แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ในการพูดกันครั้งสุดท้ายนี้ ขอให้ตั้งใจฟังให้ดีเพราะจะเป็นการพูดอย่างรวบยอด หรือว่าอย่างส่งท้ายอย่างสรุปก็ได้แล้วแต่จะเรียก เมื่อเป็นเรื่องสำคัญแน่นอนจึงได้เอามาพูดเป็นเรื่องสุดท้ายสำหรับเป็นหลักใช้ทั่วไปตลอดกาลเลยก็ว่าได้ และเป็นที่สรุปหมดของทุกเรื่อง คือทุกๆเรื่องที่จะพูดต่อไปหรือพูดมาแล้ว และมันก็สรุปอยู่ในเรื่องนี้ เป็นเพียงคำพูดคำเดียว ถ้าเข้าใจถือเอาไว้ได้จะเป็นผลมาก จะมีผลมาก
ท่านลองทายดูก่อนก็ได้ว่าจะพูดว่าอะไร จะได้แก่คำว่าอะไร อาตมาเชื่อว่าคงทายผิด ไม่เชื่อก็ลองทายดูก่อนสิว่าอาตมาจะพูดว่าอะไร คำเดียวสำหรับหมดทุกเรื่อง เอ้า!ทายแล้วนะ จะบอกว่าคำเดียวคำนั้นคือคำว่าผัสสะ ถูกไหม? ใครทายถูกบ้าง? คือเรื่องผัสสะ
เรื่องนี้เป็นเรื่องครอบหมดในบรรดาธรรมะ ธรรมะศึกษา ธรรมะปฏิบัติ ธรรมะอะไรก็ตาม มันไปรวมอยู่ที่คำๆเดียว เหมือนกับเป็นขั้วของเรื่อง เป็นต้นขั้วของเรื่องคือคำว่าผัสสะ เหมือนกับมีคำให้ท่องจำง่ายๆเกี่ยวกับผัสสะนี้ว่า ความทุกข์เกิดที่จิตเพราะผิดเรื่องผัสสะ ความทุกข์จะไม่โผล่ถ้าไม่โง่เรื่องผัสสะ ความทุกข์เกิดไม่ได้ถ้าเข้าใจเรื่องผัสสะ ให้มันไปรวมอยู่ที่คำว่าผัสสะคำเดียว ก็เหลืออยู่แต่ว่ารู้จักหรือเปล่าว่าไอ้เรื่องผัสสะนั้นคืออะไร คำว่าผัสสะๆนี้คืออะไร
ที่จริงก็เคยได้ยินได้ฟังอยู่เป็นประจำแต่อาจจะไม่สนใจก็ได้ คำว่าผัสสะแปลว่ากระทบ ความหมายกลางๆแปลว่ากระทบ ในภาษาธรรมะนี่หมายถึงกระทบทางตา กระทบทางหู กระทบทางจมูก กระทบทางลิ้น กระทบทางผิวหนัง ทั้งกระทบทางใจเอง รวมเป็น ๖ ทาง
ไอ้ ๖ ทางนี้เป็นเรื่องที่ต้องศึกษาเบื้องต้นเบื้องแรกเลยทีเดียว ผัสสะก็เกิดมาจากการกระทบ ๖ ทางนี้ ถ้าจะเรียนกันอย่างถูกต้องแท้จริงก็ให้ถือว่า ในเรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่มันคือ ก. ข. ก. ข. ก.กา หรือ เอ บี ซี ก็ได้ของพระพุทธศาสนา เรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นเรื่อง ก ข ก.กา คือเรียนทีแรกของพุทธศาสนา
เพราะมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันจึงมีผัสสะ มีอะไรมากระทบทางตาก็เรียกว่าผัสสะทางตา กระทบทางหูเรียกว่าผัสสะทางหู เมื่อมีรูปข้างนอกมากระทบตาก็เกิดการเห็นทางตา มีเสียงมากระทบหูก็เกิดความรู้สึกทางหู ได้ยินทางหู มีกลิ่นมากระทบจมูกก็รู้สึกทางจมูก รู้กลิ่นทางจมูก มีรสมากระทบลิ้นก็รู้รสทางลิ้น กระทบผิวหนังก็รู้สึกสัมผัสผิวหนัง กระทบจิตก็รู้สึกที่จิต ไอ้ความรู้สึกทั้งหมดนี้เราเรียกว่าวิญญาณ
อายตนะข้างนอกมากระทบอายตนะข้างในก็เกิดวิญญาณ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ มากระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็เกิดจักษุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ นั่นแหละ ก ข ก.กา ก็แจกรูปก็ได้อย่างนั้น
ทีนี้ตรงที่มันรู้สึกกันอยู่ ทำหน้าที่รวมกันอยู่ รู้สึกกันอยู่ระหว่าง ๓ สิ่งนี้ จะทางตา ตาด้วย รูปด้วย จักษุวิญญาณด้วย ทำหน้าที่รวมกันอยู่ ก็คือจักษุวิญญาณมันรู้สึก รูปโดยตาทางตา เรียกว่า ๓ สิ่งถึงกันอยู่เรียกว่าผัสสะ เนี่ยกระทบทางตา ทางหูก็เหมือนกัน ในหูด้วย มีเสียงด้วย แล้วมีโสตวิญญาณเกิดขึ้นแล้วก็มาถึงกัน แล้วโสตวิญญาณมันรู้สึกต่อเสียงอยู่ทางหูเรียกว่าผัสสะทางหู นี่ก็มีผัสสะทางจมูก ผัสสะทางลิ้น ผัสสะทางผิวหนัง ผัสสะทางจิตเองใจเองก็เรียกว่าผัสสะ ทั้งหมดนั้นน่ะ ทั้งหมด ๖ อย่างนั้นน่ะก็เรียกว่าผัสสะคำเดียว
นี่บางคนอาจจะยังไม่รู้ว่าไอ้ผัสสะตัวเดียว สิ่งเดียวนี่เป็นที่ออกมาของเรื่องทั้งหมด ต้องรู้จักผัสสะด้วยจิตใจของตนเองเสียก่อนสิว่าเมื่อมีผัสสะ รู้สึก รู้จักมัน อย่าฟังแต่คำพูดหรือหนังสือเพราะทุกคนมีผัสสะอยู่ทุกวัน แทบจะตลอดวันน่ะ ไม่ตาก็หู ไม่หูก็จมูก ลิ้น กาย ใจมีอยู่ ฉะนั้น ขอให้ทำความรู้จักกับผัสสะตัวจริงโดยตรงเสียก่อน อย่าสักแต่ว่าเป็นคำพูด
เอ้า! ทีนี้ก็ดูผัสสะว่ามันเป็นจุดรวมของทั้งหมดอย่างไร เอาตามที่พระพุทธเจ้าตรัส เช่นว่ากรรม กรรม การกระทำนี่มันก็เกิดจากผัสสะ ผัสสะต้องการ ผัสสะกันแล้วต้องการอะไรมันก็ทำกรรมอย่างนั้นแหละ เราไปสัมผัสอะไรเข้า ถูกใจมันก็ทำกรรมที่จะเอา ไม่ถูกใจมันก็ทำกรรมที่จะทำลาย จึงกล่าวได้เป็นครั้งแรกว่า ผัสสะให้เกิดการกระทำ เกิดการกระทำ กรรม กรรมทั้งหลาย กรรมดี กรรมชั่ว ไม่ดี ไม่ชั่ว กรรมทั้งหลายทั้งหมดทั้งสิ้น เล็ก ใหญ่ อะไรก็ตาม ผัสสะนั้นเป็นต้นเหตุให้กระทำ เราไปผัสสะอะไรเข้าแล้วมันก็รู้สึกค่าของสิ่งนั้นแล้วมันก็อยาก แล้วมันก็ทำ นี่เรียกกันว่าไอ้กรรมทั้งปวงมีผัสสะเป็นปัจจัย
