แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ก่อนอื่นทั้งหมดขอแสดงความยินดีในการมาของท่านทั้งหลายสู่สถานที่นี้ ในความประสงค์อย่างนี้ นั่นคือเพื่อศึกษาธรรมะ และก็ขอต้อนรับโดยที่นั่ง ที่นั่งที่อยู่ที่ตามอย่างของพระพุทธเจ้า คือเดี๋ยวนี้เรากำลังนั่งพูดกันกลางดิน ก็เป็นเรื่องที่ควรรู้ไว้ ว่าพระพุทธเจ้านั้นท่านประสูติก็กลางดิน เมื่อตรัสรู้ก็กลางดิน เมื่อสอนก็กลางดิน ที่อยู่ของท่านก็พื้นดิน แล้วในที่สุดท่านก็นิพพานที่กลางดิน ข้อนี้ช่วยกำหนดไว้ในใจบ้าง ถ้าชอบใจธรรมะของพระพุทธเจ้าก็ควรจะรู้ไว้เสมอว่าท่านผู้เป็นผู้สอนธรรมะนั้นเกิดกลางดิน ตรัสรู้กลางดิน สอนกลางดิน อยู่กลางดิน และนิพพาน คือตายก็กลางดิน และโดยทั่วไปก็มักจะเป็นอย่างนี้ด้วยกันทุกศาสนา ไม่มีพระศาสดาองค์ใดในศาสนาทั้งหลายตรัสรู้ในมหาวิทยาลัย นี่ไปค้นดูเถอะมันไม่มี มันมีแต่ในป่าในถ้ำในเขากลางดิน ก็ตามเรื่อง ดังนั้นเราควรจะพอใจบ้างในการที่ได้มานั่งกลางดิน พูดกันกลางดิน ตามแบบอย่างของท่านเหล่านั้น เข้าใจว่าคงจะรู้สึกได้เองว่านั่งเรียนกลางดินอย่างนี้กับนั่งเรียนบนตึกเรียนมหาวิทยาลัยอย่างนั้นน่ะมันคงมีอะไรต่างกัน ถ้าสังเกตเป็นก็จะรู้สึกว่าต่างกันมากทีเดียว เรื่องจิตใจน่ะมันต่างกันมากทีเดียว นั่งกลางดิน นั่งกลางดินนี่มันอยู่กับธรรมชาติ เป็นไปตามธรรมชาติ ยิ่งนั่งบนตึกสูงเข้าไปเท่าไรมันก็ยิ่งผิดธรรมชาติ ทีนี้ธรรมะนี้มันเป็นเรื่องของธรรมชาติ อย่างที่กล่าวได้ว่าเป็นเรื่องตัวธรรมชาติ ตัวกฎของธรรมชาติ ตัวหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ ตัวผลที่เกิดจากหน้าที่ ฉะนั้นการนั่งอยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ หรือเป็นเกลอกับธรรมชาตินั้นมันก็รู้เรื่องธรรมชาติได้ง่ายกว่า ดังนั้นขอให้สนใจเรื่องการเป็นอยู่ที่ใกล้ชิดธรรมชาติกันไว้บ้าง อย่าลืมว่าเนื้อตัวเราทั้งหมด ทั้งเนื้อทั้งตัวมันก็เป็นเรื่องของธรรมชาติ ซึ่งมันจะต้องเป็นไปตามกฎของธรรมชาติ ว่ามีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามกฎของธรรมชาติ ก็มันก็จะง่ายแหละถ้าว่าเราอยู่อย่างใกล้ชิดกับธรรมชาติ นี่ถ้าอยากรู้ธรรมะมันก็เป็นอย่างนี้ ถ้าไม่อยากรู้ธรรมะมันก็ไม่ต้องอย่างนี้ก็ได้ ถ้าจะเรียนธรรมะ เพื่อเข้าถึงธรรมะจริง ๆ ก็พยายามทำตนให้ใกล้ชิดธรรมชาติให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ แล้วก็จะปฏิบัติเข้ารูปเข้ารอยกันกับธรรมชติ และชีวิตนี้ก็จะไม่เป็นปัญหา แม้ว่าเราจะมีความรู้วิเศษท่วมหัวอย่างไรก็ตาม ถ้ามันเข้ากันไม่ได้กับธรรมชาติแล้วมันยังเป็นปัญหา จะหาความสงบสุขไม่ได้ ดังนั้นความรู้ที่ถูกต้องทุกอย่างต้องเป็นไปได้กันกับธรรมชาติ คือกลมกลืนกันไปได้กับธรรมชาติ จงสนใจเรื่องธรรมชาติให้มาก แล้วคำว่าธรรมชาติน่ะมันเป็นคำเดียวกับคำว่า ธรรมะ ธรรมะ ในภาษาบาลี เอาละเป็นอันว่าต่อไปนี้เราก็จะพูดกันถึงเรื่อง ธรรมะและผู้มีธรรมะ ฉะนั้นคอยฟังเอาเองว่ามันจะได้ประโยชน์อะไร
ธรรมะ คำนี้มีความหมาย คือ ความถูกต้องต่อความเป็นมนุษย์ ทุกขั้นทุกตอนแห่งวิวัฒนาการของเขา ทั้งในแง่ส่วนบุคคลและส่วนสังคม เอ้า, ลองคิดดูสิด้วยสติปัญญาที่เรียนมามากแล้วน่ะว่าเท่านี้มันพอมั้ย ธรรมะคือความถูกต้อง ถูกต้องแก่อะไร ถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ของแต่ละคน ละคน แล้วถูกต้องเท่าไร ถูกต้องทุกขั้นทุกตอนแห่งวิวัฒนาการของมนุษย์นั้น กระทั่งในแง่ส่วนบุคคล ส่วนตัว หรือว่าในแง่สังคม ก็อยู่ด้วยกันทั้งโลก นี่คือความหมายของคำว่าธรรมะ อยากจะยืนยันว่าช่วยจำไว้ด้วยจะมีประโยชน์คุ้มค่า ถ้ามันยังไม่ถึงขนาดนี้มันยังไม่ใช่ธรรมะหรอก ธรรมะคือความถูกต้อง แต่ว่าความถูกต้องนั้นมันมีได้เมื่อมีการปฏิบัติ ถ้าไม่มีการปฏิบัติมันก็ไม่มีความถูกต้อง ดังนั้นจึงพูดซะเลยว่าธรรมะคือ ระบบ หรือ system ของการกระทำที่ครบชุด แล้วก็ถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ ทุกขั้นทุกตอนแห่งวิวัฒนาการของเขา ทั้งในแง่ส่วนตัวและในแง่สังคม คำว่าความถูกต้องนี่ถือเอาตามความหมายอย่างภาษาธรรมะภาษาศาสนา ถ้าภาษา logic ภาษา philosophy พวกเหล่านั้นมันยุ่ง ไม่ ไม่ ไม่มี ไม่ค่อยจะมีจุดที่แน่นอน และก็เถียงกันได้เรื่อยไป อย่างนั้นเรียกว่าดี อย่างนี้เรียกว่าถูก นี่มัน มันยังไม่ยุติเลย มันพูดได้มากเป็นภูเขาเลากา แต่ถ้าเป็นเรื่องทางศาสนาแล้วมันง่ายนิดเดียว ความถูกต้องคือความที่มันเป็นประโยชน์แก่ทุกคน ไม่ทำอันตรายแก่ทุกคน เท่านี้พอ มันไม่ทำอันตรายแก่ใคร แก่ผู้นั้นหรือแก่ผู้อื่น แล้วมันเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่บุคคลนั้นและบุคคลอื่นด้วย ถ้ามันมีลักษณะอย่างนี้เราก็เรียกว่าความถูกต้อง นี้ถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ นี่ก็ใช้คำว่า มนุษย์ ไม่ใช้คำว่า คน หรือ ชน ซึ่งเป็นเพียงสัตว์ ตามธรรมดาก็เรียกว่า คน แต่ถ้าเป็นมนุษย์ต้องมีคุณธรรมอย่างมนุษย์ คือ มีจิตใจอย่างมนุษย์ ไม่มีจิตใจเหมือนสักว่าสัตว์ เกิดมาแล้วก็เป็น เป็นสัตว์ แล้วเป็นคน ฉะนั้นขอให้แยกกันหน่อยว่าคนนั้นคือเกิดมาก็เป็นคน ส่วนมนุษย์นั้นต้องอบรมคุณธรรมของความเป็นมนุษย์ให้มีอยู่จึงจะเรียกว่ามนุษย์ มนุษย์ก็แปลว่าสูงโดยทางจิตใจ จิตใจสูงจนไม่มีความทุกข์ ไม่มีกิเลส ไม่มีปัญหาใด ๆ ครอบงำจิตใจ จิตใจอยู่สูงเหนือการครอบงำของปัญหาของกิเลสของความทุกข์ นี้จึงจะเรียกว่ามนุษย์ตามหลักของธรรมะ ถ้าเป็นคนธรรมดาก็เหมือนกับสัตว์ธรรมดาทั่วไป บางทีก็ไม่ดีกว่าสัตว์เดรัจฉานเท่าไหร่ เรียกว่าเป็นคนธรรมดา การศึกษาเล่าเรียนนี้มันเพื่อความเป็นมนุษย์ ยิ่ง ๆ ขึ้นไปกว่าจะเต็ม แต่กว่าจะเป็นมนุษย์ที่เต็มนั่นน่ะ เรามีสิ่งที่เรียกว่าธรรมะ สำหรับทำความเป็นมนุษย์ที่เต็ม เรียนอย่างโลก ๆ ให้จบมหาวิทยาลัยหรือบรมมหาวิทยาลัยก็ตามถ้ามันมี มันก็ยังไม่ทำความเต็มแห่งความเป็นมนุษย์หรอก เพราะมันไม่ได้เรียนรู้เรื่องกิเลส เรื่องความทุกข์ หรือปัญหาด้านจิตด้านวิญญาณของมนุษย์ ก็เรียนแต่ด้านวัตถุ ถึงเรียนเรื่องจิตบ้างก็ จิต เรื่องจิตเล็ก ๆ น้อย ๆ ต่ำ ๆ ที่ยังเนื่องกันอยู่กับวัตถุ แต่ถ้าเรียนธรรมะตามหลักของพระศาสนาแล้วก็เรียนเรื่องจิตใจในระดับสูงสุดที่มันจะสูงได้เท่าไหร่ นี่จึงเรียกว่ามีจิตใจสูง หรือมีสถานะสูง มีสภาวะสูง ให้มันสูงก็แล้วกัน ถ้ามันสูงแล้วอะไรก็ท่วมไม่ได้ เช่น น้ำท่วมไม่ได้ เดี๋ยวนี้จิตใจมันอยู่สูงเหนือไอ้สิ่งที่มันจะท่วม เช่นว่าปัญหายุ่งยากลำบาก หรือกิเลส หรือความทุกข์ ถ้าเป็นมนุษย์สมบูรณ์จะอยู่เหนือปัญหาทั้งปวง จะไม่มีปัญหาอะไรเหลืออยู่ สิ่งที่เคยเป็นปัญหามันสลายไปหมด เป็นของธรรมดาไปหมด เลยเป็นคนที่ไม่มีปัญหารบกวนจิตใจ ความคิดผิด ๆ ที่เป็นกิเลสมันก็ไม่มี ไอ้ความทุกข์ทรมานความรู้สึกที่เป็นทุกข์ทรมานมันก็ไม่มี เรียกว่าสามอย่างนี้ไม่มีท่วมทับจิตใจแล้วก็เป็นมนุษย์ ไม่มีปัญหาท่วมทับจิตใจ ไม่มีกิเลสท่วมทับจิตใจ ไม่มีความทุกข์ท่วมทับจิตใจ แล้วก็เป็นมนุษย์ นี้ธรรมะคือความถูกต้องเพื่อความเป็นมนุษย์ หมายความว่าถ้ามีธรรมะแล้วมันก็ทำให้เป็นอย่างนี้ คือเป็นมนุษย์ที่มีจิตใจสูงอยู่เหนือสิ่งที่กล่าวแล้ว นี้บทนิยามมันยังมีต่อไปว่า ทุกขั้นทุกตอนแห่งวิวัฒนาการ เพราะว่าไอ้ความมีชีวิตนี่มันเลื่อนชั้นเรื่อย สูงขึ้นไปเรื่อย สูงขึ้นไปเรื่อย ดังนั้น ธรรมะมันจึงต้องมีชั้น ชั้น ชั้น ชั้น สูงขึ้นไปเรื่อยให้ทันกันกับวิวัฒนาการของมนุษย์ จึงต้องใช้คำว่าถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ทุกขั้นทุกตอนแห่งวิวัฒนาการของเขา วิวัฒนาการมองดูได้สองอย่าง คือ วิวัฒนาการเล็ก ๆ ตั้งแต่เกิดมาจากท้องมารดาเป็นนรก อะ เป็นทารก เป็นเด็ก เป็นวัยรุ่น เป็นหนุ่มสาว เป็นผู้ใหญ่ เป็นคนแก่ คนเฒ่า กระทั่งตาย อันนี้ก็เรียกว่าขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการเหมือนกัน