แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านสาธุชนที่เป็นนักศึกษา ไม่เป็นนักศึกษา โดยทั่วไปทั้งหลาย อาตมาขออนุโมทนาแสดงความยินดีด้วยในการมาของท่านทั้งหลายสู่สถานที่นี้ และในลักษณะอย่างนี้ คือมาแสวงหาความรู้ทางธรรมะ เพื่อไปใช้ประกอบในกิจกรรมหน้าที่การงานของตนของตน ให้มีผลให้ดียิ่งๆขึ้นไป นับว่าเป็นความคิดที่แยบคายและเป็นการกระทำที่มีเหตุผลทั้งนั้น จึงขอแสดงความยินดีและอนุโมทนาด้วย และก็ขอปรับความเข้าใจกันในเบื้องต้นที่ว่า ทำไมจะต้องมาพูดกันในเวลาหัวรุ่งอย่างนี้ ซึ่งบางคนก็อยากจะนอน ข้อนี้มันก็มีเหตุผลอีกเหมือนกันที่ว่า จะเลือกเอาเวลาอย่างนี้ซึ่งเขาก็มักจะใช้เวลาอย่างอื่นกันโดยมาก มันเป็นเรื่องของธรรมะซึ่งมีความละเอียดลึกซึ้ง เวลาที่เหมาะสมกันโดยเฉพาะก็ย่อมจะมี เวลาหัวรุ่งอย่างนี้มีความหมายพิเศษคือว่า เป็นเวลาเบิกบานของสิ่งที่ได้หลับได้พักผ่อนมาตลอดเวลาแล้ว ดอกไม้ป่าทั่วๆไปก็เบิกบานเวลาอย่างนี้ พระพุทธเจ้าก็ตรัสรู้เวลาอย่างนี้ มันเป็นจิตใจที่พร้อม ที่มีกำลังสูงสุด มีความเหมาะสมอยู่ในตัวมันเอง มีลักษณะต่างกันกับเวลาอย่างอื่น เวลาอย่างอื่น เช่นเป็นเวลากลางวันไปแล้ว มันก็มีเวลาคิดอย่างนั้นทำเรื่องนี้ จิตนั้นมันก็ไม่ได้สดชื่น หรือบางทีมันจะอ่อนเพลีย หรือว่ามันจะถูกบรรจุลงด้วยอะไรๆจนเต็มไปหมด เติมลงไปอีกไม่ได้ เวลานี้มันยังว่างอยู่ มีลักษณะเติมอะไรลงไปได้ น้ำชายังไม่เต็มถ้วย ยังไม่ล้นถ้วย แต่เดี๋ยวนี้เรามาพูดถึงความสดชื่น เป็นโลกอื่นอีกโลกหนึ่ง ไม่เหมือนกับโลกเวลากลางวัน ตอนบ่าย ตอนเย็น ตอนหัวค่ำ เป็นคนละโลก ถ้าดูด้วยจิตใจที่ละเอียดก็เห็นว่าเป็นคนละโลก เราควรจะได้ใช้ไอ้โลกนี้ให้มันเป็นประโยชน์ในการศึกษาสิ่งที่ละเอียดคือธรรมะ
ทีนี้ก็จะได้พูดกันถึงหัวข้อที่จะบรรยาย หัวข้อที่จะบรรยายได้กำหนดให้ว่าพุทธศาสนากับจิตวิทยา หมายความว่าท่านทั้งหลายก็ทราบดีว่าพุทธศาสนาเป็นจิตวิทยาหรือเกี่ยวข้องกันอยู่กับจิตวิทยาที่ได้เกิดขึ้นและแพร่หลายไปในลักษณะที่เป็นจิตวิทยา คงจะมีอะไรที่มีสาระสำคัญเอาไปใช้กันได้กับจิตวิทยาทั่วไปในโลก แต่ความคิดหรือความเข้าใจเช่นนี้ค่อนข้างจะไม่เข้ารูปนัก เพราะว่าอะไรๆ มันก็จะดูเป็นเรื่องของจิตไปเสียหมด ไม่ใช่เฉพาะเรื่องของพุทธศาสนาหรือเรื่องของจิตวิทยาของชาวบ้าน ทุกๆ เรื่องมันเป็นเรื่องของจิต ท่านลองคิดดู อะไรที่มันไม่เกี่ยวข้องกับจิต พระพุทธเจ้าตรัสว่า จิตเตน นียเต โลโก (นาทีที่ 7:03) โลกนี้อันจิตย่อมนำไป โลกนี้อันจิตย่อมนำไป ท่านคงจะคิดว่าเฉพาะโลกจิตใจกระมัง แต่ที่จริงมันไม่ใช่อย่างนั้น แม้ไอ้โลก โลกแผ่นดิน โลกที่ไม่ใช่จิตใจ แผ่นดินโลก นี่ก็จิตนำไปเหมือนกัน เพราะมันมีอะไรที่มันเป็นส่วนที่บันดาลให้วัตถุสสารนี้เป็นไป
ถ้าจะถามกันว่าจิตคืออะไร ความรู้ในโลกนี้ก็จะมองไปในแง่ว่าเป็นปฏิกิริยาของพลังงานของสสารอะไรมาตามลำดับ แต่ทางพุทธศาสนาถือว่าเป็นธาตุตามธรรมชาติชนิดหนึ่ง เป็นธาตุอยู่ตามธรรมชาติชนิดหนึ่ง และสิ่งที่มีอำนาจปรุงแต่งที่เรียกว่าสังขารมันปรุงแต่งขึ้นมาตามลำดับ ตามลำดับ จนกระทั่งมาเป็นจิตสำหรับจะรู้สึกทางอายตนะในร่างกายมนุษย์ มันก็รวมอยู่ในสิ่งที่เรียกว่านามรูป นามและรูป เช่นเดียวกับที่ในโลกที่ถือกันว่าทุกอย่างมันรวมกันอยู่ที่สสารและพลังงาน ความหมายเดียวกับรูปและนาม นามและรูปนั่นเอง ทุกอย่างมันไม่พ้นไปจากความเป็นปฏิกิริยาของกันและกันสืบต่อมาตามลำดับ ตามลำดับ ทั้งโลก ทั้งจักรวาลด้วยซ้ำ จิตนำไป ส่วนที่เป็นจิตนั่นแหละมันนำไป แต่บางอย่างมันละเอียดจนไม่รู้จักหรือไม่รู้สึก ท่านไปศึกษาในแง่สสารพลังงานก็คงจะเดารูปกันได้ว่ามันมีปฏิกิริยาเกิดขึ้นมาจากสิ่งต่างๆตามลำดับ มันก็หมุนไป เมื่อเป็นอย่างนี้ก็หมายความว่า ไอ้เรื่องทั้งโลกมันไม่มีเรื่องอื่น นอกจากเรื่องจิตซึ่งเป็นตัวการอยู่ภายใน แล้วก็ทำให้ผิวนอกคือเปลือกนั้นทางวัตถุทางร่างกายนี้มันเป็นไป มันก็เป็นเรื่องครอบโลก
ถ้าจะพูดถึงเรื่องไอ้สิ่งที่เรียกว่าจิต เดี๋ยวนี้มาเรียกว่าจิตวิทยา ก็แปลว่าวิทยาที่เกี่ยวกับจิต ความรู้เกี่ยวกับจิต ก็คือทั้งหมดนั่นแหละ ทั้งหมดนั่นเหลือประมาณมหาศาล ใครๆก็ไปเลือกเอาเถอะว่าจะเอาส่วนไหนไปใช้ให้เป็นประโยชน์อย่างไร เอ้า,ดูที่พวกเรามันก็ เหตุผลมันก็เหลือประมาณว่ามันต้องมาศึกษาเรื่องจิต หรือความรู้เรื่องจิต ในชีวิตทั้งหมด ในคนหนึ่งชีวิตทั้งหมดมันก็แล้วแต่จิตจะพาไป เราจะรู้สึก อารมณ์ เสวยอารมณ์อะไรได้ก็เพราะจิต เพราะมีจิต จะติดต่อกับสิ่งต่างๆภายนอกตัวเรา กับเพื่อนมนุษย์ของเราก็ต้องอาศัยสิ่งที่เรียกว่าจิต มีความคิด มีความรู้สึก ต้องการจะทำอย่างนั้น จะดำเนินชีวิตไปเป็นอย่างดีก็เรียกว่าด้วยอำนาจของจิต จะเสวยสุข เสวยทุกข์ มันก็เรื่องของจิต สติปัญญาทั้งหลายมันก็รวมอยู่ที่จิตเป็นที่ตั้งที่อาศัย จิตเป็นประธานของอัตภาพร่างกายที่ประกอบกันขึ้นนี้ทุกๆ ส่วนของอัตภาพ มันก็เป็นไปตามอำนาจของจิต อยู่ใต้บังคับบัญชาของจิต มันจะเจริญหรือจะเสื่อมก็เพราะจิต มันผิดหรือมันถูก หรือมันคิดผิดหรือมันคิดถูก จิตนี้มันนำขบวนการของสิ่งที่เรียกว่ากรรม กรรม การกระทำ ดีชั่ว บุญบาป กุศลอกุศล ที่เรียกว่ากรรม ขบวนการทั้งหมดนี้มันก็ถูกนำไปโดยจิต โดยสิ่งที่เรียกว่าจิต นรก สวรรค์ นิพพาน อะไรก็ตามที่ทายกทายิกาพูดถึงกันนั้น ไปถึงได้ด้วยสิ่งที่เรียกว่าจิต
