แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
นักเรียนทั้งหลาย บัดนี้เป็นการพูดกับนักเรียนโดยหัวข้อว่า "บุตรที่ประเสริฐที่สุด” คำว่า บุตรที่ประเสริฐที่สุด เข้าใจว่าคงเป็นที่…เป็นที่เข้าใจกันแล้วว่าหมายความว่าอะไร แล้วยังเชื่อว่าจะเป็นที่ปรารถนาของทุกฝ่าย คือฝ่ายบิดา-มารดาก็ปรารถนาให้บุตรเป็นบุตรที่ดีที่สุด คืออยากจะมีบุตรชนิดที่ดีที่สุด และฝ่ายบุตรทั้งหลายก็คงอยากจะเป็นบุตรที่ดีที่สุดของบิดามารดา
ทีนี้ประชาชนทั้งหลายแม้จะไม่เกี่ยวข้องเป็นบุตร เป็นบิดา–มารดาอะไรกัน ก็ยังมีความคิดว่าขอให้เด็ก ๆ ทั้งหลายทุกคนเป็นบุตรที่ดีของบิดา-มารดาเถิด นี่ตามความรู้สึก ๆ อย่างนี้ จึงถือว่าเป็นความปรารถนาของทุกฝ่าย พ่อแม่ก็ต้องการลูกที่ดีที่สุด ลูกก็คงจะตั้งใจจะเป็นลูกที่ดีที่สุด คนทั่วไปที่เขาเห็นเด็ก ๆ เขาก็อยากจะให้เด็ก ๆ นั้นเป็นบุตรที่ดีที่สุดของบิดามารดา เพราะฉะนั้นเรามาพูดกันถึงเรื่อง บุตรที่ดีที่สุด คงจะมีประโยชน์
ถ้าถือตามหลักของพระพุทธเจ้าก็ไม่ยากเย็นอะไรเลย คือท่านได้ตรัสไว้ชัดเจนว่า บุตร โดยทั่วไปมีอยู่ ๓ พวก คือ บุตรที่ดีไปกว่าบิดามารดา บุตรที่พอเสมอกันกับบิดามารดา และบุตรที่เลวกว่าบิดามารดา เป็น ๓ อย่างอยู่ด้วยกันอย่างนี้ แล้วตรัสว่าพวกคนมีปัญญาเขาต้องการบุตรที่ดีกว่าบิดามารดา หรือพอเสมอกันกับบิดามารดา แต่ไม่ต้องการบุตรที่เลวกว่าบิดามารดา
แต่แล้วยังมีบุตรอีกชนิดหนึ่งซึ่งถือว่าเป็น บุตรประเสริฐที่สุด ไม่เนื่องกันอยู่กับบุตร ๓ ประการนี้ นั่นคือ “บุตรที่เชื่อฟัง” เป็นบุตรที่ประเสริฐที่สุด เราก็เลยได้บุตรเป็น ๔ จำพวกด้วยกัน แต่ที่จริงนั้นน่ะมันมีอยู่เพียง ๓ จำพวก คือว่า ที่ดีกว่ากับบิดามารดา, เสมอกับบิดามารดา, เลวกว่าบิดามารดา มันมีอยู่ ๓ พวกเท่านั้น แต่ไม่ระบุว่าพวกไหนประเสริฐที่สุด ไปตรัสว่า บุตรที่เชื่อฟังเป็นพวกที่ประเสริฐที่สุด
เพราะว่าเรื่อง ดีกว่า เลวกว่า เสมอกัน นี้เอาแน่ไม่ได้เพราะว่าเขาวัดกันด้วยของภายนอก เช่นว่าบุตรคนนี้มีทรัพย์สมบัติมากกว่าบิดามารดา มีเกียรติยศชื่อเสียงมากกว่าบิดามารดา มีฐานะทางสังคมดีกว่าบิดามารดาเขาก็เรียกว่า บุตรที่ดีกว่าบิดามารดา แต่แล้วก็เป็นบุตรที่หยาบคายไม่เชื่อฟังบิดามารดาเลยก็ได้ หรือจะเป็นบุตรที่เชื่อฟังบิดามารดาอย่างยิ่งด้วยก็ได้ ต้องมองกันอย่างนั้น ทีนี้บุตรที่เสมอบิดามารดานั้น เขาเรียกว่าเขามีอะไรทำได้พอเสมอกับบิดามารดา มีทรัพย์สมบัติ เกียรติยศ ชื่อเสียง ฐานะในสังคมอะไรพอเสมอ ๆ กันกับที่บิดามารดาเคยมี อย่างนี้ก็เรียกว่า บุตรที่เสมอกันกับบิดามารดา แต่แล้วมันอาจจะเป็นบุตรที่เชื่อฟังบิดามารดาก็ได้ ไม่เชื่อฟังบิดามารดาก็ได้ ทีนี้พวกที่ ๓ เลวกว่าบิดามารดา อับโชค น้อยวาสนา มีทรัพย์สมบัติ เกียรติยศ ชื่อเสียง ฐานะในสังคมต่ำกว่าบิดามารดา เขาเรียกว่า ต่ำกว่าบิดามารดา แต่แล้วอาจจะเป็นบุตรที่ เชื่อฟังก็ได้ หรือ ไม่เชื่อฟังก็ได้
พระพุทธเจ้าท่านระบุไปยังบุตรที่เชื่อฟังว่าประเสริฐที่สุด บุตรที่เชื่อฟังประเสริฐที่สุด จะมีฐานะทางสังคม ดีกว่าบิดามารดา เสมอกับบิดามารดา ต่ำกว่าบิดามารดา นั้นไม่เป็นประมาณ อาจจะไม่ประเสริฐก็ได้ ระบุไปยัง บุตรที่เชื่อฟังเป็นบุตรที่ประเสริฐที่สุด ดังนั้นเด็ก ๆ อย่าคิดว่าอุตส่าห์เรียนให้ดี ให้เก่งกว่าบิดามารดา บิดามารดาของเราไม่มีปริญญา เราเรียนให้มีปริญญายาวเป็นหาง ยาวเฟื้อยอย่างนี้ แล้วเราก็จะดีกว่าบิดามารดา อย่าได้คิดอย่างนั้นเลย
ถ้าไม่เป็นบุตรที่เชื่อฟังย่อมไม่สามารถที่จะเป็นบุตรที่ประเสริฐที่สุดได้ เราจะได้พูดกันถึงบุตรที่ว่า เชื่อฟัง นั้นเป็นอย่างไร คำว่า บุตร นั้นก็เล็งถึงบุคคลที่เกิดจากบิดามารดา และก็กำลังปรับปรุงตัวเองอยู่ โดยฝีมือของครูบาอาจารย์ ของบิดามารดาเพื่อว่าจะได้เป็น มนุษย์ ที่เต็มตามความหมายของคำว่าเป็น มนุษย์ เป็นผู้ศึกษาเล่าเรียนอยู่ก็ควรจะเป็นผู้ศึกษาเล่าเรียนที่ดี
