แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันนี้ขอพูดอย่าง บรรยายธรรม ท่านสาธุชนผู้มีความสนใจในธรรม ทั้งหลาย การที่ท่านทั้งหลายมาแต่ที่ไกลเพื่อศึกษาธรรมะ สำหรับการปฏิบัติให้ยิ่งขึ้นไป นับว่าเป็นการกระทำที่น่าอนุโมทนา เท่ากับ อาตมาขออนุโมทนา สำหรับเรื่องธรรมะในวันแรกนี่ ก็จะพูดโดยหลัก ทั่วๆ ไป เกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่าธรรมะหรือศาสนา ก็ตาม เมื่อมนุษย์มีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง ถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ หรืออีกอย่างหนึ่งก็คือถูกต้องแก่ ความจำเป็นตามธรรมชาติ ความถูกต้องทีแรกนั่นก็คือ ถูกต้องสำหรับจะไม่ตาย เป็นอยู่อย่างมีสุขภาพอนามัย มีความ ถูกต้องในทางสังคมคบหาสมาคมกัน ทั้งหมดนี่ เป็นธรรมะชั้นต้น หรือที่จะเรียกว่าชั้นโลกียะ หรือว่าชั้นโลก คือมุ่งหมายเพียงว่าได้รอดตาย และก็อยู่กันผาสุก สุขภาพอนามัยดี และก็สังคมคบหาสมาคมกันอย่างถูกต้อง ไม่มีปัญหา เกิดขึ้นมา ถ้าทำได้อย่างนี้มันก็หมดปัญหาไปตอนหนึ่ง คือตอนที่อยู่อย่างปกติสุข ตามธรรมชาติ ที่นี้ปัญหายังเหลืออีกตอนหนึ่งก็คือ ยังมีสิ่งรบกวน หรือว่าเบียดเบียนก็ได้ในทางจิตทางใจ กิเลสทั้งหลาย ยังรบกวน ความกลัว เกิด แก่ เจ็บตาย ยังรบกวน จึงต้องรู้และเข้าใจปฏิบัติเพื่ออย่าให้สิ่งเหล่านี้ เป็นปัญหา หรือรบกวน หรือทรมาน จิตใจ เพราะว่าไม่ได้อยู่ดีมีสุขเป็นเศรษฐี เป็นคหบดี เป็น จักรพรรดิ อะไรก็ตามเถอะ แต่ว่ากิเลสก็ยังรบกวน โลภะ โทสะ โมหะ เผาให้เร่าร้อน อย่างนี้ก็ยิ่งมีปัญหาเรื่องเกิด เรื่องแก่ เรื่องเจ็บ เรื่องตาย เรื่องที่ทุกสิ่งไม่เป็นไปตามที่ต้องการ ยังต้องนั่งร้องไห้อยู่ในบางเวลา หรือโกรธเป็นฝืน เป็นไฟ เป็นยักษ์ เป็นมารในบางเวลา ที่จริงเถอะ จึงต้องมีความรู้สำหรับขจัดปัญหาในตอนที่ ๒ นี้อีกชั้นหนึ่ง ความรู้นี้เรียกว่าความรู้ทางธรรม หรือว่าทาง โลกุตระ เนื้อโลกยิ่งกว่าโลกยิ่งกว่าระดับโลกตามธรรมดา รวมความว่าเราต้องมีความรู้ สำหรับประพฤติ ปฏิบัติให้ถูกต้อง ทั้ง ๒ ขั้นตอน ขั้นตอนโลกๆ ก็อยู่อย่างที่ว่าสบายดี สังคมกันดี ขั้นที่ ๒ คือทางธรรม หรือทาง โลกุตระ ก็คือไม่มีกิเลสตัณหารบกวน ไม่มีความหวาดกลัวใดๆ รบกวน ไม่ต้องขัดข้อง หมองใจ ด้วยประการใดๆ ไอ้พวกแรกอย่างแรกนั้นก็ให้ความสุขทางวัตถุในทางร่างกาย ในทางสังคมกัน พวกหลังนี่ให้ความสุขส่วนบุคคล เป็นความสุขทางจิตใจ ให้มีจิตใจเยือกเย็น เป็นที่พอใจ หรือว่าเป็นผาสุกอยู่ตลอดไป ทั้ง ๒ ขั้นตอนนี้รวมกันแล้วเรียกว่าธรรมะ ธรรมะ ท่านจะต้องรู้เรื่องธรรมะ และก็ต้องปฏิบัติให้มีธรรมะขึ้นมา ธรรมะนั้นจึงจะมีประโยชน์ คือจะช่วยให้ประสบความเป็นสุข ผาสุกได้ เพียงให้รู้ และก็ปฏิบัติให้มีขึ้นมา ครั้นมีขึ้นมาแล้วก็ใช้ให้เป็นประโยชน์ ให้มีชีวิตที่เยือกเย็น คำว่าชีวิตเย็นนี่ มีความหมายอย่างเดียวกันกับนิพพาน คำว่านิพพานนั่นแปลว่าเย็น ภาษาบาลี ภาษาอินเดียโบราณ คำว่านิพพานแปลว่าเย็น นี่รู้กันไว้เสียที มันจะประพฤติ ปฏิบัติได้โดยง่าย ถ่านไฟแดงๆ นี่เรียกว่ามันเป็นถ่านไฟถึงลุกโพลง ครั้นเขี่ยออกมาให้ดำ ให้ดับ ก็เรียกว่าถ่านไฟนิพพาน หรืออาหารร้อนๆ กินไม่ได้ ต้องรอให้อาหารเย็นลงพอกินได้ นี่ก็เรียกว่าอาหารนั่นมันนิพพาน ไม่ว่าของร้อนอะไรที่มันเย็นลงไปก็เรียกว่านิพพาน นี่สำหรับสิ่งของ วัตถุ สิ่งของ คำว่านิพพานใช้กับวัตถุสิ่งของก็หมายความว่ามันเย็นลงไป ทีนี้คำว่านิพพานใช้กับสัตว์เดรัจฉาน หมายถึงสัตว์เดรัจฉานตัวนั้น น่ะ หมดปัญหา ไม่มีอันตราย เช่นว่าจับช้าง จับควายมาจากในป่าเอามาฝึก จนเป็นช้างเป็นควายที่มันเชื่อง ไม่มีปัญหาอะไรอีกต่อไป ก็เรียกว่าสัตว์ตัวนั้นมันนิพพาน ทีนี้มาถึงคน ความหมายก็มีอยู่เป็น ๒ สถานคือว่าเย็นอก เย็นใจ ไม่มีเรื่องต้องร้อนใจ แต่ประการใด โดยประการทั้งปวง นี่ก็เรียกว่ามีชีวิตเยือกเย็น เป็นชีวิตนิพพาน มีความหมายเป็นนิพพาน ถ้าอีกทีหนึ่งก็นิพพานต้องหมดกิเลส หมดกิเลสโดยประการทั้งปวงนั่นเป็นนิพพานที่สมบรูณ์ เป็นนิพพานที่แท้จริง ประพฤติปฏิบัติจนหมดกิเลส เป็นพระอรหันต์แล้วก็เรียกว่านิพพานโดยสมบรูณ์ แต่ชาวบ้านโดยทั่ว ๆไป ก็มีโอกาสที่จะใช้คำว่านิพพาน เพราะว่ามีชีวิตเย็น มีชีวิตที่เยือกเย็น ไม่ต้องมีความเร่าร้อนใดๆ ในพระบาลี มีปรากฏอยู่ไม่ใช่แกล้งว่าเอาเอง เมื่อ พระสิทธัตถะ ทำพิธีสยุมพร คือเลือก เอ่อ ผู้ที่ต้องการ นางสาวโคตมี คนหนึ่งพอเห็นพระสิทธัตถะผ่านมาก็พูดขึ้นว่า บุรุษนี้เป็นลูกของใคร มารดาของเขาก็เย็น บิดาของเขาก็เย็น บุรุษนี้เป็นภัส เป็นภัสดาของสตรีใด สตรีนั้นก็เย็น คำว่าเย็น เย็นในที่นี้หมายถึง นิพพุทตา นิพพุทตา คำเดียวกับนิพพาน นิพพานเป็นชื่อกริยา อาการ นิพุทตาเป็นบุคคลที่เป็นเช่นนั้น นิพพุทตานูนะสามาตา ( 09:32) นิพพุทโตนูนะสาปิตา นี่เป็นต้น นิพพุทตา นิพพุทตา ก็ใช้กับสตรี คำนี้แปลว่าเย็น เป็นคำคำเดียวกับคำว่านิพพาน แม้ที่สุดแต่อานิสงส์ของศีล ที่ว่าไปเมื่อตระกี้นี้ว่า สีเลนะนิพพุทติงยันติ นิพพุทติง นิพพุทตินี่ ก็หมายถึงนิพพาน แต่หมายถึงเย็นอย่างธรรมดาสามัญนี่ ไม่ ไม่ ไม่ใช่นิพพานหมดกิเลส แต่คำมันเป็นคำเดียวกัน นิพพุทติเป็นคำนาม ในความหมายจำกัด