แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านนักศึกษาพัฒนบริหารศาสตร์และท่านสาธุชนผู้สนใจในธรรมทั้งหลาย อาตมาขอแสดงความยินดีในการมาของท่านทั้งหลายสู่สถานที่นี้ในลักษณะอย่างนี้เพื่อแสวงหาความรู้ธรรมะ เพื่อไปประกอบการศึกษา หน้าที่การงาน ซึ่งมีเหตุผลที่จะต้องทำเช่นนั้น เพราะว่าการศึกษาแต่ละแขนงมักจะไม่ค่อยมีหรือไม่มีเรื่องของธรรมะซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นเท่าไหร่ ท่านทั้งหลายจะทราบได้เอง อีกประการหนึ่ง ในการที่เรามาพูดจากันในเวลาหัวรุ่งอย่างนี้มีความหมายและมีเหตุผลด้วยเหมือนกัน มันเป็นเวลาที่มันมีพลัง ขอใช้คำอย่างนี้ก็แล้วกัน พระพุทธเจ้าตรัสรู้เวลาหัวรุ่งซึ่งเป็นเวลาที่มีพลังสูงสุด และสำหรับอาตมานี้ก็เป็นพิเศษคือว่าไม่ค่อยมีแรง สบายดีแต่ว่าไม่มีแรง เวลาจะมีแรงบ้างก็หัวรุ่งเหมือนกัน มันเป็นโลกอีกโลกหนึ่งซึ่งไม่เป็นที่รู้จักของคนนอนสายจนตลอดชีวิต คนที่ยังนอนคลุมโปงอยู่เวลานี้ไม่มีโอกาสที่จะรู้จักโลกอีกโลกหนึ่งซึ่งเป็นโลกที่สงบเย็นหรือว่ามีพลัง สัตว์ทั้งหลายก็ร่าเริงเวลาหัวรุ่ง ขอให้มาสนใจ ทราบไว้ แล้วเราก็มานั่งพูดกันในลักษณะเหมือนกับว่านั่งกลางดิน นี่ค่อยยัง ค่อยยังชั่วที่ว่ามีม้านั่ง ธรรมดาเราก็นั่งพูดกันกลางดินเลยที่หินโค้ง โดยถือว่ามันมีความหมายหรือว่ามีอิทธิพลบางอย่างซึ่งซ่อนเร้นอยู่ โดยว่าพระพุทธเจ้าประสูติก็กลางดิน ตรัสรู้ก็กลางดิน สอนก็กลางดิน อยู่อาศัยก็กลางดิน นิพพานคือตายก็กลางดิน มันเป็นกลางดินไปหมดสำหรับพระพุทธเจ้า ความหมายมันก็คือ อยู่ใกล้ชิดธรรมชาตินั่นเอง อยู่ใกล้ชิดธรรมชาตินั่นนะมันเป็นเหตุให้รู้จักธรรมชาติ คำว่าธรรมชาติคำนี้มีความหมายสำคัญมาก เพราะว่ามันเป็นต้นตอของสิ่งที่เรียกว่า "ธรรม" หรือว่า "ธรรมะ" ในภาษาบาลีมันเป็นคำเดียวกัน คำว่า "ธรรมะ" เนี๊ยะ ธ -รร-ม เนี๊ยะ แปลว่าธรรมชาติก็ได้ สิ่งที่เป็นเอง ทรงตัวอยู่ในตัวมันเอง อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติเท่าไหร่ก็มีส่วนที่จะได้รู้จักธรรมชาติมากเท่านั้น เพราะธรรมะ ธรรมะ คำนี้มันมีความหมายมากกว่าที่ครูเค้าสอนลูกเด็ก ๆ ในโรงเรียน ครูสอนเด็ก ๆ ในโรงเรียนว่า ธรรมะ คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า นี่มันถูกขี้เล็บ (ฟังไม่ออก นาทีที่ 05.31-05.34) ธรรมะมันมากกว่านั้น เป็นคำที่เค้าพูดกันอยู่ก่อนที่พระพุทธเจ้าเกิด ก่อนมีพระพุทธเจ้า ก่อนมีคำคำนี้มนุษย์ก็ไม่มีคำคำนี้ใช้ แต่เมื่อมนุษย์คนหนึ่งได้สังเกตเห็นสิ่งที่สำคัญสิ่งหนึ่งแล้วก็ออกปากเรียกมันว่าธรรมะ สิ่งนั้นคือหน้าที่ สิ่งมีชีวิตมันมีหน้าที่ ไม่มีหน้าที่มันก็คือตาย สังเกตเห็นธรรมะ ธรรมะเป็นหน้าที่ก็เลยเรียกว่า ธรรมะ โดยภาษาอินเดียโบราณและภาษาไทยเราก็คือหน้าที่ ธรรมะมันคือหน้าที่ คือสิ่งที่จำเป็นต่อสิ่งที่มีชีวิต ขาดธรรมะก็คือขาดปัจจัยแห่งชีวิตหรือคู่ชีวิต ขอใช้คำอย่างนี้ คู่ชีวิต คู่ผัวตัวเมียเนี๊ยะ ขาดกันสักสองวัน สามวัน สองเดือนสามเดือนก็ได้ ไม่ตายหรอกคู่ชีวิตชนิดนั้น หย่ากันก็ได้ แต่ว่าคู่ชีวิตคือธรรมะหรือหน้าที่เนี๊ยะมันตาย ขาดประเดี๋ยวเดียวก็ตาย ถ้าสมมุติว่าในร่างกายนี้มันไม่ทำหน้าที่เนี๊ยะ เช่นเซลล์ทั้งหลายเมื่อมันหยุดทำหน้าที่มันก็ตายวูบเดียวแหละ ไม่กี่นาที ไม่ถึงนาทีก็ได้ มันเป็นคู่ชีวิตชนิดนั้น อีกทางหนึ่งต้องสนใจ ต้องทราบไว้ก็ว่า พระพุทธเจ้าตรัสว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นเห็นธรรม ผู้ที่ไม่เห็นธรรมแม้แต่จับจีวรถือไว้ ไปไหนไปด้วยกัน ผู้นั้นก็ยังไม่ได้ชื่อว่าเห็นเรา ถ้าเมื่อใดเห็นธรรม ธรรมะเนี๊ยะจึงจะชื่อว่าเห็นเรา ที่นี้เห็นธรรมคือเห็นอะไร ท่านตรัสไว้ในที่อื่นว่า เห็นธรรมคือเห็นปฏิจจสมุปบาท ท่านช่วยจำคำคำนี้ไว้ให้ดีมันเป็นคำหลักที่พระพุทธศาสนาเรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท ตามตัวหนังสือก็แปลว่าการอาศัยกันและกันแล้วเกิดขึ้น อาศัยกันแล้วดับลงแห่งความทุกข์ หมายความว่าเห็นชัดว่าความทุกข์มันก่อรูปขึ้นมาอย่างไรและความทุกข์มันจะดับไปโดยวิธีใด นั่นคือเห็นปฏิจจสมุปบาท ท่านตรัสว่าเห็นปฏิจจสมุปบาท ก็คือเห็นธรรม เห็นธรรมก็คือเห็นเรา เนี๊ยะธรรมะมันเป็นองค์พระพุทธเจ้าที่แท้จริงเสียเอง เราจะต้องเข้าใจคำคำนี้ไว้ คำว่าธรรม ไม่ใช่คำสั่งสอนของพระพุทธองค์ มันเป็นของเก่าก่อนพระองค์แล้วต่อมาก็เป็นความหมายสำหรับใช้แทนพระพุทธเจ้าโดยตรัสเองว่า คำว่าธรรมกายก็ดี พรหมกายก็ดี ภูตกายก็ดีเป็นคำแทนชื่อของตถาคต ท่านทั้งหลายจะต้องเห็นธรรม คือความจริงของธรรมชาติ ตามธรรมชาติซึ่งเป็นกฎของธรรมชาติ ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ไม่ได้ตั้งขึ้นเอง ท่านไม่สามารถหรอก มันเป็นกฎของธรรมชาติ มีอยู่ตามธรรมชาติ ท่านมองเห็น ท่านเข้าใจ ท่านพบ ท่านนำมาบอก มาสอนกัน และให้เกียรติยศสูงสุดถึงกับว่า เห็นธรรมะคือเห็นองค์พระพุทธเจ้า อ้าว ในเมื่อเราพูดถึงพระพุทธเจ้าก็ควรจะพูดกันต่อไปให้หมดเรื่อง พระพุทธเจ้านั้น อย่างที่รู้จักกันโดยมากนั้นก็ไม่ใช่องค์พระพุทธเจ้า ว่าผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเรา เห็นเนื้อหนัง ร่างกาย ตัว พระองค์ ไม่ใช่เห็นองค์พระพุทธเจ้าที่แท้จริง พระพุทธเจ้าในประวัติศาสตร์ บุคคลในประวัติศาสตร์คนหนึ่ง ยังไม่ใช่องค์พระพุทธเจ้าที่แท้จริง พระพุทธเจ้าที่แท้จริงคือตัวธรรมะที่เป็นตัวธรรมชาติ เป็นกฎของธรรมชาติ เห็นแล้ว รู้จักแล้ว ดับทุกข์ได้ นี่คือตัวธรรมะ เป็นพระพุทธเจ้าพระองค์จริง ตัวธรรมะนั่นแหละทำบุคคลให้เป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมา ถ้าปราศจากธรรมะนี้แล้ว พระพุทธเจ้าจะไม่เกิดขึ้นในโลก พระพุทธเจ้าอย่างบุคคลจะไม่เกิดขึ้นในโลกถ้าปราศจากพระพุทธเจ้าอย่างที่เรียกว่าธรรมะ คือธรรมชาติ กฎของธรรมชาติ นี่เราจะต้องเห็นให้ชัดว่าพระพุทธเจ้าอย่างบุคคลเนี๊ยะเกิดบ่อย ๆ เกิดได้บ่อย ๆ จนมีมากมาย แต่พระพุทธเจ้าอย่างธรรมะเนี๊ยะที่เป็นกฎของธรรมชาติเนี๊ยะไม่มีเกิด ไม่มีดับ มีองค์เดียวตลอดนิรันดร พระพุทธเจ้าจริง พระพุทธเจ้าเนื้อแท้ พระพุทธเจ้าชั้นในชนิดนี้ทำให้เกิดพระพุทธเจ้าชั้นนอก คือชั้นที่เป็นบุคคล ที่เป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ พระพุทธเจ้าอย่างที่เป็นบุคคลนี่มีเกิดคือประสูติ มีการตรัสรู้ มีการปรินิพพาน แต่พระพุทธเจ้าองค์จริง องค์แท้องค์นี้นิรันดร ไม่มีเกิด ไม่มีประสูติ ไม่มีตรัสรู้ ไม่มีนิพพาน เป็นอยู่นิรันดรคือกฎของธรรมชาติ มีลักษณะเป็นอสังขตะคือไม่ขึ้นอยู่กับเหตุ ปัจจัยใด ๆ สิ่งที่เรียกว่ากฎ กฎตามภาษาธรรมะแล้วเป็นอสังขตะทั้งนั้น ไม่ใช่กฎที่มนุษย์บัญญัติอย่างกฎหมายสมัยนี้มันไม่ใช่กฎของธรรมชาติ อย่างนี้มันเกิดตาย แต่ถ้ากฎของธรรมชาติแล้วมันไม่มีเปลี่ยนแปลง ไม่มีเกิดดับ ไม่มีแก่ ไม่มีชรา ไม่มีตาย เป็นนิรันดร นี่คือกฎของธรรมะ พระพุทธเจ้าอย่างบุคคลค้นพบกฎของธรรมชาติคือพระพุทธเจ้าองค์นิรันดร พระพุทธเจ้าองค์ชั่วคราว ชั่วคราวนี่เป็นขึ้นมาได้ก็เพราะพระพุทธเจ้าองค์นิรันดร คือธรรมะนั่นเอง ก็ให้รู้จักอย่างนี้ เราก็จะมีความรู้ลึกลงไปถึงต้นตอของสิ่งที่เรียกว่า พุทธศาสนา มันเป็นความจริงของธรรมชาติ ใครจะถือสิทธิไม่ได้ พระพุทธเจ้าท่านทรงค้นพบ มองเห็น เห็นทั่วไปแหละ แล้วก็มาบอก มาสอนเฉพาะส่วนที่มันจำเป็น ที่มนุษย์จะต้องรู้คือเรื่องดับทุกข์ ท่านสอนอย่างที่ว่าเป็นผู้บอกความจริง ท่านไม่ถือลิขสิทธิ์ กรรมสิทธิ์ ท่านไม่ถือ ออทอริตี้ (Authority) คำสอนของท่านไม่เหมือนศาสนาบางศาสนาเค้าสงวน authority พระพุทธเจ้าไม่ทำอย่างนี้ ไม่ทรงทำอย่างนี้ คงให้เป็นกฏของธรรมชาติ บอกกล่าวกันได้ โดยใครก็ได้ เมื่อใครได้รับบอกกล่าวแล้วก็จะเห็นพระพุทธเจ้าองค์จริงคือกฏของธรรมชาติเช่นเดียวกับที่พระพุทธเจ้าท่านได้เห็น ก็จะเป็นเหมือนพระพุทธเจ้าขึ้นมาอีกมากมาย ถ้าเห็นการเกิดดับแห่งทุกข์และปฏิบัติได้แล้วก็เป็นพระพุทธเจ้าองค์น้อย ๆ ตามกันขึ้นมา แต่เค้าก็ไม่เรียก ถ้าจะเรียก เรียกกันว่า อนุพุทธะ คือพุทธะที่รู้ตามผู้ที่บอกให้ มิใช่สัมมาสัมพุทธะ คือผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ นี่เรามีความหมายของคำว่าธรรมะ หรือคำว่าพุทธะ กันอย่างนี้ ขอให้ท่านทั้งหลายเข้าใจ ธรรมะหรือพุทธะมากกว่าที่เคยเล่าเรียนมาแต่ก่อน นั่นแหละที่ช่วยให้ง่ายเข้าในการที่จะรู้จักพระพุทธศาสนา ที่นี้ก็จะขอร้องต่อไปอีกว่า พุทธศาสนาโดยตัวแท้นั้นไม่ใช่ปรัชญาในความหมายอย่างภาษาไทยที่เรียกว่าฟีโลสโซฟี (Philosophy) คำว่าปรัชญาในเมืองไทยเนี๊ยะมีความหมายต่างกับคำว่าปรัญชาในอินเดีย คำว่า Philosophyของฝรั่งนั่น ในอินเดียเค้าให้คำแปลว่าทัศนะ ทัศนะหนึ่ง ๆ แต่ในเมืองไทยมาให้คำแปลทู้ (ไม่แน่ใจ นาทีที่ 16.56-16.58) กันเป็นปรัชญา คือความรู้ที่สูงสุดเด็ดขาด ชาวอินเดียก็หัวเราะคนไทยที่เอาคำปรัชญาของเค้ามาเป็นคำแปลของคำว่า Philosophy มันไม่ใช่ปรัชญาในความหมายของอินเดียที่ถูกต้อง มันเป็นแค่ทัศนะหนึ่ง ๆ ไปตามเหตุผล ขึ้นอยู่กับเหตุผลและการคำนวณ แต่ถ้าเป็นปรัชญาในภาษาอินเดียโบราณนั้น ภาษาอินเดียที่ถูกต้องนั้น เค้าไม่ขึ้นอยู่กับเหตุผล เป็นความรู้ที่เกิดมาจากการเห็นจริง แจ้ง ประจักษ์โดยเด็ดขาด ไม่อาศัยเหตุผลอีกต่อไป แต่ถ้า ฟีโลสโซฟี (Philosophy) มันยังผูกพันอยู่กับเหตุผลไม่รู้จักจบ แยกได้เป็นทัศนะต่าง ๆ กัน พูดกันไม่ค่อยจะรู้เรื่อง มันก็ไม่มีประโยชน์ในการดับทุกข์ เค้าก็ใช้คำอย่างนี้ ฟีโลสโซฟี (Philosophy) หรือปรัชญาอย่างในภาษาไทยนี่ไม่ดับทุกข์ ต้องเป็นปรัชญาอย่างอินเดียในความหมายที่ถูกต้องนั่นแหละ มันเป็นวิทยาศาสตร์ไปเลย ไม่ได้เป็น ฟีโลสโซฟี (Philosophy) งั้นขอให้รู้จักพุทธศาสนาในฐานะวิทยาศาสตร์ กฎของธรรมชาติ ทำถูกต้องตามกฎธรรมชาติแล้วก็ดับทุกข์ได้ ธรรมะที่ลึก ๆ อธิบายยาก ๆ นี่มันจำเป็นนะที่ว่าเราไม่รู้เราก็ต้องฝากไว้กับการศึกษาหรือเหตุผล มันก็เป็น ฟีโลสโซฟี (Philosophy) ไปก่อน แต่ไปปฏิบัติได้สำเร็จ ดับทุกข์ได้จริง ฟีโลสโซฟี (Philosophy)นั้นก็กลายเป็นวิทยาศาสตร์ไปเลย อย่างเรื่องปฏิจจสมุปบาทที่เข้าใจยาก อย่างที่สอนกันอยู่นี้ มันก็เป็น ฟีโลสโซฟี (Philosophy) สำหรับคนธรรมดาสามัญ ถ้าดับทุกข์ได้เป็นพระอรหันต์แล้วมันหมดความเป็น ฟีโลสโซฟี (Philosophy) มันเป็นวิทยาศาสตร์โดยตรง มีลักษณะชัดเจนแจ่มแจ้งลงไปอย่างนี้ ทำอย่างนี้ เกิดผลอย่างนี้ ทำอย่างนี้ ดับทุกข์ได้สิ้นเชิงอย่างนี้ เรื่องหลักธรรมชั้นลึกเช่น ปฏิจจสมุปบาทเนี๊ยะมันเป็นฟีโลสโซฟี (Philosophy)ของปุถุชนคนธรรมดา แต่มันเป็นวิทยาศาสตร์สำหรับพระอรหันต์ นี่เป็นความจริง งั้นขอให้เราศึกษาพระธรรม หัวใจของพุทธศาสนาอย่างวิทยาศาสตร์ไปเรื่อย ๆ แต่เราจะมาศึกษาเล่นสนุกอย่างปรัชญาอย่างที่พวกฝรั่งเค้าทำกันนัก ก็ได้เหมือนกัน เอามาศึกษาอย่างปรัชญามันก็ไม่รู้จบ มันก็ดับทุกข์ไม่ได้ ฝรั่งก็เรียกพุทธศาสนาเป็น ฟีโลสโซฟี (Philosophy) ไม่ให้ความหมายว่าเป็นศาสนาหรือ religion ด้วยซ้ำไป ให้เป็นเพียง ฟีโลสโซฟี (Philosophy) แล้วศึกษากันสนุกไม่รู้จบ แต่เดี๋ยวนี้ฝรั่งก็ฉลาดขึ้นมากแล้ว รู้ความหมาย รู้หัวใจของพุทธศาสนาว่ามันเป็นอะไร วิทยาศาสตร์ แม้มันเป็นเรื่องทางจิต ทางวิญญาณ มันมีหลักการทางวิทยาศาสตร์อยู่นะ นั่นแหละ เป็นเรื่องทาง spritual science เนี๊ยะ เป็นวิทยาศาสตร์ที่มันไม่อยู่กับการคำนวณ ไม่ขึ้นอยู่กับการคำนวณแต่ขึ้นอยู่กับการประจักษ์ ประจักษ์โดยแท้จริง ในสิ่งนั้น ๆ สิ่งที่จะต้องทราบไว้อยู่อย่างหนึ่งก็คือว่า พระพุทธเจ้านี่ท่านให้คำสอนในลักษณะเป็นวิทยาศาสตร์ คือว่ามีความจริงที่ผู้ฟังจะเห็นได้ด้วยตนเองว่ามีอยู่อย่างไรในคำสอนนั้น แล้วผู้ฟังที่ฉลาด พอฟังก็เข้าถึงความจริงของสิ่งนั้น มันก็เป็นวิทยาศาสตร์ คือไม่ต้องเชื่อพระพุทธเจ้า ความสำคัญข้อนี้ไปศึกษาดูจากเรื่องกาลามสูตร สิ่งที่เรียกว่ากาลามสูตรนั่นแหละ เป็นหัวใจของการศึกษาที่ตรัสไว้ทำให้รับเอาไปเชื่อด้วยเหตุตั้ง 10 อย่าง คือไม่เชื่อเพราะเหตุที่บอก บอก บอกต่อ ๆ กันมา ไม่เชื่อเพราะเหตุที่ทำตาม ๆ กันมา ไม่เชื่อเพราะเหตุว่าเค้าลือกันกระฉ่อนมามันเป็นอย่างนี้ ๆ ไม่เชื่อเพราะเหตุว่ามีที่อ้างในปิฎก คือในตำรา