นี้จะให้ละเอียดเข้าก็มาว่าสังขาร สังขารคือความคิด การปรุงแต่งทางจิตในรูปของความคิดเรียกว่าสังขาร เราไปผัสสะอะไรเข้า แล้วเราจะเกิดความคิดที่เกี่ยวกับผัสสะนั้น ก็เรียกว่าการปรุงแต่งทางจิตคือสังขารที่เกิดมาจากผัสสะ หรือว่ากาม ทีนี้จะหมายถึงกาม กรรมแล้วก็กาม อารมณ์ของกามคือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่น่าพอใจ ไอ้ตัวกามเองคือกิเลสที่รัก พอใจ กำหนัดไปตามความตริตรึก กำหนัดพอใจไปตามอำนาจของความตริตรึกๆๆนั่นแหละ นั่นคือตัวกิเลสกาม
มันต้องมีผัสสะในสิ่งใดที่เป็นที่ถูกอกถูกใจ พอใจ เป็นที่ชอบใจ มันก็เกิดความรู้สึกที่เป็นกามในภายใน แล้วก็แสวงหาเหยื่อของกามภายนอกคือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่เป็นที่พอใจ ถ้าไม่มีผัสสะความรู้สึกที่เป็นกามเกิดไม่ได้ นี่จึงพูดได้ว่ากามทั้งหลายมาจากผัสสะ เกิดจากผัสสะ
ทีนี้ที่มันละเอียดไกลกว่านั้นก็ว่าเวทนาเกิดจากผัสสะ นี้เป็นบทที่ได้ยินได้ฟังกันอยู่แล้วว่าเพราะมีผัสสะก็มีเวทนา นี่เกือบไม่ต้องอธิบายแล้วกระมัง พอมีผัสสะก็มีเวทนา สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขอสุขเวทนา คือถ้ามีเวทนามันก็มีตัณหา มีความอยากไปตามความหมายของเวทนา เวทนาพอใจก็อยากได้ เวทนาไม่พอใจก็อยากฆ่าอยากทำลาย เวทนาที่ยังไม่รู้ว่าอะไรก็สงสัยติดพันไปตามเรื่อง
นี่พูดได้ว่าเวทนาทั้งหลายมาจากผัสสะหรือตัณหาทั้งหลายก็มาจากผัสสะ เวทนาน่ะคือสิ่งที่เลวร้ายในทางบังคับมนุษย์ไสหัวไสคอมนุษย์ให้ไปทำอะไรได้ตามหน้าของเวทนา ถ้าเวทนาเกิดตัณหา ตัณหาก็เป็นเครื่องชักจูงไป ตัณหาก็มาจากผัสสะ เวทนาก็มาจากผัสสะ
นี้สัญญา สัญญา ความสำคัญอะไรว่าเป็นอะไร สำคัญมั่นหมายด้วยความจำก็ได้ ด้วยความหมายมั่นก็ได้ สัญญาว่าเป็นนั่นเป็นนี่ มันก็มาจากผัสสะ สัญญาว่าสุขก็มาจากผัสสะที่พบสุขเวทนา สัญญาว่าทุกข์ก็มาจากผัสสะที่เป็นทุกขเวทนา ถ้าสัญญาว่าผู้หญิงก็เพราะสัมผัสผู้หญิง สัญญาว่าผู้ชายก็เพราะสัมผัสผู้ชาย สัญญาทั้งหลายมีหลายสิบอย่างหลายร้อยอย่างล้วนแต่มาจากผัสสะ คือ การกระทบ
ทีนี้ก็มาถึงทิฏฐิ รู้สึกอย่างไร สำคัญมั่นหมายอย่างไร ก็มีทิฏฐิว่าอย่างนั้น เราสัมผัสสิ่งอะไรด้วยจิตใจ มันก็เกิดผลสรุปความว่าสิ่งนั้นเป็นอย่างนั้น สัมผัสผิดๆมันก็เกิดทิฏฐิผิดๆ สัมผัสถูกต้องก็เกิดทิฏฐิถูกต้อง ใจของเขาไปสัมผัสสิ่งใด มีผลสะท้อนออกมาอย่างไร ก็สร้างทิฏฐิเช่นนั้นแก่บุคคลนั้นๆ อย่างว่าเราสัมผัสคำสอนว่าตายแล้วเกิด หรือว่าเราสัมผัสอะไรที่ลึกไปกว่านั้นที่เป็นเหตุให้เชื่อว่าตายแล้วเกิด แล้วก็มีทิฏฐิว่าตายแล้วเกิด มันตรงกันข้ามกับตายแล้วสูญ เกิดทิฏฐิว่ามันไม่มีอะไรเลยอย่างนี่ก็ได้ แล้วแต่ว่าจิตมันไปสัมผัสเข้าที่อะไร ผิดถูกอย่างไร
ทิฏฐิทั้งหลายที่เรียกว่า ๖๒ ประการนั้นล้วนแต่มาจากผัสสะ ชั้นตื้น ชั้นลึก ชั้นละเอียด ชั้นหยาบ ล้วนแต่มาจากผัสสะ ดูจะไม่มีอะไรเหลือแล้วนะ ในที่นี้ก็จะสรุปความว่าโลก ทั้งโลกๆไม่ว่าโลกไหน โลกข้างนอก โลกข้างใน โลกหยาบ โลกละเอียด ทั้งหมดทุกๆโลกก็มาจากผัสสะ ถ้าไม่มีผัสสะต่อสิ่งนั้นๆแล้วก็ไม่มีโลก
เดี๋ยวนี้ตาของเราเห็นอะไรล่ะ คือเห็นนี่คือโลกทางตา หูได้ยินเสียงอะไรก็คือโลกทางหู จมูกได้กลิ่นอะไรก็คือโลกทางจมูก รสมีรสอย่างไรก็เรียกโลกทางลิ้น โลกทางลิ้น โลกที่สัมผัสด้วยลิ้น อะไรมากระทบผิวหนังรู้สึกนั่นแหละคือโลกที่ผิวหนังที่มากระทบผิวหนัง นี้ใจรู้สึกอย่างไรก็เป็นโลกที่ใจสัมผัสและรู้สึก หรือใจสร้างขึ้น
ถ้าไม่มีผัสสะโลกก็ไม่มี มันก็มีค่าเท่ากับไม่มี ถ้าเรามาไม่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่จะรู้จักอะไรทั้ง ๖ อย่างเหล่านี้ได้น่ะ มันก็ค่าเท่ากับไม่มีน่ะ แต่นี่เพราะมนุษย์มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จึงเกิดความรู้สึกสัมผัสทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็มีโลกขึ้นมาครบทั้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้ามันไม่มีผัสสะเพราะมันไม่มีอายตนะตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันก็ไม่มีผัสสะ แล้วโลกนี้ก็ไม่มี ก็เท่ากับไม่มี แม้ว่ามีอยู่ก็เท่ากับไม่มี
เอาล่ะถ้าสมมุติว่าใครสักคนหนึ่ง มันยังไม่ตายหรอก แต่ว่าตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจทั้ง ๖ อย่าง ถ้ามันไม่ทำหน้าที่ มันก็คือไม่มีโลกนั่นเอง งั้นจึงว่าโลกโลกทั้งหมด โลกทั้งปวงก็มาจากผัสสะ อย่างนี้พระพุทธเจ้าตรัสว่าไอ้โลกทั้งปวงมันอยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ โลกนรกก็อยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ โลกสวรรค์ก็อยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทุกโลก
โลกทั้งหมดก็มาจากผัสสะ มีต้นเหตุมาจากผัสสะ เป็นสิ่งที่ ข้อนี้เป็นสิ่งที่ต้องเห็นด้วยปัญญา เพียงแต่อ่านหนังสือเห็นหนังสือนี้มันไม่ถึงตัวจริงหรอก ต้องเห็นด้วยปัญญา อย่างว่าผัสสะให้เกิดกรรมคือการกระทำ ว่าผัสสะให้เกิดสังขารการปรุงแต่งการคิดการนึก ซึ่งเป็นเหตุให้ทำซ้ำอย่างนี้ ว่าผัสสะเป็นเหตุให้เกิดกาม กามมีความหมายมีคุณค่าเพราะว่ามันมีผัสสะ ผัสสะให้เกิดเวทนา สุขทุกข์แล้วก็ผัสสะก็เลยให้เกิดตัณหาไปตามเวทนานั้น ผัสสะให้เกิดสัญญาความมั่นหมายอย่างไร มั่นหมายที่ไหน มั่นหมายเมื่อไหร่ มันก็เพราะมีผัสสะ นี่ผัสสะให้เกิดสัญญา ผัสสะเกิดทิฏฐิ ความคิด ความเห็นตามที่มันจะสัมผัสได้อย่างไร เหมือนกับตาบอดคลำช้างน่ะ คลำถูกตรงไหนมันก็มีความคิดความเห็นว่าช้างมีรูปร่างอย่างนั้น
ในที่สุดบนโลกทั้งปวงมาจากผัสสะ เป็นโลกขึ้นมาได้ก็เพราะว่ามันมีผัสสะคือมีการกระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั้นทุกอย่างนี่สรุปเหลือคำเดียวว่าผัสสะ ความทุกข์ก็เกิดมาจากผัสสะ ความไม่ทุกข์ก็เกิดมาจากผัสสะที่กระทำถูกต้อง ฉะนั้น จึงให้หลักเกณฑ์ว่าความทุกข์เกิดที่จิตเพราะทำผิดเรื่องผัสสะ ความทุกข์จะไม่โผล่ถ้าไม่โง่เรื่องผัสสะ ความทุกข์เกิดไม่ได้ถ้าเข้าใจเรื่องผัสสะ นี่เรื่องผัสสะคำเดียวแต่มันครอบไปหมดทุกเรื่อง
ทีนี้ที่ต้องดูก็คือเมื่อมีผัสสะนั้นน่ะ มันเป็นผัสสะโง่หรือเป็นผัสสะฉลาด ในขณะแห่งผัสสะนั้นมันมีวิชชาหรือมันมีอวิชชา วิชชาแปลว่าความรู้แจ้งที่ถูกต้อง อวิชชาแปลว่าไม่มีความรู้แจ้งที่ถูกต้อง ถ้าในขณะผัสสะเรามีวิชชาความรู้แจ้งที่ถูกต้องก็เรียกผัสสะนั้นว่าเป็นผัสสะฉลาด เป็นผัสสะลืมตา แต่ถ้าว่าในขณะนั้นมันไม่มีวิชชาเสียเลยมันก็มีโง่เป็นผัสสะ โง่เป็นผัสสะหลับ มันก็ตรงกันข้าม ผัสสะตื่นหรือผัสสะวิชชามันก็ทำถูกต่อไป ถ้าผัสสะอวิชชาโง่มันก็ทำผิดต่อไป ถ้าทำผิดต่อไปมันก็ได้ไปพบกันกับความทุกข์ ถ้าทำไม่ผิด ทำถูกตามเรื่องตามราวตามกรณีแล้วมันก็ไม่เกิดทุกข์
นี่จึงบอกว่าความทุกข์เกิดที่จิตเพราะทำผิดเรื่องผัสสะ คือเมื่อผัสสะ ความทุกข์จะไม่โผล่ถ้าไม่โง่เมื่อผัสสะ เธอเอาไปสังเกตดูให้ดี ถ้าเราไม่โง่ในขณะที่เป็นผัสสะหรือมีผัสสะแล้วไม่ต้องกลัว ไม่มีความทุกข์ไหนเกิดขึ้นมาได้ เพราะความฉลาดในขณะผัสสะมันจัดให้ทำถูก ให้เป็นไปถูก เป็นไปอย่างถูกต้อง การกระทำก็ดี การพูดจาก็ดี การคิดก็ดี มันถูกไปหมดมันก็เลยไม่เกิดทุกข์ เพราะฉะนั้นทุกข์ไม่มีทางจะเกิด เกิดไม่ได้ถ้าเราเข้าใจเรื่องผัสสะอย่างครบถ้วน
นั้นเลยพูดได้ว่ามันเป็นเรื่องเดียว คำเดียวและเรื่องเดียวนั่นเป็นเรื่องของทั้งหมด แต่มันอาจขยายความออกไปได้มากเรื่องจนกระทั่งว่า ๘๔,000 เรื่องในพระไตรปิฎกไปรวมจุดอยู่ที่ผัสสะ ต้นตอของมันอยู่ที่ผัสสะ จะเกิดวิชชาหรือเกิดอวิชชาก็ต้องเมื่อมีผัสสะ ถ้ายังไม่มีผัสสะมันก็ไม่มีโอกาสที่จะเกิดวิชชาหรืออวิชชา หมายความว่า อวิชชาจะปรากฎหรือไม่ปรากฎก็มันเมื่อผัสสะ วิชชาจะปรากฎหรือไม่ปรากฎก็มันเมื่อผัสสะ ถ้ามันเป็นโอกาส มันเป็นเวลา เป็นที่ หรือเป็นแดนอะไรก็ตามที่จะให้วิชชาให้อวิชชาแสดงบทบาทออกมา
บางคนอาจจะคิดว่าเราโง่เมื่อไหร่ก็ได้ เราฉลาดเมื่อไหร่ก็ได้ มันไม่ได้หรอก มันจะมีได้ต่อเมื่อมีผัสสะเท่านั้น ก็ถ้าไม่มีผัสสะมันไม่มีเรื่อง ถ้าไม่มีเรื่องเราก็ไม่รู้สึก ไม่คิด ไม่นึกอะไร มันโง่หรือฉลาดไม่ได้ พอมีผัสสะก็มีเรื่องมีเหตุให้ต้องคิด ต้องนึก ต้องกระทำ ต้องอะไร ไอ้ความผิดถูกมันก็จะเกิดขึ้นที่นี่ ไอ้ความรู้หรือความไม่รู้มันก็จะเกิดขึ้นที่นั่นในขณะแห่งผัสสะ ถ้ามีวิชชามามันก็เป็นผัสสะลืมตา ถ้าไม่มีวิชชามา อวิชชามันก็เข้าสวมแทนมันก็เป็นผัสสะหลับตาคือโง่ คือมืด คือบอด
ฉะนั้น ขอให้ทุกคนเข้าใจข้อนี้ แล้วรู้ให้ดีว่าเป็นเวลาที่สำคัญที่สุดที่เราจะต้องระมัดระวังอย่าให้เผลอ อย่าให้พลาดได้ ถ้ามีผัสสะแล้วให้มีสติ เพราะว่าสตินั่นแหละจะเป็นสิ่งที่ขนพาเอาวิชชามา ถ้ามีสติมันก็จะเปิดโอกาสให้วิชชาเข้ามาในผัสสะ ถ้าไม่มีสติก็เป็นโอกาสของอวิชชาที่จะเข้ามาผสมกับผัสสะ ถ้าเรามีสติให้ทันเวลาเมื่อมีผัสสะ ซึ่งมันก็เร็วเหมือนกับสายฟ้าแลบ เร็วเหมือนกับสายฟ้าแลบ ก็ต้องมีสติทันกับเวลา
จงสังเกตดูเถิด พอมีอะไรมากระทบนี่เราไปรู้สึกตัวต่อเมื่อเรารักไปแล้ว เราโกรธไปแล้ว เราเกลียดไปแล้ว เรากลัวไปแล้ว หรือว่ากระทั่งเราไปทำอันตรายเขาเข้าเสียแล้ว มันไม่รู้สึกตัวในขณะผัสสะทันเวลาสายฟ้าแลบ มันมีอวิชชาเกิดขึ้น มีตัณหาเกิดขึ้น มีการกระทำเกิดขึ้นแล้ว แล้วก็ไปรับผลของการกระทำแล้วจึงไปรู้สึก ต้องไปร้องไห้เสียใจทีหลัง เพระว่ามันควบคุมผัสสะไม่ทัน
ฉะนั้น การที่ฝึกสติไว้ให้มาก ให้พอ ให้เร็วนั่นน่ะจะช่วยได้ ไปศึกษาเรื่องฝึกสติ ฝึกสติไว้ให้มาก ให้เร็ว แล้วจะมาทันในเวลาผัสสะ ผัสสะนั้นก็จะเป็นผัสสะของวิชชา เป็นผัสสะที่ประกอบอยู่ด้วยความรู้อันถูกต้อง มันก็ปรุงไปในทางที่ไม่เกิดทุกข์ ถ้าเราไม่มีสติเลยก็หมายความไม่ได้รู้สึกระลึกอะไรได้เลย มันก็หลับ มันก็หลับ คือโง่ไปตลอดกาล มันก็ปรุงไปในทางเกิดทุกข์ นี่คือสิ่งที่เป็นไปตามธรรมชาติธรรมดาสามัญในชีวิตของคนเราทั้งโลก ทั่วโลก ทุกหน ทุกแห่ง ทุกโลกด้วยซ้ำไป
