แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๒๐ ท่านที่เป็นนักศึกษาทั้งหลาย วันนี้ไม่ได้คิดว่าจะพูดอะไรมากมาย อยากจะพูดด้วยหัวข้อว่า เราจะตั้งต้นศึกษาธรรมะกันอย่างไร ได้อยากสังเกตเห็นว่าส่วนใหญ่ก็ไม่รู้ว่าจะศึกษาธรรมะกันอย่างไร หรือเพราะเหตุใด เพียงแต่ว่าเห็นเขาทำกันก็อยากจะทำบ้าง เป็นเรื่องอยากจะลอง อย่างละเมอ ละเมอ ไปเสียมากกว่า ถ้าใครมีความจริงอย่างนี้ก็ขอให้คิดดูให้ดี แล้วก็ตั้งต้นกันเสียใหม่ ไอ้หัวข้อที่พูดว่า จะตั้งต้นศึกษาธรรมะกันอย่างไรนี้ มันเนื่องไปถึง คำว่าทำไมจะต้องศึกษาธรรมะ ไอ้ทำไมกับอย่างไรนี้มีความหมายต่างกัน แต่มันสัมพันธ์กันจนอย่างจะแยกกันไม่ได้ อย่างจะถามว่ามนุษย์นี้มีลูกกันทำไม ถ้ามันไม่รู้จักว่าลูกนั้นคืออะไร มันก็ตอบไม่ได้ ถึงตอบออกไปมันก็โง่ ตอบอย่างโง่เขลาไม่มีความหมายอะไร มันต้องรู้ว่าลูกนั้นคืออย่างไร คือเป็นอย่างไร หรือเป็นอะไร หรือจะรู้ว่าทำไมจึงต้องมีลูก นี้ธรรมะนี้ก็เหมือนกัน ศึกษาธรรมะทำไม ถ้าไม่รู้ว่าธรรมะนั้นคืออะไรมันก็ ก็ตอบไม่ถูกหรอก แล้วเราจะต้องรู้ไอ้คำตอบทั้งสองอย่างนี้ ไปพร้อมๆกัน ว่าทำไมจึงต้องศึกษาธรรมะนั้น เพราะมันรู้แล้วว่าธรรมะนั้นคืออะไร ถ้ามันไม่รู้ว่าธรรมะนั้นคืออะไรเสียเลย มันก็ไม่จำเป็นจึงมีปัญหาว่าทำไมศึกษาธรรมะ แล้วมันก็รู้ไม่ได้ด้วย ขอให้ถือว่า การที่บอกว่าจะศึกษาธรรมะกันอย่างไร มันยังเป็นการบอกให้รู้ว่า ทำไมจึงต้องศึกษาธรรมะพร้อมกันไปในตัว ถ้าจะพูดว่า พวกท่านทั้งหลายเหล่านี้ ไม่รู้ว่าจะศึกษาธรรมะกันอย่างไร ก็คงจะคิดว่า มันเป็นการดูหมิ่น ดูถูกกันเหลือเกิน แต่แล้วก็ไปคิดดูให้ดีว่า มันรู้หรือปล่าวว่าจะศึกษาธรรมะกันอย่างไร ทั้งที่สนใจจะศึกษากันมาเป็นปีๆแล้ว แล้วยิ่งจะถามว่าทำไมจึงต้องศึกษาธรรมะ ขอให้นึกหาคำตอบดู ด้วยความบริสุทธิ์ใจ คงจะหาคำตอบยาก เพราะมันศึกษาธรรมะด้วยการเห่อๆ ตามๆกันมาเท่านั้น เห่อทั้งการศึกษา เห่อทั้งการปฏิบัติ และที่เป็นอย่างนี้มันก็ต้องเป็นคือช่วยไม่ได้ ป้องกันไม่ได้ มันต้องเป็นอย่างนี้เหละ มันเป็นอย่างนี้มาเรื่อยๆ มาแล้ว ทุกคนจะต้องผ่านอย่างนี้มา เดี๋ยวนี้เมื่อได้ผ่านอย่างนี้มาพอสมควรแล้ว กี่ปีก็ตาม มันก็นับว่ามีเหตุผลอยู่ที่จะมาพูดกันวันนี้ว่า จะตั้งต้นศึกษาธรรมะกันอย่างไร มิได้เล็งถึงเฉพาะพวก นักศึกษาหนุ่มๆ ฆราวาสวัยรุ่นเหล่านี้ แม้พระเณรที่มาอยู่ในวัดมาเป็นสิบๆปี มันก็ยังโง่ในเรื่องนี้ มันก็ควรจะฟังกันอยู่เหมือนกัน ว่าถ้ามันมองไม่เห็นมันก็มองไม่เห็นล่ะว่า จะศึกษาธรรมะกันอย่างไร ทีนี้ที่จะถือเอาว่าอย่างไหนมัน เป็นคำตอบที่ถูกหรือผิดนี่ มันต้องเอาความจริงเป็นหลัก เพราะเดี๋ยวนี้ทุกคนก็รู้ๆสึกตัว หรือทะนงตัวว่าเราศึกษาธรรมะได้ เราศึกษาธรรมะมาแล้ว และเราได้ศึกษามามากแล้ว เราควรจะตอบได้ว่าศึกษาอย่างไร แต่ในที่สุดก็จะมองเห็น ถ้าพิจารณาให้ดี เพราะมันยังไม่รู้ถึงขนาดที่จะเรียกว่ารู้ อยากจะขอให้ตั้งต้นมองดูกันใหม่ ถ้าว่าอาตมาจะชักชวนท่านทั้งหลายเหล่านี้ว่ามา เรียน กอ ขอ กันเสียใหม่ บางคนก็คงจะคิดว่าบ้าแล้ว ที่จริงมันก็มีส่วนที่ไม่บ้า ที่ยังจะต้องเรียน กอ ขอ กันเสียใหม่ เพราะมันยังจะมีส่วนที่จะเรียนได้อีกใหม่ ให้เรียน กอ ขอ ฉะนั้นอย่าได้ถือว่าเรียนธรรมะมามากแล้ว ไม่ต้องตั้งคำถามว่าจะตั้งต้น ศึกษาธรรมะกันอย่างไร ถ้าว่าเรียน กอ ขอ กันเสียใหม่ เอาก็ลองดู เอ้าทีนี้ก็จะต้องย้อนดูไป กำหนดไอ้ความลับ หรือความสำคัญอะไร อย่างที่ว่ามาแล้วว่า มันต้องรู้ว่าทำไมกับอย่างไรพร้อมๆกันไป ต้องดูคล้ายๆกับว่ามันผิด เพราะว่ามันผิดทั้งคำพูด มันอาจจะผิดแล้วผิดเลย นี้โดยการพูด แต่โดยข้อเท็จจริงแล้วมันอย่างนั้น มันแยกกันไม่ได้ ความรู้สำหรับว่ามันทำไมและอย่างไร นี้ต้องไปด้วยกัน เหมือนกับที่ว่า ตัวอย่างถ้าเราไม่รู้ว่าอันนี้คืออะไร แล้วเราก็ไม่รู้ว่าทำไมจึงมีอันนี้ นี้ก็บอกแล้วว่าวันนี้ไม่อยากจะพูดอะไรมาก อยากจะพูดจุดตั้งต้น เพื่อว่าเมื่อถือเอาจุดตั้งต้น ถูกต้องแล้ว ก็ย่อมถือเอาจุดถัดไป หรือจุดหมายปลายทางโดยถูกต้อง ไอ้ส่วนที่จะต้องพูดมากหน่อยก็คือว่าธรรมะนั้นคืออะไร แล้วก็รู้เองว่าทำไมจะต้องศึกษาธรรมะ นี้จะรู้ว่าธรรมะคืออะไร จะต้องตั้งต้นอย่างถูกวิธี เพื่อจะรู้มัน เมื่อถามว่าธรรมะคืออะไร คำตอบมันมีมาก แต่คำตอบส่วนมากนั้นเป็นคำตอบที่ไม่จำเป็น ไม่รู้ก็ได้ คำตอบที่จำเป็นมันก็มีอยู่นิดเดียวว่า เพื่อจะแก้ปัญหาต่างๆของมนุษย์เราที่กำลังมีอยู่ ให้มนุษย์ได้รับความผาสุข หรือเป็นสุข ทั้งโดยส่วนตัว และโดยส่วนรวม ถ้าเล็งถึงสิ่งที่เรียกว่าศาสนา ธรรมะนั้นก็จะมุ่งหมายถึงปัญหาส่วนตัว