แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เมื่อพูดกันเรื่องธรรมะ เรื่องสิ่งที่เรียกกันว่าธรรมะ และก็มีปัญหาประเดิมเรื่องแรกว่า ธรรมะทำไมจะรู้ว่าธรรมะทำไม ธรรมะทำไมกันน่ะ มันต้องรู้ว่าธรรมะคืออะไรเสียก่อน พอรู้ว่าธรรมะคืออะไร เราก็บอกได้เองแหละว่าทำไมจึงต้องมีธรรมะหรือสนใจธรรมะ และก็บอกมาได้ถึงข้อที่ว่า ธรรมะนั่นคือการปฏิบัติที่ถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ของเรา ประโยคนี้เป็นหัวใจที่สุด เราจะขยายความออกไปเท่าไหร่ก็ได้ แต่ใจความมันอยู่ตรงที่ว่าธรรมะน่ะคือ ข้อปฏิบัติที่ถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ของเรา ถ้าไม่ถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ของเราก็ไม่มีประโยชน์อะไรที่ต้องสนใจธรรมะ
เดี๋ยวนี้มันถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ของเรา ถูกต้องสำหรับอะไร ถูกต้องสำหรับให้ความเป็นมนุษย์ของเรามีผลดี มีผลดีหมายความว่ามันไม่เป็นทุกข์ มันมีความสุขและมันมีความเจริญ ไอ้ความทุกข์ชนิดไหนมันก็ไม่มี เพราะว่าเราปัดออกไปเสียได้ด้วยธรรมะ และเราอยู่เป็นสุข นี่ควรจะพอใจ และก็แต่มีความเจริญสูงยิ่งๆขึ้นไปยิ่งๆขึ้นไปกว่าจะถึงที่สุด นี่เพราะเหตุที่มีธรรมะ นี่เรียกว่าธรรมะคือการปฏิบัติที่ถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ของเรา
ความเป็นมนุษย์ของเราก็คือ เป็นมนุษย์ที่มีประโยชน์ ถ้ามันมีความทุกข์หรือมีโทษก็ไม่ต้องเป็นล่ะมนุษย์ แต่เดี๋ยวนี้เมื่อปฏิบัติถูกต้องดีแล้วมันมีแต่ประโยชน์ แล้วก็เป็นความสุขอยู่ในตัวประโยชน์ ก็ไม่เสียทีที่เกิดมา
นั้นไอ้ข้อที่ว่า เกิดมา เกิดมานี้ไม่ควรจะมีปัญหา เพราะว่ามันได้เกิดมาแล้ว แม้ว่าเราไม่ได้ตั้งใจจะเกิดมา แต่มันก็ได้เกิดมาแล้วนี่ มันไม่มีทางที่จะปัดหรือปฏิเสธ ฉันเกิดมาแล้วก็ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามที่มันเกิดมา ถ้าไม่ถูกต้องมันก็ต้องเป็นทุกข์ มันก็กลายเป็นเกิดมาทนทรมาน ถ้าเราปฏิบัติถูกต้องมันก็ไม่เป็นทุกข์ มันได้ประโยชน์ได้เจริญยิ่งๆสูงขึ้นไป นี่มันก็ไม่เสียทีที่ได้เกิดมา ไอ้ว่าเสียทีหรือไม่เสียทีเราต้องเล็งกันตรงที่ว่ามันเกิดมาแล้ว เกิดจะกลับคืนไม่เกิดมันไม่ได้ มันเกิดมาแล้วก็มีแต่ว่าต้องทำให้เป็นสุข สะดวกสบาย เจริญยิ่งๆขึ้นไป ไม่ให้เสียทีที่เกิดมา
นี้อะไรเล่าที่จะให้เป็นอย่างนั้นได้ นั่นแหละคือสิ่งที่เรียกว่าธรรมะ ซึ่งเมื่อปฏิบัติแล้วมันจะช่วยให้ความเป็นมนุษย์ของเราถูกต้องเจริญไปตามลำดับไม่เสียทีที่ได้เกิดมา ดังนั้นเราจะพูดอีกประโยคหนึ่งก็ได้ว่า ธรรมะเป็นของคู่กันกับชีวิต เป็นของจำเป็นสำหรับการที่ได้เกิดมา ไปคิดดูเองก็เห็นเรื่องนี้ แต่มันอยู่ที่การปฏิบัติธรรมะนั้นถูกต้อง และก็มันมีประโยชน์กับชีวิต ถ้าชีวิตขาดธรรมะมันก็เลยมันก็ตกนรกอยู่ตลอดเวลาเหมือนกัน ฉะนั้นการประพฤติกระทำใดใดกี่อย่างกี่ร้อยอย่างก็เถิด ที่มันเป็นไปเพื่อไม่ให้ต้องเป็นทุกข์ ให้อยู่สะดวกสบายและเจริญยิ่งๆขึ้นไป นั้นคือธรรมะ
ถ้าไม่สนใจหรือไม่ต้องการ มันก็คือคนที่ไม่รู้ว่าตัวเองคืออะไร เกิดมาทำไม หรือจะเป็นความโง่ที่สูงสุดกว่าความโง่ทั้งหลาย คือไม่รู้ว่าเกิดมาทำไม จะต้องทำอย่างไรจึงจะไม่ทนทุกข์ เขาเรียกกันไพเราะหน่อยเรียกว่า อวิชชา อวิชชา ภาวะที่ปราศจากความรู้ที่ควรจะรู้ ความรู้ใดใดที่ควรจะรู้กลับไม่รู้ มันก็เลยทำผิดหมด มันก็ไม่ได้รับประโยชน์อะไรจากการเกิดมา
นี่ดูละเอียดลงไปที่ธรรมะนั้นว่า ทำไมจึงต้องปฏิบัติอย่างนั้นจึงจะไม่เกิดความทุกข์ นี่ช่วยสนใจกันให้ดีสักหน่อยว่าทำไมจึงวางระเบียบระบบว่าจะต้องปฏิบัติอย่างนี้อย่างนี้จึงจะไม่เกิดความทุกข์ ก็เพราะว่ามันมีกฎธรรมชาติที่ตายตัวอยู่ ถ้าปฏิบัติผิดอย่างนั้นอย่างนั้นมันก็เกิดความทุกข์ ถ้าปฏิบัติถูกอย่างนี้อย่างนี้อย่างนี้มันก็เกิดความสุขหรือไม่ทุกข์ ไม่ใช่เราว่าเอาเองได้ มันเป็นเพราะกฎของธรรมชาติมันมีอยู่อย่างนี้เอง เมื่อทำลงไปอย่างนี้ผลก็เกิดขึ้นมาอย่างนี้โดยสมควรกันตามกฎของธรรมชาตินั้นๆ
นี้กฎของธรรมชาตินั้นๆ มันก็คือธรรมะชนิดหนึ่ง ธรรมะกฎของธรรมชาติ ที่เป็นตัวบังคับให้เป็นสิ่งทั้งหลายต้องเป็นไปตามกฎ ถ้าไม่เป็นไปตามกฎมันจะต้องตาย มันจะต้องสูญสลายไป แต่ว่าพวกอื่นหรือศาสนาอื่นเขาจะเรียกว่าพระเจ้าหรือพระเป็นเจ้าก็ได้ ที่เป็นผู้ควบคุมหรือออกกฎหรือควบคุมให้เป็นไปตามกฎ แต่พุทธศาสนาเราเรียกว่าธรรมะเสมอกันหมด เป็นเรื่องของธรรมชาติทั้งสิ้นเลย
ธรรมะในความหมายที่ ๑ คือตัวธรรมชาติ ตามธรรมชาติ ที่เป็นไปตามธรรมชาติ
ความหมายที่ ๒ คือกฎของธรรมชาติที่ประจำอยู่ในธรรมชาตินั้นๆ ว่าธรรมชาตินั้นจะต้องเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนั้น
ธรรมะในความหมายที่ ๓ ก็คือ หน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ ความหมายนี้สำคัญมาก หน้าที่ตามกฎของธรรมชาติต้องรู้ ถ้าไม่รู้ละก็ยิ่งกว่าที่เราปฏิเสธว่าไม่รู้กฎหมาย มนุษย์บัญญัติว่าไม่รู้กฎหมายไม่ยอมต้องลงโทษ แต่ก็ลงโทษไม่ได้มากเหมือนธรรมชาติ ถ้าเราไม่รู้กฎของธรรมชาติ ทำผิดกฎของธรรมชาตินั้น มันจะได้รับทุกข์ร้อยเปอร์เซ็นต์เลย ไม่มีทางต่อสู้ดิ้นรนไม่เหมือนกับกฎหมาย เราจึงต้องรู้หน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ และปฏิบัติถูกต้องตามหน้าที่นั้นและชีวิตนี้ก็ไม่เป็นทุกข์
ทีนี้ความหมายที่ ๔ นี้ไม่ค่อยมีน้ำหนักอะไร คือ ผลของมัน ถ้าเราปฏิบัติหน้าที่อย่างไรแล้วผลจะออกมาอย่างนั้น ทำให้เกิดทุกข์มันก็เกิดทุกข์ ทำให้เกิดสุขมันก็เกิดสุข ทำให้เจริญมันก็เจริญ ทำให้เสื่อมมันก็เสื่อม นี่มองดูกันส่วนผล
ฉะนั้นขอให้สนใจธรรมะ ๔ ความหมายว่า ตัวธรรมชาติ กฎของธรรมชาติ หน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ ผลเกิดตามหน้าที่ที่ได้ปฏิบัติแล้ว และจะเห็นได้ทันทีว่าไม่มีทางหลีกได้ ไม่มีทางที่จะหลีกเลี่ยงหรือปฏิเสธสิ่งที่เรียกว่าธรรมะ เพราะว่าตัวเนื้อของเรามันก็เป็นธรรมะหรือเป็นธรรมชาติเสียแล้ว ร่างกาย กระดูก ชีวิต จิตใจ ขุมขน และก้อนหนัง ทุกข์ทั้งหมดมันเป็นตัวธรรมชาติไปแล้ว แล้วจะไม่ให้มันอยู่ภายใต้กฎของธรรมชาติอย่างไร มันก็อยู่ใต้กฎของธรรมชาติทุกเซลล์ทุกปรมาณูที่ประกอบกันขึ้นเป็นร่างกาย เนี่ยมันอยู่ใต้กฎของธรรมชาติเสียแล้ว ดังนั้นจึงต้องปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ และก็ได้รับผลชนิดที่ไม่เป็นทุกข์
ลองดูเองก็ได้ ลองผิดลองปฏิบัติให้ผิดกฎของธรรมชาติแม้แต่ร่างกายนี้มันอยู่ไม่ได้หรอก มันต้องเสื่อมต้องเสียต้องตาย หรืออยู่อย่างทนทุกข์ทรมานที่สุด ไม่มีประโยชน์อะไร นี่จึงเห็นได้ชัดว่าต้องปฏิบัติธรรมะ มิฉะนั้นจะได้รับผลร้ายคือไม่มีความผาสุกเลยหรือถึงกับต้องตายไปในที่สุด บางส่วนมันปฏิบัติของมันเอง ที่เราเรียกว่าระบบประสาทที่ไม่อยู่ในความควบคุม มันรู้จักมันปฏิบัติของมันเอง เช่น มันจะกิน แล้วมันจะย่อย แล้วมันจะถ่าย มันทำของมันเองได้ แต่เราก็ต้องร่วมมือ ร่วมมือให้มันได้เป็นอย่างนั้น จึงจะสมบูรณ์เต็มที่