โลกเทวดาก็เหมือนกันน่ะ ถ้าฉลาดไม่ทันเวลาแล้วก็ ก็ต้องเกิดเรื่องคือเป็นทุกข์ ภาษิตฝรั่งสอนเด็กๆก็เหมือนกันเลย ข้อนี้ Be wise in time ฉลาดให้ทันแก่เวลา แต่เขาสอนกันเรื่องอื่นๆต่ำๆนะ แต่มาใช้กับเรื่องสูงสุด ในพระพุทธศาสนาก็ได้ คือฉลาดทันเวลาของผัสสะ ถ้าควบคุมผัสสะได้มันก็เป็นไปแต่ในทางถูกต้อง นี่เป็นเรื่องทั้งหมดเห็นไหม ทุกเรื่องมันอยู่ที่นี่ที่เราจะได้ทุกข์ ได้สุข มันก็อยู่ที่ว่าทำผิดทำถูกเกี่ยวกับผัสสะ ทุกเรื่องมันรวมสรุปได้ว่าเป็นเรื่องที่ดีหรือไม่ดีนะ มันก็อยู่ที่ผิดหรือถูกเมื่อผัสสะ แต่พูดว่าดีหรือไม่ดีนี่ไม่ค่อยจะปลอดภัย ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ในทางภาษา พระพุทธเจ้าท่านไม่ค่อยพูดหรอกว่าดีหรือไม่ดีท่านไม่พูด ท่านพูดว่าเป็นทุกข์หรือไม่เป็นทุกข์อย่างนี้แน่นอนกว่า ชัดกว่า จะไม่เรียกว่าดีหรือไม่ดี แต่เรียกว่าเป็นทุกข์นี่พวกหนึ่ง แล้วก็ไม่เป็นทุกข์นี่พวกหนึ่ง
ฉะนั้น จะเป็นทุกข์หรือจะไม่เป็นทุกข์ก็เพราะว่าทำผิดหรือทำถูกเกี่ยวกับเรื่องผัสสะนี้เอง ขอให้มองเห็นเป็นสันทิฏฐิโก ไม่ใช่อ่านหนังสือที่เขาเขียนหรือฟังพูดที่อาตมาพูดอย่างนั้น อย่างนี้ยังไม่เป็นสันทิฏฐิโก ต้องไปศึกษาลงไปที่เรื่องของมันจริงๆ ผัสสะจริงๆ แล้วก็เห็นผัสสะจริงๆ เห็นการปรุงแต่งของผัสสะจริงๆ ถึงกับสะดุ้ง นี่เรียกว่าเห็นอย่างเป็นสันทิฏฐิโก เห็นด้วยความรู้สึกแห่งใจ สัมผัสด้วยใจ รู้รสแห่งสิ่งเหล่านั้นเรียกว่าเห็น ไม่ใช่ดูด้วยตาหรอก ไอ้ดูด้วยตาก็เป็นส่วนประกอบส่วนหนึ่ง แต่ถ้าเห็นในความหมายของสันทิฏฐิโก อะกาลิโกล่ะก็ ต้องรู้สึกด้วยใจต่อสิ่งนั้นๆ
ไปทำความรู้จักกับสิ่งที่เรียกว่าผัสสะกันเสียทุกๆคน ทุกๆท่าน ที่แล้วมาเข้าใจว่าไม่เคยสนใจและไม่เคยรู้จักสิ่งที่เรียกว่าผัสสะในลักษณะอย่างนี้ด้วยซ้ำไป จึงว่าต่อไปนี้ก็ขอให้ไปทำความรู้จักกับสิ่งที่เรียกว่าผัสสะเสียให้ถูกต้องและให้เพียงพอ คือให้สมบูรณ์ ไม่ใช่ขาดๆหย่อนๆนั้นใช้ไม่ได้ ต้องให้สมบูรณ์ ที่เรียกว่าเพียงพอแล้วก็ถูกต้องด้วย ทั้งถูกต้องและทั้งเพียงพอแล้วก็ใช้ได้ บางทีถูกต้องแต่ไม่เพียงพอก็มี รู้อะไรต้องรู้ให้ถูกต้องแล้วรู้ให้เพียงพอ
ฉะนั้น ไปรู้จักกับสิ่งที่มันอยู่กับเนื้อกับตัวกับชีวิต ทุกวัน วันหนึ่งไม่รู้กี่สิบครั้งกี่ร้อยครั้ง เดี๋ยวผัสสะทางตา เดี๋ยวผัสสะทางหู แล้วก็เรื่องที่จะมาให้ผัสสะก็มากมายหลายสิบหลายร้อยอย่าง ในชีวิตประจำวันมันก็มีผัสสะหลายสิบอย่างหลายร้อยอย่าง แล้วก็ผัสสะทุกทีโง่ทุกทีใช่ไหม นี่จะเป็นนิสัยเสียแล้วน่ะ ผัสสะทุกทีมันโง่ทุกที วัดๆด้วยอะไร ถ้าไปชอบใจก็โง่ ถ้าไม่ชอบใจก็ไม่โง่ ก็โง่น่ะ ชอบใจก็โง่ไม่ชอบใจก็โง่ ทำไมจะต้องไปโง่ให้ชอบใจ หรือไปโง่ให้ไม่ชอบใจล่ะ งั้นผัสสะของเราดูเหมือนจะได้ผลแต่อย่างนี้ทั้งนั้นน่ะ ไม่ได้ทำให้ฉลาดขึ้น น้อยครั้งที่ว่าผัสสะมันจะทำให้เราฉลาดขึ้น ผัสสะมีแต่ทำให้เราชอบใจไม่ชอบใจ
ดังนั้น จึงต้องขอโอกาสพูดว่าผัสสะทุกทีแล้วก็โง่ทุกที โง่จนเป็นนิสัย นิสัยที่จะยินดียินร้าย นิสัยที่จะชอบใจ นิสัยที่จะไม่ชอบใจ มันมีเสียแต่อย่างนี้ มันเหมือนเช่นนั้นเอง เช่นนั้นเอง กูไม่เอากับมึง กูไม่ยินดียินร้ายกับมึง ทำไมไม่เกิดผัสสะอย่างนี้บ้างล่ะ นี่มันเป็นผัสสะด้วยวิชชาสูงสุดเพราะศึกษาเรื่องเช่นนั้นเองมาเพียงพอ เรื่องอิทัปปัจจยตาน่ะศึกษาให้เพียงพอเหอะ หรือจะเรียกว่าตถาตาก็ได้มันเรื่องเดียวกัน มันจะทำให้เห็นมันเช่นนั้นเอง เรื่องดี เรื่องชั่ว เรื่องได้ เรื่องเสีย เรื่องแพ้ เรื่องชนะ เรื่องขาดทุน เรื่องกำไร กี่ร้อยกี่พันเรื่องมันเป็นแต่กระแสเรื่องอิทัปปัจจยตาแหล่ะ เป็นเช่นนั้นเอง
เราไม่ไปยินดีให้เสียเวลา ไม่ไปยินร้ายให้เสียเวลา ถ้ามันอร่อยที่สุดก็มันเท่านั้นเองแหละ มันเช่นนั้นเองน่ะ มันอร่อยก็เป็นเช่นนั้นเอง เราไม่ไปยินดีกับมันเพียงแต่รู้ว่ามันอร่อยก็พอแล้ว ถ้ามันไม่อร่อยก็มันเช่นนั้นเองน่ะ จะไปโกรธขัดใจกับมันทำไม เป็นเช่นนั้นเอง เรื่องได้ เรื่องเสีย เรื่องแพ้ เรื่องชนะ เรื่องกำไร เรื่องขาดทุน อีกกี่ๆๆเรื่องกี่ๆๆคู่ ดูเหมือนในหนังสือจิตวิทยาของพวกฝรั่งเขารวมๆเอาไว้เป็นคู่ๆที่สำคัญๆประมาณ 37 คู่ ยังไม่หมดหรอกยังไม่หมด เขาเอามาแต่ที่น่าสนใจน่าศึกษา 37 คู่ นับตั้งแต่ว่าเรื่องได้ เรื่องเสีย เรื่องแพ้ เรื่องชนะ เรื่องขาดทุน เรื่องกำไร เรื่องเสียเกียรติ เรื่องมีเกียรติ นี่เป็นคู่ๆๆๆ ที่มันเกี่ยวข้องกันอยู่กับมนุษย์ ทุกคู่มันเรื่องหลอกให้โง่ทั้งนั้นแหละ หลอกให้โง่
ฝ่าย positive ก็หลอกให้โง่ ฝ่าย negative ก็หลอกให้โง่ปล่อย negative มันมีแต่ positive กับ negative ในความรู้สึกของคนธรรมดา มันไม่มีตรงกลาง ไม่มีตรงกลางว่าเช่นนั้นเอง ไม่ยินดีไม่ยินร้ายไม่มีความหมาย positive หรือ negative คนนั้นก็พลอยเป็นคนที่ไม่ยินดีไม่ยินร้ายไป ไม่เป็น optimist เห็นแต่รู้สึกแต่ด้านดีไม่เป็นเท็จ pessimist รู้สึกแต่ด้านเลว นั้นน่ะคือคนโง่ ทั้งคู่ ทั้ง pessimist และ optimist ก็คือคนโง่ มองไปเห็นด้านเดียวด้านใดด้านหนึ่งว่าดี ว่าไม่ดี ว่าชั่ว ว่าดี ไอ้คนฉลาดก็จะมองเห็นว่าเช่นนั้นเอง มันเช่นนั้นเอง บางทีเขาจะมองเห็นว่าไม่มีอะไรที่จะดีโดยส่วนเดียว แต่ชั่วโดยส่วนเดียวก็ไม่มี