ที่จริงคำว่า บุตร นี้มันก็มีความหมายกว้าง ไม่หมายเฉพาะว่าเด็ก ๆ เท่านั้นที่จะเป็นบุตร เพราะว่าคนแก่หัวหงอกแล้วมันก็ยังเป็นบุตรอยู่นั้นแหละ เพราะว่ามันก็ต้องมีพ่อแม่ คือว่าเป็นพ่อแม่ มีพ่อแม่ แม้ว่าเรา…แม้ว่าคนแก่นั้นกำลังเป็นพ่อแม่ของเด็กบางคน แต่ว่าคนแก่นั้นก็ยังเป็นบุตรหรือเป็นหลานด้วยซ้ำไปของคนแก่ที่แก่กว่านั้น คำว่า บุตร นี่ควรจะไม่จำกัดอายุ ขอแต่เพียงว่าคือ ผู้ที่คลอดออกจากบิดามารดาเป็นลำดับมาก็เรียกว่าบุตร ถ้าจะประเสริฐที่สุดต้องเป็น บุตรที่เชื่อฟัง คำว่า “เชื่อฟัง” นี่สำคัญมาก
เดี๋ยวนี้เด็ก ๆ หรือยุวชนกำลังวินาศอยู่หลายอย่าง หลายประการ ดูแล้วมีเหตุมาจาก ความไม่เชื่อฟัง ทั้งนั้น บางคนก็ติดยาเสพติดนี่ การไปติดยาเสพติดนั้นก็เพราะไม่เชื่อฟัง บางคนเหลวไหลในการเรียนนั้นก็เพราะไม่เชื่อฟัง บางคนเป็นเจ้าชู้ตั้งแต่เล็กใช้เงินเปลืองนี่ก็เพราะไม่เชื่อฟัง ในที่สุดคนไม่เชื่อฟังเหล่านี้ก็ไม่ประสบความสำเร็จในการศึกษาเล่าเรียน ขอให้กลัวไว้ให้มากว่าอันตรายทั้งหลายของลูกเด็ก ๆ หรือนักเรียนเหล่านี้มาจาก การไม่เชื่อฟัง
ถ้าเชื่อฟังแล้วก็จะเรียนดี หลีกเลี่ยงความชั่ว ความผิดพลาดทุกอย่างได้ ไม่ต้องมาผิดหวังจนกลายเป็นโรคประสาทมากเข้าก็ถึงกับต้องกินยาตาย ไอ้ความโง่ของมันคิดว่าแสดงบทบาทดีที่สุดแล้ว เมื่อไม่ได้ตามที่ต้องการก็กินยาตาย ก็เสียชาติเกิดเปล่า ๆ ไม่ได้รับประโยชน์อะไร นี่เพราะเหตุอย่างเดียวคือ ไม่เชื่อฟัง ถ้าเป็น บุตรที่เชื่อฟัง ก็จะไม่ต้องเป็นไปอย่างนั้น ทุกอย่างจะประสบความสำเร็จตามที่ต้องการ ที่ว่าเชื่อฟังนี้...เชื่อฟังใคร เด็กก็จะเข้าใจได้เองว่าอย่างน้อยที่สุดเบื้องต้นที่สุดก็เชื่อฟังบิดามารดา ครูบาอาจารย์ นี่เป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไปว่าเราจะต้องเชื่อฟังบิดามารดา ครูบาอาจารย์ คนเฒ่าคนแก่ จะให้ดีเด็กจะต้องเลยไปถึงว่า เชื่อฟังพระเจ้า พระสงฆ์ จะดีไปกว่านั้นอีกก็จะ เชื่อฟังพระพุทธเจ้า หรือให้ตรงก็ เชื่อฟังพระธรรม หรือ เชื่อฟังความรู้สึกฝ่ายดี ฝ่ายถูก ฝ่ายสูงที่มันมากระซิบอยู่บ่อย ๆ
ไอ้คนที่มันจะทำชั่วอะไรต่าง ๆ จะทำชั่วอะไรก็ตาม มันย่อมรู้สึกว่าชั่วอยู่แล้วทั้งนั้นแหละมันจึงไปทำชั่ว จะไปทำอบายมุขข้อไหนมันก็รู้อยู่ทั้งนั้นว่าเป็นอบายมุขที่ชั่ว มันต้องมีความรู้สึกว่าชั่วแล้วก็ทำไม่รู้ไม่ชี้ แล้วก็อยากจะลองหรือว่า โง่ไปตามไอ้คนชักชวน ทั้งที่เขาชวนในทางโง่ เราก็รู้ว่าโง่ เราก็ยังอยากลอง ถึงแม้จะถูกเขาหลอกให้ทำ เราก็ยังรู้ว่ามันเป็นความชั่ว นี่ขอให้คิดดูให้ดีว่ามันมีความรู้สึกอยู่ได้ว่า อะไรดี อะไรชั่ว แต่แล้ว เราไม่เชื่อฟังความรู้สึกฝ่ายดี เราไปเชื่อฟังความรู้สึกฝ่ายชั่ว เขาเรียกว่าธรรมชาติฝ่ายต่ำ ไม่รักดี ไม่อยากดี ไม่กลัวบาป มันเป็นธรรมชาติฝ่ายต่ำมันมาชักชวนให้ทำชั่ว ทีนี้ไอ้ความรู้สึกฝ่ายดีมันก็ทักท้วงว่านี่มันชั่ว นี่มันบาป บิดามารดา ครูบาอาจารย์เขาห้ามไว้ไม่ให้ทำ แต่มันไม่สำเร็จ จิตมันไม่เชื่อ มันไม่เชื่อฟังความรู้สึกฝ่ายสูง มันไปเชื่อฟังความรู้สึกฝ่ายต่ำ นี่ก็เรียกว่า ความไม่เชื่อฟัง ด้วยเหมือนกัน ไม่เชื่อฟังธรรมะ
ธรรมะนี่มันมาได้หลายทิศทาง รู้สึกได้เองก็ได้ ได้ยินได้ฟังคำสอนของพระพุทธเจ้าก็ได้ ได้รับคำสั่งสอน จากบิดามารดา ครูบาอาจารย์ จดไว้จำไว้เป็นธรรมะสำหรับตักเตือนตัวเองก็ได้ ได้ยินนักเรียนสวดมนต์ได้ พูดธรรมะได้นั้นจึงเข้าใจว่านักเรียนล้วนแต่ได้ศึกษาธรรมะมาพอสมควร นั่นแหละจะเป็นสิ่งที่จะคอยตักเตือนห้ามกันไม่ให้พลัดตกลงไปในความชั่ว ปัญหามันก็เหลืออยู่แต่ว่า เราจะ เชื่อฟัง หรือ ไม่เชื่อฟัง
