แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เกลียด ลึกซึ้ง สุขุมแล้วก็ต้องเป็นอย่างที่ว่าเมื่อตะกี้ ต้องมีคาถา ที่พูดให้ฟังนี่เราเรียกว่าเอามาต้มเป็นยากิน จะอ่านให้ฟังอีกที ถ้าฟังไม่ดีไม่รู้เรื่องนะ จะสมมุติเหมือนกับว่าเป็นเครื่องยาไปหาเอามาใส่หม้อต้ม เอาน้ำกินเครื่องยานี่คือว่า
ต้นไม่รู้ไม่ชี้ นี่เอาเปลือก เอาเปลือกของมันมา
แล้วต้นช่างหัวมัน มันเลือก เอาแก่นแข็ง แก่นของมัน
อย่างนั้นเอง เอาแต่ราก ฤทธิ์มันแรง
ไม่มีกู ของกู แสวงเอาแต่ใบ
ไม่น่าเอา ไม่น่าเป็น เฟ้นเอาดอก
ตายก่อนตาย เลือกออก ลูกใหญ่ ๆ
หกอย่างนี้ อย่างละชั่ง หนักอย่างละชั่ง ตั้งเกณฑ์ไว้
ดับไม่เหลือ สิ่งสุดท้าย ใช้เมล็ดมัน
หนักหกชั่ง เท่ากับ ยาทั้งหลาย
เคล้ากันไป เสกคาถา ที่อาถรรพ์
สัพเพธัมมัง นารังอภิเน เวสายะอัน
เป็นธรรมะ ชั้นหฤทัย ในพุทธนาน
จัดลงหม้อ ใส่น้ำ พอท่วมยา
เคี่ยวไฟกล้า เหลือได้ หนึ่งในสาม
หนึ่งช้อนชา สามเวลา พยายาม
กินเพื่อความ หมดสรรพโรค เป็นโลกอุดร
อยู่เหนือโรค เหนือปัญหาทั้งปวง เป็นนิพพาน
เอาเปลือกไม่รู้ไม่ชี้มา เอาแก่นชั่งหัวมันมา เอารากอย่างนั้นเองมา เอาใบไม่มีกูของกูมา เอาดอกไม่น่าเอาไม่น่าเป็นมา เอาลูกตายก่อนตายมา ๖ อย่างนี้อย่างละชั่ง มีเมล็ดดับไม่เหลือเอามา ๖ ชั่ง แล้วก็เอามาเสกคาถา หากสิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกูของกู แล้วเอาใส่หม้อ ใส่น้ำ ต้ม ๓ ส่วนเหลือ ๑ ส่วนให้มันเข้มข้น สามารถรวมพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นหนึ่งเดียว เราก็กินครั้งละ ๑ ช้อนชา กินนิดเดียวก็พอแต่วันละ ๓ เวลา แล้วก็จะหมดปัญหา กลายเป็นโรคอุดร นี่เรียกว่ายาแก้ปัญหาของมนุษย์ทุกชนิด ตอนร่าย ผู้ฟังอีกทีว่าฟังออกไหม คุณคอยตั้งใจฟังให้กว่าเที่ยวที่แล้ว ฟังออกไหม
ต้นไม่รู้ ไม่ชี้ นี้เอาเปลือก
ต้นช่างหัวมัน นั้นเลือก เอาแก่นแข็ง
อย่างนั้นเอง เอาแต่ราก ฤทธิ์มันแรง
ไม่มีกู ของกู แสวงเอาแต่ใบ
ไม่น่าเอา น่าเป็น เฟ้นเอาดอก
ตายก่อนตาย เลือกออก ลูกใหญ่ ๆ
หกอย่างนี้ อย่างละชั่ง ตั้งเกณฑ์ไว้
ดับไม่เหลือ สิ่งสุดท้าย ใช้เมล็ดมัน
หนักหกชั่ง เท่ากับ ยาทั้งหลาย
เคล้ากันไป เสกคาถา ที่อาถรรพ์
สัพเพธัมมัง นารังอภิเน เวสายะอัน
เป็นธรรมะ ชั้นหฤทัย ในพุทธนาม เป็นชั้นหัวใจพระพุทธศาสนา
จัดลงหม้อ ใส่น้ำ พอท่วมยา
เคี่ยวไฟกล้า เหลือได้ หนึ่งในสาม
หนึ่งช้อนชา สามเวลา พยายาม
กินเพื่อความ หมดสรรพโรค เป็นโลกอุดร
รู้จักกินยาเหล่านี้ รู้จักใช้ไม่รู้ไม่ชี้เมื่อถึงโอกาส รู้จักใช้ช่างหัวมันเมื่อถึงโอกาส รู้จักใช้อย่างนั้นเองเมื่อถึงโอกาส ไม่มีกูของกูเว้ย, เมื่อถึงโอกาส ไม่น่าเอาไม่น่าเป็นเว้ย, เมื่อถึงโอกาส ตายเสียก่อนตายเมื่อถึงโอกาส นี่เราเรียกว่าเครื่องยา กินแล้วหมดปัญหาคือหมดความทุกข์โดยประการทั้งปวง อาตมาเห็นว่าการพูดเรื่องธรรมะแก้ปัญหาของมนุษย์นี่ มันก็พอสมควรแก่เวลาแล้ว เพื่อจะชี้ให้เห็นว่าปัญหานั้นคืออะไร มันสะสมไว้อย่างไรตั้งแก่อ้อนแต่ออกมาโน้น แล้วมันเหนียวแน่นอย่างไรและจะแกะออกได้อย่างไรโดยพยายามตั้งหน้าตั้งตาทำไปเรื่อย ๆ จนกว่ามันจะหมดปัญหาคือหมดโรคร้าย แล้วก็ขอยุติการบรรยายนี้ไว้แต่เพียงเท่านี้หวังว่าท่านทั้งหลายคงจะได้เอาไปใช้ให้เป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยตามสมควรแต่กรณีของตน ๆ
การอบรมกลุ่มผู้ปฎิบัติธรรมธรรมศาสตร์ วันที่ 17 พฤษภาคม 2524
ท่านสาธุชนผู้มีความสนใจในธรรมทั้งหลาย ท่านทั้งหลายขอร้องให้กล่าวธรรมกถาโดยหัวข้อว่าเศรษฐศาสตร์ชาวพุทธซึ่งคงจะหมายความว่าเศรษฐศาสตร์ของชาวพุทธ สำหรับชาวพุทธ หรือตามแบบชาวพุทธ เขียนมาสั้น ๆ ดุ้น ๆ ว่าเศรษฐศาสตร์ชาวพุทธ สิ่งที่ควรจะสนใจหรือสงสัยก็ว่า ท่านเป็นชาวพุทธกันหรือยัง กำลังจะเป็นชาวพุทธหรือไม่ แล้วก็รู้เรื่องเศรษฐศาสตร์ของชาวพุทธ แล้วยินดีจะถือปฏิบัติเศรษฐศาสตร์ของชาวพุทธหรือหาไม่ ไอ้คำว่าเศรษฐศาสตร์กับคำว่าเศรษฐกิจบางทีเราก็ใช้แทนกัน เป็นคำที่ใช้แทนกัน เศรษฐศาสตร์หมายถึงหลักวิชา เศรษฐกิจหมายถึงการกระทำ แต่มันก็ต้องทำไปตามหลักวิชา ดังนั้นทั้งเศรษฐกิจกับเศรษฐศาสตร์มันก็ไปด้วยกัน ทีนี้คำว่าชาวพุทธนี่ มันพุทธกันอย่างไร พุทธกันเพียงไร เป็นชาวพุทธแล้วจะปฏิบัติอย่างไรในเรื่องของเศรษฐศาสตร์ หรือว่าจะปฏิบัติในเรื่องเศรษฐศาสตร์อย่างไรจึงจะได้เป็นชาวพุทธ โดยทั่วไปนี้เราก็จะถือว่าเศรษฐศาสตร์หรือเศรษฐกิจแบบชาวพุทธนั่น เราจะต้องรู้และต้องปฏิบัติในฐานะที่เป็นชาวพุทธ อาตมาต้องขอร้องให้ท่านทั้งหลายแน่ใจ สนใจในการที่จะเป็นชาวพุทธมาเป็นกันอย่างสมบูรณ์แบบ ฟังเรื่องเศรษฐศาสตร์ชาวพุทธเฉย ๆ แล้วก็เอาไปเล่นตลก ไม่ปฏิบัติตามแบบนั้นมันก็คงจะป่วยการทั้งผู้พูดและผู้ฟัง ท่านที่เรียกตัวเองว่าเป็นชาวพุทธอยู่แล้วตั้งใจจะปรับปรุงไอ้เรื่องเศรษฐกิจของตัวให้เป็นชาวพุทธยิ่งขึ้น นี่ก็จะดีมาก หรือว่าปฏิบัติถูกตามเศรษฐศาสตร์ เศรษฐกิจของชาวพุทธมันก็จะเป็นมนุษย์ที่ดียิ่งขึ้นไปอีก เอาละเป็นอันว่าเราจะลองพูดจากันดูถึงเรื่องเศรษฐศาสตร์ของชาวพุทธ ชาวพุทธนี้ก็ถือเอาตามที่เรารู้ ๆ กันอยู่ หรือปฏิบัติกันอยู่คือนับถือศาสนาพุทธตั้งใจว่าจะปฏิบัติตามหลักวินัยศาสนาพุทธ นี้ก็เรียกชาวพุทธได้ ไม่ค่อยจะมีปัญหาอะไรเกี่ยวกับคำว่าชาวพุทธสำหรับในการบรรยายนี้ แต่อยากจะให้คิดให้มากถึงคำว่าเศรษฐศาสตร์หรือเศรษฐกิจ บางทีเราจะใช้รวมเป็นคำเดียวกันนะ ใช้คำว่าเศรษฐกิจคือปฏิบัติ เศรษฐศาสตร์หมายถึงหลักวิชา เผลอไปก็ใช้คำเดียวก็แทนกันได้ เศรษฐศาสตร์หรือเศรษฐกิจอยากจะแบ่งเป็น ๓ ระดับ คือระดับคนธรรมดา ชาวพุทธในฐานะที่เป็นคนธรรมดาจะมีหลักเศรษฐศาสตร์อย่างไร และก็ชาวพุทธในฐานะที่เป็นคนมีศีลธรรมนี้จะมีหลักเศรษฐศาสตร์อย่างไร เพราะว่าชาวพุทธเป็นสักว่าชื่อ เป็นสักว่าบัญชี สักว่าทะเบียนก็มีอยู่มาก ดังนั้นชาวพุทธอย่างคนธรรมดามันก็ต้องมีอยู่พวกหนึ่ง แล้วชาวพุทธอย่างผู้มีศีลธรรมก็มีอยู่พวกหนึ่ง แล้วชาวพุทธที่ตั้งตัวอยู่ในระดับปรมัตถธรรม คือธรรมะที่สูงของพระพุทธศาสนานี่จะเป็นชาวพุทธจริง ชาวพุทธสมบูรณ์แบบ ท่าน ท่านช่วยกำหนดใจไว้ให้ดี อาตมาแบ่งคนเป็น ๓ ระดับ ไอ้คนธรรมดา ชาวพุทธธรรมดานี่อย่างหนึ่ง ไอ้คนธรรมดา ไอ้ ไอ้ชาวพุทธที่มีศีลธรรมหรือคนที่มีศีลธรรมนี้มันระดับหนึ่ง และคนที่มีปรมัตถธรรมหรือชาวพุทธที่มีปรมัตถธรรม มันเป็น ๓ ระดับอยู่ แต่ระดับ ๆ จะมีหลักเศรษฐกิจหรือเศรษฐศาสตร์เป็นของเฉพาะ เฉพาะระดับ เราจะพูดถึงคำว่าเศรษฐกิจในความหมายที่กว้างที่สุดก่อน คำนี้แม้จะอธิบายกันให้ยืดยาวสักเท่าไหร่ มันก็มีใจความอยู่แต่เพียงว่าทำของน้อยให้เป็นของมากคือทำของมีค่าน้อยให้เป็นของมีค่ามาก เรียกว่าหากำไรหรือค้ากำไร นี่เป็นหัวใจของสิ่งที่เรียกว่าเศรษฐศาสตร์ มนุษย์วิวัฒนาการทางมันสมองไกลมาจากสัตว์เดรัจฉาน มนุษย์ก็คิดเป็นในการที่จะหากำไร ลงทุนน้อยได้ผลมาก หรือใช้ของน้อยเพื่อหาของมากซึ่งสัตว์เดรัจฉานทำไม่เป็น ปัญหาเศรษฐกิจในหมู่สัตว์เดรัจฉานมันก็ไม่มี มันก็นอนหลับสบายดีไม่ต้องปวดหัว ไอ้เรามันเก่งมีสติ ปัญญามาก มันก็คิดมากไอ้เรื่องที่จะลงทุนน้อยให้ได้ผลมาก เมื่อไม่ได้ตามที่ต้องการก็ปวดหัว ก็นอนไม่หลับให้อาย ละอายแมวอย่างที่เราพูดกันเมื่อคืน มนุษย์จึงมีปัญหาที่นอนไม่หลับต้องปวดหัว เป็นโรค ประสาท เป็นโรคจิตให้ละอายแมว ดูให้ดีเถิดที่มนุษย์นอนไม่หลับปวดหัวเป็นโรคประสาทโรคจิตนั้น มีมูลมาแต่เศรษฐกิจในครอบครัวเป็นส่วนใหญ่ ทุกคนสำรวจตัวเองสำรวจเพื่อนฝูงว่าไอ้เรื่องที่ทำให้นอนไม่หลับและปวดหัวนั้น ไอ้มูลเหตุแท้จริงมันมาจากอะไร มันมาจากเรื่องเศรษฐกิจไม่เป็นไปตามที่ตัวต้องการ จึงถือว่าไอ้เรื่องเศรษฐกิจนี้ก็มันเป็นตัวปัญหาอย่างยิ่ง ทีนี้เราเป็นมนุษย์ มีสติปัญญา คิดนึกได้ มันก็มีกิเลสเกิดขึ้นอย่างที่กล่าวมาแล้วเมื่อคืน มันก็มีความคิดความนึกที่จะหาประโยชน์ให้ได้มากจะมีประโยชน์ให้มาก นั้นเป็นเรื่องเศรษฐกิจ แล้วจะทำเป็นกันทั้งนั้น เห็นตัวอย่างนิดเดียวก็ทำเป็น เป็นอันว่ามนุษย์รู้เรื่องเศรษฐกิจแล้วก็บูชาเศรษฐกิจเพราะว่ามันเป็นเหยื่อสนองความโลภหรือตัณหาของมนุษย์นั่นเอง นี่มันจึงละกันยาก แยกออกจากกันยากไอ้เรื่องเศรษฐกิจกับมนุษย์ ทุกคนมันอยากได้ ได้มาง่าย ๆ ได้มามาก ๆ มันก็ดีใจ มันถือว่าเป็นสิ่งที่ดีก็เลยสนใจกันแต่เรื่องอย่างนี้ ในระดับคนทั่วไปตั้งแต่เริ่มแรกเดิมทีที่ไม่ค่อยมีการศึกษาอะไร มันก็มีการแลกเปลี่ยนเพื่อกำไรด้วยกันทั้งนั้น อาตมาคิดว่าแม้ในสมัยโน้นโบราณที่ไม่รู้จักใช้เงินใช้สื่อกลางหรืออะไรนี้มันต้องมีของมาแลกกันโดยตรงอย่างนี้ มันก็เพื่อกำไรทั้งนั้น คนหนึ่งมันมีข้าวซึ่งทำขึ้นมาด้วยเรี่ยวแรง มันมีไอ้มูลค่าน้อยสำหรับเขา แล้วมันก็เอาไปแลกปลา ไอ้คนพวกโน้นมันหาปลาได้ด้วยวิธีง่าย ๆ ของเขามันก็มีมูลค่าน้อยสำหรับพวกที่หาปลา ต่างฝ่ายต่างเอาสิ่งที่มีมูลค่าน้อยสำหรับตนไปแลกเอาสิ่งอีกสิ่งหนึ่งมาซึ่งมีมูลค่ามากสำหรับตน คนมีข้าวก็รู้สึกมีค่าน้อยก็แลกเอาปลามา มีค่ามากกว่าข้าวสำหรับตน คนมีปลาซึ่งมีมูลค่าน้อยสำหรับตนก็เอามาแลกข้าวซึ่งมีมูลค่ามากสำหรับตน มันก็เลยได้กำไรกันทั้ง ๒ ฝ่าย ไม่มีใครขาดทุน มันก็แปลกดี แล้วก็ได้กำไรกันทั้ง ๒ ฝ่าย การแสวงหากำไรมันก็เกิดขึ้นแล้วมันก็วิวัฒนาการ มนุษย์จึงรู้จักทำการแสวงหากำไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งมันมารวมอยู่ที่การค้าขาย ทุกคนก็ค้าขายเป็นจะเป็นชาวพุทธหรือไม่เป็นชาวพุทธในยุคไหนก็ตามมันก็ค้าขายเป็น คือแลกเปลี่ยนสิ่งของกันโดยตรงก็ดี แลก เปลี่ยนกันโดยผ่านทางไอ้สื่อกลางคือเงินตราที่บัญญัติกันไว้ก็ดี มันก็เป็นเรื่องแลกเปลี่ยนที่มีกำไรเพิ่มขึ้น มันก็เลยทำเป็น นี่เรียกว่าเศรษฐกิจระดับคนธรรมดาหรือชาวพุทธธรรมดา ซึ่งเราก็เห็นกันอยู่ว่าผู้ที่เรียกตัวเองชาวพุทธเป็นชาววัดชาววาก็ยังมีการค้าขายตามธรรมดาเพื่อหากำไร ทีนี้ถ้าเขาเป็นชาวพุทธเขาจะต้องระมัดระวังสังวรอะไรบ้าง ถ้าเขาเป็นชาวพุทธเขาก็ทำอย่างไม่โกง ไม่ซื้อ ไม่ขาย ไม่แลก ไม่เปลี่ยนอย่างโกง ก็ไม่มีปัญหาเกิดขึ้น ทั้ง ๒ ฝ่ายเป็นที่พอใจ ทีนี้พวกที่เขาไม่เป็นชาวพุทธเขาก็เห็นว่าโกงดีกว่าก็ได้กำไรมากกว่า มันก็ต่างกันกับพวกชาวพุทธ ชาวพุทธถือว่าการค้าขายตรงไปตรงมาก็ได้กำไรพอสมควรอยู่แล้ว ฉันยังได้บุญอีกอย่างหนึ่งด้วยฉันจะไปโกงทำไม อาตมาคิดว่าเกือบจะทุกคนที่นั่งอยู่นี่คงจะฟังไม่ออกว่าคนค้าขายมันจะได้บุญอะไร ถ้าว่าคนค้าขายนั้นทำไปอย่างซื่อตรงคือไม่ ไม่ขูดรีด ไม่คดโกง ฉะนั้นก็ต้องได้บุญเพราะว่าการค้าในโลกนี้มันได้ช่วยให้มนุษย์ได้รับความสุข ได้รับความสะดวก ถ้าไม่มีการค้าการแลกเปลี่ยนอย่างนี้มนุษย์ไม่ได้รับความสะดวก สิ่งที่ทำให้มนุษย์ได้รับความสะดวกสบายนี้เรียกว่าศีลธรรม จะเชื่อไม่เชื่อก็ตามใจ อาตมาถือหลักว่าไอ้สิ่งที่ทำให้มนุษย์สะดวกสบายได้รับความสุขนี้มันเป็นศีลธรรม ดังนั้นไอ้พ่อค้าที่เขาประพฤติปฏิบัติไอ้การค้าของเขาอย่างไม่ขูดรีดตรงไปตรงมากำไรเอาแต่พอสมควร เขาก็ได้บุญตรงที่ว่ามนุษย์ประเภทนี้ก็ทำให้ ให้โลกนี้มันสะดวกสบายเป็นอยู่ผาสุขได้ง่ายขึ้น ลองไม่มีการค้าสิมันจะยุ่งยากลำบากสักเท่าไร เมื่อมีการค้าโดยพ่อค้า มนุษย์ก็ได้รับความสะดวกสบาย อันนี้เป็นศีลธรรม ศีลธรรมคือสิ่งที่ทำให้มนุษย์ได้รับความสะดวกสบาย ไอ้เรื่องการค้าที่ถูกต้องเลยกลายเป็นศีลธรรมคือเป็นหน้าที่ที่มนุษย์จะต้องประพฤติปฏิบัติเพื่อความสุขของมนุษย์เอง หน้าที่อย่างนี้เรียกว่าศีลธรรมหมด ให้นึกถึงว่าธรรมะคือธรรมชาติ ธรรมะคือกฎของธรรมชาติ ธรรมะคือการทำหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ ธรรมะคือได้ การได้รับผลโดยสมควรแก่หน้าที่ ความหมายที่ ๓ ว่าการทำหน้าที่ตามกฎของธรรมชาตินั่นแหละ มันมีความหมายกว้าง โดยธรรมชาติมันเป็นหลักตายตัว เราทำอะไรเข้าแล้วเพื่อมนุษย์เราได้รับความสะดวกสบายมันก็เป็นธรรมะในความหมายนี้ ฉะนั้นพ่อค้าธรรมดาสามัญ คนธรรมดาสามัญเป็นพ่อค้าปฏิบัติหน้าที่ของพ่อค้าอย่างไม่ทุจริต ไม่ขูดรีด ไม่อะไรก็ตาม ให้เกิดความสะดวกสบายขึ้นในสังคมจะต้องถือว่าพ่อค้าคนนั้นเป็นผู้ปฏิบัติธรรม เขาก็ต้องได้บุญเพราะการเป็นผู้ปฏิบัติธรรม นี่เศรษฐกิจของชาวพุทธ จะเป็นพ่อค้าแม่ค้าขายอะไรก็ตามใจ เขาทำหน้าที่กันอย่างถูกต้องไม่ขูดรีด ไม่ทุจริต ไม่อะไร ได้กำไรพออยู่ได้ตามที่ควรจะได้ ไอ้กำไรขูดรีดเอากันหลายร้อยหลายพันเปอร์เซ็นต์นั้นมันเป็นเรื่องทุจริต ถ้ากำไรตามธรรมดาสามัญ ๒๐ – ๓๐% มันก็ควรจะได้และไม่ถือว่าเป็นการผิดหรือเป็นการเอาเปรียบอะไร เพราะเขาต้องทำหน้าที่ เพราะเขาต้องทำงาน เขาก็ต้องได้กำไรมาจุนเจือชีวิตความเป็นอยู่ของเขา หรือแม้ที่สุดแต่ว่าเขาได้กำไรแล้วจะไปเพิ่มการงานให้มากขึ้นกว้างขวางขึ้นก็เพื่อสะดวกสบายแก่สังคมนั้นยิ่งขึ้น ดังนั้นเขาก็ต้องได้บุญอยู่ดี นี่คือเศรษฐกิจของชาวพุทธ อันดับแรกที่สุดคือคนธรรมดาเขาทำการค้าอย่างมีกำไรเลี้ยงชีวิตได้และก็ได้บุญด้วย แม้ว่ามีโอกาสจะโกงจะขูดรีดอย่างไรเขาก็ไม่เอา มีผู้หญิงคนหนึ่งเขาเป็นคนค้านี่ เขามาปรับทุกข์ว่า “ไอ้พวกนั้น มัน มัน มันรุมด่าอิฉันว่าขายเท่าราคาควบคุม ขายเท่าราคาควบคุม ได้กำไร ๑๐% เท่านั้นนะ ขายเท่าราคาควบคุม ทีนี้เขาขายหลังร้านได้กำไรตั้ง ๑๐๐% เขามาด่า รุมด่าฉันว่าเป็นคนโง่บรมโง่” มันก็จำเป็นแหละที่ว่าจะต้องอยู่ในสภาพอย่างนั้นเพราะว่าเขาต้องการจะเป็นพ่อค้าที่ได้บุญ เป็นนักการค้าที่ได้บุญ เขาเอากำไรแต่พอสมควร ซื่อตรงต่อสังคมก็ได้กำไรอยู่แล้ว ไอ้ส่วนที่เขาทำให้สังคมได้รับประโยชน์มันก็เป็นเรื่องได้บุญ เป็นว่าหลักเศรษฐกิจชั้นต่ำสุดของชาวพุทธก็คือการค้าที่ได้บุญ การค้าส่วนที่เป็นการค้าก็เป็นการประกอบอาชีพให้เขารอดอยู่ได้ และส่วนที่เขาทำให้สังคมได้รับความสะดวกความสุขนี้เป็นการปฏิบัติหน้าที่ชนิดที่เรียกว่าได้บุญ นี่ข้อแรกใครจะเอาหรือไม่เอาก็ตามใจ เมื่อให้อาตมาพูดก็ต้องพูดอย่างนี้ ทีนี้ก็อยากจะให้ถึง เข้าถึงหลักที่มีอยู่อย่างตายตัวกลัวว่าจะลืมเสีย ว่าการค้าหรือการเศรษฐกิจนั้นเป็นเรื่องลงทุนน้อยและก็ได้ผลมากคือได้กำไร นี่เราอย่ารู้จักกันแต่เรื่องวัตถุกำไรเป็นเงินเป็นทองไปเสียหมด รู้จักกำไรเป็นอย่างอื่นบ้าง เช่น กำไรเป็นบุญเป็นกุศล นี่จะเรียกว่ากำไรเป็นบุญเป็นกุศล ไม่ต้องเป็นเงินเสมอไป คนรู้จักแต่เงินมันก็งกเงิน มันก็ขูดรีดคือพ่อค้าขูดรีด ถ้าพ่อค้าที่รู้จักเอากำไรเป็นบุญเป็นกุศลมันก็ไม่ต้องขูดรีดเพราะว่ามันได้บุญอยู่ส่วนหนึ่ง มันก็ขึ้นมาถึงระดับศีลธรรม ไอ้สิ่งที่เรียกว่ากำไรนั่นไม่ต้องเป็นเงินโดยตรง ไอ้เงินมันก็ได้แล้วกำไรเป็นเงินมันก็ได้แล้วแต่กำไรส่วนหนึ่งเป็นบุญเป็นกุศล ฉะนั้นเราจะทำไปในลักษณะที่เรียกว่าเป็นบุญเป็นกุศล เอาบุญกุศลเป็นกำไร แม้ว่าจะไม่ได้เงินเลยก็ได้ ท่านจะมองเห็นไหมว่าการที่เราช่วยผู้อื่นด้วยสังคมสงเคราะห์หรืออะไรอย่างนี้ มันได้กำไรหรือขาดทุน คนเห็นแก่เงินเป็นประมาณมันก็ไม่ได้ ไม่ได้กำไร ก็ไม่ได้เงิน แต่คนรู้จักบุญรู้จักกุศลก็ว่าได้กำไรคือบุญ คือกุศล คนพวกนี้ยินดีที่จะสงเคราะห์ผู้อื่น เป็นมนุษย์ด้วยกันก็ได้ เป็นสัตว์เดรัจฉานก็ได้ เอาข้าวให้หมากินแล้วผู้ให้อิ่ม นี่ฟังถูกไหม นี่เป็นเศรษฐกิจอันดับที่ ๒ ของนักศีลธรรม เอาข้าวให้หมากินแล้วผู้ให้นั้นอิ่ม คุณทำได้ไหม เคยทำไหม ให้เพื่อนกินแล้วเราอิ่มนี่คุณทำได้ไหม