แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เนื่องจากมีเวลามาก ก็จะได้พูดให้มันละเอียดหน่อย ให้เข้าใจเรื่องนั้นๆดีเต็มที่ โดยเฉพาะในวันนี้ ก็คือเรื่อง สมาธิ เฉยๆ ส่วน สมาธิภาวนา หรือ อานาปานสติ นั้น พูดในวันหลัง เพราะเรื่องมันมากนั่นเอง เมื่อครูจะสอนเรื่องสมาธิ ก็ควรจะรู้เรื่องสมาธิให้มันครบถ้วน นั่นคือว่าสมาธิตามธรรมชาติ โดยสัญชาตญาณในชีวิตไม่ต้องศึกษานั้นมีอยู่พวกหนึ่ง แล้วก็สมาธิที่ได้ทำให้เจริญ ได้ฝึกได้ทำโดยมนุษย์ให้มันเจริญขึ้นกว่าธรรมชาติ มากกว่าสัญชาตญาณนั้นก็มีอยู่พวกหนึ่ง แต่มันก็เรียกว่าสมาธิเหมือนกัน เราเรียนกันเรื่องสัญชาตญาณ เรื่องมีตัวตน เรื่องหาอาหาร เรื่องต่อสู้นี้ไปสืบพันธุ์ หากเป็นสัญชาตญาณก็ช่างเถอะสัญชาตญาณ แต่ไม่ค่อยมารู้กันถึงเรื่อง สัญชาตญาณที่เกี่ยวกับคุณสมบัติที่มีค่าต่างๆนั่น ว่ามีอยู่อย่างไร
จะพูดกันถึงสมาธิตามสัญชาตญาณก่อน ขอให้ผู้ศึกษาหรือนักเรียนก็ตามสังเกตดูว่า ทำไม ลิง ค่าง มันจึงกระโดดได้แม่นยำจากกิ่งนี้ไปสู่กิ่งนั้น มันทำด้วยอำนาจอะไร หรือว่านก มันบินไปได้ในช่องแคบๆ เลี้ยวได้อะไรได้ ด้วยอำนาจอะไร หรือปลาบางชนิดมันสามารถพ่นน้ำให้ถูกแมลงที่บินอยู่หรือเกาะอยู่ ให้ตกลงมาแล้วกินเสีย อย่างนี้ก็ได้ นี่มันทำด้วยอำนาจอะไร ถ้ารู้ก็จะรู้ว่ามันทำด้วยอำนาจสมาธิที่มีอยู่ตามสัญชาตญาณของสัตว์นั้นๆ ไม่ต้องให้ใครมาสอนมัน มันก็ทำได้ จึงเรียกว่าสัญชาตญาณ นี่เรียกว่าเราก็ไม่ค่อยจะได้คิดถึงว่ามันเป็นสมาธิ ที่จริงมันตั้งต้นมาจากสมาธิชนิดนั้น ทำไมเด็กๆมันก็เล่นหยอดหลุม ทอยกอง โยนลูกนั้นได้แม่นยำ ลงหลุมลงบ่อ หรือถูกกันอะไรกัน มันทำด้วยอำนาจของอะไร เด็กๆยังทำได้ หรือว่าเด็กๆมันจะขว้าง ขว้างแม่น ยิงหนังสติ๊กหรือขว้างก้อนอิฐก้อนหินอะไรก็ตาม ทำไมมันจึงขว้างถูกต้อง กระทั่งว่าคนจะยิงปืน อย่างแม่นยำถูกเป้าหมายนี่ มันทำด้วยอำนาจอะไร มันทำด้วยอำนาจสมาธิตามสัญชาตญาณ เราจึงให้ชื่อว่าสมาธิเงียบ มีตามสัญชาตญาณ มีอยู่เป็นพื้นฐานแห่งสิ่งที่มีชีวิตจิตใจ ไม่อย่างนั้นมันทำแบบนั้นไม่ได้ ทำอย่างที่ว่ามาแล้วไม่ได้ แต่นี่มันทำได้ ด้วยอำนาจสมาธิชนิดนี้
ทีนี้ก็ดูว่า สมาธิตามธรรมชาติหรือตามสัญชาตญาณนี่ มันจำกัดอยู่เพียงเท่านั้น มันไม่พอที่จะใช้ในการงานที่สูงขึ้นไปสูงขึ้นไป มนุษย์ที่เจริญแล้ว พ้นจากความเป็นคนป่าครึ่งลิงครึ่งคนมาแล้ว มันก็เริ่มสังเกตเห็น ว่าจิตนี่ฝึกได้ มันจึงมีพวกฝึกอย่างนี้ไปฝึกกันเต็มที่ตามป่าตามเขา เป็นมุนี ฤๅษี ชีไพร อะไรก็ตามก็เริ่มฝึกสมาธิกัน ก็ได้สมาธิชนิดที่ฝึกแล้ว อบรมแล้ว ทำให้มากกว่าสัญชาตญาณแล้ว มาใช้อีกพวกหนึ่ง ในระดับแรกๆอย่างนั้นก็ได้เท่านั้น ยังไม่ถึงกับว่าเป็นวิปัสสนา คือตัดกิเลสบรรลุมรรคผลนิพพาน มันก็ยังไม่ใช่ เราจึงแยกสมาธิออกเป็น ๒ ชนิดอย่างนี้ ตั้งแต่ก่อนพุทธกาล เขาก็ทำสมาธิชนิด รูปฌาน และ อรูปฌาน ได้สำเร็จ ซึ่งนับว่าก้าวหน้ามากที่สุดเลย ที่ทำสมาธิได้ทั้งรูปฌาน ๔ และอรูปฌาน ๔ ปรากฏว่าพระพุทธเจ้าก็ได้ไปเรียนไปศึกษา เนวสัญญานาสัญญายตนะ คือสมาธิชั้นสูงสุด จากอุทกดาบสรามบุตร ซึ่งพระอาจารย์เหล่านั้นถือว่านี่จบเรื่องของจิตใจ หากทำได้อย่างขนาดว่าไม่รู้สึกอะไร มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่ เป็นอยู่ก็มิใช่ ตายแล้วก็มิใช่ นี่จบแล้ว ทำอย่างนี้ก็เป็นสุขที่สุดสูงสุดแล้ว พระพุทธเจ้าท่านไม่ยอมรับว่ามันสูงสุดสำหรับหน้าที่ของมนุษย์ในการที่จะดับทุกข์ ท่านจึงปลีกตัวไปจากสำนักนั้น นี่ขอให้คิดดูเถิดว่า แม้แต่ก่อนพุทธกาลเขาก็ทำสมาธิกันสูงสุด จนถึงกับสัญญาเวทยิตนิโรธ แต่มันเป็นชนิดที่มีอาสวะ คือไม่ตัดกิเลส สัญญาเวทยิตนิโรธในพุทธศาสนาชั้นหลังนี่ ไม่มีอาสวะ ตัดกิเลส
