แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านสาธุชน อุบาสก อุบาสิกา ผู้มีความสนใจในธรรมทั้งหลาย อาตมาขอแสดงความยินดีอนุโมทนาในการกระทำของท่านทั้งหลาย เห็นป่านนี้ คือมาศึกษาหาความรู้ทางธรรมะ และมาฝึกปฏิบัติจิตใจโดยตรง เป็นสองเรื่องด้วยกัน ก่อนอื่นขอทำความเข้าใจให้เกี่ยวกับการมาพูดจากันเวลาอย่างนี้ ซึ่งเป็นเวลาที่บางคนชอบพักผ่อนอย่างยิ่ง คือขอให้เข้าใจว่าเวลาก่อนหัวรุ่งนี่แหละ เป็นเวลาที่เหมาะสมที่จะศึกษาและคิดนึกอะไร มันเป็นเวลาตามธรรมชาติที่มีความเบิกบานแห่งจิตใจ ยังไม่มีอารมณ์อะไรเข้าไปบรรจุ เหมือนน้ำชาที่ยังไม่ล้นถ้วย มันยังเติมอะไรได้สะดวก จิตของเราก็เหมือนกัน ในเวลาอย่างนี้เติมอะไรลงไปสะดวก..อย่างดี มันเป็นโลกอีกชนิดหนึ่ง คอยสังเกตดูเถอะ ถ้าเรานอนอยู่ไม่ทำความรู้สึกมันก็จะไม่รู้จักโลกชนิดนี้ อารมณ์และบรรยากาศชนิดนี้ ตามธรรมชาติดอกไม้โดยมากมันก็เริ่มบานตอนรุ่ง พระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสรู้ในเวลาหัวรุ่ง อย่างน้อยก็ได้เดินมอร์นิ่งวอล์คไปมา นี่ก็มีประโยชน์ งั้นขออย่าได้เห็นเป็นความยุ่งยากลำบากเกี่ยวกับการจะมาพูดจากันในเวลาหัวรุ่ง คือเป็นความเหมาะสมอย่างหนึ่ง ถ้าไม่เคย ไม่เคยลองก็ขอให้ลอง ลองชิมโลกในเวลาอย่างนี้ แล้วทีนี้สำหรับเรื่องที่จะพูดกัน ในวันแรกก็อยากจะพูดเรื่องที่เป็นปัญหาหรือเป็นต้นเหตุของปัญหาทั้งปวงในโลก ต้นเหตุของปัญหาทั้งปวงมีอยู่อย่างหนึ่ง นี่ยืนยันว่าอย่างเดียวด้วยซ้ำไป นั่นก็คือธรรมชาติแห่งความเห็นแก่ตัว งั้นขอให้เรามาพูดกันวันนี้ด้วยเรื่องของธรรมชาติแห่งความเห็นแก่ตัว ถ้าไม่มีความเห็นแก่ตัวโลกนี้จะไม่มีปัญหาใดๆ ปัญหาส่วนบุคคลไม่มีความสงบสุข กิเลสรบกวน เกิดจากความเห็นแก่ตัวทั้งนั้น ที่มันรบกวนสังคม ทำลายธรรมชาติ สร้างมลภาวะ เป็นอาชญากรเดือดร้อนทั่วไป ก็เพราะความเห็นแก่ตัว ผู้เห็นแก่ตัวน่ะมันขี้เกียจไม่อยากจะทำอะไร ให้คนอื่นทำตัวก็ได้รับประโยชน์ ผู้เห็นแก่ตัวน่ะไม่สามัคคี ไปชักชวนมาสร้างประโยชน์อะไรให้แก่ชาติมันก็ไม่เอาด้วย ผู้เห็นแก่ตัวยังเอาเปรียบ ยังแถมอิจฉาริษยา ทำความยุ่งยากลำบากนานาประการ โลกกำลังมีความเห็นแก่ตัวอย่างนี้เพิ่มขึ้นๆ ประชาชนส่วนใหญ่ยังเห็นแก่ตัว มันเลือกผู้แทนด้วนความเห็นแก่ตัว มันก็ได้ผู้แทนที่เห็นแก่ตัวมา ประชุมกันเป็นสภาอย่างผู้เห็นแก่ตัว ถ้าสภาตั้งรัฐบาลก็จะได้รัฐบาลที่เห็นแก่ตัว มันจะพอดีกันมั้ง ไม่มีอะไรเหลือ แล้วจะเป็นอย่างไรเล่าขอให้คิดดูเถอะ เดี๋ยวนี้คนเราได้รับการศึกษาผิดๆทั้งโลก การศึกษาผิดๆทั้งโลกนี่หมายความว่ามีแต่สอนให้ฉลาดๆๆจนไม่รู้จะฉลาดอย่างไรแล้ว ไปเที่ยวโลกพระจันทร์ได้เหมือนเที่ยวเล่นหลังบ้านเนี่ยมันฉลาดกันขนาดนั้น แต่โลกก็ยังไม่มีสันติภาพ เพราะมันใช้ความฉลาดนั้นเพื่อเห็นแก่ตัว ยิ่งฉลาดยิ่งเห็นแก่ตัวลึก เป็นฉลาดเพื่อความเห็นแก่ตัวเสีย ไม่ใช่ฉลาดเพื่อกำจัดความเห็นแก่ตัว แล้วโลกก็ไม่มีสันติภาพ การศึกษาในโลกมันยิ่งเป็นอย่างนี้ ยิ่งฉลาดๆแล้วก็ยิ่งเห็นแก่ตัว คนที่มีอำนาจมันก็แสดงอำนาจ ยุ่งยากลำบากกันไปหมดเพราะความเห็นแก่ตัว แล้วมิหนำซ้ำอุตสาหกรรมมันก็สร้างแต่เหยื่อของความเห็นแก่ตัว สร้างสิ่งเกิน สร้างส่วนเกิน แล้วก็มีโฆษณาเหลือประมาณทนไม่ไหว แม้แต่คุณยายขี้เหนียวก็ซื้อตู้เย็นได้น่ะ มันโฆษณาเก่งขนาดไหน เหยื่อแห่งความเห็นแก่ตัวมันก็แพร่หลายไปมากขึ้นๆ ในโลกเต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว ลูกเด็กๆที่ได้รับการศึกษาอย่างนี้ก็ยังเห็นแก่ตัว ยิ่งเห็นแก่ตัว เนี่ยโลกเต็มไปด้วยผู้เห็นแก่ตัว จึงเต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว หรือเห็นแก่ตัว หลงทาง มันมากเข้าหนักเข้ามันก็หลงทาง มันก็ฆ่าตัวเอง ฆ่าลูก ฆ่าเมีย ฆ่าพ่อ ฆ่าแม่ ฆ่าตัวเองตาย ฆ่ามันจะได้หมดเรื่อง หรือมิฉะนั้นก็ไปอยู่โรงพยาบาลบ้า ไปดูคนบ้าทุกคนน่ะ ไปสืบสวนดูจะพบว่ามันมาจากความเห็นแก่ตัวหลงทาง เป็นบ้า เนี่ยขอให้คิดดู เถอะว่ามันไม่มีอะไรที่เลวร้าย ร้ายกาจยิ่งไปกว่าความเห็นแก่ตัว ที่ทำให้เกิดความทุกข์ทรมานกันไปหมด กล่าวได้ว่าศาสนาทุกศาสนาในโลก ตั้งแต่อดีตกาลนานไกล ทุกๆศาสนาต้องการจะกำจัดความเห็นแก่ตัว แต่แล้วศาสนาเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ กำจัดไม่ได้ คนในโลกยิ่งเห็นแก่ตัวมากขึ้นทุกทีมากขึ้นทุกที ก็ดูเอาเองก็แล้วกัน แล้วผลที่ได้รับมันก็คืออย่างนี้ สร้างคุกตารางเท่าไรก็ไม่พอ สร้างตำรวจให้มากเท่าไรก็ยังไม่พอ สร้างศาลยุติธรรมเท่าไรก็ยังไม่พอ สร้างโรงพยาบาลบ้าเท่าไรมันก็ยังไม่พอ ผลของความเห็นแก่ตัว ผลของการที่ไม่ถือศาสนา แต่ถือเอาประโยชน์ๆ เหยื่อสนองกิเลสมาเป็นศาสนา ไม่ถือศาสนาที่แท้จริง ถือศาสนาประโยชน์ เอาประโยชน์เป็นศาสนาบูชาความเห็นแก่ตัวด้วยกันทั้งนั้น นี่เรียกว่า ปัญหามันรวมอยู่ที่นี่ ความเลวร้ายทั้งหลายทั้งปวงในโลกนี้เกิดมาจากมูลเหตุคือความเห็นแก่ตัว เมื่อเห็นแก่ตัวแล้ว ไม่มีหวังถึงสันติภาพหรือความสงบสุข แม้ในโลกนี้ เมื่อเห็นแก่ตัวแล้วไม่มีทางที่จะบรรลุมรรคผลนิพพาน มันตัดบทหมดเลย เพราะความเห็นแก่ตัวอย่างเดียว เราจึงถือว่ามันเป็นเรื่องแรกที่เราจะพูดกันถึงต้นเหตุแห่งปัญหาทั้งหลายทั้งปวง แล้วก็มันเป็นจุดตั้งต้นที่จะศึกษา ควรจะศึกษา นับตั้งแต่ว่าเราไม่ได้รับสิ่งที่ควรจะได้รับ เกิดมาทั้งทีแล้วก็ไม่ได้รับสิ่งที่ควรจะรับ แล้วก็ได้รับสิ่งที่ตรงกันข้าม คือความเห็นแก่ตัว แล้วทำอะไรไปในตามเห็นแก่ตัว มันเต็มไปด้วยอาชญากรรม นี่ขอให้สนใจข้อนี้เป็นจุดตั้งต้นที่จะศึกษา แลัวก็ศึกษาต่อไปถีงเรื่องอื่นๆ ถึงเนื่องไปจนเรื่องสุดท้ายแล้วก็ปฏิบัติให้ได้ เกิดมาทั้งทีนี่ก็ควรจะได้รับสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ ขอเรียกสั้นๆง่ายๆว่าสิ่งที่มนุษย์ควรจะได้รับ คือสิ่งดีที่สุดสูงสุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ เกิดมาทั้งทีถ้าไม่ได้เสียเลย ไม่ได้แม้แต่ว่าจะชิมรสเล็กๆน้อยๆก็ไม่ได้อย่างนี้ ก็เรียกว่าเสียชาติเกิด เสียชาติเกิด ชีวิตนี้เป็นสิ่งที่ธรรมชาติให้มา หรือถ้าจะเชื่อพระเจ้าก็พระเจ้าให้มา หรือถ้าไม่มีพระเจ้าก็ธรรมชาติให้มาเพื่อพัฒนาเอาตามความพอใจ ให้ชีวิตนี้ได้พัฒนาแล้วไปเกิดเป็นสิ่งต่างๆที่ควรจะพอใจขึ้นมาอย่างมากมาย แต่แล้วเราก็ไม่ได้ เราก็ไม่ได้ เพราะว่ามันมีอะไรเข้ามาแทรกแซง ความเห็นแก่ตัวงอกงามท่วมหูท่วมหัวท่วมไปหมดทั้งโลก ก็ไม่ได้รับสิ่งที่ควรจะได้รับ คือสันติภาพส่วนรวม คือสันติสุขส่วนบุคคล ทีนี้ก็จะพูดถึงสันติสุขส่วนบุคคล ว่ามันมีบุคคลเป็นที่ตั้ง ทั้งโลกทั้งจักรวาลนี้มันมีหน่วยเป็นบุคคลๆ ถ้าบุคคลถูกต้องดี ถ้าบุคคลไม่ถูกต้องไม่ดี ไอ้โลกนี้จักรวาลนี้มันก็ดีไม่ได้ ทีนี้ส่วนบุคคลมีสิ่งที่ดีที่สุดที่ควรจะได้รับ ก็คือความสุขสงบเย็นนั้นอย่างหนึ่ง แล้วก็ความเป็นประโยชน์ สองอย่างนี่พอ ไม่มีอะไรมากไปกว่านี้ ตัวเองมีความสงบเย็น เกี่ยวกับผู้อื่น เป็นผู้มีประโยชน์แก่ทุกคน มีประโยชน์แก่โลก และมีประโยชน์แก่พระศาสนา จะสืบอายุพระศาสนาได้ ถ้าท่านเองมีความสงบเย็น จึงจะสามารถสืบอายุพระศาสนาได้ ถ้าการทำอย่างนั้นน่ะมันเป็นประโยชน์แก่โลก แก่โลก สัตว์โลกทั้งจักรวาล นั่นก็ให้มีเป้าหมายที่แน่วแน่ที่สุดเพียงสองอย่างก็พอ คือความสงบเย็นของตัวเอง และความเป็นประโยชน์แก่ทุกคน คำว่า”เย็นๆ” นั่นแหละ เป็นความหมายอันแท้จริงของคำว่า”นิพพาน” นิพพานในจิตใจของมนุษย์ที่เกิดจากการปฏิบัติน่ะ มีความหมายว่า”เย็น” เย็น เพียงคำเดียว เย็นก็มันไม่มีความร้อน คือมันไม่มีไฟใดๆเกิดขึ้น มันก็เย็น แต่ถ้าเป็นนิพพาน ถ้าว่านิพพานตามอรรถกถา ตามฎีกา คือนิพพานในห้องเรียนแล้ว ตั้งหลายสิบความหมาย เรียนไม่ไหว ขอบอกให้รู้อย่างนี่ คำแปลของนิพพานที่แปลกันได้ตามหลักของภาษา นิพพานตัวหนังสือ นิพพานในห้องเรียนอย่างน้อย 30 ความหมาย ถ้าเป็นนิพพานในจิตใจของคน นิพพานแท้จริงที่ได้จาการปฏิบัติ ความหมายเดียว เย็น เย็น มนุษย์ต้องการความเย็น เย็นอกเย็นใจ มาแต่ดึกดำบรรพ์ก่อนมีพุทธศาสนามันก็ต้องการความเย็น แล้วคำว่าเย็นนั้น คือคำว่านิพพาน นิพพานนี่แปลว่าดับแห่งความร้อน ผลของมันก็คือเย็น เขาแสวงหาความเย็นกันมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ ก่อนเกิดมีศาสนาใดๆ แล้วก็ใช้คำว่านิพพาน นิพพานนี้เป็นความดับแห่งไฟ การดับไฟในเตาไฟก็เรียกว่านิพพาน ความดับแห่งความร้อน ความดับแห่งไฟ ดับแห่งความเลวร้ายอะไรก็เรียกว่านิพพาน คำบาลีเป็นอย่างนี้ โลหะที่หลอมเหลวเขาเอาน้ำลดให้เย็นก็เรียกว่าทำให้มันนิพพาน สัตว์เดรฉานทำให้มันหมดพิษร้ายไม่มีความเลวร้ายใดๆอีก ก็เรียกว่าทำให้มันนิพพาน เมื่อมนุษย์คนแรกมันรู้จักต้องการความเย็น ก็คิดนึกกันไปตามประสา ในชั้นต้นๆอะไรที่ทำให้ระงับไอ้ความร้อนวู่ว่าของกิเลสได้ก็เรียกว่านิพานๆ ชั้นแรกสุดมันก็ไปคว้าเอากามารมณ์ คิดว่าความสมบูรณ์แห่งกามารมณ์เป็นนิพพาน ข้อนี้มีหลักฐานปรากฏอยู่ชัดในปาลีพรหมชาลสูตรทีปณิกะ ที่คนเขาเคย คนแต่ก่อนเขาเคยเอาอะไรเป็นนิพพานมาแล้ว เอากามารมณ์ด้วยกันเนี่ยเป็นนิพพานก่อน เพราะมันระงับไอ้ความใคร่เลวร้ายนั้นได้ แล้วก็มาเห็นว่าไม่ไหวๆ ขึ้นมาเป็นสมาธิสมาบัติ ก็หมายถึงรูปฌานทั้ง 4 ขั้น ต่อมาก็เห็นว่ายังเด็ก มุนีฤาษีชีไพรอะไรก็ตามเริ่มเห็นสูงขึ้นมาตามลำดับ กระทั่งเอาอรูปฌานเป็นนิพพานอีก 10 ขั้น ขั้นสุดท้ายคือเนวสัญญานาสัญญายตนะ ที่อาจารย์คนสุดท้ายของพระสิทธัตถะสอนอยู่น่ะ ปิณฑกะดาบสรามบุตรสอนให้ เนวสัญญานาสัญญายตนะว่าสูงสุดเป็นเพียงแค่นี้ พระสิทธัตถะผู้ไปแสวงหาก็ไม่เอา หลีกออกมาจากสำนักดาบส ที่สุดท้ายก็มาแสวงหาของพระองค์ จึงพบพระนิพพานอย่างที่เป็นพุทธศาสนา นี่เขาว่านิพพานมันแปลว่าเย็นๆๆๆตามลำดับไปเถอะ ไม่ได้แปลว่าตาย หากทำผิดพลาดเกิดมาทีหลัง พระนิพพานก็แปลว่าตาย หรือบางพวกมันเข้าใจว่าตาย คือเย็น ก็ตายเป็นนิพพานก็ได้มีมาแล้วเหมือนกัน เอานิพพานเป็นตาย มาสอนผิดๆ มาในเมืองไทยเรานี่ก็ยังมีคนเข้าใจว่านิพพานคือตาย มันไม่ได้ตาย มันไม่ต้องตาย มีแต่มันเป็นเย็น เย็นลงๆแห่งความร้อน ภาษาฝรั่งมีคำเหมาะที่สุดอยู่คำหนึ่งคือคำว่า “quench” quenchนั่นแหละ คำนั้นแหละอาการของพระนิพพาน คือระงับลงแห่งความร้อน ที่นี่นิพพานแปลว่าเย็น ในส่วนตัวบุคคลควรจะได้ความสงบเย็นตามลำดับจนกว่าจะสูงสุด แม้ยังไม่ถึงระดับเป็นระดับสูงสุดมันก็เย็นนั่นแหละ แล้วก็มักจะเรียกว่านิพพุติๆแปลว่าเย็น เย็นที่ยังไม่ถึงขนาดเรียกว่านิพพาน ที่พระเจ้าพระสงฆ์บอกเรากันเกือบจะตลอดปีว่า สีเลนะ สุคติง ยันติ สีเลนะ โภคสัมปทา สีเลนะ นิพพุติง ยันติ ตัสมา สีลัง วิโสธเย ถ้าจะได้นิพพาน นิพพุติๆนี่ก็ศีล คือได้ความเย็นอกเย็นใจตามความหมายของนิพพาน ได้เพราะศีลเนี่ย บอกอานิสงศีลอย่างนี้ นิพพานระดับนี้เรียกว่านิพุติ เป็นนิพพานชั่วขณะ เป็นนิพพานบังเอิญ ส่วนศีลนั่นนะช่วยทำให้ ยังไม่ถึงขั้นสูงสุด เรียกว่านิพพุติ ใครมีนิพพุติก็จะมีความเย็นอกเย็นใจเรื่อยไปๆ ก็สูงขึ้นไปถึงระดับนิพพาน สูงสุดเป็นพระอรหันต์ นี่ต้องได้ความสงบเย็นอย่างนี้ ตั้งแต่ระดับต้นขึ้นไปจนถึงระดับสูงสุด ได้ความสงบเย็นเป็นส่วนบุคคลนั้น เป็นส่วนบุคคลนั้น ที่นี่เรียกว่าเป็นประโยชน์ๆ เราเป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ใครมาเกี่ยวข้องกับเราได้รับประโยชน์ ในที่นี้ก็หมายถึงสิ่งที่ทุกคนต้องการเป็นประโยชน์ แล้วก็หมายถึงแก้ปัญหาได้ ดับทุกข์ได้ แต่อยากจะขอบอกท่านทั้งหลายที่ไม่เคยเรียนบาลี เข้าใจว่าไม่เคยเรียนบาลี ที่นั่งอยู่นี่ ไอ้คำว่าประโยชน์นั่น ตัวหนังสือมันแปลว่าผูกมัดอย่างยิ่ง ผูกมัดอย่างยิ่ง ประโยชน์นั่นน่ะ เอามาแล้วก็ผูกมัดจิตใจของผู้หลงใหลในประโยชน์ก็ทำให้มีความทุกข์ เพราะประโยชน์นั่นเอง หวังประโยชน์นั่นแหละจึงเกิดตัณหา เกิดทำอะไรต่างๆนานาไปตามความต้องการ คำว่าประโยชน์นั้นน่ะ เราพอใจเราอยากจะบูชามัน แต่ที่แท้ เป็นสิ่งที่เลวร้าย คำว่าประโยชน์นั่นไปผูกมัดจิตใจอย่างยิ่ง ไม่ว่าประโยชน์ชนิดไหนก็เถอะ ประโยชน์แท้จริง ประโยชน์สูงสุดนั้นมันก็คือประโยชน์ที่เหนือประโยชน์ขึ้นไป ที่ไม่ผูกมัดจิตใจ ถ้าได้นิพพานเป็นประโยชน์ก็ต้องหมายความว่านิพพานนั้นเหนือประโยชน์ ไม่ให้ประโยชน์มาผูกมัดรัดรึงรบกวนอะไร ประโยชน์อย่างนี้เรียกว่าประโยชน์ที่น่าบูชา แต่ถ้าประโยชน์ตามธรรมดาที่แย่งกันนั้นแล้วก็เลวร้ายที่สุด จึงผูกพันจิตใจ เพราะเหตุได้เงินมาเป็นประโยชน์ก็ผูกพันจิตใจ ได้ชื่อเสียงมาเป็นประโยชน์ก็ผูกพันจิตใจ ได้อะไรมาเป็นประโยชน์ก็จะผูกพันจิตใจ ให้มันมีความหนักขึ้นมา หมายความว่าเป็นประโยชน์มีประโยชน์อย่างนี้นี่ก็คือว่าช่วยให้อยู่เหนือประโยชน์ตามภาษาโลกๆ ประโยชน์ตามประสาคนโง่ กับประโยชน์ในภาษาพระอริยเจ้าเนี่ยมันต่างกัน ประโยชน์ภาษาคนโง่ผูกพันจิตใจที่สุดเหลือประมาณ แต่ถ้าประโยชน์ในภาษาพระอริยเจ้าก็คือสิ่งที่จะอยู่เหนือประโยชน์ อยู่เหนือประโยชน์จึงจะเป็นประโยชน์ที่แท้จริง การบรรลุนิพพานต้องอยู่เหนือประโยชน์โดยประการทั้งปวง ถ้าจะนิพพานเป็นประโยชน์ก็คือ นิพพานช่วยให้อยู่เหนือประโยชน์ ถ้าเป็นประโยชน์ที่ผูกพันจิตใจน่ะไม่ได้ นิพพานไม่ใช่ประโยชน์ แล้วประโยชน์นั่นแหละขวางทางพระนิพพาน มันมัวหลงประโยชน์อยู่ ทีนี้มันไม่อยากได้พระนิพพาน งั้นคำที่กล่าวว่าเป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่ายนี่หมายความว่าเราสามารถช่วยให้คนอื่นเย็นเหมือนอย่างเรา เมื่อเราได้รับความสงบเย็นแล้วก็สามารถช่วยให้ผู้อื่นได้รับความสงบเย็นเหมือนอย่างเรา นี่แหละเรียกว่าเราเป็นประโยชน์ ทั้งสงบเย็นทั้งเป็นประโยชน์ ก็เรียกว่าได้รับสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับแล้ว ก็ขอให้มีจุดตั้งต้นกันอย่างนี้ ก็จะเป็นการมีชีวิตสูงสุดคือสงบเย็นและเป็นประโยชน์ อ้าว ทีนี้ก็มาดูซิ ทำไมสงบเย็นไม่ได้ ทำไมสงบเย็นไม่ได้ ความเห็นแก่ตัวนั่นแหละมันทำให้สงบเย็นไม่ได้ ความเห็นแก่ตัวทำให้สงบเย็นไม่ได้ เห็นแก่ตัวมันทำให้เกิดกิเลส เกิดโลภะ โทสะ โมหะ ไปทั้งนั้นเลย ความเห็นแก่ตัวนี้ทำให้มีความสงบเย็นไม่ได้ แล้วความเห็นแก่ตัวเนี่ยทำให้เป็นประโยชน์ไม่ได้ เพราะถ้าเห็นแก่ตัวแล้วมันไม่คิดทำประโยชน์อะไรแก่ใคร มันไม่เอื้อเผื่อแผ่อะไรแก่ใคร ทีนี้ความสงบเย็นก็ดี ความเป็นประโยชน์ก็ดี มันมีไม่ได้เพราะความเห็นแก่ตัว เราหยิบขึ้นมาเป็นปัญหาตั้งต้นเป็นจุดตั้งต้นของปัญหาทั้งหลาย แล้วมาหาทางทำลายความเห็นแก่ตัว ต้องรู้จักความเห็นแก่ตัวแล้วจึงจะสามารถทำลายได้ ถ้าไม่รู้จักจะทำลายอะไรมันได้ นี้เรียกว่าต้องรู้จักต้นเหตุ แล้วก็ทำลายที่เหตุ สิ่งทั้งปวงก็มีเหตุ แล้วก็ทำลายที่ต้นเหตุ ทำลายที่ต้นเหตุนั่นคือการกระทำที่ฉลาด หรือถูกต้อง อุทาหรณ์ข้อนี้เปรียบกันไว้ดีมากว่า ถ้าทำลายที่ปลายเหตุก็ปฏิบัติอย่างหมา ถ้าทำลายที่ต้นเหตุน่ะปฏิบัติอย่างราชสีห์ ใครเอาไม่ไปแหย่หมาซิ เอาไม้ไปแหย่หมา หมาจะมัวกัดอยู่ที่ปลายไม้ที่แหย่ จะกัดอยู่แต่อย่างนั้นแหละ แต่เอาไม้ไปแหย่ราชสีห์ซิ มันจะกระโจนใส่คนที่ถือไม้ ทำลายที่ต้นเหตุน่ะ ถ้าอยากโง่ทำลายที่ปลายเหตุมันก็จะทำลายอย่างวิธีของหมา ถ้าทำลายที่ต้นเหตุทำลายด้วยวิธึการของราชสีห์ ของเสือเป็นต้น นี่เราก็มีลักษณะเป็นเสือเป็นราชสีห์ ทำลายปัญหาทั้งหลายที่ต้นเหตุของมัน ถ้าเรียกว่าเย็น ก็ดับทุกข์ ดับทุกข์ ทำลายที่เหตุแห่งความทุกข์ ไม่ไปมัวบ้าเผชิญกับความทุกข์ป่วยการ แต่ไปทำลายที่ต้นเหตุของมัน พระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสอย่างนั้น ความทุกข์มีเยอะแยะ เยอะแยะ นี่ก็พอทำลายความทุกข์คือความดับทุกข์นั้น ทำลายที่ตัณหาอันเป็นต้นเหตุ ไม่เข้าไปเผชิญกับไอ้สิ่งยุ่งยากลำบากเหล่านั้น ถ้าจะดับไฟก็จงทำลายที่ต้นเหตุของไฟ คำว่า ดับทุกข์ ดับทุกข์นี้ ที่แท้มันก็คือทำให้ความทุกข์เกิดไม่ได้ เราทำให้ความทุกข์เกิดไม่ได้นั่นก็คือความดับทุกข์ ไม่ใช่เข้าไปตีรันฟันแทงกับไอ้ตัวความทุกข์ ถ้าอย่างนั้นก็เกือบตายเองละ ทำอย่าให้มันเกิดได้นั่นแหละคือดับมันเสีย ก็คือดับเสียที่ต้นเหตุแห่งความทุกข์ ที่เรียกว่าตัณหา ตัวตัณหาน่ะคือตัวความเห็นแก่ตัว เกิดมาจากความเห็นแก่ตัวจึงมีตัณหาแล้วมันจึงเกิดทุกข์ ถ้าทำลายที่ต้นเหตุคือตัณหาก็ได้ ถ้าจะให้ลึกซึ้งเข้าไปอีกก็เข้าไปทำลายไอ้ตัวความเห็นแก่ตัว เพราะฉะนั้นเราจะต้องศึกษากันให้มากเป็นพิเศษ เป็นเรื่องแรกคือความเห็นแก่ตัวและการทำลายซึ่งความเห็นแก่ตัว ความเห็นแก่ตัวมันต้องมีตัวนะ ถ้าไม่มีตัวมันจะเห็นแก่ตัวได้อย่างไร มันต้องมีตัว ตัว ขึ้นมาก่อน แล้วก็เห็นแก่ตัวนั่นแหละคือต้นเหตุของปัญหา อันนี้ต้องรู้ลงไปถึงความมีตัว มีตัว แล้วดับความมีตัวนั้นเสีย แล้วความเห็นแก่ตัวก็จะพลอยดับไปตาม ก็จึงเลยเขยิบขอบเขตแห่งการศึกษา ลงไปถึงความมีตัว ความมีตัว อัตตาแปลว่าตัว อัตตวาทุปาทานมันแปลว่ามีความยึดมั่นถือมั่นว่าตัว ไอ้ตัวๆนั่นแหละเป็นจุดตั้งต้น ถ้าไม่มีตัวก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น หรือไม่มีอะไรที่จะต้องจัดการ เพราะมันมีตัวตัวจึงจัดการที่ตัว ให้ไปในทางเกิดทุกข์ก็ได้ ให้ไปในทางดับทุกข์ก็ได้ ให้จัดการกับสิ่งที่เรียกว่าตัวๆ คือภาษาบาลีว่าอัตตาๆ ภาษาไทยเมื่อเอากันตามความรู้สึกที่พลุ่งขึ้นมาก็คือคำว่า ตัวกู ๆ หรือว่าตัวฉัน หรือว่าตัวข้าพเจ้า แล้วแต่เถอะ ถ้ามันเดือดหนักขึ้นมาเป็นตัวกูทั้งนั้นแหละ แล้วมันยังมีเงา หรือของติดมาด้วยกันอีกอย่างหนึ่งคือ ของกู ถ้ามันมีตัวกูมันจะคว้าเอาสิ่งต่างๆที่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยว่าเป็นของกู อะไรอะไรที่เกี่ยวข้องกับตัวกู มันเอาเป็นของกูหมด ดังนั้นมันจึงมีในคราวเดียวกันได้ว่า ตัวกูและของกู ทรัพย์สมบัติของกู เกียรติยศชื่อเสียงของกู บุตรภรรยาสามีเรือกสวนไร่นาอะไรของกู มันมีตัวกูคู่กับของกู นั่นแหละจะต้องรู้จักพร้อมกันไปในคราวเดียว ความรู้สึกว่าตัวกูเป็นเพียงความรู้สึกไม่ใช่ตัวจริง ความรู้สึกว่าตัวกูเกิดขึ้นมาจากความโง่ แล้วเกิดเป็นคราวๆ แล้วเกิดทุกคราวที่มีความโง่ จะต้องศึกษาให้รู้ถึงข้อที่ว่าตัวกู ตัวกู ตัวตน ตัวตน ไม่ได้มีอยู่จริง แต่เกิดจากความโง่คืออวิชชา ทุกๆคราวที่มีความรู้สึกทางอายตนะ อายตนะนี่คงจะเข้าใจกันแล้ว คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หกอย่างนี้อยู่ข้างใน รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ 6 อย่างนี้อยู่ข้างนอก เรียกว่าอายตนะภายใน อายตนะภายนอก พอมาถึงกันเข้าเนี่ยก็เป็นโอกาสเกิดตัวกู ตา อายตนะใน รูป อายตนะนอก พอถึงกันเข้า มันก็เกิดการเห็นทางตา ระบบประสาททางตามันทำหน้าที่มันก็มีการเห็นรูป มันก็เป็นความรู้สึกของระบบประสาททางตา แต่เรามันโง่ เรามันไม่รู้ มันก็มีตัวกูขึ้นมาเห็นรูป เมื่อตาเห็นรูปมันก็ว่าตัวกูเห็นรูป ไอ้ตาเห็นรูปมันก็เพียงระบบประสาทตามันทำหน้าที่ของมันอย่างงั้นแหละ แล้วเราเอามาเป็นตัวกูเห็นรูป ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็เหมือนกัน ตัวกูพลอยเกิดขึ้นมาอย่างโง่เขลาในเมื่ออายตนะมันทำหน้าที่ ทำหน้าที่ในขณะเป็นผัสสะกระทบสัมผัสกันก็ได้ ทำหน้าที่ในขณะที่เป็นเวทนาขึ้นมาแล้ว คือรู้สึกสุข รู้สึกทุกข์ขึ้นมาแล้ว ก็ว่ากูสุข กูทุกข์ขึ้นมาเนี่ย ถ้าไม่มีอาการเหล่านี้ ความรู้สึกว่ากูไม่เกิด นี่ขอให้เข้าใจความลับที่สุดตอนนี้ว่าไอ้ตัวกูมิได้มีอยู่จริง ไม่ใช่มีอยู่แล้วคอยอยู่สำหรับจะสัมผัส ตัวกูเป็นความโง่ที่เพิ่งเกิดเมื่อมีการสัมผัสทางอายตนะแล้ว ท่านต้องรู้จักการสัมผัสทางอายตนะให้ดีๆว่ามีที่ตาหูจมูกลิ้นกายใจนี่แหละมันให้เกิดตัวกู ได้ทั้งนั้น ตาเห็นรูปก็ว่ากูเห็นรูป จมูก หูได้ฟังเสียง ได้ยินเสียงก็ว่า กูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่นก็ว่ากูได้กลิ่น ลิ้นได้รสก็ว่ากูได้รส ตลอดไปเลย เนี่ยความเป็นมายาของตัวกู มันเป็นสิ่งที่หลอกลวง คือมิได้มีอยู่จริง แล้วมันก็เป็นสักว่ามายาคือไม่ได้มีตัวจริง งั้นขอให้เข้าใจอย่างถูกต้อง ยุติว่าในอัตภาพนี้ อัตภาพเราคนหนึ่งนี้มีสองอย่างก็พอ คือมีร่างกายกับจิตใจ เท่านั้นแหละพอ ไม่ต้องมีตัวกู ร่างกายเป็นเครื่องรองรับให้มีจิตใจ จิตใจก็ทำหน้าที่รู้สึกคิดนึก นี่มันไปคิดนึกอย่างโง่เขลาผิดๆนี่ เป็นมีตัวกูขึ้นมา แล้วกลายเป็นมีสิ่งที่สามคือตัวตน ตัวตน นี่เป็นความรู้ผิดๆที่มีอยู่ก่อนพุทธกาล เขาสอนกันอย่างนั้น ว่ามีร่างกายด้วย มีจิตใจด้วย แล้วมีอัตตาอาตมันตัวกูด้วยกันสามเรื่อง ถ้ามีรู้สึกอะไรก็เป็นเรื่องของอัตตา เรื่องของตัวกูทั้งนั้น พระพุทธเจ้าท่านก็ตัดตัวกูออก เหลือเพียงสองเรื่อง คือเรื่องกายกับใจ หรือนามและรูป เท่านี้มันก็พอแล้ว ที่มันจะรู้สึกอารมณ์ได้ กายเป็นเรื่องรูป มีอายตนะใน-นอก พอถึงกันเข้าก็เป็นความรู้สึกทางจิตใจ ก็เป็นจิตใจ มีกายกับใจมันพอแล้ว อย่าไปมีตัวกู ซึ่งเป็นผีหลอกๆ เป็นมายา ไม่ใช่ของจริง มีแต่กายกับใจก็พอแล้ว อบรมมันให้ดีๆ ให้เป็นกายที่ดี ให้เป็นใจที่ดี มันก็ไม่มีความทุกข์ เราจงรู้สึกว่าอัตตาๆแปลว่าตัวตนนี้เป็นของไม่ได้มีอยู่จริง มิได้มีอยู่จริง มันเกิดขึ้นมาจากความคิดผิดๆ อย่างที่ว่าตาเห็นรูปก็ว่ากูเห็นรูป หูได้ยินเสียงก็ว่ากูได้ยินเสียง แล้วมันก็มีไอ้คำอธิบาย อธิบายได้โดยยาก คือว่าไอ้ตัวกู ตัวกูซึ่งเป็นผู้ทำ ทำอาการเห็นรูปฟังเสียงนี้มันเกิดทีหลังการกระทำ ถ้าเราบอกลูกเด็กๆว่าผู้กระทำเกิดทีหลังการกระทำมันก็หัวเราะเยาะละ มันไม่ยอมเชื่อ เพราะมันไม่รู้เรื่องนี้ เพราะมันไม่รู้เรื่องนี้ ไปบอกว่าผู้กระทำเกิดทีหลังการกระทำ มันก็ไม่เชื่อ เด็กๆเขาก็ต้องคิดว่ามีผู้กระทำอยู่ก่อนแล้วมันจึงมีการกระทำ เดี๋ยวนี้มันไม่เป็นอย่างนั้น มันตรงกันข้าม เพราะมันไม่ใช่เรื่องจริง มันมีการกระทำ มีความรู้สึกต่อการกระทำแล้วมันจึงจะเกิดความรู้สึกว่ากูๆกระทำ นั่นแหละเป็นเครื่องยืนยันว่าตัวกูๆมิได้มีอยู่จริง เป็นผีหลอกเกิดทีหลังการกระทำ มีการกระทำทางกายทางใจเสร็จแล้วมันจึงจะเกิดตัวกู นี่แหละผู้กระทำเกิดทีหลังการกระทำ บอกว่าพวกฝรั่งมันก็ว่าผิดลอจิค(logic) มันไม่ใช่ลอจิค มันผิดลอจิค ถ้าผู้กระทำเกิดทีหลังการกระทำ เราอธิบายให้เขาฟัง ให้เขาเห็นว่ามันเกิดอย่างนี้จริงๆ มันต้องมีการกระทำตามธรรมชาติ ทางอายตนะก่อน แล้วความรู้สึกว่าตัวกูจึงจะเกิด เช่นว่ามันต้องมีความอร่อยในปากในลิ้นแล้ว มันจึงจะเกิดความรู้สึกว่ากูอร่อย ถ้าความอร่อยยังไม่เกิด มันก็ไม่มีความรู้สึกว่ากูอร่อย หรือไม่อร่อยก็เหมือนกัน มันก็ไม่อร่อยที่ลิ้นที่ปากนี้แล้ว มันจึงเกิดตัวกูผู้ไม่อร่อย ทางตา ทางอะไรก็เหมือนกันแหละ มันต้องพอใจ รู้สึก พอใจด้วยรูป ด้วยเสียง ด้วยกลิ่น แล้วมันจึงเกิดตัวกู ผีหลอกขึ้นมาในใจว่าตัวกู ตัวกูพอใจ ตัวกูรัก ตัวกูต้องการ ตัวกูอย่างนั้นอย่างนี้ขึ้นมา นี่จะขอให้ทำความเข้าใจข้อนี้ไว้ได้ ก็จะศึกษาธรรมะได้ง่ายที่สุด ผู้กระทำที่เป็นอัตตาตัวกูน่ะ ผู้กระทำนั้นเกิดทีหลังการกรกะทำ แล้วก็ไม่ใช่ตัวจริง ไม่ใช่เกิดจิง เป็นผีหลอก เกิดมาจากปฏิกิริยาของการกระทำ ผู้กระทำเกิดทีหลังการกระทำน่ะ เขาก็หัวเราะกันทั้งนั้น อย่างนั้นก็ไปหมายไอ้เรื่องๆที่มันเป็นข้างนอก ไม่ใช่เรื่องลึก เรื่องอัตตาเรื่องไอ้ความมีตัวตน ความรู้สึกว่าตัวตนเป็นปฏิกิริยา เกิดมาจากการกระทำซึ่งได้กระทำตามธรรมชาติ อายตนะทำหน้าที่ตามธรรมชาติ แต่จิตมันโง่ว่ากูกระทำ มีตัวกูผู้กระทำ เนี่ยความเป็นอนัตตาๆของตัวกูๆที่รู้สึกอยู่ในใจว่าอัตตานั้นมันเป็นอนัตตา มันจึงเป็นตัวตนซึ่งมิใช่ตัวตนหรือว่าตัวกูซึ่งมิใช่ตัวกู เราอยู่ด้วยความหลอกหลอนของตัวกูซึ่งมิใช่ตัวกูอันแท้จริง จะต้องเข้าใจในข้อนี้ ถ้าจะพูดกันให้หมด พูดกันให้หมด มันต้องรู้จักคำ 3 คำ คือคำว่าอัตตาๆมีตัวตนๆ มันสุดโต่งฝ่ายทางนี้ว่ามีตัวตน และสุดๆโต่งฝ่ายทางนี้ ไม่มีอะไรเลยๆ เรียกว่านิรัตตา นิรัตตาไม่มีอัตตาอะไรเลย ฝ่ายสุดโต่งฝ่ายนี้ แต่ตรงกลางเนี่ยมันมีอัตตาซึ่งมิใช่อัตตา นี่เรียกว่าอนัตตาๆ ช่วยจำคำแปลไว้ดีๆเถอะ อนัตตานี่แปลว่ามิใช่อัตตา อย่าไปแปลว่าไม่มีอัตตา เดี๋ยวไปผิดสุดโต่งกับนิรัตตาไปอีก ธรรมดา พูดธรรมดา ทางนี้ไม่มีอัตตา ทางนี้มีอัตตา แต่ตรงกลางที่ถูกต้องที่ถูกต้องมีอัตตาซึ่งมิใช่อัตตา คือมีแต่อัตตาผีหลอกอย่างที่กล่าวแล้ว คำว่าอนัตตาๆที่ได้ยินอยู่ทั่วๆไปนั้น ความหมายมันลึก แล้วก็เข้าใจกันผิดๆ ว่าไม่มีอัตตาไม่มีอะไรเสียเลย มันผิด มันมีอัตตาตามความรู้สึกของสัญชาตญาณ นี่ต้องรู้ไว้ว่า มันมีอัตตาเป็นธรรมดาของสิ่งที่มีชีวิตที่ยังหลงอยู่ยังโง่อยู่ มันเป็นสัณชาตญาณ รู้สึกว่าตัวกูๆเนี่ย เป็นโดยสัณชาตญาณ เด็กทารกอยู่ในท้องมารดายังไม่มี ยังไม่มีตัวกู ยังไม่มีความคิดว่าตัวกู แต่พอเด็กทารกคลอดมาจากท้องแม่ จนกระทั่งมันกินนมได้หรืออะไรได้ ถ้ามันกินนมพอใจมันก็พอใจกูพอใจ ตัวกูเกิดได้เองตามสัณชาตญาณไม่ต้องมีใครสอน ถ้ามันกินของไม่อร่อยเข้าไป มันก็ไม่อร่อย มันก็ว่าตัวกูไม่อร่อย นี่มัน ทางไหนก็ตาม ทางสวยงามก็ดี อร่อยไม่อร่อยก็ดี หอมเหม็นก็ดี อ่อนโยนนิ่มนวลแข็งกระด้างก็ดี มันทำให้เกิดความรู้สึกเป็นตัวกูได้ทั้งนั้น เด็กๆมันเดินไปชนเสาหรือชนเก้าอี้ มันก็เตะเก้าอี้ ความรู้สึกว่าตัวกูเกิดโดยอัตโนมัติตามสัญชาตญาณว่าไอ้ตัวตนนั้นมันอันตราย ตัวตนนั้นมันเตะเก้าอี้ ไม่ต้องใครสอน ความรู้สึกว่าตนเกิดขึ้นได้ตามสัญชาตญาณอย่างนี้ นี่เป็นพื้นฐาน ทีนี้ยิ่งมาสอนกันผิดๆ อบรมกันผิดๆ คือพี่เลี้ยงหรือพ่อแม่ช่วยตีเก้าอี้อีกทีหนึ่ง นั่นก็คือสอนให้โง่ไปอีกชั้นหนึ่ง หนักขึ้นไปอีก มันมีตัวตนขึ้นมาอย่างนี้ นี่เรียกว่าความโง่ที่เพราะตัวตนที่ เพิ่มขึ้นอีกแรงหนึ่ง มันเกิดอยู่ตามสัณชาตญาณแท้ๆก็แรงอยู่แล้ว ได้รับคำสั่งสอนว่าร้องผิดๆ ก็เลยมีตัวกูกันอย่างเต็มที่นี่ เพราะไอ้เรื่องจากตัวกูซึ่งไม่ใช่ตัวกู ตัวตนซึ่งมิใช่ตัวตน ซึ่งมีอยู่ด้วยกันทุกคน งั้นใครจะปฏิเสธว่าไม่มีตัวตน ไม่มีตัวกูนั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะมันรู้ได้เองรู้สึกขึ้นมาเอง ตามสัญชาตญาณและสิ่งแวดล้อม ทีนี้ก็มาดูให้ดี ไอ้ตัวกูอย่างนี้ ตัวตนอย่างนี้ โอ้ว..มันไม่ใช่ ไม่ใช่ตัวตนตัวกูที่แท้จริง เป็นความโง่ ปรุงกันมาจากความโง่ เป็นตัวตนแห่งความโง่ เมื่อมีการกระทบทางอายตนะ เมื่อตาเห็นรูปมันก็ว่ากูเห็นรูป เมื่อหูได้ยินเสียงมันก็ว่ากูได้ยินเสียง เมื่อจมูกได้กลิ่นมันก็ว่ากูได้กลิ่น เมื่อลิ้นได้รสว่ากูได้รส เมื่อสัมผัสผิวหนัง ได้รับสัมผัสทางผิวหนังนี่ก็ว่ากูสัมผัส เมื่อจิตล้วนๆไม่ต้องมีตัวกูหรอก มันคิดของมันตามธรรมชาติของจิต มันก็กูคิด อย่างนี้เรียกว่าตัวกูหรือตัวตนที่เกิดทางอายตนะ อายตนะนอกในสัมผัสคู่กัน แหละจะเกิดตัวกูทุกทีไป นี่เรียกว่าตัวกูที่เกิดทางอายตนะ เป็นหมวดหนึ่งทีเดียว ทีนี้ตัวกูที่เกิดในขณะแห่งขันธ์ทั้งห้า ขันธ์ห้าเนี่ยขอพูดไปว่าท่านทั้งหลายยังไม่รู้จัก หรือสอนกันผิดๆจนไม่รู้จักขันธ์ห้า แต่พูดกันเกร่อไปหมดเรื่องขันธ์ห้า ขันธ์ห้าคืออะไรก็ต้องรู้จัก