แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
๐๑.๑๑.....ท่านสาธุชนผู้มีความสนใจในธรรมทั้งหลาย อาตมาขอแสดงความยินดีในการมาของท่านทั้งหลายสู่สถานที่นี้ ในลักษณะอย่างนี้ คือ มาแสวงหาความรู้ทางธรรมะ เพื่อไปใช้ประกอบการดำเนินหน้าที่ กิจการงานของตนให้มีผลดีถึงที่สุด เป็นสิ่งที่มีเหตุผลในการกระทำ เป็นที่น่าอนุโมทนา จึงขอแสดงความยินดีและอนุโมทนาในการกระทำนี้
หัวข้อดูจะกำหนดมาให้แล้วว่า ภูมิปัญญาแบบพุทธ ภูมิปัญญาแบบพุทธ มีลักษณะเป็นคำถามก็ได้ มีลักษณะเป็นการลองภูมิก็ได้ มันจะอย่างถามหรืออย่างลองภูมิ คำตอบก็เป็นอย่างเดียวกัน ว่าภูมิปัญญาแบบพุทธนั้นเป็นอย่างไร?
ในชั้นแรกจะต้องเข้าใจความหมายของคำว่า พุทธ กันเสียก่อน เพราะว่าคำว่า พุทธ นี้ก็มีความหมายหลายอย่าง หมายถึง พระพุทธเจ้าอย่างเป็นบุคคล บุคคลในประวัติศาสตร์คนหนึ่งนี้ก็ได้ หรือ ในฐานะเป็นบุคคลพิเศษที่เป็นพระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ได้ ที่หมายถึงผู้รู้เช่นเดียวกันนั้น คือรู้ตามพระพุทธเจ้าเหล่านั้น ก็เรียกว่า พุทธ ได้เหมือนกัน แต่ถ้าเอาความรวมกันทั้งหมด เดี๋ยวนี้เรานิยมบัญญัติกันว่า พุทธะ คือ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน สรุปอยู่ในความหมาย ๓ ความหมายว่า
พระศาสดาเองก็เป็นอย่างนี้ สาวกของพระศาสดาก็เป็นอย่างนี้ ถ้าเป็นพุทธะหรือแบบพุทธแล้วก็เป็นอย่างนี้ คือ เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน สัตว์ธรรมดาสามัญเกิดมาจากท้องมารดา ไม่ได้เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน แล้วเกิดมายังเข้าใจผิด ยิ่งโง่ ยิ่งไม่รู้ ยิ่งหลับมากขึ้นเสียพักหนึ่ง คือ หลงใหลในอารมณ์ที่มากระทบ เป็นบ้าบวก บ้าลบ บ้าดี บ้าชั่ว กันเสียพักหนึ่งกว่าจะหายมาเป็นคนปกติ แล้วก็ค่อยๆรู้ลึกขึ้นไป ตื่นมากขึ้นไป กระทั่งเบิกบานในที่สุด เพราะไม่มีความทุกข์หรือความร้อนมาครอบงำย่ำยี ก็เป็นผู้เบิกบาน นี่มันอาศัยกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ คือ ธรรมะ ๔ ประการ
ฉะนั้น ขอให้รู้ว่า ความหมายของคำว่า พุทธะ พุทธะนั้น มีอยู่ ๔ ความหมาย เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เพราะรู้ธรรมะ ๔ ความหมาย เป็นพุทธะได้เพราะรู้ธรรมะ ๔ ความหมาย
ธรรมชาติ ทุกอย่างเป็นธรรมชาติ ข้างนอกกาย ข้างในกาย อย่างต่ำสุด อย่างสูงสุด อย่างมีชีวิต ไม่มีชีวิต นี่ก็เป็นธรรมชาติ ต้องรู้ว่ามันเป็นอย่างไร ทำไมต้องรู้? เพราะมันเกี่ยวข้องกัน ไม่มีอะไร สิ่งใดอยู่ในโลกคนเดียวได้ เพราะมันต้องเกี่ยวข้องกันทั้งนั้น คนเกี่ยวข้องกับคน แล้วยังเกี่ยวข้องกับสัตว์ ยังเกี่ยวข้องกับต้นไม้ ยังเกี่ยวข้องกับวัตถุธาตุล้วนๆที่ไม่มีชีวิตจิตใจ ต้องรู้อย่างถูกต้องว่า ธรรมชาตินั้นๆจะมีอย่างไร อย่าให้กระทำผิดๆให้เกิดอันตรายขึ้นมา แล้วก็รู้อย่างยิ่งก็คือ รู้กฎของธรรมชาติ กฎของธรรมชาติเป็นสิ่งที่ฝืนไม่ได้ เฉียบขาด ตายตัว เสมือนหนึ่งพระเป็นเจ้า เสมือนหนึ่งพระเป็นเจ้า ซึ่งมีแต่จะต้องทำให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับชีวิตภายในนี้ด้วยแล้วยิ่งสำคัญ ถ้าผิดมันก็ตาย ถึงไม่ตายมันก็เดือดร้อน กระวนกระวาย หาความสงบสุขไม่ได้ จึงอย่าทำให้ผิดกฎของธรรมชาติ ถึงแม้จะดัดแปลงธรรมชาติมาใช้ หาประโยชน์อะไรมันก็ยังไปตามกฎของธรรมชาตินั่นแหละ การดัดแปลงนั้นมันต้องถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ มันจึงจะสำเร็จหรือออกมาเป็นประโยชน์ คือหนีกฎของธรรมชาติไม่พ้น ซึ่งเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้แล้ว มันเป็นหน้าที่ หน้าที่ที่ต้องระมัดระวังให้ดี ให้ถูกต้อง ให้ได้ผลยิ่งๆขึ้นไปนี้ มันเป็นวิวัฒนาการในทางที่พึงปรารถนา ในที่สุดก็ว่า ก็หมดปัญหา หมดปัญหา เมื่อมันมีความถูกต้องทั้ง ๔ ความหมายแล้ว มันก็หมดปัญหา นี้เรียกว่า ชาวพุทธ มีลักษณะอย่างนี้ เป็นผู้รู้ เป็นผู้ตื่น เป็นผู้เบิกบาน เพราะรู้ เพราะตื่น เพราะเบิกบานรี้ก็ด้วย จึงเป็นชาวพุทธ แล้วมันก็เป็นอย่างนั้นได้เพราะความรู้ที่ถูกต้องนั่นเอง
