แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อาตมาภาพขอแสดงความยินดี ในการมาของท่านทั้งหลายสู่สถานที่นี้ในลักษณะอย่างนี้ คือมาแสวงหาความรู้ที่เรียกว่า ธรรมะ เพื่อไปประกอบการงานอยู่ในชีวิตให้สำเร็จประโยชน์ยิ่งๆขึ้นไป ให้มันเต็มตามที่ควรจะได้รับ
ขอทำความเข้าใจกันบ้างเล็กน้อย ว่าทำไมใช้เวลาอย่างนี้ ซึ่งบางคนรู้สึกว่าเป็นการทำให้ลำบาก ใช้เวลาตีห้าอย่างนี้ ที่นี่ก็จะต้องเข้าใจ เข้าใจว่าไอ้เวลาอย่างนี้มันมีความหมายอย่างไร คือมันมีความหมายเหมาะสมที่จะศึกษา หรือจะทำความแจ่มแจ้งในธรรมะ ซึ่งตามปกติก็เป็นของลึกลับหน่อย คือยากลึก เวลาอย่างนี้เป็นเวลาที่จิตใจเหมาะสม แม้โดยธรรมชาติ รากไม้ส่วนมากเริ่มบานในเวลาอย่างนี้ จิตใจก็เหมือนกัน แล้วก็เวลาอย่างนี้เป็นเวลาที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้ เวลาจวนจะรุ่ง เป็นเวลาที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้ ธรรมชาติเหมาะสม หรือธรรมชาติช่วย เราก็ควรจะถือเอาประโยชน์ ถ้ามองกันในอีกแง่หนึ่ง ก็ว่าเวลาอย่างนี้จิตใจยังว่าง คือพอที่จะเติม เติมอะไรลงไปได้ เพราะมันยังว่างอยู่ ถ้าระหว่างกลางวันไปแล้ว มันเติมอะไรลงไปมากแล้ว เติมอะไรลงไปเยอะแยะแล้ว เติมลงไปอีกไม่ค่อยจะได้ บางทีก็มีลักษณะน้ำชาล้นถ้วยเสียอีก เติมลงไปก็หกหมด มันสู้เวลาที่มันว่างอย่างนี้ไม่ได้ ขอให้สนใจสังเกตุดู ก็เตรียมให้จิตใจมันว่างพอที่จะเติมอะไรลงไปได้จริงๆ นี่คือเหตุผลที่ว่าเราใช้เวลาอย่างนี้ แล้วมันก็เป็นบทเรียนอยู่ในตัว ในคนที่พอใจในการนอนมากเกินไปยังไม่อยากจะลุก อยากจะนอนอยู่ เขาก็ไม่ได้สัมผัสโลกในเวลาเช่นอย่างนี้ เพราะเขาหลับอยู่ ถ้าเขาตื่นแล้วก็จะได้สัมผัสโลกในเวลาตีห้า ซึ่งมันก็ต่างกัน ต่างกันตามสมควร เหมือนๆกับเป็นอีกโลกหนึ่งก็ได้ เราหัดลุกขึ้นมาสัมผัสโลกธรรมชาติในเวลาอย่างนี้ มันก็เป็นการศึกษาอยู่ในตัวมันเอง
ทีนี้อีกเรื่องหนึ่งก็อยากจะทำความเข้าใจว่า เดินมาร่วมสองกิโลนี่ เป็นบทเรียนด้วย เป็นบทเรียนด้วยที่ต้องเดินมา นับรวมอยู่ในเป็นบทเรียนด้วย คือท่านจะต้องฝึกฝนการเดินตามแบบของธรรมะที่เขามักจะเรียกกัน หัดเดินจงกรม เรียกตามทับศัพท์ ศัพท์บาลี จงกรมมันก็แปลว่าเดินนั่นแน่ะ แต่ว่าเดินอย่างนักธรรมะ จะเป็นนักบวชหรือไม่บวช ก็สุดแท้แต่ว่าเป็นนักธรรมะ จะต้องมีการเดินหรือการเคลื่อนไหวอิริยาบถทุกอิริยาบถอย่างนักธรรมะ ในที่นี้ก็คือเดินมาอย่างไม่มีผู้เดิน คือทำความเข้าใจคำนี้หน่อยนะ เป็นการเดินที่ไม่มีตัวผู้เดิน คือ ไม่มีตัวกูมีอะไรที่เป็นผู้เดินติดอยู่ในใจ ทำสติสัมปชัญญะไม่มีตัวกู ตัวฉันที่เป็นผู้เดิน มันเป็นเพียงการเคลื่อนไหวหรืออิริยาบถของร่างกายนี้ มันยกย่าง ยกย่าง ยกย่าง ยกย่าง ยก ทำความสำคัญว่าเป็นเพียงอิริยาบถของร่างกายและจิตใจซึ่งมิใช่ตัวตน เนี่ยเรียกว่าไม่มีตัวตนที่เป็นผู้เดินหรือเป็นเจ้าของการเดิน เดินอย่างไม่มีผู้เดิน ฟังดูมันก็แปลกดี บางทีก็จะคิดว่าบ้าบอไปเสียอีก เดินโดยไม่ต้องมีผู้เดิน เมื่อทำในใจอย่างนี้เรียกว่าเดิน เป็นการฝึกธรรมะอย่างยิ่งเป็นบทเรียน ถ้าเดินคุยกันเสีย เอะอะยังไงมันก็เป็นอีกเรื่องนึง ถ้าเดินอย่างตั้งจิตใจว่าเป็นเพียงการเคลื่อนไหวของอิริยาบถ คือของร่างกายนี้ตามธรรมชาติเท่านั้น หามีตัวผู้เดินไม่ ทำได้อย่างนี้แล้วการเดินนั้นเป็นบทเรียนสูงสุดในพระพุทธศาสนา บทเรียนสูงสุดในพระพุทธศาสนาคือบทเรียนเรื่องไม่มีตัวตน มีชีวิตอยู่อย่างที่ไม่มีตัวตน ให้จำไว้เป็นหลักสำคัญเถอะว่า มีชีวิตอยู่อย่างมิใช่ อย่างไม่มีตัวตน คือชีวิตที่เราเรียกว่า ร่างกาย จิตใจทั้งหมดนี้ มันเป็นแต่ธรรมชาติ เป็นธาตุตามธรรมชาติ หาใช่ตัวตนไม่ ฝึกทำความรู้สึกอย่างนี้ได้มากขึ้น มากขึ้น ให้มันมากขึ้นเลย ไอ้ความรู้สึกที่ว่าเป็นตัวกูหรือเป็นของกูมันจะลดลงไป ลดลงไป ลดหมดก็นั่นแหละดี นี่ผลของธรรมะน่ะ ไม่มีตัวตนกิเลสเกิดไม่ได้ ตัวตนลดน้อยลงไปกิเลสก็เกิดน้อยลงไป ขอให้ลดความรู้สึกว่าตัวตน ตัวตน หรือตัวหรือของตน ตัวตนหรือของตนนี่ลงไปเรื่อยๆ ไม่เฉพาะที่นี่หรือที่ไหน เวลานี้ เวลาไหน มันทุกตลอด เป็นทุกหนทุกแห่ง ทุกเวลา มีความรู้สึกไม่ให้มันเกิดเป็นตัวตน หรือให้มันลดลง ให้มันจางลง จางลง ถ้ามันมีอยู่ นี่ก็คือบทเรียน บทเรียน จะเดินกลับไปก็เหมือนกันแหละ ขอให้เดินอย่างไม่มีผู้เดิน การเดินที่ไม่มีผู้เดิน
ทีนี้ก็จะพูดกันถึงเรื่องที่เป็นการอบรม เป็นการอบรม ว่าคืออะไร ถ้ากล่าวโดยสรุป เรามาเรียนเรื่องความรู้ที่จะใช้สิ่งที่ธรรมชาติให้มา ให้ได้รับประโยชน์ที่สุด ที่สุด เต็มที่ที่สุด อะไรที่ธรรมชาติให้มา ก็คือสิ่งที่เรียกว่าชีวิตสังขารร่างกายนี่ ภาษาชาวพุทธเรียกว่า ธรรมชาติให้มา แต่ถ้าเป็นภาษาศาสนาอื่น เขาก็พูดว่า พระเจ้า พระผู้เป็นเจ้าให้มา ก็ตามใจเขาแหละ แต่มันก็เหมือนกันอยู่ดีแหละว่า จะเป็นพระเจ้าให้มาหรือธรรมชาติให้มา ก็ต้องเอามาใช้ให้ดีที่สุด มาทำให้เป็นประโยชน์ที่สุด อย่าให้เป็นหมัน ให้ได้รับผลไปในทางสงบเย็นและเป็นประโยชน์ คำสองคำนี้ช่วยจำไว้ดีๆว่า ชีวิตนี้ต้องรับได้ผลสุดท้ายและสูงสุดคือ เป็นชีวิตที่เป็นสงบเย็น มีความสงบเย็น สงบเย็น และอีกสิ่งก็เป็นประโยชน์ เป็นประโยชน์ ไม่ใช่สงบเย็นอย่างเป็นหมัน แต่ว่าสงบเย็นอย่างเป็นประโยชน์ เหมือนเครื่องจักรน่ะ ผลิตออกมาเป็นประโยชน์ตลอดเวลา พระพุทธเจ้าหรือพระอรหันต์ทั้งหลายเป็นประโยชน์แก่สัตว์โลกในทุกๆอย่างเนี่ย อย่างน้อยก็ยังเป็นตัวอย่างให้ดูว่ามีชีวิตอย่างนี้สิ แล้วก็จะมีผลดีที่ท่านก็ช่วยแนะนำสั่งสอนทุกอย่างที่จะขจัดปัญหานานาชนิด แม้ว่าจะทำประโยชน์ทางวัตถุบ้างก็ได้ แต่มันไม่จำเป็น เอาไป เอาไปทำประโยชน์ทางจิตใจเสียมากกว่า นี้เรียกว่าเราจะรู้สึกว่าเป็นหน้าที่ เป็นหน้าที่ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่จะต้องทำให้การเกิดมานี่เป็นประโยชน์ที่สุด เดี๋ยวใครจะไปแก้ แก้ตัวว่า ฉันไม่ได้ต้องการจะเกิดมานี่ ใครก็ไม่รู้ให้ฉันเกิดมา ฉันก็ไม่รับผิดชอบว่าต้องเกิดมาทำไม ต้องทำอะไร ถ้าอย่างนี้มันก็เสียหายหมด คือขาดทุน ป่นปี้หมด เขาให้สิ่งที่สามารถเอามาผลิตให้เป็นประโยชน์สูงสุด แล้วตัวเองก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร ก็อะไร ขี้เกียจ ไม่เห็นเป็นหน้าที่ที่จะต้องทำให้สำเร็จ แล้วปฏิเสธกันเรื่อยๆว่า ฉันไม่ได้เกิดมา ฉันไม่ได้ต้องการเกิดมา ไม่ได้สัญญาสัญยิงอะไรกัน ว่าเกิดมาแล้วจะต้องทำอะไร อย่าไปคิดอย่างนั้นเลย คือให้ถือเสียว่ามันเป็นโอกาส หรือเป็นโชคดีที่ได้เกิดมา แม้แต่เพียงเพื่อแสดงบทบาทหรือเป็น เอ่อ ก็คงมีค่าวิเศษที่สุดแล้ว ได้แสดงบทบาทสำเร็จมีผลเป็นความสงบเย็น นึกว่าเป็นประโยชน์ เนี่ยมันก็ได้กำไร ซึ่งสัตว์เดรัจฉานทำไม่ได้ล่ะ สัตว์เดรัจฉานจะทำอย่างนั้นไม่ได้ คือเดี๋ยวนี้เป็นมนุษย์ มันต่างกันลิบลับ ห่างกันลิบลับ บางทีมนุษย์จะทำชีวิตให้เป็นประโยชน์นี้มันก็มีมากมหาศาล ทีนี้เราไม่รู้ เราไม่รู้จะทำอย่างไร ระเบียบปฏิบัตินั้นเรายังไม่รู้ เราจึงมาศึกษาเพื่อจะใช้ชีวิตนี้ให้เป็นประโยชน์ถึงที่สุด นี่แหละเรียกว่า ธรรมะ ธรรมะ