พุทธศาสนาทุกประเด็นที่มีอยู่ที่กล่าวอยู่ มันไม่มีในแง่ไหนที่ไม่ได้เกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่าจิต มันเกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่าจิต เป็นเหตุก็มี เป็นผลก็มี เป็นเครื่องผลักไส ดลบันดาลไป เป็นเกลียวไปเลยก็มี เมื่อดูไอ้สิ่งที่เรียกว่าจิตมันเกี่ยวข้องกับเราอย่างไร เราควรจะรู้เรื่องจิตให้มาก ให้สมควรกันกับที่จะใช้มันนะ ทีนี้อยากจะพูดถึงใจความสำคัญว่า ชีวิตของคนเรานี่ ทั้งกายและทั้งจิตนี่ธรรมชาติให้มาเพื่อพัฒนา จะต้องพัฒนาเอาเอง ไม่พัฒนาก็เกือบจะไม่ได้อะไร จะพัฒนาอย่างไรมันก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับจิต มันกลายเป็นการพัฒนาจิตนั่นแหละ แล้วมันจึงไปถึงพัฒนากาย พัฒนาทางวัตถุ ไอ้กายหรือวัตถุเป็นบริวารสนับสนุนจิต การพัฒนาในส่วนใจความสำคัญมันเป็นเรื่องของจิต คำว่าจิตเป็นสิ่งที่กล่าวได้ว่า มันลึกลับ มันศักดิ์สิทธิ์ มันกายสิทธิ์ มันมากมายมหาศาลเหลือที่จะเอามากล่าว ต้องเอามากล่าวเฉพาะที่ต้องการเฉพาะหน้า เราจึงศึกษาจิตวิทยาเฉพาะในแขนงที่เราต้องการจะใช้มัน จะใช้มัน คนพัฒนาทางวัตถุก็สนใจในแง่ของวัตถุ บางคนก็เข้าใจไปว่าวัตถุเหนือจิตไปเสียก็มี ได้ยินว่า directive realism ของคอมมูนิสต์นั้นมันเอากายไว้เหนือจิต นี่มันเป็นเรื่องที่เข้าใจผิด ทางธรรมะหรือทางพุทธศาสนานี่เอากายไว้ภายใต้อำนาจของจิต แต่ถ้าพุทธศาสนานี้จะถือว่ามันเป็นเกลอกัน มันเป็นเกลอกัน มันต้องไปด้วยกัน ต้องมีทั้งกายทั้งจิต ถูกต้องทั้งกายและจิต อุปมาที่น่าขันหรือน่าชมก็ได้ ว่าคนตาบอดมันเดินมาสะดุดไอ้คนตาดีแต่ง่อยเปลี้ยแต่เดินไม่ได้ สองคนมันเลยตกลงกันว่ามาร่วมกัน คนง่อยเปลี้ยตัวเล็กขี่คอคนตาบอดอ้วนใหญ่แข็งแรง ก็ไปด้วยกัน ไปทำอะไรได้ด้วยกัน ทีนี้ร่างกายเหมือนคนตาบอดแข็งแรง จิตเหมือนคนง่อยเปลี้ยอ่อนแอ แต่ว่ามีตาดี มีสติปัญญา ขอให้มีความถูกต้องระหว่างสิ่งทั้งสอง แต่ถ้าจะว่าอะไรสำคัญกว่าหรือใหญ่กว่า ก็น่าจะได้แต่สิ่งที่เรียกว่าจิต มันเป็นสิ่งที่มีความคิด ความนึก ความรู้สึก ความจำ ความอะไรต่างๆ เสร็จแล้วก็อยู่ลำพังตัวเองไม่ได้ ต้องอาศัยสิ่งที่เรียกว่ากายด้วยเหมือนกัน กายกับจิตจึงต้องเป็นเกลอกันไป
ทีนี้เมื่อจิตมันเป็นผู้ชี้นำ เป็นผู้ที่จะบันดาล ก็ต้องฉลาด ต้องฉลาด ทางพุทธศาสนาจึงถือการอบรมจิต หรือจิตภาวนาเป็นสิ่งที่สำคัญ สำคัญ เดี๋ยวนี้เราใช้คำว่าจิตวิทยาเป็นหลัก ก็น่าจะทำความเข้าใจเรื่องนี้กันให้พอ มันเกี่ยวกันอยู่กับคำอื่นๆ ถ้าเข้าใจกันทุกคำแล้วก็พอจะแบ่งสันปันส่วนในหน้าที่ที่จะควรหยิบมาพิจารณา เช่นคำว่าศาสนา คำว่าศาสนา เป็นคำสอนทุกๆศาสนาถือเอาจิตเป็นหลักเป็นตัวแกนที่จะต้องประพฤติกระทำด้วยกันทุกๆศาสนา และความรู้ชนิดที่เป็น philosophy ยังไม่แน่นอนลงไปว่าอะไร ก็ปรารภปัญหาที่เกี่ยวกับจิตเป็นหลักใหญ่เหมือนกัน แม้จะไม่ค่อยรู้เรื่อง แม้แต่คำว่าปรัชญาซึ่งเป็นความรู้เด็ดขาดและสูงสุด มันก็ยิ่งเป็นความรู้ที่เกี่ยวกับจิต ขอทำความเข้าใจระหว่างท่านทั้งหลายกับอาตมานิดหนึ่งนะ ว่าอาตมาไม่ถือเอาตามที่เขาพูดกันอยู่ในที่ทั่วไปว่า ปรัชญาคือ philosophy philosophy คือปรัชญา อาตมาถือเอาตามภาษาทั้งสอง philosophy เป็นเพียงความรู้ที่ยังต้องวิพากษ์วิจารณ์ ยังต้องหาข้อเท็จจริงโดยสมมติฐาน ต้องมีสมมติฐานนะ philosophyยังไม่ใช่ปรัชญา ปรัชญาเป็นภาษาอินเดียแปลว่าความรู้ที่เด็ดขาด ที่เฉียบขาด ที่อินเดียเขาแปลคำ philosophyว่า ทัศนะ (นาทีที่ 20:20) ไม่ได้แปลว่าปรัชญา ในเมืองไทยที่แปลคำ philosophy ว่าปรัชญา ชาวอินเดียเขาละอายแทน ปรัชญาเป็นปัญญา ความรู้สูงสุดเด็ดขาดไม่มีอะไรเหนือ philosophy คลานงุ่มง่ามอยู่ที่นี่ ต้องพิจารณาต้องค้นคว้าไม่รู้จบ
เราจะมองดูจิตในฐานะเป็นปรัชญาก็ได้ ในฐานะเป็น philosophy ก็ได้ เพราะว่าไอ้เรื่องที่เกี่ยวกับจิต ยังไม่รู้ก็มี มีอยู่มาก ที่รู้แล้วก็เป็นปรัชญา ถ้ายังไม่รู้ถึงที่สุดก็เป็น philosophy เกี่ยวกับจิต ไปดูเอาเอง สิ่งใดยังไม่รู้ ยังเป็นปัญหา ยังต้องค้นคว้าต้องแยกแยะกันไม่รู้จักสิ้นสุด สิ่งนั้นเป็นเพียงปรัชญา ถ้าสิ่งนั้นเป็นความรู้ถึงที่สุดเด็ดขาดลงไปแล้ว ถ้ายังไม่รู้ ยังไม่รู้ ยังเป็นปัญหา เป็นเพียง philosophy ถ้ารู้เด็ดขาดลงไปแล้ว สิ่งนั้นแหละ ชื่อนั้นแหละ มันกลายเป็นปรัชญา รู้จริง รู้เด็ดขาดสูงสุด เช่นเรื่องปฏิจจสมุปบาท อิทัปปัจจยตา สำหรับคนธรรมดาที่ยังไม่รู้จริงก็เป็น philosophy เป็น philosophy ท่านก็จะไปเรียกมันว่าเป็นปรัชญาตามใจท่าน แต่หมายถึงเป็น philosophy ความรู้ที่ยังไม่แน่นอน ยังต้องค้นคว้าต้องอะไรกันเรื่อยไป แต่ถ้าสิ่งนี้เป็นความรู้ประจักษ์โดยเด็ดขาด ไม่มีปัญหา ไม่มีอะไรอีกต่อไปแล้ว สิ่งนี้ก็กลายเป็นปรัชญา เรื่องปฏิจจสมุปบาท เป็น philosophy สำหรับชาวบ้าน สำหรับนักศึกษา แต่เป็นปรัชญาสำหรับพระอรหันต์ผู้เข้าถึงความจริงอันเด็ดขาดของเรื่องนี้แล้ว มันมีตัวอย่าง เรื่องอย่างนี้อีกหลายเรื่องทีเดียว เรื่องใดยังอยู่ในการค้นคว้า เข้าใจไม่ได้สำหรับคนนั้น มันก็เป็นปรัชญาสำหรับคนนั้น ถ้าคนนั้นได้ผ่านไปถึงที่สุดแล้วมันก็เป็นปรัชญา มันเป็น philosophy เรื่อยไป เรื่อยไป จนกว่าจะเป็นความรู้เด็ดขาดแล้วก็จะเป็นปรัชญา เรื่องเดียวกันเรามาศึกษาในฐานะเป็น philosophy ก็ได้ เป็นปรัชญาก็ได้ โดยเฉพาะเรื่องจิต นี่เอามาศึกษาในแง่ที่เป็น philosophy ก็ได้ ในแง่ที่เป็นปรัชญาก็ได้ แต่เขาคงจะไม่คิดกันอย่างนี้ เพราะเขาไปแยกคำกันเด็ดขาดซะแล้วว่าเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนั้น เป็นอย่างเดียว อาตมาถือว่าถ้ายังไม่รู้โดยเด็ดขาด ก็เป็น philosophy ค้นคว้ากันไปไม่รู้จบ พอมันรู้เด็ดขาดกลายรูปเป็นปรัชญา เป็นปรัชญา ซึ่งต้องเรียกว่า wisdom intuity wisdom อะไรไปทางโน้น ไม่เป็น philosophy อีกต่อไป เดี๋ยวนี้ท่านทั้งหลายจะศึกษาจิตวิทยานี่ในแง่ของอะไร ในแง่ที่มันจะเป็นphilosophy หรือมันจะเป็นปรัชญา ก็ทำความเข้าใจเอาเอง แต่ว่าสิ่งใดที่เป็นความรู้เด็ดขาดแล้ว ก็กลายตัวจาก philosophy ไปเป็นปรัชญา ได้ด้วยตัวมันเอง ที่มันต่ำลงมาอยู่ในลักษณะที่เป็นศีลธรรมก็มี จิตวิทยาเกี่ยวกับศีลธรรมก็มี เป็นวัฒนธรรมก็มี แม้สิ่งที่เรียกว่าวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์นี่มันก็เอามาใช้กับสิ่งที่เรียกว่าจิต ควรจะรู้เรื่องวิทยาศาสตร์อันเกี่ยวกับจิต ในฐานะเป็นphilosophyก็ได้ ในฐานะเป็นปรัชญาก็ได้ คำพูดที่พูดอยู่ มันเกี่ยวพันกันยุ่งจนไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร จนเด็กๆ เวียนหัว เช่นพุทธศาสนาอย่างนี้ พุทธศาสนาที่เราเรียกกันอยู่นี่ จะมองในแง่ไหนมันจะเป็นได้ทั้งนั้นแหละ เช่นมองในแง่จิตวิทยายิ่งถูกต้องเลย ตลอดสายเป็นเรื่องของจิตหรือเป็นเรื่องเกี่ยวกับจิต ถ้ามองในแง่ของศาสนามันก็เป็นระบบคำสอนที่จะดับทุกข์ จะมองในแง่ศีลธรรมก็เป็นเรื่องของสังคมที่อยู่กันเป็นผาสุกคำสอนในระดับศีลธรรม เอามาเป็นรากฐานของวัฒนธรรมประจำบ้านเรือนมันก็ทำได้ แล้วจะเอามาเป็นวิทยาศาสตร์ฝ่ายจิต ไม่ใช่วิทยาศาสตร์ฝ่ายวัตถุ กฎเกณฑ์หลักเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์แต่ก็ทำเป็นเรื่องฝ่ายจิตมันก็ทำได้ วิทยาศาสตร์ พุทธศาสนาก็เป็นวิทยาศาสตร์ได้เหมือนกัน โดยเฉพาะเรื่องปฏิจจสมุปบาทอีกนั่นแหละ จะเป็น philosophy ก็ได้ จะเป็นปรัชญาก็ได้ เป็นวิทยาศาสตร์ก็ได้ เรื่องปฏิจจสมุปบาทนั่นแหละ ขอให้คุณศึกษาเถอะ มันจะกลายเป็นจิตวิทยาลึกซึ้งสูงสุดก็ได้ เป็นปรัชญาก็ได้ เป็นวิทยาศาสตร์ก็ได้ การที่เราจะพูดกันสั้นๆ ว่าพุทธศาสนากับจิตวิทยา นี่ดูมันน่าหัว พุทธศาสนาเป็นได้ทุกอย่าง เป็นได้ทุกอย่าง และคำว่าจิตวิทยาก็เอาไปใช้ในวิทยาการได้ทุกอย่างเหมือนกัน เราจะเอาความหมายอย่างไร ส่วนไหน เท่าไร ก็ไปว่าเอาเอง จำกัดเอาเอง เดี๋ยวนี้เราจะใช้ไอ้ความรู้เกี่ยวกับจิตของเราเองให้เป็นประโยชน์ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ นั่นแหละความมุ่งหมายที่สำคัญใช่ไหม ความประสงค์ที่สำคัญ ที่ถูกต้องที่จะเอาไปใช้ความรู้เกี่ยวกับจิตของเราให้ถูกต้อง ให้เป็นประโยชน์ให้มากที่สุด พวกที่มาศึกษาธรรมะแล้วปฏิบัติสมาธิที่สวนนอก สวนโมกข์นอกนั้น มันก็เรื่องของการจะใช้จิตให้เป็นประโยชน์ที่สุด พวกที่มาศึกษาอยู่ในสวนโมกข์นี้ในนี้ มันก็เรื่องจิตเรื่องจิตนี้ในแง่ที่จะ ใช้เป็นประโยชน์ให้มากที่สุด ยิ่งเมื่อเอากายเป็นบริวารของจิตแล้ว มันก็ถูกลากเข้าไปด้วยการศึกษาเรื่องจิตเรื่องเดียวมันก็พอเสียแล้ว นี่คำว่าวิทยาเกี่ยวกับจิต ธรรมชาติของจิต หรือกฎธรรมชาติ กฎตามธรรมชาติของสิ่งที่เรียกว่าจิต นี่ยังลึกมาก ยังลึกซึ้งมากสำหรับเรา เรารู้จักมันน้อยนะ เหมือนกับมหาสมุทรที่ลึกมาก เราหยั่งได้นิดหน่อยเท่านั้นเอง เรื่องของจิตมันเหมือนกับเรื่องของมหาสมุทร มีลักษณะอย่างไรก็รู้แค่ที่เรารู้ มีคุณและโทษอย่างไร ก็รู้เท่าที่เราได้ผ่านไปแล้ว ที่เรายังไม่รู้มีอีกมาก ใครเคยรู้เรื่องคุณของจิตคือให้บรรลุนิพพานได้บ้าง ก็ยังไม่บรรลุนิพพาน เดี๋ยวนี้มันก็รู้เท่าที่เรารู้ หรือเห็นเขาใช้ใช้กันอยู่แล้วเราก็อยากจะรู้ เราก็เรียน มันก็เลยเกิดเป็นสิ่งที่แบ่งแยกออกไปเป็นแขนงๆ ตามความต้องการของผู้ที่ต้องการ จิตวิทยาก็เหมือนกันแหละ ความรู้เกี่ยวกับจิตถูกแบ่งแยกไปเป็นแขนง แขนง แขนง ตามที่จะให้ประโยชน์นั้นๆ มันเลยมาก เดี๋ยวนี้เราจะพูดกันให้เฉพาะเจาะจงในเรื่องที่เกี่ยวกับธรรมะ แต่ที่ไม่เกี่ยวกับธรรมะ มันยิ่งเอาไปใช้กันมาก จิตวิทยาใช้ในทางโลกๆ ประโยชน์ทางโลกๆ ได้ จิตวิทยาใช้ในประโยชน์ทางธรรมะอันสูงสุดก็ได้ และใช้ในทางโลกนั่นน่าหัว ใช้อย่างสุจริตมีผลโดยสุจริตก็มีอยู่มาก แต่ใช้จิตวิทยาในแง่ของทุจริตไม่ซื่อตรง แต่คดโกงเอาเปรียบผู้อื่น หาทางเอาเปรียบผู้อื่นนี่มีอยู่มาก ทางโลกนี้เอาจิตวิทยาไปใช้ทั้งอย่างสุจริตและไม่สุจริต ไอ้จิตวิทยาไม่สุจริตนั่นแหละมันนำไปสู่ความเป็นอันธพาล เป็นปัญหา เป็นวิกฤติการณ์ในโลก ที่ที่เอาไปใช้ทางธรรมะ ใช้ทางธรรมะก็รับรองได้ว่ามันมีแต่เรื่องสุจริต เพราะธรรมะเป็นเรื่องสุจริตเป็นเรื่องของความถูกต้อง เราก็ต้องใช้จิตวิทยาที่ละเอียดและกว้างขวาง เราใช้จิตวิทยาในการศึกษาให้รู้ธรรมะนี่ก็เป็นเบื้องต้น ใช้จิตวิทยาในการปฏิบัติ ปฏิบัติให้มันถูกต้องแล้วก็บรรลุธรรมะ อันนี้ก็มี แล้วก็ยังใช้จิตวิทยาในการเผยแผ่ธรรมะให้มันกว้างไกลไปทั่วโลก ดังนี้ก็มี ขอบอกกล่าวแก่พุทธบริษัททั้งหลายว่า ท่านมีความเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เรียกว่าจิตวิทยาถึงขนาดที่เรียนธรรมะ ให้รู้ธรรมะก็ได้ เข้าใจธรรมะก็ได้ แล้วก็มาใช้ปฏิบัติให้เห็นแจ้งแทงตลอดในเรื่องของธรรมะก็ได้ แล้วก็ได้รับผล เมื่อได้รับผลเสร็จแล้วทีนี้ต้องการจะเผยแผ่ให้แผ่ไปทั่วโลกตามพระพุทธประสงค์ พระพุทธประสงค์มีอยู่ว่าให้ช่วยกันเผยแผ่ธรรมะให้ไปทั่วจักรวาล ก็ยังต้องใช้ความรู้ที่เกี่ยวกับจิตวิทยาอันถูกต้อง เช่นเดียวกับที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสรู้สูงสุดแล้ว ท่านได้ใช้สิ่งที่เรียกว่าวิทยาเกี่ยวกับจิตนี่ช่วยตัวท่านมาเป็นพระพุทธเจ้า แล้วท่านก็เผยแผ่ไปโดยไม่มีขอบเขตจำกัด พวกเราก็เหมือนกัน ถ้าทำได้อย่างนี้ประโยชน์มันก็เต็ม เต็ม ครบ ครบ ประโยชน์ที่บุคคลแต่ละคนจะได้รับ ก็ได้รับสูงสุดคือนิพพานกันทีเดียว ไม่ใช่คลานงุ่มง่ามกันอยู่ในโลก แล้วสังคมจะได้รับ สังคมมันมาก มันไปนิพพานกันยาก มันก็เป็นสังคมสงบสุข เป็นสังคมสงบสุขกันอยู่ที่นี่ก็ได้ แล้วทีนี้ทั้งโลก ประโยชน์ทั้งโลก ถ้าโลกยังมีธรรมะ มีธรรมะอยู่เพียงใดโลกนี้ก็มีสันติสุขมีสันติภาพอยู่เพียงนั้น มันก็เป็นธรรมะสำหรับคุ้มครองโลก คุ้มครองโลก
เราจงช่วยกันทำทุกอย่างทุกทางให้ธรรมะหรือพระศาสนายังคงมีอยู่ในโลก กิจกรรมทั้งหมดนี่ต้องการความรู้ทางจิตวิทยาอันบริสุทธิ์ถูกต้องเป็นอย่างยิ่ง ขอเน้นคำว่าจิตวิทยาอันบริสุทธิ์ เพราะว่าจิตวิทยามันถูกนำไปใช้อย่างไม่ถูกต้อง หรืออย่างที่ไม่สุจริตเสียแล้ว ข้อนี้มันน่าหัวนะ ไอ้คำว่าจิตวิทยาที่ประเสริฐที่นำไปสู่นิพพานได้ มันก็นำไปใช้เป็นสิ่งที่เป็นเครื่องมือของการหลอกลวงเสียก็มี เช่นจะพูดไอ้หมอนี่มัน psycho (นาทีที่ 34:15) คือหมอนี่มันใช้จิตวิทยาหลอกลวง ไอ้คำว่าวิทยาศาสตร์ก็เหมือนกันแหละ มันถูกนำไปใช้ในทางเลวร้ายเสียแล้ว คือเป็นสิ่งหลอกลวงเพราะมันสามารถหลอกลวง ถ้าบ้านนอกนี่พูดว่า เอ้อนี่วิทยาศาสตร์ ท่านเจ้าคุณผู้เฒ่า(นาทีที่ 34:37) เจ้าคณะจังหวัดคนก่อนที่ล่วงลับไปแล้ว ท่านใช้คำนี้เสมอ ถ้าสิ่งใดหลอกลวงท่านใช้คำว่าวิทยาศาสตร์ ไอ้นี่วิทยาศาสตร์กูไม่เอากะมึง หมายความว่ามันใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์หลอกลวง เช่น ทองวิทยาศาสตร์นี่มันทองปลอม อะไรๆ ที่มันทำขึ้นด้วยวิทยาศาสตร์มันไม่ใช่ของจริง ไม่ใช่ของจริงของธรรมชาติ คำว่าวิทยาศาสตร์หมายถึง สิ่งที่ทำขึ้นเทียมของจริงเพื่อหลอกลวงก็มี มันเสียชื่อหมดแล้ว ทั้งคำว่าจิตวิทยาหรือคำว่าวิทยาศาสตร์ ต้องมาปรับปรุงกันเสียใหม่ ให้มีแต่ในทางที่ถูกต้อง บริสุทธิ์ผุดผ่อง น่าเคารพนับถือ มีแล้วชื่นอกชื่นใจ ไม่มีความมัวหมอง