ถ้าจิตใจมันต่ำเกินไปมันทำไม่ได้หรอก จิตใจมันต้องสูงพอสมควรมันจึงจะทำการค้าประเภทนี้ได้ มีอะไรให้เพื่อนกินแล้วเราอิ่ม มีอะไรให้เพื่อนใช้เป็นประโยชน์แล้วเราก็ได้กำไรอีกทางหนึ่งคือความมีจิตใจมันสูงขึ้น เด็กคนหนึ่งมีขนมชิ้นหนึ่งให้เพื่อนกินตัวเองอิ่มคือดีใจ สบายใจไปตั้งหลาย ๆ วันหลาย ๆ เดือน ถ้ากินเองก็อิ่มเดี๋ยวเดียว รุ่งขึ้นก็ถ่ายอุจจาระหมดแล้ว มันก็หมดเรื่องกัน แต่ถ้าว่าเขาทำอย่างให้เพื่อนกิน เราไม่ต้องกิน ไอ้ความอิ่มนั้นมันก็อยู่ในใจของผู้ให้หลายวัน หลายเดือน หลายปีก็ได้ เห็นหน้ากันคราวหลังก็ยังอิ่มใจได้อีก นี่คือว่าให้เพื่อนกินแล้วเราอิ่ม แม้ที่สุดจะเป็นของเล่น เราได้ดอกไม้สวยงามหอมหวนมาดอกหนึ่งจะมาพับดมด้วยตนเองหรือว่าจะให้ผู้อื่น ถ้าพับดมด้วยตัวเองไม่กี่ชั่วโมงมันก็เหี่ยวแล้วขว้างทิ้งไป จะ เป็นดอกไม้อะไรก็ตาม แต่ถ้าว่าให้เพื่อนเสีย ให้เพื่อนไปเสีย ดอกไม้นั้นมันไม่รู้จักเหี่ยว มันไม่รู้จักโรย มันมาบานสดใสโชติช่วงอยู่ในใจของเราอย่างไม่รู้จักเหี่ยว ไม่รู้จักโรย นี่ดูเถิดเศรษฐกิจอย่างนี้มันบ้าหรือดี มันเอากุศลเป็นกำไรอย่างนี้ มันเป็นเรื่องบ้าหรือเรื่องดี เศรษฐกิจอย่างนี้ก็มีผู้ปฏิบัติคือบุคคลที่เขาเรียกกันว่าเศรษฐี เศรษฐีครั้งพุทธกาลมันเป็นนักเศรษฐกิจแบบนี้ เดี๋ยวก่อนพูดถึงคำว่าเศรษฐีกันก่อน เดี๋ยวคุณจะเอาไปปนกับนายทุนแล้วจะลำบาก คำว่าเศรษฐีแปลว่าผู้ประเสริฐที่สุด เศรษฐแปลว่าประเสริฐที่สุด เศรษฐีแปลว่ามีความประเสริฐที่สุด ทีนี้เศรษฐีเหล่านั้นมีหลักเศรษฐกิจก็คือว่าผลิตมาก ผลิตมากเต็มความสามารถได้ผลมาก เต็มความสามารถ แล้วก็ใช้จ่ายกินอยู่แต่พอดีที่เหลือเอาไปช่วยสังคม นี่ใครทำได้ พวกเราที่นี่ใครทำได้ มีใช้มาก กินแต่น้อย แต่พอดีเหลือ เอาไปช่วยสังคม เพราะเราทำไม่ได้เราจึงไม่เป็นผู้ประเสริฐที่สุด ไอ้คนที่มันทำได้แล้วมันคือคนที่ประเสริฐที่สุด เศรษฐีหลายคนในครั้งพุทธกาลเป็นคนร่ำรวยมีข้าทาสบริวารแล้วก็ชักชวนกันผลิต ได้แล้วใช้จ่ายกินอยู่แต่พอดี เหลือไปช่วยสังคม ช่วยสังคมก็คือว่ามีโรงทานทั้งนั้น เศรษฐีมีโรงทานทั้งนั้นแหละถ้าไม่มีโรงทานไม่เรียกว่าเศรษฐีหรอก มิหนำซ้ำยังกลัวว่าเงินจะขาดมือ เขาก็เอาทรัพย์ สมบัติเงินทองไปฝังซ่อนไว้ ฝังซ่อนไว้ใต้ดินเพื่อจะไปเอามาใช้ได้ทันท่วงทีเมื่อ เมื่อการเงินมันขาดแคลนขึ้นมา ฝังทรัพย์สมบัติไว้ช่วยโรงทาน มีโรงทานที่ปฏิบัติงานอยู่ ถ้าว่าเป็นเศรษฐีใหญ่ก็มีหลายโรง นี่ทุกคนในครอบครัวเศรษฐีในวงของเศรษฐีมีหลักอย่างเดียวกันหมด แม้แต่ข้าทาส กรรมกร มันก็มีหลักอย่างเดียว กันหมด ผลิตให้มาก ใช้กินแต่น้อย เหลือไปช่วยสังคม นี้เป็นนายทุนหรือเปล่า ไอ้ที่เขาเรียกกันว่านายทุนสมัยนี้มันทำอย่างนี้หรือเปล่า มันคงจะไกลกันลิบ นายทุนเขาผลิตมาก ได้กำไรมากก็เอามาสมทบทุนเพื่อผลิตมาก เพื่อกำไรมาก วนอยู่แต่จะเพิ่มทุน ไม่รู้จักสิ้นจักสุด กินก็มาก เขาว่านายทุนบางคนในกรุงเทพฯ กินอาหารคำละพันบาท ฟังแล้วไม่น่าเชื่อ มีรถยนต์ราคาล้าน ๆ มีบ้านราคา ๔ – ๕ ล้าน นี่นายทุน มันจึงต่างจากเศรษฐีที่ว่าผลิตมาก กินแต่น้อย เหลือไปช่วยสังคม จึงขอร้องว่าระมัดระวังให้ดีอย่าเอาคำว่าเศรษฐีไปปนกับคำว่านายทุน ความเป็นเศรษฐีชนิดนี้มันก็ได้มีมาแล้วในครั้งพุทธกาลหลายพันปีมาแล้ว ในวัฒนธรรมอินเดียแผ่มาถึงดินแดนส่วนนี้ก็ตั้งนานมาแล้ว ไอ้ระบบการเป็นเศรษฐีมันก็ต้องได้ติดมาด้วย ฉะนั้นคนที่เป็นเศรษฐีชนิดไม่ใช่เป็นนายทุนก็ได้มีแล้วแม้ในประเทศไทยเรานี่ เพราะว่าเมื่อได้สำรวจดูให้ดีแล้ว ในวัดทั้งหลาย ในเมืองไทย เศรษฐีสร้างเป็นส่วนมากแม้ในกรุงเทพฯนั่นไปสืบเสาะให้ถึงต้นประวัติเดิมว่าวัดนี้ใครสร้าง แม้ว่าเดี๋ยวนี้เป็นวัดหลวง เดี๋ยวนี้เป็นวันหลวงแต่ว่าทีแรกนะเศรษฐีสร้าง เป็นวัดราษฎร์แล้วต่อมาเขายกเป็นวัดหลวง มอบให้หลวง เป็นวัดหลวงทีหลัง คล้าย ๆ กับว่าเศรษฐีเขาแข่งกันสร้างวัด เขาไม่เอาเงินไปทำแบบบีบบังคับเศรษฐกิจให้ตัวร่ำรวยยิ่งขึ้นไปท่าเดียว คำว่าเศรษฐีมันก็มีอย่างนี้ นั้นแหละคือหลักที่ว่าคุณกินก็แล้วกันฉันอิ่ม ให้คุณกินแล้วฉันก็อิ่ม นี่ระวังให้ดี ไอ้คนที่ดีแต่จะกินนั้นแหละ มันจะ มันจะนอนไม่หลับแหละ ไอ้คนที่ให้เพื่อนกิน คนนี้จะนอนหลับกว่า จะสบายกว่า ไอ้ผู้เป็นเศรษฐีนั้นแหละจะมีความสุขใจยิ่งกว่าคนขอทานที่มารับทาน ให้เขากินแล้วเราอิ่ม อิ่มตลอดชาติเพราะมันเป็นเรื่องอิ่มใจ ฉะนั้นขอให้จำว่าไอ้เรากินเอ้ย, เพื่อน เพื่อนกินเราอิ่มนั้นแหละหลักเศรษฐกิจของชาวพุทธผู้มีศีลธรรม เป็นอันดับที่ ๒ ชาวพุทธที่มีศีลธรรมจะมีหลักว่า “ผู้อื่นกิน เราอิ่ม” ฉะนั้นจึงมีการบำเพ็ญกุศลบำเพ็ญอะไรต่าง ๆ เพื่อว่าช่วยเหลือศาสนาช่วยเหลือโลก ให้เขาได้พลอยอยู่เย็นเป็นสุขกันทั้งโลก เพราะว่ามีศาสนาแล้วมันช่วยโลก มันก็มีเงินที่เหลือกินแล้วก็ไปช่วยศาสนา ศาสนามีอยู่ในโลก ทั้งโลกก็ได้รับประโยชน์ ฉะนั้นเขาจึงอิ่ม อิ่มเหลือประมาณว่าได้ช่วยโลก ได้ช่วยเพื่อนมนุษย์กันทั้งโลก การลงทุนของเขามันจึงได้ผลมากไง การลงทุน ลงแรง ลงเงิน