แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การบรรยายครั้งนี้ เพื่อให้เกิดโอกาสสำหรับทำความเข้าใจในข้อสงสัย ขัดข้อง บางอย่างบางประการที่อาจจะมี ดังนั้นขอได้โปรดฟังให้ละเอียดเพื่อพบสิ่งขัดข้องเหล่านั้น และขอได้โปรดดูแผ่นชาร์ต แผ่นที่ได้แจกไปแล้วนั้น เพื่อความสะดวกๆ และการบรรยายนี้เป็นการซักซ้อมความเข้าใจครั้งสุดท้ายที่จะต้องมีความเข้าใจ และหวังว่าเราจะทำงานนี้ในลักษณะที่เป็นงานกุศล ฟังดูแล้วจะแปลกว่าทำอย่างเป็นงานกุศล ที่ทำด้วยจิตใจทั้งหมด เพื่อเกิดผลดีที่สุดแก่ประเทศชาติจึงต้องพยายามสอดส่องละเอียดละออที่สุด เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปด้วยดี ขอโอกาสทบทวนเรื่องที่เคยพูดมาแล้วอีกครั้งหนึ่ง แต่คงไม่เป็นการทบทวนที่เสียเปล่า ก็เป็นการทบทวนที่มีอะไรเพิ่มเติมบ้าง ในข้อแรกที่เรียกว่า ปรารภเหตุ ที่เป็นการวางโครงของหลักสูตรนี้ เรามีการปรารภเหตุ คือความเสื่อมศีลธรรมของประชาชนส่วนใหญ่ๆ โดยทั่วไปซึ่งย่อมจะเป็นผลร้ายแก่ ประเทศชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เพื่อจะอบรมยุวชนให้เป็นผู้มีจริยธรรมหรือศีลธรรมไปตั้งแต่เล็ก เติบโตเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติ และประเทศชาติของเราก็ปราศจากความเลวร้ายทางศีลธรรม นี่เรียกว่าเป็นการกุศลได้เต็มที่ คือทำเพื่อความสุขของประชาชน ซึ่งก็ได้เคยพูดมาหลายครั้งแล้วว่า ตามหลักของพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าท่านประสงค์จะให้ทำเป็นประโยชน์แก่มหาชน ทั้งเทวดา และมนุษย์ นี้เป็นหลักทั่วไปในพระพุทธศาสนา โดยเรื่องนี้จะเป็นประโยชน์ทั้งแก่ผู้ที่ยังต้องเหนื่อยยากลำบาก ยังต้องรู้จักเหงื่อนี่เรียกว่า มนุษย์ นี่พูดยังไม่รู้จักเหงื่อเช่น คนร่ำรวย เป็นต้น นี่เรียกว่าเป็นเทวดา เมื่อสังเกตุดูให้ดีแล้วจะพบว่า ปัญหาเกิดจากพวกเทวดาได้มากกว่าเกิดจากมนุษย์ ที่เกิดจากคนมั่งมีได้มากกว่าการเกิดจากคนยากจน เรื่องของจริยธรรมจึงต้องสะสางปัญหาทั้งของเทวดาและมนุษย์ ถ้าทำตามนี้แล้วก็จะเข้ารูปเข้ารอยกันกับพระพุทธประสงค์ ที่ว่าพระพุทธองค์เกิดมาเพื่อประโยชน์แก่มหาชน ทั้งเทวดา และมนุษย์ และศาสนานี้จักมีอยู่ในโลกนี้ก็เพื่อประโยชน์แก่เทวดา และมนุษย์ และในที่สุดตรัสว่า พวกเธอจงช่วยกันรักษาระเบียบวินัยนี้ไว้ยังคงมีอยู่ในโลกทั้งประโยชน์แก่เทวดา และมนุษย์ ดังนี้เมื่อพูดถึงศีลธรรมและจริยธรรมแล้วมีสิทธิที่จะกล่าวว่าทำไปเพื่อประโยชน์แก่มหาชน ทั้งเทวดา และมนุษย์ ปรารภเหตุอันนี้จึงได้มีการพิจารณากันถึงหลักสูตรของจริยธรรมว่า ควรจะมีอย่างไรเพื่อจะได้แก้ปัญหาต่างๆในทางนี้ให้ดียิ่งๆขึ้นไปกว่าที่แล้วมา ทีนี้ก็มาถึงเหตุผลที่ว่าทำไมจึงใช้หลักของอริยมรรคมีองค์ ๘ แทนหลักมงคลสูตร ที่แล้วๆมามักจะสังเกตุเห็นว่า คณะนั้น คณะนี้ คณะโน้นมักจะใช้หลักมงคล ๓๘ เป็นหัวข้อธรรมสำหรับศึกษา สั่งสอนและอบรม ครั้นนี้ขอเสนอแนะหลักอริยมรรคมีองค์ ๘ แทน ด้วยเหตุผลหลายอย่างเช่น