แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านสาธุชนผู้มีความสนใจในธรรมทั้งหลาย อาตมาขอแสดงความยินดีในการมาของท่านทั้งหลายสู่สถานที่นี้ ในลักษณะอย่างนี้ คือ มาแสวงหาความรู้ทางธรรมะ เพื่อนำไปใช้ประกอบในหน้าที่การงานของตนๆ ให้สำเร็จประโยชน์ยิ่งๆ ขึ้นไป
ขอทำความเข้าใจกันสักนิดในเรื่องที่เรามาพูดกันในเวลาอย่างนี้ ด้วยเวลา ๕ น. เป็นเวลาที่เหมาะสม สำหรับฟัง สำหรับคิด สำหรับจำ สำหรับอะไรทุกอย่างเกี่ยวกับธรรมะ เพราะเป็นเวลาที่จิตมันพร้อม มันใหม่ มันได้พักผ่อนมาเต็มที่ หรือตามสมควรแล้ว มันก็เข้มแข็ง เบิกบาน ร่าเริง แจ่มใส สดชื่น เป็นเวลาที่ดอกไม้ในป่านี้ก็เริ่มบาน สัตว์เดรัจฉานก็ดูว่าตื่นแล้วก็แสดงอาการพร้อมที่จะทำงานในวันใหม่ พระพุทธเจ้าท่านก็ได้ตรัสรู้ในเวลาอย่างนี้ คือ เวลาหัวรุ่ง หรือจะใกล้รุ่งอย่างนี้ และยังเชื่อว่าแม้พระศาสดาในศาสนาอื่น ก็จะต้องยังมีอีก เราจึงถือเอาโอกาสนี้ เรียกกันโดยอุปมาว่า น้ำชายังไม่ล้นถ้วย ถ้วยชายังว่าง ยังเติมน้ำชาลงไปได้ จึงได้ผลกว่าที่จะรอให้สาย หรือกลางวัน หรือตอนบ่าย ซึ่งน้ำชามักจะล้นถ้วย
สำหรับอาตมาเองก็มีเหตุผลนิดหน่อยว่าไม่มีแรง เวลาที่จะมีแรงพอจะพูดจาอะไรได้ก็เป็นเวลาตอนนี้ด้วยเหมือนกัน แต่อยากจะขอเสนอเป็นเรื่องของธรรมชาติทั่วๆ ไป ขอให้ฝึกการใช้โลกเวลา ๕ น. นี้ให้เป็นประโยชน์ เป็นการเพิ่มเวลาในชีวิตออกไปอีกอย่างน้อยก็หนึ่งชั่วโมง เราก็ได้เปรียบที่ว่ามีเวลาอายุยืดยาวไปหนึ่งชั่วโมง แทนที่จะเอาไปนอนหลับเสีย เอามาใช้ศึกษาธรรมะ มันมีคุณค่ามากกว่ากันมากนัก ควรจะฝึกให้เป็นนิสัยว่าถึงเวลา ๕ น. นี่ ใช้โลกเวลา ๕ น. ให้เป็นประโยชน์ที่สุด จะนึก จะคิด อะไรก็ได้ จะบันทึกอะไรก็ได้ ทำได้ดีกว่าเวลาอย่างอื่น ถ้าทำเป็นปกตินิสัยมันจะมีผลมากทีเดียว กว่าจะสิ้นอายุขัย เวลามันมากเพิ่มขึ้นอีกวันละชั่วโมง สองชั่วโมง เป็นเหมือนกับนาทีทอง ซึ่งใช้ประโยชน์ได้มาก นี้ก็ขอทำความเข้าใจด้วย
ทีนี้ก็มาถึงเรื่องที่จะพูดกัน อาตมาได้รับคำบอกกล่าวว่า ท่านผู้ฟังกำหนดหัวข้อมาว่า เรื่องธรรมเทคนิค เทคนิคของธรรมะ หรือเทคนิคที่เกี่ยวกันกับธรรมะ หัวข้อนี้ก็มีความหมาย และก็พูดจากันได้ ขอให้พยายามทำความเข้าใจ คงจะมีประโยชน์คุ้มค่าของเวลา
ที่พูดว่าเทคนิคของธรรมะ หรือเทคนิคเกี่ยวกับธรรมะ ดูมันจะเป็นคำพูดที่ยังไม่สมบูรณ์หรอก เพราะว่าไอ้ตัวธรรมะมันเป็นตัวเทคนิคเสียเอง ตัวธรรมะนั่นแหละขอให้ศึกษาให้เข้าใจเถอะ มันเป็นตัวเทคนิคเสียเอง ทุกอย่าง ทุกชนิด ทุกระดับ ทุกเวลา ถ้ามันเป็นธรรมะขึ้นมาเมื่อไร มันจะเป็นเทคนิคเมื่อนั้น ใช้ธรรมะเมื่อไร ธรรมะจะเป็นเทคนิคเมื่อนั้นทันที แต่ก็เราก็ไม่ค่อยเข้าใจ แม้ในภาษาพูดตามธรรมดา ในบ้านในเมืองก็เหมือนกัน เขาจัดบางเรื่องเป็นเทคนิค บางเรื่องไม่เป็นเทคนิค ใช้คำว่าเทคนิคแต่บางเรื่อง หรือบางกรณี ข้อนี้มันยังไม่ตรงตามความจริงอยู่มาก เพราะทุกอย่างมันมีเทคนิคโดยเฉพาะ เพียงแต่ว่าจะรู้ หรือจะไม่รู้เท่านั้นแหละ ทุกอย่างมันมีเทคนิค
ทีนี้ก็จะพูดถึงคำว่า เทคนิค เป็นคำภาษาฝรั่งแปลว่าอะไรก็ไม่รู้ แต่ว่าถ้าเราจะเอาแต่ใจความสำคัญใคร่ครวญดูใจความที่สำคัญ ก็จะพบความหมายที่แท้จริงของมันว่า มันตรงกับคำภาษาไทยเราว่า เคล็ด ขอให้ท่านพยายามทำความเข้าใจคำพูดในภาษาไทย ง่ายๆ โง่ๆ ของเด็กๆ กันว่า เคล็ด และก็ทุกอย่างมันมีเคล็ดอยู่แล้ว หรือว่าเราจะทำให้มีขึ้นมา ได้ทั้งนั้นน่ะถ้าทำถูกกับเคล็ดของมัน ก็เรียกว่ามันมีเทคนิค คือมันมีผลพิเศษออกไป คือมันช่วยให้ได้ผลมากกว่าธรรมดา มีความง่ายมากกว่าธรรมดา มีความเร็วมากกว่าธรรมดา มีความปลอดภัยในการกระทำนั้นยิ่งกว่าธรรมดา มันมีการประหยัดต้นทุนมากกว่าธรรมดา มันจะมีลักษณะอัตโนมัติมากขึ้น คือสำเร็จได้โดยง่ายในตัวมันเองมากขึ้น นี่เรียกว่า เคล็ด ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย มีผลมาก มีความง่าย มีความเร็ว มีความปลอดภัย มีการประหยัด มีความเป็นอัตโนมัติมากขึ้น ถ้ามันถูกกันกับเคล็ด
ไม่ว่าอะไร มันมีเคล็ด แม้แต่สิ่งที่พูดในภาษาไทยว่าง่ายเหมือนปลอกกล้วย แต่มันก็ยังมีเคล็ดนะ คุณลองคิดดู การปลอกกล้วย จุดตั้งต้นที่ตรงไหน จับที่ตรงไหน ตั้งต้นที่ตรงไหน มันได้ผลดีกว่า ง่ายกว่า เร็วกว่า มันก็ยังมีเคล็ด แม้แต่การปลอกกล้วยใส่ปาก มันมีเคล็ด ฉะนั้นเราจึงควรจะรู้จักสิ่งที่เรียกว่าเคล็ดกันให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ แล้วก็ใช้มันให้เป็นผลดีที่สุด แม้แต่สิ่งที่ง่ายๆ เช่นว่าคันขึ้นมาจะเกา จะเกาอย่างไรจะได้ผลดี มันผิดกันมากแหละ ถ้ารู้จักเกากับไม่รู้จักเกา มันก็ได้ผลดีกว่ากันมาก ฉะนั้นใครจะว่าอย่างไรก็ไม่ทราบ แต่อาตมาขอแปลคำ เทคนิค นี้ว่า เคล็ด ถ้าเป็นภาษาบาลี ก็มีคำว่า อุปายะวิธี วิธีเครื่องเข้าไปสู่ความสำเร็จ วิธีเครื่องนำเข้าไปสู่ความสำเร็จนี้เรียกว่า เคล็ด
เรายังมีคำพูดอีกคำหนึ่งที่เรียกว่า เทคโนโลยี อันนี้มันก็เนื่องกันแหละ มันก็คือวิธีรู้จักใช้เคล็ดนั่นแหละ จะในเรื่องอะไรก็ตามใจ มันมีเรื่องเทคโนโลยีเช่นเดียวกับเทคนิค มันมีเทคนิค มันก็ต้องมีเทคโนโลยี คือวิธีที่ใช้เทคนิคอย่างนั้นให้สำเร็จประโยชน์ ถ้ามันแยกกันอยู่ มันก็ยากที่จะมีประโยชน์ มันต้องมีเคล็ดและมีการรู้จักใช้เคล็ด ความเป็นไปในชีวิตจะราบรื่น หรือบางทีจะสนุกสนานไปเสียอีก และเป็นผลดี นี่คำว่าเทคนิค อาตมาถือว่ามีความหมายอย่างนี้
ที่นี้ก็มาถึงคำว่าธรรมะๆ ขึ้นชื่อว่าธรรมะแล้วมันมีเทคนิคอยู่ในตัวมันทั้งนั้น ลองไปใช้ธรรมะเข้าเถอะ เมื่อไร ที่ไหน อย่างไร เท่าไรก็ตามเถอะ มันจะมีเคล็ด หรือมีเทคนิคขึ้นมาทันที มันมีของมันโดยเฉพาะ ถ้าไม่ไปใช้ ไม่ไปทำเข้า มันก็เหมือนกับไม่มี แต่พอไปทำเข้ามันก็มีๆ พอใช้มันก็มีเทคนิค พอไม่ใช้มันก็ไม่มีเทคนิค หรือว่าเหมือนกับว่ามันไม่อะไร ความเป็นเทคนิคมีอยู่ในตัวสิ่งที่เรียกว่าธรรมะ เพราะธรรมะๆ คำนี้ คือ ความถูกต้องสำหรับจะแก้ปัญหา สำหรับจะดับปัญหา หน้าที่ที่ถูกต้องสำหรับจะดับทุกข์คือ ธรรมะ
ครูในโรงเรียนสอนลูกเด็กๆ แต่เพียงว่า ธรรมะคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แล้วบางทีก็ไม่ได้บอกว่าสอนว่าอย่างไร ข้อนี้มันผิดความจริง เพราะว่าในประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นเจ้าของเดิมภาษานี้ ธรรมะๆ แปลว่า หน้าที่ๆ จะเป็นคำสั่งสอนของศาสดาในลัทธิไหนก็ตามเถิด เรียกว่าธรรมะๆ ทั้งนั้น ธรรมะของศาสดาชื่อนี้ ธรรมะของศาสดาชื่อนั้น เพราะว่าทุกศาสดาสอนเรื่องหน้าที่ หน้าที่ที่จะช่วยให้เกิดความรอด ที่จะเอากันให้สั้นๆ ที่สุด ธรรมะๆ นี้ก็คือหน้าที่ที่ถูกต้องที่จะช่วยเกิดความรอด ถ้าจะขยายความออกไปสักหน่อย ซึ่งอาตมาถือว่าสมบูรณ์ที่สุด ก็ว่าธรรมะคือ ระบบปฏิบัติที่ถูกต้องแก่ความรอดทั้งทางกายและทางจิตทุกขั้นตอนแห่งชีวิตทั้งเพื่อตนเองและผู้อื่น คำพูดมันยืดยาว แต่ความหมายมันนิดเดียวแหละ