ทีนี้ไอ้ความเป็นมนุษย์ของเรานั้น มันไม่ควรแต่เพียงว่า ได้กิน ได้อยู่ และรอดชีวิตอยู่ มันควรจะได้ทำอะไรมากกว่านั้น ฤดูที่ว่าธรรมชาติมันกำหนดบังคับให้มีการสืบพันธุ์ เมื่อมีการสืบพันธุ์ มันก็ต้องเลี้ยงดูบำรุงพันธุ์ ประพฤติสืบต่อสิ่งที่เรียกว่าสืบพันธุ์ ทีนี้มันก็เกิดหน้าที่อันใหม่ขึ้นมา ต่อสิ่งที่เรียกว่าลูกว่าหลานว่าอะไรตามใจ แล้วต้องมีที่อยู่ที่อาศัย เครื่องใช้ไม้สอย มันก็เกิดหน้าที่แก่สิ่งเหล่านั้นขึ้นมา ที่เราจะต้องปฏิบัติให้ถูกทุกสิ่งทุกอย่าง
บางอย่างเราก็เรียนได้โดยธรรมชาติ เรียนได้จากพ่อแม่ตั้งแต่เล็กๆน้อยๆ บางอย่างก็ต้องเรียนที่โรงเรียน บางอย่างต้องเรียนที่สถาบันที่สูงขึ้นไปตามลำดับ แต่แล้วมันก็ยังไม่พอ เท่ากับว่าเรียนจบมหาวิทยาลัยมาแล้ว มันก็ยังมีความทุกข์ในจิตใจอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ มันก็ต้องหาที่เรียนต่อไป ก็คือเรียนที่สอนธรรมะ ที่ไหนสอนธรรมะก็ไปเรียนที่นั่นเรียกว่าเข้ามหาวิทยาลัยของพระพุทธเจ้ากันอีกทีหนึ่ง จบมหาวิทยาลัยของชาวบ้านแล้ว มาเข้ามหาวิทยาลัยของชาวบ้านกันอีกที จบมหาวิทยาลัยอย่างโลกๆนี่ชาวบ้านแล้ว มาเข้ามหาวิทยาลัยของพระพุทธเจ้า หรือของพระศาสดาแห่งศาสนาไหนก็ตาม เพื่อให้มันมีความรู้ถูกต้องทางจิตใจ
นี่มานั่งกลางดิน นี่คือมาเข้ามหาวิทยาลัยของพระพุทธเจ้า เปิดสอนกลางดินอย่างนี้ พระพุทธเจ้านั้นประสูติก็กลางดิน พระพุทธเจ้าตรัสรู้กลางดิน พระพุทธเจ้าสอนกลางดิน พระพุทธเจ้าอยู่กับกลางดิน ท่านนิพพานก็กลางดิน เราจึงควรเข้ามหาวิทยาลัยของพระพุทธเจ้ากันในลักษณะที่นั่งกลางดินอย่างแบบนี้ มันทำง่าย ทำง่ายกว่าที่จะเรียนบนตึกเรียนราคาแพง บนไอ้เครื่องใช้ไม้สอยที่แพง พอนั่งลงกลางดินแล้วจิตมันก็เกลี้ยงหรือสงบลงไปเกือบเหมือนแผ่นดิน มันก็รู้อะไรได้ง่าย นั้นขอให้สนใจที่ว่าเรามานั่งกลางดิน จำไว้ให้แม่น
ทีนี้ได้นั่งกลางดินแล้วพูดเรื่องอะไรกัน พูดเรื่องที่จริงที่สุดสำหรับมนุษย์ จะไม่เป็นทุกข์อย่างไร เรื่องนั้นเรียกว่าเรื่องอริยสัจ อริยสัจ อริยสัจ ๔ คือ เรื่องที่บอกว่ามนุษย์จะไม่เป็นทุกข์กันได้อย่างไร เรียกว่าเรื่องของจริงที่จริงที่สุดด้วย และมีประโยชน์ที่สุดด้วย จึงได้เรียกว่าอริยะ ความจริงที่เป็นอริยะคือประเสริฐที่สุด มันมีใจความไปตามลำดับ แต่ว่าสรุปแล้วก็คือปฏิบัติถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ จนไม่เกิดความทุกข์แก่จิตใจ นี่ขอให้ดูกันต่อไปว่าเราจะเรียนกันอย่างไร ไปนั่งในที่ที่สะดวก ไปอยู่ในที่ที่สะดวก ไปมีการเป็นอยู่อยู่กินไปตามชนิดที่สะดวกที่จะเรียนธรรมะกันอยู่อย่างง่ายๆ อย่างบวชนี้เป็นต้น สะดวกที่จะเรียนธรรมะ แล้วก็เรียนธรรมะ
โดยสรุปแล้วเรียนธรรมะนี้มีได้ ๒ วิธี คือ ฟังตามที่เขาบอกให้ เรียนจากการบอกของผู้อื่นนี้อย่างหนึ่ง หรือเรียนจากใคร่ครวญอย่างดีในใจของเราเอง เรียกว่า โยนิโสมนสิการ กระทำในใจเป็นอย่างดีถึงเหตุ โยนิโส เรียกว่า โดยเหตุ ที่เขามักจะพูดกันว่าโดยแยบคายนั่นน่ะ ตัวหนังสือคือโดยเหตุ คือเรียนถึงต้นตอ ต้นเหตุของสิ่งทั้งปวง และก็รู้ว่ามันเป็นอย่างไร เพื่ออะไร เพราะเหตุใด โดยวิธีใด
ขอให้ทุกคนเรียนทั้ง ๒ ชนิดนี้อยู่ตลอดเวลา ฟัง อ่านก็ได้ ฟังหรืออ่านก็เรียกว่าเรียนจากผู้อื่น ทีนี้ได้มาแล้วหรือมันมากระทบเองก็ตาม เกิดขึ้นในจิต ก็ใคร่ครวญดู โอ้ว่าถ้ามันมาในอย่างนี้ รูปนี้ มันถึงเป็นทุกข์ทุกที ถ้ามันในรูปนั้นแล้วมันก็ไม่เป็นทุกข์เลย ก็เรียนไปเรื่อยๆ กำหนดสังเกตเอาเองว่าความคิดอย่างนี้มาแล้วเป็นทุกข์ทุกที ความคิดอย่างนี้มาแล้วไม่เป็นทุกข์เลย ในที่สุดจะพบว่าไอ้ความคิดชนิดที่เจืออยู่ด้วยกิเลส ราคะ โทสะ โมหะก็ดี ตัณหาก็ดี อุปาทานว่าตัวกูว่าของกูก็ดี มาทีไรได้ทุกข์เป็นทุกข์ทุกที ก็เลยเป็นอยู่เสียให้ถูกต้อง เป็นอยู่เสียใหม่ในลักษณะที่ถูกต้อง ไม่เกิดความคิดชนิดนี้ มันก็ไม่มีความทุกข์นั่นแหละตัวหลักหัวใจของธรรมะหรือของพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะ
เราจะเป็นทุกข์ก็ต่อเมื่อมันเกิดความคิดปรุงแต่งขึ้นมาในใจชนิดที่ผิดๆคือเกิดกิเลสน่ะ มันจะ (นาทีที่ 17.36) มีสติเต็มที่ที่จะไม่ให้เกิดการปรุงแต่งชนิดนั้น ส่วนไอ้ความคิดปรุงแต่งนี่มันจะเกิดทุกทีที่มีอะไรมากระทบ มีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีใจ เมื่อมีอะไรมากระทบตาเรียกว่ารูปน่ะกระทบตา รูปมากระทบตา แต่ความคิดปรุงแต่งไปผิดมันก็ต้องเป็นทุกข์ มีเสียงมากระทบหูก็เหมือนกันถ้าความคิดปรุงแต่งผิดมันก็เป็นทุกข์ กลิ่นมากระทบจมูกเมื่อคิดปรุงแต่งผิดมันก็ต้องเป็นทุกข์ รสมากระทบลิ้นถ้าผิดก็เป็นทุกข์ สัมผัสภายนอกมาถูกผิวหนังถ้ามันคิดผิดไปมันก็เป็นทุกข์ สิ่งในอดีตความคิดความจำมากระทบจิต คิดผิดมันก็เป็นทุกข์ กระทบแล้วทำผิดคิดผิดมันก็ต้องเป็นทุกข์
พยายามศึกษาในข้อนี้ล่ะว่ามันเป็นทุกข์อย่างไร ศึกษาจากพระคัมภีร์ก็ได้ ศึกษาจากการสังเกตของตัวเราเองทุกครั้ง ทุกครั้ง อย่าประมาท ถ้ามันมีทุกข์อย่าไปนั่งร้องไห้อยู่ ถ้ามันถูกใจก็อย่าไปหัวเราะเหมือนกับคนบ้า อย่าไปยินดียินร้าย ทุกครั้งที่มันเข้ามาสังเกตดูให้ดีว่า ถ้ามันมาอย่างนี้แล้วมันก็เป็นทุกข์ ถ้ามันมาอย่างนี้แล้วมันก็ไม่เป็นทุกข์ เราก็มีความรู้มากขึ้นมากขึ้นเกี่ยวกับเรื่องนี้ นี่เรียกว่าศึกษาที่ดีที่สุด ศึกษาจากภายใน เรียกว่าฟังจากภายใน อ่านจากภายในขึ้นในจิตใจนี่ มันดีกว่าอ่านภายนอก หรืออ่านหนังสือ หรือฟังภายนอกหรือฟังคนพูด เป็นการศึกษาภายในไว้ให้ตลอดเวลาจากสิ่งที่เข้าไปปรากฏในจิตใจ เข้าไปโดยอาศัยทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็ไปปรุงแต่งในจิตใจ ผิดก็เป็นทุกข์ ไม่ผิดก็ไม่เป็นทุกข์คือถูกน่ะ ถ้ามันถูกสำหรับความเจริญมันก็เจริญ มันถูกสำหรับความเสื่อมมันก็เสื่อม นี่สำหรับกฎของธรรมชาติมันเป็นอย่างนี้
ธรรมชาติเองนั้นมันไม่มีหน้าที่พูดว่าเสื่อมหรือเจริญ สุขหรือทุกข์หรอก มันมีแต่เพียงว่าถ้าแกทำอย่างนี้ผลก็เกิดขึ้นอย่างนี้ ถ้าแกทำอย่างนี้ผลมันก็เกิดขึ้นอย่างนี้ แล้วแกก็ไปเรียกเอาเองสิ เรียกว่าความสุข หรือความทุกข์ ว่าเสื่อมหรือว่าเจริญ ไปเรียกเอาเอง ฉากของธรรมชาติมีหน้าที่แต่เพียงว่าถ้าแกทำอย่างนี้ผลจะต้องเกิดขึ้นอย่างนี้ ทำอย่างนี้ผลจะต้องเกิดขึ้นอย่างนี้ นี่เราไปเรียนให้เพียงพอแก่เรื่องนี้
เรื่องเรียนจากภายนอกนี่เกือบจะไม่ต้องพูดกันแล้ว เพราะว่ารู้กันหรือผ่านกันมามากแล้ว หลักการเรียนมีอย่างไร ครูบาอาจารย์ก็รู้ดี แต่ถ้าเป็นเรื่องเรียนจากภายในน่ะดูจะยังขาดอยู่ จึงขอแนะนำให้ไปสนใจวิธีเรียนจากภายในนี่ให้มาก