คือเพื่อจะแก้ปัญหาส่วนตัวเป็นส่วนใหญ่ เพราะทางศาสนามักจะถือว่า เมื่อส่วนตัวดีแล้วสังคมก็ย่อมจะดี ทีนี้ว่าธรรมะจะช่วยแก้ปัญหาของคนแต่ละคนได้อย่างไร ข้อนี้เราอย่ามองแต่เรื่องของเรา ที่นี่ เดี๋ยวนี้ เพราะว่าธรรมะมันไม่ได้ตั้งต้น ที่นี่และเดี๋ยวนี้ ธรรมะนั้นมันตั้งต้นมาตั้งแต่มนุษย์เริ่มมีปัญหา มนุษย์เริ่มมีปัญหาตั้งแต่เมื่อไรใครรู้บ้าง ไม่มีใครรู้ วัน คืน เดือน ปีที่แน่นอน หรือสถานที่ๆแน่นอน แต่มันรู้ได้โดยไม่ผิดเลยว่า ตั้งแต่มนุษย์เริ่มมีปัญหา ตามที่เราจะพิจารณากันโดยประวัติศาสตร์ มนุษย์มีปัญหาก็เริ่มเมื่อเป็นมนุษย์ เมื่อมนุษย์ยังไม่เป็นมนุษย์ ยังเป็นคนเหมือนกับสัตว์อยู่ ก็ไม่มีความคิด เมื่อไม่มีความคิดก็ไม่มีปัญหา ปัญหาเพิ่งเกิดเมื่อเรามีความคิด นึก รู้สึกอะไร สูงขึ้นมา สูงขึ้นมา ถ้ายังคงอยู่ในระดับสัตว์เดรัจฉานมันไม่มีปัญหา เห็นๆกันอยู่แล้ว สุนัขก็ดี แมวก็ดี อะไรก็ดี หรือว่ามันขึ้นมาถึงระดับที่เป็นคนป่า ยังไม่รู้จักนุ่งผ้า ปัญหาก็ไม่ได้มากมายไปกว่าสัตว์เดรัจฉานนัก ต่อเมื่อมนุษย์มันรู้จักคิด รู้จักทำอะไรมากขึ้น นี่มันรู้จัก ดี ชั่ว ได้ เสีย แพ้ ชนะ ปัญหามันก็เริ่มมี ถือตามคำภีย์พวกคริสตังเขาว่า มนุษย์มันเริ่มมีปัญหา เมื่อมันรู้จัก ดี ชั่ว พูดเป็นอุปมาว่ามนุษย์ดื้อพระเจ้าไปกินผลไม้ของ ต้นไม้ที่ทำให้รู้จักดี รู้จักชั่ว มันก็เริ่มมีบาป ที่จะต้องเป็นทุกข์ ที่เรียกว่าตาย สัตว์เดรัจฉานไม่มีปัญหา เรื่องดี เรื่องชั่ว เรื่องบุญ เรื่องบาป เรื่องสุข เรื่องทุกข์ ไม่มีความคิดนึก มันไม่มีความรู้สึกเรื่องนี้ มันจึงไม่มีเรื่องจะต้องรักษาศีล หรือสุนัขมันจะไปกัดแมวตาย มันก็ไม่ได้ขาดศีล ปานาติปาตาอะไร แต่ถ้าคนไปทำใครตายเข้าก็ถือว่าขาดศีล เพราะว่าความคิด ความนึก ความรู้สึกมันอยู่กันคนละระดับ เมื่อเขาไม่ต้องการให้มนุษย์ฆ่ากัน เขาจึงบัญญัติว่าการฆ่ากันมันเป็นบาป นี่เป็นเรื่องธรรมะที่เขาบัญญัติขึ้น จะเรียกว่าศีลก็ได้ จะเรียกว่าวินัยก็ได้ จะเรียกว่ากฎข้อบังคับอะไรก็ได้ แต่ที่แท้มันก็คือสิ่งที่เราเรียกกันว่าธรรม หรือธรรมะ มนุษย์เจริญก้าวหน้าไปเท่าไร ปัญหามันก็มีเพิ่มขึ้นตามตัว พอปัญหาเกิดขึ้นมันเป็นเดือดร้อน มันเป็นการเดือดร้อน แล้วมันทนอยู่ไม่ได้ มันต้องหาคำตอบ หาทางออก การแก้ปัญหา มันก็พบ พบหลักเกณฑ์พบวิธี มากขึ้น มากขึ้น ธรรมะจึงปรากฏแก่มนุษย์ มากขึ้น มากขึ้น เพื่อแก้ปัญหาตามหลังมา ที่มนุษย์มันได้เจริญขึ้น และเปลี่ยนแปลง ไม่มีใครได้บัญญัติธรรมะหรือวินัยไว้ล่วงหน้า ก่อนแต่ปัญหาของมนุษย์มันจะเกิดขึ้น ธรรมะคำสั่งสอนนี้เขาบัญญัติตามหลัง ตามหลังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยแก้ปัญหาของมนุษย์ให้หมดไป หมดไป แต่ถ้าถามว่าธรรมะในฐานะที่เป็นกฎ หรือเป็นหลักสัจธรรมนั้นมีอยู่ตั้งแต่เมื่อไร อย่างนี้มันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง มันกลายเป็นต้องตอบว่า ธรรมะในฐานะที่เป็นกฎของสากลจักรวาลนี้ มีอยู่ตั้งแต่ครั้งไหนก็ไม่มีใครรู้ มันเกินกว่าดึกดำบรรเสียอีก เพราะมันไม่เกี่ยวกับเวลา ฟังดูให้ดีว่าถ้าเราพูดคำว่าดึกดำบรรนี้ มันยังเกี่ยวกับเวลาที่บัญญัติได้และกำหนดได้ แต่สิ่งที่เรียกว่ากฎนั้นมันมีอยู่ก่อนหน้านั้น ก่อนที่จะบัญญัติเวลา หรือบัญญัติเป็นเวลาได้ นี่คือกฎที่เรียกว่าธรรมะ ธรรมะในฐานะที่เป็นกฎของธรรมชาติ แต่ถ้าธรรมะที่มนุษย์รู้จัก นี้มันเพิ่งมี ถ้ามนุษย์จะมีความเป็นมนุษย์เมื่อสักล้านปีมานี้ สมมุติว่า มันก็เพิ่งปรากฏมาสักล้านปีมานี้ แต่เดี๋ยวนี้ดูเหมือนว่าเขาจะถือมนุษย์มีสติปัญญาอย่างมนุษย์นี้สักแสนปีเสียมั้ง หรือมากกว่านั้น แต่เมื่อแรกตั้งต้นมันก็ไม่มีธรรมะมากอย่างนี้ เพราะมันไม่มีปัญหา เพราะมันไม่เจริญก้าวหน้า ในเรื่องกิน เรื่องอยู่ เรื่องใช้ เรื่องสอย เรื่องสังคม เรื่องอะไรต่างๆ มนุษย์มีปัญหา เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องการเป็นอยู่ พอรู้จักกินอาหารอร่อยกว่าที่แล้วมา มันก็มีปัญหา ที่จะเกิดความโลภ จึงแสวงหาอาหารอย่างนั้นเอามากักตุนไว้ด้วยซ้ำ เพราะได้กินของอร่อยกว่า มันก็ได้รู้จักความอร่อย ติดในความอร่อย กิเลสประเภทความอร่อยนี่มันก็เกิดขึ้น มนุษย์ในสมัยที่ไปจับสัตว์มากินดิบๆเป็นๆนี้ ไม่มีปัญหาอะไร จนกว่ามันจะรู้จักเผาจี่ให้สุก เอ้ามันก็เกิดปัญหา ต้องเผาจี่ แล้วมันเกิดรู้จักกินเกลือ ก็ต้องหาเกลือมาปรุงมากินมาทำ เพียงแต่ใส่เกลือมันไม่อร่อย มันก็ต้องปรุงเป็นบ้า เป็นหลัง อย่างทุกวันนี้ ที่เขาเรียกว่าการปรุงอาหารอย่างทุกวันนี้มันเป็นเรื่อง เป็นบ้า เป็นหลัง