แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ก่อนอื่นทั้งหมด ขอแสดงความยินดีในการมาของท่านทั้งหลาย สู่สถานที่นี้ ในลักษณะอย่างนี้ โดยเฉพาะก็คือการแสวงหาความรู้ทางธรรมะ เพื่อไปประกอบการปฏิบัติหน้าที่การงาน นี้เป็นสิ่งที่นับว่ามีเหตุผล จึงขอแสดงความยินดีด้วย การที่ต้องมานั่งพูดกันในเวลาอย่างนี้ ก็มีเหตุผลอยู่บ้างเหมือนกัน ส่วนตัวอาตมาก็คือว่าไม่ค่อยมีเรี่ยวแรง นอกจากเวลาหัวรุ่งอย่างนี้ แล้วก็ควรจะได้ทราบกันว่าโลกเวลาหัวรุ่งน่ะ มันมีอะไรพิเศษหรือมีความหมายพิเศษ คล้ายๆ จะเป็นจุดตั้งต้นหรือเลื่อนชั้นพระพุทธเจ้า เชื่อว่าพระศาสดาเป็นอันมากตรัสรู้เวลาหัวรุ่ง แต่ว่าคนที่ชอบความสุขในการนอนก็ยังนอนคลุมโปงอยู่ เขาก็ไม่ได้มีโอกาสที่จะรู้จักโลกในลักษณะหัวรุ่ง นี่เราจึงมาพูดกันเวลาหัวรุ่ง เรื่องที่จะพูดกันในวันนี้ก็คือเรื่องที่กำลังเข้าใจผิดกันอยู่ ซึ่งรู้สึกว่ามีมากมาย และก็กำลังจะมากมายขึ้นทุกที ดังนั้นเรามาทำความเข้าใจให้ถูกต้องกันจะเป็นการดี
ข้อแรกที่สุดอยากจะปรารภว่า ท่านทั้งหลายที่มีการศึกษาในระดับนี้ ตามปกติก็ใช้แบบเรียนที่มาจากต่างประเทศ ที่ฝรั่งเป็นคนเขียน มันก็มีความรู้อย่างนั้น แม้ความจริงจะมีอยู่อย่างอื่น ท่านก็ต้องเขียนคำตอบอย่างนั้น ไม่อย่างนั้น มันๆ มันตกนี่ มันไม่ได้คะแนนนี่ถ้าไม่เขียนตรงตามที่ผู้อำนวยการสอบไล่เขาต้องการ สิ่งแรกที่จะทำความเข้าใจก็คือว่าเรื่องที่เกี่ยวกับฝรั่งกันก่อน หนังสือหลายเล่มที่ฝรั่งเขียน เขาก็ว่าพุทธศาสนาไม่ใช่ religion คือไม่ใช่ศาสนา แต่เป็น philosophy เพราะว่าในพุทธศาสนานี้ไม่มีพิธีการ ไม่มีพระเจ้า ข้อนี้มันเป็นเพราะให้ความหมายของคำว่า “ศาสนา” “ศาสนา” ต่างกัน ถ้าท่านทั้งหลายจะพลอยเห็นอย่างนั้น ใช้คำอย่างนั้น มันก็จะต้องเกิดเรื่อง มันจะต้องเกิดเรื่อง แล้วมันผิดที่สุด ในข้อที่ว่าพุทธศาสนามันไม่ใช่ philosophy แต่ว่าจะเอาไปศึกษากันแบบ philosophy ไม่รู้จักจบก็ได้เหมือนกัน และมันก็ไม่มีประโยชน์อะไร นี่ฝรั่งเขาว่าพุทธศาสนาเป็น philosophy แต่เราบอกว่าไม่ใช่ philosophy แล้วก็ควรจะเป็นศาสนาในความหมายของคำว่า religion นั่นแหละด้วย ถ้าเราถือเอาตามคำอธิบายของนักศาสนาที่เป็นฝ่ายคริสเตียนที่ว่าอธิบายความหมายของคำว่า lig คำว่า leg ซึ่งเป็น root ของคำๆ นี้ lig หรือ leg แปลว่าปฏิบัติ หรือแปลว่าผูกพัน ดังนั้นนักปราชญ์หรือผู้สอนศาสนาในยุคก่อนนั้นก็ให้คำนิยามว่า religion คือการปฏิบัติ observation ที่ทำให้เกิดการผูกพัน relation กับสิ่งสูงสุด การปฏิบัติที่ทำให้เกิดการผูกพันระหว่างมนุษย์กับสิ่งสูงสุดนั้นคือ Religion
ดังนั้นพุทธศาสนาก็มีความหมายนี้ สมบูรณ์เต็มที่ จึงเป็น religion เพราะว่าถ้าปฏิบัติตามหลักพุทธศาสนาแล้ว ย่อมเกิดการผูกพันกับสิ่งสูงสุด ทีนี้สิ่งสูงสุดจะเป็นอะไรก็แล้วแต่จะต้องการนี่ สิ่งสูงสุดเป็นพระเจ้าก็เอาซิ ก็ได้ แต่เรามีสิ่งสูงสุดเป็นนิพพานคือความดับแห่งทุกข์โดยประการทั้งปวง เราก็เรียกว่า supreme thing ได้เหมือนกันแหละ เอาแต่ว่าให้มันได้เข้าถึง หรือผูกพัน หรืออยู่กับสิ่งสูงสุด แล้วก็เรียกว่า religion กันได้ทั้งนั้น ดังนั้นขอให้ท่านทั้งหลายจงอย่าๆ ถือเอาตามนั้นนี่ เรามาในฐานะที่เป็นผู้อธิบายหรือสั่งสอนพระพุทธศาสนา อย่าถือเอาคำพูดที่ว่า ศาสนามิใช่ศาสนาเป็นเพียง philosophy ที่ยิ่งไปกว่านั้นอีกก็ว่า เป็นศาสนาชนิดวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่ศาสนาอย่าง metrology ซึ่งมีลักษณะเป็นเทวนิยม คือมีพระเจ้าหรืออะไรทำนองนั้นน่ะที่พิสูจน์ไม่ได้ และมีความเชื่อเป็นหลัก ทีนี้เราไม่มีความเชื่อเป็นหลัก แต่มีความเห็นแจ้งเข้าใจถูกต้องเป็นหลัก มีการกระทำการศึกษาค้นคว้าพิสูจน์ทดลองอย่างกับวิทยาศาสตร์ เป็น science ทางวิญญาณ เป็นวิทยาศาสตร์ทางฝ่ายจิตฝ่ายวิญญาณ มีการศึกษาค้นคว้าพิสูจน์ทดลองจนเห็นว่านี่มันดับทุกข์ได้จริงอย่างนี้ มันเห็นอยู่ชัดๆ ว่ามันจะดับทุกข์ได้จริงอย่างนี้ แล้วก็ปฏิบัติ ปฏิบัติมันก็พบความจริงอย่างนั้นก็เลยปฏิบัติต่อไปจนถึงที่สุด ในลักษณะของวิทยาศาสตร์ สรุปความว่าให้ถือว่า พุทธศาสนาก็เป็นศาสนา ศาสนาในรูปแบบของวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่แบบ metrology
ไอ้คำที่เขาใช้กันอยู่ในหนังสือนั้นใช้คำว่า atheist atheist คือไม่มีพระเจ้าในพุทธศาสนา เป็น atheist นี่ก็เพราะว่าคนกล่าวมันมีความรู้ด้านเดียว มันมีความรู้แต่พระเจ้าอย่างบุคคล personal god มันไม่รู้พระเจ้าอย่างมิใช่บุคคล คือเป็น impersonal god มีความหมายเป็น god god ที่พูดให้สั้นเหลือแต่ กฎ คือกฎของธรรมชาติอันสูงสุดที่ใครแตะต้อง แก้ไข เปลี่ยนแปลงไม่ได้นั่นแหละ และบันดาลสิ่งทั้งปวงให้เป็นไป นั้นแหละเรามีอันนี้เป็น god หรือเป็นพระเจ้า แต่เป็นอย่างมิใช่บุคคล ดังนั้นขอให้ถือเอาความจริงเป็นหลักว่าพุทธศาสนาก็เป็น atheist มีพระเจ้าอย่างมิใช่บุคคล ถ้าจะพูดกับบุคคลอื่น ต่างศาสนาออกไป ก็ขอให้อย่าลืมความข้อนี้ ฝรั่งที่เป็นนักศึกษาที่โลกเชื่อถือ เช่น โชเพนแอร์ โชเพนเฮาเออร์ ( Schopenhauer) โชเพนแอร์ นี่ เขาว่าพุทธศาสนา เป็น pessimistic คือมองในแง่ร้าย บัญญัติในแง่ร้าย ไอ้คนนี้สายตามันสั้น พุทธศาสนาไม่ใช่ pessimistic ไม่ได้มองในแง่ร้าย ไม่ใช่ optimistic มองในแง่ดี แต่ว่ามองในแก้ ในการที่จะแก้ไขสิ่งที่ร้ายให้มันกลายเป็นดี สอนความทุกข์และสอนวิธีดับทุกข์ วิธีดับทุกข์ ไม่ใช่มองในแง่ร้ายแล้วหมดกำลังใจ แล้วก็ไม่ได้มองในแง่ดีบ้าบอหลงใหลอะไรอยู่ แต่มันมองในแง่ที่ว่าความทุกข์เกิดขึ้นมาอย่างไร แล้วเราจะขจัดมันออกไปอย่างไร นี่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า เราพูดแต่เรื่องทุกข์กับความดับทุกข์เท่านั้นแหละ อย่าไปเห็นเป็นในแง่ร้ายแง่ดีนี่ ไม่เป็น positive ไม่เป็น negative ด้วย และยังอยู่เหนือ เหนือร้าย เหนือดี เหนือ positive เหนือ negative นั่นแหละเป็นตัวพุทธศาสนา และที่น่าสนใจอย่างหนึ่ง