แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
นักเรียน นักศึกษาทั้งหลาย ในชั้นแรกนี้ขอแสดงความยินดีแก่เธอทั้งหลาย เป็นที่ประจักษ์ว่า เธอได้เลือกเอาวิชาพุทธศาสนาเป็นวิชาเลือก เพื่อนของเราจำนวนหนึ่งหรือจำนวนมากไม่เลือก แต่เราเลือกเพื่อศึกษาวิชาพุทธศาสนา ข้อนี้จะมีผลดีอย่างไรนั่นแหละต้องทำให้เป็นที่ประจักษ์ เราจะต้องพิสูจน์ความที่เราได้รับผลจากพระธรรมในพระพุทธศาสนา ว่าเป็นสิ่งที่มีค่า ไม่ใช่มีค่าว่าเป็นเพียงวิชาหนึ่งเพื่อการศึกษาและสอบไล่ได้เหมือนกัน อย่างนี้ไม่ใช่ นี้มันน้อยเกินไป
เราเลือกวิชาพุทธศาสนาศึกษาเล่าเรียน แล้วก็สอบไล่ได้ตามหลักสูตรนั้นมันเป็นเรื่องเล็ก เรื่องใหญ่ก็คือเราจะรู้ธรรมะ และสามารถมีธรรมะอยู่กับเนื้อกับตัวตลอดไปในอนาคต เป็นเครื่องควบคุมหรือว่าหล่อเลี้ยงแล้วแต่จะเรียก ให้ชีวิตนี้เป็นชีวิตที่เยือกเย็นสมกับที่เป็นมนุษย์ มนุษย์ควรจะมีชีวิตที่เยือกเย็น คือมีความสงบสุข ถ้าไม่มีชีวิตที่เยือกเย็นก็ป่วยการ การจะมีความรู้ทำให้ชีวิตนี้เป็นชีวิตที่เยือกเย็นได้นั่นแหละ มีค่ามากที่สุดสำหรับความเป็นมนุษย์ เธอทั้งหลายจงสนใจในความจริงข้อนี้ และทำให้สำเร็จประ โยชน์ คือเราจะมีธรรมะสำหรับความเป็นมนุษย์ของเรา เรียนวิชาธรรมะเพื่อความเป็นมนุษย์ของเราจะได้ รับผลดีที่สุด ไม่ใช่เพียงแต่ว่าเราเป็นนักเรียนแล้วบังคับให้เรียน หลักสูตรมีวิชาให้เลือกแล้วเราก็เลือก นี้ก็ดีมากอยู่แล้วในการที่รู้จักเลือก พวกที่ไม่เลือกเอาพุทธศาสนาก็คงจะเห็นว่ามันเป็นเรื่องเรียนยาก ลำบาก เหน็ดเหนื่อย และก็จะไม่ได้ประโยชน์อะไรนัก เขาจึงไม่เลือก เมื่อเราเลือก เราก็ควรจะมีเหตุผลของเราว่าทำไมเราจึงเลือก และเราจะได้รับประโยชน์อะไร นี่จึงจะต้องพูดกันให้เข้าใจแจ่มแจ้งชัดเจนลงไปว่า ธรรมะในพระพุทธศาสนาที่เราเลือกศึกษานี้ จะนำมาซึ่งประโยชน์อย่างไร แล้วเราจะเรียนกันอย่างไร จึงจะมี จึงจะรู้ และจะมีธรรมะนั้น วันนี้ก็ตั้งใจจะพูดข้อนี้ ขอให้เธอทั้งหลายพยายามฟังให้ดี ฟังให้รู้เรื่อง ฟังให้ดีจึงจะรู้เรื่อง และเมื่อรู้เรื่องแล้วก็จะมีความรู้และมีปัญญา ขอให้ฟังให้ดี อย่าคุยแข่งกับผู้พูด ผู้เทศน์ มันใช้ไม่ได้หลายๆ อย่างทีเดียว คือจะเสียเวลาเปล่าในที่สุด ฟังไม่รู้เรื่อง ตั้งใจฟัง ส่งใจไปตามคำพูด และก็เข้าใจคำที่พูด และจำไว้ให้แม่นยำหรือถึงกับจดไว้ในส่วนที่สำคัญ
ไอ้เรื่องที่จะพูด มันก็ต้องตั้งต้นไปจากปัญหาที่กำลังมีอยู่จริง ปัญหาที่กำลังมีอยู่จริงคือเราไม่ได้รับความสงบสุข หรือว่าบ้านเมืองไม่ได้รับความสงบสุข หรือโลกนี้มันไม่ได้รับความสงบสุข เพราะเหตุอะไร แล้วเธอต้องเอาสิ่งนั้นมาเป็นตัวปัญหา เป็นตัวปัญหาที่แท้จริง ที่เราจะต้องสามารถขจัดออกไปเสียได้ เพื่อประโยชน์แก่ตัวเราเอง และเพื่อเพื่อนมนุษย์ของเราทุกคนในโลก จึงจะได้ชื่อว่าเรามีความสมควร มีความเหมาะสมที่จะอยู่ในโลก ที่จะเป็นสมาชิกคนหนึ่งในโลก ไม่เป็นหมันเปล่า ถ้าเราไม่ทำประโยชน์ให้เกิด ขึ้นได้แก่ตัวเราและแก่ผู้อื่นแล้ว เราเป็นหมัน เป็นคนที่ไร้ประโยชน์ มันมีแต่ประโยชน์อะไรก็ไม่รู้ มีเงิน มีทอง มีข้าวมีของ มีอะไรสะดวกสบาย แต่มันก็ไม่เป็นประโยชน์ชนิดที่น่าเลื่อมใส มันเป็นเรื่องปากเรื่องท้องของบุคคลนั้นเท่านั้น มันก็ไม่ดีกว่าสัตว์เดรัจฉาน ซึ่งมันก็รู้จักทำเพื่อปากเพื่อท้องของมันเหมือนกัน เราจะต้องมีความรู้มากกว่านั้น ให้ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์โดยแท้จริง ทั้งแก่เราเองและแก่เพื่อนมนุษย์ของเราด้วย ความมุ่งหมายของธรรมะอยู่ที่ตรงนี้ คือเพื่อทุกคนในโลกอยู่กันเป็นผาสุก
ทีนี้ก็มาดูถึงมูลเหตุที่ทำให้ไม่มีความผาสุก ดูจากของจริง ไม่ต้องเชื่อตามผู้อื่น ไม่ต้องเชื่อว่าเพราะคนอื่นพูดให้ฟัง หรือมีอยู่ในหนังสือที่เราอ่าน ให้ดูลงไปจริงๆ ที่ความวุ่นวาย ความระส่ำระสายไม่เป็นสุข ที่เรียกกันว่าวิกฤตการณ์ที่มีอยู่ในโลก ทำไมจึงมีการเบียดเบียนกัน ทำไมจึงไม่รักใคร่กันในฐานะเป็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ยังมีการทะเลาะวิวาทกัน หรือยังมีอิจฉาริษยา ซึ่งมันไม่จำเป็นเลยที่เราจะอิจฉาริษยากัน นั่น น่ะคือโทษของการที่ไม่มีธรรมะ เธอต้องจำคำสำคัญคำหนึ่งไว้ว่า ความเห็นแก่ตัว ความเห็นแก่ตัว นั่นน่ะเป็นจุดศูนย์กลางของความไม่มีธรรมะ ถ้าให้ดีก็ต้องดูความเห็นแก่ตัวของตัวเอง มันคงจะดูยาก เพราะว่าเรามันเข้าข้างตัวอยู่เรื่อย จะดูความเห็นแก่ตัวของผู้อื่นพร้อมกันไปก็ได้ แต่มันคงจะไม่ชัดเจนเท่ากับที่ดูของเราเองว่า เรามีความเห็นแก่ตัวอย่างไร คำว่าความเห็นแก่ตัวนี่ เป็นสิ่งที่มนุษย์เกลียดชังและประณามกันมา ตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ก็ว่าได้ แต่เรื่องดึกดำบรรพ์นั้น ไม่ได้ยินกับหูเอง ที่ได้ยินกับหูเองเมื่อฉันมีอายุ ๗๗ ปีมานี่ ก็ได้ยินแล้วตั้งแต่จำความได้ ทุกคนเกลียดความเห็นแก่ตัว สอนให้เกลียดความเห็นแก่ตัวทั่ว ไปทั้งโลก พวกชาวต่างประเทศเข้ามาในบ้านเรา เขาก็พูดตำหนิติเตียน หรือเกลียดชังความเห็นแก่ตัวความ เห็นแก่ตัว ความเห็นแก่ตัว
ความเห็นแก่ตัวนี่มันเลวร้ายอะไรนักหนา ดูให้เห็นว่ามันเลวร้ายอะไรนักหนา ความเห็นแก่ตัวมันเป็นต้นเหตุ ให้เกิดความอยากได้ที่ไม่ควรจะได้ ที่เรียกว่าความโลภ ความเห็นแก่ตัวมันเป็นเหตุให้เกิดความอยากได้ที่ไม่ควรจะได้ ที่เราเรียกว่าความโลภ สำหรับสิ่งทั่วๆ ไป ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับกามคุณ ก็เป็นเหตุให้เกิดราคะ ความกำหนัดในทางกามารมณ์ นี่ก็เพราะความเห็นแก่ตัว มันต้องการให้สิ่งเหล่าอื่นมาบำรุงบำเรอสนองกิเลสของตัว นั่นแหละคือความรู้สึกที่เรียกว่าราคะ และความเห็นแก่ตัวทำให้เกิดโลภะ หรือราคะ เป็นกิเลสตัวแรก คือเมื่อมันไม่ได้ตามที่มันอยากจะได้ หรือเห็นแก่ตัวแล้ว มันก็เกิดตัวที่สอง กิเลสตัวที่สองคือโทสะหรือโกธะ ถ้าไม่ได้อยากอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ก่อนแล้ว ไอ้โทสะหรือโกธะ เกิดไม่ได้ ดังนั้นมันจึงเนื่องกันมากับความอยากหรือความโลภก็แล้วแต่ ที่มันมีอยู่ก่อนแล้ว เมื่อมันไม่ได้ตามที่มันอยาก ที่มันต้องการ มันก็เกิดกิเลสตัวที่สองหรือกลุ่มที่สอง คือโทสะ ประทุษร้าย โกธะ ความโกรธ และกิเลสชื่ออื่นในเครือเดียวกัน เช่น ความพยาบาทจองเวร อาฆาตมาดร้าย คือความโกรธที่มันยืด เยื้อนั่นเอง มันก็คือโทสะหรือโกธะที่มันยืดเยื้อออกไป เป็นจองเวร เป็นอาฆาตพยาบาท นี้มันเป็นกิเลสกลุ่มที่สอง ทีนี้เมื่ิอมันยังรู้ไม่ได้ มันเข้าใจไม่ได้ และมันก็ยังไม่ได้ตามที่มันจะได้ มันก็พะวงหลงใหล มันก็สงสัย มันก็หวัง มันก็คิดอย่างไม่รู้จบในเรื่องนั้นๆ ที่มันอยากจะได้ แล้วมันก็ไม่ได้ ก็เกิดไอ้พวกที่สาม ที่เรียกว่า โมหะ โมหะ ความมืด ความโง่ ที่ปั่นป่วนอยู่ในจิตใจ
