แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
นักเรียนนักศึกษา ครูบาอาจารย์ ผู้สนใจในธรรมทั้งหลาย ขอแสดงความยินดีในการมาที่นี่ของท่านทั้งหลาย เพื่อประโยชน์แก่การมาศึกษาธรรมะ แต่ก่อนอื่นทั้งหมดอยากจะพูดถึงเรื่องนั่งกลางดินกันก่อน เข้าใจว่าน้อยครั้งที่จะเคยนั่งกลางดินในลักษณะอย่างนี้ ขอทำความเข้าใจเรื่องนี้ซึ่งมันก็เป็นการศึกษาด้วยเหมือนกัน สำหรับแผ่นดินและโคนไม้เป็นที่มีความหมายหรือมีความศักดิ์สิทธิ์สำหรับพุทธบริษัท เพราะว่าพระพุทธเจ้าประสูติกลางดินโคนต้นไม้ พระพุทธเจ้าตรัสรู้เมื่อนั่งกลางดินโคนต้นไม้ มาสอนโดยมากก็กลางดิน ที่อยู่ที่อาศัยของท่านก็เป็นกุฏิพื้นดิน และในที่สุดท่านก็นิพพานคือตายกลางดินโคนต้นไม้อีกเหมือนกัน
เรามานั่งในที่อย่างนี้ก็ควรจะมีจิตใจระลึกนึกถึงเหตุการณ์อันนี้เป็นการเคารพบูชาหรือจะมีความรู้สึกเป็นอย่างอื่นด้วยก็ได้ จึงควรจะเอามือลูบดิน ในใจระลึกถึงพระพุทธเจ้าในเหตุการณ์ทั้ง ๔ คือ ประสูติ ตรัสรู้ สอนให้นิพพานกลางดิน ก็จะได้รับประโยชน์ทางจิตใจไม่น้อยทีเดียว นอกจากมันจะแปลกมันก็ยังเป็นที่ตั้งแห่งความคิดนึกเป็นพิเศษ จะตีความหมายออกไปอย่างไรก็ได้ แต่ในความสัมพันธ์อย่างหนึ่งที่จะพูดถึงกันก่อนก็คือว่า เรื่องธรรมะนั้นมันเป็นเรื่องของธรรมชาติ ตัวธรรมชาติก็เรียกว่า ธรรมะ กฎของธรรมชาติก็เรียกว่า ธรรมะ หน้าที่ตามกฎของธรรมชาติก็เรียกธรรมะ ผลจากหน้าที่ก็เรียกธรรมะ คือเป็นเรื่องธรรมชาติ ทีนี้การที่มานั่งกลางดินหรือเป็นอยู่กลางดินในลักษณะที่เป็นเกลอกับธรรมชาตินี้มันง่ายที่จะเข้าใจธรรมชาติ จะรู้จักธรรมชาติ จะสัมผัสธรรมชาติ ขอให้การนั่งกลางดินของเรานี้ส่งเสริมให้เข้าใจธรรมชาติ รู้จักธรรมชาติ สัมผัสกับธรรมชาติซึ่งเป็นตัวธรรมะ ขอทำความเข้าใจอย่างนี้กันก่อน เพราะการเป็นอยู่อย่างใกล้ชิดธรรมชาติก็เรียกว่าเป็นเกลอกับธรรมชาตินั้น มันช่วยให้รู้จักธรรมะได้ง่ายขึ้น เพราะว่าเรื่องธรรมะเป็นเรื่องของธรรมชาติล้วน ๆ เกี่ยวกับธรรมชาติทั้งนั้นเลย
เอาละ ทีนี้เราก็จะได้พูดกันถึงเรื่องเกี่ยวกับธรรมะหรือพระพุทธศาสนาโดยตรงต่อไป สำหรับสิ่งที่เรียกว่า ศาสนา นั้นมันมีมาในโลกนมนานแล้ว คู่กันมากับมนุษย์ที่เริ่มพบความเจริญในทางความคิดความนึก แม้เมื่อยังไม่เจริญในความคิดความนึก มันก็มีศาสนา เพราะเหตุว่ามันเป็นไปตามธรรมชาติอีกเหมือนกันที่มนุษย์จะเกิดความรู้สึกกลัว จะกลัวอะไรก็ตามใจ ในทีนี้ชั้นแรกที่สุดก็กลัวว่า สิ่งที่น่ากลัว กลัวสิ่งที่เข้าใจไม่ได้ กลัวทุกอย่างที่น่ากลัว และก็ในที่สุดก็คือกลัวตาย เมื่อเป็นอย่างนี้จิตใจมันก็เป็นทุกข์ จะเอาอะไรมาขจัดความกลัว มันก็คิดนึกกันไปตามแบบของคนสมัยนั้น ซึ่งถ้าจะเรียกกันเดียวนี้ก็ยังเป็นคนป่าอยู่มากซึ่งเขาก็คิดนึกไปตามที่เขาจะนึกได้ มีความเชื่อเกิดขึ้นว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้จะช่วยได้ ก็เลยสอนกันมากขึ้น ๆ ๆ จึงขอให้สิ่งอื่นช่วยทั้งนั้นแหละ จึงเกิดของศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมา เช่น ภูเขา หรือว่าต้นไม้ที่ใหญ่น่าอัศจรรย์ หรือว่า แม่น้ำลำธาร หรืออะไรก็ตามที่มันลักษณะมันน่ากลัว ก็ถือว่าจะเป็นเครื่องช่วยคุ้มครอง แล้วก็บูชาอ้อนวอนด้วยความเชื่อ มันก็ระงับความกลัวได้ตามสัดส่วน มันจึงเกิดลัทธิเคารพบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมา ต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ ภูเขาศักดิ์สิทธิ์ แม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ กระทั่งหญ้า บอน ที่ศักดิ์สิทธิ์
ทีนี้มนุษย์มันก็เจริญขึ้นมาอีกจนไม่กลัวสิ่งเหล่านั้นแต่ก็กลัวสิ่งเหล่าอื่นที่เข้าใจไม่ได้ ฝนตกฟ้าร้อง เรื่องที่เข้าใจไม่ได้ เรื่องบนสวรรค์ เรื่องอะไรก็ตาม มันต้องเปลี่ยนคำสอนเป็นเรื่องให้สูงขึ้นไปจนกระทั่งมนุษย์ฉลาดมากขึ้น มากลัวไอ้เรื่องความทุกข์ ที่เกี่ยวกับจิตใจในภายในไม่ใช่ภายนอก ทีนี้ก็สนใจเข้าไปข้างใน จนกระทั่งรู้จักกลัวความทุกข์ที่เกิดขึ้นในภายใน แล้วค้นหาวิธีที่จะกำจัดความรู้สึกอันเป็นทุกข์นั้นเสีย เขาก็พบวิธีคิดนึกอย่างนั้น บูชาอย่างนี้ กระทั่งรู้จักทำสมาธิภาวนา ขจัดไอ้ความรู้สึกที่เลวร้ายที่เป็นทุกข์ทรมานนั้นออกไปเสีย สูงขึ้นมาตามลำดับ ๆ หลายหมื่นหลายแสนปีมาตามลำดับจนกว่าจะเกิดพุทธศาสนานี้ มนุษย์ไม่รู้อะไรในเรื่องอย่างนี้มากมาย
ถ้ากล่าวเฉพาะในอินเดีย มันก็เป็นความเจริญสูงมากแล้วในทางจิตใจ รู้จักทำสมาธิ หลาย ๆ ระดับหลาย ๆ ชั้น อย่างรูปฌาน กระทั่งอย่างอรูปฌานก็ทำแล้ว พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นศึกษาสิ่งเหล่านี้หมดแล้วไม่เห็นด้วย คือเราก็เห็นรากเหง้าของความทุกข์ลึกซึ้งกว่านั้น ท่านจึงค้นคว้าของพระองค์เองใหม่จนพบอันสุดท้าย คือ วิธีดับทุกข์ตามหลักของพระพุทธศาสนาซึ่งได้ถ่ายทอดกันมา เป็นมรดกตกทอดกันมาจนจะมาถึงพวกเรานี้ เราก็ควรจะรู้ว่ามันคืออย่างไร ทีนี้ถ้ามองไปทั้งโลกที่มุมโลกอื่นแต่ละยุคแต่ละสมัยโน้น แต่ละมุมโลกนั้นเขาก็มีวิธีคิดนึกเพื่อจะกำจัดความทุกข์กันไปตามแบบของเขา ของพวกนั้น ๆ ที่มีความเชื่ออย่างนั้น มีอะไรอย่างนั้น มีปัญหาอย่างนั้น มีธรรมชาติอันดุร้ายข่มขู่อยู่อย่างนั้น ก็เกิดลัทธิศาสนาอย่างอื่นซึ่งแปลกออกไป เป็นศาสนาที่ไม่เกี่ยวกับปัญญา มีแต่เรื่องของความเชื่อ เมื่อเชื่อแล้วก็อ้อนวอนสิ่งที่ซึ่งตนเชื่อว่าจะดับทุกข์ได้ อย่างนี้ก็มีอยู่ทั่ว ๆ ไปนับไม่ถ้วน นี่ก็เรียกว่าเป็นศาสนาประเภทที่อาศัยความเชื่อเป็นเครื่องดับทุกข์