ก็พวกฝรั่งรู้จักพระพุทธเจ้าแต่ในแง่บุคคลในประวัติศาสตร์ รู้จักพระพุทธเจ้าแต่ในแง่ที่เป็นบุคคลอย่างคนทั่วไป เป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ที่ทำอะไรไว้มาก แต่ไม่รู้จักพระพุทธเจ้าตามหลักของพุทธบริษัทในพระพุทธศาสนา คือพระพุทธเจ้าตรัสว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นเห็นธรรม ไอ้คนที่ไม่เห็นธรรม แม้แต่จับจีวรของเราถือไว้ไปไหนไปด้วยกัน มันก็ยังไม่เห็นเราเลย นี่ท่านปฏิเสธว่าบุคคลที่ว่า เป็นบุคคลนะไม่ใช่ว่าพระพุทธเจ้า แต่ธรรมะ ธรรมะคืออะไร ตรัสว่าผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นเห็นธรรมะ ปฏิจจสมุปบาทไม่ควรจะเป็นคำแปลกหูสำหรับบุคคลอย่างพวกท่านทั้งหลาย ปฏิจจสมุปบาทเป็นหัวใจของพุทธศาสนา ควรจะรู้จักกันอย่างแจ่มแจ้ง ปฏิจจสมุปบาทคือความจริงที่ว่า ความทุกข์มันอาศัยปัจจัยอะไรแล้วเกิดขึ้น ความทุกข์มันอาศัยปัจจัยอะไรแล้วดับลง อาการที่อาศัยการเกิดขึ้นแล้วเป็นทุกข์ อาการที่อาศัยการเกิดขึ้นแล้วดับทุกข์นั้นน่ะคือปฏิจจสมุปบาท มันก็คือเรื่องเกิดทุกข์และดับทุกข์นั่นแหละเรื่องปฏิจจสมุปบาท ผู้ใดเห็นสิ่งนี้ ผู้นั้นชื่อว่าเห็นพระพุทธเจ้า การเห็นบุคคลไม่ชื่อว่าเห็นพระพุทธเจ้าหรอก เพราะว่าคนในอินเดียเป็นอันมากสมัยนั้นก็เห็นพระพุทธเจ้ากันทั้งนั้นแหละ และมันก็ไม่ๆๆ ไม่ยอมรับ ไม่นับถือ ไม่เชื่อ ไม่สนใจอะไร แถมบางคนยังประกาศตนเป็นศัตรูกับพระพุทธเจ้าด้วย พวกผู้หญิงโดยมากเขาด่าพระพุทธเจ้าว่า ไอ้คนที่ทำให้คนเป็นหม้าย ผัวของเขาออกไปบวชเสีย ผู้หญิงเป็นหม้าย เขาด่าพระพุทธเจ้าว่าไอ้คนที่ดีแต่ทำให้คนเป็นหม้ายอย่างนี้ ถ้ามันเพียงแต่เห็นองค์พระพุทธเจ้าแล้วรู้ธรรมะ มันก็ มันก็ไม่ด่าอย่างนั้น แล้วมันเห็นแต่องค์ หรือที่เป็นบุคคลหรือคำพูด มันก็ไม่เห็นพระพุทธเจ้าพระองค์จริง ดังนั้นขอให้สนใจว่าพระพุทธเจ้าพระองค์จริงยังไม่ใช่ตัวบุคคลในประวัติศาสตร์ นี้มันรู้หรือศึกษาอย่างวัตถุ มันเห็นเป็นตัวบุคคล และก็รู้จักแต่เพียงบุคคลก็กล่าวกันแต่เพียงอย่างบุคคล แต่พระพุทธเจ้าพระองค์จริงเป็นนาม เป็นธรรมะๆ ซึ่งมิใช่ตัวบุคคล เป็นกฎของความจริงเรื่องทุกข์และดับทุกข์ เป็นกฎที่มีอยู่อย่างนิรันดรๆ พระพุทธเจ้าชนิดนี้ไม่มีเกิด ไม่มีตรัสรู้ ไม่มีดับหรอก มีอยู่ตลอดนิรันดรอย่างนั้นแหละ พระพุทธเจ้าพระองค์จริง พระพุทธเจ้าองค์ที่ประสูติเมื่อนั้น ตรัสรู้เมื่อนี้ นิพพานเมื่อนั้น อันมากมายหลายองค์นั้นๆ นั้นไม่ใช่พระพุทธเจ้าพระองค์จริงที่พระพุทธเจ้าท่านต้องการให้พวกเรารู้จัก ไปรู้จักพระพุทธเจ้าที่เป็นพระองค์ธรรม ธรรม เป็นชั้นใน มิใช่เปลือกนอก ร่างกายนี้เป็นเพียงเปลือกนอก เข้าไปในมีจิต ในจิตมีธรรมะ มีความรู้ มีความจริง ไอ้ตัวความรู้ ตัวความจริง ที่มีอยู่ในจิตนั่นแหละคือองค์พระพุทธเจ้าที่แท้จริง
นี้เป็นการปรารภตอนแรก เกี่ยวกับพวกฝรั่ง ขอใช้คำง่ายๆ ว่าฝรั่ง คือตำราพุทธศาสนาที่เขียนโดยชาวต่างประเทศ เป็นฝรั่งที่เข้ามาสนใจในพุทธศาสนาแล้ว ก็ช่วยกันเขียนขึ้นก็มีแยะเหมือนกัน เขาศึกษาเพื่อจะศึกษา ฝรั่งมาศึกษาพุทธศาสนาเพื่อการศึกษา ไม่ใช่เพื่อการดับทุกข์ ทั้งที่ศาสนามันมีเพื่อการดับทุกข์ เขาศึกษาพุทธศาสนาเพื่อจะเปรียบเทียบกับศาสนาที่เขาถืออยู่อย่างนี้เสียโดยมาก แล้วเปรียบเทียบอย่าง อย่างอะไร อย่าง อย่างใช้ไม่ได้ อย่างหวังร้าย อย่างมุ่งจะเห็นความแตกต่าง เข้ากันไม่ได้ เป็นข้าศึกแก่กันนี่ comparative study ศาสนาเปรียบเทียบนี่บ้าบอที่สุด โง่เขลาที่สุด มันต้องศึกษาเพื่อจะให้รู้ว่ามันจะร่วมมือกันได้อย่างไร เข้ากันได้อย่างไร แล้วร่วมมือกันช่วยโลกอย่างไรนั้นน่ะ อย่างนั้นจึงจะเป็นการศึกษาเปรียบเทียบที่ถูกต้อง พวกฝรั่งเขาไม่ได้มุ่งหมายอย่างนั้น เขามุ่งหมายจะเห็นความแตกต่าง ไม่ได้มุ่งหมายจะเห็นความเหมือนกัน นี่จึงทำให้ศาสนาแตกต่างกัน แตกต่างกันมากมาย แล้วมองดูหน้ากันไม่ได้ ศาสนาทั้งหลายยังยิ้มกันไม่ได้ ยังอิจฉาริษยากัน เพราะมันศึกษาเปรียบเทียบเพื่อความแตกต่าง เราจะพูดว่าทุกศาสนา กี่ศาสนา กี่ร้อยกี่พัน ไม่แต่ศาสนาโง่เขลาอย่างไสยศาสตร์ เอาซิ มันก็มีความมุ่งหมายเดียวกัน คือจะกำจัดความเห็นแก่ตัว กิเลสคือความเห็นแก่ตัว ความเห็นแก่ตัวน่ะเป็นซาตานมารร้ายของทุกศาสนา ทุกศาสนาจึงมุ่งจะกำจัดความเห็นแก่ตัว หากแต่ว่าวิธีการกำจัดมันต้องต่างกันเป็นธรรมดา สอนกันคนละยุคคนละสมัย คนละถิ่น แต่ละพวกที่มีวัฒนธรรมพื้นฐานต่างกัน สอนที่ตรงนั้นก็ต้องสอนให้เหมาะกับที่ตรงนั้น เพราะฉะนั้นมันจึงมีวิธีการดับกับตัดความเห็นแก่ตัวที่ไม่เหมือนกัน พุทธศาสนาเกิดขึ้นในอินเดียก็สอนอย่างที่เหมาะสมกับพื้นเพทางจิตใจของชาวอินเดีย ดังนั้นมันจึงมีการสอนต่างกัน อ้อมบ้าง ตรงบ้าง เช่นสอนว่าให้รักผู้อื่น นี่ก็เพื่อไม่เห็นแก่ตัว พุทธศาสนาสอนว่าโดยแท้จริงมันไม่มีตัว แล้วมันก็เห็นแก่ตัวไม่ได้ มันคนละวิธีอย่างนี้ เป็นต้น ศาสนาเก่าแท้ โบราณแท้ สอนเหมือนๆ กันน่ะ ลดความเห็นแก่ตัว ไม่ยึดดี ยึดชั่ว หน้าแรกของคัมภีร์ไบเบิ้ลก็บอกว่าอย่ากินผลไม้ที่ทำให้รู้ดีชั่ว พระเจ้าบอกประโยคสั้นๆ แล้วก็บอกแก่ตนเอง อย่า attack to good and evil แต่คนมันไม่ปฏิบัติ คริสเตียนต่อมาก็ไม่ถือหลักข้อนี้ ไปถือหลักว่ารักผู้อื่นๆ ไม่ถือเอาประโยคสั้นๆ ที่พระเจ้าสั่งด้วยตนเองว่าอย่าจัดให้เป็นดีเป็นชั่วแล้วยึดมั่นถือมั่น นี่เรียกว่าต้องเป็นศาสนายิวเก่าแก่ก่อนคริสเตียนมากมาย ไม่ยึดดียึดชั่ว ศาสนาเล่าจื้อก็ไม่ให้ยึดมั่นบวกลบ ไม่ให้ยึดมั่น อิม เอี๊ยง คือ บวก หรือ ลบ ให้อยู่เหนือนั้น คือไม่ยึดดียึดชั่ว ศาสนาอินเดียแม้แต่ศาสนาฮินดูมันก็สอนให้อยู่เหนือดีเหนือชั่ว แต่แล้วไปมีตัวตนเหนือดีเหนือชั่วที่ถาวร ศาสนาที่สอนไม่ยึดดียึดชั่วมันว่างไป มีความว่างถาวร ศาสนาพวกมีตัวตน ไอ้จุดหมายปลายทางก็คือมีตัวตนนิรันดร อย่างพุทธศาสนาไม่มีตัวตน ก็มีความ มีจุดหมายปลายทางเป็นความว่างนิรันดร
