แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านนักศึกษาและครูบาอาจารย์ทั้งหลาย อาตมาขอแสดงความยินดีในการมาของท่านทั้งหลาย ซึ่งทราบแต่เพียงคร่าวๆ ว่าจะมาศึกษาธรรมะ ในที่สุดมันก็ต้องพูดถึงเรื่องธรรมะนั่นเอง เรื่องเกี่ยวกับธรรมะนั้นเดี๋ยวนี้หาอ่านได้ง่ายมาก มีเป็นเล่มหนังสือมากมายหลายภาษาหาอ่านได้ตลอดเวลา แต่การที่ต้องมาถึงที่นี่นั้นมันก็ควรจะมีอะไรบางอย่างที่เป็นความจำเป็นอยู่บ้าง อาตมาก็อยากจะพูดในส่วนนี้แหละ ส่วนที่ว่ามันมีอะไรจะแปลกออกไปจากที่หาหนังสืออ่านเอาเองที่บ้าน เท่าที่เห็นได้ง่ายๆ ก็คือว่าจะมาให้ธรรมชาติช่วย ได้ยินพูดว่าอย่างนั้นกันอยู่บ่อยๆ แล้วก็มีความจริงอยู่บ้างเหมือนกันที่ว่าธรรมชาติมันอาจจะช่วยได้ นี้โดยเหตุผลที่ว่าไอ้เรื่องธรรมะนั้นมันเป็นเรื่องของธรรมชาตินั่นเอง ถ้าเราอยู่ใกล้ชิดธรรมชาติเป็นเกลอกับธรรมชาติให้มากสนใจกับธรรมชาติให้มาก มันก็รู้เรื่องธรรมะได้ง่ายขึ้น เพราะว่าธรรมะมันเป็นเรื่องของธรรมชาติ แล้วมันก็ได้เกิดขึ้นมาปรากฏออกมาในโลกนี้โดยอำนาจของธรรมชาติอีกเหมือนกัน ก็จะเรียกว่าโดยการบีบบังคับตามธรรมชาติมันจึงคั้นให้ธรรมะปรากฏออกมาในหมู่มนุษย์ในจิตใจของมนุษย์ เราก็จำเป็นจะต้องพลอยผสมโรงกับมันให้เป็นอยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติและศึกษาธรรมะจากธรรมชาติ อยากจะให้สนใจในข้อแรกก็คือคำว่าธรรมะนั่นเอง คำว่าธรรมะมันเป็นคำพูดของมนุษย์แล้วมันเกิดขึ้นมา ปรากฏออกมาเป็นคำพูดของมนุษย์ได้อย่างไร ยกตัวอย่างเหมือนคำว่าราชานี่อ่านดูตามพระบาลีในฐานะที่เราเป็นพุทธบริษัทแล้วก็ถือเอาตามเรื่องที่มีในพระบาลี และยังแถมเป็นพระพุทธภาษิตเสียด้วยคือถือได้ว่าก่อนนี้มันไม่มีคำว่าราชา ราชานี่พูดกันในภาษามนุษย์แล้วมันเพิ่งเกิดขึ้นมาเมื่อวันหนึ่งซึ่งประจวบเหมาะ คือเรื่องมันมีว่าเมื่อมนุษย์รู้จักทำมาหากินพ้นจากความเป็นคนป่ากินแต่ของในป่า แล้วก็มารู้จักเพาะปลูกเลี้ยงสัตว์มันก็เกิดการเบียดเบียนขึ้นในหมู่มนุษย์นั่นเองเดือดร้อนเหลือประมาณ นี่คือธรรมชาติมันบีบบังคับให้มันเดือดร้อนเหลือประมาณมันก็ทนอยู่ไม่ได้ มันก็ต้องคิดหาหนทางจะขจัดความเดือดร้อนอันนี้ ในที่สุดก็คิดออกไปในทางว่าให้สมมติให้คนที่มันแข็งแรง แข็งแรงกว่าเพื่อนสักคนหนึ่งเป็นผู้ควบคุมคือมอบอำนาจทั้งหมดให้คน ๆ นี้เป็นผู้ดูแลควบคุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้ลงโทษคนที่ทำผิดตามที่เขาเห็นว่าผิด เช่น มันฆ่าเขา มันลักขโมยเขา มันประพฤติผิดในกามในเพื่อนเขา โกหกหลอกลวงอะไรก็ตามตลอดถึงเรื่องการพัฒนาอื่น ๆ ด้วย ในคน ๆ นี้ได้รับสมมติมันก็ทำหน้าที่ของตน อยู่มาไม่นานนักมันมีผลปรากฏออกมาเป็นความอยู่กันเป็นผาสุกสบายคือมีสันติภาพ มีความสบายสะดวกสบายเป็นที่พอใจ มนุษย์เหล่านั้นเลยหลุดปากออกมาเป็นคำอุทานว่าพอใจๆๆ แล้วคำว่าพอใจๆ นั้นมันก็คือคำในภาษาบาลีว่าราชาๆ นั่นเอง คำว่าราชานี้มาจากรากศัพท์ว่า รช (นาทีที่ 08:57) แปลว่ายินดีหรือพอใจ นี่คำว่าราชาๆ มันออกจากคำว่าพอใจๆ คือใจมันรู้สึกยินดีแล้วก็โพล่งออกมา คำๆ นี้เกิดขึ้นมาในโลกใหม่เมื่อคนเหล่านั้นรู้สึกพอใจก็เลยใช้เป็นชื่อของคนๆ นั้น เรียกเขาว่าราชาๆ ตลอดมา แล้วบุคคลคนๆ นี้ก็ได้รับสมมติว่าเป็นพระเจ้าสมมติราชเป็นพระราชาคนแรกในโลก ในโลกประเทศอินเดีย นี่มันเป็นเรื่องในประเทศอินเดียมีอยู่ในคัมภีร์ของพระพุทธศาสนาในพระไตรปิฎกนั่นแหละไปหาดูก็ได้ นี่ยกตัวอย่างให้เห็นว่าคำว่าราชาๆ มันเกิดขึ้นมาในโลกอย่างไร ขอให้มองดูในแง่ที่ว่ามันเกิดโดยธรรมชาติบีบบังคับให้เหตุการณ์มันเป็นไป แล้วก็มีผลให้ต้องปรับปรุงแก้ไขต้องค้นต้องคว้าจนกระทั่งพบอย่างที่ว่าจนปฏิบัติอย่างที่ว่าได้ผลออกมาเป็นความพอใจ มนุษย์ก็มีคำพูดใหม่เพิ่มขึ้นมาคำหนึ่งว่าราชานี่เป็นตัวอย่างว่าคำพูดมันเกิดขึ้นมาในหมู่มนุษย์อย่างไร โดยเฉพาะคำที่เราถือว่าสำคัญที่สุด ทีนี้คำว่าธรรมะล่ะมันมา มันมามันเกิดขึ้นมาได้ในโลกในปากของมนุษย์ได้อย่างไร ก่อนนี้มันก็ไม่ต้องมีคือมันไม่จำเป็นจะต้องมีหรือมันไม่มี แล้วทำไมมันจึงรู้จักพูดคำๆ ว่าธรรมะ คำๆ นี้ว่าธรรมะขึ้นมา แต่เรื่องนี้ยังไม่พบในบาลีเลยต้องสันนิษฐานโดยทำนองเดียวกับคำว่าราชาแปลว่าพอใจ นี่ธรรมะคำนี้ โดยตัวหนังสือโดยรูปศัพท์นี่มันแปลว่าดำรงอยู่ได้ ถ้าเป็นอย่างภาษาอังกฤษมันก็จะตรงกับคำว่า survive ซึ่งมันแปลว่ามันรอดชีวิตอยู่ได้ ถึงแม้ที่มาเป็นคำกิริยาอื่นๆ เช่นคำว่า ทะระมานู (นาทีที่ 11:58) ดำรงชีวิตอยู่ ไอ้รากศัพท์ของมันแปลว่าทรงอยู่ได้ดำรงอยู่ได้คือไม่ตายเสียนั่นแหละ ดังนั้นจึงเข้าใจว่ามนุษย์ได้ค้นพบสิ่งหนึ่งซึ่งเป็นที่พอใจแก่ทุกคนในความหมายที่ว่าจะทำให้เราทรงอยู่ได้ดำรงอยู่ได้ไม่สูญหายไปไม่ตายเสียไม่อะไรทุกอย่างแปลว่ามันทรงอยู่ได้โดยตัวมันเองที่เรียกว่าธรรมชาติ ธรรมชาติมันก็มีความหมายในทางว่ามันทรงอยู่ได้มันมีอะไรๆ ที่ทำให้มันทรงอยู่ได้โดยธรรมชาติ เช่น เราเห็นต้นไม้ก็ดี สัตว์เดรัจฉานก็ดี อะไรก็ดีมันทรงอยู่ได้มันดำรงอยู่ได้ ไม่ตายแล้วก็อยู่เรื่อย ๆ มาจนเวลามากมายนี่ ฉะนั้นคำว่าทรงอยู่ได้นี่แหละคือคำที่เป็นความหมายของคำว่าธรรมะ มนุษย์ที่เพิ่งพ้นจากความเป็นคนป่าเขาคิดนึกศึกษากันมาเรื่อยเรียกว่ามันก็มีวิวัฒนาการมาเรื่อยพบของใหม่ๆ ที่เป็นที่พอใจที่เรียกกันว่าวัฒนธรรม วัฒนธรรมรุ่นนั้นรุ่นนี้แบบนั้นแบบนี้มากมายมาตามลำดับ จนมนุษย์มันมีความคิดก้าวหน้าทางสติปัญญา มันพบหลักเกณฑ์อันหนึ่งซึ่งแสดงให้เห็นว่าเราต้องอยู่กันอย่างนี้เราจึงจะทรงอยู่ได้ไม่ตายหรือไม่สูญหายไป นี่คำว่าทรงอยู่ได้ ทรงอยู่ได้คือคำว่าธรรมะหรือธรรมาหรือธัมโมแล้วแต่จะออกเสียงในรูปใด มันคงจะเกิดขึ้นมาในโลกเพราะเหตุนี้คือเขาได้ลองปฏิบัติดูเป็นที่เชื่อแน่พอใจว่าตามคำสั่งสอนของครูบาอาจารย์ขณะนั้น สอนไว้อย่างนั้นมันทำให้เรารอดอยู่ได้ คือเรื่องในพระบาลีมันก็มีแต่เพียงว่าเมื่อมนุษย์พ้นจากความเป็นคนป่ามาอยู่กันดีมีพระราชามีอะไรทำนองนี้แล้ว ก็เกิดคนบางคนที่เขาเห็นว่าไอ้ที่อยู่กันอย่างนี้อยู่กันอย่างชาวบ้านอย่างนี้ก็ไม่ดีวิเศษอะไร มันควรจะมีอะไรที่ดีกว่านี้ ไอ้คนเหล่านี้มันก็ออกไปจากหมู่ปลีกตัวไปออกอยู่ในที่สงบสงัดตัวผู้เดียวค้นคว้าคิดนึกเรื่อยไป บุคคลประเภทบรรพชิตหรือนักบวชหรือฤาษีมุนีอะไรมันได้เกิดขึ้นมา ซึ่งก่อนนี้มันไม่มีมีคนอุตริว่าอยู่ไอ้คนอยู่กับหมู่บ้าน กับคนพวกนี้ไม่มีอะไรวิเศษอะไร ออกไปค้นหาอะไรที่ดีกว่านี้ก็ออกไปเป็นฤาษีมุนีอยู่ในป่า เขาคิดนึกอะไรได้เขาก็จำไว้รวบรวมไว้ ทีหลังเมื่อมีใครไปหาเขาไปพบเขาๆ ก็บอกไอ้สิ่งเหล่านี้ให้ มันกลายมาเป็นไอ้เรื่องของธรรมะว่าจงทำอย่างนี้จงอยู่กันอย่างนี้จงคิดอย่างนี้จงพูดจาอย่างนี้แล้วแต่ที่เขาจะคิดได้ มันก็เกิดมีเป็นอาจารย์ในป่าสอนธรรมะให้แก่ทุกคนที่ไปหา ทีนี้มันก็มีมากๆ อาจารย์เขาก็เลยบัญญัติตามชื่อของอาจารย์ว่าธรรมะของอาจารย์ชื่อนั้น ธรรมะของอาจารย์ชื่อนั้น ธรรมะอาจารย์ชื่อนี้ จนเมื่อเขาพบกันเขาก็ถามกันว่าท่านชอบใจธรรมะของใคร คำว่าธรรมะของใครเป็นคำเก่าที่สุดที่พบในพระบาลี ที่เขาจะทักถามกันเขาจะถามว่าท่านชอบใจธรรมะของใคร แม้ในสมัยพระพุทธเจ้าแล้วนี่เร็วๆ นี้เองเขาก็ยังทักถามกันว่าท่านชอบใจธรรมะของใคร เขาไม่ได้ถามกันว่าท่านถือศาสนาของใครอย่างนั้นไม่มีคำใช้ไม่พบประโยคอย่างนี้เลยว่าท่านถือศาสนาไหนอันนี้ไม่มี มันยังเหลือแต่ว่าชอบใจธรรมะของใคร ธรรมะก็คือระบอบปฏิบัติระบอบหนึ่งๆ ที่อาจารย์คนหนึ่งๆ เขานึกออกค้นพบแล้วก็สอนให้ จนกระทั่งถึงยุคพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็คือพระอาจารย์องค์หนึ่งออกไปค้นพบกำหนดกฎเกณฑ์ไว้เป็นหลักลัทธิของท่าน แล้วก็สอนให้ก็เรียกว่าธรรมะของพระสมณโคดม แล้วยังมีเจ้าลัทธิอื่นอีกซึ่งมีธรรมะของตัวๆ เหมือนกันพ้องสมัยกันกับพระพุทธเจ้า ก็มีลูกศิษย์ลูกหามากเหมือนกันก็มีคนชอบใจธรรมะของอาจารย์เหล่านั้น อาจารย์เหล่านั้นมีอยู่มากเท่าไรก็ตามในพระบาลีเขาเรียกว่า อัญญเดียรถีย์ (นาทีที่ 18:48) พระพุทธเจ้าจะเรียกครูบาอาจารย์เหล่านั้นว่าอัญญเดียรถีย์ สังเกตดูให้ดีและจำไว้เลยว่าไม่ได้เรียกว่าเดียรถีย์เฉยๆ เขาเรียกว่าอัญญเดียรถีย์แปลว่าเดียรถีย์อื่น คือเดียรถีย์อื่นจากเดียรถีย์นี้ เดียรถีย์นี้คือพระพุทธเจ้าเดียรถีย์อื่นจากเดียรถีย์นี้ก็คือ่ลัทธิอื่นทั้งหลายเรียกว่าอัญญเดียรถีย์ คำว่าเดียรถีย์คำนี้แปลว่าท่าจอดเรือ มันเหมือนกับท่าริมแม่น้ำสำหรับจอดเรือเป็นท่าๆๆๆ ไปใครชอบใจท่าไหนก็แวะท่านั้นจอดและทำประโยชน์ตามเรื่องราวของท่าๆ นั้น เดียรถีย์คือเจ้าลัทธิทั้งหลายก็มีอยู่มากยืมคำว่าท่าจอดเรือเอามาใช้เป็นชื่อของคำเป็นคำนามธรรมดาใช้เป็นคำเรียกลัทธิหนึ่งๆ จึงมีเดียรถีย์มาก ถ้านอกจากพุทธศาสนาแล้วเราก็เรียกเขาว่าอัญญเดียรถีย์ ทุกลัทธิสอนธรรมะตามแบบของตนๆ ประชาชนจึงต้องใช้คำว่าท่านชอบใจธรรมะของใคร นี่เราก็มาพิจารณาดูถึงคำว่าธรรมะนี่มันมีความหมายดึงดูดใจตรงไหน ดึงดูดใจตรงที่มันว่าให้ทรงอยู่ได้ไม่วินาศไป เพราะธรรมะนี่มันแปลว่าทำให้ทรงอยู่ได้ไม่ต้องวินาศไปหรือแม้แต่ว่าไม่วินาศไปแล้วก็ยังไม่เดือดร้อนด้วย ยังไม่ลำบากทุกข์ยากทนทรมานด้วย อะไรทำให้ทรงอยู่ได้เป็นปรกติอันนั้นคือธรรมะ นี่เท่าที่ได้ค้นคว้าสังเกตศึกษามามองเห็นว่าไอ้คำว่าธรรมะนี่มันได้เกิดขึ้นมาในโลกที่มาพูดกันโดยปากของมนุษย์ว่าธรรมะๆ ฉะนั้นก็เลยมีความหมายตรงกันหมดในภาษาของมนุษย์ว่าสิ่งที่มันจะทำให้ทรงอยู่ได้ไม่ต้องตายไม่ต้องทำลายไป ทุกคนต้องการจะทรงอยู่ทั้งนั้นแหละมันเป็นเรื่องของสัญชาตญาณ ไม่มีใครอยากตายไม่มีใครอยากสูญหายไปโดยสัญชาตญาณแล้วมันอยากทรงอยู่ทั้งนั้น เมื่อเขามาบอกไอ้เรื่องวิธีที่จะทรงอยู่ก็ชอบใจก็ทรงอยู่อย่างดีที่สุดก็ยิ่งชอบใจ ธรรมะมันก้าวหน้าขึ้นมาถึงระดับที่เรียกว่าดำรงอยู่อย่างดีที่สุด อย่างประเสริฐที่สุด วิเศษถึงที่สุดกระทั่งตั้งเป้าหมายไว้กันว่าอย่างนั้น คำว่า ผู้สำเร็จก็คือสำเร็จโดยการถึงที่สุด เขามีคำว่า ภควา ภควันนี่ใช้หมายถึงผู้ที่ประสบความสำเร็จถึงที่สุดในเรื่องนี้ แล้วถ้าเป็นชั้นดีชั้นเลิศก็เรียกว่าพระอรหันต์ ในความหมายที่เขายอเขาถือตรงกันหมดว่ามันประเสริฐที่สุดนะ คนที่มันถึงจุดที่สุดของความเป็นมนุษย์จะเรียกว่าพระอรหันต์ ไม่ใช่เพิ่งมีคำนี้ไม่ได้เพิ่งมีใช้เมื่อพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นมันมีใช้ตั้งแต่ก่อนพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นเขาเรียกไอ้คนที่มันถึงความเป็นที่สุดของความเป็นมนุษย์ว่าเป็นพระอรหันต์ ฝรั่งเขาจะค้นคว้าศึกษามาอย่างไรก็ไม่รู้เขาหรอก แต่ว่าเขาแปลคำๆ นี้ดีมากที่เขาแปลว่ามนุษย์ที่เต็ม perfect, The man perfected กลับกันอยู่ the man perfected, Man perfected คือพระอรหันต์ เชื่อว่าตรงกับความหมายเดิมของภาษาอินเดียที่สุด ภควัน ภควานี่ก็เป็นคำโบราณก่อนพุทธกาลนานไกลก็เรียกว่าพระภควัน ก็แปลว่าผู้ประสบความสำเร็จถึงที่สุดประเสริฐถึงที่สุดล้วนๆ คล้ายๆ กัน แต่ดูเหมือนจะสู้คำว่าพระอรหันต์ไม่ได้ ที่มันเป็นเรื่องทางจิตใจโดยตรงบรรลุถึงสิ่งสูงสุดในทางจิตใจโดยตรง ภควัน พระภควานี้ดูว่าดีเหมือนกันประเสริฐที่สุดเหมือนกันแต่ดูว่ามันจะพร่าๆ ไป คือมันจะหมดทุกอย่างมันจะว่าอย่างนั้นก็ได้ แต่ถึงอย่างไรก็ดีมันก็มีความหมายอยู่ที่ตรงนี้ที่เขาได้ทราบธรรมะแล้วก็ได้ปฏิบัติธรรมะแล้วก็ได้รับผลถึงที่สุด สอนธรรมะด้วยกันทั้งนั้น สำหรับพวกที่สอนพวกที่ไม่สอนก็มี แล้วธรรมะก็เกิดขึ้นมาเป็นลัทธิๆๆ ไปเป็นระบบๆๆ ไปแล้วแต่ว่าศาสดาองค์ไหนเขาจะสอนอย่างไร เราหลับตาดูก็พอจะมองเห็นได้ว่ามนุษย์ก็รู้จักเลือกตามพอใจของตน ทีนี้มนุษย์นี่มันมีหลายๆ ชนิดหลายระดับ แล้วมันก็ต้องเลือกเอาระดับที่ถูกกับใจของตน เมื่อมนุษย์มันต่างกันมันก็ต้องการหลายระบบ ฉะนั้นคำสอนหรือธรรมะมันอยู่ได้ทุกระบบ ดูๆ คล้ายๆ มันจะตีกันยุ่งแต่มันก็ไม่ต้องตีกันยุ่ง เพราะว่าประชาชนที่เป็นลูกค้าเป็นสมาชิกมันมีทุกแบบ ลัทธิไหนสอนอย่างไร มันก็ต้องมีคนรับเอาไปมันจึงอยู่ได้ด้วยกันทุกแบบ จึงเป็นอย่างนี้เรื่อยมาจนกว่าจะถึงพระพุทธเจ้าเกิดขึ้น แล้วคำว่านิพพานนั้นก็เป็นเครื่องวัดอย่างหนึ่งว่ามนุษย์เขาเอาความหมายของคำๆ นี้มาจากความเย็น คำว่านิพพานนี่แปลว่าดับไปแห่งความร้อน ศัพท์คนธรรมดาใช้ตามบ้านตามเรือนนิพพานแปลว่าดับไปแห่งความร้อน ข้าวหรือแกงกับร้อนอยู่ กินไม่ได้ต้องรอให้นิพพานก่อน ฉะนั้นพูดถึงนิพพานนี่เด็กๆ ก็พูดเป็นว่าข้าวหรือว่าข้าวต้มหรือแกงนิพพานแล้วมากินได้เรียกเพื่อนเรียกคนมากิน นี่คำว่านิพพานแปลว่าเย็นแห่งของร้อนเอามาใช้เป็นจุดหมายปลายทางของพระธรรม เมื่อปฏิบัติธรรมไปจนถึงที่สุดแล้วมันก็พบกับความเย็น นี่ใครๆ ก็ชอบความเย็นเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ฉะนั้นใครเสนอความเย็นขึ้นมาอย่างไรก็มีผู้รับเอาไป ลองปฏิบัติถ้าเขาพอใจ ฉะนั้นนิพพานซึ่งเป็นผลของการปฏิบัติธรรมมันก็มีหลายความหมายเช่นเดียวกับว่ามันมีหลายลัทธินั่นเอง ถ้าเราดูจากคัมภีร์ของพระพุทธศาสนาที่เกี่ยวกับนิพพานนี่ ก็มีคนบางพวกสอนว่าความสมบูรณ์ทางกามารมณ์เป็นนิพพานอย่างนี้ก็มี ก็มีอยู่ติดอยู่ในบัญชีของคำว่านิพพานในครั้งพุทธกาลคือคนพวกนี้เขามองสั้นๆ ตื้นๆ ว่าเมื่อมันสมบูรณ์ทางกามารมณ์แล้วมันก็เย็นใจเท่านั้นแหละเย็นใจอย่างเขา ตามความหมายของเขาก็เรียกว่านิพพาน แล้วก็ชวนกันปฏิบัติในทางให้ได้กามารมณ์ถึงที่สุดเกิดเป็นลัทธิเกิดเป็นศาสนาขึ้นมาด้วยเหมือนกัน แล้วยังเหลือหลบๆ ซ่อนๆ อยู่ในอินเดียกระทั่งวันนี้กระทั่งทุกวันนี้ ซึ่งมหาตมะคานธี เคยขอร้องว่าช่วยเลิกกันเสียทีเถอะไอ้ลัทธินี้ลัทธิกามารมณ์ในโบสถ์ ทีนี้บางพวกก็บอกว่าปฐมฌานคือสมาธิในอันดับแรกเรียกว่าปฐมฌานนี่เป็นนิพพาน เขาไม่รู้ว่านี่เรียกว่าปฐมฌานเขาเรียกว่านิพพานเลย เมื่อทำจิตได้ถึงขนาดนี้เขาก็เรียกว่านิพพานเลย คนชั้นหลังต่อมายังบอกว่าทำเพียงแค่อย่างนี้เหรอมันเป็นเพียงปฐมฌาน ฌานในอันดับหนึ่งซึ่งเราจะแบ่งได้เป็นสี่ระดับ ฉะนั้นคำว่าปฐมฌานนี้เพิ่งเรียกทีหลัง ไอ้คนที่แรกนู้นมันก็เรียกว่านิพพาน ทีนี้ต่อมามีคนว่านั่นยังไม่พอยังหยาบนัก เขาทำจิตให้ละเอียดประณีตกว่านั้นถึงลักษณะที่เราเรียกกันเดี๋ยวนี้ว่าทุติยฌานนั้นนะ เขาบอกว่านิพพานต้องอย่างนี้ นิพพานต้องอย่างนี้เขยิบขึ้นมาอีกหน่อย ก็มีคนถืออีกเหมือนกันแล้วก็เลื่อนขึ้นมาจนถึงตติยฌาน จตุถฌานจนหมดเรื่องของรูปฌานคือสมาธิที่เอารูปธรรมเป็นนิมิตหมดกันแค่จตุถฌาน เอาจตุถฌานเป็นนิพพานนี่คงจะเป็นไปได้นานอยู่เพราะว่ามันละเอียดประณีตแล้วมันมีความสุขจนละเอียดประณีต ต่อมาก็มีคนพบว่า โอ้, มันไม่ใช่ๆ นิพพานโดยสมบูรณ์เขาก็จึงเลื่อนขึ้นไปถึงระบบพวกที่ไม่มีรูป เอาสิ่งที่ไม่มีรูปมาเป็นอารมณ์มาเป็นนิมิตของสมาธิ เช่น เอาอากาศมาเป็นอารมณ์มันก็ละเอียดประณีตกว่าไอ้สิ่งที่เป็นรูปธรรม ฉะนั้นจิตก็ละเอียดประณีตกว่าเขาเอาอันนี้เป็นนิพพานกันอีก กระทั่งเอาวิญญาณเป็นอารมณ์ กระทั่งเอาความไม่มีอะไรเป็นอารมณ์ กระทั่งเอาความรู้สึกที่เป็นเนวสัญญานาสัญญาคือมีสัญญาก็ไม่ใช่ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่นี่เป็นนิพพาน พระพุทธเจ้าเคยไปศึกษาในสำนักเหล่านี้ถึงที่สุดเนวสัญญานาสัญญายตนะฌานนี่ว่าเป็นนิพพาน พระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสว่ามันเป็นเพียงเนวสัญญานาสัญญายตนะเท่านั้นหาใช่นิพพานไม่ คือท่านเรียกไปตามความรู้สึกของท่านไม่ใช่บัญญัติศัพท์เฉพาะอะไรขึ้นมาท่านก็ทิ้งอาจารย์องค์คนสุดท้ายคืออุทกดาบส รามบุตรเสียไปค้นคว้าของท่านจนพบความไม่มีกิเลสด้วยประการทั้งปวงว่าเป็นนิพพาน คำว่านิพพานนี่ก็คู่กันมากับคำว่าธรรมะคือเป็นคำเก่าแก่ด้วยกัน ตั้งแต่มนุษย์เริ่มรู้จักไอ้ความสูงในทางจิตใจที่เรียกว่าธรรมะปฏิบัติธรรมะถึงที่สุดเป็นพระอรหันต์ก็คือบรรลุนิพพาน ยังมีความรู้น้อยก็เอานั่นเอานี่เป็นนิพพานไปก่อน สูงขึ้นมาตามลำดับๆ ก็จะถึงนิพพานจริง อย่างที่เรายอมรับเดี๋ยวนี้คือพระนิพพานในพระพุทธศาสนาได้แก่ความหมดไปสิ้นไปแห่งกิเลสทั้งปวงว่าเป็นนิพพาน เพราะว่ากิเลสเป็นของร้อนเมื่อไม่มีกิเลสมันก็เป็นของเย็นมีเท่านั้น ผลของธรรมะไม่ตายด้วยแล้วได้รับสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับด้วย หมายความว่าเมื่อปฏิบัติธรรมะแล้วเราก็รอดชีวิตอยู่ แล้วก็รอดชีวิตอยู่นี่ไม่รอดอยู่เปล่าได้รับไอ้สิ่งที่ดีที่สุดคือนิพพานนั้นด้วย ก็เลยเป็นรูปแบบยึดถือกันเป็นระบบตายตัวลัทธินั้น ลัทธินั้นนี่เรียกว่าธรรมะได้ด้วยกันทั้งนั้นแหละ แล้วเขาก็ได้เคยเรียกอย่างนั้นมาแล้วตั้งแต่แรกเริ่มเดิมที ทีนี้มันๆ จะต้องก้าวหน้าไปไกลกว่านั้นในทางภาษาจนพบว่าไอ้คำว่าธรรมะนี้มันควรจะมีขอบเขตไกลไปกว่านั้นเพื่อเป็นธรรมชาติ เป็นสิ่งที่ทรงอยู่ตามธรรมชาติก็เลยให้คำว่าธรรมะนี้มีความหมายขยายออกไปถึงทุกสิ่ง แม้ที่มันตรงกันข้ามที่เป็นไปเพื่อความทุกข์ก็เรียกว่าธรรม ธรรมะฝ่ายอกุศล ที่มันเป็นไปเพื่อความดับทุกข์ก็เรียกว่าธรรมะฝ่ายกุศล จนกระทั่งว่าไอ้ธรรมะนี้ไปถึงฝ่ายที่ไม่เป็นกุศลไม่เป็นอกุศลเป็นธรรมชาติล้วนๆ บริสุทธิ์ ในความขยายในทางภาษาจนกระทั่งพบไอ้ความจริงของธรรมชาตินี่ในหลายๆ รูปแบบ อย่างที่อาตมาเคยรวบรวมมาแล้วก็เอามาบอกเล่ากันให้ฟังว่าไอ้ความหมายที่สมบูรณ์ที่สุดนั่นนะขอให้ขยายความออกไปสักสี่ รูปแบบว่าธรรมะคือธรรมชาติ ธรรมะคือกฎของธรรมชาติ ธรรมะคือหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ ธรรมะคือผลที่ได้รับจากการปฏิบัติหน้าที่ จนในที่สุดคำว่าธรรมะมันหมายถึงทุกสิ่งจนยากที่จะจำกัดความลงไปว่าอะไร จึงต้องจำกัดความลงไปว่าคือเรื่องที่เกี่ยวกับธรรมชาติทั้งหมดทั้งสิ้นทั้งปวงเลย บรรดาเรื่องที่มันเกี่ยวกับธรรมชาติทั้งหมดทั้งสิ้นทุกอย่างทั้งปวงก็เรียกว่าธรรมหรือธรรมะ ภาษาไทยเราใช้คำว่าธรรมเฉยๆ ก็พอ แต่ภาษาอินเดียนั้นมันไม่ได้มันต้องครบของมันคือว่าธรรมะๆ แล้วแต่จะเรียก ถ้าเราจะรู้จักธรรมะในฐานะที่เป็นเรื่องของธรรมชาติแล้วก็จะหมดไม่มียกเว้นอะไรไม่มีอะไรเหลือ แล้วก็แบ่งได้เป็นสี่อย่างๆ ที่กล่าวมาแล้ว ถ้าเรารู้หมดทั้งสี่อย่างๆ ที่กล่าวมานี้เราก็จะได้รับผลตามความมุ่งหมายของธรรมะจริงๆ คือรอดอยู่ได้ แล้วก็ได้รับไอ้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ ฉะนั้นถ้าว่านักศึกษาโดยเฉพาะพวกฝรั่งชาวต่างชาติต่างศาสนาเขาถามเราว่าธรรมะของคุณนะมันคืออะไรบอกเขาอย่างนี้เถิด แล้วมันก็จะชื่อว่าบอกอย่างดีที่สุดถูกต้องที่สุดว่าธรรมะนั่นไม่มีทางที่จะแปลเป็นภาษาของคุณนะเป็นภาษาต่างประเทศนั้นแปลไม่ได้ ขอให้ใช้คำว่าธรรมะภาษาเดิมของอินเดีย ธรรมะคือตัวธรรมชาติทั้งหลายทั้งปวงแล้วธรรมะคือตัวกฎๆ ของธรรมชาติ ธรรมะคือหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ ธรรมะคือผลจากหน้าที่ ธรรมชาติก็คือไอ้ที่มันเป็นอยู่ตามธรรมชาติเป็นอยู่เองตามธรรมชาติ ทีนี้กฎของธรรมชาติก็คือสิ่งพิเศษลึกลับอันหนึ่งซึ่งทำให้ธรรมชาติเป็นไป อันนี้เราเทียบฐานะเท่ากับพระเจ้าเลยกฎของธรรมชาตินี่ หน้าที่ตามกฎของธรรมชาติอันนี้สำคัญ ธรรมะความหมายที่สามนี่สำคัญที่สุด เราต้องรู้แล้วเราต้องปฏิบัติเราจึงจะได้ผลตามที่เราต้องการ เมื่อมีการทำหน้าที่แล้วก็ได้รับผลของการทำหน้าที่ ธรรมะคือตัวธรรมชาติ ธรรมะคือตัวกฎธรรมชาติ ธรรมะคือหน้าที่ตามธรรมชาติ ธรรมะคือผลที่เกิดจากหน้าที่ตามธรรมชาติ นี่พูดกันตลอดชีวิตก็ไม่จบคำสี่คำนี้ คือมันหมายถึงทุกสิ่งไม่ยกเว้นอะไร ไม่ว่าไอ้สิ่งนั้นมันจะเป็นวัตถุสิ่งของหรือว่าเป็นนามธรรมหรือชีวิตจิตใจ กระทั่งว่ามันไม่ได้เป็นรูปหรือเป็นนามซึ่งไม่รู้ว่าจะเป็นอะไร ธรรมะคือธรรมชาติ ไม่ใช่ว่าดินทรายก้อนหินอะไรที่เรามานั่งอยู่ตรงนี้ไม่ได้หมายความอย่างนั้น ไม่ได้หมายความเพียงเท่านั้น มันหมายความมากกว่านั้น หมายความว่าสิ่งที่มันเกิดขึ้นเป็นอยู่เป็นไปเองอยู่ตามธรรมชาติ พวกหนึ่งเป็นวัตถุเป็นรูปธรรม เช่น ไอ้สิ่งเหล่านี้ที่เห็นๆ อยู่ที่ไม่มีชีวิตนี่เป็นรูปธรรมล้วนๆ แล้วอีกพวกหนึ่งก็เป็นรูปธรรมที่มีชีวิต เช่น เป็นร่างกายของคนหรือว่าลำต้นของต้นไม้นี่คือรูปธรรมมีชีวิตก็มีไม่มีชีวิตก็มี ทีนี้อีกส่วนอีกพวกหนึ่งเป็นนามธรรมคือเรื่องของจิตใจ ฉะนั้นรูปก็ดีนามก็ดีรูปธรรมก็ดีนามธรรมก็ดีเรียกว่าธรรมชาติเสมอกันหมด แล้วอะไรๆ ที่มันเนื่องกันก็เรียกว่าธรรมชาติหมด ฉะนั้นเราจึงไม่มีอะไรที่มิใช่ธรรมชาติ แต่ว่าไอ้คำว่าธรรมชาติในตำราเรียนอย่างสมัยปัจจุบันซึ่งถ่ายออกมาจากภาษาฝรั่งนั้นนะเขาหมายอย่างอื่น เขาจะเอาธรรมชาติแค่ธรรมชาติตามกลางดินจริงๆ แต่คำว่าธรรมชาติในทางพระพุทธศาสนานี้มันไม่ยกเว้นอะไร ร่างกายจิตใจ การกระทำของร่างกายจิตใจ ความสุขความทุกข์ กระทั่งพระนิพพานก็เรียกว่าธรรมชาติหมด เพราะมันเป็นไปตามธรรมชาติ แล้วมันยังแปลกที่ว่ามองกันละเอียดๆ หนักเข้าๆ จนทุกอย่างมันมามีในร่างกายของคนแต่ละคน เพราะฉะนั้นรู้จักเรื่องนี้ไว้เป็นพื้นฐานเขาเรียกว่าเป็นพื้นฐานสำหรับการศึกษา ในเราคนหนึ่งๆ มันก็มีหรือเป็นธรรมชาติ ร่างกายของเราเป็นธรรมชาติ จิตใจของเราก็เป็นธรรมชาติ ความรู้สึกคิดนึกอะไรที่มันออกมาก็เป็นธรรมชาติ ไอ้ร่างกายนี้ท่านก็แจกเป็นดินน้ำลมไฟเป็นอากาศ แล้วจิตใจก็เรียกว่าเป็นวิญญาณเป็นจิตแยกออกไปอีกก็ได้ แต่ว่าไม่จำเป็นหรอกเท่านี้ก็พอ เพราะตัวคนทั้งเนื้อทั้งตัวมันเป็นธรรมชาติ ร่างกายเป็นธรรมชาติ จิตใจเป็นธรรมชาติ อะไรที่เกิดขึ้นหรือเนื่องกันอยู่กับร่างกายและจิตใจนี้ก็พลอยเป็นธรรมชาติไปหมด นี่แปลว่าตัวคนนั้นนะมันเป็นตัวธรรมชาติ ทีนี้ในตัวธรรมชาตินั้นมีกฎของธรรมชาติคือในตัวเราอีกนั่นแหละในตัวเราที่เป็นธรรมชาตินั้นนะ มันมีกฎของธรรมชาติที่ทำให้มันเกิดขึ้นมาได้มันตั้งอยู่ได้มันเปลี่ยนไป อะไรมาบังคับให้หายใจ อะไรมาบังคับให้โลหิตไหลเวียน อะไรบังคับให้น้ำย่อยอาหารออกมาย่อยอาหาร หรือทุกอย่างมันเป็นไปอย่างถูกต้องประณีตยิ่งกว่าเครื่องจักรใดๆ นะ ถ้าเราไปเอาตำราสรีรศาสตร์ทางแพทย์ทางหมอมาอ่านดูจะตกใจว่ามันประกอบไปด้วยระบบมากมายหลายอย่างและเป็นไปได้เองอย่างน่าอัศจรรย์ ไอ้เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ว่าน่าอัศจรรย์แล้วยังไม่น่าอัศจรรย์เท่ากับระบบต่างๆ ในร่างกายที่ธรรมชาติมันทำไว้อย่างดี แม้แต่ระบบเกี่ยวกับหูกับตา ๒ อย่างนี้ก็ยังน่าอัศจรรย์เหลือประมาณไปศึกษาดู ทั้งตัวก็เลยยิ่งน่าอัศจรรย์ เพราะมีกฎธรรมชาติบังคับให้เติบโตมานับตั้งแต่คลอดจากท้องแม่มันก็เติบโตออกมา มันมีอะไรอยู่ในนั้นกว่าจะโตถึงที่มันจึงจะแสดงออกมาแล้วก็ต้องเป็นไปตามกฎของธรรมชาติ ฉะนั้นก็เรียกว่ากฎของธรรมชาตินี่มันครอบงำอยู่ โดยเฉพาะก็คือกฎของวิวัฒนาการ กฎของอิทัปปัจจยตาที่ทำให้อะไรเกิดขึ้นมาเรื่อยๆ แล้วมันก็ไม่ร้ายกาจน่ากลัวเท่ากับกฎของไอ้สามัญลักษณะที่ว่าอนิจจัง ทุกขัง อนัตตานั่นนะมันยิ่งน่ากลัวมาก มันต้องเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นี่มันน่ากลัวมาก มันมีกฎเหล่านี้บังคับอยู่ตลอดเวลา ตัวร่างกายจิตใจเราเป็นตัวธรรมชาติแล้วมันมีกฎของธรรมชาติบังคับอันนี้อยู่ ทีนี้มันเกิดหน้าที่ๆ ตามธรรมชาติ หน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ เช่นว่า ต้องไปหาอาหารกินนี่ ต้องกินน้ำ ต้องกินอาหาร ต้องถ่ายอุจจาระ ต้องถ่ายปัสสาวะ ต้องทำทุกอย่างตามที่ธรรมชาติมันมีอยู่เป็นกฎบังคับให้ทำ เราก็เลยมีหน้าที่ๆจะต้องบริหารให้ชีวิตรอดอยู่ได้มีหน้าที่ที่จะทำให้มันดียิ่งๆ ขึ้นไป กระทั่งว่าให้มันรู้จักปฏิบัติธรรมะบรรลุมรรคผลนิพพานนี่ให้ร่างกายจิตใจนี้มันไปไกลถึงบรรลุมรรคผลนิพพานนี้ก็เรียกว่าหน้าที่ นี่ความจำเป็นอันนี้มันทำให้พวกคุณต้องลำบากมาที่นี่มาเพื่อศึกษาธรรมะมันก็เพื่อเรื่องนี้ เพราะมันเป็นหน้าที่ๆ มันจะต้องทำให้ดีที่สุดที่มนุษย์จะทำได้ เราจึงต้องหาความรู้แล้วก็ปฏิบัติเกี่ยวกับหน้าที่ให้ตรงตามกฎของธรรมชาติ ซึ่งพระพุทธเจ้าท่านได้แสดงไว้อย่างดีที่สุดอย่างละเอียดที่สุดแล้ว ถ้าทำอย่างนั้นๆ จะเกิดขึ้นอย่างนั้นๆ จะเกิดขึ้นซึ่งเป็นกฎของธรรมชาติ โดยเฉพาะก็คือกฎที่เรียกว่าอิทัปปัจจยตา อิทัปปัจยตานี่มันเป็นกฎของธรรมชาติซึ่งพระพุทธเจ้าท่านจะเรียกว่าธาตุเฉยๆ ธาตุตามธรรมชาติแต่มันเป็นธาตุของธรรมะมันเป็นธาตุของสัจจะมันเป็นธาตุของกฎของธรรมชาติ เรียกว่าตถตาก็มี เรียกว่าอวิตถตาก็มี เรียกว่าอนัญญถตาก็มี เรียกว่าอิทัปปัจจยตานี่โดยทั่วไป เรามาเรียนให้รู้กฎอันนี้แล้วจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง เพื่อไม่ให้ความทุกข์มันเกิดขึ้นมาจนเราไม่มีความทุกข์เลย นี่เรารู้เองไม่ได้เราอาศัยการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า แต่พระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสว่าฉันไม่ได้ตั้งกฎอันนี้ขึ้นมันเพียงแต่ว่ารู้ ค้นพบรู้กฎอันนี้แล้วนำมาเปิดเผยมาจำแนกแจกแจงมาสอนผู้อื่นให้รู้ มาทำให้เป็นของที่เข้าใจได้ง่ายๆ ซึ่งกฎอันนั้นคือกฎอิทัปปัจจยตานั่นเอง กฎอิทัปปัจจยตานั้นหมายถึงกฎของธรรมชาติทั้งหมด แต่เราไม่เรียนทั้งหมดมาเรียนเฉพาะที่มันเกี่ยวกับดับทุกข์เท่านั้นแหละ หรืออย่างดีก็เรียนให้รู้ว่ามันทุกข์มันเกิดขึ้นอย่างไร แล้วมันจะดับไปอย่างไรแล้วเราก็เรียนให้รู้ที่มันจะดับทุกข์ได้มันก็หมดเรื่องหมดปัญหา ทีนี้อิทัปปัจจยตาแปลว่าเพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้นสิ่งนี้จึงเกิดขึ้น เพราะสิ่งนี้ไม่มีสิ่งนี้จึงไม่มี เพราะสิ่งนี้ดับลงสิ่งนี้จึงดับลง เรียกว่ายิ่งกว่ากำปั้นทุบดินไอ้กฎของธรรมชาติ มันแน่หรือมันตายตัวมันไม่มีทางจะผิด นี่ไปเรียนกันโดยรายละเอียดที่ว่าจะเกิดความทุกข์ขึ้นมาได้อย่างไร นับตั้งแต่มีตาเห็นรูปเกิดจักษุวิญญาณเกิดผัสสะเกิดเวทนาไปตามผัสสะแล้วเกิดตัณหาไปตามเวทนา เกิดยึดมั่นถือมั่นในอุปาทานในเวทนานั้นเกิดความรู้สึกเป็นตัวกูของกูความทุกข์ก็เกิดขึ้น นี่คือกฎที่แน่นอนตายตัวที่สุดถ้ามันเป็นอย่างนี้ความทุกข์ก็จะเกิดขึ้น ถ้ามันมีปัญญามันรู้เสียมันรู้เท่ารู้ทันเสียเมื่อมีการสัมผัสอารมณ์แล้วเกิดผัสสะแล้ว เกิดเวทนาแล้วมันก็รู้เสียว่าโอ้, มันอย่างนี้เองโว้ย ไม่ไปหลงรักหลงเกลียดกับมันก็ไม่เกิดตัณหา ก็ไม่เกิดอุปาทานก็ไม่เกิดความรู้สึกประเภทตัวกูของกูมันก็ไม่เป็นทุกข์เท่านั้นแหละ ฉะนั้นธรรมะโดยย่อที่จะไม่ให้เกิดความทุกข์ก็คือรู้ความจริงว่ามันไม่มีอะไรที่จะเอามาเป็นตัวเราเป็นของเราได้ มันเป็นธรรมชาติที่เป็นไปตามกฎของธรรมชาติ แล้วมันประหลาดที่มันสรุปอยู่ในคำว่ามันเป็นเช่นนั้นเอง ไอ้เรื่องปฏิจจสมุปบาททั้งหลายมากมายยืดยาวไม่รู้กี่ร้อยเรื่องพันเรื่อง มันมาสรุปเหลืออยู่ที่คำว่ามันเป็นอย่างนั้นเอง ถ้าใครเข้าถึงความหมายว่าอย่างนั้นเองมันเป็นเช่นนั้นเองแล้วก็คนนั้นก็จะได้รับประโยชน์มากคือจะไม่มีความทุกข์ คือไม่ไปหลงรักอะไรไม่ไปหลงเกลียดอะไร มันเห็นเป็นสักว่าตามธรรมชาติสักว่าเช่นนั้นเอง สมมติว่าอร่อยมามันก็โอ้, มันก็ความรู้สึกเท่านี้เช่นนี้เองตามธรรมชาติเช่นนี้เอง ความรู้สึกไม่อร่อยมันก็เช่นนั้นเองตามธรรมชาติมันเช่นนี้เอง มันก็เลยไม่ยินดีไม่ยินร้ายมันไม่เกิดกิเลสแล้วมันก็ไม่เกิดความทุกข์ ก็ออกจะน่าหัวว่าธรรมะตั้งมากมายมันมาสรุปใจความสำคัญสั้นๆ ว่ามันเป็นเช่นนั้นเอง รู้ว่าความทุกข์มันเป็นเช่นนั้นเองแล้วมันเกิดขึ้นเพราะวิธีนั้นอย่างนั้นก็คือเช่นนั้นเองแล้วมันจะดับไปด้วยวิธีนั้นก็เช่นนั้นเองเหมือนกันอะไรๆ ก็เช่นนั้นเองหมด เดี๋ยวนี้เราไม่มองเห็นเราไม่เช่นนั้นเอง มาให้รักเราก็รัก มาให้โกรธเราก็โกรธ มาให้เกลียดเราก็เกลียด มาให้กลัวเราก็กลัว นี่มันไม่เช่นนั้นเองได้ จนกว่าเมื่อไรที่มองเห็นชัดถึงเรื่องความเป็นเช่นนั้นเองของธรรมชาติ แล้วก็ไม่รักไม่โกรธไม่เกลียดไม่กลัวไม่อะไรทุกอย่างแล้วมันจะเป็นพระอรหันต์ ถึงที่สุดของความเป็นมนุษย์คือทุกข์กับเขาไม่เป็น เป็นทุกข์กับเขาไม่ได้อีกต่อไปนี่ เพราะมองเห็นความเป็นเช่นนั้นเอง พระพุทธเจ้าท่านก็ถึงความเป็นเช่นนั้นเองคือเห็นความเป็นเช่นนั้นเอง เรียกว่าพระตถาคต