ธรรมะจะให้ความถูกต้องแก่ทุกขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการ ตั้งแต่ทารกขึ้นไปจนถึงคนแก่คนเฒ่าเข้าโลง ทีนี้ถ้าจะมองดูถึงวิวัฒนาการใหญ่ Evolution ตั้งแต่ยังเป็นสมัยป่าเถื่อน เป็นคนป่า แล้วก็ค่อย ๆ เป็นคน ค่อย ๆ สูงขึ้น ๆ จนเป็นมนุษย์ที่เรียกว่าเจริญแล้วแห่งยุคปัจจุบัน แต่ก็อย่าลืมว่าไอ้คนในปัจจุบันนี่ในบางถิ่นบางที่มันยังเป็นเหมือนกับคนป่ายุคโน้นอยู่ก็มี หรือว่าไอ้คนที่มันอยู่ในบ้านในเมืองที่เจริญแล้วมันยังมีจิตใจต่ำทรามอย่างมนุษย์คนป่าเถื่อนสมัยโน้นก็มี มันยังมีคำพูดที่พูดได้เพราะว่ามันเป็นไอ้ barbarian มันหยาบคาย มันดุร้ายเป็นพวก savage อย่างนี้ก็มี เดี๋ยวนี้ในบ้าน ในโลกนี้มันก็ยังมี ดังนั้นขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการมันก็ยังมีอยู่ นับตั้งแต่ว่า เป็นคนป่า แล้วครึ่ง ๆ คนป่า แล้วก็เป็นคน แล้วเป็นคนที่ค่อย ๆ เจริญ ค่อย ๆ เจริญหลายยุคหลายสมัยตามประวัติศาสตร์ที่ได้เรียนมานั่นน่ะ ดู กว่าจะเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ คือมนุษย์ที่หมดปัญหาและมนุษย์ที่หมดอันตราย ถ้ายังเป็นมนุษย์ที่เป็นอันตรายแก่ใครอยู่แล้วก็ยังไม่เรียกว่าเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ หรือมีอันตรายในตัวเอง คือมีปัญหารบกวนทรมานจิตใจตัวเองก็ยังไม่เรียกว่ามนุษย์สมบูรณ์ ดังนั้นจึงมีความหมายกำหนดนิยามต่อไปอีกว่า ทั้งของตนเอง ทั้งแก่ แก่ตนเอง และแก่สังคมด้วย ความถูกต้องของความเป็นมนุษย์ของเรานี้จะเป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและแก่ผู้อื่นทั้งหมดทั้งโลก นั้นคือแก่โลก ดังนั้นเราจึงต้องศึกษาหรือปฏิบัติมากกว่าธรรมดา คือไม่เพียงแต่เพื่อตัวเองโดยเฉพาะ จึงต้องนึกถึงประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์ทุกคนในโลกด้วย เราจึงเรียนส่วนนี้ด้วย เรียนทั้งส่วนตัวและส่วนสังคม นี่ขอให้ประมวลข้อความเหล่านี้ไว้เป็นหลักเถิด จะมีประโยชน์อย่างยิ่งในการที่จะศึกษาธรรมะต่อไปในอนาคตจนตลอดชีวิตเลย เพราะว่าธรรมะนั้นคือระบบแห่งความถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ทุกขั้นทุกตอนแห่งวิวัฒนาการของเขา และทั้งเพื่อตนเองและเพื่อผู้อื่น นี่ขอให้จำคำเหล่านี้ไว้ ใช้เป็นหลักตลอดไปในการที่จะเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ “The Man Perfected” เป็นมนุษย์ที่เต็ม เดี๋ยวนี้อย่าเพิ่งอวดว่าเราเป็นมนุษย์ที่เต็ม แล้วก็คำว่า “ไม่เต็ม” นี่เราหมายถึง บ้า ๆ บอ ๆ อะไรอยู่ แต่คนมันยังไม่เต็มอยู่นั่นแหละ ถ้ามันยังมีปัญหาอะไรรบกวนจิตใจหรือยังเป็นอันตรายแก่ใครแล้วก็ยังเป็นมนุษย์ที่ไม่เต็ม ไม่เต็มแห่งความเป็นมนุษย์ ฉะนั้นจงมุ่งหมายความเป็นผู้เต็มแห่งความเป็นมนุษย์ ซึ่งถ้าโดย โดย โดยสมมุติก็เรียกกันว่าเป็นพระอรหันต์ มนุษย์สุดท้ายสุดยอดของความเต็มแห่งความเป็นมนุษย์ก็คือเป็นพระอรหันต์ ไม่มีกิเลส ไม่มีความทุกข์ คือไม่มีปัญหาใด ๆ มีร่างกายและจิตใจอยู่อย่างบริสุทธิ์ตลอดเวลา จนกว่าร่างกายและจิตใจนั้นจะหมดเหตุหมดปัจจัย คือจะตาย จะทำลายลง มันต่างกันว่าคนธรรมดาสามัญนี้มันตายลงไปด้วยจิตใจที่สกปรกยังมีกิเลสเหลืออยู่ในจิตใจ ถ้าเป็นพระอรหันต์มันก็ตายลงด้วยร่างกายและจิตใจที่ไม่มีความสกปรกใด ๆ เหลืออยู่ ต่างกันเท่านี้ นี่คือธรรมะแหละ ธรรมะ ธรรมะ ธรรมะ ธรรมะคือระบบแห่งความถูกต้อง ซึ่งต้องเป็นการปฏิบัติ ถ้าไม่มีการปฏิบัติมันมีความถูกต้องไม่ได้ ดังนั้นก็พูดได้ว่าระบบแห่งความถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ทุกขั้นทุกตอนแห่งวิวัฒนาการของเขา ทั้งเพื่อประโยชน์ตนเองและเพื่อประโยชน์ผู้อื่น บทนิยามเพียงเท่านี้แหละถือว่าพอ พอ พอสำหรับคำว่าธรรมะ ธรรมะคืออะไร ดังนั้นถ้ามาสนใจเรื่องธรรมะ มาเพื่อศึกษาธรรมะที่นี่ก็ขอให้เข้าใจความหมายบทนิยามของคำว่าธรรมะไว้อย่างนี้เถิด แล้วมันจะครบถ้วน แล้วมันก็จะไปหาเพิ่มเติมเรื่อย ๆ ไป เรื่อยไป เรื่อยไปจนตลอดชีวิต จนจะเป็นชีวิตชนิดที่เต็มเปี่ยมด้วยความเป็นมนุษย์ได้จริง นี่ ควรจะนึกถึงข้อที่ว่า เราจะมีการศึกษาอย่างที่ชาวโลกเขานิยมกันให้ถึงที่สุดเพียงไร มันก็ยังเป็นความมนุษย์ ยัง ยังเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ไม่ได้ เพราะว่าการศึกษาทางโลกนั้นน่ะมันเป็นศึกษาเรื่องความเฉลียวฉลาดและการประกอบอาชีพทั้งนั้นแหละ มันไม่สูงขึ้นไปถึงด้านจิตด้านวิญญาณ ไปเที่ยวหาค้นโลกค้นทั้งโลกน่ะ ปริญญาเอกหรือยิ่งกว่าเอกมันก็ไม่มีเรื่องอะไรนอกจากเรียนเพื่อความเฉลียวฉลาดทางอักษรศาสตร์ ทางศิลปะ นั้นมันเพื่อความเฉลียวฉลาดและเพื่อประกอบอาชีพชนิดที่เขาจะนึกว่าเราทำงานเบาที่สุดได้ผลประโยชน์มากที่สุด หนูจะเลือกอาชีพอย่างนั้นกันทั้งนั้นนั่นแหละ โดยที่เห็นว่าเป็นของดีอยู่ที่นั่น อันที่จริงการทำได้อย่างนั้นมันไม่ ไม่หมดปัญหา มันยังมีสิ่งรบกวนจิตใจคือความอยากอันไม่รู้จักจบจักสิ้น และก็ความมัวเมา หลงไหล ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่เป็นอยู่มีอยู่ ในความได้อย่างนั้น อย่างนั้น ที่เรียกว่าดี ดี ดี แล้วก็เป็นบ้าตายเพราะความดีก็มี เป็นโรคประสาทอยู่ด้วยเรื่องหลงไหลในความดีนี้ก็มี ไอ้คำว่าดี ๆ นั้นมันยังไม่ปลอดภัย มันต้องดับทุกข์ได้ด้วยจึงจะปลอดภัย ไอ้คำว่าชั่วนั้นไม่ไหวแน่แหละ ไม่ไหวแหละ ใคร ๆ ก็พอรู้ได้ แต่คำว่าดีก็ต้องระวัง มันยังทำให้เป็นบ้าได้เหมือนกัน คือถ้าไม่มีความทุกข์เพราะความยึดมั่น หมายมั่นอย่างในความดีอย่างเครียดครัด มันก็เป็นโรคประสาทบ้างเป็นบ้าตายบ้าง คนที่ดี ดีมาก ดีที่สุดอย่างชาวโลกเขาว่ากันนี่มันยังเป็นอย่างนี้อยู่ แต่ถ้ามันเป็นอย่างธรรมะด้วย มันไม่เป็นอย่างนี้ มันไม่มีปัญหาอย่างนี้ ดังนั้นเรื่องของธรรมะนี่จึงมุ่งไปที่ความดับทุกข์มากกว่าความร่ำรวย สวยงาม สนุกสนาน สะดวกสบาย แล้วก็มองเห็นว่าไอ้ความสนุกสนานสะดวกสบายนั้นแหละจะเป็นที่ตั้งแห่งปัญหาถ้าเราไปหลงมัน หลงสนุกสนานสะดวกสบายนั่นแหละ มันเป็นที่เกิดแห่งกิเลสมากขึ้นไป แล้วมันก็เผาให้ชีวิตนี้เป็นของร้อน ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใดสิ่งนั้นก็จะกลายเป็นไฟเผาจิตใจให้เร่าร้อน ให้รู้ไว้อย่างนี้ ดังนั้นการศึกษาธรรมะมันจึงไปมุ่งเอาที่ความดับไม่เหลือแห่งความทุกข์สิ้นสุดแห่งความทุกข์ ไม่มีของร้อน อะไรเหลืออยู่เป็นชีวิตเย็น คำง่าย ๆ ที่เค้ามีไว้สำหรับศึกษากัน เช่นว่า ไอ้ความอยาก ราคะนี่ก็เป็นไฟ ความโกรธ โทสะ นี่ก็เป็นไฟ โมหะ ความโง่ ความหลงนี่ก็เป็นไฟ หมายความว่าถ้ามันเข้ามาอยู่ในจิตใจแล้วมันเป็นของร้อน ทีนี้วิชาความรู้ที่ชาวโลกเรียน เรียน เรียนกันอย่างถึงที่สุดมันไม่ได้กำจัดสิ่งเหล่านี้นี่ แม้มันจะเรียนจบมหาวิทยาลัยเป็นปริญญาเอกทุกวิชาทั้งโลก เอ้า, มันก็ยังมีราคะ โทสะ โมหะอยู่ในจิตใจซึ่งเป็นของร้อน ต้องมานึกถึงข้อนี้กันอีกทีหนึ่ง ต้องขจัดปัญหานี้กันอีกทีหนึ่ง มันจึงจะถึงความเต็มเปี่ยมแห่งความเป็นมนุษย์ แล้วปัญหานั้นมันจะแก้ได้ด้วยความมีธรรมะ คือประพฤติให้ถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ทุกขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการ นี่จะประพฤติให้ถูกต้องกันอย่างไรเราก็จะได้พูดกันต่อไป แต่ขอให้รู้จักความถูกต้องแห่งความเป็นมนุษย์ว่ามันให้ผลวัดได้ง่าย ๆ คืออยู่เหนือความทุกข์ เหนือกิเลส เหนือปัญหา ปัญหานั่นคือสิ่งที่รบกวนจิตใจ ไม่ว่าปัญหาอะไรจะรบกวนจิตใจทั้งนั้น ถ้าเป็นปัญหาหนักก็ทำให้เป็นบ้าหรือตายเลยก็ได้ ทีนี้กิเลสนั่นก็คือความรู้สึกนานาชนิดที่เกิดมาจากความโง่ ความรู้สึกแห่งจิตใจทุก ๆชนิดที่เกิดมาจากอวิชชา คือความโง่ ถ้ามันมีความโง่แล้ว ต้องการอะไรก็ต้องการด้วยความโง่ ทำอะไรก็ทำด้วยความโง่ แม้แต่จะเสวยผลของไอ้งานที่กระทำมันก็เสวยด้วยความโง่ แม้จะกินจะใช้จะบริโภคผลของการงานมันก็ยังบริโภคด้วยความโง่ นี้ขึ้นชื่อว่าความโง่เป็นโมหะแล้วร้อนทั้งนั้นแหละ ร้อนอย่างใดอย่างหนึ่ง ความหมายใดความหมายหนึ่ง นี่อย่าว่าแต่เป็นมนุษย์เรียนจบในโลกมนุษย์เลย แม้เป็นเทวดาในสวรรค์ เทวดาธรรมดา เทวดาชั้นพรหมในสวรรค์มันก็ยังมีกิเลสที่เผาให้ร้อน สวรรค์ธรรมดาทั่วไปก็ยังระคนอยู่ด้วยกามารมณ์ มันก็มีกิเลสครบหมดแหละ มีความร้อนเพราะกิเลสนั้น ชั้นพรหมว่าไม่มีกิเลสทางกาม แต่ก็ยังมีกิเลสทางยึดถือว่าตัวตน ความโง่ว่าตัวตน ตัวตนยังมีอยู่ แม้ความรู้สึกทางกามจะหมดไปแล้ว ถ้าความรู้สึกทางกาม คือความอยากหมดไปแล้ว ความรู้สึกที่เป็นความโกรธก็ไม่มี ขอให้สังเกตดูให้ดี ว่าความโกรธน่ะมัน มัน มัน มันมีเพราะมันไม่ได้ตามที่ต้องการ ดังนั้นถ้าไม่มีสิ่งอะไรที่ต้องการ แล้วความโกรธมันก็ไม่ต้องมี เพราะมันไม่ต้องการอะไรมันก็ไม่มีผิดหวังอะไร นี่ถ้ายังมีกามารมณ์ ยิ่งมีมากเท่าไหร่ ไอ้ความโกรธก็ยิ่งมีโอกาสที่จะมีมากเท่านั้นเมื่อผิดหวังในความต้องการทางกามารมณ์ ดังนั้นจึงพูดว่ามนุษย์จะดีวิเศษอย่างไร เรียนให้จบในโลกนี้ทุกวิชาทุกสาขา เป็นปริญญาเอกกันหมด เอ้า, มันก็ยังมี ความโกรธ ความโลภ ความโกรธ ความหลง มันยังมีไฟ ยังมีไฟ นี้ต่อให้เป็นเทวดาในสวรรค์มันยังมีไฟ ยังมีไฟที่เผาจิตใจให้เร่าร้อน ดังนั้นแม้พวกเทวดาชั้นสูงสุดในสวรรค์ก็ยังต้องเรียนธรรมะ ยังต้องลงมาเรียนธรรมนี่ น่า น่าประหลาด พวกเทวดาชั้นไหนในสวรรค์ก็ยังต้องมาศึกษาธรรมะในสำนักของพระพุทธเจ้า และที่น่าหัวมากไปกว่านั้นอีกก็คือว่า พวกเทวดา พอเขาจะตาย คือจะต้องตาย จะต้องจุติจากสวรรค์ ก็มีปัญหาว่าจะไปเกิดที่ไหนดี เตรียมจะไปหาสุขคติที่ไหนดี นึกไปที่ไหน ๆ มันก็ไม่พบ นอกจากว่ามาเกิดในมนุษยโลกนี่แหละ มาเกิดในมนุษยโลกนี่ เพราะในมนุษยโลกมีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ที่หาได้ง่าย คือมีธรรมะที่หาได้ง่ายนั่นเอง เทวดาเลยยุติเป็นเสียงเดียวกันหมดเลยว่า สุขคติของเทวดาคือมนุษยโลก แต่พวกที่อยู่ในมนุษยโลกนี่กลับเห็นว่า สุขคติของมนุษย์คือเทวโลก สวนทางกันอยู่อย่างนี้ ก็เป็นคนฉลาดในเรื่องนี้ให้ถูกต้องด้วย เมื่อที่ใดมันไม่มีความทุกข์นั่นแหละที่นั่นแหละจะเป็นที่สุขคติแหละ ธรรมะคือความถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ทุกขั้นทุกตอนแห่งวิวัฒนาการทั้งตนเองและผู้อื่น ไม่มีปัญหา ไม่มีความทุกข์ นี่คือธรรมะ
ทีนี้เราจะเป็นผู้มีธรรมะ เป็นบุคคลผู้มีธรรมะ อยากจะเรียกง่าย ๆ ว่า ธรรมะชีวี ธรรมะชีวี คือ ผู้มีชีวิตอยู่ด้วยธรรมะ จำคำว่า ธรรมะชีวี ไว้มันจะง่าย มันลืมยาก ธรรมะคืออย่างนี้ อย่างนี้ อย่างนี้ แล้วผู้มีธรรมะมีชีวิตอยู่ด้วยธรรมะนี้จะเรียกว่า ธรรมะชีวี มีธรรมะอยู่ที่เนื้อที่ตัวที่ชีวิตตลอดเวลา คือคนอย่างไร คือบุคคลอย่างไร ถ้าเข้าใจสิ่งที่เรียกว่าธรรมะดีทั่วถึงแล้วมันก็ตอบได้เองแหละว่า คนที่มีความถูกต้องอยู่ที่เนื้อที่ตัวตลอดเวลานั่นแหละ ธรรมะคือความถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ทุกขั้นตอน ถ้าผู้ใดมีธรรมะอยู่ที่เนื้อที่ตัวที่ชีวิต ไอ้คนนั้นก็ชื่อว่าเป็นธรรมะชีวี แปลว่ามีชีวิตเป็นธรรมะ มีธรรมะเป็นชีวิต นั่นแหละคือสิ่งที่คุณต้องการจะรู้ ปรารถนาจะรู้ แล้วก็โดยไม่รู้สึกตัวก็ได้ อย่างว่ามาสวนโมกข์มาศึกษาธรรมะนี่ อาจจะยังไม่รู้ว่าเพื่อประโยชน์อะไรก็ได้นะ ขออภัยเถอะ ไม่ใช่พูดดูหมิ่นดูถูกอะไร มันเป็นแต่เพียงได้ยินได้ฟังก็เห่อ ๆ ตาม ๆ กันมาว่าจะมาศึกษาธรรมะ แต่ก็ไม่รู้ว่าธรรมะนั้นคืออะไร แล้วจะเอาไปเป็นประโยชน์อะไร ทีนี้เรามารู้ไอ้คำว่าธรรมะ ๆ กันเสียก่อนว่าเป็นอย่างนั้น ๆ แล้วก็มีการปฏิบัติเพื่อให้ธรรมะนั้นมีอยู่กับเนื้อกับตัวทุกขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการ คือตลอดชีวิต นี่ก็เรียกว่าธรรมะชีวี มีชีวิตเป็นธรรมะ มีธรรมะเป็นชีวิต เมื่อธรรมะ ๆ คำนี้หมายถึงความถูกต้องแล้ว ไอ้ธรรมะชีวีก็คือผู้ที่มีความถูกต้อง ผู้มีธรรมะก็คือผู้มีความถูกต้องอยู่ที่เนื้อที่ตัว ดังนั้นเราจึงศึกษาเรื่องความถูกต้อง ที่เป็นตัวธรรมะนั่นน่ะให้ละเอียด ธรรมะคือความถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ทุกขั้นตอนนั้น ถูกต้องอย่างไร ถูกต้องคือไม่มีความทุกข์เลย ทำอย่างไรจึงจะไม่มีความทุกข์เลย คือปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างถูกต้อง ดังนั้นธรรมะในภาษาทางวิทยาศาสตร์ควรจะแปลว่าหน้าที่ของสิ่งที่มีชีวิต คำว่าธรรมะในภาษาศาสนาก็แปลว่าความถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ แต่ถ้าพูดกันในแง่ของภาษาวิทยาศาสตร์ก็จะได้ความว่าธรรมะนี่คือหน้าที่ของสิ่งที่มีชีวิตจะต้องประพฤติกระทำ นี้พอจะมองเห็นได้เองแล้วกระมัง ถ้ามันไม่ทำหน้าที่แล้วชีวิตมันจะรอดอยู่ได้อย่างไรเล่า ธรรมะก็คือหน้าที่ที่สิ่งที่มีชีวิตจะต้องประพฤติกระทำให้มีอยู่กับเนื้อกับตัว แล้วก็จะรอด ก็จะรอด ไอ้คำว่ารอดนี่เป็นคำสำคัญที่สุด เป็นคำที่ใหญ่หลวงพิเศษที่สุดในทางฝ่ายศาสนา เพราะว่าทุกศาสนาไม่ว่าศาสนาไหนมุ่งหมายที่ความรอดทั้งนั้นแหละ แม้ว่าจะให้ความหมายของคำว่ารอด ๆไม่ค่อยเหมือนกัน ต่างกันก็ไม่เป็นไร แต่รู้เถอะว่าเขามุ่งหมายที่ความรอด รอด รอด ทีนี้เราที่เป็นชาวพุทธ พุทธศาสนานี่มันถือหลักของธรรมชาติเป็นศาสนา ถือหลักเกณฑ์ของธรรมชาติเป็นศาสนา จึงกล่าวได้ว่าตั้งแต่ความรอดชีวิตขึ้นไปนั่นแหละเป็นธรรมะ นี้สิ่งที่มีชีวิต คน มนุษย์เนี่ยมีชีวิต และสัตว์เดรัจฉานมีชีวิต และต้นไม้ต้นไร่มีชีวิต สิ่งที่มีชีวิตทุกชีวิตต้องทำหน้าที่ ต้องทำหน้าที่ของมัน แล้วมันก็รอดยังไงล่ะ รอดในชั้นแรกก็รอดตาย นี่ก็เรียกว่ามีธรรมะรอดตาย และรอดสูงขึ้นมาก็รอดจากความทุกข์ที่ครอบงำเบียดเบียนโดยที่ไม่ต้องตายแต่อยู่อย่างเป็นทุกข์ นี้ก็ต้องการรอดด้วยเหมือนกัน มันเกิดเป็นความรอดทางกายหรือทางชีวิตขึ้นมาเป็นอันดับแรก แล้วก็รอดทางจิตทางวิญญาณเป็นอันดับสอง รอดอย่างที่หนึ่งคือรอดทางกาย รอดอย่างที่สองคือรอดทางใจ รวมกันเรียกว่าความรอด ต้องทำหน้าที่จึงจะมีความรอด เพราะว่าคนมันก็ต้องทำหน้าที่อย่างคน ทำมาหากินอย่างคน กินอาหารอย่างคน อะไร ๆ อย่างคน แล้วมันก็รอดชีวิตอยู่อย่างคน นี่ปัญหาทางกายหมด นี้ปฏิบัติธรรมะให้ถูกต้องจนไม่เกิดอวิชชาขึ้นมาได้ มีแต่ความรู้ที่ถูกต้อง มันก็ทำอะไรไม่ผิด มันก็รอดทางใจขึ้นมาได้นี่ ทีนี้สัตว์เดรัจฉาน มันมีมันสมองน้อยมีความคิดน้อยเรื่องทางใจจึงไม่ค่อยจะมีหรือว่าจะเรียกว่าไม่มีก็ได้ มันยังมี มันมีแต่ปัญหาทางกาย เพราะฉะนั้นสัตว์เดรัจฉานนี่เขารอดทางกายทางชีวิตก็พอแล้ว แต่ถึงอย่างนั้นก็ต้องทำความรอด สัตว์เดรัจฉานจึงมีหน้าที่อย่างเต็มที่ที่จะทำความรอด เมื่อสัตว์เดรัจฉานปฏิบัติหน้าที่เพื่อความรอด มันก็มีธรรมะอย่างสัตว์เดรัจฉาน นี้ต้นไม้มีชีวิต ต้นไม้มีชีวิต ต้นไม้ก็ต้องทำหน้าที่ ทำหน้าที่ของต้นไม้ มีธรรมะของต้นไม้ คือหน้าที่ของต้นไม้ มันก็ต้องทำ ทำ ทำ แล้วก็ต้นไม้มันก็รอดชีวิตอยู่ได้ อย่างที่เรานั่งอยู่นี่เห็นมีทั่วไปต้นไม้มีชีวิตรอดอยู่ได้ แล้วก็ได้ยินได้ฟังศึกษาในแง่วิทยาศาสตร์ว่าต้นไม้นี้มันทำหน้าที่ทั้งกลางวันและกลางคืน เก่งกว่าคน คือว่าต้นไม้นี้กลางวันมันก็คายออกซิเจนตลอดวัน กลางคืนก็คายคาร์บอนไดออกไซด์ตลอดคืน ก็เป็นอันว่ามันทำงานตลอดวันตลอดคืน ทำหน้าที่ตลอดวันตลอดคืน เก่งที่สุด เก่งกว่ามนุษย์ ซึ่งคอยหาโอกาสจะหลบเลี่ยงไม่ต้องทำงาน โกงเวลางาน แม้แต่โกงเวลาเรียนมันก็ยังมีเพื่อจะไม่ต้องทำงานยังไง มันจึงสู้ต้นไม้ไม่ได้ ซึ่งมันไม่คดโกงเลย มันทำงานทั้งกลางวันและกลางคืน แม้แต่สัตว์เดรัจฉานก็เถอะ มันทำหน้าที่ของมันสม่ำเสมอตลอดวัน หรือตลอดคืนก็ยังได้ เรียกว่ามันพักผ่อนจริง ๆ มนุษย์นี่ไม่พักผ่อน