แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านนักศึกษาทั้งหลาย อาตมารู้สึกยินดีที่ได้มาพบกันวันนี้ มาแสดงธรรมะบรรยาย ที่เห็นว่าเหมาะสมแก่พวกเราที่นี่ สิ่งที่รู้สึกสะดุดใจหรือสนใจที่สุด ก็คือคำว่า วิทยาลัยเทคนิค หรือโดยเฉพาะก็คือคำว่า เทคนิค คำนี้เป็นคำที่น่าสนใจอย่างไรนั้น จะได้อธิบายให้ฟังตามทัศนะของธรรมะ หรือตามหลักธรรมะในพุทธศาสนา อาจจะยังมีคนไม่เข้าใจหรือเข้าใจผิดอยู่บ้างก็ได้ เกี่ยวกับคำๆ นี้ กับสิ่งที่เรียกว่าธรรมะ ในพระพุทธศาสนา ฉะนั้นหัวข้อที่จะกล่าววันนี้ก็มีว่า เทคนิคนั่นแหละคือ ธรรมะ หรือธรรมะนั่นแหละคือเทคนิค และขอให้สังเกตุหรือฟังให้ดี พิจารณาให้ดี ในชั้นแรกนี้ที่จะต้องนึกถึงก็คือว่า สิ่งที่เรียกว่าเทคนิคนั้น เรายังรู้จักกันน้อยไป หรือสนใจกันแต่บางประเภท เทคนิคที่สัมพันธ์กันอยู่หลายๆ อย่าง ซึ่งควรจะรู้ทั้งหมดเราก็มักจะรู้หรือสนใจกันแต่เพียงอย่างเดียว และวิทยาลัยของเราก็สอน หรืออบรมเฉพาะเทคนิคเกี่ยวกับวิชาชีพ แต่เนื้อแท้นั้น สิ่งที่เรียกว่าเทคนิคนั้นมันมีมากกว่านั้น จนกับจะต้องกล่าวว่า เทคนิคของความเป็นคน หรือเทคนิคของความเป็นมนุษย์มากกว่า ที่ว่าสัมพันธ์กันนั้น ยกตัวอย่างเช่น เรามีเทคนิคในการทำการงาน จนประสบความสำเร็จในการงาน แต่เราก็ไม่มีเทคนิคในการที่จะทำให้การงานนั้นไม่เป็นทุกข์แก่เรา หรืออย่างหนึ่งก็ว่า เรามีเทคนิคในการหาเงิน แต่แล้วเราก็ไม่มีเทคนิคในการที่จะป้องกันไม่ให้เงินนั้นเกิดเป็นพิษร้ายขึ้นแก่เรา เราจึงต้องเป็นทุกข์ทั้งที่มีเงิน หรือหาเงินได้อย่างนี้เป็นต้น ฉะนั้นสิ่งที่มนุษย์ต้องการและหากันเช่น เงิน เช่น ชื่อเสียง เหล่านี้ หรือความสะดวกสบายอย่างอื่น ที่เรียกว่าสิ่งที่มนุษย์ต้องการนั้นหามาได้ แต่แล้วกลับมาเป็นพิษร้าย คือทำให้มนุษย์มีความทุกข์อย่างอื่นเกิดขึ้นมา อย่างที่เราเห็นกันอยู่ในเวลานี้ว่า โลกสมัยนี้ยิ่งก้าวหน้าทางวิชา ทางวัตถุ แต่แล้วก็ยิ่งมีแต่ความทุกข์ความเดือดร้อนมากในทางจิตใจ หรือแม้แต่จะเกิดแต่เรื่องสงคราม ก็ยิ่งเป็นสิ่งที่เจริญงอกงามไปตามความเจริญของวัตถุด้วย นี่เรียกว่าเทคนิคนั้นไม่สัมพันธ์กันเสียแล้ว เรามีเทคนิคแต่เรื่องหา สร้างวัตถุ แต่แล้วเราก็ไม่มีเทคนิคในการที่จะควบคุมสิ่งเหล่านั้น นี่เรียกว่า เทคนิคแห่งความเป็นมนุษย์ไม่สมบูรณ์ เพราะขาดเทคนิคส่วนที่จะควบคุมสิ่งที่เราต้องการ หรือได้มา ถ้าท่านเข้าใจข้อความนี้ ท่านเข้าใจได้เองทันทีว่า ธรรมะนั้นคืออะไร หรือเป็นเทคนิคอย่างไร คนหนุ่มคนสาวสมัยนี้ไม่สนใจธรรมะ เพราะเข้าใจผิดไปว่าไม่เกี่ยวข้องกับเรา หรือไม่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ เป็นของมีไว้ดูเล่น มีไว้บูชา มีไว้ประกอบพิธีศักดิ์สิทธิ์ ไม่เกี่ยวกับชีวิตประจำวัน ใครเข้าใจอย่างนี้ ก็เป็นคนโง่ที่สุดในโลกนี้เ พราะว่าเขาไม่รู้ว่าธรรมะนั้นเป็นระบบเทคนิคอันหนึ่งที่จะควบคุม สิ่งที่เรากำลังทำ กำลังหา กำลังสร้างนั้น อย่าให้เกิดความทุกข์ขึ้น ถ้าทุกท่านเข้าใจความข้อนี้ ท่านก็จะชอบใจธรรมะขึ้นมาเอง จะรักและนับถือพระพุทธเจ้าขึ้นมาเอง แต่ถ้าไม่เข้าใจความจริงข้อนี้แล้ว แม้ใครจะชักชวนหรือจะบังคับอย่างไร ท่านก็จะไม่ชอบธรรมะ จะไม่ต้องการพระพุทธเจ้าอย่างนี้เป็นต้น ฉะนั้นจึงให้หัวข้อเรื่องว่า เทคนิคนั้นคือธรรมะ ธรรมะนั้นคือเทคนิค แม้แต่เทคนิคทางวัตถุ ทางวิชาอาชีพนี้ ก็ยังเป็นธรรมะ ซึ่งจะได้ว่าให้ฟังเป็นลำดับไป แต่ในตอนนี้อยากจะขอร้องให้ช่วยกันซ้อมความเข้าใจในคำว่า เทคนิคให้ๆ ตรงกันเสียก่อน เราจะต้องนึกถึงคำสองคำ คือคำว่า Technic ซึ่งตัว C อยู่ท้าย กับ Technique ซึ่ง QUE อยู่ท้าย Technic ก็แปลกันว่าวิชาการ ส่วน Technique นั้นเราแปลว่าวิธีการ เราจะมีความรู้แตกฉานแต่วิชาการไม่ได้ เราต้องมีความแตกฉานในส่วนวิธีการด้วย แล้วต้องเอา Technic กับ Technique มารวมกัน มันจึงจะเป็น Technical ที่ถูกต้อง คือสมบูรณ์ทั้งวิชาการและวิธีการ วิชาการคือความรู้ วิธีการคือการกระทำ และทั้งหมดนั้นต้องเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ ทั้ง Technic และ Technique จะต้องเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ เราจะรู้หรือไม่รู้ ไม่ๆๆ สำคัญ แต่ข้อเท็จจริงหรือความจริงนั้นต้องเป็นไปตามกฎของธรรมชาติ และกฎของธรรมชาตินั่นเองคือสิ่งที่เรียกว่า ธรรม หรือ ธรรมะ ก็แล้วแต่จะเรียก เรียกว่าธรรมเฉยๆ หรือธรรมะก็ได้ ตรงนี้สรุปความว่า ต้องสมบูรณ์ทั้ง Technic และ Technique คือทั้งวิชาการและวิธีการ ถ้าท่านยอมรับหลักอันนี้ ว่า ๒ อย่างนี้รวมกันแล้วจึงจะเป็น Technical ที่สมบูรณ์หรือที่ถูกต้องที่จะใช้ประโยชน์ได้แล้ว ท่านก็จะเกิดความเข้าใจและพอใจในพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าท่านมีคุณสมบัติที่สำคัญอันหนึ่งเรียกว่า วิชชาจะระณะสัมปันโน ถ้าท่านเคยสวดอิติปิโสท่านก็ต้องชินหูว่า อิติปิ โส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ วิชชาจะระณะสัมปันโน วิชชา จะระณะ สัมปันโน ฟังดูให้ดีๆ วิชชา จะระณะ สัมปันโน แปลว่า สมบูรณ์ด้วยวิชชาและจะระณะ วิชชา นั้นคือ Technic ส่วน จะระณะ นั้นคือ Technique วิชชา แปลว่าความรู้ จะระณะ แปลว่าการกระทำหรือการประพฤติ สัมปันโน แปลว่าสมบูรณ์ ฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงเป็นผู้ที่สมบูรณ์ทั้ง Technic และ Technique ท่านจึงเป็นบุคคล Technician อย่างสมบูรณ์ที่สุด การที่ใครจะไปสมบูรณ์แต่ทางวิชาอย่างนี้ก็ไม่ถูกแน่ เพราะอาจจะกระทำไม่ได้ก็ได้ มีแต่ความรู้แล้วกระทำไม่ได้ก็ได้ ถ้าจะมีแต่การกระทำไม่มีความรู้มันก็ทำไม่ได้ ฉะนั้นจึงต้องระบุชัดลงไปว่า วิชชาจะระณะสัมปันโน สมบูรณ์ทั้งความรู้และการกระทำ คือมีทั้ง Technic และ Technique อย่างที่กล่าวแล้ว ฉะนั้นหลักของการมีเทคนิคนี้ จึงเป็นหลักในพระพุทธศาสนา หรือเป็นหลักที่ยิ่งกว่านั้นก็คืออยู่ที่เนื้อที่ตัวของพระพุทธเจ้านั้นเอง ฉะนั้นขอให้สนใจในคำว่า วิชชาจะระณะสัมปันโน แล้วเราก็จะรู้ว่าเทคนิคนั้นเกี่ยวข้องกับธรรมะอย่างไร สิ่งที่เรียกว่า Technic เป็นภาษาต่างประเทศ เราก็ยังไม่ได้แปลเป็นภาษาไทยที่เป็นที่พอใจ ก็แปลแต่เพียงว่า วิชาการ Technique ก็คือวิธีการ วิชาการกับวิธีการผสมกันก็คือ Technical ที่สมบูรณ์ ที่ๆ ได้กล่าวมาเมื่อครู่นี้ว่าทั้ง ๒ อย่างนี้ ต้องเป็นไปตามกฎแห่งธรรม ทีนี้จะอธิบายคำว่า ธรรม ท่านจงกำหนดไว้เป็นหลักว่าสิ่งที่เรียกว่าธรรมนี้ มันหมายถึงสิ่งทุกสิ่งไม่ยกเว้นอะไร แต่เรามักจะเข้าใจกันว่าธรรมหรือพระธรรมนี้ เป็นคำๆ สั่งสอนของพระพุทธเจ้า อย่างนี้มัน อย่างนี้มันยังน้อยเกินไป มันเพียงแต่สิ่งที่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า และยังไม่รู้ว่าสอนอย่างไรด้วยซ้ำไป แต่คำว่าธรรมนั้นหมายถึงสิ่งทุกสิ่ง คือทั้งที่มนุษย์จะรู้จักหรือจะไม่รู้จักก็ตาม ขอให้ถือเป็นความรู้ที่เพิ่งจะได้ยินวันนี้ใหม่ วันนี้ก็ตามใจ เพราะสิ่งที่เรียกว่าธรรมนั้นมันคือทุกสิ่ง แต่เพื่อเข้าใจความหมายคำว่าทุกสิ่ง เราแจกออกไปได้เป็นว่า
๑. คือธรรมชาติทั่วไป
๒. กฎของธรรมชาติที่มีอยู่ในตัวธรรมชาตินั้น และ
๓. หน้าที่ๆ มนุษย์จะต้องกระทำให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาตินั้น และ
๔. คือผลที่จะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้น
