แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านอุบาสก อุบาสิกา สาธุชนผู้สนใจในธรรมทั้งหลาย เป็นในครั้งแรกที่ได้พูดกันถึงเรื่องของปฏิจสมุปบาท คือธรรมชาติแห่งความทุกข์ จะเกิดขึ้นอย่างไร จะดับไปอย่างไร นี่เรียกว่าธรรมชาติแห่งการเกิดดับของความทุกข์
ในครั้งที่สองได้พูดกันถึงอานาปานสติ ถึงการฝึกฝนสติธรรมทั้งปวง ตามที่ควรจะทำ จะทราบเพื่อว่าจะควบคุมปฏิจสมุปบาท ควบคุมกระแสแห่งปฏิจสมุปบาทได้อย่างไร ในวันนี้ก็จะได้พูดกันถึงการใช้ธรรมมะเพื่อควบคุมกระแสแห่งปฏิจสมุปบาทนั้นโดยตรง เรียกสั้นๆก็คือ การใช้กสิณให้สำเร็จประโยชน์ ทว่าจะต้องสังเกตดูให้ดีว่าในการปฏิบัติอานาปานสตินั้น ถ้าสำเร็จแล้ว หรือสำเร็จตามสมควร ก็จะเกิดมีธรรมมะขึ้นมามากมายๆ เกิดสติโดยเฉพาะเกิดสมาธิ เกิดปัญญา นี่เป็นหลักใหญ่ แล้วก็นำไปใช้ให้เกิดอะไรอีกต่อไปตามลำดับ แล้วแต่ใครจะปรารถนาดำรงชีวิตอยู่ด้วยธรรมมะเหล่านั้นให้มีความสุขสงบเย็น เป็นนิพพาน นั่นคือจุดมุ่งหมายในที่สุด
คือเรารู้เรื่องปฏิจสมุปบาท แล้วก็ฝึกสติ ฝึกควบคุมกระแสปฏิจสมุปบาท ท่านจะเกิดขึ้นมาในชีวิตประจำวัน ทุกวันๆ แต่ละวันมากครั้ง จะเกิดควบคุมกระแสแห่งปฎิจสมุปบาทได้ด้วยอานาปานสติ ทีนี้มันก็เป็นเรื่องที่ละเอียดในการที่จะทำให้สำเร็จ หรือเป็นผู้ชนะทุกครั้งทุกคราวไป เมื่อท่านฝึกอานาปานสติ ท่านเท่ากับฝึกสติโดยตรง สติทั้ง16ขั้น หากขั้นตอนคุมสติตามแบบทั้ง16ขั้นตอนแล้ว มันก็มีความรู้ก่อน รู้ในธรรมมะที่สติออกมากำหนดจนรู้จักธรรมมะเหล่านั้น เรียกว่าได้ปัญญา ประสบความสำเร็จในการกำหนดนั้นกำหนดได้จริง เราเรียกว่ามีสมาธิส่วนธรรมมะอื่นๆเช่นการอดกลั้นอดทนความสุขุม ประณีต ละเอียดลออ สงบเย็น ไม่ตื่นเต้นและอีกมากมายท่านก็สังเกตดูเอาเอง แต่ว่าที่เป็นหลักใหญ่ๆอยากจะเสนอแนะเป็นพิเศษสัก4อย่างก็คือ สติ ปัญญา สัมปชัญญะแล้วก็ สมาธิ ไอ้ส่วนที่เป็นความพากเพียร เป็นความพยายามต่อสู้กับตนนั้นเป็นบริวาร และธรรมมะใหญ่ๆที่เป็นหัวหน้าเป็นประธาน ที่ต้องใช้กันอย่างจริงๆจังๆอย่างน้อยก้อสี่อย่าง ซึ่งจะต้องรู้จัก จะต้องเข้าใจ ต้องอะไรให้ถูกต้อง ให้คล่องแคล่ว เมื่อเกิดอะไรขึ้น ที่จะเป็นไปเพื่อกิเลสและเพื่อความทุกข์ในชีวิตแต่ละวันๆ ที่เราเรียกว่าปัญหาคือความทุกเป็นปัญหาจะต้องมีวิธีเผชิญหน้ากันกับความทุกข์นั้นอย่างเฉลียวฉลาด มีลักษณะเป็นอุบายะหรืออุบายที่สมัยใหม่นี่เขาใช้คำฝรั่งว่า เทคนิคมันมีเทคนิคอย่างไร ใช้มันให้ถูกต้องถ้าใช้ไม่ถูกต้อง ก็ไม่สำเร็จเหมือนกัน คือมันก็ไม่มี ท่านจงจำคำ4 คำนี้ไว้ให้ดีๆทำความเข้าใจให้ถึงที่สุด และก็ใช้มันอย่างคล่องแคล่ว จะพูดกันทีละอย่างว่ามันเกี่ยวข้องกันอย่างไร ทั้งสี่อย่างนี้มันต้องเกี่ยวข้องกัน มันทำงานร่วมกันเป็นสามัคคี ตามหน้าที่ ตามสัดส่วนอย่างทีเรียกกันเป็นภาษาฝรั่งมังค่าอีกคำหนึ่ง ว่ามันเป็นทีมเวิค เหมือนกับเธอเล่นฟุตบอลมันต้องมีผู้ที่ทำหน้าที่แต่ละอย่างๆรวมกันเป็นทีม หรือเป็นชุดหนึ่ง ถ้าแต่ละคนๆไม่บกพร่องในหน้าที่ของตน มันก็มีหวังชนะเท่านั้นแหละ ข้อนี้ก็เหมือนกันแหละ มีธรรมะสี่อย่าง ใช้ให้ถูกหน้าที่ ให้ถูกเวลา ถูกเทคนิคก็สำเร็จประโยชน์ในการที่จะดับทุกข์ เมื่อท่านปฏิบัติอานาปานสติ ก็คอยกำหนดเอาเอง ว่ามันมีกี่อย่างๆ กี่ธรรมมะหรือธรรมมะกี่อย่างและก็นำมาใช้กันจริงๆจังๆ นี่ละสี่อย่างก็เรียกว่าธรรมะสี่เกลอๆ คือทีมมีสี่คน สิ่งแรกที่เรียกว่าสติ สตินี่คือความระลึกได้ไว ระลึกได้ทันเหตุการณ์ หรือได้เร็วสายฟ้าแลบ เกิดอะไรขึ้นก็รู้สึกตัว ระลึกได้เร็ว ว่ามันเป็นอย่างไรความเร็วของสติเท่ากับความเร็วของลูกศร คำว่าสติกับคำว่าศรนี่มันคำเดียวกันในภาษาบาลีมีความระลึกเร็วเหมือนกับลูกศร มันระลึกได้ถึงสิ่งที่จะแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เมื่อไรเกิดขึ้นจะเป็นความทุกข์นี่มันระลึกได้เร็วถึงสิ่งที่จะแก้ปัญหาที่เฉพาะหน้าในเรื่องนี้ เพราะว่าเราได้ศึกษาไว้มาก เป็นความรู้ เมื่อเก็บไว้เต็มตู้เต็มคลังเรียกว่าปัญญาๆๆเราสังเกตดูว่าปฏิบัติกว่าจะครบอานาปานสติทั้งสี่ขั้น
มันมีความรู้เรื่องนั้นเรื่องนี้เรื่องนู้นมากมาย มีครบทุกอย่าง มันเป็นการศึกษาเอาจากอานาปานสติโดยตรงแต่ว่าความรู้ทุกอย่างนี้เรียกว่าปัญญา พากเพียรศึกษาอบรมมากเท่าไหร่มันก็มีปัญญามากเท่านั้นแหละ มันก็เก็บไว้เหมือนกับเก็บไว้ในตู้ในคลังนี่ เก็บอาวุธ พอเกิดเรื่องขึ้นมา สติก็ระลึกได้ทันทีว่าจะเอาปัญญาข้อไหนมา หรือนึกถึงปัญญาข้อไหน เหมือนกับเราเก็บอาวุธไว้หลายๆอย่าง พอเกิดเรื่องขึ้นมาที่ต้องใช้อาวุธก้อระลึกได้ทันทีว่าต้องใช้อาวุธอันไหน อาวุธชิ้นไหน เพราะฉะนั้น ไม่ต้องเอามาทั้งหมดหรอก แต่เอามาเฉพาะที่มันเหมาะสมกับเหตุการณ์ สติระลึกถึงปัญญาที่เก็บไว้ ที่จะเอามาข้อหนึ่ง มาเผชิญหน้ากับอารมณ์ร้ายที่กำลังเกิดขึ้น ปัญญานั้นก็เปลี่ยนรูปทันที เปลี่ยนชื่อไม่เรียกว่าปัญญาแล้วล่ะที่นี้ ถ้ามันมาประจำการในหน้าที่เฉพาะ จะทำหน้าที่ละก้อเปลี่ยนชื่อเรียกว่า สัมปชัญญะ สัมปชัญญะก็คำเดียวกับปัญญา สัม แปลว่าพร้อม ปะ แปละว่าช่วย ญะ ก็แปลว่าปัญญา ปัญญาเฉพาะหน้าเหตุการณ์ ที่เอามาเผชิญกับเหตุการณ์ เพื่อต่อสู้กับปัญหา ทำลายปัญหา และที่นี้เหลืออยู่ก็คือว่า ปัญญานั้น สัมปชัญญะนั้นน่ะ มีกำลังมากพอหรือหาไม่ ตามธรรมดามันก็ไม่พอ ก็ต้องใช้ธรรมมะอีกข้อหนึ่งข้อที่สี่คือสมาธิ สมาธิคือกำลังจิตทั้งหมดระดมลงไป สัมปชัญญะก็ทำหน้าที่ได้สำเร็จ นี่ท่านต้องทำความเข้าใจข้อนี้ให้ดีๆ ว่ามันทำหน้าที่สัมพันธ์กันอย่างไร เมื่อเกิดเรื่องขึ้นมา สติระลึกถึงปัญญาข้อใดข้อหนึ่งเอามา มาเผชิญหน้าเหมาะสมเป็นสัมปชัญญะ และถ้ามันมีกำลังอ่อนก็ใส่สมาธิลงไป ปัญญาหรือสัมปชัญญะนั้นก็เข้มแข็งและก็มากพอที่จะทำลายปัญหา ปัญญาน่ะเปรียบเหมือนกับความคม แต่แม้ว่าจะคมอย่างไร ถ้าไม่มีน้ำหนัก ไม่มีน้ำหนักที่จะกดลงไป มันไม่ตัดแล้ว ถึงมันคมเป็นมีดโกนหรือยิ่งกว่ามีดโกนซะอีก ถ้ามันไม่มีน้ำหนักที่จะกดหรือจะฟันลงไปก็ไม่ตัด นั่นละมันจึงต้องมีสิ่งที่เรียกว่าสมาธิ เดี๋ยวนี้สติและปัญญามาแล้ว ปรับปรุงเฉพาะเหมาะสมกับเหตุการณ์แล้ว เรียกว่าสัมปชัญญะแล้ว ทีนี้สมาธิก็ทำหน้าที่เป็นน้ำหนัก ที่จะตัดกดลงไปให้มันขาด ที่นี้อุปมาอย่างนี้เพื่อว่าให้จำง่ายลืมยาก ให้ธรรมะมันทำหน้าที่ ในเมื่อเราได้ศึกษาไว้มากพอ เรียกว่าฝึกการใช้แต่ละอย่างๆไว้อย่างคล่องแคล่ว มันก็ใช้ได้ทันที ใช้ได้อย่างเป็นคนดี ความสำคัญก็มีอยู่ว่า