แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านสาธุชนผู้มีความสนใจในธรรมทั้งหลาย โดยเฉพาะนักศึกษาวิชาเทคโนโลยี อาตมาขอแสดงความยินดีเป็น
สิ่งแรกในการที่ท่านทั้งหลายมาสู่สถานที่นี้ในลักษณะอย่างนี้ คือเสาะแสวงหาความรู้ทางธรรมะก็นำไปใช้ในการประกอบกิจการงานในหน้าที่ของตนให้มีผลดีที่สุด ทั้งในฝ่ายร่างกายและทั้งในฝ่ายจิตใจ นี้ก็สมบูรณ์
แล้วก็อยากจะขอเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับเวลาที่เรามาพูดกันในเวลาอย่างนี้ คือเวลา ๕ น. มันมีความหมาย
ซึ่งไม่ค่อยจะสนใจกัน คือมันเป็นเวลาที่เหมาะสมสำหรับจะคิดนึก ศึกษา หรือว่าทำความเข้าใจให้เกิดการเห็นแจ้งแทงตลอดไปอย่างลึกซึ้ง เวลาอย่างนี้เหมาะสมให้ชื่อว่า ในโลกเวลา ๕ น. โดยมากก็จะใช้เป็นเวลาที่หาความสบายในการนอน แต่เรากลับใช้มัน ในฐานะเป็นเวลาที่เหมาะสมสำหรับการศึกษา โดยเฉพาะในด้านจิตใจ ในด้านจิตใจลองฝึกไป จนเกิดความเคยชินเป็นนิสัย จะสนุก รู้สึกสนุก คือ มีผลดี เวลาอย่างนี้เป็นเวลาที่เบิกบาน เขาเรียกกันว่าเป็นเวลาที่เบิกบาน ทางวัตถุ เช่น ต้นไม้ ดอกไม้ในป่าทั้งหลาย ก็เริ่มบานกันเวลานี้ จิตใจก็เบิกบาน พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้เวลาอย่างนี้ เวลาที่พวกเรากำลังนอนหลับสบายกันนะ ได้ชื่อว่าจะทุกองค์เสียด้วย แม้ศาสดาอื่นๆ
ในศาสนาอื่นก็น่าจะมีส่วนแห่งการใช้เวลาที่ว่านี้ด้วยเหมือนกัน
ฉะนั้น ขอให้พยายามดู จนเกิดเป็นนิสัย จะสนุก ก็จะได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นอีกเป็นอันมาก จะได้มีความคิดลึกซึ้ง รวดเร็ว อะไรต่ออะไร แล้วแต่จะมี มันเป็นเวลาที่จิตใจยังว่างในความหมายหนึ่งแต่มันมีจิตใจว่าง เติมอะไรลงไปได้โดยง่าย เติมอะไรลงไปได้โดยง่ายนี่ เรียกว่า น้ำชายังไม่ล้นถ้วย สำนวนพวกเซ็น เขาพูดกันอย่างนี้ มันเติมอะไร
ลงไปได้ ถ้ามันสว่างแล้ว มันทำอะไรแล้ว กินอาหารแล้วอะไรแล้วมันสารพัดอย่าง เท่ากับเติมลงไปในถ้วยที่เกือบจะเต็มถ้วย หรือเต็มถ้วย แล้วอะไรจะเติมลงไปได้อีก เรารีบเติมสิ่งที่มีค่าที่สุดลงไปเสีย ตั้งแต่ก่อนที่มันจะเต็มถ้วย เวลานี้มีความหมายอย่างนี้ ทำไปๆ ก็จะเป็นนิสัย ลองตื่นขึ้นมาแล้วก็คิดนึกหรือขีดเขียนอะไรดูบ้าง
สิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจกันต่อไปก็คือว่า หัวข้อที่จะบรรยายจะใช้หัวข้อว่า “พุทธธรรมในฐานะที่เป็นเทคโนโลยี” คำว่า พุทธธรรม นี่ เป็นคำที่เหมาะสมที่จะใช้เรียกพระพุทธศาสนา ถ้าเรียกพระศาสนาเป็นพุทธศาสนาเป็นเรื่องเล่าเรียนเรื่องตัวหนังสือ ถ้าเราเรียกว่า พุทธธรรมนี่มันจะได้ทุกความหมาย พุทธธรรมในการเล่าเรียน ที่เป็น
การเล่าเรียน แล้วก็พุทธธรรมที่เป็นการปฏิบัติ ปฏิบัติ เรียกว่า พุทธธรรมในฐานะที่เป็นผล ผลของการปฏิบัติ เรื่องเรียนก็ดี เรื่องการปฏิบัติก็ดี เรื่องผลของการปฏิบัติก็ดี ให้มันรวมลงได้ในคำว่าธรรมคำเดียว เราจึงเรียกว่า
พุทธธรรมกันดีกว่าเคยใช้คำนี้เมื่อ ๓๐ กว่าปีมาแล้ว ไปบรรยายปาฐกถาที่กรุงเทพฯ เป็นครั้งแรกที่สุด ก็เรียกว่า
เป็นเรื่อง ปาฐกถา ชุด “พุทธธรรม” การเข้าถึงพุทธธรรม ผลแห่งการเข้าถึงพุทธธรรม อุปสรรคแห่งการเข้าถึง
พุทธธรรม เราใช้คำนี้ เดี๋ยวนี้ ก็ยังแนะพวกฝรั่งที่เขามากันทุกเดือนว่า เราไม่อยากจะใช้คำว่า Buddhism ไอ้ –ism –ism นี่มันหลอกลวง มันอะไรก็ได้ อันไหนทิฏฐิ ความเห็นชั่วคราว ลักษณะ อะไรก็ได้ มันใช้ได้ แม้ในทางตรงกันข้ามที่เรียกว่าทุจริตนะ –ism –ism เอาไปใช้เป็น Communism ก็ได้ เราไม่ชอบคำว่า Buddhism แต่ฝรั่งเขาตั้งให้เรานี่ เราจะโง่หรือฉลาดก็ไม่รู้ ไปขอใช้กับเขาว่า Buddhism ถ้าจะให้ถูกให้ตรงตามเรื่องของเรา มันก็จะต้องเป็นพุทธธรรม พุทธธรรมะ มันก็น่าสงสารที่มันใช้จนเคยชินกับ Buddhism Buddhism กันทั้งโลก
เอาล่ะ ในที่นี้ เราจะทำความเข้าใจว่าเราจะใช้คำว่า พุทธธรรม ธรรมของพุทธบริษัทในทุกความหมาย เป็นการศึกษาเป็นการปฏิบัติ จะเป็นผลของการปฏิบัติดังที่กล่าวแล้ว มันเป็นของธรรมชาติ เป็นของธรรมชาติ –ism –ism นี่เป็นบางทีเป็นของมนุษย์ หลอกลวงด้วยก็ได้ –ism –ism นะระวังให้ดีๆ อย่าไปเอากับมันง่ายๆ มันมีหลาย –ism
เอ้า,ทีนี้ก็มาถึงความเป็นเทคโนโลยีของสิ่งที่เรียกว่า พุทธธรรมนี้ ข้อนี้ พวกที่ไม่หวังดีหรือเขาไม่ค่อยจะชอบเรา
เขาก็จะหาว่าไอ้นี่มันนอกรีต ได้ยิน มีคนบอกเหมือนกันว่า “พุทธทาสน่ะนอกรีตอยู่เสมอ” เขาว่าอย่างนั้น
มันนอกรีตหรือไม่นอกรีต คุณก็คอยสังเกต คอยศึกษาดูเอาเองก็แล้วกัน สำเร็จประโยชน์ในการดับทุกข์ได้ และ
มันไม่นอกรีต มันเป็นรีตที่ยังไม่รู้จัก แต่ขุดขึ้นมาให้รู้จักกันอย่างนี้ก็ได้ มันไม่ใช่นอกรีต ถูกแล้วให้พุทธธรรมหรือธรรมที่มันเป็นประเภทนามธรรม มันเป็นเรื่องฝ่ายนามธรรมไอ้เทคนิค เทคโนโลยี วิศวะอะไรมันเป็นเรื่องทางวัตถุธรรม วัตถุธรรม ขโมยเรื่องของวัตถุธรรมไปใช้ในเรื่องของนามธรรม ถ้าไม่รู้เรื่อง หรือหลับตามันก็เป็นเรื่องนอกรีตจริงได้เหมือนกัน แต่เดี๋ยวนี้เพื่อจะให้สำเร็จประโยชน์ยิ่ง ยิ่ง ขึ้นไปเอาวิธีการนี้ไปใช้ เพราะมันเป็นวิธีการที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งด้วย ในทางวัตถุ มันจะเป็นไปถึงที่สุดแล้ว เราก็จะเอาไปใช้ในฝ่ายนามธรรม ซึ่งเป็นตัวชีวิตจิตใจไม่ใช่วัตถุไม่ใช่วัตถุ ถ้าเราเอากฎเกณฑ์เรื่องราวหลักการอะไรก็ตามทางวัตถุ ที่เรารู้จักดีแล้วรู้จักอย่างยิ่งไปใช้ในทางฝ่ายนามธรรม นี่ฟังดูก็คล้ายกับนอกรีต
ผู้ที่เขาถือตามตัวหนังสืออย่างเคร่งครัด แล้วเขาก็หาว่านอกรีตทั้งนั้นแหละ แต่เราไม่คิดว่านอกรีต เราคิดว่าจะใช้หลักเกณฑ์ที่มันดีมีประโยชน์นี่ ในทางฝ่ายธรรมะหรือในทางฝ่ายนามธรรมด้วย มันจะนอกรีตหรือไม่นอกรีต
เราดูเอาเอง ดูเอาเองไม่ต้องเชื่อใคร ไม่ต้องเชื่อผู้พูด ไม่ต้องเชื่อใครว่า มันจะเป็นอย่างนั้นได้หรือไม่ ถ้าเห็นได้ละ
ก็ลองติดตามต่อไปในการที่จะเอาเรื่องราวกฎเกณฑ์ วิธีการอะไรก็ตามของฝ่ายวัตถุไปใช้ในฝ่ายจิตใจให้มันสำเร็จผลเป็นรูปธรรมขึ้นมา เพราะว่าการที่มันจะเป็นประโยชน์อะไรได้ดี มันต้องมีผลเป็นรูปธรรมขึ้นมา ถ้ามันยังเป็นนามธรรมล้วน ล้วน เกินไป เป็นวิชาเกินไป มันก็ยังไม่ ไม่สำเร็จประโยชน์
นี่ ขอทำความเข้าใจว่าเรากำลังเล่าเรื่องราวกฎเกณฑ์ทางฝ่ายวัตถุธรรม ที่เรารู้จักดีไปใช้กับฝ่ายนามธรรม ซึ่งเรายังไม่ค่อยจะรู้จัก แล้วก็ไม่ใช่เป็นการนอกรีต แต่มันจะเป็นการทำให้รีตที่ไม่ปรากฏ มันปรากฏออกมา แล้วมันก็จะ
ทำให้สมบูรณ์ในโลก นี่ขอให้ทำความเข้าใจ เราไม่เถียงกันเราไม่ทะเลาะกัน แต่เราทำให้มันสำเร็จประโยชน์
เสียมากกว่า
ทีนี้ ก็จะมาดูกันว่าเป็นเรื่องที่เลียนแบบกันในระหว่างวัตถุธรรมกับนามธรรมได้อย่างไร ได้อย่างไรและถ้าทำสำเร็จแล้วจะมีประโยชน์ใหญ่หลวงอย่างไร เอ้า, ขอทำความเข้าใจกันในเบื้องต้นก่อน ตามความรู้สึกคิดนึกความเข้าใจของอาตมามันจะบ้า บ้า บอ บอ อะไรช่างหัวมันเถอะแต่พอฟังดูแล้ว ก็เอาไปคิดดูก็แล้วกัน ก็ง่าย ง่าย จนเด็ก เด็ก เข้าใจได้
นี้ ก็จะทำความเข้าใจในถ้อยคำที่ใช้กันก่อน คือ พอ เทคนิค คำว่า เทคโนโลยี คำว่า วิศวะ หรือว่า Engineering Engineering หรือคำว่า สถาปัตย์ Architect หรือคำว่า ศิลปะ หรือ Art เทคนิค อาตมาขอสรุปใจความสั้นๆ ว่าได้แก่ เคล็ด คำว่า เคล็ด เป็นภาษาไทยแท้ แท้ เด็ก เด็กก็ฟังถูก มันรู้จักสิ่งที่เรียกว่าเคล็ด เป็นภาษาบาลีก็เรียกว่า อุปายะ
ซึ่งมาเป็นคำอุบาย อุบาย ในภาษาไทยธรรมดา อุปายะ มันมีอะไรซับซ้อนอย่างนั้น มันก็เรียกว่าเคล็ด เทคนิค เทคนิค นี่คือเคล็ดที่เรายังไม่รู้จัก เราจะต้องรู้จัก ทุกๆ อย่างมันมีเคล็ด มันมีความลับของมัน มันมีวิธีการลัดสั้นของมัน
ที่จะทำให้สำเร็จประโยชน์ได้
