แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านแห่งครูบาอาจารย์ นักศึกษา นักเรียน ผู้สนใจในธรรมทั้งหลาย เดี๋ยวนี้เรามารวมกันอยู่ที่นี่ หลายหมู่ หลายคณะ ล้วนแต่ประสงค์จะฟังธรรมะอย่างใดอย่างหนึ่ง บางคณะก็ระบุมาแล้วว่า ขอฟังเรื่องธรรมะเกี่ยวกับชีวิต อาตมาจะพูดโดยหัวข้อที่ครอบคลุมไปหมดได้ในคราวเดียวกัน ขอให้แต่ละคนหรือแต่ละพวกจงแยกแยะเอาเอง กำหนดเอาเอง สำหรับตอบปัญหาของตนของตน คงจะพอสำเร็จประโยชน์ได้ โดยที่ไม่ต้องพูดหลายครั้งหลายหน
ในข้อแรกที่สุดนี่ ก็อยากจะเตือนกันสักหน่อยก่อนว่า การมาศึกษาหรือฟังธรรมะที่นี่ เรามีกันในลักษณะอย่างนี้ คืออย่างที่นั่งอยู่กลางดิน ในบรรยากาศเช่นนี้ ขอให้ระลึกนึกถึงว่า มันคล้ายกันกับบรรยากาศในครั้งพุทธกาล ในภูมิประเทศที่คล้ายกันกับที่พระพุทธเจ้าท่านแสดงธรรม คืออยู่กันอย่างป่า ป่า ใช้คำอย่างนี้มันง่ายดี มีใจความสำคัญอยู่ที่ว่าใกล้ชิดธรรมชาติ เป็นไปตามธรรมชาติ มีโอกาสสัมผัสธรรมชาติได้เต็มที่ ก็มีจิตใจที่ธรรมชาติช่วยปรุงแต่งให้อย่างมีความเหมาะสมที่จะเข้าใจธรรมะ เพราะเรื่องของธรรมะก็คือเรื่องของธรรมชาติ นี่ขอให้กำหนดจดจำไว้เป็นหัวข้อ ข้อแรกว่าเรื่องของธรรมะนั้นก็คือเรื่องของธรรมชาติ ในฐานะที่เป็นตัวธรรมชาติเองก็มี ในฐานะที่เป็นกฏของธรรมชาติก็มี รู้ธรรมชาติแล้วก็ต้องประพฤติปฏิบัติให้ถูกตามกฏของธรรมชาติ แล้วก็ต้องรับผลตามหลักเกณฑ์ของธรรมชาติ มากไปกว่านั้นไม่ได้ นี่มันกลายเป็นเรื่องของธรรมชาติไปหมด ขอให้มีความรู้สึกในข้อนี้ด้วย และก็คงจะพอใจในการที่นั่งกลางดินอย่างนี้ มันง่ายแก่การที่จะระลึกนึกถึงพระพุทธองค์คือสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ว่าเป็นถึงอย่างนั้น ท่านก็ยังเป็นบุคคลที่ประสูติกลางดิน ตรัสรู้ก็เมื่อนั่งกลางดิน อยู่กันอย่างพื้นดิน กุฏิพื้นดิน ก็สอนกลางดิน แม้แต่ขณะที่เดินทางก็สอนได้ และในที่สุดก็เสด็จปรินิพาน ที่เราเรียกกันภาษาชาวบ้านว่าดับขันธ์คือตายนั่นแหละ ก็กลางดิน นี่ควรจะฝังอยู่ในใจของเราว่าท่านประสูติกลางดิน ตรัสรู้กลางดิน แสดงธรรมจักรหรือสั่งสอนอะไรทุกอย่างก็กลางดิน ในที่สุดก็ตายกลางดิน เราควรจะชอบใจแผ่นดิน ลูบคลำด้วยความเคารพ ไม่ควรจะนั่งเขี่ยดินเล่นอย่างกับลิง เขี่ยดินหาแมลง เราควรจะลูบคลำแผ่นดิน พอใจในแผ่นดิน ที่ว่าเป็นที่ประสูติ ตรัสรู้ แสดงธรรม และปรินิพานของพระพุทธเจ้า นึกอย่างนี้เขาเรียกว่าพุทธานุสติ สติตามระลึกถึงพระพุทธเจ้า มันได้บุญ ได้กุศล ในส่วนปฏิบัติทางจิต ทางสมาธิ เพิ่มขึ้นอีกส่วนหนึ่ง นอกไปกว่าที่จะมาฟัง และจด ๆ จำ ๆ ไปเพียงอย่างเดียว ขอให้ทุกคนมีจิตระลึกนึกถึงพระพุทธเจ้า ผู้ประสูติกลางดิน ตรัสรู้กลางดิน แสดงธรรมกลางดิน นิพพานกลางดิน ด้วยเรื่องทั้งหลายที่เราอุตส่าห์มากันจนถึงที่นี่ ด้วยความลำบากหรือหมดเปลือง เสียเงิน เสียเวลา เสียเรี่ยวแรงมาที่นี่ แล้วจะได้อะไรคุ้มกัน มันต้องได้จิตใจอย่างใหม่ ๆ ไปกว่าที่เรามีอยู่ตามธรรมดา มีจิตใจที่คล้ายพระพุทธเจ้า ซึ่งเดี๋ยวก็จะได้กล่าวให้ฟัง นี่ข้อปรารถข้อแรก ว่าจงพอใจในการที่ได้มานั่งกลางดิน พอใจ ไม่รังเกียจที่จะนั่งกลางดิน ซึ่งจะถือว่าเป็นที่นั่ง ที่นอน ของพระพุทธเจ้า จงใช้แผ่นดินนี้ให้สำเร็จประโยชน์อย่างนี้
ทีนี้เรื่องที่จะพูดนี้ จะพูดโดยหัวข้อว่าประโยชน์ของความเป็นพุทธบริษัท ประโยชน์ของความเป็นพุทธบริษัท เราทุกคนเป็นพุทธบริษัทอย่างน้อยก็ด้วยการปฏิญาณตน เราจะได้รับประโยชน์อะไรจากการเป็นพุทธบริษัท นี่เราต้องรู้ ต้องเข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง จึงจะมีศรัทธา มีฉันทะ มีวิริยะ มีจิตตะ มีวิมังสา ในการที่จะศึกษาพระพุทธศาสนา ประโยชน์ของความเป็นพุทธบริษัทนั้น ถ้าได้ก็คือได้ธรรมะสำหรับชีวิตนั่นเอง จึงไม่ต้องแยกออกไปเป็นหัวข้ออีกหัวข้อหนึ่งก็ได้ว่าธรรมะสำหรับชีวิต ขอให้ได้ประโยชน์สำหรับการเป็นพุทธบริษัทไปก็แล้วกัน ความสำเร็จ ประสบความสำเร็จในการเป็นพุทธบริษัทนั่นแหละ มันทำให้มีธรรมะในชีวิต ชีวิตที่เป็นพุทธบริษัทได้ก็เพราะว่ามันมีธรรมะ มีชีวิต มีธรรมะ ก็มีความเป็นพุทธบริษัท นี้เราจะพูดถึงเรื่องชีวิตกันเสียสักหน่อย ดูเหมือนเราจะมีความหมายของคำว่าชีวิตกันแต่ในภาษานักประพันธ์ คนพูดก็ดูจะไปจำคำภาษานักประพันธ์มาพูดเสียมากกว่า ทั้งที่ไม่รู้ว่าชีวิตนั้นมันคืออะไร เราจะรู้จักชีวิตในแง่ของธรรมชาติ หรือในแง่ของวิทยาศาสตร์ หรือในแง่ของนักปรัชญา ในแง่ของนักศาสนา ก็ยังมีทางที่จะต้องดูหรือรู้จักกันอีกในหลาย ๆ ทาง นั้นเราพิจารณาถึงคำว่าชีวิตกันเป็นข้อแรก บางทีจะมีประโยชน์ ขอให้ตั้งใจฟัง ชีวิตในอันดับแรกก็คือความมีชีวิตอยู่ในเซลล์ เซลล์หนึ่ง คนที่เคยเรียนวิทยาศาสตร์ในแง่ชีวิทยามาบ้างแล้วก็ย่อมรู้จักสิ่งที่เรียกว่าเซลล์ ซึ่งเล็กมากและประกอบกันขึ้นมาเป็นสิ่งที่มีชีวิต นับตั้งแต่ต้นไม้ขึ้นมา ในเซลล์แต่ละเซลล์นั้นมันก็มีชีวิต ศูนย์กลางในเซลล์นั้นยังสดอยู่ ยังเป็นอยู่ ก็เรียกว่าเซลล์นั้นมีชีวิต ชีวิตอย่างนี้มันเป็นเองโดยธรรมชาติ แต่แม้มันจะเป็นชีวิตที่น้อยต่ำเพียงไร มันก็มีลักษณะแห่งความมีชีวิต และต้องมีความรู้สึกอยู่ในระดับหนึ่ง เพราะว่าเซลล์เหล่านี้ก็รู้จักต่อสู้เพื่ออยู่รอด รู้จักรับอาหาร รู้จักพยายามเพื่อจะมีชีวิตอยู่ นี่ชีวิตในระดับต่ำที่สุดคือชีวิตของเซลล์ เซลล์หนึ่ง ๆ ทีนี้เซลล์ทั้งหลายประกอบขึ้นเป็นกลุ่ม เล็ก ๆ แล้วก็หลาย ๆ กลุ่ม ประกอบขึ้นเป็นรูปเป็นร่างอย่างนั้นอย่างนี้ อันดับแรกก็เป็นพืชพันธ์ พฤกษาชาติ นับตั้งแต่ตะไคร่น้ำขึ้นไปจนถึงต้นไม้ที่ใหญ่โต นี้มันก็มีชีวิตเป็นชีวิตของต้นไม้หรือพฤกษาชาติ นี้ก็เป็นเองโดยธรรมชาติ เป็นไปได้เองโดยธรรมชาติ ต้นไม้มันเป็นอยู่ได้เอง เจริญอยู่ได้เองตามวิธีการของธรรมชาติ
ทีนี้ชีวิตที่สูงขึ้นมาก็เป็นสัตว์ คือชีวิตที่เคลื่อนที่ได้ นับตั้งแต่มด แมลง ขึ้นไปจนถึงสัตว์ใหญ่ สัตว์โต วิวัฒนาการแต่ละสายไปจบอยู่ที่ความเป็นช้างบ้าง เป็นปลาวาฬบ้าง เป็นนกในอากาศบ้าง แต่มันก็ยังคงเป็นสัตว์เดรัจฉานอยู่นั่นเอง และเป็นชีวิตที่เป็นไปตามธรรมชาติ ทำไมเรียกว่าเป็นไปตามธรรมชาติ เพราะมันไม่ได้เข้าโรงเรียนอย่างพวกเธอ มันไม่มีความรู้ ไม่มีการศึกษา มันก็ต้องเป็นไปอย่างธรรมชาติ