ส่วนทางฝ่ายนี้คือฝ่ายอินเดีย ในที่แห่งหนึ่งในส่วนหนึ่งที่พระพุทธเจ้าเกิดนี้ไม่อาศัยความเชื่ออย่างนั้นเป็นเครื่องดับทุกข์ แต่อาศัยสติปัญญาที่จะควบคุมจิตใจ บังคับจิตใจไม่ให้เป็นทุกข์หรือว่าสุดแท้แล้วแต่ว่าจะมีวิธีอย่างไร จะเรียกว่าดำรงจิตใจไว้ในลักษณะที่ไม่เป็นทุกข์นั้นแหละถูกต้อง แต่อย่างนี้ไม่เกี่ยวกับความเชื่อ เกี่ยวกับปัญญา จึงเกิดศาสนาชนิดที่มีปัญญาเป็นเครื่องแก้ปัญหา ก็เลยมีศาสนาซึ่งจะจัดได้เป็นพวก ๆ ไป ศาสนาพวกที่อาศัยปัญญาเป็นเครื่องดับทุกข์ คือ พุทธศาสนา เป็นต้น ศาสนาที่อาศัยความเชื่อเป็นเครื่องดับทุกข์ เช่น ศาสนาฮินดูบางแขนง เป็นต้น ก็เลยเราก็ได้ศาสนามากมาย แต่ถ้าจะนับกันแต่ประเภทหรือเป็นหลักใหญ่ ๆ แล้วก็จะมีสักแค่ ๒ หรือ ๓ เท่านั้นแหละ คือว่ามีศรัทธาเป็นที่ตั้งดับทุกข์ มีความเพียรบังคับจิตเป็นที่ตั้งดับทุกข์ มีปัญญารอบรู้สิ่งที่เกี่ยวกับเรื่องนั้นเอามาเป็นเครื่องดับทุกข์
แต่ถ้าจะเอาความคิดอีกอย่างหนึ่งเป็นเครื่องแบ่งศาสนาแล้วก็เขาก็แบ่งกันไว้แล้ว ศาสนาไหน กลุ่มไหน พวกไหนถือว่ามีพระเจ้าเป็นผู้สร้างสิ่งทั้งปวง ศาสนากลุ่มนี้ก็ตั้งชื่อให้ว่าเป็นพวก creationist creation คือ การสร้าง พวกที่เชื่อว่ามีพระเจ้าสร้าง มีอยู่หลายศาสนา ทีนี้ศาสนาอีกพวกหนึ่งไม่มีพระเจ้าชนิดนั้น แต่ก็มีกฎของธรรมชาติ กฎวิวัฒนาการ เป็นต้น เป็นเครื่องให้เกิดสิ่งต่าง ๆ ขึ้นมาหรือว่าจะสร้าง จะใช้คำว่า สร้างก็ได้ แต่ไม่ได้สร้างด้วยเจตนาเหมือนกับพระเจ้า เป็นกฎของธรรมชาติที่มันบันดาลให้เกิดอะไรขึ้นมาเกิดขึ้นมา เชื่อว่าอย่างนี้ เชื่อว่าโลกนี้เกิดขึ้นมาโดยกฎนี้ เรียกว่าเป็นพวก evolutionist evolution ที่ว่า วิวัฒนาการ ฉะนั้นศาสนาก็มีอยู่สองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งเชื่อว่ามีพระเจ้าเป็นผู้สร้าง และกลุ่มหนึ่งเชื่อว่ามีด้วยอำนาจของวิวัฒนาการ นี้พวกเราพุทธศาสนานี้อยู่ในกลุ่มหลัง คือ กลุ่มที่เชื่อว่าเป็นวิวัฒนาการ เรียกว่า เหตุปัจจัยตามธรรมชาติ เรียกเป็นภาษาบาลีว่า อิทัปปัจจยตา กฎอิทัปปัจจยตาเป็นกฎที่บันดาลให้เกิดสิ่งต่าง ๆ ขึ้นมาทั้งทางรูปธรรมและนามธรรม ทีนี้เรื่องความทุกข์ทางจิตใจก็เกิดขึ้นโดยกฎอิทัปปัจจยตา ตามกฎของธรรมชาติ ตามเหตุผลของสิ่งนั้น ๆ เมื่อมีเหตุอย่างนี้ก็จะมีผลอย่างนี้ ๆ ๆ มันก็แจกจำแนกได้เป็นเรื่อง ๆ ไป ความทุกข์เกิดมาจากอะไร กิเลสเกิดมาจากอะไร เป็นต้น เราก็รู้จักตัวเองว่า โดยหลักใหญ่โดยหัวใจนั้นเป็นผู้มีกฎเกณฑ์ว่าสิ่งต่าง ๆ มีเหตุมีปัจจัยในภายในของมันนั้นแหละ เป็นเครื่องบันดาลให้เกิดสิ่งนั้นเกิดสิ่งนี้กระทั่งเกิดความทุกข์ เราจึงสนใจที่จะดูแต่ในภายในที่จะขจัดเหตุร้าย กำจัดเหตุร้ายป้องกันเหตุร้าย เหตุอันนั้นไม่ให้เกิดขึ้น แล้วก็จะได้ไม่เป็นทุกข์ ส่วนพวกที่เชื่อมีพระเจ้าก็ทำไปตามแบบของความเชื่อ อ้อนวอนพระเจ้าอะไรไปตามเรื่อง นั้นก็คือมีเหตุ ต้นเหตุอยู่ข้างนอกคือพระเจ้า เป็นต้น อย่างนี้เราเรียกว่าพวกถือปัจจัยภายนอก มีพระเจ้าเป็นเครื่องกำจัดทุกข์ซึ่งอยู่ภายนอก
แต่ทางพุทธศาสนานี้คือ เหตุปัจจัยอยู่ในภายใน อยู่ในตัวเรา มีร่างกายมีจิตใจ ความคิดต่าง ๆ นั้นแหละเป็นเครื่องปรุงแต่งเหตุต่าง ๆ ก็เลยเรียกว่า พวกที่มีปัจจัยภายใน รู้ไว้โดยหลักใหญ่อย่างนี้ก็เพื่อว่าเราจะไม่ล้มเหลว คือมันจะถูกเรื่องถูกราวแล้วจะดับทุกข์ได้ พวกถือปัจจัยภายนอกทั้งหลาย เดี๋ยวนี้เราจะรวมเรียกกันง่าย ๆ ก็ได้ว่าเป็นพวกไสยศาสตร์ ไสยศาสตร์ คือ พวกที่มีความเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์พิธีรีตองต่าง ๆ นานา มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์จะคอยช่วย อ้อนวอนให้ช่วย แต่ถ้าเป็นพวกที่ถือปัจจัยภายในก็คืออย่างพุทธศาสนาอย่างนี้ ก็ต้องทำให้ถูกต้องกับเรื่องในภายใน ไม่มีที่จะต้องไปอ้อนวอนใครที่ไหน มีแต่จะทำให้ถูกต้องในภายในแล้วก็ดับทุกข์ไปได้ หรือไม่อาจจะเกิดความทุกข์ขึ้นมา นี่เรามีหลักอย่างนี้ ขอให้ปฏิบัติให้มันถูกตรงตามหลักอย่างนี้ อย่างมีพระพุทธรูปอยู่ตรงนี้ ถ้าเราไหว้พระพุทธรูปโดยคิดว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์จะมาช่วยเรา อย่างนี้ก็เป็นไสยศาสตร์ไป โดยสิ่งภายนอกจะมาช่วยเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์จะมาช่วย แต่ถ้ากราบไหว้พระพุทธรูปโดยรู้ว่าเป็นผู้ที่เป็นสัญลักษณ์แทนพระพุทธเจ้า ผู้ตรัสรู้ รู้ความดับทุกข์โดยแท้จริง และเราก็กราบด้วยความพอใจสมัครที่จะปฏิบัติตาม ถ้ากราบพระพุทธรูปอย่างนี้ก็ไม่เป็นไสยศาสตร์ แต่เป็นพุทธศาสตร์ที่ตรงตามเรื่องราวที่แท้จริง หรือว่าจะเอาพระเครื่องเล็ก ๆ มาห้อยคอแขวนคอนั้น ถ้ามาแขวนไว้โดยหวังว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์จะคอยคุ้มกันคุ้มครอง อย่างนี้เป็นไสยศาสตร์ ถือปัจจัยภายนอกยึดสิ่งภายนอกช่วย มันเป็นไสยศาสตร์ไป แต่ถ้าเอาพระเครื่องมาแขวนคอเรียกว่าเป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธเจ้า ผู้ตรัสรู้ธรรมะที่ดับทุกข์ได้ เราพอใจเรายอมรับนับถือเอามาไว้เป็นอนุสติตลอดเวลา เอามาแขวนอย่างนี้ก็ไม่เป็นไสยศาสตร์ แต่จัดเป็นพุทธศาสตร์ได้ ก็เลยได้คู่กันว่าไสยศาสตร์กับพุทธศาสตร์ ดังนั้น ใครจะทำอะไรก็ให้ระวังหน่อย อย่าให้เป็นไสยศาสตร์แต่ให้เป็นพุทธศาสตร์
