แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านสาธุชนท่านหลาย ทั้งที่เป็นผู้เฒ่าผู้แก่ เป็นนักศึกษา เป็นเด็กนักเรียน ดังที่เห็นกันอยู่รวมกันมาเพื่อจะฟังธรรมะบรรยายในที่นี่ เผอิญมาพร้อมกันหลายคณะจึงมาก ก็ควรจะยินดี สิ่งที่อาตมาคิดว่าจะพูดกันนี้ ก็จะต้องเป็นสิ่งที่ท่านทั้งหลายต้องการ อาตมาก็ยังไม่แน่ใจว่าท่านทั้งหลายต้องการอะไร ก็ต้องตีคลุมคาดคะเนว่าคงจะไม่ผิด ก็คือท่านทั้งหลายต้องการจะได้รับสิ่งที่เรียกว่า ธรรมะ นั่นเอง ถือว่าท่านทั้งหลายมีความสนใจในธรรม มาที่นี่ก็เพื่อจะต้องการธรรมะ ทั้งที่โดยมากก็ยังไม่ค่อยรู้ว่าธรรมะนั้นคืออะไร แต่คำๆ นี้มันศักดิ์สิทธิ์ มันพูดถึงกันอยู่ทั่วไป ก้องไปหมดทั้งบ้านทั้งเมือง จนใครๆ ก็รู้สึกว่ามันต้องเป็นของดีแน่ ถ้าไม่ดีแน่ก็คงจะไม่มีใครมาพูดถึงกล่าวถึงกันอยู่หรอกทั่วไปทั้งบ้านทั้งเมืองและตลอดเวลา เป็นอันว่าอาตมาขอถือเอาว่าท่านทั้งหลายมานี่ต้องการธรรมะ จะไม่คำนึงถึงว่าบางคนรู้ บางคนยังไม่รู้ บางคนรู้มาก บางคนรู้น้อย แต่จะขอสรุปความที่จะใช้ได้สำหรับทุกคน ให้ถือเสมือนหนึ่งว่าจะเป็นของขวัญปีใหม่เพราะอีก ๒ – ๓ วันก็จะถึงวันปีใหม่แล้ว ก็ถือโอกาสเสียเลยว่า จะให้ความรู้ในวันนี้ในฐานะเป็นของขวัญสำหรับวันปีใหม่ นั่นก็คือสิ่งที่เรียกว่า ธรรมะ อีกนั่นเอง ให้ธรรมะในฐานะเป็นของขวัญสำหรับวันปีใหม่มันจะแปลกอะไร มันจะแปลกก็ตรงที่ว่า ท่านทั้งหลายจะต้องทำให้มันมีธรรมะมากขึ้นกว่าปีที่แล้วมา อย่าให้มันซ้ำซากวนเวียนเท่าเดิมอยู่เลย ให้มันก้าวหน้าไปตามลำดับ ตามเวลาที่มันล่วงไป เช่น ปีหนึ่งมันก็ล่วงไป ปีหนึ่งมันก็ล่วงไป เราจะมาย่ำเท้าซ้ำรอยอยู่นี้มันก็ไม่ไหว แล้วก็เพื่อจะให้สามารถก้าวหน้าไปไม่ต้องซ้ำรอยนั่นเองจึงต้องพูดถึงสิ่งที่เรียกว่าธรรมะนั้น ให้เป็นที่เข้าใจแจ่มแจ้งยิ่งๆ ขึ้นไป อาตมาก็เคยพูดมาหลายครั้งหลายหนแล้วว่า ธรรมะคืออะไร แต่เกรงว่าบางคนก็ยังไม่เคยได้ยิน บางคนก็ลืมเสียแล้ว บางคนก็จำได้ครึ่งๆ กลางๆ บางคนก็จำได้แต่ยังไม่เข้าใจความหมายโดยสมบูรณ์ ฉะนั้นเรามาพูดถึงสิ่งที่เรียกว่า ธรรมะ กันอีกสักครั้งหนึ่งเป็นข้อแรก ธรรมะคืออะไร เวลานี้ท่านทั้งหลายบางคนก็คงจะนึกอยู่ในใจแล้วว่า ธรรมะคืออะไร แล้วก็นึกได้ หรือนึกไปตามที่เคยได้ยินได้ฟัง หรือได้ยึดถืออยู่ เช่นว่า ธรรมะคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เป็นต้น ธรรมะคือสิ่งที่แสดงอยู่บนธรรมาสน์ ดังนี้เป็นต้น ถ้าอย่างนี้แล้วยังไม่พอ ยังไม่ถูกตัวธรรมะอันแท้จริง ธรรมะคืออะไร ขอให้ลูกหลานเหล่านี้ รวมทั้งคุณป้า คุณน้า คุณลุงทั้งหลายด้วย ช่วยจำกันไว้เป็นหลักจนตลอดชีวิตจะดีกว่า ถ้าจำไว้อย่างถูกต้องและเป็นหลักแล้วจะง่ายจะสะดวกแก่การที่จะมีธรรมะยิ่งๆ ขึ้นไปทุกปีทุกปี เมื่อถามว่าธรรมะคืออะไร จงตอบว่า ธรรมะคือการกระทำที่ถูกต้อง คือการกระทำที่ถูกต้อง ถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ของตนทุกขั้นทุกตอนแห่งวิวัฒนาการ ช่วยจำกันไว้ให้แม่นยำ เป็นบทจำกัดความ เป็นบทนิยามว่า ธรรมะคือการกระทำที่ถูกต้อง ถูกต้องแก่อะไร ถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ ความเป็นมนุษย์ของใคร ของแต่ละคนละคน แล้วถูกต้องอย่างไร ถูกต้องทุกๆ ขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการของตนของตน กล่าวอีกครั้งหนึ่งว่า ธรรมะคือการกระทำที่ถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ของตน ทุกขั้นทุกตอนแห่งวิวัฒนาการของเขา นี่มันคงจะแปลกจากที่ท่านเคยได้ยินได้ฟังหรือถืออยู่ว่า ธรรมะคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ธรรมะคืออย่างนั้นอย่างนี้อีกมากมาย แต่ถ้าจะให้สำเร็จประโยชน์แล้ว ก็จะต้องรู้ว่าธรรมะนั้นเป็นตัวการประพฤติกระทำลงไปจริงๆ ไม่ใช่เป็นเพียงความรู้ แต่มันก็รวมอยู่ด้วย เพราะว่าการที่เราจะประพฤติกระทำอะไรลงไปนั้น เราต้องรู้เรื่องนั้น ฉะนั้นเราจึงถือว่ามันรวมอยู่ในการกระทำที่ถูกต้อง ก็มันยืนยันอยู่แล้วว่าที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นมันก็จะต้องมีความรู้มาแล้วตามสมควร เอาความรู้นี้มารวมไว้ในการประพฤติหรือกระทำ ให้เป็นการกระทำที่ถูกต้อง ท่านก็จะต้องมีการศึกษามาพอสมควร จึงจะมีการกระทำที่ถูกต้อง นี้ถูกต้องนั้นมันจำกัดลงไปว่า ถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ของเรา ถูกต้องแก่สิ่งอื่นมันไม่มีประโยชน์อะไรมันป่วยการ มันถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ของเราของตัวเอง