เมื่อมีอะไรมายั่วให้ทำผิด เราก็ไม่เชื่อฟังพระพุทธเจ้าที่ห้ามไม่ให้ทำอย่างนั้น ไม่เชื่อฟังบิดามารดา ครูบาอาจารย์ที่เคยห้ามไว้ว่าอย่าทำอย่างนั้น เราก็ไม่เชื่อฟัง หรือความรู้สึกที่เรามีอยู่เอง กลัวบาป กลัวกรรม มันมากระซิบที่หูว่านี่บาป ๆ ๆ เราก็ไม่เชื่อฟัง นี่ความไม่เชื่อฟังมันอยู่ที่นี่ นี่ถ้าเชื่อฟังมันก็ตรงกันข้าม ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี มันเกิดขึ้นมาเตือน เราก็เชื่อฟัง เราก็หยุด ไม่ทำความชั่ว ก็เป็นอันว่าตรงหมดตามที่พระพุทธเจ้าท่านสอน บิดามารดา ครูบาอาจารย์สอน พระเจ้า พระสงฆ์สอน ขนบธรรมเนียมประเพณีมีไว้
คนไม่เชื่อฟัง มันไม่เชื่อฟังไปเสียทั้งหมด มันไม่เชื่อฟังขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดี และแถมยังแลบลิ้นหลอกขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีของปู่ย่าตายาย เพราะว่ากิเลสมันมากเสียแล้ว หรือผีมันสิงมากเสียแล้ว มันก็ไม่ยอมเชื่อฟังอะไร ไม่เชื่อฟัง บิดามารดา ครูบาอาจารย์ พระเจ้า พระสงฆ์ คนเฒ่าคนแก่ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มันไม่เชื่อทั้งนั้น และที่มันร้ายกาจกว่านั้น เลวทรามกว่านั้นมันก็คือไม่รู้จักเข็ดหลาบ ความชั่วที่เคยทำลงไปแล้วครั้งแรก มันก็ให้โทษเป็นความทุกข์เจียนตาย เสียใจนั่งร้องไห้อยู่มันก็ไม่เข็ดหลาบ คือว่าพอความชั่วอย่างเดียวกันมายั่วให้ทำอีกมันก็ไม่เชื่อฟัง
ไอ้ความผิดพลาดที่เคยผิดพลาดมาแล้ว ไม่รู้จักเข็ดหลาบ ความไม่รู้จักเข็ดหลาบนี้ก็คือ ความไม่เชื่อฟัง ฉะนั้นจึงถูกลงโทษ ถูกเฆี่ยนตีทางเนื้อทางหนัง และถูกลงโทษทางจิตทางใจให้เป็นทุกข์เป็นร้อน ให้นอนไม่หลับ และที่ลงโทษอย่างร้ายแรงที่สุดก็คือทำให้สูญเสียระบบความคิดนึก ความรู้สึก อย่างน้อยก็เป็นโรคประสาทไป ลองคิดดูเถอะว่าเป็นโรคประสาทแล้วจะทำอะไรได้ เป็นเด็กนักเรียน เป็นนักศึกษานี่เป็นโรคประสาทแล้วจะทำอะไรได้ เคยมาหาที่นี่เป็นโรคประสาทงอมแงม จะให้ช่วยที จะทำ เอาธรรมะข้อไหนช่วยที บอกเขา เราบอกเขาว่า “ธรรมะไม่มีสำหรับคนเป็นโรคประสาท” เมื่อเป็นโรคประสาทแล้วมันศึกษาธรรมะไม่ได้ ถ้ามันเป็นโรคประสาทเสียแล้วมันศึกษาธรรมะไม่ได้ ธรรมะ...เอ่อ ธรรมะที่คนเป็นโรคประสาทจะศึกษาได้นั้นมันไม่มี ไปรักษาโรคประสาทให้หายเป็นปกติเสียก่อนแล้วจึงมาศึกษาธรรมะ มามีธรรมะกัน ทีนี้ขอให้เข้าใจคำที่ว่า เชื่อฟัง กับ ไม่เชื่อฟัง นี่มันเป็นอย่างไร
มันไม่เชื่อฟังไปตั้งแต่ระดับต่ำต้นแรกจนถึงระดับสูงสุด เราได้เล่าเรียนมาตั้งแต่เล็ก ๆ จนบัดนี้ อายุเท่านี้ โตเท่านี้มันก็เรียนมากโขอยู่ นั้นแหละเรียนไว้ รวบรวมไว้สำหรับจะตักเตือนตนให้รู้ว่าอะไรควรทำ ไม่ อะไรไม่ควรทำ แล้วก็เรียนไว้มาก พอถึงคราวที่จะทำสิ่งที่ไม่ควรทำ ไอ้ความรู้เหล่านี้มันก็ตักเตือนว่าไม่ควรทำ มันบอกว่านี้ล้วนแต่เป็นข้อห้าม และมันก็ไม่เชื่อฟัง คือไม่เชื่อฟังความรู้ที่ตนได้เล่าเรียน ได้ศึกษา ได้รวบรวมไว้สำหรับตนเอง ขออย่าให้นักเรียนคนใดมีลักษณะอาการอย่างที่ว่ามานี้ คือขออย่าให้วิชาความรู้ที่เราอุตส่าห์เรียนมาแต่ต้นจนบัดนี้นั้นกลายเป็นสิ่งที่ห้ามกันเราไม่ได้ ตักเตือนเราไม่ได้ เราสมัครทำความผิด ความชั่ว ทั้งที่รู้สึกอยู่ว่านี้มันเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ ไม่ควรทำ เป็นความผิดความชั่ว นี่เขาเรียกว่าไม่เชื่อฟัง เด็กคนนี้ไม่เชื่อฟังตั้งแต่ บิดาครูบาอาจารย์ คนเฒ่าคนแก่ พระเจ้า พระสงฆ์ พระพุทธ พระธรรม ศาสนา ธรรมะ วิชาความรู้ที่ตนได้เล่าเรียนมา มันไม่เชื่อฟังทั้งนั้น
ทีนี้มาพูดถึงบิดามารดากันบ้าง มีลูกไม่เชื่อฟังนั้นมันเป็นอย่างไร คนเฒ่าคนแก่ที่นั่งอยู่คงจะรู้ได้ดีว่ามีลูกไม่เชื่อฟัง มันเป็นอย่างไรบ้าง เด็ก ๆ คงจะไม่รู้ ไม่เอา ไม่เอาใจของตัวไปใส่ใจของบิดามารดาได้ ยังเป็นเด็กอยู่ ไม่เคยมีลูกมีหลาน ก็ไม่รู้สึกได้ว่าเมื่อลูกหลานมันไม่เชื่อฟังแล้วพ่อแม่จะรู้สึกอย่างไร สักวันหนึ่งข้างหน้าโตขึ้นมาไปมีลูกมีหลานที่ไม่เชื่อฟังแล้วก็จะรู้สึกได้ อยากจะบอกให้ว่าลูกหลานไม่เชื่อฟังนั้นน่ะทำบิดามารดาให้ร้อนใจเหมือนกับตกนรกทั้งเป็น จริงหรือไม่จริงไปถามพ่อแม่ ปู่ย่า ตายายดู เมื่อลูกหลานมันไม่เชื่อฟัง บิดามารดารู้สึกเหมือนกับตกนรกทั้งเป็น กลัวมันจะเสื่อมเสียอย่างนั้นอย่างนี้ ทุกอย่างทุกประการ ร้อนใจ นอนไม่ได้ นอนไม่หลับ กินไม่ได้ เพราะลูกหลานไม่เชื่อฟังหนีเตลิดเปิดเปิงไปไหนก็ไม่รู้