นิพพุทติ คือเย็นได้ด้วยศีล ดังนั้นขอให้รู้ไว้อย่างชัดเจน แจ่มแจ้งแน่นอนว่า คำว่านิพพานเย็นนี่มีความหมายอยู่เป็น ๒ ชั้น ชั้นแรกก็เย็นอย่างธรรมดาสามัญ มีชีวิตเยือกเย็น มีใจคอเยือกเย็น ในบ้านในเรือนเยือกเย็น ในครอบครัวเยือกเย็นไม่มีเรื่องบ้าๆ บอๆ ให้เร่าร้อน เย็นไปหมดอย่างนี้ก็เรียกว่า นิพพุทตาเหมือนกัน สีเลนะนิพพุทติงยันติ ถึงนิพพุทตะได้ นิพพุทติได้ ก็ด้วยศีล ก็คือว่ารักษาศีลกันดี แล้วก็เย็นกันหมดทุกคนในครอบครัว นี่เรียกว่านิพพานล่วงหน้า นิพพานที่ยังไม่ถึงที่สุด แต่ก็เรียกว่านิพพานได้ นี่ถ้าว่าประพฤติปฏิบัติไปจนหมดกิเลส โดยสิ้นเชิงนั้นเป็นนิพพานจริง นิพพานโดยสมบรูณ์นั้น คือเป็นพระอรหันต์ ที่นี้เรายังไม่ พูดถึงชั้นนั้น พูดถึงแต่ว่าจะอยู่ในบ้านเรือนนี่แหละ ให้เต็มไปด้วยชีวิตที่เยือกเย็นได้อย่างไร ข้อนี้จะต้องรู้จักเรื่องต่อไป สืบต่อไปว่า สิ่งที่มีชีวิต สิ่งที่มีชีวิตทุกชนิดมีหน้าที่ ที่จะต้องประพฤติปฏิบัติ ครั้นปฏิบัติแล้วก็รอดตาย และอยู่เป็นผาสุกเยือกเย็น ฟังดูให้ดีว่า คนครองเรือน อยู่บ้านอยู่เรือน รู้ว่ามีหน้าที่ๆ จะต้องประพฤติ กระทำให้ชีวิตนี้เป็นของเย็น หลักเกณฑ์มันมีอยู่ว่า เขาจะต้องทำหน้าที่ให้เป็นที่พอใจแก่ตนเอง อือ,และก็เป็นสุขได้ด้วยความพอใจนั้นเรียกว่าเย็น คือทำอะไรที่มันถูกต้อง ที่มันถูกต้องอย่าคดโกงคนอื่น อย่าคดโกงตัวเอง อย่าคดโกงประเทศชาติ อย่าคดโกงอะไรก็ตาม ให้มันถูกต้อง และเกิดประโยชน์ขึ้นมา ก็พอใจว่าเราได้เป็นมนุษย์ที่ดี มีความถูกต้อง เมื่อรู้สึกอย่างนี้ ก็พอใจตัวเอง เคารพตัวเอง นับถือตัวเอง ถึงกับยกมือไหว้ตัวเองได้ นี่ลองคิดดูว่า ถ้าคนเราพอใจตัวเองจนยกมือไหว้ตัวเองได้นั่นมันเย็นหรือร้อน มันเย็นหรือร้อน ข้อนี้เป็นสิ่งที่ทำได้โดยเข้าใจให้แจ่มแจ้งตลอดลงไปถึงข้อที่ว่า สิ่งที่เรียกว่าหน้าที่นั้นมีอยู่ แต่เรียกโดยภาษาบาลีเรียกว่าธรรมะ ธรรมะ หรือ ธรรม ธรรมะนี่แหละ ทีนี้คำว่า ธรรมะ ธรรมะคำนี้แปลว่าหน้าที่ ท่านทั้งหลายอาจจะเคยได้ยินมาแต่ว่า ธรรมะแปลว่าคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า นี่มันสำหรับสอนลูกเด็กๆ ในโรงเรียน มันยังไม่รู้อะไรกี่มากน้อย คำว่าธรรมะ ธรรมะ ที่มนุษย์พูดกันอยู่ก่อนมีพระพุทธเจ้าก่อนพระพุทธเจ้าเกิด ก็มีคำพูดว่าธรรมะพูดถึงธรรมะอะไรกันอยู่แล้วก่อนพระพุทธเจ้าเกิด มันก็แปลว่า มันมากไปกว่าคำสอนของพระพุทธเจ้า คำนี้แต่ดึกดำบรรพ์มานั่น หมายถึงหน้าที่ๆ มนุษย์จะต้องกระทำ นี่ท่านทั้งหลายที่เป็นครูบาอาจารย์คงจะสอนนักเรียนว่า ธรรมะคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า นี่มันก็ถูกตามที่เขากำหนดให้สอน แต่นั่นนะ ถ้าเราไปเปิด ดูปทานุกรมของชาวอินเดีย ชาวอินเดีย คำว่าปะ คำว่าธรรมะ ธรรมะในปทานุกรมของชาวอินเดียนั่นแปลว่า หน้าที่ หน้าที่ มนุษย์คนแรกในโลกที่ว่าพ้น พ้นมาจากความเป็นคนป่านะ มันได้เริ่มสังเกตเห็นไอ้สิ่งที่เป็นหน้าที่ๆ จะต้องทำอยู่ทุกวันเป็นหน้าที่ มันก็เรียกสิ่งนั้นออกมาเป็นเสียงว่าธรรมะ ธรรมะ ธรรมะแปลว่าหน้าที่ แล้วก็บอกและสอนกันมา ให้รู้จักสิ่งที่เรียกว่าหน้าที่ หน้าที่เนี่ย มากออกไป ไกลออกไป สูงออกไป สูงออกไป จนกระทั่งสูงขึ้นไปในทางจิตทางใจ คือทางศาสตร์ ทางธรรม ทางศาสนา ด้วย แต่ถึงอย่างไรก็ดี ความจริงข้อนี้มันมีอยู่ว่า หน้าที่ทุกชนิดเรียกว่าธรรมะทั้งนั้น แม้แต่สัตว์เดรัจฉานมันก็ต้องมีหน้าที่ๆ มันจะต้องทำ และมันก็ทำก็รอดตาย แต่ถ้ามันทำดีกว่านั้น มันก็อยู่เย็นเป็นสุข ตามแบบของสัตว์เดรัชฉาน ต้นไม้ต้นไร่เหล่านี้ก็เหมือนกัน มีหน้าที่ๆ จะต้องทำ ทำแล้วรอดตาย แล้วอยู่สบาย ธรรมะ ธรรมะของต้นไม้เนี่ย มันก็ต้องมีจนครบถ้วน ตามกฎของธรรมชาติ มันจะต้องมีน้ำกิน มันต้องดูดน้ำขึ้นไป มันดูดแร่ธาตุขึ้นไป แล้วมันก็ต้องมีแสงแดด แล้วมันก็เอาแร่ธาตุนั้นปิดให้เป็น เนื้อหนัง เป็นเนื้อไม้เป็น ใบเป็นต้นเป็นลำเป็น เป็นอะไรขึ้นมา นี่มันก็ทำหน้าที่ มันทำหน้าที่หลายอย่างซึ่งเราไม่รู้ แต่แล้วต้นไม้ก็รอดชีวิตอยู่ได้เพราะการทำหน้าที่ ถ้ามันไม่ทำหน้าที่มันก็ตาย เท่านั้น หน้าที่สำคัญกี่มากน้อย และคำว่าหน้าที่ หน้าที่เนี่ยเป็นภาษาไทย ถ้าเป็นภาษาอินเดียโบราณ ออกเสียงว่า ธรรมะ ธรรมะ แล้วแต่จะเป็นภาษาอิน อินเดีย สันสกฤต หรือ บา ปลากฤษ (17:06) หรือบาลีก็ตาม ก็คือคำๆ เดียวกัน ต้นไม้ก็มีธรรมะของต้นไม้ เห็น สัตว์เดรัชฉานก็มีธรรมะของสัตว์เดรัจฉาน ก็ทำหน้าที่ครบถ้วนอย่างสัตว์เดรัจฉานมันก็รอด แต่ถ้ามันทำได้ดีกว่านั้น มันก็เกินรอด คือยู่กันผาสุกดี ที่นี้มาถึงคน ก็มีหน้าที่มากไปกว่าสัตว์เดรัจฉาน เพราะคนนี่มาในระดับที่สูงกว่าสัตว์เดรัจฉานแล้ว มันมีหน้าที่เกิดขึ้นมากกว่า แต่ก็ยังเรียกว่าหน้าที่อยู่นั่นเอง หน้าที่อันแรกมันก็ต้องกินอาหาร ถ้าไม่มีอาหารกินมันก็ต้องหาอาหาร มันก็ต้องรู้จักทำอาหาร ปรุงอาหาร ผลิตอาหาร เก็บรักษาอาหารไว้ ไว้ได้กิน ทันเวลาที่ต้องการ มันก็ต้องแสวงหาอาหาร ผลิตอาหาร ก็เป็นหน้าที่ ครั้นแล้วมันก็จะต้องกินอาหาร จึงรอดชีวิตอยู่ได้ มันก็มีเรื่องมาก ที่ว่าจะต้องกินอาหารให้ถูกต้อง จะต้องมีความรู้อย่างเพียงพอ ถ้าไม่ถูกต้องมันก็ไม่เป็นสุข แล้วมันก็ยังจะต้อง ทำหน้าที่อย่างอื่นอีก