ทีนี้ชีวิตที่สูงขึ้นมาจากสัตว์เดรัจฉานก็มาถึงคน คนธรรมดาที่ยังไม่มีการศึกษา อย่างกับเป็นคนป่ายุคแรก ๆ ที่สุด นี้ก็ไม่สู้จะแตกต่างจากสัตว์มากนัก นี่เราเรียกว่าเป็นคนตามธรรมชาติ มันเป็นไปเองตามธรรมชาติ เอ้า,ทีนี้ ชีวิตนี้มันวิวัฒนาการขึ้นมาเป็นคนที่รู้อะไรได้คือเป็นมนุษย์ขึ้นมา เป็นคนเป็นตามธรรมชาติ เป็นมนุษย์นี้ไม่ได้เป็นไปตามธรรมชาติแล้ว เพราะมันเกิดมีความรู้อะไรขึ้นมา แล้วมันก็ประพฤติ กระทำหรือจัดความเป็นคนนั้นให้มันสูงกว่าที่ธรรมชาติจะเป็นไป อันนี้เราเรียกว่าเป็นมนุษย์ธรรมดา นี่ถ้าว่ามนุษย์ธรรมดานี้มันจะวิวัฒนาการสูงขึ้นไปอีก มันก็กลายเป็นมนุษย์ชั้นที่เรียกว่า อริยบุคคล พระอริยเจ้า คือ พระอริยบุคคล สูงสุดอยู่ที่ความเป็นพระพุทธเจ้า นี่ชีวิตมันมีอยู่หลายระดับอย่างนี้ ชีวิตอย่างเซลล์น้อย ๆ ชีวิตอย่างพืชพันธ์ต้นไม้ ชีวิตอย่างสัตว์เดรัจฉาน ชีวิตอย่างคนธรรมดานี้ มันก็มีชีวิตในสิ่งที่มีชีวิต มันก็มีเมล็ดพืชแห่งความรู้ เขาเรียกกันว่าธาตุรู้ ในเซลล์หนึ่ง ๆ มันก็มีธาตุรู้ ไอ้เซลล์นั้นมันก็รู้จักต่อสู้ รู้จักกินอาหาร รู้จักอะไรของมัน มันมีธาตุรู้เพียงแค่นั้น ในต้นไม้ก็มีธาตุรู้ รู้จักกินอาหาร รู้จักโน้มไปหาแสงแดด รู้จักสืบพันธ์ รู้จักมีความรู้สึกต่อสู้ มันก็มีธาตุรู้
นี้มาถึงสัตว์ก็มีธาตุรู้มากกว่าต้นไม้ขึ้นไปอีก มาถึงคน แม้คนธรรมดาสามัญก็มีธาตุรู้มากไปกว่าสัตว์อีก ทั้งหมดนี้มันมีธาตุรู้ในลักษณะที่เป็นเหมือนกับเมล็ดพืช คือในสิ่งที่ต้องขยายตัวเบิกบานออกไป ช่วยจำคำว่าเบิกบานไว้ให้ดี ถ้ามันหุบอยู่ มันหยุดอยู่ มันนิ่งอยู่ มันไม่เบิกบานแล้วมันก็ไม่มีวิวัฒนาการ ทีนี้ก็มาถึงชั้นมนุษย์ สูงกว่าคนคือมนุษย์ นี่เมล็ดพืชแห่งธาตุรู้นั้นมันถูกเพาะ หว่านให้เกิดเป็นต้น เป็นลำอะไรขึ้นมา จนกระทั่งถึงชีวิตชั้นพระอริยบุคคล มันก็เป็นการเพาะหว่านที่ได้ผลจึงงอกงามเป็นต้น และมันก็เป็นการเบิกบานถึงที่สุด เราจึงมีคำบัญญัติสำหรับพระพุทธเจ้าว่า พระพุทธเจ้าคือ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน นี่บทสวดมนต์ก็มีอยู่แล้วว่า พระพุทธเจ้าเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เมล็ดพืชแห่งความรู้ มันเพาะปลูกแล้วเจริญเติบโตแล้ว เบิกบานถึงที่สุดแล้ว นี่เราจะเป็นพุทธบริษัทของพระพุทธเจ้า เราก็ต้องรู้เรื่องนี้ รู้ความหมายของคำว่า พุทธะ นี่เป็นคำที่ต้องการจะให้รู้กันอย่างยิ่งทุกคน ไม่เสียทีที่ว่าปฏิญาณตนว่าเป็นพุทธมามกะเป็นต้น พุทธบริษัท แปลว่าบริษัทของผู้รู้ คำว่าบริษัทตัวพยัญชนะแปลว่านั่งกันเป็นวงรอบๆจุดศูนย์กลางอะไรสักอย่างหนึ่ง ถ้าเขานั่งกันเป็นวงล้อมวัตถุประสงค์อันใดอันหนึ่งก็เรียกว่าบริษัท เขาจะตั้งบริษัททำอะไร อะไร ก็ต้องมีลักษณะอาการอย่างนั้น เดี๋ยวนี้เราเป็นพุทธบริษัทก็คือนั่งแวดล้อมรอบ ๆพระพุทธเจ้า เราต้องนั่งแวดล้อมรอบๆพระพุทธเจ้าให้ได้ จึงจะเป็นพุทธบริษัทโดยแท้จริง ถ้าไม่อย่างนั้นก็เป็นพุทธบริษัทหลอก คือเป็นกันแต่ปากหรือไม่จริง จึงต้องฟังให้ดี ๆ ว่าจะเป็นพุทธบริษัทที่แท้จริงได้อย่างไร นี่ก็มาถึงคำว่า พุทธ พุทธะ คือผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน รู้คือรู้สิ่งที่ควรจะรู้ สิ่งที่มนุษย์สมบูรณ์แบบควรจะรู้ ก็ต้องรู้ ที่นี้ตื่น คือตื่นจากหลับ คนธรรมดาที่ไม่รู้เปรียบเหมือนกับคนหลับ หรือว่าคนทุกคนเมื่อหลับมันก็คือผู้ที่ไม่รู้ ต่อเมื่อตื่นจากหลับ ตื่นจากนอน มันจึงจะเป็นผู้รู้ แต่นี้คำว่าหลับนี้หมายถึงเรื่องทางจิต ทางวิญญาน นั่งอยู่ที่นี่ เดี่ยวนี้กำลังหลับอยู่ก็ได้ หลับอยู่ทางจิต ทางวิญญาน คือไม่รู้อะไร ถึงมานั่งใจลอย โงกง่วงอยู่ที่นี่ก็ได้ นี้ก็เรียกว่าหลับเหมือนกัน มันยังไม่ตื่น แม้มานั่งอยู่ที่นี่แล้วมันก็ยังไม่ตื่น คือจิตใจของเขายังไม่ได้ตื่นจากหลับคือความโง่ ภาษาธรรมะ เขาเอา อวิชชาหรือโมหะหรือความโง่นี้ว่าเป็นความหลับ เราต้องตื่นจากความหลับคืออวิชชาหรือกิเลสก็แล้วแต่จะเรียก ถ้าเรายังหลงอยู่ด้วยอวิชชา ด้วยกิเลสแล้วก็เรียกว่าหลับทั้งนั้น แม้จะวิ่งเต้น เล่นกีฬาอะไรอยู่มันก็เป็นความหลับ เป็นคนหลับ เพราะมันไม่รู้เรื่องที่ควรจะรู้ นี้ถ้าว่าตื่นก็ต้องรู้สิ่งที่ควรจะรู้ และไม่โง่หรือไม่โง่อีกต่อไป นี่เรียกว่า ผู้ตื่น พระพุทธเจ้าท่านเป็นผู้ตื่นจากหลับแห่งกิเลส แห่งอวิชชา ท่านก็เป็นคนแรกเสียด้วย และก็ไม่มีใครปลุก ท่านตื่นเอง จึงเรียกว่า สัมมาสัมพุทธะ ตรัสรู้ชอบได้ด้วยพระองค์เอง ไม่ต้องมีใครมาปลุกท่าน ก็ตื่นของท่านได้เองตามโดยวิธีการของท่าน นี้ตื่นได้เองอย่างนี้เราถือเป็นบุคคลสูงสุดเป็นพระศาสดาที่เรายอมรับนับถือ
นี้เมื่อท่านตื่นแล้ว ก็มีผลของความตื่นคือเบิกบาน คนหลับนั้นมันเบิกบานไม่ได้ มันกรน มันละเมอ อย่างนี้มันยิ่งไม่เบิกบาน ให้มันงัวเงีย ง่วงนอน มันก็ไม่เบิกบาน ต่อเมื่อมันตื่นโดย สมบูรณ์ สดชื่น แจ่มใสจึงจะเรียกว่าผู้เบิกบาน พระพุทธเจ้าเบิกบานถึงที่สุด เพราะไม่มีกิเลส แห่งความหลับ หรือความหลับแห่งกิเลส อวิชชาเป็นต้น มาครอบงำท่าน เดี๋ยวนี้เราจะเป็นสาวกของท่าน เป็นบริษัทของท่าน เราต้องยึดหลักนี้ให้ได้ มันง่าย ๆ ที่จะจำกันเพียง ๓ คำว่าเราจะเป็นผู้รู้ เป็นผู้ตื่น เป็นผู้เบิกบาน เราจะต้องรู้สิ่งที่มนุษย์เราควรจะรู้เพื่อเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เราจะต้องตื่น คือเคลื่อนไหวอยู่ ไม่ใช่นอนนิ่งอยู่เหมือนกับคนหลับ เมื่อเราตื่นและก็ต้องเคลื่อนไหว และมีการปฏิบัตินั่นเอง คนหลับไม่ได้ทำอะไร ไม่มีการปฏิบัติอะไร แต่คนตื่น มีการเคลื่อนไหว มีการปฏิบัติ นั้นเราจึงตื่นอยู่ด้วยการปฏิบัติตามความรู้ที่เรารู้แล้ว เราจึงเป็นผู้รู้ชนิดที่ตื่นอยู่ด้วยการปฏิบัติ เคลื่อนไหวไปมาอยู่ด้วยการปฏิบัติ หลังจากนั้นก็จะเป็นผู้เบิกบานคือได้รับผลของการปฏิบัติ พูดให้สั้นลงมาก็ว่าเราต้องรู้และเราต้องปฏิบัติ เราก็จะได้รับผลของการปฏิบัติ นี่แหละคือความเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน และเรียกตัวเองได้ว่าเป็นพุทธบริษัท คือมานั่งแวดล้อมรอบๆ พระพุทธเจ้า ก็เพื่อเป็นอย่างพระพุทธเจ้าคือรู้ คือตื่น คือเบิกบาน