ขอเรียกรวมเรียกว่าเคล็ดก็แล้วกัน ถ้าเรียนเทคนิคก็เรียนเรื่องเคล็ดนี่ เมื่อเรียนเทคโนโลยีก็คือวิธีการใช้เคล็ดให้สำเร็จประโยชน์ เรื่องเทคโนโลยีวิธีการใช้เคล็ดต่างๆ ให้มันสำเร็จประโยชน์เป็นรูปธรรมขึ้นมา ว่าอย่างนั้นก็ได้
ทีนี้เมื่อมันเป็นวิศวะ มันเป็น ความรู้ประกอบที่ให้เทคโนโลยีนั่นนะ การใช้เทคโนโลยีนั้นเป็นไปโดยง่ายโดยสะดวก โดยง่าย โดยสะดวก รวดเร็ว ประหยัด มีผลดีแล้วก็ปลอดภัยด้วย
ถ้าใช้ไม่ถูกวิธีมันก็อันตรายถึงตายก็ได้ ถ้าเป็นทางวัตถุธรรมเป็นเครื่องจักรอะไรเป็นต้น เหล่านี้ทางวิศวะไม่ถูกต้องมันถึงตายมันเสียหายมันพังสลายไปเลย เหลือประมาณ นั่นวิชา ฝ่ายวิศวะ มันก็ช่วยให้เทคโนโลยีน่ะมันง่ายขึ้นๆ แบ่งออกไปๆ แยกกันทำๆ มันก็ง่ายขึ้น
ทีนี้ มันไม่หยุดเพียงเท่านั้นนะ มันออกไปถึงในที่มันต้องเกี่ยวข้องกันกับสิ่งนี้ด้วย เช่น วิชาสถาปัตย์ที่เราจะมุ่ง
ความแข็งแรง มั่นคง ทนทาน ถูกต้องทางเทคนิค เหมือนกันนั้น มันก็ต้องมีความมั่นคงทนทาน แล้วในที่สุด
ก็ขอให้มันมีศิลป์ ศิลปะคือ Art คือ ให้มันเป็น มีความเป็นของที่มีความงามเป็นที่ตั้งแห่งความงาม ดึงดูดใจผู้มาพบเห็นให้คล้อยตาม นี่แหละศิลปะ อย่าหยุดอยู่เพียงคำเดียวสั้นๆ ว่า เทคโนโลยี
ถ้าให้ขยายกว้างออกไป ตามที่มันสัมพันธ์กันเป็นพวงจนเต็มที่ของมันนะ เทคนิคหรือเคล็ด เทคโนโลยี การใช้เคล็ด วิศวะคือ ทำให้มันถูก ถูกต้องทุกสัด ทุกส่วน รวดเร็ว ลงทุนน้อย และปลอดภัย แล้วมันได้รับผลเป็นสิ่งที่มั่นคงแข็งแรงทนนานเป็นพันๆ ปีก็ตามใจ แล้วมันก็มีความงาม ไอ้ความงาม นี่เป็นสิ่งที่สนใจกันมากโดยเฉพาะพวกแฟน เขาเรียกว่า Art ละ ก็หูผึ่งกันเต็มที่ Artistic แล้วก็ยิ่งหูผึ่งกันไปอีก เพราะมันชอบ แล้วมันบูชาความหมายอันนี้
ทีนี้ ก็ขอบอกว่าใช้ได้ทั้งทางวัตถุ และทั้งทางนามธรรม เรามีเพื่อนเป็นฝรั่งคนหนึ่ง เขาเป็นคนร่ำรวย เขามาแสวงหา Buddhist Art ที่เขาขนเอาไปนะ เป็นพระพุทธรูป เป็นโลหะแกะสลัก เป็นอะไรต่างๆ นะ Buddhist Art เราก็บอกเขาในทำนองล้อๆ ว่า โอ้, นี่ไม่ใช่ Buddhist Art พระพุทธเจ้าไม่รู้จัก พุทธบริษัทไม่รู้จัก เรื่องทางวัตถุ
ถ้าเป็น Buddhist Art โดยแท้จริง เป็นเรื่องทางจิตใจ จิตใจสวยสด งดงามที่สุด คือ วิธีการที่ทำให้ความทุกข์หมดไปจากจิตใจนั้น นั่น วิธีนั้นนะคือ Buddhist Art ทำให้ความทุกข์หมดไปจากจิตใจมันยากเหลือประมาณ ประณีตเหลือประมาณ สุขุมลึกซึ้งเหลือประมาณ แล้วก็งดงามเหลือประมาณ นี่ Art
เทคโนโลยีที่ไม่มี Art จะเป็นอย่างไรบ้าง ถ้าไม่มี Art แล้วมันจะเป็นอย่างไร มันไม่ใช่สิ่งเดียวกันนะ แต่ดึงให้มันมาสัมพันธ์หรือกลมกลืนกันได้ นี่แหละ ความหมายของถ้อยคำ ที่เราจะทำความเข้าใจ แล้วเอามาใช้ให้มันสัมพันธ์กันเทคนิคคือเคล็ด เทคโนโลยีคือการใช้เคล็ด วิศวะคือการใช้ให้มันถูกอย่างยิ่ง ถูกสัดส่วนโดยรายละเอียด
แล้วก็รวดเร็ว ปลอดภัย ถ้าเป็นสถาปัตย์ก็คือมั่นคง แล้วก็เป็น Art หรืองาม งดงาม ดึงดูดใจประทับใจผู้ที่เห็น
บางทีในวิทยาลัยเทคโนโลยีจะไม่พูดถึงสิ่งเหล่านี้ก็ได้ ไม่เป็นไร ให้มันถึงที่สุดกว่าเทคโนโลยี แล้วค่อยขยายออกไปเป็นวิศวะ เป็นสถาปัตย์ เป็นศิลปะได้เองในทีหลัง หัวใจมันอยู่ที่การใช้เคล็ดให้สำเร็จประโยชน์ ประโยชน์มันจะเกิดขึ้นมา
เราจะทำให้มันเกี่ยวข้องกันอย่างครบถ้วน แต่ว่าวันนี้ เราก็พูดกันในส่วนที่มันเป็นเทคโนโลยี เทคโนโลยี เป็นตัวเรื่องหรือเป็นใจความสำคัญไม่ต้องพูดหมดทั้ง ๕ เรื่อง ๖ เรื่อง พูดแต่เรื่องที่เป็นความหมายของคำว่าเทคโนโลยี แล้วก็ใช้ในส่วนที่เป็นนามธรรม คือเอามาใช้กับพุทธธรรม จึงได้ให้หัวข้อว่า พุทธธรรมในฐานะที่เป็นเทคโนโลยี
ซึ่งมีเทคโนโลยีอยู่ในสิ่งที่เรียกว่าพุทธธรรม หรือจะถึงกับว่า ไอ้ตัวพุทธธรรมนั้นนะมันเป็นเทคโนโลยีเสียเอง
อย่างนี้ก็พูดได้นะ ขอให้ฟังต่อไป ให้ฟังต่อไป
การใช้พุทธธรรมให้ดับทุกข์ให้ได้ ที่ ที่พูดกันไปนั้น การใช้พุทธธรรมให้ดับทุกข์ภายในใจได้นี่เป็นตัวเทคโนโลยีในที่นี้ มันจะมีเคล็ดอย่างไร หรือ อะไร อย่างไร มันก็มีเรื่อง เรื่อง ประกอบ แต่การใช้พุทธธรรมให้สำเร็จประโยชน์ในการดับทุกข์ คือ ตัวเทคโนโลยี ในที่นี้ ที่เรากำลังจะพูดกัน จะต้องติดตามมาแต่ต้น มาตามลำดับๆ มันจึงจะเข้าใจง่าย อย่าดูถูกสิ่งที่เรียกว่าลำดับ
ข้อแรกจะบอกว่า ระบบของธรรมชาติทั่วทั้งจักรวาล มันมีความเป็นเทคโนโลยีอยู่อย่างยิ่งกว่าสิ่งใด มันเป็นอัตโนมัติในตัวมันเอง ในระบบธรรมชาติ ทั้งสากลจักรวาล ก็ต้องใช้ทั้งรูปธรรมและนามธรรมมา มันมีเทคโนโลยีหรือว่าเป็นเทคโนโลยีอยู่ในตัวมันเอง จะชี้ชัดๆ ถึงคำว่าธรรมชาติ ซึ่งมีอยู่ ๔ ความหมาย ถ้ายังไม่เคยฟังขอให้ช่วยฟังและจดจำไว้เถิด เป็นคำที่มีประโยชน์สำหรับศึกษาเรื่องต่างๆ ให้เข้าใจโดยง่ายยิ่งขึ้นไป
ธรรมชาติ ๔ ความหมาย คือ ตัวธรรมชาติ ตัวธรรมชาติ นี่ความหมายหนึ่ง ทุกอย่างไม่ว่าอะไรเป็นธรรมชาติ เป็นรูปธรรมก็ได้เป็นนามธรรมก็ได้ เป็นความรู้ก็ได้ เป็นการกระทำ เป็นผลของการกระทำ คือเป็นตัวธรรมชาติ
นี่อย่างหนึ่ง
และอันที่สองก็คือ กฎของธรรมชาติ กฎของธรรมชาติจะอยู่ที่ไหน มันก็อยู่ในตัวธรรมชาตินั่นแหละ มันซ่อนอยู่ในนั่นแหละ มนุษย์พบ ค้นพบดึงออกมาใช้ ความรู้เกี่ยวกับกฎของธรรมชาติ จะทำอะไรให้ได้มากมายโดยอาศัยความรู้เรื่องกฎของธรรมชาติ อันที่สองเรียกว่ากฎของธรรมชาติ
อันที่สามเรียกว่า หน้าที่ หน้าที่ Duty หน้าที่ ที่สิ่งที่มีชีวิตจะต้องประพฤติ กระทำให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติมิฉะนั้น จะต้องตาย หรือได้รับความทุกข์เจียนตาย หน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ ความหมายของธรรมชาติ อันที่สาม
ทีนี้อันที่สี่ ผลที่ได้รับจากการปฏิบัติหน้าที่ ขอให้เข้าใจไอ้ความหมาย ๔ คำนี้ ก็จะง่ายในการศึกษาธรรมะ
อันมากมายมหาศาล เพื่อให้รู้ได้ว่า อันไหนเป็นตัวธรรมชาติ อันไหนเป็นตัวกฎของธรรมชาติ แล้วอันไหนเป็นหน้าที่ที่จะต้องประพฤติ ต้องกระทำอย่างยกเว้นไม่ได้ อันไหนเป็นผลที่จะออกมา ผิดถูกดีชั่วอะไรก็แล้วแต่
ว่า การกระทำนั้น มันเป็นอย่างไร ก็ถามดู ถามใครดู ถามอะไรที่ไม่ใช่ธรรมชาติบ้าง ทางธรรมะ
ทางพระพุทธศาสนาถือว่าเป็นธรรมชาติทั้งนั้น แต่ก็มีคนบางพวก จำพวกฝรั่ง พวกไหนก็ไม่รู้ มันมีไอ้สิ่งที่เรียกว่า
เหนือธรรมชาติ เหนือธรรมชาติ Supranatural เขามี ชาวพุทธไม่มี ไม่มี ไม่มี Supranatural ไม่มีเหนือธรรมชาติ
ก็ที่มันเรียกว่า เหนือธรรมชาติก็คือธรรมชาตินี่แหละ ให้เรามีความรู้กันอย่างนี้นะว่า มันเป็นธรรมชาติ ไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ธรรมชาติ ตั้งแต่ขี้ฝุ่นเม็ดหนึ่งไปถึงพระเจ้า พระเจ้าสูงสุดก็เป็นธรรมชาติ
แล้วในตัวธรรมชาติมันมีกฎของธรรมชาติ มันจึงเปลี่ยนไปตามกฎของธรรมชาติ เป็นต้นไม้ เป็นคน เป็นสัตว์
เป็นอะไร แม้ในตัวเราร่างกายเราร่างกายหนึ่งมันมีตัวธรรมชาติ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ นี่มันก็มีกฎของธรรมชาติควบคุมสิ่งเหล่านั้น บังคับสิ่งเหล่านั้นปรุงแต่งสิ่งเหล่านั้นเป็นไปอย่างนี้ๆ ในคนนี่มันมีกฎของธรรมชาติ แล้วมันก็มีหน้าที่ หน้าที่ตามกฏของธรรมชาติ
ดิน น้ำ ลม ไฟ มีหน้าที่อะไร ปรุงแต่งอะไร ออกมาเป็นอวัยวะ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ตับ ไต ไส้ พุง โลหิต กระดูก เป็นต้น มันมีหน้าที่ มีหน้าที่โดยเฉพาะไอ้ Cell ทั้งหลายที่มองไม่เห็นเป็นล้าน ล้าน ล้าน ล้าน มันกำลังทำหน้าที่อยู่ทุกตัวแหละ พอมันไม่ทำหน้าที่ มันก็ตายลูกเดียวล่ะไอ้นี่ มันมีการทำหน้าที่อยู่อย่างพิลึกมหาศาลมากหวาดเสียวที่เรียกว่า ทุก Cell ทุก Cell มันทำหน้าที่
หรือถ้าจะพูดให้มากไปกว่านั้นก็ได้ว่า ทุกๆ อณูมันก็มีหน้าที่ ตามหน้าที่ของมัน มันทำหน้าที่ตามระบบของปรมาณู แต่มันไม่มีตัวชีวิตจิตใจ เราไม่เรียกว่าหน้าที่ แต่ถ้ามันเป็น Cell หนึ่งๆ ขึ้นมาแล้วแต่ Cell ประเภทไหนก็ล้วนแต่