มันจะต้องถ่ายอุจจาระ มันจะต้องถ่ายปัสสาวะ ลองไม่ถ่ายอุจจาระ ไม่ถ่ายปัสสาวะ มันก็ตาย มันมีต้องอาบน้ำ มันมีต้องทำอะไรอีกหลายๆ อย่าง และยังมีของประกอบ เล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับที่จะมีอาหารกิน มีถ้วย มีจาน มีโอ่ง มีไห มีอะไรก็ต้องทำหน้าที่เกี่ยวกับสิ่งเหล่านั้นหมด จะถ่ายอุจจาระ ถ่ายปัสสาวะ จะอาบน้ำ มันก็ต้องมีอุปกรณ์เหล่านั้น ซึ่งมี หน้าที่ ที่ จะต้องทำให้ถูกต้อง ถ้าทำไม่ถูกต้องมันก็ไม่สำเร็จประโยชน์ มันเกิดปัญหาขึ้นมา ถ้ามัน มันไม่ถูกต้องมากเกินไป มันก็เจ็บไข้ แล้วมันก็ตาย นั้นคนไม่ได้เคยนึกคิดว่าเรากำลังปฏิบัติธรรมะ เพราะมันไม่รู้ ก็ไอ้คนนั้นมันไม่รู้ว่า ที่กินอาหารก็ดี ถ่ายอุจจาระก็ดี ถ่ายปัสสาวะก็ดี ล้างหน้าก็ดี อาบน้ำก็ดี หรือทำอย่างอื่น แม้แต่ว่า กวาดบ้าน ถู ถูเรือน หรือว่าอะไรก็ตามเป็นส่วนประกอบ ที่ทำให้รอดชีวิตอยู่ได้ และเรียกว่าธรรมะหมด นั้นมีโอกาสที่จะมีธรรมะได้ร้อยแปดพันประการ ตื่นนอนขึ้นมา ก็ล้างหน้าให้ดีที่สุด อย่างกับว่าเป็นการทำ ปฏิบัติธรรม เป็นการปฏิบัติธรรม ล้างหน้าให้ดีที่สุด ไม่ใช่ใจลอยล้างหน้าเลิ่กลั่ก เลิ่กลักแล้วไปแล้วอย่างนี้ เหมือนคนโง่ บางคนไม่รู้ว่า ไอ้แม้แต่การล้างหน้านั่นก็เป็นหน้าที่ ถ้าเป็นหน้าที่ก็คือธรรมะ แล้วมันก็จะไป ถ่ายอุจจาระ ไปถ่ายปัสสาวะ มันก็ไม่ได้คิดว่าเป็นหน้าที่ ไม่ได้คิดว่าเป็นธรรมะ ไม่ได้ตั้งใจจะทำให้ดีที่สุด มันทำส่งเดช เพราะมันโง่ เพราะมันไม่รู้แม้นี้ก็เป็นธรรมะ ถ้ารู้ว่าแม้นี้ก็เป็นธรรมะ ก็ทำให้ดีที่สุด มันก็มีธรรมะเมื่อถ่ายอุจจาระ ถ่ายปัสสาวะนั่นเอง ถ้ามันจะมาอาบน้ำ กว่าจะอาบน้ำเสร็จมันมีหลายตอนที่จะต้องจับขันมา หรือเปิดก๊อกน้ำเข้า หรือว่าตักน้ำเข้า รดลงไปถูขี้ไคล ทุกอย่างกว่าจะเสร็จ เรื่องอาบน้ำทุกขั้นตอนเป็นหน้าที่ ทุกขั้นตอนเป็นธรรมะต้องมีสติ มีสัมปชัญญะ ทำให้ดีทุกขั้นตอน มันก็เชื่อได้ว่าเวลาอาบน้ำก็มีธรรมะได้เยอะแยะไปหมด ไม่ใช่มากินอาหาร แม้แต่จะนุ่งผ้ากว่าจะเสร็จก็ต้องมีสติสัมปชัญญะ มีธรรมะหลายขั้นตอน นุ่งผ้า แต่งตัวหรือมากินอาหาร จะ จะหยิบจาน หยิบช้อน หยิบตักอาหาร เคี้ยวอยู่ อะไรก็ตาม มีสติสัมปชัญญะทำ และก็เรียกว่ามีธรรมะ ปฏิบัติธรรมะตลอดเวลาที่กินอาหาร แม้ที่สุดแต่จะล้างจาน ก็มีสติสัมปชัญญะล้างจาน ในจิตใจอันสงบ นี้ก็พอใจ แล้วก็พอใจ จะเช็ดจาน จะกวาดบ้าน จะถูบ้าน จะทำทุกอย่าง เกี่ยวกับเรื่องประจำวัน ครั้นแล้วก็จะแต่งตัว แล้วจะลงเรือนไปทำงานที่ไหนก็ตามแล้วแต่ว่าใครมันมีหน้าที่ทำงานที่ไหน ทำงานที่บ้าน หรือทำงานที่ออฟฟิต ทำงานที่ไร่ ที่นา ที่สวน ที่ร้านค้า ที่แล้วแต่ว่าจะทำงานอะไร กระทั่งเป็นกรรมกร ทำงานเหงื่อ อาบเหงื่อต่างน้ำอยู่ หรือว่านั่งขอทาน เป็นคนขอทานอยู่ ก็เรียกว่าทำงานทั้งนั้นแหละ มันต้องทำให้ดีที่สุดเพราะว่าเป็นธรรมะ พอทำก็พอใจ พอใจก็เป็นสุข ถ้าไม่พอใจมันก็ฝืนทำ ฝืนทำก็ตกนรกทั้งเป็น ตกนรกอยู่ตลอดเวลาที่ทำงาน จะงานเบา งานหนัก อะไรก็ตาม ถ้าจิตใจมันไม่พอใจที่จะทำ มันฝืนทำ มันก็คือตกนรกทั้งเป็น แต่ถ้ามารู้เสียใหม่ว่า หน้าที่เหล่านั้นเป็นธรรมะทั้งนั้น ได้ปฏิบัติธรรมะ เพราะการทำหน้าที่นั้นก็พอใจ ได้ทำด้วยความเต็มอกเต็มใจ เลยไม่ต้องเป็นทุกข์เพราะการทำงาน แม้ว่าจะทำงานอาบเหงื่อต่างน้ำ เป็นกรรมกร แจวเรือจ้าง ถีบสามล้อ กวาดถนน ล้างท่อสกปรก อะไรก็ตาม ถ้ารู้สึกว่านี่เป็นการปฏิบัติธรรมะแล้วมันก็ไม่ ไม่เดือดร้อนใจ มันพอใจ แล้วมันก็เป็นสุข ก็พอใจ ถ้ามันทำอย่างนี้ มันก็เจริญดีทั้งทางจิตใจ แล้วก็ทางร่างกาย คือทำหน้าที่ได้ดี ทำหน้าที่ได้มาก ทำหน้าที่ได้เป็นที่ก้าวหน้า ไม่ทันไรก็จะพ้นจากปัญหาเหล่านั้น พ้นจากความเป็นกรรมกร พ้นจากความเป็นคนขอทาน ออกมาอยู่ในระดับที่ สูงกว่านั้นได้ นี่คือปฏิบัติธรรมะ มันช่วยได้อย่างนี้ มันช่วยให้รอดตาย มันช่วยให้อยู่อย่างผาสุก ถ้ารู้จักทำให้เป็นธรรมะในทางจิตใจ คือพอใจในการทำงานมันก็เป็นสุขตลอดเวลาทั้งวัน ทั้งคืนเลย เพราะว่าคนเรานี่ มันต้องมีหน้าที่อยู่ตลอดเวลาแหละ หน้าที่หากิน หน้าที่บริหารร่างกาย หน้าที่คบหาสมาคม เรียกว่า มีเยอะแยะไปแล้วแต่ละวัน ละวัน อย่างนั้นทำให้ดี ทำให้เป็นที่พอใจแก่ตน ว่าจะทำ ปฏิบัติธรรมะข้อนี้ มันก็มีความสุข มีความสุขในความรู้สึกอยู่ทุกหน้าที่ๆ กระทำ หากท่านได้ไปทำสูงขึ้นไปกว่านั้นคือปฏิบัติธรรมะ มีศีล สมาธิปัญญา หรือมีอะไรก็ตาม ที่มันเป็นธรรมะโดยตรง ก็ยิ่งพอใจสูงขึ้นไปอีก ระงับกิเลสได้มากขึ้นไปอีก ต้องการชีวิตที่เย็นเยือก โดยที่ไม่ต้องรดน้ำ โดยไม่ต้องแช่น้ำแข็ง แต่เป็นชีวิตที่เย็นเยือกเพราะปฏิบัติธรรมะ แล้วก็พอใจว่าได้ปฏิบัติธรรมะ เมื่อพอใจก็เป็นสุข นั่นแหละคือเย็น เย็นจากการทำหน้าที่ ทีนี้คนมันไม่มีความรู้เรื่องนี้ มันบ้ามันโง่มาแต่พ่อมัน กระมัง ว่ากินเหล้ากลับดีกว่า เล่นการพนันดีกว่า เที่ยวกลางคืนดีกว่า อะไรดีกว่าไปในทางอบายมุข มันก็ไม่รู้จัก ไอ้ความเยือกเย็นที่ เป็นสุขที่แท้จริง ที่ไม่ต้องเสียสตางค์เดียว ความสุขที่แท้จริงคือปฏิบัติธรรมะแล้วพอใจตัวเอง เป็นสุขนี้เป็นสุขแท้จริงไม่ต้องเสียสักสตางค์หนึ่ง ถ้าไปซื้อเหล้ามากิน มันหลายบาท แล้วมันก็ให้ความบ้า ยิ่งกินไปเท่าไรก็ให้ความบ้า