เธอทั้งหลายได้ยินได้ฟังมามากแล้วว่า โลภะ โทสะ โมหะ แต่อาจจะไม่รู้จักตัวจริงของมัน ถ้าจะรู้จักตัวจริงของมัน ต้องย้อนดูไปข้างในของเราเอง ว่าเราโลภ หรืออยากได้อย่างไม่มีเหตุผล อย่างที่ไม่ควรจะได้ หรือมันเกินกว่าที่มันควรจะได้ แล้วเมื่อไม่ได้เราก็เกิดโทสะ เมิ่อยังไม่ได้ตลอดไปหรือตลอดเวลานั้น มันก็มีโมหะคือความโง่ โง่เพราะไปโลภมันก็ได้ โง่เพราะเมื่อไม่ได้แล้วมันก็โกรธก็ได้ มันเป็นความโง่ที่กำลังปั่นป่วนอยู่ในจิตใจ มันทำให้จิตใจไม่รู้อะไรตามที่ควรจะรู้ มันก็รู้ผิด เป็นเหตุให้คิดผิด พูดผิด ทำผิดอะไรไปเรื่อย นี่เรามีหรือไม่ เรามีเท่าไหร่ พยายามดูจากภายในให้รู้จักไอ้สิ่งเหล่านี้ มันจะมีผลดีที่ว่าให้รู้จักสิ่งเหล่านี้ ทำให้เราฉลาดขึ้น ในการที่จะกำจัดมันเสียให้หมดไป แล้วเราก็จะมีชีวิตอยู่ได้โดยที่ไม่มีความโลภ ความโกรธ ความหลงอย่างที่เขามีๆ กัน แม้ว่ายังไม่หมดสิ้น มันก็มีความโลภ ความโกรธ ความหลงที่เบาบาง ที่ไม่ถึงกับทำให้เกิดอันตรายร้ายแรง คนธรรมดาก็มีความโลภ ความโกรธ ความหลง เหลืออยู่ตามสมควร แต่มันไม่ร้ายแรงถึงกับแผดเผา ถ้ามันร้ายแรงมันก็จะแผดเผา คือทำให้ร้อนเป็นไฟในตัวมันเอง ในตัวคนนั้นเอง เมื่อบังคับไม่อยู่มันก็ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนด้วย เรียกว่าเดือดร้อนด้วยกันทุกฝ่ายเลย แม้ที่มันเป็นความเดือดร้อนของเราเองนี่ ก็เป็นเรื่องใหญ่โตมโหฬารอย่างยิ่งอยู่แล้ว คือเราหาความสงบสุขไม่ได้ เรามีความกระวนกระวายใจเป็นทุกข์ นี่มันก็เป็นเรื่องที่มากมายอยู่แล้ว โลภะเกิดขึ้น ราคะเกิดขึ้นนี่ กระวนกระวายเท่าไหร่ไปดูเอาเองก็แล้วกัน โทสะหรือโกธะเกิดขึ้นมันร้อนอย่างไร มันเป็นบ้าไปพักหนึ่งเลย มีโมหะเหมือนกับว่าตาบอดอยู่ตลอดเวลา มันมีโทษแลวร้ายอย่างไร นี้คำนวณในทางกลับตรงกันข้าม ก็คือว่าถ้าไม่มีจะเป็นอย่างไร ถ้าไม่มีจะเป็นอย่างไร ถ้าเรารู้จักโลภะ โทสะ โมหะดีแล้วเราอาจจะรู้ได้ดีว่า ถ้าไม่มีจะเป็นอย่างไร ถ้าไม่มีเลยโดยประการทั้งปวง เด็ดขาดลงไปแล้วก็เป็นพระอรหันต์
นี่เธอรู้จักพระอรหันต์โดยการคำนวณ โลภะ โทสะ โมหะของเราเองแล้วว่า ถ้ามันไม่มีมันจะเป็นอย่างไร ก็จะรู้ได้ว่าพระอรหันต์นั่นคือบุคคลชนิดไหน คนที่สิ้นโลภะ โทสะ โมหะน่ะ มันเป็นพระอรหันต์มันเป็นบุคคลชนิดไหน โดยเปรียบเทียบดูกับเราเอง ซึ่งเป็นปุถุชนกำลังมีโลภะ โทสะ โมหะอยู่ อยู่ในท่ามกลางกิเลส ร้อนเพราะกิเลส นี่ก็เรียกว่าร้อนเพราะกิเลส เป็นทุกข์เพราะกิเลส ที่เพราะมีกิเลสนั้นก็เป็นเหตุให้กระทำกรรมอันเลวร้าย กรรมหลายๆ อย่างนับตั้งแต่ ปาณาติบาต อะทินนาทาน กาเมสุมิจฉา จาร เรื่อยไปทุกอย่างแหละ มันทำเพราะอำนาจของกิเลส ทีนี้เป็นความทุกข์อีกประเภทหนึ่งเพิ่มเข้ามา ทุกข์เพราะกิเลสเหมือนกับอยู่ในกองไฟแล้ว มันก็มีอยู่อย่างหนึ่งแล้ว ทีนี้ไปทำกรรมเข้าอีก ได้รับผลกรรมอีก มันก็มีความทุกข์แปลกออกไป แปลกออกไป ล้วนแต่ไม่น่าปรารถนา ถ้าไม่คิดก็ไม่เห็น ถ้าเห็นแล้วมันก็จะรู้สึกว่าน่าละอาย เป็นเรื่องเสียหายของความเป็นมนุษย์ มนุษย์แต่โบราณดึกดำบรรพ์เขามองเห็นข้อนี้มาแล้ว เขาจึงได้ตั้งระเบียบปฏิบัติทุกอย่างทุกประการ ที่มันจะกำจัดโลภะ โทสะ โมหะนี้เสียได้ มีวิธีต่างๆ กันสูงขึ้นมาตามลำดับ จนกระทั่งมาถึงพระพุทธเจ้า ที่ท่านรอบรู้ในเรื่องนี้ จนถึงกับรู้วิธีที่จะทำลายโลภะ โทสะ โมหะเสียได้โดยสิ้นเชิง ที่เรียกว่าเป็นพระอรหันต์ ถ้าทำให้หมด หมดสิ้นไม่ได้ ก็เป็นพระอริยเจ้าที่รองๆ ลงมา ดีกว่าที่จะมีเต็มที่อย่างปุถุชนคนธรรมดา
นี่เธอทั้งหลายรู้จักคำว่า ปุถุชน ก็คือมีกิเลสเต็มที่ ถ้าหมดกิเลสเป็นพระอรหันต์ ถ้ามีกิเลสน้อยที่จะเป็นไปในทางของพระอรหันต์ เขาเรียกว่าพระอริยบุคคลขั้นต้นๆ เช่น พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี ชื่อแปลกๆ ไม่สำคัญ แต่รู้ใจความว่ามันมีกิเลสน้อยลงๆๆ ไปตามลำดับ ถึงขนาดนั้นเรียกว่าอย่างนั้น ถึงขนาดนั้นเรียกว่าอย่างนั้น จนจะหมดกิเลสเลย ก็เรียกว่าเป็นพระอรหันต์ ทีนี้คนโง่มันไม่รู้เรื่องนี้ พอได้ยินคำว่าพระอรหันต์ มันก็ปิดหูไม่อยากจะฟัง เพราะว่ามันไม่ๆๆๆ รู้ว่าอะไร เราไม่ต้องการ เราไม่ต้องการความเป็นพระอรหันต์ หรือว่าจะรู้ว่าดี มันก็คิดไปเสียว่า มันๆ ทำไม่ได้ มันทำไม่ได้ ก็เลยไม่สนใจเรื่องของพระอรหันต์ นี่เป็นปุถุชนที่ว่าจมอยู่ในกองทุกข์ กองกิเลส หรือจมอยู่ในวัฏสงสาร คือการวนเวียนอยู่ในกองทุกข์ กองกิเลส นี่เขาเรียกอยู่ในวัฏสงสาร เกิดกิเลส เกิดทุกข์เรื่อยไป วนอยู่ในวัฏสงสาร คนเป็นอันมากไม่รู้เรื่องนี้ มันก็ต้องเป็นไปอย่างนั้น คือว่ายเวียนอยู่ในวัฏสงสารแล้วก็ไม่รู้ตัว ไม่รู้จักว่าตัวกำลังเป็นอย่างนั้น นี้ก็มีอยู่มากและส่วนมากเป็นอย่างนั้น ที่จะลืมหูลืมตาขึ้นมา ละกิเลสให้เบาบางไปได้ มันมีน้อย อันที่จะละได้หมดเป็นพระอรหันต์ ก็ยิ่งมีน้อยมากขึ้นไปอีก เราอยู่ในพวกไหน ก็ตรวจสอบดูเองก็แล้วกัน ถ้าว่ามองเห็นตามที่เป็นจริงอย่างไร ก็คงจะอยากเลื่อนชั้นกันบ้าง ให้มันดียิ่งๆ ขึ้นไป ให้มันมีความทุกข์น้อยลง มีกิเลสน้อยลง นี้เธอรู้เรื่องส่วนลึกของจิตใจ
ถ้าปัญหามันอยู่ที่เรามีกิเลสแล้วเราก็เป็นทุกข์ แล้วกิเลสนั้นมันมาจากความเห็นแก่ตัว คือความรู้สึก คิดนึกที่ผิดๆ เห็นแก่ตัว มันเป็นแต่เพียงความรู้สึกคิดนึกเท่านั้นแหละ แต่มันมีอันตรายมากกว่านี้ เราจะรู้ จักความเห็นแก่ตัวว่าเป็นต้นเหตุของกิเลส แล้วเราก็จะดูกันไกลออกไปว่า ทำไมเราจึงไม่สามารถที่จะควบ คุมกิเลสหรือละกิเลส ก็เพราะว่าเราไม่ได้ศึกษา เพราะเราไม่ได้ศึกษาเรื่องนี้ โรงเรียนหรือวิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัยไม่ได้สอนเรื่องนี้นี่ สอนแต่เรื่องหนังสือ สอนให้รู้หนังสือ แล้วก็สอนให้รู้อาชีพที่จะหาเงินได้มากๆ เหนื่อยน้อยๆ ได้เงินมากๆ สอนแต่หนังสือกับอาชีพ ไม่ได้สอนเรื่องความทุกข์ที่มาจากกิเลส ที่มาจากความเห็นแก่ตัว ส่วนนี้ไม่ได้สอนยังขาดอยู่ ฉันก็เลยถือโอกาสตะโกนปาวๆ ไปทั่วบ้านทั่วเมืองทั่วโลก เพราะว่าหนังสือชนิดนี้มันก็เสริม เคยแผ่ไปทั่ว ทั่วๆ โลก ตะโกนอยู่ทุกวันว่าการศึกษาหมาหางด้วน ทางวิทยุนี่ไม่รู้กี่สิบครั้งแล้ว ที่ว่าการศึกษาของโลกของชาวโลกนี่ มันยังเป็นเหมือนกับหมาหางด้วน ไม่สมบูรณ์ เรียนแต่หนังสือกับเรียนแต่วิชาชีพ ไม่เรียนธรรมะ เพื่อให้รู้ว่าเราจะเป็นคนกันอย่างไรจึงจะไม่ทนทุกข์ทรมานทางจิตใจ
