แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านนักศึกษาชุมนุมกลุ่มพุทธศาสตร์ทั้งหลาย ท่านบอกว่าจะพูดเรื่องอะไรก็ได้ อาตมาก็คิดว่าจะพูดเรื่องคำว่ากลุ่มพุทธศาสตร์คืออะไร หัวข้อที่เราจะพูดกันวันนี้ก็คือว่ากลุ่มพุทธศาสตร์นะมันคืออะไร กลัวว่าจะเป็นกลุ่มพุทธศาสตร์แต่ปากกันก็ได้ คือมันไม่มีศาสตร์ มันไม่หรือว่ามีสิ่งที่มันใช้เป็นศาสตร์ไม่ได้ ฉะนั้นเรามาพูดเรื่องนี้กันเป็นเรื่องแรกจะดีกว่า ชุมนุมกลุ่มพุทธศาสตร์นี่ได้ยินว่ามีมากมายขึ้นทุกมหาวิทยาลัยก็ได้ เขาจะเป็นกันอย่างไรหรือมีอะไรกันอย่างไร เราก็ไม่ทราบ นี่พูดเรื่องของเราดีกว่าว่าเราจะมีกันอย่างไรจึงจะได้ชื่อว่าเป็นกลุ่มพุทธศาสตร์ อยากจะให้เป็นที่เข้าใจกันว่าไม่เฉพาะนักศึกษาในมหาวิทยาลัยที่เรียกตัวเองว่าชุมนุมกลุ่มพุทธศาสตร์ ถึงพุทธบริษัททั่ว ๆ ไปก็ควรจะเรียกว่ากลุ่มพุทธศาสตร์ได้ด้วยเหมือนกัน ถ้าเราเข้าใจคำว่ากลุ่มพุทธศาสตร์โดยถูกต้อง คือพุทธบริษัทนั่นแหละควรจะเป็นกลุ่มพุทธศาสตร์ หรือยู่ในกลุ่มพุทธศาสตร์กันทุกคน อยากจะให้ความหมายสำหรับคำ ๆ นี้ในขั้นแรกว่ากลุ่มพุทธศาสตร์นั้นคือกลุ่มที่ใช้ศาสตราของพระพุทธเจ้า คนที่เคยเรียนหนังสือมาบ้างแล้วก็ควรจะทราบได้ดีว่าพุทธศาสตร์นั่นนะก็คือศาสตร์ของพระพุทธเจ้า ทีนี้ศาสตร์ในที่นี้มันคืออะไร คำว่า "ศาสตร์" ในที่นี้ก็คือที่ตรงกับในภาษาไทยว่า "ศาสตรา" แปลว่าของมีคม คำว่ามีคมมันย่อมหมายถึงสิ่งที่เป็นเครื่องมือสำหรับตัด ถ้ามันมีคมสำหรับตัดเราก็เรียกว่าศาสตรา มนุษย์คงจะได้เรียกของมีคมว่าศาสตรามาตั้งแต่ก่อนเกิดไอ้ศาสตร์วิชาความรู้ทั้งหลาย คือเมื่อเจริญขึ้นมาจนถึงมีวิชาความรู้เป็นศาสตร์ทั้งหลายแล้ว นี่มันหมายความว่ายืมเอาคำว่าศาสตราที่หมายถึงอาวุธหรือของมีคมแต่ก่อนโน้นนะมาใช้ ขอให้ทราบกันเป็นหลักทั่ว ๆ ไปเสียก่อนว่า มนุษย์ในโลกได้เป็นมาอย่างนี้ทั้งนั้นแหละ คือเขาเรียกอะไร ๆ ที่มันเป็นเครื่องใช้ไม้สอยวัตถุธรรมดาสามัญอยู่ก่อน ต่อมาก็พบเรื่องทางจิตทางใจที่มันมีความหมายคล้ายกัน ก็ยืมคำนั้นแหละมาใช้สำหรับเรื่องทางจิตทางใจ เช่นคำว่าหนทางสำหรับเดินกันอยู่ทั่ว ๆ ไป ต่อมาก็ยืมมาใช้เป็นหนทางสำหรับไปนิพพาน คำว่าหนทางนี่ถ้าภาษาวัตถุก็คือหนทางสำหรับรถเดิน คนเดิน วัวควายเดิน แต่ถ้าเป็นเรื่องทางธรรม ทางจิตใจ มันหมายถึงระเบียบปฏิบัติเพื่อจะให้ไปถึงที่แห่งใดแห่งหนึ่งเหมือนกับหนทางเหมือนกัน ยืมคำว่าเย็น เย็น สำหรับชาวบ้านนี่มาใช้แทนคำว่านิพพานซึ่งแปลว่าเย็น ก็มันหมดแห่งความร้อน อย่างนี้มีเป็นร้อยคำ พันคำจนเป็นธรรมดาสามัญไปแล้ว คือเอาคำที่มนุษย์รู้อยู่แล้วมาใช้สำหรับเรื่องใหม่ซึ่งเป็นเรื่องทางจิต ทางใจ เดี๋ยวนี้มนุษย์ได้ยืมคำว่าศาสตราหรือของมีคมเอามาใช้เป็นชื่อของวิชาความรู้ที่มันมีอุปมาเปรียบด้วยกันได้ ความรู้นี้เหมือนของมีคมตัดความโง่ ความหลง ความสงสัย อุปสรรคทางจิตใจอะไรต่าง ๆ ได้ ดังนั้นเราก็เลยเรียกว่าศาสตร์หรือศาสตรา และในที่นี้หมายถึงวิชาความรู้ แต่ถ้าวิชาความรู้มันไม่ทำหน้าที่ตัดปัญหาอะไรได้ มันก็ไม่มีประโยชน์อะไร ดังนั้นคำว่าศาสตร์นี่ต้องเป็นความรู้ชนิดที่ตัดปัญหาได้ ถ้าเราเรียกว่าพุทธศาสตร์ก็เอาตามตัวหนังสือนี้ก็ว่าศาสตร์ของพระพุทธเจ้า แล้วแต่จะแปลคำว่า พุทธะ นั้นว่าอย่างไร ถ้าเราแปลคำว่าพุทธะว่าผู้รู้ แล้วแปลว่าศาสตราของผู้รู้ แต่ถ้าเราหมายถึงพระพุทธเจ้าก็แปลว่าศาสตราของพระพุทธเจ้า เดี๋ยวนี้นักศึกษาชุมนุมกลุ่มพุทธศาสตร์ได้ใช้ความหมายไหนสำหรับคำว่าพุทธศาสตร์ อาตมาอยากจะให้ใช้ความหมายที่ว่าศาสตราของผู้รู้ เมื่อพูดถึงผู้รู้ก็เราย่อมรวมเอาพระพุทธเจ้าเข้าไว้ด้วยเสร็จ เดี๋ยวนี้เรามีศาสตราของผู้รู้อยู่ในมือ ใช้ตัดปัญหาต่าง ๆ ได้ มันก็เป็นกลุ่มพุทธศาสตร์ได้จริง ไม่เป็นกลุ่มพุทธศาสตร์กันแต่ปาก
ทีนี้อะไรที่จะเอามาเป็นศาสตร์ เป็นของมีคมสำหรับตัดปัญหา ตัดอวิชชา ตัดกิเลส หรือตัดต้นเหตุแห่งความทุกข์ได้ พูดสั้น ๆ ก็คือธรรมะนั่นเอง มีธรรมะเป็นศาสตร์ เมื่อพูดว่าพุทธศาสตร์มันก็ไม่ต่างกับคำว่าธรรมศาสตร์เท่าไหร่นัก มันจะต่างแต่ออกเสียง แต่ความหมายมันเล็งถึงสิ่งเดียวกัน ศาสตราคือพระธรรม มันก็เป็นศาสตราที่ได้มาจากพระพุทธเจ้า ก็ของพระพุทธเจ้านั่นเอง แปลว่าเราได้ธรรมศาสตราของพระพุทธเจ้ามาใช้ และเรียกผู้ใช้ว่าเป็นกลุ่มพุทธศาสตร์ ถ้าท่านทั้งหลายเหล่านี้ยังไม่มีธรรมะในฐานะเป็นศาสตราตัดปัญหาอะไรได้แล้ว ก็ต้องเรียกว่าเป็นกลุ่มพุทธศาสตร์แต่ปาก อย่างที่ว่ามาเมื่อตะกี้นี้ ไม่ต้องโกรธหรอก เป็นกลุ่มพุทธศาสตร์แต่ปากกันไปก่อนเถอะ จนกว่าจะรู้จักธรรมศาสตราแล้วตัดปัญหาได้ ดังนั้นขอให้ขวนขวายหาศาสตรามาใช้เป็นประโยชน์ให้ได้ จะได้เป็นกลุ่มพุทธศาสตร์กันจริง ๆ จะเป็นกลุ่มพุทธศาสตร์กลุ่มนี้หรือกลุ่มไหนก็สุดแท้ ถ้ามีธรรมะเป็นเครื่องตัดปัญหาของมนุษย์ได้แล้วก็เรียกว่าเป็นกลุ่มพุทธศาสตร์ การที่เราตั้งใจหรือพอใจที่จะให้ตัวเองเป็นกลุ่มพุทธศาสตร์นี้ นับว่าเป็นความคิดที่ถูกต้อง คือถ้าเราใช้ศาสตร์อันนี้ได้สำเร็จจริง เราก็จะได้เป็นมนุษย์ที่ได้รับสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับเป็นแน่นอน คือเป็นผู้ปราศจากปัญหาทุกอย่างทุกประการของมนุษย์ เป็นมนุษย์ที่ประสบความสำเร็จในการเป็นมนุษย์ ดังนี้เรียกว่ากลุ่มพุทธศาสตร์จะต้องมีศาสตรา คือมีธรรมศาสตราของพระพุทธเจ้า
มนุษย์เกิดมาทำไมกัน ควรจะได้รับอะไรในฐานะที่เป็นมนุษย์ อะไรเป็นสิ่งที่ดีที่สุดของมนุษย์ ก็ต้องรู้จักสิ่งนั้น แล้วอะไรเป็นปัญหา เป็นอุปสรรคกีดกั้นขัดขวางไม่ให้เราได้รับสิ่งนั้น เรารู้จักแล้ว เราก็ตัดมันเสียด้วยศาสตราอันนั้น ฉะนั้นก็เป็นผู้ที่เรียกว่ามีศาสตราอยู่ในมือ ก็ใช้ตัดอุปสรรคปัญหานั้นได้ มันก็จะไม่เสียทีที่ได้เป็นมนุษย์ อาตมาอยากจะพูดปรารภในฐานะเป็นนักศึกษากันก่อน เพราะทุกคนเป็นนักศึกษาแล้วถึงค่อยเป็นชุมนุมกลุ่มพุทธศาสตร์ พูดถึงนักศึกษาก็อยากจะพูดว่า การศึกษาที่สมบูรณ์ต้องมีครบทั้ง ๓ ระดับ ศึกษาระดับ ๑ ก็ให้มีความรู้หนังสือ มีความเฉลียวฉลาดเพราะการเรียนหนังสือ นี่เรารู้หนังสือ ทีนี้ระดับที่ ๒ ในการศึกษาอาชีพ เราจะต้องมีความรู้สามารถปฏิบัติอาชีพได้ที่ตามที่เหมาะสมแก่เรา นี่เป็นการศึกษาที่ ๒ และการศึกษาที่ ๓ มีความรู้พระธรรม เป็นความรู้เรื่องทางจิต ทางวิญญาณอีกแขนงหนึ่งต่างหาก ที่จะทำให้เราเป็นมนุษย์อย่างถูกต้องและสมบูรณ์ นี่เป็นการศึกษาระดับที่ ๓ ทบทวนกันสั้น ๆ ว่าระดับที่ ๑ รู้หนังสือ ทำให้ฉลาด ๒ รู้อาชีพ ทำให้มีอาชีพ ๓ รู้เรื่องจิต เรื่องวิญญาณ เพื่อทำให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ รู้หนังสือยังไม่เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์นะ ไอ้เรียนมันก็รู้ว่าหนังสือแล้วมันก็ แม้จะฉลาดอย่างไรมันก็ฉลาดไปตามแบบของหนังสือ ทีนี้วิชาชีพก็ทำให้มีอาชีพ ก็ยังไม่เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ สัตว์เดรัจฉานมันก็ไม่อดตาย ดังนั้นเราจะรู้แต่อาชีพอย่างนี้มันยังไม่เป็นความสมบูรณ์ของความเป็นมนุษย์ ฉะนั้นเราต้องรู้เรื่องทางจิต ทางวิญญาณคือทางจิตใจ ที่ว่าธรรมะสำหรับความเป็นมนุษย์และก็มีธรรมะนี้ให้ได้ เป็นสัตว์ที่มีใจสูงจึงจะเรียกว่าเป็นมนุษย์ แต่ถึงอย่างไรก็อยากจะมองไปในทางที่ว่ามันเป็นศาตราได้ด้วยกันทั้งนั้น เราเรียนหนังสือให้รู้ มันก็เป็นศาสตราสำหรับตัดความโง่ที่มันไม่รู้หนังสือ เราเรียนอาชีพให้รู้ มันก็เป็นศาสตราสำหรับจะตัดความโง่หรือความไม่มีสมรรถภาพว่าไม่รู้จะหากินกันอย่างไร ทีนี้เรามาเรียนให้รู้เรื่องจิต เรื่องวิญญาณว่าจะเป็นมนุษย์กันอย่างไรโดยสมบูรณ์ นี่แหละคือศาสตร์อันสูงสุด เป็นธรรมศาสตร์ของพระพุทธเจ้า จะใช้ตัดปัญหาที่เป็นอุปสรรคแก่ความเป็นมนุษย์ของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คืออวิชชา อวิชชาจะต้องถูกตัดทำลายไปโดยธรรมศาสตราของพระพุทธเจ้า นี้กลุ่มพุทธศาสตร์นี่ควรจะมีทั้ง ๓ ศาสตร์แหละ ศาสตร์สำหรับรู้หนังสือ ศาสตร์สำหรับให้รู้อาชีพและศาสตร์สำหรับให้รู้จักความเป็นมนุษย์ เอาอย่างนี้กันดีกว่า แต่ทีนี้เนื่องจากว่าการศึกษาให้รู้หนังสือ ให้รู้อาชีพนั้นนะก็ทำกันอยู่เป็นประจำในโรงเรียน ในมหาวิทยาลัย ไม่ต้องเอามาพูดกันที่นี่ก็ได้ จะคงพูดแต่อย่างที่ ๓ คือธรรมศาสตรา ที่จะตัดปัญหาของมนุษย์ให้เป็นมนุษย์ และเหมาะกับนั่งพูดกันที่นี่ ในเวลานี้ที่จะพูดถึงเรื่องกลุ่มพุทธศาสตร์ว่าคืออะไรและจะต้องทำอะไร