มันใช้ให้ถุกเรื่อง และใช้ทีละอย่างแต่ละอย่างๆ ให้เหมาะสมกับเรื่อง ให้มีกำลังมากพอ จะบังเกิดประโยชน์ แต่ถ้าใช้ไม่ถูกเรื่องมันก็ไม่มีประโยชน์อะไร มันจะบ้าหอบฟาง มีความรู้เยอะแยะ แต่ไม่สามารถจะใช้ให้เป็นประโยชน์อะไรได้ อย่างนี้มีอยู่โดยมาก ความรู้นั้นฟั่นเฝือ ไม่อาจจะใช้ให้สำเร็จประโยชน์เป็นอย่างๆไป เปรียบอุปมาอีกสักข้อหนึ่งที่จะฟังง่ายๆ ก็ว่าเหมือนกับว่าตู้ยา เก็บยาไว้มากอย่าง เต็มตู้เลย แต่พอมีเจ็บป่วยเป็นโรคอะไรขึ้นมา มันก็เอามาใช้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ไม่ได้เอามาทั้งตู้หรอก นี่มันมีสติเลือกเฟ้นถูกต้อง แต่ถ้ากินยาขวดไหนขนานไหน ยานั่นมันก้อทำหน้าที่เฉพาะ ขจัดโรคนั้นๆแล้วก็กินให้มากพอ ให้มันถึงขนาด ให้มากพอ ให้เต็มกำลังของยานั้น ยานั้นก็จะกำจัดโรคให้หายไป ดังนั้นเมื่อท่านทำอานาปานสตินี่จะต้อง สังเกตดูดีๆว่ามีธรรมมะอะไรกี่ข้อ ข้อไหนสามารถจะทำหน้าที่อย่างไร มันไม่เหมือนกัน และมันก็มากมายเลยหายสิบหลายร้อยกระทั่ง แต่ถ้ามันเกินจำเป็นก็ไม่ต้องเอา ฝึกให้คล่องแคล่วไว้อย่างที่มันพอกับเรื่อง เหมาะกับเรื่อง โดยมากก็ เราใช้กฎเกณฑ์ของ อริยมรรคมีองค์แปด สัมมาทิฐิ คือความรู้ที่ถูกต้อง ความเชื่อความคิดเห็นอะไรก็ตามที่ถูกต้อง และก็มุ่งหมายถูกต้อง พูดจาถูกต้อง ทำการงานถูกต้อง ดำรงชีวิตถูกต้อง และก็มีความพยายามถูกต้อง มีสติระลึกอย่างถูกต้อง และก็มีสมาธิเต็มที่ แยกออกเป็นแปดอย่างอย่างนี้ก็ได้ และมันก็ไม่แปลกออกไปจากธรรมมะสี่เกลอหรอกนะ คือ สติ และก็ปัญญาน่ะ ความรู้มันก็คือสัมปชัญญะ ก็คือปัญญานั่นเอง แต่ว่าทำหน้าที่เฉพาะอย่างๆ และก็สมาธินั่นแหละ มาช่วยให้มันทำงานเต็มรูปเต็มขนาดของมัน จะเรียกอย่างอื่นก็ได้เรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญาก็ได้แล้วแต่ ถ้าเข้าใจ ถ้าท่านมีความเข้าใจถูกต้องในชื่อธรรมมะเหล่านั้น และก็จะเห็นว่ามันมีกันอยู่อย่างนี้ พอเราจะใช้มันก็ต้องใช้กันในลักษณะที่ว่า มันเป็นธรรมมะสี่เกลอนั่นล่ะ ต้องมาครบ และก็ทำหน้าที่ครบ และก็สัมพันธ์กันอย่างไม่ขัดขวางแก่กันและกัน ทำหน้าที่ร่วมมือกันไม่มีการขัดขวางแก่กันและกัน มันก็จะตัดปัญหานั้นได้ ดับทุกข์นั้นได้ ทีนี้ยกตัวอย่าง เรื่องที่มันจะเกิดขึ้นนั้นน่ะ มันเกิดขึ้นทางตาก็ได้ ทางหูก็ได้ ทางจมูกก็ได้ ทางลิ้นก็ได้ สัมผัสผิวหนังทั่วไปก็ได้ ในจิตใจล้วนๆก็ได้ จะยกตัวอย่างว่าทางตาน่ะ เมื่อได้เห็นรูปเข้าอย่างหนึ่งแล้วปัญหามันก็เกิดขึ้นว่า จะต้องทำอย่างไรนี่ รูปนั้นๆจะไม่ทำให้เกิดกิเลสขึ้นมาจนเกิดความทุกข์ในทางตา ยกมันมาเป็นตัวอย่าง เข้าใจแล้วก็เข้าใจได้ทุกอย่าง ทั้งหกอย่าง ตาเห็นรูปที่สวยหรือไม่สวยก็ได้มันเป็นเป็นคู่ๆไปเลย แต่มันจะเกิดต้องมีปัญหาทั้งนั้นแหละ สวยก็มีปัญหาไปตามแบบสวย ไม่สวยก็มีปัญหาไปตามแบบไม่สวย ถ้ามันสวยคือเป็นบวก มันก็จะเกิดกิเลสประเภทบวก คือจะเอา จะได้ จะยึดครองแบบสัตว์ไง ก้อเกิดกิเลสประเภทบวกเป็นราคะหรือโลภะ หรือโมหะบางชนิดแต่ถ้าอารมณ์นั้นมันไม่ใช่อย่างนั้น มันอย่างนี้น่ะ มันเป็นสิ่งที่เกิดอยู่ในชีวิตประจำวัน ตรงกันข้ามคือมันเป็นลบ คือไม่ถูกใจเนี่ย มันก็เกิดกิเลสประเภทลบ มุ่งจะทำลาย คือเดือดร้อนในทางที่จะทำลาย เกิดกิเลสประเภทลบ เช่นความโกรธก็ได้ โทสะประทุษร้ายก็ได้ ทำลายก็ได้ อิจฉาริษยาอะไรก็ได้ทั้งนั้นคือกิเลสประเภทลบ แต่ถ้ามันไม่แน่ว่าบวกหรือลบ มันจะเขม่นมองไปได้ ว่าสวยหรือไม่สวย แต่มันจะยังมองว่ามีค่า มีประโยชน์ มันก็สงสัย ติดตามอยู่ด้วยความสงสัย พันพัวมัวเมาอะไรก็แล้วแต่ บางทีเกดกิเลสประเภทที่เป็นโมหะ คือไม่รู้ เป็นโมหะประเภทโมหะกิเลสประเภทราคะมันจะดึงเข้ามาหาเพื่อจะเอา กิเลสประเภทโทสะผลักออกเพื่อทำลาย กิเลสประเภทโมหะนี่มันก็ทำให้วิ่งวนอยู่รอบๆ เพราไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดี นี่เกิดกิเลสได้ทั้งสามชนิดนั่นแหละคืออารมณ์ คอยสั่ง รักเป็นบวกก็เกิดกิเลสประเภทบวก อารมณ์น่าเกลียดน่าชัง น่าโกรธมันก็เกิดกิเลสประเภทลบ ที่มันก็ระคนกันอยู่ ไม่แน่มันก็ยังระคนกันอยู่ มีกิเลสประเภทสงสัยไม่รู้ ทำอะไรไม่ถูก และก็ทรมานใจ เหมือนกับความรักก็ทรมานใจไปแบบความรัก ความโกรธหรือความไม่รักมันก็ทรมานใจไปแบบความโกรธ ความโง่ไม่รู้ตามที่เป็นจริงทำอะไรไม่ถูกมันก็ทรมานใจไปตามแบบของความโง่ ท่านทั้งหลายก็สังเกตดูให้ดีๆว่าทั้งสามอย่างนี้มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันหรือหาไม่ ถ้าไม่รู้หรือสังเกตไม่เป็นมันก็เหมือนกับว่าไม่มีกิเลส ทั้งที่มันทำอะไรยู่ตามอำนาจกิเลส แต่มันกลับรู้สึกไปเป็นไม่มีกิเลส แต่ถ้าได้ศึกษาธรรมมะมาอย่างละเอียดลออเพียงพอก็เห็นว่า โอ้!เป็นกิเลส เป็นกิเลสอย่างหนึ่งๆ นั่นเรียกว่าศัตรู ศัตรูมันเข้ามาทางตามันก็บวกลบไปตามแบบของตา เดี๋ยวสวย เดี๋ยวไม่สวย หรือไม่แน่ว่าจะสวยหรือไม่สวย บางทีเราก็พลอยโง่ไปตามแบบที่เขาว่าสวย จริงๆแล้วไม่ได้มีความคิดที่เป็นอิสระ แบบเสื้อแบบผ้าออกมาใหม่ๆก็ว่าสวยกันทั้งโลก ความโง่ของเราก็คิดว่ามันจะต้องสวยไปตามเขาอย่างนี้เป็นต้น ถ้าไม่สวยก็ว่าไม่สวยไปตามเขา บางอย่างเราต้องโง่ให้มากๆ มันจึงจะรู้สึกว่าสวยไปตามที่ว่า ที่เขาว่ากัน บางอย่างเราไม่สวย ไม่ได้ตามธรรมชาติ เราต้องยอมโง่ไปตามที่เขาว่าสวยกันนั่นละ ลืมตัวนั้นละ มันถึงจะมีปัญหาทางตา ทีนี้ทางหูมันก็มีเสียงที่ไพเราะหรือไม่ไพเราะ หรือว่าไม่มีความหมายว่าเป็นไพเราะหรือไม่ไพเราะอย่างนี้ก็ได้ เราจะต้องมีความโง่มากพอๆกันกับที่เขานิยมกัน หรือความรู้สึกที่เกิดขึ้นมา เราสร้างสรรค์อบรมมาให้รู้สึกคิดนึกอย่างนั้นมาตั้งแต่อ้อนตั้งแต่ออก ก็อย่างดนตรีเนี่ย ไอ้เด็กทารกมันก็ไม่ได้รู้สึกว่าไพเราะแต่ก็ไปกำหนดตามที่เขานิยมกันอย่างนั้น ไพเราะอย่างนั้นไพเราะอย่างนี้ เดี๋ยวก็มากมาย เกิดเป็นเพลงมากมาย ไพเราะอย่างยิ่งละเอียดลอออย่างยิ่ง แต่ถ้าถามหมาเข้าไป พูดง่ายๆมันสั่นหัว ไม่มีความไพเราะหรือไม่มีอะไร แต่ถ้าเราไปศึกษาไปยอมโง่ตามที่เขาว่าไพเราะนั้น มันก็จะค่อยไพเราะๆขึ้นมามากมายไม่รู้อีกกี่สิบเพลงกี่ร้อยเพลง ถ้าไปถามสุนัขมันก็ว่าไม่มีความหมาย มันก็เหมือนๆกันน่ะ มันป็นเสียงที่แปลกๆ หลับกันมากๆเนี่ย มันก็ยอมโง่ว่าอย่างนั้นมีความหมายอย่างนั้นๆ คือไปฟังเพลงที่ไพเราะแพงๆ เสียค่าฟังกันมากมาย แล้วก็ว่าไพเราะๆแล้วก็หาว่าคนป่าโง่ที่ไม่รู้จักความไพเราะ คิดดูให้ดีไม่รู้ว่าใครมันโง่กัน