แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านครูบาอาจารย์ที่มาร่วมประชุมกันอยู่ ณ ที่นี้ อาตมาได้รับคำขอร้องให้พูดเรื่ององค์มรรคสัมพันธ์ คือความที่สัมพันธ์กันแห่งองค์ของมรรคทั้ง ๘ องค์ เพื่อทำความเข้าใจให้แจ่มแจ้งยิ่งขึ้นไปในการที่จะมีหลักสูตรสำหรับนักเรียนประถมศึกษาให้ถูกต้อง ให้เพียงพอ ให้สามารถแก้ปัญหาได้ อาตมาก็ตั้งใจว่าจะบรรยายไปตามที่ได้สังเกตเห็นมาตลอดเวลา แต่ว่าก่อนแต่ที่จะพูดถึงการสัมพันธ์แห่งองค์มรรคแต่ละองค์นั้นมันก็จะต้องพูดถึงไอ้การที่เราเอาเรื่องอริยมรรคมีองค์ ๘ เนี่ยมาใช้เป็นหัวใจของจริยธรรมในครั้งนี้ ถ้าไม่พูดถึงเรื่องเค้าโครงทั้งหมดของจริยธรรมที่จะใช้อริยมรรคเป็นหัวใจเสียก่อนแล้วก็คงจะฟังเรื่องความสัมพันธ์แห่งองค์มรรคไม่ถูก ดังนั้น จึงต้องพูดเรื่องเค้าโครงแห่งจริยธรรมทั้งหมดที่เราจะใช้อริยมรรคเป็นหัวใจเนี่ยให้เป็นที่เข้าใจกันเสียก่อน อาตมาบรรยายในฐานะคือผู้ให้ความคิดเห็นในเรื่องที่เคยคิด ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญการศึกษาที่ได้ศึกษาหรืออบรมมาโดยตรง แต่ในฐานะที่เคยสังเกตเรื่องนี้มาตลอดเวลา มันก็มีความคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่บ้างเหมือนกัน แล้วอีกอย่างหนึ่งมันสัมพันธ์กันกับเรื่องของธัมมะหรือการเผยแผ่ธัมมะ คือมีความประสงค์ร่วมกัน การเผยแผ่ธัมมะนี่ก็เพื่อสันติภาพสันติสุขของประชาชน การศึกษามันก็เพื่อสันติสุขสันติภาพของประชาชน ดังนั้น จึงมีอะไรที่มันตรงกันหรือเนื่องกันอยู่มาก จึงขอแสดงความคิดเห็นแล้วก็จะได้ใช้ประกอบการทำหลักสูตรที่กำลังกระทำอยู่นี้ให้สำเร็จประโยชน์สืบต่อไป อยากจะปรารภถึงไอ้โครงเรื่องทั้งหมดของการทำหลักสูตรนี้เป็นที่เข้าใจกันก่อนแล้วก็จะเข้าใจเรื่องอริยมรรคที่จะเอามาใช้เป็นแกนของเรื่องนั้นได้ง่ายเข้า
เท่าที่อาตมาสังเกตเห็นไอ้การยกโครงร่างหลักสูตรใหม่นี่ก็เพื่อปรับปรุงของเก่าให้สมบูรณ์ ให้มีเหตุผล ให้มีรากฐาน ไอ้หลักสูตรเก่ามีอยู่แล้ว ที่เคยเอามาอ่านดูแต่รู้สึกว่ามันยังมีการมีทางที่จะทำให้สมบูรณ์ ให้มีเหตุผลและมีรากฐานที่มั่นคง เรียกว่าให้มันมีเนื้อหาที่ครบถ้วนหรือมั่นคง จึงได้เสนอให้เอาเรื่องของอริยมรรคมีองค์ ๘ นั้นน่ะเป็นหัวใจของโครงเรื่องในมรรคมีองค์ ๘ นี้ เป็นทั้งเนื้อตัว เป็นทั้งหัวใจของพระพุทธศาสนา ขอร้องให้เข้าใจ ให้ทำความเข้าใจในเรื่องนี้กันเสียก่อน เมื่อถามว่าพุทธศาสนามีอะไรเป็นเนื้อตัวหรือเป็นหัวใจ มันตอบได้ว่ามีอริยมรรคมีองค์ ๘ แต่เราสนใจกันน้อยเกินไป ไปเพ่งเล็งถึงอันอื่น บางทีก็ไปเพ่งเล็งเอาพระรัตนตรัยเสียเองอย่างนี้ เป็นต้น อริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นธรรมที่สรุป ที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ถ้ากล่าวอย่างภาษาธรรมดาไม่เกี่ยวกับศาสนา มันก็เป็นเรื่องทางดำเนินชีวิต เป็นเรื่องทางดำเนินชีวิตที่เรียกว่า เวย์ ออฟ ไลฟ์ (Way of life) (07:22) ฝรั่งส่วนมากไม่ได้สนใจพุทธศาสนาหรือชอบพระพุทธศาสนาในฐานะที่เป็นศาสนา เท่าที่อาตมาเคยสังเกตเห็นมา เขาชอบใจว่าไอ้หลักหัวใจพุทธศาสนาหรืออริยมรรคนั้นมันเป็น เวย์ ออฟ ไลฟ์ (Way of life) (07:38) แล้วเขาก็ชอบเรียกว่า มิดเดิ้ล เวย์ (Middle way) (07:42) มากกว่าที่จะเรียกว่า บุดดิสซึ่ม (Buddhism) (07:45) ข้อนี้เป็นข้อที่ควรจะทราบ ซึ่งอาตมาสังเกตมาตลอดเวลา ฝรั่งไม่ชอบ บุดดิสซึ่ม (Buddhism) (07:53) ซึ่งมีลักษณะอะไรเป็น ออทอริตี้ (Authority) (07:57) อะไรชอบกล มันชอบ เวย์ ออฟ ไลฟ์ (Way of life) (08:01) หรือ มิดเดิ้ล เวย์ (Middle way) (08:03) จึงได้เกิดชอบพุทธศาสนา ฝรั่งที่สนใจพุทธศาสนาในฐานะที่เป็นศาสนานั้นมีน้อยมาก เรียกว่าจะหาทำยายาก แต่ว่าทั้งหมดที่มาสนใจ สนใจในฐานะเป็น เวย์ ออฟ ไลฟ์ (Way of life) (08:19) เวย์ ออฟ ไลฟ์ มิดเดิ้ล เวย์ (Way of life Middle way) (08:22) นี้มันก็คือหลักอริยมรรคมีองค์ ๘ นั่นเอง มันไม่มีอะไรอื่น เพราะฉะนั้น จึงนึกถึงเรื่องนี้ แต่ในชั้นต้นนี้จะขอพูดที่ว่าเราจะเอามาใช้เป็นโครงเรื่องอย่างไร แล้วจึงค่อยพูดกันเฉพาะองค์เฉพาะองค์ขององค์มรรค รวมความว่าเอาเรื่องอริยมรรคเนี่ยเป็นหลัก เป็นแกน เป็นหัวใจของโครงแห่งหลักสูตร นั่นมันเหมือนเอากฎของธรรมชาติอันสูงสุด เหมือนกับพระเป็นเจ้ามาใช้ มาใช้เป็นหลัก ครั้งในพุทธศาสนาเนี่ยธัมมะคือพระเป็นเจ้าที่จะช่วยคนให้รอด แล้วธัมมะนี้ก็มีมาก แต่ธัมมะในแง่ของการปฏิบัติก็คือได้แก่ อริยมรรคมีองค์ ๘ พระพุทธองค์ตรัสเป็นคำแรกเมื่อตรัสรู้แล้วจะสอนเป็น คำแรก คือสอนปัญจวัคคีด้วยปฐมเทศนา ท่านเอ่ยถึงเรื่องนี้ ท่านยังไม่ได้เอ่ยถึงเรื่องอริยสัจซักที แต่เอ่ยถึงมัชฌิมาปฏิปทามีองค์ ๘ อันนี้เป็นเรื่องที่เรารู้พร้อมเฉพาะด้วยตนเอง ไม่ได้ยินได้ฟังมาแต่ก่อน เนี่ยอริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นตัวพุทธศาสนา ครั้นเมื่อได้แสดงอริยมรรคมีองค์ ๘ แล้วจึงค่อยแสดงเรื่องอริยสัจ แล้วเรื่องอริยสัจมันก็รวมอยู่ในอริยมรรคมีองค์ ๘ หรือเรื่องอริยสัจมันก็อธิบายด้วยอริยมรรคมีองค์ ๘ อริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นตัวปฏิบัติในส่วนที่เป็นอริยสัจ อริยสัจเป็นหลักวิชา อริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นหลักปฏิบัติ รวมกันเป็นตัวพุทธศาสนา เดี๋ยวนี้อาตมาเห็นว่าเราควรจะยอมรับกันว่าประเทศชาติมีปัญหาคือปัญหาทางสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาอาชญากร ปัญหาการเบียดเบียน ซึ่งเป็นปัญหาที่เลวร้ายกว่าปัญหาอย่างอื่น ดูแล้วมันรู้สึกมันมากขึ้น นี่จะถือว่าเพราะเหตุอะไร ถ้าใครจะอ้างว่าเพราะการศึกษาไม่พอเนี่ย จะถูกหรือไม่ถูก จะยอมรับหรือจะปฏิเสธ เพราะการศึกษาไม่พอ เยาวชนของเราจึงเติบโตขึ้นมาในลักษณะที่พร้อมที่จะเป็นอาชญากร เราจึงมีอาชญากรนั่นนี่มากมายเต็มไปหมด เรามุ่งหมายจะขจัดปัญหานี้ ปัญหาสังคมที่มีอยู่จริง จึงได้วางหลักสูตรชนิดที่จะใช้แก้ปัญหานี้ได้ นี่เพื่อให้ง่ายขึ้นก็ได้หัวข้อที่จะพูดกันง่ายขึ้นว่าเราจะมีบุคคลชนิดไหนที่จะแก้ปัญหาทางสังคมนี้ให้หมดสิ้นได้ อาตมาเลยขอเสนอความคิดเห็นว่าเราจะสร้างบุคคล ๖ จำพวกขึ้นมาจากรากฐานของการศึกษาทีเดียว บุคคล ๖ จำพวกคือ บุตรที่ดีของบิดามารดา ๒.ศิษย์ที่ดีของครูบาอาจารย์ ๓.เพื่อนที่ดีของเพื่อน ๔.พลเมืองที่ดีของชาติ ๕.สาวกที่ดีของพระศาสดา ๖.มนุษย์ที่เต็มเปี่ยมแห่งความเป็นมนุษย์
