แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ที่ตั้งใจไว้ก็อยากจะพูดเรื่องอานาปานสติ แต่ไม่ใช่แบบของพระ อานาปานสติแบบชาวบ้าน แล้วก็ไม่ใช่ชาวบ้านที่คุ้นวัดหรือแก่หง่อม หรือชาวบ้านอย่างนักศึกษา เพราะรู้สึกว่ายังไม่ค่อยเข้าใจ ยังกลัว หรือยังเข้าใจผิดเกี่ยวกับที่เขาเรียกว่าอานาปานสติ หรือเรียกกันอย่างนี้ว่ากรรมฐาน วิปัสสนาอะไรอย่างนี้ และยิ่งได้ยินว่ามีคนเป็นบ้าเพราะอานาปานสตินี้ก็มาก ก็มีจริงๆ เหมือนกัน อานาปานสติที่ถึงกับเป็นบ้า เพราะว่าเขาไปเรียกว่าอานาปานสติ ใครๆ ก็เรียกได้ เมื่อเรียกกันมาว่าอานาปานสติแล้วก็มันก็เรียกอานาปานสติกันเรื่อยไป มีมากแบบ ทีนี้เราก็ไม่ถือเอาแบบเหล่านั้น ถือเอาแบบที่มีในพระบาลีที่เป็นพุทธภาษิตโดยตรงจากคัมภีร์มัชฌิมนิกายในสูตรชื่ออานาปานสติ แม้แต่คำอธิบายของเรื่องนี้ก็ไม่ได้เอาจากอรรถกถาโดยตรง เอาจากข้อความในปฏิสัมภิทามรรคในพระไตรปิฏกนั่นเอง มาจากสังยุตตนิกายในพระไตรปิฏกนั้นเอง แต่ก็พูดถึงเหมือนกันที่ในอรรถกถาหรือในคัมภีร์วิสุทธิมรรคชั้นหลังเขาพูดไว้อย่างไร เอามารวมกันเข้าดู เราก็พบว่าเป็นอย่างไร แล้วก็จัดขึ้นให้มันพิสดารหรือย่อพอสมควรแก่ผู้คนที่ควรจะรู้เรื่องนี้
เอาละทีนี้ก็อยากจะพูดให้นักศึกษากลุ่มพุทธศาสตร์ที่ยังไม่เคยได้ยิน ให้ได้ยิน มันไม่ใช่เรื่องลึกลับ ศักดิ์สิทธิ์ ขลังอะไร มันเป็นเรื่องธรรมชาติ ธรรมชาติแท้ๆ ที่เราเรียนเรื่องวิทยาศาสตร์รู้แล้วทำปฏิบัติมันเป็นเรื่องธรรมชาติอย่างไร เรื่องอานาปานสติกรรมฐานมันก็เป็นอย่างนั้น มันเป็นตามกฏธรรมชาติในลักษณะที่เป็นวิทยาศาสตร์ แล้วก็มีผลไปตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ เพราะว่าร่างกายจิตใจนี้มันก็คือธรรมชาติ อย่าเข้าใจผิด ทีนี้เราไปทำให้ถูกตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ มันก็ทำการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแก่จิตใจ แก่ร่างกาย จนไปอยู่ในสภาพที่ไม่เป็นทุกข์ ฉะนั้นอย่าเข้าใจว่าเรื่องทางศาสนาแล้วมันก็ไปลึกลับ ไปในแบบของไอ้ความลึกลับหรือว่าขลังหรือว่าศักดิ์สิทธิ์อะไรทำนองนั้น มันไม่ใช่อย่างนั้น อาตมาก็เคยเข้าใจผิดๆ อย่างนั้น แต่แล้วก็เดี๋ยวนี้ก็รู้ว่าเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ธรรมดาสามัญ แต่ทำไมมันจึงลึกลับ เพราะว่าคนไม่ค่อยไปเกี่ยวข้องกับมัน ถ้าไปเกี่ยวข้องจนเข้าใจกันดีมันก็กลายเป็นเรื่องไม่ลึกลับ เช่นเดียวกับเรื่องทั้งหลายในทางโลกๆ ในทางวัตถุนี้ เมื่อยังไม่รู้มันก็ลึกลับ พอรู้แล้วมาปฏิบัติกันอยู่ทุกวัน มันก็กลายเป็นของธรรมดา แล้วก็ไม่แปลก อย่างคนสมัยก่อนเรื่องจานเสียงมันดังได้อย่างไร วิทยุมันมาได้อย่างไรนี้ลึกลับเหลือประมาณ เดี๋ยวนี้เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่อง ไม่มีความลึกลับอะไรสำหรับเด็กๆ ไอ้เรื่องกรรมฐาน วิปัสสนานี้ก็เหมือนกัน ความจริงมันไม่ได้ลึกลับ ลึกลับเมื่อยังไม่รู้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องอานาปานสตินี้แล้วไม่มีอะไรลึกลับเป็นไปตามธรรมชาติ จึงอยากจะพูด ขอให้เป็นที่เข้าใจจะมีประโยชน์ มันเป็นวิทยาศาสตร์ธรรมดาสามัญแต่มันเกี่ยวกับทางจิตใจที่เนื่องกันอยู่กับร่างกาย มันก็เป็นวิธีการอันหนึ่งที่จะรักษาโรคทางกาย ทางจิต ทางวิญญาณ อย่างที่เราพูดกันเมื่อตอนกลางวันนั้น ขอให้สนใจสิ่งที่เรียกว่ากรรมฐานหรือวิปัสสนากันให้ถูกตรงตามเรื่องของมันจริงๆ แล้วก็จะไม่มีความลึกลับ แล้วก็ไม่ใช่เป็นเรื่องของศาสนาไปเสียอย่างที่เรียกว่าต้องเทิดทูนไว้เป็นพิเศษ มันเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ ถ้ารู้แล้วใช้ได้ในกิจการประจำวัน
ทีนี้มันเป็นได้อย่างไรก็จะพูดให้ฟัง นับตั้งแต่ชื่อของมันก่อน อานาปานสติแปลว่าสติที่กำหนดอยู่ที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งตลอดเวลา คำว่าตลอดเวลานั้นคือว่าไม่มีว่างเว้น เพราะฉะนั้นจึงว่าทุกครั้งที่หายใจเข้าออก กำหนดอยู่ที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งตลอดเวลาทุกครั้งหายใจเข้าออก นี่คือสิ่งที่เรียกว่าอานาปานสติ ความมุ่งหมายที่เห็นได้ง่ายๆ ก็ว่า ถ้าเราอยากให้จิตใจของเรามีความรู้หรือว่ามีความรู้สึกอะไรที่มีประโยชน์แก่เราอยู่ตลอดเวลาแล้ว เราต้องทำวิธีนี้ นึกยกตัวอย่างเหมือนอย่างว่าเราจะเกลียดใครสักคนหนึ่งให้มันถึงที่สุด เราก็นึกหน้าของเขา นึกเห็นหน้าของเขาแล้วก็นึกถึงความเกลียด ความโกรธ ความชังของเขา แก่เขาอยู่ทุกครั้งที่หายใจเข้าออก ก็ทำกันเป็นชั่วโมงๆ เลย อย่างนี้ความเกลียดมันก็จะฝังเข้ากระดูกดำ ทีนี้ในทางที่เราจะรักจะชอบใจก็เหมือนกันอีกแหละ ให้นึกหน้านึกความดีอะไรของเขาอยู่ทุกครั้งที่หายใจเข้าออกให้มันชัดแจ้งอยู่ในใจนี้ มันก็จะมีความรักที่ฝังแน่น ทีนี้เรื่องอื่นก็เหมือนกันอีก เรื่องกลัว เรื่องเกลียด เรื่องอะไรก็สุดแท้ ถ้าเราอยากจะจำอะไรให้แม่น เราก็เอาสิ่งนั้นมาทำให้ปรากฏชัดในตาข้างใน เรียกว่า Visualize สิ่งนั้นให้เห็นด้วยตาในอยู่เรื่อยทุกครั้งหายใจออกเข้า