เอาเวลากลางคืนไปสำมะเลเทเมาไม่พักผ่อน นี้มันผิดแล้ว มันผิดแล้ว ผิดหน้าที่แล้ว มันควรจะทำหน้าที่ให้ถูกต้องว่าเวลาการงานก็ทำการงาน เวลาพักผ่อนก็ต้องพักผ่อน เพื่อมีเรี่ยวแรงทำการงาน ถ้าพูดอย่าง Logic มันก็พูดได้ว่าเวลาพักผ่อนนั้นก็เป็นเวลาการงาน เพราะว่าทำให้มันมีเรี่ยวแรงสำหรับจะทำการงาน มันเป็นอุปกรณ์ส่วนหนึ่งของการมีเรี่ยวแรงทำการงาน ฉะนั้นจงพักผ่อนให้เป็นประโยชน์แก่การงาน อย่าเอาความพักผ่อนไปเที่ยวสำมะเลเทเมาให้มันเป็นเรื่องของกิเลสไปเสียอีก อย่างนี้มันก็ผิด ไม่เป็นการพักผ่อนแล้วยังจะทำอันตรายเอาด้วย กิเลสเกิดขึ้นมาที่ไหนเมื่อไหร่มันก็ทำอันตรายที่นั่นและเมื่อนั้นแหละ ไม่ต้องสงสัย นี่เอาเป็นว่าหน้าที่นั่นแหละคือธรรมะ ธรรมะนั่นแหละคือหน้าที่ ถ้าเรามีหน้าที่เรียนก็เรียน มีธรรมะอยู่ในการเรียน ถ้าเราไปประกอบอาชีพ ก็มีธรรมะอยู่ในการประกอบอาชีพ เรียกว่าหน้าที่ก็แล้วกัน นับตั้งแต่ชาวนาทำนา มีธรรมะของชาวนา ชาวสวนทำสวน มีธรรมะของชาวสวน คนค้าขายทำการค้าขาย ก็มีธรรมะของคนค้าขาย ข้าราชการทำราชการ มีธรรมะของคนราชการ จะเป็นข้าราชการประเภทไหนอะไรสุดแท้ แม้แต่เป็นทนายความ เป็นหมอ เป็นอะไร มันก็มีหน้าที่และหน้าที่นั้นก็เป็นธรรมะของคนนั้น กระทั่งกรรมกร กรรมกร ทำงานหนักอาบเหงื่อต่างน้ำอยู่มันก็เป็นธรรมะของกรรมกร มันจะกวาดถนนอยู่ก็ได้ มันล้างท่อสกปรกถนนอยู่ก็ได้ ถีบสามล้ออยู่ก็ได้ แจวเรือจ้างอยู่ก็ได้ ทั้งหมดนั้นเป็นธรรมะของกรรมกร หน้าที่ของใครก็เป็นธรรมะของคนพวกนั้น เมื่อเค้าทำหน้าที่ให้ถูกต้องอย่าขบถต่อหน้าที่แล้วเค้าจะรอด รอดจากปัญหาเหล่านั้น เดี๋ยวนี้กรรมกรทำหน้าที่กรรมกรได้เงินมาเอาไปกินเหล้าหมด ไอ้เมืองกรรมกรบางแห่งบางคราวนี่ได้ ได้ ได้ ได้ข่าวว่าแม่โขงส่งไปไม่ทัน เมื่อพวกกรรมกรชุดนั้นมันเผอิญโชคดี มันมีผลมากในแรงงานวันนั้น ได้แร่มากอะไรมากนี่ มันชวนกันกินเหล้าจนแม่โขงส่งไปจากกรุงเทพฯ ไม่ทันน่ะ คิดดูสิ ถ้ามันเป็นอยู่อย่างนี้แล้วมันจะรอดจากความเป็นกรรมกรได้อย่างไรเล่า ถ้ามันเป็นกรรมกรอย่าง อย่างมีธรรมะของกรรมกร ใช้ผลที่เกิดจากหยาดเหงื่อแรงงานนี่สะสมไว้เพื่อความถูกต้อง มันก็พ้นจากความเป็นกรรมกรในไม่ช้า อย่าว่าแต่กรรมกร ขอให้เป็นคนขอทาน นั่งขอทานอยู่นั่นแหละคือมีธรรมะของคนขอทาน ถ้ามีธรรมะของคนขอทานถูกต้อง ถูกต้อง ถูกต้อง ไม่เท่าไรก็พ้นจากความเป็นคนขอทาน แต่เดี๋ยวนี้ขอทานบางคนมัน มันไม่ใช่ขอทานบริสุทธิ์นี่ มันเป็นไอ้คนคดโกงคนอันธพาลคนอบายมุข ได้เงินมาจากการขอทานก็ไปทำอบายมุข เท่าไหร่ ๆ ก็ไม่พ้นจากสภาพขอทาน ถ้าปฏิบัติธรรมะของคนขอทานให้ดีที่สุดภายในไม่เท่าไหร่มันก็พ้น พ้นจากไอ้สภาพขอทานมาเป็นคนธรรมดาและก้าวหน้า เป็นอะไรไปก็ได้ เป็นกรรมกรอาบเหงื่อต่างน้ำ มีสมบัติคือไม้คานอันเดียวมาจากเมืองจีน อยู่เมืองไทยไม่เท่าไรเป็นเจ้าสัวเป็นเศรษฐี อย่างนี้ก็มีพยานหลักฐานปรากฏอยู่ เพราะว่าเขาปฏิบัติธรรมะของกรรมกรอย่างถูกต้องอย่างยิ่งเรียกว่าพ้นจากสภาพกรรมกร เป็นคนธรรมดาแล้วก็เป็นคนร่ำรวย แล้วเป็นเศรษฐีได้อย่างนี้ หน้าที่ ๆ นั่นคือธรรมะ ๆ หน้าที่นั่นคือสิ่งที่จะช่วยให้รอด เราจะเรียกหน้าที่นั่นแหละพระเจ้า พระเป็นเจ้าผู้ช่วยให้รอด นั่นคือหน้าที่ หน้าที่จะช่วยให้รอด ถ้าทุกคน ๆ ในประเทศเรานี่ทำหน้าที่ของตน ทำหน้าที่ของตนร้อยเปอร์เซ็นต์เต็มเปี่ยมถูกทุกคนแล้ว ประเทศชาตินี่จะรอด จะรอด จะพ้นจากปัญหานานาชนิดเลย จะเป็นประเทศที่รุ่งเรืองเข้มแข็งมีความสงบสุขสันติภาพอย่างยิ่ง เดี๋ยวนี้ทุกคนยังไม่ได้ทำหน้าที่ ยัง ยัง ยังหวังที่จะไม่ต้องทำหน้าที่แต่จะรับเงินเดือน หรือหวังจะทำงานแต่น้อยจะเอาเงินให้มาก อย่างนี้มันโกง มันก็เลยไม่เจริญ ประเทศยังไม่เจริญ นอกจากว่าบางคนไม่ทำหน้าที่แล้วยังทำลาย เป็นคนกินอยู่อย่างไม่ถูกต้อง เช่น กินอยู่อย่างแพง ต้องใช้ของต่างประเทศ ทำให้ของต่างประเทศที่ไม่ควรจะเข้ามาน่ะ เข้ามา เข้ามา เข้ามา จนประเทศขาดดุลการค้ากับประเทศอื่นมากมายมหาศาล เพราะคนจำพวกนี้ นี้เอาเป็นว่าถ้าทุกคนเลย นับตั้งแต่พระเจ้าพระสงฆ์ลงไปถึงชาวบ้านถึงวัวควายทุกตัวทำหน้าที่อย่างถูกต้อง สุนัขและแมวทุกตัวทำหน้าที่อย่างถูกต้อง อย่างนี้แหละประเทศชาติจะเป็นอย่างไร ลองเอาไปคิดดู มันก็เป็นความรอดเหลือที่จะรอด เหลือที่จะรอด ความรอดของประเทศชาตินั้นก็จะมีได้เพราะทุกคนทำหน้าที่ ตั้งแต่มนุษย์ลงไปถึงวัวควายสุนัขแมว ถ้าสุนัขทำหน้าที่มันก็ไม่มีอันตรายไม่มีขโมย ถ้าแมวทำหน้าที่ก็ไม่มีหนูมากัดของของคนอย่างนี้ ทุกคนทำหน้าที่ ทุกสัตว์ทุกชีวิตทำหน้าที่แล้วมันก็เกิดความรอด หน้าที่นั่นคือธรรมะ หน้าที่นั่นคือธรรมะ มันพอจะทำหน้าที่และจงนึกถึงว่าหน้าที่คือธรรมะ จงแสดงความเคารพต่อหน้าที่ พวกเรามันอวดดี มันไม่รู้จักว่าไอ้หน้าที่ ๆ นั่นคือธรรมะ มันจึงไม่เคารพ ไม่แสดงความเคารพต่อหน้าที่หรือการงานหรืออุปกรณ์แห่งหน้าที่การงาน เด็ก ๆ สมัยโบราณก่อนจะเรียนหนังสือต้องเอากระดานมาแล้วก็ไหว้ กระดานไม้สำหรับเขียนหนังสือต้องไหว้เสียก่อน แล้วจึงจะลงมือเรียน คือต้องแสดงความเคารพในการงานในหน้าที่ ถ้าคนเห็นว่าไอ้หน้าที่ หน้าที่คือธรรมะก็ควรจะแสดงความเคารพหน้าที่ จะมีหน้าที่เป็นชาวนา เอ้า, ก็เคารพหน้าที่แห่งการทำนา เอาวัวเอาไถมาเสร็จแล้วจะลงมือไถแล้วอันนี้ประนมมือ ประนมมือให้แก่หน้าที่ ไม่ใช่ไหว้ควายหรอก ถึงไหว้ควายก็ไม่เป็นไร ไหว้ไถก็ไม่เป็นไร แต่ว่าเดี๋ยวนี้ประนมมือให้แก่หน้าที่แล้วก็ไถนา ทำสวนทำอะไรก็เหมือนกัน พอเข้าไปในสถานที่ที่ทำงานแล้วประนมมือให้แก่ออฟฟิศที่ทำงานนั่นแหละ ถ้าเข้าไปในห้องเรียนก็พนมมือให้แก่ห้องเรียนนั่นแหละว่าจะทำหน้าที่อย่างดีที่สุด นี่เพื่อไม่ประมาทยังไง เพื่อมีจิตใจที่อ่อนโยนที่สุดที่ไม่ประมาทที่สุดแล้วก็เคารพในหน้าที่ ถ้าว่าทำหน้าที่อย่างดีที่สุดทุกกระเบียดนิ้วทุกวินาทีเลย แล้วจะเป็นอย่างไรนักเรียนนั้นจะเป็นอย่างไร ไม่ต้องมีปัญหาเรื่องเรียนไม่สำเร็จ เรียนล้มละลาย เรียนแล้วก็ไม่มีความรู้ความสามารถอะไรนักเพราะมันสอบได้กันอย่างโกง ๆ มันไม่ควรจะมี หน้าที่นี้ต้องบริสุทธิ์ ต้องทำด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์ ก็ทำให้ถูกต้อง ทำให้ครบให้ถ้วน นั่นแหละคือธรรมะ นั่นแหละคือมีธรรมะแหละ ธรรมะชีวี ธรรมะชีวี มีธรรมะเป็นชีวิต มีชีวิตเป็นธรรมะ มีธรรมะอยู่ที่เนื้อที่ตัว เพราะว่าการทำการงานนั้นมันมีอยู่ที่เนื้อที่ตัว แล้วก็ทำการงานให้ถูกต้องมันก็มีธรรมะอยู่ที่เนื้อที่ตัว มีชีวิตเป็นธรรมะ ดูความถูกต้องให้มีอยู่ที่การงาน ถ้ามันเป็นความไม่ถูกต้อง การงานนั้นอย่าทำ ดังนั้นถ้าจะต้องทำการงานอะไรก็ทำให้ถูกต้อง แม้แต่เล่าเรียน เล่าเรียนนี้ก็เป็นการงาน หรือเป็นอุปกรณ์ เป็นบุพภาคของการงานเพื่อจะทำการงาน แต่มันก็พูดได้ว่าไอ้การเรียนนี้เป็นหน้าที่ของยุวชนของลูกเด็ก ๆ ของยุวชน ฉะนั้นการเรียนนี่ก็เป็นธรรมะหรือหน้าที่ของยุวชนของลูกเด็ก ๆ เขาก็ต้องทำอย่างดีกว่าจะผ่านขั้นนี้ไป แล้วก็ไปทำหน้าที่อย่างดีสำหรับการเป็นผู้ใหญ่ เป็นพลเมืองที่ดี มีธรรมะติดต่อกันอย่างนี้เรียกว่าธรรมะชีวี ชีวิตรอดอยู่ด้วย ด้วยธรรมะหรือหน้าที่ มองให้เห็นเสียก่อน แล้วก็จะได้พอใจ ได้ชอบใจ หรือรักหน้าที่ รักธรรมะนั่นเอง ว่าชีวิตนี่รอดอยู่ได้ด้วยหน้าที่ หน้าที่คือธรรมะ ที่ไหนมีการทำหน้าที่ที่นั่นมีธรรมะ ไม่ว่าที่ไหน ในวัดหรือในโบสถ์ เอ้า, ต่อให้ในโบสถ์ ถ้าไม่มีการทำหน้าที่ไม่มีธรรมะในโบสถ์ โบสถ์ไหนก็ตาม โบสถ์พุทธ โบสถ์คริสต์ โบสถ์อะไรก็ตาม ถ้ามันไม่มีการทำหน้าที่ที่ถูกต้องในโบสถ์แล้ว ไม่มีธรรมะหรอก ไม่มีธรรมะในโบสถ์นั้น เพราะว่าโบสถ์บางโบสถ์มีแต่พิธีรีตองไม่ใช่หน้าที่ บางโบสถ์มีแต่สั่นเซียมซี หน้าที่อะไรกันล่ะ ถ้ามันมีแต่อย่างนี้ในโบสถ์นั้นไม่มีธรรมะ ถ้ามันมีหน้าที่ที่ไหน ก็มีธรรมะที่นั่น ดังนั้นขอให้ปักใจมั่นให้มีธรรมะ นั่นคือการทำหน้าที่อยู่ที่เนื้อที่ตัวที่ชีวิตนี่แหละจะได้ชื่อว่าเป็นธรรมะชีวีอยู่ที่เนื้อที่ตัว
เอา, ทีนี้จะแจงโดยรายละเอียด ช่วย ช่วย ช่วยกำหนดเอาให้ดี ๆ ว่าจะแจงโดยรายละเอียด เราศึกษาให้รู้ว่าถูกต้องนั้นคืออะไร เมื่อตะกี้บอกแล้วว่าถูกต้องตามหลักธรรมะแล้วไม่ยุ่งยากแล้ว อย่าเอาถูกต้องตาม logic ตามไอ้ philosophy แล้วมันยุ่ง พูดกันเท่าไหร่ก็ไม่รู้จักยุติว่าเอากันอย่างไรกันแน่ เอาทางธรรมะ ทางศาสนาก็ว่า ถูกต้อง ถูกต้อง คือ ไม่ทำอันตรายตนเอง ไม่ทำอันตรายผู้อื่น มีผลดีแก่ตนเอง และมีผลดีแก่ผู้อื่น นั่นน่ะคือถูกต้อง ถูกต้อง ขอให้ทำชนิดที่มันไม่ทำอันตรายตนเอง ไม่ทำอันตรายแก่ผู้ใด แต่มีผลดีแก่ตนเองและมีผลดีแก่ทุกคน นี่คือความถูกต้อง ที่เรามีชีวิตแต่ละวันละวันน่ะให้มันมีลักษณะอย่างนี้สิ มันมีความถูกต้องในการพูดในการทำในการอะไรทุกอย่าง ไม่ทำอันตรายใคร มีแต่ให้ประโยชน์แก่ทุกคน นี่ ให้รู้ว่าถูกต้อง ๆ คืออย่างนี้ แล้วก็ให้มันถูกต้องไปหมดทุกเรื่อง ทุกเรื่องที่จะต้องมีจะต้องทำ ทุกเรื่องนั้นทุกกระเบียดนิ้ว ทุกวินาทีเลย ให้มันถูกต้องติดต่อกันหมด ตื่นนอนขึ้นมา เอา เอา เอา เอาเวลาตื่นนอนเป็นจุดตั้งต้น ตื่นนอนขึ้นมารู้สึกระลึกว่า โอ้, มีแต่ความถูกต้อง เป็นสุขนอนหลับสบายตลอดคืนด้วยอำนาจของความถูกต้อง ด้วยบารมีของความถูกต้องทางกายและทางจิต มันนอนหลับสบายตลอดคืน โอ้, ถูกต้องแล้ว ถูกต้องแล้ว พอใจ ยกมือไหว้ความถูกต้อง อ้าว, ทีนี้จะทำอะไรล่ะ เอาตามธรรมดาก็ว่า เอ้า, จะไปล้างหน้า เดินไปห้องล้างหน้ามันก็ด้วยความรู้สึกว่าถูกต้อง ถูกต้อง ทุกก้าวย่างไปห้องล้างหน้า ไปหยิบภาชนะล้างหน้าก็ถูกต้อง ล้างหน้าอยู่ก็ถูกต้อง ล้างหน้าเสร็จก็ถูกต้อง รู้สึกว่าเป็นความถูกต้องในการล้างหน้า หรือว่าจะถูฟัน เอ้า, ก็อย่าไปคิดเรื่องบ้า ๆ บอ ๆ วิมานในฝันใจลอย อยู่ในความถูกต้อง ความถูกต้องในการถูฟันในการล้างปากในการล้างหน้า เพ่งอยู่แต่ความถูกต้อง ถูกต้อง มีความถูกต้องเป็นอารมณ์ มีธรรมะเป็นอารมณ์ เรียกว่า ธรรมานุสติ ระลึกในธรรมะเป็นอารมณ์ถูกต้อง ถูกต้อง อยู่ตลอดเวลาที่ว่าล้างหน้าและแปรงฟัน เอ้า, ออกนั้นไปห้องถ่ายอุจจาระปัสสาวะ ก็ถูกต้องทุกก้าวย่างไปเลย เข้าไปก็ทำอย่างถูกต้อง นั่งอย่างถูกต้อง ถ่ายอย่างถูกต้อง ตลอดเวลามีแต่ความถูกต้องแม้แต่ถ่ายอุจจาระถ่ายปัสสาวะ ก็อย่าประมาท ทำให้ดีที่สุดให้ถูกต้องที่สุด เพราะว่ามันเป็นธรรมะ ถ้าถ่ายอุจจาระไม่ถูกต้องทำหยาบคายมันมีโรคบางอย่างเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นขอให้ทำให้ถูกต้อง ทำให้ถูกต้อง ในทางสะอาดหมดจดเรียบร้อย มีประโยชน์แก่อนามัยก็ถูกต้อง ถูกต้อง จนกว่าจะออกมาจากห้องถ่ายอุจจาระปัสสาวะ แล้วก็ไปห้องกินข้าว หรือจะไปทำอะไรก็ตาม ทุกก้าวย่างมันถูกต้อง กินข้าวนี้ตั้งแต่ว่าเข้าไปในห้องกินข้าว หยิบจานหยิบช้อนทำอะไรถูกต้อง ถูกต้อง มีแต่ความถูกต้องทุกกระเบียดนิ้ว ทุกวินาทีจนกินข้าวเสร็จ ถูกต้อง ถูกต้อง ทีนี้จะไปแต่งตัวด้วยความถูกต้องก็แต่งตัวด้วยความถูกต้องมันก็จบลงด้วยความถูกต้อง แล้วจะลงเรือนไปทำงานไปเล่าเรียนหรือไปทำงานก็มีแต่ความถูกต้อง คือเดินไปก็รู้สึกว่าถูกต้องทุกก้าวย่าง นั่งรถก็จะถูกต้องอยู่ตลอดเวลา เข้าไปในห้องเรียนห้องทำงานก็รู้ว่าทำถูกต้องแล้ว นี่จะทำอย่างว่านี้พนมมือให้แก่ห้อง ห้องทำ ห้องเรียนหรือห้องทำการงานนั้นน่ะยิ่งดียิ่งทำให้จิตใจเป็นธรรมะมากขึ้น ไม่หยาบไม่กระด้างไม่อันธพาลไม่เป็นคนเนรคุณต่อสิ่งที่มีคุณ งั้นเราก็มีความเคารพต่อสิ่งเหล่านั้นอยู่เป็นปรกติ มันก็มีความถูกต้องในการเรียนในการงาน ถ้าถึงเวลาจะต้องพัก พักระหว่างงาน ก็ทำอย่างถูกต้องและพักอย่างถูกต้อง ไม่ใช่คดโกง ไม่ใช่เกเร ไม่ใช่จะหาเวลาไปกินเหล้าไปทำอะไรชนิดที่เป็นไอ้เรื่องอันธพาล ไม่มี มีแต่ความถูกต้อง จนกว่าจะเลิกงานจะกลับบ้านก็กลับมาโดยวิธีเดียวกัน มาโดยความถูกต้อง ถูกต้อง มารับประทานอาหาร มาอาบน้ำ มาถ่ายอุจจาระปัสสาวะ ทำทุกอย่างแม้ที่สุดแต่ว่าจะช่วยกวาดบ้าน จะช่วยถูเรือน จะช่วยล้างจาน ก็เป็นความถูกต้องเท่ากัน เป็นธรรมะอยู่ในหน้าที่นั้นเท่ากัน ช่วยล้างจานนั่นแหละเป็นการปฏิบัติธรรมะที่ถูกต้องเหมือนกันแหละกับที่ธรรมะอย่างอื่น เพราะมันเป็นความถูกต้องที่จะต้องทำอย่างนั้น ต้องทำอย่างนั้นเพื่อความอยู่ได้โดยถูกต้องโดยสะดวกสบาย ดังนั้นอย่ารังเกียจแต่ถ้าว่าจะต้องช่วยล้างจาน หรือแม้แต่ล้างส้วม จะช่วยกวาดเรือน จะช่วยถูเรือน จะช่วยทำอะไรก็ตาม เป็นธรรมะโดยความเป็นหน้าที่ที่มนุษย์จะต้องกระทำ ฉะนั้นใครกระทำก็ได้ ใครกระทำก็เป็นธรรมะของคนนั้นแหละ อย่าถือว่ามันเป็นหน้าที่ของลูกจ้าง ถูกแล้วลูกจ้างมันทำมันก็เป็นธรรมะของลูกจ้าง แต่นายจ้างก็ทำได้ เจ้าของบ้านก็ทำได้ แม้เป็นงานของลูกจ้าง ถ้ามีโอกาสทำก็ทำ ดีกว่าขี้เกียจ ดีกว่าอยู่เฉย ๆ มันจะได้มีธรรมะมากขึ้น มีธรรมะมากขึ้น รู้ รู้ รู้ รู้จักตัวเองว่ามีธรรมะมากขึ้น มันจะเคารพตัวเองได้ง่ายขึ้น เคารพตัวเองได้มากขึ้นจนกระทั่งยกมือไหว้ตัวเองได้ ทำถูกต้องตลอดวัน พอค่ำลงจะนอน ก่อนจะหลับใคร่ครวญดูอะไร ๆๆๆๆ เป็นอย่างไรและเป็นอย่างไร พบแต่ความถูกต้อง ๆๆๆ จนมานอนอยู่ที่นี่กำลังจะหลับแล้ว ก็ยกมือไหว้ตัวเอง ยกมือไหว้ตัวเอง ที่มีความถูกต้อง นั่นน่ะคือสวรรค์ สวรรค์ที่แท้จริงที่นั่นและเดี๋ยวนั้น นั่นแหละคือสวรรค์ที่แท้จริง ไอ้สวรรค์ตอนตายแล้วอย่าเพิ่งสนใจเลย ไม่มีอะไรรับประกันที่แน่นอนหรอก มันได้แต่ความเชื่อ บางทีก็เป็นความงมงายไปเสีย อันนี้ไม่ต้องเชื่อไม่ต้องงมงาย มันรู้สึกอยู่แก่ใจว่าเป็นความถูกต้องอยู่ในเนื้อในตัว ขนาดยกมือไหว้ตัวเองได้นั่นแหละคือสวรรค์ ถ้านึกดูแล้วเกลียดตัวเอง นั่นน่ะคือนรก คนโง่ คนอันธพาลทั้งหลาย พอมันนึกถึงตัวเอง นึกถึงการกระทำของตัวเองแล้วมันเกลียดน้ำหน้าของตัวเอง ไหว้ตัวเองไม่ลงหรอกคนพวกนี้ มันก็มีนรกอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้นถ้ามันยกมือไหว้ตัวเองได้เมื่อไรที่ไหน มันก็สวรรค์ที่นั่นและเมื่อนั้น นี่เรียกว่ามีชีวิตอยู่ด้วยธรรมะ คือ ความถูกต้อง มีชีวิตอยู่ด้วยความถูกต้องคือธรรมะ อย่างนี้เรียกว่าธรรมะชีวี ธรรมะชีวี ไปแยกเป็นรายละเอียดดูเป็นเรื่อง ๆไปเถอะว่ามันจะมีกี่ระยะ กี่ขั้นตอนที่เราจะต้องทำความถูกต้อง เช่น เรียนหนังสือ ชั่วโมงนี้เรียนหนังสือวิชานี้ มีกี่ขั้นตอนที่จะต้องทำอย่างถูกต้องก็ทำให้มันถูกต้องหมด เช่นเดียวกับถ้าไปในห้องน้ำจะต้องปฏิบัติกิจอย่างไรกี่ขั้นตอนในห้องน้ำก็จะต้องทำอย่างถูกต้องทุกขั้นตอนเหมือนกัน อย่างนี้แล้วก็เรียกว่ามีชีวิตที่เป็นธรรมะ มีความถูกต้องเป็นชีวิต จนกระทั่งยกมือไหว้ตัวเองได้ รู้จักตัวเองว่าเต็มไปด้วยความถูกต้อง และก็มีความเชื่อมั่นตัวเองว่าจะทำที่พึ่งให้แก่ตนเองได้ แล้วก็พอใจในตัวเอง แล้วก็เป็นความสุขด้วยตนเอง ยืนยันในความถูกต้องของตัวเอง ให้ผีสางเทวดาที่ไหนมา มาค้นดูฉันมีความผิด เลวทรามบกพร่องที่ไหน ให้มันมาค้นดู มันก็ไม่มี มันมีแต่ความถูกต้อง นี่มันต้องถูกต้องกันถึงขนาดนี้ ท้าให้ผีสางเทวดาให้มาค้นความผิดของฉัน มันไม่มีมันมีแต่ความถูกต้อง คนนี้มันก็คือธรรมะชีวีอันสูงสุดอันบริสุทธิ์ จะไม่มีปัญหาจะไม่มีความทุกข์ใด ๆ มีแต่ความเจริญ ๆๆ แห่งความเป็นมนุษย์ จนความถูกต้องนั้นเต็มเปี่ยมก็จะเป็นพระอริยเจ้า เป็นพระอรหันต์ในที่สุด แต่เรื่องตอนนั้นยังมีรายละเอียดอีกมาก อย่าเพิ่งพูดวันนี้เลย มัน มัน มันมาก เรื่องมันมาก เพราะมันจะต้องถูกต้อง ๆ ขึ้นไปจนถึงกับว่าทางจิตใจโน่น นี่ นี่เราพูดกันทางวัตถุทางร่างกาย ให้ถูกต้องเสียให้หมดอย่าให้มีปัญหาเรื่องจะมีชีวิตรอดอยู่อย่างสงบเย็น เป็นบุคคลหรือครอบครัวที่มีความถูกต้อง ถ้าบุคคลถูกต้อง ทั้งครอบครัวมันก็ถูกต้อง ทุกครอบครัวถูกต้อง แล้วก็หมู่บ้านนี้ก็ถูกต้อง หมู่บ้านถูกต้อง ๆ ไอ้เมืองนี้นครนี้มันก็ถูกต้อง ไอ้นครทุกนครมันถูกต้อง ไอ้ประเทศชาตินี้มันก็ถูกต้อง ประเทศทุกประเทศ ทุกประเทศมันถูกต้อง โลกนี้มันก็ถูกต้อง เราช่วยกันสร้างโลกที่ถูกต้องได้ด้วยเหตุอย่างนี้ ด้วยการกระทำอย่างนี้ ขอให้เห็น มองเห็นว่าเป็นสิ่งสูงสุด ที่นี้เรื่องทางจิตใจจะต้องศึกษา ธรรมะชั้นสูงขึ้นไปให้มีความถูกต้อง นี่จะพูดโดยสรุปรวบรัดก็ว่าให้มีจิตคงที่ จำไว้สั้น ๆ ว่า ถ้ามีจิตคงที่ไม่หวั่นไหวไปตามอะไรแล้วนั่นแหละคือความถูกต้อง คือบางเวลามันโง่ หันไปเป็นความรัก นี่ไม่คงที่แล้ว เป็นเรื่องของความรัก แล้วก็มีเรื่องยุ่งวุ่นไปตามแบบของความรัก บางทีมีความโกรธ เอ้า, ก็ไปตามแบบความโกรธ บางทีมีความกลัว กลัว บางทีมีความเกลียด บางทีมีความวิตกกังวลอาลัยอาวรณ์ อิจฉาริษยาอะไรยุ่งกันไปหมด นี่มันไม่ไม่ใช่จิตที่คงที่ มันจิตที่ถูกปรุงแต่งน่ะ ใช้คำว่าปรุงแต่ง ภาษาธรรมะใช้คำว่าปรุงแต่ง มีเหตุปัจจัยอะไรมาปรุงแต่งให้จิตเปลี่ยนไป เปลี่ยนไปเป็นรัก เป็นโกรธ เป็นเกลียด เป็นกลัว เป็นอาลัยอาวรณ์ เป็นวิตกกังวล เป็นอิจฉาริษยา เป็นความหึง เป็นความหวง เป็นสารพัดอย่างที่จิตมันจะเป็นไปได้และเป็นทุกข์ นี่ผิดแล้ว ในทางจิตใจผิดแล้ว ศึกษาสิ่งทั้งปวงโดยรวบรัดน่ะ โดยรวบรัด ก็ว่ามันเป็นเช่นนั้นเอง ถ้ามาให้น่ารักก็ว่ามันก็เช่นนั้นเอง เรื่องน่ารักฉันก็ไม่รัก ที่จะมาให้โกรธ มันก็ มันก็เป็นเช่นนั้นเอง ฉันจะไปโกรธมันให้เสียเวลาทำไม จะมาให้ฉันกลัว ฉันก็ไม่กลัวให้เสียเวลาทำไม ไม่มีอะไรที่ทำให้วิตกกังวลหวั่นไหวอาลัยอาวรณ์เป็นความคงที่ปกติ คือไม่ก่อไฟให้เกิดขึ้นในกรณีใด ๆ ก็ไม่ คือ คือไม่เกิดความกำหนัดหรือความโลภ มันก็ไม่มีไฟ ข้อนี้ไม่โกรธ ไม่โทสะ ไม่ประทุษร้าย มันก็ไม่มีไฟ ข้อนี้ไม่โง่ไม่หลง ไม่มัวเมา มันก็ไม่มีไฟข้อนี้ ชีวิตมันเย็น เมื่อไม่มีกิเลสเกิดขึ้นชีวิตนี้อยู่กับนิพพาน ถ้าถือพระเจ้าก็เรียกว่าอยู่กับพระเจ้าก็แล้วกันน่ะ เมื่อไม่มีกิเลสเกิดขึ้นนั่นแหละ เราอยู่กับพระเจ้าหรืออยู่กับนิพพานหรืออยู่กับสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ ฉะนั้นใครหาพบบ้าง เวลาไหนที่ตัวไม่มีกิเลสหรือไม่มีซากของกิเลสเหลืออยู่ เพราะมันมีเคยชินแต่เรื่องรักเรื่องโกรธเรื่องเกลียดเรื่องกลัวเรื่องวิตกกังวลอาลัยอาวรณ์นอนไม่หลับ หรือว่า หรือใต้สำนึกน่ะ ใต้สำนึกมันก็มีอยู่ ยังมีอยู่ มันก็เป็นฝันร้ายเป็นอะไรขึ้นมาเป็นสะดุ้งหวาดเสียวขึ้นมา มันต้องไม่มี ถ้าทำได้ประพฤติได้จนไม่มีสิ่งเหล่านี้รบกวนนี่เรียกว่าชีวิตนี้เป็นธรรมะชีวีขั้นที่สอง คือขั้น ด้าน ด้าน ด้าน ด้านจิตใจน่ะ ชีวิตนั้นอยู่กับนิพพาน ถ้าทำถูกในด้านร่างกายก็มีความสุขด้านร่างกาย มีสันติสุขฝ่ายร่างกาย ถ้าทำถูกในฝ่ายจิตใจก็มีสันติสุขฝ่ายจิตใจ จึงเรียกว่านิพพาน คือชีวิตเย็น เมื่อใดว่างจากกิเลสว่างจากความทุกข์ เมื่อนั้นน่ะมันอยู่กับนิพพาน หาให้พบเถอะ สักแว่บนึงก็ยังดี สักชั่วสายฟ้าแล่บก็ยังดีว่าเรามันว่างกำลังว่างจากกิเลส แล้วก็เย็นไม่มีไฟ นั่นแหละเป็นการดี พอรู้จักตัวแล้วทีนี้ก็ทำให้มากขึ้นรักษาไว้ให้มากขึ้นให้ยาวออกไป ยาวออกไป ให้เวลาที่อยู่กับความเย็นชีวิตเย็นให้มันยาวออกไป ยาวออกไป ยาวออกไป จนถึงที่สุดถ้าได้ จบ จบเรื่อง คือมีชีวิตเย็นตลอดเวลา แล้วก็คือจบเรื่อง จบเรื่อง ธรรมะในขั้น ขั้นที่สอง หรือ หรือขั้น ขั้น ขั้นปลายก็ได้ เกี่ยวกับร่างกายเป็นขั้นต้น เกี่ยวกับเรื่องจิตหรือวิญญาณนี้เป็นขั้นปลาย ให้มีความถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์นี่ทั้งด้านร่างกายและด้านจิตด้านวิญญาณอยู่ทุกขั้นทุกตอนแห่งวิวัฒนาการ ถูกต้อง ๆ ทั้งสองอย่างคู่กันไป คู่กันไป คู่กันไป แล้วมันก็ถึงที่สุด อย่างนี้เปรียบเหมือนกับว่าสมัยโบราณน่ะเขาลากรถด้วยม้าสองตัว ไถนาด้วยควายสองตัวด้วยวัวสองตัว นี่ เปรียบเดี๋ยวนี้ก็เหมือนกับว่าเรามีความถูกต้องทั้งทางกายและทางจิต เรามีควายสองตัวเทียมไถไถนาเป็นอย่างดี ตัวหนึ่ง ควายตัวหนึ่งแข็งแรงเป็นตัวกำลังกาย ควายตัวหนึ่งผอมหน่อยแต่ฉลาดรู้คำสั่งดี ก็เป็นเรื่องทางจิตใจ เรื่องทางจิตใจมันต่างกันอยู่ตรงนี้ ไอ้ทางกายมันก็เป็นฝ่ายวัตถุ ทางจิตใตมันก็เป็นฝ่ายจิตใจ มีความถูกต้องทั้งสองฝ่าย ความเป็นมนุษย์ก็สมบูรณ์ ความเป็นมนุษย์ก็สมบูรณ์ เรียกได้ว่ามีความถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ทุกขั้นทุกตอนแห่งวิวัฒนาการของตนได้จริง นี่คือธรรมะชีวี ขอให้มีความรู้สึกว่าถูกต้อง ๆ อยู่ทุกกระเบียดนิ้ว อย่างมาจากกรุงเทพฯ มาสวนโมกข์ก็รู้ว่ามันเป็นการกระทำที่ถูกต้องอยู่ทุกวินาทีที่รถไฟวิ่งมา แล้วเดินเข้ามา หรือมา มานั่ง มานั่งสักว่านั่งนี่ก็เรียกว่าความถูกต้องแล้ว พร้อมแล้วที่จะฟัง ทีนี้ก็ฟัง ฟังอย่างดีฟังให้ได้ประโยชน์ ก็ถูกต้องแล้วในการฟัง จำได้เข้าใจก็ถูกต้องแล้วในการจำได้เข้าใจ แล้วก็เอาไปประพฤติปฏิบัติ ประพฤติปฏิบัติถูกต้องอยู่ตลอดเวลา คนก็เกิดขึ้นมาเป็นชีวิตเย็น ถูกต้องทางร่างกาย มีอาหารกินมีปัจจัยไอ้นุ่งเครื่องใช้เครื่องสอยบำรุงรักษาร่างกายกำจัดโรคภัยไข้เจ็บถูกต้อง นี่ถูกต้องทางกาย นี้ถูกต้องทางจิต ดำรงจิตไว้ถูกต้องไม่มีความผิดพลาดในทางฝ่ายจิต นี้มันก็เลยสมบูรณ์ เป็นขั้นตอนที่สมบูรณ์ ดังนั้นขอให้จำไว้ว่าไอ้ความถูกต้องมีสองขั้น ถูกต้องทางฝ่ายวัตถุ ฝ่ายวัตถุ ฝ่ายร่างกายนั้นก็ได้ผลไปตามแบบนั้น ถูกต้องฝ่ายจิตฝ่ายวิญญาณก็ได้ผลไปตามแบบนี้ เอามารวมกันเข้าทั้งสองอย่างเป็นความถูกต้องที่สมบูรณ์ เรียกว่าเป็นคนเต็ม The Man Perfected น่ะ เขาใช้เป็นคำแปลของพระอรหันต์ คำว่าพระอรหันต์คือคนที่มีความถูกต้องเต็มเปี่ยม ไม่มีปัญหา เหลือแต่ชีวิตที่บริสุทธิ์ เย็น ชีวิตบริสุทธิ์ เย็น เย็น เย็น กว่าจะถึงเวลาตาย เข้าโลง นี่ชีวิตที่ถูกต้อง แล้วมันจบลงด้วยอาการอย่างนี้
นี่คือเรื่องของธรรมะเป็นอย่างนี้ เรื่องของความมีธรรมะก็เป็นอย่างนี้ เราจงรู้จักธรรมะ แล้วทำตัวเองให้มีธรรมะ เป็นธรรมะชีวี จะเรียกอย่างอื่นก็ได้ แต่เรียกอย่างงี้มันง่าย มันฟังง่าย และมันเป็นคำที่มีพูดมีใช้กันอยู่แล้ว ว่าธรรมะชีวี ธรรมะชีวี มีชีวิตอยู่ด้วยธรรมะ ธรรมะคือความถูกต้องทุกขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการ มันก็เลยเป็นชีวิตที่มีความถูกต้องทุกขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการไม่มีปัญหาอะไร เรียกว่าได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ในการที่เกิดมาเป็นมนุษย์ เรารู้จักตัวเองให้ถูกต้องว่ามนุษย์นี่ควรจะได้อะไร ควรได้อันนี้ ได้ผลของความถูกต้องทุกขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการของความเป็นมนุษย์ มีลมหายใจอยู่ทุก ๆ ครั้งด้วยความรู้สึกว่าถูกต้อง ถูกต้อง ถูกต้อง มี ฉันมีแต่ความถูกต้อง ควบคุมไว้มีแต่ความถูกต้อง แล้วก็พอใจ ๆ ถูกต้อง พอใจ ถูกต้อง พอใจ เมื่อพอใจแล้วมันก็เป็นสุขเองแหละ มันไม่ต้องจะคิดว่าจะเป็นสุขอะไรกัน ถ้ามันพอใจแล้วมันก็เป็นสุขเอง นี่เป็นกฏของธรรมชาติ ถ้าพอใจอย่างไหนก็จะเป็นสุขอย่างนั้น พอใจโง่ ๆ ก็เป็นสุขอย่างโง่ ๆ พอใจอย่างหลอกลวงก็เป็นสุขอย่างหลอกลวง ถ้าพอใจอย่างถูกต้องบริสุทธิ์ผุดผ่องก็มีความสุขอย่างถูกต้องบริสุทธิ์ผุดผ่อง ความสุขต้องมาจากความพอใจเสมอ ความพอใจมันก็มีได้จากผลของการปฏิบัติที่เราประพฤติกระทำอย่างถูกต้อง เรื่องจบ นี่เรื่องธรรมะและธรรมะชีวี ธรรมะคือความถูกต้อง ธรรมะชีวีคือเป็นอยู่ด้วยความถูกต้อง ให้มีสติกำหนดความถูกต้องอยู่เสมอ นี่เป็นกรรมฐานอย่างประเสริฐเลิศที่สุด ขอยืนยันว่าอย่างนี้ กรรมฐานอย่างไหนก็ตามใจเถอะ ยังไม่ จะไม่สู้กรรมฐานชนิดที่มีความถูกต้องเป็นอารมณ์ มีสติกำหนดความถูกต้องเป็นอารมณ์อยู่เสมอ เมื่อนั้นแหละเป็นผู้มีกรรมฐานมีภาวนา มีสมถกรรมฐาน มีวิปัสสนากรรมฐาน มีจิตสงบเห็นความถูกต้องเห็นความเป็นจริงอยู่ เมื่อทำ ทำกรรมฐานอย่างนี้แล้วจะเป็นกรรมฐานทั้งหมด กรรมฐานที่เพ่งต่อความถูกต้องเป็นอารมณ์นั้นจะเรียกว่า ธรรมานุสติ ก็ได้ ธรรมานุสติ มีธรรมะเป็นอนุสติ เป็นพุทธานุสติก็ได้ เพราะมีพระพุทธเจ้าผู้เป็นเจ้าแห่งความถูกต้องเป็นอารมณ์ จะสังฆานุสติก็ได้ เพราะพระสงฆ์ก็มีความถูกต้องว่าเป็นเนื้อเป็นตัวอยู่ จะเรียกว่าอะไรก็ได้ที่มันเป็นความถูกต้อง เรียกว่าเรามีสติกำหนดความถูกต้องเป็นอารมณ์อยู่ตลอดเวลา เป็นกรรมฐานดีเลิศประเสริฐกว่ากรรมฐานใด ๆ จะตื่นอยู่ก็กำหนดความถูกต้องได้ พอหลับก็แล้วไปมันก็ไม่มีเรื่อง พอตื่นขี้นมามันก็ติดต่อด้วยความถูกต้อง หลับลงไปด้วยความถูกต้อง หลับอยู่มันก็ปิดหยุดชั่วคราว ตื่นขึ้นมาก็รับเอาความถูกต้องต่อเนื่องกันไป ก็ชีวิตนี้มันมีแต่ความถูกต้อง ดังนั้นขอให้ดำเนินชีวิตเป็นธรรมะชีวี อย่างนี้ได้ด้วยกันทุกคน แล้วการเกิดมานั้นจะไม่เป็นหมัน การได้เกิดมาเป็นมนุษย์จะไม่เป็นหมันจะได้รับสิ่งที่ดีที่สุด แล้วการศึกษาเล่าเรียนของพวกคุณจะไม่เป็นหมัน แม้จะได้ปริญญาเอกหรือยิ่งกว่าเอกสักเท่าไร ๆ ถ้ามันไม่มีความสงบสุขได้มันก็เป็นหมัน มันก็ยังเป็นหมัน พวกปริญญาเอกมันก็ฆ่าตัวตายกันปีละกี่คนมันก็รู้อยู่ เพราะมันโง่ต่อการที่จะดำรงชีวิต ฉะนั้นมันจึงช่วยไม่ได้หรอก เพียงแต่ความรู้เพียงเท่านั้นมันช่วยไม่ได้ มันจะช่วยได้ก็เพียงแต่ให้หากินสบาย ทำงานน้อยได้เงินมาก แต่ถ้าไปลุ่มหลงเข้าไปอีกก็ยิ่งหนัก หนักเข้าไปอีก จะมีความทุกข์ทรมานเพราะว่าความได้ดิบได้ดีนั้นแหละ จนเป็นบ้า จนนอนไม่หลับเพราะเหตุนั้น ฉะนั้นตั้งจิตไว้เสียให้ถูกต้อง ทำชนิดที่เป็นความถูกต้อง ไม่ ไม่ต้องเรียกว่าดีก็ได้ ถ้าดีมันเผลอ มันเผลอเป็นหลงไหลได้ง่าย เอาแต่ว่าถูกต้อง ๆ มันไม่เผลอ มันไม่หลงไหล ทั้งเรื่องดีเรื่องชั่วนี่ต้องระวังนะ ไอ้ความดีนั่นแหละมันยั่วให้เตลิดเปิดเปิงเป็นเลยขอบเขตที่ควรกระทำก็ได้ ถ้าหลงไหลในความดีแล้วมันก็นอนไม่หลับด้วยเหมือนกัน เพราะมันเป็นสิ่งที่มีฤทธิ์มีเดชมีอะไรของมันอย่างนั้น ดังนั้นเราแต่ความถูกต้อง ความถูกต้องอยู่ตรงกลางระหว่างชั่วระหว่างดี ความถูกต้องนี่มันสมดุล ความถูกต้องนี่ไม่เป็น positive ไม่เป็น negative ถ้าคุณจะเข้าใจมันให้ถูกต้องแล้วคุณจงมองในแง่นี้ว่าความถูกต้องนี้ไม่ ไม่เป็น positive ไม่เป็น negative เป็นความสมดุลอยู่ตรงกลาง แล้วมันก็ไม่ติดซ้ายติดขวามันไปตรงกลางเรื่อยไป ไปถึงจุดหมายปลายทาง หรือว่าถ้าเรามีความถูกต้องเป็นหลักอยู่ในใจแล้ว เราจะไม่มองโลกนี้ในแง่ร้ายและไม่มองโลกนี้ในแง่ดี จะมองโลกนี้แต่ในแง่ของความถูกต้อง มองหาแต่ความถูกต้องและดำเนินไปในความถูกต้อง มองในแง่ร้ายมันก็เป็นทุกข์เพราะมองในแง่ร้าย มองในแง่ดีมันก็ยั่วให้หลงติดหลงไหลมัวเมาในเรื่องดี มันก็เป็นทาสของความดี แล้วมันก็เป็นเรื่องอันตรายเหมือนกัน ไม่เป็นทาสของความชั่วไม่เป็นทาสของความดี อยู่ตรงกลางคือความถูกต้องนั่นแหละเป็นความถูกต้อง สำหรับสิ่งที่มีชีวิตจะรอดอยู่อย่างสงบเย็น
เอาละเป็นอันว่าเราได้พูดกันถึงเรื่องธรรมะอย่างเพียงพอแล้วว่าเป็นความถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ทุกขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการของเขา แล้วเราก็ได้พูดกันเรื่องธรรมะชีวี คือบุคคลที่สามารถจะมีความถูกต้องอยู่ในชีวิตของเขาทุกขั้นทุกตอน เรื่องธรรมะกับเรื่องธรรมะชีวีนี่มีใจความอย่างนี้ ถ้าท่านผู้ใดเข้าใจรับเอาไปปฏิบัติได้ก็ยืนยันว่าหมดเท่านั้นแหละ เรื่องมันที่จะต้องทำมันหมดเท่านั้นแหละ มันไม่มีปัญหาอะไรเหลืออยู่ ดังนั้นต่อไปนี้ขอให้มีความรู้สึกว่าถูกต้อง ถูกต้องทุกขั้นตอน ในห้องเรียนก็ทุกขั้นตอน ทุกวินาทีล่วงไป ๆ ด้วยความรู้สึกว่าถูกต้อง ที่บ้านก็ทุกวินาทีทุกอย่างล่วงไปด้วยความถูกต้อง เดินทางอยู่ก็ล่วงไป ๆ ด้วยความถูกต้องทุกวินาที เป็นคนหมดปัญหาเป็นมนุษย์ที่ไม่มีปัญหาใด ๆ เป็นมนุษย์ที่ได้รับสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ คือได้รับชีวิตที่เย็น เย็น เย็น เย็นอยู่ทุกลมหายใจเข้าออกจนตลอดชีวิต นี่ถ้าเข้าใจเรื่องนี้ก็จะเข้าใจเรื่องธรรมะ ไม่เสียทีที่มาสวนโมกข์ ก็จะคุ้มค่าที่มาสวนโมกข์ ไม่เสียค่ารถเปล่า ไม่เสียเวลาเปล่า ถ้าไม่ได้เรื่องเหล่านี้ไปมันก็ไม่คุ้มค่า แล้วก็จะเรียกว่าไม่มาถึงสวนโมกข์ ถ้าไม่เข้าใจเรื่องโมกข์ เรื่องหลุดพ้นแล้วก็ไม่มาถึงสวนโมกข์ ถ้าเข้าใจเรื่องหลุดพ้นของจิตของชีวิตแล้วนั้นน่ะคือมาถึงสวนโมกข์ แล้วก็จะได้อะไร ๆ จากสวนโมกข์ไป คุ้มค่าของการมา
การบรรยายนี้ก็สมควรแก่เวลาแล้ว ขอแสดงความยินดีต้อนรับท่านทั้งหลายผู้มาสู่สถานที่นี้ แล้วเมื่อได้มานั่งพูดจากันอยู่กลางดินซึ่งเป็นอาสนะของพระพุทธเจ้า แล้วก็ได้พูดกันถึงเรื่องที่ดีที่สุดสำคัญที่สุดสำหรับมนุษย์ คือเรื่องความถูกต้อง และจะเป็นผู้มีชีวิตอยู่ด้วยความถูกต้อง และเจริญอยู่ด้วยความสุขสวัสดีทุกทิพาราตรีกาล เทอญ
อุบาสิกา : ขออนุญาตถามได้มั้ยเจ้าคะ (นาทีที่ 1:17:08)
ท่านพุทธทาสภิกขุ : ได้
อุบาสิกา : คือเท่าที่ฟังผ่านมาทั้งหมดตั้งแต่เมื่อวานกลางคืนแล้วก็เช้านี้นะคะ หนูเห็นว่ามีหลาย ๆ จุดหลาย ๆ คำที่มีส่วนเกี่ยวข้องกัน จึงอยากจะเรียนถามเพื่อให้แน่ใจอีกทีว่าที่เข้าใจนี้ถูกต้องแล้วไหม หรือไม่ การที่พูดกันแล้วก็หนังสือที่อ่านหลายเล่มพูดถึงเรื่องจิตว่างแล้วก็จิตปกติ เออ, เมื่อคืนนี้พระอาจารย์วรศักดิ์ได้พูดถึงว่าช่วยเหลือผู้อื่นหรือว่าทำงาน มองอะไรหลาย ๆ อย่างด้วยใจที่อยู่ตรงกลาง ไม่แกว่งไปซ้ายหรือขวา อันนั้นเป็นจิตปกติ ทีนี้เช้านี้พูดถึงเรื่องความถูกต้องว่ามันจะไม่ทำอันตรายแก่ตนเองและไม่ทำอันตรายแก่ผู้อื่น จะให้บังเกิดผลดีแก่ตนเองและผู้อื่น และก็ถูกต้องไปหมดทุกเรื่อง ถ้าสมมติว่าเราจับมาดูด้วยกัน คำว่าจิตว่าง จิตปกติ ความถูกต้อง หรือคำว่าอุเบกขาอะไรพวกนี้ จะเป็นไปในทางเดียวกันไหมคะ
ท่านพุทธทาสภิกขุ : อ้าว, คุณยังไม่เข้าใจ ถ้าคุณเข้าใจ คุณจะมองเห็นว่าเป็นเรื่องเดียวกัน ถ้าไม่ถูกต้องมันว่างไม่ได้ มันจะอุเบกขาไม่ได้
อุบาสิกา : ค่ะ ทีนี้มีพูดถึงเรื่องการไม่เชื่อผู้อื่น พวกเรื่องกาลามสูตรนะคะ ถ้าหากว่าเราไม่เชื่อผู้อื่นหรือว่าไม่ฟังคนอื่นบ้าง เออ, พยายามที่จะตัดสินทุกอย่างหรือว่ามองอะไรด้วยตัวเอง ประสบอะไรมาแล้วถึงจะตัดสิน อันนั้นจะเป็นส่วนที่ก่อให้เกิดความรู้สึกที่เป็นตัวกูของกูมากขึ้นไหมคะ มีอหังกาไหมคะ
ท่านพุทธทาสภิกขุ : เดี๋ยวถ้าด้วย ด้วยโอหังไม่เชื่อด้วยโอหัง มันก็เป็นเรื่องตัวกูของกู ที่ว่าฟังผู้อื่นนั้นไม่ได้ห้าม ไม่ได้ห้ามว่าอย่างฟังผู้อื่น แล้วก็ไม่ได้ห้ามว่าอย่าเอามาคิดดู มันก็ฟังผู้อื่นได้ แต่ไม่เชื่อทันที ไม่เชื่อทันที ต้องเอามาใคร่ครวญดูจนเห็นจริงว่าไอ้ที่พูดนั้นทำไปแล้วมันจะมีประโยชน์จริงมันจึงจะเชื่อ หรือถ้าดีกว่านั้นก็ลองปฏิบัติดูก่อน ถ้ามันได้ผลดีจริง ๆ ค่อยเชื่อ ไม่ได้ห้ามนะว่าอย่าฟังผู้อื่นน่ะ ไม่ได้ห้ามนะว่าอย่าเปิดดูพระไตรปิฎก ก็มันก็เปิดดูได้ แต่ไม่เชื่อทันที เท่านั้นแหละ
อุบาสิกา : ค่ะ ที่ ที่ถาม เรียนถามอย่างนี้เพราะว่า เห็นว่าปกติแล้วพวกเรามักจะมีความรู้สึกว่าเราไม่รู้จริงเพราะฉะนั้นต้องฟังคนอื่น ซึ่ง--
ท่านพุทธทาสภิกขุ : ก็ฟังสิ ก็ฟังแล้วยังไม่เชื่อ เอามาใคร่ครวญจนเห็นว่ามีเหตุผล แล้วลองปฏิบัติดู ถ้าได้ผลดีจึงเชื่อก็แล้วกัน
อุบาสิกา : ค่ะ อีกอย่างหนึ่งนะคะ ที่ ที่ผ่าน เรียนผ่านมาจนถึงวันนี้ บอกว่านิพพาน สิ่งทั้งหลายในโลกนี้อยู่ด้วยอาศัยปัจจัยปรุงแต่ง มีนิพพานเท่านั้นที่ไม่มี ไม่มีการอาศัยปัจจัยปรุงแต่ง แล้วก็ไม่ ไม่อยู่เหนือเหตุและผล หรือเปล่าคะ คือ ถ้า ถ้าเป็นอย่างนั้น อยากจะขอให้เปรียบเทียบกับพรหมของ ของฮินดู ซึ่งเขาบอกว่า มันอยู่ของมันเองไม่เกิดขึ้นมาจากเหตุหรือผลใดทั้งสิ้น