จึงขอพูดอีกครั้งหนึ่ง ขอโอกาสพูดอีกครั้งหนึ่งว่า การที่พวกเธอทั้งหลาย ที่สมัครเลือกเอาวิชาพุทธศาสนา เป็นวิชาเลือกของตนเพื่อจะเรียนนี่ เป็นสิ่งที่ดีขออนุโมทนา เพราะว่าเธอจะได้ทำให้การศึกษาของเธอไม่หางด้วนยังไง เมื่อมันไม่มีในหลักสูตรบังคับ แต่เขาอนุญาตให้เลือกเราก็เลือก เราก็เรียน ถ้าเราเรียนอันนี้ ก็มีการศึกษาที่สามคือธรรมะ ว่าจะเป็นมนุษย์กันอย่างไร การศึกษาของเราก็สมบูรณ์ การศึกษาของเราจะไม่เป็นสุนัขที่หางมันด้วน ถ้าจะพูดกันตรงๆ อย่าโกรธ เราเป็นพวกต่อหางหมากัน เราเป็นพวกต่อหางหมา การศึกษาธรรมะนี่ เป็นการทำให้การศึกษาของเราสมบูรณ์ ให้การศึกษาที่เหมือนกับสุนัขหางด้วนนั่นน่ะ หางไม่ด้วน ถ้าพูดให้เพราะหน่อยก็ว่า เหมือนพระเจดีย์ยอดด้วน แล้วเราก็ต่อยอดพระเจดีย์ให้หายด้วน มันก็น่าดู การศึกษาของเราก็สมบูรณ์ จึงขอแสดงความยินดีอนุโมทนาแก่เธอทั้งหลายทุกคน ที่สมัครเลือกเอาวิชาพุทธศาสนามาเป็นวิชาเลือกเรียน ให้สมบูรณ์ตามหลักสูตร เมื่อพวกอื่นหรือเพื่อนของเราเป็นจำนวนมาก เขาไม่เลือกก็ตามใจเขา เขาก็จะได้มีการศึกษาหมาหางด้วนตลอดไป เรานี่จะมีการ ศึกษาชนิดที่สมบูรณ์ นี่จึงน่ายินดี และก็ขอแสดงความยินดีที่เรียกว่าอนุโมทนา แล้วให้รู้เถิดว่าการศึกษานี้ที่เธอทำให้สมบูรณ์นี้ ไม่ใช่มีประโยชน์เพียงแต่ว่าสอบไล่ตามหลักสูตรได้ มันจะอยู่เป็นประโยชน์แก่ชีวิตของเธอ เป็นคู่ชีวิตของเธอจนตลอดชีวิต ใช้คำว่าคู่ชีวิตนี้ไม่มากกันหรอก และก็ไม่หลอกด้วย ไม่ใช่แกล้งพูดหลอก ไอ้คู่ชีวิตนั้นหมายความว่า มันทำให้ชีวิตไม่เป็นทุกข์ คู่ชีวิตที่แท้จริงต้องทำให้ชีวิตไม่เป็นทุกข์ มันก็คือธรรมะนั่นแหละ
คู่ชีวิตที่เขาพูดๆ กันภาษาชาวบ้านนั้นน่ะ ไม่จริงหรอก แต่งงานไม่กี่วันมันก็กัดๆ กันแล้ว แต่งงานได้ไม่กี่วันมันก็กัดกันแล้ว ไม่เท่าไหร่มันก็หย่ากัน จะเรียกว่าคู่ชีวิตได้อย่างไร ที่มันจะเป็นคู่ชีวิตได้ตลอด ไปมันก็คือธรรมะ ที่คอยประคับประคองให้ชีวิตเดินถูกทาง แล้วก็มีความสุขตลอดไป ฉะนั้นคู่สมรสที่มีธรรมะนั่นแหละ จะเป็นคู่ชีวิตแก่กันและกันได้ ฝ่ายชายก็มีธรรมะ ฝ่ายหญิงก็มีธรรมะ ฉะนั้นมันจะเป็นคู่ชีวิตแก่กันและกันได้ ถ้าไม่มีธรรมะ แล้วมันจะเป็นคู่กัดกัน มันฟังหยาบไปไหม แทนที่จะเป็นคู่ชีวิต มันจะเป็นคู่กัดกัน ลองไม่มีธรรมะสิ ทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชายไม่มีธรรมะแล้วมาสมรสกัน มันจะเป็นคู่กัดกันมากกว่า ไม่เท่าไหร่มันก็หย่ากัน เห็นประโยชน์ของธรรมะในฐานะเป็นคู่ชีวิตจริงๆ คือต้องอยู่คู่กับชีวิตตลอดไป พอปราศจากธรรมะเมื่อไหร่ ไอ้ชีวิตนี้ก็จะเป็นของร้อน เป็นของทุกข์ทนทรมาน เหมือนกับตกนรกอยู่ที่นี่และเดี๋ยวนี้แหละ เป็นการตกนรกทั้งเป็น ถ้ามันขาดธรรมะเป็นคู่ชีวิต
เราจึงเห็นได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องเชื่อคนอื่นหรอกว่าธรรมะเป็นคู่ชีวิต จะทำให้ชีวิตเยือกเย็น เป็นชีวิตที่ดีที่สุดจนถึงจุดสุดท้ายของชีวิต เป็นพระอรหันต์ได้ก็ยิ่งดี แม้ว่าจะเป็นพระอรหันต์ไม่ได้ มันก็จะเป็นมนุษย์ที่มีความสุขจนกระทั่งตาย จนกระทั่งตาย จนกระทั่งเข้าโลง ธรรมะจะประคับประคองเราให้มีความสุขเรื่อยไป จนกระทั่งเข้าโลง แม้จะไม่เป็นพระอรหันต์มันก็ดีที่สุดอยู่แล้ว ยิ่งเป็นพระอรหันต์ได้ก็ยิ่งวิเศษ นั่นแหละคือเรื่องของธรรมะ ในๆๆ ขั้นที่เป็นปัญหาคือความทุกข์ มันมาจากกิเลสคือความโลภ ความโกรธ ความหลง ความโลภ ความโกรธ ความหลง มันก็มาจากความเห็นแก่ตัว ถ้าเรากำจัดความ เห็นแก่ตัวเสียได้ มันก็ไม่อาจจะมีความโลภ ความโกรธ ความหลง คือไม่อาจจะเกิดกิเลสประเภทนี้ เรื่องก็สมบูรณ์ จบด้วยความเป็นสุขชนิดแท้จริงและนิรันดร
ดังนั้นเรื่องที่จะกำจัดความเห็นแก่ตัวให้ได้นั่นแหละเป็นตัวธรรมะ ชั้นถัดมาคือชั้นที่จะแก้ปัญหา ความเห็นแก่ตัวเป็นตัวปัญหา เป็นธรรมะที่เราจะต้องรู้ในๆ ชั้นแรกมันเป็นตัวปัญหา และธรรมะที่เราจะ ต้องรู้ต่อไปก็คือว่า จะแก้ปัญหาด้วยการทำลายความเห็นแก่ตัวนั้นเสีย ทีนี้จะทำลายความเห็นแก่ตัวกันอย่างไร มันก็ต้องศึกษากันอีกส่วนหนึ่ง ตรงนี้ก็ขอร้องให้เธอทั้งหลายตั้งใจฟังให้ดีที่สุด ว่าความเห็นแก่ตัวเกิดขึ้นมาอย่างไร และจะกำจัดมันได้อย่างไร เราจะต้องเรียนเรื่องนี้ เหมือนกับเรียนวิทยาศาสตร์ อย่าเรียนอย่างเรื่องไสยศาสตร์ งมงายเชื่อบ้าๆ บอๆ ไปตามเขาพูด เราต้องเรียนอย่างวิทยาศาสตร์ คือเห็นอยู่อย่างประจักษ์แก่สติปัญญาหรือความรู้ของเรา นี่ขอพูดแทรกเสียเลยว่า พุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์ พุทธศาสนาไม่ใช่ไสยศาสตร์ซึ่งงมงาย และพุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์ และพุทธศาสนาไม่ใช่เป็นปรัชญา เดี๋ยวนี้เขาพูดกันก้องบ้านก้องเมืองก้องประเทศไทยก้องโลก ว่าพุทธศาสนาเป็นปรัชญา มันคงจะมีใครพูดผิดขึ้นสักคนหนึ่ง แล้วก็พูดผิดตามๆ กันไป เธอไปค้นดูให้ตลอดไอ้ตำรับตำราปรัชญาว่ามันเป็นอย่างไร ปรัชญานั้นเขาไว้สำหรับคำนวณ สิ่งที่ไม่อาจจะเห็นด้วยความรู้โดยประจักษ์ ปรัชญาต้องมีสมมติฐาน สมมุติเรื่องขึ้นมา แล้วก็หาเหตุผลมาแวดล้อม ให้ได้คำตอบว่ามันเป็นอย่างไรแน่ หรือว่ามันจะลงมติครั้งสุดท้ายว่ามีอย่างไร ทำอย่างไรเราจึงจะกำจัดปัญหาที่เราสมมุติขึ้นมานั้นได้ นี่อย่างนี้เป็นปรัชญา ไม่มีตัวจริงเป็นแต่เรื่องสมมุติ และก็ไม่รู้จบ เรื่องปรัชญาน่ะไม่รู้จบ คำว่าปรัชญาในที่นี้เธอต้องรู้ไว้ด้วยนะว่า เป็นคำพูดที่ผิดพลาด ไปให้คำแปลที่ผิดพลาด เอาคำว่าปรัชญาของเขาไปใช้อย่างผิดพลาด เมื่อพูดถึงปรัชญาในลักษณะอย่างนี้แล้วก็คือสิ่งที่เขาเรียกกันว่า philosophy philosophy ซึ่งคุ้นหูกับนักศึกษาทั่วไปอยู่แล้ว philosophy นั้นน่ะไม่ใช่วิทยาศาสตร์ แล้ว philosophy นั้นน่ะเป็นเรื่องคำนวณ ไม่ใช่ ไม่ใช่ปรัชญา ปรัชญาแปลว่ารู้จริง รู้แจ้ง รู้โดยประจักษ์ แต่คนคนหนึ่งในเมืองไทย เขาเอาคำนี้ไปใช้เป็นคำแปลของคำว่า philosophy แล้วคนทั้งหลายก็ใช้ตาม เลยผิดกันทั้งเมือง philosophy แปลว่าปรัชญานี้มันไม่ถูก philosophy ไม่ใช่เรื่องจริงป็นเรื่องสมมุติ มีสมมติฐาน แล้วคำนึงคำนวณไปตามเหตุผลที่จะหามา แล้วลงมติ อย่างนี้ไม่ตรงกับคำว่าปรัชญาซึ่งเป็นภาษาอินเดีย
