แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ที่จะเป็นครูบาอาจารย์ต่อไปทั้งหลาย อาตมาขอแสดงความยินดีต่อท่านทั้งหลายเป็นข้อแรกในการมาสู่สถานที่นี้ด้วยความหวังอย่างนี้ และยินดีที่ว่าอาตมาเองก็ เรียกตัวเองว่า ครู ด้วยเหมือนกัน ก็มีความยินดีที่จะได้พบเพื่อนที่เป็นครู ในความหมายนี้ว่า เราให้ความหมายที่กว้างว่า ครูทุกคนน่ะสังกัดอยู่กับพระพุทธเจ้า อย่างน้อยก็โดยจิตใจ แม้ว่าโดยทางร่างกายเราจะต้องเป็นครูที่สังกัดอยู่กับกระทรวง ทบวง กรมอะไรต่างๆ แต่โดยจิตใจแล้วก็ขอให้คิดว่าสังกัดอยู่กับพระพุทธเจ้าผู้เป็นบรมครูและมันก็จะได้ผลมากกว่ากันมาก มีความหมายกว้างขวางออกไป
ในวันนี้ขอต้อนรับท่านทั้งหลายด้วยอาสนะที่นั่งอย่างนี้ ก็เป็นข้อแรกที่เราจะได้นึกถึงพระบรมครู ผู้ประสูติกลางดิน ตรัสรู้ก็กลางดิน สอนก็กลางดิน อยู่อาศัยก็กลางดิน นิพพานก็กลางดิน นี่เป็นคำพูดสามัญว่า เกิดกลางดิน ตรัสรู้กลางดิน สอนกลางดิน อยู่กลางดิน ตายกลางดิน ขอให้ให้ความหมายแก่คำว่าแผ่นดิน สำหรับผู้ที่เป็นบรมครูในลักษณะอย่างนี้เถิด
ข้อนี้ก็ไม่ต้องอธิบายมาก เพราะว่าคงได้อ่านมาแล้วในเรื่องราวโดยพุทธประวัติว่าประสูติกลางดินอย่างไร ตรัสรู้กลางดินอย่างไร สอนกลางดินอย่างไร จนจะกล่าวได้ว่าพระไตรปิฎกทั้งหมดนั้นมันมีกำเนิดกลางดินอย่างนั้นน่ะ เอาว่าสอนอยู่ที่วัดน่ะที่สอนก็กลางดิน ที่ไหนก็กลางดิน เดินทางอยู่ก็สอนได้ จนพระพุทธวัจนะทั้งหมดน่ะมันเกิดกลางดิน เมื่อท่านอยู่กลางดิน กุฏิพื้นดิน ประทับอยู่กลางพื้นดินเป็นส่วนใหญ่ แม้ว่าจะเสร็จเรื่องราวที่วัดจะไปพักผ่อนที่ตรงไหนก็มีแต่ที่กลางดิน ในที่สุดปรินิพพานก็กลางดินอีก ถือเอาคติอันนี้เป็นเครื่องคิดนึกก็มีประโยชน์ เพราะว่าเป็นการสอนให้อยู่อย่างต่ำที่สุด และก็มุ่งหมายจะทำอย่างสูงที่สุด นี่มันจะเป็นความสำเร็จ น่ะคุณที่ทะเยอทะยานเป็นอยู่อย่างสูง กินอยู่อย่างสูง อะไรอย่างสูงนะ ความคิดมันก็ไม่มีทางไปทางไหนนอกจากจะพลักตกลงมาข้างทาง เราจงถือหลักว่าจะอยู่ให้ต่ำที่สุดที่มันพลัดตกไปอีกไม่ได้แล้ว จิตมันก็ต้องแล่นไปสู่ทางสูง เมื่อจิตเป็นไปในทางสูง มันก็เหมาะสำหรับที่จะเป็นครู
ขอพูดกันถึงตัวหนังสือคำนี้ ถึงคำว่า ครู ตัวหนังสือเคยแปลกันว่า หนัก เป็นผู้หนัก นี่ก็ถูกต้อง เพราะว่าครูนี้มีพระคุณหนักอยู่บนศรีษะของคนทุกคนจนตลอดชีวิตเลย มันก็น่าพอใจในการเป็นครูถ้าเป็นครูที่แท้จริงมันจะมีอาการเป็นอย่างนั้นจริงๆ ต่อมามีผู้แปลคำว่าครู ว่าเป็นผู้นำในทางวิญญาณ คำนี้มีความหมายมากกว่าธรรมดา คือว่า ไม่ใช่ผู้รับจ้างสอนหนังสือหากินวันๆหนึ่ง แต่เป็นผู้นำในทางวิญญาณ ให้วิญญาณเดินถูกต้อง ผู้ที่มีหน้าที่สำคัญเช่นพระราชา มหากษัตริย์จะต้องมีบุคคลที่เรียกว่าครูเนี่ยเป็นที่ปรึกษา มีความหมายสูงสุดในทางวิญญาณ สูงกว่าความหมายของคำว่า อาจารย์ มากมายนักทั้งในครั้งกระนู้นและครั้งกะนี้ เดี๋ยวนี้เราไม่ชอบให้ใครเรียกว่าครู แต่ชอบให้ใครเรียกว่าอาจารย์ มันเป็นการสวนทางกันกลับความหมายของภาษา คำว่าครูนี้มัน มันเหนือคำว่าอาจารย์ซะอีก อาจารย์สอนวิชาอะไรก็ได้ ฝึกมรรยาทก็ได้ ใช้กันมาจนกระทั่งเดี๋ยวนี้ คำว่าครู ครู ในประเทศอินเดียในความหมายที่สูง
ต่อมาดูจะมีใครซักคนนึง ค้นทางศัพทศาสตร์ ศัพทศาสตร์ กันมากขึ้นไปอีก จนพบว่าไอ้คำคำนี้ มันแปลว่า เปิดประตู กิริยาที่เปิดประตู คือคำว่า ครู ก็เลยอธิบายว่า เปิดประตูทางจิตใจให้สัตว์ทั้งหลายออกมาซะได้จากคอกขังอันมืดอันร้อนอันสกปรกอันอะไรที่ไม่น่าปรารถนา ก็ได้แก่คอกของอวิชชา ความไม่รู้มันขังสัตว์ไว้ ครูก็เป็นผู้เปิดประตู สัตว์ทั้งหลายก็ออกมาได้ มีความหมายรุนแรงกว่าคำว่า ผู้นำทางวิญญาณ แล้วก็ดูเอาเองว่ามันจะยังมีปัญหาอะไรเหลือ ถ้าออกมาซะได้จากความไม่รู้ จากคอกขังของความไม่รู้ มันก็จะหมดปัญหาทุกอย่างทุกประการที่มันก็จะรู้ ช่วยตัวเองให้รอดได้ด้วยกันทุกคน ขอให้นึกถึงความหมายของคำที่สำคัญคำนี้ไว้ในใจเธอ แล้วมันก็จะง่ายในการจะทำหน้าที่ของตน ให้สมกับการเป็นครูโดยแท้จริง คือทำอะไรอะไรก็ให้มันเป็นไปเพื่อการเปิดประตูของอวิชชา อย่าให้อวิชชาและความไม่รู้นั้นแหล่ะเป็นคอกขังคนเหล่านั้นเลย
พระพุทธเจ้าท่านทรงทำอย่างนี้ถึงที่สุด ท่านจึงได้พระนามว่า ผู้เป็นบรมครู เป็นบรมครูทั้งของเทวดาและมนุษย์ อย่างบทสวดพุทธคุณสวดมนต์ ที่ใครๆก็สวดในชุด อิติปิโส ภควา มันก็มีคำว่า สัตถา เทวะ มนุสสานัง เป็นศาสดาเป็นครูทั้งของเทวดาและมนุษย์
ข้อนี้ก็มีความหมายที่จะต้องใช้เป็นอย่างยิ่งในปัจจุบันนี้ เพราะว่าในโลกปัจจุบันนี้ปัญหาเลวร้ายที่สุด มันมีอยู่ระหว่างเทวดากับมนุษย์ เทวดาบนสวรรค์นั้นน่ะเราติดต่อด้วยไม่ได้ ไม่รู้เรื่องอะไรของท่าน ไม่ต้องพูด แต่เทวดาในความหมายของภาษาน่ะมันก็มีอยู่ว่า ไอ้พวกคนที่ไม่รู้จักเหงื่อ คือเทวดา ไอ้พวกคนที่จะต้องอยู่กับเหงื่อนั้นแหล่ะคือมนุษย์ โดยความก็เล็งถึงคนมั่งมีกับคนยากจน ระบุชัดๆ ก็พวกนายทุนกับพวกชนกรรมาชีพ พวกเทวดามันรวย มันก็ไม่ต้องรู้จักเหงื่อ พวกชนกรรมาชีพมันยากจนอยู่มันก็ต้องอยู่กับเหงื่อ มันต่างกันมากทีเดียวแหล่ะ แต่ถึงมันจะต่างกันมาก มีปัญหาต่างกันมากอย่างไร มันก็ยังมีปัญหาที่จะต้องช่วยเหลือเหมือนกันแหล่ะ นั่นคือให้ออกมาซะจากคอกแห่งความโง่ด้วยกันทั้งสองฝ่ายแหล่ะ คอกในที่นี้ก็คือความไม่รู้นะ แต่เป็นความไม่รู้ที่มันแสดงบทบาทไกลออกไปเป็นความเห็นแก่ตัว ความเห็นแก่ตัว มันเกิดมีคนที่เห็นแก่ตัวจับกลุ่มกันเข้าเกิดกำลังอำนาจมากเป็นพวกนายทุนมาจากความเห็นแก่ตัว จะเรียกว่ากอบโกยก็ได้เอาประโยชน์ไปไว้เสียมาก จะเรียกว่าปิดกั้นก็ได้ ปิดกั้นประโยชน์ไว้เสียเพื่อตนเอง ไม่ให้ไหลไปสู่คนยากจน คนยากจนมันก็ขาดแคลน มันก็อยู่ไม่ได้ มันก็เห็นแก่ตัวเหมือนกัน มันก็ต้องพังทลาย การกีดกั้นของพวกมั่งมีนี่ และในโลกนี้ก็เกิดเป็นปัญหาขึ้นมาระหว่างคนสองพวกนี้ไม่รู้จักสิ้นสุด
ท่านทั้งหลายเป็นครูบาอาจารย์ก็จะมองเห็นได้เองเข้าใจได้เองว่าปัญหายืดเยื้อไม่รู้สิ้นสุดกำลังมีอยู่ในโลกปัจจุบันนี้ก็คือปัญหาระหว่างลัทธินายทุนกับชนกรรมาชีพ จนโลกนี้แบ่งออกเป็นสองค่าย ค่ายที่มีนายทุนเป็นหลัก กับค่ายที่มีชนกรรมาชีพเป็นหลัก มันก็รบสู้กันต่อสู้กัน อย่างร้ายกาจอย่างยิ่งเหลือจะพรรณา ก็คือสงครามเย็น สงครามใต้ดิน นานๆก็เกิดสงครามร้อนซักทีหนึ่ง ที่นั่นบ้าง ที่นี่บ้าง แต่ว่าตลอดเวลามันมีสงครามเย็นตลอดเวลา สงครามใต้ดิน มุ่งหมายจะทำลายล้างกันก็เพื่อจะเอาประโยชน์
วิชา ความรู้ สติปัญญาของมนุษย์ถูกนำไปใช้เพื่อสิ่งนี้ทั้งหมด ก็เพื่อเอาชนะกัน ทั้งสติปัญญาแม้จะค้นคว้าหามาได้อย่างไร ใหม่อย่างไร วิเศษวิโสอย่างไร ก็ถูกนำมาใช้เพื่อเป็นเครื่องมือเอาชนะผู้อื่นทั้งนั้นน่ะ ไม่ว่าฝ่ายไหน นักวิทยาศาสตร์มันจะคิดอะไรมาดีวิเศษอย่างไร ก็ถูกนำไปใช้เพื่อเป็นเครื่องมือทำลายฝ่ายตรงข้ามทั้งนั้นแหล่ะ ตกลงว่าเราไม่ได้ทำอะไรกัน นอกจากคิดที่จะโค่นทำลายฝ่ายตรงกันข้าม แล้วก็มีความเดือนร้อนเท่าไรก็เห็นๆกันอยู่ เพียงแต่ว่าจะเกิดสงครามปรมาณูเท่านั้นมันถึงจะเดือดร้อน ถ้ามันเกิดขึ้นมาจริงๆมันจะเดือดร้อนเท่าไร มันจะมีควันหลงปฏิกิริยาเหลือต่อไปอีกเท่าไรก็ยากที่จะกล่าวได้