กำหนดการหายใจออกเข้าพร้อมกับเห็นสิ่งนั้นอยู่เสมอ มันจะจำสิ่งนั้นไม่รู้จักลืม นี่เรื่องทั่วไปกฎธรรมชาติตามกฏที่มันเป็นวิทยาศาสตร์แท้ๆ ทีนี้พระพุทธเจ้าท่านเอามาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ทางธรรม ก็หมายความว่ามันสืบเนื่องมาแต่ว่าเราต้องการจะไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งหลายเพื่อไม่ให้เป็นทุกข์ ทีนี้เราก็ต้องดูสิ่งทั้งหลายในลักษณะที่ไม่น่ายึดมั่นถือมั่นนั้นให้ชัด ก็อยู่ทุกครั้งที่หายใจออกเข้า เรียกว่าอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือว่าไม่น่ายึดมั่นถือมั่น ไม่น่า ก็เรียกว่าจับฉวยเอาด้วยจิตใจ เขาใช้คำกันอยู่ ๓ คำสำหรับคำว่าอุปาทาน อุปาทาน บาลี-ไทยก็ว่ายึดมั่นถือมั่นด้วยความโง่ ด้วยอวิชชา แล้วก็แปลเป็นภาษาฝรั่งมันทำยุ่งตามเคย Thinking บ้าง Attachment บ้าง Grasping บ้าง ฝรั่งก็เข้าใจไม่ค่อยได้เพราะว่ามันกลาง เพราะว่ามันต้องทำด้วยอวิชชา มันจึงจะเรียกว่าอุปาทาน ทีนี้เรามาเห็นว่ายึดมั่นถือมั่นแล้วเป็นทุกข์ก็มาดูอยู่ว่ายึดมั่นถือมั่นแล้วเป็นทุกข์ แล้วก็ระวัง แล้วก็ทำการแก้ไขให้เห็นว่ามันน่าระอาน่าเกลียดไม่ควรจะยึดมั่นถือมั่น มองเห็นให้ว่าไม่น่ายึดมั่นถือมั่นแล้วมาทำไว้ในใจโดยแยบคายทุกครั้งที่หายใจเข้าออก ความยึดมั่นถือมั่นมันจะจางไป จางไป จางไป สักวันหนึ่งมันก็จะหมด นี่สรุปสั้นๆ ว่าเราอยากจะให้จิตนี้ไม่ยึดมั่นถือมั่นเป็นทุกข์ จนเป็นทุกข์
ทีนี้บทเรียนมันก็เกิดขึ้นว่าเราจะบังคับจิตอย่างนั้นในทันทีทันควัน มันทำไม่ได้ เพราะมันยังอยู่ระดับหนึ่ง ที่จะต้องคำว่าอย่ายึดมั่นถือมั่นนี่มันยังทำไม่ได้ เพราะเราบังคับจิตเองก็ไม่ได้ จะบังคับจิตอะไรให้เป็นไปตามต้องการของเราก็มันยังไม่ได้ ฉะนั้นบทเรียนมันจึงลดลงมาจากที่ว่า อย่ายึดมั่นถือมั่น ลงมาถึงว่าเราจะทำการบังคับจิตกันเดี๋ยวนี้ได้อย่างไรนี่ ก็เลยฝึกในตอนต้นที่สุดบังคับจิตให้ได้ก่อน พอบังคับได้แล้วจึงบังคับไม่ให้ยึดมั่นถือมั่น ไม่ให้มีความรู้สึกยึดมั่นถือมั่นอยู่ตลอดเวลานี่ มันก็เกิดผลตามที่ต้องการ นี้เป็นหลักเค้าโครงที่ทำอานาปานสติ ทีนี้มาดูที่ตอนต้นที่สุดว่าจะบังคับจิตให้ได้อย่างไร ทำให้จิตอยู่ในอำนาจของเราได้อย่างไร นี่ก็เริ่มทำอานาปานสติขั้นต้น มันก็น่าอัศจรรย์ น่าประหลาดที่ว่ามันไม่เพียงแต่จะช่วย จะฝึกฝนการบังคับจิตให้อยู่ในอำนาจอย่างเดียว มันกลายเป็นได้ผลอย่างอื่นพร้อมกันไปในตัว คือได้สมรรถภาพอย่างอื่นด้วย ได้ความรู้อย่างอื่นด้วย ได้ผลประโยชน์อย่างอื่นด้วย เพราะว่าบทเรียนขั้นต้นที่สุดก็คือบังคับจิตให้กำหนดอยู่ที่ลมหายใจ แล้วก็ทำให้รู้จักลมหายใจ แล้วทำให้ลมหายใจนั้นอ่อนกำลังในการที่ปรุงแต่งร่างกาย นี่อานาปานสติหมวดที่ ๑ มีความ มีกฏข้อเท็จจริงอยู่อย่างนี้ จะพูดให้มันเป็นเรื่องคราวเดียวเสียก่อน ว่ามันมีหลักตามที่พระพุทธเจ้าท่านมุ่งหมาย ว่าร่างกายกับลมหายใจนี้มันสัมพันธ์กันอยู่เรื่อย จนถึงกับเรียกลมหายใจว่าเป็นกายชนิดหนึ่ง คือไม่แยกจากกายได้ มันเกิดคำว่ากายขึ้น๒ ความหมายหรือหลายความหมาย กายคือเนื้อหนังร่างกายนี้อย่างหนึ่ง แล้วกายคือลมหายใจที่หายใจออกเข้านั้นก็เรียกว่ากายเหมือนกัน กายคือลมหายใจนั้นแหละเนื่องอยู่กับร่างกายนี้ เช่นว่าไม่หายใจ ไม่มีปราณ ไม่มีปานะก็คือตาย ไม่มีลมหายใจก็คือตาย นี่ไม่ใช่พูดอย่างวิทยาศาสตร์อย่างสมัยปัจจุบัน เป็นพุทธศาสตร์ธรรมชาติเท่าที่คนสมัยโบราณรู้ ว่าร่างกายเนื้อหนังนี้หล่อเลี้ยงอยู่ด้วยกายคือลมหายใจ เกิดเป็น ๒ กายขึ้น ต่างฝ่ายต่างเป็นวัฏปัจจัยแก่กันและกัน กายคือลมหายใจหล่อเลี้ยงร่างกาย เมื่อร่างกายมันอยู่ได้ มันก็ทำให้มีการหายใจอยู่ได้ ทั้ง ๒ กายมันสัมพันธ์กันอยู่อย่างนี้ ถ้าไม่ทำการสัมพันธ์กัน มันก็ล้มละลายทั้ง ๒ กายแหละ ก็ไม่ต้องหายใจ ก็ไม่ต้องมีร่างกายอย่างนี้ ฉะนั้นพระพุทธเจ้าตรัสว่าตถาคตเรียกลมหายใจว่ากายชนิดหนึ่งในบรรดากายทั้งหลาย คือกายมีหลายชนิด ข้อเท็จจริงมันมีอยู่ว่าอย่างนี้ กายหายใจกับกายเนื้อหนังนี่ มันเป็นสิ่งที่สัมพันธ์กันอยู่เสมอตามสัดส่วน ถ้าลมหายใจหยาบกายก็หยาบ ถ้ากายหยาบลมหายใจก็หยาบนั่นเอง คือถ้ากายกระวนกระวายลมหายใจก็หยาบ ถ้าลมหายใจหยาบร่างกายก็กระวนกระวาย ทีนี้เราจะทำให้มันหยุดกระวนกระวาย ให้มันละเอียดสุขุมอย่างไร จะบังคับร่างกายโดยตรง มันทำไม่ได้ มัน มันไม่ชัดพอ ก็เลยหันไปบังคับลมหายใจ บังคับลมหายใจให้เป็นของสงบระงับละเอียดลง ไอ้กายนี้ก็เลยเกิดสงบระงับละเอียดลง กายเนื้อหนังนี่ ฉะนั้นจึงเรียกหรือพูดได้ว่าบังคับกายเนื้อหนังผ่านทางลมหายใจ ผ่านทางกายคือลมหายใจ จึงมีวิธีที่จะไปเล่นงานลมหายใจ ให้ลมหายใจอยู่ในอำนาจและให้ละเอียดๆๆๆ ลงไป คือสงบระงับลงไป ไอ้กายนี้ก็พลอยสงบระงับตาม มันก็เกิดความสงบเย็นขึ้นทางกายโดยผ่านทางลมหายใจ บังคับทางลมหายใจ ถ้าลมหายใจละเอียดกายนี้ก็ละเอียด ความร้อนในร่างกายก็ลดลง การไหลเวียนของโลหิต มันก็อ่อนลงเพราะว่าการสูบฉีดของหัวใจมันก็อ่อนลง แต่เราจะไปบังคับหัวใจหรือโลหิตโดยตรง