การที่ว่าต้องไปสวยไปเพราะไพเราะกันมากมายเหมือนกับคนที่เจริญแล้วเนี่ย คนป่ามันก็หัวเราะกันได้ ว่าฉันไม่ต้องลำบากเหมือนแก เที่ยวแสวงหาความสวยงามความไพเราะ กระทั่งว่าทางจมูกมันก็มีกลิ่นที่ทำให้หลงใหล เรียกกันความนิยม สิ่งอย่างนั้นดีสิ่งอย่างนี้ไม่ดี ตามความนิยม ลิ้นก็เหมือนกันนั่นแหละ คอยสังเกตดูว่ามันถูกหลอกมากขึ้น ถูกหลอกมากขึ้นๆ จนเกิดความนิยมชมชอบ ต้องกินอาหารอย่างนั้นอาหารอย่างนี้ จนกระทั่งว่าอาหารคำเดียวสิบบาทร้อยบาท พันบาท หมื่นบาทก็เป็นได้ นี่สัมผัสเป็นอารมณ์บวกลบ ก็มีอะไรบ้าง ต้องอย่างนั้นต้องอย่างนี้ ยอมซื้อหามาแพงๆ จะต้องอย่างนั้นต้องอย่างนี้จนชินเกิดเป็นความยึดมั่นถือมั่น โง่หลงไปแบบใดแบบหนึ่ง ทีนี้สัมผัสทางผิวหนัง คนเดี๋ยวนี้ต้องมีตู้เย็น ต้องมีห้องเย็นไม่อย่างนั้นอยู่ไม่ได้ นั่นก็คอยสังเกตดูให้ดีๆ ทีนี้ความคิดความรู้สึกทางจิตใจ สิ่งที่จะกล่อมอารมณ์ให้เคลิบเคลิ้มก็ประดิษฐ์กันขึ้นมาไม่รู้จักจบจักสิ้น มีอยู่หกอย่างตามที่มีอยู่ตามธรรมชาติ จะใครสร้างมาก็ตามแต่ แต่ทีนี้มันมีหกอย่าง อาจจะรู้สึกได้หกอย่าง ดีว่ามันสร้างมาเพียงหกอย่าง ถ้าสร้างมาสิบอย่างยี่สิบอย่างละก้อ ยุ่งมากกว่านี้ ทีนี้ธรรมชาติสร้างมาให้เรารู้สึกสัมผัสได้เพียงหกอย่าง ยังมีปัญหาเท่าไหร่ก็ลองคิดดู
ถ้าสมมุติว่าราไม่มีจมูกเหมือนกับสัตว์บางชนิด ไม่ต้องมีจมูก ปัญหาทางจมูกมันก็ไม่มี ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ มีอยู่ตามธรรมชาติแท้จริงหกอย่าง เป็นทางมาแห่งปัญหา ก็คือทำให้เป็นบวกก็ได้ เป็นลบก็ได้จนไม่รู้ว่าบวกหรือลบ สงสัยวนเวียนอยู่ก็ได้ ทั้งหกทาง ทีนี้ยกตัวอย่างทางตา เขาว่าสวยๆๆแล้วก็หลงตามเป็นบวก ต้องหา เสาะหาสะสม แพงเท่าไหร่ก็ไม่ว่า ใช้เงินหมดไปเพื่อแสวงหาสิ่งที่สวยงามนั้น ฉะนั้นก็มีความยึดมั่นถือมั่นว่าสวยงาม ยึดมั่นถือมั่นว่าของเรา ก็เกิดความรักบวก แต่พร้อมกันนั้นมันก็ต้องเกิดความรู้สึกลบ ก็คือความกลัวว่ามันจะหายไปจากเรา คือถ้ามันหายไปจริงๆก็มีความรู้สึกเป็นลบ ทรมานจิตใจเรา ไปเทียบเคียงดูเอาเองเถอะ ทางไหนจะสำคัญกว่าหรือรุนแรงกว่า ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ผิวกายผิวหนัง แล้วก็ทางจิตใจ ส่วนใหญ่ก็เรื่องทางจิตใจน่ะ มันสำคัญมาก เรื่องทางกายนั้นก็พิเศษ เพราะมันเป็นที่ตั้งแห่งความรู้สึกทางเพศตรงกันข้ามยิ่งกว่าสิ่งใด กามารมณ์อาศัยความรู้สึกทางกายทั่วๆไป ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น มันเป็นเรื่องประกอบเท่านั้นเอง ความรู้สึกทางกามารมณ์นี่อาศัยผิวหนัง ทั้งส่วนลึกถึงส่วนตื้น ทำให้มองเห็นเป็นวิเศษวิโสบูชากันเป็นพระเจ้าไปเลย ที่จริงก็เป็นความรู้สึกบ้าวูบเดียวเท่านั้นล่ะ ความรู้สึกทางเพศเป็นความบ้าวูบเดียวๆไปทุกเรื่องๆแต่ละเรื่อง และก็บูชากันนัก เป็นเหตุให้ฆ่าเพื่อนมนุษย์ตาย ฆ่าตัวเองตาย บ้าหนักเข้า ฆ่าลูกฆ่าเมีย ฆ่าพ่อฆ่าแม่ก็ยังได้น่ะ นี่มันคือปัญหา จะชนะปัญหาเหล่านี้อย่างไร ก็ขอยืนยันว่าธรรมมะสี่เกลอ ให้สนใจมากเป็นพิเศษก็ธรรมมะสี่เกลอ มีสติระลึกได้เมื่อตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกได้กลิ่นก็เผชิญหน้า ทางอารมณ์ทางเพศนั่นมีสติรู้สึกได้ทันท่วงทีอย่าให้มันผิดพลาด การจะแก้ปัญหาด้วยปัญญาก็อย่างที่ว่าปัญญาอันไหนมันจะแก้ความรู้สึกอันนี้ได้ก็เอามา เผชิญหน้าเป็นสัมปชัญญะ และเพิ่มกำลังจิตเป็นสมาธิให้เข้มแข็ง อารมณ์ทางเพศโดยตรง ทางผิวหนังนี่ก็จะไม่ทำอันตราย แล้วที่มันเป็นน้อยไปกว่านั้นเช่นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้นนี่ก็ไม่ทำอันตราย ไม่อาจจะทำอันตราย ที่เรียกว่าเรื่องฝ่ายบวกที่ทำให้หลงรักน่ะ ก็ไม่ทำอันตราย ที่นี้ทางเรื่องลบที่จะเกลียดมันก็ไม่ไปเสียเวลาเกลียด ไม่ต้องเป็นทุกข์เพราะเห็นรูปที่ไม่น่ารัก ได้ฟังเสียงที่ไม่น่ารัก ได้กลิ่นที่ไม่น่ารัก ได้รสที่ไม่น่ารักที่เป็นลบๆๆ ก็ไม่มีเรื่องที่จะเกิดทำอันตราย มันทำอันตรายได้ก็แต่เฉพาะคนโง่ มันโง่ มันไม่รู้จักความจริงของสิ่งเหล่านี้ มันไม่มีความรู้เรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ธัมมัฏฐิตตตา ธัมมนิยามตา อิทัปปัจจยตา สุญญตา ตถาตา กระทั่งอตัมมยตา มันไม่รู้ มันก็ต้องได้เผชิญกันอย่างที่เรียกว่ารบราฆ่าฟัน แล้วมันก็พ่ายแพ้ มันเกิดกิเลส มันเกิดความทุกข์ นี่เรียกว่าจะต้องรู้จักใช้ธรรมมะ ซึ่งเรียกว่าเป็นการทำสงครามรบราฆ่าฟัน แต่มันเป็นอย่างภายใน เป็นอยู่ในชีวิตจิตใจ และมันก็มีมากเหลือเกิน มากมายเหลือเกิน ถ้าจะนับอย่างกันแล้วไม่ไหว
ทีนี้ว่าใครสามารถทำให้ไม่เป็นปัญหา คนนั้นเป็นพระอริยเจ้า เริ่มเป็นพระอริยเจ้าแล้วก็เป็นๆๆไปอย่างถึงที่สุด ไม่มีปัญหาโดยประการทั้งปวง ที่เป็นพระอริยเจ้าชั้นต่ำๆน้อยๆก็มีปัญหาน้อยๆ กระทั่งไม่มีปัญหาเลย แต่ถ้ามันเป็นปุถุชนเต็มขั้นมันก็เต็มไปด้วยปัญหา เดี๋ยวหัวเราะเดี๋ยวมันร้องไห้นะ เดี๋ยวหัวเราะร้องไห้ เดี๋ยวดีใจเสียใจ เดี๋ยวอึดอัดคัดแค้น เป็นไฟสุมอยู่ในใจ เป็นบวกบ้างเป็นลบบ้างเป็นไม่รู้ว่าอะไรบ้าง นี่คือชีวิตปุถุชน เป็นไปด้วยปัญหา เป็นบวกเป็นลบรุนแรงอยู่ตลอดเวลา แม้แต่หลับมันก็ยังฝัน ฝันร้ายฝันดีฝันชั่วอะไรไปตามเรื่องของมัน มันรบกวนแม้กระทั่งเวลาหลับ ถ้ามีธรรมมะเพียงพอมันก็ไม่รบกวน ธรรมมะน้อยก็รบกวนน้อย มีธรรมมะถึงที่สุดก็ไม่รบกวนเลย แล้วก็ได้ชีวิตสูงสุดที่ไม่มีกิเลสรบกวนเลย เรียกว่าบรรลุพระนิพพาน นิพพานแปลว่าเย็นๆๆ เย็นทางกาย เย็นทางใจ เย็นไม่มีความร้อนใดๆ ไม่มีราคะ โทสะ โมหะ นิพพานแท้จริงก็มีอย่างเดียวเท่านั้นแหละ คือเย็นที่รู้สึกอยู่ในจิตใจนั่นแหละ นิพพานที่มีชีวิตจิตใจมีอย่างเดียว แต่นิพพานในตัวหนังสือ ในห้องเรียนบาลีไวยากรณ์มีตั้งสามสิบสี่สิบอย่างโน่น นิพพานน่ะ แปลอย่างนั้นแปลอย่างนี้ ความหมายอย่างนั้นความหมายอย่างนี้จนกระทั่งไม่เกี่ยวกับจิตใจแล้ว ก็เลยนิพพานในห้องเรียนในโรงเรียนน่ะมีหลายสิบอย่าง แต่นิพพานที่แท้จริงในชีวิตจิตใจของคนมันมีอย่างเดียว คือกิเลสไม่เกิดขึ้นรบกวน มีเพียงอย่างเดียว เมื่อไฟไม่เกิดขึ้นรบกวนมันก็เย็น คำนี้มันมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ก่อนศาสนาก็ได้ คือว่ามนุษย์เริ่มรู้จักใช้คำว่าเย็นๆๆ เย็นอย่างธรรมดา เย็นทางวัตถุเป็นชื่อ แต่ความเย็นทางจิตใจคือนิพพาน เพราะว่าก่อนพุทธศาสนาเกิดขึ้น เขาก็มีนิพพานๆซ้อนกันอยู่หลายๆชนิดแล้วลำดับๆไว้สูงๆขึ้นมา ข้อนี้ปรากฏอยู่ในพระบาลีที่พระพุทธเจ้านำมาตรัสนะ นิพพาน