แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านทั้งหลายลองมาคิดดูเถอะว่าชีวิตของเรานั้นมันหลับลงไปด้วยอะไร หลับไปด้วยแบงก์ร้อย หรือหลับไปด้วยแบงก์ใบละห้าร้อยมาหนุนหัว หรือมันหลับไปด้วยความเชื่อว่าตนเองนี่มันมีความถูกต้อง ท่านเอาเงินเอาทองสร้างหมอนเป็นทอง เอาแบงก์มาปูนอนมันก็นอนไม่หลับเพราะจิตมันมีกิเลส ถึงแม้เราจะนอนบนหญ้า นอนบนกระดาน นอนบนก้อนหินอะไรก็แล้วแต่ แต่ขณะที่จิตมันไม่มีกิเลสคือจิตมันมีความพอใจในการกระทำของตัวเองแล้วมันก็นอนหลับ หลับอย่างสบายทีเดียว ทีนี้บางคนอาจจะเห็นว่า อุ๊ย,ไม่เป็นไรหรอก หลับไม่หลับก็ชั่งไม่เป็นไรหรอก ขอให้เรามีเงินจะซื้ออะไรก็ได้ จะกินอะไรก็ได้ เป็นอันว่าพอแล้ว เราไม่สนใจ ถ้าเรามองให้เห็นจริงๆแล้วก็จะเห็นว่าไอ้ที่เราต้องไปซื้อมากขึ้น หรือว่าต้องไปหาอะไรมาบำรุงบำเรอให้มากขึ้นนั้นเพราะว่าจิตมันไม่อิ่ม จิตมันไม่เย็น จิตมันไม่สงบ จิตมันไม่สบาย มันจึงต้องการมากขึ้น เช่นว่ากินข้าวใช้ช้อนสังกะสี จานสังกะสีกินข้าวมันก็อิ่ม แต่คนเป็นจำนวนมากทำไมไม่ทำอย่างนี้ ต้องใช้ช้อนพิเศษ จานเคลือบพิเศษหรือว่าต้องเป็นโต๊ะพิเศษ แล้วเขาก็บอกกินอย่างนี้สิมันถึงจะมีเกียรติ แล้วลองไปดูเถอะว่าคนที่ทำอย่างนั้นมันเป็นอย่างไร ชีวิตเขาเป็นอย่างไร ต้องดิ้นรนทุรนทุรายอย่างไร แล้วเราก็จะไปมองเห็นว่าคนทำอย่างนั้นสิเป็นคนรวย เป็นคนมีเกียรติ ไอ้คนกินข้าวจานสังกะสีนี่สิเป็นคนจน เป็นคนยากไร้ แล้วเราก็แบ่งชนชั้นกันขึ้นมา โดยเฉพาะเมื่อเราไม่มีอย่างที่เราต้องการก็น้อยเนื้อต่ำใจ เสียใจว่าตนเองนั้นไม่มีฐานะอย่างนั้นอย่างนี้ อยากจะร่ำรวยบ้าง รวยไม่ทันใจก็เลยโกง เราก็เลยบอกว่าไม่เห็นเป็นไร ไม่เห็นมันมีให้โทษตรงไหน นี่แหละมันเป็นเรื่องซับซ้อนซ่อนกันอยู่อย่างลึกลับ เพราะคนพวกนี้ไม่มีโอกาสที่จะรู้จักกิเลส เพราะเขาอยู่ในหมู่ในคณะ คนพวกนี้แหละลองจับมาอยู่ห้องคนเดียวในป่ามันจะเป็นบ้าไปทั้งหมดเลย บ้าไปทุกคน ฉะนั้นเรื่องของป่ามันเป็นเรื่องที่จะทำให้คนกลับเนื้อกลับตัวได้ คนที่มันยังทำชั่วอยู่ แล้วก็บอกว่าความชั่วไม่ให้ผลนั้นเพราะว่าเขายังอยู่ในความชั่ว แล้วก็มองเห็นคนชั่วๆที่ชั่วกว่ามันก็มี มันเป็นเครื่องปลอบใจ แต่เมื่อคนเหล่านั้นต้องมาใช้ชีวิตคนเดียว อยู่คนเดียวขึ้นมา หรือมีโอกาสได้สำนึกถึงการกระทำทั้งหลายแล้วก็จะรู้สึกปวดร้าวเหลือกำลังจนอาจจะทนอยู่ไม่ได้ทีเดียว จะต้องตายลงไปเพราะความเจ็บปวดอันนั้น เนื่องจากการที่ได้เกิดมาแล้วไม่สามารถที่จะทำสิ่งอะไรที่รู้สึกได้ว่าเป็นความพอใจในกายในธรรมของตนเอง นี่เป็นเรื่องที่เราจะต้องพิจารณาเพื่อให้เห็นว่ากฎแห่งกรรมนั้นมันเป็นอย่างไร กฎแห่งกรรมมันคือการหมุน เมื่อมีกิเลสเข้ามาในจิตใจก็เป็นเหตุให้กระทำกรรมลงไป เมื่อกระทำลงไปแล้วก็ให้ผล มันให้ผลที่ใจคือความทุกข์ ท่านทั้งหลายลองพิจารณาดูก็ได้ อย่างเช่นว่าเราคิดจะทำชั่ว ทำชั่วสักอย่างหนึ่งอะไรก็ได้ ขณะที่เราคิดอยู่อย่างนั้นจิตใจมันจะเย็นไม่ได้เลย มันจะเย็นไม่ได้เพราะนี่มันเป็นกฎของธรรมชาติว่าถ้าจิตใจประกอบด้วยกิเลส จิตใจนั้นต้องเร่าร้อน ต้องกระวนกระวาย ต้องกระสับกระส่าย ต้องไม่เย็นไม่สงบ นั่นเป็นกฎของธรรมชาติ ถ้าขณะใดจิตคิดเรื่องดี คิดช่วยเหลือผู้อื่น คิดทำหน้าที่การงานให้ถูกต้อง อย่างนี้แล้วจิตประกอบด้วยพระธรรม จิตนั้นจะสงบเยือกเย็น มันเป็นธรรมชาติอย่างนี้ไม่มีใครฝืนได้ แต่ว่าระดับของการที่มันเกิดขึ้นในจิตนั้นมันยังอยู่ขนาดที่เรียกว่าไม่ตาย มันทนได้ อย่างเช่นว่าเราคิดจะทำชั่วนี่จิตมันก็ร้อนนะ เช่นว่าถ้าเป็นเรื่องปัญหาเกี่ยวกับกามารมณ์ เราไปบ้านเพื่อนไปเห็นเมียเพื่อนสวย จิตมันคิดไม่ดี จิตมันก็ร้อน เพื่อนไม่รู้หรอกแต่เรารู้อยู่แล้วว่ามันร้อน ทีนี้มันจะพูดจะอะไรไปมันก็เคอะเขิน กระด้างกระดากไปหมด เหมือนกับครูทั้งหลายหรือใครก็ได้ ถ้าเราสอนลูกศิษย์อยู่คือจิตที่เป็นครูต้องการให้ความรู้ มองลูกศิษย์ไปมันไม่มีความรู้สึกอะไร แต่ถ้ามีความต้องการสิ่งตอบแทนจากลูกศิษย์นั้นสายตาที่มองออกไปมันก็เปลี่ยน มีความเร่าร้อนมีความอะไรเกิดขึ้น นี่แล้วมันก็ฟ้องกันได้จากการกระทำที่แสดงออกมา ทีนี้ที่มันเป็นปัญหาฉกรรจ์ก็คือว่าเมื่อความชั่วเกิดขึ้นในจิต มันทนได้ ท่านทั้งหลายก็รู้อยู่ไม่ใช่หรือว่ามันทนได้ เพราะว่าเราทำชั่ว ความชั่วนั้นมันเกิดขึ้นแล้วคือความร้อนใจ ความไม่สบายใจแต่เราจะบอกว่าทนได้ เอาละทนได้ไม่เป็นไร ทนได้ไม่มีปัญหา ยังไม่ต้องศึกษาพระธรรมก็ได้ แต่ท่านดูต่อไป ท่านทนได้ครั้งหนึ่ง ทีนี้ท่านทำชั่วครั้งที่สอง มันก็จะสะสมขึ้นอีก เพราะเป็นความทนได้ที่เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า ทีนี้ความชั่วทั้งหลายนี่ที่เรียกว่ามันชั่วจริงๆนั่นแหละส่วนมากมักมันจะเต็มอยู่ในหัวใจแล้ว แล้วมันระบายออกทางกายทางวาจา นี่แหละคือเป็นตัวที่จะประกาศต่อชาวโลกทั้งหลายให้รู้ว่าคนนี้แหละมันเป็นคนอย่างไร คนเราไม่อาจจะรู้จิตใจกันได้ แต่รู้จากการกระทำเพราะว่าเมื่อคนใดปรารถนาอย่างไรแล้วต้องแสดงออกทางกายทางวาจาเสมอไป เมื่อมันมีสิ่งที่ทำให้จิตใจเราไม่สบาย มีความร้อนอกร้อนใจอยู่แล้วมันจะระบายออก ยกตัวอย่างทั่วๆไปในอะไรก็ได้ อย่างเช่นว่าเราอยากได้ของสักสิ่งหนึ่ง อยากได้ อยากจะได้อะไรก็แล้วแต่นี่ เช่นเราอยากจะได้เครื่องบำรุงบำเรอ จะเป็นวิทยุโทรทัศน์อะไรก็แล้วแต่เราอยากจะได้ ทีนี้เมื่อเราอยากจะได้ ถ้าเราอยากได้โดยที่มีธรรมะประกอบแล้วมันไม่ยุ่งหรอก มันก็รู้ว่า เอ้า, เราจะได้วิทยุหรือโทรทัศน์มานั่นแหละ แต่ตอนนี้เราไม่มีเงิน มันก็บอกว่า เอ้า, ไม่เป็นไรคอยได้ ทุกสิ่งเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย เมื่อมีเงินมันก็ซื้อได้ ไม่มีเงินมันก็อย่าเพิ่งไปซื้อ แล้วมันก็ทำงานทำการเก็บเงินสะสมเงินอะไรก็แล้วแต่ จนถึงเวลามีเงินมีทองเขาก็ไปซื้อมา ทีนี้อีกพวกหนึ่งไม่มีธรรมะ อยากจะได้โทรทัศน์ เงินไม่พอไม่เป็นไร ไปเอามาก่อนผ่อนส่งทีหลัง เอาโทรทัศน์มาเครื่องหนึ่ง เอ้า, อยากจะได้เตาไฟฟ้าไม่เป็นไรเงินไม่พอ ไปผ่อนส่งมาก่อน ไปชำระทีหลัง เอ้า, อยากจะได้อะไรอีกมันก็ผ่อนส่งมาก่อนแล้วก็มาใช้ทีหลัง นี่การทำอย่างนี้นั่นแหละเป็นการที่เรียกว่ามันทำผิดออกไปแล้วโดยทางการกระทำ แล้วทีนี้ผลกรรมก็ตามมาสิ ตามมาอย่างที่ว่าเขาไม่รู้เลยว่าผลกรรมมันตามมาแล้ว เงินไม่พอจะส่ง จะเอาไปคืนก็อายเพื่อน เดี๋ยวเพื่อนจะบอกว่าเอาของมาแล้วไม่มีปัญญาส่งอายเพื่อน เงินไม่พอมันก็หนักอกหนักใจ คับอกคับใจ หาปัญหาว่าทำอย่างไรจะได้เงิน อย่างไรก็ได้ที่มันได้มันก็ทำทุกวิถีทาง เสร็จแล้วก็ได้เงินมา โกงบ้างขโมยบ้างอะไรก็แล้วแต่ เพื่อจะได้เงินมา อ้าว, ได้เงินมาก็ไปผ่อนส่งต่อมาอีก ไอ้จิตมันก็กังวลอีก เขาจะจับได้หรือเปล่า เขาจะไล่ออกหรือเปล่า นี่แหละกรรมที่มันตามสนองตลอดเวลา อย่างที่เช้านี้ท่านอาจารย์ท่านได้พูดว่ามะเร็ง มะเร็งในวิญญาณ ไอ้วิญญาณนั่นคือความรับรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันเกิดมะเร็งร้ายขึ้นเสียแล้ว คือมันกินทำให้ความร้อนอกร้อนใจนี้เกิดขึ้นตลอดเวลาจากตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ท่านทั้งหลายลองสังเกตดูสิ ถ้าเรามีไอ้ความที่ไม่ถูกต้องอยู่มันเหมือนกับที่เขาเรียกว่าวัวสันหลังหวะ ถ้าแมลงมาตอมนิดหนึ่งมันก็เจ็บ อย่างเช่นท่านทั้งหลายนี่ถ้าพูดตรงๆขออภัย สมมติถ้าเราสูบบุหรี่อยู่อย่างนี้ พอดีมีคนเขาพูดถึงเรื่องสูบบุหรี่ มันรู้สึกทันทีเลย รู้สึกการต่อต้านรู้สึกไม่พอใจขึ้นมาเหมือนกับว่าเขามาด่ามาว่าเราทั้งนั้นแหละ แต่ความจริงมันไม่ใช่อย่างนั้น มันเป็นความรู้สึกของกิเลสต่างหากเล่า ท่านพิจารณาดูให้ดีสิ ขณะที่ท่านสบายที่สุดนั่นแหละคือขณะที่ท่านไม่ได้สูบบุหรี่ ท่านนอนหลับลงไปขณะนั้นก็ไม่ได้กินเหล้า