แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านที่เป็นนักเรียน นักศึกษา ครูบาอาจารย์ทั้งหลาย เดี๋ยวนี้เรากำลังมาพบกันที่นี่ในลักษณะอย่างนี้ ก็เป็นที่รู้กันว่า ท่านมาที่นี่เพื่อจะหาความรู้เกี่ยวกับธรรมะ หรือที่เรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่า แสวงหาธรรมะ ที่จริงมันก็ไม่เหมือนกันนัก มาหาความรู้เรื่องธรรมะ ก็มาในที่อย่างนี้ เป็นต้น แต่ถ้าจะหาธรรมะโดยตรง ก็ล้วนแต่ต้องหาจากข้างใน ในตัวของท่าน ถ้าหาความรู้เกี่ยวกับธรรมะก็หาจากภายนอก ก็ยังได้ ไปตามสถานที่ต่างๆ รับฟังหรืออ่านก็ยังได้ แต่ตัวธรรมะที่แท้จริงต้องหาจากข้างใน คือมันเป็นความรู้ชั้นพิเศษ ต้องหาเอาเองจากข้างใน ฉะนั้นขอให้สนใจไอ้ความหมายสองอย่างนี้ไว้ให้ดีๆ แสวงหาความรู้ไปพลาง ต้องหาธรรมะจากข้างในไปพลาง ไอ้ความรู้ที่เราได้จากข้างนอกมันช่วยให้เราพบตัวธรรมะจากข้างใน
ทีนี้ก็ดูกันต่อไปว่า แสวงหาธรรมะนี่มันทำไปทำไม ในที่สุดมันสรุปความได้ว่า เพื่อให้เราเป็นมนุษย์ที่ถูกต้อง จนได้รับประโยชน์จากความเป็นมนุษย์อย่างที่ต้องใช้คำหยาบคายกันหน่อยว่า ไม่ให้เสียชาติเกิด การเกิดมาเป็นคนยังไม่พอ เรามักจะเสียชาติเกิดด้วย เพราะคำว่าคนมันก็หมายความแต่เพียงว่าได้เกิดมาเท่านั้น ไม่มีความรู้ที่ถูกต้อง มันก็บูชาความไม่รู้ บูชาความโง่เขลา บูชาความสนุกสนานเอร็ดอร่อยทางวัตถุ ทางเนื้อ ทางหนัง จงดูคนทั่วไปที่กำลังบูชาสิ่งเหล่านี้ และเขาเป็นอย่างไร มันก็เต็มไปด้วยความเป็นอันธพาล ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนรำคาญ เป็นอันตราย กระทั่งตัวเองก็เป็นอันตราย อย่างที่ปรากฏอยู่ในหน้าหนังสือพิมพ์มากมายทุกวัน นั่นน่ะความเป็นคนเท่านั้นเอง ยังไม่ถึงความเป็นมนุษย์ คือไม่มีธรรมะนั่นแหละ ถ้ามีธรรมะ ก็หมายความว่ารู้ธรรมะ ปฏิบัติธรรมะ และก็มีธรรมะอยู่ในตน ก็ได้ความเป็นมนุษย์ มีจิตใจสูงอยู่เหนือความทุกข์
ทุกๆศาสนาก็ประสงค์อย่างเดียวกัน คืออยู่เหนือความทุกข์ ความอยู่เหนือความทุกข์เป็นยอดสุดของทุกๆศาสนา ถ้าเป็นคำกลางๆเรียกเป็นภาษาต่างประเทศว่า Salvation นี่เรียกว่ามันอยู่เหนือความทุกข์ ถ้าแม้จะมีคำอื่นเช่นว่า หลุดพ้นจากความทุกข์ ก็ใช้ตรงๆกันทุกศาสนาว่า Emancipation อย่างในภาษาพุทธศาสนาของเราก็เรียกว่า วิมุติ หรือหลุดพ้น ดูมนุษย์มันจะต้องการจุดสูงสุดตรงที่หลุดพ้นจากสิ่งที่เป็นปัญหา สิ่งที่เป็นปัญหาทำให้มีความทุกข์ด้วยความครอบงำให้มืดมน ผูกพันให้ติดอยู่ แล้วก็แผดเผาให้มันเร่าร้อน คนที่มีชีวิตอยู่ด้วยความโง่ก็มีความถูกครอบงำให้โง่ ผูกพันให้ลำบาก และก็แผดเผาให้เร่าร้อน
ถ้าใครรู้สึกว่าตนยังถูกผูกพัน ครอบงำ แผดเผา ก็ต้องรู้เสียเถิดว่ามันเป็นตามธรรมดาของคนที่ยังไม่รู้อะไร ถ้าเขารู้อะไรที่ควรจะรู้ เขาก็รู้ทำตัวให้หลุดพ้นจากสิ่งเหล่านี้ ก็ได้รับผล คือเป็นสุขและเป็นคนมีประโยชน์ อย่าหวังอะไรให้มากไปกว่านั้น มันไม่มีให้หวังในทางที่ถูกต้อง ก็คือมีความสุข ไม่มีความทุกข์ นี่อย่างหนึ่ง และก็เป็นคนมีประโยชน์ การเคลื่อนไหวของเขาทุกๆอิริยาบถ มันเป็นไปเพื่อประโยชน์ ทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น เราต้องอยู่อย่างไม่มีความทุกข์ และอยู่อย่างที่ว่าการเคลื่อนไหวทั้งหมดมันเป็นประโยชน์ตนเองและประโยชน์ผู้อื่น มันก็คือไม่ ไม่มีความทุกข์อีกนั่นแหละ เพราะว่าประโยชน์นี่ถ้าถูกต้อง บริสุทธิ์ และก็เป็นไปเพื่อไม่มีความ ไม่มีความทุกข์ เพื่อขจัดความทุกข์ออกไปเสีย ถ้ามันโง่เขลา มันก็เป็นไปเพื่อความหลงใหลในประโยชน์ บูชากามารมณ์ บูชาอะไรต่างๆ ถือเอาเป็นประโยชน์ อย่างนั้นก็เรียกว่ามันไม่ถูกต้อง ถ้ามันถูกต้อง มันต้องปลดเปลื้องไอ้สิ่งที่เป็นทุกข์นั่นออกไปได้ ฉะนั้น ประพฤติอย่างนี้ต่อกันเรียกว่าบำเพ็ญประโยชน์ผู้อื่น
