แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านที่เรียกตัวเองว่าครูบาอาจารย์ทั้งหลาย อาตมาขอแสดงความยินดีในการมาของท่านทั้งหลายสู่สถานที่นี้ ในลักษณะอย่างนี้ คือเพื่อแสวงหาความรู้ทางธรรมะ เพื่อไปใช้ประกอบหน้าที่การงานของตนให้มีความก้าวหน้ายิ่งๆขึ้นไป เป็นสิ่งที่มีเหตุผลควรแก่การอนุโมทนา จึงขออนุโมทนาเป็นสิ่งแรก นี่อยากจะทำความเข้าใจ เป็นสิ่งที่สอน ก็คือการใช้โลก เวลา 05:00น. ให้เป็นประโยชน์ โดยมากเขายังใช้นอน หาความสงบสุข ในเมื่อต้องออกมาจากที่นอน ในเวลาอย่างนี้ก็ไม่พอใจ เสียดาย กระฟัดกระเฟียด แต่ถ้าว่าผู้ใดมีความสดชื่นแจ่มใส เหมาะที่จะศึกษาอะไรตั้งแต่เวลา 05:00น. นั่นก็หมายความว่า เขาได้เพิ่มชีวิตให้มากขึ้นไปอีกอย่างน้อยก็ 1 ชั่วโมง แต่พึงรู้ว่า ไม่ใช่ชั่วโมงธรรมดากลายเป็นชั่วโมงพิเศษ ที่มีประโยชน์ หรือ มีคุณค่า เพราะว่าโลกเวลา 05:00น. นั้นเป็นเวลาเตรียมสว่างของธรรมชาติ เบิกบานของธรรมชาติ แม้แต่ไก่กำลังขันอยู่ ท่านก็ลองนึกดู มันตื่นสนิทแล้ว ดอกไม้ในป่านี่มันเริ่มบานเวลา 05:00น. ที่มีความหมายมากที่สุดก็คือ พระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสรู้เวลา 05:00น. อย่างนี้ แล้วจะเอาไปนอนหาความสุขมันดูมันยังไง หัดเป็นนิสัยพอถึงเวลา 05:00น. จับกระดาษดินสอเขียนอะไรได้เลยโดยไม่ต้องล้างหน้านั่นล่ะยิ่งดีที่สุด ซึ่งจะเกิดนิสัยอันใหม่ขึ้นมา แคล่วคล่องว่องไว แล้วก็สดชื่นแจ่มใส แล้วก็ไม่งัวเงีย ในเวลาที่ในจิตใจยังเติมอะไรเข้าไปได้ เรียกอย่างสำนวนพวกเซ็นพวกหนึ่ง เขาเรียกว่า เวลาที่น้ำชายังไม่เต็มถ้วย ยังเติมลงไปได้ ถ้าว่ามันเที่ยง สาย บ่าย เย็นไปแล้ว มันเต็มถ้วย หรือว่าเต็มไปด้วยน้ำซึ่งไม่ใช่น้ำชาก็ได้ เติมไม่ลง โอกาสที่ยังเติมได้ดีก็คือ เวลาที่น้ำชายังว่าง ถ้วยชายังว่าง ลองปรับปรุงให้ใช้โลกเวลา 05:00น.เป็นเวลาสนุกที่สุด แจ่มใสที่สุด สะอาดที่สุด อะไรที่สุด(นาทีที่ 05:19) มันก็จะมีชีวิต นั่นที่พอจะเรียกได้ว่า ชีวิตใหม่ก็ได้ ที่นี่เราจึงใช้เวลา 05:00น. โดยเฉพาะกับพวกฝรั่ง เคร่งครัดดีมาก รู้จักใช้เวลา 05:00น. ซึ่งก็ฝืนนิสัยพวกฝรั่งอยู่มากนะ แต่เขาก็ทำได้อย่างสนุกสนาน
ทีนี้ก็มาถึงเรื่อง ธรรมะ เรื่องธรรมะ เรื่องนี้จะต้องมีหัวข้อว่า เป็นการพัฒนาตัวเองให้ถึงที่สุดแห่งความเป็นมนุษย์ เมื่อมีธรรมะถึงที่สุดในความเป็นมนุษย์นะ พอถึงที่สุด ธรรมะมันแปลว่าความถูกต้อง เพราะฉะนั้นสำหรับไม่มีความทุกข์ หรือแปลว่าถูกต้องสำหรับความเป็นมนุษย์ ก็ในความหมายที่คล้ายๆกัน ด้วยหลักสั้นๆว่าชีวิตเป็นสิ่งที่ต้องรับผิดชอบ และต้องพัฒนา เพราะว่าในสมัยประชาธิปไตยนี้บางคน จะถือสิทธิเสรีภาพว่า ไม่รู้ ฉันไม่ได้สัญญาอะไรว่าจะเกิดมาแล้วจะทำอะไร ฉันไม่ต้องรับผิดชอบในการเกิดมา นั่นมันก็ถูกล่ะ ถูกสำหรับคนชนิดนั้น แล้วก็ลองดู ลอง ลองดู มีข้อแก้ตัวอย่างนี้ ไม่ต้องพัฒนาชีวิตก็ได้เหมือนกัน แต่ละคนมันก็ต่างกันมาก ธรรมชาติไม่ได้ยกเว้นให้ ถ้าไม่ถูกต้องตามกฏของธรรมชาตินั่นก็คือต้องเป็นทุกข์ นั่นต้องเป็นทุกข์ นี่ต้องเดือดร้อน นั่นเป็นข้อแรก มันไม่มี... (นาทีที่08:30) ของความเป็นมนุษย์ ไม่ถึงที่สุดของความเป็นมนุษย์ คือ มีจิตใจอยู่สูงเหนือปัญหา เหนือความทุกข์ เหนือความยุ่งยาก ถ้าจิตใจมันจมอยู่ในความยุ่งยาก หรือความเศร้าหมองแล้วไม่ใช่มนุษย์ เพราะคำว่ามนุษย์มันแปลว่าใจสูง ถ้าเป็นแต่เพียงคน ก็ไม่ได้มีความหมายอย่างนั้น ก็ตามใจ สมัครเป็นแต่เพียงคนก็ได้ ไม่ต้องมีจิตใจสูง แต่ระวัง เผลอนิดเดียวมันก็ไปอยู่ระดับเดียวกับสัตว์ สัตว์กับคน มันเหมือนกันหรือเท่ากัน มันต่างกันเพราะคนมันมีธรรมะ จนกลายเป็นมนุษย์ ต่างกันเพราะเหตุนี้ ดังนั้นเราจึงแสวงหาธรรมะ นั่นคือสิ่งที่ทำให้เกิดความแตกต่างกันระหว่างคนกับสัตว์ นี่เรื่องว่า มันต้องพัฒนาให้เป็นอย่างนั้น ไม่อย่างนั้นมันจะไม่ได้อะไร หรือมันจะได้ความเลวร้าย แล้วก็เข้าไปในรูปแบบที่ว่าเสีย เสียชาติเกิด ไม่ได้แสดงความเป็นมนุษย์ที่ถูกต้องและสมบูรณ์หรือเสียชาติเกิด เพราะฉะนั้นเราจึงต้องมีความรู้สำหรับพัฒนาชีวิต แล้วในเมื่อพูดถึงครู ครูแล้วมันยิ่งมีความหมายมากกว่านั้น คือเป็นผู้นำ คำว่าครู ครูนี่ ตามภาษาอินเดียนี่สูงสุด สูงสุด คำว่าอาจารย์ หรือแม้แต่คำว่า อุปัชฌาย์นี่ มันต่ำอยู่ในระดับธรรมดา ในภาษาสันสฤต ยิ่งเห็นชัดมาก นี่มีเรื่องที่จะให้เห็นอย่างนั้น(นาทีที่ 10:56) ครู ครูนี่มันสูงสุด ของพวกผู้สอน ผู้สอนเรื่องทางจิตใจโดยเฉพาะ ให้มีจิตใจสูงสุดเป็นหน้าที่ของครู เพราะฉะนั้นจึงแปลว่า ผู้เปิดประตูทางวิญญาณ นี่เป็นการค้นพบใหม่ในทาง สรรพศาสตร์(นาทีที่10:24) ของภาษา ครุนี้รูทของคำแปลว่า เปิดประตู เปิดประตู คือ เปิดประตูให้สัตว์ออกมาเสียจากความโง่เขลา ความทนทุกข์ทรมาน ในส่วนจิตใจ ในด้านจิต ด้านวิญญาณ มันจะเรียกว่าครู เคารพกันสูงสุด อุปัชฌาย์อาจารย์ที่สอนวิชาชีพ คือไม่ได้สอนหนังสือหนังหาตามธรรมดา เคยอ่านพบว่า ครูสอนดนตรีเขาเรียกว่าอุปัชฌาย์ก็มี คำว่าอุปัชฌาย์อาจารย์ในภาษาเดิมๆเขาสอนวิชาชีพ หรือ ระดับเรียกว่าสอนหนังสือ แต่ไม่ได้สอนให้จิตใจสูง สูงอยู่เหนือปัญหาโดยประการทั้งปวง นี่ดังนั้นผู้ที่มีอำนาจวาสนา มีสติปัญญาไปยกย่องบุคคลที่เรียกว่าครู ว่าสูงสุด สูงสุด เป็นครูของพระราชามหากษัตริย์ ผู้นำโลกนำคน แต่พอมาถึงเมืองไทยมันไม่ทราบว่าด้วยเหตุอะไร จะด้วยเหตุบังเอิญอะไรก็ไม่ทราบ มันก็เปลี่ยนความหมาย จนกลายเป็นว่า ครูอาจารย์บางคนน่ะ ไม่อยากให้ใครเรียกว่าครู เพราะรู้สึกว่ามันครึคระ อยากให้เรียกว่าอาจารย์ หรือเรียกว่าศาสตราจารย์ไป นี่เล่าให้ฟัง จะเอาหรือไม่เอา จะชอบหรือไม่ชอบก็สุดแท้แต่ว่า ควรจะรู้ไว้ว่าคำว่าครูมันเคยมีความหมายสูงสุดอย่างนี้ เรียกว่าคุรุ มหาคุรุ อภิชาติคุรุ รัฐคุรุ มันไปลิบเลย แต่ถึงอย่างไรก็ตามก็จะเรียกว่าครูหรือเรียกว่าอาจารย์ ในประเทศไทยมันก็ยังทิ้งหลักการขณะนั้นไม่ได้ ว่าจะต้องเป็นผู้นำในทางวิญญาณ ในทางวิญญาณ คือ พาคนไปให้ถูกทางในลักษณะที่เรียกว่า สร้างโลก ว่าตามที่จริงเนี่ย ครูน่ะเป็นพระเจ้าผู้สร้างโลก เพราะว่าครูทำให้เกิดคน พลเมืองขึ้นมาในลักษณะอย่างไรในโลก มันก็เป็นอย่างนั้น โลกมันก็เป็นตามที่พลเมืองเป็น เพราะฉะนั้นครู ทำให้คนเป็นได้เท่าไรมันก็เป็นเพียงเท่านั้น แต่ก็อยู่ในลักษณะที่เรียกว่า สร้างโลกชนิดนั้น นี้มันก็เป็นความหมายที่พิเศษ ที่ถือว่ามันเกียรติยศสูงสุด แต่ว่าครูนี่รักขวดเหล้ามากนะ ไม่รักเกียรติยศชนิดนี้ เพราะมันยังมีครูที่ชอบหิ้วขวดเหล้า อุ้มไก่ชน ยังมีอยู่เหมือนกัน เขาก็สั่นหัวชึ้บเลย ไม่รักเกียรติยศถึงขนาดที่ว่า เป็นผู้สร้างโลกเขาไม่เอา ได้เป็นผู้สร้างโลกก็ไม่ได้หิ้วขวดเหล้า นี่พูดกันอย่างตรงไปตรงมา
