แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านสาธุชนและครูบาอาจารย์ ผู้สนใจในธรรมทั้งหลาย อาตมาขอแสดงความยินดีอนุโมทนาในการมาของท่านทั้งหลายถึงที่นี่ในลักษณะอย่างนี้ คือเพื่อแสวงหาความรู้ทางธรรมะ ก็จะถือโอกาสพูดถึงสิ่งที่เรียกว่า ธรรมะ ในแง่ที่เห็นว่าควรจะพูด เรื่องเกี่ยวกับธรรมะนั้นจะพูดในกี่แง่กี่มุมก็ได้ แต่ถ้าที่มันเป็นส่วนสำคัญแล้วก็ ก็มีอยู่บางแง่บางมุม โดยเฉพาะสำหรับท่านครูบาอาจารย์ อาตมาจะกล่าวโดยหัวข้อสำหรับบรรยายว่า ชีวิตเป็นสิ่งที่พัฒนาได้ ขอให้สนใจฟังในฐานะมันเป็นเรื่องที่จำเป็นที่สุดสำหรับเรา และกำลังเป็นปัญหาอย่างยิ่งสำหรับเรา สังเกตดูแล้วเห็นว่าท่านทั้งหลายสนใจธรรมะในลักษณะที่ผิวเผินมาก ไม่สนใจในฐานะเป็นสิ่งที่จำเป็นหรือสำคัญอย่างยิ่ง ดังนั้น จึงยังไม่ได้รับประโยชน์จากธรรมะนั้น เรียนในโรงเรียนก็เรียนเป็นพิธีมากกว่า หรือแม้จะขวนขวายศึกษาพิเศษ ก็ดูจะเป็นเรื่องที่ยังไม่รู้ว่าจะทำไปทำไม นอกจากจะเหมา ๆ เอาว่าดีและมีประโยชน์ อาตมาพิจารณาเห็นข้อนี้จึงรู้สึกว่าเราควรจะพูดกันถึงเรื่องนี้ที่ว่า ในชีวิตนี่เกี่ยวข้องกับธรรมะในฐานะเป็นสิ่งที่พัฒนาได้ และสิ่งที่จะพัฒนาก็คือธรรมะนั่นเอง ธรรมะเป็นเครื่องพัฒนาชีวิตโดยแท้จริงและอย่างเดียวเท่านั้น ดังนั้น เราต้องรู้จักให้เพียงพอจนถึงกับสำเร็จประโยชน์ เดี๋ยวนี้ท่านยังไม่เข้าใจอย่างแจ่มแจ้งว่า ทำไมจะต้องมีธรรมะ หรือเพื่อประโยชน์อะไร และว่าทำกันอย่างไร ประพฤติกันอย่างไรจึงจะได้รับประโยชน์อันนั้น เพราะว่าการศึกษาธรรมะไม่พอ หรือเพราะว่าไม่ได้ตั้งอกตั้งใจที่จะศึกษาให้ตรงจุดหมายของการมีธรรมะ พุทธบริษัทยังได้รับประโยชน์จากพระพุทธศาสนาน้อยไปไม่สมกัน ขอให้หมายความว่าอาตมาเพ่งเล็งถึงท่านทั้งหลายทุกคนที่นั่งอยู่ในที่นี่ ท่านยังได้รับประโยชน์จากพระพุทธศาสนาน้อยไปไม่สมกัน ถ้าพูดให้จริงยิ่งกว่านั้นก็จะพูดว่า พุทธบริษัทยังไม่เป็นพุทธบริษัท ผู้ที่เรียกตัวเองว่าพุทธบริษัทยังไม่เป็นพุทธบริษัท นี่ความหมายมันถึงขนาดที่เรียกว่าด่ากันแล้วก็ได้ แล้วก็คงจะได้แต่ท่านทั้งหลายที่เรียกตัวเองว่าเป็นพุทธบริษัท อาตมาก็รู้สึกว่าความยากลำบากนี่มันอยู่ตรงนี้ อยู่ตรงที่ทำพุทธบริษัทให้เป็นพุทธบริษัท ฟังแล้วมันก็น่าจะหัว หรือจะเรียกว่าไม่น่าเชื่อก็ได้ อาตมากำลังประสบความยากความลำบากจะเรียกว่าแสนสาหัสก็ได้ ในการที่ทำให้พุทธบริษัทเป็นพุทธบริษัทไม่ได้ คือไม่ได้ตามที่ควรจะเป็น คือเป็นพุทธบริษัทที่แท้จริง หรือว่าไม่อาจจะดับทุกข์ได้ตามที่หวังไว้ ถ้าเราทำไม่สำเร็จในข้อนี้ ไอ้การกระทำนี้ก็ไม่มีประโยชน์อะไร สวนโมกข์ก็ไม่มีประโยชน์อะไร เห่อกันมาให้เสียเวลาเปล่า ๆ ถ้าจะทำให้พุทธบริษัทเป็นพุทธบริษัทโดยแท้จริงไม่ได้ นี่ขอให้รับทราบด้วยความเห็นอกเห็นใจ เรากำลังมีปัญหามีความทุกข์มาก ทั้งที่เป็นพุทธบริษัท ทั้งที่มีพระพุทธศาสนา นี่ลองคิดดูให้ดีว่า ปัญหานี้มันเล็กหรือใหญ่อย่างไร พูดอย่างกำปั้นทุบดินก็ต้องพูดว่า ท่านยังมีความทุกข์ จึงมาแสวงหาธรรมะเป็นเครื่องดับทุกข์ ไอ้ที่ยังมีความทุกข์มันย่อมบอกอยู่ในตัวแล้วว่า เรายังไม่ได้รับประโยชน์จากพระพุทธศาสนา ยังจะต้องแสวงหากันต่อไป นี่ขอให้ดูให้ดี ๆ ให้เข้าถึงข้อเท็จจริงอันนี้กันจริง ๆ อย่าให้เป็นเพียงพิธีรีตองว่าท่านต้องการจะมีธรรมะเพื่อปฏิบัติ ซึ่งเป็นการพัฒนาชีวิต ให้เป็นชีวิตที่ประเสริฐของพุทธบริษัท คือมีความทุกข์น้อยหรือไม่มีเลย ทีนี้เราก็จะได้พิจารณาดูกันเป็นข้อ ๆ ไป หรือเป็นลำดับ ๆ ไป
ข้อแรกก็อยากจะพูดว่า เราไม่มีความรู้มาแต่ในท้อง ไม่มีความรู้มาแต่ในท้อง ไม่มีความรู้ธรรมะนั่นเอง พอคลอดออกมาจากท้องมารดาก็มีแต่การพอกพูนอวิชชา ความรู้ไม่ได้ติดมาแต่ในท้อง ข้อนี้พระพุทธเจ้าท่านก็ตรัส มีพระบาลีว่า ทารกนั้นไม่มีความรู้เรื่อง เจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ นั้นเขาจึงปล่อยไปตามสิ่งแวดล้อมคือกิเลส นี่จะต้องยืนยันกันเสียให้เห็นชัดสักทีหนึ่งก่อนว่า เราไม่มีความรู้ธรรมะมาแต่ในท้อง พอเราคลอดออกมาจากท้องมารดา ก็ได้รับการแวดล้อมที่เป็นการพอกพูนอวิชชา ความไม่รู้ ความโง่ มากขึ้น ๆ บางคนอาจจะไม่เห็นด้วย รู้สึกขัดแย้ง ว่าพอคลอดออกมาจากท้องแม่แล้วมีแต่การพอกพูนด้วยอวิชชาอย่างไร ข้อนี้ไม่ยาก ไม่ยากที่จะมองเห็น คือทารกคลอดออกมาจากท้องแม่แล้วก็ได้รับการประคบประหงมแต่ในทางที่จะให้เป็นสุข สนุกสนาน สะดวกสบาย มีการพะเน้าพะนอเอาอกเอาใจอย่างยิ่ง สุดที่บิดามารดาหรือคนเลี้ยงเขาจะทำได้ มันก็สร้างนิสัยใหม่ให้ทารกว่า เขาได้อย่างนั้น เขาต้องได้อย่างนั้น กระทั่งบิดามารดามีหน้าที่ที่จะต้องทำอย่างนั้น คือให้เขาได้รับความสุขสบายทุกอย่างทุกประการ เรายังเห็นว่าเขาบำรุงบำเรอทารกทั้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เอาอะไรสวย ๆ มาแขวนให้ดู เอาของไพเราะ บทเพลงอะไรก็ตามมาขับกล่อม ให้ได้ดม ได้ดมกลิ่นที่เป็นที่น่าพอใจ ให้ได้กินอาหารที่มีรสอร่อย เท่าที่จะสรรกันมาได้ ให้แวดล้อมด้วยสัมผัสทางผิวหนังที่อบอุ่นละมุนละไมเท่าที่จะทำได้ แล้วก็ให้แวดล้อมด้วยอารมณ์ต่าง ๆ หยอกเย้าเล่นหัวอะไรก็ตามที่จะทำให้ทารกนั้นได้รับความพอใจ จนเขามีความคิดแบบอวิชชาว่า นี่คือธรรมดา หรือว่าเขาต้องได้อย่างนี้ พอไม่ได้อย่างนี้ เขาก็โกรธ เขาก็ร้องไห้ ดิ้นรนต่อสู้ที่จะได้ โดยที่ไม่ทราบว่า ที่แท้นั้นมันไม่จำเป็นจะต้องได้เสมอไป นี่เรียกว่ามันพอกพูนนิสัยเห็นแก่ตัว ทารกจะต้องค่อย ๆ เกิดนิสัยเห็นแก่ตัว ต้องได้ตามใจตัว คนอื่นต้องเอาอกเอาใจเรา พะเน้าพะนอเรา เราจะเห็นเด็กทารกรู้จักเกี่ยงงอน ให้คนเลี้ยงทำตามที่เขาต้องการอย่างนั้นอย่างนี้อย่างนู้น และก็บังคับเอาด้วยการร้องไห้บ้าง คือบังคับเอาด้วยอาการกระฟัดกระเฟียดอย่างอื่นบ้าง จนเขาต้องทำให้ นี่ก็เพิ่มพูนอวิชชา ทีนี้มันยังมีแขนงอื่นอีกที่เป็นอวิชชา คือเขาไม่อาจจะสอนทารกให้รู้จักผิดชอบชั่วดีถูกต้องได้ตามที่เป็นจริง ก็ต้องสอนไปตามที่ทารกมันจะรู้สึกไปตามที่เขาต้องการ จึงสอนให้เกลียด กลัวบางสิ่งบางอย่าง กลัวจิ้งจก กลัวตุ๊กแก กลัวผี กลัวอะไรในที่สุด หรือว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเขาจะต้องกลัว ซึ่งเขาจะต้องไหว้ แม้แต่ไหว้พระเจ้า ไหว้พระสงฆ์นี่ ผู้ใหญ่ก็สอนให้เด็กไหว้เท่านั้น ไม่ได้รู้ว่าทำไมจึงต้องไหว้ มันก็เป็นการงมงาย สอนแต่เพียงว่าไหว้สิจะได้ดี จะได้บุญ จะได้อะไรต่าง ๆ ที่ซึ่งล้วนแต่ว่าเด็กเขาไม่รู้หรอกว่าอะไร บุญเบิญนั้นก็ไม่รู้หรอกว่าอะไร เพียงแต่ว่าให้ดี คำว่า ดี ก็คือ จะได้กิน ได้เล่น ได้หัว ได้ตามที่เขาชอบ เด็กก็เติบโตขึ้นมาด้วยความยึดถืออย่างนี้ ไม่รู้จักพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ได้รู้จักสิ่งที่ผู้ใหญ่เขาสอนให้ไหว้ ให้เคารพ แล้วว่าก็จะได้ผลเป็นบุญเป็นกุศลที่จะให้ได้สิ่งที่เขาต้องการ นี่เด็กทารกก็ถูกจ้างให้ทำให้คิด ให้ไปในทางที่จะเห็นแก่ตัว ๆ ขอให้ช่วยจำคำนี้ไว้เป็นพิเศษว่าเห็นแก่ตัว ๆ เห็นแก่ตัวนี่แหละคือต้นตอแห่งปัญหาทั้งหมด พูดกันเท่าไร ๆ ก็ไม่พ้นไปจากความเห็นแก่ตัวที่มันเป็นปัญหาของมนุษย์เรา นี่ก็นึกดูถึงตัวเอง เราก็เคยเป็นเด็ก เราได้เคยรับคำสั่งสอนเมื่อไร เมื่ออายุเท่าไร ที่ให้รู้จักพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์โดยแท้จริง อยากจะพูดว่าแม้กระทั่งวันนี้เราก็ยังไม่รู้ว่าพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ที่แท้จริงคืออะไร นอกจากว่า ว่าตาม ๆ กันไป หรือจดไว้ในกระดาษ ไม่รู้ความจริงของธรรมะ ซึ่งเป็นเรื่องของเหตุและผลปรุงแต่งกันตามธรรมชาติที่เรียกว่า อิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปบาท อย่างนี้เป็นต้น แม้เดี๋ยวนี้ก็ไม่รู้ โตเท่านี้ก็ไม่รู้ เป็นหนุ่มเป็นสาวแล้วก็ไม่รู้ แถมจะรู้ไปในทางตรงกันข้ามว่า ไปเอาพระเครื่องมาแขวนไว้ที่คอ ก็จะได้อย่างนั้น ก็จะได้อย่างนู้น หรือเป็นเรื่องแขนงอื่น ๆ ในทางเมตตามหานิยม ในทางอะไรต่าง ๆ นี่ก็เข้าไปในดงของอวิชชามากขึ้นทุกที จนกระทั่งเป็นหนุ่มเป็นสาว มีเหย้ามีเรือน บางคนก็กระทั่งตายไปเลย จมลึกลงไปในห้วงของอวิชชา
นี่คำพูดประโยคเดียวว่า เราไม่ได้มีความรู้มาแต่ในท้อง พอออกมาจากท้องมันก็พอกพูนด้วยอวิชชา ไม่มีพ่อแม่คนไหนที่สอนเด็กให้รู้เรื่องธรรมะ อย่างน้อยก็อย่าไปหลงไอ้ของที่เอามาให้กินให้เล่น อาตมาพูดโดยเครื่องวัดว่ามีพ่อแม่คนไหนบ้าง ที่บอกให้ลูกรู้ว่าที่อร่อย ๆ นี้ระวังให้ดี มันจะทำอันตรายเรา ที่สวยงาม หอมหวน นิ่มนวลอะไรก็ตาม ระวังให้ดี มันจะทำอันตรายเรา หรือว่าพ่อแม่คนไหนบ้างที่พาลูกไปที่ร้านขายของเล่นสำหรับเด็ก แล้วบอกเด็กว่า ไอ้ทั้งหมดนี้เขามีไว้สำหรับให้เราโง่ เขามีไว้สำหรับให้เราโง่ ให้แม่โง่ ให้ลูกโง่ ซื้อหากันไป ไม่มีพ่อแม่คนไหนทำอย่างนี้ มันมีแต่พ่อแม่ที่ถามว่าลูกชอบอันไหน ถ้าลูกชอบอันไหนแม่จะซื้อให้ จะแพงเท่าไรก็จะซื้อให้ จนบ้านเรือนบางแห่งรกไปด้วยของเด็กเล่น แม่เขาอยากจะตามใจลูกด้วยการทำให้ลูกโง่ ให้หลงใหลในของเล่น บางทีก็จะพาไปดูนั่นดูนี่ ดูหนัง ดูละคร ดูอะไรเสียเอง ให้มันจมลึกเข้าไปในเรื่องของอวิชชา นี่เรียกว่าตั้งแต่เราเกิดมาเราก็ถูกจับตัว ฝังลงไปในอวิชชา แล้วทำยังไงละปัญหา เดี๋ยวนี้เราก็ไม่รู้ว่าเกิดมาทำไม ๆ มีแต่ความรู้สึกเห็นแก่ตัวว่า เราเกิดมานี้เพื่อที่จะได้ตามที่เราต้องการ อะไร ๆ ต้องได้ตามที่เราต้องการ นี่มันก็เกิดเป็นปัญหาขึ้นมาอย่างนี้ เราจึงเห็นเด็กดื้อ เด็กเกินดื้อ เด็กทิ้งพ่อแม่ ถึงได้ยินข่าวทางวิทยุเรียกหาบ่อย ๆ ว่าเด็กหญิงนั้น รูปร่างอย่างนั้น ชื่อนั้น กลับบ้านเถิด แม่พ่อเขาให้อภัยหมดแล้ว เด็กหญิงที่เลวทรามตีตัวไปจากบ้าน เพราะไม่ได้ตามกิเลสของตัวนั่น ยังถูกงอนง้อทางวิทยุว่าให้กลับบ้านเถอะ พ่อและแม่หรือใครก็ตามเขาให้อภัยหมดแล้ว อย่างนี้มันจะรู้สึกผิดชอบชั่วดีได้อย่างไร และเดี๋ยวนี้ความโง่ของคนส่วนมาก โดยเฉพาะที่กรุงเทพ ชอบใช้คำว่า อบอุ่น กันนัก เพราะไม่ได้ความอบอุ่นจากพ่อแม่ เด็กจึงเป็นอย่างนั้น จึงเป็นอย่างนี้ ไอ้ความอบอุ่นนั่นทำให้เด็กโง่จนเป็นอย่างนั้น ไม้เรียวดีกว่า ที่ทำให้เด็กไม่ต้องเป็นอย่างนั้น ถ้าประคบประหงมกันด้วยความอบอุ่นแล้วก็ เด็ก ๆ ของเราก็จะต้องเป็นอย่างนั้น คือจะเกี่ยงงอน จะเรียกร้องจะอะไรหลาย ๆ อย่างซึ่งบิดามารดายอมไม่ได้ แล้วตัวเขาเองก็จะต้องหนีไปจากบ้าน แล้วนักจิตวิทยาทั้งหลายก็มาวิพากษ์วิจารณ์กันว่าเพราะเด็กเขาไม่ได้รับความอบอุ่น แต่อาตมาเห็นว่านั่นคือความบ้าบอที่สุด หลักเกณฑ์อย่างนั้นคือหลักเกณฑ์ที่บ้าบอที่สุด ที่จะแก้ไม่ตกเรื่อยไป เพราะความอบอุ่นชนิดนั้นมันเรียกร้องกันได้ไม่มีที่สิ้นสุดหรอก มันต้องพอดีสิ ต้องถูกต้อง ต้องพอดี เด็กของเราเกิดมาแล้วโตขึ้นมา ก็จะต้องได้รับการอบรมสั่งสอนให้รู้ว่าพอดี ถูกต้อง นั้นเป็นอย่างไร อย่าเรียกร้องเอาแต่ตามใจของเขาเองว่าความอบอุ่น นี่เพราะว่าทำกันอย่างนี้เรื่อย ๆ มา มันก็มีแต่คนเห็นแก่ตัว อยากจะได้แต่สิ่งที่ตัวต้องการ ไม่ได้รู้สึกคิดนึกถึงหัวอกพ่อแม่ หรือสิ่งแวดล้อมทั้งหลาย ว่ามันเป็นไปไม่ได้ เมื่อมันเป็นไปไม่ได้มันก็ต้องดื้อดึง มันจะต้องเอาด้วยกลโกงต่าง ๆ นานา เอาให้ได้ ไม่มีการบังคับตัวเองว่าสิ่งชนิดนั้นไม่ควรจะเอา ไม่ควรจะไปหลงใหลในสิ่งที่สนุกสนาน มีเกียรติมีอะไรกันอย่างที่เขาหลงใหลกันนัก แล้วมันก็ช่วยอะไรไม่ได้ นอกจากทำให้คน ๆ นั้นมันเป็นคนที่เห็นแก่ตัวมากขึ้น ตามใจตัวมากขึ้น แล้วเขาก็เป็นอย่างไร ก็ลองคิดดู มันจะอยู่ด้วยความผิดหวังตลอดเวลา มีความทุกข์ทรมานขยายตัวออกไปเป็นการเลวร้ายหลายอย่าง หลายชนิด กระทั่งเป็นการเบียดเบียน กระทั่งเป็นการอบายมุข เสพติดอะไรต่าง ๆ จนเป็นปัญหาเต็มไปทั้งบ้านทั้งเมือง ดูให้ดีสิว่าปัญหาชนิดนี้กำลังเต็มไปทั้งบ้านทั้งเมือง นี่เขาเป็นมาอย่างนี้เพราะเหตุอะไร จะเรียกว่าชีวิตของเขาเป็นชีวิตชนิดไหน เราไม่ได้สั่งสอนเด็กให้รู้ว่า เขาจะต้องมีชีวิตอย่างไร แต่ปล่อยไปตามเขาชอบตามเขาเลือก มีความสุขสนุกสนาน เอร็ดอร่อยทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เรื่อยไปก็แล้วกัน พรุ่งนี้วันเด็ก ก็ได้ฟังข่าวนานาสารพัดว่า จะสนับสนุนส่งเสริมให้เด็กสนุกสนานกันเป็นการใหญ่เลย พรุ่งนี้วันเด็ก ไม่มีเรื่องที่จะสอนให้เด็กรู้บุญคุณของพ่อแม่ หรือสอนให้เด็กรู้จักบังคับตัวเอง อย่างนี้ไม่มี มีแต่จะให้ร้องเพลง ให้ชิงรางวัลอย่างสนุกสนาน อย่างนี้ทุก ๆ ปี มันไม่พอดีชดเชยกันกับการที่ว่าเขาไม่รู้ว่าเกิดมาทำไม
เรื่องคนเราเกิดมาทำไม นี่ก็เป็นคำสำคัญคำหนึ่ง ท่านทั้งหลายช่วยกันจำไว้ให้แม่นยำเพื่อประโยชน์แก่ตัวท่านเอง และเพื่อคนอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย คำว่าเกิดมาทำไมนั่นแหละ ถ้าว่ารู้จริง รู้ประจักษ์ รู้ถูกต้องแล้วจะมีประโยชน์มาก เดี๋ยวนี้ที่กำลังเป็นอยู่นี่ มันไม่รู้ว่าเกิดมาทำไม มันก็ตามใจกิเลส ว่าเป็นทาสของกิเลส ฟังดูให้ดีว่า มันเป็นทาสของกิเลส ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สุข สนุกสนาน เอร็ดอร่อยทาง อายตนะ จะเอาแต่อย่างนี้ทั้งนั้นแหละ ตลอดเวลามุ่งหมายกันอย่างนี้ เรียนก็เพื่ออันนี้ เอาเงินที่เขา ที่พ่อแม่ให้มาสำหรับเรียน ไปบำรุงบำเรอตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทางนี้กันหมด นี่มันเป็นเรื่องที่ไม่รู้ว่า เกิดมาทำไม เด็ก ๆ ไม่รู้ก็พอทำเนา แต่ว่าโตก็แล้วยังไม่รู้ เป็นหนุ่มเป็นสาวแล้วก็ยังไม่รู้ บางทีก็เป็นพ่อบ้านแม่เรือนแล้วก็ยังไม่รู้ว่าเกิดมาทำไม ก็มีถึงที่สุดว่าจะเข้าโลงอยู่วันนี้แล้วก็ไม่รู้ว่าเกิดมาทำไม เพราะไม่เคยวินิจฉัยศึกษาให้รู้ว่าเกิดมาทำไม ถ้าจะพูดถึงเรื่องนี้ มันก็หลีกไม่พ้นที่จะพูดไปตามแบบวัฒนธรรมอินเดีย เพราะว่าคนไทยเรานี้รับวัฒนธรรมอินเดียมาเต็มที่เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพุทธศาสนา หรือแม้แต่ขนบธรรมเนียมประเพณีในบ้านในเรือน วัฒนธรรมประจำบ้านเรือนก็เป็นแบบอินเดีย ไปดูเถอะ ไปศึกษาดูเถอะ วัฒนธรรมไทยนี่มันมีรากฐานอยู่บนวัฒนธรรมอินเดีย ดังนั้นเราก็ควรจะพิจารณาถึงวัฒนธรรมอินเดีย เอามาใช้เป็นหลักสำหรับศึกษาดู
ที่ได้ยินอยู่ทั่ว ๆ ไป ในอินเดียเขาจัดระบบชีวิตเป็น ๔ ขั้นตอน ว่าเป็น พรหมจารี ในขั้นแรก คือเรียนหนังสือ และอบรมมรรยาท แล้วก็อย่างหลับหูหลับตาเลย เด็ก ๆ หรือคนวัยรุ่นนี่ หรือคนหนุ่มสาวก็ตาม เมื่อยังดำรงตัวเป็นพรหมจารีแล้วก็เรียนหนังสืออย่างเดียว เรียนศึกษาทางมรรยาท ทางศีลธรรมอย่างเต็มที่ ไม่มีชิงสุกก่อนห่ามเหมือนคนหนุ่มสาวสมัยนี้ นี่เรียกว่าขั้นหนึ่งคือเป็น พรหมจารี
ทีนี้ในขั้นที่สองก็เป็น คฤหัสถ์ คือว่ามีครอบครัวมีเหย้าเรือน ไปบำเพ็ญหน้าที่ของพ่อบ้านแม่เรือนอย่างเต็มที่ จนอายุมากนะ (นาทีที่ 27:40 จนเห็นความเพียรเพียงพอ) เขาเบื่อเรื่องอย่างนี้ หรือว่าทำสำเร็จแล้วในเรื่องอย่างนี้ ก็หลีกออกไปอยู่ป่า หาความสงบ ศึกษาทางด้านจิตใจ หาความสงบ อยู่ในที่สงบสงัด จนรู้เรื่องเกี่ยวกับจิตใจเป็นที่พอใจแล้ว ก็เลื่อนขึ้นไปเป็นผู้สั่งสอน ที่เรียกว่าผู้ท่องเที่ยว สันยาสี เที่ยวไปตามที่ต่าง ๆ เป็นผู้ไม่มีบ้านเรือน ไปที่ไหนก็เที่ยวสั่งสอนให้แสงสว่างแก่บุคคล ทั้งบ้านทั้งเมืองทั้งโลก นี่มันตอบได้ ถ้าเขาถามว่าเกิดมาทำไม ก็ดูเอาเองสิ เกิดมาเป็น พรหมจารี อยู่ระยะหนึ่ง แล้วเป็น คฤหัสถ์ ระยะหนึ่ง เป็น วานปรัสต์ ระยะหนึ่ง เป็น สันยาสี ระยะหนึ่ง
แต่ทีนี้ยังมีระบบอื่น ชุดอื่น ที่มันน่าฟังกว่านี้ก็คือว่า อันนี้มันระบุคฤหัสถ์จำกัดอยู่ ไอ้ระบบที่กว้างกว่านั้นเขาก็มีว่า ข้อแรกก็ต้อง ศึกษา ใช้คำว่าศึกษานี่ ศึกษาหนังสือ ศึกษาอาชีพ ศึกษาอะไรต่าง ๆ ซึ่งเป็นการศึกษา ตั้งแต่เป็นเด็ก ตั้งแต่เป็นวัยรุ่น หนุ่มสาวก่อนที่จะมีเหย้าเรือน นี่ศึกษากันตะพึด พอศึกษาเพียงพอแก่อัตภาพหรือแก่เหตุผลแวดล้อมแล้วเขาก็เปลี่ยนเป็น ธรรมะ ธรรมะ แปลว่า หน้าที่ ภาษาธรรมดา ๆ อินเดีย ธรรมะ แปลว่า หน้าที่ เสร็จจากการศึกษาแล้วก็ทำหน้าที่ที่เรียนมา ทำอย่างดีที่สุด ทำหน้าที่ จะเป็นชาวนา ชาวสวน จะค้าขาย จะเป็นข้าราชการ เป็นอะไรก็ตาม เขาทำหน้าที่ ตอนนี้เรียกว่า ธรรมะ คือ ประพฤติธรรมะ ทีนี้ได้รับผลของหน้าที่ธรรมะ
มาถึงขั้นที่สามก็เรียกว่า กาม กาม คือ บริโภคกาม คำว่า กาม นี่ไม่ใช่ภาษาหยาบโลนอะไร แปลว่า ตามที่ตนประสงค์ กาม แปลว่า ความใคร่หรือความประสงค์ เมื่อทำหน้าที่ ปฏิบัติหน้าที่เพียงพอ มีทรัพย์สมบัติเพียงพอ มีอะไรเพียงพอแล้ว ก็เป็นผู้บริโภคผลตามความใคร่ของตน ๆ จะในระดับไหนก็ตามใจ จะเป็นชาวบ้าน เป็นเศรษฐี (นาที่ที่ 30.50 เป็นอวดดี) หรือแม้สุดแต่ว่าจะเป็นอยู่อย่างเทวดา ก็ไม่ทำความผิดพลาดชั่วร้ายเสียหายอะไร ตามแต่จะต้องการ ถ้าพูดอย่างโบราณ ๆ หน่อยก็จะได้ไปเกิดในสวรรค์ หรือไปในพรหมโลก แต่เดี๋ยวนี้เราไม่พูดถึง เพราะในโลกนี้จะต้องบริโภคผลของการงาน ของหน้าที่เต็มตามที่ควรจะได้รับ และตามความปรารถนา นี่อันที่สามคือ กาม
นี่อันสุดท้ายอันที่สี่ คือ มุกติ แปลว่า หลุดพ้น การอยู่ในโลก การบริโภคกามนี่เป็นการผูกมัด ทีนี่ก็เลื่อนขึ้นไปสู่ไอ้ความหลุดพ้น เขาใช้คำว่า มุกติ คือ มุตติ หลุดพ้นไปอยู่กับพระเจ้า หรืออยู่กับอะไรก็แล้วแต่เขาจะใช้คำอย่างไร จะแปลว่า ชีวิตนี้ เดี๋ยวนี้หลุดพ้นไปจากเครื่องผูกมัดโดยประการทั้งปวง ไม่ผูกมัดอยู่ในหน้าที่การงาน ไม่ผูกมัดอยู่ด้วยกามคุณ ไม่ผูกมัดอยู่ด้วยเรื่องต่าง ๆ ทุกอย่างในโลกนี้ นี่ก็เป็น มุกติ เขาศึกษาแล้วก็ไปปฏิบัติหน้าที่ แล้วก็บริโภคผลอันเกิดจากหน้าที่ตามความพอใจ และในที่สุดก็เบื่อ ก็มีจิตใจพ้นไปจากสิ่งเหล่านี้ อยู่เหนือสิ่งเหล่านี้ เทียบกันได้กับพระนิพพาน นี่ศึกษาธรรมะ กาม มุกติ มันเป็นหลักเกณฑ์ที่ดี คือเป็นไปตามธรรมชาติ ไม่ต้องมีใครมาควบคุมอะไรนัก มันจะเป็นไปได้ตามธรรมชาติ เราศึกษา เตรียมตัวไว้ให้ดีที่สุด สำหรับจะเป็นพลเมืองที่ดี เป็นมนุษย์ที่ดี และก็ทำงานทำหน้าที่คือประพฤติธรรมะ แล้วก็บริโภคผล กาม ตามความใคร่ ที่ถูกต้อง ถูกต้องตามทางธรรมนะ ไม่ใช่ว่าทำบาป หยาบช้าลามกอนาจารอะไร แต่ว่า กาม ไม่ได้หมายความไปถึงลามกอนาจาร เป็นเรื่องที่ควรต้องการ ควรประสงค์ ควรใคร่ ควรปรารถนา นั่นก็ มุกติ เรื่องนี้เข้มข้นมากในจิตใจของคนอินเดีย มีมาแต่ก่อน ก่อนพุทธกาลโบรมโบราณ ก็มีหลักทั่วไปอย่างนี้ ไม่เกี่ยวกับศาสนาไหนก็ได้ เพราะว่าเรื่อง มุกติ หรือเรื่องไอ้ธรรมะเหล่านี้มันก็แตกต่างกันไปตามศาสนานั้น ๆ ไม่เหมือนกันทีเดียว แต่ความมุ่งหมายมันก็เหมือนกันแหละ คือต้องเรียน แล้วก็ต้องทำงาน เสวยผลงาน แล้วก็หลุดพ้น นี่จะใช้คำอย่างไทย ๆ เราเดี๋ยวนี้ก็ว่า เรียน ทำงาน เสวยผลงาน แล้วก็หลุดพ้นไปจากเครื่องผูกพันเหล่านี้
พวกคนขอทาน มาไหว้พระอยู่ตามท่าน้ำ เป็นผู้หญิงแก่ ๆ เราก็ไปคุยกับเขาด้วย ไปถามเขาอย่างที่เรียกว่าเอ็นดูสงสาร ไอ้ที่มันน่าหัวที่สุดก็คือ เมื่อเราถามเขาว่า เดี๋ยวนี้ต้องการอะไร เอาเสื้อผ้าไหม เอาอาหารไหม เขาบอกไม่เอา ๆ เขาต้องการ มุกติ ยายแก่ซอมซ่อนั่งไหว้พระอยู่ที่ท่าน้ำ กลับไม่ต้องการสตางค์ ไม่ต้องการอาหาร ไม่ต้องการ ต้องการ มุกติ และยังพบไอ้นักบวชในอินเดียบางคนที่เกือบจะไม่นุ่งผ้า อย่าไปดูถูกเขา เอาสตางค์ไปให้เขา เขาขึงตาเลย เอายื่นสตางค์ให้เขา เขาขึงตา หาว่าดูถูกเขา เขาไม่ต้องการสตางค์ เขาทำมือวนวงกลม ๆ บนหัวแล้วชี้พุ่งขึ้นไป ทำอย่างนี้หลาย ๆ ครั้ง เราพูดกันไม่รู้เรื่อง คนละภาษา พูดกันไม่รู้เรื่อง แต่เรารู้ได้ว่าเขาหมายถึง มุกติ คือสูงไปทางเบื้องบน ทำมือเป็นวงกลม ๆ ๆ แล้วก็ชี้พุ่งขึ้นไปทีหนึ่ง ทำอย่างนี้หลาย ๆ หนว่าเขาต้องการอันนี้ สตางค์ไม่เอา เราเลยอายเลย เราจะเอาสตางค์ไปให้ กลายเป็นต้องได้อายไปเลย
มนุษย์ที่มีวัฒนธรรมสูง เป็นแม่แบบของวัฒนธรรมทั้งหลายในทวีปเอเชีย คือ อินเดีย มันเป็นอย่างนี้นะ มีแผนผังของชีวิต เมื่อถามว่าเกิดมาทำไม มันก็กลายเป็นเรื่องอย่างนี้ ถ้าตอบคำเดียวก็เกิดมาเพื่อ มุกติ อันสุดท้าย แต่ว่าก่อนหน้านั้นมันต้องมีเล่าเรียน มีปฏิบัติ มีทำการงาน มีบริโภคกามตามสมควรก่อน แล้วจึง มุกติ เพราะมันไม่สามารถจะกระโดดข้ามไปได้ มันเป็นผล เหตุผลที่ทยอย ส่งทยอยต่อ ๆ กันไป ขอให้เอาไปคิดดูเถอะว่า มีคำตอบอะไรที่ดีกว่าคำตอบนี้ในเมื่อถูกถามว่าเกิดมาทำไม เพื่อศึกษา เพื่อการงาน เพื่อเสวยผลของการงาน แล้วก็เพื่อ มุกติ
เดี๋ยวนี้ไม่มีใครสนใจคำว่า มุกติ อยากจะบริโภคกามจนเข้าโลง เอาวัตถุกามใส่ข้างโลงไปด้วย อย่างนี้มันก็ไม่มีเรื่อง มุกติ หรอก มันก็ควรจะพอกันในเวลาอันสมควร เรื่องการศึกษา เรื่องการงาน เรื่องการบริโภคผลการงาน พอถึงขีดสูงสุดแล้วก็ต้องการจะมีจิต ไม่ต้องพูดถึงกายหรอก จิตนี่มันอยู่เหนือสิ่งเหล่านั้น มันต้องการจะพ้นจากสิ่งเหล่านั้น ร่างกายไม่มีปัญหา ไอ้จิตมันดับ มันต้องการเพียงเท่านั้น จิตมันไม่ไปขวนขวายเป็นทาสของร่างกายอีกต่อไป ร่ายกายดับ ไอ้จิตมันก็พลอยดับ แต่ว่าจิตมันดับลงด้วยการถึงความหลุดพ้นจากสิ่งทั้งปวง นี่ถ้าเรามีแผนการอย่างนี้สำหรับชีวิต มันก็ไม่ยากที่จะศึกษาธรรมะ ก็ดูเหมือนจะเป็นระเบียบที่วางไว้เป็นคู่กันมาเสร็จ
ทีนี้หัวข้อที่ต้องการจะพูดในวันนี้ก็คือหัวข้อที่ว่า ไอ้ชีวิตนี้พัฒนาได้ พัฒนาไปสุดที่ไหน แล้วกลายเป็นไปสุดที่ นิพพาน หรือ มุกติ แล้วแต่เราจะใช้คำในศาสนาไหน จิตที่ไม่ผูกพันอยู่กับสิ่งยั่วยวนในโลก ไม่ผูกพันอยู่กับโลก เรียกว่าเหนือโลก พ้นโลก ซึ่งมีการผูกพันทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่ นี่ก็ดูเอาเอง เดี๋ยวนี้ยังไม่พ้น ยังจมอยู่เท่าไร ยังมัวเมาเท่าไร ยังฆ่ากันตายเพราะเหตุนี้เท่าไร ไม่ว่าที่ไหน แม้ในหมู่นักศึกษา ในสนามกีฬา ในอะไรก็ตาม มันยังฆ่ากันตายเพราะเหตุนี้อยู่ เพราะมันยังไม่หลุดพ้นไปจากไอ้สิ่งหลอกลวงเหล่านี้ เราจึงควรจะรู้ไว้ว่า ไอ้สุดท้ายมันจะไปกันที่ไหน พัฒนาได้ ชีวิตนี้เป็นสิ่งที่พัฒนาได้ และปัญหามันก็ยากลำบากตรงที่ว่า เราไม่มีความรู้มาจากท้องแม่ นี่พอเกิดมาเราก็ถูกแวดล้อมด้วย อวิชชา ให้หลงใหลในสิ่งนั้นนี้ได้เรื่อยไป จนเป็นหนุ่มเป็นสาว ความคิดที่จะออกไปจากความผูกพันเหล่านี้ก็มิได้มี นี่เรียกว่ามันไม่พัฒนา มันไปในทางยังไม่พัฒนาไปในทางของ นิพพาน หรือของ มุกติ เลย แต่มันก็พัฒนาไปในทางที่จะเป็นสัตว์ตามธรรมดา เป็นสัตว์ธรรมดา บูชาความรู้สึกทาง อายตนะ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