นี่ธรรมะคำนี้แปลก คือว่ามันหมายถึงทุกสิ่ง ทุกสิ่ง ไม่ยกเว้นอะไร คำว่าธรรมะเนี่ย เธอเข้าใจเสียทีว่า ธรรมะพยางค์เดียว มันทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ยกเว้นอะไร กี่ล้านๆสิ่งก็ได้ เรียกว่า ธรรมะ ธรรมะหมด ก็มันมีความหมายสำคัญๆครบ ธรรมะคือตัวธรรมชาติ ข้อที่หนึ่ง ตัวที่มีอยู่ตามธรรมชาติน่ะ จะเป็นวัตถุธาตุ จะมีชีวิตก็ดี จะเป็นมโนธาตุจิตใจที่มีชีวิตก็ดี ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุอากาศ ธาตุวิญญาณ ทุกอย่างเป็นธาตุตามธรรมชาติ นี่ชีวิตคือตัวธรรมชาตินี่ ไม่ยกเว้นอะไร ทั้งจักรวาล ดวงจันทร์ ดวงดาว ดวงอาทิตย์ ทุกสิ่งที่มีอยู่ในนั้น ในโลกทุกโลกน่ะ เขาเรียกว่า ธรรมชาติ เนี่ยภาษาบาลี เรียกพยางค์เดียวว่า ธรรม ธรรมะ
ทีกิจประการที่สอง คือ กฎของธรรมชาติ ในตัวธรรมชาติทุกชนิดมีกฎของธรรมชาติกำกับอยู่ มีกฎอย่างนั้น ถ้าทำอย่างนั้น จะมีผลอย่างนั้น ทำอย่างนั้น จะมีผลอย่างนั้น ธรรมชาติแท้ๆมันไม่เรียกว่าดี ว่าร้ายอะไร ไม่เรียกว่าบุญ ว่าบาป ว่าดีว่าร้ายอะไร ถ้าทำอย่างนั้นผลจะเกิดอย่างนั้น ถ้าทำอย่างนั้นผลจะเกิดอย่างนั้น ใครจะไปเรียว่าบุญ ว่าบาป ว่าดี ว่าชั่ว ว่าสุข ว่าทุกข์ ตามใจก็ได้ แต่ตัวธรรมชาติแล้วไม่มีความหมายว่าจะเป็นสุข เป็นทุกข์ เป็นบุญ เป็นบาป เป็นนรก เป็นสวรรค์ ไม่มี มันมีแต่ว่าทำลงไปอย่างนี้ ผลจะเกิดขึ้นอย่างนี้ ทำลงไปอย่างนี้ ผลจะเกิดขึ้นอย่างนี้ นี่เรียกว่ากฎของธรรมชาติ บาลีสั้นๆก็ ธรรม ธรรมะ เฉยๆ
นี้ก็ หมวดที่สาม หน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ เมื่อในตัวธรรมชาติมีกฎบังคับอยู่อย่างนั้น มันก็มีสิ่งที่เรียกว่า หน้าที่ ที่สิ่งเหล่านั้นโดยเฉพาะที่มีชีวิตจิตใจจะต้องทำหน้าที่ให้ถูกตามกฎของธรรมชาติ มิฉะนั้นมันจะตาย มันจะต้องตาย หรือมันจะได้รับความทุกข์เจียนตาย ตายหาความสงบสุขไม่ได้ นี่เรียกว่าหน้าที่ หน้าที่ ทุกอย่างทำหน้าที่อย่างถูกต้อง ก็เกิดความปกติสุข คนก็ต้องทำหน้าที่ สัตว์เดรัจฉานก็ต้องทำหน้าที่ แม้แต่ต้นไม้ต้นไร่นี่ก็ต้องทำหน้าที่ เราจะมองเห็นหรือไม่เห็นก็สุดแท้ ต้นไม้ดูจะทำหน้าที่ตลอดวันตลอดคืน ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง ในเราคนหนึ่งก็ทำหน้าที่แขน ขา มือ ตีน ตับ ไต ไส้ พุง มันก็ต้องทำหน้าที่ตามเรื่องของมัน ลองไม่ทำหน้าที่มันก็คือตาย ก็ทว่าส่วนเล็กที่สุดเป็นเซลล์เป็นกลุ่มแห่งเซลล์ที่จะดูด้วยตาไม่เห็น มันก็ทำหน้าที่ พวกเซลล์นั้นมันทำหน้าที่อยู่อย่างถูกต้อง ในกลุ่มแห่งเซลล์มันก็ทำหน้าที่ประกอบกันเป็นอวัยวะ เป็นเลือด เป็นเนื้อ เป็นหนัง ก็ทำหน้าที่ก็ถูกต้อง ถูกต้อง ถูกต้อง มันก็อยู่ได้แหละ ปกติ เพียงแต่เซลล์ทั้งหลายไม่ทำหน้าที่มันก็ตายวูบเดียว ตายวูบเดียว ตายไม่ทัน เนี่ยความหมายที่สาม คือหน้าที่ หน้าที่ สิ่งนี้คือสิ่งสำคัญ สิ่งสำคัญที่พระพุทธเจ้าตรัสสอน คือ การปฏิบัติธรรมะนั่นแหละคือหน้าที่ หน้าที่คือการปฏิบัติธรรมะ ปฏิบัติให้ถูกต้องแล้วก็มีความปกติสุข ไม่ตาย แล้วก็อยู่อย่างมีความปกติสุข หน้าที่ หน้าที่เหล่านี้ก็เรียกว่าธรรมะ ที่อาตมาพยายามบอกมาหลายปีแล้ว ธรรมะคือหน้าที่ หน้าที่คือธรรมะ การทำหน้าที่คือการปฏิบัติธรรมะ การปฏิบัติธรรมะคือปฏิบัติหน้าที่
ที่เหลืออันที่สี่ก็คือว่า ผลที่จะเกิดมาจากการทำหน้าที่ เมื่อทำหน้าที่ก็มีผลไปตามเรื่องของมัน ทำหน้าที่อย่างโลกๆ ทำมาหากิน ก็ได้ผลไปตามนั้น ทำหน้าที่สูงสุดอย่างธรรมะก็บรรลุมรรคผลนิพพานเป็นผลของการทำหน้าที่ ท่านทั้งหลายลองคิดดูมัน ๔ ความหมายอย่างนี้ แล้วมันจะเหลืออะไรล่ะ มันเหลืออะไร มันไม่มีอะไรเหลือที่จัดว่าไม่ใช่ธรรมะอยู่นอกวงของธรรมะ ตัวธรรมชาติทั้งหลายก็เป็นธรรมะ กฎของธรรมชาติที่มีอยู่ในตัวธรรมชาตินั่นก็คือธรรมะ หน้าที่ตามกฎอันนั้นมันก็คือธรรมะ แล้วผลที่ออกมาก็มันคือธรรมะ นั่นน่ะ ธรรมะมันจึงหมายถึงทุกอย่าง ทุกอย่าง ไม่ยกเว้นเมื่อไร
แต่ว่ามันมีอย่างที่สำคัญ หมวดที่สำคัญที่เราจะศึกษากันโดยเฉพาะเวลานี้ ก็คือหมวดที่เรียกว่า หน้าที่ หน้าที่ ปฏิบัติธรรมะคือหน้าที่ แต่ว่าการปฏิบัตินี้มันต้องประกอบไปด้วยสิ่งที่มันเนื่องกันอยู่ มันมีการเล่าเรียน เรียกว่า ปริยัติ ปริยัติ ต้องมีการเล่าเรียน เล่าเรียนให้พอ อนึ่งมีการสอนธรรมะด้วย แล้วมีการปฏิบัติ ปฏิบัติโดยตรงโดยเฉพาะปฏิบัติจิตใจด้วย นี่เรียกว่า ปฏิบัติที่ธรรมะ แล้วผลก็ได้รับเป็น (22:15)ปฏิเวธธรรมะ ปฏิเวธธรรมะ มีการเรียนมีการปฏิบัติ มีการได้รับผลของการปฏิบัติ จะเห็นชัดเจนได้อยู่ในตัวตน ไม่ต้องเชื่อใครว่า นี่คืออะไร นี่ทำทำไม นี่ได้รับประโยชน์อย่างไร ก็รู้ชัดเจนอยู่ในความรู้สึก
สัตว์เดรัจฉานมันก็มีหน้าที่ที่ถูกต้อง มันจึงรอดอยู่ได้ มันก็มีหน้าที่หรือมีธรรมะในระดับสัตว์เดรัจฉาน อย่าไปดูถูกมัน อย่าไปเรียกมันอย่างอื่น สัตว์เดรัจฉานก็มีหน้าที่มีธรรมะอย่างสัตว์เดรัจฉาน ปฏิบัติถูกต้องแล้วก็รอดอยู่ได้ แต่เดี๋ยวนี้สัตว์เดรัจฉานไม่มีการเล่าเรียน มันจึงทำได้เท่าที่ว่ามันมีไอ้สัญชาตญาณ ความรู้ที่เกิดเองตามธรรมชาติมีอยู่อย่างไรมันก็ทำไปตามนั้นแน่ะ มันก็รู้จักหาอาหาร รู้จักวิ่งหนี รู้จักสืบพันธุ์ รู้จักอะไรไปตามเรื่องของมัน เพราะอย่างมากที่สุดมันก็ทำตามอย่างพ่อแม่ของมัน พอมันเกิดออกมา เห็นพ่อแม่ของมันทำอย่างไรมันก็ทำอย่างนั้น ลูกไก่เล็กๆไม่กี่วันก็เขี่ยเป็นตามที่แม่มันเขี่ยให้ดู นี่เรียกว่าการศึกษาของสัตว์เดรัจฉาน โดยสัญชาตญาณ ได้เท่าไหร่ก็เอาเท่านั้นแล้วก็ทำตามพ่อแม่ แต่ว่ามนุษย์จะทำอย่างนั้นไม่ได้หรอก เพราะมันมีเรื่องที่ลึกที่ยากกว่านั้น จึงมีการศึกษาเล่าเรียนโดยเฉพาะ มันก็มากกว่ากันมากนะ ที่เราจะต้องเล่าเรียนแล้วก็ทำอะไรโดยมากกว่าสัตว์เดรัจฉาน ผลประโยชน์ที่ได้รับโดยการเกิดมามันจึงมากกว่ากันอย่างมหาศาล มันคอยดลใจว่ามันเป็นสิ่งที่ต้องๆทำ คือต้องเรียนหรือต้องปฏิบัติ จึงจะได้รับผลเต็มที่มากมายมหาศาลสมกับที่ว่าเป็นมนุษย์ เป็นมนุษย์นี่
