล้วตั้งมั่น จิตตามธรรมดา พร่าไปตามอารมณ์ไปรอบทิศรอบทาง ถ้าเป็นสมาธิเมื่อไหร่ มันรวมเป็นจุดเดียวกันอยู่ที่นี่ มันรวมกำลังทั้งหมด มันก็เข้มแข็ง มันก็แก่กล้า มันก็รุนแรง รุนแรง จนมีลักษณะเป็นตั้งมั่นอย่างเข้มแข็ง เปรียบเหมือนกับว่า แก้วนูน แก้วโค้งนูนที่ตรงกลาง มันรวมแสงสว่าง เอาไปรับแสงสว่างแล้วมันก็จะรวมแสงสว่างที่มันพร่าอยู่ เหลือเป็นจุดกลางเล็กจุดเดียว ถ้าไปรวมแสงแดด ไอ้จุดเดียวเล็กมันจะลุกเป็นไฟเลย แก้วที่นั้น มันรวมแสงสว่างทั้งหมดเป็นจุดลุกเป็นไฟได้เลย หรือแม้ไม่ใช่แสงแดด แค่แสงสว่างธรรมดาเนี่ย มันจะมีจุดขาวเกิดขึ้นตรงจุดศูนย์กลางนั้นนะ เป็นแสงสว่างขาว แต่ไม่ถึงกับลุกเป็นไฟ เพราะแสงสว่างมันไม่มากพอ เนี่ยเรียกว่ามันรวมแสง มันรวมกำลัง มันรวมอะไร แล้วมันก็เข้มแข็ง เข้มแข็ง นี่เรียกว่ามันเป็น สมาหิโต สมาหิโต (นาทีที่ 01:04:19) คำแรกเรียกว่าปริสุทโธ มันจิตเกลี้ยง คำที่สองเรียกว่า สมาหิโต มันเข้มแข็ง มันเข้มแข็ง หรือตั้งมั่น
ที่สาม คุณสมบัติที่สาม มันว่องไวในหน้าที่ ว่องไวในหน้าที่ จิตจะต้องทำหน้าที่อะไร มันจะว่องไวในหน้าที่ของมันเอง แล้วมันก็จะทำให้ร่างกายพลอยว่องไวไปด้วย สรุปเรียกว่าว่องไวในหน้าที่ จิตที่เป็นสมาธิจะว่องไวในหน้าที่ ไม่ใช่นอนอืด นิ่งแข็ง ตัวแข็ง เป็นท่อนไม้อย่างนั้นไม่ใช่หรอก เราไม่ประสงค์ เราประสงค์ความว่องไวในหน้าที่ เรียกเป็นบาลีเรียกว่า กัมมนีโย (นาทีที่ 01:05:19) อย่างที่สาม อย่างที่หนึ่งปริสุทโธ จิตเกลี้ยง อย่างที่สอง สมาหิโต จิตเข้มแข็ง อย่างที่สาม เรียกว่ากัมมนีโย จิตว่องไวในหน้าที่ จิตจะวิทยาสากล หรือวิทยาศาสตร์ทางจิตเขาก็ต้องการอย่างนี้ เรียกว่า แอ็คทีพ (active) แอ็คทีฟ แอ็คทีฟเนส (activeness) ไอ้ความที่มันเป็นแอ็คทีฟ (active) มันไม่อึดอัดยืดยาด มันแคล่วคล่องว่องไว คนที่แคล่วคล่องว่องไวทั้งทางกายและทางจิต ย่อมทำอะไรได้มากกว่าคนที่ไม่มี คนที่ไม่มีแอ็คทีฟเนส (activeness) มันคลานงุ่มง่ามอย่างนั้น ทำก็งุ่มง่าม คิดก็งุ่มง่าม พูดก็งุ่มง่าม มันงุ่มง่ามอยู่อย่างนั้น ถ้าว่ามีจิตเป็นสมาธิโดยแท้จริงแล้วมันก็มีแอ็คทีฟเนส ว่องไวๆ ฉับพลัน ว่องไว เท่านี้ก็เหลือกินแล้วใช่ไหม จิตเกลี้ยง จิตเข้มแข็ง และจิตว่องไวในหน้าที่ ถ้ามีสามอย่างนี้ประกอบกันแล้วก็เรียกว่าจิตเป็นสมาธิถึงที่สุด จิตจะเป็นสมาธิถึงที่สุด เมื่อมันประกอบอยู่ด้วยคุณธรรมสามประการนี้ นี่จะเรียกว่า วิเศษหรือไม่วิเศษก็คิดดู จิตชนิดนี้จะไปทำเรื่องโลกก็ได้ ไปทำเรื่องธรรมะก็ได้ เดี๋ยวนี้เราพูดเรื่องธรรมะ จิตนี้จะก้าวหน้าไปตามทางของธรรมะ แล้วก็จะเป็นวิปัสนาต่อไป แล้วก็จะตัดกิเลส ตัดอนุสัย เพื่อที่จะบรรลุมรรคผลนิพพาน สิ่งควรทราบอีกอย่างหนึ่งเกี่ยวกับจิตเป็นสมาธิก็คือว่า สมาธิที่ถูกต้องและมีหน้าที่ถูกต้อง เขาเรียกว่า สมาธิที่ทำงานร่วมกันอยู่กับปัญญาหรือวิปัสสนาก็เรียก สมาธิที่อยู่เฉยๆ ไม่ค่อยเท่าไหร่ละ แต่ถ้าสมาธิที่ไปทำงานร่วมกันอยู่กับปัญญา ติดกันอยู่กับปัญญา ไม่แยกจากกันนี่ วิเศษแสนวิเศษจนพระพุทธเจ้าตรัสว่า นะเถ สะโม นะ วิชชะติ (นาทีที่ 01:08:10) ไม่มีสมาธิใดที่จะประเสริฐสูงสุดเท่ากับอนันตริยสมาธิ อนันตริปัญญมาหุ (นาทีที่ 01:08:16) สมาธิจะไปทำงานติดกันอยู่กับปัญญา คือละกิเลส สมาธินะว่าที่จริงมันเป็นตัวกำลัง งั้นต้องเอากำลังไปใช้ทำประโยชน์อะไรอย่างใดอย่างหนึ่งจึงจะได้รับประโยชน์ถึงที่สุด เหมือนเครื่องยนต์ เครื่องยนต์กลไก เครื่องยนต์เนี่ย มันหมุนอยู่เฉยๆ จุดเหวี่ยงเท่าไหร่มันก็เป็นสมาธิเท่านั้น มันไม่มีโหลด ต่อมาเอากำลังเครื่องจักรไปทำให้มันมีโหลดทำงานอะไรสักอย่างหนึ่ง มันก็มีค่าขึ้นมา สมาธิเฉยๆ เหมือนเครื่องยนต์ที่หมุนอยู่เฉยๆ ยังไม่มีค่า ต้องไปทำงานเกี่ยวข้องกับปัญญา ทำหน้าที่ร่วมกันกับปัญญา แล้วก็ตัดกิเลส ตัดกิเลส ก็คือสมาธิที่ใช้งานสูงสุดจึงเป็นสมาธิที่สูงสุด ไม่มีสมาธิไหนเสมอเหมือน จงใช้สมาธิของท่านให้ทำหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่งอยู่อย่างดีที่สุด อย่างสูงสุด คือทำร่วมกันกับปัญญา อย่ามีสมาธิเปล่าๆ เหมือนเครื่องยนต์เดินเปล่าๆ ไม่มีโหลด ไม่มีทำงาน ที่ว่ามันทำงานเนื่องกันอยู่กับปัญญานั่นนะ มันมีหลักเกณฑ์ตามธรรมชาติ นัตถิ ฌานัง อัปปัญญะตะ นัตถิ ปัญญา อะฌายิโน (นาทีที่ 01:09:49) ปัญญา ไม่มีแก่ผู้ที่ไม่มีฌาณ คือสมาธิ และฌาณหรือสมาธิก็ไม่มีแก่ผู้ที่ไม่มีปัญญา ถ้าไม่มีปัญญาเสียเลย ทำสมาธิไม่ได้หรอก สมาธิจะไม่มีแก่ผู้ที่ไม่มีปัญญา แปลว่า ปัญญาก็ไม่มีแก่ผู้ที่ไม่มีสมาธิ ถ้าไม่มีสมาธิจะมีปัญญาไม่ได้ เพราะความเฉียบแหลมของปัญญาแม้แต่เล็กน้อยมันก็อาศัยกำลังของสมาธิเป็นเครื่องผลักดัน ให้เข้าใจง่ายก็เอาอย่างนี้ก็แล้วกันว่า ปัญญานะเหมือนกับความคม ความคม คม แต่ถ้าไม่มีน้ำหนักที่จะกดความคมลงไป มันไม่ตัด มันตัดไม่ได้ มันต้องมีน้ำหนักที่จะกดความคมลงไป ความคมมันจึงจะตัด ปัญญาเหมือนกับความคม สมาธิเหมือนกับน้ำหนัก ต่อเมื่อมันรวมกันทั้งความคมและทั้งน้ำหนัก มันจึงจะมีการตัด ท่านจงมีปัญญาและสมาธิ แล้วก็จัดว่าถ้าไม่มีสมาธิก็ไม่มีปัญญา ไม่มีปัญญาก็ไม่อาจจะมีสมาธิ เพราะมันเป็นเพื่อนเกลอกัน เป็นคู่หูกัน ต้องไปด้วยกัน ที่นี้มันยังมีเข้าใจผิด โดยคำพูดนะ อีกอย่างคือว่า เจโตวิมุต ปัญญาวิมุต คนโง่เข้าใจแยกเป็นสองอย่าง วิมุตกันคนละอย่าง มันเป็นไปไม่ได้ พระบาลีตรัสไว้ เจโตวิมุติ ปัญญาก็ต้องไปด้วยกัน แต่ถ้าในกรณีไหน สมาธิมันมากกว่า มันนำหน้า ก็เรียกวิมุติอันนั้นว่าเจโตวิมุติ ถ้าในกรณีไหนปัญญานำหน้าสมาธิไม่ค่อยปรากฎก็เรียกว่าปัญญาวิมุติ มันจะมีปัญญาล้วนๆ โดยไม่มีสมาธิ มันเป็นไปไม่ได้ แต่คนมันโง่เอาเองตามบทที่ว่า ปัญญาวิมุติ เจโตวิมุติ มันแยกออกจากกันเสีย มันแยกออกจากกันไม่ได้หรอก มันต้องทำงานร่วมกัน จิตกับปัญญา ในกรณีไหนปัญญาทำหน้าที่เด่นมากเพราะจิตมันไม่ได้ฝึกมาดี มันมีน้อยจนไม่ปรากฎ มันมีแต่มันอยู่เบื้องหลัง กรณีนั้นก็เรียกว่าปัญญาวิมุติ ในกรณีไหนสมาธิออกหน้านำปัญญามา กรณีนั้นเรียกว่า เจโตวิมุติ เรียกคราวเดียวว่าเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ ทุกกรณี ไม่ว่าจะเป็นการบรรลุพระอรหันต์ประเภทไหน ต้องมีปัญญาวิมุติ เจโตวิมุติ นี่เราต้องมีปัญญา ต้องมีสมาธิ บางกรณีก็สำเร็จด้วยอำนาจของสมาธิเป็นเบื้องหน้า บางกรณีก็สำเร็จด้วยอำนาจของปัญญาเป็นเบื้องหน้า แต่ต้องมีทั้งสองอย่าง เนี่ยคือความที่ปัญญากับสมาธิจะต้องทำงานด้วยกัน แล้วก็มันร่วมกันอยู่บนพื้นฐานเดียวกันคือศีล มีศีลเถิด ก็มีที่ตั้งของสมาธิและปัญญา ศีลนี่เปรียบเหมือนแผ่นดิน เปรียบเหมือนแผ่นดิน ไม่มีแผ่นดินก็ไม่มีที่เหยียบ ไม่มีที่ตั้งจะอยู่อย่างไรได้ มีศีลให้ดี มีศีลให้ดีสำหรับเป็นที่ตั้งของสมาธิและปัญญา สมาธินี่มีประวัติแปลก คือว่า ก่อนเกิดพุทธ พระพุทธเจ้า ก่อนเกิดพุทธศาสนา เขามีความรู้กันเพียงสมาธิ แล้วก็เอาไอ้ความสงบของสมาธินั่นแหละเป็นนิพพาน นิพพานของสมัยโน้นก่อนพระพุทธเจ้านะ คือผลของสมาธิ สงบเย็น เป็นรูปฌาณ เป็นอรูปฌาณ เป็นรูปพรหม เป็นอรูปพรหม เขาเคยเอาเป็นนิพพาน นิพพาน นิพพานกันมา ความข้อนี้ปรากฎอยู่ในพระบาลี ที่เป็นพระพุทธภาษิต คือพรหมจารสูตร (นาทีที่ 01:14:36) ที่โง่ไปกว่านั้นก็เอานิพพาน เอากามารมณ์เป็นนิพพาน เคย เคย สมัย โอ้ ไม่ไหว ไม่ไหว เอาสมาธิเป็นนิพพาน สมาบัติเป็นนิพพาน พอพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นไปศึกษาไอ้วิชาเหล่านั้นเสร็จ ท่านก็ไม่ไหวๆ ฉันไม่เอา ท่านมาจัด มาค้นคว้าของท่านเอง จนมารู้ว่าไอ้สิ้นกิเลสเป็นนิพพาน สิ้นกิเลสคือหมดตัวกู หมดของกูไม่อาจจะเกิดราคะ โทสะ โมหะอีกต่อไป นี่เป็นนิพพาน สมาธิเป็นสิ่งที่น่าพอใจสูงสุดจนเขาถือเอาเป็นนิพพาน นิพพานกันมาตั้งแต่ก่อนพุทธกาล แต่เดี๋ยวนี้ก็ยังมีนะ เข้าใจว่าในอินเดีย เดี๋ยวนี้ก็ยังมีบางลัทธิ บางนิกาย สอนเอาสมาธิสูงสุด เป็นธรรมะสูงสุด เสมือนหนึ่งนิพพาน จะต้องยังมี ก็ยังมี เพราะมันมีมาก มากนิกาย นี่เรียกว่าประโยชน์ของสมาธิ มีทั้งในคดีโลก และมีในทั้งคดีธรรม และก็อย่าลืมว่ามีได้ตามธรรมชาติ ในสัญชาตญาณ แล้วก็อย่าลืมว่า อย่าละอายสัตว์ คนอย่าละอายสัตว์ อย่าให้เราต้องละอายสัตว์ เพราะแม้แต่ปลาเสือ มันก็ยังมีสมาธิ มันเป็นสัตว์โง่ๆ ตัวเล็กๆ มันก็ยังมีสมาธิ เราเป็นมนุษย์ทั้งที อย่าได้ละอายสัตว์ มันต้องมีสมาธิทั้งนั้นนะ ถ้าไม่มีสมาธิ แมวจับหนูไม่ได้ มันจับผิดหมด เพราะมันมีสมาธิ แมวจึงจับหนูได้ เราเป็นคนทั้งทีอย่าได้ละอายแมว ความที่จิตมุ่งไปยังอารมณ์ใด อารมณ์หนึ่ง แล้วก็ทำหน้าที่ไปนั้น นั่นก็เรียกว่าสมาธิทั้งนั้น สัตว์มันก็มี บางที บางอย่าง บางแง่ สัตว์จะมีมากกว่าเสียอีกมั้ง สัตว์บางชนิด ก็มีอะไรมากกว่าคนมาก ค้างคาวนะบินลอดระหว่างช่องที่เพียงจุตัวบินไปได้ โดยไม่ต้องหยุดบิน ที่เขาพิสูจน์ทดลองในทางวิทยาศาสตร์ เพราะมีสมาธิ มีเรดาร์อะไรของมัน สมาธิตามธรรมชาติ สัตว์เดรัชฉานก็มีตามสมควรแก่อัตภาพหรือหน้าที่ของมัน เพราะฉะนั้นขออย่าให้เราต้องละอายแก่สัตว์เลย จะมีสมาธิ ก็ใช้ควบกันกับปัญญา ดำเนินประโยชน์กิจให้สำเร็จประโยชน์ตามที่ประสงค์มุ่งหมาย เอ้าทีนี้ก็พูดต่อไปหน่อย เวลายังเหลือนิดหน่อย หลักการในการทำสมาธิ หลักการในการทำสมาธิ โดยเฉพาะทำจิตให้เป็นสมาธิ ในอาณาปานสติหมวดที่สามถ้าท่านได้ศึกษาแล้ว ถ้าท่านได้อ่านหนังสือคู่มือแล้ว หรือได้ฝึกแล้วก็ตาม อาณาปานสติหมวดที่สามคือจิตตานุปัสสนา ฝึกจิต มีอยู่สี่ขั้นตอน สี่หมวด หมวดจิตนี้มีสี่ขั้นตอน ขั้นตอนที่หนึ่ง รู้จักจิตเสียทุกๆ ชนิดเท่าที่จะรู้ได้ เท่าที่เราจะรู้จักจิตทุกชนิดได้เสียก่อน จิตมีกิเลส จิตไม่มีกิเลส จิตสงบ จิตฟุ้งซ่าน จิตมีราคะ ไม่มีราคะ มีโทสะ ไม่มีโทสะ จิตเลิกถึงที่สุด จิตหลุดพ้นแล้ว จิตยังไม่หลุดพ้น เรายังไม่หลุดพ้น แต่เราอาจจะรู้จักความหลุดพ้นโดยการคำนวณจากการที่ไม่หลุดพ้น อย่างเราติดคุกติดตารางเนี่ย เราคำนวณดูว่าถ้าไม่เป็นอย่างนี้จะสบายสักเท่าไหร่ เดี๋ยวนี้มีราคะ โทสะ โมหะ แผดเผา เหลือประมาณ ถ้าไม่มีจะวิเศษสักเท่าไหร่ แล้วก็คำนวณรู้ได้ว่า จิตที่หลุดพ้นเป็นอย่างไร จิตที่ไม่หลุดพ้นเป็นอย่างไร จิตที่มีอะไรดีกว่า หรือจิตที่ไม่มีอะไรดีกว่า ไม่มีจิตดีกว่าเป็นอย่างไร ก็คำนวณรู้ได้ เพราะนั้นใคร่ครวญไปทุกๆ นั่นนะ เหมือนกับว่าดูๆๆๆ ดูจิตทุกชนิด