ระบบปฏิบัติ หมายความว่าต้องเป็นระบบ ไม่ใช่อย่างเดียวข้อเดียว มันต้องครบระบบของมันในการปฏิบัติธรรมะใดๆ ระบบนั้นต้องปฏิบัติ ไม่ใช่เพียงแต่เรียนๆ ท่องๆ จำๆ จดๆ ระบบปฏิบัติมันต้องถูกต้อง คือสำเร็จประโยชน์ ถ้าไม่สำเร็จประโยชน์ไม่เรียกว่าถูกต้อง ไม่เอาล่ะ ไม่ต้องเอาหลักการทางไอ้ Logic ทาง Philosophy ทางอะไรมาใช้ให้เสียเวลา แค่ให้ว่าถูกต้องแก่การดับทุกข์หรือไม่เท่านั้น ถ้าไม่ถูกต้องแก่การดับทุกข์ ก็ไม่ถูก ถ้าถูกต้องแก่การดับทุกข์ มันก็ถูก ฉะนั้นเราไม่ต้องถามว่า สอนผิดหรือสอนถูก ดูที่ว่ามันดับทุกข์หรือไม่ ถ้าดับทุกข์ได้มันก็ถูก ถูกต้องนี้ถูกต้องแก่ความรอด ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางของทุกลัทธิ ทุกศาสนา ทุกสิ่งที่มนุษย์มันต้องการ ในโดยสรุปแล้วมันเพื่อความรอด รอดจากปัญหา รอดจากความทุกข์ และต้องให้ครบทั้งทางกายและทางจิต ถูกต้องแก่ความรอดทั้งทางกายและทางจิต แล้วก็ต้องทุกขั้นตอนแห่งชีวิต นับตั้งแต่ออกจากท้องมารดาจนเข้าโลง มันจะเป็นขั้นตอนไหนก็ตาม มันก็มีความถูกต้อง แล้วก็ขอให้ทั้งเพื่อตนเองและผู้อื่น เพราะว่าเราอยู่คนเดียวในโลกไม่ได้ ถ้าเขาจะมอบหมายให้เราอยู่คนเดียวในโลก ไม่กี่นาทีมันก็ตายแล้ว อยู่ไม่ได้ มันต้องอยู่กันอย่างครบถ้วน อย่างที่เห็นๆ กันอยู่นี้ มีคน มีสัตว์ มีต้นไม้ต้นไร่ มีทุกสิ่งทุกอย่างครบถ้วน และทำงานสัมพันธ์กันอยู่ตามสมควร มันจึงจะอยู่ได้ ดังนั้น จึงต้องมีความคิดไปถึงผู้อื่นด้วย มันจึงจะสมบูรณ์
ย้ำอีกทีว่า ธรรมะ คือระบบการปฏิบัติที่ถูกต้องแก่ความรอดทั้งทางกายและทางจิต ทุกขั้นตอนแห่งชีวิต ทั้งเพื่อตนเองและผู้อื่น ก็ดู มันเป็นเทคนิคกี่มากน้อยล่ะ เพียงแต่คำบัญญัติชื่อมันแสดงความเป็นเทคนิคกี่มากน้อย ท่านทั้งหลายก็ลองคิดดูเอาเองว่า ธรรมะมันเป็นเทคนิคมีอยู่ในตัวธรรมะนั้น
เทคนิคก็คือธรรมะ ธรรมะก็คือเทคนิค เพราะสิ่งที่เรียกว่าธรรมะมันมีเทคนิคสมบูรณ์ๆ แม้ไม่ใช่เรื่องธรรมะ เรื่องโลกๆ นี่ก็มันก็ต้องสมบูรณ์ ทุกสิ่งมันมีเทคนิค ท่านจะไปหาปู หาปลา แม้แต่จะขุดปู จับปู มันก็มีเทคนิค ไม่มีเทคนิคมันไม่เคยสำเร็จประโยชน์ อย่าว่าอะไรมาก แม้จะไปหาปู หาปลา ทำเรือกสวนไร่นา มันก็มีเทคนิค นี้เรื่องทางโลกๆ ถ้าเรื่องของธรรมะแล้วยิ่งจำเป็นที่จะต้องมีเทคนิค เทคนิคนี่มันมีได้ทั้งโดยธรรมชาติ มีอยู่ตามธรรมชาติ เช่นว่าจะขุดปู เทคนิคมันมีอยู่ๆ มนุษย์รู้ไม่รู้ก็ตามใจ ถ้ารู้ก็ทำได้ แม้จะจับปลา แม้จะไปตีผึ้ง จับเอาน้ำผึ้ง มันก็มีเทคนิคโดยธรรมชาติของมันอยู่ รู้หรือไม่รู้ก็ตามใจ ถ้ารู้ก็ทำได้ดี นี่เทคนิคมันมีอยู่ตามธรรมชาติ
แม้แต่ว่าเกี่ยวกับคนเรานี่ มันมีเทคนิคมาตั้งแต่เกิด เด็กทารกมันต้องรู้จักดิ้น รู้จักเคลื่อนไหว รู้จักทำความเจริญขึ้นมาตามลำดับ โดยมันมีเทคนิค ถ้ามันจะนั่ง เด็กทารกมันนั่งไม่ได้นะ มันต้องโตขึ้นมาพอสมควรมันจึงรู้จักการนั่งขึ้นมา มันต้องรู้จักทำ Balance ครบถ้วนทุกอย่าง อย่างนั้นอย่างนี้ มันจึงจะนั่งอยู่ได้ พอมันจะยืน มันก็ยังมีเทคนิคมากขึ้นไปอีก มันจึงยืนได้ ไม่ล้ม มันคอยแต่จะล้ม ไอ้เด็กๆ มันก็รู้จักทำตามธรรมชาติ ตามที่เขาช่วยสอนให้บ้าง นำไป แต่มันก็เป็นเรื่องของธรรมชาติ มันก็ยืนได้ กว่ามันจะเดินได้ มันรู้จักมากขึ้นไปอีก รู้จักทำความสมดุล ให้มันไม่ล้ม ให้มันย่างไปได้ เดินไปได้ มันเป็นเทคนิคร้อยเปอร์เซ็นต์เหมือนกันแหละ เพราะมันยังเป็นเรื่องของเด็กๆ และถ้ามันจะวิ่ง นี่มันก็ยิ่งต้องมีความรู้ในเรื่องนี้มาก มันจึงจะวิ่ง ทำอะไรได้ทุกอย่างๆ เพิ่มขึ้นๆ โดยธรรมชาติ ทีนี้เราไม่สนใจ แล้วเราก็ไม่เรียกว่าเทคนิค ก็เพิ่งไปบ้า ไปตามก้นฝรั่ง เมื่อเขาเอาคำนี้มาให้ใช้ จึงจะรู้จักใช้ รู้จักพูด แต่ที่จริงมันมีอยู่ในตัวธรรมชาติ อยู่ในตัวธรรมชาติอย่างยิ่ง แน่นอัดอยู่ในตัวธรรมชาติทุกๆ ประการ เรามองไม่เห็น ไม่รู้จักบัญญัติ มันจึงมีทั้งที่เรามองเห็นและมองไม่เห็น แล้วเราก็มองเห็นมากขึ้น แล้วเราก็เอาไปใช้ในทุกๆ อย่าง ทุกๆ วิธี
การที่ไปบัญญัติเฉพาะเรื่อง เฉพาะวิชา ว่าวิชาเทคนิคอย่างนี้ มันหลับตา เพราะมันมองไม่เห็นไอ้ส่วนที่ลึกโดยพื้นฐานว่ามันเป็นเทคนิคอยู่แล้ว ไม่ใช่มีเฉพาะวิชาในโรงเรียนเทคนิคอย่างเดียว มันมีด้วยทุกแขนงวิชา ไม่ว่าวิชาอะไร เพราะว่ามันต้องมีตั้งแต่เด็กสอนเดิน สอนนั่งสอนเดินขึ้นมานี้ เราจะต้องรู้จักใช้ รู้จักมี รู้จักมีเทคนิค รู้จักใช้เทคนิค ให้ถูกต้องมาตามลำดับ อย่างการศึกษาอย่างนี้ โดยเฉพาะธรรมะนี่ๆ ท่านจะต้องมีความสนใจ ถ้าความสนใจไม่เกิดเพราะความโง่ก็ดี เพราะความไม่รู้อะไรซะเลยก็ดี ไม่ได้ยินไม่ได้ฟังอะไรซะเลยก็ดี ไม่มีความสนใจ ไม่มีความหิวที่จะรู้ มันก็ไม่ต้องเรียน มันต้องเริ่มขึ้นมาด้วยความสนใจๆ สนใจเพราะอยากจะรู้ เพราะทนอยู่ไม่ได้ เพราะมีปัญหามันบีบคั้นอยู่ มันจึงสนใจหาความดับทุกข์ ก็ต้องสนใจแล้วก็เรียน ไม่สนใจมันไม่เรียน ถ้าสนใจมากมันก็เรียนมาก มันก็เรียนๆ เรียนแล้วมันก็เข้าใจ พอเข้าใจจริงมันก็คือรู้ รู้ พอรู้ก็เท่ากับว่ามี มีอยู่ ธรรมะมีอยู่ แล้วก็ใช้ธรรมะนั้น ใช้ธรรมะนั้นตามกรณีที่จะต้องใช้ คือมันทุกกรณี ในที่สุดก็กล่าวได้ว่า เราอยู่กับธรรมะ ในภาษาบาลีเรียกว่า วิหารธรรม การอยู่กับธรรมะ มีธรรมะเป็นเครื่องอยู่นี้เรียกว่า วิหารธรรม
ขอทบทวนอีกทีว่า มันจะต้องมีเทคนิคกันกี่มากน้อยในการศึกษาธรรมะ สนใจ เป็นข้อแรก แล้วก็เรียนตามวิธีที่จะต้องเรียน แล้วมันก็ค่อยๆ เข้าใจ ค่อยๆ เข้าใจ ถ้าเข้าใจแล้วไม่ต้องกลัว มันจำได้แหละ จำได้มันรวมอยู่ในคำว่าเข้าใจ ถ้าเข้าใจมันก็คือยิ่งกว่าจำได้เสียอีก แล้วมันก็รู้จริง รู้จริงคือรู้ธรรมะ มันก็ได้ชื่อว่ามีธรรมะอยู่กับเนื้อกับตัว มีธรรมะ มีก็ใช้ เหมือนกับมีเงิน มีของ มีอะไรก็ใช้ ก็ใช้ธรรมะ ใช้อยู่ในทุกๆ อย่าง ในทุกๆ กรณี กระทั่งว่ามีชีวิตอยู่กับธรรมะ มีชีวิตอยู่กับธรรมะนั่นแหละเป็นจุดประสงค์ เป็นวัตถุประสงค์ที่เราจะได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่สมบูรณ์จากธรรมะ เรามองไม่เห็นๆ เราไม่เคยมอง เราทำไปตามธรรมเนียม หรืออะไรก็ว่ามา ก็ยากที่จะกล่าว แล้วมันก็ไม่สมบูรณ์ เมื่อสมบูรณ์มันจะต้องเป็นอย่างนี้ จะต้องสนใจ จะต้องเรียน จะต้องเข้าใจ จะต้องรู้ แล้วก็มีๆ ๆ ๆ ใช้ๆ ๆ นี่เรียกว่ามีชีวิตอยู่กับธรรมะ มันมีความลับของมันโดยเฉพาะทุกขั้นตอนๆ ถ้าเราโชคดี ได้รับการสั่งสอนอบรมแวดล้อมอะไรมาดี เราสามารถกระทำได้ทุกขั้นตอน ก็จะประสบความสำเร็จโดยไม่ต้องสงสัย
คนแต่ละคน มันก็มีวัยของมันเองตามธรรมชาติ จนมาเข้ารูปเข้ารอย อย่างที่กำลังมีอยู่ เป็นอยู่ ในปัจจุบันนี้ ใช้คำว่า วัย ดีกว่า วัย มันเป็นวัยๆ ๆ ๆ ระยะกาลแห่งเวลาพอที่จะกำหนดได้ความหมายว่ามันเป็นวัย คือระยะเวลาที่จะทำอะไรๆ วัยร่าเริง วัยเล่าเรียน วัยรัก มีความร้อนและนรกรวมอยู่ด้วย แล้วก็วัยรวย เรียนแล้วก็ทำงานแล้วก็รวย ก็มีสิ่งที่เป็นผลงาน แล้วก็มีความร่มเย็น นี่เราได้ใช้วัยเหล่านี้อย่างถูกต้องหรือเปล่า บางทีเราก็ทำไม่ได้ หรือไม่รู้จักทำ เป็นเด็กๆ ใช้คำว่าวัยร่าเริง โดยเฉพาะเด็กทารก เด็กทารกนั้นน่ะมันใช้คำว่ายังมีบุญเต็มที่ มีแต่ความร่าเริง พอใช้ให้เขาทำอะไร ใช้ให้เขาทำอะไรนี่ก็สนุกไปหมดแหละ ไอ้เด็กทารกอ้อแอ้ๆ นั้นน่ะ ใช้ให้มันทำอะไรมันก็เป็นเรื่องสนุกไปหมด ใช้ให้เก็บของ มันก็เล่นสนุกกันไปหมด ใช้ให้มันกวาดขยะ มันก็สนุกไปในการกวาดขยะ เล่นหัวหยอกล้อ ใช้ให้มันถูเรือนมันก็สนุกสนาน สรวลเสเฮฮา ไปใช้ให้ทำอะไร ใช้ขนอิฐมันก็สนุก ใช้ขนฟืนมันก็สนุก นี่วัยมันร่าเริง มันทุกข์ไม่เป็นๆ ไอ้เรื่องหิวมันเป็นธรรมดา หิวก็ต้องกิน แต่ทารกก็มีบุญ มีของขวัญอยู่อย่างหนึ่งว่า มันไม่เป็นทุกข์ มันมีแต่ร่าเริง เราไปใช้ให้ทำอะไรมันก็สนุกไปหมด แม้แต่จะแรกเรียน ก. ข. มันก็สนุกไปหมด มันเป็นของเล่นไปหมด มันเรียกว่าทารกนี่เป็นวัยร่าเริง