๑.เรื่องที่จะต้องพูดกัน จึงมีเรื่องความรู้ เรื่องการปฏิบัติ และเรื่องได้รับผลของการปฏิบัติเพื่อจะเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน พูดถึงความรู้ เราต้องรู้ถูกต้อง ถูกต้อง ถูกต้องตามอะไร ตามความจริง ตามความจริงของอะไร ก็ต้องตามความจริงของธรรมชาติ เพราะไม่มีอะไรที่จะไม่ใช่ธรรมชาติ ไม่มีอะไรที่จะไม่ต้องเป็นไปตามกฏของธรรมชาติ เราจึงต้องรู้ความจริงของธรรมชาติ เรียกว่ารู้สัจจธรรมของธรรมชาติ ธรรมชาติในฐานะที่เป็นปรากฏการณ์ เป็นอยู่ ตั้งอยู่ในตัวเรา นอกตัวเรา เราก็ต้องรู้ธรรมชาติส่วนนี้ และยังต้องรู้กฏของธรรมชาติว่ามีอยู่อย่างไรโดยเด็ดขาด และต้องปฏิบัติให้ถูกตามกฏของธรรมชาติ ที่เราจะมีความเป็นมนุษย์ชั้นดีที่สุด คือมีความสงบสุข หรือเบิกบานกันจริง ๆ กฎของธรรมชาตินั้นท่านเรียกว่ากฎของอิทัปปัจจยตา แปลกหู คงจะลำบากแก่การเข้าใจ ต้องไว้พูดโดยละเอียดอีกส่วนหนึ่ง เดี๋ยวนี้อ้างถึงแต่เพียงสักว่าชื่อของมัน เราจะปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฏของอิทัปปัจจยตาหรือปฏิจจสมุปบาท เราจึงจะได้รับผลเป็นผู้เบิกบาน คือไม่มีความทุกข์ เราจะต้องรู้ตามกฏของธรรมชาติ นับตั้งแต่ว่าเราจะกินอาหารอย่างไร จะถ่ายอุจจาระปัสสาวะอย่างไร จะอาบน้ำ จะบริหารร่างกายอย่างไร เป็นอยู่ให้ถูกต้องในบ้านในเรือนอย่างไร นี่เรียกว่ามันรู้แล้วปฏิบัติให้ถูกต้อง ถ้าเป็นเรื่องง่าย ๆ กินอย่างไร แต่งตัวอย่างไร มันก็รู้กันอยู่ สอนกันอยู่ แต่ที่ลึกไปกว่านั้นเรายังไม่รู้ คือปฏิบัติอย่างไรจึงจะไม่เกิดกิเลส ไม่เกิดความทุกข์ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น นี่เรายังไม่รู้ นั้นจะต้องพยายามที่จะรู้และรู้ต่อไปให้ถึงที่สุด ท่านทั้งหลายจงตั้งใจที่จะรู้กฏของธรรมชาติให้ถูกต้อง ว่าจะต้องดำรงกาย วาจา ใจ อย่างไร เราจึงจะเบิกบาน มีแต่ความเบิกบาน ไม่มีความทุกข์ นี่เรียกว่าความรู้ จะต้องรู้ จะต้องเป็นผู้รู้ ตามอย่างพระพุทธเจ้าให้จนได้ เรื่องมันมากก็ต้องฝากไว้ให้ศึกษาเอาเองบางส่วนต่อไปข้างหน้า
ทีนี้มาพูดถึงการปฏิบัติ เป็นผู้ตื่นอยู่ เคลื่อนไหวอยู่ ไม่อยู่นิ่ง นี่เป็นการปฏิบัติ การปฏิบัตินี้ ต้องให้ถูกต้อง ถูกต้องตามอะไร ตามขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการของเรา เราทุกคนมีวิวัฒนาการตั้งแต่คลอดจากท้องมารดา จนมาเป็นเด็กทารก เด็กเติบโต เด็กวัยรุ่น เป็นหนุ่มเป็นสาว เป็นผู้ใหญ่ เป็นบิดามารดา เป็นผู้เฒ่า นี่เป็นขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการ มีระบบของธรรมะย้ำตรัสไว้ว่าจะต้องถูกต้องตามขั้นตอนนั้น ๆ จึงจะอยู่เป็นผาสุกได้ เป็นเด็กที่ดีถูกต้อง จนเป็นบุตรที่ดีของบิดามารดา เป็นศิษย์ที่ดีของครูบาอาจารย์ เป็นเพื่อนที่ดีของเพื่อน เป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติหรือสังคม กระทั่งเป็นพุทธมามกะที่ดีของพระพุทธเจ้า นี้แล้วแต่ว่ามีขั้นตอนอย่างไร ต้องถูกต้องทุกขั้นตอน กระทั่งเป็นหนุ่มเป็นสาวก็มีความถูกต้องในความเป็นหนุ่มเป็นสาว ไม่ทำอะไรให้น่าเกลียดน่าชัง เหมือนที่กำลังเป็นอยู่โดยมากนั้นมันผิด ผิดจากธรรมะ ผิดจากขั้นตอน กระทั่งเป็นผู้ใหญ่ เป็นคนแก่คนเฒ่า เขาก็ยังมีเรื่องที่ต้องปฏิบ้ติให้เหมาะสมเพื่อความเป็นคนแก่คนเฒ่า ที่จะได้รับประโยชน์จากการเกิดมาเป็นมนุษย์ให้ถึงที่สุดแล้วก็จะแตกดับไปไม่เสียชาติเกิด ถ้าผิดขั้นตอนแล้วมันจะเป็นทุกข์ มันจะเต็มไปด้วยปัญหา บางทีมันจะล้มละลายกลางคัน คือยังไม่ทันจะเป็นหนุ่มเป็นสาวด้วยซ้ำไป ก็มีความวินาศฉิบหายกระทั่งตายไป หรือว่าเป็นหนุ่มเป็นสาว ไม่ทันเป็นผู้ใหญ่มันก็มีความวินาศ ฉิบหายไป นี่แหละเรียกว่ามันผิดขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการของคนคนหนึ่ง ๆ ถ้าวิวัฒนาการของมนุษยชาติ มันก็กินความกว้างกว่านี้ เช่นขั้นตอนของมนุษย์ที่เป็นคนป่าก็มีความถูกต้องอย่างหนึ่ง ต่อมาดีกว่าเป็นคนป่า ฉลาดขึ้นมา มันก็มีขั้นตอนที่สูงขึ้นมา ก็ต้องมีความรู้ที่สูงขึ้นไป กระทั่งมาเป็นมนุษย์ยุคปัจจุบันนี้ก็ต้องมีขั้นตอนต่างหากจากคนป่าสมัยโน้น ก็ต้องให้มันถูกต้อง นี่ว่าโดยธรรมชาติก็ต้องให้ถูกต้อง เช่นต้นไม้ก็ต้องมีความถูกต้องตามความเป็นต้นไม้ จึงจะรอดอยู่ได้ เป็นสัตว์เดรัจฉานก็ต้องให้ถูกต้องอย่างสัตว์เดรัจฉาน นั้นจึงรอดอยู่ได้ มาเป็นคน ตอนแรก ๆ เหมือนกับครึ่งคนครึ่งสัตว์ มันก็ต้องถูกต้องตามแบบนั้น มาเป็นคนสมบูรณ์แล้วก็มีความถูกต้องอย่างคน มาเป็นมนุษย์แล้ว จิตใจสูงแล้ว ก็ต้องมีความถูกต้องอย่างมนุษย์ จนกว่าจะเป็นพระอริยบุคคล นี้เรียกว่าขั้นตอน เราจะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องทุกขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการของชีวิต นี่คือธรรมะของชีวิต ธรรมะกับชีวิตมันอยู่ที่ตรงนี้
ทีนี้ความถูกต้องนี้ ยังจะต้องให้มันถูกต้องทั้งทางฝ่ายเนื้อหนัง ร่างกาย และถูกต้องทั้งทางฝ่ายจิตใจ นี่คนเราไม่ได้มีแต่ร่างกายอย่างเดียวหรือมีจิตใจอย่างเดียว มันมีทั้งสองอย่าง นั้นเราจึงให้มีถูกต้องทั้งทางกายและทางใจ เดี๋ยวนี้เรามีความถูกต้องหรือว่าสนใจความถูกต้องกันแต่เรื่องทางฝ่ายของทางร่างกายเสียโดยมาก เราต้องการจะกินดี จะแต่งตัวดี จะอยู่บ้านเรือนสวย ทำอะไรล้วนแต่เป็นเรื่องทางฝ่ายร่างกายไปเสียหมด เห็นคนหนุ่มคนสาวสนใจแต่จะเปิดแคตตาล็อกกางเกงยีนส์ ไม่ได้เปิดหนังสือธรรมะเหมือนที่สนใจอยากจะเปิดแคตตาล็อกกางเกงยีนส์ นี่มันพิสูจน์อยู่แล้วว่ามันสนใจแต่เรื่องทางฝ่ายวัตถุหรือทางฝ่ายร่างกาย เราจะต้องสนใจให้ครบทั้งส่วนร่างกายและส่วนจิตใจ ส่วนจิตใจลึกซึ้งละเอียดเข้าใจยากจึงต้องการความสนใจและความพยายาม เป็นพิเศษจึงจะเข้าใจเรื่องทางจิตใจ ถ้าเรื่องทางร่างกายแล้วมันเห็นได้ง่าย มันเอาอย่างกันได้ง่าย มันก็ทำตาม ๆ กันไปได้โดยง่าย มันจึงผิดไปได้ด้วยกันง่าย ๆ หรือทั้งหมด มันไม่สนใจความถูกต้อง นี้เราต้องให้มันถูกต้องทั้งทางฝ่ายร่างกายและทางฝ่ายจิตใจ ทางฝ่ายจิตใจคือเรื่องธรรมะ ที่อุตสาห์มาจากที่ต่าง ๆ มาประชุมกันที่นี่ ก็เพื่อจะค้นหาความถูกต้องในทางจิตใจยิ่งไปกว่าความถูกต้องในทางกาย นี่เราจะให้ถูกต้องทุกขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการของชีวิต ทั้งทางฝ่ายร่างกายและทั้งทางฝ่ายจิต ทีนี้จะเป็นมนุษย์ให้สมบูรณ์ยิ่งไปกว่านั้น มันต้องขยายความรับผิดชอบออกไปจนถึงกับว่า ทั้งของตนเองและของผู้อื่นคือสังคม ให้มันเป็นประโยชน์แก่ตนด้วย แก่เพื่อนมนุษย์ทุกคนด้วย นั้นเรื่องมันจึงมากสักหน่อย ที่เราจะรู้จักเพียงแต่ช่วยตัวเองให้รอดผู้เดียวนั้น ท่านว่ามันไม่ถูกต้องหรือว่าโดยธรรมชาติมันก็ไม่ยอม เพราะมันถูกอยู่คนเดียวไม่ได้ ถ้าคนทุกคนอยู่รอบตัวเรามันผิดแล้วมันก็ฆ่าเราตาย หรือมันก็ย่ำยีให้เราหาความสุขไม่ได้ จึงต้องช่วยให้ทุกคนอยู่กันอย่างถูกต้อง มีความเข้าใจซึ่งกันและกันเป็นอย่างดี นี้มันมีเรื่องส่วนตัวอยู่แผนกหนึ่ง มีเรื่องของผู้อื่นหรือสังคมอยู่อีกส่วนหนึ่ง ขอให้สนใจด้วย จึงจะสมบูรณ์ เอ้า, พูดคราวเดียวตลอด ก็ว่าเราจะต้องมีการประพฤติกระทำที่ถูกต้องทุกขั้นทุกตอนแห่งวิวัฒนาการของชีวิต ทั้งในด้านร่างกายและด้านจิต ทั้งที่เป็นส่วนตัวและเป็นส่วนสังคม บทนิยามบทนี้ขอยืนยันว่าถูกต้องที่สุด เป็นประโยชน์ที่สุด ที่จะใช้เป็นความหมายของคำว่ากระทำหรือพระศาสนา เราจะต้องมีความรู้ให้เกิดการปฏิบัติที่ถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ของเราทุกขั้นทุกตอนแห่งวิวัฒนาการทั้งด้านร่างกายและด้านจิตใจ ทั้งในที่เป็นส่วนตัวและทั้งที่เป็นส่วนสังคม ใครเข้าใจบทนิยามบทนี้จนตลอดทุกคำ ก็จะเป็นอันว่าเข้าใจพระธรรมหรือพระศาสนาได้โดยสมบูรณ์ ประพฤติตามนั้นแล้ว ความเป็นพุทธบริษัทก็จะสมบูรณ์ นี่เรียกว่าเราปฏิบัติ คือตื่นอยู่ด้วยการเคลื่อนไหวที่เป็นการปฏิบัติในลักษณะที่ถูกต้องอย่างนี้
เอ้า,ทีนี้ก็มาถึงความเบิกบาน ความเป็นผู้เบิกบานที่เป็นผลของการปฏิบัติ เบิกบานก็หมายความว่า สบายดี แจ่มใสดี สดใสดี เป็นสุขดี ทั้งทางฝ่ายร่างกายและฝ่ายจิตใจ ปรากฏผลออกมาว่าเราเป็นอยู่ด้วยความพอใจในตัวเอง เรามีความเป็นตัวเองนี่ที่เป็นที่พอใจแก่เราอย่างยิ่ง ไม่มีเรื่องอิดหนาระอาใจ รังเกียจตัวเองหรือเป็นทุกข์เป็นร้อนอะไร ใครเป็นอย่างนี้ได้บ้าง เราจัดถูกต้องถูกต้องจนไม่รู้สึกความเดือดร้อนระส่ำระสาย รำคาญตัวเอง พอใจในความมีตัวเอง นี้เดี๋ยวนี้เห็นแต่มีความไม่พอใจ อะไรก็ไม่พอใจ ตัวเองก็ยังไม่พอใจ กระฟัดกระเฟียดเรื่องนั้น เรื่องนี้อยู่ตลอดเวลา อย่างนี้มันหม่นหมอง มันไม่เบิกบาน ถ้าเบิกบานอยู่ด้วยความพอใจในตัวเอง และเราจะต้องเบิกบานอยู่ด้วยความพอใจในสิ่งที่แวดล้อม ทุกคนมีสิ่งแวดล้อม ในบ้านในเรือนมีบ้านในเรือนมีบิดา มารดา มีญาติ มีวัตถุสิ่งของ มีอะไรต่าง ๆ เราต้องจัดจิตใจของเราให้เข้ากันได้ กับสิ่งเหล่านั้น โดยไม่มีการขัดแย้งต่อกัน เราอย่าโง่ อย่ามีกิเลสที่สร้างความขัดแย้งขึ้นในสิ่งต่าง ๆ หรือบุคคลต่าง ๆ รอบตัวเรา เรารู้แล้ว ตื่นนอนแล้ว เราสามารถจะขจัดความขัดแย้งต่าง ๆ ให้หมดไป เดี๋ยวนี้ยังมีคนโง่ ทะเลาะกับแปรงสีฟัน ทะเลาะกับหลอดยาถูฟัน นี่ยังมีคนโง่ถึงขนาดนี้ มันก็ไม่เบิกบานเท่านั้นแหละ ไปจัดเสียใหม่ให้ทุกอย่างมันไม่เป็นความขัดแย้ง จะเป็นเรื่องเสื้อผ้า อาหารการกินอะไรก็ตาม อย่าให้มันมี อย่าให้มันมีความขัดแย้ง แล้วก็จะเบิกบานอยู่ด้วยความพอใจ ในสิ่งแวดล้อม นี้มันเป็นเรื่องวัตถุมากไปหน่อย
ทีนี้จะพูดของเรื่องจิตใจ เราต้องมีจิตใจที่เหมาะสมจนเราพอใจ ขอระบุไปยังความรู้สึกอันสูงสุดของมนุษย์ คือเรารู้สึกเคารพตัวเอง เมื่อเรารู้สึกว่า เรามีดี มีส่วนดี มีความดี อยู่ที่เนื้อที่ตัวของเรา เราก็เคารพตัวเอง ถึงกับว่าอยากจะยกมือไหว้ตัวเอง หรือบางคนอาจจะยกมือไหว้ตัวเองแล้วก็ได้ เพราะมีความพอใจ เคารพตัวเองว่ามันช่างเต็มไปด้วยความดี ที่นั่งอยู่ที่นี่ใครเคยเป็นอย่างนี้บ้าง ยกมือให้ดูทีได้ไหม ใครเคยพอใจตัวเองจนไหว้ตัวเองได้นี่ ใครเคยทำอย่างนี้ ขอให้ยกมือขึ้นมาให้เพื่อนเห็นที มันไม่มีอะไรที่จะอิดหนาระอาใจ รังเกียจ เกลียดชังตัวเอง มันพอใจเคารพตัวเราได้ตลอดเวลา นี่มันจะทำได้แต่ผู้ที่มีธรรมะ รู้จักธรรมะ ปฏิบัติธรรมะเพียงพอ จึงจะมีตัวเองที่บริสุทธิ์ สะอาด สว่าง สงบ จนน่าไหว้ นึกชมตัวเองอยู่เสมอ นี่คือความเบิกบานอย่างยิ่ง ที่ว่าเราเคารพตัวเองได้เมื่อไหร่ เมื่อนั้นเป็นความเบิกบานใจอย่างยิ่ง ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน มาอยู่ที่ตรงนี้ แม้พระพุทธเจ้าท่านก็ทรงพอพระทัยในความเป็นพระพุทธเจ้าของท่าน จึงเรียกว่าเบิกบานดุจดอกบัวที่บานนั้น เมื่อเรายังจะต้องมีความรู้สึกอีกอย่างที่ถัดไปคือเชื่อตัวเอง ไว้ใจตัวเอง ไม่ลังเลในอะไร ๆของตัวเอง เชื่อสมรรถภาพของตัวเอง เชื่อในสิ่งที่เราต้องทำและทำแล้ว เราเชื่อว่ามันเป็นสิ่งที่เราสามารถทำได้ และเราก็เชื่อได้เลยว่าเราทำได้แล้ว เพราะเราทำได้แล้วจริง ๆ นี่ก็เบิกบานอย่างยิ่ง แต่ว่าสิ่งเหล่านี้ต้องมาจากการบังคับตัวเอง เดี๋ยวนี้เราไม่บังคับตัวเอง เราปล่อยไปตามกิเลส เขาเรียกว่าไม่บังคับตัวเอง ก็คือไม่บังคับกิเลส ปล่อยไปตามกิเลสมันก็เสียหายหมด ไม่มีอะไรที่จะไหว้ตัวเองได้ ขอให้ทุกคนพอใจที่จะบังคับตัวเอง แม้มันจะรู้สึกเจ็บปวด ทนทุกข์บ้าง มันก็เป็นความเจ็บปวดที่ดี เป็นการทนทุกข์ที่ดี เพื่อจะให้เอาตัวรอดได้และจงพอใจบังคับตัวเองกันจงทุก ๆ คน นับตั้งแต่ว่าให้เล่าเรียนดี ให้ประพฤติดี ให้ทำแต่ในสิ่งที่ควรทำ อย่าพลัดตกลงไปในอบายมุข ถ้าไม่บังคับตัวเองก็พลัดลงไปในอบายมุข ดื่มน้ำเมา เที่ยวกลางคืน ดูการเล่น เล่นการพนัน คบคนชั่วเป็นมิตร เกียจคร้านการทำการงาน ๖ อย่างมีอยู่ในหนังสือเรียน ตำราเรียน แต่ดูจะไม่มีใครจำ จะฝากไว้ในหนังสือ มันก็อยู่แต่ในหนังสือ นี่เอามาเป็นเครื่องรู้อยู่ตลอดเวลาและก็ปฏิบัติ ไม่ให้พลัดตกลงไปในอบายมุขเพราะการบังคับตัวเอง การเรียนก็จะดี การงานก็จะดี การอะไรก็จะดีหมด เรียกว่าดีทุกอย่าง ถ้ามีการบังคับตัวเองให้อยู่ในร่องรอยของความรู้หรือความถูกต้อง