ที่อยากจะพูดให้เป็นที่ฝังใจกันตลอดกาลเลยว่าศึกษาธรรมศาสตราของพระพุทธเจ้านี้ นั่งกลางดินอย่างนี้ดีที่สุดแล้ว ไม่ต้องการตึกเรียนราคาล้าน ราคาร้อยล้านอย่างที่พวกคุณใช้กันอยู่ เราไม่ต้องการอาคารเรียนอย่างนั้นสำหรับศึกษาธรรมศาสตรา ต้องการอาคารเรียนนั่งกลางดินอย่างนี้ มันเป็นอาคารเรียนของพระพุทธเจ้า นี้เข้าใจว่าทุกคนนะคงจะทราบแล้วทั้งนั้นนะ ว่าพระพุทธเจ้านะอ่านประวัติของท่านดูเถอะ ท่านประสูติกลางดินนะ ใครไม่รู้ข้อนี้ก็นับว่าเหลือเกินแล้ว อย่ามาเป็นกลุ่มพุทธศาสตร์เลย พระพุทธเจ้านะประสูติกลางดิน ไปอ่านเรื่องการประสูติที่ลุมพินี พระพุทธเจ้านั้นตรัสรู้กลางดิน นั่งตรัสรู้กลางดินโคนต้นไม้ที่ริมลำธารแห่งหนึ่ง นั่นท่านตรัสรู้กลางดิน และพระพุทธเจ้าก็นิพพานกลางดินในวันที่นิพพาน ตลอดเวลาท่านสอนพระธรรมตั้ง ๘๔,๐๐๐ ธรรมขันธ์โดยประมาณนั้นนะท่านก็สอนกันกลางดิน แล้วจะไม่ให้เรียกว่ามหาวิทยาลัยของพระพุทธเจ้านั้นคือมหาวิทยาลัยกลางดินได้อย่างไร เดี๋ยวนี้เรามานั่งในมหาวิทยาลัยของพระพุทธเจ้า หรือพูดให้มากกว่านั้นก็ต้องพูดว่าเรามานั่งบนที่นั่งที่นอนของพระพุทธเจ้าดีกว่า ท่านประสูติกลางดิน ตรัสรู้กลางดิน นิพพานกลางดิน สอนกลางดิน กุฏิของท่านก็ยังพื้นดินไปดูได้ แม้เดี๋ยวนี้ก็ไปดูได้ที่ประเทศอินเดีย กุฏิพื้นดิน ควรจะพอใจแล้วกระมัง เดี๋ยวนี้ได้มานั่งกลางดิน มันจะเป็นพุทธานุสติ เป็นกรรมฐาน เป็นพุทธานุสติระลึกถึงพระพุทธเจ้าผู้ประสูติกลางดิน ตรัสรู้กลางดิน นิพพานกลางดิน สอนกลางดิน เราก็ควรจะศึกษาศาสตร์ พุทธศาสตร์ด้วยการนั่งกลางดินอย่างนี้ นี้ถ้าจะนึกออกไปอีกหน่อยก็คือว่าพระพุทธเจ้าสอนพุทธศาสตร์ของท่านโดยไม่ต้องใช้หนังสือกระดาษสักชิ้น ดินสอสักแท่งก็ไม่มี เดี๋ยวนี้คุณก็มีกระดาษ มีดินสอ จะมาศึกษาศาสตร์ของพระพุทธเจ้าที่เขาไม่เคยใช้แม้แต่กระดาษสักชิ้น ดินสอสักแท่งหนึ่ง เที่ยวนี้มันดีมันช่วย สมัยนี้มันมี สมัยโน้นมันไม่มีจะทำยังไง มันไม่มีการใช้กระดาษดินสอเครื่องเขียนอะไรก็ต้องพูดกันด้วยปาก และก็จำกันด้วยจิตใจ เดี๋ยวนี้ก็ควรจะมุ่งหมายที่จะพูดด้วยปาก ฟังด้วยหู จำด้วยจิตใจ เพราะมีกระดาษดินสอนเป็นอุปกรณ์สำหรับช่วยจด มันก็ดีเหมือนกัน วิธีเรียนสมัยโบราณดึกดำบรรพ์ก่อนพุทธกาลเขาก็เรียนกันด้วยปาก ดังนั้นสูตร เขาเรียกว่าสูตรคือใจความสำคัญของเรื่องก็ทำให้มันสั้นที่สุดแล้วผูกไว้เป็นคำกลอน เพราะคำกลอนนะมันจำง่าย เป็นคำกลอนบทสั้น ๆ เหมือนบทเพลงสั้น ๆ แล้วคนก็จำกันไว้ในรูปแบบของคำกลอนมันจำง่าย เมื่อมีข้อความเป็นคำกลอนยืนอยู่เป็นหลัก และก็หาคำอธิบายแวดล้อมเอาเอง คนชั้นหลังก็ช่วยกันอธิบายตัวสูตรซึ่งเป็นคำกลอนสั้น ๆ นั้นละเอียดออกไป เกิดเป็นคัมภีร์ใหญ่ ๆ ขึ้นมา ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกระดาษดินสอปากกาอะไรเลย ครั้งพุทธกาลก็ยังเป็นอย่างนั้น หลังจากพุทธกาลมาอีกสองสามร้อยปีก็ยังเป็นอย่างนั้นจนกว่าจะได้ใช้เขียนลงไปใบ ใบลาน หรือใบไม้ หรือเปลือกไม้อะไรก็แล้วแต่เขาจะใช้กันอย่างไร นี่ดูเอาเถอะ ไอ้พุทธศาสตร์อันสูงสุดนะ เรียนกันกลางดินและก็ใช้แต่ความรู้สึกคิดนึก ความจำ ความอะไรต่าง ๆ นี้เป็นเครื่องรองรับ เดี๋ยวนี้ก็ดีแล้วที่ได้มานั่งกันที่นี่ในลักษณะอย่างนี้ บางคนอาจจะโมโหก็ได้ที่ต้องมานั่งกลางดิน แต่ขอให้ยินดีเถอะว่าเราได้นั่งที่นั่ง ที่นอนของพระพุทธเจ้าและก็อย่างเดียวกับว่ามหาวิทยาลัยของพระพุทธเจ้านักเรียนนั่งกลางดิน เป็นอันว่าเราจะศึกษาพุทธศาสตร์หรือธรรมศาสตร์ก็ได้แล้วแต่จะเรียกตามวิธีการที่มันเคยมีมาแล้วตั้งแต่ครั้งพุทธกาลโน้น ทีนี้ก็มาถึงเรื่องที่จะพูดคือตัวธรรมศาสตร์ ธรรมะจะเป็นศาสตราเพราะตัดปัญหาของมนุษย์ได้ นี้อยากจะให้รู้จักสิ่งที่เรียกว่าธรรมะในความหมายที่กว้างขวางที่สุดเสียก่อน อาตมาได้รวบรวมดู พิจารณาดูทั้งหมดทั้งสิ้นแล้ว ลงความคิดเห็นว่าเราควรจะมีความหมายสำหรับคำว่าธรรมะ ๆ นี้กันสัก ๔ ความหมายเถิด ถือตามหลักพระบาลีนั่นเอง คำว่าธรรมะนี้แปลว่าธรรมชาติก็ได้ นี่ความหมายที่ ๑ ธรรมะคือธรรมชาติ ธรรมะความหมายที่ ๒ คือกฎของธรรมชาติ ธรรมะความหมายที่ ๓ คือหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ ความหมายที่ ๔ คือผลที่ออกมาจากหน้าที่นั้น เรียกสั้น ๆ ให้สั้นที่สุดก็ว่า ๑ ธรรมชาติ ๒ กฎธรรมชาติ ๓ หน้าที่ตามธรรมชาติ ๔ ผลจากหน้าที่นั้น นี่ถ้ารู้ ๔ อย่างนี้ละก็นั่นนะคือรู้ธรรมะ ในความหมายที่เต็มสมบูรณ์ ความหมายที่ ๑ ว่าธรรมชาติ ไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ธรรมชาติ จะมีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง ไม่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่งอะไรก็ล้วนแต่เป็นธรรมชาติทั้งนั้นแหละ ร่างกาย จิตใจนี่ก็เป็นตัวธรรมชาติ บ้านเรือน เรือกสวนไร่นา ป่าไม้ ภูเขา ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ทั้งหมดนี้ก็เป็นตัวธรรมชาติ ถ้ามีรูปร่างเขาก็เรียกว่ารูปธรรม ถ้าไม่มีรูปร่างเขาก็เรียกว่านามธรรม สัมผัสได้ด้วยตา หู จมูก ลิ้น กายนี้เรียกว่านาม รูปธรรม สัมผัสได้ด้วยใจอย่างเดียวนี้เขาเรียกว่านามธรรม รูปธรรม นามธรรมนี้คือธรรมชาติ ในตัวเรา ร่างกายเรานี่มีครบ เรามีร่างกายเป็นรูปธรรม มีจิตใจเป็นนามธรรม เรามีรูป มีนามประกอบกันขึ้นเป็นชีวิตเราคนหนึ่ง คนหนึ่งนี่คือตัวธรรมชาติ นี้ในร่างกายและจิตใจนี้ซึ่งเป็นธรรมชาตินี้นะมันมีกฎของธรรมชาติบีบบังคับควบคุมอยู่ เราจึงได้เห็นร่างกายเกิดขึ้น ตั้งอยู่ เปลี่ยนไป เกิดขึ้น ตั้งอยู่ เปลี่ยนไป จากความเป็นเด็กมาเป็นความเป็นผู้ใหญ่กระทั่งชรา มีกฎธรรมชาติบังคับทุก ๆ ส่วน ทุก ๆ เซลล์ของร่างกาย ทุก ๆ อณู ปรมาณูของร่างกายว่ามันต้องเป็นไปตามกฎของธรรมชาติ ดังนั้นกฎธรรมชาตินี่หาดูได้ภายในร่างกายของคนแต่ละคน ละคน ข้างนอกทั่วจักรวาลก็ได้มีกฎธรรมชาติแต่ไม่น่าดู เท่ากับว่ากฎธรรมชาติที่มีอยู่ในคน ๆ หนึ่ง คนหนึ่ง ๆ นี่น่าดูกว่า ไปศึกษาดู อย่างน้อยที่สุดต้องเปลี่ยนแปลงไปเป็นอนิจจัง เป็นทุกขัง เป็นอนัตตานี้เรียกว่าเป็นไปตามกฎของธรรมชาติ นี้ความหมายที่ ๓ หน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ คือร่างกายและจิตใจนี้มันมีหน้าที่ ที่มันจะต้องทำให้ถูกตามกฎของธรรมชาติมิฉะนั้นมันต้องตายแหละ จะดูอย่างหยาบ ๆ ก่อนก็ได้เช่นว่ามันต้องกินอาหาร มันต้องถ่ายอุจจาระปัสสาวะ มันต้องบริหารทุกอย่าง นี่เรียกว่าหน้าที่ของร่างกาย หรือมองออกมาข้างนอก มันต้องเรียน มันต้องเล่าเรียน มันต้องประกอบอาชีพ มันต้องทำอะไรหลาย ๆ อย่างนี้ก็เรียกว่าหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ แต่ทีนี้เมื่อดูให้ละเอียดเป็นธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ทุก ๆ ปรมาณู ทุก ๆ อณูมันก็มีหน้าที่ ที่ต้องเป็นไปตามกฎของธรรมชาติ เซลล์แต่ละเซลล์ล้วนเป็นไปตามกฎของธรรมชาติ มันจึงเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ประกอบกันอยู่เป็นร่างกายของคนเราได้นี่ หน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ มีตั้งแต่ละเอียดที่สุดจนถึงหยาบที่สุดก็ดูได้ในคนนี้ ทีนี้ความหมายที่ ๔ ผลจากหน้าที่นั้น เมื่อร่างกายและจิตใจได้ทำหน้าที่อะไรแล้วมันก็ได้รับผลตามสมควรนะเป็นความสุขบ้าง เป็นความทุกข์บ้าง เป็นอะไรก็แล้วแต่ว่ามันทำหน้าที่อย่างไร นี้ก็เราดูผลที่เกิดจากหน้าที่ตามธรรมชาติได้แม้ในร่างกายนี้ ดังนั้นร่างกายนี้มันมีให้ครบทุกอย่างสำหรับสิ่งที่เรียกว่าธรรมในความหมายไหนก็ตาม ตั้งต้นศึกษาธรรมะที่นี่จะตรงตามพระพุทธประสงค์ ถ้าคุณเรียนวิทยาศาสตร์อย่างวิชาธรรมดาสามัญทั่วไป คุณก็เรียนจากภายนอก เรียนจากดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์อะไรตั้งต้นมาอย่างนั้น แต่ถ้าจะเรียนวิทยาศาสตร์ของพระพุทธเจ้าต้องตั้งต้นเรียนจากข้างในคือร่างกายที่ยาวประมาณวาหนึ่งนี้และที่ยังเป็น ๆ ด้วยนะ ตายแล้วเรียนไม่ได้ ต้องเรียนจากร่างกายที่ยังเป็น ๆ รู้จักตัวธรรมชาติ รู้จักตัวกฎของธรรมชาติ รู้จักหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ และรู้จักผลจากหน้าที่นั้น ๆ ทีนี้เมื่อเราเรียนรู้แจ่มแจ้งครบถ้วนในส่วนภายในร่างกายของเราแล้ว มันก็ง่ายนิดเดียวที่จะเรียนไปได้ถึงร่างกายของบุคคลอื่น กระทั่งสิ่งที่นอกออกไปจากร่างกายของเรา คือธรรมชาติทั้งหลายเป็นก้อนหิน ก้อนดิน ต้นไม้ ภูเขา ทุกอย่างที่มันจะมีอยู่ในจักรวาลนี้ ซึ่งเป็นภายนอกไปจากร่างกายของเรา และก็ตกอยู่ใต้อำนาจ ของกฎของธรรมชาติทั้งนั้น เพราะว่ามันเป็นกฎของธรรมชาติ เพราะมันเป็นตัวธรรมชาติเหมือนกัน ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์นั่นนะ มันก็เป็นตัวธรรมชาติ มันก็มีกฎธรรมชาติที่บังคับดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์อยู่ มันก็มีหน้าที่แม้มันจะไม่มีชีวิตคิดนึกมันก็มีหน้าที่จะต้องเป็นไปตามกฎนั้น มันก็ต้องไปตามกฎนั้น และมันให้ปฏิกิริยาเป็นผลออกมารอบด้านแล้วแต่จะตรงหรือจะไม่ตรงกับความประสงค์ของใครนี่ เราอยู่กันในโลกนี้ในสากลจักรวาลนี้ไม่หลีกพ้นไปจากความหมายของธรรม ๔ ประการนี้ได้ ขอให้เข้าใจสิ่งที่เรียกว่าธรรมกันใน ๔ ความหมายนี้ก่อน คนที่ติดตัวหนังสือก็มักจะพูดว่าธรรมนี้แปลว่าทรงดำรงอยู่ได้ คำว่าธรรมะนี่มาจากธร - ธาตุ แปลว่าทรงอยู่ได้ ก็ถูกแล้ว ตัวธรรมชาติมันก็ทรงตัวมันเองอยู่ได้ กฎของธรรมชาติมันยิ่งทรงตัวมันเองอยู่ได้ หน้าที่ตามกฎของธรรมชาติมันก็ทรงตัวมันเองอยู่ได้ ผลที่ออกมาจากหน้าที่มันก็ทรงตัวมันเองอยู่ได้ ไม่ว่าธรรมะในความหมายไหนย่อมทรงตัวเองอยู่ได้ทั้งนั้น ที่มีเหตุมีปัจจัยก็ทรงอยู่ได้ด้วยเหตุปัจจัย ถ้าไม่มีเหตุปัจจัยพวกที่ไม่มีเหตุไม่มีปัจจัย มันก็ทรงอยู่ได้โดยไม่ต้องมีเหตุ ไม่ต้องมีปัจจัย เรารู้จักธรรมอย่างนี้กันก่อน แล้วความรู้อย่างครบถ้วนถูกต้องในเรื่องนี้จะช่วยตัดปัญหาให้เราได้ เช่นเรารู้เรื่องรูปธรรม นามธรรมดี เราก็ปฏิบัติต่อสิ่งนี้ถูกต้องจนไม่มีปัญหา เรารู้เรื่องกฎของธรรมชาติดี เราก็ปฏิบัติต่อธรรมชาติได้โดยไม่มีปัญหา รู้หน้าที่ดี รู้ผลจากหน้าที่ดีก็ทำหน้าที่และได้รับผลครบถ้วนถูกต้อง ตรงนี้อยากจะแทรกสักหน่อยว่าพุทธศาสนามีกฎของธรรมชาตินี่แหละเป็นพระเจ้า ถ้าเคยได้ยินได้ฟังกันมาแต่ก่อนว่าพุทธศาสนาไม่มีพระเจ้า ก็ขอให้รู้ว่านั่นเขาหมายถึงพระเจ้าที่เป็นคน ๆ เป็นบุคคล เรียกเป็นศัพท์สากลก็ว่า personal god คือพระเจ้าอย่างบุคคล พุทธศาสนามีพระเจ้าอย่างที่เป็นกฎของธรรมชาติ คือไม่ต้องเป็นบุคคล ดังนั้นเราจะเรียกว่า non personal god คือมิใช่บุคคล ไม่ใช่อย่างบุคคล แต่ก็เป็นพระเจ้า ฉะนั้นอย่ากลัวว่านับถือพุทธศาสนาแล้วจะไม่มีพระเจ้า คนมันไม่รู้ คนมันไม่รู้จัก มันโง่ไปเอง ในพุทธศาสนาก็มีพระเจ้าสำหรับจะต้องประพฤติปฏิบัติหรือว่าจะถือเอาเป็นที่พึ่งก็ได้ คือกฎของธรรมชาติ ที่เราปฏิบัติอย่างถูกต้องแล้วมันเป็นที่พึ่งได้เหมือนกับพระเจ้า คำว่าพระเจ้านี้ไม่ต้องเป็นบุคคลหรือไม่ ไม่ใช่บุคคลก็ตามใจ ก็ได้ ขอแต่ให้มันทำหน้าที่สร้างสิ่งทั้งปวงขึ้นมา ควบคุมสิ่งทั้งปวงอยู่ และก็ทำลายสิ่งทั้งปวงลงไปเป็นครั้งคราว นั่นรู้จักพระเจ้ากันในความหมายอย่างนี้ พอมันมีสิ่ง ๆ หนึ่งซึ่งจะเป็นอะไรก็เรา เรายากที่จะรู้และยากที่จะบรรยายด้วยว่ามันเป็นอะไร อย่าไปบรรยายมันเลยว่าพระเจ้านั้นคืออะไรหรือเป็นอะไร แต่มันเป็นสิ่ง ๆ หนึ่งที่สร้างสิ่งทั้งปวงขึ้นมาได้ และก็ควบคุมสิ่งทั้งปวงอยู่อย่าง อยู่ในอำนาจแหละ แล้วก็ยกเลิกคือทำลายสิ่งทั้งปวงนั้นเสียเป็นคราว ๆ เพื่อสร้างใหม่ก็ได้ นั่นแหละคือพระเจ้า อีกอย่างหนึ่งเขาให้ความหมายว่ามันอยู่ในที่ทั่วไป all many present .(นาทีที่ 35.14) นี่มันอยู่ในที่ทั่วไป all many potian ..(นาทีที่ 35.18) มันเป็นใหญ่กว่าสิ่งทั้งปวง มันเป็นใหญ่ในที่ทั่วไป เราไม่อาจจะให้เป็นบุคคล ถ้าเป็นบุคคลเป็นอย่างนั้นไม่ได้ มันเป็นอะไรที่ยิ่งไปกว่าบุคคลดีกว่า เราก็มีพระเจ้า เพราะว่ามันจะเกิดมาเองไม่ได้ มันต้องมีเหตุมีปัจจัย ในพุทธศาสนาถือว่าสัจธรรมที่เป็นกฎของธรรมชาตินี่ มันเป็นต้นเหตุให้สิ่งต่าง ๆ เป็นไปนับตั้งแต่การสร้างขึ้นมา การควบคุมอยู่ แล้วก็การกำจัดหรือทำลายเสียเป็นครั้งคราว ในร่างกายของเราคนหนึ่ง ๆ นี้ ทุกคนนะมันมีอาการที่ว่าเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ส่วนใดส่วนหนึ่งก็ได้ มีส่วนน้อยที่สุดก็ได้เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป แต่ว่าถ้าโดยส่วนใหญ่ ส่วนรวมก็คือเกิดมาแล้วก็เป็นอยู่แล้วก็ตายเข้าโลงไปอย่างนี้ก็ได้ แต่ยังไม่ต้องถึงไอ้อย่างนั้น แม้ แม้ในวันนี้ ในวินาทีนี้มันก็มีส่วนที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป เรียกว่าหน้าที่ของพระเจ้ามันมีอยู่อย่างนี้ ที่ไหนมีกฎของธรรมชาติที่นั่นมีพระเจ้า ดังนั้นใน ๆ ในร่างกาย จิตใจของเรานี้มันก็มีกฎของธรรมชาติและมันมีพระเจ้านี่ พระเจ้าอย่างนี้มันจริงกว่า มันมองเห็นได้ มันเข้าใจได้ ทีนี้เราจะอ้อนวอนพระเจ้ากันยังไง ก็คือทำให้ถูกตามกฎของธรรมชาติ ประพฤติหน้าที่ของตนให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ นั่นแหละคืออ้อนวอนพระเจ้าให้โปรดเรา ลองทำให้ถูกตามกฎของธรรมชาติเถอะ เราจะได้รับผลตามที่เราปรารถนา นี้ชาวพุทธเขาอ้อนวอนพระเจ้ากันอย่างนี้ เมื่อพวกอื่นเขาจะอ้อนวอนพระเจ้ากันอย่างอื่นก็ตามใจเขาเถิด แต่ว่าเรานี่จะอ้อนวอนพระเจ้ากันในลักษณะอย่างนี้ คือทำหน้าที่ของตนให้ถูกต้องที่สุดต่อกฎของธรรมชาติซึ่งเป็นเหมือนพระเจ้า และเรามีกฎของธรรมชาติเป็นพระเจ้า ถ้าเราอยากจะให้มันไปเข้า ๆ พวกกันได้กับพระเจ้าของฝรั่ง อาตมาเคยบอกคนหลายคนแล้วว่าก็ออกเสียงให้มันยาวเข้าสิ คำว่ากฎนะออกเสียงให้ยาวมันก็เป็น God ก็คือคำว่า God ของพวกฝรั่งที่เขาถือกันอยู่ทั่วโลก เราก็มี God เหมือนกันแต่เราเรียกมันสั้นไปว่ากฎ เรามีกฎของธรรมชาติเป็น พระเจ้าหมายความว่าอย่างนี้ นี่เราจะต้องรู้จักไอ้สิ่งสำคัญที่สุดนี้ เราจึงจะมีศาสตราที่จะตัดปัญหาอะไรได้เพราะว่ามันไม่มีอะไรที่จะสูงสุดหรือเก่งกาจยิ่งไปกว่าพระเจ้า พระเจ้าสร้างทุกสิ่งขึ้นมา จะไม่เก่งกาจยังไงละ มันสร้างทุกสิ่งขึ้นมา ควบคุมทุกสิ่งอยู่ มันจะยกเลิกสิ่งใดและเมื่อใดก็ได้ นี่เราเรียกว่าผู้มีอำนาจสูงสุดทีเดียว ต้องรู้จักสิ่งนี้และทำให้ถูกต้องกับสิ่งนี้แล้วเราก็จะได้รับผลจากสิ่งนี้เต็มที่ ฉะนั้นขอให้สนใจสิ่งที่เรียกว่าธรรมเพียงพยางค์เดียว ในภาษาไทยนี่เรียกว่าธรรมเฉย ๆ พยางค์เดียวพอ ถ้าเป็นภาษาบาลีเขาเรียกธรรมะ มันกลายเป็น ๒ พยางค์ไป ธรรมะ ธรรมโม อะไรมัน ๒ พยางค์ทั้งนั้น ในภาษาไทยเราได้เปรียบพูดว่าธรรมพยางค์เดียว นั่นแหละคือทั้งหมดไม่ยกเว้นอะไร จะหมายถึงตัวธรรมชาติ ตัวกฎธรรมชาติ ตัวหน้าที่ตามกฎธรรมชาติ หมายผลที่ออกมาจากหน้าที่ ไปศึกษาเรื่องนี้ให้ละเอียดจะมีความรู้ชนิดที่เป็นเรื่องทางจิต ทางวิญญาณที่จะทำให้ความเป็นมนุษย์ของเราสมบูรณ์ จะตัดปัญหาได้ พระพุทธเจ้าเป็นผู้ตรัสรู้ธรรม พระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมคือรอบรู้ในเรื่องเกี่ยวกับธรรม ก็ได้ ๔ ความหมายนี้ พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้เรื่องธรรมชาติ รู้เรื่องทุกสิ่งที่เป็นรูป เป็นนาม เป็นสังขตะ อสังขตะ พวกธรรมนี่ทั้งหลาย ธรรมชาติทั้งหลายท่านทราบ และกฎของธรรมชาติท่านยิ่งทราบ กฎอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา กฎอิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปบาท เกิดขึ้นอย่างไร ดับไปอย่างไร ทุกสิ่งทุกอย่างนี่ท่านก็ทราบ แล้วท่านก็สอนข้อนี้เป็นหลักคือเรื่องปฏิจจสมุปบาท นี่ท่านถือเป็นหลัก โดยตรัสว่าผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาทผู้นั้นเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเราผู้นั้นเห็นธรรม ท่านว่าอย่างนั้น แล้วท่านก็ตรัสรู้เรื่องหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติคือการปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญา ที่มนุษย์ควรประพฤติปฏิบัติแล้วบรรลุถึงผลสูงสุดคือความดับทุกข์ นั้นคือท่านก็ทราบว่าผลมันเกิดขึ้นเป็นมรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ เป็นผลเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของธรรมชาติ
ท่านพุทธทาส : พรือฝนนี่ จะทน จะทนกันอย่างไงได้ จะต้องค้างไว้ก่อน
พระภิกษุ : กางร่มให้อาจารย์
ท่านพุทธทาส : โน่นเขาก็เปียกกันแย่สิ
พระภิกษุ : เขาให้อาจารย์เอาไว้ก่อน ให้อาจารย์เอาไว้ก่อน
ท่านพุทธทาส : แล้วเขาจะกลับไปทันเหรอนี่ จะเอากันอย่างไง คุณลงมติกันเอง
พระภิกษุ : เราเองว่าไง เอาอย่างไงครับ
ท่านพุทธทาส : มันคงจะไม่ไหว จะนั่งเปียก เดี๋ยวเกิดเป็นหวัด จะยุ่งใหญ่ เอาหล่ะ พระเจ้าเขาบอกให้หยุดก่อน หยุดก่อน พระเจ้าเขาบอกให้หยุดไว้ก่อน พรุ่งนี้ค่อยพูดต่อกันใหม่ก็ได้ ....