เดี๋ยวนี้ได้ยินมากเหลือเกินทางวิทยุบริการ คือประกาศตามหาเด็กคนนั้น เด็กคนนี้อยู่ที่ไหน ช่วยติดต่อที ให้รางวัลอย่างนี้อย่างนั้น ทุกคืนทุกหัวรุ่งที่มีวิทยุบริการ ก็แปลว่ามันมีเด็กที่เลวร้ายอย่างนี้มากขึ้น กระทบกระทั่งกับบิดามารดาเพียง ๒ – ๓ คำ ก็หนีไปจากบ้าน นี่บิดามารดาร้อนใจเหมือนกับตกนรกทั้งเป็น แม้ไม่หนีไปจากบ้านยังอยู่ด้วยกัน มันก็ยังมีอาการเหมือนกับตกนรกทั้งเป็น
เขามีขนบธรรมเนียมที่ได้วางไว้แต่โบรมโบราณโน้นว่าคำว่า “บุตร” นี่แปลว่า ผู้ยกบิดามารดาขึ้นมาจากนรก ถ้าอยากจะเป็นบุตรแล้วก็จงรู้จักความหมายของคำว่าบุตร คำว่า บุตร แปลว่าผู้ที่จะยกบิดามารดาขึ้นมาจากนรก ไม่เป็นเพียงก้อนสกปรกก้อนหนึ่งที่คลอดออกมาจากท้องของบิดามารดา ควรจะเข้าใจไว้ด้วยว่าบุตรเป็นผู้ที่ยกบิดามารดาขึ้นมาจากนรก นรกนั้นก็ชื่อว่า บุตร ซะด้วย แต่ความหมายนั้นเขาประกอบว่าเพื่อจะให้พ้นจากนรก นรกที่ชื่อว่า บุตร น่ะ นรกที่บุตรจะทำขึ้นน่ะ นรกที่บุตรจะสร้างขึ้นนั้นต้องไม่มี บุตรจะต้องช่วยให้บิดามารดาพ้นจากนรกขุมนี้ คือนรกที่ร้อนใจเหลือประมาณเมื่อบุตรประพฤติกระทำไม่ดี
ฉะนั้นขอให้เราเป็นบุตรที่แท้จริง อย่าได้ทำอะไรที่จับบิดามารดาใส่ลงไปในนรกเลย ให้บิดามารดามีความรู้สึกชื่นชมยินดีว่าได้มีบุตรคนนี้ บุตรคนนี้เกิดมาสำหรับทำบิดามารดาให้ชื่นอกชื่นใจตลอดเวลา นี่เรียกว่าเป็น บุตรที่แท้จริง นั้นบุตรชนิดนี้จึงเชื่อฟังอย่างยิ่งเพราะเพื่อ เพราะจะไม่ทำให้บิดามารดาร้อนใจ รู้ความประสงค์ความต้องการของบิดามารดาแล้ว ทำทุกอย่างให้เป็นที่พอใจ แล้วก็ไม่ทำอะไรให้เป็นที่เสียหายจนบิดามารดาต้องร้อนใจ ก็เลยได้รับประโยชน์ ถ้าเป็นบุตรที่ไม่เชื่อฟัง ก็ไม่สนใจที่จะยกบิดามารดาให้พ้นจากนรกคือความร้อนใจ บุตรที่ไม่เชื่อฟังก็ไม่มีประโยชน์อะไรแก่บิดามารดา แม้ว่าจะเป็นบุตรที่ร่ำรวยด้วยทรัพย์สมบัติ เกียรติยศ ชื่อเสียง ฐานะดีเด่นในสังคม แต่ถ้าเขาไม่เชื่อฟังขนบธรรมเนียมประเพณี ไม่เชื่อฟังความประสงค์ของบิดามารดา เขาก็ไม่เลี้ยงบิดามารดาเมื่อแก่เมื่อเฒ่า นี่ก็เลยไม่มีประโยชน์อะไรแก่บิดามารดา ฉะนั้นบุตรที่เชื่อฟังเท่านั้นแหละที่จะเป็นที่พึ่งแก่บิดามารดาได้ พระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสว่าบุตรที่เชื่อฟังเป็นบุตรที่ประเสริฐที่สุด อย่าเอาอาการอันอื่นมาวัด เช่นว่า เดี๋ยวนี้รวยกว่าบิดามารดา ฐานะสูงกว่าบิดามารดา หรือเสมอกัน หรือเลวกว่า อันนั้นมันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก แต่ถ้าจะเป็นบุตรที่ดีแล้วเขาจะเชื่อฟังขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีที่บุตรจะพึงมี แล้วก็ยกบิดามารดาขึ้นมาจากความร้อนใจ อะไรเป็นความประสงค์ของบิดามารดาสนองความประสงค์อันนั้น บิดามารดาก็ได้ชื่นอกชื่นใจก็เลยเรียกว่า บุตรที่เชื่อฟังเป็นบุตรที่ประเสริฐที่สุด
ขอให้ทราบถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ได้สอนไว้เกี่ยวกับเรื่องบุตรอย่างนี้ว่า บุตรมีอยู่ ๓ พวก แต่พวกที่จะเชื่อ พวกที่จะประเสริฐที่สุดนั้นเป็นผู้ที่เชื่อฟังบิดามารดา ขอให้ทุกคนได้เป็นบุตรที่ประเสริฐที่สุดตามความหมายในทางพระพุทธศาสนา บิดามารดาก็จะมีบุญ บิดามารดาจะมีบุญในการที่ได้มีบุตรอย่างนี้ นี้เป็นเรื่องที่พูดไปตรง ๆ ตามข้อความที่กล่าวไว้ในพระบาลี ใครจะชอบ หรือไม่ชอบก็สุดแท้ แต่หลักเกณฑ์ในพระพุทธศาสนามันมีอยู่อย่างนี้จึงเอามาพูดให้ฟัง
