แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันนี้ เวลานี้ เป็นแต่เพียงพบปะ เพื่อทำความเข้าใจบางอย่าง ไม่ได้ตั้งใจว่าจะพูดอะไรที่เป็นเรื่องวิชาทำนองนั้น ความประสงค์ที่บอกมานี้นับว่าถูกต้องตามที่ควรจะเป็น อยากจะศึกษาสิ่งที่ควรศึกษาอย่างหนึ่ง หรือว่าอยากจะปฏิบัติสิ่งที่มันอาจจะปฏิบัติได้อีกอย่างหนึ่ง แต่คำว่าศึกษาหรือปฏิบัติ ยังมีความหมายกว้าง ทำความเข้าใจกันในข้อนี้ เพื่อว่าระหว่างที่พักอยู่ที่สวนโมกข์นี้จะได้รับประโยชน์ให้มากที่สุดเท่าที่จะได้ แล้วขอให้ช่วยกัน มันต้องร่วมมือกันด้วยเพื่อที่จะได้รับประโยชน์มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ คือร่วมมือกันทั้งฝ่ายผู้พูดและผู้ฟัง หรือจะเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าฝ่ายผู้ให้และผู้ได้รับ ถ้าไม่ร่วมมือกันให้แท้จริงมันก็ได้น้อย เป็นธรรมดา ฉะนั้นจะพูดไปในลักษณะที่ว่าจะได้รับอะไรมากที่สุดในระหว่างที่พักอยู่ที่นี่
สำหรับเรื่องการศึกษานั้น อยากจะบอกให้ทราบว่าจะไม่พูดเรื่องที่อาจจะอ่านเอาได้เอง คือคงทิ้ง ไอ้เรื่องที่อาจจะหาอ่านเอาได้เองไว้ไปหาอ่านเอา อย่างมากที่สุดก็จะบอกในข้อที่ว่าไอ้เรื่องที่มันมีอยู่แล้ว นั่นแหละ เรื่องที่อ่านเองได้ควรจะทำความเข้าใจกันอย่างไร เอามาปะติดปะต่อกันได้กับหัวข้อที่จะพูด เพราะว่าไม่พูดโดยรายละเอียดได้ในเวลาอันสั้น ทีนี้เรื่องการศึกษานี้ก็เหมือนกัน มันกว้างมาก ถ้าจะศึกษากันอย่างทั่วถึงอย่างที่เขานิยมกัน มันทำไม่ได้หรอกด้วยเวลาเล็กน้อย แล้วที่นี่ก็ไม่ประสงค์อย่างที่เราจะศึกษากันในระดับวิทยาลัย อะเคเดมิก สตัดดี้ (academic study) นี่ (4.12) เราไม่เคยคิดจะทำ เราต้องการจะศึกษาเท่าที่จำเป็น จะศึกษาสำหรับการปฏิบัติ และการบรรยายจะมากมายมาแล้วหรือพิมพ์ไปแล้วก็ ทั้งหมดนั่นก็เป็นไปเพื่อ การปฏิบัติ เพราะฉะนั้นจึงไม่พูดพร่ำเพรื่อในส่วนที่ไม่ต้องพูด ถ้าจะศึกษากันอย่างนักศึกษา อย่างที่เรียก “อะเคเดมิก” นั้น พูดกันถึงว่าพระพุทธศาสนามันมาอย่างไร เกิดขึ้นอย่างไร แล้วก็ก่อนหน้านั้นมันเป็นอย่างไร มันมีอะไรที่ทำให้ประเทศอินเดีย ทำให้เกิดพระพุทธเจ้า เพียงเท่านี้มันก็จะเกือบตายแล้ว เวลาก็เกือบจะหมดแล้ว แต่พวกฝรั่งเขาชอบศึกษากันอย่างนี้ ศึกษาวิชาอันว่าด้วยประเทศอินเดียเป็นวรรคเป็นเวรเสียก่อน แล้วค่อยศึกษาเรื่องส่วนองค์พระพุทธเจ้า รวมทั้งประวัติของท่าน แล้วศึกษาว่าท่านสอนอะไร แล้วก็จนกระทั่งว่าพระไตรปิฎกมีอะไร ผลสุดท้ายก็เหลว คือไม่รู้จะปฏิบัติอย่างไร ต่อให้อ่านไปจนจบพระไตรปิฎก มันก็ยังรู้ไม่ได้ เพราะเราจะต้องปฏิบัติอย่างไร เดี๋ยวนี้พระไตรปิฎกก็แปลเป็นภาษาอังกฤษหรือภาษาประเทศอื่นอีกมากมายและโดยเฉพาะภาษาอังกฤษนี้หาอ่านได้ทั้งนั้น แม้เขาจะอ่านกันหมดนั่น อย่างที่เรียกว่าพวกไทยเราอ่านพระไตรปิฎกไทย จนหมดนี่ มันก็ไม่รู้ว่าจะปฏิบัติอย่างไร ฉะนั้นเราจึงไม่พูดกันในแบบนั้น จะพูดกันในแบบที่ว่าประมวลเอาหลักเกณฑ์ต่างๆ จากพระพุทธวัจนะทั้งหมดมาพูดกันแต่ใจความว่าพระองค์ทรงสอนเรื่องอะไร สอนอย่างไร ทรงสอนให้ปฏิบัติอย่างไร อย่างนี้มากกว่า พอจะพูดกันได้ในเวลาไม่กี่ชั่วโมง เรียกว่าเรียนเพื่อปฏิบัติ เรียนธัมมะส่วนที่จะปฏิบัติได้ หรือเอามาประยุกต์ได้ เรียนกันเท่านั้น ไปเรียนอย่างเป็นนักปราชญ์ เป็นอะไรยิ่งกว่านั้น เรียนกันเป็นปีๆ เป็นสิบๆ ปี หรือจนตาย ก็จำไม่หมด นี่เรียกว่าเราจะศึกษาอะไรกัน สรุปความว่าจะศึกษาส่วนที่มันจำเป็นที่จะต้องรู้ รู้นี่ก็รู้เพื่อการปฏิบัติ เพื่อว่ามันจะได้ผล รู้เฉยๆ ไม่ได้ผล ทีนี้การปฏิบัติก็เหมือนกันน่ะ มันยังมีเฟ้อหรือพร่า หรือกว้าง เลือน จนอย่างนั้นจนอย่างนี้ อย่างว่าจะต้องตั้งต้นไปตั้งแต่ทำพิธีรีตรองอะไรต่างๆ รับศีลอย่างที่ไม่ต้องมีศีล รับแต่ศีลแต่ก็ไม่เคยมีศีล ระวังให้ดี รับศีลจนตายก็ไม่เคยมีศีล ก็มันรับแต่ปาก ไม่รู้เจตนา เจตนารมณ์ของศีล แล้วมันจะทำให้สำเร็จประโยชน์ตามนั้นได้ หรือทำสมาธิก็ตามแบบตามพิธี มันก็ได้สมาธิตามแบบตามพิธีละเมอเพ้อฝันไป แล้วทำวิปัสสนา ก็มันก็ตามแบบ แบบหรือรูปแบบที่เขาวางไว้ก็ได้ตามรูปแบบนั้นไป อย่างนี้ก็อยากจะพูดว่าให้ปฏิบัติจนตายมันก็คงไม่ได้อะไรเหมือนกัน ตัวแท้ของการปฏิบัตินั้นมันก็เพื่อจะควบคุมจิตให้อยู่ในความถูกต้อง ว่าจะรู้ความถูกต้อง ก็ควบคุมจิตให้มันอยู่ในภาวะที่ถูกต้อง ส่วนศีล ส่วนสมาธินั้นมันก็เป็นอุปกรณ์ที่เป็นพื้นฐานเป็นรากฐาน ถ้ามีการปฎิบัติถูกต้องในส่วนจิตอยู่ ศีล สมาธินี้มันก็มีอยู่ในตัวโดยอัตโนมัติ
ทีนี้อยากจะเอามารวมกันเลยในเรื่องศึกษาและปฏิบัติ สองเรื่องนี้จะเอามารวมกันเลย ลองฟังให้ดี ศึกษาเพื่อปฏิบัติ ปฏิบัติก็ปฏิบัติตามที่ได้รู้ได้ศึกษามา มันเลยเข้าเป็นสิ่งที่เนื่องกัน แล้วก็ต้องถูกต้อง ทีนี้จะบอกให้ว่าถ้าถือตามที่มีอยู่ในพระบาลี ตามพระพุทธภาษิตนั้น มันประหลาดที่สุดแหละ มันไม่มีเรื่องอะไรมาก พวกเรากลายเป็นคนโง่ ที่ต้องศึกษามากปฏิบัติมาก จนล้มละลายไปเอง ล้มละลายไปในตัว อย่าลืมว่าไอ้เรื่องศึกษานั้นก็ศึกษาสำหรับปฏิบัตินั่นมันเป็นเรื่องเดียวกัน ปฏิบัติก็มาจากการศึกษาที่ถูกต้อง ที่นี้อะไรมันเป็นจุด ตั้งต้นของการศึกษาหรือการปฏิบัติด้วยก็ได้เพราะมันเป็นสิ่งเดียวกันเสียแล้ว ถ้าถือเอาตามพระพุทธภาษิต มันกลายเป็นว่าต้องตั้งต้นศึกษาที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ให้รู้ว่ามันทำงานกับรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อย่างไร แล้วมันเกิดอะไรขึ้นเป็นลำดับ ลำดับ ลำดับ จนถึงกับเกิดความทุกข์ แต่ถ้าเรามีสติรู้ทันท่วงทีตอนไหนมันจะไม่เกิดความทุกข์ มันเท่านี้เอง พระพุทธเจ้าท่านก็ได้ตรัสย้ำยืนยันว่านี่คือ อาทิพรหมจรรย์ คือเป็นจุดตั้งต้นของพรหมจรรย์ คำว่า “พรหมจรรย์” นี้ก็คือการประพฤติอย่างประเสริฐที่สุด เขาเรียกว่า พรหมจรรย์ พรหมจรรย์ในแง่ของการศึกษาก็คือเรียนให้มันรู้ ให้มันตรงเรื่อง พรหมจรรย์ในแง่ของการปฏิบัติ มันก็ปฏิบัติตรงจุดตรงเรื่อง พรหมจรรย์ในแง่ผลการปฏิบัติคือมรรค ผล นิพพาน มันก็เกิดขึ้น ไม่ต้องสงสัยเพราะว่าเราปฏิบัติตรงเรื่อง ตรงจุดของเรื่อง เมื่อเราเรียนเราก็เรียนตรงจุดของเรื่อง นี่เรื่องมันมีเท่านี้
ทีนี้จะเล่าให้ฟังอีกนิดให้มันชัดเจนลงไปกว่านี้ คือครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าท่านประทับอยู่ลำพังพระองค์เองในที่หลีกเร้นของท่าน ท่านก็ได้กล่าวขึ้น เหมือนกับเราชอบบ่น ท่องอะไรเล่น หรือร้องเพลงเล่น ผิวปากเล่นเท่านั้นแหละ ท่านได้กล่าวขึ้นว่า “จักขุนจะ ปฏิจะ รูเปจะ อุปัชฌติ จักขุ วิญญาณัง” (13:22-13:28) อะไรทำนองนี้ เป็นภาษาบาลี ไม่มีประโยชน์ที่จะร่ายภาษาบาลี เอาแต่ใจความ เอาแต่คำแปลไม่ใช่เอาแต่ใจความ เอาแต่คำแปลตัวต่อตัวนะ ว่าอาศัยตาด้วย รูปทั้งหลายด้วย ก็เกิดจักษุวิญญาณ การเห็นทางตา การมาถึงพร้อมกันเข้าแห่งตาด้วย รูปด้วย และจักษุวิญญาณด้วย ที่เรียกว่าสัมผัส เพราะสัมผัสเป็นปัจจัย จึงเกิดเวทนา แล้วเวทนาเป็นปัจจัย จึงเกิดตัณหา แล้วตัณหาเป็นปัจจัยจึงเกิดอุปาทาน อุปาทานเป็นปัจจัยจึงเกิดภพ พอภพเป็นปัจจัย จึงเกิดชาติ ชาติเป็นปัจจัยจึงเกิดชรา มรณะ โสกะ เทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาท ...(14.20-14.37) ความทุกข์ทั้งหลายจะเกิดขึ้นอย่างนี้ แล้วท่านก็ร่ายไปตั้งแต่หมวด เมื่อจบหมวดตา แล้วท่านก็ร่ายไปหมวดหู หมวดจมูก หมวดลิ้น หมวดผิวหนัง แล้วก็หมวดใจทั้งทั้ง ๖ หมวดโดยข้อความอย่างเดียวกัน ท่านก็แจกสูตรคูณนี้ มีพระ องค์หนึ่งมาแอบฟังอยู่เมื่อไหร่ก็ไม่รู้ มาแอบฟังอยู่แล้ว ท่านเหลียวไปเห็นเข้า ท่านบอกดีแล้ว ดีแล้ว เธอจงถือเอาธรรมปริยายนี้ จงจำธรรมปริยายนี้ไปเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ ท่านว่าเท่านี้ ก็นี่คือจุด ตั้งต้นของพรหมจรรย์ ดับทุกข์ได้ เรื่องมันเกี่ยวกับตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จะพูดแต่เฉพาะเรื่องตาเป็นตัวอย่าง ก็เมื่อตามันได้อาศัยรูป นี่ตาของเรา แล้วก็รูปข้างนอก ได้อาศัยกันย่อมเกิดจักษุวิญญาณ คือการเห็นทางตาขึ้นมา สามอย่างนี้คือ ตานั้นด้วย รูปนั้นด้วย จักษุวิญญาณนั้นด้วย ถึงพร้อมกันเข้า อย่างนี้เรียกว่า ผัสสะ คือการกระทบ ก็มีผัสสะนี่แหละเป็นปัจจัย มันจึงเกิดเวทนา คือความรู้สึกว่าน่ารักหรือไม่น่ารัก น่ายินดีหรือน่ายินร้าย หรือว่าเป็นกลางๆ นี่ก็เรียกว่าเวทนา เวทนานี้เป็นปัจจัย จึงเกิดตัณหา คือความอยากไปตามความหมายของเวทนานั้น ถ้าเวทนานั้นรู้สึกเป็นที่พอใจ มันก็อยากจะได้ อยากจะมี ถ้าไม่พอใจก็อยากจะทำลายเสีย อยากไปให้พ้นเสีย หรืออีกอย่างหนึ่งก็อยากเป็นนั่นเป็นนี่ไปตามอำนาจของเวทนานั้น หรืออยากไม่เป็นนั่น ไม่เป็นนี่ไปตามอำนาจของเวทนานั้น อันนี้เขาเรียกว่าตัณหาคือความอยาก มีตัณหานี่เป็นปัจจัยก็เกิดอุปาทาน คือความรู้สึก เป็นฉันอยาก ฉันอยากได้ อยากได้เป็นของฉัน จำไว้ด้วยว่ามันแปลก ความอยากมันเกิดก่อน แล้วมันจึงค่อยเกิดความรู้สึกเป็นตัวผู้อยากทีหลัง ก็มันไม่มีตัวตนอันแท้จริง เป็นเพียงความรู้สึกเท่านั้น มันเกิดความอยากอย่างนั้นอย่างนี้ก่อน มันจึงเกิดความหมายมั่นในความอยากนั้นว่าฉันผู้อยาก อยากเป็นของฉัน แล้วตอนนี้ก็เรียกว่า อุปาทาน พอมีอุปาทานอย่างนี้แล้วก็เรียกว่ามัน มันจับกลุ่มกันพอแล้วที่จะมีความมี ความเป็น เรียกว่าพบภาวะ คือความมีอยู่แห่งเรื่องนี้คือความโง่ ว่าตัวกู ว่าของกูนี่เริ่มมีขึ้นมา ก็มีชาติตามเกิดเป็นความรู้สึกสมบูรณ์ ในเรื่องนี้ ตัวกู ของกู ก็มีปัญหาเรื่อง ชรา มรณะ โสกะ เทวะ คือความทุกข์ทั้งนั้น นี่ถ้าจะตั้งต้นศึกษา ก็ศึกษาที่นี่คือศึกษาถูกเรื่อง ถูกตัวพุทธศาสนา ไม่ต้องเรียนรู้อะไรมาก่อนเลยก็ได้ เพราะพระพุทธเจ้าท่านตรัสยืนยันเองว่านี่เป็นจุดตั้งต้นของพรหมจรรย์ ทั้งของการศึกษาและการปฏิบัติ แต่เล็งที่การปฏิบัติกันดีกว่า มาจับจุดตรงที่ว่ารู้เรื่อง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่คือตั้งต้นปฏิบัติ
มีอีกทางหนึ่งก็คือว่า จะไม่เกิดทุกข์ ตาเห็นรูปเกิดจักษุวิญญาณ สามประการนี้ถึงกันเข้าเรียกว่าผัสสะ มีผัสสะย่อมให้เกิดเวทนา อย่างที่ว่ามาแล้ว มีเวทนาก็ให้เกิดตัณหาอย่างที่ว่ามาแล้ว ทีนี้มันมีความรู้ ความระลึกได้ ว่านี่มันเป็นตัณหา เป็นความอยาก เกิดขึ้นมาด้วยความโง่ ในเมื่อด้วยตาเห็นรูปเป็นต้น ถ้าความอยากนั้นมันหยุดลง ปัญหาหยุดลง ก็เลยไม่เกิดภพ ไม่เกิดอุปาทาน ไม่เกิดภพ ไม่เกิดชาติ และไม่เกิดทุกข์ คือไม่ทุกข์ หรือถ้าเก่งกว่านั้น พอมันเกิดเวทนาแล้วก็รู้เท่าทันในเวทนานั้นเสีย ไม่เกิดตัณหา ไม่เกิดตัณหา ก็ไม่เกิดอุปาทาน ไม่เกิดภพ ไม่เกิดชาติ ไม่เกิดทุกข์อีกเหมือนกัน นั่นคือเรื่องที่มันจะดับทุกข์ สรุปความสั้นๆ ว่า เมื่อตามันเห็นรูป เกิดผัสสะ เกิดเวทนา ถ้าไม่มีความรู้ที่ถูกต้องเกิดขึ้นในขณะนั้น ไม่ระลึกความรู้ที่ถูกต้องขึ้นมาในขณะนั้นก็ดี มันก็ไปกันตามลำดับ จนถึงมีความทุกข์ ถ้ามันมีสติ มีความรู้ มีปัญญา มันเกิดขึ้นในขณะ แห่งเวทนาหรือตัณหา ตัณหามันก็ดับ และเวทนามันก็หยุด ไม่ปรุงตัณหา มันก็ไม่เกิดทุกข์ มันมีเท่านี้ ทุกเรื่องในชีวิตประจำวันของเรา ไม่ว่าที่ไหน ที่โรงเรียน หรือที่บ้าน หรือที่พักผ่อน ที่เที่ยวเล่น ในครัว ในห้องน้ำ อะไร ก็ตาม เรื่องมันเรื่องเดียวกันหมด ก็เราอาจจะเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส สัมผัสผิวหนัง หรือคิดนึกอะไร ที่ไหนก็ได้ ฉะนั้นก็เลยต้องปฏิบัติทั่วไปทุกหนทุกแห่งที่มันอาจจะเกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้น นี่การปฏิบัติมันมีเท่านี้ ที่พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้โดยตรง เป็นคำพูดโดยตรงว่าตั้งต้นอย่างนี้ อย่างหนึ่งรู้ว่าทุกข์มันเกิดขึ้น อย่างหนึ่งสกัดกั้นไม่ให้ความทุกข์มันเกิดขึ้น ถ้าจะเรียน จะศึกษา ก็ศึกษาด้วยเรื่อง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จะมีอยู่ให้เรารู้สึกในภายในร่างกายนี้ ข้างนอกก็พูดด้วยเรื่องรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ที่จะมากระทบข้างในนี้ มันกระทบแล้วเกิดอะไรขึ้น นี้ก็ศึกษาจากความรู้สึกนั่นเอง ไม่ใช่จากหนังสือ แม้ว่าในหนังสือก็เขียนไว้อย่างนี้ เขียนไว้อย่างนี้ทุกคำทุกตัว มันก็ไม่สำเร็จประโยชน์ มันเพียงแต่อ่านรู้เรื่องทีแรก ถ้าจะศึกษาให้สำเร็จประโยชน์ ต้องคอยรู้สึก คอยจับ คอยกำหนด ที่มันเกิดที่ตา ที่ใจนั้นจริงๆ นี่เรียกว่าศึกษาอย่างแบบของพระพุทธเจ้า ไม่ศึกษากันจากหนังสือ ไม่ศึกษาจากท่องบ่นอะไร นั่นมันเป็นเพียงแนวที่บอกให้ทีแรก ไปนั่งศึกษา ทำความศึกษาจากความรู้สึกข้างในว่ามันเป็นอย่างไร มันเกิดขึ้นอย่างไร มันเปลี่ยนแปลงอย่างไร มันเป็นทุกข์ขึ้นมาอย่างไร หรือว่าไม่เป็นทุกข์ขึ้นมาอย่างไร นั่นคือการศึกษาอย่างที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ หมายถึง สีลสิกขา จิตสิกขา ปัญญาสิกขา มันอยู่ที่นี่ มันไม่ได้อยู่ในหนังสือ ให้พยายามที่จะศึกษาจากความรู้สึกข้างในจิตใจ จะเป็นจุดตั้งต้นของพรหมจรรย์ที่ถูกต้อง ยังไม่มีอะไรมากกว่านี้ เมื่อคอยตั้งใจทำอย่างนั้นอยู่ มันเป็นศีล เมื่อจิตมันกำหนดที่อะไรอย่างแน่วแน่อยู่ เป็นสมาธิ เมื่อมันรู้แจ้งข้อเท็จจริงสิ่งเหล่านั้นอยู่ มันเรียกว่าปัญญา แล้วมันจึงมีสีลสิกขา จิตสิกขา ปัญญาสิกขา อยู่ที่ทำการกำหนดศึกษาที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะอยู่ที่นั่นเอง ให้มันเป็นความรู้แจ้งขึ้นมาว่าทุกข์เป็นอย่างนั้น ดับทุกข์เป็นอย่างนั้น ความรู้นั้น และเป็น องค์พระพุทธเจ้า เรามีพระพุทธเจ้าพระองค์จริง ไม่ว่าแต่ปาก เหมือนที่เขาว่ากันว่า พุทธังสะระณังคัจฉามิ ธัมมังสะระณังคัจฉามิ ไม่รู้กี่ร้อยครั้งพันครั้ง มันก็ไม่มีพระพุทธเจ้าเลย พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นปฏิจจสมุปบาท ปฏิจจสมุปบาทก็คือที่ว่าเมื่อตะกี้ คือความจริงอันแท้จริงที่ว่าความทุกข์เกิดขึ้นอย่างไร ความทุกข์ดับไปอย่างไร เป็นขั้นตอนไปนั้นเรียกว่าปฏิจจสมุปบาท นั่งดูอันนั้นอยู่ รู้อันนั้นอยู่ นั่นคือ มีพระพุทธเจ้าพระองค์จริงอยู่ในเรา ความรู้อันนั้นก็คือพระธรรม ไอ้เราที่ปฏิบัติได้นั่นคือพระสงฆ์ เป็นพระสงฆ์ที่แท้จริงด้วย องค์หนึ่งแล้วสำหรับเราโดยแน่นอน เป็นของจริงและเป็นที่พึ่งได้ ฉะนั้นไม่ต้องเป็นห่วงว่าที่เราจะไม่ตั้งต้นด้วย พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ ไม่ตั้งต้นด้วยพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ (25:20-25:23)..ศีลสมาคม อะไรต่างๆ เพราะมันมีอยู่ที่นี่ และมีอยู่จริงด้วยไม่ใช่พูดกันแต่ปาก มันประหลาดอย่างยิ่ง น่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง ที่ช่วงเวลาอันสั้น การกระทำอันเล็กน้อย มันกลับเป็นการศึกษาที่แท้จริง เป็นตัวพรหมจรรย์ที่ถูกตั้งต้นจริงๆ นี่คือตัวพุทธศาสนา เราก็อยากจะให้ทุกคนตั้งต้นศึกษาพุทธศาสนาที่แท้จริงอย่างนี้ กระทั่งบอกกับพวกฝรั่งทั้งหลายว่าถ้าคุณอยากจะลงมือศึกษาพุทธศาสนาจริงๆ ต้องตั้งต้นที่เรื่อง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ใช่ไปตั้งต้นด้วยเรื่องต่างๆ ที่คุณทำมาเป็นสิบๆ ปี ๒๐ ปี แล้วมันก็ไม่รู้อะไร แล้วมันไม่ถูกตัวพุทธศาสนา ทีนี้พวกคนไทยเราก็เถอะที่อยู่ใกล้ชิดพุทธศาสนา เกิดมาจากพ่อแม่ที่เป็นพุทธบริษัทนี้ มันก็ยังไม่ดีไปกว่าพวกฝรั่ง มันก็เหมือนกัน ถ้าจะตั้งต้นให้ถูกตัวพุทธศาสนา ก็ตั้งต้นศึกษาที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นลำดับไปอย่างที่ว่ามาแล้ว นี่คือศึกษาที่แท้จริง ปฏิบัติอยู่ในตัว แล้วก็มีผลทันทีทันควันอยู่ในตัว เป็นอะกาลิโก ตามลักษณะของพระธรรม นี่คือการศึกษาที่แท้จริง การปฏิบัติที่แท้จริง การได้ผลการปฏิบัติที่แท้จริง จะเอาหรือไม่เอาก็ค่อยว่ากันทีหลัง แต่นี่บอกให้รู้ว่ามันมีอยู่อย่างนี้ สิ่งที่จริงแท้มีอยู่อย่างนี้ นี่เป็นจุดตั้งต้นของพรหมจรรย์อย่างที่พระพุทธเจ้าท่าน ตรัสไว้ อย่างน้อยเราก็ควรจะแตะต้อง หรือประพฤติหรือกระทำสิ่งนี้ วันละครั้ง วันละครั้ง แต่ถ้าให้ดีที่สุดก็ ทุกคราวที่มันได้ทำหน้าที่ของมัน เพราะเราลืมตาอยู่ เห็นนั่นเห็นนี่อยู่ เรามีหูได้ยินอยู่ มีจมูกได้กลิ่นอยู่ มีลิ้น ที่กินอาหารได้อยู่บ่อยๆ มีผิวหนังสัมผัสอะไรอยู่บ่อยๆ จิตก็คิดนึกอะไรอยู่ตลอดเวลา ทั้ง ๖ อย่างนั้น มันทำหน้าที่ของมันเมื่อไร ทางไหน ก็ถือโอกาสนั้นศึกษาสิ่งนั้น ทางนั้น ก็เลยต้องศึกษากันตลอดเวลา ทั้งวันทั้งคืน ตลอดเวลาที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันทำงานของมัน มันกลายเป็นไม่ใช่มานั่งฟังพูด ฟังเทศน์ ฟังบรรยาย เสียแล้ว มันกลายเป็นต้องคอยกำหนด รู้ทัน รู้อย่างถูกต้อง เมื่อตามันเคลื่อนไหวทำงาน เมื่อหูมันเคลื่อนไหวทำงาน เมื่อจมูกมันเคลื่อนไหวทำงาน นี่หมดแล้ว หัวใจพุทธศาสนาหมดแล้ว ไม่มีมากกว่านี้ มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มีศีล สมาธิ ปัญญา มรรค ผล นิพพานรวมอยู่ในนี้หมด ในถ้อยคำไม่กี่คำนี้ และเป็นของจริงด้วย พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์จริง ศีล สมาธิ ปัญญาจริง มรรค ผล นิพพานจริง นี่บอกไว้เป็นเค้าเป็นรากฐาน เป็นแนวที่ถูกต้อง เอาไปทำ แล้วก็ขอให้ตั้งใจศึกษาเรื่องนี้ให้เข้าใจให้แตกฉาน
ส่วนเรื่องอื่นนั้น เรามันมีเหมือนกัน แล้วก็มักจะมีเรื่องอื่นนั่นละมากกว่าเรื่องนี้ ก็เรื่องนี้มันพูด ไม่กี่คำมันจบนี่ ในเรื่องอื่นนี่เราพูดมาก มันกลายเป็นเรื่องเกี่ยวกับบ้านเมือง เกี่ยวกับประเทศชาติ เกี่ยวกับปัญหาเฉพาะหน้าในโลกนี้ เกี่ยวกับช่วยประเทศชาติอย่างไร ช่วยมนุษย์อย่างไร อย่างที่เราพูดกันมาว่าหลักพุทธศาสนาจะไปแก้ปัญหาที่เกิดอยู่แต่ประเทศชาติอย่างไร นี่ก็พูดเหมือนกัน ก็เขาขอร้องให้พูด ถ้านักศึกษาเหล่านี้สนใจเรื่องบ้านเมือง มันก็ต้องพูดสิ พูดเพื่อให้ทราบไว้ แล้วก็อย่าได้ไปทำอะไรผิดๆ ให้เสียเวลา เพราะว่าหน้าที่ที่จะช่วยบ้านเมือง ประเทศชาติ ศาสนานี้ก็เป็นหน้าที่จริง มันละไปไม่ได้ มันก็ต้องทำไปตามที่จะทำได้ แต่ต้องทำให้ถูกต้อง ฉะนั้นเราจึงรู้ มันถูกต้อง