จึงมีปัญหามาก ทีนี้เรื่องที่อยู่ ที่อาศัยก็เหมือนกัน มันเปลี่ยนแปลงจากเคยอยู่กลางดิน มาอยู่รู อยู่รัง อยู่เพิง อยู่บ้าน อยู่ตึก อยู่วิมาน ปัญหามันก็มาก แล้วจิตใจเป็นอย่างไรก็ลองคิดดู มันมีเรื่องที่ทำให้นอนไม่หลับมากขึ้น ถ้ามันแก้อันนี้ไม่ได้มันก็เป็นบ้าเหละ เขาจึงมีวิธีให้คิดกันเสียใหม่อย่างนั้น อย่างนี้ อย่าให้ถึงกับว่าเป็นบ้า ฉะนั้นความรู้อันนี้ก็คือธรรมะ เรื่องนุ่งเรื่องห่มก็ดูมันมีปัญหาเพิ่มขึ้น ตามความโง่ของมนุษย์ ที่ทำอะไรให้มันแปลกออกไป แต่เขาเรียกว่าสติปัญญานะ อาตมาคนเดียวเรียกมันว่า เป็นความโง่ ความบ้าของมนุษย์ ทำไมต้องใส่เสื้อลายให้ลำบาก เสื้อขาวๆก็ได้ เสื้อดำๆก็ได้ มันลำบากน้อยกว่าที่จะทำให้เป็นลวดเป็นลาย นี้ความโง่หรือความฉลาด นี่เรียกว่าเครื่องนุ่งห่มนี้ ทำไมมันจึงไม่ทำง่ายๆ เท่าที่มันจะเป็นได้ ทำไมจะต้องมีลาย ทำไมจะต้องมีเย็บ ทำไมมันต้องประดับประดา ประดิษฐ์ประดอย ให้มันเป็นความโง่หรือความฉลาด ครั้งหนึ่งเขาจะถือว่าเป็นความโง่ แล้วบัญญัติไม่ให้ทำอย่างนั้นก็เคยมีเชื่อว่ามี ในประวัติศาสตร์ของศีลธรรม สมัยที่มนุษย์เริ่มรู้จักไอ้กฎเกณฑ์อย่างนี้เรียกว่า ตาบู ตาอะไรก็สุดแท้ ไม่ยอมให้ทำอะไรที่เป็นความลำบาก ยุ่งยาก โง่เขลาอย่างนี้ แต่เดี๋ยวนี้มนุษย์ก็ได้เปลี่ยนมาแล้ว มีปัญหาเกิดขึ้นเท่าไร ก็แก้ปัญหากันไปตามเรื่อง เรามีเนื้อหนังที่อ่อนแอ ก็ต้องสวมเสื้อผ้าที่อ่อนแอ จะห่มหนังสัตว์อย่างโบราณสมัยนู้นมันก็ไม่ได้แล้ว ถึงเรื่องเจ็บไข้ได้ป่วย ก็ยารักษาโรคนี้ก็เหมือนกัน มันเปลี่ยนมาเรื่อย จนมากินยาผิดธรรมชาติ แล้วก็กลายเป็นให้โทษไปก็มี ก่อนนี้มันก็กินยาง่ายๆ เหมือนกับสัตว์รู้จักกิน มนุษย์ยุคแรกๆก็ใช้สมุนไพรทั้งนั้น เดี๋ยวนี้มันก็เปลี่ยนเป็นอะไรก็ไม่รู้ ฉะนั้นสรุปความว่านี้เป็นเรื่องวัตถุนะ เรื่องอาหาร เรื่องเครื่องนุ่งห่ม เรื่องที่อยู่อาศัย เรื่องวิธีบำบัดโรคนี้ได้เปลี่ยนมา เปลี่ยนมา ปัญหาของมนุษย์ก็เกิดขึ้น แล้วก็หาวิธีที่จะแก้ไขมัน แต่มันมีเรื่องสำคัญอยู่เรื่องหนึ่งคือเรื่อง ทางจิตใจ มนุษย์มันไม่ได้เปลี่ยนแต่ร่างกาย หรือเสื้อผ้า จิตใจมันเปลี่ยนด้วย ฉะนั้นสิ่งที่เรียกว่ากิเลสมันก็ได้เกิดขึ้น แตกแขนงออกไป ที่เรียกว่า ความรัก ความโกรธ ความหลงของมนุษย์นี้มันก็รุนแรงขึ้น ทิ้งธรรมชาติไปไกล ถ้าเราไปดูไอ้ ความรัก ความโกรธ ความหลงของไอ้สุนัขนี้ มันเกือบจะหาไม่พบ แต่ของมนุษย์นี้มันมาก มากกว่าใครหลายร้อยเท่า หลายพันเท่า หลายหมื่นเท่า หลายแสนเท่า กระทั้งมนุษย์ในปัจจุบันนี้มันมี ความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะ โทสะ โมหะ มากยิ่งทุกที และจะมากยิ่งทุกที ถ้ามันยังหลงเรื่องไอ้กินอยู่ นุ่งห่ม เรื่องปัจจัยสี่กันนี่ ในลักษณะอย่างนี้ แล้วการเป็นอยู่อย่างนี้มันส่งเสริมกิเลส เพราะมนุษย์เปลี่ยนการเป็นอยู่ นุ่งห่ม กินอยู่ จิตมันก็เปลี่ยน กิเลสมันก็เปลี่ยน สัตว์เดรัจฉานรู้สึกในการสืบพันธุ์เป็นฤดูกาล มนุษย์ไม่มี ไม่มีฤดูกาล เพราะมันทิ้งธรรมชาติหมด ไก่ป่าที่อยู่ในวัดนี้ มีการสืบพันธุ์เฉพาะฤดูกาลไม่กี่วัน เป็นฤดู เพราะมันกินอยู่อย่างเดิม เมื่อกี่หมื่นปีมาแล้วมันก็อย่างนั้น แต่พอเอามาทำเป็นไก่บ้าน มันก็มีการสืบพันธุ์ไม่เป็นฤดูกาล คือเป็นได้ตลอดปีเช่นเดียวกันกับมนุษย์ นี้ตัวอย่างนี้ก็เพื่อจะสังเกต ให้สังเกตให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงการเป็นอยู่นั้น มันมีการเปลี่ยนแปลงทางระบบประสาท ออกไปตั้งหลายแล้วมันก็มีการเปลี่ยนแปลงในทางจิตใจ ฉะนั้นมนุษย์จึงมีปัญหา ทำความยุ่งยากลำบาก ซึ่งถ้าไม่แก้ไขแล้วจะเป็นทุกข์ เมื่อมนุษย์มันมีกิเลสประเภทราคะมากกว่าธรรมชาติ หลายร้อยหลายพันเท่า มนุษย์มันก็จะต้องมีทางออกที่จะระงับ กิเลสประเภทราคะนี้ หรือควบคุมมันไว้ ไม่อย่างนั้นมันจะทำไปอย่างที่เป็นอันตราย นี้ระเบียบศีลธรรมหรือตัวธรรมะมันก็เกิดขึ้น เพื่อควบคุมไว้อย่างนี้ มันก็เรียกว่าศีล หรือวินัย เพื่อจะบำบัดในส่วนลึกได้อย่างนี้ ก็เรียกว่าพระธรรม หรือปรมัตถธรรม อภิธรรมอะไรตามเรื่อง นี้ควรแก้ไข ป้องกัน ควบคุม ปัญหาทางจิตใจที่ได้เกิดขึ้นเพราะมนุษย์มันก้าวหน้า เปลี่ยนแปลงทั้งทางร่างกาย และทางจิตใจ ขอให้ตั้งต้นความคิดนึก นี้ทางที่จะศึกษาธรรมะกันที่ตรงนี้ พอมนุษย์เริ่มเปลี่ยนแปลงการเป็นอยู่ หรือกินอยู่ ปัญหาใหม่ก็เกิดขึ้น ไอ้โรคทางจิตทางวิญญาณมันก็ได้เกิดขึ้นคือ กิเลส สิ่งที่จะบำบัดแก้ไขสิ่งเหล่านั้นเราเรียกว่าธรรมะ ถ้าไม่มี ถ้าสมมุติว่าธรรมะได้เกิดขึ้น มนุษย์ก็ไม่ได้มีอยู่อย่างนี้ คงจะตายหมด หรือทำลายกันหมด