ทีนี้ก็มาดูคำว่า สมาธิ ฝึกสมาธิ ทำอย่างไร มีความหมายอย่างไร ในตัวหนังสือแท้ๆมันก็จะได้ว่า ตั้งมั่น ตั้งมั่นอย่างสม่ำเสมอ คำพูดว่าสมาธินั้นมันแปลว่า ตั้งมั่นอย่างสม่ำเสมอ ทีนี้เขาจะฝึกกันอย่างไร มันก็มีหลักที่ทั่วไปเลย ว่าต้องมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งสำหรับให้จิตกำหนดลงไปที่สิ่งนั้น เพื่อให้จิตมันไม่กระจัดกระจาย ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่เที่ยวรับอารมณ์ แปดเปื้อนอารมณ์ จึงเกิดคำขึ้นมาอีกคำหนึ่งว่า โยคะ โยคะ ภาษาคนธรรมดาก็คือว่า เอาวัวหรือเอาควายเอาสัตว์อะไรมาผูกกับแอก ให้มันติดกับแอก ให้มันลากไป คำว่าโยคะ ให้ชาวบ้านเอามาใช้กับเรื่องทางจิตใจ คือมีอะไรเป็นอารมณ์ ที่เรียกว่านิมิตถึงอารมณ์ สำหรับให้จิตผูกติดอยู่กับสิ่งนั้น ก็เลยเรียกว่าโยคะด้วยเหมือนกัน ฝึกสมาธิ ทำจิตให้เป็นสมาธิ ก็เรียกว่าโยคะ คนฝึกชนิดนี้เรียกว่าโยคี โยคะ คือระบบการกระทำ ผูกจิตไว้กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ผู้กระทำเช่นนั้นเรียกว่าโยคี ทีนี้สิ่งที่ทำให้จิตกำหนดเป็นอารมณ์เป็นนิมิตน่ะมีมาก เป็นอะไรก็ได้ ถ้าจิตกำหนดได้ก็ใช้ได้ทั้งนั้น ถ้ามันเป็นของที่ละเอียดได้มาก จิตก็เป็นสมาธิชนิดละเอียด ถ้ามันเป็นชนิดนามธรรม มันก็ไม่แน่วแน่ถึงกับเป็นอัปปนา เพราะว่ามันมีการกำหนดที่มันไม่แน่วแน่ลงไปได้ ไม่เหมือนกับกำหนดดวงไฟ หรือกำหนดซากศพ หรือกำหนดอะไรอย่างนี้มันเจาะจง มันง่ายดี จิตก็เป็นสมาธิลึกกว่า จึงได้ความว่าหากเขาใช้สิ่งต่างๆหลายๆสิ่งเป็นอารมณ์ของสมาธิแปลกๆๆ เหลือๆหลงเหลือติดมาอยู่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ ชั้นหลังในพระพุทธศาสนานี่ก็มี หรืออธิบายมากออกไป อย่างในคัมภีร์ชั้นหลังๆมาอีกก็มีก็มากออกไป อารมณ์หรือนิมิตของสมาธิ แต่ถึงอย่างไรก็ดี มันก็ได้มีคนบางคนหรือบางพวก รู้จักใช้สิ่งที่ดีที่สุด ที่มาพ้องกับที่เราใช้กันอยู่ในพุทธศาสนา คือ ลมหายใจ ลมหายใจในอินเดียสมัยโบราณเขาเรียกว่า ปราณ ปราณคือลมหายใจ เป็นชีวิตที่เข้าออกเข้าออก เรียกว่าปราณ เขาก็เลยเอาสิ่งนี้ที่เรียกว่าปราณหรือลมหายใจเนี่ยเป็นอารมณ์ของการฝึกสมาธิ แต่ไม่ใช่ว่าแบบอานาปานสติสมบูรณ์อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสนะ มันเป็นการกำหนดลมหายใจวิธีกำหนดอย่างโบราณ ก่อนหน้านั้นมากมาย เขาเรียกว่ากำหนดลมหายใจ บังคับลมหายใจ เหมือนกัน ปราณายามะ อายามะนี่แปลว่าควบคุม ปราณคือปราณ ควบคุมปราณ เท่าที่สังเกตได้จากคัมภีร์ที่มันมีชั้นหลังๆในอินเดีย ปราณายามะนี่มีไม่รู้กี่สิบแบบ การควบคุมลมหายใจเนี่ย เขาควบคุมตามแบบของทางนั้นๆ ตามแบบของทางนั้นๆ ตามแบบของทางนั้นๆ เหลืออยู่มาจนกระทั่งพระพุทธเจ้าเกิด เดี๋ยวนี้ก็ยังมีอยู่ในอินเดีย ก็จะฝึกเฉพาะปราณายามะกันก็มี เพื่อสุขภาพ เพื่ออนามัย เพื่อความคิดแจ่มใส เพื่อจิตมั่นคงก็มี เรียกว่าปราณายามะ คือบังคับปราณหรือลมหายใจ ทีนี้เราอ่าน ค้นพบแบบนี้ ปราณายามะ ที่เรียกว่า อานาปานสติ ตามหลักพุทธศาสนา ในพระไตรปิฎก ในคัมภีร์มัชฌิมนิกาย อธิบายไว้อย่างละเอียดใน ปฏิสัมภิฐทามะ แล้วก็รู้สึกว่าถูกต้องพอใจสมบูรณ์ เราเปิดใช้คำว่าสติปัฏฐาน ๔ เหมือนกัน เมื่อทำอานาปานสติ ๔ หมวด หมวดละ ๔ ขั้น ๑๖ ขั้นแล้วก็ได้ชื่อว่ามีสติปัฏฐาน ๔ สมบูรณ์ เอามาใช้เป็นแบบของเรา ห้ามเรียกว่าแบบสวนโมกข์ มันจะโกหกหลอกลวงหรือตู่ มันไม่ใช่แบบของสวนโมกข์ มันแบบของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่แบบอาจารย์นั้นไม่ใช่แบบอาจารย์นี้ ไม่เกี่ยวกับแบบลังกา แบบพม่า แบบธิเบตอะไรหมด จะต้องขอเรียกว่าแบบอานาปานสติของพระพุทธเจ้า ที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสแนะนำให้ภิกษุปฏิบัติแบบนี้ ได้ทรงยืนยันว่าการตรัสรู้ของพระองค์ก็มีด้วยอานาปานสติภาวนา อย่าใช้คำว่าแบบสวนโมกข์ จะเป็นเรื่องตู่หรือโกหก ไม่ใช่แบบสวนโมกข์ มันแบบของพระพุทธเจ้า ใช้กำหนดลมหายใจล้วนๆ ฝึกพลิกแพลง พลิกแพลงต่างๆจนได้ถึง ๔ หมวด หมวดละ ๔ ขั้น เป็น ๑๖ ขั้น แล้วก็ให้เกิดสมาธิที่ดีเลิศ คือสมาธิที่จะเป็นวิปัสสนาไปในตัว ตัดกิเลสไปในตัว ไม่ต้องทำหลายแบบหรอก แบบอานาปานสติให้ตลอดไปนั้น มันก็จะเป็น ศีล สมาธิ ปัญญา ครบถ้วน
