แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พิธีกร: กราบเรียนท่านอาจารย์ที่เคารพ กระผมในนามของผู้ดำเนินการจัดสัมมนาจิตวิทยาพุทธศาสตร์ รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่ท่านอาจารย์ได้สละเวลา มาเป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนาในวันนี้ เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า การศึกษาค้นคว้าในสาขาจิตวิทยาในปัจจุบัน ได้ดำเนินไปอย่างกว้างขวางต่อเนื่องตลอดเวลา ทำให้วิชาจิตวิทยาได้แตกแขนงออกไปมากมาย ซึ่งหมายถึงว่า ได้มีข้ออธิบายถึงพฤติกรรมแห่งความเป็นมนุษย์ ในหลายแง่หลายมุมมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม รากเหง้าของการอธิบายพฤติกรรมมนุษย์เท่าที่เป็นไป โดยเฉพาะในสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ นั้น ล้วนแล้วแต่อาศัยอยู่บนพื้นฐานของทฤษฎีทางตะวันตกแทบทั้งสิ้น ทั้ง ๆ ที่การอธิบายพฤติกรรมของมนุษย์ น่าจะมีความเฉพาะแห่งภูมิหลังของผู้ถูกอธิบาย เข้ามาเป็นตัวแปรที่จะต้องคำนึงอยู่บ้างก็ตาม ในทางที่ควรจะเป็นก็คือ แม้ว่าเราจะอธิบายพฤติกรรมโดยอาศัยแนวคิดทางตะวันตกมากน้อยเช่นไรก็ตาม แต่ในทิศทางตะวันออกสำหรับคนตะวันออก ก็ไม่พึงละเลยไปเสียทั้งหมด และที่สุดแห่งการอธิบายแล้ว การบูรณาการในทิศต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง มาเป็นแนวในการอธิบาย โดยไม่คำนึงถึงที่มา น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า พุทธศาสนาซึ่งมีอิทธิพลอยู่มากในทิศของคนทางตะวันออก โดยเฉพาะคนไทย ได้พยายามอธิบายถึงแนวคิดและพฤติกรรมของมนุษย์อยู่ไม่น้อยกว่าในทิศทางตะวันตก หรือในทิศอื่น ๆ ดังนั้นการที่จะนำเอาพุทธศาสนาในแง่ของความเป็นศาสตร์ มาอธิบายถึงพฤติกรรมมนุษย์ จึงเป็นประเด็นที่น่าสนใจ และน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาจิตวิทยาให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ภาควิชาจิตวิทยา วิทยาลัยครูสุราษฎร์ธานี ได้เล็งเห็นถึงคุณประโยขน์ประการนี้ จึงได้จัดสัมมนาเชิงวิชาการ เรื่องจิตวิทยาพุทธศาสตร์ขึ้นในครั้งนี้ และการเลือกสวนโมกข์ เป็นสถานที่การที่จัดสัมมนา ก็ด้วยเหตุผลเพียงประการเดียวว่า สวนโมกข์เป็นที่ชุมชนแห่งปราชญ์ทางพุทธศาสนา การสัมมนาครั้งนี้ ประกอบด้วยอาจารย์ผู้สอนวิชาจิตวิทยาในวิทยาลัยครูและมหาวิทยาลัย จำนวนประมาณห้าสิบคน วิทยากรจำนวนเจ็ดท่าน โดยจะใช้เวลาในการสัมมนาเป็นเวลาห้าวัน จากวันนี้และจะเสร็จสิ้นในวันที่ 27 มีนาคม บัดนี้ ได้เวลาอันสมควรแล้ว กระผมใคร่ขอกราบเรียนเชิญท่านอาจารย์ทำพิธีเปิดการสัมมนา
ท่านพุทธทาสภิกขุ: อาตมาภาพขอโอกาสทำการเปิดการสัมมนา ในนามของพุทธทาส สำหรับอาตมาเกียรติยศเกียรติศักดิ์สูงสุดนั้นคือพุทธทาส แล้วท่านก็คิดเอาเองว่า คำว่าทาสนั้นมันหมายความว่าอย่างไร คล้าย ๆ กับว่าจะชวนให้ท่านทั้งหลายเป็นทาสของพระพุทธเจ้าไปด้วยกันทั้งหมด คนทั่วไป ไม่ใช่ทุกคน แต่ว่าทั่ว ๆ ไปทั้งโลก หลาย ๆ ประเทศในโลก รู้จักอาตมาในนามพุทธทาส บางคนอ่านแต่หนังสือรู้จักพุทธทาส แต่ไม่รู้จักประเทศไทยก็ยังมี โดยที่เขาไม่ได้สนใจว่า พุทธทาสนั้นอยู่ที่ไหน สนใจแต่เรื่องที่เขียนที่อ่าน อย่างนี้ก็ยังมี จึงขอเอาเกียรติยศอันนี้มา ในฐานะเป็นประธานเปิดการสัมมนา
อยากจะปรึกษาหน่อยหนึ่งว่า ถ้าจะมีการเปิดที่ไม่มีการปิดกันได้ไหม การเปิดนี่มันช่างคู่กับการปิดเสียจริง ๆ สมาคมบางแห่งพอเปิดเสร็จก็ปิดเสร็จเหมือนกัน ยกป้ายเสร็จก็ปิดเสร็จเหมือนกัน เป็นพุทธสมาคมด้วย การเปิดนี่ก็เป็นสิ่งที่น่ากลัว จะถามว่ามีการเปิดแล้วไม่ต้องมีการปิดกันบ้างจะได้ไหม มันต้องดูว่ามันเปิดอะไร มันเปิดป้าย หรือเปิดใจ ถ้าเปิดป้ายมีการปิดได้ ถ้าเปิดใจแล้วมันไม่ควรจะปิด เดี๋ยวนี้เราจะเปิดป้ายกันหรือเปิดใจ จะเปิดใจท่านผู้ฟัง หรือจะเปิดใจท่านครูทั้งหลายที่มีหน้าที่ที่จะต้องทำ หวังว่าจะมีการเปิดในทางหนึ่งซึ่งไม่รู้จักปิด แม้ว่าจะมีการปิดตามธรรมเนียม เปิดหัวใจของครู ไม่ต้องมีการปิด เพราะคำว่าครู คำนี้ Root ของภาษาโบราณคำนี้แปลว่าเปิดประตู เป็นการค้นพบถึงที่สุด โดยทางภาษาศาสตร์ของประเทศอินเดียในภาษาสันสกฤตหรือภาษาโบราณคำว่า ครุ มาจาก Root ของศัพท์ว่าเปิดประตู ที่แปลว่าหนัก หนักนั่นเป็นคุณศัพท์ มาจากการเปิดประตูจึงเกิดบุญคุณอันหนักอยู่บนศรีษะของคนทุกคนซึ่งจะเป็นครู ผู้หนักนี่มันทีหลัง ขอให้มีการเปิดประตู ด้วยการกระทำอย่างใดก็ตามอยู่ตลอดไป เปิดแล้วไม่ต้องปิด ทีนี้ก็เปิดหัวใจครู สำหรับจะเป็นผู้เปิดประตูหัวใจคนทั้งโลก จงเปิดด้วยพุทธศาสตร์อันคมเฉียบ ศาสตร์คือ ศาตรา แปลว่าของมีคม พุทธศาสตร์ก็คือ พุทธธรรมที่เอามาใช้เป็นศาตรา ตัดปัญหานานาประการให้หมดไปจากโลก ขอให้เรามีการเปิดประตูตามความหมายของครู ไม่มีชยันโต อาตมาก็ชยันโตคนเดียว ว่า ชะยันโต โพธิยา มูเล เป็นต้น ขอให้ความหวังที่จะทำในครั้งนี้จงสำเร็จด้วยดี ชนะอุปสรรคเหมือนที่พระพุทธองค์ทรงชนะมารโดยเด็ดขาดที่โคนต้นโพธิ์ นี่คือการเปิด และอาตมาก็ขอเปิดการสัมมนาในครั้งนี้ ด้วยคำ ๆ นี้ เป็นอันว่าเปิดแล้ว เปิดสัมมนาเป็นส่วนหนึ่งอย่ารู้จักปิดเลย
เปิดแล้วทำอะไรต่อไป (เสียงพิธีกรพูดฟังไม่ชัด) บอกเขาสิ ไปบอกให้เขาทราบ บรรยายอะไร หัวข้ออะไร
พิธีกร: ในช่วงเวลาต่อไปนี้นะครับ ท่านอาจารย์พุทธทาส จะบรรยายธรรมให้พวกเราฟัง ก่อนที่จะมีการสัมมนา ขอกราบนิมนต์ครับ
ท่านพุทธทาสภิกขุ: ท่านสาธุชนทั้งหลาย โดยเฉพาะที่เป็นครู หรือมีหน้าที่ของครู อาตมาขอแสดงความยินดีเป็นสิ่งแรกที่ท่านทั้งหลายได้มาสู่สถานที่นี้ในลักษณะอย่างนี้ เพื่อขวนขวายหาวิธีที่จะดำเนินกิจการในหน้าที่ของตน ๆ ให้ลุล่วงไปด้วยดี โดยเฉพาะหน้าที่สูงสุดของผู้เป็นครู คือจะเปิดประตูทางวิญญาณของสัตว์โลกทั้งหมด ได้มีการกำหนดหัวข้อให้บรรยายไว้ว่า จิตวิทยากับพุทธศาสตร์ มีสองชื่อหรือสองเรื่อง พูดเพียงเท่านี้มันก็ดูงง ๆ หรือชอบกลอยู่เหมือนกัน ปัญหามันเกิดขึ้นเพราะว่าเรามีคำพูด หรือใช้คำพูดคำเดียวกันซึ่งมีความหมายไม่เหมือนกัน คำพูดคำเดียวกัน คนหนึ่งหรือพวกหนึ่งมีความหมายอย่างหนึ่ง พวกหนึ่งอีกอย่างหนึ่ง บางทีถึงกับเป็นความหมายที่เถียงกันก็มี ตรงกันข้าม เป็นความหมายที่ผิดจากความเป็นจริงก็มี ขอได้ให้โอกาสพิจารณาใคร่ครวญกันให้ดี ๆ ว่าคำพูดบัญญัติที่ใช้อยู่นี้ทำให้เกิดปัญหามาก ดูจะเป็นกันทุกชาติทุกภาษา ที่คำบัญญัติขึ้นโดยบุคคลบางคน ซึ่งหลายคนจะไม่เห็นด้วยก็ได้ บัญญัติขึ้นโดยบางคนเท่าที่เขารู้จัก เขารู้อย่างไรเท่าไรเขาก็บัญญัติอย่างนั้น แต่แล้วมันมีความไม่ถูกต้องหรือไม่ตรงตามความเป็นจริง มันก็มีอยู่มาก โดยเฉพาะในภาษาไทยเรา มีคำอยู่คำหนึ่งซึ่งทำให้เกิดปัญหายุ่งยากที่สุด คือคำว่าปรัชญา กับคำว่า Philosophy คำว่า Philosophy ของฝรั่งนั้น มันไม่ใช่ปรัชญาของอินเดีย คำว่าปรัชญาของอินเดียนั้นคือความรู้หรือปัญญาที่ถึงที่สุด เด็ดขาดไปแล้ว ส่วนคำว่า Philosophy นี่ยังไม่เด็ดขาด ยังค้นคว้าหาอยู่ ยังคลำอยู่ ยังไม่มีจุดจบหรือจุดสุดท้าย มันไม่ใช่สิ่งเดียวกัน พวกนักภาษาในอินเดียเขายืนยันว่า คำว่า Philosophy นั้น มันตรงกับคำว่า ทัศนะ ในภาษาสันสกฤต ไม่ใช่ตรงกับคำว่า ปรัชญา ที่เราเอามาให้มันเป็นคำตรงกันอย่างนี้ เวลาพูดมันก็ลำบาก พูดไปเรียกมันว่าปรัชญาเป็นคุ้งเป็นแคว ที่จริงเป็นเพียงทัศนะ เอาทัศนะที่ยังเป็นที่ตั้งแห่งการถกเถียงหรือสงสัยไปเป็นคำว่าปรัชญา ซึ่งเป็นความรู้ที่เด็ดขาดเฉียบขาดลงไปแล้ว อาตมาเองก็ลำบากไปด้วยคำ ๆ นี้อยู่ตลอดเวลาเหมือนกัน บางทีมันก็เผลอไปใช้คำว่าปรัชญา ก็บอก (นาทีที่ 13:05) ปรัชญาอย่างเป็น Philosophy นะ มันต้องเป็นอย่างนี้ ไม่ใช่ปรัชญาอย่างความหมายของคำว่าปรัชญา นี้เป็นเพียงตัวอย่างแค่นั้น ที่ว่าความลำบากของเรามันอยู่ตรงที่ใช้คำพูด บัญญัตติขึ้นใช้แล้วมีความหมายไม่เป็นที่รับรองต้องกันได้ หรือตรงกับความจริงระหว่างชาติเป็นต้น ขอให้สนใจ แม้คำว่าจิตวิทยาและคำว่าพุทธศาสตร์ก็อยู่ในภาวะนี้ คือภาวะที่ยังไม่แน่นอนอย่างนี้ เพราะฉะนั้นเราจะต้องหาทางให้เกิดความรู้ความเข้าใจอันถูกต้อง จึงเป็นความหมายที่แท้จริงของคำ ๆ นั้น
คำว่าจิตวิทยากับคำว่าพุทธศาสตร์นี้ มันมีความจริงจำกัดความอยู่ที่ตรงไหน ขอให้ช่วยกันสังเกตใคร่ครวญพิจารณากันต่อไป อาตมาก็ไม่แน่ใจว่ามันจะถูกต้อง แต่ก็ขอแถลงไปตามที่มีความเข้าใจ โดยตั้งความหวังว่า เราจะถือเอาประโยชน์จากสิ่งที่เรียกว่าจิตวิทยา และสิ่งที่เรียกว่าพุทธศาสตร์นั้นได้มากเท่าไร และเป็นประโยชน์ที่สุดได้อย่างไร ในชั้นแรกนี้ก็จะปรารภกันถึงคำ ๆ แรกก่อน คือคำว่าจิตวิทยา จิตวิทยาแปลโดยกำปั้นทุบดินก็วิทยาว่าด้วยจิต แต่มันมีมากแง่มากมุม มาก ๆ จนยากที่จะประมวลเอามาให้หมดได้ เราก็ควรจะพิจารณากันถึงสิ่งที่เรียกว่าจิต ให้มากที่สุดให้ดีที่สุด ให้ใกล้กับความจริงหรือถูกต้องที่สุด มันยากที่จะระบุลงไปว่าอย่างไรเป็นความจริงหรือเป็นความถูกต้อง ก็มันยังไม่รู้จริงด้วยกันทั้งนั้น แถมยังมีความจริงที่ยังไม่รู้ ความจริงที่ยังซ่อนเร้นเหลืออยู่ก็มี เราก็จะทำได้เพียงเท่าที่เราจะทำได้ ในชั้นแรกนี้ก็ขอให้พิจารณากันถึงคำว่าจิตเพียงคำเดียวก่อน เท่าที่ได้ศึกษาสังเกตมาก็ประมวลมาเปิดเผยให้ท่านทั้งหลายฟัง
คำว่าจิต เมื่อกล่าวโดยธรรมชาติ มันก็เป็นเพียงธาตุ ธา-ตุ ชนิดหนึ่งเท่านั้นแหละ เท่านี้มันก็เข้าใจยากเสียแล้ว ก็เราเคยได้ยินแต่เรื่องธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม แล้วทำไมจะต้องเอาจิตมาเป็นธาตุด้วย นี่ก็เพราะว่าตามหลักพระพุทธศาสนามันเป็นเช่นนั้น จิตก็เป็นธาตุอย่างเดียวในความหมายเดียวกับธาตุดินน้ำลมไฟ แม้มันจะมีลักษณะบางอย่างตรงกันข้าม แต่ก็มันมีศํกดิ์ศรีเป็นได้แต่เพียงสักว่าธาตุ ทีนี้คนที่มีความคิดความนึกรู้สึกเอาเองตามที่เชื่อ ๆ กันมา มักจะมองเห็นว่าจิตนี้เป็นผีด้วยซ้ำไป เป็นผีชนิดหนึ่งนี่จิต พวกเด็ก ๆ มักจะคิดอย่างนี้ หรือคนโต ๆ ก็มักจะรู้สึกว่าจิตนี่มันเป็นผีชนิดหนึ่ง ซึ่งเข้าใจยาก มันสิงอยู่ในคนหรืออะไรทำนองนั้น เลิกคิดอย่างนั้น จิตเป็นเพียงธาตุชนิดหนึ่งตามธรรมชาติ เป็นธาตุพรายน้ำ (นาทีที่ 17:45) คือไม่มีวัตถุ มันจึงได้เป็นวัตถุธาตุเป็นนามธาตุหรือจิตธาตุ ดินน้ำไฟลมเป็นธาตุอย่างวัตถุ วิญญาณธาตุก็เป็นธาตุอย่างจิตหรือนาม มันก็มีอากาศธาตุหรือที่ว่าง สำหรับเป็นที่ตั้งที่อาศัยแห่งธาตุทั้งหลายเหล่านั้น ทีนี้ก็มีจิตในฐานะที่เป็นสักว่าธาตุตามธรรมชาติ จิตวิทยาก็หมายถึงความรู้เรื่องจิตในฐานะที่เป็นสักว่าธาตุตามธรรมชาติ จะไปเกี่ยวข้องกับมันอย่างไร จะใช้เป็นประโยชน์ได้อย่างไร นี่ก็เป็นเรื่องที่จะต้องดูกันต่อไป ถ้าเมื่อว่าโดยลักษณะที่จะตั้งปัญหาขึ้นมาว่า จิตมีลักษณะอย่างไร มันก็ต้องแยกได้ว่า ตามสัญชาตญานแท้ ๆ ยังไม่มีอะไรเข้าไปเกี่ยวข้อง จิตก็มีลักษณะเป็นธาตุที่รู้สึก สักว่ารู้สึกได้ในตัวมันเอง แต่ถ้าว่ามันมีอะไรเข้าไปเกี่ยวข้องหรือมันพัฒนาแล้ว มันก็เปลี่ยนรูปเป็นจิตชนิดที่เป็นฝ่ายกิเลสคือโง่เง่า จิตฝ่ายที่เป็นโพธิคือเฉลียวฉลาด ลักษณะมันก็ต้องต่างกันออกไป จิตตามสัญชาตญาณเดิมแท้มันก็เป็นอย่างนั้น เป็นกลาง ๆ อย่างนั้น จะมากลายรูปตามสิ่งแวดล้อมเข้าไปปรุงแต่งกลายเป็นประเภทกิเลส จิตประเภทกิเลสประเภทมืด หรือว่าได้รับการแวดล้อมปรุงแต่งถูกทาง มันก็กลายเป็นจิตประเภทโพธิคือสว่างไสว มันจึงมีลักษณะได้ทั้งว่าเป็นกลาง ๆ และสว่างไสวหรือว่ามืด ๆ กลาง ๆ หรือมืด หรือสว่างไสว หรือว่ามืดแล้วก็เป็นกลางสว่างไสว ดูเอาตามเหตุของมันตามกรณีของมัน
ทีนี้ถ้าจะถามว่าจิตมีอำนาจอิทธิพลอย่างไร จิตนี้มันควมคุมวิวัฒนาการของสิ่งที่ประกอบกันขึ้นเป็นจักรวาลหรือจะเป็นโลกก็แล้วแต่จะเรียก สิ่งทั้งหลายมันเป็นไปตามอำนาจจิต คนก็คงจะไม่ยอมเชื่อ ว่าก้อนหินมันมีจิตอย่างไร ถ้าในปรมาณูของก้อนหินมันมีการเคลื่อนไหว มันก็จะมีความรู้สึกได้ แต่มันดิบเกินไป จะเป็นวัตถุมากเกินไปไม่แสดงความรู้สึก แต่จิตที่เป็นนามธรรมนี้มันนำวิวัฒนาการ การที่จะวิวัฒนาการขึ้นมาเป็นพืชพฤกษาชาติทั้งหลายกระทั่งเป็นสัตว์กระทั่งเป็นคนนี้ มันนำมาโดยสิ่งที่เรียกว่าจิต จึงเรียกว่ามันมีอำนาจมหาศาล คือมันจะควมคุมวิวัฒนาการ ผลักดันวิวัฒนาการให้เป็นไป ด้วยสิ่งที่เรียกว่าจิต ซึ่งมีสิงสถิตอยู่ในสังขารกลุ่มนั้น ๆ
มาดูกันถึงว่าสมรรถนะของจิต จิตมีสมรรถนะคือสามารถในหน้าที่ของมัน อย่างไม่มีขอบเขตจำกัด ท่านจึงจัดไว้เป็นอจินไตยชนิดหนึ่ง คือมากเหลือประมาณเกินกว่าที่จะกำหนดบัญญัติให้ได้ คือความคิดของมนุษย์นี้ ใครจะไปจำกัดได้ ขีดแวดวงให้ได้ มันจะไปอีกมากมายจนไม่รู้ว่าจะไปกันถึงไหน ที่แล้วมามันก็เป็นมาอย่างน่าอัศจรรย์เต็มที แต่มันจะยังเป็นเหมือนกับแค่ขั้นเริ่มต้นเท่านันแหละ การไปโลกพระจันทร์ได้ก็เป็นเรื่องเด็กเล่น เป็นเรื่องเด็กอมมือไปในเวลาหนึ่งข้างหน้าเป็นแน่นอน เพราะว่าจิตมันยังจะทำอะไรได้มากกว่านั้นอีกมาก สมรรถนะของจิตเป็นอจินไตย คำนวณไม่ได้
ทีนี้ก็มาดูถึงประโยชน์ของคำว่าจิต หรือจะดูกันที่หน้าที่การงานก็ได้ ถ้ามันจะมีประโยชน์มันก็จะต้องมีหน้าที่การงาน หน้าที่การงานก็ให้เกิดประโยชน์ ถ้าจิตทำหน้าที่รู้ รู้ด้วยความรู้ เราก็เรียกมันว่ามโน ถ้ามันทำหน้าที่คิดนึก เราก็เรียกมันว่าจิต ถ้ามันทำหน้าที่รู้แจ้งทางอายตนะตาหูจมูกลิ้นกายเหล่านี้ เราก็เรียกมันว่าวิญญาณ ดูสิมันเล่นตลกตามหน้าที่การงานของมันหรือประโยชน์ของมัน มันจะรู้ก็ได้ มันจะคิดก็ได้ มันจะรับรู้อารมณ์ทางอายตนะก็ได้ จิตมันเป็นอย่างนี้
ทีนี้ก็จะดูถึงสมุทัยเหตุให้เกิด อันนี้มันลำบากที่ว่าทีแรกเป็นนามธาตุขึ้นมาเราก็ไม่ค่อยรู้ หรือไม่จำเป็นจะต้องรู้ เช่นธาตุดินธาตุน้ำธาตุไฟ อะไรเป็นมูลเหตุก็ไม่ต้องรู้ก็ได้ ถ้ารู้ก็รู้ตามที่เขาบัญญัติให้เรารู้ มันจะเป็นทาสทางปัญญาไปไม่ทันรู้ตัว แต่เอาตามความหมายของคำว่าจิต จิตที่ใช้กันอยู่ในพระพุทธศาสนา ในพระพุทธภาษิตโดยตรงแล้ว มันมีคำว่าจิต-ตะ-สัง-ขา-ระ เครื่องปรุงแต่งจิต ระบุเฉพาะเวทนา ซึ่งแยกเป็นปิติและสุข ในอานาปานสติ หมวดที่สองเวทนา จัดปิติและสุขว่าเป็นจิตตสังขาร เพราะเมื่อมีความรู้สึกเป็นปิติหรือสุขเกิดขึ้นแล้ว มันก็มีการคิด ปิติก็คือความพอใจที่เดือดพล่าน ความสุขก็คือความพอใจที่สงบนิ่ง ที่จริงมันก็คือเป็นสิ่งเดียวกัน ความพอใจในการประสบความสำเร็จ ถ้ามันเดือดพล่านอยู่มันก็เป็นปิติ ถ้ามันสงบระงับมันก็เป็นความสุข สิ่งทั้งสองนี้คือ ปิติและสุขถูกจัดเป็นจิตตสังขาร เป็นเครื่องปรุงแต่งจิตให้จิตเกิดขึ้น ถ้าถือตามหลักนี้ จิตไม่ได้เกิดอยู่ตลอดเวลา เกิดมามีเหตุปัจจัย เมื่อมีเวทนาคือปิติและสุข เราถือว่าจิตชนิดนี้เป็นจิตที่ต้องสนใจ เป็นตัวการที่ทำให้เกิดเรื่องเกิดราวขึ้นเต็มบ้านเต็มเมือง หรือว่าทำโลกให้วินาศก็ได้ เวทนานั่นแหละเป็นตัวเหตุ ให้เกิดความรู้สึกทางจิตเป็นบวกเป็นลบแล้วก็เป็นอะไรต่าง ๆ ต่อไปอีก
สมุฏฐานของความคิดหรือจิต จิตในฐานะที่เป็นความคิด มีสมุฏฐานคือเวทนา ถ้าเราควมคุมเวทนาได้ ก็เราควมคุมจิตได้ ถ้าเราควมคุมเวทนาได้ ก็เสมือนหนึ่งควมคุมโลกทั้งโลกได้ เพราะว่าโลกทั้งหมดนี้มันจะทำอะไรแก่เรา มันก็ทำมาในทางที่มันให้เกิดเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นแก่จิต ถ้าเราควมคุมเวทนาให้ไม่เป็นพิษเป็นภัยขึ้นมาได้ ก็เหมือนกับควมคุมโลกทั้งโลกได้ นี่คือควมคุมสมุฏฐานของสิ่งที่เรียกว่าจิตได้นั่นเอง