มันทำไม่ได้ แต่ทำได้ทางบังคับลมหายใจ ฉะนั้นลมหายใจมันอ่อนเรียกว่าประณีต ภาษาบาลีเรียกประณีต สุขุมระงับลงเท่าไร ร่างกายนี้ก็จะระงับลงเท่านั้น เลือดก็ฉีดน้อยเข้า อาจจะใช้ห้ามเลือดได้เลย การบังคับลมหายใจตามวิธีอานาปานสตินี้ เพราะว่าถ้าทำไปจนถึงขั้นจตุตถฌานแล้วมันไม่มีการหายใจ และจะไม่มีการสูบฉีดโลหิตด้วยซ้ำไป เพราะอยู่ในฌานนี้ได้เป็นเดือนเป็นอะไรก็ได้ที่จะเข้าสมาบัติ ไม่หายใจไม่มีความรู้สึก ความไหลเวียนของโลหิตน้อยจนแทบจะไม่รู้สึกแต่ไม่ได้ตาย แต่เราก็ไม่ได้มุ่งหมายจะทำถึงอย่างนั้น ทำอย่างนั้นเฉพาะบางคนที่ต้องการอย่างนั้น จะเข้าจตุตถฌาน หยุด หยุดกายสังขารคือการหายใจ หยุดกายสังขารคือหยุดเครื่องปรุงแต่งร่างกายคือหยุดลมหายใจ หยุดเครื่องปรุงแต่งจิตที่เรียกว่าจิตตสังขารคือหยุดความรู้สึกที่เป็น Perception เป็น Feeling เป็นอะไรต่างๆ นี่มันจึงหยุดกันไปหมด เมื่อหยุดหายใจมันก็ต้องหยุดการไหลเวียนของโลหิตด้วยมันจึงจะสมดุลกัน คือว่าโลหิตไม่เป็นพิษ นี่คือใจความว่าบังคับส่วนที่เป็นร่างกายทั้งหมดให้มันระงับลงประณีตลงโดยผ่านทางการบังคับลมหายใจ แล้วก็ทำกายสังขารให้สงบอยู่ทุกครั้งที่หายใจออกเข้า ทีนี้ก็แปลว่าเราบังคับจิตโดยส่วนหนึ่งได้ บังคับร่างกายนี้ได้โดยผ่านทางลมหายใจ ถ้าหัวมันยุ่ง มันรำคาญมันมีทุกข์ร้อนอะไร มันก็ปิดเสียได้โดยวิธีนี้ นี่อย่างนี้จะไม่ถือว่าเป็นวิทยาศาสตร์อย่างไร มันเป็นของเห็นชัดและเป็นตามกฎเกณฑ์ของวิทยาศาสตร์ ตัวอย่างนี้ไม่ใช่บรรลุมรรคผลนะ ขนาดนี้ไม่ใช่ขนาดบรรลุมรรคผล ทำสมาธิขนาดนี้เป็นเรื่องธรรมดาสามัญที่ว่าโยคีมุนีในศาสนาอื่นนิกายอื่นเขาก็ทำได้ และทำได้ก่อนพระพุทธเจ้า แต่พระพุทธเจ้าท่านก็ยอมรับเอามาใช้ System อันนี้ ตอนนี้เอามาใช้ เพื่อจะทำต่อไปให้ถึงมรรคผลนิพพาน ฉะนั้นบทที่ ๑ มันจึงมีเกี่ยวกับเรื่องร่างกายทั้งนั้นแหละ จึงได้เรียกว่ากายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ทุกอย่างเกี่ยวกับร่างกายคือลมหายใจกับร่างกายเนื้อหนัง ทีนี้ก็จะอธิบายให้เห็นชัดอีกหน่อยว่ามันเรียกว่ากายานุปัสสนาสติปัฏฐาน นั้นคืออย่างไร หมวดนี้ก็มีอยู่ ๔ หัวข้อ หัวข้อที่ ๑. รู้จักลมหายใจที่ยาวอย่างทั่วถึง กำหนดว่าลมหายใจยาวเป็นอย่างไร สังเกตกำหนด สังเกตพิจารณาแล้วก็หายใจให้มันยาวอยู่ แล้วก็สติก็กำหนดตามอยู่ในเรื่องลมหายใจที่มันยาวอยู่ ทำไปเรื่อยๆ จนกว่าจะรู้จัก Nature ของลมหายใจยาวถึงที่สุด หมายความมันรู้ว่ายาวอย่างไร เมื่อยาวนั้นอะไรเป็นอย่างไร อะไร เนื้อตัวเป็นอย่างไร จิตใจเป็นอย่างไรนั่น อิทธิพลของลมหายใจยาวมีผลต่อร่างกายนี้อย่างไร มันรู้หมดเลย ขั้นที่ ๑ ทำให้รู้เรื่องลมหายใจยาวและสิ่งที่เนื่องกันอยู่กับลมหายใจยาว กระทั่งข้อเท็จจริงต่างๆ ของลมหายใจยาว ก็นั่ง นั่งสมาธิไม่กำหนดอะไรนอกจากว่าการหายใจที่ยาวทุกครั้งที่ออกเข้าๆๆๆ ไม่ให้จิตหนีไปทางอื่นด้วย มันรู้เรื่องลมหายใจด้วยและทำจิตให้มันสงบเป็นสมาธิอยู่ตรงนี้ได้ด้วย ทีนี้ขั้นที่ ๒ ที่จะดูลมหายใจสั้นกันบ้าง ขอให้ดูอย่างเดียวกับยาว แต่ดูในลักษณะที่มันสั้น เพื่อให้รู้ว่าสั้นกับยาวมันต่างกันอย่างไร และอิทธิพลจากลมหายใจที่สั้นมันเป็นอย่างไร ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลมหายใจสั้นเป็นอย่างไร ก็เลยรู้เรื่องดีเกี่ยวกับลมหายใจสั้น เรียกว่าธรรมชาติ ธรรมดา Nature ความลับอะไรของลมหายใจสั้นและยาวนี้รู้ดี ทีนี้ขั้นที่ ๓ เขาเรียกว่ารู้กายทั้งปวง ไม่ใช้คำว่าลม ใช้คำว่ารู้จักกายทั้งปวง สัพพะกายะปะฏิสังเวที อัสสะสิสสามีติ สิก ขะติ ศึกษาลมหายใจสั้นยาว เข้าอยู่ ออกอยู่ แล้วก็รู้ว่าลมหายใจนี้ปรุงแต่ง ร่างกายนี้ สัพพกายปฏิสังเวที รู้กายทั้งปวงคือกาย ๒ กายนี้ กายคือลมหายใจกับกายเนื้อหนังนี้สัมพันธ์กันอย่างไรก็เหมือนอย่างที่ว่าเมื่อกี้ ก็ได้ความว่ารู้หน้าที่ของลมหายใจที่ปรุงแต่งกาย หรือรู้จักกายเนื้อๆ นี้ที่มันอยู่ใต้อำนาจของกายคือลมหายใจ นี่ข้อเท็จจริงที่ต้องรู้ ให้เรารู้แจ่มแจ้งในข้อนี้เสียก่อนว่ากายกับลมหายใจนี้มันสัมพันธ์กันอยู่อย่างนี้ ขึ้นได้กัน ลงด้วยกัน หยาบด้วยกันละเอียดด้วยกัน นี่ว่าขั้นที่ ๓ นั่งดูอย่างนี้จนเห็นชัด เป็นความรู้ที่ละเอียดลงไปด้วย ลึกลงไปด้วย แล้วก็บังคับการหายใจที่ละเอียดตามขึ้นไปด้วย ทีนี้ขั้นที่ ๔ เรียกว่า กายะ สังขารัง ปัสสัมภะยัง ปัสสะสิสสามีติ ทำกายสังขารคือลมหายใจเรียกว่ากายสังขาร ให้ระงับลง ให้ระงับลง ให้ระงับลง หายใจออกอยู่ หายใจเข้าอยู่ด้วยการทำกายสังขารคือลมหายใจนี้ให้ระงับลง ระงับลง หมายความว่าเราผ่อนให้ Adjust ให้ลมหายใจนี้มันละเอียดลง ละเอียดลง ละเอียดลงนี้หมายความว่ามันยาวอย่างยาวพอดี แล้วมันละเอียดน่ะคือแทบจะไม่รู้สึก มันต้องปรับปรุงทุกอย่างแหละ ให้ลมหายใจละเอียดลงนี้ มันก็เลยระงับ เรียกว่าสงบระงับคือเย็นลง แล้วร่างกายนี้ก็เย็นลง ก็เกิดความรู้สึกที่เป็นสุข มันมีวิธีที่เป็นเคล็ดหรือเป็นอุบายหลายๆ อย่าง แต่ว่าอย่างที่จะเข้าใจได้ง่ายๆ ก็คือว่าเป็นอุบายที่ทำให้ลมหายใจละเอียดอย่างตามกฎของธรรมชาติที่สุดเลย ครั้งแรกกำหนดลมหายใจ นี่หมายถึงขั้นที่ ๔ นะที่จะทำลมหายใจให้ละเอียด ให้ร่างกายมันละเอียดตาม ระงับตาม เราต้องนั่งให้เหมาะสม นั่งให้เหมาะสมคือว่านั่งให้มันล้มยาก เพราะฉะนั้นผู้ชายก็ลองนั่งดู นั่งเหยียดขาออกไปก่อน เหยียดขาออกไปตรงๆ ก่อน แล้วก็ชักขาซ้ายเข้ามาก่อนแล้วชักขาขวาเข้ามา มันจะอยู่ในสภาพอย่างนี้ นี่มันมีลักษณะที่ว่านี้มันเป็นฐาน เป็นฐานที่จะรองรับข้างบนนี้ไม่ให้มันล้ม ถ้าเรานั่งอย่างอื่นมันไม่เป็นฐาน มันจะล้มจึงต้องนั่งอย่างนี้ เขาเรียกว่าบรรลังค์ บรรลังกัง การคู้เข้ามาโดยรอบซึ่งขา ทีนี้อย่างนี้ก็ยังไม่ ไม่ Compact คือไม่แน่นแฟ้น มันจึง นี่คอยดูนะ อันนี้อยู่นี่ อันนี้ขึ้นมาบนนี้ อย่างนี้เขาเรียกว่าดีกว่า อย่างนี้เรียกว่า Lotus seat ที่เขาแปลจากภาษาสันสกฤต ปัทมาสนะ เป็น Lotus seat นั่งดอกบัว ท่านั่งดอกบัวนี่ มันดีขึ้นกว่าเก่า Compact ขึ้น นี้ถ้าต้องการดีกว่านี้ก็เอาอันนี้ขึ้นมาบนนี้สิ เป็น Diamond seat อย่างนี้ล้มไม่ได้แล้ว ล้มไม่ได้แล้ว มันขัดกัน ทีนี้พอทำอย่างนี้เป็นปีรามิดเลย ล้มไม่ได้ ล้มหน้าก็ไม่ได้ ล้มหลังก็ไม่ได้ แล้วไม่มีกระดูกส่วนไหนถูกพื้น ดูเถอะนี่ ไม่มีกระดูกส่วนไหนถูกพื้น ตาตุ่มก็ไม่ถูก เข่าก็ไม่ถูก กล้ามเนื้อทั้งนั้นลงอยู่ข้างล่าง มันก็เลยเป็น Compact อย่างปีรามิดล้มไม่ได้ พอถึงในระยะที่เป็น Subconscious มันไม่ล้ม ถ้านั่งเก้าอี้ก็มันล้มคะเมนหกคะเมนไปเลย อย่างนี้มันล้มไม่ได้ตามธรรมชาติมันล้มไม่ได้ นี่มันอยู่ข้างบนหมดนะ ตาตุ่มไม่ลงไปถูกพื้นนะ เข่ากระดูกเข่าไม่ถูกพื้น ข้างล่างมันเป็น Cushion ในตัวตามธรรมชาติเลย นั่ง 24 ชั่วโมงก็ได้ ถ้ามันเมื่อยนักทำอย่างนี้ทีเดียวหาย ทำอย่างนี้ทีเดียวหาย อย่างอเข่าสิ อย่างอข้อศอกสิ อย่างอข้อศอก นี่จะไปทางไหนก็อย่างอข้อศอกสิ กระดูกตรง กระดูกสันหลังตรงนั่นคือความประสงค์ นั่งอย่างนี้กระดูกสันหลังตรง นั่งอย่างอื่นกระดูกสันหลังไม่ตรง พอกระดูกสันหลังตรง การหายใจนี้สมบูรณ์ตามธรรมชาติ ตัวตรงกระดูกสันหลังตรง การหายใจสมบูรณ์สะดวกคล่องตามธรรมชาติ นี่มันตระเตรียม แล้วก็แก้ไขจมูกให้มันหายใจสะดวกมาแต่ก่อนด้วย สั่งขี้มูกให้มันสะดวกให้หมด คนธรรมดาอย่าเข้าใจว่าจมูกของตัวสะดวกเหมือนกันทั้ง ๒ ช่องนะ ลองดูสิ หายใจทางนี้ทีสิ หายใจทางนี้ทีสิ ไม่เท่ากันหรอก มันไม่เท่ากันหรอก ไปแก้ไขให้เท่าเสีย ถ้าอันนี้มันไม่ค่อยจะยอมสะดวกแล้วก็สูดน้ำเข้าไปแล้วสั่งออกมา สูดน้ำเข้าไปแล้วสั่งออกมาหลายๆ หนเข้ามันจะโล่ง เหมือนฝ่ายที่มันโล่งกว่า ก็จะได้ปล่อยไปตามธรรมชาติ ไม่ต้องนั่นนี่นัก
ทีนี้เราเริ่มกำหนดลมหายใจ ขั้นแรกก็เรียกว่าวิ่งตาม ขั้นที่ ๑ ระยะที่ ๑ เรียกว่าหัดวิ่งตาม ลมหายใจวิ่งเข้าวิ่งออก วิ่งเข้าวิ่งออกอยู่นี่ สมมตินะ คล้ายๆ กันมันเป็นวัตถุ พอหายใจเข้ามันกระทบที่นี่ แล้วมันก็ให้รู้สึกว่าลงไปนี่ถึงสุด สมมติว่าที่สะดือนี่ สมมติ เมื่อหายใจออกมันตั้งต้นที่สะดือแล้วมันก็ออกมา มาสุดความรู้สึกที่ปลายจมูกนี่ อันนี้เป็น Terminal อันหนึ่ง อันนี้เป็น Terminal อันหนึ่ง หายใจเข้าตั้งต้นที่นี่ ตรงที่นี่ หายใจออกตั้งต้นที่นี่ สุดที่นี่ ทีนี้ก็มีอาการสมมติว่าเหมือนกับวิ่งตามอย่างนี้เรื่อยไป แล้วก็วิ่งตาม ครั้งแรกก็หัดหายใจแรงๆ ยาวๆ หยาบๆ ให้เกิดเสียงได้ก็ยิ่งดี ซูดซาดๆ ด้วยมันจะช่วยทางหูให้กำหนดได้ง่ายขึ้น แต่แล้วเดี๋ยวมันก็จะระงับลงจนไม่มีซูดซาด แล้วมันก็อ่อนลง อ่อนลง จนกว่ามันจะไปอยู่ในระดับที่ปกติ ขั้นที่ ๑ วิ่งตามก็สมมติเหมือนกับว่ามีอะไรสุนัขไล่เนื้อวิ่งตามอยู่นี่ หัดกันสักกี่ชั่วโมงหรือกี่วันก็ตามใจ จนกว่าจะทำได้ กำหนดสติคอยวิ่งตามอย่างนี้ นี่เป็นขั้นที่ง่ายที่สุด มันหนียากเพราะมันวิ่งตามอยู่นี่ ถ้าทำไม่ได้ก็อย่าเพิ่งท้อถอย อุตส่าห์ทำไป จะเป็นการบังคับจิตได้ขั้นแรก ขั้นแรกคือว่าจิตมันวิ่งตามลมอยู่อย่างนี้ วิ่งตามเข้าแล้วออก วิ่งตามออก วิ่งตามเข้า วิ่งตามออก วิ่งตามเข้า ธรรมดามันทำไม่ได้หรอก มันหนีไปเสีย มันไม่มาวิ่งตามอยู่ ต้องทำไปจนทำได้ ทีนี้เมื่อทำได้แล้วทีนี้ก็เลื่อนชั้นให้มันดีกว่านั้น ก็คือไม่วิ่งตามแล้ว จะเฝ้าดูอยู่ที่แห่งหนึ่ง ที่จมูก ช่องจมูก อันนี้มันก็ยากเพราะเวลาที่ไม่ได้กำหนดมันมีอยู่ยาว มันอาจจะหนีไปเสียตอนนั้น เพราะถ้าทำขั้นที่ ๑ ไม่ได้ทำขั้นที่ ๒ ไม่ได้แน่ ถ้าทำขั้นที่วิ่งตามนี้ไม่ได้อยู่ในอำนาจแล้วก็ขั้นที่ ๒ ก็จะเฝ้าดูที่แห่งหนึ่งก็ทำไม่ได้ ถ้าทำได้ไปตามลำดับมันก็ทำได้ เฝ้าดูอยู่ที่ตรงนี้ เมื่อมันเข้าไปแล้วก็แล้วไปจนกว่ามันจะออกมา แล้วมันก็กลับเข้าไปอีก เรียกว่าเป็นนายประตู ไม่วิ่งตามแล้ว เฝ้าดูอยู่ที่ประตู นี่ขั้นวิ่งตาม กำหนดอยู่ที่จุดนั้นจุดหนึ่ง เฝ้าดูอยู่ที่จุดนั้น ถ้าทำได้เต็มที่อย่างนี้ละก็ เรียกว่าเราเก่งขึ้นมา ๒ ชั้นแล้วนะ เก่งกว่าที่คนธรรมดาเขาเป็นกัน คือเราบังคับจิตหรือสติหรือแล้วแต่จะเรียก ให้ทำอย่างนี้ได้ ทีนี้มันก็เป็นสมาธิขึ้นมาอันดับแรกๆ เพียงแต่เท่านี้มันก็เป็นสมาธิอันดับแรกๆ ใช้ประโยชน์ได้มาก จะหาความสุข หาความพักผ่อน หาความปลดเปลื้องความวิตกกังวล เพียงเท่านี้ก็ได้รับผลแล้ว แต่ว่าผลที่เขาต้องการไม่ใช่เพียงเท่านี้ เขาต้องการจะให้ไปไกลกว่านี้ ให้ไปถึงฌานถึงสมาธิชั้นเป็นสมาบัติโน้น ฉะนั้นก็เล่าย่อๆ ว่าขั้นที่ ๓ หลังจากที่เฝ้าดูเฉยๆ ตรงนี้ จุดที่ตรงนี้ที่มันสมมตินี้ เขาทำ Visualize คือว่าให้มันเห็นอะไรที่จุดตรงนั้น เป็นจุดขึ้นมา เป็นดวงขึ้นมา เป็นอะไร เป็นดวงขาวขึ้นมา ดวงอะไร ก็แล้วแต่มันจะโผล่มาก่อน มันจะเหมือนกับหลอดไฟมาอยู่ที่ตรงนี้ก็ได้ หลอดไฟฟ้าหรือว่าดวงอาทิตย์เล็กๆ ดวงจันทร์เล็กๆ อะไรก็ มัน Visualize ขึ้นมา อย่าง Imagination Imagine มันขึ้นมา ถ้าทำได้อย่างนี้ มันก็เรียกว่าเก่งขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง ก่อนนี้มันกำหนดได้ที่เนื้อๆ โดยตรง เดี๋ยวนี้มันไม่ได้กำหนดที่เนื้อ มันสร้างภาพมโนภาพอะไรขึ้นมาแทน ก็เรียกว่าเราเก่งในทางสร้างจิต บังคับจิตได้ตามที่เราต้องการมากขึ้น เราไม่เพ่งเนื้อหนังตรงนี้แล้ว เราเพ่งไอ้ดวงใหม่นั้นแหละ มันจะเป็นดวงอะไรขึ้นมาก็ตามแต่มัน มันไม่ใช่ของจริงที่จะเป็นที่พึ่งอะไรได้ แต่ว่ามันช่วยให้เราทำจิตให้เป็นสมาธิ เป็นอุบายเท่านั้นเอง เพียงเท่านี้ยังไม่เก่งถึงที่สุด ไอ้ดวงที่เราเพ่งเห็น Visualize ขึ้นมา เป็น Imagination แล้ว สมมติว่าเป็นดวงขาวเล็กๆ อยู่ที่นี่ เหมือนกับดวงแก้วตามแสงแดดเล็กๆ นี่ยังเป็นของนิ่ง เขาเรียกว่าอุคคหนิมิต เป็น Static คือว่านิ่งเฉยๆ ทีนี้เก่งกว่านั้นก็คือน้อมจิตไปให้สิ่งเหล่านี้ ให้สิ่งที่เห็นนี้เปลี่ยนแปลง ให้มันเปลี่ยนขนาด เปลี่ยนสี เปลี่ยนอิริยาบถ ให้ลอยออกไป ให้เข้ามา ให้ใหญ่ขึ้นและเล็กลง พอจิตน้อมไปอย่างไรมันเป็นอย่างนั้น ภาพที่เห็นมันเป็นอย่างนั้น ตรงนี้ต้องบอกไว้ก่อนอย่าเพ้อไปหลงว่าเป็นคุณวิเศษนะ เดี๋ยวจะได้บ้า ไม่ใช่คุณวิเศษ ไม่ใช่ของวิเศษ เป็นของเป็นไปตามธรรมชาติ แต่มันพิสูจน์อยู่ในตัวว่าเมื่อเราบังคับได้อย่างนี้ เราเป็นนายเหนือจิตมากถึงขนาดนี้แล้ว ให้จิตมันเห็นอย่างนี้แล้วบังคับได้ ให้เห็นเป็นจุดเป็นนิมิตดวงนี้แล้วยังบังคับให้เปลี่ยนสีเปลี่ยนรูปร่างเปลี่ยนอิริยาบถอีก เป็น Dynamic ไวที่สุด อย่างนี้เขาเรียกว่าปฏิภาคนิมิต เมื่อตะกี้เรียกอุคคหนิมิต เด่นที่ตาขึ้นมาเฉยๆ นิ่งๆ เดี๋ยวนี้เคลื่อนไหวได้ บังคับน้อมจิตไปอย่างไรจะเป็นอย่างนั้นทันที นี่เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าเดี๋ยวนี้การฝึกฝนจิตนี้มาถึงขั้นที่จะทำให้เกิดฌานได้แล้ว ฉะนั้นจึงจัดแจงให้ดี ให้มีความรู้สึกของการหายใจออกเข้าอยู่อย่างสม่ำเสมอ แล้วนิมิตนี้ก็ปรากฏ ดีแล้วก็น้อมจิตไปในทางที่ให้เกิดความรู้สึกว่าเรากำลังกำหนดนิมิตนั้นอยู่ ก็รู้แจ้งทั่วถึงในนิมิตนั้น รู้สึกในความสำเร็จที่กระทำได้ ก็เกิดปีติ ความรู้สึกที่เป็นปีติพอใจก็แสดงออก พอรู้สึกได้ รู้สึกเป็นสุขก็รู้สึกด้วย แล้วก็รู้ว่าเดี๋ยวนี้จิตไม่มีอารมณ์อื่นนอกจากสิ่งนี้สิ่งเดียว ก็รู้สึกด้วย นี่เขาเรียกว่าปฐมฌาน ฌานทีแรก มีวิตก วิจารณ์ ปิติ สุข เอกัคคตา เท่านี้ก็พอแล้วสำหรับคนธรรมดา ก็เรียกว่าเก่งเหลือประมาณแล้ว เพราะว่าต่อไปจากนี้ก็ไม่มีอะไร มีแต่ปลดไอ้ความรู้สึก ๕ อย่างให้เหลือน้อยลง น้อยลง ก็เป็นฌานที่ ๒ ฌานที่ ๓ จนถึงฌานที่ ๔ จตุตถฌานที่ว่าไม่มีการหายใจ ไม่มีความรู้สึก นี่แนวสังเขปของทั้งหมดมันมีเท่านี้ เรื่องเกี่ยวกับกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน บังคับการหายใจที่เนื่องกันอยู่กับกายจนมีความสงบระงับถึงขนาดนี้ ขั้นที่ ๑ กำหนดลมหายใจยาว ขั้นที่ ๒ กำหนดลมหายใจสั้น จนรู้จักมันดีแล้ว ขั้นที่ ๓ รู้จักหน้าที่ของมันที่ปรุงแต่งร่างกาย ขั้นที่ ๔ ทำให้มันระงับหรืออ่อนกำลังลงในการที่จะปรุงแต่งร่างกายให้กำเริบ หรือให้กระสับกระส่าย มันจึงสงบระงับถึงขนาดที่เรียกว่าฌาน เมื่อมีการบังคับจิตได้ถึงขนาดนี้ ต่อไปจะทำอย่างไรก็ได้ จะหาความสุขล้วนๆ เฉยๆ เท่านี้ก็พอ ก็ได้ หรือว่าจะคิดไปในทางจะหาอิทธิฤทธิ์หรือวิธีอย่างอื่นก็ได้ หรือว่าจะฝึกไปทำในอาสวะกิเลสให้สิ้นก็ได้ หรือเอาแต่เพียงว่าธรรมดาสามัญนี้ใช้ประโยชน์ได้มากแล้ว แก้ปวดหัวได้ แก้อารมณ์หงุดหงิดได้ เกิดปัญหาขัดข้องขึ้นมานอนไม่หลับก็ทำได้ อย่างที่ต้องไปกินยานอนหลับหรืออย่างที่ไปกระโดดน้ำตายก็ตามใจ การทำอย่างนี้มันช่วยปัดเป่าออกไปจากจิตใจได้ หรือว่าเรามีบาดแผลเลือดไหล ทำอย่างนี้มันไหลอ่อนลง ก็หยุดได้ เลือดมันไหลอ่อนลงมันหยุดได้ เพราะความฉีดความดันมันน้อยลง พูดถึงอนามัยก็จะดีขึ้นมาก เพราะว่ามีการหายใจที่ดีมาก ร่างกายก็ดีมาก นี่อานาปานสติหมวดที่ ๑ บังคับกายล้วนๆ มีอยู่ ๔ อย่างอย่างนี้ เพียงเท่านี้ก็มีค่ามาก ต้องการความสุขก็เท่านั้นแหละ ก็ได้ ความสุขที่นี่เดี๋ยวนี้ จะแก้ปัญหาเล็กๆ น้อยๆ อะไรก็ได้ เรื่องให้เรียนเก่ง ให้จำเก่ง ให้มีจิตใจอยู่ในอำนาจแล้วก็แก้ได้ด้วยปัญหาเหล่านี้ ด้วยการกระทำอย่างนี้