นี่เป็น ๔ อย่างด้วยกัน คือตัวธรรมชาติแท้ๆ นี่คืออย่างแรก จะเป็นวัตถุก็ได้ มิใช่วัตถุก็ได้ สิ่งที่เป็นความคิดนึกล้วนๆ ก็ได้ ที่เป็นอยู่ตามธรรมชาตินี้ เราเรียกว่าธรรมชาติหมด Nature หรือ ธรรมชาติในลักษณะเช่นนี้อาจจะไม่เหมือนกันกับที่เขาพูดกันอยู่ในโลกก็ได้ แต่ว่าตามหลักธรรมะในพุทธศาสนาจะเรียกทุกอย่างนี้ว่าธรรมชาติหมด อย่างคนเราคนหนึ่งร่างกายก็เป็นธรรมชาติ จิตใจก็เป็นธรรมชาติ ความคิดก็เป็นธรรมชาติ แล้วสิ่งต่างๆ ที่นอกไปจากตัวเรา เป็นไอ้แผ่นดิน ต้นไม้ ภูเขา ทุกอย่างที่มนุษย์รู้จักนี้เรียกว่า ธรรมชาติหมด แม้กระทั่งว่า มีรูปก็มี ไม่มีรูปก็มี เปลี่ยนแปลงก็มี ไม่เปลี่ยนแปลงก็มีอย่างนี้เป็นต้น หมดเลยเรียกว่าธรรมชาติ ทีนี้คืออันถัดมาก็คือกฎของธรรมชาติหรือ Law of nature เรียกว่ากฎของธรรมชาติ ก็มีอยู่ในธรรมชาตินั้น เช่น ความเปลี่ยนแปลง ถ้าเปลี่ยนแปลงจะต้องเปลี่ยนแปลงอย่างไรอย่างนี้เป็นต้น เช่นว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา นี่เรียกเป็นกฎของธรรมชาติ หรือแม้แต่กฎวิทยาศาสตร์ต่างๆ ก็เรียกว่ากฎของธรรมชาติ นี่เราก็ต้องรู้จัก อันที่ ๓ ที่เรียกว่าหน้าที่ของมนุษย์ตามกฎธรรมชาตินี้ คงจะเข้าใจได้เองว่า ธรรมชาติมันมีอำนาจที่เฉียบขาดที่เด็ดขาด ถ้าใครทำไม่ถูกต้องกับเรื่องของมัน มันก็จะเกิดปัญหาไปในทางที่เป็นทุกข์ ถ้าทำถูกต้องก็จะได้ประสบความสำเร็จตามที่ต้องการ ฉะนั้นมนุษย์จึงต้องรู้หน้าที่ๆ ตนจะต้องกระทำตามธรรมชาติ แม้ที่สุดแต่ว่าหน้าที่จะต้องกินอาหาร จะต้องถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ หรืออะไรก็ตาม นี่เป็นหน้าที่ทางร่างกาย ทีนี้หน้าที่ทางจิตใจคือเราจะต้องดำรงจิตใจไว้ในลักษณะอย่างไร ให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติจึงจะไม่เป็นทุกข์ อย่างๆ นี้เรียกว่าหน้าที่ตามกฎธรรมชาติ ทีนี้ผลที่เกิดขึ้นจากการทำหน้าที่ มันก็ต้องเป็นไปตามกฎของธรรมชาติ เช่นเราจะสร้างอะไรขึ้นมาเป็นวัตถุ มันก็ต้องๆ เป็นไปตามอำนาจกฎของธรรมชาติ เป็นผลของทางวัตถุขึ้นมา หรือว่าเราประพฤติในทางจิตทางใจ ได้ผลในทางสงบสุขขึ้นมา อย่างที่เรียกว่ามรรคผลนิพพานในพระพุทธศาสนา นี้ก็เรียกเป็นผลที่เกิดมาจากการทำหน้าที่อย่างถูกต้องตามกฎธรรมชาติ ฉะนั้นขอให้เข้าใจว่าเราแบ่งสิ่งที่เรียกว่าธรรมนี้ ออกเป็น ๔ ประเภทอย่างนี้ แล้วทั้งหมดนั้นล้วนแต่มุ่งอยู่กับธรรมชาติ อันหนึ่ง คือตัวธรรมชาติเอง อันที่สอง คือกฎของธรรมชาติ อันที่สาม คือหน้าที่ของมนุษย์ตามธรรมชาติ อันที่สี่ คือผลที่มนุษย์จะพึงได้รับตามกฎของธรรมชาติ ฉะนั้นทั้งหมดจะรวมอยู่ใน ๔ ประเภทนี้ แม้แต่สิ่งที่เรียกว่าพระเจ้า ก็รวมอยู่ในคำว่าธรรมนี้เหมือนกัน พระเจ้าในฐานะที่เป็นกฎของธรรมชาติ มีหน้าที่ตามอำนาจเฉียบขาดตามธรรมชาติ นี่คนเราก็รวมอยู่ในสิ่งเหล่านี้ ความรู้ ความคิด การกระทำของคนเราก็รวมอยู่ในสิ่งเหล่านี้ ผลที่เกิดขึ้นเป็นความเจริญหรือเสื่อมทรามอะไรสุดแท้ ก็รวมอยู่ในสิ่งเหล่านี้ นี่แหละคือคำว่าธรรมในภาษาบาลี ฉะนั้นจึงกล่าวว่า ธรรม คือทุกสิ่งที่เป็นธรรมชาติและเป็นไปตามกฎของธรรมชาติ คือถ้าเรารู้เรื่องเหล่านี้ดี เราก็เรียกว่า รู้ส่วนที่เป็น Technic ของสิ่งเหล่านี้ ถ้าเรารู้หน้าที่ ๆ จะต้องกระทำต่อสิ่งเหล่านี้ดี ก็เรียกว่ารู้ Technique ของสิ่งเหล่านี้ เมื่อรวมกันทั้ง Technic กับ Technique ก็คือความสมบูรณ์ ที่จะนำมาซึ่งชัยชนะหรือความสำเร็จในการที่เราจะเป็นมนุษย์อยู่ในโลกนี้ คือสามารถทำตนให้ไม่มีความทุกข์ได้อย่างนี้ จึงเห็นได้ว่าเป็นคำกล่าวที่มีวงกว้างมากที่สุด คือกินความไปถึงทุกสิ่ง ไม่ใช่เพียงแต่ความรู้เท่าที่จะทำให้เราประกอบการงานที่เป็นอาชีพได้ เท่านั้นไม่ใช่ ฉะนั้นขอให้นักศึกษาจำคำว่าธรรม หรือ ธรรมะใน ๔ ความหมายนี้ไว้เป็นต้นทุน สำหรับศึกษาหาความรู้ในวิชาเกี่ยวกับธรรมะต่อไปในคราวอื่นๆ อาตมาขอยืนยันว่า ถ้ามีความเข้าใจในส่วนนี้เป็นพื้นฐานเป็นๆ ต้นทุนแล้ว จะเข้าใจธรรมะที่มากมายได้โดยไม่ยาก โดยง่าย โดยสะดวก ดังนั้นเราจะต้องเห็นกันให้ชัดลงไปว่า ธรรมะนั้นก็คือ เทคนิคๆ นั้นแหละคือธรรมะ แต่เดี๋ยวนี้เราไม่ค่อยนึกกันอย่างนี้ เราว่าเทคนิคคือวิชาที่สอนให้เราทำอะไรเป็นตามที่เราต้องการ แต่แล้วก็เป็นเรื่องทางวัตถุทั้งนั้น ฉะนั้นมันจึงเป็นเรื่องหาเงิน หรือหาชื่อเสียงมาอย่างเดียว โดยไม่รู้จักควบคุมสิ่งเหล่านั้น ฉะนั้นถ้าเราจะพูดถึงเทคนิคโดยสมบูรณ์เราก็ต้องมีความรู้ที่จะควบคุมสิ่งเหล่านั้นด้วย อันนักศึกษาเทคนิคทั้งหลายนอกจากจะมีวิชาความรู้เทคนิคฝ่ายที่จะสร้างหรือจะหามา แล้วยังจะต้องรู้สิ่งที่ ความรู้ที่จะควบคุมสิ่งเหล่านั้นให้อยู่ในอำนาจของเราด้วย คืออย่าให้เป็นพิษแก่จิตใจของเราขึ้นมา เช่นมีเงินแล้วเงินกลายเป็นพิษขึ้นมา ทำให้คนต้องติดคุก ติดตะราง ต้องฆ่าตัวตาย ต้องเป็นโรคเส้นประสาท ต้องเป็นโรคจิตอย่างนี้ ก็เพราะเงินที่เขามีอยู่นั่นเหมือนกัน ชื่อเสียงก็เหมือนกัน ฉะนั้นจึงต้องนึกถึงไอ้เทคนิคส่วนนี้ด้วย นี่แหละคือความจำเป็นที่ทำให้ต้องมีการสั่งสอนอบรม เทคนิคในส่วนนี้กันบ้าง การบรรยายธรรมะในวันนี้จึงได้มีขึ้นเพื่อประโยชน์แก่ส่วนนี้เอง แต่แล้วก็เป็นที่น่าประหลาดใจที่ว่ามันเป็นคำๆ เดียวกัน คือคำว่า เทคนิค ดังที่กล่าวแล้ว ถ้าทางฝ่ายวัตถุ ท่านทั้งหลายก็เรียนก็ทำสำเร็จอยู่แล้ว แต่ฝ่ายจิตใจนั้นอาจจะยังขาดอยู่ก็ได้ คือยังไม่ได้รู้และยังไม่ได้ทำ ฉะนั้นอาจจะปวดหัวเพราะการเรียนนั้นก็ได้ การทำนั้นก็ได้ อาจจะร้องไห้เพราะการเรียนหรือการทำนั้นก็ได้ ถ้ามันยังแยกกันอยู่และไม่เกี่ยวข้องกันอยู่อย่างนี้ ฉะนั้นเราจึงสนใจธรรมะหรือเทคนิคในทางฝ่ายธรรมะ คือที่เป็นฝ่ายจิตใจหรือฝ่ายวิญญาณอีกด้วย
ทีนี้เราก็จะมองกันต่อไปว่า เทคนิคจะชนิดไหนก็ตาม จะต้องเป็นไปตามกฎของธรรมชาติ ฝืนกฎธรรมชาติไปไม่ได้ อย่าได้อวดดีในเรื่องนี้ ถ้าขืนอวดดีในเรื่องนี้ก็จะเป็นคนโง่ที่สุดในโลกเป็นครั้งที่สอง จะต้องดูให้ดีว่ามันจะต้องเป็นไปตามกฎธรรมชาติอย่างไร เราอาจจะยืนยันได้ว่า ถ้าฝืนธรรมะแล้วก็ต้องฝืนธรรมชาติ ถ้าฝืนธรรมชาติแล้วจะต้องฝืนธรรมะ ถ้าฝืนธรรมะหรือฝืนธรรมชาติแล้วจะไม่มีเทคนิค จะไม่เป็นเทคนิค ฉะนั้นอย่าได้เข้าใจไปตามคนสมัยใหม่บางคน พูดอย่างเขลาๆ ว่าเราจะควบคุมธรรมชาติ เราจะเอาชนะธรรมชาติ แล้วคนบางคนเข้าใจไปตามนั้นว่า เราจะเอาชนะธรรมชาติได้ ฉะนี้ฟังดูให้ดี ถ้าฟังไม่ดีแล้วจะเข้าใจผิด ว่าเราอาจจะฝืนธรรมชาติได้ เราอาจจะเอาชนะธรรมชาติได้ควบคุมธรรมชาติได้ อย่างนี้เป็นไปไม่ได้ เราไม่อาจจะฝืนธรรมะได้ ไม่อาจจะเอาชนะธรรมะได้ นอกจากจะต้องทำให้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ หรือธรรมะ หรือเทคนิคของธรรมชาติ เราเอาชนะมันได้ตามที่เราต้องการนั้นก็เพราะว่าเราทำถูก ถูกตามกฎของมัน ถ้าพูดอย่างว่ามันเป็นคน ก็คือทำถูกใจมัน มันจึงอำนวยให้แก่ ประโยชน์ให้แก่เรา ฉะนั้นที่ว่าเรานับถือพระเจ้า อ้อนวอนพระเจ้า ทำถูกใจพระเจ้า เราจึงได้รับประโยชน์อย่างนั้นอย่างนี้จากพระเจ้า ถ้าแปลความให้ถูกต้อง พระเจ้าในที่นี้ก็คือกฎธรรมชาติ เราอ้อนวอนพระเจ้า ก็ด้วยการพยายามทำให้ดีที่สุด ให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ เราจึงจะทำอะไรได้ แม้การสร้างสรรค์ในทางวัตถุก็เหมือนกัน จะสร้างนั่นสร้างนี่ขึ้นมาเป็นความเจริญอย่างสมัยใหม่นี้ มันก็ดูๆ คล้ายกับว่าเราแก้ธรรมชาติ ฝืนธรรมชาติ ชนะธรรมชาติ ที่จริงมันกาลเปล่าเลย เรากลับจะต้องทำให้ถูกต้องตามธรรมชาติ ตามกฎธรรมชาติที่เล้นลับอยู่อีกอย่างที่ควรอยู่ต่างหาก