แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านผู้สนใจในธรรมทั้งหลาย ซึ่งมีท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานในที่นี้ การบรรยายในวันนี้ขอได้ถือว่า เป็นการบรรยายพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือ อาตมาจะได้เลือกเอาหัวข้อธรรมะมากล่าวในฐานะเป็นหลักสำหรับ กำหนดจดจำ เพื่อใช้เป็นประโยชน์ คือไม่ได้กล่าวเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยละเอียดพิสดาร เหมือนธรรมเทศนาหรือ ปาฐกถาตามปรกติ แต่ว่าจะได้กล่าวโดยหัวข้อที่เป็นหลักสำหรับท่านทั้งหลายจะได้เอาไปคิด หาคำอธิบายโดยละเอียด เอาเอง เพราะรู้สึกว่าท่านทั้งหลายเป็นผู้มีการศึกษา มีปัญญาที่จะคิดจะนึก และอีกประการหนึ่งก็รู้สึกว่าหัวข้อที่เป็น หลักนั้น ยังไม่ได้เป็นที่ทราบกันอย่างเพียงพอ หรือยังไขว้เขวกันอยู่ ฉะนั้นจึงขอให้กำหนดจดจำไปในฐานะเป็นหัวข้อ สำหรับจะตอบคำถาม แม้ที่สุดแก่ชาวต่างชาติต่างศาสนา ซึ่งอาจจะถามและเราก็ควรจะตอบให้เป็นที่ถูกต้อง ไม่เป็นที่ เสื่อมเสียแก่พุทธศาสนา และมีประโยชน์แก่ผู้ฟังมากที่สุด เพราะฉะนั้นถ้ามีทางที่จะจดไว้ได้อย่างไร ก็ขอให้จดไว้ด้วย ซึ่งอาตมาจะได้เริ่มกล่าวเป็นลำดับไป
หัวข้อที่แรกที่สุดก็คือ สมมุติว่าท่านถูกถามว่า พระพุทธเจ้าสอนอะไร ลองฟังดูให้ดีๆว่าพระพุทธเจ้าสอน อะไร ทุกคนย่อมจะมีคำตอบว่าพระพุทธเจ้าสอนว่าอะไร แต่ถ้าเราจะเอาคำตอบของพระพุทธเจ้าเองเป็นหลัก เรื่องก็มี อยู่ว่า พระพุทธเจ้าท่านตอบว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลายแต่ก่อนนี้ก็ดี เดี๋ยวนี้ก็ดี ตถาคตบัญญัติเรื่องทุกข์และความดับ ไม่เหลือแห่งทุกข์เท่านั้น ถ้าเป็นบาลีก็ว่า ปุพฺเพ จาหํ ภิกฺขเว เอตรหิ จ ทุกฺขญฺเจว ปญฺญาเปมิ ทุกฺขสฺ ส จ นิโรธํ ซึ่งรวม ความว่า พระพุทธเจ้าท่านบัญญัติขึ้นพูดขึ้นสอน ซึ่งเป็นระบบศาสนา มันคือเรื่องทุกข์ กับเรื่องความดับทุกข์ เมื่อเรา ถูกถามว่าสอนอะไร ก็ตอบอย่างนี้ก่อนเป็นเหมาะที่สุด ไอ้ที่จะไปตอบว่าท่านสอนโดยรายละเอียดอย่างนั้นอย่างนี้ อาจจะทำให้พร่าออกไป กระทั่งถึงเรื่องที่พระพุทธองค์ไม่ทรงตอบ ไม่ทรงสอนก็เป็นได้ ดังนั้นเรื่องแรกที่สุดจะต้อง ตอบว่าสอนเรื่องทุกข์กับเรื่องความดับทุกข์เท่านั้น เป็นพระบาลี อลคัททูปมสูตร มัชฌิมนิกาย ทีนี้ถ้าถามต่อไปว่า สอนเรื่องทุกข์กับเรื่องความดับทุกข์นั้น สอนอย่างไร ปัญหาที่สองว่าสอนอย่างไร เราจึงจะตอบว่า สอนให้เดินสาย ลาง ข้อแรกว่าสอนให้เดินสายกลาง เว้นข้อปฏิบัติ หรือการกระทำที่เป็นการตามใจตัวเอง และที่เป็นการทรมานตัวเอง ให้ลำบาก ขอให้นักศึกษากำหนดจดจำให้ดีว่า ข้อปฏิบัติที่เป็นการตามใจตัวเอง สมัยนี้มีลัทธิอันหนึ่ง ซึ่งเป็นลัทธิ ตามใจตัวเอง eat drink and be merry, for tomorrow we may die นี่ก้องไปทั้งโลก ว่ากินดื่มเล่นหัวร่าเริงเสียแต่บัดนี้ เพราะว่าพรุ่งนี้เราอาจจะตายเสียก่อนก็ได้ นี่เป็นลัทธิที่โลกถืออยู่ในปัจจุบันนี้เป็นส่วนมาก ก้องไปทั้งโลก ถือหลัก อย่างนี้เรียกในบาลีครั้งพุทธกาลว่า อาคาฬหปฏิปทา หรือ กามสุขัลลิกานุโยค ประกอบตนพัวพันอยู่ในกาม นี่เรียกว่า ตามใจตัวเอง คือตามใจกิเลส อีกทางตรงกันข้าม เป็นความคิดของคนอีกพวกหนึ่ง ก็ไปทรมานร่างกายให้ผ่ายผอม ให้เกือบตาย หรือตายไปเลยก็มี เพื่อว่าอย่าให้ร่างกายนี้เป็นที่ตั้งของกิเลส นี้มันเป็นไปในทางตรงกันข้าม สองอย่างนี้ ไม่เรียกว่าสายกลาง สายกลางต้องอยู่ในระดับที่พอดี นี่เรียกว่าข้อแรกต้องสอนให้เดินสายกลาง เป็นความถูกต้อง ในการพูด การคิด การทำ การพยายามพากเพียร การมีสติ มีสมาธิ นี่เรียกว่าสายกลาง
นี้ข้อถัดไปก็ว่า สอนเรื่องกฎแห่งเหตุและปัจจัย หมายความว่าพุทธศาสนาตั้งอาศัยหลักเกณฑ์อยู่โดยกฎ ธรรมชาติ ที่แสดงเหตุและปัจจัย อย่างถ้ามีคนถามว่าพระศาสดาของท่านสอนอย่างไร เมื่อกล่าวแต่โดยย่อ พระอรหันต์องค์หนึ่งก็ตอบว่าพระพุทธเจ้าท่านกล่าวถึงสิ่งที่มีเหตุ และความดับไปแห่งเหตุนั้นๆ นี่หมายความว่า ความทุกข์ ความสุข เอ่อ, ความทุกข์นี้มีเหตุ จะดับทุกข์ก็ต้องดับเหตุของทุกข์ หรือถ้าจะเรียกว่าความสุขก็ต้องถือว่า ความสุขมีเหตุ จะต้องสร้างเหตุแห่งความสุขเป็นต้น จนพุทธศาสนาได้ชื่อว่า เป็นศาสนาแห่งเหตุผล และเป็นเรื่องที่ จะต้องใช้ปัญญา ไม่เพียงแต่มีศรัทธาความเชื่อแล้วก็จะเอาตัวรอดได้ กฎแห่งเหตุผลก็คือหลักเรื่องอริยสัจสี่ประการ เป็นต้น ซึ่งนักศึกษาก็ต้องได้อ่านได้ฟังกันมาแล้วในแบบเรียน แม้ขั้นต้นๆ เรื่องทุกข์ เรื่องเหตุให้เกิดทุกข์ เรื่องความ ดับสนิทแห่งทุกข์ และทางปฏิบัติให้ถึงความดับสนิทแห่งทุกข์นี้ก็ข้อหนึ่ง
ทีนี้ข้อที่สาม เรื่องช่วยตัวเอง มันเนื่องกันมากับข้อที่สองที่ว่า ทุกอย่างเป็นธรรมชาติ ที่เป็นไปตามเหตุผล เพราะฉะนั้นจึงไม่มีความหวังที่จะให้ผู้อื่นช่วย จึงจำเป็นจะต้องช่วยตัวเอง ให้ทุกคนพยายามแก้ไขในเรื่องเหตุ หรือว่า สร้างผลของตนเอง นี่ขอให้กำหนดจดจำว่า พุทธศาสนามีหลักการในการช่วยตัวเอง ถึงแม้ศาสนาอื่นที่มีพระเป็นเจ้า ก็ยังมีการพูดว่า พระเป็นเจ้าช่วยแต่คนที่ช่วยตัวเอง ข้อนี้เราหมายความว่า จะต้องทำเองถึงแม้ว่าผู้อื่นจะช่วย ก็จะช่วย แต่เพียงการแนะนำวิธี พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ตถาคตทั้งหลายเป็นแต่ผู้ชี้ทาง การเดินทางท่านจะต้องเดินเอง อย่างนี้ เป็นต้น แม้เมื่อตะกี้นี้ที่เราพูดประกาศออกไปว่า นมัสการ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ถือเอาเป็นสรณะที่พึ่งอย่างนี้ ความหมายก็หมายความว่า เราทำที่พึ่งแก่ตนเองด้วยอาศัยแนวของ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เราไม่ควรจะไปคิด ว่าเราขอร้องให้พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ช่วยแล้วก็จะสำเร็จประโยชน์ เราจะต้องทำตามคำสั่งสอนของ พระพุทธเจ้าตามแนวของพระธรรม และตามตัวอย่างที่พระสงฆ์ ได้แสดงไว้ดีแล้ว อย่างนี้จึงจะเรียกว่าทำให้พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มีขึ้นในตัวเรา แล้วพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์นั้นจะคุ้มครองเรา คือจะทำให้เราทำผิดไม่ได้ มีแต่จะทำไปในทางถูกและยิ่งๆขึ้นไป จนดับทุกข์ได้สิ้นเชิง
ทีนี้ถ้าจะถามถึงข้อปฏิบัติที่เป็นแนว ที่พระพุทธเจ้าได้ทรง วางไว้อย่างไร อันแรกที่สุดก็จะนึกถึงสิ่งที่ เรียกว่า โอวาทปาฏิโมกข์ คือประธานแห่งคำสอนทั้งหลายก็มีอยู่ว่า เว้นจาก การทำความชั่วทุกประการ ทำความดีให้สมบูรณ์ และชำระจิตให้หมดจด เรื่องไม่ทำความชั่วทำความดีให้สมบูรณ์นี้ มีด้วยกันทุกศาสนา แม้กระทั่งจริยธรรมสากลก็มี หลักเกณฑ์อย่างนั้น แต่ข้อที่สาม คือข้อที่ว่าชำระจิตให้หมดจดนี้ เราถือว่ามีเป็นพิเศษเฉพาะในพุทธศาสนา เพราะเหตุ ว่ามีวิธีการจะชำระจิตให้บริสุทธิ์หมดจด ตามแบบของพุทธ ศาสนาโดยเฉพาะ หมายความว่า ถ้าเราคิดดูให้ดีเราจะ มองเห็นว่า แม้สิ่งที่เรียกว่าดีที่สุด และเราก็ได้บำเพ็ญอยู่แล้ว ถ้าเราไปมีจิตมืดมัวจนยึดมั่นหรือมีความมั่นหมายมาก เกินไป เราอาจจะต้องลงนั่งร้องให้เพราะความดีนั้นๆ ก็ได้ นี่ขอให้นักศึกษาทุกคนลองสังเกตดู คนฆ่าตัวตายเพราะมี ปัญหาเนื่องมาจากความดีก็มีแยะ เช่นพอเขารู้สึกว่าจะเสีย ชื่อเสียง สูญเสียความดี หรือไม่ได้ความดี เขาก็ฆ่าตัวตาย ก็ได้ หรือว่าเราเป็นห่วงเรื่องความดีมากเกินไปเราก็มี ความทุกข์ นี่เรียกว่าเราไม่ได้ชำระจิตให้หมดจดหรือว่าทำให้ ถูกต้อง เราอยากจะสอบไล่ได้มากเกินไป เราก็มีความทุกข์ สอบไล่ไม่ได้เราก็นั่งร้องให้ หรือเรื่องบุญกุศล ก็เหมือนกัน บางคนก็เมาบุญเมากุศลจนเดือดร้อนลำบากอย่างยิ่ง นี่เรียกว่ายึดมั่นในความดีนั้นเลยขอบเขต หรือมากเกินไป มีความโง่ ความหลงปนอยู่ในนั้น ฉะนั้นต้องชำระจิตให้บริสุทธิ์ เพื่อไม่ให้ยึดมั่นถือมั่นทั้งในความดีและความชั่วอีก ต่อหนึ่ง เรื่องความชั่วนั้นไม่ค่อยจะมีใครจะยึดมั่น แต่ก็มีบ้างเหมือนกันที่บางคนกลัวเรื่องชั่วจนทำอะไรไม่ถูก จนทำ ผิดไปเพราะการกลัวความชั่วก็ยังมี หรือว่าไม่ได้ทำสิ่งที่ควรทำบางอย่างเพราะไปกลัวความชั่วด้วยความยึดมั่นถือมั่น เกินไปก็มี เพราะฉะนั้นการชำระจิตให้สะอาด คือให้ฉลาด หรือให้บริสุทธิ์นี้เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง จึงได้กล่าวไว้ใน ฐานะเป็นหลักข้อที่สาม นี้เรียกว่าโอวาทปาฏิโมกข์ เป็นประธานแห่งคำสอนทั้งหมดทั้งสิ้นของพระพุทธเจ้าทุก พระองค์ สรุปว่าไม่ทำความชั่วทุกอย่าง ทำความดีให้ สมบูรณ์ ชำระจิตให้หมดจด