เพราะว่าสิ่งเดียวกัน ถ้าเรามองในแง่หนึ่งมันไม่ดี ถ้ามองในแง่หนึ่งมันดีก็มีน่ะ คือมันมีประโยชน์ก็มี งั้นจะไปบัญญัติว่าอะไรดีโดยเด็ดขาดอะไรชั่วโดยเด็ดขาดน่ะมันไม่ถูกแน่ มันมองด้านเดียวเกินไป แต่ถ้ามองถูก มองถูกที่สุดแล้วก็มองว่า โอ้!มันเช่นนั้นเอง มันเช่นนั้นเอง เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าจึงไม่ไปหลงรักอะไร ไม่ไปหลงเกลียดอะไร เรียกในภาษาธรรมะว่าไม่ยินดีไม่ยินร้าย ธรรมะชั้นละเอียดเขาเรียกว่าไม่มีอภิชฌา ไม่มีโทมนัส ในบาลีมหาสติปัฎฐานสูตรท่านใช้คำคู่ๆนี้ว่าไม่มีอภิชฌา ไม่มีโทมนัส
อภิชฌาคือเพ่งเล็งจะเอา ส่วนโทมนัสนี่ขอให้กลับ ขัดใจ แห้งใจ เป็นทุกข์ มันมีอยู่ที่ว่าจะยื่นเข้าไปเอาหรือจะถอยกลับมาเสียใจ คู่ๆมันมีอย่างนั้น ถ้าเป็นผู้รู้เรื่องผัสสะดีแล้วจะไม่รู้สึกอย่างนั้น เขาจะรู้สึกว่ามันเช่นนั้นเอง มันมีกฏเกณฑ์ของการเป็นเช่นนั้นเอง ถ้าเราต้องการอย่างไรเราก็ทำให้มันถูกเรื่องอย่างนั้น เรื่องเช่นนั้น ของๆชนิดนั้น คือทำให้ถูกกับเรื่องตถาตาของฝ่ายนั้น หรืออิทัปจจยตาของฝ่ายนั้น นั้นก็จะได้ตามที่จะได้ ทีนี้มันมีอยู่แต่ว่าได้มาทำไมน่ะ ได้มารักหรือได้มาโกรธ ได้มาเสียใจ ได้มาดีใจ มันก็ไม่ถูก งั้นเอาแต่ว่ามันมีประโยชน์ที่ควรจะได้แล้วก็ทำ มันก็ได้ถ้าทำถูกตามกฎของอิทัปปัจจยตา
แต่ถ้ามันมีผิดพลาดโดยไม่รู้ตัว มันก็ไม่ได้ ก็ไม่เดือดร้อนอะไร มันก็เป็นเช่นนั้นเองเหมือนกัน ก็ทำใหม่ ก็แก้ไขใหม่ให้ถูกต้องตามกฏของอิทัปปัจจยตา มันก็ต้องได้ แต่ว่ามันมีความละเอียดลึกลงไปอีกทีหนึ่งว่า ไอ้คำว่าได้ๆเนี่ยไม่ใช่ความจริง ไม่ใช่ความฉลาดความจริง มันเป็นความคิดของจิตที่ยังมีตัวตน ถ้ามันมีตัวตนแล้วมันจะรู้สึกว่าได้หรือไม่ได้ ไอ้เรื่องได้หรือเรื่องไม่ได้นี่ก็ใช้ไม่ได้ทั้งนั้นแหละ ยังโง่อยู่ดีน่ะ ฉะนั้นต้องมีจิตรู้สึกอยู่เหนือความได้หรือความไม่ได้ ก็เห็นว่ามันเป็นเช่นนั้นเอง
ถ้าเราต้องการจะเอามากินก็ทำให้ถูกกับเรื่องได้มาแล้วก็กิน กินแล้วก็ไม่ต้องมีว่า ไม่มีปัญหาว่าอร่อยหรือไม่อร่อย ถ้าอร่อยก็เช่นนั้นเอง ไม่อร่อยก็เช่นนั้นเอง มันได้ประโยชน์ตรงที่ว่ากินเข้าไปแล้วหล่อเลี้ยงร่างกายให้มันตั้งอยู่ได้ ให้ชีวิตรอดอยู่ได้ เขาจึงมีแต่ปกติ จิตปกติ จิตเป็นกลางๆ จิตเป็นปกติ เลยไม่มีปัญหายินดียินร้าย ไม่ต้องเสียใจ ไม่ต้องดีใจ
ดีใจก็เป็นบ้าชนิดหนึ่ง เสียใจก็เป็นบ้าชนิดหนึ่ง ไม่ค่อยดูกันให้ดีๆ แล้วก็ชอบดีใจกันนัก หัวเราะจนไม่รู้จะหัวเราะกันยังไง ก็มันไม่รู้ว่าดีใจนั้นคืออะไร ถ้าดูให้ดีก็จะรู้สึกว่าเป็นความกดดันชนิดหนึ่งมันจึงดีใจ ดีใจแล้วก็เหนื่อยๆๆเพราะดีใจ แล้วก็เสียใจมันก็ความกดดันตรงกันข้ามแล้วก็เหนื่อยๆๆเพราะเสียใจ ดีใจนักก็กินข้าวไม่ลง เสียใจนักก็กินข้าวไม่ลง นี่เรียกว่ามันบ้าเท่ากัน ไอ้ความดีใจหรือความเสียใจน่ะอย่าเอากับมันเลย เอาอยู่ที่ตรงกลางซิ มันก็เช่นนั้นเอง ทำไมจะต้องไปดีใจเสียใจ ไอ้ที่ความหมายแปลกออกไปอย่างเช่นว่าเกลียด หรือโกรธ หรือกลัว
คือกลัวอย่างนี้ก็ไม่ต้องกลัวหรอก ให้ผีมันออกมาในหน้าตาอย่างไรมันก็เช่นนั้นเอง ตามกระแสอิทัปปัจจยตาเช่นนั้นเองของผีมันก็เช่นนั้นเอง แล้วจะต้องไปกลัวผีทำไมล่ะ ให้ผีที่น่าเกลียดน่ากลัวชนิดไหนโผล่ออกมา ฉันก็ไม่ได้กลัวหรอกเพราะมันเช่นนั้นเอง มันเป็นอิทัปปัจจยตาในรูปแบบนั้นเอง ก็ไม่ต้องกลัวซิ นี่ถ้าว่ารู้แห่งธรรมะตถาตาหรืออนัตตาก็ตาม มันจะไม่กลัวผี ไม่กลัวอะไรทุกอย่างทุกประการ ไม่เกลียดอะไร ไม่กลัวอะไร
ถ้าถึงที่สุดมันไม่ขยะแขยงอะไรในสิ่งที่น่าเกลียด น่าสกปรกขยะแขยงมันก็ไม่มี มันพ้นไปจากความรู้สึกว่าสกปรกหรือสะอาด แต่เรื่องนี้พูดไปเดี๋ยวจะไม่มีใครเชื่อก็ได้หรือไม่มีใครต้องการก็ได้ แล้วมันจะให้โทษก็ได้ แต่ถ้าว่าพูดไปตามกฏเกณฑ์ของอิทัปปัจจยตาแล้ว มันไม่มีเรื่องสกปรกหรือเรื่องความสะอาด ฉะนั้น ความรู้สึกว่าสกปรกหรือความรู้สึกว่าสะอาดมันมีแต่ในคนที่ยังไม่เห็นอิทัปปัจจยตา คือคนธรรมดาๆนี่แหละ แต่ถ้ามันเลวมากกว่านั้นมันก็เห็นสกปรกเป็นสะอาด เห็นสะอาดเป็นสกปรกกลับกันเสียก็ได้ ถ้ามันถูกต้องแท้จริงแล้วมันก็ไม่มีความหมายว่าสกปรกหรือสะอาด
ดังนั้นเราจึงไม่ดีใจไม่เสียใจ ไม่มีอะไรเกี่ยวกับเรื่องสกปรกหรือเรื่องสะอาด แต่ถ้าเรามองเห็นว่าไอ้เรื่องสกปรกมันให้โทษ เราก็ไม่ เราก็ทำไม่ให้ๆโทษก็แล้วกัน แต่ไม่ได้เกี่ยวกับว่าสะอาดหรือสกปรก ถ้าจะปล่อยให้สกปรกแล้วสกปรกมันเกิดโรคเกิดให้โทษ มันก็ป้องกันในส่วนนั้น แต่ไม่หลงใหลในคำว่าสะอาดหรือสกปรกสำหรับจะอวดกัน