ไม่ว่าจะมีที่อ้างในปิฎกหรือตำราก็ไม่เชื่อ แล้วก็ไม่เชื่อโดยตรรกะคือวิธีคิดอย่าง logic มีผลหรือวิธีทาง logic ก็ยังไม่เอา แล้วก็ไม่เชื่อในผลของการคิดอย่างนัยยะ คือคิดอย่างที่เดี๋ยวนี้เป็น ฟีโลสโซฟี (Philosophy) อย่างอินเดียโบราณที่ว่านัยยะ ก็ไม่เอา แล้วก็ไม่เชื่อโดยเหตุที่ว่ามันเป็น common sense ก็ไม่เชื่อ รู้สึกขึ้นมาได้เองอย่างนี้ก็ไม่เอา ไม่เชื่อโดยที่มันตรงกับความคิดของเรา มันทนได้ต่อความคิดของเราเองก็ยังไม่เอา ไม่เชื่อเพราะเหตุว่าผู้พูดนั้นมีลักษณะน่าเชื่อก็ไม่เอา แล้วก็ไม่เชื่อโดยเหตุผู้พูดนั้น สมณะนั้นเป็นครูของเรา ก็คือไม่ต้องเชื่อพระพุทธเจ้าเองนั่นแหละ พระพุทธเจ้า สมณะนั้นก็เป็นครูของเรา ท่านยังเปิดโอกาสว่าไม่ต้องเชื่อเนี๊ยะ ทราบไว้เถิดว่า พระพุทธเจ้าเนี๊ยะเป็นยอดของประชาธิปไตยแล้ว ไม่ทำใครให้เป็นทาสทางสติปัญญาของใคร ไม่มีให้ใครเป็นทาสทางสติปัญญาของใคร แต่เป็นนักวิทยาศาสตร์ชนิดที่มีความคิดของตนเอง มีความจริงของตนเอง ดังนั้นเราเมื่อจะปฏิบัติให้ตรงตามที่พระพุทธเจ้าประสงค์และก็ไม่ต้องเชื่อพระพุทธเจ้าด้วยเหตุที่ว่าท่านพูดก็มาก็จะเชื่อ แต่จะเชื่อตัวเอง คือมองเห็นความจริงที่มีอยู่ในคำที่พระพุทธเจ้าท่านตรัส คุณไปดูเอาเอง คำไหนที่พระพุทธเจ้าตรัส ประโยคไหนพระพุทธเจ้าตรัสในนั้นจะมีความจริง จะเห็นได้ด้วยตนเอง พอเห็นความจริงนั้นด้วยตนเองก็เชื่อความจริงนั้นที่เห็นได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องเชื่อพระพุทธเจ้า อย่างนี้เป็นที่นิยมของพระสาวก พระสารีบุตร สาวกเอกก็ทูลพระพุทธเจ้าอย่างนี้ในบางกรณีว่าไม่ได้เชื่อพระองค์ แต่เชื่อตัวเอง ถึงพุทธบริษัททั้งหลายก็เหมือนกันเมื่อจะปฏิบัติให้ถูกต้องตามที่ท่านพุทธองค์ประสงค์แล้วก็ต้องเชื่อความจริงที่เห็นได้ด้วยตนเอง ที่ปรากฏอยู่ในพระพุทธภาษิตนั้น ๆ เชื่อความจริงนั้น นี่ได้เรียกว่าเชื่อพระพุทธเจ้า ไม่เรียกว่าเชื่อในปฏิบัติสมณะผู้พูดที่เป็นครูของเรา ขอให้รู้จักพระพุทธเจ้าในลักษณะอย่างนี้กันบ้าง ท่านก็จะรักและนับถือพระพุทธเจ้ามากขึ้นกว่าเดิม เป็นยอดสุดของประชาธิปไตยทางความคิด ความเห็น ไม่ต้องการให้เป็นทาสทางสติปัญญาของผู้ใด งั้นเราจึงไม่ศึกษาธรรมะอย่าง ฟีโลสโซฟี (Philosophy) แต่จะศึกษาธรรมะอย่างวิทยาศาสตร์ พิสูจน์ ทดลอง ตามพอใจ ความจริงอะไรปรากฏออกมา ทนต่อการพิสูจน์ ทดลองนั้นแล้วก็ถือว่าเป็นความจริง ขอให้ทำแก่ธรรมะอย่างนี้ ธรรมะคือปฏิจจสมุปบาท ปฏิจจสมุปบาทคืออาการที่อาศัยกันแล้วเกิดขึ้นมาเป็นความทุกข์ อาการที่อาศัยกันแล้วเป็นความดับทุกข์ เนี๊ยะคุณคิดดูว่ามันเป็นวิทยาศาสตร์สักเท่าไร มันไม่มีสิ่งใดในโลกนี้ ในจักรวาลนี้ที่ไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย มันมีเหตุปรุงแต่งทั้งนั้น ยกเว้นว่านิพพานเสียที่เป็นฝ่ายอสังคตะ ยกเว้นพระนิพพานเสีย นอกนั้นก็เป็นฝ่ายสังคตะ คือมีเหตุ มีปัจจัยทั้งจักรวาล ทั่วไปทั้งหมดมีเหตุ มีปัจจัย เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยนั้นในการเกิดขึ้นก็ดี ในการดับลงก็ดี เรื่องที่สำคัญที่สุดคือเรื่องความทุกข์ซึ่งก็อยู่ในกฏอันนี้ อาศัยการเกิดขึ้น อาศัยการดับลง เราจะต้องรู้เรื่องนี้ รู้จักทำให้มันดับลงในสิ่งที่มันจะต้องดับคือความทุกข์ รู้จักทำให้มันเกิดขึ้นในสิ่งที่เราต้องการให้เกิดขึ้นคือความไม่มีทุกข์ ความปราศจากทุกข์ นี่เราจะต้องทำกับธรรมะอย่างนี้ อย่าลืมว่าพระองค์ตรัสว่า ธรรมะคือพระองค์ ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเรา เมื่อเรากระทำกับธรรมะอย่างนี้ก็เท่ากับเรากระทำกับพระพุทธเจ้าโดยตรง แล้วก็ทำกับพระพุทธเจ้าโดยตรง ที่นี้ปัญหาของมนุษย์มันก็คือความทุกข์ ความทุกข์เป็นปัญหาของสิ่งที่มีชีวิต จะเป็นชีวิตในระดับคน มนุษย์หรือชีวิตในระดับสัตว์เดรัจฉาน หรือว่าชีวิตในระดับต้นไม้ พืชพันธุ์ทั้งหลายเหล่านี้มันมีชีวิต มันก็มีปัญหาคือตัวของความทุกข์ มันทนอยู่ไม่ได้ มันต้องการจะปราศจากความทุกข์ เพราะปัญหานี่มันเป็นสิ่งที่ทำให้เราทนอยู่ไม่ได้ ต้องแก้ไข ต้องสะสาง ทนอยู่ไม่ได้กับปัญหา ถ้าสมมุติว่าทนอยู่กับปัญหาบ้า ก็ต้องเอาปัญหาออกไป สะสางปัญหาออกไป นี่เราจึงต้องมีความรู้เรื่องนี้ ความทุกข์มันเป็นปัญหา เป็นของหนักท่วมทับจิตใจนี่เป็นของหนัก เป็นของร้อนเผาผลาญเช่นกิเลส ราคะนี่ก็เผาผลาญ ที่เป็นสิ่งผูกพันไว้กับความทุกข์ยากลำบากก็มี เป็นการทำให้สูญเสียอิสรภาพ เสรีภาพก็มี เวลานี้เรียกว่า เป็นปัญหาทั้งนั้น เมื่อปราศจากสิ่งเหล่านี้จึงจะไม่มีปัญหา เมื่อปราศจากสิ่งเหล่านี้จึงจะมีความสุข เป็นที่พอใจ มีชีวิตที่สงบเย็นดังนั้นเราจึงต้องรู้วิธีที่จะกำจัดปัญหานั้นออกไป เรียกว่ามีอิสระจากปัญหา นั้นคือประโยชน์ของธรรมะ ธรรมะนั้นนะ ธรรมะคือธรรมชาติในทุกความหมาย ไอ้ตัวธรรมชาติแท้ ๆ นี่คือปรากฏการณ์ทั้งหลายหรือที่ไม่มีปรากฏการณ์ก็ตามเถอะ จะเป็นฟีนอมีนา (phenomena)หรือ นูมีนอน จะมีปรากฏการณ์หรือไม่มีปรากฏการณ์มันก็คือตัวธรรมชาติ ตัวแท้ของธรรมชาติ และในตัวธรรมชาตินั้นจะต้องมีกฏของธรรมชาติที่เรียกว่า ลอ(law) หรือ ทรูธ (truth) เรียกว่ากฏของธรรมชาติ มันมีอยู่ในธรรมชาติ มันควมคุมธรรมชาติ ใครเข้าไปเกี่ยวข้องกับธรรมชาติต้องประพฤติให้ถูกต้องตามกฏ เมื่อมันกฏของธรรมชาติแล้ว มันก็มีหน้าที่ หน้าที่ตามกฏของธรรมชาติ ต้องมีหน้าที่ให้ถูกต้องตามกฏของธรรมชาติจึงจะรอดชีวิต ไอ้หน้าที่นี้ก็เรียกว่าธรรมะเหมือนกันในความหมายที่สุด ธรรมะคือหน้าที่ ครั้นปฏิบัติตามกฏของธรรมชาติแล้วผลที่เกิดขึ้นมานี้มันเป็นความดับทุกข์ ถ้าปฏิบติผิดมันเกิดผลเป็นความทุกข์ ปฏิบัติถูกมันเกิดผลเป็นความดับทุกข์ แม้ผลที่เกิดจากปฏิบัติหน้าที่ก็เรียกว่าธรรมะเหมือนกัน อย่างน้อยที่สำคัญ ๆ ก็มี 4 ความหมาย เมื่อตัวธรรมชาติเองก็เรียกว่าธรรมะ กฏของธรรมชาติก็เรียกว่าธรรมะ หน้าที่ตามกฏของธรรมชาติก็เรียกว่าธรรมะ ผลที่ได้รับจากหน้าที่ก็คือ ธรรมะ อาจจะขยายออกไปได้จนไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ธรรมะ ไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ธรรมะเพราะอย่างน้อยมันก็เป็นตัวธรรมชาติบ้าง เป็นตัวกฏธรรมชาติบ้าง เป็นตัวหน้าที่บ้าง เป็นผลบ้าง คำว่าธรรมะนี่ใช้เรียกได้ทุกข์สิ่ง กี่ล้าน ๆ สิ่งก็ตามใจ ก็ว่าเนื่องจากธรรมชาติ เรารู้จักธรรมะกับไว้อย่างนี้ ทีนี้ธรรมะในความหมายไหนจำเป็นที่สุด สำคัญที่สุดที่ต้องรู้และต้องจัดการ ตัวธรรมชาติก็ต้องรู้ ทำให้มันถูกเรื่อง ตัวกฏของธรรมชาติก็ต้องรู้ว่าจะต้องปฏิบัติให้มันถูกต้อง แต่ตัวหน้าที่ หน้าที่นี่สำคัญ ใน 4 ความหมายนี่ ความหมายที่ 3 หน้าที่นี่สำคัญที่สุด งั้นในประเทศอินเดียเค้าจึงมีคำแปลของคำว่าธรรมะเนี๊ยะว่าหน้าคือดิวตี้ (duty) ดิกชินนารีเด็ก ๆ ใช้เนี๊ยะ คำว่าธรรมะแปลว่าดิวตี้ (duty) ในภาษาไทย (นาทีที่ 33.41 ถึง 33.45 ฟังไม่ออก)นั้นธรรมะไอ้ที่เป็นผลของหน้าที่นี่ไม่สำคัญแล้ว ขอให้ทำหน้าที่แล้วมันก็มาเอง ไอ้ที่สำคัญที่สุดคือความหมายที่ 3 หน้าที่ตามกฏของธรรมชาติคือธรรมะ ในความหมายที่สำคัญที่สุด ไม่มีหน้าที่ก็คือตาย งั้นขอให้จำบทนิยามที่ถูกต้องและสมบูรณ์ที่สุดของคำว่าธรรมะหรือหน้าที่นี้ไว้ให้ดี ๆ ธรรมะคือระบอบปฏิบัติ เนี๊ยะคุณเขียนดูซิว่า ระบอบปฏิบัติคือคำแรก เพราะมันต้องปฏิบัติพร้อมกันหลาย ๆ อย่างไม่ใช่อย่างเดียวจึงต้องใช้คำว่าระบอบปฏิบัติ ที่ถูกต้อง คำที่สองคือที่ถูกต้อง ถ้าผิดมันใช้ไม่ได้ มันต้องเป็นสัมมา สัมมามันแปลว่าถูกต้อง คำที่สามคือคำว่าแก่ความรอด ถูกต้องอย่างอื่นไม่ต้องการหรอก ถูกต้องแก่ความรอด รอดในความหมายไหนก็ได้ ให้รอด ที่นี้คำถัดไปว่า ทั้งทางกายและทางจิต คือรอทั้งทางกายและทางจิต คำถัดไปว่า ทุกขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการ เพราะชีวิตมันหลายวิวัฒนาการ มันต้องทุกขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการและคำสุดท้ายก็มีว่า ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น นี่อยากจะอวดหรือยืนยันว่าคำนิยามนี้มีความหมายถูกต้องสมบูรณ์ที่สุด จำเป็นที่สุดจะต้องเอาไปใช้กับความหมายของคำว่าพัฒนบริหารศาสตร์ ไม่เชื่อไปคิดดู มันต้องมีระบบปฏิบัตินะ เหมือนกันเป็นการกระทำที่เป็นระบบ ทำอย่างเดียวไม่ได้ การปฏิบัติธรรมะมันต้องหลายข้อถูกมารวมกันเป็นระบบปฏิบัติ ศิลก็ดี สมาธิก็ดี ปัญญาก็ดีมันเป็นระบบที่รวมของธรรมะหลาย ๆ อย่างนี้เรียกว่าการปฏิบัติต้องให้ครบตามระบบของมัน แล้วก็ถูกต้อง ถูกต้อง ในความหมายของธรรมะนี่ง่ายนิดเดียว แต่ความหมายของ ฟีโลสโซฟี (Philosophy) บ้า ๆ บอ ๆ ไอ้ตรรกะ ลอจิก(logic) บ้า ๆ บอ ๆ มันยุติว่าถูกต้องนั้นอย่างไร มันยังเถียงกันอยู่จนบัดนี้ เพราะมันไปเอาเหตุผลอย่างอื่น แปลว่าถ้าถูกต้อง ถูกต้องในหลักของธรรมะแล้วคือว่ามันไม่ทำอันตรายแก่ผู้ใดและเป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่ายนั่นนะความหมายของคำว่าถูกต้อง ถูกต้อง ถ้าทางปรัชญามันมีเหตุผลอย่างนั้น มีเหตุผลอย่างนี้ มีเหตุผลอย่างโน้น ทางตรรกะก็ไปอย่างนั้นอย่างนี้ไม่มียุติ จึงไม่รู้ว่าถูกต้องกันอย่างไรในทางปรัชญา ในทาง ฟีโลสโซฟี (Philosophy)มันไม่รู้ว่าถูกต้องกันอย่างไร แต่ถ้าในทางวิทยาศาสตร์หรือทางธรรมะมันก็อยู่ชัด ๆ ง่าย ๆ เด็ก ๆ ก็มองเห็น มันไม่ทำอันตรายใคร แล้วมันเป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่ายนั่นนะคือถูกต้อง เอ้าที่นี้ก็ถูกต้องแก่ความรอด สิ่งสูงสุดคือความรอด คำว่ารอด รอดนี่เป็นคำสุดท้ายของพระศาสนา ทุกศาสนาเป็นไปเพื่อความรอด ในพุทธศาสนานี้เรียกว่าวิมุติหลุดพ้นรอดออกไปจากความทุกข์ วิมุติรวม ๆ กันทั่วไปเราเรียกว่า (นาทีที่ 38.01 ถึง 38.05 ฟังไม่ชัด) ของศาสนาทุกศาสนามันมีการรอด มีวิธีการรอด พระเจ้าช่วยอะไรก็ตามใจเค้าเถอะ แต่เค้าก็มุ่งหมายความรอดด้วยกันทั้งนั้นแหละ เพราะว่าไม่รอดก็คือตาย รอดคืออยู่ แม้แต่กฏวิทยาศาสตร์ที่ว่าสิ่งใดเหมาะสมสิ่งนั้นอยู่ the ........is the servival สิ่งใดเหมาะสมสิ่งนั้นอยู่ มันก็เป็นกฏเพื่อความรอด มันรอด นั่นคือสิ่งที่มุ่งหมาย ที่รอดนั้นรอดแต่ทางกายไม่ได้ ต้องรอดทางจิตด้วย รอดทางกายหรือทางจิตอย่างเดียวมันเป็นไปไม่ได้ เพราะว่ากายกับจิตนี่มันอาศัยกัน ไม่มีกายจิตก็ไม่ทำอะไรได้ ไม่มีจิตกายก็เป็นท่อนไม้ มันต้องรอดทั้งทางกายและทางจิต เราต้องมีความรู้ทั้งทางกายและทางจิต สร้างความรอดขึ้นมาให้ได้ทั้งสองทาง รอดทั้งทางกายและทางจิตและอาจขยายไปให้เป็นคำพูด กว้างไปก็ได้ว่า ทั้งทางวัตถุ วัตถุนี่มันขึ้นอยู่กับกาย ก็รวมเรียกเป็นทางกาย ไอ้ทางจิตนั่นมันมีสติปัญญา ทาง spirituality นั่นมันอีกส่วนหนึ่งเอามารวมไว้กับทางจิตเรียกว่าทางจิต รอดทางจิตก็คือรอดทางจิตเองและสติปัญญาซึ่งเป็นคุณสมบัติของจิตให้มันรอด ถ้าสติปัญญาไม่มี มันโง่ มันตายทางวิญญาณก็ไม่ไหวเหมือนกัน ที่จริงต้องมีการรอดทั้งทางกายและทางจิต หมายความว่ามันถูกต้องทั้งทางกายและทางจิต และทุกขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการ ยังเป็นเด็กก็ถูกต้อง ต้องรอด วัยรุ่นก็รอด หนุ่มก็รอด สาวก็รอด ผัวเมียก็รอด คนแก่คนเฒ่าก็รอด รอดทุกขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการ เพราะมันไม่เหมือนกัน มันก็เปลี่ยนแปลงไปตามขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการ มันก็รอดกันทุกขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการ ทางหนึ่งอันสุดท้ายก็ว่า ทั้งตัวเองและผู้อื่น คนเห็นแก่ตัวมันไม่เห็นแก่ผู้อื่น ใช้ไม่ได้ มันต้องเห็นแก่ผู้อื่น มันจึงต้องมีความรอดทั้งตัวเองและผู้อื่น คนเห็นแก่ตัวมันรู้จักแต่ตัวอย่างเดียว มันก็เอาเปรียบผู้อื่น ที่จริงมันควรมีเป็นสาม สามอย่างพระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ ประโยชน์ตรัสไว้เป็นสาม คือประโยชน์ของตัวเองอย่างหนึ่ง และประโยชน์ของผู้อื่นคือเพื่อนมนุษย์อีกอย่างหนึ่ง และประโยชน์ที่มันเกี่ยวพันกัน แยกออกจากกันไม่ได้นี่อีกอย่างหนึ่ง นี่ดูความสุขุมรอบคอบของหลักธรรมะที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ซิ ไม่ตรัสไว้เพียงสองอย่าง ไม่ตัวเองก็ผู้อื่น ตรัสไว้ว่า