แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านอุบาสก อุบาสิกา สาธุชนผู้สนใจในธรรมทั้งหลาย วันนี้จะได้บรรยายเรื่อง อานาปานสติในการฝึกสติ เรื่องมันมีอยู่ว่า เมื่อเรารู้ ศึกษารู้หลักธรรมะว่า จะต้องทำจิตใจอย่างนั้น จะต้องควบคุมอย่างนี้ เพื่อไม่ให้เกิดความผิดอย่างใดขึ้นมา เช่นไม่เกิดกิเลส ไม่เกิดไอ้ ความหวั่นไหวไปตามอารมณ์ รู้อยู่แต่มันก็อดหวั่นไหวไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องมีการบังคับจิตให้มันทำอย่างนั้นให้จนได้ ไม่ให้ทำตามที่เรารู้หรือเราต้องการจะทำ ให้มันจนได้ ดังนั้นจึงมีระเบียบการฝึกจิตไว้อย่างรัดกุม ระเบียบนั้นเรียกชื่อว่า อานาปานสติ
บางคนก็อาจจะเข้าใจไปว่า ฝึกสติ ฝึกสติ ก็ถูกเหมือนกันแหละฝึกสติ นั่นก็คือฝึกจิตให้มันมีสติ ฝึกจิตให้มันมีสติ ตัวสติน่ะมันเป็นคุณสมบัติของจิต เราต้องไปฝึกจิต เราจึงจะได้สติมา ฉันได้สติมาแล้วก็ใช้สตินั้นน่ะทำอะไรตามที่เราต้องการจะทำ ในลักษณะที่เป็นการป้องกันก็ได้ ในลักษณะที่เป็นการรักษาก็ได้ ในการแก้ไขก็ได้ มันใช้ได้รอบ ๆ รอบอย่าง รอบด้านน่ะ สตินี่ใช้ได้ทุกชนิด เดี๋ยวนี้ก็ต้องการจะควบคุมอารมณ์ มันยึดติดอีกนั่นแหละ แล้วก็จะเรียกอีกอย่างอื่นก็ได้ ควบคุมอายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ได้ แต่มันก็ไม่ผิดไปจากเรื่องควบคุมจิต เพราะมันควบคุมจิตได้มันจึงจะควบคุม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ได้ เรื่องมันเป็นอย่างนี้ เราเรียกว่า ระบบอานาปานสติ
บางคนอาจจะสงสัยว่า ต่างจากสติปัฏฐานอย่างไร สติปัฏฐานถ้าถือเอาตามบาลีสูตรยาวในทีฆนิกายแล้วมันก็ไม่มีอะไรมาก มันก็ฝึกอย่างเดียวนี่ ฝึกแต่ให้มีสติ ระลึกได้ว่าไอ้สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่นามรูป ล้วนแต่นามรูป อะไรก็ล้วนแต่นามรูป ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ตัวตน รายละเอียดของการฝึกจึงไปคนละอย่าง ชื่อธรรมะที่ฝึกมีมากในมหาสติปัฏฐานแต่ว่ามันฝึกอย่างเดียวคือว่า มีสติระลึกให้ทันว่า มันสักว่านามรูปเท่านั้น ส่วนอานาปานสตินี้ก็ฝึกสติด้วยเหมือนกัน มันมีวิธีการผิดกันมากถึงแบ่งออกเป็น ๔ หมวด ๆ ละ ๔ ขั้น เป็น ๑๖ ขั้น หรือฝึกตั้งแต่การรู้จักทำให้ลมหายใจเหมาะสม ให้ร่างกายสดชื่นแจ่มใสเหมาะสมแล้วก็บังคับกาย แล้วก็บังคับจิต แล้วก็บังคับเวทนา แล้วก็ควบคุมจิตอีกหลายขั้นตอน แล้วไปรู้ธรรมะอีกหลายขั้นตอน มัน มัน มันต่างกันมากเรียกว่าเทคนิคการฝึกมันผิดกันมาก ไม่สักแต่เพียงว่านามรูป นามรูป
อานาปานสติ ไม่ได้ ไม่ได้เป็นสั้น ๆ เพียงว่า กำหนดลมหายใจ คนทั่วไปมักจะรู้จักกันเพียงว่า กำหนดลมหายใจ เรียกว่า อานาปานสติ ที่แท้มันกำหนดธรรมะ ธรรมะอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ทว่าทุกครั้งที่หายใจนี่ รวมทั้งทีแรกก็กำหนดลมหายใจแต่มันเปลี่ยน เปลี่ยน เปลี่ยน เปลี่ยน เปลี่ยน กำหนดธรรมะ หมดก็ด้วย ก็เป็น ๑๖ อย่างด้วยกัน ธรรมะที่ต้องกำหนดนี่ มีการกำหนดเมื่อไร ก็กำหนดทุกครั้งที่หายใจ เข้า ออก คำว่า อานาปานสติ ไม่ได้ ไม่ได้แปลว่า กำหนดลมหายใจ แปลว่า กำหนดธรรมะอย่างใดอย่างหนึ่ง ให้มีสติ กำหนดธรรมะอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ทุกครั้งที่หายใจ ออก เข้า ถ้าเอาตามภาษา เอาตามภาษาทางตัวหนังสือนะ มันก็กำหนดอะไรก็ได้ ถ้ากำหนดอยู่ทุกครั้งที่หายใจ ออก เข้า แล้วก็เรียกว่า อานาปานสติ ได้ทั้งนั้นเลย อยู่ที่นี่ คิดถึงบ้านของคุณ คิดถึงเพื่อนฝูง บุตรภรรยาสามีของคุณที่อยู่ที่กรุงเทพฯ น่ะทุกครั้งที่หายใจเข้าออกก็เรียกว่าอานาปานสติได้เหมือนกันน่ะ นี่หมายความว่ากำหนดอะไรก็ได้ แต่เดี๋ยวนี้เราจะกำหนดสิ่งที่เป็นประโยชน์หรือจำเป็นเฉพาะการปฏิบัติธรรม
เอาลมหายใจมาเป็นเครื่องควบคุมให้การกำหนดนั้นสม่ำเสมอ แล้วมันกำหนดอยู่ทุกครั้งที่หายใจออก เข้า การควบคุมนั้นมันก็สม่ำเสมอ เหมือนเครื่องยนต์ทุกเครื่องจะมีไอ้เครื่องควบคุมความสม่ำเสมอ นี้ก็มีการหายใจที่มันหายใจ เข้า ออก เข้า ออก เข้า ออก นั้นเป็นเครื่องควบคุมความสม่ำเสมอ จึงพลอยเรียกว่าอานาปานสติไปอีกความหมายหนึ่ง
ทีนี้ก็ควรจะทราบ ควรจะทราบให้มันถึงไอ้ ไอ้ต้นตอ ที่มาของอานาปานสติ คือการรู้จักใช้ประโยชน์จากลมหายใจ มีมาตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์โน่น ดึกดำบรรพ์ ตั้งแต่พอพ้นจากความเป็นคนป่า พวกครูบาอาจารย์พวกหนึ่งก็ค้นวิชาต่าง ๆ นานา ฤๅษี มุนี อะไรก็ตาม พวกหนึ่งมันก็พบเครื่อง การใช้ลมหายใจให้เป็นประโยชน์ ฝึกหรือควบคุมอะไรก็ตาม ลมหายใจน่ะทำให้เป็นประโยชน์ ยัง ยังไม่ถึงนี่ ยังไม่ถึงระดับที่เราจะฝึก ยังต่ำ ๆ ในการทำให้สบายใจ ทำให้แข็งแรง มีฤทธิ์ มีเดช อะไรก็ไปตามเรื่องของเขาตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์น่ะ แล้วมันก็ค่อย ๆ สูงขึ้น ค่อยดีขึ้น สูงขึ้น สูงขึ้น จึงใช้ประโยชน์ทางจิตใจ เรียกรวม ๆ กันว่า การบังคับลมหายใจ คำ ๆ นี้ค่อย ๆ สูงขึ้นมา ไปตามสาขาของนิกายนั้น นิกายนี้ นิกายโน้น มีการบังคับลมหายใจกันตามแบบของตน ๆ จนกว่าจะมาถึงยุคพระพุทธเจ้านี่ ท่านก็มีแบบของท่านที่ว่าดีที่สุดที่จะดับทุกข์ หรือแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ แล้วเราจะถือว่าไม่มีใครสามารถจะออกแบบให้ดีกว่านั้นไปอีกได้ มาสูงสุดอยู่ที่ระบบอานาปานสติของพระพุทธเจ้า และเป็นการกล่าวได้ว่าในอินเดียนั้นน่ะเขาฝึกกันเป็นประจำว่า ว่าคนทุกคนน่ะจะต้องรู้จักฝึกการควบคุมลมหายใจนี่ เป็นเรื่องของคนหนุ่มจะต้องฝึกด้วยเรื่องหนึ่งเสมอไป ให้มีกำลังเข็มแข็งกระทั่งจะมีฤทธิ์มีเดชอะไรก็แล้วแต่ จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่คนหนุ่มเขาจะฝึกกัน แต่ว่าไม่ใช่มันเหมือนกันทุกแบบ เดี๋ยวนี้เรามามีแบบชนิดที่จะกำจัดกิเลส ดับทุกข์ เราจะได้ยินเรื่องว่า พระสิทธัตถะกุมารน่ะทำอานาปานสติได้ถึงที่สุด ในทางสมาธินะ ฝ่ายสมาธิ ตั้งแต่อายุเจ็ดขวบ แรกนาขวัญ แต่นั่นเป็นเรื่องสมาธิล้วน ยังไม่เป็นเรื่องวิปัสสนาหรือปัญญา แต่ก็เป็นที่เชื่อได้ว่ามันต้องแพร่หลายมากใน ในหมู่ชนชาวอินเดียที่นั่น สมัยนั้น ยุคนั้น นี่เรา เดี๋ยวนี้เราจะฝึกอานาปานสติตามแบบสุดท้ายที่พระพุทธเจ้าท่านได้ไป ไป บัญญัติขึ้นแล้วก็สอน