เป็นอันว่าปัญหาของมนุษย์มันอยู่ที่ ติดอยู่ในคอกมืดของอวิชชา เห็นแก่ตัว เห็นแก่ตัว ถ้าความเห็นแก่ตัวไม่เกิดขึ้นมา นายทุน ลัทธินายทุนหรือพวกนายทุนก็เกิดขึ้นมาในโลกไม่ได้ เมื่อนายทุนหรือนายทุนมันเกิดขึ้นมาไม่ได้หรือไม่เกิดลัทธิชนกรรมาชีพมันก็ไม่จำเป็นจะต้องเกิด เพราะมันไม่รู้จะไปทำลายใคร แต่เพราะมีลัทธินายทุนมันก็ต้องเกิดลัทธิเพื่อจะทำลายนายทุนคือชนกรรมาชีพ นี่ก็เรียกว่าทั้งสองฝ่าย ตกอยู่ในคอกที่มืดของอวิชชาโดยเท่ากัน คือความเห็นแก่ตัว ความเห็นแก่ตัว นี่มันเป็นพยานหลักฐานปัจจุบันอยู่เฉพาะหน้าว่ามันมีปัญหาอย่างนี้ มันจะยิ่งรุนแรงขึ้นไปอีกไม่รู้สักเท่าไร จงสนใจแก่คำว่า ความเห็นแก่ตัว ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญเพียงสิ่งเดียว อาตมากล้าใช้คำว่า เพียงสิ่งเดียว ที่พวกครูจะต้องช่วยกันทำลาย
ถ้าว่าครูจะเป็นผู้นำทางวิญญาณก็ดี เป็นผู้เปิดประตูทางวิญญาณก็ดี มันก็มีหน้าที่ที่จะต้องช่วยกันทำลายความเห็นแก่ตัว ซึ่งเป็นตัวครอบอย่างร้ายกาจที่ขังมนุษย์ไว้ในกองทุกข์ ในความทุกข์ทรมาน ถ้าไม่เห็นแก่ตัวก็ไม่มีความทุกข์ ความเห็นแก่ตัวทำให้เกิดความทุกข์ได้รอบด้านเลย คือหมายความว่าจะเกี่ยวกับผู้อื่นก็ตาม ไม่เกี่ยวกับผู้อื่นนั่งอยู่คนเดียวก็ตามจะเป็นทุกข์ทั้งนั้น คนที่เห็นแก่ตัวมันก็จะวิตกกังวลแต่เรื่องของตัว มันก็นอนไม่หลับ มันก็เป็นโรคประสาท มันก็เป็นบ้า นี่ขอให้คิดดูเถิด ไอ้คนที่เป็นบ้ากันอยู่ทั้งโลกในเวลานี้ จะมีกี่ๆ ล้านๆ คน มันก็มีมูลเหตุมาจากความเห็นแก่ตัว ที่กลัดกลุ้มมันฆ่าตัวตาย มันฆ่าลูก ฆ่าเมียตาย แล้วฆ่าตัวตาย หรืออะไรก็ตาม มันมีมูลมาจากความเห็นแก่ตัวที่มันหลงทาง จนกระทั่งเป็นมันก็บ้าจริง เป็นบ้าชนิดที่ไม่รู้จักหายก็มีมากขึ้นทุกทีในโลกนี้
หากเพราะว่าไอ้ความเจริญของโลกนั่นแหล่ะเป็นมูลเหตุ ขอบอกกล่าวกันตรงๆ ว่า ไอ้ความเจริญที่ควบคุมไว้ไม่ได้นั่นแหล่ะ คือความวินาศ ไอ้ความเจริญในที่นี้เดี๋ยวนี้ก็คือทางวัตถุทั้งนั้นเลย ไม่มีทางจิตทางวิญญาณซะแล้ว ความเจริญทางวัตถุที่ยิ่งสวยงามเอร็ดอร่อยอะไรก็ตาม ลึกซึ้งตรึงใจมากขึ้นนั่นน่ะ ความเจริญชนิดนี้ที่ควบคุมไม่ได้นั่นแหล่ะคือความวินาศ เพราะว่ามันทำให้หลงๆ ๆ ๆ แล้วก็เห็นแก่ตัว เห็นแก่ตัว มันจะทำลายความสงบสุขของตัวและก็ทำลายผู้อื่นเบียดเบียนผู้อื่น เกิดความทุกข์ทุกสถานขึ้นมา เพราะความเห็นแก่ตัว
ความเจริญ ความเจริญน่ะช่วยระวังกันให้ดีดี สนุกสนาน เอร็ดอร่อย สวยงาม ซึ่งคนหวังกันนัก บางทีที่จะทำงานหาเงินนี่เอาไปเพื่อจะซื้อสิ่งเหล่านั้นทั้งนั้นแหล่ะ แต่ระวังให้ดี ความเจริญชนิดนี้ที่ควบคุมไม่ได้นั่นแหล่ะคือความวินาศ ไม่ใช่จะอยู่ที่ไหน มันอยู่ที่ความเจริญที่ควบคุมไม่ได้นั่นแหล่ะ
โดยส่วนตัวบุคคลก็ เงินก็ไม่พอใช้เพราะว่าถ้าโง่เขลาไปหาไอ้สิ่งหลอกลวงความเพลิดเพลินที่หลอกลวงเป็นสรณะแล้ว เงินก็ต้องไม่พอใช้ มันจะมีเงินสักเท่าไรมันก็ไม่อ่ะไม่พอใช้ และถ้ามันรู้จักหาความสงบสุขที่แท้จริงไม่เป็นทาสของความเพลิดเพลินอันหลอกลวงเหล่านั้นแล้ว เงินมันจะเหลือใช้ เพราะว่ามันหาความสุขได้จากความถูกต้องของการดำรงชีวิต ดำรงชีวิตถูกต้อง ทุกอิริยาบถ ทุกเวลา ทุกสถานที่ พอใจตัวเอง ยกมือไหว้ตัวเองได้ มันมีความสุขซะแล้ว มันมีความสุขจนกระทั่งยกมือไหว้ตัวเองได้ซะแล้ว นี่ มันจะต้องการความสุขอะไรอีก มันก็ไม่ต้องเอาเงินไปซื้อกามารมณ์ หรือปัจจัยแห่งกามารมณ์ที่แสนจะหลอกลวง ทำหน้าที่ หน้าที่ ถูกต้อง ถูกต้อง ถูกต้อง ไปหมด แล้วก็พอใจ พอใจ พอใจ แล้วก็เป็นสุข เป็นสุข เป็นสุข เพราะการทำหน้าที่ ที่ถูกต้อง นี่เรียกว่า ปฏิบัติธรรมะนั่นเอง ปฏิบัติธรรมะ คือปฏิบัติหน้าที่ ปฏิบัติหน้าที่ คือปฏิบัติธรรมะ
คำว่าธรรมะ ธรรมะ นี่มันแปลว่าหน้าที่ พวกครูเราไปสอนลูกเด็กๆ เพียงครึ่งเดียว ว่าธรรมะแปลว่าคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ครูมักจะสอนเด็กว่าธรรมะคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า มันก็หลับตาโง่หรือลืมตาโง่ก็ไม่รู้ เพราะว่าคำว่าธรรมะ ธรรมะนี่เค้าพูดกันอยู่ก่อนพระพุทธเจ้าเกิดนั่น มนุษย์ในประเทศอินเดียนั่นแหล่ะ มีคำว่าธรรมะ ธรรมะ ใช้พูดกันอยู่ก่อนพระพุทธเจ้าเกิด มันหมายถึงหน้าที่ หน้าที่
เมื่อมนุษย์คนแรกสังเกตเห็นว่าในหมู่พวกเราในหมู่คนเรานี่มันมีสิ่งสำคัญที่สุด ที่เรียกว่าหน้าที่ หน้าที่ เค้าจะกำลังทำนา ทำสวน เลี้ยงสัตว์หรือทำอะไรต่างๆเค้าก็มองเห็นความหมายของสิ่งเหล่านั้นว่าหน้าที่ หน้าที่ และเรียกมันว่า ธรรมะ ธรรมะ มีความหมายสำคัญที่สุดคือมันช่วยให้รอด ถ้าพูดเป็นภาษาไทยก็ต้องพูดว่าหน้าที่ ถ้าพูดเป็นภาษาอินเดียสมัยโน้นก็พูดว่าธรรมะ ธรรมะแปลว่าหน้าที่ และมีความหมายตรงว่ามันช่วยให้รอด สิ่งที่มันช่วยให้รอดนั่นแหล่ะคือหน้าที่ในภาษาไทยหรือในภาษาอินเดียว่า ธรรมะ พอปราศจากหน้าที่มันก็คือตาย มันก็คือตาย คอยสังเกตดูเถิดว่ามันมีหน้าที่เป็นสิ่งคัญที่สุดสำหรับสิ่งที่มีชีวิตจะต้องทำ
ชีวิตระดับคนก็ตาม ระดับสัตว์เดรัจฉานก็ตาม ระดับต้นไม้ต้นไร่ก็ตาม มันเป็นสิ่งที่มีชีวิตและมันก็ต้องมีหน้าที่ที่จะต้องทำ แล้วมันก็ต้องทำ ถ้าไม่ทำมันก็คือตาย มันก็คือตาย พระพุทธเจ้าเคารพทรงเคารพสิ่งที่เรียกว่าหน้าที่ เมื่อพระองค์ตรัสรู้ใหม่ๆขึ้นมา มีปัญหาเกิดขึ้นในพระองค์ว่า เอ๊ะ,นี่จะเคารพใคร เมื่อรู้ถึงที่สุดอย่างนี้แล้ว ก็มีคำตอบโดยพระองค์เองว่า เคารพธรรมะ คือหน้าที่ หน้าที่ ธรรมะนั่นน่ะคือหน้าที่ ที่ถูกต้อง ที่จะช่วยให้รอด จะอยู่ในรูปคำสั่งสอนก็ได้ จะอยู่ในรูปของการปฏิบัติ ปฏิบัติก็ได้ หรือจะอยู่ในรูปของผลสำเร็จออกมาเป็นผลแล้วก็ได้ มันเป็นหน้าที่ เคารพหน้าที่ เคารพหน้าที่ของพระพุทธเจ้า จนกล่าวเป็นศัพท์บาลีว่า พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ในอดีต ในปัจจุบัน ในอนาคตทุกพระองค์ เคารพหน้าที่ แล้วก็กล่าวมาชัดเจนเลยว่า หน้าที่ที่ถูกต้อง เรียกว่า สัตธรรมะ สัต สัตตบุรุษ ธรรมะ แปลว่าหน้าที่ ธรรมะของสัตตบุรุษคือ หน้าที่ที่ถูกต้องของสัตตบุรุษ
นี่ก็หมายความว่าไม่ใช่หน้าที่ของคนพาล คนอันธพาล น่ะ เพราะว่าคนอันธพาลเค้าก็จะบอกว่า เค้ามีหน้าที่ที่จะปล้น จะจี้ทำอะไรตามแบบของเขา นั่นมันหน้าที่ของอันธพาล และหน้าที่ของสัตตบุรุษที่ถูกต้องก็คือมันช่วยให้รอดได้อีกทีนึง นี่ขอให้รู้ให้ชัดว่าไอ้ ธรรมะ ธรรมะนั้นคือสิ่งที่พระพุทธเจ้าก็เคารพ อย่าบอกลูกเด็กๆ แต่เพียงว่า ธรรมะคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าและก็ไม่ได้บอกว่าสอนว่าอย่างไรด้วยซ้ำไป มันก็เป็นหมัน บอกแต่เพียงว่าเป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าและก็ไม่ได้บอกว่าสอนว่าอย่างไร
นี่ต่อไปขอให้ช่วยบอกว่า ธรรมะคือสิ่งที่พระพุทธเจ้าก็เคารพนะ จะพูดอย่างนั้นสิ ไม่ต้องไปถามต่อไปว่าอะไรกัน ก็บอกว่า หน้าที่ หน้าที่ หน้าที่ตามฐานะของตน ของตน พระพุทธเจ้าก็ต้องทำหน้าที่ของพระพุทธเจ้า ถ้าไม่ทำหน้าที่ของพระพุทธเจ้าก็ไม่เป็นพระพุทธเจ้าเท่านั้นแหล่ะคิดดู มันก็ไม่เป็นพระพุทธเจ้าเท่านั้นแหล่ะ เพราะท่านทำหน้าที่ของพระพุทธเจ้าท่านก็เลยเป็นพระพุทธเจ้า ธรรมะคือหน้าที่ที่จะช่วยให้รอด และเป็นสิ่งที่แม้แต่พระพุทธเจ้าก็ยังทรงเคารพ เราเคารพพระพุทธเจ้า แต่เรายังโง่ไม่เคารพสิ่งที่พระพุทธเจ้าเคารพ จริงมั๊ย เราไม่เคารพหน้าที่ในฐานะเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าก็เคารพ เราจงรู้จักหน้าที่ให้ถูกต้องและรู้จนกระทั่งว่าไอ้หน้าที่น่ะ คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงเคารพ มันก็จะหมดปัญหานะ ขอให้ทำหน้าที่ด้วยความเคารพ
ครูก็เรียนวิทยาศาสตร์มาบ้างแล้ว อย่างน้อยก็จะต้องรู้ว่าไอ้เซลล์ทุกๆ เซลล์ น่ะ ทุกๆ เซลล์ที่ประกอบกันขึ้นเป็นร่างกายมนุษย์นี่ มันจะมีกี่ล้านๆเซลล์ ก็ตามใจมันเถอะ แต่ว่าทุกเซลล์มันทำหน้าที่นะ ลองไอ้เซลล์เหล่านี้ไม่ทำหน้าที่มันก็คือตาย คือตาย คือตายทันที ไอ้เซลทุกๆ เซลล์ มันจะตัวเล็กเท่าไรมันก็ไม่รู้นะ แต่มันทำหน้าที่นะมันจึงรอดเป็นเซลล์ อยู่ได้ ในทุกๆ เซลล์ หลายๆ เซลล์ ประกอบกันเข้าเป็นอวัยวะของร่างกายนี่ เป็นตา เป็นหู เป็นจมูก เป็นปาก เป็นมือ เป็นเท้า เป็นอะไรก็ตาม มันก็ยังทำหน้าที่อีกอีกแหล่ะ ตาทำหน้าที่ของตา หูทำหน้าที่หู จมูกปากทำหน้าที่ของมัน มันจึงรอดอยู่ได้ ถ้าไม่ทำหน้าที่มันก็คือตาย
ธรรมะก็คือชีวิต คือชีวิต จะพูดว่า ธรรมะคือสิ่งที่จำเป็นแก่ชีวิต หรือหน้าที่เป็นสิ่งที่จำเป็นแก่ชีวิตก็ได้เหมือนกัน แต่ดูมันยังจะไม่ถูกนัก มันควรจะพูดว่าเป็นชีวิตซะเอง เพราะถ้าไม่ทำหน้าที่มันก็คือตาย ถ้าไม่มีหน้าที่มันก็คือตาย การทำหน้าที่อยู่มันก็คือชีวิต หน้าที่ที่ถูกต้องในการช่วยให้รอด จากปัญหาทั้งปวง ไม่ว่าปัญหาอะไรจะหลุดพ้นไปได้เพราะการทำหน้าที่ เรามีหน้าที่กันมากมาย หลายสิบหลายร้อยหลายพันหน้าที่ แต่ว่าจัดเป็นหมวดๆ สงเคราะห์ให้น้อยเข้ามันก็จะเหลือสักสามหมวดเท่านั้นแหล่ะ
หมวดที่หนึ่ง ทำมาหาเลี้ยงชีวิต หาอาหารเลี้ยงชีวิตนั่นแหล่ะ หาเลี้ยงชีวิตน่ะหมวดหนึ่ง หมวดที่สอง ก็บริหารชีวิตอยู่ทุกวันทุกวันบริหารบริหารให้มันปกติ บริหารชีวิต แล้วมันก็สังคมกันให้ถูกต้องทุกด้านของสังคมจะมีกี่ด้านก็สังคมให้มันถูกต้อง หน้าที่สามประการนี้เป็นหน้าที่ที่จะช่วยให้รอดอยู่อย่างสะดวกสบายที่สุด หากขอให้ทำหน้าที่อันนี้ให้ดีที่สุด คำว่า ดีที่สุดนี้ก็ยังไม่ค่อยจะชอบ แต่อยากจะพูดว่าถูกต้องที่สุด คำว่าดี ดี เนี่ยมันไม่ค่อยจะปลอดภัย มันเลยเถิดได้ มันว่าดีก็ได้ เมาดีก็ได้ หลงดีก็ได้ แล้วมันก็วินาศเหมือนกันแหล่ะ มาใช้คำว่า ถูกต้อง ถูกต้องดีกว่า
ทำหน้าที่ของตนของตนให้ถูกต้อง ถูกต้อง ถูกต้อง ถูกต้อง นี่แล้วก็พอใจพอใจว่าถูกต้อง เมื่อพอใจมันก็มีความสุขไม่ไปไหนเสีย จงทำหน้าที่ให้ถูกต้องในการหาเลี้ยงชีวิต ชาวนาทำนา ชาวสวนทำสวน พ่อค้าค้าขาย ข้าราชการทำราชการ กรรมกรทำกรรมกร แม้ที่สุดจะคนขอทานซึ่งมันจำต้องรับสภาพอันนั้นก็ขอทานก็ขอทานให้ดีที่สุดน่ะ ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด มันก็หมดปัญหาในส่วนนั้น ที่บริหารร่างกายในประจำวันนี่ ก็ให้ดีที่สุด จะกินอาหาร จะถ่ายจาระ ปัสสาวะ จะอาบน้ำ จะทำอะไรก็ตามน่ะ มันเป็นการบริหารชีวิตนี้ เป็นหน้าที่ เป็นหน้าที่ เมื่อเป็นหน้าที่ก็คือธรรมะ จงปฏิบัติหน้าที่เหล่านี้ให้ดีที่สุด ให้เป็นธรรมะแล้วจะมีความสุขทุกอิริยาบทเลย เดี๋ยวนี้ไม่รู้ว่าหน้าที่นี้นี่น่ะคือธรรมะ มันก็ไม่สนใจจะทำให้ดีที่สุด บางทีไม่อยากจะทำด้วยซ้ำไป ทั้งที่มันเป็นหน้าที่ นั้นจึงอยากจะแนะว่าขอให้ทำหน้าที่ดีที่สุด ทุกหน้าที่ที่บริหารร่างกายบริหารชีวิต
ตื่นนอนขึ้นมาจะต้องล้างหน้าจะต้องถูฟัน ก็ให้ถือว่าเป็นเวลาที่ปฏิบัติธรรมะ มีสติ สัมปชัญญะ ล้างหน้าและถูฟันให้ดีที่สุด ในฐานะเป็นการปฏิบัติธรรมะ ถูกต้อง ถูกต้อง พอใจ พอใจ เป็นสุข ชื่นใจตัวเองตลอดเวลาที่ล้างหน้าและถูฟัน แต่เดี๋ยวนี้มันไม่รู้ว่านี่เป็นธรรมะ มันก็ไม่ได้ตั้งใจจะทำ บางทีมันก็ไม่อยากจะทำ นี้กำลังล้างหน้าถูฟันไปพลาง จิตใจมันไปบ้าอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ เลื่อนลอยไปที่ไหนก็ไม่รู้ ไม่ได้ตั้งใจปฏิบัติธรรมะตอนนี้ให้ดีที่สุด มันก็เลยไม่ได้รับผลจากธรรมะ คือความสุขที่แท้จริงว่าปฏิบัติถูกต้องถูกต้องพอใจพอใจและเป็นสุข ทีนี้ว่าจะไปถ่ายจาระ ปัสสาวะ ไม่มีใครสนใจจะทำให้ดีที่สุด ว่ามันเป็นการปฏิบัติธรรมะ มันก็ทำอย่างเสียไม่ได้ บางคนยังไม่อยากจะทำด้วยซ้ำไป ทำก็ทำด้วยความโง่เขลาโมโหโทโสทะเลาะกับการถ่ายจาระ ปัสสาวะมันจะต้องมีสติสัมปชัญญะทำให้ดีที่สุดในการถ่ายจาระปัสสาวะให้ถูกต้องที่สุดให้ดีที่สุด และก็พอใจ พอใจ มันก็เป็นสุขตลอดเวลาที่ถ่ายจาระปัสสาวะ มันไม่ไปไหนเสีย แต่ว่าคนโง่มันทำไม่ได้ คนฉลาดที่ไม่รู้ก็คือคนโง่ แล้วมันก็ทำไม่ได้เหมือนกัน ถ้ามันจะคิดดูให้ดีว่ามันเป็นสิ่งที่ต้องทำให้ดีที่สุด จนถูกต้องถูกต้องแล้วก็พอใจพอใจมันก็เป็นสุข เรียกว่าหาความสุขที่แท้จริงได้แม้ในขณะที่ถ่ายจาระปัสสาวะ ซึ่งเป็นหน้าที่ที่จะต้องทำ แล้วจะไปไหนล่ะ จะไปอาบน้ำไปเข้าห้องน้ำก็ทุกอิริยาบถในห้องน้ำ ถูกต้อง ถูกต้อง ถูกต้อง ข้างในทำถูกต้อง มีสติสัมปชัญญะทำถูกต้องจนอาบน้ำเสร็จ ถูกต้อง ถูกต้อง พอใจ พอใจ เป็นสุข ตลอดเวลาที่อาบน้ำ ใครทำได้บ้าง มักจะทำด้วยจิตใจที่ไม่รู้อยู่ที่ไหน โกรธใครอยู่ แช่งชักใครอยู่ หรือบ้าบออะไรที่ไหนอยู่ก็ไม่รู้ ไม่มีสติสัมปชัญญะ ปฏิบัติธรรมะ ปฏิบัติธรรมะเมื่อเวลาอาบน้ำเป็นตลอดเวลาอาบน้ำ ทุกวินาทีที่อาบน้ำมีความถูกต้องพอใจและเป็นสุข ไปรับประทานอาหาร ก็ถูกต้อง ตั้งแต่หยิบจานมา ตั้งแต่หยิบช้อนมา ตักใส่ปากเคี้ยวกลืนอะไรก็ตามเถอะ ด้วยสติสัมปชัญญะถูกต้องพอใจถูกต้องพอใจ เป็นสุข ตลอดเวลาที่รับประทานอาหาร ไม่ไปมัวทะเลาะกับอาหาร อร่อยบ้าง ไม่อร่อยบ้าง บางทีไปดุด่าไอ้คนปรุงได้ คนปรุงก็ด้วย ถ้าเค้าเป็นคนใช้เนี่ยมันก็ทะเลาะกับอาหารด้วยความโง่ ถ้ามันไม่อร่อยก็จะต้องไปโกรธเคืองอะไรอ่ะ ก็มันก็เป็นเช่นนั้นเอง มันก็แก้ไขสิถ้าต้องการ หรือว่าถ้าไอ้ส้มลูกนี้มันไม่หวาน มันเปรี้ยว ก็ไม่ต้องไปทะเลาะกับมันน่ะ มันเป็นเช่นนี้เอง มันชนิดนี้เอง แล้วก็ชิมกินชนิดนี้เองชนิดนี้เอง ไม่ต้องขัดใจว่ามันเปรี้ยว หรือว่าแตงโมมันไม่หวาน หรือว่าขนมมันไม่อร่อย ก็ไม่ไปโง่เขลาทะเลาะกับมัน อย่างนี้มันเป็นเรื่องสงบเย็นตลอดเวลาที่รับประทานอาหารเป็นสุขด้วยเป็นการศึกษาด้วยตลอดเวลาที่รับประทานอาหาร เรียกให้ชัดลงไปว่าเป็นการปฏิบัติธรรมะอย่างแท้จริง ตลอดเวลาที่รับประทานอาหารก็มีสติ สัมปชัญญะ ปัญญา สมาธิ ตลอดเวลาที่รับประทานอาหารเป็นการปฏิบัติธรรมะ นี้ก็มัวมาโง่มาทะเลาะกันอยู่กับสิ่งเหล่านี้จะมันคลานงุ่มง่ามอยู่ที่นี่ แต่ถ้าทำไปด้วยความถูกต้องพอใจเป็นปัญญา เป็นสติปัญญา มันก็จะใกล้ต่อพระนิพพาน คือเดินไปข้างหน้า วิ่งไปข้างหน้า ทิ้งพวกคนโง่ๆ ไว้ข้างหลังตามใจมันเถอะ เราจะขอไปก่อน ไปข้างหน้า เพื่อใกล้ต่อพระนิพพาน ถ้าเราปฏิบัติถูกต้องแม้ในการกินอาหาร
เอ้า, มาถึงตอนนี้ก็ บางทีบางคนจะไม่ชอบมากขึ้นไปอีกว่าแม้แต่จะล้างถ้วย ล้างจาน กวาดบ้าน ถูเรือน นั่น ก็ขอให้ทำเถิดเป็นธรรมะ เป็นการปฏิบัติธรรมะอย่างยิ่งแก้กิเลสได้อย่างยิ่ง แก้ความเห็นแก่ตัวได้อย่างยิ่ง แก้ความจองหองพองขนได้อย่างยิ่ง