ทีนี้เรื่องที่ห้า ก็คือเรื่องที่สูงสุดขึ้นไป เอ่อ, สูงสุด เป็นคำสอนเรื่องทุกสิ่งทุกอย่างที่เรียกว่าสังขารนั้นไหลเรื่อย จงเป็นคนไม่ประมาท ให้สมกันกับที่ทุกสิ่งมันไหลเรื่อย คำว่าทุกสิ่งไหลเรื่อยนี้ หมายถึงเฉพาะที่มีเหตุมีปัจจัยปรุงแต่ง ยกเว้นนิพพานเสียอย่างเดียวแล้วก็เรียกว่าเป็นสิ่งที่ไหลเรื่อย นิพพานเป็นสิ่งที่ตรงกันข้าม คือไม่ไหล ฉะนั้นจึงเป็น ที่พึ่ง สิ่งที่ไหลเรื่อยนั้นทำความทุกข์ คำว่าไหลเรื่อยนี้เป็นคำกล่าวโดยสำนวน เรียกว่า อนิจจัง แปลว่าไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลงเรื่อย มีอาการเปลี่ยนแปลงเรื่อย ที่เป็นวัตถุเช่น สิ่งของ ร่างกายล้วนๆ นี้ก็ดีก็ไหลเรื่อย ยิ่งเป็นความคิด เป็นเรื่องจิต เรื่องใจแล้วก็ยิ่งไหลเชี่ยวกว่าเสียอีก เรียกว่าทุกสิ่งไหลเรื่อย คนพ้องสมัยกันกับพระพุทธเจ้าในประเทศ กรีซ ชื่อ HERACLITUS ก็สอนเรื่องนี้โดยภาษานั้นว่า PANTA RHEA ทุกสิ่งไหลเรื่อย เรามีคนรู้เรื่องทุกสิ่งไหลเรื่อย มาแล้วตั้งสองพันกว่าปี หรือเกือบสามพันปีมาแล้ว พระพุทธเจ้าท่านก็ยังนำเรื่องนี้มากล่าวไว้ในฐานะเป็นหลักสำคัญ ในพระพุทธศาสนานี้ด้วยเหมือนกัน แม้กระทั่งจะปรินิพพาน คือจะสิ้นพระชนม์อยู่ในเวลาไม่กี่นาทีนี้แล้ว ก็ยังทรง กำชับเรื่องนี้ว่า ขยวยธมฺมา สงฺขารา สังขารทั้งหลาย เปลี่ยนไป เสื่อมไปเป็นธรรมดา เรียกว่าทุกสิ่งไหลเรื่อย อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ ท่านทั้งหลายจงทำความไม่ประมาทให้เต็มที่ นี่คือคำสอนที่สำคัญที่สุดเป็นอย่างนี้ สรุปแล้วก็ เป็นเรื่องทุกข์ และเรื่องความดับทุกข์ ถ้าจะแยกออกเป็นหัวข้อ เป็นแนวๆ เป็นทางๆ ไปก็จะได้ว่า ในการเดินนั้นให้ เดินสายกลาง และต้องเดินเองและต้องช่วยตัวเอง แล้วก็ให้ถูกตรงตามกฎแห่งเหตุผล แล้วก็มีหลักที่วางไว้ว่า เว้นทำชั่ว ทำแต่ความดี แล้วก็ชำระจิตให้สะอาด หรือฉลาดอยู่เสมอ เพราะทุกสิ่งไหลเรื่อยจะต้องฉลาดให้ทันกันคือ ความไม่ประมาท นี้เป็นคำตอบของคำถามที่ถ้าถูกถามว่าพระพุทธเจ้าสอนว่าอย่างไร ถ้าถามว่าสอนเรื่องอะไร ก็บอกว่าสอนเรื่องทุกข์ กับความดับทุกข์เท่านั้น แต่ถ้าสอนว่าอย่างไรก็คืออย่างนี้ ทีนี้ถ้าจะถูกถามว่าจะให้สรุปเป็น คำสั้นๆ ที่สุดประโยคเดียวจะว่าอย่างไร คือสรุปเป็นหัวใจพระพุทธศาสนาว่าอย่างไร เราก็มีทางตอบตามพระพุทธ ภาษิตของพระองค์เองอีกเหมือนกันว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวง อันใครๆ ไม่ควรเข้าไปยึดมั่นถือมั่น โดยความเป็นตัวตน หรือของตน โดย พระบาลีว่า สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย เนื่องจากมีคนไปขอร้องให้ท่านสรุปพระคำสอนทั้งหมด ให้สั้น ท่านก็สรุปอย่างนี้ ที่ว่าสิ่งทั้งปวง ทั้งหลายทั้งปวง ไม่ อันใครๆ ไม่ควรยึดมั่นนั้น ก็มันเหมือนกัน เอ่อ, เนื่องกัน กับที่กล่าวมาแล้วว่า สิ่งทุกอย่างไหลเรื่อย แต่มันมีเลยไปถึงว่าสิ่งที่ไม่ไหล ไม่ไหลคือเที่ยง เช่นพระนิพพานเป็นต้น ก็ไม่ควรไปยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวตน หรือเป็นของตน ให้ยังคงถือว่าเป็นธรรมชาติ ตามธรรมชาติ ของธรรมชาติ อยู่ตามเดิม ทั้งนี้เพราะว่าพอเราไปยึดมั่นอะไรเข้าแล้ว ความทุกข์จะเกิดขึ้นทันที แม้จะไปยึดมั่นในสิ่งที่ยึดมั่นไม่ได้ เช่นสิ่งที่เรียกว่านิพพานนี้คืออะไร จะได้กล่าวต่อไป แต่ว่าจะบอกในที่นี้ว่าแม้ในสิ่งที่เรียกว่านิพพาน ก็จะไปยึดมั่นว่า เป็นตัวตนหรือเป็นของตนไม่ได้ เพราะว่าความยึดมั่นนั้นเกิดมาจากความโง่ หรืออวิชชา ขอให้จำไว้โดยเด็ดขาดว่า ถ้าขึ้นชื่อว่าความยึดมั่นแล้วเป็นเรื่องของอวิชชา ถ้าเป็นเรื่องของวิชชา คือปัญญาแล้ว จะไม่ยึดมั่นอะไร จะปล่อยวาง หรือมีความว่างอยู่เสมอ นี่พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ถ้าสรุปสั้นแล้วว่า สิ่งทั้งปวงอันใครๆ ไม่ควรยึดมั่น ว่าตัวตนของตน การทำความชั่ว เบียดเบียนตนเอง เบียดเบียนผู้อื่น ล้วนแต่มาจากความยึดมั่น แม้แต่ความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง ก็มา จากความยึดมั่น คนอาจจะเข้าใจผิดไปว่า ความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์ เพียงเท่านี้ไม่ถูก พระพุทธเจ้าท่านหมายความว่า ความเกิดที่ถูกยึดมั่น ความตายที่ถูกยึดมั่น ความแก่ที่ถูกยึดมั่น ว่าเป็นตัวเรา หรือเป็น ของเราจึงจะเป็นความทุกข์ และท่านได้ตรัสสรุป ตอนท้ายว่า สงฺขิตฺเตน ปญฺจุปาทานกฺขนฺธา ทุกฺขา เบญจขันธ์คือ ร่างกายกับใจที่ถูกยึดมั่นด้วยอุปาทานนั้น เป็นตัวทุกข์ ถ้าไม่ถูกยึดมั่นก็ไม่เป็นทุกข์ เพราะถ้าว่าชีวิต ร่างกาย จิตใจของเรานี้ ยึดมั่นเมื่อไรจะเป็นทุกข์เมื่อนั้น ฉะนั้นไม่ยึดมั่น ใช้มันให้เป็นประโยชน์ตามที่ควรจะใช้ ก็ไม่เป็นทุกข์ และได้ประโยชน์ ลำพังความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ล้วนๆ ไม่เป็นทุกข์ จะเป็นทุกข์ต่อเมื่อมีความยึดมั่นว่าของเรา ทีนี้ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายนี้ เราไปยึดมั่นเข้าจึงจะได้ชื่อว่า ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ถ้าไม่ยึดมั่น มันก็เป็นแต่เพียงทุกสิ่งที่ไหลเรื่อย คือเป็นเพียงสังขาร เป็นอนิจจัง เปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติ เท่านั้นเอง ไม่ใช่ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย พอไปยึดมั่นเป็นเรื่องของเราขึ้นมา มันจึงเป็นความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายขึ้นมาและมันเป็นทุกข์ เพราะเหตุนี้ คือไปยึดมั่น ความเปลี่ยนแปลงของสังขารว่าเป็น ความเกิดบ้าง เป็นความแก่บ้าง เป็นความตายบ้าง มันก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับตัวเรา และของเราขึ้นมาทันที จึงได้เป็น ทุกข์ ทีนี้เรื่องการทำการ ทำงานนี้ก็เหมือนกัน ถ้ายึดมั่นว่าเป็นตัวเรา ของเรา เพื่อเรา แล้วจะเป็นทุกข์ ตั้งแต่แรก คิดจะทำ กำลังทำ ทำเสร็จแล้วก็ยังเป็นทุกข์ ไม่ต้องยึดมั่น มีแต่สติปัญญาทำไปให้ถูกวิธี ก็ประสบความสำเร็จเอง แล้วสนุกสนานด้วย นี่เรียกว่าเข้าไปยึดมั่นนั้นทำให้วุ่น มันก็เป็นทุกข์ ถ้าไม่ยึดมั่น มันก็คือ ว่าง มีจิตที่ว่างจากความ ยึดมั่นอยู่ตามเดิม ก็ไม่เป็นทุกข์ รวมความว่าคำสั้นๆที่สุด ที่เป็นหลักพุทธศาสนาคือว่าอย่ายึดมั่น ขยายความเอาว่า ไม่ยึดมั่นในสิ่งใดๆ ว่าเป็นตัวตนหรือเป็นของตน ถ้าจะสรุปให้สั้นที่สุดก็ว่าา ไม่ยึดมั่นเพียงคำเดียวก็พอแล้ว เพราะความหมายมันจำกัดอยู่ในตัวว่า ยึดมั่นสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้วก็ยึดมั่นว่าเป็นตัวตนหรือเป็นของๆ ตน นี้คือ หัวใจของ พระพุทธศาสนาที่สั้นที่สุด
ทบทวนอีกครั้งหนึ่งว่า พระพุทธเจ้าสอนอะไร สอนเรื่องทุกข์กับความดับทุกข์เท่านั้น สอนอย่างไร สอนให้ เดินสายกลาง สอนให้ช่วยตนเอง ให้ไปตามกฎแห่งเหตุผล ตามโอวาทปาฏิโมกข์ เพราะว่าทุกสิ่งไหลเรื่อย จงเป็นผู้ ไม่ประมาท ให้เหมาะสมแก่กัน แต่ถ้าให้สรุปคำสอนทั้งหมดนี้เป็นประโยคเดียวคำเดียว ก็ได้สั้นๆว่า อย่ายึดมั่น ทีนี้จะ ถามต่อไปว่าเป็นปัญหาที่เราจะถูกถามต่อไปว่า ที่ไม่ยึดมั่นถือมั่นนั้นให้ปฏิบัติอย่างไร นี้ตอบด้วยธรรมะที่มีหลักฐาน และเป็นหัวใจที่สุดตามพระพุทธภาษิตของพระพุทธเจ้าอีกเหมือนกันว่า เมื่อได้เห็นรูปก็สักว่าเห็น เมื่อได้ยินเสียงก็ สักว่าได้ยิน เมื่อได้กลิ่นได้ดมกลิ่นก็สักว่าได้ดมกลิ่น เมื่อได้ลิ้มรสก็สักว่าได้ลิ้มรส เมื่อได้สัมผัสทางผิวหนังก็สักว่าได้ สัมผัสทางผิวหนัง และเมื่อได้รู้หรือกระทบอารมณ์ในจิตใจก็สักว่ารู้สึกทางจิตใจ นี่ฟังดูคล้ายๆกับว่าเป็นคำที่ไม่เป็น ภาษา แต่ที่จริงนี้เป็นใจความสำคัญของการปฏิบัติ ได้เห็นรูปด้วยตานี้ สักว่าได้ดู ดูในที่นี้หมายความว่า ก็ดูเห็นว่ามัน เป็นอะไร แต่ระวังไม่ให้เกิดการปรุงในทางจิตใจ จนเกิดความรู้สึกว่าสวย ว่าไม่สวย แล้วเกิดความรู้สึกพอใจ ไม่พอใจ แล้วก็ไปยึดมั่นส่วนที่ไม่พอใจว่าเป็นของน่าเกลียด เป็นศัตรูอยากจะทำลายเสีย แล้วก็ไปยึดมั่นส่วนที่พอใจว่า น่ารัก น่าปรารถนา น่ายึดครอง แล้วก็ไปหลงรัก ถ้าเลยไปถึงอย่างนี้เรียกว่า มันเกินไปแล้ว มันเกินไปกว่าที่เรียกว่า เห็นสัก แต่ว่าเห็นเสียแล้ว มันปรุงไปเป็นความทุกข์เสียแล้ว ที่เห็นสักว่าเห็นนั้นก็คือว่าพอได้เห็นว่ารูปนี้เป็นอะไร ก็มีสติ ปัญญาแทรกแซงเข้ามาทันทีว่าควรจะจัดการแก่สิ่งนี้อย่างไร หรือไม่ต้องจัดการอะไรเลย ถ้าไม่ต้องจัดการอะไรเลย ก็ปล่อยไปตามเลย ไม่ต้องแตะต้อง ถ้าควรจัดการควรทำอย่างไร ในทางที่ดีที่ควรที่เป็นประโยชน์ก็ทำไปอย่างนั้น โดยไม่ต้องให้ปรุงไปเป็นความน่ารัก หรือไม่น่ารัก ยินดี หรือยินร้าย แล้วเกิดอุปาทานเป็นตัวตนของตน จนกระทั่ง เป็นความทุกข์ การได้ฟังเสียงทางหูก็เหมือนกัน ได้ยินอะไรก็รู้สึกควรทำ อย่างไรก็ทำไปถ้าไม่ควรทำอะไร ก็เลิกกัน แม้ว่าเสียงนั้นจะไพเราะ ก็ต้องพิจารณาในตรงที่ว่ามันไพเราะก็ไพเราะ แม้เราจะรู้สึกว่าไพเราะก็ไม่เป็นบาปเป็น กรรมอะไร แต่เราอย่าไปหลงรักหลงชอบใจเข้าจนถึงกับมีตัวตน อยากได้อยากยึดครองแล้วกระวนกระวายใจนี้ ไม่สมควร แต่ถ้าเหตุผลมันมีว่าเราควรจะมีสิ่งที่ไพเราะ เพื่อใช้เป็นประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่ไม่เป็นทุกข์กับใคร แต่เป็นประโยชน์ เราก็จัดหรือทำได้ เพราะว่าความไพเราะนั้นในแง่ที่เป็นที่ตั้งของกิเลส มันก็เป็นที่ตั้งของกิเลส ในแง่ ที่เป็นที่ตั้งของการศึกษา มันก็เป็นที่ตั้งของการศึกษา และในแง่ที่จะกล่อมเกลาอารมณ์ให้เงียบ ให้เย็น ให้สงบลง ให้ว่างจากตัวตนมันก็ยังมีอยู่เหมือนกัน ดังนั้นให้เรารู้จักใช้สิ่งเหล่านี้ให้ถูกต้อง ถ้าเราใช้ผิด เป็นไปเพื่อกิเลสก็เป็น ความทุกข์ ถ้าเราใช้ถูกก็เป็นไปเพื่อการศึกษาก็ไม่เป็นทุกข์ และได้ประโยชน์ในทางที่จะกำจัดความทุกข์ยิ่งๆ ขึ้นไป อย่างดนตรีที่ไพเราะเขาเคยใช้กันมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ ในกิจการของศาสนา คือว่าคนกลุ้มอกกลุ้มใจมาจากบ้าน พอเข้า มาในโบสถ์ ได้ฟังเพลงที่ไพเราะตามแบบของเพลงทางโบสถ์ มันก็หายกลุ้มใจ มีจิตที่ว่างจากความวุ่นวาย ว่างจาก ตัวตนอย่างหยาบๆ พร้อมเหมาะที่จะนั่งลงฟังคำสั่งสอน อย่างนี้ก็เรียกว่าใช้ความไพเราะนั้นถูกทาง แต่ถ้ามันเป็น ความไพเราะอย่างแบบสมัยนี้ซึ่งยั่วกามารมณ์ แล้วคนก็รับเอาในฐานะเป็นความรู้สึกทางกามารมณ์ ก็กลายเป็นคน ที่ลุ่มหลงในทางกามารมณ์มากขึ้น จนกระทั่งลืมตัว จนกระทั่งเชือดคอตัวเองในที่สุด มันแบ่งแยกทางเดินกันอย่างนี้
