แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านสาธุชนผู้เป็นครูบาอาจารย์ทั้งหลาย วันนี้เราจะพูดกันเป็นพิเศษ คือพูดเรื่องเกี่ยวกับครูโดยเฉพาะ มีหัวข้อชื่อเรื่องว่า วิญญาณของความเป็นครู วิญญาณของความเป็นครูนี่ถ้าเล็งถึงตัวหนังสือ มันก็มีความหมายไปถึงความสำคัญหรือความมีคุณค่าสูงสุด แต่ถ้าเล็งถึงในภาวะของความเป็นครู ก็จะเล็งถึงสถานะของครูที่มีอยู่ในโลก ซึ่งมันมีความหมายกว้างขวางมากอยู่เหมือนกัน เดี๋ยวนี้วิญญาณของครูตกต่ำหรือเปล่า ครูเป็นปูชนียบุคคลอยู่เหนือเกล้าเหนือเศียรของประชาชนอย่างครั้งโบราณหรือเปล่า หรือว่าครูมันจะได้กลายเป็นเรือจ้าง อาชีพเรือจ้าง อาชีพจำเป็นขอผ่านๆ ไปทีเพราะไม่มีงานอื่นจะทำ นี่แหละขอให้มองดูกันในแง่นี้ ก็จะพบสิ่งที่เรียกว่า วิญญาณของความเป็นครู ที่จะต้องได้รับการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขกันอย่างไรบ้างหรือไม่ จึงอยากจะเอามาพูดกันเป็นพิเศษอย่างที่กล่าวมาแล้ว เพราะมันมีความสำคัญมากพอที่จะกล่าวล่วงหน้าได้ว่า โลกนี้มันรอดอยู่ได้ด้วยครู ด้วยสิ่งที่เรียกว่าครู ถ้ามันไม่มีสิ่งที่ ไม่มีบุคคลประเภทที่เรียกว่าครู มันวินาศ มันวินาศไม่มีอะไรเหลือ แต่คนก็เห็นค่าของครูน้อยไป บูชาครูน้อยไป ครูก็เลยตกต่ำลงมาด้วยความสูญเสียกำลังใจ ไม่พิทักษ์รักษาความหมายอันศักดิ์สิทธิ์ของความเป็นครูไว้ให้ได้ เอาละเรื่องนี้จะมีอะไรบ้าง ก็จะอยู่ในคำพูดที่จะนำมาพูดกันเป็นข้อๆ ไปโดยละเอียด
ข้อแรก พิจารณากันถึงตัวคำ คำว่า ครู นั่นแหละ โดยพยัญชนะ โดยตัวหนังสือ หรือโดยภาษาก็ตาม คำว่า ครู มันตรงกับคำที่แปลว่าหนัก คุรุ แปลว่า หนัก หมายถึงผู้ที่ทุกคนจะต้องสนใจด้วยความเคารพ คือเห็นว่าเป็นสิ่งสูงสุด ให้ความเคารพ ก็เรียกว่าผู้ที่บุคคลทั้งหลายพึงให้ความเคารพ ไม่ได้มีความหมายว่าหนักอยู่บนหัวคน แต่มันก็มีความหมายเช่นนั้นแหละ คือว่าทุกคนจะต้องรู้สึก จะต้องเคารพ จะต้องบูชา แต่มาเมื่อเร็วๆ นี้ก็ปรากฏว่า นักศึกษาทางภาษาค้นพบว่า มันยังมีรากศัพท์อีกอันหนึ่งหมายถึง เปิดประตู กิริยาที่เปิดประตูนั้นเรียกว่า ครู จึงบัญญัติกันใหม่ว่า ครูคือผู้เปิดประตู หมายถึงเปิดประตูด้านจิตใจ ฝ่ายจิตใจ ทางวิญญาณ อันไหนจะมีความหมายดีกว่า ท่านทั้งหลายก็ลองคิดดูเอาเอง แต่แล้วมันก็เนื่องกัน เนื่องกันโดยที่ไม่แยกกัน เพราะเปิดประตูให้ได้จึงมีบุญคุณ มีคุณค่าอยู่เหนือศีรษะคน เปิดประตูทางวิญญาณให้สัตว์ออกมาเสียจากคอก คอกในที่นี้หมายถึง อวิชชา ความไม่รู้ คอกที่มืด คอกที่เหม็น คอกที่สกปรก คอกที่ยัดเยียดทนทรมานกันอยู่ ผู้เปิดประตูแล้วก็ออกมาเสียจากคอก สัตว์ทั้งหลายออกมาจากคอก ก็มีพระคุณมหาศาล มีความหมายเป็นผู้ปลดปล่อย นี่ภาษาคอมมิวนิสต์
ดังนั้น ครูจึงเป็นผู้นำ เป็นผู้นำในความหมายหนึ่ง นำทางฝ่ายวิญญาณ นำให้มันไปอย่างถูกต้อง ให้มันเป็นไปอย่างถูกต้อง เป็นผู้นำในทางวิญญาณ เพราะว่าได้เปิดประตูทางวิญญาณ แล้วก็นำไปในทางวิญญาณให้มันเกิดความถูกต้อง สรุปความแล้วก็เป็นปูชนียบุคคล คือบุคคลที่ใครๆ ควรจะเคารพบูชา กิจกรรมอันนี้มันสูงมากนะ เปิดประตูทางวิญญาณเนี่ย ใครมันเปิดได้กี่คน เมื่อครูเปิดได้จริง ครูก็เป็นปูชนียบุคคล แล้วครูก็ได้รับเกียรติเป็นปูชนียบุคคลมาตั้งแต่โบราณกาลนานไกล คำนี้เป็นคำที่น่าสนใจนะ คือคำว่า ปูชนียบุคคล ผู้ที่ทุกคนควรบูชา มีความหมายว่า ให้ ให้สิ่งที่มีคุณค่ามหาศาล เหลือประมาณ เหลือที่จะคำนวณ แล้วก็รับสิ่งตอบแทนเพียงเยียวยาชีวิตให้รอดไปวันหนึ่ง วันหนึ่ง นี่พูดภาษาเด็กๆ ครูมีเงินเดือนวันละบาท พระไปบิณฑบาตเอามาเพียงวันละบาตร แต่ถ้าทำหน้าที่ของพระแล้วมันก็มีคุณค่ามหาศาล พระอรหันต์ก็บิณฑบาตได้เพียงวันละบาตร พระพุทธเจ้าก็เหมือนกัน รับน้อยมาก ส่วนที่รับเอามาน้อยมาก แต่ส่วนที่ให้ ให้ไปนั่นน่ะ มหาศาล ใครมีลักษณะการกระทำอย่างนี้ ผู้นั้นเรียกว่า ปูชนียบุคคล รองไปจากครู ก็มีพวกหมอ พวกแพทย์ สมัยโบราณน่ะเขามีความหมายเป็นปูชนียบุคคล เพราะว่าไม่ได้เป็นอาชีพค่าจ้าง หนทางแห่งการขูดรีดใดๆ กระทั่งว่าอาชีพผู้พิพากษา ตุลาการในยุคต่อมา ก็มีลักษณะเป็นเช่นนั้น ปูชนียบุคคลเหล่านี้ยังเป็นปูชนียบุคคลอยู่เพียงใด โลกก็มีที่พึ่งทางจิตใจ ถ้ามันเกิดเปลี่ยน ปรับ ตาลปัตรกัน ปูชนียบุคคลเหล่านี้กลายเป็นพ่อค้า กลายเป็นผู้ขูดรีด ท่านคิดดูเถอะว่าความเลวร้ายมันจะเกิดขึ้นสักเท่าไร เดี๋ยวนี้ครูก็สามารถจะขูดรีด เกี่ยงงอนหรือเรียกอะไรต่ออะไร ผู้พิพากษา ตุลาการ หมอ แพทย์ก็ดี หันเหไปทางแสวงหาประโยชน์ทางวัตถุแล้วมันก็หมดความเป็นปูชนียบุคคล ท่านที่เป็นครู ได้มีอาชีพเป็นครู จงมีความยินดีพอใจว่า โชคดี โชคดี ที่ได้มีอาชีพปูชนียบุคคล เป็นปูชนียบุคคล แม้จะไม่ร่ำรวยเป็นเศรษฐี เงินทองข้าวของ แต่ก็มีความเป็นเศรษฐีในด้านจิตด้านวิญญาณ คือเต็มไปด้วยคุณธรรมที่เป็นคุณค่าหรือความเป็นปูชนียบุคคลนั่นแหละ โชคดี พอใจ อย่าไปคิดเปลี่ยนอาชีพเลย แล้วก็อย่าทรยศต่อวิญญาณของอาชีพนี้ด้วย นี่เรียกว่าโดยตัวหนังสือ คำว่า ครู ครู มันเป็นอย่างนี้