ถ้าการศึกษาของเราสร้างบุคคลทั้ง ๖ พวกนี้ขึ้นมาได้ ปัญหาสังคมหมด จะสร้างอย่างไรค่อยพูดกัน แต่เดี๋ยวนี้มุ่งหมายไอ้วัตถุประสงค์ว่าถ้าสร้างบุคคล ๖ พวกนี้ขึ้นมาได้ ปัญหาจะหมด ขอจำกัดความสั้น ๆ ย่อ ๆ ว่าบุตรที่ดีคืออะไร เราใช้สำหรับพูดทั่วไป แล้วสอนเด็ก ๆ ว่าบุตรที่ดีคือผู้ที่ทำให้พ่อแม่สบายใจ อาตมาเด็ก ๆ ท่องว่า ลูกที่ดีคือลูกที่ทำให้พ่อแม่สบายใจ ถ้าทำให้พ่อแม่สบายใจได้ มันครบถ้วนบริบูรณ์ดีหมดทุกอย่าง ตั้งแต่เล็กจนโตมีหน้าที่ทำให้พ่อแม่สบายใจ คนแก่แล้วมันก็ยังมีพ่อแม่ ถึงยังไงก็ต้องมีพ่อแม่จนเข้าโลง ครั้นบุตรเหล่านั้นก็มีหน้าที่ที่ทำให้พ่อแม่สบายใจ นี่แหละบุตรที่ดี
นี้ ๒.ศิษย์ที่ดีของครูบาอาจารย์นั้นคือผู้ที่ครูบาอาจารย์สามารถนำไปได้ คิดดูแล้วคำจำกัดความของบุตรที่ดีในบาลีก็มีมาก แต่ในที่สุดสรุปความได้ว่าศิษย์ที่ครูบาอาจารย์สามารถนำไปได้ เขาใช้คำว่า ศิษย์ที่เชื่อฟัง ศิษย์ที่ดีที่สุดก็คือศิษย์ที่ครูบาอาจารย์สามารถนำไปได้ตามความประสงค์
ทีนี้ที่ว่าเพื่อนที่ดีของเพื่อน เด็ก ๆ ก็ต้องเป็นเพื่อนที่ดีของเพื่อนแก่กันและกัน คือผู้ที่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ อยู่ร่วมกัน ทำงานร่วมกัน อะไรร่วมกันได้อย่างมีสันติสุข จึงจะเรียกว่าเป็นเพื่อนที่ดีของเพื่อน นี้จะแก้ปัญหาได้มาก
นี้พลเมืองที่ดีของชาติก็คือผู้ที่สามารถสร้างชาติ สั้น ๆ ว่า ผู้ที่สั้น ๆ กล่าวสั้น ๆ ว่าผู้ที่สามารถสร้างชาติ
นี้สาวกที่ดีของพระศาสดาคือสาวกที่สามารถเดินตามพระศาสดาไปได้ เป็นคำบัญญัติที่จะรัดกุมที่สุด สมบูรณ์ที่สุด สาวกที่สามารถเดินตามพระศาสดาไปได้นั้นคือสาวกที่ดี
นี้คนสุดท้ายคือมนุษย์ที่เต็มเปี่ยม มนุษย์ที่เต็มเปี่ยมแห่งความเป็นมนุษย์ก็คือมนุษย์ที่ไม่มีปัญหาหรืออยู่เหนือปัญหา ในคำว่าความเต็มเปี่ยมแห่งความเป็นมนุษย์นี้น่าสนใจ มันเป็นคำรวมได้หมด เป็นอะไรดีดีดีมาทั้งหมด แล้วมันก็เป็นมนุษย์ที่เต็ม ในจริยธรรมสากลก็เทิดทูนข้อนี้มาก เรียกว่า เดอะ แมน เพอร์เฟ็กเต็ด (The Man Perfected) (16:02) มนุษย์ที่เต็มเปี่ยมแห่งความเป็นมนุษย์ ไอ้เราก็พูดคำนี้กันอยู่ ทุกวันที่ว่าพอเราเห็นมันไม่เข้าท่า เราก็ว่าแกมันไม่เป็นคน เป็นต้น ถ้ามันเป็นคนหรือเต็มเปี่ยมแห่งความเป็นมนุษย์เสียแล้วมันก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะฉะนั้น มนุษย์ที่เต็มก็คือมนุษย์ที่อยู่เหนือปัญหาด้วยประการ ทั้งปวง มันเป็นที่รวบรวมของบุตรที่ดี ศิษย์ที่ดี เพื่อนที่ดี พลเมืองที่ดี สาวกที่ดี เมื่อรวมกันเข้าแล้วมันก็เป็นมนุษย์ที่เต็ม
ถ้าการศึกษาของเราสามารถสร้างบุคคล ๖ จำพวกนี้แล้ว อะไรจะมีอยู่เป็นปัญหา มันก็ไม่มี การที่เป็นผู้หมดปัญหา อยู่เหนือปัญหา คือเป็นมนุษย์ที่เต็ม นี่แหละมุ่ง เป็นความมุ่งหมายของการวางหลักสูตรว่าจะสร้างคน ๖ จำพวกโดยใช้อริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นเครื่องมือ อริยมรรคองค์ ๘ มีองค์ ๘ มี ๘ องค์ก็จริง แต่แต่ละองค์ละองค์มีความหมายแตกแขนงออกไปได้มากมายจนพอแก่ความต้องการ จนเหลือไปเสียอีก จะสร้างคน ๖ จำพวกโดยใช้อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้เป็นเครื่องมือ นี้ต่อไปอีกก็ว่าหลักสูตรนี้ การศึกษานี้ อยากจะเพิ่มการอบรมหลักสูตรที่วาง ๆ กันไว้มักจะมีแต่หลักวิชา ไม่ค่อยมีหลักการอบรม มีแต่ทีชชิ่ง (Teaching) (17:54) ไม่มีเทรนนิ่ง (Training) (17:56) และจะเป็นเพราะเหตุนี้เองที่ทำให้ไม่ได้รับผลของเรื่องที่เราจะสอนจะอบรมกัน มันจะต้องนึกถึงไอ้การอบรมคือเทรน (Train) (18:12) ให้มีส่วนเข้ามาอยู่ในหลักสูตรด้วย อาตมาจึงเสนอแนะว่าจะมีส่วนแห่งการอบรมคู่กันไปกับการสั่งสอน
ดังนั้น จึงเสนอหลักสูตรส่วนที่เป็นการอบรมว่า มีอยู่ ๓ ประการ คือ จัดให้เด็กได้สมาทาน บทศึกษา ตามบทที่วางไว้อย่างนั้นอย่างนั้น เป็นบุตรที่ดี เป็นศิษย์ที่ดี ควรจะมีบทศึกษาว่าอะไรให้เขาสมาทาน มีพิธีสมาทานตามสมควร ไม่เยิ่นเย้ออะไร แต่ว่าสมาทานเหมือนสมาทานศีลอย่างนี้ก็ได้ ให้เด็กสมาทานบทแห่งการศึกษาว่าจะเป็นบุตรที่ดีของบิดามารดาอย่างไร ศิษย์ที่ดีของครูบาอาจารย์อย่างไร เป็นเพื่อนที่ดีของเพื่อนอย่างไร เป็นพลเมืองที่ดีอย่างไร เป็นสาวกที่ดีอย่างไร กระทั่งว่าเป็นมนุษย์ที่เต็มเปี่ยม ในที่สุดนี้แม้จะอยู่ไกลเอื้อมของลูกเด็ก ๆ แต่เขาก็ควรจะรู้ไว้ว่าถ้าเราเป็นครบ ๕ ดี ๕ ดี ข้างต้นน่ะคือ เป็นบุตรที่ดี เป็นศิษย์ที่ดี เป็นเพื่อนที่ดี เป็นพลเมืองที่ดี เป็นสาวกที่ดีแล้ว เราก็เป็นมนุษย์ที่เต็ม นี่เป็นเป้าหมาย แม้ว่ายังทำไม่ได้ แต่ก็เป็นเป้าหมายที่แน่นอนอย่างยิ่ง จึงให้สมาทานบทแห่งการศึกษา นี่ระเบียบหนึ่ง
และอีกระเบียบหนึ่งก็คือ ให้มีระเบียบเปิดเผยความผิดบาป อย่าไปคิดว่าเอาเรื่องคริสเตียนคริสตังมาใช้ หรืออะไร ที่จริงมันก็เป็นเรื่องในพุทธศาสนา พระภิกษุสงฆ์นี่ต้องแสดงอาบัติ สารภาพผิดบาปเดือนละ ๒ ครั้งว่าได้ทำอะไรผิดไปอย่างไร แล้วจะขอทำคืน ให้เด็กเราได้รู้สึกว่าได้ทำผิด บทบัญญัติของบุตรของศิษย์ที่ดี ของบุตรที่ดี ให้เขาสารภาพบาปในวิธีที่สมควรคือเปิดเผยเท่าไร ส่วนตัวเท่าไร ให้มีนิสัยเปิดเผยบาป ก็ควรจะมีอยู่ในหลักสูตร
และอันที่ ๓ ก็คือว่าให้มีการปวารณา เด็กทุกคนต้องได้รับพิธี มีการทำพิธีปวารณาเหมือนที่พระเจ้าพระสงฆ์ปวารณาในวันออกพรรษาว่า ถ้าได้สังเกตเห็นหรือได้ยินได้ฟังหรือได้ตั้งเงื่อนไขอย่างไร สงสัยว่าจะมีความผิดข้อไหน แล้วก็ให้เตือนได้พูดได้ให้บอกได้ ให้เด็กกล้าเผชิญหน้าความจริง จึงมีระเบียบปวารณาให้เพื่อนด้วยกัน โจทก์ท้วงว่ากล่าวตักเตือน นี่เป็นหัวข้อใหญ่เท่านั้น รายละเอียดก็ไปคิดกันทีหลัง ก็ได้ อย่างยกตัวอย่างเช่น ภิกษุสงฆ์เนี่ยมีปวารณา ถือเป็นกิจสำคัญอย่างยิ่งที่ต้องมีการปวารณา ถ้าไปเป็นเรื่องเล็กน้อย ให้เพื่อนด้วยกันเตือนได้เลย แต่ถ้าเป็นเรื่องมันใหญ่หรือใหญ่หน่อย เพื่อนคนนั้นต้องไปหาสงฆ์ หาที่ประชุมสงฆ์ให้จัดการให้มีการว่ากล่าวตักเตือน นี่ระเบียบอย่างเนี่ย ควรนึกถึง ควรนำมาใช้ว่าจะไปตักเตือนเขาต้องได้รับอนุญาตจากเขาก่อน เช่น เห็นว่าเด็กคนนี้ทำผิด เด็กคนอื่นเตือน ต้องขออนุญาตตักเตือน ถ้าเขาอนุญาต จึงจะเตือน ถ้าเขาไม่อนุญาต ก็ไม่เตือน เพราะงั้นเรื่องมันก็ไม่เกิดสิ เรื่องทะเลาะวิวาทมันก็ไม่เกิด แต่ถ้าเป็นเรื่องที่สำคัญเสียหายร้ายแรงก็ไปแจ้งแก่คณะ คือแก่คณะสงฆ์ให้จัดการ ให้มีการว่ากล่าวตักเตือนให้ออกเสียจากความผิดนั้น ๆ นี้หลักสูตรในส่วนที่เป็นการอบรม อาตมาขอเสนอขึ้นมา ๓ อย่างอย่างนี้ว่าให้จัดให้ลูกเด็ก ๆ ได้มีการสมาทานบทศึกษาอย่างสมาทานศีล แล้วก็ให้มีระเบียบเปิดเผยความผิดบาปอย่างที่พระกระทำอยู่หรืออย่างหลักคริสตังเขาทำอยู่เป็นธรรมดา สารภาพต่อผู้ที่ควรสารภาพ แล้วก็ให้มีการปวารณาว่าให้ตักเตือนได้ ไอ้ระเบียบวิธีก็ค่อย ๆ บัญญัติขึ้นมาอย่างเหมาะสม แต่โดยหลักการเป็นอย่างนี้ ทีนี้ก็จะพูดถึงไอ้ตัวเรื่องที่ถูกขอร้องให้พูดคือความสัมพันธ์แห่งองค์แห่งมรรค ตัวเรามีเค้าโครงว่าจะใช้หลักอริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นหัวใจของเรื่อง เป็นหัวใจของการศึกษาอบรม แม้แต่จะให้รู้จักอะไร สักอย่างหนึ่งก็ใช้หลักของพระพุทธศาสนาคือหลักอริยสัจจ์ ๔ นั่นเอง เกี่ยวข้อนี้ขอร้องเป็นการทั่วไปว่าขอให้ทุกท่านทุกคนจงนึกถึงข้อนี้ว่าถ้าเราจะพูดถึงเรื่องอะไรอย่างชัดเจนครบถ้วนแล้ว ขอให้ใช้หลักอริยสัจจ์ ๔ ซึ่งมีคำย่อ ๆ ภาษาลอจิก (Logic) (24:26) ว่าคืออะไร จากอะไร เพื่ออะไร โดยวิธีใด คืออะไร จากอะไร เพื่ออะไร โดยวิธีใด เช่นว่า จะเป็นบุตรที่ดีก็ต้องว่าคืออย่างไร และเนื่องจากอะไร ทำไมจึงต้องเป็นบุตรที่ดี เพื่อประโยชน์อะไร มันจะได้ผลประโยชน์อะไรขึ้นมา แล้วก็ทำได้โดยวิธีใดจึงจะเป็นบุตรที่ดี จะเป็นศิษย์ที่ดี เป็นเพื่อนที่ดี อะไรก็ตามจะรู้จักดีก็ต้องอาศัยหลักอริยสัจจ์ ๔ นี่จึงเป็นเหมือนกับลอจิก (Logic) (25:17) ในทางพุทธศาสนานี้เข้ามาจับ หรือแม้ที่สุดแต่จะมีข้อกฎอะไรขึ้นมาที่จะเป็นองค์อริยมรรคแต่ละองค์ก็ดีหรือองค์ธัมมะที่ประกอบอยู่ในองค์อริยมรรคก็ดี แต่ละข้อละข้อ ทุกข้อจะต้องถูกวิจารณ์ด้วยคำว่าคืออะไร จากอะไร เพื่ออะไร โดยวิธีใดทั้งนั้นเลย มันก็ไม่มีทางที่จะผิด มีทางที่จะเอามาใช้เป็นประโยชน์ได้ดี ทีนี้ก็จะพูดถึงว่าองค์แห่งมรรคแต่ละองค์ละองค์ ๘ องค์น่ะ ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจพุทธศาสนา เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงนำมาอวด ใช้คำหยาบคายหน่อยก่อนเรื่องใดหมด พอตรัสรู้แล้วจะพูดกับมนุษย์ ก็พูดเรื่องนี้ก่อนเรื่องใดหมด เรื่องมัชฌิมาปฏิปทามรรคมีองค์ ๘ ประการแล้วค่อยพูดเรื่องอริยสัจจ์ ขอให้ครูบาอาจารย์ทั้งหลายสังเกตดูให้ดี ๆ ข้อนี้เราควรจะพูดว่าพระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้และสอนอะไร มักจะพูดว่าสอนอริยสัจจ์ แต่ที่ปรากฎจากพระโอษฐ์จริง ๆ นั้น ท่านพูดเรื่องแรกที่สุดคือเรื่องมัชฌิมาปฏิปทาอริยมรรคมีองค์ ๘ แล้วจึงพูดเรื่องไอ้หนทางที่ไม่ควรเข้าไปหา แล้วก็ปฏิบัติอริยมรรคมี องค์ ๘ แล้วก็รู้อริยสัจจ์ รู้อริยสัจจ์ มรรคมีองค์ ๘ คงจะทราบกันดีแล้วว่าสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโปเหล่านี้ มันเป็นเรื่องของความถูกต้อง ๘ ประการ เราก็ใช้ใจความก็คือความถูกต้อง ๘ ประการ เรียกว่า อริยมรรค มีองค์ ๘ พูดถึงคำว่าถูกต้องก่อน ตามหลักลอจิก (Logic) (27:25) ตามหลักจิตวิทยา ตามหลักฟินลอสโซฟี (Philosophy) (27:27) คำว่าถูกต้องถูกต้องนี่เถียงกันจนไม่รู้จักจบ ยุติอย่างไร เอาตามหลักพุทธศาสนาพอแล้วว่าถูกต้องคือไม่ทำอันตรายใคร แล้วมีประโยชน์แก่ทุกฝ่ายเนี่ย นี้บัญญัติเท่านี้ มีคำนิยามเพียงเท่านี้ ว่าไม่ทำอันตรายใคร แล้วเป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่ายนั้นคือถูกต้อง ดังนั้น เรามีความถูกต้อง ๘ ประการ
ข้อ ๑. สัมมาทิฏฐิ ความคิดเห็นถูกต้อง ไอ้ความคิดเห็นเนี่ยเป็นคำที่ขยายความออกไปได้เป็นความเชื่อ เป็นความเข้าใจ เป็นความรู้ เป็นความอะไรก็ได้ แต่รวมสั้น ๆ ก็เรียกว่าความเห็น ซึ่งโดยมากใช้กันคำว่าวิว (View) (28:12) แทนคำว่าอันเดอร์สแตนดิ้ง (Understanding) (28:13) พวกฝรั่งรุ่นแรก ๆ จะแปล คำนี้ว่าไลค์ อันเดอรสแตนดิ้ง (Like understanding) (28:18) เดี๋ยวนี้ใช้คำว่าวิว (View) (28:20) ไลค์ทวิว (28:21) มันก็รวมความเชื่อถูกต้อง ความไอ้ความรู้ถูกต้อง อุดมคติถูกต้อง อะไรที่มันเป็นหลัก หลักคิดถูกต้อง นี่ถูกต้องอย่างนี้ไม่ทำอันตรายใคร แล้วให้ประโยชน์แก่ทุกฝ่าย จึงใช้คำว่า ไลค์ (Like) (28:43) ที่ถูกต้อง นี้สัมมาสังกัปปะ สัมมาสังกัปโปองค์ที่ ๒ เนี่ย ความปรารถนาถูกต้อง แต่เรามักจะแปลกันว่า ความดำริถูกต้อง นี้มันไม่รู้จะโทษใครเสียแล้ว สัมมาสังกัปโป ความดำริชอบ ดำริถูกต้อง นั่นไม่ตรงตาม ตัวบาลีที่ว่าสังกัปปะ สังกัปปะ แปลว่า ความปรารถนา ถ้าว่าดำริ มันมีคำว่าวิตรรกะ ตรรกะ ไอ้อย่างคำอื่น ซึ่งแปลว่าดำริติตรึก สังกัปปะ สังกัปปะคำนี้แปลว่าความปรารถนา เมื่อจะให้พรกันก็ให้พรกันว่าสังกัปปะทั้งหลายของท่านจงสมบูรณ์เถิด พระให้พร ให้ยถาสัพพี เวลาฉันเสร็จน่ะ สังกัปปะของท่านทั้งหลาย จงบริบูรณ์เหมือนพระจันทร์วันเพ็ญ อย่างนี้แปลว่าความปรารถนา ความต้องการ ความใฝ่ฝัน ความ หมายมั่น ความตั้งใจ อะไรมันรวมอยู่ในคำนี้หมด นี้มันก็ต้องถูกต้อง ถูกต้อง คือไม่ทำอันตรายใครและ เป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่าย เนี่ย ๒ องค์นี้มาก่อน ๒ องค์นี้มาก่อนเป็นพวกปัญญา นี้ก็เป็นหลักที่จะต้อง ตั้งข้อสังเกตไว้ว่าปัญญาต้องมาก่อน ถ้าพูดโดยหลักวิชา พูดศีล สมาธิ ปัญญา ศีลมาก่อน แต่ถ้าพูดโดย หลักปฏิบัติ ปัญญาต้องมาก่อน คือปัญญา ๒ องค์นี้ต้องมาก่อน เพราะมิฉะนั้นจะรักษาศีลผิดหมด มันไม่รู้จักศีลคืออะไร มันทำผิดหมด ศีลเข้ารกเข้าพงไปเลย ถ้าปัญญาไม่มาก่อน ขอให้สังเกตไอ้การเรียงลำดับแห่งอริยมรรคมีองค์ ๘ นี้ ไว้เถิดว่าท่านให้ ท่านต้องการให้ปัญญามาก่อน สัมมาทิฏฐิมาแล้วก็มาสัมมาสังกัปปะมา เมื่อเราเข้าใจถูกต้อง รู้จักถูกต้อง แล้วเราก็รู้จักปรารถนาถูกต้องเองแหละ มันก็ต้องปรารถนาไปตามความรู้ความเข้าใจ ดังนั้น ความรู้ความเข้าใจก็ต้องถูกต้องก่อน แล้วมันจึงจะมีความปรารถนาได้ถูกต้อง นี่คือความสัมพันธ์กัน ความสัมพันธ์กันขององค์มรรคชุดคู่แรก ทีนี้เมื่อมีความปราถนาถูกต้องแล้วมันก็ ต้องทำ ต้องทำไปตามหลักตามเกณฑ์ที่ปรารถนา นี้การกระทำนี้เป็นศีลแล้ว จะเป็นศีลมีสัมมาวาจาคือ การพูดจาให้ถูกต้อง ใช้คำว่าวาจาแล้วก็กินความหมดทุกสิ่งที่เกี่ยวกับวาจา