แปลกอยู่ว่าท่านเป็นองค์แรกที่เห็นแล้วก็สอนคนอื่นได้ด้วย ไอ้เรานี่ไม่ต้องเอาถึงนั้นหรอกเอาเพียงว่าเห็นตามที่พระพุทธเจ้าสอน เข้าใจเรื่องอิทัปปัจจยตา เรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เรื่องอริยสัจ เรื่องอะไรต่างๆ ก็เลยสามารถที่จะรู้สึกว่าเช่นนั้นเองในทุกกรณีแล้วก็ไม่มีความทุกข์ นี่หน้าที่ๆ เราจะต้องเรียนจะต้องศึกษาให้รู้ไอ้ความเป็นเช่นนั้นเองของธรรมชาติทั้งปวง ถือว่าเป็นหน้าที่ๆ จะต้องศึกษาและต้องปฏิบัติ ต้องดำรงกิจให้ปกติอยู่ได้ ไม่ไปตามสิ่งที่มันมาปรุงแต่งให้รักโกรธเกลียดกลัว นี่เรารู้หน้าที่อันนี้เราปฏิบัติหน้าที่อันนี้ แล้วข้อถัดไปคือผลจากการปฏิบัติหน้าที่ไม่ต้องนึกถึงก็ได้มันมาเอง เหมือนกับเราปลูกต้นไม้ดีเราก็ไม่ต้องหวังหรอกผลมันก็ออกมาเอง นี่เราปฏิบัติหน้าที่นี้ให้ถูกต้องแล้วผลมันก็จะปรากฏออกมาเอง เป็นเรื่องของมรรคผลนิพพานจบเรื่อง ได้รับผลไปตามลำดับจนกว่าจะถึงขั้นที่เรียกว่านิพพาน นี่ไปสังเกตดูไปประมวลมาดูว่าไอ้คำว่าธรรมะ ธรรมะนี้มันคืออะไร มันแสดงตัวธรรมชาติ แสดงตัวกฎของธรรมชาติ แสดงหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ แสดงผลจากหน้าที่ทั้ง สี่อย่างนี้มีอยู่ในตัวคนแต่ละคนๆ คนๆ หนึ่งมีร่างกายจิตใจเป็นตัวธรรมชาติมีกฎของธรรมชาติทำให้ร่างกายเปลี่ยนแปลงไป แล้วมีหน้าที่ๆ จะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องให้ได้รับผลดีให้อยู่กันผาสุกแล้วก็ผลคือผาสุก ก็ในเรานั่นแหละทั้งตัวทั้งเนื้อมันเป็นธรรมชาติสี่ความหมายนี้ ทีนี้ที่มันปฏิบัติถูกไม่มีความทุกข์เลยนั้นนะเป็นนิพพาน เป็นนิพพานก็หาพบได้ในร่างกายนี้ พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้เองว่าไอ้ความทุกข์ก็ดี เหตุให้เกิดทุกข์ก็ดี ความดับไม่เหลือแห่งความทุกข์ก็ดี ทางให้ถึงความดับแห่งความทุกข์ก็ดี ตถาคตบัญญัติไว้ในร่างกายที่ยาววาหนึ่งที่ยังเป็นๆ คือมีสัญญาความรู้สึกแล้วก็มีจิตใจ ในร่างกายของคนตายไม่มีต้องคนที่ยังเป็นๆ ก็จะมีเรื่องความทุกข์ เรื่องเหตุให้เกิดทุกข์ เรื่องความดับสนิทแห่งความทุกข์ เรื่องทางให้ถึงความดับสนิทแห่งความทุกข์ เราเป็นทุกข์เพราะดำรงไว้ผิด แล้วเหตุให้เกิดทุกข์ก็คือกิเลสของเรา ไอ้ความดับทุกข์ก็คือความที่กิเลสดับไปก็อยู่ในร่างกายนี้ แล้วทางให้ถึงความดับทุกข์ก็คือเมื่อเราปฏิบัติถูกทางกาย ทางวาจา ทางใจ นั่นคือทางดับทุกข์มันก็อยู่ในร่างกายนี้ นี่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้อย่างนี้ ว่าทั้งหมดอยู่ในร่างกายที่ยาววาหนึ่งนี้ที่ยังมีสัญญาและใจให้หาที่นั่น ฉะนั้นใครมีปัญญาก็หาพบที่นั่นไม่ต้องมาสวนโมกข์ให้มันเหนื่อย ที่คุณเสียเวลามาที่นี่ให้มันเหนื่อย ในเมื่อพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่ามันอยู่ในร่างกายที่ยาวประมาณวาหนึ่ง นี่มาสวนโมกข์ก็คงจะมาคุยกันเรื่องนี้ หาวิธีที่จะไปหาให้พบในร่างกายของตัวเองที่ยาววาหนึ่งจึงพูดให้ฟังว่ามันเป็นอย่างนี้ เรื่องมันมีอยู่อย่างนี้พอเข้าใจเรื่องนี้แล้วก็ไปหาเอาในร่างกายของคนแต่ละคนๆ ก็จะพบธรรมะทั้งหมดนี้ แล้วที่สำคัญก็คือผลสุดท้ายบรรลุสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ทำเอาได้จากร่างกายนี้ เช่นว่าจะต้องรู้เสียก่อนว่าไอ้ธรรมะในสี่ความหมายก็อยู่ในร่างกายนี้มันเป็นธรรมชาติ มันเป็นกฎของธรรมชาติ มันมีหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ มันได้รับผลจากการปฏิบัติหน้าที่รีบไปรู้จักตัวเองเสียใหม่ให้ดี แต่ละคนมันเป็นธรรมชาติในสี่ความหมายอย่างนี้ หรือว่าจะมองกันในเรื่องของอริยสัจ ๔ เรื่องความทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความดับทุกข์ และทางถึงความดับทุกข์มันก็ในร่างกายนี้ หรือว่าจะมองกันให้ละเอียดกว่านี้ก็มองเรื่องปฏิจจสมุปบาท มันขยายออกเป็นรายละเอียดมากเป็นสิบสองอาการนี้ก็ไปดูให้ดี เรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบกันเกิดวิญญาณ เกิดผัสสะ เกิดเวทนา เกิดตัณหา เกิดอุปาทาน เกิดภพ เกิดชาติแล้วเกิดทุกข์ทั้งปวง เพียงแต่ขยายให้ละเอียดออกไปเท่านั้นที่แท้มันก็เรื่องสี่เรื่อง เรื่องทุกข์ เรื่องเหตุให้เกิดทุกข์ เรื่องความดับทุกข์ เรื่องทางให้ถึงความดับทุกข์ เรื่องปฏิจจสมุปบาทนี้มันมีรายละเอียดมากเอามาพูดไม่ไหวก็ไปหาอ่านเอาเอง แต่ให้พบว่ามันเป็นกฎของธรรมชาติซึ่งมันจะต้องเป็นอย่างนี้ เรามีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สำหรับจะรู้สึกต่อรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ที่มากระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบแล้วเกิดวิญญาณ แล้วรู้หรือเปล่าเรารู้จัก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หรือสิ่งที่มากระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ชัดเจน จนว่าเมื่อไรมันกระทบกันก็เกิดจักษุวิญญาณคือความรู้สึกทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซึ่งมันมีอยู่ตลอดวัน ในทุกๆ วันมันก็เกิดผัสสะคือการกระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็เกิดเวทนารู้สึกพอใจหรือไม่พอใจแล้วแต่เรื่องของมัน นี่เราก็โดดโลดเต้นไปตามความพอใจไม่พอใจไม่เป็นอิสระแก่ตัวนี่ก็เรียกว่าความทุกข์ เรารู้จักมันแล้วมีปัญญาแล้วก็ปกติอยู่ได้ ก็ไม่ต้องเป็นทุกข์ ถ้าเราไม่รู้จักก็ไปหลงในเวทนานั้น หลงในเวทนาที่น่ารักน่าพอใจก็รักก็พอใจ ที่ไม่น่ารักไม่พอใจก็โกรธก็เกลียดก็กลัว มันก็เกิดตัณหาไปตามแบบของเวทนาเกิดความรู้สึกว่าตัวเราขึ้นมาโดยสมควรแก่ตัณหา