จำง่าย ๆ คำว่า ไสย (ไส-ยะ) แปลว่า หลับ คำว่า พุทธ (พุด-ทะ) แปลว่า ตื่น ถ้าเป็นพุทธศาสตร์ ก็คือ ตื่นหรือลืมตาไม่หลับอย่างนั้น มีความรู้สึกอยู่ แต่ถ้าเป็นไสยศาสตร์ คำนี้แปลว่า หลับ หลับคือยังไม่รู้อะไร เดาหรือสันนิษฐานไปเหมือนกับคนหลับคนละเมอ ฝัน ไสยศาสตร์ แปลว่า ศาสตร์ของคนหลับ พุทธศาสตร์ แปลว่า ศาสตร์ของคนตื่น โดยหลักเบื้องต้นอย่างนี้ ขอให้เข้าใจไว้ให้แน่นอน อย่าได้พลัดออกไปเป็น ไสยศาสตร์ แล้วก็จะมาศึกษาพุทธศาสนาซึ่งเป็นพุทธศาสตร์ มันก็น่าหัว มันหลับตาทำโดยไม่รู้อะไรเป็นอะไร
ทีนี้เราก็มีพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำตัว เป็นของผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน คำว่า พุทธะ ๆ นี้แปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ตามความหมายที่เต็ม ๆ กระจายออกไปได้เป็น ๓ ความหมายว่ารู้ คือรู้สิ่งที่ควรจะรู้ รู้ทุกสิ่งที่ควรจะรู้นะ ไม่ต้องรู้ทั้งหมดหรอก แต่ว่ารู้ทุกสิ่งที่ควรจะรู้ก็แล้วกัน ผู้ตื่น ตื่นจากหลับ หลับคือกิเลส คืออวิชชา ตื่นมาจากหลับแล้ว มันก็เป็นผู้เบิกบาน แจ่มใส สดใส ไม่งัวเงีย ไม่ซบเซา ไม่หม่นหมองไม่อะไรต่าง ๆ จำในใจถึงความหมายของ ๓ อย่างนี้ไว้ว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ว่านั่นแหละคือ คุณของพระพุทธเจ้า ซึ่งเมื่อเราประพฤติปฏิบัติตามแล้วเราก็จะได้เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานเหมือนพระองค์ นี่เราจะต้องรู้อะไร เราจะต้องตื่นจากอะไร เราจะเบิกบานกันได้อย่างไร เป็นเรื่องที่จะต้องคิดนึกกันต่อไปศึกษากันต่อไป
สิ่งที่เรียกว่า ความไม่รู้ คือ รู้ผิดก็ตาม ถ้ารู้ผิดก็เท่ากับไม่รู้ หรือไม่รู้เลยก็เท่ากับไม่รู้ นี่ก็เรียกว่า อวิชชา อวิชชา แปลว่า ไม่รู้ หรือปราศจากความรู้ มันก็ทำไปตามแบบคนไม่รู้ แต่ถ้ามันรู้ก็เรียกว่า วิชชา ๆ ก็ทำไปตามแบบที่มีความรู้ซึ่งเป็นความรู้อย่างถูกต้อง รู้อย่างถูกต้องนั้นเป็นวิชชา ไม่รู้หรือรู้อย่างผิด ๆ นั้นเป็นอวิชชา เมื่อเป็นอวิชชา ไม่รู้มันก็ทำอะไรผิด ๆ ผิดกฎของธรรมชาติโดยเฉพาะแล้วมันก็ได้เป็นทุกข์ ได้มีความทุกข์ และได้เป็นทุกข์ ดังนั้น การที่ทำผิดความจริงมันก็ดับทุกข์ไม่ได้ แล้วก็มีความจริงที่แน่นอนสำหรับที่ว่าจะดับทุกข์ได้ เข้าใจว่าทุกคนคงจะได้ยินได้ฟังได้เรียนได้อ่านได้ท่องมาแล้วในหนังสือเรียนเรื่องอริยสัจ ๔ คือเรื่องความทุกข์ เรื่องเหตุของความทุกข์ เรื่องความดับของความทุกข์ เรื่องทานให้ถึงความดับของความทุกข์ นี้ล้วนแต่อยู่ในภายในในร่างกายที่ยังเป็น ๆ ที่มีชีวิต ที่ตายแล้วนั้นไม่มี ๆ เรื่องที่จะต้องพูด ยังเป็น ๆ นี้มันก็มีความทุกข์อย่างที่รู้สึกเป็นทุกข์ทรมานใจนั้น มันก็มีเหตุก็คือ ความอยากด้วยความไม่รู้ มีความไม่รู้ มีอวิชชาเป็นเหตุให้อยากอย่างโง่เขลาไปในเมื่ออะไรเกิดขึ้นนี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เมื่อดับความอยากด้วยความไม่รู้นั้นเสียก็ดับทุกข์
การเป็นอยู่อย่างถูกต้อง ๘ ประการคือว่ามรรคมีองค์ ๘ นั้น ก็เป็นเหตุให้ดับความอยากที่เกิดมาจากความไม่รู้นั้นเสียได้ นี้คือหลักหัวใจของพระพุทธศาสนาที่จำแนกออกไปเป็น ๔ หัวข้อคือ ความทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความดับทุกข์ และวิธีปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ นี่เป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าจะต้องศึกษาจากภายใน ในภายในของคนที่ยังมีชีวิต คือเป็น ๆ อยู่ ตายแล้วทำไม่ได้ ก็ไม่มีทางจะทำได้เพราะว่าตายแล้วความทุกข์มันไม่มี ในร่างกายที่ตายแล้วนั้นมันไม่มีความทุกข์ ในร่างกายยังเป็น ๆ อยู่นี้มันมีความทุกข์ เมื่อมันทำผิดพลาดไป ทีนี้มันไม่เป็นทุกข์เมื่อมันทำถูกต้อง ดังนั้น เราจึงมีความถูกต้องเป็นหลัก ใช้เป็นหลักคือเป็นบทจำกัดความของคำว่า เครื่องดับทุกข์ คือ ธรรมะ