ฆ่ากันตายหมด มันไม่เหลือมนุษย์อยู่อย่างเดี๋ยวนี้ หรือว่าถ้ามันเหลืออยู่อย่างไม่มีธรรมะ มันจะเลวอย่างสัตว์เดรัจฉาน หมื่นเท่าตัว แสนเท่าตัว อย่างที่มันทิ้ง ทิ้ง ทิ้งกันไกลกว่าสัตว์เดรัจฉานมาตั้ง พันเท่า หมื่นเท่า แสนเท่า ล้านเท่า ถ้ามันไม่มีธรรมะมาช่วย แก้ไข ควบคุมมนุษย์ แล้วมนุษย์จะเลวกว่าสัตว์เดรัจฉาน เป็นพันเท่า หมื่นเท่า แสนเท่า ล้านเท่า เดี๋ยวนี้มันมีคนที่ฉลาด ที่ได้เกิดขึ้นตามยุค ตามสมัย ตั้งแต่มนุษย์เริ่มมีความเป็นมนุษย์ มีระเบียบ มีกฎเกณฑ์ มีศีลธรรม มีธรรมะ จึงขอให้มองสักนิดนึงว่า ไอ้ธรรมะนี้มันคู่กันมากับความเป็นมนุษย์ ถ้าไม่มีธรรมะเป็นคู่กันมา มนุษย์จะเป็นมนุษย์ไม่ได้ จะเป็นอะไรไปแล้วก็ไม่รู้อย่าไป มันเหลือที่จะกล่าวได้ นั้นธรรมะจึงเป็นคู่กับมนุษย์ในอัตราส่วนที่เท่ากัน ของความเปลี่ยนแปลงของมนุษย์ ที่ได้เปลี่ยนแปลงมาทั้งทางร่างกาย และทั้งทางจิตใจ สมมุติว่าแสนปีที่เขาเชื่อกันโดยมาก มันก็มาอยู่ในรูปอย่างนี้ พระพุทธเจ้าหรือพระศาสดาเคยเกิดขึ้น เพื่อจะแก้ปัญหาในทางจิต ทางใจให้สิ้นสุดไป มันก็ได้มีแล้ว แต่ไม่ได้ยอมรับทุกคน มีคนไม่ยอมรับมากกว่า เราอาจจะพูดได้อย่างนี้เลย ว่าคนที่ได้รับประโยชน์จากธรรมะ ที่พระศาสดานั้นๆได้บัญญัติขึ้นนั้นน่ะน้อยมาก ที่ไม่ยอมรับ เป็นไปอย่างดันทุรังนี้ยังมากกว่า แล้วก็ยังเหลืออยู่ แล้วพวกนี้ก็ต้องถือว่าเป็นพวกที่แตกคอก แหวกแนวออกมา หลงในวัตถุ พอกพูนความก้าวหน้าความเจริญทางวัตถุ คือได้หลงวัตถุ เกิดความนิยมทางวัตถุ หลงส่งเสริมกิเลส เป็นปฎิปักต่อสิ่งที่เรียกว่าพระศาสนากันมา ดังนั้นพระศาสนาจึงไม่มีทางที่จะครอบงำมนุษย์ มนุษย์ถือศาสนากันอย่างครบถ้วนอย่างบริบูรณ์ มีมนุษย์จำพวกหนึ่งไม่รู้จักศาสนา เมื่อมีมนุษย์จำพวกหนึ่ง ซึ่งจะเรียกว่าคนโง่มากกว่า ที่ต่อต้านศาสนา พวกเราอยู่ในพวกนี้หรือไม่ ไปคิดดูเหอะอย่าให้ต้องพูดเลย แล้วมีพวกที่ต่อต้านสิ่งที่เรียกว่าธรรมะหรือศาสนาหรือปล่าว คิดดูให้ดีๆ ถ้าเราไม่ประสบความสำเร็จ ในการเป็นอยู่อย่างผาสุขสงบสุข แล้วก็ดูให้ดีเถอะมันจะมีการต่อต้านศาสนาอยู่บ้าง ไม่มากก็น้อย นี้เราพยายามค้นให้พบในส่วนนี้ แล้วก็เลิกมันเสีย ทำให้มันถูกต้อง ทั้งหมดนี้ ที่พูดนี้ไม่ใช่ว่าจะเป็นผู้โฆษณาชวนเชื่อให้ธรรมะ หรือเป็นคนเดินตลาดของธรรมะ ไปเที่ยวโฆษณาให้คนหลงธรรมะ แต่ว่าเป็นผู้ที่จะพูดความจริง หรือบอกความจริงเกี่ยวกับธรรมะ ให้ได้รับประโยชน์ทั่วกันเท่านั้นเหละ แต่การกระทำนั้นมันก็หลีกไม่ได้ ในเมื่อจะต้องพูดกับคนที่เกลียดธรรมะ หรือไม่รู้จักธรรมะ มันก็ต้องพูดให้เกิดความสนใจ ในการสอนธรรมะมันจึงมีลักษณะเหมือนกับโฆษณาชวนเชื่ออยู่บ้างเหมือนกัน แต่ด้วยความหวังดี ต้องการช่วยเพื่อนมนุษย์กัน ได้รับประโยชน์ ไม่ใช่โฆษณาชวนเชื่อหลอกขายสิ่งที่ไม่จำเป็น จะต้องมีต้องใช้จน ไปซื้อเอามามีมาใช้ อย่างที่เรามีของไม่จำเป็นไปเต็มบ้าน เต็มเรือน และเป็นอันตรายทั้งนั้น หรือเราก็ใช้มันในทางที่ไม่ถูกกับเรื่อง อย่างเรื่องไอ้วิทยุ ทีวี โทรทัศย์ อะไรก็ตามนี้ มองๆดูให้ดีมันเป็นเรื่องทำลาย หรือว่าเป็นเรื่องส่งเสริมสันติสุข เราก็ยังซื้อมันมาได้ เพราะมันมีการโฆษณาชวนเชื่อที่ดี และมันมีเสน่ในตัวมันเอง ที่มันตรงกับกิเลสของคน ฉะนั้นกิเลสมันเป็นนักโฆษณาตัวยง ให้คนซื้อหาของที่ไม่จำเป็น จะต้องมีต้องใช้มาไว้จนเต็มบ้านเต็มเรือน ไอ้ที่ของที่จำเป็นทางจิตใจเรื่องธรรมะนี้ก็ ไม่อยากจะซื้อหาด้วยซ้ำไป หนังสือธรรมะเล่มไม่กี่สตางค์ อยากจะยืมเขาอ่าน แล้วของเล่นของหัวส่งเสริมกิเลส กามอารมณ์ อันละหมื่น ละแสนก็ซื้อได้ นี้การที่มัน มันเดินกันคนละแนวหรือมันต่างกันมาก ระหว่างสิ่งที่เรียกว่าธรรมะ กับไอ้สิ่งที่เป็นศัตรูของธรรมะ ที่ธรรมะจะช่วยปราบนี้ คือปัญหาของมนุษย์ ได้เปรียบมาก ถ้าว่ามนุษย์เราไม่รู้สึกในข้อนี้แล้ว จะทำยังไงได้ ไม่ได้สมัครที่จะไปหาความทุกข์ หรือหาสิ่งที่ไม่ใช่ธรรมะมากเกินไป ความสนใจในเรื่องธรรมะมันก็เป็นเรื่องสมัครเล่น ที่ทำละเมอ ละเมอกันไป นี้ตรงนี้อยากจะชี้เฉพาะลงไปเลยว่า ถ้าพวกท่านทั้งหลายมีความอกไหม้ไส้ขม เกี่ยวกับความเจริญของแผนใหม่ วัตถุนิยม เกิดขึ้นแล้ว มาศึกษาหาธรรมะไปแก้ไขปัญหาเหล่านั้น นั่นเหละถูกต้อง หรือว่าจะเปลี่ยนให้ชัดอีกทีว่า ท่านเป็นคนป่วยทางจิตใจมางอมแงมแล้ว จะมาหาธรรมะเพื่อจะแก้ไข รักษาไอ้โรคนั้น นั้นเหละถูกต้อง ไม่มีความทุกข์ จะมาหาธรรมะนี้ดูนจะเป็นคนบ้าที่สุดชนิดหนึ่ง เหมือนกับว่าไม่เจ็บป่วยอะไรจะไปขอยากินให้จนได้ในทำนองนี้มัน มันน่าหัวเราะอย่างน้อย หรือมันเป็นคนบ้าชนิดหนึ่ง