ที่ๆว่าพระพุทธเจ้าท่านว่า ได้ยินสักว่าได้ยิน นี่หมายความว่าไม่ใช่ว่าให้เป็นคนไม่มีชีวิตจิตใจ ได้ยินว่าเป็น สิ่งใด ไพเราะหรือไม่ไพเราะ ควรจัดการอย่างไรก็จัด ไม่ควรจัดการอย่างไรก็ไม่ควรจัด ครั้นเมื่อมีคำด่า ด่าเราเข้ามา เราก็ฟังดู รู้ว่าเป็นคำด่า ถ้าคำด่านั้นเป็นคำวิพากษ์วิจารณ์ตัวเรา เราก็มีทางที่จะเอาคำวิพากษ์วิจารณ์นั้นมาใช้แก้ไข ตัวเราก็ได้ หรือถ้าเป็นเรื่องด่าเล่นเฉยๆ เราก็ถือว่าเป็นบทเรียนสำหรับฝึกตัวเรา ในการที่จะมีธรรมะเช่น ขันติ เป็นต้น ก็ยังได้ อย่างนี้เรียกว่าไม่ได้รับเอามาในฐานะที่จะปรุงเป็นความยึดมั่นถือมั่น และเป็นทุกข์ แปลว่าสติปัญญาเข้ามา แทนที่เสียเรื่อย ความโง่ ความหลงไม่เข้ามาแทน ทุกอย่างเป็นการศึกษาหมด เป็นประโยชน์หมด ไม่เป็นที่เกิดของ ความทุกข์ นี่พระพุทธเจ้าท่านว่า ได้ยินสักว่าได้ยิน หมายความว่าอย่างนี้ ที่ได้ลิ้มรสทางลิ้นก็เหมือนกันสักว่าได้ลิ้ม ก็อย่าได้ปรุงเป็นเรื่องเกิดความยินดียินร้าย ต้องปรุงเป็นวิชาความรู้อยู่เรื่อย ได้บริโภคอาหารที่ไม่มีรสอร่อย ก็ศึกษา ความไม่อร่อย ถ้าอร่อยก็ศึกษาความอร่อยในแง่ต่างๆ กัน โดยเฉพาะในแง่จะให้เกิดทุกข์ หรือเกิดความไม่ทุกข์ นี้เรียกว่าไม่เป็น ทาสลิ้น ถ้าผิดจากนี้ก็เป็นคนที่ตกเป็นทาส ขี้ข้า เป็นทาสของลิ้น สัมผัสผิวหนังมีการกระทบก็สักว่า กระทบ ก็รู้ได้ว่ามันเป็นอะไร เป็นของเย็นหรือของร้อน ของอ่อนของแข็ง นิ่มนวลกระด้างอะไรก็ได้ แต่อย่าได้ปรุง เป็นเรื่องของความทุกข์ ให้ปรุงเป็นเรื่องของความจริง ควรจัดการอย่างไรควรทำอย่างไรเท่าที่ถูกที่ควรแก่สถานะ ของตน ของตน ทีนี้เรื่องอารมณ์กระทบใจ นี้หมายความว่า ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางผิวหนัง ไม่ได้รับ อารมณ์ แต่ใจก็ยังอาจจะคิดนึกขึ้นมาเองได้ ให้เป็นเพียงว่ารู้สึก รู้สึกว่าความคิดเกิดขึ้นอย่างไร ความรู้สึกเกิดขึ้น อย่างไร แล้วก็จัดไปในทางที่ถูกที่ควร ไม่เกิดความรู้สึกที่เป็นตัวกูอย่างนั้น ตัวกูอย่างนี้ ของกูอย่างนั้น ของกูอย่างนี้ ขึ้นมาแล้ว ก็เรียกว่าเห็นสักว่าเห็น ได้ยินสักว่าได้ยิน ได้ดมสักว่าได้ดม ได้ลิ้มรสสักว่าได้ลิ้มรส ได้กระทบผิวหนังสักว่า กระทบ ได้รู้สึกในใจก็สักว่ารู้สึก นี่คือหลักปฏิบัติที่ตรัสไว้ในฐานะเป็นความดับทุกข์สิ้นเชิง คือว่าเมื่อปฏิบัติอย่างนี้อยู่ พระพุทธเจ้าตรัสว่า เมื่อเธอปฏิบัติอยู่อย่างนี้ตัวเธอก็จะไม่มี นั่นเหละที่สุดของความทุกข์ หมายความว่าให้เกิดความ รู้สึกว่าตัวเราหรือ ของเรา ตัวฉันหรือของฉัน ตัวกูหรือของกูขึ้นได้เลย เป็นแต่สติปัญญาไปตลอดเวลา เห็นสิ่งทั้ง ปวงไหลเรื่อยอยู่ตลอดเวลา เห็นว่าธรรมชาติเป็นอย่างไรตลอดเวลา แล้วจิตที่ฉลาดอย่างนี้ก็จัดการให้ถูกกับเรื่องของ ธรรมชาติ จิตที่เป็นอิสระอย่างนี้สามารถจะจัดการได้ดีกว่าจิตที่โง่หลงไปยึดมั่นเป็นตัวตนหรือของตน แม้ในเรื่อง ปฏิบัติ เพื่อไปนิพพานก็มีหลักอย่างนี้ แม้ในเรื่องที่อยู่ที่บ้านเป็นฆราวาสที่บ้าน ทำไร่ทำนาก็ต้องเป็นอย่างนี้จึงจะ ไม่เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าท่านตรัสเรื่องจิตว่างจากตัวตนนี้แม้แก่ฆราวาส เพราะฉะนั้นพวกเราที่ยังเป็นเด็ก คนในวัยรุ่น ก็เหมือนกัน รู้จักยับยั้งชั่งใจ เมื่อตาเห็นรูป หูฟังเสียงนี้โดยกฎเกณฑ์ที่ว่า นับสิบก่อน นิทานสอนเด็กเรื่องนับสิบก่อน ถ้าเคยอ่านก็ถือเอาตามนั้น พออะไรมากระทบตา กระทบหู กระทบจมูกอย่างไรก็ตามที่ทำให้เกิดความรู้สึกอย่างใด อย่างหนึ่งนั้น ให้หยุดชะงักไว้ก่อน อย่าเพิ่งคิด อย่าเพิ่งตัดสิน อย่าเพิ่งโต้ตอบ นับหนึ่งจนถึงสิบ ถ้าจิตมันกลุ้มมันก็นับ ไปถึงสิบไม่ได้ เอ้า, ก็ต้องตั้งต้นหนึ่งใหม่ หนึ่งใหม่ นับไป ถ้าจิตมันยังกลุ้มมันก็นับหนึ่งถึงสิบไม่ได้ ถ้านับหนึ่งถึงสิบ ได้ก็หมายความว่าจิตนี้มันจางจากความกลุ้มพอสมควรแล้ว มันมีสติอยู่กับเนื้อกับตัวพอสมควรแล้ว จึงจะตัดสินลง ไปว่า เรื่องนี้เป็นอย่างไร เรื่องนี้เราจะพูดตอบว่าอย่างไร จะทำอย่างไรเป็นต้น อย่างนี้มันถูก นี้ก็การปฏิบัติอย่างนี้ก็ อยู่ในจำพวกที่เรียกว่าเห็นสักว่าเห็น ได้ยินสักว่าได้ยิน ได้ดมสักว่าได้ดมเหมือนกัน อย่าวู่วามไปทันควัน เกิดความรู้สึก ตามภาษาคนโง่ แล้วก็สวนไปโดยอารมณ์ของกิเลส ต่อสิ่งที่ได้เห็นทางตา ได้ฟังทางหู ได้ดมทางจมูกเป็นต้นทุกเรื่องไป ฉะนั้นจึงถือว่าข้อปฏิบัติอย่างนี้ คือทำจิตให้ว่างจากตัวตนอยู่เสมอนี้ ใช้ได้แก่คนทุกระดับ ทุกชั้น ทุกเพศ ทุกวัย แต่คนโง่ๆ เข้าใจว่าข้อปฏิบัติอย่างนี้เหมาะสำหรับคนที่อยู่ตามวัด ตามป่า ตามเขา จะไปนิพพานอย่างเดียว นั่นเป็น ความโง่ของเขา เราอย่าไปรับเอามา พระพุทธเจ้าท่านได้สอนเรื่อง สุญญตา แม้แก่ฆราวาส ดังนั้นจึงขอให้เธอทั้งหลาย แม้จะเป็นนักศึกษา ในวัยรุ่นหนุ่มนี้ก็จงได้สนใจไว้
ทีนี้มาถึงปัญหาต่อไป ถ้าถูกถามว่าเรียนกันที่ไหน พระพุทธเจ้าท่านตอบว่า เรียนกันในร่างกายอันยาว ประมาณวาหนึ่ง ซึ่งมีทั้งสัญญาและใจ หมายความว่าร่างกายของคนเรานี้ยาวประมาณวาหนึ่ง มีทั้งสัญญาและใจนี้ หมายความว่ายังไม่ตาย ยังเป็นๆอยู่ ดังนั้นต้องเรียนจากชีวิตโดยตรง แล้วห้องเรียนก็คือร่างกายที่ยาวประมาณวาหนึ่ง โดยพระองค์ตรัสว่า โลกก็ดี ที่เกิดแห่งโลกก็ดี ความดับสนิทแห่งโลกก็ดี การปฏิบัติให้ถึงความดับสนิทแห่งโลกก็ดี ตถาคตได้บัญญัติไว้ในกายอันยาวประมาณวาหนึ่งนี้ พร้อมทั้งสัญญาและใจ นี่ลองคิดดูว่า ไอ้ตัวโลกเองก็ดีมันใหญ่ เท่าไร กว้างขวางไพศาลลึกซึ้งเท่าไร แล้วมูลเหตุ ต้นเหตุให้เกิดโลกนั้นก็ดี มันกว้างขวางเท่าไรแล้วการที่โลกจะดับ สนิทลงไป เย็น เป็นของเย็นนี้มันใหญ่เท่าไร แล้ววิธีปฏิบัติทั้งหลายทั้งสิ้นเพื่อให้โลกดับเย็นนี้เท่าไร รวมกันแล้ว มันมาอยู่บรรจุอยู่ได้ในร่างกายที่ยาวประมาณวาหนึ่งนี้ นี้คือห้องเรียน จะต้องศึกษาให้รู้จักข้อเท็จจริงต่างๆ ที่กล่าวมา แล้วแต่ต้น จากชีวิตนี้โดยตรง ไม่เรียนจากหนังสือก็เพราะว่าหนังสือไม่อาจจะให้ความจริงโดยประจักษ์มากเหมือน ที่เรียนจากร่างกายหรือชีวิตนี้โดยตรง แต่ทำไมเราจึงอ่านหนังสือก็เพราะว่าหนังสือสอนวิธี หรือได้บรรยายวิธีที่เรา จะเรียนจากร่างกายโดยตรงนี้ได้ คืออยู่เฉยๆเราจะไปเรียนจากร่างกายยาววาหนึ่งนี้โดยตรงเรามันยังทำไม่เป็น เพราะฉะนั้นเราต้องอ่านบันทึกเรื่องราวต่างๆ ที่พระพุทธเจ้าได้สอนไว้อย่างไรแล้วก็มีคนบันทึกไว้ว่า การที่เรียนจาก ร่างกายยาววาหนึ่งให้รู้ทุกอย่างนี้ เป็นอย่างไร แล้วเราได้รับวิชาอันนี้มา เราก็ไปเรียนโดยตรงอีกทีหนึ่งจากร่างกาย ที่ยาวประมาณวาหนึ่งนี้ นี่จึงจะเป็นการเรียนธรรมะชนิดที่เป็นตัวแท้ของพุทธศาสนา ถ้าอย่างนั้นมันยังเป็นเพียง หนังสือ เป็นเพียงเรื่องราว เป็นเพียงเรื่องลมปากที่พูดออกมาเป็นต้น นี่คำตอบของคำถามที่ว่า เรียนที่ไหน ให้สั้นที่สุดก็ว่า เรียนจากชีวิต ขยายความออกไปก็ว่าเรียนจากร่างกาย ที่ยาวประมาณวาหนึ่งยังมีพร้อมทั้งสัญญา และใจ สัญญาคือ สติสมปฤดี ไม่ใช่คนสลบไม่ใช่คนตาย ใจคือสติปัญญา คิดนึกได้ เรียนให้รู้ความทุกข์ และ ความดับสนิทแห่งทุกข์ แม้กระทั่งเรื่องที่จะเดินสายกลาง ให้ช่วยตัวเองหรืออะไรทั้งหมดนั้น ก็เรียนจากร่างกาย ที่ยาวประมาณวาหนึ่งนี้
ทีนี้ถ้าจะมีปัญหาถามต่อไปว่า ธรรมะหรือความจริงธรรมะนี่ ที่เรียนนี่เปรียบเหมือนอะไร คำตอบของ พระพุทธเจ้าว่า ธรรมะนี่ เรียนรู้ปฏิบัตินี้เปรียบเหมือนพ่วงแพสำหรับข้ามฟาก ข้อนี้หมายความว่า คนที่ไม่รู้มักจะ ยึดมั่นถือมั่นในพระธรรมเป็นของศักดิ์สิทธิ์ พิเศษมากมายจนถึงกับอ้อนวอน เหมือนกับอ้อนวอนพระเจ้าอย่างนี้ มันไม่ถูก พระพุทธเจ้าท่านให้ถือว่าธรรมะ หรือพระธรรมนี้เป็นเหมือนเครื่องมือ หรือยานพาหนะเช่น เรือ แพ สำหรับข้ามฟากไม่มากไปกว่านั้น แต่ว่าเราต้องทำด้วยความเคารพด้วยความตั้งใจจริง ด้วยความเอื้อเฟื้ออย่างยิ่งจึง จะเป็นพ่วงแพให้แก่เรา ไม่เช่นนั้นก็ไม่อาจจะสำเร็จประโยชน์ ใครๆ ก็ทราบอยู่แล้วว่า เรือแพนี้สำหรับข้ามฟาก แต่แล้วก็ไม่เคยมีใครแบกเรือทูนแพขึ้นบนศีรษะพาไปด้วยเมื่อข้ามฟากเสร็จแล้ว นี่คือความไม่ยึดมั่นถือมั่นแม้ในสิ่ง ที่เรียกว่าธรรมะ ซึ่งเปรียบเหมือนพ่วงแพ ความสำคัญมันมีอยู่ว่าถ้าไม่มีพ่วงแพเราก็ข้ามไม่ได้ แต่ว่าแม้จะข้ามได้ อย่างนั้น เราก็ไม่จำเป็นต้องยึดมั่น จนถึงกับว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แล้วก็ทำผิดๆ ไปเพราะความยึดมั่นนั้น เดี๋ยวนี้เราใช้ ความรู้ในทางธรรมะนี้เป็นเครื่องประหัตถ์ประหารกัน เป็นเครื่องแข่งขันกัน โอ้อวดกันจนโกรธกัน ทำอันตรายแก่กัน เพราะเรื่องธรรมะนี้ไปเสีย เช่นว่าแทนที่จะใช้เรือแพข้ามฟากนี้ เอาเรือแพนี้เป็นอาวุธประหัตถ์ประหารกัน