นั้นการบังคับตัวเองนะแหละ เป็นเครื่องสร้างความเบิกบานอย่างยิ่ง จะเรียกว่า เป็นความเบิกบานอยู่ในตัวเองก็ได้ ให้คนที่มีจิตใจสูงถึงกับบังคับความรู้สึกของตัวเองได้ แล้วเขาก็เรียกว่ามันเบิกบาน มันไม่หุบ มันไม่เหี่ยว มันไม่เศร้า มันไม่เหงา นี่คือความเบิกบาน ความเป็นผู้รู้ ความเป็นผู้ตื่น ความเป็นผู้เบิกบาน นี่แหละคือความหมายของคำว่าพุทธะ พระพุทธเจ้า เราเป็นสาวกของพระองค์ เรียกว่าเป็นพุทธบริษัท เราได้รับประโยชน์แล้วจากความเป็นพุทธบริษัทก็คือความเป็นผู้รู้ เป็นผู้ตื่น เป็นผู้เบิกบาน มาสูงสุดอยู่ที่ความเป็นผู้เบิกบาน ประโยชน์ของความเป็นพุทธบริษัทมาสูงสุดอยู่ที่ความเป็นผู้เบิกบาน เบิกบานจริง เบิกบานถูกต้อง ไม่ใช่แกล้งทำบาน หรือว่าฉีกให้มันบาน เหมือนไปฉีกดอกไม้ อย่างนี้มันเป็นเรื่องหลอกลวง มันต้องเป็นความถูกต้องที่ดำเนินมาโดยลำดับ ๆ แล้วเป็นความเบิกบานแห่งจิตใจ ก็มีความเบิกบานแห่งร่างกายตามมาด้วย
เมื่อตะกี้ก็ได้พูดถึงเรื่องกฏของธรรมชาติที่เราจะต้องรู้ที่เรียกว่า กฏของอิทัปปัจจยตานี้เราจะต้องรู้ว่าทุกอย่างมันเป็นไปตามกฏของอิทัปปัจจยตา อยู่ ๒ ฝ่าย คือฝ่ายที่ให้เสื่อมเสียเป็นทุกข์ก็มี ฝ่ายให้เจริญรุ่งเรืองไม่มีทุกข์เป็นสุขก็มี ทุกอย่างเป็นไปตามกฎของอิทัปปัจจยตา เราจะต้องรู้เพื่อปฏิบัติให้ถูกต้อง แล้วเราจะต้องรู้เพื่อจะไม่ไปหลงรักหลงเกลียด สิ่งที่เป็นไปตามกฏของอิทัปปัจจยตา เดี๋ยวนี้เรามีปัญหาอยู่ที่ว่าเรารักสิ่งนั้น เราเกลียดสิ่งนี้ เราก็โกรธขึ้นมา เราก็มีการกระทำชนิดที่ไม่น่าดู เมื่อโกรธ เมื่อเกลียด เมื่ออิจฉาริษยา แม้ในทางฝ่ายที่ตรงกันข้ามคือหลงรักก็เพราะเราโง่ไปหลงรัก เพราะไม่รู้ว่านี่มันเป็นไปตามธรรมชาติ ตามกฏของอิทัปปัจจยตา เช่นว่า รูปที่สวย เสียงที่เพราะ กลิ่นที่หอม ของอร่อย หรือสัมผัสอันเป็นที่ถูกใจ นี่มันเป็นไปโดยกฎของอิทัปปัจจยตา เราไม่รู้เราก็ไปหลงรัก แล้วไปหลงรักจนถึงกับว่าไม่มีความรู้เหลืออยู่เลย มีแต่ความโง่ มันก็ทำผิดด้วยสิ่งที่เราไปหลงรัก เข้าใจว่าทุกคนคงจะฟังออกว่าเดี๋ยวนี้มีการกระทำผิด เพราะความหลงรักในสิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่งความหลงรัก จนเกิดความเป็นการเสื่อมเสียอยู่ทั่ว ๆ ไป ในระดับที่เป็นอาชญากรรมทางเพศ นี่ก็เป็นเรื่องการทำผิดในเรื่องของความหลงรัก ไม่รู้เรื่องกฏของธรรมชาติว่ามันเป็นอย่างนี้เอง เราจะมาพิจารณาดูให้เห็นว่า ไอ้ตัวร่างกายของเราก็ดีเป็นไปตามกฏของอิทัปปัจจยตา สิ่งนอกกาย บ้านเรือน ทรัพย์สมบัติสิ่งของของเรา ก็เป็นไปตามกฏของอิทัปปัจจยตา นี้จิตใจที่อยู่ภายในก็เป็นไปตามกฏของอิทัปปัจจยตา คนเราแต่ละคนนั่งอยู่ที่นี่ มีส่วนประกอบคือ จิตใจอยู่ในส่วนลึก เป็นประธานของกลุ่มร่างกายนี้ แล้วก็มีเนื้อหนัง ร่างกาย เป็นที่ตั้ง ที่อาศัย เป็นเหมือนสำนักงานที่ทำงานของจิตใจ นี่เราก็มีร่างกาย ที่เกี่ยวกับร่างกายเราต้องมีเสื้อผ้า ต้องมีบางสิ่งที่ทำให้ร่างกายเป็นอยู่ได้ นี่สิ่งนอกกาย นี้สิ่งนอกกายก็ดี ร่างกายก็ดี จิตใจก็ดี ทั้ง ๓ อย่างนี้ ล้วนแต่เป็นไปตามกฏของอิทัปปัจจยตา ที่ว่าเมื่อสิ่งนี้มีสิ่งนี้ก็มี ไอ้คนโง่ไม่เข้าใจ ก็หาว่าพระพุทธเจ้าตรัสอะไรฟังไม่ถูก หรือจะหาว่าบ้า ๆ บอ ๆ เสียอีก คือท่านตรัสว่าเพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี นี่ท่านตรัสให้เรารู้ว่ามันเป็นเพียงอาการของ อิทัปปัจจยตา ไม่ใช่ตัวใช่ตนอย่างใดอย่างหนึ่งที่เด็ดขาดถาวร อย่าไปหลงรักมันโดยความเป็นตัวตน อย่างใดอย่างหนึ่งที่ถาวร ที่จะอำนวยอะไรให้แก่เราอย่างถาวร อิทัปปัจจยตาแปลว่า เพราะมีสิ่งนี้เป็นปัจจัย ความที่มีสิ่งนี้เป็นปัจจัย ร่างกายที่นั่ง ๆ อยู่นี้ มันมีปัจจัยอย่างใดอย่างหนึ่งปรุงแต่งขึ้นมา แล้วปรุงแต่งอยู่ มันจึงเป็นคน ๆ หนึ่งที่นั่งกันอยู่ได้ที่นี่ ไม่ใช้มีตัวตนอันถาวร ที่บังคับเอาได้อย่างนั้นอย่างนี้ ให้เห็นว่ามันเป็นแต่สิ่งที่มีมา หรือเกิดขึ้นก็ตาม ตามเหตุตามปัจจัย เป็นกระแสเรื่อยไปไม่มีส่วนไหนที่จะควรเรียกว่าตัวตน นั้นถ้านักเรียนทั้งหลายยังไม่เข้าใจคำว่า อนัตตา ไม่ใช่ตัวตน ก็จงเข้าใจเสียเถิด ท่านหมายถึงอย่างนี้ เพราะมันมีสิ่งที่กำลังเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย
สิ่งนอกกายก็เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย เช่นกว่าจะเป็นเสื้อผ้าขึ้นมาได้ ก็ต้องมาจากที่มาของมันเช่นฝ้าย เส้นขนสัตว์อะไรก็ตาม มีปัจจัยคือความต้องการของคนไปทำมันขึ้น มันจึงเป็นเสื้อผ้าขึ้นมา และก็เป็นไปตามปัจจัยที่มันจะเก่า มันจะชรา มันจะละลายหายสูญไปในที่สุด นี่ตัวอย่างของนอกกาย ที่นี้ร่างกายนี้ มีบิดามารดาเป็นแดนเกิดเจริญขึ้นด้วยอาหาร และก็เปลี่ยนไป เปลี่ยนไป จนมาอยู่อย่างนี้และก็จะเปลี่ยนไป เปลี่ยนไป จนได้เข้าไปอยู่ในโลง มันไม่มีความเป็นตัวตนที่พอใจแก่ใครโดยเฉพาะได้ มันเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย นี้ก็เรียกว่าเป็นไปตามกฏของอิทัปปัจจยตา ทีนี้จิตของเราก็เหมือนกันไม่เป็นตัวตนอันถาวรของมันได้ มันเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยของจิต ทุกคนมีจิต รีบทำความรู้สึกในสิ่งที่เรียกว่า จิต เท่าที่จะรู้สึกได้ ไอ้ที่มันคิดนึกได้ มันรู้สึกได้นั่นแหละคือจิต มันเป็นทาสลึกลับอยู่ในธรรมชาติ มันเป็นสิ่งที่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่งขึ้น มันจึงปรากฏขึ้น มันจึงทำงาน ทำหน้าที่ของมันได้ ปัจจัยปรุงแต่งจิตก็คือ สิ่งที่จะเข้ามาทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เรามีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สำหรับติดต่อกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ พอเข้ามา สมมุติเข้ามาทางตา สวย แล้วก็เกิดความรู้สึกรัก พอใจ ไม่สวยก็เกิดความรู้สึกโกรธ หรือ เกลียด มีความรู้สึกเป็นตัวกูผู้รัก มีตัวกูผู้เกลียด และก็ไม่ได้อย่างใจก็โกรธ ได้อย่างใจก็รัก ก็หลง ก็หึงก็หวงเหมือนกับคนบ้า นั้นไม่มีความสงบทั้งในส่วนของความรักและความเกลียด ต้องเข้าใจข้อนี้ ไอ้รักมันก็เขย่าจิตไปทางหนึ่ง ไอ้เกลียดมันก็เขย่าจิตไปอีกทางหนึ่ง