แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านสาธุชนผู้มีความสนใจในธรรมทั้งหลาย อาตมาขอแสดงความยินดีในการมาของท่านทั้งหลาย สู่สถานที่นี้ ในลักษณะอย่างนี้คือ แสวงหาความรู้ทางธรรมะ เพื่อนำไปใช้ประกอบกิจหน้าที่การงานของตนให้เป็นผลดีเท่าที่จะมีได้ นี่เป็นสิ่งที่มีเหตุผล จึงขออนุโมทนา และขอแสดงการตอบสนองด้วยธรรมะปฎิสัณฐาน ตามธรรมเนียม ปัญหามักจะมีว่า ธรรมะนี้จะนำไปใช้ประกอบการดำรงชีวิตที่บ้านที่เรือน ในบ้านในเรือนได้อย่างไร เพราะมักจะมีความเข้าใจว่า ธรรมะ เป็นเรื่องสำหรับไปนิพพาน ไปนิพพาน ฟังดูเป็นเรื่องไม่รู้ สับสน กันอยู่หลายอย่าง สับสนไม่รู้ในเรื่องของธรรมะ ในเรื่องของชีวิตแล้วก็ในเรื่องของนิพพาน ถ้าเข้าใจความหมายของคำทั้งสามนี้ดี ก็จะเข้าใจได้โดยไม่ต้องมีปัญหา สามารถจะนำชีวิตไปใช้ประกอบกิจในหน้าที่การงานที่บ้านที่เรือน ดังนั้นจะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับคำว่า ธรรมะ หรือชีวิต หรือแม้ที่สุดแต่นิพพานกันให้ถูกต้อง
คำว่า ธรรมะ ถือเป็นคำประหลาดอย่างยิ่ง ครูบาอาจารย์ตามโรงเรียนสอนนักเรียน ลูกเด็กๆ ว่า ธรรมะคือ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า อย่างนี้มันไม่ถูก มันไขว้กันซะด้วยซ้ำไป หรือถ้าถูกก็ถูกหยิบมือเดียว คำว่า ธรรมะในประเทศอินเดียใช้ทั่วไปไม่ว่าศาสดาไหน มีศาสดาเป็นอันมากทุกๆ ภาคก็ได้ สอนธรรมะทั้งนั้น จนต้องมีคำพูดว่า ธรรมะของใคร (นาทีที่ 5:28) ธรรมะของศาสตรสมณโคดม ธรรมะของนิคัณฐนาฏบุตร ธรรมะของมักขลิโคสาล, สัญชัย เวลัฏฐบุตร ที่มีชื่อเสียงเป็นคู่แข่งกับพระพุทธเจ้ามีถึง ๖ ศาสดาและยังแถมมีมากกว่านั้นอีก คำสอนของคนเหล่านั้นเรียกว่า ธรรมะ ทั้งนั้น ในการที่พูดว่า ธรรมะคือ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า จึงถูกนิดเดียว ก็บอกกล่าวกันมาอย่างนั้น แล้วที่ผิดมากไปกว่านั้นอีกก็คือ ธรรมะ ไม่ได้แปลว่า คำสั่งสอน แปลว่า เรื่องของธรรมชาติ ทุกเรื่อง ทุกเรื่องไม่ยกเว้นเรื่องอะไรคือ ไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ธรรมะ นั้นลองคำนวณดู ธรรมะคือ ทุกเรื่องไม่ยกเว้นอะไร ที่มาพูดว่า ธรรมะคือ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านี้มันเลยถูกนิดเดียวหรือไม่ถูก
ตัวธรรมะแท้ๆ คำเหล่านี้ไม่ได้แปลว่า คำสั่งสอน มันแปลว่าเรื่องของธรรมชาติ เพื่อเข้าใจให้ครบถ้วนก็จะต้องพิจารณาตามความจริงของคำพูดคำนี้ว่า มันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ถ้าท่านเคยเรียนภาษาบาลีก็เข้าใจได้ง่าย เพราะในโรงเรียนบาลีใช้คำว่า ธรรมะ เต็มตามความหมายของคำๆ นี้คือแปลว่า ธรรมชาติ คำว่า ธรรมะ ก็แปลว่า ธรรมชาติ เป็นคำๆ เดียวกัน คำว่า ธรรมชาติไม่มีใช้ในภาษาบาลี เขาใช้คำว่า ธรรมะ คำเดียว คือ ธรรม คำเดียวนี้แทน ทีนี้เราจึงต้องรู้ว่า ธรรมะ คืออะไร จึงจะมาประยุกต์ใช้กับชีวิตได้
ธรรมะเป็นเรื่องของธรรมชาติ แจกออกได้เป็น ๔ ความหมาย ธรรมะคือ ตัวธรรมชาติทั้งหมดตามที่มีปรากฏการณ์ รวมทั้งที่ไม่มีปรากฏการณ์ด้วย ถ้าจะเอากันจริงๆ ต้องพูดว่าอย่างนั้น ธรรมะที่มีปรากฏการณ์ให้รู้จัก ให้สัมผัส ให้ศึกษาโดยตรงได้นี้ก็มี ปรากฏการณ์ ไม่มีปรากฏการณ์อย่างนั้นมันก็ยังเป็นธรรมชาติเป็นธรรมะนั้นแหละ ถ้าใช้ภาษาจิตวิทยา Phenomena คือมีปรากฏการณ์ Null phenomenon ตรงกันข้าม ทั้ง Phenomena และ Null phenomenon รวมกันให้หมดนั้นแหละคือ ธรรมะ ถ้าเป็นภาษาบาลีก็ว่ามันจะเป็น สังขตะ มีเหตุมีปัจจัยปรุงแต่ง กำลังเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยอยู่พอดีหรือ อสังขตะ ไม่มีเหตุไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง จับต้องไม่ได้เป็น อสังขตะทั้ง สังขตะและ อสังขตะก็เรียกว่าธรรมะทั้งนั้น ที่จะต้องศึกษาให้รู้ถึงสิ่งที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่งเป็น อสังขตะโดยเฉพาะอย่างยิ่งก็หมายถึง นิพพาน หรือความว่าง หรือสัจจะที่เป็น กฎ ของสิ่งทั้งปวงเหล่านี้ไม่ต้องเป็นวัตถุ ไม่มีปรากฏการณ์ สังขตะและ อสังขตะหมายความว่าอย่างนี้คือ สิ่งทั้งปวงหรือตัวธรรมชาติ ตัวธรรมชาติหมดในสากลจักรวาลหรือยิ่งไปกว่านั้นอีก เรียกว่า ธรรมชาติ ก็เป็นคำแรกนี้ก็เรียกว่า ธรรมะ คือ ธรรมชาติ แล้วก็ธรรมะคือ กฎของธรรมชาติ ในตัวธรรมชาติทั้งหลายมี กฎ สิงอยู่ในนั้น เพื่อให้ธรรมชาติได้เป็นไป เปลี่ยนไปวิวัฒนาการไปตามกฎ กฎของธรรมชาตินี้ก็คือ ธรรมะ ธรรมะในฐานะเป็นกฎของธรรมชาติ
ทีนี้ความหมายที่สาม คือ หน้าที่ เพราะมีกฎ มันก็เกิดหน้าที่ที่จะต้องเป็นไปตามกฎ ดังนั้นสิ่งที่มีชีวิตทุกชนิดมันต้องทำหน้าที่ให้ถูกต้องตามกฎ มิฉะนั้นมันจะต้องตายหรือแตกสลาย ต่อให้ไม่มีชีวิต ระบบจักรวาลนี้ถ้าไม่มีกฎ ไม่มีหน้าที่ตามกฎ มันก็ยุ่งมันก็ชนกันแหลกหมด ดวงดาวทั้งหลายชนกันแหลกหมด มีหน้าที่ที่จะต้องเป็นไปตามกฎ มีธรรมะคือหน้าที่ หน้าที่เป็นไปเพื่อความรอด
ในความหมายที่สี่ เมื่อมี กฎ มันก็มีผล มีกฎมีหน้าที่มันต้องมีผล เพราะหน้าที่มันต้องมีผล ผลอะไรเกิดขึ้นก็เรียกว่า ผลตามกฎของธรรมชาติ จึงขอให้มองเห็นธรรมะ ในความหมายที่ครบถ้วนสมบูรณ์ตามหลักเกณฑ์ของคำพูดคำนี้ คือ ตัวธรรมชาติหนึ่ง กฎของธรรมชาติหนึ่ง หน้าที่ตามกฎของธรรมชาติหนึ่ง แล้วก็ผลจากหน้าที่ ลองคิดดูมันจะมีอะไรเหลือ มันไม่มีอะไรเหลืออยู่สำหรับที่ไม่ใช่ ธรรมะ แล้วก็พึงทราบด้วยว่า หลักธรรมะฝ่ายนี้ ฝ่ายเอเชีย ฝ่ายอินเดียนี้ โดยเฉพาะหลักพระพุทธศาสนา ไม่มีอะไรที่มิใช่ธรรมชาติ พวกฝรั่งก็ยังมีเหนือธรรมชาตินอกเหนือธรรมชาติ หรือมิใช่ธรรมชาติตามใจเขา นี้ฝ่ายพุทธศาสนานี้ไม่มีอะไรที่มิใช่ธรรมชาติ เหนือธรรมชาติก็ยังเป็นธรรมชาติ เป็นคำที่รวมหมดว่า ธรรมชาติ ธรรมชาติ จำกันง่ายๆ ที่คำว่า ธรรมชาติ กฎของธรรมชาติ หน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ ผลเกิดจากหน้าที่ แล้วมีคำว่า Nature ไม่มีคำว่า Zeal for nature มี Law nature, Duty in the condone with the law กลุ่มหนึ่ง Reason in the condone with the duty นี้เป็นเรื่องของคำว่า ธรรมะ มันยกเว้นอะไร มันไม่มียกเว้นอะไร ถ้ารู้เรื่องธรรมะก็คือรู้ทุกเรื่อง แต่เราก็ไม่จำเป็นจะต้องรู้ทุกเรื่อง รู้แต่เรื่องที่เราจะต้องรู้ ควรรู้คือ หน้าที่ เพราะไม่ทำหน้าที่มันก็คือตาย นั้นจึงต้องรู้ หน้าที่หรือความหมายที่สาม มันเป็นความหมายที่สำคัญที่สุดของคำๆ นี้ ธรรมชาติ กฎของธรรมชาติ หน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ ผลตามหน้าที่ มันสำคัญทั้งสี่ความหมาย แต่ว่าสำคัญกว่าความหมายอื่น หรือสำคัญที่สุดก็คือ หน้าที่ ปทานุกรมให้ลูกเด็กๆ ในอินเดียเรียนนั้น ธรรมะ ออกคำแปลว่า Duty
เมื่อครูในโรงเรียน ในประเทศไทยมันสอนว่า ธรรมะคือ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า นี้เห็นได้ว่ามันเรียนมาแคบนิดเดียว เข้าใจว่า ธรรมะมีแต่ในพุทธศาสนาหรือเป็นเรื่องของพุทธศาสนา ธรรมะเป็นเรื่องของธรรมชาติ เป็นเรื่องของส่วนรวมทั้งหมด แล้วคนก็ได้ใช้พูดถึงคำๆ นี้กันมาตั้งแต่ครั้งไหนก็ไม่มีใครรู้ มันดึกดำบรรพ์เกินไป ก่อนพุทธศาสนาหรือศาสนาใดๆ จะเกิดขึ้น มันก็ใช้คำว่า ธรรมะ ธรรมะกันอยู่นั้นแล้ว
ในความหมายว่า ถูกต้องของหน้าที่แล้วก็มีความรอด แล้วก็บูชาธรรมะ กันอย่างยิ่ง จึงขอทำความเข้าใจคำสองคำในภาษาไทยกับภาษาบาลี ภาษาไทยเรียกว่า หน้าที่ เป็นคำแปลว่า ธรรมะ ภาษาไทยเรียกว่า หน้าที่ หน้าที่ ภาษาบาลีเรียกว่า ธรรมะ คำว่าหน้าที่ หน้าที่มันมีความหมายที่ว่ามัน ช่วยผู้มีหน้าที่นั้นให้รอด คำว่า ธรรมะ ธรรมะ ก็แปลว่า ทรง ทรงยกขึ้นไว้ซึ่งผู้มีธรรมะนั้นให้รอด ความหมายมันอันเดียวกัน หน้าที่มันก็สำหรับ ยกผู้มีหน้าที่ไว้ในความรอด ธรรมะก็ ทรงหรือยกผู้มีธรรมะไว้ในความรอด นี้มันง่ายๆ ชัดๆ อย่างนี้ ธรรมะ ธรรมะกับหน้าที่ แต่แล้วมันมีความหมายแตกแยกออกไปคือ ธรรมชาติ คือกฎธรรมชาติ หน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ แล้วก็ผลจากหน้าที่ แล้วก็ไม่ยกเว้นอะไรที่ไหน สิ่งมีชีวิตหรือไม่มีชีวิต มีปรากฏการณ์หรือไม่มีปรากฏการณ์ มีปัจจัยปรุงแต่งหรือไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง นี่เป็นคำพูดสำหรับใช้พูดให้มันหมด ไม่เหลืออะไร สิ่งนั้นเรียกว่า ธรรมะ ที่อยู่ภายในหรืออยู่ภายนอกตัวเราก็เรียกว่า ธรรมะเหมือนกัน