ในส่วนนี้คำว่าธรรมะ ๆ เอามารวมกันหมดนี้หมายถึง เรื่องหรือเครื่องที่ดับทุกข์ได้ คือ ความถูกต้องทุกอย่างทุกประการให้แก่บุคคลแก่มนุษย์ทุกท่านทุกตอนแห่งวิวัฒนาการของเขา ถ้าจะจำความหมายของคำว่า ธรรมะ ในลักษณะที่เกี่ยวกับการดับทุกข์ แล้วก็จำไว้ให้แม่น ๆ ด้วยว่า ธรรมะ คือ การประพฤติกระทำที่ถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ของตน ทุกขั้นทุกตอนแห่งวิวัฒนาการของตน ทั้งที่เป็นไปเพื่อตนเองและเป็นไปเพื่อผู้อื่นด้วย ให้จำความข้อนี้ไว้ให้ดีจะง่ายถ้าเราจะศึกษาต่อไปข้างหน้าว่าธรรมะ คือ การปฏิบัติหน้าที่ที่ถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ของตนทุกขั้นทุกตอนแห่งวิวัฒนาการ ทั้งที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น ธรรมะ คือ หน้าที่ที่ปฏิบัติ ไม่ใช่ตัวหนังสือที่เขียนไว้ในตำรา นั้นเป็นบันทึกเรื่องของธรรมะ แต่ตัวธรรมะแท้ ๆ เป็นตัวการปฏิบัติหน้าที่ หน้าที่ คือ สิ่งที่ต้องปฏิบัติ ถ้าไม่ปฏิบัติหน้าที่แล้วมันตายหรือมันเป็นทุกข์ หน้าที่ถ้าปฏิบัติกันแล้วรอดตายและไม่เป็นทุกข์ ธรรมะ คือ หน้าที่ที่ปฏิบัติอย่างถูกต้อง ถูกต้องก็คือไม่ให้เกิดทุกข์ คำว่า ถูกต้อง ในภาษาศาสนานี้มีความหมายจำกัดไว้สั้น ๆ คือว่าไม่เป็นทุกข์แก่ใคร ถ้าไปพูดทางอื่น ทางปรัชญาอะไรกันนั้นแล้วมันก็ไม่รู้จบ เราไม่เอามาเป็นหลักเลย ที่บัญญัติว่าถูกต้องว่าดีว่าอะไรตามแบบของ philosophy เป็นต้นนั้นไม่เอา จะเอาแต่ตามหลักของพุทธศาสนาที่ว่า ถ้ามันดับทุกข์ได้ทั้งของตนและของผู้อื่นแล้วก็เรียกว่าถูกต้องหรือเรียกว่าดี หน้าที่ที่ปฏิบัติอย่างถูกต้อง คือ ดับทุกข์ได้นั้น ถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ เพราะว่าเราเป็นมนุษย์มันก็ถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ มีหลักเกณฑ์อย่างไรเกี่ยวกับความเป็นมนุษย์มันก็ถูกต้องเกี่ยวกับความเป็นมนุษย์ มันก็ดับทุกข์ได้ เรียกว่าทุกขั้นทุกตอนแห่งวิวัฒนาการ เมื่อเรามาเกิดมาเด็ก ๆ เล็ก ๆ ค่อยโตขึ้นมาเป็นวัยรุ่น เป็นหนุ่มสาว เป็นกระทั่งว่าเป็นพ่อบ้านแม่เรือน เป็นคนแก่คนเฒ่านี้ วิวัฒนาการ ทุกขั้นทุกตอนแห่งวิวัฒนาการจะต้องถูกต้อง ในความถูกต้องนั้นมีผลทั้งแก่ตนเองและแก่ผู้อื่น ถูกต้องแก่เราเราก็ไม่มีความทุกข์ ถูกต้องแก่เพื่อนมนุษย์ของเราเขาก็พลอยไม่มีทุกข์ การปฏิบัติอย่างนี้คือ ธรรมะ ๆ
เราเรียนธรรมะ คือธรรมะ ๔ ความหมายนั้น มันมีให้เห็นมากออกไป แต่ในความหมายหนึ่งแห่ง ๔ ความหมายนั้นคือความหมายที่กำลังพูดนี้คือหน้าที่ บอกให้ได้เลยก็ได้ว่า ธรรมชาติทั้งหลายก็เรียกว่าธรรมะ ธรรมชาติทั้งหลายเรื่องกายเรื่องจิต เรื่องสิ่งที่ประกอบกันขึ้นเป็นโลกพร้อมทั้งมนุษย์พร้อมทั้งอะไรก็ตามนี้ ธรรมชาติทั้งหลายเรียกว่าธรรมะในฐานะเป็นธรรมชาติ แล้วกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่มันมีอยู่ประจำอยู่ในธรรมชาติเหล่านั้น เรียกว่า กฎของธรรมชาติ นี้ก็เป็นธรรมะด้วยเหมือนกัน
ทีนี้ก็มีหน้าที่ที่ถูกต้องตามกฎของธรรมชาตินั้น หน้าที่นี้ก็คือ ธรรมะ ที่เป็นเรื่องการปฏิบัติ และผลที่ได้เกิดขึ้นเพราะการปฏิบัติถูกต้องนี้ก็เรียก ธรรมะ ด้วยเหมือนกัน มันเป็น ๔ ความหมายอย่างนี้ แต่ว่าใน ๔ ความหมายนั้น ความหมายที่สำคัญที่สุดก็คือ หน้าที่ คือ ความหมายที่ ๓ ของคำว่า ธรรมะ ความหมายที่ ๑ คือ ตัวธรรมชาติ ความหมายที่ ๒ คือ กฎของธรรมชาติ ความหมายที่ ๓ คือ หน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ ความหมายที่ ๔ คือ ผลที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ มันสำคัญที่สุดอยู่ที่หน้าที่ ถ้าปฏิบัติหน้าที่แล้วผลก็ต้องได้รับแน่ และการปฏิบัติหน้าที่นั้นต้องให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ เราจึงต้องรู้เรื่องธรรมชาติ รู้เรื่องกฎของธรรมชาติ รู้เรื่องหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ และรู้ผลที่จะเกิดจากหน้าที่นั้น จะได้เลือกปฏิบัติให้มันถูกต้องตรงตามความประสงค์ของเรา ใน ๔ ความหมายนั้น ความหมายที่ ๓ คือ หน้าที่ ถูกต้องตามกฎของธรรมชาตินั้นเอามาประพฤติปฏิบัติให้มันถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ของเรา ทุกขั้นทุกตอนแห่งชีวิตแม้กระทั่งเพื่อประโยชน์ตนเองและประโยชน์ผู้อื่น ถ้าทำได้อย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นผู้มีธรรมะอยู่ที่เนื้อที่ตัว ในขั้นตอนของการรู้หรือการปฏิบัตินี้มันมีอยู่หลายขั้นตอนคือ รู้ธรรมะอย่างเล่าเรียนด้วยตัวหนังสือนี้ก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง ยังไม่มีธรรมะ ไม่ได้รู้เรื่องธรรมะ แล้วก็ปฏิบัติธรรมะนั้นลงไป เขาเรียกปฏิบัติธรรมะ มันก็มีตัวธรรมะเกิดขึ้น เราก็เลยมีธรรมะอยู่ที่เนื้อที่ตัว มีธรรมะก็ใช้ธรรมะให้เป็นประโยชน์จะดับทุกข์ได้