ทีนี้แบบมหาสติปัฏฐานนั้น เขาก็เรียกว่าสติปัฏฐาน ๔ แล้วก็ หมวดกายเนี่ยเขาไม่ได้อธิบายแบบที่เรามี ๔ ขั้น ตามแบบอานาปานสติ มีอานาปานสตินิดหนึ่ง ๔ ขั้น ขั้นต้น คือนี่เขาบอกแค่ว่าตรงกัน ขั้นต้น มีอยู่บรรพหนึ่งเรียกว่า อานาปานบรรพ กำหนดลมหายใจ ๔ ขั้นเหมือนแบบอานาปานสติ แต่พอแบบเวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา ธัมมานุปัสสนา ไม่มีเลย ไม่มีเลยที่มาตรงกับที่แบบอานาปานสติ แม้จะเป็นแบบจิตตานุปัสสนานั้นก็มีแต่รู้จักจิตต่างๆกัน ๖ คู่เท่านั้นเอง ไม่มีความหมายอะไร ไม่มีการฝึกจิตให้บันเทิง ไม่มีการฝึกจิตให้ตั้งมั่น ไม่มีการฝึกจิตให้ปล่อย ในแบบจิตตานุปัสสนาของมหาสติปัฏฐานสูตร ที่นี้แบบกายานุปัสสนามันก็มีอะไรเข้ามาอีกเยอะแยะ นับกันหลายสิบข้อ คือแบบ สติสัมปชัญญะ แบบอิริยาปถ แบบปฏิกูล แบบธาตุ แบบอสุข ทั้งหลายนานาชนิดเป็นหลายสิบหัวข้อ นั่นก็เรียกว่ากายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ในมหาสติปัฏฐานสูตร ซึ่งในอานาปานสติสูตรไม่มีเลย มีแต่แบบกำหนดลมหายใจ แบบฝึกลมหายใจ ๔ ขั้นนั้นเท่านั้น เราจึงรับไม่ไหว มันเรียกว่าสติปัฏฐาน ๔ จำไว้ให้ดี คำคำนี้มันแปลว่า ฝึกสติ กำหนดสติ การตั้งไว้ซึ่งสติ แต่นี่มันเอาแบบลมหายใจเข้าไปไว้นิดหนึ่งข้างต้น เรื่องเดียวสั้นๆลุ่นๆไม่สำเร็จประโยชน์ เขาก็ไปเอาอะไรอีกหลายหมวด หมวดละหลายๆอย่าง มาเป็นการฝึกสติปัฏฐาน ในอิริยาบถ ในสติสัมปชัญญะ ในเรื่องธาตุ อายตนะ เรื่องปฏิกูลอะไรต่างๆจนฝึกไม่ไหว เพียงข้อกายาก็แย่แล้ว ทีนี้ข้อเวทนาก็ออกชื่อแต่ว่า เวทนา ๓ สุข ทุกข์ อทุกขมสุข ทั้ง ๓ นั้นแต่ละอย่างยังมี นิรามิส สามิส ได้มาอีกหก รวมเป็นเก้า ไม่มีการฝึกอะไรไม่บอกถึงการฝึกอะไร เพราะฉะนั้นเราจึงไม่หวังพึ่งพาอะไรกับมหาสติปัฏฐานสูตร ทีนี้แบบจิตตาก็กล่าวแล้ว กำหนดลักษณะจิตต่างๆกัน ๖ คู่ ไม่มีการฝึกจิตให้บันเทิง ให้ตั้งมั่น ให้ปล่อยวาง ไม่มีหวังที่จะใช้ประโยชน์จากคำอธิบายในมหาสติปัฏฐานสูตร พอมาถึงธัมมา ก็พูดเรื่องนิวรณ์ เรื่องอายตนะ เรื่องโพชฌงค์ เป็นหมวดๆหลายๆ ไม่มีคำว่าอนิจจานุปัสสี วิราคานุปัสสี นิโรธานุปัสสี ปฏินิสสัคคานุปัสสี ไม่มีเลย ในหมวดธัมมานุปัสสนา เราจึงไม่หวังพึ่งโดยเด็ดขาด รกรุงรังเปล่าๆ เกะกะเปล่าๆ ข้อความในมหาสติปัฏฐานสูตรนั้นยาวๆๆ ไม่เชื่อว่าพระพุทธเจ้าจะตรัสทีเดียวได้ขนาดนั้น ยังไม่ยอมเชื่อ ถ้าสวดก็ต้องสวดเป็น ๒-๓ ชั่วโมง หรือ ๔-๕ ชั่วโมงกว่าจะจบ พระพุทธเจ้าจะตรัสสูตรอย่างนี้ทีเดียวอย่างนี้ เราไม่เชื่อว่าสูตรนี้พระพุทธเจ้าตรัส แล้วมันก็เติมคำว่ามหาๆใหญ่หลวงเข้าไปด้วย เรายิ่งไม่เชื่อใหญ่ สูตรที่ขึ้นต้นด้วยคำว่ามหาๆน่ะระวังให้ดี เฟ้อทั้งนั้นแหละ
เป็นอันว่าสติปัฏฐาน ๔ ตามแบบมหาสติปัฏฐานสูตรนั้นมีอย่างเหลือเฟือมากมาย เฟ้อ เราไม่รับมาใช้ เราจะรับสติปัฏฐาน ๔ มาใช้เฉพาะแบบที่เรียกว่า อานาปานสติ ซึ่งสั้นๆอ่านไม่กี่วินาทีก็จบ นั่นแหละที่เราต้องการ สติปัฏฐาน ๔ แบบที่กล่าวไว้ในอานาปานสติสูตร หรือจะพูดให้ชัดอีกทีหนึ่งก็ว่า สติปัฏฐานที่ฝึกด้วยอานาปานะ คือลมหายใจ ส่วนอย่างอื่นนอกนั้นไม่เอา ใครจะเอาก็ตามใจ สติปัฏฐาน ๔ ที่ฝึกด้วยอารมณ์นิมิตทั้งหลายต่างๆ หลายสิบหลายร้อยอย่างนั้นเราไม่เอา เราเอาสติปัฏฐาน ๔ แบบที่ฝึกด้วยลมหายใจและสมบูรณ์ สมบูรณ์ตามแบบอานาปานสติสูตร ซึ่งรายละเอียดเหล่านี้ไม่มีเลยในสติปัฏฐานสูตร พูดอย่างนี้แล้วมันก็จะเฟ้อไปแล้ว ซึ่งครูจะไม่ต้องรู้ก็ได้กระมัง แต่เมื่ออยากรู้ก็ต้องพูดเพราะว่ามันมีอย่างนี้ สติปัฏฐาน ๔ ตามแบบมหาสติปัฏฐานสูตร กับสติปัฏฐาน ๔ ตามแบบอานาปานสติสูตร เรารับเอามาแต่อย่างหลังที่เรียกว่าอานาปานสติ ที่พระพุทธเจ้ายืนยันว่าสงบ ละเอียด สะดวก สบาย พระพุทธเจ้าเองก็ตรัสรู้ด้วยระบบนี้ ระบบอานาปานสตินี่ จะยกคำกล่าวนี้มาใส่ไว้ในหนังสือพุทธประวัติจากพระโอษฐ์ด้วยก็มี ลองเปิดดู ระบบสมาธิ ตั้งต้นแต่ว่าระบบตามธรรมชาติ ตามสัญชาตญาณ สมาธิของลิง ของค่าง ของปลา ของหมู ของหมาอะไรก็ตาม กระทั่งของเด็กๆที่ไม่ได้ศึกษาอะไร เล่นหยอดหลุมทอยกองยิงปืนเนี่ย สมาธิชั้นพื้นฐานเหล่านั้นมันได้พัฒนาขึ้นมา พัฒนาขึ้นมาจนเป็นระบบดับกิเลสดับทุกข์ได้ ที่เรียกว่าสติปัฏฐาน อีกทางหนึ่งสมาธิ สมาธิที่เขาฝึกเพื่อฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์ พวกยักษ์พวกมาร พวกที่มีฤทธิ์เดชเหาะเหินเดินอากาศ มีฤทธิ์ฆ่าคน ด้วยอำนาจฤทธิ์น่ะมันก็เป็นสมาธิเหมือนกัน แต่มันไปอีกแบบ มันเดินไปอีกทางหนึ่ง ฝึกกันคนละอย่างแต่ยังคงเรียกว่าสมาธิ ทีนี้มันก็มีสมาธิที่กลางที่สุด ที่ว่าทำเป็นสมาธิได้แล้วเป็นสุขเป็นสุข พอจิตเป็นสมาธิแล้วเป็นสุขเป็นสุข ยิ่งกว่านอนหลับเสียอีก นี่ก็เป็นสมาธิที่ต้องการกันทั่วๆไป เพียงเป็นสมาธิแล้วก็เพื่อเป็นสุขเดี๋ยวนี้ทันทีทันใจ นี่ก็สมาธิ ในทางฝ่ายพุทธศาสนาเราก็เอามาใช้ให้เพื่อมีสติสัมปชัญญะ เป็นไปเพื่อความสมบูรณ์แห่งสติสัมปชัญญะ กำหนดการเกิดขึ้นและดับลงแห่งเวทนา สัญญา และวิตก นี่เพื่อจะมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ สูงไปกว่านั้นอีก คือใช้สมาธินั้นเพื่อสิ้นอาสวะ กำเนิดการเกิดขึ้นและดับไปแห่งปัญจุปาทานขันธ์ สูงสุดยิ่งกว่านี้ทำแล้วสิ้นอาสวะ เรื่องของสมาธิมันควรสูงสุดถึงสิ้นอาสวะนี้ นับตั้งแต่สมาธิของลิงค่างโดดอยู่ตามกิ่งไม้เก่งมาก พัฒนาขึ้นมาจนเป็นของคน ตั้งแต่เด็กๆที่มีเองตามธรรมชาติ ไม่มีทั้งการฝึกปฏิบัติในอาศรมในอะไรต่างๆจนมีสมาธิ ให้มันหมดกิเลสได้ สิ้นกิเลสได้ เรียกว่าสมาธิทั้งนั้น วันนี้ครูไปคิดด้วยว่าจะเอาสมาธิไหนไปสอนในโรงเรียน หลักสูตรของกระทรวงเขาต้องการชนิดไหน ก็เลือกเอาเองสิ ก็รวบรัดเองว่าคำว่าสมาธิหมายความว่าอย่างไร
จะพูดเป็นหลักวิชาสักหน่อยก็คือว่า สัญชาตญาณที่ต้องพัฒนา เหมือนกันสัญชาตญาณทั้งหลายที่ต้องมีการพัฒนา สัญชาตญาณแห่งการมีสมาธิตามธรรมชาตินั้นไม่พอ ต้องพัฒนา พัฒนา พัฒนา จึงเป็นสมาธิที่สำเร็จประโยชน์ที่สุด มันเหมือน มันเป็นความลับของธรรมชาติ ที่ก่อนนี้ยังไม่รู้ แต่แล้วมันก็ต้องรู้จนได้ มนุษย์ค้นพบจนรู้จนได้ แล้วก็รู้ถึงที่สุดจนได้ คือพระพุทธเจ้า ใช้สมาธิภาวนา คือทำให้เจริญ ทำสิ่งที่ควรเจริญให้เจริญด้วยอำนาจของสมาธิ หลังจากนี้ก็ไม่มีใครจะพูดเรื่องสมาธิให้สูงไปกว่านี้ได้แล้ว โดยเฉพาะเรื่องอริยสัมมาสมาธิมีบริขาร ๗ ไม่มีใครพูดให้สูงไปกว่านั้นได้แล้ว ทีนี้ก็มาดูประโยชน์ของมันเพื่อจะรู้จักมันมากขึ้น เพื่อจะรู้จักสมาธิมากขึ้นก็ดูประโยชน์ของสมาธิ ดูอาการมีอาการว่า ข้อที่หนึ่ง จิตมันไม่มีนิวรณ์ ไม่มีกิเลสรบกวน ถ้าเป็นสมาธิไม่มีกิเลสไม่มีนิวรณ์รบกวน จิตจึงบริสุทธิ์เพราะไม่มีอะไรสกปรกรบกวน บริสุทธิ์ สดชื่น แจ่มใสแล้วแต่จะเรียก เกลี้ยง ใช้คำ บริสุทธิ์ คำเดียวแปลว่ามันเกลี้ยงถึงขีดสุด ธรรมดาจิตมันไม่เกลี้ยงเดี๋ยวนิวรณ์นั่นเดี๋ยวนิวรณ์นี่ เดี๋ยวกิเลสนั่นเดี๋ยวกิเลสนี่ รบกวนอยู่เสมอด้วยสิ่งที่ล่วงไปแล้วในอดีตตรงนี้ ยังไม่มาก็เอามาคิดมานึกอยู่ตรงนี้ ปัจจุบันก็ยุ่งเกือบตาย มันก็เลยไม่บริสุทธิ์ จิตน่ะ มีการถูกรบกวนด้วยนิวรณ์บ้างด้วยกิเลสบ้างอยู่เรื่อยไป พอเป็นสมาธิเท่านั้นน่ะ สิ่งเหล่านั้นไม่มี เพราะถ้ามีมันเป็นสมาธิไม่ได้ ถ้าเป็นสมาธิได้มันไม่ต้องมีนิวรณ์มันไม่ต้องมีกิเลสรบกวนอยู่ ฉะนั้นจึงถือว่าความเป็นสมาธินั้นน่ะมีความบริสุทธิ์แห่งจิตถึงที่สุดเลย จำไว้เป็นหลักว่าถ้าเป็นสมาธิจิตนั้นต้องเกลี้ยงต้องบริสุทธิ์ไม่มีอะไรรบกวนให้เศร้าหมองให้เป็นทุกข์ ลักษณะที่สองก็คือว่า สมาหิโต แปลว่าตั้งมั่น คือมันมีกำลังมาก มั่นคงเข้มแข็ง มีแรงมาก มันรวมกำลังจิตทั้งหมด ตามธรรมดากระแสจิตก็พร่าทั่วไป เหมือนแสงสว่างทั่วๆไปนี้มันก็พร่าทั่วไป แต่ถ้าเรามีเครื่องรวมแสง เช่นแว่นโค้งหนาตรงกลาง