ตามธรรมชาติมันก็มีหลักเกณฑ์ของมันอยู่นี้ว่าลมหายใจดี เต็มที่ คนก็มีกำลัง ลมหายใจเลยเป็นไอ้เครื่องสังเกตหรือว่าแสดงออกของชีวิตอย่างหนึ่งว่าชีวิตกำลังสดชื่นแจ่มใสสมบูรณ์ คำว่า ปราณ คำนี้แปลว่าลมหายใจ แต่เราเอามาใช้แปลว่าชีวิตเสียก็มี วายปราณนี่มันก็บอกหมายถึงตาย ที่จริงมันก็เพียงไม่มีลมหายใจเรียกว่า วายปราณ เมื่อทำให้มันมีความถูกต้องแล้ว ทำลมหายใจให้มีความถูกต้องแล้วมันจะมีกำลังสูงสุด ฉะนั้นทั้งทางฝ่ายร่างกายและทั้งทางฝ่ายจิตใจนี่ แล้วก็มีลักษณะเป็นความสุข เป็นความสุขอยู่ในตัวเอง เรื่องอานาปานสติ เคยเสียชื่อ หรืออาจจะเป็นในเมืองไทยก็ได้ เฉพาะในเมืองไทยก็ได้ ว่าทำอานาปานสติแล้วก็เป็นบ้า เราเรียกกันง่าย ๆ ว่า บ้าอานาปา บ้าอานาปา มันกลับตรงกันข้าม อานาปานสติน่ะมันทำให้ฉลาด ทำให้แก้บ้า แต่มากลายเป็นทำแล้วเป็นบ้า มันก็มีอยู่จริงเหมือนกันแล้วก็ ก็ไม่ใช่ ไม่ใช่รายเดียว สองราย ทำแล้วบ้าน่ะเพราะว่ามันจะบ้ามาแต่บ้านแล้ว พอมาทำเข้ามันยึดมั่นถือมั่นมากไป ฉะนั้นก็เลยฟั่นเฟือนได้ หรือโดยทั่วไปเขาเป็นคนถืออย่างไสยศาสตร์ เขาเป็นคนไม่มีเหตุผลที่ถูกต้อง ก็เลยมี สีลัพพตปรามาส มาก เป็นเจ้าเรือน สีลัพพตปรามาส สังโยชน์ที่ ๓ ที่ต้องละน่ะ เขามีมาก คำนี้น่ะแปลกันผิด ๆ หรือว่าถือ เข้าใจกันผิด ๆ ที่จริงมัน มันง่ายหรือมันจำกัดง่ายว่า มันถือเอาศีลและวัตรปฏิบัติผิดความหมาย เมื่อความหมายของศีลข้อนี้หรือวัตรปฏิบัติข้อนี้มันมีความหมายอย่างนี้ เขาก็ไปถือเอาไปเป็นอย่างอื่นเสีย นี่คือ สีลัพพตปรามาส อย่างนี้ตรงตามตัวหนังสือ ก็รูปคำ ศีลและวัตร ผิดความหมาย เอาตั้งแต่ว่า การให้ทานนี่ ให้ทานนี่ ก็มีไว้เพื่อกำจัดกิเลสคือความเห็นแก่ตัว มันก็ถือเอาความหมายว่าให้ทานแลกเอาสวรรค์วิมาน นี่มันผิดความหมายที่แท้จริงของคำว่าให้ทานที่จะกำจัดกิเลสหรือความเห็นแก่ตัว เป็นว่าให้ทานนี่จะเอาไปเอาสวรรค์วิมาน รักษาศีลก็เหมือนกัน จะทำกายวาจาให้มันถูกต้องสะอาดมันก็ถือว่าจะได้สวรรค์วิมานอีกนั่น เพื่อจะได้มีชื่อเสียง จะได้ กระทั่งว่ามันจะได้ร่ำรวยโดยผิดปรกติ ไปทางนั้น นี่น่ะมันผิดความหมายที่แท้จริงของศีลและวัตรนั้น ๆ เดี๋ยวคนนี้ เดี๋ยวนี้คนนี้มันมาทำอานาปานสติโดยเข้าใจความหมายผิด ว่าทำอานาปานสติแล้วก็จะเหาะได้ จะหายตัวได้ จะดำดินได้ มันเข้าใจผิดอย่างนี้แล้วมันก็มาทำ แล้วมันก็ได้บ้าจริง ๆ เหมือนกัน มันต้องการจะเหาะได้ ทำอานาปานสติ
อาตมายังเล็ก ๆ ก็ยังเคย ก็เคยได้ฟัง ได้เห็นคนบ้าอานาปานี้เลย แต่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยได้เห็นกับเขา มันไม่ทำกันเอง หรือว่าคนที่เข้าใจผิดอย่างนั้นไม่ได้มาทำ มันก็ไม่มี ไม่มีคนบ้าอานาปา แต่สมัยหนึ่งมันมี มีคนบ้าอานาปา ที่ถ้าทำแล้วจะเหาะได้ พอมันคิดว่ามันจะเหาะได้มันก็ลองดู มันก็เปิดหน้าต่างเข้าแล้วก็เหาะ มันก็ตกลงมาขาหัก และกระทั่งมันเป็นบ้าอะไรต่าง ๆ นี่บ้าอานาปา ซึ่งมันเป็น ซึ่งมันไม่ ไม่ถูกต้องตามเหตุผล นั่นมันแก้บ้า แก้บ้าไปตามลำดับจนหมดกิเลส แต่นี่มันกลับมาทำให้เป็นบ้า บ้าอย่างเลวที่สุด
นี่เรารู้จักไอ้สิ่งที่เรียกกันว่า อานาปานสติ ไว้ให้ถูกต้องว่ามันคืออะไร มันคืออะไร คือสติที่กำหนดธรรมะที่ควรกำหนดอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ทุกครั้งที่หายใจเข้าออก ทำแล้วจะทำให้มีธรรมะ มีธรรมะหลาย ๆ อย่างก็เอามาเป็นเครื่องกำหนดอยู่ มีธรรมะที่ควรมีหลาย ๆ อย่างทีเดียว สติปัญญา สมาธิ ขันติ อะไรมันมีมาหมดเพราะการฝึกนี้ หรือจะรวมความสั้น ๆ ก็ว่า มันมีคุณสมบัติดี มีสมรรถนะสูงในทางกาย ในทางเวทนา ในทางจิต และในทางธรรมะ มันมีร่างกายดี สามารถใช้ได้ดี มันมีเวทนาที่บังคับได้ หรือสร้างเวทนาที่ควรมีขึ้นมาได้ แล้วมันควบคุมจิต รู้จักจิตทุกชนิดแล้วควบคุมจิตได้ตามที่ต้องการ ก็รู้จักธรรมชาติซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นถือมั่นทุก ๆ อย่างแล้วมันไม่ยึด ไม่ถือมั่นสิ่งใดเลย สูงสุดเป็นพระอรหันต์ ไม่ใช่ทำแล้วบ้า เป็นว่าแต่คนมันเข้าใจผิด มีอะไรผิดไปแต่บ้าน มันจะบ้ามาแต่บ้านนั้นน่ะ มาทำเข้าด้วยความเข้าใจผิด ตั้งใจผิด มุ่งหมายผิด มันก็บ้าได้จริง ๆ
เดี๋ยวนี้เราจะทำอานาปานสติตามแบบ หรือจะเรียกว่าทางเทคนิคก็ได้ มันมีลักษณะเป็นเทคนิคเต็มตัว แต่มันเป็นเรื่องทางจิตใจตามที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้อย่างไร ในพระสูตร ๆ หนึ่งโดยเฉพาะ ในคัมภีร์มัชฌิมนิกาย ชื่ออานาปานสติสูตร ที่จะพูดถึงการตระเตรียม มันก็มีการตระเตรียมบ้างคือ ร่างกายปรกติดี หายใจได้สะดวก และมีที่สงบสงัดพอสมควร ไอ้เรื่องที่สงบสงัดนี่ก็ขอให้เข้าใจเพียงว่า พอเราไม่ ไม่ไปสนใจกับมัน มันก็สงัดเอง พอมันเก่งจริงมันทำให้สงัดได้ ข้างเครื่องจักรโรงงานอุตสาหกรรม หรือข้างโรงละครก็ได้ หากแต่มันยากกว่า อย่าทำความรู้สึกว่ามีตัวเป็นผู้รับอารมณ์ อย่ามีตัวกู ของกู เป็นผู้รับอารมณ์ แล้วมันก็สงัดไปหมด ไม่ต้องไปป่าช้าก็ได้ บางคนมันยึดถือไอ้เรื่องสงบสงัดนี้มากเกินไปจนหาที่ไม่ได้ หรือมันลำบากตัวเอง จนว่าทำให้มันลำบาก อะไรรบกวนมันก็ เรียกว่าสูญเสียไปหมด นั่งลงแล้วไม่รับอารมณ์มันก็พอ ให้ใครมันมาเขกหัวอะไรก็ตามใจมันเถอะ มันไม่รับอารมณ์เหล่านั้น มันเป็นที่สงัดได้ มันเป็นที่สงบสงัดได้ อย่าไปเข้าใจผิดจนไม่รู้จะทำกันที่ไหนดี แต่ว่าเมื่อได้ที่ ๆ มันเงียบสงัดตามสมควรแล้วมันง่ายกว่า มันง่ายกว่า มันง่ายขึ้น และเมื่อเราทำในที่เช่นนั้นได้ เราก็ต้องทำให้ได้จริงจนว่าไปทำในที่ ๆ กึกก้องมันก็ทำได้ แม้นั่งรถไฟอยู่ก็ทำได้ เอาเสียงกึกก้องให้เป็นอารมณ์เสียเลย ที่ใต้ถุนรถไฟมันมีเสียงล้อกุง ๆ กุง ๆ กุง ๆ กุง ๆ นั้นใช้เป็นอารมณ์ก็ได้ในเบื้องต้น