ดูจิตทุกชนิด ก็จะพบว่าไอ้จิตที่ไม่พึงปรารถนานะเป็นอย่างไร และจิตที่ควรปรารถนานั้นเป็นอย่างไร ข้อแรก จิตตะปะฏิสังเวที (นาทีที่ 01:19:53) รู้จักจิตทุกชนิด ทีนี้ก็ฝึกสิ ฝึก ตอนที่ฝึกมีอยู่สาม สามขั้นทีหลัง อภิโมทะหัง อภิโมทะหัง (นาทีที่ 01:20:07) ฝึกให้บันเทิง บันเทิง ฝึกให้มันเป็นสุข ให้มันบันเทิง ที่จริงถ้าฝึกหมวดที่หนึ่ง ระงับกายสังขารมาได้แล้วมันก็เรียกความบันเทิงได้ทันที บังคับจิตให้บันเทิง ให้บันเทิง ให้ปราโมทย์ให้บันเทิง ให้พอใจได้ตามที่ต้องการ ทีนี้ขั้นที่สาม ฝึกให้เป็นตั้งมั่น คือเป็นสมาธิ มีองค์สามอย่างที่ว่าแล้วเมื่อตะกี้นี้ เมื่อบังคับให้บันเทิงได้ ก็บังคับหยุดให้ตั้งมั่นให้คงที่ได้ ทีนี้มาขั้นที่สี่ก็บังคับให้ปล่อยๆ ไม่จับยึดอะไร ไม่จับฉวยอะไร ปล่อยอารมณ์ไปจากจิต หรือปล่อยจิตไปจากอารมณ์ก็ตาม เรียกว่ามันปล่อยก็แล้วกัน ว่างจากการยึดมั่นถือมั่น หลักการของการฝึกจิตที่ดีที่สุด ทบทวนให้ดีว่ารู้จักจิตทุกชนิด แม้โดยการคำนวณ รู้จักจิตทุกชนิด จับตัวมาฝึกให้บันเทิงๆๆ ปราโมทย์บันเทิง พอใจ ทำอะไรที่ถูกต้องแล้วก็บันเทิง ทำอะไรที่มีประโยชน์แล้วก็บันเทิง แม้แต่บันเทิงว่าเราฝึกอยู่ เราได้ฝึกอยู่ ได้ทำสิ่งที่ดีก็บันเทิง บันเทิง ลืมรสของความบันเทิงเสียสักระยะหนึ่ง แล้วฝึกให้คงที่ ให้สะอาด ให้เข้มแข็ง ให้แคล่วคล่องว่องไว ฝึกให้เป็นตั้งมั่น หรือให้เป็นสมาธิโดยตรงก็ได้ หรือฝึกให้ปล่อย คิดอย่างไรจิตปล่อยอารมณ์ คิดอย่างไรอารมณ์ไม่มาจับจิต นี่ก็ฝึก นี่วิโมชะยัง อะภิโมทะหัง อะภิสมาทะหัง อะภิโมชะยัง (นาทีที่ 01:22:07) สามตอนนี้ ให้มันฟรี พูดภาษาเด็กๆ ก็ฟรีจิต หัดฟรีจิตจากอารมณ์ นี่มีอยู่สามอาการ แล้วก็เริ่มด้วยการรู้ทุก ทุกจิต รู้จิตทุกจิต แล้วมาฝึกด้วยอาการสามให้มันบันเทิง ให้มันคงที่ เข้มแข็ง และให้มันปล่อย ให้มันปล่อย ไม่จับยึดอารมณ์ใดๆ เนี่ยหลักการของการฝึกจิต มันเป็นอย่างนี้ ปรากฎชัดเจนอยู่ในอาณาปานสติ หมวดที่สาม หมวดที่หนึ่งกาย หมวดที่สองเวทนา หมวดที่สามจิต หมวดที่สี่ธรรม ช่วยจำให้แม่นๆ ทีนี้มันก็ไม่ใช่ฝึกเพียงเป็นสมาธิ ฝึกจิตนี่ มันต่อไปถึงปัญญา ไปทำงานร่วมกับปัญญา มันก็เลื่อนไปหาไอ้อาณาปานสติหมวดที่สี่ที่เรียกว่าธรรมานุปัสสนา (นาทีที่ 01:23:32) จิตที่ฝึกดีเป็นสมาธิดี ถึงขนาดสมาธิดีทุกอย่างแล้วก็ไปฝึกขั้นที่สี่ เห็นอนิจจา อนิจจัง อนิจจานุปัสสี (นาทีที่ 01:23:46) ในพระบาลี พระพุทธเจ้าทรงยกตัวอย่างมาเพียงคำเดียวเรื่องอนิจจัง ฝึกให้เห็นอนิจจังๆๆ แท้จริงๆ ทุกขั้นตอน อนิจจังของลมหายใจ อนิจจังของลมหายใจสั้น ของลมหายใจยาว ของความสงบระงับแห่งลมหายใจ ของเวทนา ก็ทุกอย่างมาเห็นอนิจจัง คือความไม่เที่ยง ความเปลี่ยนแปลงเรื่องของสิ่งเหล่านั้น นี่เรียกว่าเห็นอนิจจัง ใช้คำรวมๆ ว่าเห็นอนิจจังถึงที่สุดจริงๆ เห็นอนิจจังถึงที่สุดจริงๆ ก็จะเกิดวิราคะ คลายความยึดมั่นเป็นวิราคานุปัสสี (นาทีที่ 01:24:32) คลายออก จากออกจากความยึดมั่น แล้วก็ถึงนิโรธานุปัสสี (นาทีที่ 01:24:36) นิโรธดับ ดับ ดับความยึดมั่นถือมั่น แล้วก็ปฏินิสักคานุปัสสี (นาทีที่ 01:24:42) สลัดคืนๆ โยนคืน โยนกลับหมด ตอนนี้เป็นปัญญา เป็นปัญญาและผลของปัญญา เมื่อจิตานุปัสสนา (นาทีที่ 01:24:55) เป็นสมาธิสูงสุด ส่วนหมวดกายา หมวดเวทนานั้นเป็นการเตรียมในเบื้องต้น เตรียมในเบื้องต้น มาถึงหมวดที่สาม สมาธิสูงสุดก็ในเรื่องของจิตตานุปัสนา แล้วก็มาเป็นปัญญา เป็นธรรมานุปัสนา ที่จะต้องอธิบายกันสักหน่อยก็ตรงที่ว่า อนิจจานุปัสสี เห็นความไม่เที่ยงนั่นนะ มันทำงานของมันอย่างไร การเห็นความไม่เที่ยงมีขอบเขตอย่างไร มีอาการอย่างไร ข้อนี้มันมีหลายข้อ แต่ก็ไม่ได้เอามาระบุไว้ในตัวสูตร แต่โดยธรรมชาติมันต้องมี อนิจจานุปัสสี ต้องเป็นไปตามลำดับๆๆๆ สูงขึ้นๆๆๆ จนเพียงพอ นั้นจึงจะเกิดวิราคะ และเห็นวิราคานุปัสสี ขอฟังให้ดี ว่าการเห็นอนิจจังนั่นนะ เห็นอนิจจังคือเริ่มต้นของปัญญา มันจะเห็นไปในลักษณะอย่างไร เมื่อเห็นอนิจจัง อนิจจัง ไม่เที่ยงๆๆ และไม่ต้องสงสัย มันเห็นทุกขัง เพราะมันน่าเกลียดอยู่ในอนิจจังนั่นนะ แล้วก็ทนยากอยู่ในอนิจจัง คือการที่จะต้องไปอยู่กับสิ่งที่เป็นอนิจจังนะมันทนยาก สิ่งใดเป็นอนิจจัง ไปเอาเข้า มันก็เป็นทุกขัง เห็นอนิจจังแท้จริงก็เห็นทุกขัง เมื่อเห็นทั้งอนิจจัง เห็นทั้งทุกขัง บังคับมันไม่ได้ แล้วมันไม่ใช่ตัวตนที่มันทำสัญญาตกลงอะไรกันได้ ก็เรียกว่าเห็นอนัตตา เห็นอนัตตา เห็นอนิจจัง ก็จะเห็นทุกขัง เห็นอนิจจังและทุกขังก็จะเห็นอนัตตา มันเป็นละเอียดที่มันจะกล่าวอย่างละเอียดก็กล่าวได้อีกว่า มันจะเห็นธรรมมัตถิตัตตา (นาทีที่ 01:27:15) ว่าธรรมชาติ มันเป็นอย่างนี้เอง ข้อที่สี่นั้นธรรมมัตถิตัตตา เห็นว่าธรรมชาติมันเป็นอย่างนี้เอง ที่ดูๆๆ ธรรมชาติเป็นอย่างนี้เอง ธรรมชาติเป็นอย่างนี้เอง ก็เห็นต่อไปว่า โอ้ มันมีกฎของธรรมชาติบังคับอยู่ นี่เรียกว่าเห็นธรรมะนิยามะตา (นาทีที่ 01:27:38) ธรรมะนิยามะตา เมื่อเห็นธรรมะนิยามะตา เป็นอย่างนี้โดยแน่นอนแล้ว แล้วก็เรียกว่าเห็นอิทัปปัจจะยะตา (นาทีที่ 01:27:50) ทุกสิ่งเป็นไปตามปัจจัย เป็นไปตามปัจจัย เป็นไปตามปัจจัย มีปัจจัยสำหรับเกิดก็เกิด มีปัจจัยสำหรับดับก็ดับ การเห็นอย่างนี้เรียกว่าเห็นอิทัปปัจจะยะตา มันสูงขึ้นไป มันลึกขึ้นไป ทีนี้เมื่อเห็นว่า โอ้ มันมีแต่สิ่งที่เป็นอิทัปปัจจะยะตา เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่มีตัวตน นี่จะเห็นชัดตรงนี้ ก็เรียกว่าเห็นสุญญตา ว่าง ว่าง ว่าง ว่าง ว่างจากตัวตน ทีนี้เห็นชัดแล้วมันมีแต่ว่างจากตัวตนไปทั้งนั้น ว่างจากตัวตนไปทั้งนั้น ไม่มีอะไรที่เป็นตัวตน ก็เรียกว่าเห็นตถาตา ตถา แปลว่าเช่นนั้นเอง เช่นนั้นเอง ตถาตา ตถาตา พอเห็นตถาตาอย่างนี้แล้ว ทุกอย่างมันเปลี่ยนหมด มันไม่เอียงไปทางฝ่ายไหน ไม่เอียงไปทางฝ่ายบวก ไม่เอียงไปทางฝ่ายลบ ไม่มีอะไรปรุงแต่ได้ ไม่ถูกอะไรปรุงแต่ง แล้วก็ไม่ปรุงแต่งสิ่งใดด้วย นี่เรียกว่าเห็น หรือเป็น หรือเห็น หรือมี อะตัมมะยะตา (นาทีที่ 01:29:07) อะตัมมะยะตา เรื่องนี้สงบเงียบอยู่ในพระบาลี ในพระไตรปิฏก ไม่มีใครเอามาพูด อาตมาเอามาพูดสักสองปี สองปีมานี้ เขาก็หาว่าขบถคดโกง เอาเรื่องไม่มีจริงมาพูด ย้อมแมวขาย (นาทีที่ 01:29:26) ว่าอย่างนั้น ทำใจ xx (นาทีที่ 01:29:29) ก็ได้ แต่เรื่องนี้มันซ่อนอยู่ในพระบาลี ไม่ได้เอามาพูด ทีนี้แม้นว่าคนจะอ่านพระไตรปิฏกเองมันก็ไม่พบหรอก เพราะเขาแปลเสียแล้ว ถ้าคุณไปอ่านพระไตรปิฏกแปลไทย คุณไม่พบคำว่า อะตัมมะยะตา เพราะเขาแปลเสียแล้ว แปลว่าอะไรไม่รู้บ้าๆ บอๆ ตามอรรถกถา แปลว่า นิจตัณหา ไม่มีตัณหา คืออะตัมมะยะตา ถูกนิดเดียวมันก็เด็กอมมือ อะตัมมะยะตาแปลว่า ไม่อาศัยปัจจัยนั้นๆ ไม่ตั้งอยู่ด้วยปัจจัยนั้นๆ ไม่เป็นไปตามปัจจัยนั้นๆ ปัจจัยอะไรปรุงแต่งไม่ได้ นั่นเรียกว่าอะตัมมะยะตา ไม่ใช่สั้นๆ คำเดียวว่า นิจตัณหา