นั้นฟังให้ดี ๆ ไว้ ให้รู้ธรรมะไว้อย่างหนึ่ง ปฏิบัติธรรมะก็ว่าอย่างหนึ่ง มีธรรมะก็ว่าอย่างหนึ่ง ใช้ธรรมะให้เป็นประโยชน์นั้นก็อีกอย่างหนึ่ง ขอให้ทำให้ถูกต้องให้ครบถ้วนให้สำเร็จประโยชน์ไปตามลำดับ เมื่อใช้ธรรมะให้เป็นประโยชน์ได้ตามหน้าที่ของธรรมะแล้วมันก็ดับทุกข์ได้ ในทางศาสนาเรียกว่า ความรอดในหน้าที่ที่ต้องทำนั้นมันทำเพื่อความรอด คำว่า หน้าที่ นั้นก็เลยกลายเป็นสิ่งจำเป็นที่สุดของสิ่งที่มีชีวิต บรรดาสิ่งที่มีชีวิตต้องทำหน้าที่ ถ้าไม่ทำหน้าที่มันตาย คนก็ต้องทำหน้าที่ในส่วนที่ ๑ ก็คือว่ารอดตาย หน้าที่ทางกายทางวัตถุ เรียกว่า รอดตาย ทีนี้ยังเหลือความทุกข์ทางจิตใจก็ทำหน้าที่ทางจิตใจ ดับทุกข์ได้ทีหนึ่ง ก็รอดจากความทุกข์ รอดตายเป็นข้อแรก และมีชีวิตอยู่ก็รอดจากความทุกข์ด้วยประการทั้งปวงนี้ รอดที่ ๒ สมบูรณ์ที่สุดสำหรับการเป็นมนุษย์ แต่สัตว์เดรัจฉานไม่ถึงนั้นเพราะไม่มีสติปัญญา แต่มันก็ต้องมีความรอดชีวิตทางกาย แล้วก็มีรอดจากความทุกข์บ้างตามสัดส่วนของปัญญาอันน้อยของสัตว์เดรัจฉาน ทีนี้มาถึงต้นไม้ต้นไร่เรานี้มันก็มีชีวิต มันก็ต้องมีหน้าที่ที่จะทำให้มันรอด ให้มันกินอาหาร มันหล่อเลี้ยงลำต้นมันเป็นอยู่ได้มันก็รอดตาย แต่มันไม่มีความคิดนึก ความรู้สึกต่าง ๆ ความทุกข์ที่ลึกซึ้งมันก็ไม่มี มันก็เรียกว่ารอดอยู่ได้พอแล้ว ความรอดในทางกาย แต่ขอให้สรุปใจความสำคัญให้ได้ว่า บรรดาสิ่งที่มีชีวิตและต้องมีหน้าที่เพื่อทำความรอด มีคำว่ารอด ๆ นี่เป็นคำสำคัญที่สุดในทางศาสนา คือ ทุกศาสนาเลยสอนมุ่งหมายไปที่ความรอดทั้งนั้น แม้แต่เป็นศาสนาต่ำต้อยต่ำเตี้ยอย่างไร บูชาต้นไม้ต้นไร่ ผีสาง ภูเขาศักดิ์สิทธิ์ มันก็เพื่อรอดทางจิตใจ ทางความทุกข์ที่กำลังครอบงำจิตใจอยู่ จะบูชาเทวดาก็เพื่อรอด จะบูชาพระเจ้าก็เพื่อรอด แต่พุทธศาสนานี้ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติจึงจะรอด เรียกว่ายังมีความรอดแบบหนึ่ง ตามแบบของศาสนาที่มีสติปัญญาเป็นรากฐาน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาให้รู้ว่าเรื่องมันเป็นอย่างไรกัน มันเกิดทุกข์ขึ้นมาอย่างไร จะดับทุกข์ได้อย่างไร จะได้ทำให้รอด
เอาละ เป็นอันว่าการทำความรอดนี้เป็นหน้าที่ของสิ่งที่มีชีวิต ดังนั้น หน้าที่ ๆ นั้นคือ ธรรมะ ธรรมะตามตัวหนังสือก็แปลว่า หน้าที่ ถ้าเปิดหนังสือดิกชันนารีอย่างในประเทศอินเดียนี้ ธรรมะก็แปลว่า หน้าที่ ถ้าดิกชันนารีเมืองไทยอาจจะแปลว่า คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าก็ได้ คือไม่ได้ระบุถึงหน้าที่ แต่อย่าลืมไปว่า คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าท่านก็สอนเรื่องหน้าที่ คือดับทุกข์ได้ ธรรมะ แปลว่า หน้าที่ เป็นที่เชื่อได้ว่า เมื่อมนุษย์แรกรู้จักสิ่งที่เรียกว่าหน้าที่ มนุษย์ที่พ้นจากความเป็นคนป่าขึ้นมาใหม่ ๆ มีปัญญาขึ้นพอสมควรแล้ว เริ่มสังเกตเห็นสิ่งที่เรียกว่าหน้าที่ หรือเป็นหน้าที่ แล้วเขาก็เรียกว่า ธรรมะ ๆ ออกมาทางปากเรียกว่า ธรรมะ ธรรมะเป็นหน้าที่ ก็เลยสอนให้รู้จักหน้าที่ให้เคร่งครัดต่อหน้าที่ ทีนี้ปัญหามันมีมาก หน้าที่มันก็มีมาก ปัญหามีหลายระดับหน้าที่มันก็มีหลายระดับ จนกระทั่งว่าจะดับทุกข์ทางจิตทางวิญญาณ ทีนี้มันก็เป็นเรื่องหน้าที่ชั้นสูงขึ้นมา หน้าที่ส่วนร่างกายคือหน้าที่แรกหน้าที่ต่ำ ก็ทำมาหากินบริหารร่างกายสุขภาพอนามัยอะไรให้มันรอดอยู่ได้นี้เป็นหน้าที่อันแรก เมื่อรอดอยู่ได้แล้วก็ทำหน้าที่ที่สูงขึ้นไปคือดับทุกข์ทางจิตใจ ผู้ใดทำหน้าที่ผู้นั้นชื่อว่าปฏิบัติธรรมะ ธรรมะคือหน้าที่ หน้าที่คือธรรมะ การปฏิบัติธรรมะคือการปฏิบัติหน้าที่ การปฏิบัติหน้าที่คือการปฏิบัติธรรมะ
ขอให้ทำให้ดีที่สุดในการปฏิบัติหน้าที่ เอาหน้าที่ส่วนแรกก็คือทางฝ่ายร่างกายเพื่อรอดชีวิตกันก่อน จะกินอาหารก็ต้องกินให้ถูกต้องด้วยสติสัมปชัญญะอยู่ในขณะที่กินอาหาร ถ้าอย่างนี้แล้วก็เรียกว่ามีธรรมะเมื่อกินอาหาร เมื่อถ่ายอุจจาระถ่ายปัสสาวะ มีสติสัมปชัญญะรู้ว่าเป็นหน้าที่ ทำให้ถูกต้องทำให้ดีที่สุด ระมัดระวังให้ถูกต้องที่สุด ก็มีธรรมะอยู่เมื่อถ่ายอุจจาระถ่ายปัสสาวะ หรือว่าตื่นเช้าขึ้นมาจะล้างหน้าก็ล้างให้ถูกต้องด้วยสติสัมปชัญญะ เป็นหน้าที่การล้างหน้าก็เป็นธรรมะ การอาบน้ำให้ดีที่สุดด้วยสติสัมปชัญญะ การอาบน้ำก็เป็นธรรมะ การนุ่งผ้า แล้วแต่จะต้องทำอะไร แม้แต่จะล้างจานด้วยสติสัมปชัญญะก็เป็นธรรมะที่การล้างจาน จะกวาดบ้านจะถูบ้านจะทำอะไรก็ตามเถอะด้วยสติสัมปชัญญะ สำนึกในหน้าที่นั้นแล้วก็เป็นธรรมะหมด แต่เดี๋ยวนี้คนไม่ได้ทำด้วยจิตใจอย่างนี้ ไม่ได้ทำด้วยสำนึกอย่างนี้ จิตใจอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ ล้างหน้าไปพลาง กินข้าวไปพลาง ถ่ายอุจจาระปัสสาวะไปพลางอะไรไปพลาง โดยที่ว่าจิตใจไม่ได้สำนึกว่า เป็นหน้าที่ที่ต้องทำให้ถูกต้องให้ดีที่สุด คนอย่างนี้มันก็ไม่มีธรรมะเลย ดังนั้นเท่าที่ทำอยู่แล้ว ๆ นี้ไปทำเสียใหม่ เพิ่มสติสัมปชัญญะเข้าไปทุกขั้นตอนของการกระทำ มันจะกลายเป็นธรรมะหมด ปฏิบัติธรรมะอยู่ที่บ้านที่เรือน เรื่องบริหารร่างกายทั้งหมดนี้ก็เป็นธรรมะ แม้แต่ตัวอาชีพโดยตรง จะทำไร่ทำนา ค้าขายแล้วแต่จะมีอาชีพอะไรก็สำนึกในหน้าที่นั้นด้วยสติสัมปชัญญะ การทำหน้าที่นั้นก็จะเป็นปฏิบัติธรรมะไปหมด แม้แต่จะแจวเรือจ้าง จะถีบสามล้อ จะกวาดถนน จะล้างท่อถนนอะไรก็ตาม ถ้ามีความสำนึกในฐานะเป็นหน้าที่แล้วมันก็เป็นธรรมะไปหมด ไถนาอยู่กลางทุ่งนาก็เป็นการปฏิบัติธรรมะไปหมด ถ้าในโบสถ์หรือที่วัดนี้ไม่มีการทำหน้าที่อะไรก็ไม่มีธรรมะ ในโบสถ์ไม่มีธรรมะ ถ้าไม่ปฏิบัติหน้าที่อะไรให้มันถูกต้อง มัวแต่ไปนั่งสั่นเซียมซีกันอยู่อย่างนี้ มันไม่ใช่หน้าที่ที่ถูกต้อง ในโบสถ์มันก็ไม่มีธรรมะ ที่ไถนาอยู่กลางทุ่งนากลับมีธรรมะ เพราะสำนึกในหน้าที่ ดังนั้นขอให้ทุกคนสำนึกในหน้าที่ด้วยสติสัมปชัญญะ