อานาปานสตินี้เป็นแบบที่สะดวก มันไม่ต้องหิ้วหอบอะไร ถ้าคุณทำกสิณ กสิณ คุณจะต้องหิ้วหอบไอ้วงกสิณน่ะ สีเขียว สีแดง สีขาว อะไรต่าง ๆ แล้วจะต้องมีอุปกรณ์อะไรบางอย่าง มันก็รุงรัง ถ้าอานาปานสติมันไม่ต้องหอบหิ้วอะไรไป มัน ลมหายใจ มันมีอยู่ในร่างกายของคนทุกคน กำหนดเข้าก็เป็นอารมณ์ทันที ไม่ต้องลงทุนอะไร นี่มันดีขนาดนี้ มันดีมาก มันสะดวกกว่าแบบอื่น ๆ ฉะนั้นทีนี้มันก็จะต้องมีความเข้าใจที่ เรื่องราวนี้มันดีแล้วว่า อานาปานสติทำอย่างนี้จะเป็นการดับความทุกข์ ดับทุกข์หรือแก้ปัญหาไปตามลำดับ ตามลำดับ จนกระทั่งว่ามีความชอบใจที่จะทำนั้นน่ะพอสมควร มีพอสมควรหรือยิ่งมากยิ่งดี ฉันทะ ความพอใจที่จะทำน่ะมันก็มีมากพอสมควร แล้วก็มีศรัทธาซึ่งจำเป็นมาก ศรัทธาคือความเชื่อว่าสิ่งนี้มีประโยชน์ ดับทุกข์ได้จริง มีศรัทธานี่มากพอสมควร การตระเตรียมเหล่านี้มันก็ ก็ต้องมี ต้องเข้าใจเรื่องที่จะทำ พอใจที่จะทำ มีความ มีความ จะเรียกว่าหิวหรือกระหายก็ได้แต่ว่ามันทางจิต ไม่ใช่หิวอย่างนั้น ทางวัตถุ มีความอยากจะทำอย่างมากเหมือนกันแหละ จะพูดว่าอย่างใจจะขาดก็ได้ ถ้าได้ศึกษาอานาปานสติมาแล้วเป็นอย่างดีจนเห็นว่าจะดับทุกข์ได้จริง ก็มีฉันทะ มีศรัทธา มีความเพียร มีความกล้า มีอะไรมากเต็มที่ นี่ก็เรียกว่าพร้อม พร้อมแล้วที่จะทำ ไปในป่าได้ก็ไปในป่า ครึ่งป่าครึ่งบ้านก็ได้ ถ้ามันไม่มีอาจจะไปได้ในบ้านในเรือน ในเวลาที่พอจะทำได้ มันก็ทำได้เหมือนกัน เวลาที่เขาหลับนอนกันหมดแล้วหรือเวลาที่เขายังไม่ตื่นกันอย่างนี้ มันก็พอจะทำได้ นี่เรียกว่าไม่มี ไม่มีปัญหา
ทีนี้ก็นั่งลง เพราะการทำสมาธิหรือฝึกจิตนี่ใช้อิริยาบถนั่งดีที่สุด จะใช้อิริยาบถยืน เดิน นอน ไม่ ไม่สะดวกบ้างหรือว่ามีอุปสรรคบ้าง อิริยาบถนั่งน่ะดีที่สุด ก็นั่งลงในลักษณะที่ถูกต้อง ถูกต้องมันหมายความว่ามั่นคง คำว่าสมาธินั้นแปลว่ามั่นคง มั่นคง สมาธิเข้ามาง่าย ๆ อย่างนี้ก็ ก็พอใช้ได้ ถ้าเอาขา เอาเท้าข้างนี้มาขัดบนเข่าข้างนี้อีกทีมันก็มั่น มั่นคง มันแน่นเอี๊ยด มันจะล้มไม่ได้ เมื่อจิตเป็นสมาธิแล้วมันก็ยังล้มไม่ได้ มันเหมือนกับไอ้รูปร่างของปิรามิดน่ะ มันล้มไม่ได้ มันล้มไม่ได้ เขาจึงหัดนั่ง หัดนั่ง ให้ได้วิธีนั่งที่มั่นคง เรียกว่า ขัดสมาธิเพชร วชิรอาสน์ วชิรอาสน์ อาสนะเพชร นั่งขัดสมาธิเพชร เข้าใจว่าคำนี้มันผ่านภาษาพม่ามา เมืองพม่าเขาออกเสียงตัว ส ส เสือนี่เป็นตัว ต แล้วก็ มันก็เลยเป็น สะ ขัด สะ ส เป็น ต เป็นขัด ขัดสมาธิมันเป็น ขัด ตะ ขัด ตะ มา ธิ มันเป็น ขัดตะหมาด ขัดตะหมาด นี่เดาเอานะว่ามันมาทางภาษาพม่ามา จึงเป็นขัดตะหมาด ขัดตะหมาด และที่จริงก็คือขัดสมาธิ บางคนจะนั่งไม่ได้ เช่น พวกฝรั่งนี่ลำบากที่สุดที่จะให้เขานั่งขัดตะหมาด เขาต้องหัดอยู่นานกว่าจะนั่งได้ บางคนถึงร้องห่มร้องไห้ ขัด นั่งขัดสมาธิไม่ได้ มันเจ็บปวดแล้วมันทำไม่ได้ ต้องหัดอยู่หลายวัน แต่ว่าคนตะวันออกเรา คนไทย คนอินเดีย คนจีนนี้นั่งได้ นั่งได้
ได้ที่ท่านั่งอันมั่นคงตามสมควรแล้วนี่ก็กำหนดลมหายใจ ให้กำหนดธรรมะข้อใดข้อหนึ่งคือตามลำดับที่มีอยู่ ที่ในที่นี้ก็เรียกว่า กำหนดธรรม แต่เรามาเรียกว่า กำหนดลมหายใจ เพราะว่าไอ้ธรรมะข้อแรกที่จะเอามาปฏิบัติก็คือลมหายใจนั่นเอง เลยเรียกติดหมดไปถึงทั้ง ๑๖ ขั้น มันกำหนดลมหายใจอยู่เพียงขั้นสองขั้นตอนต้น ๆ เท่านั้นแหละ ต่อจากนั้นก็กำหนดสิ่งอื่นแทน สูงขึ้นไป สูงขึ้นไป ถึงจะเรียก ถึงจะกำหนดลมหายใจก็ดูเถอะมันยังมีความหมายอีกอย่างว่า กำหนดลักษณะของลมหายใจ เช่น ความยาวและความสั้นเป็นต้น นั้นมันไม่ใช่ตัวลมหายใจนะ ที่จริงให้กำหนดนี่กำหนดที่ความยาวหรือความสั้น มันก็เป็นลักษณะของลมหายใจ ไม่ใช่กำหนดตัวลมหายใจโดยเฉพาะ แต่มันก็ต้องกำหนดที่ตัวลมหายใจมันจึงจะรู้สึกต่อลักษณะของลมหายใจ ขอให้ท่านทั้งหลายเข้าใจเอาเองให้ดี ๆ กำหนดลมหายใจนี่ คือกำหนดลักษณะหลาย ๆ อย่างที่แสดงอยู่ที่ลมหายใจ คือลมหายใจยาวบ้าง ลมหายใจสั้น ลมหายใจช้าบ้าง ลมหายใจเร็วบ้าง ลมหายใจหยาบบ้าง ลมหายใจละเอียดบ้าง จะกำหนดได้ทุกอย่างน่ะ แต่ที่ประสงค์อย่างยิ่งก็คือยาวและสั้น ทีนี้เราก็หัดสังเกตสิว่าตามธรรมชาติมันหายใจอยู่อย่างไร พอมีอารมณ์ดี สบายดี ลมหายใจมันยาวอย่างไร พออารมณ์มันร้าย อารมณ์ในใจมันร้าย ลมหายใจมันสั้นอย่างไร ศึกษาว่าอย่างไรยาว อย่างไรสั้นด้วยการทดลอง ทดลองหายใจยาวที่สุด โอ้, เป็นอย่างนี้ ทดลองหายใจสั้น ๆ มันเป็นอย่างนี้ ถ้าว่าจะให้ละเอียดมันก็ต้องเป็นเรื่องยาว แต่ถ้าให้มันเป็นเรื่องหยาบมันก็ลมหายใจมันก็สั้นน่ะ ข้อนี้อย่าต้องให้ใครสอนกันนักเลยเพราะอาจจะรู้จักได้เอง ลองหายใจให้สุดเหวี่ยงดูสิ พูดกันคลุม ๆ ง่าย ๆ ว่า ถ้าหายใจเข้ามันก็พอง หายใจออกมันก็ยุบ นั่นเรียกว่ามันพูดง่าย ๆ พูดกันสั้น ๆ แต่ถ้าเราจะหายใจกันอย่างแรง อย่างสุดเหวี่ยง พอหายใจยาวส่วนท้องจะยุบ มาพองส่วนบน ส่วนอกนี่ หายใจเข้าให้มันสุดเหวี่ยง แล้วมันจะไปยุบส่วนล่าง ท้องยุบนี่ หายใจออก ออก ให้มากไปเถอะมันจะมีอาการยุบส่วนบน มันไปพองส่วนล่าง หายใจออกกลายเป็นท้องพอง พูดกันอยู่ง่าย ๆ ว่า หายใจเข้าพอง หายใจออกยุบนั้นน่ะพูดง่าย ๆ กันเกินไป ถ้าเอาให้มันถึงขีดสุดกันจริง ๆ แล้วมันกลับตรงกันข้าม อย่างนี้ก็ควรรู้ไว้ ควรจะศึกษาไว้เพื่อจะรู้ว่า ยาวนั้นเป็นอย่างไร สั้นนั้นเป็นอย่างไร รวมข้อที่หนึ่งกำหนดลมหายใจยาว ข้อที่สองลงมา ขั้นที่หนึ่งน่ะกำหนดลมหายใจยาว ขั้นที่สองกำหนดลมหายใจสั้น
ท่านใช้คำว่า ศึกษา ศึกษาเรื่องลมหายใจยาว ศึกษาเรื่องลมหายใจสั้น ลมหายใจยาวมาก่อนใน ใน ใน ในการศึกษา ลักษณะยาวน่ะมันเป็นอย่างไร เมื่อยาวมันมีอาการอย่างไร มันช้าเนิบนาบอย่างไร ถ้าลมหายใจยาวมันมีอิทธิพลต่อความรู้สึก จิตใจ อย่างไร ถ้าลมหายใจสั้นมันมีอิทธิพลต่างกันอย่างไร หรือแม้แต่ประโยชน์ ลมหายใจยาวมีประโยชน์อย่างไร ลมหายใจสั้นมีประโยชน์อย่างไร สังเกตดูเอาเอง นี้เรียกว่าศึกษาเรื่องลมหายใจยาว ลมหายใจสั้น จนรู้ดี เพื่อจะได้รู้จักมันดีเสียก่อน รู้จักสิ่งนั้นดีเสียก่อน