ในปัจจุบันน่ะอย่างในพรหมจารีสูตร นี่มนุษย์เคยเอาเรื่องกามารมณ์เป็นนิพพาน นิพพานคือกามารมณ์ เพราะมันดับความร้อนบ้าๆบอๆอะไรของมันได้ หลงกามารมณ์ว่าเป็นนิพพาน ต่อมามันฉลาดขึ้น ฤาษีมุนีชีไพร อะไรก็ตาม ฉลาดมากขึ้น มันบอกไม่ไหวๆๆ มันก็หาที่ดีกว่านั้น มันก็มาพบเรื่องสมาธินี่ สมาธิ สมาบัตินี่ เอาสมาธิเป็นนิพพาน สมาธิมีหลายขั้นตอน ก็มีหลายขั้นตอนไปตามอย่างของสมาธิ เป็นพวกรูปฌานก็พวกนึ่งละ เพียงแต่ละจากกามก็เป็นรูปฌาน มันก็เย็นหยาบหน่อย ต่อมาก็ละเอียด เป็นอรูปฌาณ ก็มีหลายฌาน ละเอียดที่สุดก็เนวสัญญานาสัญญายตนะ ที่สอนอยู่โดยอาจารย์คนสุดท้ายที่พระพุทธเจ้าท่านไปเรียนด้วยคือ อุทกดาบสรามบุตร นี่สอนเนวสัญญานาสัญญายตนะ แล้วก็บอกพระสิทธ ลูกศิษย์ว่า เนี่ยจบแล้วหมดแล้ว พระสิทธะไม่เอาด้วย สั่นหัวขอลาๆไปแสวงหาของพระองค์เองถึงได้นิพพานอย่างสมบูรณ์มาตามแบบในพระพุทธศาสนา นิพพานแปลว่าเย็นๆ เย็นคือเมื่อไมมีไฟ ข้อนี้น่ะอย่าประมาท ดูให้ดีคือไอ้ที่มันเป็นๆของมันเองก็มี คือเหตุการณ์อะไรมาเกิดขึ้นช่วยให้เย็นช่วยให้สงบ
ความร้อนนั้นมันก็มีเหมือนกัน เพราะว่าบางทีบางเวลา กิเลสมันก็มิได้เกิดอยู่หรือมันเกิดอยู่ไม่ถึงกับรบกวน เรียกว่าวลาที่ไม่ร้อนเป็นกิเลสนั้นน่ะ มันก็มีอยู่ไม่น้อยนะ วันหนึ่งมียี่สิบสี่ชั่วโมง มันต้องมีเวลาที่กิเลสไม่ได้เกิดขึ้นรบกวนอยู่พอสมควรแหละ มันจึงมีการพักผ่อนทางจิตใจ หรือว่านอนหลับไปบ้าง ถ้ากิเลสมันเกิดรบกวนจริงๆทั้งยี่สิบสี่ชั่วโมงนะ มันก็ตายแล้ว มันก็ตาย ไม่ต้องพักผ่อนหลับนอนไม่ต้องมีการปกติสุขกันเลย นี่ก็เรียกว่านิพพานน้อยๆ นิพพานที่ยังไม่เต็มขนาด เรียกว่านิพพุติ ที่ต้องมีหล่อเลี้ยงชีวิตอยู่ตามสมควร ตลอดวันตลอดชีพ เรารอดชีวิตด้วยนิพพานน้อยๆชนิดนี้ ต้องรู้ไว้ ต้องขอบคุณบ้าง เป็นความเย็นที่ยังไม่ถึงขนาด แล้วมันก็เย็นมากขึ้นไปๆจนถึงขนาดสูงสุด เป็นพระอรหันต์ ไฟดับสนิทหมด พระโสดาบันสักขินาคามี อนาคามีมันก็ลดลงๆๆไปตามลำดับจนหมดสิ้น เมื่อมีความเป็นพระอรหันต์ นี่คือสิ่งสูงสุดที่ว่าชีวิตจะพึงได้รับ หรือว่า ที่การปฏิบัติธรรมมะในพระพุทธศาสนาจะมีให้เรา ข้อนี้มันเป็นคู่กันมา ชีวิตมันต้องการ มนุษย์ก็ได้พบไปตามลำดับ คือเย็น เย็นมากขึ้นๆๆจนเย็นเด็ดขาด เพราะไม่มีไฟหรือกิเลสเกิด มันก็ไม่มีไฟ นี่คือความเย็นที่แท้จริงเป็นความรู้สึกทางจิตใจเพราะไม่มีไฟคือกิเลสเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นคอยจำไว้อย่างเดียวเท่านั้นแหละ คือเย็นทางจิตใจเพราะไม่มีไฟกิเลสเกิดขึ้น เพราะถ้ามองกันไปในแง่อื่น แปลกันไปในแง่อื่นละก้อ โอ๊ย! ตั้งหลายสิบคำ แม้แต่คำว่าปรุงแต่งไม่ได้ ไม่รู้จักสิ้นสุดนี้ก็เป็นชื่อของนิพพาน ไอ้นั่นมันนิพพานตัวหนังสือ นิพพานในห้องเรียน นิพพานในคัมภีร์อัตถคาถาฎีกาอะไรเนี่ย มันเรียนกันในห้อง ท่านจงมุ่งหมายเจาะจงเฉพาะ ว่าความเย็นเพราะไม่มีไฟคือกิเลสมาเผาลน ความเย็นนี่มันเป็นคำพูดที่ผิด จริงๆมันไม่ควรจะเรียกว่าเย็น แต่มันไม่รู้จะเรียกว่าอะไร แต่เพราะมนุษย์คนแรกไปยืมคำๆนี้มาใช้เป็นชื่อของนิพพาน ก็เลยใช้คำว่าเย็น ที่ถูกนั้นมันต้องเหนือเย็นๆ ไม่เย็นไม่ร้อนนั่นละถึงจะเป็นความหมายที่ถูกต้อง ถ้าเย็นนี่มันก็ต้องแก้ไขความเย็น ต้องมีไฟมีผ้าห่มอะไรอีกมันก็ยุ่ง แต่เราก็ไม่มีคำพูดอย่างอื่นจะเรียก เราก็ต้องเรียกคำนี้เพราะว่าเราทนไม่ไหว ภาษาชาวบ้านพูดครั้งโบราณนั่นน่ะเขาก็เอาคำว่าเย็นๆนี้มาใช้เป็นคำแรกกันมาก่อน มันก็ติดสอนกันมาจนปัจจุบันนี้ นิพพานแปลว่าเย็น แต่ที่จริงแล้วมันไม่ใช่เย็นที่คู่กันกับความร้อน เพราะถ้ามันหนาวเราก็ทนไม่ไหว แต่ถ้าเย็นพอสบายนั่นก็ว่ามันก็พออาศัยได้ หรือเย็นหรือไม่เย็นมันจึงเป็นความเย็น ข้อนี้ทุกๆคู่น่ะ ไม่ดีไม่ชั่วนั่นแหละคือดี ดีที่สุดคือไม่ดีไม่ชั่ว ไม่บุญไม่บาป นั่นล่ะคือว่าดีที่สุดล่ะ ฉะนั้นคำว่าเย็นนี่ก็ขอให้เข้าใจว่าเป็นความหมายที่จำเป็นที่เราต้องใช้ เพราะเราทนไม่ได้ในเรื่องของความร้อน ทีนี้ก็อย่าลืมธรรมมะสี่เกลอ เมื่อมันเกิดเหตุเรื่องราวอันใดขึ้นมา จะเป็นทางหู ทางตา ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจเองก็ดี ถ้าไม่ได้จัดการให้ถูกต้อง มันก็ไปจนถึงกิเลสเกิดกิเลสเป็นไฟตามที่เราได้ศึกษาแล้วในเรื่อของปฏิจสมุปบาทที่เราพูดกันในวันแรก ไฟมันเกิดขึ้นอย่างนั้นน่ะ ตั้งต้นที่ตา หูมันต้องกระทบอารมณ์จากภายนอก เกิดทัสสะเกิดเวทนา เกิดตัณหา เกิดอุปทา เกิดภพเกิดชาติและเกิดทุกข์นั่นต่อไป ก่อขึ้นมาอย่างนั้น เอ้าทีนี้พอมันมีการตั้งต้นทางอายสนะ ทางอย่างมีตากระทบรูป หูกระทบเสียงเป็นต้น สติมันมา สติมันวิ่งมาและก็ปัญญามาด้วยนะว่าจะจัดการกับเรื่องนี้อย่างไร ทางตาก็ดีหูก็ดี จมูก ลิ้น กายก็ดี ปัญญามันมาควบคุมผัสสะ ผัสสะคือการกระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กายเป็นต้นไม่ให้เป็นผัสสะโง่ แต่ให้เป็นผัสสะที่ฉลาด ผัสสะที่ฉลาดมันก็ไม่ต้องโง่ มันก็ไม่หลงในผัสสะที่จะเกิดมาเป็นเวทนา เวทนาสุขก็ไม่หลง เวทนาทุกข์ก็ไม่หลง เวทนาไม่สุขไม่ทุกข์มันก็ไม่หลง นั่นล่ะมันมีปัญญามาด้วย สติพามาและมาเป็นสัมปชัญญะรู้ตัวอยู่อย่างนี้ ไม่หลงกูไม่หลงมึง เนี่ยสัมปชัญญะมันทำหน้าที่อย่างนี้ เพราะฉะนั้นสมาธิมันก็เพิ่มกำลังแรงขึ้นๆ อารมณ์แบบนั้นก็หนีไปเลย เตลิดเปิดเปิงไปไหนก็ไม่รู้ มันก็จะหยุดเรื่องที่ทำให้เกิดความทุกข์ได้เพราะธรรมมะสี่เกลอ สติเอาปัญญามา ปัญญาเป็นสัมปชัญญะต่อสู้อารมณ์ สมาธิก็ใช้กำลังสูงสุด อารมณ์นั้นก็หมดความหมายไป ซึ่งขอให้ทราบไว้ว่า ไม่มีเกลอไม่มีมิตรสหายอะไรที่ไหนจะดียิ่งไปกว่าสี่เกลอคือธรรมมะ ถ้ามีสี่เกลออยู่กับเนื้อกับตัวกับชีวิตจิตใจแล้ว มันก็จะทำให้มีนิพพาน มีนิพพานในระดับใดระดับหนึ่งเป็นคู่ชีวิตที่อยู่กับชีวิต ถือเป็นชีวิตที่เย็นๆๆ เย็นอย่างที่เป็นสุขแท้จริง เย็นชนิดที่ไม่ดีใจ ดีใจก็ร้อนไปแบบหนึ่ง เสียใจก็ร้อนไปแบบหนึ่ง ไม่รู้สึกดีใจไม่รู้สึกเสียใจนั่นแหละคือเย็นๆ เย็นที่สุดแล้ว ท่านทั้งหลายจะต้องรู้ได้เอง อย่าไปเชื่อใครหรือไปเชื่อหนังสือหนังหาตำรับตำราอะไรที่ไหน คือท่านจะต้องมองกันเองว่า ถ้าดีใจหรือหัวเราะดีใจมันก็ยุ่งไปแบบหนึ่ง มันก็ร้อนชนิดหนึ่ง เสียใจน้ำตาไหลอยู่ก็ร้อนไปแบบหนึ่ง อย่ามีความรู้สึกดีใจเสียใจ นี่ละมันเย็น ในลักษณะนี้ความหมายพิเศษ มันไม่ใช่ว่าเย็นเฉยๆ มันเป็นความสงบสุขเป็นความพักผ่อน เป็นความสงบสุขไม่มีอะไรเหมือน และมันไม่ได้เป็นสุขเฉยๆอย่างเดียว