ทีนี้ดู ก็มาดูถึงโดยเฉพาะความหมายที่สาม คือหน้าที่ หน้าที่ ธรรมะคือหน้าที่ ธรรมะคือหน้าที่ ควรจะได้รับการสั่งสอนที่เพียงพอ ทั้งลูกเด็กๆควรจะได้รับการสั่งสอนอย่างเพียงพอว่า หน้าที่ หน้าที่คืออะไร แล้วก็บูชาหน้าที่ เคารพหน้าที่ ถือเอาหน้าที่น่ะ เป็นสิ่งสูงสุด ไม่ทำหน้าที่ก็คือตาย ทำหน้าที่อย่างไรก็ได้ผลอย่างนั้นนะ ฉะนั้นหน้าที่จึงมีลักษณะเหมือนกับพระเป็นเจ้าน่ะ เราเคารพหน้าที่ แต่เรียกว่าเคารพธรรมะ ธรรมะเป็นสิ่งสูงสุดที่ต้องเคารพ แม้พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ก็เคารพธรรมะ คือเคารพหน้าที่ คำนี้เป็นคำที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสเอง แล้วพระพุทธเจ้าทุกพระองค์เคารพธรรมะคือหน้าที่ เมื่อตรัสรู้แล้วใหม่ๆท่านฉงนว่า เอ๊ะต่อไปนี้แล้วจะเคารพอะไร ตรัสรู้เป็นสัมมาสัมพุทธะแล้วจะเคารพอะไร ทบไปทบมาก็ อ้าว ก็เคารพสิ่งที่ตรัสรู้นั่นคือหน้าที่คือธรรมะคือหน้าที่ แล้วท่านก็ทำหน้าที่เคารพหน้าที่จนตลอดพระชนม์ชีพของท่าน ๔๕ ปีที่ตรัสรู้ ทำหน้าที่ ทำหน้าที่ ทำหน้าที่ทั้งวันทั้งคืนครบวงจร แล้วก็ทำหน้าที่ทั่วชมพูทวีป ทำหน้าที่อย่างที่เทียบกันไม่ได้หรอก พวกเรามันบิดพลิ้วหน้าที่ คดโกงหน้าที่ไม่อยากจะทำ เวลาจะทำหน้าที่มันก็มีไม่มาก แต่พระพุทธเจ้าท่านทำหน้าที่ครบวงจร ก่อนจะรุ่ง คือเวลาอย่างนี้ ก่อนรุ่ง ท่านเริ่มๆหน้าที่ ใคร่ครวญว่า เมื่อสว่างขึ้นแล้วจะไปทำอะไรที่ไหน (26: 54)พลับพลา พลับโพ วิโรกนัง พอรุ่งนี่ ใคร่ครวญดู ใครเป็นผู้สมควร ใครเป็นผู้ไม่สมควรที่จะได้รับธรรมะในวันนี้ ท่านอยู่ที่เมืองไหนท่านก็ใคร่ครวญไปสำหรับเมืองนั้น ท่านก็เห็นที่นั่นมีนั้น ที่นี่มีนี้ ตัดสินก่อนได้ว่าสว่างขึ้นจะไปที่นั่นเลย พอสว่างก็ไป ไปในรูปบิณฑบาตรหรือขอทาน จะพยายามไปพบกับคนนั้น ไปพูดจากับคนนั้น บางทีก็มีเรื่องที่ว่าไป(27:32)รำคาญนั่น เมื่อพูดจากับเจ้าของบ้านจนเที่ยงจนสายจนค่ำ จนสำเร็จประโยชน์ ตามที่ท่านมุ่งหมายคนนั้นที่ท่านตั้งใจไปโปรด จะกี่คนก็ได้ หรือเป็นหมู่เป็นคณะก็ได้ คือหลายแห่งก็ตอนเช้าจนเที่ยงจนสาย ตอนเที่ยงมันก็พักร้อนนิดนึง กลับมาที่วัดตอนบ่ายก็มีคนไปรอไปที่จะไปศึกษาที่วัด โดยเฉพาะไปตอนเย็น ประชาชนก็ไปหาที่วัดตอนเย็น ท่านสอนประชาชนหรือคนที่ไปหาจนถึงวัด พอพลบค่ำลงนี่ก็สอนภิกษุประจำวัด (28:18)----------- พลบค่ำสอนภิกษุหรือภิกษุประจำวัด สอนไปจน จน จนถึงเที่ยงคืน เที่ยงคืนแน่ะ(28:30)----------- พอเที่ยงคืนก็เริ่มสอน คือต้อนรับหรือตอบคำถามของพวกเทวดา เทวดาที่มาจากสวรรค์ก็มาตอนนี้ เทวดามนุษย์ ราชา มหากษัตริย์ก็มาตอนนี้ คือเวลาเที่ยงคืน ท่านก็ต้องต้อนรับ ต้องสอน ต้องอะไรไปจนดึกจนดื่นจน จนไปทางวันใหม่แล้วมั้ง จะพักผ่อนบ้างก็นิดหน่อย เดี๋ยวมันก็จะหัวรุ่งอีก หัวรุ่ง (29:07)พลับพลา พลับเพล วิโลกนัง พรุ่งนี้เช้าจะไปที่ไหน น่าเห็นใจไหมโยมจอห์น การทำงานของพระพุทธเจ้า ท่านทำอย่างนี้ อย่างนี้ทั้งวันทั้งคืน อยู่ที่เมืองนี้ทำเสร็จก็ไปเมืองอื่น แล้วทำยังไงไม่มีรถยนต์ มีแต่รถม้า มีแต่เกวียน ท่านไม่ๆไม่นั่ง ถึงนักบวชพวกอื่นมันก็ไม่นั่ง ไม่เฉพาะพระพุทธเจ้าในศาสนานี้ บรรชิตไม่นั่งเกวียน ไม่นั่งรถม้าเหมือนกัน เพราะว่ามันเทียมด้วยสิ่งมีชีวิต รถยนต์ไม่มี เขาก็เดิน ในพระบาลีทั้งหลายอาตมาพยายามตรวจดูว่า พระพุทธเจ้ามีรองเท้าไหม มีร่มไหม ไม่มี ไม่พบเลย นี่ก็สันนิษฐานว่าไม่มี พระพุทธเจ้าไม่มีรองเท้าและไม่มีร่ม เป็นพระศาสดาเท้าเปล่า ไม่มีร่ม ท่านก็ไปได้ ท่านก็ไปได้เป็นโยชน์ๆ ไปจุดเมืองที่ท่านต้องการจะไป ไปที่เมืองไหนท่านก็ลงโรงอย่างที่ว่า ท่านทำงานสอนประจำวันครบวันครบคืนอย่างนี้ จนวันสุดท้ายที่จะปรินิพพาน วันนั้นก็ยังเดินอยู่เป็นโยชน์ๆ ตอนวันกลางวัน หัวค่ำจะปรินิพพาน กลางวันยังเดินอยู่เป็นโยชน์ๆ เจ็บป่วยและ ก็ยังต้องเดินอยู่เป็นโยชน์ๆ ไปอย่างที่ๆกำหนดไว้ว่าจะปรินิพพาน บางทีปรินิพพานอย่างนี้แล้วก็ยังมีคนนักบวชศาสนาอื่นมาถามปัญหา พระสงฆ์ทั้งหลาย โอ้ ไป ไป พระผู้มีพระภาคจะปรินิพพานน่ะไล่กันไป พระพุทธเจ้าได้ยิน ก็ เออ อย่านะ อย่าไล่ เรียกมันมา เรียกมันมา ให้มันถาม สอนธรรมะ สอนธรรมะ สอนตามที่มันอยากจะรู้ จนเพียงพอ เพียงสำหรับจะไปเป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง เป็นองค์สุดท้าย และต่อมาไม่เท่าไหร่ จะเรียกว่าไม่กี่นาทีก็ได้ ต่อมาท่านก็นิพพานตามแบบของท่านนั้น ทำจิตปกติด้วยฌาณด้วยสมาธิและพอถึงกำหนดนั้นก็ออกจากฌาณแล้วปรินิพพานเหมือนกับเราดับสวิตช์ไฟ อย่างนั้นแน่ะ ไม่มีปัญหาอะไร นี่พระพุทธเจ้าท่านทำหน้าที่ของท่านจนนาทีสุดท้าย พวกเราทำอย่างนี้หรือเปล่า เคารพหน้าที่อย่างนี้หรือเปล่า ก็ขอให้คิดดู
ธรรมะคือหน้าที่ หน้าที่คือธรรมะ ธรรมะคือหน้าที่ ขอให้ช่วยกำหนดอย่างนี้แล้วทำเหมือนพระพุทธเจ้าท่านเคารพหน้าที่จนวินาทีสุดท้าย นี่จึงจะเป็นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่แท้จริง ที่พูดนี้ก็เป็นการปลูกฝังศรัทธาในพระพุทธเจ้าแก่ท่านทั้งหลายเป็นเรื่องแรก พระพุทธเจ้าท่านมีการกระทำอย่างนี้ ในเรื่องข้าวปลาอาหารนั้นไม่ต้อง บางพรรษายังกินข้าวตากเลี้ยงม้า ฉันข้าวตากเลี้ยงม้าตลอดพรรษาก็มี ท่านไม่สนใจเรื่องจะกินดีอยู่ดี พระไตรปิฎกเล่มหนึ่งหน้าแรกๆเล่าเรื่องพระพุทธเจ้าไม่มีอาหารอย่างอื่นฉัน เพราะเป็นเวลาข้าวยากหมากแพง ไอ้ที่คนนิมนต์ไปมันก็ลืมไป จนไอ้พวกพ่อค้าเลี้ยงม้าไปขาย เห็นเข้าสงสาร ก็แบ่งอาหารที่เลี้ยงม้า ข้าวตากสำหรับเลี้ยงม้าถวายพระทุกองค์ ไปชุบน้ำแล้วก็ฉันจนตลอดพรรษา อย่างนี้ทำได้ พระเณรเดี๋ยวนี้ทำได้? โดนอย่างนี้ก็ด่าลั่น หนีไปหมดเลย นี่ขอให้คิดถึงว่าพระพุทธเจ้าท่านมีความเป็นอยู่อย่างไร เสียสละเท่าไร เคารพหน้าที่เท่าไร เอาเป็นว่าเราเคารพหน้าที่เหมือนพระพุทธเจ้าเถอะ คือเคารพธรรมะ เคารพธรรมะ เพราะการกระทำก็จะไม่ๆเสียหลายหรอก ที่ท่านอุตส่าห์มาเพื่อศึกษาธรรมะ มาเพื่อปฏิบัติธรรมะก็ไม่เสียหลาย ขอให้ท่านเคารพหน้าที่ เคารพธรรมะ เคารพหน้าที่ เคารพธรรมะ พยายามปฏิบัติให้เต็มที่ เต็มที่ น่ะ ก็จะมีผลเป็นความรู้ รู้ธรรมะตามที่ควรจะรู้ แล้วก็เอาไปใช้ในการปฏิบัติธรรมะ ให้ชีวิตนี้ที่ได้รับมาจากธรรมชาตินั่นแหละ มีความถูกต้อง มีความเจริญรุ่งเรืองไปในทางของธรรมะ ได้รับประโยชน์สูงสุดตามที่ควรจะได้รับ