ทีนี้ขั้นที่สามมันก็รู้ กายทั้งปวงน่ะมันเปลี่ยนจากคำว่า ลมหายใจ มาเป็น กาย แต่ว่าไอ้ลมหายใจเองมันก็เป็นกายชนิดหนึ่ง เนื้อหนังร่างกายนี้ก็เป็นกายชนิดหนึ่ง มันเลยมีสองกายขึ้นมา หัวข้อกำหนดมันจึงมีว่า รู้กายทั้งปวง รู้กายทั้งปวง เป็นสองกายขึ้นมาว่า ไอ้กายนี่แปลว่าหมู่ หมู่ สิ่งเป็นหมู่เขาเรียกว่ากาย กองทหารก็เรียกว่า พลกาย คำว่ากายมันแปลว่าหมู่ ทีนี้หมู่ลมหายใจมันก็เป็น กายลม หมู่เนื้อหนังร่างกายทั้งตัวนี้ก็เรียกว่า กายเนื้อ กายเนื้อ เรารู้จักกายลมอย่างหนึ่ง รู้จักกายเนื้ออย่างหนึ่ง แล้วเราก็รู้จักว่ามันเนื่องกัน ถ้ากายลมมันหยาบไอ้ร่างกายนี้มันก็กำเริบระส่ำระสาย ถ้ากายลมมันละเอียดไอ้กายเนื้อนี้มันก็สงบระงับเป็นต้น ข้อนี้มีความสำคัญมาก คือว่าเราไม่อาจจะไปบังคับไอ้ร่างกายนั้นโดยตรงได้นะ ใครลองดู มันไม่ได้หรอก จะไปบังคับร่างกายให้สงบระงับมันทำไม่ได้ แต่เรามีเคล็ดบังคับทางลมหายใจ คือทำลมหายใจให้ละเอียด ให้สงบระงับ ลมหายใจละเอียด ร่างกายเนื้อหนังมันก็ละเอียดไปตาม มันสงบระงับไปตาม นี่มันเป็นเคล็ดลับของธรรมชาติที่สามารถบังคับกายเนื้อหนังได้ทางกายลมหายใจ ทีนี้เราก็ลองทดลองดู เดี๋ยวนี้ก็รู้ รู้จักสองฝ่ายแล้ว กายลมหายใจ และกายเนื้อหนัง รู้จักดีแล้วยังรู้ว่ามันเนื่องกัน เนื่องกันแล้วบังคับได้ โดยทางที่มันสัมพันธ์กัน
ทีนี้ก็มาถึงไอ้ขั้นที่สี่ของหมวดที่หนึ่งน่ะ ทำลมหายใจให้ระงับ ทำลมหายใจให้ระงับลง ระงับลง ระงับลง นั่นคือให้มันกำหนดอารมณ์ที่ละเอียด ละเอียดเข้าน่ะ เรียกว่าจัดให้มันละเอียดเข้า คือจัดให้มันยากเข้า ถ้ามันยากเข้ามันก็ละเอียดเข้า นี่กำหนด มีเคล็ดหรือว่ามีเทคนิคกันมากก็ที่ข้อนี้ กำหนดชั้นแรกก็กำหนดโดยการวิ่งตาม วิ่งตามลม ลมเข้า ลมออก ลมเข้า ลมออก นี่ตามเฉย ๆ นี่มันก็ปรกติลงในระดับหนึ่งแล้ว ทีนี้ไม่วิ่งตาม ไม่วิ่งตามแล้ว เฝ้าดูอยู่ที่ปลายจมูก จะงอยจมูก เฝ้าดูอยู่ที่นั่นซึ่งมันกระทำยากกว่า แต่ถ้าทำได้มันก็มีความสงบระงับละเอียดหรือความเป็นสมาธิเพิ่มขึ้น ถ้าเราหายใจกำหนดเข้าออกอยู่ตลอดสาย มันหนีไปยาก แต่ถ้ากำหนดเพียงแค่ปลายจมูกนี่มันมีเวลาให้มันหนีคือไม่เป็นสมาธิน่ะตั้งเยอะแยะ ถ้ากำหนดได้แม้แต่กำหนดที่ ๆ ที่ ๆ เดียว เฝ้าดูอยู่ที่เดียว กำหนดได้นี้ มันก็ละเอียดลงไปมาก สงบระงับลงไปมาก ทีนี้ก็กลายเป็นว่าเราเปลี่ยนอารมณ์ คือเป็นไอ้ลมหายใจธรรมชาตินั้นให้เป็นอารมณ์ในมโนคติ ให้มีภาพอันใดอันหนึ่งเกิดขึ้นที่จุดนั้น จะเป็นดวงสีต่าง ๆ นี่ก็ได้ ดวงสีต่าง ๆ โชติช่วงอยู่ที่นั่นก็ได้ หรือว่าเป็นของแวววาวอยู่ที่นั่นจนเหมือนกับว่ามีเพชรอยู่ที่นั่น หรือว่ามีใยแมงมุมกลางแสงแดด ทอแสงแวววาวอยู่ที่นั่น นี่เรียกว่า กำหนดนิมิตที่ได้สร้างขึ้นมาใหม่ ถ้าทำได้อย่างนี้แล้วมันก็ละเอียดประณีต หรือเป็นสงบระงับยิ่งไปกว่าเดิม นี่ถ้าถึงกับว่าบังคับนิมิตนั้นได้ให้มันเปลี่ยนรูป ให้มันเปลี่ยนรูป ใหญ่เป็นเล็ก สี สี เป็น สีนี้เป็นสีนั้น บังคับได้อย่างนี้ ให้มันลอยไป ให้มันเข้ามานี่บังคับได้ถึงขนาดนี้ นั้นก็เรียกว่าจิตเป็นสมาธิละเอียดนิ่มนวลอย่างยิ่งขึ้นไปอีก มัน มันเป็นลำดับ ๆ ลำดับของความละเอียด ของความสงบระงับ
หมวดที่หนึ่งก็มีอยู่สี่ขั้นอย่างนี้ กำหนดลมหายใจยาวเป็นอย่างไร กำหนดลมหายใจสั้นเป็นอย่างไร กำหนดกายทั้งสองคือ กายลมกับกายเนื้อ เป็นอย่างไร แล้วก็ทำให้มันระงับลง ระงับลง ระงับลง จนถึงขนาดที่เรียกว่าเป็นสมาธิ เป็นสมาธิ จะทำต่อไปก็จะเป็นเรื่องฌานซึ่งยากขึ้นไป เป็นปฐมฌาน ทุติยฌาน เราไม่ทำก็ได้ เว้นเสียไม่สนใจ เป็นสมาธิขนาดบังคับมโนภาพได้นี้ก็เรียกว่าพอ นี่ความสงบระงับพอในขั้นนี้ แต่ถ้าทำได้ก็ดีเหมือนกันที่จะให้เป็นฌาน รูปฌานขึ้นมาแต่มันก็จะลำบากหรือกินเวลามาก ยาวนาน คนที่ไม่มีอุปนิสัยมันก็ยิ่งลำบาก จะต้องมีอุปนิสัยมากก็พอจะทำได้ก็ทำ ก็ดีเหมือนกัน ข้อนี้ก็เพราะว่าเราจะเลื่อนต่อไป ไปหมวดที่สอง ไม่มาทำหมวดที่หนึ่งให้เนิ่นนานจนถึงกับมีฌาน เอาเพียงว่าเป็นสมาธิ เรียกว่า อุปจารสมาธิ สมาธิที่ยังไม่สมบูรณ์แต่เป็นสมาธิมากพอ
ทีนี้ก็มาถึงหมวดที่สองน่ะ หมวดที่หนึ่งมันจัดการกับเรื่องลมหายใจหรือกาย จึงเรียกว่า กายานุปัสสนา หมวดนี้ ลมหายใจก็คือกาย เนื้อหนังก็คือกาย ทุกอย่างเกี่ยวกับกายจึงเรียกว่า หมวดเนื้อ หมวดกาย ทีนี้พอมาถึงหมวดที่สองก็เปลี่ยนเป็นเวทนา ไม่กำหนดกาย กำหนดเวทนา คือความรู้สึกที่เป็นเวทนา สุขหรือทุกข์ หรือไม่สุข ไม่ทุกข์ นี่เรียกว่าเวทนา แต่ที่จะเอามาเป็นเครื่องกำหนดนี้เอามาแต่ฝ่าย สุขเวทนา ทุกขเวทนา ยังไม่ต้อง เอามาแต่ฝ่าย สุขเวทนา เพราะปัญหาต่าง ๆ ในโลกนี้มันมีอยู่ที่ สุขเวทนา ทุกคนมันหลงใหลใน สุขเวทนา ปัญหามากอยู่ที่ สุขเวทนา ต้องเอาสิ่งนี้มาจัดการ มาจัดการ เอาชนะมันให้ได้แล้วไอ้ที่มันง่ายกว่านั้นมันก็ต้องได้แหละ ไอ้ที่มันยากที่สุดทำได้แล้วมันก็ใช้ได้ มันจึงเอาตัวเวทนาฝ่ายที่เป็นสุขน่ะมาเป็นอารมณ์ของการกำหนดสมาธินี้ในหมวดที่สองที่เรียกว่า เวทนานุปัสสนา หมวดนี้ก็มีสี่ขั้นอีกแหละ มีสี่ขั้นตอน ในขั้นหนึ่งก็กำหนด ปีติ ปีติคือความพอใจ ความพอใจอย่างรุนแรง แสดงอาการหยาบ ปีติถึงกับเนื้อเต้น ถึงกับน้ำตาไหล ถึงกับสั่นทั้งตัว นี่เรียกว่าปีติ มันหยาบ ก็มันก็คือความพอใจนั่นแหละ ความพอใจนั้นแหละ แต่มันหยาบ มันรุนแรง ก็กำหนดให้เกิดความรู้สึกอย่างนั้น หรือว่าถ้าไม่มีทางที่จะได้มาอย่างอื่นก็กำหนดปีติที่ได้มาจากขั้นที่สี่ของหมวดที่หนึ่งน่ะ เมื่อเราทำสมาธิได้สำเร็จแม้ไม่ถึงฌานมันก็มีปีติเหมือนกันแหละ ถ้ายิ่งถึงฌานแล้วก็ยิ่งมีปีติมากมาย เอาปีตินี่มาใช้เป็นอารมณ์กำหนดปีติว่าเป็นอย่างไร กำหนดลักษณะว่าเป็นอย่างไร อาการว่าเป็นอย่างไร อิทธิพลเป็นอย่างไร คุณโทษเป็นอย่างไร กำหนดปีติ ปีติ ให้รู้จักปีติ จนรู้จักดี แต่เท่านั้นมันไม่ มันไม่ มันไม่ดับทุกข์ได้ กำหนดต่อไป กำหนด กำหนดต่อไปอีก ก็ไปกำหนดความสุขคือความพอใจที่สงบระงับ ความพอใจที่กำลังฟุ้งซ่านน่ะเรียกว่า ปีติ ไอ้ความพอใจที่สงบระงับลงนี้เรียกว่า สุข มันก็ตัวเดียวกันแหละ ปีตินั่นก็คือความพอใจ สุขนี้คือความพอใจ ถ้าปีติมันระงับสงบลงมันก็เป็นความสุข กำหนดความรู้สึกที่เป็นสุขคือปีติที่สงบระงับลง มีอาการเป็นอย่างไร ลักษณะอย่างไร มีอิทธิพลกับชีวิตอย่างไร แล้วก็กำหนดให้รู้ เพื่อให้รู้จักดีทั้งสองอย่าง รู้จักมันดีทั้งสองอย่าง ว่าปีติเป็นอย่างไร ความสุขเป็นอย่างไร