ทีนี้ก็อยากจะพูดถึง ธรรมะสำหรับประพฤติปฏิบัติที่จะให้เกิดการเชื่อฟัง เราจะต้องมีความรู้ ความเข้าใจอันถูกต้องจนรู้จักว่า มนุษย์นี้เกิดมาทำไม สรุปโดยใจความอย่างกว้าง ๆ ก็ว่า “เกิดมาเพื่อให้ได้รับสิ่งที่ดีที่สุด ที่มนุษย์ควรจะได้รับ” ก็คงจะมีคนถามว่าอะไร อะไรที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ หมายความว่า สภาพทางจิตใจที่มันสูงขึ้น สูงขึ้น จนถึงกับการบรรลุมรรคผลนิพพานตามหลักของพระพุทธศาสนา มีความรู้สว่างไสวอันจนถึงกับครอบงำกิเลสได้ ไม่มีกิเลสเลย นี้ก็เรียกว่าเป็นการบรรลุพระนิพพาน
เมื่อไม่มีกิเลสแล้วมันก็มีพระนิพพาน กิเลสเป็นของร้อน พระนิพพานเป็นของเย็น เอากิเลสออกไปได้หมด มันก็มีความเย็น เรารู้สึกได้เอง เมื่อเราไม่มีกิเลสความโลภ ความโกรธ ความหลงอยู่ในใจ เมื่อนั้นใจมันเย็น พอกิเลสความโลภ เป็นต้น เกิดขึ้นในใจ เราก็ร้อน ร้อนเพราะความโลภบ้าง ร้อนเพราะความโกรธบ้าง ร้อนเพราะความโง่บ้าง มันร้อน ถ้ากิเลสไม่มีด้วยประการทั้งปวงแล้วมันก็เย็น ทีนี้มนุษย์มีสิ่งที่ดีที่สุดตรงที่เย็น ไม่มีความทุกข์เลย จะต้องช่วยกันก้าวหน้าไปในทางของความเย็น หรือ ของพระนิพพาน เราประพฤติปฏิบัติตนให้เย็น อย่าให้ร้อน ประพฤติผิด ประพฤติชั่ว ประพฤติไปตามอำนาจของกิเลสนั้นมันร้อน แล้วมันก็เสียหายหมด การศึกษาเล่าเรียน หน้าที่การงาน การปฏิบัติต่อบิดามารดา เป็นต้น มันก็เสียหมด จึงรู้จักควบคุมความรู้สึกให้ไม่บันดาลกิเลส ไม่ปรุงกิเลสขึ้นมา มันก็จะได้เย็น
เมื่อกิเลสไม่มีโอกาสเกิดเลย มันก็หมดได้ คือเชื้อสำหรับกิเลสมันหมดได้ ถ้าเราไม่ให้มันมีโอกาสเกิดขึ้นมาเลย เหมือนกับว่าเมล็ดพืชที่เราฝังลึกลงไปในดินเกินไป มันงอกไม่ได้ ไม่เท่าไรมันก็เน่าหมดตายหมด หรือว่าจะเอาไฟเผา เอาน้ำร้อนราดนี้ มันก็เน่าหมดตายหมด มันงอกไม่ได้ มันไม่มีโอกาสที่จะงอก เราประพฤติธรรมะ หรืออย่างเดียวกันไม่ให้มีกิเลสเกิดขึ้นมาได้ ไม่เท่าไรเชื้อของกิเลสมันก็เน่าไปหมด ไม่มีกิเลสเกิดเขาเรียกบรรลุมรรคผล
เราแม้จะยังทำไม่ได้ถึงอย่างนั้น แต่ก็ยังปรารถนาที่จะทำอย่างนั้น ไม่อย่างนั้นแล้วจะมาศึกษาพระพุทธศาสนากันทำไม จะมาสวนโมกข์ให้เสียสตางค์ค่ารถกันทำไม มันป่วยการ เพราะว่าที่นี่เป็นที่ ๆ จะศึกษา ชี้แจง ทำความเข้าใจกันเกี่ยวกับเรื่อง ทำกิเลสให้สูญสิ้นไป
ตามหลักความจริงมันมีอยู่ว่า กิเลสเกิดขึ้นมาทีหนึ่ง มันเพิ่มความเคยชินไว้ทีหนึ่ง เกิดขึ้นมาทีหนึ่ง มันเพิ่มความเคยชินไว้ทีหนึ่ง ที่นี้มันเกิดหลายสิบครั้ง หลายร้อยครั้ง หลายพันครั้ง มีความเคยชินมาก มันก็เกิดง่าย กิเลสก็เกิดง่าย ทีนี้ในทางตรงกันข้าม ถ้ามีอะไรมายั่วให้เกิดกิเลส เราควบคุมไว้ได้ บังคับไว้ได้ไม่ให้เกิดกิเลส ถ้าอย่างนี้กิเลสมันก็สูญเสียความเคยชินลงไปทีหนึ่ง เราทำให้กิเลสสูญเสียความเคยชินเรื่อยไป เรื่อยไป จนมันไม่มีจะเกิด นี่จงประพฤติ ปฏิบัติ สำรวม ระวังไว้ให้ดี อย่าให้เกิดกิเลสทุกคราวที่มีอะไรมายั่วให้เกิดกิเลส แล้วเชื้อความเคยชินของกิเลสจะหมดไป แล้วก็เกิดกิเลสไม่ได้ ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น ความโกรธ ถ้าเราโกรธมีอะไรมาทำให้โกรธ ก็โกรธ บางทีก็แกล้งโกรธ มันก็มีความเคยชินสำหรับจะโกรธ เขาเรียกว่า เชื้อสำหรับความโกรธ นี้เพิ่มขึ้น โกรธอีกก็เพิ่มขึ้น โกรธอีกก็เพิ่มขึ้น โกรธอีกก็เพิ่มขึ้น จนมีความโกรธเป็นเจ้าเรือน และมันก็ยากที่จะควบคุมความโกรธได้
ทีนี้ถ้าเราบังคับไว้ มีอะไรที่ควรจะโกรธมายั่วให้โกรธ และควรจะโกรธบังคับไว้ได้ไม่โกรธ ไอ้ความเคยชินสำหรับจะโกรธมันก็ลดลงไป เป็นลบหนึ่ง ๆ ๆ หลายสิบครั้ง หลายร้อยครั้งเข้า มันไม่มีความเคยชินสำหรับจะโกรธ ไอ้คนนั้นมันก็โกรธไม่เป็น โกรธไม่ได้ กิเลสอย่างอื่นก็เหมือนกัน นั้นพยายามที่จะควบคุมไว้ให้ได้ อย่าให้มันลุอำนาจแก่กิเลส อย่าให้มันเกิดขึ้นมา ไม่เท่าไรกิเลสทั้งหลายก็เบาบางไปจนสิ้นเชื้อ สิ้นความเคยชินที่จะเกิด ก็กลายเป็นมนุษย์ที่ได้รับสิ่งที่ดีที่สุดของมนุษย์ คือความไม่มีกิเลสจะเกิดขึ้นสำหรับให้ใจเป็นทุกข์หรือมีความร้อน