ลงอะไรก็ตามของเขาได้ผลมากกว่าที่จะได้เพียงกำไรเป็นเงินหรือได้บุญเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างที่ว่ามาเมื่อตะกี้นี้ เศรษฐีธรรมดาค้าขายให้คนได้รับความสะดวกสบายได้มีบุญบ้าง แต่มันไม่มากเท่ากับพวกที่ ๒ ที่มันทำแล้ว กินแต่น้อย เหลือไปช่วยสังคม เรียกว่าคนอื่นกินแล้วเราอิ่ม แล้วอิ่มอย่างไม่รู้จักโรยรา มันไม่รู้จักหิว นี่ ๒ พวกแล้วนะ นักเศรษฐกิจพวกแรกเขาทำอย่างธรรมดาค้าขายสุจริต เพื่อนได้รับความสะดวกก็ได้บุญ ทีนี้นักเศรษฐกิจประเภทที่ ๒ คือผู้มีศีลธรรม เป็นพุทธบริษัทผู้มีศีลธรรมถือหลักว่า “เพื่อนกิน เราอิ่ม” บางคนอาจ จะถามว่า แล้วคนนั้นจะกินอะไร มันก็ต้องมี ส่วนที่มันจะกินเองนั้นมันก็มี แต่ว่าส่วนใหญ่ ส่วนใหญ่ของเศรษฐกิจของเขานั่นมันเป็นในรูปนั้น เป็นรูปว่าผลิตมาก กินน้อย เหลือไปช่วยสังคม มันก็อิ่มด้วยบุญด้วยกุศลด้วยสิ่งที่มีค่ามากกว่าเงิน แล้วมันก็กลับปรากฏว่าคนเหล่านี้ไม่เคยยากจน กลับจะเป็นที่เคารพนับถือบูชาสักการะของมหาชน ต้องการอะไรก็ได้รับความร่วมมือ เรื่องวัตถุเงินทองก็ไม่ขัดสน เรื่องความดีความงามเกียติยศชื่อเสียงก็ไม่ขัดสน เรื่องบุญกุศลก็ไม่ขัดสน แล้วมันดีที่ว่าเขามีกิเลสน้อย ช่วยรับฟังไว้สักคำหนึ่งว่าไอ้กิเลสน้อย ความมีกิเลสน้อยนั้นจะ จะดีกว่ารวย ดีกว่าเงินอะไรเสียอีก ขอให้มันมีผลเป็นมีกิเลสน้อยเถอะ เพื่อนกิน เราอิ่ม นั่นทำให้มีกิเลสน้อยลง กิเลสน้อยลง จนในที่สุดก็เป็นคนร่ำรวย ร่ำรวยเหลือประมาณ ร่ำรวยด้วยความดี ด้วยบุญ ด้วยกุศล นี่เรียกว่าเราลงทุนด้วยของน้อยแต่กลับได้ผลได้บุญมากอย่างนี้เป็นเศรษฐกิจที่น่าพอใจเหมือนกัน ทีนี้อาตมาอยากจะพูดถึงระดับที่ ๓ ที่ว่าสูงสุด ก็ต้องขอเตือนอีกแหละว่าไอ้คำว่าเศรษฐกิจนั้นคือลงทุนน้อยและได้ผลมาก ลงทุนน้อยก็ได้ผลมากนั่นคือความหมายของเศรษฐกิจ ทีนี้ระดับสูงสุด พุทธบริษัทเขาลงทุนเพื่อได้มรรคผลนิพพาน ลงทุนด้วยไอ้ร่างกายนี้ ชีวิตร่างกายนี้เขาใช้ลงทุนเพื่อได้มรรคผลนิพพาน ไอ้คนธรรมดาสามัญมันก็ใช้ร่างกายนี้ซึ่งเป็นของเน่าเปื่อย เมื่อยังไม่ทันเน่าเปื่อยนี้ เอาไปลงทุนเพื่อแสวงหาความสุขสนุกสนานทางกามารมณ์ เท่าไร ๆ ก็ไม่รู้จักอิ่มด้วยกามารมณ์ ชีวิตร่างกายนี้เอาไปลงทุนเพื่อความหลงใหลทางกามารมณ์ นี้คนทั่ว ๆ ไป ทีนี้ไอ้ ไอ้ชาวพุทธในระดับสูง เศรษฐกิจสูงนี่ เขาจะใช้ร่างกายนี้เพื่อสิ่งที่สูงสุด สูงสุดของมนุษย์คือพระนิพพาน ฉะนั้นเขาจึงไม่ใช้ร่างกายนี้เพื่อแลกกามารมณ์ เหมือนพวกเราทำงานเหน็ดเหนื่อยเหงื่อไหลไคลย้อยสะสมเงินไปซื้อหากามารมณ์ เงินมันก็ยังไม่พอใช้ เพราะว่ากามารมณ์นี้มันไม่ ไม่รู้จักอิ่ม เป็นเรื่องหลอกลวงอย่างยิ่ง ลงทุนไปจนตายเน่าเข้าโลงไป มันก็ไม่ยัง ไม่ ไม่รู้จักอิ่มด้วยกามารมณ์ นี่คิดดูว่ามันเอาชีวิตร่างกายไปลงทุนอย่างนี้ได้กำไรหรือได้ขาดทุน ถ้าเขาเป็นชาวพุทธที่ดี เขาถือว่าร่างกายนี้ ร่างกายเน่า ๆ นี่ที่ว่าตายแล้วไม่มีใครเอานี้ เขาจะใช้ลงทุนให้มันมากที่สุด ลงทุนให้ร่างกายเน่านี้เป็นที่ประทับของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไอ้ร่างกายเน่า ๆ นี้เราจะทำให้มันเป็นที่ประทับอยู่ของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ถ้าใครชอบพระเจ้าก็เรียกว่าเป็นที่ประทับของพระเจ้า อย่าทำให้ร่างกายนี้มันสกปรกโสมมด้วยราคะ โทสะ โมหะสิ ไอ้ร่างกายนี้ก็จะเป็นที่อยู่ของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ คือว่าจิตที่มันรู้อะไรถูกต้อง แล้วเป็นอยู่อย่างถูกต้อง ปฏิบัติอยู่อย่างถูกต้องนั้น พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไอ้ร่างกายเน่านี้มันก็กลายเป็นที่อยู่ของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นวิหารอันใหญ่ยิ่ง ลองคิดดูว่าได้กำไรหรือขาดทุนร่างกายเน่า ๆ นี้ตายแล้วไม่มีใครเอานี่ เอาไปใช้ลงทุนจนเป็นที่อยู่ที่ประทับของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ถ้าทำไปได้อย่างนี้เรื่อยไปไม่เท่าไร มันก็จะหมดกิเลส แล้วก็จะบรรลุมรรคผลนิพพาน เราลงทุนด้วยร่างกายที่ธรรมดานี้มันไม่มีค่าอะไร ตายแล้วไม่มีใครเอา ให้เปล่าก็ไม่มีใครเอา จ้างให้เอาก็ไม่มีใครเอา แต่ว่าร่างกายนี้เอาไปลงทุนเพื่อได้กำไรสูงสุดคือการบรรลุมรรคผลนิพพาน นี่เศรษฐกิจของชาวพุทธในชั้นปรมัตถประโยชน์ มันเป็นสิ่งที่มีได้ กระทำได้ ถ้าใครมองเห็นและอยากจะทำ มันก็ทำได้ ใช้ชีวิตร่างกายนี้เป็นที่อยู่ของพระพุทธเจ้า อย่าใช้เป็นที่อยู่ของกิเลส พวกคุณใช้มันเป็นที่อยู่ของกิเลสราคะโดยเฉพาะ ใช้ร่างกายนี้แต่เพื่อกามารมณ์ ไม่ได้กามารมณ์ตามที่ต้องการมานั่งร้องไห้อยู่ก็มี ฆ่าตัวตายก็มี ฆ่าพ่อฆ่าแม่เสียก็มี เพราะแม่ไม่อำนวยให้เขาได้ตามกามารมณ์ เขาอยากจะแต่งงานกับคนนั้น พ่อแม่ก็ไม่ยอมนี่ เขาฆ่าพ่อฆ่าแม่เสียก็มี นี่ดูเอาเถิด กิเลสมันเป็นนักเศรษฐกิจชนิดไหน กิเลสเป็นนักเศรษฐกิจชนิดไหน มันไม่ยอมให้ใช้ร่างกายนี้เพื่อประโยชน์สูงสุดคือบรรลุมรรคผลนิพพาน นี่เราที่เรียกตัวเองว่าชาวพุทธนี่ถึงกับมา มาขอร้องให้พูดเรื่องเศรษฐศาสตร์ของชาวพุทธนี่ ขอให้ท่านระวังให้ดี ๆ ว่าท่านเป็นชาวพุทธแบบไหนและท่านต้องการเศรษฐศาสตร์แบบไหน