พอมันโตขึ้นมา โตขึ้นมาหน่อย มันค่อยๆ สูญเสียความร่าเริง มันมาสู่การเรียน มันก็มีเรื่องลำบาก หนักอกหนักใจ จำไม่ได้ อะไรไปตามเรื่องของมัน นั่นเป็นวัยเรียน แล้วมันก็เรียนจนเป็นวัยรุ่น จนเป็นหนุ่มสาว มันเรียนกว่าจะจากเด็กเล็กเป็นเด็กโต เด็กวัยรุ่น คนหนุ่มสาว มันก็มีเรื่องเรียน มีเรื่องเล่าเรียน ร่างกายโตเต็มที่ ต่อมแกลนด์ในอวัยวะในภายในก็โตเต็มที่ มันเกิดความรู้สึกทางเพศ มันก็เป็นวัยที่มีความรัก แล้วมันก็แบ่งได้เป็นว่า รักอย่างโง่ๆ หรือรักอย่างฉลาด รักอย่างธรรมะ หรือรักอย่างปราศจากธรรมะ ถ้ามันโง่มันเป็นเรื่องกามารมณ์ล้วนๆ มันก็เป็นวัยร้อนรวมอยู่ด้วย ร้อนเหมือนกับตกนรกทั้งเป็นรวมอยู่ด้วย เรียกว่าวัยนรก วัยร้อน วัยนรกรวมอยู่ในวัยรัก นี่เทคนิคของธรรมชาติเป็นอย่างนี้ ถ้าผ่านไปได้มันก็ดี ก็เป็นโชคดี ถ้าผ่านไปได้มันก็โชคดี ผ่านไปไม่ได้ มันก็คือวัยนรกหรือวัยร้อนรวมอยู่ที่นั่น
เดี๋ยวนี้เรียนสำเร็จ เอ้า, เรียนสำเร็จ ไม่บ้า ไม่หลง ไม่โง่ไปในเรื่องกามารมณ์มากเกินไป ยังควบคุมได้ ก็ประกอบการงาน ประกอบการงานในหน้าที่ มันก็มีทรัพย์สมบัติ มันมีชื่อเสียง มีเพื่อนฝูง มีอะไรก็เรียกว่า รวย เป็นวัยที่รวยๆ รวยทรัพย์สมบัติขึ้นมา มันก็รู้จักใช้ทรัพย์สมบัติวิชาความรู้เหล่านั้นให้เป็นประโยชน์ มันก็จะมีความร่มเย็นๆ
แต่งงานก็เป็นการกระทำที่มีความหมาย ไม่ใช่เรื่องบ้ากามารมณ์ แต่เป็นเรื่องการสืบพันธุ์โดยบริสุทธิ์ เป็นการช่วยกันเดินทางต่อไป ไม่ให้ขาดตอน คือสืบอายุธรรมะ วัฒนธรรม อะไรต่างๆ ของมนุษย์ให้มันก้าวหน้าๆ ๆ เรื่อยไป อย่างนี้มันถูกต้อง กามารมณ์กับเรื่องสมรส ต้องเป็นคนละเรื่อง กามารมณ์เป็นเรื่องบ้าชนิดหนึ่ง แต่การสืบพันธุ์โดยเฉพาะนั้นเป็นเรื่องถูกต้องและจำเป็นของธรรมชาติ แต่ธรรมชาติมันเหนือกว่า มันเอามาบวกไว้ด้วยกัน มิฉะนั้นคนมันไม่สืบพันธุ์ ซึ่งเป็นความยุ่งยากลำบาก ก็ต้องเอาเรื่องกามารมณ์มาปิดไว้ข้างหน้าเป็นของล่อ เป็นของทำให้เกิดการสืบพันธุ์ขึ้นมาโดยที่ไม่อยากจะทำก็ได้ นี่เราจะต้องดูว่ามันมีเทคนิคอยู่ในตัวธรรมชาติ จะเริ่มขึ้นมาด้วยวัยเป็นเด็ก มีร่าเริง มีเล่าเรียน มีรัก มีรวย มีร่มเย็น และถูกต้องเป็นธรรมะหมด เป็นธรรมะหมดมาตั้งแต่แรก ถ้าไม่ถูกต้องก็เป็นอธรรมะ เกิดเป็นปัญหา เรียกว่าปัญหายุ่งยาก ยุ่งยากไปหมด แม้จะมีเงินก็ยุ่งยาก ไม่มีเงินมันก็ยุ่งยาก มีสุขก็ยุ่งยาก มีทุกข์ก็ยุ่งยาก เพราะว่ามันไม่รู้ เพราะว่ามันไม่มีธรรมะ
ถ้ามันมีธรรมะ ธรรมะมันคุ้มครอง ไม่มีปัญหา มีแต่ความสงบราบรื่น มันอยู่ที่ว่าชีวิตมีธรรมะหรือชีวิตนี้ไม่มีธรรมะ ถ้ามีธรรมะมันก็เป็นชีวิตที่สงบเย็นได้ในที่สุด ถ้าไม่มีธรรมะ ปราศจากธรรมะแล้ว ชีวิตนั้นมันจะกัดเจ้าของ ลองดู ลองอยู่อย่างไม่มีธรรมะ ชีวิตมันจะกัดเจ้าของ แม้ไม่ใช่เป็นการทดลองของเรา ปล่อยไปตามธรรมชาติ แต่มันก็กัดเจ้าของ ชีวิตที่โง่เขลา ปราศจากธรรมะแล้ว มันจะกัดตัวมันเองๆ เรียกว่ากัดเจ้าของ เดี๋ยวความรักโง่ๆ กัด เดี๋ยวความโกรธกัด เดี๋ยวความเกลียดกัด เดี๋ยวความกลัวกัด เดี๋ยวความตื่นเต้นๆ ๆ ที่ชอบกันนักกัด เดี๋ยวความวิตกกังวลต่ออนาคตมันกัด เดี๋ยวความอาลัยอาวรณ์ในเรื่องอดีตที่แล้วมามันกัด ความอิจฉาริษยากัด ความหวงกั้นหรือความหวงตระหนี่ขี้เหนียวนี่มันกัด ในที่สุดความหึงมันกัด อย่างที่ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์ เป็นของน่าสงสารที่สุดที่จะต้องมาฆ่ากันตาย หรือฆ่าตัวเองตายเพราะความหึง ยกตัวอย่างมาเพียง ๑๐ อย่างนี่มันก็เกินแล้ว ความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ความตื่นเต้น ความวิตกกังวล ความอาลัยอาวรณ์ ความอิจฉาริษยา ความหวง ความหึง เหล่านี้ใครไม่รู้จัก ใครไม่รู้จักสิ่งเหล่านี้ ถ้าไม่รู้จักกันแล้วก็แย่มาก แต่มันจะรู้ไปถึงว่ามันจะกัดเจ้าของหรือไม่ ข้อนี้มันก็ยากอยู่ ถ้าไม่รู้จักมันก็กลับไปชอบสิ่งเหล่านั้นอย่างโง่เขลา อย่างมัวเมา มันกัดอยู่เรื่อยไป มันก็กัดอยู่เรื่อยไป ในที่สุดมันก็เป็นบ้าหรือว่าฆ่าตัวเองตาย จบลงไปในลักษณะอย่างนั้นเพราะความเห็นแก่ตัว มันหลงทาง ดำเนินชีวิตด้วยความเห็นแก่ตัวอย่างหลงทาง มันก็เต็มไปด้วยสิ่งเหล่านี้
การศึกษาไม่ถูกต้องๆ มันก็เอาการศึกษาไปใช้ในเรื่องเหล่านี้หมด ไปส่งเสริมให้ชีวิตกัดเจ้าของ ถ้าการศึกษามันถูกต้อง มันไม่เอาไปใช้ส่งเสริมให้ชีวิตกัดเจ้าของหรอก เอาไปใช้สำหรับกำจัดปัญหาทุกชนิดที่มันจะเกิดขึ้นแก่ชีวิต ชีวิตนั้นก็นับว่าได้รับความร่มเย็นทั้งตนเองและทั้งผู้อื่น นี่เรียกว่า ธรรมะ ธรรมะมีแล้วชีวิตไม่กัดเจ้าของ ธรรมะไม่มีชีวิตก็กัดเจ้าของ ก็เลวกว่าสุนัข เพราะสุนัขยังไม่กัดเจ้าของ แล้วชีวิตจะมากัดเจ้าของ ก็เป็นชีวิตที่เลวกว่าสุนัข ใครกำลังมีชีวิตที่กัดเจ้าของรีบจัดการเสียดีกว่า อย่าให้มันงอกงามใหญ่โต พยายามจัดการมันสิ้นสุดในการกัดเจ้าของ มีแต่ความก้าวหน้าอย่างถูกต้องเพราะสิ่งที่เรียกว่า ธรรมะๆ
เอ้า, ทีนี้ก็จะมาดูกันต่อไปถึงเทคนิคของการมีธรรมะ การใช้ธรรมะ พระพุทธเจ้าจะต้องถูกจัดหรือควรจัดไว้เป็นยอดของนักเทคนิค Technician พระพุทธเจ้าตรัสรู้ขึ้นมาด้วยความรอบรู้ในทางเทคนิคอันลึกซึ้งที่สุด คือการเข่นฆ่ากิเลสและดับทุกข์ ท่านตรัสรู้แล้วก็ทรงเผยแผ่ธรรมะ สอนด้วยวิธีการที่เป็นเทคนิคที่สุด จึงสำเร็จประโยชน์ๆ จะยกตัวอย่างมาให้ดูบ้างก็ได้ เช่นว่า จะทรงสั่งสอนคนหนุ่มที่เพิ่งโผล่ขึ้นมาจากความเป็นเด็กมาสู่ความเป็นหนุ่ม กำลังร่าเริงอยู่ด้วยการเล่าเรียน ด้วยการหาทรัพย์อะไรก็ตาม ถ้าจะนำไปสู่ธรรมะอันลึกซึ้ง พระพุทธเจ้าท่านจะใช้วิธีที่เราเรียกกันว่า อนุปุพพิกถา อนุปุพพิกถา แปลว่าเรื่องที่จะต้องสอนไปตามลำดับๆ ท่านก็สอนให้ทำดีเป็นข้อแรก มีศีล มีทาน มีอะไรที่เรียกว่าทำความดี อันมันทำความดี มันก็ได้ผลแห่งความดี เอาละ สูงสุดถึงกับได้สวรรค์วิมานๆ
ครั้นได้สวรรค์วิมาน แม้กามารมณ์นะ นั่นน่ะ ท่านก็สอนให้เห็นโทษของมัน โทษของมันที่มันกัดเจ้าของอย่างไรอย่างที่ว่ามาแล้ว แล้วมันไม่มีจุดจบที่ไหน มันเพียงแต่เพลิดเพลิน มัวเมา หลงใหล นี่ให้เห็นโทษของไอ้ผลของการที่ได้ทำจนเกิดสวรรค์ เกิดไอ้สิ่งที่พอใจกันนัก แล้วทีนี้ก็แสดงหนทางที่ไม่เป็นอย่างนั้น ออกไปเสียจากความเป็นอย่างนั้น ที่เรียกว่าเนกขัมมะ เนกขัมมะ เป็นอิสระอยู่เหนืออำนาจของกามารมณ์ อยู่เหนืออิทธิพลของกามารมณ์ กามารมณ์ไม่อาจจะครอบงำย่ำยีจิตใจได้ นี่เรียกว่า เนกขัมมะ แล้วคนเหล่านั้นก็เข้าใจ แล้วก็พากันประพฤติธรรม นี่เทคนิคสำหรับพระพุทธองค์ทรงสั่งสอนคนที่จะโผล่ขึ้นมาจากโลกอย่างพวกคุณนี้ หนุ่มสาวอย่างนี้ ถ้าเป็นเรื่องที่จะรับคำสั่งสอนใหม่ๆ ท่านก็สอนอย่างนี้ เรียกว่าอนุปุพพิกถา ถ้าเห็นว่ามันจะพอเป็นไปได้ ถ้าเห็นว่ามันโง่เกินไป มันดิบเกินไป มันมืดเกินไป ท่านก็ไม่ได้สอนหรอก ท่านก็ไม่ได้สอนโดยสมบูรณ์อย่างนี้ แนะนำอะไรบ้างตามที่ควรจะแนะนำเฉพาะเรื่อง เฉพาะคนไปเท่านั้นเอง ท่านไม่ได้สอนตลอดสาย จนจากความทุกข์ หมดความทุกข์ อยู่เหนือความทุกข์โดยประการทั้งปวง นี่มันเป็นเทคนิคอยู่ในตัวมันเองในการสอน รู้จักปฏิบัติดีแล้วก็ได้สวรรค์มา แล้วสวรรค์มันกัดเอา เพราะความหลงใหลมัวเมาในสิ่งที่เรียกว่า สวรรค์ แล้วก็สอนความที่ไม่เกี่ยวข้องกับสวรรค์ ก็มีแต่ความเยือกเย็นๆ ๆ สะอาด สว่าง สงบ คนเขาก็รับเอา สอนสาวกบางชุดในลักษณะอย่างนี้ มันมีความเหมาะสมอย่างนี้ โดยเฉพาะคนหนุ่ม นี่เทคนิคที่พระพุทธองค์ใช้ ในการสั่งสอน
ธรรมะต่างๆ ที่ทรงบัญญัติเป็นระบบใหญ่ๆ ระบบใหญ่ๆ ก็ล้วนแต่มีเทคนิคเต็มที่ทั้งนั้น ยกตัวอย่างระบบที่เรียกว่า โพธิปักขิยธรรม อาจจะทำความรำคาญแก่ท่านทั้งหลายที่ไม่เคยได้ยินและไม่รู้จัก เป็นเรื่อง รุ่มร่ามยืดยาวว่า โพธิปักขิยธรรม ธรรมะที่พาไปฝ่ายการตรัสรู้ ที่นำไปทางฝ่ายการตรัสรู้ เรียกว่าโพธิปักขิยธรรม ท่านสอนให้รู้ว่ามันจะดับทุกข์ได้อย่างไร ที่เรียกว่าสติปัฏฐาน ควบคุมกาย ควบคุมเวทนา ควบคุมจิต ควบคุมไอ้ธรรมะที่มันหลอกให้ยึดถือให้ได้ นั่นน่ะคือความรอด ทางแห่งความรอด แล้วก็สอนสัมมัปปธาน คือความเพียร ที่จะทำให้สำเร็จตามนั้น แล้วก็สอนอิทธิบาท นี่เคล็ดหรือเทคนิคโดยตรง อิทธิบาท ๔ ท่านคงได้ยินกันมาแล้ว ในโรงเรียนก็สอนเหมือนกัน ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ครบแล้วมันก็สามารถประพฤติธรรมสำเร็จ ก็ทำให้เกิดธรรมะที่มีอำนาจขึ้นมาเรียกว่า อิทรีย์ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา มีอำนาจ มีกำลังดึงมาทางฝ่ายนี้ ถ้ามองกันในแง่อำนาจ เรียกว่า อินทรีย์ ๕ ถ้ามองในแง่กำลังเรียกว่า พละ ๕ ครั้นอินทรีย์ ๕ พละ ๕ เต็มแล้ว นี้โพชฌงค์ ๗ มันก็สมบูรณ์ คือ สติ ธัมมวิจยะ วิริยะ ปิติ ปัสสัทธิ สมาธิ อุเบกขา สมบูรณ์
โพชฌงค์ ๗ สมบูรณ์แล้ว มรรค อริยมรรค มีองค์ ๘ ก็สมบูรณ์ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี่คงจะเคยได้ยิน ได้ฟังกันมาแล้ว โรงเรียนทุกโรงเรียนก็สอน อริยมรรคสมบูรณ์แล้ว วิชชาและวิมุตติก็สมบูรณ์ คือวิชชาที่จะดับทุกข์ได้สิ้นเชิงก็มี วิมุตติก็หลุดพ้นไปจากความทุกข์ เพราะอำนาจของวิชชานั้น เรื่องมันก็จบ สอนเป็น ๗ หมวด รวมกันแล้ว ๓๗ หัวข้อ มันก็เป็นเทคนิคๆ ๆ ๆ ติดต่อไม่ขาดสาย สมบูรณ์เป็นสาย นี่ก็เรียกพระองค์ทรงสอนอย่างมีเทคนิค
ทีนี้จะดูกันในแง่ไหนมันก็ล้วนแต่มีเทคนิค จะแยกออกมาดูเป็นหมวดๆ เฉพาะหมวดมันก็มีเทคนิค เช่นเรื่องอิทธิบาท ๔ มันมีเทคนิคอยู่แต่ละข้อ และก็สัมพันธ์กันทุกข้อในไอ้ที่เรียกว่า ธรรมะสาระ นี่กล่าวอีกอย่างหนึ่งในฐานะรวบรวมหมด ก็ว่ามีศีล มีศีลก็มันช่วยให้มีสมาธิโดยง่าย มีสมาธิแล้วมันก็ช่วยให้มีปัญญาโดยง่าย มีปัญญามันก็ช่วยให้วิมุตติหลุดพ้นจากความทุกข์โดยง่าย ครั้นวิมุตติแล้วมันก็ง่ายที่จะรู้ว่า โอ้, หลุดพ้นแล้ว คิดดู มีศีล มีความถูกต้องเป็นพื้นฐาน จิตก็เป็นสมาธิ คือมีกำลังมาก กำลังมากที่สุด มันก็มีปัญญารู้สิ่งทั้งปวงตามที่เป็นจริงว่านี่ทุกข์ นี่เหตุให้เกิดทุกข์ แล้วก็ดับทุกข์นั้นเสีย ก็รู้ โอ้, พ้นทุกข์ๆ พ้นทุกข์แล้ว นี่เป็นผู้พ้นทุกข์ แล้วก็เป็นผู้รู้ว่าพ้นทุกข์แล้ว อย่างนี้เรียกว่า ธรรมะสาระ หรือแก่นของธรรมะ เราเอาความหมายของไอ้คำทั้ง ๕ นี้เป็นสัญลักษณ์ของการศึกษา มีเสาอยู่บนยอดหลังคา ๕ เสา ๕ เสากันบ่อยๆ นี่ก็คือความหมายของธรรมะหมวดนี้ เรียกว่า แก่นแห่งธรรมะ มันสัมพันธ์กันอยู่อย่างที่แยกกันไม่ได้ ถ้าแยกกันได้แล้วมันก็หมด ละลายหมด กระจัดกระจายหมด นี่เป็นธรรมะสาระ
ธรรมะชนิดที่เป็นเทคนิคอยู่โดยธรรมชาติอันลึกๆ ต้องค้นก็มี ธรรมะที่มนุษย์ใช้กันอยู่อย่างเทคนิคธรรมดาสามัญทั่วๆ ไปในเบื้องต้น เรื่องโลกๆ นั้นมันก็มี ขอให้สนใจให้ดี มันจะพบเพิ่มมากขึ้นๆ ในทางละเอียดของธรรมชาติ เป็นความรู้อันละเอียด มันก็มีเทคนิคของมัน คือจะต้องรู้เรื่องอนิจจตา ความไม่เที่ยงๆ มันเปลี่ยนแปลงเรื่อย ข้อนี้ถ้าเรียนวิทยาศาสตร์มาบ้างก็จะเข้าใจได้ง่ายว่า มันมีการปรุงแต่งกันในตัวสิ่งที่เป็นธรรมชาติ มีการปรุงแต่งมาตั้งแต่ในระดับที่มันเป็นเพียงปรมาณู มันเป็นอณู มันก็เป็นกลุ่มแห่งเซลล์ เป็นชีวิต เป็น*** (นาทีที่ 47.20) ตามลำดับ นี้ก็เรียกว่าเป็นเรื่องของธรรมชาติ แล้วก็มาเกิดเป็นความรู้สึกคิดนึก มีการกระทำอย่างนั้นอย่างนี้ มันก็มีมาตามลำดับ นี่เรียกว่าเห็นความไม่เที่ยงๆ มันมีเหตุปัจจัย แล้วมันต้องเปลี่ยนไปตามเหตุตามปัจจัย แล้วมันก็ไม่เที่ยง สังเกตดูเถิด ในร่างกายเรานี่มีเรื่องกี่ร้อยเรื่อง แต่ละเรื่องก็ไม่เที่ยง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เลือด เนื้อ กระดูก เอ็น จะออกเป็นกี่ระบบๆ ๆ ๆ มันกำลังเปลี่ยนแปลง นี่ ภายนอกก็เปลี่ยนแปลง มีแต่ความเปลี่ยนแปลง ภายในก็มีแต่ความเปลี่ยนแปลง
พอเห็นความไม่เที่ยงอย่างนี้แล้ว มันก็รู้ความจริงที่ควรจะรู้ในขั้นต้น รู้ความจริงที่ควรจะรู้ในขั้นต้น แล้วมันก็เห็นขึ้นมาทันทีว่า โอ้, การที่ต้องอยู่ร่วมกับสิ่งที่ไม่เที่ยง หรือเป็นความไม่เที่ยง หรืออยู่ร่วมกับความไม่เที่ยงนี้มันเป็นทุกข์โว้ย มันไม่เที่ยงแหละเป็นทุกข์ อย่างนี้แล้วมันจะเป็นตัวตนๆ อะไรกันได้ มันก็เป็นตัวตนของความไม่เที่ยง ของความเป็นทุกข์ ก็เรียกว่ามันเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตน แล้วมันมีความเป็นอย่างนี้ของมันเป็นธรรมดา เรียกว่า ธัมมัฏฐิตตา เพราะว่ามันมีกฎของธรรมชาติบังคับอยู่อย่างตายตัว นี้เรียกว่า ธัมมนิยามตา เมื่อมันต้องเป็นไปตามกฎของธรรมชาติอย่างนี้ เปลี่ยนแปลงอย่างนี้ ก็เรียก อิทัปปัจจยตา ต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยอยู่เนืองนิจ แหมมันโอ้, มันว่างจากตัวตน สุญญตา ว่างจากตัวตน เมื่อว่างจากตัวตนอย่างนี้ มันก็มีความเช่นนั้นเองของมันเองโดยเฉพาะ เรียกว่า ตถาตา มีความเป็นอย่างนั้นโดยเฉพาะ มันก็เกิดความรู้สึกที่อยู่เหนือ เหนืออำนาจความเปลี่ยนแปลง ไม่เห็นอะไรน่ารัก ไม่เห็นอะไรน่าเกลียด ไม่เห็นอะไรน่ากลัว ไม่เห็นอะไรที่ว่ามันจะเป็นปัญหา เรียกภาษาวิทยาศาสตร์ซักหน่อย ก็ไม่มีอะไรเป็นบวก และเป็นลบ คนมันโง่เอาเอง มันว่าเอาเอง ถ้าอะไรถูกใจมันว่าเป็นบวก ไม่ถูกใจมันว่าเป็นลบ แต่ตามธรรมชาติไม่ใช่บวกไม่ใช่ลบ บวกหรือลบมันอยู่ที่ความรู้สึกของคนที่ชอบใจ หรือไม่ชอบใจ
พอเหนือความเป็นบวกเป็นลบแล้ว มันก็หมดปัญหา มันไม่รัก ไม่โกรธ ไม่เกลียด ไม่กลัว ไม่ตื่นเต้น วิตกกังวล อาลัยอาวรณ์ ชีวิตไม่กัดเจ้าของ ถึงที่สุดอย่างนี้เรียกว่า เป็นพระอรหันต์ เรียก อตัมมยตา อตัมมยตา มันคงจะทำความรำคาญให้คุณบ้างแล้วก็ได้ เพราะพูดคำที่ไม่เคยได้ยินได้ฟัง แล้วไม่ค่อยจะรู้ว่าอะไร แล้วก็ไม่สนใจ และก็ไม่อยากจะสนใจ แต่นี่บอกว่าหัวใจของพุทธศาสนามันเป็นอย่างนี้ และมันมีเทคนิคของมันอย่างนี้ แล้วมันก็มีความสัมพันธ์กันอยู่อย่างนี้ นี่เรียกว่า ธรรมะตามธรรมชาติ มันมีเทคนิคอยู่ในตัวมันเอง เข้าไปแตะต้อง เข้าไปจับต้อง ก็จะเห็นไปตามลำดับๆ กัน เป็นธรรมชาติอย่างนี้ มีเคล็ดอย่างนี้ มีเทคนิคอย่างนี้
แล้วทีนี้ในเรื่องของการปฏิบัติ ธรรมะ ๔ เกลอ ธรรมะ ๔ เกลอที่จะใช้เป็นเพื่อนคู่ชีวิต ซึ่งเป็นตัวชีวิต และจะต้องมีสติเป็นข้อแรก สมบูรณ์ด้วยสติ สำหรับจะระลึกได้ว่าอะไรเป็นอะไร อะไรคืออะไร สติเร็วมากสำหรับจะไปเอาความรู้ที่ได้ศึกษาเป็นปัญญาอยู่ อย่างคุณศึกษาทุกวันๆ ปัญญามันก็เพิ่มขึ้นๆ ในทุกๆ แขนง แต่ถ้าพอถึงเวลาจะใช้ ไม่มีสติ ไม่มีสติมันก็ไม่ได้เอามา ไม่มีอะไรไปเอามา หรือเอามาไม่เป็น เพราะมันไม่มีสติ ถ้ามีสติก็ไปเอาความรู้มาเฉพาะ เฉพาะที่จะมาปะทะกับเหตุการณ์ที่มันเกิดขึ้นเฉพาะหน้า และมีสติไปเอาปัญญาที่ได้ศึกษาไว้มา มาแล้วก็มาทำเป็นปัญญาเฉพาะเหตุการณ์ เฉพาะหน้า เรียกว่า สัมปชัญญะ คือเฉพาะหน้าเหตุการณ์ เหมาะกับเหตุการณ์นั้น ที่จะต่อสู้กับเหตุการณ์นั้น จะกำจัดปัญหาเหล่านั้น เรียกว่า สัมปชัญญะ