การพัฒนานี่ขอให้ดูให้กว้างนะ ว่าการพัฒนานี่มันถ้าดูกว้าง ๆ แล้ว มันก็มีถึง ๒ ประเภท คือ มันพัฒนาเองตามธรรมชาติอย่างหนึ่ง และพัฒนาโดยบุคคลผู้มีสติปัญญา มีความรู้ ที่สมมติเรียกกันว่าบุคคลนั้น เจ้าของร่างกายนั้นเขาพัฒนา ที่มันพัฒนาโดยธรรมชาติแท้ ๆ มันก็มี ที่พัฒนาโดยบุคคลที่เรียกว่าเจ้าของชีวิตนั้นก็มี แล้วมันก็ไม่เหมือนกันหรอก ไอ้ชีวิต ไอ้พัฒนาตามธรรมชาตินั้นมันก็เป็นเรื่องของธรรมชาติ มันเป็นเรื่องของร่างกายมากกว่าเรื่องของจิตใจ คือพอเราโต พอเราคลอดมาจากท้องแม่มันก็โต ไอ้ร่างกายมันก็โต ก็เรียกพัฒนาทางกาย จิตใจมันก็ได้พบเห็นอะไรมากขึ้นทุกวัน ๆ ๆ มันก็รู้อะไรมากขึ้นทุกวัน ๆ ก็เรียกว่าจิตใจก็พัฒนา นี่ปล่อยไปตามธรรมชาติ ธรรมดามันก็มีการพัฒนาทั้งทางกายและทางใจของมนุษย์เรา แต่แล้วมันพัฒนาไปด้วยทุนเดิมหรือเดิมพัน คือ ความเห็นแก่ตัว เห็นแก่ตัวตั้งแต่แรกคลอดออกมา แล้วมันก็พัฒนาไปแต่ในทางประโยชน์ตัว มากกว่าที่จะเห็นแก่ประโยชน์ผู้อื่น หรือจะไม่ค่อย ไม่ยอมเห็นแก่ประโยชน์ผู้อื่น ดังนี้จึงต้องมีพัฒนาอีกชนิดหนึ่ง คือพัฒนาโดยปัญญา หรือโดยธรรมะ นี่เราเข้ามาอยู่ในกรอบของการศึกษาเล่าเรียน เช่นว่าเป็นพรหมจารี ศึกษาเล่าเรียน แล้วก็ทำหน้าที่การงาน แล้วไปหาเหตุผลของการงานไปสู่ มุกติ นี่ระบบพัฒนาที่เราต้องตั้งเจตนาที่จะพัฒนา นี่เรียกว่ามันอยู่ในความควบคุม แล้วมันไม่ได้ทำไปเพื่อความเห็นแก่ตัวหรอก เพราะระบบธรรมะมันเข้ามาแทรกแซงแล้ว ทำไปเพื่อประโยชน์ผู้อื่นด้วย ดังนั้นการพัฒนาโดยธรรมะนี่มันพัฒนาทั้งตัวเอง ทั้งทางกาย ทางใจด้วย แต่ทั้งเพื่อสังคมด้วย เพื่อผู้อื่นด้วยมันก็ดีกว่า แต่แล้วมันก็เป็นไปพร้อม ๆ กัน พัฒนาตามธรรมชาติมันก็เป็นไปตามธรรมชาติ พัฒนาโดยเจตนาแห่งบุคคลนั้นก็เป็นเจ้าของชีวิตนั้น มันก็เป็นไปโดยเจตนาตามที่เราจะมีระบบการศึกษา เล่าเรียนกันอย่างไร มันมีความสำคัญอยู่ที่ว่า พัฒนาตัวเองให้ได้ก่อนนะ มันจะช่วยพัฒนาผู้อื่นได้ นี่ถ้าเราเองก็ช่วยตัวเองไม่ได้ ยังหลงใหลในเรื่องของกิเลส ตัณหา ความทุกข์อยู่ มันก็ช่วยผู้อื่นให้พัฒนาไม่ได้ มันจึงเป็นเรื่องที่จะต้องทำให้ชนะในขั้นต้น ก็คือช่วยตัวเองให้ได้ แล้วก็จะช่วยผู้อื่นได้ การพัฒนามันจึงมีอยู่ในขอบเขตที่กว้างขวางอย่างนี้ ไปดูให้ดี พัฒนาตามธรรมชาติก็มีอยู่ไม่หยุดไม่หย่อน สักเวลานาทีหนึ่งมันก็พัฒนาโดยธรรมชาติ ร่างกายเจริญเติบโตขึ้น จิตใจรู้สึกต่ออะไรมากขึ้น แม้ไม่ใช่ปัญญา ไม่ใช่ความรู้มันก็รู้ รู้อะไรมากขึ้น แล้วก็มากลายเป็นปัญญาเป็นความรู้ตามธรรมชาตินั่นแหละ เช่นว่าสุนัขตัวที่อายุมากหน่อยมันรู้อะไรมากกว่าลูกสุนัขเสมอไม่มีใครสอน ทีนี้คนเราก็เหมือนกันแหละ มีชีวิตอยู่นานเข้า ๆ ก็รู้อะไรมากขึ้นเหมือนกัน มันเป็นพัฒนาจิตตามธรรมชาติ แต่นี้มันไม่พอ มันไม่พอแน่ ๆ ถ้าต้องการให้ชีวิตนี้มันพัฒนาถึงจุดสูงสุดคือ มุกติ หรือนิพพาน มันก็เลยต้องมีการเรียน การอบรมการอะไรกันเป็นพิเศษ พัฒนาโดยเจตนาแห่งบุคคลผู้เป็นเจ้าของชีวิตนั้น นี่เรียกว่าไอ้เรื่องของการพัฒนา
ทีนี้ก็มาถึงการพัฒนาชีวิต ส่วนใหญ่ที่เป็นปัญหาของคนเราก็คือให้มันรอดชีวิตอยู่ได้ เพราะว่าเด็ก ๆ คลอดมาจากท้องแม่ไม่เท่าไร ก็ต้องแยกจากพ่อแม่ จะต้องช่วยตัวเอง จึงต้องมีความรู้หรือการกระทำชนิดที่ให้ช่วยตัวเองได้ แล้วก็สามารถจะช่วยผู้อื่นได้ ขยายวงกว้างออกไป ฉะนั้นเราจึงมาดูที่ตัวชีวิตกันนั่นเองว่ามันอยู่ในรูปแบบใด ชีวิตนั้นมีความทุกข์ยากลำบากเท่าไร มีความสุขสนุกสนานเท่าไร มีคุณค่าเท่าไร มีประโยชน์เท่าไร ถ้าว่าเป็นผู้มีเจตนาถูกต้อง มันจะทำให้เป็นประโยชน์ได้จริง ก็ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย ไม่ใช่เรื่องที่จะเรียนกันเล่น ๆ หัวเราะกันไปพลาง หรือเรียนธรรมะอย่างที่ไม่รู้ว่าเรียนไปทำไมนี่ เข้าใจว่ามีอยู่มากในหมู่มนุษย์ หมู่คนนี่ ชาวบ้านนี่ เรียนชีวิตโดยที่ไม่รู้ว่า เรียนธรรมะ ไม่รู้จะเรียนเพื่อชีวิต หรือชีวิตเพื่อธรรมะ เราสังเกตดูเป็นเวลายี่สิบปีสามสิบปีมานี่ เราพบว่า คนที่มาสวนโมกข์นี่มาเที่ยวเฉย ๆ มาก ผู้ที่มาสวนโมกข์เพื่อศึกษาธรรมะโดยแท้จริง มีไม่กี่คน ไม่กี่เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นจึงเขียนรูปภาพขึ้นอยู่ที่หัวตึกหลังนั้น ดูสิ แจกลูกตา มีคนรับสองสามคน นอกนั้นวิ่งหัวขาดเป็นฝูง ๆ คือคนที่มาสวนโมกข์นี่ เขาไม่สนใจจะรับธรรมะที่เราต้องการจะให้ แล้วบางคนยังท้าทายด่าทอเสียด้วยนะ ถ้าไม่สนองความสนุกสนานให้แก่เขาเป็นที่พอใจ เขาด่าทออยู่ในใจ อย่างเขาอยากจะมาดูหนังนี่ ถ้ามาเทศน์กันอยู่อย่างนี้ เขานึกแช่งอยู่ในใจ ว่าเมื่อไรจะจบสักที จะได้ไปดูหนัง มันถึงขนาดนี้ เพราะว่าความสนใจในธรรมะนั้นมันไม่มีรากฐาน จึงไม่ยอมรับแล้วก็วิ่งหนีไปโดยไม่มีธรรมะติดไป เราจึงเขียนเป็นรูปคนหัวขาดวิ่งไปเป็นฝูง ๆ นี่คือแขกของสวนโมกข์ พูดไม่ต้องละอาย เจ้าของสวนโมกข์พูดอย่างไม่ละอาย ว่าแขกของสวนโมกข์มาแล้วก็วิ่งกลับไปหัวขาดเป็นฝูง ๆ ไม่ได้ผลอะไรคุ้มค่ารถไฟที่มา เพราะว่าเขาไม่สนใจไอ้สิ่งที่เรามีให้ เราก็เปลี่ยนไม่ได้ ที่จะให้สิ่งเหล่าอื่นนอกจากสิ่งเหล่านี้ มันก็เปลี่ยนไม่ได้ มันก็ต้องยังยืนโรงอยู่อย่างนี้ มีน้อยคนที่จะรับเอาไปได้ซึ่งสิ่งที่เรามีให้ นอกนั้นก็ขอให้วิ่งกลับไปหัวขาดเป็นฝูง ๆ
ไอ้เรื่องพัฒนา มันต้องทำด้วยสติปัญญา รู้จักชีวิต รู้จักธรรมะ เพื่อให้ได้ชีวิตแบบที่น่าเลื่อมใส น่าพออกพอใจ น่าชื่นใจ พูดกันตรง ๆ ตามที่เห็นได้ง่าย ๆ เช่นว่าจะมีชีวิตทนทรมาน หนักอึ้ง แบบวัวแบบควาย นี่ท่านคิดดูเถอะ แบบวัวควายที่มันจะต้องมีการทนทุกข์ กับชีวิตที่ให้มันสบายเหมือนกับชีวิตของผีเสื้อ นี่ไม่ใช่ว่าสนับสนุนชีวิตผีเสื้อ แต่เอามาให้เปรียบเทียบกัน ชีวิตผีเสื้อทำการงาน เลี้ยงชีวิตด้วยการบินไปบินมาตามดอกไม้ที่สวย ๆ แล้วสูดเอาน้ำหวานไปหล่อเลี้ยงชีวิต นี่คือการงานหรืออาชีพของผีเสื้อ นี่วัวควายหรือสัตว์บางอย่างมันไม่ได้อย่างนั้น แม้แต่ปูปลาอะไรก็หาเลี้ยงชีวิตด้วยความยากลำบาก ไม่สะดวกสบายสวยงามเหมือนผีเสื้อ แม้แต่ชีวิตของคนเรานี่แหละคุณคิดดูเถอะ มันไม่ได้สะดวกสบาย สนุกสนานอยู่ในอาชีพเหมือนกับผีเสื้อ เรายังต้องอาบเหงื่อต่างน้ำกันอยู่แทบทุกคนถ้าเป็นมนุษย์ธรรมดา แม้จะเป็นคนร่ำรวย มันก็มีเรื่องหนักอกหนักใจ นอนหลับยาก เป็นโรคประสาทกันอยู่เป็นส่วนมาก ไม่เหมือนผีเสื้อซึ่งดูจะไม่รู้จักเป็นโรคประสาทเลย แต่เราก็จะถือเสียว่ามันเป็นชีวิตที่ไร้ค่า แป๊บเดียวก็ตาย บินอยู่ดี