คำว่าปรัชญานั้นไม่ต้องคำนวณ แต่เขาได้ทำอย่างอื่น คือมองกันลงไปจริงๆ จนเห็นจริงเหมือนกับวิทยาศาสตร์ นั่นน่ะเรียกว่าปรัชญา ในอินเดียเขาใช้คำว่าปรัชญาในความหมายอย่างนี้ ในเมืองไทยไปคว้าเข้ามาใช้ผิด เอามาใช้เป็นคำแปลของ philosophy แต่เมื่อมันผิดกันทั้งบ้านทั้งเมือง และใช้กันทั้งบ้านทั้งเมืองแล้ว มันก็ปล่อยเลยตามเลยแหละ ใช้คำว่าปรัชญาหมายถึงสิ่งที่เรียกว่า philosophy ถ้าเป็นอย่างนี้แล้ว พุทธศาสนาไม่ใช่ philosophy และก็ไม่ใช่ปรัชญาชนิดที่เป็น philosophy แต่เป็นปรัชญาตามความหมายของภาษาอินเดีย ภาษาสันสกฤต หรือ ภาษาบาลี คือคำว่าปัญญาในภาษาบาลี คำว่าปรัชญาในภาษาสันสกฤต ซึ่งรู้แจ้งเห็นจริงโดยประจักษ์ โดยการประพฤติกระทำทางจิตทางวิปัสสนาเป็นต้น แต่เดี๋ยวนี้มันพูดกันว่าปรัชญา ปรัชญาคือ philosophy เสียแล้วก็เลยตามเลยก็พูดไป อืม, ฉันก็ต้องบอกเธอทั้งหลายว่า พุทธศาสนาไม่ใช่ปรัชญาในภาษาไทย ทั้งที่ ที่แท้พุทธศาสนาคือตัวปรัชญาในภาษาอินเดีย ภาษาบาลี หรือภาษาสันสกฤตก็ตาม คือรู้จริงโดยประจักษ์ เพราะว่าได้สัมผัสสิ่งนั้นด้วยจิตใจ ไม่ต้องคำนวณ ความทุกข์เป็นอย่างไร เหตุให้เกิดทุกข์เป็นอย่างไร ความดับทุกข์เป็นอย่างไร ทางถึงความดับทุกข์เป็นอย่างไร ไม่ต้องคำนวณ เพราะเขาได้ทำให้ประจักษ์แก่จิตใจในความรู้สึก เช่นที่เรารู้สึกว่าโลภะ โทสะ โมหะเป็นอย่างไร แล้วเรารู้สึกเวลาที่เราไม่มีโลภะ โทสะ โมหะเป็นอย่างไรนี่ รู้ประจักษ์กันอย่างนี้ไม่ต้องคำนวณ รู้ว่าพุทธศาสนานั้นน่ะไม่ใช่ปรัชญา แต่เป็นวิทยาศาสตร์ เอาตัวจริงของจริงมาวางไว้ แล้วดูๆๆ พลิกดูทดสอบดู ค้นคว้าดู แยกแยะดู อะไรดู จนพบความจริงว่าเป็นอย่างนี้ นี่เป็นวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่ปรัชญา philosophy เราก็ต้องทำต่อไปโดยวิธีนี้
ขอร้องให้เธอทั้งหลายศึกษาพุทธศาสนาในลักษณะวิทยาศาสตร์ เช่นว่าความโลภเป็นอย่างไร ก็ดูที่ตัวความโลภ ความโกรธเป็นอย่างไร ก็ดูที่ตัวความโกรธ ความหลงเป็นอย่างไร ก็ดูที่ตัวความหลง มันให้ความทุกข์อย่างไร ก็ดูไปที่ตัวความทุกข์ แล้วเมื่อมันไม่เกิดขึ้น ไม่มีความทุกข์ ก็ดูไปที่ตัวไม่มีความทุกข์ ตัวที่ว่างจากความทุกข์ ไม่มีการคำนวณคาดคะเน มีแต่การดูลงไปจริงๆ แล้วเห็นจริง ดังนั้นจึงพูดเสียว่าถ้าจะศึกษาธรรมะกันแล้ว ต้องศึกษาจากของจริงในภายใน คือสิ่งที่เกิดอยู่จริงในจิตใจว่ามันเป็นอย่างไร ศึกษาพุทธศาสนาที่นั่น พระไตรปิฎกนั้นเป็นเพียงบันทึกของบุคคลที่ได้รู้แล้ว พบแล้วได้สอนไว้ มันเป็นเพียงบันทึกเรื่องราวนั้นไว้ เพียงแต่อ่านเรื่องราวนั้น ถ้ายังไม่ได้ดูข้างในยังไม่เห็นไม่เห็นตัวจริง มันต้องดูที่ตัวจริงข้างใน วิธีดูนั้นก็ตามที่บันทึกไว้ในพระไตรปิฎกอย่างนี้เป็นต้น แต่ถ้าเราไม่มีพระไตรปิฎก เราไม่อาจจะมีพระไตรปิฎก เราก็ดูไปที่ตัวจริงข้างในเท่าที่จะดูได้ ก็รู้ได้เหมือนกัน ไม่จำเป็นจะต้องหมด แต่ถ้าฝืนดู พยายามดู พยายามดู มันจะค่อยๆ หมด ค่อยๆ ลึกซึ้งไปจนหมดได้เหมือนกัน เหมือนกับพระพุทธ เจ้าท่านไม่มีพระไตรปิฎกเรียน ท่านค้นเอาเอง ท่านค้นไปเรื่อย ค้นไปเรื่อย เหมือนกับคนที่เขาคลำหาอะไรอยู่เรื่อย คลำไป คลำไป คลำไป มันก็เห็นแจ้งออกไป ออกไป จนถึงที่สุด เราก็อาจจะใช้วิธีนั้นได้ ถ้าเราไม่สามารถที่จะเกี่ยวข้องกับพระไตรปิฎก แต่เดี๋ยวนี้สะดวกเพราะมันมีพระไตรปิฎกที่แปลเป็นไทยก็มี ถ้าเราอ่าน ถ้าเราอาจจะอ่านได้เราก็หามาอ่าน เป็นแนวทางสำหรับศึกษาลงไปในจิตใจข้างในไปตามนั้น มันก็เร็วขึ้นมันก็ง่ายขึ้น มันก็สะดวกขึ้นกว่าที่จะไม่มีพระไตรปิฎกเสียเลย พระไตรปิฎกเป็นเพียงบันทึกของพระพุทธเจ้า ที่ท่านได้ตรัสไว้อย่างไร คนก็บันทึกเอาไว้เป็นตัวหนังสือมาจนถึงบัดนี้ มันก็ช่วยได้มาก แต่ไม่สำเร็จประโยชน์เพียงว่ามีพระไตรปิฎก หรืออ่านพระไตรปิฎก มันต้องศึกษาจากข้างใน เรียกว่าพระ ไตรปิฎกข้างในดีกว่า ในตัวเราในจิตใจของเรา มีทุกอย่างทุกเรื่องอย่างที่กล่าว่ไว้ในพระไตรปิฎกเล่มๆ หนังสือ เรียกว่าพระไตรปิฎกข้างนอก คือตู้พระไตรปิฎก และพระไตรปิฎกข้างในคือความจริง ข้อเท็จ จริงต่างๆ ที่มันมีอยู่ในกาย ในใจ ในรู้สึก ในความรู้สึกคิดนึก นี่เรียกว่าพระไตรปิฎกข้างใน เธอทั้งหลายทุกคนสามารถที่จะเปิดดูศึกษาพระไตรปิฎกข้างใน
ทีนี้ฉันก็จะพูดถึงการศึกษาพระไตรปิฎกข้างในเท่าที่จำเป็น ที่รวบรัดเท่าที่จำเป็น จึงขอร้องให้เธอฟังให้ดีอีกครั้งหนึ่ง พระไตรปิฎกข้างใน ตั้งต้นมาจากเมื่อทารกปฏิสนธิขึ้นมาในครรภ์ของมารดา ตอนนี้ยังไม่เรียกว่าทารก ที่จริงไม่เรียกว่าทารก คือมันยังไม่ได้คลอดออกมา มันเป็นสัตว์ที่อยู่ในครรภ์ ไม่รู้จะเรียกว่าอะไรยังนึกไม่ออกนะ แต่เธอฟังถูกก็แล้วกันน่ะ เมื่อยังเป็นสัตว์ตัวอ่อนอยู่ในครรภ์ของมารดา จน กระทั่งแรกผสมกันระหว่างเชื้อของบิดามารดา ตั้งต้นที่ตรงนั้นแหละ มันมีชีวิตเป็นสัตว์ขึ้นมาตัวหนึ่งแล้ว นิดๆ อยู่ในครรภ์ของมารดา ตอนนี้มันไม่คิดนึกอะไรได้ ตาหูจมูกลิ้นกายใจก็ยังไม่ทำงาน จิตใจของมันก็ยังไม่สามารถที่จะคิดนึกอะไรได้ มันก็ยังไม่มีเรื่อง มันคิดนึกอะไรไม่ได้ มันคิดนึกอะไรไม่ได้จำไว้เถอะ มันสัมผัสอะไรก็ไม่ได้ จนกว่ามันจะค่อยสัมผัสอะไรได้ จนกว่ามันจะค่อยคิดนึกอะไรได้ ทีนี้สัตว์ตัวนั้นมันเจริญอยู่ในครรภ์ของมารดาเรื่อยมาๆ จนครบกำหนดที่จะคลอดออกมา มันก็ยังคิดนึกอะไรไม่ได้ เพราะว่ามันอยู่ในครรภ์จนถึงเวลาคลอดออกมานี่ ตาหูจมูกลิ้นกายของมันทำอะไรไม่ได้ ที่เป็นวิชาความรู้ทำไม่ได้ ได้แต่รู้สึกตามธรรมชาติ แล้วก็มีการหล่อเลี้ยงด้วยอาหาร จากตัวของมารดาทางสายสะดือ ไปเลี้ยงทารกให้อิ่มอยู่เสมอ มันก็ไม่หิวสิ มันก็อิ่มอยู่ มันเจริญอยู่ แต่มันก็คิดนึกอะไรไม่ได้ ไม่มีสติปัญญาไม่มีอะไรเลย ไม่มีความโง่ด้วย ก็มันไม่ได้คิดผิดๆ
ทีนี้มันคลอดออกมาจากท้องแม่ หรือเปลี่ยนสภาพเป็นว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ผิวหนังอะไรของมันจะทำงานได้แล้ว จะต้องทำงานแล้ว จะต้องทำงานเต็มที่แล้ว ตาจะเปิดออกมาจะเห็นรูปแล้ว หูจะทำหน้าที่ได้ยินเสียงแล้ว จมูกจะรู้กลิ่นแล้ว ลิ้นจะรู้รสแล้ว ผิวหนังก็จะรู้สัมผัสต่างๆ ที่มากระทบผิวหนัง ดังนั้นสิ่งที่เรียกว่าจิต มันก็สามารถจะคิดนึกได้มากทันที ตลอดเวลาที่ว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย มันทำหน้าที่ได้ ฉะนั้นเด็กนั้นต้องคลอดออกมาเสียก่อน ให้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทำหน้าที่ได้เสียก่อน แรกคลอดออกมาวันแรกๆ ก็ทำไม่ได้หรอก มันต้องหลายวัน จะกี่วันไม่อาจจะกำหนดหรอก ไปสังเกตดูเอาเองเถอะว่า เด็กนั้นต้องโตพอที่จะรู้สึกทางเวทนา รู้สึกทางเวทนา จะกี่วันหรือกี่เดือนหรือถึงปีหรืออะไรก็สุดแท้ เด็กนั้นต้องเติบโตพอที่จะมีความรู้สึกทางเวทนา ว่าอร่อยหรือ ไม่อร่อย เด็กเล็กๆ คลอดมาวันนั้น มันไม่รู้สึกว่าอร่อยหรือไม่อร่อยหรอก เด็กวันที่สอง วันที่สามก็ยังไม่รู้ กี่วันฉันก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่ถ้ากล่าวตามพระบาลีว่า ต้องถึงวันที่มันสามารถจะรู้สึกทางเวทนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางปาก กระทั่งว่ามันกินนมแม่ แล้ววันแรกๆ มันคงไม่เกี่ยวกับอร่อยหรือไม่อร่อยหรอก มันดูดนมแม่กินตามธรรมชาติ เหมือนลูกหมาลูกแมว มันไม่รู้ว่าอร่อยหรือไม่อร่อย จนกว่าเมื่อไหร่ไอ้ทารกนี้ มันสามารถจะแยกแยะเป็นความอร่อยหรือความไม่อร่อย เพราะความเจริญของระบบประสาท หรือสัมผัสต่างๆ มันรู้จักแยกแยะว่าอร่อยหรือไม่อร่อย