เหมือนอรรถกถาสาม ไม่ใช่ xx (นาทีที่ 01:30:13) อธิบายกันบ้าง ก็สอนกันเพียงแค่นั้นว่านิจตัณหา งั้นขอให้ไปศึกษาเถอะ บรรยายมาหลายสิบครั้งแล้วก็ยัง อะตัมมะยะตาเนี่ยว่า ไม่ต้องอาศัยปัจจัยอะไรเป็นอยู่ ไม่ต้องอาศัยปัจจัยอะไรปรุงแต่งขึ้นมา ไม่เป็นไปตามอำนาจแห่งปัจจัยอะไร คงที่ คงที่ คงที่อยู่ในความถูกต้อง ถูกต้อง ถูกต้อง คงที่ แล้วก็บรรลุมรรคผลนิพพาน ความถูกต้องมันถึงที่สุด ก็บรรลุมรรคผลนิพพาน นี่มันผลของการเห็นอนิจจัง เห็นอนิจจัง ไม่เที่ยง ทบทวนอีกทีว่า เห็นอนิจจังนะ ก็จะเห็นทุกขังนะ เห็นทุกขัง อนิจจัง แล้วก็จะเห็นอนัตตาเนี่ย สามอันนี้ เห็นทีแรก เห็นสามอันนี้แล้วจะเห็นต่อไปว่า ธรรมมัตถิตัตตา ตามธรรมชาติเป็นอย่างนี้ ธรรมะนิยามะตา มีกฎของธรรมชาติบังคับอยู่ และอิทัปปัจจะยะตา ความเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยอยู่เนืองนิตย์ นี่สาม สาม ถ้าเห็นมาถึงนี้แล้วก็จะเห็นสุญญตา ตถาตา อะตัมมะยะตา อีกสาม สามหนก็เป็นเก้า ถ้าเห็นเก้านี้คือเห็นทั้งหมดทั้งสิ้น สูงสุดของวิปัสสนา วิปัสสนา เห็นแจ้งสิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามที่เป็นจริง คือเห็นเก้าตา เก้าตา ตานี่แปลว่าภาวะ ภาวะ หรือสภาวะ สภาวะเก้าอย่าง ไม่ใช่ลูกตานะ แต่จะ จะว่าลูกตาก็ได้เหมือนกัน ก็ลูกตาก็เห็นเหมือนกันแหละ มีลูกตาเก้าลูกอย่างนี้ก็ได้เหมือนกัน แต่ความจริงมันคือเห็นสภาวะทั้งเก้า อนิจจะตา ทุกขะตะ อนัตตะตา ธรรมมัตถิตัตตะ ธรรมะนิยามะตา อิทัปปัจจะยะตา สุญญตา สะภะหะตา อะตัมมะยะตา (นาทีที่ 01:32:20) บรรลุความเป็นอะตัมมะยะตาก็มีความเป็นพระอรหันต์ ก็เป็นพระอรหันต์ เพราะมีอะตัมมะยะตา เป็นพระอรหันต์เรียกว่าอะตัมมะโย อะตัมมะโย คือมีอะตัมมะยะตา หมด จบ เรื่อง นี่มันมีอาการที่ว่า จะมีการทำให้เกิดคลายกำหนัด วิราคะ วิราคะ ในทุกสิ่งที่ไปยึดถือมาก่อน มันก็เริ่มเห็น เริ่มมีวิราคะ มาทีละนิดๆๆๆ สูงสุด ถึงที่สุด เมื่อเห็นอะตัมมะยะตา นั่นนะจึงจัดลำดับว่าเห็นอนิจจานุปัสสี และเห็นวิราคานุปัสสี ระหว่างอนิจจานุปัสสี และวิราคานุปัสสีนั้นมีได้เก้าขั้นตอน จะพูดให้มากกว่านั้นก็ได้ แต่มันเกินจำเป็น เอาเพียงเก้าขั้นตอนก็พอแล้ว ระหว่างเห็นอนิจจะตากับวิราคา คือคลายออกๆ จางออกๆ แห่งความยึดมั่นถือมั่น คลายออกแห่งอุปาทานการยึดมั่น การยึดมั่น คลายออกๆ ที่จริงมันคลายออกๆ จางออก แล้วมันจะไปไหนเล่า คุณคิดดูเองสิ ถ้าเอาออกๆ คลายออก จางออก แล้วมันจะไปไหน มันก็หมด มันก็หมด นี่คือนิโรธา หรือนิโรธานุปัสสี เห็นความดับคลายหมดแห่งอุปาทาน ตัวตนๆ ของตนๆ ดับๆๆ กิเลสไม่เกิดได้เพราะไม่มีตัวตน มันก็หมดเรื่อง ดับกิเลสด้วย ดับทุกข์ด้วย ดับทุกอย่างที่จะต้องดับ เป็นนิโรธานุปัสสี นี่เอ้าแถมอีกสักขั้น ยังไม่จบ ปะฏินิสักขานุปัสสี (นาทีที่ 01:34:33) นี่คือการเห็นว่ามันจบเรื่อง เห็นว่ามันจบเรื่อง เรื่องมันจบ ปะฏินิสักขะนี่แปลว่าโยนกลับ หรือโยนคืน โยนกลับ ก่อนนี้ไปเอาของธรรมชาติมาเป็นของกู มาเป็นตัวกู ไปโกงไปปล้นไปเอาของธรรมชาติมาเป็นตัวกู มาเป็นของกู มันก็ได้เกิดความทุกข์ สมน้ำหน้ามันแหละ พูดแบบคำหยาบหน่อย สมน้ำหน้าความโง่ที่ไปเอาของธรรมชาติมาเป็นตัวกูของกู เดี๋ยวนี้เห็นชัดแจง อนิจจะตา ทุกขะตา จนถึง อะตัมมะยะตา ก็เท่ากับว่าไม่เอาๆ โยนคืนหมด โยนคืนหมด คืนเจ้าของหมด แล้วเลิกเป็นคนโกง เป็นคนคดโกง เป็นคนโกงธรรมชาติ คืนให้ธรรมชาติเสีย