เราจึงประสบความสำเร็จในการที่เอาธรรมชาติมาใช้เป็นประโยชน์แก่เราได้ ถ้าเราจะพูดว่าควบคุมธรรมชาติ ชนะธรรมชาติได้ มันก็มีความหมายเพียงอย่างนี้เท่านั้น คือเราไปทำถูกต้องตามกฎของธรรมชาติกันแล้วโดยไม่รู้สึกตัว เมื่อเราเอามันมาใช้ได้ เราคิดว่าเราชนะมัน ที่แท้มันชนะเราอยู่ตลอดเวลา สิ่งที่เรียกว่าเทคนิคก็คือ สิ่งที่เราชนะธรรมชาติกันในลักษณะอย่างนี้ โดยเราถูกต้องตามกฎ เราทำถูกต้องตามกฎของธรรมชาติจนเราเอาประโยชน์จากมันได้ ทีนี้ท่านคงจะมองเห็นได้บ้างแล้วว่า พระพุทธเจ้าเป็นนักเทคนิคอย่างไร สมบูรณ์อย่างไร ไอ้เราจะเป็นนักเทคนิคเพียงกระผีกเดียวของพระพุทธเจ้าก็ไม่ได้ จะเท่ากระผีกริ้นหนึ่งไปเปรียบกับภูเขาเลากาทำนองนั้น คนโบราณมีเทคนิคมากกว่าคนสมัยนี้ ฟังดูไม่น่าเชื่อและก็คงจะไม่มีใครเชื่อนัก กี่คนนักว่าคนโบราณมีเทคนิคมากกว่าคนสมัยนี้ คงจะไม่ค่อยมีใครเชื่อเพราะว่ามันไม่มีคำว่าเทคนิคในๆ คำพูดของคนโบราณ แต่แล้วอย่าลืมตัวอย่างที่ได้ยกขึ้นมาให้ฟังว่า พระพุทธเจ้าสมบูรณ์ด้วย วิชชาและจะระณะ คือทั้ง Technic และ Technique ซึ่งเข้าใจกันดีแล้ว ที่นี้ไม่ต้องถึงพระพุทธเจ้า คนโบราณ ปู่ ย่า ตา ยาย ของเรานั้นก็ยังมีเทคนิคมากกว่าพวกเราสมัยนี้ และก็อยากให้ฟังสักเรื่องหนึ่งว่า เมื่ออาตมาเป็นเด็กๆ ๑๔-๑๕ ปีนี้ ไปเยี่ยม ย่า ยาย บ้านนัก ตำบล ต่างตำบลออกไปนี้ เขาให้พรอย่างที่ฟังแล้วสะดุ้งจนงง ว่าให้ได้เมียที่เป็นหญิงนะลูกนะ ฟังดูให้ได้เมียที่เป็นหญิงนะลูกนะ นี่แหละเป็นเทคนิคอย่างยิ่ง ซึ่งจะรู้ว่าผู้หญิงนั้นคืออะไร เรางงเลยว่าใครๆ ก็มีภรรยาเป็นหญิง แล้วคนเดี๋ยวนี้เป็นอย่างไรบ้าง ดูจะไม่สนใจที่จะได้ภรรยาที่เป็นหญิง อะไรก็เอาทั้งนั้นเลยนี่ แล้วยังไม่รู้ความหมายของคำว่าหญิงนี้กับชายนี้ต่างกันอย่างไรด้วยซ้ำไป แล้วยิ่งมาถึงสมัยนี้ยิ่งปนกันยุ่ง คือผู้หญิงทำอย่างเดียวกับผู้ชาย ผู้ชายทำอย่างเดียวกับผู้หญิง จนไม่รู้ว่าจะเป็นหญิงหรือชายกันแน่ นี่เสียเวลาสักหน่อยอยากจะพูดให้ฟังว่า ถ้าตามความหมายตามศาสนาอย่างคริสเตียนนี้ ก็เขียนไว้ชัดใน Genesis นั้นว่า พระเจ้าสร้างผู้หญิงขึ้นจากกระดูกซี่โครงของผู้ชาย ซึ่งสร้างขึ้นมาด้วยดิน พระเจ้าเอาดินขึ้นมาสร้างเป็นมนุษย์ผู้ชาย แล้วดึงเอากระดูกซี่โครงผู้ชายมาสร้างเป็นมนุษย์ผู้หญิง ที่เกิดมันต่างกันหรือเหมือนกันนี่ไปอ่านดูเอาเองก็แล้วกัน Genesis ของคัมภีร์ไบเบิล ใน Genesis ตอนท้ายจะเรียกผู้ชายว่า Son of God แล้วเรียกผู้หญิงว่า daughter of man คนละนั่นเลย คนละคำ คนละศัพท์เลย มันจะเหมือนกันไม่ได้ นี่เขามีความหมายชัดอย่างนั้นว่า ผู้หญิงต้องมีลักษณะอย่างผู้หญิง ต้องทำหน้าที่อย่างผู้หญิง ผู้ชายก็ทำหน้าที่หรือมีลักษณะอย่างผู้ชาย ทีนี้ทางพระพุทธศาสนาเรา ก็มีพระพุทธเจ้า ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ผู้หญิงเป็นพระพุทธเจ้าไม่ได้ เป็นจักรพรรดิไม่ได้ เป็นพรหมไม่ได้อย่างนี้เป็นต้น เพราะให้ทำหน้าที่ต่างกัน แล้วพระพุทธเจ้าท่านยังทรงรับรองขนบธรรมเนียมประเพณีในอินเดียสมัยนั้น ที่ว่า ผู้หญิงจะไม่นั่งในรัฐสภา ผู้หญิงจะไม่ไปแคว้นกัมโพชะ คือไปศึกษาอย่างชั้นสูง เหมือนอย่างกับไปเรียนเมืองนอกในสมัยนี้ ผู้หญิงจะไม่ทำการงานที่สำคัญ หน้าที่การงานสำคัญอย่างเป็นนายกรัฐมนตรีอะไรทำนองนี้ ก็เพราะว่าเขาสร้างผู้หญิงมาเพื่อทำอีกส่วนหนึ่งซึ่งผู้ชายไม่ทำหรือทำไม่ได้ ทีนี้เราทั้งสองฝ่ายทำกันรวมกันก็เป็นความสมบูรณ์ การที่ทำแต่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมันเป็นเพียงครึ่งเดียว ฉะนั้นในความหมายของคำว่าหญิงว่าชายนี้จึงมีความสำคัญมาก ฉะนั้นปู่ ย่า ตา ยายของเราจึงมีเทคนิคมาก ที่ว่าให้หาเมียที่เป็นหญิง ส่วนคนสมัยนี้ไม่ได้คิด ฉะนั้นจึงถือว่าไม่มีเทคนิค เป็นคนเพ้อเจ้อ ทำอะไรละเมอๆ ฟุ้งไปตามความต้องการของ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่มีความหมาย ไม่มีหลักเกณฑ์ ไม่มีเทคนิค ฉะนั้นจะหาเงินมาได้ ก็หามาเพื่อเป็นพิษ เป็นพิษร้ายแก่ตน จะต้องร้องไห้หรือต้องฆ่าตัวตาย เพราะเงิน เพราะชื่อเสียง เรื่องกิน เรื่องกาม เรื่องเกียรติอันนี้ จะมาเป็นพิษขึ้นทั้งนั้น ถ้าขาดเทคนิคในส่วนนี้ ทีนี้ขอให้ยอมรับกันเสียทีว่า ปู่ ย่า ตา ยาย ของเราก็เป็นนักเทคนิค และเป็นเทคนิคที่สำคัญกว่าเสียด้วย คือเทคนิคในทางธรรมะ ทีนี้ก็มาถึงข้อที่พูดเมื่อตะกี้ว่า เทคนิคนั้นมีความมุ่งหมายใหญ่ คือเทคนิคสำหรับความเป็นมนุษย์หรือความเป็นคน ครั้นถ้าเราจะตั้งปัญหาทางเทคนิคที่สมบูรณ์ เราต้องปัญหาว่า ความเป็นคนนี้เป็นทำไมหรือว่าเกิดมาทำไม อย่างนี้จะดีกว่า ตั้งปัญหาข้อแรกว่า เกิดมาทำไม ถ้าไม่รู้ว่าเกิดมาทำไม ก็เป็นคนโง่ที่สุดคนที่สามในโลก เพราะไม่รู้ว่าเกิดมาทำไม ทีนี้ลองๆๆ ถามตัวเองดูทุกคนว่าเกิดมาทำไม อาจจะยังไม่เคยคิดหรือถ้าคิดเดี๋ยวนี้ก็คงจะไปได้หลายๆ ทาง หลายๆ แนว ไปถามเด็กเล็กๆ ก็คงจะคิดว่าเกิดมานี้เพื่อสนุก เพื่อเล่น เพื่อกินให้สนุก กินเนื้อสะเต๊ะให้หมดจาน แล้วก็ไปขี่ประตู แกว่งเล่นอ๊อดแอ๊ดๆ อันนี้ก็พอแล้ว ดีที่สุดแล้วสำหรับที่การเกิดมา เกิดมาเพื่ออย่างนี้ หรือที่ว่าโตขึ้นมาเป็นคนรุ่นหนุ่ม รุ่นสาว ก็จะต้องเพื่อความสำราญตามที่ต้องการ นี้ถ้าว่าเป็นคนอายุมากแล้ว เป็นพ่อบ้านแม่เรือน แม้จะมีความรู้สึกว่า เกิดมาเป็นวัว เป็นควายแท้ๆ คือมาเป็นผู้รับภาระหนักให้ลูกให้หลานสบาย คนที่เป็นพ่อบ้านแม่เรือนจะรู้สึกว่าเกิดมาเพื่ออย่างนี้ นี้พอถึงคนชราแก่หง่อมแล้วนี้ เกิดมาไม่สนุกเลย เกิดมาให้เขาหัวเราะ เกิดมาให้เด็กๆ เขารำคาญอย่างนี้ ไอ้เรื่องนี้อยากจะเล่านิทานสั้นๆ ๕ นาทีให้ฟัง ก็เพื่อๆ ช่วยให้จำง่าย คือ
นิทานเรื่องสร้างโลก มีว่าพระเจ้าสร้างโลกขึ้นมาใหม่ๆ แล้วก็สร้างมนุษย์ขึ้นมา เพื่อให้โลกนี้ไม่ว่างเปล่า มนุษย์ถูกสร้างขึ้นมาทันทีนั้นก็งงเหมือนกับพวกเราเดี๋ยวนี้แหละ คือไม่รู้ว่าจะเป็นอะไร ตัวเองจะเป็นอะไร เป็นมนุษย์จะเป็นอะไร เป็นเพื่ออะไรก็ไม่รู้ จึงต้องถามพระเจ้าว่า เป็นอะไร พระเจ้าว่า เป็นมนุษย์ เป็นทำไม ก็เป็นเพื่อให้โลกนี้มีประโยชน์และงดงาม เป็นหน้าที่ๆ สำคัญมาก ให้โลกนี้มีประโยชน์และงดงาม มนุษย์ถามว่าให้อยู่นานเท่าไร พระเจ้าให้อยู่นาน ๓๐ ปี มีอายุ ๓๐ ปี ทีนี้พระเจ้าเห็นว่ามนุษย์นี้ต้องมีเครื่องมือสำหรับทำมาหากิน ก็เลยสร้างสัตว์ เช่น วัว ควาย ขึ้นมา วัว ควาย ก็ไม่รู้ตัวเอง ต้องถามพระเจ้าว่า เป็นอะไร ก็เป็นวัว เป็นควาย เป็นทำไม รับใช้มนุษย์ทำการงาน ให้มนุษย์ได้ทำการงานหน้าที่ของตน อยู่นานเท่าไร อยู่นาน ๓๐ ปี วัวควายนี้บอกว่า มากนัก ๓๐ ปี ทำงานหนักให้ลด พระเจ้าลดให้ ๒๐ ปี ก็จนมีอายุประมาณ ๑๐ ปี ทีนี้มนุษย์เมื่อตะกี้นั้นที่พอใจในความเป็นมนุษย์ของตัวนั่นนะ เข้าไปต่อรองกับพระเจ้าขอว่าที่ลดให้วัว ๒๐ ปีนี้เอามาให้มนุษย์เถิด เอามาเพิ่มให้มนุษย์ มนุษย์ก็ได้มาอีก ๒๐ ปี เป็น ๕๐ ปี ทีนี้มาพระเจ้าเห็นว่า เมื่อมนุษย์มีทรัพย์สมบัติแล้วไม่มีสัตว์อารักขา ไอ้ทรัพย์สมบัติของมนุษย์ก็จะลำบาก จึงสร้างสัตว์อารักขา เช่นสุนัขเฝ้าบ้านขึ้นมา สุนัขก็ถามพระเจ้าว่า เป็นอะไร เป็นสุนัข เป็นทำไม เฝ้ายามระวังรักษาทรัพย์สมบัติของมนุษย์ นานเท่าใด ๓๐ ปี สุนัขว่าไม่ไหว อดนอน ๓๐ ปีมากนัก ก็เอาต่อรอง ก็ลดให้ ๒๐ ปี เป็นสุนัขสัก ๑๐ ปี ๒๐ ปียกเลิก มนุษย์ก็ค่อยๆ คลานเข้าไปขอร้องอีกว่า ไอ้ที่ลดให้สุนัข ๒๐ ปี เอาให้คนอีกเถิด นี่ก็ได้มาอีก ๒๐ ปี ทีนี้ต่อมาพระเจ้าเห็นว่า มนุษย์มีทรัพย์สมบัติ มีสัตว์อารักขาแล้ว