ทีนี้ก็มาดูถึง ตทังคธรรมะ (นาทีที่ 26:26) ความดับชั่วคราว นิโรธะคือความดับที่เด็ดขาด สิ่งที่เป็นสังขารนี้มีความดับชั่วคราวเป็นปกติ ภาษาไทยเราเรียกว่าอัสดง อัสดงนี้แปลว่าไม่ได้ตั้งอยู่ หรือตั้งอยู่ไม่ได้ นั่นก็เป็นการชั่วคราว ดับไปชั่วคราวแล้วก็โผล่ขี้นมาใหม่ การจะดับจิต ทำจิตให้ดับ ก็คือดับเวทนา ดับสิ่งปรุงแต่งจิต ดับได้ชั่วคราวมันก็ดับชั่วคราว ดับได้เด็ดขาดด้วยสมุจเฉทปหาน มันก็ดับได้ตลอดกาล แต่ว่าดับในที่นี้ไม่ได้หมายถึงตายนะ หมายถึงไม่สามารถจะทำหน้าที่อย่างนั้นอีกต่อไปก็พอ นี่เราควมคุมเวทนาได้เราก็สามารถควมคุมจิตได้ ถ้าเราดับเวทนาได้ก็คือดับจิตได้นั่นเอง ถ้ามันเป็นนิโรธะมันต้องดับด้วยญาณสูงสุดเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา กระทั่งสุญญตา ตถตา แล้วก็หมดความอาลัยกับมัน ไม่มีความยึดถือกับมัน บอกเลิกกันทีอย่างนั้น แล้วก็ดับสิ่งที่มันจะทำให้เกิดเรื่องยุ่งยาก
ถ้าจะดูถึงอัสสาทะ อัสสาทะแปลว่าความมีเสน่ห์ดึงดูดจิตใจ อัสสาทะนี้พวกแปลทั้งหลายมักจะแปลกันเพียงว่าคุณ หมายความว่าแปลว่าคุณค่ายังไม่พอ อัสสาทะต้องให้มีคุณค่าที่เป็นเสน่ห์ดึงดูดใจคือฝ่ายบวกสูงสุด จิตมีอัสสาทะมีเสน่ห์ที่ทำให้เราหลงใหลในมัน ก็เพราะมันสามารถอำนวยให้เกิดอารมณ์ขับกล่อม อารมณ์ประเล้าประโลมที่ถูกอกถูกใจ ใช้จิตเป็นสิ่งที่ทำให้เกิด แล้วมันก็เกิดอยู่ที่จิต จิตที่มีอารมณ์รื่นเริงบันเทิง กระทั่งหลงใหลบ้าไปก็มี เพราะว่ามันมีการทำให้เกิดอัสสาทะไปครอบงำจิตใจ เอร็ดอร่อยสนุกสนานทุกอย่างทุกประการที่มันจะทำขึ้นมาได้ด้วยสิ่งที่เรียกว่าจิต เราจึงหลงรักจิตในฐานะที่มันจะทำให้เราได้อะไรตามที่เราต้องการ
ทีนี้ก็ดูที่มันตรงกันข้ามคืออาทีนวะ อาทีนวะแปลว่าโทษอันเลวทรามหรือร้ายกาจของมัน ตามหลักพระพุทธศาสนาทั่วไปก็คือว่ามันกัดเอาผู้ที่เข้าไปยึดถือว่าเป็นตัวตน ใครไปยึดถือว่าจิตเป็นตัวตนหรือเป็นของตน มันก็กัดเอาเจ็บปวด คือความทุกข์นานาประการทุกอย่าง ในกรณีต่ำ ๆ ก็เป็นบ้าไปเลยก็มี ตายไปเลยก็มี มันจะต้องพูดว่าจิตนี้มันกัดคนที่เข้าไปยึดถือเอาว่าเป็นตัวตน นี่หัวใจของพุทธศาสนา เห็นจิตโดยความไม่เป็นตัวตน ไม่ใช่ตัวตน แล้วก็ไม่ใช่ของตน แล้วก็จะหมดปัญหา อัสสาทะของมันคือยั่วให้รัก อาทีนวะของมันก็คือกัดคนโง่ที่เข้าไปรักมัน นี้มันจะพอแล้วกระมัง ว่าเรื่องของจิตมันเป็นอย่างนี้ แล้วจิตวิทยา วิทยาอันว่าด้วยจิตนี้ พวกเราเรียนกันมาทั้งหมดนี้หรือเปล่า ท่านอาจารย์ทางจิตวิทยาทั้งหลาย ท่านได้เรียนลักษณะ ธรรมลักษณะอย่างที่กล่าวมาทั้งหมดนี้หรือเปล่า แล้วจะพูดได้ว่าท่านรู้จักสิ่งที่เรียกว่าจิตอย่างถูกต้องและครบถ้วนแล้วหรือยัง อาตมายังคิดว่ามันต้องอย่างน้อยต้องรู้จักธรรมลักษณะ คือลักษณะธรรมดาทั่วไปของจิต ในลักษณะอย่างนี้
เราจะดูจิตกันอย่างไร เพราะมันเป็นสิ่งที่ไม่มีตัวให้ดู มันก็ต้องมีตาอีกชนิดหนึ่งซึ่งจะดูให้เห็นจิต รู้จักด้วยสติปัญญา มันไม่ใช่เป็นเรื่องทางกายด้วยซ้ำไป และก็ไม่ใช่เป็นเรื่องทางจิตในความหมายทั่ว ๆ ไป มันเป็นเรื่องทางสติปัญญา คำว่าจิตนี้ ไม่ใช่มีความหมายแต่เพียงว่าเป็น Physical หรือ Psychic, Psycho มันมีความหมายกินไปถึงคำว่า Spiritual สติปัญญาซึ่งเป็นคุณสมบัติของจิต ทางร่างกายทางวัตถุก็เป็นเรื่อง Physic แต่ถ้าเป็นเรื่องทางจิตตามหลักพุทธศาสนา มันยังหมายไปไกลถึงทาง Psychic คือความคิดของจิตหรือปกติภาวะของจิต หรือตัวจิตหรือกำลังของจิต แล้วมันยังหมายไปถึงสติปัญญาที่จะพาออกไปพ้นโลกได้ ก็เป็นเรื่องของจิต เรียกว่ามันกว้างขวางเหลือประมาณ เรารู้จักสิ่งที่เรียกว่าจิตกันในลักษณะนี้แล้วหรือยัง
ทีนี้ก็จะดูไปถึงทางที่จะใช้สิ่งที่เรียกว่าจิตนี้ให้เป็นประโยชน์ นี่หมายความว่าเราจับตัวมันได้แล้ว เข้าไปเกี่ยวข้องได้ตามความต้องการแล้ว จะใช้มันให้เป็นประโยชน์อย่างไร ก็จะพูดกันโดยหลักใหญ่ ๆ หัวข้อใหญ่ ๆ ว่า ดับทุกข์แท้จริง ดับความทุกข์ที่แท้จริงและสูงสุดคือทำให้บรรลุมรรคผลนิพพาน เป็นประโยชน์สูงสุดในการที่จะใช้จิตให้เป็นประโยชน์ แต่เดี๋ยวนี้เราก็ไม่ได้ทำกันถึงอย่างนั้น เป็นเรื่องที่เหมือนกับเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ เป็นเรื่องประวัติศาสตร์โบราณคดี เก็บเรื่องราวของพระอรหันต์ไว้เป็นเรื่องโบราณคดีกันหมด เพราะไม่ได้ทำให้มาเป็นประโยชน์ถึงขนาดที่มุ่งหมายอันแท้จริงตามหลักพระพุทธศาสนา ทีนี้ก็ลดลงมา ก็ใช้จิตหาประโยชน์ตามที่ตนต้องการ ไม่ไปนิพพานกันแล้ว ต้องการอะไรที่นี่ในโลกนี้ก็ใช้จิตนั่นแหละ ทำหน้าที่ขวนขวายหาประโยชน์มาให้ได้ มันก็เปลี่ยนรูปไปเป็นกิเลสเท่านั้นเอง กิเลสก็ครอบงำจิต เป็นจิตที่ประกอบไปด้วยตัณหาอุปาทาน มีความอยากอย่างรุนแรง ก็เกิดเป็นความรู้สึกขึ้นมา มีตัวกูผู้อยาก อยากเอามาเป็นของกู ความอยากอย่างรุนแรงเรียกว่าตัณหา ถ้ามีตัวตัณหานี้เต็มที่แล้ว มันจะคลอดออกมาเป็นผลคืออุปาทาน เกิดความรู้สึกว่ามีผู้อยากคือกู แล้วก็อยากเอามาเป็นของกู นี่ตัณหาอุปาทาน ที่มาจากจิต ที่คนธรรมดาสามัญต้องการจะใช้ประโยชน์ไปในทางที่จะหาประโยชน์ตามที่ต้องการ ไม่ใช่เพื่อมรรคผลนิพพาน ไม่ใช่เพื่อความดับแห่งทุกข์ทั้งปวง ก็ยังดีนะ คนทั่วไปใช้จิตหาประโยชน์ตามที่ตัวต้องการ แม้ว่าไม่ต้องการมรรคผลนิพพาน ก็ให้รู้จักใช้เถิดมันจะได้ตามที่ควรจะได้ ทีนี้ต่ำลงมาใช้เพื่อความหลอกลวง ดูให้ดี การใช้จิตแสวงหาประโยชน์ด้วยการหลอกลวง เราจะได้ยินคำว่า สะกดจิต มีวิชาสะกดจิต เอาเปรียบคนอื่นได้โดยสะกดจิตเขาให้ตกอยู่ใต้อำนาจของเรา หรือว่าจะใช้จิตตานุภาพ คือจิตที่อบรมถึงที่สุด มีอำนาจมีอะไรเหนือกว่าโดยประการทั้งปวง ใช้จิตตานุภาพบังคับหลอกลวงอะไรก็ตาม เอาประโยชน์ของผู้อื่นมาเป็นของตัว นี่ก็นิยมทำกันในหมู่อันธพาล อันธพาลระดับต่ำ ๆ ธรรมดาก็ได้ อันธพาลระดับสูงก็ได้ ก็ใช้จิตเป็นเครื่องมือ วิชานี้เคยสูงสุดมาแล้วในประเทศอินเดีย เป็นวิชาแขนงหนึ่ง
เอาละทีนี้ จะขอเอ่ยสักคำว่า ใช้ประโยชน์มันในการที่จะแสวงหาประโยชน์อย่างสุภาพ เอาเปรียบก็ได้ แต่เอาเปรียบอย่างสุภาพ ไม่เจ็บช้ำอะไร บัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่น รู้จักใช้จิตแสวงหาประโยชน์ แม้จะเป็นการเอาเปรียบ ก็เป็นการเอาเปรียบอย่างสุภาพ และก็จะเป็นอย่างที่เรากำลังต้องการอยู่ในวันนี้ ต้องการที่มาพูดกันในวันนี้ ในเรื่องจิตวิทยา ใช่ไหม เราต้องการจะสามารถใช้จิต เพื่อสร้างประโยชน์ชนิดที่ถูกต้อง ไม่บาปไม่กรรมไม่อะไรนี่แหละ ได้ไหม ใช่ไหม เรากำลังพูดกันถึงเรื่องนี้ใช่ไหม ท่านทั้งหลายต้องการจะรู้เรื่องจิตจนเอามาใช้เป็นประโยชน์ แสวงหาประโยชน์ในทางที่ถูกที่ควร นี่แหละ ทางที่จะใช้จิตให้เป็นประโยชน์มันมีมากอย่างนี้ คนซื่อตรงบริสุทธิ์ก็ใช้ไปอย่างหนึ่ง คนไม่ซื่อตรงก็ใช้ไปอย่างหนึ่ง เราเป็นคนกลาง ๆ อย่างน้อย ก็ใช้ชนิดที่ว่ามันจะเกิดประโยชน์ขึ้นมา โดยที่ไม่เกิดการชอกช้ำแก่ฝ่ายใด ครูจะสอนศิษย์ จะบังคับศิษย์ จะอมรมศิษย์ จะพาศิษย์หรือขนศิษย์ไป มันก็จะต้องใช้วิธีที่ถูกต้อง ชนิดที่ไม่ทำอันตรายเจ็บปวดขึ้นมา นับว่าเป็นสิ่งที่ถูกแล้ว ที่จะต้องสนใจกันในเรื่องนี้ ให้รู้จักสิ่งที่เรียกว่าจิตนี้ให้ดีที่สุด จะมองดูถึงตัวสิ่งที่เรียกว่าประโยชน์ ประโยชน์ที่แท้จริง มันก็ต้องเล็งถึงประโยชน์อย่างยิ่งหรือดีที่สุดแก่มนุษย์ ซึ่งเรามักจะใช้คำว่า สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ จะละสัญชาตญาณอย่างสัตว์เดรัจฉานเสีย มีจิตที่พัฒนาแล้วเป็นจิตของมนุษย์ ก็ได้รับสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ ข้อนี้มันเกี่ยวกับการพัฒนาจิต แล้วมันจะได้ประโยชน์ที่แท้จริง ที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ ถ้ามันไม่ทำได้ถึงอย่างนั้น ก็ลดลงมา ลดลงมาเอาแต่เพียงว่า มันไม่เป็นภัยแก่ใครและไม่ทำลายโลก ไม่เป็นอันตรายแก่ฝ่ายใด นั่นแหละคือสิ่งที่เรียกว่าความดี ความจริง ความงาม ความถูกต้อง ความยุติธรรม อย่าเอาอะไรให้มากไปกว่านั้น ที่เรียกว่าถูกหรือดีนั้น อย่าอาศัยหลักอะไรไม่รู้ที่เรียกกันว่า Logic หรือว่า Philosophy หรืออะไรมาเป็นเครื่องวัดว่าถูกต้อง พวกนั้นเขาก็ใช้กันไปเถิด พระพุทธเจ้าไม่ประสงค์ให้ใช้อย่างนั้น ตามหลักของกาลามสูตร มาตักกเหตุ อย่ารับเอาด้วยเหตุว่ามันถูกต้องตามตรรกะ คือ Logic มานยเหตุ อย่ารับเอามาเพราะมันถูกต้องความพิสูจน์ โดยหลักแห่งนัยยะ คือ Philosophy นั่นเอง กาลามสูตรแปลกันตอนแรก ๆ นั้น ผู้แปลไม่รู้เรื่องภาษาศาสตร์หรือ Philosophy ของอินเดียจึงแปลว่าอย่าถือเอาด้วยการเดา อย่าถือเอาด้วยการคาดคะเน เด็ก ๆ มันก็หัวเราะเอา ตรรกะนั้น วิธีการพิสูจน์ค้นหาผลสุดท้าย โดยวิธีตรรกะ คือ Logic นัยยะ หรือ ญายะ (นาทีที่ 40:34) คือวิธีของ Philosophy ซึ่งไม่อาจจะใช้คำว่าปรัชญา พวกอินเดียเขาจะโห่เอา เขาใช้ว่าคำนัยยะ หมายถึงปรัชญามันเป็นไปไม่ได้ มันเป็นเพียง Philosophy เป็นเพียงระบบทัศนะที่ได้วางไว้สำหรับจะคิดนึกกันอย่างไร นี่เราเอาที่มันถูกตามหลักพระพุทธศาสนา ไม่ต้องคำนึงถึง Logic Philosophy อะไร เอาแต่ว่ามันไม่ทำอันตรายใคร แต่มันให้ประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ขอให้คุณครูบาอาจารย์ทั้งหลายบอกเด็ก ๆ ว่า คำว่าถูก ๆ นี่ไม่ใช่ครูว่า ไม่ใช่ใครว่า ไม่ใช่นักปรัชญาคนไหนเขาว่า มันพิสูจน์ได้ในตัวมันเองว่ามันไม่ทำอันตรายใคร แล้วมันให้ประโยชน์แก่ทุกฝ่ายนั่นคือสิ่งที่เรียกว่าถูก ถ้าถูกแล้วก็ดี ดีก็ตรงที่ไม่ทำอันตรายใคร ให้ประโยชน์แก่ทุกฝ่าย งดงามก็อยู่ที่ตรงนี้ จริงก็อยู่ที่ตรงนี้ ยุติธรรมก็อยู่ที่ตรงนี้ เราเอาเพียงเท่านี้ มันก็จะได้ประโยชน์เหลือประมาณ เราใช้คำจำกัดความลงไปว่าไม่ทำลายโลก เดี๋ยวนี้มนุษย์กำลังใช้ความรู้ทางจิต ใช้จิตให้มีความรู้ทำลายโลกกันมากเหลือเกิน ทำลายทรัพยากรทางวัตถุในโลกนี้มากมายด้วยความโง่ เอามาใช้ถลุงเล่นทั้งนั้น เช่นว่าขุดเอาน้ำมันขึ้นมาจากในแผ่นดินมาใช้ ส่วนใหญ่ใช้ถลุงเล่นทั้งนั้น สนองกิเลสทั้งนั้น ไม่ได้ใช้เพื่อประโยชน์อันแท้จริง นี้คือความโง่ หรือว่าจะคิดนึกอะไรให้พัฒนาไปก็เป็นเรื่องส่งเสริมกิเลสทั้งนั้น ความเจริญทางวัตถุที่กำลังเป็นอย่างท่วมหูท่วมหัวนี้ มันทำไปชนิดที่จะทำลายโลกให้มันจมอยู่ในกองกิเลส อย่างนี้ใช้ไม่ได้ มันทำลายโลก เรากำลังใช้จิตหรือสมรรถนะของจิต หรือคุณค่าของจิตอะไรก็ตามในการทำลายโลกเสียมากกว่า นี่เรากำลังทำสิ่งที่ไม่ต้องทำ เช่นสงครามเป็นต้น หรืออะไร ๆ ที่ไม่ใช่สงครามที่บ้าบอกันในเรื่องเนื้อหนัง มันทำลายโลกมากเกินไป อย่าให้ถึงขนาดนั้นเลย ให้มันพอดี ๆ ถ้ามันยังไม่ได้มรรคผลนิพพาน ก็ให้มันอยู่ในสภาพที่พอดี ให้มีปกติภาพ มีสันติสุขมีสันติภาพตามที่ควรจะมี นี่เรียกว่าประโยชน์ที่ควรจะได้อันแท้จริงจากสิ่งที่เรียกว่าจิต ซึ่งอยู่ในวิสัยของคนทุกคน ไม่เหลือวิสัย แล้วก็ไม่ขาด คือมันอยู่ในวิสัยที่ควรจะทำได้ ขอให้เรารู้จักสิ่งที่เรียกว่าจิต ในลักษณะที่เพียงพอแก่การที่เราจะได้รับประโยชน์จากสิ่งที่เรียกว่าจิตในลักษณะนี้
ทีนี้ก็จะดูต่อไป ในความลับบางอย่างที่ต้องรู้เกี่ยวกับจิต ความลับที่ซ่อนเร้นอยู่บางอย่างที่เราต้องรู้เกี่ยวกับจิต ซึ่งคนทั่วไปไม่สนใจจะรู้ด้วยซ้ำไป ก็เลยไม่รู้ คือความจริงอย่างหนึ่งที่ว่า อะไร ๆ ๆ มันรวมอยู่ที่สิ่ง ๆ เดียวคือจิต จริงหรือไม่จริง มันต้องการคำอธิบายมากเหลือเกิน มันจะไปรู้จากสิ่งภายนอก มันก็ต้องรู้ได้ด้วยจิต สิ่งภายนอกจะเข้ามาสู่ภายในมันต้องเข้ามาทางจิต หรือรู้ทางจิต ต้องเกี่ยวข้องกับจิตทั้งนั้น จิตมันนำให้เกิดการพูดการทำการอะไรทุกอย่าง ผลที่ได้รับมาก็เป็นการได้รับมา และก็นำเข้าไปสู่จิต มันจึงเกิดมีค่า มีคุณ มีประโยชน์ มันแล้วแต่ว่าจิตมันจะโง่หรือจิตมันฉลาด ถ้าจิตมันโง่ ก้อนคาร์บอนเล็ก ๆ มีแสงวาว ๆ ชิ้นเล็ก ๆ ก็ขายได้เป็นแสนเป็นล้าน คือสิ่งที่เรียกว่าเพชร คิดดูสิ มันสำเร็จอยู่ที่จิตนะ จิตที่มันโง่หรือมันฉลาด ที่จะทำให้เกล็ดคาร์บอนเล็ก ๆ มีแสงวาว ๆ เรียกว่าเพชรมีค่าเป็นแสนเป็นล้าน นี่ว่าอย่างโง่ที่สุด นี่อย่างที่มันไม่รู้ประโยชน์ ไม่รู้จักค่าของสิ่งที่ไม่ให้ค่าแก่มัน เม็ดกรวดเม็ดทรายอย่างนี้ มันก็มีค่าของมันที่ไม่มีใครให้ค่าให้ความหมาย เราไม่ดูให้ดีสำหรับสิ่งที่เรียกว่าจิต ว่ามันเป็นที่ประชุมเป็นที่รวมแห่งสิ่งทั้งปวง เหมือนกับแสงมันออกไปจากจุด ๆ หนึ่งแล้วมันก็พร่าไปทั่วทุกทิศทุกทาง ทั้งบนทั้งล่างทั้งซ้ายทั้งขวารอบตัว ดวงไฟตรงกลางเป็นที่รวมแห่งแสง เช่นเดียวกับว่าจิตมันเป็นที่รวมแห่งพฤติทั้งหลาย ทั้งทางวัตถุและทางจิต ทั้งทางนามธรรม ดูไปอีกนิดก็เห็นว่า ถ้ามันไม่มีจิตเพียงสิ่งเดียวเท่านั้นแหละ ทุกสิ่งมันไม่มี โลกนี้มันจะไม่มี อะไร ๆ มันจะไม่มี ถ้าไม่มีจิต สำหรับจะรู้สึกต่อสิ่งนั้น ๆ สิ่งนั้น ๆ ก็เท่ากับไม่มี ไม่มีจิตสิ่งเดียวก็ทุกสิ่งมันจะไม่มี จักรวาลก็จะไม่มี อะไรก็จะไม่มี เพราะมันไม่มีสิ่งที่จะรับรู้ ลักษณะคุณค่าความหมายอิทธิพลอะไรก็ตาม แต่เราก็ไม่ได้ให้ความสำคัญแก่จิตกันถึงขนาดนั้น ยังใช้จิตไปในทางที่ไม่ถูกไม่ควรเสียอีก
ถ้ามองดูวกเข้ามาข้างใน จิตนี้มันก็เป็นแกนกลางของสิ่งที่เรียกว่าชีวิต ขอให้รู้ว่าชีวิต ๆ นี้มันมีความหมายหลายระดับ ถ้าว่ามันเป็นวัตถุ มันก็มีวัตถุเป็นแกนกลาง เมื่อโซโตพลาสในเซลส์แต่ละเซลส์มันยังสดอยู่ก็เรียกว่ายังมีชีวิตอยู่ ชีวิตมันอยู่ที่นั่น เมื่อพูดถึงทางวัตถุ วัตถุมันมีแคนั้น ชีวิตอยู่ที่วัตถุ แต่เดี๋ยวนี้ชีวิตมันไม่ได้มีแค่วัตถุ ชีวิตอย่างวัตถุนั้นมันยังขึ้นอยู่กับอำนาจของสิ่งบางสิ่ง คือสิ่งที่เรียกว่าจิต ที่มันคิดนึกได้ ที่มันรู้อารมณ์ได้ ที่มันรับอารมณ์ได้ อย่างที่พูดมาแล้วข้างต้นว่า อะไรก็ไม่รู้เป็นธาตุชนิดหนึ่งเท่านั้น แต่มันทำอะไรได้มากเหลือเกิน จนมีคำกล่าวว่าจิตนี้เป็นของศักดิ์สิทธิ์กายสิทธิ์เหลือที่จะเข้าใจได้
เดี๋ยวนี้เรามีสิ่งที่เรียกว่าจิต ในความหมายของจิตล้วน ๆ หรือในความหมายของสติปัญญาก็ตาม รวมเรียกว่าเจตสิกได้ทั้งนั้น ความรู้ในหน้าที่ตามธรรมดา ก็เป็นเจตสิก ความรู้ที่รู้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป เป็นความลับก็เป็นความรู้ชนิดที่เรียกว่าเจตสิก ความรู้นี้มีอยู่ในสิ่งใด สิ่งนั้นมันก็เป็นสิ่งที่เรียกว่าจิต ที่เป็นแกนกลางของชีวิต หน้าที่ของทุกส่วนของร่างกาย มันขึ้นอยู่กับสิ่งที่เรียกว่าจิต มีจิตเป็นสิ่งที่บงการ ให้สิ่งนั้น ๆ มันทำหน้าที่ เรารู้ว่ามันมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่จิตอย่างนี้แล้ว มันก็จะต้องเกิดความรู้ขึ้นมาได้เองว่า จิตนี้เป็นสิ่งที่ต้องพัฒนา ไม่มีใครคิดนึกถึงข้อนี้ ไม่ได้คิดพัฒนาจิต ปล่อยไปตามเรื่อง ปล่อยไปตามความสนุกสนานพอใจ เพราะไม่รู้ว่าจะพัฒนาอย่างไร พัฒนาไปทางไหน เพราะไม่มีความรู้เรื่องจิตโดยถูกต้อง โดยครบถ้วน จิตเป็นสิ่งที่ต้องพัฒนา และว่ามันเป็นสิ่งที่มันพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา โดยไม่รู้สึกตัว แต่โดยเนื้อแท้มันเป็นสิ่งที่ต้องได้รับการพัฒนา จากสิ่งสมมุติว่าเป็นเจ้าของจิต คือเราหรือกูนี่ ต้องได้รับการพัฒนา ต้องมีความรู้เรื่องการพัฒนา และต้องพัฒนา แต่ถ้าเจ้าของมันโง่ มันไม่มีการพัฒนาเลย มันก็พัฒนาตัวเองมันได้ มันก็พัฒนาตัวเองไปตามสิ่งแวดล้อมที่เข้ามามากขี้น ๆ ขอให้เราเห็นเป็นความจริงเป็นความสำคัญสูงสุดเด็ดขาด ว่าจิตเป็นสิ่งที่ต้องพัฒนา อย่าปล่อยไว้ตามบุญตามกรรมเลย ถ้าเราต้องการจะรู้เรื่องจิตวิทยา แล้วมันก็ต้องรู้เรื่องนี้ คือรู้ว่าจะพัฒนามันอย่างไรนั่นเอง ขอให้เราสนใจกันในแง่นี้ให้มากที่สุด
จิตวิทยานั้นเพื่อจิตศาสตร์ ขอเสนอคำขึ้นมาสองคำ เราประสงค์จะรู้กันเรื่องจิตวิทยา ความจริงเกี่ยวกับจิต แต่แล้วจะรู้ไปทำไม จะรู้ไปหนักสมองทำไม เราจะรู้มันเพื่อให้เป็นรูปจิตศาสตร์ มาถึงคำนี้ก็เป็นปัญหาอีกแล้ว เพราะคำว่าจิตศาสตร์นี้มันเสียชื่อหมดแล้ว มันเป็นศาสตร์ที่หลอกลวงสำหรับหาประโยชน์กันอีกแล้ว มาพิจารณาคำว่าจิตศาสตร์กันใหม่ จิตตะ ก็คือจิต ศาสตร์นั้นคือศาสตรา ศาสตระคือศาสตรา ศาสตราในภาษาอินเดียแปลว่าของมีคม ของมีคมเรียกว่าศาสตรา จิตเป็นศาสตราคือของมีคม จิตนั้นสามารถจะตัดปัญหาทุกอย่างทุกประการ ถ้าเรามีจิตวิทยารู้เรื่องจิตหมดจดครบถ้วนทุกอย่างแล้ว เอามาทำให้เป็นจิตศาสตรา ขอเติมสระอาหน่อย เพื่อทด (นาทีที่ 52:10) เพื่อกันกับจิตศาสตร์บ้า ๆ บอ ๆ หลอกลวง จิตศาสตราของมีคมทางจิตจะตัดปัญหาทุกอย่างทุกประการของมนุษย์เรา ที่เรามาพูดกันถึงจิตวิทยาวันนี้ ก็ขอให้มองให้เห็นว่า เพื่อต้องการเอามันมาใช้กระทำให้เป็นจิตศาสตรา ใส่สระอาเข้าไปเพื่อกันปนเปกับจิตศาสตร์ที่ทุจริตที่หลอกลวง ที่แสวงหาประโยชน์ด้วยกิเลส ซึ่งเดี๋ยวนี้มันเป็นไปในทางนั้นเสียมากแล้วคำ ๆ นี้ ถูกใช้ไปในทางนั้นเสียมากแล้ว ทีนี้เราก็จะต้องรู้ว่าอย่างไรเป็นจิตศาสตรา อย่างไรเป็นจิตวิทยา ถ้าเรารู้จิตวิทยาครบถ้วนถูกต้องจริง เราก็สามารถเอาไปทำให้เป็นจิตศาสตรา คือจิตศาสตร์ในความหมายอย่างนี้ ไม่ใช่ความหมายอย่างอื่น ที่ใช้เป็นประโยชน์ได้สูงสุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ
ทีนี้ก็ข้อเท็จจริง ที่กำลังมีอยู่ในหมู่พวกเรา ข้อเท็จจริงนั้นมีว่า เรารู้จักมันน้อยเหลือเกิน เรารู้จักสิ่งที่เรียกว่าจิตนี้น้อยเหลือเกิน แล้วบางทีก็รู้ไปในทางเฟ้อ ที่ไม่เป็นประโยชน์ได้ มิฉะนั้นก็รู้ผิด ๆ ไม่ตรงตามความจริง หรือมิฉะนั้นก็ไม่รู้อะไรเสียเลย ข้อเท็จจริงของพวกเราที่เกี่ยวกับจิตในปัจจุบันนี้มันเป็นอย่างนี้ ถ้าว่าที่จริงแล้วเรามันรู้กันอย่างเฟ้อ เฟ้อคือไม่ตรงจุด มันเฟ้อไปในทางตามใจตัว เพื่อความประเล้าประโลมเสียโดยมาก เฟ้อไปในทางนั้น ไม่สามารถจะเอาจิตมาใช้เป็นประโยชน์ในทางที่ตรง ที่ถูก ที่ควร ตามความมุ่งหมายอันแท้จริง จะเรียกว่าประยุกต์ ก็ประยุกต์โง่ ๆ ประยุกต์เขลา ๆ ประยุกต์ผิด ๆ ไปในทางที่จะเกิดปัญหาใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นมา ไม่เป็นจิตศาสตรา คือตัดปัญหาได้โดยแท้จริง นี่เรากำลังใช้จิตวิทยาก็ดี หรือแม้จะเรียกว่าจิตศาสตร์ก็ได้นี่ ไปในทางหาประโยชน์อย่างโลก ๆ หาความได้เปรียบในโลกนี้ ไม่ได้ใช้ในการแก้ปัญหาของมนุษย์โดยแท้จริง ใช้ไปในทางขุดหลุมฝังมนุษย์ให้จมลึกลงไปในความหลอกลวงความโง่เขลาหรือกิเลส นี่มันไม่ได้ใช้อย่างนี้ ไม่ต้องพูดถึงว่าจะดับทุกข์ไปจนนิพพาน มันไม่ได้ใช้หรอก แม้แต่ใช้เพื่อประโยชน์ตามธรรมดาที่ควรจะมีก็ยังไม่ได้ใช้ เรียกว่าข้อเท็จจริงที่กำลังมีอยู่ในปัจจุบัน เรารู้จักมันน้อย แล้วผิด ๆ ก็มี ไม่รู้เลยก็มี แล้วเอาไปใช้หาประโยชน์ในสิ่งที่ไม่ใช่ประโยชน์ ไม่ได้แก้ปัญหาที่ควรจะแก้ เรื่องบรรลุมรรคผลนิพพานเลยไม่ต้องพูดถึง นี้ขออภัยที่จะพูดว่า เพราะเราไม่รู้จักสิ่งที่เรียกว่านิพพาน ครูบาอาจารย์ทั้งหลายก็สอนลูกศิษย์ในโรงเรียนว่า นิพพานหมายถึงความตาย นิพพานจะได้ต่อตายแล้ว นี่เป็นความผิด ผิด ยิ่งเกินกว่าผิด ในพระพุทธศาสนา นิพพานไม่ได้แปลว่าตาย นิพพานแปลว่าเย็น ความเย็น ภาวะความเย็นได้ที่นี่ เดี๋ยวนี้โดยไม่ต้องตายคือนิพพาน เมื่อเราไม่รู้จักนิพพานอย่างนี้ก็ไม่ต้องการนิพพาน ยิ่งนิพพานได้ต่อตายแล้วก็ยิ่งไม่เอาใหญ่ เลยจิตวิทยาหรือจิตศาสตร์ของเราไม่ได้ใช้เพื่อนิพพานแม้แต่นิดเดียว ขอให้สนใจกันใหม่เถิดว่านิพพานต้องที่นี่และเดี๋ยวนี้ จะได้มาก็เพราะมีความรู้เรื่องจิตอย่างถูกต้อง
ขออภัย พูดถึงครูสักหน่อย ต้องขอประกาศตัว อาตมาก็เป็นครู เพราะว่าทำหน้าที่ตามอย่างพระพุทธเจ้าผู้เป็นบรมครู ในฐานะที่เป็นพุทธทาสทำหน้าที่ของพระพุทธเจ้าอย่างทาส ก็ต้องเป็นครู ต้องขอโอกาสพูดกับครูโดยเปิดเผย โดยตรงไปตรงมา ไม่ต้องโกรธ ว่าครูต้องรู้จิตวิทยาตามหลักแห่งพระพุทธศาสนา จนไม่เป็นทาสของกิเลส ครูยังเป็นทาสของกิเลสมาก มีคนมาบอกอาตมาว่า วันครู ครูกินเหล้ามากที่สุดกว่าวันไหน เพราะวันอื่นไม่ได้ชักชวนกันมากเหมือนอย่างนั้น วันครูนอกจากจะเมาแล้วยังไปซื้อผู้หญิงมาจับฉลากกันด้วย ครูไม่เป็นอิสระถึงขนาดนี้ แล้วมันจะทำหน้าที่ได้อย่างไร ครูต้องรู้น ความเญ็นนบยนย
จิตวิทยาตามหลักของพุทธศาสนาจนไม่ตกเป็นทาสของกิเลส เดี๋ยวนี้ครูยังไม่รู้สิ่งนั้นพอที่จะเป็นครู ที่สามารถเปิดประตูทางจิตทางวิญญาณของมนุษย์โลกได้ มันก็น่าเห็นใจ ครูเป็นลูกจ้างของรัฐบาลทางหนึ่ง แล้วครูก็เป็นลูกจ้างของกิเลสด้วยทางหนึ่ง เป็นลูกจ้างไปเสียทั้งหมด ไม่ได้เป็นปูชนียบุคคล ไม่ได้ทำหน้าที่เปิดประตูทางวิญญาณ มันก็ไม่เป็นปูชนียบุคคล เป็นลูกจ้างรัฐบาล ต้องทำตามมติระบบการศึกษาที่รัฐบาลกำหนดไว้ แล้วเป็นลูกจ้างกิเลสของตน ทำเพื่อรับจ้างกิเลส เอาเงินเดือนไปใช้สนองกิเลสทั้งนั้น โดยเฉพาะครูวัยรุ่น ดูเหมือนจะเป็นอย่างนี้ทั้งหมดเลย ครูยังไม่ได้เป็นอิสระแก่ตน เมื่อไรครูเปลื้องตนเองออกมาเสียจากความผูกพันอันนี้ได้ นั่นแหละจะเป็นอิสระ แล้วจะขนศิษย์ไปได้ ขอใช้คำพิเศษหน่อยว่าขนศิษย์ เหมือนที่พระพุทธเจ้าขนสัตว์ พระพุทธเจ้าท่านขนสัตว์พาไปได้ เดี๋ยวนี้ครูไม่อาจจะขนศิษย์ไปได้ เพราะครูไม่เป็นอิสระแก่ตน ไม่รู้จักบังคับจิตหรือใช้จิตให้ตรงตามความมุ่งหมายของคำ ๆ นี้ หวังว่าเมื่อไร จิตวิทยาจะเป็นความรู้ที่ปรากฎแจ่มแจ้งชัดเจนแก่ครูทั้งหลาย จนครูทั้งหลายเอามันไปใช้เป็นจิตศาสตรา ทำหน้าที่ของตนให้สำเร็จประโยชน์ตามนั้นได้ พูดอย่างนี้มันเป็นการรุกล้ำกระทบกระแทกหรือเปล่า ขออย่าได้คิดอย่างนั้นเลย ได้บอกแล้วว่าอาตมาก็เป็นทาสของพระพุทธเจ้า ผู้เป็นบรมครู เป็นครูเหมือนท่านทั้งหลาย ถือสิทธิโอกาสที่จะพูดตรงไปตรงมา เพราะว่าครูนี่เกี่ยวกับจิตวิทยาในลักษณะอย่างไร
เวลาสิ้นไปครึ่งแล้ว จะขอพูดสิ่งสุดท้ายคือพุทธศาสตร์ เพราะหัวข้อของเราว่า จิตวิทยากับพุทธศาสตร์ ทีนี้จะขอพูดเรื่องพุทธศาสตร์ มันก็อย่างเดียวกันอีกแหละ มันเป็นปัญหาที่คำบัญญัติที่ใช้เฉพาะเข้าใจไม่ตรงกัน จึงต้องยอมเสียเวลา มาพิจารณาถึงความหมายของคำหลายคำที่เราใช้กันอยู่ ที่เกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่าพระพุทธศาสนา ท่านกำหนดหัวข้อว่าพุทธศาสตร์ ไม่ได้กำหนดหัวข้อว่าพุทธวิทยา ท่านกำหนดหัวข้อว่าจิตวิทยากับพุทธศาสตร์ ไม่ได้กำหนดหัวข้อว่าจิตวิทยากับพุทธวิทยา คู่เปรียบมันไขว้เขวกันอยู่ แต่ก็ไม่เป็นไร จะพูดไปตามว่าอะไรมันเป็นอะไรก็แล้วกัน ขอให้ทำความเข้าใจกับคำสำคัญบางคำ ที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับปัญหานี้ คำว่าพุทธศาสตร์ ท่านรู้ไหม ถ้าฟังแต่เสียง อะไรสะกด สอ-นอ สะกด หรือ ศอ-ตอ-รอ สะกด ถ้าพุทธศาสนา พุทธศาสน์ สอ-นอ นี่ก็อย่างหนึ่ง ถ้าพุทธศาสตร์ ศาตระนี่ก็อีกอย่างหนึ่ง มันไม่ใช่อย่างเดียวกัน ถ้ามันเป็นพุทธศาสน์ ศาสนะ พุทธศาสนา มันก็ยังเป็นศาสน์ล้วน ๆ เป็นศาสน์ตามธรรมชาติล้วน ๆ ของพระพุทธศาสนา แต่ถ้ามันเอาไปเป็นพุทธศาสตระ พุทธศาสตรา นั่นมันเปลี่ยนรูปแล้ว มันเป็นสิ่งที่เอาไปประยุกต์ใช้เสียแล้ว เอาพุทธศาสน์ สอ-นอ เอาไปประยุกต์ใช้เป็นพุทธศาสตรา เพื่อทำหน้าที่ตามที่ตัวต้องการจะทำ ดังนั้นพุทธศาสน์ก็คือตัวพุทธศาสนาล้วน ๆ พุทธศาสตระ ศาสตรานี่ก็คือพระพุทธศาสนาที่เอาไปประยุกต์เป็นศาตราสำหรับจะแก้ปัญหา พุทธศาสนะก็คำหนึ่ง พุทธศาสตระก็อีกคำหนึ่ง คนละคำ คนละหน้าที่ คนละลักษณะ พุทธศาสตราเป็นศาสตราอันวิเศษ ของมีคมอันวิเศษที่จะตัดปัญหาทั้งหมดได้โดยแท้จริง ไม่ว่าปัญหาอะไรพร่า ๆ (นาทีที่1:02:17) อย่างนี้ ปัญหาต่ำ ๆ กลาง ๆ สูง ๆ ปัญหาโลก ปัญหาโลกุตระ ปัญหาอะไร ถ้ารู้จักใช้พุทธศาสตราแล้ว มันจะตัดปัญหาทุกอย่างได้ นี่ค่าของสิ่งที่เรียกว่าพุทธศาสตรา