ๆ นกมาเฉี่ยวกิน เอาไปหมดชีวิตแล้วอย่างนี้ อย่างนั้นก็ตามใจ จะมองกันอย่างนั้นก็ตามใจ แต่เดี๋ยวนี้เราอยากจะมองว่า ไอ้ชีวิตแบบที่มันไม่เป็นทนทุกข์ทรมานเลยก็ยังมี ตายก็ตาย อยู่ก็อยู่ อย่างชีวิตผีเสื้อ เปรียบกับชีวิตของนก ของหนู ของปู ของปลา ของอะไรต่าง ๆ แล้วก็วัว ควาย ช้าง ม้า นี่มันก็ล้วนแต่อาบเหงื่อต่างน้ำอยู่ด้วยกัน เราจะเอาชีวิตแบบไหน ธรรมะจะจัดให้ได้ทั้งนั้น ต้องการชีวิตแบบไหน ธรรมะจะช่วยจัดให้ได้ทั้งนั้น เพราะว่าธรรมะช่วยจัดที่จิตใจ ถ้ามีธรรมะโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพระพุทธศาสนาแล้ว เขาก็จะเปลี่ยนจิตใจจากที่มันจะเป็นไปตามธรรมดา รู้ธรรมะแล้วก็จะพอใจในการทำงาน เพราะรู้สึกว่าไอ้การทำงานนั้นคือธรรมะ ธรรมะคือหน้าที่การงาน การงานคือหน้าที่ในทางธรรมะ หน้าที่กับธรรมะนั้นเป็นสิ่งเดียวกัน พอรู้สึกว่าเราได้มีธรรมะก็พอใจ นับถือตัวเอง ชอบใจตัวเอง บูชาตัวเองขึ้นมาทีเดียว มันก็สบาย แม้จะอาบเหงื่ออยู่แท้ ๆ แต่ถ้าจิตมันรู้สึกว่า โอ้,นี่เป็นธรรมะสูงสุดในการที่เหงื่อออกมานี่ และเขาก็พอใจ ก็มีจิตที่พอใจในการงานหรือในอาชีพนั้น มันก็ไม่แพ้ผีเสื้อแหละ ผีเสื้อมันไม่มีมันสมอง มันเป็นไปตามธรรมชาติ แต่นั่นมันก็ยังสามารถที่จะมีอาชีพนั้นเป็นตัวความสุข สนุกสนานอยู่ได้ อาชีพคือบินไปตามดอกไม้สวย ๆ สูบน้ำหวานกิน นี่คืออาชีพ มนุษย์เราจะมีอาชีพที่มีความหมายอย่างนั้นได้หรือไม่ อาชีพที่เป็นสุขสนุกสนาน อย่างนั้นได้หรือไม่ อาตมาเห็นว่าได้ แต่พูดแล้วไม่มีใครเชื่อกี่คน ว่าปรับปรุงจิตใจเสียใหม่ให้พอใจในหน้าที่ ที่แม้ว่าจะอาบเหงื่อต่างน้ำ อาชีพกวาดถนน อาชีพถีบสามล้อ อาชีพล้างท่อสกปรก อาชีพแจวเรือจ้าง อาชีพอะไรก็ตาม ซึ่งว่าเหงื่อไหลไคลย้อยอยู่อย่างสกปรก ถ้าจิตใจของเขาพอใจ เขาก็ไม่มีความทุกข์หรอก เราเคยเห็นคนแจวเรือจ้าง ร้องเพลงไปพลาง ไม่มีความทุกข์ แจวตั้งนาน สมัยโน้นเคยเห็นเขาจ่ายกันสองสามบาท แจวเรือทวนน้ำตั้งนาน มันอยู่ที่ว่าเขาจะสามารถปรับปรุงจิตใจให้รู้สึกว่าไอ้หน้าที่นั่นคือธรรมะ ได้ทำหน้าที่เท่าไรก็มีธรรมะมากเท่านั้น มันก็พอใจเมื่อได้ทำหน้าที่มาก ยิ่งเหงื่อออกมากยิ่งเย็น ยิ่งเหงื่อออกมากยิ่งพอใจ เพราะว่าเหงื่อนั้นคือผล คือสิ่งที่แสดงออกมาว่าได้ทำหน้าที่ถึงที่สุดแล้ว ฉะนั้นขอให้ทุกคนบูชาธรรมะจริง ธรรมะจริง ไม่ใช่ธรรมะหลอก ไม่ใช่ธรรมะในสมุด ในหนังสือ ธรรมะจริง คือ การทำหน้าที่ของมนุษย์ เมื่อได้ทำหน้าที่ของมนุษย์แล้วก็พอใจ ยิ่งเหงื่อออกมาก็ยิ่งพอใจ ยิ่งยกมือไหว้ตัวเองได้ว่ามันเต็มไปด้วยหน้าที่ คือ ธรรมะ ถ้าอย่างนี้แล้วก็ไม่แพ้ผีเสื้อหรอก ไม่แพ้ชีวิตผีเสื้อซึ่งทำอาชีพไปพลาง เป็นสุขไปพลาง แต่ต้องด้วยความคิดนึก สติปัญญาที่ได้ศึกษามาและต้องควบคุมจิตใจอย่างนั้นสำหรับปุถุชนคนธรรมดาผู้ที่ยังมีกิเลส ยังไม่หมดกิเลส
เอ้า,ทีนี้จะพูดถึงผู้หมดกิเลสเช่นพระอรหันต์ทั้งหลาย ท่านก็ทำอะไรก็ด้วยความคิดจิตใจที่หมดกิเลส ดังนั้นท่านไม่มีความทุกข์เลย แม้ว่าพระอรหันต์จะต้องทำหน้าที่บางอย่างที่ว่าจะต้องออกเหงื่อ เหงื่อไหลไคลย้อยอะไรก็ตาม ท่านก็ไม่มีความทุกข์เลย ท่านก็ยังเย็นสบายไม่แพ้ชีวิตผีเสื้อ แต่ว่ามันไม่เหมือนกันล่ะ ไอ้ผีเสื้อนั้นมันไม่มีวิชชา ไม่มีปัญญาอะไร ไม่ได้หลุดพ้นอะไร พระอรหันต์นั้นมีปัญญา มีวิชชา หลุดพ้นแล้ว ไม่มีตัวกูของกู ไอ้ผีเสื้อนั้นมันยังมีตัวกูของกู มันยังเอร็ดอร่อย สนุกสนานไปตามเรื่องของผู้มีตัวกูของกู ดังนั้นความเย็นนั้นจะต้อง จะไม่สู้ไอ้ความเย็นของพระอรหันต์ได้ ผู้หมดตัวกูแล้ว ทำหน้าที่อะไรอยู่ ก็เป็นสุขสนุกสนานในหน้าที่การงานนั้น ๆ โดยไม่ยึดมั่นถือมั่นด้วยกิเลส ด้วยตัณหา
เราคนปุถุชนธรรมดาและสัตว์เดรัจฉาน ถ้าได้รับความพอใจ มันก็ยึดถือด้วยกิเลสตัณหา มันก็ยังเป็นความสุขที่หนัก ที่หนักอึ้ง แต่จะดูกันในแง่ที่ว่ามันไม่มีความทุกข์ก็ดีแล้ว มนุษย์เรารู้จักทำจิตใจเสียใหม่โดยอาศัยธรรมะ จะรู้สึกเป็นสุขสนุกสนานเมื่อได้ประกอบอาชีพ แม้จะเหน็ดเหนื่อยเหงื่อไหลไคลย้อย อย่างนี้ก็เรียกว่าไม่เสียเปรียบผีเสื้อ ชีวิตคนนี้จะไม่เสียเปรียบชีวิตผีเสื้อ คือเป็นสุขอยู่ตลอดเวลาแม้เมื่อทำการงาน นี่ธรรมะจะช่วยพัฒนาชีวิตได้ถึงอย่างนี้ พัฒนาชีวิตด้วยธรรมะ เพราะสามารถที่จะมีชีวิตที่สูงขึ้นไป ๆ ไม่มีความทุกข์ด้วย มีแต่ประโยชน์ด้วย มีความสุขอยู่ในอาชีพนั้นเอง ดังนั้นท่านผู้ใดสามารถประกอบอาชีพของตน ๆ อยู่ได้ด้วยความพอใจ ยกมือไหว้ตัวเองได้ นี่ไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์ และพบพระพุทธศาสนา ไม่น้อยหน้ากว่าผีเสื้อ ซึ่งมีชีวิตชนิดสวยงามและไม่เป็นทุกข์เลย ขอให้ใคร่ควรดูให้ดี ว่ามันต่างกันอยู่เป็นแบบ ๆ นั้นการที่จะพัฒนาให้เลื่อนขึ้นไปสู่แบบที่สูง ๆ ขึ้นไปต้องอาศัยธรรมะ ที่มีอยู่สำหรับแบบนั้น ๆ ธรรมะนี้ล้วนแต่ดับทุกข์ทั้งนั้น ไม่มากก็น้อย ถ้าธรรมะถึงที่สุดก็ดับทุกข์หมดเลย มีความเยือกเย็นเพราะไม่มีกิเลส และก็ไม่ต้องมีตัวกูที่จะเสวยความสุขหรืออะไรทำนองนั้น มันจึงเย็นโดยธรรมชาติ เย็นโดยจิตใจ เย็นโดยธรรมะที่มีอยู่ในจิตใจ นี่มาถึงขั้นนี้ก็เรียกว่า มุกติ แล้ว ถ้าเสวยผลของการงานอยู่ด้วยยึดถือ ตัวกูของกู ก็เรียกว่า กาม นะไม่ใช่ มุกติ ทีแรกศึกษา เอ้า,เรียนให้รู้ ว่าทำหน้าที่คือธรรมะ แล้วก็บริโภคผลของมันคือ กาม นี้มีตัวตน ยังมีกิเลส ยังมีความยึดมั่นถือมั่น ถ้ารู้จักทำได้อย่างนั้นมันก็ยังดีกว่าไม่รู้จักทำ คือมันมีความสุขอยู่ในการงาน นี้สูงขึ้นไปอีก เบื่อ เบื่อหรือจืดชืดในสิ่งเหล่านี้แล้วก็หลุดพ้นจากตัวตน หลุดพ้นจากความยึดถือในรสอร่อยที่เกิดทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่จึงจะมาถึงไอ้ความสุขในขั้นของพระอรหันต์ ไม่มีกิเลสเกิดตลอดเวลา เมื่อไม่มีกิเลสเกิดและไม่มีความทุกข์เลย ไม่มีความร้อนเลย นี่ชีวิตชั้น มุกติ หรือ นิพพาน เราดูให้ดี ดูจนเข้าใจ ถ้าดูจนเข้าใจก็จะเห็นว่ามันทำได้ ถ้าเห็นว่าทำไม่ได้ก็คือยังไม่เข้าใจ ดังนั้นขอให้วินิจฉัยพิจารณาดูให้ดีให้เข้าใจเรื่องนี้ จะได้รับประโยชน์มาสวนโมกข์คุ้มค่ารถไฟ คุ้มค่าลำบาก มิฉะนั้นแล้วจะไม่คุ้มค่ารถไฟไม่กี่บาทที่เสียมานี่ ก็จะไม่คุ้มค่า และกลับไปหัวขาดเหมือนกับคนในรูปภาพนั้นแหละ