พระพุทธเจ้าท่านทรงทราบธรรมะใน ๔ ความหมายนี้ ในลักษณะที่เราเรียกกันว่าการตรัสรู้ชนิดที่เป็นสัพพัญญู แปลว่ารู้ทั้งหมดทั้งสิ้นที่ควรจะรู้ ท่านรู้ธรรมะใน ๔ ความหมายนี้ คือรู้ทั้งหมดทั้งสิ้นตามที่ควรจะรู้ แต่ไปสรุปใจความสำคัญยู่ตรงที่รู้ความดับทุกข์ รู้ทุกข์ รู้เหตุให้เกิดทุกข์ รู้ความดับทุกข์ รู้ทางให้ถึงความดับทุกข์ สรุปเรียง สรุปรวมแล้วเรียกว่ารู้ความดับทุกข์นี่เป็นความรู้สูงสุด ท่านจึงเป็นพระพุทธเจ้าเพราะการรู้ข้อนี้ ทีนี้เราใช้ชื่อตัวเราว่ากลุ่มพุทธศาสตร์นะ ก็แปลว่ากลุ่มที่ถือศาสตราของพระพุทธเจ้า เราเป็นกลุ่มบุคคลที่ถือศาสตราของพระพุทธเจ้า เราจึงเรียกเราว่ากลุ่มพุทธศาสตร์ ฉะนั้นเราควรจะรู้จักพระพุทธเจ้าและทุกสิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านประสงค์จะให้เรารู้ พระพุทธเจ้าท่านประสงค์ให้เรารู้ส่วนที่จำเป็น เราไม่ไปเสียเวลารู้ในส่วนที่ไม่จำเป็น ดังนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงได้ตรัสว่า ที่ตถาคตรู้และนำมาสอนนี่เท่ากับใบไม้กำมือหนึ่ง ส่วนที่ไม่ได้นำมาสอนนั้นก็ไม่จำเป็นจะต้องนำมาสอนนี่เท่ากับใบไม้ทั้งป่า คือเรื่องนี้เห็นได้ง่ายเหลียวดูรอบป่าสิ ใบไม้ทั้งป่านี่เท่าไร แต่ไม่ได้นำมาสอนโดยปริมาณเท่ากับใบไม้ทั้งป่า ท่านสอนโดยปริมาณเท่ากับใบไม้กำมือเดียว คือแก่นที่สำคัญที่สุดที่จะดับทุกข์ได้ ใบไม้กำมือเดียวนี่คิดดูแล้วก็เทียบกับทั้งป่านี่ แล้วป่านี่ไม่ใช่มันมี ไม่ใช่มันมีเท่าที่มีอยู่ในวัดนี้ มันมีทั้งโลกนะ ป่าทั้งโลกมันใหญ่เท่าไรละ แต่นี่ใบไม้กำมือเดียว แม้เพียงกำมือเดียวก็พอที่จะให้สำเร็จประโยชน์ได้ พอที่จะเป็นพุทธศาสตร์ได้ ตามที่พระพุทธองค์ทรงกำหนดให้ ว่าฉันสอนให้กำมือเดียวจากทั้งหมดทั้งป่า ฉะนั้นขอให้เอาไอ้กำมือเดียวนี้ให้ได้ หมายความว่าเอาไปใช้ให้เป็นประโยชน์ให้ได้ แล้วคุณก็จะไม่เป็นกลุ่มพุทธศาสตร์แต่ปาก เลิก เลิกเป็นกลุ่มพุทธศาสตร์แต่ปากกันเสียที คือให้มันใช้ประโยชน์ให้ได้จริง ๆ ให้มันดับทุกข์ให้ได้จริง ๆ แต่ถึงอย่างไรก็ดีอยากจะบอกให้ทราบว่า ที่ว่ากำมือเดียวนี่มันก็มีหลายใบใช่ไหม แต่ละใบ ๆ มันก็มีหลายแง่มุม ดังนั้นควรจะรู้ทุกแง่มุมในกำมือเดียวนั้น เราจึงจะต้องรู้ให้เพียงพอ ให้หมดสิ้นใน ๆ กำมือเดียว ทีนี้อาตมาก็อยากจะให้มันง่ายโดยวิธีโบราณอย่างที่ว่ามาแล้ว คือการผูกขึ้นเป็นคำกลอน เมื่อตะกี้ก็บอกแล้วนะ ว่าสูตรทั้งหลายแต่กาลก่อนโบราณโน้นเขาผูกขึ้นเป็นคำกลอน แล้วก็จำง่ายและคำอธิบายมันก็เกาะติดอยู่กับตัวสูตรนั่นเอง ดังนั้นคำกลอนที่จะฝากไว้เป็นสูตรสำหรับกลุ่มพุทธศาสตร์ที่นี่ในวันนี้ มันมีอยู่ดังนี้ ถ้าจัด ถ้าจดก็เตรียมจดนะ เป็นหัวข้อคือเป็นสูตรสำหรับธรรมศาสตร์ของกลุ่มพุทธศาสตร์ทั้งหลาย ไม้อิง ๓ ขา ๑นะไม้อิง ๓ ขา ๒ ศาสตรา ๓ อัน ๓โจรฉกรรจ์ ๓ ก๊ก ไม่บอกตัวเลขแล้วนะ ป่ารก ๓ ดง เขียนทันไหม ป่ารก ๓ ดง เวียนวง ๓ วน ทุกข์ทน ๓ โลก เขาโคก ๓ เนิน ทางห้ามเดิน ๒ แพร่ง ตัวแมลง ๕ ตัว มารน่ากลัว ๕ ตน บ่วงคล้องคน ๖ บ่วง เหตุแห่งสิ่งทั้งปวง ๖ ตำแหน่ง ๖ แห่งก็ได้ เหตุแห่งสิ่งทั้งปวง ๖ ตำแหน่ง แหล่งแห่งอบาย ๔ ขุม แหล่งแห่งอบาย ๔ ขุม สิ่งต้องควบคุม ๓ จุด ทางแห่งวิมุตติ ๘ องค์ วัตถุที่พึงประสงค์ ๒ สถาน เป็น ๑๖ หัวข้อ เท่านี้ก็พอแล้ว ๑๖ หัวข้อ ทวนอีกทีหนึ่งตั้งแต่ต้นนะ ไม้อิง ๓ ขา ศาสตรา ๓ อัน โจรฉกรรจ์ ๓ ก๊ก ป่ารก ๓ ดง เวียนวง ๓ วน ทุกข์ทน ๓ โลก เขาโคก ๓ เนิน ทางห้ามเดิน ๒ แพร่ง ตัวแมลง ๕ ตัว มารน่ากลัว ๕ ตน บ่วงคล้องคน ๖ บ่วง เหตุแห่งสิ่งทั้งปวง ๖ ตำแหน่ง แหล่งแห่งอบาย ๔ ขุม สิ่งต้องควบคุม ๓ จุด ทางแห่งวิมุตติ ๘ องค์ วัตถุที่พึงประสงค์ ๒ สถานนี่นับว่ามากพอ ถ้ารู้เรื่องนี้ครบถ้วนแล้วก็พอที่จะเป็นศาสตรา อย่างวิชาก็ได้ ถ้าเรียนเฉย ๆ ก็เป็นศาสตร์อย่างวิชา ถ้าเรียนเอาไปใช้ด้วยก็เป็นศาสตราอย่างของมีคมสำหรับตัด เดี๋ยวนี้เรามีศาสตร์อย่างที่เรียกว่าเป็นวิชาเรียนเฉย ๆ กันเสียเป็นส่วนมาก ไม่เป็นศาสตราที่มีคมสำหรับใช้ตัดปัญหาอะไร แต่ถ้าต้องการจะให้เป็นกลุ่มพุทธศาสตร์สมชื่อ ก็ต้องเอาไปใช้ให้เป็นประโยชน์ ให้สำเร็จประโยชน์ได้จึงจะเรียกว่ามีศาสตราสำหรับตัดปัญหา ควรแก่นามอันสูงสุดว่าพุทธศาสตร์คือพุทธศาสตรา เพราะว่าเราเป็นชุมนุมกลุ่มพุทธศาสตร์ จะไม่เป็นกันแต่ปากแล้วเดี๋ยวนี้ จะเป็นกันทั้งเนื้อ ทั้งตัว ทั้งกาย ทั้งใจ
เอ้า,ทีนี้ต้องการคำอธิบายใช่ไหม ก็ขอให้ดูกันอีกที เ ราจะต้องมีความรู้เรื่องไม้อิง ๓ ขา นี้บางคนนึกออกแล้ว เข้าใจว่าบางคนนึกออกแล้วว่าคืออะไร ไม้อิง ๓ ขาคือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ต้องครบ๓ ถ้าไม่ครบ ๓ ละลาย นี่กล้าพูดอย่างนี้ ถ้ามีแต่พระพุทธ พระธรรมไม่มี พระสงฆ์ก็อยู่ไม่ได้ มีแต่พระพุทธ พระสงฆ์ก็อยู่ ไม่มีพระธรรมก็อยู่ไม่ได้ ต้องมีครบทั้ง ๓ พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้แล้วก็สอน จึงต้องมีสิ่งที่ท่านตรัสรู้และสอนก็คือพระธรรม ต้องมีผู้รับมาแล้วก็ปฏิบัติก็คือพระสงฆ์ ต้องครบ ๓ องค์จึงจะสำเร็จประโยชน์แก่มนุษย์เรา ถ้าไม่อย่างนั้นไม่สำเร็จประโยชน์แก่ใคร นี่จึงเรียกว่าต้องครบถ้วนทั้ง ๓ ขาคือ ๓ องค์จึงจะอิงอยู่ได้ ขาเดียวล้ม ๒ขาก็ล้ม แต่ถ้า ๓ ขาอิงกันให้เหมาะแล้วมันไม่ล้ม แล้วแข็งแรง แข็งแรงกว่า๓ ขา ๔ ขา แข็งแรงกว่า ๔ ขา ๕ ขาด้วยซ้ำไป ชาวพุทธศาสตร์ ชุมนุมกลุ่มพุทธศาสตร์นี้จะต้องรู้จักไม้อิง ๓ ขาเป็นเรื่องแรก รู้ให้ถูก รู้ให้จริงว่าพระพุทธเจ้านั้นคืออะไร พระธรรมคืออะไร พระสงฆ์คืออะไร สำหรับพระธรรมนะก็รู้ในความหมาย ๔ อย่าง ๆ ที่ว่าเมื่อตะกี้นี้ก็ได้ อะไร ๆ มันจะรวมอยู่ที่นั่น พระพุทธเจ้าก็รวมอยู่ในคำนั้น พระธรรมก็รวมอยู่ในคำนั้น พระสงฆ์ก็รวมอยู่ในคำนั้น จิตที่รู้แจ้ง รู้ตัวธรรมชาติ รู้ตัวหน้าที่ธรรมชาติ รู้การปฏิบัติสำเร็จแล้ว ได้ผลแล้ว นี่เรียกว่ารู้จริง เมื่อไรเรารู้จริงอย่างนั้น เมื่อนั้นจิตนั้นเป็นพระพุทธเจ้า ทีนี้พระธรรม จะเรียกสั้น ๆ ว่าไอ้เครื่องตัดปัญหาทั้งหมดของมนุษย์เรา ดังนั้นเดี๋ยวนี้เรามีปัญหาอย่างไร เราจะเอาอะไรมาตัด ถ้าเรารู้จริง เราก็สามารถที่จะเอามาตัด สิ่งที่จะตัดปัญหาได้นี้คือพระธรรม พระสงฆ์ก็คือผู้ที่ตัดปัญหาได้หรือตัดเสร็จแล้วก็คือเราผู้ที่ตัดปัญหาได้นี่คือพระสงฆ์ เราอย่าไปเอาพระสงฆ์ที่คนอื่นเลย เอาพระสงฆ์ที่ตัวเราที่รู้และตัดปัญหาได้ นั่นแหละคือการปฏิบัติธรรม นี่เราเอาจิตของเราที่รู้และดับทุกข์ได้นะว่าเป็นพระพุทธเจ้า เราก็มีพระพุทธเจ้าอยู่ในจิตของเรา คงจะดีกว่าแขวนไว้ที่คอกระมัง เพราะที่แขวนไว้ที่คอนั้นมันต้องเป็นวัตถุ ที่จะเอามีไว้ในจิตนั่นมันไม่ต้องเป็นวัตถุ มันเป็นองค์พระพุทธเจ้าจริงได้ ไอ้สิ่งที่เรารู้และใช้ปฏิบัติหรือตัดปัญหาได้นั้นคือพระธรรม ฉะนั้นขอให้เรามีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อย่างแท้จริงกันอย่างนี้ทุกอย่างอยู่ในใจของเรา นี้อธิบายย่อ ๆ สำหรับไม้อิง ๓ ขา และให้รู้เถอะว่าศาสนาไหนก็ต้องมีไม้อิง ๓ ขาทั้งนั้นแหละ ไปตรวจสอบดูหมดแล้ว ศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม มันต้องมีพระเจ้า และต้องมีสิ่งที่พระเจ้าจะให้ แล้วก็มีสิ่งที่คนมี ๆ คนที่จะนำไอ้สิ่งนั้นมาสู่มนุษย์ อย่างคริสเตียนเขาว่ามีพระพระบิดา พระจิต พระบุตรนี่เขามีอย่างนี้ ก็เป็นไม้อิง ๓ ขาเหมือนกัน มีพระเจ้า แล้วก็มีพระจิตที่แบ่งมาให้มนุษย์นี้โดยพระเยซูซึ่งเป็นพระบุตรนำมา ก็เป็นไม้อิง ๓ ขาเหมือนกัน ถ้าขาดเสียขามันเป็นไปไม่ได้ ศาสนาฮินดูเขามีพระอิศวร พระพรหม พระนารายณ์พระอิศวร พระพรหมสร้างโลก พระนารายณ์คุ้มครองโลก พระอิศวรทำลายโลก พูดให้ชัดก็ต้องพูดว่ากฎของธรรมชาติ เมื่อมันทำหน้าที่สร้างโลกเราเรียกมันว่าพระพรหม เมื่อมันทำหน้าที่ควบคุมโลกเรามาเรียกมันว่าพระอิศวร พระวิษณุหรือพระนารายณ์ เมื่อมันทำหน้าที่ทำลายโลกเราเรียกมันว่าพระอิศวรอย่างนี้ก็ได้ มันก็มี ๓ องค์เหมือนกัน เพียงแต่อยาก เพียงแต่บอกให้ทราบว่าในศาสนาไหนก็จะต้องมีไม้อิง ๓ ขาทั้งนั้น
ทีนี้หัวข้อหรือสูตรที่ ๒ ศาสตรา ๓ อัน ใช่ไหม เขียนไว้แล้ว ๒ คือศาสตรา ๓ อัน นี่ของมีคม ๓ อัน ในพุทธศาสนาเรา ๆ มีของมีคม ๓ อันคือศีล สมาธิและปัญญา ศีลเป็นศาสตราอันแรก สำหรับจะตัดปัญหาทางกาย ทางวาจา ทำลายความผิดพลาดทางกาย ทางวาจาให้หมดไป อันที่ ๒ เรียกว่าสมาธิ ทำลายความผิดพลาดในทางจิตให้หมดไป อันที่ ๓ เรียกว่าปัญญา ตัดทำลายความผิดพลาดทางปัญญาหรือความรู้ให้มันหมดไป เราก็มีความถูกต้อง เราอาจถูกต้องในทางกาย ทางวาจา ทางจิต และทางทิฐิคือความคิดความเห็นหรือสติปัญญาของเรา นี่ศาสตราสำคัญที่สุดคือศีล สมาธิ ปัญญา ใครมีหรือไม่มีไปสำรวจตัวเองดูก็แล้วกัน ถ้ามันมีความผิดพลาดทางกาย ทางวาจาคือไม่มีศีลแล้วก็ มันก็ไม่มีศาสตราที่ ๑ ซึ่งเป็นเหมือนกับศาสตราไว้โกลน แต่งทีแรก ศาสตราหยาบ ๆ สำหรับโกลนพอเป็นรูป เป็นร่าง แล้วก็เรามีสมาธิเป็นศาสตราที่ ๒ สำหรับตกแต่งที่โกลนดีแล้วให้มันเกลี้ยง แล้วก็มีศาสตราที่ ๓ คือปัญญา ถึงกับขัดเกลาให้มันขึ้นมันเลย มันทำหน้าที่ต่อเนื่องกัน ในระหว่างศาสตราทั้ง ๓ คือศีล สมาธิ ปัญญา ท่านจึงตรัสว่า เมื่อศีลอบรมดีแล้ว จิตก็เป็นสมาธิ สมาธิอบรมดีแล้วก็เกิดปัญญา ปัญญาอบรมดีแล้วมันก็เกิดการหลุดพ้นจากความทุกข์ หลุดพ้นจากกิเลสจากอาสวะทั้งหลาย ที่เนื้อที่ตัวของเรามีหรือเปล่า ทุกคนนะ อย่านั่งง่วงเสีย ท่านดูมีศาสตราหรือเปล่า มีศีล สมาธิ ปัญญาประจำตัวในฐานะเป็นศาสตราหรือเปล่า ไม่อย่างนั้นจะเป็นกลุ่มพุทธศาสตร์แต่ปากนะ ใครจะไปรับรองได้นี่ คุณจะต้องมีศาสตรานี้จริง ๆ จึงจะเป็นกลุ่มพุทธศาสตร์ที่แท้จริง ไปศึกษา ไปศึกษาเรื่องศีล เรื่องสมาธิ เรื่องปัญญาให้ดี แล้วเอามาใช้ให้เป็นศาสตราให้ได้ ก็เรียกว่ามีศาสตราอยู่ในมือ แล้วเราก็เป็นกลุ่มพุทธศาสตร์ที่แท้จริง สามารถที่จะชูศาสตราขึ้นมาให้เห็นเลย และจะตัดปัญหาได้ด้วย
เอ้า,ทีนี้ข้อต่อไป โจรฉกรรจ์ ๓ ก๊ก ที่เมื่อตะกี้เขียนไม่ทัน เขียนไม่ถูกก็เขียนเสียใหม่ ดูเขียนไม่ทันหลายคนนะ ศาส โจรฉกรรจ์ ๓ ก๊ก นั่นแหละคือสิ่งที่ต้องตัดเสียด้วยศาสตรา เรามีศาสตรา ๓ อันและก็ตัดโจรฉกรรจ์ ๓ ก๊ก เดี๋ยวนี้ที่นั่งอยู่นี่หลายคนคงจะนึกออกล่วงหน้าแล้วว่ามันหมายถึงอะไร โจรฉกรรจ์ ๓ ก๊ก มันหมายถึงกิเลส ๓ กลุ่มคือโลภะ โทสะ โมหะ กิเลสมีอยู่ ๓ กลุ่มเท่านั้น กิเลสนี่มันเกิดมาจากความไม่รู้ แล้วมันเกิดการทำผิดทางจิตใจขึ้นมา กลุ่มที่ ๑ เรียกว่าโลภะก็ได้ ราคะก็ได้ กลุ่มที่ ๒ เรียกว่าโทสะก็ได้ โกรธะก็ได้ กลุ่มที่ ๓ เรียกว่าโมหะ ดูจะมีคำเดียวใช้กันอยู่ กลุ่มที่ ๑ โลภะ ราคะนั้นสังเกตง่าย คือเป็นกิเลสที่จะรวบรัดเข้ามายึดถือ กิเลสพวกนี้มันทำอาการรวบรัดเข้ามากอดไว้ ยึดไว้ ถือไว้ นี่เรียกว่าความโลภหรือราคะ และกลุ่มที่ ๒ มันทำหน้าที่ตรงกันข้าม คือจะตีออกไป จะผลักออกไป จะทำลาย จะฆ่าเสียให้ตายอย่างนี้ นี่กิเลสกลุ่มที่ ๒ เป็นโทสะ เป็นโกรธะ นี้กิเลสกลุ่มที่ ๓ มันไม่รู้จะทำอย่างไร ไม่ใช่ผลัก ไม่ใช่ดึงเข้ามาหรือไม่ใช่ผลักออกไป มันจึงวิ่งวนเวียนอยู่รอบ ๆ ด้วยความสงสัย อย่างนี้เราเรียกว่าโมหะ ฉะนั้นขอให้สังเกตดูบางคราวเรามีโลภะ สำหรับจะดึงอะไรเข้ามาหาเรา บางคราวเรามีโทสะ โกรธะที่จะทำลายหรือผลักออกไป เพราะไม่ตอบ ไม่ชอบ แล้วบางทีเราก็ฉงนสนเท่ห์อยู่ด้วยความโง่เขลา วนเวียนอยู่รอบ ๆ ไอ้จุดอะไรอันหนึ่งซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งความสงสัย ความสนใจ ความทึ่ง หรือว่าความหลอกให้หลงติดอยู่ที่นั้น วน ๆ อยู่รอบ ๆ นะ นี่เรียกว่าโลภะ โทสะ โมหะ มีรายละเอียดแจกเป็นชื่ออย่างอื่นอีกมากมายหลายสิบ หลายสิบชื่อ ไปศึกษาเอาเองเถอะ สิ่งที่เขาเรียกว่ากิเลส เป็นความรู้สึกที่ใช้ไม่ได้ทั้งนั้น เป็นความรู้สึกที่ผิดพลาดไม่ดีทั้งนั้น มีมาก แต่จัดเป็นกลุ่มแล้วก็มีอยู่ ๓ ก๊ก จึงเรียกว่าโจรฉกรรจ์ ๓ ก๊ก ต้องเรียนหรือศึกษาให้รู้จักภายในจิตด้วยเหมือนกัน เมื่อความโลภโกรธเกิด ความโลภเกิดขึ้นก็ให้รู้จัก เมื่อโทสะ ความโกรธเกิดขึ้นก็ให้รู้จัก โมหะเกิดขึ้นก็ให้รู้จัก เพราะทุกคนก็เคยโลภ เคยโกรธ เคยหลง มา ๆ แล้วทั้งนั้น แต่ไม่สังเกต ไม่ศึกษา ไม่กำหนด เลยไม่รู้จักโจรฉกรรจ์ ๓ ก๊กที่มีอยู่ในตน
ทีนี้ก็มาถึงไอ้ป่ารก ๓ ดง พูดถึงป่ารกนี่ก็หมายความว่ามันรกทึบ ออกมายาก มันรึงรัด หุ้มห่อ ออกมายาก ป่ารก ๓ ดงที่จิตของเราพลัดเข้าไปแล้วออกมายาก นี้เขาเรียกว่ามิจฉาทิฐิ มิจฉาทิฐินั้นก็แจกเป็น ๓ พวกเหมือนกัน พวกว่าเที่ยงเช่นพอตายแล้วเกิดแน่นอน เรียกว่าเที่ยงนี่ก็เป็นทิฐิดงหนึ่ง นี้พวกว่าสูญ ตายแล้วสูญ นี้ก็ดงหนึ่ง ไอ้พวกอีกดวงอีกพวกหนึ่งไม่มีอะไรเลย เราไม่ถือว่ามีอะไรเลย ไม่มีบุคคล ไม่มีมนุษย์ ไม่มีบุญกุศล ไม่มีบิดามารดา ไม่มีอะไรทั้งหมด ดงที่ ๑ ก็เรียกว่าสัสสตทิฐิ เที่ยง ดงที่ ๒ ก็เรียกว่าอุจเฉททิฐิแปลว่าขาดสูญ องค์ที่ ๓ ดงที่ ๓ ก็เรียกว่านัตถิกทิฐิ ว่าไม่มีอะไร นี่ความคิดผิด ๆ มิจฉาทิฐิจะมีอยู่ใน ๓ รูปแบบนี้ ดังนั้นจึงเรียกว่าดง ๓ ดง ป่ารกมีอยู่ ๓ ดง พลัดเข้าไปในป่ารกนั้นแล้วออกมายาก สัตว์ทั้งหลายมันก็พลัดอยู่ในป่ารก ๓ ดง
นี้ถัดไปเวียนวง ๓ วน มันติดอยู่ในดงแล้วก็เวียน ๆ ๆ ก็เวียนอยู่ใน ๓ วง คือว่าความอยากหรือกิเลส นี่ตอนหนึ่ง วงหนึ่ง แล้วก็กรรม กระทำไปตามอำนาจของกิเลสนี้ตอนหนึ่ง และวิบากผลกรรมเกิดขึ้นจากกรรมนั้นอีกตอนหนึ่ง เรียกว่ากิเลส กรรม วิบาก นี่วนอยู่ใน ๓ อย่างนี้ ที่เราเรียกง่าย ๆ คือว่าเราอยากจะทำ นี่เรียกว่าวงที่ ๑ แล้วเราก็ทำนี่วงที่ ๒ แล้วก็ได้ผลมานี่วงที่ ๓ แล้วเราก็อยากอีก เราทำอีก ได้ผลมา แล้วเราอยากอีก แล้วเราทำอีก แล้วเราได้อีก แล้วก็อยากอีก ทำอีก ได้อีก อยากอีก ทำอีก ได้อีกอยู่อย่างนี้ ในชีวิตประจำวัน เราก็มีอยากจะทำอะไร แล้วเราทำลงไป แล้วได้ผลมา แล้วเราก็อยากทำอีก ได้ผลตรงที่ ๆ เราต้องการ เราก็อยากทำอีก ได้ผลไม่ตรงตามที่เราต้องการ เราก็อยากทำอีก เพราะมันเปลี่ยนรูปแบบได้อย่างนี้ เราวนอยู่ในความอยาก การกระทำและผลการกระทำนี้เขาเรียกว่าวัฏสงสาร วัฏสงสารอยู่ที่นี่ ใครจะพูดว่าวัฏสงสารเกี่ยวไปถึงหลังจากตายแล้วชาติโน้น ๆ ก็ได้เหมือนกัน เราไม่คัดค้านแต่อาตมาไม่พูด เพราะว่ามันอยู่ไกลนัก มองไม่เห็น จะพูดแต่ที่มองเห็นที่นี่และเดี๋ยวนี้ วัฏสงสารที่จิตมันวนเวียนอยู่ไม่มีที่สิ้นสุดนั่น มองกันได้ง่าย ๆ อย่างนี้ ว่าอยากแล้วทำ ทำแล้วได้ผล ได้ผลแล้วอยาก อยากแล้วทำ ทำแล้วได้ผล ได้ผลแล้วอยากนี่คือวัฏสงสาร เกิดวัฏสงสารทีหนึ่ง ก็มีตัวกูทีหนึ่งแหละ มีชาติทีหนึ่งนะ ดังนั้นวันหนึ่ง ๆ เราจึงมีการไอ้เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป มาก ๆ อย่างนี้ นี้เราเรียกว่าเวียนวง ๓ วน