เอ้า, ทีนี้เราจะพิจารณากัน พิจารณากันโดยความหมายหรืออรรถอีกทีหนึ่ง เมื่อดูกันโดยพยัญชนะ ตัวหนังสือแล้ว มาดูโดยอรรถ คือความหมายกันอีกทางหนึ่ง แม้ว่ามันจะไกลจากตัวหนังสือ แต่มันก็มีความถูกต้องอย่างยิ่งอยู่ในนั้น อยากจะยกเอาคำคำหนึ่งขึ้นมา เป็นอรรถของความวิเศษของความเป็นครู คือผู้แสดงโลกใหม่แก่กุลบุตร ผู้แสดงโลกใหม่ โลกที่เขายังไม่เคยพบ ยังไม่เคยเห็น หรือว่าโลกอื่นก็แล้วกัน แก่ทารก แก่ลูกเด็กๆ แก่นักเรียน ครูที่แท้จริงมีลักษณะเหมือนแสดงโลกใหม่ให้แก่นักเรียน ให้เขาได้โลกที่ ที่ดีกว่าโลกที่มีอยู่แต่ก่อน นี่มันมีลักษณะเป็นผู้ยกสถานะทางวิญญาณของประชาชนให้สูงขึ้น สูงขึ้น สูงขึ้น ในโลกใหม่นี้หมายความว่า มีความถูกต้อง มีการคุ้มครอง มีความปลอดภัยมากกว่าที่แล้วมา ก็เลยกลายเป็นผู้คุ้มครองให้ปลอดภัยในด้านจิต ด้านวิญญาณ นั่นแหละอรรถและความหมายของคำว่า ครู หรือ ความเป็นครู ให้ยึดถือเอาใจความนี้ไว้ให้ได้เถิดท่านครูทั้งหลาย ก็จะเป็นผู้ที่มีความเป็นครู ครบถ้วน ถูกต้อง ทั้งโดยพยัญชนะและโดยอรรถของคำคำนี้
เอ้า, ทีนี้มาดูให้มันกว้างออกไปอีกหน่อย ในทางคำพูดคำอื่นๆ ที่มันใช้แทนคำว่า ครู เราจะได้ยินใช้กันอยู่ทั่วไป แต่ว่าก็ไม่ค่อยจะสนใจว่ามันเป็นไวพจน์ คือคำแทนชื่อที่ใช้แทนกันได้สำหรับคำว่า ครู โดยภาษาบาลีแล้วจะพบคำว่า ครู อาจารย์ อาจริยะ อุปัชฌาย์ อนุศาสก ครูก็มีความหมายอย่างที่ว่ามาแล้ว อาจารย์นี่เลยออกไปถึงว่า นอกจากสอน แล้วก็ฝึกด้วย ฝึกไปด้วย ไม่ใช่สอนเฉยๆ อุปัชฌาย์ คำนี้เป็นปัญหา ถ้าเป็นทางวินัยในพระพุทธศาสนา ก็แปลว่า ผู้นำเข้ามาหาหมู่สงฆ์ แล้วก็มาขอให้สงฆ์ยอมรับว่าเป็นภิกษุองค์หนึ่ง นี่เรียกว่า อุปัชฌาย์ ตัวหนังสือแปลว่า ผู้ที่ศิษย์เพ่งดูอยู่ ควรแก่การเพ่งดูของศิษย์เรียกว่า อุปัชฌาย์ แต่อ่านพบในหนังสือวรรณคดีฝ่ายภาษาสันสกฤตอินเดียโบราณ คำว่า อุปัชฌาย์ กลายเป็นผู้สอนวิชาชีพและศิลปะทั้งหลายทั่วไป ไม่ยกเว้นอะไร แม้แต่อาจารย์ดนตรีนี่ก็เรียกว่า อุปัชฌาย์ ก็หมายความว่าผู้สอนศิลปะ สอนอาชีพ สอนทุกอย่างทุกประการ ก็ถือว่าวิชาความรู้นี้ก็เป็นวิชาชีพ รอดตัวได้ ซึ่งอุปัชฌายะจะสอนให้ อย่างนี้ก็ได้เหมือนกัน
ทีนี้ดูภาษาไทย นึกถึงคำว่า ผู้แจกของ ส่องตะเกียง หรือผู้ส่องตะเกียงก็แล้วกัน จุดตะเกียงแล้วก็ส่องให้ ให้ลูกศิษย์มันเดินไปอย่างถูกทาง ครูก็เป็นผู้ส่องตะเกียงในทางวิญญาณอีกแหละ ส่องกันมาตั้งแต่เล็กๆ เลย ตั้งแต่ลูกเด็กๆ แล้วก็เป็นสารถีผู้ฝึก คำนี้ก็หมายถึงฝึกสัตว์ สารถี แต่ถ้าลูกเด็กๆ มันก็คล้ายๆ กับสัตว์ การฝึกลูกเด็กๆ ก็เรียกว่าสารถีก็ได้ ในบทพุทธคุณ พระพุทธเจ้าก็เป็นสารถีทั้งเทวดาและมนุษย์ ปุริสะทัมมะสาระถิ ฝึกคนที่ควรฝึก ไม่มีใครยิ่งไปกว่า นี่ครูก็มีลักษณะเป็นสารถี แต่มันต้องชั้นเลิศนะ จะเป็นผู้จูง ผู้จูงในความหมายสุดเหวี่ยงก็คือ จูงคนตาบอด จูงคนตาบอด ในความหมายทั่วไปก็เป็นผู้ชักจูง ชักจูง ชักจูงไปให้มันไปถูกทางยิ่งขึ้น แม้แต่คนตาดีมันก็ยังต้องชักจูง ครูเป็นผู้ชักจูง
ทีนี้ดูให้ไกล ก็จะพบว่าครูนี้ก็เป็นพรหม พระพรหม ผู้มากไปด้วย เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา แก่ศิษย์ ครูเป็นพรหม ทีนี้ครูเป็นศาสดา สัตถา สัตถา คำนี้แปลว่าเป็นครูในฝ่ายจิต ฝ่ายวิญญาณ พระพุทธเจ้าเป็นพระบรมครู เป็นจอมสัตถา ครูก็เป็นสัตถาตัวเล็กๆ ไปก็แล้วกัน เป็นผู้สอน แล้วมีความหมายรวมอีกคำหนึ่งว่า เป็น บุพการีหรือบูรพการี ผู้ทำพระคุณให้ก่อน เป็นฝ่ายที่ทำพระคุณให้ก่อน ให้แก่ลูกศิษย์ แล้วก็มีหน้าที่สำหรับลูกศิษย์ที่จะต้องรับรู้แล้วก็ตอบแทน นี่ครู ครูเป็นบูรพการี มีไวพจน์เรียกชื่อแทนกันได้หลายอย่างหลายความอย่างนี้ แต่ก็ล้วนแต่เป็นความหมายที่ดี ที่จะต้องสนใจ ขอให้ครูทั้งหลายสนใจ
นี่เรียกว่าครู ครูโดยภาษาคน มากมายอย่างนี้ สิ้นสุดไปแล้ว ก็จะพูดถึงภาษาธรรม ภาษาธรรมะ คือไม่ใช่ภาษาวัตถุ ไม่ใช่ภาษาบุคคล แต่เป็นภาษาธรรมะ ลึก ละเอียดกันอีกทางหนึ่ง เรียกว่าโดยภาษาธรรม อย่างนี้ก็จะระบุไปยังสิ่งที่ได้ผ่านไปแล้วในชีวิต จิตใจ นั่นแหละเป็นครู สิ่งใดผ่านไปแล้วในชีวิตของเรา เรื่องผิดก็ตาม เรื่องถูกก็ตาม มันเป็นครูทั้งนั้นแหละ เรื่องผิดมันก็เป็นครูรุนแรงหน่อย มันกัดเอา มันตีเอา เรื่องถูกก็สบายหน่อย แต่ว่าทั้งผิดและทั้งถูกที่ได้ผ่านมาแล้วในชีวิตนี้ก็เป็นครู ครู ครู ขอให้สนใจ ครู ครูในทางฝ่ายนามธรรม จะพูดให้กว้างกว่านั้นก็พูดว่า ไอ้ความล่วงกาลผ่านวัยไปมากนั่นแหละ มันมีความเป็นครูซ่อนอยู่ในนั้น ลูกเด็กๆ มันอวดดี พระหนุ่มเณรน้อยมันก็อวดดี พระแรกบวชว่าตัวอวดดี มันไม่ค่อยยอมรับสภาวะอันนี้ ไม่ค่อยเคารพครูบาอาจารย์ แต่ว่าความเป็นครูบาอาจารย์ในความล่วงกาลผ่านวัย เป็นรัตตัญญู เกิดก่อนนั้นนะมีมาก ลูกหมาตัวที่อายุมากกว่า มันฉลาดกว่าตัวที่อายุน้อยกว่า ไม่ต้องใครสอนหรอก มันมาเห็นอยู่ทุกวันเลย สัตว์ตัวไหนอายุมันมากกว่า แล้วมันก็ฉลาดกว่าไอ้สัตว์อย่างเดียวกัน ประเภทเดียวกัน ที่มันอายุยังน้อย นี่เรียกว่าเวลามันสอน ความล่วงกาลผ่านวัยนี่มีความหมายลึก มันสอนจนถือเป็นคุณธรรมสำคัญอันหนึ่งว่า รัตตัญญู ผู้รู้ราตรีมาก รู้ราตรีนาน คือเกิดก่อน แม้ในตัวมันเอง มันก็สอน เมื่อเรามีอายุมากเข้า มีอายุมากเข้า ความล่วงกาลผ่านวัยมากมันก็สอน สอนมากขึ้น นี้เรียกว่าครู ครูโดยภาษาธรรม ครูโดยภาษาคน อธิบายกันมากมายมาแล้วข้างต้น โดยภาษาธรรม มันก็มีอย่างนี้ จนกล่าวได้ว่า ชีวิตแหละเป็นครูโดยตัวมันเอง ขอให้เติบโตขึ้นมาเถอะ มันก็รู้อะไรอย่างกว้างขวางลึกซึ้งมากพอออกไป เพราะฉะนั้นขอให้เคารพในความเป็นผู้มีราตรีนานหรืออายุยืน อายุยาว อย่าได้ดูถูกเลย