ควรจะมีสิ่งสนุกสนานบ้าง ก็เลยสร้างสัตว์เช่น ลิง ขึ้นมา สำหรับมนุษย์จะได้หัวเราะ ก็ลิงถามว่า เป็นอะไร เป็นลิง พระเจ้าว่าเป็นลิงเป็นทำไม เป็นเพื่อให้มนุษย์มีความสำราญ ได้หัวเราะ กี่ปี ก็ ๓๐ ปี หรือจะเป็นกฎเกณฑ์ของพระเจ้า ลิงก็บอกว่า ทำงานหนักนัก ๓๐ ปีนี้ ทำหน้าที่จำอวดนี่ ก็เลยให้ลด ก็ลด ๒๐ ปีอีก ให้เป็นลิงมีอายุประมาณ ๑๐ ปี โดยประมาณ ทีนี้คนก็แคลงใจก็ไป เป็นครั้งสุดท้าย ขอ ๒๐ ปี ที่ลดให้ลิง เอามาให้คนอีก ลองทบทวนดู พระเจ้าให้เป็นคน ๓๐ ปี แต่มนุษย์ก็ยัง ที่เรียกภาษาหยาบคายว่า สะเออะ หรือเสือกเข้าไปขอเอาของวัวมา ๒๐ ปี ของสุนัขมา ๒๐ ปี ของลิงมา ๒๐ ปี มันได้มาใหม่อีก ๖๐ ปี รวมกันเป็น ๙๐ ปี มนุษย์เราจึงมีอายุประมาณ ๙๐ ปี ทีนี้พอมาให้เป็นไปตามข้อสัญญาข้อตกลง มนุษย์อย่างสมัยนักศึกษาเหล่านี้ มันก็ยังเป็นคนอยู่นี่ เพราะมันยังอยู่ในระยะ ๓๐ ปี มันจึงน่าดู หรือสวยงาม หรือว่าสดชื่น ทีนี้พอหลังจากนั้น ๓๐ ปี ขึ้นไปถึง ๕๐ ปี ที่เอาของวัวมานี่ มันจะเป็นวัวแล้ว จะต้องทำหน้าที่อย่างวัว คือลาก ลากแอกๆ หน้าที่การงานรับผิดชอบครอบครัวอะไรก็ตาม มันจึงเป็นพ่อบ้านแม่เรือน ทีนี้พอเลย ๕๐ ปีขึ้นไป จะเป็นคุณย่าคนนี้ มันก็นอนไม่หลับเหมือนสุนัขเพราะเอาของสุนัขมา มันนอนหลับยาก เป็นห่วงลูกห่วงหลานที่ไปเรียนอยู่เมืองนอกบ้าง อยู่ที่ไหนบ้างก็ไม่รู้อะไรอย่างนี้มันนอนหลับยาก ทรัพย์สมบัติก็หวงแหนเกินประมาณ วิตกกังวลเกินประมาณ นอนหลับยาก ทีนี้ต่อไปอีก ๒๐ ปีซึ่งไปเอาของลิงมา ก็แสดงคนป้ำเป๋อ งกๆ เงิ่นๆ กินแล้วว่าไม่ได้กินอย่างกับลิงครบบริบูรณ์
นี่ถ้าถามว่าเกิดมาทำไม ก็ดูจากเรื่องนี้ หน้าที่ๆ มันเป็นไปตามแท้จริงตามธรรมชาติ ที่เราเอาชนะธรรมชาติไม่ได้ นั่นแหละคือข้อที่เราเอาชนะธรรมชาติไม่ได้ มันจึงต้องเป็นไปอย่างนั้น ถ้าเราเป็นนักศึกษาเทคนิคอย่างแบบพระพุทธเจ้า เราต้องควบคุมสิ่งเหล่านี้ได้ ต้องไม่มีความทุกข์ ไม่มีความลำบากเพราะสิ่งเหล่านี้ เรามีความรู้ธรรมะแล้ว เราจะสามารถเชื่อมข้อผูกพัน ที่ต้องเป็นวัว ๒๐ ปีได้ เพราะเราสามารถทำจิตใจให้อยู่เหนือความทุกข์ชนิดนี้ได้ ด้วยธรรมะชั้นสูง ที่เรียกว่าความไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไรก็ตาม ไอ้การงานนั้นแทนที่จะเป็นของหนักเหมือนแอก สำหรับวัวลาก มันกลายเป็นของสนุกสนานไปก็ได้ แต่เรื่องนี้มันกินเวลามากที่จะอธิบาย ให้ศึกษาเอาเองต่อไปข้างหน้า หรือว่าถ้ามีเวลาก็จะพูดกันใหม่ แต่ว่าธรรมะนี้จะช่วยได้ ที่จะช่วยให้คนไม่ต้องเป็นทุกข์เพราะการทำงาน การงานนั้นถ้าทำไปด้วยความยึดมั่นถือมั่นแล้วจะหนักเหมือนภูเขา ตกนรกทั้งเป็น แต่ถ้าทำด้วยจิตใจที่ประกอบด้วยเทคนิค ตามทางธรรมะของพระพุทธเจ้าแล้ว กลายเป็นของสนุก การงานจะกลายเป็นของสนุก ไอ้เหล่านี้ไม่ใช่เป็นเรื่องพูดอย่างเดียว หรือเป็นเรื่องพูดเล่น เป็นสิ่งเป็นข้อเท็จจริงที่จะไปรู้ได้เองเมื่อๆๆ สามารถจะทำได้ ทีนี้ที่จะต้องเป็นมนุษย์นอนไม่หลับนั้นก็เหมือนกัน เพราะขาดธรรมะไม่มีธรรมะเรื่องปล่อยวาง จึงนอนไม่หลับ ถ้ามีธรรมะถูกต้องทางเทคนิคธรรมะแล้ว นอนหลับสนิทกว่าๆ ทีแรกเสียอีก ถ้ามีธรรมะสมบูรณ์ แก่ชราอายุร้อยปีก็ไม่ฟั่นเฟือน ไม่หลงไหล ไม่งกๆ เงิ่นๆ นี่ถ้าใครสามารถทำสติปัฏฐานอยู่เป็นประจำจนแก่จนชรานี้ ก็จะเป็นคนชรา ที่ไม่หลงไม่ฟั่นเฟือน ไม่งกๆ เงิ่นๆ ไม่ต้องแสดงละครลิงให้ลูกหลานดู นี่มันพ้นบาปมากถึงอย่างนี้ ทีนี้ว่าเกิดมาทำไมก็กลายเป็นว่า เกิดมาเพื่อการสอบไล่ ๓ ชั้น ๔ ชั้นนี้ ให้ได้ลุล่วงไปด้วยดี ด้วยเทคนิคคือธรรมะ ไม่ใช่อย่างที่ว่าเด็กๆ เกิดมาเพื่อกิน เพื่อเล่น คนหนุ่ม คนสาว เกิดมาเพื่อความสำราญ คนพ่อบ้าน แม่เรือน เกิดมาเพื่อลากแอกอย่างวัวนี้ ไม่ใช่อย่างนี้ นั้นมันเป็นส่วนที่มนุษย์เอาชนะไม่ได้คือไม่เป็นเทคนิค ไม่เป็นนักเทคนิค แต่ถ้าเราจะตอบกันอย่างจริยธรรม หรือความคิดของนักจริยธรรม ก็จะเป็นการง่ายแก่การจดจำ ฉะนั้นขอให้ช่วยจำว่า
ถ้าถูกถามว่าเกิดมาทำไม ก็ตอบอย่างๆ กำปั้นทุบดินก่อน ว่าเกิดมาเพื่อสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ เรียกว่ากำปั้นทุบดิน น่าหัว เพื่อสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ ทีนี้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้นั้นนะ ต้องเอาตามหลักจริยธรรม คือนักจริยธรรมทั่วโลกค้นคว้าศึกษารวบรวมโดยสมบูรณ์แล้วว่าจะตอบว่า เพื่อ Summum Bonum คือสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ต้องได้ในชาตินี้ ๔ ประการ
๑. คือความสุขที่แท้จริง Happiness เรียกตรงๆ แปลตรงๆ ว่า Happiness
๒. เพื่อความเต็ม Perfection ความเต็มเปี่ยม
๓. เพื่อหน้าที่ Duty และ
๔. เพื่อความรักสากล Universal Love
ข้อทีแรกก็เพื่อความสุขนี่ ต้องเป็นความสุขที่แท้จริง ไม่ใช่ความสุขอย่างหลอกลวง ดังนั้นจึงต้องมีความหมายเป็นความสะอาด สว่าง สงบ อยู่เป็นธรรมดา ความสุขที่ไม่ๆ ทำให้คนต้องนั่งร้องไห้น้ำตาเช็ดเข่าอะไรทำนองนี้ เขาเรียกว่าความสุขจากความสงบเย็นนั้น เข้าใจได้ไม่ยาก ถ้าร้อนอยู่ก็ไม่ใช่ แม้จะร่ำรวย มีเกียรติมีอะไรมากมายแต่ถ้ายังร้อนอยู่ก็ไม่ใช่ ยังร้อนอยู่ก็ยังตกนรกทั้งเป็นอยู่ ยังไม่ใช่ความสุข ทีนี้ที่เรียกว่าความเต็มหรือ Perfection นี้คือความเต็มแห่งความเป็นมนุษย์ ลองถามใครๆ เป็นมนุษย์ที่เต็มแล้วบ้าง ที่นั่งอยู่ที่นี่ เต็มคืออย่างไร เต็มแห่งความเป็นมนุษย์คืออย่างไร หลวงวิเชียรว่าอย่างน้อยอยู่ๆ กัน ๑๕ เปอร์เซ็นต์ ยังพร่องอยู่ อย่างน้อยหรืออย่างธรรมดานี้ ฉะนั้นความเต็มนี้มันอยู่ที่ไหน ความเต็มแห่งความเป็นมนุษย์มันต้องอยู่ที่มีความรู้ถูกต้อง มีการกระทำถูกต้อง คือมีทั้ง Technic และ Technique อีกนั่นเองที่สมบูรณ์ จึงจะมีความเต็มของความเป็นมนุษย์ ทั้งทางกาย ทั้งทางจิต ทั้งทางสติปัญญา ความคิดเห็นทางวิญญาณ นี้ข้อที่ ๓. ที่ว่าเพื่อหน้าที่ ไอ้หน้าที่นี้พิเศษหน่อย เพราะมีระบุว่า หน้าที่เพื่อหน้าที่ Duty for the sake of duty หน้าที่เพื่อประโยชน์แก่หน้าที่ ถ้าใครยังทำหน้าที่เพื่อประโยชน์แก่เงิน ยังไม่ใช่ เราเรียนเราประกอบอาชีพเพื่อประโยชน์แก่เงิน ด้วยความรู้สึกแก่ตัวเราเอง แต่ตัวกู ของกู แก่ครอบครัวของกูนี้ยังไม่ใช่ ยังไม่ใช่หน้าที่ในที่นี้ หน้าที่ๆ จะเป็นไอ้สิ่งที่ดีที่สุดของมนุษย์นั้นคือ หน้าที่เพื่อหน้าที่ เรารู้สึกว่าเราเกิดมาเป็นมนุษย์มีหน้าที่ๆ จะต้องทำหน้าที่ของมนุษย์ แล้วก็ทำหน้าที่นั้นให้สมบูรณ์ ส่วนเงินหรืออะไรนี้เป็นของที่พลอยได้ เป็นขี้ฝุ่นว่าอย่างนั้น ไอ้ตัวหน้าที่คือตัวๆ สิ่งที่ประเสริฐ แล้วก็ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ หรือพูดภาษานั้นก็ว่า ทำงานเพื่องาน ถ้าในใจมันมีความรู้สึกและรับผิดชอบและทำจริงในข้อที่ว่าทำงานเพื่องาน ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่นั้นคือสิ่งที่ดีที่สุด ในสิ่งที่สูงประเสริฐที่สุดในความเป็นมนุษย์ที่จะพึงได้จนถึง ฉะนั้นขออย่างน้อยขอให้จำไว้ว่า สักระดับหนึ่งเราจะเป็นผู้ที่ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ แม้เราเรียนนี้ก็เรียนเพราะเป็นหน้าที่ของมนุษย์ เราประกอบการงานก็ทำเพราะเป็นหน้าที่ของมนุษย์ เราจะต้องทำอย่างอื่นอีกหลายๆ อย่าง ก็เพราะเป็นหน้าที่ของมนุษย์ หน้าที่เพื่อหน้าที่อย่างนี้ใจบริสุทธิ์ ถ้าหน้าที่เพื่อเงิน เพื่อเกียรติ เพื่ออะไรต่างๆ แล้ว มันเป็นเพื่อตัวกู ของกู อย่างนี้ใจไม่บริสุทธิ์ คือเป็นกิเลส ไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดของมนุษย์ ดังนั้นเขาจึงระบุว่า ต้องหน้าที่เพื่อหน้าที่ ทีนี้ที่ที่สุดท้ายที่ ๔. คือ ความรักสากล Universal Love แต่คำว่า Love นี้หมายถึง เมตตา คือควรจะระบุชัดว่า Loving kindness เมตตา ไม่ใช่ Love ความรักด้วยกิเลสตัณหา Love ความรักสากลนี้ ไม่ใช่ความรักของหญิงโสเภณี มีความหมายเฉพาะที่บริสุทธิ์ ที่ประกอบด้วยเทคนิคคือ ธรรมะ คือมีเมตตาสากลนี้ เป็นสิ่งที่ทำยาก เป็นเทคนิคยิ่งกว่าเทคนิคของเราทั้งหมดรวมกันก็ได้ เราจะมีจิตใจที่มีในลักษณะพิเศษเฉพาะที่มีไว้เฉพาะถึงจะมีความรักสากล ซึ่งเป็นสิ่งที่ ๔ ในบรรดาสิ่งที่ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับและเราก็เกิดมาเพื่อสิ่งนี้ นี่ท่านมองเห็นได้ทันทีว่ามันเป็นเทคนิคที่กว้างขวาง ที่ลึกลับ ซับซ้อน ที่มีอะไรมากมายเท่าไร ฉะนั้นปัญหาเทคนิคข้อใหญ่ของความเป็นมนุษย์เราก็อยู่ตรงที่ว่า เกิดมาทำไมนี้เป็นต้น ถ้าๆ สะสางปัญหานี้ได้ ก็เรียกว่าเป็นผู้มีเทคนิคที่สมบูรณ์ ทีนี้เราเดี๋ยวนี้มักจะคุยกันเสียว่า ความเจริญ การศึกษาใหม่ๆ ของพวกฝรั่งนี้ ทำให้มนุษย์เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยเทคนิค มีวิชา ความรู้ ความสามารถ ถึงคุยโตว่าเป็นถึงขีดสุดของเทคนิค นี้เป็นเรื่องลมๆ แล้งๆ เพราะว่ามันยังมีเทคนิคของธรรมชาติอีกมากมาย ที่ยังไม่เปิดเผยออกมา ที่ยังลึกลับอยู่ ที่มนุษย์เหล่านี้รู้ไม่ได้ ฉะนั้นเทคนิคในโลกปัจจุบันนี้ ก็เป็นเรื่องทางวัตถุล้วนๆ แล้วก็ยังไม่หมด ฉะนั้นก็ไม่ควรจะคุยโตว่า เป็นเทคนิคในโลกยุคที่สมบูรณ์หรืออะไรทำนองนั้น มันพิสูจน์ได้ง่ายๆ โดยที่ว่า เดี๋ยวนี้โลกมันยุ่งยากมากขึ้น ใช่ไหม ถ้ามันเป็นไปอย่างถูกต้องตามเทคนิคแล้ว โลกนี้มันควรจะเรียบร้อย หรือสงบ เย็นลงไป เดี๋ยวนี้มันยุ่งยากมากขึ้น เดือดร้อนมากขึ้น น่าเวียนหัวมากขึ้น มีคนเป็นโรคจิตกันมากขึ้น เทคนิคอะไรกันอย่างนี้ ฉะนั้นเราจะต้องมุ่งไปยังความสงบเป็นเครื่องวัดว่า เทคนิคนี้สมบูรณ์หรือไม่สมบูรณ์ แล้วก็ไปเข้ารูปอย่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า ไอ้เทคนิคนั้นต้องแบ่งเป็น ๒ อย่างคือ เทคนิคทางฝ่ายวัตถุนี้อย่างหนึ่ง แล้วเทคนิคทางฝ่ายวิญญาณนั้นอีกอย่างหนึ่ง มันก็เลยมีความยากลำบากแก่การศึกษาหรือเข้าใจเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า เทคนิคทางฝ่ายวัตถุอย่างเดียวเราก็รู้สึกว่ามันยากมากอยู่แล้ว คำพูดก็ไม่พอไม่ค่อยพอที่จะใช้ในการทำความเข้าใจกัน และยิ่งเป็นเรื่องเทคนิคทางวิญญาณแล้วก็ด้วย มันก็ยิ่งยากไปกว่านั้น แล้วไม่มีคำพูดในโลกนี้เลย ที่จะใช้กันได้ เพราะว่าเขาไม่เคยรู้จักและไม่ได้พูดถึง ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องที่เราจะเข้าใจได้ทันทีไม่ได้ ขอให้มีความเห็นอกเห็นใจในข้อนี้ อย่างพระพุทธเจ้าตรัสรู้ขึ้นมาใหม่ๆ ท่านก็จนปัญญาเหมือนกัน ท้อถอยอยู่พักใหญ่ว่า ไม่รู้จะสอนอย่างไร มันไม่ใช่คำพูด ไม่ใช่ มันๆ ไม่มีคำพูดที่มนุษย์พูดกันอยู่ แล้วจะไปพูดให้เขาเข้าใจได้อย่างไร แล้วเรื่องมันก็ลึก ท่านเลยคิดว่าไม่สอนแล้ว อยู่ๆ ระยะหนึ่ง จะไม่สอนสัตว์ จะไม่โปรดสัตว์ จนกว่าความคิดอันใหม่จะมีเพราะความกรุณา ความกรุณามันมีมาก มันว่าถ้าอย่างไรก็จะสอนเฉพาะผู้ที่อาจจะเข้าใจได้อย่างนี้ ก็เลยทรงสอน นี่ความยากลำบากของเรื่องทางเทคนิคทางวิญญาณ มันไม่มีคำพูดในโลกที่พูดกันอยู่ก่อน มันจึงลำบากในการสอน ที่ยกตัวอย่างให้นักศึกษาทั้งหลายฟังซัก ๒-๓ คำ เช่นคำว่า
ความเกิด การเกิดนี้ ถ้าทางวัตถุ ทาง Physical มันก็เป็นเรื่องเกิดจากท้องแม่ การเกิดหมายความอย่างนี้เสียแล้ว แต่ถ้าทางฝ่ายวิญญาณหรือเรื่องทางจิตใจ ความเกิดนั้น ก็หมายถึงความคิดในใจ ที่เกิดคิดขึ้นมาว่า ฉันกำลังเป็นอะไร ฉันเป็นอย่างไร ครั้งหนึ่งก็เรียกว่าเกิดครั้งหนึ่ง เช่นคิดอย่างโจร ก็เกิดเป็นโจร คิดอย่างมนุษย์ ก็เกิดเป็นมนุษย์ คิดอย่างสัตว์เดรัจฉาน ก็เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานลงไปทันที ที่นั่นและเดี๋ยวนั้น คิดอย่างเทวดาเกิดเป็นเทวดาแล้วอย่างนี้เป็นต้น นี่คำว่าความเกิดในภาษาเทคนิคทางฝ่ายวิญญาณเป็นอย่างนี้
ทีนี้ในคำว่า ชีวิต ชีวิตภาษาวัตถุ ภาษา Physics ชีวิตก็คือ ยังไม่ตายก็ยังสดอยู่ ตามภาษาชีววิทยา Protoplast ในเซลล์ๆ หนึ่งยังสดอยู่ก็คือมีชีวิตอยู่ ยังกินอาหารยังเจริญงอกงาม นี่เรียกว่าชีวิต แต่ในทางวิญญาณ ทางธรรมะ เขาไม่อธิบายอย่างนั้น เขาก็จะคิดว่านั่นคือความตายอยู่กันนั่นแหละ ชีวิตคือความไม่ตาย ไม่ตายจริงๆ ที่เรียกว่า ชีวิตนิรันดรไม่มีความตายเลย นี้เป็นภาษาธรรมะ เช่น ในทางพุทธศาสนาก็มีว่า ถ้าเรามีความรู้ธรรมะจนเห็นว่ามนุษย์นี้ไม่ใช่ไม่ได้เป็นมนุษย์ เป็นเพียงธรรมชาติ และธรรมชาติเป็นสิ่งที่ไม่รู้จักตายนี้ นั่นแหละคือเห็นความไม่ตาย ถ้าจิตมันมีความรู้สึกอย่างนั้น เขาเรียกว่าจิตถึงความไม่ตาย ถึงสิ่งที่ไม่ตาย จึงเป็นชีวิตนิรันดรอย่างนี้เป็นต้น
ทีนี้พูดถึง ความตาย ความตายตามธรรมดา คือ อายุแก่มาก หรือเจ็บไข้ มันตายลงไปจับใส่โลง ไปเผา ไปฝังนี้คือความตายภาษาธรรมดา ภาษาธรรมะนั้นก็หมายถึงความที่หมด หมดความดี หมดคุณสมบัติของมนุษย์อย่างนี้ ในคริสเตียนก็หมายถึงการมีบาป มีบาปถาวร ต้องเป็นทุกข์ นั่นแหละคือความตาย
ทีนี้คำสุดท้ายก็คือคำว่า ว่าง คำว่า ความว่าง ภาษาวัตถุธรรมดา เทคนิควัตถุ ก็ว่างคือไม่มีอะไร ไม่มีอะไรเลยเรียกว่า ว่าง ว่างเหมือนกับ แพคติออน(นาทีที่ 55.20) หรือยิ่งกว่านั้นขึ้นไปอีก ไม่มีอะไรเลย คือไม่มีอะไรเลย ไม่คิดนึกอะไรเลย ไม่ทำอะไรเลย ไม่มีอะไรเลยจะคิดนึกอะไรได้ แต่ว่าความว่างในภาษาธรรมะนั้น หมายถึงว่า เมื่อจิตของเรารู้สึกว่าไม่มีอะไรเป็นของเรา อันนั้นเรียกว่า ว่าง เมื่อเราไม่ถือว่าโลกนี้เป็นของเรา ก็ถือว่าโลกนี้ว่างอย่างนี้เป็นต้น มีความหมายคนละอย่าง อย่างนี้เสมอไป
ฉะนั้นเทคนิคในทางธรรมะมันจึงไม่มีคำพูดที่พูดกันอยู่ตามธรรมดาเลยเข้าใจไม่ได้ ต้องศึกษากันใหม่ แต่ว่าเมื่อศึกษาแล้วจะมีประโยชน์คุ้มกับค่า คุ้มค่าของการศึกษา ฉะนั้นขอให้สนใจ ทีนี้เรามาสนใจกันแต่ในเรื่องทางฝ่ายวัตถุ ทั้งที่เราจะต้องร้องไห้ ต้องเป็นทุกข์เพราะเรื่องนั้น เราก็ยังไม่ๆ รู้สึก เราก็ยังไม่หลาบ ไม่เข็ดหลาบ ไม่ขวนขวายหาความรู้ที่จะให้เกิดความสงบสุข หรือความตรงกันข้าม นี่เรามามุ่งหมายกันแต่ในทางวัตถุเกินไปนั่นเอง ทีนี้เมื่อพูดถึงสิ่งที่ไม่มีตัวตน เช่น ธรรมะเข้าใจไม่ได้ ก็ๆท้อแท้ หรือๆ หมดความพยายามเสียทีเดียว ถ้าใครเข้าใจอย่างนี้ ขอให้เข้าใจเสียใหม่ว่า พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ทรงประสงค์ ไม่ได้ทรงต้องการถึงขนาดนั้น เราไม่ต้องรู้ทุกสิ่ง เรารู้แต่สิ่งที่จำเป็นแก่ความเป็นมนุษย์ของเรา ฉะนั้นในทางฝ่ายวัตถุ เราก็จงรู้แต่เท่าที่จำเป็นแก่ความเป็นมนุษย์ของเรา ในทางฝ่ายจิต ฝ่ายวิญญาณ ฝ่ายธรรมะ ก็รู้เท่าที่จำเป็นแก่มนุษย์ของเรา เพราะว่าตัวสิ่งนั้นเรายังไม่อาจจะเข้าถึงได้โดยสมบูรณ์ แต่ว่าเราอาจจะได้รับประโยชน์จากสิ่งนั้นได้ สนุกฟังดูให้ดีจะทบทวนใหม่ว่า การที่เราว่าเราอาจจะเอาประโยชน์จากสิ่งนั้นได้โดยที่เราไม่รู้จักว่ามันเป็นอะไร คงจะหัวเราะกันครืนก็ได้ถ้าพูดอย่างนี้ แต่ที่จริงมันเป็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าท่านจึงวางขอบเขตไว้ว่าเรารู้กันเพียงเท่านี้ก็พอ อย่าไปรู้ถึงสิ่งที่ไม่จำเป็นจะต้องรู้เพราะไปมัวรู้ ไปๆ มัวอยากรู้หรือพยายามจะรู้สิ่งเหล่านั้นแล้วเราก็ตายก่อน ไม่ได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ ฉะนั้นท่านจึงจำกัดขอบเขตเข้ามาว่า มนุษย์ควรจะศึกษาวิชาเทคนิคอย่างไร หรือเท่าไร หรือเพียงไร ยกตัวอย่างในทางวัตถุ ในทางเรื่องทางวัตถุ ไม่เกี่ยวกับธรรมะ เช่นเรื่องไฟฟ้าอย่างนี้ เดี๋ยวนี้นักปราชญ์ยอดสุดทางวิชาไฟฟ้า ก็ยังไม่รู้ว่าไฟฟ้าคืออะไรกันแน่ บัญญัติกันไปคราวหนึ่งไม่เท่าไร ก็ต้องถอนไอ้คำนิยามอันนั้นกันอยู่อย่างนี้ ยังจนยังจะไม่รู้ว่าไฟฟ้าที่เกิดโดยแท้ว่ามันคืออะไรกันแน่ แต่เราก็สามารถเอาไฟฟ้านี้มาใช้เป็นประโยชน์อย่างนั้นอย่างนี้ จนกระทั่งยุคนี้ ยุคอีเลคโทรนิคส์ ซึ่งละเอียดซับซ้อนมากขึ้นไปอีก เราก็เอามาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ ทั้งที่เรายังไม่สามารถจะตอบ หรือจะให้คำนิยามจำกัดลงไปได้ว่า ไฟฟ้านั้นคืออะไร ทีนี้สิ่งที่เรียกว่า ธรรมะ นี้ก็เหมือนกัน สิ่งที่เรียกว่าพระเจ้านั้นก็เหมือนกัน เรายังไม่ต้องรู้หรือว่าเรายังไม่สามารถจะรู้ว่าตัวแท้ธรรมะ พระเจ้า หรือตัวพระเจ้านั้นคืออะไร แต่ถ้าเราปฏิบัติไปตามหลักปฏิบัติระบอบหนึ่ง เราจะได้ประโยชน์จากพระเจ้า หรือจากพระธรรม หรือจากพระพุทธเจ้า ถึงขนาดเรียกว่า ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับได้ ฉะนั้นเราสนใจกันแต่ส่วนที่เป็นเทคนิคเพียงเท่านี้ อย่าให้มากไปจนถึงว่าทั้งหมด มันจะตายเสียก่อน ยกตัวอย่างที่เห็นชัดขึ้นมาอีกว่า เหมือนกับว่าจีนคนหนึ่งเขาอยากจะทำสวนมะพร้าวเลี้ยงชีวิตอย่างนี้ ถ้าเขาจะไปมัวเรียนเรื่องเทคนิคเรื่องดินอย่างละเอียด เรื่องโรคอย่างละเอียด เรื่องแมลงอย่างละเอียด เรื่องวัตถุธาตุอย่างละเอียด เขาก็ไม่ได้ทำสวนมะพร้าว แล้วเรียนก็ไม่ได้ ถึงจะเรียนได้ก็ไม่ได้ทำสวนมะพร้าว ฉะนั้นพวกจีนเขาก็ปลูกมะพร้าวได้เป็นผลงอกงามดี มีผล ได้เงินตามความต้องการ โดยที่รู้เทคนิคเพียงว่า ขุดหลุมอย่างไร ฝังอย่างไร ใส่ปุ๋ยอย่างไรเท่านั้นเอง ไม่ต้องรู้ทั้งหมด ในพระพุทธศาสนาก็จำกัดไว้อย่างนี้ โดยพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ไอ้ที่สิ่งที่ตถาคตรู้นั้น มีมากเท่ากับใบไม้ทั้งป่า แต่เอามาสอนนั้นเท่ากับใบไม้กำมือเดียว แต่มันเป็นเทคนิคที่จำเป็น ที่เป็น Practical ที่สุดสำหรับความเป็นมนุษย์ของเรา ฉะนั้นมันจึงไม่ยาก มันจึงไม่เหลือวิสัย มันไม่ใช่ไม่มากเกินไป แท้จริงเป็นสิ่งที่ควรจะสนใจแต่ส่วนนั้น ทีนี้ตามที่ปรากฎอยู่จริงมันไม่เป็นอย่างนั้น ปัญหาที่อาตมาถูกถามมากที่สุด ก็คือ ปัญหาที่ว่าตายแล้วเกิดหรือไม่ นี่ฟังดูซิ ไปถามว่าตายแล้วเกิดหรือไม่ ไม่ถามว่าเดี๋ยวนี้จะต้องทำอะไร ไม่ค่อยมีไม่เคยมีใครถามว่าเดี๋ยวนี้จะต้องทำอะไร ไปถามว่าตายแล้วเกิดหรือไม่ แล้วทำไมไม่คิดว่า ถ้าเกิดก็เกิดมาเป็นอย่างนี้อีก แล้วทำไมจึงไม่ถามว่า ถ้าเกิดมาเป็นอย่างนี้แล้วจะต้องทำอะไร ฉะนั้นจึงเรียกว่าเป็นปัญหานอกเรื่อง แม้จะเป็นวิชาหรือจะเป็นความจริง หรือเป็นเทคนิคอย่างหนึ่งก็ตาม แต่ยังไม่จำเป็น ยังนอกเรื่อง ฉะนั้นในครั้งพระพุทธกาล พระพุทธเจ้าท่านไม่ยอมตอบปัญหาที่คนเหล่านั้นมาถาม เรื่องตายแล้วเกิดหรือไม่ เป็นต้น เขามีว่า คือมีอยู่ ๑๐ หัวข้อด้วยกัน ที่คนในอินเดียสมัยพระพุทธเจ้านั้นชอบถาม ว่าโลกนี้เป็นของเที่ยงหรือว่าไม่เที่ยง เขาตั้งปัญหาว่าโลกนี้เป็นของตายตัวอย่างนี้ หรือไม่ตายตัวอย่างนี้ แล้วโลกนี้จะมีที่สิ้นสุดลงไปหรือว่าจะไม่มีที่สิ้นสุด หรือว่าร่างกายนี้หรือที่หรือไปเกิดอีก หรือว่าเป็นร่างกายอื่น หรือว่าตายแล้วไปเกิดใหม่นั้นจะเกิดเป็นอย่างนี้อีก หรือว่าจะเกิดเป็นอย่างอื่น หรือจะว่าจะเป็นอย่างนี้อีกก็มีไม่เป็นอย่างนี้อีกก็มี หรือว่าจะเป็นอย่างนั้นก็ไม่ใช่ จะไม่ใช่เป็นอย่างนั้นก็ไม่ใช่อย่างนี้เป็น ๕ คู่ และ ๑๐ หัวข้อด้วยกัน อย่างนี้พระพุทธเจ้าท่านประนามว่าเป็นปัญหาที่ไม่ต้องตอบ ไม่มีประโยชน์อะไร คือจะไม่เป็นชนวนให้เราประสบความสำเร็จในการเป็นมนุษย์ คือมันไม่ช่วยให้พบกันเข้ากับความสงบสุข หรือนิพพาน ถ้ามัวตั้งปัญหาอย่างนี้ ฉะนั้นจะต้องตั้งปัญหาว่าที่เราเกิดอยู่นี้ ที่กำลังเป็นอยู่นี้จะต้องทำอย่างไร พระองค์หนึ่งไปคะยั้นคะยอพระพุทธเจ้าว่า ถ้าไม่ตอบปัญหาข้อนี้ ไม่ตอบปัญหาเหล่านี้ ๑๐ ข้อนี้แล้วจะสึก พระพุทธเจ้าว่าสึกก็สึกซิ เพราะว่าเราไม่ได้สัญญากันว่าจะตอบปัญหานี้จึงมาบวช แต่เป็นปัญหาที่ไม่มีประโยชน์อะไร ทีนี้ท่านก็ย้อนถามพระองค์นั้นว่า ต่อเมื่อเรารู้ว่าโลกเที่ยงหรือไม่เที่ยงเสียก่อนแล้ว เราจึงจะประพฤติธรรมะได้อย่างนั้นหรือ ถ้าอย่างเดี๋ยวนี้ก็ว่า เราจะต้องรู้ว่าตายแล้วเกิดหรือไม่เกิดเสียก่อนหรือเกิดเสียก่อนแล้วเราจึงจะประพฤติธรรมะได้อย่างนั้นหรือ พระองค์นั้นก็จน จนแก่จำนนแก่เหตุผล ก็ต้องตอบว่า ไม่ใช่อย่างนั้น ว่าเราไม่ต้องไปรู้คำถามของปัญหาเหล่านั้น เราก็ประพฤติธรรมะหรือประพฤติพรหมจรรย์ ประพฤติเพื่อดับทุกข์นี้ได้ นี่ก็เป็นอันว่า เราไม่ต้องรู้คำตอบของปัญหาเหล่านั้น เราก็สามารถจะประพฤติธรรมะ เพื่อให้ได้รับสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับได้ ฉะนั้นอย่าไปตั้งปัญหาชนิดที่ทำให้เสียเวลา นี่พระพุทธเจ้าเลยตรัสว่า เมื่อไปฝังมั่นอยู่ในความเชื่อว่าโลกเที่ยงหรือไม่เที่ยง มีที่สิ้นสุดหรือไม่มีที่สิ้นสุดนี้ เมื่อไปฝังมั่นอยู่กับความเชื่ออย่างนี้แล้ว นั่นแหละจะมีความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความโศก ความทุกข์ อย่างที่เป็นทุกข์กันยุคนี้ขึ้นมา ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นความทุกข์ที่ตถาคตบัญญัติว่า มนุษย์เราสามารถจะกำจัดเสียได้ในชีวิตนี้ ในชาตินี้ ในชีวิตนี้ ไม่ใช่หลังจากตายแล้ว นี่หมายความว่าสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้นั้น มันได้เสร็จได้ในทันชาตินี้ คือพระพุทธเจ้าท่านยืนยันอย่างนี้ ความทุกข์ซึ่งเราบัญญัติการกำจัดเสียได้ในภพที่ตนเห็นเองนี้ นี้ฟังดูไว้เป็นเครื่องประดับความรู้บ้างก็ได้ ถ้าเป็นภาษาบาลีคำว่า ชาตินี้ ท่านเรียกว่า ภพที่ตนเห็นเองนี้ เพื่อผู้นั้นเห็นเอง คือเห็นอยู่นี้ คือยังไม่ตายในชาตินี้ ความทุกข์เป็นสิ่งที่เราบัญญัติการกำจัดเสียได้ในภพที่ตนเห็นเองนี้ อันว่านิพพานเป็นสิ่งที่บรรลุได้ในชีวิตนี้ แล้วจะมัวไปถามว่าตายแล้วเกิดหรือไม่เกิดทำไม ฉะนั้นเราจะต้องถือหลักเหมือนที่จริยธรรมสากลเขานิยมกันว่า สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์จะได้รับในชีวิตนี้ สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับในชีวิตนี้ ทีนี้ถ้าเราสนใจอย่างนี้ก็จะเป็นการสนใจธรรมะ หรือเทคนิค ธรรมะที่เป็นเทคนิค เทคนิคที่เป็นธรรมะ ในลักษณะที่จำกัดพอเหมาะพอดีกับที่เราจะสะสางให้สิ้นเสร็จไปได้ในชีวิตนี้ ทันแก่ความเป็นมนุษย์นี้ เราก็จะแก้ปัญหาอย่างเมื่อตะกี้ได้ ไม่ต้องเป็นมนุษย์วัว มนุษย์สุนัข มนุษย์ลิง อะไรทำนองนั้น ฉะนั้นขอให้ถือว่า มันเป็นเทคนิคอย่างยิ่ง คือจำกัดเวลาให้เพียงชาตินี้ เพียงชาตินี้ ต้องรู้ให้ทัน ต้องรู้ให้ครบ ต้องทำให้เสร็จ ให้ได้รับผลมาในชาตินี้ มันก็ยิ่งเป็นเทคนิคอย่างยิ่ง จำกัดเข้ามารอบตัว ทั้งการกระทำ ทั้งเวลา ทั้งขอบเขตอะไรนี้