ของผู้นั้นผู้เดียวแต่มันสามารถจะทำให้เกิดประโยชน์แก่ผู้อื่นด้วย จึงขอให้จำไว้ทั้งสองคำ คำที่สำคัญที่สุดทั้งสองคำว่า สงบเย็นแล้วก็เป็นประโยชน์ คำที่หนึ่งสงบเย็นน่ะ เย็นอย่างที่ว่าเป็นประโยชน์แก่ทุกคน เป็นประโยชน์ในครอบครัวแก่บุตรภรรยาสามี เป็นประโยชน์แก่คนทั้งบ้านทั้งเมือง เป็นประโยชน์แก่คนทั้งโลก ถ้าใครมันมีความสงบเย็นในเรื่องนี้อย่างถูกต้องแล้ว มันจะเป็นประโยชน์แก่ทั้งหมดเลย คือมันจะไม่เบียดเบียนใคร และมันสามรถช่วยเหลือๆให้เขาได้รับประโยชน์ เหมือนพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่ ท่านจะช่วยเหลือคนทุกชนิดทุกรูปแบบให้ได้รับประโยชน์ เว้นไว้ซะแต่ไอ้คนอันธพาลนั้น เพราะมันไม่เข้าไปหา จะทำอย่างไรแล้วมันไม่เชื่อ ไม่ลองทดลองดูตามคำแนะนำมันก็ไม่ได้รับประโยชน์ ที่จริงพระอรหันต์น่ะ เป็นผู้สงบเย็นถึงที่สุดแล้ว แต่ท่านสามารถจะช่วยผู้อื่นให้สงบเย็นได้ด้วย ดังนั้นท่านจึงถือกันเป็นหลักว่าพระอรหันต์น่ะ เพียงแค่มีอยู่ในโลกก็ถือว่าคุ้มแล้ว คือเย็นให้ดู เย็นให้เห็นเป็นตัวอย่าง แล้วคนทั้งหลายก็พากันเย็นด้วยการประพฤติตามพระอรหันต์
นี่เรียกว่าได้เห็นพระอรหันต์ก็เป็นการดี มันดีสำหรับคนที่มองออกหรือเข้าใจ ถ้าคนโง่มันอาจจะไม่พอใจไม่สนใจก็ได้ ไม่สนใจจะศึกษามันก็ไม่เข้าใจ แล้วมันก็จะคิดว่า โอ๊ย มันจืดชืดไม่มีรสชาดอะไรมันก็ไม่อยากจะมีนิพพาน ไอ้อย่างนี้มันเป็นปุถุชนเต็มขั้นน่ะ มันโง่ มันหลง มันมืดมันบอด มันอะไรก็แล้วแต่จะเรียก มันมีความเป็นปุถุชนเต็มขั้น ตรงนี้ก็ขอให้ศึกษาเอง ศึกษาด้วยตนเอง ศึกษาจากพระไตรปิฎกเล่มที่มีอยู่ในชีวิตจิตใจไม่ใช่พระไตรปิฎกในตู้ มันช่วยได้น้อยมาก ต้องพระไตรปิฎกเล่มที่อยู่ในหัวใจของเรา มันมีอะไรๆๆแสดงอยู่ในชีวิตจิตใจครบถ้วนทั้งหมด ข้อความที่ไปบรรยายอยู่ในพระไตรปิฎกทั้งหลายสิบเล่มนั้นน่ะ มันออกไปจากชีวิตจิตใจของมนุษย์ทั้งนั้นล่ะ ฉะนั้นมาดูที่ต้นตอเดิม คือพระไตรปิฎกในชีวิตจิตใจนี่ดีกว่า จะพบทุกอย่างๆๆที่มันมีกล่าวอยู่ในพระไตรปิฎกเป็นสิบๆเล่ม สังเกตดูสิว่าอะไรมันมีอยู่อย่างไร แล้วมันจะเกิดผลอย่างไร มันเกิดมาจากอะไรแล้วมันมีผลอย่างไร จะดับมันอย่างไร ที่เรียกว่าเรื่องอริยสัจน่ะเป็นพระไตรปิฎก ที่แท้จริงแล้วก็มีอยู่ในจิตใจในชีวิตที่ยังไม่ตาย พอตายแล้วเลิกกันน่ะ พระไตรปิฎกเล่มนี้ ฉะนั้นถ้ายังไม่ตายยังมีความรู้สึกคิดนึกอะไรได้มันก็ยังมีอยู่ จึงขอให้ท่านทั้งหลายศึกษาพระไตรปิฎกเล่มที่มีอยู่ในชีวิตนี้ให้ถึงที่สุดเถิด จะตรงตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ที่ท่านได้ตรัสไว้อย่างนั้น เพราะฉะนั้นเรื่องอริยสัจทั้งสี่มีในชีวิตที่กำลังเป็นๆไปในร่างกายที่ยาวประมาณวาหนึ่ง หนาประมาณคืบหนึ่ง ที่เราพูดกันภาษาชาวบ้าน แต่ยังเป็นๆนะพอตายแล้วก็มันนึกคิดอะไรไม่ได้ อย่าคิดให้มันมากเรื่องไปถึงตายแล้วมันอย่างนั้นอย่างนี้อย่างนั้น น่ะมันก็พลาดเพี้ยนอยู่เรื่อยไปไม่ได้รับประโยชน์ ที่นี่เดี๋ยวนี้ ศึกษาชีวิต ตัวชีวิตนั่น และสิ่งที่เข้ามาเกี่ยวข้องปรุงแต่ง นั่นล่ะจะเป็นการเรียนธรรมมะสูงสุด ได้รับประโยชน์ที่แท้จริงไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์และพบพระพุทธศาสนา ปัญหามันเกิดมาจากสิ่งที่เราไม่พึงประสงค์ ถ้ามันเป็นที่ไม่รบกวนมันก็ไม่เป็นปัญหา ทีนี้มันเป็นปัญหา แล้วมันก็รบกวน รบกวนในลักษณะที่ว่า เผาลน เป็นราคะเป็นกิเลส โทสะเป็นไฟ เป็นกิเลสหรือว่ามันผูกมัดพุพองน่ะ เป็นประเภทโทสะ ที่จริงมันก็เป็นไฟกันทั้งนั้นล่ะทั้งสามแบบ ราคะก็เป็นไฟที่แบบหนึ่ง โทสะก็ไฟแบบหนึ่ง โมหะก็เป็นไฟแบบหนึ่งที่ไม่ค่อยแสดงตัวหรือไม่ค่อยแสดงเปลว และไม่ค่อยแสดงความยุ่งยากรุนแรงเหมือนกับราคะหรือโทสะ ก็ศึกษาเอาที่ตัวราคะ โทสะ โมหะนะ ไอ้ที่มันเกิดแก่ชีวิตเป็นประจำ เอาออกไปเสียได้เท่าไหร่มันก็เป็นนิพพานเท่านั้นน่ะ ออกได้เมื่อไหร่มันก็เป็นเมื่อนั้น ออกได้ที่ไหนก็เป็นที่นั่นน่ะ พระนิพพานน่ะมีอยู่ในทุกหนทุกแห่ง และพร้อมที่จะปรากฏเมื่อเราเอาสิ่งที่ปิดกั้นออกเสียได้ ข้อนี้ขอให้เข้าใจดีๆว่าไม่ต้องไปหาที่ไหน คำพูดผิดๆตามศาลาวัด ตามที่ทุกหนทุกแห่ง มันพูดอยู่อย่างผิดๆ มันว่าไปนิพพาน มันหลับตาพูดว่าไปนิพพาน ถ้าคุณมีความรู้สึกว่าได้ไปนิพพานละก้อ คิดเสียใหม่เถอะ มันไม่ได้ไป มันไม่ต้องไป เพียงแต่มันปลดเปลื้องไอ้สิ่งที่จะมาห่อหุ้มให้โง่ให้มืดมิดนั่นออกไปเสีย หรือที่ทำให้เกิดกิเลสให้เกิดไฟน่ะออกไปเสีย คือสิ่งที่ห่อหุ้มจิตทั้งหลายทุกชนิดที่มันห่อหุ้มจิตน่ะออกไปเสียเท่านั้นแหละ หรือให้มันระงับลงไปเสียก็ได้ นิพพานก็มาถึงจิตเองทันที เราไม่ต้องเที่ยวไปหาที่ไหน แต่ก็มีคนพูดว่าไปนิพพานไปนิพพาน ราวกับพันชาติหมื่นชาติแสนชาติค่อยไปถึงนิพพาน นี่มันหลับตาพูด พระพุทธเจ้บอกสำคัญว่ามันอยู่ที่นี่น่ะ คือเอาไฟออกไปเสีย มันก็เย็นเป็นนิพพานตามมากตามน้อย นั่นละคือนิพพาน เหมือนกับว่าท่านเปิดประตู เปิดหน้าต่าง เปิดฝาบ้านก็ได้ แสงสว่างมันก็เข้ามา จิตใจนี้ก็เหมือนกันเอาสิ่งที่ห่อหุ้มนั้นออกไปเสีย พระนิพพานก็เข้ามาสัมผัสเอง ฉะนั้นนิพพานนี่ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องเที่ยวไปหา ไม่ใช่ ยิ่งไปหายิ่งไม่พบหรอก ไม่รู้อยู่ที่ไหน ก็เรื่องมันอยู่ที่นี้ เที่ยวไปหาที่ไหนก็ไม่รู้ จะพบกันได้อย่างไร ฉะนั้นขอให้เราปฏิบัติในทางที่ กำจัดกิเลสออกไป กำจัดสิ่งห่อหุ้มจิตใจออกไปนิพพานก็เข้ามาสัมผัสเอง อย่าพูดว่าไปนิพพานเลย มันก็ไม่รู้ไปที่ไหน เพราะนิพพานอยู่ที่จิตที่ปราศจากกิเลสห่อหุ้ม กิเลสมันเกิดขึ้นอย่างไร เกิดตั้งแต่อ้อนแต่ออก หนาเข้าๆๆ จนหุ้มจิตใจไม่มีโอกาสพบกับพระนิพพานที่มีรออยู่ในทุกหนทุกแห่ง เราทำอานาปานสติได้เท่าไหร่ เราก็เปลื้องสิ่งที่หอหุ้มจิตใจของเราออกไปได้เท่านั้นๆ เมื่อเราปฏิบัติได้ถึงที่สุดเราก็มีนิพพานที่สมบูรณ์ หาไม่พบไฟเลยทีนี้ ฉะนั้นต้องดูที่ไฟที่จะเกิดขึ้นอย่างไรแล้วก็ทำอย่าให้มันเกิดขึ้นได้ ก็อย่าใส่เชื้อไฟ อย่าให้เชื้อไฟ ก็ไม่มีไฟ ไฟนี่มันแบ่งเป็นสามกองคือ ราคะ โทสะ โมหะ แบ่งเป็นตัวอย่างเป็นหมวดใหญ่ๆ แต่โดยรายละเอียดน่ะนับไม่ไหว เป็นพันๆน่ะ ไฟมีเป็นพันๆชนิด แต่เมื่อจัดหมู่จัดหมวด มันก็ได้สามหมวดสามประเภท ไฟราคะก็จะเอาเข้ามา ไฟโทสะก็จะทำลายเสีย ไฟโมหะก็วิ่งรอบๆ มันมีเท่านี้ล่ะ