ครูบาอาจารย์แบบนี้ เตรียมพร้อมสำหรับที่จะไม่ต้องล้างถ้วย ล้างจาน กวาดบ้านถูเรือน ด้วยตนเอง ใช่มั๊ย คุณคิดอย่างนี้ใช่มั๊ย ถ้าคิดอย่างนี้ขอบอกว่าไม่ถูกหรอก คิดซะใหม่เถอะ แม้แต่การล้างถ้วยล้างจานกวาดบ้านถูเรือน ก็เป็นการปฏิบัติธรรมะ ทำด้วยสติสัมปชัญญะถูกต้องพอใจ พอใจเป็นสุข เยือกเย็นจนยกมือไหว้ตัวเองได้เหมือนกัน มันลดกิเลสอย่างยิ่ง มันลดความเห็นแก่ตัวอย่างยิ่ง
อย่าว่าแต่ล้างถ้วยล้างจานเลย ล้างส้วมที่สกปรกนั่นแหล่ะ ขอให้เตรียมตัวไว้เถอะ แม้จะเป็นครูผู้ใหญ่ เป็นอาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่แล้วอะไรก็ตาม หาเวลาไปล้างส้วมซะบ้าง มันจะเป็นการช่วยขูดเกลาให้ความเห็นแก่ตัว ซึ่งเป็นศัตรูร้ายของมนุษย์ มันจะมีความพอใจลึกซึ้งกว่าธรรมดามาก ยกมือไหว้ตัวเองได้ ก็มีความถูกต้อง ถูกต้องบังคับตัวเองได้ ถึงขนาดที่นึกขึ้นมาแล้วก็ยกมือไหว้ตัวเองได้
นี่เอาเป็นว่า ไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ธรรมะ ถ้ามันเป็นหน้าที่ มันเป็นหน้าที่ เราจะต้องบริหารร่างกายให้ถูกต้องทุกอย่าง การนุ่งการห่ม การทำอะไรทุกอย่างในบ้านในเรือนให้มันถูกต้องถูกต้อง จนบอกตัวเองได้ว่าถูกต้องถูกต้อง ก็พอใจพอใจแล้วก็เป็นสุขเป็นสุขเลยเป็นสุขไปทั้งหมดไม่ต้องใช้เงินแม้แต่สตางค์เดียว เมื่อทำถูกต้องในหน้าที่ หน้าที่มันก็ออกผลเป็นเงินเป็นทองออกมาอีกมันก็เหลือ ถ้าเรามันมีความสุขมีความพอใจซะอย่างเต็มที่แล้ว ไม่ไปหลงไอ้กามารมณ์หลงบันเทิงรื่นเริงอะไรที่เป็นความหลอกลวงก็ไม่ต้องใช้เงิน เงินมันออกมามันก็เหลืออยู่ ถ้าเอาไปใช้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ที่ถูกต้องต่อไปเพื่อสังคมก็ได้เพื่ออะไรก็ได้
สรุปใจความสั้นๆ ว่า ถ้ามันเป็นความสุขที่แท้จริง มันจะไม่ต้องใช้เงิน พอ พอใจ พอใจในการกระทำหน้าที่ที่ถูกต้องถูกต้องถูกต้องไปหมด เมื่อมีหน้าที่ตลอดวันก็พลอยสุข เป็นสุขตลอดวัน ไม่ต้องใช้เงินเลย ไม่ต้องเพิ่มการงานอะไรขึ้นมาอีกด้วย การงานที่มีอยู่การงานที่จะทำในออฟฟิศการงานทำที่บ้านที่เรือนที่ไหน มันถูกต้องพอใจไปหมดมันก็ไม่ต้องใช้เงินเพื่อความสุข ไอ้ที่เอาเงินไปซื้อมานั้นเป็นความเพลิดเพลินที่หลอกลวงทั้งนั้นแหล่ะ ขอท้าทายไว้อย่างนี้ ให้จำไว้ให้ดีเถิดว่ามันจ่ายเงินออกไปซื้อหามามันเป็นความเพลิดเพลินที่หลอกลวง เป็นปัจจัยความเพลิดเพลินที่หลอกลวงไม่เหมาะสมกับครู ผู้ที่จะยกสถานะทางวิญญาณของมนุษย์เลย
เราก็ ถูกต้องในการหาเลี้ยงชีวิต ถูกต้องในการบริหารชีวิต ถูกต้องในการสังคม คำว่าสังคมนี้เป็นเรื่องสั้นๆง่ายๆจำได้ง่ายๆ ตามที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ ว่าสังคมสังคมนี้มีอยู่หกทิศทาง ทางข้างหน้าบิดามารดา ทางข้างหลังบุตรภรรยา ทางข้างซ้ายมิตรสหาย ทางข้างขวาครูบาอาจารย์ ทางข้างบนผู้อยู่เหนือผู้บังคับบัญชา พระเจ้า พระสงฆ์ เจ้านายอะไรก็ตาม ทางข้างล่างคือคนใช้กรรมกรที่อยู่ใต้บังคับบัญชา มันเป็นหกทิศทางอย่างนี้ ทำให้ถูกต้องให้ประสานกันด้วยดีมีความสำเร็จประโยชน์ ไม่ทำให้เกิดเป็นเวรเป็นศัตรูกันขึ้นมา การสังคมก็ถูกต้องที่สุด ถูกต้องที่สุด มันก็เลยเป็นว่าถูกต้องหมด ก็เป็นสุข ก็เป็นสุขที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ จะได้ด้วยการปฏิบัติหน้าที่ที่ถูกต้องถูกต้องถูกต้องพอใจ พอใจ พอใจแล้วก็เป็นสุข
สรุปความว่า ความสุขที่แท้จริงไม่ต้องใช้เงิน ไอ้ความสุขที่หลอกลวงเท่าไรยิ่งจะต้องใช้เงินมากเท่านั้น ยิ่งหลอกลวงถึงที่สุดก็ใช้เงินจนหมดเลยไม่ต้องมีเหลือกัน ไอ้ความสุขที่หลอกลวงระวัง อย่าได้บูชาไอ้ความสุขที่หลอกลวงชนิดนั้น ดู สังเกตุดู ครูที่เป็นรุ่นหนุ่ม รุ่นสาวนั้น น่ะ มักจะยังมุ่งหมายแต่อย่างนี้ มุ่งหมายแต่ความสุขที่หลอกลวงที่เตรียมเงินไว้มากๆ ความสนุกสนานเอร็ดอร่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องทางเพศหรือระหว่างเพศนั้นน่ะบูชากันมาก อย่างนี้เรียกว่าไม่ลืมหูลืมตา ไม่ประสีไม่ประสา ไม่เป็นครูของใครได้หรอก ไม่เป็นครูของพระพุทธเจ้าสังกัดพระพุทธเจ้าได้ เพราะมันยังเดินกันคนละทาง
ขอให้รู้จักหน้าที่ หน้าที่ ที่ถูกต้อง ที่จะได้ ทุกหน้าที่ที่ควรจะรู้จัก และทำให้มันพอใจพอใจ พอใจไปทุกหน้าที่ ที่ไหนมีหน้าที่มีการทำหน้าที่ ที่นั้นมีการปฏิบัติธรรมะ ที่ไหนเป็นการปฏิบัติธรรมะ ที่นั้นก็คือการปฏิบัติหน้าที่ และไม่ต้องมาวัดก็ได้ อยู่ที่หน้าที่นั้นแหล่ะไม่ต้องมาวัดก็ได้ ให้มีธรรมะได้โดยไม่ต้องมาวัด ไอ้ที่วัดนี่ถ้าไม่มีการทำหน้าที่ มันก็ไม่มีธรรมะล่ะ ต่อให้ในโบสถ์ ในโบสถ์นี้แหล่ะ เมื่อไม่มีการทำหน้าที่ มีแต่การนั่งสั่นเซียมซี อย่างนี้ มันไม่มีธรรมะหรอกในโบสถ์น่ะ เราจงมีหน้าที่ หน้าที่เป็นธรรมะ มีหน้าที่ ที่ไหน มีธรรมะที่นั่น
จึงเป็นที่แน่นอน นอนใจได้ว่าเรามีโอกาสจะทำหน้าที่ทุกหน ทุกแห่ง ทุกอิริยาบท ทุกเวลา ทุกสถานที่ ถูกต้องแล้วอยู่เหนือปัญหาเหนือความทุกข์ เราจงเป็นผู้นำในเรื่องนี้ สอนในเรื่องนี้ เป็นผู้นำในเรื่องนี้ แล้วลูกเด็กๆ ก็จะทำตาม ลูกเด็กๆเค้ากลายเป็นพลเมืองที่ดีที่ถูกต้องขึ้นมา ประเทศชาตินี้ก็เป็นประเทศชาติที่สงบสุขที่สุด และจะเป็นกันทั้งโลกก็ได้ ถ้าคนทั้งโลกมีธรรมะ มีหน้าที่ แล้วก็ไม่อยากจะเรียกร้องสิทธิอะไรนักด้วย ไอ้คนที่มันมีหน้าที่ มีจิตใจสูง มันไม่ค่อยเรียกร้องสิทธิอะไร ไอ้คนโง่ๆ เท่านั้นมันเรียกร้องแต่สิทธิแล้วมันไม่ทำหน้าที่ มันเรียกร้องมากเกินประมาณด้วยแล้วมันไม่ทำหน้าที่ด้วย นี่เป็นเรื่องของคนโง่ และนั่นน่ะเป็นเรื่องของการทะเลาะวิวาท ที่จะต้องทะเลาะวิวาทกันมันแย่งสิทธิกันโดยไม่มีการทำหน้าที่ คนชนิดนี้จะต้องรักตัวเองยิ่งกว่ารักประเทศชาติ มันเห็นแก่ตัว ถ้าไปเป็นนักการเมืองมันก็รักพรรคการเมืองของมันยิ่งกว่ารักประเทศชาติ ขอให้สังเกตดูให้ดีๆ ถ้ามันมีความเห็นแก่ตัวมันไม่บูชาหน้าที่ ถ้ามันบูชาหน้าที่มันก็ไม่มาทะเลาะกันให้เสียเวลาหรือขัดขวางผู้ที่ทำหน้าที่ พรรคการเมืองดูจะมีหน้าที่คัดค้านรัฐบาลไปซะหมดนะ แล้วรัฐบาลก็ไม่ต้องทำอะไร อย่างนี้มันก็ไม่ไหวหรอก มันก็ไปไม่รอด ไม่มีความเห็นแก่ตัว ซื่อตรงต่อหน้าที่ ปฏิบัติหน้าที่เป็นปฏิบัติธรรมะ โลกนี้ก็หมดปัญหา
เดี๋ยวนี้คนทั้งหลายมันถูกขังอยู่ในคอก อันมืดมิดของอวิชชา คือความเห็นแก่ตัวมาจากอวิชชา เห็นแก่ตัว เห็นแก่ตัว ไม่มีอะไร นอกจากเห็นแก่ตัวมันถูกขังอยู่ในคอกอันนี้ มันก็ทำความสงบสุขอะไรให้แก่ใครไม่ได้แม้แก่ตัวมันเอง นี้เราได้รับภาระอันนี้ พวกที่เรียกว่าครู อ่ะ ครูบาอาจารย์น่ะรับภาระอันนี้ พ่อแม่ก็คลอดออกมาแล้ว หมดหน้าที่แล้วก็ไม่มีปัญญาจะสอนในเรื่องนี้ ก็ยกให้เป็นหน้าที่ของบุคคลประเภทครูบาอาจารย์จะสอนในเรื่องนี้จะนำไปในเรื่องนี้
แต่เราไม่ได้ทำหน้าที่นี้สูงสุดเพียง ทำเพียงว่าสอนให้รู้หนังสือ สอนให้รู้วิชาชีพ ก็จบกัน เป็นมนุษย์กันอย่างไรไม่ได้สอน การศึกษาชนิดนี้ต้องมาตะโกนมาหลายปีแล้วว่ามันเป็นการศึกษาหมาหางด้วนโว๊ย มันเป็นกันทั้งโลกโว๊ย มันสอนแต่หนังสือกับวิชาชีพ มันไม่ได้สอนว่าเป็นมนุษย์กันอย่างไร
การศึกษาที่สมบูรณ์นั่นสอนให้รู้หนังสือเพื่อให้มันฉลาด และสอนวิชาชีพเพื่อให้มันรู้จักทำมาหากิน และให้มันปฏิบัติถูกต้องในความเป็นมนุษย์อย่างไร ให้เป็นความมีความเป็นมนุษย์ที่ถูกต้องและจะอยู่กันจนผาสุข ถ้าไม่สอนเรื่องเป็นมนุษย์กันอย่างไรให้ถูกต้องแล้วมันก็เป็นการศึกษาหมาหางด้วน เค้าเอาไปวิจารณ์กันอยู่เหมือนกันแต่มันจะเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือไม่นี่มันบอกไม่ได้ มันแล้วแต่เหตุการณ์นะ