ทีนี้ทางตามันก็รู้จักแยกแยะว่าสวยหรือไม่สวย เขาเอาพวงดอก ไม้ พวงปลาตะเพียนมาแขวนให้เด็กๆ มันนอนหงายดู นี้ก็คล้ายๆ ว่าจะเร่งให้เด็กๆ มันรู้จักสัมผัสทางตาเร็วขึ้น แล้วมันก็จะรู้ว่าสวยหรือไม่สวยเร็วขึ้น ทางหูก็เหมือนกัน เด็กแรกคลอดออกมามันฟังเพลงที่เขากล่อม มันรู้ไม่รู้เรื่อง มันฟังว่าเสียงเท่านั้นแหละ แต่ว่าต่อมาเมื่อมันโตขึ้นๆ กี่วัน กี่เดือนก็ตาม มันรู้ความไพเราะของเพลงที่เขากล่อม เมื่อพอดีพอเหมาะกับประสาทหู มันก็รู้สึกไพเราะแล้วมันก็หลับ หรือถ้าเอะอะตึงตัง มันก็ไม่หลับ นี่มันเริ่มรู้สึกเวทนานี่รู้สึกเวทนา อย่างนี้รู้สึกเวทนาว่า เสียงนั้นไพเราะหรือไม่ไพเราะ แม้มันจะไม่รู้จักเรียกว่าไพเราะหรือไม่ไพเราะ มันไม่รู้จักพูด ไม่รู้จักเรียก แต่มันรู้สึกได้ว่าอย่างนี้ไพเราะ หรือถูกพอดีกับประ สาทหู แล้วก็สบาย ตาแล้วหู จมูก จมูกต่อมา จมูกนี้คงจะช้าหน่อย กว่าจะรู้เรื่องหอมหรือเหม็น คงจะนานหน่อยกว่าเด็กๆ ทารกนอนเบาะมันจะรู้เรื่องหอม เรื่องเหม็น เมื่อไหร่มันรู้จักแยกเป็นหอมและเหม็น ชอบที่หอมเกลียดที่เหม็น เอ้า, มันก็รู้เวทนาแล้ว เรียกว่าเด็กนี้มันรู้เวทนา ลิ้นพูดแล้วมันรู้อร่อยหรือไม่อร่อย
ทีนี้ผิวหนังคือร่างกาย อย่างนี้นิ่มนวล อบอุ่น อยู่ในหัวอกแม่ นิ่มนวลอบอุ่นอย่างไร ทีแรกมันก็ไม่รู้ เพราะระบบประสาทมันยังไม่เจริญ หลายวันหลายเดือนเข้ามันก็เจริญ จนรู้อย่างนี้อบอุ่น อย่างนี้นิ่มนวล อย่างนี้สบาย อย่างนี้ชวนให้หลับได้ง่าย อย่างนี้หลับไม่ลง อย่างนี้เป็นต้น ทั้งหมดนี้เรียกว่าเด็กมันเริ่มรู้จักสิ่งที่เรียกว่าเวทนา เวทนา มันก็แยกได้เป็นสองอย่าง ไอ้เวทนาที่น่าพอใจ กับเวทนาที่ไม่น่าพอใจ เขาเรียกว่าเวทนาที่ชวนให้รัก ให้กำหนัด ให้ยินดีนี้ประเภทหนึ่ง เวทนาที่ไม่ถูกกัน ไม่ถูกกับระบบประสาท ชวนให้โกรธ ชวนให้เกลียด ชวนให้กลัว ชวนให้ต่อสู้นี้ มันก็อีกพวกหนึ่ง เราเรียกว่าเวทนาสองชนิด สุขเวทนา ทุกขเวทนา แต่ถ้าจะเรียกให้ดี เรียกว่าเวทนาที่ให้เกิดความยินดี เวทนาที่ให้เกิดความยินร้าย ความยินดียินร้าย มันได้เกิดขึ้นในความรู้สึกของทารกนั้นแล้ว คือเด็กๆ สามารถจะรู้สึกยินดี หรือรู้สึกยินร้ายได้แล้ว คำที่มีความหมายว่ายินดียินร้ายนี่ไม่ค่อยมีใครรู้กี่คำ แม้พวกพระเณรที่นี่มันก็ไม่รู้หรอก มันไม่เคยได้ยิน ยินดีเขาเรียกว่าอนุโรธ ยินร้ายเขาเรียกว่าวิโรธะ ภาษาบาลีว่าอนุโรธะ ความรู้สึกยินดี ยินร้ายวิโรธะ ธะมันธ ธง นี่มันมีอยู่ในบาลีแต่ไม่ค่อยเอามาพูดกัน ไม่ค่อยเอามาพูดกันให้ได้ยิน วิโรธะ อนุโรธะหรือวิโรธะ ยินดียินร้าย นั่นน่ะเราเริ่มมี ทารกนะ คำว่าเรานี่คือทารกนะ เริ่มมีความรู้สึกขนาดแยกออกจากกันได้เป็น อนุโรธะคือยินดี กับวิโรธะคือวิโรธไม่ยินดี
เอาละ, ทีนี้จะเกิดเรื่อง พอเด็กเขาได้รับเวทนาชนิดอนุโรธะคือยินดี มันก็รู้สึกพอใจได้ยินดี ความยินดีคือความพอใจได้ หรือไม่ยินดีมันก็ยินร้ายคือโกรธได้ เมื่อมันได้รับอารมณ์ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็ได้ที่น่ายินดี มันก็รู้สึกยินดี รู้สึกยินดี รู้สึกเป็นสุข รู้สึกพอใจ เป็นเพียงความรู้สึกเท่านั้น เป็นเพียงความ รู้สึกเท่านั้นนะ ไม่ใช่ตัวตนเป็นดุ้นเป็นก้อนอะไร เป็นเพียงความรู้สึกยินดี พอใจ พอใจ เป็นอร่อยในความอร่อย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนี่ แต่อย่าทำเล่นกับมันนะ ความรู้สึกเท่านั้นแหละ มันก็ปรุงความ รู้สึกต่อไปได้ ความรู้สึกยินดี อร่อย พอใจนั่นแหละ มันปรุงให้เกิดความรู้สึกขึ้นมาอีกชั้นหนึ่งเรียก กู กู ภาษาธรรมดาต้องพูดว่า กู กูอร่อย กูพอใจ กูยินดี ความรู้สึกว่าตัวกูยังไม่เคยเกิด จนกว่าเมื่อไหร่มันมีเวทนา รู้สึกต่อเวทนาที่น่ารักน่าพอใจ เอร็ดอร่อย พอใจ เกิดความรู้สึกเอร็ดอร่อยพอใจ ที่เรียกว่าสุขเวทนานี่ แล้วมันก็จะเกิดความรู้สึกขั้นต่อไปว่า มันมีตัวกูผู้อร่อย มันจะมีขั้นตอนบางตอนแทรกอยู่ก็ได้ คือว่ามันรู้สึกอร่อย แล้วมันก็อยากในความอร่อย มันก็เกิดความรู้สึกว่าตัวกูผู้อร่อยขึ้นมา มันสำคัญอยู่ตรงที่มันเกิดความรู้สึกชนิดหนึ่งขึ้นมาว่า กูผู้ได้รับความอร่อย หรือกูกำลังอร่อย ที่ในกรณีที่มันไม่อร่อย มันเป็นทุกขเวทนา มันเกิดกูผู้ไม่อร่อยขึ้นมา กูในทางๆ ลบ ถ้าอร่อยเป็นกูในทางบวก ถ้าไม่อร่อยเป็นกูในทางลบ แต่มันก็เป็นกู ตัวกู ด้วยกันทั้งนั้นแหละ
ถ้าเรียกโดยบาลีก็เรียกว่า อัตตา อัตตา อัตตวาทุปา ทานได้เกิดขึ้นแล้ว เป็นจุดตั้งต้น คือความรู้สึกหมายมั่นว่ากู ว่าตน ว่ากู ว่าตน เกิดขึ้นแล้ว นี่จุดสำคัญที่สุดของเรื่อง ถ้าอันนี้มีขึ้นในจิตใจทารกแล้ว ก็เรียกว่าทารกนั้นมันมีความรู้สึกว่า ตัวตน ตัวตน หรือตัวกู พูดธรรมดาๆ ว่าตัวกู พูดอย่างสุภาพตามตัว หนังสือว่าตัวตน ความรู้สึกว่าตนเกิดขึ้นแล้ว ตามคราวตามโอกาสที่เขาได้เสวยเวทนา สุขเวทนาก็ตัวกูอร่อย ทุกขเวทนาก็ตัวกูไม่อร่อย คือมีตัวกูเป็นจุดศูนย์กลางขึ้นมาในจิตใจของเด็กแล้ว นั้นแหละจุดสำคัญที่มันจะขยายตัวออกไปมากมายทีเดียว มีความรู้สึกว่ากูได้แล้ว มันก็มีความรู้สึกว่าของกูขึ้นมาได้ ความรู้ สึกว่ากูคืออัตตามีขึ้นมาแล้ว ความรู้สึกว่าของกูอัตตนียา ที่เป็นอัตตนียามันก็เกิดขึ้นมาได้ เด็กก็เกิดรู้สึกว่าตัวกู ตัวกูอร่อย อร่อยของกู ทางตาเห็นก็งามสวยอร่อยทางตาของกู ทางหูก็เหมือนกัน ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย มันก็มีความรู้สึกเป็นตัวกู เป็นของกู กว้างออก ไป กว้างออกไป
ทีนี้เมื่อมันพอใจในสิ่งใดเป็นความอร่อยของกู มันก็มีความต้องการ ต้องการ ต้องการ ที่ไม่มีที่สิ้นสุด มันเป็นความอร่อยที่ไม่มีที่สิ้นสุด อิ่มแล้วเดี๋ยวมันก็หิวอีก อิ่มแล้วเดี๋ยวมันก็หิวอีก เพราะว่ามันต้องการเป็นตัวกู เป็นของกู ตัวกูต้องการเป็นของกู ทีนี้มีคำที่น่าหัวเราะที่สุด ที่ในพระบาลี พระพุทธเจ้าตรัสว่า เด็กทารกนั้นมันไม่มีความรู้เรื่องความจริงอะไรเลย เมื่ออร่อยมันก็อยาก เมื่อไม่อร่อยมันก็ไม่อยาก มันก็มีความคิดเรื่องกู เรื่องของกู ไปตามแบบของทารก เพราะมันไม่มีความรู้เรื่องอะไรเลย ตรงนี้ท่านกล่าวไว้ ทารกนั้นมันไม่มีความรู้เรื่อง เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันจะดับเสียซึ่งความทุกข์ได้ นี้เอาเรื่องของผู้ใหญ่เต็มที่ไปพูด ทารกนั้นไม่มีความรู้เรื่อง เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ ซึ่งถ้ามีแล้วจะดับความทุกข์เสียได้ ฉะนั้นเด็กทารกก็ปล่อยไปตามเรื่อง แล้วแต่จิตมันจะปรุงขึ้นไปเองตามธรรมชาติ มันก็ปรุงเป็นตัวกู เป็นของกู ยิ่งขึ้นไป ยิ่งขึ้นไป ที่มันอยากในสิ่งใดด้วยความไม่รู้อันนี้ ก็เรียกว่าความโลภมันได้เกิดขึ้นแล้วเป็นครั้งแรก แม้จะตัวน้อยๆ ตามภาษาเด็กทารกตัวน้อยๆ มันก็คือความโลภนั่นเอง เดี๋ยวนี้ทารกของเรามันก็เกิดความโลภได้แล้ว ทีนี้มันรู้จักอยากอย่างนี้ได้แล้ว ถ้าสมอยากก็อยากยิ่งๆ ขึ้นไป อยากเรื่อยจนชินเป็นนิสัยที่จะอยาก เรียกว่ากิเลสเกิดแล้ว มีอนุสัยเกิดแล้ว มีความอยาก มีความโลภ แล้วมีความเคยชินที่จะอยากที่จะโลภ ทีนี้ในบางกรณีมันไม่เป็นไปตามที่เด็กทารกมันต้องการ มันก็โกรธสิ เด็กก็โกรธเป็นแล้ว เด็กโกรธเป็นๆ กิเลสแห่งความโกรธแล้ว โกรธบ่อยๆ เข้ามันก็เป็นอนุสัยแห่งความโกรธ คือความเคยชินที่จะโกรธ ทารกของเราก็มีความโลภเป็น มีความโกรธเป็น และมันก็ไม่รู้เรื่อง เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอยู่ตลอดเวลา มันก็โง่อยู่ตลอดเวลา มันก็หลงรัก หลงโกรธ หลงรัก หลงโกรธ หลงมัวเมาในเรื่องที่จะได้เป็นตัวกู เป็นของกู เรื่องนี้เรียกว่า โมหะ โมหะ