อย่างที่ได้พูดให้เป็น ๓ ขั้นตอนแล้ว ว่าเราเป็นนักเศรษฐกิจธรรมดา เป็นพ่อค้าธรรมดาค้าขายอย่างธรรมดาตามย่านตลาดมีกำไรเลี้ยงชีวิตได้บุญบ้าง โดยเห็นว่ามันเป็นเครื่องช่วยให้สังคมสะดวกผาสุก นี่นักเศรษฐศาสตร์ชั้นต่ำ นักเศรษฐศาสตร์ชั้นกลางเขาลงทุนด้วยเหงื่อไหลไคลย้อยทรัพย์สมบัติอะไรก็ตาม ชนิดที่เรียกว่าให้เพื่อนกิน แล้วเราอิ่ม ไอ้ที่ได้อิ่มนี่ มันอิ่มด้วยธรรมะ อิ่มด้วยคุณค่าของมนุษย์ สูงสุดคือความเป็นมนุษย์ที่สูงสุดนั้นแหละกำไร ทีนี้นักเศรษฐกิจประเภทที่ ๓ พวกสุดท้าย เขาเอาร่างกานเน่านี้ไปลงทุนเพื่อให้ได้มรรคผลนิพพาน ทุกคนก็เอาไปทดสอบตัวเองดูว่าเรากำลังอยู่ในพวกไหน เรากำลังเป็นนักเศรษฐกิจพวกไหน เราจะยักย้ายเปลี่ยนแปลงหรือไม่ก็แล้วแต่เรา อาตมามีหน้าที่เพียงบอกให้ทราบว่ามันเป็นได้ถึงอย่างนี้ แต่จะขอเตือนว่าไอ้ที่ต้องระวังที่สุดก็คืออย่าไปเป็นไอ้ชนิดที่ต้องละอายแมว ต้องละอายแมว ต้องปวดหัว ต้องนอนไม่หลับ ต้องเป็นโรคประสาท ต้องเป็นโรคจิต นักเศรษฐกิจชนิดนั้นมันน่าละอายแมวเพราะว่าแมวไม่เคยปวดหัว ไม่เคยนอนไม่หลับ ไม่เคยกินยาช่วยนอนหลับ ไม่เคยกินยากล่อมประสาทเหมือนที่คนเดี๋ยวนี้เขากินกันมาก นักเศรษฐกิจพวกนั้นมันต้องเป็นอย่างนั้น มันต้องละอายแมว นี่เราไม่รู้ ไม่รู้จักกันกับเรื่องนอนไม่หลับ เรื่องปวดหัว เรื่องประสาทนี้ไม่ต้องมี เพราะว่ามีกำไรในการค้าของเรามาช่วยคุ้มครอง การค้าแบบของเรามันช่วยคุ้มครอง มันไม่ต้องเป็นประสาท เป็นโรคจิตเหมือนที่เขาเป็นกันให้น่าละอายแมว ถ้าว่าเอาเงินเป็นหลักกันแล้วก็ไม่มีใครเห็นด้วยหรอก แต่ถ้าว่าเอาความสุขแท้จริงของชีวิตเป็นหลักกันแล้วคนคงจะพิจารณากันบ้าง เรื่องเอาบุญเป็นกำไร เอากุศลเป็นกำไร เอาความไม่มีกิเลสเป็นกำไร กระทั่งมีมรรคผลนิพพานเป็นกำไร คงจะคิดกันบ้าง ถ้าไม่เอาเงินเป็นหลัก ไอ้ทีนี้จะถือว่าถ้าเรียกว่าเศรษฐกิจ เศรษฐกิจแล้วจะเอาเงินเป็นหลักเสมอไปอย่างนี้ อาตมาก็ยอมแพ้ ก็พูดด้วยไม่ได้เพราะว่าคำว่ากำไรนี้ไม่ต้องเป็นเงินเสมอไป เป็นสิ่งที่ดีกว่าเงินก็ได้ สิ่งที่ดี กว่าเงินก็คือธรรมะที่จะช่วยดับทุกข์ได้ ไอ้ความทุกข์ที่เงินเท่าไร ๆ ก็ดับไม่ได้นั้น ธรรมมะดับได้ ช่วยแยกกันให้ดี ๆ ว่าไอ้ความทุกข์บางประเภท มันลึกซึ้งเสียด้วยนะความทุกข์ชนิดนี้เงินช่วยดับไม่ได้ ช่วยแก้ไม่ได้ ให้มีเงินจนมากท่วมฟ้ามันก็ดับกิเลสไม่ได้แต่ว่าธรรมะดับได้ แล้วเราลงทุนเพื่อได้ธรรมะมาเป็นกำไร บุญกุศลมาเป็นกำไร เราก็ได้สิ่งที่ดับทุกข์ได้จนกระทั่งหมดทุกข์ ไม่มีความทุกข์เหลือ นี่เราไม่เอาเงินเป็นหลัก ไม่ถือว่ากำไรแล้วต้องเป็นเงินแต่เราเอาธรรมะเป็นหลัก เอาบุญกุศลเป็นหลัก เอาธรรมะเป็นหลัก บุญกุศลนี่ก็ช่วยดับความทุกข์ชนิดที่เงินดับไม่ได้ก็มีอยู่ส่วนหนึ่งแต่ไม่หมด บุญกุศลนี้จะดับทุกข์หมดสิ้นเชิงไม่ได้ มันต้องขึ้นถึงธรรมะชั้นสูง ธรรมะชั้นโลกุตระเหนือบุญเหนือบาปไปเสียอีก เหนือโลกโดยประการทั้งปวง นั้นละธรรมะชนิดนั้นจะดับทุกข์ได้ทุกชนิดสิ้นเชิงคือโลกุตรธรรม เรียกว่าธรรมะที่ทำให้อยู่เหนือโลก คุณเป็นพุทธบริษัท กลัวว่าจะไม่จริง กลัวว่าจะไม่ซื่อสัตย์ต่อเศรษฐกิจของชาวพุทธ ถ้าคุณเป็นพุทธบริษัทนะ คุณก็คงจะฟังเสียงพระพุทธเจ้าบ้างหรือว่าสนใจถ้อยคำของพระพุทธเจ้าบ้าง มีพราหมณ์คนหนึ่งเขาไปเฝ้าพระพุทธเจ้าก็สนทนากันเรื่องทรัพย์ ทรัพย์นี่ ทรัพย์สมบัตินี่ พราหมณ์คนนั้นเขาก็กราบทูลพระพุทธเจ้าว่า พวกพราหมณ์ทั้งหลาย คัมภีร์ของพราหมณ์ทั้งหมดเขาบัญญัติทรัพย์สมบัติว่าการ การได้รับฟรี ๆ เที่ยวขอให้คนเขาให้ฟรี ๆ ภิกขาจารนั้นเป็นทรัพย์สมบัติของพวกพราหมณ์ พวกพราหมณ์เขาเที่ยวขอ คนที่เขาให้ก็ได้บุญ นี่ภิกขาจารเป็นทรัพย์สมบัติของพวกพราหมณ์ แล้วลูกศร คันศร ธนู ดาบ อาวุธนี่ นี่เป็นสมบัติของวรรณะกษัตริย์ การเลี้ยงโค การทำกสิกรรมเกษตรกรรมนี้เป็นทรัพย์สมบัติของวรรณะไวศยะคือประชาชนธรรมดาทั่วไป แล้วไม้คานกับเคียวเป็นสมบัติของวรรณะศูทร ศูทระ เขาแบ่งคนเป็น ๔ ชั้น พวกพราหมณ์ พวกกษัตริย์ พวกไวศยะ และก็พวกศูทรคือกรรมกรลูกจ้าง พวกพราหมณ์เขาบัญญัติกันไว้อย่างนี้ มันต้องไปอย่างนี้ ภิกขาจารเป็นทรัพย์สมบัติของวรรณะพราหมณ์ ศร ลูกศร อาวุธทั้งหลายเป็นสมบัติของวรรณะกษัตริย์ กสิกรรมโครัตสกรรม (53.15) ทำนาทำอะไรนี่เป็นสมบัติของไอ้วรรณะไวศยะ คือชาวบ้านในระดับทั่วไป รถ ไม้คานหาบของ เคียวเกี่ยวข้าวนี่เป็นวรรณะศูทร เป็นทรัพย์สมบัติของวรรณะศูทร นี่ถ้าดูแล้วมันก็จริงนะ ดูแล้วมันก็จริงอย่างนั้น แล้วพราหมณ์คนนี้เขาก็ทูลถามพระพุทธเจ้าว่าพระสมณะโคดมบัญญัติทรัพย์สมบัติอย่างไร พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า ฉันบัญญัติโลกุตรธรรมว่าเป็นทรัพย์สมบัติของคนทั้งหมดของสัตว์ทั้งปวงคือทั้ง ๔ วรรณะ ไม่แยกเป็น ๔ วรรณะ แต่ตรัสว่าฉันบัญญัติโลกุตรธรรมเป็นทรัพย์ของคนทั้งปวงคือทั้ง ๔ วรรณะ นี้มีความหมายไหมลองคิดดู เมื่อพวกพราหมณ์เขาเป็นนักเศรษฐกิจทางวัตถุเขาบัญญัติทรัพย์สมบัติอย่างนั้น พระพุทธเจ้าเป็นนักเศรษฐกิจทางวิญญาณทางจิตใจ ท่านบัญญัติทรัพย์สมบัติอย่างนี้ว่าโลกุตรธรรมจงเป็นทรัพย์สมบัติของคนทุกคน โลกุตรธรรมแปลว่าเหนือโลก เหนือโลกคือเหนือทุกข์ เหนือความบีบคั้นของโลกหรือความทุกข์ อะไร ๆ ในโลกที่มันบีบคั้นพวกคนในโลกอยู่ ต้องอยู่เหนือสิ่งนั้นเสีย ก็เรียกว่าโลกุตระ ให้ถือว่าโลกุตรธรรมนี่ว่าเป็นทรัพย์สมบัติให้ทุกคน เหมือนอยู่เหนือปัญหาในโลกโดยประการทั้งปวง อะไร ๆ ที่มีอยู่ในโลกที่ทรมานจิตใจมนุษย์ อยู่เหนือมันให้หมดนั้นแหละคือโลกุตรธรรม นี่กำไรไหม มันไม่พูดถึงสตางค์สักสตางค์เดียวเลย มันมีจิตใจชนิดที่อยู่เหนือโลก คือเหนือทุกข์เหนือปัญหาของมนุษย์ ไม่มามัวนั่งเป็นโรคประสาทให้ละอายแมวอยู่นั้น ถ้าว่ามีโลกุตระธรรมจริงไม่มี ไม่มีที่จะมานั่งปวดหัว มานั่งนอนไม่หลับให้ละอายแมวอยู่ ฉะนั้นขอให้สนใจกันเรื่องโลกุตรธรรมกันบ้างเถิด ถ้ามีการค้าแบบเศรษฐกิจก็ขอให้ลงทุนด้วยของไม่มีค่าแล้วก็ได้รับของมีค่าสูงสุดเป็นกำไร ไอ้ร่างกายเนื้อหนังนี่เราถือว่าไม่มีค่า ตายแล้วให้ใครก็ไม่มีใครเอา แกงกินก็ไม่ได้ นี่เรียกมันไม่มีค่า เอาไปลงทุน ก็ได้สิ่งสูงสุดคือปฏิบัติถูกต้องทางกาย ทางวาจา ทางใจ ในทุกความหมายแล้วบรรลุมรรคผลนิพพาน ได้รับโลกุตรธรรม อยู่เหนือความทุกข์ทั้งปวง ไม่มีอะไรที่มาทำให้เป็นทุกข์ได้ ความเจ็บ ความไข้ ความตายเป็นของเด็กเล่น เขาหัวเราะเยาะ ตะเพิดให้กลับไป ไม่มีอะไรที่มาทำให้เป็นทุกข์หรือหนักอกหนักใจ นี่เรียกว่าไม่ต้องมาเป็นโรคประสาทให้ละอายแมว ถือว่าเป็นไอ้หลักเศรษฐศาสตร์สูงสุดของมนุษย์แต่มนุษย์ธรรมดาเขาไม่สนใจโดย โดยเฉพาะพวกฝรั่งแล้วเขาก็จะไม่สนใจไอ้เศรษฐกิจทางวิญญาณชนิดนี้ เขาสนใจเศรษฐกิจแต่ทางวัตถุ คนไทยเป็นลูกศิษย์เขา ไปตามก้นเขา เขารู้จักเรื่องเศรษฐกิจแต่ทางวัตถุ ไม่รู้จักเศรษฐกิจทางวิญญาณ มันก็ทำให้คนบ้าเต็มเมือง คนอันธพาลเต็มเมือง ความทุกข์ทุกหัวระแหงเต็มไปหมดหาสิ่งที่น่าดูน่าชื่นใจไม่ค่อยได้ เพราะว่ามันไม่เจริญด้วยธรรมะที่มีค่า ไอ้เงินนี่มีล้นเหลือไปหมดเป็นปัจจัยสำหรับให้เบียดเบียนกัน เงินกำไรเป็นเงินเป็นทองกลับเป็นปัจจัยสำหรับเบียดเบียนกัน แล้วคนที่รวยมากก็จะถูกฆ่าตายเร็วกว่าคนยากจนเพราะเขาไปปล้นบ้านคนรวยกันทั้งนั้น นี่คิดดูเถิดว่าอะไรมันเป็นอย่างไร อะไรมันควรจะได้รับการมองดูในลักษณะอย่างไร เศรษฐศาสตร์ชาวพุทธนี่จำกัดอยู่ว่าของชาวพุทธอย่างเลวที่สุดมันก็ยังไม่ต้องเป็นโรคประสาทให้ละอายแมว ถ้าท่านเป็นชาวพุทธจริงขายของอะไรก็ได้ เล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ได้ท่านก็ต้องมีความสุขมีความพอใจไม่วิตกกังวลจนนอนไม่หลับให้ละอายแมว ใครมีอาชีพเป็นคนค้าขายก็ไประมัดระวังให้ดี อย่าให้การค้าขายนั้นมันทรมานจิตใจจนนอนไม่หลับ ให้เรานอนหลับสนิท พอใจ แล้วก็อยู่กันเป็นสุข แล้วก็ได้บุญด้วย อาตมายังยืนยันอยู่เสมอว่าพ่อค้าแม่ค้าเล็ก ๆ น้อย ๆ ปฏิบัติหน้าที่ของตนด้วยดีให้สังคมตรงนั้นมันสะดวกสบายแล้วเขาก็ได้บุญด้วย บางคนคงไม่เชื่อแล้วยังจะด่าอาตมาว่าหลอกก็ได้ ก็ยังยืนยันอยู่นั้นแหละว่าถ้ามันปฏิบัติหน้าที่ของตนจนเพื่อนมนุษย์ได้รับความสุขความสะดวกแล้วได้บุญทั้งนั้นแหละไม่ว่าทำอะไร โดยไม่ต้องลงทุนอะไรนัก คุณไปกวาดถนนให้มันสะอาดเถอะก็ได้บุญแล้ว ไม่ต้องลงทุนอะไรมากมายนัก มีเรียวแรงนิดหน่อยไปกวาดถนนให้มันสะอาด ให้เพื่อนได้ความสุข คุณก็บุญแล้ว เราให้ความสะดวกความสุขแก่เพื่อนมนุษย์ก็ต้องถือว่าได้บุญหมด คนเขาจะคิดเป็นเรื่องกิเลสเรื่องเห็นแก่ตัวว่าถ้าเราเอากำไรเอาเงินเขาแล้วจะได้บุญที่ไหน ไอ้นั้นมันคนสันดานงกเงินและเห็นแก่เงิน บูชาเงิน ต้องการแต่เงิน คำว่าบุญไม่รู้จัก พวกนี้ก็จะมีเศรษฐกิจชนิดบีบคั้น ขูดรีด ลำบาก เดือดร้อนกันไปทั่วทุกหัวระแหง ในเมืองไทยกำลังมีปัญหาอย่างนี้คือพวกเศรษฐกิจทั้งหลายไม่มีศีลธรรม ก็เดือดร้อนกัน เดี๋ยวนี้ก็ ก็เดือดร้อนกันอยู่ คุณก็คงจะรู้ดี เรื่องขูดรีดทั้งหลายนั้น เรื่องทุจริตทั้งหลายคือเศรษฐกิจไม่มีศีลธรรม ถ้าเศรษฐกิจมีศีลธรรม ปัญหาเหล่านี้ไม่เกิด รัฐบาลก็ไม่ต้องปวดหัว พวกเราก็ไม่ต้องปวดหัวให้ละอายแมว คือว่าคนผลิตนะผลิตข้าว ผลิตปลา ผลิตน้ำ ผลิตอะไรก็ตาม เขาผลิต เป็นผู้ผลิต เขาก็มีศีลธรรม แล้วผู้มาซื้อก็ซื้ออย่างมีศีลธรรม ไม่ขูดรีด ไม่กดขี่ผู้ขน ผู้ขน ผู้คนกลางก็ทำอย่างมีศีลธรรมไม่เอาเปรียบ คนส่งออกเมืองนอกก็ทำอย่างมีศีลธรรม คนจัดการทุกระดับขึ้นมาถึงระดับธนาคารผู้ควบคุมการเงินมันก็มีศีลธรรม มันไม่บีบคั้นใคร ทุกคนมีศีลธรรม ไอ้เศรษฐกิจนั้นจะไม่มีปัญหา เดี๋ยวนี้เศรษฐกิจมีปัญหา แม้แต่เรื่องน้ำตาล แม้แต่เรื่องข้าวสาร มันก็ยุ่งกันไปหมดเพราะความไม่มีศีลธรรมในระบบของเศรษฐกิจ เอาธรรมะเข้ามา ศีลธรรมเข้ามา เศรษฐกิจก็มีศีลธรรม เศรษฐกิจก็ช่วยให้มนุษย์อยู่กันเป็นผาสุก เดี๋ยวนี้เศรษฐกิจกำลังเป็นเครื่องมือให้มนุษย์ขูดรีดกัน เศรษฐกิจกำลังเป็นเครื่องมือให้ทะเลาะวิวาทกัน แล้วที่มันจะฆ่ากันทั้งโลกล้างโลกนี้ก็มีมูลมาจากเศรษฐกิจ เศรษฐกิจของนายทุน เศรษฐกิจของชนกรรมชีพมันตกลงกันไม่ได้เพราะไม่มีศีลธรรม ถ้ามีศีลธรรมเจ้าปัญหานี้จะไม่เกิดคือไม่มีใครขูดรีดแบบนายทุน