ปะฏินิสักขานุปัสสีนี้ไม่ใช่มีแต่ในเรื่องนี้ เรื่องอื่นก็มี แต่เป็นที่จบของวิปัสสนา เป็นจุดจบของวิปัสสนาทั้งหลาย โยนคืนเจ้าของ ก็คือการรู้ว่าจบเรื่องเสร็จเรื่อง ภาษาอภิธรรมเขาเรียกว่าปัจจเวกขณญาณ (นาทีที่ 01:35:54) มองเห็นการที่ว่ามันสิ้นสุด หรือมันจบเรื่อง นี่เป็นอันสุดท้ายของอาณาปานสติ ทั้งชุดมันก็เรื่องพิจารณาดูสิ่งซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งตัวตน เริ่มด้วยดูสิ่งซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งตัวตนคือกายกับเวทนา กายกับเวทนาเป็นสิ่ง เป็นที่ตั้งแห่งตัวตน ศึกษาละเอียดๆ แล้วก็เห็นชัดอยู่ว่ามันเป็นโง่อย่างไร เป็นทุกข์อย่างไร แล้วก็จะฝึกจิตๆๆ ให้ออกมาเสียจากความโง่นั้น ฝึกๆๆ จนมีสมาธิสูงสุด มีวิปัสสนาหรือปัญญาสูงสุด มันก็หมด คลายออก จางออกจนหมด หมดแล้วรู้ว่าหมด รู้ว่าหมด หมดเรื่อง หมดปัญหา หมดหน้าที่ หมดอะไรทุกอย่าง หมดความทุกข์ที่มันสำคัญที่สุดก็คือ มันหมดความทุกข์โดยประการทั้งปวง นี่เรียกว่าจัดการกับสิ่งที่เรียกว่าตัวตนๆ จนไม่มี ไม่มีความโง่ว่าตัวตน ก็เรื่องมันก็จบ เรื่องมันก็จบ ตลอดเวลาที่แล้วมา โดยสัญชาตญาณก็มีตัวตนธรรมดาๆ เนี่ย ออกมาจากท้องแม่ มีสัญชาตญาณ ความรู้สึกว่าตัวตนน้อยๆ ยังไม่เป็นอันตราย แต่พอออกมาจากท้องแม่แล้วมันเพิ่มมากขึ้นๆๆๆ เพราะว่าผู้เลี้ยงผู้สอน แม้แต่บิดา มารดา ไปทำให้เด็กทารกนั้นมีความรู้สึกเป็นตัวตนมากขึ้น ไปบอกเขาว่าของหนูอย่างนั้น พ่อหนู แม่ของหนู บ้านเรือนของหนู ตุ๊กตาของหนู อะไรของหนูๆๆ เด็กมันก็มีความรู้สึกว่าตัวตนๆ มากขึ้นๆ พอเด็กเดินไปชนเสา เดินไปชนเก้าอี้ มันเจ็บ มันเจ็บมันร้องไห้อยู่ แม่หรือคนเลี้ยงก็ช่วยไปตีเก้าอี้ ไปตีเสา ช่วย นี่เท่ากับสอนให้มันมีตัวตนมากขึ้น ตัวตนคือเสา ตัวตนคือกูถูก ตัวตนคือเสาโดน มาช่วยกันตีหน่อย มันสอนเรื่องตรงกันข้าม สอนให้เป็นอัตตา อัตตามากขึ้น ไปกินของอร่อยก็มีกูอร่อย ไม่อร่อยก็มีกูไม่อร่อย ไปฟังเสียงไพเราะ ก็กูได้ฟังเสียงไพเพราะ ไม่ไพเราะ ก็กูไพเราะ ก็กูๆๆ กว่าจะเติบโตเป็นหนุ่มเป็นสาวเนี่ย ความคิดว่าตัวตน ว่าของตนแน่นอัดไปหมดเลย ก็เกิดกิเลสทุกชนิด ก็มีความทุกข์ งั้นเรามารู้จักไอ้สิ่งหลอกลวงเหล่านี้เสีย มันมีอวิชชา คอยอยู่ พอมีการกระทำหรือผลของการกระทำแก่ร่างกาย แก่จิตใจ แล้วมันจะเกิดความรู้สึกว่ามีตัวกูผู้กระทำเสมอ ตัวกูหรือตัวตนนี้ไม่ได้เกิดอยู่ก่อนนะคุณช่วยคิดดู มันมีไอ้การกระทำ แล้วมีผลของการกระทำปรากฎแก่ระบบประสาทก่อน แล้วจึงจะเกิดความรู้สึกขึ้นมาว่า ตัวตนหรือของตน เดี๋ยวนี้ไม่มีความรู้สึกว่าตัวตน มันยังไม่มีเรื่องที่ไปกินอะไรที่อร่อยเข้า ไปกินของอร่อยเข้า ก็กูอร่อย ตัวกูเพิ่งมา มารับเอาความอร่อย เนี่ยตัวกูเป็นผีหลอก ตัวกูไม่จริง มันวิ่งมาเกิดเป็นตัวตนขึ้นมา เอาตัวตนเป็นผู้อร่อย ตัวตนมันเพิ่งเกิดทีหลังที่มีการกระทำ เอาความอร่อยเป็นของกู เอาปัจจัยต่างๆ แห่งความอร่อยก็เป็นของกู อะไรก็ของกู บ้านเรือนของกู เงินทองของกู อะไรก็ของกูไปหมด แต่พอไม่มีความรู้สึกเหล่านี้ ตัวกูก็หายไปไหนก็ไม่รู้ มันจะเกิดตัวตนทุกทีที่มีการสัมผัสทางอายตนะ แล้วก็มีผลเป็นสุข หรือเป็นทุกข์ หรืออทุกขมสุขเกิดขึ้น นี่ตัวกูผีหลอก ไม่ได้มีอยู่จริง เพิ่งเกิดเมื่อมีการกระทบทางอายตนะ คงจะไม่เชื่อนะว่าผู้กระทำเกิดจากการกระทำ พูดอย่างนี้คุณคงไม่เชื่อว่าผู้กระทำ เกิดจากกระทำ ต้องมีการกระทำเสียก่อน