เมื่อรวมมันเข้ามามันก็รวมเข้มเข้าจนร้อนสูง ร้อนสูงจนลุกเป็นไฟ คนโง่เห็นเป็นของกายสิทธิ์ศักดิ์สิทธิ์ไป แก้วรวมแสงทำให้แสงแดดลุกเป็นไฟได้ มันก็เป็นธรรมชาติอย่างนั้นเอง แสงสว่างทั่วไปถ้ามันมารวมกันหมดจุดเล็กๆนั้นมันก็ร้อนเป็นไฟลุกเป็นไฟ กระแสจิตก็เหมือนกันที่มันแพร่ไปทั่วทุกทิศทุกทาง ถูกรวมเข้ามาเหมือนแก้วรวมแสงแสงแดด จิตนั้นก็จะเป็นอย่างไร มีกำลังมากกำลังสูงสุด มีกำลังแผดเผากิเลสสูงสุด มีกำลังมากและก็มั่นคงด้วย มีอำนาจสูงสุดด้วย เรียกว่าตั้งมั่น ข้อที่หนึ่งเรียกปริสุทโธ ข้อที่สองเรียกว่าสมาหิโตคือตั้งมั่น แล้วก็เหลือแต่ข้อที่สามเรียกว่า ว่องไวในหน้าที่ สมควรแก่หน้าที่ เรียกว่า กัมมนีโย สมควรแก่กรรมคือการกระทำของจิต จิตมีการกระทำอย่างไรในทางที่ถูก สมควรที่สุด คือมันว่องไวที่สุด มันอ่อนโยนที่สุดที่จะให้ทำอะไรก็ได้ ไม่ดื้อกระด้างไม่แข็งกระด้างเหมือนแต่ก่อน เหมือนขี้ผึ้ง เมื่อมันแข็งเราจะปั้นอะไรได้ ถ้าขี้ผึ้งถูกทำให้อ่อน อ่อนเปียก ทีนี้จะปั้นอะไรก็ได้ นั่นก็เรียกว่าความอ่อนโยน คำนี้เอามาใช้กับจิตเรียกว่าจิตอ่อนโยน สมควรแก่การงานว่องไวอ่อนโยน จิตอ่อนโยน ไม่ใช่อ่อนแอไม่ใช่อ่อนเปียก จิตอ่อนโยนหมายความว่าจะให้ทำหน้าที่อะไรก็ได้มันยอมทำทุกอย่าง เมื่อมันมีความบริสุทธิ์มาแล้ว มีความตั้งมั่นมาแล้ว เดี๋ยวนี้มันก็ทำหน้าที่ทุกอย่างได้ สำเร็จประโยชน์เรียกว่ากัมมนีโยข้อที่สาม ข้อที่หนึ่ง บริสุทธิ์คือปริสุทโธ ข้อที่สองสมาหิโต ตั้งมั่นรวมกำลังถึงที่สุด ข้อที่สามกัมนีโย ควรแก่การงาน ให้ทำอะไรก็ได้ อย่างที่เขากล่าวไว้ในพวกอจินไตย ของที่พูดไม่ได้ว่ามันทำได้เท่าไร มันทำได้ไม่มีที่สิ้นสุด พุทธวิสัย ฌาณวิสัย กรรมวิบาก โลกจิณไตย จิตเนี่ยมันจะคิดอะไรได้อีกมากมาย มากมายกว่าที่เคยคิดได้มาแล้ว มนุษย์นี่คิดอะไรมาได้กี่อย่างลองเทียบเคียงดู คิดทางวิทยาศาสตร์ ทางประดิษฐ์ประดอย คิดทางคอมพิวเตอร์เทคโนโลยี กระทั่งไปโลกพระจันทร์ได้ นั่นยังน้อยไป นิดเดียว จิตยังคิดได้มากกว่านั้น มันยังจะคิดได้มากกว่านั้น จะทำอะไรควรจะใช้มันคิด มันจะคิดอะไรได้มากว่าที่คิดแล้วมาแต่หนหลัง กัมมนียะ ความเหมาะสมแก่การงานและหน้าที่ของจิตมันมากถึงอย่างนี้ แต่เดี๋ยวนี้ในพุทธศาสนาเราไม่เอาอะไรมากไม่เอาเรื่องอื่นๆ นอกจากเรื่องดับทุกข์อย่างเดียว ดังนั้นเราจึงคิดที่จะทำหรือปรับปรุงหรือฝึกฝนแต่เรื่องดับทุกข์อย่างเดียว นอกนั้นไม่ใช่เรื่องของพุทธศาสนา ไม่ต้องการมีฤทธิ์มีเดชมีปาฏิหาริย์ ไม่บ้าไม่บอสร้างทางวัตถุให้มันเป็นโลกที่ลุ่มหลงแล้วก็จะวินาศด้วยความเจริญทางวัตถุ สติปัญญาในพุทธศาสนาจะไม่คิดเพื่อความเจริญทางวัตถุ เพราะว่ามันออกมาแล้วมันส่งเสริมกิเลสมันเห็นแก่ตัว เดี๋ยวนี้คนยิ่งเห็นแก่ตัวยิ่งมีกิเลสมากเพราะความเจริญทางวัตถุช่วยให้นำไปคิด ขอให้รู้ว่าหน้าที่ที่ควรทำหน้าที่ที่ควรคิดนั้นก็มีแต่เรื่องทุกข์กับดับทุกข์
พระพุทธเจ้าท่านตรัสยืนยันอย่างนั้นว่าแต่ก่อนก็ดีเดี๋ยวนี้ก็ดี ตถาคตบัญญัติแต่เรื่องทุกข์กับดับทุกข์เท่านั้น ถ้าสนใจแต่เรื่องดับทุกข์ต้องค้นหาภายในกายนี่จะต้องใช้สติ ใช้สมาธิ ใช้ปัญญา ให้ละเอียดประณีต แต่แล้วมันมีสมาธิเป็นพื้นฐาน ปัญญาถ้าไม่มีสมาธิก็ไม่มีแรง มันมีแต่ความคม เหมือนกับมีดที่คมมันไม่มีแรงที่จะสับลงไปแล้วมันจะขาดที่ไหน ดังนั้นมันต้องมีน้ำหนักที่จะฟันลงไปนั่นก็คือสมาธิ คามก้าวหน้าทางปัญญามีเท่าใดก็ตามถ้าไม่มีสมาธิก็ไม่มีประโยชน์ นี่คือเรื่องของสมาธิที่เกี่ยวกับมนุษย์ เราจึงมีวัฒนธรรมฝึกจิตให้เป็นสมาธิ กลายเป็นศาสนาฝึกจิตให้เป็นสมาธิ คนสมัยโบราณ คนหนุ่มนี่ก็ต้องฝึกสมาธิทั้งนั้น เพื่อเป็นพื้นฐาน เป็นความรู้พื้นฐานเป็นกำลังพื้นฐาน ในเมืองไทยรุ่นหลังๆมานี่พวกคนที่ถือลัทธิแบบเก่าๆ ราษฎรก็ดีเจ้านายก็ดีเขาฝึกสมาธิไปอยู่วัดกับอาจารย์ที่ขลังในทางสมาธิ ฝึกสมาธิตามแบบนั้นๆ กลายเป็นวิทยาคมไสยศาสตร์ไปนู่น นิยมพูดกันในหมู่คนหนุ่มทุกคน