นี้ถูกต้องอย่างไร ก็ถูกต้องทุกๆ ขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการ คนเรามีวิวัฒนาการเรื่อยไม่มีหยุด ตั้งแต่คลอดจากท้องแม่ ทุกๆ ชั่วโมงมันก็วิวัฒนาการเรื่อยมาจนบัดนี้ อยู่ในสภาพอย่างนี้ มันเป็นวิวัฒนาการ แล้วยังจะวิวัฒนาการต่อไปต่อไป จนกว่าจะได้เข้าโลงกัน นี่เอาเฉพาะในชาตินี้ เราก็มีวิวัฒนาการอย่างนี้ แบ่งได้เป็นขั้นตอน เช่นว่า เป็นปฐมวัยเด็กๆ เป็นมัชฌิมวัยเป็นผู้ใหญ่ เป็นปัจฉิมวัยเป็นคนแก่คนเฒ่า เอาสัก ๓ ตอนก็พอจะมองเห็นได้ นี้มันต้องถูกถูกต้องทุกขั้นตอนของวิวัฒนาการ ในวัยเด็กก็ต้องมีความถูกต้องเต็มที่ ในวัยผู้ใหญ่ก็ถูกต้องเต็มที่ ในวัยคนแก่คนเฒ่าก็ถูกต้องเต็มที่ นี่เรียกว่าถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ทุกขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการ นี้เราจะต้องมีการประพฤติกระทำชนิดนั้น ให้ได้ผลอย่างนั้น นี้มันเป็นคำตอบแต่เพียงว่า ธรรมะคืออะไร โดยหลักใหญ่ก็คือการกระทำที่ถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ของตนของตน ทุกขั้นทุกตอนแห่งวิวัฒนาการของตนของตน ท่านทั้งหลายกลับไปแล้วจงทดสอบ จงใคร่ครวญดู ว่าเรากำลังมีวิวัฒนาการถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ของเราทุกขั้นตอนหรือไม่ จะแบ่งให้ละเอียดลงไปก็ได้ว่า มีอายุ ๑ ปี มีอายุ ๒ ปี มีอายุ ๓ ปี กระทั่งเดี๋ยวนี้มีอายุ ๑๕, ๑๖ ปี ๒๐ ปี ๓๐ ปี ๕๐ ปี ๖๐ ปี นี่เป็นขั้นตอนไป ทดสอบดูว่าที่แล้วมาแต่หลังนั้นมีความถูกต้องหรือไม่ หรือต้องนั่งเช็ดน้ำตาหัวเข่าบ่อยๆ หรือว่าต้องทำความยุ่งยากลำบากให้แก่บิดามารดา เพื่อนบ้านเรือนเคียงอยู่บ่อยๆ นั่นมันยังไม่ใช่ความถูกต้อง จะต้องทดสอบด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่เข้าข้างตัวเอง ไม่เห็นแก่ตัวเอง อย่างที่ว่ามันไม่เป็นธรรม มันต้องให้ความเป็นธรรมแก่พระธรรม หลักของพระธรรมมีอย่างไร มีความถูกต้องอย่างไรต้องเป็นอย่างนั้น คำว่าความถูกต้องนี้เถียงกันได้มากมายไม่รู้จักจบ แต่ที่มันจะจบได้ก็มีการบัญญัติว่า ถ้ามันถูกต้องจริง มันก็พิสูจน์ความมีประโยชน์ นี่ขอให้ลองคิดดู ถ้ามันถูกต้องจริง มันต้องพิสูจน์ความมีประโยชน์ ประโยชน์แก่ใคร ก็ประโยชน์แก่ผู้นั้นและผู้อื่นรอบๆ ตัวเขา ถ้ามันเกิดประโยชน์แก่ตัวผู้นั้นและแก่ผู้อื่นรอบๆ ตัวเขานี่จะเรียกได้ว่าถูกต้อง ถ้าไม่อย่างนั้นมันไม่ถูกต้องแหละ แม้ให้ใครมาบอกจะกี่ร้อยคนว่าถูกต้องมันก็ไม่ถูกต้องไปได้ ต่อเมื่อมันพิสูจน์ความมีประโยชน์ทั้งแก่ตนและแก่ผู้อื่นนั้นจึงจะเรียกว่าถูกต้อง ถูกต้องแก่เราก็คือเรามีความสุข เรียกว่าเป็นคนไม่มีปัญหา ไม่มีความทุกข์ อยู่ด้วยความสงบสุขเป็นที่พอใจของตน นี่เรียกว่ามันเป็นความถูกต้องแก่เรา นี้แล้วความมีชีวิตอยู่ของเรานั้น มีการกระทำอะไรบางอย่างพร้อมๆ กันไป แล้วก็เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น หรือเป็นการช่วยเหลือผู้อื่นพร้อมกันไป จนเพื่อนมนุษย์ข้างเคียงของเราก็พลอยได้รับประโยชน์เป็นความสุขด้วย นี่เรียกว่าส่วนตัวเราก็มีสันติสุข ส่วนคนทั้งหลายทั้งปวงก็มีสันติภาพ เรียกว่ามันมีเพียงเท่านี้แหละ มันไม่มีอะไรอื่นที่จะมากไปกว่านี้ เรามีสันติสุขโลกนี้หรือโลกไหนก็ตามก็มีสันติสุข กระทั่งถึงบรรลุมรรคผลนิพพานก็ยังเรียกว่ามีสันติสุข นี่ทุกคนในโลกพลอยมีสันติสุขก็กลายเป็นโลกที่มีสันติภาพ เรามีสันติสุข สังคมมีสันติภาพ มันก็ควรจะพอใจแล้ว มันสูงสุดกันอยู่ที่นี่ ที่ตรงนี้ เดี๋ยวนี้เราเป็นอย่างไร เรายังมีสันติสุขหรือว่าอะไรก็ลองคิดดู แต่ละคนก็ล้วนแต่มีของตน มันสุขเย็นหรือสุกไหม้ มันมีข้อที่ต้องพิจารณาอย่างนั้น ถ้าสุข “ข” สะกด มันก็เป็นสุขเย็น เยือกเย็น แต่ถ้าเป็นสุก “ก” สะกดมันก็สุกไหม้ เอาไฟมาเผาให้สุก คงจะไม่มีชีวิตเหลือแล้วถ้ามันสุกไหม้ นี่เรามีสุขเป็นที่พอใจอยู่ทุกวันทุกคืนหรือเปล่า หรือยังมีความอึดอัดขัดใจเหมือนกับไฟเข้าไปอยู่ในอกในใจบ้างหรือเปล่า ไฟเหล่านี้ก็คือ ความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ความอิจฉาริษยา ความวิตกกังวล ความโง่เขลา ไม่มีอะไรที่เป็นที่พอใจของตนเอง เหล่านี้ข้อใดข้อหนึ่งเท่านั้นแหละ ถ้ามันเกิดขึ้นในใจแล้วมันก็รุมใจให้ร้อน มันเป็นสุก “ก” สะกด นั้นใครมีสุก “ก” สะกด ใครมีสุข “ข” สะกด ก็ขอให้พิจารณาตัวเอง โลกนี้มันกำลังเป็นโลกของความเครียด ตึงเครียดไปหมดในแง่ของสุขภาพก็ดี ในแง่ของเศรษฐกิจก็ดี การบ้านการเมืองก็ดี อะไรมันเครียดกันไปหมด มีความเครียดส่วนบุคคล