เราจะต้องมีความรู้สำหรับจะไม่มีความทุกข์เป็นพื้นฐาน และก็ทำให้เป็นประโยชน์แก่ทุกคน และก็มาหาความรู้ก็เพื่อรู้ข้อนี้ แล้วเป็นของจริง โดยธรรมชาติเป็นผู้กำหนด บัญญัติ หรือควบคุมอยู่ในธรรมะ ๔ ความหมาย ขอให้ช่วยจำไว้ตลอดกาล เพราะมันยังมีเรื่องที่ลึกหรือสูงยิ่งๆขึ้นไป
ธรรมะคือตัวธรรมชาติ เราต้องรู้จักไอ้ธรรมชาติทั้งภายนอกและภายในตัวเรา สิ่งต่างๆในตัวเราก็เป็นธรรมชาติ นอกตัวเราก็เป็นธรรมชาติ อันนี้รู้จักธรรมชาติว่ามันเป็นอย่างไร ต้องเกี่ยวข้องกับมันให้ถูกต้อง
ความหมายที่สอง รู้จักกฎของธรรมชาติ เพราะมันมีอยู่อย่างนั้นๆ ไปทำเข้าอย่างนั้น ผลจะเกิดอย่างนั้น ไปทำเข้าอย่างนี้ ผลจะเกิดอย่างนี้ นี่เรียกว่ากฎของธรรมชาติ มีทั้งทางฝ่ายวัตถุ ทางฝ่ายจิตใจ ทั้งภายในตัวเราและภายนอกตัวเราด้วยเหมือนกัน เราต้องรู้
ธรรมะความหมายที่สาม คือหน้าที่ เรารู้กฎธรรมชาติแล้วก็จะต้องรู้หน้าที่ที่จะต้องประพฤติให้ถูกตามกฎของธรรมชาติ ถ้าถูกไปในฝ่ายชั่ว ก็ได้ชั่ว ได้ทุกข์ ถ้าถูกไปในฝ่ายดี ก็ได้ดี หรือมีความสุข ถ้าถูกถึงที่สุด ก็อยู่เหนือสุขเหนือทุกข์ หรือก็เหนือธรรมชาติไปเลย ทุกคนมีหน้าที่ ถ้าไม่ ไม่ทำหน้าที่ ก็จะมีปัญหาเกิดขึ้น คือไม่ได้รับประโยชน์จากความเป็นมนุษย์ แล้วคนนั้นก็ไม่มีราคาไปเลย คนที่ไม่ทำหน้าที่ของมนุษย์หรือของตนนั่นแหละ มันก็ไม่มีราคาไปเลย
ทีนี้ความหมายที่สี่ สุดท้ายก็คือ ประโยชน์ที่ได้รับ ก็ยังเรียกว่าธรรมะอยู่นั่นแหละ ธรรมะที่เป็น มีผลเป็นทุกข์ก็ให้เกิดความทุกข์ ธรรมะที่มีผลเป็นสุขก็ให้เกิดความสุข ธรรมะที่ทำให้หลุดพ้นก็หลุดพ้นไปจากความทุกข์และความสุขโดยประการทั้งปวง
นี่เราจะต้องรู้ธรรมะ อย่างน้อยก็ ๔ ความหมายอย่างนี้ จำไว้เป็นหลักสำหรับจะศึกษาธรรมะเรื่อยไปจนตลอดชีวิต ถ้าเข้าใจแจ่มแจ้งในธรรมะ ๔ ความหมายนี้แล้ว จะศึกษาธรรมะได้โดยง่าย เพราะธรรมะทั้งหลายมันมีจุดรวมอยู่ที่นี่ มันมาขมวดรวมอยู่ที่ ๔ ความหมายนี้ เราต้องรู้ว่าธรรมะที่เรากำลังเรียนอยู่นั้นน่ะเป็นธรรมะในความหมายไหนใน ๔ ความหมายนั้น
เราเรียนเรื่องดิน น้ำ ลม ไฟ เรื่องโลก เรื่องอะไรที่เป็นตัวธรรมชาติมันก็มี การเล่าเรียนอย่างในโรงเรียนก็มี อย่างในวัดก็มี เรียนรู้เรื่องตัวธรรมชาติ เรารู้เรื่องกฎของธรรมชาติ เรียนในโรงเรียน เช่น กฎวิทยาศาสตร์ กฎเรขาคณิต กฎอะไรต่างๆ มันก็เป็นเรื่องกฎของธรรมชาติ ในวัดนี่ก็เรียนเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เรื่องเป็นกฎของธรรมชาติ ทีนี้หน้าที่ที่ต้องปฏิบัติ ที่นอกวัดก็ปฏิบัติหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติ ทำมาหากิน เกี่ยวข้องกับสังคม มีความถูกต้องสำหรับจะอยู่ในโลกอย่างชาวโลก การปฏิบัติในวัดก็ปฏิบัติเพื่อละกิเลสโดยตรงมากกว่าที่ชาวบ้านนอกวัดเขาจะต้องละ และมีหน้าที่ตั้งแต่ทำให้ชีวิตรอดอยู่ได้ เรื่องหาอาหารกิน เรื่องบริหารกาย เรื่องอะไรต่างๆ นี่ก็เป็นหน้าที่ และจะต้องทำหน้าที่ต่อเพื่อนมนุษย์ให้อยู่กันได้เป็นสังคมที่ผาสุก นี่ก็เรียกว่าหน้าที่ อยู่ในโรงเรียนก็มีหน้าที่ทุกอย่างทุกประการที่จะต้องประพฤติปฏิบัติในโรงเรียน ในวิทยาลัย ในมหาวิทยาลัย กระทั่งอยู่ในโลก เราต้องรู้หน้าที่อย่างถูกต้อง แล้วก็กระทำอยู่ด้วย ต้องรู้จักผลที่มันเกิดขึ้น เป็นความผิดความถูก คราวนี้เป็นความทุกข์เกิดขึ้นแล้ว มันผิดแล้วก็ต้องรู้จัก เข้าใจ จดจำ แก้ไข ถ้ามันเป็นความสุขก็รู้ว่าอันนี้มันถูกแล้ว เป็นความสุขก็ควรจะพอใจ แต่อย่าไปโง่ อย่าไปหลงใหล มันจะกลายเป็นเรื่องให้ทุกข์ให้โทษขึ้นมาเสีย ทุกอย่างอย่าไปหลงใหล คือให้มีสติปัญญารู้ว่ามันคืออะไร เราจะต้องทำกับมันอย่างไรจึงจะได้รับประโยชน์เป็นความสงบสุข ถ้าหลงใหล มันก็เป็นเรื่องบ้าบอ เป็นสุขอย่างหลอกลวง สุขที่เกิดมาจากความหลงใหล เอาเงินเอาทองไปใช้ในเรื่องกามารมณ์ เรื่องอะไรต่างๆนี้ เรียกว่าเป็นความสุขอย่างหลงใหล คือความสุขโง่ ไม่ได้มาจากความฉลาด ถ้ามีสติปัญญาก็รู้จักทำให้มันสำเร็จประโยชน์ คือมีความสุขจริง เราพูดเป็นคำล้อๆกันว่า “สุก” ก.สะกด หรือว่า “สุข” ข.สะกด
“สุก” ก.สะกดนั้นต้องถูกเผาอยู่ด้วยกิเลสตลอดเวลา ความโลภ ความโกรธ ความหลง มันก็เผาผลาญให้เป็น “สุก” ชนิดนั้น แม้แต่ความสุขทางกามารมณ์มันก็มีความแผดเผาอยู่อย่างหนึ่ง ก็เรียกว่า “สุก” ก.สะกดด้วยเหมือนกัน สุขอบายมุข ดื่มน้ำเมา เที่ยวกลางคืน ดูการเล่น เล่นการพนัน คบคนชั่วเป็นมิตร เกียจคร้านทำการงาน คนโง่คนอันธพาลถือเป็นความสุข ส่วนผู้ที่ฉลาดมีความรู้ก็เห็นว่ามันเป็นอบายมุข คือปากเหว ปากนรก พลัดตกลงไปเป็นทุกข์ นี่ “สุก” ก.สะกด
ถ้า “สุข” ข.สะกดก็ต้องเป็นไปเพื่อความเยือกเย็น เป็นสุขที่สบายทนได้ กว่าจะถึงระดับสุดท้าย ยังมีความสุขประหลาดอีกชนิดหนึ่ง คือความสุขที่เหนือจากความสุข ไอ้ความสุขที่ถูกต้องนี่แหละ ถ้ายังต้องบริหาร ยังต้องรักษา ยังต้องเป็นไปตามอำนาจของมันแล้ว ก็ ก็ยังไม่ ไม่ใช่ดีที่สุด ต้องอยู่เหนือความรู้สึกอันนั้น ก็เรียกว่าความหลุดพ้น เป็นนิพพาน
มีความทุกข์ไม่ไหว มีความสุขก็พอดูได้ แต่สูงไปกว่านั้น ก็คือเหนือความสุข เป็นนิพพาน เหนือดี เหนือชั่ว เหนือบุญ เหนือบาป เหนือสุข เหนือทุกข์ เหนือได้ เหนือเสีย เหนือแพ้ เหนือชนะ กระทั่งเหนือความเป็นผู้หญิง ความเป็นผู้ชาย กระทั่งเหนือความเป็นมนุษย์ไปเลย มันเข้าใจยาก ไว้ทีหลัง ค่อยๆรู้ไปตามลำดับ
เดี๋ยวนี้ขอให้พ้นจากไอ้ “สุก” ก.สะกดที่เคยบูชามาแต่กาลก่อน และก็ถึง “สุข” ข.สะกด คือเย็นให้มันมากขึ้น นี่เรามาหาความรู้เรื่องธรรมะ มันก็อย่างเดียวกับที่ว่าหาความรู้เรื่องเป็นมนุษย์กันให้ถูกต้อง รู้ธรรมะก็เพื่อเป็นมนุษย์ให้ถูกต้อง มีจิตใจสูงอยู่เหนือปัญหา ใช้คำว่าปัญหาคำเดียวก็พอ ความยุ่งยากลำบากทุกอย่างทุกประการที่ทำให้ทนอยู่ไม่ได้ เราเรียกว่าปัญหา บางทีก็เรียกว่าความทุกข์ ถ้าเกิดมาเต็มไปด้วยปัญหา ก็คือเต็มไปด้วยความทุกข์ มันต้องมีวิธีที่จะขจัดออกไป วิธีนั้นต้องถูกต้อง ถ้าไม่ถูกต้องมันก็เป็นความโง่อันใหม่ ไม่อาจจะขจัดปัญหาได้ เราต้องรู้ให้มันถูกต้อง