เมื่อเด็กๆอาตมาก็เคยเรียนเหมือนโยมทั่วๆไป อย่างน้อยแต่ละคนก็ฝึกปลุกตัว ปลุกตัวให้ได้ ปลุกตัวเองให้เป็นสมาธิสูงสุด แล้วก็เต้นกระโดดไปได้ทั้งๆนั่งขัดสมาธิอย่างนี้ มันเต้นไปได้เมื่อฝึกสมาธิชนิดนี้ ปลุกตัว เขาเรียกปลุกตัวให้มีสมาธิสูงสุด คนที่ถูกปลุกตัวให้อยู่ในอำนาจนี่แล้วมันทำอะไรได้แปลกๆ เช่นพอเขาร้องเพลงขึ้นมาก็รำได้ตามทำนองเพลง เพลงจีนก็รำได้ เพลงแขกก็รำได้ เพราะคนที่ร้องเพลงออกไปให้เรามันรู้อยู่ในใจและมันถ่ายออกไปให้คนที่ถูกปลุกตัวแล้ว เลยร้องได้ทำได้ ก็เป็นของน่าอัศจรรย์ นี่เรียกว่ามันเป็นกำลังเป็นอำนาจของสิ่งที่เรียกว่าสมาธิทั้งนั้น เห็นไหมมันใช้ได้ในเรื่องทุกอย่าง เรื่องโลกเรื่องธรรมะ แม้กระทั่งเรื่องฝ่ายผิดเป็นมิจฉาสมาธิ ใช้เพื่อเอาเปรียบคนอื่น หลอกลวงคนอื่น แสดงฤทธิ์เดช ฉ้อฉลตบตาคนอื่นหรือทำให้คนอื่นตาย เป็นมิจฉาสมาธิ ถ้ามาใช้อย่างถูกต้องไม่เบียดเบียนใครก็เป็นสัมมาสมาธิ ถ้าใช้จนตัดกิเลสได้ก็เป็นอริยสัมมาสมาธิ
นี่เราพูดกันเรื่องสมาธิโดยทั่วๆไป ทุกคนมีอำนาจสมาธิหรือความเป็นสมาธิได้ตามสัญชาตญาณ สรุปความว่ามันไม่เพียงพอ ถ้าจะให้มันเพียงพอก็จะต้องฝึกๆๆขึ้นมา แล้วแต่จะมุ่งหมายไปในทิศทางไหน วัฒนธรรมนี้ มีสมาธินี้คงจะมีมาหลายหมื่นปีหรือแสนปีแล้วก็ไม่รู้ บอกไม่ถูก แต่ว่ามันก็เจริญขึ้นมาๆ โดยเฉพาะในประเทศอินเดีย เต็มไปด้วยฤาษี โยคี มุนี ใครฝึกสำเร็จแล้วเขาก็เรียกว่า สิทธา ผู้มีความสำเร็จ ผู้มีความสำเร็จในทางคิดนั้นก็เรียกว่าสิทธา ซึ่งใช้เป็นชื่อของฤาษีชื่อหนึ่ง สิทธา ผู้ประสบความสำเร็จ ก็คือสำเร็จในเรื่องของสมาธิ แต่ไม่ใช่แบบนี้นะ ไม่ใช่แบบตัดกิเลสสังโยคนะ มันเป็นแบบของท่านที่ท่านต้องการอย่างไร ก็เลยมีการเอามาใช้ในวิธีต่างๆๆ ตามที่มันจะใช้กันได้ เอามาเป็นเรื่องหาความสุขสบาย เอามาเป็นเรื่องหาฤทธิ์หาเดช เอามาเป็นเรื่องทำจิตใจให้ดี ให้จำเก่ง คิดเก่ง ตัดสินใจเก่ง อย่างสมัยนี้ซึ่งต้องการกันมาก มีสติสัมปชัญญะมาก ก็คิดเก่ง จำเก่ง ตัดสินใจเก่ง แก้ปัญหาเฉพาะหน้าเก่ง มันก็มีประโยชน์อย่างนี้ และทำให้ปัญญามีพ้นขึ้นมา ถ้าไม่มีสมาธิ ปัญญาก็ฟันอะไรไม่เข้า ต้องมีกำลังของสมาธิเข้ามาช่วยฟันสิ่งนั้นๆขาดออกไป มันเลยเป็นคู่เกลอกัน สมาธิกับปัญญา บางทีเรียกชื่ออื่นว่าสมถะกับวิปัสสนา บางทีก็เรียกว่าสมาธิกับปัญญามันเป็นคู่หูกันแยกจากกันไม่ได้ ไม่มีสมาธิปัญญาก็ไม่มีแรง ไม่มีสมถะวิปัสสนาก็ไม่เห็นแจ้ง เราจงรู้จักใช้สมาธิในวิถีทางที่ถูกต้องที่เป็นสัมมาสมาธิในเรื่องทำมาหากินอะไรก็ตาม ถ้ามันเป็นไปเพื่อประโยชน์เพื่อดับทุกข์ก็ใช้คำว่าสัมมาได้ ถ้าเป็นสมาธิเฉยๆมันไม่แน่ มันเป็นมิจฉาก็ได้ สัมมาก็ได้ ใช้ผิดก็ได้ ใช้ถูกก็ได้ เพื่อความแน่ต้องเติมคำว่า สัมมา เข้าไป เป็นสัมมาสมาธิเป็นไปเพื่อดับทุกข์เพียงส่วนเดียว ถ้าถึงขนาดสูงสุดดับทุกข์ได้จริงก็เป็น อริยสัมมาสมาธิ มีบริขาร ๗ คือองค์แห่งมรรคทั้ง ๗ ข้างต้นจะกลายเป็นบริขารของสัมมาสมาธิหมด สัมมาสมาธิอย่างนี้จะเรียกว่า อริยสัมมาสมาธิมีบริวาร ๗ นี่เรื่องทั่วๆไป bird eye view ของคำว่าสมาธิทั้งหมดคืออย่างนี้ ขอให้ครูอาจารย์เข้าใจเพียงคำว่าสมาธิ แล้ววันหลังก็จะพูดเรื่องอานาปานสติ ภาวนา เพราะมันเป็นเรื่องยาวเรื่องละเอียดเหมือนกัน ไม่พูดคราวเดียวกันมันฟั่นเฝือ พูดเพียงเรื่องสมาธิคำเดียว ทีนี้ก็ยังไม่มั่นใจว่าผู้ฟังทั้งหมดจะจำไปได้ทั้งหมด ก็หมดการพูดเรื่องสมาธิล้วนๆ
สมาธิล้วนๆคำนี้แปลว่า ตั้งมั่นอย่างครบถ้วน สม-สม่ำเสมอ อธิ-ตั้งมั่น ตั้งมั่นอย่างสม่ำเสมอคือสมาธิ มีแล้วโดยสัญชาตญาณโดยธรรมชาติไม่พอ ต้องฝึกด้วยวิธีต่างๆแล้วแต่จะประสงค์อะไร จะฝึกให้ยิงปืนแม่น ขว้างแม่น อะไรก็ได้ แม่แต่ว่ามีสมาธิดีแล้วก็เล่นหมากรุกเก่ง เคยสังเกตคนที่เล่นหมากรุกเก่งมีสมาธิดีมาก เอาล่ะ จะเอาข้อความไหนความหมายไหนไปสอนนักเรียน ว่าสมาธิคืออะไร สมาธิล้วนๆคืออะไร จะพูดเป็นหลักหน่อยว่า สัญชาตญาณที่ต้องฝึกให้เพียงพอชนิดหนึ่งด้วย สัญชาตญาณทุกชนิดแต่ละชนิดต้องฝึกขึ้นมาใหม่ให้เพียงพอให้ถูกต้อง มิฉะนั้นมันกลายเป็นกิเลสและเป็นอันตราย แต่ถ้าฝึกถูกต้องเพียงพอมันกลายเป็นโพธิ เพราะมีประโยชน์ จึงทำให้สัญชาตญาณแห่งสมาธิอย่าตกไปฝ่ายกิเลสแต่ตกมาฝ่ายโพธิ ใช้สำเร็จประโยชน์ด้วยกันทุกๆคน หมดเรื่องพูด ทีนี้มีเรื่องถามถ้าจะถาม ถ้ามีเรื่องถาม