มีความเครียดรวมกันเป็นพรรคพวก ต่อสู้แข่งขันแย่งชิงทำลายล้างกันด้วยความอิจฉาริษยา ความอาฆาตมาดร้าย นี่เรียกว่าโลกมันยังไม่ไม่มีอะไรที่งดงาม ที่น่าชื่นใจ อย่างที่เราก็อ่านข่าวหนังสือพิมพ์อยู่ทุกวัน ว่ามันกำลังมีสงครามอยู่ในโลก มีการเบียดเบียน อดอยากลำบาก ระส่ำระสายอยู่ นี่ส่วนบุคคลแต่ละคนละคน มันก็ยังเป็นโรคทางวิญญาณกันอยู่ คือไม่มีจิตใจที่สะอาด สว่าง สงบ เย็น มีจิตใจที่วิตกกังวล หวาดกลัว หวาดกลัวไปไม่เท่าไรมันก็เป็นโรคประสาท วิตกกังวลไปไม่เท่าไรมันก็เป็นโรคกระเพาะเรื้อรังรักษาไม่หาย วิตกกังวลไปไม่เท่าไรมันก็ต้องเป็นโรคความดันสูง เป็นโรคเบาหวาน เพราะว่าจิตใจมันระส่ำระสาย ระบบประสาทกระทบกระเทือน ร่ายกายมันผิดปกติ มันใช้น้ำตาลไม่หมด มันก็เป็นโรคเบาหวานอย่างนี้ ท่านไม่คิดกันเสียเลยว่าไอ้โรคทางร่างกายนั้นนะ มันมีสมมติฐานมาจากความไม่ถูกต้องในทางจิตใจ จิตใจเต็มไปด้วยวิตกกังวล หวาดกลัว นี้มันมันผิดไปแล้วในทางจิตใจ ผิดไปแล้วในทางระบบประสาท มันทำให้โลหิตที่หล่อเลี้ยงร่างกายของเราผิดไปด้วย นี่เป็นโรคกระเพาะ นี่ก็เป็นโรคใช้น้ำตาลไม่หมด เป็นโรคเบาหวาน มันก็มีโรคกินเนื่องๆ กันไป เช่น มีความดันสูงซึ่งเป็นโรคของมนุษย์สมัยนี้ ร้ายกาจเลยไปก็เป็นโรคมะเร็ง เป็นวัณโรค เพราะว่าไอ้โลหิต ระบบโลหิตมันไม่ถูกต้อง มันไม่มีกำลังเพียงพอที่จะต่อสู้เชื้อโรค โลหิตมันถอยกำลังเพราะว่าจิตใจมันทุพพลภาพ เพราะจิตใจมันอยู่ด้วยความวิตกกังวล เครียด หวาดกลัว หิวกระหาย โดยทางจิตใจ ไม่มีเวลาที่ว่าจะรู้สึกอิ่ม นี่โรคทางจิต หรือโรคทางวิญญาณเป็นต้นเหตุแห่งโรคทางกายทุกประการที่เรากำลังมีกันอยู่ในโลก ขอให้ไปใคร่ครวญดูว่านี่คือความไม่มีธรรมะ ถ้ามีธรรมะไม่มีวิตกกังวล ไม่มีหวาดกลัว ไม่มีความเครียด ไม่มีความทรมานในทางจิตทางใจ เพราะว่าธรรมะช่วยให้ขจัดออกไปเสียได้ การประพฤติทางจิตใจที่ทุกต้องนั้นนะ ช่วยขจัดสิ่งเหล่านี้ออกไปเสียได้ ก็มีจิตใจปกติ มีจิตใจสะอาด สว่าง สงบ แล้วโรคทั้งหลายมันก็ไม่อาจจะเกิดขึ้น เพราะระบบจิตใจดี ระบบไหลเวียนของโลหิตดี ระบบย่อยอาหารดี อะไรมันก็ดี ธรรมะไม่ใช่เป็นแต่เรื่องทางจิตทางวิญญาณอย่างเดียว ธรรมะเป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องมาถึงทางกาย ทางเนื้อ ทางหนังด้วย กระทั่งทางวัตถุภายนอก บ้านเรือน สมบัติพัสถาน วัว ควาย ไร่นานี่ มันเกี่ยวเนื่องมาถึงด้วย คือมันต้องมีความถูกต้องในสิ่งเหล่านั้นด้วย มีการเป็นอยู่ การกินอยู่ การนุ่งห่ม การใช้สอย การอะไรต่างๆ ในทางภายนอกนั้นมันก็ถูกต้องด้วย ร่างกายมันก็ถูกต้องด้วย จิตใจมันก็ถูกต้องด้วย วิญญาณคือสติปัญญามันก็พลอยถูกต้องไปด้วย เราอยู่ด้วยความถูกต้องทั้งหมด นับตั้งแต่แผ่นดินที่อยู่อาศัยมาถึงบ้านเรือนรถราอะไร แล้วก็มาถึงร่างกายเรา มาถึงจิตใจของเรามีวิญญาณ สติปัญญาของเรามันถูกต้องไปหมด โดยอาศัยสิ่งที่เรียกว่าธรรมะ ฉะนั้นขอให้สนใจว่า จะมีธรรมะกันได้อย่างไร เมื่อรู้ว่าธรรมะคืออะไร จำเป็นอย่างไรแล้ว เราก็จะต้องดูกันต่อไปว่า เราจะมีธรรมะกันได้อย่างไร ขอย้ำอีกทีบางคนอาจจะลืมแล้ว ธรรมะคือการกระทำ ประพฤติกระทำที่ถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ทุกขั้นทุกตอนแห่งวิวัฒนาการของเขา นี่คือธรรมะ ทั้งทางกาย ทั้งทางวาจา ทั้งทางจิตใจ ทางวิญญาณ ทั้งหมดทั้งสิ้นทุกประการจะต้องมีความถูกต้อง เดี๋ยวนี้มันจะมีความรู้ความถูกต้องนี้ได้อย่างไร มันก็ต้องอาศัยการฟังในครั้งแรก เราไม่ต้องการให้เชื่อทันที ได้รับฟังอะไรมาก็ใคร่ครวญดูว่ามันน่าลองดูไหม น่าลองทำดูไหม ถ้าน่าลองทำก็ลองทำดู ถ้ามันได้ผลมันก็เป็นเชื่อแน่ว่านี่เป็นธรรมะแน่ เป็นธรรมะที่ควรยึดถือเป็นหลักเป็นที่พึ่งแน่ อาตมาอยากจะสรุปความสั้นๆ ว่า ทำอย่างไรจะมีธรรมะ ก็ขอให้ช่วยจดช่วยจำไว้ให้ดีๆ โดยเฉพาะลูกเด็กๆ ที่นั่งเขียนทรายนี้ ช่วยจำไว้ให้ดีๆ เขียนทรายก็เขียนให้เป็นข้อความที่กำลังพูดจะดีกว่า