ทุกสิ่งที่เกี่ยวกับวาจา คำพูดที่ใช้ วิธีพูดที่ใช้ สำเนียงพูดที่ใช้ แม้แต่เสียงที่พูดที่ใช้ก็ต้องถูกต้อง คือ ก็คือ เป็นไปเพื่อประโยชน์ จึงเรียกว่าพูดจาถูกต้อง นี้ถัดไปก็สัมมากัมมันตะ ทำงานทางกายน่ะถูกต้อง ที่ระบุไว้ก็คือไม่ฆ่า ไม่โขมย ไม่ประพฤติผิด ในกาม ข้อนี้พระบาลี พระพุทธภาษิตตรัสระบุกาเมสุมิจฉาจารเลย ไม่ใช่ใช้อะพรหมะจะได้เป็นหลักกว้างทั่ว ๆ ไปว่าไม่ประพฤติผิดในทางกามก็แล้วกัน จะเป็นฆราวาสหรือเป็นพระก็ได้ อย่าประพฤติผิดในทางกาม จึงมีว่าไม่ฆ่า ไม่โขมย ไม่ประพฤติผิดในทางกาม นี้การกระทำทางกาย อย่าได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับ ๓ อย่างนั้น นี้มันก็มีผลมาจากการที่มีความคิดเห็นถูกต้อง ความปรารถนาถูกต้อง มีการพูดจาถูกต้อง การกระทำทางกายถูกต้องแล้ว ก็มีอาชีวะถูกต้อง อาชีวะนี่โดยทั่วไปก็แปลกันว่าอาชีพ มีอาชีพถูกต้อง แปลตามตัวหนังสือคือทับศัพท์ ไม่ได้แปล คำว่าอาชีวะก็แปลว่าอาชีพ ถ้าแปลว่าอาชีพถูกต้องยังดีกว่าที่จะแปลว่าเลี้ยงชีพถูกต้อง เพราะคำว่าอาชีพนั้นมันมีความหมายมากกว่าเลี้ยงชีพ อานี้แปลว่าดำรง อาชีวะแปลว่าดำรงชีพอยู่อย่างถูกต้อง นอกจากจะพูดจาถูกต้อง การงานถูกต้องแล้ว จะต้องดำรงชีวิต ดำรงชีวิต ในลักษณะที่ถูกต้อง เรื่องหา เรื่องได้ เรื่องมี เรื่องกิน เรื่องใช้ เรื่องทุกเรื่องที่มีเกี่ยวกับการดำรงชีพเรียกว่าอาชีพก็มีการดำรงชีพอยู่อย่างถูกต้องก็เนื่องกันมา
ทีนี้ก็มาถึงหมวดจิต ตะกี้หมวดศีล หมวดศีล ทีนี้ก็มาถึงหมวดสมาธิ คือหมวดจิต เริ่มขึ้นมาด้วยสัมมาวายามะ วายามะพยายามถูกต้อง วายามะก็คือคำว่าพยายามนั่นเอง ถ้าทับศัพท์ก็คือคำว่าพยายาม วายามะความพยายามถูกต้อง ใช้จำกัดความว่าพากเพียรในสิ่งที่ควรละและควรกระทำ มันหมดเท่านั้นแหละ หน้าที่ของคนเรามันมีในส่วนที่ควรละเสียพวกหนึ่งและควรกระทำอีกพวกหนึ่ง มันมีเท่านั้นแหละ มันพากเพียรในส่วนที่ควรละและพากเพียรในส่วนที่ควรกระทำ แม้แต่การรักษาในสิ่งที่กระทำได้แล้ว มันก็อยู่ในการทำสิ่งที่ควรกระทำอยู่นั่นเอง แต่ท่านชอบอธิบายกันออกไปเป็น ๔ อย่างว่า เพียรระวังไม่ให้เกิดความชั่ว เพียรละความชั่ว เพียรให้เกิดความดี หรือเพียรรักษาความดี ถึงแม้จะออกไป ๔ อย่าง มันก็ยังรวมอยู่ใน ๒ อย่างว่าเพียรอย่างยิ่งในหน้าที่ที่เป็นการละแหละเป็นการกระทำให้เกิดมี หมายความว่าไอ้ขั้นต้นทั้งหมดที่จะเป็นเรื่องศีล เรื่องไม่ฆ่า เรื่องไม่ลักอะไรก็ตาม มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับการทำให้ดีหรือ การละชั่ว ความชั่วเสีย มันก็พากเพียรในเรื่องที่พูดมาแล้วนั่นเอง พากเพียรกระทำให้ถูกในเรื่องที่พูดมาแล้วแหละให้เจริญต่อไปต่อไปกว่าจะถึงที่สุดนี่เรียกว่ามันถูกต้อง นี้อันถัดไป สัมมาสติ มีความระลึกประจำใจ อะไรที่จะต้องระลึกประจำใจแล้วจะป้องกันความผิดพลาดได้หมด เรียกว่าสติ อันนี้ต้องถูกต้อง ที่ในบาลีพูดถึงแต่เรื่องสติปัฎฐาน ๔ ซึ่งมันสูงสูงไปสำหรับเด็ก ๆ สำหรับเด็ก ๆ ก็จะพูดได้แต่เพียงว่าไอ้ความระลึก อันใดที่มันทำให้เราเผลอไม่ได้ ผิดพลาดไม่ได้ ประมาทไม่ได้ เราควรจะมีความระลึกอันนั้นอยู่ ใช้คำธรรมดาธรรมดา คำว่าสติแปลว่าระลึก คือระลึกมา ครั้นระลึกได้แล้วมาอยู่ เฝ้าอยู่ นี่เรียกว่าสัมปชัญญะ เพราะฉะนั้น สติกับสัมปชัญญะมันเป็นของที่เนื่องกัน เป็นคู่เกลอกัน สติระลึกเอามาให้ได้ และระลึกอยู่ตลอดเวลาเนี่ยเป็นสัมปชัญญะ เรามีสติและสัมปชัญญะก็คือระลึกให้ได้ แล้วเอามาให้อยู่ในหน้าที่นี้ตลอดเวลา จึงมีสติ ถ้ามีสติก็ต้องมีสัมปชัญญะด้วยเป็นธรรมดา หรือจะมีสัมปชัญญะนั้นโดยไม่มีสตินั้นเป็นไปไม่ได้ สติกับสัมปชัญญะจึงเป็นสิ่งที่มาด้วยกัน อันสุดท้าย สัมมาสมาธิ ความตั้งจิตไว้มั่น คือว่าเมื่อจะทำอะไรเมื่อยังมีชีวิตอยู่เนี่ย มันต้องมีความตั้งมั่นแห่งจิต ไอ้ความตั้งมั่นแห่งจิตนั้นต้องถูกต้อง หรือจะพูดว่าเมื่อได้ทำสิ่งต่าง ๆ ถูกต้องหมดทั้ง ๗ องค์แล้ว ทั้ง ๗ องค์ถูกต้องแล้ว ก็รักษาความถูกต้องทั้ง ๗ นั้นไว้อย่างมั่นคง ดังนั้น มันก็เกี่ยวพันกันมาตลอด และที่ควรจะทราบอีกเรื่องก็คือว่าพระพุทธเจ้าท่านจัดให้ ๗ องค์ข้างต้นเป็นบริวารหรือเป็นบริขารขององค์สุดท้าย สัมมาสมาธิจะกลายเป็นองค์สำคัญองค์สุดท้าย ๗ องค์ข้างต้นเป็นบริขารของไอ้องค์สุดท้าย เพราะว่าไอ้ความสำเร็จประโยชน์มันอยู่ที่องค์สุดท้าย ไอ้ ๗ องค์ที่นั้นแหละเลยเป็นผู้ช่วยไปหมด เป็นผู้ช่วยไปหมด แม้ว่าสัมมาทิฏฐิจะมีหน้าที่สูง มีค่ามาก ในที่สุดมันก็เพื่อสัมมาสมาธิ เพราะว่าไอ้การตัดกิเลส การชนะศัตรูมันอยู่ที่สัมมาสมาธิ คือความตั้งจิตมั่นอยู่อย่างถูกต้อง นี้หลังจากนั้นมันก็มีอีก ๒ องค์ซึ่งไม่ค่อยเอามาพูดกัน อันนี้มันจะโทษใครก็ไม่ได้นะ แต่มันมีอยู่เต็มใน พระบาลี แต่ไม่เอามาพูดกันอีก ๒ องค์ คือ สัมมาญาณ สัมมาวิมุตติ แล้วถ้ามีสัมมาสมาธิถึงที่สุดแล้วจะเกิดมีสัมมาญาณ คือความถูก ความรู้ที่ถูกต้อง แล้วก็จะมีสัมมาวิมุตติ คือ ความหลุดพ้นที่ถูกต้อง ๒ อันนี้เป็นผล ไอ้ ๘ อัน ๘ อันแรกนั่นเป็นเหตุ เป็นกลุ่มเหตุมีอยู่ ๘ องค์ แล้วมีกลุ่มผลอีก ๒ องค์ ทีนี้ท่านเอามาพูดถึงแต่กลุ่มเหตุ เรียกว่า ปฏิปทา ปฏิปทาจึงพูดแต่เพียง ๘ ปฏิปทา แปลว่า การปฏิบัติ การดำเนิน การก้าวไป พูดแต่เพียง ๘ ที่จริงแล้วมันเนื่องกันอยู่กับอีก ๒ องค์ คือ สัมมาญาณกับสัมมาวิมุตติ ถ้าเอาไอ้ ๒ องค์นั้นเข้ามาบวกด้วยก็เป็น ๑๐ แต่นั่นมันผล มันเป็นเรื่องผล ซึ่งไม่ต้องพูดก็ได้ ให้ทำ ทำกันแต่เรื่องเหตุคือ ๘ องค์ ดังนั้น เราจึงพูดกันแต่เรื่อง ๘ องค์ และที่สั่งสอนกันโดยมากในส่วนการปฏิบัติแล้วก็ชี้ไปที่ ๘ องค์ ส่วนอีก ๒ องค์นั้นเหลือไว้ มันมาเอง มันมาเองเมื่อมีการปฏิบัติถูกต้องแล้ว ผลก็ถูกต้องเอง นี่แหละความสัมพันธ์ของอริยมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งสัมพันธ์กันอยู่ในตัว โดยธรรมชาติเรียกว่า โดยธรรมชาติเราจะต้องระลึกถึงความจริงของธรรมชาติสักข้อ ๑ ว่าไอ้ทุกอย่างเนี่ยที่มันปรากฏมีปรากฏการณ์อยู่นั่น มันประกอบขึ้นด้วยของหลายสิ่งคือมีองค์ประกอบหลายองค์ มันจึงจะเกิดเป็นสิ่งหนึ่งขึ้นมา