คำว่า พุทธะ พุทธะ นี่แปลว่า รู้ก็ได้ แปลว่า ตื่นก็ได้ แปลว่า เบิกบานก็ได้ ไม่ใช่หมายถึงบุคคลคนหนึ่งที่เรียกกันว่า พระพุทธเจ้า ประสูติแล้ว ตรัสรู้แล้ว นิพพานแล้ว อย่างนั้นมันหมายเอาวัตถุ เอาเนื้อเอาตัว แต่ถ้าหมายเอาคุณธรรม คุณธรรมเหล่านี้ยังอยู่ตลอดไป ความเป็นผู้รู้ ความเป็นผู้ตื่น ความเป็นผู้เบิกบานนี้ ทำถูกต้องที่ไหน เมื่อไร ก็ออกมาจากธรรมชาติ ออกมาปรากฏ พระพุทธเจ้าลักษณะนี้คือ ตัวธรรมะ พระพุทธเจ้าที่เป็นบุคคลนั้นก็ตรัสว่า ผู้ใดเห็นธรรมะ ผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นเห็นธรรมะ นี่มันเป็นตัวธรรมชาติ ไม่รู้จักนิพพาน มีอยู่ตลอดไป ใครปฏิบัติได้ถูกต้อง ถึงที่สุดก็ปรากฏออกมา หรือจะเรียกว่าทำผู้นั้นให้เป็นพุทธะขึ้นมาก็ได้ มันก็หมายถึงปรากฏออกมาในลักษณะที่ว่าเป็นพุทธะ นี่พุทธะเป็นผลแห่งภูมิปัญญาของพุทธะเอง คือ รู้ถูกต้อง ตื่นเต็มที่ และก็เบิกบานถึงที่สุด ปัญญาที่ทำให้เป็นแบบนี้ ที่ทำให้ได้รับผลอย่างนี้ เราเรียกว่า ผู้มีปัญญาในลักษณะพุทธ หรือ ว่าเป็นแบบพุทธ นี่ควรจะเข้าใจไว้ส่วนหนึ่ง
ทีนี้อีกส่วนต่อไปก็จะพูดว่า ภูมิปัญญาแบบพุทธนี้คือภูมิปัญญาที่ไม่เป็นทาส ไม่ตกเป็นทาสในทางสติปัญญาของผู้ใด แม้แต่ของพระพุทธเจ้า หรือแม้แต่ของตัวเอง ของผู้ใด ฟังแล้วมันน่ารำคาญหรือน่าเกลียดน่าชัง จะไม่ตกเป็นทาสแห่งปัญญาแม้ของพระพุทธเจ้า คนโง่มันก็ด่าสิว่าพูดอย่างนี้ พูดจาจ้วงจาบพระพุทธเจ้า แต่พระพุทธเจ้ากลับตรัสไว้เสียเอง ว่าไม่ต้องตกเป็นทาสแห่งสติปัญญาแม้ของพระพุทธเจ้า ดังที่ปรากฏอยู่ในกาลามสูตร ดังนั้น กาลามสูตร จึงเป็นเครื่องแสดงภูมิปัญญาอย่างพุทธะหรือแบบพุทธะ เข้าใจแล้วจะเห็นได้ว่า ไม่ตกเป็นทาสแห่งสติปัญญาของผู้ใด ไม่ว่าจะเป็นของพระพุทธเจ้าเอง หรือของตัวเอง และไม่ตกเป็นทาสของการแสดงหรือสิ่งที่แสดง หรืออะไรที่แสดงกันอยู่ทั่วๆไป แม้มิใช่บุคคล ซึ่งจะได้.. จะเล่าให้ฟังเพื่อไม่เป็นทาสแห่งสติปัญญาของสิ่งใด
นับตั้งแต่ข้อ ๑ ไปเลย คือ ไม่เชื่อ เพราะได้ฟัง บอกมา อนุสฺสเวน บอกตามๆ กันมา คือคำบอกกล่าว บอกกล่าวกันต่อๆ กันไป หรือบอกกันมาตั้งแต่ครั้งไหนก็ไม่รู้ เป็นคำบอกกล่าวกันมาว่าอย่างไร ไม่ยอมเชื่อ คำว่า ไม่ยอมเชื่อ นี้หมายความว่า มีวิธีที่จะสังเกตของตนเองเสียก่อน แล้วจึงค่อยเชื่อ ไม่เช่นนั้นจะโง่ เหมือนที่แตกตื่นกันบ่อยๆ แตกตื่นเรื่องนั้น แตกตื่นเรื่องนี้ แตกตื่นเรื่องไสยศาสตร์ แตกตื่นเกิดปีมะมันจะตาย เกิดไอ้ความแตกตื่นนี่แม้ในโรงร่ำโรงเรียนมันก็ยังมี แตกตื่นเพราะบอกกันมา
ทีนี้ข้อ ๒ ไม่เชื่อ เพราะเขาทำตามๆ กันมา สิ่งนั้นเขาทำตามๆ กันอยู่ ตามๆ กันอยู่ ทำๆ กันอยู่นั้นก็ยังไม่เชื่อ จนกว่าจะได้เห็นเหตุผลของมันด้วยตนเองเสียก่อน คือข่าวเล่าลือ ข่าวเล่าลือ ก้องโลก ให้ก้องโลก ก็ไม่เชื่อ จนกว่าจะได้มีเหตุผลของตนเองในเรื่องนั้นเสียก่อน นี่เกี่ยวกับการได้ยินได้ฟังนะ มีอยู่ ๓ ประการ ไม่เชื่อทันที แบบพุทธ ไม่เชื่อทันที มันจะบอกให้ หรือมันจะทำให้ดู หรือมันจะลือกันกระฉ่อน ก็ยังไม่เชื่อ เดี๋ยวเก็บไว้ก่อน เดี๋ยวไปพูดพร้อมกัน
ทีนี้ ไม่เชื่อแม้มีที่อ้างในปิฎกหรือในตำรา แม้ในตำราเขียนไว้ที่เขาชอบอ้างกันนัก โดยเฉพาะตำราฝรั่งเขาอ้างกันเป็นหาง นี่แม้ในปิฎก ตำราของพระพุทธศาสนา มีกล่าวอยู่อย่างนั้น เขียนกันอย่างนั้น ก็ยังไม่เชื่อ จนกว่าจะได้ใช้สติปัญญาของตนเสียก่อน