จึงขอบอกกล่าวกันเป็นพิเศษในที่นี้ในเวลานี้ว่า ขอให้พอใจเถิดมีอาชีพเป็นครูนั้นประเสริฐที่สุดแล้ว เพราะว่ามันเป็นอาชีพที่ได้บุญด้วย ถ้าคุณไปมีอาชีพแบกข้าวสาร ขนอิฐ เป็นกรรมกรนั้นน่ะ มันก็ได้เงินนะแต่มันก็ไม่ได้บุญ ได้บุญด้วย มันได้เงินพอเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ถ้ามีอาชีพเป็นครูเปิดประตูทางวิญญาณ ให้สัตว์ออกมาเสียจากคอกแห่งความโง่ความหลง มีความสงบสุขแล้วมันได้บุญด้วย ขอให้ถือว่าเป็นบุญ เป็นกุศล เป็นโชคดี ที่ว่าเราได้รับอาชีพเป็นครู ได้มีโอกาสมีอาชีพเป็นครู จะได้ปัจจัยเครื่องเลี้ยงชีวิตด้วยและจะได้บุญด้วย อาชีพที่ได้ทั้งเงินเดือนและได้บุญนี้มีไม่กี่อย่างหรอก แต่ครูนี้มีอยู่อย่างเป็นอยู่อย่างด้วยนะ อาชีพที่ว่าได้ปัจจัยเครื่องเลี้ยงชีพด้วยได้บุญด้วย งั้นขอให้พอใจเถิด
ขอให้เตรียมตัวพร้อมที่จะเป็นครูที่ถูกต้องเป็นครูที่เป็นครูโดยจิตโดยวิญญาณโดยแท้จริง จนเรียกว่าอยู่เหนือเศียรเหนือเกล้าของคนทั้งปวง ในความหมายว่าเป็นผู้หนักที่คนทั้งปวงจะต้องเคารพ และจะเป็นผู้นำหน้าในการเดินทางวิญญาณไปสู่ความถูกต้อง ให้มีผลสูงสุดถึงกับว่าให้คนเหล่านั้นออกมาซะจากคอกมืดแห่งความโง่ หรืออวิชชา เป็นอิสระ สมกับที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ มีการกระทำถูกต้องมีชีวิตอิสระ ไม่มีความทุกข์ครอบงำเบียดเบียน
เราจึงได้ชื่อว่าเป็นผู้มีอาชีพของปูชนียบุคคลเหมือนพระพุทธเจ้าเหมือนพระอรหันต์ทั้งหลาย ท่านมีอาชีพเป็นปูชนียบุคคล ที่บุคคลจะต้องเคารพบูชาและก็จะต้องส่งเสริมพิทักษ์รักษาเลี้ยงดูไว้ให้เป็นแสงสว่างของโลก ให้เป็นแสงสว่างของโลกสืบต่อไป
นี่เวลาที่กำหนดให้มันก็หมดแล้ว ก็ขอให้ให้กำหนดจดจำใจความเหล่านี้ไปใคร่ครวญดู ยังไม่เชื่อก็ได้ แต่ขอร้องว่าจะต้องเอาไปใคร่ครวญดู ที่มันจะให้เกิดผลดีที่สุดอย่างไร เห็นด้วยในส่วนใดก็ขอให้พยายามปฏิบัติในส่วนนั้นให้เกิดความเป็นครูที่ถูกต้องแท้จริงขึ้นมาในเนื้อในตัว มีค่าอยู่สูงสุดเป็นปูชนียบุคคล สังกัดขึ้นกับพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นยอดสุดของความเป็นครูดังกล่าวแล้ว
นี่การบรรยายนี้ก็สรุปได้ว่า เป็นครูคือผู้นำทางวิญญาณเปิดประตูทางวิญญาณ สอนให้ทุกคนรู้จักสิ่งสูงสุดคือหน้าที่ หน้าที่ หน้าที่เป็นสิ่งสูงสุดที่แม้แต่พระพุทธเจ้าก็เคารพ เคารพหน้าที่ หน้าที่นั้นแหล่ะคือสิ่งที่จะช่วย ถ้าไม่ทำหน้าที่มันไม่มีใครช่วยได้ ให้พระเจ้ามาสักฝูงก็ช่วยไม่ได้ ถ้าทำหน้าที่และหน้าที่ก็กลายเป็นพระเจ้าช่วยกันเอง ช่วยมาเองช่วยขึ้นมาเอง
ขอให้ครูทั้งหลายเป็นที่พึ่งในทางแสงสว่างทางวิญญาณของเพื่อนมนุษย์ ให้สำเร็จประโยชน์สมตามภพตามมุ่งหมายทุกๆประการเทอญ ขอยุติการบรรยาย
(นาทีที่ 51.07 ลงมาจะเป็นการถามตอบค่ะ).....
(คำถามข้อแรก)
(เสียงโยมคนที่1) ความสันโดษ คือพยายามที่จะเอาตัวรอดคนเดียวอะไรทำนองนี้ ไม่ทราบว่าธรรมะอันนี้ น่ะ... ขอให้ความกรุณาหลวงพ่อ….ให้.
(เสียงท่านพุทธทาส) นี้มันเป็นปัญหาเกี่ยวกับการตีความหมาย ของคำที่เขามีอยู่เดิม เรามาตีความหมายผิด มันก็เกิดปัญหาขึ้นมาทันที ไม่เฉพาะแต่ว่าคำว่า สันโดษ ยังมีคำอีกเป็นอันมาก คำว่าสันโดษ ไม่ ไม่ ไม่ ไม่มีอันตราย ถ้าตีความถูก คือมันยินดีเท่าที่ทำได้แล้ว สำหรับเป็นเครื่องจูงใจให้ทำต่อไป ถ้าไม่รู้จักพอใจไอ้ที่ทำได้แล้วเสียเลย มันก็ไม่อยากจะทำต่อไป คือมันไม่อาจจะทำต่อไป ยินดีเท่าที่ทำขึ้นมาได้แล้ว ไม่ใช่เพื่อหยุดเพื่อเลิก แต่เพื่อเอาเป็นเครื่องบอกว่า ถูกแล้วและควรทำต่อไป เช่นว่า ทำนา ขุดดิน สองสามครั้ง ก็พอใจว่าเอ่อมันก็ได้มาสองสามครั้งมันสำเร็จครั้งนี้มันมีทางทำได้แล้วก็จะขุดต่อไปอีกกี่หมื่นกี่พันครั้ง ด้วยกำลังความพอใจในสิ่งที่ได้ทำไปแล้วทุกขั้นตอน ทุกขั้นตอน
ฉะนั้นสันโดษ จึงเป็นเรื่องที่ไม่ถ่วงความเจริญ ไม่ชะงัก ไม่ทำให้ชะงักการงานเหมือนที่เข้าใจกันอยู่โดยมาก เพราะเอาของท่านมาอธิบายผิด พออธิบายของท่านถูก สันโดษก็เป็นกำลัง กำลัง สนับสนุนเรื่อยไปทุกขั้นตอนทุกขั้นตอน จึงมีคำกล่าวว่าเป็นทรัพย์อย่างยิ่ง ถ้าพอใจยินดี มันก็ยินดีก็พอใจ ถ้าไม่รู้จักพอใจยินดีซะเลยมันก็เท่ากับไม่มีอะไรเลย มีเงินสักร้อยล้านแต่ถ้าไม่พอใจไม่ยินดี มันก็เหมือนกับไม่มีน่ะ นั้นการพอใจการยินดีนี้ทำให้มีความสุข แล้วก็ทำให้ ทำต่อไป ทำต่อไป หรือควรจะทำอย่างไรก็ตามใจ ไม่เป็นข้าศึกแก่ความเจริญ
ไอ้คำที่ร้าย ที่เข้าใจยากน่ะ ว่าความไม่ยึดมั่นถือมั่น อันนั้นเข้าใจยาก ยิ่งขึ้นไปอีก มักจะเข้าใจกัน ถ้าไม่มีตัวตนแล้วก็ไม่ทำอะไรอีกเหมือนกัน ก็ไม่ทำ ไม่มีตัวตนเพื่อไม่เห็นแก่ตน เพื่อเห็นแก่ความถูกต้อง ถ้าไม่เห็นแก่ตน มันก็ต้องเห็นแก่ธรรมะแหล่ะ ถ้าเห็นแก่ธรรมะ ก็ไม่เห็นแก่ตน เห็นแก่ความถูกต้องอย่าเห็นแก่ตนเลย นี่เรื่องความไม่มีตัวตนนั้นมันละเอียด มันมากยิ่งขึ้นไปอีก มันเป็นธรรมชาติของมันเช่นนั้นเองที่มันจะต้องรู้สึกว่ามีตัวตน แล้วมันก็เห็นแก่ตนและก็ทำความผิดพลาด เมื่อเห็นแก่ตนอยู่เฉยๆ มันก็หนักอกหนักใจเหมือนกับแบกก้อนหินอยู่นั่นแหล่ะ
คำเหล่านี้มีมากนัก ที่ว่าตีความผิด และมันก็เกิดเป็นปัญหาขึ้นมา ช่วยตีความเสียใหม่ คิดดูเสียใหม่ให้มันเข้ารูปเข้ารอย
(เสียงโยมคนที่1) อย่างนั้นคงจะหมายความว่า ให้พอใจในสิ่งที่ตัวเองสามารถจะมีได้พอได้
(เสียงท่านพุทธทาส) พิสูจน์ได้ว่าได้ทำถูกต้องแล้วเท่าไร มันพิสูจน์ได้ว่ามันได้ทำมาถูกต้องแล้วเท่าไร แล้วก็มันแน่นอนที่ว่าควรจะทำต่อไป ก็เท่าที่ทำมาได้แล้วมันพิสูจน์ได้ว่าถูกต้องแล้ว เป็นจุดพิสูจน์ความมีประโยชน์เท่าที่ทำได้แล้ว
(คำถามของโยมคนที่สอง)
(เสียงโยมผู้หญิง) หนูกราบเรียนถามท่านว่า จุดเด่นของพุทธประวัติอยู่ที่ไหนคะ
(เสียงท่านพุทธทาส) ว่าไงนะ
(เสียงโยมผู้หญิง) พุทธประวัติค่ะ
(เสียงท่านพุทธทาส) พุทธ พุทธประวัติ (เสียงท่านหัวเราะเบาๆ) จุดเด่นพุทธประวัติ
(เสียงโยมผู้หญิง) อยู่ในช่วงไหนคะ
(เสียงท่านพุทธทาส) (เสียงท่านหัวเราะเบาๆ) นี้มันมันอธิบายได้หลายอย่าง แล้วแต่จะเล็งถึงพระพุทธเจ้าชนิดไหน ประวัติชนิดไหน แต่ถ้าเอาอย่างธรรมดาสามัญ ก็ตามพูดกันตามธรรมดา จุดเด่นที่สุดของพระพุทธประวัติก็คือ ตรัสรู้ ตรัสรู้ พุทธะแปลว่ารู้ รู้ถึงที่สุดจนสามารถสอนผู้อื่นได้ จุดเด่นอยู่ที่การตรัสรู้
(เสียงโยมผู้หญิง) แล้วท่านมีความคิดเห็นยังไงที่เห็นพระดูโทรทัศน์
(เสียงท่านพุทธทาส) อะไรนะ
(เสียงโยมผู้หญิง) เคยเห็นพระแถวบ้านนะคะ วัดแถวบ้านมีโทรทัศน์ดู มีวีดีโอดู ท่านมีความคิดเห็นยังไงกับพระพวกนี้คะ
(เสียงท่านพุทธทาส) ถามว่ายังไงนะ หา ว่าอย่างไร
(เสียงโยมผู้ชาย) เกี่ยวกับพระ เกี่ยวกับพระชมทีวี หรือชมหนัง ชมละครอะไร รายการอะไร รายการต่างๆทางโลกไม่ทราบว่า เหมาะสมหรือไม่มากน้อยแค่ไหน