เราคิดเสียให้ดีว่า ทุกคนเกิดมานี้สำหรับจะได้สิ่งที่ดีที่สุด ที่มนุษย์ควรจะได้ คือ ความไม่มีทุกข์ ไม่ใช่ว่าเกิดมาเป็นนักเรียนไปเล่าเรียน เป็นนักศึกษาให้ปริญญายาวเป็นหางแล้วมันจะหมดเรื่องกันเท่านั้น นั้นมันไม่แน่ คนมีปริญญายาวเป็นหางอาจจะมีความทุกข์มากเท่ากับหางของเขาก็ได้ มันต้องเอาที่ไม่มีความทุกข์ ที่มีจิตใจปกติ ไม่มีความทุกข์ มีจิตใจสูงอยู่เหนือกิเลสและความทุกข์ จึงจะเรียกว่าเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ หรือ เป็นยอดของความเป็นมนุษย์ ถูกแล้วเราอุตส่าห์เรียนให้ได้รับความรู้ ให้ได้รับโอกาสที่จะสะดวกสบายในเรื่องการเป็นอยู่ในโลกนี้ มีเงินใช้ มีฐานะดี มีความสะดวกสบายดี ทีนี้ก็ต้องเรียนต่อไปสำหรับที่จะไม่มีกิเลส เป็นบุคคลที่ไม่มีความทุกข์ด้วยอำนาจของกิเลสอีกทีหนึ่ง ถ้าจะพูดก็ต้องพูดว่า ได้ปริญญาของพระพุทธเจ้าไม่เหมือนกับปริญญาที่เขามีให้กันอยู่ในโลกนี้ ได้ปริญญาของพระพุทธเจ้า เช่น ที่เรียกกันว่า เป็นพระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ เป็นต้น ถ้าไปถึงปริญญาอันนั้น ชั้นนั้นแล้ว นั่นแหละจึงจะเรียกว่าได้รับสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ ทีนี้เราก็มาคิดดูว่า มนุษย์ทุกคนเป็นอย่างนี้ ฉะนั้นเราช่วยกันทำให้เป็นอย่างนี้ ถ้าพ่อแม่ของเราไปไม่ถึงแก่เฒ่า ตายเสียก่อน เราที่เป็นลูกเป็นหลานก็พยายามไปให้ถึง ให้ก้าวหน้าต่อไปจากบิดามารดา ที่เป็นมนุษย์ที่มีจิตใจสูงต่อไปจากบิดามารดา อย่างนี้เรียกว่าเชื่อฟังธรรมะ เชื่อฟังศาสนา เชื่อฟังพระพุทธเจ้า มันจึงได้ไกลออกไปในทางของพระธรรม ถ้าได้รับปริญญาก็ได้รับปริญญาของพระพุทธเจ้า
พูดให้ฟังง่าย ๆ มันลืมยาก เราก็ต้องพูดอย่างนี้ ให้เด็ก ๆ ถือเสียว่าเราเกิดมาเป็นมนุษย์ เกิดมาที่หลังพ่อแม่แล้วก็ยอมรับว่าถ้าพ่อแม่ทำอะไรไม่สำเร็จ เราจะทำต่อไปให้สำเร็จ ถ้าพ่อแม่ยังไม่มีฐานะดีในสังคม เราก็จะทำให้มีฐานะดีในสังคม ให้ตระกูลของเรามีฐานะดีในทางสังคม และเมื่อมีฐานะดีในทางสังคมแล้ว ก็จะทำให้มีฐานะสูงขึ้นไป ในทางจิต ทางวิญญาณ ในทางพระธรรม ในทางพระศาสนา ให้มีการบรรลุธรรมะอันสูงสุดสืบต่อไปจนกว่าจะถึงที่สุดในทางฝ่ายพระธรรม นี้จะเรียกว่าเป็นบุตรที่ประเสริฐที่สุด เป็นบุตรที่เชื่อฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หรือคำสั่งสอนของพระธรรม หรือเชื่อฟังกฎของธรรมชาติที่มีอยู่ว่า ทุกสิ่งต้องวิวัฒนาการไปในทางที่ดีที่สุดให้ถึงระดับสูงสุด ให้จงได้ และก็เชื่อฟังกฎของธรรมชาติสำหรับจะก้าวหน้าไปถึงจุดสูงสุดของมนุษย์ตามที่กฎของธรรมชาติจะอำนวยให้ได้ ก็คือถึงพระนิพพานนั่นเหมือนกัน
ถ้าถือศาสนาอื่นเขาก็พูดอย่างอื่น เช่น ถือศาสนาที่มีพระเจ้า เขาก็จะพูดว่า “มนุษย์จุดสูงสุดอยู่ที่ไปอยู่รวมกันกับพระเจ้า” พวกที่มีพระเจ้าก็พูดอย่างนี้ ไอ้เราไม่มีพระเจ้า แต่มีพระนิพพาน เราก็พูดอย่างนี้ ก็ไปรวมกัน บรรลุ...บรรลุนิพพานในจุดสูงสุดของมนุษย์ นั้นอุตส่าห์เรียนให้ประสบความสำเร็จในเรื่องธรรมดาสามัญอย่างชาวบ้านชาวโลก หรือเรียนปฏิบัติต่อไปก้าวหน้าทางจิตใจ เป็นเรื่องทางจิตทางวิญญาณ ให้บรรลุสถานะชั้นสูงสุดของมนุษย์ อย่างที่เรียกว่าบรรลุมรรคผลไปตามลำดับจนกว่าจะถึง พระนิพพาน
ถ้าบิดามารดาถึงไม่ได้เราพยายามสืบต่อไปจนให้ถึงได้ อย่าเห็นว่าเป็นเรื่องที่ยากเกินไป สูงเกินไป เราอยากจะสนุกสนานเล่นหัวอยู่ที่นี่ เหมือนกับว่าเป็นวัวเป็นควายมันก็อยากจะนอนอยู่ในโคลน ในตมกลางทุ่งนา ไม่อยากจะขึ้นอยู่บนปราสาทราชฐานอย่างนี้มันก็ไม่ถูก เพราะเราไม่ใช่ควายไม่ใช่วัว ที่สมัครนอนอยู่ในกลางเลน กลางตม เราเป็นมนุษย์สูงจากสัตว์เดรัจฉานเพราะมีสติปัญญาพิเศษ จะสูงไปถึงไหนก็ได้ จึงอบรมให้สูงไปในทางที่สูงสุดที่มนุษย์จะสูงได้ นี่เรียกว่า ไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์และพบพระพุทธศาสนา ทำให้ไม่เสียทีที่เกิดมา เพราะเชื่อฟังคำสอนของพระศาสนา ยอมรับกฎของธรรมชาติว่า มนุษย์ต้องวิวัฒนาการไปให้ถึงจุดที่สูงสุดให้จงได้ นี่ก็เคยกันเรียนมาแล้ว