แล้วมันก็มีตัวเราสำหรับจะเป็นทุกข์ ทั้งหมดนี้มันอยู่ที่ว่ามันไม่เห็นความจริงว่ามันเป็นเช่นนี้เอง ฉะนั้นถ้าจะสรุปให้สั้นกันแล้วก็ไปรู้จักในข้อที่ว่ามันเป็นเช่นนี้เองให้มากๆ ถ้ามันมีอะไรเกิดขึ้นแล้วก็อย่าลืมคำว่าเช่นนี้เองแล้วเราก็แก้ไขไปได้ตามที่ควรจะแก้ไข เราหลบหลีกไปได้ตามที่ควรจะหลบหลีกก็จะไม่เป็นทุกข์ เรามีปัญหาตลอดวันแหละ ที่ถ้าเราแก้ไม่ตกแล้วมันจะมีความทุกข์ เมื่อตาเห็นอะไรเข้ามันก็มีปัญหาทันที ถ้ามันเช่นนั้นเองไม่เป็นแล้วมันก็ไม่รักก็โกรธมีสองอย่างคือไม่ยินดีก็ยินร้าย หูได้ฟังเสียงก็เหมือนกันแหละมันต้องไม่ยินดีก็ยินร้ายถ้ามันเช่นนั้นเองไม่เป็น จมูกได้กลิ่นก็เหมือนกันอีกแหละมันจะต้องยินดีหรือยินร้าย ลิ้นอร่อยหรือไม่อร่อยมันก็ต้องยินดีหรือยินร้าย ผิวหนังสัมผัสเป็นที่พอใจไม่พอใจมันก็ต้องยินดีหรือยินร้าย ปัญหามันมาสรุปอยู่ที่ว่าเป็นยินดีหรือยินร้ายมันมีสองอย่างเท่านั้น ถ้ามันไม่แสดงเป็นยินดีหรือยินร้ายมันยังไม่เป็นปัญหามันยังเฉยๆ กลางๆ มันยังไม่เป็นปัญหา แต่มันก็เป็นที่ตั้งของไอ้ความหลงใหลความสนใจอันไม่รู้จักสิ้นสุดได้เหมือนกัน แต่ที่มันเป็นปัญหาแก่เราจริงๆ ก็คือไอ้ส่วนหนึ่งมันทำให้เราหลงรักหลงยินดี ไอ้ส่วนหนึ่งทำให้หลงเกลียดหลงยินร้าย แล้วเรื่องมันก็ลุกลามต่อไปเป็นความต้องการ ถ้ามันเป็นที่พอใจก็ต้องการจะได้จะยึดครองอะไรไป ถ้าไม่ถูกใจมันก็ต้องการจะฆ่าฟันจะทำลายจะเป็นศัตรูกันทั้งนั้น มันก็มีปัญหาให้มนุษย์ต้องมีความทุกข์ นี่พระอรหันต์ก็มีจิตใจไม่เป็นอย่างนั้นอยู่เหนือความเป็นอย่างนั้น เขาเรียกธรรมะนี้ว่าเป็นโลกุตรธรรม คือบรรดาสิ่งต่างๆ ที่ทำให้เกิดปัญหาในโลกมนุษย์นี่พระอรหันต์ท่านอยู่เหนือนั้น ที่เราไม่เป็นพระอรหันต์เราก็อยู่ระดับเดียวกับสิ่งเหล่านี้ เราก็อยู่กับโลกียธรรมเราก็เป็นทุกข์คือมันทำให้ยินดียินร้าย ถ้าเราไม่ยินดี ยินร้ายเสียได้เราก็กระโดดไปอยู่ในระดับโลกุตรธรรมคือเหนือโลกแล้วก็ไม่เป็นทุกข์ ฉะนั้นเมื่อสิ่งที่มีอยู่ในโลกมันทำแก่จิตใจของเราได้ก็เรียกว่าเราอยู่ในระดับโลกียธรรม เมื่อสิ่งต่างๆ ในโลกมันไม่ทำอะไรแก่จิตใจของเราได้ก็เรียกว่าเราอยู่ในระดับสูงเหนือโลกเป็นโลกุตรธรรม เนื้อตัวร่างกายก็อยู่ที่นี่พระอรหันต์ก็อยู่ในโลกนี้ แต่ว่าจิตใจของท่านไม่อยู่ภายใต้การบีบคั้นของเรื่องต่างๆ ในโลก ทีนี้คนปุถุชนมันมีจิตใจไม่เป็นอย่างนั้นมันยังโง่มันยังหลงมันยังมีกิเลส แล้วมันก็ถูกทรมานด้วยเรื่องต่างๆ ที่มีอยู่ในโลกเขาเรียกว่าจมอยู่ในโลกเรียกว่าโลกียธรรม เรามาศึกษาเรื่องโลกุตรธรรมเพื่อจะเอาไปใช้เป็นประโยชน์อย่าให้มีความทุกข์สำหรับจะอยู่ในโลก ไอ้เรื่องจะหนีโลกมันหนีไปไม่ได้ มันต้องอยู่ในโลก เรื่องจะฆ่าตัวตายให้รู้แล้วรู้รอดไปมันก็ไม่มีประโยชน์อะไรมันไม่ได้รับประโยชน์อะไรจากการที่ฆ่าตัวตาย ฉะนั้นถ้าจะประโยชน์กันให้ได้จริงๆ ก็ไม่ต้องฆ่าตัวตายก็อยู่ในโลกโดยที่ไม่ต้องเป็นทุกข์ คือว่าโลกมันทำอะไรไม่ได้นี่เรียกว่าทรงอยู่ได้ ความหมายของคำว่าธรรมะทรงอยู่ได้ๆ นี่ธรรมะทำให้ทรงอยู่ได้ ไม่ต้องเป็นทุกข์ไม่ต้องจมลงไปในโลก ธรรมะแปลว่าทรงอยู่ได้ เราก็เรียนวิชาเรื่องทรงอยู่ได้ ไม่จมลงไปในโลกไม่จมลงไปในกองทุกข์ ก็ทรงอยู่ได้คือเหนือความทุกข์มันก็เป็นพระนิพพาน แม้ว่าเราบางทีเราก็ติคำว่านิพพานเพราะเราไม่รู้จัก แต่ที่จริงเรื่องของมนุษย์นั้นมันก็เกิดมาสำหรับจะบรรลุนิพพานคือดับความทุกข์ให้ได้ เพราะมันเกิดมาแล้วๆ มันก็มีความทุกข์อยู่ จะทำยังไงมันก็ทำต่อไปคือดับความทุกข์เสียให้ได้ นั่นแหละเรื่องที่เราต้องศึกษาธรรมะจะหาอ่านจากหนังสือก็ได้ ถ้ามันไม่พอก็ต้องเที่ยวแสวงหาจากธรรมชาติ ที่สวนโมกข์นี้สะดวกให้ความสะดวกที่จะศึกษาจากธรรมชาติทำนองเดียวกับที่พระพุทธเจ้าท่านศึกษาจากธรรมชาติ ฉะนั้นเราชอบธรรมชาติกันสักหน่อยจะได้อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติแล้วจะเข้าใจธรรมชาติเหมือนกับพระศาสดาทั้งหลายแต่หนหลัง พระพุทธเจ้าตรัสรู้ พระพุทธเจ้าประสูติกลางดิน ตรัสรู้กลางดิน สอนกลางดิน นิพพานกลางดินอย่างนี้ ถึงศาสนาศาสดาในศาสนาอื่นก็คล้ายๆ กันทั้งนั้นแหละ พระศาสดาทั้งหลายนี้อยู่กับธรรมชาติรู้ธรรมชาติ สำหรับพระพุทธเจ้าของเรานี้มันชัดเจนเหลือเกินตามประวัติที่เราจะศึกษาได้ ท่านประสูติกลางดินตามธรรมชาติ ท่านตรัสรู้นั่งตรัสรู้กลางดินตามธรรมชาติ สอนสาวกทั้งหลายก็กลางดินตามธรรมชาติ แล้วที่สุดท่านก็นิพพานกลางดินตามธรรมชาติ ฉะนั้นลองลดตัวเองลงมาอยู่ในระดับธรรมชาติกันบ้าง นี่เรามีก็จะเป็นระเบียบแล้วว่านั่งอย่างนี้ดีนั่งกลางดินนั่นนะดี คือมันนั่งในที่ๆ ประสูติของพระพุทธเจ้า ที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ที่แสดงธรรม ที่นิพพานของพระพุทธเจ้า ควรจะพอใจเมื่อนั่งกลางดิน บางคนอาจจะไม่ชอบเพราะยังไม่รู้จักว่าไอ้แผ่นดินนี้มันวิเศษอย่างไรที่มันเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า ทำไมพระพุทธเจ้าจะต้องมาประสูติกลางดิน เป็นราชามหากษัตริย์ทั้งทีทำไมไม่ประสูติบนปราสาท ต้องมาประสูติกลางดินทำไม ตรัสรู้ก็นั่งกลางดินสอนปัญจวัคคีย์เป็นต้นไปจนในที่สุดก็นั่งกลางดินนิพพานก็นอนกลางดิน ควรจะรู้จักแผ่นดินกันเสียใหม่ที่สวนโมกข์ให้ความสะดวก พอมาก็ได้นั่งกลางดินทุกที ได้เข้ามหาวิทยาลัยของพระพุทธเจ้า ถ้าคุณจะคำนวณว่าไอ้ความรู้ของพระพุทธเจ้านั้นเป็นความรู้ประเสริฐระดับมหาวิทยาลัยหรือยิ่งกว่านั้น แต่แล้วก็รู้แต่ว่ามหาวิทยาลัยของพระพุทธเจ้านั้นเขาเปิดกลางดิน ไม่บ้าเสียเงินเป็นสิบล้านร้อยล้านสร้างตึกสร้างอะไรกัน