(เสียงท่านพุทธทาส) (เสียงท่านหัวเราะเบาๆ) นี่มันก็เหมือนกันแหล่ะ มันก็แล้วแต่ข้อเท็จจริง ท่านดูมันเพื่ออะไร ดูเพื่ออะไร มันมันหลายอย่างด้วยกัน ดูเพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลินมัวเมา หรือว่าดูเพื่อการศึกษา แล้วก็คำนวณดูว่าคุณและโทษมันเป็นอย่างไร มันควรดูหรือไม่ควรดู นี่ก็ไปรู้เอาเอง เอาเวลาไปทำอย่างอื่นจะดีกว่ามั๊ย มันเป็นเรื่องส่วนตัวบุคคลที่เราบังคับเขาไม่ได้ เราก็ดูส่วนเราดู ดู ดูตัวเราเองดีกว่า ว่าเราควรจะดูหรือไม่ควรจะดู ควรจะดูมากดูน้อยเท่าไร ดูให้เป็นประโยชน์อย่างไร อย่า อย่าไปถึงกับว่าจะไปควบคุมพระเลย มันเกินหน้าที่ เกินหน้าที่
(เสียงโยมผู้หญิง) คือไม่ไม่หมายความว่าผิดพระวินัย พระวินัยอะไรใช่มั๊ยคะ
(เสียงท่านพุทธทาส) อ๋อ มันมีอยู่ชัดๆแล้ว วินัยก็มีอยู่แล้ว ไม่ต้องเพิ่มเติมอะไรกันอีก ดูการเล่นเพื่อความสนุกสนาน ส่งเสริมความรู้สึกกิเลสนั้นก็เรียกว่าไม่ควรทั้งนั้นแหล่ะ ไม่ใช่แต่เฉพาะโทรทัศน์หรืออะไร
(คำถามของโยมคนที่สาม)
(เสียงโยมผู้ชาย 3) กราบนมัสการเรียนถามหลวงพ่อ สวรรค์และนรกในความหมายของสมเด็จพระพุทธเจ้าเนี่ยน่ะครับ หมายถึง หมายถึงอะไรครับ
(เสียงท่านพุทธทาส) นรก สวรรค์ ชนิดที่เขาพูด เขาสอน เขาถือกันอยู่ ก่อนพระพุทธเจ้า เกิดขึ้นในอินเดียก็มีอยู่แล้ว ก่อนพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นมาในอินเดียก็มีสอนก็มีพูดเรื่องนรกสวรรค์กันอยู่แล้ว สวรรค์บนฟ้า นรกใต้ดินนี่ เขาสอนกันอยู่ก่อนพระพุทธเจ้าเกิด ก็สอนกันอยู่ตามแบบนั้น พระพุทธเจ้าท่านเกิดขึ้นมาในหมู่คนที่เชื่ออย่างนี้แล้วนะ และก็ท่านทำตามแบบของท่าน
ขอสรุปความสั้นๆว่า พระพุทธเจ้านั้น ท่านเป็นสุภาพบุรุษชั้นเลิศน่ะ คือไม่ขัดแย้ง ไอ้พวกเราเนี่ย พวกเราโง่ๆ เนี่ย ชอบขัดแย้ง ไม่เป็นสุภาพบุรุษ แต่พระพุทธเจ้าแท้ๆ ท่านจะไม่ทำการขัดแย้ง จะไม่เป็นการขัดแย้งว่าผิด ผิด เลิก เลิก ท่านกลับว่าเอาสิ ถ้ามันมันเชื่ออยู่อย่างนั้น จะได้สวรรค์แต่ว่าปฏิบัติดีๆ อย่างนี้ ถ้ากลัวนรกก็อย่าทำอย่างนี้อย่างนี้
แต่ว่าอีกชนิดหนึ่ง ฉันเห็นแล้ว มยาทิฎฺฐา .ฉันเห็นแล้ว สวรรค์คือการกระทำที่ถูกต้อง ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นรก คือการทำผิด พลาด ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สองอย่างนี้ฉันเห็นแล้ว พูดแต่ว่าฉันเห็นแล้ว ยังไม่บอกจะมอบให้แก่ด้วยซ้ำไป ขอให้ไปคิดดูสิ พอทำผิด ผิดเรื่องต่างๆที่เข้ามาทางตาหูจมูกลิ้นกายใจเราก็เป็นนรกร้อนอยู่ที่ตาหูจมูกลิ้นกายใจ พอทำถูกต้องมันก็เย็นอยู่ที่ตาหูจมูกลิ้นกายใจ ท่านเพียงแต่เสนอว่าฉันมีอย่างนี้ และไม่ขัดแย้งกับแก แกก็ถือไปสิ ทำแบบนั้นก็ได้ แต่อย่าลืมว่าถ้าต้องการสวรรค์ต้องปฏิบัติอย่างนี้อย่างนี้นะ ถ้ากลัวนรกแล้วก็อย่าทำอย่างนั้นอย่างนั้นนะ
นี่ นี่ก็นรกสวรรค์แบบที่เค้ามีอยู่ก่อนพระพุทธเจ้า นรกสวรรค์แบบที่พระพุทธเจ้าสอนขึ้นมาใหม่ อยู่ที่ตาหูจมูกลิ้นกายใจเมื่อไรเมื่อนั้น ไม่ต้องรอ ต่อตายแล้ว แบบเก่านั้นต้องรอ ต่อตายแล้ว แล้วอยู่ที่บนฟ้าไหนก็ไม่รู้ ใต้บาดาลไหนก็ไม่รู้ เห็นไม่ได้น่ะ ส่วนนรกสวรรค์นี่ เห็นได้รู้สึกได้ แม้แต่แถมควบคุมได้ซะด้วยน่ะ นี่ดีมาก ควบคุมได้ซะด้วย
(เสียงโยมผู้ชาย3) ที่ว่าสวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ....
(เสียงท่านพุทธทาส) นี่น่ะ ปู่ย่าตายายของเราฉลาด ปู่ย่าตายายของเราฉลาด เข้าใจคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าถูกต้องจึงพูดออกมาอีกแบบนึงว่า สวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ ก็แบบเดียวกับของพระพุทธเจ้าที่อยู่ที่ว่าทำผิดหรือทำถูกต่อตาหูจมูกลิ้นกายใจ มันก็ปรากฎที่ใจ จะพูดว่ามันอยู่ที่ใจทั้งนรกทั้งสวรรค์ที่ทำผิดหรือทำถูก นี่ก็แบบหนึ่งเป็นแบบที่สามว่า อยู่ที่ตาหู อยู่ที่ในอก ในใจ แบบโบราณโน้นก็อยู่โน่น อยู่บนฟ้าอยู่ใต้ดินนั่น พระพุทธเจ้าว่าอยู่ที่ตาหูจมูกลิ้นกายใจ นี่มาอีกแบบนึงสรุปสั้นที่สุด อยู่ที่อกที่ใจ
แสดงว่าคนไทยปู่ย่าตายายของเราไม่โง่ ฉลาดที่สุด ถือเอาความหมายนี้ได้ดี งั้นคุณจะเอานรกสวรรค์แบบไหนก็เอาได้ทั้งนั้นแหล่ะ อย่าทำผิดจะเป็นนรก ทำให้ถูกต้องจะเป็นสวรรค์
(เสียงโยมผู้ชาย) กราบนมัสการเรียนถามต่อนะครับว่า หลังจากที่เราตายไปแล้ว สังขารแตกดับนี่นะครับ เอ่อที่เชื่อกันว่าจะเกิดเป็นสัตว์เป็นมนุษย์อย่างเดิม หรือว่าไปเป็นอะไรต่ออะไรเนี่ยไม่ทราบว่าจริงแค่ไหนครับ
(เสียงท่านพุทธทาส) ไม่ต้องพูดถึงสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ หรือยังไม่มีปัญหา ยังมาไม่ถึง จงจัดแจงสิ่งที่มีอยู่ต่อหน้าเดี๋ยวนี้ให้ถูกต้องก่อนเถิด แล้วไม่ต้องสงสัย ทำที่นี่ให้ถูกต้องให้หมดเถอะ ตายแล้วก็ดีแน่ ถ้าจะเกิดใหม่อีกอย่าให้ทำผิดมันจะเดือดร้อนแน่ เออ,ต้องเกิดมาอีก แต่ถ้าว่าทำถูกต้องถึงที่สุดที่นี่เดี๋ยวนี้แล้ว มันจะถูกต้องไปจนไปถึงคำว่าไม่มีตัวตน ไม่มีตัวตน มีแต่จิตใจร่างกายที่ทำถูกหรือทำผิด ทำผิดก็เดือดร้อน ทำถูกก็ไม่เดือดร้อน ไม่มีตัวตน อย่างนี้น่ะมันไกลไป จะฟังไม่ถูกก็ได้ว่า แม้เดี๋ยวนี้ก็ไม่ได้มีเราอยู่ ไม่ได้มีตัวเราเป็นตัวตนอยู่ มีแต่ร่างกายจิตใจมียึดติดไปตามเรื่อง ตามเหตุตามปัจจัยของมัน แม้จะพูดตัดบทก็พูดว่า ทำที่นี่ให้ถูกต้องก่อนเถิด อย่าเพ่อพูดถึงเรื่องจะตายแล้วเลย เรื่องหลังจากตายแล้วมันขึ้นอยู่กับเรื่องที่นี่และเดี๋ยวนี้ จงทำเรื่องที่นี่และเดี๋ยวนี้ให้ถูกต้องเถอะ ตายแล้วก็จะถูกต้องเอง หรือจะไม่มีปัญหาเหลืออยู่ด้วยซ้ำไป คือไม่มีตัวตนสำหรับเหลืออยู่ เป็นการดับเสียแห่งตัวตน จะเป็นเรื่องละเอียดจะต้องศึกษาอีกมาก ที่จะไม่มีความรู้สึกเป็นตัวตนดับเสียซึ่งตัวตน มันจะเป็นพระอรหันต์ เรื่องที่จะเป็นพระอรหันต์ ไม่เกิด ไม่ตาย ไม่ไปไหนไม่มาไหน ไม่อยู่ที่ไหน มีแต่จิตใจที่เป็นอิสระ ไม่มีความทุกข์จนกว่าจะหมดเหตุหมดปัจจัยดับไปกับร่างกาย ก็ดับทุกข์ที่นี่ให้ได้เสียก่อนเถิด อย่าไปมัววิตกกังวัลเรื่องข้างหน้าเลย เวลามันไม่พอ ดับทุกข์ที่นี่เดี๋ยวนี้ชาตินี้ให้ได้ก่อน
(เสียงโยมคนที่4) ผมขอกราบเรียนถามปัญหานะครับ ขณะนี้สังคมของประเทศเรากำลังเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ นะครับ ความเจริญเข้ามาทางด้านวัตถุมาก ทางด้านจิตใจลดน้อยลง ในฐานะที่พระคุณเจ้าก็มีส่วนรับผิดชอบกับสังคมทางด้านนี้อยู่ด้วย อยากจะทราบแนวคิดและแนวทางแก้ปัญหาที่พระคุณเจ้ามี
(เสียงท่านพุทธทาส) รับผิดชอบตามธรรมชาติ พยายามสอนให้เกิดความเข้าใจถูกต้อง และตัดต้นเหตุแห่งความเลวร้ายนั้นเสีย คือความไม่เห็นแก่ตน ทุกวันทุกวันจะไม่พูดเรื่องอะไร นอกจากเรื่องทำลายความเห็นแก่ตน ทำลายความเห็นแก่ตน จะเป็นราษฎรก็ไม่เห็นแก่ตน มันก็จะเลือกผู้แทนที่ดีๆ ขึ้นไป ผู้แทนไม่เห็นแก่ตนมันก็จะเลือกรัฐบาลที่ดีๆขึ้นไป รัฐบาลไม่เห็นแก่ตนก็จะปฏิบัติหน้าที่บริสุทธิ์ บริบูรณ์ ถูกต้อง
เราเผยแผ่ความรู้เรื่องความไม่เห็นแก่ตน ทำหน้าที่ของตนโดยบริสุทธิ์ถูกต้องถูกต้องพอใจและเป็นสุขอยู่ตลอดเวลา ความเลวร้ายเหล่านั้นเกิดมาจากความเห็นแก่ตน ช่วยกันสอนสิครูบาอาจารย์ทั้งหลาย ช่วยกันสอนมุ่งหมายไปในทางทำลายความเห็นแก่ตน ให้ลูกเด็กๆ เขาเข้าใจเรื่องนี้แล้วเขาจะได้ลดเขาจะได้เลิก เขาจะเห็นแก่ความถูกต้องไม่เห็นแก่กิเลสของตน
(เสียงโยมคนที่4) กิเลสแบบนี้มันค่อนข้างจะเป็นนามธรรมเหลือเกิน ถ้าหากเราสอนนักเรียนประถมเด็กเล็กๆ หรือมัธยมที่ไม่ค่อยจะนั่น หลวงพ่อจะคิดว่ามันควรจะ...