ข้อแรกจะต้องมีความรู้จักตัวเอง หนึ่งจะต้องรู้จักตัวเอง เดี๋ยวนี้รู้จักตัวเองไหม เรารู้จักตัวเองไหม คนแก่ๆ ใกล้จะอวสานชีวิตอยู่แล้วนี่รู้จักตัวเองหรือยัง ว่าเรามันคืออะไร ตัวเองคืออะไร ชีวิตคืออะไร นี่ถ้าไม่ใช้สติปัญญามาแต่แรกแล้ว แม้คนแก่ๆ อายุ ๘๐ ปีแล้วก็ยังไม่รู้จักตัวเอง เพราะเขาไม่เคยคิด ไม่เคยนึก ไม่เคยตั้งข้อสังเกต การที่รู้จักตัวเองก็ขอให้มองย้อนหลัง อายุเท่าไรก็ตามใจ ขอให้มองย้อนหลังไปถึงเท่าที่จะจำความได้ แล้วมันเป็นมาอย่างไร มันจะพบแต่ว่ามันเต็มมันเต็มไปด้วยความระหกระเหิน ความต่อสู้กันระหว่างความผิดๆ ถูกๆ นี่เรื่อยมา แล้วก็ยังไม่มองเห็นตลอดไปข้างหน้าว่าจะไปกันที่ไหน เกิดมาแต่ไหน จะไปที่ไหนก็ยังไม่รู้ แล้วไม่ต้องคิดให้มันมากนะ เอาแต่เพียงว่าไอ้เรานี่มันเป็นอะไร ว่าเป็นมนุษย์ รู้จักว่าเป็นอย่างไร เดี๋ยวนี้เป็นผู้หญิง หรือเป็นผู้ชาย เป็นเด็ก หรือเป็นผู้ใหญ่ ขอให้อาศัยการศึกษาช่วยให้รู้ว่าเราเป็นมนุษย์ มีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติให้ได้รับประโยชน์จากการเป็นมนุษย์กันเต็มที่ อย่าให้เสียทีที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์และพบพระพุทธศาสนาเลย รู้จักตัวเองว่าเป็นมนุษย์นี่ไม่ใช่เล็กน้อย ความเป็นมนุษย์นี่มันก็อธิบายยากเหมือนกัน แต่ที่เขาจำกัดความไว้ให้นี่ก็ว่าจิตใจมันสูง มนุษย์แปลว่าจิตใจสูง เมื่อจิตใจสูงมันก็มันก็เป็นทุกข์ไม่ได้ มันอยู่เหนือปัญหา เหนือความทุกข์ เหนืออะไรทุกๆ อย่าง ถ้าจิตใจมันต่ำ มันไม่สูง มันก็อยู่ใต้ปัญหา อยู่ข้างใต้ความทุกข์ มันก็ต้องเป็นทุกข์ เมื่อเป็นทุกข์มันก็ไม่น่าดู มันน่าเกลียดน่าชัง มันก็ต้องอยู่สูงเหนือปัญหาเหนือความทุกข์ เป็นผู้มีความหมายเหมือนกับพระพุทธเจ้า สำหรับพวกเรานะเอาหลักพระพุทธเจ้าเป็นหลัก ศาสนาอื่นเขาก็เอาศาสนาอื่นเป็นหลัก เราศาสนาพุทธก็เอาศาสนาพุทธเป็นหลัก พุทธ แปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ความจริง พุทธ คำนี้รากศัพท์แท้ๆ มันแปลว่าผู้ตื่น ที่แปลว่า ผู้รู้ ผู้เบิกบาน เพิ่มเข้าไปนั้นนะมันชั้น ๒ ชั้น ๑ แท้ๆ พุทธ นี่แปลว่า ผู้ตื่น ไม่ใช่ตื่นตื่นขลาดกลัว ตื่นตูม อะไรไม่ใช่ คือว่าตื่นจากหลับ เมื่อหลับอยู่ยังไม่ใช่พุทธ เมื่อตื่นแล้วจึงจะเรียกว่าพุทธ จะโดยภาษาคนนี้ก็ได้ ถ้ายังหลับอยู่ มันก็ไม่ไม่ไม่หลับอยู่นี่ กรนอยู่นี่ มันก็ไม่เป็นพุทธ พอตื่นขึ้นมา ไม่หลับ จากหลับนั้นจึงจะเป็นพุทธ ตื่นหรือหลับอย่างภาษาคนอย่างนี้ก็ได้ แต่ตื่นหรือหลับที่ดีกว่านั้นคือในภาษาธรรม ความหลับนั้นคือความโง่ อวิชชาเป็นความหลับ กิเลสนั่นนะคือความหลับ (น. 26.36) นี่เอากิเลสออกได้ก็เป็นความตื่น คือตื่นจากกิเลส ตื่นออกมาเสียจากความหลับคือกิเลส กิเลสนิทรา กิเลสนิทรา ความหลับโดยกิเลส นั่งอยู่ที่นี่จะกำลังหลับโดยกิเลสอยู่ก็ได้ระวังให้ดี กิเลสนิทราเป็นภาษาในพระคัมภีร์ หลับของกิเลส หลับโดยกิเลส หลับด้วยกิเลส ต้องตื่นออกมาเสียจากความหลับชนิดนี้ จึงจะเรียกว่าพุทธ ภาษาธรรมดาก็คือตื่นนอน อย่างที่เรานอนหลับประจำวันแล้วก็ตื่นขึ้นมาก็เรียกว่าพุทธอยู่แล้วโดยภาษาบาลี แต่พุทธในทางภาษาธรรมะนี่ ก็หมายถึงตื่นจากหลับ ลึกซึ้งไปกว่านั้นคือหลับไปด้วยอำนาจของกิเลส นี้คำว่ารู้ ว่าเบิกบานนั้นมันตามมาเอง ถ้าเราไม่หลับเราก็รู้สึกตัวคือรู้ เมื่อเรารู้ถูกต้อง เราก็ไม่ต้องเป็นทุกข์เป็นร้อน เราก็เบิกบาน แสดงความสุข ความพอใจ นี่คือพุทธ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เป็นความหมายของคำว่าใจมันสูง มนุษย์ใจมันสูง ใจมันสูงตามแบบของพระพุทธเจ้า คือเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน นี้ของให้เรารู้จักตัวเองกันอย่างนี้ทุกคนเถอะ จะเป็นลูกเล็กผู้ใหญ่ผู้เฒ่าอะไรก็ตาม จงรู้ว่าเราเป็นมนุษย์นะ อย่าเป็นอะไรให้มันน้อยไปกว่ามนุษย์ จะเป็นมนุษย์ก็ต้องมีความรู้ มีความตื่น มีความเบิกบาน อ้าว, ยุติกันทีที่ว่าเรารู้จักตัวเราเองแล้วว่าเราเป็นมนุษย์ นี่เขาเรียกว่ารู้จักตัวเอง ถ้าจะมีธรรมะกันให้ได้ ข้อแรกที่สุดต้องรู้จักตัวเองเสียก่อนว่าเราเป็นอะไร เรามีความรู้ความเข้าใจถูกต้องเรียกว่ามีปัญญา มีสัมมาทิฏฐิ แล้วเราก็รู้ว่าตัวเรานี้เป็นมนุษย์ ก็ต้องทำอย่างมนุษย์ เป็นมนุษย์ให้ให้เต็มตามความหมายคำว่ามนุษย์ ข้อที่ ๑ จึงพูดว่ารู้จักตัวเอง
ที่นี้ข้อที่ ๒ เราจะเชื่อตัวเอง ไอ้คำว่าเชื่อตัวเองนี่มันมีความหมายกำกวม ถ้ามันมีความโง่มันก็เชื่ออย่างผิดๆ ถ้ามีปัญญามันก็เชื่ออย่างถูกๆ แต่คำพูดในที่นี้หมายถึงเชื่อในทางที่มันถูก เชื่อสมกับที่เป็นมนุษย์ คำว่าศรัทธาในพระพุทธศาสนานี่อธิบายได้หลายความหมาย เชื่อกรรม เชื่อผลแห่งกรรม เชื่อความที่ต้องรับผลกรรม เชื่อการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า คราวนี้ก็ยังไม่พอที่มันจะต้องมาอยู่มารวมอยู่ที่เชื่อตัวเอง เชื่อตัวเอง ถ้ามันไม่มีความเชื่อตัวเองแล้ว มันจะเชื่ออื่นๆ ไปไม่ได้ ทีนี้เราต้องมีความเชื่อตัวเอง ศรัทธาในตัวเองว่าเราเป็นมนุษย์แน่ นี่ใครเชื่อยัง ใครเชื่อว่าตัวเองเป็นมนุษย์แน่หรือยังหรือยังลังเลอยู่ เชื่อตัวเองว่าเราเป็นมนุษย์แน่นะ ถ้าเชื่อว่าเราเป็นมนุษย์แน่ เราจะต้องเชื่อต่อไปว่าเราต้องทำได้อย่างมนุษย์นะ ถ้าเราทำไม่ได้อย่างมนุษย์ มันก็ไม่เป็นมนุษย์หรอก เราก็ไม่มีความเชื่อตัวเองที่ตรงไหนได้ จะไม่เรียกว่าเชื่อตัวเองที่ตรงไหนได้ ถ้าเชื่อตัวเองก็หมายความว่าเชื่อว่าฉันเป็นมนุษย์แน่ แล้วฉันต้องทำได้อย่างที่มนุษย์ทำได้ อะไรล่ะที่มนุษย์ทำได้ ฉันเชื่อว่าฉันต้องทำได้ ในตัวฉันเดี๋ยวนี้มีความพร้อมที่จะทำให้ได้ในการที่จะเป็นมนุษย์ให้สมบูรณ์ ใครมีความเชื่ออย่างนี้บ้างแล้วหรือยัง ก็ไปทดสอบตัวเองดูก็แล้วกัน ถ้ามีแล้วก็เป็นอันว่าใช้ได้ มีธรรมะข้อที่ ๒ คือเชื่อตัวเอง ทีแรกรู้จักตัวเองว่าเป็นมนุษย์ ข้อ ๒ เชื่อตัวเองว่าเป็นมนุษย์และทำได้ตามที่มนุษย์จะต้องทำ อย่ามาอย่ามัวขี้ขลาด อย่ามัวขี้เกียจ อย่ามัวเหลวไหลโลเล ไม่มีความแน่วแน่อยู่อย่างนี้
ทีนี้ข้อที่ ๓ มันต้องบังคับตัวเอง เมื่อเชื่อว่าเป็นมนุษย์และทำได้อย่างมนุษย์ก็ต้องบังคับให้ทำสิ อย่าเชื่ออยู่เฉยๆ สิ บังคับให้มันลงมือทำ มันไม่อยากจะทำ กิเลสมันไม่อยากให้ทำ ความเหลวไหลมันไม่อยากให้ทำ เราต้องบังคับตัวเองให้ทำให้จนได้ คำสอนของพระพุทธเจ้ารวมอยู่ในการบังคับตัวเอง คือบังคับกิเลสนั่นแหละ ที่ว่าตัวเองในที่นี้ถ้ายังเป็นคนธรรมดา เป็นปุถุชนคนธรรมดา มันก็มีตัวเองเป็นกิเลส ก็ต้องบังคับตัวเอง บังคับกิเลส คือด้วยจิตฝ่ายที่ไม่ใช่กิเลส จิตฝ่ายที่เป็นโพธิ เป็นสติปัญญา จะต้องก่อรูปขึ้นมาบังคับไอ้จิตฝ่ายที่มันเป็นกิเลส นี่เรียกว่าบังคับตัวเอง เราแบ่งตัวเราเป็น ๒ ภาค หรือ ๒ ส่วน คือส่วนต่ำส่วนที่มันจะลงต่ำนั้นมันส่วนหนึ่ง ไอ้ส่วนที่มันจะขึ้นสูงนั้นมันอยู่อีกส่วนหนึ่ง เขาเรียกว่าฝ่ายต่ำ ฝ่ายสูง ฝ่ายดี ฝ่ายชั่ว ฝ่ายผิด ฝ่ายถูก ฝ่ายบุญ ฝ่ายบาป อะไรก็แล้วแต่จะเรียก เรามันมีอยู่เป็น ๒ ส่วน ไอ้ส่วนที่มันจะถูกจะดีจะไปสูงนั่นนะมันจะต้องเกิดขึ้นและบังคับ ไอ้ฝ่ายต่ำหรือว่าจะเอาสติปัญญามาเป็นกลางๆ มาช่วยในฝ่ายสูงมาบังคับในฝ่ายต่ำ อย่างนี้เรียกว่าบังคับตัวเอง และต้องเอาจริงเอาจัง ทมะ แปลว่าบังคับตัวเอง พระพุทธเจ้าเป็นสารถีฝึกสัตว์ บังคับสัตว์ผู้มีเวไนย ผู้เป็นเวไนยสัตว์ให้เป็นไปตามคลองของพระธรรม แต่ก็ไม่พ้นจากที่เราต้องบังคับตัวเรา พระพุทธเจ้าเป็นผู้ฝึกสัตว์ แต่ก็ไม่พ้นที่เราจะต้องฝึกตัวเราเอง ท่านสอนให้เราฝึกตัวเราเอง บังคับตัวเอง คำว่า ทมะ แปลว่า ฝึกหรือบังคับ บังคับใคร บังคับตนเอง บังคับความรู้สึกฝ่ายต่ำด้วยความรู้สึกฝ่ายสูง ที่นี้เราก็มีการบังคับตัวเองกันทุกๆ คน ทุกๆ วัน ทุกๆ ชั่วโมง ทุกๆ นาที ปราศจากการบังคับตัวเองแล้วมันก็ต้องต้องผิด ต้องมีเรื่องผิด มีเรื่องพลาด มีเรื่องไปอีกทางหนึ่งนะ ไม่ไม่ไปตามทางที่ควรจะไป มันก็จะต้องเหมือนกับเดินตกร่องนะ ไม่ระวัง ฉะนั้นบังคับตัวเองให้ได้ บูชา ชอบ พอใจ การบังคับตัวเอง อย่าเห็นเป็นเรื่องไม่สนุกสิ เช่น คนไม่บังคับตัวเองมันก็สูบบุหรี่บ้าง ไปกินเหล้าบ้าง ไปทำอบายมุขนานาสารพัดอย่าง มันก็ทำไปแล้วมันก็เดือดร้อน เงินเดือนก็ไม่พอใช้ รายได้ก็ไม่พอใช้ เพราะมันไม่บังคับตัวเองเท่านั้นแหละ พอมีการบังคับตัวเอง เงินเดือนจะพอใช้ขึ้นมาทันที หรือจะปรับปรุงให้มันพอใช้ขึ้นได้ทันที ทุกอย่างมันก็จะไปในทางถูก ไม่เหไปในทางผิด แม้ว่ามันจะเจ็บปวด เราก็ต้องชอบ ในการบังคับตัวเองนี้มันต้องเจ็บปวดเป็นธรรมดา เราก็ต้องทน ต้องมีขันติ เป็นอุปกรณ์ในการบังคับตัวเอง เช่น อยากจะไปเที่ยวนี่ บังคับว่าไม่ให้ไปเที่ยว มันก็เจ็บปวดขึ้นมาเพราะการบังคับ ก็ต้องทน ทนได้ ก็เป็นการบังคับตัวเองได้ ฉะนั้นคนที่มันอยากจะเลิกบุหรี่ หลายคนมาจะเลิกบุหรี่มันไม่มีการบังคับตัวเอง มันไม่ไม่มีทางจะเลิกได้ มันต้องบังคับตัวเอง เมื่อเงี่ยนขึ้นมามันก็ต้องทน ไม่เท่าไหร่มันก็จะเปลี่ยนแปลงกลายเป็นว่าไม่เงี่ยน หรือว่าไม่ต้องทน มันก็รอดตัวไปได้ นี่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ จะอดบุหรี่ จะอดเหล้า จะอดอบายมุข ดื่มน้ำเมา เที่ยวกลางคืน ดูการเล่น เล่นการพนัน คบคนชั่วเป็นมิตร เกียจคร้านทำการงาน ไอ้ความชั่วเหล่านี้ต้องบังคับให้ออกไป ถ้าไม่มีการบังคับมันก็ไม่ออก ฉะนั้นเราก็ต้องมีการบังคับ โดยยึดถือหลักว่าเราเป็นมนุษย์ เราเชื่อว่าเราเป็นมนุษย์ เราต้องทำได้อย่างมนุษย์ ฉะนั้นเราก็ต้องทำอย่างคนโบราณเขาพูดว่า เป็นปลาหมอก็ต้องแถกไปจนเกล็ดแห้ง คือไม่ยอมถอยหลัง นี่เรียกว่าไม่ยอมถอยหลังมีการให้ไปข้างหน้าเรื่อย แม้มันจะยากก็ต้องทำ เขาวางระดับไว้ถึงกับว่าเหมือนกับบังคับช้างตกน้ำมันก็ต้องไม่ยอมไม่ท้อถอย ไอ้จิตที่มันประกอบอยู่ด้วยกิเลสนั่นเหมือนกับช้างตกมัน บังคับยาก แต่เราก็ไม่ยอมแพ้ ก็บังคับจนได้ เรียกว่าบังคับจิต หรือบังคับตนได้ นี่ข้อที่ ๓ บังคับตัวเอง ถ้าเขียน เขียนให้ถูกนะ