เรียนจากภายในนั้นต้องเรียนเมื่อมีผัสสะมากระทบ ถ้าทำผิดเมื่อผัสสะก็ต้องได้เป็นทุกข์ ทำถูกเมื่อมีผัสสะก็ไม่เป็นทุกข์ ผัสสะคือมีอะไรมากระทบตา กระทบหู กระทบจมูก กระทบลิ้น กระทบผิวหนัง นี่เราเรียกว่าผัสสะ มีทุกวันแหละวันหนึ่งมากๆสิ่งที่เรียกว่าผัสสะ ถ้าทำผิดทุกทีเป็นทุกข์ทุกที ถ้าทำถูกต้องควบคุมได้ก็ไม่เป็นทุกข์เลย นั่นน่ะเรื่องเรียนให้รู้ เรียนรู้เรื่องของผัสสะที่จะปรุง ผัสสะมากระทบถ้าโง่ไปในขณะนั้นล่ะผิดตลอดสาย ถ้าฉลาดในขณะนั้นล่ะก็ฉลาดตลอดสาย มากระทบแล้วโอ้นี่มันอย่างนี้เองนะโว้ย ไม่ต้องยินดียินร้ายกับมัน ไม่เกิดตัณหา ไม่เกิดอุปาทานว่าตัวกูของกู ก็ไม่เป็นทุกข์ แต่ถ้ามันโง่แล้วมันตะครุบเอาเป็นเรื่องยินดียินร้าย เรื่องสวยเรื่องไม่สวย เรื่องไพเราะไม่ไพเราะ เรื่องหอมเรื่องเหม็น เรื่องอร่อยไม่อร่อย เรื่องกระด้างเรื่องนิ่มนวล แม้แต่เรื่องผัสสะทางไหน ถ้าฉลาดทันเวลามันจะเห็นว่ามันอย่างนั้นเองตามธรรมชาติ มันก็เลยไม่ ไม่ปรุงให้เกิดกิเลสตัณหาและเป็นทุกข์
นี่ขอให้สนใจให้ดี มันทำยากสักหน่อยนะถ้าพูดมันก็ทำยากสักหน่อย แต่ว่ามันมิใช่จะทำไม่ได้ มันเป็นสิ่งที่ทำได้ และมันดีกว่าปล่อยไปอย่างไม่ได้ทำ คือไม่ได้ควบคุมไม่ได้จัดการ เพราะถ้าไม่ควบคุมไม่จัดการมันก็เป็นทุกข์โดยแน่นอน และมันก็เป็นทุกข์มากขึ้นมากขึ้น แต่ถ้าเราพยายามควบคุมและจัดการมันก็ไม่เป็นทุกข์หรือมันลดความทุกข์ กระทั่งว่ามันไม่มีความทุกข์เลยคือไม่อาจจะเกิดความทุกข์ขึ้นมาได้ ไม่ว่าอะไรจะมากระทบเรา นี่เรียกว่ามันทำถูกเมื่อมีผัสสะ
การเป็นอยู่ที่ถูกต้องน่ะคือเป็นอยู่ชนิดที่ไม่ทำผิดเมื่อผัสสะ เรียกว่าการเป็นอยู่ที่ถูกต้อง ปฏิบัติที่ถูกต้อง เรียกว่ามรรคหรือวิถีหนทาง มรรคมีองค์ ๘ ถูกต้องทางความคิดเห็น ถูกต้องทางความปรารถนา ถูกต้องทางการพูดจา ถูกต้องทางการกระทำการงาน ถูกต้องทางการดำรงชีวิต ถูกต้องในทางความพากเพียร ถูกต้องในทางมีสติควบคุม และถูกต้องในทางมีจิตตั้งมั่นคือสมาธิ ถ้าถูกต้องอยู่ ๘ ประการเหล่านี้แล้วความทุกข์ไม่เกิดขึ้นได้ เพราะมันไม่มีทางที่จะทำผิดเมื่อมีผัสสะได้ ขอให้สนใจเป็นพิเศษที่จะไปศึกษาอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ แบบเรียนเล่มไหนมันก็จะมีเรื่องนี้ เรื่องอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ หาหนังสือเรื่องนี้ไปศึกษาไว้เป็นประจำ มรรคแปลว่าหนทาง หนทางไปไหน หนทางไปสู่ความดับทุกข์ที่เรียกว่านิพพาน
คำว่า “นิพพาน” นั้นแปลว่าเย็น เย็นอกเย็นใจก็เป็นนิพพาน ที่นี่และเดี๋ยวนี้ในระดับนี้ ถ้าเย็นตลอดไปก็เรียกว่ามีนิพพานสมบูรณ์ เย็นเป็นส่วนน้อย เย็นชั่วคราวก็เรียกว่านิพพานส่วนน้อย นิพพานตัวอย่าง นิพพานชั่วคราว ร้อนขึ้นมาเมื่อไหร่ก็ให้ถือว่าเป็นนรก สนุกสนานลิงโลดไปเลยก็เรียกว่าสวรรค์ ไม่เป็นอย่างนั้นสงบเย็นหยุดอยู่ก็เรียกว่านิพพาน ถ้ามันร้อนเป็นไฟเรียกว่านรก ถ้ามันเป็นที่พอใจก็เรียกว่าสวรรค์ ไม่ต้องทั้งสองอย่างก็หยุดเย็นเป็นนิพพาน ดีใจมันก็เหนื่อยไปตามแบบดีใจ ร้อนใจก็เหนื่อยไปตามแบบร้อนใจ ไม่มีทั้งสองอย่างก็เรียกว่าหยุดเย็นเป็นนิพพาน นี่ขอให้พวกเราเข้าใจคำว่านิพพานกันเสียใหม่ให้ถูกต้องเพราะเป็นจุดสูงสุดของธรรมะ ธรรมะไปสูงสุดอยู่ที่นิพพาน
เอ้าใครมีร่มก็กางสิ! จะแรงหรือไม่แรง? (หมายเหตุ: ฝนตกหยุดเทศน์ชั่วคราว)
นี่เราพูดกันต่อไป เมื่อตะกี้เราพูดกันมาถึงเรื่องในการปฏิบัติธรรมะ การปฏิบัติธรรมะที่เป็นหลักหัวใจของมันก็คืออย่าทำผิด (นาทีที่ 27.21) ผัสสะ ระมัดระวังให้ทำถูกเมื่อผัสสะอยู่เสมอไป คำว่าผัสสะนี้เป็นคำบัญญัติเฉพาะถ้าเรารู้มาก่อนมันก็ฟังง่าย ถ้าเราไม่รู้มาก่อนมันก็งงและก็ไม่ชวนฟังต่อไปก็ได้
ผัสสะนั่นแหละเป็นคำสำคัญที่สุดสำหรับการศึกษาธรรมะ เพราะว่าอะไรๆมันก็ตั้งต้นที่ผัสสะ ความดีความชั่ว ความผิดความถูก กิเลสหรือไม่กิเลส มันตั้งต้นที่เมื่อผัสสะนั่นแหละแล้วมันก็ปรุงกันไปเรื่อยๆ หรือว่าไอ้ความคิด ความโง่ ความฉลาด มันก็ตั้งต้นที่ผัสสะ ถ้าผัสสะกระทบแล้วมันเกิดความรู้สึกอย่างไรเราก็จะเชื่อว่ามันเป็นอย่างนั้น ถ้าผิดก็เป็นความคิดหรือความเห็นที่ผิด ถ้าถูกก็เป็นความเห็นที่ถูก และกรรมการกระทำดีชั่วมันตั้งต้นที่ผัสสะ ถ้าเราสัมผัสแล้วเราก็ทำไปตามความโง่หรือความฉลาดในผัสสะ มันจึงเกิดการทำผิดทำถูกเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่ว เราก็ได้รับผลกรรมดีกรรมชั่ว แต่ถ้าเราหมั่นศึกษามามากพอควบคุมผัสสะได้ ผัสสะแล้วมันก็เป็นไปแต่ในทางที่ถูกต้องที่ไม่เป็นทุกข์ ถ้าเราควบคุมผัสสะได้ก็เราจะควบคุมทั้งหมดได้
โลกนี้มันก็มีความหมายที่ผัสสะ เพราะสิ่งทั้งหลายทั้งปวงในโลกถ้ามันไม่มาสัมผัสกับคนกับจิตของคน โลกนี้ก็เท่ากับไม่มี นี้ก็เป็นสิ่งที่จะต้องรู้เป็นพื้นฐาน โลกทั้งโลกทั้งหมดทุกโลกทั้งโลกนี้มันจะมีเป็นโลกขึ้นมาได้ก็เพราะว่ามีการผัสสะ สัมผัสของมนุษย์ ถ้ามนุษย์สัมผัสโลกเหล่านั้นไม่ได้โลกเหล่านั้นก็เท่ากับไม่มี ในทางธรรมะจึงถือว่าผัสสะเป็นจุดตั้งต้นของทุกสิ่งทุกอย่างไม่ยกเว้นอะไร
คนเรานี่เกิดมาแล้วถ้ามันไม่มีไอ้อวัยวะสำหรับสัมผัส ไม่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย สำหรับสัมผัส คือเราสัมผัสอะไรไม่ได้ ก็เท่ากับไม่ได้เกิดมา เพราะมันไม่มีทางที่จะรู้จักหรือรู้อะไรได้ก็เท่ากับไม่ได้เกิดมา ถ้าเกิดมาแล้วมันผัสสะอะไรได้ มันก็เกี่ยวข้องกับสิ่งต่างๆได้ เหมือนกับว่าเราได้มีอะไรต่างๆเหล่านั้น เหมือนกับว่าได้เกิดมา มันเป็นธรรมะหรือเป็นความจริงที่มันละเอียด ละเอียดและลึกซึ้ง ว่าโลกทั้งหมดมันรวมอยู่ที่คำว่าผัสสะ หรือชีวิตของคนแต่ละคนมันขึ้นอยู่กับสิ่งที่เรียกว่าผัสสะ ถ้าไม่มีผัสสะไอ้สิ่งเหล่านี้มันก็ไม่มี เพียงเท่านี้คุณฟังกันให้ออกเสียก่อนเถิด ว่าถ้าไม่มีผัสสะอย่างเดียวล่ะก็ไม่มีเรื่องอะไรเกิดขึ้น ปัญหาก็ไม่มี สุขทุกข์ก็ไม่มี อะไรก็ไม่มี ก็เท่ากับไม่ต้องทำอะไรกัน มันก็จะเหมือนก้อนหิน ถ้าคนเราเกิดมาแล้วมันผัสสะอะไรไม่ได้มันก็เหมือนกับก้อนหิน
แต่เดี๋ยวนี้มันผัสสะได้ แล้วมันผัสสะมาก แล้วมันยังผัสสะไว แล้วมันยังผัสสะโง่ ไอ้ที่มันเลวร้ายมากคือว่าผัสสะนั้นมันไม่ฉลาด เพราะไม่มีความรู้ เป็นผัสสะโง่ และมันก็ปรุงไปตามความโง่ มันก็เกิดกิเลสเกิดความทุกข์ ถ้าผัสสะมันฉลาดเต็มไปด้วยสติปัญญามันไม่โง่ ไอ้ความคิดต่อไปจากผัสสะมันก็ไม่โง่ มันก็ถูกต้อง ไอ้ความคิดเหล่านั้นก็ไม่ทำให้เกิดทุกข์ นี่ความจริงมันเป็นอย่างนี้ แต่เดี๋ยวนี้เรายังไม่สนใจ เพราะยังไม่มีความจำเป็น เพราะยังไม่มีความจำเป็นที่ต้องสนใจ เราไม่สนใจก็ได้เราก็เล่นหัวไปตามเรื่อง แล้วผัสสะเหล่านั้นมันก็ปรุงแต่งไปเหมือนกับว่าผลักไสเราไปตามเรื่องตามราวของผู้ที่ไม่รู้ เดี๋ยวก็ร้องไห้เดี๋ยวก็หัวเราะ เดี๋ยวก็ร้องไห้เดี๋ยวหัวเราะมันก็อยู่อย่างนี้ จนปัญญาขึ้นมามันก็ไปฆ่าตัวตาย เพราะมันไม่รู้จักตัวชีวิต เรื่องของชีวิตที่มันเป็นไปตามผัสสะ
ฉะนั้นถ้าเรียกว่าเรารู้จักผัสสะมันก็เหมือนกับรู้จักโลกทั้งหมด รู้จักชีวิตทั้งหมด รู้จักคนมนุษย์นี่ทั้งหมด เพราะมันขึ้นอยู่กับสิ่งที่เรียกว่าผัสสะ ถ้าคุณเรียนวิทยาศาสตร์จากวัตถุก็พูดอย่างอื่นก็พูดอย่างอื่นอะไรๆไปรวมอยู่ที่ไหน จะดูฟังดูให้ดีมันก็ไม่ทิ้งกัน เพราะว่าถ้าก็ไม่มีผัสสะมนุษย์เราก็ไม่ได้มีอะไรแม้ทางวัตถุ
ทางศาสนาโดยเฉพาะพุทธศาสนาให้ความสำคัญแก่สิ่งที่เรียกว่าผัสสะ ในฐานะเป็นจุดตั้งต้นของสิ่งทั้งปวง พูดสั้นๆความคิดก็ดี การพูดก็ดี การกระทำก็ดี มันตั้งต้นไปที่ผัสสะทั้งนั้นแหละ ผัสสะแล้วมันก็มีความคิดอย่างใดอย่างหนึ่ง ผิดถูกไปตามเรื่องของมัน ผัสสะแล้วมันก็พูดไปตามไอ้ความหมายผัสสะ แม้ที่สุดจากการพลั้งปาก อะไรกระทบแล้วก็ตกใจ แล้วก็พลั้งปากออกมาเป็นคำพูด นี่ก็เรียกว่าเป็นผลปรุงแต่งจากผัสสะอย่างพรวดพราดอย่างโง่เขลา
การกระทำก็เป็นไปตามอำนาจของผัสสะทำให้เกิดความรู้สึกอย่างไร ถ้าชอบใจ ผัสสะนั้นเป็นที่ชอบใจ มันก็จะเอาจะได้จะยึดครอง ถ้าผัสสะนั้นไม่ถูกใจ มันก็จะฆ่าจะทำลายไม่เอาไว้อย่างนี้เป็นต้น นี่เป็นเรื่องสำคัญที่สุด รากฐานที่สุดที่จะเรียนธรรมะคือผัสสะ
แล้วอย่าลืมว่าผัสสะนั้นเต็มไปหมด แต่ละวันละวันมันผัสสะนับไม่ไหว เดี๋ยวทางตา เดี๋ยวทางหู เดี๋ยวทางจมูก เดี๋ยวทางลิ้น เดี๋ยวทางผิวกายผิวหนังจนนับไม่ไหว ฉะนั้นโอกาสที่จะผิดหรือจะถูกมันก็มาก มากเท่านั้น เพราะแปลว่าโอกาสที่จะสั่นระรัวไปไม่สงบมันก็มีมากเท่ากับจำนวนของผัสสะที่เข้ามากระทบนั้นเอง ถ้าเราต้องการให้ทุกเรื่องเป็นไปเพื่อความสงบเย็นเราต้องรู้เรื่องนี้ คือ รู้เรื่องผัสสะและก็คุมมันให้ได้ ให้มันปรุงแต่งไปในทางถูกต้อง หยุด เย็น ถ้าผิดมันก็วุ่นวาย ระส่ำระสาย มันก็ร้อนทั้งนั้นแหละ ถ้าเป็นทุกข์เป็นร้อนก็เรียกว่าอบาย หรือเรียกว่าวัฏฏสงสาร วัฏฏสงสารหรือทรมาน แต่ถ้าว่ามันถูกต้องมันก็หยุดมันก็เย็น นี่เรียกว่านิพพาน วัฏฏสงสารก็ยุ่งเป็นทุกข์ นิพพานก็หยุดเย็นไม่ยุ่ง มันตรงกันข้ามอย่างนี้
ก็สังเกตดูเอาเองว่า เมื่อไรในจิตใจของเราน่ะมันมีความยุ่งก็เป็นวัฏฏสงสาร เมื่อไรในจิตใจของเรามีความเย็นมันก็เป็นนิพพาน นิพพานก็ดี วัฏฏสงสารก็ดี มันอยู่ในใจของคนที่ทำผิดหรือทำถูก แต่เขาไม่ค่อยสอนกันอย่างนี้ เขาสอนวัฏฏสงสารไกลมาก เกิดแล้วเกิดอีก ตายแล้วเกิดอีก ตายแล้วเกิดอีก เป็นเรื่องไกลมาก นิพพานก็เหมือนกัน กว่าจะบรรลุถึงนิพพานรออีกกี่หมื่นปี กี่กัป กี่กัลป์ นั้นมันมีความหมายหนึ่ง มันก็มองไปในทางนั้น แล้วมันก็ค่อยจะไม่เป็นประโยชน์อะไร เพราะว่าไอ้ความทุกข์มันอยู่ที่นี่ ทีนี้เราต้องมองว่าวัฏฏสงสารหรือนิพพานมันอยู่ในจิตใจ ที่นี่ เดี๋ยวนี้ เมื่อทำผิดหรือทำถูก ถ้าทำผิดก็เป็นวัฏฏสงสาร ถ้าทำถูกก็เย็นเป็นนิพพาน
นี่เพราะว่าผัสสะทั้งนั้นเลย ว่าผัสสะมันถูกต้องหรือผัสสะมันไม่ถูกต้อง ถ้าเรามีความรู้ธรรมะเราก็ควบคุมผัสสะให้ถูกต้อง สมัยก่อนเราสามารถควบคุมชีวิตนี้ให้เย็นได้ เป็นชีวิตเย็น เป็นชีวิตนิพพาน ถ้าเราไม่รู้อะไรเสียเลย มีแต่อวิชชาแล้วก็ปล่อยไปตามอวิชชา มันก็เกิดกิเลสตัณหา มันก็ยุ่ง แล้วมันก็ร้อน มันก็เป็นโลดเต้นน่ะ เดี๋ยวหัวเราะ เดี๋ยวร้องไห้ เดี๋ยวหัวเราะ เดี๋ยวร้องไห้ ไม่ได้หยุดน่ะ
นี่จะเอาหรือไม่เอาก็แล้วแต่ แต่หลักธรรมะมันมีอยู่อย่างนี้ ถึงเราจะมีเงินมาก มีความรู้มาก มีอำนาจมาก ช่วยไม่ได้ ถ้าปล่อยให้เป็นไปตามผัสสะแล้วมันก็ต้องทุกข์ร้อนไปหมด จะมีเงินเท่าไร มีอำนาจเท่าไร อะไรต่ออะไรมันช่วยไม่ได้ แต่ถ้าเรามีธรรมะช่วยได้ แม้จะไม่มีเงินก็ยังได้ ถ้าเรามีธรรมะเราควบคุมไอ้กระแสปรุงแต่งในจิตใจนี้ได้ มันก็ปรุงแต่งในทางสงบเย็นเป็นสุข
นั้นจึงเห็นได้ว่าเงินช่วยไม่ได้สำหรับจะหาความสุขแบบที่ทางจิตใจ เงินหาได้เพียงความเพลิดเพลินทางเนื้อหนังเท่านั้น เงินไม่ช่วยหาความสุขสงบทางจิตใจได้ ไม่มีขายที่ไหนไม่อาจจะจ้างใครมาช่วยทำให้ได้ มันต้องทำเอง ทำเองทำอย่างถูกต้องด้วยตนเอง เกิดความสุขทางจิตใจสงบเย็น
แต่เดี๋ยวนี้คนเขาไม่สนใจกันแล้ว เพราะว่ามันสนใจกันแต่เรื่องทางวัตถุ สนุกสนานเพลิดเพลินทางวัตถุจนเป็นของธรรมดาไปเสียแล้ว นี่ก็เป็นสิ่งที่ควรมองว่าพวกเราสมัยนี้ได้ถลำตัวไปหลงใหลในความเพลิดเพลินทางวัตถุมากเกินไปจนติดเหมือนกับติดยาเสพติด และก็ไม่มาสนใจเรื่องความสุขอันแท้จริงของธรรมะหรือของศาสนา
ความสุขที่แท้จริงของศาสนาธรรมะมันหมายถึงอย่างนี้ ถ้าไม่ชอบมันก็ไม่มีความหมายอะไร คุณมาสวนโมกข์ให้เสียเวลา คุณจะไปศึกษาที่ไหนมันก็เสียเวลาทั้งนั้นถ้าไม่ชอบไอ้ความสุขเย็นชนิดนั้น เพราะมันไม่มีไม่มีให้ ไม่มีอย่างอื่นให้ ถ้าทำไปถึงที่สุดมันก็ได้ความสงบเย็นทางจิตใจตามแบบของศาสนา ไม่ว่าจะตั้งกลุ่มพุทธศาสน์ หรือตั้งกลุ่มอะไรขึ้นมา ถ้าเราไม่ต้องการอันนั้นเป็นจุดหมาย ก็ดูมันสูญเปล่าเป็นการกระทำที่สูญเปล่า เพราะว่ามันไม่รู้นี่ มันทำไปอย่างละเมอละเมอ ถ้าสนใจพุทธศาสนามันก็ต้องรู้ว่าในที่สุดจะต้องได้ชีวิตที่เย็น
คำว่าเย็นนี้มันเย็นจริงไม่ใช่เย็นหลอก เช่นเดียวกับคำว่าความสุขนั้นมันมีสุขที่แท้จริง คือ สุขเย็น และมีสุขหลอก คือสุขที่ร้อนระอุไปด้วยกิเลส ไอ้สุขหลอกนั่นกิเลสเป็นเจ้าเรือนเป็นตัวการ ถ้าสุขเย็นธรรมะหรือความไม่มีกิเลสเป็นเจ้าเรือน ถ้าเรายังหลงในความเพลิดเพลินตามอำนาจของกิเลสอยู่ก็ไม่ชอบไอ้ความสุขเย็นตามแบบของธรรมะ นั่นแหละเป็นความจริงอย่างนั้น ระวังให้ดีเถิดมิฉะนั้นมันจะหลอกตัวเองไม่ทันรู้
มาศึกษาธรรมะเพื่อหาความเพลิดเพลินทางกิเลส มันเป็นไปได้ถึงขนาดนั้น ซึ่งชาวบ้านโดยมากเขาก็ยังเข้าใจไขว้เขวกันอยู่อย่างนั้น เขาว่ามีบุญก็คือให้ได้เหยื่อของกิเลสมากๆ ให้ได้กามารมณ์มากๆ ให้ได้ความสุขเพลิดเพลินในทางนั้นมากๆ เขาเรียกมีบุญ นั่นแหละความหมายมันเป็นเสียอย่างนั้น มีบุญก็เป็นเรื่องร้อนนะถ้าอย่างนั้น มีบุญมันต้องเป็นเรื่องทำให้สะอาดทำให้เย็นจึงจะเรียกว่าบุญ ต้องเป็นเรื่องชำระบาปให้สะอาดและก็หยุดให้เย็น ธรรมะจริงอย่างนี้จึงเรียกว่าบุญจริง
แต่คนทั่วไปคำว่าบุญของเขาหมายถึงไอ้เรื่องความสมบูรณ์ทางกามารมณ์เสียมากกว่า ไปสวรรค์ ในสวรรค์เต็มไปด้วยกามารมณ์แสนจะประณีต ก็เลยอยากไปสวรรค์ อย่างนี้ไม่ถูกตามเรื่อง และพุทธศาสนาก็ไม่ได้ต้องการให้คนมีสวรรค์เป็นจุดหมาย ต้องการให้สงบเย็นเป็นจุดหมาย สวรรค์ที่เต็มไปด้วยกามารมณ์นั้นมันหยุดมันเย็นไม่ได้ มันยิ่งยุ่ง แต่เพียงว่ามันไม่ต้องเป็นทุกข์ทรมานเหมือนในนรก แต่มันก็ทรมานใจชนิดที่ไม่รู้สึก
พวกเทวดามันก็มีกิเลส นี่ช่วยจำไว้ด้วย พวกเทวดาก็มีกิเลส ก็มีความรักทางกามารมณ์ระหว่างเพศ มันก็มีเรื่องหึงเรื่องหวงเรื่องทะเลาะวิวาทกันตามแบบเทวดา หากแต่ว่ามันมีมาก มันมีมากเพราะว่าทำไว้ดีทำจนมีสิ่งเหล่านี้มาก ก็หลงกันไปใหญ่ พอในที่สุดก็จริง โอ้มันก็ว่าต้องไปหาความสุขกันที่มนุษยโลกอีกแล้ว ในสวรรค์มีแต่ความยุ่งทางกามารมณ์ ถ้าจะให้มีสุคติก็ไปเกิดในเมืองมนุษย์กันอีก นี่ในเมืองเทวดามันพูดกันอยู่อย่างนั้น ตามที่ปรากฏอยู่ในเรื่องราวในพระคัมภีร์ในสูตรทั้งหลาย ที่เขาจะบัญญัติความหมายคำว่าเทวดา มนุษย์ หรือพรหม
พรหมนี่ก็ไม่มีอะไรนอกจากว่าที่นั่นเขาไม่หลงใหลในกามารมณ์ ไม่ใช่สวรรค์อย่างที่กามารมณ์ มันเป็นที่ที่ไม่ทำผิดทำชั่ว มีตัวตนที่สงบอยู่ รักในตัวตนที่สงบอยู่ เรียกว่าจืดสนิทดีกว่าไม่เกี่ยวกับกามารมณ์ ถ้าไปอาศัยรูปธรรมได้ความจืดสนิทก็เรียกว่า รูปพรหม ถ้าอาศัยสิ่งที่ไม่มีรูปเป็นเครื่องมือก็เรียกว่า อรูปพรหม พรหมความรักก็เหมือนกันมันอยู่อย่างบริสุทธิ์อย่างจืดสนิท ไม่มีกามารมณ์รบกวน ถ้าเรียกว่าสวรรค์นั่นคือกามารมณ์ที่ถึงขีดสุด สวรรค์กามาวจรน่ะ