ทีนี้พอไปหมวดที่ ๒ เขาเรียกว่าเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน เมื่อทำหมวดที่ ๑ ได้ดีแล้วก็ทำต่อไป จะไปหาความสิ้นอาสวะนั่น ทีนี้จะบังคับจิตโดยตรง ไม่ใช่บังคับจิตโดยผ่านทางร่างกายแล้ว เขาเรียกว่าเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ขั้นที่ ๑ เอาตัวความสุขเวทนาของหมวดที่ ๑ มากำหนด เรียกว่า ปิติ ปิติที่เกิดขึ้นเพราะเราทำไอ้นั่นสำเร็จ ขั้นปฏิบัติสำเร็จเกิดปิติขึ้น หรือปิติในองค์ฌานนี้เอามาพิจารณาเรียกว่าปิติปฏิสังเวที รู้สึกต่อปิติให้ซึมซาบ ให้เอิบอาบ ให้เป็นสุขด้วยปิติ ด้วยเป็นสุขด้วยความพอใจเรียกว่าปิติ แล้วขั้นที่ ๒ กำหนดตัวที่มันเป็นความสุข ๒ ตัวนี้แยกกันยากเรียกว่าปิติคำหนึ่ง เรียกว่าสุขคำหนึ่ง ปิติคือพอใจ ถ้าพอใจก็ต้องเป็นสุข พอใจเรียกว่าปิติ สุขเรียกว่าสุข ชั้นแรกก็กำหนดปิติปฏิสังเวที กำหนดที่ปิติ ขั้น ๒ สุขปฏิสังเวที กำหนดความสุข เช่นเดียวกับเรากำหนดลมหายใจยาวหายใจสั้นจนรู้ลักษณะหรือ Nature ของมันดี ขั้นที่ ๓ จึงดูว่าอ้าว, ไอ้นี่เองที่ว่ามันปรุงแต่งจิต เวทนาคือปิติ เวทนาคือความสุข นี่ปรุงแต่งความนึกคิดให้คิดนึกอย่างนั้นอย่างนี้จนกระทั่งไปโลภ โกรธ หลง ว่าที่จะควบคุมอำนาจของไอ้เวทนาพวกนี้เสีย ขั้นที่ ๔ ก็ควบคุมอำนาจของปิติและสุขที่ปรุงแต่งจิต เดี๋ยวจะเฝือนว่าหมวดที่ ๒ นี้ ขั้นที่ ๑ กำหนดที่ปิติคือความพอใจ ดื่มรสของความพอใจอยู่เต็มที่ แล้วขั้นที่ ๒ ก็ดื่มรสของความสุขอยู่เต็มที่ ขั้นที่ ๓ รู้ว่า๒ อย่างนี้มันปรุงแต่งจิต ขั้นที่ ๔ ก็ควบคุมการปรุงแต่งจิตของมันอย่าให้ปรุงได้ ให้ปรุงน้อยลง อารมณ์ที่เป็นสุขเรียกว่าเวทนา แล้วปรุงแต่งจิตให้คิดนึกไปตามความรู้สึกที่ยึดมั่นถือมั่นในความสุข ข้อนี้ต้องพูดกันถึงเรื่องหลักทั่วไปว่าคนเรานั้นมันเป็นทาสของเวทนา ดูเหมือนเคยพูดแล้ว ในโลกนี้หรือในโลกเทวดาในโลกไหนก็ตามเป็นทาสของเวทนาทั้งนั้นแหละ สัตว์เดรัชฉานมันก็ต้องการสุขเวทนาก็เป็นทาสของเวทนา มนุษย์ก็เป็นต้องการสุขเวทนาก็เป็นทาสของสุขเวทนา เทวดาก็อย่างนั้นแหละ ฉะนั้นถ้าเราไม่เป็นทาสของเวทนา รู้จักเวทนา ไม่หลงในเวทนา มันก็สบายแหละ เดี๋ยวนี้เราจะทำไม่ให้เวทนานั้นมาเป็นนายเหนือจิต เมื่อรู้ว่าเวทนาเป็นตัวปรุงแต่งจิต ก็บีบบังคับกำลังของเวทนานั้น อย่าให้มันปรุงแต่งจิตอย่างที่เรียกว่าไปตามธรรมชาติ เมื่อเราบังคับกำลังของเวทนาได้ จิตมันก็ถูกปรุงแต่งน้อยแหละ ดังนั้นขั้นที่ ๔ ก็ทำอย่างนี้ คือพิจารณาคิดนึกหรือว่าสังเกตก็ได้ ว่าทำอย่างไหนกำลังของเวทนามันถอยลงไปนี่ โดยหลักใหญ่ก็พิจารณาให้เห็นว่าไอ้สิ่งที่เรียกว่าเวทนานี้มันหลอกลวง มันมายาหลอกลวง สุขเวทนาก็ตาม ทุกขเวทนาก็ตาม ทุกข์หรือสุขก็ตามมันหลอกลวง พอรู้สึกว่าหลอกลวงแล้วมันก็สังเวชสลด ไอ้เวทนาก็ถอยกำลังในการที่จะกระตุ้นจิตให้เตลิดเปิดเปิงไปสู่ โลภะ โทสะ โมหะนี่อย่างนี้ เราจึงสำเร็จใน ประสบความสำเร็จในการบังคับเวทนาที่ปรุงแต่งจิต หมวดนี้ทั้งหมวดเขาเรียกว่าเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน มองดูในแง่วิทยาศาสตร์สิ มันจะเป็นวิทยาศาสตร์ทางจิตลึกเข้าไปทุกที หมวดกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน มันเป็นเรื่องวัตถุอยู่มาก คือลมหายใจกับเนื้อหนังนี่ เราทำให้สงบระงับที่ลมหายใจและเนื้อหนังจนมีความสุขทางร่างกายตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ตามวิถีทางวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ พอมาหมวดที่๒มันเลื่อนเข้ามายังความรู้สึกทางจิตใจ ไอ้ Feeling ไอ้เวทนานั้นแหละ มันกระตุ้นให้เกิดความคิดนึกที่เป็นตัวจิต ไอ้พวก Thought พวก Consciousness อะไรต่างนี่มัน มันถูก Condition โดยสิ่งที่เรียกว่า Feeling ทีนี้ควบคุม Feeling ทำให้มันสงบระงับ ทีนี้มันไอ้จิตมันก็ไม่ถูกปรุง ไม่ถูกกระตุ้น มันจึงอยู่ในสภาพที่ไม่ฟุ้งขึ้นมา ความคิดนึกที่เรียกว่าโลภะ โมหะ โทสะ นี่ก็เรียกว่าหมวดที่ ๒ เป็นเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน
ทีนี้ทำต่อไปก็หมวดที่ ๓ ทีนี้เล่นงานกับจิตโดยตรงยิ่งขึ้นไปทุกที หมวดที่ ๒ เล่นงานกับสิ่งที่ปรุงแต่งจิตคือเวทนา พอหมวดที่ ๓ คือจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานนี้ เล่นงานโดยตรงกับจิต เพราะว่าในหมวดที่ ๒ มันบังคับสิ่งที่ปรุงแต่งจิตได้อยู่แล้ว ปรุงแต่งจิตอยู่ได้บังคับจิตอยู่ได้โดยปริยายแล้ว โดยอ้อมแล้ว พอมาถึงหมวดที่ ๓ ที่ว่าจิตตานุปัสสนานี้บังคับจิตโดยตรงเลย ขั้นที่ ๑ มาดูว่าจิตกำลังเป็นอย่างไร จิตกำลังเป็นอย่างไรนี้มันมีได้มาก จิตกำลังมีโลภะหรือไม่มีโลภะ จิตกำลังมีโทสะหรือไม่มีโทสะ จิตกำลังมีโมหะหรือไม่มีโมหะ จิตกำลังผ่องใส จิตกำลังซบเซามืดมัว เขามีรายบัญชีให้สังเกตทดสอบตั้ง ๘ คู่ ๘ คู่ก็ ๑๖ อย่าง จิตเศร้าหมองหรือไม่เศร้าหมอง จิตผ่องแผ้วหรือไม่ผ่องแผ้ว จิตดีเป็นที่พอใจถึงที่สุดหรือว่ายังไม่ถึงที่สุด นี่เพียงแต่ดูว่ามันกำลังเป็นอย่างไรขั้นที่ ๑ ที่ว่าขั้นที่ ๒ก็ลองบังคับมันดูว่า อ้าว, อยู่แต่ในสภาพที่ปราโมทย์ปิติบันเทิงเริงรื่นตามภาษาอังกฤษนะ อ้าว, มันก็ได้อีก ขั้นที่ ๓ ถัดไปก็หยุด นิ่ง แน่ว เป็น Safety Stable มีหยุด ตั้งมั่น ก็ได้อีก ขั้นที่ ๔ ปล่อยสิ่งที่มาหุ้มรุมจิต หรือให้จิตปล่อยจากสิ่งนั้นให้สิ่งนั้นหลุดไปจากจิตก็ตามใจ เรียกว่าไอ้จิตมันปล่อยความรู้สึกคิดนึกที่กำลังรู้สึกอยู่ในจิต โดยมากก็เป็นพวกนิวรณ์ อ้าว, ก็ได้อีก มันก็เลยเป็น ๔ขั้นในการทำกับจิตโดยตรงนี้ หมวดที่ ๓ ทำกับจิตโดยตรง เมื่อถึงที่สุดแล้ว มันก็พิสูจน์อยู่ในตัวแล้วว่าเดี๋ยวนี้เรามีอำนาจเหนือจิตถึงขั้นที่เรียกว่าสมบูรณ์แล้ว จิตจะเป็นคนรับใช้เราแล้ว ถ้าทำได้อย่างในหมวดที่ ๓ นี้ คือใช้ให้บันเทิงก็บันเทิงคือพอใจบันเทิง ให้หยุดก็หยุดได้ ใช้ให้สลัดปล่อยสิ่งที่มารบกวนจิตก็ปล่อยได้ นี่เครื่องหมายว่าเราชนะจิต ก็เลื่อนไปหมวดที่ ๔ เอาจิตที่ดีแล้วอย่างนี้มาพิจารณาความไม่เที่ยง เรียกว่าอนิจจานุปัสสี ดูความไม่เที่ยงนี้ไม่ต้องดูข้างนอกหรอก ไม่ต้องดูโลกดูอะไรข้างนอกหรอก ดูข้างในทั้งหมดเลย ลมหายใจยาวก็ไม่เที่ยง ลมหายใจสั้นก็ไม่เที่ยง กายสังขารสงบระงับนี้ก็ไม่เที่ยง เดี๋ยวก็เปลี่ยนอีก เวทนาทั้งหลายที่รู้สึกมาแล้วก็ไม่เที่ยง จิตอย่างนี้ก็ไม่เที่ยง จิตอย่างนั้นก็ไม่เที่ยง จิตตั้งมั่นก็ไม่เที่ยง ดูแต่ความไม่เที่ยงของสิ่งทั้งปวงนี้ แล้วมันไปสำคัญที่ดูเวทนาเป็นของไม่เที่ยง สุขหรือทุกข์หรือไม่สุขไม่ทุกข์ล้วนแต่ไม่เที่ยง นี่จะเห็นอนิจจานุปัสสีทุกครั้งที่หายใจออกเข้าดีขึ้น ดีขึ้น ดีขึ้น พอถึงขนาดแล้วมันจะให้เกิดขั้นที่ ๒ ต่อไปคือว่าวิราคานุปัสสี คือคลายจากความรัก ความยึดถือ ความที่มันไปยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดนั้น เขาเรียกว่าวิราคานุปัสสี ขอให้เห็นในส่วนอนิจจังคืออนิจจานุปัสสีให้มากแล้ววิราคานุปัสสีจะเกิดเอง ทีนี้เราก็ดูส่วนที่มันเป็นวิราคะ คือเดี๋ยวนี้จิตมันคลายจากความยึดมั่นถือมั่น เห็นอยู่อย่างนั้น เห็นความที่มันคลายจากความยึดมั่นถือมั่น ที่มันคลายจากความยึดมั่นถือมั่น มันหยุด มันดับ มันเย็นลงไปเอง นี่เขาเรียกว่านิโรธานุปัสสี เมื่อดูที่มันคลายจากความยึดมั่นพอแล้ว ก็มาดูที่มันหยุด มันดับ มันเย็นลงไปบ้าง ให้มันแน่วแน่ลึกซึ้งอีก ขั้นสุดท้ายก็ดูที่ว่าเดี๋ยวนี้สิ่งทั้งปวงที่จิตเคยยึดมั่นถือมั่นจนความทุกข์อะไรต่างๆ นี้ไม่มีแก่จิตแล้ว คือว่าเหมือนกับว่าเราซัดออกไปได้แล้ว โยนทิ้งออกไปหมดได้แล้ว เขาเรียกว่าปฏินิสสัคคานุปัสสี นั่งชมความที่เราหรือจิตนี้หลุดพ้นจากกิเลสและความทุกข์ นี่ขั้นสุดท้ายคือการบรรลุมรรคผลนิพพาน
เพราะเหตุที่ว่ากำหนดอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ทุกลมหายใจเข้าออกทั้ง ๑๖ ขั้นนั้น ก็เลยเรียกว่าอานาปานสติทั้ง ๑๖ ขั้น หมวดที่ ๑ นั้นพอแล้วสำหรับพวกเราธรรมดาสามัญ บังคับจิตให้ได้ขนาดนั้นก่อนเถิดคือบังคับลมหายใจที่เกี่ยวกับกายนี้ เพราะว่าให้มันหยุด ให้มันเย็น ให้เป็นสุขไปเสียก็ได้ เพื่อเป็นการสงบระงับอารมณ์ร้ายด้วยวิธีบังคับไว้เป็นการชั่วคราวตลอดเวลาที่เราต้องการนี้ก็ดีถมไปแล้ว เพราะว่าถ้าไปถึงหมวดที่ ๔ มันตัดราก ตัดเหง้า ตัดอะไรหมด มันไม่มีมากวนอีก นี่เป็นวิทยาศาสตร์ทางจิตใจพระพุทธเจ้าท่านค้นพบ เรียกว่าอานาปานสติระบบหนึ่ง มีอยู่ ๔หมวด หมวดละ ๔ ขั้นเป็น ๑๖ ขั้น รายละเอียดไปดูจากหนังสือเรื่องนี้โดยเฉพาะก็ได้ เดี๋ยวนี้อาตมาต้องการจะชี้โดยเฉพาะในแง่ที่ว่านี้เป็นของธรรมชาติ เป็นเรื่องธรรมชาติ ตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติเหมือนกับวิทยาศาสตร์อย่างอื่น เพียงแต่เป็นเรื่องทางจิต เราจะมีชัยชนะเหนือความคิดรู้สึกชั่วร้ายต่างๆ ได้ก็โดยวิธีนี้ วิธีบังคับจิตให้มันอยู่ในอำนาจ จนกระทั่งใช้มันให้ทำลายให้เลิก ให้ละสิ่งที่เรียกว่ากิเลสได้ เดี๋ยวนี้จะทำได้หรือทำไม่ได้ไม่สำคัญนัก แต่ให้รู้ไว้ว่านี่มีวิธีเดียวเท่านั้นวิธีอื่นไม่มี ที่จะทำให้คนเราไม่ต้องเป็นทุกข์ไปตามสัญชาตญาณ ทีนี้มันปรับปรุงใหม่หมดไม่ให้สัญชาตญาณที่จะไปเที่ยวรัก เที่ยวเกลียด เที่ยวโกรธ เที่ยวกลัวนั้น ทำเล่นอย่างนั้นได้ นี่เราควบคุมมันได้ ก็จึงเรียกว่าจิตนี้เจริญ คำว่าภาวนาแปลว่าเจริญ เป็นกิริยาแปลว่า Develop เป็นนามแปลว่า Development เดี๋ยวนี้ Development ทางจิตมันเป็นไปได้ในลักษณะอย่างนี้ ไม่ใช่ของขลังของศักดิ์สิทธิ์ผิดธรรมชาติอะไร เป็นไปตามกฏธรรมชาติล้วนเลย ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์เลย ดังนั้นผลที่มันเกิดขึ้น มันก็เป็นเรื่องจริง ไม่ต้องอาศัยความศักดิ์สิทธิ์ความลึกลับอะไรมาช่วย แม้กระทั่งผู้ใดมีความต้องการว่าจะแก้ไขการรบกวนทางจิต ความคิดชั่วร้ายของจิต ก็มันมีวิธีนี้เท่านั้นที่ว่าดีกว่าวิธีอื่น เพราะพระพุทธเจ้าท่านสรรเสริญยกย่องวิธีนี้ เมื่อทำได้อย่างนี้เรียกว่าทำสติปัฏฐาน๔ ครบถ้วน กายานุปัสสนา เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา ธรรมานุปัสสนา เมื่อสติปัฏฐาน๔ ครบถ้วนแล้วก็โพชฌงค์ก็สมบูรณ์ ก็จงสมบูรณ์ก็มีวิชชาและวิมุตติคือบรรลุมรรคผลนิพพาน โพชฌงค์๗ สมบูรณ์เพราะสติปัฏฐาน๔ สมบูรณ์ สติปัฏฐาน๔ สมบูรณ์เพราะฝึกอานาปานสติแบบนี้ ๔ หมวด หมวดละ ๔ ขั้น ถ้าใครสนใจอยากจะทดลองก็ทำได้ ไม่เป็นบ้าหรอกรับรองได้ เพราะว่าต้องการแต่เพียงความสงบ เราไม่ได้ต้องการจะเหาะได้ ถ้าเราคิดฝันไปมากเลยขอบเขตของธรรมชาตินั้น เราจะเป็นบ้า ที่เขาเป็นบ้ากันเพราะเขาตั้งใจมาแต่บ้านจะมาฝึกอานาปานสติเพื่อเหาะได้ มันก็หลอนตัวเองมากเข้า มากเข้า มันก็ลุกขึ้นกระโดดหน้าต่างเหาะแล้วมันก็ตกลงมาขาหัก อย่างนี้มีเรื่องจริงเลย แต่โบราณมีว่าถึงเป็นบ้าไปเลยก็มีรักษาไม่หาย ทีนี้เรามันเป็นผู้ต้องการผลคือความสงบสุขที่มากไปกว่าปกติเท่านั้น ก็ทำตามวิธีนี้ก็บังคับจิตได้ จิตจงเป็นอย่างนี้ก็ได้ จิตจงเป็นอย่างนี้ก็ได้ ในหมวดที่ ๓ อภิปปะโมจจะยัง จิตตัง อัสสะสิสสามีติ ทำจิตให้บันเทิงอยู่ก็ทำได้ สมาทะหัง จิตตัง ทำจิตให้หยุดนิ่งอยู่ก็ทำได้ วิโมจจะยัง จิตตัง ทำจิตให้ปลดปล่อยก็ปล่อยได้ ก็พอแล้ว มันก็ไม่ต้องร้องไห้ มันก็ไม่ต้องไปมีความคิดชนิดที่ทรมานตน ขอให้เข้าใจแนวหลักหรือแนวที่เป็น Outline นี้ให้ถูกต้องแล้วไม่มีทางที่จะเสียหายจะผิดพลาดได้ ทำทดลองที่ไหนเมื่อไรก็ได้ ถ้าคนที่เขาเคยเพ่งไอ้หลอดไฟฟ้าติดตามาเก่งๆ แล้ว ก็เอานั่นมาสวมเข้าตรงที่ขั้นที่เรียกว่าวิ่งตาม แล้วก็เฝ้าดู แล้วสร้างนิมิตขึ้นตรงนั้น เอาภาพนั้นมาใส่แทน แล้วฝึกให้มันเปลี่ยนได้เป็นปฏิภาคนิมิต ให้มันเล็กลง ให้มันใหญ่เข้า ให้มันเปลี่ยนสี ให้มันลอยไปลอยมาได้ นี่มันเป็นเครื่องวัดว่าเดี๋ยวนี้เราบังคับจิตได้พอสมควรขนาดหนึ่งแล้ว นั้นแหละมันไม่ใช่ของจริงอะไร ถ้าเราเอาผลที่เราบังคับจิตได้นี้มาทำต่อไป ให้บังคับจิตได้มากขึ้นไปอีก หรือว่าไม่ต้องการอะไรมากไปอีกก็เท่านี้ก็เป็นความสุขเหลือประมาณแล้ว แล้วก็จึง พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌานนี้เป็นสุข เหมือนกับชิมรสพระนิพพานที่นี่และเดี๋ยวนี้ มันก็ถมไปแล้ว ยุคก่อนพระพุทธเจ้าก็เคยเอาเพียงเท่านี้เป็นพระนิพพาน ต่อมาเกิดบุคคลชั้นพระพุทธเจ้าบอกยังไม่ใช่ ยังไม่ถึงขนาดที่ควรจะเรียกว่านิพพาน ต้องทำต่อไปนั่น จนถึงหมดกิเลสหมดอะไรในขั้นหมวดที่ ๔ นั่นถึงจะเป็นนิพพาน ขั้นหมวดที่ ๑ เกี่ยวกับกายนี้ยังไม่ใช่นิพพาน แต่คนเรียกว่านิพพานหลงว่านิพพาน ฤๅษี มุนี ดาบสอะไรต่างๆ หลงว่าเพียงเท่านี้เป็นนิพพานกันมาตั้งยุคหนึ่ง นี่เราก็ไม่ได้เรียกว่านิพพาน แต่เราเรียกว่าวิธีที่จะชิมรสของพระนิพพานล่วงหน้าทันทีที่นี่และเดี๋ยวนี้ เอากำไรเสียทีก่อน หรือว่าเอาเป็นเครื่องจูงใจให้เราเดินไปข้างหน้าให้ไปถึงนิพพานจริงๆ ได้ นี่การชิมลองพระนิพพานที่นี่ได้ก็โดยวิธีอานาปานสตินี้ และถ้าทำต่อไปก็ถึงนิพพานที่ไม่ใช่ชิมลองแล้ว เป็นนิพพานจริง เรายังเด็ก เรายังเล่าเรียน เรายังมีการงานอย่างฆราวาสนี่ เราก็มาใช้ในลักษณะที่มันจะแก้ปัญหาธรรมดาๆ เฉพาะหน้าได้ เมื่อเราเศร้าขึ้นมา เราปลดไม่ออก เราก็ใช้วิธีนี้ปลด ปลดออก หรือเมื่อเราโกรธใครเกลียดใครนัก มันรบกวนนักก็ใช้วิธีนี้ปลดเรื่องความโกรธออกไป หรือถ้าเราไปหลงใหลอะไรนัก ไปหลงใหลใฝ่เรื่องความคิดนึกที่เป็นอันตราย เราก็ใช้วิธีนี้ปลดเปลื้องออกไป นอนไม่หลับก็ใช้วิธีนี้ที่จะช่วยให้มันนอนหลับ ความจำไม่ดีก็ใช้วิธีนี้จะช่วยให้ความจำมันดี ใช้สารพัดอย่างที่ใช้ได้ เพราะว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงขึ้นอยู่กับสิ่งๆ เดียวคือจิต พระพุทธเจ้าท่านตรัสอย่างนี้ไม่ใช่อาตมาว่า เอาไปคิดดูเถิด มันจะจริงที่สุดเลย เรามีอุบายที่จะบังคับจิต ฝึกฝนจิต บังคับจิตจนใช้ประโยชน์ได้ตามที่ต้องการ เราก็ได้สิ่งรับใช้ที่ดีที่สุดที่ไม่มีอะไรเท่า พระพุทธเจ้ายังตรัสว่าไอ้สิ่งที่ร้ายก็ไม่มีอะไรร้ายเท่าจิต ไอ้สิ่งที่ดีก็ไม่มีอะไรดีเท่าจิต นี่หมายความว่าจิตที่ไม่ได้รับการฝึกฝนมันจะร้ายที่สุด จะกัดเจ้าของ แต่ว่าถ้าจิตที่ได้รับการฝึกฝนดีแล้วมันก็ดีที่ สุดเหลือที่จะพูดได้ว่ามันดีอย่างไร นี่เรื่องทางจิต โรคภัยทั้งหลายก็เกิดมาจากการที่จิตไม่สมประกอบ วิธีนี้ก็ป้องกันโรคภัยไข้เจ็บทั้งหลายทั้งทางกายทั้งทางจิต ทางวิญญาณ เหมือนที่พูดเมื่อตอนกลางวันนั้น เป็นการบำบัดโรคโดยวิธีทั้งทางกาย ทั้งทางจิต ทั้งทางวิญญาณ ตามวิธีของพระพุทธเจ้าที่เป็นสัพพโลกติกิจฉโก เป็นนายแพทย์ผู้เยียวยารักษาโรคของโลกทั้งปวง อาตมาต้องการจะกล่าวพอเป็นแนวสำหรับเข้าใจเรื่องจิต โดยชื่อที่เรียกว่าระบบอานาปานสติ เป็นสิ่งที่ต้องใช้แก่บุคคลผู้ต้องการจะอบรมจิตให้สูง ให้ได้รับประโยชน์สูงกว่าธรรมดาสามัญ เป็นประโยชน์ตั้งแต่อยู่ในระดับธรรมดาสามัญและในชั้นที่จะก้าวให้สูงขึ้นไปจนถึงระดับสูงสุด ที่ยังเป็นผู้อายุน้อยเป็นยุวชนก็ใช้ในระดับที่มันเป็นปัญหาของยุวชน ที่เป็นผู้ใหญ่แล้วใช้ระดับผู้ใหญ่ คนแก่คนเฒ่าใช้ระดับคนแก่คนเฒ่า รวมความแล้วคือบังคับจิตได้ด้วยกันทั้งนั้น
เอาแหละก็ เวลาที่กำหนดไว้จะบวชเณร พรุ่งนี้ก็หยุด จะดูบวชเณรก็ได้ บวชเณรเถื่อนๆ ที่นี่ตรงนี้ เอ้า, เณรหรือพระที่ช่วยบอกเณรนันท์ เอาหนังสือมาให้คุณหมอเร็วๆ หน่อย ใครอยู่ที่นั่นช่วยบอก…