(เสียงท่านพุทธทาส) มันก็มีระดับนะ ระดับเด็กก็สอนแต่ความเห็นแก่ตนที่ทำให้เราต้องทะเลาะวิวาทกัน ที่ทำให้เราหนักอกหนักใจนอนไม่หลับ แต่ว่าถ้าเด็กเกินไปมันไม่เข้าใจ ก็สอนเขยิบมาถึงว่า จะมีตัวตนที่ดี มีตัวตนที่ดีไว้ก่อน ถ้ามีตัวตนขอให้มีตัวตนที่ดีไว้ก่อน ที่ไม่เป็นอันตราย เป็นบุตรที่ดี เป็นศิษย์ที่ดี เป็นเพื่อนที่ดี เป็นพลเมืองที่ดี เป็นสาวกที่ดี เป็นมนุษย์ที่ดีเสียก่อน ก็สำหรับเด็กๆ
ทีนี้ถ้าเขาจะดี ดี ดีขึ้นไป เขาจะยิ่ง ยิ่งละความเห็นแก่ตน เพราะความเห็นแก่ตนมันไม่ดี พอเด็กๆ เขายึดถือความดีก็เอาให้ดีให้ถูกต้อง อย่าให้ดีจนบ้า จนหลงกัน ถ้าบ้าดีมันก็ได้ชกต่อยกัน ถ้าถูกต้องถูกต้องมันค่อยยังชั่ว เด็กๆ ก็สอนให้รู้พระคุณของพ่อแม่ และก็ไม่อยากจะให้พ่อแม่เดือดร้อนใจ มันก็ มันก็ทำชั่วไม่ได้ ก็ทำผิดไม่ได้ เป็นลูกเกิดมาเพื่อทำให้พ่อแม่สบายใจ ถ้าอย่างนั้นไม่ใช่ลูก เด็กๆก็จะระวังแต่จะทำให้พ่อแม่สบายใจ
(เสียงโยมคนที่5) อยากจะขอความกระจ่างจากพระคุณเจ้านะครับ เกี่ยวกับภาวะของนิพพาน และก็ปุถุชนธรรมดานี่จะสามารถสัมผัสกับสภาวะของนิพพานได้หรือไม่ แล้วหลังจากสมัยของพระสมณโคดมแล้วมีผู้ใดบ้างที่เรียกได้ว่าบรรลุถึงนิพพานครับ
(เสียงท่านพุทธทาส) ไอ้เรื่องนี้ก็เหมือนกันน่ะ เป็นคำพูดที่เราตีความ หรือเข้าใจความไม่ถูกต้อง คำว่านิพพาน นิพพานนั้นน่ะ มันแปลว่าเย็น ไม่ได้แปลว่าตาย ในโรงเรียนมักจะสอนเด็กๆ ว่านิพพานแปลว่าตายของพระอรหันต์ และตายของพระเจ้าแผ่นดินเรียกอย่าง และตายของใครเรียกอย่าง มีหลายคำที่เกี่ยวกับตายตาย นิพพานคือความตายของพระอรหันต์ อย่างนี้มันผิดยิ่งกว่าผิด ผิดเหลือที่จะผิดนะ คำว่านิพพานมันไม่ได้แปลว่าตาย ถ้าจะให้แปลว่าตายมันก็ต้องแปลว่า ตายแห่งความร้อน คือความเย็น ตายไปแห่งความร้อนคือความเย็น ร่างกายไม่ต้องตายก็ได้
นั้นเมื่อกิเลสคือความร้อนไม่เกิดขึ้น มันก็มีนิพพานอยู่ตามธรรมชาติ จนกว่าเมื่อกิเลสจะเกิดขึ้นมันก็จะมีความร้อนเกิดขึ้นมา มันก็สูญเสียนิพพานไปพักนึง นั้นนิพพานก็มีอยู่เป็นขณะขณะ ในชั่วเวลาที่ความร้อนไม่เกิดคือกิเลสไม่เกิด แต่เราไม่สนใจ แต่มันก็น้อยมากเหมือนกัน เพราะว่ามันมักจะเกิดกิเลสเสียเรื่อย อย่างน้อยก็วิตกกังวลหวาดกลัว เมื่อใดไม่มีกิเลสโดยประการใดเลย จิตใจเย็น นั่นน่ะคือนิพพาน ธรรมดาก็ว่าเป็นของที่ชั่วคราว คือว่าเปลี่ยนแปลงได้ ความเย็นนี้จึงขึ้นลงขึ้นลง เกิดเกิด ดับดับ แล้วก็นิพพานชั่วสมัยมีกันทุกคน แต่คนไม่สนใจจะรู้จะเห็น สนใจแต่จะเอร็ดอร่อยสนุกสนาน ไม่สนใจเมื่อมันเย็น มันเงียบ มันสงบ มันอิสระ นี่ไม่สนใจ เลยไม่เข้าใจเรื่องนิพพาน
แล้วที่จริงเมื่อไรถ้ากิเลสไม่เกิดก็เป็นนิพพาน นิพพานตามส่วน มากหรือน้อย อย่างมาอยู่ในโลกมันก็เย็นอกเย็นใจอย่างโลกๆ ก็เป็นนิพพานอย่างโลกๆ นิพพานน้อยๆ แต่ถ้าหมดกิเลสโดยสิ้นเชิงเป็นพระอรหันต์นั่นก็เย็นตลอดไป นั่นคือนิพพานเต็มความหมาย เดี๋ยวนี้เอานิพพานที่ว่าตัวอย่าง นิพพานชั่วขณะนี้กันไปก่อน ระวังอย่าให้กิเลสมันเกิดขึ้น ตลอดเวลาที่กิเลสไม่เกิดขึ้นก็มีความเย็น คือนิพพานอย่างนี้ อย่างนี้ อย่างในโลกนี้ไปก่อน
ที่ไปรับศีล พิธีรับศีลก็จะมีคำว่า พระจะให้ศีลแล้วจะบอกอานิสงส์ว่า สีเลนะ นิพพุติง ยันติ ถึงนิพพุติ ได้ ก็ศีล นิพพุติ ในที่นี้ก็คือนิพพานในความหมายนี้ ในความหมายที่อยู่ในโลกนี้คือเย็นอกเย็นใจ ว่างั้นเถอะ ไม่มีอะไรร้อน ได้เพราะศีล เอาอย่างนั้นกันไปก่อน อย่าให้เสียเปล่า นิพพานตัวอย่าง นิพพานน้อยๆ นิพพานชั่วขณะกันไปก่อน และก็อย่าให้มันออกไปเต็มสมบูรณ์ และก็ไม่กลับเป็นร้อนอีก นิพพานอย่างชนิดนี้มันก็ชั่วคราว นิพพานแล้วไม่นิพพาน เป็นนิพพานอย่างวิสัยโลก ชาวโลกเย็นอกเย็นใจอย่างโลก ถ้าหมดกิเลสสิ้นเชิง เย็นอกเย็นใจอย่างโลกุตตระ ไม่กลับมาอีก
(เสียงท่านพุทธทาส พูดทั่วไป) (นาทีที่ 1.12.51) ร่ม เข้าไปที่ร่ม ไม่ดีกว่าหรือ นั่นถอยไปที่ร่ม
(คำถามของโยม)
(เสียงโยมคนที่5) อีกประเด็นหนึ่งนะครับ คือพระพุทธรูปหรือว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พระเครื่องที่เราแขวนคอนะครับ สิ่งนั้นๆ ศักดิ์สิทธิ์ด้วยตนเองหรือว่า ความศักดิ์สิทธิ์นั้นอยู่ที่ผู้ถือ การกระทำของผู้ยึดถือครับ
(เสียงท่านพุทธทาส) ปัญหาว่าอย่างไรนะ ยังฟังไม่ถนัด พูดชัดๆ
(เสียงโยมคนที่5) พระพุทธรูปที่เรากราบไหว้ แล้วก็พระเครื่องอะไรที่เราแขวนคอนะครับ สิ่งนั้นๆมีบางคนเชื่อว่าคงจะศักดิ์สิทธิ์ด้วยตนเอง จริงๆนั้นศักดิ์สิทธิ์ด้วยตนเองจริงหรือเปล่า หรือว่าศักดิ์สิทธิ์เพราะจิตใจของผู้ที่นับถือเองครับ
(เสียงท่านพุทธทาส) (เสียงท่านหัวเราะเบาๆ) เป็นปัญหากับความศักดิ์สิทธิ์ มีปัญหาเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ ไอ้คำว่าศักดิ์สิทธิ์ ศักดิ์สิทธิ์มันก็ดิ้นได้ ศักดิ์สิทธิ์เพราะเชื่อ ศักดิ์สิทธิ์เพราะเชื่อ เอา มันก็ศักดิ์สิทธิ์ไปแบบหนึ่ง ถ้าศักดิ์สิทธิ์เพราะมันดับทุกข์ได้จริง มันก็ศักดิ์สิทธิ์ไปอีกแบบนึง แล้วก็ยังมีปัญหาว่าเอาพระมาแขวนคอน่ะ แขวนทำอะไร ด้วยความประสงค์อะไร มันมีหลายแบบ ถ้าเอามาแขวนคอให้ช่วย ให้ช่วย นี่ก็เป็นไสยศาสตร์ ไม่ใช่พุทธศาสตร์ แต่ถ้าแขวนกันลืมพระพุทธเจ้านั่นก็เป็นพระพุทธศาสตร์ ถ้าแขวนให้ช่วยอย่างผี เทวดาศักดิ์สิทธิ์ นั่นก็เป็นไสยศาสตร์ไม่เคยมีในครั้งพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้สอนอย่างนั้น และมันก็จำมัน ก็จำเป็นที่ว่าในสมัยพระพุทธเจ้ามันก็ไม่มีพระพุทธรูป ไม่มีพระเครื่อง นี่มันเพิ่งเกิดปัญหาทีหลังเมื่อมีพระพุทธรูปหรือมีพระเครื่องแล้ว ปัญหามันก็เหลืออยู่แต่เอามาแขวนทำไม ด้วยเหตุผลอะไร ได้รับคำชี้แจงสั่งสอนมาให้ถือว่าอย่างไร ถ้าว่าดับทุกข์ได้จริงก็ศักดิ์สิทธิ์ ถ้าว่าดับทุกข์ไม่ได้มันก็ศักดิ์สิทธิ์ด้วยสักว่าเชื่อ เชื่อ เชื่อว่ามันศักดิ์สิทธิ์ มันคนละศักดิ์สิทธิ์กัน
จะให้จริงสำเร็จประโยชน์จริงก็แขวนกันลืมพระพุทธเจ้า และปฏิบัติคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า และมันดับทุกข์ได้ อย่างนี้เรียกว่าศักดิ์สิทธิ์จริง ศักดิ์สิทธิ์จริง ไม่ใช่ศักดิ์สิทธิ์เหมาๆ เอา เหมือนที่ทำกันโดยมาก
จงแขวนพระพุทธรูปเพื่อกันลืมพระพุทธเจ้า หรือให้เป็นสัญลักษณ์ของพระธรรมก็ยิ่งดี กันลืมพระธรรม แต่ถ้ามันเป็นศักดิ์สิทธิ์เหมือนมีอะไรสิงศักดิ์สิทธิ์คอยคุ้มครองป้องกันอย่างนั้นไม่ใช่พุทธศาสนา แต่ว่าเป็นไสยศาสตร์ มีคนไปตามแบบไสยศาสตร์ ไม่อยากจะพูด มีคนไปตามแบบของไสยศาสตร์ เหมือนเอาพวกโจรพวกขโมยเข้าไปแขวนเต็มคอก็มี แล้วมันก็มันจะช่วยอะไรได้ก็ดู บางทีมันก็นอนตายอยู่ พระเครื่องเต็มคอนั่นก็มี มันจะศักดิ์สิทธิ์ได้อย่างไร ไงก็ดูเอาเอง
ศักดิ์สิทธิ์นั้นแท้จริงอยู่ที่ดับทุกข์ได้ ดับทุกข์ได้คือศักดิ์สิทธิ์แท้จริง ถ้าใครแขวนอยู่ก็ตั้งใจเสียใหม่ แขวนเพื่อระลึกถึงพระพุทธเจ้า กันลืมพระพุทธเจ้าว่าเรานับถือพระพุทธเจ้าเราจะปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระองค์ และการปฏิบัติถูกต้องตามคำสั่งสอนของพระองค์นั้นจะคุ้มครองเรา หรืออย่างน้อยก็ถ้าเกิดเรื่องอะไรขึ้นมาให้เราระลึกถึงพระพุทธเจ้าได้ทันที ถ้ามันเกิดเรื่องอะไรขึ้นมาน่ะ มันแขวนอยู่ที่คอ ให้ระลึกถึงพระพุทธเจ้าทันทีว่าเรื่องเกิดขึ้นอย่างนี้เราควรจะทำอย่างไร ถ้าเราคิดจะฆ่าตัวตายอย่างนี้ พระเครื่องแขวนอยู่ที่คอ ก็ทำเหมือนอย่างว่าถามพระพุทธเจ้าดูว่าควรทำอย่างไร ควรจะฆ่าตัวตายมั๊ย อย่างนี้ก็ยังดี กันลืมพระพุทธเจ้า
(คำถามของโยม)
(เสียงโยมคนที่6) ครับ ขอกราบนมัสการเรียนถามพระคุณเจ้านะครับ หน้าที่มนุษย์พื้นฐานที่พระคุณเจ้าโปรดบอกมานั้น มีทั้งหมดหกประการ ถ้าหากว่าเราจะตัดไปซักประการหนึ่งในทางด้านความรับผิดชอบในทางลูกเมียออกไปเนี่ย จะทำให้มนุษย์เรานี่รับผิดชอบในห้าด้านมากขึ้นนี่ ไม่ทราบว่าในความคิดนี้จะถูกต้องหรือไม่ครับ
(เสียงท่านพุทธทาส) มันจะเป็นไปได้เหรอ คุณมีลูกมีเมียแล้ว จะไม่รับผิดชอบเรื่องลูกเรื่องเมีย มันเป็นไปได้เหรอ มันตัดออกไปได้เหรอ
(เสียงโยมคนที่6) เอ่อ ถ้าเราไม่มีลูกไม่มีเมียนี่ฮะ
(เสียงท่านพุทธทาส) มันก็ตกลงไม่มีหน้าที่ไงล่ะ มันไม่มีหน้าที่ ไปทำให้เต็มที่อย่างอื่นให้เต็มที่ แต่เดี๋ยวนี้มันหมายถึงคนธรรมดาสามัญมันก็มี มีโดยตรงหรือมีโดยอ้อมที่ต้องรับผิดชอบ แล้วก็ต้องรับผิดชอบ
นี่พระพุทธเจ้าตรัสเรื่องนี้ไว้ในฐานะเป็นกลางๆทั่วไป มีบุตรภรรยา มีบิดามารดา มีเพื่อน มีอาจารย์ มีคนอยู่เหนือ มีคนอยู่ใต้ หกอย่าง หกทิศทาง ทำให้ถูกต้องทั้งหกทิศทาง
(เสียงโยมถามเพิ่ม) (นาทีที่ 1.19.20) ไม่ได้ยินคำถาม....