มันต้องสบายอย่างนั้น แต่ถ้ามันไปกินหรือไปทำอะไรในสิ่งที่ผิดมันก็ไม่อาจจะเป็นความสุขที่เกิดขึ้นได้ แต่สิ่งอันนี้มันเป็นสิ่งที่ว่าลึกลับสำหรับมนุษย์เราสักหน่อยหนึ่ง คือว่ามันเกิดขึ้นในจิตใจแล้วเราทนได้ ทนได้ เสร็จแล้วพอดีมันทนไม่ได้มันระบายออกมา มันก็เป็นกรรมที่เรียกว่ากรรมซ้อนกรรมขึ้นไป จนกระทั่งมันเป็นกรรมในใจคือเราทำผิดร้อนอกร้อนใจอยู่ในใจ แต่ถ้าทำออกไปทางกายวาจาแล้วมันร้อนหนักขึ้นไปเพราะว่าสังคมหรือคนภายนอกเขามองเห็น เขาประณามได้ มันก็เลยหนักขึ้นไป แล้วมันก็กระทบกระเทือนกลายเป็นกรรมสืบไปถึงลูกถึงเมียถึงอะไรนี่มันยุ่งกันไปหมด นี่แล้วคนก็มองไม่เห็น มองไม่เห็นว่าไอ้กรรมนั่นมันให้ผลจริง มันให้ผลแล้ว เพราะว่าเราเพียงไปมองเพียงแต่ว่าด้านวัตถุอย่างเดียว ด้านวัตถุนี่คือหมายความว่าเช่นคนนั้นทำอย่างนั้นอย่างนี้ ทำไม่ถูก โกงไม่รับผิดชอบในหน้าที่ แต่ไม่เห็นได้รับกรรมอย่างที่เราต้องการให้เขาได้รับนั่น ท่านลืมแล้วหรือว่าอิทัปปัจจยตา ความที่มีสิ่งนี้ๆเป็นปัจจัย สิ่งนี้ๆจึงเกิดขึ้น เมื่อคนโกงเขารวมเงินได้เป็นจำนวนมาก คนที่มีธรรมะก็ทำอะไรเขาไม่ได้ เพราะว่าปัจจัยแห่งกิเลสมันมากกว่าปัจจัยแห่งธรรมะ เขาก็ยังอยู่ได้ พระพุทธเจ้าท่านตรัสเอาไว้ว่า วโส อิสฺสริยํ โลเก อำนาจเป็นใหญ่ในโลก ในโลกนี้อำนาจเป็นใหญ่ เขาทำผิดแต่เขามีอำนาจ คือหน้าที่ของเขานั่นแหละแต่เขาใช้อำนาจในหน้าที่นั่นแหละทำ คนอื่นก็ทำอะไรเขายังไม่ได้เพราะเหตุปัจจัยแห่งอำนาจที่เขามีอยู่ เขาจึงทำได้ นั่นเป็นอำนาจที่เขาคิดเขาหลบเลี่ยงจากสายตาของฝูงชน แต่อำนาจแห่งพระธรรมหรืออำนาจแห่งกฏอิทัปปัจจยตานั้นลงโทษเขาอยู่แล้วคือเขานอนไม่หลับไม่สบายใจเป็นทุกข์เป็นร้อน ฉะนั้นชีวิตที่ไม่พึงปรารถนาก็คือชีวิตอย่างนั้น เราทั้งหลายก็ไม่ปรารถนาที่จะมีชีวิตที่ต้องร้อนอกร้อนใจอย่างนั้น ฉะนั้นในการพูดในวันนี้ ที่พูดมานี้ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา ก็หวังว่าท่านทั้งหลายที่ได้ฟังมาโดยตลอดที่อาตมาได้นำมาพูด ในฐานะที่เราจะได้ร่วมมือกันเพื่อความสุขของตัวเราเองด้วย เพื่อความสุขในส่วนสังคมด้วย เพราะว่าเราทั้งหลายเป็นพุทธบริษัท มีความปรารถนาที่จะทำให้พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้ามีอยู่ในโลก เพื่อว่าเมื่อพระธรรมมีอยู่ในโลกแล้วตัวเราเองก็สบาย สังคมก็สบาย โลกนี้ก็น่าอยู่ขึ้น ฉะนั้นเราก็มีความปีติยินดีที่ได้มีโอกาสเข้าใจในพระธรรม แล้วก็ได้ช่วยทำให้พระศาสนาอยู่ซึ่งเป็นงานส่วนหนึ่งของทุกๆคน โดยเฉพาะที่เป็นชาวพุทธ เพราะว่าพระพุทธเจ้านั้นท่านฝากพระศาสนาไว้กับพุทธบริษัท ๔ ท่านไม่ได้ฝากพระศาสนาไว้กับภิกษุ ท่านฝากพระศาสนาไว้กับพุทธบริษัท ๔ คือ ภิกษุภิกษุณี อุบาสกอุบาสิกา อุบาสกอุบาสิกาก็คือฆราวาสชายหญิงนั่นแหละ ฉะนั้นเราทั้งหลายในฐานะที่เคารพพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง เมื่อมีโอกาสได้มาสนทนากันเพื่อจะทำความเข้าใจให้เกิดขึ้น ทำความพอใจในพระธรรมให้เกิดขึ้นในลักษณะเช่นนี้ อาตมาขออนุโมทนาต่อท่านทั้งหลาย อย่างน้อยที่สุดก็อุตส่าห์ทนฟังจนจบคำบรรยายในที่นี้ ก็ขอยุติการพูดไว้แต่เพียงเท่านี้
ท่านพุทธทาสบรรยาย ตั้งแต่นาทีที่ 14.40 รถจักรยานแล้วขี่ แล้วมันก็ล้ม ล้มอย่างเดียวกัน จึงรู้จักสังเกตว่าอย่างนั้น กำหนดอย่างนั้น กำหนดเพียงเท่านั้น อย่าตั้งใจให้มันมากเกินไปอย่าตั้งใจให้มันน้อยเกินไปหรือมีวิธีที่จะรักษาไว้อย่างไร พยุงไว้อย่างไร นี่คือตอนที่สอนกันไม่ได้ ต้องยินดีพอใจไป หาเวลาหาโอกาสนั่งทำไปๆ ทำไป ก็ล้มไปๆ แต่จะดีขึ้นๆ ดีขึ้นจนกระทั่งมันได้ ดังนั้นบทเรียนแรกที่เราแนะนำกันให้เป็นหลักเพื่อไปลงมือทำ ให้กำหนดลมหายใจ นี่หมายความว่าการตระเตรียมเรื่องอื่นมันเสร็จแล้วนะ ร่างกาย ที่อยู่อาศัย ที่ทางที่อะไรมันเสร็จแล้วก็กำหนดลมหายใจที่มันหายใจอยู่ตามธรรมชาติเข้าออกๆ ศึกษาให้รู้ว่าธรรมชาติของมันอย่างไร เท่าไร หนักเบาเท่าไร หรือมีลักษณะอย่างไร
บทที่ ๑ ก็คือวิ่งตาม จิตหรือสติวิ่งตามเมื่อลมเข้าไปลมออกมา ลมเข้าไปลมออกมา เพียงเท่านี้มันก็ล้มหลายหน ถ้า ถ้าเปรียบถึงการล้มน่ะมันจะมีหลายหน เพียงบทเรียนที่ ๑ ที่ว่าวิ่งตามลม มันก็จะล้มแบบล้มลุกคลุกคลานหลายหน คือมันไม่ตาม มันไม่ตามได้ตลอดจนว่าเข้าไปกว่าจะออกมา ให้มันติดตามลมอยู่อย่างไม่มีระยะว่างนี้จนกว่ามันจะได้แหละ ไอ้กี่วันกี่เท่าไรบอกไม่ได้หรอก จนกว่ามันจะได้ บางคนมันก็ช้าบางคนมันก็เร็ว บางคนมันเป็นคนเครียด เป็นคนจิตใจเครียดมันก็ทำยาก จิตใจที่มันอ้อนสลวย อ่อนโยนดีมันก็ทำง่าย แต่ก็พอจะทำได้กันทุกคนแหละมันปรับตัวมันเองได้ตามธรรมชาติ วิ่งตามจากจมูกลงไป ลงไปแล้วสมมติว่าหยุดที่สะดือ ตั้งต้นออกจากที่สะดือมาออกที่จมูก ที่จมูกไปถึงสะดือ สะดือถึงจมูก ทำไปเรื่อยๆจนได้ จนไม่ต้องมีใครบอกหรอก ไม่ต้องมีใครมาบอกว่าได้หรอกมันก็รู้ได้เองว่ามัน มันได้ นี่ขั้นแรก อย่าง อยาก อย่า แต่กว่าจะได้มันก็ ก็ต้องล้มลุกคลุกคลานกันไปตามเรื่อง
ขั้นที่ ๒ ซึ่งมันจะยากขึ้น ประณีตขึ้น ละเอียดขึ้น ถ้าทำได้ ได้ผลละเอียดขึ้น คือว่าเฝ้าดูอยู่ที่จุดใดจุดหนึ่ง จุดที่เหมาะที่สุดที่จะเฝ้าดูคือที่จงอยจมูก ที่เมื่อลมเข้าไปมันก็จะต้องผ่านตรงนั้น เมื่อลมออกมามันก็ผ่านตรงนั้น กำหนดแต่ที่จุดนั้นว่าลมผ่านจึงค่อยจะหยุด ลมผ่านมันก็จะหยุด เข้าหรือออกก็ตาม นั้นมันเกิดจุดที่กำหนดได้ง่ายๆขึ้นมาจุดหนึ่งที่จมูก จมูกด้านใน อันนี้มันก็ยากกว่าบทที่ ๑ บทเรียนที่ ๑ คือวิ่งตาม ทำง่ายๆ ปัญหาก็ไม่ค่อยจะมีหรอก มันอาจจะแก้ได้ถ้ามีปัญหาเช่นว่ามัน มันยากไปก็หายใจให้มันดังเข้า หายใจให้มันแรงเข้า หายใจให้มันดังเข้า มันกำหนดง่าย แล้วก็ให้มันหายใจตามธรรมดาก็กำหนดวิ่งตามได้ดี บทเรียนที่ ๑ เพียงพอ ซึ่งบทเรียนที่ ๒ มันยากกว่านั้นแหละ เพราะมันมีระยะว่างที่เราไม่กำหนด ที่ตรงอื่นไม่ต้องวิ่งตามซึ่งมันง่ายกำหนดง่าย ครึคระนะ อยู่ที่จมูก ที่ปลายจมูกแห่งเดียว มันอาจขยักขย่อนให้ว่าง ไม่กระทบจนจิตไปสนใจกับไอ้สิ่งอื่น คล้ายๆกับวิ่งหนีไปที่อื่น นี่เรียกว่ามันยากขึ้นมา เฝ้าดูที่จุดใดจุดหนึ่งคือที่ปลายจมูกจนกระทั่งว่ามันได้ กำหนดจุดได้จุดหนึ่งแล้วที่จุดนั้น
ทีนี้มาบทที่ ๓ บทเรียนที่ ๓ สร้างมโนภาพเป็นดวงเป็นแสงเป็นภาพอะไรขึ้นมาที่ตรงจุดนั้น จุดที่ว่าเราเฝ้าดูจุดเดียวเท่านั้นจนไอ้เห็นได้ด้วยตาข้างในว่าเป็นดวงเป็นแสงเป็นภาพอันใดอันหนึ่งแหละที่เราทำให้มันเห็นขึ้นมา โดยที่ไม่ใช่มีของจริงอยู่ที่นั่น แต่ว่าทำให้เห็นได้ที่นั่น ปรากฏอยู่ที่นั่น นี้มันก็ยากขึ้นไปกว่าไอ้ที่บทเรียนที่ ๑ ที่ ๒ ละเอียดประณีตขึ้นมา คือจิตใจต้องละเอียดประณีตมากกว่าไอ้บทที่ ๑ ที่ ๒ มาก มันจึงจะค่อยทำให้มันเกิดขึ้นมาแล้วก็รักษาไว้ได้ ให้เห็นชัดยิ่งขึ้น เห็นชัดยิ่งขึ้น แม้มันจะฟลุ๊ณคเห็นขึ้นมาได้โดยง่ายก็เหมือนกัน แต่ขอให้มีภาพซึ่งจิตสร้างขึ้นภาพใดภาพหนึ่งที่ตรงจุดนั้นจุดจงอยจมูก มันก็เป็นได้ต่างๆกันเพราะว่าคนเรามันเคยชอบอะไรต่างๆกัน ความคิดนึกตามธรรมชาติมันก็ไม่เหมือนกัน บางคนอาจจะได้มาเป็นภาพดวงขาวๆก็ได้ บางคนมันจะได้ดวงเขียวดวงแดงอะไรก็ได้ บางคนอาจจะได้มาเป็นรูปปุยนุ่นนิดหน่อยอะไรอยู่ตรงนั้น บางคนอาจจะได้มาเป็นเหมือนกับว่ามีน้ำค้าง เหมือนกับเพชรแวววาวอยู่ที่นั่น บางคนเหมือนกับเป็นภาพเส้นไหมใยแมลงมุมถูกแดดกรอกๆกรอกมา แวววาวอยู่ที่นั่น มาก จำนวนมากที่ว่าจะให้เห็นได้อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็น้อมจิตไปก็ได้ มันจะเปลี่ยนหรือมันจะเกิดให้ตามที่เราต้องการ การได้ภาพเพียงว่าเป็นไอ้ปุยนุ่นปุยสำลีขาวอยู่เป็นก้อนเล็กๆอยู่ที่นั่น เหมือนกับเป็นควันไฟเล็กๆขาวอยู่ที่นั่น อันนั้นสะดวกมากกว่าอย่างอื่น แต่ว่าใช้ได้ทั้งนั้นแหละ แล้วก็ขอให้มันมีเห็น แล้วให้มันแน่วแน่อยู่อย่างนั้น ทั้งที่เราก็หายใจเข้าหายใจออกอยู่ นี่เรียกว่ามันก็ยากขึ้นไป