นี้ต่อไปก็ทุกข์ทนทั้ง ๓ โลก ก็หมายความว่าไอ้การวนเวียนนั่นแหละ มันทำให้เปลี่ยนมีลักษณะอย่างมนุษย์ก็เป็นกามา กามโลก อย่างพรหมมีรูปก็เรียกว่ารูปโลก อย่างพรหมไม่มีรูปก็เรียกว่าอรูปโลก จิตของเรามันเวียนอยู่ในไอ้ ๓ อย่างคือว่ากาม กามารมณ์นี่ ถ้าจิตมันเป็น มันไปตกอยู่ในกามารมณ์เรียกว่าเราอยู่ในกามโลก ถ้าจิตมันไปติดอยู่ในสิ่งที่มิใช่กามารมณ์แต่เป็นวัตถุนะ ไปหลงอยู่ในวัตถุแม้ไม่ใช่กามารมณ์เราก็เรียกว่าเราอยู่ในรูปโลก ที่นี้จิตไปติดอยู่ในสิ่งที่ไม่มีรูป เรียกว่าเรากำลังอยู่ในอรูปโลก จึงมีโลก ๓ โลก ไอ้กามโลกเรื่องเพศเรื่องอันนี้ และก็รูปโลกเรื่องรูปบริสุทธิ์ เรื่องฌานสมาธิ สมาบัติที่บริสุทธิ์แต่ว่ามีรูป เกี่ยวกับรูป แล้วก็ไม่เกี่ยวกับรูปเลยได้เลยได้เป็น กามโลก รูปโลก อรูปโลก เขาว่าอยู่ทีไหนกันก็ไม่รู้ อยู่ที่โลกอื่น อยู่บนฟ้า บนสวรรค์ที่ไหนก็ตามใจเราไม่คัดค้าน แต่เราจะบอกให้ดูว่าที่นี่ เดี๋ยวนี้เราก็มีทั้ง ๓ โลกเหมือนกัน บางเวลาจิตของเราไปจมอยู่ในกาม บางเวลาจิตของเราไปหลงอยู่ในรูปที่บริสุทธิ์ไม่ ๆ มีกาม บางเวลาจิตของเราไปหลงอยู่ในอรูปเช่นหลงในเกียรติยศ ชื่อเสียง บุญกุศล อย่างนี้ก็เรียกว่าอรูป เวลานั้นจิตมันอยู่ในอรูปโลก เมื่อไปหลงอยู่ในวัตถุ ของชอบใจ ของเล่นอะไรก็ได้เรียกว่าอยู่ในรูปโลก ถ้าไปหมกมุ่นอยู่ในกามเรียกว่ากามโลก แต่ในที่นี้ต้องการจะบอกว่าทั้ง ๓ โลกนะเป็นเรื่องทนทุกข์ทรมานทั้งนั้น อย่าไปอยู่ในโลกไหน ให้มีจิตเป็นอิสระ ให้ไปอยู่กับนิพพานดีกว่า ถ้าหลงอยู่ในโลกนี้ทั้ง ๓ โลกแล้วจะมีความทุกข์ทนทรมาน เพราะว่ามันมีตัวกูรู้สึกอยู่อย่างนั้น อย่างนี้ ได้อย่างนั้น เสียอย่างนี้ เป็นทาสของอารมณ์อยู่เสมอ จึงใช้คำว่าทุกข์ทนทั้ง ๓ โลก จะอยู่กับกามารมณ์ก็ดี จะอยู่ในวัตถุล้วน ๆ ก็ดี จะอยู่ด้วยสิ่งที่ไม่ได้มีรูปก็ดี
ทีนี้ก็มาถึงเขาโคก ๓ เนิน นี้หมายถึงมานะทิฐิ เขาโคกหมายความว่ามันนูนสูงขึ้นมาเราเรียกว่าภูเขาหรือว่าเป็นโคกสูง มีอยู่ ๓ เนินคือมานะทิฐิมีอยู่ ๓ รูปแบบ รูปแบบที่ ๑ ว่าเราดีกว่าเขานี่ก็คือโคกหนึ่งแล้ว เราดีกว่าเขามันยกหูชูหางขึ้นมาแบบหนึ่งแล้ว เราดีกว่าเขา ทุกคนเคยรู้สึกใช่ไหมในบางกรณี เรารู้สึกว่าฉันดีกว่าแก เราดีกว่าเขาโคกหนึ่งแหละ และเราเสมอกันกับเขา บางคราวรู้สึกว่าเราเสมอ ๆ กันกับเขา บางคราวเรารู้สึกว่าเราเลวกว่าเขา ต่ำกว่าเขา แม้ว่าเราจะรู้สึกว่าเราเลวกว่าเขา ต่ำกว่าเขา ก็ยังจัดเป็นโคก เป็นเนินอยู่นั่นแหละ เพราะมันมีตัวกูที่ไม่ยอม มีตัวกูที่ไม่รู้จักยอม ไม่ยอม ตัวกูแล้วเป็นไม่รู้จักยอม เป็นต้องยกหูชูหาง แม้จะรู้สึกอยู่ว่าดีกว่าเขา เสมอเขา เลวกว่าเขา มันก็มีตัวกูที่ยกหูชูหางอยู่เสมอไป อย่างนี้ เราเรียกว่าเขาโคก ๓ เนิน ไปศึกษาเอาเองจากความรู้สึก และให้จำไว้แม่น ๆ ว่าเรารู้สึกดีกว่าเขา เราเสมอเขา เราเลวกว่าเขา มันก็ยังเป็นการถือตัว มีตัวตน มีตัวกู นี่เรียกว่าเขาโคก ๓ เนิน
ทางห้ามเดิน ๒ แพร่ง นี้เป็นหลักพุทธศาสนาว่าอย่าให้ซ้ายอย่าให้ขวาดีกว่า ซ้ายนะคือกามสุขัลลิกานุโยค ลุ่มหลงในทางกาม ขวา อัตตกิลมถานุโยคคือทรมานตนให้ลำบากเพราะเกลียดกาม อันหนึ่งมันไปหลงกาม หลง จมแช่อยู่ในกามเรียกว่ากามสุขัลลิกานุโยค อันหนึ่งมันเกลียดกาม มันจึงทรมานร่างกายให้ไม่เป็นที่ตั้งแห่งกาม นี้มันก็ไม่มีกาม แต่มันก็เจ็บปวดลำบาก อย่างแรกมันก็เปียกแฉะไปด้วยเรื่องของกาม อย่างหลังมันก็ไหม้เกรียมไปด้วยเรื่องการทรมานกาย พระพุทธเจ้าตรัสว่าไอ้สุดโต่ง ๒ อย่างนี้อย่าเลี้ยวเข้าไปหา ให้เดินอยู่ตรงกลางที่เรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา ซึ่งทุกคนก็ได้ยินได้ฟังอยู่แล้ว ดังนั้นทางซ้ายอย่าเดิน ทางขวาอย่าเดิน ทางเปียกอย่าเดิน ทางแห้งอย่าเดิน อะไรก็ตามที่มันตรงกันข้ามนี้อย่าเดิน ให้เดินตรงที่ระหว่างกลาง เราจะไม่พูดยืนยันโดยส่วนเดียว พูดตามวิธีของพุทธศาสนาแล้วก็ว่ามันแล้วแต่เหตุ แล้วแต่ปัจจัย เราจะไม่พูดยืนยันอย่างนั้น อย่างนี้โดยส่วนเดียวว่ามันต้องตายแน่ มันต้องอยู่แน่ นี้เราไม่พูด เราจะพูดมันแล้วแต่เหตุปัจจัยที่มันจะมี อยู่หรือว่าดับ อยู่หรือตาย เราจะไม่พูดว่าได้หรือเสียโดยแน่นอน เราจะพูดว่ามันแล้วแต่เหตุแล้วแต่ปัจจัย ฉะนั้นเราอย่าไปโง่ มีความคิดเด็ดขาดลงไปอย่างใดอย่างหนึ่งจนเป็นทุกข์ เดี๋ยวก็ได้ฆ่าตัวตายกันเท่านั้นเอง มันต้องให้มันอยู่ตรงกลางที่ว่ามันแล้วแต่เหตุปัจจัย ซึ่งเป็นสิ่งที่เราจัดได้ แก้ไขได้ ปรับปรุงได้ ก็เรียกว่าไอ้ทางห้ามเดิน ๒ แพร่ง อย่าสุดโต่งฝ่ายซ้าย อย่าสุดโต่งฝ่ายขวา ให้ถูกต้องพอดีอยู่ตรงกลาง ทางห้ามเดิน ๒ แพร่งคืออย่างนี้
และก็ตัวแมลง ๕ ตัว คือความรู้สึกรบกวนความสงบประจำวัน ๕ ตัวก็เรียกว่านิวรณ์ทั้ง ๕ กามฉันทะคือความรู้สึกที่มันตกไปในทางเพศหรือทางกาม คุณจะดูหนังสือ จะเรียนหนังสือหรือจะทำอะไรสักอย่างมัน จิตมันจะตกไปในทางกาม มันทำไม่ได้ มันเรียนไม่ได้ นี่แมลงตัวที่ ๑ เรียกว่ากามฉันทะ ทีนี้แมลงตัวที่ ๒ เมื่อเราต้องการจิตสงบจะทำอะไร มันก็นึกถึงเรื่องที่เราโกรธ เกลียด ไม่ชอบอะไรอยู่อย่างใดอย่างหนึ่ง มันก็ทำไม่ได้ จะเรียนหนังสือ จะทำอะไรให้มันดีที่สุดนะไอ้จิตมัน ๆ ไปรู้สึกในเรื่องโกรธใคร เกลียดใคร ขัดใจใครอะไรอยู่ นี่แมลงตัวที่ ๒ เรียกว่าพยาบาท ทีนี้แมลงตัวที่ ๓ คือจิตแฟบ ละเหี่ย ละห้อย ง่วง ซึม เรียนหนังสือไม่ได้ ทำอะไรไม่ได้อีกเหมือนกัน อย่างนี้ก็เรียกว่าถีนมิทธะ เรียกเป็นบาลี แมลงตัวที่ ๓ เรียกว่าถีนมิทธะ ทีนี้เดี๋ยว ทีนี้ทำไมมันไม่ ๆ ๆ ไม่มีแมลง ๓ ตัวนี้ มีแมลงตัวที่ ๔ เรียกว่าอุทธัจจะกุกกุจจะคือฟุ้ง จิตฟุ้งซ่าน จะคิดนึกอะไรให้เรียบร้อยไม่ได้ จะให้แน่วแน่ไม่ได้หรือว่ารำคาญ กระสับกระส่าย ฟุ้งซ่าน รำคาญ กระสับกระส่าย เรียนหนังสือไม่ได้อีกเหมือนกัน และตัวสุดท้ายที่ ๕ เรียกว่าวิจิกิจฉา คือความลังเล บังคับความรู้สึกให้แน่วแน่ไม่ได้ เช่นจะเรียนหนังสือนี่มันก็ยังเล ยังลังเลที่จะไม่เรียนจริง ที่จะไปนั่งพักเสียดีกว่า หรือจะไปคิดนึกเรื่องอื่นเสียดีกว่า และบางทีเกิดลังเลขึ้นมาว่าจะไม่ได้ประโยชน์อะไรนี่ ก็เรียกว่าวิจิกิจฉา ลังเล ทั้ง ๕ ชนิดนี้รบกวนความรู้สึกของมนุษย์เราอยู่เป็นประจำวัน เราจะทำอะไรให้ดีไม่ได้ในการศึกษาเล่าเรียนหรืออะไรก็ตาม เพราะไอ้ ๕ อย่างนี้มันรบกวน เราเรียกว่าแมลง ๕ ตัว บางตัวก็กัดเจ็บ บางตัวก็ทำให้รำคาญจะทนไม่ได้ มันเรียกกันว่าเป็นเรื่องรบกวน นี่แมลง ๕ ตัว