อย่างสมมุติว่าแพนี้ไม่ใช้ข้ามฟาก แต่กระชากลำไม้ไผ่มาหวดมาตี มาทำอันตรายกันจนแพนั้นละลายไป อย่างนี้มีอยู่ มากในปัจจุบันนี้ เลยไม่ได้รับประโยชน์อะไรเลยจากธรรมะหรือพ่วงแพ มีไว้สำหรับจะตีกันคือท่องจำไว้ได้มาก แล้วก็มาข่มขี่กันด้วยวิชาความรู้นั้นๆ ไม่เป็นการปฏิบัติเลยจึงไม่เป็นพ่วงแพขึ้นมาได้เพราะเหตุนี้ ทีนี้เมื่อเรารู้ว่า ธรรมะนี้เปรียบเหมือนพ่วงแพแล้ว เราจะรู้สึกว่าเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องมี เพราะว่าเรายังตกอยู่ในฟากนี้ แห่งความทุกข์ คือยังไม่ได้รับสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ ยังไม่ถึงกับสภาพที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะถึงอย่างนี้เป็นต้น ดังนั้นเราจึงยินดีสนใจรับเอาธรรมะในฐานะเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุดยิ่งกว่าสิ่งใด ถึงกับจะช่วยให้เราได้รับสิ่งที่ดีที่สุด ที่มนุษย์จะได้รับในการที่เกิดมาเป็นมนุษย์นี้ มันไม่ใช่เรื่องเงินทอง ข้าวของ เกียรติยศ ชื่อเสียง หรือความสุขทางวัตถุ ทางเนื้อ ทางหนัง ที่จะเป็นความดีที่สุดสำหรับมนุษย์ เพราะว่าสิ่งเหล่านั้นยังทำให้คนต้องนั่งลงร้องให้ ทำให้คน กระหืดกระหอบ ทำให้คนตกนรกทั้งเป็น นี่จะขอบอกเรื่องตกนรกทั้งเป็นกันสักหน่อยเป็นการแถม นรกทั้งเป็นนั้น หมายความว่าไม่ต้องพูดกันถึงหลังจากตายแล้ว เข้าโลงแล้ว นั่นไม่ใช่ปัญหา ไม่ใช่เรื่องสำคัญ เรื่องสำคัญอยู่ที่ต้อง ตกนรกทั้งเป็น ถ้าไม่ตกนรกทั้งเป็น นรกหลังจากตายแล้วไม่ตกแน่นอน ดังนั้นขอให้สนใจมากเป็นพิเศษ เมื่อพูดถึง นรกควรพูดถึงเรื่องอบายซึ่งมีอยู่สี่อย่างได้แก่ นรกอย่างหนึ่ง กำเนิดสัตว์เดรัจฉานอย่างหนึ่ง แล้วก็เปรตอย่างหนึ่ง แล้วก็อสุรกายอีกอย่างหนึ่ง เมื่อใดมีความร้อนใจเหมือนไฟเผาเมื่อนั้นเรียกว่าตกนรก นี่ขอให้จำไว้ว่าความร้อนใจ เป็นนรก ร้อนใจเมื่อไรเป็นตกนรกเมื่อนั้นทันทีที่นี่เอง คนทำผิดทำชั่วก็ร้อนใจก็ต้องตกนรก ทีนี้กำเนิดสัตว์เดรัจฉาน นั้นคือความโง่ เมื่อไรมีความโง่อย่างไม่น่าโง่ เมื่อนั้นเป็นสัตว์เดรัจฉาน ในรูปร่างที่เรากำลังมีอยู่เดี๋ยวนี้ ที่นี่ บนเหย้า บนเรือน บนออฟฟิส แม้แต่บนสวรรค์วิมานถ้าเกิดความโง่ขึ้นมา ก็ถือว่าเป็นสัตว์เดรัจฉานโดยโอปปาติกะ กำเนิด เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานในทันใดนั้น เช่นเดียวกับเมื่อร้อนใจก็มีกำเนิดเป็นสัตว์นรกในทันใดนั้น ทีนี้เรื่องเปรตก็คือ หิวเรื่อย นี้ไม่ใช่หิวข้าวหิวอาหาร คือหิวทางจิตใจ หิวอารมณ์ที่น่ารัก น่าใคร่ น่ากำหนัดยินดีในทางจิตใจ หิวเรื่อย เพราะว่าสิ่งที่มาสนองความอยากนั้นสนองไม่ทัน ความอยากวิ่งออกหน้าเรื่อยมันจึงหิวเรื่อย ยกตัวอย่างเหมือนว่า อยากได้เงินพันบาท แสวงหาพอจวนจะได้พันบาท มันกระโดดไปหิวหมื่นบาท หามาได้พันบาทไม่มีปัญหาอะไร ไม่มีความหมายอะไรมันจึงหิวอยู่ ทีนี้ตั้งใจหาหมื่นบาท พอจวนได้หมื่นบาท มันกระโดดไปอยากแสนบาท มันก็หิว เรื่อย ล้านบาทก็หิวเรื่อย กี่ล้านบาทก็หิวเรื่อย อย่างนี้คือเป็นเปรตที่เรียกว่ามีท้องเท่าภูเขามีปากเท่ารูเข็ม มีปากเท่า รูเข็มมันสนองความอยากไม่ได้ ให้แก่ท้องเท่าภูเขาไม่ได้จึงเรียกว่า เป็นเปรตโดยโอปปาติกะกำเนิดที่นี่และทันควัน ที่มีความหิวอยู่อย่างนั้น ฉะนั้นถ้าหิวอย่างนั้นตลอดวันตลอดคืน ก็เป็นเปรตตลอดวันตลอดคืน หิวชั่วโมงหนึ่งก็เป็น เปรตชั่วโมงหนึ่งอย่างนี้เป็นต้น ทีนี้ก็มาถึงอสุรกายอันสุดท้าย เชื่อว่านักเรียนทุกคนจะต้องแปลคำว่าอสุรกายได้ด้วย ตนเอง ไม่ต้องเชื่อคนอื่น การเชื่อคนอื่นนี้พระพุทธเจ้าไม่นับถือไม่นิยม อสุระแปลว่า ไม่กล้าหาญ สุระ แปลว่า กล้าหาญ อสุระ แปลว่าไม่กล้าหาญ ,อะ ว่าไม่ ,กาย แปลว่าหมู่ว่าพวก, อสุรกาย แปลว่าพวกที่ ไม่กล้าหาญ ได้แก่ ความขลาด เมื่อใดมีความขลาดเมื่อนั้นเป็นอสุรกาย มีความขลาดไม่มีเหตุผล กลัวแม้แต่จิ้งจก ตุ๊กแก กิ้งกือ ไส้เดือน เมื่อมีความขลาดเช่นนั้นเกิดขึ้น ก็เกิดเป็นอสุรกายขึ้นแก่บุคคลนั้น และยังมีความขลาดอย่างอื่นอีกมาก ที่ไม่ควรจะ ขลาด แม้ที่สุดแต่ขลาดเรื่องที่จะมาวัดที่จะมาใกล้พระธรรมใกล้ศาสนาอย่างนี้ก็ยังมีความขลาด แถมพ่อแม่บางคน ก็ยังมีความขลาด ไม่อยากให้ลูกให้หลานเข้ามาใกล้ชิดพระศาสนา กลัวจะไม่สวย ไม่รวย จะไม่ทันคน อย่างนี้ก็เรียกว่า ความขลาด ความขลาดไม่มีเหตุผลชนิดนี้เรียกว่าเป็นอสุรกาย ดังนั้นใครมีความขลาดอย่างนี้ก็เป็นอสุรกายทันที นี่นรกคือความร้อนใจ เดรัจฉานคือความโง่ เปรตคือความหิว อสุรกายคือความขี้ขลาดตาขาว นี่เราต้องไม่ตกนรกโดย แท้จริง อย่างนี้ในชาตินี้ ถ้าไม่ตกนรกอย่างนี้แล้วรับประกันได้แน่นอนว่าชาติหน้าเป็นไม่ตกอบายชนิดไหนหมด
ดังนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงสอนให้สนใจเรื่องจริง เรื่องที่ไม่ต้องเชื่อตามบุคคลอื่น เรื่องนรกต่อตายแล้วนั้นเขา กล่าวกันไว้ตั้งแต่ก่อนพระพุทธเจ้าก่อนพระพุทธเจ้าเกิดในศาสนาอื่นก็มีกล่าวนรกอย่างนี้ อบายอย่างนี้ ทีนี้เราเป็น ลูกศิษย์พระพุทธเจ้า ซึ่งมีลักษณะเป็นนักวิทยาศาสตร์ จะต้องรู้สึกต่อสิ่งนั้นในโดยประจักษ์และเชื่อความรู้สึกของ เราเอง จึงแนะให้เห็นว่านรกที่แท้จริง อบายที่แท้จริงเป็นอย่างนี้ และอย่าได้ตกกัน ถ้าทุกคนไม่ตกนรกอย่างนี้แล้ว ไม่มีใครเดือดร้อนในโลกนี้ นี่เราเองก็เดือดร้อน ผู้อื่นก็เดือดร้อน เพราะกำลังตกนรกตกอบาย นี่ธรรมะจะเป็นเครื่อง ป้องกันไม่ให้ตกนรก หรือถ้าถือว่านรกนี้เป็นเหมือนทะเล มหาสมุทร ธรรมะก็จะเป็นเหมือนพ่วงแพ เรือแพข้ามฟาก ไปได้ ข้ามบ่อหลุมหรือเหวหรือทะเลแห่งอบายนี้ไปได้ ธรรมะมีอุปมาเหมือนพ่วงแพมีลักษณะอย่างนี้ ไม่ใช่สำหรับ อ้อนวอน ไม่ใช่สำหรับบนบาน ไม่ใช่สำหรับเอาไว้ไหว้เฉยๆ ต้องเอามาใช้อย่างเหมือนกับพ่วงแพสำหรับข้ามฟาก ไปได้
ทีนี้เราจะมาถึงปัญหาที่ตั้งขึ้นว่า ฆราวาสเหมือนท่านทั้งหลายนี้ควรเรียนเรื่องอะไร ควรเรียนธรรมะเรื่อง อะไร มีฆราวาสพวกหนึ่ง มีหัวหน้าชื่อว่า ธรรมทินนะ ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ขอให้พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมที่เป็น ประโยชน์เกื้อกูลแก่พวกเขาตลอดกาลนาน ว่าขอพระองค์จงแสดงธรรมซึ่งเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ข้าพระองค์ ทั้งหลายตลอดกาลนาน พระพุทธเจ้าท่านทรงแสดงว่า สุตตันตะทั้งหลายเหล่าใดที่ตถาคตได้ภาษิตไว้เป็นเรื่องลึก มีความหมายลึกเป็นเรื่องเหนือโลก เนื่องเฉพาะด้วยเรื่องสุญญตา คือธรรมที่จะเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่เธอทั้งหลาย ตลอดกาลนาน พูดสั้นๆก็ว่า เรื่องสุญญตา ฆราวาสควรจะได้ฟังได้ศึกษาได้ปฏิบัติ เรื่องสุญญตาและจะได้รับประโยชน์ ตลอดกาลนาน แต่เดี๋ยวนี้คนไม่รู้เรื่องสุญญตา และพอพูดถึงเรื่องสุญญตาก็แปลผิด แปลว่าสูญ คนก็เลยกลัว นี่ช่วยกัน จำไว้ทุกคนว่า สุญญตา คนโง่ๆแปลว่าสูญเปล่าไม่มีอะไรแล้วคนก็เลยกลัว ไม่มีใครแตะต้องเรื่องสุญญตา แต่ พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็น เรื่องที่ฆราวาสทุกคนจะต้องสนใจจึงจะเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่เธอทั้งหลายตลอดกาลนาน สุญญตาแปลว่าความว่าง ว่างก็คือว่างจากความยึดมั่นถือมั่นจนเป็นกิเลสเกิด ราคะ โทสะ โมหะ คือเมื่อจิตใจวุ่นอยู่ ด้วยกิเลสเช่น ความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ความหลง เหมือนกำลังตกอบายอย่างที่ว่าอยู่เหมือนกัน นี้เรียกว่าวุ่นไม่ว่าง ในขณะใด ว่างจากสิ่งวุ่นเหล่านี้ แล้วมีความฉลาดอย่างยิ่ง มีความปรกติอย่างยิ่งนี้เรียกว่า ว่าง นี่เรียกว่า สุญญตา มีพระพุทธภาษิต เกี่ยวกับเรื่องนี้ที่สำคัญมากอยากจะนำมาบอกกล่าวให้ทราบกันว่า พระพุทธเจ้าได้ ตรัสแก่ภิกษุว่า เมื่อใดภิกษุไม่สนใจในเรื่องสุญญตา แต่ไปสนใจในเรื่องที่คิดปรุงแต่งร้อยกรองกันขึ้นใหม่ๆ ไพเราะ สละสลวย ทั้งทางตัวหนังสือทั้งทางข้อความโดยพวกกวี เป็นสาวกภาษิตเหล่านี้แล้ว เมื่อนั้นศาสนาไม่มีเหลือ พระองค์ได้ตรัสว่า เปรียบเหมือนกับกลองศึกชื่อ อานกะ ของกษัตร์พวกยาฑพ ในนิทาน เอ่อ, ในกาพย์มหาภารตะของ ฮินดู ในเรื่องมหาภารตะนี้ มีกษัตริย์ตระกูลยาฑพของพวกหนึ่งชื่อว่า ทสารหะ เขามีกลองศึกสืบมาแต่โบราณใบหนึ่ง ทีนี้พอกลองนั้นมันเก่านี่ มันเกิดเนื้อผุพังตรงไหนขึ้นมาเขาก็จะเฉือนเนื้อผุพังออก เอาไม้ใหม่อัดเข้าไป ปะอุดเข้าไป พอเป็นอย่างนั้นอีกก็ปะอุดเข้าไป มันแตกก็อุดเข้าไป มันริก็อุดเข้าไป พอนานเข้า นานเข้า หลายชั่วอายุคนมา กลองใบนั้นไม่มีเนื้อไม้เก่าเหลืออยู่เลย มีแต่เนื้อไม้ใหม่ ที่เป็นของยึดประสานกันใหม่นี้เท่านั้นเอง กลองใบนั้นสูญเสีย เนื้อไม้เก่าสิ้นเชิงนี้ฉันใด เมื่อภิกษุทั้งหลาย เพราะพุทธบริษัททั้งหลายไม่สนใจเรื่องสุญญตา ที่ตถาคตได้ภาษิตไว้ ที่เป็นเรื่องลึกซึ้งมีความหมาย ลึกซึ้ง เป็นเรื่องเหนือโลก เนื่องเฉพาะด้วยเรื่องสุญญตาแล้ว เมื่อนั้นชื่อว่าเนื้อแท้ของ พุทธศาสนามิได้เหลืออยู่เลย เพราะว่าภิกษุไปสนใจในเรื่องร้อยกรองขึ้นใหม่ เป็นสาวกภาษิตโดยพวกกวีชั้นหลัง เป็นเรื่องนอกแนวของสุญญตา เหมือนกลองใบนี้ ใบที่ว่านี้ นี่ขอให้คิดดูเถอะว่าเรื่องสุญญตา สุญญตา นี้มีความ หมายอย่างไร