ทีนี้ก็อยากจะพูดรวมกันอีกทีหนึ่งว่า ลักษณะของครูโดยลักษณะ คือครูโดยลักษณะ โดยลักษณะนี่ แล้วจะเล็งถึงปัจจุบันด้วย คำว่าครูเป็นปูชนียบุคคล ยกสถานะทางวิญญาณของศิษย์มาแต่ดึกดำบรรพ์โบราณกาลนานไกลเรื่อยมา แต่เดี๋ยวนี้มันเปลี่ยน มีลักษณะอันใหม่เกิดขึ้น ครูกลายเป็นเพียงลูกจ้าง รับจ้างสอนหนังสือ หากินไปวันๆ จริงไม่จริงลองดู ลองคิดดู ครูบางคนน่ะมีลักษณะเหมือนกรรมกร อดทน รับจ้างสอนหนังสือ หากินไปวันๆ วันๆ อย่างนี้มันก็มี แล้วมันก็หาความเป็นปูชนียบุคคลได้ยาก ครูกลายเป็นอาชีพจำเป็น เป็นเรือจ้างขอไปทีก่อน อาศัยอาชีพครูประทังชีวิตไป แล้วก็ศึกษาอาชีพอื่น สอบได้ก็เปลี่ยนอาชีพจากความเป็นครู ไปสู่อาชีพนั้นๆ ซึ่งได้เงินเดือนมากกว่า มีโอกาสก้าวหน้ามากกว่า อย่างนี้เรียกว่าทรยศหรือขบถต่อความเป็นครู หรือความหมายแห่งความเป็นครูมาก ไม่ทำดีกว่า นี่เรียกว่าลักษณะของครูมันเปลี่ยนไปอย่างนี้
ทีนี้มองในแง่ดี มองในแง่ดี ในทางอื่นต่อไปว่า ครูนี่เหมือนกับพี่น้อง พี่รักน้อง น้องรักพี่ ครูมีความหมายเป็นพี่น้อง เป็นพี่ที่รักน้องก็ได้ ครูมีความหมายเป็นเพื่อน เป็นสหายก็ได้ ไปด้วยกัน ไปด้วยกันเลือดสุพรรณเอ๋ย นี่ก็ยังได้ ครูมันมีลักษณะเป็นสหาย มากไปกว่านั้น ครูก็เป็นพ่อก็ได้ เป็นพ่อทางวิญญาณ มีความหมายแห่งบิดาก็ยังได้ แต่ที่ไพเราะ ความหมายที่ไพเราะที่พระพุทธเจ้าเองท่านก็ใช้ แม้แต่พระองค์เอง ท่านเรียกว่า กัลยาณมิตร อาตมาสังเกตดูแล้ว คล้ายๆ พระพุทธเจ้าท่านประสงค์จะให้เราทำตนเป็นกัลยาณมิตรระหว่างกัน ระหว่างเรากับพระพุทธเจ้า ท่านไม่วางโตเป็นครู เป็นอะไรที่มันเหนือกว่ากันมาก เหนือกว่ากันมากเกินไป เป็นกัลยาณมิตร อย่างน้อยก็มีพระบาลีบทหนึ่งว่า ถ้าสัตว์ทั้งหลายเหล่านี้ อาศัยเราเป็นกัลยาณมิตรแล้ว ที่มีความเกิดจะพ้นจากความเกิด ที่มีความแก่จะพ้นจากความแก่ ที่มีความเจ็บจะพ้นจากความเจ็บ ที่มีความตายจะพ้นจากความตาย คำนี้มีความหมายมากและก็ยึดถือกันมาใช้อยู่ด้วยเหมือนกัน เรียกว่ากัลยาณมิตร แทนที่จะเรียกว่าครูบาอาจารย์
ในระเบียบโบราณ อาจารย์สอนวิปัสสนา เขาเรียกว่ากัลยาณมิตร ไม่เรียกว่าอาจารย์วิปัสสนา คำบ้าๆ บอๆ นี่มันเกิดขึ้นทีหลังมากกว่า ท่านเรียกกันว่ากัลยาณมิตร ผู้มีความรู้ทางปริยัติ เป็นกัลยาณมิตรให้แก่ผู้ไม่มีความรู้ทางปริยัติ แต่ก็สามารถปฏิบัติธรรมะอันลึกซึ้งได้ นี่เรียกว่ากัลยาณมิตร ครูผู้สอนวิปัสสนาเรียกว่า กัลยาณมิตร มันไม่มีโอกาสที่จะทำนาบนหลังศิษย์ เดี๋ยวนี้อาจารย์วิปัสสนาบางคน ถือโอกาสทำนาบนหลังศิษย์ วางระเบียบอย่างนั้นอย่างนี้เพื่อเอาประโยชน์ อาจารย์วิปัสสนาบางคน หวังทำนาบนหัวศิษย์ด้วยซ้ำไป มันมากกว่าหลังแล้ว ทำนาบนหลังมันน้อยไป ทำนาบนหัวเลย นี่มันไม่ไหว ฉะนั้นขอให้นึกถึงไอ้คำว่า กัลยาณมิตรกันไว้ให้มากๆ ว่าครูบาอาจารย์เป็นกัลยาณมิตร ผู้ยกสถานะทางวิญญาณ ผู้ยกจิตใจให้มันสูงขึ้น
เอาล่ะมาสรุปความกันสักคำหนึ่ง ช่วยจำไว้ให้ดีๆ จะมีประโยชน์มาก ครูเป็นดวงประทีปของโลก คุณคิดดูซิ ถ้าว่าโลกนี้ไม่มีบุคคลประเภทครู มันมืดสักเท่าไร ครูสอน ก ข ก กา ก็ได้ ครูสอนประถม มัธยมอะไรก็ได้ กระทั่งครูสอนอาชีพ กระทั่งครูสอนเรื่องจิต เรื่องวิญญาณตามหลักการแห่งพระพุทธศาสนา นี่ครูเป็นดวงประทีปของโลก ผู้ที่ไม่รู้พระคุณของครูก็เรียกว่ามืดมาก มันไม่ได้รับประทีป มันไม่เคยได้รับแสงแห่งประทีป มันดูถูกครู มันอกตัญญูครู มันฆ่าครูมันก็ได้ในบางราย ถ้าครูเป็นดวงประทีปของโลกแล้วก็โลกนี้ก็ไม่มืด โลกนี้ก็สว่างไสว ขอให้ผู้เป็นครูบาอาจารย์ทั้งหลาย พยายามรักษาอุดมคติอันลึกซึ้งอันสูงสุด อันประเสริฐนี้ไว้ให้ได้ว่าเราเป็นดวงประทีปของโลก ไม่ใช่ลูกจ้างรับจ้างสอนหนังสือหากินไปวันๆ สะสมทรัพย์สมบัติ อยากจะเป็นเศรษฐี ถ้าครูคิดจะขี่รถยนต์ราคาล้าน อยู่บ้านราคาสิบๆ ล้าน แล้วก็ไม่มีทางหรอก มันเป็นไปไม่ได้ เป็นอยู่อย่างพระพุทธเจ้าซิ เป็นอยู่อย่างครูบาอาจารย์ที่มีมาแล้วในอดีตซิ นี่เป็นประทีปของโลกได้เต็มตามความหมายเป็นแน่นอน เดี๋ยวนี้ครูก็ยังหนาไปด้วยกิเลส ยังอวดดี ยังจองหอง ยังจะคดโกง ยังจะกอบโกย จะเอาความเป็นดวงประทีปมาแต่ไหนเล่า มันก็ทะเลาะกันด้วยประโยชน์ ด้วยเรื่องของประโยชน์ ครูก็วิวาทกันด้วยเรื่องของประโยชน์
เอาล่ะเมื่อพูดกันถึงเรื่องครู ครูกันมาพอสมควรแล้ว ทีนี้ก็จะพูดกันถึงเรื่องการสอนหรือคำสอนกันบ้างว่ามันเป็นอย่างไร การสอนมันก็คือการกระทำ คำสอนก็คือสิ่งที่จะเอามาใช้สอนในการกระทำ ในการสอนต้องมีคำสอนหรือมีอะไรที่มีลักษณะเป็นคำสอน เป็นคำพูดก็ได้ เป็นอะไรก็ได้ เป็นกิริยาท่าทาง เป็นวัตถุสิ่งของ เป็นอะไรมันก็เรียกว่าเป็นการสอน เป็นคำสอนด้วยกันทั้งนั้น ที่ประเสริฐที่สุดก็คือทำตัวอย่างให้ดู สอนให้รู้ก็ยังไม่ประเสริฐเท่ากับทำตัวอย่างให้ดู ปฏิบัติให้ดู สอนกันเป็นคุ้งเป็นแคว แต่ครูก็เป็นแม่ปู เดินให้ดีให้ลูกปูดูไม่ได้ อย่างนี้มันก็ไม่สำเร็จประโยชน์ ต้องปฏิบัติให้ดู ถึงพระเจ้าพระสงฆ์นี่ก็เถอะ เทศน์อย่างเดียว เทศน์จ้ออย่างเดียว ปาฐกถาอย่างเดียว อย่างเดียว แต่ถ้าไม่มีการประพฤติปฏิบัติ กระทำให้ดู มันก็หาความเชื่อถือหรือความเคารพได้ยาก ฉะนั้นถ้าว่าสอนเขาอย่างไร ก็จะต้องปฏิบัติอย่างนั้นให้เขาดูได้ด้วย สอนด้วยการปฏิบัติให้ดูโดยไม่ต้องพูดเลยก็ยิ่งดีนะ ไม่ใช่เป็นไปไม่ได้ ไม่สอนด้วยคำพูด แต่สอนด้วยการดำรงชีวิต ดำเนินชีวิต เป็นอยู่ให้ดูว่าอย่างนี้ๆ นะ กลับได้รับความเคารพนับถืออย่างยิ่ง ได้รับความไว้วางใจอย่างยิ่งว่าน่าไว้ใจ ควรจะไว้ใจ แต่ถ้าไม่ปฏิบัติตามคำที่สอนก็ไม่น่าไว้ใจ ไม่น่าไว้ใจ เอาแต่เพ่งกันที่คำสอนเป็นส่วนใหญ่ เป็นส่วนประกอบของการสอน การสอนต้องประกอบด้วยคำสอนที่ดี ที่ถูกต้อง ที่สำเร็จประโยชน์ ใช้คำใหม่ๆ ก็ว่าอย่างมีเทคนิคกันเลย มีเทคนิคกันเลย แล้วก็ถ่ายทอดมาจากพระพุทธเจ้าด้วย แล้วก็สามารถนำมาใช้อย่างเรื่องธรรมดาสามัญที่นี่ได้ด้วย คำสอนนั้นน่ะอย่างน้อยก็จะต้องประกอบไปด้วยลักษณะ 3 ประการ คือ มีลักษณะแห่งของใหม่หรือของแปลกประหลาดน่าอัศจรรย์ ถ้าสร้างความรู้สึกว่าเป็นของแปลกของใหม่ ยังไม่เคยรู้ ให้เกิดขึ้นในจิตใจของเด็กได้ มันก็มีผลดี เพราะคนทุกคนมันชอบของใหม่ ชอบลองของใหม่ ชอบเปลี่ยนของใหม่ เป็นสัญชาตญาณอยู่ในตัว แม้จะสอน ก ข ครั้งแรก วันแรกให้แก่ลูกเด็กๆ ถ้าทำให้เกิดความรู้สึกว่า นี้เป็นของใหม่ เป็นของแปลกประหลาดน่าอัศจรรย์ ไม่เคยรู้มาก่อน เกิดความรู้สึกว่าเป็นของใหม่ขึ้นมานี่ แม้แต่สอน ก ข เด็กก็รับ สนใจจะรับ พอใจรับ รับอย่างดี ในฐานะเป็นของใหม่ มันตื่นเต้น ข้อที่ทำให้รู้สึกว่าเป็นของแปลกของใหม่น่าอัศจรรย์นี้ มันชวนให้เกิดความสนใจ สนใจ คำว่าสนใจ อยากรู้อยากเห็นต่อไป มีความหิวที่จะรู้ต่อไป สอนให้มีลักษณะเป็นของแปลกของใหม่เถิดมันจะก่อให้เกิดความสนใจ