เอาล่ะไม่ต้องพูดถึงเรื่องนี้ให้มันมากมาย ขอสรุปความแต่ว่าทุกศาสนาน่ะมันมุ่งจะกำจัดความเห็นแก่ตัว ไม่มีความเห็นแก่ตัวแล้ว มันก็ไม่มีกิเลส มันก็ไม่เบียดเบียนตนเอง มันก็ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ถ้ามีกิเลสก็มาจากความเห็นแก่ตัวแล้วมันก็เบียดเบียนตัวเอง เบียดเบียนผู้อื่น และเป็นผู้ที่มีจิตใจแคบที่สุดแหละผู้เห็นแก่ตัว เดี๋ยวนี้ทั้งโลกกำลังมีปัญหาเรื่องเห็นแก่ตัวโดยไม่รู้สึกตัว เห็นแก่ตัวแล้วมันไม่อยากทำงาน มันอยากนอน แต่มันอยากเอาประโยชน์ มันเรียกร้อง มันเห็นแก่ตัว เป็นเหตุให้ไม่ทำงาน ไม่สนุกในการทำงานอันเหนื่อย ไม่อยากทำ เห็นแก่ตัวแล้วก็ไม่สามัคคีกับใคร เห็นแก่ตัวแล้วก็อิจฉาริษยา เห็นแก่ตัวหนักเข้าหลงทางเป็นบ้าเลย นี่อยากจะท้าว่าคนบ้าทุกคนในโรงพยาบาลทุกแห่งในโลก มีมูลเหตุที่แรกที่สุดมาจากความเห็นแก่ตัว มันจึงยุ่งไปหมด จนหลงทางจนเป็นบ้า หรือว่ามันฆ่าตัวตายในที่สุด เพราะความเห็นแก่ตัว เรื่องน่าหัวว่าความเห็นแก่ตัวกลับฆ่าตัว ฆ่าลูก ฆ่าเมีย ฆ่าพ่อ ฆ่าแม่ ฆ่าได้ทั้งนั้น เอาความเห็นแก่ตัวออกไปเสียไอ้โลกนี้ก็มีสันติภาพ ทุกศาสนามีความมุ่งหมายจะทำลายความเห็นแก่ตัว กล้ายืนยันอย่างนี้ แต่วิธีต่างกัน วิธีทำลายความเห็นแก่ตัวนั้นมันต่างกัน แต่แล้วเพื่อผลอย่างเดียวกัน ดังนั้นศาสนาไม่ควรจะแยกเขี้ยวยิงฟันต่อกันเหมือนอย่างปัจจุบัน ควรจะมีความรักใคร่กลมเกลียวสามัคคีร่วมมือกัน สร้างสันติภาพให้แก่โลก ถ้าศาสนามาเห็นแก่ตัว ต่างฝ่ายต่างเห็นแก่ตัวเป็นกูเป็นมึงกันอยู่อย่างนี้ โลกนี้ไม่มีสันติภาพ ศาสนาจะมีหัวใจของศาสนา คือความไม่เห็นแก่ตัวด้วยกันทุกศาสนา และก็ร่วมกันสร้างสันติภาพให้โลก นี้ทั้งหมดนี้เรียกว่าปัญหาที่กำลังมีอยู่ในโลกปัจจุบัน ที่ผู้ที่เข้ามาศึกษาศาสนาแล้วทำให้มันเกิดขึ้นมา เพราะว่าไม่เข้าใจถึงที่สุด แม้แต่ศาสนาของตนเอง แม้แต่ศาสนาของตนเอง ยังถือเป็นพิธีรีตรอง เป็นไสยศาสตร์ เป็นอะไรไปเยอะก็ไม่รู้ มันก็ยิ่งเห็นแก่ตัว ยังเห็นแก่ตัว ยังต้องการจะ จะเอาศาสนาอื่นเป็นเมืองขึ้น ศาสนาชนิดนี้มันเป็นจักรวรรดินิยม มันจะเอาศาสนาอื่นเป็นเมืองขึ้น จะปล้นเอา เอาสมาชิกในศาสนาอื่นไปเป็นสมาชิกในศาสนาของตัว อย่างนี้มันผิดความประสงค์ของพระศาสดาผู้ตั้งศาสนานั้นๆ อย่ามีเลย
เอ้า, ทีนี้เรามาพิจารณากันเป็นคำๆ ไปทีละคำ ในคำที่เข้าใจผิด โดยเฉพาะคำที่ได้รับการสั่งสอนเล่าเรียนมาใน เมื่อเป็นเด็กในโรงเรียน ในโรงเรียนหรือแม้แต่ในมหาวิทยาลัยด้วยซ้ำไป สอนว่า “ธรรม” “ธรรมะ” คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ธรรมะ ธรรมะคืออะไร ธรรมะคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า นั้นมันไม่ถูกต้อง มันไม่ถูกต้องเอาเสียเลยสอนเด็กให้โง่ ว่าอย่างนี้ดีกว่า ธรรมะมันมีอยู่ก่อนพระพุทธเจ้าเกิด ลัทธิไหนศาสนาไหนในอินเดียนั้นก็ใช้คำว่าธรรมะด้วยกันทั้งนั้นแหละ ธรรมะของคนศาสดาชื่อนั้น ธรรมะของศาสดาชื่อนี้ ทั้งก็ยังใหม่ไป เก่าแท้ๆ คำว่าธรรมะนั่นมีความหมายว่าหน้าที่ หน้าที่ อย่างในอินเดียคำว่าธรรมะแปลว่า duty ไม่เหมือนในเมืองไทย ธรรมะคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ธรรมะคำนี้มันเกิดขึ้นมาในโลกได้อย่างไร ในเมื่อแต่ก่อนนี้มันไม่มีคำว่าธรรมะใช้ มันต้องเป็นว่ามนุษย์คนแรก มนุษย์คนหนึ่งด้วยสติปัญญาได้สังเกตุเห็นว่าไอ้สิ่งที่เราทำอยู่คือหน้าที่นี่ สำคัญที่สุดๆ เพราะว่าไม่ทำหน้าที่ก็คือตายนี่ ไม่ทำหน้าที่ก็คือตาย แล้วก็เป็นทุกข์เกือบตายน่ะ หน้าที่มันสำคัญอย่างนี้ ลองขาดหน้าที่มันก็คือตาย ทีนี้พอได้สังเกตุเห็นสิ่งที่สำคัญที่สุดอย่างนี้ขึ้นมาแล้วเขาก็เรียกออกมาเองว่า “ธรรม” “ธรรมะ” นี่ธรรมะ ในภาษาโบราณที่นั่นครั้งกระโน้นนะ คำว่า “ธรรมะ” “ธรรมะ” ความหมายของคำ root ของคำนี้ว่า ยกขึ้นไว้ ยกขึ้นไว้ พอธรรมะ ธรรมะก็แปลว่ายกขึ้นไว้ คือไม่พลัดตกลงไปตาย นั่นแหละธรรมะคือสิ่งที่จะส่งชีวิตไว้ แล้วก็ใช้คำนี้เรื่อย มากขึ้น ให้สูงขึ้น สูงขึ้น สูงขึ้นจนเป็นคำสอนทางศาสนา แล้วก็มาใช้แก่ศาสนาทั้งหลาย รวมทั้งพุทธศาสนาด้วยเรียกว่า “ธรรม” ศาสนาที่ไหนก็ใช้คำนี้ อย่างในอินเดียนี่เมื่อจะถามกันว่า อย่างถามในเมืองไทยว่าท่านถือศาสนาอะไร เขาไม่ได้ใช้คำว่าศาสนา แม้คำว่าศาสนาก็มีอยู่แต่ไม่ใช้ เขาจะถามกันว่าท่านชอบใจธรรมะของใคร ชอบใจคำสอนเรื่องหน้าที่ของใคร ชอบใจธรรมะของนิครนถนาฏบุตร ชอบใจธรรมะของสันติยะ เวลัฏฐบุตร คือตามชื่อศาสดา นี่ธรรมะแปลว่าหน้าที่ที่จะทำให้เกิดความรอด ดังนั้นขอให้สนใจจำสักหน่อยเถอะว่า definition ที่ดีที่สุดของคำว่า “ธรรมะ” นั้นคือ ระบอบปฏิบัติ ใช้คำว่าระบอบเพราะมันต้องปฏิบัติหลายอย่างพร้อมกัน ระบอบปฏิบัติเป็นประธานที่ถูกต้อง ที่ถูกต้อง ได้แก่ความรอด รอดทั้งทางกายและทางวิญญาณน่ะ รอดทั้งทางกายและทางจิต ทุกขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการ ทั้งเพื่อตนเองและผู้อื่น มันยาวหน่อยนะ ขอทบทวนอีกทีว่า ธรรมะคือระบบปฏิบัติที่ถูกต้องแก่ความรอดทั้งทางกายและทางจิตทุกขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการทั้งของตนเองและผู้อื่น ที่ต้องใช้คำว่าระบบปฏิบัติเพราะมันไม่ได้ปฏิบัติอย่างเดียว มันปฏิบัติเป็นระบบ นั่นนี่ โน่น เป็นระบบ จึงใช้คำว่าระบบปฏิบัติ ก็ต้องถูกต้องๆ คำว่าถูกต้องในทางศาสนานี่ไม่ใช่ถูกต้องอย่าง logic ถูกต้องอย่าง philosophy นั่นบ้าบอถูกต้องอย่างนั้น เถียงกันไม่มีจบ ถูกต้องนี่หมายถึงว่าถูกต้องแก่ความรอด ถ้ามันเกิดความรอดนั่นแหละคือถูกต้อง ถูกต้องแก่ความรอด รอดทางวัตถุทางร่างกาย ทางจิต ทางวิญญาณ รอดหมด และก็ทุกขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการ ไม่ว่าจะเป็นเด็กเป็นผู้ใหญ่ เป็นคนแก่คนเฒ่า ในขั้นตอนไหนของวิวัฒนาการก็ต้องมีให้อย่าง ถูกต้อง ถูกต้อง ถูกต้องไปหมด แล้วก็ทั้งเพื่อตนเองและผู้อื่น นั้นไม่ใช่ถูกต้องแค่ตนคนเดียว ตามหลักธรรมะ ให้ถือว่าเราอยู่คนเดียวในโลกไม่ได้ แม้ว่าเขาจะยกโลกทั้งหมดให้เราคนเดียวอยู่ เราก็อยู่ไม่ได้เราก็ตายด้วย มันต้องอยู่กันตามแบบที่ธรรมชาติกำหนดมาว่า อยู่กันเป็นสังคม มนุษย์ก็อยู่กันเป็นสังคม สัตว์เดรัจฉานก็อยู่กันเป็นสังคม ต้นไม้ต้นไร่นี่ก็อยู่กันอย่างสังคม ดังนั้นจึงไม่ๆ ไม่อาจจะอยู่คนเดียว ไม่มีความคิดอย่างคนเดียว ตามหลักพุทธศาสนาแบ่งประโยชน์เป็นสามชนิด ประโยชน์ตนเองอย่างหนึ่ง ประโยชน์ผู้อื่นอย่างหนึ่ง และประโยชน์ที่เกี่ยวพันกันจนแยกกันไม่ได้นี่อย่างหนึ่ง ขอให้ช่วยดูให้ดีๆ นะว่าประโยชน์มันเป็นอย่างนี้จริงๆ ประโยชน์เราเองโดยเฉพาะนี่ก็อย่างหนึ่ง ประโยชน์ผู้อื่นโดยเฉพาะนี่มันก็อย่างหนึ่ง แล้วประโยชน์ที่มันเกี่ยวข้องกันอย่างที่ไม่อาจจะแยกกันนี่อีกอย่างหนึ่ง พุทธศาสนามีหลักประโยชน์เป็นสามอย่างๆ นี้