เพื่อประโยชน์ตัวเอง เพื่อประโยชน์ผู้อื่นและประโยชน์ที่มันเกี่ยวข้องกัน แยกจากกันไม่ได้ แต่ว่าที่แท้มันก็ไม่พ้นไปจากตัวเองและผู้อื่นหรอกที่มันเกี่ยวกันอยู่สองอย่างมันก็ตัวเองและผู้อื่น แต่เอาที่มันเกี่ยวกัน การเห็นแก่ผู้อื่นนั้นมันเป็นหัวใจของธรรมะ ของศาสนาเพราะว่าเราอยู่คนเดียวในโลกไม่ได้ อย่าอวดดีไป แม้ว่าเค้าจะยกโลก จักรวาลนี้ทั้งหมดให้เราคนเดียวอยู่ครองอยู่คนเดียว เราก็อยู่ไม่ได้ เราก็ตายด้วย ถึงขนาดนั้น มันต้องอยู่อย่างที่มีเพื่อนอยู่ด้วยกัน เพราะว่าธรรมชาติมันสร้างมาอย่างนั้น คุณดูให้ดี ๆ ในแง่ของวิทยาศาสตร์ถ้าตั้งใจก็จะเห็นได้ว่าธรรมชาติมันสร้างมาสำหรับอยู่ด้วยกันเป็นพวก ๆ มีวิญญาณของสังคมนิยม ไม่ใช่เสรีประชาธิปไตยหรอก ธรรมะแท้ ๆ ธรรมชาติแท้ ๆ มีวิญญาณของสังคมนิยม คนก็ต้องอยู่กันเป็นพวก สัตว์เดรัจฉานก็ต้องอยู่กันเป็นพวก ต้นไม้ก็อยู่กันเป็นพวก แม้แต่แร่ธาตุที่ไม่มีชีวิตมันยังไปจับกลุ่มกันอยู่เป็นพวก ๆ แร่ธาติใต้ดินมันจับกลุ่มกันอยู่เป็นพวก ๆ เป็นสาย ๆ แร่อะไร แร่ทองคำ แร่ดีบุก มันมีลักษณะที่ว่ามันอยู่กันเป็นกลุ่มหรือเป็นพวก มันค้ำจุนกันได้ มันรอดกันได้โดยการอยู่กันเป็นพวก ๆ งั้นเราจะต้องนึกถึงผู้อื่น เดี๋ยวนี้คนมันไม่ได้ศึกษาธรรมะ ไม่ได้นึกถึงเรื่องนี้ มันก็นึกถึงแต่ตัวเอง มันตรงกันข้าม มันสวนทางกับที่ธรรมชาติต้องการ มันก็เกิดไอ้สิ่งเลวร้ายที่สุดอย่างหนึ่งขึ้นมา คือความเห็นแก่ตัว คนช่วยจดให้ตัวโต ๆ หน่อย ความเห็นแก่ตัวเป็นสิ่งเลวร้ายที่สุด ไม่มีสิ่งใดเท่าในสากลจักรวาลนี้ เรากำลังจะวินาศเพราะความเห็นแก่ตัวของคนในโลกนี่ เพราะมันมีความเข้าใจผิด ก่อความเห็นแก่ตัวขึ้นมาในจิต ในจิตใจ จะพูดกันง่าย ๆ ว่าปัญหาทุกชนิดในสากลจักรวาลนี่ นับตั้งแต่ปัญหาขี้ผง ขี้ฝุ่น กระทั่งปัญหาระดับชาติ ปัญหาระดับโลกเนี๊ยะมันมาจากความเห็นแก่ตัวทั้งนั้นแหละ คนเห็นแก่ตัวนั่นมันสร้างขึ้นมา คนที่เห็นแก่ตัวแล้วนั่นนะมันเหมือนกับคนบ้า คนเห็นแก่ตัวไม่อยากจะทำงาน แต่จะเอาเงิน คนเห็นแก่ตัวขี้เกียจและนอน ต้องการจะนอน ไม่ต้องการจะทำงานแต่จะเอาเงิน เอากับคนเห็นแก่ตัวซิ แล้วคนที่เห็นแก่ตัวนั่นไม่สามัคคี หาความสามัคคีจากคนเห็นแก่ตัวไม่ได้ เพราะคนเห็นแก่ตัวนั้นมันริษยา มันริษยา อิจฉา ริษยา คนเห็นแก่ตัวมันจะเอาท่าเดียว แต่ไม่ต้องทำอะไร มันจึงเกิดคนอาชญากร ปล้นจี้ ขโมยขึ้นมาเต็มไปหมด ความเห็นแก่ตัวมันหลงทาง มันหลงทาง มันก็เป็นบ้า มันฆ่าพ่อ ฆ่าแม่ก็ได้ ฆ่าลูกฆ่าเมียก็ได้ ฆ่าตัวเองก็ได้ มันฆ่าตัวมันเองเพราะความเห็นแก่ตัว คุณคิดดู ถ้าไม่มีความเห็นแก่ตัวมันฆ่าตัวเองไม่ได้ ความเห็นแก่ตัวอย่างหลับหูหลับตา ไม่ได้ประโยชน์ที่มันต้องการ มีใครมาขัดขวางมันก็ฆ่า กระทั่งมันฆ่าตัวเอง ในหน้าหนังสือพิมพ์บอกบ่อย ๆ จำเลย คนที่ถูกจับมันยิงฆ่าตัวเองตายซะก่อน ไม่ให้ตำรวจจับ มันก็ด้วยความเห็นแก่ตัว คุณบ้าในโรงพยาบาลบ้า บ้าจำนวนหมื่น ๆ ไปสอบดูประวัติดูเหอะ มันมาจากความเห็นแก่ตัวทั้งนั้น ความเห็นแก่ตัวมันหลงทาง ทำให้เป็นบ้า มาอยู่ในโรงพยาบาลบ้า นี่โทษของความเห็นแก่ตัวที่มันทำลายตัวเอง ความเห็นแก่ตัวมันฆ่าตัวมันเอง ที่นี้ความเห็นแก่ตัวมันก็ทำลายผู้อื่น เป็นอาชญากรทำลายผู้อื่น ทำลายสาธารณะประโยชน์ ทำลายอะไรต่าง ๆ ทุกอย่างที่มันเป็น ไม่ใช่ของมันจะเอามาเป็นของมัน แล้วมันก็ฆ่าผู้ที่ขัดขวาง เรากำลังได้รับความลำบากทุกอย่าง ทุกประการในถนนหนทาง ที่ท่ารถท่าเรือ ฟุตบาทถนนนี่มันเต็มไปด้วยความลำบาก เกิดมาจากผู้เห็นแก่ตัว มลภาวะทั้งหลายมันเกิดมาจากผู้เห็นแก่ตัวทั้งนั้นเดี๋ยวนี้ โรคภัยไข้เจ็บมันก็มาจากความเห็นแก่ตัว ชนิดที่ไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องแก่ตัว ไปเห็นแก่ความสนุกสนานเพลิดเพลิน โรคเอดส์โรคแอดมันจะครองโลก เพราะว่าคนมันเห็นแก่ตัว มันสร้างมาจากความเห็นแก่ตัว ไม่มีปัญหาอะไรไม่มาจากความเห็นแก่ตัว งั้นขอให้เราว่า ประกาศสงคราม ความเห็นแก่ตัว มันเป็นยักษ์ร้าย มารร้าย เป็นซาตาน ภูติผีปีศาจ ต้องคิดว่าจะทำลายมัน ศาสนาทุกศาสนาแหละ ไปดูเถอะ มันมุ่งหมายจะทำลายความเห็นแก่ตัว แล้วมันไม่สำเร็จประโยชน์เพราะคนถือศาสนามันไม่ปฏิบัติ บางทีเจ้าหน้าที่ศาสนานั่นเองเห็นแก่ตัว ที่นี้องค์การศาสนาบางองค์การก็เห็นแก่ตัว มุ่งจะทำลายศาสนาอื่น นี่มันไม่ปฏิบัติ และทึ่มันน่าเศร้ายิ่งกว่านั้นก็คือว่า การศึกษาในโลกปัจจุบันนี้บ้าบอที่สุด ใครจะว่าอย่างไรก็ตามใจ จะด่าก็ได้ จะพูดว่า การศึกษาในโลกปัจจุบันกำลังบ้าบอเลวร้ายที่สุด เพราะว่ามันสอนแต่ให้ฉลาดอย่างเดียว คุณจงจำให้ดี การศึกษาของพวกคุณ ของพวกไหนก็ตาม มหาวิทยาลัยไหนก็ตามเถอะ มันสอนแต่ให้ฉลาดอย่างเดียว ให้ฉลาด ฉลาด จนไม่รู้จะฉลาดกันอย่างไร มันฉลาดจนไปเที่ยวโลกพระจันทร์ได้ง่าย ๆ เหมือนไปเที่ยวสวนหลังบ้าน มันก็ฉลาด ๆ แล้วมันไม่สอนอะไรเลยที่มันควบคุมความฉลาด คุณไปรู้เอาเอง ในการเรียนของคุณน่ะมันมีส่วนไหนที่สอนให้ควบคุมความฉลาด คือหลักธรรมะ หลักศาสนามันหายไป หายไป ไอ้ลัทธิ .......(ฟังไม่ออก นาทีที่ 49.00) บ้า ๆ บอ ๆมันเข้ามา เกิดนิยมแยกศาสนา แยกธรรมะออกไปจากการศึกษา สมัยก่อนโน้นมันแฝดกันอยู่ การศึกษากับศาสนาหรือธรรมะมันแฝดกันอยู่ เดี๋ยวนี้เค้าแยกกันออกไปด้วยคน คนอะไรก็ไม่รู้จะเรียก มันเห็นว่าไม่ควรเอามาถ่วงเวลาของการศึกษา แยกศาสนาออกไป ใครอยากรู้ อยากเรียนก็ไปหาเอาเอง อย่ามาอยู่ในหลักสูตรการศึกษาบังคับ นี่เรียกว่าแยกศาสนาออกไป ทีนี้การศึกษามันก็ไม่มีอะไรจะควบคุม ความฉลาด ก้าวหน้าเร็ว ฉลาด ๆ ๆ ๆ กันใหญ่ ฉลาดกันท่วมโลก แต่ไม่มีอะไรจะควบคุมความฉลาด คนก็เอาความฉลาดนั้นไปใช้เห็นแก่ตัว คนเดียวนี้มันจึงเห็นแก่ตัวลึก เห็นแก่ตัวลึกซึ้ง ปราณีต เหลือประมาณ งั้นปัญหามันก็เพิ่มขึ้น ก็เพราะมันฉลาดลึก ฉลาดชนิดควบคุมกันไม่ไหว จึงขอประณามว่าการศึกษาในโลกมันกำลังบ้าบอที่สุดที่สอนแต่ให้ฉลาดอย่างเดียวและไม่มีอะไรควบคุมความฉลาด คุณหาเอาเอง นี่คุณมาที่นี่ก็เพื่อหาไอ้สิ่งที่จะไปควบคุมความฉลาดนั่นแหละ แต่คุณก็ไม่รู้สึกใช่ไหมว่าการศึกษาที่ได้รับอยู่มันให้ฉลาด