ว่าหลักของพุทธศาสนาเรื่องที่ว่านี้มันช่วยแก้ปัญหาทั้งหมดได้ แม้ปัญหาของชาวบ้าน ของบ้านเมือง ปัญหาเรื่องไม่มีอะไรจะกิน ปัญหาเรื่องบ้านเมืองไม่สงบราบคาบ ปัญหาเรื่องข้าศึกจะมาย่ำยีประเทศชาติ มันแก้ปัญหาเหล่านั้นได้ด้วยตัวธัมมะที่แท้จริง ซึ่งก็ต้องพูด ฉะนั้นก็เลยต้องพูดเรื่องเหล่านี้ มันยืดยาว เราก็จะพูดเหมือนกัน พูดไปตามที่ควรจะพูด เท่าที่มันควรจะพูด แต่การศึกษาและการปฏิบัติที่เป็นหลักพื้นฐานมันมีอยู่แต่เท่านี้ แต่ที่เป็นตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ขอให้รู้ว่าจะต้องทำอันนี้ อยู่ไปนี่ เป็นแกน เป็นแก่น เป็นตัวเรื่อง ตัวจริง นอกนั้นจะทำไปเพื่อผู้อื่น เพื่อประเทศชาติ ศาสนาก็ทำไปตามที่จะทำได้ ไม่มีใครปฏิเสธได้ ก็ช่วยไปตามเรื่อง ช่วยตัวเอง ช่วยอยู่เต็มที่ ช่วยผู้อื่น ช่วยประเทศชาติ ช่วยโลกก็ต้องทำ นี่เรามาดูกันว่าเรามาศึกษาเรื่องนี้ได้หรือยัง เพียงพอหรือยัง ก็ทำให้มันเพียงพอ
ที่นี้ก็มาถึงที่มันเกี่ยวกับสวนโมกข์ มันก็พอจะมองเห็นว่ามาที่สวนโมกข์ก็ต้องมีอะไรแปลกบ้าง และความแปลกของมันนี้คงจะอยู่ตรงที่ว่ามันช่วยให้เกิดความสะดวกหรือง่ายดาย ในการที่จะศึกษาหรือการปฏิบัติ คือมันมีอะไรที่ช่วยอยู่หลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือธรรมชาติ มันช่วยมาก เรื่องผู้เรื่องคน เรื่อง ครูบาอาจารย์ เรื่องอะไรก็ไม่เท่ากับธรรมชาติ เพราะธรรมชาติสอนดีกว่าคนด้วยกันสอน พยายามเรียนจากธรรมชาติ ซึ่งมันจะลึกเข้าไปถึงจิตใจ ที่เราเรียนจากข้างในเรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจของเรานั้นก็เรียกว่าเรียนจากธรรมชาติ ธรรมชาติมันสอน แต่มันเป็นธรรมชาติลึก ละเอียด คือจิตใจข้างใน มันสอนกลับออกมา ทีนี้ที่นี่ ก็มีธรรมชาติชนิดข้างนอก สิ่งเหล่านี้ทุกอย่างที่มีอยู่ในสวนโมกข์ ต้นไม้ ก้อนหิน ก้อนดิน สัตว์ นก หนู มด แมลงก็ล้วนแต่เป็นธรรมชาติ ถ้าเราฉลาด เราก็สังเกต เห็นอะไรได้หลายๆ อย่าง แต่ที่ดีที่สุดก็คือธรรมชาติเหล่านี้มันไม่ทำให้เกิดความคิดประเภทเป็นทุกข์ เป็นตัวกู ของกู พอเรามาถึงที่นี่จิตใจมันหยุด เย็นสบาย แล้วก็ถือโอกาสศึกษาความรู้สึกที่อยู่ในใจว่าเย็น หยุด เย็นสบาย เป็นสุขนี่ ก็เพราะเหตุไร แล้วก็พบความจริงข้อหนึ่งว่า ก็เราไม่ได้คิดประเภทตัวกู ของกู เพราะธรรมชาติมันไม่ยอมให้คิด ธรรมชาติทั้งหลายมันบีบบังคับพาไปแต่ ให้ว่าง ให้หยุด ให้เย็น ธรรมชาติเหล่านี้มันบีบบังคับ ดึงไป ให้จิตมันว่างจากความคิดประเภทตัวกู ของกู หรือ กิเลส เมื่อไหร่มันว่างจากตัวกู ของกู เมื่อนั้นมันก็สบายบอกไม่ถูก นี่ศึกษาจากข้างในอย่างนี้ ซึ่งหาอ่านจากหนังสือก็ไม่ได้ หนังสือก็เขียนอย่างนี้ทุกตัว แต่มันไม่รู้สึกได้ ฉะนั้นเราต้องศึกษาจากข้างใน ก็รู้สึกได้ รู้จัก ของจริงได้ พูดอีกทีหนึ่งว่าก็มาศึกษาความจริงที่เราเคยอ่านจากหนังสืออย่างนี้ก็ได้ ต้องคอยศึกษาจากข้างใน ทุกอย่าง ทุกทาง เพื่อให้หนังสือนี่มันกลายเป็นความจริง ถ้าเราศึกษาอย่างนี้ บทหรือว่าหลักต่างๆ มันจะกลายเป็นความจริง ที่เราชอบสวดมนต์หลายๆ บท มันเป็นตัวหนังสือ เป็นคำพูด หรือเป็นหลัก แต่ยังไม่เป็นความจริงแก่จิตใจของเรา พอเรารู้จักศึกษาจากข้างในว่าจิตรู้สึกอย่างไร ด้วยเหตุอะไรจึงหนักอึ้ง เป็นทุกข์ ในจิตมันมีอะไร อย่างไร มันจึงเบาสบาย ว่าง และเป็นสุข รู้ได้ด้วยใจอย่างชัดเจนแจ่มแจ้งถึงที่สุดเต็มที่แล้ว ทีนี้จึงกลับไปรู้ในตัวหนังสือดี ที่เราสวดเราเรียนนั้น เช่นบทว่าสังขารเป็นทุกข์ หรือว่าเกิดตัวกูทุกทีเป็นทุกข์ทุกที หรือภารา หะเว ปัญจักขันธา (36:43-36:49) ขันธ์ทั้ง ๕ เป็นของหนักเน้อ มันจะรู้ได้ด้วยความรู้สึก เมื่อเห็นจริง บทที่เราสวดมนต์ก็เลยกลายเป็นของจริงขึ้นมา ก่อนนี้ก็ได้แต่ท่อง แล้วก็เชื่อว่าคงจะเป็นความจริงเพราะว่าท่านสอนกันมาอย่างนี้ อย่างนั้นมันผิวเผิน เป็นไปรู้สึกว่าทุกข์เกิดขึ้นมาเพราะยึดถือตัวกู ของกู ยืดถือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เมื่อใดไม่ยึดถือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แล้วก็ไม่มีความทุกข์เลย ว่างโปร่ง เหมือนสบาย เหมือนเข้ามานั่งตรงนี้ทีแรก ก็เข้ามานั่งตรงนี้ทีแรกจิตมันพลอยว่างไปตามที่ธรรมชาติมันแวดล้อม บีบบังคับ ไม่ยึดถือส่วนใดส่วนหนึ่ง ทั้งชีวิต ทั้งร่างกายนี้ว่าตัวกู ของกู กลายเป็นภาระ นิกเข ปะนัง สุขัง ทิ้ง ของหนักลงเสียเป็นความสุข ยกตัวอย่างมาให้ฟัง บททั้งหลาย พระบาลีทั้งหลาย อะไรทั้งหลาย มันบันทึก ความจริงเหล่านี้ไว้ แต่มันเป็นตัวหนังสือ เป็นคำพูด ขันธ์ ๕ เป็นของหนัก เป็นทุกข์ เพราะว่าเรามันมีตัวกู ของกูยึดไว้นี่ เป็นทุกข์ พอเราลืมไป ไม่ได้ยึด มันก็ยังไม่มีความทุกข์ เราเหมือนกับวางเสีย แต่ถ้าเราทำให้วางเด็ดขาดได้ เราไม่ทุกข์ชนิดที่เป็นพระนิพพานเลย
ระหว่างอยู่ที่นี่คงจะสะดวกบ้างนะ หรือสะดวกมากกว่าอยู่ที่กรุงเทพฯ ที่จะศึกษาจิตใจ ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปได้มาก มานั่งกับต้นไม้ ก้อนหิน อย่างนี้มันแวดล้อมไปตามธรรมชาติ มันบริสุทธิ์ มันก็เลยรู้จักความรู้สึกที่มันปรากฎขึ้นในจิตนั้นได้ดีว่าอย่างไรเป็นทุกข์ อย่างไรไม่เป็นทุกข์ จึงขอให้ใช้ประโยชน์จากการที่มาอยู่ใกล้ชิดธรรมชาตินี้ให้มาก พยายามเป็นเกลอกับธรรมชาติให้มากที่สุด เพื่อจะเข้าถึงพระพุทธศาสนา เพราะพระพุทธศาสนาไม่ได้เป็นอะไรอื่น นอกจากเป็นกฎความจริงของธรรมชาติ ที่ท่านค้นพบ แล้วบัญญัติสอนให้เราได้เรียนกันง่ายๆ อยู่ใกล้ธรรมชาติเท่าไรก็ยิ่งง่ายที่จะเข้าใจพระธรรม ซึ่งเป็นความจริงของธรรมชาติ อย่ามัวหัวเราะกันเสีย อย่ามัวเล่นหัวกันเสีย จิตมันก็จะได้หยุด คือนิ่ง หรือแน่วแน่สำหรับจะมองดูธรรมชาติ ถ้าเราไปเล่นหัวกันเสีย หยอกล้อกันเสีย ที่นั่นที่นี่เป็นส่วนมากแล้วมันก็ไม่มีทางที่จะเข้าถึงธรรมชาติ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่ทำอะไรเสียเลย คงทำไปได้ตลอดเวลา แต่ว่าทำอะไรก็ขอให้มีสติ รู้สึกตัวอยู่แล้วก็ทำ จะไหว้พระ สวดมนต์ก็ได้ ไม่ใช่ห้าม แต่ว่าต้องเอาเวลาไปทำจิตใจให้เข้าถึงธรรมชาติ แล้ววกกลับมารู้จักความหมายของบท ว่าถ้าสวดมนต์นั้น อย่างยิ่ง อย่างแท้จริง ในเวลาอันสั้นนี้พยายามทำให้เป็นประโยชน์ให้มากที่สุด ทุกวัน ทั้งวันทั้งคืน พยายามให้เป็นประโยชน์ให้มากที่สุด คือทุกอย่างเราจะจัดให้มันเป็นประโยชน์ไปทั้งนั้น ไม่ว่าจะพูด จะเทศน์ จะสอน จะอ่าน จะอะไรก็ให้มันเป็นเรื่องที่มีประโยชน์หรือจำเป็นที่จะต้องรู้
สำหรับเรื่องระเบียบ วินัย อะไรต่างๆ นั้นก็รักษาไว้ ก็ควรจะรักษาไว้ อย่าว่าไม่รู้ไม่ชี้ ขนบธรรมเนียมประเพณีที่เขามีอยู่ก็รักษาไว้ หรือปฏิบัติ เพราะมันเป็นเครื่องทำให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ที่ส่งเสริมให้จิตใจมันก็เป็นระเบียบเรียบร้อยกันด้วย ไม่กระทบกระทั่งกันให้มันเสียเวลา รักษาศีลก็รักษา รักษาระเบียบวินัยทั้งหลายก็รักษา พัฒนาธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณีก็ต้องช่วยกันรักษา มันก็มีเหมือนกัน เอ้ายกตัวอย่างง่ายที่สุดว่าระเบียบหรือประเพณี หรือวินัยของพระอันนี้ ฆราวาสไม่สวดมนต์พร้อมกับพระ ทางฝ่ายพระถ้าทำอย่างนั้นหรือเจตนาทำอย่างนั้นมันก็ไม่ถูก มันมีวินัยห้าม เป็นอาบัติประเภทอภิสมาจาร