คำถาม : สมาธิกับกรรมฐานแตกต่างกันอย่างไร
คำตอบ : กรรมฐาน เป็นคำในภาษาไทย ใช้ขึ้นในเมืองไทยด้วยซ้ำไป ก็ได้ ในบาลีไม่ค่อยจะพบ มีแต่คำว่าภาวนา มีความหมายอย่างเดียวกับภาวนา คือ ฐานแห่งการกระทำ การกระทำหมายถึงการกระทำทั้งหมดในพุทธศาสนาเพื่อดับทุกข์ และที่มันเป็นหลักฐานที่เป็นพื้นฐานโดยตรงก็มีสองอย่าง คือ สมาธิเรียกว่าสมถกรรมฐาน ปัญญาเรียกว่าวิปัสสนากรรมฐาน กรรมฐานคือการงานที่เป็นรากฐานอันแท้จริงเพียงพอสำหรับทำสิ่งที่สูงสุดขึ้นไป สมาธิก็กรรมฐาน ปัญญาก็กรรมฐาน มีแล้วก็ทำให้มีการตัดกิเลส บรรลุมรรคผล การงานที่กระทำเป็นล่ำเป็นสันสำหรับประโยชน์สูงสุดในปลายทางเป็นกรรมฐานทั้งนั้น
คำถาม : การงานทางกายนี่สามารถที่จะพัฒนาสมาธิทางใจได้ไหมครับ
คำตอบ : แม้แต่เล่นหมากรุกยังทำได้ ถ้าคุณมีสมาธิคุณผ่าฟืนดีมาก ดูจะไม่เคยผ่าฟืนกระมัง ถ้าคุณมีสมาธิคุณจะไถนาดีมาก คุณเคยไถนาไหม ถ้าคุณมีสมาธิคุณจะพายเรือตรงแน่วเลย เคยไหม พายเรือเป็นไหม จะทำอะไรได้ดีทุกอย่างแหละ จะขับรถก็ได้จะเล่นกีฬาก็ได้
คำถาม : สงสัยเรื่องอุปจารสมาธิกับอัปปนาสมาธิ
คำตอบ : สมาธิที่สมบูรณ์ถึงขนาดเรียกว่าอัปปนาสมาธิ ที่ว่าไม่สมบูรณ์หรือไม่แน่วแน่ เป็นฌาณไปน่ะ เรียกว่าอุปจารสมาธิ คือสมาธิที่เอามาใช้งาน สมาธิที่มาอยู่กับการงานใช้งานได้ มีความรู้สึกต่างๆอยู่ พูดก็ได้ คิดก็ได้ ทำก็ได้ อย่างนั้นก็ลดมาอยู่ในพวกอุปจารสมาธิ ถ้าอัปปนาสมาธิมันหยุด มันนิ่ง มันแน่ว มันเป็น absorption ที่เรียกว่าฌาณ ถ้าไม่ถึงฌาณก็เอามาใช้เมื่อจะทำอะไร สมาธินี้มีประโยชน์ ถ้าไม่เอามาใช้ก็ไม่มีประโยชน์อะไร เอามาใช้ก็เรียกว่ามีประโยชน์ มีคำสูงสุดอยู่คำหนึ่งเรียกว่า อนันตริยสมาธิ สมาธิที่ใช้ประโยชน์ในขณะที่ตัดกิเลส นั่นเป็นอุปจารสมาธิ หรือคำที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า เขามีสมาธิมีฌาณ แต่เขามานั่งอยู่ เดินอยู่ นอนอยู่ ยืนอยู่ อย่างนี้ก็มี ก็เรียกว่าที่ยืนทิพย์ นั่งทิพย์ เดินทิพย์ นอนทิพย์ นี่หมายความว่าทำการงานอยู่ แม้เดินอยู่ก็ได้ พวกนี้เป็นอุปจารสมาธิ เพื่อใช้สมาธิในหน้าที่การงานนั้นให้ถึงที่สุด
คำถาม : ความหมายของคำว่าฌาน
คำตอบ : ความหมายของคำว่าฌาณ มันกำกวม ไขว้เขวยุ่งยาก คำว่าฌาณในฝ่ายสมาธิก็คือเพ่งไปที่อาราณ์จนแน่วแน่อยู่ที่นั่น ติดที่นั่นเลย เพ่งฌาณฝ่ายสมาธิ ถ้าฌาณฝ่ายวิปัสสนาก็คือ เพ่งอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือความจริงใดๆก็ได้ รู้ความจริง นี่ก็เรียกว่าเพ่งลักษณะของธรรมะ เพ่งอย่างนี้ทำให้รู้ความจริงเป็นปัญญา เพ่งอย่างนี้ทำให้รวมกำลังแน่วแน่เป็นสมาธิ คำว่าฌาณเป็นคำกลางๆ แต่ในเมืองไทยดูจะสอนกันอยู่แต่ฌาณเรื่องสมาธิทั้งนั้น มีวลีชัดๆว่าอะไรในคาถาพุทธอุทานน่ะ
คำถาม : ถ้าเราปฏิบัติจนถึงขั้นอัปปนาสมาธิ จนถึงขั้นนิพพาน นิพพานกับฌาณนี่มันแตกต่างกันอย่างไร
คำตอบ : ไม่เกี่ยวกัน สมาธิไม่ใช่นิพพานโดยสมบูรณ์ ต้องเป็นปัญญาและตัดกิเลสหมดจึงจะเป็นนิพพานสมบูรณ์ แต่ในขณะสมาธิมันไม่มีกิเลสรบกวนเหมือนกัน คนแต่ก่อนพระพุทธเจ้าเคยจัดสมาธินี้ว่าเป็นนิพพาน เอาฌาณเป็นนิพพาน เป็นทิฏฐิของพวกนั้นอยู่ในทิฏฐิ ๖๒ ชิมรสนิพพานได้ถ้าเป็นสมาธิ คำว่าฌาณแปลว่าเพ่ง พูดกันแต่ทางฝ่ายสมาธิ คำว่า ฌายโต น่ะคือคำว่าฌาณ เพ่งเพียรอยู่ ความสงสัยทั้งปวงจงสิ้นไป มีผลให้หมดกิเลส ฌาณอย่างนั้นมันเพ่งลักษณะ เพ่งความจริง มีผลเป็นปัญญาตัดกิเลส ส่วนฌาณอย่างนี้เพ่งที่อารมณ์เป็นสมาธิ หยุด สงบนิ่ง ยังไม่ใช่ปัญญาตัดกิเลส แต่คำพูดคำเดียวกันคือคำว่าฌาณเหมือนกัน