ทีนี้ก็มาศึกษาว่า ไอ้ปีติและสุขนี้มันทำอะไร มันมีอิทธิพลอะไรนั้นน่ะ มันก็จะรู้ว่าไอ้ปีติและสุขนั้นมันมีกำลัง มีอำนาจ ทำให้เกิดความคิดขึ้นมา เป็นสังขารปรุงแต่ง เป็นความคิดขึ้นมา คิดจะเอา คิดจะได้ คิดจะมี กระทั่งคิดจะฆ่า หรือคิดจะอะไรก็แล้วแต่แหละ แล้วแต่ว่ามันจะคิดไปตามเหตุผลของมัน ถ้ามันหลงในความสุขมันก็คิดจะแย่งชิง หรือว่าคิดจะสะสม หรือว่าจะต่อสู้ศัตรูเพื่อแย่งเอาความสุข ฉะนั้นความคิดสารพัดอย่างมันเกิดมาจากเวทนา ตัวนี้สำคัญมากว่า ความคิดทุกอย่างเกิดมาจากเวทนา นำให้เกิดความคิด ถ้าไม่มีเวทนาเป็นตัวเหตุคนมันไม่คิดล่ะ สุขเวทนา ก็คิดไปในทางบวก ทุกขเวทนา ก็คิดในทางลบ อทุกขมสุข ก็เวทนาก็คิดไปในทางโง่ ในทางหลงสงสัยวนเวียน คือเป็นโมหะ รู้จักว่าเวทนานี่มันทำให้เกิดความคิด ถ้าจะควบคุมความคิดก็ต้องควบคุมเวทนา ข้อที่สี่ของหมวดนี้จึงควบคุมเวทนา ระงับกำลังของเวทนา ไม่ให้มี ไม่ให้เวทนามีกำลังแรง มันก็ไม่ ไม่คิดแรงหรือไม่คิดเสียเลยก็ได้ ทีนี้ควบคุม คิดไปทางนี้ ควบคุม คิดไปทางโน้น ก็เปลี่ยน เปลี่ยนเวทนา มันเปลี่ยนความคิด เรียกว่าเราระงับอำนาจของเวทนาที่ปรุงแต่งจิต ก็แปลว่าเราควบคุมเวทนาได้ เราสามารถสลัดเวทนาที่ไม่พึงประสงค์ แล้วก็มีเวทนาที่พึงประสงค์ขึ้นมาได้ตามที่เราต้องการ นี่เราก็จะได้รับประโยชน์มากที่สุดน่ะ คือจะมีแต่ความคิดที่ดี ที่ถูก ที่เป็นไปเพื่อคุณ เพื่อประโยชน์อย่างเดียว ควบคุมเวทนาได้น่ะไม่ใช่เล่นนะ ไม่ใช่เล่น เป็นเรื่องใหญ่โตมโหฬาร มันเท่ากับควบคุมโลกทั้งโลกได้แหละ เพราะโลกทั้งโลกมันมีปัญหาแก่เราก็คือ มันให้เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าเราควบคุมไม่ได้มันก็เกิดกิเลส ถ้าสุขเวทนาได้มันก็ไม่มีปัญหา โลกมันจะเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ ไม่ ๆ ไม่เป็นทุกข์ ก็เรียกว่าไม่เป็นทุกข์นี่ ถ้าควบคุมเวทนาได้ ทั้งบวกและลบมันก็เท่ากับควบคุมโลกทั้งโลกได้ นี่หมวดที่สองมันมีสี่ขั้นอย่างนี้ รู้จักเวทนาจนควบคุมเวทนา จนสามารถจะสร้างเวทนาที่ควรจะมีขึ้นมา จะสร้างสุขเวทนาก็ได้ตามที่ต้องการ ทำจิตให้มันมีความสงบสุขด้วยการใช้เวทนาเป็นปัจจัย
ทีนี้ก็มาถึงหมวดที่สามสิ หมวดที่หนึ่งจัดการกับเรื่องลมหายใจ หมวดที่สองจัดการกับเวทนา พอมาถึงหมวดที่สามก็จัดการกับจิตเป็นเรื่องของจิต จึงเรียกว่า จิตตานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา นี่จัดการกับจิต ละเอียดลึกซึ้งหรือค่อนข้างจะยาก มันเป็นเรื่องที่ยากน่ะเรื่องเกี่ยวกับจิตนี่
ในขั้นแรกจะต้องรู้จักจิตทุกชนิดกันเสียก่อน จิตตามธรรมดาเป็นอย่างไร มีเหตุการณ์เป็นอย่างไร จิตของเรากำลังมีราคะหรือไม่มีราคะ มีโทสะหรือไม่มีโทสะ มีโมหะหรือไม่มีโมหะ จิตของเรากำลังฟุ้งซ่านหรือสงบ จิตของเรากำลังเป็นจิตที่มีนิวรณ์ มีกิเลส หรือไม่มีนิวรณ์ ไม่มีกิเลส แล้วก็จิตของเราสูงสุด หรือไม่สูงสุด เรารู้จักจิตชนิดที่ยังไม่เกิดแก่เราได้โดยคำนวณไปจากจิตที่เรารู้สึกอยู่ เช่นว่าจิตมีความไม่สงบเป็นอย่างนี้ ถ้าจิตสงบเป็นอย่างไร ถ้าจิตมีกิเลสเป็นอย่างนี้ จิตไม่มีกิเลสเป็นอย่างไร กระทั่งรู้จักจิตของพระอรหันต์ก็ได้ ทั้งที่เรายังไม่เป็นพระอรหันต์ โดยคำนวณออกไปจากจิตของเราที่กำลังไม่เป็นพระอรหันต์นี่ จึงรู้จักจิตที่เป็น อนุตตระ คือสูงสุดก็ได้ จิตที่เป็น มหัคคตะ คือประกอบด้วยคุณอันใหญ่หลวงก็ได้ ทั้งที่เราไม่มีคุณอันใหญ่หลวงเวลานี้ เรากำหนดดูเหอะ คุณเลว ๆ ที่เรามีอยู่นี่ ต่ำ ๆ ที่เรามีอยู่ถ้ามันตรงกันข้ามนั้นน่ะคือใหญ่หลวง จึงสามารถจะคำนวณได้โดยทุกอย่างว่าจิตมันเป็นอย่างไรได้บ้าง ที่ควรจะรู้จักก็รู้จักกันเสียให้หมด
จากที่ทำมาแล้วสองหมวดน่ะ แปดขั้น ก็สังเกตเห็นได้ว่าจิตต่างกันอย่างไร เมื่อลมหายใจยาวจิตเป็นอย่างไร เมื่อลมหายใจสั้นจิตเป็นอย่างไร เมื่อรู้กายทั้งปวงจิตเป็นอย่างไร ทำกายให้ระงับจิตเป็นอย่างไร เมื่อปีติจิตเป็นอย่างไร เมื่อมีสุขจิตเป็นอย่างไร เมื่อเวทนากำลังปรุงจิต จิตเป็นอย่างไร เมื่อ เมื่อหยุดการปรุงแต่งของเวทนาเสียได้จิตเป็นอย่างไร นี่รู้จักจิตให้มันมากพออย่างนี้
ทีนี้ก็เริ่มทำตามลำดับ ที่ ที่เป็นการฝึกจิต ในชั้นแรกก็รู้จักจิตทุกชนิด หมวด ขั้นที่หนึ่งของหมวดนี้ รู้จักจิตทุกชนิดเป็นไปได้กี่ชนิด ข้อที่สอง บังคับจิตได้ให้มีความรู้สึกเป็นสุข บันเทิง ร่าเริง ถ้าไม่มีอะไรก็เอาไอ้ปีติและสุขของ ของ ของหมวดที่สองนั่นแหละมาใช้ก็ได้ บังคับจิตให้บันเทิงได้ตามที่เราต้องการ จิตเศร้าสร้อยโศกเศร้าอยู่ก็ทำให้บันเทิงได้ตามที่ต้องการ หรือสามารถจะปลุก ใช้คำว่า ปลุก จิตให้บันเทิงได้ตามเวลาที่ ขนาดที่เราต้องการ ทีนี้ขั้นที่สามต่อไปก็ควบคุมบังคับให้หยุด ให้ตั้งมั่นเป็นสมาธิ คุณต้องเข้าใจให้ดีนะว่า ไอ้ขั้นที่หนึ่งนั่นน่ะ กำหนดรู้จิตทุก ๆ ชนิด ขั้นที่สองบังคับให้มันบันเทิง บันเทิงรื่นเริง พอมาขั้นที่สามบังคับให้หยุด ให้ตั้งมั่นเป็นสมาธิน่ะ คำว่า สมาธิ ตั้งมั่นเป็นสมาธินี้มันเข้าใจผิดกันอยู่เพราะมันไม่เคยทำ แล้วมันก็เดาเอา หรือว่าตาม ๆ กันไป มันก็จะมีความคิดไปในทางว่า ถ้าจิตเป็นสมาธิก็แข็งเป็นท่อนไม้ เหมือนกับคนตายนั่นน่ะ ถ้าเป็น เป็นสมาธิมันก็เงียบกริบ แข็งทื่อเป็นท่อนไม้ เป็นสมาธิอย่างนั้นตามความรู้สึกของคนทั่วไป มันไม่ใช่ ไม่เป็นสมาธิในการฝึกนี้ ไม่ใช่อย่างนั้น เป็นสมาธิ สมาธิคำเดียวนี่ มีลักษณะออกไปเป็นสามอย่าง คือว่าจิตนี้สะอาดบริสุทธิ์ กำลังไม่มีนิวรณ์ กำลังไม่มีกิเลสนี่เรียกว่าจิตสะอาด ทีนี้ข้อที่สองจิตรวมกำลังตั้งมั่น จิตที่มันตามปรกติฟุ้ง ฟุ้งไปรอบตัวน่ะทีนี้มารวมจุดเป็นจุดเดียว ตั้งมั่นเป็นจุดเดียว อุปมาเหมือนกับว่า ไอ้ ไอ้แก้ว แก้วที่นูนตรงกลางน่ะมันก็รวมแสงสว่างให้มาเป็นจุดเดียว รวมแสงอาทิตย์หรือไม่ถึงแสงอาทิตย์ก็ได้แต่ถ้าสว่างมาก ๆ แล้วมัน ไอ้แก้วนูนนี้ทำให้ไฟลุกได้ ก็รวมจุด ๆ เดียวนั้นน่ะ นี่สมาธิในความหมายที่สองก็คือรวมกำลังทั้งหมดมาเป็นจุดเดียว แล้วข้อที่สาม จิตนั้นเหมาะสมคล่องแคล่ว แคล่วคล่องว่องไวในการทำหน้าที่ ในการทำหน้าที่ เรียกว่าสมควรแก่การงาน แคล่วคล่องว่องไวในหน้าที่ของมัน ครบสามอย่างนี้จึงจะเรียกว่าเป็นสมาธิไม่ใช่นอนแข็งทื่อเป็นท่อนไม้ ข้อหนึ่งสะอาด ข้อสองรวมกำลังกันหมด ข้อสามไวในหน้าที่ ๆ จะต้องทำ ที่เราเรียกตามฝรั่งว่า ACTIVE ACTIVE