นี่ข้อ ๓ หมวด...พวกที่ ๓ ก็เป็นเรื่องของการคำนวณ การคิด การคำนวณ โดยวิธีคิดซึ่งมีส่วนใหญ่อยู่เป็น ๒ ชนิด ในอินเดียเขาเรียกคิดอย่าง ตรรกะ ตรงกับที่พวกฝรั่งเรียกว่า Logic และวิธีคิดที่เรียกว่า นัยยะ หรือ นิยายะ คือ ตรงกับวิธีคิดที่พวกฝรั่งเรียกว่า Philosophy เออ, ตรงนี้จะขอบอก ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ เคยได้ยินได้ฟังมา เคยใช้กันมาแล้วว่า Philosophy แปลว่า ปรัชญา นั่นเป็นการเอาคำของชาวอินเดียมาใช้ผิด แล้วเขาโกรธมาก เขาดูถูกมาก คำว่า ปรัชญา ของอินเดีย มันเป็นปัญญาสูงสุด เป็นปัญญาถึงที่สุดของการศึกษา มีการพิสูจน์แล้ว ผิดไม่ได้อีกต่อไป เรียกว่า ปรัชญา ปรัชญาในภาษาสันสกฤต ปัญญา ปัญญา ภาษาบาลีนั่นแหละ เป็นปัญญา แต่ถ้าคิดอย่าง Philosophy นี้ยังไม่สูงสุด ยังมีเหตุผลที่แย้งเคียงข้างกันได้เรื่อยไปไม่มีที่สิ้นสุด เรียกว่า Philosophy ที่ฝรั่งเรียกว่า Philosophy นั้น ชาวอินเดียเรียกว่า ทัศนะ ทัศนะหนึ่งๆ ทัศนะหนึ่งๆ คือ ปรัชญา ถึงแม้ว่าจะคิดทางตรรกะออกมาอย่างนี้ ก็ยังไม่เชื่อ ตรรกะมันผิดก็ได้ แม้จะคิดโดยวิธี Philosophy ได้ผลออกมาอย่างนี้ก็ยังไม่เชื่อ มันผิดก็ได้ รอไว้ก่อน เดี๋ยวก่อน ทีนี้มันก็มี ฝ่ายที่เกี่ยวกับความคิดของตัวเอง ความคิดชั่วขณะ Common Sense ตรึกตามอาการที่แสดงออกมาได้ตามธรรมชาติเป็น Common Sense ออกมาอย่างนี้ก็ยังไม่เชื่อ เดี๋ยวก่อน หรือว่า คำที่เขาพูด เขาแสดง เสนอขึ้นมานั้น มันตรงกับความคิดเห็นของตัวแท้ๆ เลยก็ยังอย่าเพิ่ง เพราะมันอาจจะผิดได้ ทั้งเราและทั้งเขา เก็บไว้ทีก่อน นี่เกี่ยวกับความคิดเห็น
ทีนี้เกี่ยวกับบุคคล เกี่ยวกับบุคคล ผู้พูดน่าเชื่อที่สุด เป็นคนที่น่าเชื่อทุกอย่างทุกประการ บุคลิกภาพหรืออะไรต่างๆ Degree วิทยฐานะ มันควรจะเชื่อ น่าจะเชื่อ พูดออกมาก็อย่าเพิ่งเชื่อ รอก่อน และแม้ผู้พูดนั้นเป็นครูของเราโดยตรง มา สมโณ โน ครูติ นี้เป็นครูของข้าพเจ้าโดยตรง ก็หมายถึงพระพุทธเจ้าเอง พระพุทธเจ้านั้นเป็นครูของคนทุกคน ก็อย่าเพิ่งเชื่อ
นี่, คุณดูภูมิปัญญาแบบพุทธซิ มันถึงขนาดนี้ ยังกับจะไม่เชื่อตรงนี้อีกก็เลิกกัน ก็ไม่ต้องพูดก็ได้ แต่ถ้ายังสนใจก็ฟังดูต่อไป ไม่เชื่อโดย ๑๐ อย่าง โดยอาการ ๑๐ อย่างนั้น ไม่เชื่อ เขาแสดง อะไรแสดงมาโดยอาการ ๑๐ อย่างนี้ยังไม่เชื่อเอาไว้ แต่จะมาดูโดยเหตุผลที่มันแสดงอยู่ในตัวมันเอง โดยที่ว่าใครจะพูดหรือไม่พูดก็ตาม มันก็แสดงเหตุผลอยู่ในตัวของมันเอง ถ้าเป็นสิ่งที่เราได้ผ่านมาแล้วก็ยิ่งดี เราผ่านมาแล้วก็ยิ่งดี เช่น พูดว่า เกียจคร้านทำให้ยากจน นี่ไง ใครมาบอกให้ร้อยคน ก็ไม่ต้องเชื่อเพราะฉันเห็นอยู่แล้ว ในความเกียจคร้านหรือในความยากจน คือจะดับทุกข์ได้ด้วยความเพียร ฉันไม่เชื่อผู้พูดหรอก แม้เป็นพระพุทธเจ้าฉันก็ไม่เชื่อ เพราะมันแสดงอยู่ ให้ฉันเห็นว่าความเกียจคร้าน มันทำให้ยากจน มันมีเหตุผลแสดงอยู่ในตัวคำพูด เหตุผลที่แสดงอยู่ในตัวคำพูดนั้น ระวังให้ดี ดับทุกข์ด้วยการฆ่ากิเลสตัณหานี่ ไม่ต้องเชื่อพระพุทธเจ้าพูด ฉันเห็นอยู่แท้ๆ แล้วว่า มีกิเลสก็เกิดทุกข์อย่างนั้น ถ้าดับทุกข์ มันก็ดับกิเลสตัณหา นี่สรุปความว่า จะถาม ยกตัวอย่างมากี่ร้อยพัน หมื่น แสน กี่อย่างก็ตาม มันสรุปอยู่ที่ว่า เหตุผลที่แสดงอยู่ในตัวมันเอง เรื่องดี เรื่องชั่ว เรื่องบุญ เรื่องบาป เรื่องสุข เรื่องทุกข์ พูดได้กี่อย่าง กี่อย่าง ฉันก็ไม่เชื่อผู้พูด แต่เชื่อเหตุผลที่แสดงอยู่ในคำพูด พระพุทธเจ้าพูด หรือผู้รู้คนใดพูด มันจะมีเหตุผลแสดงอยู่ในคำพูด แม้ข้อความที่เขาบอกกล่าว เขาเล่าลือ เขาแตกตื่นกันมา มันก็มีเหตุผลแสดงอยู่ในตัวคำพูด ไม่เชื่อคนแต่เชื่อเหตุผลที่แสดงอยู่ในคำที่เขาพูด แม้ว่ามันเป็นเรื่องคัมภีร์ ก็ไม่เชื่อคัมภีร์ ไม่อ้างคัมภีร์ ไม่เชื่อเพราะเคารพคัมภีร์ แต่เชื่อเพราะมันมีเหตุผลแสดงอยู่ในคำพูดที่เขียนอยู่ในคัมภีร์ ฉันไม่ได้เชื่อตัวหนังสือ หรือเชื่อตัวคัมภีร์ แต่เชื่อเหตุผลที่เขามาพูดให้ฟัง พิสูจน์ให้ฟัง คิดให้ดูอย่างแบบ Logic แบบ Philosophy แล้ว ได้ผลมาอย่างนี้ ฉันก็ไม่เชื่อ ฉันจะเชื่อแต่เหตุผลที่มันแสดงอยู่ที่ตัวมันเอง นี่การคิดออกเองตาม Common Sense ก็ดี หรือว่าทนต่อการพิสูจน์ก็ดี ก็ยังไม่เชื่อ แต่เชื่อเหตุผลที่แสดงอยู่ในตัวมันเอง ซึ่งจึงว่า ครูบาอาจารย์พูด ก็ยังไม่เชื่อ ยังไม่เชื่อ แต่ขอดูเหตุผลที่แสดงอยู่ที่ตัวมันเอง