ขอให้เรียนจิตวิทยาในแง่ที่เป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์ มีวิทยาศาสตร์หรือปรัชญาหรือศาสนาอะไรก็ตาม ขอให้เป็นเรื่องของความบริสุทธิ์ผุดผ่องและความถูกต้อง เดี๋ยวนี้มันเห็นได้แล้วว่า มันใช้กันอยู่สองชนิด ทั้งสองทาง จิตวิทยานี่ในทางที่ไม่เป็นธรรมเรียกอย่างนี้ดีกว่า ใช้เพื่อความปลุกปั่น ใช้เพื่อความปลุกปั่นไปตามความต้องการของเขา ใช้ในทางโฆษณาชวนเชื่อเอาไปเป็นพวกของเขาแม้ว่ามันไม่ถูกต้อง ดึงจูงกันไปด้วยจิตวิทยา แล้วก็ใช้จิตวิทยาเป็นเครื่องมือแสวงหาความได้เปรียบ ขอให้ไปคิดนึกเอา การค้า การเศรษฐกิจ การเมือง การอะไรก็ตาม มันใช้จิตวิทยาไปในทางให้เกิดประโยชน์ เกิดการได้เปรียบ มันบูชาการได้เปรียบในโลกนี้ เดี๋ยวนี้คุณจะเรียนจิตวิทยาเพื่ออย่างนั้น มันไม่เป็นธรรม มันเป็นสมุนของฝ่ายอธรรมไปเลย ดึงกลับมาหาความถูกต้อง หาความถูกต้องบริสุทธิ์ผุดผ่อง กูไม่คิดจะเอาเปรียบใคร เพราะคำว่าเอาเปรียบนั้น มันมีลักษณะของกิเลสหรือความเห็นแก่ตัว เอาความบริสุทธิ์ผุดผ่อง ถูกต้อง เป็นดีกว่า ใช้จิตวิทยาในลักษณะที่ถูกต้อง ถูกต้อง ชนิดที่เขาใช้เพื่อประโยชน์แก่กิเลสมันก็มีอยู่อย่างหนึ่ง อย่างที่สอง ก็เพื่อบรรลุมรรคผลนิพพาน เพื่อบรรลุมรรคผลนิพพานในความหมายต่ำๆ ก็ได้ บรรลุมรรคผลต่ำๆ อยู่กันอย่างในโลกนี้ สูงสุดก็เป็นพระอรหันต์มีจิตใจเหนือโลก ระบบปฏิบัติในพระพุทธศาสนารวมอยู่ที่การปฏิบัติจิต ทำจิตให้เจริญก้าวหน้า ทำจิตให้เป็นจิตที่ยิ่ง ยิ่ง ยิ่งกว่าธรรมดา เช่นระบบสมถวิปัสสนา นี่เป็นเรื่องระบบจิตทั้งนั้น ตั้งต้นแต่การปรับปรุงจิตให้เหมาะสม ปรับปรุงจิตให้เหมาะสม คือเป็นสมาธิในความหมายของพุทธศาสนา เป็นสมาธิในความหมายของพวกอื่นก็มีเหมือนกัน แต่มันไม่เหมือนกัน จิตที่เป็นสมาธิตามความมุ่งหมายของพุทธศาสนามันก็มีอยู่ว่า มันเป็นจิตบริสุทธิ์ บริสุทธิ์ จิตบริสุทธิ์คือจิตเกลี้ยงไม่มีของสกปรก นี่องค์อันแรก แล้วก็เป็นจิตที่ตั้งมั่น สมาหิต สมาหิต ตั้งมั่น เข้มแข็ง รวมกำลังกันทั้งหมดทั้งสิ้น รวมกำลังกระแสจิตมาเป็นกระแสจิตเดียว นี่เรียกว่าตั้งมั่น เหมือนแก้วนูนโค้งรวมแสง รวมแสงแดด รวมแสงแดดลุกเป็นไฟได้ นั่นแหละมีความตั้งมั่น รวมกำลังกันทั้งหมด อย่างที่สาม เป็นกัมมนีย กัมมนีย(นาทีที่ 40:16) คำนี้แปลว่าสมควรแก่การงานที่เป็นหน้าที่ เมื่อจิตบริสุทธิ์และตั้งมั่นอย่างนี้แล้ว มันเหมาะสมที่จะทำหน้าที่ คำบาลีว่ายาวหน่อยว่า จิตนี้นิ่มนวล อ่อนโยน ควรแก่การทำการงาน นิ่มนวล อ่อนโยน แล้วก็ไม่ใช่แข็งกระด้าง แข็งทื่อนั่งหลับตาอยู่นั่น แต่ว่านิ่มนวล อ่อนไหวในความถูกต้อง ควรแก่การนำไปใช้ในหน้าที่ บาลีเรียกว่า กัมมนีย อาจจะแปลกหูสำหรับท่านทั้งหลายก็ได้ ความหมายของมันก็ตรงกับคำว่า active active คือว่ามันได้ที่ ได้ที่ที่จะทำหน้าที่ พร้อมที่จะทำหน้าที่ ปริสุทโธ pureness สมาหิโต firmness, stableness กัมมนีโย activeness activeness สามภาวะนี้ครบถ้วนแล้ว เรียกว่าจิตนั้นได้อบรมดีแล้วสำหรับจะให้ทำหน้าที่ นี้เป็นจิตวิทยาภาคกระทำจิตหรือเตรียมจิตให้พร้อมที่จะทำหน้าที่
ทีนี้ก็มาถึงภาคที่ทำหน้าที่โดยตรง จิตมีหน้าที่เห็นแจ้งสิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามที่เป็นจริง จะเรียกว่ารู้ จะเรียกว่าเข้าใจ จะเรียกว่าเห็นแจ้ง ก็แล้วแต่เถอะ แต่มันรู้จักสิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามที่เป็นจริง จิตที่เป็นอบรมดีแล้วอย่างที่นั้น มันก็มาเห็นความจริงของสิ่งทั้งปวง เห็นอนิจจตา ความไม่เที่ยงของสิ่งทั้งปวงที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยตามเหตุตามปัจจัย เพราะว่าสิ่งทั้งหลายมันมีเหตุมีปัจจัย ไม่มีเหตุไม่มีปัจจัยมันมีขึ้นมาไม่ได้ มันเป็นเหตุเป็นปัจจัยของกันและกัน มันจึงเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย คือเปลี่ยนอยู่ มันจึงเป็นของที่ไม่เที่ยง คือเปลี่ยนอยู่ตามเหตุตามปัจจัย ไปทางดีก็ได้ ทางชั่วก็ได้ มันเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย นี่เรียกว่าเห็นความไม่เที่ยง เมื่อเห็นความไม่เที่ยง ไม่คงที่ อย่างนี้ ก็เรียกว่าเห็นทุกขัง คือความน่าเกลียด ข้อแรกก็น่าเกลียดที่ไม่เป็นตัวตน เปลี่ยนตามปัจจัยเสียเรื่อย แล้วใครไปยึดถือเอาสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเป็นตัวเราเป็นของเรา มันกัดเอา มันกัดเอา เป็นทุกข์ เห็นความเป็น ทุกขลักษณะที่มีอยู่ในตัวสิ่งเหล่านั้นเอง แล้วก็เป็นทุกข์ในเมื่อใครเข้าไปยึดถือเอาโดยความเป็นตัวตนของตน เห็นความเป็นทุกข์อย่างนี้แล้ว รวมกันกับเห็นความไม่เที่ยงนั้นด้วย รวมกันเรียกว่าเห็นอนัตตตา เห็นอนัตตา เห็นอนัตตตา พูดให้ถูกๆ เห็นความเป็นของมิใช่ตน มิใช่ตน ไม่ใช่ว่าไม่มีอะไร มันมีอะไร แต่มันมีอย่างมิใช่ตน มิใช่ตน เป็นของธรรมชาติ จิตเห็นอย่างนี้แล้วก็เห็นต่อไปว่า โอ้ธรรมชาติมันเป็นอย่างนี้เองโว้ย ธรรมชาติมันเป็นอย่างนี้เองโว้ย เรียกว่าเห็น ธัมมัฏฐิตตา ธัมมัฏฐิตตา ความตั้งอยู่หรือเป็นไปตามธรรมชาติ ก็เห็นว่ามันเป็นไปตามธรรมชาติอย่างนี้เองตลอดเวลา ก็เลยเห็นต่อไปว่า โอ้มันมีกฎธรรมชาติบังคับอยู่โว้ย มันมีกฎธรรมชาติบังคับอยู่โว้ย นี่เรียกว่าเห็น ธรรมนิยามตา ธรรมนิยามตา เห็นธรรมนิยามตา เห็นธรรมนิยามตากฎธรรมชาติบังคับให้เป็นไปไม่มีหยุด ก็เรียกว่าเห็นการเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ที่เรียกว่าเห็นอิทัปปัจจยตา อิทัปปัจจยตา อิทัปปัจจยตาใช้สำหรับทุกสิ่ง แต่ถ้าใช้เฉพาะสิ่งที่มีชีวิตจิตใจรู้สึกสุขทุกข์ได้ เรียกว่าปฏิจจสมุปบาท ความหมายที่แคบเข้ามา สำหรับสิ่งที่มีสุขทุกข์ได้ นี่เรียกว่าเห็นปฏิจจสมุปบาท เห็นทั้งจักรวาล เห็นเป็นสิ่งมีชีวิต ไม่มีชีวิต อะไรก็ตาม เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย เรียกว่าอิทัปปัจจยตา เกี่ยวกับมนุษย์ที่มีชีวิตจิตใจ
เรียกว่าเห็นปฏิจจสมุปบาท แต่ในบาลีมักจะใช้ติดกันทั้งสองคำ ว่าเห็นอิทัปปัจจยตาปฏิจจสมุปบาทโธ นี่เห็นไอ้ความจริงที่ว่ามันเป็นไปอย่างที่เรียกว่าน่ากลัวหน่อย เป็นไปอย่างไม่เชื่อฟังใคร เป็นไปตามกฎนี้ พอเห็นอย่างนี้ก็โอ้ยมันไม่มี มันไม่มีตัวตนที่จะต้านทานอะไรนะโว้ย เรียกว่าเห็นสุญญตา สุญญตาเห็นความว่างจากความเป็นตัวตน คือมันเป็นอย่างนั้นของมันเอง สุญญตาอย่าแปลว่าสูญเปล่านะ ที่กรุงเทพฯ น่ะ ยังแปลสุญญตา ว่าสูญเปล่าไม่มีประโยชน์ สุญญตา สุญญตา สุญญ ว่าง แปลว่า ว่าง ไม่ได้แปลว่าสูญเปล่า มันแปลว่าว่าง ว่างจากตัวตน พอเห็นมันว่างจากตัวตนกันจริงๆ สุญญตาจริงๆ ก็เห็นตถาตา ตถาตา suchness มันเป็นเช่นนั้น มันเป็นเช่นนั้น เช่นนั้นเท่านั้นไม่เป็นอย่างอื่น พอเห็นความเป็นเช่นนั้น มันไม่เป็นอย่างอื่น จิตนี้มันก็คงที่ คงที่ คงที่ ไม่เป็นไปตามการปรุงแต่ง ไม่เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยที่ปรุงแต่ง สุดท้ายอันนี้เรียกว่าอตัมมยตา อตัมมยตา อาตมาพยายามโฆษณาหรือว่าทำความเข้าใจเรื่องนี้มาตั้งสองปีแล้ว พูดทางวิทยุกระจายเสียงทุกเดือน ก็พูดแต่เรื่อง อตัมมยตาปีกว่าแล้ว เพราะว่ามันเป็นสิ่งสูงสุด เป็นธรรมะสูงสุด เป็นความจริงที่สูงสุด เมื่อเห็นแล้ว มันไม่เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่ขึ้น อาศัย ไม่ขึ้นหรือไม่อาศัยกับเหตุกับปัจจัย มันเลยคงที่อยู่ได้ เพราะว่ามันไม่เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นเที่ยงหรือไม่ทุกข์ หรือเป็นอย่างที่มันคงที่ เป็นเรื่องของสิ่งที่พึงปรารถนา ถ้าถึงอตัมมยตาก็เป็นพระอรหันต์ ถ้าอตัมมยตาตัวน้อยๆ น้อยๆก็เป็นโสดาบัน สกทาคามี อนาคามี ไปตามเรื่อง จิตอบรมดีแล้วเป็นสมาธิถูกต้องแล้ว ก็นำมาใช้เพื่อเห็นความจริงของธรรมชาติ คือเห็นสิ่งทั้ง ๙ นี้เอง ความจริงนี้มีมากมาย ก็เอามาแค่ ๙ อย่างนี้พอแล้ว มันจะเกินพอเสียอีก จิตที่อบรมสูงสุดแล้ว เห็นความจริงของสิ่งนี้ นี่เรียกว่าจิตวิทยาของพระพุทธศาสนา นำมาสู่การเห็นความจริงทั้ง ๙ นี้
อนิจจตา ไม่เที่ยง
ทุกขตา ความเป็นทุกข์
อนัตตตา ความไม่ใช่ตน
ธัมมัฏฐิตตา ตั้งอยู่ตามธรรมชาติ
ธรรมนิยามตา มันมีกฎธรรมชาติบังคับอยู่
อิทัปปัจจยตา เป็นไปตามปัจจัยอยู่เนื่องนิจ
สุญญตา ว่างจากตัวตนโดยสิ้นเชิง
ตถาตา มันเช่นนี้เอง มันเช่นนี้เอง
อตัมมยตา อยู่เหนือเหตุเหนือปัจจัยโดยประการทั้งปวง
แข็งโป๊กอยู่ในความถูกต้อง อยู่ในถูกต้อง คงที่อยู่ในความถูกต้อง เจริญงอกงามไปตามความถูกต้อง จะเรียกว่าตั้งอยู่ก็ได้ ไม่ต้องเจริญอีกต่อไป ถ้ามันถึงความถูกต้องถึงที่สุดแล้ว มันตั้งอยู่ด้วยความถูกต้องหยุดเจริญก็ได้ แต่ถ้าไม่ถึงที่สุด มันก็เจริญ เจริญไปตามความถูกต้อง จนกว่าจะถึงที่สุด นี่เรียกว่าหัวใจของจิตวิทยาของพระพุทธศาสนา ท่านจะเอาไปใช้ในอะไรก็ลองดู อาตมาอยากจะเสนอให้เขาโห่หรือหัวเราะหรือด่าว่าในอตัมมยตาสูงสุดนี่เอาไปใช้ในเรื่องโลกๆก็ได้ พูดอย่างนี้นักปราชญ์ราชบัณฑิตในกรุงเทพฯเขาหัวเราะ เขาโห่ เขาด่าเอา อาตมาเคยถูกด่ามาเยอะแยะแล้วว่าเอาธรรมะสูงสุดมาทำให้ต่ำ ใช้แต่เรื่องต่ำๆ ความจริงมันเป็นได้อย่างนั้น ธรรมปฏิบัติเพื่อไปถึงนิพพานนั่นหล่ะ เอามาใช้ในเรื่องโลกๆก็ได้ ไตรสิกขาก็ดี อริยมรรคมีองค์ ๘ ก็ดี โพชฌงค์ก็ดี เอามาใช้ในเรื่องโลกๆนี่ก็ได้ ความหมาย เอาความหมายของมันใช้ในเรื่องทำนาทำไร่ก็ได้ ค้าขายก็ได้ ทำราชการก็ได้ แม้คนขอทานก็ได้ มานั่งขอทานก็ได้ เอามาใช้นั่งขอทาน ขอให้มันใช้หลักธรรมะให้ถูกต้อง ไม่เท่าไหร่มันก็พ้นจากการเป็นคนขอทาน จะขอยืนยันสักอย่าง คงที่อยู่ในความถูกต้อง อตัมมยตา อตัมมยตา คงที่อยู่ในความถูกต้อง แข็งโป๊กอยู่ในความถูกต้องนี่ คุณลองคิดดูซิว่าเอาไปใช้ในอะไรไม่ได้ เอาไปใช้ในอะไรไม่ได้ คงที่อยู่ในความถูกต้อง คือมีความถูกต้องอย่างคงที่ เอาไปใช้ได้หมดไม่ว่าอะไร ทำไร่ทำนามันก็ต้องถูกต้อง ค้าขายก็ต้องถูกต้อง ทำราชการก็ต้องถูกต้อง ถ้าไม่อย่างนั้นมันปลอมทั้งนั้น ทุจริตทั้งนั้น พินาศไปนั่น ถ้ามันคงที่อยู่ในความถูกต้องแล้ว มันก็ดีทั้งนั้นแหละ ดีจนพ้น ดีจนเหนือ ดีจนอยู่เหนือชั่วเหนือดี ถ้ามันถูกต้อง คงที่นี้ มันก็ต้องมีลักษณะแข็งโป๊ก อะไรมาทำลายมันไม่ได้ แล้วมันก็สามารถจะทำลายทุกสิ่งที่อ่อนกว่า แล้วมันก็ไม่เปลี่ยนแปลง ถ้าคงที่แล้วมันก็หมายความว่าไม่เปลี่ยนแปลง ถ้ามันเปลี่ยนแปลงมันก็ไม่คงที่ มันจึงไม่หวั่นไหว จิตนี้ไม่หวั่นไหวไปตามสิ่งที่มาแวดล้อม ทีนี้เรา คนเราแต่ละวันมันเปลี่ยนแปลงหัวปั่น เปลี่ยนแปลงอย่างหัวปั่น เดี๋ยวหัวเราะ เดี๋ยวร้องไห้ เดี๋ยวหัวเราะ เดี๋ยวร้องไห้ เดี๋ยวดีใจ เดี๋ยวเสียใจ เดี๋ยวดีใจ เดี๋ยวเสียใจ ไม่รู้ว่ากี่ครั้งกี่หน เดี๋ยวมีความรักเข้ามา ปั่นไป เดี๋ยวมีความโกรธเข้ามา ก็ปั่นไป เดี๋ยวมีความเกลียดเข้ามา ก็ปั่นไป เดี๋ยวมีความกลัวเข้ามา ก็ปั่นไป เดี๋ยวมีความตื่นเต้น ตื่นเต้น นั่นนี่ เอ้าก็ปั่นไป เดี๋ยววิตกกังวลอนาคต ก็ปั่นไป เดี๋ยวอาลัยอาวรณ์อดีต ก็ปั่นไป เดี๋ยวอิจฉาริษยากันเอง แม้แต่พี่น้องมันยังอิจฉาริษยากัน มีความหวงให้อยู่เป็นตลอด ตลอดกาล หวงของรัก รักใคร่พอใจจนนอนไม่หลับก็มี ถ้ามันเป็นเรื่องกามารมณ์สูงสุดก็กลายเป็นความหึง ความหวงโดยทั่วๆ ไปกลายเป็นความหึง ถึงกับฆ่ากันตายเพราะความหึง นี่คือความไม่คงที่ ไม่คงที่ เพราะจิตมันยังต่ำ ถ้าใช้คำพูดตรงๆ ก็ว่ามันยังเป็นจิตทราม จิตทราม ถ้าจิตไม่ทรามมันก็สูง ถ้าสูงมันก็อยู่เหนือวิกฤตการณ์ทั้งหลาย ไม่มีความเลวร้ายใดๆ มาเบียดเบียนได้
จิตวิทยาในพุทธศาสนาสรุปความได้เป็น ๒ ขั้นตอน คือว่า รู้จักจิตและเตรียมจิตให้เป็นจิตที่ดีที่สุด รู้จักจิตและเตรียมจิตให้เป็นจิตที่ดีที่สุดนี่ตอนหนึ่ง เป็นเรื่องของสมาธิ .........เสียงเทปหายไป..