ธรรมะสี่ความหมายขอให้ช่วยจดจำไว้เถอะ อาตมาขอยืนยันว่าเป็นเรื่องที่มีประโยชน์ที่สุดที่จะช่วยให้เข้าใจเรื่องทุกเรื่องในสากลจักรวาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องที่จะดับทุกข์ได้ ในเราอัตภาพนี้ อัตภาพหนึ่งๆ นี้ มันก็มีตัวธรรมชาติ ดิน น้ำ ลม ไฟ แล้วแต่จะเรียกประกอบกันอยู่ เป็นผม ขน เล็บ ฟัน หนังเป็นเนื้อเป็นเลือดเป็นกระดูกเป็นอะไรต่างๆ ทุกส่วนของร่างกายนี้คือ ตัวธรรมชาติ หรือตัวธาตุที่ประกอบกันเป็นอวัยวะ เป็นไปตามธรรมชาติ ทีนี้ในสิ่งเหล่านี้ทุกส่วนของร่างกายนี้ มีกฎของธรรมชาติบังคับอยู่ ซึ่งมันต้องเป็นไปตามกฎ ดังนั้นมันจึงเจริญได้ เปลี่ยนแปลงได้ไปตามกฎ เลือด เนื้อ เอ็น กระดูกอะไรก็ตามมันก็เปลี่ยนไปตามกฎ เพราะมันมีกฎ ทุกส่วนของร่างกาย เป็นกลุ่มแห่งเซลล์ หรือเป็นเซลล์แต่ละเซลล์หรือกระทั่งเป็นปรมาณูหนึ่งๆ มันมีกฎควบคุมมันต้องเป็นไปตามกฎ ดังนั้นมันจึงมีการเคลื่อนไหวไปตามกฎ มันก็มีหน้าที่เพราะมันมีกฎบังคับให้เป็นไปตามกฎ นี้มันก็มีหน้าที่ มันก็ชวนกันทำหน้าที่ ทุกส่วนทำหน้าที่ เลือดเนื้อกระดูกอะไรนั้น ที่เห็นได้ชัด ทำหน้าที่ของมันเองเช่น หัวใจสูบฉีดโลหิต ปอดสูบฉีดอากาศนี้ มันก็ทำของมันเอง ที่มนุษย์จะต้องช่วยทำ จะต้องกินอาหาร จะต้องถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ ต้องอาบน้ำทำทุกอย่างเป็นหน้าที่ที่มนุษย์จะต้องช่วยทำ ประกอบกับหน้าที่ที่ธรรมชาติมันทำของมันเอง จึงรอดอยู่ได้ มีการทำหน้าที่ที่ถูกต้องแล้วมันก็มีผลคือ เป็นความสบาย หรือเป็นความทุกข์แล้วแต่ว่าทำหน้าที่ผิดหรือทำหน้าที่ถูก ถ้าทำหน้าที่ถูกต้องโดยประการทั้งปวงนี้ ชีวิตนี้มันก็มีแต่ความผาสุก สะดวกสบาย แต่นี้มันยังมีความผิดพลาดเหลืออยู่ด้วย ความโง่ มันจึงมีปัญหาเกิดขึ้นเป็นความไม่สบายเป็นความทุกข์
แม้แต่ในคนๆ เดียวมันก็มีกฎเกณฑ์ของธรรมชาติครบทั้งสี่ความหมาย มีตัวธรรมชาติ มีกฎของธรรมชาติ มีหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ มีผลอันเกิดจากหน้าที่นั้นๆ ก็มาดูเอาเองสิว่า จำเป็นหรือไม่จำเป็นว่าที่จะต้องรู้ธรรมะ จะต้องมีธรรมะ จะต้องปฏิบัติธรรมะ จำเป็นหรือไม่จำเป็นแล้วมันจะเป็นไปได้หรือเป็นไปไม่ได้ละ เพราะว่าชีวิตร่างกายสภาพนี้มันก็คือ ตัวธรรมะในความหมายที่หนึ่งคือ ตัวธรรมชาติ ด้วยประการทั้งปวง
ถ้าใครพูดว่า ธรรมะกับชีวิตมันอยู่คนละทิศทาง ธรรมะอยู่ที่วัด ชีวิตอยู่ที่บ้าน มันก็โง่เต็มทีแหละ มันไม่รู้อะไรเอาซะเลยว่า ธรรมะมันก็คือ ตัวชีวิตนั่นเองคือ เป็นตัวธรรมชาติ แล้วก็มีกฎของธรรมชาติ มีหน้าที่ตามกฎ มีผลตามหน้าที่ มันสัมพันธ์กันอยู่อย่างยิ่งอย่างนี้ อย่างสนิทจนแยกกันไม่ได้อย่างนี้ มันก็ต้องรู้ แล้วก็ต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง ถูกต้องนะสำคัญ ความหมายว่าถูกต้อง ถูกต้อง ธรรมะในความหมายที่สำคัญคือ หน้าที่ที่ถูกต้องเพื่อความรอด ไม่ใช่คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า คำสั่งสอนของศาสนาไหนเขาก็ยืนยันในข้อนี้ทั้งนั้นแหละ เป็นไปเพื่อความรอด เพื่อนิพพาน เพื่อโมกษะเพื่อหลุดพ้นเพื่ออะไรต่างๆ เขาจะเรียกชื่ออย่างไรก็ได้ ก็มุ่งหมายผลสุดท้ายเป็น ความรอด ทีนี้เราก็จะต้องรู้จัก ธรรมะ ในแง่ของศาสนาคือ ความถูกต้อง ไม่ใช่ในแง่ของธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ มันก็เป็นเรื่องของความถูกต้อง ธรรมะคือ ความถูกต้องของหน้าที่ ซึ่งมีอยู่เป็นระบบ ก็เลยบัญญัติความให้มันชัดไปทีเดียวสำหรับคำๆ นี้ว่า ระบบปฏิบัติ คือมันต้องปฏิบัติครบถ้วน ไม่ใช่ปฏิบัติเพียงข้อเดียวอย่างเดียว ปฏิบัติธรรมะครบทั้งระบบ แล้วก็ถูกต้อง ถูกต้อง ถูกต้องแต่ความรอด ถูกต้องอย่างอื่นไม่จำเป็นนะ ถูกต้องแต่ความรอด และรอดนั้นต้องรอดกันทั้งทางกายและทางจิตใจคือ ทั้งฝ่ายวัตถุและฝ่ายจิตใจ จึงต้องใช้คำว่ารอดทั้งทางกายและทางจิต คือว่าต้องรอดหมดทุกขั้นตอนแห่งชีวิต ยังต้องทั้งเพื่อตนเองและผู้อื่น ข้อนี้ยกเว้นไม่ได้ เพราะว่าชีวิตนี้อยู่คนเดียวในโลกไม่ได้ ต้นไม้ก็อยู่ไม่ได้ สัตว์ก็อยู่ไม่ได้ คนก็อยู่ไม่ได้ ถ้าอยู่เพียงตนเดียวคนเดียวตัวเดียว มันมีความจำเป็นที่จะต้องอยู่กันครบถ้วนพร้อมหน้า จึงต้องมีคำว่า ตนเองและผู้อื่น สัมพันธ์กันไม่แยกกัน ความถูกต้องหรือความรอด ต้องเป็นไปทั้งเพื่อตนเองและผู้อื่น
ทีนี้ขอให้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับคำว่า ธรรมะ ธรรมะคือ ระบบปฏิบัติ ไม่เพียงแต่ความรู้เฉยๆ ความรู้มันรวมอยู่ในระบบปฏิบัติ เพราะถ้าไม่รู้มันปฏิบัติไม่ถูก ถ้ามีการปฏิบัติมันก็ต้องมีความรู้ ระบบของการปฏิบัติ มีกี่ข้อกี่แง่กี่มุมก็ปฏิบัติครบถ้วน แล้วก็ถูกต้อง ถูกต้องคำนี้เป็นปัญหา ไปเผลอพวกฝรั่ง ถูกต้องตามปรัชญา ถูกต้องตามลอจิกบ้าๆ บอๆ ยิ่งถูกต้องทางปรัชญาแล้วไม่มีจุดจบ เพราะมันมีเหตุผลออกไปได้เรื่อย ไม่มีจุดจบ เปรียบเทียบผลของปรัชญา เป็นความรู้ที่ไม่มีจุดพบกัน เหมือนกับทางรถไฟ ทางหนึ่งมีสองเส้นสองสาย สองเส้น ทางรถไฟไม่มีทางร่วมกันเป็นเส้นเดียว มันไม่มีจุดจบ มันจะยาวเท่าไหร่ก็ตาม ความรู้ทางเป็น Philosophy นั้นขอใช้คำว่า Philosophy อย่าใช้คำว่า ปรัชญา พวกอินเดียมันจะด่าเอา เป็น Philosophy ไม่ใช่ ปรัชญา ปรัชญาไม่ใช่เป็น Philosophy ปรัชญาเป็นความรู้ที่ถูกต้องถึงขีดสุดในทางปัญญา ส่วน Philosophy เป็นเพียง ทัศนะ ทัศนะหนึ่งๆ ในอินเดียเขาแปลคำ Philosophy ว่า ทัศนะ ทัศนะในเมืองไทยแปล Philosophy ว่า ปรัชญา ไปยืมคำหรือไปขโมยคำ ไปแย่งเอาคำของเขามาใช้ผิดๆ คำว่า Philosophy ไม่ได้แปลว่า ปรัชญา ปรัชญาเป็น ปัญญาที่ถูกต้องถึงที่สุด แต่ Philosophy นี้ยังไม่มีถึงที่สุดจึงแปลว่า ทัศนะ ทัศนะ คำว่า Philosophy ชาวอินเดียแปลว่า ทัศนะหนึ่งๆ มันมีกี่ทัศนะก็ตามใจ เราไม่เอาความถูกต้องตาม ทัศนะหรือ Philosophy หรือแม้แต่ Logic หรือตรรกะนั้น เอาความหมายคำว่า ถูกต้องตามหลักของพระศาสนา ถูกต้อง ถูกต้องคือ ไม่มีผลร้าย ไม่มีใครเป็นทุกข์ มีแต่ได้รับประโยชน์เป็นความสงบสุข ถ้ามีลักษณะแบบนี้ จึงจะใช้คำว่า ถูกต้อง ถูกต้อง สัมมา สัมมา ถูกต้อง นี้เรียกว่า ถูกต้อง ตามความหมายของทางฝ่ายศาสนา ถ้าท่านจะเรียนพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะ ก็ต้องเอาความถูกต้อง ถูกต้อง ตามหลักของพระพุทธศาสนา คือ ดับทุกข์สิ้นเชิง นั้นในระหว่างที่ยังไม่ดับทุกข์สิ้นเชิง ก็กำลังเป็นไปเพื่อความดับทุกข์สิ้นเชิง เป็นไปเพื่อนิพพาน เป็นเพื่อนิพพานนั้นแหละ จึงจะเป็นความถูกต้อง ถูกต้องคือ ดับทุกข์สิ้นเชิง กำลังดับทุกข์ ไม่ให้เกิดความทุกข์ คำนี้ก็สำคัญขอให้รับทราบไว้เถอะว่า หลักพุทธศาสนาโดยแท้จริงนั้นใช้คำว่า สิ้นสุดแห่งความทุกข์ ไม่ใช้คำว่า สุข แต่ถ้าจะใช้คำว่า สุขจำเป็นก็ใช้สำหรับพูดกันกลางถนน ภาษาคนกลางถนน มันเป็นเรื่องโฆษณาชวนเชื่อซะมากกว่าจึงจะใช้คำว่า สุข สุข ใช้คำที่ชัดเจนแน่นอนตายตัว สิ้นสุดแห่งความทุกข์ เรียกว่า ว่าง ไม่มีปัญหาอะไรนั่นแหละคือ พระนิพพาน แต่การที่บางทีใช้คำว่า พระนิพพานเป็นสุขนี้ก็ชักชวนเพื่อโฆษณา เพื่อชักจูงให้เกิดความสนใจในนิพพาน นิพพานให้อยู่เหนือสุข เหนือทุกข์ แล้วก็เหนือสุข แล้วก็เหนือปัญหาทุกอย่างทุกประการ เราใช้คำว่า ปัญหา กันดีกว่าใช้คำว่า ความทุกข์ เพราะว่าความสุขมันก็เป็นปัญหาตามแบบของความสุข ความชั่วเป็นปัญหาตามแบบความชั่ว ความดีก็เป็นปัญหาตามแบบของความดี ต่อเมื่อเหนือชั่วเหนือดี มันจึงจะหมดปัญหา นั้นละคือ นิพพาน ว่างจากชั่วว่างจากดี ว่างจากหมายแห่งความชั่วความดี ไม่มีความหมายแห่งความเป็นบวกหรือเป็นลบ ไม่มีความหมายแห่ง Positive หรือ Negative ถ้ายังเป็น Positive หรือ Negative อยู่ เป็นเรื่องโลก มันเป็นเรื่องเด็กเล่น เป็นเรื่องคนธรรมดา ต่อเมื่อเหนือความหมายของ Positive หรือ Negative เหนือบวกเหนือลบนั้นจึงจะเป็นความหมายทางพระศาสนาโดยเฉพาะคือ พระนิพพาน นี่ธรรมะนำไปสู่จุดสุดท้ายคือ อยู่เหนือปัญหา ใช้คำว่า เหนือปัญหา เป็นคำที่ถูกต้องที่สุด เพราะว่า ความสุขก็ยังเป็นปัญหา นรกเป็นปัญหา แม้แต่สวรรค์มันก็เป็นปัญหา เหนือนรก เหนือสวรรค์ จึงจะหมดปัญหา ขอให้เข้าใจคำนี้ไว้เป็นหลักพื้นฐานนะว่า เหนือบวกเหนือลบนั้นเป็นจุดหมายปลายทาง สูงขึ้นไปจนเหนือบวกเหนือลบ ไม่มีบวกไม่มีลบมันก็คือไม่มีอะไร ที่เป็นบวกเป็นลบใช้คำว่า ความว่าง แต่ว่า ความว่างนี้มันก็มีความว่าง มีตัวความว่างนะ ไม่ใช่ไม่มีอะไรเลย ว่างจากตัวตน ว่างจากปัญหานี้เรียกว่า ความว่าง ขอให้มันว่างอย่างนี้สิ มันก็ไม่มีปัญหา มันก็ไม่มี ไม่มีความทุกข์ แล้วก็ไม่มีอะไรที่เป็นปัญหา ไม่มีความสุขที่เป็นปัญหา ถ้าหลงรักในความดีหรือความสุขมันก็เป็นปัญหา ไอ้ความดีมันจะกัดเจ้าของ ไอ้ความสุขนะมันกัดเจ้าของ คนฆ่าตัวตายกันกี่มากน้อยแล้วเพราะปัญหาเกี่ยวกับความดี ความดีหรือความสุขที่มันไม่ได้อย่างใจ มันเปลี่ยนแปลง ความดีหรือความสุขก็เป็นเหตุให้คนฆ่าตัวตาย เหนือปัญหาเหนือความดีไปอีกทีหนึ่ง จึงจะหมดเรื่อง หมดปัญหา เหนือแต่ความชั่ว ไม่พอเหนือแต่ความทุกข์ไม่พอ ต้องเหนือความดีขึ้นไปอีกส่วนด้วยจึงจะเรียกว่า หมดปัญหา ธรรมะนี้เมื่อปฏิบัติถูกต้องแล้วมันนำไปสู่จุดนั้นนะ ที่นั่นนะคือ เหนือปัญหา