มันไม่ใช่ความสุขเลย แต่คนโง่ ๆ มันเห็นว่าเป็นความสุข มันเลยกินเหล้าหาความสุข ดื่มน้ำเมา เที่ยวกลางคืน ดูการเล่น เล่นการพนันคบคนชั่วเป็นมิตร เกียจคร้านทำการงาน ที่เรียกว่า อบายมุข เป็นปากทางแห่งอบาย ยังเห็นเป็นความสุข แล้วยังเสียเงินมหา มากมาย จนเป็นหนี้เป็นสิน จนต้องไปเช่าไปโกง มันไปหลงความถูกๆ ผิดๆ จนต้องใช้เงินเท่าไรก็ไม่พอ ถ้ามาใช้ให้ หาความสุขให้ถูกต้อง ความพอใจว่าได้ปฏิบัติธรรมะแล้วก็เป็นสุข ไม่ต้องเสียสักสตางค์ เดียว นึง แล้วก็เป็นสุขแท้จริงอยู่ตลอดเวลา ตลอดวัน ตลอดคืน เพราะเป็นความพอใจที่บริสุทธิ์ เกิดมาจากการปฏิบัติธรรมะ คือหน้าที่ นั้นขอให้ทำหน้าที่ทุกอย่างทุกประการ ทุกวินาที ทุกกระเบียดนิ้ว พูดกันอย่างนี้ดีกว่า ให้เป็นหน้าที่ๆ ประพฤติดีแล้ว แล้วก็พอใจ พอใจ พอใจ นั่นแหละคือความสุข เป็นความสุขแท้จริงไม่ปลอม ไม่เหมือนความสุขที่เกิดมาจากอบายมุข นี่ขอให้พวกเรา ที่ได้ชื่อว่าเป็นมนุษย์น่ะรู้จักความสุขที่แท้จริง แล้วก็แสวงหาความสุขที่แท้จริง ให้ได้ให้ครบ ให้ชีวิตนี้เป็นชีวิตเย็น เอาล่ะที่นี้ถ้าว่าไอ้เรื่องกิน เรื่องใช้ เรื่อง เลี้ยงชีวิตน่ะมันหมดปัญหาแล้ว สมมติว่าทำถูกต้องแล้ว มีสุขภาพอนามัยก็ดีด้วย มีการคบหาสมาคมกันก็ดีด้วย แต่ก็มามีปัญหาทางจิตใจเอง คือจิตใจมีนิวรณ์รบกวน จิตใจมีกิเลสรบกวน จิตใจมีความกลัวรบกวน ๓ อย่างนี้ศึกษาให้ดี ถ้าไม่อย่างนั้นเป็นคนโง่ นิวรณ์รบกวนก็คือว่า แต่ละวัน ละวัน น่ะ คนแต่ ละคน แต่ละคนมีนิวรณ์รบกวน จิตใจไม่เย็น นิวรณ์ ๕ นี่ เข้าใจว่าคงจะรู้ กันแล้วทุกคน ก็ได้ยินกันว่า ก็เป็นครูบาอาจารย์กันทั้งนั้นที่มานี่ ถ้ายังไม่รู้จักนิวรณ์ ๕ ละก็แย่มากโดยตัวหนังสือ แต่ว่า แม้แต่รู้จักตัวหนังสือ ยังไม่สนใจที่จะรู้จักตัวจริงก็ได้ ฉะนั้นจะต้องรู้ว่านิวรณ์ ๕ คือสิ่งที่มันเกิดรบกวนคนธรรมดาสามัญอยู่ตลอดวันก็ว่าได้ จิตไม่เย็น ไม่หยุด ไม่สงบ ไม่เกลี้ยงเกลา ก็นิวรณ์ ๕ มันกวน นิวรณ์ ๕ ตัวที่ ๑ คือความคิด คิดไปในทางเพศ ในทางกามารมณ์ ควรหรือไม่ควร เมื่อใดจิตมันน้อมไปในทางเพศ ในทางกามารมณ์ มันก็เป็นจิตร้อน จิตวุ่นวาย จิตมืดมัว จิตเศร้าหมอง หมด หมด หมดความเย็นในชีวิต เดี๋ยว พยาบาทคือความไม่ชอบใจ เกียจคนนั้น โกรธคนโน้น รบกวน เรียกว่าพยาบาทคือประทุษร้าย น่ะรบกวน จิตใจมันก็ไม่เย็น นี่คนเราก็มีเรื่องเกียจคนนั้น โกรธคนนี้อยู่ด้วยแล้วมันก็เป็นไปได้ เรื่อยไป หรือหนักเข้ามันก็โกรธ ไปหมด โกรธตัวเองก็ได้ โกรธโต๊ะ โกรธเก้าอี้ โกรธถ้วย โกรธชาม อะไรมันก็ยังทำได้ ถ้านิวรณ์มัน มัน มันกล้า นิถีนมิตธ บางเวลาซึม ซึมเซา ละเหี่ย ระห้อย จิตตกต่ำ ไม่โปร่งใส ไม่เยือกเย็น อันนี้เรียกว่านิวรณ์ตัวหนึ่ง ที่ ๓ เดี๋ยว อุทัตจะอุกุตตะ ฟุ้งซ่านเตลิดเปิดเปิง เรียกว่านิวรณ์ตัวหนึ่ง ที่ ๔ ตัวสุดท้ายตัวที่ ๕ เรียกว่า วิจิกิจฉา ความที่จิตใจไม่พอใจแน่นอนลงไปใน เรียกว่าถูกต้องแล้ว มันมีความรู้สึกว่าถูกต้องแล้ว มันยังลังเลว่า ยังไม่ถูก ยังไม่รอด ยังไม่ปลอดภัย มัวแต่ระแวงไปได้ ได้ เกือบจะทุกอย่าง ถ้าที่จริงมันก็ควรจะระแวงแหละ เพราะว่ามันเป็นอย่างนั้น อยู่จริง ๆ เหมือนกัน คือมันยังไม่ถูกต้องเพียงพอ มันก็ระแวง มันไม่แน่ใจไปเสีย ก็มี มันไม่แน่ใจเรื่องความดีของตัว ไม่แน่ใจเรื่องความปลอดภัยของตัว ไม่ ไม่แน่ใจในเรื่องพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไม่แน่ใจในเรื่องว่าควรจะทำอย่างไรดีที่สุดนี่ เดี๋ยวมากินเหล้าดีกว่า เดี๋ยวก็ไปวัดดีกว่า เดี๋ยวไปขโมยดีกว่า มันไม่มีความแน่ใจอะไรลงไปได้ นี่เรียกว่า วิจิกิจฉา มันมีตั้ง ๕ ตัว คิดดู แล้วใครบ้างที่ไม่ถูกนิวรณ์เหล่านี้รบกวน ในบางทีจะมีครบทั้ง ๕ ตัวในวันหนึ่ง บางเวลากามารมณ์รบกวน บางเวลาความโกรธความเกลียด ความอิจฉาริษยารบกวน บางเวลาความระห้อยละเหี่ยใจรบกวน บางเวลาความฟุ้งซ่านรบกวน บางเวลาความไม่แน่ใจในทุกเรื่องที่เกี่ยวกับตัวเอง น่ะ มันรบกวน ถ้าไม่รู้จักนิวรณ์นี่ จะเรียกว่าคนโง่กี่มากน้อย ท่านทั้งหลายที่นั่งอยู่ที่นี่ท่านรู้จักนิวรณ์ดีแล้วหรือยัง ถ้ายังก็เรียกว่ายัง ยัง ยังไม่ได้ขึ้นต้น สำหรับการศึกษาธรรมะอะไรเลย ยังไม่รู้จักแม้แต่นิวรณ์ที่รบกวนอยู่ นิวรณ์นี่เป็นสิ่งที่ไม่ต้องเจตนา ไม่มีเรื่องอะไรมากระทบ มันขึ้นมาได้เองมาจากภายใน มันมาจาก อนุสัย ที่นอนที่อยู่ในสันดานนั่น มันปรุงส่งขึ้นมา นี่ อย่างนี้ก็เรียกว่านิวรณ์ ที่นี้มันมีอีกพวกหนึ่งรุนแรง ที่นี้มันรุนแรงมีเจตนา มีสิ่งมายั่วยุคือกิเลส เรียกว่ากิเลส เดี๋ยวเป็นราคะ เดี๋ยวเป็นโลภะ เดี๋ยวเป็นโทสะ เดี๋ยวเป็นโมหะ ราคะ โทสะ โมหะ นี่เรียกว่ากิเลส รุนแรงกว่านิวรณ์มาก ก็มันมีเรื่องมากระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และคนมันโง่ มันยึดมั่น ถือมั่น จนเกิดกิเลสน่ะ ความโลภก็เผาอย่างความโลภ ความโกรธก็เผาอย่างความโกรธ ความหลงก็เผาอย่างความหลง อย่างนี้เรียกว่ารุนแรงมาก แต่ว่ายังห่างๆ ยังไม่ถี่ยิบไปซะหมดเหมือนกับพวกนิวรณ์ พวกนิวรณ์ น่ะสังเกตดูให้ดีเถอะให้รู้จักว่าตั้งแต่เช้า จนเที่ยง จนเย็น จนค่ำน่ะว่างจากนิวรณ์ไหม ถ้ามันเต็มอยู่ด้วยนิวรณ์ต้องเสียใจให้มาก เรียกว่า มันมี มีความไม่ดี มีความรบกวน