ที่มันแคล่วคล่องว่องไวในหน้าที่นั่นน่ะเป็นคุณสมบัติของความเป็นสมาธิ ถ้าไม่เป็นสมาธิไม่แคล่วคล่องว่องไว อืดอาดงัวเงีย หรือจะไม่มีสมรรถภาพ พูดเป็นภาษาฝรั่ง พวกฝรั่งก็พูดได้ง่าย ๆ ว่าPURENESS PURE PURENESS ความสะอาด FIRMNESS STABLENESS น่ะ ตั้งมั่น ตั้งมั่น ACTIVENESS PURENESS FIRMNESS ACTIVENESS สาม NESS นี่เรียกว่านั่นน่ะคือตัวสมาธิ นี่ทำจิตให้เป็นสมาธิคือตั้งมั่นคืออย่างนี้ในขั้นที่สาม ทีนี้ขั้นที่สี่ของหมวดนี้เขาเรียกว่า ทำจิตให้ปล่อย ให้ปล่อย ทำจิตให้ปล่อยจากอารมณ์ ปล่อยจิตจากอารมณ์ ปล่อยอารมณ์จากจิต ความหมายเดียวกันแหละ คำพูดต่างกัน จิตออกมาเสียจากอารมณ์ที่กำลังครอบงำจิต มองดูทางหนึ่งก็ ปล่อยจิตออกมาเป็นอิสระ อีกทางหนึ่งก็ว่า ปล่อยอารมณ์ออกไป ทำจิตให้ปล่อยก็อย่าให้มีอะไรมาครอบงำจิต หรืออย่าให้จิตไปยึดมั่นถือมั่นอยู่ที่สิ่งใด คือไม่มีการยึดมั่นถือมั่นน่ะเรียกว่าปล่อย ไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใดอยู่มันก็เรียกว่ามันติดอยู่กับสิ่งนั้นเหมือนกับติดคุก คือติดอารมณ์ ฉะนั้นปล่อยจากอารมณ์ ปล่อยอารมณ์จากจิต ปล่อยจิตจากอารมณ์ มันก็เป็นไอ้ขั้นที่สี่ของหมวดนี้คือหมวดที่สาม ทบทวนอีกทีหนึ่งว่า รู้จักจิตทุก ๆ ชนิด ทุก ๆ ลักษณะ แล้วก็บังคับให้มันบันเทิง แล้วมันบังคับให้มันตั้งมั่น แล้วบังคับให้มันปล่อย รู้จักจิต แล้วก็ทำให้บันเทิง แล้วก็ทำให้ตั้งมั่น แล้วก็ทำให้ปล่อย
ดังนั้นเดี๋ยวนี้เรามีอำนาจเหนือจิต ควบคุมจิตได้อย่างนี้ มันก็ง่ายสิจะปฏิบัติ ไม่ยึดมั่นถือมั่นในอายตนะ ในขันธ์ ๕ ในปฏิจจสมุปบาท ได้ตามที่ต้องการเพราะเราบังคับจิตได้ เราเป็นนายเหนือจิตน่ะเดี๋ยวนี้ แล้วมีกำลังจิตด้วย แล้วก็มีความสุขเพราะบังคับจิตได้นี่ นี่มันสำคัญที่นี่ จะได้รับความสุขที่ไม่เคยได้รับคือความสุขที่เกิดมาจากการบังคับจิตได้ แต่ก่อนมานี่เราได้รับความสุขหลอกลวงปล่อยไปตามอำนาจของจิต ตามต้องการของจิต ความสุขเช่นนั้นมันหลอกลวง เดี๋ยวนี้มีความสุขที่แท้จริงคือสุขที่บังคับจิตได้ บังคับจิตได้ หมวดที่สามจัดการกับจิตก็มีอยู่สี่ขั้นอย่างนี้
ทีนี้ก็มาหมวดที่สี่ มาหมวดที่สี่ ธรรมานุปัสสนา รู้ธรรมจากการกระทำ ธรรม ธรรม ธรรมคือธรรมชาติ ธรรมะในที่นี้หมายถึงธรรมชาติ ธรรมะทุกอย่างที่เป็นธรรมชาติอยู่ในสากลจักรวาลนี่ ถ้าเราไม่รู้จักมันนะ ถ้าไม่เข้าใจมัน ไม่รู้จักมัน มันจะเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่น ไม่ว่าอะไรน่ะ ถ้าดี สวยงาม หรือสวยงามเป็นต้น มันก็ยึดมั่นในทางที่จะเอา ยึดมั่นในทางบวก ถ้ามันน่าเกลียดน่าชัง ไม่อะไรเลย ก็ยึดมั่นในทางลบ ก็อยากจะทำลายเสีย ไอ้ความยึดมั่นนั่นมีถึงสอง ทั้งสองฝ่ายแหละ ฝ่ายที่จะเอามาเพราะความรัก ฝ่ายที่จะทำลายเสียเพราะความเกลียด หรือว่าอีกอย่างหนึ่งก็ได้คือมันจะวนเวียนหลงใหล วนเวียน วนเวียน วนเวียนอยู่ที่นั่นเพราะความไม่รู้ เพราะความโง่ นี่ธรรมชาติทั้งหลายในสากลจักรวาลมันจะให้ผลแก่เราเป็นสามชนิดอย่างนี้ ให้รัก ให้โกรธ ให้สงสัย ให้สงสัยไม่รู้ว่าจะรักหรือไม่รู้ว่าจะโกรธ ทีนี้เราก็มีความยึดมั่นอย่างใดอย่างหนึ่ง ในธรรมชาติอย่างใดอย่างหนึ่ง ธรรมชาติเต็มไปหมด ไปยึดมั่นถือมั่นอย่างใดอย่างหนึ่งไปตามจิตที่มันโง่อยู่ เดี๋ยวนี้ยึดมั่นในทางบวกกันมาก คนในโลกเวลานี้ทั้งโลกน่ะยึดมั่นธรรมชาติในทางบวก อะไร ๆ ก็จะให้บวก อะไร ๆ ก็ให้เอร็ดอร่อย สนุกสนาน สวยงาม มันเกินขอบเขตจนเป็นบ้าไปเลย ยึดมั่นแต่กันในทางบวก ทางลบมันก็ยึดมั่นเหมือนกัน ยึดมั่นว่าให้อภัยกันไม่ได้ กูจะฆ่ามึง ถ้ามึงมาทำอะไรกับกู มันไม่สังวร ไม่สำรวมอะไร นี่ทางลบ ฉะนั้นถ้าอะไรที่ยังไม่รู้ก็สงสัยอยู่นั่น สงสัยอยู่ มันคว้า ค้นคว้า ค้นคว้ากันอยู่นั่น จะกระทั่งค้นคว้าในสิ่งที่ไม่จำเป็น เสียเวลาเปล่า ๆ นี้ก็มีอยู่ เพราะฉะนั้นเราจะต้องมารู้จักธรรมชาติทั้งหลายทั้งปวงให้ถูกต้องตามที่เป็นจริง อย่าได้เกิดความยึดมั่นอย่างใดอย่างหนึ่งเลยในสามอย่าง ไม่ยึดมั่นในทางบวก ไม่ยึดมั่นในทางลบ ไม่ยึดมั่นในทางที่ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร
การฝึกในหมวดที่สี่นี้ ขั้นแรก ขั้นที่หนึ่งก็ทำให้เห็นความไม่เที่ยง ให้รู้จักความไม่เที่ยง กำหนดความไม่เที่ยงของสิ่งทั้งปวง ความไม่เที่ยงคือความเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนแปลงเหมือนกับมันไหลไปเรื่อย มันไม่อยู่ที่ เพราะว่าเหตุปัจจัยมันไม่เที่ยง ไอ้ตัวสิ่งเหล่านั้นมันก็ไม่เที่ยงเมื่อเหตุปัจจัยมันไม่เที่ยง มันก็พลอยไม่เที่ยง มันก็ไหลเรื่อยไปตามความเปลี่ยนแปลงของเหตุปัจจัยและทั้งของตัวมันเอง เราจะต้องมองให้เห็น อ้าว, นี่มัน มันไม่เที่ยงนี่ มันไม่เที่ยงอย่างนี้ คือมันไหลเรื่อย จะไปเอาอะไรกับมัน จะไปจับฉวยกับมันที่ตรงไหน มันเป็นความไม่เที่ยงไปเสียหมด สิ่งที่รักก็ไม่เที่ยง สิ่งที่เกลียดก็ไม่เที่ยง สิ่งที่กลัวก็ไม่เที่ยง อะไรก็ล้วนแต่ความไม่เที่ยง จะจับมาไว้เที่ยง ไม่มี ทำไม่ได้ แต่ว่าที่ละเอียด จะเห็นความไม่เที่ยงที่ละเอียดน่ะ อย่างเป็นธรรมะลึก ก็คือย้อนกลับไปดูการปฏิบัติสามหมวดที่ปฏิบัติมาแล้ว
หมวดกายก็เห็นกายไม่เที่ยง เห็นลมหายใจยาวไม่เที่ยง เห็นลมหายใจสั้นไม่เที่ยง เห็นกายทั้งปวงไม่เที่ยง เห็นกายสงบระงับก็ไม่เที่ยง
ทีนี้หมวดเวทนาก็เห็นว่า ปีติก็ไม่เที่ยง ความสุขก็ไม่เที่ยง ที่มันเป็น จิตตสังขาร ปรุงแต่งจิตก็ไม่เที่ยง จิตระงับก็ไม่เที่ยง
ทีนี้หมวดจิตเอง เอ้า, ก็ดู จิตชนิดไหนก็ไม่เที่ยง จิตบันเทิงก็ไม่เที่ยง จิตตั้งมั่นก็ไม่เที่ยง จิตว่องไวในการงานก็ไม่เที่ยง อย่างนี้เรียกว่าเอาตัวจริงกันเลยเห็นดีกว่า เห็นชัดกว่าอย่างไรหมด ไม่ต้องคำนวณ มันรู้สึกอยู่ในใจ มันเห็นความไม่เที่ยงอยู่ในใจ
เมื่อเห็นความไม่เที่ยงอยู่ในใจอย่างนี้ เสร็จแล้วก็คำนวณออกไปข้างนอก รอบทั่วทุก ทั่วทั้งจักรวาลมันก็ไม่เที่ยง นี่เห็นความไม่เที่ยง เห็นความไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้แต่คำว่าไม่เที่ยงอย่างเดียวน่ะ แต่มันหมายความว่า รวบรวม รวบเอามาซึ่งทุกสิ่งที่มันเกี่ยวข้องกันอยู่กับความไม่เที่ยง เมื่อไม่เที่ยงมันก็ต้องเป็นทุกข์ล่ะ ไปเอากับความไม่เที่ยงมันก็ต้องเป็นทุกข์ เมื่อมันไม่เที่ยงและเป็นทุกข์มันก็เป็น อนัตตา เรายังต้องเห็นต่อออกไปจากความไม่เที่ยงว่ามันเป็นทุกข์และเป็นอนัตตา