ไล่ไปตั้งแต่ต้นว่า ธรรมะคือ ระบบปฏิบัติที่ถูกต้อง ถูกต้อง ตามความหมายที่แท้จริงของคำว่า ถูกต้อง อย่าไปเอาเรื่องปรัชญา อย่าไปเอาเรื่อง Philosophy เรื่องตรรกะ เรื่องทัศนะ หรือตรรกะ ในอินเดียเรียก นัยยะบ้าง ตรรกะบ้าง อย่าเอาไปใช้เป็นหลักเลย ต้องเอาความถูกต้องแท้จริงไปพิสูจน์ ความดับทุกข์สิ้นเชิงบนความถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้องแก่ความรอด รอดในที่นี้มีความหมายที่ถูกต้อง บริสุทธิ์ ไม่ใช่รอดอย่างหลอกลวง เอาตัวรอดอย่างหลอกลวงนั้นมาใช้ รอดจริง รอดจริง ไม่มีปัญหา รอดจากปัญหา จนกระทั่งทางเรื่องกายและเรื่องจิต ทั้งฝ่ายวัตถุและเรื่องจิตใจ วัตถุนี่มันรวมถึงวัตถุสิ่งของและร่างกาย ด้วยเรื่องจิตเรื่องวิญญาณ ถ้าจะพูดให้ชัดให้ครบก็ว่า ทางวัตถุ ทางกาย ทางจิตและยังแถมทางวิญญาณ ทางวัตถุก็เห็นกันอยู่แล้ว ทางกายคือ ร่างกาย จิตก็คือ ตัวจิตที่คิดนึกได้ วิญญาณคือ สติปัญญา สูงไปกว่าคำว่า จิต ในที่นี้เราไม่รู้จะใช้คำอะไร ทางวัตถุถูกต้อง ทางกายถูกต้อง ทางจิตถูกต้อง ทางสติปัญญาถูกต้อง เรียกว่าถูกต้องทั้งทางกายและทางจิต หมายความอย่างนี้ ทุกขั้นตอนแห่งชีวิต ก็หมายความว่าตั้งแต่เกิดจากท้องมารดา กว่าจะเข้าโรง จะเอากันอย่างอื่นก็ได้ เช่นว่า ตั้งแต่มันเริ่มมีโลกนี้มา จุดตั้งต้นแห่งวิวัฒนาการเมื่อไร ก็มีความถูกต้อง ถูกต้องเรื่อยมาตามลำดับ จนไม่มีใครรู้ว่ามันกี่ล้าน ล้านปีมาแล้ว จะหมายความอย่างนี้ก็ได้คือ ทุกขั้นตอนแห่งชีวิตของจักรวาล ไม่ว่าทุกขั้นตอนแห่งชีวิตของคน คนหนึ่ง คนหนึ่งก็แล้วแต่ ใช้คำรวมๆ ทุกขั้นตอนแห่งชีวิตเรียกว่า ทั้งเพื่อตนเองและเพื่อผู้อื่น คนธรรมดาไม่คิดถึงเรื่องของผู้อื่น ถ้าคิดก็คิดไปในทางเอาเปรียบ เอาประโยชน์ ไม่ได้คิดไปในทางที่ว่าจะ ช่วยเหลือหรือเป็นคุณ มีความเห็นแก่ตัวมันครอบงำ ถ้าเรื่องด้วยผู้อื่นก็เป็นเรื่องที่เอาเปรียบทั้งนั้น ไม่ใช่เรื่องเมตตา กรุณา แต่เดี๋ยวนี้เราอาศัยกฎของธรรมชาติ ที่สร้างสิ่งมีชีวิตมา เพื่ออยู่กันอย่างครบถ้วน อยู่ตัวเดียว ตัวเดียว คนเดียวไม่ได้ต้องอาศัยกันทั้งนั้น คนก็มี มีคนจำนวนมาก สัตว์ก็มีจำนวนมาก ต้นไม้ต้นไร่ก็มีจำนวนมาก แม้แต่เรื่องของเซลล์ ของชีวิตน้อยๆ มันก็ต้องมีจำนวนมากมันจึงจะทำอะไรได้ มันประกอบกันเป็นหมู่ มันจึงจะทำอะไรได้ ฉะนั้นความเป็นหมู่นั้นแหละสังเกตให้ดีเถอะว่าเป็น กฎเกณฑ์อันลึกซึ้งของธรรมชาติ ไม่มีความเห็นแก่ตัว เดี๋ยวนี้มันเป็นตรงกันข้าม มันมีความเห็นแก่ตัว เราก็เรา เขาก็เขา มึงก็มึง กูก็กู ไม่มีลักษณะแห่งความเป็นอันเดียวกัน คือ รวมชีวิตทั้งหมดเป็นชีวิตเดียวกัน มันไม่มี เราจึงอยู่กันอย่างมีตัวมึงตัวกู มีคำว่า ตัวกูเกิดขึ้น อัตตาเกิดขึ้น มันแบ่งแยกเป็นฝ่ายนี้และฝ่ายนั้นเสมอไป มันไม่มีความเป็น ตัวเดียวกันได้ แต่ธรรมชาติต้องการให้มีมา หรืออยู่กันอย่างเป็นตัวเดียว เรียกอย่างที่เรียกกันเดี๋ยวนี้ก็น่าจะเรียกว่า ระบบสหกรณ์ สหกรณ์ ทำร่วมกันอยู่ร่วมกันรอดร่วมกันมีชีวิตร่วมกัน ระบบสหกรณ์ มนุษย์ก็ต้องร่วมกันอย่างถูกต้อง มีความเป็นสหกรณ์มนุษย์ สัตว์ทั้งหลายก็มีความเป็นสหกรณ์ในหมู่สัตว์ ต้นไม้ต้นไร่ทั้งหลายนี้ก็มีความเป็นสหกรณ์ มันแยกกันไม่ได้ ต้นไม้ใหญ่ต้นนี้มันก็ยังต้องมีอาศัยต้นไม้ต้นเล็ก อยู่ที่ทำความชื้น ที่แผ่นดิน มีตะไคร่ช่วยทำความเป็นประโยชน์อะไรให้แก่เปลือกของมัน นั้นเป็นสหกรณ์ทั้งนั้น โดยเฉพาะในร่างกายเรา คนหนึ่ง คนหนึ่งนี้มีสหกรณ์ของทุกส่วนของร่างกาย ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เลือดเนื้อ อะไรก็ตามมันมีความเป็นสหกรณ์ร่วมกัน มันจึงรอดอยู่ได้
แต่แล้วความโง่เรียกว่า อวิชชา มันทำให้เกิดเป็นตัวกู เป็นคน คน เป็นส่วน ส่วน เป็นส่วน ส่วน ไม่สหกรณ์กันได้โดยง่าย ปัญหามันจึงเกิดมี ในโลกนี้มันมี ระบบนายจ้าง ระบบลูกจ้าง แล้วมันรักกันไม่ได้ ปัญหาตลอดกาลเห็นไหม ถ้าว่านายจ้างกับลูกจ้างมันมีหลักเป็นสหกรณ์ ไม่ใช่ลูกจ้าง ไม่ใช่ลูกจ้างมันเป็นผู้ร่วมมือกัน นั้นโลกนี้ไม่มีปัญหา เดี๋ยวนี้มันไม่มีระบบสหกรณ์ แม้ในหมู่บริษัท บริษัทหนึ่งมีคนทำงานร่วมกันมาก มันก็กูก็กู มึงก็มึงทั้งนั้น ไม่มีความหมายแห่งสหกรณ์ พอเข้ามาใกล้กันสองคนมันก็เป็นมึงเป็นกู มีประโยชน์ของฝ่ายตัว มันไม่มีความเป็นสหกรณ์ ระบบใหญ่ๆ เช่น ระบบทั้งประเทศนี้มันก็ไม่มีความรักอย่างสหกรณ์ มันก็มึงก็มึง กูก็กู ประชาธิปไตยโกหก แต่ละคนเป็นตัวเอง เป็นตัวเอง ประโยชน์ของตัวเอง ขวนขวายเพื่อประโยชน์ของตัวเอง ด้วยความเห็นแก่ตัว ประชาธิปไตยที่เป็นปัญหาไม่มีที่สิ้นสุด กำลังพยายามที่จะไม่ให้จ้างเลือกผู้แทน รับจ้างเลือกผู้แทน มันทำไม่ได้ เพราะความรู้สึกโดยแท้จริงมันไม่มีระบบที่ถูกต้องของธรรมชาติ มันมีมึงมีกู มันมีประโยชน์เป็นส่วนๆ ไป มันไม่สหกรณ์ แม้ในประเทศชาติ ธรรมชาติสร้างมาให้เป็นสหกรณ์นั้น สหกรณ์นั้นไม่ให้ตาย ในจังหวัดหนึ่ง ในอำเภอหนึ่ง ตำบลหนึ่ง ครอบครัวหนึ่งมันก็ยังไม่มีสหกรณ์ตามกฎของธรรมชาติ นั้นละความสงบสุขมันจึงไม่มี ลองเป็นระบบสหกรณ์ตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติสิ มันไม่เป็นปัญหา มันจะทำให้ทั้งโลกเป็นคนคนเดียวกันหมด มันจะมีปัญหาอะไร มันจะมีปัญหาต่อเมื่อมันมีมากกว่าคนเดียว มีมึงมีกู มีอัตตา ระบบสหกรณ์เป็นระบบที่ลึกซึ้งของธรรมชาติ ได้มาเพื่อความสงบสุขหรือสันติภาพ ในร่างกายแต่ละคนก็สหกรณ์กันทุกส่วนของร่างกาย แต่ละคนในครอบครัวก็เป็นสหกรณ์เดียวกัน หมู่บ้าน อำเภอ จังหวัด ประเทศก็ต้องเป็นสหกรณ์เดียวกัน จึงจะถูกตามความหมายของธรรมชาติ หรือ ธรรมะ ธรรมะ ธรรมะ ต้องการความเป็นสหกรณ์กันอย่างนี้ พอไม่เป็นอย่างนี้ก็ไม่เป็น ธรรมะ เป็นธรรมะที่มิใช่ธรรมะ ก็เรียกว่า อธรรม ปัญหามันก็เกิด ในการศึกษาความรู้เรื่องธรรมะ ขอให้เข้าใจถึงเรื่องนี้ว่า กฎของธรรมชาติ มันเป็นอย่างนี้ เรามีหน้าที่ที่จะปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ แล้วก็จะได้รับผลดีคือ ธรรมะ ให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติคือ ตัวธรรมชาติ จะต้องบริหารอย่างไรก็ปฏิบัติให้ถูกต้อง กฎของธรรมชาติ จะรู้ว่ามีอยู่อย่างไร แล้วก็ปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ มันก็จะมีผลออกมาตามความสงบสุขหรือสันติภาพ เดี๋ยวนี้โลกไม่มีสันติภาพ ต่างฝ่ายต่างเห็นแก่ตัว ประเทศมหาอำนาจก็ยังเห็นแก่ตัว รองลงมาก็เห็นแก่ตัว คนจน บางคนมั่งมีก็เห็นแก่ตัว คนยากจนก็เห็นแก่ตัว เศรษฐีก็เห็นแก่ตัว คนขอทานก็เห็นแก่ตัว คนผลิตก็เห็นแก่ตัว คนซื้อก็เห็นแก่ตัว คนขายก็เห็นแก่ตัว มีแต่สิ่งที่ไม่ใช่ธรรมะ มันเลยไม่มีสันติภาพ เลิกความผิดๆ เหล่านั้นเสีย ไม่มีความเห็นแก่ตัวมันก็มี ธรรมะ เมื่อเห็นแก่ธรรมะ มันก็ไม่เห็นแก่ตัว ถ้าเห็นแก่ตัวมันไม่เห็นแก่ ธรรมะ จงรู้จักธรรมะไว้ในลักษณะเช่นนี้ว่า เราจะต้องเห็นแก่ ธรรมะ ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของธรรมะ จะไม่มีปัญหา
เดี๋ยวนี้มันมีปัญหาเห็นแก่ตัว เห็นแก่ตัว มันก็เกิดอาชญากรรม อาชญากร ของผู้เห็นแก่ตัว เกิดเป็นคดี เป็นคดีอาชญา อาญาหรือคดีแพ่ง ไม่ไหวทั้งนั้นแหละ คดีอาญาหรือคดีแพ่ง ไม่ไหวทั้งนั้นแหละ สร้างความทุกข์ทรมาน ไม่มีคดี มันจึงจะสงบสุข ไม่เห็นแก่ตัว ไม่อาจจะสร้างคดีใดๆ พอถ้าว่ามนุษย์ทั้งหมดนี้ไม่เห็นแก่ตัวมันก็ไม่มีปัญหา ยังมีเห็นแก่ตัวอยู่ก็ยังมีปัญหา พอไม่เห็นแก่ตัวมันก็ไม่มีคดี ไม่มีขัดแย้งโดยประการใดๆ เอากฎหมายไปทิ้งทะเลเสียให้หมดก็ได้ ไม่ต้องมีตำรวจ ไม่ต้องมีเรือนจำ ไม่ต้องมีศาล ไม่ต้องมีโรงพยาบาลบ้าด้วย ศาสนาก็หมดความจำเป็น ถ้าคนมันไม่เห็นแก่ตัว ศาสนาก็ไม่มีงานทำ ศาสนามันมีไว้สำหรับกำจัดความเห็นแก่ตัว ให้อยู่กันอย่างเป็นสุข แต่ถ้าคนมันไม่เห็นแก่ตัวเสียแล้ว ก็คือถึงที่สุดแห่งของความมีศาสนา มีมรรคผลนิพพาน มันไม่มีอะไรจะให้เกิดปัญหา ก็ไม่ต้องมีศาสนา พูดอย่างนี้บางคนจะคิดว่า บ้าแล้ว บ้าแล้วเลยเถิดไปแล้ว ไม่ต้องมีศาสนา ไม่ต้องมีกฎหมาย อาตมาขอท้า ถ้าไม่มีความเห็นแก่ตัว มันก็มีธรรมะ ธรรมะ ธรรมะมันก็ไม่เกิดขัดแย้งใดๆ มันก็อยู่กันได้อย่างผาสุก เป็นการปกครองโดยไม่ต้องมีการปกครอง ปกครองชนิดที่ไม่ต้องมีการปกครอง คำพูดนี้เป็นคำพูดของศาสดาเอก ศาสดาหนึ่งคือ เลาจื้อ ลัทธิเลาจื้อ หรือเต๋า เลาจื้อเขาพูดว่า การปกครองที่ไม่ต้องมีการปกครองคือการปกครองที่ดีที่สุด ลูกศิษย์เขาถามมาว่า การปกครองอย่างไรดีที่สุด ศาสดาก็ตอบว่า การปกครองที่ไม่ต้องมีการปกครอง ก็เลยงงเลยไม่รู้จะถามอย่างไรอีก เดี๋ยวนี้เรามาดูเอาเองสิ ถ้ามันไม่มีความเห็นแก่ตัว ไม่มีความเห็นแก่ตัว มันก็ไม่เกิดการขัดแย้งใดๆ มันไม่ต้องมีการปกครองใดๆ สำหรับผู้ไม่เห็นแก่ตัว มันมีได้ไง ถ้าไม่มีความเห็นแก่ตัวในโลกนี้ มันก็ไม่ต้องมีการปกครอง หรือว่าปกครองชนิดที่ไม่มีการปกครอง ฟังดูแล้วก็เหมือนกับบ้า ปกครองที่ไม่ต้องมีการปกครอง ก็คนมันไม่เห็นแก่ตัว มันไม่มีคดีใดๆ ไม่มีปัญหาใดๆ เพราะมีธรรมะ มีธรรมะ ธรรมะอย่างเดียวเท่านั้นแหละ มีธรรมะแล้วก็ไม่มีความเห็นแก่ตัว ไม่มีความเห็นแก่ตัวก็ไม่มีความขัดแย้ง ไม่มีความขัดแย้งก็ไม่มีปัญหาใดๆ นี่คือ อานิสงค์สูงสุดของธรรมะ ทำให้อยู่ได้โดยไม่มีการขัดแย้ง มันก็เป็นสุขกันทั้งสากล บุคคลก็เป็นสุข ทั้งหมดก็เป็นสุขเป็นคนคนเดียวกัน นี่คือประโยชน์ของธรรมะ