เรื่องสวยเรื่องไม่สวยก็เหมือนกัน มันไม่ได้อยู่ที่นั่น มันอยู่ที่ไม่เป็นทุกข์ก็แล้วกัน ถ้าไปหลงเรื่องสวยมันก็เป็นทุกข์แบบหนึ่ง ไปหลงเรื่องไม่สวยมันก็เป็นทุกข์แบบหนึ่ง นี่มันสัมผัสผิดมันเกิดทิฏฐิผิดเพราะการสัมผัสในสิ่งนั้นๆที่เรียกว่าผัสสะเป็นเหตุให้เกิดทิฏฐิ อย่างนั้นก็เป็นทิฏฐิผิดทั้งนั้นถ้ามันไม่มีวิชชาเข้าไปรวมอยู่ด้วย
นี่เรื่องทุกเรื่องในชีวิตของมนุษย์ตลอดทุกวัน ทุกเดือน ทุกปี ทุกที่ ทุกหน ทุกแห่ง มันมีปัญหาตั้งต้นขึ้นมาจากสิ่งที่เรียกว่าผัสสะ แล้วคนเราก็จะเดือดร้อนด้วยความยินดียินร้าย ความยินดียินร้ายไม่ใช่ความสงบ แม้กระทั่งความสุขหรือความทุกข์ก็ไม่ใช่ความสงบ ถ้าไม่สุขไม่ทุกข์มันจึงจะเป็นความสงบ เหมือนเขาจี้ที่สีข้างๆซ้ายมันก็จั๊กกะจี้ จี้สีข้างๆขวามันก็จั๊กกะจี้ ถ้ามันไม่ถูกจี้ให้จั๊กกะจี้นั้นจะดีกว่า เรื่องสุขเรื่องทุกข์นี่เป็นเรื่องที่เหมือนกับมาจี้ให้เกิดความรู้สึกใน ๒ รูปแบบนั้น เราก็ไม่มีความสุขสงบสุข ไม่มีเสรีภาพ ไม่มีปกติที่จะเป็นตัวของตัวเอง มันอยู่ใต้อำนาจของกิเลส ของอวิชชา ของตัณหา ของไอ้ความโง่ ไอ้ที่มันมาจากผัสสะ นี่คือเรื่องผัสสะคำเดียว
ถ้าพูดให้จบแล้วคุณไม่ต้องไปกรุงเทพหรอก พูดตั้งเดือนก็ไม่จบ นี่พูดแต่หัวข้อของมัน มันมีอย่างนี้ รู้จักสิ่งๆเดียวเท่านั้นแหละพอ คือผัสสะที่มากระทบเราตลอดเวลาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วส่วนมากหรือทั้งหมดนั่นล่ะมันโง่ทุกที มันมาสัมผัสกระทบให้เราโง่ทุกที คือหลงยินดีหรือหลงยินร้ายมี ๒ อย่างแหล่ะ ไม่มี ถ้าไม่ได้ศึกษามาอย่างเพียงพอ ไม่รู้ โอ๊ะ! ไม่เอาๆ อย่างนั้นเองๆ ไม่ยินดีไม่ยินร้าย อย่างนี้ได้ละก็วิเศษ เรียกว่าเป็นผู้รู้เท่าทันผัสสะ ความทุกข์เกิดแก่จิตเพราะทำผิดเรื่องผัสสะ ความทุกข์จะไม่โผล่ถ้าไม่โง่เรื่องผัสสะ ความทุกข์เกิดไม่ได้ถ้าเข้าใจเรื่องผัสสะ
ทีนี้ปัญหาต่อไปอีกหน่อยที่มันเกี่ยวข้องกันน่ะ มันก็คือว่าใครเล่าที่จะเป็นผู้รู้ ผู้รู้ รู้เรื่องนี้ แต่ผู้รู้ผิด รู้เรื่องผิด รู้เรื่องถูก รู้เรื่องยินดี รู้เรื่องยินร้าย เพราะว่าจิตมันดวงเดียว จิตไม่ใช่ ๒ ดวง ดวงหนึ่งดีดวงหนึ่งชั่วคอยต่อสู้กันมันไม่มี มันมีจิตดวงเดียว บางเวลามันโง่ บางเวลามันฉลาด บางเวลามันดี บางเวลามันชั่ว จิตดวงเดียวเหมือนกับมีคนๆเดียว แล้วใครจะเป็นผู้ที่ทำให้ผิดหรือทำให้ถูก หรือจะป้องกันความผิด
มันน่าหัว เรื่องนี้มันน่าหัวตรงที่ว่าคนเดียวมันก็เป็นทั้ง ๒ ฝ่าย ไอ้ทำผิดเป็นทุกข์มันก็จิตดวงนั้น ไอ้ทำถูกไม่เป็นทุกข์มันก็จิตดวงนั้น ไอ้จิตดวงเดียวนั้นมันจะสามารถถึงขนาดทำถูกไปได้อย่างไร นี่คือการอบรมมาตั้งแต่ต้นตั้งแต่แรกๆ เราเกิดความรู้สึกผิดเกิดความรู้สึกถูกสลับกันมา แต่จะพอรู้สึกได้เองว่าถ้ามีความรู้สึกถูกมันก็ไม่มีปัญหา มันก็สบายดี แต่พอความรู้สึกผิดมันก็ผิดมันก็เกิดทุกข์ จิตดวงเดียวล่ะมันค่อยๆรู้ขึ้นมาทั้ง ๒ อย่าง
ความรู้ของจิตเขาเรียกว่าเจตสิก ค่อยๆเกิดขึ้นมาว่าอย่างนี้ผิด อย่างนี้ถูก อย่างนี้ผิด อย่างนี้ถูกเรื่อยๆมา เรื่อยๆมา จิตที่อยู่ตรงกลางดวงเดียวนั่นแหละมันค่อยๆรู้กันพร้อมขึ้นมาทั้ง ๒ อย่างจนกว่ามันจะฉลาดพอที่มันจะดำรงไว้สำหรับที่จะให้เกิดแต่ความรู้สึกถูกฝ่ายเดียว มันเป็นการสร้าง สร้างนิสัย สร้างความเคยชินว่าจะไปทางไหน จะไปทางผิดหรือจะไปทางถูก
ไอ้ข้างคนพาล อันธพาล มันก็เปิดโอกาสให้ฝ่ายผิดเรื่อยไปจนผิด ผิดเก่ง ผิดเร็ว ผิดเป็นนิสัยเลย ถ้าฝ่ายบัณฑิตมันก็ถูกๆๆๆจนเป็นนิสัยเลย นี้คนธรรมดาบางเวลาจึงเป็นคนพาล บางเวลาจึงเป็นบัณฑิต มันแล้วแต่ว่าจิตมันได้ฝ่ายข้างไหน ฝ่ายข้างพาลหรือบัณฑิตมาเป็นผู้ยึดครองเป็นผู้บัญชาการ นี่เราจะต้องฝึก ฝึกจิตนั่นแหละ ไม่ใช่เราที่ไหน เราที่นี้ก็คือจิต เมื่อจิตมันรู้อย่างนี้ จิตที่เป็นเรามันก็จะค่อยๆน้อมไปในทางที่ถูกต้องหรือไม่เป็นทุกข์ มันเกลียดความทุกข์กลัวความทุกข์ขึ้นมา คือละอายต่อความทุกข์ความชั่วขึ้นมา มันก็น้อมไปในฝ่ายที่จะเกิดความถูกต้องเพราะมันง่ายที่จะเกิดความถูกต้อง จิตชนิดนี้มันก็เดินไปแต่ในทางถูกต้อง หรือถ้ามันทำผิดพลาดไปมันก็สำนึกตัวเร็ว ทันควัน เปลี่ยนทันที สลัดไอ้เจตสิกชั่ว เจตสิกเลวออกไปจากจิต เจตสิกดีฝ่ายถูกมันก็เกิดขึ้นมาแทน มันก็กลับถูกทั้งที่ผิดมาครึ่งนึงแล้ว มันก็มีโอกาสที่จะถอยกลับมาถูก
นี่คือความยากที่สุดของธรรมะ ของการปฏิบัติธรรมะเพราะมันมีจิตดวงเดียว ไม่ใช่มีจิต ๒ ดวงที่จะคอยต่อสู้กันแล้วเราก็ถือหางไว้ข้างนึง นั้นตัวเราก็ไม่มี ตัวเรามันก็คือจิตนั่นเอง ถ้าจิตดวงเดียวแสดงละคร ๒ เรื่องพร้อมกันไปอย่างนี้มันยาก ถ้าไม่มีการฝึกฝนมาอย่างถูกต้องตั้งแต่แรกเกิดแต่อ้อนแต่ออกแล้วมันก็ยากที่จะเป็นไปแต่ในทางฝ่ายถูกต้องโดยส่วนเดียว แต่มันก็เป็นไปไม่ได้หรอกถ้ามีแต่ความถูกต้องโดยส่วนเดียวมันก็ไม่รู้จักความผิดพลาด ดังนั้นมันต้องรู้ ๒ อย่างไปพร้อมๆกันมา ทั้งดี ทั้งชั่ว ทั้งผิด ทั้งถูก ทั้งทุกข์ คู่ๆๆกันมา เมื่อมันรู้จักทั้ง ๒ อย่างดีแล้ว มันรู้จักเลือกเองหล่ะว่าฉันจะเอาแต่ฝ่ายนี้ ทีนี้มันก็รู้จักระมัดระวัง จิตก็มีนิสัยน้อมไปในทางที่จะระมัดระวัง ไม่ ไม่ปรุงไอ้เจตสิกประเภทเลวร้ายขึ้นมา
