แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
นักศึกษาผู้สนใจในธรรมทั้งหลายส่วนมากท่านทั้งหลายในวันนี้เป็นนักศึกษาสถาบันเทคโนโลยีก็เลยถือโอกาสบรรยายธรรมะในวันนี้โดยหัวข้อว่าเทคโนโลยีของธรรม หรือภาวะที่เป็นเทคโนโลยีของธรรม หลายคนคงจะงงเพราะว่าคำว่าเทคโนโลยีนี้เคยใช้กันแต่ในทางวัตถุ เมื่อพูดถึงเทคโนโลยีของธรรมก็งงหรือไม่เชื่อ ในที่นี้ขอถือเอาใจความของคำว่าเทคโนโลยีก็คือการรู้ใช้รู้จักใช้เทคนิคของสิ่งนั้นๆให้สำเร็จประโยชน์ตามที่ต้องการ คือเข้าถึงตัวแท้ของสิ่งนั้นเข้าถึงสัจจะที่เกี่ยวกับสิ่งนั้น มีตัวการปฏิบัติที่ถูกตรงตามสัจจะหรือกฎเกณฑ์ของสิ่งนั้นๆ เราก็ได้รับประโยชน์จากสิ่งนั้นๆอย่างเต็มที่ แต่ว่าในโลกนี้ใช้คำนี้กันแต่ในเรื่องของวัตถุบัดนี้เอามาใช้ในเรื่องของธรรมที่เป็นนามธรรม ในทางธรรมนี้มีอะไรแปลกประหลาดอยู่หลายอย่าง ฉะนั้นขอให้สนใจฟังให้ดีเช่นว่า เรื่องจิตใจนี้วิชาความรู้สมัยปัจจุบันนี้ไม่เรียกว่าเป็นธาตุชนิดหนึ่ง เขาเรียกว่าเป็นธาตุนั้นธาตุนี้เฉพาะแต่ในสิ่งที่เป็นวัตถุ ส่วนเรื่องที่เป็นนามธรรมเช่นจิตใจเป็นต้นนี้ระบบการศึกษาปัจจุบันนี้ไม่จัดว่าเป็นธาตุ แต่ในทางพุทธศาสนาถือว่าเป็นธาตุชนิดหนึ่งด้วยเหมือนกัน ดิน น้ำ ลม ไฟ หรือธาตุอะไรตามแบบของวิทยาศาสตร์มันก็เป็นธาตุ ส่วนเรื่องทางนามธรรมจิตใจความรู้สึกคิดนึกกิริยาอาการที่ถือได้ว่าเป็นจุดระดับสุดท้ายของเรื่องนั้นๆแล้วทางธรรมะถือว่าเป็นธาตุทั้งนั้น ฉะนั้นเราจึงมีธาตุจิตธาตุความรู้สึกนึกคิดของจิตจนกระทั่งนิพพานก็เป็นธาตุชนิดหนึ่ง ฟังดูให้ดีมันจะขัดกันหรืออย่างไร ฉะนั้นเมื่อทุกอย่างคือธาตุตามธรรมชาติแล้วก็ย่อมอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของธรรมชาติมีสัจจะหรือกฎเกณฑ์ตามหลักของธรรมชาติ ฉะนั้นจึงมีเทคนิคอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งคนจะรู้หรือไม่รู้ก็ตามของสิ่งนั้นๆเป็นความลับที่ซ่อนเล้นอยู่ ถ้าเราค้นพบกฎเกณฑ์อันเป็นความลับนี้ก็เรียกว่ารู้เรื่องเทคนิคเกี่ยวกับสิ่งนั้นๆ การรู้จักใช้มันให้เป็นประโยชน์สำเร็จประโยชน์เราจะเรียกว่าเทคโนโลยีในที่นี้ นี้ธรรมะนั้นก็เป็นธาตุถ้าไม่เคยได้ยินก็ขอให้ได้ยินซะเดี๋ยวนี้ว่าไอ้ตัวธรรมะก็เป็นธาตุ ธาตุธรรมะเรียกว่าธรรมธาตุ ธรรมะทั้งหลายเป็นธรรมธาตุ หมายถึงมันเป็นสิ่งจริงแท้สุดท้ายที่จะเป็นที่ตั้งที่เกิดงอกงามขึ้นไปของสิ่งต่างๆที่เกี่ยวเนื่องกันอยู่ สิ่งที่เรียกว่าธรรมก็เป็นธรรมชาติ ที่นี้ก็อยากจะอธิบายเรื่องธรรมซึ่งเรียกเป็นภาษาไทยว่าธรรม ธ-ร-ร-ม ธ ธง รอ รอ มอ เรียกว่าธรรมในภาษาบาลี เรียกในภาษา เรียกในภาษาไทยหรือเรียกในภาษาบาลีว่าธรรมะ ธมฺม นี้มันคำเดียวกันสิ่งที่เรียกว่าธรรมนี้ก็เป็นธาตุและมีความลับที่เป็นเทคนิคอะไรอยู่ในสิ่งนี้ซึ่งเราจะต้องศึกษาคำๆนี้เป็นข้อแรก ก็อยากจะเรียกว่าไอ้เทคโนโลยีของสิ่งนี้ว่าธรรม ถ้าจะรู้จักสิ่งที่เรียกว่าธรรมโดยสมบูรณ์ทั้งในความหมายทางโลกทางธรรมทางวิทยาศาสตร์ ทางไม่ใช่วิทยาศาสตร์แล้วก็จะต้องแบ่งสิ่งที่เรียกว่าธรรมเป็นสี่ความหมายขอให้ช่วยจดช่วยจำกันไว้ให้ดีๆจะมีประโยชน์ในการที่จะศึกษาเรื่องต่างๆเกี่ยวกับธรรมต่อไปข้างหน้าได้อย่างง่ายดาย คำว่าธรรมในความหมายที่หนึ่งคือตัวธรรมชาตินั้นๆ คำว่าธรรมในความหมายที่สองคือกฎเกณฑ์หรือสัจจะอันเกี่ยวกับธรรมชาตินั้นๆก็คือกฎของธรรมชาตินั่นเอง ความหมายที่สามก็คือหน้าที่เกี่ยวกับธรรมธรรมชาตินั้นๆหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติให้ถูกตามกฎของธรรมชาตินั้นๆ สี่ก็คือผลที่จะได้รับจากการปฏิบัติหน้าที่ ทบทวนอีกทีหนึ่งว่าตัวธรรมชาติอย่างหนึ่ง ตัวกฎของธรรมชาติอย่างหนึ่ง ตัวหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติอย่างหนึ่ง และผลจากหน้าที่นั้นอีกอย่างหนึ่ง ถ้ามีปัญญาอยู่บ้างก็จะมองเห็นทันทีว่ามันเป็นเทคนิคอยู่ในตัวมันเอง ตัวธรรมชาติทั้งหลายจะเป็นวัตถุและมิใช่วัตถุก็ตามเรียกว่ามันเป็นธรรมชาติ มันก็มีอยู่แล้วในตัวธรรมชาตินั้นมันมีกฎของธรรมชาติกำกับอยู่ หรือจะพูดอีกทีหนึ่งก็ว่ามันเป็นไปตามกฎของธรรมชาติเช่นแผ่นดินโลกของเรานี้ก็เป็นธรรมชาติและก็ในแผ่นดินโลกนี้ก็มีกฎของธรรมชาติครอบงำอยู่ให้มันเป็นไปตามกฎของธรรมชาติ นี้มันเนื่องกันอย่างนี้นี้สัตว์ที่มีชีวิตทั้งหลายที่อาศัยอยู่ในโลกนี้มันก็มีหน้าที่อย่างถูกต้องตามกฎของธรรมชาติอันนั้นมิฉะนั้นมันตายหมด มันจะอาศัยอยู่ในโลกนี้ไม่ได้ ฉะนั้นสิ่งที่มีชีวิตมันจะอาศัยอยู่ในโลกนี้มันเกิดต้องทำตามหน้าที่ที่ตรงตามกฎของธรรมชาติ เราจะเห็นได้ว่ามนุษย์ก็ดีสัตว์ก็ดีต้นไม้ต้นไร่ก็ดีต้องมีการทำหน้าที่ตรงตามกฎนั้นๆมันจึงจะรอดอยู่ได้ ที่นี้เมื่อสัตว์และสิ่งเหล่านั้นมันมีหน้าที่และทำตามหน้าที่มันก็มีผลเกิดขึ้นมาเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ นับตั้งแต่รอดชีวิตอยูได้ก็ได้ผลเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้อีกมากมาย นี้ทั้งสี่อย่างนี้มันเป็นของที่เนื่องกันความที่มันเป็นของเนื่องกันอยู่อย่างลึกลับนี่เราเรียกว่าเทคนิคของสิ่งเหล่านี้ นี้การรู้จักใช้เทคนิคของสิ่งเหล่านี้ให้สำเร็จประโยชน์เราจะเรียกมันว่าเทคโนโลยี ถ้ามนุษย์เก่งจริงมนุษย์ก็มีความรู้พอและมีการปฏิบัติพอที่ใช้ธรรมชาติทุกสิ่งที่มีอยู่ในโลกนี้ให้เป็นประโยชน์แก่มนุษย์คือเป็นไปเพื่อสันติภาพ เดี๋ยวนี้มนุษย์รู้จักด้านเดียวเกินไปรู้จักเทคโนโลยีแต่เฉพาะด้านวัตถุจึงก้าวหน้าแต่ทางวัตถุจนเฟ้อจนทำลายโลกเสียเอง เทคโนโลยีหลับหูหลับตาเป็นไปในทางเฟ้อทางเกินมันก็ทำลายโลกวัตถุ ส่วนด้านจิตใจมันไม่มีความรู้มันไม่ได้ใช้เทคนิคฝ่ายจิตใจมนุษย์จึงไม่มีความถูกต้องในทางจิตใจ จึงมีกิเลสบ้างไม่มีศีลธรรมบ้างก็เป็นอยู่กันอย่างมีวิกฤติการณ์ ฉะนั้นขอให้ดูมนุษย์พวกที่เก่งในทางเทคโนโลยีมันทำอะไรให้โลกมีสันติภาพได้บ้างก็ลองดูคนไทยไปตามก้นฝรั่ง แล้วก็ดูฝรั่งมันสร้างสันติภาพอะไรในโลกบ้างก็ลองดูไปคิดดูนี่เทคโนโลยีที่เฟ้อด้านเดียวแต่ในทางของวัตถุมันเป็นอย่างนี้ ดังนั้นในวันนี้จึงอยากจะพูดถึงเทคโนโลยีในทางฝ่ายธรรมะคือทางฝ่ายนามธรรม ฉะนั้นขอให้จำเป็นหัวข้อชั้นแรกที่สุดไว้ก่อนว่าธรรมมีสี่ลักษณะหรือสี่ความหมาย ธรรมคือตัวธรรมชาติ ธรรมคือตัวกฎของธรรมชาติ ธรรมคือหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ และก็ธรรมคือผลที่เกิดจากการทำหน้าที่นั้นๆ คุณลองพิจารณาดูมันเป็นวิทยาศาสตร์หรือไม่เป็นวิทยาศาสตร์หรือมันขัดกับวิทยาศาสตร์ของพวกคุณที่ตรงไหนที่ว่ามันมีธรรมชาติมีกฎของธรรมชาติมีหน้าที่ตามกฎธรรมชาติมีผลเกิดจากหน้าที่ มันเป็นวิทยาศาสตร์ที่ครอบจักรวาล ธรรมะหรือศาสานาสอนกันอย่างนี้มันเป็นวิทยาศาสตร์ยิ่งกว่าวิทยาศาสตร์รู้เพียงพอก็เรียกว่ารู้เทคโนโลยีของสากลจักรวาลของทั้งจักรวาล จะทำสากลจักรวาลให้มีความสงบสุขได้มันจึงเป็นวิทยาศาสตร์ชนิดที่พวกคอมมิวนิสต์ก็รับได้คนหัวซ้ายช่วยฟังสักหน่อยช่วยฟังให้ดีว่าธรรมะตามหลักพุทธศาสนานั้นแม้แต่คอมมิวนิสต์ก็รับได้ พวกคอมมิวนิสต์นี้หาว่าศาสนาเป็นยาเสพติดมาตั้งแต่สมัยที่ยังเรียกกันว่า... (0:14:34) เมื่อคำว่าคอมมิวนิสต์ยังไม่เกิดในการใช้ยังเรียกกันว่า... (0:14:39) พวก... (0:14:42) หาว่าศาสนาเป็นยาเสพติดแล้วคิดดูว่ามันหลับตาพูดหรือว่ามันเป็นเรื่องจริง ในเมื่อศาสนามันก็บอกกล่าวแต่เรื่องสี่เรื่องนี้เรื่องธรรมชาติเรื่องกฎของธรรมชาติเรื่องหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติเรื่องผลเกิดจากหน้าที่นั้นๆ มันเป็นวิทยาศาสตร์ยิ่งกว่าวิทยาศาสตร์ มันเป็นเทคนิคอยู่โดยธรรมชาติถ้ารู้จักใช้ก็เป็นเทคโนโลยีที่ครอบจักรวาล ฉะนั้นเลิกโง่เลิกบ้าเลิกหาว่าศาสนาเป็นยาเสพติดกันเสียที โดยเฉพาะอย่างยิ่งพุทธศาสนาที่สอนเรื่องธรรมชาติเรื่องกฎของธรรมชาติเรื่องหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติและผลจากหน้าที่นั้น ที่มันจะมีปัญหาอยู่บ้างก็ตรงที่ว่าไอ้คำว่าธรรมชาติในฝ่ายพุทธศาสนานี้มันกว้างไม่หมายแต่ทางวัตถุ วิชาความรู้ที่พวกคุณเรียนกันนั้นคำว่าธรรมชาติมันหมายแต่ทางวัตถุไม่หมายถึงนามธรรมหรือจิตใจ ส่วนในทางพุทธศาสนานั้นไอ้สิ่งที่เรียกว่าธรรมชาติหมายหมดทุกสิ่งไม่ยกเว้นอะไรคือทั้งทางวัตถุและทางจิตใจหรือยิ่งไปกว่านั้นก็ต้องพูดกันในแบบที่กินความกว้างที่สุดก็คือทั้งที่มีปรากฏการณ์และทั้งที่ไม่มีปรากฏการณ์ วิทยาศาสตร์ของคนปัจจุบันรู้จักกันแต่เพียงที่มีปรากฏการณ์รู้จักธรรมชาติเฉพาะที่มีปรากฏการณ์ ส่วนที่ตรงกันข้ามไม่มีปรากฏการณ์นั้นเขาไม่รู้เขาก็เลยไม่ต้องรู้ธรรมะส่วนนี้ ธรรมชาติที่มีปรากฏการณ์คือสัมผัสได้ด้วยตาหูจมูกลิ้นกายหรือใจก็ตามนี่ เรียกกันว่า Phenomena ในรูปของพหุจนะทุกอย่างที่มีปรากฏการณ์ เรียกว่า Phenomena ก็คือมีปรากฏการณ์แล้วสิ่งที่ตรงกันจาก Phenomena น่ะเรียกว่า Numenal (0:17:10) ซึ่งจะมาพูดมาสอนกันแล้วรึยังก็ไม่ทราบแต่มันก็มีอยู่คือมันตรงกันข้ามกับ Phenomena โดยประการทั้งปวงนี้เราก็เรียกว่าธรรมชาติจะเปฺ็น Phenomena หรือ Numinal ก็เรียกว่าธรรมชาติทั้งนั้น หรือจะพูดเป็นภาษาธรรมะก็ว่าธรรมชาติอะไรที่ต้องมีเหตุปัจจัยอะไรมาปรุงแต่งมันจึงมีขึ้นมานี่ฝ่ายหนึ่ง และธรรมชาติที่ไม่ต้องมีเหตุอะไรปัจจัยปรุงแต่งนี่ก็มีได้นี่ฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นฝ่ายที่ไม่รู้จัก ถ้าเรียนวิทยาศาสตร์อย่างธรรมดาสามัญในโลกนี้ก็จะรู้จักแต่ฝ่ายที่มีปัจจัยปรุงแต่งเท่านั้นเพราะมีสิ่งนี้เป็นปัจจัยสิ่งนี้จึงเกิดขึ้นจนสิ่งที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่งเป็นอยู่ได้ตามธรรมชาติเรียกว่าเขาเรียกว่านิพพานหรือวิสังขารนั้นไม่รู้ ฉะนั้นก็แปลว่าการศึกษายุคปัจจุบันนั้นรู้จักธรรมชาติแต่ในฝ่ายที่มีปัจจัยปรุงแต่งในภาษาที่เกี่ยวกับธรรมะปรัชญานี้เรียกว่า Compounded Compounded หมายความว่ามันไม่ได้ประกอบอยู่ด้วยสิ่งใดตามลำพังมันต้องมีอะไรมาเข้ารวมอยู่ด้วยมาปรุงแต่งมาช่วยกันอย่างนี้เรียก Compounded หรือ Conditioned (0:18:40) ถ้าเป็นภาษาบาลีก็เรียกว่าสังขารคือสิ่งที่ต้องมีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง ถ้ามันตรงกันข้ามมันก็ Non-compounded หรือ Non-condition (0:18:55) ไม่มีเหตุปัจจัยอะไรแตะต้องได้ไม่มีอะไรปรุงแต่งนี่ภาษาบาลีเรียกว่าวิสังขารเช่นนิพพานเป็นต้น เอามาพูดนี้ก็เพื่อให้เข้าใจกันให้หมดทีเดียวว่าไอ้คำว่าธรรมชาติในภาษาศาสนานั้นเขาหมายทั้งสิ่งที่เป็น Compounded และ Non-compounded Conditioned Non-conditioned (0:19:19) เดี๋ยวนี้เรามันเรียนวิทยาศาสตร์กันแต่ส่วนที่มันเป็น Compounded คือเป็นวัตถุประกอบอยู่ด้วยหลายๆสิ่งปรุงกันขึ้นตกแต่งกันขึ้น ส่วนที่ตรงกันข้ามจากนั้นไม่รู้ ฉะนั้นเราจึงไม่ได้เรียนเรื่องวิสังขารคือเรื่องนิพพานซึ่งที่แท้ก็เป็นธรรมชาติ ธรรมชาติ ไม่มีคำอื่นจะเรียกยังคงเรียกว่า ธรรมชาติแต่ธรรมชาติฝ่ายที่ตรงกันข้ามจากที่เราเรียนรู้กันอยู่ นี่เรียกว่าธรรมชาติจะร่างกายก็ดีจิตใจก็ดีและอื่นๆที่นอกไปจากนั้นอีกแม้แต่ความว่างก็ดี เราก็เรียกว่าธรรมชาติทั้งนั้น มันรู้จักธรรมชาติกันเสียอย่างกว้างขวางเช่นนี้ถ้าจะเรียนเทคโนโลยีของธรรมะ แล้วก็จะรู้สิ่งที่สองถัดไปก็คือกฎของธรรมชาติกฎที่มันควบคุมสิ่งเหล่านี้อยู่หรือสิ่งเหล่านี้ต้องเป็นไปตามกฎหรือแม้ว่าสิ่งเหล่านี้บางสิ่งมันไม่มีอะไรปรุงแต่งได้มันก็ยังมีกฎสำหรับคนจะเข้าถึงได้โดยวิธีใด มันก็ยังอยู่ในในวิสัยที่ต้องมีกฏมีกฏเกณฑ์ กฎเกณฑ์นี้ถ้าเรียกเป็นภาษาบาลีก็เรียกว่าสัจจะ คือความจริงความไม่โกหกและความไม่เป็นอย่างอื่นได้ ฉะนั้นธรรมชาติทั้งหลายไม่ว่าชนิดไหนจะชนิดที่คุณจะรู้จักหรือไม่รู้จักก็ตามมันเป็นธรรมชาติและธรรมชาติทั้งหมดนั้นมันก็มีกฎเรียกว่ากฎของธรรมชาติบางคับเฉียบขาด ฉะนั้นทั้งสัตว์หรือคนต้องรู้หน้าที่ที่จะทำให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติแล้วก็จะได้รับผลตามที่ต้องการ ทีนี้จะเข้าใจให้ดีขึ้นอีกก็เอาคนๆหนึ่งใครก็ได้เนื้อตัวทั้งเนื้อทั้งตัวนี่มีดินน้ำลมไฟทั้งเนื้อทั้งตัวขนผมเล็บฟันหนังทั้งร่างกายทั้งหมดนี้ก็เป็นธรรมชาติ เอ้าฝ่ายวัตถุหรือฝ่ายร่างกาย จิตความรู้สึกคิดนึกความคิดความนึกอันนี้ก็เป็นธรรมชาติฝ่ายจิตหรือฝ่ายนามจำคำสองคำว่านาม รูป ถ้าเป็นเรื่องทางจิตใจเรียกว่านามถ้าเป็นเรื่องทางร่างกายเรียกว่ารูป คนๆหนึ่งประกอบอยู่ด้วยสิ่งทั้งสองคือนามและรูป นี่คือตัวธรรมชาติที่มีอยู่ในคนทุกคน คนทุกคนมีร่างกายและมีจิตใจที่นี้ร่างกายและจิตใจนั้นมันมีกฎที่ทำให้ร่างกายเป็นไปอย่างไรหรือให้จิตใจเกิดขึ้นได้อย่างไรดับไปอย่างไรเป็นไปอย่างไรมันมีกฎบังคับอยู่ทั้งทางกายและทางใจ เราจึงมีหน้าที่ที่จะต้องทำให้ถูกต้องตามกฎนี้ทั้งทางกายและทางใจ เราจะต้องบริหารร่างกายตลอดเวลาเห็นมั๊ยนับตั้งแต่กินดื่มอาบถ่ายอะไรก็ตามมันต้องบริหารร่างกายให้ถูกต้องตามกฎนั่นล่ะคือหน้าที่ ตามกฎธรรมชาติสำหรับฝ่ายร่างกาย นี้ฝ่ายจิตใจก็เหมือนกันแม้จะอยู่ตรงกลางคือระบบประสาททั้งหลายก็ต้องมีการบริหารทั้งหลายที่ถูกต้องมันจึงเป็นปกติอยู่ไม่เป็นโรคประสาทไม่เป็นคนบ้า ถ้ามีการบริหารทางจิตใจไม่ถูกต้องมันก็บ้ากันหมดแล้วไม่ได้มานั่งกันอยู่ที่นี่ ฉะนั้นแสดงว่ามีการกระทำหน้าที่ที่ถูกต้องทั้งฝ่ายร่างกายและจิตใจเราจึงรอดอยู่ได้โดยปกติ นี่เรียกว่าหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติก็มีอยู่ในตัวคนนั่นเอง นี้อันที่สี่คือผลจากการปฏิบัติหน้าที่ก็คือที่เราได้รับอยู่ความสุขสบายหรือว่าถ้าปฏิบัติผิดก็เป็นทุกข์หรือเราอยากจะปฏิบัติอะไรจะสร้างอะไรขึ้นมาจะรักษาโรคหรือว่าจะสุดแท้ทุกอย่างมันก็มีผลที่ได้รับอยู่ ฉะนั้นเราจึงเห็นได้ว่าไอ้ธรรมะทั้งสี่ความหมายนั้นมีอยู่ในคนทุกคนแล้วมันก็มีอยู่ภายนอกคนหรือในคนอื่นหรือในสิ่งอื่นด้วยแต่เราไม่เห็นว่าสำคัญ สำคัญที่อยู่ในตัวคนคือในตัวเรา พุทธศาสนาต้องการให้ศึกษาเรื่องภายในตัวเราเพราะเหตุไร เพราะความทุกข์หรือปัญหามันกำลังเกิดแก่เรามันๆไปเกิดแก่ที่อื่นหรื อคนอื่นมันก็ไม่เดือดร้อนแก่เรา ฉะนั้นเราจะต้องเอาตัวปัญหาที่มันเกิดอยู่กับเราเราคิดไม่ถูกทำไม่ถูกพูดไม่ถูกเราก็เกิดความทุกข์ ฉะนั้นเราจะต้องคิดให้ถูกพูดให้ถูกทำให้ถูกเพื่อไม่มีความทุกข์ ฉะนั้นเราจงรู้จักตัวเราให้ให้เต็มที่ ฉะนั้นจึงแนะให้รู้จักตัวเราก่อนในสี่ความหมายของคำว่าธรรม คือที่มันเป็นธรรมชาติเนื้อหนังร่างกายจิตใจนี้เป็นธรรมชาติ แล้วมันมีกฎเกณฑ์เช่นกฎอิทัปปัจจยตา กฎไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตากฎอะไรก็ตามกำกับอยู่ด้วยนี่เรียกว่าส่วนที่เป็นกฎ แล้วก็เราทำหน้าที่ตามหน้าที่ให้ถูกต้องตามหน้าที่เกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ ดังนั้นเราจะต้องกินอาหารต้องถ่ายอุจาระปัสสาวะต้องทุกอย่างที่มันจะบริหารร่างกายและบริหารจิตใจเราก็ได้รับผลอยู่ตามสมควร นี้ไปดูที่คนอื่นก็เหมือนกันอีกไปดูที่สัตว์เดรัจฉานก็เหมือนกันอีกแม้แต่ที่ต้นไม้ต้นไร่มันก็เหมือนกันอีก ต้นไม้ก็ต้องต่อสู้ต้องทำหน้าที่ต่อสู้เพื่อรอดชีวิตอยู่ไปศึกษาให้ดี เดี๋ยวนี้วิทยาศาสตร์ยุคหลังนี้สามารถพิสูจน์ได้ว่าต้นไม้ก็มีความรู้สึกอย่างเดียวกับสัตว์มันจึงสามารถทำหน้าที่ต่อสู้เพื่อรอดชีวิตอยู่ คุณไปศึกษาเอาเองก็ได้เรื่องชั้นหลังสุดว่าต้นไม้มีความรู้สึกอย่างเดียวกับสัตว์นี้ถ้าเอามาพูดจะกินเวลาหลายชั่วโมง ที่นี้ถ้าว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่มีจิตใจเช่นก้อนดินก้อนหินอย่างนี้มันก็มีกฎเกณฑ์ครอบงำอยู่เหมือนกันแม้แต่ก้อนหินมันก็ต้องเปลี่ยนแปลงเป็นไปตามกฎของธรรมชาติ แต่เนื่องจากมันไม่มีชีวิตจิตใจไม่มีความรู้สึกมันจึงไม่ได้ต้องปฏิบัติหน้าที่อะไรเหมือนกับสิ่งที่มีชีวิต แต่ถ้ามันเกิดมีความรู้สึกขึ้นมามันก็ต้องมีการทำหน้าที่เพื่อรอดอยู่อีกเหมือนกัน เอาแล้วเป็นอันว่าธรรมชาตินั้นเป็นตัววัตถุที่เราจะต้องศึกษาให้รู้จักความหมายของธรรมชาติว่ามีอยู่สี่ความหมายตัวธรรมชาติตัวกฎธรรมชาติตัวหน้าที่ตามหน้าที่ตามธรรมชาติตัวผลได้รับตามธรรมชาติ ตัววัตถุทั้งหลายก็เป็นเหมือนกับร่างกายตัวกฎเกณฑ์ก็เหมือนกับจิตใจ ฉะนั้นพวกที่ถือพระเจ้าเขาก็เรียกกฎเกณฑ์นี้ว่าพระเจ้าเราไม่เรียกว่าพระเจ้าเราเรียกว่ากฎของธรรมชาติ เขาเรียกว่าพระเจ้าก็ตามใจไม่ต้องทะเลาะกันในเรื่องนี้สิ่งที่สูงสุดที่ทุกคนจะต้องเกรงขามเขาเรียกว่าพระเจ้า ที่เราไม่ไม่ไม่เรียกพระเจ้าเราเรียกว่ากฎอันเด็ดขาดเฉียบขาดของธรรมชาติซึ่งเราจะเราจะต้องเกรงขามในฐานะเป็นพระเจ้า อาตมาเคยอุปมาให้พวกเพื่อนที่เป็นคริสตังหรือถือศาสนามีพระเจ้านั้นให้เขาฟังว่าตามความรู้สึกของเราเราเห็นว่าธรรมชาติทั้งหมดนี่ ธรรมชาติทั้งจักรวาลนี่เป็นกายเป็นร่างกายของพระเจ้าที่นี้กฎของธรรมชาติในสากลจักรวาลนี้เป็นจิตของพระเจ้า พระเจ้ามีทั้งร่างกายและมีทั้งจิตและหน้าที่ตามกฎของธรรมชาตินี้เป็นข้อเรียกร้องของพระเจ้า พระเจ้าเขาเรียกร้องให้สัตว์ทั้งหลายกระทำ หน้าที่ที่สัตว์จะต้องทำตามกฎของธรรมชาตินี้เราเรียกว่าสิ่งเรียกร้องของพระเจ้าหรือความประสงค์ของพระเจ้าใครลองไม่ทำคนนั้นมันตายมันตายแน่ ทีนี้ถ้าทำและได้ผลอะไรมานี้เราก็เรียกว่าของประทานของให้ของประทานมาจากพระเจ้า จะรู้จักพระเจ้าก็ขอให้รู้จักอย่างนี้แล้วพระเจ้าก็จะไม่ขัดกับวิทยาศาสตร์ อย่าไปพูด หลับตาพูดตามคนโง่ๆว่าพระเจ้ามันขัดกับวิทยาศาสตร์หรือเรื่องพระเจ้ามันขัดกับวิทยาศาสตร์ นั่นมันเป็นการอธิบายพระเจ้าในความหมายอื่นและในความหมายที่มันงมงายมากแล้วถ้าพระเจ้าโดยแท้จริงแล้วมันคือกฎของธรรมชาติที่มีอยู่ในทุกสิ่งที่ควบคุมทุกสิ่งที่ทำให้เกิดสิ่งต่างๆขึ้นมาแล้วก็ควบคุมสิ่งทั้งหลายอยู่และก็ทำลายสิ่งทั้งหลายเป็นระยะๆเพื่อเกิดใหม่นั่นล่ะพระเจ้าคือกฎของธรรมชาติ ถ้าเรามองเห็นอันนี้มองเห็นพระเจ้าอย่างนี้มันไม่ขัดกับหลักวิทยาศาสตร์เลย และวิทยาศาสตร์ล่ะคือความเป็นอย่างนี้คือมีธรรมชาติมีกฎของธรรมชาติมีหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติและก็มีผลตามหน้าที่นั้นๆ เพราะฉะนั้นเรื่องพระเจ้าที่ถูกต้องไม่ขัดกับวิทยาศาสตร์เว้นไว้แต่พระเจ้าตามแบบมิจโทโลยีคือนิยายงมงายพูดกันอย่างงมงายนั้นน่ะมันขัดแน่ แต่ถ้าเราตีความของเขาให้ถูกต้องมันก็ไม่ขัดอีกเหมือนกันเช่นว่ามีพระเจ้าสร้างโลกมันก็มีกฎของธรรมชาตินี่มันสร้างโลก กฎของธรรมชาติมันมีอยู่ก่อนสิ่งใดก่อนมีโลกก่อนมีพระอาทิตย์ก่อนมีพระจันทร์ก่อนมีอะไรหมด มันมีกฎของธรรมชาติอยู่และโดยกฎของธรรมชาตินั่นแหล่ะสิ่งต่างๆจึงเกิดขึ้นนี้เขาพูดว่าพระเจ้าสร้างขึ้นพระเจ้ามีอยู่ก่อนสิ่งใดเราก็ว่ากฎของธรรมชาติมีอยู่ก่อนสิ่งใด แล้วมันก็แปลกดีที่ว่าในคัมภีร์ของพวกถือพระเจ้าเช่นคัมภีร์ขอคริสเตียนเนี่ยมันก็มีว่าก่อนสิ่งใดมันมีอยู่ที่เรียกว่า The word ซึ่งแปลว่าคำพูดแล้วเขาก็ไม่รู้ว่าอะไรเขาแปลว่าพระธรรม ก่อนสิ่งใดมีพระธรรมอยู่พระธรรมอยู่กับพระเจ้าต่อมาพระธรรมก็เป็นพระเจ้าเสียเองนี้เราอธิบายเอาตามความรู้ของเราว่าพระธรรมนั้นคือกฎของธรรมชาติมีอยู่ก่อนสิ่งใดเป็นเหตุให้เกิดสิ่งต่างๆขึ้น ฉะนั้นเขาเอาพระธรรมหรือพระเจ้านั่นแหล่ะว่ามีอยู่ก่อนสิ่งใดและเรียกว่าปฐมเหตุ เหตุแรกของสิ่งทั้งปวงเราก็บอกว่ากฎของธรรมชาตินั่นแหล่ะเป็นปฐมเหตุคือมีอยู่ก่อนสิ่งทั้งปวงและเป็นเหตุให้สิ่งทั้งปวงเกิดขึ้น ต่างฝ่ายต่างก็มีปฐมเหตุด้วยกันเห็นมั๊ย แต่เราเรียกว่ากฎของธรรมชาติเขาจะเรียกว่าพระเจ้าก็ตามใจแล้วเราไม่ต้องเถียงกันจนต้องชกต่อยกันเพราะว่าเราทำความเข้าใจกันได้ ถ้าคุณอยากจะพูดกับลัทธิศาสนาไหนก็ได้แล้วล่ะก็ขอให้ถือเอาธรรมะในสี่ความหมายนี้เป็นหลักว่ามีธรรมชาติมีกฎของธรรมชาติมีหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติมีผลที่เกิดจากการทำหน้าที่ทั้งสี่อย่างนี้มันเป็นธรรมชาติเป็นวิทยาศาสตร์ไม่ขัดกับกฎเกณฑ์ของวิทยาศาสตร์แล้วมันสัมพันธ์กันอย่างมีเทคนิค มันมีธรรมชาติมีกฎของธรรมชาติมีหน้าที่ตามกฎธรรมชาติมีผลตามสมควรแก่หน้าที่นี้มันเป็นเทคนิคที่ใครค้านไม่ได้มันเป็นสัจจะอันหนึ่ง ถ้าเรารู้จักใช้เทคนิคอันนี้ให้ถูกต้องเราก็มีเทคโนโลยีของธรรมะ และก็สามารถใช้ธรรมะให้เป็นประโยชน์แก่มนุษย์ถึงที่สุดเท่าที่มันจะเป็นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือทำโลกนี้ให้มีสันติภาพ เทคโนโลยีที่พวกคุณเรียนกันอยู่อย่างดีก็ทำรถยนต์ขี่ ทำเรือบินขี่ไปโลกพระจันทร์ได้แค่นั้นแหล่ะมันไปนิพพานไม่ได้ แต่ถ้าเทคโนโลยีของธรรมะแล้วมันไปนิพพานได้ เราจึงควรจะสนใจเทคโนโลยีของธรรมะ เดี๋ยวนี้เรามันเป็นเทคโนโลยีแต่ทางวัตถุเพื่อผลเป็นวัตถุและก็เพื่อความต้องการเพียงแค่ว่ามีกินมีใช้รอดชีวิตอยู่ได้อย่างสนุกสนานอย่างสำเริงสำราญเท่านั้นเอง มันไม่มีอะไรกี่มากน้อย จึงขอแนะให้รู้จักเทคโนโลยีของธรรมหรือเทคนิคเกี่ยวกับธรรมในสี่ความหมายนี้ก่อน เอ้าทีนี้ก็จะพูดในอันดับต่อไปจะพูดถึงไอ้เทคนิคของกลุ่มๆนี้ที่เราเรียกกันว่าร่างกายคนหนึ่งๆ คนคนหนึ่งมีอะไรบ้างพูดตามทางธรรมะก็เล่ามีสองอย่างคือมีนามกับรูป ไอ้นามนั้นคือจิตใจรูปนั้นคือร่างกายไอ้รูปนั้นเรียกว่ารูปอย่างเดียว ไอ้นามนั้นแยกเป็นเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ สี่อย่างรวมกันเรียกว่านาม แต่ไม่ขอร้องให้จำให้ยุ่งหัวหรอกเรียกว่านามอย่างเดียวก็พอคือจิตใจแล้วก็มีร่างกายมีจิตใจสองอย่างนี้มันรวมกันอยู่สมมุติเรียกว่าคนคนหนึ่ง ภาษาธรรมะเขาจะไม่เรียกว่าคนหรือสัตว์เขาจะเรียกว่ากลุ่มแห่งนามรูปแต่ภาษาชาวบ้านเขาเรียกว่าคนคนหนึ่ง