ทีนี้ให้ละเอียด ให้เป็นนักศึกษามากขึ้นไปอีกก็เห็นว่า โอ้, มันตั้งอยู่เช่นนี้เอง ธัมมัฏฐิตตา ธัมมัฏฐิตตาน่ะ ตั้งอยู่ตามธรรมชาติเช่นนี้เอง ก็ดูต่อไปอีก โอ้, มันมีกฎธรรมชาติบังคับอยู่นี่ เรียกว่า ธัมมนิยามตา ธัมมนิยามตา ลักษณะที่ว่า อ้าว, มันเป็นไปตามเหตุ ตามปัจจัยอยู่เนืองนิตย์อย่างนี้ เรียกว่าเห็น อิทัปปัจจยตา อิทัปปัจจยตา สูงขึ้นไปอีก มองสูงขึ้นไปอีกก็เห็นว่า สุญญตา ว่าง ว่าง ว่างจากสิ่งที่เที่ยง ว่างจากตัวตนที่เที่ยง ไม่มีสิ่งใดที่ควรยึดถือว่าตัวตนหรือว่าเที่ยง เอ้า, มองสูงขึ้นไปอีกก็เห็น ตถาตา ตถาตา โอ้, เป็นเช่นนั้นเอง เช่นนั้นเอง นี่สำคัญมากข้อนี้ไม่ใช่พูดเล่นแต่มันเหมือนกับพูดเล่น เช่นนั้นเอง เช่นนั้นเอง ฟังดูว่าพูดเล่น ถ้าเห็นเช่นนั้นเองแล้วจะหมดปัญหา จะไม่รักอะไร จะไม่เกลียดอะไร จะไม่กลัวอะไร จะไม่เกิดกิเลสใด ๆ จะไม่เกิดกิเลสบวก กิเลสลบ หรือกิเลสโง่ กิเลสสงสัย ตถาตา น่ะ เห็น ตถาตา คือเห็นตามที่เป็นจริง พอเห็น ตถาตา จิตก็หยุดเปลี่ยนแปลง หยุดการปรุงแต่ง หยุดเป็นไปตามอำนาจของการปรุงแต่ง อะไรปรุงแต่งจิตไม่ได้เรียกว่า อตัมมยตา อตัมมยตา ซึ่งเป็นคำที่เงียบกริบอยู่ในพระไตรปิฎก ไม่ค่อยเอามาพูด ไม่ค่อยเอามาสอนกัน แต่เป็นคำสำคัญที่สุด จิตที่คงที่ไม่เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย คงที่อยู่ในความถูกต้อง เรียกว่า อตัมมยตา
ทั้งหมดนี่มันเป็นผลเนื่องไปจากการเห็น อนิจจตา อนิจจตา เห็นไม่เที่ยงแล้วก็เห็น อนิจจตา แล้วก็เห็น ทุกขตา มันเป็นทุกข์ แล้วก็เห็น อนัตตตา ความมิใช่ตน เห็น ธัมมัฏฐิตตา คือตั้งอยู่ตามธรรมชาติเช่นนั้น แล้วก็เห็น ธัมมนิยามตา ว่ามีกฎของธรรมชาติบังคับอยู่ เห็น อิทัปปัจจยตา ว่ามันต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยของมันเช่นนี้เอง แล้วเห็น สุญญตา ว่างจากตัวตน ว่างจากสิ่งที่เที่ยง แล้วก็เป็น ตถาตา เป็นอย่างนี้ทั้งนั้นไม่เป็นอย่างอื่น แล้วจิตมันก็ไม่ไปติดในอะไรเรียกว่ามัน มันคงที่ ก็เรียกว่า อตัมมยตา พระพุทธเจ้าตรัสไว้เพียงคำเดียวว่า อนิจจตา อนิจ เห็น เห็นความไม่เที่ยง แต่ว่าผลของการเห็นความไม่เที่ยงน่ะถ้าเห็นตลอดสายมันก็เห็นทั้ง ๙ ตาอย่างที่ว่านี่ ๙ ตา อนิจจตา ทุกขตา อนัตตตา ธัมมัฏฐิตตา ธัมมนิยามตา อิทัปปัจจยตา สุญญตา ตถาตา อตัมมยตา คงที่แข็งโก้กอยู่ในความถูกต้อง หรือไม่มีความทุกข์ใด ๆ เป็นพระอรหันต์นะ ถ้าเห็น อตัมมยตา ขั้นสุดท้าย สูงสุดก็เป็นพระอรหันต์ ถ้าเห็น อตัมมยตา ตัวน้อย ๆ ก็ค่อย ๆ ออกมาจากความทุกข์ ค่อย ๆ ออกมาจากโลก จากภพ จากชาติน่ะ จนเหนือภพ เหนือชาติในที่สุด นี่ขั้นที่หนึ่งของหมวดที่สี่ก็เพ่งดู อนิจจตา ความไม่เที่ยง แล้วแต่จะเอาอะไรมาพิจารณาดู ไอ้ดีก็ไม่เที่ยง ชั่วก็ไม่เที่ยง ไม่ดีไม่ชั่วก็ไม่เที่ยง อร่อยก็ไม่เที่ยง ไม่อร่อยก็ไม่เที่ยง ไม่อร่อยก็ไม่ใช่ อร่อยก็ไม่ใช่ ก็ไม่เที่ยง ท่านจะเห็นว่ามันเป็นธรรมชาติของไอ้สิ่งที่มีปัจจัยปรุงแต่งน่ะมันไม่เที่ยง ไม่เที่ยง ไม่เที่ยง ไม่เที่ยง
เอ้า, ทีนี้ก็เลื่อนขั้น เลื่อนชั้นเมื่อเห็นความไม่เที่ยง เมื่อเห็นความไม่เที่ยงนี่มากเข้า ๆ มันก็จะรู้สึกคลาย คลายความยึดมั่นถือมั่น วิราคะ แปลว่า ความจางคลายแห่งกิเลส เราจะเห็นว่า จะรู้สึกว่าความยึดมั่นในสิ่งที่เราเคยยึดมั่นนั้นน่ะจางคลายออก จางคลายออกเพราะว่าเราได้เห็น อนิจจตา เห็นความไม่เที่ยงดังที่กล่าวแล้ว เห็นความไม่เที่ยงพอสมควรแล้วมันจะเกิดความจางคลายแห่งความยึดมั่นถือมั่น ยึดมั่นถือมั่นในเงินทองข้าวของ ทรัพย์สมบัติ บุตร ภรรยา สามี เกียรติยศชื่อเสียงอะไรก็ตามจะคลายออกเพราะเห็นความไม่เที่ยง นี่เป็นข้อที่สอง ขั้นที่สองของหมวดที่สี่
ทีนี้ก็เลื่อนไปถึงขั้นที่สามของหมวดนี้ก็ว่า เมื่อมันคลายออก คลายออก คลายออก คลายออกมันก็หมดสิ มันก็หมด นี่เรียกว่าเห็น นิโรธะ เห็นดับหมดแห่งความยึดมั่นถือมั่น ไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใดโดยประการทั้งปวง จบที่นั่นแหละในทางปฏิบัติ มันจบที่ไม่ ไม่ยึดมั่นถือมั่นสิ่งใด แต่ท่านยังแถมให้อีกขั้นหนึ่งเป็นขั้นที่สี่ของหมวดนี้ก็ว่า รู้ว่า โอ้, จบแล้ว จบแล้ว รู้ว่าหมดแล้ว รู้ว่าจบแล้ว รู้ว่าสิ้นสุดแห่งการปฏิบัติแล้ว ที่ละเอียดลงไปกว่านั้นก็รู้ว่า ฉันโยนทิ้งแล้ว ฉันโยนทิ้งแล้ว ว่านี่ฉันเอามาถือไว้ทุกสิ่งทุกอย่างด้วยความยึดมั่นถือมั่น เดี๋ยวนี้ฉันได้โยนทิ้งออกไปแล้ว เพราะว่าเห็นว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เป็นต้น ก็เรียกว่าเห็นการจบของเรื่อง เห็นการสิ้นสุดของการปฏิบัติ เรียกว่า ปฏินิสสัคคะ ปฏินิสสัคคะ คำนี้แปลว่า โยนกลับ โยนกลับไป โดยอุปมาน่ะ โดยอุปมาเหมือนกับว่า เราเป็นขโมย ไปขโมยเอาของธรรมชาติมาเป็นของกู เป็นขโมย สิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติ เป็นไปตามธรรมชาติขโมยมาเป็นของกู เป็นตัวกู เป็นของกู แต่นี่โยนกลับ คืนให้ธรรมชาติ เลยไม่มีอะไรเป็นของกู ก็ไม่ ก็มันไม่ ก็มันไม่มีตัวกูนี่ มันดับตัวกูเสียได้เพราะมันไม่มีอะไรเป็นของกูนั่นเอง เรียกว่าจบ เรื่องจบ จบกิจ จบพรหมจรรย์ จบกิจ จบการปฏิบัติ การปฏิบัติมันจบที่ตรงนี้ มันเป็นพระอรหันต์ เห็นความจบพรหมจรรย์ซึ่งมีลักษณะเป็นการโยนคืน สลัดปล่อยปลดเพื่อให้มันหมดสิ้นทุกอย่างทุกประการ ก็เรียกว่าชนะ เป็นผู้ชนะ ไม่ไปหลงยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใด ชนะสิ่งทั้งปวงไม่มาหลอกให้ยึดมั่นถือมั่นได้ ไม่เกิดโลภะ โทสะ โมหะ อีก เรื่องมันก็จบ เป็นขั้นที่สี่ของหมวดที่สี่