ทีนี้ข้อที่สอง ก็สอนให้มีเหตุผล แสดงอยู่ที่นั่น ในตัวนั้นเสร็จ มันมีเหตุผลที่แสดงให้เห็นว่าทำได้ ปฏิบัติได้ และมีประโยชน์ มีประโยชน์ มีเหตุผลที่แสดงให้เห็นอยู่ได้ว่ามีประโยชน์ มีคุณค่า แล้วมันก็จะก่อให้เกิดผลคือความเชื่อ ความเชื่อถือ ความเชื่อถือขึ้น สนใจอย่างเดียวไม่พอหรอก มันต้องเอาความเชื่อถือตามมา มีเหตุผลอยู่ในตัวคำพูด ข้อนี้มันกว้างขวางลึกซึ้งขึ้นไปจนถึงเรื่องทางจิต ทางวิญญาณ ทางศาสนานะ คำพูด ในตัวคำพูดนั้น มีเหตุผลแสดงอยู่ว่าเป็นเช่นนั้นจริงและปฏิบัติได้ แล้วผู้เรียนก็ไม่ต้องเชื่อผู้พูด ไม่ต้องเชื่อคำพูด แต่เชื่อเหตุผลที่มีอยู่ในตัวคำพูด ฟังให้ดีๆ นะ ฟังไม่ดีไม่เข้าใจนะ ในพระบาลีกาลามสูตร พระพุทธเจ้าตรัสสอนไม่ให้เชื่อแม้พระตำราหรือปิฎก ไม่ให้เชื่อในตำรา ไม่ให้เชื่อโดยสอนตามๆ กันมา ไม่ให้เชื่อโดยฟังตามๆ กันมา ไม่ให้เชื่อโดยลือกันอยู่กระฉ่อนว่ามันเป็นอย่างนั้น อย่างนั้น ไม่ให้เชื่อโดยว่ามันมีที่อ้างในปิฎก ในตำรา ไม่ให้เชื่อโดยผลของการคิดทาง logic ไม่เชื่อโดยผลของการคิดทาง philosophy โดยความคิดที่เป็น common sense ตามความรู้สึกธรรมดา ไม่เชื่อว่ามันทนต่อการพิสูจน์ของเรา เพราะมันตรงกับความคิดของเรา แล้วก็ไม่เชื่อโดยเหตุที่ว่าผู้พูดมีลักษณะน่าเชื่อ แล้วข้อสุดท้ายก็ว่า อย่าเชื่อโดยเหตุที่ว่าสมณะนี้เป็นครูของเรา มา สมโณ โน ครูติ อย่าเชื่อโดยเหตุแต่เพียงว่าผู้พูดนี้ สมณะผู้พูดนี้เป็นครูของเรา มันก็เท่ากับว่าปฏิเสธ ไม่ต้องเชื่อพระพุทธเจ้านั่นแหละ แล้วไม่ต้องอ้างอันอื่นน อ้างคำของพระพุทธเจ้าเองว่าไม่ต้องเชื่อพระพุทธเจ้า คนก็หาว่าบ้าแล้ว หยาบคายแล้ว ดูถูกพระพุทธเจ้าแล้ว แต่พระพุทธเจ้าท่านก็สอนอย่างนั้น ก็มีผู้ปฏิบัติอย่างนั้น โดยเฉพาะพระสารีบุตรทูลสนองว่า ข้าพระองค์ไม่ได้เชื่อพระผู้มีพระภาค แต่เชื่อตัวเอง เพราะว่าคำพูดของพระพุทธองค์ มันมีเหตุผลแสดงอยู่ในคำตรัสนั้น แล้วก็เชื่อคำตรัสนั้น ไม่ใช่เชื่อคำตรัสนั้น เชื่อเหตุผลที่มีอยู่ในคำตรัสนั้น ฟังดูให้ดี มันแยกออกไปว่า เหตุผลที่อยู่ในคำตรัสนั้น เชื่อเหตุผลอันนี้แล้วไม่เชื่อคำตรัส แล้วไม่เชื่อผู้ตรัส เรียกว่าไม่เชื่อผู้พูดและคำพูด แต่เชื่อเหตุผลที่มันมีอยู่ในคำพูด พระพุทธเจ้าตรัสสิ่งใดออกไป มีเหตุผลครบถ้วนอยู่ในคำตรัส ฉะนั้นสาวกก็เชื่อเหตุผลที่มีอยู่ในคำตรัส โดยที่ไม่ต้องเชื่อผู้พูดหรือตัวคำพูด หลับตาเชื่ออย่างงมงายนั้นไม่ต้องมี มันต้องมีเหตุผลอยู่ในคำที่พูด ครูก็จะพูดหรือมีคำสอนชนิดที่มีเหตุผลอยู่ในตัวคำสอนในคำพูด ศิษย์ไม่ต้องเชื่อครูก็ได้ ไม่ต้องท่องจำคำพูด ไม่ต้องเชื่อคำพูด ให้เชื่อเหตุผลที่มีอยู่ในคำพูด มันเป็นเรื่องยากหน่อย สูงหน่อย ลึกซึ้งหน่อย แต่ก็มีความจริงซึ่งจะต้องรับรู้ไว้ และจะต้องเอามาใช้ให้เป็นประโยชน์ให้ได้ มีเหตุผลอยู่ในคำที่พูด มันก็ทำให้เกิดความเชื่อ เชื่ออย่างลึกซึ้ง ถูกต้อง ๑๐๐ เปอร์เซนต์ มีความไว้ใจผู้พูดแล้วก็จะปฏิบัติตาม
ทีนี้ข้อที่สาม ไอ้คำพูดนั้นจะต้องมีปาฏิหาริย์ คือเป็นเรื่องจริง เป็นเรื่องปฏิบัติได้จริง ปฏิบัติแล้วมีผลจริงตามนั้น มีผลจริงตามที่พูด อย่างนี้เรียกว่ามีปาฏิหาริย์ ทำให้ประทับใจ ทำให้ดึงจิตใจของผู้เรียนไปจนกระทั่งเขาทำตาม เขาจะยอมทำตามถ้าในคำพูดนั้นมันมีปาฏิหาริย์แสดงชัดอยู่ว่าทำแล้วก็จะเกิดผลตามนั้นจริง
ทบทวนกันอีกทีหนึ่งว่า ในคำพูดที่เอามาพูดมาสอนนั้นต้องมีลักษณะเป็น ๓ อย่าง ๓ ประการ คือว่า รู้สึกว่าเป็นของใหม่ ของใหม่หรืออย่างน้อยก็ว่าในแง่มุมที่เราไม่เคยคิด ของใหม่อย่างนี้ก็จะทำให้เกิดความสนใจ สนใจ สนใจ ทีนี้ในคำพูดนั้นมีเหตุผล เหตุผล เหตุผล ที่จะทำให้เกิดความเชื่อ ความเชื่อถือ ความไว้วางใจ แล้วในคำพูดนั้นมีปาฏิหาริย์ มีปาฏิหาริย์ ก็จะทำให้เกิดการกระทำตาม กระทำตามโดยความสมัครใจ ไม่ต้องฝืน ไม่ต้องฝืน ไม่ต้องจ้าง ไม่ต้องหลอก ไม่ต้องล่อแต่โดยประการใดๆ ฉะนั้นขอให้ครูบาอาจารย์ทั้งหลายสนใจที่จะสอนลูกศิษย์ แม้แต่ชั้นอนุบาล จะสอน ก ข ก กา สอนอะไรก็ตาม จะต้องมีคำพูดในลักษณะที่ให้ลูกเด็กๆ จะรู้สึกว่า โอ้, นี่ใหม่โว้ย นี่ไม่เคยได้ยินโว้ย นี่แปลกสำหรับเรา แม้แต่ตัว ก มันก็แปลก ตัว ข มันก็แปลกเพราะเราไม่เคยได้ยิน ถ้าเรียกความสนใจในความเป็นของแปลกของใหม่ น่าอัศจรรย์มาก็สำเร็จ นั่นคือสอนมีเหตุผล ถ้ารู้แล้วมันจะมีประโยชน์อะไร ฉะนั้นก็สอนให้มันรู้ได้ ปฏิบัติได้ ใช้ประโยชน์ได้ นี่เป็นเรื่องที่สูงขึ้นมา สอนวิชาเลข วิชาวาดเขียน วิชาทุกอย่าง ที่มันจะสูงๆ ขึ้นมาตามลำดับ ในที่สุดก็ครบถ้วนทั้ง ๓ ประการ ในระดับมัธยม ในระดับมหาวิทยาลัยเลย สอนในลักษณะเป็นของใหม่น่าอัศจรรย์ สอนมีเหตุผลแสดงอยู่ในตัวที่เห็นได้เอง ผู้ฟังเห็นได้เอง และมีปาฏิหาริย์ที่ให้เกิดความเชื่อใจว่ามีประโยชน์แน่ เกิดผลแน่ ทำได้แน่ มันจะเกิดความสนใจเรียน แล้วมันจะเชื่อครูผู้สอน แล้วมันก็สมัครจะทำตาม ๓ อย่างนี้ประเสริฐกี่มากน้อย ท่านทั้งหลายไปคิดดู ถ้าครูบาอาจารย์คนไหนสอนสำเร็จประโยชน์อย่างนี้ สนใจ แล้วก็เชื่อ แล้วก็ปฏิบัติตาม มันก็จะสนุกทั้งฝ่ายผู้เรียนและผู้สอน ผู้สอนก็สนุก ผู้เรียนก็สนุก การศึกษาก็เป็นสิ่งที่น่ารัก น่าสนใจ น่าพอใจ มันก็จะเจริญก้าวหน้าไปโดยไม่ต้องสงสัย