ไม่เป็นความสงบสุข ไม่เป็นความเบิกบาน ต้องปราศจากความรู้สึกรัก ปราศจากความรู้สึกเกลียด จิตใจจึงจะเป็นตัวเอง เป็นอิสระ เรียกว่ามันเบิกบาน มันสงบ มันเย็น เป็นนิพพาน อย่ายินดียินร้าย มันก็จะสงบเย็น เป็นลักษณะของนิพพาน นี่เราก็มารู้เรื่องจิตใจ เป็นไปตามสิ่งที่เข้ามาแวดล้อม ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หรือทางจิตใจเอง มันรู้สึกอย่างไร มันก็มีความหมายอย่างนั้น พระพุทธเจ้าท่านสอนละเอียดลึกกว่าพวกที่สอนอยู่ก่อน เมื่อพระพุทธเจ้าท่านเกิดขึ้นในโลกนี้ ก็มีคนสอนอยู่ก่อน สอนอย่างอื่น สอนแต่ตามแบบของเขา เช่นเขาให้ถือว่านี่คือโลก เหมือนกับที่เราจะเข้าใจเอาเองว่า ที่เห็น ๆอยู่นี่แหละคือโลก และนรกก็อยู่ใต้ดินลึกลงไป ตายแล้วก็จะได้ไปเยี่ยม สวรรค์อยู่ข้างบนสูงสุดขึ้นไป ตายแล้วก็จะได้ไปเยี่ยม พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ไอ้ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั่นแหละคือโลก มารู้จักโลกตามแบบของพระพุทธเจ้ากันเสียบ้าง เพราะนักเรียนรู้จักโลก แต่ตามที่สอนกันอยู่ในแบบเรียน โลกกลม ๆ แบ่งเป็นทวีป เป็นประเทศ เป็นอะไรที่ท่องกันอยู่ จนขึ้นสมองว่านั่นโลก แต่พระพุทธเจ้าท่านบอกว่าที่ตา ลิ้น หู จมูก กาย ใจ นั่นคือโลกหรือ มีโลก ตารู้สึกอย่างไรก็เป็นโลกทางตา หูรู้สึกอย่างไรก็เป็นโลกทางหู จมูกรู้สึกอย่างไรก็เป็นโลกทางจมูก ลิ้นรู้สึกอย่างไรก็เป็นโลกทางลิ้น ผิวหนังรู้สึกอย่างไรก็เป็นโลกทางผิวกายผิวหนัง จิตใจรู้สึกอย่างไรก็เป็นโลกทางจิตใจ ถ้าจะกลับมาตรัสว่าโลกอยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตามที่มันรู้สึกอย่างไร ถ้าเข้าใจข้อนี้จะดีมาก จะง่ายมากสำหรับศึกษาธรรมะ ถ้าไม่เข้าใจข้อนี้คงจะลำบาก นั้นลองพยายามเข้าใจตามคำสั่งสอนของพระองค์ว่า โลกที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันรู้สึก นี่เป็นโลกจริง โลกที่เราเห็นอยู่รอบตัวเรานั้นเป็นโลกหลอก เป็นภาพหลอก เป็นมายา เป็นภาพหลอก โลกที่เป็นภาพหลอกในโลกที่จริง คือสิ่งที่มาสัมผัสแล้ว รู้สึกอยู่แล้ว ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้าเมื่อไร เราทำผิดพลาดในการสัมผัสสิ่งเหล่านี้ ก็เกิดความร้อนใจ กระวนกระวาย ระส่ำระสาย เหมือนกับไฟเผา นี่เรียกว่านรก นรกก็อยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้าเมื่อใดเราทำถูกต้อง มีผลเป็นที่พอใจ ถึงกับว่าอยากจะไหว้ตัวเองได้ เมื่อตะกี้นี้ นั่นแหละคือสวรรค์ สวรรค์อยู่ที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เราอย่าตกนรกชนิดนี้ เราตายไปก็ไม่ตกนรกชนิดไหน เราจงได้สวรรค์ชนิดนี้ แล้วตายไปก็จะได้สวรรค์ทุกอย่างตามที่อยากจะได้ นั้นหลังจากตายแล้วเก็บไว้ทีก่อนก็ได้ เพราะเรายังทำอะไรไม่ได้ ควบคุมไม่ได้ เราทำกันที่นี่ เดี๋ยวนี้ ที่เราควบคุมได้ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อย่าให้มันกลายเป็นนรกขึ้นมา แต่ให้มันเป็นสวรรค์อยู่ แต่ถ้าเราเบื่อแล้ว เราก็อย่าเป็นทั้งนรกอย่าเป็นทั้งสวรรค์ มันก็จะเป็นนิพพาน ในความหมายของนิพพานคือ หยุด คือ เย็น อย่าไปบ้าอย่างนรก อย่าไปบ้าอย่างสวรรค์ มันก็หยุด เย็น อยู่ตรงกลาง มีลักษณะแห่ง นิพพาน นี่ความเบิกบานอย่างยิ่ง ในนรกคงเบิกบานไม่ไหว ในสวรรค์ก็เบิกบานด้วยความโง่เขลา หลงใหล แต่พอสลัดทิ้งไปเสียให้หมด ทั้งนรกและสวรรค์ ก็จะเบิกบานอย่างนิพพาน คือหยุด คือเย็น คือบริสุทธิ์ คือสะอาด คือสว่าง คือสงบ นี่มันเบิกบานจริง เบิกบานแบบพุทธบริษัท มันอยู่กันที่ตรงนี้ เพราะพุทธะ แปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ถ้าต้องไปตกนรกก็ไม่ใช่พุทธบริษัท ถ้าไปหลงสวรรค์อย่างที่เขาหลง ๆ กัน สวรรค์เนื้อหนังก็ไม่ใช่เป็นพุทธบริษัท จะต้องอยู่เหนือปัญหาเหล่านี้จึงจะเป็นพุทธบริษัท ปู่ย่า ตายายของเราพูดก็ถูกต้อง ท่านว่าสวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ แต่ลูกหลานไม่ค่อยเชื่อ ก็สร้างนรกขึ้นได้เรื่อย ๆ มีความเร่าร้อน อกจะหัก อกจะพัง จะแตกทำลาย กระจัดกระจายอยู่ตลอดเวลา นี่เพราะไม่เชื่อว่านรกมันอาจจะเกิดขึ้นมาในใจ นั้นสวรรค์ก็เหมือนกัน เราจะสร้างขึ้นได้ในใจ ไม่ต้องลงทุนไปที่ยวหาตามไนท์คลับ ตามบาร์ ตามอะไรต่าง ๆ มันสร้างขึ้นได้ในใจ สวรรค์ในอกนรกในใจ ตรงกับที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ แต่คนส่วนมากไปถือว่านรกอยู่ใต้ดินถึงต่อตายแล้ว สวรรค์อยู่บนฟ้า ถึงต่อตายแล้ว นั่นมันเป็นเรื่องเพ้อฝันเสียมากกว่า เพราะไม่อาจจะถึงได้ ไม่อาจสัมผัสได้ แต่ว่าถ้ากลัวไว้ หวังไว้ก็ดีเหมือนกัน ในทางศีลธรรม ให้กลัวบาปเข้าไว้ ให้รักบุญเข้าไว้ เพื่อไปสวรรค์ ไม่ต้องไปนรก แต่ถ้าดีกว่านั้น ต้องไม่ไปนรกกันที่นี่และเดี๋ยวนี้ และมีสวรรค์กันที่นี่และเดี๋ยวนี้ และบางเวลาก็จะมีนิพพานด้วย คือควบคุม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ให้ถูกต้อง อย่าไปเป็นผิด เป็นนรก อย่าให้ไปถูก ชนิดที่เป็นสวรรค์ แต่ให้ถูกชนิดที่หยุดเป็นนรก หยุดเป็นสวรรค์ ก็เป็นความสงบ คือเป็นนิพพาน นี่ความเป็นพุทธบริษัทสูงสุดอยู่ที่ตรงนี้ คือสามารถควบคุม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไว้อย่างถูกต้อง จนมีแต่ความสงบ เขาใช้คำว่า ไม่ยินดีไม่ยินร้าย คือไม่รัก และไม่เกลียดนั่นเอง รักก็เป็นทาสของความรัก เกลียดหรือโกรธ ก็เป็นทาสของความโกรธ ไม่เป็นทั้งสองอย่าง ก็อยู่ด้วยความสงบ นี่จับเอาได้ที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เมื่อมันสัมผัสกันกับของภายนอกคือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ เราเป็นพุทธบริษัท รู้และก็ตื่นจากความโง่ และก็ทำให้มันสำเร็จ แล้วก็เบิกบาน นี่เรารู้จัก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่มันรวมอยู่ในคน ๆ หนึ่ง ที่เราจะเรียกว่าการรู้จักตัวเอง ทุกคนบอกว่ารู้จักตัวเอง แต่มันรู้จักแต่เพียงว่าลูกคนนั้น หลานคนนี้ ชื่อนั้น ชื่อนี้ นามสกุลนั้น นามสกุลนี้ เรียนโรงเรียนนั้น มันรู้เท่านี้ มันไม่รู้จักตัวเองถึงขนาดว่า