ไม่ได้มีอยู่ในปาฏิโมกข์หรอก แต่เป็นเรื่องห้ามอยู่ในภิสมาจาร ไม่สวดบ่น หรือว่าไม่สวดร้องท่องบ่น หรือไม่อะไรที่ว่าพร้อมกัน ทางฝ่ายฆราวาส ถ้าทำอย่างนั้น ก็เหมือนจะไม่ได้คิดอะไรนัก ก็ถือว่ามันเป็นเรื่องที่ไม่เคารพ เป็นเรื่องที่ขึ้นไปกระทำเทียมกัน เป็นต้น ทางฝ่ายฆราวาสเป็นอย่างนั้น ซึ่งก็ไม่ดีเลย ทางฝ่ายพระก็เป็นอย่างโน้น พอถ้าพระจัดให้ฆราวาสสวดอะไรพร้อมกัน ทางฝ่ายพระก็ไม่ถูก นี่เป็นวินัยเล็กน้อย และฝ่ายฆราวาสก็เป็นขนบธรรมเนียมประเพณีจะว่าเล็กน้อยหรือใหญ่โตก็ตามใจเถอะ อย่างนี้เป็นตัวอย่างที่เราจะช่วยกันรักษา นี่อย่างนั่งกันนี่ถูก ผู้หญิงนั่งฝ่ายผู้ชายนั่งฝ่าย มันถูก ตามขนบธรรมเนียมประเพณีปู่ย่าตายายของเรามองเห็นประโยชน์ก็จัดขึ้นไว้ และมันก็เป็นสิ่งที่มีประโยชน์จริงด้วย นี่ตัวอย่างการจัด ศึกษาชั้นสูงสุดเป็นหัวใจ พุทธศาสนา เป็นปรมัติ เป็นปฏิบัติ เป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นศีลให้เรื่อยลงมาจนกระทั่งเป็นเพียงขนบธรรมเนียมประเพณี สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยบ้าง เกิดความถูกต้องได้โดยง่ายบ้าง คือความก้าวหน้าอย่างดี คือมันส่งเสริมความเป็นธรรมชาติ ไม่ส่งเสริมการเกิดแห่งกิเลส มันส่งเสริมความสงบลงไปตามแบบของธรรมชาติอันบริสุทธิ์ซึ่งมันจะต้องสงบ พยายามเป็นเกลอกับธรรมชาติให้มาก ค้นพบไป (44.46-44.47) ลักษณะแท้อันจริงหรือภาวะอันแท้จริงของธรรมชาติ เรื่องธรรมชาติแท้ๆ ก็มีอยู่ทั่วไปในวัดนี้ เรื่องครึ่งธรรมชาติจัดไว้ให้เห็น ให้ดู ให้สังเกตนั้นก็มีอยู่พวกหนึ่ง ทีนี้เรื่องมนุษย์ทำขึ้นโดยตรง โดยสมบูรณ์นั้นก็มี ไอ้สิ่งเหล่านั้นก็มี รู้จักสังเกตให้เห็นว่ามันมีอยู่เป็น ๓ ชนิด ก็ถือเอาประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้ให้ได้ครบถ้วน ทั้ง ๓ ชนิด คือธรรมชาติล้วนๆ ตามธรรมชาติ ก้อนไม้ ก้อนดิน ก้อนหิน ก้อนน้ำ นี่ธรรมชาติล้วนๆ และมนุษย์สร้างขึ้นล้วนๆ เช่น ตึกนั้น รูปภาพนั้น รูปปั้น (45.45) ต่างๆ นี่มนุษย์สร้างขึ้นล้วนๆ ที่นี้ที่ครึ่งธรรมชาติ ครึ่งมนุษย์ทำที่เราเรียกว่าดัดแปลงธรรมชาติ ไม่สูญสิ้นธรรมชาติ แต่ก็ไม่ใช่ธรรมชาติเดิมแท้ ที่ตรงโน้นมีสระใหญ่ๆ อยู่สระหนึ่ง มีต้นมะพร้าวอยู่กลางสระ รูปภาพของธรรมชาติ แต่มนุษย์ไปเขียน ไปจัด ไปทำมันขึ้น อย่างนี้เราเรียกว่าครึ่งธรรมชาติ ไปนั่งดูต้นมะพร้าวกับน้ำ พระนิพพานนี่อยู่ท่ามกลางวัฏสงสารหรือความทุกข์นั่นแหละ แต่มันไม่ใช่สิ่งเดียวกัน อย่างนี้เป็นต้น ไปนั่งดู พิจารณาดู มันสร้างขึ้นเพื่อช่วยให้สะดวกให้ง่ายในการพิจารณาธัมมะในชั้นลึก นี่ตัวอย่างในสิ่งที่ไม่ใช่ธรรมชาติแท้ แต่ก็ไม่ใช่มนุษย์ทำทั้งหมด เช่น สระนั้น เป็นต้น ในสวนโมกข์นี่มีอยู่ ๓ ประเภท ธรรมชาติแท้ ครึ่งธรรมชาติ และก็มนุษย์ทำขึ้นล้วนๆ หาประโยชน์จากทั้ง ๓ สิ่งนี้ได้ชั่วเวลาที่พักอยู่ที่นี่ เข้าใจว่าคงจะได้มาก ได้ประโยชน์มาก นี่คือข้อที่จะพูดกันในวันแรกว่าพักอยู่ที่ สวนโมกข์นี้ทำอย่างไรจึงจะได้รับประโยชน์มากที่สุด ก็คืออย่างนี้ เพราะถึงอย่างไรก็คงจะได้ประโยชน์จากการไม่นอนตื่นสาย ข้อแรกที่สุด หรือว่าอย่างน้อยที่สุด มีความอดกลั้นอดทนต่อสู้กับธรรมชาติ หนาว ร้อน หรือยุง ริ้น อะไรต่างๆ ที่มันบอกความจริงได้ ก็เห็นว่าพอจะเข้าใจกันได้แล้ว เป็นที่เข้าใจกันได้บ้างแล้วว่า ทำอย่างไรจึงจะได้รับประโยชน์จากการพักอยู่ที่สวนโมกข์นี้ให้มาก ฉะนั้นก็ขอยุติคำชี้แจงในเบื้องต้นไว้เท่านี้ที ให้ทุกคนพยายามใช้คำชี้แจงนี้ให้เป็นประโยชน์มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ทุกทุกคนเทอญ