ถ้าเรามีความเจ็บป่วยก็ไปหาหมอให้ช่วยรักษา นี่ก็ปรกติ ถ้าไม่มีปัญหาทางจิตใจ ไปหาธรรมะ ซึ่งมันเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาทางจิตใจ มันก็น่าหัว ขอให้มองเห็นไอ้ตัวปัญหาคืออะไร แล้วจะแก้มัน จะมาศึกษาธรรมะในรูปแบบของปริยัติ อย่างที่กำลังพูดนี้ก็ดี หรือว่าจะไปทำกรรมฐาน วิปัสนา ปฏิบัติโดยตรงก็ดี มันควรจะมีปัญหาที่ปรากฏชัดอยู่ว่ามันคืออะไร มันรู้จักกิเลส มันรู้จักปัญหาที่เกิดจากกิเลส แล้วจะแก้ปัญหาเหล่านั้นเสีย นี้เป็นจุดตั้งต้นที่ดี ที่ว่าจะตั้งต้นศึกษาธรรมะกันอย่างไร คนไหนมันมีกิเลสอย่างไร มีปัญหากิเลสอย่างไร ก็ไปหาธรรมะที่จะแก้ปัญหาอันนี้ ในแง่ของความรู้ปริยัติก็ได้ ในแง่ของการปฏิบัติก็ได้ แต่ที่มันจะแก้ได้จริงๆเด็ดขาดนั้นจะเป็นในแง่ของการปฏิบัติทั้งนั้นเหละ เพราะฉะนั้นจะย้ำอีกทีหนึ่งว่า จะตั้งต้นศึกษาธรรมะกันอย่างไร ก็ขอให้ดูให้รู้จักไอ้ปัญหานั้นเสียก่อน คือให้เห็นความทุกข์เก่อน แล้วจึงจะตั้งต้นหาไอ้สิ่งที่มันจะดับ หรือแก้ความทุกข์นั้นโดยเฉพาะให้ตรงเรื่อง แล้วโดยเฉพาะเรื่อยๆไป ถ้าพูดตามแบบฉบับก็พูดว่า ต้องตั้งต้นศึกษาไอ้ตัวความทุกข์กันเสียก่อน ให้รู้จักว่ามันเป็นอย่างไร ถ้ามันไม่รู้จักว่ามีความทุกข์ มันก็ไม่มีปัญหา มันก็ไม่รู้ว่าจะตั้งต้นอย่างไร บางคนอาจจะตอบว่า ก็ตั้งต้นศึกษาให้รู้จักความทุกข์ ว่ามันมีความทุกข์มันก็ถูกเหมือนกัน แต่มันก็มาเข้ารูปเดียวกันที่ว่า เราต้องรู้จักความทุกข์นั่นเหละก่อน ฉะนั้นมันต้องศึกษาตามความทุกข์นั้นก่อน แล้วก็ไม่ต้องไปจำของใครมา ศึกษาดูจากตัวของเราเอง จากจิตใจของเราเองว่าเรามีความทุกข์หรือไม่ ถ้าไม่มีความทุกข์เอ้า ก็ต้องไม่มีปัญหา รอไว้ก่อนก็ได้ หรือว่ามีความทุกข์ก็ติดตามไปอย่างใกล้ชิด นับตั้งแต่ความหม่นหมองแห่งจิตใจ ในชีวิตประจำวันนี้ก็เรียกว่าความาทุกข์ เมื่อจิตใจไม่ปรกติสุขเราก็ต้องเรียกว่าความทุกข์ แม้จะนิดหนึ่งก็ต้องเรียกว่าความทุกข์ ความจริงมันไม่ได้นิดหนึ่ง แต่คนมันโง่ มันเห็นเป็นนิดหนึ่งอย่างนี้ก็มี เราจะดูให้มันถูกต้องเต็มที่ไว้ก่อน ว่าเรายิ่งโตขึ้นโตขึ้นนี้ มันมีปัญหาอะไรเกิดขึ้น เมื่อนอนอยู่ในท้องแม่มันไม่มีปัญหาอะไรเลย เหมือนคนป่าเมื่อแสนปี หรือหลายแสนปีมาแล้ว มันไม่มีปัญหาอะไรเลย เหมือนกับว่าเราอยู่ในท้องแม่ ไม่มีปัญหาอะไรเลย พอคลอดออกมาจากท้องแม่ใหม่ๆ ก็ยังไม่มีปัญหาอะไรเลย แล้วปัญหามันตั้งต้นเมื่อไร เมื่อเรารู้จักไอ้สิ่งที่มันเป็นคู่ตรงกันข้าม เรื่องอิ่ม เรื่องหิว เรื่องเย็น เรื่องร้อน กระทั่งเรื่องอร่อย ไม่อร่อย เรื่องสวยและไม่สวยเป็นต้นอย่างนี้ เพราะทารกมันเริ่มรู้จัก ไอ้สิ่งที่เรียกว่าเวทนาที่เป็นสุข หรือเวทนาที่เป็นทุกข์ นั้นปัญหาตั้งต้น คือความทุกข์ตั้งต้น เมื่อมีความรู้สึกที่เป็นสุข มันก็รัก มันก็พอใจ มันก็ยึดติดไปในแบบนั้น พอมันได้รับเวทนาที่เป็นทุกข์ มันร้องให้ มันก็มีความรู้สึกยึดติดไปตามแบบนั้น ทั้งสองอย่างไม่ได้ให้ความปรกติ หรือไอ้ความสงบเลย ยิ่งโตขึ้นมามันก็ยิ่งรุนแรงขึ้น ในเรื่องของความรู้สึกเป็นคู่ๆ แต่สรุปแล้วก็เรียกว่า รู้สึกในสุขเวทนา กับทุกขเวทนา อุเบกขาเวทนามันไม่ค่อยมีปัญหา คือมันมีปัญหาอย่างลึกซึ้ง ยังไม่ต้องพูดก็ได้ แต่ปัญหามันอยู่ที่รักในความรู้สึกที่เป็นสุข เกลียดกลัว ขัดใจในความรู้สึกที่เป็นทุกข์ มันก็เจริญงอกงามขึ้นมาเรื่อยๆ นี้เป็นปัญหาพื้นฐานที่จะต้องรู้จัก ควบคุมไว้ได้หรือถึงกับแก้ไขได้ก็ยิ่งดี จะได้มีใจคอปรกติ ถ้าหนักไปในทางใดทางหนึ่ง มันก็ล้วนแต่เป็นความทุกข์หรือปัญหาอย่างแรงไปทางใดทางหนึ่ง นี้เรียกว่าปัญหาพื้นฐานซึ่งจะมีไปจนตาย เหมือนๆกันทุกคน นี้ปัญหาเฉพาะคนก็ต้องถือว่ามันพิเศษ ได้รับสิ่งแวดล้อมทางอะไร แวดล้อมที่เขาเรียกว่าปรุงแต่งต่างกัน มันก็มีต่างๆกัน ก็เป็นปัญหาพิเศษ มันมีเรื่องซับซ้อนกันอยู่ในนั้น รวมทั้งไอ้ข้อเท็จจริงทางชีววิทยา ทางจิตวิทยา ทางอะไรด้วย ซึ่งเข้ากันได้ดีด้วยกับหลักธรรมะ เพราะว่าเป็นกฎของธรรมชาติด้วยกัน ฉะนั้นเราเรียนจิตวิทยา เรียนชีววิทยาบ้างก็ได้ แต่ให้เป็นไปในแง่ส่งเสริมเรื่องธรรมะ คือจะแก้ปัญหาที่เป็นตัวความทุกข์ที่มันเกิดขึ้นมา จึงอยากจะสั่งฝากไว้ว่า นักศึกษาที่เรียนวิทยาศาสตร์ เรียนอะไรก็ดีนั้น ควรจะแบ่งเนื้อที่ไว้ให้มันบ้าง เพื่อจะศึกษากฎของธรรมชาติ หรือที่เรียกว่าธรรมะนั้น แต่ความรู้ที่เรากำลังเรียนอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิทยาศาสตร์ทุกแขนงมันเป็นเรื่องของความจริง เรื่องกฎของความจริงหรือ เป็นไปตามธรรมชาติ ยิ่งขึ้นมาในระดับชีวะวิทยา จิตวิทยาแล้วก็ยิ่งช่วยได้มาก