ถ้าว่าคำนั้นมันลึกเกินไป ก็ยังต้องขอรอไว้ก่อน ขอเห็น ขอดูเห็นเหตุผลตามที่มันมีอยู่ในตัวมันเอง ฉะนั้น จงถือไว้เป็นหลักได้สักอย่างว่า คำพูดใดๆก็ตาม มันมีเหตุผลแสดงอยู่ในตัวมันเอง จะมีผลดี ผลร้ายก็ตาม จะแสดงอยู่ในตัวมันเอง ไอ้คนพูด คนอันธพาลพูด ฝ่ายเลว ผิด ไม่มีเหตุผลแสดงแสดงว่าผิดอยู่ในตัวมันเอง สัตบุรุษ ผู้ดี สัตบุรุษฝ่ายถูก ก็มีเหตุผลแสดงอยู่ในตัวมันเอง ฉันจะต้องเห็นเหตุผลที่แสดงอยู่ในตัวมันเองอย่างนั้นก่อนแล้วจึงเชื่อ ถ้าว่าทำดีไปสวรรค์นี้ แม้ฉันไม่เคยไปสวรรค์ แต่เท่าที่ได้ยินมา สวรรค์เป็นอย่างไร ทำดีคือทำอย่างไร ทำดีเป็นเหตุให้ได้รับผลที่เรียกว่าสวรรค์ได้หรือไม่ ก็รู้อยู่ ก็รู้อยู่อย่างนี้ ทำชั่วไปนรก มันก็มีเหตุผลแสดงอยู่ในคำพูดนั้น พอที่จะรู้ว่านรกเป็นอย่างไร ทำชั่วคือทำอย่างไร แล้วก็เลยไปนรก นี่เรียกว่า เหตุผลที่แสดงอยู่ในคำพูดนั้น
ที่เป็นโชคดีถ้าเป็นเรื่องของพระพุทธองค์ พระพุทธองค์ตรัสแล้วจะมีเหตุผลแสดงอยู่ในคำพูดนั้นๆ เสมอ พระพุทธองค์จะตรัสคำใดจะมีลักษณะเป็นสิ่งที่ชวนให้ฟัง ชวนให้สนใจ เป็นของใหม่ และก็มีเหตุผลแสดงอยู่ในนั้นว่ามันเป็นอย่างนั้น อย่างนั้น แล้วก็มีปาฏิหาริย์ประกอบอยู่ในนั้นว่า ทำได้ตามนั้น ไม่เพียงแต่พูดเฉยๆ ทำได้ตามนั้น ทำได้ตามนั้น นี่เรียกว่า คำพูดของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของคำว่า พุทธะ พุทธะ เป็นผู้รู้ เป็นผู้ตื่น เป็นผู้เบิกบาน คนโง่บางคนเขาฟังไม่ถูก เขาว่านี่ยกเลิกกันหมด ไม่ต้องเชื่อใครหรือ เราบอกว่า ไม่ใช่ไม่เชื่อ แต่ว่ารอไว้ก่อน จนกว่าจะเห็นเหตุผลที่มันแสดงอยู่ในตัวคำพูดนั้นก่อนจึงจะเชื่อ ถ้าไม่เห็นก็ไม่เชื่อ เมื่อเป็นดังนี้ คนนั้นมันต้องมีความฉลาดพอตัว มีความรู้พอตัว หายโง่พอตัว คือ ตื่นแล้วพอตัวจึงจะถือเอาเหตุผลที่มีอยู่ในคำพูดนั้นๆได้ นี่คือ ภูมิปัญญาแบบพุทธ หรือแบบของพุทธะ มันไม่เชื่อดายไปสักว่าได้ยิน ได้ฟัง ได้คิด มันจะต้องเห็นเหตุผลอันเด็ดขาดที่แสดงอยู่ในตัวคำพูด ทำดีๆ เขาจะไม่เชื่อคนพูดหรอก ฉันรู้อยู่ว่าทำความดีคือทำอย่างไร ฉะนั้นเมื่อไปทำดีเข้า มันก็ดี เพราะมันบัญญัติแล้วว่าทำดี ทำชั่วมันก็ชั่ว ทำเสร็จก็ชั่วเสร็จ ทำดีก็ดีเสร็จ อย่างนี้เรียกว่า มีเหตุผลอยู่ในตัวมันเองไม่ต้องเชื่อผู้พูด จะมาบังคับให้เชื่อด้วยความกลัว นี่ก็ไม่เอา จะเอาอะไรมาหลอก มาจ้าง ก็ไม่เอา จะมาหลอกลวงให้หลงรัก ก็ไม่เอา มันมีเหตุผลแสดงอยู่ในตัวคำพูดนั้นๆ เราจึงมีเหตุผลอยู่ทุกเรื่องทุกราวที่เราได้ยิน นี่เราเป็นอิสระ ไม่เป็นทาสทางสติปัญญาของผู้ใด แม้แต่ของพระพุทธเจ้า หรือแม้แต่ของตัวเอง ตัวเองคิดออกมาอย่างนี้ก็ยังไม่เชื่อ จนกว่าจะพบเหตุผลที่มันแสดงอยู่ในรูปของความคิดนั้นเสียก่อน ไม่เป็นทาสทางสติปัญญาของผู้ใด ของสิ่งใด ของการแสดงอย่างใด นอกจากเหตุผลที่มันแสดงอยู่ในคำพูดนั้นๆ หรือการกระทำนั้น นี่เรียกว่า ภูมิปัญญาแบบพุทธะ นี่อีกประเด็นหนึ่งนะ เรื่อง กาลามสูตร ช่วยให้ชาวพุทธเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน อยู่ได้
ทีนี้ก็เป็นเรื่องธรรมะลึกขึ้นไปอีก ธรรมะชั้นลึกขึ้นไปอีก ธรรมะของธรรมชาติ ก็คือเรื่องของเหตุผลนั่นแหละ เหตุผล เหตุผลที่กล่าวมานั่นแหละ แต่เขามีชื่อเรียกโดยเฉพาะ กฎแห่งเหตุผล กฎแห่งความเป็นไปตามเหตุผล ความมีเหตุผล มีชื่อเรียกว่า กฎอิทัปปัจจยตา-ปฏิจจสมุปบาท ยาวจนไม่อยากจำใช่ไหม? เดี๋ยวก็หลับเลย กฎอิทัปปัจจยตา-ปฏิจจสมุปบาท แล้วก็มักจะเรียกกันสั้นๆ ว่า กฎปฏิจจสมุปบาท คือสิ่งทั้งปวงมันมีเหตุ มันก็ไล่ลามกันได้ มันมีเหตุ ทีนี้มันจะดับก็ดับเหตุ มันเกิดเพราะเกิดเหตุ มันดับเพราะดับเหตุ เราจึงต้องประพฤติ ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎของเหตุ
เราไม่รู้เรื่องนี้ ไม่รู้เรื่องนี้ จนกว่าจะได้ศึกษา หรือกว่าจะได้รับการเจ็บปวดทนทุกข์เพราะเรื่องนี้ แล้วค่อยๆฉลาด ค่อยๆรู้สิ่งที่เรียกว่า กรรม กรรมก็คือมันเป็นไปตาม กฎอิทัปปัจจยตา ที่จริงเลิกคำว่า กรรม เสียก็ได้ มาถือ กฎอิทัปปัจจยตา ก็คือถือเรื่องกรรมโดยละเอียด โดยละเอียด พระพุทธเจ้าตรัสว่า ความสุข ความทุกข์ ไม่ได้เป็นเพราะกรรมเก่าชาติก่อน ไม่ใช่ มันเป็นเพราะ อิทัปปัจจยตา ทำผิดหรือทำถูก ถ้ามี อิทัปปัจจยตา อย่างถูกต้องนะ แม้จะมีกรรมเก่า มันก็ยกเลิก เป็นหมัน จะสร้างความสุขขึ้นมาที่นี่ เดี๋ยวนี้ ก็ต้องถูกต้องตาม กฎอิทัปปัจจยตา ทีนี้ก็ไม่มีพระเจ้า ไม่มีเทวดา ผีสางอันไหนมาสร้างให้ นอกจาก กฎอิทัปปัจจยตา นี่เรียกว่า ชาวพุทธนี้มีกฎเกณฑ์ อยู่เหนือกรรม อยู่เหนือพระเจ้า พระเจ้าบันดาลอะไรไม่ได้ถ้าเราปฏิบัติถูกต้องตามกฎของ อิทัปปัจจยตา ฝ่ายสุข มันก็เป็นสุข เท่านั้น
คุณยายแก่ๆจะเชื่อว่ากรรมเก่า ก็ตามใจคุณยาย แต่ลูกหลานนี่จะเชื่อว่ามันตามกฎของ อิทัปปัจจยตา ที่มันถูก หรือผิดเดี๋ยวนี้ ถูกก็ไม่เป็นทุกข์ ผิดก็เป็นทุกข์ นี่เรียกว่า เสรีภาพ เสรีภาพ ไม่ต้องเป็นไปตามกรรมเก่า เสรีภาพขนาดนี้ ไม่เป็นไปตามการบันดาลของพระเป็นเจ้า ผีสาง ภูตผี ดวงดาวอะไร ไม่ทั้งนั้น ชาวพุทธ ภูมิปัญญาของชาวพุทธ มีเสรีภาพเหนือกรรมเก่า เหนือพระเป็นเจ้า เหนือเทวดา เหนือโชคชะตาราศี เก็บเรื่องเหล่านั้นไว้ให้คนโง่ ให้คนปัญญาอ่อนมันถือไปก็แล้วกัน ชาวพุทธไม่มีปัญญาอ่อน ถูกต้องตามกฎเกณฑ์อันแท้จริงของธรรมะ นี่เรื่องกฎเกณฑ์ของ อิทัปปัจจยตา เรียกสั้นๆ ว่า ปฏิจจสมุปบาท แปลว่า อาศัยกันแล้วจึงเกิดขึ้น อาศัยกันแล้วจึงเกิดขึ้น ทยอยๆกันไปจนเป็นเรื่องเป็นราวยืดยาว ถือความจริงข้อนี้ ถือความจริงข้อนี้
ดังนั้นชาวพุทธจึงจัดการที่เหตุหรือต้นเหตุ ไม่จัดการที่ปลายเหตุ ถ้าคนโง่ไม่ใช่ชาวพุทธ มันก็จัดการที่ปลายเหตุ ก็ช่างหัวมัน ตามใจมันแล้วกัน แต่ว่าถ้าจัดการที่ปลายเหตุนั้นมันเป็นคนโง่ มันเป็นลูกหมา ถ้าจัดการที่ต้นเหตุมันเป็นคนฉลาด มันเป็นลูกเสือ เอาไม้ไปแหย่หมานี่ เอาไม้ไปแหย่หมา หมามันก็กัดอยู่ที่ปลายไม้เท่านั้น หมามันกัดได้เท่านั้น ถ้าคุณเอาไปแหย่เสือซิ มันไม่มัวกัดที่ปลายไม้ มันกัด มันกระโจนกัดคนที่ถือไม้นั้น นี่เรียกว่าไปมัวแก้ที่ปลายเหตุมันก็เป็นลูกหมา ไปแก้ที่ต้นเหตุ มันก็เป็นลูกเสือ ลูกราชสีห์ คือดูว่าความสำเร็จในการทำการงานใดๆก็ตาม ต้องจัดการให้ถูกต้องที่ต้นเหตุ ที่ปลายเหตุหรือที่ผลของมัน มันแก้เหตุไม่ได้ มันต้องไปจัดการที่ต้นเหตุ ดังนั้นเราจึงรู้จักเหตุ เหตุที่สุด เหตุแท้จริง เหตุที่จะเกิดทุกข์โดยแท้จริงก็คือ ความโง่ ความไม่รู้ ความไม่ตื่น ความไม่เบิกบาน คือความโง่ คุณก็โง่ไปตามลำดับ ความโง่ที่ ๑ ส่งเสริมความโง่ที่ ๒ ความโง่ที่ ๒ ส่งเสริมความโง่ที่ ๓ จนได้เป็นทุกข์
อวิชชา คือ ความไม่รู้ หรือจะเรียกว่า ความโง่ก็ได้ เป็นเหตุให้เข้าใจผิด เมื่อไม่มีใครสอน มันก็โง่เอาเอง โง่เอาตามธรรมชาติ โง่เอาเอง แล้วก็กำลังโง่กันอยู่ทุกคน ที่ไม่ได้ศึกษาธรรมะอย่างถูกต้องและเพียงพอ ก็โง่กันอยู่ทุกคน เช่น โง่พื้นฐาน มีตัวกู มีของกู มันโง่ว่ามีตัวกู มันโง่ว่ามีของกู มันไม่ได้ถือเอาเป็นไปตามเหตุ
ตาเห็นรูป นี่มันว่า กูเห็นรูป โง่แล้วยังโกงด้วย ตาเห็นรูป มันควรจะพูดว่าตาเห็นรูป หรือระบบประสาทตาเห็นรูป มันไม่พูดอย่างนั้น มันพูดว่า กู เห็นรูป มันก็เกิดความหมาย เป็นสวย เป็นงาม เป็นหญิง เป็นชาย เป็นอะไรขึ้นมา มันก็มีเรื่องมาก ถ้าตาเห็นรูป ก็จัดการตามเรื่องที่ตาเห็นรูป มันก็แล้วไป มันก็ไม่เกิดปัญหา
หู ได้ยินเสียง ก็ว่า กูได้ยินเสียง มันเกิดเป็นไพเราะ ไม่ไพเราะ เป็นดนตรีอันไพเราะ หรือเป็นคำด่า เป็นคำสรรเสริญ เยินยอขึ้นมา มันก็เกิดเรื่องไปตามที่ กู ได้ยินเสียง
จมูก ก็เหมือนกันแหละ มีระบบประสาทรู้ปริมาณของแก๊สที่มากระทบระบบประสาทที่จมูก ก็ว่าจมูกสิได้กลิ่น แต่มันว่า กู ได้กลิ่น มันเปลี่ยนความหมาย เป็นหอม เป็นเหม็น เป็นอะไรไป มีปัญหา เกิดกิเลส