แต่ละอาการน่ะ มันมีอยู่นับไม่ไหวๆ ลองมาดูตัวอย่างที่มันเกิดอยู่จริงๆ อาตมาขอยืนยันว่า ไม่เสียเวลาเปล่าที่คุณจะจำชื่อของไฟคือกิเลสเหล่านี้ไว้บ้าง สำหรับเป็นบทเรียนในการศึกษา ไม่ต้องกี่อย่างก็ได้ ประมาณซักสิบกว่าอย่างก็พอ มันก็เหมือนกับทั้งหมดร้อยอย่างพันอย่างนั่นแหละ อย่างความรักเนี่ย มันเป็นไฟ ถ้าใครมองไม่เห็นก็ต้องเรียกว่าโง่เต็มทีแล้ว ไอ้ความร้อนรนที่เกิดมาจากความรักก็ยังสังเกตไม่เห็น ก็ป่วยการที่จะไปศึกษาธรรมมะ ความรักก็เป็นไฟไปตามแบบของความรัก ความไม่รัก ความโกรธเป็นไฟที่มันไหม้ ถ้าใครไม่รู้สึกก็โง่เต็มทีว่าความโกรธมันเป็นไฟอย่างไร ความเกลียดๆ ความโง่ทำให้เกลียดก็เป็นไฟ เราอยู่กับสิ่งที่เราเกลียดไม่ได้ใช่ไหม มันเป็นไฟเผาจิตใจ แล้วก็ความกลัว โง่แล้วก็กลัวๆๆ มากมายหลายสิบเรื่อง ไอ้เรื่องกลัวๆๆเนี่ย พอมีความกลัวแล้วมันก็ไม่มีความเป็นสุขน่ะ มันผวา มันตื่นผวาอยู่กระทั่งนอนไม่หลับนะ ความกลัวนี่ แล้วก็ความตื่นเต้นๆ อะไรมายั่วยุให้มันตื่นเต้นหรือกระตุ้นให้มันตื่นเต้น ไปเอาอะไรๆมากินมาดื่มมาดูให้มันตื่นเต้นๆ หรือที่จะได้รับจากจอโทรทัศน์น่ะ ทุกเรื่องที่มันทำให้ตื่นเต้นๆ จิตไม่สงบ ต้องไปดูบอล ต้องไปดูมวย ต้องไปดูกายกรรมที่น่าตื่นเต้น กายกรรมกวางเจาที่มาบ่อยๆในกรุงเทพน่ะไปดูแล้วมันตื่นเต้น ความตื่นเต้นนั้นน่ะเป็นไฟหรือเป็นน้ำก็ลองคิดดู ความวิตกกังวลว่าอะไรจะมาข้างหน้าน่ะ วิตกกังวลในอนาคตที่จะมานี่มันก็เป็นไฟ นอนไม่หลับได้เหมือนกัน และอาลัยอาวรณ์ สิ่งที่ล่วงแล้วแต่หลัง มันก็นอนไม่หลับได้เหมือนกัน ทีนี้ความอิจฉาริษยา ไม่มีเรื่องอะไรกับเราหรอก แต่พอเห็นว่ามันดีกว่า สวยกว่า เก่งกว่า มันก็อิจฉาริษยาเท่านั้นเอง มันมีได้อย่างไม่น่าเชื่อนะความอิจฉาริษยานี่ ที่มันไม่มีความสงบสุขทั้งโลกนี้เพราะมันไม่รัก มันอิจฉาริษยากันไปเสียหมด บางทีมันก็หลงมันก็อิจฉาริษยาผู้ที่อยู่ด้วยกัน ทำงานด้วยกัน อะไรด้วยกัน แม้แต่มันคลอดมาจากท้องแม่เดียวกันมันก็ยังอิจฉาริษยา พี่อิจฉาน้อง น้องอิจฉาพี่ริษยาพี่ นี่มันก็คืออิจฉาริษยา มันอยากในทางที่ไม่มีขอบเขต แล้วมันก็ริษยา ทีนี้มันก็หวง ห่วงหวงในชีวิตหรือในสิ่งที่ตนรับ ตนพอใจ แล้วก็มีความหวงกั้นๆ ที่เรียกว่าความหึง หึงผัวหึงเมียหึงอะไรก็แล้วแต่จะหึง แล้วมันก็ฆ่ากันตายมากมายเพราะความหึง มีตัวอย่างเท่านี้คงจะพอแล้วล่ะ แต่ละอย่างๆมันแยกออกไปได้อีกมาก ความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ความตื่นเต้น ความวิตกกังวล ความอาลัยอาวรณ์ ความอิจฉาริษยา ความหวง ความหึงอันไหนบ้างที่ไม่เป็นไฟ ที่เกิดขึ้นมาในจิตใจแล้วไม่ร้อน มันไม่มีเลย ตัวอย่างที่ประมาณไปสิบกว่าอย่างนี่มันก็มากแล้ว พอที่จะให้ศึกษาได้แล้ว กลัวแต่ไม่ศึกษามันก็ไม่รู้จักในสิ่งที่เรียกว่าไฟเหล่านี้ เราก็ถือเอาว่าไฟเหล่านี้น่ะเป็นอันตราย เป็นศัตรูเลวร้ายที่มันจะเข้ามาทำลายความสงบสุขของจิตใจ พอความรักมันตั้งเค้าขึ้นมา หรือวัตถุอารมณ์ของความรักมันเข้ามา เราก็เริ่มต่อสู้ด้วยธรรมมะสี่เกลอ ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ความตื่นเต้นอะไรแต่ละอย่างๆ พอมันตั้งเค้าว่าจะมีมาหรือมีมาแล้วก็ตาม ก็ต่อสู้ด้วยธรรมมะสี่เกลอ วิตกกังวล อาลัยอาวรณ์ อิจฉาริษยา หวงหึงอะไรก็ตามตั้งเค้าขึ้นมาแล้วก็กำจัดด้วยธรรมมะสี่เกลอ สติระลึกได้เร็วทันทีว่านี่นะมาแล้วไอ้ตัวร้ายมาแล้ว แล้วก็นึกถึงความรู้หรือปัญญาที่จะมาทำลายล้างก็เอามันเป็นสัมปชัญญะเผชิญหน้ากับอารมณ์เหล่านั้น มีสมาธิมากพอเข้มแข็งพอ มันก็ชนะ อารมณ์ร้ายเหล่านี้มันก็เป็นหมันไปไอ้ที่มันจะมาทำร้ายเรามันก็เป็นหมันไป เลิกไป ความรักก็ดี ความโกรธก็ดี ความเกลียดก็ดี ตื่นเต้นอิจฉาริษยานั้นมันก็ทำอันตรายไม่ได้ เพราะว่าเรามีธรรมมะสี่เกลอ
ทีนี้จะขอบอกเป็นหลักสำหรับจะศึกษาให้ถูกต้องจริงจังยิ่งๆขึ้นไป มีชื่อเรียกเฉพาะว่า สิ่งที่เป็นคู่ๆ บวกลบ มันตั้งต้นมาจากคำว่าบวกหรือลบ เป็นภาษาวิทยาศาสตร์ เป็นโพสเสสซีฟ เป็นเนกะทีฟ มันตั้งต้นขึ้นมาจากวัตถุ จากสสาร จากพลังงาน เป็นจุดตั้งต้นที่สุด มีความเป็นบวก มีความเป็นลบทางวัตถุ แล้วมันก็เข้ามาถึงทางจิตใจ เรื่องทางวัตถุเป็นบวกเป็นลบอย่างไร เรื่องทางจิตทางวิญญาณก็มีความเป็นบวกเป็นลบอย่างนั้น ขอให้คิดดู เกือบจะไม่ต้องคิดล่ะ ขอให้สังเกตขอให้ดูรู้ อย่าหลับตา ขอให้ดูก็จะเห็นว่ามันมีอิทธิพลหรือมีปฏิกิริยาอะไรเป็นบวกและเป็นลบซึ่งจะมาทำร้ายเรา แล้วก็เป็นกันจนเป็นนิสัย มันก็เลยเหมือนกับว่าไม่มีปัญหา ความเป็นบวกความเป็นลบ มีอยู่ในชีวิตประจำวันที่ทางอายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กายเนี่ย ทางตาสวยไม่สวย ทางหูไพเราะไม่ไพเราะ ทางจมูกหอมเหม็น ทางลิ้นอร่อยไม่อร่อย ทางผิวหนังนุ่มนวลหรือกระด้าง ทางใจเองก็ว่ายินดีหรือไม่ยินดี นี่เป็นพื้นฐาน ในลักษณะเหมือนกับวัตถุ แต่แล้วมันก็ให้เกิดความรู้สึกที่ละเอียดอ่อนยิ่งขึ้นไปอีกจนกระทั่งบัญญัติเป็นนามธรรมใหม่ฝ่ายหนึ่งเลย ความดีใจ ความเสียใจนี่คุณไปดูเอาเอง ทีนี้ความดี ความชั่ว ความดีและความชั่ว บ้าดี เมาดี หลงดี ก็เป็นบ้าเลย บ้าชั่ว เมาชั่ว หลงชั่ว ก็วินาศเลย ไม่บ้าดี เมาดี ไม่บ้าชั่ว ไม่หลงชั่วว่าดีว่าชั่ว ทั้งคู่นี่ก็ไม่เอาทั้งนั้น บุญหรือบาปก็ไม่เอาทั้งนั้น เป็นนิพพานดีกว่า บุญก็คือดี บาปก็คือชั่ว สุขหรือทุกข์ก็ไม่เอากับมัน ไม่บ้าสุข ไม่บ้าทุกข์ ไม่หลงสุข ไม่หลงทุกข์นั่นล่ะคือความสงบ ทีนี้มันบ้าสุขจนหลับหูหลับตา จนเพลินไปแล้วมันก็ยังไม่รู้สึก เรื่องทุกคู่ๆ เรื่องกำไรเรื่องขาดทุน กรรมหัวใจเท่านั้นแหละ อย่าไปหลงกำไรอย่าไปหลงขาดทุน มีจิตใจเหนืออิสระ ทำงานทำการไปให้ได้ผลตามที่ต้องการ อย่าไปบ้ากำไร อย่าไปบ้าขาดทุน ไม่แพ้ ไม่ชนะ ไอ้ชนะก็ไม่ไหวนะ มันนอนระแวงอยู่นั่นแหละ ไอ้แพ้ก็ไม่ไหวมันนอนเป็นทุกข์ ได้เปรียบเสียเปรียบอย่างนี้ก็ไม่ไหว อย่าไปคิดเลย เอาอยู่เหนือดีกว่า เรียกว่ามันทุกคู่ๆ กี่สิบคู่กี่ร้อยคู่เราก็ไม่ไปหลงกับมัน คู่สุดท้ายบางทีแต่ว่าเป็นหญิงหรือเป็นชายอย่างนี้ล่ะ เราไปบ้ามันอยู่ บ้าความเป็นหญิงหรือว่าความเป็นชายมันร้อนเป็นไฟทั้งนั้นแหละ ทุกคู่ๆๆ อย่าไปหลงอย่าไปบ้ากับมัน ให้อยู่เหนือๆๆไว้เถิด อยู่ตรงกลางไม่ปลอดภัยนะ ถ้ามันบาลานซ์ อยู่ตรงกลางมันก็ไม่ปลอดภัย เดี๋ยวก็ไปเข้าทางใดทางหนึ่ง อยู่เหนือไปเสีย ข้างบนเรื่อยๆไปนั่นล่ะ ที่เขาเรียกว่าเป็นโลกุตรธรรมเหนือปัญหาทุกชนิดในโลกนี้ เหนือของที่บัญญัติไว้เป็นคู่ๆ เรื่องได้เรื่องเสีย เรื่องแพ้เรื่องชนะก็ไม่เอาทั้งนั้นล่ะ ไม่เอาสักอย่างเดียว ให้ของเป็นคู่มันอยู่แต่ของเป็นคู่ อย่ามารบกวนเรา