ทีนี้จะให้คำว่าพุทธวิทยาถูกใช้บ้าง พุทธวิทยา มันก็วิทยาว่าด้วยธรรมชาติ พุทธศาสนาหรือพุทธวิทยานี่เป็นเรื่องของธรรมชาติสี่ความหมาย ที่แจงออกให้ง่ายแก่การศึกษา ความหมายที่หนึ่งคือตัวธรรมชาตินั่นเอง ความหมายที่สองคือกฎของธรรมชาติที่มีอยู่ในตัวธรรมชาติ ที่ควมคุมตัวธรรมชาติ ความหมายที่สามหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ ซึ่งเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าเคารพเป็นสิ่งสูงสุด พระพุทธเจ้าเป็นบุคคลสูงสุดแล้วยังมีสิ่งที่พระพุทธเจ้าเคารพ คือหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ อันที่สี่ผลที่เกิดมาจากหน้าที่ ที่หนึ่งตัวธรรมชาติ เป็นสภาวะธรรม ที่สองกฎของธรรมชาติ เป็นสัจจธรรม ที่สามเป็นหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ เป็นปฏิบัติธรรม ที่สี่ผลที่เกิดจากหน้าที่ เป็นปฏิเวธธรรม ธรรมชาติในสี่ความหมายนี้ เป็นพุทธวิทยา เป็นวิทยาที่ว่าด้วยธรรมชาติ ใครรู้แล้วสามารถนำเอามาใช้เพื่อเป็นพุทธศาสตรา
ทีนี้คำว่าพุทธศาสนา คำนี้มีความลับอะไรอยู่หลายอย่าง ให้คำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นพุทธศาสนา นี้มันใช้กันในเมืองไทย ถ้าว่าในอินเดียแท้ ๆ เขาไม่เรียกว่าศาสนา เขาเรียกว่าธรรมะ เรียกว่าพุทธธรรม หรือธรรมะของพระพุทธเจ้า ธรรมะของพระสมณโคดม เรามาเรียกในเมืองไทยว่าพุทธศาสนา นี้มันเป็นเรื่องโลกแล้ว เป็นเรื่องเกี่ยวสิทธิ Authority อะไรต่าง ๆ ที่จะอ้างมึงอ้างกูกันแล้ว กูเป็นพุทธศาสนา สูเป็นศาสนาอื่น อย่างนี้เป็นต้น พุทธศาสนาหรือพุทธศาสน์นี่ เราสมมุติขึ้นใช้เพื่อประโยชน์ทางการเมืองมากกว่า พุทธพจน์คือพระพุทธวัจนะโดยตรงนี่เป็นรากฐาน เป็นพื้นฐาน เป็นส่วนประกอบที่จะมารวมตัวกันเข้าเป็นพุทธศาสน์ หรือเป็นพุทธศาสนา หรือเป็นพุทธศาสตราแล้วแต่ นี่คำว่าพุทธธรรมนั่นแหละเหมาะ พุทธธรรม ธรรมที่เป็นพุทธะ เป็นคำที่ตรงจุดทางภาษาและทางความหมาย ทางตัวจริงหรือสัจจะ และเป็นคำเก่าที่ใช้กันอยู่ในอินเดีย แม้พระพุทธเจ้าท่านก็ใช้คำ ๆ นี้ ท่านเรียกศาสนาของท่านว่า ธรรมะ หรือตัวธรรมะ ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นตถาคต ก็คือเห็นอันนี้ เห็นตัวพุทธธรรมอันนี้ ถ้าไม่เห็นธรรมก็ไม่เห็นตถาคต แม้ว่าเดินสวนทางกัน หรือว่าจะจับจีวรไว้ในมือถืออยู่ก็ไม่ชื่อว่าเห็นตถาคต ถ้าเขาไม่รู้ธรรมะ
มีคำว่าพุทธลัทธิ พุทธลัทธินี้ก็มี แม้จะไม่ค่อยได้ใช้กันนัก หมายถึงลัทธิที่มันจะแก้ปัญหาด้วยปัญญาโดยฉพาะ คำว่าลัทธินี้ขอสงวนความหมายพิเศษ ที่จะระบุถึงหัวใจของตัวศาสนา จะเป็นวัฒนธรรมหรืออุดมคติหรืออะไร ก็มันมีจุดศูนย์กลางที่เป็นตัวลัทธิเข้มข้นด้วยกันทั้งนั้น ลัทธิคำนี้อาจจะใช้ความหมายต่ำ ๆ ไม่น่าดู หรือว่าเป็นผิด ๆ ไปก็ได้ แต่ขอใช้ในความหมายที่กลาง ๆ ว่าพุทธลัทธิ คือลัทธิที่จะแก้ปัญหาด้วยปัญญา เมื่อผู้อื่นเขาจะแก้ปัญหาด้วยศรัทธา ด้วยความเพียรหรืออะไรก็ตามใจเขา ลัทธิเราจะแก้ปัญหาต่าง ๆ ด้วยปัญญา เรียกว่าพุทธลัทธิ ก็มีลักษณะเฉพาะของตัว เป็นพุทธลักษณะ ลักษณะของพุทธบุคคล คือเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เราไม่ค่อยสนใจกันในการจะเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ความหมายของคำ พุทธะ พุทธะสมบูรณ์แล้วมันต้องรู้ รู้แล้วก็ตื่นจากหลับและอวิชชา ตื่นจากหลับแล้วก็เบิกบาน เหมือนดอกไม้ที่บานแต่ไม่รู้โรย ไม่รู้จักโรย การที่รู้แล้วตื่นแล้วเบิกบานนี่เป็นลักษณะของพุทธะ .
ทีนี้ก็มาถึงคำสุดท้ายว่าพุทธภาวะ อาจจะแปลก แล้วมันก็เป็นการไปยืมเอาของพวกอื่นซึ่งไม่ใช่เถรวาทมาด้วย แต่มันก็เป็นสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ที่จะพอมองเห็นได้ ขอให้เรารู้ไว้ด้วยก็ดี สูตรฝ่ายมหายานหลายสูตรสรุปความได้ว่า ชีวิตหรือทุกคน คนทุกคนมีพุทธภาวะอยู่ในตน หมายถึงพืชที่จะงอกงามออกมาเป็นพุทธะ จะเรียกว่าพุทธพีชะ พุทธพืชก็ได้เหมือนกัน เมล็ดพืชที่จะทำให้เป็นพุทธะ มีอยู่แล้วในคนทุกคน ถ้าได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง เหมือนกับเพาะปลูกเมล็ดพืชนั้นให้ดี มันก็งอกงามเป็นต้น เป็นพุทธะออกมา ก็สำเร็จประโยชน์เต็มตามที่มุ่งหวัง พวกมหายานเขายังเติมความแทรกเข้ามาว่า เพาะปลูกพืชแห่งความเป็นพุทธะออกมา เป็นผู้รู้ แล้วไม่รู้อย่างเดียว ต้องตั้งใจที่จะช่วยผู้อื่นด้วย ยังไม่ต้องการจะเป็นพระอรหันต์หรือจะเป็นพระพุทธเจ้า ต้องการจะเป็นโพธิสัตว์ อุทิศชีวิตเพื่อช่วยผู้อื่นด้วย แต่นี่มันก็ไม่แปลกอะไร มันก็บอกอธิบายอยู่ในตัวว่า ถ้าเป็นโพธิสัตว์ มันก็หมายถึงไม่เห็นแก่ตัว ไม่เห็นแก่ตัวเดี๋ยวก็เป็นพระพุทธเจ้าเอง ขอให้เพาะปลูกเมล็ดพืชแห่งความเป็นพุทธะ ที่มีอยู่แล้วให้งอกงามเป็นต้นไม้ขึ้นมา แต่ถ้าเราจะมองดูตามความอิสระของเราเอง เราก็เห็นได้ว่า ในสัญชาตญาณแท้ ๆ สัญชาตญาณล้วน ๆ ของสิ่งที่มีชีวิต มันมีธาตุรู้ ธาตุแห่งความรู้ พุทธธาตุ ธาตุแห่งความรู้อยู่ มันจะเจริญงอกงามออกไปจนกว่าจะถึงที่สุด นี้มันก็เท่ากับมีพุทธพืชอยู่แล้วในชีวิตทุกชีวิต เราควรจะรู้จักมัน แล้วก็เพาะปลูก รดน้ำพรวนดินด้วยสิ่งที่เรียกว่าภาวนา โดยเฉพาะจิตตภาวนา คือการเพาะปลูกพุทธพืช ให้กลายเป็นต้นไม้แห่งพุทธะขึ้นมา พุทธพืชนี้มีอยู่แล้วในทุกคน แต่มันต้องเพาะปลูก ของบางคนไม่ได้เพาะปลูกเลย ปล่อยให้มันงอกไปตามบุญตามกรรม มันเลยกลายเป็นฝ่ายกิเลสไปเสีย ไม่มาเป็นฝ่ายโพธิ อย่างนี้อันตรายมาก ถ้าควมคุมให้ดี เพาะปลูกให้ดี ให้เอียงมาเป็นฝ่ายโพธิ มันก็เป็นโพธิเป็นพุทธะขึ้นมา ดูให้ดีว่าสัญชาตญาณนั้นมันมีสองชนิด ฝ่ายหนึ่งมันเอียงไปทางกิเลส ฝ่ายหนึ่งมันเอียงไปทางพุทธะ ถ้าเอียงไปทางพุทธะก็สำเร็จประโยชน์ตรงตามที่เราต้องการ
นี่มันจะพอแล้วกระมัง ที่ว่าเราจะค้นหาความหมายอันแท้จริงของคำว่าพุทธศาสตร์ ท่านทั้งหลายเสนอหัวข้อขึ้นมาว่าพุทธศาสตร์ ต้องการจะรู้เรื่องพุทธศาสตร์ หรือต้องการจะใช้พุทธศาสตร์ให้เป็นประโยชน์ อาตมาก็ขอร้องให้พิจารณาจากคำเหล่านี้ พุทธศาสตร์ พุทธวิทยา พุทธพจน์ พุทธธรรม พุทธลัทธิ พุทธลักษณะ พุทธพีชะ พุทธภาวะ ให้ได้ความจริง คุณค่าหรือความหมายจากคำแต่ละคำ ๆ เหล่านั้น ทุกคำออกมา เหมือนกับเค้นเอาแก่นสารออกมาทำให้เป็นพุทธศาสตรา พุทธศาสตราถือไว้ในมือแล้วตัดปัญหาได้ทุกอย่าง ขอได้โปรดพิจารณา