คำว่า ศึกษาธรรมะ ศึกษาธรรมะ คำนี้ก็ควรจะเข้าใจ ควรจะทำความเข้าใจว่า ศึกษา ศึกษานั้น คือทำอย่างไร ท่านเคยศึกษาแต่ในโรงเรียนหรือที่บ้านเท่านั้นนะ ก็เขาเล่าให้ฟัง หรือบอกให้ฟังก็จำไว้หรือจดไว้ในสมุด แล้วบางทีก็อยู่ในสมุดไม่ได้เอาออกมาใช้อะไรเลย ก็เรื่องอย่างนี้คือการศึกษา แม้ในโรงเรียนโดยทั่วๆไปก็มีการศึกษาอย่างนี้ อธิบายให้ฟังแล้วก็ให้จดจำเอาไว้ แล้วก็ปฏิบัติเมื่อจำเป็น ไม่อยากจะได้ผลอยากจะได้ผล แต่คำว่า สิกขา หรือ ศึกษา นี่ ภาษาไทยเรียกว่า ศึกษา ภาษาบาลี เรียกว่าสิกขา ภาษาสันสกฤตจะออกเสียงของคำว่า (35:43)สิกฉา สิกฉา นี่เป็นภาษาสันสกฤต เหมือนกันแน่ะ คำเดียวกันแน่ะ คือศึกษา คำว่า สิกขา สิกขา มันแปลว่า ดูตนเอง ด้วยตนเอง ในภายในตนเอง เห็นตนเอง รู้จักตนเอง แล้วปฏิบัติสำเร็จประโยชน์แก่ตนเอง นั่นน่ะ คำว่า (36:15)สะ สะ นี้แปลว่าเอง คำว่า สิกข สิกข แปลว่า เห็นดู เห็นแจ้ง คำว่า สิกขา คือจะต้องทำด้วยตนเอง แล้วก็ดูตนเอง ดูภายในตัวเอง แล้วก็เห็นตนเอง นี่ก็ปฏิบัติถูกต้องตามความเป็นจริงว่า จะต้องปฏิบัติอย่างไร นั้น ขอให้สนใจคำนี้ว่า ที่เราจะปฏิบัติสมาธิภาวนาอะไรก็ตาม ต้องเริ่มด้วยการ ดู ดู ใช้คำว่า ดู ให้ดูตนเอง ดูตนเอง ดูเข้าไปข้างในตนเอง ดูๆๆๆ แล้วก็ดูให้เป็นด้วย ครั้นดูเป็นเสร็จเต็มที่แล้วมันก็เห็น ถ้าดูเป็นมันจะเห็น ดูเข้าไปข้างในเถอะ ดูทุกอย่างตามที่บทเรียนมีอยู่อย่างไร วันนี้จะปฏิบัติอะไรก็ดู แล้วก็เห็น เป็น ดิน เห็นน้ำ ลม ไฟ เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วก็เห็น ต้องเห็นแหละ เพราะมันมีสิ่งที่ให้เห็น นะ คุณเห็นแล้วต้องรู้จัก เห็นแล้วไม่รู้จักไม่มีประโยชน์อะไร รู้จักว่ามันเป็นอย่างไร เป็นอย่างไร สัมพันธ์กันอย่างไร เป็นเหตุปัจจัยกันอย่างไรกันก็รู้จัก รู้จัก คือ ถ้ารู้จัก เอาตัวมา วิจัย วิจารณ์ วิจัย วิจารณ์ ด้วยเหตุ ด้วยผล ใคร่ครวญ ทบทวนที่เรียกว่า วิจัย วิจัย คำนี้เป็นของคำเก่าโบราณครั้งพุทธกาลนะ เดี๋ยวนี้เขาก็ใช้กันอยู่ คล้ายๆเป็นคำใหม่ ไม่ใช่ ใช้คำว่า วิจัย ธัมวิจัย นี้เป็นคำเก่าโบราณ เป็นองค์ของโพชฌงค์ ใช้ในการปฏิบัติและตรัสรู้ ทำการวิจัย วิจารณ์ วิจัย วิจารณ์ ใคร่ครวญพิจารณาด้วยวิธีของวิปัสสนา จนเข้าใจดี เข้าใจดี ที่นี้ก็ๆเอาไปปฏิบัติในส่วนที่จะได้ผลตามที่ตนต้องการ ไม่ใช่ถ่องจำไว้สวดอย่างเดียว และไม่ใช่จดไว้ในสมุดอย่างเดียว คำว่า ศึกษา นั้นจะต้องเริ่มด้วยการดู ด้วยตนเอง ในตนเอง โดยตนเอง ดู ครั้นดูแล้วก็เห็น ครั้นเห็นก็รู้จักน่ะ รู้จักวิจัย วิจารณ์ แล้วก็ปฏิบัติ ปฏิบัติตามที่วิจารณ์ว่าควรจะปฏิบัติอย่างไร ทำอย่างนี้เรียกว่าการศึกษา
เช่นว่าเราศึกษาอาณาปานสตินี่ ก็ต้องดูข้างใน ดูภายใน ดูการหายใจ ดูร่างกาย ดูลมหายใจสิ มันเป็นอย่างไร นี่ก็ต้องดู แล้วก็จะเห็น โอ้ มันทำกันอย่างนั้น แล้วก็รู้จักว่าธรรมชาติมันเป็นอย่างนี้ แล้วก็ใคร่ครวญไปดูตามนั้นว่ามันจะเกิดผลอย่างไรไหม จะเกิดผลอย่างที่ครูบาอาจารย์บอกไหม จึงใคร่ครวญไปตามนั้น แล้วก็ปฏิบัติ ปฏิบัติ ก็เห็น เห็นพร้อมกันไปกับการปฏิบัติ เห็นมากขึ้น เห็นมากขึ้น ปฏิบัติตอนต้นๆน่ะมันเป็นสมาธิ ทำจิตให้เหมาะสมที่จะดูจะเห็น จิตตามธรรมชาติ จิตดิบๆ จิตปุถุชนน่ะไม่เหมาะที่จะเห็น ที่จะดู จึงปรับปรุงจิตใจด้วยวิธีที่เรียกว่า สมาธิ จึงมีการทำสมาธิระบบเป็นสมาธิก่อน ครั้นเสร็จแล้วจึงเอาจิตที่เป็นสมาธิไปดูยังวิปัสสนา นี่คนละตอนกัน สมาธิกับวิปัสสนานี่ มันคนละตอนกัน ทำสมาธินี่ จิตเป็นสมาธินี่มันไปดูไปเห็นแล้วก็ทำงานร่วมกันล่ะทีนี้ ทั้งสองอย่างทำงานร่วมกัน คือกำลังของสมาธิก็เป็นกำลังที่ดูด้วยจิตที่เป็นสมาธิ ก็กลายเป็นแฝดกันที่ทำงานพร้อมกัน ก็เห็นๆๆๆ นี่แล้วก็เข้าใจ เข้าใจก็แจ่มแจ้ง แจ่มแจ้ง แจ่มแจ้ง แจ่มแจ้ง เห็นอย่างแจ่มแจ้งน่ะมันเกิดการเปลี่ยนแปลงในภายในน่ะ เพียงแต่ฟังนั้นมันยังไม่แน่ เพียงแต่เก็บไว้ในสมุดมันยังแน่ว่ามันจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในภายใน ต้องเห็นด้วยจิตที่เฉียบแหลม ที่เรียนวิปัสสนาแล้วเกิดการเปลี่ยนแปลงในภายใน ลดสังโยชน์ ลดอนุสัย ที่สะสมอยู่ในภายในให้จางออก จางออก จางออก แล้วไปสู่มรรคผลนิพพาน เห็นแจ้งเมื่อจิตเป็นสมาธิแล้วก็จะเห็นแจ้งสิ่งทั้งปวงตามที่เป็นจริง เหมือนว่าเราดูแล้วเห็นน่ะ มันก็เห็น แต่เดี๋ยวนี้ดูด้วยจิตที่เป็นสมาธิ เห็นอนิจจัง เห็นความไม่เที่ยง เห็นทุกขัง ความเป็นทุกข์ เห็นอนัตตา ความไม่ใช่ตน เห็นธัมมัฏฐิตตา ความเป็นไปตามธรรมชาติอยู่อย่างนี้ เห็นธัมมนิยามตา ว่ามันมีโค้ดของธรรมชาติบังคับอยู่ ก็เห็นว่ามันเป็นไปตามกฏนั้นตามเหตุตามปัจจัยนั้น เรียกว่า เห็นอิทัปปัจยตา ถ้ามาถึงคำนี้รอดตัว เห็นสุญญตา โอ้ ไม่มีตัวตน มีแต่การปรุงแต่ง การเป็นไปตามธรรมชาติ ไม่ใช่ตัวตน เรียกว่า เห็นสุญญตา พอมาถึงสุญญตา โอ้ มันอย่างนี้เอง มันอย่างนี้เอง ไม่ดี ไม่ชั่ว ไม่บุญ ไม่บาป ไม่เกิด ไม่สุข ไม่ทุกข์ ไม่อะไรทั้งนั้น อย่างนี้เอง เราไปสมมุติกันตามความพอใจของเรา สมมุติเอาตามความพอใจอย่างนี้ดี ฉันชอบ อย่างนี้มันไม่ดีเพราะฉันไม่ชอบ คือต้องงดเอาอย่างนี้ มันไม่ใช่ความจริง ความจริงมันเป็นอย่างนั้นเอง ฉันไม่ชอบ ก็ฉันมันไม่ชอบ ก็เป็นอย่างนี้เอง พบเห็นอย่างนี้เอง อย่างนี้เอง มันก็ไม่เกิดกิเลส ความรู้สึกไม่ไปในทางบวก ไม่ไปในทางลบ มันคงที่อยู่ในความถูกต้อง เรียกว่า อตัมมยตา มันมีมากกว่านี้ แต่เอามาเพียงเก้า ๙ หัวข้อ ๙ความหมาย ก็พอแล้ว เห็นไม่เที่ยง เห็นเป็นทุกข์ เห็นเป็นอนัตตา เห็นเป็นธรรมชาติอย่างนี้เอง เห็นมันมีกฎธรรมชาติบังคับอยู่ เห็นเป็นไปตามปัจจัยอย่างนี้ แล้วก็เห็นว่าว่างจากตัวตน ก็เห็นเช่นนี้เอง และอตัมมยตาก็คงที่อยู่ในความถูกต้อง ไม่ไปหลงรักสิ่งนั้น ไม่ไปหลงเกลียดสิ่งนี้ ไม่ไปหวังนู้นหวังนี้ให้คงที่ปกติ สะอาด บริสุทธิ์นี่เป็นข้อแรก คงที่ คงที่ แข็งอยู่ในความถูกต้อง กิเลสเกิดไม่ได้ กิเลสเกิดไม่ได้โดยประการทั้งปวง จิตก็ได้รับความเยือกเย็น เยือกเย็น เยือกเย็น สงบเย็น ถ้าต่อไปนั้น ถ้าต่อนั้นไปชีวิตจะเอาไปใช้ประโยชน์อะไรก็ได้ นี่เรื่องมันมีอย่างนี้ ว่าที่เราอุตส่าห์มาศึกษากัน ให้เข้าใจเรื่องนี้ แล้วก็เอาเรื่องนี้ไปใช้ประโยชน์กับชีวิตสังขารร่างกายของเราให้มันทำได้อย่างนี้ แล้วชีวิตสังขารร่างกายที่ธรรมชาติให้มามันก็มีประโยชน์ถึงที่สุด นี่ก็ทำไมต้องมาอบรม ทำไมต้องเข้ารับการอบรม ก็เพราะเพื่อว่ามันจะใช้สิ่งที่ชีวิต ที่ธรรมชาติให้มาคือตัวชีวิตให้ถูกต้องให้เป็นประโยชน์ถึงที่สุด โดยวิธีที่เรียกว่า สิกขา สิกขา ดู เห็น เข้าใจ แล้วก็ปฏิบัติถูกต้อง ได้รับประโยชน์ ไม่มีโทษ