เมื่ออายตนะในคือตาเป็นต้นกับอายตนะภายนอกคือรูปเป็นต้น นี่ก็เป็นรูปด้วยกันทั้งนั้นแหละ มากระทบกันเข้าๆ เรียกว่ารูปขันธ์มันเกิด ถ้ายังไม่มีการกระทบระหว่างอายตนะที่เป็นรูปนี่ไม่เรียกว่ารูปขันธ์ ยังไม่เรียกว่ารูปขันธ์ รูปขันธ์ยังไม่เกิด ต้องอายตนะที่เป็นรูปภายในกันภายนอกกระทบกันเข้า นี่เรียกว่ามันเกิด คือมันทำหน้าที่ ในภาษาธรรมะชั้นลึกเรียกว่ามันเกิดเมื่อมันทำหน้าที่ ถ้ามันยังไม่ทำหน้าที่ก็เรียกว่ามันไม่ได้เกิด นี่หมายความว่าตาเนี่ยเพิ่งเกิดเมื่อมันทำหน้าที่ เมื่อมันยังไม่ทำหน้าที่เรียกว่าตายังไม่เกิด แต่เราธรรมดาเราก็ ฉันมีตา อยู่ตลอดเวลา ทำไมต้องตายังไม่เกิดล่ะ นั่นภาษาคนธรรมดา เรียกว่าภาษาคนโง่เรียกว่ามีตา ตาเกิดอยู่ตลอดเวลา ถ้าภาษาธรรมะของผู้รู้ธรรมะ คือว่าพระพุทธเจ้าตรัส คือว่า ตาเกิด ตาดับ หูเกิด หูดับ จมูกเกิด จมูกดับ เพราะมันดับอยู่เมื่อไม่ทำหน้าที่ พอทำหน้าที่มันจึงเรียกว่าเกิด พอรูปภายในกับรูปภายนอก อายตนะนั้นสัมผัสกันเรียกว่ารูปขันธ์เกิด เพราะรูปขันธ์ข้างในคือตาข้างนอกคือรูปมาถึงกันเข้า มันก็เกิดรูปขันธ์แล้ว แล้วมันก็เกิดวิญญาณขันธ์ๆ ก็มันรู้แจ้งทางตาเกิดขึ้น วิญญาณขันธ์เกิดขึ้น พอวิญญาณขันธ์เกิดขึ้นแล้ว สามอย่างนี้เรียกว่าผัสสะ คือตากับรูปกับวิญญาณจักขุวิญญาณ ก็เรียกว่าผัสสะ พอมีผัสสะแล้วมันแน่นอน แน่นอนที่มันต้องมีเวทนา รู้สึกสุขหรือทุกข์นี่เรียกเวทนาขันธ์เกิด เวทนาขันธ์เกิด สามแล้ว เวทนาขันเกิดแล้วก็สำคํญมั่นหมายว่าเวทนาขันธ์นั้นเป็นอย่างไร มีความหมายอย่างไร ดีชั่วอย่างไร หญิงหรือชายอย่างไรเป็นต้น นี่เรียกว่าสัญญาขันธ์เกิด พอสัญญาขันธ์เกิดอย่างนี้แล้ว มันก็เกิดความคิดไปตามสัญญานั้น คิดดี คิดชั่ว คิดจะเอา คิดจะทำ คิดจะฆ่า คิดจะแล้วแต่จะคิดอะไร นี่เรียกว่าสังขารขันธ์เกิด ท่านทั้งหลายเคยรู้จักขันธ์ห้าในลักษณะอย่างนี้ไหม ที่ท่านได้ยินได้ฟังมาขันธ์ห้าคืออะไร นี่คือเกิดอย่างขันธ์ห้า แล้วไม่อาจจะเกิดพร้อมกัน ศาลาวัด ตามศาลาวัดมันสอนอะไร ว่ามีขัน์ห้าอยู่พร้อมกันทั้งห้าขันธ์ รวมกันเป็นคนๆหนึ่ง อย่างนี้มันเกิดผิดนี่ มันเกิดพร้อมกันไม่ได้ มันต้องเกิดรูปขันธ์ แล้วจึงเกิดสัญญา เอ่อเกิดวิญญาณขันธ์ แล้วมันจึงเกิดเวทนาขันธ์ แล้วมันจึงเกิดสัญญาขันธ์ แล้วมันจึงเกิดสังขารขันธ์ มันเกิดพร้อมกันไม่ได้เพราะมันทำหน้าที่กันคนละอย่าง นี่มันเกิดเบญจขันธ์ได้อย่างนี้ตามธรรมชาติธรรมดา ทีนี้พอมันเกิดรูปขันธ์มันก็รูปขันธ์น่ะเป็นตัวตน พอเกิดเวทนาขันธ์ เวทนาขันธ์นั่นน่ะเป็นตัวตน ตัวตนเป็นผู้รู้สึกเวทนา ตัวตนเป็นผู้ทำเวทนา นี่พอเกิดสัญญาขันธ์ก็มีตัวตนนี่แหละ ตัวสัญญาเป็นตัวตนนี่แหละ ตัวตนเป็นตัวทำสัญญา พอเกิดสังขารขันธ์ก็เอาสังขารขันธ์เป็นตัวตนอีก มันเลยเอาหมดเลย ทั้งรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ ทั้ง5 เป็นตัวตนไปหมด นี่เรียกว่าหมวดที่เอาเบญจขันธ์เป็นตัวตน หมวดที่หนึ่งมันเอาลำพังอายตนะแต่ละอย่างตัวตนมาหมด อันนี้มันเอาเบญจขันธ์เป็นตัวตน ทีนี้ที่มันละเอียดๆประณีตยิ่งขึ้นไป ซึ่งเข้าใจยากอะนะ แต่ว่าควรรู้ไว้บ้าง มันเอาอาการแห่งปฏิจสมุปบาทเป็นตัวตน ถ้าท่านไม่รู้เรื่องปฏิจสุปบาทเสียเลยคงจะฟังยาก หรือฟังไม่เข้าใจ แต่ขอพยายามว่ามันเอาปฏิจสมุปบาทแต่ละอาการแต่ละอาการว่าเป็นตัวตน ปฏิจสมุปบาทที่เห็นได้ง่ายๆ ตั้งต้นเมื่ออายตนะทำหน้าที่ คือตาเห็นรูป ตาเห็นรูปก็เกิดวิญญาณขันธ์ แต่เกิดวิญญาณ เกิดวิญญาณที่เราเรียกว่าวิญญาณเฉยๆดีกว่า มันก็เอาทั้งรูปทั้งวิญญาณน่ะเป็นตัวตน ทีนี้เมื่อเกิด 3 อย่างนี้แล้วก็เกิดผัสสะ เอาผัสสะเป็นตัวตน มีผัสสะแล้วก็มีเวทนา ก็เอาเวทนาเป็นตัวตน มีเวทนาแล้วก็เกิดตัณหา ตัณหาความอยากความต้องการ มันก็เอาตัณหาเป็นตัวตน มีตัณหาแล้วก็เกิดอุปาทานยึดมั่นว่าตัวอย่างนั้นอย่างนี้ เอาอุปาทานเป็นตัวตน พอมีอุปาทานแล้วมันก็มีภพ ความถึงพร้อมความแก่รอบของความโง่ ว่ากูมี คิดว่ากูมี เรียกว่าภพ นี่ก็เอาภพเป็นตัวตน พอหลังจากภพมันก็มีชาติออกมาเป็นความรู้สึกว่าเป็นตัวกูอยู่ในความรู้สึก ก็เอาชาติเป็นตัวตน นี้มีชาติ นี้ก็เอาความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายความได้ ความเสีย ความรู้สึกต่างๆว่าเป็นของตน เป็นความทุกข์ เอาความทุกข์มาเป็นของตน นับได้ตั้ง 10 อาการอย่างนี้เรียกว่าเอาปฏิจสมุปบาทแต่ละอาการ แต่ละอาการเป็นของตน มีอยู่ในชีวิตประจำวันแท้ๆ ท่านไม่รู้จัก เมื่อท่านไม่ศึกษาก็ไม่รู้จัก ท่านก็ไม่รู้จักว่าความโง่มีอยู่ตลอดเวลา เอาอาการแห่งปฏิจสมุปบาทมาเป็นตัวตน ปฏิจสมุปบาทเต็มที่นั่น ต่อเมื่อถามว่าอายตนะนั้นเอามาจากไหนเล่า ก็ย้อนกลับไปถึงว่ามันมีอวิชชาอยู่ตามธรรมชาติ อวิชชาก็ไปเอาไอ้..