จึงเกิดความรู้สึกว่าผู้กระทำ มันผิดเหตุผล มันผิดโลจิกต์ แต่ความจริงมันเป็นอย่างนั้น เพราะว่ามันไม่มีตัวตนจริง มันมีตัวตนผีหลอกที่คอยเกิดทีหลังการกระทำเสมอ พอตาเห็นรูป เอากูเห็นรูป มันต้องมีการเห็นรูปเสียก่อน จึงเกิดตัวกูผู้เห็นรูป เห็นรูปสวย เอ้ากูก็เห็นรูปสวย เห็นรูปไม่สวย กูก็เห็นรูปไม่สวย เกิดตัวกูบวก เกิดตัวกูลบ เป็นกิเลสประเภทบวก ประเภทลบ ผู้กระทำ เกิดจากการกระทำ แล้วมาทีหลังการกระทำ เด็กๆ มันก็ไม่เชื่อๆ ไม่มีผู้กระทำจะมีการกระทำได้อย่างไงกันนะ นี่ก็จะบอกเขาด้วย ไอ้ตัวผู้กระทำนะเป็นผีหลอก ไม่ใช่ตัวจริง นั่นนะคืออนัตตา อนัตตา ระหว่างเมื่อมีการกระทำทางอายตนะ เห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ด้วยอายตนะแล้วมันจะเกิดความรู้สึกว่าตัวกูผู้กระทำ เนี่ยความลับที่สุด ตัวกูนั้นคือผีหลอก ไม่ได้มีอยู่จริง แต่จะเกิดทุกทีที่มีการกระทำ เห็นรูปสวยหรือไม่สวยก็มีกูเห็น ฟังเสียงเพราะหรือไม่เพราะก็กูฟัง ได้กลิ่นหอมกลิ่นเหม็นก็กู กูได้ รสอร่อยไม่อร่อยก็กูอร่อย ตัวกูเกิดทีหลังการกระทำ แปลว่าเมื่อเกิดเวทนาแล้ว ถ้าท่านศึกษาปฏิจจสมุปบาทอย่างถูกต้อง ท่านก็จะว่า มีผัสสะ แล้วก็มีเวทนา พอมีเวทนาก็มีตัณหาอยากไปตามเวทนา จึงมีอุปาทานไปตามความอยาก อุปาทานเพิ่งเกิดจากตัณหา มันต้องเกิดความอยาก อยากที่โง่เขลามาจากเวทนา แสดงชัดเจนอยู่ในบทปฏิจจสมุปบาท ขอให้ศึกษาปฏิจจสมุปบาทซึ่งเป็นธรรมะสูงสุด ควบคุมกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาทไว้ให้ได้ อย่าให้มันเกิด ถ้ามันเกิด ต้องเกิดในทางตรงกันข้าม คือจะดับทุกข์ ดับตัวกูหรือดับทุกข์ ปฏิบัติให้เกิดกระแสปฏิจจสมุปบาทฝ่ายดับทุกข์ๆๆ อย่าปล่อยให้มันไปฝ่ายเกิดทุกข์ๆๆ ท่านประสบความสำเร็จในการศึกษาปฏิจจสมุปบาทดีแล้ว ท่านก็ปฏิบัติอาณาปานสติ ประสบผลสำเร็จแล้วก็ควบคุมกระแสปฏิจจสมุปบาทได้ กระแสปฏิจจสมุปบาทฝ่ายเกิดทุกข์ก็ไม่เกิดอีกต่อไป เราก็หมดปัญหา เราก็ได้รับผลอันสูงสุดของพระธรรม เรื่องมันมีเท่านี้ การอบรมจิตนี่ โดยสังเขปมีอย่างนี้ วันก่อนพูดเรื่องอบรมธรรมมันยังกว้างไป วันนี้ก็พูดเรื่องอบรมจิต มันเฉพาะเจาะจงยิ่งขึ้น ประสบความสำเร็จแล้วมันก็หมดปัญหา เอาไปใช้ในทุกๆ อิริยาบท มีสติสัมปะชัญญะสมบูรณ์ เมื่อรับอารมณ์ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีสติสมบูรณ์รับอารมณ์ด้วยสติสัมปชัญญะก็ไม่เกิดตัวตน เมื่อจะเคลื่อนไหวอิริยาบทใดๆ เดิน ยืน นั่ง นอน ก็อย่าให้มันเกิดตัวตน อย่างที่บอกเมื่อวันก่อนว่าเดินจากที่โน่นมาที่นี่ก็เดินอย่างไม่มีตัวผู้เดิน อิริยาบทเดิน ยืน นั่ง นอน อิริยาบทหลับก็ไม่ให้เกิดตัวตน อิริยาบทเล็กๆ น้อยๆ เรื่องกิน เรื่องอาบ เรื่องถ่าย เรื่องอะไร อย่าเกิดตัวตนในทุกอิริยาบท แม้ว่ามันจะประสบอุบัติเหตุแรงร้าย แผ่นดินไหว แผ่นดินทลาย ปรมาณูลงมาอะไรก็ตาม ฉันไม่เกิดตัวตนให้เป็นทุกข์ จิตก็ดับไปโดยไม่ต้องเป็นทุกข์ เรื่องก็จบ ชนะหมดแล้ว ชนะทุกอย่างแล้ว ขอให้ท่านทั้งหลาย ประสบความสำเร็จในการอบรมธรรมะ อบรมจิต ได้รับผลสูงสุด สูงสุดในการที่ได้ชีวิตมาสำหรับพัฒนาตามหลักแห่งพระพุทธศาสนา ประสบความสำเร็จตามลำดับๆๆ กว่าจะถึงที่สุด ตลอดเวลาเหล่านั้นก็มีความสงบเย็น สะอาด สว่าง สงบ เป็นประโยชน์ เป็นประโยชน์ สงบเย็นและเป็นประโยชน์ นั่นแหละเป็นที่มุ่งหมาย ให้จงได้มีความประสบสุขอยู่ในลักษณะที่กล่าวนี้อยู่ทุกทิพาราตรีกาลเทอญ