ความสงบสุขไม่สงบสุข จิตใจ ไม่เยือกเย็น ไม่เยือกเย็น นี่นิวรณ์ขจัดออกไปซะได้ก็เย็นไปตามแบบไม่มีนิวรณ์ ที่นี้กิเลส คือ ลาภะ โทสะ โมหะ เหมือนกับไฟกองใหญ่เผารน นี่ถ้าขจัดไปเสียซะได้ก็ดีไปอีกชั้นหนึ่งแน่ นี่เรามีกิเลสรบกวนไม่เย็น ที่นี้ก็มี เอ่อ ความรู้สึก เกี่ยวกับสิ่งที่น่ากลัว สิ่งที่น่ากลัว ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย เรากลัว ไอ้ความเกิดนี่คนโง่ๆ ไม่รู้จักกลัวหรอก ต้องคนฉลาดจึงจะต้องรู้จักกลัวความเกิด แต่ความแก่นี่ดูจะกลัวกันได้ พอจะรู้จักกลัวกันได้ แต่ความเจ็บเขาก็กลัวกันทุกคน พอความตายก็กลัวที่สุด ด้วยกันทุกคน มันมีวี่แววว่าจะเจ็บจะไข้ ก็เป็นทุกข์ หรือเป็นเข้าจริงก็เป็นทุกข์ใหญ่ พอจะตายก็ยิ่งกลัวตายก็ยิ่งเป็นทุกข์มาก นี่เรียกว่าความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายเป็นปัญหาอันละเอียด ที่ทรมานจิตใจคน พระธรรมของพระพุทธเจ้า นะ ปฏิบัติแล้ว ก็ระงับไอ้ความกลัวเหล่านี้ได้ แต่ดูเหมือนเอามาสวด เป็นบทสวดกันอยู่เพียงท่อนเดียว พวกอุบาสก อุบาสิกา วัดไหนก็ตามมันมักจะสวดกันเพียงครึ่งท่อน ว่าเรามีความเกิดเป็นธรรมดา ไม่พ้นการเกิดไปได้ มีความแก่เป็นธรรมดาไม่พ้นความแก่ไปได้ มีความเจ็บเป็นธรรมดาไม่พ้นความเจ็บไปได้ มีความตายเป็นธรรมดาไม่พ้นความตายไปได้ นี่มันสวดท่อนเดียวครึ่งเดียว หรือ มันหลับ หลับตาว่าไปตามที่เคยทำกันเท่านั้น ไอ้ตอนที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าถ้าสัตว์ทั้งหลายเหล่านี้ได้อาศัยเราเป็นกัลยาณมิตรแล้ว สัตว์ที่มีความเกิดจะพ้นจาก สัตว์ที่มีความเกิดธรรมดาจะพ้นจากความเกิด สัตว์ที่มีความแก่เป็นธรรมดาจะพ้นจากความแก่ สัตว์ที่มีความเจ็บเป็นธรรมดาจะพ้นจากความเจ็บ สัตว์ที่มีความตายเป็นธรรมดาจะพ้นจากความตาย ถ้ามันไม่มาสวดเสียให้มันจบ ให้มันจบจนครบบริบูรณ์อย่างนี้ สวดครึ่งท่อนก็หมายความว่ายอมแพ้ ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย นั่งร้องไห้ฮือ ฮือ อยู่ น่าสงสารแม้แต่แมวมันก็ยังทำไม่เป็น แมวมันไม่รู้จักปัญหาเกิด แก่ เจ็บ ตาย มันก็ต้องไม่เป็นทุกข์ แต่คนนี่ เอามาสวดให้เป็นทุกข์ ควรจะรู้กันเสียว่าไอ้ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ถึงน่ากลัว แต่มัน มัน กำจัดเสียได้โดยการปฏิบัติธรรมที่เรียกว่ามีพระพุทธเจ้าเป็นกัลยาณมิตร เดี๋ยวนี้คนมันไม่จริง มันยังไม่จริง มันยังคดโกงได้แม้แต่สมบัติของพระพุทธเจ้า มันไม่ได้นับถือพระพุทธเจ้าโดยแท้จริง มันว่าแต่ปากถ้าจริงกันเสียบ้างมันก็จะหมดปัญหา คือเห็นว่าพระพุทธเจ้าเป็นผู้ตรัสรู้ ด้วยพระองค์เอง ดับทุกข์ได้จริงเรายินดีที่จะปฏิบัติตาม เมื่อปฏิบัติตามคำสั่งสอนเมื่อไร ก็ชื่อได้ว่ามีพระพุทธเจ้าเป็นกัลยาณมิตรเมื่อนั้น เมื่อไม่ทำตามคำสั่งสอนของพระองค์แล้วจะเรียกพระองค์นั้นเป็นกัลยาณมิตรนั้นมันไม่ได้ ต้องบริสุทธิ์ใจ ต้องซื่อตรงต่อพระพุทธองค์ ซื่อตรงต่อตัวเอง ซื่อตรงต่อพระธรรม ปฏิบัติตามธรรมนั่นแหละให้ถึงที่สุด เมื่อศึกษาไปจนถึงที่สุด รู้อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาดี ก็จะพบไอ้ ความจริงที่ว่ามันไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล มีแต่สังขาร ปรุงแต่งกันไป มีแต่จิตปรุงแต่งด้วยอำนาจของ อวิชชา คิดนึกเข้าใจไปต่างๆ นา ๆ จนโง่ไปว่าเป็นสัตว์เป็นบุคคล เมื่อไม่มีสัตว์ไม่มีบุคคล มันก็ไม่มีใครเกิด ไม่มีใครแก่ ไม่มีใครเจ็บ ไม่มีใครตาย เลยพ้นจากปัญหาเรื่อง เกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่รู้สึกว่าเราเกิดมาทนทุกข์ด้วยความเกิด เราแก่ ทนทุกข์ด้วยความแก่ เรามีความเจ็บทนทุกข์ด้วยความเจ็บ คือว่าเอา เอา ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ไปให้ธรรมชาติธรรมดา ไปให้สังขารที่ปรุงแต่งอยู่ตามธรรมชาติให้ เป็นความรู้สึกของจิตที่คิดนึกไปตามธรรมชาติ ไม่ต้องมีตัวกู ไม่ต้องมีตัวตนของกู มันก็เลยไม่มี ความเกิด แก่ เจ็บ ตายที่ตัวกู หรือพูดให้ถูกมันก็พูดว่าตัวกูมันไม่มี แล้วมันก็ไม่มีความเกิด แก่ เจ็บ ตาย น่ะ ของตน มันเป็นเรื่องของธรรมชาติไปเสีย แต่ถ้าไม่รู้มันก็รู้ว่ามีตัว มันก็หลงว่ามีตัวตน แล้วก็เอามาเป็นของตนหมด ความเกิดก็ของกู ความแก่ก็ของกู ความเจ็บก็ของกู ความตายก็ของกู มันก็เลยเป็นทุกข์สารพัดอย่าง มันก็สมน้ำของหน้าคนโง่ และไม่มีพระพุทธเจ้าเป็นกัลยาณมิตร น่ะ คำนี้พระพุทธเจ้าตรัสเองแหละ แต่เราไม่ได้เอามาสวดกันเองว่า สัจเจอิเมสัตตา มังอาอะ กะมะกลาญานมิตรตัง เนี่ย ก็เป็นคำภาษาบาลีซึ่งไม่ ไม่เคยได้เอามาสวด ไม่เคยได้ยินกัน แต่เป็นใจความว่าถ้าสัตว์เหล่านี้อาศัยเราเป็นกัลยาณมิตรแล้ว สัตว์ที่มีความเกิดจะพ้นจากความเกิด สัตว์ที่มีความแก่จะพ้นจากความแก่ จากความเจ็บ จากความตาย หมายความว่า พระพุทธเจ้าสอนจนว่ามันเป็นอนัตตา มัน มันไม่ได้มีตัวตน ในร่างกายก็ไม่ใช่ตัวตน ร่างกายเจ็บก็เป็นของร่างกาย ร่างกายแก่เป็นของร่างกาย ร่างกายตายก็เป็นของร่างกายให้ร่างกายเป็นร่างกาย เป็นสังขาร ตามธรรมชาติ เป็นของธรรมชาติ จิตอย่าได้ไปโง่หลงสำคัญ ให้ร่างกายเป็นของตน หรือมีตัวตนเป็นเจ้าของร่างกายแล้วก็เลยได้เอาความเกิด แก่ เจ็บ ตายมาเป็นของตน เนี่ย ท่านทั้งหลายลองคิดดูเถอะว่าคำสอนของพระพุทธเจ้านั้นไปไกลถึงสูงสุด จนถึงกับว่าผู้ปฏิบัติตามจะอยู่เหนือปัญหาเรื่องความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ด้วยประการทั้งปวง และเย็น หรือไม่เย็นน่ะ ให้ชีวิตที่มันอยู่เหนือปัญหาเรื่องความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยประการทั้งปวง เป็นชีวิตที่เย็นหรือไม่เย็นจงคิดดู แม้ว่าจะไม่เด็ดขาดแต่ก็ขอให้เย็นเป็นครั้ง เป็นคราวก็ยังดี นั่นแหละเรียกว่าเย็นตามแบบ คนธรรมดาสามัญมีชีวิตเย็นเป็นนิพพานได้ เพียงเท่านี้ก็ดีถมไปแล้ว ถ้ามันหมดกิเลสตัณหาโดยเด็ดขาด มันก็หันไปเย็นถึงที่สุด เป็นนิพพานจริงเป็นนิพพานที่สมบรูณ์ เดี๋ยวนี้เราเอานิพพานชั่วคราว นิพพานตัวอย่าง นิพพานเท่าที่เราจะทำได้ คือมีความเย็นอยู่ในระดับหนึ่ง ไม่ถึงร้อยเปอร์เซนต์น่ะ แต่มันก็เย็น เย็นโขอยู่ ชีวิตนี่ก็จะเย็น บุคคลนั้นก็จะเย็น ครอบครัวนั้นมันก็จะเย็น หมู่บ้านนั้น ตำบลนั้นซึ่งมีครอบครัวอย่างนั้นอยู่ ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่เย็น ประเทศชาติก็เย็น ถ้าเป็นกันทั้งโลก โลกนี้ก็เย็น นี่คือธรรมะในขั้น ที่๒ เกือบพ้นจากความทุกข์หรือ ปัญหาอันเกิดมาจากความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย เป็นปัญหาทางจิต เป็นปัญหาทางวิญญาณ นี่เป็นอันว่าเรามา เรามาพ้น เราหลุดพ้นแล้วทั้งสองปัญหา ปัญหาที่ ๑ เรื่องร่างกาย เรื่องทรัพย์สมบัติข้าวของ เพื่อนฝูงมิตรสหายอย่างนี้ ก็ไม่มีปัญหา สบายกันดีทุกคน รักใคร่พอใจกันทุกคน แต่ยังมีปัญหาทางจิต คือเป็นทุกข์โดยความเกิด แก่ เจ็บ ตายบ้าง เป็นทุกข์โดยลาภะ โทสะ โมหะบ้าง เป็นทุกข์ด้วยนิวรณ์ทั้ง ๕ อยู่เป็นประจำวันที่คนโง่มองไม่เห็น แล้วไม่รู้สึกว่ามีแล้วก็ไม่สนใจที่กำจัดนิวรณ์เหล่านี้ เลิกเป็นคนโง่เสียสักหน่อย ก็จะพบว่า มันถูกรบกวนอยู่ด้วยนิวรณ์อยู่เป็นปกติ เป็นธรรมดา เป็นเดิมพันอยู่ทีเดียว ตัดทอนไอ้ปัญหาเหล่านี้ออกไปได้ซะมากเท่าไหร่มันก็จะเป็นจุดตั้งต้นที่ดี พ้นจากนิวรณ์ทรมารใจ แล้วมันจะค่อยๆ พ้นจากกิเลส ทรมารใจ แล้วมันจะค่อยพ้นจากความกลัว กลัวเกิด แก่ เจ็บ ตาย ที่ทรมารใจ มันก็เลยสบายเลยเป็นมนุษย์ที่เย็น นี่ขอให้ท่านทั้งหลายทุกคน สำนึกตนว่าได้เกิดมาเป็นมนุษย์แล้วพบพระพุทธศาสนา ได้รับประโยชน์อะไรจากพระพุทธศาสนา คุ้มกันหรือยัง เป็นที่พอใจกันหรือยัง ถ้าเรายังมีนิวรณ์รบกวนอยู่ มันก็ยังไม่ดีกว่าแมว ยิ่งมีกิเลสรบกวนมีความกลัวรบกวนด้วยแล้วก็ยิ่ง ยิ่ง ยิ่งเรียกว่าไม่ได้รับประโยชน์อะไรจากพระพุทธศาสนา ยังไม่ได้รับประโยชน์อะไรจากพระพุทธศาสนาตามความมุ่งหมาย พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้สอนเรื่องทำมาหากิน เรื่องอะไรเจ็บไข้ เรื่องสังคมอะไร เพราะไม่ใช่หน้าที่ของท่าน คนธรรมดาในโลกก็รู้กันเอง สอนกันเองได้ ท่านก็ไม่ต้องสอนเรื่องนี้ แต่ท่านก็สอนเรื่องที่คนธรรมดาสอนไม่ได้ คือเรื่องที่จะเอาชนะนิวรณ์ เอาชนะกิเลส เอาชนะความกลัว ๓ ประการนี้ ถ้าจำกันไว้แม่นๆ ว่าเรามีปัญหาที่รบกวนความเป็นมนุษย์ของเราอยู่คือนิวรณ์ทั้ง ๕ พวกหนึ่ง ไปรู้จักมันให้ดีๆ แล้วก็เกลียดชังมันให้มาก พยายามกำจัดมันให้หมดไป และก็ความมีกิเลสรุนแรงเป็นราคะ เป็นโทสะ เป็นโมหะนั่นแหละ ป้องกันไว้ดีๆ ศึกษาไว้ดีๆ ปฏิบัติตนอยู่อย่างดี ป้องกันไม่ให้มันเกิดขึ้นมาได้ นี้มันเป็นเรื่องอีกยืดยาวต้องพูดกันอีกคราวอื่น แต่ว่ามันเป็นสิ่งที่ทำได้ถ้าเรารักความเป็นมนุษย์ของเราก็จะสามารถดำรงชีวิตชนิดที่ว่ามัน มีราคะ โทสะ โมหะ ลดลง ลดลง ลดลง แม้กระทั่งว่าในที่สุดไม่มีความทุกข์เพราะความกลัวต่อความเกิด ต่อความแก่ ต่อความเจ็บ ต่อความตาย จะถือเอาได้เท่าไร จะทำได้เท่าไร จะปฏิบัติได้เท่าไหร่มันก็แล้วแต่ แต่ละคน เดี๋ยวนี้บอกให้รู้ว่าการเป็นมนุษย์นี้ ถ้ายังไม่พ้นจากปัญหาของมนุษย์แล้วมันก็ยังไม่ได้รับประโยชน์อะไร มันเสียชาติที่เกิดมา มันก็ไม่ดีกว่าสัตว์เดรัชฉานที่มันไม่รู้อะไร ถ้าเราเป็นมนุษย์ก็ควรให้รู้อะไรให้สมกับคำว่ามนุษย์ มนุษย์ มนุษย์ คำว่ามนุษย์เนี่ยแสดงว่ามีจิตใจสูง หรือเป็นเหล่าก่อของบุคคลที่มีจิตใจสูง สูงคือ ไอ้สิ่งท่วมทับ ท่วมทับไม่ถึง น้ำไม่ท่วมก็เรียกว่าที่สูง ถ้ากิเลสนิวรณ์มันไม่ท่วม ก็เรียกว่าจิตใจมันสูง เดี๋ยวนี้จิตใจมันท่วมด้วยนิวรณ์บ้าง กิเลสบ้าง มันจะสูง ไปได้อย่างไร มันก็ยังไม่เป็นมนุษย์นั่นเอง เป็นมนุษย์แต่ทะเบียน เป็นมนุษย์แต่ปากว่า แล้วก็ว่าเอาเองว่าเราเป็นมนุษย์ โดยแท้จริงเรายังไม่ได้เป็นมนุษย์เพราะจิตใจยังอยู่ต่ำ ต่ำจนนิวรณ์ไหลท่วมทับอยู่ตลอดวัน กิเลสท่วมทับอยู่ตลอดวัน ความกลัวเหล่านั้นท่วมทับอยู่ตลอดวัน มันก็ไม่สูง ก็ไม่เย็นไม่ใช่ชีวิตที่เป็นชีวิตเย็น หรือเป็นนิพพาน จะต้องเข้าใจเรื่องนี้แล้วก็ปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องอยู่เป็นประจำ จนมันร้อนไม่ได้ ให้มันถูกต้องอยู่เป็นประจำ จึงสอนว่าให้มีสติสัมปชัญญะอยู่ทุกๆ อิริยาบทนะ ทุกอิริยาบทนะ ทุกกระเบียดนิ้ว ทุกวินาที ทุกกิริยาบท อย่างที่พูดมาแล้วว่าตื่นนอนขึ้นมาก็ต้องรู้สึกว่ามีแต่ความถูกต้อง ไปล้างหน้าด้วยสติสัมปชัญญะตลอดเวลาด้วยความถูกต้อง จะถ่ายอุจจาระ ถ่ายปัสสาวะ ด้วยสติสัมปะชัญญะ ด้วยจิตใจอยู่กับสิ่งที่ตนกระทำ นั่นแหละ กระทำอย่างถูกต้อง ให้เป็นการปฏิบัติที่ถูกต้องที่ดี จะไปอาบน้ำ ก็ถูกต้องตลอดเวลาอาบน้ำ จะกินอาหารถูกต้องตลอดเวลากินอาหาร จะช่วยล้างจาน จะช่วยถูบ้าน จะช่วยกวาดเรือน ก็ถูกต้อง จะไปทำงานที่ออฟฟิต หรือที่ไร่ที่นา ก็ถูกต้อง กลับมาก็ถูกต้อง จะกินอาหาร จะถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ อาบน้ำอาบท่าอีก ก็ถูกต้องอีก พอค่ำลง คิดบัญชีกันทีวันนี้มีอะไรบ้าง ถ้ามันทำผิดทำเลวก็เสียใจให้มาก มีหิริโอตัปปะ ละลายและกลัวให้มาก ถ้ามันทำผิดทำเลวมามันไม่มีความถูกต้อง แต่ถ้าวันนี้ทั้งวันมันมีแต่ความถูกต้อง แล้วก็ชื่นใจตัวเอง พอใจตัวเอง ยกมือไหว้ตัวเอง ยกมือไหว้ตัวเองคำนี้ไม่ค่อยมีใครพูด แต่เป็นคำที่สำคัญที่สุดน่ะว่า มันยกมือไหว้ตัวเองได้นั่นแหละ มันประเสริฐที่สุดแหละ มันเป็นสวรรค์ เป็นสวรรค์อย่างน้อย อย่างน้อยเป็นสวรรค์อยู่ที่ยกมือไหว้ตัวเองได้ ขอบอกว่าสวรรค์ตอนตายแล้วยังไม่ต้องไปนึกถึง มันยังไม่มา มันยังไม่แน่ แต่สวรรค์ที่แน่เนี่ย เอากันก่อนเถอะ คือทำอะไร ทำอะไรทั้งวันจนค่ำลงคิดดูแล้วยกมือไหว้ตัวเองได้นั่นแหละคือ สวรรค์ที่แท้จริง เดี๋ยวนี้กลัวแต่ว่ามันยกมือไหว้ไม่ลง พิจารณาดูแล้วมันเห็นแต่สิ่งที่น่าอิจฉา น่ารังเกียจ น่าขยะแขยง มันยกมือไหว้ตัวเองไม่ลง มันตรงกันข้ามอย่างนี้มันก็ตกนรกแล้ว ตกนรกที่นี่ ตกนรกเดี๋ยวนี้แล้ว ไม่ต้องต่อตายแล้ว นี่คือคำพูดที่ว่าไอ้นรกก็ตายแล้วนะ สวรรค์ก็ตายแล้ว น่ะ มันขึ้นอยู่กับนรกที่นี่ สวรรค์ที่นี่ ถ้าอยู่ที่นี่แต่ละวันๆ มันไหว้ตัวเองไม่ลง มันเกลียดน้ำหน้าตัวเอง มันเป็นนรกอย่างนี้แล้ว ไม่ต้องสงสัย ตายไปมันก็ตกนรกแน่แหละ แต่ว่าเดี๋ยวนี้อย่าเพิ่งคิดเลย อย่าไปคิดถึงยุ่งยากลำบาก นึกถึงแต่ว่านรกที่นี่อย่าตก อย่าตก อย่ามีอะไรชนิดที่ทำให้รังเกียจตัวเอง ไม่พอใจตัวเอง อิดหนาระอาใจตัวเอง แล้วก็ เป็นการทำผิดทั่งแต่ ทั้งต่อตนเอง ทั้งต่อผู้อื่น ทั้งต่อประเทศชาติบ้านเมืองไปหมด อย่าตกนรกที่นี่ แต่ให้มันได้สวรรค์ที่นี่ พอค่ำลงยกมือไหว้ตัวเองได้ทุกวันไปล่ะก็จะดี การยกมือไหว้ตัวเองได้นั่นแหละมันจะรวมไปถึงยกมือไหว้พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ได้ เพราะว่าเราประพฤติตาม พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จนยกมือไหว้ตัวเองได้ มันก็รวมการไหว้พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อยู่ในการไหว้ตัวเองแหละ ไหว้บิดามารดาครูบาอาจารย์ ก็รวมอยู่ในคำว่ายกมือไหว้ตัวเองได้นั่นแหละ กว่าจะยกมือไหว้ตัวเองได้ มันต้องทำถูกต้องตามคำสั่งสอนของบิดามารดา ครูบาอาจารย์ พระเจ้าพระสงฆ์อะไรมาด้วยเสร็จ นั้นถ้าจะไหว้เพียงครั้งเดียวก็ไหว้ตัวเองนั่นแหละจะเป็นไหว้ทั้งหมด ถ้าจะชอบไหว้หลายที เอาไหว้พระพุทธที ไหว้พระธรรมที ไหว้พระสงฆ์ที แล้วก็ไหว้ตัวเองที เนี่ย ก็เป็น ๔ ที ก็ได้ จะไหว้อะไรอีกก็ได้ แต่ขออย่าลืมว่าขอให้กระทำจนยกมือไหว้ตัวเองได้ มันเป็นสวรรค์ เป็นสวรรค์แท้จริง สวรรค์ที่นี่ สวรรค์เดี๋ยวนี้ สวรรค์ที่ไม่ต้องลงทุน สวรรค์ที่ต้องลงทุนเป็นเงินเป็นทองมากมากนั้นน่ะไม่อยากจะพูดถึง มันเป็นเรื่องของคนอะไรก็ไม่รู้ ที่ทำให้ต้องลงทุนลงรอน ลงเงินทองอะไรมาก แล้วแลกเอาสวรรค์ สวรรค์ที่นั้นๆจะเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ มันก็จะเป็นเรื่องอย่างเดียวกันอีกคือยกมือไหว้ตัวเองไม่ลง เป็นเรื่องกามารมณ์ไปซะอีก ที่อยากไปสวรรค์กันนักก็เพราะได้ยินว่าในสวรรค์นั้นเต็มไปด้วยกามารมณ์อันเป็นทิพย์ เท่าที่ได้ยินได้ฟังได้รู้กันอยู่ในสวรรค์มีกามารมณ์ชนิดวิเศษณ์เป็นของทิพย์ แล้วคนก็อยากไปสวรรค์ ถ้าเป็นอย่างนี้ไปสวรรค์ก็ยิ่งไปหากิเลสให้มันมากขึ้นกว่าเดิม มากกว่าในเมืองมนุษย์ นึกถึงเรื่องอีกเรื่องหนึ่งที่กล่าวไว้ใน คัมภีร์ ว่าพวกเทวดาในสวรรค์ กว่าจะตายขึ้นมาปัญหาไม่รู้ว่าจะไปเกิดที่ไหน ไม่รู้จะไปเกิดที่ไหนดี ถามกันไป ถามกันไป ถามกันมาน่ะเอง ในหมู่เทวดาเองก็ไม่รู้ ไปถามเท้าสักกะจอมเทวดาก็ไม่รู้ แล้วในที่สุด ตกลงกันได้เองว่าไปเกิดเมืองมนุษย์เป็นสุขคติของเทวดา เพราะในเมืองมนุษย์ไม่บ้ากามารมณ์กันเหมือนกับในเมืองเทวดา ในเมืองมนุษย์มีพระพุทธ มีพระธรรม มีพระสงฆ์ แล้วก็ไม่บ้ากามารมณ์มากเหมือนเมืองเทวดา ตกลงว่าเมืองมนุษย์นี่แหละ เป็นสุขคติของพวกเทวดา แต่ทีนี้คนที่อยู่เมืองมนุษย์แล้วก็ยังโง่ โง่กว่านั้นไปเสียอีก มันไม่สมกับที่ว่าพวกเทวดาจัดให้เมืองมนุษย์นี้เป็นสุขคติของเขา เราจงทำให้เมืองมนุษย์ เนี่ย มันเป็นมนุษย์น่ะ มีจิตใจสูงอยู่เหนือนิวรณ์รบกวน อยู่เหนือกิเลสรบกวน อยู่เหนือความกลัวรบกวน ถ้าอย่างนี้แล้วไอ้เมืองมนุษย์ก็เป็นสุขคติของพวกเทวดาได้จริง เป็นสุขคติของพวกเราเองได้ด้วยแล้วจะเอาอะไรกันอีก มันอยู่ในชีวิตที่เยือกเย็นไปหมดทุกอย่างไม่มีอะไรที่ต้องกลัวแม้แต่ความตายก็ไม่ต้องกลัวสามารถจะหัวเราะเยาะได้แม้แต่ความตายแม้แต่ความเจ็บ เพราะว่ามันมีจิตใจตั้งไว้ดี ตั้งไว้ถูกต้อง ได้พระพุทธเจ้าเป็นกัลยาณมิตร สามารถจะตั้งจิตใจไว้อยู่เหนืออำนาจของความเกิด แก่ เจ็บ ตาย แล้วกิเลสก็ไม่เกิด นิวรณ์ก็ไม่อ้วน นั่นคือธรรมะที่สมบรูณ์แล้ว สำหรับมนุษย์คนหนึ่งๆ สมบูรณ์แล้ว ทำหน้าที่ของตนสมบรูณ์แล้ว หน้าที่เพื่อร่างกาย จะรอดจะสบาย เป็นสังคมมนุษย์ที่ดี นี่ก็ทำแล้ว และหน้าที่ๆ จิตใจจะรอด วิญญาณจะรอดไม่เป็นทุกขทรมานทางจิต ทางวิญญาณก็ทำแล้ว มันก็กลายเป็นทำแล้วทั้งหมด ทั้งร่างกาย ทั้งทางจิตทางวิญญาณ หมดปัญหาโดยประการทั้งปวง นี่คือธรรมะที่กล่าวโดยเค้าเงื่อนโดยสมบรูณ์เป็นอย่างนี้ โดยรายละเอียดมันยังมีมาก แต่ว่าเวลามันจำกัด ใน คราวหนึ่ง คราวหนึ่งมันก็ได้พูดได้แต่เพียงเรื่องหนึ่งๆ นี่ก็พูดถึงเรื่องเค้าเงื่อนทั้งหมด ของธรรมะ ธรรมะคือหน้าที่ หน้าที่นั่นคือสิ่งที่จะช่วยให้รอด ธรรมะก็ช่วยให้รอดหน้าที่ก็ช่วยให้รอด ดังนั้นหน้าที่กับธรรมะเป็นสิ่งเดียวกัน คำว่าธรรมะก็ช่วยผู้ปฏิบัติธรรมะให้รอด คำว่าหน้าที่ก็ช่วยผู้ทำหน้าที่ให้รอด เดี๋ยวนี้มันมีคนที่ไม่ ไม่ทำหน้าที่ มีแต่จะเรียกร้องจะเอานั่นเอานี่โดยไม่ต้องทำหน้าที่ นั่นน่ะคือคคนพาลคนอันธพาล เมื่อเรียกร้องไม่ได้ตามที่ต้องก็ไปปล้นไปจี้ไปขโมย ไปอะไรก็แล้วแต่เพราะมันไม่ทำหน้าที่ ไอ้หน้าที่ของโจร ของขโมย ของอันธพาลนั้นไม่เรียกว่าเป็นหน้าที่ที่ถูกต้อง มันเป็นหน้าที่ของพวกโจร พวกอันธพาลไปทำเข้าก็ได้เป็นโจรเป็นอันธพาล คำว่าหน้าที่นี้หมายถึงหน้าที่ที่ถูกต้องของมนุษย์ ทำแล้วมันกำจัดปัญหาทุกประการ กำจัดความทุกข์ทุกประการ นี้เราเรียกหน้าที่ หมายถึงที่ถูกต้อง จึงต้องพูดให้ชัดถึงหน้าที่ที่ถูกต้อง ของความเป็นมนุษย์น่ะ ถ้าถูกต้องทุกขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการคือ ตั้งแต่เด็กไปจนตาย ตั้งแต่เกิดเป็นเด็ก เป็นเด็ก เป็นหนุ่มสาว เป็นพ่อบ้านแม่เรือน คนแก่คนเถ้า คนตาย นี่ทุกขั้นตอนนี่ให้มันถูกต้องตั้งแต่เกิดจนตาย และก็ถูกต้องทั้งเพื่อประโยชน์สุขของตนเองด้วย ถูกต้องเพื่อประโยชน์สุขของผู้อื่นด้วย มันถึงจะเป็นความถูกต้องที่ครบถ้วน นี่ก็ให้ครูบาอาจารย์ทั้งหลายจำไว้ให้ดีว่า คำว่าธรรมะนั้นแปลว่าหน้าที่ ไม่ใช่เพียงแต่เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เพราะว่าเขาใช้กันมาก่อนที่พระพุทธเจ้าเกิด คำๆนี้ น่ะ หมายถึงหน้าที่ ธรรมะคือหน้าที่ พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วก็สอนหน้าที่ชั้นสูง หน้าที่ชั้นที่ ๒ เรื่องทางจิตทางวิญญาณ หน้าที่ต่ำๆ นี่ เรื่องกาย เรื่องวัตถุนี่เค้าสอนกันได้ พระพุทธเจ้าไม่ต้องสอน สอนก็มีแต่น้อยมีแต่เล็กน้อยในพระคำภีร์ ในพระบาลี พระพุทธเจ้าสอนเรื่องโลก เรื่องบ้านเรือนนี้มีเล็กน้อยแก่คนบางคนที่ไปทูลถาม ถ้าสอนทั้งหมด เกือบทั้งหมดนั่นสอนเรื่อง ด้านจิตด้านวิญญาณ ซึ่งเป็นความรู้ที่ลึกซึ้งเป็นหน้าที่ของพระพุทธเจ้าสอน เราก็มีหน้าที่ให้ถูกต้อง ทั้ง ๒ ชั้นน่ะ หน้าที่ชั้นต่ำก็เพื่อรอดชีวิตนี่ก็มีหน้าที่ถูกต้อง รอดชีวิตและสบายดี อยู่กันเป็น คบหาสมาคมกันดีถูกต้อง ที่นี้ทางจิต ดำรงชีวิตชนิดที่ถูกต้อง เป็นจิตใจแจ่มใสสดชื่นเยือกเย็น เกลี้ยงเกลาบริสุทธิ์อยู่ตลอดวัน ไม่มีเวลาที่นิวรณ์รบกวน ไม่มีเวลาที่กิเลสเผารน ไม่มีเวลาที่ความกลัวมาขู่ ให้เป็นทุกข์ นี่มนุษย์อยู่สูงเหนือปัญหา โดยประการทั้งปวง เนี่ยคือประโยชน์ของธรรมะ ธรรมะ ธรรมะคือหน้าที่ หน้าที่ที่ถูกต้อง ถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ของตน ถูกต้องทุกขั้นตอน ทั่งเพื่อตนเอง และทั้งเพื่อผู้อื่น ไอ้ ไอ้คำนิยามคำนี้ ดีที่สุดแล้ว สมบรูณ์ที่สุดแล้ว ขอช่วยจำ ไป ธรรมะคือหน้าที่ ที่ถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ของตน ทุกขั้นทุกตอนแห่งวิวัฒนาการทั้งเพื่อตนเอง และเพื่อผู้อื่น ถ้าปฏิบัติได้ตามนี้ก็มีธรรมะสมบูรณ์ คือธรรมะแปลว่าหน้าที่ ๆ นี่เป็นสิ่งที่ต้องกระทำไม่ใช่ว่าจะจำ จำไว้ ท่อง ท่องไว้ หรือเขียนไว้ในสมุด คำว่าหน้าที่นี้เป็นสิ่งที่ต้องกระทำ เมื่อกระทำแล้วก็มีสิทธิ ที่จะได้รับผลของการกระทำ คือความเป็นสุข เป็นสุขอยู่ทุกอิริยาบท ทุกลมหายใจเข้าออก ทุกกระเบียดนิ้ว ทุกวินาที ไม่เสียทีที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์แล้วพบพระพุทธศาสนา ซึ่งพระพุทธเจ้าได้สอนเรื่องหน้าที่ สำหรับปฏิบัติเพื่อกำจัดความทุกข์โดยประการทั้งปวงไว้อย่างสมบรูณ์แล้ว หวังว่าท่านทั้งหลายคงจะมีความเข้าใจข้อความตามที่กล่าวมานี้ ตามสมควรก็จดจำใจความสำคัญไปได้ เพื่อไปคิดนึก ไปพิจารณาใคร่ครวญดู เมื่อเห็นจริงแล้วก็ปฏิบัติเถิด ปฏิบัติตามเถิด ไม่ต้องเชื่อทันที เอาไปใครครวญดูก่อนว่ามันจะเห็นจริงแล้วดับทุกข์ได้ แล้วก็จึงค่อยเชื่อหมด ถ้าเห็นว่าดับทุกข์ได้ก็เชื่อหมด เชื่อมันก็ทำ ทำ ทำอย่างยิ่ง ทำอย่างดีทำจนเต็มที่ ทำจน บริบูรณ์ ก็ได้รับผลเต็มที่บริบูรณ์ตามความหมายของคำว่าธรรมะ การบรรยายนี้ก็สมควรแก่เวลาแล้ว ได้กำหนดจดจำใจความสำคัญเพียงว่าธรรมะคือหน้าที่ ปฏิบัติให้ถูกต้อง อยู่ทุกๆ อิริยาบท ด้วยสติสัมปะชัญญะ ถ้าไม่มีสติสัมปะชัญญะ มันก็ไม่อาจจะปฏิบัติได้ มันจงไปฝึกฝนสติสัมปะชัญญะกันเสียให้เพียงพอนั่นอีกส่วนหนึ่ง แล้วปฏิบัติธรรมะที่เป็นหน้าที่ให้ครบถ้วนบริบูรณ์ทุกประการ แล้วจงเป็นผู้มีชีวิตเป็นอยู่ สมตามความหมายของคำว่ามนุษย์สูงสุดอยู่เหนือปัญหา มีชีวิตเยือกเย็นเป็นนิพพานอยู่ตลอดทุกทิพาราตรีกันเทอญ ขอยุติการบรรยาย