ลิ้นได้รส มันก็ลิ้นได้รส อย่าว่า กู ได้รส พอ กู ได้รส มันก็เปลี่ยนเรื่องทันที มันถูกใจกู ไม่ถูกใจกู ถ้าลิ้นได้รส จะถูกใจลิ้นหรือไม่ถูกใจลิ้น มันไม่มีเรื่องอะไร มันแก้ไขได้ มันแก้ไขได้ จนหมดปัญหา แต่ว่า กู ได้รสนี่ ถ้าเผอิญเป็นรสดี มันก็ไปซื้อหามากินจนเป็นบ้า จนเมามาย ถ้ารสไม่ดี มันก็เตะแม่ครัว ทำลายถ้วยชาม เครื่องใช้ไม้สอย ถ้า กู ไม่อร่อย ถ้าลิ้นไม่อร่อย ไม่เป็นไร มันก็เรื่องของลิ้น แก้ไขไปตามเรื่องของลิ้น
กายก็เหมือนกันแหละ มันไม่ใช่ กู มันเป็นระบบประสาทกาย
จิตก็เหมือนกัน เป็นระบบจิต ไม่ใช่ กู
นี่คือ ชาวพุทธ นี่ภูมิปัญญาของชาวพุทธ คือไม่มี กู ให้โง่ ไม่มีตัวกูให้โง่ พอมีตัวกู ตัวกู แล้วมันก็เกิดเห็นแก่ตัว เห็นแก่ตัว ไม่เรียกว่า เราเป็นเพื่อนมนุษย์ เพื่อนเกิดเพื่อนแก่เพื่อนเจ็บเพื่อนตายแล้ว มันกลายเป็นเห็นแก่ตัวกู มึงก็มึง เป็นตัวๆไปเลย นี่คือภูมิปัญญาของคนโง่ ถ้าเป็นภูมิปัญญาของชาวพุทธคือ รู้ตามที่เป็นจริง มันก็เห็นว่าเป็นไปตามกฎของธรรมชาติด้วยกันเช่นนี้ทุกรูปทุกนาม แล้วเราก็เป็นเพื่อนเกิด เพื่อนแก่ เพื่อนเจ็บ เพื่อนตาย ด้วยกัน มันก็ไม่เกิดความเห็นแก่ตัว
เดี๋ยวนี้มันเกิดความเห็นแก่ตัวเต็มไปทั้งโลก ชาวพุทธไม่รู้หายหัวไปไหนหมด มีแต่คนเห็นแก่ตัว เห็นแก่ตัว เห็นแก่ตัว ถ้าเป็นชาวพุทธมันจะเห็นแก่ตัวไม่ได้ เห็นแก่ตัวมันก็ไม่เป็นพุทธหรอก เพราะพุทธมันไม่มี ตัว ที่จะเห็นแก่ตัว เดี๋ยวนี้มันเห็นแก่ตัว เห็นแก่ตัว ตั้งแต่ตัวเล็กๆขึ้นไปจนถึงตัวใหญ่ๆ ประเทศมหาอำนาจมันจะครองโลก มันเห็นแก่ตัว มันแย่งกันครองโลก มันรบราฆ่าฟันกัน จึงเดือดร้อนกันทั้งโลก เศรษฐีก็เห็นแก่ตัว ขอทานก็เห็นแก่ตัว ลูกจ้างก็เห็นแก่ตัว นายจ้างก็เห็นแก่ตัว คนมั่งมีก็เห็นแก่ตัว คนยากจนก็เห็นแก่ตัว แล้วคุณคิดดู มันจะเกิดอะไรขึ้น มันมีแต่มึงๆ กูๆ กันทั้งนั้น อย่างสหพันธ์กรรมกรนี้ มันพูดจากันรู้เรื่องเมื่อไรกับนายจ้าง เพราะต่างฝ่ายต่างเห็นแก่ตัว ผู้ซื้อก็เห็นแก่ตัว ผู้ขายก็เห็นแก่ตัว ผู้ผลิตก็เห็นแก่ตัว ผู้จะมารับเอาไปก็เห็นแก่ตัว นี่มันเป็นเรื่องเลวร้าย เป็นเรื่องผิด เมื่อต่างคนต่างอยู่ ก็ยังไม่มีเรื่อง ไม่มีเรื่องที่จะเห็นแก่ตัว พอมาเป็นลูกจ้าง นายจ้างกันเท่านั้นแหละ ต่างฝ่ายต่างเห็นแก่ตัวขึ้นมา ฝ่ายนายจ้างก็เห็นแก่ตัวอย่างนายจ้าง ฝ่ายลูกจ้างก็เห็นแก่ตัวอย่างลูกจ้าง มันก็กัดกันตลอดเวลา ไม่มีสร่างเลย ความเห็นแก่ตัว เมื่อไม่มาเกี่ยวข้องกันก็แล้วไป พอมาเกี่ยวข้องกันก็เห็นแก่ตัว ระวังว่าคนที่ ๑ กับคนที่ ๒ เมื่อถึงกันเข้า ถ้าไม่เห็นแก่ตัวมันก็เป็นมิตร เป็นเกลอกัน ร่วมงานกัน เป็นสหกรณ์กัน พอเห็นแก่ตัวมันก็กัดกันก็ต้องเลิกกัน แม้เป็นสามีภรรยากันแล้ว ถ้าความเห็นแก่ตัวเข้ามาแทรกแซง มันก็ต้องเลิกกัน แล้วก็ต้องหย่ากัน นี่คือ ความเห็นแก่ตัว
คนเห็นแก่ตัวนี้ขี้เกียจไม่อยากจะทำอะไร แต่จะเอาผลงานหรือจะเอาเงิน คนเห็นแก่ตัวมันก็อิจฉาริษยา คอยเอาเปรียบ คอยคัดค้าน แล้วก็ไม่สามัคคีกับใคร ตามแบบของคนเห็นแก่ตัว เพราะมันโง่ ชาวพุทธจะเป็นอย่างนั้นไม่ได้ ชาวพุทธไม่เห็นแก่ตัวก็เพราะว่ามันไม่มีตัว มันไม่โง่ว่ามีตัว คนเห็นแก่ตัวก็โง่ไปตามแบบคนมีตัว ไกลออกไป ไกลออกไป ได้เป็นอันธพาล รวยลัด ไม่ต้องทำงาน จี้ปล้นดีกว่า แล้วมันก็ทำลายโลก คนเห็นแก่ตัวเนี่ยสร้างมลภาวะ มลภาวะทั้งหลายคนเห็นแก่ตัวสร้าง ทำลายป่าไม้ ทำลายธรรมชาติ ทำลายของที่เขาสร้างไว้ คนเห็นแก่ตัวมันทำลาย แล้วมันก็ทำลายตัวมันเอง มันจะไปหาความเอร็ดอร่อยปลีกย่อยออกไป มันไปติดยาเสพติด แล้วมันก็เลยติดอบายมุข ดื่มน้ำเมา เที่ยวกลางคืน ไปสุขตามแบบของอบายมุข นี่มันยังไม่พ้น ที่ว่ามันจะได้เป็นโรคที่สุนัขก็ไม่เป็น นี่คือคนเห็นแก่ตัว มันอยากจะไปลองความอร่อยทางกามารมณ์ที่ไม่เคย ของนิดเดียวเท่านั้นอยากไปลอง แล้วมันก็ได้โรคที่หมาก็ไม่เป็น โรคเอดส์ก็ดี ซิฟิลิสก็ดี โกโนเรียก็ดี เหล่านี้หมามันก็ไม่เป็น คนเห็นแก่ตัวมันก็เลยเป็น นี่เพราะมันมีแต่ภูมิปัญญาของคนโง่ ของคนที่ไม่ใช่ชาวพุทธ