ฉะนั้นถ้าพูดว่าคนคนหนึ่งก็ขอให้รู้ว่าเราพูดภาษาคนภาษาชาวบ้านแต่ถ้าเราพูดว่ากลุ่มแห่งนามรูปหรือกลุ่มแห่งเบญจขันธ์อย่างนี้เรียกภาษาธรรมพูดภาษาธรรมมันก็เรื่องเดียวกันเราจะต้องศึกษาให้รู้จักกลุ่มๆนี้คือร่างกายกับจิตใจนี้ ร่างกายส่วนวัตถุมันเหมือนกับเปลือกหรือว่าไอ้ตัวโครงข้างนอก และจิตคือตัวการสำคัญข้างในเหมือนกับว่ารถยนต์คันหนึ่งไอ้ตัวรถมันก็เหมือนกับรูปร่างกาย ไอ้เครื่องยนต์นั้นน่ะก็เหมือนกับจิตใจหรือจะให้ละเอียดไปกว่านั้นเอาเครื่องยนต์เพียงเครื่องเดียวมา ไอ้เปลือกเครื่องยนต์ไอ้ตัวเคสต่างๆข้างนอกนั่นน่ะมันก็เป็นเหมือนกับร่างกาย ไอ้ระบบไฟระบบจุดระเบิดได้นี่มันเรียกว่ามันเป็นใจมันต้องมีกายกับใจคือว่ามีเปลือกกับเนื้ออยู่อย่างนี้ในคนคนหนึ่ง ฉะนั้นเราจึงมีสิ่งที่เรียกว่าคนคนหนึ่งประกอบอยู่ด้วยนามและรูป รูปเหมือนกับตัวถังนามเหมือนกับตัวเครื่องที่มีความหมายสำคัญอยู่ข้างใน ร่างกายนี้ภาษาบาลีถือว่ามีสี่ล้อที่เรียกว่าจตุจักรกัง (0:37:44) มีสี่ล้อคือมีตีนสองมีมือสองเรียกว่าจตุจักรกัง (0:37:50) มีสี่ล้อ นวทวารัง (0:37:54) มีช่องถ่ายเก้าคือตาสองหูสองจมูกสองปากหนึ่งจุดถ่ายอุจจาระถ่ายปัสสาวะนับรวมกันแล้วเป็นเก้าทวารมีช่องเก้า และทั้งหมดนี้มันมีจิตสิงอยู่ในร่างกายชนิดมีสิ่งที่เรียกว่าจิตยึดครองอยู่ถืออยู่หรือว่าถือเพียงแต่เป็นออฟฟิศสำหรับทำงานเท่านั้น ทีนี้จิตนี้มันมีทางที่จะติดต่อข้างนอกเรียกว่าอายตนะคือสิ่งที่มีความรู้สึกทางตาทำความรูัสึกได้ทางตาทางหูทางจมูกทางลิ้นทางกายทางผิวหนังน่ะและก็ทางจิตเอง ขอให้ศึกษาไอ้หกอย่างนี้เอาไว้ให้มาก ถ้าจะศึกษาพุทธศาสนาต่อไปข้างหน้าให้ละเอียดลออถูกต้องและพยายามสนใจเรื่องอายตนะทั้งหกให้มากเพราะอะไรๆมันจะมารวมอยู่ที่นี่ ตาสำหรับเห็นรูปหูสำหรับฟังเสียงจมูกสำหรับดมกลิ่นลิ้นสำหรับรู้รสผิวหนังสำหรับสัมผัสสิ่งที่มากระทบผิวหนังแล้วก็ใจสำหรับจะรู้สึกความคิดนึกที่เกิดขึ้นในใจเรียกว่าอายตนะ แปลว่าจุดที่ติดต่อส่วนที่จะทำการติดต่อหรือสัมผัส ที่นี้มันมีตาหูจมูกลิ้นกายใจสำหรับรู้หรือสัมผัสกับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะธรรมารมณ์เรียกกันบาลีต้องเรียกอย่างนี้ ตาคู่กับรูป หูคู่กับเสียง จมูกคู่กับกลิ่น ลิ้นคู่กับรส ผิวหนังคู่กับโผฎฐัพพะ ใจคู่กับธรรมารมณ์ มันมีการถึงกันเข้าเรียกว่าสัมผัสเหมือนกับเรามีของสองอย่างมาถึงกันเข้าอย่างที่ในเครื่องยนต์มี Cognition Congition (0:40:20) มาถึงกันเข้าแล้วเกิดการระเบิดเกิดอะไรก็ตามนี่ ถ้ามันไม่มีสองอย่างมาถึงกันเข้ามันไม่มีอาการอย่างนี้ ในร่างกายเรานี้ก็เหมือนกันถ้ามันไม่มีตากับหูถึงกันเข้ามันก็ไม่เกิดเรื่องอะไร เอ่อไม่มีตากับรูปมาถึงกันเข้าไม่เกิดเรื่องอะไร ไม่มีหูกับเสียงมาถึงกันเข้าก็ไม่มีเรื่องอะไร ขอให้มองเห็นชัดลงไปเลยว่าถ้าเผอิญว่าเราไม่มีตาหูจมูกลิ้นกายใจโลกนี้ก็เหมือนกับไม่มีอะไรก็ไม่มี ที่เรารู้สึกอะไรมันมีอยู่เต็มไปทั้งโลกเพราะว่าเรามีตาหูจมูกลิ้นกายใจลองเลิกระบบตาหูจมูกลิ้นกายใจโลกนี้ก็ไม่มีทันทีแม้ว่ามันจะมีอะไรอยู่อย่างนี้หรือมากกว่านี้นะถ้าคนคนหนึ่งมันไม่มีตาหูจมูกลิ้นกายใจมันก็เท่ากับไม่มีอะไร เขาจึงถือเอาเป็นเรื่องที่จะต้องศึกษาอย่างยิ่งคือตาหูจมูกลิ้นกายใจมันเป็นสิ่งที่จะทำให้มีอะไรขึ้นมาให้โลกมันมีขึ้นมา แล้วอยากจะให้คิดไปถึงกับว่าถ้าเผอิญเราเกิดมีอะไรมากไปกว่าหกอย่างนี้แล้วสัมผัสได้ด้วย ไอ้โลกนี้ก็จะมีอะไรแปลกไปมากกว่าที่เรากำลังรู้จักมันอยู่เวลานี้ หรือถ้าเผอิญว่าไอ้หกอย่างนี้เรามีไม่ถึงหกไม่มีครบทั้งตาหูจมูกลิ้นกายใจมีเพียงสามสี่อย่างแล้วโลกนี้ก็จะขาดไปสามสี่อย่างซึ่งเราจะสัมผัสไม่ได้และก็จะรู้สึกว่าไม่มี ฉะนั้นขอให้ถือว่าให้มองให้เห็นให้ชัดว่าเพราะมันมีไอ้หกอย่างนี้สำหรับสัมผัสภายในแล้วก็สำหรับจะสัมผัสกับสิ่งข้างนอกมันจึงมีโลกมีอะไรต่างๆ เดี๋ยวนี้ที่เรามีความรู้มีความคิดมีอะไรต่างๆนี้มันก็เพราะว่ามีไอ้สิ่งทั้งหกนี้ถ้าเราไม่มีตาเราก็เห็นอะไรไม่ได้มันก็ไม่มีอะไรสำหรับจะให้เรามาคิด เราไม่มีหูเราก็ได้ยินอะไรไม่ได้เราได้ฟังอะไรไม่ได้เราถ่ายทอดวิชาความรู้กันไม่ได้ เดี๋ยวนี้เรายังต้องอาศัยการเขียนหรือการพูดการถ่ายทอดความรู้กันได้ ลองไม่มีตากับหูสิมันจะทำอะไรได้ นี้จมูกก็เหมือนกันมันก็ไม่มี ถ้าไม่มีจมูกมันก็ไม่มีทางที่จะรู้ส่วนหนึ่งของโลกที่เป็นเรื่องของกลิ่นท้้งหลายแล้วมันจะขาดอะไรไปก็คิดดู ถ้าไม่มีลิ้นมันก็ไม่รู้เรืองรสต่างๆที่มีอยู่ในโลก ถ้าไม่มีสัมผัสผิวหนังคือผิวหนังมันสัมผัสอะไรไม่ได้มันก็ไม่รู้ว่าอะไรที่มีอยู่ในโลกที่เป็นเรื่องของสัมผัสผิวหนัง ถ้าไม่มีจิตก็เลิกกันไม่ต้องมีอะไรทีนี้ ก็ดูต่อไปถึงว่าเมื่อตามันคู่กับรูป หูมันคู่กับเสียงนี้พอตากับรูปมาถึงกันเข้าเหมือนกับ Cognition (0:43:44) อันหนึ่งแล้วมันก็มีการเห็นทางตา นี่เขาเรียกว่าวิญญาณ ฉะนั้นอย่าเข้าใจว่าวิญญาณมีอยู่ก่อนหรือมีอยู่ตลอดเวลา วิญญาณแยกเป็นวิญญาณทางตาทางหูทางจมูกทางลิ้นทางกายทางใจและวิญญาณนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อไอ้ของคู่นั้นมันมีการถึงกันเข้าเช่นตาถึงเข้ากับรูปก็เห็นเกิดจักษุวิญญาณ หูถึงกันเข้ากับเสียงก็เกิดโสตวิญญาณ จมูกถึงกันเข้ากับกลิ่นก็เกิดฆานวิญญาณ ลิ้นถึงกันเข้ากับรสก็เรียกเกิดชิวหาวิญญาณ ผิวหนังสัมผัสกับสิ่งที่มากระทบก็เกิดกายวิญญาณ จิตสัมผัสกับความรู้สึกคิดนึกก็เรียกมโนวิญญาณ นี่ไอ้หกอย่างนี้มันจะเป็นตัวเรื่องที่จะทำให้เกิดเรื่องมันทำให้กระทบกันเข้าแล้วมันทำให้เกิดวิญญาณนี้ทั้งสามอย่างนี้ทำงานร่วมกันคือตากับรูปกับจักษุวิญญาณมาถึงพร้อมกันเข้าทั้งสามอย่างนี้ก็เรียกว่าสัมผัสทางตา จักษุสัมผัส มันยิ่งกว่าเห็นรูปล่ะคือมันรู้สึกต่อรูปโดยที่เรียกว่าสัมผัส นี้ในขณะสัมผัสนั้นมันก็แล้วแต่ว่ามันมีความโง่หรือมีความฉลาด ถ้ามีความโง่มันก็เกิดรู้สึกไปอย่างถ้ามีความฉลาดมันก็รู้สึกไปอีกอย่างหนึ่งมันมีผลมาจากสัมผัสก็คือเวทนาเช่นทางตารู้สึกสวยหรือไม่สวย ทางหูรู้สึกไพเราะหรือไม่ไพเราะ ทางจมูกรู้สึกหอมหรือเหม็น ทางลิ้นรู้สึกอร่อยหรือไม่อร่อย ทางผิวหนังรู้สึกนิ่มนวลหรือกระด้าง ทางจิตรู้สึกพอใจหรือไม่น่าพอใจ นี้พอมีสัมผัสรู้สึกอย่างนี้แล้วมันก็แล้วแต่ความโง่หรือความฉลาดจะเกิดขึ้นไหนจะเข้ามาผสมโรงด้วย ถ้าฉลาดก็เรียกว่าวิชชาเข้ามาผสมในขณะนั้นมันก็มีความรู้ความเข้าใจถูกต้องในสิ่งนั้นๆ ถ้าความโง่คืออวิชชามาผสมโรงในขณะนั้นมันก็เข้าใจผิดต่อสิ่งนั้นๆ ถ้ามีปัญญาจริงมันจะไม่เกิดความยินดียินร้ายเมื่อสัมผัสกับสิ่งเหล่านั้น ถ้ามันโง่มันจะเกิดความยินดียินร้ายเมื่อสัมผัสกับสิ่งเหล่านั้นขอให้ฟังดูให้ดี เมื่อตาเห็นรูปเกิดวิญญาณเกิดผัสสะเวทนาทางตาถ้าเราโง่ไปเราจะมีความรู้สึกยินดีในบางอย่างหรือยินร้ายในบางอย่าง ทีนี้มันจะเกิดกิเลสตามความยินดียินร้ายแต่ถ้าเรามีวิชชามีปัญญาพอเราไม่ยินดีไม่ยินร้ายกับสิ่งที่ได้รู้สึกนั้นมันก็ไม่เกิดกิเลส ขอให้รู้จักสิ่งที่เรียกว่ากิเลสมันจะเกิดขึ้นขณะที่มีการสัมผัสทางอายตนะแล้วแต่ว่าเวลานั้นเราโง่หรือเราฉลาด คำว่าฉลาดนี้หมายถึงฉลาดตามทางของธรรมะของศาสนารู้เรื่องอนิจจังทุกขังอนัตตารู้เรื่องการปรุงแต่งตามปัจจัยอะไรเป็นต้นแล้วไม่ไปหลงรักหลงเกลียดสิ่งใด เห็นรูปสวยเกิดขึ้นมันก็รู้สึกว่ามันสักว่าอย่างนั้นเท่านั้นคือมันสักว่าที่เขาเรียกกันว่าสวยเท่านั้น ถ้ามันไม่สวยก็รู้สึกว่ามันสักว่าสิ่งที่เขาเรียกกันว่าไม่สวยเท่านั้นมันไม่ถึงกับยินดียินร้าย ทีนี้มันก็ไม่เกิดกิเลสไม่เกิดความโลภไม่เกิดความโกรธไม่เกิดความหลง ถ้ามันโง่มันก็สวยๆสุดชีวิตจิตใจ หรือว่าไม่สวยไม่สวย มันก็เกิดความรักเมื่อมันรู้สึกว่าสวย รู้สึกความเกลียดเมื่อรู้สึกว่าไม่สวยอย่างนี้ก็เรียกว่าเกิดกิเลสนี่เป็นธรรมดา เป็น Macanism ตามธรรมชาติซึ่งไม่มีใครเปลี่ยนมันได้เมื่อกระทบกับอารมณ์มีสัมผัสแล้วจะเกิดยินดียินร้ายไปตามเหตุตามปัจจัยที่ว่ามีความโง่หรือความฉลาดนี่ขอให้รู้จักกันตรงนี้ให้มากว่ามันเป็นหัวใจของธรรมะหรือของศาสนา คือสิ่งที่เรียกว่าผัสสะนั้นน่ะจะเป็นต้นตอสำหรับเกิดอะไรอีกมากมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือเกิดกิเลสหรือไม่เกิดกิเลส ถ้าฉลาดพอในขณะผัสสะไม่เกิดกิเลส ถ้าโง่ในขณะผัสสะก็เกิดกิเลส น่ารักน่าพอใจมันก็เกิดความโลภอยากได้หรือเกิดราคะความกำหนัดยินดีนี้ก็ไปเป็นกิเลส ทีนี้เมื่อมันไม่ไปตามที่รักหรือที่ยินดีมันก็เกิดโทสะคือโกรธหรือประทุษร้ายทีนี้มันไม่รู้จักตามที่เป็นจริงมันก็หลงใหลในสิ่งเหล่านี้ก็เรียกว่าโมหะ ฉะนั้นจึงเกิดโลภะบ้างโทษะบ้างโมหะบ้างแล้วแต่กรณีสำหรับบุคคลผู้ไม่มีวิชชาไม่มีความรู้ที่ถูกต้องในขณะแห่งผัสสะ นี้เรียกว่าให้เกิดกิเลสผัสสะช่วยให้เกิดกิเลสแล้วแต่ว่าในขณะนั้นมันมีวิชชาหรือมีอวิชชา ถ้ามีอวิชชาก็เกิดกิเลสถ้ามีวิชชาก็ไม่เกิดกิเลสจะเกิดความรู้ที่ถูกต้อง หรืออีกทางหนึ่งผัสสะมันให้เกิดทิฎฐิ เมื่อเราได้สัมผัสอะไรลงไปอย่างไรเราเกิดความคิดความเห็นความเชื่ออย่างนั้นตามที่เราได้สัมผัสลงไปนับตั้งแต่เรื่องอ่อนแข็งร้อนเย็นอะไรก็ตามกระทั่งว่าสิ่งนี้มันน่ารักไม่น่ารักควรรักหรือไม่ควรรัก หรือว่าสิ่งนี้มันเที่ยงแท้ถาวรหรือไม่เที่ยงแท้ถาวร มันแล้วแต่ว่าเราผัสสะสิ่งนั้นๆแล้วได้ผลอย่างไร ผัสสะด้วยความโง่มันก็ได้ผลมาเป็นมิจฉาทิฎฐิคือความเห็นความรู้ที่ผิด ถ้าสัมผัสด้วยความฉลาดมันก็ได้ความรู้ที่ถูกต้องเรียกว่าสัมมาทิฎฐิ นี่เรียกว่าเรามีกิเลสทุกคราวที่เราสัมผัสสิ่งใดสิ่งหนึ่งด้วยความโง่ บทนิยามจะเป็นอย่างนี้ กิเลสเกิดขึ้นเป็นผลของการสัมผัสสิ่งต่างๆด้วยความโง่สัมผัสด้วยตาหูจมูกลิ้นกายใจ สัมผัสรูปเสียงกลิ่นรสโผฎฐัพพะธรรมารมณ์นี้เรียกว่าสัมผัสสิ่งต่างๆด้วยความโง่ก็เกิดกิเลสบ้างเกิดมิจฉาทิฎฐิบ้าง นี้ถ้าเรามีปัญญามีวิชชาสัมผัสสิ่งต่างๆด้วยวิชชาคือความรู้มันก็ไม่เกิดกิเลสมันก็เกิดความรู้ที่ถูกต้องขึ้นมาว่านี่เป็นอะไรนี่คืออะไรและในที่สุดจะเห็นว่าสิ่งเหล่านั้นไม่เที่ยงเปลี่ยนแปลงเป็นทุกข์คือน่ารังเกียจเพราะเปลี่ยนแปลงและเป็นอนัตตาก็จะถือว่าตัวเราไม่ได้เพราะมันเปลี่ยนแปลงไปตามปัจจัย นี้ถ้าว่าสัมผัสด้วยวิชชามันก็เกิดสัมมาทิฎฐิความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องมีผลอย่างนี้ วิชาความรู้ทั้งหลายที่พวกคุณได้เล่าเรียนหรือมีอยู่กระทั่งมีทฤษฎีมีความคิดอะไรอยู่ในเวลานี้ล้วนมาจากผัสสะทั้งนั้น ถ้าเรียนในห้องเรียนก็ผัสสะอย่างที่เรียนในห้องเรียนสัมผัสวัตถุที่เรียนสัมผัสทฤษฎีที่ศึกษาล้วนแต่เป็นการสัมผัสทั้งนั้น สัมผัสด้วยตาบ้างด้วยหูบ้างกระทั่งด้วยจิตใจฉะนั้นคนเรามันจึงสร้างความรู้หรือความคิดความเห็นอะไรขึ้นมาด้วยการสัมผัสซึ่งมีอยู่ตลอดเวลา คนเราจะหลีกสัมผัสไม่พ้นไม่ทางตาก็ทางหูทางจมูกทางลิ้นทางกายทางใจหกอย่างนี้ มันมีอยู่แต่ว่าจะสัมผัสด้วยความฉลาดหรือด้วยความไม่ฉลาดหรือว่าถ้าเหตุปัจจัยมันไม่รุนแรงเพียงแต่สักว่าเห็นแล้วมันก็เลิกกันไปก็ได้ แต่ถ้ามันรุนแรงมันเห็นสิ่งที่มีความหมายแล้วมันต้องคิดนึกจนเป็นเรื่องเป็นมิจฉาทิฎฐิหรือเป็นสัมมาทิฎฐิจนแน่นอน ฉะนั้นขอให้รู้ข้อนี้ว่ากลุ่มของร่างกายนี้คือร่างกายกับจิตใจนี้มันเป็นธรรมชาติอย่างนี้มีกฎธรรมชาติอย่างนี้มีความจริงของมันอย่างนี้แล้วมันมีการปรุงแต่งอยู่ในตัวมันเองเราเรียกว่า mechanism โดยอัตโนมัติในตัวมันเองตามธรรมชาติตามกฎของธรรมชาติอย่างที่ได้ยกตัวอย่างให้ฟังแล้วสักเรื่องหนึ่งสักอย่างหนึ่งแล้วว่าทางตาเห็นรูปเกิดการเห็นทางตาเกิดผัสสะทางตาเกิดความรักหรือความเกลียดแล้วก็กิเลสไปตามอำนาจของความรักหรือความเกลียดเพราะสัมผัสด้วยความโง่ และเมื่อมีความเกลียดแล้วก็เกิดกิเลสซึ่งเป็นความทุกข์เป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ เรารู้สึกอย่างไรเราก็มีความอยากอย่างนั้นเกิดตัวกูรู้สึกผู้อยากขึ้นมาแล้วก็มีความทุกข์ไปตามแบบของมีตัวกูเป็นอย่างนี้ทั้งหกอย่าง ให้รู้จักว่ามันเป็นธรรมชาติอย่างนี้เป็นไปตามกฎของธรรมชาติอย่างนี้ แล้วเมื่อคนยังโง่อยู่มันก็หลอกให้ทำได้คือมันหลอกให้เป็นทุกข์ได้ ฉะนั้นถ้าเราเกิดเป็นทุกข์ขึ้นมาเมื่อไรก็ขอให้แน่ใจไว้ทีหนึ่งก่อนว่าเราได้ทำผิดในเรื่องนี้แล้ว เราได้โง่ไปในเรื่องนี้แล้ว ความทุกข์อะไรที่ได้เกิดขึ้นนี่ขอให้ไปไต่สวนสอบสวนทบสอบต่อไปดูจะพบว่ามันมีผัสสะโง่เข้าที่สิ่งใสสิ่งหนึ่งแล้วไม่ตาก็หูจมูกลิ้นกายนี้ มันเป็นการสัมผัสสิ่งใดสิ่งหนึ่งด้วยความโง่เข้าแล้วจึงมามีความทุกข์อยู่ในเวลานี้ สัมผัสโง่ให้เกิดยินดีหรือยินร้ายยินดีก็หลงรักก็มีความทุกข์ไปตามแบบของความหลงรักยินร้ายก็มีความทุกข์ไปตามแบบของความยินร้าย ระวังอย่าให้มีการสัมผัสโง่มันจะยินดียินร้ายแล้วจะเกิดกิเลส ธรรมชาตินี้มันลึกซึ้งมากมันเก่งมากมันถึงทำให้สิ่งต่างๆเป็นไปได้ตามกฎของธรรมชาติแล้วส่วนมากหรือส่วนใหญ่นั้นมันเป็นไปในฝ่ายโง่คือมีความทุกข์ ถ้าไม่มีความทุกข์ก็ไม่ต้องมาศึกษาธรรมะให้เสียเวลามานั่งให้ปวดหลังที่นี่ เพราะมนุษย์มีปัญหาคือมีความทุกข์จึงต้องศึกษาหาวิธีที่จะกำจัดความทุกข์เพราะฉะนั้นเราต้องไม่โง่ เราต้องรู้จักธรรมชาติรู้จักกฎของธรรมชาติรู้จักหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติและรู้ผลของมันให้ถูกต้อง ธรรมชาตินี้มันสูงสุดต่อสิ่งใดลึกซึ้งต่อสิ่งใดไม่งั้นมันไม่สามารถจะเกิดสิ่งต่างๆเหล่านี้ขึ้นมาได้เราจะต้องยอมรับว่าก่อนนี้ไม่มีอะไรมีแต่กฎของธรรมชาติแล้วมันก็สร้างอะไรขึ้นมาเรื่อยๆสร้างดวงอาทิตย์สร้างดวงจันทร์สร้างฟ้าสร้างดินสร้างอะไรขึ้นมาได้จากความไม่มีอะไร ถ้าจะเรียกว่าพระเจ้าก็ว่าพระเจ้านี้เก่งมากพระเจ้าสร้างสร้างทุกสิ่งขึ้นมาได้จากความไม่มีอะไร หรือว่ากฎธรรมชาตินี้เก่งมากสามารถสร้างทุกสิ่งขึ้นมาได้จากความไม่มีอะไรมีแต่กฎธรรมชาติเท่านั้นแล้วก็ทำให้เกิดสิ่งต่างๆขึ้นมาได้ ฉะนั้นไอ้เราแต่ละคนๆนี้มันเป็นของนิดเดียวขี้ผงอันหนึ่งเท่านั้นในบรรดาสิ่งทั้งหลายที่ธรรมชาติสร้างขึ้นมา ทีนี้มันสร้างขึ้นมาอย่างเป็นไปตามกฎของธรรมชาตินี้เราก็ไม่รู้เราก็เข้าใจผิดเราก็ไปหลงในส่วนที่เอร็ดอร่อยสวยงามสนุกสนานจนเป็นทุกข์ เป็นทุกข์ก็ยอมเพราะเราชอบความสวยงามสนุกสนานยกตัวอย่างเช่นว่าธรรมชาติหรือพระเจ้าก็ตามใจเก่งมากถึงกับทำให้มนุษย์ต้องสืบพันธุ์ให้สัตว์ทั้งหลายต้องสืบพันธุ์มิฉะนั้นมันหมดมันจะหมดมนุษย์หรือหมดสัตว์หรือหมดต้นไม้ถ้ามันไม่มีการสืบพันธุ์ นี้การสืบพันธุ์นี้ไม่ใช่ของสนุกเป็นของลำบากยุ่งยากธรรมชาติหรือกฎของธรรมชาติก็ใส่ไอ้ของเอร็ดอร่อยให้เป็นค่าจ้าง ฉะนั้นความรู้สึกทางเพศที่เป็นรสที่ถือกันว่าวิเศษที่สุดนั้นคือธรรมชาติเขาจ้างให้สัตว์หรือสิ่งที่มีชีวิตทำการสืบพันธุ์ เพราะมันไปหลงในรสอร่อยทางเพศมันก็ประกอบกิจกรรมทางเพศแล้วมีการสืบพันธุ์แล้วก็ไม่สูญพันธุ์ นี่เหมือนกับเขาเอาน้ำตาลป้ายที่ยาขมๆให้เด็กกิน นี่ธรรมชาติมันสามารถที่จะล่อให้คนทนลำบากในการสืบพันธุ์ด้วยรสที่เกิดทางเพศ ตาหูจมูกลิ้นกายใจสัมผัสผิวหนังอะไรก็ตามซึ่งเป็นรสเกิดจากเพศตรงกันข้าม นี่ธรรมชาติเขาจ้างอย่างสนิทเลยให้สัตว์ทั้งหลายทำการสืบพันธุ์ด้วยความสมัครใจ มนุษย์ก็อย่างนั้นสัตว์เดรัจฉานก็อย่างนั้นต้นไม้ก็จะอย่างนั้นมันเป็นความรู้สึกสูงสุดในขณะที่มีการสืบพันธุ์ เราโง่กี่มากน้อยลองคิดดูเรารับจ้างไอ้ธรรมชาติโดยรู้สึกตัวหรือไม่รู้สึกตัวอย่างไร นี้เราก็มาหลงไอ้รสที่เกิดจากเพศนี่เลยเถิดไปจนแม้จะไม่ใช่การสืบพันธุ์ก็ยังหลงในรสทางเพศมันก็เกิดเรื่องขึ้นมาอีกเรื่องหนึ่งเรียกว่ากามารมณ์ซึ่งคนในโลกหลงใหลกันนักหลงใหลเหลือประมาณถึงแม้ไม่เกี่ยวกับการสืบพันธุ์ ที่จริงพระเจ้าหรือธรรมชาติเขาเอามาหลอกจ้างให้สิ่งที่มีชีวิตเขาทำการสืบพันธุ์ทีนี้มนุษย์มันเก่งก้าวหน้าเกินไปกว่าสัตว์เดรัจฉานประดิษฐ์ประดอยเป็นกามารมณ์ล้วนๆขึ้นมาโดยไม่ต้องมีการสืบพันธุ์อย่างนี้มันก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง อย่างนี้เราจะเรียกว่ากามารมณ์จะไม่เรียกว่าการสืบพันธุ์มันก็สมัครที่จะลำบากสมัครที่จะทนทุกข์เพื่อกามารมณ์ นี้ขอให้สังเกตดูว่าการศึกษาเล่าเรียนอะไรต่างๆนี้ดูจะเพื่อประโยชน์แก่กามารมณ์เสียเป็นส่วนใหญ่ มันเป็นความรู้สึกที่ลึกซึ้งบีบบังคับสัตว์ให้เป็นไปหยุดนิ่งอยู่ไม่ได้ทำให้เกิดนั่นเกิดนี่เกิดสิ่งต่างๆขึ้นมา การที่จะทำอะไรให้ดีขึ้นบ้านเรือนให้ดีขึ้นอะไรเครื่องใช้ไม้สอยดีขึ้นก็เพื่อประโยชน์ทางกามารมณ์เสียเป็นส่วนใหญ่ มันก็จริงและมันตรงกันที่นักศึกษานักปราชญ์ยุคปัจจุบันเช่น ซิกมันด์ ฟรอยด์ ว่าอะไรๆมันมีมูลเหตุอยู่ที่กามารมณ์นี้ก็เป็นไปอย่างถูกต้องตามหลักของพุทธศาสนาคือคนเป็นทาสของผัสสะแล้วก็หลงเข้าใจผิดแล้วก็ทำอะไรไปตามอำนาจของความหลงมันเกิดอะไรก็ได้มันทำอะไรที่ไหนอย่างไรก็ได้ทุกอย่าง มันมีความต้องการความเอร็ดอร่อยอันลึกซึ้งนี้เป็นมูลฐาน เราจะต้องรู้จักมันไว้เผื่อว่าเราจะไม่ตกเป็นทาสของมันมากเกินไป แต่ที่จะไม่ให้เป็นทาสของมันเสียเลยดูจะยากมากสำหรับคนธรรมดาสามัญทั่วไป คนที่รู้เท่าทันแล้วไม่ตกเป็นทาสเกินไปก็มีแต่พระอริยเจ้าเท่านั้นจนกระทั่งเป็นพระอรหันต์ในชั้นสุดท้ายที่จะไม่ตกเป็นทาสความหลอกลวงของธรรมชาติในเรื่องเกี่ยวกับกามารมณ์ มีแต่พระอรหันต์เท่านั้นพระอริยบุคคลที่รองๆลงมาก็ยังมีส่วนที่พ่ายแพ้บ้างตามสัดตามส่วน แต่ว่าปุถุชนทั้งหลายนี้พ่ายแพ้ร้อยเปอร์เซ็นต์บ้างพันเปอร์เซ็นต์บ้างหมื่นเปอร์เซ็นต์บ้างมันมากเกินไป ถ้าเรียนธรรมะก็เรียนเพื่อให้รู้ข้อนี้รู้ธรรมชาติรู้กฎของธรรมชาติรู้หน้าที่ตามธรรมชาติรู้ผลตามหน้าที่แล้วก็อย่าได้ทำผิดเกี่ยวกับธรรมชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งอย่าเป็นทาสของกามารมณ์หรือเป็นทาสของกิเลส เมื่อเรารู้ว่ากิเลสมันคืออะไรกิเลสมันเกิดขึ้นอย่างไรรู้ธรรมชาติของสิ่งเหล่านี้ดีเราก็สามารถจะถอนตัวออกมาได้คือจะช่วยตัวเองได้อย่าต้องให้มีความทุกข์เพราะสิ่งนี้ ก็แปลว่ารู้เรื่องตาหูจมูกลิ้นกายใจเป็นอย่างดี รู้เรื่องรูปเสียงกลิ่นรสโผฎฐัพพะธรรมารมณ์เป็นอย่างดีว่ามันให้เกิดวิญญาณอย่างไรเกิดผัสสะอย่างไรเกิดเวทนาอย่างไร เกิดตัณหาอุปาทานอย่างไรและเกิดทุกข์อย่างไร ถ้าถ้ายังอยากจะฟังก็ยังอยากจะพูดให้ชัดลงไปในส่วนที่สำคัญที่สุดคือเรื่องที่เรียกว่าปฏิจจสมุทปบาทฟังแล้วมันก็ไม่รู้อะไรมันก็ชวนง่วงนอนเว้นไว้แต่คนที่อยากจะรู้จริงๆคงจะไม่ง่วงนอน ฉะนั้นจงจำคำว่าปฏิจจสมุทปบาทไว้ก่อนคำนี้แปลว่าการอาศัยกันแล้วเกิดขึ้น ปฏิจจแปลว่าอาศัยกันแล้ว อุปาทะเกิดขึ้น ปฏิจจสมุทปาทะแปลว่าอาศัยกันแล้วเกิดขึ้นถ้าจะพูดให้พวกฝรั่งฟังเขาก็มีคำที่ตกลงกันแล้วว่า Dependent Origination Dependent แปลว่าอาศัยกัน Origination เกิดขึ้น นี่คือสิ่งที่มีอยู่ในคนทุกคนและตลอดเวลาเกิดขึ้นตลอดเวลาทุกเวลา แล้วคนโง่เหล่านั้นก็ไม่รู้ว่าเรากำลังมีอยู่หรือเป็นอยู่ในลักษณะที่เป็นอาศัยกันแล้วเกิดขึ้นมันก็เรื่องที่ว่ามาแล้วเกี่ยวกับตาหูจมูกลิ้นกายใจหกเรื่องนั้นเอง พูดแต่เรื่องเดียวเป็นตัวอย่างก็พอคือตา ถึงเข้ากับรูปมันก็เกิดจักษุวิญญาณคือการเห็นทางตาเพราะอาศัยตากับรูปตาอยู่ข้างในรูปอยู่ข้างนอกถึงกันเข้าก็เกิดสิ่งที่เรียกว่าการเห็นทางตาเรียกเป็นบาลีว่าจักษุวิญญาณ นี่เป็นปฏิจจสมุทปบาทอาศัยกันคือตากับรูปอาศัยกันแล้วเกิดขึ้น เกิดขึ้นแห่งวิญญาณการเห็นทางตา แล้วสามอย่างนี้ตารูปจักษุวิญญาณมาทำงานร่วมกันพร้อมกันอย่างนี้เรียกว่าผัสสะ ฉะนั้นผัสสะก็คืออาศัยสามอย่างนั้นก็เกิดผัสสะขึ้นมาก็เรียกว่าปฏิจจสมุทปบาทขั้นที่สอง แล้วเพราะมีผัสสะเป็นปัจจัยก็เกิดเวทนา และอาศัยผัสสะก็เกิดเวทนาคือความรู้สึกอร่อยไม่อร่อยสวยไมสวยน่ารักไม่น่ารักก็เกิดความรู้สึกอย่างนี้ขึ้นมาก็เป็นปฏิจจสมุทปบาทขั้นที่สามเพราะเวทนานี้เป็นปัจจัยก็เกิดตัณหา ตัณหาแปลว่าความอยากอยากด้วยความโง่ เมื่อเวทนารู้สึกอร่อยก็อยากจะได้ก็เกิดความโลภหรือราคะเมื่อเวทนาไม่อร่อยก็เกิดความไม่พอใจขัดใจ มันก็อยากไปในทางที่จะทำลายเสีย ถ้าอร่อยพอใจมันอยากได้ ถ้าไม่อร่อยไม่พอใจมันก็อยากทำลายเสียนี่มันอาศัยสิ่งนี้แล้วจึงเกิดขึ้นเหมือนกัน เกิดความอยากตามสมควรแก่เวทนา ครั้นเกิดความอยากแล้วความรู้สึกจะเกิดเป็นกูผู้อยากขึ้นมานี้เรียกว่าเกิดอุปทาน มันแปลกอยู่ที่สำหรับคนทั่วไปเข้าใจยาก เพราะมันเกิดความอยากก่อนแล้วมันจึงเกิดตัวผู้อยาก เพราะว่าไอ้ตัวผู้อยากนั้นมันเป็นเรื่องลมแล้งๆมันเป็นเรื่องของจิตรู้สึกเท่านั้น ตามปกติตามธรรมชาติแล้วจิตจะรู้สึกอยากก่อน น่ารักก็อยากได้ไม่น่ารักก็อยากทำลาย ความอยากเกิดขึ้นอย่างนี้แล้วจึงจะเกิดความรู้สึกว่าตัวกูผู้อยากจะได้หรืออยากจะทำลาย อันนี้เรียกว่าอุปาทานมันเริ่มก่อตัวกูขึ้นมา รู้สึกอยากเป็นผู้อยากแล้วก็เกิดสิ่งที่เรียกว่าภพเพราะอุปาทานเป็นปัจจัยจึงเกิดภพ ยึดมั่นถือมั่นเป็นเรื่องตัวกูผู้อยากแล้วก็เกิดภพคือความมีแห่งตัวกู เพราะภพเป็นปัจจัยจึงเกิดชาติคือความอุดมสมบูรณ์ขึ้นแห่งตัวกูพอมีชาติมีตัวกูโดยสมบูรณ์แล้วจะมีปัญหาเกี่ยวกับเกิดแก่เจ็บตายทุกสิ่งสารพัดอย่าง ได้อย่างใจไม่ได้อย่างใจพบกับสิ่งไม่ชอบใจพลัดพรากจากสิ่งที่ชอบใจยึดมั่นสิ่งใดก็เป็นทุกข์เพราะสิ่งนั้น นี่ขอให้รู้จักสิ่งนี้ที่เรียกว่าปฏิจจสมุทปบาทเป็นสิ่งที่เกิดอยู่ตามธรรมชาติอย่างเฉียบขาดโดยอัตโนมัติในตัวมันเองในคนแต่ละคนในคนแต่ละคน นี่เราเรียกว่าเราจะต้องรู้จักกฎของธรรมชาติอันนี้ให้ดีๆเราจะไม่ไปโง่หลงทำให้เกิดกิเลสเกิดความทุกข์ขึ้นมาทางตาทางหูทางจมูกทางลิ้นทางกายทางใจ ถ้าไม่เพื่อประโยชน์อันนี้แล้วก็ไม่มีประโยชน์อะไรที่พวกคุณจะทนลำบากมาศึกษาธรรมะ อุตส่าห์มาทนลำบากเพื่อศึกษาธรรมะจะศึกษาไปทำไม ศึกษาเรื่องอะไรมันมีแต่เรื่องนี้พุทธศาสนามีแต่เรื่องนี้รู้เรื่องกฎของธรรมชาติที่ว่าเพราะอาศัยกันแล้วเกิดขึ้นอาศัยกันแล้วเกิดขึ้นอาศัยกันแล้วเกิดขึ้นซึ่งเป็นกฎทางวิทยาศาสตร์ที่สุดแหล่ะ มันต้องมีอะไรสำหรับเป็นวัตถุตั้งต้นปัจจัยแล้วอาศัยแล้วจึงเกิดขึ้นแล้วอาศัยแล้วจึงเกิดขึ้น ไปเนื่องด้วยสิ่งอื่นแล้วเกิดขึ้นเนื่องด้วยสิ่งหนึ่งแล้วเกิดขึ้นเนี่องด้วยสิ่งหนึ่งแล้วเกิดขึ้น นี้คือตัวธรรมชาติการรู้ข้อนี้คือรู้กฎของธรรมชาติ ตามกฎของวิทยาศาสตร์แล้วมันอยู่ในตัวคนทุกคน เราจะต้องเรียนจากตัวความรู้สึกโดยตรง อ่านจากหนังสือไม่พอฟังอาตมาพูดก็ไม่พอเกือบจะไม่ได้ประโยชน์อะไรที่จะไปอ่านหนังสือหรือฟังใครพูดอยู่ แต่ว่าอาศัยด้วยฟังนี้แล้วก็ไปศึกษาใหม่จากความรู้สึกภายในของตัวเองที่เรียกว่าปฏิจจสมุทปบาทที่มีอยู่ตลอดวันตลอดคืน ให้มองเห็นให้ชัดว่าอ้าวอย่างนี้นี่เป็นตัวกิเลส อย่างนี้นี่เป็นตัวความทุกข์ นี้ก็เรียกว่าเรารู้จักสัจจะหรือความจริงหรือกฎของธรรมชาติเกี่ยวกับความทุกข์ เรียกว่าเรารู้ส่วนประกอบของเทคโนโลยีเพื่อการดับทุกข์ ถ้าเราจะมีเทคโนโลยีเพื่อการดับทุกข์ เราจะต้องรู้ไอ้หลักมูลฐานเหล่านี้ก่อนขอให้สนใจถ้าไม่งั้นไม่มีทางที่จะดับทุกข์ พูดง่ายๆก็คือว่าเราต้องรู้ว่าความทุกข์มันเกิดจากอะไรเกิดมาด้วยอาการอย่างไรแล้วเราก็จะได้สกัดกั้นเสียที่ตรงนั้น เดี๋ยวนี้ก็ได้พูดแล้วว่ากิเลสและความทุกข์มันเกิดมาจากการสัมผัสสิ่งต่างๆด้วยความโง่ สัมผัสสิ่งต่างๆด้วยความโง่น่ะไปดูของตัวเองไม่ใช่ดูที่อาตมาหรือดูที่หนังสือหนังหาอะไร ที่เราเคยสัมผัสสิ่งต่างๆด้วยความโง่แล้วมันก็เกิดกิเลสตัณหาขึ้นมาอย่างไร หวังว่าต่อไปนี้คงจะระมัดระวังในข้อนี้ศึกษาในข้อนี้เป็นพิเศษอย่าได้สัมผัสรูปเสียงกลิ่นรสโผฎฐัพพะธรรมารมณ์ด้วยความโง่ เราอยู่ในโลกนี้เราหลีกไม่พ้นที่จะไม่กระทบกันเข้ากับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะธรรมารมณ์แต่เราจะมีการสัมผัสมันด้วยความฉลาดอย่าสัมผัสมันด้วยความโง่ ถ้าสัมผัสมันด้วยความโง่ก็เกิดกิเลสอย่างที่ว่ามาแล้วแล้วก็เป็นทุกข์ยังไง ที่นี้มันก็มาถึงเทคนิคที่ว่าจะสัมผัสมันด้วยความฉลาดนั้นจะต้องทำอย่างไรถ้าทำได้ก็เป็นเทคโนโลยีชั้นสุดยอดที่เราจะสร้างความสุขความไม่มีทุกข์ขึ้นมาได้ การที่จะไม่สัมผัสสิ่งต่างๆด้วยความโง่นั้นมีเครื่องมือ ใช้คำว่าเครื่องมือดีกว่าอยู่สิ่งหนึ่งเรียกว่าสติ คำว่าสตินี้ก็คงจะได้ยินได้ฟังกันมาแล้วแต่คงไม่ไม่สมบูรณ์ไม่รู้ความหมายที่สมบูรณ์ถ้าเรามีสติเราจะสัมผัสสิ่งต่างๆด้วยสติแล้วจะไม่โง่ เพราะสตินั้นมันประกอบอยู่ด้วยความรู้ที่เคยผ่านมาแล้วแต่หนหลังว่าอะไรเป็นอย่างไรว่าอะไรเป็นอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกคุณทั้งหลายนี้มีส่วนได้เปรียบเพราะว่าเรียนธรรมะมาไม่น้อยแล้ว ความรู้ธรรมะนั่นแหล่ะจะต้องนำมาใช้ทันควันทันเวลาเมื่อมีการสัมผัสอารมณ์ สัมผัสอารมณ์ทางตาทางหูทางจมูกทางอะไรก็ได้แต่ต้องมีสติในขณะนั้นคือสติน่ะมันขนเอาความรู้ที่เราได้เคยเรียนรู้แต่ก่อนน่ะเอามาเป็นเครื่องเป็นเครื่องตัดสินหรือว่าเป็นเครื่องปัองกันหรือว่าเป็นสุดแท้แต่ว่ามันต้องการอะไร แต่ว่าสตินั้นจะทำให้เราไม่โง่ต่อสิ่งที่เราสัมผัสเราจะไม่หลงต่อสิ่งที่เราสัมผัสก็คือไม่หลงรักไอ้ที่น่ารัไม่หลงเกลียดไอ้ที่น่าเกลียดหรือไม่หลงโดยประการทั้งปวงนั้นผลของสติ ถ้าเรามีสติพอพอเราเห็นสิ่งน่ารักผ่านมาทางสายตาสติมันมีพอมันก็รู้อ้าวมันเท่านั้นเองมันคืออย่างนั้นเอง แต่ถ้าเราไม่มีสติเราก็หลงรักเป็นเรื่องสุดชีวิตจิตใจโดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับทางเพศซึ่งมันมีกิเลสเรื้อรังฝังอยู่ในจิต ฉะนั้นเราจึงพ่ายแพ้แก่ความรู้สึกในเมื่อเห็นสิ่งที่น่ารักก็รักก็เรียกว่าพ่ายแพ้แก่ความรู้สึกเมื่อเห็นสิ่งที่น่าเกลียดชังเราก็โกรธนี้เรียกว่าพ่ายแพ้แก่ความรู้สึก ไปรักเข้าก็แพ้ชนิดหนึ่งไปโกรธไปเกลียดเข้าก็พ่ายแพ้ชนิดหนึ่ง มันสูญเสียความสมดุลแล้วมันก็เป็นทุกข์ ถ้าเราคงตัวอยู่ได้ไม่หลงรักไม่หลงเกลียดมันก็ไม่สูญเสียสมดุลก็ไม่ต้องเป็นทุกข์ นี้สติเท่านั้นที่จะช่วยให้คงอยู่ได้โดยไม่หลงรักหรือหลงเกลียด ฉะนั้นจึงมีการฝึกให้มีสตินี่เป็นเทคนิคที่ละเอียดมากการฝึกให้มีสติเป็นเทคนิคที่ละเอียดมากถ้าเรารู้จักใช้สติให้สำเร็จประโยชน์และทันควันทันท่วงทีก็เรียกว่ามีเทคโนโลยีสุดยอดของความเป็นมนุษย์คือจะไม่ต้องเป็นทุกข์เลย นี้เรื่องจะฝึกสติอย่างไรนี่ก็เป็นเรื่องยึดยาวต้องการเวลามากไว้ค่อยพูดคราวอื่นหรือหาศึกษาจากที่อื่น เดี๋ยวนี้จะบอกแต่ว่าเราจะต้องมีสติและเราจะต้องฝึกสติเพื่อรู้สึกตัวทันท่วงทีที่อารมณ์แห่งกิเลสมันจะเกิดขึ้น ถ้าเราไม่มีสติพอมันก็เกิดกิเลส เกิดกิเลสหลายๆหนก็เป็นอย่างไรคงจะยังไม่รู้อีกเหมือนกัน มันเป็นกฎธรรมชาติอันหนึ่งหรือเป็น Mechanism อีกอันหนึ่งในทางจากจิตใจขอให้ช่วยจำไว้ทีหนึ่งว่า พอเราโง่ในขณะสัมผัสมันก็เกิดกิเลสเป็นโลภโกรธหลงอย่างใดอย่างหนึ่ง นี้พอเราไปเกิดกิเลสซะทีหนึ่งเช่นโลภนี้ลงไปทีหนึ่ง แล้วมันก็จะให้เกิดความเคยชินแห่งกิเลสเรียกว่าอนุสัย อันนี้เรียกว่ากิเลสนะเกิดโลภหรืออะไรเข้าไปทีหนึ่งมันก็เป็นกิเลสหลังจากนั้นมันจะสร้างความเคยชินสำหรับโลภเรียกว่าอนุสัย กิเลสแล้วก็อนุสัยสำหรับจะเป็นอย่างนั้นอีก หน่วยหนึ่งเรียกว่าหน่วยหนึ่งก็แล้วกัน ทีนี้โลภอีกครั้งที่สองมันก็สร้างมาสองหน่วยโลภอีกครั้งที่สามก็สร้างความเคยชินพร้อมที่จะเกิดขึ้นมาอีกหน่วยหนึ่งเป็นสี่หน่วยมากๆๆๆๆเต็มไปในสันดารเขาเรียกว่าอนุสัยความเคยชินที่จะเกิดกิเลสคุณไปคิดดูคำนวณดูตั้งแต่คลอดออกมาจากท้องแม่เคยโลภกี่ครั้ง คนหนึ่งคนหนึ่งนี่เคยโลภกี่ครั้งตั้งแต่เกิดมาจากท้องแม่เคยกำหนัดกี่ครั้งเคยโทสะกี่ครั้งเคยสะเพร่ากี่ครั้งเคยหลงกี่ครั้งตั้งแต่เกิดมาจากท้องแม่จนวันนี้มันคงจะนับได้พันได้หมื่นได้แสนมั๊งนั่นแหล่ะคืออนุสัยความเคยชินที่จะเป็นอย่างนั้น กิเลสครั้งหนึ่งก็เกิดกิเลสล่ะมีอนุสัยหน่วยหนึ่งสะสมขึ้น อนุสัยมากขึ้นๆๆเนี่ยมันจะโลภเก่งโกรธเก่งโมหะเก่งที่นี้เมื่ออนุสัยอัดมากขึ้นๆๆมันก็จะปรี่จะล้นออกมาเหมือนกับเราตักน้ำเติมลงไปในภาชนะใหญ่ๆความกดดันมันก็ที่จะออกมาข้างนอกก็มากขึ้นๆมันจะปรี่ออกมาข้างนอกจะไหลออกมา อาการที่มันจะไหลออกมาข้างนอกนี้เราเรียกว่าอาสวะมันมีกิเลสสร้างอนุสัย อนุสัยมากขึ้นก็สร้างอาสวะที่จะออกมาเป็นกิเลสอีก ถ้าเรามีอาสวะมากมันพร้อมก็ง่ายเหลือเกินที่จะเกิดกิเลสต่อไปเรื่อยๆ เกิดกิเลสครั้งหลังๆเกิดโลภเกิดหลงครั้งหลังๆเพราะอนุสัยมันมากถ้าเราทำลายอนุสัยอาสวะเสียได้เป็นพระอรหันต์นะไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย ถ้าใครทำลายอนุสัยอาสวะนี้เสียได้คนนั้นเป็นพระอรหันต์ พระโสดา สกิทาคา ก็ยังละทั้งหมดไม่ได้ ที่นี้รู้จักว่ากิเลสเกิดขึ้นก็สะสมอนุสัย อนุสัยมากขึ้นก็เพิ่มกำลังอาสวะ อาสวะมากขึ้นก็ง่ายหลือเกินที่จะเกิดกิเลส คือกิเลสจะไหลออกมาให้เห็นเป็นรูปกิเลสอีก ฉะนั้นเราตรวจสอบตัวเองชำระตัวเองว่ามีอนุสัยกี่มากน้อยมีอาสวะกี่มากน้อยคือว่าเกิดกิเลสได้ง่ายกี่มากน้อยนั่นล่ะคือมันบอกความมากหรือน้อยของอนุสัยหรือของอาสวะ แล้วก็มักจะต่างกันบางคนมีความโลภหรือความกำหนัดเป็นเจ้าเรือนแรงกล้า บางคนมีโทสะความโกรธประทุษร้ายเป็นเจ้าเรือนแรงกล้า บางคนมีโมหะความโง่ความหลงเป็นเจ้าเรือนแรงกล้า ไม่ค่อยเหมือนกันแต่ว่าต้องมีครบทั้งสามล่ะไม่ต้องสงสัย อาสวะในคนหนึ่งๆต้องมีครบทั้งสาม อาสวะสำหรับจะรักจะชอบจะโลภเขาเรียกว่าราคานุสัย เอ้ออนุสัยมันมีครบทั้งสามมีสำหรับจะรักชอบใจในทางต้องการจะได้นี่เรียกว่าราคานุสัย สำหรับจะโกรธจะเกลียดจะทำลายเรียกว่าปฏิฆานุสัย ถ้าสำหรับจะโง่ให้หนักขึ้นไปอีกเขาเรียกว่าอวิชชานุสัย กิเลสมีสามชื่อคือโลภะ โทสะ โมหะ อนุสัยก็มีสามชื่อคือราคานุสัย ปฏิฆานุสัย อวิชชานุสัย เป็นคู่กับไอ้โลภโกรธหลงนั่นเอง แล้วก็มีอาสวะที่จะไหลออกมาแล้วก็มาเป็นกิเลสรูปใดรูปหนึ่งต่อไปอีก นี่จะตอบปัญหาได้ทันทีว่าทำไมเราจึงโกรธง่ายเกลียดง่าย โกรธง่ายรักง่ายอะไรง่ายเพราะว่าเราได้สะสมมาไว้ในสันดารในรูปของอนุสัยอย่างนี้ นี้เราจึงจำเป็นที่เราจะป้องกันมิฉะนั้นเราจะมีความทุกข์มาก แล้วก็ป้องกันด้วยสิ่งที่เรียกว่าสติฝึกสติให้สมบูรณ์เมื่ออารมณ์ของกิเลสมายั่วให้เกิดกิเลสก็ไม่โกรธไม่เกิดกิเลส ยั่วให้รักก็ไม่รัก ยัวให้โกรธก็ไม่โกรธ ยั่วให้โง่ก็ไม่โง่ นั้นน่ะคือสติผลของสติเพราะฉะนั้นพยายามฝึกสติให้เป็นผู้มีสติสมบูรณ์พูดง่ายๆก็ว่าจะไม่คิดอะไรลงไปโดยที่ไม่รู้สึกตัว จะไม่พูดอะไรโดยที่ไม่รู้สึกตัว จะไม่ทำอะไรโดยที่ไม่รู้สึกตัว ไม่ทำไม่พูดไม่คิดโดยที่ไม่รู้สึกตัวให้ดีเสียก่อน เดี๋ยวนี้เราเคยชินแต่ที่จะทำจะพูดจะคิดโดยไม่ต้องรู้สึกตัวเราทำตามอารมณ์ตามกิเลสมันก็เลยขาดสติเป็นคนประมาท ปุถุชนทั้งหลายทั่วไปนี้เรียกว่าเป็นคนประมาท คือมันทำอะไรโดยที่ไม่ต้องมีสติ และมีสติแล้วก็เป็นคนไม่ประมาทมีสติคือว่าไม่ประมาทนี่ คำว่าไม่ประมาทนี่มันต้องมีความรู้นะมีความรู้อะไรเป็นอะไรนะแล้วก็ต้องมีการกระทำความขยันหมั่นเพียรไม่ขี้เกียจแล้วจึงจะเรียกว่าไม่ประมาทแล้วก็รู้สึกตัวทันท่วงทีไม่สะเพร่านี่ นี้จึงจะเรียกว่าไม่ประมาท มีความรู้เป็นปัญญาว่าอะไรเป็นอะไรนั้นน่ะคือไม่ประมาท ถ้ามีความพากเพียรอย่างยิ่งไม่ขี้เกียจเลยนี้ก็เรียกว่าไม่ประมาท แล้วก็รู้สึกตัวทันท่วงทีที่มีอารมณ์มากระทบก็เรียกว่าไม่ประมาท มันมีความหมายมากจนจนเรียกอย่างอื่นไม่ได้ล่ะต้องเรียกว่าความไม่ประมาทในภาษาพุทธศาสนา ความไม่ประมาทในภาษาไทยธรรมดานี่มันนิดเดียวมันเพียงไม่อวดดีเท่านั้นแหล่ะ แต่ว่าไม่ประมาทตามหลักพระพุทธศาสนาแล้วมันหมายถึงมีความรู้ด้วยแล้วมันขยันที่สุดด้วยขยันในหน้าที่แล้วมันรู้สึกตัวทันแก่เหตุการณ์ด้วยเรียกว่าไม่ประมาท ไม่ประมาทแล้วไม่ตาย ถ้าประมาทแล้วก็ตาย เช่นไม่มีความรู้มันก็คือตายอยู่แล้วขี้เกียจมันก็คือตายอยู่แล้ว รู้สึกตัวไม่ทันแก่เหตุการณ์มันก็คือตายอยู่แล้ว ฉะนันเราจึงต้องมีในทางที่มันตรงมันข้ามมีความรู้มีความขยันมีความรู้สึกทันท่วงทีมันก็ไม่ตายคือไม่เกิดความทุกข์ ฉะนั้นการที่จะมีความไม่ประมาทนี้ต้องฝึกมันก็คือฝึกสติตามวิธีที่เรียกว่าสติปัฎฐาน สติปัฎฐานก็แปลว่าฝึกการตั้งสติให้มั่นคงมีหลายแบบแบบไหนก็ได้ขอให้เป็นสติปัฎฐานแบบไหนก็ได้คือต้องเป็นสติปัฎฐานที่ถูกต้องและก็มีหลายแบบแล้วก็แบบไหนก็ได้ อย่างที่นี่เราชอบแบบที่เรียกว่าอานาปานสติภาวนาเป็นคำบรรยายชุดใหญ่ที่เคยพิมพ์ขึ้นแล้วเรียกว่าอานาปานสติภาวนาสำหรับนักศึกษาก็มีพิมพ์ขึ้นจำหน่ายในหนังสือชุดบรมธรรม นี้ไม่ได้โฆษณาหนังสือขายหนังสือแต่บอกให้รู้ว่าไปบรรยายแล้วแก่นักศึกษารุ่นมหิดลหรือรุ่นจุฬาหลายปีมาแล้วหนังสือนั้นก็ได้พิมพ์ขึ้นแล้วมีที่ร้านที่กรุงเทพที่ร้านธรรมบูชาเพื่อประหยัดเวลาหาอ่านดู ปฏิบัติเพื่อมีสติก็คือว่าเราหัดกำหนดสติให้มีก่อนแต่ที่ว่าจะเกิดความคิดหรือการพูดหรือการทำแปลว่าไม่ให้จิตมันมีการไหว ไหวไปโดยปราศจากความรู้จิตจะเปลี่ยนเป็นอย่างไรไปเราต้องมีความรู้ตัวอยู่ก่อนเสมอ ฉะนั้นเราจึงต้องหัดกำหนดที่อะไรกันที่อะไรเราต้องการให้ได้ถ้าเราบังคับจิตได้เราก็สามารถที่จะบังคับไม่ให้มันคิดอะไรโดยที่ไม่ไม่รู้สึกตัวเสียก่อนคือไม่ให้มันไปรักเข้าโดยที่ไม่รู้สึกตัว ไม่ให้ไปโกรธเข้าโดยไม่รู้สึกตัว ไม่ให้ไปหลงใหลในอะไรโดยไม่รู้สึกตัว นี่หัดบังคับอย่างนี้ฉะนั้นต่อนี้ไปจิตจะมีพฤติมีเคลื่อนไหวภายใต้ความรู้สึกภายใต้ความควบคุมนี้ผลของสติเป็นอย่างนี้ ถ้าเราลองฝึกสติให้ถึงขนาดเราก็จะเปลี่ยนไปเป็นคนมีสติจะไม่มีความผลุนผลันแม้ในความรู้สึกไปรู้สึกรักรู้สึกโกรธรู้สึกเกลียดรู้สึกกลัวรู้สึกเศร้ารู้สึกอะไรเสียแล้วโดยไม่อยู่ในการควบคุม ฉะนั้นการปฏิบัติทั้งหมดจึงมาสรุปอยู่ที่มีสติเรียกว่าการปฏิบัติทั้งหมดสรุปรวมอยู่ที่ความมีสติ พูดแล้วมันฟังยากที่ว่าการปฏิบัติทั้งหมดมันมารวมอยู่ที่สติเพราะว่าถ้ามีสติมันไม่มีผัสสะอย่างโง่เขลาเหมือนที่ว่ามาเมื่อตะกี้นี้ ถ้าไม่มีสติมันจะมีผัสสะอย่างโง่เขลามีสัมผัสอย่างโง่เขลาแล้วมันก็เกิดเรื่องคือกิเลส ฉะนั้นถ้ามันมีสติมันก็ไม่มีโอกาสที่จะเป็นอย่างนั้นเพราะฉะนั้นเราจึงยึดเอาการมีสตินั้นเป็นหลักสำคัญ ขอให้ไปศึกษาเรื่องสติต้องเรียกว่ามันเป็นเทคนิคที่ละเอียดสุขุมลึกซึ้งมากระบบหนึ่งล่ะจึงจะเป็นผู้มีสติได้ และวันนี้ก็ขอพูดแต่เพียงว่าเรามองดูธรรมะในรูปแบบของเทคโนโลยีอย่างคร่าวๆกว้างขวางทีเดียวตลอดทั้งหมดอย่างที่ได้พูดมาแล้วในรูปของธรรมชาติกฎของธรรมชาติหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติและผลจากหน้าที่นั้นๆจนมารู้ว่าไอ้ทั้งหมดนี้มันอยู่ในตัวคนแต่ละคนแต่ละคน ปัญหามันอยู่ในคนแต่ละคนฉะนั้นต้องจัดให้มีความถูกต้องในแต่ละคนๆทั้งทางกายทางใจมันมีเรื่องที่จะต้องระวังคือตาหูจมูกลิ้นกายใจต่อสิ่งภายนอกคือรูปเสียงกลิ่นรสโผฎฐัพพะธรรมารมณ์ และรู้เรื่องการที่มันจะทำผิดในเรื่องนี้มันเกิดความทุกข์ขึ้นมาตามตามลักษณะของสิ่งที่เรียกว่าปฏิจสมุปบาทขอให้สนใจ ถ้าเห็นธรรมะข้อนี้เรียกว่าเห็นพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าท่านตรัสเองว่าผู้ใดเห็นปฏิจจสมุทปบาทผู้นั้นเห็นธรรมะผู้ใดเห็นธรรมะผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเราผู้นั้นเห็นธรรมะผู้ใดเห็นธรรมะผู้นั้นเห็นปฏิจจสมุทปบาท คือเห็นเรื่องที่ว่าไอ้ความทุกข์มันจะเกิดขึ้นมาได้อย่างไรและความทุกข์มันจะดับไปได้อย่างไรถ้าเราเห็นข้อนี้เรียกว่าเห็นธรรมะเห็นธรรมะอย่างนี้เรียกว่าเห็นพระพุทธเจ้า นี่พระพุทธเจ้าจริงไม่ใช่ไม่ใช่พระพุทธเจ้าพระพุทธรูป หรือว่าพระพุทธเจ้าเป็นคนๆ แต่เป็นพระพุทธเจ้าจริงที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ว่าอย่างนั้น ถ้าไม่เห็นธรรมะแม้แต่มานั่งเกาะขาจับจีวรเราอยู่ก็ไม่ชื่อว่าเห็นเราท่านว่าอย่างนั้น ฉะนั้นถ้าอยากเห็นพระพุทธเจ้าก็เห็นธรรมะที่ว่านี้ถ้าอยากมีพระพุทธเจ้าก็คือต้องรู้ธรรมะข้อนี้และปฏิบัติให้ได้และเราเองก็กลายเป็นพระสงฆ์ไอ้เราผู้ปฏิบัติได้นี้กลายเป็นพระสงฆ์ เรามีทั้งพระพุทธมีทั้งพระธรรมมีทั้งพระสงฆ์ที่แท้จริงด้วยความรู้อย่างนี้ด้วยการปฏิบัติอย่างนี้ เอาล่ะเวลาก็พอสมควรแล้วและพูดแข่งกับฝนนี้รู้สึกเหนื่อยแล้วต้องยุติกันทีขอยุติการบรรยายคราวนี้ไว้เพียงเท่านี้