ทีนี้ก็ขั้นที่ ๔ เปลี่ยนไอ้สิ่งนั้นเปลี่ยนมโนภาพให้มันเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนรูปเปลี่ยนขนาดเปลี่ยนสีเปลี่ยนอิริยาบถ เช่นที่เคยเห็นเป็นรูปขาวๆเล็กๆให้มันใหญ่ ให้มันเล็กให้มันใหญ่ ให้มันเล็กให้มันใหญ่ หรือให้มันเปลี่ยนสีเป็นสีอื่น ให้มันเปลี่ยนอิริยาบถคือว่าให้มันเหมือนกับว่ามันลอยไป ลอยไป ลอยร่อนไปร่อนมาจนกระทั่งว่ามันกลับมา บังคับได้ดีที่สุด เหมือนกับว่าบังคับไอ้เครื่องจักรกลสมัยใหม่ด้วยอิเลคทรอนิคส์ บังคับให้มันไป บังคับให้มันทำอย่างไร บังคับให้มันกลับมา นี่จนสุดกันที่ว่าบังคับให้เปลี่ยนสีเปลี่ยนขนาดเปลี่ยนอิริยาบถเปลี่ยนรูปร่างได้อย่างใจหมด นี่ไม่ใช่เรื่องเล่นๆนะเป็นเรื่องที่เต็มที่เต็มขนาดของการฝึกจิต มันยากแหละมันต้องเรียกว่ายาก ที่มันจะฝึกให้มันไปในทางที่เป็นรูปฌาน มีความสุขในปัจจุบันทันตาเห็น ฝึกให้จิตอยู่ในอำนาจ ฝึกให้จิตอยู่ในอำนาจใช้คำว่าอย่างนี้ ขีดเส้นใต้ที่ประโยคว่าฝึกให้จิตอยู่ในอำนาจ ให้วิ่งตามก็ได้ ให้หยุดเฝ้าดูก็ได้ ให้สร้างมโนภาพก็ได้ ให้เปลี่ยนมโนภาพก็ได้ ถ้าได้อย่างนี้แล้วมันก็มีหวังแหละ มันก็มีหวังแหละว่าเราเป็นผู้บังคับจิตได้ มีจิตอยู่ในอำนาจพอสมควรหรือว่าเต็มอัตราแล้วแต่ว่าฝึกได้เท่าไร ทีนี้ก็จะเลือกเอาภาพที่ไม่เปลี่ยน ภาพที่หยุดนิ่งแน่วนิ่งแน่วสักภาพหนึ่ง เช่นว่าพอกลับไปรูปเดิมของมันว่าเป็นไอ้ก้อนสำลีขาวๆอยู่ที่ตรงนั้น กำหนดแต่สิ่งนั้นให้แน่แน่วลึกๆลงไป ลึกลงไป คือมันพูดได้แล้วว่าจะให้ทำอย่างไรก็ได้นี่จะให้ทำอย่างไรมันก็ทำอย่างนั้น จะให้ทำอย่างไรมันก็ทำอย่างนั้นมันเป็นสิ่งที่ได้แล้ว ทีนี้ก็ให้มันหยุดอยู่ที่ตรงนี้ ตรงที่กำหนดเดิม ตรงที่เฝ้าดูกำหนดเดิมที่ปลายจมูก กำหนดให้มันแน่ว ๆ แน่วลงไปจนเป็นความรู้สึกหยุดนิ่งลึกลงไป สำเร็จรูปอยู่ด้วยความรู้สึก ๕ ประการที่เรียกว่าองค์ฌาน องค์ฌาน ๕ ประการ
การที่กำหนดอารมณ์อยู่ การที่จิตกำหนดอารมณ์อยู่นั้นมันก็มี มีเต็มที่นะ อารมณ์ที่จิตกำหนดอารมณ์นั้นมีอยู่เต็มที่ นี่องค์ที่ ๑ ก็เรียกว่าวิตก
ทีนี้อาการที่จิตรู้สึกต่ออารมณ์นั้นอย่างชัดเจนแจ่มแจ้ง ละเอียดลออและอย่างซึมซาบว่ามันเป็นอย่างไร นี่ก็มีอยู่ก็เรียกว่าองค์ที่ ๒ หรือวิจารณ์
แล้วในขณะเดียวกันนั้นความรู้สึกพอใจของเราก็พอจะรู้สึกได้ ก็เรียกว่าปีติ พอใจว่าเราทำได้ พอใจว่าเราประสบความสำเร็จหรือพอใจว่าเรามีหวังที่จะไปข้างหน้า ความพอใจว่าเราทำได้ ยินดีตัวเองอย่างนี้มันก็แสดงอยู่เป็นความรู้สึกอีกอันหนึ่ง เป็นอันที่ ๓
ทีนี้ความสุขอีกอันหนึ่งก็รู้สึกว่าสบายๆ คนละ คนละความหมายนะ พอใจว่าเราทำได้นั้นเป็นปีติ แล้วเมื่อไรสบายที่สุด สบายที่สุดก็กำหนดได้อีกอันหนึ่งเป็นอันที่ ๔ เรียกว่าสุข
แล้วความที่จิตเป็นอารมณ์เดียวอย่างแน่วแน่ที่เรียกว่าเอกัคคตา เอกัคคตา มียอดๆ เดียวคือว่าจิตทั้งหมดมียอดๆ เดียวอยู่ที่อารมณ์นั้น ก็มีอยู่ ความเป็นอย่างนี้ ภาวะความเป็นอย่างนี้ก็มีอยู่แล้วจิตก็รู้สึกได้ว่ามันเป็นอย่างนี้ มันจึงครบ ๕ จิตกำหนดอยู่ จิตรู้สึกอารมณ์อยู่ รู้สึกปีติอยู่ รู้สึกเป็นสุขอยู่ รู้สึกความที่จิตมีอารมณ์เดียวอยู่ ก็เรียกว่ามันมีองค์ ๕ ในระยะแรกขั้นต้นนี่มันก็มีเรื่องขนาดนี้ ซึ่งเป็นเครื่องวัดเป็นเครื่องทดสอบว่าทำได้ เมื่อเราชอบใจเราก็อยู่ด้วยความรู้สึกเป็นปีติและเป็นสุขอยู่นานเท่าที่จะนานได้ จนกว่าสมควรเวลาที่จะออกมาเป็นธรรมดา เราหยุดอยู่ในความรู้สึกที่เป็นองค์ ๕ นั้นนานตามที่เราต้องการ มันก็เรียกว่ามีความสำเร็จในเรื่องของรูปฌาน ความมุ่งหมายที่จะมีความสุขในทิฏฐธรรม
ในทิฏฐธรรมหมายความว่าในที่นี่และเดี๋ยวนี้ มันมีเรื่องร้อนใจอะไรมาก็ตามใจมันเถอะ แต่พอเรามาทำอย่างนี้ปั๊บเดียวมันกลายเป็นอยู่คนละโลก มีความสุขอย่างยิ่งที่นี่และเดี๋ยวนี้ ทันเลย ได้เลย หรือว่าเราต้องการจะมีความสุขอย่างนี้ที่นี่เดี๋ยวนี้เราก็ทำได้ หรือว่าเรามันร้อนอกร้อนใจเป็นทุกข์ในเรื่องใดๆมา พอเราทำอย่างนี้ก็ทำได้ ก็เรียกว่ามันเลิกไอ้ความทุกข์นั้นมาอยู่ในความสุขที่นี่และเดี๋ยวนี้ ทันในปัจจุบันก็เรียกว่าสุขในทิฏฐธรรม บทเรียนนี้คือเรียกว่าเป็นสุขในทิฏฐธรรม จำไม่ผิด หยุดอยู่ในลักษณะ ๕ อย่างนั้นนานตามที่เราต้องการเรียกว่าปฐมฌาน คือสมาธิอันแรก สมาธิลำดับแรกให้ผล ถ้าไปต่อไปอีกก็คือว่าไอ้ลดให้มันละเอียดลงไป ละเอียดลงไป ไอ้ ๕ องค์นั้นเหลือเพียง ๔ เหลือเพียง ๓ เหลือเพียง ๒ แล้วแต่ที่จะทำต่อไปโดยหยุดความรู้สึกบางอย่างเสียใหม่มันเหลือน้อยเข้า น้อยเข้าจนเหลือแต่ว่าเฉยๆ เฉยๆ กับจิตมีอารมณ์เดียว ไอ้ตอนนี้มันมีรายละเอียดมาก ไม่พูดหรอก เพราะมันไม่ มันเป็นรายละเอียดที่มันต้องไปทำ พยายามทำต่อไปให้มันละเอียดแต่ว่าเพียงที่ว่ามันได้ ไอ้ครบ ๕ นี่ก็ ก็ถมไปแล้ว เป็นเพียงปฐมฌานนี่ก็ถมเถ แล้วก็จะไม่ได้ทำได้ทุกคน บุคคลบางคนมันไม่เหมาะที่จะทำอย่างนี้ได้ มันก็ไม่ได้ ถ้าว่าเผื่อจะทำได้ก็ลองทำสมาธิประเภทอานาปานสติ ระยะแรก ตอนแรก ขั้นแรกมีผลได้รูปฌาน ที่ได้ผลโดยตรงของรูปฌานชนิดนี้คือมีความสุขเมื่อไรก็ได้ นี่เป็นความสุขชนิดที่อย่างเดียวกับนิพพาน แต่มันไม่ถาวรเท่านั้นเอง มันเปลี่ยนกลับไปกลับมาได้ แต่ว่าได้ชิมรสอย่างเดียวกับรสพระนิพพาน คือจิตว่างไปจากกิเลส ก็ควรว่างจากความทุกข์ว่างจากอะไรทุกอย่างในระดับหนึ่งนะ เรียกว่าในระดับหนึ่งแม้ไม่เต็มร้อยก็เต็ม ท่านจึงใช้คำว่ามีความสุข ทิฏฐธมฺมสุขวิหาร อยู่ด้วยความสุขในทิฏฐธรรม ทีนี้จะยังไม่ได้พูดถึงไอ้อย่างที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ นะ แม้จะเพียงอย่างเดียวนี้ยังจะขยายออกไปให้เป็นประโยชน์อย่างอื่น เช่นว่าจะให้คิดเก่งทำเก่งมีสติมากมันก็ได้ มันก็รวมอยู่ในชุดนี้ได้ แม้จะไม่มากเท่าหรือไม่เหมือนกับไอ้อันที่ ๓ ที่ ๔ ทางโน้น แต่ถ้าเราทำได้อย่างนี้ มีสมาธิได้ถึงขนาดนี้แล้วมันก็ใช้ประโยชน์ได้กว้างขวางนะ ท่านเรียกว่าที่นอนทิพย์ที่นอนพรหมอะไรก็มาอยู่กันที่นี่ ที่นอนทิพย์ของพวกเทวดา เมื่อนอนอยู่ด้วยรสผลของสมาธิหรือว่ายืนอยู่เดินอยู่นั่งอยู่ด้วยความรู้สึกของสมาธิ
ไอ้สมาธิมันมีอยู่ ๒ ขั้นตอน เมื่อแน่วนิ่งอยู่ในฌานนั้นมันเป็นอย่างหนึ่ง เมื่อออกจากฌานแล้วฤทธิ์ของสมาธิก็ยังอยู่ จิตใจที่เป็นสุขก็ยังอยู่ จิตใจที่เกลี้ยงเกลามากๆนะก็ยังอยู่ มันจึงมีคำกล่าวในพระบาลีว่าเมื่อเดินอยู่เมื่อนั่งอยู่เมื่อนอนอยู่เมื่อยืนอยู่ก็ยังมีจิตที่เป็นสมาธิ หมายถึงมีจิตที่มีคุณค่า มีคุณสมบัติหรือคุณลักษณะของสมาธิอยู่ แต่ไม่ใช่อยู่ในฌาน ไอ้อยู่ในฌานนั้นฝึกเข้าไปมากเสมือนว่าอยู่ในฌาน จิตชนิดที่มันอยู่ในฌานแล้วตอนนี้มันจะเหลือไอ้คุณค่า คุณสมบัติของฌานนั้นติดอยู่เป็นระยะยาวพอสมควร แม้จะออกจากฌานแล้วรสชาติของสมาธินั้นก็ยังคงอยู่ มันก็ยังสบายอยู่ แม้ว่าจะมาเปลี่ยนอิริยาบถจะเปลี่ยนเป็นนั่ง เป็นยืน เป็นเดิน เป็นนอน ก็นั่งเดินยืนนอนอยู่ด้วยความรู้สึกชนิดนั้น เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงตรัสว่าเป็นที่นั่งคิด ที่เดินคิด ที่ยืนคิด ที่นอนคิด เพราะว่าในขณะนั้นจิตมันมีความรู้สึกอย่างนั้นจริง เป็นความสุขในทิฏฐธรรมชิมรสของพระนิพพานอยู่ เท่านี้ก็จะ จะมีผลเกินค่าเท่านั้นเอง ทีนี้เมื่อจิตยังอยู่ด้วยคุณสมบัติคุณค่าของฌานอยู่ จะมาเดินอยู่ จะมาคิดอะไรอยู่ จะมาใคร่ครวญอะไรอยู่มันก็ทำได้ดี จะมาอ่านหนังสือก็ทำได้ดี จะมาตีความหมายอะไรมันก็ทำได้ดี มันคล้ายๆ ว่าจิตมันไปชุบตัวในฌานถึงที่สุดแม้ปฐมฌานนี้ แล้วมันก็เคลือบเอาไอ้อำนาจหรือคุณสมบัติของฌานนั้นติดตัวมา แม้ว่าออกจากฌานแล้วมันก็ยังมีคุณสมบัติอันนั้นอยู่ มันจึงมานั่งนอนยืนเดินก็เป็นสุข จะทำงานก็เป็นสุข จะคิดนึกอะไรก็เป็นสุขเพราะมันป้องกันนิวรณ์ได้ คือนิวรณ์เป็นอันว่าไม่รู้จักกัน
นิวรณ์ทั้ง ๕ นะควรจะรู้จัก ถ้าไม่รู้จัก ไอ้คนนั้นมันก็จะไม่ชอบสมาธิอะไรนัก นิวรณ์ทั้ง ๕ คือว่าอุปสรรคทางจิตที่เกิดอยู่ตามธรรมชาติ
เมื่อคนเรามันโตเป็นผู้ใหญ่เต็มที่แล้วไอ้ความรู้สึกทางเพศมันก็รบกวนอยู่เสมอแหละ โดยเจตนาก็มีไม่เจตนาก็มี ถ้าความรู้สึกทางเพศรบกวนเราก็ทำอะไรไม่ได้ดีหรอก แล้วมีแต่ชวนจะไปประกอบกรรมทางเพศ ความรู้สึกทางเพศพอมันเกิดขึ้นแล้วจิตใจมันก็เกือบจะสูญเสียสมรรถภาพหมดเลย จะคิดเลขก็ไม่ได้ จะเรียนหนังสือก็ไม่ได้ จะท่องจำอะไรก็ไม่ได้ นึกอะไรก็ไม่ออก ถ้ามันไม่มารบกวน มันหายไป หายหน้าไปมันจะดีสักเท่าไรคิดดูสิ นึกสิว่ากำจัดนิวรณ์มันวิเศษเท่าไร
ทีนี้นิวรณ์ที่ ๒ ก็คือความไม่ชอบ นิวรณ์ที่ ๑ คือความรัก ความรู้สึกรักเป็นรู้สึกทางเพศทางกาม นิวรณ์ที่ ๒ มันคือความขัดใจ เรามีเรื่องขัดใจ ขุ่นใจ แม้แต่ขุ่น แม้แต่จิตขุ่นเท่านั้นแหละมันก็ทำอะไรไม่ได้ บางคนดูมันจะเป็นนิสัยสันดานเลยดูหน้าตามันก็รู้ ดูลูกตามันก็รู้ ว่าคนๆนี้มันมีจิตขุ่นตลอดกาล ก็เครียดอยู่ตลอดกาล แล้วมันจะคิดอะไรให้ดีไม่ได้ มันจะมีปัญญาอะไรดีไม่ได้ คือมันเป็นนิวรณ์ตามธรรมชาติ ตามสันดาน มีในสัญชาตญาณ มัน มันคอยแต่จะอึดอัดขัดใจนั่นนี่ไปเสียเรื่อยแหละ แต่ถ้ามัน ถ้ายิ่งมันไปมีเรื่องกับใครมาแล้วเป็นเรื่องโกรธ เรื่องเกลียดกันอยู่แล้วมันจะมารบกวนมากกว่าธรรมดา ฉะนั้นคนชนิดนี้มันอยู่ด้วยความอึดอัดขัดใจเป็นนิวรณ์ที่ ๒ ขอรวมเรียกกันสั้นๆ ว่าพยาบาท คือไม่ชอบ อึดอัดขัดใจ มันกระทั่งมันโกรธตัวเองก็ได้ มันโกรธอะไรก็ได้มันไม่ชอบไปเสียทุกอย่าง อะไรสักนิดหนึ่งมันก็ไม่ชอบ อันนี้มันมากๆ แล้วมันก็หาที่ทำสมาธิยากแหละมันขัดใจไปเสียหมด ถ้าว่าอันนี้มันเกลี้ยงไปจากใจ ไอ้จิตใจนั้นก็เก่งมากนะ มันนิ่มนวลอ่อนโยนควรแก่การงานขึ้นมาทันที
นิวรณ์ที่ ๓ ถีนมิทธะ คือจิตมันลดกำลังไปในทางถอยกำลัง ไปในทางงัวเงีย ทางมึนชา มึนเมา ยกไม่ขึ้นเหมือนกับง่วงนอน หรือว่าอิ่มอาหารเกินไป มึนอยู่อย่างนั้น ถึงแม้ไอ้การง่วงนอน การอิ่มอาหาร มึนไปมันก็อยู่ในพวกนี้เหมือนกัน แต่บางทีก็ไม่ได้ง่วงนอนหรอก มันไม่ควรจะนอนมันก็มีอาการอย่างนั้นได้ ถึงมันไม่ได้มึนอาหารอะไรมันก็มึนอย่างนั้นได้ ก็เรียกรวมเรียกว่าจิตมันลงต่ำ แฟบ ยุบตัว ไม่แจ่มใสไม่ร่าเริงที่จะทำอะไรได้ สังเกตดูบางวันเราจะเขียนหนังสือหรือว่าเราจะอ่านหนังสือมันก็ชวนง่วงชวนหลับไป จะเขียนหนังสือให้ดีนี้มันเขียนไม่ได้เพราะว่าจิตมันลงต่ำ ถ้ามันไม่มีมันก็ดีมาก เราก็ทำงานได้ดีมาก จะเรียนก็ได้ จะทำอะไรก็ได้
นิวรณ์ตัวที่ ๔ ก็เรียกว่าอุทธัจจะกุกกุจจะ นี้มันตรงกันข้ามกับถีนมิทธะ คือมันฟุ้งๆๆๆ เหมือนอีตาบ้า มันก็ทำอะไรดีไม่ได้เหมือนกัน ถึงคราวที่มันเป็นอย่างนั้นมันก็ทำอะไรไม่ได้ เรียนอะไรไม่ได้ คิดอะไรไม่ได้ ทำงานประณีตๆไม่ได้ โดยเฉพาะจะทำงานประณีต เช่น จะแต่งบทกลอนที่ไพเราะที่ประณีตนี้ทำไม่ได้หรอก ด้วยจิตที่เป็นถีนมิทธะลดต่ำ หรือด้วยจิตที่เป็นอุทธัจจะกุกกุจจะฟุ้งสูงทำไม่ได้ คนที่เขาเขียนบทกลอนอะไรได้มากๆ ง่ายๆ นั้นแสดงว่ามันไม่มีสิ่งเหล่านี้
ทีนี้อันสุดท้าย วิจิกิจฉา ความลังเลไม่แน่ใจ คือจิตใจมันไม่ปักดิ่งลงไปที่นั่นเพียงเรื่องเดียว มันขยักไว้ สงสัยลังเลความผิดความถูก ความได้ความเสีย ความอะไรไปเสียเรื่อยแหละจนกระทั่งมันไม่ไว้ใจตัวเองว่าจะทำได้ ไม่ไว้ใจว่าสิ่งที่มันเลือกเอามาทำนั้นคือมันถูกแล้ว วิธีที่เราจะเลือกเอามาแก้ปัญหาของเรามันก็ยังลังเลว่าไม่ถูก เตลิดเปิดเปิงไปถึงจนถึงกับลังเลว่าไอ้ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้นี้มันจะจริงอย่างนั้นไหม หรือมันอาจจะลังเลถึงกับว่าไอ้สมาธิที่ทำอยู่นี้มันจะได้ผลอย่างนั้นจริงหรือ ความลังเลมีขอบขีดมาก คือมันไม่มารวมกำลังความเชื่อทั้งหมดลงไปที่นั่นได้ ถ้ามันไม่มีก็สบายมากสิ ก็เก่งมาก พอเราไม่มีนิวรณ์ทั้ง ๕ รบกวนกันจริงๆ จิตเกลี้ยง จิตเกลี้ยงกันจริงๆ จิตสดชื่นแจ่มใส เกลี้ยงเกลา เต็มไปด้วยกำลัง มีความว่องไว ไม่งัวเงียเพราะนิวรณ์ ประโยชน์สูงสุดของสมาธิที่มนุษย์จะเอามาใช้ได้ คือถ้าทำได้แม้แต่เพียงประเภทแรกประเภทมีสุขในทิฏฐธรรมนี้ก็เหลือหลายแล้ว
ทีนี้ไอ้ประเภทที่ ๒ ไม่ต้องพูดหรอกเพราะเราไม่ต้องการ มันเป็นเรื่องทิพย์ เรื่องอิทธิฤทธิ์ เรื่องฤทธิ์เรื่องเดช มันก็เกี่ยวกับบังคับใจมากเหมือนกัน เมื่อมันทำการบังคับจิตมาตั้งแต่ต้นเหมือนกับที่ว่ามาแล้ว จนบังคับจิตได้ตามต้องการแล้ว ก็ทำต่อไปในทางที่เรียกว่าปาฏิหาริย์ ฤทธิ์เดช บังคับ บังคับความรู้สึกให้รู้สึกตรงกันข้ามก็ได้ เช่นว่ากลางคืนมืดๆนี่บังคับให้จิตรู้สึกสว่างจ้าเหมือนกับกลางวันอย่างนี้ กลางวันนี่สว่างจ้าบังคับจิตให้รู้สึกเหมือนกับมืด มืดตื้อ มืดอย่างคืนมืด แล้วแต่เขาจะฝึกวิธีไหน เพื่อประโยชน์อย่างไร มากเหมือนกัน มีมากเหมือนกันก็เรียกว่าอาโลกสัญญา ทิวาสัญญาเป็นจุดตั้งต้น เราไม่ต้องพูด ไม่สนใจก็ได้
ทีนี้พวกที่ ๓ ที่ว่าคอยกำหนดการเกิดขึ้นและดับไปแห่งสัญญา เวทนาและวิตก นี่มันต้องรู้จักสิ่งเหล่านี้สิ แต่นี้กลัวว่าจะยังไม่รู้จักสิ่งเหล่านี้กระมัง เวทนา สัญญาและวิตก เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ ๓ อันนั้น ต้องเรียนรู้เรื่องขันธ์ ๕ พอสมควรนะ พอตากับรูปถึงกันเข้าเกิดจักษุวิญญาณขึ้นมา ทั้ง ๓ อย่างนี้ ตากับรูปกับวิญญาณนี่ทำงานด้วยกันก็เรียกว่าผัสสะ ทีนี้มันเกิดเวทนาแหละ เพราะมีผัสสะมันเกิดเวทนา รู้จักตัวเวทนาที่มันเกิดอยู่จริงๆ อย่าได้ยินแต่ชื่อนะ ถึงเมื่อใดเรามีเวทนาที่เกิดมาจากผัสสะตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เมื่อไรมันเกิดขึ้น เมื่อไรมันตั้งอยู่ เมื่อไรมันดับไป ทีนี้สิ่งที่เรียกว่าเวทนานี้เมื่อมันเกิดของมันแล้วทำให้เกิดสิ่งถัดไปได้เองตามธรรมชาติคือสัญญา มันจึงสำคัญนั่นสำคัญนี่ลงไปที่เวทนา เมื่อได้อะไรมา ได้สุขได้ทุกข์มา ได้ความเป็นอย่างไรมา หรือว่าสำคัญมั่นหมายเป็นผู้ได้ผู้เสีย ผู้แพ้ผู้ชนะ ผู้อะไรแล้วแต่เรื่อง แล้วมันก็เกิดเป็นสัญญาขึ้นมา เราต้องรู้ว่ามันเกิด รู้ว่ามันตั้งอยู่ รู้ว่ามันดับ ไม่ได้ให้มันไปตาม เอ่อ,โดยที่เราไม่รู้ วิตก วิตกก็คือความคิดคือสังขารขันธ์ มันมีสัญญา สำคัญมั่นหมายอย่างไรแล้วมันก็ปรุงความคิดอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมาว่าจะเอาอย่างนั้นจะเอาอย่างนี้ จะได้อย่างนั้นจะได้อย่างนี้ จะทำอย่างนั้นจะทำอย่างนี้ อย่างนี้เขาเรียกว่าวิตกหรือสังขารขันธ์ มันเกิดขึ้นก็ให้รู้ มันตั้งอยู่ก็ให้รู้ มันดับไปก็ให้รู้ ซึ่งวันหนึ่งมันเกิดได้ไม่รู้กี่ร้อยครั้ง กี่ร้อยครั้งเราก็รู้มันทุกครั้งแหละมันเกิดขึ้นมามันตั้งอยู่มันดับไป เกิดขึ้นมาตั้งอยู่ดับไป นี่เราเป็นคนฉลาดที่สุดแหละ ว่องไวที่สุดที่จะรู้สึกความเปลี่ยนแปลงของจิตในรูปของสัญญาของเวทนา ของเวทนาของสัญญาของวิตก อันนี้เป็นที่ตั้งของกิเลส ความคิดก็ปรุงเป็นกิเลสได้ตามปกติ วิตกจะปรุงเป็นเรื่องกิเลส กามวิตก อะไรวิตกเป็นกิเลส มาจากเวทนา มาจากสัญญา เวทนาจะเกิดขึ้นแล้วดับไปเลยหรือจะเกิดขึ้นแล้วปรุงสัญญา สัญญาจะเกิดขึ้นแล้วดับไปเลยหรือจะปรุงวิตกก็ให้รู้ไปสิ มันเป็นเพราะควรรู้จักไอ้เรื่องของจิตแหละ กำเนิดของจิต สัญชาติของจิต ธรรมชาติของจิตอย่างดี ถ้าคุณสนใจควรไปศึกษาให้รู้จักตัวสิ่งที่เรียกว่าเวทนาหรือสัญญาหรือวิตก ให้จับได้ทุกทีที่มันเกิดขึ้น เดี๋ยวนี้แม้แต่ชื่อก็ไม่รู้จัก รู้จักชื่อก็รู้จักชื่ออยู่แต่ในหนังสือ ไอ้ตัวจริงที่มันเกิดขลุกขลักอยู่ในใจตลอดเวลาไม่รู้จัก มันก็กำหนดไม่ได้ว่าเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปของเวทนา สัญญาและวิตก ถ้าเราทำได้ในส่วนนี้แหละมันจะยิ่งเก่งมากไปกว่าไอ้พวกชุดทีแรก