ดังนั้นท่านทั้งหลายก็ไปคิดดูเอาเองว่า ธรรมะ นี้มันจะเป็นปัญหากับชีวิตได้อย่างไร ธรรมะมันเป็นเรื่องจัดให้ชีวิต มีผลดีตามความหมายของคำว่า ชีวิต ทีนี้ขอโอกาสวินิจฉัยคำว่า ชีวิต กันอีกคำหนึ่ง คำว่า ธรรมะ ธรรมะนี้เราก็พูดกันมาเสร็จแล้วว่าคือ สิ่งทั้งปวง คือทุกสิ่งไม่ยกเว้นอะไร มีไว้สำหรับกระทำความรอด ไม่ใช่หลับตาพูดว่า ธรรมะคือ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งมันผิด ขอครูบาอาจารย์ทั้งหลายพูดซะใหม่ให้ถูก ธรรมะเป็นคำประหลาดที่สุดที่เกิดขึ้นแล้วก็ใช้กันมา อย่าพยายามแปลเป็นภาษาอะไร เมื่อพระพุทธศาสนาเข้าไปในยุโรป ก็สอนธรรมะ สอนธรรมะ มีผู้ที่คิดจะแปลคำว่า ธรรมะ ออกเป็นภาษาอังกฤษโดยเฉพาะ แปลได้ตั้ง ๓๐ กว่าคำแล้วมันก็ไม่หมด ยอมแพ้ ยอมแพ้อย่าแปลไม่ต้องแปลใช้คำว่า ธรรมะ ธรรมะมันจึงเข้าไปอยู่ในปทานุกรมอังกฤษ ดิกชันนารีอังกฤษก็มีคำว่า ธรรมะ ธรรมิกะ มันแปลไม่ได้ ประเทศไทยเราไม่ได้แปลใช้คำว่า ธรรมะ มันก็จะง่ายขอให้มีธรรมะถูกต้อง นี้คือเรื่องของคำๆ เดียวว่า ธรรมะ ธรรมะเป็นธรรมชาติ ๔ ความหมาย มียกเว้นอะไร
ทีนี้ก็มาดูถึงสิ่งที่เรียกว่า ชีวิต ถ้ามีสติปัญญาพอ ก็มันเห็นชัดทันทีว่ามันรวมอยู่ในคำว่า ธรรมชาติ ธรรมะในความหมายแรกนั้นมีคำว่า ชีวิต รวมอยู่ด้วย ชีวิตคือ ธรรมชาติ แล้วมันจะแยกไปจาก ธรรมะ ได้อย่างไร ตัวธรรมะ เสียเองมีความถูกต้องแล้ว ชีวิตนั้นก็หมดปัญหา แต่ว่าเรามาพูดจากันยังไม่ถูกต้องจึงทำให้เป็นปัญหา ในการพูดจาในการทำความเข้าใจ จึงขอทำความเข้าใจกันสักนิดว่า ชีวิต นี้มันคืออะไร ถ้าพูดอย่างวิทยาศาสตร์แล้วมันก็เป็นเรื่องเด็กอมมือ วิทยาศาสตร์มหาศาลที่เรียนกันมา ให้คำจำกัดความของชีวิตว่า ความที่ โพรโทพลาสต์ (Protoplast) ที่อยู่ในเซลล์หนึ่งๆ ยังสดอยู่ ความที่ยังสดอยู่ของโพรโทพลาสต์ (Protoplast) ที่มีอยู่ในเซลล์ทุกๆ เซลล์ มันเป็นชีวิตทางวัตถุ ไม่ใช่ชีวิตที่มีความหมายอะไร ชีวิตอย่างนี้ไม่เกี่ยวกับธรรมะหรอก ครั้นจะเอาชีวิตตามความหมายทางวิทยาศาสตร์นั้นไม่ได้ ในเมื่อศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์ทาง จิตใจ มันเป็นเรื่องทางจิตใจ
ชีวิตในความหมายในความรู้สึกของคนธรรมดาก็คือ ความรอดชีวิตคือไม่ตายไม่ต้องใส่โลง ถ้าว่าจะจัดการกับมันได้อย่างไร มันก็ต้องมีชีวิตในความหมายว่า ระบบการดำรงชีวิต การดำรงชีวิตนั่นแหละคือ ชีวิต ถ้าเอาภาษาบาลีเป็นหลักก็ อาชีวะ แปลว่า การดำรงชีวิตอยู่นั่นแหละคือ ตัวชีวิต ระบบการดำรงชีวิตที่ถูกต้องนั่นแหละคือ ตัวชีวิต ชีวิต ชีวิต ตามความหมายทางธรรมะทางศาสนา ให้มีความถูกต้องในการดำรงชีวิต หลักธรรมะทั้งหมดมันให้เกิดความถูกต้องในการดำรงชีวิตเป็นอยู่ เป็นอยู่ เป็นอยู่ ไม่ตาย ไม่ตาย แล้วก็ไม่มีความทุกข์ เพียงไม่ตายนั้นมันไม่พอ ถ้าไม่ตายแล้วมีความผิดพลาดเป็นทุกข์ทรมานมันก็ตกนรกกันทั้งเป็นจะมีประโยชน์อะไร มันต้องเป็นชีวิตชนิดที่ไม่มีปัญหา มันจึงจะเรียกว่า ความสดชื่น หรือความเป็นอยู่ หรือความไม่ตาย ถ้ามันเต็มไปด้วยความทุกข์มันก็เท่ากับตายแล้ว มีค่าเท่ากับตายแล้ว ตายเสียยังจะดีกว่า เพราะไม่ต้องทนทุกข์ ถ้าต้องทนทุกข์มันก็ไม่ใช่ชีวิต เพราะฉะนั้นขอให้จัดการให้ชีวิตนี้มันมีชีวิตจริงคือ ไม่เป็นทุกข์ อย่าไปหลงบวกหลงลบ เกิดกิเลส เกิดกิเลสแล้วมันก็กัดเอา กัดเอา เป็นชีวิตโง่ ชีวิตที่ไม่ถูกต้อง เป็นชีวิตที่กัดเจ้าของ ท่านทั้งหลายกรุณาช่วยจำคำนี้ไว้ด้วยเถิดว่า ชีวิตแท้จริงไม่การกัดเจ้าของ ชีวิตที่ยังผิดพลาดมีการกัดเจ้าของ ชีวิตแท้จริงตามความหมายของชีวิตแล้ว จะไม่มีการกัดเจ้าของ ก็ดูเอาเองกัดเจ้าของมันกัดอย่างไร มันมีอยู่แล้ว มีอยู่จริงแล้ว เดี๋ยวความรักกัด ความรักชนิดไหนมันกัดทั้งนั้นแหละ เดี๋ยวความโกรธกัด เดี๋ยวความเกลียดกัด เดี๋ยวความกลัวกัด เดี๋ยวความตื่นเต้น ตื่นเต้นกัด วิตกกังวลกัด อาลัยอาวรณ์กัด อิจฉาริษยากัด ความหวงกัด ความหึงกัดกันตายคาที่ไปเลย คนไหนใครไม่มีสิ่งเหล่านี้ ความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ความตื่นเต้น วิตกกังวล อาลัยอาวรณ์ อิจฉาริษยา หวงหึง มันกัดทุกอย่างทุกหนทุกแห่ง เมื่อไม่มีสิ่งเหล่านี้ก็เรียกว่า ชีวิตนี้ไม่กัดเจ้าของ เพราะมันมีธรรมะเข้ามาแทน ธรรมะมันห้ามกัน ไม่ให้เกิด ความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ความตื่นเต้น วิตกกังวล อาลัยอาวรณ์ อิจฉาริษยา หวงหึง
พวกฝรั่งมาที่นี่ทุกเดือน หญิงชายเรา หญิงร้อยคนชายร้อยคน รวมกันสักสองร้อยคนมาทุกเดือน มาศึกษาธรรมะแล้วก็ปฏิบัติธรรมะ บอกว่าชอบใจคำนี้มากที่สุด เพราะเคยพบแต่ชีวิตที่กัดเจ้าของ เดี๋ยวนี้มาพบกับชีวิตที่ไม่กัดเจ้าของ ดีใจ ดีใจ ดีใจได้ความรู้ใหม่ ได้รับชีวิตที่ไม่กัดเจ้าของ เขามากันทุกเดือน เหมือนมาตลาดนัดไม่ได้เชื้อเชิญ มากันเอง กลับกันเอง ศึกษาธรรมะ เราก็จะให้ศึกษาในส่วนที่สำหรับศึกษาคือ เรื่องปฏิจจสมุปบาท เรื่องอริยสัจ เรื่องความถูกต้อง ที่ไม่เกิดกัดเจ้าของ แล้วก็ให้ปฏิบัติ ปฏิบัติให้ได้อย่างนั้น คือ อานาปานสติ ภาวนา แล้วเรียนเรื่องปฏิจจสมุปบาท แล้วก็ปฏิบัติอานาปานสติ ก็ได้ความรู้เป็นชีวิตที่ไม่กัดเจ้าของแล้วก็ พอใจ พอใจ จึงขอบอกกล่าวท่านทั้งหลายไว้อย่างเดียวกันแหละ ไม่ว่าเป็นฝรั่งหรือเป็นไทย ธรรมะร่วมกัน มันเป็นธรรมชาติร่วมกัน ศึกษาให้เป็นชีวิตที่อยู่เหนือปัญหา ไม่กัดเจ้าของ ความรักมันกัดเจ้าของ รักอย่างกามารมณ์ รักอย่างเพศมันก็ยังกัดเจ้าของ แม้ความรักเมตตากรุณารักอย่างแม่พ่อรักลูก มันก็ยังกัดพ่อแม่ลำบากยุ่งยากจิตใจ ความรักนี้มันกัดเจ้าของ ไม่ว่าความรักชนิดไหน ความโกรธไม่ต้องอธิบาย โกรธขึ้นมามันก็เป็นไฟ ความเกลียดเป็นความโง่ ไปเกลียดนั่นเกลียดนี่ เกลียดที่ไม่ต้องเกลียดก็มี ที่ควรเกลียดมันกลับไม่เกลียดก็มี ความเกลียดถ้าเกิดขึ้นในจิตใจแล้วมันก็กัดเจ้าของ ความกลัวทุกชนิดกัดเจ้าของ ความตื่นเต้น ตื่นเต้นสงบอยู่ไม่ได้ ต้องตื่นเต้นเพราะความแปลกประหลาดมันตื่นเต้น มันก็กัดเจ้าของ มันต้องไปดูกีฬา มันต้องไปดูมวย มันบ้า ชอบความตื่นเต้น แล้วความตื่นเต้นมันก็กัดหัวใจสั่นระรัวไปหมด ชีวิตของพระอริยเจ้าไม่มีความตื่นเต้น ชีวิตของปุถุชนคนโง่ตามธรรมดาชอบความตื่นเต้น ชอบสิ่งมากระตุ้นให้ตื่นเต้นมันจึงกินเหล้า กินของมึนเมาหรือยาเสพติดอะไร ก็ไปช่วยกระตุ้นความตื่นเต้น มันหลงความตื่นเต้น แล้วความตื่นเต้นนั้นไม่ใช่ความสงบสุข เห็นกันอยู่แล้ว ไม่ต้องพูด มีไปเล่นกีฬาเพื่อความตื่นเต้น ไปดูมวยเพื่อความตื่นเต้น จิตใจก็เป็นบ้าไปพักๆ อย่าไปหลงความตื่นเต้น มันจะทำให้เสียเวลาเสียเงินเสียอะไรโดยไม่จำเป็น ความวิตกกังวลในอนาคตจะเป็นอย่างไร ถ้าเกิดขึ้นมันก็กัดเจ้าของ อาลัยอาวรณ์ในสิ่งที่ล่วงมาแล้วแต่หนหลังในอดีต มันก็กัดเจ้าของ อย่าให้เกิดปัญหาอนาคตหรือปัญหาอดีต ไม่วิตกกังวล ไม่อาลัยอาวรณ์ แล้วก็ไม่อิจฉาริษยา เพราะความมีตัว เห็นแก่ตัว เรามีตัว ตัวเดียวกันทั้งหมดมันก็ไม่เห็นแก่ตัว มันก็ไม่อิจฉาริษยา ความโง่ตามธรรมชาตินี้เป็นความอิจฉาริษยา มันเห็นแก่ตัว มันไม่อยากให้ใครดีกว่าตัว สวยกว่าตัว รวยกว่าตัว มันอิจฉาริษยา ตามธรรมชาติ พี่ที่เกิดก่อนมันยังอิจฉาน้องที่คลานตามกันมา ความอิจฉาริษยามันกัดเจ้าของ มันเกิดความขัดแย้งทะเลาะวิวาท กระทั่งว่ามันจะแย่งกันครองโลก มันจึงมีการอิจฉาริษยา ประเทศมหาอำนาจมันจะแย่งกันครองโลก มันก็ต้องอิจฉาริษยา เมื่อเกิดความขัดแย้งก็เกิดสงคราม วุ่นวายกันไปทั้งโลก ด้วยความโง่ของคนที่อยากจะครองโลก อิจฉาริษยา ความหวง หวงธรรมดา ในความหมายของความหวง ทำให้วิตกกังวล ทำให้นอนไม่หลับ ถ้ารุนแรงทางเพศก็เป็นความหึง มันถึงกับฆ่าตัวตาย โง่ถึงที่สุด ไม่ได้อย่างใจก็ฆ่าคู่รัก ยิงคู่รักตาย ยิงตัวเองตาย ความหึงมันกัดเจ้าของ ที่จริงมันมีมากกว่านี้ มีตั้งหลายสิบอย่าง แต่เอามาเพียงเท่านี้ก็พอแล้ว สักสิบอย่างนี้ ความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ความตื่นเต้น วิตกกังวล อาลัยอาวรณ์ อิจฉาริษยา หวงหึง เท่านี้มันก็พอ มันเกินพอแล้ว มันพอที่จะรู้สึกเบื่อหน่าย เกลียดแล้วว่า ความเป็นอย่างนี้มันไม่ไหวมันกัดเจ้าของ เพราะมันไม่มีธรรมะ เพราะมันมีความเห็นแก่ตัว ถ้ามันมีธรรมะมันก็ไม่เห็นแก่ตัว สิ่งเหล่านี้มันไม่เกิด สิ่งที่จะกัดเจ้าของมันไม่เกิด ที่จะกัดชีวิตมันไม่เกิด มันเลยเป็นชีวิตที่ไม่กัดเจ้าของ พอมีสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาในชีวิต ชีวิตนั้นแหละมันเป็นตัวกัดตัวเอง แล้วก็เป็นความทุกข์ ความทุกข์มาจากชีวิตโง่ แล้วมันก็กัดตัวเอง เลวกว่าหมา หมาไม่เคยกัดเจ้าของนะ ที่อาตมาไม่เคยเห็นหมาตัวไหนกัดเจ้าของ แต่ชีวิตนี้มันกลับกัดเจ้าของ มันเลวกว่าหมา ชีวิตของคนโง่ ชีวิตของคนที่ไม่มีธรรมะ ไม่มีธรรมะ มันก็กัดเจ้าของ เอากับมันสิ มันก็เห็นแก่ตัว เห็นแก่ตัว เสียเวลาพูดกันสักนิดหนึ่งก็มีประโยชน์แล้ว ความเห็นแก่ตัว กำลังเป็นปัญหาในโลก ความเห็นแก่ตัวกำลังครองโลก เพราะไม่มีธรรมะ ธรรมะถอยห่างออกไป ถอยห่างออกไป ความเห็นแก่ตัวเข้ามาแทนที่ ครองโลก โลกเห็นแก่ตัวยิ่งขึ้น ยิ่งขึ้น สู้โลกของคนป่าสมัยยังไม่นุ่งผ้าไม่ได้ ความเห็นแก่ตัวมันยังน้อย เพราะมันโง่ มันไม่ได้ศึกษาให้ฉลาด สำหรับจะเห็นแก่ตัวให้ลึกซึ้ง เดี๋ยวนี้คนมันฉลาด มีปัญญาลึกซึ้ง แล้วมันก็เห็นแก่ตัวอย่างลึกซึ้ง เลยแก้ไม่ตก มันเป็นโลกของผู้เห็นแก่ตัว แก้เท่าไหร่มันก็ไม่ตก มันเหมือนกับจับปูใส่กระด้ง มันไม่มีที่สิ้นสุด ความเห็นแก่ตัวมันก็เกิดขึ้นมาแทนที่เรื่อยไป พอจนใจนี้คือตัวปัญหา ตัวปัญหา แก่ทุกคนไม่ยกเว้นใคร มีความเห็นแก่ตัวแล้วก็มีปัญหา แล้วก็มีความทุกข์ ชีวิตมันกัดเจ้าของ เห็นแก่ตัวเท่าไหร่ มันยิ่งกัดเท่านั้นแหละ เพราะมันเป็นความโง่ มันต้องไม่เห็นแก่ตัว แต่เห็นแก่ธรรมะ มันตรงกันข้าม ถ้าเห็นแก่ตัวมันไม่มีทางจะเห็นแก่ ธรรมะ คือความถูกต้อง ถ้าเห็นแก่ธรรมะ มันก็ไม่มีทางที่จะเห็นแก่ตัว