เอ้า, ทีนี้เมื่อพูดถึงครู ถึงการสอน แล้วก็จะมาพูดถึงบุคคลที่เรียกว่า ศิษย์ ลูกศิษย์ กันบ้าง ว่าลูกศิษย์มันคืออะไรกันแน่ ลูกศิษย์มันคืออะไรกันแน่ คำว่า ศิษย์ ศิษย์นี้แปลว่า ผู้ศึกษา ภาษาสันสกฤตคำนี้แปลว่า ผู้ศึกษา แต่แล้วมันก็มาติดตันอยู่ที่ว่าเป็นผู้ฟังเถอะ เป็นผู้ฟัง ผู้เล่าเรียน จะต้องนึกถึงคำว่า ศึกษา สิกขา ให้ดีๆ เอาตามภาษาบาลีก็ว่า สิกขา สิกขา สะ แปลว่า เอง อิกขะ แปลว่า ดู เห็น สะ อิกขะ รวมกันเป็น สิกขะ คือ สิกขา แปลว่า ผู้ดูเอง เห็นเอง โดยตนเอง ในตัวเอง แล้วจึงไปเห็นในสิ่งอื่นนอกตัวเอง คำว่า เอง นี่สำคัญนะ มันเป็นการช่วยตัวเอง มันจึงต้องดูเอง ดูเอง ดูเอง ด้วยตนเองแล้วก็เห็นเอง เห็นเอง เห็นด้วยตนเอง เห็นเอง คนอื่นผู้อื่นเห็นแทนไม่ได้หรอก แล้วคำว่า สะ สะ นี่แปลว่า ใน ภายในก็ได้ ให้ดูตัวเอง มันก็ดูในภายใน ดูในภายในให้ทั่วถึงตลอดแล้วก็เรียกว่าการศึกษา ครั้นเห็นในภายในตัวเองโดยตลอดแล้ว มันก็ง่ายในการที่จะเอามาจับกับสิ่งภายนอก ก็รู้จักสิ่งที่เป็นภายนอกได้ลึกซึ้ง ได้ถูกต้อง ได้ครบถ้วน เพราะว่าเห็นตัวเองอย่างประจักษ์ชัดเจนในทุกแง่ทุกมุมทุกระดับแล้ว มันก็ง่ายนิดเดียวที่จะมาเห็นผู้อื่นในภายนอกอย่างชัดเจนอย่างนั้นด้วย นี่ สิกขา คำนี้แปลว่า เห็นเอง แต่มันขยายความออกไปได้ว่า ดูเอง เห็นเอง ด้วยตนเอง รู้จักตัวเอง ภายในตัวเอง ภายในตัวเอง สิกขาคืออย่างนี้ ศึกษาคืออย่างนี้ ไม่ใช่มานั่งบอกให้นักเรียนจดลงในสมุดอย่างที่ทำกันโดยมาก นักเรียนมีสมุดไปจด ครูบอกแล้วก็จด สมุดมากมายแบกไม่ไหว เรียกว่าศึกษา อย่างนี้ไม่พอหรอก ไม่ใช่จดในสมุด จดในสมุดก็ได้ แต่แล้วต้องมาทำให้เกิดการเห็นเอง ดูเอง ด้วยตนเอง ในตัวเอง รู้จักตัวเองนั่นแหละคือสิ้นสุดของการศึกษา เมื่อไรเขารู้จักตัวเองแล้วมันก็ง่ายดายในการที่จะรู้จักผู้อื่น เขาก็สามารถปฏิบัติได้ถูกต้องทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น มันก็ดี สังคมนี้มันก็ดี
ฉะนั้นเราจะมองดูให้ชัดอีกทีหนึ่ง โดยแยกเป็นขั้นตอนว่า ศิษย์นั้นก็คือผู้ฟัง มีฟัง มีการฟัง ในความหมายของความเป็นศิษย์ ครั้นฟังเสร็จแล้วก็คิด คิดใคร่ครวญ วิจัย วิจารณ์นั่นแหละ มันต้องทำเป็น ใคร่ครวญ วิจัย วิจารณ์ มันก็คิด ครั้นคิดแล้วมันจึงเชื่อ มันจึงเชื่อทีหลังการวิจัยวิจารณ์ ถ้ามีความเชื่อแล้วมันก็ทำตาม ทำตามเองแหละ ไม่ต้องไปบังคับมันหรอก ถ้ามันทำตามได้รับผลเป็นที่พอใจแล้ว ศิษย์ที่ดีมันจะทำการสืบต่อ สืบต่อ คือสืบต่อความรู้นั้นต่อไป คือสอนกันต่อไป นี่ศิษย์ที่ดีต้องมีความหมายและการกระทำถึงขนาดนี้ ทีแรกฟังดี ฟังถูกต้อง แล้วก็คิดดี คิดถูกต้อง แล้วก็เชื่อดี เชื่อถูกต้อง แล้วก็ทำตามอย่างดี ทำตามอย่างถูกต้อง แล้วก็ทำการสืบต่อ สืบต่อไปอย่างดี อย่างถูกต้อง อย่างนี้คือศิษย์สมบูรณ์แบบ ศิษย์ในความหมายเต็มที่ของคำคำนี้ แต่เราจะเห็นว่า หายากนะศิษย์ชนิดนี้ มันเป็นศิษย์จำเป็นกันเสียหมด มันศิษย์ที่ครูก็จำเป็น ศิษย์ก็จำเป็น ศิษย์ก็จำเป็นเพราะแม่เขาบังคับให้มาเรียน ไม่มาก็ตีเท่านั้นแหละ นี่มันเป็นศิษย์จำเป็นเช่นเดียวกับครูจำเป็น มันก็เป็นศิษย์ที่ดีไม่ได้ มันถูกบังคับให้มาเรียนหรือถูกล่อให้มาเรียน ถูกจ้างให้มาเรียน มันก็เป็นศิษย์ที่ดีไม่ได้ แม้ว่าจะถูกล่อให้หวัง ให้ความเจริญรุ่งเรืองในภายหน้า ถ้ามันไม่เปลี่ยนมาสู่ความเป็นศิษย์ที่ดีในลักษณะอย่างนี้แล้วก็ มันดีไปไม่ได้ถึงไหนหรอกศิษย์คนนั้น ศิษย์จะมาโรงเรียน มาสู่การศึกษานี้อย่างไรก็ตามใจเถิด ขอร้องแต่ว่าให้เขาเป็นผู้ฟังที่ดี ผู้คิดที่ดี ผู้เชื่อที่ดี ผู้ทำตามที่ดี ผู้สืบต่อที่ดี นี่คือความหมายของคำว่า ศิษย์
เอ้า, ทีนี้ก็พูดต่อไปถึงความสัมพันธ์กันระหว่างครูกับศิษย์ มันจะต้องมีความสัมพันธ์กันอย่างถูกต้อง อย่างสนิทสนมกลมเกลียว ในชั้นแรกก็จะนึกถึงข้อที่ว่า ครูมีหน้าที่อย่างไร ลูกศิษย์มีหน้าที่อย่างไร อาตมาไม่พูดแล้ว ไปดูในนวโกวาท มีอยู่ในนวโกวาท ไปอ่านเอาในนวโกวาทเองบ้าง ไม่บอกล่ะว่าครูมีหน้าที่ 6 อย่าง ศิษย์มีหน้าที่ 6 อย่าง 5 อย่าง ไปดูเอาในนวโกวาท จะดูความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกว่านั้น โดยใช้คำว่า ครูดีศิษย์ดี ครูดีศิษย์ดีมีความสัมพันธ์กันอย่างไร ครูดี ครูดีมีความหมายว่า ชนะน้ำใจของศิษย์ ศิษย์ทั้งรัก ศิษย์ทั้งกลัว ศิษย์ทั้งภักดี ศิษย์หวังในครูที่ดี ทีนี้ศิษย์ดี ศิษย์ดี ก็คือศิษย์ที่ครูนำไปได้ มีอะไรครบทุกอย่างจนครูนำไปไม่ได้ ศิษย์โง่ ศิษย์บ้าบอ ศิษย์กระด้าง ศิษย์อะไร ครูนำไปไม่ได้ นำไปตามวัตถุประสงค์ไม่ได้ ศิษย์คนนี้ครูนำไปไม่ได้ มันเป็นศิษย์เลว ถ้ามันเป็นศิษย์ที่ดี อุปัชฌาย์อาจารย์ก็นำไปได้ตามที่ประสงค์ ครูบาอาจารย์ที่โรงเรียนก็นำไปได้ตามประสงค์ หรือเป็นลูกที่ดี พ่อแม่ก็นำไปได้ตามที่ประสงค์ ครูดีคือชนะน้ำใจของศิษย์ ศิษย์ดีคือครูนำไปได้ตามที่ครูต้องการจะนำไป นำไปให้มีความรู้ดี ปฏิบัติดี ได้รับผลดี ก้าวหน้าเจริญดี ครูนำไปได้ตามต้องการ นี่ศิษย์ดี ครูดีนั้นมันก็มีคุณธรรม คือเมตตาและปัญญา สมมติว่านะ ผ่า ผ่าครูออกดูหัวใจครู