อยากจะสรุปเป็นหัวข้อที่เรียกว่าสากลกันสักหน่อย คือเป็นธรรมะสากล ไม่ต้องขึ้นอยู่กับศาสนาไหนโดยตรง แต่มันก็ไม่พ้นที่จะขึ้นอยู่กับศาสนาใดศาสนาหนึ่งหรือทุกศาสนา ถ้าอย่างนี้แล้ว ก็ขอให้ช่วยจำคำไว้สัก ๔ คำอีกเช่นเดียวกัน เมื่อตะกี้ ๔ คำ ๔ ความหมายของธรรมะ เดี๋ยวนี้มาถึงเรื่องปฏิบัติ ก็อยากให้จำอีก ๔ คำ เป็นเรื่องของธรรมะที่เป็นธรรมชาติ เป็นกฎธรรมชาติอีกเหมือนกัน ธรรมะแท้นั้นไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง ไม่ใช่ของพระศาสดาคนใดคนหนึ่งบัญญัติควบคุม แต่ธรรมะนั้นเป็นของธรรมชาติ พระศาสดาทั้งหลายเพียงแต่ผู้ค้นพบและเอามาเปิดเผย นี่เราถือว่าเป็นเรื่องของธรรมชาติ โดยธรรมชาติ ตามธรรมชาติ คือตามกฎของธรรมชาตินั่นเอง กฎของธรรมชาติเป็นสิ่งที่เร้นลับที่พระศาสดาแต่ละศาสนาค้นพบ แล้วก็เอามาสอนให้เราปฏิบัติ มีอยู่มากมาย แต่ต่างกันโดยรายละเอียด
กฎของธรรมชาตินั่นแหละเป็นพระเจ้า ฉะนั้นใครๆอย่าอวดดี อย่าโง่ถึงขนาดว่ากูไม่มีพระเจ้า มันจะโง่ถึงที่สุด ให้ทุกคนรู้ว่ากฎของธรรมชาติมันครอบงำเราอยู่อย่างกับพระเจ้า เราไม่รู้ เราโง่ ก็มีคนมาบอกให้ เราควรจะรับฟัง กฎของธรรมชาตินั้นเหมือนกับพระเจ้า ทีนี้พระศาสดาแต่ละองค์ๆในโลกนั้นเหมือนกับปากของพระเจ้า คือจะพูด พระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสเหมือนกับปากของพระเจ้า คือกฎของธรรมชาติตามแบบของพระพุทธเจ้า พระเยซูก็พูดตามแบบพระเยซู พระโมฮัมหมัดก็พูดตามแบบพระโมฮัมหมัด หรือพระศาสดาใดๆในโลกก็เหมือนกับปากของพระพุทธเจ้า พูดเรื่องของพระเจ้า แทนพระเจ้าตามที่ตัวรู้อย่างไร
ระบบพุทธศาสนาทั้งหมดที่ตรัสไว้โดยพระพุทธเจ้าก็คือบอกเรื่องของพระเจ้าที่เป็นกฎของธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องกฎอิทัปปัจจยตา ทุกข์เกิดขึ้นอย่างไร ดับไปอย่างไร ฉะนั้นเรื่องมันก็มาก มีรายละเอียดมาก เดี๋ยวนี้อยากจะพูดให้สั้น เหลือสัก ๔ คำสำหรับนักเรียนนักศึกษาซึ่งมีเวลาน้อย และเป็นกฎของธรรมชาติ หรือหลักของธรรมชาติที่ถอดออกมาในรูปลักษณะที่ว่าเป็นสากลตามหลักวิชารูปแบบของวิทยาศาสตร์
คำแรก คำที่หนึ่ง เราต้องมีความรู้จักตัวเอง ฟังดูแล้วก็น่าหัวว่า ต้องรู้จักตัวเอง ไอ้เด็กโง่ๆมันก็จะเถียงทันทีว่าฉันรู้อยู่ตลอดเวลา ฉันรู้จักตัวเองว่าฉันชื่ออะไร พ่อแม่อะไร อยู่บ้านไหน มันรู้จักตัวเองอย่างนี้ อย่างนี้ไม่ใช่รู้จักตัวเองอย่างที่เราต้องการ รู้จักตัวเองนี่มันต้องรู้ลึกลงไปถึงเรื่องของจิตใจ ว่าจิตใจเป็นอย่างไร กระทั่งโง่หรือฉลาดอย่างไร มีโลภ มีโกรธ มีหลงอย่างไร มีปรกตินิสัยสันดานอย่างไร มีปัญหาอย่างไร มีความทุกข์อย่างไรแผดเผาอยู่เป็นประจำ ต้องรู้จักตัวเองก่อนว่าเป็นไปตามธรรมชาติอย่างไร มันก็ไปเข้ารูปธรรมชาติอีกแหละ เพราะว่าตัวเองมันก็เกิดขึ้นมาโดยธรรมชาติ ตามกฎของธรรมชาติ ฉะนั้นคำที่หนึ่งก็จะพูดว่า รู้จักตัวเอง
ทีนี้คำที่สอง จะพูดว่า เชื่อตัวเอง ถ้าเรารู้จักตัวเอง เราจะมองเห็นอันหนึ่งว่า เรามีความสามารถที่จะปฏิบัติ ที่จะใช้ตัวเองให้เป็นประโยชน์ เพราะเชื่อว่าเราเป็นมนุษย์ ก็ต้องมีความสามารถอย่างมนุษย์ เชื่อว่าเราต้องทำได้อย่างมนุษย์ และเราเชื่อว่าเราจะละความทุกข์หรือว่าตัดปัญหาได้ ให้เรามีความแน่ใจ เชื่อในตัวเองอย่างนี้มันเป็นกำลังจิตในเบื้องแรก จะทำให้เรามุ่งหมายที่จะแก้ปัญหา ถ้าเราไม่เชื่อตัวเองมันก็เหมือนกับยอมแพ้แต่ทีแรก ก็ไม่มีการกระทำ ไม่มีการต่อสู้ ไม่มีการแก้ปัญหา ในทุกคนที่เกิดมานี้ เชื่อว่าเราเป็นมนุษย์ เราต้องทำได้อย่างมนุษย์ เดี๋ยวนี้มันไม่มีความแน่ใจอย่างนั้น มันก็ไม่ได้ทำอย่างที่ถูกต้องที่มนุษย์มันควรจะทำ และก็มีคนเป็นอันมากไม่เชื่อว่าตัวเองจะทำได้ ไม่เชื่อว่าตัวเองจะละมันได้ ฉะนั้นเด็กโง่ๆทั้งหลายเหล่านี้ แม้แต่ทิ้งบุหรี่มันก็ทำไม่ได้ จนกระทั่งเป็นครูบาอาจารย์แล้วมันก็ยังละบุหรี่ไม่ได้ นี่มันไม่มีความเชื่อตัวเองถึงขนาดนี้ ฉะนั้นขอให้เป็นผู้ที่มีความเชื่อตัวเองที่เฉียบขาด ที่เด็ดขาด ว่าเราต้องทำได้ในสิ่งที่ควรทำควรละ ฉะนั้นขอให้มีความเชื่อตัวเอง