มันบ้าเปล่าๆ มหาวิทยาลัยในโลกมันเป็นอย่างนั้น มหาวิทยาลัยของพระพุทธเจ้าไม่ต้องเสียสักสตางค์หนึ่งเปิดกันกลางดิน ตัวมหาวิทยาลัยมันอยู่กลางดินมันอยู่ใต้ต้นไม้ กลางดิน เดี๋ยวนี้ก็เรียกว่าเรากำลังนั่งอยู่ในมหาวิทยาลัยของพระพุทธเจ้า อาตมามองเห็นอย่างนี้และถือหลักอย่างนี้ ไม่บ้าไปสร้างตึกเรียนราคาแสนราคาล้านมันโง่เปล่าๆ มันไม่เห็นได้อะไร ทำตามแบบของพระพุทธเจ้าใช้ตึกเรียนกลางดินนี่เปิดมหาวิทยาลัยกลางดิน นี่มาที่สวนโมกข์นี่มันสะดวกมันจะได้นั่งในตึกเรียนของพระพุทธเจ้าคือมหาวิทยาลัยกลางดิน แต่ถ้าคุณไม่ชอบมันก็คงไม่ได้รับประโยชน์อะไรเลยมานั่งอึดอัดรำคาญอยู่นี่คือเพราะว่าไม่ชอบเรื่องกลางดิน ถ้าว่าชอบกลางดินก็คิดดูให้ดีว่าเรามีจิตใจคิดเป็นอย่างไร เมื่อคุณเรียนในมหาวิทยาลัยในกรุงเทพนั่งบนตึกเรียนพุทธศาสนานั่นแหละอ่านหนังสือพุทธศาสนาบนตึก เรียนในมหาวิทยาลัยราคาเป็นล้านๆ นั่นแหละแล้วมานั่งศึกษาธรรมะกลางดินในมหาวิทยาลัยของพระพุทธเจ้านี่เรารู้สึกต่างกันอย่างไร ถ้าฉลาดสังเกตก็คงจะรู้สึกต่างกันมาก เพราะว่าใครก็ตามพอมันเดินเข้ามาในวัดพอมาถึงตรงนี้มันบอกว่าจิตใจเปลี่ยนเป็นคนละคนไปเลย อย่างนั้นมันคืออะไร เรารีบศึกษาในส่วนนั้นว่าทำไมพอมานั่งตรงนี้จิตใจมันเปลี่ยนผิดไปจากเมื่ออยู่ที่กรุงเทพ หรือเพียงเข้ามานั่งตรงนี้มันก็เปลี่ยนแล้วนี่เพราะเหตุอะไร ถ้าสังเกตให้ละเอียดให้ประณีตชั้นดีก็จะพบว่าเอ้า, ธรรมชาติเฟ้ยธรรมชาติมันเปลี่ยนธรรมชาติมันปรุงแต่งใหม่ปรุงแต่งแบบอื่นปรุงแต่งอย่างอื่น ถ้าอยู่ที่กรุงเทพธรรมชาติมันปรุงแต่งไปรูปที่กระตุ้นๆ ให้มันวุ่นวาย พอมาถึงตรงนี้ธรรมชาติมันเปลี่ยนเป็นปรุงแต่งให้หยุดให้เย็นให้สงบ มันเดินกันคนละทางมันสวนทางกันอยู่อย่างนี้ ฉะนั้นพอเรามาอยู่ใต้อิทธิพลของธรรมชาติอย่างนี้มันก็เปลี่ยนหมด ฉะนั้นรีบศึกษาไอ้การเปลี่ยนนั้นให้ดีๆ ว่าเอ้า, มันเปลี่ยนยังไง มันก็เปลี่ยนในทำนองว่าอย่างที่พระพุทธเจ้าท่านสอนนั่นแหละ มันเปลี่ยนเป็นให้จิตใจมันเกลี้ยงไม่มีความรู้สึกตัวกูของกู พอเข้ามาในอิทธิพลของธรรมชาติอย่างนี้จิตมันเกลี้ยงจากความรู้สึกว่าตัวกูของกูก็เลยรู้สึกสบายรู้สึกเย็นอกเย็นใจบอกไม่ถูก ก็เลยรู้ธรรมะตรงตามที่พระพุทธเจ้าท่านสอนว่ามันมีตัวกูของกูมันก็เร่าร้อนเป็นทุกข์เป็นวัฏสงสารไม่เป็นนิพพานไปได้ เวลาใดจิตมันว่างมันเกลี้ยงจากตัวกูของกู มันก็หยุดมันก็เย็นเป็นนิพพาน นิพพานชั่วขณะ นิพพานชิมลอง นิพพานตัวอย่าง แต่ก็ขอให้ได้ชิมลองนิพพานตัวอย่างก็ยังดี บางคนอาจจะมีจิตใจกระด้างถึงขนาดที่ไม่มีโอกาสจะชิมลองนิพพานตัวอย่างเสียก็ยังมี สวนโมกข์ก็ช่วยอะไรไม่ได้ ฉะนั้นเราให้ความสะดวกในการที่จะใกล้ชิดกับธรรมชาติ แล้วธรรมชาติก็แวดล้อมจิตใจให้ปรุงแต่งจิตใจให้ใหม่ เราก็รีบศึกษาให้ดีๆ อันนี้เรียกว่าศึกษาภายในศึกษาจากธรรมชาติ ศึกษาภายนอกจากหนังสือจากฟังคนๆพูดนี้ไม่ดี ไม่ดีเท่ากับศึกษาจากภายในอาตมายืนยันว่าอย่างนี้ เพราะพูดให้ฟังนี้ก็ไม่ดีไปกว่าที่จะศึกษาจากภายในว่าจิตใจมันเปลี่ยนอย่างไรแล้วให้รู้จักสิ่งนั้นเรื่องนั้นหรือข้อเท็จจริงอันนั้น นั่นนะเรียกว่าศึกษาจากภายในรู้ธรรมะจริงรู้จากธรรมชาติศึกษาจากธรรมชาติเหมือนที่พระพุทธเจ้าท่านศึกษา ขอให้ใช้ประโยชน์ในส่วนนี้ให้มากอย่าให้เสียทีที่มาเสียเวลาเสียเงินเสียทอง มาแล้วไม่เข้าถึงธรรมชาติไม่เข้าถึงมหาวิทยาลัยของพระพุทธเจ้าคือตัวธรรมชาติ ให้ธรรมชาติช่วยทำให้เข้าถึงมหาวิทยาลัยของพระพุทธเจ้าคือธรรมะที่มันดับทุกข์ได้ ให้จิตดำรงอยู่ได้อย่าให้กิเลสข่มขี่จิตไสหัวมันไปหาความทุกข์เลยอย่างนั้นเรียกว่ามันล้มละลาย ถ้ามันอยู่ได้มันก็ทรงอยู่ได้ไม่มีกิเลสไหนจะมาบังคับให้ไปหาความทุกข์ได้เรียกว่าทรงอยู่ได้ดำรงอยู่ได้นี่ตัวธรรมะแท้ ความหมายของคำว่าธรรมะแปลว่าทรงตัวอยู่ได้ไม่ล่มไม่จมไม่ละลายลงไปในกองทุกข์เลยรู้จักดำรงจิตอย่างนี้เรียกว่ามีธรรมะ นี่วันนี้เราพูดอะไรกันไม่ได้มากนอกจากความหมายของคำว่าธรรมะ ธรรมะคือความที่มันทรงตัวอยู่ได้ไม่ล้มละลายลงไปในกองทุกข์หรือไม่ตายนั่นมันอย่างเลวมากทำผิดจนถึงกับตายมันอย่างเลวมากไม่มีธรรมะอย่างเลวมาก จึงไม่ตายแต่ว่าได้รับความทุกข์นี่ยังใช้ไม่ได้ต้องดำรงตัวอยู่ได้โดยความทุกข์ไม่มี ความทุกข์ครอบงำไม่ได้นี่เป็นธรรมะชั้นดีชั้นที่ควรจะพอใจ ไม่ต้องเป็นทุกข์เป็นมนุษย์ที่ไม่ต้องเป็นทุกข์เรียกว่าไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์และพบพระพุทธศาสนา ถ้าทำให้มันไม่มีประโยชน์มันเสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์ทั้งที่ได้พบพระพุทธศาสนาเรียกว่าขาดทุนสิ้นเนื้อประดาตัว รีบปรับปรุงแก้ไขกันเสียใหม่อย่าให้มันต้องขาดทุนถึงขนาดนั้นให้มันมีกำไรมากที่สุด คือมันได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้นั่นเป็นกำไรมากเหลือเกิน เพราะสิ่งนั้นมันแพงจนตีราคากันไม่ไหว ก็จึงขอให้ได้เค้าเงื่อนของสิ่งที่เรียกว่าธรรมะ แม้ที่สุดแต่ว่าเห็นเค้าเงื่อนก็ยังดีแล้วมันก็จะเป็นไปอย่างถูกต้องว่าธรรมะนี้คืออะไร เราก็จะมีธรรมะได้มากขึ้นๆ โดยความหมายที่สำคัญคือหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติว่าเราจะต้องทำอย่างนั้นๆ แล้วความทุกข์ก็จะไม่มีเลย เอาละเป็นอันว่าอาตมาก็ได้สนองความตั้งใจของท่านทั้งหลายในการมาถึงที่นี่ โดยพูดถึงคำว่าธรรมะให้รู้ว่าธรรมะนั้นคืออะไร พอสมควรแก่เวลาแล้วก็ต้องขอยุติการบรรยายนี้ไว้ด้วยความหวังว่าท่านทั้งหลายจะรู้จักธรรมะยิ่งๆ ขึ้นไปแล้วก็เจริญไปตามร่องรอยของธรรมะมีความสุขในการมีชีวิตอยู่ทุกทิพาราตรีกาลเทอญ