(นาทีที่ 54:27-54:40) จิตวิทยาของพวกอื่นไม่รู้ไม่อยากจะพูด แต่อยากจะพูดจิตวิทยาของพระพุทธศาสนา มีแล้วก็ทำให้จิตใจสูง จิตใจสูง จิตใจสูงหมายความว่าอะไร หมายความว่าอยู่เหนือ เหนือสิ่งไม่พึงปรารถนาโดยประการทั้งปวง จิตสูงเพราะมันอยู่เหนือสิ่งไม่พึงปรารถนา เหมือนกับว่าถ้าเราอยู่ในที่สูง น้ำก็ไม่ท่วม โคลนเลนก็ไม่ท่วม อะไรอะไรก็ไม่ท่วม จิตก็เหมือนกันถ้ามันอยู่ในที่สูง มันก็ไม่มีปัญหาใดๆ ที่จะไปรบกวนจิตได้ พวกกิเลสก็รบกวนไม่ได้ พวกกรรมก็รบกวนไม่ได้ ผลกรรมอะไรก็รบกวนไม่ได้ จิตมันสูงเสียแล้ว นี่มนุษย์ มนุษย์แปลว่าใจสูง จิตวิทยาอันถูกต้องทำให้มนุษย์มีจิตใจสูง นี่ถ้าท่านมองเห็นก็คงจะพอใจ คงอยากจะมี อยากจะมีจิตวิทยาในพระพุทธศาสนา ได้ยินว่าท่านทั้งหลายเป็นนักศึกษาวิชาครูอยู่ด้วย ก็คงจะสนใจจิตวิทยาที่สามารถช่วยทำหน้าที่ของครูได้สำเร็จ ครู ครูนั่นไม่ใช่สิ่งเล็กน้อย ตามภาษาอินเดีย ตามภาษาอินเดียนั้นเป็นคำสูงสุดกว่าคำใดๆ ในจำพวกผู้สั่งสอน เป็นคำสูงสุด ไม่มีผู้สั่งสอนใดเหนือยิ่งไปกว่าพวกที่เรียกว่าครู ที่เรียกว่าอาจารย์หรืออุปัชฌาย์นี้ยังต่ำกว่าครูมาก ในภาษาอินเดียแท้ๆนะ อาจารย์ก็สอนหนังสือหนังหาสอนวิชาความรู้ อุปัชฌาย์ก็สอนวิชาชีพก็มี ท่านไปอ่านหนังสือวรรณคดีเก่าๆ ต่างๆ ของอินเดียดู จะพบคำว่าอุปัชฌาย์ เป็นอาจารย์ผู้สอนวิชาดนตรี ผู้สอนวิชาดนตรีเรียกว่าอุปัชฌาย์ เดี๋ยวนี้ภาษาไทยมันไปกันลิบแล้ว อุปัชฌาย์จะยิ่งกว่าครูแล้ว แต่ในอินเดียไม่มีคำใดจะสูงไปกว่าครู สูงกว่าคำว่าอาจารย์ สูงกว่าคำว่าอุปัชฌาย์ สูงกว่าผู้สอนใดๆ เป็นที่ปรึกษาของพระเจ้าแผ่นดิน เป็นครูผู้นำของพระเจ้าแผ่นดิน เป็นมหาคุรุ เป็นอภิรัฐคุรุ เป็นครูของประเทศ เป็นครูของโลกไปเลย เดี๋ยวนี้ครูมาอยู่ใต้อาจารย์ คนไม่อยากให้เรียกว่าครู อยากให้เรียกว่าอาจารย์ เรียกว่าศาสตราจารย์ คำพูดมันเปลี่ยน น่าหัวเหมือนกัน แต่ในอินเดียก็ยังใช้กันอย่างถูกต้อง คำว่าครูยังสูงสุดกว่าอาจารย์ เขาเรียกว่าคุรุ คุรุ ไม่ได้เรียกยาวๆอย่างภาษาไทยว่าครู ครูนี่ก็จะต้องเกี่ยวกับจิตวิทยาเพราะมีความรู้ทางจิตวิทยาถึงที่สุด ตัวหนังสือแปลว่า ที่เคารพ ที่เคารพมีพระคุณเหนือบุคคลทั้งปวง แปลว่าหนักอยู่เหนือศีรษะของบุคคลทั้งปวง เรียกว่าครู คุรุฐานียะ ตั้งอยู่ในฐานะที่เป็นของหนัก คนต้องเคารพ คนต้องเอาใจใส่ จะได้ยินว่านักวิชาศัพทศาสตร์ค้นพบว่า คำว่าคุรุ คุรุนี่ รากศัพท์แปลว่า เปิดประตู root ของคำ root รากศัพท์ของคำคำนี้แปลว่าเปิดประตู ผู้ใดเปิดประตูผู้นั้นเป็นคุรุ จะเป็นเรื่องทางจิตก็เป็นเปิดประตูทางจิต เปิดประตูทางจิตแล้วสัตว์โลกก็ออกมาจากคอก คอกคือสิ่งที่กักขังให้เป็นทุกข์ ให้ทนทรมาน ให้มันเป็นทุกข์ อยู่ในคอกของมันก็เดือดร้อน เป็นทุกข์ ทั้งมืด ทั้งเหม็น ทั้งสกปรก ทั้งอัดแอและทั้งอะไรต่างๆ กองทุกข์ในโลกนี้คือคอก เปิดประตูคอก พอเราเปิดประตูคอก คอกไก่ ไก่ก็ออกมา คอกเป็ด เป็ดก็ออกมา มันไม่อยากจะอยู่ในคอก ครูแปลว่าคุรุนี่ แปลว่าเปิดประตู เปิดประตูทางวิญญาณ สัตว์ก็ออกมาจากความทุกข์ ออกมาจากกองทุกข์ แล้วครูก็นำไปในทางที่ถูกต้อง นำไปในทางที่ถูกต้องไปสู่ความดี ความงาม ความประเสริฐ สูงสุดขึ้นไป วิญญาณสูงสุด เปิดประตูแล้วนำไปในทางวิญญาณนี้คือคำว่าครู มันเป็นเรื่องของจิตร้อยเปอร์เซ็นต์ ถ้าไม่มีความถูกต้องในทางจิตแล้วมันเปิดประตูไม่ออกหรือมันจะนำไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นขอให้คุณครูทั้งหลายสนใจในเรื่องของจิต มีความรู้อย่างถูกต้องเพียงพอในเรื่องของจิต แล้วก็ใช้สิ่งที่เรียกว่าจิต จิต นี่ให้เป็นประโยชน์ถูกต้องถึงที่สุดก็พอแล้ว ฝึกจิตให้ดี ให้ใช้ประโยชน์ได้ แล้วก็ใช้มัน ใช้มัน ใช้มัน แล้วได้รับประโยชน์เกิดขึ้นก็บริโภคหรือเสวยผลอันเกิดจากการกระทำนั้น นี่เค้าโครงทั้งหมดของสิ่งที่เรียกว่าจิตวิทยาในพระพุทธศาสนา
เราจะพิจารณากันในข้อนี้ว่าพระพุทธเจ้าเป็นยอดของนักจิตวิทยาหรือไม่ พอพูดอย่างนี้ก็มีเค้าเงื่อนที่คนจะพูดกันว่าไอ้นี่มันเล่นตลกแล้ว มันเอาเรื่องธรรมะมาเป็นเรื่องโลกแล้ว เพราะมันไม่เข้าใจคำว่าจิตหรือจิตวิทยา ถ้าเราดูการกระทำทุกอย่างของพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์เป็นยอดสุดของนักจิตวิทยาในทางที่ถูกต้องบริสุทธิ์ผุดผ่อง ถ้าไม่มีจิตอันสูง ไม่มีจิตอันสูงก็ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้หรอก จิตจะสูงอย่างไรถ้าไม่มีความรู้เรื่องจิตวิทยา พระพุทธเจ้าท่านมีความรู้เรื่องจิตวิทยาสูงสุด ท่านจึงเป็นพระพุทธเจ้าได้ ครั้นเป็นพระพุทธเจ้าแล้วท่านก็ยังต้องใช้จิตวิทยาอีกตอนหนึ่งคือการสั่งสอน การสั่งสอนถูกต้องตามหลักของจิตวิทยาจึงสำเร็จประโยชน์ เดี๋ยวนี้พวกเรามันสอนไม่ค่อยจะถูกต้องตามหลักจิตวิทยา แล้วเราก็ไม่ได้สั่งสอนเพื่อความเป็นครูนี่ ไม่ใช่เพื่อความเป็นปูชนียบุคคล รับจ้างสอนเอาเงินเดือน เป็นลูกจ้าง จะเรียกว่าเป็นกรรมกรก็ได้ สอนวิชาที่เขาต้องการจะได้ จะเรียน จะรู้กัน มันก็สอนหนังสือบ้าง สอนวิชาอาชีพบ้าง อะไรบ้าง แล้วมันก็อยู่กันเพียงเท่านี้ มันก็ไม่สูงสุด ถ้าสอนสูงสุดก็สอนให้หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวงไม่เหลืออยู่เลยทุกๆระดับ พระพุทธเจ้าท่านมีการตรัสรู้ ก็ตรัสรู้เรื่องจิตหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง แล้วก็มีความรู้สำหรับจะสอนต่อไป สอนต่อไป ให้สัตว์ทั้งหลายพลอยได้รับความรู้อันนี้ ท่านจึงเป็นผู้มีพระคุณอันสูงสุดของโลก เพราะท่านมีความรู้ความสามารถที่จะสอนโลก เป็นอาจารย์ของโลก เป็นศาสตราจารย์ เป็นผู้นำโลกให้พ้นจากความทุกข์ เพราะท่านมีความรู้ในเรื่องจิตวิทยา จิตวิทยาในการที่จะทำให้ตรัสรู้ก็ไปหาอ่านเอาเองจากพุทธประวัติ พระพุทธประวัติที่แท้จริง ไม่ใช่พุทธประวัติเทพนิยายทีหลัง พุทธประวัติธรรมะแท้จริงจะพบพระพุทธเจ้ามีปัญญายอดสุดของปัญญาอย่างไร พุทธประวัติที่บรรยายโดยเทพนิยายปาฏิหาริย์เต็มไปด้วยปาฏิหาริย์นี่เว้นเสียก็ได้ ไปอ่านพุทธประวัติที่เป็นธรรมะ ตรัสรู้ธรรมะ สอนธรรมะ นี่ท่านก็เป็นผู้มีความรู้ทางจิตวิทยาจนเป็นพระพุทธเจ้า แล้วทีนี้มาดูการเผยแผ่ของท่าน ครบถ้วน ถูกต้อง สมบูรณ์ไปด้วยองค์ประกอบทุกๆ องค์ที่จะให้เกิดความสำเร็จ หมายความว่าถ้าไม่เกิดความเข้าใจ แล้วก็แน่ใจที่จะปฏิบัติตาม แล้วก็ปฏิบัติตาม แล้วก็ได้รับประโยชน์โดยแท้จริง พระพุทธเจ้านั่นคำนี้แปลว่ารู้ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน มันจึงเป็นเรื่องของความรู้ไปเสียหมด ไม่ใช่เรื่องของความเชื่อ ดังนั้นพระพุทธเจ้าท่านไม่ได้สอนให้เชื่อ แต่ท่านสอนให้รู้ ถ้ารู้จริงแล้วมันเชื่อของมันเองแหละ ไม่ต้องไปเข็นมันหรอก ไปเข็นด้วยความเชื่อนี่มันลำบาก แต่ถ้าสอนให้มันรู้ รู้หมด มันก็สมัครเองที่จะหาประโยชน์ หรือได้รับประโยชน์อันนั้น ความเชื่อก็ตามหลังความรู้มา นี่ก็เป็นเรื่องของจิตวิทยาที่ถูกต้อง ให้ความรู้นำความเชื่อ แต่ถ้าเป็นศาสนาอื่นที่ไม่ใช่พุทธศาสนาเขาไม่มีหลักอย่างนี้ เขาไม่มีคำว่าพุทธะ คือผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เขาจึงตั้งต้นด้วยความเชื่อแล้วก็บังคับให้เชื่อให้เชื่อชนิดที่ถูกบังคับนี่ปัญญาจะเกิดหรือไม่เกิดก็ไม่รู้ ถ้ายอมเชื่อ ยอมอยู่ใต้บังคับแล้ว ก็ทำไปอย่างนั้น แต่นี่ก็ไปเปรียบกันดูเองว่าอย่างไหนจะราบรื่น เรียบร้อย เยือกเย็นกว่า เชื่อตามที่รู้ หรือว่าเชื่อทั้งที่ไม่ต้องรู้ นี่ก็เป็นความลับของจิตวิทยาในพระพุทธศาสนา