ไอ้ลูกทารกของเราก็มีโมหะแล้ว ทีนี้ทารกของเรามีได้ทั้ง โลภะ ทั้งโทสะ ทั้งโมหะ จิตจะเติบโตขึ้นมา เติบโตขึ้นมา จนเป็นเด็กทารกชั้นโต เป็นเด็กวัยรุ่น เป็นหนุ่ม เป็นสาว อย่างเดียวกันเลยกับที่ทารกแรกมี มันตั้งขึ้นมาอย่างไร เดี๋ยวนี้ความคิดนั้นก็ยังเป็นอย่างนั้นแหละ เว้นแต่มันเข้มข้นรุนแรง รุนแรงขึ้นทุกที เด็กทารกก็มีน้อยๆ ไปตามทารก เด็กวัยรุ่นก็มีมากไปตามเด็กวัยรุ่น คนหนุ่มคนสาว ก็มีมากเป็นตามคนหนุ่มคนสาว โตเต็มที่เป็นผู้ใหญ่ ก็มีมากไปตามอำนาจของความโตใหญ่นี่ ความโลภ ความโกรธ ความหลงมาจากตัวกูที่เกิดขึ้นในครั้งแรก เป็นครั้งแรกในจิตใจของทารกนั้น เมื่อมันได้อร่อย มันเกิดความโลภ แล้วมันก็เกิดความรู้สึกว่ากูอร่อย อร่อยของกู นี่คือตนหรือตัว ตนหรือตัวกูมันได้เกิดขึ้นแล้ว นั่นแหละจุด จุดตั้งต้นก็ได้ หรือจะเรียกว่าจุดศูนย์กลางก็ได้ จุดตั้งต้นก็ได้ มันได้เกิดขึ้นแล้ว อย่างแน่นแฟ้นแล้ว ฉะนั้นทารกนั้นหรือชีวิตนั้นมันก็มีความโง่ว่าตัวกู ว่าของกูนั่นแหละเป็นจุดศูนย์กลาง สำหรับจะเกิดความโลภ ความโกรธ ความหลงยิ่งขึ้นไป ยิ่งขึ้นไป ยิ่งขึ้นไป แรง รุนแรงขึ้นไป จนเป็นหนุ่ม เป็นสาว เป็นเดี๋ยวนี้ เห็นไหมว่าความเห็นแก่ตัวนั้นมันเกิดขึ้น เพราะมีความรู้สึกว่ามีตัว ถ้าอย่ามีความรู้สึกว่ามีตัวกู มันก็จะไม่เกิดความเห็นแก่ตัว
เดี๋ยวนี้มันได้เกิดความรู้สึกว่า มีตัวกูเสียแล้วอย่างไรละ ไอ้ความรู้สึกที่รองลงมาว่า เห็นแก่ตัว เห็นแก่ตัว จะเอาความโลภ เมื่อไม่ได้ก็โกรธ เพราะว่าเห็นแก่ตัวอยู่อย่างนี้ เห็นแก่ตัวเพื่อจะโลภ เห็นแก่ตัวเพื่อจะโกรธ เห็นแก่ตัวเพื่อจะหลงใหลมัวเมา มันก็เลยมีความเห็นแก่ตัวเป็นตัวปัญหา ไอ้เด็กทารกนั้นมันก็ต้องเป็นทุกข์ทรมานไปด้วยความเห็นแก่ตัว มาตั้งแต่ชั้นทารกนั้นแล้วแหละ แต่มันไม่รุนแรงโชติช่วงเหมือนเดี๋ยวนี้ โตแล้ว ดังนั้นเรารู้กันไว้ดีว่า ความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นความรู้สึกนี้ มันเกิดมาจากความรู้สึกที่เห็นแก่ตัว ไอ้ความรู้สึกที่เห็นแก่ตัวนั้น มันก็เกิดขึ้นมาจากความรู้สึกว่ามีตัว มีตัว มีอัตตา หรือมีอหังการมานะ ความสำคัญว่าตัวกู คือมีตน เกิดขึ้นแล้วในความรู้สึกของจิตที่ยังโง่ นี่เรียกว่ามีตัวตน แล้วก็มีความรู้สึกว่าของตน หรือเกี่ยวข้องกับตน มันก็ต้องๆ เห็นแก่ตน คือว่าเห็นแก่ตัว ไอ้ความรู้สึกว่าตัวนั้นคือคำว่า Egoism Ego Ego ว่าตัว Egoism ว่าความมีตัว เราจะอ่านพบในหนังสือภาษาอังกฤษบ่อยว่า Egoism ถ้าว่าเป็นภาษาธรรมดาก็ใช้คำว่า Self Self คือตัว ถ้าภาษาโบราณที่มาจากภาษาซิกข์ภาษาอะไรก่อนโน้น เขาว่า Ego Ego Egoism ความรู้สึกว่ามีตัว ถ้าเป็นภาษาธรรมดาก็เรียกว่า Self ถ้ามันเห็นแก่ตัวเขาก็เรียกว่า Selfish Selfish เกี่ยวกับตัว เกี่ยวกับของตัว ถ้าเป็นภาวะขึ้นมาก็เรียกว่า Selfishness Selfishness นี่คือความเห็นแก่ตัว เมื่อเกิดโลภะ โทสะ โมหะได้เต็ม ถ้าตรงกันข้ามเขาก็เรียกว่า Selfless Selfless คือไม่มีตัว Selflessness ความไม่มีตัว อย่างนี้ไม่เกิด ไม่เกิดโลภะ โทสะ โมหะ ดังนั้นเขาจึงชอบไอ้ความไม่เห็นแก่ตัวกันทั้งนั้นแหละ Selflessness ไม่เห็นแก่ตัว ไอ้ Selfishness เขาเกลียดกันทั้งโลกแหละ
เธอจงรู้จักมันไว้ว่า มันเป็นความรู้สึกคิดนึกที่เลวร้าย มาจากความไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ซึ่งเรียกว่าอวิชชา อวิชชา เป็นจุดตั้งต้นของไอ้เรื่องเลวร้ายทั้งหลาย คืออวิชชา ความไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ซึ่งมันมีตามธรรมชาติ ตามธรรมชาติมันก็มีอวิชชาตามธรรมชาติ เด็กทารกคนนี้ไม่มีความรู้เรื่อง เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ เพราะมันคือ คือมันมีอวิชชา จะเรียกว่ารู้ผิดก็ได้ จะเรียกว่าไม่รู้ก็ได้ เพราะมันมีผลเท่ากัน ไอ้เด็กนี้รู้ผิดหรือเด็กไม่รู้เลย มันก็มีผลเท่ากัน คือมันปราศจากความรู้ จิตมันจึงคิดไปในทางผิดๆ จนรู้สึกว่ามีตัวกู ครั้นมีตัวกูแล้วก็มีของกู ก็มีของกูก็เห็นแก่กู เห็นแก่ตัว เห็นแก่ตัว ก็เกิดโลภะ โทสะ โมหะ นี่ไม่ต้องคำนวณนะ จึงเรียกว่าเป็นวิทยาศาสตร์ แม้ว่าจะไม่ใช่วัตถุเหมือนก้อนหินดินทรายก็จริง จะเอามาใส่ฝ่ามือดูเล่นไม่ได้ก็จริง แต่ว่ามันก็เป็นสิ่งที่รู้สึกได้ รู้สึกได้ด้วยจิต รู้สึกได้ด้วยตาจิต ไม่ต้องคำนวณ แล้วยิ่งมีอยู่ในจิตใจของเราแล้ว เราก็รู้สึกได้ตั้งแต่เกิดเวทนา เมื่อไหร่เกิดเวทนาแล้ว ก็ดูว่าจะเกิดตัณหา เกิดอุปาทาน เกิดภพ เกิดชาติ เกิดเป็นตัวกู แล้วก็มีทุกข์ นี่พุทธศาสนาแท้ๆ หัวใจพุทธศาสนาแท้ๆ มันเป็นอย่างนี้ เรามีรูปแบบที่จะต้องศึกษากันอย่างวิทยาศาสตร์ อย่าศึกษากันในรูปแบบของ philosophy เลย พวกฝรั่งน่ะเขานิยมหลัก philosophy เขาจัดให้พุทธศาสนาเป็น philosophy และเขาเรียนพุทธศาสนาอย่าง philosophy และเขาเรียนจนตาย กี่ชาติ กี่ชาติ ก็ไม่ทางที่จะรู้พุทธศาสนา เพราะว่าพุทธศาสนามันไม่ใช่ philosophy แต่มันเป็นวิทยาศาสตร์
เราเป็นชาวพุทธทั้งที เราต้องรู้จักของของเราให้ดี ของๆ ชาวพุทธให้ดี คือรู้อย่างนี้ รู้อย่างที่จิตสัมผัสลงไปที่สิ่งนั้นๆ โดยประจักษ์เรียกว่า รู้จริง รู้โดยประจักษ์ เป็นญาณ เป็นญาณทัศนะ ที่ไม่ต้องคำนวณ ไม่ใช่ความคิดเห็นที่ต้องคำนวณ หรือ philosophy แต่เป็นความรู้โดยประจักษ์ ที่ไม่ต้องคำนวณอีกแล้ว เห็นชัดอยู่แล้ว รู้สึกด้วยจิตอยู่แล้ว นั้นแหละคือว่าเห็น เห็นคือรู้สึกด้วยจิต ไม่ต้องมีการคำนวณ ให้ถือหลักอย่างนี้ไว้เถิด จะเป็นหลักที่มั่นคง เป็นความรู้ที่มั่นคงที่สุด สำหรับจะรู้ว่าพุทธศาสนา และรู้ๆๆ ต่อๆๆ ไปจนถึงที่สุด จึงขอร้องหลายครั้งหลายหนว่า เธอทั้งหลายจงฟังให้ดี ฟังให้เข้าใจ มันเป็นเงื่อนต้นของการที่จะรู้พุทธศาสนา เรื่องนี้เขาเรียกว่าเรื่องปฏิจจสมุปบาท ได้สัมผัสเป็นเวทนา ก็เกิดตัณหาคือความอยาก ก็รู้สึกกูผู้อยาก แล้วยึดถือโดยอุปาทานว่า มีตัวกู มีของกู เกิดภพ เกิดชาติ เป็นตัวกู ของกูเต็มอยู่ในจิตใจนี้เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท หรือ อิทัปปัจจยตา เป็นจุดตั้งตนของพระพุทธศาสนา ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้เอง บางเวลาพระพุทธเจ้าทรงเอามาท่อง เอามาว่าเล่นเหมือนกับเด็กท่องสูตรคูณ ฟังแล้วมันน่าหัวเราะ หรือไม่น่าเชื่อ พระพุทธเจ้ายังท่องสูตรคูณ ครูบาอาจารย์คนไหนบ้างท่องสูตรคูณ มันคนอวดดีไม่เคยเห็นท่อง แต่พระพุทธเจ้าตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ท่านยังเอาสูตรคูณมาท่อง คือเรื่องนี้เรื่องที่กำลังพูดนี้ ท่านจะท่องขึ้นมาตามสูตร ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สูตรที่หนึ่งเรื่องตา จักขุญจะ ปฏิจจะ รูเปจะ ปฏิจจะ อุปปัชชะติ วิญญานัง ติณนัง ธัมมานัง สังคะติ ผัสโส ผัสสะปัจจะยา เวทนา เวทนาปัจจะยา ตัณหา ตัณหาปัจจะยา อุปาทานัง อุปาทานปัจจะยา ภะโว ภวปัจจะยา ชาติ ชาติปัจจะยา ชรามรณัง โสกะปะริเทวะทุกขะโทมะนัสสุปายาสา สัมภะวันติ เอวะเม ตัสสะ เกวะลัสสะ ทุกขักขันธัสสะ สะมุทะโย โหติ นี่เรื่องตา