เอ้า จะดูกันโดยละเอียดสักหน่อยว่า ถูกต้อง ถูกต้อง คืออะไร ถูกต้องนั่น ไม่ใช่ถูกต้องตามที่ฉันต้องการ มันมีความถูกต้องของธรรมะ ถ้าถูกต้องตามที่ฉันต้องการน่ะ มันมักจะเป็นกิเลสทั้งนั้น เพราะคนมันมีกิเลส ถ้าได้ตามที่กิเลสต้องการแปลว่าถูกต้อง พอฉันไม่ได้ตามที่ฉันต้องการ ก็สั่นหัวแปลว่า ไม่ถูกต้อง ไม่ถูกต้อง อย่างนี้ใช้ไม่ได้หรอก มันเป็นเรื่องของกิเลสไปเสีย มันต้องถูกต้องของธรรมะ ของธรรมะถูกต้องคือ เป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ไม่เป็นประโยชน์แก่คนนั้นโดยเฉพาะ แล้วก็เป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่ายแล้วก็ไม่ให้โทษแก่ใคร ถูกต้องคือ ไม่ให้โทษแก่ฝ่ายใดแต่ให้ประโยชน์แก่ทุกฝ่าย อู้ย เดี๋ยวนี้เขาต้องไปใช้เวลาเรียนกัน เรียนทาง Logic ว่าถูกต้องอย่างไร เรียนทาง Philosophy ว่าถูกต้องอย่างไร เถียง เถียงหาความถูกต้อง เถียงกันหน้าดำหน้าแดง มันก็ไม่พบความถูกต้องที่อย่างกับที่เราต้องการ ความถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนา ไม่เอาให้เป็นหลัก เอาแต่มันเกิดผลดี ไม่มีโทษต่อฝ่ายใด มีประโยชน์แก่ทุกฝ่าย นี่เรียกว่า ถูกต้อง ถูกต้อง แล้วมันยังต้องมีรายละเอียดว่าถูกต้อง ถูกต้องทุกขั้นตอนแห่งชีวิต เรียกว่าถูกต้องตามวัย วัย วัยเด็กทารก วัยเด็กโต วัยเด็กรุ่น วัยหนุ่มสาว วัยพ่อบ้านแม่เรือน วัยแก่เฒ่าชรา ถูกต้องน่ะ ถูกต้อง ทุกวัยถูกต้องตามวัยอย่างนี้ ต้องเรียนมากหน่อยละ อย่าท้อถอย ก็วัยมันไปตามวัย เปลี่ยนวัยไปเรื่อย ถูกต้องตามวัย เพราะฉะนั้นก็ถือโอกาสบทนิยาม นิยามคือ การนิยามบทนิยามว่าธรรมะคืออะไร ธรรมะคืออะไร ต้องเน้นตรงนี้ มาช่วยฟังให้ดี ช่วยจะจดก็จดให้ดี ให้มันถูกต้องน่ะ ธรรมะ ธรรมะคือระบบการปฏิบัติ ระบบการปฏิบัติ แล้วจะจำยังไง เอ้า เพราะมันต้องปฏิบัติหลายๆอย่างรวมกัน ปฏิบัติอย่างเดียวมันไม่พอ มันจึงใช้คำว่า ระบบการปฏิบัติ คือหลายๆอย่าง เอามาเป็นระบบแล้วก็ปฏิบัติ นี่คำแรก ที่ถูกต้อง ที่ถูกต้อง ถ้ามันผิดมันก็ไม่มีประโยชน์อะไร ที่ถูกต้อง มีคนศึกษาว่า แก่ความรอด ถูกต้อง แก่ความรอด ถูกต้อง รอด ก็คือ ไม่ต้องตาย ไม่ต้องทุกข์ แล้วคำถัดไปว่า ทางกายและทางจิต รอด รอดทั้งกายและทางจิต รอดแต่ทางกาย จิตเป็นทุกข์ มันตกนรก มันเอาไปทำไมเนี่ย มันต้องรอดทั้งทางกายและทางจิต แล้วคำถัดไปว่า ทุกขั้นตอนแห่งชีวิต ทุกขั้นตอนแห่งชีวิต นี่คือทุกๆวัย ก็ตั้งแต่เกิดจนตายแน่ะ ทุกขั้นตอนแห่งชีวิต และคำสุดท้ายว่า ทั้งเพื่อตนเองและเพื่อผู้อื่น มันสำคัญว่าจะเอาแต่เราคนเดียวไม่ได้แหละ เราอยู่คนเดียวในโลกแหละ ถึงเราจะเอา เขาจะให้ใคร พระเจ้าให้เราอยู่คนเดียวในโลก เราก็อยู่ไม่ได้ ต้องอยู่กับผู้อื่น มันต้องมีความถูกต้องระหว่างตนเองและผู้อื่นจนรอดกันอยู่ด้วยหมด ทบทวนอีกทีนะ ระบบปฏิบัติ ก็ปฏิบัติเป็นระบบ แล้วก็ที่ถูกต้อง ถูกต้อง ถูกต้อง ไม่ถูกต้องแต่อย่างอื่น ถูกต้องแต่ความรอด ระบบปฏิบัติที่ถูกต้อง ถูกต้องก็ได้แก่ความรอดทั้งทางกายทั้งทางจิตทุกขั้นตอนแห่งชีวิต ทั้งเพื่อตนเองและผู้อื่น เราจะเอาชีวิตนี้เป็นชีวิตเดียวก็ได้ แต่ว่าเอาชีวิตจักรวาลก็ได้ ชีวิตของโลกของจักรวาลนี่ ธรรมะจะใช้ได้ตลอดชีวิตจักรวาล กี่ล้านๆปีก็ตาม มันถูกต้องตลอดชีวิต ทั้งจักรวาล ที่นี้เราเอาประโยชน์ของเราให้ถูกต้องแก่ชีวิตของเราเท่าที่เรามีชีวิต ตลอดชีวิต มันก็ต้องเพื่อตนเองและผู้อื่น คือสังคมน่ะ ถูกต้องเพื่อตัวเราด้วย ถูกต้องเพื่อสังคมด้วย แล้วปัญหาก็หมด
นี่ถ้าเขาจะถามเราว่าธรรมะคืออะไร ถามเรา เราตอบอย่างนี้เถอะ ไม่มีทางผิด ถูกร้อยเปอร์เซ็นต์ ธรรมะคือระบบปฏิบัติที่ถูกต้องแก่ความรอดทั้งทางกายและทางจิต ทุกขั้นตอนแห่งชีวิต ทั้งเพื่อตัวเองและผู้อื่น นี่คือคำว่า ธรรมะ ธรรมะ ที่นิยามความหมายลงไปอย่างถูกต้องและครบถ้วนบริสุทธิ์ ท่านจะต้องศึกษาธรรมะให้สมบูรณ์อย่างนี้ แล้วก็มีการปฏิบัติที่ถูกต้องสมบูรณ์อย่างนี้ แล้วก็ได้รับผลของการปฏิบัติที่ถูกต้องและสมบูรณ์อย่างนี้ ดังนั้นมันจึงมีคำว่า โดยวัย โดยวัยถูกต้อง โดยวัยถูกต้องตามวัย ตั้งแต่วัยเด็กๆไปจนถึงแก่เฒ่าเข้าโลง ที่มันถูกต้องกับสิ่งที่แวดล้อมเราอยู่ ถูกต้องตามวัย ในความหมายว่าตามวัยของอายุ อาตมาดูถึงที่กิจการแล้วมันถูกต้อง ตามทุกสิ่งที่แวดล้อมเราอยู่ เพราะว่าเราไม่ได้อยู่คนเดียวอย่างเดียว มันมีสิ่งต่างๆแวดล้อมเราอยู่ มันก็ต้องมีความถูกต้องต่อสิ่งเหล่านั้น ก็เรียกว่าถูกต้องต่อสิ่งแวดล้อมทุกอย่าง ไม่เกิดปัญหากระทบกระทั่งขัดแย้งกับอะไร สรุปสั้นๆว่ามันไม่มีการขัดแย้งกับสิ่งใด
ความขัดแย้งนี่ ในบาลีเรียกว่า อุปทวะ คืออุบาทว์น่ะ อุปทวะ เช่นนั้นแน่ะ แปลว่าความขัดแย้ง มีความขัดแย้งที่ไหน เรียกว่ามีอุปทวะ เลวร้ายที่นั่นน่ะ ถ้ามันถูกต้องต่อสิ่งแวดล้อมรอบตัวเราทั้งหมด แล้วมันจะขัดแย้งกับอะไรล่ะ ภายนอกหรือภายใน กับคน กับสัตว์ กับอะไร กับวัตถุสิ่งของ ไม่มีการขัดแย้งกระทบกระทั่งต่อสิ่งใด ถูกต้องโดยพื้นฐาน โดยแยกเป็นโดยปัจจัยทั้ง ๔ ที่ว่าพระเขาใช้ ชาวบ้านก็ใช้ได้ โดยปัจจัยทั้ง ๔ คือ อาหารที่ต้องกินนี่ก็ถูกต้อง เครื่องนุ่งห่มที่ต้องใช้ก็ถูกต้อง บ้านเรือนที่อยู่อาศัยใช้สอยก็ถูกต้อง หยูกยาแก้โรคก็ถูกต้อง ในปัจจัย ๔ อย่าให้มันขาดอย่าให้มันเกิน แบ่งให้มันถูกต้อง เรื่องอาหารการกิน เดี๋ยวนี้มันจะกินแข่งกับเทวดาเสียแล้ว มันเปลืองทางเศรษฐกิจ เดือดร้อน เรื่องแต่งตัวก็เหมือนกันแน่ะ เอาตามที่ว่ามันจะถูกต้อง ไม่เดือดร้อน ทำไมจะต้องไปซื้อของแพง แล้วมาบ่นว่าเงินไม่พอใช้เล่า มีการนุ่งห่มอย่างถูกต้อง ไม่เป็นปัญหา อาจจะลดลงมา ลดลงมา ไม่ต้องใส่เสื้อสีสวยๆประดับประดาอย่างนั้นอย่างนี้ ใส่เสื้อม่อฮ่อมก็ยังได้ มันก็ไม่มีปัญหาเรื่องแต่งเนื้อแต่งตัว นึกว่าบ้านเรือนก็พอสมควร ไม่ต้องมีตึกราคาร้อยล้านเหมือนที่เขาต้องการกันเดี๋ยวนี้ เอาสะดวกสบายสำหรับจะประกอบกิจการงาน แม้จะมีเงินเหลือใช้ มันก็ไม่ควรเอาไปทุ่มเทกับสิ่งเหล่านี้ ใช้ทำประโยชน์อย่างอื่นดีกว่า แล้วเรื่องยาแก้โรคนี่สำคัญ มันไม่หมายเฉพาะยาที่จะกินเข้าไป เกี่ยวกับการกินอยู่ การปฏิบัติ การอะไร แม้แต่อาหารก็ต้องทำให้ถูกในฐานะที่เป็นยา มีการบำบัดโรคก็แล้วกันน่ะ ด้วยยา ด้วยการกระทำทางร่างกาย สิ่งแวดล้อมเครื่องใช้ไม้สอยบำบัดโรคที่ถูกต้องและเพียงพอ ถ้าไม่ถูกต้องโดยหลักปัจจัย ๔ แล้วมันหาความสุขไม่ได้นั่น แล้วคุณไปโง่ ไปทำให้เกิน เกิน เกิน ทำไม่ได้จนมีปัญหาทางเศรษฐกิจ แล้วก็มีคนฆ่าตัวตายด้วยเหตุนี้อยู่บ่อยๆ มันช่วยไม่ได้มันโง่ มันช่วยไม่ได้ มันมีความถูกต้องโดยพื้นฐานโดยหลักแห่งการมีปัจจัย๔
และทีนี้ก็ดูถึงการงานโดยการงานที่กระทำว่าถูกต้องหรือสามารถในหน้าที่การงาน ไม่มีการงานเกินตัว ถ้าเกินตัวมันต้องเสียหาย ไม่มีใครทำหรอก ต้องพอดีกับความสามารถ ถ้ามีการงานเพิ่มขึ้นก็ต้องขยายความสามารถให้มันเพิ่มขึ้น ให้มันไล่ทันกันไป การงานไม่เกินตัว การงานไม่เกินความสามารถ การงานมีความถูกต้องอยู่เสมอ ที่เรียกว่า การงานไม่ต้องเป็นสิ่งที่ทรมานใจ อย่าให้การงานกลายเป็นนรกเผาไหม้ทรมานจิตใจ อย่างนี้ไม่ไหวหรอก การงานมันไม่ถูกต้อง เมื่อการงานไม่ถูกต้องก็เป็นนรกเผาผลาญคนนั้น จงระวังการงานให้ถูกต้อง ให้พอดี นี่เขาเรียกว่าถูกต้อง ถูกต้อง ในทางถูกต้องทั้งหลาย