ทีนี้มาถึงมารน่ากลัว ๕ ตน สิ่งที่ขัดขวางไม่ให้การดำเนินไปอย่างดีนั้นเป็นไปได้ มันขัดขวางไม่ให้ความดีดำเนินไปได้ในชีวิตนี้ ก็เรียกว่ามาร มารตัวที่ ๑ คือกิเลสของเราเอง กิเลสมาร พอกิเลสเกิดขึ้นแล้วมันขัดขวางการกระทำความดี เป็นไปไม่ได้ มารตัวที่ ๒ เรียกว่า ขันธมาร คือร่างกายนี้มันไม่อำนวย ร่างกายนี้มันไม่เล่นด้วย มันไม่เอาด้วย มาขัดขวางการทำความดีเสีย ร่างกายพิกลพิการหรืออะไรก็ตาม ไม่มีสมรรถภาพที่จะทำหน้าที่นั้นได้อย่างนี้เราเรียกว่าขันธมาร ทีนี้มารที่ ๓ คือมัจจุมาร มันตายเสีย ทำไม่ได้ มันตายโดยร่างกาย เข้าโลงไปก็ได้ หรือมันตายโดยจิตใจ มันหมดความเป็นมนุษย์ มันสูญเสียความเป็นมนุษย์ สังคมไม่คบด้วยอย่างนี้ก็ได้ มันตายเหมือนกัน มันตายทางจิตใจ มันกลายเป็นคนตายเสีย ไอ้ความดีนั้นก็ชะงัก เป็นไปไม่ได้ แล้วก็อภิสังขารมาร นี่คือผลกรรมเข้ามาแทรกแซงเสีย ทำไปไม่ได้ ผลกรรมแต่หนหลังเข้ามาแทรกแซงเสีย เป็นไปไม่ได้ นี่ก็มาร และอันสุดท้ายเราเรียกว่าเทวบุตรมาร เทวดาขี้เล่น เทวดาที่หลงใหลในทางกาม มันมาขัดขวางเสีย เขาว่าเทวบุตรบนสวรรค์นั่นมาขัดขวางเสีย ก็ตามใจเราไม่พูดอย่างนั้น มันยังไกลนัก เราพูดใกล้ ๆ ว่าจิตมันน้อมไปในทางกามารมณ์เสีย คือน้อมไปในทางเป็นคนเจ้าสำราญเสีย มันก็ทำอะไรไม่ได้ นี่เรียกว่าเทวบุตรมาร กิเลสมาร มารคือกิเลส ขันธมาร มารคือร่างกายนี้ มันเป็นเกิดเป็นมารขึ้นมา แล้วมัจจุมาร ความตายโดยกายหรือโดยใจก็ได้ มันเป็นมาร สังขาร อภิสังขารมารคือกรรม ผลกรรมมันเข้ามาเป็นมาร และเทวบุตรมาร ความนิยมในความเล่นหัว เหลวแหลกเหมือนกับพวกเทวดา มันเข้ามาเป็นมารเสีย นี่เรียกว่ามารน่ากลัว ๕ ตน พญามารมี ๕ ตน แล้วผจญเราอยู่ทุกวัน ทำให้ไม่ เห็นนะ ทำไม่จึงไม่เห็นไอ้สิ่งเหล่านี้ที่มันผจญเราอยู่ทุกวัน ทำอะไรไม่สำเร็จ ทำความดีไม่สำเร็จ ก็เพราะพญามาร ๕ ตนนี้
นี้บ่วงคล้องคน ๖ บ่วงคือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ สิ่งสวยงาม เอร็ดอร่อยที่เราจะได้รับทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เรามีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทีนี้สิ่งยั่วยวนทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ๖ อย่างนั้นเราเรียกว่าบ่วงคล้องคน ๖ บ่วง รูปสวย ๆ ก็คล้อง เสียงเพราะ ๆ ก็คล้อง กลิ่นหอม ๆ ก็คล้อง สัมผัสนิ่มนวลก็ รสอร่อยที่ลิ้นก็คล้อง สัมผัสนิ่มนวลทางผิวหนังก็คล้อง จิตที่ใฝ่ไอ้ความรู้สึกที่สนุกสนานเอร็ดอร่อยมันก็คล้อง นี้เรียกว่าบ่วงผูกคนให้ติดอยู่ในกองทุกข์ เขาเรียกว่าบ่วงมารก็เรียก เพราะว่าถ้าไอ้บ่วงนี้คล้องเข้าแล้วมันล้มละลาย เลยเรียกว่าบ่วงมาร แล้วสิ่งที่เป็นบ่วงนี้จะต้องสวยงามยั่วยวนเสมอ นี่เรียกว่าบ่วงคล้องคน ๖ บ่วง ทีนี้มันคู่กับเหตุแห่งสิ่งทั้งปวง ๖ ตำแหน่ง ๖ ตำแหน่งก็คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ๖ ตำแหน่งนี้เหตุแห่งสิ่งทั้งปวง ถ้าเราไม่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ๖ อย่างนี้แล้วมันไม่มีอะไร นี่ฟังดูให้ดีนะ ว่าอะไรมันจะมีได้ เกิดขึ้นเป็นไปนั่นเพราะมันมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ พอเราไม่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทุกอย่างมันไม่มี คิดดูนะ ถ้าเราไม่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนี่โลกนี้ก็ไม่มีอะไร ก็ไม่มีอะไร ก็มันก็ไม่มีได้ เราต้องมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจที่มีคุณสมบัติทำงานได้ตามหน้าที่ของมัน ถ้ามีตาบอดก็เหมือนกับไม่มี ถ้าหูหนวกก็เหมือนกับหูไม่มี จมูกไม่รู้กลิ่นก็เหมือนกับไม่มี เราต้องมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจที่ยังทำหน้าที่ได้นะ นี่ ๖ ตำแหน่งนี้เป็นเหตุให้สิ่งทั้งปวงมี ทางดีก็ร้าย ทางดีก็ได้ ทางชั่วก็ได้ ทางเหนือดีเหนือชั่วก็ได้ มันอยู่ที่ไอ้ ๖ ตำแหน่งนี้มันเป็นต้นเหตุ เราจะต้องรู้จักและก็ควบคุมไอ้ ๖ ตำแหน่งนี้ดี ๆ
ทีนี้แหล่งแห่งอบาย ๔ ขุม แหล่งอบาย ๔ ขุมคือนรก เดรัจฉาน เปรต อสูรกาย นรก เดรัจฉาน เปรต อสูรกาย คุณคงจะเคยได้ยินมาว่านรกอยู่ใต้ดิน นี้เราคงไม่ เราไม่พูดถึงนรกอยู่ใต้ดิน เราไม่ ๆ เอามาดูเอามาให้ดูไม่ได้ เราจะพูดเหมือนปู่ย่าตายายเขาพูด ว่านรกอยู่ในใจ เมื่อใดจิตใจมันร้อน มันร้อนเหมือนกับไฟเผานั่นนะ เมื่อนั้นนรก เมื่อใดจิตใจมันร้อนเหมือนกับไฟเผาเมื่อนั้นมันมีนรก นรกอยู่ที่นั่น นั้นอบายที่ ๑ เดรัจฉานนะอยู่ตามทุ่งนา อันนั้นนะไม่น่าสนใจ ไอ้เดรัจฉานที่อยู่ในหัวใจนี่คือความโง่ ไอ้ความโง่ของคนแต่ละคนนั่นละคือสัตว์เดรัจฉาน เมื่อใดเราโง่เราก็ตกอบายที่ ๒ คือความเป็นสัตว์เดรัจฉาน ดังนั้นอย่าโง่ พอโง่มันก็กลายเป็นสัตว์เดรัจฉานขึ้นมาทันที เปรต อันที่ ๓ เรียกว่าเปรต ที่ได้ยินได้ฟังมาเขาอยู่ที่นั่น ที่นี่ ที่โน่น เราไม่สนใจ เราสนใจเปรตที่อยู่ในจิตใจคือความหิวอย่างบ้าหลัง ไปหิว ไปอยาก ไปกระหายด้วยอำนาจของกิเลสนี่ เราเรียกว่ามันเป็นเปรต เรื่องสร้างวิมานในอากาศทุกเรื่องเป็นเปรต ฉะนั้นไปพังวิมานเสียดีกว่า ไปพังทลายวิมานในอากาศเสียดีกว่า เพราะมันทำให้เราเป็นเปรต คือความหิวที่มันไม่มีเหตุผลเรียกว่าเป็นเปรต ทีนี้อสูรกายเขาว่ามอง ๆ ไม่เห็นตัว สัตว์ที่มองไม่เห็นตัวเรียกว่าอสูรกาย เป็นผีเป็นอะไรก็ตามใจ เขาก็พูดกันไป เขาก็พูดกันอยู่แล้ว แต่เราจะพูดถึงสิ่งที่เห็นได้ง่ายกว่านั้น ก็คือความกลัว เมื่อใดเรามีความกลัวเมื่อนั้นเราเป็นอสูรกาย เมื่อเรามีความกลัว เราไม่อยากให้ใครเห็น ไม่อยากให้ใครพบตัวหรือจับตัว มันก็เข้าความหมายกับคำว่าอสูรกาย คือไม่กล้าหาญ เมื่อใดเราไม่กล้าหาญแล้วขลาดกลัวเหลือประมาณ เมื่อนั้นเราเป็นอสูรกาย นี่อบายแหล่งแห่งอบาย ๔ ขุม ระวังให้ดีอย่าให้ตกนะ มันจะตกแล้วตกเล่า ตกแล้วตกอีกอยู่ทุก ๆ วันนะ เดี๋ยวร้อนใจ เดี๋ยวโง่ เดี๋ยวหิว ทะเยอทะยาน และเดี๋ยวก็กลัว เดี๋ยวก็ร้อนใจ เดี๋ยวก็โง่ เดี๋ยวก็หิว เดี๋ยวก็กลัว นั่นแหละคืออบาย นรกที่อยู่ในจิตใจของมนุษย์ ปู่ย่าตายายเขาพูดไว้ดีแล้วนะ สวรรค์ในอก นรกในใจ สิ่งที่แท้จริงมันอยู่ที่ความรู้สึก ถ้ามันอยู่ข้างนอกมันจะทำอะไรเราได้ ไม่ ๆ ไม่มีความหมายอะไร แต่ถ้ามันเข้ามาอยู่ในใจเราแล้วมันก็มีความหมาย ฉะนั้นระวังให้ดี ๆ สิ่งที่มีอยู่ในใจมันมีความหมายอย่างนี้ แหล่งแห่งอบาย ๔ ขุม นรก เดรัจฉาน เปรต อสูรกายคืออย่างนี้ รู้ไว้แล้วอย่าตก ให้มีศาสตราที่ตัดปัญหาทำให้ไม่ตก สิ่งต้องควบคุม ๓ จุดคือตา คือกาย วาจา ใจ กาย วาจา ใจ ๓ จุด ต้องควบคุม สิ่งต้องควบคุม ๓ จุด รู้จักแยกออกเป็นกาย เรื่องทางกาย เกี่ยวกับกาย เป็นเรื่องทางวัตถุก็ต้องควบคุมให้ถูกต้องทางวัตถุ เรื่องทางการพูดจาก็ต้องให้ถูกต้องทางพูดจา เรื่องทางใจให้ถูกต้องทางใจ นี่เรียกว่าสิ่งต้องควบคุมอยู่ ๓ จุดคือกาย วาจา ใจ รายละเอียดมีในหนังสือต่าง ๆ มากมาย เพราะว่าคำสอนทั้งหลายนี้จะพูดเรื่องกาย วาจา ใจ ทุจริต สุจริตอย่างไร สอนมาตั้งแต่ก่อนพุทธกาลก็มี ไอ้เรื่องกาย วาจา ใจนี่ ที่เอามาบอกให้มีรู้เท่าทันกาย วาจา ใจ อย่าให้เกิดการผิดพลาดขึ้นมา มีศาสตราตัดปัญหาทางกาย ทางวาจา ทางใจ สิ่งต้องควบคุม ๓ จุด