นักเรียนนักศึกษาทั้งหลายก็ต้องมีหน้าที่เรียนหน้าที่ศึกษา ก็ให้หน้าที่นั้นเป็นธรรมะ ทำด้วยสติสัมปชัญญะจะพอใจ และจะรักในการทำ และจะเป็นสุขเมื่อกำลังทำ ได้ความสุขอย่างแท้จริงด้วย ไม่ใช่ความสุขหลอกลวง ความสุขที่สนุกสนานเอาเงินไปซื้อหามานั้นเป็นเรื่องหลอกลวง เป็นความสุขหลอก ไม่ช่วยให้เกิดความปกติสุขแท้จริงได้ มีแต่ทำให้ยุ่งยาก และก็ทำหน้าที่อย่างถูกต้องด้วยสติสัมปชัญญะ พอใจอิ่มอกอิ่มใจจนยกมือไหว้ตัวเองได้นั่นแหละคือ ธรรมะที่จะช่วยให้รอดได้ ยกมือไหว้ตัวเองได้นั้น แหมมันชื่นใจพอใจในตัวเอง เพราะฉะนั้นถ้ายกมือไหว้ตัวเองได้เมื่อไร เมื่อนั้นเป็นสวรรค์แท้จริงของบุคคลนั้น ไม่ต้องไปนึกถึงสวรรค์ต่อตายแล้ว เก็บไว้ก่อน ไอ้สวรรค์ต่อตายแล้วนั้นมันก็ขึ้นอยู่กับสวรรค์ที่นี่ ถ้าที่นี่ทำอะไรจนยกมือไหว้ตัวเองได้แล้วไม่ต้องกลัว ตายแล้วก็ไปสวรรค์ทุกชนิดที่มันจะมีถ้ามันจะมี ไอ้สวรรค์ที่อื่นที่ยังไม่ปรากฏไม่เกี่ยวข้องอย่าเพิ่ง ไม่ต้องไปนึกถึงก็ได้ แต่ทำให้มันมีสวรรค์ที่แท้จริงที่นี่คือ ทำความถูกต้องในทุกอิริยาบถ ทุกเวลาทุกสถานที่นี้ ยกมือไหว้ตัวเองได้นั้นก็ถึงขนาดสูงสุดแล้ว มันก็เรียกว่าเป็นสวรรค์ที่แท้จริงได้มาโดยไม่ต้องลงทุนสักบาทเดียวสักสตางค์เดียว ไอ้ที่เขาจะลงทุนเป็นบาทเป็นหมื่นเป็นแสนเป็นล้าน สร้างโบสถ์สร้างวัด ทำบุญให้ทานว่าจะไปสวรรค์นั้นเป็นเรื่องละเมอเพ้อฝันอยู่นะ เพราะสวรรค์ที่แท้จริงมันอยู่ที่นี่ มันอยู่ที่การปฏิบัติหน้าที่ของตนถูกต้องจนยกมือไหว้ตัวเองได้ นี้มันรับประกันได้อย่างนี้ ความสุขที่แท้จริงมันได้ด้วยการทำหน้าที่ให้ครบถ้วนให้ถูกต้องให้พอใจ เมื่อพอใจก็เป็นสุข พอจะยกมือไหว้ตัวเองได้เพราะมีแต่ความดี ขอให้ทุกคนดำรงตนอยู่ในลักษณะที่ยกมือไหว้ตัวเองได้ คนเป็นอันมากพอนึกถึงตัวเองแล้วไหว้ไม่ลง พอนึกถึงตัวเอง การกระทำของตัวเองต่าง ๆ แล้วไหว้ตัวเองไม่ลงก็ไม่ต้องพูด แต่ถ้าจะเป็นพุทธบริษัทแล้วมันก็ต้องถึงกับว่า มองเห็นแต่ความถูกต้องพอใจ อย่างน้อยก็พอค่ำลงคิดบัญชี ก่อนนอนคิดบัญชี ทำอะไรดีทำอะไรถูกนั้นก็พอใจยกมือไหว้ตัวเองได้ อย่างนี้สำคัญกว่าอะไรหมด จะเป็นการไหว้พระพุทธ ไหว้พระธรรม ไหว้พระสงฆ์ ไหว้ครูบาอาจารย์ ไหว้บิดามารดาอยู่ในนั้น อยู่ในคำว่าไหว้ตัวเองได้นั่นแหละ เพราะว่าถ้ามันทำจนไหว้ตัวเองได้นั้น มันทำถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ครูบาอาจารย์ บิดามารดาเสร็จพร้อมไปหมด ไหว้ตัวเองได้อย่างเดียวมันครอบงำไปถึงไหว้อะไรได้หมด แล้วถ้ายังอยากไหว้หลาย ๆ อย่างอยู่ก็ได้ แต่ก็อย่าลืมทำความดีจนยกมือไหว้ตัวเองได้ทุกวัน ๆ ๆ นี้คือมีธรรมะอันแท้จริง แล้วก็ประสบผลขั้นแรกคือ รอดตาย มีชีวิตอยู่ได้อย่างเป็นที่พออกพอใจนี้รอดขั้นที่ ๑
ทีนี้ถ้ามันยังมีความทุกข์ทางจิตใจเหลือคือ ความหวาดกลัว เป็นต้น หรือว่ากิเลส คือ ราคะ โทสะ โมหะ เป็นต้น มาครอบงำย่ำยีจิตใจอยู่ ก็ศึกษาแล้วก็ทำหน้าที่อันนี้อีกทีหนึ่ง รู้ว่าจะขจัดราคะ โทสะ โมหะ ออกไปอย่างไรก็ศึกษา นี้ก็เป็นเรื่องอีกเรื่องหนึ่งเป็นเรื่องที่ ๒ เรื่องที่แรกมันรอดทางร่างกาย รอดทางวัตถุ รอดตาย ส่วนเรื่องที่ ๒ นี้รอดจากความทุกข์โดยประการทั้งปวง จึงต้องศึกษาเรื่องความทุกข์ที่จะดับทุกข์โดยประการทั้งปวง
ทีนี้มาถึงธรรมะแท้ ธรรมะชั้นสูง ธรรมะซึ่งเป็นตัวพุทธศาสนา ไม่ใช่ธรรมะแรก คือ ธรรมะรอดชีวิตทำหากิน พวกเราน่ะเรียนในโรงเรียนในมหาวิทยาลัยมันเรื่องทำมาหากินทั้งนั้น ต่อให้ไปเรียนเมืองนอกมาปริญญายาวเป็นหางเลย มันก็ยังเป็นเรื่องทำมาหากินทั้งนั้น มันยังไม่ถึงธรรมะที่ดับทุกข์ได้ในภายใน มันคนละเรื่องกัน เพราะฉะนั้นจะต้องรู้เรื่องที่ ๒ คือ ดับทุกข์ในภายใน เรื่องดับทุกข์ในภายใน รอดครั้งที่ ๒ นี้มันมีความสำคัญเป็นหลักอยู่ว่า จะต้องรู้จักเรื่อง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เราทุกคนมีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย ร่างกาย แล้วก็มีจิตใจ ๖ อย่างนี้สำหรับรู้สึกต่อสิ่งทั้งปวง เพราะเรามีสิ่งเหล่านี้สิ่งทั้งปวงจึงมี ลองเราไม่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนี้มันก็ไม่มีอะไรเลย โลกทั้งโลกไม่มีอะไรเหลือเลยถ้าเราไม่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจสำหรับจะสัมผัส ทีนี้มันก็มีของคู่กันคือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ รูปคู่กับตา เสียงคู่กับหู กลิ่นคู่กับจมูก รสคู่กับลิ้น สัมผัสผิวหนังคู่กับกาย ความคิดนึกรู้สึกคู่กับใจ มันก็เลยมี ๖ ด้วยกัน สิ่งที่จะทำความรู้สึกก็มี ๖ สิ่งที่จะมาสนองความรู้สึกมันก็มี ๖ เรื่องรู้เรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจคู่กันกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์เป็นคู่ ๆ คู่ ๆ มันจับคู่กันเมื่อไร มันมีเรื่องมันจะมีเรื่อง ถ้าทำถูกก็รอดตัวไปไม่มีทุกข์ ถ้าทำผิดก็จะต้องเป็นทุกข์