มันมีอยู่ ๔ หมวด ๆ ละ ๔ ขั้น มันจึงเป็น ๑๖ ขั้น นี่พอปฏิบัติอานาปานสติมันมีเทคนิคละเอียดลออเป็น ๑๖ ขั้นอย่างนี้ ปฏิบัติสติปัฏฐานง่าย ๆ ธรรมดาก็คือว่า คอยตั้งสติไม่ให้ไปเห็นว่าตัวตน เห็นว่า มันสักว่านามรูป สักว่านามรูป สักว่านามรูป สักว่านามรูปเท่านี้ก็เรียกว่า ปฏิบัติสติปัฏฐาน หรือมหาสติปัฏฐาน พูดเป็นวิทยาศาสตร์มันก็เห็นว่าเป็นสสารพลังงานเท่านั้น ไม่มีอะไร สสารเป็นรูป พลังงานเป็นจิต มีเท่านั้น เดี๋ยวนี้ในภาษาธรรมะนี้เราก็ว่า มันเห็นแต่ สักว่ามีแต่นามรูป นามรูป ความรู้สึกอะไรเกิดขึ้นก็เห็นว่า สักแต่นามรูป วัตถุอะไรเข้ามาสักแต่นามรูป ถ้าง่าย ๆ อย่างนี้เรียกว่า สติปัฏฐาน แต่ถ้าเรียกว่าอานาปานสติแล้วต้องแตกเป็น ๔ หมวด ๆ ละ ๔ ขั้น ๑๖ขั้น ศึกษาเรียนรู้ปฏิบัติทั้ง ๑๖ ขั้นก็เรียกว่า อานาปานสติ
ทีนี้เราก็จะดู สรุปทั้ง ๔ หมวด สรุปกันทั้ง ๔ หมวด เดี๋ยวนี้เรามีอำนาจเหนือสิ่งทั้ง ๔ คือเหนือกาย ควบคุมกายได้ เหนือเวทนา ควบคุมเวทนาได้ เหนือจิต ควบคุมจิตได้ เหนือธรรมชาติอันหลองลวง ควบคุมธรรมชาติอันหลอกลวงไม่ยึดมั่นถือมั่นได้ เหนือกาย เหนือเวทนา เหนือจิต เหนือธรรมะอันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ หมดปัญหา ๔ ประการนี้แล้วก็หมดปัญหาโดยประการทั้งปวงน่ะ ไม่มีทางจะเกิดทุกข์ เดี๋ยวนี้มีสติสมบูรณ์ว่องไว สัมปชัญญะ มีปัญญา พร้อมที่จะใช้ในการปฏิบัติ หลักสำคัญคือไม่เห็นอะไรเป็นตัวตน ควบคุมไม่ให้เกิดความรู้สึกว่าตัวตน ในอายตนะทั้ง ๖ ก็ดี ในขันธ์ทั้ง ๕ ก็ดี ในปฏิจจสมุปบาททั้ง ๑๒ อาการก็ดีนั้นน่ะ มันสามารถที่จะควบคุมไว้ได้ มีจิตเข้มแข็ง มีกำลังอยู่เหนือความหลอกลวงของสิ่งที่เป็นคู่ ๆ ในโลกนี้ทั้งหมดนี้มันมีแต่ของเป็นคู่ ๆ ซึ่งมีความหลอกลวง นับตั้งแต่เรื่องดี เรื่องชั่ว เรื่องบุญ เรื่องบาป เรื่องสุข เรื่องทุกข์ เรื่องนรก เรื่องสวรรค์ เรื่องได้ เรื่องเสีย เรื่องแพ้ เรื่องชนะ เรื่องกำไร เรื่องขาดทุน เรื่องได้เปรียบ เรื่องเสียเปรียบ กระทั่งว่าเป็นหญิงหรือเป็นชายนี่ เป็นคู่ ๆ คู่ ๆ เหล่านี้ คู่ ๆ แต่ละคู่มันมีอันหลอกให้หลงบวก อันหลอกให้หลงลบ มันก็หลงบวก หลงลบ เป็นบ้าโดยไม่รู้สึกตัว แต่เป็นบ้าชนิดนี้มันไม่ ไม่มีอาการแสดงเหมือนกับบ้าธรรมดา มันบ้าบวก บ้าลบ บ้าดี บ้าชั่ว ไอ้ดีหรือชั่วนั้นควรจะต้องเข้าใจว่า ถ้าดีจริงนั่นคือเหนือดี ถ้ายังเห็นว่าดีมันยังหลงรัก มัน มันเป็นบ้าดีและเป็นบ้าจริงขึ้นมา คน คนบ้าดีนอน นอนไม่หลับหรอก ถ้าไม่บ้าดี ไม่บ้าชั่ว ไม่หลงดี ไม่หลงชั่ว ไม่หลงนรก ไม่หลงสวรรค์ สวรรค์ก็เป็นที่ตั้งแห่งความหลง ไอ้นรกก็ไม่ไหว นี่เรียกว่าอย่าหลงบวก อย่างหลงลบ อย่าหลงที่น่ารัก อย่าหลงในสิ่งที่ไม่น่ารัก เป็นคู่ ๆ อย่างนี้ สรุปแล้วมันได้ผลมีความรู้ชนิดที่ของเป็นคู่ ๆ มันหลอกลวงไม่ได้อีกต่อไป มันไม่เกิดกิเลสใหม่ มันไม่เกิดกิเลสใหม่ แต่มันมีสติถึงขนาดนี้ ชนะทั้งสี่หมวดอย่างนี้ มันไม่เกิดใหม่ เมื่อไม่เกิดใหม่ ไม่เกิดใหม่ อนุสัยภายในสันดานก็ลด ลด ลด หมดอนุสัยก็เป็นพระอรหันต์ได้เหมือนกัน ประพฤติพรหมจรรย์มีลักษณะอย่างนี้ จบลงด้วยความเป็นนายเหนือสิ่งทุกสิ่ง ไม่เป็นทาสของสิ่งใด นี่สรุปความของการปฏิบัติ ๔ หมวดหรือ ๑๖ ขั้น
เอ้า, มาดูอานิสงส์กันหน่อยเป็นสุด สุด สุด สุดท้ายว่า ถ้ามีอานาปานสติสมบูรณ์ สติปัฏฐานทั้ง ๔ จะสมบูรณ์ เราปฏิบัติอานาปานสติ ๑๖ ขั้นให้สมบูรณ์แล้วสติปัฏฐานทั้ง ๔ อันมหาศาลน่ะสมบูรณ์หมดแหละ สติปัฏฐานสมบูรณ์แล้ว โพชฌงค์ โพชฌงค์ องค์แห่งความตรัสรู้ก็สมบูรณ์ ทีนี้โพชฌงค์องค์แห่งการตรัสรู้สมบูรณ์แล้ว วิชชาและวิมุติก็สมบูรณ์ นั่นก็เป็นพระอรหันต์หรือจบที่พรหมจรรย์ แม้ว่าเราจะไม่ขึ้นไปถึงขั้นสมบูรณ์มันก็มีประโยชน์เหลือหลาย แม้ครึ่งค่อนนี้ก็มีประโยชน์เหลือหลาย เดี๋ยวนี้ไม่มีความทุกข์ ไม่มีความทุกข์ สามารถที่จะมีความสงบสุข เย็นน่ะ สงบเย็นน่ะได้เต็มที่แล้วก็มีประโยชน์แก่ผู้อื่น มันได้อย่างเต็มที่ มันสงบความฟุ้งซ่าน สงบความกระวนกระวาย ความปรุงแต่ง สงบจิต สงบกาย แม้แต่ห้ามเลือด เลือดไหลออกมาด้วยบาดแผลนี่เมื่อทำอานาปานสติให้จิตสงบลงอย่างนี้เลือดจะไหลออกน้อยหรือว่ามันหยุดไหล อย่างนี้เป็นต้น มันมีผลทั้งทางฝ่ายร่างกายและทั้งทางฝ่ายจิตใจ นี้ทั้งหมดนี้เรียกว่า ผลของอานาปานสติ มีสติกำหนดในธรรมที่ควรกำหนดอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก ตามเทคนิค ๑๖ ขั้น ๓ หมวด ๔ หมวด ๆ ละ ๔ ขั้นเป็น ๑๖ ขั้น ถ้าท่านได้รับความรู้เรื่องนี้เพียงพอแล้วมันก็ปฏิบัติง่าย ควรจะมีความรู้เรื่องนี้น่ะ ศึกษาเรื่องนี้ให้แตกฉานทั่วถึงได้จะปฏิบัติอานาปานสติง่าย ถ้าถึงอย่างนั้นภายในสิบวันไม่จบล่ะ ภายในสิบวัน เก้าวันสิบวันไม่จบ ต้องปฏิบัติต่อไป ปฏิบัติพอเป็นรู้หนทางว่าจะปฏิบัติอย่างไร กลับไปที่บ้านแล้วก็ปฏิบัติต่อ ปฏิบัติต่อ ปฏิบัติจนตลอดชีวิตก็จะได้รับผลที่สูงสุดในพระพุทธศาสนา มีความรู้ถูกต้องถึงที่สุด ปฏิบัติถูกต้องถึงที่สุด ได้รับผลของการปฏิบัติถูกต้องถึงที่สุด นี่รู้แนว รู้ทางว่าจะต้องไปอย่างนี้ แล้วก็เดินไปตามทางนั้นอย่าหยุดหย่อน อย่าหยุด อย่าหย่อน หมายความว่าอย่าโลเล นี้เรียกว่าเรื่องอานาปานสติ เมื่อท่านรู้จักไอ้เรื่องปัญหา ตัวปัญหา ตัวความทุกข์และเหตุให้เกิดทุกข์แล้ว ทีนี้ก็ปฏิบัติอานาปานสติเพื่อสามารถตัดต้นเหตุของความทุกข์ เรารู้เรื่องที่จะทำว่าทำอย่างไรแล้วทำไม่ได้ ทีนี้เราก็ทำให้มันทำได้ด้วยการฝึกอานาปานสติ มันจะตัดกิเลสได้ ตัดกิเลสได้ ตัดตัวตนได้ ดับทุกข์ทั้งปวงได้ นี่เป็นของคู่กัน เรื่องความรู้กับเรื่องปฏิบัติสองสิ่งนี้เป็นของคู่กัน คือรู้แล้วปฏิบัติ ปฏิบัติแล้วไม่ไปไหนเสีย ผลต้องได้ ผลต้องได้ผล ไม่ไปไหนเสีย แม้แต่เป็นว่าขอให้ท่านจัดการ จัดเวลา จัดอะไรก็ให้ถูกต้องตามนี้แหละในระหว่างที่เข้าค่ายปฏิบัติธรรมะที่ ที่ ที่ค่ายนี้น่ะ เป็นจัดการปรับปรุงให้ทุกสิ่งมันเป็นไปตามนี้ ศึกษาเรื่องทุกข์และเหตุให้เกิดทุกข์ แล้วก็ปฏิบัติเพื่อให้มันดับเสียได้ตามหลักการ หลักวิชาอันนั้น ขอให้รู้ไว้ว่ามันเป็นสองเรื่องอยู่เสมอไป คือ รู้ ๆ ๆ แล้วก็ปฏิบัติให้ได้ตามที่รู้ มันมีสองเรื่องเท่านี้ หวังว่าท่านทั้งหลายคงจะมีความพอใจ มีศรัทธา มีความกล้าหาญเพียงพอที่จะปฏิบัติ อย่าท้อถอย ก็จะประสบความสำเร็จในการได้รับสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ ไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์ได้พบพระพุทธศาสนา ขอให้มีความสำเร็จตามความประสงค์ดังนี้ด้วยกันจงทุกคนเทอญ