ข้อที่ ๑ รู้จักตัวเอง
ข้อที่ ๒ เชื่อตัวเอง
ข้อที่ ๓ บังคับตัวเอง
ที่นี้มาถึงข้อที่ ๔ หลังจากบังคับตัวเองแล้วก็ต้องพอใจตัวเอง ข้าที่บังคับตัวเองนะ ควรจะพอใจตัวเอง บังคับตัวเองได้แล้วก็ยิ่งพอใจตัวเอง ว่ามันไม่เสียชาติเกิดมาเป็นมนุษย์ เพราะเราไม่ได้เป็นสุนัข เป็นแมว เป็นไก่ เป็นอะไรอย่างนั้นนี่ เราเป็นมนุษย์นี่ เราต้องมีสติปัญญาบังคับตัวเอง เราก็พอใจในความเป็นมนุษย์ เราต้องชอบใจ พอใจตัวเอง ลองทบทวนดูให้ดีเถอะ เราเราพอใจตัวเราหรือยัง เดี๋ยวนี้เราพอใจตัวเราหรือยัง มันมีอะไรดีที่น่าพอใจบ้าง เราอาจจะรักตัวเรามาก ทั้งๆ ที่ไม่มีอะไรดี ทั้งๆ ที่มันมีอะไรที่น่ารังเกียจ เราก็ยังพอใจตัวเอง นี่มันเป็นเรื่องของกิเลส กิเลสมันก็พอใจตัวมันเอง ต้องหลังจากบังคับตัวเอง ชำระสะสางสิ่งสกปรกเศร้าหมองออกไปหมดแล้วจึงจะพอใจตัวเอง ดูกันในทางไหนมันก็ไม่มีข้อตำหนิติเตียน ก็พอใจตัวเองได้ นั่นแหละคือความสุข ความสุขนี้ถ้าเราจะพูดอย่างกำปั้นทุบดินก็พูดว่าคือความพอใจ ถ้ายังพอใจไม่ได้ ยังไม่มีความสุขนะ ให้มีเงินให้มีเงินตั้งร้อยล้านพันล้านถ้ามันไม่พอใจยังไงก็ไม่มีความสุขได้ ให้มีวิมานสักร้อยหลังพันหลัง ถ้ามันไม่พอใจมันไม่มีความสุขได้ จะมีอะไรอะไรเท่าไรก็ตามใจ ถ้าเราไม่พอไม่พอใจแล้วไม่มีความสุขได้ เมื่อตัวร่างกาย บุตร ภรรยา สามี ทรัพย์สมบัติอะไรก็ตาม ถ้าเราไม่พอใจแล้วมันไม่มีความสุขได้ ฉะนั้นความสุขมันตั้งรากฐานอยู่บนความพอใจ ทีนี้เราทำจนเราพอใจตัวเองได้ ความสุขมันก็แสดงออกมาจากความพอใจตัวเองนั่นเอง ถ้าไปหาความสุขอย่างอื่นแล้วก็ผิดหมดแหละ ไปกินเหล้า เล่นการพนัน ไปทำอบายมุขเหล่าอื่น แล้วก็เป็นสุขสุขสุข นั่นมันสุขของคนบ้า หรือมันสุก “ก” สะกด มันเผาให้ร้อนอยู่ตลอดเวลา ไอ้สุกอย่างนั้นอย่าไปเอากับมัน จงเอาความสุขเมื่อพอใจตัวเองได้ว่าเราเป็นมนุษย์ที่ถูกต้อง เราได้ทำทุกอย่างของความเป็นมนุษย์ที่ถูกต้อง เราก็พอใจ ความพอใจนั้นเป็นความสุขโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องไปคิดว่าจะเป็นสุข ตั้งท่าจะเป็นสุข บังคับให้เป็นสุขนี้ไม่ต้องไม่ต้อง ขอให้ทำอะไรชนิดที่มันเป็นที่พอใจตัวเอง ชื่นใจตัวเอง พอใจตัวเอง รักตัวเองขึ้นมา แล้วก็เป็นความสุข เหมือนกับเรามีเงินถ้าเราพอใจในเงินเราก็มีความสุข แต่เดี๋ยวนี้เรามีธรรมะ เราพอใจในความเป็นมนุษย์ของเรา เราก็มีความสุข เป็นความสุขทางธรรมะ เป็นความสุขจริง เป็นความสุขในทางวิญญาณ นี่ความสุขอยู่ที่นี่ จงทำอะไรชนิดที่ทำให้เราพอใจตัวเองได้ อยากจะสรุปความว่าให้ทำหน้าที่ของตนของตนก็แล้วกัน มนุษย์เมื่อได้ทำหน้าที่ของมนุษย์ก็พอใจตัวเอง แต่ว่าเราไม่เหมือนกันทุกคน เพราะฉะนั้นเราก็ต้องทำงานต่างกัน บางคนอาจจะต้องกวาดถนน ก็พอใจก็เป็นสุข แจวเรือจ้างก็เป็นสุข ล้างท่อสกปรกก็เป็นสุข ถ้าเราพอใจว่าเราได้ทำหน้าที่ของมนุษย์ เราเป็นมนุษย์ ไอ้กรรมมันสร้างเรามาให้ทำได้แต่เพียงเท่านี้ หรืออย่างนี้ เราก็ทำสิ มันก็เป็นหน้าที่เหมือนกัน เมื่อทำลงไปแล้วมันเป็นประโยชน์ในโลกนี้ ไอ้โลกนี้มันมีหน้าที่ตั้งร้อยอย่างพันอย่างหมื่นอย่างแสนอย่าง ใครทำหน้าที่ไหนสักหน้าที่มันก็ได้ชื่อว่าได้ทำประโยชน์แก่โลกนี้ ไม่เสียชาติเกิด เราก็พอใจว่ามีส่วนในการที่ทำให้โลกนี้มันมีสันติสุข มีสันติภาพ มีความสมบูรณ์แห่งความเป็นโลกนี้ เป็นชาวนาก็พอใจเมื่อได้ทำนา เป็นชาวสวนก็เมื่อก็พอใจเมื่อได้ทำสวน เป็นพ่อค้าก็พอใจเมื่อได้เป็นพ่อค้า เป็นนักการเงิน นักการธนาคารก็พอใจเมื่อได้เป็น เป็นทนายความก็พอใจเมื่อได้เป็น แต่ต้องถูกต้องตามตามธรรมะ ไม่ใช่เป็นอันธพาลขูดรีด ถ้าเป็นพ่อค้าอันธพาลขูดรีดมันเอากำไรร้อยเปอร์เซ็นต์พันเปอร์เซ็นต์หมื่นเปอร์เซ็นต์ ถ้าเป็นพ่อค้าที่มันคิดแต่ว่าเราเป็นเพียงพ่อค้าให้ความสะดวกสบายแก่เพื่อนมนุษย์ เอากำไรสักสิบเปอร์เซ็นต์ ยี่สิบเปอร์เซ็นต์ก็พอแล้ว อย่างนี้ไม่มีใครเดือดร้อน พ่อค้าคนนั้นก็เป็นคนที่ว่าช่วยทำโลกนี้ให้สมบูรณ์ และเป็นนักการธนาคารก็เหมือนกันแหละ มันช่วยให้โลกนี้สะดวกและสมบูรณ์เกี่ยวกับเงินทองทรัพย์สมบัติมันก็ได้บุญ เพราะทำให้โลกนี้มันสะดวกสบายนี่ แต่ถ้ามันขูดรีดเอากำไรตั้งร้อยเท่าพันเท่าหมื่นเท่าแสนเท่า มันก็เป็นคนขูดรีด มันก็ทำบาป มันก็ไม่ได้บุญ ก็จะพูดเลยไปถึงว่าเป็นทนายความ ถ้ามันเป็นทนายความที่ประกอบไปด้วยธรรมะมันก็ได้บุญ เพราะมันให้ความถูกต้องยุติธรรมในโลกแก่ผู้ที่หย่อนความสามารถที่จะทำได้มันก็ได้บุญ แต่ถ้าว่ามันเป็นทนายความขูดรีด มันเห็นแก่เงิน มันหลอกลวงทั้ง ๒ ฝ่าย อย่างนี้มันก็เป็นอะไร ก็เรียกเอาเองเถอะ มันก็ไม่รู้จะพูดว่าอะไร มันก็เป็นคนบาป เป็นสัตว์นรก เป็นอะไรได้ ไม่ว่าอาชีพไหนเมื่อทำพอดีๆ ถูกต้องตามความหมายของอาชีพนั้นแล้วจะได้บุญไปหมด กระทั่งว่าจะเป็นข้าราชการเมื่อทำหน้าที่ตรงตามความหมายก็ได้บุญด้วย เป็นครูบาอาจารย์ยิ่งได้บุญมาก ได้ยินว่ามีครูบาอาจารย์นั่งอยู่ที่นี่หลายคน เป็นนักเรียน จะเป็นครูบาอาจารย์ก็ยิ่งได้ก็มีอยู่มาก อยากจะบอกว่ามันเป็นอาชีพที่ได้บุญ ที่จริงมันเป็นอาชีพของพระอริยบุคคล เป็นอาชีพของปูชนียะบุคคล เพราะว่าครูบาอาจารย์คือผู้สร้างโลก โลกนี้จะดีจะเลวยังไง มันก็แล้วแต่ว่าครูบาอาจารย์สร้างเด็กๆ ขึ้นมาอย่างไร ถ้าครูบาอาจารย์สร้างเด็กๆ ขึ้นมาดี ก็มีผู้ใหญ่ดี โลกนี้ก็เต็มไปด้วยคนดี โลกนี้ก็มีความสุขนั่น ถ้าครูบาอาจารย์เลวสร้างเด็กๆ ขึ้นมาเลว เป็นพลเมืองที่เลว โลกนี้มันก็เลว ฉะนั้นเราควรจะถือว่าครูบาอาจารย์นี้คือผู้สร้างโลกจริงๆ ยิ่งกว่าพระเป็นเจ้าที่เขาละเมอๆ ซะอีก นี่มันเห็นอยู่ชัดๆ ไม่ต้องละเมอว่าครูบาอาจารย์เป็นผู้สร้างโลก สร้างเด็กขึ้นมาอย่างไร พลเมืองมันก็เป็นอย่างนั้น พลเมืองเป็นอย่างไร โลกมันก็เป็นอย่างนั้น นี่เพียงแต่เป็นครูให้ถูกต้องเท่านั้น มันก็ได้บุญ โดยถือเป็นหลักว่า ใครทำหน้าที่ของตนของตนอย่างถูกต้องแล้วคนนั้นได้บุญ นับตั้งแต่คนกวาดถนนขึ้นไปเป็นพระราชา มหากษัตริย์ เป็นจักรพรรดิเป็นอะไรก็ตาม ทำหน้าที่ของตนอย่างถูกต้องแล้วล้วนแต่ได้บุญ เป็นประชาชนคนหนึ่งก็ได้บุญ ทำให้โลกนี้มันสมบูรณ์ขึ้นมา เราสรุปความว่า เมื่อได้ทำหน้าที่แล้วก็ได้บุญ แล้วก็ควรจะพอใจ ถ้าไม่พอใจก็โง่เต็มที มันไม่มีอะไรจะพอควรจะพอใจแล้ว มันไม่พอใจในสิ่งที่ควรจะพอใจแล้วมันก็ไม่มีโอกาสจะพอใจนะ มันไม่มีอะไรพอใจ มันก็เป็นโรคประสาทแหละ ถ้าเราแต่ละคนไม่มีอะไรเป็นที่พอใจอยู่ตลอดเวลา มันก็เป็นบ้านะ เป็นโรคประสาท แล้วก็เป็นบ้า แล้วก็เป็นโรคจิต แล้วก็ตาย หรือว่าถ้าไม่ถึงนั้นไม่ถึงขนาดนั้นก็เป็นโรคกระเพาะเรื้อรัง เป็นโรคหลายๆ โรคที่กำลังเป็นกันอยู่นะ ไม่มีความสงบสุขได้ เพราะมันไม่ชื่นอกชื่นใจตัวเองเสียเลย ฉะนั้นขอให้นึกถึงความพอใจตัวเอง เป็นข้อที่ ๔ เป็นธรรมะข้อที่ ๔ ช่วยให้มีธรรมะข้อที่ ๔
ที่นี้ข้อสุดท้ายก็คือนับถือตัวเอง ยกมือไหว้ตัวเองได้ ที่นั่งอยู่ที่นี่ทุกคนนะ ขออภัยจะถามว่าใครมีความดีจนยกมือไหว้ตัวเองได้ ลองยกมือไหว้ตัวเองเดี๋ยวนี้ได้ไหม ที่นั่งอยู่ที่นี่ทุกคนนะใครมีรู้สึกว่ามีตัวเองมีความดีอยู่ในตัวพอจะยกมือไหว้ตัวเองได้ นี่มันฉากสุดท้ายอยู่ที่นี่ คือนับถือตัวเองได้ ถ้ามองดูตัวเองแล้วมันรังเกียจ กินแหนงตัวเอง ไหว้ไม่ลง อย่างนี้ยังไม่เป็นมนุษย์หรอก ยังไม่สมบูรณ์ ที่ว่ายิ่งดู ยิ่งสอดส่อง ยิ่งใคร่ครวญ ย้อนหลังไปก็ โอ้, มันมีแต่ความดี ยกมือไหว้ตัวเองได้โดยอัตโนมัติ โดยไม่ต้องนึกต้องคิดนี่ใช้ได้ ถึงที่สุดเรื่องจบแค่นี้แหละ จบที่ยกมือไหว้ตัวเองได้ หลังจากพอใจตัวเองมีความสุขแล้ว โอ้, ไม่มีอะไรอีกแล้ว ถึงที่สุดแห่งความเป็นมนุษย์แล้ว ก็ยกมือไหว้ตัวเองได้ ก็เรียกว่าเคารพตัวเอง มาทบทวนกันอีกสักทีเดี๋ยวจะลืมว่า
ทั้ง ๕ อย่างนี้เป็นหลักธรรมะในพระพุทธศาสนามีชื่อเรียกเป็นภาษาบาลี แต่ไม่อยากจะมาพูด มาบอกให้มันยุ่งหัว มันจำยาก มันมากมาย มีศรัทธาในตัวเอง มีความรู้ มีปัญญา มีความรู้จักตัวเอง มีศรัทธาในตัวเอง มี ทมะ บังคับตัวเอง มีความพอใจตัวเองที่เรียกว่าสันโดษ หรืออะไรก็แล้วแต่มันมีอีกหลายคำ แล้วก็มีความนับถือตัวเอง คือเคารพ เคารพตัวเอง มีความเคารพตัวเอง มีคารวะตา ความเคารพในความดีความงามอะไรของตนเอง เมื่อก่อนพวกฝรั่งเขาก็ถือหลักอย่างนี้ เมื่อฝรั่งเขายังดีๆ อยู่นะ เขารู้จักตัวเอง เขาเรียกว่า Self Knowledge, Self Knowledge นี่รู้จักตัวเอง แล้วเขาเชื่อตัวเอง Self Confidence, Confidence แปลว่าไว้ใจ หรือเชื่อ เขาก็เชื่อตัวเอง แล้วเขาบังคับตัวเอง Self Control, Control บังคับตัวเอง แล้วก็พอใจตัวเองก็มี Self Contentment, Contentment ที่แปลว่าสันโดษหรือยินดีหรือพอใจ พอใจตัวเอง นี่คือเขาไหว้ตัวเองได้ Self Respect, Respect เคารพตัวเอง ไหว้ตัวเองได้ แต่ฝรั่งเดี๋ยวนี้ที่จะเป็นอย่างนี้หาทำยายากเหมือนกันนะ เมื่อก่อนเมื่ออาตมายังเด็กๆ อยู่ ได้ยินฝรั่งที่เขามาเมืองไทย