จงศึกษาธรรมะให้เพียงพอแล้วก็เห็นแก่ธรรมะ ยึดถือธรรมะเป็นหลัก ก็เป็นเครื่องรางป้องกันความเห็นแก่ตัวไม่ให้เข้ามาทำอันตรายเราหรือทำอันตรายโลก เดี๋ยวนี้เรากำลังเป็นโลกแห่งความเห็นแก่ตัว กำลังจะวินาศ ถ้ามันไม่หยุด ถ้ามันเห็นแก่ตัวโดยทำนองนี้ ต่อไป ต่อไปมันก็ไปสู่ความวินาศ มันก็ฆ่ากันอย่างที่เรียกว่า มิกสัญญี มันฆ่ากันอย่างฆ่าเนื้อฆ่าปลา เพราะมีความเห็นแก่ตัว เดี๋ยวนี้มีปัญหาเรื่องความเห็นแก่ตัว บางทีก็ไม่รู้จัก พยายามจะแก้ พยายามจะแก้มันก็ไม่สำเร็จประโยชน์ มันโง่ มันโง่ มันไม่แก้ที่ถูกต้องมันไม่แก้ที่ต้นเหตุ คือ ความผิดธรรมะ ผิดหลักของธรรมชาติ ผิดกฎของธรรมชาติ มันเป็นต้นเหตุ มันไปมัวแก้ที่ปลายเหตุ พยายามที่จะให้ประชาชนไม่ซื้อเสียง มันต้องแก้ที่ต้นเหตุคือ ความเห็นแก่ตัว ถ้าประชาชนไม่เห็นแก่ตัว มันก็ไม่มีใครซื้อเสียง มันก็หมดปัญหา นี้ไปบังคับ ไปล่อลวง มันแก้ที่ปลายเหตุ มันจะแก้ได้หรือไม่ได้ก็ลองดู ก็คอยดู มันไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุ การแก้ที่ต้นเหตุมันเป็นความถูกต้องของ ธรรมะ ไปแก้ที่ปลายเหตุ ไม่ถูกธรรมชาติ มันก็แก้ไม่ได้ หลักเกณฑ์โบราณ จะพูดกันครั้งไหนก็ไม่รู้ในอินเดีย ในเอเชีย เรานี้ก็มีว่า แก้ที่ปลายเหตุเป็นลูกหมา แก้ที่ต้นเหตุเป็นลูกราชสีห์ ลองจำไว้คงไม่เสียหลาย เอาไม้ไปแหย่ลูกหมา แหย่หมานี้ มันก็กัดไปที่ปลายไม้ กัดไปที่ปลายไม้ ถ้าลองเอาไปแหย่ลูกเสือ ลูกราชสีห์ มันกระโจนเข้าไปที่คนถือไม้ ลูกหมากับลูกราชสีห์มันต่างกันอย่างนั้น ขอให้มีความรู้ที่จะแก้ที่ต้นเหตุ มันจะได้เป็นลูกราชสีห์ ไม่ว่าแก้ปัญหาอะไร ปัญหาชนิดไหน กี่ร้อยกี่พันปัญหามันต้องแก้ที่ต้นเหตุ แก้ที่ต้นเหตุ ตามหลักพระพุทธศาสนาว่า สิ่งทั้งปวงมีเหตุ พระพุทธเจ้าทรงแสดงเหตุแห่งสิ่งนั้น และความดับแห่งสิ่งนั้น เมื่อแก้ที่ต้นเหตุดับที่ต้นเหตุมันก็ดับได้ นั้นก็คือ ความทุกข์ ความทุกข์มันมีเหตุ แก้ที่ต้นเหตุของความทุกข์ มันก็ดับทุกข์ได้ ขอให้สนใจคำว่า มีเหตุ เป็นไปตามเหตุ ก็ต้องจัดการที่เหตุ นี้คือเรื่อง ปฏิจจสมุปบาท ที่เรายกเอาเป็นเรื่องแรกให้พวกฝรั่งมันเรียน ทางทฤษฏีเรื่องปฏิจจสมุปบาท เรื่องมีเหตุ เรื่องเป็นไปตามเหตุ เรื่องแก้ที่ต้นเหตุ นี้ขอให้ใช้หลักอย่างนี้ ปัญหาใดๆ แม้ปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ในครอบครัว ไปดูมันมีเหตุ ต้องแก้ให้ถูกที่ต้นเหตุ มันจึงจะแก้ได้ ใช่มัวไปแก้ที่ปลายเหตุมันก็แก้ไม่ได้ การกระทำของพวกเรานี้ ขออภัยที่ต้องพูดว่า แม้ของรัฐบาลนี้ ยังมีเรื่องที่แก้อยู่ที่ปลายเหตุอยู่มาก ไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุ ไปดูสิที่แก้อันไหนไม่สำเร็จ เพราะมัวแก้ที่ปลายเหตุ ไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุ มันเป็นเรื่องน่าเศร้า เพราะว่ามันมีความเห็นแก่ตัวมากขึ้น ความเห็นแก่ตัวมากขึ้น เป็นทาสของความเห็นแก่ตัว ความเห็นแก่ตัวมันก็ครองโลก การศึกษากลายเป็นส่งเสริมความเห็นแก่ตัว การศึกษาให้ความฉลาด ฉลาด ฉลาด แต่ก่อนนี้เขาเอาไปใช้แก้ปัญหา แก้ความผิดพลาด แก้ความเห็นแก่ตัว เดี๋ยวนี้ไม่เป็นอย่างนั้น เอาความฉลาดไปใช้เห็นแก่ตัว การศึกษาบ้าบออะไรก็ไม่รู้ทั้งโลก ฉลาด ยิ่งฉลาดยิ่งเห็นแก่ตัว ยิ่งฉลาดยิ่งเอาไปใช้เห็นแก่ตัว ไม่มีอะไรควบคุมความฉลาด เมื่อการศึกษายังแฝดอีกกันอยู่กับการศาสนา การศาสนามันควบคุมการศึกษา พอฉลาดแล้วเอาไปใช้ทำประโยชน์ ทำประโยชน์ส่วนรวมคือ ไม่เห็นแก่ตัว เดี๋ยวนี้แยกการศึกษาจากศาสนาก็ไม่มีอะไรควบคุมการศึกษา การศึกษามันก็เป็นไปตามอำนาจของความฉลาดล้วนๆ ไม่มีอะไรควบคุมมันก็เห็นแก่ตัว ยิ่งฉลาดสูงสุดมันก็ยิ่งเห็นแก่ตัวลึก ปัญหามันก็ลึกจนยากที่จะแก้ไข ไม่เคยรับรู้กันไว้ไปว่าการศึกษาเดี๋ยวนี้นั้นมันมีแต่ ฉลาด เพื่อส่งเสริมความเห็นแก่ตัว ถ้าเป็นยุคก่อนยุคโบราณนั้นมีศาสนาควบคุมความเห็นแก่ตัว ยิ่งฉลาดยิ่งสร้างสันติภาพได้ลึกซึ้ง เดี๋ยวนี้ยิ่งฉลาดยิ่งสร้างความขัดแย้งได้ลึกซึ้ง องค์การโลกยังไม่จัดการในเรื่องนี้ให้ถูกต้อง โลกมันก็ยังไม่มีความสงบ องค์การโลกควรจะเอาหัวใจของศาสนาทุกๆ ศาสนามาใช้ หัวใจของทุกๆ ศาสนากำจัดความเห็นแก่ตัว กำจัดความเห็นแก่ตัว ธรรมะก็เกิดขึ้นมาแทน โลกนี้มันก็มีสันติภาพ เพราะไม่มีความเห็นแก่ตัว มีความเห็นแก่ธรรมะ ของคู่มันอยู่ตรงนี้ ถ้าเห็นแก่ตัวก็ไม่เห็นแก่ธรรมะ ถ้าเห็นแก่ธรรมะก็ไม่เห็นแก่ตัว เดี๋ยวนี้เราตกไปเป็นทาสของความเห็นแก่ตัว ธรรมะถูกกั้นออกไปโดยไม่รู้ตัว โลกนี้ก็เป็นโลกของความเห็นแก่ตัว มีความเลวร้ายเท่าไหร่
ท่านทั้งหลายก็พอจะเข้าใจได้ แต่ไม่เคยหยิบขึ้นมาสนใจ พิจารณาใคร่ครวญ ปัญหาจึงเต็มไปทั้งโลก ปัญหามลภาวะ ปัญหาอุบัติเหตุ ปัญหาการทำลายธรรมชาติมาจากความเห็นแก่ตัวทั้งนั้น ถ้าอยู่คนเดียวมันก็ทำลายตัวเอง เราดูกันคร่าวๆ ว่าความเห็นแก่ตัวมันเป็นอย่างไร พอเห็นแก่ตัวมันก็ขี้เกียจ ไม่อยากจะทำงาน แต่จะเอาประโยชน์ มันอยากจะนอนและขอให้รับประโยชน์ ในหมู่เด็กๆ นั้นก็เห็นได้ง่ายๆ เด็กคนไหนเห็นแก่ตัว เด็กคนนั้นไม่ทำหน้าที่ไม่ทำงาน คอยแต่เอาประโยชน์ โตแล้วก็ยังเป็นอย่างนั้นขี้เกียจไม่ยอมทำงาน แต่จะเอาประโยชน์ มันก็สร้างปัญหา พวกมึงทำไปเถอะ กูคอยใช้เอาประโยชน์ มันเป็นอย่างนี้คนเห็นแก่ตัว คอยอิจฉาริษยา เห็นแก่ตัว ยกตนข่มท่าน ก็คอยสร้างความขัดแย้งในสิ่งที่เขาจะทำให้ถูกต้อง คนเห็นแก่ตัว ควบคุมพวกทำม็อบสำหรับจะขัดแย้งความถูกต้อง เป็นอันธพาลนั้น ความเห็นแก่ตัว แล้วมันก็คิดรวยลัด คนเห็นแก่ตัวก็คือ ศาสนารวยลัด ไปทำงานให้เหงื่อออก นานๆ กว่าจะได้ผล รวยลัดดีกว่า ไปปล้นไปจี้เดี๋ยวๆ ก็ได้เป็นล้านๆ ก็ได้ รวยลัด ความเห็นแก่ตัว เป็นวิธีของคนเห็นแก่ตัวมันก็รวยลัด มันก็เป็นอยู่อย่างนี้ หลงใหลไปในความโง่ ไม่ถูกต้องมันมีรสชาติให้หลงใหล คนเห็นแก่ตัวก็เป็นอันธพาล เป็นอันธพาล เป็นอันธพาลเรื่อยกันไป เรื่อยกันไปจนมันหลงทาง หลงทางมันก็ได้เป็นบ้า ไปอยู่โรงพยาบาลบ้า หรือว่าในที่สุดมันก็หลงทางขนาด ฆ่าพ่อ ฆ่าแม่ ฆ่าลูก ฆ่าเมีย ฆ่าตัวเองตายตาม ดูสิเห็นแก่ตัวถึงขนาดฆ่าตัว สร้างคุกตารางเท่าไหร่ก็ไม่พอ รัฐบาลเป็นผู้ประกาศว่ามันไม่คุก ไม่มีเงินจะสร้างคุกพอ ไม่มีเงินจะสร้างตำรวจพอ ไม่มีเงินจะสร้างสถิตยุติธรรมพอ ไม่มีเงินจะสร้างโรงพยาบาลบ้าให้พอ มันก็ได้แต่แก้ไขกันไปตามเรื่องโดยอ้อมมันไม่พอ เพราะคนมันเห็นแก่ตัว เห็นแก่ตัว มีอันธพาลมากขึ้น มีคนบ้ามากขึ้น นี้เพราะเห็นแก่ตัว คนเห็นแก่ตัวมันก็สร้างมลภาวะ จนเป็นปัญหาของโลก มลภาวะมาจากผู้เห็นแก่ตัวทั้งนั้นแหละ ในถนนหนทาง ในควันดำควันขาวอะไรก็ตาม มันเป็นเรื่องมลภาวะมันมาจากผู้เห็นแก่ตัว ปัญหาใหญ่ของโลกนี้ กำลังตะโกนกันทั่วโลก ช่วยกันปราบมลภาวะ มิฉะนั้นมันจะทำลายโลก อาตมาไม่เคยรู้เรื่องเขา แต่พอจะมองเห็นว่า มลภาวะที่ทำผิดๆ นี้มันจะไปทำลายอากาศหุ้มโลกชั้นหนึ่ง ที่ไม่ให้แสงอาทิตย์ทำลายโลก มลภาวะเหล่านี้มันก็ไปทำลายอากาศนั้นๆ แล้วโลกมันจะไหม้ มลภาวะทำเล่นกับมัน แม้เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อยู่ที่บ้านที่เรือนมันก็หาความสุขไม่ได้ ถ้ามันมีมลภาวะ คนเห็นแก่ตัวทั้งนั้นแหละสร้างขึ้น แล้วก็มีอุบัติเหตุ อุบัติเหตุทางรถทางเรือ ถนนหนทาง ระเบิดนั่นระเบิดนี่มหาศาล เพราะความเห็นแก่ตัว สะเพร่า เกิดอุบัติเหตุเต็มไปหมด