ถ้าพรหมนี่ไม่มีกามารมณ์เหลือ แต่มีความหลงในตัวกูของกูผู้อยู่อย่างถูกต้อง อยู่อย่างบริสุทธิ์ และก็กลัวตายมากเหมือนกัน กลัวจะตายเสียไม่ได้รับความสุขอย่างนี้ ก็กลัวตายมากเหมือนกันจึงยังไม่ดับทุกข์ พวกพรหมก็ยังมีกิเลสตามแบบของพรหม โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือยึดมั่นถือมั่นในความเป็นอย่างนั้น ไม่อยากตาย กลัวตายอย่างยิ่งด้วยเหมือนกัน มีความโลภเบาบาง มีความโกรธเบาบาง แต่มีความหลงเต็มที่ หลงเรื่องตัวตน
เอาอย่างนี้กันดีกว่าคุณช่วยจำไปหน่อยสิ เมื่อไรมันพอใจในกามารมณ์อยู่มันก็เป็น “สวรรค์” เมื่อไรมันพอใจในความสงบเงียบ มีตัวตนอยู่ ก็เรียกว่ามันเป็น “พรหม” ถ้าเมื่อใดไม่มีปัญหาอะไรเลย ไม่มีพอใจ ไม่มีไม่พอใจ ไม่มีตัวตนอะไรที่เป็นปัญหาเลย เมื่อนั้นมันจะเป็น “นิพพาน” ดังนั้นท่านจึงกล่าวว่านิพพานมันว่างอย่างยิ่ง ว่างจากปัญหาใดใด ว่างจากไอ้การปรุงแต่งรบกวนใดใด
ถ้าเป็นมนุษย์ก็คือยังเป็นนักต่อสู้ ต่อสู้ ต่อสู้กับกิเลส มันต้องเป็นไปตามอำนาจของกิเลส เดี๋ยวมันอยากได้สวรรค์ เดี๋ยวมันอยากได้ความสงบอย่างพรหม มนุษย์คือเวทีต่อสู้ ถ้ามันต่อสู้ชนะอย่างสวรรค์ก็ได้สวรรค์ ชนะอย่างเป็นพรหมมันก็ได้เป็นพรหม ดูจิตใจของเราเอง บางเวลาก็บูชากามารมณ์ บางเวลาก็รู้สึกเบื่อขึ้นมาอยากอยู่นิ่งๆ อยากอยู่เกลี้ยงๆนิ่งๆสงบๆ แต่แล้วมันก็ไปไม่ได้นานเดี๋ยวมันก็เปลี่ยนอีก วนเวียนกันอยู่ที่นี่ เขาก็เรียกว่าสังสารวัฏหรือวัฏฏสงสารเหมือนกัน การที่จิตใจเวียนเปลี่ยนอารมณ์เปลี่ยนความสุขหลอกๆอย่างนี้อยู่ก็เรียกว่าวัฏฏสงสารได้เหมือนกัน
นี่พูดมายืดยาวใช่ไหม? แต่ถ้าฟังถูกจะมองเห็นว่าโอ้มาจากผัสสะอย่างเดียว จะเป็นสวรรค์กันที่นี่ กามารมณ์สมบูรณ์กันที่นี่ ก็เพราะเรื่องผัสสะ ทำไปตามแบบนั้นก็ได้อย่างนั้น จะสงบอย่างพรหม มีตัวตน ยึดมั่นอย่างแรงก็เพราะผัสสะ ผัสสะแล้วคิดไปอย่างนั้นทำไปอย่างนั้น ถ้าจะเย็นเป็นนิพพานก็ควบคุมผัสสะได้ ไม่ให้ผัสสะปรุงแต่งไอ้ความรู้สึกที่เป็นกิเลสขึ้นมาเลย ก็เป็นนิพพาน
นั้นจึงสร้างเอาได้ ถ้าศึกษาถูกต้องสมบูรณ์มีจิตใจเข้มแข็ง สร้างเอาได้ สร้างโลกเอาตามชอบใจได้ เป็นโลกมนุษย์ก็ได้ เป็นโลกสวรรค์ก็ได้ เป็นโลกพรหมก็ได้ แต่ถ้าเก่งจริงในที่สุดก็สร้างการบรรลุนิพพาน ให้เข้าถึงพระนิพพาน ไม่มีปัญหาหมดปัญหาได้ เป็นมนุษย์มีปัญหาอย่างมนุษย์ ฟังดูให้ดีเถิดเป็นมนุษย์มีปัญหาอย่างมนุษย์ เป็นเทวดามีปัญหาอย่างเทวดา ไม่ใช่หมดปัญหานะ เป็นพรหมก็มีปัญหาอย่างพรหม จนกว่าจะไม่เป็นอะไรไม่ยึดถือว่าเป็นอะไรจะเป็นนิพพานนั่นจึงจะหมดปัญหา
นิพพานจึงคือหยุดเย็นสนิท เกลี้ยงสนิท ดับ เย็น อยู่ ไม่ต้องตายหรอกไม่ต้องตาย ชีวิตยังมีอยู่แต่มันถูกต้องตามระบบนั้น ไม่ปรุงแต่งความร้อนขึ้นมาในจิตใจคือไม่มีกิเลส ทีนี้จิตนั้นก็อยู่เหนืออำนาจหอ้สิ่งทั้งปวงก็ไม่มีกิเลส ก็เย็น ก็มีเท่านั้นเอง
ถ้าเราทำให้ถูกเราก็จะเย็นอยู่ทุกกรณี ถ้าทำได้นะ เช่นเด็กก็จะเป็นเด็กเย็น วัยรุ่นก็เป็นวัยรุ่นเย็น หนุ่มสาวก็เป็นหนุ่มสาวเย็น พ่อบ้านแม่เรือนก็เป็นพ่อบ้านแม่เรือนเย็น คนเฒ่าคนแก่ก็เย็น ถ้าทำได้ เดี๋ยวนี้มันทำไม่ได้หรอก ไอ้เด็กๆมันยังไม่เข้าใจหรอก มันก็ทำไม่ได้ แต่เขาก็มีกล่าวไว้ในตำนานในพระคัมภีร์ก็มีเหมือนกันที่เด็กๆบรรลุมรรคผลได้ แต่น้อยมากน้อยมาก ไม่กี่คนที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ เด็กสามารถบรรลุมรรคผล เป็นสามเณรน่ะ เด็กขนาดสามเณรบรรลุมรรคผลเป็นพระอรหันต์มี ๒-๓ องค์ เพราะว่ามันพิเศษ แต่ทีนี้เรามันเป็นผู้ใหญ่แล้วนี่ มันควรจะทำได้ มันควรจะทำให้เย็นได้ ถึงจะไม่เป็นพระอรหันต์ก็ควรจะเย็นได้
หรือมองอีกทางหนึ่งว่า เราจะทำงาน จะเป็นชาวนา เป็นชาวสวน เป็นพ่อค้า เป็นข้าราชการ เป็นอาชีพนักธุรกิจ แล้วแต่ที่มันจะมีที่พวกคุณจะต้องไปประสบข้างหน้ามันก็มี ก็ขอให้ถือให้เชื่อเถิดว่ามันเย็นได้ถ้าเราทำถูก ทำถูกต้องตามหลักของธรรมะ เป็นชาวนาที่จิตใจเย็นเป็นสุข ส่วนนี้ก็ไม่แพ้ไอ้พวกที่จะไปเป็นข้าราชการ เป็นนักธุรกิจ เป็นอะไรก็ตามเถิด ชาวนาเขาก็มีปัญหาน้อยมันก็เย็นได้ง่าย แต่เป็นนักธุรกิจการงานรอบด้านหัวหมุนทั้งวันนี่มันก็เย็นยาก
เพราะฉะนั้นอย่าไปถือว่ามันมีบุญมีอะไรวิเศษนัก มันก็เย็นยาก ถ้าเรื่องมันมากมันก็เย็นยาก แต่ความจริงแล้วมันเย็นกันได้ทุกคน จะเป็นชาวนาชาวสวน เป็นพ่อค้า เป็นข้าราชการ เป็นนักธุรกิจ เป็นกรรมกรทุกชนิด แม้แต่เป็นคนขอทานก็เย็นได้ อย่าเข้าใจคนขอทานว่ามันจะเหมือนกับตกนรก มันอยู่ที่ว่าคนขอทานคนนั้นมันดำรงจิตไว้อย่างไร ถ้ามันดำรงจิตไว้ถูกต้องแล้วมันก็เย็นกว่าเศรษฐีเสียอีก คำนวณสิไอ้คนขอทานคนนั้นน่ะมันรู้จักดำรงจิตไม่ให้ทะเยอทะยาน มันก็อิ่มอยู่เสมอ มีเงินเหลือใช้อยู่เสมอ นิทานจีนเขาเล่า แต่เดี๋ยวนี้เราไม่รีบร้อนไปไหนใช่ไหม เดี๋ยวมันจะมากไป
ไอ้ขอทานคนหนึ่ง มันก็ไปขอทานได้วันละเล็กวันละน้อยตามแบบของคนขอทาน และมันก็มีไอ้สีซอ ซอเมื่อขอทาน พอกลับมาที่พัก เขาอาศัยอยู่ที่ริมบ้านของเศรษฐี คนขอทานคนนี้พอกลับมาจากขอทานแล้วก็กินข้าวกินปลาแล้วมันก็สีซอสบายใจก่อนจะหลับไป
วันหนึ่งมันได้พิเศษมีคนใจบุญให้ตั้ง ๕๐ บาท ซึ่งมันไม่เคยมี นี่ผัสสะนั่นแหละเรียกว่าผัสสะชนิดหนึ่งมันก็มีการปรุงแต่งไปในทางที่ว่าไอ้ ๕๐ บาทนี่มันมากแล้วมันจะหายไม่รู้จะเก็บอย่างไร เป็นทุกข์เป็นร้อนอยู่ในใจ วันนั้นสีซอไม่ได้ สีซอไม่ออก ไม่มีอารมณ์ที่จะสีซอเงียบกริบอยู่ทนทุกข์อยู่ เศรษฐีที่เป็นเจ้าของบ้านก็สังเกตว่า เอ๊ะวันนี้ทำไมขอทานมันไม่สีซอ เขาเรียกไปถาม มันก็ว่าอย่างนั้นว่าวันนี้ได้มาพิเศษได้มา ๕๐ บาทไม่รู้จะทำอย่างไร กลัวหาย กลัวอะไรยุ่งไปหมด
เศรษฐีกลับได้ธรรมะ เออจริงไม่ใช่ว่ามีเงินมากแล้วมันจะหยุดปัญหา ไม่ใช่ เพราะว่าเขายึดมั่นไอ้ที่มันได้มามากกว่าธรรมดา เมื่อเขาได้ธรรมดาธรรมดาเขาไม่ยึดมั่น มันก็เป็นเรื่องธรรมดา มันก็สีซอสบาย พอได้มามากมันเกิดความคิดปรุงแต่ง นั่นแหละปัญหา มันมากไม่รู้จะทำอะไรจะเก็บอย่างไร มันดีใจจนสีซอไม่ได้
ฉะนั้นคนเราอาจจะเย็นได้ทั้งนั้นแหละแม้แต่ขอทาน ขึ้นมาถึงกรรมกร ถึงนักธุรกิจ พ่อค้า ประชาชน ชาวนาชาวสวน อาจจะเย็นได้ทั้งนั้นแหละถ้าทำถูก ถ้าทำไม่ถูกแล้วมันไม่เย็นน่ะ ให้เป็นราชา มหากษัตริย์ จักรพรรดิ มันก็ร้อนเพราะธรรมะสำหรับทำความเย็นมันไม่มี
นี่ถ้าว่าคุณต้องการจะรู้ธรรมะก็รู้ให้ถึงนี้ รู้ให้ถึงธรรมะที่มันจะสร้างความเย็นแก่จิตใจได้ คือไม่หลงใหลที่มันน่ารักน่าพอใจ ไม่หลงใหลที่มันน่าเกลียดน่ากลัวน่าโกรธ เรียกว่าไม่หลงใหลโดยประการทั้งปวงมันจึงจะหยุดได้ ถ้าน่ารักมามันก็รัก มันก็ไม่หยุด มันก็ร้อน ถ้าน่าโกรธเกลียดมา มันก็โกรธเกลียด มันก็ร้อน เขาเรียกว่ายินดียินร้าย ยินดีก็ร้อนแบบยินดี ยินร้ายก็ร้อนแบบยินร้าย