เอ้า, ทบทวนอีกทีว่า “ธรรมะ” คือระบบปฏิบัติที่ถูกต้องแก่ความรอดทั้งทางกายและทางจิตทุกขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการทั้งเพื่อตนเองและผู้อื่น นี่คือคำว่า “ธรรมะ” “ธรรมะ” มีบทนิยามอย่างนี้ ที่ไปสอนในโรงเรียนว่าธรรมะคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้นมันก็ไม่ถูก เพราะมันมีอยู่ก่อนพระพุทธเจ้าเกิด เพราะมีความหมายอย่างนี้ แล้วก็ได้รับการปรับปรุงๆๆ ให้ดีขึ้นเป็นธรรมะของพระพุทธเจ้านี่ถือว่าเป็นธรรมะชั้นสุดท้าย หรือสูงสุดๆ ทีหลังเพื่อน สู่ความสูงสุด ซึ่งใครไม่อาจจะสอนให้สูงสุดไปกว่านั้นได้อีกต่อไป นี่คือธรรมะ อย่าบอกลูกเด็กๆ คือคำสอนของพระพุทธเจ้า มันหลับตาพูด ด้วยอะไรก็ตามใจเถอะ นี่ก็ตัวอย่างคำหนึ่งละ
ตัวอย่างคำที่อยากจะยกมาว่าในโรงเรียนที่สอนกันมาผิดๆ พวกคุณเรียนกันมาผิดๆ “นิพพาน” แปลว่าตายนี่ เป็นคำสอนที่บ้าบอที่สุด ว่านิพพานคือความตายของพระอรหันต์ ตายของคนธรรมดาเรียกอย่างนั้น ตายของพระเจ้าแผ่นดินเรียกอย่างนี้ ตายของพระเรียกอย่างหนึ่ง ส่วนนิพพานคือตายของพระอรหันต์ มันเป็นคำพูดที่บ้าบอที่สุด เพราะว่านิพพานมันไม่ได้แปลว่าตาย คำนี้ทั้งพระไตรปิฎกมากมายมหาศาล คำนี้ไม่ได้แปลว่าตาย ไม่ต้องตาย คือเย็น หมดความร้อน แล้วที่มันผิด อีกทีหนึ่งก็ว่า สิ่งที่เรียกว่าพระอรหันต์นั้นตายไม่ได้ คุณช่วยจำไว้ด้วย พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พระอรหันต์นี่ตายไม่ได้ ไอ้เปลือกที่ร่างกายน่ะตายได้ แต่องค์จริงนี่ตายไม่ได้ พระอรหันต์ตายไม่ได้ ไม่มีตัวตนที่จะตาย “นิพพาน” นี้แปลว่าเย็นๆ ก็คือหมดร้อนนั่นแหละ ดับแห่งความร้อนแล้วก็ได้ ถ้าดับแห่งร่ายกายคือตายแล้วก็ใช้ไม่ได้ นิพพานมิได้แปลว่าตาย แปลว่าดับเย็น โดยที่ชีวิตไม่ต้องตาย ความร้อนในชีวิตดับไป เหลือแต่ชีวิตที่เยือกเย็น ถ้าเยือกเย็นก็หมายความว่ามีความสะอาด มีความบริสุทธิ์ มีความเป็นอิสระ นี่เรียกว่า “นิพพาน” ดังนั้นเลิกที่ครูสอนว่านิพพานคือความตายของพระอรหันต์น่ะ เอาไปทิ้งเถอะ ไม่มีความจริงแม้แต่นิดเดียว มันไม่ใช่ตาย แล้วพระอรหันต์ก็ตายไม่ได้ด้วย นี่ตัวอย่างว่าเราเรียนกันมาไม่ถูกต้อง แต่ไม่รู้ว่าใครจะรับผิดชอบ แล้วก็เรียนกันมาอย่างนั้น แล้วเมื่อสอบไล่ก็ต้องตอบอย่างนั้น ถ้าไม่ตอบอย่างนั้นมันก็ลงศูนย์ นี่คือเรื่องความลำบากที่ว่าเรียนมาเพื่อสอบไล่นั้นมันก็อย่างหนึ่ง แล้วมันก็มิได้ตรงกับความจริง มิได้ตรงกับความจริงที่ถูก ยกตัวอย่างสักสองคำนี้ให้เห็นว่าเราจะถือเอาตามนั้นน่ะตามที่เรียนมาแต่ก่อนนั้นไม่ได้ ดังนั้นขอให้แสวงหาความถูกต้องกันใหม่ จึงยินดี พอใจที่ว่ามาสู่สถานที่นี้ ในลักษณะที่จะแสวงหาความรู้ เกี่ยวกับธรรมะกันเสียใหม่ “ธรรมะ” แปลว่าหน้าที่ ขึ้นชื่อว่าชีวิตแล้วต้องมีหน้าที่ ถ้าไม่มีหน้าที่มันก็คือตายนี่ คน สัตว์ ต้นไม้มีหน้าที่อยู่ตลอดเวลา ถ้าเซลล์ทั้งหลายในร่างกายไม่ทำหน้าที่ก็ตายวูบเดียว ชีวิตมันอยู่ด้วยหน้าที่ มือ ตีน แขน ขา ตับ ไต ไส้ พุง มันต้องทำหน้าที่อยู่ตลอดเวลาล่ะมันจึงไม่ตาย ดังนั้นไอ้ที่ธรรมะคือหน้าที่นั้นน่ะคือคู่ชีวิต ธรรมะคือคู่ชีวิต พอออกไปจากชีวิต ชีวิตก็ตาย ถ้าจะมองให้ลึกกว่านั้นอีกก็ ธรรมะก็เป็นตัวชีวิตซะเองก็ได้ คู่ชีวิตที่ทำการสมรสกันอย่างหรูหราแพงที่สุดนั่นน่ะ แยกกันอยู่สักสามปีก็ไม่ตาย ส่วนคู่ชีวิตนี้คือธรรมะนี่ นาทีเดียวก็ตาย คุณไปคิดดู แยกกันอยู่นาทีเดียวมันก็ตาย เพราะมันเป็นคู่ชีวิตที่แท้จริงยิ่งกว่าหน้าที่ ระบบร่างกาย จิตใจที่มันมีอยู่พอไม่ทำหน้าที่มันก็คือตาย ดังนั้นขอให้ถือว่าธรรมะนั้นน่ะเป็นคู่ชีวิตสูงสุด หรือว่า เป็นตัวชีวิตซะเองก็ได้ นี่คำพูด ธรรมะคือหน้าที่ จำเป็นแก่สิ่งที่มีชีวิต ชีวิตต้องทำหน้าที่ ศาสนาทั้งหลายก็คือสอนเรื่องหน้าที่ให้ถูกต้อง แล้วก็มีชีวิตที่น่าพอใจดีที่สุด กระทั่งชีวิตนิรันดรนี่ เขามุ่งหมายกันทุกศาสนา ชีวิตนิรันดร มุ่งหมายกันทุกศาสนา แต่ความหมายก็ต่างกันอีกแหละ คำว่านิรันดรมันก็ต่างกันอีก
ทีนี้ก็มาถึงคำว่า “ชาติ” ชา ติ แปลว่า ความเกิดนั่น ความเกิดมีสองความหมาย เกิดจากท้องมารดา นี่ก็เรียกว่าเกิดทางกาย เกิดด้วยความคิดนี่คือเกิดทางใจ คือมีความรู้สึกสำคัญมั่นหมายว่า ฉัน ตัวฉัน ตัวเรา ตัวกู นี่ ถ้าเกิดความคิดอย่างนี้ขึ้นมาก็เรียกว่าเกิดทางใจ เกิดทางกายนั้นหมดปัญหาแล้ว เกิดมาจากท้องแม่ เกิดแล้วหมดปัญหาแล้ว แต่เกิดทางใจ กูเป็นอะไร กูเป็นอะไรนี้จะมีต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด ดังนั้นคำว่า ชาติ ชาติ ในความหมายที่สำคัญที่สุด ก็คือการเกิดทางใจ หลักธรรมในพุทธศาสนาเรียกว่า “อุปาทาน” ความหมายมั่นว่าเรา ว่าของเรา เกิดขึ้นเมื่อไรก็เรียกว่า ชาติ เกิดขึ้นเมื่อนั้น เกิดขึ้นทุกทีก็เป็นทุกข์ทุกทีเพราะว่ามันเป็นของหนัก นี้คำว่า “ชาติ” มีความหมายสองความหมาย คือทางกายและทางจิตใจ ทางกายไม่มีปัญหาอะไร เมื่อเกิดเสร็จแล้วหมดความหมายของคำว่า “ชาติ” ในทางกายแล้ว แต่ “ชาติ” ในความหมายทางจิตใจยังไม่สิ้นสุด ต้องแก้ไขให้หมดชาติ หรือว่าชาติที่ไม่มีความทุกข์ คำว่าเกิดใหม่ก็เหมือนกันแหละพวกหนึ่งเชื่อว่าเข้าโลงแล้วไปเกิดใหม่ ก็อย่างเดียวกันอีกเกิดทางกาย พวกหนึ่งถือว่าไม่ต้องเข้าโลง ไม่ต้องตาย เกิดใหม่ๆๆ อยู่วันละไม่รู้กี่ร้อยครั้ง กี่ร้อยชาติ หลายร้อยชนิด เกิดใหม่ๆ เกิดใหม่ ความคิด เปลี่ยนเป็นอย่างอื่น กูเป็นอย่างนั้น กูเป็นอย่างนี้ กูเป็นอย่างโน้น กูเป็นอันนี้ มันก็เรียกว่าเกิดทั้งนั้นน่ะ นี่คือเกิดใหม่ เกิดกันตรงนี้ ที่นี่ในโลกนี้ นี้เรียกว่าเกิดใหม่อย่างนี้ คำว่า “ชาติ” ก็ดี คำว่า “เกิดใหม่” ก็ดี มีสองความหมาย และไปเลือกเอาเองซิ ความหมายไหนเป็นปัญหา ความหมายไหนมัน มันทำความทุกข์ ก็ต้องศึกษาชาติในความหมายนั้น แล้วจัดการให้ถูกต้อง อย่าให้มันเป็นทุกข์ขึ้นมา