เขามาโอ้อวดเรื่องอย่างนี้ จนเมืองไทยจนคนไทยต้องยอมรับนับถือเขาแหละ แต่เดี๋ยวนี้ฝรั่งเหล่านี้ก็ค่อยหายไปหายไป เพราะพวกฝรั่งเขาเริ่มละทิ้งศาสนา เริ่มละทิ้งพระธรรม เรื่องเหล่านี้มันก็หมดไป นี่เราไปตามก้นเขานะ เราไปตามก้นฝรั่งด้วยการละทิ้งไอ้สิ่งเหล่านี้เข้ามาอีก เราก็จะไม่มีอะไรเหลือเหมือนกัน ฉะนั้นเราควรจะมีการศึกษาที่สมบูรณ์ไม่ให้เป็นหมาหางด้วน ไม่ให้เป็นเจดีย์ยอดด้วน ช่วยกันภาวนาให้การศึกษาของเราสมบูรณ์ ไม่เป็นหมาหางด้วน ไม่เป็นเจดีย์ยอดด้วน เดี๋ยวนี้ก็มีครูบาอาจารย์นั่งอยู่ที่นี่มาก นักเรียนนักศึกษาก็มาก จะเป็นนักเรียนครูก็มี ขอฝากไว้ว่า ช่วยกันไปทำให้การศึกษามีระบบที่สมบูรณ์ไม่แหว่งเหมือนกับหมาหางด้วน คือเรียนกันแต่วิชาหนังสือกับอาชีพ ไม่เรียนธรรมะ เรียนแต่หนังสือกับอาชีพ จบแล้วมันไม่รู้จะเป็นมนุษย์กันอย่างไร มันไม่รู้ว่าจะเป็นมนุษย์กันอย่างไร ทั้งที่มันรู้หนังสือมาก และมีอาชีพดี ร่ำรวย นี่เราเรียกว่าระบบการศึกษาที่แหว่งเว้าอยู่ไม่สมบูรณ์ เปรียบเหมือนหมาหางด้วนไม่น่าดู จะพูดให้ไพเราะสักหน่อย พูดว่าหมาหางด้วนเขาโกรธเขาด่าเอา ก็พูดว่าเหมือนกับเจดีย์ยอดด้วน เจดีย์ยอดด้วนก็ไม่น่าดูนะ มันมีแต่ฐานกับองค์หรือบางทีเหลือครึ่งองค์นี่ มันไม่ไหวเหมือนกัน ไปทำให้เจดีย์มันสมบูรณ์ มียอดมีอะไรครบหมด การศึกษาที่สมบูรณ์ พอมีการศึกษาสมบูรณ์แล้ว ไอ้คนเราก็จะมีอย่างที่ว่า มีการรู้จักตัวเอง เชื่อตัวเอง บังคับตัวเอง พอใจตัวเองได้ แล้วก็นับถือตัวเองในที่สุด เพราะการศึกษามันสมบูรณ์ นี่ครูจะได้บุญมาก เพราะช่วยทำให้มนุษย์เป็นอย่างนี้ เหมือนกับรับใช้พระพุทธเจ้านะ พระพุทธเจ้าท่านก็ต้องประสงค์ให้มันเป็นอย่างนี้ ท่านก็สอนธรรมะไว้อย่างนี้ ให้พวกเรามาช่วยกันหน่อย สนองพระพุทธพระสงค์ ช่วยกันปลุกปล้ำให้การศึกษามันสมบูรณ์ ให้ลูกเด็กๆ ของเรานะมันรู้จักตัวเอง เชื่อตัวเอง บังคับตัวเอง พอใจตัวเอง เคารพตัวเองกันให้จนได้ ไอ้ ๕ อย่างนี้ คือวิธีที่จะทำให้เรามีธรรมะ ตอนต้นก็พูดแล้วนี่นะ ว่าธรรมะคืออะไร เดี๋ยวนี้ก็จะพูดว่า จะมีธรรมะได้อย่างไร ก็ด้วยการปฏิบัติ ๕ ประการนี้ แล้วจะมีธรรมะ พอมีธรรมะก็หมดแหละ หมดปัญหา ไม่ใช่หมดไม่ใช่หมดเนื้อหมดตัว พอมีธรรมะก็หมดปัญหา ไม่มีปัญหา มีความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ แล้วมีพระพุทธเจ้าด้วย พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าผู้ใดเห็นธรรมะผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเราผู้นั้นเห็นธรรมะ เห็นธรรมะคือเห็นตถาคต เห็นตถาคตคือเห็นธรรมะ เดี๋ยวนี้เราก็มีธรรมะ ก็มีพระพุทธเจ้า ก็ยิ่งกว่าเห็นเสียอีก เรากลายเป็นมีพระพุทธเจ้า ถ้าเราทำได้ถึงที่สุดจริงๆ เรานี่จะเป็นพระพุทธเจ้าเสียเอง ไม่ใช่องค์ใหญ่องค์โต ก็องค์นิดๆ หน่อย เล็กๆ ก็ได้ ถ้าเรามีธรรมะที่เป็นพระพุทธเจ้า นี่คือธรรมะคืออะไร จะมีธรรมะได้อย่างไร พูดกับท่านทั้งหลายล่วงหน้า อีก ๒ – ๓ วัน เป็นวันปีใหม่แล้ว ก็ให้เป็นของขวัญปีใหม่ เพียง ๒ – ๓ วันก็จะมาถึงแล้ว ขอให้ท่านทั้งหลายรับเอาไป ในฐานะที่จะเป็นของขวัญสำหรับปีใหม่ นับตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคมนี้ เป็นต้นไปนี่ พูดไปมากแล้วเด็กๆ เขาจะโมโห เขาว่าเขาจะดูสไลด์กันต่อไปอีก นี่อาตมากินเวลาไปครึ่งชั่วโมงแล้ว ต้องหยุด เดี๋ยวธรรมะจะแตกกระจายหมด ขอยุติการบรรยายไว้เพียงเท่านี้.
(น. 55.00 )
กินเวลาเกินไปก็ครึ่งชั่วโมงแล้ว
ผู้ฟังธรรมะบรรยายถาม : ทีนี้ปัญหาว่า เด็กหรือผู้ใหญ่หรือผู้เฒ่า ที่ท่านอาจารย์พูดว่าธรรมะอย่างนี้นะ บางคนก็ยังไม่เข้าใจดี
ท่านพุทธทาส : ก็พูดกันต่อไปอีก ธรรมะคือประพฤติกระทำให้ถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ของตนทุกขั้นทุกตอนแห่งวิวัฒนาการของเขา ไอ้ลูกเด็กๆ เหล่านี้ก็ตั้งปัญหาขึ้นมาทันทีว่า เดี๋ยวนี้เป็นบุตรที่ดีของบิดามารดาหรือยัง เป็นศิษย์ที่ดีของครูบาอาจารย์หรือยัง เป็นเพื่อนที่ดีของเพื่อนหรือยัง เป็นพลเมืองที่ดีของชาติหรือยัง เป็นสาวกที่ดีของพระพุทธเจ้าหรือยัง ตั้งปัญหาเหล่านี้ไป แล้วก็ทำให้มันลุล่วงไป
ผู้ฟังธรรมะบรรยาย : อันนี้มันยังไม่สมบูรณ์เลย
ท่านพุทธทาส : อ้าว, ก็มันยังไม่ได้ทำนี่ ให้มันทำสิ
ผู้ฟังธรรมะบรรยาย : แล้วอย่างท่านอาจารย์ว่าอย่างหมาหางด้วนนี่ บางคนก็เข้าใจ บางคนก็ไม่เข้าใจ
ท่านพุทธทาส : นั้นมันเข้าใจ มันมีคนโกรธนี่ เพราะมันมีคนโกรธ ก็เชื่อว่ามีคนเข้าใจ
อ้าว, ดำเนินการต่อไป อาตมาขอลาก่อน ไปกลับกุฏิ.น็็้กกก้ษฏกร