ๆ มันต้องมีอะไรควบคุมความฉลาด คุณก็ยังไม่รู้ แต่มันคิดหน่อยว่าคงจะมีธรรมะ ธรรมะคงจะมีประโยชน์ หาธรรมะ ขอบอกว่าจงเอาความรู้ทางธรรมะไปควบคุมความฉลาดที่คุณได้รับจากการศึกษาในมหาวิทยาลัยของคุณ ช่วยแก้ปัญหาข้อนี้กันเถิด หาอะไรมาควบคุมความฉลาดให้มันทันกัน เดี๋ยวนี้มันยิ่งก้าวหน้าทางความฉลาด ฉลาดเหลือประมาณก็ดูซิ วิชาความรู้ทางอวกาศ ทางอิเล็กโทรนิกส์ ทางอะไรต่าง ๆ มันเหลือเกิน แล้วก็เอาไปใช้เพื่อเห็นแก่ตัวกันทั้งนั้นแหละ มันหาความรู้ไปโลกพระจันทร์ได้ก็เพื่อจะเอาเปรียบผู้อื่น จะครองโลก ไม่ใช่ว่าจะช่วยใคร เนี๊ยะความฉลาดมันจะถูกใช้เพื่อความเห็นแก่ตัว มันก็ยิ่งลำบาก นี่ให้คนป่ามันหัวเราะ โลกสมัยที่ยังเป็นคนป่า มันไม่รู้จักเห็นแก่ตัว มันยังโง่ แต่ต่อมามันรู้จักเอาเปรียบ รู้จักเอาเปรียบ รู้จักลัทธิเอาเปรียบ จนเกิดไอ้คนเมือง มันก็เต็มไปด้วยการเอาเปรียบ มันก็เดือดร้อน คนป่ามันยังโง่เท่าเดิม มันไม่เห็นแก่ตัว ก็หัวเราะไอ้คนเจริญ คนที่เจริญด้วยความเห็นแก่ตัวเนี๊ยะ ก็เป็นอย่างนี้ เจริญให้คนป่ามันหัวเราะ ก็ยิ่งเจริญยิ่งลำบาก ยิ่งยุ่งยาก ยิ่งเป็นทุกข์ จริงหรือไม่จริงไปคิดดูเอาเอง เดี๋ยวนี้ความเจริญ เจริญอย่างยิ่ง เจริญเพราะมันเห็นแก่ตัว เพราะมันเห็นแก่ตัวมันยิ่งต้องการเจริญ ต่อไปอีกจนเกินจำเป็น มันเจริญเกินจำเป็น อย่างนี้จริงหรือไม่จริงขอให้ไปช่วยกันคิดหน่อย เรากำลังทำสิ่งที่ไม่จำเป็น เรากำลังเจริญในทางที่ไม่จำเป็น เจริญในทางที่สร้างปัญหายุ่งยากขึ้นมา นี่ขอให้มองกันในแง่นี้ คนป่าจะได้ไม่หัวเราะ สัตว์เดรัจฉานเห็นแก่ตัวเท่าเดิม กี่ล้าน ๆ ปีมาแล้วสัตว์เดรัจฉานก็เห็นแก่ตัวเท่านี้ ไม่มากกว่านี้ แต่มนุษย์นี่เพิ่มความเห็นแก่ตัวยิ่งขึ้นตามยุคตามสมัย ตามยุคตามสมัย เดี๋ยวนี้มีคอมพิวเตอร์มาช่วยให้เห็นแก่ตัวยิ่งขึ้นกว่าเดิม มนุษย์มันก็จะมีปัญหาเพิ่มขึ้นตามความเจริญด้วยความเห็นแก่ตัว ขอให้เรามาแสวงหาในสิ่งที่จะควบคุมความถูกต้อง ความฉลาดนะ ควบคุมความฉลาดให้มันเดินไปในทางที่ถูกต้อง อย่าให้ความฉลาดมันเดินไปในทางที่จะเห็นแก่ตัว ความเลวร้ายทั้งหลายมาจากความเห็นแก่ตัว บทบัญญัติทางศิลธรรม ทางศาสนามันมีขึ้นมาเพื่อจะควบคุมความเห็นแก่ตัว เดี๋ยวนี้มันทำไม่ได้เพราะว่าคนมันเห็นแก่ตัวมากกว่าที่จะเห็นแก่ศิลธรรมหรือศาสนา มันก็เหยียบย่ำศาสนาไป แล้วก็ไปเห็นแก่ตัวกันทั้งโลก ทั้งโลก พูดกันไม่รู้เรื่อง นายทุนกับชนกรรมาชีพมันก็รบรากันด้วยความเห็นแก่ตัว ลูกจ้างกับนายจ้างเนี๊ยะมันก็ฟาดฟันกันด้วยความเห็นแก่ตัว นายจ้างก็ต้องการจะเอาประโยชน์กับลูกจ้างให้มาก ลูกจ้างก็ต้องการจะเอาประโยชน์จากนายจ้างให้มาก มันก็เป็นคู่ต่อสู้กัน ไม่มีที่สิ้นสุด ต่อเมื่อใดมันเลิก มันเลิกเป็นนายจ้าง เลิกเป็นลูกจ้าง มาเป็นเพื่อนกันดีกว่า พอมาเป็นเพื่อนกันเสียมันก็เหลือฝ่ายเดียวแล้วมันจะรบกับใคร ถ้ามันเป็นนายจ้าง ลูกจ้าง มันเป็นสองฝ่าย เป็นมึงเป็นกู มันก็รบกันเรื่อยไป แต่พอมันมาเป็นเพื่อนกันเสียมันเหลือฝ่ายเดียวมันก็รบกันไม่ได้ นี่คือหัวใจของลัทธิสังคมนิยม เราเขียนออกไป เสนอออกไป ว่าโลกต้องหมุนไปหาความถูกต้องของธรรมชาติ คือสังคมนิยม แต่ให้เป็นสังคมนิยมที่ถูกต้อง คือประกอบอยู่ด้วยธรรมะ ด้วยความจริงของธรรมชาติ จึงขอเติมคำประกอบเข้าไปว่า ธรรมิกสังคมนิยม สังคมนิยมที่ประกอบไปด้วยธรรมะ คือถูกต้อง สังคมของคอมมิวนิสต์ไม่มีธรรมะ สังคมนิยมของคนแก้แค้น ของคนโกรธเคืองและแก้แค้น คนจนแก้แค้นคนมั่งมี สังคมนิยมอย่างนี้มันก็สังคมนิยมซีกเดียวอยู่แต่ฝ่ายผู้แก้แค้น มันไม่อาจจะรวมกันได้ทั้งคนมั่งมีและคนยากจน มันไม่อาจรวมกันทั้งลูกจ้างและนายจ้าง มาเป็นเพื่อนกันเสีย ถ้ามาเป็นเพื่อนกันเสียมันไม่มีปัญหา มันไม่มีคู่ต่อสู้ มันก็มีความสงบ มันมีสันติภาพ แต่ต้องเป็นธรรมิกสังคมนิยม สังคมนิยมของ คาร์ล มาร์กซ์นะมันพูดผิด ๆ มันไม่รู้ศาสนา คาร์ล มาร์กซ์นี่ไม่รู้พุทธศาสนา จึงได้พูดว่า ศาสนาเป็นยาเสพติด มันให้ความไม่เป็นธรรมแก่พุทธศาสนามากเหลือเกิน พุทธศาสนาเป็นเครื่องกำจัดยาเสพติด มันเอาไปจัดเป็นพวกยาเสพติดเสียนี่มันไม่เป็นธรรม ถ้ามีพุทธศาสนาถูกต้อง มันจะกำจัดยาเสพติด ไม่ใช่เป็นยาเสพติด นั่นเค้าไม่รู้พุทธศาสนา จึงจะกล่าวได้ว่าในยุคคาร์ล มาร์กซ์ พุทธศาสนาที่ถูกต้องยังไปไม่ถึงยุโรป มันรู้แต่ศาสนาอย่างอื่น ไม่ใช่พุทธศาสนา จริงซิ ศาสนาบางศาสนาเป็นยาเสพติด แต่ต้องยกเว้นพุทธศาสนาที่กำจัดยาเสพติด ก็กำจัดความเห็นแก่ตัว กำจัดสิ่งเลวร้ายเหล่านี้ งั้นขอให้เรามีวิญญาณสังคมนิยมที่ประกอบไปด้วยธรรมะ การปกครองคณะสงฆ์ของพระพุทธเจ้านี่ก็เป็นระบบสังคมนิยมแต่ประกอบอยู่ด้วยธรรมะ งั้นอย่าได้รังเกียจสังคมนิยมที่ประกอบด้วยธรรมะ อย่าไปเข้าใจผิด ไอ้สังคมนิยมของคนแก้แค้นเอามาเป็นหลักไม่ได้ เป็นอันว่า ศัตรูของเราคือความเห็นแก่ตัว ศัตรูร่วมกันของชีวิตทั้งหลายนี่คือความเห็นแก่ตัว พอเห็นแก่ตัวก็ทำร้ายผู้อื่น ก็เกิดปัญหายุ่งยากขึ้นมา พอหมดความเห็นแก่ตัวก็มีแต่สันติภาพอย่างเดียว คุณคงจะเคยได้ยินคำว่าศาสนาพระศรีอาริยเมตไตรย ซึ่งเค้าหวังกันนัก หวังตามขนบธรรมเนียมประเพณี แต่เค้าควรจะรู้ว่า ศาสนาพระศรีอาริยเมตไตรยนั้นคือศาสนาที่ไม่มีความเห็นแก่ตัว มีแต่มิตรภาพ "เมตไตรย" นั้นแปลว่า เกื้อกูลแก่มิตรภาพ "เมตไตรย" มิตตะ ไตรยะ "เมตไตรย"นี่ เกื้อกูลแก่มิตรภาพ ศาสนาที่มีแต่มิตรภาพ ก็ไม่มีความเห็นแก่ตัว มันเต็มไปด้วยความรัก เต็มไปด้วยความเมตตา เค้าเขียนไว้อย่างน่าสนใจมากมาย แต่ที่น่าสนใจอย่างยิ่งก็คือว่า พอคนลงไปจากเรือนของตน ไปสู่ท้องถนนหรือเข้าไปในสังคมนั้นเค้าไม่รู้ว่าใครเป็นใคร ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร มันเหมือนกันไปหมด ทุกคนเหมือนกันไปหมดคือมีแต่ความรัก ความเมตตา ชูมือขึ้นมาว่าจะให้ช่วยอะไร จะให้ช่วยอะไร มันมีอย่างนั้น ต่อเมื่อเค้ากลับมาถึงบ้านเรือนของตนเองแล้วเค้าจึงค่อยเลือกว่าเอ้านี่บุตรของเรา นี่ภรรยาของเรา นี่สามีของเรา พอออกไปกลางถนนมันเหมือนกันไปหมด นี่เป็นอุปมาหรือว่าเป็นคำพูดให้อย่างละความหมายของคำคำนี้ ศาสนาแห่งความเมตตา แล้วความเห็นแก่ตัวมันจะอยู่ที่ตรงไหนเล่า พอเห็นแก่ตัวมันก็ไม่เห็นแก่ผู้อื่น เพียงเท่านั้นยังไม่พอ มันไม่เห็นแก่ความถูกต้อง คนที่เห็นแก่ตัวมันไม่เห็นแก่ผู้อื่นและมันยังไม่เห็นแก่ความถูกต้อง ไม่มีความถูกต้อง ไม่รู้จักความถูกต้องอื่น ๆ นอกจากว่า กูได้ นั่นแหละคือความถูกต้อง ต้องกูได้ตามที่กูต้องการนั่นคือความถูกต้อง แล้วมันก็รบราฆ่าฟันกันไป เพื่อกูได้ คือความถูกต้อง มันไม่มีความถูกต้องที่แท้จริง เฉกเช่นที่ว่าเราไม่มีการทำใครให้เดือดร้อน มีแต่ให้ได้รับประโยชน์กันทุกฝ่ายนั้นคือความถูกต้อง ทีนี้ขอให้เรามารู้จักศัตรูของมนุษย์ คือความเห็นแก่ตัว ทางรอดของมนุษย์คือความไม่เห็นแก่ตัว เอาเพียงว่าไม่เห็นแก่ตัว เป็น non selfishness ก็พอ ถ้าเป็น selflessness มันจะมากเกินไป มันจะไปเป็นพระอรหันต์กันเสียหมด เอาเพียงว่าไม่เห็นแก่ตัว อย่าให้เลยไปถึงความไม่มีตัวเลย นั่นมันดีเกินไป จะไปเป็นพระอรหันต์ อยู่กันที่นี่ด้วยความไม่เห็นแก่ตัว ไม่มี selfish ไม่เป็น selfish นั่นแหละทางรอด มันจะพัฒนากันอย่างไร จะบริหารกันอย่างไรก็ขอให้มันเป็นไปเพื่อความถูกต้อง คือทำลายความเห็นแก่ตัว เราจะต้องเป็นมนุษย์ให้ถูกต้อง คำว่ามนุษย์นี่แปลว่าจิตใจมันสูง จิตใจมันสูง มันก็อยู่เหนือปัญหาทั้งหมด เหนือความทุกข์ทั้งหมด ปัญหาที่กล่าวมาแล้วกี่อย่าง กี่อย่างมันไม่มี มันอยู่เหนือปัญหาทั้งหมด นั่นแหละความหมายของคำว่ามนุษย์ มนุษย์แปลว่ามีจิตใจสูง บางคนแยกศัพท์เป็นอย่างอื่น มนุษย์ มนุต-สะ มนุษยะ นี่ เค้าว่าเป็นเหล่ากอของ มนู มนูนักปราชญ์สูงสุดคนแรกในโลกมันก็ไม่เห็นแก่ตัวอีกแหละ นักปราชญ์สูงสุดนั้นก็มีลัทธิไม่เห็นแก่ตัว ซึ่งเป็นมนุษย์เพราะใจสูง ขอให้ศึกษาการพัฒนาจิตใจให้มันสูง แล้วก็บริหารความมีจิตใจสูงนี่ไว้ให้ได้ แล้วโลกนี้ก็จะมีสันติภาพ มิฉะนั้นแล้วก็จะมีผู้เห็นแก่ตัว ผู้กอบโกย ผู้เห็นแต่ประโยชน์ของตนว่าเป็นความถูกต้อง ขอให้เราเป็นมนุษย์กันให้ถูกต้อง พัฒนาความเป็นมนุษย์ให้ถูกต้อง รักษา บริหารความเป็นมนุษย์ไว้ให้ถูกต้อง ให้ได้รับประโยชน์เต็มที่ของความเป็นมนุษย์ มีชีวิตเป็นมนุษย์ อยากจะบอกให้ทราบอีกข้อหนึ่งว่า ธรรมชาตินี่สร้างมาเพื่อให้ใช้ชีวิตนี้เป็นการค้า ค้าขายหากำไรนั่นแหละ คำนี้เรียกเป็นภาษาบาลีว่า โวหาระ โวหาร นี่แหละโวหาร คำว่าโวหารนี่แปลว่าการทำให้ได้ประโยชน์มากออกไป เป็นกำไร ไม่ใช่เป็นเพียงคำพูด เรารู้จักกันแต่ว่าโวหาร โวหารเป็นเพียงคำพูด มีโวหารดี พูดดี ชนะด้วยโวหารอย่างนี้ยังไม่เต็มตามความหมายของคำคำนี้ คำว่าโวหาระนี่แปลว่าการค้า คือทำให้ได้กำไรถึงที่สุด ที่เราพูดโวหารดีก็คือกำไรเหมือนกันแหละ นี่ชีวิตนี้ธรรมชาติให้มาสำหรับทำการค้าด้วยสติปัญญาให้ได้รับประโยชน์ถึงที่สุด เท่าที่มนุษย์จะมีได้ คนเค้าก็ลงทุนด้วยชีวิต พัฒนา พัฒนา บริหาร บริหาร จนกระทั่งว่าประสบความสำเร็จในทางวัตถุ มั่งมีเงินทองมหาศาล สมบูรณ์ทุกอย่างทุกประการ ทั้งวิญญาณกทรัพย์ อวิญญาณกทรัพย์ คนนี้ก็แก่แล้ว ถึงที่สุดแห่งชีวิตโวหารแล้ว ขนบธรรมเนียมอย่างนี้ก็มีอยู่ในครั้งกระนู้น คนแก่คนนี้ก็นุ่งผ้าขาว สวมเสื้อขาว สวมรองเท้าขาว กั้นร่มขาว เดินเล่นอยู่ตามป่าละเมาะริมลำธาร สนามหญ้า อากาศดี ไม่ต้องทำอะไร ทรัพย์สมบัติยกให้ลูกหลานจัดการ ดำเนินการไปอย่างถูกต้อง แล้วก็พอใจว่าเราถึงที่สุดแห่งชีวิตโวหาร คือทำการค้าด้วยชีวิตถึงที่สุดแล้ว ก็มีหลักเกณฑ์ มีธรรมเนียมที่กันอย่างนี้ว่าลงทุนค้าด้วยชีวิตถึงที่สุดแล้ว มันเป็นเรื่องทางวัตถุ ทีนี้พอตาแก่คนนี้ไปพบพระพุทธเจ้า ตาแก่คนนี้เค้าก็อวดทีเดียวว่าเค้าเป็นผู้สำเร็จชีวิตโวหาร เค้าอวดเพราะเค้าภูมิใจ พระพุทธเจ้าว่า ชีวิตโวหารอะไร เค้าก็เล่าอย่างนั้นแหละ พระพุทธเจ้าว่า ยังไม่ใช่ ยังไม่ใช่ ยังไม่ใช่ชีวิตโวหารสำเร็จ ถ้าลูกหลานตายร้องไห้ไหม ยังร้องไห้ ถ้าทรัพย์สมบัติสูญเสียไป เสียใจไหม รักไหม โกรธไหม เกลียดไหม กลัวไหม ยังมีอยู่ อ้าว ไม่ได้ ไม่ได้ ชีวิตโวหารคุณใช้ไม่ได้ ตาแก่คนนี้ก็เลยถามว่า ถ้าอย่างนั้นจะให้ทำอย่างไร พระพุทธเจ้าก็แสดงธรรมะ เรื่องหมดกิเลส เรื่องหมดตัวตน ไม่มีปัญหาอะไร เค้าจึงยอมรับ ถึงยอมแพ้ ว่าชีวิตโวหารแท้จริงนั้นต้องมีทั้งทางกายและทางจิต ทางกายยังไม่สำคัญเท่าทางจิต ทีนี้ขอให้เราทุกคนที่เกิดมามีชีวิตนี้จงทำการค้าด้วยชีวิตให้ถึงที่สุดแห่งชีวิตโวหาร แต่ว่าน่าสงสารการเล่าเรียนในโลกนี้ ระบบมหาวิทยาลัยหรือบรมมหาวิทยาลัยไหนก็ตามใจเถอะ มันสอนแต่เรื่องวัตถุ ไม่ดีกว่าตาแก่คนนั้นนะ ไม่ดีกว่าตาแก่คนนั้น คุณไปคิดดู ฉะนั้นมาหาธรรมะให้ชีวิตมีกำไรถึงที่สุด พัฒนาทางจิตใจ เอาแหละ ขอพูดเป็นครั้งสุดท้ายว่า ธรรมชาติไม่ได้ลำเอียง ไม่ได้เอาเปรียบอะไร ธรรมชาติมันให้มาครบ ครบเลย ให้มาในชีวิตนะ ให้ชีวิตมาในลักษณะที่ครบบริบูรณ์เลยสำหรับการพัฒนา อย่ามาแก้ตัวว่าฉันไม่ฉลาด ฉันไม่สามารถอะไร ไม่ ไม่ ไม่ต้องแก้ตัว ธรรมชาติให้มาทั้งร่างกาย ทั้งจิตใจ ทั้งสติปัญญา ทั้งความพร้อมอย่างอื่น ๆ ที่จะพัมนาชีวิต เราจึงฉวยโอกาสนี้พัฒนาชีวิต พัฒนาหรือบริหารก็แล้วแต่คุณจะเรียก มหาวิทยาลัยของคุณพัฒนาหรือบริหารนี่ คุณต้องบริหารหรือพัฒนาชีวิตให้มันถึงที่สุด จะมาปฏิเสธ ไม่รับผิดชอบนั้นไม่ได้นะ เดี๋ยวจะแก้ตัวว่าฉันไม่ได้อยากเกิดมานี่ ฉันไม่รับผิดชอบข้อนี้ ฉันไม่ได้อยากเกิดมานี่ มันเกิดมาเอง อย่างนี้ไม่ได้หรอก จะไปโทษคนให้เกิดมามันไม่ได้ ต้องรับผิดชอบว่ามันเกิดมาแล้วอย่างนี้จะต้องทำอย่างไรนั่นแหละ นั่นแหละมันจะเป็นพัฒนาหรือบริหารที่ถูกต้องและสมบูรณ์ มันต้องใช้กำลังกาย กำลังสติปัญญาทุกอย่าง ทุกประการให้ถูกต้อง ให้พัฒนา ให้บริหาร ให้สูงงงงง...