ทีนี้ก็มีการบังคับตัวเองให้ทำให้ได้ นี่มันหมายถึงกำลังจิตที่เพียงพอที่บังคับตัวเองให้ได้ ถ้าไม่พอ เราฝึกหัดอบรมให้พอ ที่เรียกว่าฝึกสมาธิ ต้องฝึกกำลังจิตให้พอ แล้วฝึกกำลังกายอะไรตามไปให้มันพอ เรามันอ่อนแอ เราก็ฝึกให้มันเข้มแข็ง ให้มันสามารถ ให้บังคับความรู้สึกได้ ถ้ามันอยากจะไปทำเลว อยากจะไปดูหนัง ไปดูละคร ไปเล่นอบายมุข ก็บังคับให้ได้ ก็ไม่ต้องไป ก็ไม่ต้องเลว ก็ไม่ต้องชั่ว ก็ไม่ต้องเปลือง นี่มันก็เสียอยู่ที่ตรงนี้ ที่บังคับตัวเองไม่ได้ เด็กนักเรียนทั้งหลายก็ไปหาอบายมุข กระทั่งไปทำที่โง่ที่สุด คือเสพยาเสพติด ดูจะไม่มีความโง่อะไรมากไปเท่ากับที่ว่าโง่ไปเสพยาเสพติด มันบังคับตัวเองไม่ได้ ก็ไป ไปแล้วก็บังคับตัวเองไม่ได้ ก็ถอนออกมาไม่ได้ มันก็ติดยาเสพติดตลอดเวลาจนวินาศไป นี้เรียกว่ามันไม่บังคับตัวเอง ทีนี้เรื่องที่จะทำความก้าวหน้าเจริญรุ่งเรืองอย่างอื่นมันก็ต้องบังคับตัวเองทั้งนั้นแหละ แต่ต้นจนปลายกว่าจะเรียนสำเร็จ กว่าจะประกอบอาชีพสำเร็จ กว่าจะควบคุมความชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีที่สุดจนกว่าจะตาย มันต้องเต็มไปด้วยการบังคับตัวเอง
ทีนี้ก็มาถึงสิ่งที่จะเรียกว่าสุดท้ายก็ ก็ได้ คือความเคารพนับถือตัวเอง ว่าเกิดมาไม่เสียชาติเกิด อะไรๆที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ เราก็ได้ ก็เคารพตัวเอง ถึงยกมือไหว้ตัวเองได้ นี่ทุกคนไปสอบสวนตนเองดูแต่ละวันๆ พอตกเย็นลงหรือจะนอนแล้ว ก็ลองคิดดูว่าวันนี้ทำอะไรดีขนาดจะไหว้ตัวเองได้ ดูจะเหลว เห็นแต่ความผิดพลาด ไม่น่าไหว้ บางทีจะขยะแขยงตัวเองเสียอีก ขอให้ใช้เป็นบทเรียนปิดบัญชีประจำวัน วันนี้ทำอะไรที่ดีขนาดที่จะไหว้ตัวเองได้ แล้วก็จะได้ไหว้ตัวเอง นี้เคารพตัวเอง เป็นความสุข เดือนหนึ่งก็ควรจะสอบสวนดูทีหนึ่ง ปีหนึ่งก็ควรจะสอบสวนกันครั้งใหญ่สักทีหนึ่งว่าอะไรที่เคารพตัวเองได้ดีขึ้นสำหรับปีนี้
เราเลยได้ ๔ ความหมาย หนึ่ง เชื่อตัวเอง เอ่อ, หนึ่ง รู้จักตัวเอง สอง เชื่อตัวเอง สาม บังคับตัวเอง สี่ เคารพตัวเอง เป็นหลักของพระศาสนาทุกศาสนา โดยเฉพาะพุทธศาสนามีปัญญามาก่อน เรียกว่า สัมมาทิฐิ รู้จักตัวเอง แล้วก็มีศรัทธา มีความรู้เกิดขึ้น มีความปรารถนาอะไรที่มันถูกต้อง เรียกว่ามันเชื่อตัวเอง แล้วก็บังคับตัวเองให้ประพฤติเป็นศีล สมาธิ ปัญญา แล้วแต่จะปฏิบัติอย่างไร ก็บังคับตัวเองให้ทำ แล้วก็เคารพตัวเอง คือได้รับผลแห่งการปฏิบัติ บรรลุมรรคผล คำสุดท้ายก็เรียกว่า วิมุตติญาณทัสสนะ รู้ว่าเราหลุดพ้นจากความทุกข์แล้ว มีความสุข พอใจตัวเองอยู่ เรียกว่าเคารพตัวเองได้
พวกฝรั่งเขาเคยสนใจเรื่องนี้กันมากจนเขาบัญญัติคำเหล่านี้ไว้ในแบบฉบับประมวลศีลธรรม ไอ้ฝรั่งที่มาบ้านเราแรกๆ ตอนแรกๆน่ะก็มาสอน มาอวดไอ้ความรู้หรือคุณค่าแบบนี้ทั้งนั้นแหละ มาคุยฟุ้งไปเลยจนเราเลื่อมใสเขาแหละ ไม่เหมือนฝรั่งเดี๋ยวนี้ที่เขามาหาเงิน เขามาโอ้อวด กระทั่งมาหลอกลวง ถ้าเป็นฝรั่งรุ่นโน้นที่มาสร้างความนับถือแก่พวกเราชาวตะวันออกนี้ มันมาอวดไอ้เรื่องอย่างนี้ มีคุณสมบัติ ๔ ประการนี้ รู้ตัวเอง เขาเรียกว่าไอ้ Self Knowledge ความรู้เกี่ยวกับตัวเองนี้ แล้วก็เชื่อตัวเอง ก็มีคำว่า Confidence Self Confidence มันเชื่อตัวเอง แล้วมันมีคำว่า Self Control Control ที่จะบังคับตัวเอง และมันมีคำว่า Self Respect มันไหว้ตัวเองได้ เคารพตัวเองได้