ทีนี้กำลังใจมันยังอ่อนอยู่ ต้องใช้สมาธิ กำลังของสมาธิเพิ่มขึ้นๆ มันก็สำเร็จเท่านั้นน่ะ นี่เรียกว่า เทคนิคอย่างยิ่งในชีวิตประจำวันที่เราจะต้องมี จะต้องใช้ คือธรรมะ ๔ เกลอ สติให้สมบูรณ์ สติมันก็มีอยู่ตามธรรมชาติ แต่มันก็ไม่สมบูรณ์ มันต้องเพิ่มๆ ฝึกเพิ่ม ฝึกบทเรียนฝึกสติโดยเฉพาะมันมีอยู่ ฝึกแล้วมีสติสมบูรณ์ สติทำหน้าที่ไปเอาปัญญาความรอบรู้มาทุกคราวที่เหตุการณ์ร้ายมันเกิดขึ้น ให้ตรงกับเหตุการณ์นั้น แล้วกำจัดมันเสียโดยสัมปชัญญะ ปัญญาธรรมดาก็มีอยู่ครบทุกเรื่อง แต่จะเอามาเฉพาะเหตุการณ์ เรียกว่า สัมปชัญญะ ถูกตรงกับเรื่องนั้นๆ แล้วก็ระดมทุ่มเทกำลัง คือกำลังของสมาธิ ซึ่งเป็นเสมือนน้ำหนัก สมาธินี่เป็นเสมือนน้ำหนัก ปัญญาเป็นเสมือนความคม มันจะฉลาดปราดเปรื่อง คมกริบยิ่งกว่ามีดโกนก็ตามใจ แต่ถ้าไม่มีน้ำหนักที่จะกดลงไป มันไม่ตัดหรอก มันเป็นหมัน ปัญญาที่เป็นความคมก็เป็นหมัน ต่อเมื่อมันมีน้ำหนักกดลงไป นั่นคือสมาธิ มันก็ตัดๆ ๆ ปัญหามันก็หมดไป
นี่เพื่อนเกลอของเราที่จะช่วยได้ก็มีอยู่ ๔ ข้อนี้ สติ ปัญญา สัมปชัญญะ สมาธิ ฝึกให้มากขึ้น เท่าที่มีอยู่ตามธรรมชาตินั้นยังไม่พอ ไม่ใช่ว่ามันจะไม่มีเสียเลย ถ้ามันไม่มีเสียเลยมันตายแล้ว มันไม่ได้มานั่งอยู่อย่างนี้นะ แต่มันไม่พอที่จะแก้ปัญหา ที่จะดับทุกข์กันให้สิ้นเชิง จึงต้องฝึกเพิ่มเติมให้มีสติมากขึ้น เร็วขึ้น มีปัญญากว้างขวางครบถ้วนยิ่งขึ้น มีสัมปชัญญะที่แหลมคม ที่จะเผชิญหน้าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แล้วก็มีสมาธิคือน้ำหนัก น้ำหนักที่จะให้สัมปชัญญะหรือปัญญานั้นตัดออกไป ตัดไอ้สิ่งที่เป็นปัญหาออกไป นี่จะเป็นเทคนิคหรือไม่ คุณลองคิดดู มันเป็นเทคนิคยิ่งกว่าเทคนิค ถ้ารู้จักใช้ในชีวิตประจำวัน ชีวิตนี้จะสดชื่น แจ่มใส เยือกเย็น เต็มไปด้วยความร่มเย็น เต็มไปด้วยความร่มเย็น สะอาด สว่าง สงบ นี่เป็นเทคนิคของธรรมะที่จะต้องมีใช้ในชีวิตประจำวัน
จะลองพูดถึงเรื่องที่มันออกจะค่อนข้างลึกซึ้ง หรือมันจะชวนง่วงไปก็ได้ เรื่องอริยมรรคมีองค์ ๘ น่ะ เข้าใจว่าเคยได้ยินได้ฟังมาแล้ว โรงเรียนไหนวิทยาลัยไหนไม่สอนเรื่องอริยมรรคมีองค์ ๘ นั่นก็บ้าเต็มที เพราะมันเป็นเรื่องหัวใจของพุทธศาสนาในเรื่องอริยสัจ อริยมรรคมีองค์ ๘ หนึ่ง มีสัมมาทิฐิ มีความรู้ ความคิด ความเห็น ความเชื่อ หรืออุดมคติถูกต้องเรียกว่า สัมมาทิฐิ ความเห็นถูกต้องหรือชอบ แล้วก็มีสัมมาสังกัปปะ คือความปรารถนาถูกต้อง เพราะมันเข้าใจถูกต้องแล้วมันก็ปรารถนาถูกต้อง แล้วก็สัมมาวาจา พูดจาถูกต้อง สัมมากัมมันตะ มีการงานการกระทำที่ถูกต้อง มีสัมมาอาชีวะ ดำรงชีวิตถูกต้อง แล้วก็มีสัมมาวายามะ ความพากเพียรถูกต้อง แล้วก็มีสัมมาสติ มีสติถูกต้อง แล้วก็มีสัมมาสมาธิ มีสมาธิถูกต้อง
พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่ามีสัมมาสมาธิเป็นตัวยืนโรง ยืนโรงเป็นสัมมาสมาธิที่ถูกต้อง แล้วท่านให้ ๗ องค์นอกนั้นเป็นบริวารรับใช้ สัมมาทิฐินำไปให้ถูกต้อง สัมมาสังกัปปะ ปรารถนาถูกต้อง มีพูดจาถูกต้อง ทำการงานถูกต้อง ดำรงชีวิตถูกต้อง มีความพากเพียรถูกต้อง มีสติถูกต้อง สัมมาสมาธินั้นมันก็จะเกิดปัญญาขึ้นมา ตัดปัญหาทุกปัญหา นี่เป็นหนทางเดียวเท่านั้นที่จะดับทุกข์กันได้โดยแท้จริง คือมีสัมมาสมาธิเป็นตัวยืนโรง แล้วมีสัมมาอีก ๗ สัมมา มารับใช้เป็นบริวาร ทีนี้ยิ่งเป็นเทคนิคอย่างละเอียด เป็นเรื่องในชั้นสูง เป็นเรื่องในชั้นจิตใจที่จะหลุดพ้น มันก็เป็นเรื่องรวมกำลังแห่งธรรมะ ภาษาธรรมะก็มีคำพูดว่า ธัมมสมังคี
ธัมมสมังคี ความสามัคคีแห่งธรรมะ ธรรมทั้งหมวดสามัคคีกัน จึงจะทำหน้าที่นั้นโดยสมบูรณ์ เหมือนกับคำว่า Teamwork งานมากมายหลายชนิดจะต้องทำเป็น Teamwork ทำเป็นตัวเดียวคนเดียวไม่ได้ ธรรมะทั้งหลายที่จะดับทุกข์ก็เหมือนกัน มันรวมกันเป็นกลุ่มๆ หรือเป็น Teamwork ก็สามารถกำจัดปัญหาได้จริง นี่เรียกว่าเทคนิคของธรรมะ ก็มีอยู่อย่างหนึ่งคือรวมกำลังกันในลักษณะที่มันเป็น Teamwork มันมีเป็นธรรมชาติอยู่ในนั้น พอเรารู้จักเข้า แล้วก็ทำไปตามนั้น มันก็เป็นเทคนิคสมบูรณ์ขึ้นมา ถ้าไม่เช่นนั้น ก็เป็นเทคนิคที่ซ่อนตัวอยู่ในธรรมชาติ ยังไม่ถูกนำมาใช้ พอถูกนำมาใช้มันก็สำเร็จประโยชน์ตามความปรารถนา
ในที่สุดมันมีความรู้สุดยอดคือ อนัตตา ความไม่ใช่ตน ไม่อาจจะเอามาเป็นตน เป็นของตน แล้วมันก็ไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไรว่าเป็นตัวตน หรือเป็นของตน มันก็มีแต่ความสงบเย็น ถ้าเอามาเป็นตัวตน ของตน มันก็เกิดกิเลสตัณหา มันก็ต่อสู้วุ่นวายกันไป นี่รู้จักร่างกายหรือชีวิตที่มิใช่ตัวตน ทั้งที่มิใช่ตัวตน มันทำอะไรได้ มันรับผลของการกระทำก็ได้ แต่มันก็คงไม่ใช่ตัวตนอยู่นั่นแหละ และผู้กระทำก็ไม่ใช่ตัวตน ผลของการกระทำก็ไม่ใช่ตัวตน ผู้รับผลของการกระทำก็ไม่ใช่ตัวตน แต่แล้วมันก็คือพวกเราทุกคนที่นั่งอยู่ที่นี่ ความเป็นอนัตตามันแฝงอยู่ในชีวิตนั้น ถ้ารู้เรื่องนี้ก็เป็นความลับที่จะทำให้ไม่มีความทุกข์ พอหมดความรู้สึกว่าตัวตน มันก็หมดปัญหาทุกชนิด ไม่ต้องหัวเราะ ไม่ต้องร้องไห้ ไม่ต้องดีใจ ไม่ต้องเสียใจ ไม่ต้องมีความรู้สึกว่าได้ ว่าเสีย ว่าแพ้ ว่าชนะ ว่ากำไร ว่าขาดทุน ว่าได้เปรียบ ว่าเสียเปรียบ ไม่ต้องมี หมดความโง่ศูนย์กลาง จุดศูนย์กลางของความโง่ คือว่าโง่ว่าตัวตนๆ พอหมดความโง่ว่าตัวตนเสียแล้ว ชีวิตนี้ก็เป็นอิสระ จิตน่ะมันเป็นอิสระ มันไม่ต้องมีความทุกข์ นี่มันเป็นเทคนิครอบด้าน เทคนิครอบตัว เทคนิครอบด้าน เทคนิคของความรู้ ความที่ไม่มีตัวตน ไม่ใช่ตัวตน นี่ขอให้ศึกษา
ถ้าสนใจจะใช้ธรรมะขอให้ศึกษาให้ครบถ้วนในเรื่องความไม่มีตัวตน มันทำอะไรได้ พอทำลงไปมันก็มีปฏิกิริยาเกิดขึ้น มันก็แล้วแต่การกระทำ ถ้าเรารู้เราก็กระทำแต่ในทางที่จะเกิดปฏิกิริยาอันพึงปรารถนา คือปฏิกิริยาที่มีประโยชน์ๆ ๆ ขอให้สนใจกันอย่างนี้ ทำสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ มันก็คือฆ่าตัวเอง ทำแต่สิ่งที่มีประโยชน์ ทีนี้อานิสงส์ของธรรมะ (นาทีที่ 1.02.30) มองกันในแง่นี้ ก็มองได้ว่า ช่วยทำสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ให้มีประโยชน์ ถ้าเรารู้ธรรมะ เราสามารถทำสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ให้มีประโยชน์ เช่น คำสอนทางจริยธรรม สอนกันง่ายๆ ว่า ช้าง ม้า วัว ควาย เมื่อตายมันยังมีเนื้อกินได้ มีเขา หนัง นอ งา ใช้ประโยชน์ได้ ร่างกายคนนี่ไม่มีใครซื้อ แต่ว่ากลับทำให้มีประโยชน์ คือให้บรรลุมรรคผลนิพพานได้
ชีวิตมนุษย์ ร่างกายมนุษย์ ที่ไม่มีประโยชน์กลับทำให้เป็นที่ตั้งของธรรมะ บรรลุมรรคผลนิพพานได้ ทำสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ให้มีประโยชน์ แล้วก็ทำสิ่งที่มีประโยชน์น้อยให้มีประโยชน์มาก คอยสนใจทำอย่างที่มีประโยชน์น้อยให้มันมีประโยชน์มาก แม้ที่มันไม่มีประโยชน์เสียเลย ก็รู้จักทำให้มันมีประโยชน์ อย่าให้ร่างกายนี่เป็นเรื่องเน่าหนอน เป็นเรื่องไร้สาระอย่างนั้น แต่ให้ร่างกายนี้เป็นที่ตั้งแห่งการบรรลุมรรคผลนิพพาน เป็นที่ตั้งแห่งการบรรลุมรรคผลนิพพาน นี่เรียกว่า ทำสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ให้มีประโยชน์ ที่มีน้อยให้มีมาก แล้วไม่ต้องมีความยุ่งยากเดือดร้อน ไม่ทำให้ใครเดือนร้อน การที่เราจะทำประโยชน์นี้ ไม่ต้องทำใครให้เดือดร้อน นี่เป็นเรื่องเทคนิค เทคนิคยอดสุดของความมีสันติภาพ รู้จักทำสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ให้มีประโยชน์ ที่มีประโยชน์น้อยให้มันมีประโยชน์เต็มที่ อย่างวิชาเทคนิคก็เหมือนกัน มันก็ไปเอาสิ่งบางสิ่งมาทำให้เป็นประโยชน์ ให้ขายได้ ให้หลอกคนให้ซื้อได้ อย่างนี้มันก็เป็นเรื่องโลกๆ แต่ถ้าเป็นเรื่องเทคนิคทางธรรมะนั้น มันก็จะทำแต่ให้ไม่มีความทุกข์ ให้ทุกคนไม่มีความทุกข์