ครั้งหนึ่งทางโรงพยาบาลสาธารณสุขประกาศออกมาว่า คนที่ไปโรงพยาบาลนี้ มีต้นเหตุมาจากประสบอุบัติเหตุนี้มากกว่าคนเป็นโรคมะเร็ง เขาว่าอย่างนั้น อุบัติเหตุทำให้คนเจ็บป่วยนี้มากกว่าคนเป็นโรคมะเร็ง จนถึงขนาดนี้ ความเห็นแก่ตัว เห็นแก่ตัวมันโง่ถึงขนาดไปดื่มกินสิ่งที่หลอกลวง เช่น น้ำเมามันก็เพื่อเห็นแก่ตัว เอร็ดอร่อยนิดหน่อย จนติดน้ำเมา จนเป็นทาสของน้ำเมา จนมีความทุกข์ตลอดกาล มันติดน้ำเมา ยาเสพติดก็เหมือนกัน ความเห็นแก่ตัว อยากจะไปลองของแปลกๆ อร่อยแปลกๆ นิดๆ หน่อยๆ ทีแรกเป็นอย่างนั้น พอติดเข้านั้นเป็นปัญหา อยากจะมีความเอร็ดอร่อยแปลกออกไป แม้เล็กๆ น้อยๆ มันก็ได้เป็น โรคเอดส์ โรคอะไรก็เรียกชื่อไม่ค่อยถูก โรคที่สุนัขก็ไม่เป็น คนก็เป็นโรคเอดส์สุนัขไม่เป็น คนก็เป็น เพราะมันเห็นแก่ตัวมันอยากจะไปลองสิ่งที่ไม่ควรลอง รู้อยู่ว่ามันเป็นโทษ มันก็บังคับไม่ได้ มันก็ไปลองไปเอา มันก็เลยเป็นโรคที่สุนัขก็ไม่เป็น แล้วคนมันก็เป็น เป็นโรคเอดส์ เป็นโรคซิฟิลิส เป็นโรคโกโนเลีย โรคอะไรหลายอย่างหลายประการ ที่คนเห็นแก่ตัวได้เป็น แล้วสุนัขก็ไม่ต้องเป็น นี้มันเป็นอย่างไรขอให้ลองคิดดู ความเห็นแก่ตัว ความเห็นแก่ตัวสร้างปัญหากี่มากน้อย การศึกษาก็เอาไว้ไม่อยู่ ครูบาอาจารย์ไม่สามารถจะควบคุมสิ่งเหล่านี้ มันก็เป็นเรื่องน่าสงสาร การศึกษาควบคุมไว้ไม่ได้ จนโลกต้องตกไปเป็นเหยื่อของความเลวร้ายเหล่านี้ นั่นแหละคือ ความเห็นแก่ตัว พอครูบาอาจารย์เห็นแก่ตัว ก็หมดความเป็นครู สูบเลือดลูกศิษย์ คือ ผู้ปกครองลูกศิษย์ พอหมอเห็นแก่ตัว ก็หมดความเป็นหมอเป็นพ่อพระ สูบเลือดคนเจ็บ ตุลาการเห็นแก่ตัวมันก็หมดความเป็นตุลาการ มันก็สูบเลือดจำเลย ต่อให้พระเจ้า พระสงฆ์นี้ ถ้าเห็นแก่ตัวมันก็สูบเลือด ทายกทายิกา นี่เป็นเรื่องของความเห็นแก่ตัว ไม่มีธรรมะ ปราศจากธรรมะ มันก็มีความเห็นแก่ตัว ถ้ามีธรรมะก็ไม่เห็นแก่ตัว ถ้าเห็นแก่ตัวมันก็ไม่มี หมายความว่า ไม่มีธรรมะ ดูความสำคัญของธรรมะ มีความสำคัญอย่างไร คุ้มครองอย่างไร สร้างสรรค์ความสงบสุข หรือสันติภาพอย่างไร เดี๋ยวนี้สันติภาพมันหายไปไหนหมด เพราะมันฉลาดในการเห็นแก่ตัว ฉลาดในการเห็นแก่ตัว นิยมความเห็นแก่ตัว
ขอสรุปเรียกว่า มันไปนิยมส่วนเกิน ส่วนเกิน เกินความจำเป็น กินเกินความจำเป็น แต่งเนื้อแต่งตัวเกินจำเป็น ใช้สอยเกินจำเป็น เป็นอยู่ในบ้านเรือนที่เกินความจำเป็น สร้างสรรค์สิ่งต่างๆ เกินความจำเป็น เดี๋ยวนี้รถยนต์ราคาแสน ก็ใช้กันไม่ได้แล้วนะ ก็ต้องใช้ราคา ๕ ล้าน ๔ ล้าน ๕ ล้าน มันเกินไปถ้าใช้อย่างนั้น ที่นี้อุตสาหกรรมก็ผลิต ผลิตขึ้น ผลิตขึ้น ถ้าไปหลงกันในส่วนเกินนั้น ก็ไม่มีความสงบสุข มีความเลวร้ายของอุตสาหกรรมที่ควบคุมไว้ไม่ได้ เมื่อควบคุมไว้ไม่ได้ มันก็ผลิตส่วนเกินออกมาเต็มโลก แล้วมันก็หลอกลวงด้วยการโฆษณา คนซื้อ ซื้อหมด ก็ผลิตออกมาใหม่ นี่ความเลวร้ายของอุตสาหกรรมระวังให้ดี ถ้าจะมีอุตสาหกรรมต้องควบคุมได้ อย่าให้ไปหลงในส่วนเกินมันจะเห็นแก่ตัว เห็นแก่ตัวแล้วมันก็จะฆ่ากัน อย่างที่ว่ามาแล้ว ส่วนเกินนี้มันมักจะเป็นไปในทางเพศ ก่อนส่งเสริมเรื่องทางเพศ แล้วต่อไปจากนั้นก็ส่งเสริมเรื่องยึดมั่นถือมั่น เรื่องทรัพย์สมบัติ เรื่อง อำนาจ วาสนา บารมี เป็นเรื่องส่วนเกิน เห็นแก่ตัวแล้วก็ทำลายโลก ไม่มีธรรมะสักนิดเดียว ถ้ามีธรรมะ เข้ามาสิ่งเหล่านี้ก็หมดไป นี้คือ ความสำคัญของธรรมะ ที่จะควบคุมชีวิต ชีวิตให้มีความเป็นไปที่ถูกต้อง เป็นอยู่ที่ถูกต้อง ไม่เป็นอยู่ด้วยส่วนเกิน รีบกำจัดส่วนเกิน อะไรที่มันเป็นส่วนเกินอยู่ในบ้านในเรือนเอาไปทิ้งซะ ก็ยังดี อย่าเป็นอยู่ด้วยส่วนเกิน แล้วก็อย่าโง่ อย่าหลง อย่าหวัง บูชาส่วนเกิน นี้คือชีวิตที่ถูกต้องเพราะมี ธรรมะ ธรรมะคือ อย่างนี้ ชีวิตคือ อย่างนี้ แล้วมันสัมพันธ์กันอย่างไร ถ้ายังมีธรรมะ มันก็ไม่มีความผิดพลาด ชีวิตมันก็ไม่กัดเจ้าของ พอทำผิดพลาด ไม่มีธรรมะ กิเลสเกิดขึ้นแทน เป็นความเห็นแก่ตัว ชีวิตมันก็กัดเจ้าของ มันมีเท่านี้แหละ อย่างอื่นมันไม่มี
ทีนี้มันก็มีปัญหาว่าจะทำกันอย่างไร ก็คือ เป็นมนุษย์ให้ถูกต้องให้มีธรรมะ โดยหลักพื้นฐาน เป็นธรรมะพื้นฐานเพื่อความเป็นมนุษย์ที่ถูกต้อง เป็นมนุษย์ให้ถูกต้องเสียก่อนแล้วจึงจะเป็นมนุษย์มีหน้าที่อย่างนั้นอย่างนี้อย่างโน้นถูกต้อง เป็นคนให้ถูกต้องเสียก่อน ก็จะเป็นพ่อแม่ที่ถูกต้อง เป็นนายที่ถูกต้อง เป็นพ่อค้าที่ถูกต้อง เป็นข้าราชการที่ถูกต้อง เป็นอะไรหลายๆ อย่างที่ถูกต้อง มีความถูกต้องของความเป็นมนุษย์เสียก่อน นั้นต้องอาศัย ธรรมะ ธรรมะ ธรรมะ ธรรมะเป็นมนุษย์เป็นคนให้ถูกต้องกันเสียก่อน แล้วจึงเป็นคนที่มีหน้าที่อย่างนั้นอย่างนี้ มีหน้าที่เป็นครูบาอาจารย์ ตามหน้าที่การงานที่เขามีกันในโลกนี้ มันอยู่ที่ว่าเป็นคนให้ถูกต้องเสียก่อน อย่าได้เกิดความเห็นแก่ตัว อาตมาเผอิญไปดู ที่ห้องแลปปั้นภาพ ปั้นภาพมีชื่อเสียง ไปดู เห็นอันนี้ทำไมปั้นเป็นคนเปลือยไม่นุ่งผ้า อาตมาถามเขาก่อนว่าทำไมจึงปั้นอย่างนี้ นายช่างมันบอกว่า มันต้องปั้นให้เป็นคนล้วนๆ ไม่มีผ้านุ่งไม่มีอะไรให้ถูกต้องเสียก่อน แล้วจึงจะค่อยปั้นเติมเข้าไปเป็นผ้านุ่ง เป็นเสื้อเป็นแสงเป็นอะไรขึ้นมา แล้วก็สมบูรณ์ แล้วก็ถูกต้อง ต้องปั้นความเป็นคนล้วนๆ ให้ถูกต้องเสียก่อน แล้วจึงเติมนั่น เติมนี่ เข้าไปสมบูรณ์แล้วก็ถูกต้อง ถ้าอย่างนั้นมันจะไม่ถูกต้องแล้วแก้ไขไม่ได้ แก้ไขไม่ไหว นี้เรียกว่า เป็นคนให้ถูกต้องเสียก่อน แล้วจึงจะเป็นคนที่มีหน้าที่แปลกๆ สูงๆ ขึ้นไปได้ถูกต้อง อย่างกับปั้นรูปนี้ ความเป็นมนุษย์เปลือยๆ เสียก่อน จะเอาท่าทางอย่างไร ก็ปั้นท่าทางอย่างนั้นแต่ว่า เปลือย แล้วก็ไปเติมผ้านุ่งผ้าอะไรเข้าไปทีหลัง ก็ถูกต้องและสมบูรณ์ เรียกว่า มันมีพื้นฐานแห่งความเป็นคนที่ถูกต้อง ธรรมะช่วยได้ ธรรมะนี้จะช่วยได้ให้เป็นคนถูกต้องเสียก่อน เป็นมนุษย์ถูกต้องเสียก่อน เพราะมีธรรมะพื้นฐาน แล้วทีนี้คนจะเป็นอะไร จะเป็นชาวไร่ เป็นชาวนา เป็นพ่อค้า เป็นข้าราชการ เป็นเจ้าเป็นนาย เป็นผู้บังคับบัญชา เป็นหัวหน้า เป็นอะไรมันก็จะได้ถูกต้อง ถูกต้อง ถูกต้องไปหมด เป็นมนุษย์โดยพื้นฐานให้ถูกต้องเสียก่อน แล้วก็โดยมีธรรมะ โดยธรรมะ มีธรรมะ ทำให้เกิดความถูกต้องโดยพื้นฐานเสียก่อน เป็นคนให้ถูกต้องเสียก่อน คือ เป็นมนุษย์กันเสียก่อน เป็นคนล้วนๆ นี้ยังไม่แน่ว่าถูกต้อง ต้องเป็นมนุษย์ มนุษย์แปลว่า มีจิตใจสูง สูงเพราะความถูกต้อง เป็นมนุษย์กันได้แล้วทีนี้ก็จะเป็นมนุษย์อะไร จะเป็นมนุษย์หัวหน้า เป็นมนุษย์นายงาน เป็นมนุษย์แผนกไหน มันก็ถูกต้อง ถูกต้อง
เดี๋ยวนี้มันยังไม่มีความถูกต้องในความเป็นมนุษย์ มันก็ให้โอกาสแก่กิเลส เกิดความเห็นแก่ตัว ไปหลงบวก หลงลบ มันน่าหัวที่มันหลงได้ทั้งบวกและทั้งลบ หลงบวกมันก็พอใจ ถูกต้องมันก็หลงใหล หลงลบมันก็หลงเกลียด หลงกลัว ทำอะไรผิดๆ ต่อไปอีกเสียเวลาอีกเหมือนกัน เรียกว่า หลงดีหลงชั่ว หลงชั่วมันก็แย่ แต่หลงดีมันก็เหลือทน บ้าดี เมาดี หลงดี มันก็หมด มันต้องถูกต้อง ถูกต้อง มันไม่หลงชั่ว หลงดีมันก็มีความถูกต้อง นี่คือความเป็นมนุษย์พื้นฐาน มีความเป็นมนุษย์พื้นฐานถูกต้อง ชีวิตก็ไม่กัดเจ้าของ มีความเจริญในหน้าที่การงานไปตามลำดับ ตามลำดับจนได้ว่าสร้างสันติภาพให้แก่คนทั้งโลก ตัวตน ตัวตน ความโง่ว่า ตัวตน นั้นเป็นเหตุ เป็นปัจจัยแห่งความเห็นแก่ตน ความรู้สึกว่า มีตัวกู มีตัวกูนั้นแหละ มันเป็นเรื่องของความโง่ของธรรมชาติ สัญชาตญาณ มันก็มีช่วยให้เกิดความรู้สึกเป็นตัวตนที่จำเป็นมาก มีชีวิต ก็มีความรู้สึกว่า ตัวตน แต่ยังไม่เห็นแก่ตน ยังไม่เห็นแก่ตน พอโง่ต่อไปอีกชั้นหนึ่ง ถึงจะเป็นความเห็นแก่ตน เกินสัญชาตญาณ นี้เรียกว่า อวิชชา ความโง่เข้ามาผสมกับความรู้สึกตามสัญชาตญาณ จึงเห็นแก่ตน เห็นแก่ตน เกิดปัญหาอย่างที่ว่ามาแล้วทุกอย่าง ถ้ามีตน แล้วก็ไม่เห็นแก่ตน มันก็รอดชีวิตอยู่ได้ สัญชาตญาณต้องการเพียงเท่านั้น แต่นี่มันเอาความโง่ไปบวกเข้ากับสัญชาตญาณ แย่งเอามาเป็นตัวกู ไม่ใช่ของธรรมชาติ ธรรมชาติมี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส โผฏฐัพพะ สัมผัส มันไม่เป็นของธรรมชาติ มันเอามาเป็นตัวกู ระบบประสาทตาเห็นรูป มันก็ไม่ใช่ว่าตาเห็นรูป มันว่ากูเห็นรูป มันก็ให้ความหมายเป็นบวก เป็นลบ สำหรับรัก สำหรับโกรธสำหรับเกลียด สำหรับกลัว หูระบบหูตามธรรมชาติ ของธรรมชาติ ได้ยินเสียง มันก็ว่า กู กูได้ยินเสียง มันก็เอามาเป็นบวก เป็นลบ เกิดความรู้สึกเป็นบวก เป็นลบ เป็นความเห็นแก่ตัว จมูกได้กลิ่นก็ว่า กูได้กลิ่น ลิ้นได้รสก็ว่า กูได้รส กายสัมผัสทางผิวหนังก็ว่า กูสัมผัส จิตตามธรรมชาติ มันคิดตัวกู คิดไปปล้นจี้เอาของธรรมชาติมาเป็นของกู ของกูหมด นี้เรียกว่า คนโง่ อวิชชา สร้างปัญหาให้แก่ตัวชีวิต จนมีความทุกข์ นี้จึงมีธรรมะ ปลดออกไป ปลดความโง่นี้ออกไป ไม่เป็นตัวกู เป็นของธรรมชาติ ตาเห็นรูป ก็มีสติปัญญาจัดการไปว่า ควรทำอย่างไร ไม่ให้เกิดเป็นตัวกู เป็นบวก เป็นลบ เป็นรัก เป็นโกรธ เป็นเกลียด เป็นกลัว ที่เห็นได้ง่ายๆ ถ้าลิ้นมันอร่อย มันก็ยังไม่มีปัญหาอะไรนัก แต่ถ้า กูอร่อย แล้วมันก็จ่ายเงินเป็นบ้าเป็นหลัง ลิ้นไม่อร่อยมันก็แก้ไขได้ เติมนั่นเติมนี่ได้ แต่ถ้า กูไม่อร่อย มันก็เตะแม่ครัว มันต่างกันมาก ถ้าของธรรมชาติ มันเป็นของธรรมชาติ แต่ถ้าเป็น ตัวกู มันมีปัญหามหาศาล