ท่านพุทธทาสภิกขุ : นั่นน่ะ เขาก็ว่าอย่างนั้น (นาทีที่ 1:20:26 มีเสียงคำถามแทรก) เขาก็ว่าอย่างนั้น เขาก็ว่าอย่างนั้น เรา เรา เรา เราจะ เราก็ไม่ต้องไปคัดค้านเขา ถ้าเขามีอย่างนั้นได้ก็ได้ แต่เราเห็นว่าถ้ายังมีความรักความพอใจความไอ้ยึดถือในสิ่งใดอยู่แล้วก็จิตนั้นไม่หลุดพ้น จะเป็นพรหมไปไม่ได้ แม้ยึดถือในตัวเอง
อุบาสิกา : แล้วก็อย่างตอนนี้นะคะพวกที่เป็นฆราวาส ถ้าหากว่ามาดูถึงเรื่องนิพพานว่า คือเราพวกเราอยู่ในฐานะที่ว่าอยู่กับสิ่งแวดล้อมที่เป็นปัจจัยปรุงแต่งทั้งสิ้น อ่า, ไม่ได้แยกตัวออกมาต่างหาก อยู่ อยู่ไปในโลก จะทำยังไงถึงจะให้โลกกับธรรมไปด้วยกันได้ดี อย่าง อย่างเช่นตัวเองสอนทางด้าน คือเรียนเรียนมาแล้วก็สอนทางด้านเศรษฐกิจด้วย แล้วก็เค้ามองว่าคนแต่ละคนมีความสนใจ มีความสนใจของตัวเอง พยายามที่จะให้ได้ประโยชน์มาของตนก่อน เป็น self-interest แต่ว่าดูเหมือนว่าการสอนในทางโลกนี้มัน มัน มันสวนทางกับทางธรรม ซึ่งให้มองจิตใจของตัวเองเป็นหลักก่อนแล้วก็พยายามปรับปรุงหรือว่าพัฒนาจิตใจตัวเอง ถ้าหากว่าเราไปทำตัวเอง เปลี่ยนปรับปรุงพัฒนาจิตใจตัวเอง แล้วก็สอนให้คนอื่นพัฒนาจิตใจของเขาด้วย แต่ว่าการปฏิบัติในทางโลกนี้มัน มันไม่เสริมเลยค่ะ มันสวนทางกันแล้วมันรู้สึกว่า ถ้าทำอยู่นี่ก็มีแต่ว่าไม่ไม่ได้--
ท่านพุทธทาสภิกขุ : นั่นน่ะมันเป็นเพราะว่าไอ้การสอนเรื่องโลกน่ะมันสอนไม่ถูกต้อง ถ้าสอนเรื่องโลกอย่างถูกต้องแล้วมันจะไม่หลงโลก เท่าไร ๆ มันก็จะไม่หลงในโลก แล้วปัญหาก็จะไม่เกิด เดี๋ยวนี้ไอ้ความรู้ในโลกเรื่องโลกที่สอนกันอยู่อย่างเต็มที่น่ะมันมักจะเป็นไปในทางให้หลงโลก หลงความร่ำรวยหลงความสุขสนุกสนานหลงความมีหน้ามีตามีเกียรติยศชื่อเสียงหลงความเป็นใหญ่เป็นโต นั้นมันสอนผิด มัน ๆสอนให้หลงไปในโลก ถ้าสอนเรื่องโลกให้รู้โลกจริงแล้วมันก็ไม่ ไม่ต้องหลงในโลก มันก็เป็นเรื่องนิพพานได้ นิพพานนั้นก็มีชีวิตอยู่ในโลกนี้แหละ มีร่างกายอยู่ในโลกนี่แต่มันไม่มีความทุกข์กับโลก มันอยู่เหนือโลกเหนืออิทธิพลของโลกโดยประการทั้งปวง ไม่ต้องฆ่าตัวตายหรือไม่ต้องหนีไปอยู่ที่ไหน ยังคงอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยอะไรทุก ๆ อย่างนี้ แต่ทุกอย่างนั้นมันทำอะไรไม่ได้ มันทำให้รักไม่ได้ มันทำให้โกรธไม่ได้ทำให้เกลียดไม่ได้ ทำให้กลัวไม่ได้ ทำให้อาลัยอาวรณ์อะไรก็ไม่ได้สักอย่างเดียว นี่คืออยู่อย่างเป็นนิพพาน อยู่ท่ามกลางกองไฟ แต่หาจุดเย็นได้ในท่ามกลางกองไฟ
อุบาสิกา : ที่ ที่เรียนถามอย่างนี้เพราะว่าที่เห็นได้ชัดคือปัจจุบันนี้สอนให้มีการวางแผนล่วงหน้าน่ะค่ะ แล้วอย่างทางธรรมนี่จะบอกว่าให้คำนึงถึงปัจจุบันเท่านั้นแล้วทำให้ดีที่สุด มันก็เลยดูว่ามันเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกันอย่างมาก (นาทีที่ 1:23:36)
ท่านพุทธทาสภิกขุ : ฟังมาเขาฟังไม่ถูก (นาทีที่ 1:23:37) วางแผนล่วงหน้านั่นก็มัน ถ้า ถ้าวางแผนถูกมันก็ทำให้เป็นความถูกไปหมดทั้งปัจจุบันทั้งอนาคต เพราะว่าถ้ามันถูกเดี๋ยวนี้มันก็จะถูกไปหมด ที่นี้ถ้าว่าเราเป็นการงานชนิดที่ยาวมันก็ต้องมีการกำหนดว่าจะทำอะไร จะทำอะไร จะทำอะไร ให้มันถูกต้องไปก็แล้วกัน ถ้าทางโลกก็ถูกต้องอย่างทางโลก ทางธรรมก็ถูกต้องอย่างทางธรรม มีแผนการที่จะก้าวหน้าไปในทางธรรม ก็ไม่เป็นไร ถ้าต้องการผลประโยชน์ทางโลกก็อย่าให้ผิด ให้มันถูกกับเรื่องที่ควรจะต้องการ แล้วก็วางแผนให้มันเป็นไป เป็นไป เป็นไป ตามลำดับ มันจะได้เสร็จเรื่องโลก พ้นโลก และเหนือโลก วางแผนล่วงหน้านั้นไม่ใช่ว่าจะต้องเป็นเรื่องวิตกกังวลหนักอกหนักใจไปเสียหมด ถ้าว่าวางแผนด้วยสติปัญญาสัมมาทิฏฐิ อย่าวางแผนด้วยความโลภ อย่าวางแผนด้วยอุปาทานยึดมั่นถือมั่น มีสติปัญญาเห็นชัดว่าจะต้องไปกันอย่างไร ไปกันอย่างไร ไปกันอย่างไร ไปสู่จุดที่ดับทุกข์ทั้งปวง นี่วางแผนอย่างนี้ไม่ใช่กิเลส ไม่ใช่กิเลสตัณหา ไม่ใช่ว่าวางแผนรวยแล้วโกงอย่างไรเอาเปรียบอย่างไร นั่นน่ะวางแผนอย่างนั้นมันวางแผนด้วยกิเลสตัณหา ทีนี้วางแผนว่าจะละกิเลสอย่างไรจะฆ่ากิเลสอย่างไรนี่มันไม่ใช่กิเลสตัณหา ในธรรมะมีความถูกต้องที่พิสูจน์อยู่ในตัวเอง ไม่เป็นไรหรอก คุณไปคิดแต่มัน ถ้ามันเข้ารูปกันแล้วมันจะไม่ข้ามกัน แล้วมันก็จะเป็นไปได้ ความถูกต้องมันมีแต่เพียงอย่างเดียว คือ ดับทุกข์ได้ ถ้าดับทุกข์ไม่ได้แม้ว่าจะวิเศษวิโสอย่างไรทางไหนมันก็ไม่ควรจะถือว่าเป็นความถูกต้อง คำว่าถูกต้องนี้ถูกต้องสำหรับวิญญูชนที่มีสติปัญญา คือความถูกต้องนั่นแหละ แต่ถ้าเอาอันธพาลมาเป็นหลักมันก็ถูกต้องของอันธพาล เราก็รับด้วยไม่ไหว นั่นมันความถูกต้องของอันธพาล อันธพาลอาจพูดว่ามีหน้าที่ปล้นจี้ขโมยถูกต้องของฉัน ก็เอาไปสิ ก็เป็นธรรมะของคนอันธพาล เราเอาด้วยไม่ได้
อุบาสิกา : อุเบกขาทำได้ยากนะคะ
ท่านพุทธทาสภิกขุ : หา,
อุบาสิกา : อุเบกขา
ท่านพุทธทาสภิกขุ : อุเบกขาหลายความหมาย
อุบาสิกา : หรือพรหมวิหาร ๔ นี่ค่ะ พอจะทำได้ ๓ ข้อ แต่ข้อสุดท้ายรู้สึกทำได้ยากมาก
ท่านพุทธทาสภิกขุ : โอ้, คงจะเข้าใจผิด เข้าใจผิด เมตตารักใคร่ กรุณาสงสารช่วยเหลือ มุทิตายินดีด้วย อุเบกขาคอยจ้องดูอยู่ว่าเดี๋ยวนี้ช่วยไม่ได้แล้วเมื่อไหร่จะช่วยได้จะช่วย คอยจ้องดูอยู่ว่า จ้องดูอยู่เฉย ๆ นะว่า เมื่อไรมันจะช่วยได้แล้วก็จะช่วย ไม่ใช่เฉยชนิดที่ไม่ทำอะไรแล้วไปนอนหลับเสีย อุเบกขานี่มีคำอธิบายยาก มีหลายความหมาย แต่ถ้าในพรหมวิหารนี้แล้วก็ขอให้เป็นว่า เมื่อเดี๋ยวนี้ช่วยไม่ได้ใช่ไหม ก็จ้องดูอยู่ว่าเมื่อไหร่จะช่วยได้ ก็จะช่วยทันที ถ้าอุเบกขาในสัมโพชฌงค์นั้นมันอีกอย่างหนึ่ง เมื่อทำอะไรถูกต้องหมดแล้วก็รอดูอยู่เฉย ๆ กว่ามันจะออกผล นั้นมันอุเบกขาในสัมโพชฌงค์ ถ้าอุเบกขาในพรหมวิหารนี่ คอยดูอยู่ว่าเมื่อไหร่จะช่วยได้ฉันจะช่วย แต่เวลานี้มันช่วยไม่ได้นี่จะทำอย่างไร แล้วยังมีอุเบกขาอย่างอื่นอีก หลายความหมายอุเบกขานี่
คนที่เป็นหัวหน้า เมื่อตะกี้ที่เอาปัจจัยไปถวายน่ะ ใครน่ะ คนไหน ผู้ชาย ให้เต้ไปเอา เอาหนังสือที่พระด้วย เขาเตรียมไว้ให้
อุบาสิกา : ท่านคะ คำว่า ราคะกับโมหะ นี่นะคะมันแตกต่างกันอย่างไรคะ
ท่านพุทธทาสภิกขุ : ราคะ กับ อะไรนะ
อุบาสิกา : โมหะ น่ะค่ะ
ท่านพุทธทาสภิกขุ : อ้อ,
อุบาสิกา : โมหะ โมโหหรือเปล่าคะ
ท่านพุทธทาสภิกขุ : ราคะน่ะมันจะเอา โมหะน่ะมันไม่ ไม่รู้ว่าจะเอาดีหรือไม่เอาดี มันได้แต่หลงไหลสงสัยอยู่ กิเลสน่ะจำได้ จำได้ง่าย ๆ ว่า มีโลภะ โทสะ โมหะน่ะ โลภะหรือราคะนี่มันจะเอาเข้ามาเพราะถูกใจ ส่วนโทสะนั้นมันจะปัดออกไปเพราะมันโกรธมันเกลียด มันอยากจะทำลาย ส่วนโมหะน่ะไม่รู้ว่าอย่างไรแน่ แต่ว่าน่าสนใจ สงสัย สนใจอยู่นั่นแหละ บางทีก็เห็นว่าดีบางทีก็เห็นว่าร้ายอยู่แต่มันก็ตัดสินลงไปไม่ได้ เป็นความไม่รู้ คล้ายกับวิ่ง ๆ อยู่รอบ ๆ อย่างนี้ ราคะหรือโลภะน่ะเอาเข้ามาหาตัว โทสะหรือโกรธะน่ะตีออกไป ทำลายเสีย ส่วนโมหะน่ะมันทำอะไรไม่ถูกได้แต่วิ่งอยู่รอบ ๆ เปรียบเทียบอย่างนี้แล้วก็แยกกันได้ ทั้งหมดมาจากอวิชชา คือไม่รู้สิ่งเหล่านั้นอย่างถูกต้อง ทำให้หลงจะเอาบ้าง หลงจะทำลายบ้าง หลงด้วยความสงสัยลังเลอยู่บ้าง มาจากอวิชชา ความไม่รู้สิ่งทั้งปวงตามที่เป็นจริง
อุบาสิกา : ใน ๓ ตัวนี้อันไหนมันร้ายที่สุดคะ
ท่านพุทธทาสภิกขุ : แล้วแต่กรณี มันร้ายตามหน้าที่ของมัน เอ้า,
อุบาสิกา : แล้วตัณหา อุปาทานล่ะค่ะ (นาทีที่ 1:30:18)
ท่านพุทธทาสภิกขุ : ความอยาก คือ ตัณหา อุปาทาน คือ มีความรู้สึกว่าตัวกูเป็นผู้อยากจะได้มาเป็นของกู มีตัณหาแล้วต้องมีอุปาทาน มีความอยากเต็มที่แล้วก็จะเกิดความรู้สึกว่ามีผู้อยาก ผู้อยากน่ะคืออุปาทาน ตัณหาอุปาทานมาติด ๆ กัน ถ้าตัณหาเป็นไปถึงที่สุดก็จะเกิดอุปาทาน คือ ผู้อยาก มีความอยากแล้วจะเกิดความรู้สึกว่ามีผู้อยาก อยากเอามาเป็นของกู ดังนั้นความรู้สึกว่าตัวกูหรือของกูนั้นเรียกว่าอุปาทาน ส่วนตัณหานั้นอยาก ๆๆๆๆๆๆ อยากอย่างนั้นอย่างนี้
เอ้า, ถึงเวลา เอ้า, ปิดประชุม