นี่ขอให้มองดูโดยทั่วไปว่าอะไรอะไรที่มันมีปรากฏการณ์อยู่อย่างหนึ่งน่ะมันจะประกอบอยู่ด้วยส่วนประกอบหลายสิ่งและทุกสิ่งนั้นต้องสัมพันธ์กัน จะมองดูส่วนใหญ่ว่ามันประกอบอยู่ด้วยของ หลายสิ่งเสียทีหนึ่งก่อนแล้วมาดูส่วนย่อย แม้ในแต่ละสิ่งละสิ่งก็ยังต้องประกอบอยู่ด้วยหลายส่วนเรียกว่า สิ่งปรุงแต่ง สิ่งปรุงแต่ง คือ สิ่งที่มีการปรุงแต่ง ถ้าพูดว่าปรุงแต่งมันต้องหมายถึงของหลายสิ่ง มันจึงจะเป็นการปรุงแต่ง แล้วมันก็จะเกิดผลขึ้นมาและงอกงามออกไปที่เรียกว่าการปรุงแต่ง นี่เป็นไอ้หลักของธรรมชาติ การสัมพันธ์ การสัมพันธ์มันคือ มันเป็นไปโดยส่วนเดียว โดยสิ่งเดียวไม่ได้ มันต้องประกอบขึ้นด้วย สิ่งหลายสิ่ง ทั้งประกอบขึ้นด้วยสิ่งหลายสิ่ง มันก็จำเป็นอยู่เองที่จะต้องมีการสัมพันธ์กัน รวมกัน รวมกัน ในการทำหน้าที่ ทำตามหน้าที่ของตนของตน และตามสัดส่วนตามสัดส่วนของตนของตน เราไม่ได้หมายความว่าอริยมรรคมีองค์ ๘ น่ะทำหน้าที่เท่ากันดิก ถ้าเป็นเครื่องวัดได้ ตวงได้ ก็เท่ากันดิกไม่ได้ ท่านใช้คำว่าตามหน้าที่ มีส่วนของมันเต็ม ตามส่วนที่มันควรจะมีก็เรียกว่าตามสัดส่วน เหมือนว่าเราจะทำน้ำพริกแกงอย่างนี้มันก็จะต้องมีอะไรตามสัดส่วน ถ้าจะใช้เท่ากันหมดไม่ได้ ถ้าทำเท่ากันหมดมันก็ไม่รู้จะเป็นอะไร มันต้องมีตามสัดส่วนของสิ่งที่ประกอบกันขึ้นเป็นสิ่ง ๆ หนึ่ง งั้นให้ถือว่า ๘ องค์ของอริยมรรค มันก็มีสัดส่วนมากน้อย หนักเบาอะไร แต่ต้องเต็มที่ตามหน้าที่ นี่เรียกว่ามีองค์เสมอกัน ไม่ใช่ว่าโดยน้ำหนักเท่ากัน โดยตวงวัดเท่ากัน แต่เสมอกันโดยหน้าที่ที่ว่าสิ่งนี้จะต้องมีเท่าไรก็ต้องมีให้เต็ม สิ่งนี้จะมีเท่าไรมีให้เต็ม สิ่งนี้มีให้เต็ม อย่างนี้ท่านเรียกว่ามีส่วนประกอบที่เสมอกันตามหน้าที่อริยมรรคทั้ง ๘ องค์ต้องมีการ ทำหน้าที่แต่ละองค์ละองค์เต็มตามหน้าที่ที่ตามสัดส่วน นี้ก็ดูที่ว่าโลกเนี่ยโลกเนี่ยมันประกอบกันขึ้นด้วย สิ่งไม่รู้กี่สิ่งหรือจะใช้คำแรกว่ากี่ระบบ โลกนี้ประกอบขึ้นด้วยอะไรกี่ระบบ แล้วในหนึ่งระบบนั้นประกอบอยู่ด้วยระบบย่อยหรือสิ่งน้อย ๆ ย่อย ๆ อีกกี่สิ่ง และแม้ในสิ่งนั้นอีกมันก็ยังมีประกอบอยู่ด้วยส่วนประกอบย่อย ๆ ของมันเป็นชั้นลงไป โลกเป็นระบบรวมแล้วมันก็มีหลายระบบใหญ่ประกอบกันเป็นโลก มีระบบน้อยประกบกันเป็นระบบใหญ่ แล้วก็ในระบบน้อยมันก็มีส่วนประกอบจนกระทั่งประกอบอันสุดท้ายเป็นอินกรีเดี้ยน (Ingredient) (45:22) อันสุดท้าย เนี่ยคือความที่มันสัมพันธ์กัน แล้วก็จะต้องมีความสัมพันธ์กันแห่งอริยมรรคมีองค์ ๘ ในลักษณะอย่างนั้นครบถ้วน
สมมุติว่าในคน ๆ หนึ่งก็คิดดูมันมีกี่ระบบ พวกหมอก็พูดได้ดี ระบบหายใจ ระบบโลหิต ระบบไอ้ นับไม่ไหว ระบบตา ระบบหู ระบบไอ้ กระทั่งแม้แต่ว่าระบบขับถ่าย ทุกระบบต้องถูกต้อง คน ๆ หนึ่งจึงจะเป็นอยู่ได้ ที่เป็นอยู่ได้เพราะมันสัมพันธ์กัน ถ้าต่างระบบต่างไม่สัมพันธ์กัน ต่างแยกกัน ทำมันก็ตาย อริยมรรคนี่ก็เหมือนกัน แม้ว่าในระบบหนึ่งจะมีความสมบูรณ์อยู่ในตัวเอง มันก็ต้องสัมพันธ์กันกับไอ้องค์อื่น งั้นอริยมรรคทั้ง ๘ องค์จึงต้องสัมพันธ์กัน แต่จะมองกันแต่ในแง่ของกำลังก็จะพูดได้ว่าเปรียบอุปมาได้เหมือนเชือก ๘ เกลียว เหมือนเชือก ๘ เกลียวที่มองดูอย่างหยาบ ๆ ในแง่ของกำลังมันก็ต้องประกอบกันอยู่เหมือนกับเชือก ๘ เกลียว มันก็แข็งแรง แน่นหนากว่าหนึ่งเกลียว แต่โดยเหตุที่มันเป็นเรื่องพิเศษ มันไม่จำเป็นจะต้องเป็นหนึ่งเกลียวเท่ากัน คือ หนึ่งเกลียวอย่างเดียวกัน มันอาจจะมีเกลียวที่ต่าง ๆ กันก็ได้ แต่ขอให้มันรวมกัน รวมกำลังกันทั้ง ๘ ส่วน หรือจะเปรียบเทียบให้ละเอียดลงไปกว่านั้นที่มันต้องสัมพันธ์กันก็เปรียบเหมือนกับการเดินทาง เพราะชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าหนทางประกอบด้วยองค์ ๘ การเดินทางนั้นคือหนทางนั้นต้องประกอบด้วยองค์ ๘ นี้ขอให้สังเกตดูเท่าที่ความรู้สึกตามธรรมดาก็ช่วยให้เห็นได้ว่าสมมุติว่ามีการเดินทาง มีการเดินทาง มันต้องมีอันหนึ่งซึ่งเหมือนกับสัมมาทิฏฐิคือแนวทางน่ะ ในการเดินทางที่จะสำเร็จประโยชน์น่ะ ๑.ต้องมีแนวทาง นี้ ๒.ต้องมีความปรารถนาของผู้เดิน นี้มันพูด ปนกันในเรื่องจิตกับในเรื่องวัตถุ มันมีความปรารถนาของผู้เดิน นี่เป็นส่วนสัมมาทิฏฐิ และส่วน สัมมาสังกัปปะมีแนวทางคือสัมมาทิฏฐิคือความปรารถนาของผู้เดินคือสัมมาสังกัปปะ แล้วทีนี้มันก็มีอุปกรณ์หรือความเป็นมิตรที่หาได้ในหนทางนั้น ถ้าหนทางนั้นมีแต่ศัตรู มันไปไม่ได้หรอก และในหนทางนั้นต้องหาความเป็นมิตรหรืออุปกรณ์แห่งการเดินได้เนี่ย สัมมาวาจามีอุปกรณ์ของหนทางพร้อม เช่นว่า ตรงที่นั้นก็ต้องมีสะพานหรือแล้วแต่มันจะต้องมีอะไรในหนทางนั้น เช่น มีสะพาน เป็นต้น มีอุปกรณ์ เพื่อการเดิน นี่ก็เท่ากับสัมมากัมมันโต แล้วก็มันมีเสบียงอาหารหาได้ตลอดทาง เพราะมันทางไกล ต้องมีเสบียงอาหาร มีความปลอดภัยที่มันหาได้ตลอดทางที่เดินไป นี่มันเท่ากับสัมมาอาชีโว นี้มันหมดเรื่องศีล นี้ก็มาเรื่องจิต มันต้องมีความไม่ท้อถอยของผู้เดิน ความไม่ท้อถอย ความไม่ยอมแพ้ของผู้เดิน สัมมาวายาโม แล้วต้องไม่มีความเลอะเลือนฟั่นเฟือนของผู้เดินคือมีสัมมาสติ มันต้องมีสัมมาสติ ความไม่เลอะเลือน ฟั่นเฟือนเนี่ยของผู้เดิน แล้วข้อสุดท้ายมีความมั่นคงทั้งทางกายและทางจิตในการเดิน สัมมาสมาธิ องค์สุดท้าย เนี่ยมันอุปมาด้วยชื่อเดียวกันอย่างนี้ เห็นได้ง่าย ฟังได้ง่าย เพราะว่าอริยมรรค แปลว่า หนทาง หนทางอันประเสริฐ เป็นเรื่องทางใจที่จะให้เข้าใจได้ง่าย เอามาเปรียบกับเรื่องทางวัตถุทางกายคือทางเดิน เดินเท้า เดินทางด้วยเท้า ไอ้ทางนั้นประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ แล้วย่อมสำเร็จ ย่อมเกิดความสำเร็จ
ทบทวนอีกทีว่าหนทางนั้นน่ะมันต้องมีแนวหรือแผนที่แนวถูกต้อง มีความปรารถนาของผู้เดิน แล้วก็มีความเป็นมิตรเป็นต้นที่หาได้ในระหว่างทาง มีอุปกรณ์ของหนทาง เช่น สะพาน เป็นต้น มีเสบียง สิ่งหล่อเลี้ยงชีวิตหาได้ตลอดทาง แล้วก็มีความไม่ท้อถอย ไม่ไม่ ไม่เปลี่ยนความคิดของผู้เดิน แล้วก็มีความไม่เลอะเลือนฟั่นเฟือนของผู้เดิน แล้วก็มีความมั่นคงทั้งทางกายและทางจิตของผู้เดิน มันครบ ๘ ด้วยกัน อาศัยอุปมานี้เป็นเครื่องสังเกตแล้วก็จะพบความสัมพันธ์กัน ความสัมพันธ์กันขององค์แห่งมรรค ๘ องค์ ทีนี้มรรคแต่ละองค์ละองค์นั้นยังแยกความหมายหรือคุณสมบัติออกไปได้หลาย ๆ ข้อ มรรคมีเพียง ๘ องค์ แต่ว่า ๑ องค์นั้นแยกลักษณะ แยกคุณสมบัติ แยกแล้วแต่จะแยกออกไปได้อีกหลาย ๆ ข้อ ดังนั้น เราจึงถูกแยกออกไปตามที่เห็นสมควรว่าจะแยกเลยแยกออกไปได้เป็น ๕๔ หัวข้อ ซึ่งเราอาจจะแยกให้มากกว่านั้น ก็ได้ หรือว่าในแต่ละข้อละข้อที่แยกออกไปแล้วจะแยกออกเป็นข้อย่อย ๆ ไปอีกก็ได้ นี้เอาเป็นว่า ๘ องค์ แยกออกไปได้เป็นหัวข้อธรรม ๕๔ ข้อที่ปรากฎอยู่แล้วในต้นร่าง ขอให้มีหลักว่าหัวข้อแต่ละหัวข้อที่จะมาใช้เป็นหลักศึกษาและปฏิบัตินั้น มันมีรากฐานที่มาโดยเฉพาะก็คือมาจากหัวใจของพระพุทธศาสนา ขออภัยที่จะต้องกล่าวว่าไอ้หัวข้อธรรมที่ระบุอยู่ในหลักสูตรชุดก่อนน่ะมันค่อนข้างจะดูเปะปะเต็มที ไม่รู้ว่าจะยึดเอาหมวดอะไรในหัวใจพุทธศาสนาข้อไหนมาเป็นหลัก