ทำหน้าที่ในตัวเราในตัวคนเรา ที่เป็นเลือด ที่เป็นเนื้อ ที่เป็นกระดูก ที่เป็นอะไรในทุกๆ Cell ประกอบกันขึ้นมาต้องทำหน้าที่ มันก็มีการได้รับผล แต่เนื้อตัวนี้คือสบายบ้าง ไม่สบายบ้าง ผิดบ้างถูกบ้าง แล้วแต่ว่ามันจะทำอย่างไรเป็นเจ็บไข้ได้ป่วยบ้างเป็นสบายดีบ้าง เป็นที่พอใจบ้าง ไม่เป็นที่พอใจบ้าง นี่เรียกว่าผลของมัน รู้จักสิ่งทั้ง ๔นี้แล้วก็คือรู้จักทุกสิ่งไม่ยกเว้นอะไร
แล้วคุณดูมันมีเทคโนโลยีอะไรกันบ้าง ที่มีความสัมพันธ์กันเกี่ยวข้องกันระหว่างไอ้ตัวธรรมชาติ กับตัวกฎของธรรมชาติและตัวหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ และผลที่จะเกิดมาจากหน้าที่มันเกี่ยวข้องกัน มันสัมพันธ์กัน
มันมีกฎเกณฑ์ถูกต้อง ที่ถูกต้อง คำนี้สำคัญมาก ถ้าไม่ถูกต้องมันก็คือล้มละลาย มันมีการสัมพันธ์กัน เกี่ยวข้องกันกระทำแก่กันและกัน ส่งเสริมแก่กันและกัน หรือขัดขวางแก่กันและกันก็ได้ ให้มันครบถ้วนแล้วก็ถูกต้อง แล้วมันก็ทรงอยู่อย่างถูกต้อง นี่คือความหมายของคำว่า เทคโนโลยีอย่างลึกซึ้งที่สุด
คอมพิวเตอร์สักร้อยตัวก็ไม่มีเทคโนโลยีมากมาย เท่ากับว่าเทคโนโลยีในร่างกายเรา คือทุก Cell ทุกส่วน
มันประกอบกันทำหน้าที่ นี่ดูว่าเทคโนโลยีอยู่ที่ไหน ในชีวิตในร่างกายนี้ ทีนี้จะมาดูทางธรรมะ มาดูทางธรรมะ
ที่ร่างกายนั่นเป็นส่วนวัตถุ ดูทางธรรมะ (หลวงพี่ ทำไมมันดับล่ะ) ดูทางธรรมะ คือไอ้ความรู้สึก ความคิดนึก
การกระทำอะไรต่างๆ ที่มันได้อาศัยร่างกายนี้ ประพฤติเป็นไป ในชีวิตร่างกายนี้ สามารถทำให้มีศีล มีระบบศีลขึ้นมา มีระบบสมาธิขึ้นมา มีระบบปัญญาขึ้นมา มีระบบมรรคผลนิพพานขึ้นมา เมื่อมันถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติแล้ว ไอ้สิ่งเหล่านี้ ก็เป็นไปได้มันเป็นเทคนิคอยู่ในตัวมันเอง ไม่มีศีล ก็ไม่มีสมาธิ ไม่มีสมาธิ ก็ไม่มีปัญญาไม่มีศีล สมาธิ ปัญญาก็ไม่อาจจะบรรลุมรรคผลนิพพาน ซึ่งเป็นผลของการปฏิบัติ เฉพาะศีลแท้ๆ ก็มีเทคนิค เคล็ดสำหรับปฏิบัติให้สมบูรณ์ สมบูรณ์ สมบูรณ์ แล้วใช้มันให้เกิดประโยชน์ในการส่งเสริมให้เกิดสมาธิ สมาธิก็มีเทคนิคในตัวของมัน แล้วก็ส่งเสริมให้เกิดปัญญาปัญญา ไม่มีสมาธิก็ไม่มีปัญญา ไม่มีปัญญาก็ไม่มีสมาธิ ถ้ามันเกี่ยวข้องกันอย่างสมบูรณ์ถูกต้องสมบูรณ์แล้ว มันก็มีผลใหญ่หลวง คือ การบรรลุมรรคผลนิพพานเป็นพระอริยะเจ้า
เป็นพระอริยบุคคล นี่เรียกว่า ในทางฝ่ายนามธรรมนี้ มันก็มีเทคนิค เคล็ดซ่อนอยู่ มีเทคโนโลยี คือ การใช้เคล็ดให้ถูกต้อง แล้วมันก็มีผลออกมาเป็นที่น่าพอใจ รายละเอียดปลีกย่อย มันก็มีไปตามเรื่องของมัน เรียกว่าเป็นลักษณะแห่งวิศวะ สถาปัตย์ หรือศิลปะมันก็มีได้ในการประพฤติกระทำ ในตัวบุคคลเพียงคนเดียว มีความหมายแห่งถ้อยคำเหล่านี้ครบถ้วน
แม้จะพูดถึงสิ่งที่รู้จักติดปาก คล่องปากกันอยู่ทุกคน แม้แต่เด็กๆ ว่าพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ คุณดูมันมีความหมายแห่งเทคโนโลยี ถ้าไม่มีธรรมะไม่มีพระธรรมเป็นกฎของธรรมชาติ พระพุทธเจ้าก็ไม่รู้ว่า
จะตรัสรู้อะไร ไม่มีเรื่องสำหรับจะตรัสรู้ มันมีธรรมะในฐานะเป็นกฎของธรรมชาติ เป็นตัวธรรมชาติ เป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าตรัสรู้ แล้วก็ได้เป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมา ธรรมะนั่นแหละทำให้คนเป็นพระพุทธเจ้า แล้วมันจะมีประโยชน์อะไร ถ้าไม่มีพระสงฆ์ที่จะรับฟัง แล้วนำไปปฏิบัติให้สำเร็จประโยชน์ ตัวเราทุกคนนี่แหละได้รับความรู้ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วนำมาสอน แล้วก็นำมาใช้ปฏิบัติให้เกิดความสงบสุขทางจิตใจ มันมีคุณสมบัติ มันมีอิทธิพลอยู่ในตัวเองแต่ละอย่างๆ ในพระพุทธ ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ก็เกี่ยวข้องกันอย่างที่แยกกันไม่ได้นะ
ถ้าแยกพระธรรมออก พระพุทธ พระสงฆ์อยู่ไม่ได้ แยกพระพุทธออก ไม่มีใครรู้พระธรรม ก็ไม่มีพระสงฆ์ แยกพระสงฆ์ออก สิ่งเหล่านี้ก็ไม่มีประโยชน์อะไร เพราะมวลชนอันใหญ่ที่จะได้รับประโยชน์ นำไปสืบศาสนาต่อๆ กันไปมันก็คือพระสงฆ์
ขอให้คุณมองดูความเป็นเทคโนโลยีของพระรัตนตรัยคือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ที่ในพระธรรมมีมากมายหลายสิบหมวด หลายสิบข้อ ไอ้หมวดที่สำคัญที่สุด คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ถ้าจะคงเคยได้ยินกันมาแล้ว
เคยเล่าเรียนท่องบ่นได้แล้วว่า ๘ คือ ไปดูทั้ง ๘ อย่างเหลือประมาณ สัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน ส่งเสริมกัน ร่วมมือกัน
ฟั่นเกลียวกัน จนไอ้ทั้ง ๘ นั้นกลายเป็นหนึ่งเดียว มรรค อริยมรรคนั่นมีหนึ่งเดียว แต่ประกอบอยู่ด้วยองค์ประกอบ ๘ องค์ คือ ความรู้ที่ถูกต้อง ความปรารถนาที่ถูกต้อง การพูดจาที่ถูกต้อง การทำการงานที่ถูกต้อง การดำรงชีวิต
ที่ถูกต้อง ความพากเพียรพยายามที่ถูกต้อง ความมีสมาธิ มีสติถูกต้อง มีสมาธิถูกต้อง ๘ องค์ ๘ องค์รวมกัน
ฟั่นเกลียวเป็นเชือกเส้นเดียว มีความเป็นเทคโนโลยีหรือจะเรียกว่า มีเคล็ดอยู่ในนั้น มีการใช้เคล็ดอยู่ในนั้น
มีการได้รับประโยชน์อยู่ในนั้น นี่แม้ธรรมะเพียงหมวดเดียว ธรรมะนั้นมีมากมายมหาศาล นี่จะชี้ให้เห็นว่า
ในพระพุทธก็ดี พระธรรมก็ดี พระสงฆ์ก็ดี มีความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดำรงอยู่ เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันไปในลักษณะที่เป็นเทคโนโลยี ซึ่งเมื่อปฏิบัติไปสำเร็จแล้ว มันดับทุกข์สิ้นเชิง ดับทุกข์สิ้นเชิง ไอ้เทคโนโลยีทางวัตถุให้มีมากกว่านี้
อีก ๑๐๐ เท่า ๑,๐๐๐ เท่า ก็ไม่ดับทุกข์สิ้นเชิง ไม่อาจจะสร้างสันติภาพบนโลกขึ้นมาให้สมบูรณ์ได้ แต่เทคโนโลยีทางนามธรรมถูกกระทำให้ครบถ้วนบริบูรณ์ อย่างนั่นนะมันดับทุกข์สิ้นเชิง ดับทุกข์ในสากลจักรวาลสิ้นเชิง ไม่มีอะไรเหลือ แต่ว่า ไอ้นามธรรมจะอยู่โดยไม่มีรูปธรรม มันก็ไม่ได้ เช่นว่าจิตใจจะอยู่โดยไม่มีร่างกายมันก็ไม่ได้
ดังนั้นไอ้รูปธรรมกับนามธรรมมันจึงเป็นเพื่อนเกลอ เป็นคู่หูกันไปไม่แยกจากกัน ถ้าไม่มีรูป ไอ้นามธรรม จิตใจก็อยู่ไม่ได้ ถ้าไม่มีจิตใจ หรือนามธรรม ไอ้รูปร่างกายมันก็เป็นท่อนไม้ ใช้อะไรไม่ได้ นามและรูป กายและใจมีความเป็นเทคโนโลยีในการสัมพันธ์กันในการทำหน้าที่ให้เป็นประโยชน์ในการดำเนินชีวิต นี่เราจะเรียกว่า เทคโนโลยี
ในสิ่งที่เรียกว่า พุทธธรรม เราจะมาพูดกันในวันนี้ว่า พุทธธรรม ในฐานะที่เป็นเทคโนโลยี
เอ้า, ทีนี้ ก็จะพูดกันต่อไปถึงข้อที่ว่าเราจะใช้ธรรมะในฐานะที่เป็นเทคโนโลยีนี้ให้ถูกต้องได้อย่างไร จะใช้ธรรมะ
ให้ถูกต้องได้อย่างไร นี่ก็เป็นปัญหา เป็นความลับของธรรมชาติที่จะต้องศึกษากันไม่น้อย จึงจะสามารถใช้ธรรมะให้ถูกต้องตามความจริงของธรรมชาติ แล้วก็ได้รับประโยชน์สูงสุด ใช้ธรรมะให้ถูกต้องได้อย่างไร
จะต้องถูกต้องโดยอะไร โดยอย่างไร วิธีใดจึงจะเป็นเทคโนโลยีขึ้นมา ถ้าจะให้พูดตามหลักของธรรมะ
ในพระศาสนา มันจะต้องตั้งต้นพูดมาตั้งแต่คำว่าถูกต้องโดยพยัญชนะ พยัญชนะคือตัวหนังสือหรือคำที่พูด นั่นนะเรียกว่าพยัญชนะ ต้องใช้มันให้ถูกต้องมาตั้งแต่ตัวพยัญชนะ ตัวหนังสือหรือคำหรือชื่อที่เรียกโน่น คุณจะต้องสังเกตดูว่าไอ้เครื่องมือ เครื่องใช้ไม้สอยหลักการต่างๆ มันมีชื่อทั้งนั้นแหละ มันมีชื่อทั้งนั้นแหละ เรียกว่าพยัญชนะ
ต้องเกี่ยวข้องกับมัน ให้ถูกต้องตามพยัญชนะ
เหมือนกับว่ามันเอาขวานไปใช้แทนมีดอย่างนี้ มันก็บ้าแน่ แน่ มันก็มีชื่อบอกอยู่ชัดเจนแล้วว่าอะไร เป็นอะไร อะไรเป็นอะไรให้มันถูกต้องตามชื่อ ตามพยัญชนะ ให้มันถูกต้องโดยอรรถะ โดยอรรถะคือโดยความหมาย
โดยความหมาย โดยคุณสมบัติ โดยคุณค่า โดยความหมายของมัน ถ้าใช้ผิดความหมายของมันก็ผิด ผิดหมด