(เสียงท่านพุทธทาส) ถ้าไม่มีได้ก็ดี แต่ท่านก็ไม่ได้สอนว่า จงไม่มี หรือไม่ต้องมีนะ ไม่ได้สอนหรอกนะ
(เสียงโยมคนที่7) กระผม ใคร่นมัสการกราบเรียนพระคุณเจ้านะครับ ได้โปรดให้ความกระจ่างในเรื่องบางเรื่องนะครับ ขอท้าวความซักนิดนึง เมื่อวานนี้กระผมและคณะได้เข้าไปเยี่ยมชมวัดแห่งหนึ่งนะครับ และเข้าไปได้ปรากฎว่าได้พบป้าย ป้ายหนึ่ง ภายในป้ายนั้นน่ะได้เขียนเอาไว้ว่า บุคคลที่ไม่ไหว้พระ ไม่สมควรที่จะเข้าวัด มิทราบพระคุณท่านมีความคิดเห็นยังไงที่เกี่ยวกับแนวความคิดและการปฏิบัติในเรื่องนี้ครับ
(เสียงท่านพุทธทาส) นี้มัน มันเป็นเรื่องพิเศษ เป็นเรื่องส่วนบุคคลบางแห่งบางถิ่นเขาแล้ว บางทีเขาจะโมโหอะไรอยู่เค้าเขียนออกมาอย่างนั้น ไม่ไหว้พระไม่ควรเข้ามาในวัด มัน มันจะกลายเป็นว่า ของผู้ที่เขาไม่มีอะไรดี พอที่จะให้เขาไหว้ มันไม่มีอะไรดีพอที่จะให้เขาไหว้ แล้วเขาก็ไม่ไหว้ แล้วก็พาลเอาพาลโกรธเอา
มันก็มีปัญหาว่า พระชนิดไหนที่ว่าไม่ไหว้พระน่ะ คุณก็ต้องไปแยกแยะดู ว่าไม่ไหว้พระชนิดไหน ก็มันเรียกพระพระ พระ เหมือนกันหมด ไอ้ที่โกนหัวห่มเหลืองน่ะเป็นพระเหมือนกันหมด แต่มันยังมีเป็นชนิด ชนิดไปแยกเอาชนิดไหนที่เขาไม่ไหว้ เขาก็มีสิทธิ์ที่จะไม่ไหว้ นี้มันก็อย่างหนึ่งมันต้องพูดกันให้ชัด ว่าไม่ไหว้พระน่ะ พระชนิดไหน พระอาจจะหมายถึงพระพุทธเจ้าก็ได้ ในความหมายทั่วๆไปก็ใช้คำนี้รวมหมด พระศาสดาทั้งหมด ถ้าไม่ไหว้พระ มันก็หมายความว่าไม่นับถือศาสนา มันก็ไม่เข้าเองแหล่ะ ไม่ต้องห้ามหรอก ไม่ต้องห้ามเขาหรอก มันก็ไม่เข้าเองแหล่ะ แต่ที่มันจะไม่ไหว้พระในบางกรณีบางแง่นั้นมันก็แล้วแต่เรื่อง
(เสียงโยมคนที่7) อยากจะเรียนถามต่ออีกนิดนึงนะครับ การที่เราเคารพบูชา จะจำเป็นเสมอด้วยการที่เราจะต้องกราบไหว้เสมอไปใช่มั๊ยครับ
(เสียงท่านพุทธทาส) คำว่าเคารพบูชามีหลาย หลายอาการ อาการภายนอกมีได้หลายอาการ แล้วแต่บัญญัติแล้วแต่ประเพณี แต่ถ้าใจมันเคารพบูชาและก็ ไม่ต้องพูด มันแสดงมาอย่างใดอย่างหนึ่งเสมอ แต่ขอให้ใจมันเคารพบูชาเถิดมันจะแสดงอาการออกมาอย่างใดอย่างหนึ่งเสมอ จะเคารพบูชาด้วยอาการอย่างใดก็แล้วแต่ แล้วแต่ประเพณี แล้วแต่ความรู้สึกของจิตใจ แล้วแต่การรับวัฒนธรรมมาอย่างไร เคารพกันอย่างไร
วัฒนธรรมสากลให้เคารพความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น เค้าก็มีความเป็นมนุษย์เหมือนเรา งั้นเราก็แสดงความเคารพได้ทันทีในเบื้องต้นว่าเค้าก็เป็นมนุษย์เหมือนเรา ไม่ดูถูกดูหมิ่นใคร ถ้าบูชามันเลยไปถึงกับว่าสูงสุด นี่มันก็แล้วแต่ว่ามันกำลังกระทำกับสิ่งใด กระทำแก่พระพุทธเจ้าหรือว่ากระทำแก่พระทั่วไปหรือศาสนาทั่วไป มันก็อยู่ที่ใจน่ะถ้าใจมันบูชามันก็แสดงออกมา ยากที่จะปิดไว้ได้
(เสียงโยมคนที่ 8) กราบนมัสการเรียนถามว่า การที่คนเรามีสติหรือมีสติสัมปชัญญะในตนนั้นนี่ จะก่อให้เกิดปัญญากับคนเหล่านั้นได้อย่างไรคะ
(เสียงท่านพุทธทาส) เดี๋ยว เดี๋ยวจะพูดใหม่ ฟังไม่ค่อยชัด
(เสียงโยมคนที่8) การที่คนเราจะมีสติ มีสติสัมปชัญญะ จะก่อให้เกิดปัญญาได้อย่างไร
(เสียงท่านพุทธทาส) มันคนละหน้าที่แหล่ะ สติ ก็ระลึกได้ สัมปชัญญะจะควบคุมปัญญาไว้ได้ ปัญญาต้องอบรมสะสมศึกษาไว้ส่วนหนึ่ง แล้วสมาธินี่ก็สำคัญ จะต้องฝึกให้มี สี่คำนี้ สี่อย่างนี้จำเป็นที่สุดน่ะ สติ ปัญญา สัมปชัญญะ สมาธิ
พอมีอะไรเกิดขึ้นเราต้องมีสติระลึกถึงความถูกต้อง คือปัญญาที่เราศึกษาไว้ ให้ระลึกถึงปัญญาว่าถูกต้องอย่างไร สติไปเอาปัญญามา ปัญญามาอยู่ในรูปของสัมปชัญญะรู้สึกตัวอยู่อย่างนี้อย่างนี้ถูกต้องอยู่อย่างนี้อย่างนี้ ถ้าจิตใจอ่อนแอรักษาไว้ไม่ได้ก็ต้องมีสมาธิสมาธิ จิตใจเข้มแข็งรักษาปัญญาหรือความถูกต้องไว้ได้ ทำหน้าที่ทั้งสี่อย่างนี้แล้วก็สมบูรณ์ หากสติระลึกได้มันก็ไปค้นเอาปัญญามา ปัญญาอบรมไว้เพียงพอ ปัญญามาเฉพาะหน้าเหตุการณ์นี้ รู้สึกตัวอยู่ว่าต้องใช้ปัญญาอย่างนี้ปัญญาอย่างนี้ ไม่ไม่ใช่ใช้ปัญญาทีเดียวทั้งหมด ปัญญาเฉพาะเรื่องนี้คืออะไร มารู้สึกตัวอยู่เป็นสัมปชัญญะ ถ้าจิตมันอ่อนแอมันสู้อารมณ์ไม่ได้ก็ต้องมีสมาธิให้มันเข้มแข็ง ให้รักษาปัญญาไว้ได้ ก็ขจัดปัญหาออกไปได้ ขจัดความผิดพลาดออกไปได้ เราเรียกว่าธรรมะสี่เกลอ จึงจะสมบูรณ์
ตามปกติศึกษาฝึกฝนอบรมปัญญาไว้ให้มากๆ หลาย ๆอย่างทุกๆ ชนิดนี่ น่ะ ปัญญา พอเกิดเรื่องอะไรขึ้นมาทางตาหูจมูกลิ้นกายใจก็ตาม นี้ สติระลึกนึกถึงปัญญา ไปค้นเอาปัญญามาเผชิญหน้าเหตุการณ์ เมื่อปัญญาส่วนนั้นเฉพาะส่วนที่จำเป็นนั้นมาเผชิญหน้าเฉพาะเหตุการณ์ เราเรียกว่าสัมปชัญญะ เป็นเรื่องเฉพาะเจาะจงกันเป็นคู่เลย ทีนี้ว่าจิตมันอ่อนแอหรือเข้มแข็ง ถ้าจิตมันอ่อนแอมันก็รักษาไว้ไม่ได้ ต้องมีสมาธิ จิตเข้มแข็ง และต้องฝึก ฝึกสมาธิความเข้มแข็งของจิตไว้เพียงพอถ้ามีทั้งสี่อย่างนี้แล้วจะสู้สถานะเหตุการณ์ทั้งหลายได้