ดังนั้น อาตมาจึงขอชักชวน ได้ชักชวนแล้วว่าขอให้เอาอริยมรรคมีองค์ ๘ เนี่ยเป็นหลัก แล้ว จะแยกไปจากองค์ ๘ แต่ละองค์นี้กี่ข้อก็ได้ เอาตั้งร้อยก็ได้ สองร้อยก็ได้ ไปเอาเท่าที่พอสมควรก็แล้วกัน แล้วเอาไปบรรจุให้ในการที่จะให้เป็นบุตรที่ดีสักกี่หัวข้อ ที่เป็นศิษย์ที่ดีกี่หัวข้อ เป็นเพื่อนที่ดีกี่หัวข้อ เป็นพลเมืองที่ดีกี่หัวข้อ เป็นสาวกที่ดีกี่หัวข้อ เป็นมนุษย์ที่เต็มกี่หัวข้อ เอาอะไรเป็นหัวข้อหลักสำคัญ เอาอะไรเป็นหัวข้อประกอบที่ปลีกย่อยออกไป แล้วทีนี้ก็ว่าชั้นประถม ๑ ถึงประถม ๖ นั้นมันเรียนเท่ากันไม่ได้ มันก็ตกเป็นหน้าที่ของครูบาอาจารย์หรือผู้จะวางหลักสูตรก็ตาม จะกำหนดไว้ว่าประถม ๑ จะมีหัวข้อสำคัญกี่ข้อ คืออย่างไร ประถม ๒ อย่างไร ประถม ๓ อย่างไร กระทั่งประถม ๖ เลยนึกเอาตามสามัญสำนึกว่าประถม ๑ เรียนหนักไปในทางที่เป็นบุตรที่ดีของบิดามารดาเป็นหลักใหญ่ เอาเรื่องอื่นเป็นเรื่องประกอบ ประถม ๒ ก็เรียนเรื่องศิษย์ที่ดีของครูบาอาจารย์เป็นหลักใหญ่ จะใช้หัวข้อธัมมะกี่ข้อก็เอามา แล้วนอกนั้นเอามาเป็นส่วนประกอบ แล้วประถม ๓ ก็เรียนเป็นเพื่อนที่ดีของเพื่อนเป็นหลักใหญ่เท่านั้น แต่ไม่ใช่เรื่องเดียวนะ ด้วยเหตุที่มันสัมพันธ์กันหมดในองค์มรรค มันเลยอย่างเดียว เรื่องเดียวกันไม่ได้ แต่มุ่งหมายที่จะชี้ มุ่งไปยังว่าจะเป็นอะไร อย่างไร ในชั้นไหน นี้เป็นหลักใหญ่ ชั้นประถม ๔ เป็นพลเมืองดี ชั้นประถม ๕ เป็นสาวกที่ดี ประถม ๖ เป็นมนุษย์ที่เต็ม อย่าลืมถึงว่าไอ้ความถูกต้องน่ะเป็นหลักสำคัญ เอามาให้เห็นชัดเจนเป็นความถูกต้อง ถูกต้อง ถูกต้องของแต่ละชนิด ของบุคคลที่เราต้องการ เพียงแต่ทำเป็น คิดเป็น เรียนเป็น คิดเก่งเรียนเก่งไม่ได้ เพราะมันผิดได้ เพราะมันต้องใช้คำว่าถูกต้อง ถูกต้องไว้เสมอไป ไอ้การศึกษานี่มันเป็นเครื่องช่วยให้เกิดความถูกต้อง จะดีกว่าถ้าจะถามว่าการศึกษาคืออะไร แล้วก็ส่วนใหญ่มันก็ต้องเล็งถึง เป็นสิ่งที่ช่วยให้เกิดความถูกต้องของสิ่งที่มีชีวิตตามขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการของตนของตนตามที่กำลังเป็นอยู่อย่างไร นี่ทำอย่างไรจะเป็นได้อย่างนั้นก็เสนออริยมรรคมีองค์ ๘ จึงมีรูปโคลงขึ้นมาย่อ ๆ ว่า เช่นว่า เป็นบุตรที่ดี เช่นว่าเป็นบุตรที่ดีน่ะ คนแรกที่เราต้องการคือเป็นบุตรที่ดี มีสัมมาทิฏฐิข้อที่ว่ามีการศึกษามากพอแก่สถานะของตน นี่ผู้ที่ไม่ทราบอาจจะฟังไม่ถูก แต่ผู้ที่ทราบแล้วก็ฟังถูกว่าองค์มรรคแต่ละองค์ละองค์เราแยกเป็นองค์ย่อย ๆ อีกหลาย ๆ ข้อ หลาย ๆ หัวข้อ ไปดูได้ในร่าง บุตรที่ดีมีสัมมาทิฏฐิในข้อที่ว่า มีการศึกษามากพอแก่สถานะของตน แล้วก็เอาความหมายสัมมาทิฏฐิองค์อื่น ๆ มาประกอบด้วยก็ได้ แต่ข้อนี้เป็นหลักว่ามีการศึกษามากพอแก่สถานะของตนก็เพื่อว่าเขาจะได้มีความรู้ ความถูกต้อง ความเข้าใจ ความเชื่อถือ หรืออุดมคติก็ตาม ถูกต้องแก่สถานะของตน ถ้าเขามีองค์มรรคที่ ๒ คือสัมมาสังกัปปะน่ะ คือมีสัจจะ มีความจริงใจ ตั้งใจจริง เรียกว่าสัมมาสังกัปปะ ตั้งใจจริงที่จะทำอย่างนั้นให้ได้ แล้วก็มีองค์มรรคที่ ๓ คือสัมมาวาจา คือหัวข้อว่าไม่พูดร้าย พูดแต่วาจาที่ควรฟังและมีประโยชน์ เราใช้คำรวมมากอยู่ที่ควรฟังและมีประโยชน์ มันกินหมดเลย ไม่ต้องไปแยกเรื่องเพราะ ไม่เพราะ มันควรฟังและมีประโยชน์ มันแจกลูกออกไปเท่าไรก็ได้ แล้วก็ไม่พูดร้าย เมื่อพูดร้ายก็ไม่ควรฟังและไม่มีประโยชน์ งั้นพูดแต่เพียงว่าวาจาที่ควรฟังและมีประโยชน์ และเขาจะต้องมีองค์มรรคที่ ๔ คือสัมมากัมมันตะว่าได้แก่หัวข้อที่ว่ามีมรรยาทและนิสัยสำหรับสุภาพชน มีมรรยาทที่แสดงออกมาทางจิตใจและมีนิสัยที่เก็บไว้ในใจน่ะที่สุภาพชนควรจะมี นี่จะเรียกว่าเป็นสัมมากัมมันตะ ขอให้มีองค์มรรคที่ ๕ คือสัมมาอาชีวะ ใช้คำรวมว่ามีการแสวงหา การมีไว้ การบริโภคปัจจัยที่ประกอบไปด้วยธรรม มันเป็นภาษากฎหมายภาษาอะไรยุ่งยากอยู่ ก็ควรจะปรับปรุงได้ เปลี่ยนแปลงได้ เดี๋ยวนี้ก็พูดทำนองภาษาวัด ภาษาพระบาลี ซึ่งมีลักษณะอะไรคล้าย ๆ กับภาษากฎหมาย มีการแสวงหา มีการมีไว้ มีการใช้จ่าย มีการเลี้ยงชีวิตชนิดที่ประกอบด้วยธรรม นี่ลูกเด็ก ๆ ก็ยังประพฤติได้ ให้เขาหาและมีไว้แล้วใช้จ่าย แต่ในลักษณะที่ประกอบด้วยธรรม เป็นข้อสัมมาอาชีวะของบุตรที่ดี แล้วก็มีองค์ที่ ๖ เป็นผู้มีสติในการควบคุมตนเอง เนี่ยมันกว้างเหลือประมาณ เนี่ยมีสติในการควบคุมตนเอง ควบคุมกาย ควบคุมวาจา ควบคุมใจ ควบคุมทุกอย่างที่มันจะต้องประพฤติกระทำต่อตนเองและแก่สังคม แล้วก็มันมีองค์ที่ ๘ สัมมาสมาธิ มีใช้คำในภาษาบาลีเลยว่ามีจิตบริสุทธิ์ ตั้งมั่น และว่องไวในหน้าที่ นี่เป็นคำที่มีระบุ อยู่ในบาลีพุทธภาษิตโดยตรง แสดงลักษณะของสมาธิโดยครบถ้วน เราก็เอามาทั้งดุ้นอย่างนั้นแหละ เอามาขยายความ เอามาปรับปรุงความหมายเอาตามสมควรว่ามีจิตบริสุทธิ์คือไม่มีกิเลส ไม่มีความชั่วร้ายเลวร้ายอยู่ แล้วก็มีความตั้งมั่น นี้คือเข้มแข็ง แล้วก็มีความว่องไวในหน้าที่ของจิตปริสุทโธ สมาธิโต กัมมะนีโย นี้เป็นเป็นการแสดงลักษณะที่ครบถ้วนของสิ่งที่เรียกว่าสมาธิ จิตที่เป็นสมาธิต้องบริสุทธิ์จากไอ้ความรู้สึกที่เลวร้าย เข้มแข็งมั่นคง และไวในหน้าที่ที่จะคิดจะนึก นี่มันใช้แก่เด็ก ๆ ก็ได้ มันมีได้ในระดับต่ำ ในระดับสูงก็ขยับขยายเอาเอง นี่เป็นอันว่าแม้แต่การที่จะเป็นบุตรที่ดี บุคคลแรกที่เราต้องการคือบุตรที่ดี ใช้หลักธัมมะที่เป็นตัวหัวใจของพระพุทธศาสนาคืออริยมรรคมีองค์ ๘ น่ะมาสร้างสรรค์เขาขึ้นมาด้วยองค์ทั้ง ๘ ซึ่งต้องปรับปรุงเลือกเฟ้นให้เหมาะสมแก่เด็กทารกเหล่านั้น นี่ถ้าจะดูถึงความสัมพันธ์ก็เห็นชัดอยู่แล้วว่าเด็กประกอบด้วยองค์ประกอบ ๘ ประการนี้ ความประพฤติเป็นอยู่ของเขาก็จะดีที่สุดคือมันประกอบด้วยองค์ เหล่านี้แล้วมันก็สร้างเด็กที่ดีขึ้นมา เป็นบุตรที่ดี