ขึ้นไป จนอยู่เหนือปัญหาโดยประการทั้งปวง คำว่าเหนือโดยประการทั้งปวงเนี๊ยะ คุณอาจจะเข้าใจผิดก็ได้ คือว่าดับทุกข์แล้วเสวยสุขนี่พอ พอแล้ว ไม่ถูก ไม่ถูก นั่นมันยังอยู่ใต้อำนาจของความสุข ไอ้ความสุขนั่นแหละจะทำความทุกข์ให้ พอความสุขมันหายไปมันก็ร้องไห้ คนรักจากไปก็ร้องไห้ สุญเสียความสุขไปมันก็ร้องไห้ ไอ้ความสุขนี้ก็ต้องบริหารนะ การบริหารนะมันไม่ใช่ของสนุกนะ มันลำบากนะ เหนือการบริหารทั้งสิ้น เหนือสุข เหนือทุกข์นั่นแหละ หมดปัญหา มีความทุกข์ก็ยุ่งยากไปตามแบบทุกข์ มีความสุขก็ยุ่งยากไปแบบความสุข มหาเศรษฐีก็ยุ่งยากลำบากใจไปตามแบบมหาเศรษฐี ฆ่าตัวตายก็ยังมี ต่อให้เป็นเทวดามันก็ยังทะเลาะกัน มันยังไม่ใช่เหนือแท้ ต้องเหนือสุขและเหนือทุกข์ พูดเป็นวิทยาศาสตร์กันหน่อยก็ว่า เหนือ positive เหนือ negative positive นี่ negative นี่อย่าได้มาครอบงำเรา เรามีจิตใจอยู่เหนืออิทธิพลของความเป็นบวก ของความเป็นลบ นี่ก็เลยไม่สุข ไม่ทุกข์ ไม่ดี ไม่ชั่ว ไม่บุญ ไม่บาป ไม่อะไรทุกคู่ ทุกคู่นะ อยู่เหนือมันหมดเลย นี่ที่ว่าจะเห็นกันได้ง่าย ๆ เลยว่า ไม่ดีใจ ไม่เสียใจนี่ อาจจะไม่เคยคิดก็ได้ แต่ขอให้คิดหน่อยว่ามันไม่ไหวทั้งสองอย่าง ดีใจก็ไม่ไหว เสียใจก็ไม่ไหว เสียใจนั้นก็รู้รสกันดี แต่ไอ้ดีใจนี่ก็ระวังให้ดี ดีใจไม่ใช่ความสงบ ดีใจยังมีความกระหืดกระหอบ ยังต้องมีภาระที่ต้องรักษา ที่จะต้องบริหาร ขอให้สังเกตุดูให้ดี เวลาที่เรารู้สึกสบายที่สุด สบายบอกไม่ถูกเลย สบายที่สุด เวลานั้นไม่มีดีใจ ไม่มีเสียใจ เพราะว่าถ้าเสียใจก็กินข้าวไม่ลง นอนไม่หลับ ดีใจมาก ๆ ก็กินข้าวไม่ลง นอนไม่หลับ ดีใจเกินขอบเขตบ้าเลย ดีใจเกินเขต อย่าดีใจ อย่าเสียใจ อยู่เหนือบวก เหนือลบ นั่นแหละที่สุดของการพัฒนาหรือบริหารชีวิตในด้านจิต ด้านวิญญาณ ไม่ต้องเชื่อใคร ไม่ต้องเชื่ออาตมา ไม่ต้องเชื่อแม้พระพุทธเจ้า แต่จงเชื่อความจริงที่ท่านมองเห็นอยู่ในคำที่พระพุทธเจ้าท่านตรัส ท่านว่าโลภะเป็นของร้อนก็ไม่ต้องเชื่อพระพุทธเจ้า แต่ไปดูที่โลภะ โลภะที่เคยมีแล้วนั่นแหละร้อนหรือไม่ร้อน โลภะ โทสะ โมหะ เป็นของร้อนก็ไม่ต้องเชื่อใคร เชื่อที่เรามองเห็นมาแล้ว สัมผัสมาแล้ว เชื่อความจริงในตัวมันเอง ตามแบบกาลามสูตร ไม่ต้องเชื่อคน ไม่ต้องเชื่อตำรา แต่ที่แรกก็อ่านตำราแล้วก็ฟัง ไม่ใช่ไม่ฟัง แต่แล้วก็ยังไม่เชื่อ เชื่อจนเมื่อได้เห็นความจริง ได้พบความจริง ได้ผ่านความจริงนี่แหละ วิธีศึกษาที่ดีที่สุด ขอให้เราทุกคนจงพัฒนา จงบริหารสิ่งที่เรียกว่าชีวิตนี้ ให้มันอยู่เหนือความเป็นบวกหรือความเป็นลบ มีความคงที่ ความเป็นบวกมาก็ไม่ทำอะไร ความเป็นลบมาก็ไม่ทำอะไร ความสุขมาก็ไม่ทำอะไร ความทุกข์มาก็ไม่ทำอะไร มันคงที่ คงที่ แข็งโปก ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ ไม่ได้ ไม่เสีย ไม่แพ้ ไม่ชนะ ไม่กำไร ไม่ขาดทุน ไม่เอาเปรียบ ไม่ถูกเอาเปรียบ เป็นกลางยังไม่พอนะ อยู่เหนือ ไอ้ตรงกลางนะ มันเข้าไปทางนี้ มาทางนี้ก็ไม่ทันรู้ ไอ้คำว่า balance หรือ between นี่ไม่ปลอดภัย ต้องเอา beyond above ไปอยู่ข้างบนเลย นั่นแหละจะปลอดภัย อยู่เหนือบวก เหนือลบ นั่นแหละจะปลอดภัย ไม่ใช่อยู่ระหว่างกลาง balance นี่ไม่ปลอดภัย ยังไม่พอ ต้องขึ้นข้างบนเลย อยู่เหนือบวก เหนือลบ ชีวิตนั้นแหละสูงสุดของการพัฒนา เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาและก็เป็นพระอรหันต์กันที่ตรงนั้น ความเข้มแข็งสูงสุด อะไรปรุงแต่งไม่ได้นี่มีอยู่ในพระบาลี ในคำสอน แต่มันไม่ค่อยมีใครเอามาพูด เค้าเรียกว่า อตัมมยตา ช่วยจำคำนี้ไว้ให้ดี ๆ อตัมมยตา เหนือบวก เหนือลบ เหนือทุกอย่าง คงที่ แข็งโปก เหมือนกันเพชร เพชรนะแข็งจนตัดอะไรได้ทุกอย่าง อะไรจะตัดเพชรไม่ได้เพราะมันแข็ง ขอให้เรามีจิตใจอย่างเพชร อย่าให้อะไรมาทำได้ เรียกว่าอตัมมยตา คำนี้อธิบายยาก ต้องสนใจศึกษาเรื่อย ๆ ไป นาน ๆ ไปก็คงจะรู้ เมื่อเราจะพูดให้พวกฝรั่งฟังเราต้องเปรียบด้วยอุปมาว่าด้วยความแข็งโปกนี่เป็นอย่างไร เมื่อหญิงสาวคนหนึ่งมีจิตใจเป็นอตัมมยตา หญิงสาวสวยคนนี้มีอตัมมยตา ต่อให้ชายหนุ่มรูปงาม เจ้าชู้ ฉลาดสักร้อยหนึ่งมาเกี้ยวเค้าไปไม่ได้ มันมีอตัมมยตา หรือว่าชายหนุ่มคนหนึ่งก็มีอตัมมยตา ให้นางงามจักรวาลมาสักฝูงหนึ่งก็ลากหัวมันไปไม่ได้ นี่คืออตัมมยตา ไปคิดเอาเอง ความหมายมันมีว่าอย่างไร มันอยู่เหนือบวก เหนือลบ มันเหนือคู่ ๆ นี่หมด มันถึงที่สุด ความจริงมันเป็นพระอรหันต์ คำเป็นอย่างนี้ อตัมมยตามีแล้วเป็นอตัมมโย คือเป็นพระอรหันต์ เรายังไม่ถึงนั้นหรอก (ไม่ค่อยแน่ใจ นาทีที่ 1.16.14) แต่ว่าอยู่กันที่นี่ อยู่กันในลักษณะที่อะไรมาดึงเอาไปไม่ได้ บวกก็ไม่ได้ ลบก็ไม่ได้ ความที่จิตคงที่จนอะไรปรุงแต่งไม่ได้ ช่วยจำกันไว้ (ไม่ค่อยแน่ใจ นาทีที่ 1.16.34) มันควรจะมีในปทานุกรม ความที่จิตมันอะไร อะไรมันปรุงแต่งไม่ได้ unconcoctability นั่นแหละจะเป็นความหมายของคำนี้ จะไปอยู่ในปทานุกรมของชาวโลก concoctable นะปรุงแต่งได้ ปรุงแต่งเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ได้ concoctability ภาวะที่มันปรุงแต่งได้ ทีนี้เอา un หรือ non เข้าไปไว้ข้างหน้า เป็น unconcoctability ภาวะที่อะไร อะไรมาปรุงแต่งไม่ได้ของจิตใจนั่นแหละคือ อตัมมยตา ทำให้หัวเราะไม่ได้ ทำให้ร้องไห้ไม่ได้ มันอยู่เหนือ สูงสุดของเหตุ-ปัจจัยที่จะปรุงแต่ง ไม่มีอะไรในโลกนี้มาทำอะไรแก่เขาได้ เค้าเป็นอิสระสูงสุดอย่างนี้ เรียกว่ามีอตัมมยตา จุดสูงสุดของการพัฒนาหรือการบริหาร ในทางจิต ทางวิญญาณ สูงสุดที่นั่น เอาละเป็นอันว่าสมควรแก่เวลาแล้ว สรุปความว่าพอใจ ยินดีในการมาของท่านทั้งหลายสู่สถานที่นี้ เพื่อแสวงหาธรรมะไปแก้ปัญหาในหน้าที่การงานทุกอย่างทุกประการ ให้รู้จักพระพุทธเจ้า พระองค์จริง รู้จักธรรมะในความหมายที่ถูกต้อง รู้จักศัตรูที่เลวร้ายที่สุดคือความเห็นแก่ตัว มาจัดการศึกษากันเสียใหม่ให้มีสิ่งที่ควบคุมความฉลาด อย่าให้ความฉลาดไปเป็นทาสของความเห็นแก่ตัว ให้ความฉลาดมันกำจัดความเห็นแก่ตัว หมดความเห็นแก่ตัวจะไม่มีปัญหาใด ๆ เหลืออยู่ในโลกนี้ นับตั้งแต่ปัญหาขี้ฝุ่น ปัญหาระดับชาติ ปัญหาระดับโลกจะหมดไป ขอให้ท่านทั้งหลายมีความเข้าใจในเรื่องนี้แล้วได้นำไปคิด นึก ใคร่ครวญศึกษาต่อไปให้ถึงที่สุด อาตมาขอแสดงความยินดีและขอแสดงความหวังว่า ท่านทั้งหลายจะมีความก้าวหน้าในทางธรรมะ ในทางจิตใจจนเอาชนะอุปสรรคทั้งหลายทั้งปวงได้ มีความสุขสูงสุดอยู่เหนือปัญหา อยู่ทุกทิวาราตรีกาลเทอญ