ขอให้สนใจสิ่งที่เรียกว่าธรรมะซึ่งเราจะต้องศึกษากันไปอีกนาน เราไม่อาจจะพูดให้เข้าใจกันได้ด้วยการพูดครั้งเดียวสองครั้ง แต่ว่าอย่างน้อยก็จะต้องเข้าใจหลักของมัน แนวของมัน ดังนั้นในวันนี้อาตมาจึงพยายามที่จะอธิบายแนว แนวของมันเท่านั้นแหละ โดยรายละเอียดทำไม่ได้ จะไปหาศึกษาอ่านเอาคราวหลัง วันหลังจากหนังสือหนังหาตำรับตำราอะไรก็ได้ ในวันนี้จะบอกให้รู้ว่า ไอ้ชีวิตเป็นสิ่งที่พัฒนาได้ ถ้าผู้ใดเข้าใจมองเห็นแล้วก็จะพัฒนาให้ถึงระดับสูงสุด ตามที่มันจะพัฒนาได้ พูดให้เห็นง่าย ๆ อีกระดับหนึ่ง เรามีความรู้ ความรู้ สติปัญญาสำหรับพัฒนา ที่ว่าถ้าจะดูกันให้ตลอดต้นจนปลายแล้ว อยากจะเรียกว่ามีสัก ๓ ระดับ ฟังดูแล้วหยาบคายหน่อยว่า ระดับ สัตวศาสตร์ ระดับสัตว์ ระดับสัตว์ สัตวศาสตร์ สติปัญญาระดับสัตว์ รู้และพัฒนามาอย่างสัตว์ และต่อมาก็ระดับไสยศาสตร์ คือ ดีกว่า ไสย แปลว่า ดีกว่า สติปัญญาระดับ ไสย ดีกว่า แต่ก็ยังหลับตาอยู่แหละ แล้วมาสูงขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง ก็ถึงระดับ พุทธศาสตร์ พุทธศาสตร์ พุทธศาสตร์ แปลว่า ตื่น ตื่นจากหลับ คือ ลืมตา คำว่า พุทธะ นั้น อย่าเข้าใจเอาเองว่าแปลว่า พระพุทธเจ้า นั่นไม่ได้แปลหรอก พุทธะ ถ้าแปล พุทธะ คำนี้แล้วจะว่า ตื่น ตื่นจากหลับ ดังนั้น พุทธศาสตร์ คือ ศาสตร์ที่ตื่นจากหลับ ไสยศาสตร์ คือ ศาสตร์ที่ยังหลับ สัตวศาสตร์ นี่เป็นศาสตร์ที่ยังไม่มีความหมายอะไรเลย
เมื่อเราเกิดมาจากท้องแม่ มันก็มีความรู้แบบ สัตวศาสตร์ รู้จักกิน รู้จักเล่น รู้จักนอน สัตวศาสตร์ ศาสตร์ของสัตว์ทั่วไปพัฒนาขึ้นมา แล้วก็มาติดอยู่ที่ ไสยศาสตร์ เชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เชื่อสิ่งที่เข้าใจไม่ได้ แล้วก็คิดพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไสยศาสตร์ คือ ศาสตร์แห่งความหลับ มีมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ แรกมีมนุษย์ในโลกนี่ มนุษย์คนป่าก็เริ่มมี ไสยศาสตร์ พึ่งผู้อื่น พึ่งสิ่งอื่นนอกจากตน ไม่รู้ว่าจะพึ่งตนได้อย่างไร นี่ไสยศาสตร์ตั้งต้น รู้จักเรียกที่พึ่งเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ จนเป็นพระเจ้า เป็นเทวดา เป็นอะไรไปตามเรื่องของเขา ล้วนแต่เป็นคนอื่นนอกจากตนและตนเข้าใจไม่ได้ ระบบนี้เรียกว่าระบบ ไสยศาสตร์ แต่ว่าดีกว่า สัตวศาสตร์ แต่ก็ยังหลับอยู่ ยังไม่ลืมตา ยังต้องพัฒนาให้ลืมตาถึงระบบ พุทธศาสตร์ คือพระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสรู้ขึ้นหลัง ๆ ใครหมดแหละ ความรู้ที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสรู้และสอนขึ้น มันหลัง ๆ ใครหมดแหละ คือหลังในทางที่ว่า ไม่พึ่งสิ่งอื่นนอกจากตน ลืมตาแล้วต้องพึ่งตน พึ่งตนคือพึ่งธรรมะ พึ่งธรรมะคือพึ่งตน เพราะฉะนั้นจึงไม่มีพระเจ้าอย่างที่เหมือนในศาสนาอื่นเขามี พุทธศาสนาเรามีพระเจ้าชนิดที่ว่าเป็นกฎของธรรมชาติ คำว่า พระเจ้า นั้นคุณเข้าใจดี ๆ นะ มันมีกันทุกคนนะ ไม่มีใครที่ไม่มีพระเจ้า เพราะพระเจ้ามันเป็นสิ่งที่มีได้โดยความรู้สึกของสัตว์ ชั้นต่ำสุดมันก็มีพระเจ้า ตามแบบของต่ำสุด สุนัขและแมว อันนี้มันก็มีพระเจ้าตามแบบของมัน คนที่ดีกว่าก็มีพระเจ้าตามแบบของเขา คนที่ดียิ่งขึ้นก็มีพระเจ้าตามแบบของเขา คนที่ดีที่สุดก็มีพระเจ้าตามแบบของเขา
ดังนั้นคำว่า พระเจ้า นั้นแปลว่า สิ่งสูงสุด สิ่งสูงสุดที่เขาจะต้องกลัว ที่เขาจะต้องเชื่อฟัง ที่เขาจะต้องประจบ ที่จะเป็นที่พึ่งของเขา พระเจ้าคือสิ่งสูงสุด บัญญัติคำแรกนี่สำคัญว่าคือสิ่งสูงสุด ตามที่คนนั้นจะรู้สึกว่าสูงสุด และก็มีความหมายว่าจะเป็นผู้ช่วยได้ จะต้องกลัว ต้องเชื่อฟัง และเป็นที่พึ่งได้ ทีนี้สุนัขและแมวเป็นต้นนี่ มันก็มีพระเจ้านี่ อย่างน้อยก็ผู้เลี้ยงแหละ ผู้ที่เลี้ยง ผู้เลี้ยงเป็นสิ่งสูงสุด เป็นผู้สูงสุดซึ่งจะช่วยเขาได้ จะเป็นที่พึ่งแก่เขาได้ คำว่าพระเจ้า ให้เอาความหมายว่าสูงสุด แล้วก็ช่วยได้ ทีนี้สัตว์ทั้งหลายมันรู้สึกได้เองว่ามันต้องมีสิ่งที่มันต้องกลัว ต้องหวังพึ่ง สัตว์ทั้งหลายก็มีการกลัวอะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง หวังพึ่งสิ่งนั้นเรื่อย ๆ มา สัตว์เดรัจฉานมันก็มี ระบบที่ถือว่าเป็นที่พึ่ง เป็นสิ่งสูงสุด อย่างน้อยเครื่องป้องกันอันตรายทั้งหลายก็เป็นพระเจ้าของนก หนู เปี้ยวปู มันก็มีรูมีอะไรเป็นที่พึ่ง เป็นสิ่งสูงสุดของมัน คือมันจะอยู่โดยไม่มีสิ่งสูงสุดที่เป็นที่พึ่งได้นี้มันเป็นไปไม่ได้ เพราะมันคิดรู้สึกนึกได้ จึงว่า แมว สุนัข มันก็มีพระเจ้า ช้าง ม้า วัว ควายเหมือนกัน มันก็มีพระเจ้าที่คนใดคนหนึ่งที่เขาจะต้องกลัว ที่เขาจะต้องเชื่อฟัง นี่ความรู้สึกต่อสิ่งที่มีชีวิตด้วยกัน
ทีนี้ไม่รู้จักสิ่งเหล่านั้นในเรื่องผีสางเทวดา ก็เหมาเอาก็แล้วกัน ก็สมมติเหมาเอาก็แล้วกัน ว่าผีสางเทวดานี้เป็นพระเจ้า จนกระทั่งบัญญัติเอาเองว่าพระเจ้าเป็นอย่างนั้น พระเจ้าเป็นอย่างนี้ น่าฟังที่สุดเลย แต่ชาวพุทธเราไม่เอา ไม่เอาที่พึ่งอย่างนั้น เอาที่พึ่งคือ กฎของธรรมชาติ สูงสุดเพราะทำให้สิ่งต่าง ๆ เกิดขึ้นมา พระพุทธเจ้าตรัสรู้กฎนี้แล้วก็ทรงเคารพธรรมะที่พระองค์ตรัสรู้ คือ กฎ อิทัปปัจจยตา พระพุทธเจ้าตรัสรู้กฎ อิทัปปัจจยตา และทรงเคารพ กฎ อิทัปปัจจยตา ในฐานะเป็นสิ่งสูงสุด เป็นที่เคารพ นี้มันไม่ใช่บุคคลแล้ว ไม่ใช่สิ่งที่มีความรู้สึกอย่างบุคคลแล้ว นี่พระเจ้าในระดับสูงสุดเป็นอย่างนี้