ในหัวใจของครูมีเมตตากับปัญญาเต็มอัดอยู่เลย มีเมตตากับปัญญาเต็มอัดอยู่ในหัวใจของครู ในหัวใจของลูกศิษย์ผ่าดูก็จะเห็นว่า มีศรัทธา มีขันติ เต็มอัดอยู่ในหัวใจของศิษย์ นี่ถ้าว่าผ่าดู เหมือนกับผ่าของ ในหัวใจของครูเต็มอยู่ด้วยเมตตาและปัญญา ปัญญาในความสามารถที่จะสอนศิษย์ ถ้าไม่เมตตามันก็ไม่สอน ไม่ทนลำบากที่จะสอน จึงต้องมีเมตตาด้วย มีปัญญา เมตตา นอนเคียงคู่กันอยู่ แม้ลูกศิษย์ก็เหมือนกัน มันต้องมีความเชื่อ เข้าใจแล้วก็เชื่อ เรียกว่ามีศรัทธา แล้วต้องมีความอดทน ถ้าไม่มีความอดทน มันเป็นไปไม่ได้ มันไม่ปฏิบัติ ลำบากหน่อยมันก็ทิ้งเสีย ขันติ ขันติ คำนี้แปลว่า ความอดทน ความหมายที่ดีของมันก็คือความสมควร ความอดทนนี่ อดทนไป อดทนไปจนเกิดความสมควรที่จะได้รับผล คำว่า ขันติ นั้นไม่ใช่แปลว่าอดทนอย่างเดียว แปลว่าความสมควรก็ได้ สมควรที่จะได้รับผล นี่เป็นฝ่ายบวก มันมีความสมควรที่จะได้รับผล เราก็ทนได้ซิ เขาก็จะยอมรับความลำบาก ยุ่งยากเท่าไรก็ยอมรับได้ เพราะมันจะใด้เกิดความสมควรที่จะได้รับผล ใช้ทนอย่างเดียว ลำบากยุ่งยากเกินไป เดี๋ยวก็หนีโรงเรียนไปเข้าป่า มันมีความอดทนชนิดที่มีความสมควรที่จะได้รับผล เป็นผลของความอดทน นี่คือว่า ความสัมพันธ์กันที่ถูกต้อง ที่ดีที่สุดระหว่างครูกับศิษย์ ครูก็เป็นครูดี ศิษย์ก็เป็นศิษย์ดี ผลก็เกิดขึ้นเป็นการสร้างสรรค์ความดี
เอ้า, ทีนี้ก็จะมาดูกันในแบบของการอุปมา คือมองดูให้กว้าง มองดูให้มีความหมายไกลออกไปในลักษณะที่เรียกว่า อุปมา อุปมาในที่นี้ จะอุปมาหน้าที่ หน้าที่ หน้าที่ของครู หน้าที่ของศิษย์ หรือสภาวะที่ทำให้มันเป็นหน้าที่ หรือเกิดหน้าที่ หรือมีหน้าที่ ศิษย์มีอุปมาด้วยไอ้หน่ออ่อนๆ ที่มันเพิ่งงอกออกมาจากเม็ด จากเมล็ด เมล็ดพืชเมล็ดอะไรก็ตาม มันแตกแล้วมันก็มีหน่ออ่อนๆ ออกมา มันอยู่ในระยะอันตราย มันจะเหี่ยวตายหรือมันจะถูกอะไรกินเสีย หรืออะไรก็แล้วแต่ มันไม่เจริญงอกงามไปเป็นต้น เป็นอะไรที่ดีได้ ลูกศิษย์มีลักษณะเหมือนหน่ออ่อนเช่นนี้ ครูก็มีลักษณะเหมือนกับผู้ดูแล อุปมาเหมือนผู้ดูแล ผู้พิทักษ์ ผู้รักษา ให้หน่ออ่อนนั้นเจริญงอกงามไปจนเป็นต้น เป็นอะไร ปลอดภัยไป อุปมาศิษย์เหมือนกับหน่ออ่อนๆ อันตราย ครูก็เป็นผู้พิทักษ์รักษา หรือจะอุปมาอีกอย่างหนึ่งก็ว่าไอ้ศิษย์นี้มันก็เป็นเหมือนกับไม้ที่จะเลื้อย ครูก็จะเป็นเหมือนไม้ที่ให้อาศัยเป็นไม้ค้าง ให้อาศัย ให้พัก ให้เลื้อยไป ให้เดินไป กว่าจะเจริญ กว่าจะถึงที่สุดโดยไม่ต้องอาศัยไม้ค้าง ครูจะช่วยในฐานะเป็นไม้ค้าง ไม้พยุง ไม้อะไรต่างๆ ให้ลูกศิษย์มันเลื้อยไปได้ ดูกันอีกแง่หนึ่ง ลูกศิษย์เหมือนกับลูกสัตว์อ่อนๆ ลูกไก่อ่อนๆ ลูกไก่อ่อนๆ ออกมาวันนี้ ต้องการคุ้มครองอย่างยิ่ง แม่ไก่ก็คุ้มครองอย่างยิ่งแก่ลูกไก่อ่อน ครูจึงเป็นเหมือนแม่ไก่ที่คุ้มครองลูกอ่อน ศิษย์เหมือนกับลูกอ่อน คุณไปสังเกตดู อาตมาเห็นอยู่ทุกวันเพราะที่นี่มีไก่ มีไก่ลูกอ่อนออกมาด้วย น่าสงสารหรือว่าน่าเป็นห่วง ที่มันจะมีเหตุให้ตายง่ายเหลือเกิน มากเหลือเกิน แม่ไก่ก็ทำหน้าที่อย่างดีที่สุด พอ 6-7 วันไปแล้วก็จะเรียกว่าเข้าขีดจะปลอดภัย มันทำอะไรได้หลายอย่างแล้ว ลูกไก่อ่อนนั่น จะว่าเปรียบด้วยสัตว์อื่นก็ได้ ไม่ใช่แม่ไก่ ลูกไก่ ที่มันเป็นตัวอ่อนและมันก็ต้องการความคุ้มครองของแม่ของพ่อ นี่อุปมาในหน้าที่แล้วมันจะเป็นอย่างนี้ ศิษย์ยังอยู่ในภาวะที่อ่อน จะต้องอาศัยพาดพิงไอ้สิ่งที่เป็นที่ตั้ง ให้อ่อนให้มันโต ให้มันแก่ขึ้นมา แล้วก็เลื้อย ดำเนินไปถึงจุดที่มันควรจะไป นี่อุปมาโดยทั่วๆ ไป โดยพื้นฐาน นี้เอาความสำคัญของการกระทำทั้งหมดนี้ แล้วก็จะเกิดอุปมาอันใหม่ อุปมาอันสูงสุดขึ้นมาว่า ครูเป็นผู้สร้างโลกโดยทางศิษย์ ครูสร้างโลก ครูเป็นผู้สร้างโลก ไม่ใช่ผู้รับจ้างสอนหนังสือหากินไปวันๆ หนึ่ง บางทีก็ไปจัดครูเป็นลูกจ้างสอนหนังสือ มันไม่ใช่อย่างนั้น ครูเป็นพระเจ้าผู้สร้างโลกทั้งโลก แต่สร้างโดยผ่านไปทางลูกศิษย์ ครูสร้างลูกศิษย์ขึ้นมาอย่างไร โลกทั้งโลกก็จะเป็นอย่างนั้น จริงไม่จริงไปดูเอาเอง ครูสร้างคนขึ้นมาได้อย่างไร โลกนี้ก็จะเป็นอย่างนั้น ดังนั้นครูก็คือผู้สร้างโลก สร้างโลก สร้างโลกในความหมายอย่างไรก็ได้ โดยผ่านทางลูกศิษย์ สร้างโลกที่ประเสริฐวิเศษที่สุดก็คือสร้างโลกแห่งความไม่เห็นแก่ตัว ความเห็นแก่ตัวนี่เลวร้าย ไม่มีอะไรเลวร้ายเท่า ถ้าว่าครูจะเป็นผู้กำจัดความเลวร้ายในโลก ฉะนั้นก็จงช่วยกันสร้างโลกแห่งผู้ไม่เห็นแก่ตัว สร้างลูกเด็กๆ ตาดำ ๆ เล็กๆ อยู่นี่ ให้มันไม่เห็นแก่ตัว ไม่เห็นแก่ตัวยิ่งขึ้นไปตามลำดับ ตามลำดับ เมื่อไม่เห็นแก่ตัว มันก็เห็นแก่ความถูกต้อง มันเห็นแก่ความถูกต้อง มันก็เห็นแก่ผู้อื่น ถ้าไม่อย่างนั้นมันก็เห็นแก่ตัวท่าเดียว เห็นแก่ตัวท่าเดียวนี่ก็คือเห็นแก่กิเลสของตน จะทำอะไรได้ให้เกิดกิเลสทุกชนิด ทั้ง ๓ หมวด กิเลสความโลภ เอา กิเลสความโกรธ ทำลาย กิเลสความหลง แล้วก็วนเวียนอยู่ที่นี่ไม่ไปไหน ความเห็นแก่ตัวเป็นสิ่งเลวร้าย โลกกำลังจะวินาศเพราะความเห็นแก่ตัว ปัญหายุ่งยากลำบากในกรุงเทพฯ มลภาวะทั้งหลาย ความสกปรกรกรุงรัง ชนกันอะไรกัน เหล่านี้ก็มาจากความเห็นแก่ตัว ความเห็นแก่ตัว ผู้เห็นแก่ตัว คือสิ่งเลวร้ายที่สุด ไม่มีอะไรเสมอเหมือน เพราะมันจับผู้นั้นฝังลงไปในนรก ผู้เห็นแก่ตัวมันก็ขี้เกียจทำงาน ไม่อยากทำงาน จะนอน ขอโอกาสนอน แย่งเวลาไปนอน หลอกไปนอน เอาเวลาไปนอน แล้วพอได้รับประโยชน์ เวลากินข้าว มันก็มา นี่มันเห็นแก่ตัว มันก็ไม่ทำงาน เห็นแก่ตัวแล้วมันก็ไม่สามัคคี เรียกร้องความสามัคคี เห็นแก่ประเทศชาติ ช่วยเหลือประเทศชาติ เรียกกันจนตายมันก็ไม่มา ผู้เห็นแก่ตัวมันไม่สามัคคี นี่ผู้เห็นแก่ตัว ผู้เห็นแก่ตัวมันจะเอาเปรียบเสมอไป ผู้เห็นแก่ตัวมันจะอิจฉาริษยา ผู้เห็นแก่ตัวมันก็หลงทาง ถึงขนาดที่ว่ามันฆ่าตัวเอง ฆ่าลูกฆ่าเมีย ฆ่าพ่อฆ่าแม่ เสร็จแล้วมันฆ่าตัวเองตายตาม มันก็ทำได้ ความเห็นแก่ตัวมันหลงทางมันทำได้อย่างนี้ ในที่สุดมันก็ต้องไปอยู่ในคุกในตะราง ต้องสร้างคุกตะรางเพิ่มเพราะผู้เห็นแก่ตัว ต้องสร้างตำรวจเพิ่มเพราะผู้เห็นแก่ตัว ต้องสร้างศาลสร้างอะไรเพิ่มเพราะเห็นแก่ตัว ต้องสร้างโรงพยาบาลบ้าเพิ่มๆ เพราะผู้เห็นแก่ตัว เดี๋ยวนี้รัฐบาลบอกว่าไม่มีงบประมาณแล้วนะ ที่จะมาสร้างเรือนจำ สร้างตำรวจ สร้างศาล สร้างโรงพยาบาลบ้า งบประมาณหายาก เพราะว่าคนเห็นแก่ตัวหรืออันธพาลมันเพิ่มมากขึ้น เพิ่มมากขึ้น เราจะต้องสร้างโลกผู้ไม่เห็นแก่ตัว ผู้ไม่เห็นแก่ตัว ทั้งโลกมันกำลังเป็นโลกเห็นแก่ตัว นายทุนก็เห็นแก่ตัว ชนกรรมาชีพก็เห็นแก่ตัว ฝ่ายซ้ายก็เห็นแก่ตัว ฝ่ายขวาก็เห็นแก่ตัว นายจ้างก็เห็นแก่ตัว ลูกจ้างก็เห็นแก่ตัว แล้วมันจะพูดกันรู้เรื่องหรือ ลองไม่เห็นแก่ตัวซิ มันก็เห็นแก่ความถูกต้อง เห็นแก่ผู้อื่น มันก็จะรักใคร่ เป็นเพื่อนเกิด เพื่อนแก่ เพื่อนเจ็บ เพื่อนตาย แก่กันและกัน มีลูกจ้างพนักงานของบริษัทที่มีมากๆ มาขอรับคำสั่งสอนที่นี่ อาตมาก็พูดในทำนองที่เรียกว่ามันเสี่ยง ว่าคุณอย่าคิดว่าเป็นลูกจ้าง คุณคิดว่าเป็นผู้เกิดมาสร้างโลกให้งดงาม สร้างโลกให้น่าอยู่ สร้างโลกให้มีค่ารวมทั้งตนเองด้วย เงินที่เขาให้นั่นไม่ใช่ค่าจ้าง เงินเดือนนั้นไม่ใช่ค่าจ้าง แต่เป็นค่าใช้สอย ค่าใช้สอยเอามาใช้ในการที่จะช่วยกันสร้างโลกให้งดงาม ถ้ามีหลักการอย่างนี้ ไม่มีนายจ้าง ไม่มีลูกจ้าง มีแต่เพื่อนเกิดแก่เจ็บตาย เราก็ทำงานสนุกด้วยกัน เป็นสุขด้วยกันตลอดเวลา นี่มันสร้างโลกด้วยความรู้สึกชนิดนี้ ไม่ต้องเห็นแก่ตัว ไม่มีความเห็นแก่ตัว สร้างโลกที่ไม่มีความเห็นแก่ตัว โลกกำลังบูชาความเห็นแก่ตัวเพราะว่ามันไปหลงไอ้ความเป็นบวก หลงความเอร็ดอร่อยสวยงาม สนุกสนานแต่เนื้อแต่หนังของมันมากขึ้นๆ มันก็เห็นแก่ตัวมากขึ้นๆ เดี๋ยวนี้เขาสนใจกันแต่เรื่องนี้ เทคนิคทั้งหลาย เทคโนโลยีทั้งหลาย มันก็สร้างวัตถุที่หล่อเลี้ยงกิเลสทั้งนั้นเลย ความเห็นแก่ตัวมันก็เพิ่มขึ้นในโลกมาก มากกว่าครั้งพุทธกาลอย่างที่จะเปรียบกันไม่ไหว ความเห็นแก่ตัวในสมัยที่โลกยังไม่เจริญด้วยวัตถุ ด้วยกิเลส เห็นแก่ตัวน้อย พอมันมีวัตถุเพื่อกิเลสมาก มันก็เห็นแก่ตัวมาก เห็นแก่ตัวมาก มากจนหลับตา อย่างหลับหูหลับตาเห็นแก่ตัว นี่เป็นปัญหาหนัก ครูจะช่วยกันแก้ปัญหานี้ไหวหรือไม่ แต่อาตมาก็เห็นว่าไม่มีทางหรอก ไม่มีทางอื่น ถ้าครูจะรักษาความเป็นปูชนียบุคคลไว้ได้ ก็จงช่วยกันสร้างโลกแห่งความไม่เห็นแก่ตัวด้วยการอุทิศ ด้วยการอุทิศในอุดมคติของความเป็นครู อย่างไรๆ ก็จะเป็นปูชนียบุคคลให้จนได้ แล้วก็เคารพหน้าที่ บูชาหน้าที่ของครู ไม่มีอะไรที่จะต้องเคารพบูชายิ่งไปกว่าหน้าที่ ครูก็เคารพหน้าที่ของครู เคารพหน้าที่ของครู เช่นเดียวกับพระพุทธเจ้าท่านเคารพหน้าที่ของท่าน พระพุทธเจ้าเป็นพระบรมครู แต่แล้วท่านก็เคารพหน้าที่ เคารพหน้าที่ของท่านเหลือประมาณ แม้มันจะเป็นเรื่องยืดยาว แต่ก็ควรจะทราบ ควรจะเข้าใจ ควรจะนำมาเป็นคติอุทาหรณ์ว่า พระพุทธเจ้าท่านเคารพหน้าที่ของท่านอย่างไร เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วใหม่ๆ หยกๆ ท่านเกิดฉงนว่า เอ้อ, ต่อไปนี้จะเคารพใคร ตรัสรู้เป็นสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ต่อไปนี้จะเคารพอะไร เคารพใคร ในที่สุดท่านตกลงพระทัยตัดสินว่า เคารพธรรม ธรรมคือหน้าที่ ธรรมะที่ตรัสรู้ขึ้นมาเอง นั่นมันเรื่องหน้าที่เอาตัวรอด นั่นก็คือหน้าที่ เคารพหน้าที่ ประกาศเดี๋ยวนั้นเลยว่า พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ในอดีตก็ดี อนาคตก็ดี ปัจจุบันก็ดี ทุกพระองค์เคารพธรรมะคือหน้าที่ แล้วท่านก็ได้เคารพหน้าที่สูงสุด ไม่มีใครเท่า ไม่มีใครเทียม พระพุทธเจ้าเคารพหน้าที่อย่างไร เอาไปใคร่ครวญ ไปอ่านดูเพิ่มเติมให้มากในพุทธประวัติ ให้พบความจริงข้อนี้ว่าท่านเคารพหน้าที่ของท่านอย่างไร ท่านเคารพหน้าที่ครบวงจรวันคืน ๒๔ ชั่วโมง ภพฺพาภพฺเพ วิโลกนํ ก่อนสว่างตีสี่ตีห้า หัวรุ่ง ท่านส่องญาณไปทั่วๆ ทั่วๆ โลก ทั่วๆ บ้าน ทั่วๆ เมือง ว่าวันนี้จะไปทำอะไรที่ไหน ท่านเห็นอยู่นี่ว่าที่ไหน มีอะไร มีใคร ท่านเห็นๆ อยู่ แต่มาสรุปความว่า วันนี้รุ่งขึ้น จะไปทำอะไร ที่ไหน ตัดสินพระทัยเสร็จแล้วตั้งแต่ก่อนสว่าง พอสว่างก็ถือบาตร จีวรตรงไปทิศนั้นทางนั้น ไปพบกับเหตุการณ์นั้น พบกับบุคคลนั้น เรียกว่าไปโปรดสัตว์ ในนามของการไปบิณฑบาต ไปโปรดสัตว์ และทรมานบุคคลนั้นสำเร็จ ฉันอาหารที่บ้านนั้น สนทนา คุยกันจนเที่ยงจนสายจนเที่ยง นี่ท่านทำหน้าที่ของท่านในภาคเช้า ในภาคเที่ยง เที่ยงก็จะพักผ่อนนิดหน่อย เพราะมันร้อน พอบ่ายท่านก็ต้องเผชิญหน้าที่ที่วัด เพราะมีคนทั้งหลาย ประชาชน ชาวบ้านก็ดี คนธรรมดาทั่วไปนี้เขาก็ไปหาท่าน ไปฟังธรรมในตอนบ่ายจนกระทั่งเย็น เย็น จะสรงน้ำตอนเย็นนิดหน่อย พอค่ำลงก็สอนภิกษุ ปโทเส ภิกฺขุโอวาทํ เวลาพลบค่ำก็สอนภิกษุประจำวัดเรื่อยๆ ไป พอ อฑฺฒรตฺเต เทวปญฺหนํ เที่ยงคืนแก้ปัญหาเทวดา คือสอนเทวดา เทวดาที่เป็นราชามหากษัตริย์ก็ไปเวลาเที่ยงคืน เทวดามาจากบนสวรรค์ก็ไปเวลาเที่ยงคืน พวกเทวดาทั้งหลายมีเวลาเมื่อเที่ยงคืน พระพุทธเจ้าต้องรับแขกประเภทเทวดาเวลาเที่ยงคืน จนดึกจนดื่นล่วงไป พักผ่อนนิดหน่อยแล้วก็หัวรุ่งอีกแล้ว