ทีนี้ก็อยากจะขอให้ดูต่อไปอีกแง่หนึ่งว่า ตัวแท้ของพุทธศาสนามีลักษณะเป็นวิทยาศาสตร์ นี่มันก็มีปัญหาอีกแหละ เพราะเราให้ความหมายของคำว่าวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ กัน ไม่ตรงกันไม่เท่ากัน คำว่าวิทยาศาสตร์มีความหมายกว้างเกินกว่าที่ลูกเด็ก ๆ เขาจะเข้าใจได้ พออาตมาเอ่ยคำนี้ขึ้นมา ว่าพุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์ไม่ใช่ Philosophy หรือไม่ใช่อื่น ๆนี่ ก็มีคนด่า ด่าอย่างว่าเป็นคนโง่ เขาก็ถามว่า ฟิซิกซ์ เคมี เหล่านี้ก็เป็นพุทธศาสนาไปหมด แล้ววิทยาศาสตร์ที่เด็กเรียนในโรงเรียนก็เป็นพุทธศาสนาไปหมด มันไม่ใช่มีความหมายอย่างนั้น มันหมายถึงหลักเกณฑ์ หรือวิธีการอย่างวิทยาศาสตร์ (เป็นลม ขออนุญาตลบหน่อย เขาไม่เอา ยาดม อาตมาก็พร้อมที่จะเป็นลมอยู่เหมือนกัน มุงกันนัก มุงกันแน่นนัก ให้ห่างหน่อย ให้ได้ลม อากาศหน่อย ให้เฃาไปนอนไม่ดีหรือ ให้โล่งหน่อย อุดแน่นอย่างนี้ พร้อมหรือยัง คุณเปิดทิ้งไว้) (นาทีที่ 1:13:32 57 – 1:15:30)
ก็ขอพูดต่อ ว่าพุทธศาสนาเป็นวิทยาศาตร์ อย่างน้อยก็มีวิธีการที่จะเข้าถึงอย่างวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่ Philosophy วิทยาศาสตร์นั้นต้องมีของจริงไม่ใช่สมมุติฐาน เป็นของจริงมาวางอยู่เฉพาะหน้า พิสูจน์ ทดลอง ค้นคว้า พบมูลเหตุ พบทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องกัน และก็จัดการไปถูกต้องอย่างนี้เป็นวิทยาศาสตร์ ถ้าต้องใช้ความเชื่อหรือสมมุติฐานหรืออื่น ๆ มาเป็นวัตถุแล้วมันใช้ไม่ได้ มันไม่ใช่พุทธศาสนา มันเป็น Philosophy หรือเป็นอะไรไป คำว่าวิทยาศาสตร์มีทั้งทางรูป ทางวัตถุ ทั้งทางจิตใจ ทางนามธรรม ทางสติปัญญากระทั่งถึงความว่าง ความว่างนี่เป็นวิทยาศาสตร์ แต่ถึงอย่างไรก็ดี พุทธศาสนาอาจจะเอาไปพูดให้เป็นปรัชญาก็ได้ เป็น Philosophy ก็ได้ เป็น Logic ก็ได้ เป็นอะไร ๆ ได้ตามที่เขานิยมกัน ได้ทั้งนั้นแหละ แต่ขอให้รู้ว่าโดยเนื้อแท้ตัวแท้มันเป็นวิทยาศาสตร์ แต่ก็มีส่วนที่จะเอาไปทำเป็นอะไรก็ได้ จนเอาไปทำเป็นไสยศาสตร์ เดี๋ยวนี้พุทธศาสนาเป็นไสยศาสตร์เสียมาก น่าเศร้า มันทำโดยไม่เจตนาก็ได้ เช่นว่า ที่บูชาพระพุทธรูปสำคัญ ๆ มันประดับประดาด้วยงาช้าง ด้วยอะไรต่าง ๆ อะไรไม่รู้มากมายเต็มไปหมด พอเด็ก ๆ เข้าใปในสถานที่นั้นมันมีความรู้สึกว่า แหม นี่พระพุทธเจ้าอยู่ในสภาพอย่างนี้ พระพุทธเจ้าอยู่ในท่ามกลางสิ่งแวดล้อมอย่างนี้ กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ กลายเป็นอะไรไปทางโน้น มันกลายเป็นไสยศาสตร์ ทั้ง ๆ มาอ้อนวอนพระพุทธรูปอะไร ให้เด็กเห็น เด็กก็เห็นพระพุทธเจ้าเป็นผู้ประทานสิ่งวิเศษศักดิ์สิทธิ์เป็นแบบไสยศาสตร์ อะไร ๆ เป็นไสยศาสตร์ พุทธศาสนาก็ได้กลายเป็นไสยศาสตร์ พระพุทธรูปที่ไม่เคยมี พุทธกาลไม่เคยมี หกร้อยปีหลังนั้นก็ไม่เคยมี เพิ่งมีก็มี มีเลยเป็นเรื่องของไสยศาสตร์ นี่ก็แปลว่าจะเอาไปทำเป็นไสยศาสตร์ก็ยังได้ แต่เนื้อแท้ต้องเป็นวิทยาศาสตร์ เหตุผลโดยตรงจากการที่เหตุกระทบไปถึงผล ให้ได้ผลตามที่เราควรจะได้ นี่ลักษณะของวิทยาศาสตร์
ขอให้เกี่ยวข้องหรือให้ศึกษาให้กระทำแก่พระพุทธศาสนา ในลักษณะที่เป็นวิทยาศาสตร์ วิธีการนั้น ๆ ก็เรียกว่า จิตตภาวนา มีหลายรูปแบบ เป็นจิตตภาวนา เป็นการพัฒนาจิต จนกระทั่งจิตอยู่เหนือโลก จิตหลุดพ้นคืออยู่เหนือโลก เป็นโลกุตระ แต่ก็น่าเศร้าที่คำว่าโลกุตระนี้ เป็นคำที่ถูกเข้าใจผิดยิ่งกว่าคำใด ๆ มันไปอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ โลกไหนก็ไม่รู้ ข้างบนที่ไหนก็ไม่รู้ เมืองไหนก็ไม่รู้ นครไหนก็ไม่รู้เป็นโลกุตระ นี่มันเป็นการผิดและให้ผลร้ายแก่พุทธศาสนาอย่างยิ่ง โลกุตระนี้เป็นชื่อของสภาพของจิต จิตที่มีสภาพอยู่เหนือปัญหาในโลกนี้ จิตอยู่ในโลกนี้ คนนั้นยังอยู่ในโลกนี้ แต่อยู่เหนือปัญหาทุกอย่างในโลกนี้ อยู่เหนืออิทธิพลของทุกสิ่งที่มีอยู่ในโลกนี้ นี่คือโลกุตระ และก็ไม่ต้องรอต่อตายแล้ว และก็ไม่ได้ไปอยู่ที่โลกอื่นโลกไหน อยู่ในโลกนี้อย่างอยู่เหนืออิทธิพลทุกอย่างทุกประการของสิ่งต่าง ๆ ที่มีอยู่ในโลกนี้ จะเป็นตัวปัญหาก็ดี เป็นตัวความทุกข์ก็ดี จิตมันอยู่เหนืออิทธิพลของสิ่งเหล่านี้ พูดอย่างวิทยาศาสตร์มันก็ว่า เหนือความเป็นบวกเหนือความเป็นลบ เขาก็ด่าอีกแล้ว คำวิทยาศาสตร์เอามาใช้กับพุทธศาสนา ที่จริงมันเป็นเรื่องเดียวกัน ความไม่ยินดียินร้ายที่พุทธศาสนาต้องการให้ละอย่างยิ่ง ภาษาเฉพาะที่พระพุทธเจ้าท่านใช้ ท่านเรียกว่า อภิชฌาและโทมนัส สติปัฏฐานเจริญแล้วนำออกจะได้ซึ่งอภิชฌาและโทมนัสในโลก อภิชฌาคือความเป็นบวก ต้องการจะเอาเข้าไป โทมนัสคือความเป็นลบ ต้องการจะทำลายล้างเสีย ไม่มีความรู้สึกว่าเป็นบวกหรือเป็นลบนั่นแหละคือโลกุตระ จิตขึ้นไปได้ถึงขนาดนั้น ถ้าได้รับการภาวนา คือพัฒนาที่ดี เดี๋ยวนี้ปัญหาก็ว่า ชาวโลกนี้มันโง่หลงบวก หลง Positivism จนเป็นบ้าเป็นหลัง พัฒนาแต่ในแง่ของบวก บวก บวก บวก จนไม่รู้จะอยู่กันอย่างไร ปัญหาเกิดขึ้นมาในโลกก็เพราะว่า มนุษย์ในโลกมันหลงบวก หลง Positivism พร้อมกันนั้นมันก็เกลียดตัว Negativism จนเป็นบ้าจนเป็นอาณาจักรแห่งความกล้ว มันก็เลยเป็นโทษทั้งฝ่ายบวกและฝ่ายลบ ถ้าไม่มีทั้งบวกและลบนั่นแหละคือผลสุดท้ายของพระพุทธศาสนา เป็นโลกุตระ หน้าที่ของเราก็ต้องมีพุทธวิทยา จนสร้างพุทธศาสตราขึ้นมาให้ถูกวิธี เราก็จะได้จิตที่อยู่เหนือโลก เหนือบวกเหนือลบ เหนือความเป็นบวกเป็นลบที่มีอยู่ในโลก เป็นพุทธศาสตร์สูงสุด ท่านไปคิดเอาเองที่จะเปรียบกันเข้ากับคำว่า จิตวิทยาและพุทธศาสตร์
เอาละ อาตมาจะต้องขอสรุปความในที่สุดว่า สงสัยอยู่ว่า ผู้ฟังจะเข้าใจหรือไม่ ก็แล้วแต่ ความจริงมันมีอยู่อย่างนี้ มันก็ต้องพูดอย่างนี้ เรามันใช้คำพูดที่มีความหมายไม่ตรงกัน คำพูดคำเดียวที่ความหมายมันไม่ตรงกันอยู่ตลอดเวลา ในทุกแขนงวิชาก็ว่าได้ แล้วมันก็ยืนยันความเห็นของตัว ก็ได้ทะเลาะกัน แล้วก็มีวิชาสำหรับทะเลาะกัน เข้าใจไปคนละแง่ละมุม แก่กล้าในวิชาของตนสำหรับทะเลาะกัน เมื่อความคิดเห็นมันผิดกันหรือมันขัดแย้งกัน ใครพอใจจะบัญญัติคำพูดอย่างไรก็บัญญัติ จนคำพูดนี้มันมาก ๆ เหลือที่คนทั้งหลายเขาจะเข้าใจตรงกันได้ มันก็เลยเฟ้อสำหรับที่จะปนเปฟั่นเฝือกัน บางทีคำไทย บัญญัติเป็นคำไทยแต่ความหมายอย่างต่างประเทศ บางทีใช้คำต่างประเทศ ก็มีความหมายอย่างไทย คำว่าพุทธะนี้คำเดียว ความหมายอย่างโลก ๆ ในภาษาคนก็มี ความหมายสูง ๆ ในทางภาษาธรรมก็มี พุทธะสำหรับเด็ก ๆ ก็เป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ ที่มีชีวิตเดินไปมาอยู่ในอินเดียเมื่อสองพันกว่าปีมาแล้ว นี่แหละพุทธะ ในฐานะภาษาคนเด็ก ๆ ถ้าพุทธะในภาษาธรรมก็คือตัวธรรมะ ที่ว่าผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต ผู้ใดเห็นตถาคต ผู้นั้นเห็นธรรม ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต พระบาลีมีอยู่อย่างนี้