นี่เรามีศาสตร์ ศาสตระ วิชาความรู้ที่จะตัดความโง่เป็นชั้น ๆ กันอยู่อย่างนี้ ระดับ สัตวศาสตร์ มันก็รู้สึกในแบบของสัตว์ ระดับ ไสยศาสตร์ ก็รู้สึกไปตามแบบของมนุษย์ที่ยังไม่ลืมหูลืมตาในเรื่องนี้ ยังหลับอยู่ ระดับ พุทธศาสตร์ ก็ลืมหูลืมตา สามารถจะใช้เป็นประโยชน์ได้จริง เป็นที่พึ่งได้จริง แต่อย่าลืมว่าก็มีคนเข้าใจผิดได้ มีคนเข้าใจผิดได้ เห็นสิ่งสูงสุดที่เงินก็มี บางคนก็ถือเงินเป็นพระเจ้า บูชาเงินเป็นพระเจ้าว่าเงินจะบันดาลได้ทุกสิ่ง ไอ้คนนี้ก็ถือเงินเป็นพระเจ้าพักหนึ่ง บางทีหนุ่มสาวที่โง่เง่าที่สุด ว่าแฟนเขานะคือพระเจ้า เขาจะประจบประแจงแฟนเขาทุกอย่างเหมือนกับพระเจ้าพักหนึ่ง ๆ กว่าจะพ้น พ้นเขต เหมือนกับสิ่งเหล่านี้ก็มาแทนในนามของพระเจ้าได้ รู้จักพระเจ้าให้ดี ๆ ให้มันเป็นชั้น ๆ ขึ้นไปจริง ๆ จนถึงพระเจ้าที่แท้จริง คือ กฎธรรมชาติอันเฉียบขาด บันดาลให้สิ่งต่าง ๆ เกิดขึ้นมา ควบคุมสิ่งต่าง ๆ อยู่ เราจะต้องรู้ จะต้องเชื่อฟัง จะต้องปฏิบัติตาม และเป็นที่พึ่งได้จริง
นี่ศาสตร์ ศาสตระ ที่เกี่ยวข้องกันกับมนุษย์ในปัจจุบันนี้มี ๓ ศาสตร์ สัตวศาสตร์ ศาสตร์อย่างสัตว์เดรัจฉาน ไสยศาสตร์ ศาสตร์อย่างมนุษย์ที่ยังหลับ อย่างคนที่ยังหลับตาอยู่ พุทธศาสตร์ ศาสตร์สำหรับมนุษย์ที่ลืมหูลืมตาแล้ว มีอยู่เป็น ๓ ศาสตร์ ที่พูดอย่างนี้เสี่ยงต่อการถูกด่า คุณไม่กล้าพูดอย่าพูด อาตมาพูดให้ฟังก็พอ ที่พูดเป็น ๓ ศาสตร์อย่างนี้มันเสี่ยงต่อการถูกด่าอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในประเทศไทยในยุคปัจจุบันนี้ แต่ว่าเดี๋ยวนี้ก็ต้องพูด เพราะมันมีอยู่อย่างนี้ มันต้องพัฒนามาอย่างนั้น พัฒนาชีวิตให้พ้นจาก สัตวศาสตร์ มาสู่ ไสยศาสตร์ พัฒนาจาก ไสยศาสตร์ มาสู่ พุทธศาสตร์ แล้วมันก็จบ ชีวิตมันก็ขึ้นมาถึงระดับสูงสุดจริง ๆ
เอาเป็นว่าให้มองเห็นชัด ๆ ๆ ที่สุดเลยว่า ชีวิตนี้เป็นสิ่งที่พัฒนาได้โดยธรรมะ คือ การศึกษาและการปฏิบัติ เรารู้ว่าชีวิตนี้มันขึ้นอยู่กับจิต ถ้าเราจัดการกับจิตอย่างถูกต้อง แล้วก็เป็นการพัฒนาชีวิต ดังนั้นท่านจึงมีระบบพัฒนาจิตอย่างมากมายมหาศาลในศาสนาต่าง ๆ โดยเฉพาะในพระพุทธศาสนานี่ เป็นเรื่องยืดยาวที่เอามาพูดคราวเดียวกันนี้ไม่ได้หรอกเพราะมันยืดยาวมาก ไปหาศึกษาอ่านดูเถอะว่า การใช้ธรรมะพัฒนาชีวิตนั่นก็หมายถึงพัฒนาจิต ปรับปรุงจิตให้เป็นจิตที่ถูกต้องให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป มีวิธีที่จะไม่ มีวิธีที่จะไม่ปล่อยให้จิตนี้มันโง่ ไม่ปล่อยให้กิเลสครอบงำจิต นี่เราจะมาหาความรู้วิธีอบรมจิต จะเรียกว่า วิปัสสนา ก็ได้ กรรมฐาน ก็ได้ สมถะ ก็ได้ ปัญญา ก็ได้ ล้วนแต่เป็นวิธีอบรมจิต จิตสูงขึ้นไปเท่าไร ชีวิตก็สูงขึ้นไปเท่านั้น ดังนั้น เมื่อจิตเป็นสิ่งที่พัฒนาได้ ชีวิตมันก็เป็นสิ่งที่พัฒนาได้ ขอให้ท่านทั้งหลายแน่ใจมั่นใจว่า ชีวิตนี้เป็นสิ่งที่พัฒนาได้ และเราก็ทำจนสามารถพัฒนาได้จริง ๆ
แม้ว่าเราจะไม่มีความรู้ติดมาในท้อง ติดมาเมื่อออกมาจากท้องแม่ เราไม่มีความรู้ แต่พอเกิดมาก็ถูกหลอกให้หลงด้วยอวิชชานานาชนิด ที่กิเลสตัณหา ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่เดี๋ยวนี้เราก็โตขึ้นมาถึงขนาดนี้แล้ว เรารู้จักสิ่งเหล่านี้ดี เราก็เปลี่ยนทิศทางเสียใหม่ ให้จิตเดินไปในทางที่ถูกต้อง เพื่อไม่ให้เกิดความเศร้าหมองแก่จิต ไม่ให้เกิดกิเลสแก่จิต จิตนี้ก็บริสุทธิ์ จิตนี้ก็เฉลียวฉลาด สามารถในหน้าที่การงาน สามารถจะควบคุมกายนี้ให้เป็นไปในทางถูกต้อง ก็มีความสุขสำราญทั้งกายและจิต ไม่ต้องเป็นทุกข์เพราะเหตุใด ๆ แม้จะทำงานเหงื่อไหลไคลย้อยอยู่ก็พอใจและเป็นสุข เป็นชีวิตที่ไม่แพ้ชีวิตผีเสื้อ และเป็นชีวิตที่คล้อยตามชีวิตของพระอรหันต์ คือถ้าท่านทำหน้าที่ต่าง ๆ อยู่โดยที่ไม่ต้องเป็นทุกข์ เพราะไม่มีตัวตนจะเป็นทุกข์ ไม่มีกิเลสที่จะทำให้เป็นทุกข์ นี่เรียกว่าเราเดินตามรอยพระอรหันต์ไปจนถึงที่สุดจุดหมายปลายทางได้
เอาแหละขอแสดงความยินดีอีกครั้งหนึ่งที่ท่านมาที่นี่ เพื่อจะศึกษาธรรมะชนิดที่ไม่สอนอยู่ในโรงเรียน ไม่สอนอยู่ในมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นการศึกษาหางด้วน สอนไม่ครบ มนุษย์ไม่อาจจะช่วยตัวเองได้เพราะการศึกษาเพียงเท่านั้น ทีนี้เราไม่ยอม เมื่อไม่สอนในโรงเรียน ไม่สอนในมหาวิทยาลัย เราก็เที่ยวหาเอาเองได้ ดังนั้นจึงเที่ยวหาเอาได้ตามที่เขามีการสั่งสอน ที่นั่น ที่นี่ ที่ไหนก็ได้ตามใจ หาความรู้ส่วนที่ยังขาดอยู่นี้มาให้มันเต็ม เพื่อจะได้พัฒนาชีวิตของเรา เพราะมองเห็นชัดอยู่ว่า ชีวิตนี้เป็นสิ่งที่พัฒนาได้
สรุปความว่า ท่านมาคราวนี้ที่นี่ มาสวนโมกข์คราวนี้ไม่ได้ความรู้อะไรก็ได้ แต่ขอให้ได้ความรู้ว่า ได้ความรู้ว่าชีวิตเป็นสิ่งที่พัฒนาได้ อาตมาขอร้องเพียงเท่านี้ ให้ได้ความรู้ชัดเจนแจ๋วไปเลยว่า ชีวิตเป็นสิ่งที่พัฒนาได้ ถ้าเห็นอย่างนี้แล้วไม่ต้องกลัว มันจะดิ้นรนขวนขวายไปตามธรรมชาติของมันเองว่า พัฒนาอย่างไร ๆ ๆ จนในที่สุดก็พัฒนาได้ ในขั้นต้นนี้ขอแต่ให้เห็นชัดเจนลงไปว่า ชีวิตเป็นสิ่งที่พัฒนาได้ ท่านทั้งหลายได้ความรู้เพียงเท่านี้ก็พอใจแล้ว คุ้มค่าที่เสียเวลา เสียค่ารถ เสียเรี่ยวแรง เสียอะไรมาสวนโมกข์ คุ้มค่าแล้ว ได้ความรู้เพียงข้อเดียวว่า ชีวิตนี้เป็นสิ่งที่พัฒนาได้ จะมีแนวแห่งการพัฒนาดังที่กล่าวมาแล้วย่อ ๆ นั้น อาตมาเห็นว่าไอ้การบรรยายในวันนี้ ครั้งนี้พอสมควรแก่เวลาแล้ว ท่านทั้งหลายคงจะจับเอาใจความที่เป็นชิ้นเป็นอัน เป็นหลักสำคัญไปคิดนึกพิจารณาดู เห็นด้วยแล้วก็ลองปฏิบัติตามดู ก็ต้องได้พบกับสิ่งที่ควรจะได้พบ ขอยุติการบรรยายครั้งนี้ไว้แต่เพียงเท่านี้