หนังสือศีลธรรมจรรยายุคหนึ่งก็เอาคำเหล่านี้ไปบรรจุเข้าไว้เป็นระเบียบสากล เป็นหลักสากล ต่อมามันก็หายๆไป กลายเป็นเรื่องประโยชน์ เรื่องวิทยาศาสตร์ เรื่องวัตถุ เรื่องความก้าวหน้า เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องการเมือง เรื่องอุตสาหกรรมไปเสีย ไอ้หลักศาสนามันก็ถูกละเลยไม่เอามาพูดถึง ฉะนั้นจึงขอนำมาแสดงแก่ท่านทั้งหลายว่า ถ้าชอบหลักธรรมะสากลถอดรูปออกมาจากศาสนาทุกแบบแล้วก็ ให้มีความรู้จักตัวเองว่าเกิดมาทำไม เป็นมนุษย์อย่างไร อะไรอย่างนี้ และให้เชื่อตัวเองว่าเราต้องทำได้อย่างนั้น แล้วก็บังคับตัวเองให้ทำได้อย่างนั้น เสร็จแล้วก็พอใจ เรียงลำดับอย่างนี้ แต่ก็มิใช่ตายตัว มันจะแทรกแซงการเรียงลำดับก็ได้ เช่นว่า ไอ้ความเคารพตัวเองนี้ต้องมีตลอดเวลา มีตั้งแต่แรกๆที่ ที่ทำให้มันจะเชื่อตัวเอง บังคับตัวเอง ในที่สุดจึงมาเคารพตัวเองในลำดับสุดท้าย แต่เราต้องเคารพตัวเองมาตั้งแต่แรกเริ่มเดิมที มาเจือกันอยู่
นี่อยากจะบอกว่าเป็นความจริงอันหนึ่ง และเป็นความลับด้วย ที่ว่าธรรมะทุกข้อในศาสนานั้นก็ต้องรวมหัวกัน แยกออกเป็นข้อๆนี่เพื่อจะศึกษาเท่านั้นแหละ พอถึงคราวที่มันจะทำงานของมันจริงๆแล้วมันจะรวมหัวกัน กลมเกลียวกัน เขาเรียกว่าธรรมสมังคี ธรรมสมังคี “สมังคี” แปลว่ามันมีส่วนประกอบที่กลมกลืนกัน “สม” (สะ-มะ) แปลว่า สม่ำเสมอกลมกลืนกัน “มังคี” แปลว่า มีส่วนประกอบ “สมังคี” มีส่วนประกอบที่เสมอกัน เช่น ธรรมะ ๘ ข้อก็ต้องมีส่วนประกอบที่มากลมเกลียวกัน ธรรมะ ๓ ข้อก็มีส่วนประกอบที่มากลมเกลียวกัน เดี๋ยวนี้เรามีธรรมะ ๔ ข้อ คือ รู้จักตัวเอง เชื่อตัวเอง บังคับตัวเอง เคารพตัวเอง ต้องเอามาทำให้กลมกลืนกัน มันจึงจะสำเร็จประโยชน์เป็นธรรมะที่ใช้ประโยชน์ได้ นี่เรียกว่ากฎความจริงอันหนึ่งของธรรมชาติด้วย ธรรมะแต่ละข้อๆ อย่างศีลก็มีหน้าที่อย่าง สมาธิก็มีหน้าที่อย่าง ปัญญาก็มีหน้าที่อย่าง แต่พอเอาเข้าจริง มันมา มาปนกัน ไอ้ ไอ้ปัญญาต้องมีตลอดเวลาที่มีศีลมีสมาธิ มีศีลแล้วก็มีสมาธิมากขึ้น มี มีสมาธิแล้วปัญญาก็มีมากขึ้น ปัญญาก็ช่วยกันครอบ ครอบงำให้มันทั้ง ๓ อย่างนี้มันเป็นไปด้วยกัน ฉะนั้นเราจะต้องมีความเคารพตัวเองอยู่ตลอดเวลา อย่าให้เสียชาติเกิดมาเป็นมนุษย์ และก็มีความเชื่อว่าเราทำได้ และก็เราทำอยู่ด้วยความเคารพนับถือตัวเอง บังคับตัวเองด้วยความเคารพนับถือตัวเอง เราก็ได้ผลเป็นที่พอใจ
เพราะฉะนั้นถ้าชอบอย่างนี้ก็ได้ พูดเป็นหลักธรรมชาติธรรมดาที่สุดแปลว่า รู้จักตัวเอง มีความรู้เกี่ยวกับตัวเอง เรียกว่า Self Knowledge แล้วก็เชื่อว่าตัวเองมีความสมบูรณ์แห่งความเป็นมนุษย์ ต้องทำได้ อันนี้เรียกว่าไอ้ Self Confidence แล้วก็บังคับตัวเองได้ เรียกว่า Self Control ถ้าไม่บังคับได้ก็ต้องทำชั่วเท่านั้นน่ะ เพราะความชั่วมันดึงดูดกว่า ทีนี้ในที่สุดก็มี Self Respect เคารพนับถือตัวเองได้ ผิดจากนี้แล้วมันก็ไม่มีความเป็นตัวตน ไม่มีความเป็นมนุษย์ที่เป็นตัวเป็นตนได้ มันเหลวละลายเป็นความชั่วไปเสีย
เอ้า, ทีนี้เวลาเหลืออีกนิดหนึ่ง ก็จะพูดเรื่องไอ้ตัวตน ที่เรียกว่า Self Self นี่ มัน มันเล่นตลก มันเป็นตัวตนที่เราจะต้องรู้จักประพฤติให้ถูกต้องตามกฎธรรมชาติที่มันสร้างมาเพื่อให้มีตัวตน คือเดี๋ยวนี้เราทุกคนนี่รู้สึกว่าเรามีตัว มีตัวฉัน มีตัวกู แล้วก็มีความรู้สึกเห็นแก่ตัวกูมาตลอด นี้ก็ต้องระวังให้มันเป็นตัวกูที่ถูกต้อง ให้เป็นความรู้ที่ถูกต้อง คือให้ได้ตัวกูที่ดี ให้สิ่งที่เรียกว่า Self นั้นน่ะ มันเป็นไปแต่ในทางดีๆๆๆ จนกว่าถึงที่สุดที่จะเลิกกัน เลิก ไม่มีตัวตนกัน อย่างพูดอย่างอุปมา คริสเตียนเขาว่าเราดีๆๆๆจนถึงที่สุดแล้วก็เลิกเราเสีย เราไปเป็นพระเจ้าเสีย ไปอยู่กับพระเจ้า เป็นพระเจ้าเสีย ก็เลิกตัวเราเสีย
พุทธศาสนานี้ก็มีคำสอนเรื่องตัวตน ต้องทำดี ให้ตัวตนดีๆๆๆ จนกระทั่งว่าอยู่เหนือความดี เป็นโลกุตระ บรรลุนิพพานเสีย ฉะนั้นจะต้องมีไอ้ตัวตนนี้ให้ถูกต้อง ไม่มีตัวตนที่เลวที่ชั่ว มีแต่ตัวตนที่ดี ทำให้สำเร็จในข้อนี้เสียก่อน ให้มีตัวตนที่ดีก่อน ฉะนั้นจะเห็นว่าดีก็ยังต้องแบกตัวเอง ยังต้องเวียนว่ายอยู่ในความดี ให้ต้องยึดถือ ต้องพิทักษ์รักษาอะไร ก็อยากจะพ้นนี่เสียที ก็เรียกว่าว่าง เหนือดีขึ้นไปก็ว่าง เรียกว่า สูญญตา หมายถึงนิพพาน ว่างอย่างยิ่ง ว่างจากตัวตน ว่างจากกิเลส ว่างจากความทุกข์ มีแต่จิตรู้สึกอยู่ว่าพ้น ว่าอยู่เหนือปัญหาโดยประการทั้งปวง จิตละชั่วแล้ว จิตพ้นดีแล้ว จิตก็ไปอยู่กับความว่าง ไม่มีอะไรที่เป็นปัญหา หรือเป็นเครื่องทำให้เกิดความทุกข์ ตอนนี้มันเป็นเรื่องละตัวตน ไว้พูดกันทีหลังก็ได้
เดี๋ยวนี้เราพูดกันเรื่องละตัวตนที่เลวเสียให้ได้ก่อนเถอะ มันมีปัญหาร้ายกาจขวางอยู่ตรงนี้ เราละตัวตนที่เลวไม่ได้ เรายังชอบอบายมุขอยู่ สิ่งที่ให้เกิดกิเลสก็ยังชอบอยู่ ละเสียให้ได้ ละตัวตนชั่วเสียให้ได้ แล้วก็มามีตัวตนที่ดี จนยกมือไหว้ตัวเองได้ตลอดเวลา นี่เห็นว่ายังมีภาระ อยากจะหมดภาระ ทางพุทธศาสนาเขาใช้คำว่าอยากจะหมดภาระ สลัดภาระให้จิตเป็นอิสระ จึงจะพ้นจากตัวตนที่ดี เป็นว่างจากตัวตน เป็นความรู้อันสุดท้าย พระอรหันต์น่ะเขาเรียกว่า โอหิตภาโร แปลว่าวางภาระลงเสียได้ ภาระเรื่องชั่ว เรื่องดี เรื่องสุข เรื่องอะไรนี้ วางลงเสียได้ เป็นผู้ไม่มี ไม่มีหาบ มีหาบหนักๆที่วางลงเสียได้ ไอ้ของดีมันก็หนัก มันหนักไปตามแบบของดี ของชั่วมันก็หนักไปตามแบบของชั่ว ทีนี้วางของหนักลงเสียได้ นี่เรียกว่าผู้วางหาบ นั่นคือพระอรหันต์
เรายังแบกชั่วไว้เต็ม เต็มหนัก บูชาความชั่ว ความเอร็ดอร่อยทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทำอะไรเพื่อสิ่งนี้ เลยไม่ ไม่มีศีลธรรม โดยเฉพาะศีลธรรมทางเพศดูจะหายไปหมด เพราะเราเป็นทาสของความรู้สึกฝ่ายต่ำหรือฝ่ายชั่ว ยังหาบฝ่ายชั่วอยู่อย่างยิ่ง ทีนี้ก็ละเสียมาหาบฝ่ายดี ดีอย่างยิ่ง ก็ยังรู้สึกว่ามันต้องหาบหรือต้องหนัก ก็วางอีกทีหนึ่ง ถ้าจะเปรียบเทียบ จะรู้ด้วยการเปรียบเทียบก็รู้ได้เองแหละ เมื่อเวลาทำชั่วจิตเป็นอย่างไรนี่ อาตมากล้าพูดว่าทุกคนมันมีความชั่ว ทำความชั่ว เมื่อทำความชั่ว จงศึกษาตัวความชั่วให้รู้จักความชั่ว เมื่อทำความดี จงรู้จักศึกษาตัวความดีที่กำลังมีอยู่ว่าความดีนั้นเป็นอย่างไร