ศาสนาทุกศาสนา ต้องการจะสอนเรื่องนี้ สอนไม่ให้เห็นแก่ตัว กำจัดความเห็นแก่ตัว โดยเฉพาะพุทธศาสนาสอนเรื่อง อนัตตา อนัตตา เรามีแต่ธรรมชาติ ร่างกายกับจิตใจ จิตใจมีความรู้สึก ผิด ชอบ ชั่ว ดี คุมระบบ ชีวิตคือ ร่างกายกับจิตใจไปก็แล้วกัน อย่ามีตัวกู อย่ามีตัวกู เดี๋ยวนี้เขามีระบบคอมพิวเตอร์ มีเครื่องจักร แล้วควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ไม่ต้องมีตัวกู มีร่างกาย คือ ชีวิตนี้ แล้วก็มีกายกับใจ ควบคุมอยู่ด้วยระบบสติปัญญาของชีวิต ไม่ต้องมีตัวกูเป็นผู้จัดการ เหมือนกับว่าเรามีเครื่องจักรควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นส่วนของเครื่องจักร อย่างนี้มันหมดปัญหา มันจัดชีวิตของเราให้เป็นระบบเครื่องจักร ควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์คือ ธรรมะ ธรรมะก็ไปควบคุมระบบร่างกายกับจิตใจ ให้ไปมีอยู่ในจิตใจ อย่าเอาตัวกูเข้ามา ให้มีธรรมะ ธรรมะเข้ามา มีแต่ชีวิตกับธรรมะ ธรรมะกับชีวิต ชีวิตกับธรรมะ มันก็จะสามารถนำไปสู่ความถูกต้องตามลำดับ สูงขึ้นไป สูงขึ้นไป สูงขึ้นไป จนหมดปัญหา ให้อยู่เหนือปัญหาเรียกว่า บรรลุมรรคผลนิพพาน ถ้าไม่อย่างนั้นมันผิด แล้วต่ำลงไป ต่ำลงไป ต่ำลงไป ไปอยู่ในนรกอเวจี ไม่รู้จักผุดจักเกิดเพราะไม่มีธรรมะ ขอให้รู้เรื่องนี้ รู้ว่ามันเป็นไปตามเหตุ ตามปัจจัย มันเกิด แก่ เจ็บ ตาย ไปตามเหตุตามปัจจัย ถ้าโง่ก็เป็นทุกข์ ถ้าไม่โง่ก็หัวเราะเยาะ หัวเราะเยาะ ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ผู้มีธรรมะก็หัวเราะเยาะ คนไม่มีธรรมะ มันก็เป็นทุกข์ เดือดร้อน มันก็หลง หลงไม่ได้อย่างใจ มันก็ร้องไห้ เมื่อไม่ได้อย่างใจ เรียกว่ามัน หลงบวก หลงลบ มันหลงดี หลงชั่ว
ธรรมะสอนให้เป็นอิสระออกมาจากอิทธิพลของความรู้สึก ๒ อย่าง พอใจหรือไม่พอใจ ดีใจก็วุ่นไปแบบหนึ่ง เสียใจก็วุ่นไปแบบหนึ่ง นี้มันง่ายเข้าใจว่าท่านทั้งหลายเข้าใจได้ทันที ดีใจอย่างยิ่งก็นอนไม่หลับ กินข้าวไม่ลง มันก็ดีใจ มันตื่นเต้นดีใจ เสียใจมันก็ไม่ไหว ตัดทิ้งไปทั้ง ๒ อย่าง ทั้งดีใจทั้งเสียใจ อยู่ในความว่าง เหนือความดีใจกับเสียใจ นั่นแหละคือ สบาย นั้นละคือ ความหมายของนิพพาน ไม่ตกไปอยู่ใต้อำนาจของความเป็นบวก หรือความเป็นลบ บวกก็จะฟูขึ้นมา ลบก็จะแฟบลงไป มันผลักมันดัน มันผลักมันดัน ตามความเป็นบวก ตามความเป็นลบ หาความสงบไม่ได้ ไม่เป็นบวก ไม่เป็นลบ คงที่ปรกติ ปรกติ ปรกติ คำนี้สำคัญมาก ชอบความปรกติเถิด อย่าชอบดีใจ อย่าชอบเสียใจ เอาปรกติ ปรกติ นี้ก็จะเป็นความสงบสุขอย่างยิ่งอยู่ในความปรกติ ปรกติ มีจิตใจปรกติทำการงาน มีจิตใจปรกติรับผลของการงาน มีจิตใจปรกติเสวยผลของการงาน เป็นชีวิตปรกติ ชีวิตปรกตินี้แหละ ธรรมะ ถ้ามีชีวิตตื่นเต้น เดี๋ยวกระโดดขึ้น กระโดดลง ไปตามความเป็นบวก เป็นลบ เป็นดีใจ เสียใจ ไม่ไหว นรกก็ไม่ไหว สวรรค์ก็ไม่ไหว สวรรค์ก็ไม่ใช่ความผักผ่อน สวรรค์เต็มไปด้วยกามารมณ์ ไม่ใช่ความผักผ่อน ต้องเหนือสวรรค์เป็น นิพพาน จึงจะเป็นปรกติ ปรกติ ไม่มีปัญหา เราอยู่ที่นี่ เราอยู่เหนือความเป็นบวก เป็นลบ มันก็เป็นนิพพาน ไม่ต้องตาย ไม่ต้องรอดหรอก เราตายแล้วความเป็นบวกก็ไม่ทำให้เราดีใจ ความเป็นลบก็ไม่ทำให้เราเสียใจ เราปรกติ ปรกติ ปรกตินั้นคือ ธรรมะ คือ ความถูกต้อง เป็นความรอด ไม่ต้องเป็นทุกข์ทั้งทางกายและทางจิต เดี๋ยวนี้มันนิยมความเป็นบวก หลงความเป็นบวก อะไรๆก็ขอให้เป็นบวก ให้สวย ให้รวย นิยมความเป็น Positive พอใจ อย่างใจ ได้อย่างใจกันทั้งนั้น ให้พรกันอย่างนั้น หารู้ไม่ว่านั้นมันก็สร้างความวุ่นวาย ไปหลงสิ่งเหล่านี้เข้า มันถึงกับฆ่าตัวตาย ถึงกับฆ่าคนอื่นตาย เพราะความหลงความเป็นบวก นี่มันก็ต้องหลง หลงแล้วก็โกง โกงแล้วมันก็มีความทุกข์กันทุกฝ่าย ทุกคน ธรรมะสร้างสันติภาพแก่ทุกฝ่าย แก่ทุกคน สร้างความถูกต้อง ถูกต้อง คือ ความปรกติ ปรกติ
ขอให้ท่านเข้าใจหัวใจของพระศาสนาว่า ทุกศาสนามุ่งหมายความปรกติ ปรกติ ปรกติ ไม่มีปัญหาทั้งทางบวกและทางลบ ไม่ต้องหัวเราะ ไม่ต้องร้องไห้ หัวเราะมันก็บ้า ร้องไห้มันก็บ้า ไม่ต้องหัวเราะ ไม่ต้องร้องไห้ นั่นคือ ความเป็นปรกติ อยากชอบกันนัก ที่ทำให้ต้องหัวเราะ ที่ทำให้ต้องร้องไห้ ชอบความเป็นบวก มันก็บ้าบวก บ้าดี เมาดี หลงดี ไม่รู้เรื่องความเป็นลบ มันก็บ้าเป็นทุกข์ เป็นทุกข์ ได้ร้องไห้ก็เป็นทุกข์ แล้วก็เป็นสุข ถ้ามันบ้า บ้าชั่ว บ้าดี มันก็ร้องไห้ ก็พอใจ มันได้ทำอันตรายเขา ได้ด่าเขาก็พอใจ อย่างนี้มันใช้ไม่ได้ มันไม่ปรกติ ธรรมะในลักษณะหนึ่งคือ ความปรกติ ปรกติ ปรกติ ธรรมะในฐานะที่เป็นผลให้ความปรกติ ธรรมะในฐานะที่เป็นเหตุมันก็สร้างให้เกิดความปรกติ แล้วก็ปรกติ ปรกติสุข ปรกติสุข ยังไม่ถึงที่สุด เรียกว่า นิพพุติ นิพพุติ เย็นอกเย็นใจไปตลอดเวลาเรียกว่า นิพพุติ ถ้า นิพพุติ เจริญ เจริญถึงที่สุด มันก็เรียกว่า นิพพาน นิพพานอยู่จุดสุดท้าย ระหว่างนี้มีนิพพานเบื้องต้น นิพพานเด็กๆ นิพพานเชี่ยวชาญ นิพพาน
ตัวอย่าง เรียกว่า นิพพุติ ที่พระต้องให้พร เวลานิมนต์พระมาสวด มาฉัน ท่านให้ศีล ท่านบอกอานิสงค์ศีล สีเลนะ นิพพุติงยันติ สีเลนะ นิพพุติงยันติ มีนิพพุติ ก็ ศีล ตัสม สีลัง วิโสธะเย จงชำระศีลของท่านให้ถูกต้องและบริสุทธิ์เถิด จะได้ปรกติ ปรกติ นี่คือ ธรรมะเบื้องต้น ศีล เมื่อมันสูงขึ้นไปเป็นสมาธิ สูงขึ้นไปเป็นปัญญา ตัดกิเลสตัณหาได้หมด เป็นความเป็น ปรกติสูงสุด (ซ้ำนาทีที่ 1:32:45)
ปัญญามันเห็น ความไม่เที่ยงของสิ่งทั้งปวง เห็นความเป็นทุกข์เพราะต้องอยู่กับสิ่งที่ไม่เที่ยง เห็นความเป็นอนัตตาของสิ่งที่ไม่เที่ยงและเป็นทุกข์ แล้วก็เห็น ธรรมะตัสตา ว่ามันเป็นอยู่อย่างนี้ เห็น ธรรมนียามตา เพราะมีกฎของธรรมชาติบังคับอยู่ แล้วก็เห็น อีทัปปัจจยะตา ความที่ต้องเป็นไปตามกฎเกณฑ์นั้น ตามธรรมชาติเหล่านั้น เอาอะไรกับมัน ต้องเป็นไปตามกฏของธรรมชาติ แล้วก็เห็นต่อมา โอ้, ตถาตา สุญตา สุญตา ว่างจากตัวตน ว่างจากความหมายที่จะยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวตน ก็เห็นต่อไปอีก ก็เห็น ตถาตา โอ้, มันอย่างนี้เอง อย่างนี้เอง พอเห็นอย่างนี้เองมันก็ไม่หลงบวก หลงลบ ไม่หลงดี ไม่หลงชั่ว ไม่บ้าบุญ ไม่รักบาป แล้วก็ไม่บ้าบุญ บุญถ้าไปบ้าไปหลงแล้วมันก็กัดเอาเหมือนกัน ความดีมันก็กัดตามแบบความดี ความชั่วมันก็กัดตามแบบความชั่ว อยู่เหนือหัวมัน จนกระทั่งหมดทั้งความดีและความชั่ว ไม่มีอะไรกัด นี่คือ ธรรมะ
อาตมาได้แสดงความหมายของคำว่า ธรรมะ ได้แสดงความหมายของคำว่า ชีวิต ให้ท่านได้เริ่มเห็นได้เองว่าเรา มีธรรมะเป็นชีวิต มีชีวิตเป็นธรรมะ อย่างน้อยที่สุดให้มีธรรมะเป็น คู่ชีวิต ธรรมะเป็น คู่ชีวิต ถ้าดีไปกว่านั้นอีกก็ ธรรมะเป็น ชีวิต เป็นตัวชีวิตซะเองนั้นดีที่สุด มีความถูกต้อง มีความถูกต้อง จัดให้ทุกสิ่งมันมีความถูกต้อง มีความถูกต้อง ไม่เป็นบวก ไม่เป็นลบ ไม่เป็นดี ไม่เป็นชั่ว ไม่เป็น Positive ไม่เป็น Negative ภาษาวิทยาศาสตร์ ไม่บวก ไม่ลบ มีศีล ให้เกิดความปรกติในส่วนวัตถุ ส่วนร่างกาย มีสมาธิเกิดความถูกต้องปรกติทางจิตใจ มีปัญญาให้ถูกต้องทางสติปัญญา ถูกต้องทั้งทางร่างกาย ทั้งทางจิตใจ ทั้งทางสติปัญญา และทางวัตถุมันก็พลอยถูกต้องไปด้วย มันก็มีแต่ความถูกต้อง ในบ้านเรือนมีความถูกต้อง ตั้งแต่ทางวัตถุสิ่งของ ทั้งทางร่างกายก็ปรกติ มีสุขภาพดี ใจคอก็ปรกติ มีสุขภาพทางจิตดี สติปัญญาก็มีเพียงพอรู้ว่าควรทำอะไร จัดการอะไรอย่างไร ปัญหามันก็หมด ชีวิตมันก็ไม่กัดเจ้าของเพราะ ธรรมะเข้ามาควบคุมชีวิตเป็นคู่ชีวิต หรือว่าเป็นตัวชีวิตเสียเอง จงศึกษาธรรมะในข้อนี้ แล้วก็พยายามปฏิบัติให้ได้ ปัญหามันอยู่ที่บังคับไม่ได้ บังคับจิตไม่ได้ ก็ไปฝึกฝน ศีล สมาธิ ปัญญา บังคับจิตได้ ให้เรียนรู้ในสิ่งที่ควรรู้ จนรู้เรื่องธรรมะ หรือธรรมชาติทั้งหมดนี้ แล้วก็ให้มีการควบคุม มีสติควบคุม เอาปัญญามาใช้ สติวิ่งไปเอาปัญญามาใช้ เผชิญหน้าเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น มีสติทันท่วงทีคือ มีการเอาปัญญา ปัญญามาใช้ทันท่วงที เรื่องมันมากเราก็มีปัญญาครบทุกเรื่อง แต่พอเกิดเรื่องอะไรขึ้นมา เอาปัญญาเฉพาะเรื่องนั้นมาใช้ คือ สตินั่นเอง เร็วยิ่งกว่าสายฟ้าแลบ ไปเอาปัญญามาเผชิญหน้าเหตุการณ์ที่มันจะเกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เรื่องอะไรก็ตามใจ สติไปเอาปัญญามาใช้เผชิญหน้ามัน มันก็มีความถูกต้องในเหตุการณ์นั้นๆ สติไปเอาปัญญามาทำเป็น สัมปชัญญะ ควบคุมเหตุการณ์นั้นๆ อยู่ ถ้ากำลังจิตมันอ่อนแอก็เพิ่มกำลังจิตด้วยความมีสมาธิ จึงมีปัญญาไว้เป็นพื้นฐานมากมาย มีสติไปค้นเอามาทันท่วงที มาใช้เป็น สัมปชัญญะต่อสู้กับเหตุการณ์นั้นๆ แล้วก็มีสมาธิเป็นกำลังที่จะต่อสู้ มันมีอยู่เป็นสองชั้น ปัญญานี้เป็นความคม สติปัญญาความรู้นี้เป็นความคม สมาธินั้นมันเป็นน้ำหนักที่ความคม มันจะตัดสิ่งที่ต้องตัด ท่านลองคิดดู ถ้ามีแต่ความคม มีดเขาเรียกว่ามีความคมเหลือที่จะคม แต่ถ้าไม่มีน้ำหนักที่จะกดลงไปมีดนั้นก็โง่ เป็นหมันไปทำอะไรได้ ความคมมันเป็นหมัน ถ้ามันไม่มีน้ำหนักที่จะกดลงไป ดังนั้นแล้วจะต้องมี ปัญญา ซึ่งเปรียบเสมือนความคม แล้วก็มีสมาธิ ซึ่งเปรียบเสมือน น้ำหนัก แล้วต้องฝึกให้มีความเป็นสมาธิอย่างเพียงพอ เป็นสมาธินั้นไม่ใช่นั่งหลับตาตัวแข็งเป็นท่อนไม้ อย่าไปสอนลูกเด็กๆ ให้ฝึกผิดๆ สมาธิ มีจิตถูกต้อง มีความถูกต้องทางจิต จิตที่ฟุ้งซ่านแผ่กระจายรอบตัวมารวมกำลังเป็นจุดเดียว เหมือนแก้วรวมแสง รวมแสงแดด แก้วโค้งนูนมันรวมแสงแดดทั้งหมดเข้ามาเป็นจุดเดียว มันจึงเข้มแข็ง ถึงกับสว่างจ้า ลุกเป็นไฟ แล้วก็มีความเป็นสมาธิรวบรวมกำลังจิต จิตซ่านรอบตัวมาเป็นจุดเดียว จิตเป็นสมาธิคือ มีความเป็นจุดเดียว ไม่มีความมืด ความโง่ อะไรมาปนก็เป็นจิตที่สะอาด จิตนั้นสะอาด จิตนั้นรวมกำลังเป็นจุดเดียว จิตนั้นว่องไวในหน้าที่ คล่องแคล่วว่องไวในหน้าที่ ที่บูชากันนักแต่ก็ไม่ค่อยรู้จักว่าเป็นอะไร active, active, activeness ความว่องไวในหน้าที่ ร่างกายก็ว่องไวในหน้าที่ จิตใจก็ว่องไวในหน้าที่ นั้นคือความสำเร็จ เราต้องทำจิตให้เป็นสมาธิ มีความสะอาดแห่งจิตมีการรวมกำลังแห่งจิต มีความว่องไวในหน้าที่ ภาษาบาลีเรียกว่า กัมมณียะ จิตบริสุทธิ์เรียกว่า บริสุทโธ จิตรวมกำลังเป็นหนึ่งเดียวเรียกว่า สมาฮีโต จิตว่องไวในหน้าที่เรียกว่า กัมมณีโย จิตสะอาด จิตรวมกำลัง จิตว่องไวในหน้าที่นี้เรียกว่า ความเป็นสมาธิ คนยังโง่ต่อสิ่งเหล่านี้ ไม่เรียนไม่สอนหาว่าเรื่องบ้าๆ บอๆ ไม่ใช่เรื่องของเราเป็นเรื่องของคนอยู่ป่า ที่จริงสมาธิเป็นเรื่องสำหรับทุกๆ คน ทุกๆ คนที่จะใช้แก้ปัญหา จิตเหมาะสมที่จะแก้ปัญหา ที่จริงความเป็นสมาธินี้มันก็มีมาตามธรรมชาติ ไม่ใช่ไม่มีเสียเลย แต่มันไม่ชอบ ถ้าไม่มีสมาธิมันก็ทำอะไรไม่ได้ มันไม่รู้จะเดินไปทางไหน กินข้าวทางปากไม่ถูก ใส่ทางจมูกนี้ ทำไมเด็กๆ จึงเล่นหยอดหลุม ทอยปอง ได้แม่นยำ ทำไมคนจึงยิงปืนได้แม่นยำ เด็กๆ ยิงหนังสติ๊กได้แม่นยำ เพราะมันมีสมาธิตามธรรมชาติ แต่สมาธิเพียงเท่านั้นมันไม่พอที่จะแก้ปัญหาของชีวิต ต้องมีการอบรมส่งเสริมความเป็นสมาธิ สูงขึ้นไป สูงขึ้นไป สูงขึ้นไป จนเพียงพอสำหรับใช้เป็นกำลังจิตเป็นน้ำหนักที่จะให้ปัญญาคือ ความคม ตัด ตัดปัญหา ปัญญาเป็น ความคม สมาธิเป็นน้ำหนัก เมื่อรวมกันมันจึงจะตัด อย่าดูถูกสมาธิขอให้พยายามฝึกฝนเพิ่มพูนให้มากขึ้น มากขึ้น ปัญญามันถึงจะไม่เป็นหมันเพราะมันมีน้ำหนักของสมาธิ ช่วยให้ปัญญานั้นตัดปัญหา แล้วก็มีศีลเป็นพื้นฐานสำหรับสร้างสมาธิ หรือสร้างปัญญา จึงมีศีลในทุกความหมายเป็นพื้นฐาน เมื่อร่างกายปรกติ จิตใจก็ปรกติ จิตใจปรกติปัญญามันก็มี ทำหน้าที่ของมันได้
ตัวพระศาสนาแจกออกเป็น ศีล สมาธิ ปัญญา อย่างนี้ก็ได้ นั่นแหละคือความถูกต้อง ถูกต้องของธรรมะ ธรรมะคือความถูกต้องสำหรับความรอดทั้งทางกายและทางจิต ก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา อย่าคิดว่าเป็นเรื่องบ้าบอ ครึคะของคนอยู่ป่า ของคนที่ว่าไม่มีประโยชน์อะไรในโลก ยิ่งจะอยู่ในโลก ยิ่งมีศีล สมาธิ ปัญญา ให้มาก มันจะไม่สร้างปัญหา มันจะชนะทุกสิ่ง ทุกสิ่ง เพราะมีความถูกต้องของธรรมะ แล้วก็ขอร้องอีกครั้งหนึ่งว่า ช่วยจำคำจำกัดความของ ธรรมะ ไว้ให้ดีดี ธรรมะคือ ระบบปฏิบัติที่ถูกต้อง ถูกต้องแก่ความรอด รอดทั้งทางกายและทางจิต แล้วก็รอดทุกขั้นตอนแห่งชีวิต และทั้งเพื่อตนเองและผู้อื่น ช่วยจำไว้เถอะมีประโยชน์สูงสุดที่จะมีธรรมะ ธรรมะคือ ระบบปฏิบัติที่ถูกต้องแก่ความรอด ทั้งทางกายและทางจิต ทุกขั้นตอนแห่งชีวิต ทั้งเพื่อตนเองและผู้อื่น
นี่คือ ตัวธรรมะ ตัวธรรมะ ที่ท่านมาแสวงหา ท่านต้องรู้จักธรรมะอย่างนี้จึงจะมาหาพบ มิฉะนั้นท่านก็จะเดินเตะธรรมะ จะลุยไปโดยไม่พบธรรมะ เดินไปในกองเพชรพลอยก็ไม่รู้ว่าเพชรพลอย ก็เป็นไก่ตัวหนึ่งไม่รู้จักเพชรพลอย แม้จะเหยียบย่ำไปในกองเพชรพลอยมันก็ไม่มีประโยชน์อะไรเพราะมันไม่รู้จัก แล้วก็จงเป็นมนุษย์ที่รู้จักธรรมะ คือ อย่างนี้ ธรรมะคือ ยิ่งกว่าเพชรพลอย หรือเป็นเพชรพลอยทางจิตทางวิญญาณ มันยิ่งกว่าข้าวสาร นี่จะเป็นเรื่องทางร่างกาย ธรรมะเป็นเรื่องเพชรพลอยทางจิตทางวิญญาณ มีธรรมะคือ มีสติ มีสัมปชัญญะ มีปัญญา มีสมาธิ เพียงพอใช้ได้ทันที ทุกสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นอะไร แล้วก็ขอให้ซื่อตรงต่อธรรมะ ประพฤติธรรมะให้สุจริต อย่าประพฤติธรรมะรับจ้าง ประพฤติธรรมะหลอกคน ประพฤติธรรมะรับจ้าง หลอกลวงหาประโยชน์มันใช้ไม่ได้ ต้องมีธรรมะบริสุทธิ์ กำจัดความเห็นแก่ตัว กำจัดความเห็นแก่ตัว ให้มีกิเลสตัณหาที่เป็นความเห็นแก่ตัว เห็นแก่ธรรมะ วิกฤตมีธรรมะบริสุทธิ์สะอาด อย่างนี้แล้วก็มี พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อยู่ในนั้น ความถูกต้องบริสุทธิ์สะอาดปราศจากความเห็นแก่ตัวนั้น เป็นองค์พระพุทธ เป็นองค์พระธรรม เป็นองค์พระสงฆ์ อยู่ในนั้น พระพุทธเจ้ามีหัวใจ สะอาด สว่าง สงบ พระธรรมก็คือ ตัวความสะอาด สว่าง สงบ พระสงฆ์ก็คือ ผู้ปฏิบัติจน หัวใจสะอาด สว่าง สงบ สะอาด สว่าง สงบ มันมีอยู่ในตัวธรรมะ คือ ความถูกต้อง ถูกต้อง เมื่อท่านอยากจะมีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อยู่ในเนื้อในตัวของท่าน ก็จงประพฤติธรรมะ โดยนัยยะดังที่กล่าวมาแล้ว ไม่เกิดกิเลสคือ ความเห็นแก่ตัวเป็นของสกปรก อยู่ร่วมกันไม่ได้ ธรรมะอยู่ร่วมกับกิเลสคือ ความเห็นแก่ตัวไม่ได้ ต้องอยู่กันคนละที่ ให้ธรรมะอยู่เป็นประจำ ความเห็นแก่ตัวออกไป นี้ก็คือ มีธรรมะ มีความเจริญงอกงามไปในทางของธรรมะ ของพระพุทธเจ้า ของพระศาสนา ขอให้ท่านรู้จักธรรมะในลักษณะอย่างนี้ แล้วดำรงชีวิตอยู่ด้วยความเจริญงอกงามของธรรมะ สูงยิ่ง ยิ่งขึ้นไป สูงยิ่ง ยิ่งขึ้นไป จนกว่าจะบรรลุมรรคผลนิพพาน แม้ยังไม่บรรลุมรรคผลนิพพาน ถ้ามีธรรมะอยู่ที่นี่ มันก็มีความสงบสุข มีความปรกติ ชีวิตไม่กัดเจ้าของ ชีวิตไม่กัดเจ้าของ ไม่ต้องร้องไห้ ไม่ต้องหัวเราะ ไม่ต้องรู้สึกเป็นดีใจ เสียใจ ไม่ต้องรู้สึกว่า กำไร ขาดทุน ได้เปรียบ เสียเปรียบ กระทั่งไม่ต้องมีความรู้สึกเป็นหญิง หรือเป็นชาย จะมีความรู้สึกไปชั่วขณะ ชั่วการสืบพันธุ์มันก็แล้วกันไป อย่าให้มันเป็นเรื่องสุมทับอยู่ในหัวใจตลอดเวลา เรื่องกามารมณ์อย่ามาสุมทับอยู่ตลอดเวลา เพราะมันไม่ใช่ความปรกติสุข เอาออกไปเสียก็เป็นความปรกติสุข มาอยู่ด้วยสมาธิ ปัญญา ก็ปรกติสุขยิ่งยิ่งขึ้นไป เรียกว่า เป็นมนุษย์ผู้ชนะ เป็นมนุษย์ผู้ชนะ ชนะความเป็นมนุษย์ ชนะชีวิต ควบคุมชีวิตได้ มีแต่ชีวิตสงบเย็นและเป็นประโยชน์ ขอให้ได้รับทั้งสองฝ่ายคือ ตัวเองสงบเย็น สงบเย็น สงบเย็นแล้วก็เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น ทำตัวเองให้สงบเย็นเสียก่อน แล้วค่อยช่วยผู้อื่นให้สงบเย็นด้วย เรียกว่า ประโยชน์ผู้อื่น ประโยชน์ตัวเองก็ทำได้ ประโยชน์ผู้อื่นก็ทำได้ ประโยชน์ที่สัมพันธ์กันแยกไม่ออกระหว่างตัวเองกับผู้อื่นก็ทำได้ พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสประโยชน์ ประโยชน์ไว้เป็น 3 ความหมายว่า ประโยชน์ตนเอง แล้วก็ประโยชน์ผู้อื่น แล้วก็ประโยชน์ที่สัมพันธ์ ผูกผันกัน แยกกันไม่ได้เรียกว่า ประโยชน์ทั้งตนเองและผู้อื่น อย่างแรกเรียกว่า อัตตประโยชน์ อย่างที่สองเรียกว่า รัฐประโยชน์ อย่างที่สามเรียกว่า อุพญัตถประโยชน์ คือประโยชน์สองฝ่าย
ขอให้ท่านทั้งหลายได้ประสบความสำเร็จในการมีธรรมะเป็นเครื่องดำเนินชีวิตของตน ของตน สมตามความประสงค์ที่มาที่นี้ ด้วยความหวังว่าจะแสวงหาความรู้ทางธรรมะ แล้วไปปฏิบัติธรรมะ มีธรรมะ ใช้ธรรมะ เสวยผลของธรรมะ สมตามความปรารถนาทุกๆ ประการ ขอให้มีความจริงใจในเรื่องนี้ก็ไม่ไปไหนเสีย ถ้าไม่จริงใจในเรื่องนี้มันก็ไม่ได้ มันก็หลอกๆ กันไปพักๆ หนึ่ง เป็นมนุษย์ที่หลอกตัวเอง ไม่มีความเยือกเย็น ไม่มีความเป็นสุขหรือเป็นประโยชน์แก่ใคร ขอให้เข้าใจว่า ธรรมะเป็นอย่างนี้ ชีวิตเป็นอย่างนี้ ความสัมพันธ์กันมันเป็นอย่างนี้ ธรรมชาติมันเป็นอย่างนี้ เอาชนะให้ได้ ให้ได้มาซึ่งชีวิตที่มีค่า มีแต่ความสงบสุขทั้งตนเองและผู้อื่น ได้มีความเจริญงอกงามก้าวหน้าอยู่ในทางของพระศาสนา ของสมเด็จพระบรมศาสดาปรกติเย็นเป็นสุขอยู่ ทุกทิพย์พาราตรีกาลเทอญ
มากไปแล้วสองชั่วโมง ขอบพระคุณในความอดทนของท่านทั้งหลายสองชั่วโมง นั่งฟังได้สองชั่วโมง ท่านทั้งหลายไม่ต้องขอบคุณอาตมา อาตมาขอบคุณท่านทั้งหลายที่มาช่วยทำให้อาตมาเป็นคนมีประโยชน์ ถ้าท่านทั้งหลายไม่มาที่นี่อาตมาก็ไม่ได้ทำประโยชน์เป็นคนไม่มีประโยชน์ ท่านทั้งหลายมาที่นี่ช่วยทำให้อาตมาได้มีโอกาสทำประโยชน์ เป็นคนมีประโยชน์ก็ขอขอบคุณ อดทนตั้งสองชั่วโมงนั่งฟัง