นี่พูดอย่างนี้เป็นพุทธศาสนา ไม่มีพระเจ้าที่ไหนจะมาช่วย ไม่มีเทวดาผีสางที่ไหนจะมาช่วย ไม่มีดวงดาวเคราะห์กรรมอะไรที่ไหนจะมาช่วย มันอยู่ที่ผัสสะ มันโง่หรือฉลาด แล้วจิตที่มันผ่านเวลามานานผ่านชีวิตมานาน มันก็ค่อยรู้ว่าทำอย่างไรมันจึงจะปรุงความรู้สึกที่ฉลาดขึ้นมากลายเป็นจิตที่ฉลาด เขาวางหลักไว้ให้ว่าจิตนี้เป็นกลางๆ ไม่ใช่ดี ไม่ใช่ชั่ว ไม่ใช่โง่หรือฉลาด แต่มันเป็นสภาพที่รู้ได้ รู้ได้เร็ว รู้ได้ เป็นสิ่งที่รู้ได้ รู้ผิดก็ได้ รู้ถูกก็ได้ มันมีคุณสมบัติในตัวมันเองว่ารู้เท่านั้นแหละ รู้ได้ รู้เร็ว รู้เก่ง รู้เป็นสายฟ้าแลบเลย แต่ผิดก็ได้ถูกก็ได้
ฉะนั้น จิตนี้ต้องได้รับการอบรม ใครจะมาอบรมมัน ตัวมันเองอบรมมัน ผู้อบรมกับผู้ถูกอบรมเป็นคนๆเดียวกัน เรื่องบ้าหรือเรื่องดี มาพูดให้คนฟังเขาไม่เชื่อหรอก ผู้สอนกับผู้เรียนคนเดียวกัน เรื่องบ้าหรือเรื่องดีล่ะ งั้นจิตเป็นผู้อบรมจิต จิตเลยเป็นทั้งผู้ที่จะรู้สึกและถูกรู้สึก เป็นทั้งผู้สอนและเป็นทั้งผู้เรียน นั้นชีวิตแต่หนหลังมันเป็นมาอย่างนั้น มันมีการสอนการเรียนๆมาด้วยจิตดวงเดียวจนจิตนี่มันรู้ฝ่ายที่ดับทุกข์เพิ่มขึ้นๆๆ
เด็กๆเกิดมามันรู้เมื่อไรเล่า มันไปจับแมงป่องเล่นก็ได้มันไม่รู้นี่ แต่ถ้าถูกแมงป่องต่อยเอาหรืออะไรกัดเอาทีหลังมันก็ไม่เอาแล้ว มันรู้แล้วมันฉลาดแล้วนั่นน่ะ มันเป็นอย่างนี้เรื่อยมาๆจนถึงชั้นละเอียดชั้นในจิตใจแท้ๆว่าไอ้ความคิดอย่างนี้ที่เกิดขึ้นแล้วกัดทุกที ความคิดอย่างนี้เกิดแล้วไม่กัด มันก็เลยเออรู้จักคิด รู้จักเลือกคิดแต่ในทางที่ไม่กัด ทั้งหมดนี้มันรวมอยู่ที่ว่าไอ้ผัสสะเกิดขึ้นแต่ละครั้งน่ะมันสอนจิต จิตเรียนสิ่งทั้งปวงโดยทางผัสสะ จิตเรียนโลกทั้งโลกโดยทางผัสสะ จิตเรียนอารมณ์ทั้งหลายโดยทางผัสสะ เกิดผัสสะทีหนึ่งมันก็มีเรื่องแล้ว ถ้าทำผิดมันก็กัดเอา ถ้าทำถูกมันก็ไม่กัด จิตมันก็ค่อยๆฉลาดๆขึ้นในทางที่จะไม่กัด
ดังนั้น เราจึงเว้นอะไรมาได้มากๆๆพอใช้เหมือนกันแต่ยังไม่ถึงที่สุด คือไม่อาจจะเว้นไอ้การเกิดกิเลสหรือเกิดทุกข์ได้ ดังนั้นจึงต้องมาเรียน จึงต้องมาศึกษาธรรมะในพระศาสนานี้เพื่อให้ช่วยง่ายเข้าที่จะรู้ละเอียดๆๆที่พระพุทธเจ้าค้นพบโดยการตรัสรู้และนำมาสอน ถ้าจะให้เรารู้เองก็ต้องรออีก ไม่ไหว นานเกินไป เราอาศัยการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าเราก็ได้รับความรู้มาทันที เอามาศึกษา เอามาใคร่ครวญให้มันเข้ารูปเข้ารอยแล้วดับทุกข์ได้
มันจำเป็นน่ะที่เราจะต้องเป็นสาวก เป็นสาวก สาวกก็แปลว่าผู้ฟัง ฟังสิ่งที่มีผู้พูดให้ฟังคือพระพุทธเจ้า เราเป็นสาวกแปลว่าผู้ฟัง ครั้นฟังแล้วก็เอามาศึกษา แยกแยะ ใคร่ครวญ เทียบเคียงพอเห็นลู่ทางว่าไอ้นี่ดับทุกข์ได้ น่าจะลองดูเท่านั้นแหละ แล้วก็ลองดูเถอะ แล้วก็ดับทุกข์ได้จริง แล้วก็เชื่อ เชื่อแล้วก็ปฏิบัติมากขึ้น
พระพุทธเจ้าท่านก็ไม่สอนให้เชื่อทันที สอนสาวกทั้งหลายว่าไม่ต้องเชื่อทันที เอาไปใคร่ครวญดูด้วยปัญญาอย่างดีตามที่เป็นจริงเรียกว่าสัมมัปปัญญา ยะถาภูตะสัมมัปปัญญา ปัญญาเห็นชอบตามที่เป็นจริง เอาไปใคร่ครวญดูก็จะพอมองเห็นเค้าเงื่อน และอันนี้ถ้าทำตามเขาแล้วก็ไม่เกิดทุกข์ อันนี้ทำเข้าแล้วจะเกิดทุกข์ มันพอจะเห็นเค้าเงื่อนอย่างนี้ แล้วก็ไปลองดู ไอ้ฝ่ายนั้นมันก็เกิดทุกข์จริงๆเหมือนกัน อีกฝ่ายหนึ่งมันก็ไม่เกิดทุกข์จริงๆได้เหมือนกัน แล้วมันก็เชื่อ
นี่คือความรู้ที่ตั้งต้นของผัสสะ อันสุดท้ายคือผัสสะต่อคำสอนของพระพุทธเจ้า ผัสสะต่อความจริงที่พระพุทธเจ้าท่านได้สอนให้ นี่เรียกว่าผัสสะให้เกิดสัมมาทิฐิ ให้เกิดการกระทำที่ดับทุกข์ได้ ให้เกิดทุกอย่างที่เกิดไปในทางใฝ่ดี ถ้าไม่มีผัสสะในชั้นนี้มันก็ไม่มีสัมมาทิฏฐิ มันก็ไม่มีไอ้ความแน่นอน แน่ใจ หรือต้องการที่จะดับทุกข์โดยหลักเกณฑ์อันนั้น
ผัสสะคือสัมผัส แล้วก็สัมผัสด้วยวิชชาก็ด้วยความรู้ที่ถูกต้อง ที่ได้สะสมมา ได้เล่าเรียนมา แล้วก็สติเอามาทันเวลาที่สัมผัส สัมผัสเมื่อไหร่ ที่ไหน สติจะต้องเอาความรู้ระลึกเป็นความรู้ขึ้นมาให้ทันว่ามันเป็นอย่างไร ที่แท้จริงมันเป็นอย่างไร ถ้าสติไม่ระลึกขึ้นมาไอ้ปัญญาก็เป็นหมัน เป็นหมันอยู่ก้นบึ้งไม่ขึ้นมาช่วยอะไรได้ ฉะนั้น อย่าอย่าอวดไปว่าความรู้จะช่วยได้ มันต้องมีเครื่องให้ระลึกขึ้นมาให้ทันแก่เวลานั้นคือสติ เรามีความรู้มหาศาลแต่เป็นหมันก็ได้ถ้าไม่มีสติเป็นเครื่องช่วยให้ระลึกขึ้นมาได้ทันเวลา ครบถ้วน ทุกเหตุการณ์ สติมันเป็นผู้ใช้ ปัญญาเป็นผู้ใช้ความรู้ให้เป็นประโยชน์ ถ้าไม่มีสติแล้วไอ้ความรู้ทั้งหลายก็เป็นหมัน งั้นอย่าดูถูกสติ