สำหรับความหมายของคำว่าครู ท่านที่อยู่ในฐานะที่เป็นครูหรือว่าเป็นอาจารย์ สอนวิชาชีพ ก็สุดแท้ แต่มันก็อยู่ในลักษณะที่สร้างโลกอยู่นั่นแหละ ครูทำให้เด็กดีกันมาได้เท่าไร ประชาชนดีขึ้นมาได้เท่าไร ก็สร้างกันมาได้ขนาดนี้ เพราะฉะนั้นครูเขาจึงจัดไว้ ถูกจัดไว้ในฐานะที่เป็นปูชนียบุคคล นั่นคือคนที่โลกบูชา สมควรบูชา หรือต้องบูชา ปูชนียบุคคล หมายความว่า เสียสละ ทำประโยชน์ให้แก่สังคม หรือโลกนี่มากมายมหาศาล รับการตอบแทนเล็กน้อย โดยมากเพียงแต่พออยู่ได้ไม่ต้องตาย พระพุทธเจ้าเป็นบรมครู ก็รับเงินเดือนวันละบาท บาตรที่ใช้ขอทานตอนเช้าๆ ได้รับเงินเดือนวันละบาท แต่ว่าเป็นบรมครูของโลก นี่เรียกว่ามันอยู่ที่สิ่งที่ให้แก่ประชาชนน่ะมันมีค่าสูงสุดนับไม่ไหว ส่วนที่ได้รับตอบแทนนี่เกือบจะไม่มี เมื่อเกือบจะไม่ต้องรับ แต่ความจำเป็นที่ว่ามันต้องมีอาหารกิน เพราะฉะนั้นก็ต้องรับอาหาร รับเพียงอาหาร เมื่อสิ่งที่ให้แก่โลกมากมาย รับสิ่งตอบแทนเพียงเล็กน้อย มันก็กลายเป็นปูชนียบุคคลไป ที่จริงสิ่งที่ท่านได้รับน่ะมันไม่ใช่สิ่งตอบแทนนะ พูดให้ถูกต้องใช้คำว่าเครื่องบูชาคุณ ไม่ใช่สิ่งตอบแทน เพราะว่าเจตนารมณ์ของครูไม่ได้ทำงานเพื่อแลกสิ่งตอบแทน ทำงานเพื่อยกมนุษย์ให้อยู่เหนือปัญหา ที่เขาพอใจ เขาจึงตอบแทน ไม่ต้องการอะไรมากก็เพียงแต่มีชีวิตอยู่ได้ ให้อาหารเล็กน้อย มีเครื่องนุ่งห่มเล็กน้อย ที่อยู่อาศัยเล็กน้อย พออยู่ไปได้ ก็เลยกลายเป็นปูชนียบุคคล ก่อนโบราณมีปูชนียบุคคลอยู่หลายอาชีพ เช่น หมอ หรือ ว่าพวกที่เสียสละเพื่อประโยชน์แก่สังคมมากๆนี่ ก็อยู่ในลักษณะปูชนียบุคคล แต่มันค่อยๆเปลี่ยน ค่อยๆเปลี่ยนมาเป็นเรื่องเห็นแก่ตัว แล้วก็หมดไปๆ เหลืออยู่เพียงไม่กี่อย่าง เช่น อาชีพครู ถ้าเป็นครูแท้จริงมันก็เป็นปูชนียบุคคลเพราะว่ามันให้มากกว่าที่รับ อาชีพหมอแต่โบราณก็เหมือนกัน ไม่ได้ให้ทำเป็นอาชีพค่าจ้างร่ำรวย ทำเพื่อช่วยคน นักบวชก็มีหลักการอย่างนั้น เดี๋ยวนี้เรายังจะมองเห็นว่า แม้แต่พวกตำรวจ ทหาร ถ้าเขาเป็นอย่างถูกต้องแท้จริง เสียสละชีวิต เพื่อประโยชน์ผู้อื่นแล้วรับสิ่งตอบแทนเพียงเป็นอยู่ได้มันก็ควรจะถูกจัดไว้ในปูชนีย ในพวกประเภทปูชนียบุคคล สมัยโบราณ เขาจัดพวกทหารไว้ในวรรณะกษัตริย์ คือวรรณะสูงสุด เหมือนพวกกษัตริย์ เพราะฉะนั้นเป็นอันว่า ผู้ที่ทำประโยชน์ให้มหาศาล รับค่าตอบแทนเพียงเล็กน้อย เสียสละได้แม้แต่ชีวิต นั่นน่ะคือพวกปูชนียบุคคล พวกครูก็เคยเป็นมาอย่างนั้น ให้สิ่งที่มีค่าสูงสุด แล้วก็รับเครื่องบูชาคุณเพียงว่าอาหารพอประทังชีวิต มันคงหาไม่ได้แล้วในโลกปัจจุบันนี้ แต่ว่าหลักการนั้นมันยังใช้ได้อยู่ ถ้ายังต้องการเป็นปูชนียบุคคลก็มีหลักการอย่างนี้ล่ะ ให้ไปมากมายมหาศาล แล้วก็ไม่คิดตอบแทนอย่างเป็นค่าจ้างค่าออนอะไร ให้คิดเป็นเครื่องบูชาคุณ ให้รอดชีวิตอยู่ได้ เพราะฉะนั้นจึงเกิดความเหลื่อมล้ำต่ำสูงกันมากมายระหว่างนักบวช กับ ประชาชนคนธรรมดา คือเพราะว่านักบวชนั้นมันมีหน้าที่เปิดเผยให้ความลับของธรรมชาติ ที่มนุษย์ควรจะรู้และประพฤติปฏิบัติให้ได้รับผลสูงสุดตามนั้น ไอ้ธรรมะ ไอ้ธรรมะนี่เป็นสิ่งที่มีค่าสูงสุดกว่าสิ่งใด แต่คนสมัยนี้ที่ไม่รู้จักความหมาย ไม่รู้จักคุณค่า มันก็กลายเป็นเรื่องธรรมดาสามัญเรื่องหนึ่ง หรือกลายเป็นเครื่องมือ อาชีพ...(นาทีที่ 22:42)
ธรรมะถ้าพูดให้มันสั้นเพียงคำเดียว บทนิยามของมันก็จะมี ว่าความถูกต้อง เพื่อมีชีวิตอยู่อย่างไม่มีความทุกข์ ถ้ามีธรรมะมันก็จะมีความถูกต้อง แล้วเราจะเป็นมนุษย์ที่ไม่มีความทุกข์ แต่ถ้าจะพูดให้ยืดยาว กว้างขวางมันก็มากมาย เพราะว่าคำว่าความถูกต้องนั้นมันขยายความได้ลึก เอาตามที่มันเป็นจริง ธรรมะตามภาษาอินเดีย คำว่า ธรรมะ ธรรมะ โดยเฉพาะภาษาพุทธศาสนานั้น มันแปลว่าธรรมชาติ ไม่ต้องมีคำว่าชาติต่อท้ายละ คำว่าธรรมะ ธรรมะลุ่นๆนี่ก็แปลว่าธรรมชาติ นี่คือสิ่งที่เป็นอยู่เอง ทรงตัวอยู่เอง มีอำนาจเฉียบขาดสูงสุดอยู่ในตัวเองเหมือนกับพระเป็นเจ้า แจกความหมายของคำว่าธรรมะออกไปเป็น 4 ความหมาย โดยตัวธรรมชาติ ตามธรรมชาติ ตัวธรรมชาติแท้ๆนั้น ก็เรียกว่าธรรมชาติหรือธรรมะ ทีนี้กฏ กฏอันเฉียบขาดคือกฏของธรรมชาติที่ไปประจำอยู่ในสิ่งที่เรียกว่าธรรมชาติ ไอ้กฏ ตัวกฏนี้ก็เรียกว่า ธรรมะ คือ ธรรมชาติ ไอ้ตัวหน้าที่ ที่จะต้องประพฤติให้ถูกตามกฏน่ะ เล็งเฉพาะหน้าที่ หน้าที่นี้ก็เป็นตัวธรรมะ หรือ ธรรมชาติ ธรรมะคือหน้าที่ แล้วอันสุดท้าย ผลที่เกิดจากการทำหน้าที่ ก็เรียกว่า ธรรมะ หรือ ธรรมชาติ ลองคำนวนดู ถ้ามันเป็นอย่างนี้แล้ว มันจะยกเว้นอะไร มันไม่ได้ยกเว้นอะไร ที่ว่าไม่ใช่ธรรมะหรือไม่ใช่ธรรมชาติ เราดูให้เห็น เห็นชัดว่ามันไม่มีอะไรนอกไปจากเรื่องของธรรมชาติ ทั้ง 4 ความหมายนั้น มันมีความหมายที่สำคัญอยู่ความหมายหนึ่ง คือ ความหมายที่3 หน้าที่ตามกฏของธรรมชาตินั้น มีหน้าที่ถูกต้องตามกฏของธรรมชาติ เพราะฉะนั้นจึงมีสิทธิหรือความถูกต้องที่จะรอดชีวิต แล้วก็เจริญงอกงามไปตามกฏเกณฑ์นั้นๆ กว่าจะถึงที่สุด นี่ธรรมะในความหมายที่3 นะ ที่ถูกยกย่องขึ้นมา เป็นธรรมะจำเป็น ธรรมะสูงสุด สิ่งที่มีชีวิตจะต้องยึดถือเป็นหลัก ถ้าไม่ยึดถือเป็นหลักมันก็ตาย คือมันไม่ทำหน้าที่ มันก็คือตาย เดี๋ยวนี้ครู มักจะสอนเด็กๆว่า ธรรมะคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ธรรมะคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า นั้นมันยิ่งกว่าหลับตาพูดนะ มันไม่เคยลืมตา มันหลับตาพูดเพราะมันไม่รู้เรื่องความจริงของสิ่งที่เรียกว่าธรรมะ ปทานุกรมในภาษาอินเดีย ที่ประเทศอินเดีย ธรรมะแปลว่า หน้าที่ หน้าที่ คือ ความหมายที่3 ของคำว่าธรรมชาติ หน้าที่ตามกฏของธรรมชาติ เด็กๆรู้จักธรรมะในฐานะเป็นหน้าที่ตามกฏของธรรมชาติ ไม่ได้รู้อย่างว่าเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าเพราะว่า ศาสดาใดๆในอินเดียครั้งกระนั้นซึ่งมีอยู่มากมายก็สอนธรรมะทั้งนั้นแหละ คำสอนเหล่านั้นเรียกว่าธรรมะทั้งนั้น มันก็ต่างกัน ต่างกันไปตามสำนัก ครูบาอาจารย์เหล่านั้น แต่ก็เรียกว่าธรรมะ ธรรมะทั้งนั้น คือหน้าที่ที่จะดับทุกข์ได้ เรียกว่าธรรมะ ทุกคนสอนธรรมะคือสอนเรื่องหน้าที่นี้ แต่เพราะว่าโง่ฉลาดต่างกัน มันก็สอนต่างๆกัน พระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้ มีคนชอบ ก็เกิดศาสนาพุทธ พวกที่สอนอย่างอื่นก็เกิดศาสนาอย่างอื่น แต่ความมุ่งหมายแท้จริงก็คือ สอนวิธีที่จะดับทุกข์ แล้วก็อยู่เหนือทุกข์ เค้าไม่ได้ถามกันว่าท่านถือศาสนาอะไรนะ เพราะศาสนานั้นมันเป็นคำสอน เค้าจะถามกันว่าท่านชอบใจธรรมะของใคร หลักเกณฑ์จะดับความทุกข์ได้ที่เรียกว่าธรรมะ ที่ศาสดาไหนสอน เขาถึงถามท่านชอบใจธรรมะของใคร ในเมืองไทย ถ้าถามอย่างนั้น มันไม่ได้ถามด้วยคำพูดนั้น ถามท่านถือศาสนาอะไร มันไปคนละทิศคนละทาง ชอบใจธรรมะของใคร ก็หมายความว่า ชอบใจวิธีดับทุกข์ชนิดที่ใครสอน คือธรรมะมันจึงหมายถึงวิธีการดับทุกข์ เป็นความรู้ก็ได้ เป็นการปฏิบัติก็ได้ เป็นผลของการปฏิบัติก็ได้ ชอบใจธรรมะของพระสมณโคดมก็หมายความว่า เขาถือพุทธศาสนา ชอบใจธรรมะของนิครนถนาฏบุตร มักขลิโกสาล สัญชัย เวลัฏฐบุตร(นาทีที่ 29:12) อีกหลายๆคนก็จะได้ถือศาสนา แต่เดี๋ยวนี้เรามาพิจารณาดูกันถึงข้อที่ว่า มันมีความถูกต้อง หรือมีอำนาจมากเท่าไร ทางพุทธศาสนาถือว่าถูกต้องตามกฏของธรรมชาติ เอากฏของธรรมชาติมาสอนให้รู้ และปฏิบัติถูกต้องตามกฏของธรรมชาติ แล้วมันก็ไม่เกิดความทุกข์ นี่คือ ธรรมะในความหมายของพุทธศาสนา อย่าลืมว่าเราเป็นวิทยาศาสตร์ยิ่งกว่าวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์ที่สอนกันอยู่ในโลก วิทยาศาสตร์รุ่นเด็กๆ วิทยาศาสตร์สูงสุดก็คือหลักการคำสอนในพุทธศาสนา คือรู้เรื่องของธรรมชาติทั้งหลายว่าเป็นอย่างไร แล้วก็มันมีกฏเกณฑ์อำนาจบังคับอย่างไร และสิ่งที่มีชีวิตนั้นมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องอย่างไร เสร็จแล้วมันมีผลเกิดขึ้นมาอย่างไร ตรงตามนั้น ไม่ใช่ผีสางเทวดาไหนมาให้ ไม่ใช่ มันเป็นเพียงผล หรือปฏิกิริยาของการทำหน้าที่ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง ถ้าถูกต้องมันก็ได้ผลเป็นที่พอใจ ถ้าไม่ถูกต้องมันก็ไม่ได้ผล หรือได้ผลตรงกันข้าม คือพระพุทธเจ้าท่านก็ชี้ให้ดูว่ามันมีอยู่ในตัวคน เราอัตภาพ คนหนึ่งๆอัตภาพหนึ่งๆเนี่ย มันเป็นตัวธรรมชาติ ดิน น้ำ ลม ไฟ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง กระดูก เอ็น เลือดเนื้อ ทุกๆอย่าง กระทั่งว่า ไอ้เซลล์ล้านๆๆๆเซลล์ที่มีอยู่ในอัตภาพนี้มันก็คือตัวธรรมชาติ เป็นธรรมชาติ เป็นตัวธรรมชาติ และแต่ละเซลล์ แต่ละกลุ่มของเซลล์หรือว่าส่วนประกอบกันขึ้นมา มันมีหน้าที่ มีหน้าที่ ตัวเองก็ทำหน้าที่ของตัวเอง ประกอบกันเข้าเป็นกระดูก เป็นเนื้อ เป็นเลือด ก็ทำหน้าที่ให้ถูกต้อง เป็นตับไตไส้พุงก็ทำหน้าที่ให้ถูกต้อง กระทั่งว่าส่วนนอกที่สุด เป็นแขน ขา มือ ตีน นี่ก็ทำหน้าที่ให้ถูกต้องนะ ทำหน้าที่ไม่ถูกต้องก็คือตาย เพราะฉะนั้นกฏของธรรมชาตินั้นมันบังคับธรรมชาติที่ประกอบกันขึ้นเป็นตัวเรา ดังนั้นไอ้ตัวเราโดยสมมุตินี่มัน... (นาทีที่ 32:44) ทำหน้าที่ให้ถูกต้อง อย่างที่เราต้องทำหน้าที่ กินอาหาร ถ่ายอุจจาระ อาบน้ำ ถึงบริหารร่างกายนี้ก็เป็นการทำหน้าที่ แต่ธรรมชาติมันช่วยทำให้ตัวเองมาก ธรรมชาติรู้จักหายใจ รู้จักสูบฉีดโลหิต ไหลเวียนสารที่เราไม่ได้มีเจตนาที่จะทำ มันก็มีอยู่มาก แต่มันไม่พอ เรายังต้องทำให้ถูกต้องมันจึงรอด เพราะฉะนั้นไอ้หน้าที่ หน้าที่นี้มีความหมายซับซ้อนกันอยู่เป็นหลายชั้น แต่ถ้าไม่ถูกต้องก็คือตาย คนก็ตาย สัตว์ก็ตาย ต้นไม้ต้นไร่ก็ตาย ถ้ามันทำหน้าที่ไม่ถูกต้อง ทีนี้ ทำหน้าที่แล้วมันก็มีผลออกมา ถ้าผิด ทำหน้าที่ผิดก็ไปทางหนึ่ง ทำหน้าที่ถูกต้องก็ไปทางหนึ่ง แน่นอนชัดเจนอย่างนี้ ไม่ต้องอ้อนวอนบูชาผีสางเทวดาที่ไหน ยังว่าเป็นธรรม เป็นวิชาธรรมชาติ มีลักษณะเป็นวิทยาศาสตร์สูงสุดกว่าวิทยาศาสตร์ใดๆ ต้องเป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิตรอด หรือ ไม่รอด เจริญ หรือ ไม่เจริญ นี้เรียกว่าธรรมะ ถ้าเรารู้จักธรรมะก็สามารถดำเนินชีวิต ให้ก้าว ให้รอดเป็นข้อแรก ให้พัฒนาไปจนถึงระดับสูงสุด นี่คือธรรมะ ธรรมะ ซึ่งเป็นหลัก เป็นประธาน ซึ่งทุกคนจะต้องรุ้ ไม่รู้ก็ได้ ก็รับผลไปตามความไม่รู้ ไม่เคารพธรรมะ ไม่เห็นแก่ธรรมะ มันก็เห็นแก่กิเลสอย่างตรงกันข้าม เกิดความเห็นแก่ตัว คือ ความเห็นแก่กิเลส เห็นแก่ตัวนี่เป็นคำที่สำคัญที่สุด มันเป็นสิ่งเดียวที่ทำให้ไม่มีธรรมะ ถ้าเห็นแก่ตัวมันไม่เห็นแก่ธรรมะ ถ้าเห็นแก่ธรรมะมันก็ไม่เห็นแก่ตัว มันอยู่กันอย่างตรงกันข้าม เดี๋ยวนี้โลกทั้งโลกเรานี่ มันไม่มีธรรมะยิ่งขึ้น เพราะมันเห็นแก่ตัวมากขึ้น เพราะว่าสิ่งที่ทำให้เห็นแก่ตัว เห็นแก่กิเลสของตนมันมากขึ้น มากขึ้น มากขึ้น ไม่เหมือนแต่ตอนก่อน สมัยคุณตา มันเห็นแก่ตัวน้อยเพราะมันไม่มีอะไรมายั่วให้เห็นแก่ตัว คือของตามธรรมชาติของมันมีให้เพียงพอไม่ต้องแย่งกัน ความเห็นแก่ตัวมันก็มีน้อย เพราะงั้นมันเจริญขึ้นมา เจริญขึ้นมา ของตามธรรมชาติไม่พอ ต้องปลูก ต้องฝัง ต้องสร้าง มันก็เบียดเบียนกัน ทำลายกัน เป็นความเห็นแก่ตัวเนี่ย ธรรมะจึงต้องเกิดขึ้น จึงต้องเกิดขึ้น ตามยุค เป็นยุคๆไป เมื่อมันเหลือทน คือเบียดเบียนกันอย่างเหลือทนแล้ว