ตาถึงเข้ากับรูปเกิดการเห็นทางตา สามอย่างนี้ถึงกันเข้าเรียกว่า ผัสสะ เพราะมีผัสสะจึงมีเวทนา เพราะมีเวทนาจึงมีตัณหา เพราะมีตัณหาจึงมีอุปาทาน เพราะมีอุปาทานจึงมีภพ เพราะมีภพจึงมีชาติ เพราะมีชาติจึงมีความหมายแห่งชรา มรณะ โสกะ เทวะ ทุกขะ ทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง ทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง เอวะเม ตัสสะ เกวะลัสสะ ทุกขักขันธัสสะ ทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงเกิดขึ้นอย่างนี้ และก็จะท่องในแผนกหู จมูก ลิ้น กาย เรื่อยๆ ไป ท่านท่องอยู่องค์เดียว เมื่อท่านนั่งประทับนั่งอยู่องค์เดียว คิดว่าไม่มีใคร ท่านก็ท่องขึ้น ตามความสบายพอใจของท่าน เป็นพระพุทธเจ้าแล้วยังท่องสูตรคูณ สูตรคูณแบบของท่าน ฉะนั้นอย่าๆ ได้ประมาทเลย กฎเกณฑ์ต่างๆ ของธรรมะนะ เอามาท่อง ท่องกันไว้เถอะดี ถ้าเล่าให้จบก็ พระพุทธเจ้าท่านท่องสูตรคูณของท่านอยู่องค์เดียวอย่างนี้ ทีนี้มีภิกษุองค์หนึ่งแอบมาข้างหลัง มาแอบฟังอยู่เมื่อไหร่ก็ไม่รู้ ท่านเหลียวไปเห็นเข้า อ้าว, นี่อยู่นี้ดีแล้ว จงจำเอาไป จงเรียนเอาไป นี่เป็น อธิพรหมจรรย์ เอาไปศึกษาเล่าเรียน นี่มันเรื่องเดียวกับที่เรากำลังพูด เพราะมีเวทนา เมื่อทารกก็มีเวทนารู้เวทนาแล้วนี่ เขาก็มีตัณหาคือความอยาก กับตามอำนาจของเวทนานั้น เกิดรู้สึกตัวกูผู้อยาก อยากได้มาเป็นของกู นี้เรียกว่าอุปาทาน อุปาทานแล้วก็มีภพมีชาติ คือมีตัวกูที่เต็มที่ ที่มันทำงานของมันอยู่ แล้วมันก็มีความทุกข์เกิดขึ้นตามสมควรแก่เรื่องของมัน นี่หัวใจพุทธศาสนาคือเรื่องนี้ คือเรื่องที่ความทุกข์เกิดขึ้นมาได้อย่างไร สรุปว่าความทุกข์มาจากกิเลส กิเลสก็มาจากตัวตน ความคิด คิดถือว่าตัวตน ว่าตัวกูของกู มันมาจากความโง่ เมื่อมีผัสสะ เมื่อมีเวทนา เข้าใจว่าต่อไปทุกคนคงจะรู้จักเวทนาดีขึ้น และก็ระวังเวทนาอย่าให้ปรุงตัวกูของกู มันจะเกิดกิเลสตัณหา มันเร็วเป็นสายฟ้าแลบ ควบคุมยาก ควบคุมไม่ทัน ฉะนั้นเราต้องศึกษาให้เข้าใจแจ่มแจ้ง เป็นพื้นฐานอยู่ตลอดเวลา มันจะป้องกันได้
เอ้า, ขอพูดเสียเลยว่าถ้าเรามีสติพอ เดี๋ยวนี้เราโตแล้วนี่ เราไม่ใช่ทารกอมมือนี่ โตขนาดนี้แล้ว เรารู้ว่ามันเกิดอย่างไรแล้ว ตัวกูของกูเกิดอย่างไร กิเลสเกิดอย่างไร ความทุกข์เกิดอย่างไร เราจะหยุดกระแสอันนี้ซึ่งเร็วเหมือนฟ้าแลบได้อย่างไร เพราะว่าต้องมีสติและปัญญา เราเรียนธรรมะ เรียนพุทธศาสนาอย่างเดียวไม่พอ เราต้องฝึกสติด้วย ฝึกสติด้วย เพื่อจะเอาปัญญา เอาความรู้มาทันแก่เวลาผัสสะ ผัสสะมีผลขึ้นมาแล้ว ปัญญามาโดยสติ โอ้, อย่างนี้ อย่างนี้ อย่างนี้เอง อย่างนี้ แล้วก็ไม่หลงรัก ไม่หลงรัก ไม่หลงยินดี ที่น่ายินดี ไม่หลงยินร้าย ที่น่ายินร้าย ก็ไม่เกิดความยินดียินร้าย ก็อยู่เหนือความทุกข์ คือควบคุมความทุกข์ได้ เพราะมีสติเร็วเหมือนฟ้าแลบเหมือนกัน เหมือนสายฟ้าแลบเหมือนกัน เอาปัญญามารู้ว่า โอ้, มันอย่างนี้นี่ มันอย่างนี้เท่านั้นนี่ หรืออย่างที่เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาทอย่างไรนั่นแหละ คืออย่างนั้นแหละ เรียกว่า ตถตา ตถตา มันอย่างนั้น ความเป็นอย่างนั้น ไม่ผิดไปจากความเป็นอย่างนั้น คือการที่มันเกิดกิเลสและเกิดทุกข์ขึ้นมาได้อย่างนี้เรียกว่า ตถตา ความเป็นเช่นนั้น
เรามาสรุปสั้นๆ ว่า ถ้าอร่อย สวยงาม หอมหวน นิ่มนวลก็อย่างนั้นแหละ ถ้าไม่อร่อย ไม่สวยงาม ไม่หอมหวน ไม่นิ่มนวล ก็อย่างนั้นแหละ อย่างนั้นไว้ก่อนเถอะ มันจะหยุดกระแสของกิเลส ฉะนั้นทุกคนนะ ถือคาถาอย่างนั้นแหละไว้ดีๆ อย่างนั้นเอง เท่านั้นเองโว้ย ตถตา เป็นภาษาบาลี เป็นภาษาไทยว่า เท่านั้นแหละ เช่นนั้นแหละ เช่นนั้นเองแหละ ถ้าชอบบาลีก็ว่า ตถตา ตถตา ตถตา เท่านั้นแหละ เท่านั้นแหละ เช่นนี้แหละ อย่างนี้แหละ นี่เมื่อตา หรือหู จมูก ลิ้น กาย มันไปอร่อยอะไรเข้า ก็เช่นนั้นเองให้ทันเวลา ถ้าไม่อร่อยเกลียดชังอะไรเข้า ก็เช่นนั้นเองแหละให้ทันเวลา ดังนั้นความรักก็จะหยุดไป ความโกรธก็จะหยุดไป ความเกลียดก็จะหยุดไป ความกลัวก็จะหยุดไป ความอิจฉาริษยาก็จะหยุดไป ความอาฆาตมาดร้ายก็หยุดไป ความวิตกกังวลอาลัยอาวรณ์ก็หยุดไป ด้วยคาถาว่าเช่นนั้นเองแหละ เช่นนั้นเอง เท่านั้นเอง เช่นนั้นเอง นี่กล้าอวดกล้าคุยว่าหัวใจพระพุทธศาสนา มีเท่านี้ มีเท่านี้ ตามที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ นี่คืออธิพรหมจรรย์ มันมีเท่านี้ แต่ว่าคำอธิบายปลีกย่อยมีอีกมากมายแหละ มีอีกมากมายแหละ พูดทั้งปีก็ไม่จบแหละ แต่หัวใจมันมีเท่านี้ พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม เล่มละห้าหกร้อยหน้าน่ะ มันมีใจความว่า เท่านั้นเอง เช่นนี้เอง คือมันเกิดกิเลส เกิดตัวตน เกิดกิเลสอย่างนี้ อย่างนี้ มีเท่านี้ ถ้าสติมีพอ ปัญญามีพอ สติเอามาทันเวลา มันก็ไม่เกิดความรู้สึกโง่ๆ ว่าตัวกู ว่าของกู ว่าโลภะ โทสะ โมหะอะไร นี่พูดหมด แล้วนะ แต่คุณจะฟังถูกหรือไม่ จำได้หรือไม่ หรือเอาไปสับสนกันหมด ผิดลำดับหมดก็ไม่เข้าใจก็ได้