ทีนี้ศิษย์ที่ดีก็เหมือนกัน ให้ประกอบด้วยองค์ ๘ ทุก ๆ พวกประกอบด้วยองค์ ๘ และองค์แรก องค์แรกคือสัมมาทิฏฐิ นี่จะดูเหมือนใช้เหมือนกันหมดเลยทุกพวกก็ได้ คือมีการศึกษามากพอแก่สถานะของตนเนี่ย ใช้แก่ทุกพวกคือแก่บุตรที่ดี ศิษย์ที่ดี เพื่อนที่ดี พลเมืองที่ดี สาวกที่ดี ส่วนมนุษย์ที่เต็มนั้นมันมีอยู่แล้ว มันมีเองแล้ว ศิษย์ที่ดีองค์มรรคที่ ๒ ความเป็นผู้ว่านอนสอนง่าย ศิษย์ที่ดีองค์ที่ ๓ คือไม่พูดร้าย พูดแต่วาจาที่ควรฟังและมีประโยชน์ นี่ก็ซ้ำกันกับไอ้บุตรที่ดี ถ้ามันเป็นการเรียนอยู่คนละชั้น คือชั้นประถม ๒ ก็ขยายความหมายของคำนี้ให้สูงขึ้นไปโดยชื่อเหมือนกัน แต่ความหมายนั้นแตกต่างกันคนละระดับ ศิษย์ที่ดีมี องค์มรรคที่ ๔ คือมีมรรยาทที่แสดงลักษณะแห่งความเคารพและเอื้อเฟื้อ การกระทำที่เนื้อที่ตัวของเขาแสดงมรรยาท มีมรรยาท มีความหมายที่เป็นความเคารพในสิ่งที่ควรเคารพแหละเอื้อเฟื้อในสิ่งที่ควรเอื้อเฟื้อ ถ้าเป็นดังนี้แล้วมันล่วงละเมิดในสิกขาบทเหล่านั้นไม่ได้ที่เรียกว่าสัมมากัมมันตะ ในสัมมาอาชีวะองค์ที่ ๔ ของความเป็นศิษย์ที่ดี องค์ที่ ๕ ก็เป็นศิษย์ที่ดี ไม่ตกอยู่ในภายใต้อำนาจหรือวิสัยของคนพาล คนพาลไม่มีอำนาจมาบังคับเขาแหละไม่มีความชอบใจในวิสัยของคนพาล ตกอยู่ใต้อำนาจคือถูกบังคับ ตกอยู่ใต้วิสัยคือถูกเกลี้ยกล่อม คนเรามีได้ ๒ อย่างที่จะไปตกอยู่ใต้อำนาจใคร เพราะถูกบังคับอย่างหนึ่ง ถูกเกลี้ยกล่อม อย่างหนึ่ง ในที่นี้จึงใช้คำว่าไม่ตกอยู่ภายใต้อำนาจหรือวิสัยของคนพาล ศิษย์ที่ดีมีองค์สัมมาวายามะคือพยายามแก้ไขข้อบกพร่องที่ควรแก้อยู่ตลอดเวลา นี่ศิษย์ที่ดี ศิษย์ที่ดีจะพยายามแก้ไขข้อบกพร่องที่ควรแก้อยู่ตลอดเวลา แล้วก็มีองค์มรรคที่ ๗ คือมีสติในการควบคุมตนเองให้เหมือนกับข้างบน เหมือนกับอะไร เหมือนกับลูกที่ดี แต่ถ้ามันเรียนกันคนละชั้นก็ขยายความหมายให้สูงขึ้นไป ส่วนข้อสุดท้ายสัมมาสมาธิก็เหมือนกันอีก ใช้คำเหมือนกันอีก มีจิตที่บริสุทธิ์ตั้งมั่นและว่องไวในหน้าที่ ดูเถิดจะเห็นได้ว่าทั้ง ๘ อย่าง เนี่ยมันจะระดมรวมกันสร้างบุตรที่ดี สร้างศิษย์ที่ดี เพื่อนที่ดีก็มีหลายข้อที่ตรงกับที่แล้วมา แต่ก็มีบางข้อเพื่อนที่ดีมีองค์มรรคที่ ๑ มีการศึกษามากพอแก่ฐานะแห่งตน สัมมาสังกัปปะมีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และเสียสละ สัมมาวาจาเหมือนกัน สัมมากัมมันตะ ไม่ประทุษร้ายชีวิต ทรัพย์สมบัติ และของรักของผู้อื่น ใช้คำ ๆ เดียวว่าไม่ประทุษร้าย แล้วก็ได้ความหมายพอ ไม่ประทุษร้ายชีวิตของเขา ไม่ประทุษร้าย ทรัพย์สมบัติของเขา ไม่ประทุษร้ายของรักของเขา เป็นศีลข้อที่สมบูรณ์ที่สุด อาชีวะคบบัณฑิต ซึ่งหมายถึงไม่คบพาล ดำรงตนอยู่ด้วยการคบบัณฑิต วายามะ พยายามหาดูและทำตามตัวอย่างที่ดี หาตัวอย่างที่ดี ทำตามตัวอย่างที่ดี นี่เรียกว่าสัมมาวายามะของคนที่จะเป็นเพื่อนที่ดี ข้อที่ ๗ ข้อที่ ๘ เหมือนกันอีก แต่ในความหมายที่สูงกว่า ในข้อที่เป็นพลเมืองที่ดีก็เหมือน ๆ กันอยู่หลายข้อ ผิดกันบ้างบางข้อ เช่น ข้อสัมมากัมมันตะ เราเปลี่ยนเป็นว่าไม่มีการกระทำที่เป็นการประทุษร้ายสติสมประดีของตนเอง การกระทำที่ประทุษร้าย สติสมประดีของตนเองนั้นน่ะมีทั้งทางวัตถุ มีทั้งทางนามธรรม เช่น กินเหล้าเมายา สิ่งเสพติด นี่ก็เรียกว่าเป็นวัตถุ ทีนี้การหลงใหลอยู่ด้วยเรื่องเล่น เรื่องหัว เรื่องที่เป็นเหยื่อของกิเลส เรื่องสถานเริงรมย์อะไรเหล่านี้ก็นับรวมอยู่ในสิ่งที่ประทุษร้ายสติสมประดีของตนเอง อยากจะขอแนะว่าไอ้ศีลข้อที่ ๕ ข้อดื่มน้ำเมา พระพุทธเจ้าท่านทรงมุ่งหมายอย่างนี้ ที่เรามาแปลความหมายแค่ว่าไม่ดื่มน้ำเมาเนี้ยมันไม่พอ มันไม่พอ ตามพระบาลีนั้นที่ว่าไม่ประทุษร้ายสติสมประดีของตนเอง ต้องเอาหมดเลย เช่น นอนฟังวิทยุ ฟังเพลงทุกคืนอย่างนี้มันก็เป็นการประทุษร้ายสติสมประดี เท่ากับสิ่งเสพติดเหมือนกัน ต้องรวมได้ จึงใช้คำรวมว่าไม่ประทุษร้าย สติสมประดีของตนเอง
แล้วอีกข้อหนึ่งขยายความเป็นมีกิจกรรมอันประกอบด้วยสุนทรียภาพ สัมมากัมมันตะของพลเมืองที่ดีมีกิจกรรมที่ประกอบด้วยสุนทรียภาพก็ต้องเป็นตามหลักธัมมะอีกแหละ ความงาม ความงาม นี่แบบของกิเลสก็มีแบบของธัมมะก็มี ถ้าไม่ได้เอ่ยถึงก็หมายความตามแบบของธัมมะ นี่อาชีวะไม่อยู่ใต้อำนาจคนพาล นอกนั้นก็เหมือนกันอีก ทีนี้เป็นสาวกที่ดี นี่มันเกี่ยวกับศาสนาเข้ามาข้อ ๑ เหมือนกัน สัมมาทิฏฐิ ต้องมีการศึกษาที่มากพอเหมาะสมแก่ฐานะแห่งตน นี้สัมมาสังกัปปะคือละอายแหละกลัวความชั่ว วาจาก็ไม่พูดร้าย พูดแต่ที่ควรฟังและมีประโยชน์ ไม่ประทุษร้ายสติสมประดีตนเอง นี่เหมือนกันเลย เหมือนกันเลย แต่ว่าความหมายสูงขึ้นไป
ทีนี้ก็มาถึงความเป็นมนุษย์ที่เต็ม พวกสุดท้ายที่เราต้องการคือความมนุษย์ ความเป็นมนุษย์ ที่เต็ม เต็มความเป็นมนุษย์ มีการศึกษามากพอแก่ฐานะแห่งตน สัมมาสังกัปปะแหละจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ สัมมาวาจาก็เหมือนกันตามหลักทั่วไป สัมมากัมมันตะเนี่ย ความเป็นผู้มีวัฒนธรรมทุกสาขาทุกแขนง นี่เรียกว่าสัมมากัมมันตะ ไม่ตกอยู่ใต้อำนาจวิสัยคนพาลเนี่ย สัมมาอาชีวะ พยายามหาดูแหละทำตามตัวอย่างที่ดี นี่วายามะ มีสติในการแสวงหาอุปโภคปัจจัย สมาธิมีจิตบริสุทธิ์ตั้งมั่นว่องไว ในหน้าที่ จะสังเกตเห็นได้ว่าข้อ ๑ กับข้อสุดท้ายนั้นเหมือนกันทั้ง ๖ พวกเลย ข้อ ๑ มีการศึกษาที่พอตัวสำหรับตน สำหรับศาสนาแห่งตน ข้อสุดท้ายนั้นมันจะมีจิตที่เป็นสมาธิ มีจิตบริสุทธิ์ ตั้งมั่นว่องไว จะใช้คำอย่างอื่นแทนบ้างก็ได้ บริสุทธิ์เนี่ยมีความหมายมากคือเป็นสุข ก็รวมอยู่ในคำว่าบริสุทธิ์ มีจิตเป็นสุข มีจิตแจ่มใส มีจิตสดชื่น เบิกบาน มันก็มีรวมอยู่ในคำว่าบริสุทธิ์ แล้วมันตั้งมั่น คือทนต่อการยั่วยุของอารมณ์ แล้วก็ว่องไวในหน้าที่ คิดเก่ง จำเก่ง ตัดสินใจเก่ง อะไรเก่งในหน้าที่ของจิต นี่ ๖ พวก แต่ละพวกประกอบอยู่ด้วยคุณธรรมแต่ละข้อละข้อที่แยกเอามาจากอริยมรรคมีองค์ ๘ เอาอริยมรรคมีองค์ ๘ ข้อใดข้อหนึ่งตั้ง เป็นหลัก แล้วก็แวดล้อมอยู่ด้วยไอ้หัวข้ออื่นที่มันเข้ากันได้ อย่าลืมว่าพระพุทธเจ้าท่านประสงค์ให้เอา ข้อสัมมาสมาธินั้นเป็นหลัก นอกนั้นเป็นบริวาร บางคนอาจจะเห็นว่าสัมมาทิฏฐินี่สำคัญมาก เริ่มรู้จัก พระนิพพาน รู้จักอะไรอย่างโน้น ควรจะมาเป็นหลัก แล้วก็มาก่อนเพื่อนด้วย นำหน้าเพื่อนด้วย ไม่ควรจะเข้าใจอย่างนั้น ไม่ใช่มาข้างหน้าแล้วก็จะเก่ง ไม่ใช่ เช่นว่ามีกองทัพแบบโบราณ มีกองทัพหน้าก็ขึ้นอยู่กับกองทัพหลวงคืออยู่ข้างหลังนั้นน่ะ ไอ้ความสำเร็จประโยชน์มันอยู่ที่หัวใจหรือแกนคือกองทัพหลวง สิ่งที่เปรียบกับกองทัพหลวงในที่นี้คือสัมมาสมาธิ สรุปความว่าชีวิตนี้มีสัมมาสมาธิเป็นตัวหลัก นอกนั้นเป็นบริวาร นี่ถ้าถือตามหลักพระพุทธเจ้าที่ทรงวางไว้ ท่านจึงตรัสว่าสัมมาสมาธิมีบริขาร ๗ มีบริวาร ๗ แล้วผลก็เกิดขึ้นเป็นสัมมาญาณ คือ รู้ รู้เป็นมรรคญาณ ผลญาณขึ้นมาเลยนั่น เป็นผลแล้ว หลุดพ้นโดยถูกต้อง หลุดพ้นอย่างถูกต้อง นี่ก็เป็นผล รวมกันเป็นสิบ แต่ในหลักสูตรนี้เราไม่ได้เอามาทั้งสิบ เอามาเพียงแปด ตามหลักที่ใช้กันอยู่ทั่วไปว่ามันเป็นทางเดินแห่งชีวิต เนี่ยมันไม่ได้แสดงผล ก็ไม่เป็นไร เพราะว่าผลมัน ก็มาเอง ในเมื่อมีการปฏิบัติอย่างถูกต้อง เดี๋ยวนี้ก็เป็นเรื่องในโรงเรียน ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสังคมหรือโลกนี้มากกว่า จึงไม่พูดถึงเรื่องมรรค ผล นิพพาน อบรมอยู่ในชุดนี้ แต่ขอให้รู้เอาโดยนัยว่าอริยมรรคมีองค์ ๘ มีจุดหมายปลายทางเป็นนิพพาน นี่ทำไมจึงควรเอามาใช้เพราะคำว่านิพพาน นิพพานนั้นน่ะมีความหมายกว้าง คนเขาพูดกันผิด ๆ จนนิพพานเป็นของประหลาดหรือเป็นของน่าระแวงอะไรไปเสีย
คำว่านิพพาน นิพพานนี้แปลว่าชีวิตที่เยือกเย็น คำว่านิพพาน นิพพานนั้นน่ะ ตัวหนังสือแท้ ๆ รากศัพท์ตัวหนังสือแท้ ๆ แปลว่าเย็น ไม่ได้แปลว่าสุข ไม่ได้แปลว่ายอดสุข ไม่ได้แปลว่าประเสริฐ ไม่ได้แปลว่าอะไร แปลว่าเย็น แสดงว่ามนุษย์ในโลกนี้ เมื่อเริ่มเป็นมนุษย์ขึ้นมาแล้ว เริ่มรู้จักพอใจ สิ่งที่เรียกว่าเย็น คือไม่ร้อนรนกระวนกระวาย เขาก็เลยพูดคำนั้นขึ้นมาเป็นคำแรก เรียกว่า นิพพาน ต่อมา คำว่านิพพานมีความหมายเปลี่ยนเรื่อยเปลี่ยนเรื่อยจนมาเป็นเรื่องทางจิตใจหมายถึงเย็นก็หมดกิเลส คำว่าเย็นทุกชนิดแหละคือคือนิพพาน อาตมาสำรวจดูในบาลีแล้ว โอ..มันใช้แม้แต่ในครัวในครัวนั้นน่ะ ถ้าข้าวเย็นลงก็เรียกว่าข้าวหรือแกงกับเย็นลงก็เรียกว่านิพพาน สมมุติว่าช่างทองเอาน้ำราดทองที่หลอมให้เย็น ก็เรียกว่า ทำให้มันนิพพาน นี่คำว่านิพพานเป็นคำภาษาชาวบ้านแล้วก็คือทำให้เย็น เดี๋ยวนี้เราต้องการชีวิตเย็น ไม่มีความร้อน ไม่มีความทุกข์ นี่ขอให้ทำความเข้าใจถูกต้อง อย่าได้เกลียดหรือรังเกียจนิพพานเหมือน ครูบาอาจารย์บางคน อาตมาไม่ได้พูดกระทบ แต่มันมีครูบาอาจารย์ชั้นสูงบางคนเกลียดคำว่านิพพาน เขาไม่ต้องการนิพพานทั้งที่ไม่รู้ว่ามันเป็นชีวิตที่เย็นเท่านั้น มันไม่ได้หมายความอย่างอื่น แม้ที่บ้านที่เรือนที่เรา พูดกันอยู่ว่าเย็นอกเย็นใจนี่แหละ คำนั้นแหละคือคำเดียวกับนิพพาน ถ้าที่ไหนมีความต้องการเย็นอกเย็นใจ ที่นั้นก็ต้องการนิพพานอยู่โดยไม่รู้สึกตัว เขาไม่เรียกว่านิพพาน แต่เขาเอาคำว่านิพพานในภาษาไทยมาใช้ จึงเย็น มีเรื่องว่าหญิงสาวศากยะคนหนึ่งเห็นพระสิทธัตถะเดินผ่านไปเนี่ย เขาก็พูดขึ้นว่าถ้าบุรุษนี้เป็นลูก ของใคร พ่อแม่ของเขาก็นิพพาน แปลว่านิพพานเลย ถ้าบุรุษนี้เป็นสามีของใคร ภรรยาของเขาก็นิพพาน ใช้คำว่าอย่างนี้คือนิพพุทโตคือนิพพานแล้วเป็นคำกิริยา ถ้าเป็นคำนามก็นิพพาน ถ้าเป็นคำกิริยาก็นิพพุตตะนิพพุทโต งั้นเขาพูดกันอยู่กลางบ้านทั่วไปในคำว่านิพพานนิพพาน เมื่อของร้อนเย็นลงก็เรียกว่านิพพาน เมื่อถ่านไฟแดง ๆ ดำลงก็เรียกว่านิพพาน แกงกับเย็นลง กินได้ รับประทานได้ ก็เรียกมันนิพพาน ถ้าสัตว์เดรัจฉานฝึกดีแล้ว หมดอันตรายแล้ว ก็เรียกว่ามันนิพพาน งั้นอย่าได้เกลียดกลัวนิพพาน นิพพาน นั่นแหละเป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงชีวิตเราอยู่ ถ้าเราร้อนกันทุกวินาทีใน ๒๔ ชั่วโมง เราตายแล้ว มันมีนิพพาน ตามธรรมชาติอย่างหนึ่งคอยช่วยอยู่ คอยให้เย็นอยู่เป็นระยะระยะตามสมควร ดังนั้นเราไม่ตาย เรารอดชีวิตอยู่ได้ทุกวันนี้เพราะมีนิพพานมาแทรกแซงอยู่เป็นระยะระยะในชีวิต หากแต่ว่าไม่เป็นนิพพานชั้นสมบูรณ์หรือเด็ดขาด เป็นนิพพานกลับไปกลับมา เป็นนิพพานชั่วคราว นิพพานชั่วสมัย เรียกว่า สามานิกนิพพาน (01:19:55) มีกล่าวถึงในพระบาลีมาก แต่เรื่องชนิดนี้น่าประหลาดใจหรือแล้วแต่จะเรียก ที่ไม่มีใครเอามาพูดมาสอนจนนิพพานกลายเป็นเรื่องลึกลับและก็น่ากลัวหรือว่าเป็นของน่ารังเกียจว่าถ้าใครต้องการนิพพานแล้วไม่พัฒนาอย่างนี้ เป็นการกล่าวร้ายพระนิพพานเหลือประมาณ ถ้าไปสนใจนิพพานแล้วจะไม่พัฒนา ตัวเองจะไม่พัฒนา ประเทศชาติจะไม่พัฒนา นี้ให้ร้ายแก่พระนิพพานอย่างหลับหูหลับตา ขอได้โปรดตั้งต้นกันใหม่ว่านิพพานเป็นจุดหมายปลายทางของชีวิต
อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้ก็มีจุดหมายปลายทางอยู่ที่พระนิพพาน แล้วก็มีการเดินที่กลมเกลียว กลมเกลียวกันไปเป็น ๘ องค์เหมือนยกตัวอย่างที่ว่ามาแล้วนั้นน่ะมันคือความสัมพันธ์แห่งองค์มรรค เมื่อทั้ง ๘ องค์สัมพันธ์กันแล้ว มันก็เป็นหนทางเส้นเดียว อย่าใช้คำว่ามรรค ๘ อย่าใช้คำว่ามรรค ๘ มันผิด ใช้คำว่ามรรคมีองค์ ๘ จึงจะถูก เพราะมรรคจะต้องมีหนึ่งเดียว แล้วก็สำหรับบุคคลเดียว เดินแทนกันไม่ได้ แล้วก็ไปเพียงจุดหมายแห่งเดียวเท่านั้น ไปที่อื่นไม่ได้ คือไปที่นิพพาน คำว่า มรรค ทางเส้นเดียวสำหรับ คนเดียว เดินไปสู่จุดหมายแห่งเดียว นั้นคือมรรค อริยมรรคมีองค์ ๘ ในที่อื่น ๆ
มีเวลาเหลืออีกนิดหนึ่ง พูดเล่าให้ฟังก็ได้ว่าเมื่อพระพุทธเจ้าจะเปรียบเทียบกับไอ้สิ่งต่าง ๆ ในโลก เช่นว่าอริยมรรคมีองค์ ๘ เนี่ยเหมือนยาถ่ายที่หมอใช้ รับประทานแล้วถ่ายก็หมดโรค มรรคมีองค์ ๘ เป็นยาถ่าย นี้ยาให้อาเจียน กินยาพิษเข้าไปต้องทำให้อาเจียน อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้จะทำให้อาเจียนของเลวร้ายออกมาจากร่างกายหมด แล้วก็ไม่ตาย แล้วก็พูดท้าทายไปถึงลัทธิข้างเคียงที่เขามีการรดน้ำให้ หมดบาปน่ะ ทำพิธีล้างบาปตามพิธีของฝ่ายโน้น พระเจ้าว่าไอ้มรรคมีองค์ ๘ เนี่ยเป็นน้ำล้างบาป อริยมรรคมี องค์ ๘ เป็นโภวนะ (01:22:25) คือน้ำล้างบาป อาบแล้วหมดบาป อย่างนี้เป็นต้น อาตมาจึงเห็นสมควร อย่างยิ่งที่จะเอามาเป็นหัวใจหรือแกนกลางของหลักสูตรจริยธรรม จะได้มีรากฐานที่มั่นคง จะได้อ้างอิงได้ว่าเอาหัวใจของพระพุทธศาสนามาเป็นแกนกลางของระบบจริยธรรม เนี่ยอริยมรรคมีองค์ ๘ มีอาการสัมพันธ์กันในตัวเองแล้วในกระทำที่ร่วมกัน สามัคคีกัน แล้วสำเร็จประโยชน์ได้อย่างนี้ การบรรยายสมควรแก่เวลา หมดเวลาแล้ว ขอยุติการบรรยาย