แล้วยังตรัสไว้ในที่อื่น อีกว่า เมื่อใดไม่มีการสนใจเรื่องสุญญตาแล้ว เมื่อนั้นสิ่งที่เรียกว่า อนาคตภัยได้ มาถึงศาสนานี้แล้ว เวลานี้ยังไม่เกิด คือเมื่อพระองค์ยังมีชีวิตอยู่ตรัสแก่ภิกษุสงฆ์ว่า อนาคตภัยนี้ยังไม่ถึง แต่ในกาล ข้างหน้าจะมีสมัยหนึ่งซึ่งพุทธบริษัท ไม่สนใจเรื่องสุญญตาของตถาคต แต่ไปสนใจเรื่องที่ร้อยกรองขึ้นอย่างไพเราะ ชั้นหลัง นอกแนวสุญญตาของสาวก ภายหลัง เมื่อนั้นชื่อว่าอนาคตภัยได้มาถึงแล้วอย่างนี้เป็นต้น และถ้าเธอรู้เห็นแล้ว คือว่าเมื่อละเรื่องสุญญตา ไปสนใจ เรื่องแต่งใหม่ของสาวกแล้ว เมื่อนั้นชื่อว่าวินัยเลอะเลือนเพราะธรรมะเลอะเลือน ธรรมะเลอะเลือนเพราะวินัย เลอะเลือน นี้คืออนาคตภัยมาถึงแล้ว เธอจงรู้ความข้อนี้ เมื่อเธอรู้ความข้อนี้แล้วจง สะกัดกั้นมันเสีย นี้มาถึงพวกเรา สมัยนี้ก็ควรจะคิดดูว่ามันมาถึงหรือยัง คิดดูว่าเนื้อแท้ของศาสนายังอยู่หรือว่าหายไป หมดแล้ว ก็ตัดสินได้ด้วยเรื่อง สุญญตา หรือความว่าง ดังนั้นถ้าในหมู่พวกเราทั้งหมดนี้ ยังมีความรู้ ยังมีการปฏิบัติ มีความสามารถที่จะทำจิตให้ว่าง จากความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวเรา ว่าของเรา ว่าตัวกูของกูกันอยู่บ้างแล้ว กันอยู่บ้างแล้ว ไม่ใช่ ไม่หมายความว่าทั้งหมด หรือเด็ดขาด เพียงเท่านี้ก็เรียกว่าสุญญตายังเหลืออยู่ คือถ้าเรายังรู้ว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวง เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ว่าเป็นเรา จิตนี้ยังว่างอยู่บ้างแล้วก็เรียกว่าได้รับประโยชน์จากสุญญตา เนื้อแท้ของศาสนายัง เหลืออยู่ ถ้าไม่สนใจเรื่องนี้ ไม่มีเรื่องนี้ก็แปลว่าเนื้อแท้ของศาสนานั้นหมดแล้ว
ทีนี้ถ้าว่า เราอยากจะรู้ต่อไปว่าเราจะทำจิตให้ว่าง ประกอบด้วยสุญญตาอยู่ได้อย่างไร เราจงศึกษาจาก พระพุทธภาษิตเป็นอันดับไป ข้อแรกพระพุทธองค์ตรัสว่า โลกนี้ว่าง ขอให้นักเรียนทุกคน นักศึกษาทุกคนฟังดูให้ดีว่า พระพุทธเจ้าตรัสว่าโลกนี้ว่าง เราเชื่อหรือไม่เชื่อ ถ้าพระพุทธเจ้าตรัสว่าโลกนี้ว่าง เราเชื่อหรือไม่เชื่อ เราคงจะไม่เชื่อ ก็เห็นว่ามันมีอะไรเต็มไปหมด แล้วพระพุทธเจ้าก็ไม่ได้ตรัสว่าโลกนี้ไม่มีอะไรเลย โลกนี้ก็มีทุกอย่างตามที่โลกมี แต่ทำไมจึงตรัสว่าว่าง ที่ตรัสว่าว่างนี้เพราะมันว่างจากสิ่งที่เป็นตัวตนหรือของตน เพราะว่าบรรดาสิ่งต่างๆในโลกนี้ หรือกี่โลก หรือกี่ร้อยพันโลก โลกไหนก็ตาม เทวโลก มนุษย์โลก พรหมโลก นิริยโลก ทุกโลกไม่มีส่วนใดส่วนไหน สิ่งใดสิ่งไหน ทั้งทางวัตถุและทั้งทางนามธรรมหรือจิตใจที่ควรจะยึดว่านี่เป็นตัวเรา หรือนี่เป็นของเรา จึงเรียกว่า มันว่าง แม้แต่ชีวิตของเราเองก็ไม่ควรจะยึดถือว่าตัวเรา อะไรต่างๆทั้งหมดก็ไม่ควรจะยึดถือว่าของเรา ความจริงเป็น อย่างนั้นจึงได้เรียกว่าโลกว่าง แต่ทีนี้เราไม่มองเห็นอย่างนั้น เราไปยึดตัวเราว่าเรา ไปยึดอะไรที่เป็นของเราว่าของเรา เห็นเป็นโลกนี้ไม่ว่าง เมื่อไปยึดอะไรเป็นเราหรือเป็นของเราเข้าด้วยความสำคัญผิดเช่นนี้ จิตนี้ก็วุ่น เป็นจิตที่ไม่ว่าง จิตที่วุ่นวายนั้นก็เหมือนกับถูกไฟเผา เหมือนกับตกนรกทั้งเป็น นี่ถ้าจิตนี้เห็นอยู่ว่าโลกนี้ว่างจริงตามที่พระพุทธเจ้า ท่านว่า จิตนี้ก็ไม่ยึดมั่นอะไร ก็ไม่เกิดราคะ โลภะ โทสะ โกธะ โมหะ ไม่เกิดความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ความเศร้า ความอิจฉาริษยาอะไรหมดนี่ จิตนี้ก็เป็นจิตที่ว่าง เพราะมีบทในอรรถกถา สัทธัมมปัชโชติกา ว่า ราคโทสโมเหหิ สุญฺญตตฺตา สุญฺญโต จิตนี้ชื่อว่าว่าง เพราะว่าจิตนี้ว่างจาก ราคะ โลภะ โมหะทั้งหลาย คำว่าว่างคือว่าง จากกิเลสที่เป็นเหตุให้ไปเข้าใจผิดว่า นั่นของกู นี่ตัวกู นั่นของเขา นั่นของมึง ล้วนแต่เป็นตัวตนไปหมด ก็เกิดความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ความหลง ความอิจฉาริษยาอะไรต่างๆ อย่างนี้เรียกว่าจิตโง่ และไม่ว่าง และวุ่น เพราะไปเห็นโลกโดยความเป็นของไม่ว่าง ถ้าเราเห็นสิ่งทั้งปวงโดยความเป็นของว่าง ว่างจากลักษณะที่ควรยึดถือว่า ตัวตนของตนอย่างพระพุทธเจ้าว่า จิตนี้ก็ว่าง คือไม่ไปยึดอะไรว่าเป็นตัวตนของตน แม้ว่าจะต้องไปทำสิ่งนั้น ไปประกอบสิ่งนั้น ไปกินสิ่งนั้น ไปใช้สิ่งนั้น ไปหาสิ่งนั้น ไปเก็บสิ่งนั้นๆ ก็ตาม ไม่ได้ยึดถือว่าเป็นตัวตนของตน คนอย่างนี้ไม่มีความทุกข์เลย เพราะอะไรๆ มันก็ไม่ได้ยึดไว้ด้วยน้ำใจ ไม่มาสะสมอยู่บนศีรษะ คนโง่จะไปยึดมั่น ทุกอย่างว่าเป็นของตน ทั้ง วัว ควาย ไร่ นา ทรัพย์สมบัติ เงินทองก็มาสุมอยู่บนศีรษะคนนั้น ในฐานะที่เป็นตัวตน ของตน ก็เป็นทุกข์ ทีนี้คนฉลาดที่มองเห็นตามพระพุทธเจ้าท่านว่า ไม่มีความยึดมั่น วัว ควาย ไร่ นา แก้ว แหวน เงิน ทอง ก็ไปอยู่ใต้ฝ่าเท้าของบุคคลนั้น รับใช้อย่างเป็นบ่าวอำนวยความสะดวก โดยไม่รัก ไม่ยึดมั่นถือมั่นอย่างมากมาย เหมือนคนโง่ อย่างนี้เรียกว่าเป็นคนมีจิตว่าง ไม่ได้ยึดอะไรไว้โดยความเป็นตัวตนของตน จึงไม่มีความทุกข์เพราะเห็น โลกว่างอยู่เสมอ นี่เป็นเรื่องใหญ่ๆเกี่ยวกับความทุกข์และความไม่มีทุกข์
ทีนี้เอาเรื่องเล็กๆ เพื่อนักศึกษาและนักเรียนเหล่านี้จะเข้าใจได้ จิตว่างนั้นคือจิตที่กำลังไม่วุ่นวายอยู่ด้วย ความรู้สึกว่าตัวฉัน หรือของฉัน ตามธรรมดาเรามีความรู้สึกว่า ตัวฉันของฉัน ไม่ถึงขนาดวุ่นวาย อย่างนี้ยังไม่เรียก ตัวฉันของฉันแท้ เป็นเพียงสมมุติ ไม่เป็นไร แต่พอไปเกิดรักอะไรเข้า เกิดอยากอะไรเข้า เกิดเกลียดอะไรเข้า ไอ้ตัวฉันนี้ มันเข้มข้น เพราะมันปรุงด้วยกิเลสตัณหาอุปาทาน อย่างนี้เป็นตัวฉันเป็นของฉัน อย่างนี้เป็นทุกข์ เมื่อนั้นจิตกระสับ กระส่ายวุ่นวาย ไม่ว่าง เหมือนอย่างว่าเราจะขว้าง ขว้างแม่น เอาลูกบอลมาขว้างเป้าหมายที่เขากำหนดให้ขว้าง ครั้งแรกเราก็มีความรู้สึกแต่ว่าเราจะขว้างตามที่ตกลงกัน อย่างนี้ไม่เป็นไร ยังไม่เกิดอุปาทานมากมายนัก หรือเกิด แต่น้อยยังไม่เป็นไร แต่พอจับมาแล้วจะขว้าง กำลังเงื้อจะขว้าง เพ่งเล็งไปยังเป้านั้น ถ้าจิตวุ่นวายอยู่ด้วยตัวตน ตัวกู ของกูแล้ว เป็นขว้างผิด เพราะมีความประหม่า กลัวจะผิด แล้วเขาจะหัวเราะแล้วก็จะอาย หรือว่าจะขว้างให้ถูกจะมี ชื่อเสียงมาก จะได้รับประโยชน์ ได้รับรางวัล ถ้าผิดแล้วก็จะพลาด นี้เรียกว่าจิตวุ่นเสียแล้ว มีตัวตนจัดเสียแล้ว มันก็สั่น จิตสั่น เมื่อจิตสั่นร่างกายก็สั่น เมื่อร่ายกายสั่นมือก็สั่น เพราะฉะนั้นมันจึงขว้างผิด ทางนู้นที ทางนู้นทีทางนี้ทีอยู่นั่น แหละ เมื่อในขณะนั้นเรามีจิตว่าง คือลืมตัวเราเสียให้หมด เหลือแต่ธรรมชาติอัตโนมัติ ความรู้สึกของร่างกาย สมาธิของธรรมชาติ เหลืออยู่แต่จิตที่ปรกติ ร่างกายที่ปรกติ แล้วขว้างไปด้วยอำนาจของธรรมชาติเช่นนั้น มันกลาย เป็นขว้างถูกทุกที เหมือนกับปาฏิหาริย์ นี่จงเปรียบเทียบดูว่า จิตว่างกับจิตวุ่นนี้ต่างกันอย่างไร ในขณะนั้นเราต้อง ลืมตัวเราหมด ไม่มีตัวเรา ไม่มีของเรา ไม่มีได้มีเสียอะไรแก่เรา เหลือแต่ธรรมชาติที่เป็นร่างกาย เป็นสมาธิ เป็นสติ ปัญญา ไม่เจือด้วยกิเลสตัณหา แล้วก็ขว้างไปแล้วมันก็ถูก อย่างนี้ก็เรียกว่าเราขว้างแม่น ขว้างด้วยจิตว่าง ถ้าตรงกัน ข้าม ขว้างด้วยจิตวุ่น จิตว่างนั้นคือสุญญตา คือจิตที่ประกอบอยู่ด้วยสุญญตา ทีนี้สมมุติว่าเราจะสอบไล่ พอถึงลงมือเขียนเข้าจริง จิตเราวุ่นอย่างเดียวกันนี้อีก มันเขียนผิดๆถูกๆ ไอ้ที่เขียนเคยจำได้ก็นึกไม่ออก ที่เคยเขียน ไพเราะสละสลวยได้ มันก็กลับไปกลับมาขีดฆ่ากันอยู่นั่น เพราะมันสอบไล่ด้วยจิตวุ่น ถ้าเราจะสอบไล่ด้วยจิตว่าง คือจิตที่ประกอบอยู่ด้วยสุญญตา เราต้องลืมตัวเรา คือเหลืออยู่แต่วิชาความรู้กับข้อสอบ และจิตที่ประกอบด้วย ความว่าง ความโปร่ง ความเป็นอิสระ ไอ้ที่เรียนไว้ตั้งหลายสิบปี หลายปีมาแล้วก็นึกออก แล้วก็เรียงคำตอบได้ สละสลวย รอบคอบ สุขุม ไม่มีขีดฆ่า ไม่มีแก้ตก และบริสุทธิ์ ครบถ้วน สมบูรณ์ ถูกต้องนี้ เรียกว่าเราตอบคำตอบการ สอบไล่ด้วยจิตที่ประกอบด้วยสุญญตา นี่คิดดูเถิดว่า มันจำเป็นหรือไม่จำเป็นสำหรับฆราวาส ไอ้เรามีความรู้สึกว่าเรา จะสอบไล่ทีแรกๆนั้น ยังไม่ได้ปรุงด้วยตัณหาอุปาทาน มันเป็นความรู้สึกของสติปัญญาอยู่เหมือนกัน แต่เขาใช้คำพูด ว่าเราเหมือนกัน อย่าลืมว่าพระพุทธเจ้าเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ก็ใช้คำพูดว่าเราเหมือนกัน เรียกตัวท่านเองว่าเรา เหมือนกัน เรียกคนอื่นว่าเขาเหมือนกัน พระอรหันต์ก็ใช้คำเรียกตัวเองว่าเราเรียกคนอื่นว่าเขา แต่เราเขาอย่างนี้ ไม่ประกอบด้วยอยู่ด้วยกิเลสหรือด้วยอุปาทาน เพราะว่ายังไม่ได้ปรุงก็ไม่มีเรื่องจะปรุง ไม่มีทางที่จะปรุงจิตใจท่านได้ ดังนั้นเมื่อเราพูดอยู่ตามปรกติทั่วๆไป เราอย่างนั้น เขาอย่างนี้ อันนี้ยังไม่ได้ปรุงด้วยอุปาทาน ยังเป็นเพียงเราสมมุติ ที่แท้มันยังว่างอยู่ แต่พอถึงบทบาทเข้าจริงเช่น เห็นรูปทางตา ฟังเสียงทางหู หรือว่าจะขว้างแม่น หรือว่าจะสอบไล่ หรือว่าจะประกอบการงานอะไรก็ตาม มันเกิดปรุงขึ้นมาทันที จนเป็นความอยากอย่างแรง ยึดมั่นอย่างแรง กระสับกระส่ายอยู่ด้วย ตัวกูของกู อย่างนี้เรียกว่าไม่ว่างเสียแล้ว ดังนั้นเขาไม่ได้ประสบผลดี ในชีวิต ในการงาน ในหน้าที่ ในการศึกษาอะไรหมด นี่ถ้าฆราวาสเชื่อพระพุทธเจ้าเรื่องมีความรู้เรื่องสุญญตาแล้วเข้าใจกันให้ดีๆ ใช้เป็น ประโยชน์ให้ได้มาก ให้คนทุกคนในโลกนี้จะได้ประสบความสำเร็จยิ่งกว่าที่เป็นอยู่เดี๋ยวนี้มากมาย นี่เพราะละเลยเรื่อง สุญญตา คือความมีจิตว่างนี้จนไม่เข้าใจ จนเหมือนกับว่าไอ้เนื้อกลองเก่าไม่มีเหลืออยู่เลย เหลือแต่เรื่องใหม่ๆอย่างอื่น เข้ามาพัวพันยุ่งไปหมด เหมือนกับเดี๋ยวนี้เราไม่สนใจเรื่องสุญญตา แต่ไปสนใจเรื่องที่ตรงกันข้าม แม้ในหมู่พุทธบริษัท เป็นเรื่องยุ่งยากมากมายไม่มีที่สิ้นสุด แต่ไม่เกี่ยวกับสุญญตาเลย เพราะมันมีความไพเราะในทางวรรณคดี ทางนั้นทางนี้ ทางสติปัญญาไว้อวดกันเป็นต้น นั่นคือเนื้อแท้ของศาสนาไม่มี มีแต่เนื้อใหม่ๆอะไรก็ไม่รู้ นี่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า จะกลับไปสู่เนื้อแท้ได้อีกโดยการศึกษาสนใจเรื่องสุญญตา ดังนั้นเป็นอันว่า เรื่องสุญญตานี้ เป็นเนื้อแท้ หรือเป็นตัวแท้ ของพุทธศาสนาอยู่ตลอดเวลา จึงได้เอามากล่าวให้ฟังว่า แม้แต่ฆราวาสก็จำเป็นที่จะต้อง ศึกษาและเข้าใจเรื่องสุญญตา เพื่อประโยชน์สุขสิ้นกาลนาน ในทุกกรณีแม้แต่จะศึกษาเล่าเรียน แม้แต่จะประกอบอาชีพ ทำไร่ ไถนา ค้าขายอะไร ก็ตาม จะต้องกระทำด้วยจิตที่เป็นอิสระจากกิเลส ไม่ปรุงวุ่นอยู่ด้วยเป็นตัวกูของกู แต่ว่างจากความรู้สึกชนิดนี้ แล้วมี สติปัญญาอย่างยิ่ง คล่องแคล่วอย่างยิ่ง ว่องไวในการคิดนึกอย่างยิ่ง เป็นอิสระอย่างยิ่ง นั่นแหละคือสุญญตา อย่าไปหลง ตามคนโง่ๆแปลว่า ความสูญไม่มีอะไร แต่ถ้าแปลว่าความว่างจากตัวตนของตน นี้เป็นพุทธภาษิต ชื่อว่าสุญญตาเพราะ ว่างจากตัวตนของตน เมื่อว่างจาก ราคะ โทสะ โมหะ เรียกว่ามีจิตว่างเพราะเห็นอยู่ว่า สิ่งทั้งปวงว่างจากตัวตน เรื่องไปนิพพานก็ต้องว่างจากตัวตนจึงจะถึงนิพพานได้ อยู่ในโลกเป็นฆราวาสวิสัย ก็ต้องมีจิตที่ว่างจากตัวตนตาม สมควรแก่ฆราวาสวิสัย ก็แปลว่าเรื่องเดียวกันนั้น ถ้าทำให้มากให้ถึงที่สุดก็เป็นเรื่องบรรลุพระอรหันต์ เป็นโลกุตระ โดยสมบูรณ์ เดี๋ยวนี้เราอยู่ในโลกก็อย่าจมอยู่ลงไปในโลกมากเกินไป ให้อยู่ในพวกที่จะขึ้นเหนือโลก หมายความว่า อย่าให้ความทุกข์ในโลกนี้ครอบงำเรามากเกินไป ให้ครอบงำแต่น้อยที่สุดจนกระทั่งไม่ครอบงำเลย อย่างนี้เรียกว่า โลกุตระหรือเหนือโลก
ทีนี้เมื่อพูดถึงสุญญตาแล้ว ก็ควรจะพูดถึงสิ่งที่เป็นผลสุดท้ายที่เรียกว่า อมตธรรม อมฤตธรรม นักเรียนคงจะ ได้ยินคำว่า อมฤต น้ำอมฤต แต่อาจจะไม่เข้าใจ แล้วเข้าใจผิดกลายเป็นกินเหล้าโดยเรียกว่าเป็นน้ำอมฤต นี้ความโง่ตาม พวกอสูรครั้งก่อนพุทธกาล โดยเอาเหล้าเป็นน้ำอมฤต อมฤตแปลว่าไม่ตาย อมตะแปลว่าไม่ตาย ที่กินเข้าไปแล้วทำให้ ไม่ตาย คนโง่ๆเหล่านั้นคิดว่าผสมยาอย่างใดอย่างหนึ่ง เจือเหล้าหรือเป็นเหล้าอะไรก็ตาม กินเข้าแล้วจะไม่ตาย ผสมกิน กันเข้าไปแล้วก็ยังตายอยู่ดี เพราะมันเป็นเรื่องของความโง่ แต่คำว่าไม่ตายนี้ยังวิเศษอยู่ยังเอามาใช้กันอยู่เรื่อย จนกระทั่งถึงพุทธศาสนาพระพุทธเจ้าก็มีสิ่งที่เรียกว่าอมตะ อมตธรรมคือสิ่งที่ไม่ตาย ถ้าเราประพฤติปฏิบัติพระพุทธ ศาสนา โดยหลักแห่งสุญญตาถึงที่สุดแล้ว เราจะลุถึงอมตธรรม คือธรรมที่ไม่ตาย สิ่งที่เรียกว่าไม่ตายนั้นมีพุทธภาษิต ว่า คือความสิ้นราคะ โทสะ โมหะ บาลี สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ว่าอย่างนี้ เพราะสิ้นราคะ โทสะ โมหะ ชื่อว่า อมตะ คือ ไม่ตาย ไอ้ราคะก็คือว่ามีตัวตน กลุ้มอยู่ด้วยเรื่องจะเอา จะรัก จะยึดถือ จะยึดครอง ไอ้โทสะก็คือ กลุ้มอยู่ด้วย กิเลส ในทางที่จะเตะ ตี ต่อย ทำลาย ขจัดปัดออกไป นี่มันตรงกันข้าม นี้โมหะนั้น โง่ หลง วนเวียนไม่รู้อะไรเป็นอะไร สงสัย คลุ้มคลั่ง หลงใหลอยู่ กิเลสมีสามพวก ขอเธอจำไว้เป็นหลัก ราคะหรือโลภะก็ตามนี้พวกหนึ่ง นี่พวกที่จะเอาเข้า มาหาตัว มากอดรัดไว้ มายึดถือไว้ มีชื่อต่างๆอีกหลายสิบชื่อ แต่เรียกว่าพวกโลภะหรือราคะนี่ ทีนี้พวกที่สองเรียกว่า โทสะหรือโกธะ มีชื่อต่างๆอีกหลายชื่อ แต่โดยเนื้อแท้แล้วมันเหมือนกัน คือไม่เอาเข้ามาแต่จะผลักออกไป จะตี จะทำลาย จะขจัดให้สูญหายไปเพราะเกลียด ทีนี้พวกที่สามเรียก โมหะ มีอีกหลายชื่อเหมือนกันแต่เราเรียกว่าโมหะ ก็แล้วกัน พวกนี้ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดี มีความสนใจอย่างยิ่ง ทึ่งอย่างยิ่ง สงสัยอย่างยิ่ง วนเวียนอยู่ที่นั่น โดยเฉพาะ อย่างยิ่งสงสัยว่าต้องมีอะไรที่เป็นตัวตนที่เราต้องเอาไว้ให้ได้ จึงได้ยึดถือตัวตนเพราะโมหะนั้น เพราะฉะนั้นมันจึงเป็น ตัวตน เมื่อมีตัวตนแล้วก็ต้องเป็นทุกข์ มันวุ่นอยู่ด้วยความ ราคะ โทสะ โมหะ นี่เรียกว่าความตาย ทีนี้ต่อเมื่อใดรู้ชัด ว่าสิ่งทั้งหลายไหลเรื่อย ไม่มีส่วนไหนเป็น ตัวตนของตน เมื่อนั้นไม่มีตัวตน ไม่มีตัวตนแล้วจะเอาอะไรตาย มันก็ไม่มี ความตาย เท่ากับที่ไม่มีตัวตน นี่เรียกว่า อมตธรรม พอสิ้น ราคะ โทสะ โมหะ ก็ไม่มีตัวตน เมื่อไม่มีตัวตนก็ไม่มีอะไร ตายนั่นแหละคือ อมฤตธรรมในพุทธศาสนา หมดกิเลสคือราคะ โทสะ โมหะแล้วก็เป็นอมตะ คือไม่ตายอีกต่อไป แต่นี่เพราะมีตัวเรานี่จึงมีความตาย ไปยึดมั่นการเกิด การแก่ การเจ็บ การตาย เป็นตัวตนไปหมดจึงมีความตาย พอเห็นว่านี่ไม่ใช่อย่างนั้น เป็นเพียงไหลเรื่อยแห่งสังขาร เปลี่ยนแปลงเรื่อย เรามาสมมุติต่างหากเรียกว่าความ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ความจริงเป็นสังขารไหลเรื่อย อย่างนี้ไม่มีตัวตน แล้วก็ไม่มีอะไรตาย อย่างนี้จิตว่างถึงที่สุดไม่มีความทุกข์เลย และไม่มีใครที่จะเกิดหรือจะตายจึงเรียกว่า อมตธรรม นี่เรียกว่ารู้จักอมตธรรมในพระพุทธศาสนาไว้โดยหัวข้อย่อๆ อย่างนี้ก่อนก็แล้วกัน เพราะฉะนั้นเรื่องอมตธรรม หรือเรื่องสุญญตานี้ เป็นเรื่องสูงสุดของพุทธศาสนา หรือจะกล่าว อย่างตีคลุมก็ว่าของโลกก็แล้วกัน ไม่มีเรื่องอะไรจะสูงไปกว่าเรื่องนี้แล้ว ไม่มีอะไรจะลึกซึ้งไปกว่าเรื่องไม่มีตัวตนนี้แล้ว เรื่องว่างจากตัวตน ไม่มีตัวตน ไม่ต้องเกิด แก่ เจ็บ ตายนี้ เป็นเรื่องที่ลึกซึ้งที่สุด แล้วก็สูงที่สุดในเรื่องทั้งหลาย
ทีนี้เราก็มาถึงข้อที่ว่า อะไรคือนิพพาน ไอ้ว่างนี้คือนิพพาน ไอ้ไม่ตายนี้คือนิพพาน แต่เขาใช้คำอีกคำหนึ่ง เรียกว่านิพพาน แปลว่าหมดฤทธิ์เดชที่ทำให้เร่าร้อน คำว่านิพพานที่มีใช้ในภาษาบาลี ขอให้จำไว้ง่ายๆอย่างนี้ ไอ้ถ่านไฟแดงๆคีบออกมาจากเตาวางไว้มันก็เย็นลง ก็ดำและก็เย็นสนิท เป็นถ่านไฟเย็นสนิท นี้เรียกว่าถ่านไฟนิพพาน ทีนี้สูงขึ้นไป สัตว์เดรัจฉานสัตว์ป่า สัตว์เดรัจฉานในป่าหรือว่าสัตว์บ้านก็ตามใจ เอามาฝึกอย่างดีจนหมดพยศของสัตว์ เดรัจฉาน อย่างนี้ก็เรียกว่าสัตว์นั้นนิพพาน ใช้คำๆ เดียวกันกับในที่ทั่วไป เรียกว่าสัตว์นั้น ปรินิพพุโต คือปรินิพพาน แล้ว นี่บาลีมัชฌิมนิกาย ก็มีอยู่อย่างนี้ ที่อยู่ในรูปที่พระพุทธเจ้าเล่าเรื่องเป็นพุทธภาษิต ว่าสัตว์เดรัจฉานที่หมดพยศ แล้วก็เรียกว่ามันนิพพาน ทีนี้มาถึงคนหมดพยศคือราคะ โทสะ โมหะแล้ว ว่างจากราคะ โทสะ โมหะแล้วก็เรียกว่า นิพพาน ใช้คำๆ เดียวกันแท้ไม่ผิดกันแม้แต่ตัวอักษรสักตัวเดียว ไอ้ถ่านไฟนั้นก็นิพพาน สัตว์เดรัจฉานก็นิพพาน แล้วเราเป็นคนทำไมจะไม่นิพพาน ทำไมจะเลวกว่าสัตว์เดรัจฉานหรือเลวกว่าถ่านไฟอีก ฉะนั้นต้องพยายามกระทำจน หมดพยศของคน ถ่านไฟก็หมดพยศของถ่านไฟ สัตว์เดรัจฉานก็หมดพยศของสัตว์เดรัจฉาน คนก็หมดพยศของคน หมดทั้งหมดนี้ เรียกว่านิพพาน นั้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือความหัวดื้อ ที่บุตรมักจะมีต่อบิดา มารดา ครูบาอาจารย์นี่ นี่คือพยศอย่างยิ่ง อันแรกที่เราจะต้องรู้สึก ความไม่เคารพเชื่อฟังบิดา มารดา ครูบาอาจารย์เป็นพยศอันแรกที่จะต้องละ เพื่อการนิพพาน เราเห็นสัตว์เดรัจฉานที่ฝึกดีแล้ว ไม่มีการกัดเจ้าของ ไม่ดื้อเจ้าของ ไม่อะไรต่างๆนี่ มันน่าจะคิดดู แต่คนเรากลับไปดื้อ ไปดื้อดึงพ่อแม่ ไม่เคารพพ่อแม่ จับพ่อแม่ใส่นรก คือทำพ่อแม่ให้มีความร้อนใจ เป็นเจ้าชู้ตั้งแต่ ยังเป็นนักเรียนนี่ มันเท่ากับจับพ่อแม่ใส่ลงไปในนรก นั้นก็คือพยศที่ร้ายกาจที่สุดที่ตรงกันข้ามจากสิ่งที่เรียกว่า นิพพาน ที่เราพยายามละพยศร้ายนี้ไปเรื่อยๆ เรื่อยๆ มันก็จะหมด อย่างน้อยเราก็นิพพานได้แบบหนึ่ง คือว่าเราจะมี จิตใจที่ว่างไม่มีความทุกข์เลย เมื่อใดมีจิตใจว่างไม่มีความทุกข์เลย เมื่อนั้นเรียกว่า ตทังคนิพพาน เป็นความบังเอิญ ประจวบเหมาะก็ได้ มีจิตใจว่าง ไม่มีพลุ่งพล่านเป็นตัวกูของกู เย็นสบายอย่างนี้เรียกว่าเป็น ตทังคนิพพาน หรือ สันทิฎฐิกนิพพาน นิพพานที่คนเห็นได้เองชิมลองได้เอง ในขณะที่เป็นสมาธิในรูปฌานก็เรียกว่า ตทังคนิพพาน หรือ สันทิฎฐิกนิพพาน เขาเรียกว่า นิพพานชั่วคราว นิพพานตัวอย่าง นิพพานชิมลอง มันก็เหมือนกันกับนิพพานใหญ่ แต่มันผิดกันตรงที่ว่ามันไม่เด็ดขาดมันไม่ตลอดกาล ไอ้นิพพานชิมลองชั่วคราว ขณะใดที่เธอมีจิตใจสบายที่สุด เยือกเย็นที่สุด สะอาดที่สุด เป็นอิสระที่สุด โปร่งสบายที่สุด นั้นกำลังชิมรสของนิพพานชนิดชั่วคราว ถ้าเป็นพระ อรหันต์ก็หมายความว่าหมดกิเลสแล้วมันเป็นอย่างนั้นตลอดกาลไป นี้พวกเราว่างจากกิเลสเป็นครั้งคราว พอว่างมัน ก็เหมือนกับเป็นนิพพาน พอไม่ว่างมันก็วุ่นไปตามเดิม มันก็เป็นทุกข์ จะมีการเกิดใหม่ ขึ้นๆ ลงๆ หรือการตกอบาย อย่างที่ว่าสี่ประการนั้นบ้าง หรือบางทีก็ดีกว่านั้น บางทีก็เป็นมนุษย์บางทีก็เป็นสุขเหมือนเทวดา เดี๋ยวก็กระโดดลง มาเป็นอบายอีก เพราะว่ามันยังไม่สิ้นกิเลส ฉะนั้นการนิพพานนั้นจึงไม่แน่นอน ความเย็นสนิทไม่แน่นอน ความหมด พยศร้ายยังไม่แน่นอน เราจงพยามยามทำให้ถึงความแน่นอนให้เด็ดขาดลงไป เพื่อจะได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้