เป็นอันว่าเชื่อฟังสิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุดชนิดหนึ่งซึ่งเรียกว่า พระเจ้า ก็ได้ ซึ่งเรียกว่า กฎของธรรมชาติ ก็ได้ เรียกว่า พระธรรม ก็ได้ ที่มุ่งหมายต้องการให้ชีวิตทั้งหลายนี้มันไปจนถึงจุดสูงสุด ระดับสูงสุดตามที่มนุษย์มันจะเป็นไปได้ เราเรียกว่า การบรรลุมรรคผลนิพพาน ใครเชื่อฟังพระพุทธเจ้าก็ทำได้อย่างนี้ มันก็จะสมกับที่พระองค์ตรัสว่า “ผู้ที่เชื่อฟัง บุตรที่เชื่อฟัง เป็นบุตรที่ประเสริฐที่สุด” เมื่อเรารู้ว่าอุดมคติของความเป็นมนุษย์อยู่ที่นี่แล้วก็พยายามกระทำ โดยใช้ธรรมะเครื่องช่วยให้ประสบความสำเร็จ ๔ อย่าง ๔ ประการ ที่เรียกว่า “ฆราวาสธรรม” หมายความว่า ฆราวาสทำได้
ธรรมะ ๔ อย่าง ๔ ประการนั้นช่วยจำไว้ให้คล่องปาก คล่องใจ คล่องเนื้อ คล่องตัว คือ ประพฤติตัวอยู่เป็นปกติ ธรรมะ ๔ ประการนั้นคือ
ให้จำเดี๋ยวนี้เลย ไม่ต้องจดว่า สัจจะ ทมะ ขันตี จาคะ ในตำราเรียนก็มี ในนวโกวาท หนังสือเรียนทั่วไปมันก็มี แต่ว่ามีอยู่ในหนังสือไม่มีประโยชน์อะไร มาอยู่ในใจดีกว่า มาอยู่ที่เนื้อที่ตัว ที่ปฏิบัติกาย วาจา ใจดีกว่า ดีกว่าอยู่ในหนังสือ นี้เรียกว่า สัจจะ ทมะ ขันตี จาคะ ให้เป็นของขึ้นปาก คล่องปากมันก็คล่องใจก็จำได้ คล่องเนื้อคล่องตัว คือ ปฏิบัติอยู่อย่างคล่องแคล่วเสมอ
ข้อที่หนึ่ง สัจจะ แปลว่ามีความจริงใจ
ข้อที่สอง ทมะ คือการบังคับตัวเอง
ข้อที่สาม ขันตี อดกลั้นอดทน
ข้อที่สี่ จาคะ บริจาคสิ่งที่ไม่ควรจะมีอยู่ในตน
๑) สัจจะ คือ ความจริง ต้องเป็นคนซื่อสัตย์เป็นพื้นฐาน ต้องเป็นคนจริง จริงต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน จริงต่อการงาน จริงต่อเวลา แล้วที่ดีที่สุดนั้นก็คือ จริงต่อความเป็นมนุษย์ คนโดยมากไม่จริงต่อความเป็นมนุษย์ของตน ไม่ยอมรับรู้ว่าเป็นมนุษย์นั้นต้องจะเป็นกันอย่างไร ถึงไหน มันก็ไม่รู้จะจริงต่อความเป็นมนุษย์ของตน ถ้าจริงต่อความเป็นมนุษย์ของตนได้ มันก็จริงต่อสิ่งทุกสิ่งได้ ฉะนั้น ขอให้จริงต่อความเป็นมนุษย์คือให้เป็นมนุษย์ที่จริง ๆ ถ้าใครมาด่าเราว่าไอ้สัตว์ เราก็โกรธสุดขีด แต่ทำไมเรายังไม่เป็นมนุษย์ ยังเป็นสัตว์อยู่ และเรามีความจริงที่จะเป็นมนุษย์ให้สมบูรณ์กันเสียก่อน ตั้งใจจะเป็นมนุษย์ที่แท้จริง ให้ได้สิ่งที่ดีที่สุดของมนุษย์กันเสียก่อน ข้อนี้เรียกว่า สัจจะ คือความจริงฝังแน่นอยู่ในจิตใจ
นี้ข้อถัดไปเรียกว่า ทมะ ทมะ คือ การบังคับตัวเอง บังคับตัวเองคือบังคับจิต บังคับจิตคือบังคับกิเลสที่จะเกิดขึ้น นี่เรียกว่าการบังคับตัวเอง มีสัจจะตั้งไว้อย่างไร ก็บังคับตัวเองให้เป็นไปอย่างนั้น ถ้าไม่บังคับมันก็รักษาสัจจะไว้ไม่ได้ มันก็เป็นไปเสียทางอื่น นี้เราจะต้องมีการบังคับตัวเองจึงจะรักษาสัจจะไว้ได้ ทีนี้การบังคับตัวเองต่อสู้กับกิเลสนั้นมันก็เจ็บปวดบ้าง เพราะกิเลสนี้มันอยากจะไปทำตามอำนาจของกิเลส เช่น อยากไปดูหนัง ไปดูละคร อยากจะไปเล่นการพนัน ดื่มน้ำเมาเที่ยวกลางคืน อะไรอย่างนี้มันเป็นเรื่องของกิเลส แล้วบังคับ...ก็บังคับมันก็เจ็บปวด ไม่ได้ไปดูหนัง ไม่ได้ไปเที่ยวกลางคืน ไม่ได้ไปทำไอ้อบายมุข มันก็เจ็บปวด...ก็ต้องทน
ขันตี แปลว่า ความอดทน ทนทุกอย่างแหละ แต่ว่าทนที่ดีที่สุดนั้น คือ ทนต่อการบีบคั้นของกิเลส ทนหนาว ทนร้อน ทนเจ็บ ทนไข้ ทนเขาด่า อย่างนี้ก็ยังไม่ดีเท่ากับว่า ทนต่อการบีบบังคับของกิเลส กิเลสจะไปไสหัวให้ทำชั่ว เราก็ไม่ทำ เพราะทนต่อการบีบบังคับของกิเลส คนที่…ที่บังคับตัวไม่ได้ก็นั่งขีดทรายซะไม่นั่งฟังเพราะไม่มีขันตี ไม่มีความอดทนที่บังคับตนให้อยู่ในระเบียบ นั่งตรงนี้ก็นั่งขีดทรายเสียก็ไม่ได้ฟัง เพราะว่ามันไม่มีขันตี คือ ความอดทนต่อการบีบคั้นของกิเลสนิดเดียวที่มันจะเล่นสนุกอยู่ตรงนี้อีก ให้รู้ว่าความอดทนมันเป็นอย่างนี้ เดี๋ยวนี้มีแดดหน่อยก็ไม่ทน ฝนหน่อยก็ไม่ทน หนาวหน่อยก็ไม่ทน ร้อนหน่อยก็ไม่ทน เหลวไหลในการเรียนการงาน เขาว่าหน่อย นินทาหน่อย ก็ไม่รู้จักทน ไปทะเลาะวิวาทกันจนเกิดเรื่องเสียหาย นี้ที่มันทนมากก็คือ บีบ...การบีบบังคับของกิเลสว่า อย่าไปทำอบายมุขเลย ว่าทนได้ก็ไม่ต้องไปทำ นี้ความอดทนมันก็รักษาให้…ก็ช่วยบังคับตนได้ รักษาสัจจะไว้ได้