ทีนี้เรื่องที่เป็นไปตามธรรมชาติยังไม่รู้ ไม่มีความรู้ ๆ ทางธรรมะ มันก็เป็นไปด้วยความทุกข์ ยกตัวอย่างคู่แรก ตากับรูป พอรูปมากระทบตา ก็เกิดความเห็นทางตาเรียกว่า จักษุวิญญาณ ก็คือมีตา แล้วมีรูปมากระทบตา ก็เกิดจักษุวิญญาณ คือ การเห็นทางตา เป็น ๓ สิ่งด้วยกันคือ ตากับรูป กับการเห็นทางตา คือ วิญญาณทางตา เมื่อ ๓ อย่างนี้ทำหน้าที่ด้วยกันอยู่อย่างนี้เรียกว่า ผัสสะ ผัสสะ คือ การกระทบ คือว่าจักษุวิญญาณกระทบรูป โดยอาศัยตาเป็นเครื่องมือนี้เรียกว่า ผัสสะ ผัสสะคือ การกระทบ ในขณะผัสสะนี้ถ้าเราเป็นคนโง่ ไม่รู้เรื่องจิตใจไม่รู้เรื่องธรรมะอะไรเลย มันก็เป็นการกระทบของคนโง่ เป็นผัสสะของคนโง่ก็ออกมาเป็นความรู้สึกของคนโง่ คือเป็นเวทนาของคนโง่ เป็นเวทนาสำหรับที่จะหลอกให้หลงรัก หลงโกรธ หรือหลงบ้าบออะไรก็ตาม เป็นสุขเวทนาก็หลอกให้หลงรัก เป็นทุกขเวทนาก็หลงเกลียดหลงโกรธ ไม่สุขไม่ทุกข์ก็ล่อให้พะวงหลงใหลสงสัยอะไรกันอยู่ ทีนี้พอมันมีเวทนาโง่ออกมาแล้วมันก็เกิดความต้องการที่โง่คือ ตัณหา สิ่งที่เรียกว่าตัณหานั้นคือ ความอยากหรือความต้องการอย่างรุนแรงด้วยอำนาจของความโง่ ถ้าไม่ได้เป็นไปด้วยอำนาจของความโง่นั้นไม่เรียกว่า ตัณหา ตัณหาก็ดี โลภะก็ดี เรียกว่า ความอยากที่เป็นกิเลสนั้นมันทำไปด้วยอำนาจของความไม่รู้ แต่ถ้าทำไปด้วยความรู้หรือสติปัญญา ไม่เรียกว่าตัณหา ไม่เรียกว่าโลภะ เรียกความปรารถนาที่ถูกต้องเรียกว่าเป็น สังกัปปะ สังกัปโป ไปเสียเป็นต้น
เดี๋ยวนี้มันโง่มาตั้งแต่ผัสสะ มีเวทนาโง่ มีความอยากที่โง่เรียกว่า ตัณหา คือ ความอยากอย่างรุนแรง จนเกิดอุปาทาน คือ ความยึดมั่นถือมั่นในตัวผู้อยาก ไอ้ความอยากน่ะมันปรุงไอ้ความรู้สึกว่า กูผู้อยากขึ้นมา แล้วอยากมาเป็นของกู ความรู้สึกว่ากูหรือของกูนี้เป็นอุปาทาน ก็มีความทุกข์หนักเพราะไอ้ความยึดถือว่ามีตัวกูมีของกู มันจะเกิดเป็นตัวกูเป็นชาติ ชาติแห่งตัวกูออกมาโดยสมบูรณ์ อุปาทานให้เกิดภพ คือ ความแก่ของอุปาทาน แก่รอบของการปรุงแต่งที่จะมีชาติ เมื่อมีชาติเกิดมาเป็นตัวกูของกูดิ้นเร่า ๆ อยู่นั้นนะเป็นทุกข์ เพราะว่าไอ้ชาติชนิดนี้มันไปเอาอะไรมาเป็นของกูหมด ไปเอาความเกิดมาเป็นของกู ไปเอาความแก่มาเป็นของกู ไปเอาความเจ็บมาเป็นของกู ไปเอาความตายมาเป็นของกู อะไร ๆ ก็ของกูหมด เงินทองของกู บุตรภรรยาสามีเรือกสวนไร่นาเป็นของกูหมด มันมาสุมอยู่บนหัวใจ ถ้าพูดอย่างหยาบคายก็มาสุมกบาลของมัน มันก็หนักแล้วมันก็เป็นทุกข์ มันมีชนิดที่หนักแต่เป็นทุกข์ มันก็ได้เป็นทุกข์ เมื่อสิ่งเหล่านั้นไม่เป็นไปตามความต้องการของตนมันก็เป็นทุกข์เพิ่มขึ้นมาอีก ปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่ได้สิ่งนั้นมันก็เป็นทุกข์เพิ่มขึ้นมาอีก นี้เรียกว่า ความทุกข์มันเกิดขึ้นมาแล้ว เพราะว่ามันทำผิดเกี่ยวกับการปรุงแต่งของจิต นี้เป็นตัวอย่างทางตากับรูป ทางหูกับเสียง ทางจมูกกับกลิ่น ทางลิ้นกับรส ก็เหมือนกันแหละอย่างเดียวกันหมดนี้ พอมากระทบแล้วเกิดวิญญาณ แล้วทำงานร่วมกันอยู่เรียกว่า ผัสสะ ผัสสะออกมาเป็นเวทนา โง่เป็นความอยาก โง่เป็นอุปาทาน ยึดมั่นถือมั่นอย่างโง่ เกิดตัวกูของกูอย่างโง่ ๆ ขึ้นมามันก็เป็นทุกข์ไปหมด
นี้ถ้าว่ามันจะตรงกันข้ามคือถูกต้องนั้นน่ะ พอมีผัสสะแล้วมันมีปัญญา มีสตินำเอาปัญญามาทันท่วงที พอตาเห็นรูปเกิดจักษุวิญญาณ ๓ ประการทำงานร่วมกันอยู่เรียกว่า ผัสสะ ทีนี้คนนั้นมันเคยได้ยินได้ฟังธรรมะของพระอริยเจ้า เคยศึกษามันก็มีสติระลึกนึกได้ถึงเรื่องอนิจจัง ทุกข์ขัง อนัตตา เป็นต้น เอามาควบคุมไอ้ผัสสะหรือเวทนานั้นไว้ อย่าให้ตกหลุมพรางล่อลวงของไอ้สิ่งเหล่านั้น ถึงแม้ว่ามันจะเกิดเวทนาที่ชวนให้รักให้พอใจ มันก็ไม่รัก จะเกิดเวทนาที่ชวนให้โกรธให้เกลียดให้กลัว มันก็ไม่โกรธไม่เกลียดไม่กลัว ที่จะพะวงสงสัยพัวพันมัวเมาอยู่ มันก็ไม่พะวงสงสัยมัวเมาอยู่ นี้มันเป็นผัสสะฉลาด เมื่อตะกี้มันผัสสะโง่ ผัสสะฉลาดก็เกิดเวทนาที่จะฉลาดคือไม่เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ เป็นเวทนาที่ไม่หลอกให้หลง มันก็ไม่หลงด้วยเวทนานั้น มันก็ไม่เกิดตัณหาต่าง ๆ เกี่ยวกับเวทนานั้น ไม่เกิดอุปาทาน ไม่เกิดภพเกิดชาติอย่างแบบโง่หลง ความทุกข์เลยเกิดไม่ได้ นี้คือความถูกต้อง ถ้ามีความรู้ข้อนี้ถูกต้อง ปฏิบัติควบคุมได้อย่างนี้จะไม่มีความทุกข์เลยเกี่ยวกับที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไปสัมผัสรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ใด ๆ มาไม่เกิดความทุกข์เลย มีสติเร็วเอาปัญญาความรู้มาทันในขณะผัสสะ ทีนี้ถ้าสติมันไม่มีหรือมันไม่เร็ว ก็ฝึก ฝึกสติ ๆ ถ้าปัญญามันยังไม่รู้ก็เรียนศึกษาให้มีปัญญารู้เรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นต้น เป็นความรู้ แล้วให้สตินำเอาความรู้นี้มาทันเวลาเมื่อมีผัสสะซึ่งมันเร็วเหมือนกับสายฟ้าแลบ มันต้องมาเร็วอย่างสายฟ้าแลบมันจะทันกับผัสสะและเวทนา ก็เลยควบคุมได้ควบคุมวิถีการปรุงแต่งของจิตได้ ไม่ผิดพลาดได้ ถูกต้องอยู่เสมอ เห็นชัดตามที่เป็นจริงอยู่เสมอ มันไม่เกิดกิเลสขึ้นมา ไม่เกิดความโลภ ความโกรธ ความหลงขึ้นมา มันก็ไม่เป็นความทุกข์ที่เผาลน นี้เรียกว่า รอด ๆ ในทางจิตทางวิญญาณ