คือมันจะควบคุมเวทนาได้ ควบคุมสัญญาได้ ควบคุมวิตกได้ มันจะไม่เผลอสติเป็นอันขาด ไม่มีเรื่องที่จะเผลอสติถ้ามันมีการฝึกอยู่อย่างนี้ แล้วฝึกได้อย่างนี้ มันก็มีเรื่องปัญญาแสดงออกมาพร้อมๆกันไปว่าเวทนาเป็นอย่างไร สัญญาเป็นอย่างไร วิตกเป็นอย่างไร เกิดมาจากอะไร เป็นไปอย่างไรต่อไป มีความเลวร้ายอย่างไร นี่ก็เป็นปัญญารู้ เพราะเรามองเห็นมันถูกมันก็รู้จักว่ามันมีอะไร มันเป็นอะไร มันคืออะไร ขึ้นมาโดยวิธีใด นี่คนนี้เขารู้เรื่องเวทนา สัญญาและวิตก ถ้ามันจะมาเกี่ยวกันกับเรื่องละเอียดมันก็ทำจิตให้ประณีตละเอียดเป็นสมาธิตามสมควรแม้ไม่ถึงที่สุด มันก็กำหนดเวทนา สัญญาและวิตกได้ดีกว่าธรรมดา คนนั้นจะรู้จักเวทนา สัญญาและวิตกดีกว่าธรรมดา ก็มีหวังที่จะควบคุมมันได้มากขึ้นๆ ต่อไปเขาจะควบคุมสติสัมปชัญญะให้ทำหน้าให้ดีที่สุดได้ ไม่ปล่อยให้เวทนา สัญญาปรุงเป็นกิเลสในรูปของวิตก เวทนาเกิดขึ้นก็รู้เท่าทัน สัญญาเกิดขึ้นก็รู้เท่าทัน ถ้ารู้เท่าทันก็ไม่ให้มันปรุงเป็นวิตก ถ้ามันเผลอไปมันปรุงเป็นวิตกสมมติว่าเป็นกิเลสมันก็รู้เท่าทัน มันทำให้หยุดหรือชะงักก็ได้ นี้สมาธิภาวนาประเภทที่ ๓ ทำให้เป็นผู้เชี่ยวชาญในการกำหนดรู้เวทนา สัญญาและวิตก
ทีนี้อันที่ ๔ ประเภทที่ ๔ สมาธิภาวนาเพื่อความสิ้นอาสวะ กำหนดอุปาทานขันธ์ที่เกิดขึ้น เมื่อมีอุปาทานเข้าไปยึดครองแล้วก็เป็นทุกข์ จนกว่าจะหมดเหตุหมดปัจจัย เปลี่ยนเป็นเรื่องอื่นก็เป็นทุกข์ เปลี่ยนเป็นเรื่องอื่นก็เป็นทุกข์ คนนั้นต้องรู้จักขันธ์ ๕ พอสมควร เดี๋ยวนี้คุณรู้จักขันธ์ ๕ ไหม (เสียงผู้ฟังตอบได้ยินไม่ชัด) รู้จักขันธ์ ๕ ไหม นั่นแหละรู้จักแต่ชื่อในหนังสือใช่ไหม เมื่อไรเป็นรูปขันธ์ เมื่อไรเป็นเวทนาขันธ์ เมื่อไรเป็นสัญญาขันธ์ แล้วรู้สึกอยู่แก่ใจไหมว่าเมื่อไรเป็นรูปขันธ์เกิดแล้ว เมื่อไรเป็นเวทนาขันธ์เกิดแล้ว เมื่อไรเป็นสัญญาขันธ์เกิดแล้ว สังขารขันธ์เกิดแล้ว วิญญาณขันธ์เกิดแล้ว ทั้ง ๕ ขันธ์นี้มีอยู่พร้อมกันทั้ง ๕ ไหม นี่คือไม่รู้ใช่ไหม ไม่รู้เรื่องขันธ์ เวลานอนหลับมีขันธ์ไหม มีขันธ์ ๕ ไหม มีไหม (เสียงผู้ฟัง : มี) มีกี่ขันธ์ มีขันธ์อะไรบ้าง นี่คือเดา เดาว่าถ้าไม่มีขันธ์ก็คือตาย ที่จริงมันไม่ได้ต้องเรียกว่าขันธ์ก็ได้มันก็ไม่ตายหรอก ขันธ์ทั้ง ๕ มันมีในความรู้สึก ไม่ใช่มีในความไม่รู้สึกเช่นหลับเป็นต้น เราก็ศึกษาเรื่องไอ้อายตนะนี่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เรามีอยู่ในเรา รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ มันอยู่ข้างนอกรวมเป็น ๖ คู่ พอตาเห็นเข้ากับรูปข้างนอกมันเกิดจักษุวิญญาณ นั่นแหละวิญญาณขันธ์เกิดแล้ว แล้วละเอียดจนเราไม่รู้จักมันใช่ไหมเล่าวิญญาณขันธ์นั่น ไอ้ตานี่ถ้าก้อนเนื้อตานี่มันเป็นรูป เป็นรูปขันธ์ ไอ้รูปข้างนอกก็เหมือนกันแหละมันเป็นรูป แต่ถ้ามันมาทำหน้าที่เกี่ยวข้องกันแล้วก็เรียกว่ารูปขันธ์ทั้งนั้น ไอ้ก้อนลูกตาทำหน้าที่เพื่อจะเห็น ไอ้ตัว ตัวลูกตามีระบบประสาทเสร็จนะ นั่นคือรูปขันธ์ภายใน พอทำหน้าที่เรียกว่ามันเกิด พอทำ พอไม่ทำหน้าที่เรียกว่ามันดับ ทีนี้รูปขันธ์ภายนอกเช่นอะไรก็ตาม ภาพที่เราเห็นนั้นถ้ามันเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเห็นที่ในตาของเราแล้วเรียกว่ามันเกิด พอเสร็จเรื่องมันก็ดับ คือมันไม่รู้ไม่ชี้กันถ้ามันดับ นี่ก็เรียกว่ารูปขันธ์ข้างนอกเกิดหรือดับ รูปขันธ์ข้างในเกิดหรือดับ นั่นแหละคือรูปขันธ์ ถ้าเป็นเรื่องกาย เรื่องกายนี้ เมื่อมันอยู่เฉยๆ ไม่ทำความรู้สึกในหน้าที่ก็ไม่ได้เกิด พอกายเกิดทำหน้าที่จะสัมผัสกับไอ้โผฏฐัพพะมันก็เรียกว่ากายเกิดรูปขันธ์เหมือนกัน รูปขันธ์เกิดได้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เว้นทางใจ ถ้ามันอยู่ข้างในก็เรียกว่ารูปขันธ์ข้างใน ถ้าอยู่ข้างนอกก็รูปขันธ์ข้างนอก นี้มันก็ตา รูปข้างใน รูป รูปข้างนอกมาถึงกันเข้าทำให้เกิดจักษุวิญญาณนี้คือวิญญาณขันธ์ คือจิตเมื่อทำหน้าที่รับรู้อารมณ์ว่าเป็นอะไรนี่เรียกว่าวิญญาณขันธ์ ๓ อย่างนี้ทำงานด้วยกันเรียกว่าผัสสะ กระทบกันแล้วออกมาเป็นความรู้สึกเรียกว่าเวทนา ก็คือเวทนาขันธ์เกิดแล้ว เมื่อตาสัมผัสรูปแล้วเกิดความรู้สึกอะไรออกมาเกี่ยวกับเรื่องนั้นเราเรียกว่าเวทนาขันธ์เกิดแล้ว เวทนาขันธ์เกิดแล้วมีผลขึ้นมาอย่างไร จิตมันสำคัญมั่นหมายลงไปที่นั่นอีกทีหนึ่งนี่เขาเรียกว่าสัญญาขันธ์เกิดแล้ว เกิดพร้อมกันไปได้เพราะว่ามันส่งเสริมกันอย่างนี้ เมื่อสัญญาขันธ์เป็นไปเต็มที่มันก็ปรุงให้เกิดความคิดนึกว่าจะเป็นอะไร จะเอาอย่างไร จะทำอะไร แล้วสัญญาขันธ์มีหลายขั้นตอนไปจนกระทั่งเกิดอุปาทานเป็นตัวกูของกู ผู้จะทำ ผู้จะได้ ผู้จะเสีย มันเรียกสัญญาขันธ์ เอ่อ, สังขารขันธ์ คิดนึก ถ้ารู้เรื่อง ๕ ขันธ์นี้ดีแล้วจึงจะศึกษาเรื่องปัญจุปาทานขันธ์ได้ ขันธ์เฉยๆที่เรียกว่าเบญจขันธ์ ปัญจขันธ์น่ะ ถ้าว่าขันธ์มีอุปาทานเข้าไปอยู่ด้วยเรียกว่าปัญจุปาทานขันธ์ โดยมากเราไม่ๆ ไม่รู้เรื่องนี้เราก็ปล่อยทีเดียวเป็นปัญจุปาทานขันธ์ พอเกิดรูปว่ารูปของกู รู้สึกว่ารูปของกู หรือตัวกูเป็นรูป เอารูปเป็นตัวกูก็ได้ เอารูปเป็นของกูก็ได้ ไม่แน่แล้วแต่กรณีของคนโง่ พอมันเกิดเวทนาแล้วไอ้ความรู้สึกนั้นมันมีความรู้สึก คนโง่อาจจะเอาตัวความรู้สึกเป็นเวทนา เอาเวทนาเป็นตนก็ได้ หรือมันรู้มากกว่านั้นมันว่ามีจิตมีอะไรเอาเวทนาเป็นของตนก็ได้ สัญญาก็เหมือนกันแหละพอมันรู้สึกอะไรได้มันเอาความรู้สึกนั้นเป็นตัวตนก็ได้ เอาเป็นความรู้สึกของตนก็ได้ สังขารก็เหมือนกันแหละ มันเอาเป็นตัวตนก็ได้ เป็นของตนก็ได้ เพราะในขันธ์ทั้ง ๕ แล้วอาจจะรู้สึกเป็นตัวตนก็ได้ เป็นของตนก็ได้ ทุกขันธ์ๆ อย่างนี้เรียกว่ามันผิดแล้ว มันเอาของหนักเข้ามา เมื่อเอาเป็นตัวตนหรือเป็นของตนก็ตามในขันธ์ทั้ง ๕ นั้นแหละ ก็เรียกว่าเป็นของหนักแล้ว มีความทุกข์แล้ว เป็นผิดแล้ว มีความทุกข์แล้ว ถ้ามันเก่งมันก็ไม่ๆ ไม่ยอมให้ไปหลงว่ารูปเป็นตัวตนหรือของตน เวทนาเป็นตัวตนหรือของตน สัญญาเป็นตัวตนหรือของตน สังขารเป็นตัวตนหรือของตน วิญญาณเป็นตัวตนหรือของตน มันไม่มี แล้วจิตมันก็เกลี้ยงมันก็ไม่มีความทุกข์ มันโง่หรือมันหลับไปเลย มันไม่รู้ว่าไอ้นี้มันก็ปรุงไปด้วยความโง่ความหลับ จนเป็นตัวตนหรือเป็นของๆตนอยู่ที่ขันธ์ๆใดขันธ์หนึ่ง ในกรณีใดในกรณีหนึ่ง เมื่อไร เอ่อ, เมื่อไรก็ได้ นี่ไปศึกษาให้รู้จักขันธ์ ๕ แท้จริงที่มันเกิดดับอยู่ในภายในก่อนเถอะ ถ้ามันสำคัญมั่นหมายส่วนใดส่วนหนึ่งว่าเป็นตัวฉันผู้ทำอย่างนั้นนะก็เรียกว่าเอามันเป็น เป็นตัวตน ถ้าว่ามันเป็นของฉันก็คือว่ามันมีจิตอีกอันหนึ่งเอาอันนี้เป็นของฉัน ถ้าความรู้สึกฉันหรือของฉันเกิดก็เรียกว่าผิดแล้วคือความทุกข์ ฉะนั้นผู้ปฏิบัติสมาธิภาวนาในไอ้ประเภท ๔ ได้ดีนั้นมันควบคุมได้ มันไม่ให้เกิดอุปาทานขันธ์ เกิดรูปเป็นรูปขันธ์ก็ตามใจ แต่มันจะไม่ให้กลายเป็นรูปูปาทานขันธ์ ก็ไม่มีความทุกข์เพราะรูป ไม่มีความทุกข์เพราะเวทนา เพราะสัญญา เพราะสังขาร เพราะวิญญาณ เมื่อทำอยู่อย่างนี้กิเลสเกิดไม่ได้ กิเลสเกิดไม่ได้ในทุกกรณีที่ตาเห็นรูปหรือหูฟังเสียง กิเลสมันก็ถอย มันก็ผอม อนุสัยมันถอย มันผอม มันจะสิ้นสุดลงไปวันหนึ่งจึงเรียกว่าสิ้นอาสวะ สมาธิภาวนาที่มีผลเป็นความสิ้นอาสวะ ประเภทที่ ๑ มีผลเป็นความสุขในทิฏฐธรรม ประเภทที่ ๒ จนได้ฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ประเภทที่ ๓ ที่จะรู้ ควบคุมสัญญา เวทนาและวิตก ประเภทที่ ๔ จะควบคุมปัญจุปาทานขันธ์ไม่ให้เกิด จนกระทั่งไม่อาจจะเกิด จนกระทั่งเป็นพระอรหันต์ไปเลย มีอยู่ ๔ ประเภทอย่างนี้นะ ฟังดูอาจจะท้อใจก็ได้ มากนักแหละ ไม่เอาแล้ว ก็เลือกเอาสิชนิดไหน อย่างไร เท่าไรเหมาะแก่เรา ฉะนั้นจึงถามว่ามีปัญหาอย่างไร ที่คุณมาสนใจเรื่องสมาธินี่คุณมีปัญหาอย่างไร