ธรรมชาติเองน่ะมันบังคับให้มนุษย์จะต้องขวนขวาย ค้นหากันให้ได้ว่าจะทำกันอย่างไร จึงจะเกิดคนฉลาดแห่งยุคนั้นๆพบความจริงแล้วสอนออกมาว่าเป็นอย่างนั้น ต้องทำอย่างนั้น ต้องทำอย่างนั้น ปัญหาเหล่านี้จึงจะหมดไป ทีนี้โลกนี่มันเป็นแสนๆปี ที่นั่นบ้างที่นี่บ้าง ยุคนั้นบ้าง ยุคนี้บ้าง มันก็เกิดศาสนา เพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ขึ้นมา นับได้หลายๆศาสนา แต่ว่ามุ่งหมายอย่างเดียวกันหมดแหละ คือจะกำจัดความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ นั่นคือ กิเลสให้มีความถูกต้อง ให้มีความถูกต้อง แล้วก็เห็นแก่ความถูกต้องมันก็ไม่เห็นแก่กิเลส มันก็ไม่เดือดร้อน คือมันไม่เบียดเบียนกัน ทีนี้มีคนอุตรินอกคอก ไม่ยอมรับ ก็เขาพ่ายแพ้กิเลสซึ่งเป็นความเห็นแก่ตัว ก็ยึดเอาความเห็นแก่ตัวเป็นหลัก มันก็เริ่มเกิดคนเห็นแก่ตัวขึ้นมาในโลก แล้วก็มากขึ้นๆ เป็นหลายๆชุด หลายทางหลายแขนง มันเรียกว่าเต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว เดี๋ยวนี้ก็เรียกว่าสูงสุดพอที่จะทำความวินาศให้แก่โลก เห็นแก่ตัวจนจะทำลายล้างกันให้หมดโลกเมื่อไรก็ได้ มันเห็นแก่ตัว ถ้าธรรมะช่วยไม่ทัน มันก็วินาศ ยิ่งสมัยปัจจุบันนี่ละก็ยิ่งง่ายมากเพราะว่า อาวุธที่จะทำลายโลกให้แหลกลาญมันมีมาก สร้างกันไว้มาก เหลืออยู่แต่ว่าจะใช้กันเมื่อไรเท่านั้น จะใช้กันเมื่อไร ใช้กันเมื่อไรโลกมันก็วินาศเมื่อนั้น เขาคำนวนกันว่าอาวุธปรมาณูที่มีมีอยู่ในโลกปัจจุบันนี้น่ะ สามารถทำให้โลกวินาศหมดไปได้ตั้ง 2-3 หน แต่มันยังไม่ได้ใช้ ไอ้ความเห็นแก่ตัวมันยังไม่ถึงขีดสูงสุดที่จะใช้ แต่ถ้าไม่ควบคุมสักวันหนึ่งมันก็จะต้องใช้ เอ้า เรื่องนั้นมันยังไกลนัก เอาเรื่องใกล้ๆกันดีกว่า ทำไมมันจึงเดือดร้อน ยุ่งยากลำบากในทางศีลธรรม ครูนี่มันถูกข่าว มีข่าวในหนังสือพิมพ์ เป็นคนร้ายตีระฆัง ทำสิ่งชั่วช้า ...(นาทีที่39:06) ประเภทครูอาจารย์ก็ยังมีอย่างนี้ ผู้อื่นก็ไม่ต้องถามหรอก เพราะเขาอยู่ต่ำกว่านั้นมาก มันก็ยิ่งมีมาก อย่างอาชญากรรม อันธพาล อาชญากร เต็มไปมากขึ้นๆ ก็ดูเอาตามข่าวหนังสือพิมพ์ก็พอ ทำไมมันจึงมากขึ้นๆและเลวร้ายมากขึ้น รุนแรงมากขึ้น เพราะมันเห็นแก่ตัว มันเห็นแก่ตัวเพิ่มขึ้นโดยไม่รู้สึกตัว ถ้าไม่เห็นแก่ตัวมันทำอย่างนั้นไม่ได้หรอก มันเห็นแก่ตัวมันก็ทำได้ และทำได้เลวกว่านั้น ยิ่งกว่านั้นออกไปอีก อาชญากรรมทางเพศ เลวร้ายยิ่ง ... (นาทีที่39.09) เพราะว่ามันมีส่วนแห่งความเห็นแก่ตัวได้ง่ายกว่าอย่างอื่นๆ คนเห็นแก่ตัวหมายความว่ามันไม่เห็นแก่ธรรมะนะ ขอให้ท่านเข้าใจว่าอย่างนี้ ถ้าเห็นแก่ตัวก็ไม่เห็นแก่ธรรมะมันก็ไม่มีธรรมะ มันก็มีความเห็นแก่ตัว หรือจะพูดอย่างหนึ่งก็พูดได้ว่า ธรรมะของเขาคือความเห็นแก่ตัว ไม่ใช่ธรรมะอย่างของสัตบุรุษทั้งหลาย คือไม่เห็นแก่ตัว คือมันไม่ถูกต้อง ไม่ถูกต้องมันก็วินาศ ถูกต้องมันก็อยู่ สิ่งใดถูกต้องสิ่งนั้นอยู่ สิ่งใดไม่ถูกต้องสิ่งนั้นก็วินาศ ทีนี้ความเห็นแก่ตัวมันก็กำลังจะทำลายโลก ผู้รับผิดชอบหรือมีหน้าที่ป้องกันมันก็คือพวกครู เพียงแต่มันจะรู้หรือไม่รู้ก็สุดแท้ มันทำหน้าที่เพื่อเป็นปูชนียบุคคลหรือว่าทำหน้าที่เพื่อหาเงินเดือนเลี้ยงชีวิตไปวันๆนึง มันก็อยู่ที่นี่ เดี๋ยวนี้ก็อยากจะคอยมองในฝ่ายตรงกันข้ามคืออันตรายหรือศัตรูของมนุษย์ คือความไม่มีธรรมะ เพราะไม่เห็นแก่ธรรมะน่ะ มันก็ไปเห็นแก่ตัว จึงเกิดการทะเลาะวิวาท จนได้คำพูดขึ้นมาว่า ตีกันในวิทยาลัย แล้วก็ในพวกวิทยาลัยวิชาชีพ ที่ในกรุงเทพฯ ที่ยกพวกตีกันบ่อยๆน่ะ วิทยาลัยระดับวิชาชีพ ยังเสียรู้อาชีพเพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง มันไม่มีธรรมะ มันก็เป็นตัวอย่างพิสูจน์ คือมันเห็นแก่ตัว มันเห็นแก่ตัว อยากจะให้ครูบาอาจารย์มีข้อสังเกตในเรื่องนี้พอสมควร ว่าเมื่อเห็นแก่ตัวมันก็ขี้เกียจ ไม่อยากเหนื่อย แต่อยากเอาประโยชน์ เห็นแก่ตัว เห็นแก่ตัวก็เอาเปรียบ เอาเปรียบ ถ้าคิดจะเอาเปรียบได้ทุกกระเบียดนิ้ว เห็นแก่ตัวมันก็อิจฉาริษยาผู้อื่น เห็นแก่ตัวมันก็คดโกง ยักยอกประโยชน์ของผู้อื่น เห็นแก่ตัวมันก็ไม่สัตย์ซื่อ ไม่กตัญญู ที่สุดมันก็รวยๆ รวยลัดกันทั้งนั้น เพราะว่าไปทำงานตามหน้าที่มันรวยช้า มันเหน็ดเหนื่อย มันเสียเหงื่อมาก ไปรวยลัด คือ ปล้น จี้ แล้วแต่ ไม่กี่นาทีได้เงินมาเป็นแสนๆ นี่พวกเห็นแก่ตัวเขาถือหลักอย่างนี้ แต่เราก็ดู มันไปได้กี่เท่าไหร่ล่ะ มันก็หลงทาง หลงทาง เข้มข้นเข้าก็หลงทาง แล้วมันก็จบชีวิตอยู่ในคุก แล้วในตารางก็มี ในโรงพยาบาลบ้าก็มาก ถ้ามันหลงทางถึงที่สุด ก็จริงๆแล้วมันก็ฆ่าพ่อ ฆ่าแม่ ฆ่าลูก ฆ่าเมีย แล้วฆ่าตัวเองตายตาม นั่นน่ะมันก็จบฉากอย่างนั้นล่ะ มันเห็นแก่ตัว หากความเห็นแก่ตัวนี้มันขยายจากบุคคลไปเป็นเรื่องของครอบครัวเห็นแก่ตัว หมู่บ้านเห็นแก่ตัว บ้านเมืองที่เห็นแก่ตัว ประเทศชาติที่เห็นแก่ตัว ไอ้โลก ซีกโลกเห็นแก่ตัว ความเห็นแก่ตัวมันครอบงำโลกนี่ มันก็มีสงครามไม่หยุดไม่หย่อน ความเห็นแก่ตัวนอกจากทำลายตัว มันก็ทำลายสังคม ทำลายตัว ไปบูชายาเสพติด ซึ่งไม่ควรเลย ไปเห็นแก่...(นาทีที่44:56) ไปลองก็ได้ติดยาเสพติด เพราะเห็นแก่ตัว เห็นแก่ความสุขทางเนื้อหนัง โง่ๆเล็กๆน้อยๆไปตามอารมณ์ มันก็ได้ไปเป็นโรคที่หมาก็ไม่เป็น โรคที่สุนัขก็ไม่เป็น เดี๋ยวนี้เรียกกันว่าโรคเอดส์โรคอะไรก็ไม่รู้ แต่ก่อนนี้มันก็มี ไม่ใช่ไม่มี ไอ้โรคซิฟิลิส โรคโกโนเรียยังงี้ ไอ้คนเห็นแก่ตัวมันได้เป็น แต่สุนัขมันก็ไม่ได้เป็น นี่ถ้าเห็นแก่ตัวแล้วมันเลวถึงขนาดนั้น โรคเอดส์กลายเป็นปัญหาของโลก ไม่รู้จะกำจัดมันอย่างไร ไม่มีใครนึกกลัว มันได้ยินแต่ชื่อ แล้วก็ไม่รู้ความจริง เพราะไม่ได้เป็นหมอ ก็ยังเห็นแก่ตัว เห็นแก่ความสุข สนุกสนานทางกามารมณ์ มันก็ได้เป็นโรคเอดส์ เมื่อ 2-3 วันนี้ใครคนหนึ่งเขาเป็นเจ้าหน้าที่ทางแพทย์ ทางสาธารณสุข เขาพบว่าประเทศในแถบทะเลใต้เนี่ย จะเป็นประเทศบรูไน หรือประเทศอะไรก็ลืมแล้ว หากเขาตีความของคำว่าเอดส์นั้นน่ะให้น่ากลัว เอดส์ A-I-D-S 4 ตัว เอดส์ A มันหมายความว่า after after I น่ะ intercross D น่ะ die S น่ะ slowly After Intercross Die Slowly ... (นาทีที่46.46) ก็ว่าได้ผล คนยิ่งกลัว...