ครั้งแรกเราพูดว่าปัญหามันเกิดมาจากความเห็นแก่ตัว ความเห็นแก่ตัว เกิดโลภะ โทสะ โมหะ และกรรม การกระทำกรรมต่างๆ โลกจึงเดือดร้อนกันทุกคน เราก็เดือดร้อน เพื่อนของเราก็เดือดร้อน นั้นก็ปัญหาเฉพาะหน้า มีต้นตอแห่งปัญหา ความเห็นแก่ตัวนี่ มันเกิดขึ้นมาจากความรู้สึกโง่เขลาว่ามีตัว มีของตัว เพราะมันโง่เมื่อมีเวทนา เวทนามันเกิดขึ้นตามธรรมชาติ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และเกิดแก่ทารกที่ไม่รู้อะไร ไม่คิดนึกอะไรนะ ไม่มี ไม่มีปัญหามันเกิดไม่ได้ แต่เมื่อทารกนั้นมันโตพอที่จะรู้ว่าอร่อยหรือไม่อร่อยเป็นต้นแล้ว มันเกิดได้ เมื่อเกิดแรงขึ้น แรงขึ้น เมื่อเป็นเด็กวัยรุ่น เมื่อเป็นคนหนุ่มสาว เป็นคนโตเต็มที่มันก็แรงขึ้น แรงขึ้น จนเป็นเรื่องขนาดทำลายโลกกันก็ได้ ถ้าใครมันมีอำนาจวาสนา มันเกิดไอ้ความบ้าอย่างนี้ขึ้นมา มันทำลายโลก ทำให้โลกวินาศก็ได้ ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย ฉะนั้นมันคุ้มค่าที่จะจำเอาไว้ ที่จะศึกษาให้เข้าใจเอาไว้ แล้วก็ประพฤติให้ได้ นี่เรียกว่าปัญหามันตั้งต้นมาจากความโง่ ไม่มีความรู้ เมื่อเกี่ยวข้องกับเวทนา ธรรมชาติมันเป็นอย่างนี้ ทีนี้มันจะควบคุมได้ก็เพราะมีสติให้ทันแก่เวลา เมื่อมีเวทนา หรือมีผัสสะก็ยิ่งดี ทีเราก็ฝึกสมาธิ ที่ว่าให้ฝึกสมาธิ ฝึกกรรมฐานนั้นแหละ ก็คือฝึกให้มีสติ ฝึกให้มีสติสมบูรณ์ที่สุด รวดเร็วที่สุด นอกจากรู้พุทธศาสนาธรรมะนี้แล้ว ยังจะต้องฝึกสมาธิให้มีสติรวดเร็วมากพอ รวดเร็วด้วย การฝึกสมาธิจึงจำเป็น ขอให้เธอทุกคนมองเห็น และเห็นรู้สึกว่าจำเป็นที่จะต้องฝึกสมาธิ คือฝึกให้มีสติมากพอ รวดเร็วเหมือนๆๆๆสายฟ้าแลบ มาให้ทันในขณะของเวทนาที่มันปรุงแต่งกันอย่างรวด เร็ว เหมือนกับสายฟ้าแลบเหมือนกัน เมื่อมันแก้กันได้ด้วยสายฟ้าแลบต่อสายฟ้าแลบ ไอ้ฝ่ายหนึ่งเป็นความ รู้แจ้ง ไอ้ฝ่ายหนึ่งเป็นความโง่ เราฝึกให้ความรู้แจ้งปัญญาและสตินี่ให้พอ ให้เร็วพอ ให้มากพอ เมื่อกระ ทบอารมณ์ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ใดๆ ก็ตาม สติมาทัน เอาปัญญามาทัน มันก็ควบคุมไว้ได้ มันไม่เกิดตัวกู ไม่เกิดของกู ชนิดที่เป็นกิเลสเฉพาะกรณี เฉพาะกรณี ทุกๆ กรณี เรื่องมีเท่านี้
สรุปความให้สั้นที่สุด ช่วยความจำของตัวเองไว้ให้ดีด้วยกันทุกๆ คนสิ ความทุกข์ยากลำบากในโลกเกิดมาจากกิเลส ประโยคแรกความทุกข์ยากลำบากทั้งหลายเกิดในโลกนี้ เกิดมาจากกิเลส คือ โลภะ โทสะ โมหะ ประโยคที่สองว่า กิเลสเกิดมาจากความรู้สึกเห็นแก่ตัว กิเลสเกิดมาจากความรู้สึกเห็นแก่ตัว ความรู้สึกเห็นแก่ตัวเกิดมาจาก ความรู้สึกว่ามีตัวหรือมีของตัว ทีนี้เมื่อความรู้สึกว่ามีตัวหรือของตัวนั้น เกิดมาจากความโง่เมื่อผัสสะ เมื่อผัสสะหรือเมื่อเวทนามันไม่มีความรู้ มันมีแต่ความโง่คืออวิชชา ในความโง่ เมื่อผัสสะ เมื่อเวทนา มันปรุงให้เกิดความรู้สึกชนิดที่รู้สึกว่ามีตัว มีของตัว คือมีตัวกู มีของกู แต่ว่ามันมีหลายขั้นตอนนะ เป็นเวทนา เป็นตัณหา เป็นอะไรมากว่าจะมีอุปาทานว่าตัว ว่าของตัว ความรู้สึกว่าตัวกู หรือของกูมาจากความโง่ ในขณะแห่งผัสสะหรือเวทนา ทีนี้เพื่อไม่ให้โง่ในขณะแห่งผัสสะหรือเวทนา เราต้องฝึกสติและปัญญา ปัญญาคือรู้ รู้ รู้ ความรู้อย่างที่ว่ามานี้ และสติคือเครื่องขนส่งที่เร็วที่สุด ขนเอาปัญญาความรู้มาทันขณะผัสสะและเวทนา เหมือนกับสายฟ้าแลบ สติระลึกได้แล่นเร็วเหมือนสายฟ้าแลบ เอาปัญญามาในขณะที่มีสัมผัสหรือมีเวทนา ถ้าอย่างนี้แล้วความโง่เกิดไม่ได้ เมื่อความโง่เกิดไม่ได้ ก็ไม่มีความรู้สึกว่าตัวกู ว่าของกู มันก็ปลอดภัย เรื่องมันก็ไม่มี ไม่มีเรื่อง เรื่องก็ไม่มีความเลวร้ายอะไร มันมีแต่สติปัญญา รู้ว่าในกรณีนี้ควรจะทำอย่างไร ในกรณีแห่งรูปที่เรากำลังเห็นอยู่นี้ เราควรทำอย่างไรก็รู้ และก็ทำถูกต้อง และก็ไม่มีความทุกข์ ในกรณีแห่งเสียงที่เราได้ยินอยู่นี้ เราควรทำอย่างไร เราก็ทำไปอย่างถูก ต้อง และก็ไม่มีความทุกข์ ในกรณีแห่งกลิ่นที่เราได้รับอยู่นี้ ก็ควรทำอย่างไร ก็ทำอย่างถูกต้อง ไม่มีความทุกข์ ในกรณีแห่งรสทางปาก ที่เราได้รับรสอยู่นี้ เราควรทำอย่างไร ก็ทำถูกต้องไม่มีความทุกข์ ในกรณีแห่งสัมผัสทางผิวหนังซึ่งเลวร้ายมาก สัมผัสทางผิวหนังโดยเฉพาะเรื่องเพศ ทำถูกต้องไม่ผิดพลาด ไม่มีความทุกข์ ทีนี้สิ่งที่จิตมันจะคิดขึ้นมาเอง ปรุงขึ้นมาในภายในจิตได้ ก็มีความถูกต้องไม่ผิดพลาด เพราะอำนาจของสตินั้น อยู่อย่างนี้ไม่มีความทุกข์ เป็นอยู่อย่างนี้ไม่มีความทุกข์ เป็นชีวิตของพระอริยเจ้า นั่นแหละคือธรรมะแห่งพระพุทธศาสนา คุยโตสักหน่อยว่า ไม่เหมือนกับศาสนาไหน หรือไม่มีในศาสนาไหน นอกจากในพุทธศาสนา
เอาละเป็นอันว่าเราพูดกันหมดเลย หมดเพียงพอที่จะเอาไปเรียน เอาไปศึกษา เอาไปปฏิบัติ คือไม่มากเกินไป ไม่เหลือวิสัย ไม่มากเกินไป และก็พอที่จะแก้ปัญหาต่างๆ ของเราได้ จนถึงกับว่าธรรมะมาเป็นคู่ชีวิตของเราได้จริง เป็นคู่ชีวิตที่จะคุ้มครองไม่ให้เรามีความทุกข์เลย นี่แหละเขาเรียกว่าไม่เสียทีที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ และพบพระพุทธศาสนา เธอทั้งหลายเลือกเอาถูกต้องแล้ว ที่เลือกเอาวิชาพุทธศาสนาเป็นวิชาเลือก สำหรับหลักสูตรที่สมบูรณ์ในชั้นเรียนของเธอ เธอคำนวณดูเองสิว่ามันพอไหม มันคุ้มค่าไหม มันถูกต้องไหม มันจะไม่มีประโยชน์ มันจะไม่ใช่ว่ามีประโยชน์ เพื่อการเล่าเรียนให้เสร็จไปเสร็จไปไม่ใช่ มันจะมีประโยชน์ตลอดชีวิตโน่น ตลอดชีวิต ไอ้พวกที่มันไม่เลือกเอาวิชานี้สำหรับเรียน เห็นว่ามันเป็นผู้ที่ขาดอะไรมากๆ แหละ จะไม่ได้อะไรมากๆ แหละในชีวิตอนาคต เขาจะไม่มีความรู้ชนิดที่จะคุ้มครอง ไม่มีความทุกข์ เขาจะมีชีวิตร้อนเป็นวัฏสงสารอยู่เรื่อยไป แต่ว่าเราจะมีชีวิตเย็นเป็นพระนิพพานอยู่เรื่อยไป นิพพานกับวัฏสงสารมันตรงกันข้าม วัฏสงสารก็เหมือนกับอยู่ในน้ำร้อนที่เดือดพุ่ง นิพพานก็อยู่ในความเย็นที่ไม่มีความร้อนเลย เราจะได้ชีวิตเย็นคือนิพพาน ก็มีธรรมะนี่เป็นคู่ชีวิตอย่างที่กล่าวแล้ว
นี่ขอให้การมาของเธอทั้งหลายที่ได้มาในที่นี้ ได้รับประโยชน์สมตามความมุ่งหมาย มุ่งหมายมาว่าจะได้รับธรรมะที่เพียงพอ ก็ขอให้ได้รับอย่างเพียงพอ ให้ได้ผลเกินค่า เกินคาด และเกินค่า ไม่ใช่เพียงแต่ว่าคุ้มค่า ให้มันเกินค่า เกินค่า เกินที่ลงทุน เกินลงทุน เขาเรียกว่าได้กำไรมากเกินๆๆค่า เกินหลายๆ เท่า หลายๆ สิบเท่า หลายๆ ร้อยเท่า เพราะว่าไม่มีอะไรดีกว่านี้ และความรู้เหล่านี้เป็นส่วนของปัญญา และเธอขยันฝึกสมาธิ ซึ่งเป็นส่วนของสติ สติเหมือนกับพาหนะขนส่งอันรวดเร็ว มันจะสามารถขนเอาปัญญาไปทันเวลาอันรวดเร็วของผัสสะ ของเวทนา ซึ่งมันรวดเร็วเหมือนกับสายฟ้าแลบ ถ้าเราฝึกสติไม่พอ มันไม่มีความเร็วแบบสายฟ้าแลบ ไอ้ปัญญามันก็จะไม่ช่วยอะไรได้ ปัญญาจะช่วยแก้ปัญหาได้ก็โดยสติพาไปทัน เวลา ในกรณีที่มันเกิดอะไรขึ้นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เรื่องมันมีเท่านี้ เราจึงต้องมีทั้งสติและปัญญา ความรู้นี้เป็นปัญญา ฝึกจิตให้มีสติ รวดเร็ว ว่องไว นั้นมันเป็นเรื่องของสติ ผู้ขนส่งปัญญา ไปใช้ให้ทันแก่เวลา ซึ่งเร็วเหมือนกับสายฟ้าแลบ
เรื่องที่พูดวันนี้ก็สมบูรณ์ที่สุดแล้ว แต่ว่ามันย่อเอาแต่ใจความแล้วก็สมบูรณ์ที่สุด จบเรื่องที่สม บูรณ์ที่สุด ขอให้จดจำให้ดี ไปทบทวนความจำให้ดี อย่าให้ความรู้เหล่านี้ฟั่นเฟือนได้ จะได้ใช้เป็นประ โยชน์ เมื่อเรามีสติเพียงพอ ให้ไปฝึกสติให้มาก ขอยุติการบรรยายในวันนี้ไว้เพียงเท่านี้