ช่วยให้รู้ธรรมะ ช่วยให้รู้จักเกี่ยวข้องกับธรรมะได้ดียิ่งขึ้น เราตั้งต้นที่ปัญหา ถ้าไม่มีปัญหามันก็ไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องต่อสู้หรือดิ้นรน หรือมันตั้งต้นที่ปัญหา ถ้าไม่มีปัญหาก็แล้วไป ไม่มีปัญหา จะมาหาเรื่องให้มันมีปัญหามันจะเป็นคนบ้า ถ้ารู้สึกว่าไม่มีปัญหา ก็อยากจะว่าไอ้คนนี้มันวิปริตแล้ว ผิดปรกติแล้ว ไปให้หมอตรวจดูเสียก่อนจะดีกว่า เพราะว่าอย่างน้อยทุกคนมันจะต้องพบปัญหา คือความไม่สบายใจ ความหม่นหมองใจ ความรู้สึกไม่เป็นสุขใจ อย่างใดอย่างหนึ่ง จับตัวมันที่ตรงนี้ มาคิดดูว่ามันเป็นอะไร มันมีมูลมาจากอะไร ก็จะพบความจำเป็นที่ว่าเราจะแก้ไขมันอย่างไร โดยใช้ธรรมะข้อไหน ทีนี้อยากจะให้มองดูทีเดียวหมดว่า ไอ้ปัญหาของมนุษย์นั้นมันหลายระดับ อย่างน้อยก็แบ่งเป็นสองชนิด สามชนิด เรื่องทางกายล้วนๆนี้อย่างหนึ่ง เรื่องทางจิตทางระบบประสาทส่วนหนึ่ง ในส่วนสุดท้ายในเรื่องสติปัญญา ซึ่งเราเรียกกันว่าทางวิญญาณ ก็ไม่รู้ว่าจะเรียกว่าอะไรดี ขอเรียกว่าทางวิญญาณไว้ทีก่อน ถ้าร่างกายเราไม่สบาย กระทั่งไม่มีอาหารจะกินเป็นต้นนี้ เราเรียกมันว่าเป็นปัญหาทางร่างกาย ก็ไปแก้กันแบบของปัญหาทางร่างกาย ถ้าเรามีจิตไม่สมประกอบ ซึ่งเรามักจะไม่ค่อยรู้ หรือว่าที่ว่าเรารู้สึกว่าเรานี้ บังคับจิตไม่ได้ ให้เรียนอะไร ให้คิดอะไร ให้จดจ่อในอะไรมันก็ทำไม่ได้ หรือจิตมีสุขภาพเลวเกินไป กระทั่งว่า มันขี้รัก ขี้โกรธ ขี้เกลียด ขี้ขลาดจนเกินไป นี้ก็เรียกว่าปัญหาทางจิตได้ ถ้าเรายังไม่รู้ไอ้ธรรมะอันลึกซึ้ง ที่จะรู้ให้ถูกต้องในสิ่งทั้งปวง อันนี้ก็จะเรียกว่าโรคทางวิญญาณ หรือเป็นปัญหาทางวิญญาณ เช่นว่าไม่รู้ว่าจะเกิดมาทำไม จะไปไหน ทำอย่างไรมนุษย์จะได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้นี้ ถ้าเรามีความรู้สึกอย่างนี้ก็เรียกว่า ปัญหาทางวิญญาณ ไม่ใช่ปัญหาทางจิต คือมันสูงไปกว่าปัญหาทางจิต แต่ว่าในพระบาลีก็เรียกรวมเป็นสองอย่าง หรือว่าอย่างสุดท้ายต่างหากนี้ว่า เป็นโรคทางจิต เป็นปัญหาทางจิต ถ้าจะใช้คำที่เป็นธรรมดาสามัญก็ว่า เรื่องทางกายเรื่องหนึ่ง เรื่องทางจิตนี้เรื่องหนึ่ง เรื่องทางความรู้หรือสติปัญญานี้เรื่องหนึ่ง มันเป็นสามเรื่อง บางทีก็จะใช้คำว่าทิฏฐิ คือความรู้ ความคิด ความเห็น ความเชื่อ แม้เรามีความสบายทางกาย และสบายทางจิต ไม่ต้องไปโรงพยาบาลโรคจิต แต่เราก็ยังมีความทุกข์อยู่ เพราะมีความคิดผิด เห็นผิด เชื่อผิด อะไรผิด นี่ปัญหาสุดท้ายมันอยู่ที่นี่ คือการขาดความรู้ในด้านวิญญาณ ทิฏฐิความคิด ความเห็นก็ไม่ถูกต้อง ศรัทธา ความเชื่อ ก็ไม่ถูกต้อง สติก็ไม่ว่องไว ปัญญาก็ไม่ครบถ้วน ถ้าจับตัวปัญหาอย่างนี้ได้แล้วก็ดี ไม่เป็นคนละเมอ ละเมอมาหาธรรมะ ทั้งที่ไม่รู้จะเอาไปทำอะไร จึงขอให้ทุกคนนี้ไปตั้งต้นเรียน กอ ขอ กอ กากันเสียใหม่ อย่าหาว่าดูถูก ดูหมิ่นอะไรเลย ไปเรียน กอ ขอ กอ กา ของธรรมะกันเสียใหม่ จับตัวความทุกข์ให้ได้ ว่ามันเกิดขึ้นมาอย่างไร สรุปแล้วมันอยู่ที่เราโง่ ต่อการที่จะใช้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเราให้มันถูกต้อง ไปคิดดูเถอะทุกเรื่องมันจะรวมอยู่ที่นี่ เราใช้ หรือเราควบคุมแล้วแต่จะพูด จะเรียก ว่าเราใช้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจของเรามันไม่ถูกต้อง ก็เกิดความทุกข์ แล้วส่วนใหญ่มันอยู่ที่เรื่องสุดท้าย คือเรื่องใจ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ห้าอย่างแรกนี้ก็ไม่เท่าไร เพราะมันขึ้นอยู่กับใจ ใจไม่ถูกต้องแล้วมันก็จะ ไม่ถูกต้องหมด มันต้องศึกษาให้รู้จัก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ควบคุมมันให้ได้ อบรมมันให้ดี ถ้ามันรู้ไอ้ธรรมะนั้นเหละ มากยิ่งขึ้น ถ้าว่าธรรมะไม่รู้ว่าอะไร ก็ให้ใช้คำว่า ให้รู้ไอ้ความจริงของไอ้ธรรมชาตินั่นเหละ ให้มันมากขึ้น นั้นคือธรรมะเหละ กฎความจริงของธรรมชาติ ซึ่งเราจะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎนั้น นี้เรียกว่าธรรมะ เพราะว่าถ้าปฏิบัติถูกต้องแล้วมันไม่มีปัญหา มันไม่มีความทุกข์ ทางกายก็ไม่เป็นทุกข์ ทางจิตก็ไม่เป็นทุกข์ ทางวิญญาณก็ไม่เป็นทุกข์ ทีนี้สำหรับสิ่งที่เรียกว่าศาสนา เขามุ่งจะแก้ปัญหาในส่วนสูง ในส่วนลึก ให้มากกว่าที่จะมาแก้ส่วนรากฐาน คือเรื่องร่างกาย หรือการทำมาหากิน ซึ่งทุกคนควรจะมองเห็นได้ ไม่ลึกซึ้งอะไร แล้วมันก็มีวิชาอยู่อีกส่วนหนึ่งแล้ว ซึ่งไม่ต้องเรียกว่าศาสนาก็ได้ ทำให้มนุษย์รู้จักว่าจะหากินอย่างไร โตขึ้นจะมีคู่ครอง มีการสมรส มีลูก มีหลาน มีบ้าน มีเรือน กันอย่างไร