(นาทีที่46.50) แต่ไอ้คนเห็นแก่ตัวมันจะไปกลัวอะไร มันเห็นแก่ตัว มันไม่ได้มองสิ ว่าในแง่ที่น่ากลัว เพราะมันเห็นแก่ตัว มันมองแต่เรื่องสนุกสนาน ในที่สุดมันก็ได้ไปเป็นไอ้สิ่งนั้นล่ะ ไอ้โรคที่สุนัขก็ไม่เป็นน่ะ แล้วมันก็ตายทั้งโขยง ทั้งครอบครัว เพราะงั้นอย่าทำเล่นกับเรื่องเห็นแก่ตัว เห็นแก่ตัวแล้วมันก็ทำลายประโยชน์สังคม มลภาวะเต็มโลก เต็มบ้านเต็มเมือง ไอ้มลภาวะทั้งหลายมาจากพวกเห็นแก่ตัวทั้งนั้น อุบัติเหตุโดยไม่ตั้งใจเช่น รถชนกัน หรือระเบิดอะไรขึ้นมานี้ก็มันมาจากผู้เห็นแก่ตัว มันทำลายธรรมชาติ เช่น ทำลายป่านี้เพราะมันเห็นแก่ตัว นี้เมื่อทำลายสิ่งที่มนุษย์สร้างไว้ดีแล้วก็มี ถนนหนทาง ห้วย หนอง คลอง บึง บาง ที่ปู่ย่าตายายสร้างไว้ดี มันก็ทำลาย ริบ โกง ไปเป็นของตัว เนี่ย คนเห็นแก่ตัวมันทำลายสังคมอย่างนี้ แล้วคุณก็ดู ใครเห็นแก่ตัว คนร่ำรวยที่สุด มหาเศรษฐี มหาเศรษฐีมันก็เห็นแก่ตัว มหาเศรษฐีนี่ฆ่าตัวตายเพราะความเห็นแก่ตัวหลงทางนี่มีบ่อยๆ ยาจกขอทานมันก็เห็นแก่ตัว เศรษฐีก็เห็นแก่ตัว คนรวยก็เห็นแก่ตัว คนจนก็เห็นแก่ตัว ลูกจ้างก็เห็นแก่ตัว นายจ้างก็เห็นแก่ตัว แล้วจะเอาอะไรกัน ผู้แทนก็ไปจ้างเขาเลือกมันก็เห็นแก่ตัว ประชาชนที่รับจ้างเลือกผู้แทนก็เห็นแก่ตัว แล้วอะไรมันจะเหลือล่ะ นี่ขอให้ดูดีๆว่า ความเห็นแก่ตัวมันกำลังครอบงำ ครอบงำ มันทำความวินาศอยู่อย่างนี้ ถ้าครูเห็นแก่ตัว มันก็ทำนาบนหลังลูกศิษย์น่ะ เพื่อประโยชน์ของตัว ถ้าหมอเห็นแก่ตัว มันก็ทำนาบนหลังคนเจ็บ กลายเป็นพ่อค้าไปเลย ถ้าตุลาการเห็นแก่ตัว ก็ทำนาบนหลังจำเลย คิดดูให้ดี มองเห็นได้ง่ายๆ พระเจ้าก็ทรงเห็นแก่ตัว ทำนาบนหลังทายก ทายิกา ซึ่งมีอยู่ทั่วไป เราผู้เห็นแก่ตัว เข้าไปที่ไหน ก็สร้างความไม่มีธรรมะ ไม่มีธรรมะ ร้ายธรรมะ ความเลวร้ายที่ไม่มีธรรมมะขึ้นมาที่นั่น สร้างคุก เรือนจำเท่าไหรมันก็ไม่พอเห็นมั้ย สร้างตำรวจเท่าไรมันก็ไม่พอ สร้างศาลเท่าไรมันก็ไม่พอ สร้างโรงพยาบาลบ้าเท่าไรมันก็ไม่พออยู่นั่น เพราะความเห็นแก่ตัว มันกำลังระบาดลุกลาม แล้วใครมีหน้าที่ ทางภายนอก มันก็รัฐบาลสิ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร มันมีหน้าที่ แต่ว่าทางจิตใจมันเป็นไปไม่ได้ มันไม่สำเร็จหรอกถ้าทางจิตใจมันไม่เปลี่ยนแปลง ในทางจิตใจมันเปลี่ยนแปลงน่ะ มันจึงจะเลิกความเห็นแก่ตัว มันก็เป็นหน้าที่ของพวกครูบาอาจารย์ที่แท้จริง ที่ถูกต้องตามความหมายของคำว่า ครูบาอาจารย์ เป็นปูชนียบุคคล ไม่ใช่ครูผู้เห็นแก่ตัว รับจ้างสอนหนังสือหากินไปวันๆ อันนี้ไม่ใช่ครู ไม่ใช่ครูตามความหมายของคำว่าครู เป็นลูกจ้าง รับจ้างสอนหนังสือหรือวิชาชีพหากินไปวันๆ นี่ ไม่ใช่ครูที่ถูกต้องตามความหมายของคำว่าครู ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว มันไม่ได้เป็นประเภทอุปัชฌาย์อาจารย์ แล้วก็ทุจริตซะด้วย ไม่ใช่อุปัชฌาย์อาจารย์อย่างที่ ไม่เป็นทั้งครู แล้วก็ไม่เป็นทั้งอุปัชฌาย์อาจารย์ที่ถูกต้อง เพราะความเห็นแก่ตัว
ดังนั้นขอให้เรามาพิจารณาเรื่องนี้ แล้วปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้อง ครูผู้เปิดประตูทางวิญญาณ ธรรมะก็ปรากฏออกมา ธรรมะก็ช่วยโลกให้รอดได้ นี่คือธรรมะ ธรรมะ ... (นาทีที่51:42) เกี่ยวข้อง ทีนี้ก็ขอพูดถึงคำว่าธรรมะอีกทีหนึ่งว่า มันก็มีเรื่องมากเหมือนกันนะ ธรรมะใน 4 ความหมายนั้นน่ะ มันก็ครอบคลุมหมดไม่ยกเว้นอะไร แต่ที่เราจะเอามาใช้ให้เป็นประโยชน์นั้นมันก็เลือกเอามาเท่าที่ต้องการ ไม่ใช่เอามาทั้งหมดได้ จะมาทั้งหมดนั้นมันไม่ได้ ทั้งจักรวาลน่ะเอามาไม่ได้ แต่เอามาให้ตรงกับเรื่อง ให้ตรงกับเรื่องที่จะแก้ปัญหา ครูมีหน้าที่จะแก้ปัญหาอะไร ที่ไหน วิชาไหน บทเรียนไหน ก็มีธรรมะในส่วนนั้นให้พอนะ ก็จะขจัดความเลวร้ายส่วนนั้นออกไป ก็เรียกธรรมะ เพื่อจะกำจัดปัญหาในส่วนนั้น ในอีกด้านหนึ่งก็จะพัฒนาให้สูงขึ้นไป ก็มีธรรมะก็มีการพัฒนาในส่วนนั้น รวมความว่า ธรรมะมันจะแก้ปัญหา ทั้งในส่วนที่จะป้องกันทำลายความเลวร้าย และทั้งในส่วนที่จะทำให้เกิดพัฒนาเจริญรุ่งเรืองอย่างถูกต้อง มีธรรมะก็มีความสงบเย็น มีความสะอาด มีความสว่างสงบ ไม่ใช่ทำให้โลกนี้เต็มไปด้วยขวดเหล้า และโรงละคร อบายมุขนี่ ยังมีคนเป็นอันมากเข้าใจว่าไอ้ความเจริญนี้ก็คือเต็มไปด้วยโรงหนัง โรงละคร เต็มไปด้วยสนุกสนานสรวลเสเฮฮา ไปดูเองน่ะ มันจะแก้ปัญหาได้มั้ย อาตมาคิดแล้วมองเห็นว่า อู้ สมัยที่คนป่าไม่มีน้ำแข็งกินน่ะ ที่จริงน้ำแข็งก็เพิ่งเกิดเมื่อเร็วนี้ รู้จักทำเป็นนะ ก่อนจะรู้จักทำน้ำแข็งกินก็ไม่มีน้ำแข็งกิน สมมุติว่า 200 ปี หรือ 300 ปี สมัยนั้นคนมีจิตใจเยือกเย็นกว่าคนที่สมัยนี้ที่มีน้ำแข็งกินนะ ไอ้ความเห็นแก่ตัวน่ะมันเยือกเย็นไปไม่ได้ คนที่ยังไม่มี ยุคที่ไม่มีน้ำแข็งกินน่ะ จิตใจเยือกเย็นกว่าคนสมัยนี้ที่มีน้ำแข็งกิน คนยุคที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้สมัยนู้นน่ะ จิตใจสว่างไสวในความถูกต้องมากกว่าคนยุคนี้ที่มีไฟฟ้าใช้ซึ่งความมืดมนเพราะความเห็นแก่ตัว เพราะว่าไฟฟ้ามันกลายเป็นอุปกรณ์ส่งเสริมกิเลสตัณหากามารมณ์ เห็นแก่ตัวมากขึ้น คุณดูเอาเอง เดี๋ยวนี้คนที่ซื้ออุปกรณ์ไฟฟ้ามาใช้ มาส่งเสริมกิเลส ความสะดวกสะบาย สนุกสนานทั้งนั้น ดังนั้นเราจึงถือว่า ยุคที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ใจคอก็สว่างไสว ไปในหนทางของธรรมะมากกว่า เอาแล้วทีนี้จะทำอย่างไร มันก็ต้องแน่ใจ เฉียบขาดในการที่จะยึดไอ้ความถูกต้อง จะต้องเอาความสงบเย็น เป็นสุข นั่นแหละ เป็นความถูกต้อง ไม่ใช่เอาความเมามาย สรวลเสเฮฮา กามารมณ์เป็นความถูกต้อง ระวังที่จะสร้างแผ่นดินทองกันน่ะ ขอให้มันเป็นถูกต้อง เป็นความสงบเย็น อย่าเป็นเรื่องสรวลเสเฮฮา สนุกสนาน โลดโผนหัวหกก้นขวิดไปเสีย แผ่นดินธรรมน่ะ มันยิ่งเป็นอย่างนั้น ถ้ากำจัดความเห็นแก่ตัวได้หมดสิ้น ถ้าสามารถกำจัดความเห็นแก่ตัวได้หมดสิ้นทั้งโลกมันจะเป็นแผ่นดินเพชร เพชรน่ะมันแพงกว่าทองมากนะ ไม่หวังแผ่นดินเพชรกันบ้าง อย่าหวังแต่เพียงแผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง ร่ำรวยกันด้วยขวดเหล้า ด้วยโรงหนังโรงละครอย่างนี้ ไม่ไหว
ธรรมะเราแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ ธรรมะที่เป็นตัวทำหน้าที่โดยตรง นี่ประเภทหนึ่ง คือ เทคนิคในเรื่องนั้นโดยเฉพาะ เป็นธรรมะประเภทหนึ่ง และธรรมะประเภทที่สอง คือ ธรรมะเครื่องมือ เครื่องมือ ที่เป็นเครื่องมือช่วยทำอย่างนั้นได้ แม้ในทางธรรมะที่บรรลุมรรคผลนิพพานนี้ก็เหมือนกัน ธรรมะปฏิบัติลงไปโดยตรงแล้วบรรลุมรรคผลนิพพานมันก็มีอยู่พวกหนึ่ง และธรรมะเครื่องมือ เครื่องมือ ปฏิบัติแล้วช่วยให้เป็นอย่างนั้นได้ก็มีอยู่พวกหนึ่ง เลยก็ได้เป็น 2 พวก ธรรมะโดยตรง กับธรรมะที่เป็นเครื่องมือ อย่างคุณสอนวิชาชีพ มันก็เป็นเรื่องวิชาชีพ แต่ว่าที่จะเป็นเครื่องมือให้วิชาชีพดำเนินไปอย่างถูกต้องไม่คดโกง มันก็มีอยู่อีกส่วนหนึ่ง เพราะฉะนั้น รู้จักธรรมะไว้ทั้ง 2 ชนิดแหละ ธรรมะที่เป็นเครื่องมือ กับ ธรรมะที่เป็นตัวเรื่องโดยตรง แล้วแต่ว่าเขาจะมีเรื่องอะไร เดี๋ยวนี้เราจะอยู่ในโลกก็รู้ว่าจะเอาวิชาแขนงไหน หน้าที่ไหนเป็นหลัก นั้นก็ต้องแตกฉานเข้าใจถึงที่สุด และที่จะเป็นเครื่องมือช่วยเป็นอย่างนั้นโดยง่ายมันก็มี ธรรมะประเภทช่วย ช่วยให้ไอ้ธรรมะหน้าที่นี่สำเร็จโดยง่ายก็ธรรมะเช่น อิทธิบาท4 ไม่ต้องอธิบายก็ได้ คงจะเรียนกันมาแล้วเต็มปรี่ แต่จะใช้ได้ มีหรือไม่มีนี่ไม่ทราบ มีฉันทะ มีวิริยะ มีจิตตะ มีวิมังสานี่ ธรรมะสำเร็จประโยชน์ในทุกแขนงไม่ว่าจะทำอะไร เมื่อต้องการความสำเร็จแล้วก็ต้องใช้ธรรมะประเภทเครื่องมือนี่ช่วย ฉันทะน่ะมาก่อน ถ้าไม่มีความประสงค์ ไม่มีความต้องการ ไม่มีความนึกอยากที่จะทำแล้วมันก็ทำไปไม่ได้ แต่ว่าฉันทะนี้ มันประกอบไปด้วยธรรมะ มันจึงฉันทะสะอาด ฉันทะบริสุทธิ์ ไอ้ฉันทะของกิเลสมันไม่มาทางนี้หรอก ฉันทะของกิเลสก็ไปหากิเลส ไอ้ฉันทะของธรรมะ พอใจในธรรมะ พอใจปฏิบัติธรรมะ มันก็มีฉันทะขึ้นมา มันจะต้องสร้างฉันทะเนี่ยขึ้นมาให้สำเร็จ ในฐานะเป็นครูก็ดี ในฐานะที่จะสอนลูกศิษย์ ให้เขารู้จักสร้างฉันทะในความพอใจ ซึ่งมันก็มีคำอธิบายแวดล้อมอยู่มากเหมือนกันล่ะ ความเชื่อที่ถูกต้อง ความต้องการที่ถูกต้องหรือตรง ไม่ผิดธรรมชาติ ไม่ผิดหลักธรรมชาติ ความเห็นทุกข์ เห็นทุกข์เป็นของน่ากลัว จึงต้องการจะดับทุกข์ ด้วยเกลียดกลัวความเสื่อม ความทรุดโทรมดังนั้น มันก็มีฉันทะ ฉันทะเพียงพอ มีความหิว เหมือนกับหิวอาหารน่ะ หรือว่าหิวอะไรก็ตามน่ะ ที่เป็นความหิวน่ะ หิวฝ่ายธรรมดาหรือฝ่ายเลวทรามมันไม่เอาทั้งนั้น เอาความหิวที่ถูกต้อง คือ หิวที่จะหมดปัญหา หิวที่จะไม่มีความทุกข์อีกต่อไปเนี่ย จงสร้างกันให้มาก ให้ถูกต้อง ให้สมบูรณ์
เมื่อมีความพอใจที่จะทำแล้วมันก็ง่ายที่จะมีความพากเพียรที่จะกระทำ คือ วิริยะ วิริยะนี่มันมีความหมายว่าพากเพียรพยายาม มีความหมายว่ากล้าหาญ เฉียบขาดด้วย วิริยะนี่ทั้งพากเพียรและทั้งกล้าหาญ พากเพียรอย่างเดียวโดยไม่กล้าหาญก็เป็นไปไม่ได้ กล้าหาญอย่างเดียวโดยไม่พากเพียรก็ไม่สำเร็จประโยชน์อะไร มีวิริยะก็ทั้งพากเพียรทั้งกล้าหาญทำกันเต็มที่
ข้อต่อไป จิตตะ เอาใจใส่ สอดส่อง แก้ไขอุปสรรคอยู่เสมอ มันก็ทำได้ดี วิมังสาข้อสุดท้าย พอกพูนปัญญา วิชาความรู้ในเรื่องที่กำลังจะทำอยู่ ไม่รู้หยุด ความรู้ที่เป็นสติปัญญาก็สนับสนุนหรือว่าชักจูงไปจนสำเร็จประโยชน์ ธรรมะอย่างนี้เรียกว่าธรรมะเครื่องมือ ตัวธรรมะจริงมันอยู่ที่จะละความชั่วร้ายความเลวทราม สร้างสรรค์พัฒนาความถูกต้องดีงามให้เกิดขึ้นมา นั่นเป็นตัวธรรมะ ธรรมะหลัก ธรรมะจริงที่จะต้องปฏิบัติ แล้วก็มีธรรมะเครื่องมือคอยตรวจดู ในหนังสือ ตำราเรียนเขาก็มี แต่มันคงจะเข้าใจไม่ได้ ก็คิด ศึกษา จนเข้าใจได้ อิทธิบาท4 มันยังสั้นๆหรือลุ่นๆ ถ้ามากไปกว่านั้น ก็อยากจะยกตัวอย่างเช่น โพชฌงค์ ธรรมะเครื่องมือสำเร็จจนบรรลุพระนิพพานเลย ธรรมะเครื่องมือสำเร็จจนบรรลุพระนิพพานเลย ก็ยืมมาใช้ อย่างเดียวกับอิทธิบาทน่ะ อิทธิบาทนี่เพื่อนิพพานก็ได้ เรารู้จักขยายให้มันละเอียดหรือชัดเจนออกไป อิทธิบาทเริ่มด้วย ฉันทะ โพชฌงค์ก็เริ่มด้วย สติ สติคือความระลึก ระลึกรอบคอบ สุขุมระลึกไปทุกอย่าง ทุกอย่างว่าอะไรเป็นอย่างไร อะไรเป็นอย่างไร อะไรให้เกิดผลอย่างไร อะไรเกิดผลอย่างไร ให้ระลึกดูทุกอย่าง ยิ่งศึกษามากก็ยิ่งดี ควรจะศึกษาให้มากเพื่อจะระลึกมาเทียบเคียงดูทุกอย่างธรรมะ นี่อย่างนี้ธรรมะ นี่อย่างนี้ธรรมะ นี่อย่างนี้ เหมือนกับไปเลือกซื้อของในร้าน จะต้องดูให้ทั่ว ดูให้ทั่ว แล้วจึงเลือกว่าจะซื้ออะไร สติระลึกมาครบถ้วนทุกอย่างที่ควรจะระลึกน่ะ แล้วก็มีธรรมวิจยะ ธรรมวิจัยน่ะ คำนี้ คำโบราณ เป็นพันๆปี ไม่ใช่คำใหม่ๆ 2-3วันนี้ คำว่าวิจัย วิจัยนี่แปลว่าเลือก นี้ก็เลือกให้ถูกต้องที่สุดกับเรื่องของเรา หรือเรื่องของหน้าที่ของเรา ก็ธรรมวิจัยก็เลือกเอาอันนี้แน่ ปฏิบัติอันนี้แน่ มันก็พบธรรมะจริง ธรรมะหลักขึ้นมา แล้วก็ พบอย่างนี้แล้วก็วิริยะอีกนั่นแหละ ธรรมวิจยะ แล้วก็ วิริยะ พากเพียรเต็มที่ด้วยความกล้าหาญ ตอนนี้เค้าเติมปีติเข้ามา ให้มันแน่นอนขึ้นว่าไอ้ความเพียร ความเพียรนี้มันต้องมีเครื่องหล่อเลี้ยง หล่อเลี้ยงก็คือปีติ หล่อเลี้ยงได้ดี รู้สึกว่าเราได้กระทำถูกต้องแล้ว ถูกต้องแล้วนั่นน่ะ มีปีติว่าถูกต้องแล้วมันจะหล่อเลี้ยงความเพียร ปีติพอใจในผลที่จะได้รับ คือ เมื่อได้รับอยู่นิดๆ เล็กๆน้อยๆในเบื้องต้นก็พอใจ พอใจ อย่างชาวนา ไถนาได้รอยเดียว หรือขุดดินได้ 2-3 จอบอย่างนี้ก็ควรจะพอใจ เรียกว่าปีติมันจะหล่อเลี้ยงให้สนุก ทำต่อไปจนสำเร็จ ถ้ามันไม่มีความพอใจหล่อเลี้ยงอะไรแล้วก็ ไม่สำเร็จ เหมือนกับว่าเรามีเงินเดือนเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงให้ทำการงานน่ะ ให้พอใจทำการงานนี้ก็ได้เหมือนกัน แต่นั่นไม่ใช่ธรรมะหรอก เงินเดือนเหล่านั้น ต้องความถูกต้อง ความถูกต้อง