ขั้นเกลียด ขั้นทุกข์ถ้าเรายังไม่ได้ศึกษาเรื่องนี้เราก็หลงขั้นบวก ขั้นดี ขั้นสนุกไปเรื่อยไป ขั้นเกลียด ขั้นทุกข์แล้วก็ได้เป็นบ้า เพราะว่าหลงสุขเกลียดทุกข์นั่นแหละทำให้เป็นบ้า ไม่หลงสุข ทุกข์ก็ทำอะไรเราไม่ได้ คำสอนนี้สำคัญมาก อาตมาจะพูดอย่างตรงๆไม่เข้าใครออกใครน่ะว่ามนุษย์ได้รู้จักเรื่องนี้มาเป็นพันๆปีแล้ว แต่เดี๋ยวนี้มนุษย์เดี๋ยวนี้ก็ยังโง่ๆๆๆ หลงบวกหลงลบ หลงเป็นคู่ๆอย่างนี้อยู่ พันๆปีมาแล้วนะ แล้วก็วิเศษอยู่ในทวีปเอเชียๆของเรานี่ ตะวันตกรวมทั้งเอเชียนี่ล่ะ พวกยิวก็ได้รู้เรื่องนี้ สอนอยู่ก่อน เขาเรียกยิว เกิดตั้งพันปีสองพันปีแล้วพวกยิวน่ะ คัมภีร์ไบเบิ้ลของพวกยิวน่ะ ที่มาเป็นคัมภีร์เล่มแรกของพวกคริสต์น่ะ โปรแตสแตนส์ก็พวกยิวนี่ล่ะ พระเจ้าบอกมนุษย์คู่แรกที่สร้างขึ้นมาว่า แกอย่ากินผลไม้ของต้นไม้ที่ทำให้รู้ดีรู้ชั่วนะ ภาษาอังกฤษเขาแปลว่าเป็นกู๊ดแอนด์อีวิลด์ ดีชั่ว อย่ากินผลไม้ของต้นไม้ที่ทำให้รู้ดีรู้ชั่ว เมื่อไม่หลงดีหลงชั่ว ไม่มีดีไม่มีชั่วมันก็ไม่มีปัญหา เมื่อเป็นเด็กทารกยังไม่รู้ดีรู้ชั่ว ปัญหาไม่มี แต่พอเด็กทารกมันเกิดรู้เป็นดีเป็นชั่วขึ้นมาปัญหามันก็เกิด นี่พวกยิวสอนคำสอนนี้กันเป็นพันๆปีแล้ว ต่อมา มาเป็นคริสต์ศาสนาหรือเป็นศาสนาอิสลามอะไรก็ตาม เครือเดียวกันนี่แหละ ศาสนาของพวกเซนมิติกส์ทั้งหมดก็สอนมาจากคัมภีร์ยิวนี่แหละ อ้าวทีนี้สุดตะวันออกของเอเชียนี่ เหล่าจื้อก็ได้สอนมาอย่างสูงสุดไม่แพ้อันนี้ อย่าไปหลงบวกหลงลบ อย่าไปหลงฮิมหรือเอี๊ยง ถ้าภาษาแต้จิ่วเขาเรียกฮิมหรือเอี๊ยง นี่ละคือลบหรือบวก ภาษากลางคือยิน หยาง อย่าไปหลงลบอย่าไปหลงบวก แล้วก็จะไม่มีความทุกข์เลยนี่คือคำสอนสูงสุดไม่แพ้พวกยิวแต่ว่ามันอยู่สุดตะวันออก ทีนี้ตรงกลางๆ อินเดียน่ะ แม้พวกฮินดูมันก็สอนอย่างนี้แหละ อย่าไปหลงบุญอย่าไปหลงบาป พ้นบุญพ้นบาปแล้วก็ไปเป็นอาตมันต์ นิรันดรเหนืออะไรไปหมด แต่ก็เป็นตัวตนนิรันดร เมื่อพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นมาก็ไม่หลงบุญหลงบาปนี่แหละแล้วก็ดับนิรันดร ว่างนิรันดร ไม่ต้องเป็นตัวตนอีกแล้ว ตัวตนมันก็หลงไปอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ใช่ตนก็ไม่เอานี่ ไม่หลงบวกไม่หลงลบ พระพุทธเจ้าสอนสูงสุดนี่ล่ะ คุณคิดดูสิ มนุษย์เคยฉลาดถึงขนาดนี้เป็นมาแล้ว เมื่อพันๆปีมาแล้ว พวกยิวนี่เขาก็ประมาณได้ว่าสักสามถึงสี่พันปีมาแล้วที่สอนนี่ ที่ซ้ายสุดตะวันตกนี่ก็มีพวกยิวสอน ขวาสุดหรือตะวันออกนี่ก็เหล่าจื๊อหรือลัทธิเต๋าสอน ทางฮินดูก็ตามพุทธก็ตามก็สอนอย่าไปติดบวกติดลบ เมื่อพันๆปีมาแล้วเขาฉลาดกันถึงอย่างนี้ แต่เดี๋ยวนี้มนุษย์ปัจจุบันนี้โง่ๆๆๆๆๆ ไม่รู้จักกี่ร้อยเท่าพันเท่า หลงบวกหลงลบ ติดบวกติดลบมันก็มีปัญหาสารพัดอย่างล่ะ เพราะมันเห็นแก่ตัว การติดบวกติดลบนี่ทำให้เห็นแก่ตัว แล้วก็ทำปัญหานานาประการเกิดขึ้นมาในโลกปัจจุบัน ที่เห็นแก่ตัวเพราะหลงบวกหลงลบ โลกนี้ก็เป็นโลกแห่งความทุกข์ แห่งความเบียดเบียน เบียดเบียนตนเอง เบียดเบียนผู้อื่น เบียดเบียนในวงแคบ เบียดเบียนในวงกว้าง เบียดเบียนทั้งโลกเพราะความเห็นแก่ตัว ความเห็นแก่ตัวนี้มาจากความหลงบวกและหลงลบ เสียเวลาพูดกับมันสักนิดก็ได้ว่า พอคนมันเห็นแก่ตัวแล้ว มันไม่อยากทำอะไรแต่มันจะเอาประโยชน์ เอากับมันสิ คนเห็นแก่ตัวมันขี้เกียจ มันไม่อยากทำอะไรแต่มันจะเอาประโยชน์เนี่ย ก็แผดเผาหัวใจของมันเอง คนที่มันเห็นแก่ตัวนี่มันไม่สามัคคีหรอก เรียกให้มาช่วยกันทำประโยชน์สาธารณะมันไม่เอาหรอก มันไว้ค่อยเอาประโยชน์เมื่อคนอื่นทำแล้ว มันไม่สามัคคีร่วมกันทำประโยชน์ แล้วมันก็อิจฉาริษยานะ คนเห็นแก่ตัวมันจะอิจฉาริษยา มันจะกอบโกยท่าเดียว จะมีความเลวร้ายอันใดเกิดขึ้นมันไม่รับรู้หมดเลย มันไม่รับรู้ ฉะนั้นคนเห็นแก่ตัวมันก็ทำลายธรรมชาติ ทำลายความสวยงามของธรรมชาติที่ผู้อื่นทำไว้หรือธรรมชาติทำไว้ มันก็ทำลายธรรมชาติ แล้วมันก็สร้างมลภาวะที่กำลังเป็นปัญหาอยู่ในโลกปัจจุบันน่ะ มลภาวะทางวัตถุบ้างทางจิตใจบ้าง มันเกิดขึ้นเป็นมลภาวะ ทำให้คนเป็นบ้า ทำให้คนตาย นี่ล่ะคนเห็นแก่ตัวมันก็ทำอย่างนี้ มันก็เห็นแก่ตัวๆไปทุกอย่างๆ จนควบคุมไว้ไม่ไหวมันก็เป็นบ้าเอง คนเห็นแก่ตัวนี่มันทำให้มนุษย์เราต้องสร้างคุกตารางหรือเรือนจำนี่ ถ้าในโลกนี้ไม่มีผู้เห็นแก่ตัว ไม่มีอาชญากร คุกเรือนจำไม่ต้องสร้าง ไม่ต้องสร้างคุก สร้างตาราง สร้างตำรวจ สร้างศาลยุติธรรม กระทั่งสร้างโรงพยาบาลบ้า เพราะผู้เห็นแก่ตัวในโลกมันมีอยู่ ถ้าไม่มีผู้เห็นแก่ตัวในโลกนี้ สิ่งเหล่านี้ไม่ต้องสร้าง เลิกหมดได้เลย คุกตารางก็ดี ตำรวจก็ดี ศาลก็ดี โรงพยาบาลบ้าก็ดี เลิกได้หมด ไม่ต้องสร้าง ถ้าคนมันไม่เห็นแก่ตัว นี่เพราะคนมันเห็นแก่บวกแก่ลบ หลงบวกหลงลบมันก็เห็นแก่ตัว มันก็มีปัญหาอย่างนี้ เดี๋ยวนี้อย่าหวังว่าจะสร้างกันไม่ไหวเลย เงินไม่มีจะสร้างเรือนจำ สร้างตำรวจ สร้างศาล สร้างโรงพยาบาลบ้านี่ ร้องอู้กันไปทั้งโลก ทุกประเทศ มันเป็นบ้ากันมากขึ้นน่ะ คุณจะรู้หรือไม่รู้ก็ตามใจ แต่ความจริงน่ะคนเป็นบ้ากันมากขึ้นๆตามความเจริญ ที่เลือกความเจริญทางวัตถุนั้นน่ะ ยิ่งเจริญเท่าไหร่คนก็เป็นบ้ามากขึ้น ในประเทศมหาอำนาจในโลกนี่คนก็เป็นบ้ากันมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ประเทศเราประเทศเล็กๆไปตามหลังเขาแล้วก็เป็นบ้ากันมากกว่าแต่ก่อน หมอรายงานอยู่ทุกเดือนว่าเดี๋ยวนี้สถิติคนเป็นบ้าน่ะมันเร็ว มันมากขึ้นกว่าแต่ก่อน นี่เพราะมันหลงบวก เพราะมันหลงลบ คัมภีร์ไบเบิ้ล ที่ว่าพระเจ้าห้ามผัวเมียคู่แรกที่สร้างขึ้นมาอย่าไปกินผลไม้ที่ทำให้รู้ดีหรือชั่ว แต่แล้วผัวเมียคู่นั้นมันก็ไม่เชื่อ ไม่เชื่อพระเจ้า ที่พระเจ้าห้ามน่ะ มันก็กินๆ มันก็ได้รู้ดีรู้ชั่วหลงดีหลงชั่ว คือลูกของผู้เมียคู่นั้นนั่นแหละกระทั่งหลานนั่นแหละ มันก็มีผลเกิดขึ้นให้เห็น พี่มันหลอกน้องไปฆ่าเสียในป่า เพราะว่าพ่อรักน้องมากกว่าพี่ นี่ล่ะความหลงบวกหลงลบมันเป็นอย่างนี้ มันก็เป็นที่ตั้งแห่งความอิจฉาริษยา เพราะฉะนั้นระวังๆเถอะ ความหลงบวกหลงลบ มันสร้างปัญหานานาชนิด เมื่อหลงถึงที่สุด มันก็ฆ่าพ่อฆ่าแม่ ฆ่าลูกฆ่าเมียฆ่าหมด ฆ่าตัวเองตายตามไป อย่างที่กำลังเป็นอยู่ในเวลานี้ เพราะมันหลงบวกหลงลบมากเกินไปจนกระทั่งว่าเป็นบ้าก็มี แล้วก็ฆ่าตัวเองในที่สุด ถ้าไม่ทำอย่างต้องการ ฆ่าพ่อฆ่าแม่ฆ่าลูกฆ่าเมีย อะไรได้ทุกอย่างแล้วก็ฆ่าตัวเองตายตาม ความหลงบวกหลงลบเป็นอย่างนั้น ความหลงบวกหลงลบก็เกิดมาจากการรับอารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ข้าศึกมันจะเกิดกันที่ตรงนี้ เพราะฉะนั้นเราต้องมีธรรมมะไว้มากพอ สำหรับที่จะต่อสู้และป้องกัน สิ่งนั้นไม่มีอะไรมากไปกว่าธรรมมะสี่เกลอๆ เมื่อท่านทั้งหลายได้ฝึกอานาปานสติ แล้วก็ขอให้สนใจๆเลือกเก็บไว้เฉพาะธรรมมะสี่อย่างนี้ให้มากให้ดีเป็นพิเศษ ที่กล่าวแล้วว่าในอานาปานสตินั้นให้ธรรมมะครบทุกอย่าง มากมายหลายอย่างแต่ขอให้เลือกเก็บเอาไว้เป็นสำคัญที่สุดก็คือธรรมมะสี่เกลอ มีสติระลึกได้ทันท่วงที มีปัญญาความรู้อย่างเพียงพอเลือกเอามาเป็นสัมปชัญญะแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แล้วก็มีสมาธิระดมกำลังลงไปสุดเหวี่ยง ข้าศึกหรือกิเลสก็จะวินาศไปโดยไม่มีส่วนเหลือ