มันจะได้เลือกเอาวิธีหรือรูปแบบที่มันจะแก้ปัญหาเหล่านั้นได้ แต่ถึงอย่างไรก็ดีประเภทแรกประเภทที่ ๑ ที่ว่ามีสุขในทิฏฐธรรมจะเป็นรากฐานของทั้งหมด จะใช้ได้แก่ทุกแบบแหละ ตั้งต้นที่แบบนั้นแหละแบบที่จะมีความสุขในทิฏฐธรรม ทำให้เกิดรูปฌานขึ้นมาอย่างน้อยขั้นแรกที่เรียกว่าปฐมฌาน ประกอบไปด้วยองค์ ๕ ประการนี้ ระงับนิวรณ์ไปหมด เป็น เป็นจิตที่เข้มแข็งที่สุด บริสุทธิ์อยู่ตลอดเวลาเหล่านั้น แล้วก็ฉลาดเฉลียวว่องไวที่สุดก็เรียกว่า ปริสุทโธ มันบริสุทธิ์ สัมมาหิโต มันตั้งมั่นเข้มแข็งที่สุด กัมมนีโย มันเป็น Active มี Active Activeness แหละมีมากที่สุด เมื่อจิตเป็นอย่างนี้แล้วก็ มันก็คล้ายกับว่าเป็นผู้มีสมรรถภาพสูงสุดแหละ จะเรียนก็ได้ จะทำการงานก็ได้ จะเผชิญภัยก็ได้ จะต่อสู้กันก็ได้ จะทำอะไรได้ผลดีทุกอย่าง ฉะนั้นยังไม่ต้องสนใจประเภทอื่นใน ๔ ประเภทนั้นหรอก ให้สนใจประเภท ๑ ใน ๔ ประเภทนั้น ก็ทำไปเลย ไปๆ ไปลองดู แล้วมันก็จะเหมือนกับหัดพายเรือ กว่าจะพายเรือเป็น หรือเหมือนหัดขี่จักรยานแหละ กว่าจะขี่จักรยานได้คุณล้มกี่ครั้งจึงขี่ได้ นี่ขี่จักรยานเป็นไหม ล้มกี่ครั้งจึงขี่ได้ จำไม่ได้ นี่เดี๋ยวนี้มันคนมันพอทำสมาธิครั้งแรกพอไม่ได้มันเลิกเลย แต่ขี่จักรยานทำไมยอมล้มเป็นสิบๆครั้งล่ะ จนขี่ได้ล่ะ เพราะมันเห็นผลชัดๆ แล้วมันต่อสู้ แต่พอทำสมาธิขี่รถจักรยานจิตล้มทีแรกเลิก กูไม่เอาแล้วก็จบกัน เรื่องมันก็จบกัน นี่เรียกว่าขี่รถจักรยานจิตมันเป็นเสียอย่างนี้ ดังนั้นขอให้คำนวณด้วยการขี่รถจักรยานธรรมดาๆนี่มันล้มกี่ครั้ง เราก็ยังทนได้ ยังสู้ได้ ยังเอาได้จนขี่ได้ ขี่รถจักรยานจิตมันก็ต้องลำบากกว่านั้น มันก็ต้องต่อสู้เป็นอย่างยิ่ง แล้วก็มันก็เจ็บปวดเหมือนกับว่าขี่รถจักรยานล้มแข้งถลอกปอกเปิกนั้นมันก็เหมือนกันแหละ มันต้องมีอย่างนี้บ้าง แต่เมื่อไม่ยอมแพ้มันก็เป็นไปๆ เป็นไปจนกลายเป็นได้ แล้วผู้นั้นมันก็กลายเป็นคนละคนแหละมันถึงขนาดนั้น แล้วจิตของเขาสามารถไปอยู่โลกอื่นได้ คือไม่มีความรู้สึกอย่างที่อยู่ในโลกนี้ มันไปอยู่ในโลกที่สงบเงียบเย็นเยือกตามแบบอื่นไปได้ เขาจึงเรียกว่าโลกอื่น เป็นพรหมโลกเป็นโลกอะไรก็ตามแล้วแต่จะเรียก คือโลกอื่น หรือจะไปชิมนิพพานดูนิดๆหน่อยๆก็ได้โดยจิตชนิดนี้ มันเข้าอยู่ในสมาธิอย่างนี้มันก็ปราศจากการรบกวนของกิเลสเหมือนกัน ก็เรียกว่าจิตว่างเหมือนกัน จิตประภัสสรชั่วขณะนั้นเขาเรียกว่าตทังคนิพพาน ด้วยอาศัยอำนาจของสมาธินั้นแหละไปชิมรสของพระนิพพาน พระนิพพานนั้นเรียกว่าตทังคนิพพาน เมื่อบุคคลนั้นอาศัยปฐมฌานเป็นต้น แล้วเสวยรสของพระนิพพานอยู่ นิพพานนั้นเรียกว่าตทังคนิพพาน นี่เรียกว่ามีสุข เสวยสุขในทิฏฐธรรมที่นี่และเดี๋ยวนี้ นี่คือหลัก แล้วทีนี้มีปัญหาอะไร มีปัญหาอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ สนใจเรื่องนี้อยากรู้ว่ามีปัญหาอะไรเมื่อตัวเรื่องมันมีอยู่อย่างนี้ แล้วคุณยังมีปัญหาอะไรเกี่ยวกับสมาธิ
ผู้ฟัง (ผู้หญิง) : จิตว่างนี่หมายถึงอะไรคะ
พุทธทาส : เมื่อไม่มีกิเลส เมื่อจิตไม่มีกิเลสเรียกว่าจิตว่าง
ผู้ฟัง : แล้วการทำงานด้วยจิตว่างล่ะคะเป็นอย่างไร
พุทธทาส : ทำงานด้วยจิตเมื่อไม่มีกิเลส อย่าไปทำงานเมื่อมีจิตมีกิเลสมันก็อึดอัด กระฟัดกระเฟียดด้วยราคะโทสะโมหะ ทำจิตให้เกลี้ยงจากกิเลสเสียก่อนแล้วค่อยทำงาน ก็จะสนุกสนานในการทำ แล้วก็ได้ผลดี แล้วก็มีความสุขในการงานนั้นเองคือทำงานด้วยจิตว่าง แต่ไม่ค่อยมีคนเข้าใจกี่คนหรอกเรื่องจิตว่างแล้วเอาไปล้อ ครูบาอาจารย์บางคนยังเอาเรื่องจิตว่างไปล้อเพราะมันไม่รู้ว่าจิตว่างคืออะไร จิตว่างคือจิตที่ว่างจากกิเลส กำลังไม่มีกิเลสอยู่ในจิตนั้น แม้ว่างชั่วคราวแหละจิตชนิดแหละทำงานสนุก พอจิตมีกิเลสมีตัวกูของกูมันก็ ก็เหลวไหล ไม่อยากทำด้วย ไม่อยากทำอะไร พอจิตวุ่นแล้วมันก็ไม่อยากทำอะไร มันอยากจะบ้าไปตามประสาของมัน จะเรียกว่าจิตปกติก็ได้คือไม่มีกิเลส เมื่อจิตปกติก็ทำงาน ทำงานได้ผลดี เมื่อจิตว่าง เมื่อจิตเย็น เมื่อจิตเป็นสภาพเหมือนสมาธิแหละ เป็นสมาธิก็ได้ ไม่มีกิเลส ไม่มีนิวรณ์ คนธรรมดาจะต้องมีนิวรณ์ มีอยู่ก็ไม่รู้จัก ไม่รู้จักสิ่งที่เรียกว่านิวรณ์ พวกเรียนนักธรรมตรี โท เอกมันก็เรียนเรื่องนิวรณ์ แต่มันก็ไม่รู้จักนิวรณ์ ไม่รู้เรื่อง ไม่รู้จักนิวรณ์ มันเรียนเรื่องนิวรณ์จนสอบไล่ได้แต่มันก็ไม่รู้จักนิวรณ์ ฉะนั้นมีปัญหาอะไรก็ว่าไป มันจะได้จัดการแก้ไขปัญหานั้นๆได้ตามเรื่องของมัน
ผู้ฟัง (ผู้ชาย) : ถ้านิวรณ์เกิดขึ้นจะทำอย่างไรให้นิวรณ์สงบลง
พุทธทาส : ถ้านิวรณ์เกิดขึ้นทำไม่ได้หรอก ถ้าเราจะเริ่มกำหนดอย่างนี้มันก็จะค่อยๆไล่นิวรณ์ไป นิวรณ์ไป เอ้า, ถ้าว่านิวรณ์กามราคะคิดถึงเพศอะไรรบกวนใจอยู่ มานั่งลงในที่สงบสงัด หายใจให้แรงให้เร็ว ให้แรงให้เร็วแล้วกำหนดมันก็หายไปแล้ว ความรู้สึกนิวรณ์เรื่องเพศมันก็จะหายไปขณะหนึ่ง ถ้าเราทำติดต่อไปได้ ติดต่อไปได้เป็นสมาธิขั้นวิ่งตาม เฝ้าดูอะไรไป มันก็นิวรณ์ก็ไม่กลับมา ไอ้ทางนี้ก็เกิดผลเป็นสมาธิขึ้นมาก็เพื่อกำจัดนิวรณ์ นิวรณ์คือข้าศึกของมนุษย์ในการที่ทำให้ทำอะไรไม่ได้ดี แต่เราใช้สมาธิเป็นเครื่องไล่นิวรณ์ กำจัดนิวรณ์ออกไปเสีย เราก็เป็นมนุษย์ที่สามารถทำอะไรได้ดี บางคนความรู้สึกทางเพศรบกวน บางคนความรู้สึกทางเครียดอึดอัด ไม่ชอบอะไรอยู่ตลอดเวลามารบกวน บางคนจิตต่ำ จิตตกต่ำ จิตเศร้าสร้อยรบกวน บางคราวจิตฟุ้งซ่านรบกวน บางคราวความรู้สึกลังเลไปหมดมันรบกวน ถึงแม้มันทำอยู่ ยังทำงานอยู่นี่แต่มันก็ลังเลว่านี่คงไม่ได้ผลนะที่ควรจะได้หรือมี ได้ผลดีมีค่า มันลังเล ไปเรียนเรื่องนิวรณ์กันเสียก่อน ไปรู้จักนิวรณ์ตัวจริงๆที่มันเกิดอยู่เป็นประจำวันเสียก่อน แล้วค่อยทำสมาธิขับไล่ไป ขับไล่ไป
ผู้ฟัง (ผู้หญิง) : หลวงพ่อคะ เมื่อกี้หลวงพ่อบอกว่าเราต้องควบคุมจิตใจให้ได้เป็นกัมมนีโย คำว่า “เรา” นี้หมายถึงอะไรคะ
พุทธทาส : หมายถึงจิต คำว่าเรานี้หมายถึงจิต ไอ้ระบบกายกับจิต นามกับรูปนี้มันมีอะไรประหลาดซึ่งอธิบายไม่ได้หรอก จิตนี่มันคิดนึกอะไรได้ คิดไปในทางผิดก็ได้ คิดไปในทางถูกก็ได้ แล้วใครจะมาอบรมจิตล่ะ ก็คือจิตนั่นแหละ เมื่อจิตมันเข็ดหลาบกับไอ้ความทุกข์เข้ามันก็รู้สึกทำมาทางนี้ รู้สึกทำไปทางนี้จะไม่ทำไปทางนั้น โดยที่จิตไม่ต้องเป็นตัวตน เมื่อพวกอื่น นิกายอื่นเขาอาจจะสอนว่าจิตเป็นตัวตนก็ตามใจเขา พวกเรานี้ไม่ถือว่าจิตเป็นตัวตน แต่จิตมันมีความรู้สึกอะไรได้ คือมันหดจากไอ้ที่อันตรายได้ หรือมันเข้าไปเอาสิ่งที่ไม่เป็นอันตรายได้ มันเป็นของอธิบายยาก แล้วไม่ต้องอธิบาย แต่เดี๋ยวนี้เรารู้วิธีกระทำจิตนั้น รู้วิธีกระทำไม่ให้จิตเองเป็นทุกข์แล้วก็พอแล้ว มันไม่เป็นทุกข์อีกต่อไป ก็เรียกว่าจิตมันขึ้นถึงระดับที่ไม่เป็นทุกข์ได้อีกต่อไปนั่นแหละจิต ไม่ต้องเป็นตัวตน ถ้ามีความหมายของตัวตนก็คือจิตรู้ผิด จิตอวิชชา จิตมีอวิชชา จิตรู้ผิด มันก็ต้องทำผิดๆ จนได้รับความทุกข์ ได้รับความเจ็บปวด มันเข็ดหลาบมันก็ถอยหลังมาหาสิ่งที่ตรงกันข้าม นี่จิตไม่ต้องเป็นตัวตนแต่มันรู้อะไรได้ทุกอย่าง มันแก้ไขอะไรได้ทุกอย่าง ฉะนั้นก็ไปอยู่ในสภาพที่เป็นทุกข์อีกไม่ได้ ตามธรรมชาติเดิมของมันก็ไม่มีกิเลส แต่มันมาทำผิดในตอนหลังๆ มันก็มีกิเลสแล้วมันก็เป็นทุกข์ แล้วมันก็เข็ดหลาบ แล้วมันหาไป หาไป ไปหาทางหาวิธีที่จะไม่เกิดกิเลสแล้วก็ไม่เป็นทุกข์ จนจิตบรรลุจิตหลุดพ้นไปแล้ว จับให้พบปัญหาสิถ้ามันมีปัญหาอยู่ที่นิวรณ์ก็จับตัวนิวรณ์ให้ได้สิ แล้วก็เอามาฆ่าแกงอะไรก็ตามด้วยวิธีของสมาธิ เราจะได้ความสุขของพระนิพพานเมื่อไรก็ได้ตามที่เราต้องการ แล้วเราจะมี จะได้สมรรถนะ สมรรถภาพเต็มที่ที่จิตมันจะมีได้ คือที่คนธรรมดาเขาไม่มี คนชนิดนี้มันจะมีสมรรถภาพของจิตที่จะทำอะไรได้ เกินกว่าที่คนธรรมดามันจะทำได้ด้วยอำนาจของสมาธิ มันก็เรียนเก่ง คิดเก่ง จำเก่งอะไรเก่ง ทำการงานก็สนุก ความทุกข์ครอบงำไม่ได้ ความทุกข์ครอบงำยาก แม้ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายมันก็เป็นของหัวเราะเยาะ เป็นของน่าหัวเราะเยาะไปเสีย พวกเราชาวพุทธรู้จักสมบัติของชาวพุทธให้มากๆสิซึ่งพวกฝรั่งมันโง่ในเรื่องนี้อย่างบรมโง่ ไม่ใช่พูดคำหยาบด่าฝรั่งนะพูดตามความจริง พวกฝรั่งมันโง่ในเรื่องอย่างนี้ที่เป็นสมบัติของชาวพุทธของพระพุทธศาสนา มันอย่างนี้ ฉะนั้นถ้าเราไม่รู้อีกก็แย่นะ ถ้าเราไม่รู้เราเป็นพุทธ เป็นชาวพุทธ นับถือพุทธแล้วไม่รู้อีกก็แย่ สมบัติของพระพุทธเจ้ามอบให้ สมาธิคือวิธีที่จะอะไรล่ะ พัฒนา พัฒนาจิตตามธรรมชาติให้เป็นจิตพิเศษ