ทีนี้ใจความสำคัญของเรื่องที่เราจะพูดกันในวันนี้ ก็คือเทคนิคฝ่ายวิญญาณ หรือฝ่ายธรรมะนั่นเอง เพราะว่าเทคนิคทางฝ่ายวัตถุนั้น ท่านนักศึกษาทั้งหลายที่นี่ กำลังมีอยู่อย่างสมบูรณ์ ถ้าอาตมามาพูดเรื่องนี้ ก็เหมือนกับเอามะพร้าวมาขายสวน ที่มันมีมากกว่าเสียอีก ไม่จำเป็น ฉะนั้นเลยพูดแต่ฝ่ายที่เรียกว่า เป็นฝ่ายนามธรรมคือเป็นฝ่ายจิต ฝ่ายวิญญาณ จนต้องใช้คำว่า ทางวิญญาณขึ้นมา อะไรๆ ก็ถูกหาว่าทางวิญญาณ เขาหาว่าเป็นเรื่องบ้าบอชนิดหนึ่ง ทางวิญญาณไม่รู้ว่าทางอะไร มีคนพูดมาก แต่อาตมาก็ยังขอยืนยันว่า ทางวิญญาณนี้มันคู่กับทางร่างกาย ทางวัตถุ คือว่าทาง Physics นี้ก็อย่างหนึ่ง หรือว่าทาง Metaphysics คือมันเหนือขึ้นไปกว่า Physics หรือนอกไปขอบ นอกขอบเขต Physics นั่นแหละคือทางฝ่ายจิตหรือฝ่ายวิญญาณ จะยกตัวอย่างเป็นการเปรียบเทียบกับวัตถุ สมมุติว่าเราจะยกตัวอย่างเรื่องการหกล้ม การหกล้มนี้ใครๆ ก็รู้จักดี เมื่อพูดถึงทางวัตถุเพราะว่าหกล้มทุกทีมันไม่ๆ สนุกเลย อย่างน้อยมันก็แข้งขา ถลอกปอกเปิกนี้ มันก็กลัว แล้วก็รู้จักดี แล้วก็ระวังตัวดีมาก ไม่ค่อยมีใครหกล้ม ทั้งวัน ทั้งเดือน ทั้งปี แต่ว่าการหกล้มนั้นไม่ได้มีแต่ทางฝ่ายร่างกายอย่างนี้ มันมีทางฝ่ายวิญญาณด้วย ในเมื่อใดจิตของเราสูญเสียสภาพปกติ สูญเสียความสมดุลไม่ Balance หรืออะไรทำนองนี้ ที่เรียกว่าไม่สงบนั้น เอียงทางซ้ายก็ดี เอียงไปขวาก็ดี หรือไปรักเขาก็ดี หรือไปเกลียดเขาก็ดี ไปกลัวมันก็ดี ไปกล้าก็ดีอันนี้เรียกว่าเสียสมดุล นี่คือเอียง นี่คือหกล้ม มีการหกล้มทางวิญญาณเมื่อไร จะมีความทุกข์เมื่อนั้น อย่างน้อยก็ปวดหัว ขึ้นไปถึงเป็นร้องไห้ เป็นโรคเส้นประสาท เป็นต้องส่งโรงพยาบาลโรคจิตกระทั่งตายเลย ทีนี้สังเกตุดูให้ดีว่าการหกล้มในทางจิตทางวิญญาณนี้ มันมีอีกแบบหนึ่งอีกส่วนหนึ่ง แล้วหกล้มกันมากที่สุด ยิ่งกว่าทุกคนนี่เอาแล้วสิฟังยากแหละ ยิ่งกว่าทุกคน แล้วคนหนึ่งหกล้มกันวันละหลายหน หลายๆ สิบหน การหกล้มในทางวิญญาณ คือการที่จิต หม่นหมอง มืดมัว เร่าร้อน อึดอัด กลัดกลุ้มหนักอกหนักใจนี้ มันๆ เสียความทรงตัวของมันเมื่อไร ก็เรียกว่าการหกล้มทางวิญญาณได้เกิดขึ้นแล้วเมื่อนั้น ฉะนั้นถ้าใครมีธรรมะไม่พอ มีเทคนิคของธรรมะไม่พอ จะหกล้มวันหนึ่งมาก มากครั้งเกินไป ในเมื่อหกล้มแล้วมันทำอะไรไม่ได้ มันเรียนหนังสือก็ไม่ได้ อย่าว่าแต่ทำอะไรเลย นั่งอยู่เฉยๆ มันก็ไม่มีความสุข นอนก็ไม่มีความสุข ถ้ามันมีการหกล้มในทางจิตทางวิญญาณ ฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงเห็นว่ามันเป็นความจำเป็นมากที่มนุษย์จะต้องมีความรู้เรื่องนี้ ท่านจึงสอนธรรมะในลักษณะที่ว่า เปรียบเหมือนกับการป้องกันการหกล้มในทางจิตทางวิญญาณนั่นเอง ทีนี้เราจะรวบรัดเรื่องทั้งหมดที่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้ามาพูดกันในเวลาอันสั้น เพราะเวลาของเรามีเท่านี้ ก็ขอให้นึกถึงที่พระพุทธภาษิตมีอยู่ว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวง ใครๆ ไม่ควรไปสำคัญมั่นหมายเอาว่า มันเป็นตัวเราหรือของเรา ประโยคนี้ช่วยจดลงไปในกระดาษ ถ้าเป็นนักเทคนิคอย่างน้อยก็ต้องมีเศษกระดาษอยู่ในกระเป๋า มีดินสออยู่บ้าง นักเรียนแห่งหนึ่งไม่มีปากกาอยู่ในกระเป๋า ได้ความว่าเอาไปขายซื้อพวงมาลัยรำวงเมื่อคืนยังไม่ได้ไถ่มา อาตมาให้จดนี้เลยไม่มีปากกาจะจด ที่พิษณุโลก นี้เรียกว่าไม่เป็นเทคนิคอย่างยิ่งแหละ คือไม่ได้เตรียมพร้อม
สิ่งทั้งหลายทั้งปวง อันใครๆ ไม่ควรสำคัญมั่นหมาย ว่าเป็นตัวเราหรือของเรา ถ้าเป็นภาษาบาลีก็ว่า สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ สิ่งทั้งหลายทั้งปวงอันใครๆ ไม่ควรสำคัญมั่นหมายว่าเป็นตัวเราหรือของเรา คือมีคนไปทูลถามพระพุทธเจ้าว่า คำสอนของพระพุทธเจ้ามากมายเหลือเกิน อย่างที่เดี๋ยวนี้ที่เราเรียกว่า ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ แถมเรียนเวียนหัว ขอให้พระพุทธเจ้าช่วยสรุปให้เป็นประโยคสั้นๆ ประโยคเดียวจะได้ไหม จะว่าอย่างไร พระพุทธเจ้าท่านว่าได้ แล้วท่านก็ว่าอย่างนี้คือประโยคนี้ คนนั้นก็เลยได้รับประโยคสั้นๆ ที่เป็นคำสอนทั้งหมดในพระพุทธศาสนาทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์จะรวมอยู่ที่นี่ คือความไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไรว่าเป็นตัวเราหรือเป็นของเรา นี่ก็เลยสังเกตุต่อไปว่าเมื่อใดเรามีความรู้สึกมั่นหมาย หรือยึดมั่นทางจิตใจนี่ว่าอะไรเป็นของเรา เมื่อนั้นเราก็มีตัวเรา เมื่อนั้นก็มีตัวฉัน เมื่อนั้นก็มีของฉัน มันจึงไม่ว่าง ฉะนั้นเข้าใจได้ง่ายๆ ตรงที่มันมีตัวฉัน มีของฉัน แล้วมันจะว่างได้อย่างไร ถ้าความรู้สึกว่าตัวเราหรือของเราไม่มี เมื่อนั้นเรียกว่ามันว่าง ตัวจิตนี้ไม่ได้ถืออะไรไว้ มันว่าง มันเหมือนกับมือว่างเพราะไม่ได้ถืออะไรไว้ ถ้าจิตไปถืออะไรเข้าอย่างใดอย่างหนึ่งว่า ตัวฉัน ว่าของฉัน จิตนั้นก็ไม่ว่างเสียแล้ว เมื่อไม่ว่างนั่นคือหกล้มในทางวิญญาณ มันสูญเสียสภาพเดิมคือปกติของมัน ที่มันเกิดเป็นเทคนิคอย่างแรง อย่างทำยาก ปฏิบัติยากขึ้นมาว่า เราจะทำอะไรได้ โดยที่จิตว่าง นี่คำตอบก็มีว่า นี่ระวังอย่าไปสำคัญมั่นหมายอะไรเข้าว่าเป็นตัวเราหรือเป็นของเรา อย่างว่าเราเรียนวิชาอยู่ในวิทยาลัยนี้ กำลังเรียนอยู่แท้ๆ ก็เรียนด้วยสติปัญญาสมาธิสัมปชัญญะอะไรอย่างเต็มที่ แต่ความรู้สึกว่าฉัน ฉันจะเอาอย่างนั้น ฉันจะเอาอย่างนี้ ฉันจะได้อย่างนั้น ฉันจะเสียอย่างนี้ อย่ามีเป็นอันขาด นั้นแหละเรียกว่าเรียนด้วยจิตที่ว่างจากตัวฉัน หรือของฉัน ทีนี้เมื่อจิตมันว่างจากตัวฉันของฉันมันก็เป็นจิตที่ไม่หนัก ไม่อุ้ยอ้าย ไม่ๆ หนัก มันเป็นจิตที่เบาที่โปร่งที่มีสมาธิ มีปัญญา มันคิดอะไรได้คล่องแคล่วว่องไวจนว่ามันจำเก่ง สิ่งที่เรียนไปแล้วมันก็นึกได้ไว นี่เรียกว่าเรียนด้วยจิดที่ว่าง คือจิตที่ไม่หกล้ม เมื่อสอบไล่แล้วยิ่งจำเป็นมาก ที่ต้องสอบไล่ด้วยจิตที่ว่าง คือไม่หกล้ม เพราะไปยึดถืออะไรฝ่ายเข้าใดฝ่ายหนึ่ง สมมุติว่าฝ่ายซ้ายคือความรัก ฝ่ายขวาคือความเกลียดอย่างนี้ ถ้ามันเอียงซ้ายหรือเอียงขวา มันก็คือหกล้ม ถ้ามันทรงสภาพอยู่ตามปกติ มันก็คือไม่หกล้ม มันปกติมันว่าง เต็มไปด้วยปัญญาและสมถะธาตุ ถ้ามันหกล้ม มันไม่ว่าง คือมันวุ่น มันสูญเสียสมถะธาตุ สูญเสียปัญญา มันมุ่งหมกมุ่นวุ่นวายอยู่ด้วยความมืดมัวสกปรกเร่าร้อน ฉะนั้นเราจึงเห็นประโยชน์จากคำศัพท์ของพระพุทธเจ้าที่ว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงอันใครๆ ไม่ควรเข้าไปสำคัญมั่นหมายว่าของเรา แม้การเรียนนี้ก็เรียนไปได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องสำคัญมั่นหมายว่า เราเรียนเพื่อจะเอาอย่างนั้นอย่างนี้ ถึงแม้ประสบความสำเร็จในการเรียน ไปทำการงานก็ตาม ก็ไม่ต้องยึดมั่นการงานนั้นจนจิตใจปั่นป่วนหกล้ม หรือได้เงิน ได้ทอง ได้ผล ได้เกียรติ ได้อะไรมา ก็ไม่ต้องยึดมั่นในเงิน ในเกียรติเหล่านั้น จนจิตใจปั่นป่วน คือหกล้ม เป็นจิตใจที่ทรงตัวอยู่ได้ ปกติอยู่ได้ ที่เรียกว่า Equilibrium มันๆ ปกติอยู่ได้ มีสมดุลอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้นจึงรักษาคุณสมบัติต่างๆ ของมันไว้ได้ เช่นสติปัญญา ความสดชื่น ความแจ่มใส ความว่องไว Activeness มันได้หมด ฉะนั้นเราจึงได้รับสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับอยู่ในสิ่งนั้น คือ มีความสุข หรือ Happiness อยู่ในสิ่งนั้น มีความเต็ม หรือ Perfection อยู่ในสภาพอย่างนั้น และนั่นแหละคือทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ หน้าที่เพื่อหน้าที่ และนั่นแหละเราเป็นคนที่ไม่เห็นแก่ตัว จึงเรียกว่ามีความรักสากลอันแท้จริงได้ เพราะเราไม่เห็นแก่ตัว ความไม่เห็นแก่ตัวซึ่งเป็นหัวใจของศาสนาทุกศาสนาเป็นอย่างนี้ เพราะเราไม่ไปยึดมั่นอะไรเข้า เราจึงไม่มีการหกล้ม ในทางจิตทางวิญญาณ มีเท่านี้เอง คำสั่งสอนทั้งหมดในพระไตรปิฎกก็มีเท่านี้เอง อย่าไปยึดมั่นถือมั่น คือไปโง่เข้าว่า อะไรเป็นของเราหรือเป็นตัวเรา ให้เป็นของธรรมชาติไปหมด เป็นของธรรมะไปหมด เป็นของพระเจ้าเลยก็ได้ อย่าเป็นของเรา จิตใจของเราก็จะปกติอยู่ในสภาพที่เรียกว่า ไม่หกล้ม แล้วมีการได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ อยู่ในตัวมันเอง นี่เวลามันน้อยมันก็พูดได้แต่ใจความสั้นๆ นี้ที่จะพูดอยู่ในเวลาที่เหลือนี้ก็คือว่า