ก็ผิดหมดอีกเหมือนกัน
ความมุ่งหมายที่แท้จริงนี้ ถ้าใช้ผิดแล้วเป็นความโง่ เช่นว่า ศีลก็มีใช้เพื่อดับทุกข์ขั้นต่ำๆ มันก็คิดว่าจะถือศีลให้มันเหาะได้ อย่างนี้ มันใช้ผิดความหมายเสียแล้ว ศีลนั้นเป็นเหมือนกับสบู่ซักฟอกร่างกายและวาจาให้สะอาด มันก็ไปใช้ว่ากูจะเป็นผู้วิเศษ ดีกว่าคนอื่น เพราะมีศีล อย่างนี้ มันก็ใช้ผิดอรรถะ ผิดความหมายเสียแล้ว โดยพยัญชนะ
โดยคำ โดยชื่อก็ถูกต้องโดยความหมายก็ต้องถูกต้อง แล้วยังจะต้องถูกต้อง โดยองค์ประกอบใด ใด อีกมากมาย อีกมากมาย นึกเดาเอาเองก็ได้ ลองนึกเดาเอา
มันจะต้องถูกต้องตามเวลา ถูกต้องตามสถานที่ ถูกต้องตามลำดับ ที่มันจะต้องมี หรือถูกต้องตามที่มันจะต้องสัมพันธ์กันเกี่ยวข้องกันตามกรณี ตามเหตุการณ์ อย่างนี้เป็นตัวอย่าง นี่เรียกว่ามันถูกต้อง เพราะว่ามันมีสิ่งที่จะสัมพันธ์กัน เกี่ยวข้องกันมี Interaction ที่มันจะต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันใน ภายใน ถ้ามันไม่ถูกต้องแก่กันและกัน แล้วเข้ากันไม่ได้ มันจะร่วมกันไม่ได้ มันก็ต้องมีความถูกต้อง แม้โดยเวลา โดยสถานที่ โดยลำดับ โดยการที่มันจะสัมพันธ์กันอย่างไรให้มันมีความถูกต้องในกรณีเหตุนั้น นั้น
เข้าใจว่า คงจะเคยเรียนหลักธรรมะเรื่อง สัปปุริสธรรม มาแล้วใช่ไหม คงจะท่องกันได้แล้ว ถ้ายังไม่รู้จัก ไม่เคยยิน
ก็นับว่าแย่ เป็นธรรมะหญ้าปากคอก สัปปุริสธรรม ถ้ายังไม่รู้ก็ไปหาซื้อหนังสือแบบเรียนขั้นต้นที่สุด นวโกวาท
มาอ่านดู สัปปุริสธรรมที่สัตบุรุษเขารู้ มันรู้ความถูกต้อง โดยเหตุ โดยผล โดยตน โดยประมาณ โดยกาลเวลา
โดยบริษัท โดยบุคคล ชื่อมันมีอย่างนี้ โดยเหตุ ว่าเหตุของมันเป็นอย่างไร เรื่องนี้ โดยผลที่จะได้รับ มันเป็นอย่างไร แล้วตัวเอง ตัวเองที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับมัน นั้นจะเป็นอย่างไร ประมาณคือความพอดีไม่ขาดไม่เกินไม่มากไม่น้อยนั้นคืออย่างไร กาลเวลาที่ควรจะทำอะไร อย่างไร เท่าไร ก็จะต้องรู้ แล้วบริษัทคือสังคมนั้นเขาเป็นอย่างไร จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับเขานั้นให้ถูกต้อง แล้วคนแต่ละคน แต่ละคน แต่ละคน เขาเป็นอย่างไร เราจะต้องเกี่ยวข้องกับเขาอย่างถูกต้อง
นี่เห็นไหมสำคัญกี่มากน้อย ที่เราไม่ประสบความสำเร็จเป็นเพราะเราทำไม่ถูกต้องตามกฎเกณฑ์อันนี้ไอ้ที่เรียกว่า สัปปุริสธรรมและในสัปปุริสธรรมนั้นจะมีเทคโนโลยีเท่าไรก็ไปดูเอาเองเถอะ ถูกต้องโดยเหตุผล เหตุและผล
มันของธรรมชาติอันลึกซึ้งแล้วตัวเองจะไปเกี่ยวข้องกับมันให้ถูกต้องอย่างไร ประมาณคือพอดี คำว่าประมาณคือ
ถูกโดยๆ ประมาณนะ โดยอัตรา ที่มันจะต้องมีต้องทำนะมันพอดีๆ ไม่ขาดไม่เกินไม่มากไม่น้อยไม่ช้าไม่เร็วนี่เรียกว่าประมาณ ประมาณ
เวลา นี่แม้แต่ว่าเวลา เช้าจะทำอะไร เวลาเย็นจะทำอะไร จะไปหาใคร ควรจะไปเวลาไหน อย่างนี้ แล้วสังคมนั้นจำเป็นมาก สังคมนั้นเขาเป็นอย่างนั้นจะเข้าไปหาเขา จะต้องทำอย่างไร เขาเป็นจีน เขาเป็นแขก เขาเป็นฝรั่ง เขาเป็นอะไรก็ทำให้มันถูกต้อง แล้วในที่สุดก็ว่าแต่ละบุคคล แต่ละบุคคลนะ เขามีรสนิยมของเขาอย่างไร มีอะไรอย่างไร
รู้ให้ถูกต้องแล้วค่อยเข้าไปเกี่ยวข้อง มันก็สำเร็จประโยชน์ ทีนี้เรียกว่า โดยปลีกย่อย โดยกาลเวลา โดยสถานที่
โดยบุคคล โดยอะไรก็ตาม มันก็จะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องให้ถูกต้อง
ไปหาหนังสือในชั้นต้นๆ อย่างนี้อ่านกันเสียบ้าง มันก็จะเข้าใจเพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้น มันมีเทคโนโลยีอยู่ในธรรมะ
แต่ละข้อ แต่ละข้อ แล้วก็มีเทคโนโลยีอยู่ในการที่มันสัมพันธ์กัน สัมพันธ์กัน สัมพันธ์กัน ไปด้วยกัน เกิดด้วยกัน
ดับด้วยกัน มันก็เป็นเทคโนโลยี เอ้า,ทีนี้ก็เลยพูดถึงเรื่องสัมพันธ์กันอย่างไร สิ่งทั้งหลายทั้งปวงนี้แต่ละอย่าง แต่ละอย่าง นี้มันสัมพันธ์กันอย่างไร มันมีการส่งเสริมซึ่งกันและกัน เรียกว่า ส่งเสริมตัวเอง พร้อมกันนั้น ก็ส่งเสริม
สิ่งที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ในมันตัวเองมันก็ต้องมีการส่งเสริมตัวเอง ในตัวชีวิตเอง ก็มีธรรมะที่มันส่งเสริมตัวชีวิตเอง แล้วมันก็ส่งเสริมสิ่งอื่นที่นอกออกไปจากไอ้ตัวชีวิต ซึ่งมันมีการเกี่ยวข้องกัน
ไอ้ความสัมพันธ์นี่ มันอยู่ที่ส่งเสริมซึ่งกันและกัน ถ้ามันสัมพันธ์เพื่อทำลายกัน เรื่องมันก็จบ เดี๋ยวนี้มันมีการส่งเสริมส่งเสริมให้มันเป็นไปได้ ในร่างกายนี้เรามีอะไรบ้างมีมือตีนแขนขาหูตา มันส่งเสริมตัวมันเองแล้ว มันยังส่งเสริม
ซึ่งกันและกัน ตามันสำเร็จประโยชน์ในตัวมันเอง แล้วมันก็ส่งเสริมให้ได้รู้ อะไรออกไปข้างนอก ส่งเสริมเรื่องของสัมผัส ของเวทนา ของจิต ของใจแต่ละอวัยวะแต่ละอวัยวะ มันส่งเสริมความเป็นอยู่ได้ เป็นอยู่ได้ ไม่ตายของมัน
แล้วมันก็ส่งเสริมสิ่งที่เข้ามาเกี่ยวข้องหรือสิ่งข้างเคียง
เราก็เรียกว่า มันมีการส่งเสริมตัวเอง แล้วก็ส่งเสริมสิ่งอื่นที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ในตัวมันเอง มันมีเหตุ มีปัจจัยส่งเสริม
ตัวมันเอง อะไรที่จะทำให้ตาของเรามีอยู่ได้ ไม่เสีย ไม่บอด ไม่อะไร หูก็เหมือนกัน มันมีปัจจัยส่งเสริมตัวมันเอง
จมูก ลิ้น กาย ใจ เหล่านี้ มันมีเหตุ มีปัจจัย มีอะไรเหล่านี้ ส่งเสริมตัวมันเองให้อยู่ได้เสียก่อน แล้วมันจึงจะสามารถส่งเสริมสิ่งที่เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น มีตา แล้วก็เห็นรูป มันก็เกิดวิญญาณ เกิดผัสสะ เกิดเวทนา ส่งเสริมกันไปตามกฎเกณฑ์แห่งปฏิจจสมุปบาท
หลังจากที่มันส่งเสริมตัวเองให้ตั้งอยู่ได้แล้ว มันก็ส่งเสริมสิ่งอื่นๆ ให้ตั้งอยู่ได้ต่อไป มันมีการส่งเสริมตัวเองและส่งเสริมสิ่งอื่น แล้วมันก็ส่งเสริมการสัมพันธ์กัน ให้มีการสัมพันธ์กันอยู่ได้ คือมันส่งเสริมพร้อมกันไปทั้งสองอย่าง ส่งเสริมตัวเอง ส่งเสริมสิ่งอื่น ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งทั้งสอง เหล่านี้ล้วนแต่เป็นเทคโนโลยี ทั้งนั้นแหละ
ถ้าไม่เช่นนั้น มันเป็นไปไม่ได้ มันเป็นไปไม่ได้ ในร่างกายนี้มีระบบเทคโนโลยีไปเสียทุกส่วน ทุกส่วน แล้วแต่เราจะแยกมันอย่างไร อยากจะให้รู้เรื่องอันกว้างขวางของพุทธธรรม หรือพุทธศาสนา ถ้าอยากจะรู้ให้ละเอียดก็ไปหาหนังสือเรื่องนั้น นั้น นวโกวาท ก็ได้ เขาเรียกว่า เรียกชื่อธรรมะหมวดนั้นว่า โพธิปักขิยธรรม คือทั้งกลุ่มทั้งชุด
ทั้ง SET ทั้งหมดเลย ที่จะทำให้เกิดการตรัสรู้ได้ ที่จะทำให้เกิดตรัสรู้ บรรลุมรรคผลนิพพานได้ เรียกว่าทั้งหมด
ทั้งกลมเลย
มันเริ่มขึ้นด้วย มีสติปัฏฐานสี่ มีสติกำหนดสิ่งทั้ง ๔ ที่เป็นเรื่องสำคัญคือร่างกาย เวทนา จิต และธรรมชาติ เรียกว่า
มี สติปัฏฐาน ๔ เป็นหลัก แล้วก็มีอิทธิบาท ๔ อันนี้คงเคยได้ยิน เพราะทุกโรงเรียนมันสอน โรงเรียนไหนไม่สอน
ก็เซ่อซ่าเต็มที่ มีฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา มีความพอใจที่จะกระทำ มีความพากเพียรในการกระทำเอาใจใส่สอดส่องอยู่เสมอ แล้วก็ค้นหาเหตุผลมันอยู่เสมอ มันต้องมี อิทธิบาท มันจึงจะประพฤติสติปัฏฐานได้
แล้วก็ต้องมี ต่อไป คือพละหรืออินทรีย์ที่เป็นตัวกำลัง เมื่อเป็นตัวกำลังก็เรียกว่าพละ เมื่อเป็นตัวหัวหน้าเป็นตัวใหญ่เป็นตัวบังคับบัญชาก็เรียกว่าอินทรีย์ ทีนี้มันก็มีศรัทธาความเชื่อ วิริยะ ความพากเพียร สติ สมาธิ ปัญญา สติระลึกได้ สมาธิมั่นคง จิตใจปัญญา คือ รอบรู้ อันนี้เป็นตัวกำลัง ใช้อย่างกำลัง แล้วเป็นตัวหัวหน้าเป็นตัวนำ ก็เรียกว่าอินทรีย์
ฉะนั้น อินทรีย์ ๕ พละ ๕ หมายถึงธรรมะ ชื่อหมวดเดียวกันนะ แต่ดูถึงหน้าที่ที่มันต่างกัน ถ้าไม่มีอินทรีย์ ไม่มีพละการดำเนินนี่เป็นไปไม่ได้ ธรรมะดำเนินไปไม่ได้ ถ้าไม่มีกำลัง คือพละ ถ้าไม่มีอินทรีย์คือหัวหน้าที่จะนำไป