หัวรุ่งอีกแล้ว ภพฺพาภพฺเพ วิโลกนํ อีกแล้ว สอดส่องว่าเช้าวันรุ่งขึ้นนี้จะไปที่ไหน ครบวงจรวันและคืน ๒๔ ชั่วโมงอย่างนี้ พวกเราทำงานอย่างนั้นหรือเปล่าเล่า ๘ ชั่วโมงก็ยังขี้โกงใช่ไหม หลายชั่วโมง สมุดลงเวลาทำงานน่ะโกหกเกือบทั้งนั้นแหละ เกือบทั้งนั้นแหละ สมุดลงเวลาทำงานตามออฟฟิศต่างๆ น่ะมันคดโกง ไม่เคารพหน้าที่ ไม่เคารพหน้าที่เหมือนพระพุทธเจ้า ฉะนั้นขอให้เคารพหน้าที่เหมือนพระพุทธเจ้าเถอะ แล้วจะเกิดความอดทน อดกลั้น ทนได้ นี่เราเหนื่อยยาก เราทนไม่ได้เพราะเราไม่เคารพหน้าที่ เพราะเราไม่บูชาหน้าที่ ขอให้เราบูชาหน้าที่ บูชาหน้าที่ พระพุทธเจ้าบูชาหน้าที่อย่างนี้ ทำงานครบวงจร ๒๔ ชั่วโมง เมื่อทำงานที่บ้านนี้เมืองนี้ มณฑลนี้เสร็จแล้วจะไปแขวงเขตอื่น ท่านก็ไป ไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยาก ที่พูดว่าไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยากในที่นี้ก็เพราะว่า ท่านต้องเดินไป ไม่มีรถยนต์ แล้วก็ยานพาหนะเทียมด้วยสิ่งมีชีวิตนั้นนักบวชทั้งหลายไม่นั่ง ไม่ใช่เฉพาะพระพุทธเจ้า นักบวชทั้งหลายทุกชนิดทุกนิกาย ไม่นั่งยานพาหนะที่เทียมด้วยสิ่งมีชีวิต รถม้าก็มีแต่มันเทียมด้วยม้า ไม่นั่ง เกวียนก็มีมันเทียมด้วยวัว มีชีวิต ไม่นั่ง เพราะมันทำความลำบากเหน็ดเหนื่อยให้แก่สัตว์มีชีวิต ไม่นั่งยานพาหนะที่เทียมด้วยสัตว์สิ่งมีชีวิต แล้วทำอย่างไร ก็เดิน มันก็ไม่มีอะไร ต้องเดิน
อาตมาศึกษา ตั้งใจจะรู้เรื่องนี้จนมีความเชื่อที่ไม่เหมือนคนอื่นนะ อาตมามีความเชื่อว่าพระพุทธเจ้าไม่มีรองเท้า พระพุทธเจ้าไม่มีร่ม หมอเท้าเปล่าเมืองจีน หมอเท้าเปล่าก็เดินทำงานได้ พระพุทธเจ้าก็เป็นพระศาสดาเท้าเปล่า คือเดิน กรำแดดกรำฝน ขรุขระ เจ็บปวดอย่างไรก็ไปได้ ไม่มีรองเท้า ไม่มีร่ม พระเณรพวกนี้มีมาก เกินรองเท้า เกินร่ม พระเณรสมัยนี้มีกล้องถ่ายรูปเกือบทุกองค์ แม่ชีก็มีเกือบจะทุกคนแล้ว สะดุ้งเมื่อแม่ชีแก่ๆ ถือกล้องถ่ายรูป ถ่ายรูปอาตมา รู้สึกประหลาดที่สุด แม่ชีแก่ๆ ยังถือกล้องถ่ายรูป ประเทศชาติจะเสียเงินค่าฟิล์มไปสักเท่าไร น่าเป็นห่วง ปีสองปีนี้จะเห็นว่า กล้องถ่ายรูปมันช่างเต็มไปเสียหมด พระพุทธเจ้าไม่มีแม้แต่ร่มและรองเท้า จะมีช้อนส้อมยังไง จะมีอะไรยังไง จะมีกล้องถ่ายรูปได้ไง มันก็ไม่มีทั้งนั้นแหละ ขอให้นึกถึงข้อนี้ ท่านจะต้องดำเนินเท้าเปล่า ไม่มีร่ม กรำแดดกรำฝนก็ไปจนได้เป็นโยชน์ๆ โยชน์ๆ การเดินไปเป็นโยชน์ๆ เป็นของธรรมดาสำหรับพระพุทธเจ้า ๔๕ ปีเรียกว่าเดินกันเป็นโยชน์ๆ แต่ละวันๆ วันสุดท้ายแท้ๆ วันนี้จะปรินิพพานค่ำลงแล้วนี่ กลางวันก็ยังเดินอยู่เป็นโยชน์ๆ นะ คิดดู ไม่ได้ไปโรงพยาบาล ไม่ได้เรียกร้องให้ส่งไปโรงพยาบาล ยังเดินอยู่เป็นโยชน์ๆ ไปสู่จุดที่จะปรินิพพานดับขันธ์ ที่อุทยานของพวกกษัตริย์แห่งหนึ่ง เหมาะสม กลางพื้นดิน จะมีผ้าปูหรือมีเตียงเล็กๆ ตั้งก็แล้วแต่ เรียกว่าปรินิพพานกลางดิน จะปรินิพพานอยู่เดี๋ยวนี้แล้ว ก็ยังมีนักบวชในลัทธิศาสนาอื่นมาขอร้องให้ช่วยสอน ให้ช่วยแสดงธรรม ภิกษุทั้งหลายว่า โอ้ นี่มันบ้าหรืออย่างไร พระพุทธเจ้าจะปรินิพพานอยู่เดี๋ยวนี้ยังมาขอให้แสดงธรรม ท่านไล่ ไป ไป ไปเร็วๆ อย่ามาให้เห็นหน้า พระพุทธเจ้าท่านได้ยินคำไล่คนนั้น ท่านบอกอย่าไล่ อย่าไล่ บอกมันมา บอกมันมา แล้วท่านก็สอน สอนในเวลานั้น จนนักบวชนอกศาสนาคนนั้นรู้ธรรมะพอที่จะเป็นพระอรหันต์ เป็นสาวกองค์สุดท้าย เป็นพระอรหันต์องค์สุดท้ายที่พระพุทธเจ้าท่านได้โปรดให้ แล้วต่อมาไม่กี่นาทีท่านก็นิพพาน จะเรียกว่าท่านทำงานจนสิ้นลมหายใจได้หรือไม่ พูดภาษาหยาบคายก็ทำงานจนตายอย่างนี้ได้หรือไม่ ท่านก็ได้ทำงานจนตายอย่างนี้จริงๆ เราทำงานกันอย่างนี้หรือเปล่า แล้วท่านก็ปรินิพพาน ใช้คำว่าปรินิพพานดับขันธ์ คือที่เรียกกันว่าตาย แล้วท่านตายอย่างปิดสวิตซ์ไฟนี่ ขอพูดสักหน่อยนะ พระพุทธเจ้าท่านนิพพาน ปรินิพพาน ตายเหมือนอย่างกับเราปิดสวิตซ์ไฟ ปิดสวิตซ์ไฟไฟมันก็ดับ ท่านมีความรู้สึกสมบูรณ์เต็มที่ เข้าฌาน รูปฌาน อรูปฌาน ทบไปทบมาพอมาถึงที่ตรงจุดกลางระหว่างรูปฌานกับอรูปฌาน ท่านก็ปิดสวิตซ์ไฟ ดับ ไม่มีอะไรเหลือ ท่านนิพพานอย่างปิดสวิตซ์ไฟ เราทำได้อย่างนี้หรือเปล่า ขอให้ทำจิตใจดีๆ เตรียมจิตใจดีๆ ให้อยู่ในอำนาจของการบังคับ ทำอานาปานสติสำเร็จแล้วจะบังคับจิตได้ อานิสงส์ของอานาปานสติมีกล่าวไว้ในปกรณ์พิเศษ ไม่ใช่พุทธภาษิตนะ แต่เป็นเรื่องปกรณ์พิเศษ คัมภีร์ที่ร้อยกรองขึ้นมา เช่น คัมภีร์วิสุทธิมรรค เป็นต้น ว่าอานาปานสติมีผลทำให้รู้วินาทีที่จะดับจิต ไม่ใช่นาที วินาทีที่จะดับจิต และภิกษุอาจารย์องค์นั้น เชี่ยวชาญในอานาปานสติ ชำนาญในอานาปานสติ พอถึงเวลาที่จะดับจิต จะปรินิพพาน ท่านก็เรียกพระเพื่อนทั้งหลายไปกลางสนามหญ้า แล้วท่านก็กำหนดการเดินจงกรมจากสุดฝ่ายโน้นมาสุดฝ่ายนี้ แล้วก็ตั้งฟิกซ์เพื่อนไว้จำนวนหนึ่งที่ตรงกลาง ตรงกลางทางระหว่างนั้น ท่านก็เดินไปเดินมา จงกรม แล้วท่านก็ดับจิตตรงระหว่างทางที่ตั้งภิกษุให้คอยเฝ้าคอยจับเมื่อตาย นี่ถึงขนาดนี้ เรียกว่ารู้วินาทีที่จะดับจิต นี่ผลของอานาปานสติ ถ้าทำได้อย่างนี้ก็เรียกว่า ดับจิตเหมือนกับปิดสวิตซ์ไฟได้เหมือนกันแหละ
ฉะนั้นขอให้ท่านทั้งหลายบูชาหน้าที่ เคารพหน้าที่อย่างพระพุทธเจ้า ทำหน้าที่จนสิ้นชีวิต จนดับชีวิต จนดับจิตไปเหมือนกับปิดสวิตซ์ไฟ ก็จะได้รับประโยชน์สูงสุด ในการที่เกิดมาเป็นมนุษย์ได้พบพระพุทธศาสนา ทั้งคืนและวันเจริญงอกงามอยู่ด้วยธรรมะในทางของพระพุทธศาสนา ขอให้ความประสงค์อันนี้สำเร็จเป็นไปได้อยู่ทุกทิพาราตรีกาลเทอญ ขอยุติการบรรยาย