ความประเสริฐของธรรมะ ยกมือไหว้ตัวเองได้นั่นแหละ ปีติที่แท้จริง มันก็หล่อเลี้ยง ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย มันก็เป็นไปอย่างก้าวหน้า ปีติ ความพอใจ ได้เท่าใดก็หล่อเลี้ยงสำหรับจะทำต่อไปเรื่อยๆไปนี้เรียกว่า ก้าวหน้า เมื่อหล่อเลี้ยงอยู่ในปีติ อย่างนี้เรื่อยๆไปมันก็เข้ารูป สิ่งที่กระทำนั้นลงรูปลงรอย เข้ารูป อุปสรรคออกไป เหลือแต่ความถูกต้องเข้ารูปเข้ารอย การงานที่ได้บากบั่นมาในลักษณะเช่นนี้แล้วมันจะเข้ารูปเข้ารอย เป็นปัสสัทธิ เรียกว่า ความยุ่งยากหมดไป เข้ารูปเข้ารอย ระงับลงเป็นความถูกต้อง พอมันเข้ารูปเข้ารอยเป็นความถูกต้องอย่างนี้ก็ ระดมสมาธิ กำลังจิตทั้งหมด ทุ่มเทลงไป ในเมื่อมันเข้ารูปเข้ารอย ระดมกำลังทั้งหมดหรือเครื่องมือทั้งหมดลงไป แล้วก็มีอุเบกขา คือ ดู ดู นั่งดู หรือ รอดู ให้ความถูกต้องมันดำเนินไปๆๆ จนกว่าจะถึงจุดหมายปลายทาง อุเบกขาไม่ใช่นั่งหลับ หรือว่านั่งดูอยู่เฉยๆ หมายถึงควบคุมไอ้ความถูกต้องที่มันเป็นไปจนกว่าจะถึงที่สุด เข้าใจคำว่า อุเบกขา อุเบกขาไว้ดีๆว่าไม่ใช่นั่งเฉยๆหรือนั่งหลับ ตัวเพ่งดูอยู่ เพ่งดูอยู่ให้มีความถูกต้องต่อไป ควบคุมในทางจิตใจ เหมือนว่าคนขับรถยนต์นี่ เมื่ออะไรๆมันก็ถูกต้องลงรูปลงรอย ถนนก็ดี ทัศนวิสัยก็ดี รถยนต์ก็ดี เครื่องยนต์ก็ดี น้ำมันก็ดี หล่อลื่นก็ดี อะไรก็ดีๆๆ มันก็ได้แต่ถือพวงมาลัยอยู่เฉยๆ มันก็ไปของมันจนถึงจุดหมายปลายทาง ทุกอย่างมันเข้ารูปลงรอยบนความถูกต้อง เนี่ยสำคัญ กว่าจะมาเข้ารูปลงรอยบนความถูกต้อง แล้วก็ควบคุมความถูกต้องให้มันออกผลมา ตัวอย่างในบาลีมันก็มีนะ ว่าแม่ไก่ฟักไข่อย่างถูกต้องตามแบบของการฟักไข่ มันมีการคน มีการกลับ มีการให้ความชื้น ถูกต้อง ถูกต้อง พอครบกำหนด 27 วันมันก็ออกมาเองน่ะลูกไก่ แม่ไก่ไม่ต้องร้องว่า ลูกไก่จงออกมา ลูกไก่จงออกมา ถ้าแม่ไก่ตัวไหนคิดอย่างนั้น ร้องอย่างนั้น ก็เป็นแม่ไก่บ้า อย่าไปเอากับมันเลย มันอยู่ที่ว่า ทำให้มันถูกต้อง ถูกต้อง ควบคุมความถูกต้องอยู่ แล้วผลมันก็ออกมา นี่ธรรมะหมวดไหนมันจบลงด้วยคำว่าอุเบกขา แล้วมันก็มีความหมายอย่างนี้ ธรรมะหมวดอื่นๆก็ยังมี เช่น สัปปุริสธรรม7 น่ะ ไม่ขออธิบายแล้ว เข้าใจว่าคงจะอ่านเอาในหนังสือคู่มือ ตำรับตำราที่เขาใช้เป็นวิชาครู สัปปุริสธรรม7 ให้รู้สิ่งที่ควรรู้ ให้รู้จักสิ่งที่เป็นเหตุ รู้จักสิ่งที่เป็นผล รู้จักตัวเอง รู้จักความพอเหมาะพอดี รู้จักเวลา ที่ควรไม่ควร แล้วก็รู้จักสังคมที่เข้าไปเกี่ยวข้อง รู้จักบุคคลแต่ละบุคคลที่ต้องเกี่ยวข้อง มีรายละเอียด ... (นาทีที่ 69.34) นี้ก็เป็นธรรมะที่จะช่วยให้เกิดความสำเร็จ เป็นธรรมะเครื่องมือ นี่ โดยตรงเฉพาะยิ่งกว่านั้นอีกก็คือ ฆราวาสธรรม 4 อย่าง สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ ถ้าเป็นฆราวาสธรรมเราก็ใช้ธรรมะ 4 อย่างนี้ อย่าเห็นเป็นของเล่นๆ ฆราวาสต้องมีธรรมะสำหรับฆราวาส มันจึงจะเป็นฆราวาสที่ถูกต้อง ประสบความสำเร็จในความเป็นฆราวาส มีทรัพย์สมบัติ มีเกียรติยศชื่อเสียง มีมิตรสหาย สังคมที่ดี เป็นฆราวาสได้ถึงที่สุดแล้ว นี่ถ้าฆราวาสนั้นต้องการจะไปไกลกว่านั้นจะออกไปสู่มรรคผลนิพพานก็ใช้ธรรมะนั้นอีกแหละ สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ จริงๆๆ สัจจะ จริงๆ ต่อความเป็นมนุษย์ ถ้ามีความเป็นมนุษย์ก็ต้องมีจิตใจอย่างมนุษย์ มีการกระทำอย่างมนุษย์ มีความจริงต่อความเป็นมนุษย์ อย่าให้เหลวแหลกเป็นเรื่องต่ำทราม มีธรรมะบังคับ บังคับ ก็บังคับกันจนเลือดตาไหล เหมือนกับบังคับสัตว์ดุร้าย บังคับช้างตกมัน ต้องใช้ความฉลาดที่เพียงพอ ก็บังคับได้ ถ้าฉลาดน้อยมันก็บังคับไปไม่ได้ ทีนี้ก็มีขันตี อดทน อดทน เพราะว่ามีการบังคับคือการต่อสู้ มันก็ต้องมีความเจ็บปวด มันต้องมีความอดทน อดทน อดทนทำอย่างถูกต้องจนสมควรที่จะมีผลเกิดขึ้น นี่เรียกว่าขันติ แต่เพื่อไม่ให้ต้องอดทนมากเกินไปต้องมีจาคะ ระบาย มีรูรั่ว ระบายความกดดันออกไปพลาง ออกไปเรื่อยๆ ความเลวทราม อะไรที่จะระบายออกไปได้ ระบายออกไปเรื่อยๆๆ เรียกว่าจาคะ จาคะ สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ นี่สำหรับฆราวาส อยู่ในโลกฆราวาสนี่ก็ได้ สำหรับฆราวาสจะออกจากโลกไปสู่พระนิพพานก็ยังได้ นี่ธรรมะที่เป็นเครื่องมือ ธรรมะที่เป็นตัวจริงก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ศีล คือ ความถูกต้องทางกาย ทางวาจา สมาธิ คือ ความถูกต้องทางจิต ปัญญา คือ ความถูกต้องทางสติปัญญา จะเรียกว่าทางอะไรก็ได้ แต่ว่าเป็นเรื่องทางสติปัญญา เป็นเรื่องทางวิญญาณ มีศีล สมาธิ ปัญญา มันก็มีความถูกต้องทางกาย ทางวาจา ที่เป็นภายนอก ทางจิตที่เป็นภายใน แต่ก็ยังอยู่ระหว่างภายนอกกับภายใน ถ้าปัญญาล้วนๆน่ะภายในล้วนๆมันก็ถูกต้อง ถูกต้องทั้งภายนอกและภายใน และ ระหว่างภายนอกและภายใน ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นตัวธรรมะจริง ธรรมะหลักที่ต้องมี แล้วก็อาศัยธรรมะเครื่องมืออีกมากมายหลายหมวดมาทำให้สำเร็จประโยชน์ เช่นว่ามีความเพียรอย่างนี้ มีความ อย่างที่ว่ามาแล้วว่ามี อิทธิบาท มีความพากเพียร มีอินทรีย์ มีพละ มีโพชฌงค์ อย่างทีว่ามาแล้วนั่นน่ะ เป็นธรรมะเครื่องมือ ท่านจงศึกษาธรรมะครบทั้ง 2 อย่าง คือ ธรรมะหลักว่าจะเอากันอย่างไร และธรรมะเครื่องมือ ว่ามันจะสำเร็จประโยชน์ตามนั้นได้อย่างไร ถ้าเมื่อใดมีธรรมะครบทั้ง 2 ฝ่ายคือทั้ง ธรรมะหลัก และ ธรรมะเครื่องมือแล้ว แน่นอน ต้องประสบความสำเร็จในสิ่งที่ตนกระทำ เราเป็นครูมันคงจะลำบากหน่อย เพราะมันต้องสอนผู้อื่น ถ้าเราเป็นนักเรียนนี่ยังง่ายกว่า แต่ว่าไอ้ความเป็นครูมันก็มีค่ามากกว่า ถึงกับเป็นปูชนียบุคคลก็ได้ ความเป็นนักเรียนมันเป็นไปไม่ได้ หวังว่าท่านครูบาอาจารย์ทั้งหลายควรจะอุทิศตน ถวายธรรมะ อุทิศชีวิตถวายแก่ธรรมะ ให้มันเป็นธรรมะทั้งเนื้อทั้งตัว ประสบความสำเร็จชั้นสูง สามารถนำโลก สามารถเปิดประตูทางวิญญาณ แก้ไขปัญหาในโลกทุกอย่างทุกประการให้ได้ เอาอย่างพระพุทธเจ้า ถึงแม้จะไม่เป็นพระพุทธเจ้าก็ต้องเอาอย่างได้ นั่นคือ เคารพหน้าที่ บูชาหน้าที่ ในฐานะเป็นสิ่งสูงสุด สูงสุดเหมือนกับพระเป็นเจ้าน่ะไม่ทำหน้าที่ก็คือตาย ทำหน้าที่ผิดก็หลุด เป็นทุกข์วุ่นวาย ทำหน้าที่ถูกต้องก็เป็นสุขสบาย เยือกเย็น ชีวิตนี้เย็น เย็น เย็น นี่ยังเป็นประโยชน์ เป็นประโยชน์แก่ตนเอง เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น เป็นประโยชน์แก่ทั้ง 2 ฝ่าย นี่เรียกว่ามันมีประโยชน์ ชีวิตนี้จะต้องเย็น ต้องสะอาดจากความสกปรก ต้องสว่างไปจากความโง่ ต้องสงบจากความวุ่นวาย อย่างนี้เรียกว่าเสรีภาพจากสิ่งเลวร้าย คือ ความสกปรก หรือความโง่ หรือ ความวุ่นวาย มันจะมีอะไรดีกว่านี้เอ้า ไปคิดดูอีก ท้าทายไปคิดดู มีอะไรดีกว่านี้ มีอะไรที่ดีกว่าชีวิตเย็นและเป็นประโยชน์ ชีวิตเย็นส่วนตัว แล้วก็เป็นประโยชน์ สามารถที่จะปกติ ใช้คำว่าปกติ คือ ถูกต้อง ถูกต้องปกติ ไม่หัวเราะ ไม่ร้องไห้ ไม่หัวเราะให้มันโง่ ไม่ร้องไห้ให้มันเป็นทุกข์ อยากชอบหัวเราะกันนัก มันก็เหนื่อยเหมือนกัน แล้วมันก็โง่ มากกว่าที่จะทำให้ฉลาด ไม่หัวเราะ แล้วก็ไม่ร้องไห้ เรียกว่าปกติ มันก็ฉลาดอยู่อย่างลึกซึ้งในความปกติ แล้วก็ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ ไม่ดีใจเต้นรัวให้โง่อย่างนั้น ดีใจเกินไปมันก็กินข้าวไม่ลง นอนไม่หลับ ...(นาทีที่ 76.02) ถ้าเสียใจมันก็ไม่ไหว ปกติ ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ นั่นแหละ คือเวลาที่สบายที่สุด ขอท้าทายว่า เวลาที่สบายที่สุดก็คือ ไม่ดีใจ และ ไม่เสียใจ มันเป็นปกติ เป็นปกติ เสียใจก็เป็นทุกข์ ดีใจมันก็เหนื่อยไปตามแบบนั้น มีบุญก็ยุ่งไปตามแบบมีบุญ มีบาปก็ยุ่งไปตามแบบมีบาป เหนือบุญเหนือบาปเป็นพระนิพพานนั่นปกติ นั่นดีที่สุด พูดอย่างวิทยาศาสตร์ก็ว่าอย่าให้มันเป็นบวก อย่าให้มันเป็นลบ ชีวิตนี้ให้มันอยู่เหนือความเป็นบวกและเหนือความเป็นลบ มันไม่ต้องยุ่งยากลำบาก มีความเป็นบวก มีความเป็นลบมันก็ยุ่งเท่ากันแหละ แม้มันจะยุ่งอย่างคนละฝ่ายคนละทางแต่มันก็มีความยุ่งเท่ากัน เราไม่มีความเป็นบวก ไม่มีความเป็นลบ ก็มีธรรมะ มีธรรมะก็ไม่เห็นแก่ตัว ไม่เห็นแก่ตัว มันก็ไม่มีปัญหาอะไร ไม่มีความเลวร้ายอะไรอย่างที่กล่าวมาแล้ว นั่นก็คือ มีธรรมะสูงสุด มีธรรมะตั้งแต่ต้นจนปลาย มีธรรมะสูงสุด ละความชั่วเสียได้ก็ชั้นหนึ่ง ทำความดีให้เต็มขึ้นมาเป็นอีกชั้นหนึ่ง อยู่เหนืออิทธิพลของความชั่วและความดี มีเสรีภาพ มีปกติตามความหมายของพระนิพพาน นี่ชั้นสูงสุดอยู่ที่นี่ พระนิพพานเป็นธรรมะสูงสุด แม้เรายังไม่ถึงเต็มที่ก็ขอให้มีความหมายอย่างนั้น คือ ให้มีชีวิตเยือกเย็น อยู่ในครอบครัวให้เป็นครอบครัวเย็น อย่าเป็นครอบครัวร้อน ครอบครัวบ้า แล้วมันก็จะต้องรับผลของไอ้ความเห็นแก่ตัว พินาศในที่สุด มีความรู้ถูกต้องมันจึงจะเย็น เด็กๆก็มีความเข้าใจถูกต้อง วัยรุ่นก็เข้าใจถูกต้อง หนุ่มสาวก็เข้าใจถูกต้อง บิดามารดาเข้าใจถูกต้อง คนเฒ่าคนแก่มีความเข้าใจถูกต้อง ครอบครัวนั้นมันก็เย็น ยังไม่ถึงนิพพานนะ แต่ว่าเย็นทำนองเดียว เรียกว่า นิพพุติ นิพพุติ ชีวิตเย็นกันที่นี่เรียกว่านิพพุติ(นาทีที่ 78.24) เย็นถึงระดับสูงสุดไม่เปลี่ยนแปลงอีกต่อไป เรียกว่า นิพพาน ถ้ายังไม่ได้นิพพานก็ขอให้ได้นิพพุติ(นาทีที่ 78.36) คือ ชีวิตที่หมดปัญหา ไม่มีความเร่าร้อนกระวนกระวายอย่างที่คนมีกิเลสเขามีกัน แล้วอยู่อย่างไม่อยู่ภายใต้อำนาจของกิเลสคือไม่เห็นแก่ตัว เมื่อไม่เห็นแก่ตัวมันก็ไม่เกิดราคะ โทสะ โมหะ กิเลสทั้งหลายเกิดมาจากความเห็นแก่ตัวในรูปหนึ่งให้เกิดความโลภ ในรูปหนึ่งให้เกิดความโกรธ คือ ความเกลียด ในรูปหนึ่งก็ให้เกิดความโง่ สะเพร่า มัวเมา มึนเมาไป ไม่เห็นแก่ตัวก็ไม่เกิดกิเลสใดๆจึงขอย้ำว่า จงเพ่งเล็งที่ความไม่เห็นแก่ตัว หมดความเห็นแก่ตัว เกลียดกลัวความเห็นแก่ตัวที่กำลังทำลายโลก ทำลายความสงบสุข ทำโลกนี้ให้เป็นนรก ความเห็นแก่ตัวมันจะทำโลกนี้ให้เป็นนรก ถ้าไม่เห็นแก่ตัวมันจะค่อยๆทำให้เป็นสวรรค์ เป็นเหนือสวรรค์ไปซะอีก ออกจากนรกได้ก็ไม่ไปหลงใหลในสวรรค์ เหนือสวรรค์ก็เป็นความสงบ จากชั่วถึงดี เหนือดีก็คือความสงบ จากบาปมาถึงบุญ เหนือบุญก็คือความสงบ ความสงบเป็นสิ่งสูงสุด ความสุขอื่นนอกจากความสงบไม่มี ถ้ามีความสงบ ปราศจากความรบกวนของกิเลสแล้วก็จะเป็นความสุขในระดับใดระดับหนึ่งซึ่งมีอยู่หลายๆระดับ ซึ่งเราเลือกเอาเอง
และเวลาก็สมควรแล้ว อาตมาขอขอบคุณท่านทั้งหลายที่มา และขอแสดงความยินดี อนุโมทนาในการที่มาเพื่อแสวงหาความรู้ทางธรรมะไปประกอบกิจหน้าที่การงานของตนของตน อาตมาก็พยายามตามความสามารถในการที่จะบอกเรื่องของธรรมะเท่าที่ได้ศึกษาขวนขวายและปฏิบัติค้นคว้าทดลองมา เป็นเวลาหลายสิบปีแล้วนี่ ขอยืนยัน ได้ความรู้อย่างที่พูดให้ฟังนี้ ท่านไม่ต้องเสียเวลาค้นในสิ่งที่เคยค้นมาแล้ว เอาไปพิสูจน์ทดลองและปฏิบัติได้เลย คำพูดทุกคำพูดมันมีเหตุผลแสดงอยู่ในตัวคำพูด ไม่ต้องเชื่อผู้พูด แต่เชื่อเหตุผลที่มันแสดงอยู่ในตัวคำพูด ก็เท่านั้นแหละ พอ พระพุทธเจ้าท่านก็สอนอย่างนั้น มันมีความจริง มีเหตุผลแสดงอยู่ที่เนื้อที่ตัว เช่นว่าอย่าทำชั่วมันไม่ดี ก็ไม่ต้องเชื่อผู้พูด ผู้บอกหรอก เห็นชัดอยู่ในตัวความชั่ว มันไม่ไหว อย่างนี้เรียกว่าเชื่อด้วยผลที่มีอยู่ในตัวคำพูด เพราะนั้นจึงไม่ได้ขอร้องให้เชื่อผู้พูด ไม่ได้ขอร้องให้เชื่อตำรา หรือ พระไตรปิฎก แต่ให้เชื่อเหตุผลที่มันแสดงอยู่ในตัวคำพูด มีสติปัญญาวินิจฉัยเอาเอง แล้วก็จะพบแต่ความถูกต้อง ก็ดำเนินไปตามความถูกต้อง ความถูกต้องนั่นล่ะคือธรรมะ ธรรมะคือความถูกต้องสำหรับจะรอดชีวิต และ พ้นจากความทุกข์ทั้งปวง ก้าวหน้าไปสู่จุดหมายปลายทาง ธรรมะคือความถูกต้องสำหรับความอยู่รอดและก้าวหน้าไปสู่จุดหมายปลายทาง ธรรมะไม่มีอะไรมากไปกว่านี้ จงใช้ความรู้ทางธรรมะนี้ ประกอบหน้าที่การงานของตนในทุกแง่ทุกมุม ในทุกความหมาย ปฏิบัติหน้าที่ของตนจนถูกต้องและพอใจ มีความสุขอยู่ในหน้าที่การงาน สนุกอยู่ในหน้าที่การงานอยู่ทุกทิพาราตรีกาล เทอญ ขอยุติการบรรยาย