ผู้ฟัง (ผู้หญิง) : หลวงพ่อคะแล้วกสิณกับสมาธินี้เป็นยังไงคะ
พุทธทาส : เอ้า, ก็เป็นวิธีหนึ่งวิธีกสิณก็ได้ แทนที่จะใช้ลมหายใจเป็นวัตถุกำหนดก็ใช้ดวงเขียวดวงแดงข้างนอกวางอยู่ตรงหน้าเป็นเครื่องกำหนด
ผู้ฟัง (ผู้หญิง) : แล้วต้องมีวัตถุใช่ไหมคะ
พุทธทาส : อืม, ต้องมีวัตถุต้องมีดวงกสิณดวงสีต่างๆตามแต่ ตามที่จะชอบ อันนี้ง่ายและโบราณกว่าแบบไหนๆหมด ในบรรดาสมาธิหลายสิบแบบไอ้กสิณนำหน้ามาเลย เป็นวิธีแรกวิธีโบราณที่สุด เอาวัตถุรูปร่างกลมนี้มาเพ่งจนติดตา จนเห็นโดยวิธีเดียวกันแหละเป็นมโนภาพ แล้วก็บังคับมโนภาพไปโดยวิธีเดียวกัน พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสถึงกสิณ ไม่ได้แนะนำกสิณ แนะนำอานาปานะคือลมหายใจเข้าออก สมาธินั้นมันมีหลักว่า มีหลักทั่วไปเหมือนกันหมดนะทุกแบบก็ว่า มันต้องมีอะไรอันใดอันหนึ่งมาเป็นอารมณ์สำหรับจิตจะกำหนดเข้าไปที่นั่น อันนั้นแหละคือสมาธิ
ผู้ฟัง (ผู้หญิง) : แล้ววิปัสสนาล่ะคะ
พุทธทาส : วิปัสสนานี่ทีหลัง รู้แจ้ง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จิตที่เป็นสมาธิถูกน้อมไปดูสิ่งทั้งหลายทั้งปวงจะเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สุญญตา ตถตาอะไรของสิ่งทั้งปวง ตอนที่เห็นนี่ก็เรียกว่าวิปัสสนา ตอนที่รวมกำลังจิตไปส่องแว่นให้ดีนี่เรียกว่าสมาธิ แต่เดี๋ยวนี้มีคำพูดขึ้นมาใหม่คำพูดหนึ่งเรียกว่าระบบวิปัสสนา ก็คือรวมกันหมด ทำทางจิตก็เรียกว่าวิปัสสนาหมด แต่ตัวแท้ๆของวิปัสสนาคือเมื่อเห็นจิตเป็นสมาธิแล้วเห็นความจริงของสิ่งทั้งปวง วิปัสสนาแปลว่าเห็นอย่างแจ่มแจ้ง สมาธิแปลว่าตั้งมั่นอย่างดี ควรจะถือเป็นมาตรฐาน ถ้าเป็นชาวพุทธต้องมีศีล สมาธิ ปัญญาพอสมควร ไม่อย่างนั้นอย่าเรียกตัวเองว่าชาวพุทธเลย ไม่มีปัญหา ไม่มีใครมีปัญหา ถ้าเราจะทำสมาธิเราก็ลองทำดู ถ้ามันเกิดปัญหาขึ้นมาก็จะได้ช่วยกันแก้ไข ศึกษาสมาธินั่นคือเมื่อลองทำดู ไม่ใช่อ่านหนังสือ แต่ว่าอ่านหนังสือมันมีประโยชน์ให้ช่วยให้ลองทำดู แต่การศึกษาที่แท้จริงอยู่ที่เมื่อลองทำดู
ผู้ฟัง (ผู้หญิง) : หลวงพ่อคะ แล้วอย่างพลังจิตนี้เป็นอย่างไร เห็นฝรั่งนี่เขาเพ่งช้อนให้งออะไรอย่างนี้กับสมาธินี่อย่างไร
พุทธทาส : มันก็อย่างพวกนั้นแหละ ไอ้พวกที่ว่าประเภทที่ ๒ ประเภทที่ ๒ เรา เราไม่ต้องการ เราไม่สนใจ จะมีหูทิพย์ ตาทิพย์ มีอะไรทิพย์ มีกายทิพย์อะไรก็ไม่รู้ไม่ชี้ ไม่อยากจะรู้ ยุ่ง ไอ้การสะกดจิตนั้นคือเขาทำจิตให้เป็นสมาธิ จิตที่เป็นสมาธิก็สามารถบีบบังคับจิตที่ไม่เป็นสมาธิ แล้วเราก็ใช้ในทางเอาเปรียบเขา ให้ทำบาปให้ด้วยวิธีสะกดจิต เดี๋ยวนี้เราจะทำดับทุกข์ ทำเพื่อดับทุกข์ หรือทำเพื่อสร้างสมรรถภาพที่จะทำอะไรให้ได้ดีเต็มที่ของมนุษย์ ไม่ต้องไปสะกดจิตใครหรอก ไอ้เรื่องสะกดจิตนั้นมันเป็นเรื่องที่เล่นไม่ซื่อ ลองทำเองมันจะสอนเอง แบบขี่รถจักรยานหรือหัดพายเรือ หัดระบบประสาทให้ดีๆมันก็ช่วยได้มาก เช่นเรื่องขว้างแม่น โยนหลุมแม่นๆอะไรแบบนี้ มันก็ช่วยๆ มันก็เป็นส่วนช่วยระบบประสาท ซึ่งช่วยให้บังคับประสาท บังคับจิตได้ง่าย มีหลุมอยู่ไกลๆอย่างนั้นสักหลุม แล้วคุณบ้วนน้ำลายมันลงหลุมทุกที มันมีส่วนช่วยได้มากเหมือนกันนะ ลองดู หรือเอากระโถนวางไว้ไกลๆ บ้วนน้ำลายลงกระโถนทุกที มันมีส่วนช่วยระบบประสาทเพื่อไปถึงจิตที่จะบังคับจิต มันเหมือนกันอย่างไรคือว่าเขาบ้วนแรงมันเลยกระโถน บ้วนน้อยมันก็ไม่ถึงกระโถน เพราะวางกระโถนไว้ไกลเกิน มันต้องมีความสังเกตละเอียดที่สุดแหละมันจึงจะบ้วนลงกระโถนได้ทุกทีแม้ว่ามันอยู่ไกล คือพอดีนั่นแหละ เป็นคำว่าพอดี การจะบังคับจิตนี้ก็เหมือนกัน หนักไปก็ไม่ได้ เบาไปก็ไม่ได้ มันต้องพอดี แล้วมันก็อยู่ในสภาพที่พอดีๆ ฉะนั้นคนที่เครียดหรือขี้โมโหก็ทำไม่ได้ คนที่อ่อนแอเกินไปมันก็ทำไม่ได้ ต้องพอดีๆ
ผู้ฟัง (ผู้หญิง) : การฝึกสมาธินี่จะหลับตาหรือลืมตาดีคะ
พุทธทาส : นั่นมันเป็นเรื่องเบ็ดเตล็ด ไม่ใช่ตัวเรื่อง ไปลองดูเองก็แล้วกัน ไปลองทำดูเองแล้วจะรู้ว่าหลับตาดีหรือลืมตาดี แบบโยคีสมบูรณ์แบบเขาลืมตานะ เขาตั้งต้นด้วยการลืมตา ตาจ้องเหมือนจะดูให้เห็นจมูกแล้วมันก็ไม่เห็นนะ เพราะจิตมันก็ทำอยู่ภายใน ฉะนั้นมันเป็นสมาธิไปถึงฌานถึงอะไรแล้วมันหลับของมันเอง ลืมตาในตอนต้นมันก็มีผลดีหลายอย่าง เช่นว่ามันไม่ง่วง มันไม่ชวนหลับ ถ้าเราหลับตามัน มันเอียงไปทางจะง่วงจะหลับ ลองลืมตาเพ่งเขม็งที่ปลายจมูกมันไม่หลับ เพราะมันไม่คิดที่จะหลับ หรือว่าลืมตานั้นเขาบอกว่าตามันเย็น เพราะลมข้างนอกมันเป่าตา ตามันเย็น พอหลับตา ตามันก็เริ่มร้อน ไปลองดูเองสิ ลืมตาดีหรือหลับตาดี
ผู้ฟัง (ผู้ชาย) : หลวงพ่อครับ กสิณนั้นไปถึงวิปัสสนาไหมครับ
พุทธทาส : แล้วกันนี่ก็ไม่รู้เหรอ กสิณนั้นเพื่อสมาธิ จิตเป็นสมาธิแล้วดูอะไรให้เห็นจึงจะเป็นวิปัสสนา
ผู้ฟัง (ชาย) : วิปัสสนานี่เริ่มจากกสิณใช่ไหมครับ เริ่มจากกสิณไปวิปัสสนาใช่ไหมครับ
พุทธทาส : อ้อ, อะไรก็ได้ กสิณก็ได้ อันอื่นก็ได้ เป็นสมาธิเสียก่อน เมื่อจิตเป็นสมาธิแล้วไปดูไอ้สิ่งที่มันเป็นปัญหาให้เห็นแจ้งตอนนี้เป็นวิปัสสนา ดูให้เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็เป็นวิปัสสนา ทีนี้จะทำสมาธิด้วยแบบกสิณหรือด้วยแบบอื่นใดก็ตามใจก็ได้ ให้จิตเป็นสมาธิแล้วจึงไปดูไอ้สิ่งที่จะดู แล้วก็เห็นนั่นแหละคือวิปัสสนา โดยเฉพาะเห็นว่าไม่น่ารัก ไม่น่ายินดี ไม่น่ายึดถือ ไม่น่าอะไร เอาเป็นตัวเป็นตน มันเป็นธรรมชาติเท่านั้นเอง ให้เห็นเช่นนั้นเอง ทำสมาธิทั้งทีก็เพื่อให้เห็นเช่นนั้นเองของสิ่งทั้งปวง แล้วก็จะไม่หลงรัก หลงโกรธ หลงเกลียด หลงกลัว หลงอะไรกับสิ่งทั้งปวง เป็นวัฒนธรรมทางจิตของมนุษย์ มนุษย์แรกๆ ทีแรกมีในโลกมันทำไม่เป็น ต่อมามนุษย์บางยุคต่อมาๆมันรู้จักทำ รู้จักค้น รู้จักทำ รู้จักใช้ประโยชน์ของจิตได้มากอย่างนี้ ก็เรียกว่าเป็นวัฒนธรรมทางจิตของมนุษย์เรา โดยเฉพาะสูงสุดในประเทศอินเดีย ในประเทศจีน ในประเทศอียิปต์ บาบิโลนเนียน พวกที่เก่าพอๆกันก็ ก็ไม่ปรากฏ ปรากฏในประเทศอินเดีย
ผู้ฟัง (ผู้ชาย) : ท่านอาจารย์ครับ ในการทำสมาธินี้ถ้าทำไม่ถูกวิธีจะมีอันตรายมากน้อยเพียงใด
พุทธทาส : แค่ แค่หกล้มหัวเข่าถลอกแหละ เหมือนกับขี่รถจักรยานล้มมันก็เป็นอันตรายเท่านั้น ไม่มากกว่านั้น มันก็คงทำให้รู้สึกเสียใจหรือว่าวุ่นวายใจได้บ้าง ก็เราอย่าไปวุ่นวายใจมันสิ ก็เห็นว่ามันเป็นอย่างนั้นเอง อย่าคิดจะมีฤทธิ์มีเดชที่ไม่บ้า ถ้าไปหวังมากเกินไปมันเป็นบ้าก็ได้เหมือนกันเพราะมันไม่ได้ทำสมาธิเพื่อสมาธิ มันทำสมาธิเพื่อเอากิเลส เพื่อเอาฤทธิ์เอาเดชเอาเปรียบคนอื่นอย่างนี้เป็นบ้าก็มีเหมือนกัน ทำสมาธิเป็นบ้ามันมีได้สำหรับคนที่เจตนาไม่บริสุทธิ์มาแต่แรก ถ้าเราต้องการเพียงเท่าที่ว่านี้ไม่ ไม่เป็นหรอก ต้องการเพียงว่าจะมีความสุขในทิฏฐธรรมหรือจะมีปัญญา มีสติสัมปชัญญะดีในชีวิตประจำวันอย่างนี้ไม่เป็นบ้า แต่ถ้าหวังว่าจะมีฤทธิ์มีเดช จะเหาะเหินเดินอากาศอะไรก็ตาม มันๆ มันๆ มันบ้ามาก่อนแล้ว มันเตรียมจะบ้ามาแล้ว พอมาทำเข้ามันก็บ้าพอดี
ผู้ฟัง (ผู้ชาย) : กราบเรียนครับหลวงพ่อ ที่ถามบอกว่ามีผลร้ายอย่างไรถ้าเผื่อว่าทำไม่ถูก