ทีนี้บางเวลาจิตของเราว่าง จิตของเราเป็นอิสระ ไม่ติดอยู่กับดีกับชั่ว ก็ศึกษาว่าความว่างนั้นเป็นอย่างไร ศึกษาความชั่วให้รู้จักความชั่ว ศึกษาความดีให้รู้จักความดี ศึกษาความว่างให้รู้จักความว่าง นี่เราพูดกันอย่างนี้ มาหาความรู้เรื่องนี้สำหรับไปใช้ให้เป็นประโยชน์ ให้รู้เรื่องความชั่ว ให้รู้จักความดี ให้รู้จักความว่างที่อยู่เหนือความชั่วความดี ถ้าได้ความรู้นี้ไปก็คุ้มค่าที่มาสวนโมกข์ เสียเงิน เสียเวลา ไม่ได้ความรู้อันนี้ไปก็โง่กลับไป โง่มาแล้วก็โง่ไป บางคนมาที่นี่ไม่ได้ความรู้อะไรกลับไปก็มี มาเล่น มาหัว มาหยอก มาล้อ กันอย่างเด็กหญิงเด็กชายนี้ก็มี ไฟฟ้ายังไม่ทันติดตอนตีสี่ มีเสียงเด็กหญิงจี๊ดจ๊าดอยู่แถวนี้ อาตมาได้ยินด้วยหูเอง อย่างนี้คงไม่ได้อะไรกลับไปแน่ ฉะนั้นขอให้มาด้วยความเป็นนักเรียนนักศึกษาเพื่อจะรู้ไอ้สิ่งที่อุตส่าห์ลงทุนมา เสียเวลา ไปหลอกแม่ขอเงินมาร้อยบาทมาสวนโมกข์ แล้วไม่ได้อะไรกลับไป นี่มันเป็นขบถ เป็นการทรยศอย่างยิ่งต่อพ่อแม่ที่มีพระคุณ
ฉะนั้นขอให้สนใจ ให้ได้รับประโยชน์ มาศึกษาความรู้ทางพระศาสนา ทางธรรมะเพื่อความเป็นมนุษย์ของตน ให้ได้รับประโยชน์คุ้มค่าที่มา ที่เหนื่อย ที่เปลือง ก็ขออนุโมทนาด้วย ถ้าไม่ได้ประโยชน์อะไรก็ไม่ขออนุโมทนาด้วย จึงหวังว่าทุกคนจะได้พยายามให้รับประโยชน์คุ้มค่าของการมา ของเวลาที่เสียไป คุ้มค่าเหนื่อย คุ้มค่าเปลือง
ขอให้นักเรียน นักศึกษา ครูบาอาจารย์ทั้งหลายได้รับประโยชน์จากการมาที่นี่ อย่างน้อยที่สุดก็มานั่งกลางดิน ในที่อาศัยนั่งนอนของพระพุทธเจ้าผู้ประสูติกลางดิน ผู้ตรัสรู้กลางดิน ผู้นิพพานกลางดิน สอนก็กลางดิน กุฏิก็พื้นดิน ไม่เหมือนไอ้คนโง่ๆมันหวังแต่จะขึ้นโรงแรม คนโง่ๆที่นั่งอยู่ที่นี่ก็ได้ มันหวังแต่จะขึ้นโรงแรม มันไม่ชอบที่จะนั่งกลางดิน ตรัสรู้กลางดิน นิพพานกลางดิน อะไรกลางดินเหมือนพระพุทธเจ้า แล้วมันจะฆ่าตัวมันเองให้ตายลงไปทีละน้อยๆ เกิดมาเสียชาติเกิด ไอ้คนโง่เหล่านั้น ฉะนั้นขอแสดงความหวัง ขออธิษฐานจิตว่าอย่าได้มีอย่างนี้เลยในหมู่พวกเรา จงเป็นพุทธบริษัทผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานอยู่ตลอดเวลา จนกว่าจะถึงที่สุด
ในที่สุดนี้ขออวยพรอ้างคุณพระรัตนตรัย ธรรมะอันสูงสุดคือกฎของธรรมชาติ จงควบคุมจิตใจ ช่วยควบคุมจิตใจของท่านทั้งหลายให้มั่นอยู่ในความถูกต้อง ให้รู้จักตัวเอง ให้เชื่อตัวเอง ให้บังคับตัวเอง ให้ไหว้ตัวเองได้ แล้วก็เป็นผู้มีความสุขก้าวหน้าในทางของธรรมะ ของความเป็นมนุษย์ที่ถูกต้องอยู่ทุกทิพาราตรีกาลเทอญ
จะกลับแต่เช้านี้เลยหรือ? อาตมาขอถือโอกาส... อะไร... ส่ง... ท่านทั้งหลายถือโอกาสลา อาตมาก็ถือโอกาสส่งว่า ให้เอาสวนโมกข์ติดไปด้วย คือไม่ลืมอะไรที่เราพูดกันที่นี่ และก็ไม่ลืมเอาติดไปด้วย นี่เรียกว่าพาสวนโมกข์ติดไปด้วย ไปถึงบ้านแล้ว ไปถึงที่อยู่แล้ว ก็ขอให้มีจิตใจที่เกลี้ยงเกลาเยือกเย็นเหมือนกับอยู่กับธรรมชาติในสวนโมกข์นี้ และทำการทำงานหน้าที่ของตน จะเป็นการศึกษาเล่าเรียนก็ได้ งานอาชีพก็ได้ อะไรก็ได้ ด้วยความสุขความพอใจในการงานนั้น ไม่ต้องเอาเงินไปซื้อหาที่ไหน
ถ้าเชื่อพระพุทธเจ้าก็ ก็ขอให้สนใจคำสั่งคำสอนของท่าน ถ้าไม่เชื่อพระพุทธเจ้าจะมาทำไมที่นี่ ก็แปลว่าท่านเชื่อพระพุทธเจ้า ท่านอยากจะได้ความรู้ท่านจึงมา ฉะนั้นขอให้เชื่อพระพุทธเจ้าสักข้อหนึ่งว่า พระนิพพานนั้นให้เปล่า ความสุขที่แท้จริงนั้นให้เปล่า ไม่ต้องเสียเงินซื้อ ถ้าต้องเสียเงินซื้อแล้วเป็นไอ้ความสุขหลอกลวง หรือยังไม่ใช่ความสุข พระนิพพานให้เปล่า เราพอใจในความเป็นมนุษย์ของเรา ทำหน้าที่ของความเป็นมนุษย์อยู่แล้วมีความสุขที่สุด นั่นคือสุขจริง สุขอย่างพระนิพพานให้เปล่าไม่ต้องเสียสตางค์ เล่าเรียนอยู่ก็ดี ทำงานอยู่ก็ดี พอใจในการกระทำแล้วเป็นสุข เมื่อนั้นน่ะก็คือพระนิพพานที่ได้เปล่าไม่ต้องเสียสตางค์ ขอให้มีกำไรมากๆกันอย่างนี้ทุกคนด้วย.