ความลับหรือเทคนิคที่เป็นความลับมีอยู่อีกอย่างหนึ่ง ก็คือไอ้สิ่งที่เรียกว่า สหกรณ์ หรือ Teamwork ทีมเวิร์คนั่นแหล่ะ ขอให้รู้จักให้มากที่สุด แล้วก็ใช้ให้ได้ให้มากที่สุด เป็นเรื่องของความเป็นสหกรณ์ ถ้ามันสหกรณ์กันไม่ได้มันไม่เกิดประโยชน์ชั้นสูงขึ้นไปได้ ดูในตัวเรา ในตัวเรานี่ มันต้องสหกรณ์กันทุกอย่าง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เนื้อ หนัง กระดูก เอ็น อะไรต่างๆ ทุกระบบ มันทำหน้าที่ของตนๆ แล้วรวมกันเป็นสหกรณ์ใหญ่ สามารถที่จะให้ชีวิตนี้มีประโยชน์ นี้มันเป็นสหกรณ์ในภายใน อย่างว่าเซลล์ทุกๆ เซลล์นั้นนะ จะต้องทำหน้าที่เป็นสหกรณ์รวมหมู่ เป็นหมู่ให้เป็นส่วนแห่งอวัยวะ เป็นส่วนแห่งสิ่งที่จะทำหน้าที่หรือมีประโยชน์ขึ้นมานี้ในตัวเรา มีระบบสหกรณ์เต็มไปทั้งหมด โลหิตดำ โลหิตแดงมีกี่ร้อยล้านล้านตัว มันก็เป็นสหกรณ์ ยิ่งกว่าสหกรณ์ใดๆ ไปซะหมด นี่ในตัวเรา
ทีนี้นอกตัวเรา ก็ดูซิ ที่มันจะเป็นประโยชน์ เป็นอะไรขึ้นมาได้ มันก็มีลักษณะสหกรณ์ เส้นด้ายทุกๆ เส้นที่เป็นเสื้อผ้าที่คุณใช้อยู่ มันมีลักษณะเป็นสหกรณ์ ถ้าไม่มีลักษณะแห่งสหกรณ์มันเป็นเส้นด้ายอยู่ไม่ได้หรอก แล้วมันมาทำเสื้อทำกางเกงไม่ได้ ทำเป็นสหกรณ์ แม้ในภายนอกตัวเรามันก็มีอยู่อย่างนี้ มันต้องเกี่ยวข้องกันหมด คนทุกคนมันจะต้องทำหน้าที่ร่วมกัน เป็นของครอบครัว เป็นของสังคม เป็นของประเทศชาติ แล้วก็เป็นของโลก องค์การโลกมีหน้าที่จัดให้ทุกสิ่งที่เป็นปัญหาของโลกลุล่วงไปด้วยดี อย่างนี้มันมีความหมายแห่งความเป็นสหกรณ์ ยิ่งกว่านั้นอีก แม้สิ่งที่ไม่มีชีวิตจิตใจ มันก็เป็นสหกรณ์ ระบบสุริยะจักรวาลมันจะมีระบบก็ตามใจเถอะ มันก็มีลักษณะเป็นสหกรณ์ มีดวงอาทิตย์ มีดวงดาว ดวงอะไรต่างๆ เป็นบริวาร แล้วก็เป็นโลก เป็นพระจันทร์ เป็นอะไรก็ตาม มันต้องมีหน้าที่อย่างสหกรณ์ มิฉะนั้นมันชนกันแหลกลานหมด มันถูกต้องตามระบบ มีความถูกต้องตามระบบอันนั้นมันจึงจะมีความเป็นสหกรณ์ พอเป็นสหกรณ์ก็เป็นที่ตั้งแห่งชีวิต ชีวิตก็เกิดขึ้นมาในโลก เป็นคนก็ได้ เป็นสัตว์ก็ได้ เป็นต้นไม้ก็ได้ แล้วก็อยู่กันอย่างสหกรณ์ คนอยู่ในโลกไม่ได้หรอก ถ้ามันไม่มีความครบถ้วนในสิ่งเหล่านี้
สัตว์ก็มีประโยชน์ไปตามแบบของสัตว์ ต้นไม้ต้นไร่ก็มีประโยชน์ไปตามเรื่องของต้นไม้ คนกินสัตว์ กินเนื้อสัตว์ ใช้ประโยชน์แก่ต้นไม้ แก่สิ่งที่เรียกว่าไม้หรือแร่ธาตุ พอคนตายลง สัตว์หรือต้นไม้มันก็กินซากคน ซากคนที่ตายลงเป็นอาหารแก่สัตว์หรือแก่ต้นไม้ แม้ในลักษณะที่ละเอียดที่สุด เป็นเพียงธาตุตามธรรมชาติที่ถ่ายเทกันไป ถ่ายเทกันมา นี้ก็มีความเป็นสหกรณ์ ก็เรียกว่า ธัมมสมังคี เหมือนกับว่าเล่นฟุตบอล ถ้าไม่มีธัมมสมังคี ไม่มีทางที่จะเล่นได้ หรือเล่นก็แพ้ทุกทีไป ช่วยจำไว้ดีๆ คำว่า ธัมมสมังคี ความสามัคคีแห่งธรรมะ ธรรมะคือความถูกต้อง ความสามัคคีแห่งความถูกต้องก็หมายความว่า จะต้องมีความถูกต้องครบถ้วนทุกระบบ ถูกต้องครบถ้วนทุกระบบตามส่วนที่แยกออกไป แล้วก็มีลักษณะเป็นธัมมสมังคี ทุกชนิดทุกอย่างที่มันจะรอดตัวอยู่ได้มันเป็นธัมมสมังคี นอกตัวเรา ในตัวเรา ทั่วทั้งจักรวาลมีลักษณะเป็นธัมมสมังคี
ทีนี้จะแยกออกมาเฉพาะสิ่งที่เรียกว่า ธรรมะๆ โดยตรง สมังคีที่เห็นได้ง่ายก็ในเรื่องอริยมรรคมีองค์ ๘ อย่างที่ว่ามาแล้วนั่นแหละ ๘ องค์มันสมังคี สมังคีแปลว่า สามัคคี คือมีการทำหน้าที่ของตนอย่างครบถ้วนและสมบูรณ์ เท่าที่เห็นกันง่ายๆ ก็ว่าเราจะต้องมีศีลเป็นพื้นฐานสำหรับมีความถูกต้องทางวัตถุทางร่างกาย
นี่ช่วยจำว่า ความถูกต้องภายนอก คือทางวัตถุ ทางร่างกายนี่เป็นศีล แล้วก็มีความถูกต้องทางจิตโดยเฉพาะ คือมีจิตปกติ จิตมีสมรรถนะสมบูรณ์ตามความหมายของคำว่าจิต ก็มีความถูกต้องทางจิต ก็มีความถูกต้องทางสติปัญญา ทางวิญญาณ คือความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง เป็น ๓ ความถูกต้อง ความถูกต้องทางวัตถุและร่างกาย นี่อย่างหนึ่ง ความถูกต้องทางจิตใจล้วนๆ โดยเฉพาะ นี่อย่างหนึ่ง ความถูกต้องทางสติปัญญาของจิต นั้นอีกทางหนึ่ง รวมเป็น ๓ ทาง แล้วมันสหกรณ์กันๆ ถ้าไม่มีความถูกต้องทางร่างกาย มันก็ตายๆ แล้วจิตมันจะอยู่ได้อย่างไร ความถูกต้องทางร่างกายมี ความถูกต้องทางจิตจึงมี และเมื่อความถูกต้องทางจิตมี ไม่บ้าไม่บอ ไม่เพ้อไม่คลั่งแล้ว มันจึงมีความถูกต้องทางสติปัญญา มีความรู้อันถูกต้อง นี่เป็นสามัคคีระหว่างศีล สมาธิ หรือปัญญา จะยกธรรมะหมวดไหนมาก็ได้ มันก็เป็นเรื่องของความสัมพันธ์กันอย่างถูกต้องและสามัคคี เรียกว่าวิญญาณแห่งสหกรณ์
ทางวัตถุก็ต้องสหกรณ์ แต่มันไม่มีใครจะไปสนใจกับมัน มันต้องมีชาวนา มันจะต้องมีพ่อค้า มันจะต้องมีนักประดิษฐ์ นักพัฒนา นักอะไรไปตามเรื่อง ในโลกนี้มันจึงจะอยู่กันได้ ไม่ใช่จะอยู่ได้ตามลำพัง ต้องสามัคคีหรือสมังคี หรือความประสานงานกันอย่างถูกต้อง ในทางภายนอกแท้ๆ ยังต้องเป็นอย่างนั้น ในทางธรรมะส่วนลึกก็ยิ่งต้องเป็นอย่างนั้นมากขึ้นไปอีก เดี๋ยวนี้มันไม่มีความซื่อตรง เรื่องสหกรณ์มีไม่ได้ มันมีแต่สหโกง สหโกงเราจึงไม่เจริญ เราจึงไม่เจริญเพราะว่ามันไม่มีลักษณะแห่งธัมมสมังคี คือสามัคคีแห่งธรรมะ สามัคคีโดยธรรมะ สามัคคีเพื่อประโยชน์แก่ธรรมะ
ขอให้มองเห็นว่าไอ้ธัมมสมังคีเป็นเทคนิคอย่างยิ่งในการที่จะรอดอยู่ได้ หรือเจริญก้าวหน้ารุ่งเรืองไปได้ ถ้าในร่างกายเราอย่างเดียวนี่ไม่มีธัมมสมังคี มันก็ตายทันทีๆ อย่างมีนิทานสอนเด็กเรื่องความทะเลาะกันระหว่างปากกับท้อง หรือกับมือกับตีน ไม่สามัคคี มันก็ต้องตาย มันเป็นเรื่องที่จะต้องสามัคคีกันอย่างครบถ้วน ในร่างกายคนก็ดี ในร่างกายสัตว์เดรัจฉานก็ดี ในร่างกายต้นไม้ต้นไร่นี้ก็ดี เต็มไปด้วยความถูกต้องแห่งสมังคีหรือสามัคคี มันจึงมีชีวิตอยู่ได้ ชีวิตรอดอยู่ได้ด้วยความถูกต้องแห่งธัมมสมังคี เรียกเป็นภาษาชาวบ้านร้านตลาดก็ว่า สหกรณ์ๆ ลองไม่มีสหกรณ์ร่วมมือกันน่ะ มันทำไม่ได้ มันทำไม่ได้น่ะ แม้จะเป็นเรื่องค้าเรื่องขาย เรื่องจราจร เรื่องโรคภัยไข้เจ็บ สัมพันธ์กันหมดเลย มันจึงอยู่กันมาได้
เป็นอันว่าต้องมีธรรมะ คือความถูกต้องที่พูดมาแล้ว การปฏิบัติที่ถูกต้องแก่ความรอด ทั้งทางกายและทางจิต ทุกขั้นตอนแห่งชีวิต ทั้งเพื่อตนเองและผู้อื่น แล้วก็ต้องมีธรรมะ มีธรรมะให้ถูกต้องตามหลักของธรรมชาติ ๔ ความหมาย ธรรมชาติเราให้ความหมายเป็น ๔ ความหมาย นี่ตามหลักธรรมะ ธรรมชาติคือตัวธรรมชาติ ตัวธรรมชาติที่ปรากฏการณ์เป็นตัวธรรมชาติ เป็นดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นวัตถุสิ่งของ เป็นอะไร เป็นโลก เป็นสากลจักรวาล นี่เป็นตัวธรรมชาติ ทางร่างกายคนเราหนึ่งๆ ก็เป็นธรรมชาติเรียกว่า ธรรมชาติ คำเดียว
ความหมายที่สอง คือ กฎของธรรมชาติ หมายความว่าในธรรมชาติทุกชนิดมันมีกฎของธรรมชาติสิงสถิตอยู่เพื่อกำกับสิ่งเหล่านั้นให้เป็นไปตามกฎ คุณลองหาดูสิธรรมชาติอันไหนที่ไม่มีกฎของธรรมชาติสิงสถิตอยู่ แม้แต่ในเม็ดกรวดเม็ดทรายเม็ดเดียว มันก็ต้องมีกฎของธรรมชาติสิงสถิตอยู่ เม็ดกรวดเม็ดทรายเหล่านั้นเป็นไปตามกฎของธรรมชาติ มีการเกิดขึ้น มีการเปลี่ยนไป มีการดับลง อย่างนี้มันก็เรียกว่า เป็นไปตามกฎของธรรมชาติ นี่ของสุดต่ำสุดเล็กสุดอย่างนั้นมันก็มีกฎของธรรมชาติ แล้วทำไมในร่างกายนี้มีละเอียดครบถ้วนวิจิตรพิสดาร มันก็ต้องมีกฎของธรรมชาติ นี้เรียกว่าความหมายที่สอง เรียกว่า กฎของธรรมชาติ
ก็มีความหมายที่สาม คือหน้าที่ เพราะมันมีกฎของธรรมชาติมันจึงมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติให้ถูกตามกฎของธรรมชาติ มิฉะนั้นมันจะต้องตาย มันต้องตาย หรือเป็นอยู่อย่างเป็นทุกข์เหมือนกับตกนรกทั้งเป็น จะอยู่ไปทำไม คือมันมีกฎของธรรมชาติ มันก็ต้องมีหน้าที่ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ ครั้นมีการปฏิบัติหน้าที่ๆ มีการปฏิบัติแล้วมันก็เกิดผลของหน้าที่ นี้เป็นความหมายที่สี่