ทีนี้อยากจะยกตัวอย่าง ยกตัวอย่างเรื่องเล็กๆ เรียกว่าเรื่องที่จะยกมาเป็นตัวอย่างได้ว่ามีจิตวิทยาอย่างไร การสอนของพระพุทธเจ้าท่านมีหลักเกณฑ์อย่างไรในแง่ของจิตวิทยา แล้วสาวกทั้งหลายก็พากันถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์อันนั้น
ข้อที่ ๑ ท่านสอนผู้ฟังให้รู้สึกว่าเป็นของแปลกใหม่ มีค่าสูงสุด นี่สอนให้ผู้ฟังรู้สึกว่าไอ้เรื่องนี้มันแปลกสำหรับเรา เราไม่เคยรู้ แล้วมันมีค่าสูงสุดซึ่งมองเห็นได้จริง ก็แปลว่าท่านมาให้เรื่องใหม่ที่แปลกออกไป
ข้อที่ ๒ ท่านสอนให้มีเหตุผลอยู่ในตัวคำสอนนั่นเอง ดังนั้นท่านจึงตรัสกาลามสูตรที่ว่า ไม่ต้องเชื่อปิฎก ไม่ต้องเชื่ออะไรๆ ๑๐ อย่างนั้น รวมทั้งไม่เชื่อผู้พูดที่น่าเชื่อ หรือไม่เชื่อว่าสมณะนี้เป็นครูของเรา พูดกันตรงๆ ก็ไม่ต้องเชื่อพระไตรปิฎก ไม่ต้องเชื่อพระพุทธเจ้า ไม่ต้องเชื่อคำพูดของพระพุทธเจ้า แต่เชื่อเหตุผลที่มันมีอยู่ในคำตรัสนั้น นี่เรียกว่าท่านตรัสมีเหตุผล เหตุผลมีอยู่ในคำตรัสนั้น แล้วผู้ฟังสามารถจะเชื่อเหตุผลที่มีอยู่ในคำตรัสนั้นโดยไม่ต้องอ้างพระไตรปิฎก ไม่ต้องอ้างพระพุทธเจ้า ไม่ต้องอ้างบาลี ไม่ต้องอ้างอรรถกถา ไม่ต้องอ้างอะไรหมด เพราะมันมีเหตุผลอยู่ในคำที่ตรัส คำที่ตรัสของพระพุทธเจ้ามีอย่างนี้คือมีเหตุผลอยู่ในตัวพร้อม ดูแล้วก็เห็นได้ โดยไม่ต้องเชื่อตามกาลามสูตรซึ่งเป็นสูตรที่สำคัญ ศึกษาไว้เถอะ ไม่เชื่อตามที่เขาบอกฟังตามๆกันมา คือบอกสอนตามๆ กันมา ไม่เชื่อตามที่เขาประพฤติกระทำตามๆ กันมาเป็น tradition ไม่เชื่อตามที่เล่าลือ กระฉ่อนอยู่ ไม่เชื่อว่ามันมีที่อ้างในปิฎก ไม่ต้องเชื่อตามเหตุผลทางตรรกะ ตรรกะคือ logic ไม่ต้องเชื่อเหตุผลตามนัยยะคือทาง philosophy ไม่ต้องเชื่อว่านี้มันตรงตามอาการ มันเป็นตามอาการที่มันเกิดขึ้นได้ common sense ไม่เชื่อกัน common sense ไม่เชื่อเพราะว่าอันนี้มันถูกใจเราทุกที มันถูกใจ มันทนต่อการพิสูจน์หรือความสงสัยของเรา มันทนได้ทุกที แล้วก็ไม่เชื่อว่าผู้พูดอยู่ในลักษณะที่น่าเชื่อ แล้วไม่ต้องเชื่อว่าผู้พูดนั้นเป็นครูบาอาจารย์ของเรา พอมาสอนอย่างนี้คนเขาด่าเรา มาสอนให้คนไม่เชื่อใคร ไม่เชื่ออะไรทั้งหมด ไม่ใช่อาตมาว่า พระพุทธเจ้าตรัส อาการ ๑๐ อย่างนี้ คือท่านสอนมีเหตุผลอยู่ในตัวคำพูดนั้น นี่ข้อที่ ๒นะ ข้อที่ ๑ สอนให้รู้สึก ให้ผู้ฟังรู้สึกของนี่ใหม่เหลือเกิน ไม่เคยได้ยินได้ฟัง ข้อที่ ๒ มีเหตุผลอยู่ในตัวมันเอง
ข้อที่ ๓ มีปาฏิหาริย์อยู่ในคำพูดนั้นในธรรมะนั้น ปาฏิหาริย์คือวิธีที่จะให้สำเร็จประโยชน์ สำเร็จประโยชน์เรียกว่าปาฏิหาริย์ มีวิธีที่จะให้สำเร็จประโยชน์อยู่ในตัวคำพูดนั้น นี่เรียกว่ามีปาฏิหาริย์ ไม่เหลือวิสัย ไม่เหลือวิสัยปฏิบัติได้ สำเร็จประโยชน์ได้ แล้วก็นำมาซึ่งผลโดยแท้จริงนี้เรียกว่าปาฏิหาริย์ เมื่อกล่าวตามหลักจิตวิทยาก็กล่าวได้ว่า พระพุทธเจ้าท่านมีวิธีสอนของท่านคือ ๓ องค์ประกอบ ๓ factor ว่า หนึ่งผู้ฟังจะรู้สึกว่า โอ้! น่าสนใจที่สุด น่าสนใจที่สุด แปลกใหม่ที่สุด ไอ้ความหิวที่อยากจะทำตามมันเกิดขึ้นมาเอง หิว appetite นะ ไม่ใช่หิว คือหิวที่จะกระทำ มันก็เกิดขึ้นมาเอง บาลีเรียกว่าฉันทะ ฉันทะ เกิดขึ้นมาเอง แล้วก็สอง มีเหตุผลแสดงอยู่ในตัวคำพูดนั้นโดยไม่ต้องเชื่อผู้อื่น ข้อสาม มีปาฏิหาริย์คือวิถีทางที่จะทำให้สำเร็จประโยชน์แสดงอยู่ในตัวนั้น คุณพิจารณาดูซิมันบกพร่องที่ตรงไหน จิตวิทยาในการสอนนี่มันบกพร่องที่ตรงไหน มันสมบูรณ์ที่สุด สมบูรณ์ที่สุด เพียงเท่านี้พระองค์ก็เป็นพระบรมครูได้แล้ว เกินที่จะได้อีก นี่จิตวิทยาในการเผยแผ่ ในการสั่งสอน คนได้ฟังก็สนใจอยากก็จะได้รับผล อยากจะนิพพาน อยากจะได้นิพพานขึ้นมา แล้วก็มีการปฏิบัติ ปฏิบัติได้ตามนั้น ได้รับผลถึงที่สุดได้จริง ที่ดูพุทธจิตวิทยาก็จะเห็นได้ว่า เราจะจัดให้เป็นอะไรก็ได้ ให้เป็นศาสนาก็ได้ เป็นศีลธรรมก็ได้ เป็นวัฒนธรรมก็ได้ เป็นวิทยาศาสตร์ก็ได้ และที่น่าสนใจ ที่เขาสนใจกันเป็นพิเศษก็คือว่าเป็นยอดของศิลปะคือเป็น art art of life คนฝรั่งรู้จักกัน คนหนึ่ง เขามาที่นี่บ่อยๆ ก่อนนี้เขาอยู่อเมริกา อยู่อเมริกาเขามาพูดว่าเขาจะรวบรวมซื้อหา art Buddhist Art ไอ้ที่เขาหอบออกไปน่ะเป็นพระพุทธรูป เป็นวัตถุอย่างพระพุทธรูปนี้ทั้งนั่นแหละ Buddhist Art อาตมาบอกขอเสียใจที่คุณทำผิดแล้วนั่นไม่ใช่ Buddhist Art art ของพุทธบริษัท คือวิธีทำให้ดับทุกข์ได้หมดจด วิธีการปฏิบัติที่จะทำให้จิตเกลี้ยงจากความทุกข์ นี่ art art ที่หมายถึงความงามที่สำเร็จประโยชน์ หรือสำเร็จประโยชน์ได้อย่างงดงามเป็น art คุณลองทำซิ หมดความทุกข์ในจิตใจงามเหลือประมาณ แล้วยากที่สุด ประณีตที่สุด สมกับความหมายของคำว่า art นี่ art จิตวิทยาในพระพุทธศาสนามันเป็น art art of life แล้วก็สูงสุด สูงสุด งดงาม น่าดู น่าเลื่อมใส น่าพอใจ ครั้นกระทำเข้าแล้วมีผลสูงสุดจริงๆ ด้วย นี่แม้จะจัดให้เป็น art ก็ยังได้ หรือให้ต่ำที่สุดเป็นเรื่องสุขภาพอนามัยก็ได้ มีธรรมะถูกต้องในพระพุทธศาสนาแล้ว ก็จะมีสุขภาพอนามัยดีทั้งทางกายและทางจิต ร่างกายพร้อมที่จะทำหน้าที่ จิตก็พร้อมที่จะทำหน้าที่ มีความเข้มแข็ง มีความว่องไว มีความอะไรต่างๆ มันก็เป็นอนามัย เป็นเรื่องของอนามัย นี่จะให้เป็นอะไร มันก็เป็นได้ทุกๆ อย่างที่พึงประสงค์ อาตมาจะพูดอย่างนี้ท่านจะหาว่าเอาเปรียบก็ตามใจ จิตวิทยาความรู้เรื่องเกี่ยวกับจิตของพระพุทธศาสนานั้น เป็นได้ทุกสิ่งทุกอย่างคือทั้งหมดตามที่มนุษย์จะควรประสงค์ จะพึงประสงค์ ขอให้สนใจในความหมายที่กว้าง แล้วก็ไปเลือกเอาเอง ตัดทอนเอาเองว่าเอาเท่าไหร่ เอาเท่าไหร่ ให้ตรงตามหน้าที่ของเรา ของเรา