อาตาปิโน ฌายโต พฺราหฺมณสฺส น่ะ มีความเพียร ฌายโตน่ะคือเพ่ง เพ่งอยู่ จากนั้นก็รู้ กำจัดอวิชชาได้ คำว่าฌาณนี่ก็แปลว่าเพ่ง คำว่า meditate, meditation นั้นจะตรงกับคำว่าฌาณที่เป็นกลางๆ meditate ที่อารมณ์ก็ได้ concentration, meditate ที่สัจจลักษณะก็ได้ insight ถ้าจะพูดกับชาวต่างประเทศ ก็พูดกับเขาดีๆว่า meditation น่ะคือฌาณ เพ่ง เพื่อสมาธิก็ได้ เพื่อวิปัสสนาก็ได้ เขามักจะใช้คำนี้เป็นเรื่องของสมาธิอย่างเดียวก็มี หรือเข้าใจว่าเป็นเรื่องของปัญญาไปเลยก็มี แต่มาใคร่ครวญดูแล้วคำว่า meditate จะแปลว่าเพ่ง เพ่งอารมณ์ก็ได้สมาธิ เพ่งลักษณะก็ได้ปัญญา บาลีเรียกว่าฌาณ คือมีการเพ่งอยู่ที่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง
คำถาม : สงสัยคำว่าฌานกับสมาบัติ
คำตอบ : เข้าฌาณ ไม่ได้หยุดอยู่นาน ไม่ได้หยุดอยู่ในฌาณ เป็นระยะยาวนาน ไม่ได้หวังประโยชน์จากฌาณนั้น อย่างนี้เรียกว่าฌาณ แต่เข้าไปหยุดอยู่ในฌาณเป็นเวลาระยะยาวเรียกว่าสมาบัติ ฌาณสมาบัติ ถึงพร้อมซึ่งฌาณ หยุดอยู่ในฌาณนาน เป็นก้อนหินไปชั่วโมงหนึ่ง อย่างนี้เรียกว่าสมาบัติ ถ้าฌาณก็ในความหมายอย่างที่ว่า เป็นเพียงสักว่าเข้าถึง ปราศจากนิวรณ์ มันยังเหลือมาใช้ทำนั่นทำนี่ได้อีก เป็นอนันตริยสมาธิ เป็นอุปจารสมาธิ การทำสมาธิสำเร็จมีผลเกิดขึ้นเรียกว่าฌาณ เพราะการทำสมาธิก็คือการเพ่งฌาณ สำเร็จประโยชน์ในการเพ่งฌาณก็เรียกว่าได้ฌาณ มีฌาณ ถึงที่สุดแห่งระบบนั้นๆก็เรียกว่าเป็นฌาณอย่างนั้น ฌาณชื่อนั้นฌาณชื่อนี้ เด็กมีสมาธิ เด็กเขาก็เรียนเก่ง จำเก่ง คิดเลขเก่ง ตัดสินใจเก่ง บังคับตัวเองได้ดีขึ้น เอ้ามีปัญหาอะไรอีก มีเวลา ๕ นาที
คำถาม : การจัดอานาปานสติ ๑๖ ขั้น ดิฉันคิดว่าเวลาที่พวกครูของเรามามันไม่กี่วันก็จะต้องแยกจากกันไป แล้วก็คิดว่าตัวเองนั้นมีความรู้น้อยด้วยที่จะถ่ายทอด จึงได้นำเอาระบบวิปัสสนาลัดสั้นมาแนะให้พวกครูฝึกปฏิบัติกันก่อน คิดว่าจะเหมาะไหมคะ
คำตอบ : นั่นมันไม่ใช่อานาปานสติ ระบบลัดสั้นเกี่ยวกับอิริยาบถต่างๆใช่ไหม นั่นไม่ใช่อานาปานสติ หรือว่าจะฝากไว้บ้างก็ได้ ถือว่ามีกำหนดทุกลมหายใจ อานาปานสตินั้นกำหนดสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่ทุกครั้งที่หายใจออกเข้า คือทั้ง ๑๖ ขั้นนั่นมันกำหนดอยู่ทุกขั้นหายใจออกเข้า จะมากำหนดการเดิน การยืน การนั่ง การกิน การถ่าย นี่มันก็เป็นอิริยาบถบรรพ เป็นสมาธิเหมือนกันถ้ามันกำหนดอยู่ที่นั่น ไม่ว่าจะล้างถ้วย ล้างจาน กวาดบ้าน ถูเรือนก็ทำสมาธิได้ สมาธิจิตจ่ออยู่ที่ของสกปรกที่ติดอยู่กับถ้วยกับจานนั้นหลุดออกไป ถ้ากวาด สมาธิก็อยู่ที่ปลายไม้กวาดเคลื่อนฝุ่นละอองออกไป นั่นเป็นสมาธิที่ใช้งาน
คำถาม : แต่สมาธิประเภทนี้มันไม่มีโอกาสได้ฌานนี่ครับ
คำตอบ : มันไม่ใช่ฌาณอย่างนู้น ถ้าฌาณอย่างนู้นมันต้องอัปปนา นั่งเพ่งสงบ แต่เราจะใช้โดยอ้อมก็ได้เพราะว่าเราก็ต้องเพ่งเหมือนกัน กริยาที่เพ่งก็เรียกว่าฌาณ เพ่งลูกตาที่จะล้างให้มันสะอาด เพ่งไม้กวาดที่จะกวาดให้เกลี้ยง เป็นฌาณโดยอ้อม ขั้นต้นๆขั้นตื้นๆขั้นเด็กๆ ถ้าเป็นอัปปนาสมาธิมันมาทำอย่างนั้นไม่ได้ แต่มันก็มีอุปจารสมาธิพอสมควรที่จะทำอย่างนั้นได้ ล้างจานให้ดี กวาดบ้านให้ดี ถูเรือนให้ดี กินข้าวให้ดี อาบน้ำให้ดี ก็เหมือนกัน จะต้องทำได้ดีกว่าเสมอถ้ามีความเป็นสมาธิ คือความตั้งใจที่จะทำจริงๆอยู่ในนั้นมันก็ได้ผลดีกว่า แม้แต่จะกินข้าว กินด้วยจิตปกติกับกินด้วยจิตฟุ้งซ่านน่ะมันผิดกันมาก มันให้คุณให้โทษต่างกันมากทีเดียว เอ้ามีปัญหาอะไรอีกล่ะที่จะไปสอนเด็กเรื่องสมาธิ
คำถาม : มีเด็กคนหนึ่งดูโทรทัศน์มาก ไม่ค่อยได้มาล้างจาน ไม่ค่อยได้มากวาดบ้าน
คำตอบ : ให้มันมีสมาธิดูโทรทัศน์สิ ตามันจะได้บอดเร็ว บางทีมันจะต้องล่อหลอกกันบ้างว่าอยากจะเรียนเก่งไหม จำเก่งไหม คิดเก่งไหม มาฝึกสมาธิเพื่อจะได้คิดเก่ง จำเก่ง นึกออกเร็ว ตัดสินใจดี จิตใจเข้มแข็ง ไม่สะท้านต่อข้อสอบ เห็นข้อสอบไม่สะท้าน