จิตใจสงบเย็นเป็นเครื่องวัดว่าถ้าความถูกต้องมันเย็นอกเย็นใจ มันไม่ต้องกระหืดกระหอบ มันไม่ต้องเป็นบวก มันไม่ต้องเป็นลบ มันไม่เกิดกิเลสประเภทบวก หรือราคะ หรือโลภะ มันไม่เกิดกิเลสประเภทลบ หรือโทสะ หรือโกธะ มันไม่เกิดกิเลสประเภทที่ไม่รู้ว่าอะไรคือ โมหะ ได้แต่สงสัย ไล่ตามอยู่เสมอ ถ้าถูกต้องแล้วมันไม่เกิดอาการอย่างนี้ในชีวิตนี้แล้วก็สงบเย็น สงบเย็น เรียกว่ามีความถูกต้องในทางจิตใจ ในที่สุดก็ปรับปรุงให้เกิดความถูกต้องแผ่ไปถึงผู้อื่นที่เรียกว่า สังคม สังคม หรือจะเรียกว่า การเมือง ก็ได้ เพราะอยู่ในโลกนี้มันหนีการเมืองไม่พ้น แค่ว่ามันมีความถูกต้องทางการเมืองแล้วมันก็ไม่มีปัญหาเดือดร้อนเยอะแยะ ข้อนี้ไปรู้เอาเองเถอะเรื่องการเมือง มันมีความถูกต้อง มีความถูกต้องอย่างนี้แล้วมันก็จะเป็นไปในทางที่ถูกต้อง ได้ผลถูกต้องทุกอย่าง ทุกอย่าง ทุกอย่าง จนเต็มตามความหมายของคำว่า มนุษย์ มนุษย์
คำว่า มนุษย์ คำนี้มันแปลว่า จิตใจสูง จิตใจสูง ก็มันอยู่เหนือปัญหา มันอยู่เหนือความทุกข์ มันก็ควรอยู่เหนือน้ำท่วม มันก็ไม่มีปัญหา เดี๋ยวนี้จิตใจอยู่สูงเหนือกิเลส เหนือปัญหา เหนือความทุกข์ จึงเรียกว่า มนุษย์ มนุษย์ คำว่า มนุษย์ แปลว่า จิตใจสูง แต่ว่าทางบาลีไวยากรณ์ (58:39)มนุอุษย ก็แปลว่า เป็นลูกหลานของ(58:43)มนู มนู มนู องค์นั้น องค์นั้นก็คือ เป็นชื่อของนักปราชญ์สูงสุดคนแรกในโลก เรียกว่า (58:51)พระมนู เพราะมีใจสูงอีกนั่นแหละ (58:55)มนู มีใจสูง เป็นลูกหลานของคนมีใจสูง มันก็คือมีใจสูงจึงมีความเป็นมนุษย์ แล้วก็มีความเป็นมนุษย์ที่ถูกต้อง มีความเป็นมนุษย์ที่ถูกต้อง เต็มตามความหมายของคำว่า มนุษย์ เรามีธุระการงานหน้าที่มาก มากอย่างแถบจะจดจะจำไม่ไหว แต่ว่าทำให้มันถูกต้องเถอะ ทำให้มันถูกต้องเถอะ มันจะกลายเป็นสิ่งเดียว มันจะกลายเป็นกลมกลืน เป็นสิ่งเดียว มีความถูกต้อง มีความถูกต้อง จะต้องเกี่ยวข้องกับสิ่งใดให้มันเกี่ยวข้องให้มันถูกต้อง จะต้องทำอะไรจัดให้มันถูกต้อง มีการกระทำที่ถูกต้อง เพราะมีความรู้เพียงพอ มันก็ไม่มีปัญหา ไม่มีปัญหา
ทีนี้ทว่าจะให้มันง่ายเข้า ให้ง่ายเข้า เขาก็นิยมแบ่งให้มันเป็นขั้นตอน ขั้นตอน แบ่งชีวิตคนออกเป็นสัก ๔ ขั้นตอน ตอนแรกที่สุดเรียกว่า พรหมจารี ตั้งแต่เกิดมาเป็นพรหมจารี ยังไม่มีเหย้าเรือนน่ะ ยังไม่มีเหย้าเรือน ต้องศึกษา ศึกษา ศึกษา ให้มีความรู้ทุก ทุกอย่างที่ควรจะศึกษา นับตั้งแต่เรียนหนังสือ เรียนเรื่องของธรรมะ เรียนเรื่องของแม้แต่อาชีพ ก่อนการสมรสเป็นเหย้าเป็นเรือน เขาเรียกว่า พรหมจารี ให้มีการศึกษาถูกต้องตั้งแต่เป็นเด็กอ้อแอ้มา รู้ รู้ รู้ รู้ตามลำดับอย่างนี้ เดี๋ยวนี้ว่า ชั้นอนุบาล ชั้นประถม ชั้นมัธยม ชั้นอุดมฯ อะไรก็ตาม นี่เรียกว่า พรหมจารี ทั้งนั้นแหละ ก็ต้องเคร่งครัด ต้องไม่ปล่อยตามกิเลส ต้องไม่ปล่อยตามจิตใจ ถ้าในยุคพรหมจารีจัดไว้ดี จัดไว้ดี คนนั้นเป็นคนที่มีธรรมะ ไม่ทำตามกิเลสตัณหา ไม่ตามใจตัว ไม่อุตริ ไม่ชิงสุกก่อนห่าม ไม่เหล่านี้ ความเป็นพรหมจารีก็ถูกต้อง มันจึงไปอยู่โรงเรียน หรืออยู่ในอาศรม หรือไปอยู่แล้วแต่ว่ามันยุคไหน ที่ไหน มีการศึกษาที่รัดกุม ให้ได้รับการฝึกที่รัดกุม ไม่ให้ตามใจกิเลส ในระหว่างนี้ วัยรุ่นหนุ่มสาวนี่ก็ต้องได้รับการศึกษาอบรมที่ให้รัดกุม มีความหมายสำคัญที่สุดคือไม่ตามใจกิเลส แล้วก็มีการบังคับตัว บังคับกาย บังคับวาจา บังคับจิต ไว้อย่างถูกต้อง นี่เรียกว่า ถูกต้องในวัยพรหมจารี นี่มันดีพร้อม คนนี้ดีพร้อมที่จะไปเผชิญในโลก
ครั้นผ่านวัยพรหมจารีไปแล้วก็มาถึงวัยคฤหัสถ์ คฤหัสถ์ คำนี้แปลว่า อยู่เรือน อยู่ครองเรือน ก็มีการสมรสน่ะ มีการสมรสเป็นสามีภรรยา เป็นพ่อบ้านเป็นแม่เรือน เป็นยุคหนึ่งนี่เขาจะต้องทำหน้าที่นี้ให้ถูกต้อง เป็นพ่อบ้านแม่เรือนที่ดีไม่มีปัญหา ครอบครัวนั้นก็จะเจริญ เอ้า เจริญในเรื่องของทางโลกอย่างนี้เองถึงที่สุดแล้ว ถึงที่สุดแล้ว มันก็เป็นสิทธิ สิทธิที่จะเลือก คนสูงอายุนี้จะเลือกเอาอยู่ครองเรือนต่อไปจนตายก็ตามใจ แต่ถ้าบางคนไม่ต้องการอย่างนั้น ต้องการจะเลื่อนชั้นขึ้นไปอีก นี่เขาจึงจะออกบวช ใช้คำว่าออกบวชไปอยู่ในป่าก็ได้ ไปอยู่ไหนก็ได้ ถือว่าเลิกยุ่งกับเรือน จะไปบวชเป็นฤาษีชีไพร เป็นพระเป็นเณร เป็นอะไรคือเป็นนักบวชไปเลย โดยรู้สึกว่าพอกันที พอกันทีเรื่องยุ่งๆในโลก ในบ้าน ในเรือน พอกันที จะหาความวิเวกหรือความสงบส่วนตัว ไม่มีอะไรรบกวน ไม่มีอะไรรบกวน เอ้า เขาก็ไปเป็นนักบวช ถ้าจะบวชตั้งแต่ยังเป็นเด็ก เป็นหนุ่มสาว มันบวชอีกชนิด การบวชที่เขาเรียกว่าฝึกการบวชในอาศรม ไม่มีอิสระ บวชนี้มีอิสระเข้าป่าเข้าดงไปไหนก็ได้แล้วแต่พอใจ ไปอยู่ในถ้ำ ไปอยู่คนเดียวที่ไหนก็ได้ เรียกว่า วนปรัสถ์ ปรัสถ์ แปลว่า อยู่ วน แปลว่า ป่า แปลว่าอยู่ป่า เหมือนกับเกษียณอายุ แต่มันเลื่อนอายุสูงขึ้นไป ไปอยู่ด้วยความสงบ
ที่นี้ ถ้ายังพอใจ คือสามารถน่ะ เมื่อได้อยู่ป่าศึกษารอบรู้เป็นที่น่าพอใจว่าชีวิตอย่างนี้ถูกต้อง ชีวิตอย่างนี้ถูกต้อง แล้วก็อยากจะสั่งสอน ทีนี้ก็ออกเดินทางไปในหมู่มนุษย์อีก ไปในหมู่มนุษย์อีก เที่ยวสั่งสอน ภาษาธรรมะเราเรียกว่า จะแจกของส่องตะเกียง แจกธรรมะ แจกแสงสว่าง เรียกว่า สันยาสี แปลว่า เที่ยวไป เที่ยวไป เที่ยวไป เที่ยวไป
ชีวิตนี้เขาเคยแบ่งกันไว้เป็น ๔ ขั้นตอนอย่างนี้ แล้วมันก็ยังมีเหตุผลอยู่จนกระทั่งบัดนี้ น่าจะเป็นพันๆปีมาแล้วที่นิยมแบ่งชีวิตอย่างนี้ แล้วมันก็ยังมีเหตุผลมาจนกระทั่งทุกวันนี้ ทุกวันนี้ เราทำให้ดีที่สุด เตรียมตัวสำหรับเป็นมนุษย์ที่ถูกต้องในวัยพรหมจารี แล้วก็เป็นคฤหัสถ์ครองเรือนทำหน้าที่ได้ดี เป็นพ่อบ้านที่ดี แม่เรือนที่ดี มีวงศ์ตระกูล ตระกูล ครอบครัว มีวงศ์ตระกูลที่มั่งคั่ง แน่นแฟ้น แน่นหนา ไม่มีปัญหา ถ้ามีมันก็เรื่องยุ่ง พอกันที ก็ไปหาความสงบสงัด ได้พบชีวิตใหม่ที่ดีกว่า แล้วก็ออกไปแจกของส่องตะเกียง ไปสอนคนที่เขายังไม่รู้ให้รู้ ถ้าทำได้อย่างนี้ ก็นับว่าประเสริฐ ประเสริฐ หรือถึงที่สุดที่มันจะมีได้ ที่จะมีได้ จะบรรลุมรรคผลนิพพานก็ตอนที่เป็นวนปรัสถ์ ออกไปอยู่ที่สงบสงัด ทำตามแบบบรรลุมรรคผลนิพพานเป็นพระอรหันต์ก็ได้ แล้วทีนี้ก็เที่ยวแจกของส่องตะเกียง เรียกว่าได้ใช้ชีวิตที่ธรรมชาติให้มาเป็นเดิมพันได้ถูกต้องถึงที่สุด ก็ขอให้ถือว่าชีวิตที่ได้มาเป็นเพียงเดิมพัน ให้เอามาลงทุน ลงทุน ลงทุน ลงทุนให้ได้ให้ได้กำไรสูงสุด เดี๋ยวนี้ถ้าเราได้ทำอย่างนี้แล้ว ถึงที่สุดขนาดนี้แล้วก็เรียกว่า ก็ได้ใช้เดิมพัน คือตัวชีวิตถึงที่สุด พอใจ ยกมือไหว้ตัวเองได้ แปลว่า มีความถูกต้องถึงที่สุดแล้ว
อย่างนี้ก็มีตราไว้ในพระบาลี แล้วก็เรียกด้วยคำที่ค่อนข้างแปลก คือท่านทั้งหลายอาจจะไม่เคยได้ยินก็ได้ เพราะว่าเขาไม่เอามาพูดกัน มีเรื่องบางเรื่องหรือคำบางคำ ตกค้างอยู่ในบาลี ไม่มีใครเอามาพูด คำนั้นคือคำว่า (1:08:20)สังโวหาระ หรือ (1:08:23)โวหาระ ก็ได้ สั้นๆ (1:08:26)โวหาระ เต็มที่ก็ว่า (1:08:28)สังโวหาระ คือทำให้มันเกิดประโยชน์ เกิดสิ่งที่เป็นประโยชน์ ที่เราใช้กันอยู่ในบ้านในเมือง (1:08:40)โวหาระ หรือ โวหาร นี่มันเพียงแต่ว่าฉลาดพูด ฉลาดพูด เรียกว่า มีโวหาร แต่ทางธรรมะแล้วก็ฉลาดค้า ค้าขายด้วยชีวิต แต่ไม่ใช่คดโกงน่ะ ไม่ใช่เหมือนอย่างเดี๋ยวนี้ขูดรีด ค้าขายอย่างถูกต้อง(1:09:00)ชีวิตสังโวหาระ ทำการค้าด้วยชีวิตอย่างถูกต้อง มีแต่ความเจริญ เจริญ เจริญ วัยพรหมจารีก็ถูกต้องถึงที่สุด วัยคฤหัสถ์ก็ถูกต้องถึงที่สุด ทีนี้เอาสันยาสีถูกต้องถึงที่สุด ก็หมดปัญหา แต่ทว่าเป็นเพียงเรื่องโลก เป็นเพียงเรื่องโลก มันก็ไม่ออกไปเป็นวนปรัสถ์ คือสันยาสีมันอยู่ในโลก ที่เป็นเศรษฐีที่ร่ำรวย เป็นเศรษฐีที่มีหลักทรัพย์ร่ำรวยไม่ต้องทำอะไรแล้ว แล้วก็ยกทรัพย์สมบัติให้ลูกให้หลาน ตัวเองก็เป็นคนว่างกิจการ นี่ก็มีคำกล่าวที่น่า น่าสนใจเหมือนกัน นั่นแน่ะ คนแก่คนนี้ก็นุ่งผ้าขาว กั้นร่มขาว สวมรองเท้าขาว สวมเสื้อขาว นุ่งผ้าขาว กั้นร่มขาว สวมรองเท้าขาว แล้วก็ไปเดินตามอยู่ที่สงบเย็นสบาย ตามริมลำธาร ตามป่าละเมาะที่ไหนก็ได้จนตลอดชีวิตของเขา เราๆเคยได้ถึงขนาดนั้นล่ะไหม แต่ว่าขนาดนั้นไม่ใช่สูงสุดตามแบบของธรรมะ เพราะบุคคลนั้นจะยังต้องร้องไห้อยู่เมื่อลูกหลานตาย ยังกลัวความตาย ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ยังไม่ที่สุด ต่อเมื่อไปปฏิบัติเป็นพระอรหันต์แล้วโน้น จึงจะเรียกว่าถึงที่สุดแห่ง(1:10:44)ชีวิตสังโวหาระ ได้ค้าขายด้วยชีวิต ที่มีคนอย่างนี้ คนอย่างว่านี้ชีวิตเขาสำเร็จในทางโลก แล้วก็ไปเดินอยู่ริมลำธาร ริมป่าละเมาะแห่งหนึ่ง กั้นร่มขาว สวมเสื้อขาว นุ่งผ้าขาว สวมรองเท้าขาว แล้วเผอิญไปพบกับพระพุทธเจ้าเข้า แล้วก็อวดพระพุทธเจ้าว่า ข้าพเจ้าถึงที่สุดแห่ง(1:11:14)ชีวิตโวหาระ พระพุทธเจ้าถาม ถึงอย่างไรว่ะ ไอ้คนนั้นก็เล่าให้ฟังสิ มีไร่นาสารพัดอย่าง มีความรู้เยอะแยะ มีบ้านเรือน มีมั่งคั่งอะไรก็ไม่รู้มอบให้ลูกหลานได้จัดการกันไป พระพุทธเจ้าท่านหัวเราะเยาะ โอ่ย (1:11:34)ชีวิตสังโวหารอย่างนี้เด็กเล่นนะนี่ ไอ้นั่นก็ไล่เรียงมานี้เป็นยังไง ถ้าจะตายขึ้นมากลัวตายไหม ถ้าทรัพย์สมบัติเหล่านี้กลับหาย เสียหายลงไปอีก หรือลูกหลานมันเหลวไหล คุณจะเป็นทุกข์ไหม มันก็ต้องยอมรับสิว่ามันยัง ยังเป็นทุกข์ ก็ๆเป็นอันว่าใช้ไม่ได้ พระพุทธเจ้าก็ว่า ชีวิตสัตว์(1:12:03)สังโวหาร นี่ศาสนานี้ไม่ใช่อย่างนั้น ก็ถามว่าอย่างไร ก็มีความรู้ทางจิตใจสูง จิตใจสูง จิตใจสูง จนไม่มีความทุกข์อะไรอีกต่อไป คือกิเลสเกิดไม่ได้ ไม่ยึดมั่นอะไรว่าเป็นตัวเราว่าเป็นของเรา ไม่ยึดมั่นทรัพย์สมบัติลูกหลานนั้นว่าของเรา แต่นี่คุณยังยึดมั่นทรัพย์สมบัติว่าลูกหลานว่าเป็นของกูอยู่ มันก็คงต้องยังร้องไห้ หรือว่าคับแค้นใจเพราะสิ่งเหล่านั้นน่ะ นี่คน คนนี้ก็เห็น เห็นด้วยมาก
ชีวิตจะสูงสุดมันอยู่ที่ทางจิตใจ เหนือสิ่งทั้งปวงออก สลัดสิ่งทั้งปวงออกไป ไม่ยึดถืออะไรไว้โดยความเป็นของตน ชีวิตนั้นถึงที่สุดแห่งธรรมะโดยอาศัยวิปัสสนาที่ว่ามาเมื่อตะกี้นี้ เห็นความไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา เห็นเป็นธรรมชาติอย่างนั้นเอง เห็นกฎธรรมชาติที่บังคับอยู่ เห็นความที่ต้องเป็นไปตามกฎของธรรมชาติ เห็นสุญญตา เห็นตถาตา และก็มีอตัมมยตานี่ ธรรมะสูงสุดที่นี่ (1:13:28)ชีวิตสังโวหาร ก็สูงสุดที่ความเป็นพระอรหันต์นี้ เนี่ยเรียกว่า ธรรมะ เรามองดูทีเดียวตลอดสายมันเป็นอย่างนี้ ตั้งต้นแต่ว่าเกิดมาจากท้องแม่ไม่มีความรู้อะไร ได้รับการสั่งสอนที่ถูกต้อง ถูกต้อง ถูกต้องไปตามลำดับ จนกระทั่งเรื่องทางร่างกาย ทางวัตถุทรัพย์สมบัติหมดแล้วก็เรื่องทางจิตใจ เรื่องทางจิตนี่ก็ถูกต้อง ถูกต้องถึงที่สุดแล้วก็หมดเรื่องเป็นพระอรหันต์
คำว่า อรหันต์ อรหันต์นี่ ความหมายมันมีได้หลายอย่าง อยากจะให้ความหมายว่าเต็ม เต็ม ผู้เต็มแห่งความเป็นมนุษย์ เต็มเปี่ยมแห่งความเป็นมนุษย์ ตัวหนังสือก็แปลว่า ไม่มีความลับที่จะต้องศึกษาค้นคว้าอีกต่อไป อรห นี่ไม่มีความลับอะไรที่เหลืออยู่สำหรับจะต้องเล่าเรียนศึกษาค้นคว้าอีกต่อไป นั่นคือคำว่า อรห อรห อรหันต์ แต่นี่เราเพ่งเอาผล เพ่งเอาผล เต็ม เต็มเปี่ยมแห่งความรู้ แห่งกิจการงาน แห่งชีวิตเต็ม ชีวิตเต็ม เอาตามหลักจริยธรรมสากลก็ง่ายดี ในภายในพวกเราปัจจุบันนี้ หลักจริยธรรมสากลที่เขายอมรับกันทั้งโลกน่ะ รายละเอียดไปอยู่ในหนังสือเล่มนี้ เล่มหนังสือจริยธรรมสูงสุด ก็มีความสงบสุข สงบสุขแท้จริง ก็มีความเต็มเปี่ยมแห่งความเป็นมนุษย์ แล้วก็ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ คนชนิดนี้ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ ไม่ใช่ทำหน้าที่เพื่อเงินทอง ข้าวของ บุตร ภรรยา สามี ทำหน้าที่แต่เพื่อหน้าที่ เลยประโยชน์ไปได้แก่ทุกคน ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ เดี๋ยวนี้เราทำประโยชน์เพื่อตัวกู ทำประโยชน์เพื่อเงินทองของกู ครอบครัวของกู ของกูอย่างนี้เรียกว่า ทำหน้าที่เพื่อสิ่งที่ยึดถือว่าตัวกูหรือของกู แต่ถึงที่สุดแห่งจริยธรรมแล้ว ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ มันจะไม่มีความทุกข์เลย พอทำลงไปมันก็เป็นผลดีทั้งนั้น จะสำเร็จหรือไม่สำเร็จก็เป็นที่พอใจทั้งนั้น เพราะมันได้ทำหน้าที่ มันต้องการแต่เพียงทำหน้าที่ ขอได้ทำก็พอใจ แล้วก็สุดท้ายก็มีความรักสากล รักเป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายไปหมดทุกสิ่ง ไม่ยกเว้นอะไร มีความรักสากล อย่างนี้ไม่ใช่หลักพระพุทธศาสนา แต่มีกล่าวไว้ในเรื่องจริยธรรมสากล อาตมาไปเห็น โอ้ นี่มันตรงหลักพุทธศาสนา มีความสงบสุข ก็เป็นมนุษย์ที่เต็ม ไม่พร่องอยู่ด้วยกิเลสตัณหา ถ้ายังมีกิเลสตัณหาใดๆเหลืออยู่ มันพร่องอยู่ ยังไม่เต็ม เรียกว่าทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ ไม่มี ไม่มี ไม่มีขาดทุนเลย ไม่มีผิดพลาดเลย ก็มันทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ ไม่ได้ทำหน้าที่เอากำไรอะไรที่ไหน