ทีนี้อะไรมาถึงตอนที่สำคัญที่สุด มันจะต้องมีไอ้ที่เรียกว่า โพชฌงค์ องค์แห่งการตรัสรู้ ๗ อย่าง สติมาก่อน ระลึก
โดยรอบคอบ ธัมมวิจยะ วิจัย วิจารณ์ เรียกว่า ธัมมวิจยะ คำว่าวิจัยนี่โบราณ ๑,๐๐๐ กว่าปี สองสามพันปีมาแล้ว ไม่ใช่คำเพิ่งคิดกันเมื่อวานอย่างที่บางคนเข้าใจ คำว่าวิจัย วิจัย มีใช้ในบาลีพระพุทธเจ้าใช้ มีสติระลึกมาให้หมด แล้วมาวิจัยวิจารณ์
ท่านเห็นถูกต้องว่า จะเอาอะไรแล้ว ใช้ความเพียร ประพฤติปฏิบัติ ปีติตามมาคือ ความยินดียิน พอใจ ในการได้กระทำส่งเสริมให้วิริยะมีกำลัง ปัสสัทธิ ก็เข้ารูป ลงรูป ลงรอยเพราะความถูกต้อง แล้วก็มีสมาธิ กำลังส่งเสริม
ความถูกต้องให้ยิ่ง ยิ่งขึ้นไป แล้วก็มีอุเบกขา คอยคุมให้มันไปอย่างนั้นอย่างถูกต้อง อุเบกขานี่ อย่าเข้าใจผิดเหมือน
ที่ยังสอนกันอยู่ตามศาลาวัดนะ เฉย เฉย หลับเลย อุเบกขามันไม่ใช่อย่างนั้นนะ อุเบกขาคล้ายกับตื่นที่สุดตื่นอยู่ที่สุด ไม่หลับ ไม่อะไร คือควบคุมให้มันเป็นไปอย่างนั้น
เมื่อทุกอย่างมันเข้ารูปเข้ารอยแล้ว เข้าที่แล้ว ปลอดภัยแล้ว ก็คุมอยู่เฉยๆ ให้มันเป็นไปของมันเอง เช่น เราได้ปรับปรุงถูกต้องแล้ว ถนนก็ดีแล้ว รถก็ดีแล้ว เครื่องก็ดีแล้ว อะไรก็ดีแล้ว เราก็ถือพวงมาลัยอยู่เฉย เฉย แล้วมันก็ไปของมันได้ หรือเราไปทำนา ทุกอย่างถูกต้อง ดีแล้ว ก็นั่งอยู่เฉย เฉย นั่นแหละ นั่งดูให้มันเป็นไปตามนั้น มันก็เป็นข้าวออกรวงมา เพราะว่าอุเบกขาไม่ใช่เฉย ไม่ใช่หลับใน ไม่ใช่ไม่รู้สึกอะไร แต่ว่าควบคุมอยู่ให้มันถูกต้อง
โบราณเขาเปรียบด้วยรถม้า เพราะมันไม่มีรถยนต์ ครั้งพุทธกาลเปรียบด้วยรถม้า ถนนดีแล้ว ม้าดีแล้ว รถดีแล้ว
ทุกอย่างดีแล้ว ทัศนวิสัยอะไรดีแล้ว คนขับรถก็เพียงแต่ถือเชือกบังเหียนอยู่เฉยๆ มันก็ไปถึง ไปถึงที่จุดหมายปลายทาง อาการอย่างนี้เรียกว่าอุเบกขา ไอ้โพชฌงค์ ๗ นั้นขอร้องให้ศึกษาให้ดีๆ มันเป็นหลักเป็นประธานอย่างยิ่ง
ในการศึกษาเล่าเรียนก็ดี ในการทำงานก็ดี ในการจะได้รับผลงานดำรงชีวิต ดำเนินชีวิตก็ดี ข้อหนึ่งสติ คือ เลือกเอามาทั้งหมดในบรรดาความรู้ที่เรามี เอามาทั้งหมด เอามากองลง แล้วก็เลือก เลือก เลือก นี่เรียกว่าธัมมวิจยะ วิจัยใคร่ครวญว่าจะใช้อะไร อย่างไร
วิริยะก็พากเพียร กระทำตามที่ได้เลือกแล้ว ปีติพอใจในการกระทำ ก็กระทำได้เรื่อยไม่รู้จักเหน็ดไม่รู้จักเหนื่อย เหงื่อออกมาก็เป็นน้ำมนต์นะ ถ้ามันมีวิริยะที่ถูกหล่อเลี้ยงไว้ด้วยปีติ ถ้าทำอย่างนี้ มันก็เข้ารูปเข้ารอย เข้ารูปเข้ารอย เข้ารูปเข้ารอย แล้วเขาก็มีสมาธิเติมกำลังลงไป สมาธิ เติมกำลังของสมาธิลงไป มันเพียงพอแล้วมันก็ไป มันก็ไป ก็นั่งดูกันไปควบคุมกันไปให้มันไปอย่างถูกต้องจนกว่าจะถึงที่สุด
ขอยืนยันว่าในการศึกษาเล่าเรียนของท่านทั้งหลายก็ดี ในการที่จะไปปฏิบัติหน้าที่การงานต่อไปก็ดี ในการที่จะรับผลของการงานก็ดี จะทำให้มันงอกเงย เป็นกำไรอะไรออกไปอีกก็ดี ใช้หลักเกณฑ์อันนี้แล้วไม่ไปไหน ไปสู่ความสำเร็จที่เป็นจุดหมายปลายทางทั้งนั้น เป็นเทคโนโลยีกี่มากน้อยขอให้คิดดูเอาเองว่าในโพชฌงค์ ๗
โพชฌงค์ ๗
โพชฌงค์แปลว่า องค์ประกอบของการตรัสรู้ที่เป็นมรรคเป็นผลขึ้นมา นี่เรียกว่า มันมีเทคโนโลยีอยู่ในธรรมะ
ในพุทธธรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบอันใหญ่โตเพื่อการตรัสรู้ เพื่อการตรัสรู้ เรียกเป็นภาษาบาลีก็ยืดยาวหน่อยว่า โพธิปักขิยธรรม ธรรมะเป็นฝักฝ่ายแห่งการตรัสรู้
ถ้ามีธรรมะเหล่านี้ แล้วไม่ไปไหน ไม่ไปไหน ไปสู่การตรัสรู้ท่าเดียว ขอให้ช่วยศึกษาให้ยิ่ง ยิ่งขึ้นไปแล้วก็เอามาปฏิบัติให้มันยิ่งๆ ขึ้นไป มีสติ มีธัมมวิจยะ มีวิริยะ มีปีติ มีปัสสัทธิ มีสมาธิ มีอุเบกขา ก็จะเป็นไปจนถึงที่สุด
เราไม่ต้องไปเร่งว่า ให้ถึงที่สุดคือออกมา ออกมา เรามีแต่ทำให้ถูก ทำให้ถูก ทำให้ถูก ทำให้ถูก ทำให้ถูก แล้วก็ควบคุมความถูกต้องว่าให้มันเป็นไป เป็นไป แล้วมันก็ถึงที่สุดเอง เมื่อชาวนาทำนา ทำถูกต้องแล้ว ก็นั่งดูข้าวออกรวง ถ้ามาๆมา มานั่งคิดให้มันหนักอกหนักใจ ข้าวจงออกรวง จงออกรวง ข้าวจงออกมา โว้ยชาวนาบ้านะ อย่าไปเอากับมันเลยทำให้มันถูกต้อง ถูกต้อง ถูกต้อง ถูกต้อง แล้วมันก็ไปของมันเอง มันก็ไปถึงที่สุดของมันเอง
เห็นไหมว่า ในระบบธรรมะอันใหญ่หลวง อันมหาศาลในพุทธธรรม ในพุทธศาสนานี้ ๓๗ ประการ ถ้านับรวมกัน สติปัฏฐาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ แล้วก็มีมรรคมีองค์ ๘ ที่พูดมาแล้ว ถ้าโพชฌงค์สมบูรณ์แล้วมรรคมีองค์ ๘ ไม่ไปไหนเสีย มรรคมีองค์ ๘ มีแล้วก็ถึงพระนิพพาน นับเรียงอย่างได้ ๓๗ ประการ นับเป็นหมวด หมวด ก็ได้ ๗ หมวด เต็มไปด้วยเทคโนโลยีทุกปรมาณูเลย ใช้คำว่า อย่างนั้น นี่ธรรมะในฐานะที่มันเป็นเทคโนโลยีก็ให้ดูธรรมะ ที่เป็นเหตุให้ได้ตรัสรู้ก็เรียกว่า โพธิปักขิยธรรม ดูความที่มันส่งเสริมซึ่งกันและกันใน ๓๗ อย่างนี้ จะส่งเสริมตัวเอง แล้วก็จะส่งเสริมสิ่งอื่นที่เข้ามาเกี่ยวข้อง
ยกตัวอย่างอีกสักเรื่องหนึ่ง ที่มันง่าย งาย หรือมันใกล้ ใกล้ คือเรื่องที่เรียกกันว่า ไตรสิกขา คงจะเคยได้ยินมาแล้ว
ถ้าไม่เคยได้ยินมาก็นับว่าแย่เต็มที ไตรสิกขา คือ การศึกษา ๓ อย่างคือ ศีล สมาธิ ปัญญา สามอย่างนี้ เรียกว่า ไตรสิกขา ศีลทำให้ถูกต้องในส่วนกาย วาจา สมาธิทำให้ถูกต้องในส่วนจิต ปัญญาทำให้ถูกต้องในส่วนปัญญา
ไม่ซ้ำกัน หมวดที่เกี่ยวกับกายวาจาก็เป็นเรื่องของศีลทำให้ถูกต้อง หมวดจิตให้มีจิตให้มีสมรรถนะดี มีสุขภาพ
ทางจิตดี เป็นจิตสมบูรณ์ดี นี่เรียกว่าสมาธิ มันก็มีปัญญารอบรู้ รอบรู้ เข้าใจถูกต้องรอบรู้ ความรู้ความคิดความเห็น
ความเชื่อหรืออุดมคติ
อะไรก็ตามที่มันถูกต้อง เรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นหลักสำคัญเห็นได้ชัด ชัด เป็นหลักนี่ มันคงอยู่ได้ ไม่ตายแล้วก็เจริญงอกงาม มีศีลเป็นพื้นฐาน เหมือนแผ่นดินที่เราจะตั้งบ้านสร้างเรือน จะอยู่อาศัยก็เหมือนกับแผ่นดิน เรียกว่าศีลเป็นศีลเหมือนกับแผ่นดิน แล้วก็มีสมาธิเรื่องจิตเป็นจิตที่มีกำลัง แล้วก็มีปัญญา มีความรู้ที่ถูกต้อง อย่าไปบูชาปัญญาโดยที่ไม่มีสมาธินะ มันจะโง่ ปัญญา ปัญญา อย่างเดียว มันก็เปรียบเสมือนความคม คม คม คม คมไปเถอะคมเท่าไรก็คมไปเถอะ นั่นแหละคือตัวปัญญา แต่อย่าลืมว่าถ้าไม่มีน้ำหนักมา มันไม่ตัดนะ มีแต่ความคมไม่มีน้ำหนักลงมากดความคมอย่างนั้นมันไม่ตัด นี้มันก็เป็นเทคนิค เป็นเทคโนโลยีเต็มที่อยู่แล้ว
เห็นได้ง่ายชัด ชัด อยู่แล้วว่า ถ้ามีแต่ความคมไม่มีน้ำหนักมันไม่ตัด มันต้องมีความคม เออ มีน้ำหนักมากดความคมลงไปมันจึงจะตัด สมาธิมันก็เนื่องกับปัญญา ปัญญามันก็เนื่องกับสมาธิ สมาธิเป็นน้ำหนัก ปัญญาเป็นความคม
นี่ก็เรียกว่า มันส่งเสริมตัวมันเอง แล้วมันก็ส่งเสริมซึ่งกันและกัน เป็นศีลสมาธิปัญญาขึ้นมา แล้วมันก็ส่งเสริม
คำอื่นธรรมะข้ออื่นยิ่ง ยิ่ง ขึ้นไปจนบรรลุมรรคผลนิพพาน
นี่เทคโนโลยีหรือความลับของธรรมชาติที่มีอยู่ในการศึกษาการปฏิบัติธรรมะ เป็นหญ้าปากคอกที่จะต้องรู้เรื่อง
ศีล สมาธิ และปัญญา จงทำตัวเองให้มี สิ่งที่เรียกว่าศีล มีศีลแล้ว ก็มีสมาธิได้โดยง่าย มีสมาธิ แล้วก็มีปัญญาให้สำเร็จประโยชน์ นี่เรียกว่า ตัวอย่างที่เห็นได้ง่าย ถ้าเราไม่รู้เรื่องนี้ เราก็หลับตา หลับตาหูหนวกด้วย เดินไปซิ จะเดินไปได้อย่างไร ต้องมีความเข้าใจแจ่มแจ้งในข้อนี้
ต่างฝ่ายต่างอย่างต่างทำหน้าที่แล้วก็สัมพันธ์กัน มันมีหน้าที่ที่จะต้องสัมพันธ์กันอีกทีหนึ่ง ในตัวเองก็ถูกต้อง แล้วก็ต้องถูกต้องในการที่จะสัมพันธ์กัน ในครอบครัวหนึ่ง ครอบครัวหนึ่ง แต่ละคน แต่ละคน ต้องถูกต้อง แล้วทุกคนมันต้องสัมพันธ์กันเป็นครอบครัวที่ดี อย่างนี้เป็นต้น
เห็นได้ชัด ชัดว่า ไอ้การจะสัมพันธ์กันอยู่อย่างถูกต้องนั้นนะมีความสำคัญอย่างยิ่ง ด้วยมนุษย์มันเป็นตัวชีวิต