พุทธทาส : ถ้าไม่ถูกมันก็ไม่ได้ มันก็ไม่สงบ มันก็ไม่เป็นสมาธิ ถ้าถูกมันก็เป็นสมาธิขึ้นมา แต่ที่เขาเป็นอันตราย เป็นบ้า เป็นไอ้นั่นมันมี มันก็เคยมี เพราะคนมันจะบ้ามาแล้ว มันมาทำสมาธินี่มันหวังจะมีฤทธิ์มีเดชให้ยิ่งกว่าใคร อย่างนี้มันก็จะเกือบบ้ามาแล้ว พอมาทำเข้ามันก็ได้บ้าเลย เขาเล่าเป็นเรื่องจริงนะแต่เราไม่ได้เห็นกับตา ไอ้คนทำอานาปานสติแล้วเหาะได้ ทำสมาธินี่ มัน มันก็คิดว่าได้ มันก็ลองเหาะ มันก็ตกลงมาจากหน้าต่าง มันจะเหาะจากหน้าต่างร่อนไปในอากาศ พอเหาะมันก็ฟุบลงมากลางดิน ไอ้อย่างนี้เป็นบ้าไป ก็มีเหมือนกัน ได้ยินเขาพูดกันเรื่องจริง มีเหมือนกัน ฉะนั้นไอ้คนๆนี้มันเป็นบ้าในที่สุดแหละ เพราะมันเตรียมตัวสำหรับจะบ้ามาก่อนแล้ว ไม่ใช่ผลของสมาธิวิปัสสนาในพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาไม่ต้องการผลเป็นเหาะได้เป็นอะไรได้ทั้งนั้น ต้องการจะจำกัดๆ กำจัดกิเลสไม่ให้เกิดอุปาทานขันธ์ ไอ้คำอธิบายอย่างนี้มีแล้วในหนังสือชื่ออานาปานสติภาวนา พอจะเป็นคู่มือในครั้งแรกสำหรับจะขี่รถจักรยานจิต แล้วก็ไปลองดู
ผู้ฟัง (ผู้ชาย) : หลวงพ่อครับอะไรคือสิ่งสำคัญที่สุดของศาสนาพุทธที่แตกต่างจากศาสนาอื่น
พุทธทาส : วิธีดับทุกข์ วิธีดับทุกข์ของเราไม่เหมือนศาสนาอื่น คือเรามีวิธีทำโดยตรงลงไปที่ร่างกาย จิตใจ เราไม่อ้อนวอนพระเจ้า เราไม่หวังผีสางเทวดาอะไรที่ไหน เราไม่ทำอะไรแบบนั้น แต่เราทำลงไปตรงๆที่ร่างกายจิตใจ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อย่าให้โง่เมื่อมีผัสสะ เราก็ไม่มีความทุกข์ นี่วิธีดับทุกข์ของพุทธศาสนามันก็ไม่เหมือนศาสนาอื่น เขาถือพระเจ้า เขาอ้อนวอนพระเจ้า จะให้ช่วยดับทุกข์ให้ หรือจะใช้สมาธิมาบีบบังคับให้ทุกข์หายไปอย่างนี้ไม่มี เราไม่มี เรามีปัญญาไม่ทำผิดเมื่อมีผัสสะ อะไรๆมันสำคัญอยู่ที่ผัสสะเท่านั้นแหละ คือตากับรูปถึงกันเข้าเกิดจักษุวิญญาณ เมื่อมันกำลังทำหน้าที่อย่างนี้อยู่เรียกว่าผัสสะ ตอนนั้นแหละอย่าทำให้มีโง่ อย่าให้มีไอ้อวิชชา ให้มันถูกต้องมันจะเกิดเวทนาออกมา อ้อ, มันก็แค่เวทนาเท่านั้นก็ไม่เกิดตัณหาอุปาทานไม่มีทุกข์ เป็นวิทยาศาสตร์ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์แต่เป็นทางจิตไม่ใช่ไสยศาสตร์ ไม่ใช่ไอ้งมงายไร้เหตุผล เป็นวิทยาศาสตร์ของธรรมชาติโดยตรง วิธีดับทุกข์ของพุทธศาสนา ผู้รู้ยอมรับได้ พวกนักวิทยาศาสตร์ผู้รู้ทั้งหลายจะยอมรับได้ไอ้แบบดับทุกข์ของพุทธศาสนา แบบดับทุกข์ของศาสนาคริสต์ ฝรั่งเองแหละนักวิทยาศาสตร์กลับยอมรับไม่ได้ ปฏิเสธ เพราะมันไม่เป็นวิทยาศาสตร์ เพราะมันขอให้พระเจ้าช่วยทำพิธีรีตองอะไรให้พระเจ้าช่วย แล้วมัวแต่อ้อนวอนพระเจ้ากันอยู่ก็ไม่เห็นดับทุกข์เสียที อย่างนี้ ที่เราบอกให้ทำอย่างนี้ เมื่อบอกโดยคำบอกมันก็มีเหตุผลน่าเชื่อเสียแล้ว เมื่อไปทำเข้ามันก็ดับทุกข์ได้จริงเหมือนกันก็เลยเชื่อ แต่เรายังไม่มีปัญญาสามารถจะไปสอนนักวิทยาศาสตร์ในโลกให้มันได้รับธรรมะในพุทธศาสนา พวกฝรั่งเขาไม่ต้องการจะดับทุกข์เพราะว่าเขาอยากจะมีความสุขกิเลสอยู่ในความทุกข์ทั้งนั้น แม้แต่ว่าไอ้การฆ่ากันเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องอย่างนี้ เขาก็ยังจะคิดฆ่ากันอยู่เลย ยังสร้างอาวุธมหาศาลที่จะทำลายจะฆ่ากัน เท่านี้ก็ยังไม่รู้ มันจะมารู้เรื่องละเอียดลึกซึ้งอย่างนี้ได้อย่างไร
ยินดีด้วยที่ว่าคุณจะพาพุทธศาสนาเข้าไปศึกษากันในสถาบันศึกษาของคุณ มันจะไม่เป็นประโยชน์แต่พวกเราหรอก มันจะเป็นประโยชน์ทั่วประเทศทั่วโลกเลย ช่วยกันเอาไปศึกษาให้สำเร็จในทุกๆสถาบันการศึกษา ถ้าเป็นระดับวิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัยนี้มันมีหวัง เพราะว่าโตแล้ว มีปัญญาพื้นฐานพอแล้ว แต่เด็กชั้นประถม ชั้น แม้มัธยมนี้มันก็ยัง มันยังไม่พอ ไอ้ๆ ไอ้สติปัญญาพื้นฐานยังไม่พอ แต่ถ้าระดับวิทยาลัย มหาวิทยาลัยนี้มัน มันพอแหละ มันควรจะพอ ถ้าเราตั้งใจจริงๆกันสักหน่อยแล้วมันจะเป็นไปได้ นั่นแหละวิชาความรู้เรื่องดับทุกข์ของพระพุทธเจ้านี่มันจะเป็น จะแพร่หลายเป็นหลักฐานอยู่ในวิทยาลัยในมหาวิทยาลัย เพื่อเพิ่มความรู้ที่มันยังขาดอยู่นี่ให้สมบูรณ์ เราบอกดังๆทั่วไปหมดไม่ๆ ไม่เกรงใจใครว่าไอ้ ไอ้การศึกษาที่มีอยู่เวลานี้มันเป็นการศึกษาชนิดเหมือนกับสุนัขหางด้วน รู้แต่หนังสือรู้แต่วิชาชีพแล้วก็ดับทุกข์ไม่ได้ กลับจะเพิ่มความทุกข์ด้วยวิชาชนิดนั้น เพราะมันขาดวิชานี้วิชาที่ ๓ คือวิชาพุทธศาสนา ฉะนั้นถ้าว่ากระทรวงเขาไม่จัดให้ในหลักสูตรเราก็เอากันเองสิ นี่ทุกคนนี่พาเข้าไป ช่วยกันศึกษา ช่วยกันไอ้ทำให้มันเจริญก้าวหน้า แล้วเราก็จะได้รับประโยชน์ครบ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ การศึกษาของเราไม่เป็นสุนัขหางด้วนเพราะว่าเราเป็นผู้ทำให้มันเต็มเสียเอง หวังกระทรวงหวังไอ้หลักสูตรตามกระทรวงนี้ยากแล้ว มันไม่มีทาง เขาคงไม่ยินดีอำนวยให้ถึงขนาดนี้ ถึงขนาดที่ต้องมาถาม มาศึกษากันอย่างนี้ เขาให้รู้นิดๆหน่อยๆพอตอบคำถามมันผิวๆเผินๆได้ ไม่มีเรื่องถึงกับทำจริงอย่างนี้ นี่เราสิทำให้มันเป็นจริงจังขึ้นมา จนทุกคนทำได้ไม่มากก็น้อย การศึกษาก็สมบูรณ์นะ เรารู้หนังสือ เรามีวิชาชีพ เราประกอบอาชีพ แล้วเราก็ไม่พ่ายแพ้แก่กิเลสก็รอดตัวไป ศึกษาแล้วมีอาชีพแล้ว ได้เงินเดือนดีแล้ว แต่ไปเป็นทาสของกิเลส อันนี้มันก็วินาศหมด เตรียมตัวสำหรับที่จะดำรงชีวิตให้สดชื่นแจ่มใส เป็นมนุษย์อยู่เหนือความทุกข์ ชวนกันทำให้มีทุกสถาบันการศึกษาโดยเฉพาะที่ระดับวิทยาลัยขึ้นไป ระดับอนุบาล ประถม มัธยมนี้เรา เราสอนศีลธรรมที่ต่ำกว่านี้ มันก็มีได้เหมือนกันแหละทำสมาธิอย่างง่ายที่สุดสำหรับเด็กๆมันก็พอจะมี แต่ว่าสอนศีลธรรม สอนให้บังคับจิตธรรมดาๆ ให้ทำความดี ให้สนุก ให้เกลียดบาป ให้รักบุญอย่างนี้ไปก่อน พอถึงระดับวิทยาลัยขึ้นไปจึงค่อยทำไอ้ชนิดที่เป็นชั้นปรมัตถธรรม ชั้นที่ยากที่ลึก ในที่สุดก็ได้เป็นมนุษย์ที่ไม่มีความทุกข์มากหรือไม่มีความทุกข์เลยแล้วแต่จะทำได้เท่าใด
เรื่องสมาธินี้ยุติว่าไปทำไอ้เบื้องแรก ชุดแรก ทำสมาธิให้เกิดโดยการใช้ลมหายใจเป็นบทเรียนนะ ฝึกลืมตา เฝ้าดู มีมโนภาพ แล้วก็บังคับมโนภาพ เป็นอันว่าจิตบังคับ เอ่อ ถูกบังคับได้ดีแล้ว มันก็นำเข้าสู่สมาธิแน่วแน่ ให้มันง่ายเป็นว่าเล่น เมื่อไรก็ได้ เมื่อไรก็ได้ เมื่อไรก็ได้ แล้วคนๆนั้นก็จะมีอำนาจของสมาธิ ใช้เป็นประโยชน์อยู่ตลอดเวลาทุกหน้าที่การงาน เรื่องการศึกษาบางชนิดจำเป็นมากแหละที่จะต้องทำด้วยสมาธิละเอียดที่สุด แม้แต่การจะแต่งกลอนหรือจะแต่งหนังสือดีๆสักเล่มหนึ่งมันต้องใช้สมาธิมาก แล้วก็ติดต่อเข้าไปในหัว ไม่ มันสมองไม่เมื่อยล้า แล้วก็ทำได้จนสำเร็จ
ผู้ฟัง (ผู้หญิง) : หลวงพ่อคะ ตามความคิดเห็นของหลวงพ่อนี้ประเทศชาติเรามันจะเจริญได้อย่างไร ยิ่งในภาวะปัจจุบันนี้คือว่าคนเราต้องมีหน้าที่ อย่างในบ้านนี่ก็จะต้องมีส่วนประกอบ คือทุกคนที่ต้องทำงานต่างๆ กัน ตามความคิดของหลวงพ่อนี้เราจะทำอย่างไร
พุทธทาส : นี่มันปัญหาการเมืองนี่ เรื่องการเมือง ก็เป็นพลเมืองที่ดี ทำงานให้สนุก มีผลิตผลมาก เหลือกินเหลือใช้ก็ช่วยเหลือกัน ทางการเมืองเรามีว่าทำงานสนุกเพราะเป็นธรรมะในการงาน ได้ผลมาก กินใช้เก็บแต่พอดี เหลือเอาไปช่วยผู้อื่น ทำอย่างนี้ประเทศชาติเจริญพอตัว
ผู้ฟัง (ผู้หญิง) : หลวงพ่อคะ แล้วอย่างคนเป็นทหารนี่เขาต้องทำจิตใจอย่างไรคะ เพราะเขาต้องเจอข้าศึกเขาต้องฆ่าฟันกันเพื่อป้องกันประเทศ
พุทธทาส : ไปลองดูดีกว่า ไปลองเป็นดูดีกว่า ไม่ตอบหรอก เป็นทหารฆ่ากิเลสสิ ทำอย่างนี้ล่ะเป็นทหารฆ่ากิเลสดีกว่า ฆ่ากิเลสตายแล้วก็จะไม่มีข้าศึกมีมาให้เราต้องฆ่าด้วยปืน
ไม่มีปัญหาแล้ว สามทุ่มแล้ว ปิดประชุม ถ้ามีปัญหาไว้ถามวันหลัง วันนี้ต้องปิดประชุมแล้ว มันจะเกินพอดีไปเพราะอาตมายังไม่ได้อาบน้ำ จึงต้องปิดประชุม