มีแต่ความรักสากล ไม่มีศัตรู ไม่มีอะไรที่ต้องเป็นห่วง แต่แล้วมันก็สรุปความได้ในคำว่า สงบเย็น สงบเย็น นั่นก็เป็นประโยชน์ เป็นประโยชน์ ช่วยศึกษาให้ดี ปฏิบัติให้ดี ให้มาถึงจุดนี้ที่ว่า สงบเย็น แล้วก็เป็นประโยชน์ เป็นประโยชน์ สงบเย็นนี่มันทุกชั้นน่ะ ไม่ใช่ชั้นต่ำๆ ทุกชั้นน่ะ ชั้นต่ำๆก็ได้รับความพอใจ ถ้าต้องทำงานหนักมันก็มีความพอใจ งานหนักนั้นไม่เป็นอุปสรรค ไม่เป็นสิ่งที่น่าเกลียด น่าขยะแขยง แม้เหงื่อจะออกมามันก็กลายเป็นน้ำมนตร์ ถ้าเราไม่ถือหลักทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ เหงื่อออกมาเป็นน้ำร้อน ก็ดิ้นรน กระวนกระวาย เดี๋ยวก็ทิ้งงานไปขโมย ไปเป็นอันธพาลเสียดีกว่า มันไม่มีความอดทน เหงื่อมันเป็นน้ำร้อน ถ้ามีความถูกต้อง ถูกต้องอยู่ มันก็เย็น เย็น เย็น เหงื่อก็เป็นน้ำเย็นที่ทำให้สบายไปเสียอีก ในขณะที่ทำการงาน ในขณะที่ทำการงานก็สงบเย็น ทำการงานอยู่กลางแดดเหงื่อไหลไคลย้อย เป็นชาวไร่ชาวนาก็ยังสงบเย็น ถ้าทำงานเป็นพ่อค้า เป็นข้าราชการ เป็นอะไรก็ตามก็ยังสงบเย็น แม้ว่าจะเป็นขอทาน นั่งขอทานมันก็สงบเย็น ถ้ามันมีธรรมะ เมื่อทำการงานก็สงบเย็น เมื่อพักผ่อนก็สงบเย็น ถ้าไม่มีธรรมะแล้วไม่มีการพักผ่อน นั่นมันพักผ่อนไม่ลง มันถูกรบกวนด้วยกิเลสตัณหา มันนอนไม่ค่อยจะหลับ มันนอนไม่สบาย การงานก็ไม่เย็น พักผ่อนก็ไม่เย็น เพราะไม่มีธรรมะ ถ้ามีธรรมะแล้วมันเย็น เมื่อทำงานก็เย็น เมื่อพักผ่อนก็เย็น ขอให้เป็นอย่างนั้น แล้วยังมีอีกสักข้อหนึ่งว่า เมื่อมีการสังคมเกี่ยวข้องกับผู้อื่นก็เย็น อย่าให้มีความร้อน ไม่มีการอิจฉาริษยา ไม่มีการเอาเปรียบ ไม่มีความเห็นแก่ตัว ทำเกี่ยวข้องกับผู้อื่นก็สงบเย็น เรื่องของตัวก็สงบเย็น นี่เรียกว่าประโยชน์สูงสุดของการมีธรรมะ ถ้าว่าเราไม่ได้รับการอบรมสั่งสอนฝึกฝนอบรมมาอย่างนี้ตั้งแต่เล็ก เราก็ยังพอจะปรับปรุงได้ใหม่ แม้ว่าโตขนาดนี้แล้ว ทำความถูกต้องให้เกิดขึ้นทางกาย ทางวาจา ทางจิตใจ โดยมีความรู้ทางธรรมะ จัดให้ทุกสิ่ง ทุกสิ่งไม่มีปัญหา ไม่หลงในความเป็นบวก ไม่หลงในความเป็นลบ มันก็ไม่เกิดกิเลสใดๆ ไม่เกิดกิเลสก็พอแล้ว
มีคำพูดที่พวกฝรั่งที่เขามากันทุกเดือนน่ะ ที่เขาพอใจ พอใจมากอยู่ คำหนึ่งว่า เดี๋ยวนี้เรามีชีวิตที่ไม่กัดเจ้าของ ชีวิตที่ไม่กัดเจ้าของ ถ้ายังไม่มีธรรมะ ยังไม่รู้ธรรมะน่ะ ชีวิตน่ะมันกัดเจ้าของเรื่อยไป พอรู้ธรรมะ ปฏิบัติธรรมะต่อสิ่งทั้งปวงแล้ว ก็อย่างที่ว่ามาแล้ว ชีวิตนี้จะไม่กัดเจ้าของ ถ้ามันยังขาดธรรมะ ยังผิดธรรมะอยู่ มันกัดเจ้าของ ชีวิตนี้มันกัดเจ้าของ มันจะเลวกว่าหมาไปอีก เพราะว่าหมามันยังไม่กัดเจ้าของ นี่ชีวิตนี้มันกัดเจ้าของน่ะ มันจัดการไม่ถูก ประเดี๋ยวความรักกัด รักเป็นบ้า รักโง่เง่า ความรักกัดชีวิต เดี๋ยวความโกรธกัดชีวิต เดี๋ยวความเกลียดนั่นเกลียดนี่กัดชีวิต เดี๋ยวความกลัวนั่นกลัวนี่กัดชีวิต ตื่นเต้น ตื่นเต้น เห่อนั้นเห่อนี่ตื่นเต้นนี่ก็กัดเจ้าของ วิตกกังวลที่ยังไม่มาก็กัดเจ้าของ อาลัยอาวรณ์อดีตแต่หนหลังมันก็กัดเจ้าของ อิจฉาริษยากันอยู่ที่นี่มันก็กัดเจ้าของ ความหวง หวงกั้น หวงตระหนี่นี้มันก็กัดเจ้าของ ความหึงทางเพศมันก็ยิ่งกัดเจ้าของ สิบอย่างเท่านี้ก็พอแล้วเป็นตัวอย่าง อย่างละ ๑๐ อย่าง เมื่อชีวิตมันกัดเจ้าของ ความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ความตื่นเต้น ความวิตกกังวล อาลัยอาวรณ์ อิจฉาริษยา ความหวง ความหึง เอากับมันสิ ลองดูสิ มีเมื่อไรก็กัดเจ้าของเมื่อนั้น
ถ้ามีธรรมะแล้ว สิ่งเหล่านี้มันไม่มี มันไม่หลงบวก ไม่หลงลบ ไม่หลงยินดียินร้าย ไม่หลงกำไร ไม่หลงขาดทุน ไม่หลงได้ หลงเสีย หลงแพ้ หลงชนะ มันไม่มี เป็นคู่ๆเหล่านั้น มันก็ไม่มีกิเลส ไม่เกิดกิเลส ชีวิตไม่กัดเจ้าของ ขอให้เข้าใจดี อาตมารู้สึกว่าไอ้พวกฝรั่งมันชอบคำนี้มาก มันจึงสนใจกันบอกมา มากันทุกเดือนไม่ขาด ฝรั่งมาอบรมเป็นตลาดนัดไปแล้ว มาเอง เป็นตลาดนัด วันตลาดนัดก็มาเอง
เอาละ สรุปความที่ว่า เราจะมีชีวิตที่ไม่กัดเจ้าของ เรารู้ธรรมะ แล้วปฏิบัติธรรมะ ก็จะมีผลจากการปฏิบัติธรรมะ มีลักษณะของชีวิตที่ไม่กัดเจ้าของ ถูกต้อง สงบเย็นเป็นประโยชน์ตั้งแต่เกิดจนตาย
ในวันนี้อาตมาก็ไม่ได้พูดเรื่องอะไรนะ ก็พูดแค่เรื่องทำไมต้องมารับการอบรม ทำไมต้องมารับการอบรม เพื่อรู้วิธีใช้ ใช้ชีวิตที่ได้มาเป็นเดิมพันน่ะ ให้มันเกิดกำไรถึงที่สุด จะปฏิเสธว่าไม่รู้ไม่ชี้ เอ้า ลองดูสิ คุณลองดูสิ ไม่สนใจที่จะทำให้มันถูกต้องก็ลองดู จะได้ฆ่าตัวตายร้อยครั้ง มีชีวิตที่ถูกต้อง สงบเย็นและเป็นประโยชน์ แล้วก็ไม่กัดเจ้าของ เนี่ยเป็นผลของการศึกษาและปฏิบัติธรรมะ คุ้มค่าหรือเกินค่า คุ้มค่าหรือเกินค่าของการที่ลงทุน และถ้าไม่ได้รับประโยชน์เหล่านี้ก็ไม่คุ้มค่าแล้วนะ ขอบอกตรงๆว่าเหนื่อยเปล่าน่ะ ที่อุตส่าห์มากันมากมาย มาไกลๆ มาด้วยความลำบาก หรือหมดเปลืองนี่ คุณต้องได้รับประโยชน์กลับไปอย่างคุ้มค่า
ฝรั่งเขาพอใจคำหนึ่งว่า เมื่ออาตมาบอกเขาว่า เมื่อคุณมาประเทศไทยน่ะ คุณมาอย่างนักท่องเที่ยว เป็น Tourist คุณมาประเทศไทยอย่างนักท่องเที่ยว แต่คุณกลับไปบ้าน คุณกลับไปอย่างนักธุดงค์ ธุดงค์ มีธรรมะ มีความสงบสุข เป็นนักธุดงค์กลับไปบ้าน ขอให้เป็นอย่างนั้น มาอย่างผู้มีปัญหา ไฟไหม้ศีรษะ มาทีเดียวและกลับไปบ้านอย่างสงบเย็น สงบเย็น สงบเย็น เนี่ยคุ้มค่าหรือเกินค่า ที่อุตส่าห์มาศึกษาธรรมะ งั้นขอให้พยายาม ตั้งใจให้ดี พยายามทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะให้ได้เรียนรู้ธรรมะ เข้าใจธรรมะ ปฏิบัติธรรมะ แม้ชั่วสิบวันมันไม่ถึงที่สุดก็จริง แต่มันรู้ว่ากลับไปจะไปปฏิบัติอย่างไร กลับไปบ้านแล้วยังปฏิบัติได้เรื่อยๆไป แล้วมันไปจบไปถึงที่สุดกันข้างหน้านู้นแน่ะ ภายในสิบวันนี้ไม่จบนะ ไม่จบนะ แต่ก็มีความรู้เพียงพอว่าปฏิบัติกันอย่างไร ปฏิบัติกันอย่างไร ถ้าเอาไปปฏิบัติต่อไปมันก็ได้ผลของการศึกษาธรรมะ
นี่เป็นเรื่องที่ว่าชีวิตนี้จะไม่ขาดทุน ชีวิตนี้จะไม่เป็นหมัน ชีวิตนี้จะถูกพัฒนาให้ได้รับประโยชน์สูงสุดสมตามที่ธรรมชาติให้มา ธรรมชาติให้มาในลักษณะที่พัฒนาได้ พัฒนาได้ (1:26:36)_____มันไม่พัฒนา มันก็เป็นหมัน ธรรมชาติให้ชีวิตมาในลักษณะที่พัฒนาได้ ขอให้ดูให้ดีนะ พัฒนาเป็นพระอรหันต์ก็ได้ แต่ถ้าเจ้าของไม่สนใจ ไม่พัฒนา มันก็ไม่ได้ มันก็ไม่ได้ ก็เลิกกัน จึงขอแสดงความหวังว่าท่านทั้งหลายคงจะเห็นลู่ทาง คือเหตุผลของการที่จะศึกษาธรรมะ ปฏิบัติธรรมะ ให้ชีวิตนี้ได้รับสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ และขอให้สำเร็จตามความมุ่งหมายนั้นด้วยกันจงทุกๆท่านเทอญ
ขอยุติการบรรยายในวันนี้