มันจะต้องสัมพันธ์กับสิ่งรอบตัวโดยถูกต้อง เราแต่ละคน แต่ละคน ต้องมีความสัมพันธ์กับสิ่งรอบตัวเรา ถึงมันจะมีกี่สิบ กี่ร้อย กี่อย่าง ช่างหัวมัน แต่ต้องมีการสัมพันธ์กันอย่างถูกต้อง สัมพันธ์กันอยู่อย่างถูกต้อง มีความลึกซึ้ง
ที่สัมพันธ์กันอยู่อย่างถูกต้อง
นี่เรียกว่าเป็นตัวธรรมะที่มีความลับซ่อนอยู่ในนั้น เรียกว่า เป็นเทคโนโลยีก็ได้ ก็แล้วแต่จะเรียก เป็นธรรมะที่เป็นเทคนิคอยู่ในตัวมันเอง มันมีความถูกต้อง อยู่ในตัวมันเอง มันก็ต้องถูกต้องตามกฏอิทัปปัจจยตา คำนี้เข้าใจว่าอาจจะไม่เคยได้ยินหรือเคยได้ยินแล้วก็ไม่เข้าใจก็ได้ แต่เป็นตัวสำคัญเป็นตัวหัวใจของพุทธศาสนาหรือหัวใจของธรรมชาติ เรียกว่า กฏอิทัปปัจจยตา อิทัปปัจจยตา พูดให้ติดปากไว้บ้าง ก็จะดีมันจะง่ายในการศึกษา
อิทัปปัจจยตา หมายความว่าทุกอย่างมันมีเหตุ มีปัจจัยของมัน และทุกอย่างนั้นต้องเป็นไปตามเหตุเป็นไปตามปัจจัยของมัน นี่หัวใจของพระพุทธศาสนาอย่างหนึ่ง ที่เรียกว่าเป็นศาสนาแห่งเหตุผล คือ ชี้ระบุให้เห็นว่าทุกอย่างมีเหตุ
มีปัจจัย เหตุโดยตรง ปัจจัยโดยตรงโดยอ้อม ก็เรียกว่าเหตุ เรียกว่าปัจจัย ปัจจัยใหญ่ปัจจัยโดยตรงนำหน้า ปัจจัยบริวารแวดล้อม เหตุปัจจัยนี่จะต้องมีอยู่ในทุกสิ่ง ทุกสิ่งก็เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย เป็นไปอย่างอื่นไม่ได้ต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย
ความที่เป็นอย่างนี้ หรือต้องเป็นอย่างนี้เรียกว่า กฎของอิทัปปัจจยตา กฎของอิทัปปัจจยตา ทุกอย่างมีอยู่
ตามธรรมชาติก็เป็นไปตามกฏอิทัปปัจจยตา ถึงแม้เราจะไปเอาอะไรมาปรุงขึ้นมา ปรุงขึ้นมา เป็นของใหม่ มันก็ยังต้องเป็นไปตามกฏอิทัปปัจจยตา เช่นว่า เราจะไปเอาดินมา เอาน้ำมา เอาขี้เถ้ามา เอาแกลบมามาบดมาผสมแล้วก็ปั้นขึ้นมาให้เป็นภาชนะ แล้วไปเผาให้เป็นภาชนะขึ้นมา เราทำขึ้นมา แล้วมันก็เป็นไปตามกฏอิทัปปัจจยตา
ถ้าไม่ถูกต้องตามกฏอิทัปปัจจยตา มันก็ไม่สำเร็จ มันเป็นไปไม่ได้ พอที่เราทำให้เกิดขึ้นมาผลิตเป็นของใหม่ขึ้นมา ก็ยังต้องเป็นไปตามกฏอิทัปปัจจยตา ที่มันเป็นไปเองตามธรรมชาติมันก็ยังถูกต้องตามกฎของอิทัปปัจจยตา เพราะฉะนั้น ช่วยสนใจเถอะ สิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์เหมือนพระเป็นเจ้าในพุทธศาสนานี้ เรามีกฏอิทัปปัจจยตา เป็นเสมือนพระเป็นเจ้า ในศาสนาอื่นก็มีพระเป็นเจ้า พระเป็นเจ้ามีความรู้สึกอย่างบุคคล ตามใจเขา ช่างหัวเขา แต่เราก็มี
พระเจ้าอย่างของเรา ของพุทธบริษัทคือกฎของอิทัปปัจจยตา เฉียบขาดที่สุดก็ต้องเป็นอย่างนี้ ต้องเป็นไปตามนี้
เพื่อทำความเข้าใจระหว่างศาสนาอย่าไปทะเลาะกัน แล้วก็มีพระเจ้าทั้ง ๒ ชนิดก็แล้วกัน พระเจ้าอย่างที่ถูกสมมติให้เป็นบุคคลขึ้นมา อยู่ในสวรรค์บันดาลสิ่งต่างๆ สมมติขึ้นมา โดยไม่ต้องสมมติก็คือกฎของธรรมชาติที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ตามธรรมดา นี่ก็เป็นพระเจ้าที่อย่างกฎของธรรมชาติ เรียกง่ายๆ พระเจ้าอย่างบุคคล คือมีความรู้สึกอย่างบุคคล นีพระเจ้านะ แล้วพระเจ้าที่ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่บุคคล เป็นกฎ กฎ กฎของธรรมชาติ นี่ก็พระเจ้าหนึ่ง
เลือกถือเอาตามความพอใจโดยไม่ต้องทะเลาะกัน ก็สามารถจะแปลความหมายให้มันเข้ากันได้ตรงกันได้ แต่ว่าไม่ว่าพระเจ้าชนิดไหนมีกฎเกณฑ์แห่งเทคโนโลยีที่จะต้องเป็น หาของไกลตัว มันต้องทำอย่างนั้น จึงจะเกิดผลอย่างนั้น ต้องทำอย่างนั้น จึงจะเกิดผลอย่างนั้น ทำอย่างนั้นจึงจะเกิดผลอย่างนั้น ถ้าทำอย่างให้เกิดทุกข์ ก็เกิดทุกข์ ทำอย่าง
ไม่เกิดทุกข์ก็ไม่เกิดทุกข์ ทำอย่างให้วินาศ ก็วินาศ ทำอย่างให้เจริญ ก็เจริญ
กฎของอิทัปปัจจยตา เป็นตัวบังคับเทคโนโลยีของธรรมชาติหรือเป็นตัวเทคโนโลยีเสียเองนะ เป็นเจ้าแห่งเทคโนโลยีเสียเอง นี่เรียกว่ากฎอิทัปปัจจยตา มันน่าอัศจรรย์ที่ว่าจะทำให้เกิดก็ได้ ทำให้ดับก็ได้ ทำให้เจริญก็ได้
ทำให้เสื่อมก็ได้ มันมีกฎเกณฑ์แห่งเทคนิค คือเคล็ด มีกฎเกณฑ์แห่งเทคโนโลยีคือการใช้เคล็ด มีกฎเกณฑ์แห่ง
วิศวะคือ ทำให้ถูกต้องในข้อปลีกย่อยทุกอย่าง ทุกอย่าง ให้สำเร็จประโยชน์เจริญสูงสุดในโลกนี้ก็ได้ เจริญสูงสุดในทางธรรมะ คือบรรลุมรรคผลนิพพานก็ได้
น่าอัศจรรย์ น่าอัศจรรย์ไหม ลองคิดดูสิ สามารถให้เกิดก็ได้ ให้ดับก็ได้ ให้ถูกตามที่ต้องการก็ได้ ไม่ให้ตรงตาม
ที่ต้องการก็ได้ แล้วแต่ว่ามันทำผิดหรือทำถูก ถ้าเรามีความรู้เรื่องนี้นะ เราจะเป็นคนฉลาด ฉลาดในเทคโนโลยีของธรรมชาติ แล้วเราก็มีสมรรถนะ ทางจิต คือจิตของเราอบรมดี ความฉลาดก็มีคือปัญญา จิตอบรมดี มีสมาธิ
ง่าย เหลือจะง่าย ในการที่จะทำหน้าที่หรือสิ่งที่พึงปรารถนาให้ลุล่วงไปด้วยดี มันก็ยิ่งง่ายๆ ขอให้เราฉลาด แล้วมีสมรรถนะในการที่จะใช้ความฉลาด ตัวฉลาดมันเป็นตัวเทคนิค สมรรถนะที่จะใช้ความฉลาด มันเป็นตัวเทคโนโลยีเอามาใช้คู่กัน อย่าให้มันต้องแยกจากกันในระหว่างเทคนิคกับเทคโนโลยี งั้น แปลว่ามันน่าสงสาร มันอยู่ในสภาพที่น่าสงสารที่ว่ามันไม่ไปในทางนั้น
มันมีอุปสรรคที่เป็นข้าศึกอย่างใหญ่หลวงคือ อวิชชา อวิชชา คำนี้แปลว่าปราศจากความรู้ที่ถูกต้อง มันไม่ใช่ไม่รู้ มันรู้แต่มันรู้ผิด ผิด ก็เท่ากับไม่รู้ จึงแปลอวิชชาว่า ไม่รู้ก็ได้หรือรู้ ไม่ถูกต้อง ไม่ถูกตามความเป็นจริงก็ได้ เรามีอวิชชา เราจึงโง่ เราจึงหลงไปใช้วิธีการอย่างอื่น แม้จะใช้วิธีการอย่างนี้ ก็ไม่อาจจะใช้อย่างถูกต้องเพราะเรามีอวิชชา
ดังนั้น เราจึงต้องมีการศึกษา มีการศึกษา ในแง่ของเทคนิคก็ดี ในแง่ของเทคโนโลยีก็ดี ในแง่ของวิศวะก็ดี ในแง่ของสถาปัตย์ก็ดี ในแง่ของศิลปะก็ดี เราจะต้องศึกษา ศึกษาเพื่อจะกำจัดอวิชชานี้ให้ออกไป ให้ออกไป เรากำจัดอวิชชาได้เท่าไร แสงสว่างก็จะเกิดขึ้นเท่านั้น แสงสว่างในทางธรรมจะเกิดขึ้น เทคโนโลยีของธรรม ของการ
ที่จะเป็นไปตามทางธรรม มันก็เกิดขึ้นมาเท่านั้น แล้วก็สำเร็จประโยชน์ตามที่ต้องการ
เอาล่ะ ขอพูดโดยสรุปทั้งเรื่อง อีกทีหนึ่งว่า ไอ้เทคนิค เทคโนโลยีนี่ มันก็มีเทคโนโลยีที่เป็นตัวหลัก ตัวหลัก แล้วก็มี
ที่เป็นตัวองค์ประกอบ องค์ประกอบ เป็นตัวหลักการ ประธาน ประธาน แล้วมีตัวองค์ประกอบ แต่ก็น่าประหลาด น่าอัศจรรย์ที่ว่า บางทีธรรมะชื่อเดียวกันนั้นนะ ในบางเวลามันก็เป็นตัวหลัก ตัวหลัก ตัวหัวหน้า ตัวประธาน
แต่ในบางเวลามันก็เป็นตัวประกอบ มันไม่ใช่เรื่องตลก มันเป็นอย่างนั้นได้ แล้วแต่จะใช้มัน ในเวลานี้มีความสำคัญเป็นหัวหน้า เวลาอื่นมีความสำคัญ เพียงว่าเป็นลูกน้อง
ยกตัวอย่าง ในเรื่องของธรรมะที่แท้จริงและสูงสุดที่เรียกว่า อริยมรรคมีองค์ ๘ ยกตัวอย่างก็คือสัมมาทิฏฐิ ทิฏฐิ สัมมาทิฏฐิ แปลว่ามีทิฏฐิที่ถูกต้อง ทิฏฐิในที่นี้ก็คือความเห็น ความคิดเห็นซึ่งเป็นเหตุให้มีความเชื่อ มีความรู้ มีอุดมคติที่ถือเอาเป็นหลัก นี้ก็เรียกว่าทิฏฐิ ถ้าถูกต้องมันก็เรียกว่าสัมมาทิฏฐิ ในกรณีหนึ่งเมื่อเป็นตัวนำหน้า ตัวนำหน้า ต้องมาก่อนไอ้สิ่งต่าง ต่าง มันจึงจะเป็นไปได้ด้วยดี มีสัมมาทิฏฐินำหน้า จนถึงกับเกิดหลักขึ้นมาว่า สมฺมาทิฏฺฐิสมาทานา สพฺทุกฺขํ อุปจฺจขุ คนเราล่วงความทุกข์ทั้งปวงได้เพราะมีสัมมาทิฏฐิ มีสัมมาทิฏฐินำหน้าแล้วก็ล่วงทุกข์ทั้งปวงได้ นี่สัมมาทิฏฐิมันเป็นตัวหลักการนี้ มันเป็นตัวนำในตัวมันเอง
แต่แล้วพอมาถึงในระยะสุดท้ายมันเป็นองค์ประกอบของสมาธิ เมื่อสมาธิเป็นไปสูงสุด สัมมาทิฏฐิก็เป็นผู้ช่วยผู้สนับสนุนให้มีความถูกต้องต่อไป มรรคมีองค์ ๘ มรรคมีองค์ ๘ นั้นนะ ตัวสัมมาสมาธิมันอยู่รั้งท้าย พอถึง
จุดสุดท้ายตัวสัมมาสมาธิ นี่มันจะทำหน้าที่ตัดปัญหา ตัดกิเลส ตัดอะไร ไอ้ที่ ๗ ที่เหลืออยู่ ๗ นั้นเป็นบริวาร
เป็นบริวารของสัมมาทิฏฐิหมด ตอนนี้ ของสัมมาสมาธิหมด