ภาษาคนกับภาษาธรรมนี้สำคัญที่สุด เพราะว่าพระพุทธเจ้าท่านก็พูดหรือตรัสทั้งภาษาคนและภาษาธรรม เมื่อท่านพูดตามธรรมดากับคนธรรมดา ท่านก็พูดภาษาคน แต่ถ้าจะพูดธรรมะชั้นสูงท่านก็พูดภาษาธรรม คือภาษาความจริง ก็เลยเป็นอันว่าพระพุทธเจ้าตรัสทั้งภาษาคนและภาษาธรรม ถ้าท่านตรัสภาษาคน ท่านก็ตรัสว่า ตนเป็นที่พึ่งแก่ตน ตรัสภาษาธรรมว่า ตนมันไม่มี ตนมันไม่ใช่ตน นี่เป็นภาษาธรรม ถ้าไม่รู้ก็หาว่าพระพุทธเจ้าตรัสไม่คงเส้นคงวาหรือไม่จริง ก็ไม่รู้ความหมายสองภาษา คือภาษาคนและภาษาธรรม มีคนคัดค้านว่า เอามาพูดให้ลำบาก ให้ยุ่งยาก ให้หลายภาษา ภาษาบ้า ๆ บอ ๆ อะไรก็ไม่รู้ อาตมาขอยืนยันว่า มันจำเป็นที่สุดที่ท่านจะต้องรู้ทั้งภาษาคนและภาษาธรรม ในศาสนาทั้งหลายทุกศาสนา ตั้งแต่ดึกดำบรรพ์มา มีการพูดทั้งภาษาคนและภาษาธรรม ที่พูดว่าพระเจ้าสร้างโลก นี่มันก็เป็นเรื่องภาษาคน สำหรับคนธรรมดาฟัง พูดว่ามันเป็นไปตามอิทัปปัจจยตา ก็เป็นภาษาธรรม คนธรรมดาฟังไม่รู้เรื่อง จะขอยกตัวอย่างที่น่าสนใจอีกสักเรื่องหนึ่งว่า ศาสนาคริสเตียนคริสตังนี่ มันสูงสุดถึงขนาดที่ว่าเหนือบวกเหนือลบนะ แต่พูดอย่างนั้นมันไม่เข้าใจนี่ ผู้พูดก็ต้องพูดอย่างธรรมดา อย่างที่เรียกว่าธรรมดา รักผู้อื่น รักผู้อื่น ไปเปิดดูคัมภีร์ไบเบิล หน้าแรก ๆ ตอนแรกสร้าง พระเจ้าสร้างโลกขึ้นมา ก็สั่งผัวเมียคู่แรกที่สร้างขึ้นมาว่า แกอย่ากินผลไม้ต้นที่ทำให้รู้ดีรู้ชั่ว ถ้าแกกินเข้าไปแกจะตาย นี่ก็หมายความว่า ความมุ่งหมายของศาสนาต้องการให้อยู่เหนืออิทธิพลของชั่วและดี อยู่เหนือชั่วเหนือดีเหมือนกัน แต่คนมันฟังไม่ถูก มันก็ไม่ได้ปฏิบัติตามนั้น พระเจ้าสั่งไว้ประโยดเดียวเท่านั้นแหละ เด็ดขาดประโยคเดียว อย่ากินผลไม้ที่ทำให้รู้ดีรู้ชั่ว กินเข้าไปจะต้องตาย คือทุกข์ มันเป็นภาษาธรรมเหลือประมาณ คนฟังไม่ถูก ก็ไม่มีใครสนใจ มันก็มาเน้นในแง่บวกว่า รักผู้อื่น รักผู้อื่น ก็เป็นไปในทางความดี ไปยึดมั่นในความดี จนอธิบายว่า God นั้นคือจุดสูงสุดของความดี ถ้าอย่างนี้มันลดค่าลงไปหมด ไม่ได้อยู่เหนือชั่วเหนือดี อาตมาเคยไปถามเพื่อนที่เป็นคริสตังคริสเตียนว่า คุณเข้าใจประโยคนี้ว่าอย่างไร เขาบอกว่าไม่ได้สนใจ และให้ความหมายแก่ข้อความตอนนี้ว่า เพียงแต่มีคนดื้อเกิดขึ้นเป็นคนแรกเท่านั้น ให้ความหมายเท่านั้น ไม่สนใจกับอยู่เหนือบวกเหนือชั่วเหนือดีคืออะไร ก็เลยไม่ได้หัวใจที่สูงสุดของศาสนาคริสเตียน ลดลงมาอยู่แค่ดี ดี ดี และอยู่กับพระเจ้าซึ่งเป็นที่รวมแห่งความดี รักผู้อื่น ในแง่ของความดี ลดต่ำลงมาอยู่ที่ความดี ไม่เหนือชั่วเหนือดี นี่เพราะว่าไม่เข้าใจภาษาธรรม ไม่อาจจะเข้าใจภาษาธรรม ผู้วางหลักศาสนา รู้ภาษาธรรม ตั้งใจจะพูดอย่างภาษาธรรม ก็ไม่สำเร็จประโยชน์ มากมายหลายประเด็นหลายข้อในคัมภีร์ต่าง ๆ ที่พูดไว้ในภาษาธรรมไม่เข้าใจในภาษาคน มายึดถืออย่างภาษาคน มันก็เป็นเรื่องคนละเรื่องไปหมด ฉะนั้นขอให้ตีความอย่างภาษาธรรมกันให้ถูก ให้ครบให้ถ้วนตามที่มี เรื่องนรก เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย โอปปาติกะหรืออะไรเหล่านี้ก็เหมือนกัน เข้าใจในภาษาคนก็ไปอย่างหนึ่ง เข้าใจในภาษาธรรมก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง จึงเลือกเอาว่าอย่างไหนมีประโยชน์ จงถือเอาอย่างนั้นเถิด เอาที่มันจะเป็นประโยชน์ดับทุกข์ได้ ไม่ต้องไปยืนยันตามตัวหนังสือแล้วทะเลาะกัน
นี่ขอให้แก้ปัญหาอุปสรรคที่มันกีดขวางอยู่ ที่ทำให้เราไม่ได้รับประโยชน์เต็มที่จากวิชาความรู้เหล่านี้ จากจิตวิทยาก็ตาม จากพุทธวิทยาหรือพุทธศาสตราอะไรก็ตาม มีปัญหาที่คำพูดมันไม่พอใช้ คำพูดมันหลอกลวง คำพูดมันกำกวม คำพูดมันไม่ตรงกัน จงแก้ปัญหาเหล่านี้ พยายามปรึกษาหารือทำความเข้าใจกันในข้อนี้ให้มาก ในที่สุดจะพบจุดเดียวกันว่า เลิกโง่ว่าจิตเป็นตัวตน หัวใจพุทธศาสนามีเท่านั้น เลิกโง่ว่าจิตเป็นตัวตน ให้จิตเป็นเพียงธาตุตามธรรมชาติ เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยของมัน ฉะนั้นเราจึงมีจิตชนิดที่ไมใช่ตัวตน หรือว่าเรามีตัวตนชนิดที่มิใช่ตัวตน บ้าหรือดี เรามีตัวตนชนิดที่ไม่ใช่ตัวตน เรามีของ ๆ ตน ชนิดที่ไม่ใช่ของ ๆ ตน คำพูดนี้มันบ้าหรือดี ถ้าใครว่าบ้า คนนั้นมันบ้าเอง มันไม่ใช่คำพูดที่บ้า มันเป็นคำพูดที่จริง เป็นตนซึ่งมิใช่ตน เป็นตนซึ่งโดยแท้จริงมิใช่ตน มีของตนซึ่งแท้จริงมันมิใช่ของตน มันของธรรมชาติ ที่เป็นไปตามกฎอิทัปปัจจยตา ทั้งสิ่งที่เรียกว่าตัวตนและของตน เห็นไหม ถ้าเราเลื่อนสิ่งที่เรียกว่าจิตดี มันจะแก้ปัญหาได้
เรื่องจิตวิทยาในความหมายที่เป็นวิทยาว่าด้วยความจริงเรื่องของจิตนี่ประเสริฐที่สุด แต่เดี๋ยวนี้มันเอาไปใช้เป็นภาษาสำหรับหลอกลวง เล่นจิตวิทยา ใช้จิตวิทยาเพื่อหลอกลวง เพื่อเอาประโยชน์ หมดเลย ใช้คำว่าจิตวิทยาเป็นคำเสียหายเลย เป็นคำพิเศษหรือวิเศษถ้าจิตวิทยาคือรู้เรื่องจิตดี รู้เรื่องจิตถูกต้อง รู้เรื่องจิตครบถ้วน สามารถใช้จิตให้ทำประโยชน์ให้แก่มนุษย์สูงสุดถึงที่สุดได้จริง ๆ ขอให้ท่านทั้งหลายรู้จักจิตวิทยาในแง่นั้น แล้วก็รู้จักพุทธศาสตร์ในแง่ที่ว่าเป็นความรู้ซึ่งมีอยู่ในสิ่งที่เรียกว่าจิตตามธรรมชาติ โดยสัญชาตญาณก็มีธาตุแห่งความรู้ ธาตุที่อาจจะรู้ ธาตุที่อาจจะเป็นพุทธะ เราก็รู้จักพุทธภาวะหรือพุทธพืช ที่มันมีอยู่แล้วในจิต ขอจงได้ปลูกเพาะเหมือนกับปลูกต้นไม้ให้งอกงามขึ้นมาเป็นพุทธศาสตราก่อน แล้วจึงจะเป็นพุทธลักษณะ เป็นพุทธอะไรเต็มที่ ได้รับผลสูงสุดตามหลักแห่งพระพุทธศาสนา ขอให้เข้าใจคำสองคำที่ตั้งขึ้นมาอย่างถูกต้อง ว่าจิตวิทยาคืออะไร พุทธศาสตร์คืออะไร แล้วท่านก็จะทำให้มันกลมกลืนกันได้ เกี่ยวพันกันได้ พัฒนาไปด้วยกันได้พร้อมกัน วิทยาเป็นความรู้ ศาสตราเป็นอาวุธ โดยใช้ความรู้นั้นเป็นอาวุธ ถ้าเราใช้คำว่าวิทยาเป็นความรู้พื้นฐานโดยบริสุทธิ์ ถ้าเราใช้คำว่าศาสตร์หรือศาตราหมายความว่าได้เอาความรู้มาทำให้เป็นอาวุธสำหรับตัดปัญหา คำว่าวิทยากับคำว่าศาสตร์ โดยแท้จริงมันต่างกันอย่างนี้ เราอาจจะพูดได้ว่าจิตวิทยาก็ได้ จิตศาสตร์ก็ได้ จะพูดว่าพุทธวิทยาก็ได้ พุทธศาสตร์ก็ได้ มันเป็นวิทยาอย่างไร มันเป็นศาสตร์ได้อย่างไร รู้มันให้ถึง ใช้มันตามที่เราต้องการ ในที่สุดวิทยานั้นจะต้องกลายมาเป็นศาสตรา มันเป็นศาสตราแล้วก็ตัดปัญหาคือความโง่ รู้ตามที่เป็นจริงแล้ว ก็อยู่เหนือปัญหาโดยประการทั้งปวง ไม่เป็นมนุษย์ที่ทนอยู่ในกองทุกข์อีกต่อไป ขึ้นถึงจุดสูงสุดของความเป็นมนุษย์ จะเรียกว่าพระอรหันต์หรืออะไรก็ตามทีเถิด แต่ว่าเป็นจุดสูงสุดของความเป็นมนุษย์ ศาสตราเป็นของมีคม มันต้องตัดอะไรได้ ถ้ามันไม่มีคม มันก็มิใช่ศาสตรา หรือถ้ามันมีคมแต่มันไม่ได้ตัด หรือมันตัดไม่ได้ มันก็ไม่ใช่ศาสตรา คำว่าศาสตร์หรือศาสตรานี้ต้องตัดปัญหาได้ เราจงรู้จักใช้แก้ปัญหาของเราได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับความเป็นครู
อาตมาขอร้องว่าขอให้คุณครูทั้งหลาย เป็นคุณครูสองสังกัดเถิด สังกัดหนึ่งอยู่กับกระทรวงศึกษาธิการ สังกัดหนึ่งอยู่กับพระพุทธเจ้าผู้เป็นบรมครู นี่ขอให้ครูเป็นข้าราชการสองสังกัด แล้วจะหมดปัญหา จะเป็นครูที่สามารถยกวิญญาณของสัตว์โลกให้สูงขึ้นได้จริง ด้วยการเปิดประตูให้มันออกมาสู่แสงสว่าง ตามธรรมดามันอยู่ในคอกทื่มืด ที่เหม็น ที่ร้อน ที่สกปรกทุกอย่าง ไม่น่าอยู่ เปิดประตูให้มันออกมาเสียจากคอกเหล่านั้นได้ คือคำว่าครู ขอให้พอใจคำว่าครู ในภาษาอินเดียโบราณ คำว่าครูนี้สูงสุดยิ่งกว่าคำว่าอาจารย์ ยิ่งกว่าคำว่าอุปัชฌายะเสียอีก วรรณคดีอินเดียไปอ่านดู จะพบว่าอาจารย์หรืออุปัชฌาย์นี่ใช้กับวิชาชีพก็ได้ แต่คำว่าครูนี่ไม่เคยใช้เลย ใช้แต่เรื่องทางจิตทางวิญญาณทั้งนั้น เขาจึงยึดถือคำว่าครูเป็นคำสูงสุด เดี๋ยวนี้ครูของเราไม่อยากให้ใครเรียกครู อยากให้เรียกว่าอาจารย์ มันถอดตัวเองลงมาเท่าไรก็ไม่รู้ นี่ขอให้เข้าใจคำว่าครู ครูซึ่งเป็นคำสูงสุดอยู่กระทั่งเดี๋ยวนี้ในประเทศอินเดีย คำนี้สูงสุด ขอให้ได้เป็นครูสมตามความหมายของคำว่าครูด้วยกันจงทุก ๆ ครูเถิด
อาตมาก็เห็นว่าสมควรแก่เวลาแล้วก็หมดแรงพูด ก็ต้องยุติการบรรยายในวันนี้ไว้เพียงเท่านี้ ขอให้ทุกคนพยายามจับความหมายของคำว่าจิตวิทยา และความหมายของคำว่าพุทธศาสตร์ให้ลึกถึงหัวใจของมัน จะรู้จักมันดีและจะเอามาทำให้เป็นศาสตราได้ด้วยกันทั้งนั้น ทั้งจิตวิทยา ทั้งพุทธวิทยา เอามาใช้ทำให้เป็นศาสตรา ตัดฟันปัญหาความทุกข์ให้กระจุยกระจายหายไป ขอยุติการบรรยายด้วยความหวังว่าท่านทั้งหลายจะมีความกล้าหาญ เป็นอิสระในการที่จะปฏิบัติให้บริสุทธิ์ ให้ถูกต้อง ไม่เห็นแก่หน้า ไม่เห็นแก่อคติใด ๆ แล้วมีความเจริญงอกงามในหน้าที่การงานของความเป็นครู เป็นสุขอยู่ทุกทิพาราตรีกาลเทอญ