ร่างกายมันขึ้นอยู่กับอารมณ์ของจิตใจ ดีใจมากเกินไป มันก็มากเกินไปมันก็นอนไม่หลับ และกินข้าวไม่อร่อย เสียใจมากเกินไปก็นอนไม่หลับกินข้าวก็ไม่อร่อย ถ้ามันอยู่พอดีๆ ไม่เสียใจมากเกินไป ไม่ดีใจมากเกินไป นั่นแหละมันจะอยู่สบาย ทีนี้เราทำเอาได้เรามีธรรมะทำเอาได้ มาปรับปรุงจิตใจให้ปกติไม่ให้ยินดีไม่ให้ยินร้าย หลุดพ้นจากอำนาจการบีบคั้นของอารมณ์ทั้งหลาย
ถ้าเราอยู่เหนือการบีบคั้นของอารมณ์ทั้งหลายก็เรียกว่า “โลกุตระ” อาจจะเป็นคำที่ไม่เคยได้ยิน บางคนไม่เคยได้ยินว่าโลกุตระ หรือว่าโลกอุดรก็เรียก โลกุตระก็แปลว่าเหนือโลกเหนือโลก เดี๋ยวนี้เราอยู่เหนือโลกหมายความว่าจิตใจของเรานี้ไม่มีอะไรๆในโลกมาบีบคั้นมันให้ยินดียินร้ายได้ คนธรรมดาน่ะสิ่งต่างๆ ในโลกมันจะบีบคั้น บางคราวให้เขายินดี บางคราวให้เขายินร้าย เขาก็ยินดียินร้าย กระโดดโลดเต้น หัวเราะร้องไห้ไปตามการบีบคั้นของอารมณ์
อารมณ์ก็เป็นคำบัญญัติเฉพาะคำหนึ่ง หมายความว่าไอ้สิ่งที่จะเข้ามากระทบกับเรา เป็นอารมณ์เข้ามาทางตา อารมณ์เข้ามาทางหู อารมณ์เข้ามาทางจมูก อารมณ์เข้ามาทางลิ้น เข้ามาทางผิวกาย อะไรก็ตามที่จะเข้ามากระทบเรานี่เรียกว่าอารมณ์ และมันมาเป็นนายเราบังคับให้เรายินดียินร้าย ให้หัวเราะให้ร้องไห้ เราก็เป็นทาสของอารมณ์ เราก็ยินดียินร้ายหัวเราะร้องไห้ไปตามนั้น แล้วก็มีกิเลสตัณหาเกิดขึ้นจากความพอใจในอารมณ์ บังคับให้ไปหาเหยื่อมาให้ นี่คนเหล่านั้นจึงใช้เงินหมดไม่พอใช้ ไปซื้อหาเหยื่อมาให้อารมณ์ให้กามารมณ์ก็เป็นทาสของอารมณ์ ไปซื้อหาสิ่งสนองความรู้สึกทางเพศทางอารมณ์จนเงินเดือนไม่พอใช้ จนต้องคอร์รัปชั่น จับได้ไล่ออก นี่ดูอำนาจของอารมณ์มันมาเหนือเรา แต่ถ้ามันพลิกกลับกันเราอยู่เหนืออารมณ์ บังคับเราไม่ได้ เราอยู่ในความถูกต้องสงบเย็นเสมอ นี่เรียกว่าเราอยู่เหนือโลก เหนืออารมณ์ อารมณ์ก็คือโลก โลกก็คืออารมณ์
โลกนี่มีความหมาย เพราะมันมีอารมณ์ มีสิ่งที่จะอร่อยทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หรือว่าให้ทุกข์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เรียกว่าอารมณ์ทั้งนั้น พวกหนึ่งมาให้เป็นเดือดร้อนยินร้าย พวกหนึ่งมาให้สงบเย็น ไม่ใช่มาให้สงบเย็น มาให้หลงใหลเพลิดเพลิน นี่เรียกว่าไม่สงบเย็น อันหนึ่งมาให้หัวเราะอันหนึ่งมาให้ร้องไห้ ก็ไม่สงบเย็น เพราะเราอยู่ใต้อำนาจอารมณ์ ถ้าเราอยู่เหนืออำนาจอารมณ์ไม่มีอะไรมาทำให้หัวเราะได้ ไม่มีอะไรมาทำให้ร้องไห้ได้ นี่เรียกเราอยู่เหนืออำนาจของอารมณ์ คำนี้เรียกว่าโลกุตระอยู่เหนือโลก หมายความว่าทุกสิ่งในโลกไม่มาย่ำยีหัวใจคนนี้ได้ ไม่ว่าอะไรในโลกไม่มาบีบบังคับหัวใจคนนี้ให้ยินดีหรือยินร้ายได้ จะไม่รัก โกรธ เกลียด กลัว อะไรเลย
ฉะนั้นคำว่าเหนือโลก เหนือโลกนั่นน่ะ มันไม่ได้ลึกซึ้ง เหลือวิสัยเกินไปอะไรนัก ถ้าเมื่อใดเรากระทำ อย่าให้อะไรในโลกมาบีบหัวใจเราได้ เมื่อนั้นเรียกว่าเราอยู่เหนือโลก ถ้ามันมาบีบหัวใจเราได้ เราก็ต้องกระโดดโลดเต้น เดี๋ยวหัวเราะเดี๋ยวร้องไห้ไปตามแบบนั้น เราโง่เราก็พอใจที่จะหัวเราะร้องไห้ไปตามแบบนั้น ถ้าเรามันยังโง่มันรู้เพียงเท่านั้น นี่พูดเรื่องผัสสะอย่างเดียวเป็นชั่วโมงแล้วนะ เรื่องผัสสะมีอยู่อย่างนี้ เราจะบังคับผัสสะได้หรือไม่นั่นแหละสำคัญ ถ้าเรามีธรรมะพอเราก็บังคับผัสสะได้แน่นอน เราจึงเรียนธรรมะกันเพื่อจะบังคับผัสสะให้อยู่ในความถูกต้อง หรือบังคับโลก ทุกอย่างในโลกอย่ามาย่ำยีหัวใจเรา นี่พูดกันภาษาธรรมดาก็ว่าอย่างนี้ เรามีธรรมะ เรารู้ธรรมะ อย่าให้อะไรๆในโลกย่ำยีหัวใจเราให้กระโดดโลดเต้นได้ยินดียินร้าย หัวเราะร้องไห้ ไม่หยุดคือหยุดนิ่งไม่ได้
ก็ใคร่ครวญดูว่าธรรมะมีค่าหรือไม่มีค่า น่าต้องการหรือไม่น่าต้องการ ถ้าเห็นว่าอย่างนี้แล้วไม่น่าต้องการก็เลิกกัน ไม่ต้องศึกษา ประยุกต์ชมรมพุทธศาสน์ ก็เลิกมาสวนโมกข์ไม่ต้องมาอีกต่อไป เพราะมันจะไม่มีอะไรให้นอกจากธรรมะที่จะทำให้เรามีอำนาจเหนืออารมณ์ เหนือโลก เหนือสิ่งต่างๆ ที่มันย่ำยีหัวใจมนุษย์ ขอให้รู้จักธรรมะว่าจะเป็นเครื่องมือให้เราควบคุมผัสสะได้ ถ้าเราอยู่ใต้อำนาจของผัสสะเราจะต้องเป็นทุกข์ตลอดไป ถ้าเราทำผิดผัสสะก็เป็นทุกข์ เราควบคุมผัสสะไม่ได้เราก็ต้องเป็นทุกข์
กลายเป็นเรียนเรื่องเดียวโดยเนื้อแท้แล้ว เรื่องผัสสะในชีวิตประจำวันและควบคุมมันให้ได้เท่านั้นแหละ มันหมด ไอ้เรื่องธรรมะมันหมด ถ้าควบคุมผัสสะได้ชีวิตนี้จะเย็น ถ้าควบคุมผัสสะไม่ได้ชีวิตนี้จะร้อนตลอดกาล นิพพานแปลว่าเย็น มีชีวิตที่เยือกเย็นก็เรียกว่ามีชีวิตนิพพาน
คำว่าเย็นนี่คงจะเป็นความหมายที่เข้าใจยากสำหรับพวกเราที่แรกเรียน เพราะเรารู้จักแต่เย็นแช่น้ำแข็ง อย่างนั้นก็ไม่เรียกว่าเย็นแล้ว มันเป็นไอ้ความร้อนขนาดหนึ่งเท่านั้น ถ้าเย็นมันไม่มีปรุงแต่งยุยั่วให้มันเกิดความรู้สึก ไม่ต้องลุกมากระโดดโลดเต้น
ครั้งพุทธกาลน่ะเขาต้องการอย่างนี้กันมาก ต้องการความเย็นทางจิตใจกันมาก ดังนั้นความก้าวหน้าทางวัตถุจึงไม่ค่อยมี จะพูดว่าเขาไม่รู้จักก็ได้ ถูกแล้วเขาไม่รู้จักเพราะเขาไม่สนใจจะค้นคว้าไอ้ความก้าวหน้าทางวัตถุ เขาสนใจค้นคว้าความก้าวหน้าทางจิตใจให้มันเย็นๆๆ เย็นกันเร็วๆ เย็นมากกว่าใคร ในโลกชนิดนั้นในเวลานั้นจึงไม่ก้าวหน้าทางวัตถุ เดี๋ยวนี้มันมีความก้าวหน้าทางวัตถุจนเลยขอบเขต จนเรียกว่าเฟ้อแล้วก็ได้ เราหลงใหลกันจนไม่รู้ว่าจะหลงใหลอย่างไร ความสุขสนุกสนานทางวัตถุ แต่ว่าทางใจตกต่ำ
เดี๋ยวนี้วัฒนธรรมหรืออารยธรรมทางจิตใจทรุดต่ำ วัฒนธรรมทางวัตถุขึ้นสูงครอบงำ โลกจึงเป็นอย่างนี้ เป็นโลกที่เอาหัวลงพลิกหัวกลับ เอาหัวลงเอาเท้าชี้ฟ้า ในทางจิตใจตกต่ำหมด ในทางวัตถุนั้นกลับเจริญรุ่งเรือง มันก็เหมือนกับคนเอาหัวลงแหละ ไปคิดดู มันต้องอึดอัดน่ะจนกว่ามันจะกลับเอาหัวขึ้นกันเสียใหม่ ถ้าเรียนธรรมะกันเพียงพอ มันจะได้กลับเอาหัวขึ้นกันเสียใหม่เอาเท้าลงอีก เดี๋ยวนี้มันอยู่ในลักษณะที่ว่าเอาหัวลงเอาเท้าขึ้น เพราะหลงใหลในทางวัตถุจนเรื่องทางจิตใจสูญหายไปหมด ถ้าธรรมะมามันก็กลับ กลับให้ตรงตามเดิม เอาหัวขึ้นเอาเท้าลง
ที่พูดนี้มันเป็นเพียงแนวให้สังเกต คุณต้องไปเรียนเอาโดยการสังเกตจนเห็นตามที่มันเป็นจริงของธรรมชาติ ก็จะพบว่ามันเป็นอย่างนี้ ถ้าสภาพโง่สภาพอวิชชามีอยู่ในจิตใจไปสัมผัสอะไรเข้าจะเป็นความทุกข์ทั้งนั้น ถ้ามีวิชชา มีสติ มีปัญญาอยู่ในจิตใจ ไปสัมผัสอะไรเข้าก็ไม่เป็นทุกข์เลย หรือถ้าต้องการจะมีความสุขบ้างก็ทำได้ ทำให้มีความสุขได้ไม่ต้องเป็นทุกข์เลย หรือต้องการมากกว่านั้นให้เย็นเยือกถึงที่สุดเป็นนิพพานมันก็ทำได้ นี่ประโยชน์ของธรรมะทำให้เราก้าวหน้าไปตามวิวัฒนาการที่ควรจะเป็น จนถึงจุดสุดท้ายสูงสุดของมัน เป็นชีวิตเย็น
ไอ้ความรู้สึกที่เกิดขึ้นแก่จิตใจที่เรียกว่า เวทนา เมื่อเราผัสสะอะไรแล้วมันเกิดอะไรขึ้นมาเป็นผล นี่เรียกว่าเวทนา ของเรามันร้อนไปทั้งนั้น ไอ้ของผู้มีธรรมะมันเย็นไปทั้งนั้น เขาเรียกว่าเวทนามันดับเย็น ไอ้เวทนาคนธรรมดานี่มันร้อน มันร้อนด้วยราคะบ้าง มันร้อนด้วยโทสะบ้าง มันร้อนด้วยโมหะบ้าง เหมือนอย่างที่ว่ามาแล้ว