และข้อสุดท้ายเรียกว่า จาคะ แปลว่า บริจาคสิ่งที่ไม่ควรจะมีอยู่ในตน อะไรเป็นของไม่ดีไม่ควรจะมีอยู่ในตน ในเนื้อในตัวก็ขัดถูออกไป นับตั้งแต่ว่ากิเลสที่จะมีที่เนื้อหนังร่างกายมันไม่ควรจะมีในตน ก็อาบน้ำชำระชะล้างขัดถูออกไป ขี้ไคล ที่มันมีอยู่ที่เนื้อหนังร่างกายน่ะ ถูขี้ไคลออกไปก็เรียกว่า บริจาคสิ่งที่ไม่ควรจะมีอยู่ในตน ทีนี้การประพฤติทางกาย ทางวาจา ทางอะไรที่ต่อสังคมที่ไม่ถูก ไม่ควรก็ขจัดออกไป ความรู้สึกคิดนึก นิสัยที่ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความดีความงามก็ต้องละไปเสีย ละนิสัยเลว ๆ ไปเสีย ประกอบกิจกรรมทางศาสนา สวดมนต์ภาวนาอะไรอยู่เป็นประจำก็เรียกว่า บริจาคสิ่งที่ไม่ควรจะมีอยู่ในตนให้ออกไปเสียจากตนเรื่อย ๆ ไป นี้ก็เรียกว่า จาคะ มันก็ไม่มีอะไรที่จะบีบคั้นมาก เพราะว่าเราบริจาคไอ้เรื่องของกิเลส เหตุของกิเลสอะไรอยู่เรื่อย ๆ กิเลสก็ไม่แก่กล้า มันก็ไม่บีบบังคับมาก เราก็ทนได้ เราก็บังคับตัวได้ เราก็รักษาสัจจะไว้ได้
ในธรรมะ ๔ ประการนั้นมันก็มี คือมี
สัจจะ ความจริงใจ
ทมะ การบังคับตัวเอง
ขันตี ความอดกลั้นอดทน
จาคะ บริจาคสิ่งที่ไม่ควรจะมีอยู่ในตน
ก็เรียกว่ามี ฆราวาสธรรมที่สมบูรณ์ จะเป็นเด็กก็ดี ผู้ใหญ่ก็ดี ผู้หญิงก็ดี ผู้ชายก็ดี คนหนุ่มคนสาว คนแก่คนเฒ่าก็ดี เป็นฆราวาสก็ดี เป็นพระเจ้าพระสงฆ์ก็ดี ล้วนแต่อาศัยธรรมะทั้ง ๔ อย่างนี้เป็นเครื่องกำจัดเสียซึ่งสิ่งไม่พึงปรารถนา แล้วก็ทำให้เกิดสิ่งที่พึงปรารถนาขึ้นมาอย่างครบถ้วน นั้นเป็นอันว่าจะได้รับสิ่งที่ดีที่สุดเพิ่มขึ้น ๆ จนจะถึงสิ่งที่ดีที่สุด ที่สูงสุดที่มนุษย์เราควรจะได้รับ ขอให้จดจำไว้ให้ดีว่า ธรรมะ ๔ ประการนี้เป็นเครื่องมือ ต้องการจะได้อะไร ให้ใช้ธรรมะ ๔ ประการนี้ ต้องการจะละเว้นความชั่วอะไรให้ใช้ธรรมะ ๔ ประการนี้ ก็เรียกว่าเป็นเรื่องที่พอแล้วสำหรับมนุษย์จะได้เกิดมาเป็นบุตรที่ประเสริฐที่สุด คือ เชื่อฟังพระศาสนา เชื่อฟังกฎเกณฑ์ของพระธรรม เรื่องความดี ความชั่ว เรื่องบุญ เรื่องบาป มันมีอยู่เป็นกฎเกณฑ์อันเด็ดขาดตายตัวซึ่งเราต้องเชื่อฟัง บุตรที่เชื่อฟังก็มีแต่ดีโดยส่วนเดียวจึงเป็นบุตรที่ประเสริฐที่สุด ขอให้…ให้จำไว้ให้ติดต่อกันไปว่าบุตรมีอยู่ ๓ ชนิด คือ ดีกว่า เสมอกัน และเลวกว่าบิดามารดา แต่ว่า บุตรที่เชื่อฟังนั้นประเสริฐที่สุด ที่เชื่อฟังบิดามารดา ครูบาอาจารย์ คนเฒ่าคนแก่ พระเจ้า พระสงฆ์ พระพุทธ พระธรรม พระศาสนา จนกระทั่งถึงเรื่องกฎของความดี/ความชั่ว ซึ่งเป็นกฎสูงสุดของธรรมชาติ เราเชื่อฟังกฎอันนี้แล้วดำรงตนอยู่ในความถูกต้อง ก็จะเป็นบุตรที่ดีคือประเสริฐที่สุด ไม่เสียทีที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ การเกิดมาเป็นมนุษย์เป็นคนนี่เพื่อจะทำดีสืบต่อ ๆ กันไป สืบต่อ ๆ ไปจากที่บิดามารดาได้ทำค้างคาไว้ ฉะนั้นขอให้ท่านทั้งหลาย เชื่อฟังพระธรรม ก็จะได้เป็นบุตรที่ประเสริฐที่สุดโดยนัยยะดังที่ว่ามา
ในที่สุดนี้ขออวยพรให้นักเรียนทั้งหลายจงมีความเชื่อ มีความกล้าหาญ มีความพากเพียร มีสติสัมปชัญญะ อย่างพอตัวในการที่จะคุ้มครองตัวให้เป็นบุตรที่ประเสริฐที่สุดด้วยอำนาจของความเชื่อฟัง ตั้งตนอยู่ในความถูกต้องแล้ว มีความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน เช่น การศึกษาเป็นต้นแล้ว มีความสุข มีความสบายใจอยู่พร้อมกับความก้าวหน้าในหน้าที่การงานนั้น ๆ ทุกทิพาราตรีกาลเทอญ