ทีนี้เหตุหรือหนทางเหตุแห่งวิมุตติ เหตุแห่งวิมุตติ ๘ องค์ คือมรรคมีองค์ ๘ คงจะจำกันได้แล้วทุกคนนะ ถ้าเป็นกลุ่มพุทธศาสตร์ สมาชิกกลุ่มพุทธศาสตร์ ถ้ายังจำมรรคมีองค์ ๘ ไม่ได้แล้วก็เต็มทีมากนะ ขอตำหนิตรง ๆ อย่างนี้ว่าเต็มทีมาก ถ้าคุณเรียกตัวเองว่ากลุ่มพุทธศาสตร์แล้วจำเรื่องสำคัญที่สุดในพุทธศาสนาไม่ได้ คืออริยมรรคมีองค์ ๘ เรียกว่ามรรคมีองค์ ๘ สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปโป สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว สัมมาวายาโม สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ข้อที่ ๑. มีความถูกต้องทางความคิดเห็น ๒. ถูกต้องทางความปรารถนา ใฝ่ฝัน ๓.ถูกต้องทางการพูดจา ๔.ถูกต้องทางการกระทำในทางกาย ๕. ถูกต้องในการดำรงชีวิต ๖. ถูกต้องในการมีความพากเพียร ๗. ถูกต้องในการมีสติ ๘. ถูกต้องในการมีสมาธิ พูดให้สั้นที่สุดก็ว่าความคิดเห็นถูกต้อง ความปรารถนาถูกต้อง การพูดจาถูกต้อง การทำการงานถูกต้อง การดำรงชีวิตถูกต้อง ความพากเพียรถูกต้อง สติถูกต้อง สมาธิถูกต้อง ๘ องค์นี้เป็นหนทางไปพระนิพพาน เดี๋ยวนี้เราจะมาใช้ในกรณีทั่วไป แม้อยู่ในโลกนี้ก็ขอให้มีความถูกต้องทั้ง ๘ ประการนี้ เราเรียกว่าเหตุแห่งวิมุตติ คือว่าพูดว่าวิมุตติหลุดพ้นไปนิพพานมีอยู่ ๘ องค์นี้ แต่จะวิมุตติหลุดพ้นจากความทุกข์หรือสิ่งไม่พึงปรารถนาอะไร ๆ ก็ได้เหมือนกัน ดังนั้นตัวศาสตรามันอยู่ที่ความถูกต้อง ๘ ประการนี้เป็นส่วนใหญ่ ถ้าเราจะมีศาสตรากันจริง ๆ ขอให้นึกถึงความถูกต้อง ๘ ประการนี้ แล้ว ๘ ประการนี้ที่มันจะย่นจนเหลือเป็นศาสตรา ๓ อันคือศีล สมาธิ ปัญญา มีอยู่ ๓ ขยายออกเป็น ๘ ๘ นี่ย่นเหลือ ๓ ๓ นั้นขยายออกเป็น ๘ มันเรื่องเดียวกัน
นี้ข้อสุดท้ายวัตถุที่พึงประสงค์ ๒ สถาน โดยจะถือว่า ประโยชน์ตนเองและประโยชน์ผู้อื่น วัตถุที่พึงประสงค์ ๒ สถาน เราอย่าคิดแต่ประโยชน์เรา ประโยชน์เราไปได้ไกลถึงพระนิพพาน แต่เราไม่ควรคิดถึง คิดแต่ว่าเราจะไปนิพพาน เราคนเดียว เราจะต้องนึกถึงผู้อื่นด้วย พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าท่านอุบัติบังเกิดขึ้นมาในโลกนี้เพื่อประโยชน์แก่มหาชนทั้งเทวดาและมนุษย์ คือว่าทุกคน ไม่ใช่เพื่อพระองค์ เพื่อพระองค์เองอย่างเดียวแก่ทุกคนด้วย นี้เรา ๆ เป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้าก็จะต้องนึกถึงผู้อื่นด้วย ไม่ว่าศาสนาไหนก็สุดแท้ เขาจะมีการสอนให้นึกถึงผู้อื่นด้วย เพราะถ้าเราไม่นึกถึงผู้อื่นเราก็จะเห็นแก่ตัว พอเห็นแก่ตัวเราก็มีกิเลส พอเรามีกิเลสแล้วประโยชน์ของเราก็ ๆ สูญหายหมด ผู้ที่เห็นแก่ตัวนั่นแหละจะทำลายประโยชน์ตัว คือจะมีกิเลสเกิดขึ้น ทำลายประโยชน์ตัว ถ้าเห็นแก่ผู้อื่นกิเลสมันเกิดยาก นี่มันเป็นการไม่เห็นแก่ตัว ก็เป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตาย ช่วยกัน แล้วมันก็ง่าย ดังนั้นวัตถุที่พึงประสงค์ ๒ สถานก็คือว่าประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน ถ้าเรายังคิดอยู่อย่างนี้แล้วก็กิเลสเกิดยาก คนที่เห็นแก่ตัวจะเต็มไปด้วยกิเลส คนที่เห็นแก่ผู้อื่นนั้นมันมีกิเลสยาก มันหากิเลสยาก ถ้าเรามีความเห็นแก่ตัว เรารีบใช้ศาสตราทำลายความเห็นแก่ตัวเสียดีกว่า
เอ้า, ทบทวนโดยหัวข้อโดย ๆ ใจความย่อ ๆ เรามีไม้อิง ๓ ขาคือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มีศาสตรา ๓ อันคือศีล สมาธิ ปัญญา มีโจรฉกรรจ์ ๓ ก๊กคือโลภะ โทสะ โมหะ ป่ารก ๓ ดงคือ สัสสตทิฐิ อุจเฉททิฐิ นัตถิกทิฐิ เวียนวง ๓ วนคือกิเลส กรรม และวิบาก ทุกข์ทนทั้ง ๓ โลกคือทั้งกามโลก ทั้งรูปโลก ทั้งอรูปโลก เขาโคก ๓ เนินคือมีมานะทิฐิว่าดีกว่า ว่าเสมอกัน ว่าเลวกว่า ทางห้ามเดิน ๒ แพร่งคือตามใจกิเลสเกินไปและก็ทำลายร่างกายเกินไป ตัวแมลง ๕ ตัวคือกามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจะกุกกุจจะ และวิจิกิจฉา มารน่ากลัว ๕ ตนคือกิเลส คือร่างกายนี้ คือความตาย คือกรรม ก็คือจิตที่ตกไปในทางสนุกสนานเล่นหัวเหมือนพวกเทวดา บ่วงคล้องคน ๖ บ่วงคือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ เหตุแห่งสิ่งทั้งปวง ๖ ตำแหน่งคือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แหล่งแห่งอบาย ๔ ขุมคือนรก เดรัจฉาน เปรต อสูรกาย สิ่งต้องควบคุม ๓ จุดคือกาย วาจา จิต เหตุแห่งวิมุตติ ๘ องค์คือองค์ทั้ง ๘ ของอริยมรรค หรือความถูกต้องทั้ง ๘ ประการ วัตถุที่พึงประสงค์ ๒ สถานคือประโยชน์ตนและประโยชน์เพื่อนมนุษย์ ถ้ามีความรู้ใน ๑๖ หัวข้อเหล่านี้แล้วก็เรียกว่ามีความรู้ที่จะใช้เป็นศาสตราได้ แล้วเมื่อใดได้ปฏิบัติลงไปจริง ๆ เมื่อนั้นเรียกว่ามีการใช้ศาสตราแล้ว สมควรที่จะเรียกว่าเป็นผู้มีพุทธศาสตร์อยู่ในมือและได้ใช้ไปตามหน้าที่แล้ว ขอให้ท่านทั้งหลายที่เรียกตัวเองว่าชมรมกลุ่มพุทธศาสตร์ จงได้รู้จักสิ่งเหล่านี้ให้ชัดเจนที่สุดและก็ใช้ให้ตรงความหมายที่สุดและให้สำเร็จประโยชน์ถึงที่สุดด้วย ก็จะไม่เสียทีที่ว่าได้ ๆ นับถือพระพุทธเจ้าด้วยศรัทธา ด้วยความรู้สึก ด้วยใจจริง จนจัดตัวเองเข้ามาอยู่ในกลุ่มพุทธศาสตร์คือผู้ที่มีศาสตร์ของพระพุทธเจ้า นี่ก็ได้พูดมานานพอสมควรแก่เวลาแล้ว และวันนี้เป็นวันแรกจึงเป็นการให้หัวข้อที่สำคัญ ๆ ๑๖ หัวข้อ เพื่อใช้เป็นศาสตรา และว่าเราได้มานั่งอยู่ในห้องเรียนแห่งมหาวิทยาลัยของพระพุทธเจ้าคือกลางดิน นี่คือกลางดิน กลับไปที่มหาวิทยาลัยก็ไปนั่งบนตึกบนวิมานกันอีก อยู่ที่นี่เรานั่งกลางดิน ฉะนั้นถ้ามีปัญหาอะไรเกิดขึ้นแล้วขอให้นึกถึงกลางดินที่นี่ ขอให้นั่งอยู่กับธรรมชาติ ธรรมชาติช่วยแวดล้อมจิตใจให้เข้าใจธรรมชาติได้ง่ายที่สุด พูดให้ชัดก็ว่านั่งตรงนี้เข้าใจธรรมชาติได้ง่ายที่สุดกว่านั่งบนตึกเรียนในมหาวิทยาลัย ฉะนั้นถ้ามันเกิดขัดข้องขึ้นมาก็ลงจากตึกมานั่งกลางดิน ที่นั่งของพระพุทธเจ้า แล้วปัญหามันก็จะกระจ่างออกไป เราพยายามทำตนให้เป็นเกลอกับธรรมชาติ เดี๋ยวนี้เราก็พยายามนั่งใกล้ชิดกับธรรมชาติ เพื่อเราจะรู้จักธรรมชาติได้โดยง่าย จะเข้าใจธรรมชาติได้โดยง่าย ธรรมะทั้งหลายคือเรื่องของธรรมชาติ เราพยายามทำตัวให้ใกล้ธรรมชาติ เราจะเข้าใจธรรมชาติได้โดยง่าย เพียงแต่เราไปนั่งเฉย ๆ จิตใจมันก็จะว่างไปเองจากความหงุดหงิด รำคาญ ฟุ้งซ่าน คับแค้นอะไรที่ไม่ใช่ธรรมชาติ ไปนั่งกับธรรมชาติจิตจะเป็นธรรมชาติได้ง่าย ฉะนั้นขอให้ทุกคนยินดีที่จะเป็นเกลอกับธรรมชาติ พยายามใกล้ชิดธรรมชาติในสภาพอย่างนี้ ไม่ใช่เฉพาะที่นี่ ที่ไหนก็ได้แต่ขอให้เป็นธรรมชาติมาก ๆ และจะเข้าใจตัวธรรมชาติ ตัวกฎของธรรมชาติ ตัวหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ ตัวผลที่เกิดมาจากหน้าที่นั้น ๆ นี่เรียกว่าเข้าใจธรรมะหรือธรรมศาสตร์อย่างพอตัว การบรรยายนี้สมควรแก่เวลาแล้ว ขอยุติไว้เพียงเท่านี้ก่อน.