แม้แต่ยินดีนี่มันไม่ใช่เย็นนะ ยินดี ลิงโลด ใจเต้นเร่าๆๆๆอยู่ด้วยความพอใจ นี่มันก็ร้อนชนิดหนึ่ง มันทุกข์ มันผิดหวัง มันทรมานใจ เจ็บปวดในใจ อกร้อนเป็นไฟ นี่ก็เรียกว่ามันร้อนชนิดหนึ่ง เรียกว่ามันไม่ปกติ ที่ว่าดีใจจนเนื้อเต้นไปฟังดูเองเถิดทำไมเนื้อมันจะต้องเต้น เพราะมันร้อน ความรักก็ร้อน ความโกรธก็ร้อน ความเกลียดก็ร้อน ความกลัวก็ร้อน เรียกว่าชีวิตที่ไม่มีธรรมะมันต้องร้อน แต่ว่าเราไม่รู้เราก็ชอบมัน เพราะมันหลอกความรู้สึกได้ดี ไอ้ความสงบนี่มันไม่หลอกความรู้สึก มันแสดงความจริงอยู่เสมอ มันเย็นชืดๆ แต่มันดีที่ว่ามันไม่มีความทุกข์เลย
นี่เป็นเหตุให้คนไม่ชอบนิพพาน หาว่านิพพานไม่มีรสไม่มีชาติ ชืดจืดยิ่งกว่าอะไร เลยไม่สนใจไม่ต้องการ บางคนจะหาว่าจะไม่พัฒนาเสียด้วยซ้ำ คนที่ชอบความเยือกเย็นจะไม่พัฒนา นี่ไม่จริง เขาเย็นเสียก่อนไม่มีทุกข์เสียก่อน แล้วจึงพัฒนาให้ทุกๆอย่างเป็นไปในทางเย็น พัฒนาไปให้ร้อนพัฒนาไปทำไมกันเล่า ถ้าพัฒนาก็ต้องพัฒนาให้เย็น นี่เราก็พัฒนาได้ถูกต้อง
เดี๋ยวนี้พัฒนาให้ร้อนทั้งนั้น คือพัฒนาให้เกิดสิ่งบำรุงบำเรอกิเลส ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ให้มีผัสสะที่มีรสชาติตามกิเลส พูดภาษาหยาบคายก็คือให้อร่อย ให้อร่อยทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่มีที่สิ้นสุด ทั้งโลกกำลังเป็นอย่างนี้ ประเทศที่นำโลกในการเมืองการศึกษามันก็ยังเป็นอย่างนี้ ยิ่งเป็นอย่างนี้ เราไปดำเนินการศึกษาตามหลังประเทศชนิดนั้น มันก็ไม่ดีกว่าประเทศนั้น มันก็ต้องร้อนเหมือนกับประเทศนั้นเหมือนกัน ประเทศที่เป็นครูบาอาจารย์มันร้อน เราไปตามเขา มันก็ยังร้อนเหมือนเขา
เพราะฉะนั้นเรามาดูเสียใหม่ เรามีอะไรของเราเองที่ไม่ร้อนจะดีกว่ากระมัง คือมีธรรมะสำหรับคู่กันกับประเทศไทย เพราะคำว่า “ไท” แปลว่า อิสระ ไม่ถูกอะไรเบียดเบียน ถ้าถูกกิเลสเบียดเบียนมันก็ไม่ใช่ “ไท” เพราะมันพ่ายแพ้แก่กิเลส อยู่ใต้อำนาจของกิเลส ถ้าเป็นประเทศไทยจริง มันไม่มีอะไรเบียดเบียนได้ ไม่มีอะไรข่มขี่ได้ นี่เรามาเป็นไทยกันในทำนองนี้ เพื่อท้าทายไอ้ประเทศตะวันตกที่ว่ามันว่ามันเจริญ มันเจริญด้วยความร้อน หรือสิ่งที่เกิดความร้อนทั้งนั้น เราเป็นไทยแบบพุทธหรือแบบที่มีศาสนาของตัวของตน แล้วเย็นให้ดูบ้าง บางทีโลกมันจะหันกลับมาหาศาสนากันอีกที
เดี๋ยวนี้มันเตลิดเปิดเปิงไปเป็นทาสของวัตถุกันหมดทั้งโลกแล้ว เขาลงทุนด้วยการทำลายทรัพยากรของธรรมชาติมากมาย เรี่ยวแรงมากมาย ชีวิตมากมาย เอาไปฆ่ากันตายเป็นหมื่นเป็นแสน เพื่อว่าด้วยความคิดว่ามันจะเจริญ แต่มันก็ไม่เจริญ มันใช้อาวุธ ปรมาณู อะไรก็ตามที่มันมีอยู่เดี๋ยวนี้ ทำไปเถิดมันก็ไม่พบความเจริญ พบแต่ความวินาศ แล้วเราจะไปตามก้นเอาอย่างเขาอย่างไร เรามาเป็นไท เหนือกิเลสเป็นไทแก่กิเลส ไม่ต้องเป็นทุกข์ไม่ต้องทำให้ผิดๆอย่างนั้นจะดีมาก ฝ่ายตะวันออกจะดำรงตนเป็นครูบาอาจารย์กันบ้าง เดี๋ยวนี้ตะวันออกกำลังหลง โง่ ติดเหยื่อของฝ่ายตะวันตก ไปตามหลังตะวันตก ไปผลิตสิ่งซึ่งยั่วกิเลสบำรุงกิเลส นี่ก็ยังไม่รู้จุดจบนะมันจะไปจุดจบกันถึงไหน
เราดูสิเห็นอยู่แท้ๆ ดูด้วยตาก็เห็นว่าเราหลงวัตถุกันอย่างไร ดูที่หนังสือพิมพ์ทุกฉบับเถิดมันขายของที่ไม่จำเป็น สิ่งที่ไม่จำเป็นจะต้อง ไม่ต้องมีต้องใช้ แต่มันให้ความเอร็ดอร่อย แต่ที่จริงไม่จำเป็นกับชีวิต มีแต่สิ่งอย่างนี้ หนังสือพิมพ์ฉบับไหนก็ได้เอามาพลิกดู มันจะพบว่ามันมีสิ่งที่เราไม่ต้องซื้อก็ได้ แต่ถ้าเราตกเป็นเหยื่อการโฆษณาของเขาเราก็ซื้อไง
ถ้ามีธรรมะจริงต้องการแต่ในขอบเขตของธรรมะ คุณเข้าไปในร้านขายของสรรพสินค้า เป็นต้นเหล่านี้ คุณจะไม่ซื้ออะไรได้ ลองดู มีจิตใจเป็นธรรมะ พกเงินไปมากๆเข้าไปในร้านอย่างนั้น ในที่สุดคุณจะซื้ออะไรไม่ได้ เพราะมันมีแต่สิ่งของที่เกินความจำเป็นของร่างกายของชีวิต คือเราไม่ต้องซื้อถึงขนาดนั้นก็ได้ แม้ที่สุดแต่ว่าเราไม่ต้องซื้อหม้อหุงข้าวด้วยไฟฟ้า เราหุงข้าวด้วยหม้อดินก็ได้ อย่างนี้เป็นต้น แต่เราก็ไม่ชอบเราก็จะต้องซื้อมันจนได้ ทุกอย่างน่ะเราไม่ต้องซื้อก็ได้ แต่เราก็คิดว่าไม่เจริญเราก็ต้องซื้อ
นี่คือความเจริญในโลกเวลานี้เป็นอย่างนี้ เจริญไปในทางที่ไม่จำเป็นจะต้องทำ นี่อุตส่าห์เก็บเงินไปสิ ศึกษาเล่าเรียน จบแล้วไปทำงานได้เงินมากๆ เก็บเงินไว้ซื้อในสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องซื้อในอนาคตตลอดชีวิต ถ้าเราจะเอากันแต่ที่จำเป็นแก่ชีวิต มันเกือบจะไม่ต้องซื้อหาอะไรกันนัก เงินจะเหลือมากกว่าที่ใช้ไป นี่เป็นเรื่องที่จะต้องเผชิญในอนาคต เตรียมนึกไว้ให้ดีๆ แต่บัดนี้ เดี๋ยวนี้กำลังเรียนและกำลังจะทำงาน เมื่อได้เงินแล้วจะไปทำอะไร ก็ไปซื้อหาอารมณ์ทั้งนั้น ซื้อหาอารมณ์ของกิเลสทั้งนั้น
ถือไว้มั่นคง ไม่เอา เอาแต่ที่จำเป็น แล้วจะเยือกเย็นจะเป็นสุข แล้วเงินจะเหลือมากทีเดียว เพราะว่าความสุขที่แท้จริงน่ะไม่ต้องซื้อด้วยเงิน หรือซื้อหาไม่ได้ด้วยเงิน มีเงินก็ซื้อไม่ได้ไอ้ความสุขที่แท้จริง ความสุขที่แท้จริง คือ ความพอใจที่ถูกต้อง สร้างความพอใจที่ถูกต้องขึ้นมาให้ได้เถิด แล้วจะมีความสุขที่แท้จริง แล้วไม่ต้องใช้เงิน
ขอร้องให้จำไอ้คำที่พูดอยู่บ่อยๆนี้ว่า ทำงานให้สนุกและเป็นสุขเมื่อกำลังทำงาน ช่วยจำ ช่วยจำว่า ทำงานให้สนุก เป็นสุขเมื่อกำลังทำงาน ทำงานให้สนุก เป็นสุขเมื่อกำลังทำงาน คนโง่ทำงานให้สนุกไม่ได้ ไอ้เด็กโง่ๆ มันจะทำงานให้สนุกไม่ได้ เพราะมันน่าเบื่อมันไม่สนุก เพราะมันมีกิเลส แต่ถ้ามันมีธรรมะมีปัญญา มันอาจจะทำงานให้สนุกได้ เพราะมันรู้ว่างานนั้นน่ะคือธรรมะ ธรรมะคือหน้าที่ หน้าที่คือธรรมะ การทำหน้าที่คือการปฏิบัติธรรมะ การทำงานคือการปฏิบัติธรรมะ มันต้องปรับปรุงจิตใจมาเหมือนกับที่เรากำลังพุดอยู่นี่เสียก่อน คนนั้นจึงจะทำงานสนุก ถ้าไม่อย่างนั้นมัน โอ๊ย, ทำงาน เลิกงานไปเที่ยวกันดีกว่า ไปหาความสนุกด้วยเงินดีกว่า ถ้าหาไม่ได้ก็ไปขโมยปล้นจี้เอามา หรือเรียนลัดไปข่มขืนเขา อย่างนี้เป็นต้น นี่คนที่มันไม่มีจิตใจชนิดที่จะทำงานให้สนุก
แต่ถ้าเราได้ศึกษาธรรมะมาพอ พอจะเห็นว่า อ้อ! ธรรมะมันคือหน้าที่ของมนุษย์ที่จะทำมนุษย์ให้เป็นมนุษย์ เป็นสิ่งสูงสุดที่จะทำให้รอดชีวิตและเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป พอมองเห็นว่าทำงานคือธรรมะ มันก็พอใจสิ พอใจที่จะทำงาน ทำงานสนุก งานเลยเป็นของสนุกสำหรับบุคคลชนิดนี้ ส่วนคนที่เป็นปุถุชนเกินไปโง่เกินไปแล้วงานก็ไม่สนุกหรอก ถ้ามันมีธรรมะแล้วมันจะรู้สึกสนุกเพราะว่ามันเป็นการปฏิบัติธรรมะ แล้วมันจะล้างจาน มันจะต้องล้างจาน แม่มันจะใช้ให้ล้างจาน ถูพื้น กวาดบ้าน ผ่าฟืนอะไร มันสนุกทั้งนั้นเลย ถ้ามันรู้ว่าไอ้งานนี่คือธรรมะ มีโอกาสที่จะทำงานให้สนุก สนุกของธรรมะ ไม่ใช่สนุกของกิเลส สนุกของกิเลสต้องไปสถานเริงรมย์ แต่สนุกของธรรมะก็คือเมื่อปฏิบัติธรรมะนั่นเอง