เอ้า, ทีนี้ก็มาถึงคำที่สำคัญ คำว่า “นรก” “สวรรค์” มีด้วยกันทุกศาสนา นั้นก็มีความหมายต่างกัน มีความหมายต่างกัน โดยเฉพาะที่เป็นภาษาคนแล้วมันก็จะเหมือนๆ กันทุกศาสนา เพราะเป็นความคิดที่ร่วมกันมาแต่ก่อน สวรรค์อยู่ใต้ดิน หรืออยู่ในที่ๆ ลำบากยากเข็ญ สวรรค์อยู่บนฟ้า หรืออยู่บนโลก บนสวรรค์ อย่างนี้จะเหมือนกันทุกศาสนาที่มีอยู่ก่อน เพราะมันเกิดความคิดอย่างนั้นขึ้นมา พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นมาในอินเดีย ซึ่งเขาเชื่อกันอยู่อย่างนั้น สอนกันอยู่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าไม่คัดค้านน่ะ ไม่คัดค้านล่ะ แล้วไม่บอกว่าผิดหรือโง่ นี่ขอให้ช่วยจำไว้เป็นหลักสักอย่างหนึ่งว่า พุทธศาสนาไม่กล่าวคำขัดแย้ง ไม่กล่าวคำขัดแย้ง ถ้ากล่าวคำขัดแย้งให้เกิดเรื่องแล้วไม่ใช่พุทธบริษัท ไม่กล่าวคำขัดแย้ง เอ้า, คุณว่าอย่างนั้นก็ได้ แต่ฉันว่าอย่างนี้ เสนออย่างนี้ นี่พระพุทธเจ้าก็ต้องรับคำพูดที่เขาเชื่อกันอยู่อย่างนั้นแหละว่านรกอย่างนั้น สวรรค์อย่างนั้น นรกอยู่ใต้ดิน สวรรค์อยู่บนฟ้า แต่ในที่สุดพระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า นรกก็ดี สวรรค์ก็ดี อยู่ที่ “อายตนะ” อายตนะในที่นี้ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หกอย่างนี้เรียกว่า “อายตนะ” นรกอยู่ที่อายตนะ สวรรค์อยู่ที่อายตนะ เมื่อมันทำผิดต่อกฏของความจริงทางอายตนะ นรกก็เกิดขึ้นที่อายตนะ เมื่อมันถูกต้องต่อกฎของความจริงทางอายตนะ สวรรค์มันก็เกิดขึ้นที่อายตนะ ดังนั้นตา กู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่เป็นนรกเมื่อเราทำผิด เป็นสวรรค์เมื่อเราทำถูก นี่เรียกว่า นรกสวรรค์ในความหมายใหม่ของพุทธศาสนา ต่างจากนรกสวรรค์ของพวกอื่นที่มีอยู่แต่ก่อน นรกอยู่ใต้ดิน สวรรค์อยู่บนฟ้า อยู่ที่ใหนก็ตามแต่ ก็เป็นบ้านเป็นเมือง เป็นนครอะไร แต่พระพุทธเจ้าตรัสว่ามันอยู่ที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ พอทำผิดเป็นนรก พอทำถูกเป็นสวรรค์ คำมันแปลกันอย่างนี้ขอให้รู้ไว้ด้วย ถ้าว่าคุณต้องการจะศึกษาพุทธศาสนา ถ้าคุณต้องการจะศึกษาพุทธศาสนา นรกก็มีความหมายเจ็บปวดทนทุกข์ทรมาน สวรรค์ก็มีความสุข สำราญ นั่นนะ แต่ว่ามันอยู่ที่ไหนกันแน่ อยู่ที่ไหนกันโดยแท้จริง และอยู่ที่ไหนที่สามารถจัดการได้ ควบคุมได้ ที่สามารถเข้าไปจัดการได้ เช่นว่าอยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ศึกษาให้ดี ควบคุม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ให้ถูกต้อง ไม่มีความผิดพลาดอะไร มันก็มีนะ มันมีสวรรค์อยู่เรื่อย มันก็ไม่มีนรก นรก สวรรค์ เป็นอย่างนี้
ทีนี้คำว่า “โลก” โลก โลกนรก โลกสวรรค์ โลกมนุษย์ โลกพรหม โลกอะไร หมายถึงจิตใจ โลกทางจิตใจ มีการประพฤติกระทำอย่างเทวดา ก็เกิดเทวโลกขึ้นในจิตใจ มีการประพฤติกระทำอย่างพรหม ก็เกิดพรหมโลกขึ้นในจิตใจ มีการประพฤติกระทำอย่างสัตว์เดรัจฉาน ก็เกิดโลกสัตว์เดรัจฉานขึ้นมาในจิตใจ จะเป็นโลกของผี ของอะไรก็ตามแหละ มันมีได้ในจิตใจที่ทำให้มันเป็นอย่างนั้น ทำผิด ร้อน ร้อนระอุก็เป็นโลกนรกเกิดขึ้นในจิตใจ หิวๆ อย่างโง่เขลา หิวไม่มีที่สิ้นสุด ก็เป็นโลกของเปรต เกิดขึ้นในจิตใจ โง่ๆๆ โง่อย่างไม่น่าเชื่อก็เป็นโลกของสัตว์เดรัจฉานเกิดขึ้นในจิตใจ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า คนนั้นน่ะกลายเป็นสัตว์เดรัจฉานไปแล้ว ความขี้ขลาด ขี้ขลาดเหลือประมาณเกิดขึ้นในจิตใจ ก็เป็นโลกของอสุรกาย เกิดขึ้นในจิตใจ โลกนี่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า เราบัญญัติไว้ในร่างกายที่ยาววาหนึ่ง ร่างกายนี่ยาวประมาณวาหนึ่ง ในนั้นนะมีโลก มีเหตุให้เกิดโลก มีการดับไปแห่งโลกเก่า มีการเกิดมาแห่งโลกใหม่ มีคน มีวิธีการที่จะดับโลกอยู่ในร่างกายที่ยาวประมาณวาหนึ่ง นี่คือโลกในความหมายทางพุทธศาสนา ไอ้แผ่นดินโลก ไอ้โลกอย่างนี้ก็เป็นเรื่องของธรรมชาติไป แต่โลกที่ต้องรู้จักและจัดการให้ดี ก็คือโลกทางจิตใจ ในจิตใจ คำว่าเกิดขึ้นในโลก ก็จึงมีทั้งสองอย่างคือเกิดขึ้นทางกาย เกิดขึ้นทางจิตใจ เกิดขึ้นทางกายคือเกิดจากท้องแม่ เกิดขึ้นทางจิตใจก็คือไม่ต้อง ไม่เกี่ยวกับท้องแม่ เกิดขึ้นความคิด ความรู้ ความอะไรที่มันแจ่มแจ้งขึ้นมาในใจ ท่านทั้งหลายคงจะเคยได้ยินคำว่า “โอปปาติกะ” คือเขามาใช้กันผิดๆ ในกรุงเทพ โอปปาติกะ กลายเป็นผี เป็นอะไรก็ไม่รู้ ไม่เห็นตัว เอามาได้ เอามาขับรถก็ได้ เอามาทำอะไรก็ได้ โอปปาติกะ นี่คือความเข้าใจผิด โอปปาติกะแปลว่าการเกิดขึ้นทางจิตใจ มีความโง่ก็เกิดเป็นคนโง่โดยทางจิตใจ มีความฉลาด เกิดเป็นความฉลาดทางจิตใจ เกิดทางร่างกาย ชาติทางร่างกาย หนหนึ่งแล้ว ยังต้องเกิดทางจิตใจ พระพุทธเจ้าเองก็มีการเกิดจากท้องมารดาทางร่างกายครั้งหนึ่งแล้ว ต่อมาเกิดทางจิตใจเป็นพระพุทธเจ้าเมื่อตรัสรู้นี่เรียกว่าเกิดทางจิตใจ คำนี้เขาเปลี่ยน ไม่เรียกว่าชาติ แต่เรียกว่า อุปัตติ หรืออุบัติ ถ้าคุณสังเกตุดูให้ดีคุณจะพบข้อความว่าพระพุทธเจ้าได้อุบัติขึ้นมาในโลกแล้ว ไม่ได้ใช้คำว่าชาติ การอุบัติขึ้นมาถ้าโดยทางจิตใจอย่างนี้ คือโอปปาติกะ มีความหมายจำกัดว่าไม่ต้องอาศัยบิดามารดา เกิดมาก็โตเต็มที่เลย เกิดมาโตเต็มอัตราเลยนั่นแหละ โอปปาติกะ ไม่ต้องอาศัยบิดามารดา นี่คือการเกิดทางจิตใจ ดังนั้นเรามีการเกิดทางจิตใจอยู่เสมอแล้วๆ เล่าๆ เพราะโง่ พระพุทธเจ้ามีการเกิดทางจิตใจเป็นพระพุทธเจ้าครั้งเดียวพอ หยุด หยุดเกิดแล้ว โอปปาติกะ หมายความว่าอย่างนี้ ถ้ายังโง่อยู่ก็ต้องเกิดแล้ว เกิดอีก เกิดแล้วเกิดอีก โอปปาติกะคือการเกิดทางจิตใจ ไม่ใช่ผีสางที่ไหนลอยเคว้งคว้างอยู่ในอากาศ ติดต่อได้ เรียกมาใช้ก็ได้อย่างนั้น คำอธิบายนี้ไม่ใช่พุทธศาสนา พุทธศาสนาโอปปาติกะหมายความว่ามันเกิดทางจิตใจ
เอ้า, มาถึงคำสำคัญที่สุด คือคำว่า “ตัวตน” ตัวตน ตัวตน นั่นน่ะ คุณศึกษาให้ดี จำให้ดี เป็นภาษาบาลีแปลว่า “อัตตา” อัตตา ตัวตน พวกหนึ่งเขาสอนสุดเหวี่ยงไปทางนี้ เรียกว่ามีอัตตา มีอัตตา เป็นอัตตา มีอัตตาเต็มที่ นี่พวกนี้มีอัตตา อีกพวกหนึ่งตรงกันข้ามไปทางฝ่ายนี้ ถือว่าไม่มีๆๆ โดยประการทั้งปวง ไม่มีอัตตาโดยประการทั้งปวง พวกนี้เรียกว่า “นิรัตตา” เป็น nihilism ไม่มีอะไร ไม่มีอัตตา แต่ว่าพุทธศาสนาอยู่ตรงกลางๆ มีอนัตตาๆ คือ อัตตาซึ่งมิใช่อัตตา มีแต่อัตตาสมมุติที่ไม่ควรถือว่าเป็นอัตตาโดยแท้จริง มีอัตตาตามความรู้สึกของสัญชาตญาณเท่านั้นแหละ ไม่ใช่อัตตาอันแท้จริง นี้เรียกว่า “อนัตตา” ซ้ายสุดมีอัตตา ขวาสุดมีนิรัตตา คือไม่มีอัตตาเลย ตรงกลางมีอนัตตา มิใช่อัตตา มีแต่สิ่งที่มิใช่อัตตา มิใช่อัตตา เรียกว่าอนัตตา เชื่อว่ายังเข้าใจคำนี้ผิดๆ กันอยู่ทั้งนั้น พอว่าอนัตตาก็ไม่มีอะไรเลย มันๆ กลายเป็นฝ่ายโน้นไป บ้าบอเป็นนิรัตตาไปเลย มีอัตตาซึ่งมิใช่อัตตา มีตัวตนซึ่งมิใช่ตัวตน อย่ามีตัวกูซึ่งเป็นตัวกู ให้มีเป็นของธรรมชาติ สิ่งทั้งปวงไม่ควรจะยึดถือว่าเป็นตัวตนของตนน่ะ ให้มันเป็นของธรรมชาติ เป็นของตัวมันเอง ของธรรมชาติ แต่แล้วมันก็มาเป็นตัวเรานี่ เป็นร่างกาย เป็นจิตใจนี่ เป็นอัตตาซึ่งมิใช่อัตตา เป็นของธรรมชาติ ร่างกายก็เกิดมาตามธรรมชาติ จิตใจเกิดมาตามธรรมชาติ ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องๆๆ อย่าให้เกิดเป็นความทุกข์ขึ้นมา ถ้าเป็นพุทธศาสนาต้องถือลัทธิอนัตตา ตัวตนซึ่งมิใช่ตัวตน อย่าไปถือว่ามีอัตตาๆ โดยส่วนเดียว อย่าไปถือว่านิรัตตา ไม่มีอัตตาตัวตนอะไรเลย นี่ก็เป็นความหมายของคำว่าอยู่ตรงกลางๆ ไม่สุดซ้าย สุดขวา มีอัตตาซึ่งมิใช่อัตตา มีแต่ร่างกายและจิตใจเปลี่ยนไปตามเหตุปัจจัย ตามธรรมชาติ นั้นมันจึงเป็นอัตตาในสมมุติในความรู้สึก แต่ไม่ใช่เป็นอัตตาที่แท้จริง
ก็มาถึงคำว่า “มัชฌิมา” มัชฌิมา ซึ่งมันก็คล้าย หรือมัน มันเนื่องกันมา เราเป็นอนัตตานะอยู่ตรงกลาง มัชฌิมาแปลว่ามีในท่ามกลาง ไม่สุดซ้ายสุดขวา ถ้าหมายถึงกิริยา ก็มีคำว่า มัธยัสถ์ มัธยะ สถะ มัธยัสถ์ อันนี้หมายถึงกิริยาแปลว่าอยู่ หรือตั้งอยู่ที่ตรงกลาง มัชฌิมา เป็นภาวะ เป็นนาม เป็นภาวะ หมายความว่า มีอยู่ตรงกลาง กลางคือไม่สุดซ้าย สุดขวา ไม่สุดโต่ง ในทางใด นี่เรียกว่ากลาง แล้วมีความหมายมหาศาล มีความหมายมหาศาล กลาง ไม่มาก ไม่น้อย ไม่หย่อน ไม่ตึง ไม่เปียก ไม่แห้ง ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ เป็นอยู่ตรงกลางในลักษณะกลาง ถ้าพูดให้ลึกขึ้นไปอีกกว่านั้นก็ว่ามี แต่กระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท อาศัยการเกิดขึ้นเป็นไป อาศัยการเกิดขึ้นเป็นไป จนๆ บอกไม่ได้ว่าเป็นอะไรโดยส่วนเดียว คือไม่พูดว่ามีหรือไม่มีโดยส่วนเดียว ไม่พูดว่านั้น ไม่พูดว่านี้ ไม่พูดว่าเอง ไม่พูดว่าอื่น มีแต่กระแสแห่งปฏิจจสมุปบาทที่ปรุงแต่งกันไปเท่านั้น อย่างนี้เรียกว่ากลาง โดยหลักแห่งปฏิจจสมุปบาท เมื่อกลางอย่างนี้มันก็ไม่มีตัวตน มันก็ไม่ใช่ตัวตน มันก็ว่างๆ โดยประการทั้งปวง ดังนั้นกลางที่แท้จริงก็คือความว่าง ความว่างนั้นมันเป็นซ้ายไม่ได้ เป็นขวาไม่ได้ เป็นบนไม่ได้ เป็นล่างไม่ได้ มันเป็นอะไรไม่ได้ทั้งนั้นแหละ มันคล้ายกับเป็นจุดศูนย์กลาง ฉะนั้นกลางสุดท้ายก็คือความว่าง กลางธรรมดาก็ตามสมมุติบัญญัติอยู่ตรงกลาง แล้วก็กลางโดยปฏิจจสมุปบาท คือไม่เป็นนั่นเป็นนี่ ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ มันก็กลางคือว่าง พุทธศาสนามีหัวใจเป็นมัชฌิมาปฏิปทา คืออยู่ตรงกลาง ไม่สุดโต่งข้างโน้น ไม่สุดโต่งข้างนี้ ไม่สุดโต่งว่ามี ว่าไม่มี ไม่สุดโต่งว่าได้ว่าเสียว่าแพ้ว่าชนะ ว่ามันอยู่ตรงกลาง มีอยู่ตรงกลางมันก็สบาย สบายกว่าจะไปติดนั่นอยู่ ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง มัชฌิมาปฏิปทาคือปฏิบัติถูกต้อง ถูกต้องในที่นี้อยู่ตรงกลาง ไปเรียนเอาเองมัชฌิมาแปด มัชฌิมาปฏิปทาแปดองค์ มันอยู่ตรงกลาง มันไม่เอียงไปทางกาม และก็ไม่เอียงไปทางเป็นศัตรูกับกาม ไม่เสียเวลาไปหลงในกาม ไม่เสียเวลาไปทะเลาะกับกาม มันอยู่ตรงกลาง มันอยู่ตรงกลาง
ทีนี้ก็มาถึงคำว่า “เหนือโลก” เป็นคำที่มีปัญหามากที่สุด ศาสนาไหนมันก็ต้องการใช้คำนี้ว่าเหนือโลก เหนือโลก หลุดพ้น เหนือโลก แต่เขาก็ไม่รู้ว่าเหนือโลกกันที่ไหน ก็เดาเอาเองว่าเหนือโลกนี้ขึ้นไป เหนือโลกนี้ขึ้นไป เหนือโลกนี้ขึ้นไป เรียกว่าเหนือโลก แต่ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน และไม่รู้ว่าอยู่ทำอะไร เพื่อประโยชน์อะไร นี้ขอให้เข้าใจคำว่าเหนือโลก เหนือโลก คือโลกุตระในพระพุทธศาสนานั้น เหนือโลกคือเหนือปัญหาในโลก โลกนี้มีปัญหาทนทุกข์ทรมานอย่างโลกๆ กี่ร้อยกี่พันอย่าง อยู่เหนือปัญหาเหล่านั้น นั่นแหละคืออยู่เหนือโลก ผู้ที่ชอบโลกุตระ หรือโลกอุดร อย่าบ้าบอว่ามันอยู่โลกที่อื่น โลกที่ไหนก็ไม่รู้ ให้รู้มันอยู่ได้พบได้ในร่างกายนี้แหละ ภาวะที่เหนือโลกคือเหนือปัญหาทุกชนิดของโลก ในโลก ประจำโลก นี้จะไปอยู่เหนือโลก เราอยู่ในโลกนี้ แต่อยู่เหนือปัญหาของโลกโดยประการทั้งปวง นี่คือโลกุตระในพุทธศาสนา ในศาสนาอื่นจะอธิบายอย่างไรก็ตามเถอะ แต่ในพุทธศาสนาก็อยู่เหนือปัญหาของโลก ใช้วิทยาศาสตร์ ใช้ภาษาวิทยาศาสตร์กันหน่อย เขาว่าเหนือบวก เหนือลบ เหนือความเป็นบวก เหนือความเป็นลบ มันก็ไม่เกิดรู้สึกยินดียินร้าย มันก็ไม่มีปัญหา มันเหนือบวก เหนือลบ มันก็ไม่มีปัญหา ขอให้เข้าใจกันให้ดีๆ ว่าไม่ต้องฆ่าตัวตายไปจากโลก แล้วไม่ต้องไปอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ ยังคงอยู่ในโลกนี้ ยังกินข้าวอาบน้ำ อยู่ในโลกนี้ แต่จิตใจอยู่เหนือปัญหาในโลกโดยประการทั้งปวง พูดอย่างสมมุติๆ ก็เรียกว่าอยู่กับพระเจ้า เพราะอยู่เหนือปัญหาในโลก ของโลกโดยประการทั้งปวง ภาวะอย่างนี้เรียกว่าอยู่กับพระเจ้า หรือว่าอยู่กับนิพพาน ก็แล้วแต่ว่าคุณมันถือศาสนาไหน ใช้คำบัญญัติว่าอะไร พุทธศาสนาก็มุ่งให้อยู่เหนือโลก คือเหนือปัญหาของโลก ไม่ต้องหัวเราะ ไม่ต้องร้องไห้ ถ้ายังต้องหัวเราะ หรือยังต้องร้องไห้อยู่นั่นน่ะ คือมันอยู่ในโลก หรืออยู่ภายใต้โลก มันยังหัวเราะร้องไห้อยู่ ยินดียินร้ายอยู่ แต่ถ้าว่ามันไม่มีความรู้สึกอย่างนี้ นี่เรียกว่าอยู่เหนือโลก สบายหรือไม่สบาย ลองคิดดู อยู่เหนืออิทธิพลของความเป็นบวกและความเป็นลบ ไม่มี positivism negativism สำหรับจิตใจชนิดนี้มันกวาดทิ้งไปไหนซะหมดก็ไม่รู้ นี่เรียกว่าอยู่เหนือโลก ในโลกเต็มไปด้วยความเป็นบวก เต็มไปด้วยความเป็นลบ กวาดทิ้งไปหมด นั้นน่ะอยู่เหนือโลก ทั้งที่อยู่ในโลกนี้ กินอาหารในโลกนี้ หลับนอนในโลกนี้ อะไรๆ ก็ในโลกนี้ แต่ว่าจิตใจมันอยู่เหนือโลก ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ ไม่ร้องไห้ ไม่หัวเราะ คนโง่มันก็ชอบดีใจ ชอบหัวเราะ ไม่ชอบร้องไห้หรือเสียใจ นั่นมันเป็นเรื่องของคนโง่ คนฉลาดมองเห็นว่าไอ้หัวเราะก็ยุ่ง ดีใจก็ยุ่ง ยุ่งไปตามแบบดีใจ ดีใจมากเกินไปก็กินข้าวไม่ลง นอนไม่หลับเหมือนกันไอ้ดีใจ ดังนั้นอย่าไปดีใจ อย่าไปเสียใจ อย่าไปหัวเราะ อย่าไปร้องไห้ ให้มันว่างไป เหนือดีใจ เหนือเสียใจเวลานั้นแหละ ทุกคนไปสังเกตุเถอะเป็นเวลาที่สบายที่สุด ถ้าเวลาไหนเรารู้สึกสบายที่สุด โดยไม่รู้จากอะไรก็ดูเอา เวลานั้นมันไม่ดีใจและไม่เสียใจ ไม่มีความหมายแห่งดีใจและเสียใจ นอนก็หลับสนิท กินข้าวก็อร่อย ก็เป็นความว่าง เป็นความพักผ่อนนิรันดรเลยนี่ ความไม่ดีใจ ความไม่เสียใจ เรียกว่ามันอยู่เหนือความหมายของโลก คือบวกหรือลบ พุทธศาสนาต้องการให้พัฒนาจิตใจ พัฒนาขึ้นไปจนถึงอยู่ในระดับนี้ นี้เรียกว่าธรรมะสูงสุดในพุทธศาสนา คุณจะเล่าเรียนดี มีงานดี มีเงินเดือนสูงเป็นเดือนล้านๆ คุณก็ยังไม่ออกจากโลกยังต้องหัวเราะ ยังต้องร้องไห้ ยังต้องดีใจ ยังต้องเสียใจ ยังต้องคับแค้นใจ มันไม่อยู่เหนือโลก ดังนั้นสนใจเรื่องเหนือโลกชนิดนี้ กันบ้าง
เอ้า, ทีนี้มันก็ทำให้เกี่ยวข้องมาถึงคำ คำพูดที่เราพูดกันอยู่เป็นประจำที่มันหลอกลวงที่สุด ก็คือคำว่า “ดีหรือ ชั่ว” “บุญหรือบาป” “สุขหรือทุกข์” “บวกหรือลบ” ก็สุดแท้ ที่มันเป็นคู่ๆ คู่ๆ แม้แต่จะเอาว่าผิด ว่าถูกกันอย่างไร ก็ยังไม่สำเร็จ มันเอาความรู้สึกของตัวเป็นเกณฑ์ กูได้ตามพอใจกู ก็เรียกว่าถูก กูไม่ได้ตามพอใจกูก็เรียกว่าผิดอย่างนี้คนบ้ามันว่าเอาเอง ถ้าว่าถูกหรือดี มันก็ต้องหมายความว่าไม่มีโทษ มีแต่ประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ถ้ามันว่าผิดหรือว่าชั่ว มันก็เป็นโทษแก่ทุกฝ่าย ขอให้ตัดสินใจอย่างนี้ ให้ตัดสินอย่างนี้ผิดหรือถูก ดีหรือชั่ว มันอยู่ที่อย่างนี้ ไม่ใช่ที่เขาสมมุติกันในโลก ในโลกนี้ปุถุชนมันก็สมมุติว่าได้อย่างกูต้องการ ก็ถูกก็ดี ไม่ได้ก็ชั่ว อย่างนั้นมันก็เรื่องของคนไม่รู้ ถ้าเรื่องของศาสนา บริสุทธิ์ ผิดก็คือเป็นโทษแก่ทุกฝ่าย ถูกก็คือเป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่าย แต่ว่ามันยังมีหน้าที่ที่จะต้องเลื่อนขึ้นไปเหนือนั้นเหนือถูกเหนือผิด เหนือดี เหนือชั่ว อันนั้นอีกทีหนึ่ง นั้นเรียกว่าไม่ดี ไม่ชั่ว ไม่บุญ ไม่บาป ไม่บวก ไม่ลบ ไม่อะไรทุกๆอย่าง อันนั้นแหละหมดปัญหา หรือสูงสุด สูงสุดจนไม่ ไม่ ไม่อาจจะเรียกว่าดี ว่าชั่ว ว่าบุญ ว่าบาป ว่าสุข ว่าทุกข์ ไม่อาจจะเรียกอย่างนั้น ก็เรียกว่าไม่ได้บัญญัติให้เรียกว่าอะไร ทุกคนเคยได้ยินคำว่า “อัพยากฤต” “อัพยากตา” ถ้าไปวัดในงานศพจะได้ยินคำว่า กุศลาธรรมา อกุศลาธรรมา อัพยากตาธรรมา นี่เขาบอกว่ามีสิ่งดีมีสิ่งชั่ว แล้วก็มีสิ่งที่บัญญัติไม่ได้ว่าดีหรือชั่ว นี่เรียกว่าอัพยากฤต เพราะว่ามันเหนือดีเหนือชั่ว เหนือการบัญญัติ เหนือการกำหนดกฎเกณฑ์ นี่เรื่องของความผิด ถูก ดี ชั่ว บุญ บาป มันมีอยู่อย่างนี้ ทีนี้ก็มองดูในด้านชั่ว ด้านที่สมมุติเรียกกันว่าชั่ว มันต้องชั่วที่กิเลสๆ คำว่า “กิเลส” แปลว่าสกปรก ความรู้สึกที่สกปรกที่เกิดขึ้นในใจนั้นเรียกว่ากิเลส ความรักก็สกปรก ความโกรธก็สกปรก ความเกลียดก็สกปรก ความกลัวก็สกปรก ความตื่นเต้นก็สกปรก ความอาลัยอาวรณ์ก็สกปรก ความวิตกกังวลก็สกปรก ความอิจฉาริษยาก็สกปรก ความหวงก็สกปรก ความหึงก็สกปรก รู้จักสิ่งสกปรกหรือกิเลสที่มันมีอยู่ในใจกันเสียอย่างนี้ นี่เรียกว่าตัวกิเลส หรือตัวผลของกิเลส แต่มาสรุปให้มันจำกันง่ายๆ ง่ายๆ ว่าโลภ โกรธ หลง สามชื่อเท่านั้น กิเลสจะแจกกันกี่ร้อยกี่พันอย่างก็ได้ แต่แล้วมันก็มีเพียงสามชื่อว่า โลภ โกรธ หลง กิเลสประเภทโลภ ก็คือประเภทบวก กิเลสประเภทนี้มันจะเอา เอาเข้ามากอดรัดยึดถือไว้ นี่เรียกว่ากิเลสประเภทบวกคือโลภะก็เรียก ราคะก็เรียก แม่บทมันชื่ออย่างนี้ กิเลสประเภทหนึ่งตรงกันข้าม เป็นกิเลสประเภทลบ มันไม่ต้องการ มันอยากจะทำลาย มันอยากจะฆ่าเสีย เรียกว่าโทสะบ้าง โกธะบ้าง ทีนี้กิเลสประเภทหนึ่งมันโง่จนไม่รู้ว่าเป็นบวกหรือเป็นลบ เรียกว่าโมหะ กิเลสนี้ก็เต็มไปด้วยความสงสัย วนเวียนอยู่รอบๆ สิ่งที่ตนสงสัย สรุปความได้ง่ายๆว่า กิเลสประเภทที่หนึ่ง ดึงเข้ามาหาตัว กิเลสประเภทที่สอง ผลักออกไปจากตัว กิเลสประเภทที่สามวิ่งวนอยู่รอบๆ ไม่รู้จะไปทางไหน นี่กิเลสๆ ถ้าไม่รู้จักกิเลสก็นับว่า เหลือ เหลือประมาณแล้ว เหลือเกินแล้ว สอนไม่ได้ล่ะ เป็นคนที่สอนไม่ได้ ถ้าไม่รู้จักสิ่งที่เรียกว่ากิเลส กิเลสเมื่อเกิดขึ้นแล้วมันสร้างความเคยชินแห่งกิเลสเรียกว่า “อนุสัย” กิเลสรักเกิดขึ้นมาทีหนึ่งก็สร้างเคยชินที่จะรักให้มากให้ยิ่งขึ้นไป กิเลสโกรธก็เหมือนกันเกิดขึ้นแล้วก็สร้างความเคยชิน หรือความง่ายดายที่จะโกรธให้ยิ่งขึ้นไป ตลอดไป ไปเก็บไว้เป็นเชื้อของความเคยชินอยู่ในจิตใจ คือความพร้อมที่จะเกิดกิเลส พอมากเข้าๆ มันก็จะดันออกมา เรียกว่าไหลออกนี่คือ “อาสวะ” อาสวะ เราอัดความเคยชินที่จะโลภ ที่จะโกรธ ที่จะหลง ไว้มากในใจ มันก็จะดันออกมาเมื่อมีโอกาส หรือได้อารมณ์ ไม่ได้โอกาส ไม่มีอารมณ์ มันออกมาเป็นนิวรณ์เฉยๆ เป็นนิวรณ์ มีความรู้สึกเป็นนิวรณ์อย่างนี้ นี่ระบบของกิเลสเป็นอย่างนี้ เกิดกิเลสแล้วเกิดความเคยชินของกิเลสเรียกว่าอนุสัย เกิดการดันออกเรียกว่าอาสวะ ได้อารมณ์เมื่อใดก็โผล่งออกมา เป็นกิเลส ไม่ได้อารมณ์ก็เป็นไอระเหยออกมาเป็นนิวรณ์ กามฉันทะ พยาปาทะ ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉา นี่คือระบบของกิเลส เป็นธรรมชาติ เป็นธรรมดาอย่างนี้ ถ้าไม่รู้จักมันก็ไม่มีการชำระชะล้าง ไม่มีการป้องกันแก้ไข มันก็เต็มไปด้วยกิเลส อยู่ในรูปของความเห็นแก่ตัว เป็นหัวขั้ว เป็นที่ประมวล มันก็ออกมาเป็นความโลภ ความโกรธ ความหลง ขอให้รู้จักกิเลส คือผลของความเห็นแก่ตัว การศึกษาในโลกนี้ยังบ้าบอที่สุด ปริญญาโท ปริญญาเอก ให้ยาวเป็นหาง ยาวตั้งกิโลเมตร มันก็ยังบ้าบอที่สุด คือมันไม่ต้องการจะกำจัดกิเลส มันต้องการแต่ให้ฉลาด ฉลาด ฉลาด ฉลาด ไม่ควบคุมความฉลาด มันก็ใช้ความฉลาดนั่นแหละเห็นแก่ตัว ยิ่งฉลาดยิ่งเห็นแก่ตัวลึก ยิ่งสร้างปัญหามาก เดี๋ยวนี้โลกกำลังจะวินาศเพราะความเห็นแก่ตัว ที่เกิดมาจากความฉลาดอย่างมหาศาลของการศึกษานี่ การศึกษาอย่างนี้ไม่เคยมีแต่กาลก่อน เพิ่งจะมียุคนี้ การศึกษาให้ฉลาดอย่างเดียวโดยไม่ควบคุมความฉลาด เอาปริญญาของพระพุทธเจ้ากันเถิด ปริญญากระดาษบ้าๆ บอๆ ของมหาวิทยาลัยนี่มันแก้ปัญหาอะไรในโลกไม่ได้ ปริญญาของพระพุทธเจ้ามีสามอย่าง ราคะขโย สิ้นราคะ โทสะขโย สิ้นโทสะ โมหะขโย สิ้นโมหะ นี่คือปริญญาสามที่สุดทั้งหลายนี้ นี่คือปริญญาสาม ถ้ามีปริญญาของพระพุทธเจ้าอย่างนี้มีแต่สันติภาพ ทั้งส่วนบุคคลและสังคม ไอ้ปริญญาเศษกระดาษนั้นมักจะส่งเสริมความเห็นแก่ตัว เอาไปใช้เพื่อหาประโยชน์ เพื่อส่งเสริมความเห็นแก่ตัว อย่างไปบูชามันเลย มันเป็นเรื่องอาชีพ เป็นเรื่องอาชีพของคนที่ยังหลงอยู่ในวัตถุ ปริญญาแปลว่า รอบรู้ รอบรู้อะไร รอบรู้การกำจัดความทุกข์ เดี๋ยวนี้มันรอบรู้ในความสร้างความเห็นแก่ตัวนี่ ปริญญาในโลกนี้กี่ชนิดๆ มันเพื่อความเห็นแก่ตัว เพื่อสร้างความเห็นแก่ตัว ปริญญาอย่างนี้ช่วยโลกให้มีสันติภาพไม่ได้ แต่คนทั้งโลกกำลังๆ บ้าปริญญาอย่างนี้กันทั้งโลก จะเป็นมหาวิทยาลัยหรือบรมมหาวิทยาลัยก็ตามใจ มันบ้า ปริญญาอย่างนี้กันทั้งนั้น มันช่วยโลกให้มีความสงบไม่ได้ คุณจะเป็นสมาชิกหรือเป็นลูกสมุนของระบบนี้ก็ได้ ตามพอใจไม่มีใครว่า แต่ถ้าต้องการความสงบมาศึกษาธรรมะในพระพุทธศาสนานี้ ขอให้มุ่งหมายให้ได้รับปริญญาของพระพุทธเจ้า ขโยปริญญา ปริญญาสามอย่าง สิ้นราคะ สิ้นโทสะ สิ้นโมหะ แล้วรู้ๆๆๆ ด้วยจิตใจของตนเองว่ามันสิ้นกิเลสแล้ว รู้ๆๆ ด้วยจิตใจของตนเองว่าสิ้นทุกข์แล้ว รู้ๆๆ ด้วยตนเองว่าวิมุตติ หลุดพ้นอยู่เหนือปัญหา โดยประการทั้งปวงแล้วนี่ นี่คือปริญญาของพระพุทธเจ้า นี่ขอให้เราพยายามทำความเข้าใจแก่กันและกันโดยเฉพาะระหว่างศาสนา มาช่วยกันปรับปรุงให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง มุ่งหมายกำจัดความเห็นแก่ตัว ขอให้การศึกษาในโลกทั้งโลกนี้มันเป็นไปเพื่อกำจัดความเห็นแก่ตัวโดยมีพระศาสนาทุกศาสนาเป็นเครื่องมือ วิธีการกำจัดความเห็นแก่ตัวมีอยู่แล้วในทุกศาสนา มันเป็นอย่างนั้น ศาสนาไม่ควรจะมาเห็นแก่ตัวทะเลาะกันเสียเอง เดี๋ยวนี้ศาสนายังยิ้มกันไม่ได้ วันหนึ่งพระคาร์ดินัลจากวาติกันมาที่นี่องค์หนึ่ง อาตมาบอกนี่ศาสนายังยิ้มกันไม่ได้ ท่านว่าจริงๆ หัวเราะพอใจ ควรจะทำให้มันศาสนาทั้งหลายมันยิ้มกันได้ มีธรรมะมีการศึกษาที่ถูกต้อง ขอให้มุ่งหมายกำจัดความเห็นแก่ตัว จะเรียนอย่างโลกหรืออย่างธรรมะ เรียนอย่างเบื้องต้น ท่ามกลาง เบื้องปลายอะไรก็ขอให้มันกำจัดความเห็นแก่ตัว ไม่เอาแล้วพูดมามากแล้วจะจบแล้ว
ขอสรุปความว่า ชีวิตนี้เป็นสิ่งที่พัฒนาได้ ชีวิตนี้ธรรมชาติสร้างให้มาในลักษณะที่พัฒนาได้ พัฒนาจากสัญชาตญาณแห่งความมีตัวหรือเห็นแก่ตัว มาเป็น ภาวิตญาณ ไม่เห็นแก่ตัว มีสันติภาพเป็นศาสนาของพระศรีอริยเมตไตรย แล้วแต่จะเรียกชื่ออย่างไรตามหลักเกณฑ์แห่งศาสนานั้นๆ เป็นศาสนาชีวิตที่เต็มไปด้วยมิตรภาพ ไม่มีเป็นฝ่าย ไม่มีฝ่ายนั้น ไม่มีฝ่ายนี้ ไม่มีฝ่ายลูกจ้าง ไม่มีฝ่ายนายจ้าง ไม่มีฝ่ายคอมมิวนิสต์ ไม่มีฝ่ายนายทุน มันเป็นฝ่ายเดียวหมดคือ เพื่อน เพื่อน เพื่อน เพื่อน เกิดแก่เจ็บตายฝ่ายเดียว แล้วมันจะทะเลาะกับใครขอให้คิดดูซิ ถ้ามันมีแต่ฝ่ายเดียวคือเพื่อนกันทั้งนั้น ไม่มีทางทะเลาะกับใคร นี่คือจุดมุ่งหมายที่ทุกศาสนามุ่งหมายไว้ว่ามันจะถึงยุคหนึ่งที่มีศาสนาศรีอริยเมตไตรย จะเรียกเมสซีอาร์ หรือเรียกอะไรก็แล้วแต่จะใช้ภาษาไหน แต่มันเป็นศาสนาแห่งมิตรภาพ มีมนุษย์เพียงจำพวกเดียว หรือเรียกว่าทั้งโลกมีมนุษย์คนเดียว มีเป็นอันเดียวกันไม่แบ่งแยก ก็ไม่มีทางที่จะวิวาท ทะเลาะเบาะแว้งกัน มีแต่สุข มีแต่สันติภาพ นี่ขอให้ยึด ให้มองเห็นแล้วเชื่อ เห็นด้วยตนเองว่า ชีวิตนี้ธรรมชาติให้มาในลักษณะที่พัฒนาได้ และก็ต้องพัฒนา พัฒนาโดยสิ่งที่เรียกว่าธรรมะ ธรรมะ ธรรมะ หรือจะเรียกว่าศาสนา ก็สุดแท้ที่ถูกต้องยิ่งๆ ขึ้นไป ถูกต้องตามความประสงค์ของธรรมชาติที่ให้มาเพื่อพัฒนาให้ถึงที่สุด แต่คนบ้าๆ มันไม่ใช้อย่างนั้น คนบ้าๆ มันใช้ผิดๆ มันไม่ได้ใช้ชีวิตเพื่อการพัฒนา มันใช้เพื่อเป็นทาสของกิเลสจมลงไปในกองทุกข์ มันไม่พัฒนา ไอ้พวกคนบ้ามันใช้อย่างนี้ เราอย่าไปเข้าฝูงกับมันเลย ยังมีความรู้ที่ถูกต้องเป็นสัตบุรุษ เป็นสุภาพบุรุษ ใช้ธรรมะพัฒนาชีวิตให้ได้รับผลที่สูงสุดที่ชีวิตจะได้รับ จึงขอแสดงความยินดีอีกครั้งหนึ่งในการมาของท่านทั้งหลาย สู่สถานที่นี้ในลักษณะที่แสวงหาธรรมะเพื่อพัฒนาชีวิต และเพื่อประกอบกิจการงานในหน้าที่ให้ประกอบไปด้วยความถูกต้องโดยส่วนเดียว และขอให้ได้รับความสุขสวัสดีในชีวิตอยู่ตลอดทุกทิพาราตรีกาลเทอญ.