อาตมาเคยพูดว่าอะไรมันสำเร็จอยู่ที่สติ พวกฝรั่งบางคนเอาไปเขียนล้อก็มี ด่าด้วย ว่าพูดโง่ๆอะไรสำเร็จด้วยสติ ก็ได้เพราะเขามองกันคนละทาง อาตมามองเห็นว่าถ้าไม่มีสติแล้วปัญญาก็ไม่มีความหมายหรอก นั้นถ้าไม่มีสติเราก็ผัสสะโง่ทั้งนั้นเลย ผัสสะโง่ ผัสสะอวิชชาทั้งนั้นเลย นั้นเมื่อมีสติอยู่ผัสสะจะเป็นผัสสะลืมหูลืมตาเฉลียวฉลาดแล้วก็ไม่ทำผิด กลายเป็นว่าเครื่องคุ้มครองป้องกันที่ดีที่สุดนั้นมันจะเป็นสติมากกว่าที่จะเป็นปัญญา เพราะว่าอย่างไรเสียในสติมันก็มีปัญญาอยู่บ้างตามสมควร แต่มันไม่ใช่สิ่งเดียวกัน
ถ้าให้บัญญัติจำกัดความก็ว่าปัญญาเฉยๆเรียกว่าปัญญา ปัญญาที่เอามาใช้งานใช้การอยู่นั้นคือสติ ปัญญาที่เก็บไว้เฉยๆคือปัญญา ปัญญาที่เอามาใช้ทันเวลาของผัสสะนี่คือสติ เหมือนกับว่าเงินที่เก็บไว้ในหีบกับเงินที่เอามาซื้อของอยู่ที่ตลาดนี่มันเหมือนกันไหม คนหนึ่งมันก็เหมือนเงินด้วยกันน่ะเงินด้วยกัน แต่นี่เงินหนึ่งมันเก็บอยู่ในหีบไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร เงินนี้กำลังซื้อของกินอยู่ที่ตลาดจะเหมือนกันอย่างไรได้ นี่เป็นวิธีพูด
เราจะต้องทำให้ความรู้ของเราเหมือนกับเงินที่เอามาซื้อของอยู่ที่ตลาด ไม่ใช่ฝากไว้ในธนาคาร นั้นไอ้ความรู้ที่มันมากแล้วมันไม่มีประโยชน์อะไรก็มี มันก็ความรู้เหมือนกันคือความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอดเพราะมันใช้ไม่ได้หรือเพราะไม่ได้เอามาใช้ ระวังให้ดีเถิด คนที่มีความรู้มากท่วมหัวเป็นน้ำชาล้นถ้วย ก็ได้แก่พวกครูบาอาจารย์ทั้งนั้น พวกครูบาอาจารย์นี่มันใส่อะไรไม่ลงอีกแล้ว มันเป็นน้ำชาล้นถ้วยความรู้มันเลยท่วมหัวเลยไม่มีประโยชน์อะไร ความรู้มันท่วมหัว ท่วมหู ท่วมตา ท่วมอะไรเสียเอง นี่เพราะมันไม่มีสติ
ถ้าไม่มีสติแล้วผัสสะมันก็โง่ ผัสสะผิด เรียกว่าอวิชชาสัมผัส ผัสสะโง่เขาเรียกว่าอวิชชาสัมผัส ผัสสะฉลาดเรียกว่าวิชชาสัมผัส อันหนึ่งขึ้นด้วยคำว่าวิชชา อันหนึ่งขึ้นด้วยคำว่าอวิชชา ผัสสะโง่ผัสสะฉลาดคืออย่างนี้ ผัสสะโง่เรียกว่าทำผิดในเรื่องผัสสะ ความทุกข์เกิดที่จิตเพราะทำผิดเรื่องผัสสะ ถ้าทำถูกความทุกข์จะไม่โผล่เพราะไม่โง่เรื่องผัสสะ ที่มีสติตลอดเวลาความทุกข์เกิดไม่ได้เพราะเข้าใจเรื่องผัสสะ คำเดียวนะ จำไม่ได้ก็แย่มากนะ พูดคำเดียวแท้ๆว่าผัสสะๆคำเดียวแท้ๆ พูดส่งท้าย พูดปิดบ่อนวันนี้ปิดบ่อนเลิก พูดส่งท้าย พูดสรุป พูดเข้มข้นที่สุด
เหลือแต่คำๆเดียวว่า สิ่งที่ท่านทั้งหลายจะต้องรู้จักและควบคุมได้นั้นคือสิ่งที่เรียกว่าผัสสะ ควบคุมไม่ได้ก็เกิดทุกข์ ควบคุมได้ก็ไม่เกิดทุกข์ สติกับปัญญานี้จะควบคุมผัสสะ สติเป็นผู้ใช้ปัญญา ปัญญาเป็นเครื่องอุปกรณ์ให้สติมันใช้แล้วมันก็ควบคุมผัสสะได้ เรามีผัสสะถูกต้องแล้วก็ไม่ต้องเป็นทุกข์เลย แล้วมันคงจะน่าหัวที่ว่าเรื่องมันมีเท่านี้แล้วเราไปทำให้มันมากๆๆจนศึกษากันกี่ปีๆก็ไม่จบ ไม่รู้ใครมันบ้า เรื่องมันมีเท่านี้ อาตมาบ้าก็ได้เพราะพูดไม่รู้จักจบ ผู้เรียนเรียนบ้าก็ได้เพราะเรียนกันไม่รู้จักจบ ฟังกันไม่รู้จักจบ ทั้งที่เรื่องมันมีนิดเดียวเท่านี้คือผัสสะคำเดียวครอบคลุมไปหมดทุกเรื่อง ก็ว่าเรื่องสุดท้ายมีเท่านี้ ผัสสะคำเดียวพอ
ขอยุติการบรรยายส่งท้ายหรือว่าปิดประชุม นี่ชั่วโมงหนึ่งแล้ว พูดเกินชั่วโมงเดี๋ยวเกิดผัสสะร้ายขึ้นมาอีก ความทุกข์เกิดที่จิตเพราะทำผิดเมื่อผัสสะ ท่องไปสิ ความทุกข์จะไม่โผล่ถ้าไม่โง่เมื่อผัสสะ ความทุกข์เกิดไม่ได้ถ้าเข้าใจเมื่อผัสสะ ความทุกข์เกิดได้ ...
อ้าว! อาตมาก็ทำพิธีลาให้ทุกคน ให้ทุกคนมีผัสสะที่ควบคุมได้ ทำงานให้สนุก ให้เป็นสุขเมื่อทำการงาน กำลังทำการงาน เอาล่ะ หัวหน้าลาคนเดียวพอๆ เวลาจะมีหรือไม่มีแล้วแต่เราจัดมัน เป็นอันว่าลาแล้วล่ะ เวลาไปจริงไม่ต้องลามันยุ่งเปล่าๆล่ะ ลาคนเดียวก็พอไม่ต้องเสียเวลาหลายคน ไม่ต้องยุ่งหลายคน หัวหน้าลาคนเดียวก็พอ สำเร็จประโยชน์
ขอยืนยันอีกครั้งว่าไอ้การพูดครั้งนี้หมด หมดจดหรือว่าคลุมหมดทั้งพระไตรปิฎกเลย อย่าทำผิดเมื่อผัสสะ รู้จักผัสสะกันเสียให้เพียงพอ เป็นของที่มีอยู่ทุกวัน ทุกเวลา ทุกที่ ทุกหน ทุกแห่ง แต่ไม่รู้จักมัน ผัสสะให้เกิดกรรม ผัสสะให้เกิดกาม ผัสสะให้เกิดสังขาร ผัสสะให้เกิดตัณหาเวทนา ให้เกิดทิฏฐิ ให้เกิดโลภ ในรูปแบบของวิทยาศาสตร์เห็นชัดด้วยเหตุผลโดยตรงไม่ต้องคำนวณ ไม่ต้องคำนวณ ถ้าคำนวณเป็นปรัชญาดับทุกข์ไม่ได้ ต้องประจักษ์แก่ใจโดยตรงจึงจะดับทุกข์ได้
เรื่องสั้นๆนี้ไปลอกเทปพิมพ์แจก เสียไม่กี่สตางค์ สิบโมง หือ? ... อย่าลืมสัมผัสของการนั่งกลางดิน สัมผัสนี้เป็นอย่างไรจำเอาไปด้วย พระพุทธเจ้าประสูติกลางดิน พระพุทธเจ้าตรัสรู้เมื่อนั่งกลางดิน สอนก็นั่งกลางดิน อยู่กลางดิน นิพพานกลางดิน คือดิน เรานั่งกลางดินที่ของพระพุทธเจ้า เอาเถิด ปิดประชุม เชิญตามเหตุผลตาม ไม่มีอะไร