ทำอย่างไรที่เป็นหลักการปฏิบัติ โดยสรุปสั้นๆ ก็จะต้องแบ่งเป็นว่า ก่อนเกิดเรื่อง กำลังเกิดเรื่อง และเกิดเรื่องแล้ว เรื่องนี้หมายความว่าที่จะหกล้มนั่นแหละ เรื่องคือการหกล้ม ก่อนการหกล้ม ก่อนที่จะเกิดเรื่องหกล้ม คือว่าก่อนที่อารมณ์จะมากระทบทางตา ทางหู ทางจมูก ทางอะไรจนเกิดเรื่องหกล้มนี้ เราจะต้องมีปัญญาพิจารณาเห็นโทษของการหกล้มและเห็นคุณของการไม่หกล้มนี้อยู่เป็นประจำ เรียกว่าทำกรรมฐาน ทำวิปัสสนาก็คือทำสิ่งนี้ ดูโทษของการหกล้ม ดูความ อานิสงส์การไม่หกล้ม คือดูโทษที่น่าเกลียดของกิเลส ทั้งความทุกข์ และก็ดูอานิสงส์ คือไม่มีกิเลส ไม่มีทุกข์ แล้วมันสะอาด สว่าง สงบ อย่างไร ดูอยู่เป็นประจำ แล้วก็มีสติสัมปชัญญะ คือความรู้สึกที่ไวต่อความถูกต้องอย่างไวอยู่เสมอ ในการที่มีอะไรมากระทบตา กระทบหูนี้ อย่าให้ความคิดมันเป็นไปในทางหกล้ม นี่เรียกว่ามีปัญญา มีสติสัมปชัญญะอยู่ก่อนเกิดเรื่อง ทีนี้พอเกิดเรื่องหกล้มก็ต้องมีสติ มีขันติ มีสติลุกขึ้นทันทีอย่าให้หกล้มนาน หรือเพียงแต่เซ ก็ให้มันทรงตัวเสียให้ได้อย่าให้ถึงกับหกล้ม แต่ว่าในขณะนั้นต้องมีความอดทน ถ้าไม่อดทนมันก็คิดเตลิดเปิดเปิงไปอย่างผิดๆ จนกลายเป็นหกล้มมาก หกล้มใหญ่ หกล้มไม่ลุกไปเลย ถ้ามีความอดกลั้นอดทน สำรวมสติสัมปชัญญะได้ เราก็ตั้งตัวขึ้นมาได้ทันที นี้เรียกว่าเมื่อหกล้ม ทีนี้หลังจากหกล้มแล้ว ระยะที่สามนี้ เราต้องมี หิริ คือความละอาย มี โอตัปปะ คือความกลัว แล้วก็มี นิพพิทา อย่างสามัญธรรมดา คือรู้จักเข็ดจักหลาบเสียบ้าง เดี๋ยวนี้เราไม่ๆ ละอาย ความคิดที่ชั่วร้ายเกิดขึ้นในใจ เราหกล้ม เราถือเสียว่าไม่มีใครรู้เราก็ไม่ละอาย แล้วสิ่งนี้มันก็ลึกซึ้งเกินกว่าที่เราจะกลัว เราก็เลยไม่กลัว แล้วเราก็ไม่เบื่อไม่เข็ดหลาบ เพราะไม่ละอายและไม่กลัว มันจึงหกล้มกันเรื่อย ในทางจิตทางวิญญาณ จึงมีการหกล้มกันเรื่อย เพราะมันมีทางออกอยู่อย่างหนึ่งคือ ไม่มีใครรู้และก็ไม่ละอาย นี่ถ้าทางฝ่ายวัตถุ เราไปทำผ้านุ่งหลุดกลางถนน ก็ไม่รู้จะเอาหน้าไว้ไหนละอาย มันก็เลยไม่ๆ เผลอ ไม่เผลอได้ เพราะมันมีละอายมาก แต่ทางฝ่ายวิญญาณ ไม่มีใครเห็นของเรา เราก็ไม่ละอาย ฉะนั้นมันจึงกลายเป็นเรื่องที่ทำยากไปโดยๆ ที่ไม่ควรจะเป็น ที่จริงมันไม่ยาก ถ้าเรามีความละอาย ความกลัวมากเหมือนเรื่องทางวัตถุแล้ว เรื่องทางฝ่ายจิตนี้จะๆ ทำได้ เหมือนกับเรื่องทางฝ่ายวัตถุเหมือนกัน ไอ้เราหกล้มลงที่นี่ เราละอายเพื่อนจะหัวเราะ เราก็เลยไม่หกล้ม แต่หกล้มทางวิญญาณไม่มีใครเห็นของเรา เราเก็บไว้สบายเลย จนเคยชินเป็นนิสัยในการหกล้ม มันจึงยากๆ แก่การที่จะแก้ไข ถ้าเรากลัวละอายมาแต่ทีแรก ระวังมาแต่ทีแรกมันก็ไม่มีการหกล้มเป็นนิสัยได้เหมือนกัน ฉะนั้นต้องให้ความยุติธรรมแก่ พระพุทธเจ้า แก่ธรรมะหรือแก่อะไรอย่างนี้ ว่าที่แท้มันเป็นเรื่องง่ายเท่ากัน แต่ถ้าเราไม่สนใจ ถ้าเราไม่ละอาย ถ้าเราไม่กลัว มันเกิดความเคยชินเป็นนิสัย จนกลายเป็นเรื่องยาก ฉะนั้นขออย่าได้เข้าใจว่า ไอ้เทคนิคทางธรรมะ ทางวิญญาณนี้มันยากเกินไป หรือว่ายากเกินนิสัยของมนุษย์ ที่แท้ไม่ยากเกินไป ไม่เกินวิสัย อยู่ในวิสัยเช่นเดียวกับเรื่องทางฝ่ายวัตถุ แต่ว่าแล้วเราก็สนใจกันแต่เรื่องทางฝ่ายวัตถุหมดทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์แห่งเวลาความคิดนึก รู้สึกของเรา ไปสนใจแต่เรื่องทางฝ่ายวัตถุหมดทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ จะเจียดให้เรื่องทางฝ่ายวิญญาณสักหนึ่งเปอร์เซ็นต์ ทั้งยากในปีหนึ่ง เดือนหนึ่ง และถ้ามีใครมาสนบ้าง ก็มักจะสนใจเพื่อเอาไปประดับเกียรติทางฝ่ายวัตถุ อย่างนี้เป็นการให้ความอยุติธรรมแก่ธรรมะอย่างยิ่ง ที่จะเอาธรรมะไปเป็นเครื่องประดับเกียรติทางฝ่ายวัตถุ มาวัดบ้างก็เพื่อๆ มีโอกาสดีทางสังคม เพื่อหาเงิน หาเกียรติต่อไปอย่างนี้ มันไม่ใช่เรื่องธรรมะ ฉะนั้นไม่ควรจะคิดว่า จะศึกษาธรรมะเพื่อเป็นเครื่องประดับเกียรติทางฝ่ายวัตถุ ต้องถือว่าเป็นของที่คู่กัน คือจำเป็นอย่างที่มนุษย์เราจะมีความเป็นมนุษย์ที่ถูกต้องได้ ก็เพราะความสมบูรณ์ทั้งทางฝ่ายร่างกาย ทั้งทางฝ่ายจิต นี่จึงต้องมีการบรรยายอย่างนี้กันบ้างในสถานที่นี้ ซึ่งเป็นสถานที่สำหรับศึกษาเทคนิคทางฝ่ายวัตถุโดยตรง แต่เมื่อทางฝ่ายจิตมันจำเป็นเท่ากันคู่กัน มันก็ต้องเอามาพูดกันบ้าง แต่มันจะโชคดีอย่างยิ่งที่ว่าเรื่องทางฝ่ายจิตทางฝ่ายวิญญาณนี้มันไม่ต้องสอนมากพูดมากทั้งเดือนทั้งปีเหมือนทางฝ่ายวัตถุเพราะว่า ถ้าพูดแล้วเข้าใจแล้ว พูดเพียงชั่วโมงเดียว ปฏิบัติจนตายก็ไม่หมด เพราะฉะนั้นขอให้เข้าใจให้ถูกต้องให้สมบูรณ์ เท่าที่พูดเพียงชั่วโมงเดียวนี้ ก็สามารถจะปฏิบัติได้จนตายก็ไม่หมด ฉะนั้นเราจึงไม่ๆ ต้องเสียเวลามากเหมือนกับศึกษาทางฝ่ายวัตถุ เป็นต้องเรียน ๕ ปีบ้าง ๘ ปีบ้าง ๑๐ ปีบ้าง แล้วก็ยังจะต้องไปฝึกหาความชำนาญอยู่อีกตั้งนานอย่างนี้ พูดชั่วโมงเดียว ครึ่งชั่วโมงก็ได้ ปฏิบัติจนตายก็ไม่หมด ฉะนั้นขอให้จำไว้ให้ดี ทำความเข้าใจไว้ให้ดี ให้เป็นหลักที่มันจะออกมาทันท่วงที นี่เรียกว่าเทคนิคของความเป็นมนุษย์ โดยใจความสำคัญที่สุดของพระพุทธศาสนา ฉะนั้นเราจะต้องสนใจในเทคนิคนี้ เพื่อความเป็นคน ความเป็นมนุษย์ของเรา เรียกว่าเทคนิคแห่งความเป็นมนุษย์ เราต้องเป็นบุตรที่ดีของบิดามารดา ให้บิดามารดาได้รับความชื่นอกชื่นใจจากเรา ไม่จับบิดามารดาใส่ลงไปในนรก ด้วยการทำบิดามารดาให้ร้อนใจอย่างใดอย่างหนึ่ง นี้เรียกว่าอาศัยเทคนิคเพื่อความเป็นบุตรที่ดีของบิดามารดา เพราะธรรมะช่วย เราจะต้องเป็นศิษย์ที่ดีของครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ไม่ใช่ลูกจ้างเหมือนที่นักเรียนบางคนเข้าใจ ครูบาอาจารย์เป็นปูชนียบุคคล ที่ช่วยเหลือเราเพื่อให้เอาชนะปัญหาของชีวิตเพื่อความเป็นมนุษย์ของเรา จะได้เป็นมนุษย์ที่ได้รับสิ่งที่ดีที่สุด ฉะนั้นจะต้องตั้งอยู่ในฐานะเป็นปูชนียบุคคลเสมอ ฉะนั้นเราต้องเป็นศิษย์ที่ดีของครูบาอาจารย์ของเรา แล้วเราจะต้องเป็นประชาชนที่ดีของประเทศชาติ ข้อนี้ไม่อยากอธิบายเพราะว่ารู้กันอยู่เป็นทั่วๆ ไปแล้ว แต่จะต้องบอกกันอีกว่า ตรงที่เราต้องมีเทคนิคที่ถูกต้องในการเป็นประชาชนที่ดีคือ มีธรรมะ จึงจะเป็นประชาชนที่ดีของประเทศชาติได้ และเราจะต้องเป็นพลเมืองที่ดีของโลกทั้งหมดโดยส่วนรวม เป็นพลโลกที่ดีของโลก แล้วในที่สุดเราก็จะเป็นสาวกที่ดีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่ผลของเทคนิคแห่งความเป็นมนุษย์ จะทำให้เกิดสิ่งที่น่าชื่นอกชื่นใจอย่างนี้ ฉะนั้นจึงหวังว่านักศึกษาทุกคน จะได้เป็นบุตรที่ดีของบิดามารดา เป็นศิษย์ที่ดีของครูบาอาจารย์ เป็นประชาชนที่ดีของประเทศชาติ แล้วก็เป็นพลเมืองที่ดีของโลก และในที่สุดเป็นสาวกที่ดีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วปัญหาก็สิ้นสุดลง แล้วเรื่องของเราก็จบกัน นี่ขอกล่าวคำสวัสดี เพราะเวลาอำนวยให้เพียงเท่านี้