สิ่งที่กำลังเป็นไปตามเหตุ ตามปัจจัย ตามอาการของปฏิจจสมุปบาท ก็ขึ้น ๆ ลง ๆ อยู่ด้วยอำนาจของความผิด ความถูก ทาง อายตนะ คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั่นเอง พอทำผิดก็เป็นทุกข์ ทำถูกก็ไม่ทุกข์ นั่นก็เรียกว่า ขึ้น ๆ ลง ๆ อยู่ ทำให้ถูกถึงที่สุดก็คือไม่ขึ้นไม่ลง ให้รู้จักตัวเองกันอย่างนี้ จนเห็นชัดว่าเราจะจัดตัวเองให้เป็นอะไรก็ได้ จะจัดตัวเองเป็นนรกโครม ๆ ขึ้นมาก็ได้ จะจัดตัวเองให้เป็นสวรรค์ เป็นความสุข เป็นความพอใจ ยกมือไหว้ตัวเองได้ อย่างนี้ก็ได้ นึกจัดให้เป็นพระนิพพาน หยุดเย็นสงบตลอดเวลาก็ได้ มันขึ้นอยู่กับสิ่ง ๆ เดียวคือจิต เมื่อตะกี้ก็บอกแล้ว ทุกคนพยายามรู้สึก รู้จัก สิ่งที่เรียกว่า จิต ตามที่จะรู้สึกหรือรู้จักได้ อาตมาเชื่อว่า ทุกคนแม้จะเป็นเด็กอย่างไร ก็พอจะใคร่ครวญ รู้จัก ได้ว่าเรามีจิตที่รู้สึกได้ คิดนึกได้ นั่นแหละเป็นสิ่งที่เราปรับปรุงได้ ทำให้มันเป็นจิตนรกก็ได้ ทำให้มันเป็นจิตสวรรค์ก็ได้ ทำให้มันเป็นจิตนิพพานก็ได้ เดี๋ยวนี้เราไปเรียนกันแต่เรื่องอื่น ในโรงเรียน ในวิทยาลัย ในมหาวิทยาลัย ไม่ได้สอนเรื่องจิต คือเรื่องบังคับจิต สอนแต่เรื่องอื่นทั้งนั้น สอนให้รู้หนังสือ สอนให้รู้อาชีพ แล้วก็จิตก็ยังผิดอยู่นะแหละ ไปโง่ ไปหลง ไอ้เรื่องสวย เรื่องงาม เรื่องอเร็ดอร่อย ไม่รู้ว่านี้มันเป็นสิ่งที่โง่เขลา หรือไม่ควรจะไปหลง ไปหลงเข้าแล้วก็เสียหายหมด การเรียนก็เสียหาย การงานก็เสียหาย ชีวิตตลอดชีวิตมันก็เสียหาย เราไปเรียนเรื่องจิตกันเสียบ้าง นี่เราอย่าเรียนกันแต่เรื่องอื่นตลอดเวลา อยู่ที่โรงเรียนก็เรียนเรื่องโรงเรียน มาที่นี่ในลักษณะอย่างนี้ ก็มาเรียนเรื่องจิตที่ไม่มีสอนกันในโรงเรียน เราต้องรู้จักการอบรมจิตให้ถูกต้อง รู้ว่าเราจะสามารถควบคุมจิตให้ดำรงอยู่แต่ในลักษณะที่ถูกที่ควร เรามารู้จักจิต นั่นก็คือรู้จักตัวเอง ถ้าเราไม่รู้จักจิต ก็ไม่รู้จักตัวเอง ให้รู้จักจิตว่าเป็นอย่างไร อยู่ในสถานะอย่างไร มีดีชั่วอย่างไร เราจะจัดการกับมันอย่างไร ก็จัดการให้ถูกต้อง นี่รียกว่ารู้จักตัวเอง เรียกว่ารู้จักดำรงจิต นั่นแหละคือดำรงตัวเอง
ในเรื่องการหาเงิน หาทอง หาเกียรติยศชื่อเสียงนั้น มันก็เป็นเรื่องข้างนอก เป็นเรื่องของกาย ดูให้ดี ถ้าทำผิดมันก็เป็นความทุกข์ แม้จะถูกแต่เอายึดถือ ก็มันมาหนักอยู่บนศีรษะ มันหนักอยู่บนดวงจิต ไอ้สิ่งเหล่านี้รับเข้ามาต้องถูกต้อง คือมีจิตที่ไม่ยึดถือ ไม่เอามาหนักอกหนักใจ เรื่องกิน เรื่องกาม เรื่องเกียรติยศชื่อเสียง ต้องไม่มาเป็นเรื่องหนักอกหนักใจให้แก่เรา ถ้ามันหนักอกหนักใจแล้วอย่าเอาเสียดีกว่า บางทีจะพูดว่าตายซะยังดีกว่า มันไม่หนักอกหนักใจ ต้องทำให้ถูก อย่าให้มาหนักอกหนักใจ ด้วยเรื่องกิน ด้วยเรื่องกามรมณ์ และด้วยเรื่องเกียรติยศชื่อเสียง ซึ่งใฝ่ฝันกันนัก นี้เราไม่รู้โดยถึงที่สุดว่าจิตคืออะไร แต่เรารู้พอที่จะบังคับจิตได้ก็แล้วกัน มีสติสัมปชัญญะ บังคับจิต ควบคุมจิต ว่าจงดำรงอยู่อย่างนี้ จงเป็นไปแต่อย่างนี้ การที่เราจะรู้จักว่าจิตคืออะไร เหมือนกับที่เราจะรู้จักวัตถุนั้น มันก็ยาก และก็ไม่ต้องรู้ถึงขนาดนั้น อย่างเรื่องไฟฟ้า นี่เป็นเรื่องวัตถุ นักเรียนก็เคยเรียนมาแล้วเรื่องไฟฟ้า มากมาย จนใช้ประโยชน์แก่มันได้ แต่ก็ยังไม่รู้ตัวจริงว่าไฟฟ้านั้นคืออะไร เคยถามนักวิทยาศาสตร์ นักฟิสิกส์ เขาก็ไม่ตอบได้ว่าตัวจริงแท้ ๆ ของมันคืออะไร เพียงแต่เรารู้จักวิธีทำให้มันปรากฏออกมา ให้แสดงตัวออกมาเป็นกำลังงาน เป็นอะไรก็แล้วแต่เราต้องการ เดี๋ยวนี้เราใช้ประโยชน์จากสิ่งที่เรียกว่าไฟฟ้าอย่างมหาศาล ยิ่งกว่าสิ่งใด แต่เราก็ไม่รู้จักว่าตัวไฟฟ้าจริง ๆ ว่ามันคืออะไร ก็พอแล้ว รู้จักใช้สำเร็จประโยชน์ก็พอแล้ว เรื่องจิตนี่ก็เหมือนกัน ไม่อยู่ในวิสัยที่จะรู้จักตัวมันโดยถูกต้อง โดยสมบูรณ์ ว่าตัวมันคืออะไร แต่เรารู้วิธีที่จะทำให้ไม่เป็นทุกข์ก็แล้วกัน ก็เรียกว่าพอแล้ว เรารู้เรื่องของจิตคือเพียงแต่ที่จะไม่ทำให้มันเป็นทุกข์ ให้รู้จักตัวเองก็คือรู้จักจิตเท่าที่เราจะควบคุมไว้ได้ อย่าให้เกิดปัญหาเป็นความทุกข์ขึ้นมา เราสามารถจะอบรมจิต บังคับจิตของเรา ให้สัมผัสกับสิ่งที่เรียกว่าพระนิพพาน หรือวิสังขาร ทีนี้จิตของเราสัมผัสแต่สิ่งที่เป็นสังขาร เป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์เพราะมันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เดี๋ยวนี้ เราจะอบรมจิตให้รู้จักเลยไปถึงสิ่งที่เรียกว่า วิสังขารหรือนิพพาน คือสิ่งที่ไม่มีการ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป มีความอยู่อย่างประหลาดที่สุด โดยไม่ต้องมีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป มันอยู่ชนิดที่เป็นอนัตกาล เป็นนิรันดร ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเป็นการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ทำจิตให้เข้าถึงสิ่งนั้นได้ ก็เป็นการบรรลุถึงพระนิพพานอันสูงสุดของพุทธศาสนา และก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าที่จะควบคุมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ให้มีสติสัมปชัญญะเพียงพอ ไม่ไปหลงรัก และไม่ไปหลงเกลียด มี ๒ คำเท่านั้น อย่าไปยินดี ที่ยั่วยินดี อย่าไปยินร้ายที่ยั่วให้ยินร้าย มันไม่รู้จะทำอะไรนอกจากสงบ เย็น หยุด เป็นความไม่เป็นทุกข์ เป็นที่สุดแห่งความทุกข์ ไม่มีความทุกข์ที่นี่ ถ้ามีเป็นอยู่อย่างนี้เอง เป็นนิรันดร ถ้าเข้าถึงได้ ก็เข้าถึงสิ่งที่เป็นนิรันดร จิตนั้นก็ไม่ไปหลงเอาสิ่งที่เกิด แก่ เจ็บ ตาย มันไปเข้าถึงสิ่งที่ไม่มีการเกิด แก่ เจ็บ ตาย อย่างนี้เรียกว่า สัมผัสวิสังขาร เราสัมผัสกันอยู่แต่เรื่องของสังขาร คือเรื่องที่มีการ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป มีความเป็นทุกข์ มีความไม่เที่ยงอยู่อย่างนี้ นี่มันก็ไม่ใช่ผู้เบิกบาน มันยังไม่เป็นพุทธบริษัทเลย เรายังไม่เป็นพุทธบริษัทเลย ถ้าเรายังไม่จัดการกับจิตให้ถูกต้องถึงที่สุด จนมีแต่ความเบิกบาน เรามาเป็นพุทธบริษัทกันให้ถูกต้อง เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานให้ได้ เราพูดถึงความเป็นผู้เบิกบานถึงที่สุดคือเป็นพระอริยบุคคล ว่าอยู่ในวิสัยที่มนุษย์จะทำได้ ถ้าเรามีความเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานแล้ว เราก็พูดได้เต็มปากว่าเราเป็นอริยบุคคล ไม่ว่าใคร ผู้หญิง ผู้ชาย คนแก่ คนหนุ่มอะไรก็ตาม ถ้าเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานได้แล้ว ก็เรียกว่าเป็นอริยบุคคล เรากล่าวว่าเป็นอริยบุคคลได้อย่างเต็มปาก เราจะต้องเป็นให้ได้ จะได้ไม่เสียชาติเกิดมา เป็นคำหยาบคายสักหน่อยแต่มันไม่รู้จะพูดอย่างไร ถ้าว่าเราเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานตามพระพุทธเจ้าไม่ได้ เราก็เสียชาติเกิดมา แต่บางคนก็คัดค้านว่าไม่เสียชาติเพราะเราได้เอร็ดอร่อย สนุกสนาน หัวหกก้นขวิด ตามที่เราพอใจ เราไม่เสียชาติเกิดมา นั้นมันชาติของใครไปคิดดูให้ดี มันไม่ใช่ชาติของพุทธบริษัท ไม่ใช่ชาติของความเป็นพุทธบริษัท มันเป็นชาติของคนที่ไม่รู้ ไม่ตื่น ไม่เบิกบาน ยังหลับอยู่ด้วยกิเลส ไม่เคยตื่นจากหลับเลย นี่คนในโลกก็มีอยู่ ๒ พวก คือผู้ที่ตื่นกับผู้ที่ไม่ตื่น เขายังหลับอยู่ ก็ทำไปอย่างคนหลับ ก็มีปัญหา มีความทุกข์ ทำความทุกข์ให้แก่ทั้งตัวเองและแก่ผู้อื่น นี้เรายังเป็นพุทธบริษัท ไม่ทำความทุกข์ให้แก่ตัวเอง ไม่ทำความทุกข์ให้แก่ผู้อื่น เราก็ต้องรู้เรื่องนี้ เราควบคุมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เมื่อได้สัมผัสรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ อย่าให้ไปหลงรัก ในกรณีที่มันยั่วให้รัก อย่าไปหลงเกลียด หลงโกรธ ในกรณีที่มันยั่วให้เกลียดให้โกรธ ให้อยู่ในสภาพที่ปกตินี้เรียกว่า ควบคุมได้ ไม่เกิดตัวกู ของกูพุ่งพล่านขึ้นมา สำหรับจะรักหรือสำหรับจะเกลียด อย่างที่เป็นปัญหาอยู่ในโลกทุกวัน เป็นไปตามอำนาจของกิเลส แล้วก็ทำลายตัวเอง ทั้งหญิงทั้งชาย ทั้งคนหนุ่ม ทั้งคนแก่ ทำผิดเกี่ยวกับเรื่อง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ดำรงไว้ให้มันถูกต้อง เพราะว่าเขาไม่รู้เรื่องของปฏิจจสมุปบาท ไปสนใจหาโอกาสค้นคว้าศึกษาเรื่องปฏิจจสมุปบาท อย่าเห็นเป็นเรื่องของความลึกซึ้งเกินไปไม่ถูก ไม่เกี่ยวกับเรา มันเกี่ยวกับเราเพราะเนื้อตัวของเรา เป็นไปตามกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท จิตใจของเราก็เป็นไปตามกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท โลกนี้ทั้งโลกก็เป็นไปตามกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท ซึ่งมันมีกฎของมันอย่างนั้น เรารู้จักแล้วสามารถจะควบคุมไม่ให้เป็นไปในทางฝ่ายความทุกข์ แต่ให้เป็นไปในทางฝ่ายที่มันหยุด หรือมันสงบแห่งความทุกข์ นี่คือผลของความเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
ขอให้ทุกคนรู้จักประโยชน์ของความเป็นพุทธบริษัทเพราะมันมีอยู่ที่ตรงนี้ การเป็นพุทธบริษัทก็คือสามารถตัดปัญหาทั้งปวงได้ ไม่ให้มนุษย์มีปัญหาหรือมีความทุกข์ นั้นจึงหวังว่า นักเรียนทั้งหลาย นักศึกษาทั้งหลาย ครูบาอาจารย์ทั้งหลาย จะได้สนใจในความเป็นพุทธบริษัท ของตนนี้ให้มากขึ้นไปเป็นพิเศษ คือมันถูกต้องยิ่งขึ้น ถูกต้องยิ่งขึ้น จนมีความเป็นพุทธบริษัทที่ถูกต้องและสมบูรณ์ เรื่องมันก็หมดนะ ไม่ต้องแห่กันมาที่สวนโมกข์ ให้ลำบาก จะมีความเป็นพุทธบริษัทที่ถูกต้องและสมบูรณ์ มันก็เป็นไปได้ในตัวเอง นี่อาตมาขอฝากข้อแนะนำไว้อย่างนี้ ว่าจงทำอย่างที่เป็นพุทธบริษัทให้สมบูรณ์ โดยนัยยะหรือวิธีการย่อ ๆ พอเป็นสังเขป อย่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้น จงมีความรู้ที่เพียงพอ มีการปฏิบัติที่เพียงพอ แล้วก็ได้รับผลของการปฏิบัติ ปฏิบัติคือ ควบคุมตนเอง ควบคุมจิตของตนเอง อย่าให้ตกไปในทางฝ่ายยินดี ยินร้าย ที่ต้องมีปัญหา มีความทุกข์ ให้อยู่ที่ความสงบ ไม่ต้องยินดียินร้าย ไม่ต้องฟู ๆ แฟบ ๆ แล้วก็สบาย แล้วก็คือเบิกบาน อย่างน้อยก็ขอให้ได้รับความเบิกบานตามทางของธรรมะคือมีจิตใจที่แจ่มใส สงบเย็น เป็นความสะอาด สว่าง สงบอยู่ นี่อาตมาได้พูดถึงประโยชน์ของความเป็นพุทธบริษัทพอเป็นแนวสำหรับสังเกตและศึกษาพอสมควรแก่เวลาแล้ว ขอยุติและฝากความหวังว่าท่านทั้งหลาย จงเป็นพุทธบริษัทให้ถูกต้อง ได้รับประโยชน์จากความเป็นพุทธบริษัทให้สมบูรณ์ และขออวยพรให้ท่านทั้งหลาย จงมีความเคารพตัวเอง มีความเชื่อตัวเอง บังคับตัวเอง ให้สามารถในการทำอย่างนี้ ให้กล้าหาญในการทำอย่างนี้ และทำให้ได้ เรื่องก็จะหมดคือหมดปัญหาเกี่ยวกับความเป็นมนุษย์ของเรา ให้มีความสุขอยู่ทุกทิพาราตรีกาลเทอญ ขอยุติการบรรยายนี้ไว้แต่เพียงเท่านี้
ฟังดูมันอาจจะมืดหรืออาจจะลึกอยู่บ้าง แต่ไม่ต้องกลัว พยายามเถอะ มันก็จะสว่างออกมา มันจะตื้นขึ้นมา จะเข้าใจได้ จะปฏิบัติได้ ฟังดูครั้งแรกคล้าย ๆกับว่าจะลึกเกินไป จะยากเกินไป จึงมืดมนอยู่ ใช้เวลาทั้งหมดแก้ไขข้อนี้ ให้มันแจ่มแจ้งออกมา ให้มันตื้นขึ้นมา ให้มันง่ายขึ้นมา ให้เราปฏิบัติให้ได้ แล้วก็จะได้ประโยชน์ในการได้เกิดมานี้ เต็มที่ถึงที่สุด ไม่เสียทีที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ และพบพระพุทธศาสนา ไม่มีอะไรดีกว่านั้น นี่พูดมันเป็นเหมือนกับว่าบัญญัติเฉพาะ แต่ที่จริงมันเป็นเรื่องของธรรมชาติ ให้เป็นไปตามธรรมชาติ ให้ลึกถึงจุดนี้ของธรรมชาติแล้วก็หมดปัญหา ที่ใช้คำว่าพุทธบริษัทก็บัญญัติขึ้นสำหรับจะได้ยึดเป็นหลักปฏิบัติเท่านั้นเอง แต่โดยที่แท้แล้วมันเป็นเรื่องของธรรมชาติอันเด็ดขาด อันสูงสุดอยู่ในตัวของธรรมชาติ
ต่อไปนี้โปรแกรมอะไรอย่างไงก็เชิญได้ เวลาอาจารย์จะออกไปต้องแวะกุฏิอีกที พระเขาจัดหนังสือไว้ให้ เวลาจะออกไป ลุกขึ้นยืน ซ้ายหัน เดินไปตามซ้าย ตามทางซ้ายแล้วจึงค่อยเลี้ยวตามพอใจ เรียกว่าถูกต้องตามแบบฉบับของพุทธบริษัท ลุกขึ้นยืน แล้วซ้ายหัน เดินไปตามซ้ายแล้วค่อยเปลี่ยนไปตามที่ตัวต้องการ อย่าลุกขึ้นยืนแล้วหันหลัง สะบัดก้นเดิน ไม่ถูกตามวิธีของพุทธบริษัท ลุกขึ้นยืนแล้วซ้ายหัน แล้วออกเดินไปเลี้ยวไปตามที่ตัวต้องการจะไป .....
เมื่อตะกี้ดูมีเพิ่งมาโรงเรียนหนึ่ง มีธุระอะไรก็มาพบที่นี่ ที่เพิ่งเข้ามาอีกโรงเรียนหนึ่ง ....