มันสอนกันอยู่แล้วอีกระบบหนึ่ง แต่ถ้ามันมีความทุกข์ ทางจิตใจเกิดขึ้นเพราะเหตุนั้น มันจึงเป็นหน้าที่ของธรรมะ ในระดับศาสนาจะเข้ามาช่วยแก้ไขให้ ในเมื่อชาวโลก เขารู้เรื่องของโลก ดำเนินตนอยู่ในโลก ได้รับประโยชน์อย่างโลกๆเพียงพอแล้ว แต่ยังมีความทุกข์ร้อนในใจ ในชั้นลึก ชั้นที่โลกมันแก้ไม่ได้ ความรู้ทางโลกมันแก้ไม่ได้ จะต้องอาศัยความรู้ทางธรรม ที่เราเรียกว่าธรรมะ ที่จริงมันก็เป็นกฎของธรรมชาติเหมือนกันน่ะ ความรู้ทางโลกๆ เรื่องทำมาหากิน ทำไร่ไถนา ศึกษาเล่าเรียนอะไรต่างๆนี้ มันก็เป็นกฎความจริงของธรรมชาติด้วยเหมือนกัน แต่ว่ามันเป็นระดับต่ำ เราไม่อยากจะเรียกว่าธรรมะ ธรรมแมะอะไร แต่เมื่อสิ่งเหล่านี้ได้เป็นไปแล้ว ถูกต้องแล้ว มันยังมีความทุกข์เหลืออยู่นี่ สิ่งใดที่จะแก้ปัญหาตอนนี้ได้ เราจะเรียกว่าธรรมะ แล้วจะเติมคำว่าพระเข้าไปข้างหน้า เป็นพระธรรม แล้วก็ยกมือขึ้นไหว้ท่วมหัว ทุกคราวที่ปากมันพูดออกไปว่าพระธรรม เพราะว่าพระธรรมนี้เป็นสิ่งประเสริฐสูงสุด จะแก้ปัญหาของมนุษย์ชนิดที่ความรู้อย่างโลกๆมันแก้ไม่ได้ นี้ต่อนี้ไปเข้าใจว่าท่านทั้งหลายคงจะรู้จักแบ่งแยก ว่าปัญหาอะไรมันเป็นปัญหาระดับโลกๆ ก็ทำไปอย่างโลกๆ ปัญหาอะไรมันเป็นปัญหาระดับสูง ทางจิต ทางวิญญาณนี้ก็มันก็แก้ไปในระดับนั้น เพราะฉะนั้นจึงเชื่อว่าการที่มาที่นี่ หรือมานั่งอยู่ในสภาพอย่างนี้ ก็เพื่อจะศึกษาหาความรู้ไอ้ธรรมะ จะแก้ปัญหาทางจิต ทางวิญญาณ ถ้าอย่างนี้จริงก็สนใจรวบรวมศึกษา ค้นคว้าให้มันได้ความรู้ข้อนี้ นี้จะเป็นการ ตระเตรียม หรือตั้งต้นการศึกษาธรรมะที่มันถูกต้อง ทีนี้เหลืออยู่อีกนิดหนึ่งที่อยากจะบอก ก็คือจะบอกให้รู้ว่า ไอ้ธรรมะนี้มันเป็นกฎความจริงของธรรมชาติ ฟังดูแล้วก็น่าหัวเราะ สำหรับผู้ที่เขาไม่รู้ว่าความจริงคืออะไรก็ไม่รู้ ธรรมชาติคืออะไรก็ไม่รู้ ก็บอกว่าธรรมะคือกฎความจริงของธรรมชาติก็ยิ่งไม่รู้ ก็เลยไม่ต้องรู้กัน ธรรมชาติคืออะไร ภาษาชาวบ้านมักจะหมายเรื่องของวัตถุ ดินฟ้าอากาศ ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาว อะไรทำนองนั้น แต่ธรรมชาติในทางธรรมะนี้มันหมายมากกว่านั้น คือมันหมายหมดทุกอย่าง ไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ธรรมชาติ เรื่องของทางจิตทางใจอะไรด้วย ฉะนั้นธรรมชาติก็คือทั้งหมด กฎความจริงของธรรมชาติก็คือ ไอ้กฎความจริงของทุกสิ่ง แล้วธรรมชาตินั้นยังมีความหมายเป็น หลายแง่ หลายมุม ธรรมชาติที่เป็นปรากฏการณ์ ก็คือสิ่งทั้งหลายที่เรารู้สึกอยู่ได้รอบตัวเราทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี้เหละธรรมชาติที่เป็นปรากฏการณ์ แต่ต้องเข้าใจไว้ให้ดีๆ อย่าประมาท อย่าอวดดี เรายังรู้น้อยเกินไป นี้ธรรมชาติที่สอง คือกฎ กฎของธรรมชาติ หรือธรรมชาติในฐานะที่เป็นกฎ สิ่งทั้งหลายต้องเป็นไปตามกฎ กฎนั้นของธรรมชาติ ฉะนั้นธรรมชาติในฐานะที่เป็นกฎ มีอีกความหมายหนึ่ง นี้มันมีกฎ ถ้าใครไม่ทำตามกฎ จะเป็นอย่างไร ธรรมชาตินี้มันไม่ใช่คน ลองทำผิดกฎธรรมชาติสิ เดี๋ยวมันก็จะต้องตาย หรือเกือบตาย มันต้องเปลี่ยนให้ถูกกฎของธรรมชาติ นับตั้งแต่เรื่องกิน เรื่องถ่าย เรื่องอาบ เรื่องแต่งเนื้อแต่งตัว เป็นอยู่บ้านเรือนนี้ ต้องถูกตามกฎของธรรมชาติ เราต้องมีจิตใจอย่างถูกต้องตามกฎขอบงธรรมชาติ มีสติปัญญาถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ ถ้าทำผิดกฎของธรรมชาติ ก็เกิดความวิปริตขึ้นแก่ร่างกาย จิตใจ หรือสติปัญญา คืออดวงวิญญาณ มันก็เป็นทุกข์ คือลำบาก หรือตายในที่สุด ถ้าผิดในทางจิต ทางวิญญาณก็ตายในทางจิต ทางวิญญาณ ถ้าผิดในทางกาย ก็ตายในทางร่างกายด้วย ก็เลยตายหมด ทั้งทางกายและทางจิต เดี๋ยวนี้มีคนตายทางจิตทางวิญญาณมาก มีความรอดทางกายอยู่ คือไม่ถึงกับเสียชีวิต ยัง นั่ง นอน ยืน เดินอย่างนี้ได้ แต่ในจิตเต็มไปด้วยความทุกข์ หรือเต็มไปด้วยกิเลสคือ ราคะ โทสะ โมหะ อย่างนี้ก็เรียกว่าตายทางวิญญาณ ถ้ามันมากเกินไปก็ต้องเรียกว่าตายทางวิญญาณ ถ้าไม่มากเกินไปก็เรียกว่าพอใช้ได้นี่ เป็นปุถุชนธรรมดาสามัญที่ ทางกายก็ไม่ตาย ทางจิตก็ไม่ถึงกับตาย เว้นแต่จะเป็นปุถุชนที่โง่ ที่เลวเกินไป แต่ว่าเกี่ยวกับข้อนี้มันก็ต้องแล้วแต่ระดับที่ท่านจัด แบ่งแยกเอาไว้ ฉะนั้นเราไปถือเอาตามฉบับแบ่งแยกเอาไว้ก็ได้ เขาไม่ได้บรรญัติเอาไว้เพื่อให้ใครลำบาก จะบรรญัติไว้เพื่อทุกคนมันรู้จักแก้ไข ให้เลื่อนชั้นให้สูงขึ้นมา แต่ถึงอย่างไรก็ดี สรุปได้ในคำพูดคำเดียวว่าต้องเป็นไปอย่างถูกต้อง ตามกฎของธรรมชาติทั้งนั้น ตั้งแต่รู้จักหากิน แม้แต่สัตว์เดรัจฉานก็ต้องรู้จักหากิน ก็ต้องตามกฎของธรรมชาติ มนุษย์ก็ตามกฎของธรรมชาติ มนุษย์หมดปัญหาเรื่องทำมาหากินแล้ว มันก็จะเกี่ยวปัญหาทางจิตใจ ก็ต้องทำให้ถูกตามกฎของธรรมชาติ ถ้าถูกตามกฎของธรรมชาติถึงที่สุด ก็เป็นยอดของมนุษย์ ที่เราเรียกว่าพระอรหันต์ เพราะฉะนั้นอย่างเข้าใจ บุคคลที่เรียกว่าพระอรหันต์เป็นอย่างอื่น มีคนยังโง่เง่า เต่าปูปลา บ้าๆ บอๆ เข้าใจพระอรหันต์เป็นอย่างอื่น ไม่ถูกตรงตามที่เป็นจริง ว่าพระอรหันต์นั้นคือยอดสุดของมนุษย์ผู้หมดปัญหา โดยประการทั้งปวงทั้ง ทางกาย ทางจิต ทางวิญญาณ เพราะว่าท่านปฏิบัติถูกต้องตามกฎของธรรมะ คือธรรมชาติ แล้วคนเหล่านี้จึงไม่มีการตีตัวที่ห่างไปจากธรรมชาติ จึงเป็นอยู่อย่างธรรมชาติใกล้ชิดธรรมชาติ เรียกว่าเป็นอยู่อย่างง่ายที่สุด เราถือเอาพระพุทธเจ้าเป็นหลักกันลืมก็ได้ ว่าท่านประสูติกลางดิน ตรัสรู้ก็กลางดิน นิพพานก็กลางดิน สอนภิกษุก็กลางดิน อะไรๆที่เป็นอยู่กลางดิน เพราะว่ากุฏิของท่านก็พื้นดิน แต่ที่มันน่าอัศจรรย์เราถือว่ามัน มันช่างเป็นเรื่องกลางดินไปเสียหมด เป็นลูกเจ้าแผ้นดินทำไมไปประสูติกลางดิน ที่ใต้ร่มไม้แห่งหนึ่งในอุทยานแห่งหนึ่ง ที่สวนลุมพินี ที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าก็นั่งกลางดิน ที่ริมตลึ่ง ที่โคนต้นไม้ชนิดหนึ่ง ต่อมาก็เรียกกันว่าต้นโพธิ์นี่ แล้วการเป็นอยู่ก็อยู่กลางดิน แล้วมีการสอนไอ้พระธรรมกลางดินเป็นส่วนใหญ่ ทั้งหมดก็ว่าได้ ในที่สุดท่านก็นิพพานกลางดิน เราจะถือเอาลักษณะนี้ เพื่อจะถือเป็นกฎเกณฑ์ว่าท่านใกล้ชิดธรรมชาติ เพราะอยู่ใกล้ชิดธรรมชาติและจึงตรัสรู้ เรื่องที่เกี่ยวกับธรรมชาติ เพราะธรรมะหรือสัจธรรมหรือธรรมสัจจะอะไรก็ตาม มันเป็นเรื่องกฎของธรรมชาติ ท่านอยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติถึงขนาดนี้มันจึงง่ายที่จะรู้กฎของธรรมชาติ ถึงที่สุดจนเรียกว่าตรัสรู้ ฉะนั้นขอให้ถือว่ามานั่งกลางดินอยู่ที่นี่ เวลานี้เป็นการเรียน กอ ขอ กอ กา กันใหม่ เรียน กอ ขอ กันใหม่ด้วยการนั่งกลางดิน ใกล้ชิดธรรมชาติ เราจะได้รู้จักความจริงของธรรมชาติ อย่างน้อยก็รู้ว่านั่งกลางดินนี้ ใจมันรู้สึกอย่างไร ไปนั่งบนตึก บนวิมาน บนห้องแอร์จิตมันเป็นอย่างไร มันต่างกันอย่างไรช่วยจำไปด้วย กลับไปถึงบ้านแล้ว ให้ช่วยเปรียบเทียบกันดูว่า เดี๋ยวนี้เรานั่งอยู่บนที่นั่ง ที่นอน ของพระพุทธเจ้าคือกลางดิน แล้วพอกลับไปถึงบ้านไปอยู่บนเครื่องใช้ ไม่สอย บนเครื่องเรือนอันวิจิตร จิตใจมันต่างกันอย่างไร แล้วใครมันบ้ากว่าใคร ขอใช้คำตรงๆอย่างนี้ จิตที่นั่งอยู่ที่นี่เดี๋ยวนี้ กับจิตที่จะไปอยู่บนเหย้าเรือนอันวิจิตรนั้น จิตไหนมันบ้ากว่ากัน ช่วยจำไว้ไปเปรียบเทียบดูด้วย นี้มันจะเป็นจุดตั้งต้นที่ดีที่สุด จะได้รู้ว่าเราจะศึกษาธรรมะกันอย่างไร มันจะไปพบจุดสำคัญอันหนึ่งที่ว่า อย่าไปทำสิ่งที่มันไม่จำเป็น ด้วยความโง่เขลา จนความทุกข์เกิดขึ้นเพราะสิ่งนั้น ตามข้อเท็จจริงที่มันเป็นอยู่เวลานี้ ความทุกข์มันเกิดขึ้นจากสิ่งที่ไม่จำเป็น เป็นส่วนใหญ่ สำหรับมนุษย์ในเวลานี้ เรื่องกิน เรื่องอยู่ เรื่องใช้ เรื่องสอย อะไร มันมีส่วนที่ไม่จำเป็น เป็นจุดตั้งต้น ถ้ามันลดส่วนนั้นออกไป มันก็จะมีปัญหาน้อยลง ถ้าเราเพิ่มปัญหาส่วนไม่จำเป็นนั้น ให้มันผิดไปจากความจริง แล้วปัญหามันจะเกิดขึ้น จนกระทั่งมันเท่าไร เท่าไรมันก็ไม่พอกินพอใช้ ได้เงินเดือนๆล่ะแสนมันก็ยังไม่พอกินพอใช้อยู่นั่นเอง แล้วมันยังขยายออกไปเรื่อย นี่เพราะไม่รู้จักความจริง หรือสัจจะของธรรมชาติ เมื่อเราไม่รู้แม้ว่าเกิดมาทำไม อะไรจำเป็น อะไรไม่จำเป็น เราจะทำจิตอย่างไรมันจึงจะหยุด หรือเย็น ไม่เป็นทุกข์ แม้ว่าร่างกายจะต้องตาย กำลังเจ็บไข้อยู่ก็ดีกำลังเป็นอะไรก็ดี จะไม่เป็นทุกข์ เพราะเรารู้จักตั้งจิตใจไว้ถูกต้อง โดยกฏของธรรมชาตินั้นเอง นี่เวลาที่มีสำหรับพูดมันก็มีเท่านี้เหละ มันพอสมควรแก่เวลาแล้ว เป็นการพูดตั้งต้น หรือเป็นจุดตั้งต้นว่า ต่อไปนี้จะศึกษาธรรมะกันอย่างไร ด้วยความมุ่งหมายอย่างไร มีเหตุผลอย่างไร มันจำเป็นอย่างไร แล้วท่านก็จะมองเห็นเองว่า ไอ้คำถามที่ว่าศึกษาธรรมะทำไม กับคำถามที่ว่าศึกษาธรรมะอย่างไรนั้น มันแยกกันไม่ออก ถ้าเรารู้ว่าธรรมะคืออะไร หรืออย่างไร เราก็จะรู้ทันทีว่าทำไมเราจึงต้องศึกษาธรรมะ เดี๋ยวนี้เรามาศึกษาธรรมะนี้มันตรงด้วยเหตุผลอันนั้นแล้วหรือยัง ถ้ายังก็ไปปรับปรุงเสียใหม่ ให้มันเข้ารูปเข้ารอย ของสิ่งที่เรียกว่าธรรมะ คือกฎความจริงของธรรมชาตินั่นเอง แล้วก็เชื่อว่าต่อไปนี้การศึกษาธรรมะ ของท่านก็จะถูกมากขึ้น จะเร็วยิ่งขึ้น แล้วก็จะรับประโยชน์ยิ่งขึ้น โดยไม่ต้องสงสัย ขอยุติข้อแนะนำวันแรกไว้เพียงเท่านี้