อวิชชาก็ทำให้เกิดอำนาจการปรุงแต่งเรียกว่าสังขาร มันสิ่งที่จะปรุงแต่งน่ะเรียกว่าสังขาร สังขารก็ไปเอาวิญญณธาตุตามธรรมชาติมาเป็นวิญญาณทางอายตนะะที่จะคู่กับอายตนะ เมื่อมันมีสังขาร มันมีวิญญาณอย่างนี้แล้ว มันก็มีนามรูป นามรูปคือกายและใจ เมื่อมีกายและใจเป็นที่ตั้งอายตนะทั้ง 6 ที่เกิดขึ้นมา อายตนะทั้ง6 เกิดดับ เกิดดับ นี่ก็มีผัสสะมีเวทนาอย่างที่ว่ามาแล้ว ถ้าอย่างนี้มันเป็นถึง 12 อาการ ของปฏิจสมุปบาท แต่ละอาการเอาเป็นตัวตน นี่มันโง่ขนาดละเอียด จำไว้ง่ายๆว่าเอาอายตนะทั้ง 6 แต่ละอย่างเป็นตัวตนก็ได้ เอาขันธ์ 5 แต่ละขัน์ละขันธ์เป็นตัวตนก็ได้ มันเอาอาการแห่งปฏิจสมุปบาทแต่ละอาการแต่ละอาการเป็นตัวตนก็ได้ งั้นมันจึงเกิดง่าย เกิดมาก เกิดได้เต็มไปหมดเป็นตัวตน ขอให้เข้าใจกันให้ดีๆ สอนลูกเด็กๆก็ได้ ว่าตาเห็นรูปแกอย่าว่ากูเห็นรูปนะ ตาเห็นรูป เมื่อหูได้ยินเสียงก็อย่าว่ากูได้ยินเสียง หูหรือว่าระบบประสาทหูมันได้ยินเสียง อย่างนี้เด็กๆก็จะฉลาดขึ้นๆ รู้ธรรมะได้เร็วขึ้น ด้วยการสอนให้เห็นว่ามันไม่ใช่ตัวตน มันไม่ใช่ตัวตน แต่ละอย่างละอย่างมันไม่ใช่ตัวตน อายตนะ6 หกสองคู่เป็น12 แต่ละอันก็ไม่ใช่ตัวตน ขันธ์5 แต่ละขันธ์ก็ไม่ใช่ตัวตน ปฏิจสมุปบาทแต่ละอาการมันก็มิใช่ตัวตน มิใช่ตัวตน ถ้ามันมีตัวตน ถ้ามันมีตัวตนมันจะเกิดความเห็นแก่ตน งั้นก็มาตัดบทกันเสียให้มองเห็นว่ามันไม่มีตัวตน ไม่มีตัวกู ไม่มีของกู ไม่มีตัวตน ไม่มีของตน มันก็ไม่อาจจะเกิดความเห็นแก่ตน ทีนี้การที่จะไม่เกิดความรู้สึกว่าตนนั้น มันก็ต้องเห็นอย่างที่ว่ามาแล้วว่าเป็นของธรรมชาติ หรือที่จะให้ดี ให้วิเศษถึงขนาดที่สุดก็คือการทำวิปัสสนา คำว่าวิปัสสนานี้อย่าไปเข้าใจให้มันลึกลับศักดิ์สิทธิ์อย่างสูงสุดกายสิทธ์นั่นเลย คือมันเห็นตามที่เป็นจริง ให้เห็นตามที่เป็นจริงก็เรียกว่าวิปัสสนา ให้เห็นว่าอายตนะทั้ง6 ทั้ง6สองหกก็12 ก็ไม่เที่ยงไม่เที่ยง ให้เห็นชัดว่าอายตนะเองก็มาเที่ยง ขันธ์5 แต่ละขันธ์แต่ละขันธ์ก็ไม่เที่ยง อาการปฏิจสมุปบาทแต่ละอาการก็ไม่เที่ยง วิปัสสนาทำให้เห็นความไม่เที่ยงก่อน แล้วก็ทำให้เห็นความเป็นทุกข์เพราะไปยึดมั่นถือมั่นว่าตัวตนเข้า แล้วก็เห็นความเป็นอนัตตา อนัตตาว่ามิใช่ตัวตน แล้วก็จะเห็นว่า โอ..มันเป็นอยู่ตามธรรมดา ตั้งอยู่ตามธรรมดาอย่างนี้เอง ตามธรรมชาติอย่างนี้เอง เรียกว่าเห็นธรรมฐิตตา ตั้งอยู่ตามธรรมชาติอย่างนี้เอง เมื่อเห็นอันนี้ชัดก็ โอ้ มันมีกฎของทางธรรมชาติบังคับอยู่ เรียกว่าเห็นธรรมนิยามตา เห็นธรรมนิยามตาแล้วก็เห็นอันนี้เรียกว่าอิทัปปัจจยตา ความเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยอยู่เนืองนิจ เห็นอิทัปปัจจยตาแล้วก็จะเห็นว่า โอ.. มันสุญญตาๆว่างเปล่าจากอัตตา เห็นว่าว่างเปล่าจากอัตตาแล้วก็จะเห็นว่าเช่นนั้นเอง มันเช่นนั้นเองๆ นี่ความเห็นนี้ละเอียดมากลึกซึ้งสูงสุด เห็นว่าเป็นเช่นนั้นเอง ไม่ต้องไปยินดียินร้ายกับมัน เห็นเช่นนั้นเอง พอเห็นเช่นนั้นเองก็จะเห็นจิตคงที่ๆไม่หวั่นไหว เรียกว่าเห็นสูงสุด อตัมมยตา เห็นตอนนี้เป็นพระอรหันต์แล้ว อตัมมยตาลูกเด็กๆก็มี เห็นน้อยๆๆๆ เห็นสูงสุดก็เรียกว่าอตัมมยตาสูงสุดทำให้เป็นพระอรหันต์ เห็นว่าว่างเปล่าจากอัตตาแล้วก็จะเห็นว่าเช่นนั้นเอง มันเช่นนั้นเองๆ นี่ความเห็นนี้ละเอียดมากลึกซึ้งสูงสุดว่าเห็นเช่นนั้นเอง ไม่ต้องไปยินดียินร้ายกับมัน เช่นนั้นเอง พอเห็นเช่นนั้นเองก็จะเห็นจิตคงที่คงที่ไม่หวั่นไหวเรียกว่าเห็นสูงสุด อตัมมยตา ถ้าเห็นตอนนี้เป็นพระอรหันต์แล้ว อตัมมยตาลูกเด็กๆก็มี เห็นน้อยๆๆๆ ถ้าเห็นสูงสุดก็เรียกว่าอตัมมยตาสูงสุดทำให้เป็นพระอรหันต์ ที่พระพุทธเจ้าต้องสลัดจากอาจารย์คนสุดท้ายคืออุทกดาบสรามบุตรนั่นก็เพราะดาบสนั้นไม่ได้สอนเรื่องอตัมมยตา หรือนิโรธ หรือนิพพาน มันก็ติดอยู่ที่รูปฌาน ถ้าเห็นอตัมมยตาแล้วมันก็จะออกมาเสียจากกาม กามธาตุ พวกกามทั้งหลาย อออกมาเสียได้จากกามก็มาดูรูปธาตุ รูปธาตุไม่มีกาม รูปบริสุทธิ์ ออกจากรูปธาตุแล้วมาอรูปธาตุ สิ่งที่ไม่มีรูป นี่สุดท้ายนี้แล้วจึงจะเห็นนิโรธธาตุหรือนิพพานธาตุ พูดสั้นๆก็ว่าจากกามธาตุสู่รูปธาตุ จากรูปธาตุสู่อรูปธาตุ จากอรูปธาตุก็มาสู่นิโรธธาตุ คือนิพพาน นี่ประโยชน์ของอตัมมยตา ถ้าท่านทำวิปัสสนาสำเร็จท่านจะเห็นความเป็นอย่างนี้ ตา ตา นี่แปลว่าความเป็นความเป็น 9 ประการนี้ มันน้อยหน่อย 9 ประการนี้ คือ อนิจจตา ความไม่เที่ยง ทุกขตา ความเป็นทุกข์ อนัตตา ความเป็นของไม่ใช่ตน ธรรมฐิตตา ความเป็นเองตามธรรมดา ธรรมนิยามตา มีกฎธรรมชาติกำกับอยู่ อิธัปปัจจตา เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยอยู่เนืองนิจ แล้วก็สุญญตา โอ้อันนี้ว่างเปล่าจากตัวตน ตถาตา ตถาตาเช่นนี้เองเช่นนี้เอง ไม่มีความเป็นอย่างอื่นไปได้ แล้วก็เห็นอตัมมยตา ความคงที่คงที่ ไม่เปลี่ยนแปลงอะไรได้อีกต่อไป เรียกว่าเห็น 9 ตา แล้วก็เป็นผลของวิปัสสนาที่ได้กระทำมาอย่างถูกต้อง เมื่อเห็นความจริงแม้เพียงสองสามประการต้น มันก็จะเห็นความไม่มีตัวตนไปตามลำดับ ถ้าไปถึงจุดสุดท้ายก็เห็นความไม่มีตัวตนถึงขนาดสูงสุดสูงสุด ไม่เกิดตัวตน ไม่เกิดตัวตนก็ไม่เกิดความเห็นแก่ตน ไม่เกิดความเห็นแก่ตน ที่จริงการที่จะทำลายความเห็นแก่ตนนั้น มันก็มีได้ตั้งแต่แรกๆ ตั้งแต่แรกๆ เป็นทางศีลธรรม ไม่เห็นแก่ตนในทางศีลธรรมก็ทำไปได้เหมือนกันแหละ คือว่า ให้ทาน เสียสละ เจริญเมตตา กรุณา อุเบกขา มุทิตา อุเบกขา ก็อย่างนี้ก็กำจัดความเห็นแก่ตนเหมือนกัน แต่ว่าเป็นทางศีลธรรม ขนาดศีลธรรม ไม่สูงสุด ถ้าสูงสุดต้องเป็นการทำลายความเห็นแก่ตนด้วยปรมัตถธรรม ปรมัตถธรรม เห็นอนิจจตา ทุกขตา อนัตตตา ธรรมฐิตตา ธรรมนิยามตา อิธัปปัจจตา สุญญตา ตถาตา ธรรมยตา นี่ทำลายอย่างคมกริบ คมเฉียบ ด้วยปรมัตถธรรม นี่เราก็มักจะสอนกันแต่เรื่องเมตตา กรุณา มุทิตา บำเพ็ญทานอะไรนี่ มันไม่ถึงขนาดที่จะที่จะตัดมันได้ จึงต้องทำวิปัสสนาให้เห็นความจริงอันลึกซึ้งนี้ ฉะนั้นไอ้โครงเรื่องการอบรมของเราจึงมีให้ศึกษาในส่วนวิชาและก็ให้ทำวิปัสสนาในส่วนการปฏิบัติเพื่อเปลี่ยนแปลงจิตใจ ส่วนนี้แหละจะทำให้ละความเห็นแก่ตนได้โดยวิธีของปรมัตถธรรม เห็นความจริงดังที่กล่าวแล้ว ในที่สุดมันก็กำจัดไอ้ความรู้สึกว่าอัตตา ความรู้สึกว่าอัตตาก็ไม่อาจจะเกิด แล้วความเห็นแก่ตัวมันก็ไม่เกิด ความเห็นแก่ตัวนั่นแหละ เราได้รับผลรับตามที่เราต้องการ ออกมาเสียจากอัตตา ออกมาเสียจากความหลอกลวงของอัตตา ออกมาจากคุกจากตารางเรือนจำของอัตตา ออกมาเสียจากอัตตา แล้วก็จะไม่เกิดความเห็นแก่ตัว ไม่เกิดความเห็นแก่ตัวแล้วก็จะไม่เกิดกิเลสใดๆโดยประการทั้งปวง นี่เรียกว่ารู้จักอัตตาและทำลายมันเสียได้ แล้วมันก็ไม่มีความเห็นแก่ตัว ไม่มีความเห็นแก่ตัว ซึ่งมีชื่อยาวละเอียด อหังกาละมมังกาละมานานุสัย อย่างนี้เป็นต้น คือความเคยชินที่จะเกิดความยึดถือว่าเรา ว่าของเรานั่นคือความเห็นแก่ตัว เดี๋ยวนี้ปัญญาถึงขนาดสูงสุดแล้ว ด้วยการเห็นความจริงเหล่านี้ แต่ว่าแม้ปัญญาจะขึ้นมาถึงระดับสูงสุดแล้ว ก็ยังต้องอาศัยสติ อาศัยสติ ถ้ามีสติรักษาปัญญาเหล่านี้เอาไว้ได้ ต้องมีสตินำปัญญานี้มาใช้ทันท่วงที ที่มันเกิดเหตุแล้ว เกิดเหตุทางอายตนะแล้ว สติต้องไปค้นเอาปัญญามาให้ได้ นี่ก็ยังต้องอาศัยสติอยู่อีกทีหนึ่ง สติ มีแล้วมันก็เกิดอัตตาไม่ได้ เกิดอัตตาไม่ได้ เราก็ไม่เกิดความรู้สึกเลวร้ายที่มาจากอัตตา ซึ่งเกิดอยู่เป็นประจำวัน ซึ่งท่านทั้งหลายจะต้องรู้จักมันให้ดี ยกตัวอย่างมาให้เห็นเช่นว่า มันเกิดความรัก ก็เพราะความโง่ว่ามีอัตตา แล้วเห็นแก่ตน ถ้าสติทันท่วงทีก็กำจัดได้ มันเกิดความรักบ้างในบางกรณี มันเกิดความโกรธคือไม่รักบ้างเป็นบางกรณี มันเกิดความเลียดขึ้นมาบ้างในบางกรณี ถ้าดูให้ดีเถอะไฟทั้งนั้นแหละ ความกลัวขึ้นมาบ้างในบางกรณี ความเกลียดความกลัว มันก็เกิดความตื่นเต้น ตื่นเต้นแห่งจิตใจ มันทำจิตใจให้ตื่นเต้น ให้เราเกิดความตื่นเต้น แล้วมันก็เกิดความอาลัยอาวรณ์ในสิ่งที่ล่วงไปแล้ว มันก็เกิดความวิตกกังวลในสิ่งที่ยังไม่มาถึง แล้วมันก็เกิด ต่อไปถึงเกิดความอิจฉาริษยา เกิดความหวง เกิดความหึง ถึงกับฆ่ากันตาย นี่เป็นตัวอย่างแค่นั้น ว่าความรัก ว่าความโกรธ ว่าความเกลียด ว่าความกลัว ว่าความตื่นเต้นความวิตกกังวล ความอาลัยอาวรณ์ ความอิจฉาริษยา ความหวง ความหึง ไม่สังเกตเอง ถ้าสังเกตก็จะรู้จักสิ่งเหล่านี้ดีที่สุด ถ้ามีอัตตาก็มีความเห็นแก่ตัว เมื่อมีความเห็นแก่ตัวสิ่งเลวร้ายเหล่านี้ก็เกิด รบกวน รบกวนเป็นประจำวัน ชีวิตนี้ก็จะกัดเจ้าของ ชีวิตนี้ ชีวิตนี้เองมันจะกัดตัวเอง มันจะกัดตัวเอง เรียกว่าชีวิตนี้มันจะกัดเจ้าของ แต่ถ้าเรากำจัดมันไปเสียได้ ชีวิตนี้จะไม่กัดเจ้าของ ตามธรรมดาเรามีชีวิตที่กัดเจ้าของ นี่เลวกว่าหมาเสียอีก เพราะว่าหมามันยังไม่กัดเจ้าของ แต่ชีวิตนี้มันกลับกัดเจ้าของ เป็นความทุกข์อย่างยิ่ง ถ้าจะทำก็ทำจนให้ชีวิตนี้มันเต็มไปด้วยสติปัญญารู้ตามที่เป็นจริง ไม่เกิดอาการที่เรียกว่ากัดเจ้าของ นี่เราจะต้องศึกษากันอย่างนี้ จะได้พบชีวิตเย็นคือไม่กัดเจ้าของ นี่ก็เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น เพราะไม่เห็นแก่ตัว นี่เรียกว่าเรื่องแรก เรื่องต้นที่เราจะต้องรู้จัก จะศึกษาให้เข้าใจ คือเรื่องความเห็นแก่ตัว มีสติคอยระวังอยู่ ถ้ามันวี่แววขุ่นขึ้นมาในใจ เราก็รีบปัดออกไปทันทีไม่ต้องนึกไม่ต้องดู ไล่ไปทันที เมื่อมันมีวี่แววเป็นอัตตาหรือเป็นอัตนียา หรือว่าเป็นความเห็นแก่ตัวขึ้นมา ปัดทิ้งทันที แล้วตั้งสติกันใหม่ ดำเนินกันไปเรื่องอื่น อย่าเอาเรื่องที่มันจะก่อหวอดให้มันเป็นเรื่องเห็นแก่ตัวอย่างนี้ และความสุขอย่างนี้ เราก็จะฝึกจิตนี้ให้มีสติถึงที่สุด สติสูงสุด สติที่สามารถที่สุด สามารถจะใช้ประโยชน์ได้ดีที่สุด ที่เรียกว่าอานาปานสติ เป็นเรื่องที่สองของการฝึกฝนที่สวนโมกข์นานาชาตินั่น ท่านจะได้เรียนธรรมะให้รู้เรื่องอัตตา อนัตตา ให้รู้โทษของความเห็นแก่ตน แล้วทีนี้ต้องปฏิบัติกำจัดให้ได้โดยการฝึกอานาปานสติ เรียกสั้นๆว่ามันเป็นสองเรื่องด้วยกัน คือรู้เรื่องอัตตา แล้วรู้เรื่องวิธีกำจัดมันเสียให้สิ้นซาก มันจะมีการสอนเรื่องปฏิจสมุปบาทหรือเรื่องอัตตาทั้งหลาย แล้วก็มีการสอนอานาปานสติ ซึ่งจะทำจิตใจให้สามารถกำจัดความรู้สึกว่าอัตตาเสียได้ เป็นสองเรื่องด้วยกัน อย่างนี้ นี่เป็นจุดตั้งต้น เห็นการทำความเข้าใจในเบื้องต้น ว่าท่านจะต้องศึกษาอย่างไร และท่านจะต้องปฏิบัติอย่างไร ศึกษาให้รู้จักเหตุร้าย ตัวเหตุ ตัวการร้าย คือความเห็นแก่ตัว แล้วก็ปฏิบัติ ปฏิบัติเพื่อกำจัดมันเสียให้หมดไป มีสองเรื่องเท่านี้ วันนี้ก็พูดเรื่องตั้งต้น หรือจุดตั้งต้น คือเรื่องความเห็นแก่ตัว จนท่านรู้จักเกลียด เกลียดมันเหลือประมาณนั่นแหละจะง่าย ถ้าไม่รู้จักเกลียดมัน ยังไม่ ๆๆไม่สำเร็จหรอก ถ้าเกลียด เกลียดจนไม่อยากจะอยู่ด้วยกันนั่นแหละ มันก็จะอยากปฏิบัติทันที อยากปฏิบัติไปกำจัดมันเสีย ฉันทะ ความพอใจในการจะศึกษาปฏิบัติมันก็เกิดขึ้นเต็มที่ แล้วท่านก็จะมีวิริยะ จิตตะ วิมังสา สมบูรณ์โดยอิทธิบาท แล้วการศึกษาของท่านก็จะสำเร็จประโยชน์สมตามความมุ่งหมายทุกประการ การบรรยายนี้ก็สมควรแก่เวลาแล้ว ขอแสดงความยินดีที่ท่านทั้งหลายเป็นผู้ฟังที่ดี เป็นผู้ฟังด้วยความอดทน ฟังด้วยการพยายามจะเข้าใจนั่นแหละเป็นปัจจัยสำคัญที่จะให้ประสบความสำเร็จไปตามลำดับ ขอให้ประสบความสำเร็จไปตามลำดับ ตามที่ประสงค์จำนงหมายด้วยกันทุกท่านทุกคนเทอญ ขอยุติการบรรยาย