ไม่ต้องเชื่อใคร เชื่อที่มันเห็นอยู่เอง เชื่อที่มาปรากฏอยู่เอง พระพุทธเจ้าท่านสอนอย่างนี้ว่าไม่ต้องเชื่อใคร เชื่อสิ่งที่มันแสดงอยู่ในตัวมันเองว่าเป็นอย่างนั้นๆ ในบาลีกาลามสูตรพระพุทธเจ้าสอนว่า ไม่ต้องเชื่อตามพระปิฎก ไม่ต้องเชื่อเพราะว่าคนนี้มันน่าเชื่อ ไม่ต้องเชื่อเพราะว่าคนนี้เป็นครูของข้าพเจ้าคือพระองค์เอง ไม่ต้องเชื่อคนเหล่านี้ ไม่ต้องเชื่อสิ่งไหนๆ แต่ให้เชื่อสิ่งที่มันแสดงอยู่ในตัวมันเอง ว่ามันเป็นอย่างนี้ๆๆ ไอ้สิ่งที่เป็นทุกข์หรือก่อให้เกิดทุกข์มันก็แสดงของมันอยู่ เหตุเกิดความไม่ทุกข์มันก็แสดงของมันอยู่ เราจงมองเห็นสิ่งเหล่านั้น แล้วก็เชื่อเหตุผล ยิ่งกว่าเหตุผล เชื่อความจริงสิ่งเหล่านี้ เราก็จะกำจัดสิ่งเลวร้ายที่ไม่พึงปารถนาได้ การรู้เรื่องปฏิจสมุปบาททำให้รู้ครบในเรื่องที่ว่าความทุกข์จะเกิดได้อย่างไร แล้วปฏิบัติอานาปานสติก็จะได้เครื่องมือที่ครบถ้วนว่าจะกำจัดความทุกข์นั้นอย่างไร ในวันนี้มาสรุปเอาแต่ใจความว่า เราจงเลือกเอามาให้ได้สักสี่ข้อที่สำคัญที่สุดคือธรรมมะสี่เกลอ คือ สติ ปัญญา สัมปชัญญะ และสมาธิ นอกนั้นก็เอามาใช้อย่างเป็นบริวาร ไอ้ที่เป็นหลักใหญ่ๆเป็นหัวหน้า เป็นประธานมันก็มีธรรมมะสี่เกลอ ถ้ามีธรรมมะสี่เกลอประสบความสำเร็จ มันก็จะได้ความสงบเย็นไม่มีไฟคือกิเลสมาเผาให้เร่าร้อน เราตัดต้นเหตุของไฟคือความทุกข์ ไม่ต้องไปเผชิญกับมันหรอก ป่วยการ ที่เขาสอนว่าดับทุกข์ๆนั้นน่ะ เป็นคำพูดที่ไม่ถูกไม่ตรงตามเรื่องตามราว ถ้าคำพูดที่ถูกตรงนั้นมันคือทำให้ทุกข์มันเกิดไม่ได้ ทำให้ทุกข์เกิดไม่ได้นั่นล่ะคือทางดับทุกข์ จะไปดับทุกข์ให้มันเผาเกือบตายน่ะ ดับทุกข์คือทำให้ทุกข์มันเกิดไม่ได้ มันมีธรรมมะสี่เกลอแล้วความทุกข์มันเกิดไม่ได้ นั่นล่ะคือดับทุกข์ จะพูดว่าดับไฟๆก็ได้ คือทำอย่าให้ไฟมันเกิดขึ้นมาได้ ถ้าไฟเกิดแล้วดับไฟมันยุ่งเกือบตาย บางทีมันไหม้เอา ถลอกปอกเปิก ทำอย่าให้ไฟมันเกิดขึ้นมาได้นั่นล่ะคือดับไฟ ทำอย่าให้ความทุกข์เกิดขึ้นมาได้นั่นล่ะคือดับทุกข์ มีธรรมมะสี่เกลอๆ ความทุกข์เกิดไม่ได้ นี่คือความดับทุกข์ ถ้าไปถือเอาตามตัวหนังสือ โง่ๆ คือให้ความทุกข์เกิดแล้วสู้กันกับความทุกข์ นี่ล่ะคือโง่ อย่าให้ความทุกข์เกิดขึ้นมาได้ ป้องกันเสียตั้งแต่ในขั้นกระทบทางอายตนะ ผัสสะ เวทนาตรงนั้นแล้วความทุกข์เกิดไม่ได้ นั่นคือความดับทุกข์ ขอให้ท่านทั้งหลายกำหนดศึกษาให้ดีๆในการศึกษาหรือปฏิบัติที่ได้มีมาแล้วคือเรื่องปฏิจสมุปบาทก็ตาม เรื่องอานาปานสติก็ตาม เมื่อท่านทั้งหลายได้ศึกษามาดีแล้ว ท่านจะพบความจริงข้อนี้ว่า ป้องกันไม่ให้ทุกข์เกิด เกิดไม่ได้นั่นล่ะคือความดับทุกข์แล้วก็จะมีความสงบเย็นๆๆ แล้วก็จะเป็นประโยชน์แก่ทุกคน เป็นประโยชน์ในครอบครัว เป็นประโยชน์ในบ้านเมือง เป็นประโยชน์ประเทศชาติ เป็นประโยชน์ทั้งโลกเลย นั่นล่ะ ความสงบเย็นของเราจะเป็นประโยชน์ทั้งโลกเลย ก็คำนวณดูสิ ไม่เสียทีที่เกิดมาแล้วได้รับสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ก็คือความสงบเย็น และเป็นประโยชน์ ข้อนี้จะสำเร็จได้เพราะท่านรู้เรื่องปฏิจสมุปบาทดี แล้วท่านปฏิบัติอานาปานสติได้ดี แล้วก็ได้ธรรมมะวิเศษสี่ข้อ คือธรรมมะสี่เกลอนี้ไว้ใช้อยู่ทุกวันทุกคืน ความทุกข์ก็ไม่อาจจะเกิดได้จนตลอดชีวิต มันก็พอแล้วพอ มันพอแล้ว ได้รับสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับแล้ว ขอร้องเป็นพิเศษว่าท่านทั้งหลายจงได้พยายามทำให้สำเร็จตามนี้ ชั่วเวลาเก้าวันสิบวันนี่คงจะทำไม่สำเร็จ ถ้าทำได้สำเร็จในเวลาเก้าวันสิบวันก็พิเศษมากเกินไปแล้ว ถ้าไม่สำเร็จในเก้าวันสิบวันก็ทำต่อไปๆ อบรมกันใหม่อีกสิบวันๆก็ได้หรือว่าไม่ต้องมารับการอบรมที่นี่ก็ทำด้วยตนเองที่บ้านนั่นแหละ เพราะว่าอย่างน้อยสิบวันนี้ถ้ามีการสอนดี อบรมดีถูกต้องแล้ว ท่านก็จะมีความรู้เพียงพอสำหรับที่จะประพฤติปฏิบัติที่บ้านที่เรือนได้นั่นล่ะ ไม่ต้องมาในป่า แม้จะอยู่ในครอบครัว พอเขาหลับกันหมดแล้วทำก็ได้ ถ้าเขายังไม่ตื่น ยังไม่เอะอะกันทำก็ได้ ก็พอหาความสงบสงัดได้ อย่าให้สิ่งที่เป็นกิเลสเกิดมันก็เป็นที่สงบสงัด บางคนมันบ้า หลงความสงบสงัดจนใครเดินเฉียดมาก็ไม่ได้น่ะ มันโง่ถึงขนาดนี้ ให้มันเดินมาเขกหัวก็ไม่เป็นไร เอาสิ เรานั่งทำสมาธิ ถ้ามันมาเขกเราเล่นก็เอา ฉันทำได้ เพราะฉันมีความจริงใจในการควบคุมจิตใจโดยวิธีธรรมมะสี่เกลอ เอาล่ะ เป็นอันว่าอาตมาได้บรรยายแก่ท่านทั้งหลาย ครบชุด สามข้อ สามเรื่อง เรื่องปฏิจสมุปบาทต้องรู้ เรื่องอานาปานสติต้องปฏิบัติให้ได้ แล้วก็เรื่องสุดท้ายก็มีธรรมมะสี่เกลอไว้ใช้ในชีวิตประจำวันจนตลอดชีวิต อาตมาขอยืนยันว่าสามเรื่องนี้น่ะ เพียงพอแก่การศึกษา และการมีพระพุทธศาสนาไว้ประจำชีวิตจิตใจของตน ชีวิตนี้ก็จะสงบเย็นและเป็นประโยชน์ และชีวิตนี้จะไม่กัดเจ้าของ ฟังให้ดีๆ ถ้าไม่มีธรรมมะเหล่านี้ชีวิตนี้แหละจะกัดเจ้าของ เดี่ยวความรักกัด เดี๋ยวความโกรธกัด เดี๋ยวความเกลียดกัด วิตกกังวลกัด อาลัยอาวรณ์กัด อิจฉาริษยากัด ความหวงความหึงกัด ชีวิตมันกัดเจ้าของ ชีวิตของคนไม่มีธรรมมะนั้นเลวกว่าหมานะ เพราะว่าหมามันไม่เคยกัดเจ้าของ แล้วทำไมชีวิตจะมากัดเจ้าของ คนที่ไม่รู้ธรรมมะนี่มันจะต้องถูกชีวิตกัดตัวเอง กัดเจ้าของ มีธรรมมะครบถ้วนถูกต้องตามที่กล่าวมาแล้ว ชีวิตนี้จะไม่กัดเจ้าของ แล้วก็จะเป็นชีวิตเย็น เป็นชีวิตที่เป็นประโยชน์สูงสุดเท่าที่จะมีได้ โดยเป็นมนุษย์สมบูรณ์แห่งการเป็นมนุษย์ ไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์ และพบพระพุทธศาสนา ขอให้ท่านทั้งหลายทุกคนบรรดาที่มาศึกษาและปฏิบัติอานาปานสตินี้ จงได้รับผลตามความจริงข้อนี้และเจริญก้าวหน้าสูงขึ้นไป เป็นลำดับๆทุกทิวาราตรีกาลเทอญ ขอยุติการบรรยาย