นี้ขอฝากไว้ให้นักเรียนนักศึกษา ท่านสาธุชนทั้งหลายสนใจกับปัญหาที่สำคัญที่สุดข้อหนึ่งคือข้อที่ว่า สิ่งที่ดี ที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้นั้นคืออะไร นี้เป็นปัญหาที่สำคัญกว่าปัญหาทั้งหลายขอให้จดจำไว้ทุกคน ว่าสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ ควรจะได้นั้นคืออะไร เราจะไม่ตั้งปัญหาว่าเราทำไมจึงต้องเกิดมาหรือเกิดมาโดยวิธีใด นี่เราไม่ต้องตั้งปัญหาอย่างนั้น มันเป็นเรื่องนอกเรื่อง ไม่คุ้มค่าเวลา แต่เราจะตั้งปัญหาว่า เกิดมาแล้วเดี๋ยวนี้เราจะต้องทำอะไร อย่าไปตั้งปัญหาว่าทำไม จึงเกิดมา เกิดมาโดยวิธีใด จากไหน อะไรนี่ ปัญหาเหล่านี้พระพุทธเจ้าท่านไม่ตอบ ท่านดึงมาคิดปัญหาปัจจุบัน ปัญหาด่วนว่าที่เกิดมาแล้ว ที่นั่งอยู่ที่นี่ จะต้องทำอะไรหรือว่าเพื่ออะไร ฉะนั้นขอให้กำหนดไว้ทีก่อนว่าเพื่อจะได้สิ่ง ที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้นี้ทีหนึ่งก่อน เพื่อได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ ข้อนี้ตรงกันหมดทั้งทางพุทธศาสนาและ ทั้งจริยธรรมสากลของโลก ที่ไม่เกี่ยวกับศาสนาไหนหมด ก็เรียกว่าจริยธรรมสากล เรียกว่า SUMMUM BONUM ภาษาสากล จริยธรรมสากลก็ใช้ภาษาสากล คือภาษาลาตินเรียกว่า SUMMUM BONUM สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ จะต้องได้ในชีวิตนี้เรียกว่า Summum Bonum, utmost ดีที่สุด Goodness นี่ , utmost goodness ความดีที่สุด ,that man ซึ่งมนุษย์, can get จะเอาได้, in this very life ทั้ง this ทั้ง very , life คือในชาตินี้เอง ทั้ง this ทั้ง very ขอให้คิดเอาดู สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ในชาตินี้ ขอให้ทุกคนเอาไปคิดว่าอะไร ถ้าไม่ได้สิ่งนี้ก็ยอมรับไว้เถิดว่าเสียชาติเกิดมา นี่ใช้คำว่ามันเสียชาติเกิดมา นี่ถ้ายังไม่รู้ ถ้ายังไม่รู้ว่าคืออะไรก็เคว้งคว้างไปหมด และมันจะเสียชาติที่เกิดมา ลองคิด ดูเถิด ถ้ายังไม่รู้ว่าไอ้นั่นคืออะไร มันก็เคว้งคว้างไม่รู้ว่าจะไปจับเอาที่ไหน ดังนั้นรีบไปคิดเอาเสียเถอะว่าอะไรดีที่สุด ที่มนุษย์ควรจะได้ นี้ว่าถ้าเราเอาตามแบบจริยธรรมสากลกันก่อน แล้วระบุไว้ว่า ความสุข ความสุข หรือ HAPPINESS นี่ความสุข แล้วข้อที่สอง ความเต็ม PERFECTION ความเต็มของความเป็นมนุษย์ แล้วข้อที่สาม หน้าที่เพื่อหน้าที่ DUTY FOR DUTY’S SAKE หน้าที่เพื่อประโยชน์แก่หน้าที่ และข้อที่สี่ GOODWILL ความรักสากล ความรักที่เป็น สากลแก่ทุกคนทุกชีวิต นี้เป็นหลักจริยธรรมสากลและถือว่านี่เป็น SUMMUM BONUM เกิดมาทีหนึ่งต้องได้ ความสุข แต่หมายถึงความสุขที่แท้จริง ดังนั้นเราจะต้องรู้จักแยกให้ดี ไอ้ความสนุกนั้นมันอีกคำหนึ่ง สนุกสนาน เอร็ดอร่อย ทางเนื้อ ทางหนัง ทางตา ทางหู นี้ไม่ใช่ความสุข เธอก็รู้อยู่แล้วว่าเขาเรียกว่า PRESSURE เป็นความสนุก นี้เราต้องการไอ้ความสุข ไอ้ความสุขนั้นมัน ข สะกด และไอ้ความสนุกมันคือความสุกที่ ก สะกด สอสระอุ ก สะกด นี้จำไว้ว่า อันนั้นที่เธอกำลังหลงอยู่เอามาเปรียบกับความสุขที่ ข สะกด ทีนี้ ไอ้ PRESSURE ต่างๆนั้นจะเผาให้สุกเป็น ก สะกด นี้ดับกิเลสดับพยศ พยศของคนเสียให้หมดนี้จะเป็นความสุข ข สะกด นี้ HAPPYNESS ที่จริยธรรมสากล ต้องการ จริยธรรมสากลไม่ใช่ศาสนาไม่ใช่พุทธศาสนา นี้ PERFECTION ความเต็มแห่งความเป็นมนุษย์ นี้ถามตัวเอง ดูว่าเต็มแล้วหรือยัง เป็นมนุษย์ที่เต็มแล้วหรือยัง หรือยังขาดอยู่อีกกี่เปอร์เซ็นต์ คุณหลวงวิเชียรฯว่าอย่างน้อยมันขาด อยู่สิบห้าเปอร์เซ็นต์ นี่มันยังขาดอีกอย่างน้อยสิบห้าเปอร์เซ็นต์ นี่กลัวมันจะมากกว่านั้น ทีนี้จะนึกถึงข้อหนึ่ง ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ในอริยวินัยนี้การเต้นรำคืออาการของคนบ้า นี่การร้องเพลงคือการร้องไห้ของเด็กๆ นี่ลองคิดดู แต่เราไม่เคยคิดอย่างนั้นใช่ไหม นี่เป็นบาลีพุทธภาษิตในอังคุตตรนิกาย ติกนิบาตที่กล่าวไว้อย่างนี้ คนที่เคยอ่าน หนังสือกามนิต เขาจะต้องพบเรื่องนี้ การฟ้อนรำคืออาการของคนบ้า การร้องเพลง การร้องไห้ การหัวเราะเป็น อาการของเด็ก ครบถ้วนสามอย่างอย่างนี้ ลองคิดดูว่าก่อนที่จะลุกขึ้นเต้นได้ มันบ้าหรือมันไม่บ้า ลองคิดดูก็แล้วกัน การลุกขึ้นเต้นรำอย่างไทยหรืออย่างฝรั่งอะไรก็ตาม มันเกินสิบห้าเปอร์เซ็นหรือยัง ที่มันจะลุกขึ้นเต้นเร่าๆ พระพุทธเจ้ายังว่าการเต้นรำเป็นอาการของคนบ้า แล้วการร้องเพลงเป็นอาการของการร้องไห้ ลองไปดูสังเกตดู คนที่นั่งร้องเพลงหลับตาตะเบ็งเสียง มันมีอาการอย่างเดียวกับคนร้องไห้ ทีนี้การหัวเราะนั่นมันเหมือนกับอาการของ เด็กที่มันนอนอยู่ในเบาะ หัวเราะแหย นี่ความกลับกันอยู่ระหว่างอริยวินัยกับชาวบ้านนี่มันมีอยู่อย่างนี้ คนแต่งหนังสือ กามนิตเอาไปจาก อังคุตตรนิกาย เพราะของเราอ่อนกว่าตั้งสองพันกว่าปีแล้วคำกล่าวอย่างนี้ ทีนี้เราระวังให้ดีว่าตัวเรา น่ะกำลังสับกันอยู่เรื่องระหว่างความสนุกกับความสุขหรือไม่ ไอ้ความเต็มกับความไม่เต็มนี้หรือไม่ เราอาจจะคิดว่า เราเต็มแล้ว ก็ได้ เราไปด่าคนอื่นว่าบ้าๆบอๆ ไม่เต็มบาท ไม่เต็มเต็ง อะไรนี่ แต่ตัวเองระวังให้ดีมันเต็มแล้วหรือยัง มันมี PERFECTION ที่ว่านี้แล้วหรือยัง ทีนี้ DUTY FOR DUTY’S SAKE ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่นี้สำคัญมาก เราต้องทำงาน เพื่องานจึงจะเป็น SUMMUM BONUM ถ้าทำงานเพื่อเงิน เพื่อชื่อเสียง เพื่ออำนาจวาสนาต่างๆนั้น ไม่เป็น SUMMUM BONUM ไม่ต้องตามหลักของจริยธรรมสากล ทำงานเพื่องานหมายความว่า มนุษย์เกิดมาเป็นมนุษย์ มีหน้าที่จะต้องทำอย่างมนุษย์แล้วขอให้ทำก็แล้วกัน พอทำไปแล้วงานมาเอง ชื่อเสียงมาเอง อำนาจวาสนามาเอง มันมาอยู่ใต้ฝ่าเท้าเรา แต่ถ้าว่าเราทำงานเพื่อเงิน เพื่อชื่อเสียง เพื่ออำนาจวาสนา สิ่งนั้นมาอยู่บนศีรษะเรา มาสุมอยู่บน ศีรษะเรา ถ้าทำงานเพื่อเงิน เงินมาสุมอยู่บนศีรษะเรา ถ้าทำงานเพื่องาน งานมาอยู่ใต้ฝ่าเท้าเรา มันผิดกันอย่างไร ทีนี้ทำงานเพื่องานนี้เป็นการรับผิดชอบในหน้าที่ของมนุษย์ มันไม่มีตัวตน มันว่างจากตัวตน ไม่เห็นแก่ตน ทำงาน เพื่องานไม่เห็นแก่ตน ถ้าทำงานเพื่อเงินมันมีตัวตนตั้งแต่ทีแรกแล้วมันก็เห็นแก่ตน มันล้วนแต่เพื่อตน พอเห็นแก่ตน มันต้องเป็นการทำความชั่ว ความชั่วทุกอย่างมาจากความเห็นแก่ตน ดังนั้นหลักจริยธรรมสากลจึงบัญญัติว่า หน้าที่ เพื่อหน้าที่ ไม่ใช่หน้าที่เพื่อเงินหรือเพื่ออย่างอื่น ทีนี้ขอให้เราคิดกันว่าเราเป็นนักเรียนนักศึกษาอยู่ในโรงเรียนใน วิทยาลัยนี้ เราเรียนเพื่ออะไร เราเรียนเพื่อหน้าที่หรือว่าเราเรียนเพื่อเงิน เรียนเพื่อจะสามารถไปหัดทำงาน แล้วหาเงิน มาเล่นหัว สนุกสนาน เอร็ดอร่อยทางตา ทางหู ทางนั้น ให้สนุกเป็นการใหญ่อย่างนี้ หรือว่าเราทำงานด้วยจิตใจที่สูง รู้สึกว่าเราศึกษาด้วยจิตใจที่สูง ว่านี่เราเกิดมาเรามีหน้าที่ ที่ต้องศึกษาให้รู้เพื่อจะมีสมรรถภาพเพื่อจะทำการงาน สำหรับทำโลกนี้ให้งดงาม สำหรับทำมนุษยชาติให้เป็นสังคมที่มีความสงบสุข ถ้าเราคิดอย่างนี้การเรียนของเรานี้เป็น SUMMUM BONUM เมื่อเธอนั่งอยู่ในโต๊ะที่ชั้นเรียนในห้องเรียนนี้ยังเป็น SUMMUM BONUM เพราะว่าเธอเรียน เพื่อหน้าที่ ไม่ใช่เรียนเพื่อให้เก่งไปหาแฟนดีๆ ไปหาเงินมากๆ แล้วไปสนุกสนานอย่างนั้น อย่างนั้นไม่เป็น SUMMUM BONUM ไม่เป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ในชีวิตนี้ เมื่อเราเรียนเสร็จเราก็ทำงาน ทำงานเพื่อหน้าที่ของมนุษย์ที่จะ ต้องทำ แล้วก็ทำให้มากให้สูงให้ยิ่งๆขึ้นไป ทีนี้ไอ้งานนี้ทำให้เราเป็นผู้ได้ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ ส่วนเงินส่วนอำนาจ วาสนา ชื่อเสียงนั้นถือเป็นเพียงผลพลอยได้ แล้วมันมาเอง แล้วมันอยู่ใต้ฝ่าเท้าไม่มาอยู่บนศีรษะ นี่หลักจริยธรรม สากลยังมีอย่างนี้ ว่าไอ้ตัวตนไอ้หน้าที่เพื่อหน้าที่นี้ มันจะขจัดออกไปเสียซึ่ง EGOISM ซึ่ง SELFISHNESS ซึ่งล้วนแต่ เป็นเรื่องเห็นแก่ตัวตน ฉะนั้นจำได้ง่ายๆว่าหน้าที่เพื่อหน้าที่ หรืองานเพื่องาน นี้เป็นจริยธรรมสากลที่ถือเป็นหลักว่า เป็นดีที่สุด ถ้างานเพื่อเงิน หน้าที่เพื่อเงิน เพื่ออำนาจวาสนา เพื่อชื่อเสียงแล้วเป็นเรื่องตัวตน เป็นเรื่องวุ่นตั้งแต่ทีแรก มีทุกข์ตั้งแต่ทีแรก ต้องจัดไว้เป็นเรื่องของพวกอบาย พวกเสื่อมเสีย พวกตกต่ำ ไม่ใช่มนุษย์ ไม่ใช่สำหรับมนุษย์ที่ ถูกต้องตามความหมายของคำว่ามนุษย์ ฉะนั้นต้องจดจำไว้ว่ามนุษย์เรามีใจสูง ถ้าใจสูงต้องทำงานเพื่องาน ถ้าใจต่ำก็ ต้องทำงานเพื่อสิ่งเอร็ดอร่อยสนุกสนาน แล้วก็ลุ่มหลงไปจนตกอบายสี่อย่าง อย่างที่ว่า ทีนี้เราทำงานเพื่องานมีจิตใจสูง เป็นอิสระ ผู้อื่นก็พลอยได้รับประโยชน์มากมายยิ่งกว่าตัวตนเสียอีก และเงิน ลาภ สักการะ เกียรติยศชื่อเสียงก็มาอยู่ ใต้ฝ่าเท้า แล้วเราก็ได้เป็นเหมือนกับข้ามฝากไปถึงสิ่งที่ดีที่สุด จุดที่ดีที่สุด ภาวะที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ ฉะนั้นขอ ให้นักเรียนทุกคน นักศึกษาทุกคนตั้งใจศึกษาเล่าเรียนเพื่อสิ่งนี้ อย่างน้อยก็ว่าเพื่อกระทำโลกนี้ให้งดงาม ไอ้เพื่อตัวตน นั้นอย่าขืนเอาเข้ามา ขืนเอาเข้ามาจะทำให้ลืมตัว แล้วจะตกอบายไม่ทันรู้ นี้รวมความว่าสิ่งที่ดีที่สุดของมนุษย์ในทาง จริยธรรมสากล