ครูเห็นแก่ตัวแล้วเป็นยังไง ก็เป็นพ่อค้าทำนาบนหลังลูกศิษย์ หมอเห็นแก่ตัว มันก็เป็นพ่อค้าทำนาสูบเลือดบนหลังคนเจ็บไข้ ตุลาการเห็นแก่ตัวก็ทำนาบนหลังจำเลย พระเจ้าพระสงฆ์เห็นแก่ตัวก็ทำนาบนหลังทายก-ทายิกา ลองคิดเอาเองเถอะว่ามันจะเป็นยังไง เห็นแก่ตัว ในที่สุดมันก็เป็นบ้าโดยมาก ถ้ามันหลงทางถึงที่สุดของความเห็นแก่ตัว ก็เป็นบ้าไปอยู่โรงพยาบาลบ้า ไปจบอยู่ที่นั่น นี่มันสูงสุด นี่มันหลงทางสูงสุด แล้วอีกทางหนึ่ง มันก็หลงถึงกับว่า ฆ่าพ่อ ฆ่าแม่ ฆ่าลูก ฆ่าเมีย ฆ่าทุกคน ฆ่าตัวเองด้วย ตายตามไปในที่สุด จบเรื่อง เห็นแก่ตัว มันไม่ได้เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เอาเสียเลย
สมมติว่าถ้าประชาชนทุกคนเห็นแก่ตัว ถ้าผู้แทนทั้งรัฐสภามันก็เห็นแก่ตัว รัฐบาลทั้งหมดก็เห็นแก่ตัว ข้าราชการทั้งหมดก็เห็นแก่ตัว พระเจ้า-พระสงฆ์เห็นแก่ตัว มันจะอยู่กันได้อย่างไร? เราจะอยู่กันได้อย่างไร? มันเป็นนรกคูณด้วยกำลังสอง กำลังร้อย กำลังพัน กำลังหมื่น ถ้าเห็นแก่ตัวกันอย่างนั้น ถ้าไม่เห็นแก่ตัว เอ้า, คุณลองคิดดู ถ้าไม่เห็นแก่ตัว อะไรมันจะเกิดขึ้น ความร้ายสักนิดหนึ่งมันก็ไม่เกิดขึ้น คดีแพ่ง คดีอาญา คดีอะไรก็ไม่อาจจะเกิด ไม่เห็นแก่ตัว มันก็ไม่ฆ่า ไม่ขโมย ไม่กาเม ไม่หลอกลวง ไม่โกหก แล้วก็ไม่คดโกง ไม่บิดพริ้ว หรือก็ไม่ถือสาอะไร เขาโกงก็ให้อภัยเสียอีก คดีแพ่งก็ไม่มี คดีอาญาก็ไม่มี เอากฎหมายไปโยนทะเล ศาลไม่ต้องมี เรือนจำไม่ต้องมี ถ้าทุกคนมันไม่เห็นแก่ตัว กระทั่งว่าพระศาสนาก็ไม่จำเป็นหรอก ถ้าทุกคนไม่เห็นแก่ตัว นี่เขามีกฎหมาย มีศาลไว้บังคับข่มขี่คนเห็นแก่ตัว มีพระศาสนาไว้ชักจูงโน้มน้าวจิตใจของคนเห็นแก่ตัว ถ้าคนไม่เห็นแก่ตัวแล้วก็ไม่ต้องมีสิ่งเหล่านี้ นี่ประเสริฐเท่าไร ประเสริฐเท่าไร
ฉะนั้นคุณค่าทางภูมิปัญญาของชาวพุทธนั้นมันสูงสุดเท่าไร เพราะมุ่งหมายจะกำจัดความเห็นแก่ตัว แต่ถ้าพูดให้ยุติธรรมก็พูดได้เหมือนกันแหละ ทุกศาสนาแหละ ทุกศาสนามุ่งหมายจะสอนความไม่เห็นแก่ตัว แต่ไม่มีใครปฏิบัติ สมาชิกแห่งศาสนาไม่ปฏิบัติ มันเห็นแก่ตัวเสียเรื่อย บางทีเห็นแก่ตัวจนเอาศาสนาเป็นเครื่องมือแสวงหาประโยชน์ เอาศาสนาเป็นเครื่องมือข่มขี่ศาสนาอื่น อย่างนี้มันก็หมด มันไม่มีภูมิมีปัญญาที่ถูกต้องตามหลักแห่งพระศาสนา
ทีนี้ชาวพุทธ พอรู้ รู้ รู้ รู้ รู้นี้มันจึงมีถูกต้องตามหลักที่สำคัญสูงสุด คือ กฎของธรรมชาติ ทั้งสากลจักรวาลก็มีกฎอันนี้ ถูกต้องตามกฎของสากลจักรวาล มันทำผิดอะไรๆไม่ได้มันก็ไม่มีปัญหา นี่ภูมิปัญญาของชาวพุทธ ตั้งรากฐานอยู่บนกฎของธรรมชาติอย่างถูกต้อง หรือมีความถูกต้องตามกฎของธรรมชาตินั่นแหละเป็นหลัก เป็นที่ตั้ง มากน้อยเท่าไรคุณคิดดูเอง จะมั่นคง เที่ยงแท้ถาวรเท่าไร ก็ลองไปคิดดูเอง นี่เรียกว่าเรามีภูมิปัญญาตามแบบของชาวพุทธ โดยเหตุที่รู้จักกฎของธรรมชาติทั้งปวง มันก็อยู่เหนือปัญหาโดยประการทั้งปวง เพราะฉะนั้นก็กล่าวได้ว่า มีสถานะอยู่เหนือปัญหาทั้งปวง ภูมิปัญญาแบบชาวพุทธทำให้ผู้นั้นอยู่เหนือปัญหาทั้งปวง พูดว่า เหนือปัญหาทั้งปวง นี้ มันดีกว่าที่จะพูดว่า เหนือความทุกข์ เพราะว่าความสุขก็เป็นปัญหานะอย่าเป็นคนโง่ เห็นแต่ว่าความทุกข์เป็นปัญหา แม้ความสุขมันก็เป็นปัญหา ให้เราอยู่เหนือปัญหาเสียดีกว่า โลกไม่เป็นปัญหาแก่เรา ไม่ว่ามันจะมาในแง่บวกหรือแง่ลบ Positive หรือ Negative มันก็ไม่เป็นปัญหาแก่เรา ไม่หัวเราะ ไม่ร้องไห้ ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ เสียใจไม่ไหวหรอกมันจะตายเอา ถึงดีใจมันก็กระหืดกระหอบเหมือนกันแหละ ดีใจเกินไปมันก็นอนไม่หลับ กินข้าวไม่ลง เพราะฉะนั้นอย่าดีใจ อย่าเสียใจ คือ ปกติ ปกติ ปกติ ไม่หัวเราะ ไม่ร้องไห้ เพราะว่าอยู่เหนือปัญหาโดยประการทั้งปวง ชีวิตนี้ไม่เป็นปัญหา ชีวิตนี้ไม่กัดเจ้าของ คนไม่มีธรรมะอันถูกต้อง คือไม่ตื่น ไม่เบิกบานอะไรนี้ ชีวิตมันกัดเจ้าของ ชีวิตนั่นแหละมันกัดเจ้าของ ไปดูเอาเองเถิด ไม่ต้องเชื่ออาตมา คนโง่มันถูกชีวิตเองแหละกัดตัวเอง เดี๋ยวความรักกัด เดี๋ยวความโกรธกัด เดี๋ยวความเกลียดกัด เดี๋ยวความกลัวมากัด เดี๋ยวความตื่นเต้น ตื่นเต้นนั่นนี่กัด เดี๋ยววิตกกังวลกัด เดี๋ยวอาลัยอาวรณ์กัด เดี๋ยวอิจฉาริษยากัด เดี๋ยวความหวงกัด เดี๋ยวความหึงกัด นี่ชีวิตมันกัดเจ้าของ ผู้ไม่มีภูมิปัญญาแห่งพุทธะ