ทีนี้ ที่เข้าใจได้ง่ายไปกว่า art ก็คือ way way of life ชาวต่างประเทศทั่วโลกสนใจพุทธศาสนาในฐานะ way of life มากที่สุด วิถีทางดำเนินแห่งชีวิต ถ้าจะเรียกว่าจิตวิทยา ก็เป็นจิตวิทยาที่ส่องแสงสว่างให้เห็นหนทางดำเนินแห่งชีวิต way of life วิถีแห่งชีวิต ไปไหนล่ะ ไปจากจุดตั้งต้นคือความทุกข์ ไปสู่ปลายทางสูงสุดคือความดับทุกข์ ดับทุกข์ไปตามลำดับ ตามลำดับ จนหมดทุกข์เป็นนิพพาน หมดทุกข์โดยประการทั้งปวง เป็นครูสอนจิตวิทยาก็ควรจะสอนให้มันเป็น way of life เพื่อผ่านพ้นปัญหาต่างๆ ไปตามลำดับ ตามลำดับ ปัญหาทางการเมือง ปัญหาทางเศรษฐกิจ ปัญหาทางสังคม มันล้วนแต่จะต้องผ่านปัญหาเหล่านี้ไปให้หมดสิ้น มันมีวิถีทางที่จะผ่านไปได้จริงโดยจิตวิทยาอันละเอียดประณีต ถูกต้อง บริสุทธิ์ ผุดผ่องของพระพุทธศาสนา มีวิถีทางของชีวิต คำนี้ก็เหมือนกัน อาตมาอยากจะพูดอีกที มันเหมือนเป็นสิ่งที่เรียกชื่อได้ทุกอย่าง way of life นี่จะเรียกว่าวิทยาศาสตร์ก็ได้ จะเรียกว่าศีลธรรม วัฒนธรรม หรืออะไรก็เรียกได้ทั้งนั้นแหละ ขอให้มันเป็นตัวจริง ตัวจริงคือเป็นสิ่งที่ชีวิตดำเนินไปอย่างถูกต้องจนถึงจุดหมายปลายทาง ความสะอาด ความสว่าง ความสงบ เรียกกันอย่างนี้ก็ได้เป็นจุดหมายปลายทาง จิตสะอาดไม่มีมลทิน ไม่มีทุกข์ สว่างก็รู้แจ้งที่ควรจะรู้ สงบก็เย็น แต่สงบเย็นนี่ต้องเป็นประโยชน์ ไม่ใช่สงบเย็นเฉยๆ ตัดบทเอาสั้นๆ ว่า สงบเย็นและเป็นประโยชน์ก็พอ สองพยางค์ สองคำก็พอแล้ว สงบเย็นชนิดที่เป็นประโยชน์ ไม่ใช่สงบเย็นนอนกลิ้งเป็นก้อนหินหรือเป็นท่อนไม้ เมื่อเดินไปตามทางนี้ถึงที่สุดแล้ว ชีวิตก็ประสบความสงบเย็นในความหมายของธรรมะของศาสนา ไม่ใช่เย็นใส่น้ำแข็ง ไม่ใช่ ไม่ต้องใส่น้ำแข็ง มันเย็นกว่าน้ำแข็งเสียอีก มันไม่หนาว มันไม่ร้อน มันไม่อะไรทุกอย่าง มันไม่เป็นบวก มันไม่เป็นลบ มันไม่อยู่ใต้อำนาจของความเป็นบวกหรือความเป็นลบ มันเป็นอิสระแก่ตัว มันจึงเป็นความสงบเย็น ถ้ามันเป็นบวกมันก็ร้อนในทางที่ทำตามบวก ลบก็ร้อนในทางที่จะแก้ไขความเป็นลบ ที่จริงก็อยู่เหนือบวกเหนือลบ เหนือดีเหนือชั่ว เหนือได้เหนือเสีย เหนือแพ้เหนือชนะ เหนือกำไรเหนือขาดทุน เหนือไปได้ทุกๆ คู่ นั่นแหละยอดสุดของทาง จุดหมายปลายทางของทางเป็นอย่างนี้ เป็นเรื่องของจิตวิทยาที่ถูกต้องแล้ว สมบูรณ์แล้ว ปฏิบัติดีแล้ว พาไปถึงจุดหมายปลายทางกันในลักษณะอย่างนี้ เราก็ได้ชีวิตใหม่ ชีวิตโลกุตระ ชีวิตใหม่คือชีวิตโลกุตระ อยู่เหนือปัญหาทั้งปวง เหนือความทุกข์ทั้งปวง ใช้คำว่าเหนือปัญหาทั้งปวงดีกว่านะ ถ้าคุณจะจำว่าขอให้เหนือปัญหาทั้งปวง จะใช้คำว่าเหนือความทุกข์ทั้งปวงก็ไม่ถูกหรอก เพราะว่าความสุขมันก็เป็นปัญหา ตัวความสุขยิ่งยุ่งยิ่งเป็นปัญหา เหนือทั้งความสุขเหนือทั้งความทุกข์ จะเหนือปัญหาโดยประการทั้งปวง พระนิพพานอยู่เหนือปัญหาโดยประการทั้งปวง เป็นชีวิตที่อยู่เหนือปัญหาโดยประการทั้งปวง มันเป็นชีวิตที่ไม่กัดเจ้าของ ฟังดูแปลกๆ ฟังดูเหมือนกับพูดเล่น ชีวิตที่ไม่กัดเจ้าของ พวกฝรั่งเขามากันที่นี่ทุกเดือน อาตมาพยายามโฆษณาเผยแผ่ข้อนี้ คุณจะได้ชีวิตที่ไม่กัดเจ้าของ เขาชอบใจ เขาชอบใจคำนี้ เพราะว่าที่แล้วมาแต่หนหลัง เขามีแต่ชีวิตที่กัดเจ้าของ ไปหลงบวกบ้าบวกมันก็กัดแบบบวก ไปหลงลบมันก็กัดแบบลบ ชีวิตมันกัดเจ้าของด้วยความยินดี มันก็เดือดร้อนวุ่นวายอย่างยินดี ยินร้ายหรือเสียใจก็กัดเอาอย่างเสียใจ ดีใจก็กัดเอาอย่างดีใจ หาความสงบไม่ได้ มันไม่กัดโดยประการทั้งปวงเพราะมันอยู่เหนือความเป็นบวกเหนือความเป็นลบ ชีวิตที่ไม่กัดเจ้าของไม่มีอะไรระแคะระคายให้เดือดร้อนแม้แต่นิดเดียว นี่ชีวิตสูงสุดที่รับจากพระพุทธศาสนา โดยการจัดโดยการทำอย่างถูกต้องต่อสิ่งที่เรียกว่าจิต เพราะฉะนั้นจิตวิทยาในพุทธศาสนาก็คือหนทางหรือวิถีทางที่จะนำไปสู่ชีวิตชนิดที่ไม่กัดเจ้าของ ชีวิตที่กัดเจ้าของนี่เลวกว่าหมาซะอีก เอาไปทำอะไร จะเอาไปทำอะไรถ้าชีวิตนี้มันกัดเจ้าของ หมามันยังไม่กัดเจ้าของ ถ้าชีวิตนี้กัดเจ้าของจะเอาไปทำอะไร มันต้องได้ชีวิตที่ไม่กัดเจ้าของ มีความสงบเย็น สงบเย็น สงบเย็น พร้อมกันก็เป็นประโยชน์ เป็นประโยชน์ เป็นประโยชน์ เป็นเครื่องจักรที่ผลิตประโยชน์ออกมาอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
สรุปกันเสียทีว่า จิตวิทยาในพระพุทธศาสนานำไปสู่ความมีชีวิตที่สงบเย็นและเป็นประโยชน์ เรื่องมันจบเท่านั้นแหละ มันเป็นที่พึ่งของโลก เป็นธรรมะของโลก เป็นวิถีทางของโลก เป็นทางรอดของโลก เป็นระบบที่เป็นทางรอดของโลก ขอให้มีจิตวิทยาชนิดสะอาดบริสุทธิ์ผุดผ่อง อย่าให้มันเป็นว่า psycho นี่มึงหลอกกู มันใช้จิตวิทยาเพื่อความหลอกลวง เพื่อเป็นปัจจัยแห่งสงคราม เดี๋ยวนี้ที่เขาใช้กันมาก ที่เขาเรียนกันมาก เรียนจิตวิทยาเอาไปใช้เพื่อเป็นปัจจัยทางเศรษฐกิจ ทางการเมือง และทางสงคราม แล้วโลกมันจะสงบได้อย่างไร ขอให้พวกเราทุกคนมีความเป็นมนุษย์ที่ถูกต้อง มีจิตใจสูง แล้วก็มีความรู้ทางจิตที่ถูกต้องนำไปสู่ความมีจิตใจสูง แล้วปัญหาก็จะหมด ไม่มีเหลือ นี่โดยแนวสังเขปมันเป็นอย่างนี้ ท่านไปแสวงหารายละเอียดปลีกย่อยเอาเองให้มันสำเร็จประโยชน์ตามแนวนี้ ตามแนวนี้ ก็เรียกว่ามีความรู้ที่ถูกต้องในเรื่องของพระพุทธศาสนากับจิตวิทยา
อาตมาขอสรุปความว่า อนุโมทนาในการมาของท่านทั้งหลาย มาแสวงหาความรู้ทางธรรมเพื่อไปใช้ประโยชน์หน้าที่การงานให้จริงถึงที่สุด และธรรมะนี้ก็คือเรื่องความถูกต้องของจิต มีความรู้อันถูกต้อง มีการปฏิบัติอันถูกต้อง มีการได้รับผลอันถูกต้อง รู้ถูกต้อง ทำถูกต้อง ได้รับผลถูกต้องในเรื่องของจิต แล้วก็มีแต่ความเยือกเย็นและเป็นประโยชน์จนตลอดชีวิตที่นี่และเดี๋ยวนี้ ไม่ต้องรอต่อตายแล้ว ไม่ต้องรออีกหมื่นชาติแสนชาติ ไม่ต้องรอ ที่นี่และเดี๋ยวนี้ สามารถจะได้รับผลเป็นความสงบเย็นและเป็นประโยชน์ของจิต การบรรยายนี้สมควรแก่เวลา เรี่ยวแรงอาตมาด้วย ระหว่างนี้มันไม่ค่อยมีแรงจะพูด จึงต้องขอยุติการบรรยาย
และในที่สุดขอแสดงความหวังว่าท่านทั้งหลายคงจะมีความรู้ มีความเข้าใจในเรื่องนี้ สามารถนำไปใช้ให้สำเร็จประโยชน์ ในการดำเนินประโยชน์กิจของตน ของตน มีความเจริญงอกงาม ก้าวหน้า มีความสุขสวัสดี อยู่ทุกทิพาราตรีกาลเทอญ ขอยุติการบรรยาย