ฉะนั้นเราปฏิบัติธรรมะก็หมายความว่า ทำหน้าที่ที่ถูกต้องของความเป็นมนุษย์ แล้วก็พอใจ พอใจ ได้ทำอะไรก็พอใจ ได้ทำอะไรที่เป็นหน้าที่อย่างถูกต้องแล้วก็พอใจ กำหนดให้ดีว่าพอใจนะ พอใจเกิดขึ้นแล้วนะ สนุกโดยธรรมะในหน้าที่การงานแล้วก็พอใจ พอใจนั่นแหละคือความสุข ถ้าพอใจในสิ่งหลอกลวงก็เป็นความสุขหลอกลวง ถ้าพอใจในสิ่งที่ถูกต้องไอ้ความสุขนั้นก็ถูกต้อง พอใจในเรื่องของกิเลสไอ้ความสุขนั้นก็หลอกลวง มันพอใจได้เหมือนกัน ความชั่วความเลวนั้นเป็นที่พอใจของคนชั่วคนเลว ความพอใจนั้นก็ให้เกิดความสุขของคนเลว เป็นความสุขอย่างเลวเป็นความสุขอย่างหลอกลวง แต่ก็ยังพูดได้ว่าความสุขต้องมาจากความพอใจ มันไม่มาจากทางอื่น ทีนี้เราก็ทำให้เกิดความพอใจชนิดที่มันถูกต้องสิ เป็นธรรมสิ ไอ้ความสุขนั้นมันก็ถูกต้อง เป็นความสุขแท้ เป็นความสุขจริงไม่หลอกลวง
เราสร้างความพอใจได้ด้วยการทำงานให้สนุก จะต้องใช้เงินอะไร เราทำงานให้สนุก เป็นที่พอใจ มันก็เกิดความสุขที่นั่น เงินก็ไม่ต้องใช้ ความสุขก็ได้ นี่เขาเรียกว่า มีความสุขตลอดเวลาที่พอใจ อย่างถูกต้องในทางของธรรมะ ทำงานอะไรอยู่ เช่นว่าเราเล่าเรียนนี้ การเรียนเป็นงาน เมื่อมีการเล่าเรียนก็คือทำงาน ทำงานก็สนุก สนุกแล้วก็พอใจ ก็พอใจๆๆ ไม่อยากเลิกไม่อยากหยุด ไม่อยากเลิกงานไปเที่ยวหาความสุขที่ไหน เพราะว่ามันเป็นสุขเสียแล้วในความพอใจในการงานที่กำลังกระทำอยู่
นี่เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า ถ้ามันเป็นความสุขที่แท้จริงมันหาได้จากความพอใจเมื่อกระทำความดีความถูกต้อง ไม่ต้องเอาเงินไปซื้อหาที่ไหน ที่ไหนก็ไม่มีขาย ไอ้ความสุขที่แท้จริงไม่ซื้อได้ด้วยเงิน ไม่อาจจะซื้อได้ด้วยเงินเพราะไม่มีที่ไหนขาย เราก็ทำไอ้ความพอใจที่ถูกต้องในการงานที่เป็นธรรมะเป็นหน้าที่ของมนุษย์ ที่เราพูดกันแล้วตอนแรกๆ ว่า ธรรมะคือการงาน การงานคือธรรมะ ธรรมะคือหน้าที่ หน้าที่คือธรรมะ ปฏิบัติการงานคือการปฏิบัติธรรม เมื่อรู้สึกว่าได้ปฏิบัติธรรมก็พอใจ พอใจก็เป็นสุข นี่เป็นเครื่องบอกชัดเห็นชัดว่าความสุขที่แท้จริงไม่ต้องใช้เงิน ยิ่งใช้เงินเท่าไรยิ่งเป็นความสุขหลอกลวงเท่านั้น เป็นเรื่องกามารมณ์เป็นเรื่องอะไรไป เป็นความเพลิดเพลินทั้งนั้น ไม่ใช่ความสุข แล้วก็หลอกลวง แล้วก็กินเงินหมด จนเงินไม่พอใช้ ถ้าเป็นความสุขแท้จริงมันจะไม่กินเงิน ไม่ต้องใช้แม้แต่สักสตางค์หนึ่ง คือทำงานให้เป็นที่พอใจของตน และเงินเหลือ เหลือก็เก็บไว้ก็ได้ ถ้ายังเหลืออีกก็ไปช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ใช้เพื่อประโยชน์ผู้อื่นก็ได้ มันเป็นอย่างนั้น
นี่ช่วยจำไว้ดีๆว่า ทำงานให้สนุก เป็นสุขเมื่อกำลังทำงาน นั่นน่ะหัวใจของธรรมะ จะแก้ปัญหาได้หมดสิ้น หาความสุขได้เมื่อกำลังทำงาน คิดดู เมื่อกำลังทำงานหาความสุขได้ และเป็นความสุขที่แท้จริงด้วย พอเลิกงานไปหาความสุขมันไม่มี เป็นเรื่องหลอกลวงไปซื้อเหยื่อของกามารมณ์ทั้งนั้น ไปสถานเริงรมย์ก็ไปซื้อเหยื่อของกามารมณ์ เป็นความสุขหลอกลวง เผาหัวใจร้อน
เอาล่ะเป็นอันว่าธรรมะนี้ มันเป็นการกระทำที่ถูกต้องของความเป็นมนุษย์ของเรา นี่จับใจความที่สำคัญที่สุด ที่รวบรัดที่สุด หมดที่สุด ถูกต้องที่สุดว่า ธรรมะคือการกระทำที่ถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ของเรา คุณไปคิดเอาเองอะไรก็ได้ อะไรก็ได้ ถ้ามันถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ของเรา มันก็เป็นความเจริญของชีวิต นั่นน่ะคือธรรมะ
นี่คือเรื่องที่จะพูด เราดำรงจิตใจให้มีความถูกต้อง แล้วก็ทำอะไรไปโดยความถูกต้อง และก็พอใจในความถูกต้องนั้นอยู่ตลอดเวลา เรียกว่าอยู่กับความสุขที่แท้จริงตลอดเวลา คนชนิดนี้พ้นจากความเป็นคนธรรมดาเป็นบุคคลที่เข้าไปในขอบเขตของพระอริยเจ้า เป็นอริยชน เป็นคนอริยะ ไม่ตกอยู่ใต้อำนาจของกิเลสเพราะควบคุมผัสสะได้ มิฉะนั้นก็ต้องเป็นคนธรรมดาหัวเราะร้องไห้อยู่ใต้อำนาจของกิเลสอยู่นี่เอง
นี่ขอให้ทุกคนรู้ธรรมะในลักษณะอย่างนี้ว่า ธรรมะคือการกระทำเป็นระบบ ระบบที่ถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ของเรา ทุกขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการ มีผลดีทั้งแก่เราเองและแก่ผู้อื่น หากเพราะว่าธรรมะนี้เป็นเรื่องของธรรมชาติเป็นกฎของธรรมชาติอันตายตัว ดังนั้นเราจะละเว้นไม่ได้ เราจะบิดพลิ้วไม่ได้ เราจะหลอกมันก็ไม่ได้ มันเป็นกฎของธรรมชาติที่ตายตัว เราก็ต้องทำให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาตินั้น เรียกว่า กฎของธรรมชาติที่ทำให้เกิดหน้าที่แก่สิ่งที่มีชีวิต นั่นน่ะคือธรรมะ หน้าที่ที่มนุษย์จะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติและมีความเจริญงอกงามแห่งวิวัฒนาการไปตามขั้นตอนทุกขั้นตอน
เอาล่ะ! ขอให้ถือเอาเป็นความรู้พื้นฐานโดยตั้งปัญหาขึ้นมาว่า ธรรมะทำไมกัน มาศึกษาธรรมะทำไมกัน อุตส่าห์ลงทุนมาศึกษาธรรมะทำไมกัน หรือว่าตั้งหน่วยศึกษาธรรมะขึ้นในสถาบันการเรียนของเราทำไมกัน ก็เพราะว่ามันจำเป็นแก่ชีวิต เมื่อรัฐบาลเขาไม่จัดให้ ทางการการศึกษาก็ไม่จัดให้ ไอ้เรานักเรียนนี่เราทำขึ้นมาเอง ตั้งชมรมศึกษาธรรมะขึ้นมา ก็เที่ยวสืบเสาะแสวงหามาเพิ่มเติม ให้มีความรู้ให้สมบูรณ์ให้จนได้ ให้เรามีความรู้ธรรมะให้สมบูรณ์ให้จนได้ ให้การศึกษาของเราสมบูรณ์ไม่หางด้วน คือหนังสือ ศึกษาหนังสือก็สมบูรณ์ ศึกษาวิชาชีพก็สมบูรณ์ ศึกษาธรรมะเพื่อความเป็นมนุษย์ก็สมบูรณ์ ปัญหาหมด ถ้าขาดอย่างที่ ๓ นั่นล่ะวินาศ มันจะมีแต่ความทุกข์และก็ไม่สมบูรณ์ เป็นมนุษย์ที่ไม่สมบูรณ์
ขอให้ทุกคนได้มีความสมบูรณ์ในการศึกษา สมบูรณ์ในการปฏิบัติ แล้วก็ได้รับผลของความเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์เรื่องมันจบ ได้รับผลของความเป็นมนุษย์สมบูรณ์เรื่องมันจบ มีชีวิตเย็นตลอดชีวิต นี่เรื่องมันจบที่ตรงนี้
มันมีความพอใจตัวเอง ชื่นใจตัวเอง ยกมือไหว้ตัวเองได้ เพราะมีความดีความงามอยู่ในตัวเอง คนที่มันเกลียดตัวเองยกมือไหว้ตัวเองไม่ได้ มันคือคนตกนรกอยู่ตลอดเวลา จงทำให้เป็นคนที่ยกมือไหว้ตัวเองได้ตลอดเวลา อย่างน้อยก็อยู่ในสวรรค์ตลอดเวลา หรือจะเป็นนิพพานน้อยๆอยู่ตลอดเวลา เพราะว่ายกมือไหว้ตัวเองได้ ขอให้ทุกคนไปประพฤติกระทำจนพอใจตัวเอง นับถือตัวเอง ยกมือไหว้ตัวเองได้อยู่ทุกเวลาเถิด ก็ไม่เสียทีที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์และพบพระพุทธศาสนา ขอให้มีความเจริญทุกทิพาราตรีกาลเทอญ
จะเก็บใจความสำคัญบันทึกไว้ในสมุดโน้ต เฉพาะใจความสำคัญ ไม่งั้นมันลืมเป็นธรรมดา หนังสือทั้งหมดนี้เขียนคนเดียวทำคนเดียว คนโดยมากไม่เชื่อ ไม่เชื่อว่าทำคนเดียว ไม่เชื่อก็ตามใจ แต่ว่าตามข้อเท็จจริงทำคนเดียวหนังสือทั้งหมดนี้ เพราะว่าถืออย่างที่บอกคุณนั่นแหละ ไม่หลอกล่ะ ทำงานให้สนุกเป็นสุขเมื่อทำงาน มันเลยทำได้มากเท่านี้ ถ้าไม่ถือหลักอันนี้ทำไม่ได้มากเท่านี้ ขอให้ทุกคนไปทำงานให้สนุกเป็นสุขเมื่อทำงาน แล้วจะทำงานได้มากจนเขาไม่เชื่อว่านี่คนเดียวทำ เชิญได้ ปิดประชุม ปิดประชุม