พุทธศาสนามีหลักสำคัญอย่างนี้ มุ่งหมายอย่างนี้ สอนเรื่องนี้ สอนเรื่องที่กำลังพูดนี้คือเรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ เรียกว่าวิญญาณ วิญญาณทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แล้วก็ผัสสะ มีผัสสะทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วก็เวทนาที่เกิดมาจากผัสสะตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รู้ว่ามันเป็นอย่างไร ถูกคือไม่ทุกข์ ทำอย่างไรผิดแล้วเกิดทุกข์ นี้เป็นความรู้ทางธรรมะโดยเฉพาะพระพุทธศาสนาที่มีหลักอยู่อย่างนี้ เรียนกันสัก ๒ - ๓ ชั่วโมงก็ปฏิบัติได้เป็นปี ๆ ไม่เหมือนเรียน สอบปริญญาสอบอะไรกันนั้นนะก็เรียนเป็นปี ๆ มันก็อยู่แค่นั้นแหละ มันก็อยู่แค่อาชีพเท่านั้นแหละ แต่เรียนทางธรรมะนี้เรียน ๒ - ๓ ชั่วโมงปฏิบัติคุ้มครองไม่ให้เกิดทุกข์ได้เป็นปี ๆ หรือตลอดชีวิตไปเลย
ขอให้เสียสละเวลาเมื่อศึกษาธรรมะจงศึกษาจริง จงมอบไอ้ความรู้สึกคิดนึกด้วยจิตใจศึกษาธรรมะจริง ๆ ศึกษาไม่กี่ชั่วโมงหรอกแต่ปฏิบัติได้ตลอดชีวิต แต่ถ้าจะศึกษาเรื่องโลก ๆ น่ะ กว่าจะไปเรียนเมืองนอกได้ปริญญามาเป็นหางกินเวลาเป็นกี่ปี ๆ นั้นก็อย่างดีก็เพียงแค่รู้จักอาชีพ เพื่ออาชีพนี้เท่านั้นเอง เพื่ออำนาจวาสนาเงินทองข้าวของ เพื่อเรื่องทางวัตถุทางร่างกาย ถ้าไปหลงเข้าเมื่อไหร่ก็วินาศเมื่อนั้น นี่ธรรมะลงทุนศึกษาเพียงไม่กี่ชั่วโมงไม่กี่วันก็สามารถที่จะปฏิบัติถูกต้องคุ้มครองไปได้จนกระทั่งตาย นี้คือธรรมะ คือหน้าที่ให้เกิดความรอดทางกาย เมื่อพวกคุณก็เรียนกันอยู่แล้วทำกันอยู่แล้วไม่ต้องพูดเรื่องอาชีพทั้งหลาย เรื่องเป็นอยู่ เรื่องสุขภาพ เรื่องอนามัย เรื่องสังคมเรื่องอะไรการเมืองเรื่องอะไรก็ตาม นั่นมันเป็นเรื่องรอดทางกาย ที่จะร่ำรวยจะมีอำนาจวาสนาอย่างไรถ้าไม่มีความรู้ทางธรรมะมันจะตกนรกทั้งเป็น คือ มันมีเงินจะเป็นทุกข์เพราะเงิน มีทองจะเป็นทุกข์เพราะทอง มีชื่อเสียงจะเป็นทุกข์เพราะชื่อเสียง มีอำนาจวาสนามันก็จะเป็นทุกข์เพราะอำนาจวาสนานั้นเอง เพราะมันไม่มีความรู้ธรรมะที่มาควบคุมสิ่งเหล่านี้ เดี๋ยวนี้เรามีความรู้ที่จะควบคุมสิ่งเหล่านี้ด้วยทางจิตใจ จะมีอะไร จะใช้อะไร จะกินอะไร จะเก็บอะไร จะแบ่งปันอะไรมันก็ไม่มีความทุกข์เพราะมันรู้เรื่องธรรมะที่จะไม่ให้เกิดทุกข์
จึงขอให้ทุกคนมีความมุ่งมาดปรารถนาอันชัดเจนแน่วแน่ว่าจะรู้ทั้ง ๒ ทาง แล้วจะมีความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรม ความรู้เพื่อรอดทางกายนั้นเป็นทางโลก ความรู้เพื่อรอดทางจิตนั้นเป็นทางธรรม ไม่ใช่ว่าจะรู้จักหน้าที่ทั้งฝ่ายวัตถุและทางฝ่ายจิตใจ คือรอดชีวิตด้วย รอดจากความทุกข์ทั้งหลายด้วยนั่นแหละจะเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ให้สมกับว่าได้เกิดมาเป็นมนุษย์คือ สัตว์ที่มีจิตใจสูง แล้วมันก็มีจิตใจสูงอยู่เหนือความทุกข์เหนือปัญหาโดยประการทั้งปวงได้จริง นี้เรียกว่าเป็นมนุษย์ ถ้าได้พบกับพุทธศาสนาแล้วก็ศึกษา แล้วก็ปฏิบัติอย่าให้เกิดความทุกข์ใด ๆ ขึ้นมา ก็จะเรียกว่าไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์และพบกับพุทธศาสนา อยู่เหนือปัญหาเหนือความทุกข์โดยประการทั้งปวง เหนือปัญหาทางฝ่ายร่างกาย เหนือปัญหาในทางฝ่ายจิตใจก็หมดความทุกข์ ทั้งฝ่ายร่างกายและทั้งฝ่ายจิตใจ ก็ไม่เสียทีที่ได้เป็นมนุษย์ มีจิตใจสูง
แนวสังเขปของคำว่าธรรมะ ของคำว่าศาสนา ของคำว่าพระพุทธศาสนา มันมีอยู่อย่างนี้ เรามีเวลาวันนี้พูดกันได้เพียงแนวสังเขปอย่างนี้ ก็ขอให้ศึกษาให้ดีให้เข้าใจไว้ จะสะดวกในการที่จะศึกษาต่อไปข้างหน้า จำความหมายของธรรมะไว้ให้ดี ๆ ว่าธรรมชาติ กฎธรรมชาติ หน้าที่ตามกฎธรรมชาติ ผลจากหน้าที่นั้น ๆ ไม่มีเรื่องอะไรที่จะนอกออกไปจาก ๔ เรื่องนี้ เรื่องทั้งหมดของมนุษย์ มันไม่มีปัญหาอะไรนอกเหนือไปจากไอ้สิ่งทั้ง ๔ นี้ และก็ด้วยธรรมะนั้นคือ ความถูกต้องในหน้าที่ หน้าที่ที่ถูกต้อง หน้าที่นี้ก็ต้องปฏิบัติ หน้าที่ไม่ใช่อยู่ในสมุดจดไว้นะ หน้าที่มันอยู่ที่การปฏิบัติอยู่ที่กาย วาจา ใจ ธรรมะ คือ หน้าที่ที่ถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ของตน ทุกขั้นทุกตอนแห่งวิวัฒนาการทั้งเพื่อประโยชน์ตนเองและเพื่อประโยชน์ผู้อื่น คราวนี้ก็หมดแล้ว ถ้ามันเข้ามาในรูปนี้ในคำบัญญัติจำกัดความนี้มันก็เป็นธรรมะ ทำหน้าที่ที่ถูกต้องที่ไหนมีธรรมะที่นั่น ไม่จำกัดว่าที่บ้านหรือที่วัดหรือที่กลางทุ่งนาหรือว่าในแม่น้ำลำคลองอะไรนั้น ถ้ามีการปฏิบัติถูกต้องก็มีธรรมะที่นั่น ไม่ต้องเสียใจไม่ต้องน้อยใจว่าเป็นผู้หญิงบวชไม่ได้ ศึกษาไม่ได้อะไรทำนองนี้ หรือเป็นฆราวาสปฏิบัติไม่ได้ ไม่จริง มันไม่เลือกพระไม่เลือกฆราวาส ถ้ามีการปฏิบัติธรรมะคือหน้าที่ถูกต้องเมื่อไหร่ก็มีธรรมะเมื่อนั้น ก็ดับทุกข์ได้เมื่อนั้น ดังนั้นก็ขอให้ทุกคนทุกท่านมีความรู้เรื่องธรรมะพอตัวสำหรับจะได้รู้สึกทันที ป้องกันไม่ให้เกิดความทุกข์ขึ้นมาในจิตใจ อยู่ด้วยธรรมะคุ้มครองเป็นความรอดทั้งทางกายและทางจิตทางวิญญาณ มีความสุขอยู่ทุกทิพาราตรีกาลเทอญ ขอยุติการบรรยายในวันนี้ครั้งนี้เพียงเท่านี้