ตอนนี้ที่ว่าสัมมาทิฏฐิมันมากลายเป็นบริวาร เรื่องของสัมมาสมาธิ ทั้งที่ว่า ตลอดเวลาที่แล้วมามันนำ มันนำ สัมมาสมาธิให้ไปถูกทาง แต่พอถึงคราวที่สัมมาสมาธิ มันจะตัดกิเลสนี่ มันก็มากลายเป็นองค์ประกอบให้ตัดอย่างถูกต้องอีกที นี่น่าหัว ไปคิดดูเถอะ บางอย่างบางเวลาทำหน้าที่เป็นหลัก เป็นประธาน บางเวลามันกลายเป็นลูกน้อง เป็นอุปกรณ์เป็นผู้ช่วย
แม้นี้ มันก็เป็นเทคโนโลยี เป็นเทคโนโลยีของพุทธธรรม หรือธรรมะตามธรรมชาติ เป็นองค์ประกอบในบางเวลาเป็นหัวหน้า ในบางเวลา แล้วก็ผลัดกันเป็น ผลัดกันเป็น จะกันดูอีกที ให้มันใกล้ตัว หรือว่าในตัวขึ้นมาก็ดูว่า เรามีส่วนประกอบของชีวิตซึ่งแบ่งออกเป็น ๕ ส่วน เรียกว่าขันธ์ ๕
ขันธ์ทั้ง ๕ คือรูป ร่างกายนี้ แล้ว เวทนาความรู้สึกสุขทุกข์ สัญญาความสำคัญมั่นหมายว่ามันเป็นอะไร สังขารความคิดนึก คิดนึกปรุงแต่งขึ้นมา วิญญาณความรู้แจ้งทางตาหูจมูกลิ้นกายใจ นี่เรามี ๕ อย่างนี้นะชีวิตมี ๕ อย่างนี้เรียกว่า ขันธ์ ๕ นะ เป็น ก.ข. ก.กา ของธรรมะในพุทธศาสนา ถ้าไม่รู้ก็แย่มากเลย ศึกษามาเป็นวรรคเป็นเวรไม่รู้จักสิ่งที่เรียกว่าขันธ์ ๕ ชีวิตอัตภาพร่างกายทั้งหมดนี้แยกออกเป็น ๕ ส่วน ส่วนที่เป็นรูปเรียกว่า รูปขันธ์ คือร่างกาย ส่วนที่เป็นเวทนา คือมันเกิดความรู้สึก ในแง่ของการเป็นสุขเป็นทุกข์ เป็นบวกเป็นลบ เป็นดีเป็นชั่วเป็นได้เป็นอะไรต่างๆ นี่เรียกว่าเวทนา
สัญญามั่นหมายว่า นี่ตัวกู นี่ของกู หรือนี่เป็นอะไร เป็นอะไรก็แล้วแต่ นี่เป็นหญิง นี่เป็นชาย นี่เป็นได้ นี่เป็นเสีย
นี่เป็นขาดทุน นี่เป็นกำไร มั่นหมายอย่างนี้ เรียกว่าสัญญา มีอยู่ในบางเวลา สังขารมันมีสัญญาแล้วก็สังขารก็คิดเป็นไปตามสัญญาปรุงแต่ง คิดนึกจะทำอะไร จำได้อะไร จะมีอะไร พยายามกระทำไป กำลังทำกรรมอย่างนั้น
อย่างนี้เรียกว่าสังขาร
แล้วต้องมีวิญญาณอยู่เป็นหลัก ที่ว่ารู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ครั้งแรกก็รู้ตามกฎของธรรมชาติตามแบบของธรรมชาติ เช่นว่า ตารู้จักคลื่นแสงที่มากระทบตา มิติอย่างไร สีสันอย่างไร หูก็รู้จักคลื่นเสียงว่ามีอะไร อย่างไร เท่าไร นี่เรียกว่ารู้ชั้นแรก รู้อย่างสับโขลกลงไป ต่อมามีวิญญาณ มโนวิญญาณก็รู้อีกทีว่านั่นมันหมายความว่าอะไร ที่มันมีมิติอย่างนั้น มีรูปอย่างนั้นมีสีอย่างนั้น มันคืออะไร เช่น เดินตะคุ่มๆ มา รู้ว่ามีมิติอย่างนั้น มีสีอย่างนั้น
นี่รู้ด้วยจักษุวิญญาณ
ต่อมามโนวิญญาณมันรู้ว่า อ้อ นี่มันผู้หญิงว่ะ นี่มันผู้ชายว่ะ รู้ไปถึงว่ามันมีคุณสมบัติอย่างไร มีคุณค่าอย่างไร มีฤทธิ์มีเดชอย่างไร วิญญาณอย่างนี้มันมีอยู่ ๒ ชั้นนะ ผัสสะมันมี ๒ ชั้นไปตามอำนาจของวิญญาณ ถ้าไม่มีวิญญาณมันก็เท่ากับตายแล้ว คือมันไม่รู้อะไร
ขันธ์ทั้ง ๕ นี้ มันสับเปลี่ยนกันส่งเสริมกันส่งเสริมตัวเองและส่งเสริมซึ่งกันและกัน ถ้าไม่มีรูปขันธ์ มันก็ไม่มีเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ถ้าไม่มีความรู้สึกทางเวทนา มันก็ทำอะไรไม่ได้ มันไม่มีความมุ่งหมายอะไรเกิดขึ้นถ้าไม่มีสัญญามั่นหมายอะไรก็ไม่มีกำลังจิตที่จะเอามันเต็มที่ ไม่มีสังขารก็คิดนึกอะไรไม่ได้ มันก็เหมือนกับท่อนไม้ ไม่มีวิญญาณก็สัมผัสอะไรในภายนอกตัวไม่ได้
นี่ขันธ์ ๕ มันมีหน้าที่ที่จะส่งเสริมตัวมันเองแต่ละขันธ์ ละขันธ์ แล้วมันก็ส่งเสริมรอบด้าน คือ ส่งเสริมครบทั้งหมดทั้งหมู่ทั้งกลุ่ม แล้วมันก็เป็นที่ตั้งแห่งการปฏิบัติเพื่อบรรลุผล เป็นสุขเป็นทุกข์ เป็นมรรคผลเป็นนิพพาน มันมีเทคโนโลยีกี่ขั้นตอน ไปดูเอาเองก็แล้วกันว่า แม้แต่ไอ้ขันธ์ ๕ ขันธ์ทั้ง ๕ นี่มันยังเป็นได้มากถึงขนาดนี้
เรียกให้มันสั้น ๕ ให้เหลือเพียง ๒
๕ มันมากแล้วเหลือเพียง ๒ คือกายกับใจ กายกับใจ กายส่งเสริมตัวเองแล้วก็ส่งเสริมใจ ใจส่งเสริมตัวเองแล้วก็ส่งเสริมกาย มันผูกพันกัน ไม่มีกาย ก็ใจก็ไม่มีได้ มีไม่ได้ ไม่มีใจกายก็เป็นท่อนไม้ มันทำอะไรไม่ได้ มันส่งเสริมตัวมันเองให้มีอยู่ แล้วก็ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างกัน นี่เรียกว่ามันเป็นเทคโนโลยีของธรรมชาติ บางทีมันก็ทำหน้าที่พร้อมกันไป ทั้ง ๒ อย่าง คือทั้งส่งเสริมตัวเองและส่งเสริมสิ่งอื่นที่เข้ามาเกี่ยวข้อง
มันเป็นไปได้โดยอัตโนมัติ มันเป็นไปได้โดยธรรมชาติ โดยธรรมชาติ โดยธรรมชาติ เป็น Subconscious ที่เรา
ไม่รู้สึกตัวก็มี เราไม่รู้สึกตัวก็มี แต่มันก็ทำหน้าที่ส่งเสริมตัวมันเอง และส่งเสริมสิ่งที่มาเกี่ยวข้อง เป็นไปตามธรรมชาติโดยที่เราไม่รู้สึกตัว
อุปมา อุปมาว่า มันเหมือนกับนาฬิกาในตัวชีวิตแต่ละคน แต่ละคน มันมีนาฬิกาที่มันเดินอยู่เองตามธรรมชาติ
ในตัวชีวิต มันจึงรู้สึกของมันได้ในตัวไปตามลำดับ ตามลำดับ เช่นว่า มันตื่นนอนขึ้นมาเองตอนเช้า อะไรก็ไม่รู้
มันถึงขนาดนาฬิกาเดิน ตื่นนอนขึ้นมาในตอนเช้า แล้วมันก็หิว หิวเอง แล้วมันก็หากินเอง แล้วมันก็อิ่มเอง แล้วมันก็พักผ่อนเอง เดี๋ยวมันก็ง่วงนอนเอง เดี๋ยวมันหลับเอง เดี๋ยวมันตื่นเอง เหมือนกับนาฬิกาที่ไม่รู้ว่า ใครควบคุมมัน หรือใคร ทำให้มันเดิน ในตัวชีวิตเรามันมีเทคโนโลยีของธรรมชาติควบคุมอัตภาพทั้งหมด เสมือนหนึ่งว่าเป็นนาฬิกาแห่งชีวิต
ถ้าคุณไม่มีนาฬิกาแห่งชีวิตอย่างไร คุณก็นอนจนเป็นเจ้าหญิงนิทรา ไม่ต้องตื่นนะซิ แต่ทำไมมันทำให้มันตื่นได้เอง ถ้ามันตื่นได้เอง แล้วมันก็ทำอะไรได้เอง แล้วมันก็ง่วงนอนเอง แล้วมันก็กลับไปนอนอีก แล้วมันก็ตื่นได้อีก นี่เรียกว่ามันมีความลับของมัน แต่ว่ามันไม่ใช่ความลับ มันเป็นเทคโนโลยีของธรรมชาติที่ควบคุมอัตภาพร่างกายนี้อยู่ในลักษณะอย่างนี้เรียกว่ามันมีนาฬิกาอยู่ในตัวชีวิต แล้วไอ้มนุษย์โง่ โง่ นี่มันทำให้เสียระเบียบหมด เวลาควรนอนไม่นอน เวลาควรกินไม่กิน มันไปทำให้ยุ่งยากไปหลงใหลในอบายมุขเสียก็มี มันก็ได้เกิดโรคบ้า บ้า บอ บอ
โรคเอดส์โรคแอดอะไร สมน้ำหน้ามันนะ นะ ถ้ามันไม่รู้เรื่องนี้
อะ, ทีนี้มันยังมีนาฬิกาใน วัฏฏะ วัฏสงสาร คือไม่ใช่ในตัวคนเดียวชาตินี้ตามความเชื่อนะก็มีการเวียนว่ายตายเกิด เวียนว่ายตายเกิด เวียนว่ายตายเกิด มันก็มีนาฬิกาแห่งวัฏสงสาร ตลอดเวลาที่มันแล่นไปในวัฏสงสารนั้น มันก็ตื่นขึ้น ตื่นขึ้น มันท่องเที่ยวไปเรื่อยมันเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย มันเกิดความรู้ใหม่ ใหม่ ขึ้นมาเรื่อย ชีวิตหรือวัฏสงสารมันเป็นการเล่าเรียน เล่าเรียนอยู่ในตัวมันเอง แล้วมันก็เป็นการสอบไล่อยู่ในตัวมันเอง เดี๋ยว เจ็บปวด เดี๋ยวสบายโง่หรือฉลาดมันก็สอบไล่ในตัวมันเอง ให้มันตัดสินว่าสอบไล่ได้สอบไล่ตก ไปอยู่สวรรค์ไปอยู่นรกได้ ในตัวมันเอง แล้วแต่มันจะสอบไล่ได้สอบไล่ตก
มันก็เป็นการเพิ่มพูนความรู้ขึ้นไปเรื่อย เรื่อย เรื่อย เรื่อย เรื่อย เรื่อยๆ นี่เป็นนาฬิกาที่แน่นอนเที่ยงแท้ ที่ว่ามันจะมีความรู้เพิ่มขึ้นเรื่อย เรื่อย แต่ว่าเรือนไหนจะเดินช้าเรือนไหนจะเดินเร็วนี่ไม่แน่นะ แต่ว่ามันแน่ที่ว่าที่มันจะต้องเป็นการเรียนรู้ในตัววัฏสงสาร ในที่สุด ก็มาถึงจุดที่ออกจากวัฏสงสาร บรรลุนิพพานได้โดยแน่นอน มันก็หยุดเวียนว่าย หยุดเวียนว่าย เมื่อถึงโอกาสหรือกรรมพร้อมที่มันจะหยุด มันถึงขนาดแล้ว มันพร้อมที่จะหยุด ถ้าว่าได้รับการศึกษาที่ดี มันก็เร่งให้การหยุดมันมีได้เร็วเข้า ดังนั้น เราจึงดับความทุกข์นี้ได้ช้าบ้าง ได้เร็วบ้าง แล้วแต่ว่าการศึกษา ศึกษาของเราที่เป็นไปในวัฏสงสาร ตรงนี้ขอโอกาสแทรกสักหน่อยว่าคำว่าศึกษา ศึกษา ศึกษาในโลก Education ไม่รู้
เขาหมายถึงอะไรเราก็ไม่ค่อยรู้ แต่ว่าถ้าเอาศึกษา ศึกษาในทางภาษาบาลี ภาษาธรรมะ คำว่าศึกษานี่มีความหมายมากและน่าสนใจที่สุด สยํ สยํ นั้นแปลว่า เอง เอง เองโดยตัวเอง อิกฺข อิกฺข นี่แปลว่ามันเห็น มันดูแล้วมันเห็น สยํ กับ อิกฺข รวมเป็น สิกขะ เต็มรูปเขาก็เรียกว่า สิกขา คือการศึกษา มันต้องดู มันต้องมีการดู ดูด้วยตนเอง ดูตนเอง