ทีนี้จะถามว่าทางพุทธศาสนาเล่า ไอ้ที่ดีที่สุดของมนุษย์นั้นคืออะไร พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า นิพฺพานัง ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมกล่าวว่า นิพพานเป็นบรมธรรม, ปรมัง คือ บรมธรรม, นิพพานัง นิพพาน, ปรมัง บรมธรรม, วทันติ พุทธา พระพุทธเจ้าทั้งหลายกล่าวว่า นิพพาน เป็นบรมธรรม บรมธรรมนั้นคือ SUMMUM BONUM เพราะเล็งถึงสิ่งที่ดีที่สุด ที่สูงที่สุด ที่ประเสริฐที่สุด ไม่มีอะไรดีกว่านั้นแล้ว ฉะนั้นนิพพานคืออย่างที่ว่าเมื่อ ตะกี้นี้ว่าความหมดพยศ ความดับเย็นไม่มีพิษร้อน พิษร้ายของพยศเรียกว่านิพพาน เราจงมีนิพพานนี้ไปตามลำดับ ลำดับ ลำดับ จนกว่าจะถึงเป็นนิพพานเด็ดขาด ดังนั้นในเวลาใด นาทีใดที่เธอไม่มีความรู้สึกว่าตัวกูของกู ตัวฉันของฉัน เพื่อฉันนี้ นั้นเหละเป็นเวลาที่เป็นนิพพานโดยปริยายหนึ่ง มีรสชาติเหมือนกันหมด นิพพานชนิดไหนก็ตาม แต่อย่าไป เล็งถึงไอ้ที่เราไม่ได้กระทำนะ เช่นว่าเรานอนหลับสบายนี่ จะเรียกว่านิพพานไม่ได้ เพราะว่าเราไม่ได้กระทำ ไม่เกี่ยวกับ การควบคุมบังคับ เดี๋ยวจะไปนอนไม่ได้ทำงานอะไรนี้ มันก็เป็นเรื่องผิดใหญ่ ผิดหลวง มันต้องอยู่ในวิสัยที่เราจัด เราทำ เราปรับปรุง ฉะนั้นเราจงปรับปรุงชีวิตการงานต่างๆนี้ให้ไม่มีของร้อน ไม่ให้ตกอบายทั้งสี่ชนิด ในชีวิตประจำวันนี้ แล้วก็มีความเป็นอิสระเยือกเย็นสบายนี้เป็นนิพพาน เราได้ชิมลองในนิพพานตัวอย่าง หรือบรมธรรมตัวอย่าง หรือ SUMMUM BONUM ตัวอย่างนี้เรื่อยไป ไอ้ส่วน GOODWILL หรือเมตตาสากล ความรักสากลนั้นมันเหมือนกันหมด ทางศีลธรรมสากลก็เหมือนกันกับพุทธศาสนา นี้มันเป็นเรื่องเพื่อคนอื่นหมดแล้ว แผนกที่เกี่ยวกับคนอื่น เราต้องรัก ผู้อื่น ในพุทธศาสนาคำว่าเมตตานี้ต้องการให้ไม่จำกัด แล้วแผ่เลยไปกระทั่งถึงสัตว์เดรัจฉานตัวนิดตัวน้อยด้วยก็ได้ ด้วย ไม่ใช่ด้วยก็ได้ ด้วย ด้วยโดยเด็ดขาด แต่ว่าจริยธรรมสากลนั้นอาจจะยกเว้นสัตว์เดรัจฉาน อาจจะไปฆ่าปลา ฆ่าเนื้อ อะไรมาแกงกินก็ได้ ไม่ผิดจริยธรรมสากล ดังนั้นคำว่า GOODWILL หรือ เมตตาสากล ของจริยธรรมสากลนั้นไม่มาก เท่าของพุทธศาสนา มันน่าจะต้องรวมแม้กระทั่งสัตว์เดรัจฉาน ในฐานะที่เราเป็นพุทธบริษัทเราต้องตั้งเมตตากรุณา แม้กระทั่งแก่สัตว์เดรัจฉาน โดยเล็งเห็นจิตใจของสัตว์ที่มีชีวิตเหล่านั้นว่ามันไม่อยากตาย มันไม่อยากทุกข์เหมือน กับเรา ฉะนั้นเราช่วยเหลือในกรณีที่ควรช่วยเหลือได้ด้วยความรัก ด้วยความสงสาร เมตตากรุณามัน นี้เป็นความดี สูงสุดของมนุษย์เป็น SUMMUM BONUM อันสุดท้ายที่คาบเกี่ยวกันระหว่างเรากับผู้อื่น ทีนี้ในระหว่างเราก็ขอให้มี ความสุข ให้มีความเต็ม ให้ทำงานเพื่องานนี่ ที่เกี่ยวกับผู้อื่นเรารักเขาเหมือนกับเรารักตัวเราเอง ถ้าเราปฏิบัติอย่างนี้ เราจะเป็นพุทธบริษัทที่ดี ถ้าเราเป็นพุทธบริษัทที่ดีจริง เราก็เป็นคริสเตียนที่ดี เป็นอิสลามที่ดี เป็นอะไรที่ดีได้โดย ไม่รู้สึกตัว รวมอยู่ในนั้น เพราะว่าทุกๆ ศาสนาต้องการจะให้ทุกคนเป็นสุข พ้นจากความทุกข์ เพราะฉะนั้นเราไม่ต้อง รังเกียจศาสนาหนึ่งศาสนาใด ถึงแม้ศาสนาคริสเตียนก็เหมือนกันขอให้เขาเป็นคริสเตียนที่ถูกต้องและที่ดี จะเป็นพุทธ บริษัทโดยไม่รู้สึกตัว เพราะว่าพระเยซูได้สอนให้รักผู้อื่นยิ่งกว่าตัว ให้สลัดตัวทิ้งไปหมดเพื่อเห็นแก่ผู้อื่น และนี้เป็น ความประสงค์ของพระเป็นเจ้า ทีนี้เราก็ไม่มีตัวตนของเราเหมือนกัน แต่มันเป็นอุบาย หรือเป็นเคล็ดอีกวิธีหนึ่งซึ่งดูจะ ทำง่ายกว่าของเรา ซึ่งต้องใช้ปัญญามาก นั่นเขาให้ใช้ความเชื่อมาก จึงให้สลัดตัวของตัวเสียไปเห็นแก่ผู้อื่นตามความ ประสงค์ของพระเป็นเจ้า ทีนี้ก็ไม่มีความยึดถือตัวเห็นแก่ตัวเหมือนกันมันก็ได้ผลเท่ากัน ทำให้โลกนี้มีสันติสุข ทำตัวเองให้มีความสุขได้ ฉะนั้นคริสเตียนที่ดีก็เป็นพุทธบริษัทอยู่ในตัว ถึงแม้ศาสนาอิสลามที่ถูกเหมาว่าร้ายกาจที่สุด ก็อย่าลืมว่าเขาใช้ความร้ายกาจนั้น เพื่อให้คนเลิกละจากความโง่มาสู่ความฉลาด จากความผิดมาสู่ความถูก แล้วความ ถูกก็คือความไม่เห็นแก่ตัวเช่นเดียวกันอีก ฉะนั้นการที่เขาถืออาวุธ บางทีจะเป็นการได้บุญ ถ้าความมุ่งหมายที่จะ เปลี่ยนคนโง่มาเป็นคนฉลาด เปลี่ยนคนเดินผิดทางมาเดินถูกทาง ฉะนั้นเราไม่ควรจะตั้งข้อรังเกียจในระหว่างศาสนา โดยมองเห็นว่าทุกศาสนาก็มุ่งสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ด้วยกันทั้งนั้น ฉะนั้นขอให้เพ่งเล็งยังสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ ควรจะได้ในชีวิตนี้ ในชาตินี้เสียแต่บัดนี้ และสอนลูกเด็กๆ ให้รู้สิ่งที่ดีที่สุด ที่มนุษย์ควรจะได้เสียตั้งแต่บัดนี้ ให้รู้ว่า สิ่งที่เรากำลังได้อยู่นี้ยังไม่ใช่ดีที่สุด แม้เราคนหนุ่มๆ จะมีแฟนที่ดี สวยๆ มีเงินมากๆ นี้ก็ยังไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดขอให้ เข้าใจไว้ มันยังมีสิ่งที่ดีกว่านั้น และดีกว่านั้น และดีกว่านั้น ดีกว่านั้นขึ้นไปอีก ไอ้เด็กตัวเล็กๆ นี่ ได้กินเนื้อสเต๊ะ ให้อิ่มแล้วไปถีบประตูแกว่งเล่น อ๊อดๆแอ๊ดๆ ถูกที่สุด ดีที่สุดแล้ว เราก็ต้องเห็นว่าความรู้สึกนี้มันเป็นของเฉพาะตน ฉะนั้นเราจะเอาจริงตามที่เรารู้สึกก็ไม่ได้ เราต้องเอาตามความจริงของธรรมชาติ ฉะนั้นสิ่งที่เรารู้สึกอยู่เดี๋ยวนี้อย่าเพิ่ง ถือว่าเป็นความจริงโดยเด็ดขาด เดี๋ยวมันจะเหมือนกับเด็กเล็กๆ ที่กินเนื้อสเต๊ะอิ่มแล้วไปถีบประตูแกว่งเล่น ว่าหมด เท่านั้นแล้ว ไม่มีอะไรดีกว่านั้นแล้ว นี่เรากำลังเป็นนักเรียน เป็นหนุ่ม เป็นอะไรนี่ เรากำลังมีอะไรที่รู้สึกว่าดีที่สุด อยู่ก็จริง แต่อย่าเพิ่งคิดว่านั่นหมดอยู่เพียงเท่านั้น ยังมีที่ดีกว่านั้น เดี๋ยวนี้เรากำลังศึกษาหลักเรื่องจริยธรรมสากล เป็นต้นนี้ ก็เป็นลู่ทางที่จะให้เราเดินไปสู่สิ่งที่ดีที่สุดนั้นได้
ฉะนั้นจึงอุตส่าห์นำมากล่าวในฐานะเป็นหัวข้อของพุทธศาสนาว่ามีอยู่อย่างไร ตั้งแต่ต้นเป็นลำดับมากระทั่ง ว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไร สอนอย่างไร เรียนที่ไหนอะไรเป็นต้น และเปรียบเทียบโดยหลักจริยธรรมสากล ซึ่งไม่เป็น ศาสนาไหน แต่เป็นของมนุษย์ทุกคนด้วยว่ามันตรงกัน ในข้อที่ว่าเกิดมาแล้วต้องได้รับสิ่งที่ดีที่สุด สิ่งที่ดีที่สุดคือ ขณะที่มีจิตว่างจากตัวตน ไม่มีความทุกข์ ไม่มีความชั่ว ไม่มีอะไรที่เป็นไอ้สิ่งที่น่าตำหนิ จงพยายามรักษาหรือว่า ปรับปรุงจิตใจชีวิตเป็นประจำวันนี้ ให้มันว่างจากความเห็นแก่ตนอยู่เรื่อยไป แต่ให้เต็มอยู่ด้วยสติปัญญา อย่าเข้าใจ ผิดๆว่าสุญญตาหรือนั่น แปลว่าสูญไม่มีอะไร สุญญตาแปลว่าว่างจากความเห็นแก่ตน เมื่อนั้นเป็นความว่างจากตัวตน ด้วยจึงเรียกว่าว่าง อะไรก็มีไปตามเดิมแต่ไม่ยึดถืออะไรว่าเป็นของตนจึงเรียกว่าว่าง นี่คือสิ่ง ที่ดีที่สุดตามหลักของพุทธ ศาสนา แล้วก็ตรงกันเป็นอันเดียวกับหลักจริยธรรมสากล มีความเป็นสุข มีความเต็มแห่งความเป็นมนุษย์ ทำหน้าที่ เพื่อหน้าที่ แล้วก็มีความรักสากล
นี่เวลาที่บรรยายก็หมดลง นี้ขอให้กำหนดจดจำข้อความเหล่านี้ไว้ในฐานะที่เป็นเพียงหัวข้อ จะเห็นได้ว่า ตั้งหลายหัวข้อแต่ละหัวข้อนี้ขอให้เอาไปพินิจพิจารณาเป็นประจำวัน อย่าดูถูก ดูหมิ่นว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย เดี๋ยวนี้เรา กำลังไม่ได้รับประโยชน์จากพระธรรม จากพระศาสนา เพราะว่าเราให้ความสนใจแก่พระธรรมนี้น้อย เวลาที่เรามา ศึกษาพระธรรมนี้ไม่ถึงครึ่งเปอร์เซ็นของเวลาทั้งหมดที่เรามี เรียกว่าเราไม่เข้าใจคุณค่าของสิ่งเหล่านี้ แล้วไม่ให้ความ เป็นธรรมแก่สิ่งเหล่านี้ คือไม่ให้ความเป็นธรรมแก่พระธรรม แล้วพระธรรมก็จะไม่ให้อะไรแก่เรา ถ้าเราไปเหยียบย่ำ พระธรรม พระธรรมจะตบหน้าเรา ขอให้จำไว้อย่างนี้ แล้วให้รู้ว่าพระพุทธเจ้าก็เคารพพระธรรม และคณะสงฆ์ที่ ประกอบไปด้วยธรรม นี้พระพุทธเจ้าท่านตรัสเองไม่ใช่เราว่า เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้ใหม่ๆแล้ว ท่านนึกว่าพระพุทธเจ้า ควรจะเคารพใคร มองไปมองมาไม่เห็นมีที่จะควรเคารพ แต่ระลึกได้ว่าพระพุทธเจ้าทุกๆองค์ในอดีตก็ดี ในอนาคตก็ดี ปัจจุบันก็ดี เคารพพระธรรม หรือว่าคณะสงฆ์ที่ประกอบด้วยธรรม ไม่เคารพตัวบุคคล เคารพธรรมที่มีอยู่ในตัวบุคคล เพราะตัวบุคคลเป็นที่แสดงออกของพระธรรม ก็เรียกว่าเคารพพระธรรมนั้นเอง เพราะฉะนั้นพระธรรมก็คือสิ่งที่ว่ามา ชั่วโมงเศษนี้ คือแนวหรือหนทางที่จะไปสู่จุดสูงสุดที่มนุษย์ควรจะไปให้ถึง ความรู้ก็เรียกว่าพระธรรม ในลักษณะเป็น ความรู้ การปฏิบัติก็เรียกว่าพระธรรมในลักษณะที่เป็นการปฏิบัติ และผลที่ได้รับเป็นมรรคผลอะไรก็ตามนี้ก็เรียกว่า พระธรรมในฐานะที่เป็นผลของการปฏิบัติ ทั้งหมดนี้เรียกว่าพระธรรม แล้วขอให้ทุกคนเคารพธรรม ให้มีความเจริญ งอกงามตามทางของธรรม จงทุกๆ คนเทอญ ขอยุติการบรรยายวันนี้แต่เพียงเท่านี้