มีแต่เป็นเศรษฐี ผลิตมาก กินน้อย เหลือช่วยสังคม ถ้ามีเศรษฐีนายทุนก็ไม่มี นายทุนจะต่อสู้เศรษฐีไปได้อย่างไรไหว ถ้าเศรษฐีมันมีขึ้นมาในรูปนี้ ผลิตมาก กินน้อย เหลือช่วยสังคม แต่มันก็น่ากร้าวที่ว่ามันจะไม่รู้ ไม่รู้ว่าจะไปหาเศรษฐีมาจากไหน จะไปหาเศรษฐีมาทำยาหยอดตาสักนิดหนึ่งก็มันไม่มี แล้วก็ยังต้องมีนายทุนเต็มไปหมด อาตมาเชื่อว่าถ้าหาเศรษฐีมาได้ นายทุนก็หนีไปหมด หายหน้าไปหมด คอมมิวนิสต์ก็ไม่มีงานทำ พวกคอมมิวนิสต์ไม่มีงานทำก็สลายตัวไปหมด ถ้ามันมีเศรษฐี ถ้ายังมีนายทุนอยู่เมื่อ อยู่เพียงไร คอมมิวนิสต์ยังมีงานทำอยู่เพียงนั้น เขาก็จะมากขึ้นหนาแน่นขึ้นเพราะนายทุนมันทำให้เกิดคอมมิวนิสต์ ถ้ามีเศรษฐี นายทุนไม่มี คอมมิวนิสต์ว่างงานแล้วตายหมด ไม่ต้องไปฆ่ามันให้เสียเวลา นี่ธรรมะมันเป็นอย่างนี้ เศรษฐกิจของชาวพุทธมันเป็นอย่างนี้ มันจะไม่ทำให้เกิดปัญหาชนิดที่กำลังมีอยู่ในโลกเวลานี้ น่าเสียดายที่ว่าพุทธศาสนาของเรานี่ มันไม่ได้เข้าไปในทวีปยุโรปเมื่อ ๒๐๐-๓๐๐ ปีมานี้ คนเหล่านั้นเขาไม่รู้เรื่องศาสนาเพราะว่าพุทธศาสนายังไม่เคยเข้าไป แล้วเผอิญเป็นว่าศาสนาคริสต์เตียนก็กำลังยุ่งยากโกลาหล เรียกว่าเสียสภาพเดิมอันแท้จริงของตน ก็ไม่ช่วยมนุษย์ให้รักใคร่เมตตากรุณากัน ลัทธิมาร์คซิสก็มีโอกาสจะก่อหวอดตั้งตัวขึ้นมาสั่งสอนประชาชนให้เกลียดศาสนา ให้มีระบบเศรษฐกิจสำหรับกรรมาชีพเพื่อทำลายนายทุน นายทุนเกิดขึ้นมาเพราะศาสนาว่างไปหายไป ถ้าศาสนายังอยู่ก็มีแต่เศรษฐี นายทุนก็เกิดไม่ได้ ในโลกนี้เมื่อว่างศาสนาก็เกิดผู้เห็นแก่ตัว เช่น ระบบนายทุน ก็ต้องเกิดผู้ต่อสู้คือระบบคอมมิวนิสต์ ถ้าว่ามันมีธรรมะ มีระบบเศรษฐีแท้จริงนายทุนไม่มี คอมมิวนิสต์ไม่มีโอกาสที่จะผุดจะเกิดขึ้นมาในโลกได้ นี่ดูเถิดว่าธรรมะนี่มันเป็นอย่างไร มันมีอนุภาพมีอะไรสักเท่าไร แต่แล้วไอ้คนในโลกนี้มันไม่เอาธรรมะเสียเอง คนในโลกไปบูชาเนื้อหนัง ไปบูชาเงินซึ่งเป็นปัจจัยแห่งความสุขทางเนื้อหนังจนลืมธรรมะไม่เอาธรรมะ ธรรมะที่เคยเจริญรุ่งเรื่องในยุคหนึ่งสมัยหนึ่งก็สูญหายไป จนหาทำยาหยอดตาไม่ค่อยจะได้ การที่จะรอดตัวกันได้อีกก็คือธรรมะกลับมา ศีลธรรมกลับมา ระบบเศรษฐกิจซึ่งเป็นไอ้สิ่งที่ยึดถือกันนักในโลกนี้ก็จะถูกต้อง เป็นไปอย่างถูกต้อง เป็นไปอย่างที่เรียกว่าไม่ใช้เป็นเครื่องมือล้างผลาญกันเหมือนสมัยนี้ เดี๋ยวนี้เราใช้ระบบเศรษฐกิจสำหรับล้างผลาญกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างประเทศ ระหว่างกลุ่มของประเทศ ประเทศนายทุน ประเทศชนกรรมาชีพ เขาจับกลุ่มกันเป็น ๒ ฝ่าย แล้วเขาก็จะล้างผลาญกัน มูลเหตุมาจากเรื่องนิดเดียวคือเศรษฐกิจที่ไม่มีศีลธรรม
เอาละขอทบทวนอีกทีหนึ่งว่า ไอ้เศรษฐกิจชาวพุทธนี่ขอให้ตั้งต้นตั้งแต่ระดับพื้นฐาน ขายผักขายปลาขายอะไรก็ได้ เป็นพ่อค้าขายข้าวสารน้ำตาลอะไรก็ได้ แล้วก็เอากำไรเลี้ยงชีวิตพอสมควร ให้ความสะดวกสบายแก่สังคม เขาก็ได้บุญเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปพลาง เงินก็ได้ บุญก็ได้ นี่เศรษกิจชาวพุทธระดับต่ำสุด
นี้ชาวพุทธที่มันสูงขึ้นไปมีศีลธรรมมาก มันก็สามารถสร้างสันติสุขให้แก่สังคม ให้ผู้อื่นกินแล้วเราอิ่ม นี้เราก็มีทั้งมีอาหารกินก็อิ่มด้วยอาหาร มีบุญกุศลกินก็อิ่มไปด้วยบุญด้วยกุศล จิตใจมันอิ่มเพราะว่ามันไม่มีกิเลสที่จะทำให้หิว นี่เศรษฐกิจหรือนักเศรษฐกิจระดับ ๒ คือเศรษฐกิจของศีลธรรม ทีนี้ระดับ ๓ เศรษฐกิจ ปรมัตถธรรม เอาของไม่มีค่า เช่น ร่างกายนี้แลกเอาพระนิพพานมา สิ่งสูงสุดไม่มีอะไรสูงสุดเท่าพระนิพพาน ลงทุนได้ด้วยใช้ร่างกายนี้เป็นทุน เป็นเดิมพันลงทุนปฏิบัติธรรมะ ได้มรรคผลนิพพานมา ไม่รู้จักกับความทุกข์ เพราะว่านิพพานคือไม่รู้จักกับความทุกข์ ไม่มีความทุกข์ด้วยประการทั้งปวง นี่คือเศรษฐกิจของชาวพุทธ หลักการอันนี้เรียกว่าเศรษฐศาสตร์ของชาวพุทธ ท่านขอร้องให้อาตมาพูดก็ต้องพูดอย่างนี้ พูดอย่างอื่นก็พูดไม่เป็นนะ ไม่รู้ว่าจะพูดอย่างไรเพราะว่าที่เรียนมา ศึกษามา สังเกตมาในเรื่องของธรรมะนี้ มันมีอย่างนี้ มันก็ต้องพูดอย่างนี้ ใครจะชอบใจหรือไม่ชอบใจก็สุดแท้ อาตมาพูดอย่างอื่นไม่เป็น ก็พูดได้แต่อย่างนี้และก็บอกให้ว่ามันมี ๓ ชั้นอย่างนี้ ใครพอใจชั้นไหนก็เลือกเอา เป็นนักเศรษฐกิจชนิดที่สะดวกแก่ตน แต่ถึงอย่างไรก็ดีจะมีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เข้ามาอยู่ในตนด้วยกันทั้งนั้นแหละ เศรษฐกิจชาวบ้านเมื่อสุจริตดีก็มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เข้ามาอยู่ในตน เศรษฐกิจศีลธรรมเมื่อทำได้ดีก็มี พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์มากขึ้น เศรษฐกิจปรมัตถ์มีพระนิพพานเป็นกำไร ก็เต็มไปด้วยพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ลงทุนด้วยร่างกายที่เป็นของเปื่อยเน่านี้ ก็ได้กำไรสูงสุดเหลือที่จะกล่าวได้ ก็ควรจะถือว่าเป็นเศรษฐกิจที่สูงสุดแล้ว
อาตมาเห็นว่าการบรรยายนี้พอสมควรแก่เวลาแล้ว ขอยุติด้วยความหวังว่าท่านทั้งหลายจะเป็นนักเศรษฐกิจที่เอาตัวรอดได้ด้วยกันทุกคน มีความสุขอยู่ทุกทิวาราตรีกาลเทอญ