ทีนี้ถ้ามีภูมิปัญญาแห่งพุทธะ มันถูกต้องไปตามกฎของธรรมชาติ ไม่มีปัญหาเหล่านี้ หมดปัญหา ความทุกข์ก็ไม่เป็นปัญหา ความสุขก็ไม่เป็นปัญหา ความเป็นบวกก็ไม่เป็นปัญหา ความเป็นลบก็ไม่เป็นปัญหา มันจึงไม่ต้องหัวเราะ ไม่ต้องร้องไห้ ไม่ต้องดีใจ ไม่ต้องเสียใจ ผลของการมีภูมิปัญญาแบบชาวพุทธนำมาซึ่งผลอย่างนี้ เพราะว่าชาวพุทธมีวิธีการศึกษาตามแบบของชาวพุทธ
การศึกษาตามแบบของชาวพุทธ ศึกษาข้างในก่อน รู้จักที่มันเกิดอยู่จริงใจโดยแท้จริงในภายในก่อน รู้จักดีแก้ไขได้ แล้วจึงไปจับเข้ากับข้างนอก แล้วแก้ไขข้างนอก ก็เรียกว่าแก้ไขที่ต้นเหตุ ไม่เป็นลูกหมา แก้ไขที่ต้นเหตุ รู้เรื่องภายในเสร็จแล้ว รู้เรื่องกิเลสของตนแล้ว รู้เรื่องความทุกข์ของตนแล้ว แก้ไขได้แล้ว จึงไปแก้ไขของผู้อื่นหรือภายนอก แก้ไขเรื่องภายในก่อนแล้วจึงแก้ไขในเรื่องภายนอก ชาวพุทธมีวิธีการศึกษาตามแบบของชาวพุทธ เรียกตามภาษาบาลีว่า สิกขา เรียกตามภาษาสันสกฤตว่า ศิกฺษา เรียกตามภาษาไทยว่า ศึกษา ๓ คำนี้คำเดียวกัน แต่มาเพี้ยนเสียงไปตามภาษา ไทยบ้าง บาลีบ้าง สังสกฤตบ้าง ประกอบอยู่ในคำว่า สะ กับ อิกขะ สะ แปลว่า เอง หรือข้างใน หรือใกล้ๆ อิกขะ แปลว่า เห็น วิธีศึกษาของชาวพุทธไม่ใช่ท่องจำ หรือจดไว้ในสมุด ศึกษาด้วยการมองดูเข้าไปข้างใน ในตัวเอง ด้วยตัวเอง โดยตนเอง ในตนเอง โดยตนเอง โดยตนเอง โดยตนเอง มองเข้าไปข้างใน แล้วก็รู้จักตัวเอง ก็เห็นก่อน เห็นตัวเองก่อน เมื่อมองด้วยตนเองอย่างถูกต้อง ก็เห็นตัวเอง และก็รู้จักตัวเอง แล้วก็วิจัย-วิจารณ์ตัวเอง มันเป็นเหตุผลอย่างไร? มีอะไร? อย่างไร? จึงประพฤติปฏิบัติไปตามเหตุผลที่มันแสดงอยู่ว่าควรทำอย่างไร? นี่คือ สิกขา สิกขา เป็นภาษาบาลี มีความหมายว่า ดูตัวเองในภายในตนเอง ด้วยตัวเอง แล้วก็เห็นตัวเอง และก็รู้จักตัวเอง และก็วิจัย-วิจารณ์ตัวเอง แล้วก็รู้ว่าควรทำอย่างไร เมื่อทำถูกต้องหมด มันก็ไม่เป็นปัญหา มันถูกต้องหมดในภายใน เอามาใช้ภายนอกกับใครอีกก็ได้ แก้ปัญหาภายในแล้วก็แก้ปัญหาภายนอกได้ นี่เรียกว่าการศึกษาแบบชาวพุทธ ให้เกิดภูมิปัญญาแบบชาวพุทธ แล้วก็ได้เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานโดยแท้จริง หลุดพ้น เพราะอยู่เหนือ เหนือสิ่งทั้งปวง เหนือโลก เหนือโลก โลกก็ไม่มีปัญหาแก่คนนี้ เหนือปัญหาในโลกโดยประการทั้งปวง จบเรื่อง
ภูมิปัญญาของชาวพุทธ คือปัญญาที่ช่วยให้อยู่เหนือโลก แต่คนโง่ไม่ชอบหรอก ว่าอยู่เหนือโลกคิดว่าคงไม่สนุก สู้มีอะไรกันขลุกขลักอยู่ในโลกนี้ไม่ได้ แต่ทางธรรมะต้องการจะอยู่เหนือโลก ให้อยู่เหนืออำนาจของสิ่งทั้งปวง เหนืออิทธิพลของสิ่งทั้งปวง เหนือความหลอกลวงของสิ่งทั้งปวง ไม่หลงบวก ไม่หลงลบ ไม่บ้าดี บ้าชั่ว ไม่เมาดี บ้าดี เหลืออยู่แต่ความถูกต้อง ถูกต้อง ถูกต้อง ถูกต้อง นี่เป็นปรัชญาที่แท้จริง คือยอดสุดของปัญญา ยอดสุดของปัญญา มันแก้ปัญหาเป็นความโง่ได้หมด
นี่คือภูมิปัญญาของชาวพุทธ อธิบายไปตามหลักเกณฑ์ที่มีอยู่ในพระพุทธศาสนา เพื่อสนองความประสงค์ของท่านทั้งหลายที่มาหาความรู้ทางธรรม เพื่อไปประกอบหน้าที่การงานของตน เวลาบ่ายอย่างนี้ อาตมาไม่มีแรง นี่พูดได้หนึ่งชั่วโมงก็หมดแรง ก็ขอยุติการบรรยาย ด้วยการแสดงความยินดีว่ามานี่ถูกแล้ว ขออนุโมทนาด้วย และก็ขอสนองความต้องการ ด้วยการบรรยายในลักษณะต่างๆของภูมิปัญญาแห่งชาวพุทธ พอสมควรแก่เวลา หวังว่าจะนำไปใช้เป็นประโยชน์ในการดำเนินชีวิตการงานของตนๆ มีผลดีในการงาน มีความเป็นสุขสวัสดี อยู่ตลอดทุกทิพา-ราตรีกาลเทอญ ขอยุติการบรรยาย.
เชิญไปเที่ยวให้ทั่ว ไปหาประโยชน์จากสิ่งที่มีไว้ให้ศึกษา ศึกษาธรรมะทางรูปภาพในตึกนี้ จะรู้ธรรมะที่มีประโยชน์ ที่ดับทุกข์ได้ คุ้มค่าเวลา