ดูภายในตัวเอง วิจัยวิจารณ์ด้วยตนเอง เห็นแจ้งเอง ปฏิบัติเอง ได้รับผลเอง นั้นนะเป็นการศึกษาจะสมบูรณ์ต่อเมื่อ
มันดูตัวเอง เห็นตัวเอง รู้จักตัวเอง วิจัยวิจารณ์ตัวเอง เลือกการกระทำที่ถูกต้องเอง แล้วก็ได้รับผลเป็นที่พอใจเอง รวมทั้งหมดนั้นเรียกว่าการศึกษา
การศึกษาในลูกเด็ก เด็ก แล้วเที่ยวไปจดไว้ในสมุด ก็เป็นการศึกษา แม้ฟังครูพูดก็เป็นการศึกษานะ ถึงแม้การศึกษาระดับมหาวิทยาลัยก็ไปดูเถอะ สังเกตดูให้ดี ดี มันจะไม่ครบน่ะ จะไม่ครบตามความหมายของภาษาบาลี ดูตัวเอง ด้วยตนเอง ในตัวเอง เห็นตัวเอง รู้จักตัวเอง วิจัย วิจารณ์ตัวเอง เลือกปฏิบัติให้เหมาะสมกับตัวเอง แล้วก็รับผลตามที่พอใจ นี่เรียกว่า สิก สิกขา คือการศึกษาตามความหมายในภาษาธรรมะหรือบาลี
มันไม่ใช่ Study เรียนจดไว้ในสมุด Education ฝรั่งจะหมายถึงอะไรก็ไม่ทราบ ก็ดูไม่สมบูรณ์อย่างที่กล่าวไว้ในภาษาบาลีนี่ล่ะ ดูตัวเอง ภายในตัวเอง ด้วยตนเอง โดยตนเอง เพื่อตนเอง แล้วก็เห็นตัวเอง รู้จักตัวเอง วิจัยวิจารณ์ตัวเอง เลือกความเหมาะสมที่จะประพฤติ กระทำ จนได้รับผลดีแก่ตัวเอง รวมทั้งระบบนี้ ทั้งหมดเรียกว่า การศึกษา เป็นเทคโนโลยีกี่มากน้อย ไปดูเอา มันเป็นเทคโนโลยีกี่มากน้อย ที่จะดูตัวเอง ด้วยตนเอง ในตัวเอง เห็นตัวเอง
รู้จักตัวเอง วิจัยวิจารณ์ตัวเอง เลือกได้เหมาะสมว่าจะทำอย่างไร แล้วก็ทำอย่างนั้น ได้รับผลสูงสุด
นี่เรียกว่า เทคโนโลยีที่เป็นการศึกษา ในตัวชีวิตที่ประกอบอยู่ด้วยธรรมะ จะเรียกว่าเทคโนโลยีของธรรมะก็ได้
จะเรียกว่าเทคโนโลยีของชีวิตก็ได้ ขอให้เอาไปใช้ให้ถูกต้อง ตามเรื่องตามราว แต่ว่าทั้งหมดนี้มันเป็นไปตามธรรมชาติ เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติที่เรียกว่า อิทัปปัจจยตา อย่างที่กล่าวมาแล้ว
ขอให้ศึกษาคำ คำนี้ให้ดี ดี เถิด เทคโนโลยีก็จะเป็นของง่ายขึ้นมา ถ้าท่านมีความรู้แตกฉานเรื่อง กฏอิทัปปัจจยตา
ก็จะควบคุมกระแสแห่งชีวิต หรือกระแสแห่งธรรมชาติได้ตามที่ต้องการ แต่จะไปยกเลิกจะไปแก้ไขอะไรสิ้นเชิงไม่ได้ แต่ก็เพียงสงเคราะห์ สงเคราะห์ ให้ไปตาม มีความรู้ในเทคโนโลยี ในสิ่งที่เรียกว่าธรรมชาติก็ดี ในตัวธรรมะทั้งหลายก็ดี
เพราะฉะนั้น เราก็จะอยู่เหนือปัญหาโดยประการทั้งปวง เราจะรู้จักตัวความทุกข์ ตัวเหตุให้เกิดทุกข์ รู้จักดับทุกข์ รู้จักทางให้ถึงความดับทุกข์ เพราะมีไอ้สิ่งที่เรียกว่าเทคโนโลยีต่อสิ่งที่เรียกว่าความดับทุกข์ มันจะต้องรู้จักตัวทุกข์ ตัวเหตุให้เกิดทุกข์ ตัวความดับทุกข์ ตัวพาให้ถึงความดับทุกข์ โดย Logic ก็จะต้องพูดว่า รู้ว่ามันคืออะไร รู้ว่ามันมาจากอะไร รู้ว่ามันมาเพื่ออะไร รู้ว่ามันจะได้โดยวิธีใด Logic ง่าย ง่าย อย่างนี้แหละ คืออะไร จากอะไร เพื่ออะไร
โดยวิธีใดนี้เป็นเทคโนโลยีอย่างยิ่งในตัวธรรมะสูงสุดของพุทธศาสนา ที่เรียกว่า อริยสัจ ๔ ประการ มีความรู้ในเรื่อง อริยสัจ ๔ ประการ ก็เรียกว่ารู้ในเรื่องเทคโนโลยีของธรรมชาติ ของชีวิต และของความทุกข์
แล้วก็ขอให้ต้อนรับความทุกข์ ในฐานะที่เข้ามาเป็นครูบาอาจารย์ อย่าไปโง่เขลา พอความทุกข์มาก็ไปนั่งกอดเข่าร้องไห้ คนบรมโง่ ต้อนรับความทุกข์ว่ามันมาสอนให้เราฉลาด ความผิดพลาดมันก็มาสอนให้เราฉลาด อุปสรรคมันก็มาสอนให้เราฉลาด ต้อนรับเอาในฐานะเป็นครู เราก็เลยไม่มีความทุกข์ ความทุกข์มันกลายเป็นครู แล้วจะเอาความทุกข์มาแต่ไหน นี่เป็น Art เป็นศิลปะที่เราจะทำให้ชีวิตนี้ไม่มีความทุกข์
มันก็เป็นเทคโนโลยีทางฝ่ายนามธรรมอยู่โดยครบถ้วน ลองแบ่งเป็น ๓ เรื่องซิ เรื่องร่างกาย Physical เรื่องจิตโดยเฉพาะเรื่อง Mental เรื่องทางสติปัญญาเรื่อง Spiritual Spiritual ทางกายทางวัตถุนี่อย่างหนึ่ง ทางจิตนี่อย่าง
ทางสติปัญญานี่อย่าง เป็น ๓ ระดับอยู่ด้วยกัน มันมีเทคโนโลยีของมันเฉพาะตัวมันเอง แล้วมันมีเทคโนโลยีที่มันจะประสานสัมพันธ์กัน เรื่องทางกายก็ให้ถูกต้องทางจิตใจ เรื่องทางจิตใจก็ให้ถูกต้องทางสติปัญญา ทาง Physical ทาง Mental หรือ Psychological ก็แล้วแต่จะเรียก แล้วก็มาสูงสุดอยู่ที่เรื่อง Spiritual Spiritual เป็นคำสูงสุดในระดับของชีวิตมีความรู้ความเข้าใจในระดับ Spiritual ดีแล้วก็ดับความทุกข์ทั้งปวงได้
เทคโนโลยีของชีวิตมันก็สิ้นสุดลงที่เรื่องทาง Spiritual แล้วมันก็อาศัยความเจนจัด ที่มีมาแล้วแต่หนหลัง จะเรียกว่า Spiritual Experience เขานั้นได้ผ่านอะไรมา ผ่านอะไรมา ผ่านอะไรมา ผ่านอะไรมา ก็ให้ความรู้ทาง Spiritual
มากขึ้น มากขึ้น อายุมากขึ้นก็มีความรู้ทางนี้มากขึ้น Spiritual Experience จึงกลายเป็นที่ตั้งของบทเรียนที่จะรู้จัก
สิ่งสูงสุด คือ ความดับทุกข์สิ้นเชิงคือสติปัญญาสูงสุดที่จะให้บรรลุมรรคผลนิพพาน
หมาแก่ฉลาดกว่าหมา หมาหนุ่ม หรือลูกหมา สมัยอาตมาดูอยู่ทุกวันหมาตัวแก่นี่ มันฉลาดกว่าหมาหนุ่ม และฉลาดกว่าลูกหมา เพราะมันมี Spiritual Experience ในตัวชีวิตเพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นคนที่มีอายุมากมันต้องฉลาดกว่า คนที่มีอายุน้อย ถ้ามันถูกปล่อยไปตามธรรมชาติเสมอกัน เหมือนกัน เพราะฉะนั้น คนที่มีอายุมากนี่มันได้เปรียบ เพราะว่ามันมี Spiritual Experience มาก สติปัญญาที่ถูกต้องมันอาศัยสิ่งนี้นั่นแหละเป็นปัจจัยแห่งเทคโนโลยีอันสูงสุดเกี่ยวกับชีวิตจิตใจเกี่ยวกับความดับทุกข์เกี่ยวกับที่จะชนะความทุกข์อยู่เหนือความทุกข์เหนือโลก เหนือโลก แล้วก็เหนือบวกเหนือลบที่มาหลอกลวง
เดี๋ยวนี้มาหลงในเรื่องบวกเรื่องลบพอลบมาก็ร้องไห้บวกมาก็หัวเราะมัวแต่หัวเราะมัวแต่ร้องไห้มันโง่ โง่ โง่
มันไม่ต้องหัวเราะ มันไม่ต้องร้องไห้ ไม่ต้องให้เป็นทาสของความเป็นบวก ของความเป็นลบ Positive นี่ Negative นี่ มันก็ทำอะไรเราไม่ได้ ความดีหรือความชั่วมันก็มาทำให้เราบ้าไม่ได้ เราไม่บ้าดีบ้าชั่วหลงดีหลงชั่วเมาดีเมาชั่ว เราไม่เมาเพราะเรามีความรู้อันนี้อย่างถูกต้อง ถูกต้อง เข้าถึงหัวใจของสิ่งทั้งปวงนี้ เรียกว่า มีเทคโนโลยีแห่งพุทธธรรม พุทธธรรม นำไปสู่ความหลุดพ้นจากความทุกข์สูงสุด คือ มรรคผลนิพพาน เรียกว่าอยู่เหนือโลก เหนือโลก ไม่ใช่ไปอยู่เหนือโลกไหน มันอยู่เหนือปัญหาทุกอย่างในโลก
ปัญหาทุกอย่างในโลกเราอยู่เหนือ ก็เรียกว่าอยู่เหนือโลก เราไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย เพราะว่าเราไม่มีความหมาย ไม่หลงในความหมายของความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ความหมายของความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ครอบงำจิตใจเราไม่ได้ เราไม่มีปัญหาเพราะเรื่องเกิด แก่ เจ็บ ตาย ก็เรียกว่าเราไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ร่างกายช่างหัวมัน ร่างกายก็เป็นไปตามร่างกาย แต่จิตใจไม่อยู่ภายใต้อำนาจกดขี่ของความเกิด แก่ เจ็บ ตาย จบแล้ว เรื่องมันจบแล้วเพราะมันเหนือโลก มันพ้นจากการเกิด แก่ เจ็บ ตายแล้ว หวังว่าท่านทั้งหลายจะรู้จักสิ่งที่เรียกว่าเทคโนโลยีของร่างกาย ของจิตใจ ของสติปัญญา ทั้งอย่างที่เป็นโดยตรงและเป็นโดยอ้อม
ทั้งที่มันเป็นอย่างในตัวมันเองทั้งที่มันสัมพันธ์กันกับสิ่งเหล่าอื่น พยายามศึกษาอย่างที่ว่ามาแล้ว ดูตัวเอง ด้วยตนเอง ในตัวเอง เห็นตัวเอง รู้จักตัวเอง วิจัยวิจารณ์ตัวเอง ปฏิบัติถูกต้องด้วยตนเอง ก็ได้รับผลตามที่ประสงค์ทุกประการ
นี่คือมีเทคโนโลยีอย่างถูกต้อง ครบถ้วน ในตัวชีวิต ไม่มีปัญหาเหลืออยู่อีกต่อไป
ขอแสดงความหวังว่า ท่านทั้งหลายจงสำเร็จประโยชน์ในความมุ่งหมายอันนี้ และ ขอแสดงความยินดี ที่ว่ามาสู่สถานที่นี้ ในลักษณะอย่างนี้ คือ แสวงหาความรู้ในทางธรรมะเพื่อไปประกอบในชีวิต ในหน้าที่การงานของชีวิต
ให้สิ่งที่เรียกว่าชีวิตเป็นไปอย่างน่าปรารถนาแล้ว จงมีความสุขสวัสดี มีความสนุกในการทำงานเป็นสุขในการทำงานอยู่ ตลอดทุกทิวาราตรีกาลเทอญ ขอยุติการบรรยาย