คำ ๔ คำนี้ ช่วยจำไว้เถอะ จะจำเล่นๆ ก็ได้ จำจริงๆ ก็ดี ว่ามันมีธรรมชาติทั่วไป แล้วมีกฎของธรรมชาติควบคุมสิ่งเหล่านั้นอยู่ แล้วก็มีหน้าที่หรือความจำเป็นที่สิ่งมีชีวิตทั้งหลายต้องปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ ครั้นปฏิบัติแล้วก็มีผลตามสมควร จะผิดหรือจะถูกก็ตามเถิด มันมีผลตามสมควร นี่คุณลองใคร่ครวญดูเอาเอง ไม่ต้องเชื่อใครว่าใน ๔ อย่างนั้น อย่างไหนมีความหมายที่สุด หรือจำเป็นที่สุด ตัวธรรมชาติ เอ้า, ก็รู้ไป ตัวกฎของธรรมชาติก็รู้ไป แต่พอมาถึงตัวหน้าที่นี้ ต้องปฏิบัติ ถ้าไม่ปฏิบัติก็คือตาย แล้วก็ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องเพื่อได้รับผลตามที่ปรารถนา ฉะนั้นธรรมะ ๔ ความหมายนั้น ความหมายที่สามนั่นน่ะสำคัญที่สุด ความหมายที่สาม คือหน้าที่ ตัวธรรมชาติ ตัวกฎของธรรมชาติ ตัวหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ ตัวผลตามหน้าที่
และเมื่อนั้น เมื่อจะเอาความหมายที่สำคัญที่สุดของคำว่าธรรมะๆ แล้ว ต้องระบุไปยังหน้าที่ๆ พระศาสดาทุกพระองค์ของทุกศาสนาสอนเรื่องหน้าที่ๆ ต้องทำหน้าที่อย่างนั้นจึงจะรอด ธรรมะในความหมายที่สำคัญที่สุดมันเป็นเรื่องของหน้าที่ หน้าที่ที่จะต้องถูกต้องๆ ทุกๆ ปรมาณู มีความไม่ถูกต้อง มันก็มีความดับ มีความแตกกระจัดกระจายสูญหาย มันต้องมีความถูกต้อง จะเป็นระดับไหนก็ตาม ระดับต่ำสุด ระดับกลาง ระดับสูงสุด ก็ต้องมีความถูกต้องในหน้าที่ มีการกระทำหน้าที่อย่างถูกต้องอยู่ มันจึงรอดอยู่ เป็นคนก็ตาม เป็นสัตว์ก็ตาม เป็นพืชพันธุ์ต้นไม้ต้นไร่ก็ตาม มันมีความถูกต้องอยู่ทั้งนั้น
ถ้าว่ามีสายตาอันแหลมคมกวาดดูไปทั่วๆ ๆ ๆ ๆ ทั้งจักรวาล มันก็มีความถูกต้องมันจึงรอดอยู่ได้ ดวงอาทิตย์ก็มีความถูกต้องตามแบบของดวงอาทิตย์ จึงเป็นดวงอาทิตย์อยู่ได้ ดวงดาวทั้งหลาย โลก พระจันทร์อะไรก็ มันมีความถูกต้องตามแบบของมัน ทีนี้สิ่งต่างๆ ที่มีอยู่ในโลก แจกเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นต้นไม้ เป็นธาตุที่ไม่มีชีวิต มันก็มีความถูกต้อง ถูกต้องมันจึงรอดอยู่ได้ ยิ่งประณีตๆ ละเอียดเท่าไรยิ่งต้องมีถูกต้องยิ่งขึ้นไปตามนั้น คือความเป็นคน เรียกว่าประณีตสูงสุดก็ต้องมีความถูกต้องสูงสุดของความเป็นคน แล้วก็เป็นคนอยู่ได้หรือรอดอยู่ได้ ความเป็นสัตว์ก็เหมือนกัน ความเป็นต้นไม้ต้นไร่นี้ก็เหมือนกัน แล้วมันยังมีความสำคัญที่จะต้องอาศัยกันให้ถูกต้อง แต่ละอย่างๆ มีความถูกต้อง แล้วก็ต้องมีการอาศัยสัมพันธ์กันอย่างถูกต้อง มันจึงจะรอด
เดี๋ยวนี้เรามันมึงก็มึง กูก็กู ต่างคนต่างเห็นแก่ตัว แล้วก็เกิดสิ่งเลวร้ายขึ้นมาในโลก เพราะมันไม่มีความรู้สึกในข้อนี้ มันไม่สัมพันธ์กัน คนเห็นแก่ตัว คนเห็นแก่ตัวไปดูเถิดมันสร้างความผิดพลาดทั้งนั้นน่ะ สร้างมลภาวะเต็มไปทั้งโลกนี่ก็เพราะเห็นแก่ตัว แล้วมันสร้างอุบัติเหตุเพราะความเห็นแก่ตัวบนท้องถนน ในแม่น้ำลำคลอง แม้กระทั่งในอากาศ มันก็ยังชนกัน คนเห็นแก่ตัวมันก็ไปติดยาเสพติด ติดอบายมุข คนเห็นแก่ตัวมันก็ได้เป็นโรคที่เลวที่สุดที่แม้แต่สุนัขก็ไม่เป็น โรคเอดส์โรคแอดอะไรก็ไม่รู้ ไม่อยากจะเรียกชื่อ แต่ว่ามันเป็นโรคที่สุนัขก็ยังไม่เป็น แล้วคนมันจะเป็น นี่คิดดู เพราะมันมีความเห็นแก่ตัว ไถลออกไปนอกขอบเขต นั่นแหละคือความไม่มีธรรมะ หรือมันไม่มีความถูกต้อง เราต้องรักษาความถูกต้อง ให้มีความถูกต้อง คือมีธรรมะ มีธรรมะคือมีความถูกต้อง มีความถูกต้องคือความมีธรรมะ ให้มีธรรมะอยู่ในทุกกรณี ในที่ทุกหนทุกแห่ง ในที่ทุกเวลา เรียกว่าทุกวินาที ทุกกระเบียดนิ้ว ทุกกรณี ต้องมีความถูกต้อง ปัญหามันก็ไม่เกิดขึ้น เพราะเรามีความถูกต้อง มีความไม่ถูกต้องนิดเดียว เดี๋ยวก็เจ็บไข้เป็นหวัด เป็นอะไรขึ้นมาแล้ว นอนไม่หลับขึ้นมาแล้ว เป็นโรคภัยไข้เจ็บขึ้นมาแล้ว เพราะมันไม่มีความถูกต้อง
จึงพูดได้ว่า มีการทำหน้าที่อย่างถูกต้องนั่นแหละคือมีธรรมะ หรือจะกล่าวกลับกันว่า ถ้ามนุษย์มีการทำหน้าที่ของมนุษย์ เมื่อนั้นมีธรรมะ มนุษย์คือคนมีสติปัญญารู้อะไรต่างๆ แล้วก็ทำหน้าที่ของมนุษย์ ก็คือถูกต้อง เมื่อนั้นก็คือมีการปฏิบัติธรรมะ เอากันง่ายๆ ว่า เมื่อมนุษย์ทำหน้าที่ของตน ก็มีธรรมะเกิดขึ้น ท่านจงทำหน้าที่ทุกหน้าที่ให้ถูกต้อง แล้วมันก็จะมีธรรมะ มีธรรมะอยู่ในการศึกษาเล่าเรียน มีธรรมะอยู่ในการปฏิบัติงาน มีธรรมะอยู่ในการสังคม มีธรรมะอยู่ในทุกกระเบียดนิ้วๆ มันต้องมีความถูกต้อง มีความถูกต้อง ตามกฎของธรรมชาติ หรือจะตามกฎของธรรมะมันก็อันเดียวกัน ธรรมะก็คือธรรมชาติใน ๔ ความหมาย มีความถูกต้องที่โรงเรียน ที่บ้านเรือน ที่ออฟฟิศ ที่ที่ทำงาน ทุกหนทุกแห่ง แล้วก็ในทุกๆ อิริยาบถ
เมื่อทำหน้าที่เป็นเจ้าของบ้านรับแขก มีความถูกต้องในห้องรับแขก เมื่อทำหน้าที่กินอาหาร ก็มีความถูกต้องอยู่ในห้องกินอาหาร เมื่อทำหน้าที่อยู่ในห้องอาบน้ำ ก็มีการถูกต้องความถูกต้องในการอาบน้ำ เมื่อนั่งถ่ายอุจจาระปัสสาวะอยู่ในห้องส้วม ก็ต้องมีความถูกต้องอยู่บนโถส้วมที่นั่งถ่ายอุจจาระนั่นน่ะ ต้องถึงขนาดนั้น เรียกว่ามีความถูกต้องทุกกระเบียดนิ้ว ทุกกระเบียดนิ้วเป็นธรรมะๆ เสมอกัน แม้นั่งถ่ายอุจจาระอยู่บนโถส้วมในห้องส้วม ขอให้เป็นอย่างนั้น ให้มันมีความถูกต้องในลักษณะอย่างนั้น เรียกว่ามีความถูกต้อง ถูกต้องได้ในที่ทุกหนทุกแห่ง ไม่ยกเว้นอะไรๆ มันมีความถูกต้องให้ทุกระบบของการเคลื่อนไหวในชีวิต นี่ก็เรียกว่า เป็นเทคนิคเพื่อความรอดชีวิต ยิ่งกว่าเทคนิคเพื่อจะหาเงินหาทอง เพราะเป็นเทคนิคแห่งความรอด จะต้องทำให้เกิดความถูกต้องในที่ทุกหนทุกแห่งอย่างที่กล่าวแล้ว
ในที่สุด ก็สรุปความว่า มีความถูกต้องในทุกกรณี ก็เกิดความถูกต้องในทุกกรณี มีธรรมะ ๔ เกลอเป็นเครื่องชุบชูชีวิต มีสัมปชัญญะ รู้จักความถูกต้องในเรื่องความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความเป็นอนัตตา ความเป็นสุญญตา ตถาตา ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดลึกซึ้งไม่มีอะไรมากกว่า ถูกต้องในระดับอตัมมยตาก็เป็นพระอรหันต์ ยังไม่ต้องการก็ตามใจ แต่ว่าเรื่องมันมีอยู่อย่างนั้น ถ้ามีความถูกต้องในระดับอตัมมยตาจนจิตไม่ไปเอาบวก เป็นบวกเป็นลบกับอะไรที่ไหน จิตอยู่เหนือความเป็นบวก เหนือความเป็นลบ ก็เป็นตถาตา มันจะตถาตาได้ก็ต้องเห็นว่า ไอ้บวกก็อย่างนั้น ไอ้ลบก็อย่างนั้น ไอ้หัวเราะก็อย่างนั้น ไอ้ร้องไห้ก็อย่างนั้น กูไม่เอากับมึงนี่ เอาความถูกต้อง เอาความปกติ เอาความสะอาด สว่าง สงบ เยือกเย็น หลุดพ้นจากอิทธิพลของทุกๆ สิ่งที่เกี่ยวข้องกันอยู่กับตน มีความถูกต้องในธรรมะสำหรับปฏิบัติอย่างเรียกว่าทุกๆ ขั้นตอน แล้วมันก็จะมีจิตใจอยู่เหนือสิ่งเหล่านั้น ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งปัญหา แล้วมันก็ไม่มีปัญหา เรียกว่าอยู่เหนือปัญหา คำนี้สำคัญมาก
บางคนจะบูชากามารมณ์ ไม่รู้ว่ากามารมณ์เป็นตัวปัญหา บางคนจะบูชาความสุขๆ ๆ หารู้ไม่ว่า ตัวความสุขนั้นมันเป็นตัวปัญหา ต้องอยู่เหนืออำนาจอิทธิพลของกามารมณ์ ของความสุข อะไรที่เป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นถือมั่น ต่อเมื่อไม่ยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดโดยความเป็นตัวตนของตนมันจึงจะหมดปัญหา แล้วเทคนิคที่ยุ่งยากที่สุด ลึกซึ้งที่สุด คือเทคนิคแห่งการที่จะไม่ไปยึดมั่นถือมั่นสิ่งใด ยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดก็เป็นทาส เป็นทาสเป็นขี้ข้าของสิ่งนั้น เป็นทาสของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นทาสของกิเลส เป็นทาสของไอ้ความปรารถนาที่โง่เขลา นี่เรียกว่ามีความเป็นทาส รู้จักถอนตนออกมาเสียจากความเป็นทาส ก็คือไม่ไปยึดมั่น ถือมั่น หมายมั่นสิ่งใด โดยความเป็นตัวตนของตน มีแต่ทำให้ถูกต้องๆ ๆ โดยไม่ต้องยึดมั่น ทรัพย์สมบัติ เงินทอง ข้าวของ อำนาจ วาสนา บารมี ก็ไม่ต้องไปยึดมั่นหมายมั่นให้เป็นบ้า มีไว้ให้ถูกต้อง ใช้มันให้ถูกต้องๆ ไม่มีอาการที่ต้องยิงตัวตาย ฆ่าตัวตาย เหมือนไอ้ข่าวหน้าหนังสือพิมพ์ที่ฆ่าตัวตายเพราะความหึงและความหวง
มหาเศรษฐียังฆ่าตัวตายนะ เทวดาในเมืองสวรรค์ยังทะเลาะกันนะ เพราะความเห็นแก่ตัว ถ้าไม่มีความเห็นแก่ตัวมันก็ไม่มีปัญหา ฉะนั้นจงทำให้มันหมดปัญหา การที่จะทำให้มันหมดปัญหานี่มันก็มีความหมายอยู่ที่ว่า มันจะต้องไปจัดการที่ต้นเหตุ อย่าไปจัดการที่ปลายเหตุ มันไม่สำเร็จ ความทุกข์มันเป็นตัวผลที่ปรากฏอยู่ ถ้าเราจะดับทุกข์ ก็จงไปดับที่ต้นเหตุ อย่าไปดับที่ตัวความทุกข์ให้โง่ ถ้าคุณจะดับไฟ ก็ไปดับที่เหตุให้เกิดไฟ แล้วไฟมันก็จะดับ ถ้าตรงเข้าไปดับที่ไฟ ก็ต่อสู้กับไฟ มันก็ไหม้เอา
พุทธศาสนามีชื่อเสียงว่าเป็นศาสนาแห่งเหตุผล มีความเป็นเหตุเป็นผลที่จะต้องรู้จักและจัดการให้ถูกต้อง เหมือนการดับทุกข์ เรื่องอริยสัจ ๔ นี่เข้าใจกันดีอยู่ทุกคนแล้วว่า ความทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความดับทุกข์ และทางให้ถึงความดับทุกข์ ทางให้ถึงความดับทุกข์ก็ไปดับที่เหตุ คือตัดตัณหา มันไปตัดต้นเหตุแห่งความทุกข์ แล้วความทุกข์มันก็ดับไป
คำว่าดับทุกข์ๆ นั้น ช่วยฟังให้ดีๆ มันกำกวม ที่จริงมันทำให้ความทุกข์ไม่เกิด การกระทำไม่ให้ความทุกข์เกิดนั่นแหละคือความดับทุกข์ คำพูดมันกำกวม ทำอย่าให้ความทุกข์มันเกิด นั่นแหละคือความดับทุกข์ แล้วทำที่ไหน ทำที่ต้นเหตุของมัน อะไรเป็นต้นเหตุแห่งความทุกข์ จงทำที่นั่น ความหลงใหลในกามารมณ์เป็นต้นเหตุ ก็หยุดเสีย ความโง่เขลาในทางที่จะทำอะไรผิดๆ ก็หยุดเสีย ความบันดาลโทสะไม่บังคับจิตเหล่านี้ มันก็หยุดเสีย เหล่านี้มันเป็นต้นเหตุ ถ้าสรุปความแล้วก็ไปอยู่ที่โลภะ โทสะ โมหะ ถ้าสรุปความอีกทีหนึ่งทั้ง ๓ สิ่งนี้ มันอยู่ที่อวิชชา ความไม่รู้อย่างถูกต้องตามที่เป็นจริง เราจงมีความรู้ที่ถูกต้องตามที่เป็นจริง ก็สามารถที่จะดับเหตุแห่งความทุกข์ได้ แล้วก็ดับที่เหตุๆ อย่าไปดับที่ตัวมัน ไปดับที่เหตุนั้นเป็นผู้ฉลาดๆ ถ้าไปดับที่ปลายเหตุๆ เป็นคนโง่
เดี๋ยวนี้เรามักจะมัวดับกันที่ปลายเหตุ แก้ไขกันที่ปลายเหตุ มันก็แก้ไม่ได้ ยิ่งแก้มันก็ยิ่งเพิ่มปัญหา อย่างจะแก้ไขความยากจน มันต้องไปแก้ที่ต้นเหตุของความยากจน ถ้าไม่มั่งมีก็ต้องไปแก้ที่ต้นเหตุของความไม่มั่งมี ถ้าเจ็บปวดก็ต้องแก้ที่ต้นเหตุความเจ็บปวด ถ้าเป็นทุกข์ก็ต้องแก้ไขที่ต้นเหตุแห่งความทุกข์ ดังนั้นจึงต้องหาต้นเหตุให้พบ นั่นแหละคือเทคนิค นั่นแหละคือเทคนิคของธรรมะ จงหาต้นเหตุแห่งปัญหาให้พบ ใช้คำว่าปัญหาดีกว่า ถ้าหมดปัญหา มันก็หมดจริงๆ เพราะว่าความสุขก็ยังเป็นปัญหานะ บ้าดี เมาดี หลงดี ก็บ้าเลยนะ บ้าสุข เมาสุข ก็บ้าเลยเหมือนกัน ฉะนั้นความสุขยังเป็นตัวปัญหา แต่ถ้าเราใช้คำว่า ปัญหาๆ หมดปัญหา นั่นแหละจะหมดทุกอย่างที่เป็นตัวปัญหา ต้องแก้ไขที่ต้นเหตุแห่งปัญหา อย่าไปมัวแก้ไขที่ปลายเหตุ
แก้ไขที่ต้นเหตุนั่นเป็นลูกราชสีห์ แก้ไขที่ปลายเหตุเป็นลูกหมา จะเป็นเด็กโง่ๆ นี่ก็ตามมัวแต่แก้ไขแต่ที่ปลายเหตุ ไปรบเร้ากันแต่ที่ปลายเหตุ มันก็ทำไม่ได้ เหมือนกับเราเอาไม้ไปแหย่สุนัข สุนัขมันจะกัดแต่ที่ปลายไม้ที่แหย่มันนะ แต่ถ้าเอาไม้ไปแหย่เสือ แหย่ราชสีห์ มันไม่มัวกัดที่ปลายไม้ มันกระโจนไปที่คนถือไม้นั่น ฉะนั้นจึงพูดว่าถ้าแก้ไขที่ต้นเหตุเป็นลูกเสือ เป็นลูกราชสีห์ ถ้ามัวแก้ไขแต่ที่ปลายเหตุมันเป็นลูกหมา
ฉะนั้นทุกคนจงดู ที่เป็นนักศึกษากำลังเล่าเรียน ถ้าไม่แก้ไขที่ต้นเหตุมันไม่สำเร็จ ไปมัวแก้ไขที่ปลายเหตุ มันหลอกๆ เขาไปวันหนึ่งๆ น่ะ หรือจะเป็นนักธุรกิจ มันก็จะต้องแก้ไขที่ต้นเหตุ หรือจะเป็นผู้ปกครอง หรือจะเป็นทำหน้าที่อะไรก็ตาม ที่รับผิดชอบทั้งบ้านทั้งเมือง รับผิดชอบทั้งโลก มันก็จะต้องแก้ไขที่ต้นเหตุ การประชุมกันในฐานะเป็นองค์การโลก เพื่อจะประชุมกันแก้ไขเหตุ เหตุของไอ้ปัญหาของโลก นี่เรียกว่าเขาทำถูกแล้ว เราก็จะต้องรู้จักความเป็นเหตุและความเป็นผล ต้องแก้ไขที่ต้นเหตุ จึงจะได้รับผลสมตามความปรารถนา แม้นี่ก็เป็นเทคนิคของธรรมะ เป็นธรรมเทคนิคที่จะต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง
รวมความว่า ธรรมะเป็นเทคนิคอยู่ในตัว ความรอดอยู่ได้นั้นมันเป็นเทคนิคอยู่ในตัว ถ้ามันไม่ถูกเทคนิคแล้ว มันตายๆ คนก็ตาย สัตว์ก็ตาย ต้นไม้ก็ตาย ถ้ามันไม่มีความถูกต้องอยู่ในตัว นี่ทำให้ถูกต้องนั่นแหละคือเทคนิค คือความถูกต้องมันคือความมีเทคนิค อย่าใช้คำอะไรให้มันมากไปเลย ใช้คำไทยๆ ก็ว่ามันมีเคล็ดอยู่ในทุกสิ่งทุกอย่างโดยธรรมชาติ เราต้องทำให้ถูกต้อง เป็นความถูกต้องของมนุษย์ แล้วมนุษย์ก็รอด นี่คือสิ่งที่เรียกว่าเทคนิค เป็นเทคนิคของธรรมชาติ แล้วก็มากลายเป็นเทคนิคของมนุษย์ มนุษย์มีความถูกต้องในเทคนิคของความเป็นมนุษย์ ก็คือความรอดของมนุษย์ เจริญรุ่งเรืองไปในทางความสงบเย็น ถ้าผิดไปมันก็ไม่มีเทคนิค มันก็เป็นไปในทางทำลาย ในที่สุดก็จะวินาศ โลกนี้จะวินาศ เพราะไม่ถูกเทคนิคของธรรมะ โลกนี้จะร่มเย็นเป็นสุขสถาพรก็เพราะมีความถูกต้องตามเทคนิคของธรรมะ
ขอให้ท่านทั้งหลายสรุปความตามที่ได้บรรยายมาแล้วนี้ว่า มันเป็นอย่างนี้ นี่จะต้องพูดว่าเทคนิคของธรรมะ เพราะธรรมะมันไปเป็นตัวเทคนิคเสียเอง ธรรมะเป็นตัวเทคนิคเสียเอง ถ้ามีเทคนิคก็หมายความว่ามีความถูกต้องเต็มที่อยู่ในนั้น นี่เรียกว่าจะมีเทคนิคก็ได้ จะมีธรรมะก็ได้ มันก็เหมือนกันนั่นแหละ คือมีความถูกต้องสำหรับจะรอดโดยทุกๆ วิถีทางตลอดเวลาทั้งเพื่อเราเองและผู้อื่น ดังนั้นจึงต้องศึกษาธรรมะเพื่อผู้อื่นด้วย ศึกษาธรรมะเพื่อการทำประโยชน์แก่ผู้อื่นด้วย ถ้าทำเพื่อเห็นแก่ตัวคนเดียว เดี๋ยวก็ไปเข้าวง หลงทางๆ กลายเป็นเรื่องที่ไม่ใช่ธรรมะไปเสีย คือความเห็นแก่ตัว ความเห็นแก่ตัวเข้ามามันก็พาไปลงนรก หรือว่าตกนรกกันที่นี่ก็ได้ ตกนรกกันทั้งเป็น เพราะความเห็นแก่ตัว และมันผิดเทคนิคๆ ผิดธรรมะ ผิดอะไรไปหมด ถ้ามันยังถูกต้องตามหลักธรรมะ หรือตามทางเทคนิค มันจะไม่เกิดความเห็นแก่ตัว
ไอ้ความเห็นแก่ตัวนี่มันแปลกนะ เกิดมาเมื่อไรมันกัดเจ้าของเมื่อนั้นน่ะ ขอฝากไว้เป็นคำพูดที่ว่า เอาไปคิดได้ที่ไหนเมื่อไรก็ได้ เห็นแก่ตัวที่ไหนมันกัดเจ้าของเมื่อนั้นแหละ ความเห็นแก่ตัวมันจะกัดเจ้าของเมื่อนั้น ถ้าเห็นแก่ความถูกต้อง เห็นแก่ธรรมะ เห็นแก่เทคนิคที่ถูกต้อง มันไม่กัดใคร แต่มันให้ความปลอดภัย ให้เสรีภาพ ให้ความสะอาด สว่าง สงบ เย็น ที่เรียกว่าวิมุตติหลุดพ้นเป็นพระนิพพาน พระนิพพานคือหมดปัญหา เทคนิคสูงสุดก็คือเทคนิคทำให้บรรลุพระนิพพาน จงมีความสนใจให้สมกับที่ว่าเป็นเรื่องสูงสุดกว่าเรื่องใดๆ คือเทคนิคสำหรับการบรรลุนิพพาน ธรรมะสำหรับการบรรลุนิพพาน
ขอขอบคุณท่านทั้งหลายที่อุตส่าห์ทนฟังมาเกือบ ๒ ชั่วโมงแล้ว ขอให้สำเร็จประโยชน์ในการอดทนฟัง แล้วเข้าใจ และนำไปใช้ประพฤติปฏิบัติ ให้ธรรมะครองจิตใจ หรือให้จิตใจครองธรรมะ เหมือนกันแล้วก็มีความถูกต้องๆ นำมาซึ่งความสุขสวัสดีอยู่ในหน้าที่การงานของตนทุกทิพาราตรีกาลเทอญ ขอยุติการบรรยาย