ได้ชื่อว่าใช้หัวใจของพระพุทธศาสนามาเป็นหลัก ขอได้ศึกษาจนทราบว่า อริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา และเป็นทั้งเนื้อทั้งตัวคือโครงร่างทั้งหมดด้วย มันก็แปลกประหลาดดีเป็นทั้งหัวใจ และเป็นทั้งเนื้อตัวทั้งหมดด้วย ก็คือว่าอริยมรรคมีองค์ ๘ ก็คือหลักประมวลธรรมทั้งหมดในพระพุทธศาสนา หรือทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ นั้นมันก็สรุปลงได้เป็นอริยมรรคมีองค์ ๘ นี่ก็เป็นหัวใจและอาจจะขยายให้เป็นการปฏิบัติข้อใดข้อหนึ่ง ข้อเล็กข้อน้อยก็ตามออกไปได้ตามความประสงค์จะกี่สิบข้อกี่ร้อยข้อก็ยังได้ถ้ามันสะดวก อริยมรรคมีองค์ ๘ มีความสำคัญถึงกับได้รับการยอมรับว่าเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาครบถ้วน ส่วนมงคลสูตรเป็นเพียงสูตรเล็กๆในคำภีร์ขุททกนิกาย ในนิกายส่วนน้อยนั้นแทบจะไม่รู้จักกันในโลก ชาวโลก ชาวต่างประเทศที่ศึกษาพระพุทธศาสนาได้รู้จักอริยมรรคมีองค์ ๘ ในฐานะเป็นหลักหัวใจของพระพุทธศาสนา แต่เขามักจะเรียกกันเสียว่า ทางสายกลาง การที่เรียกกันว่าทางสายกลางนั้นตรงเผงตามที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสเรียก เมื่อพระพุทธเจ้าได้ตรัสเรียกทรงแสดงธรรมครั้งแรกข้อแรกที่สุดแก่โลก หลังจากตรัสรู้แล้วท่านทรงแสดงเรื่องนี้คือ มัชฌิมาปฏิปทา หรือทางสายกลาง และจึงทรงแสดงอริยสัจ ๔ เราจึงถือว่าทางสายกลางมาก่อน ให้ฐานะเป็นหัวใของพระพุทธศาสนา และอริยสัจทั้ง ๔ก็รวมอยู่ในองค์หนึ่งแห่งมรรคทั้ง ๘ ดังนั้นเมื่อพูดถึงเรื่อง อริยมรรคมีองค์ ๘ แล้ว มันก็ครบบริบูรณ์ ทีนี้เราก็เอามาใช้เป็นหัวใจของเรื่องแทนที่เคยใช้มงคลสูตร แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้เว้นจากมงคลสูตรเพราะว่า หัวข้อของมงคลสูตรทั้ง ๓๘ ข้อนั้น จะรวมอยู่ในหัวข้อที่กระจายออกไปจากอริยมรรคมีองค์ ๘ เป็น๕๔ หัวข้อดังที่กล่าวแล้ว ก็เป็นอันว่าไม่ได้ละทิ้งความมุ่งหมายของหลักสูตรเดิมเพียงแต่ทำให้กว้างขวางออกไปตามที่ควรจะกระทำ นี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมครั้งนี้จึงใช้หลักอริยมรรคมีองค์ ๘ แทนหลักมงคลสูตร ทีนี้ก็ดูถึงความมุ่งหมายในการวางโครงของหลักสูตร ผลที่มุ่งหมายนี้ก็อย่าลืมว่ามันมีอยู่ในปรารภเหตุ ก็จะขจัดปัญหาความเลวร้ายทางศีลธรรมของประเทศชาติซึ่งตกต่ำลงไปทุกที ก็มองเห็นว่าเราควรจะมีหัวข้อที่เข้าใจกันได้ง่ายๆอย่างพอเพียงสำหรับปัญหาเหล่านั้นทั้งหมด ดังนั้นจึงได้วางหัวข้อออกมาในลักษณะที่ว่าจะสร้างบุคคล ๖ ชนิด หรือบุคคล ๖ ชนิดที่ซึ่งรู้กันอยู่ดีก็ได้ทำมาแล้ว ๑. บุตรที่ดีของบิดามารดา ให้มีความหมายว่า ผู้ที่สามารถทำให้บิดามารดาได้รับความสบายตลอดกาล เพื่อให้เป็นบทมนต์สำหรับในรูปเด็กๆ ที่มันจะท่องติดปากว่า บุตรคือผู้ที่ทำให้บิดามารดาสบายใจ ที่ใช้สอนได้ตั้งแต่ชั้นอนุบาล ถามเด็กอนุบาลว่า บุตรคืออะไร เป็นลูกคือเป็นอะไร เป็นไปทำไม เขาควรจะตอบได้ว่า บุตรคือ ผู้ที่เกิดมาสำหรับทำความสบายใจให้แก่บิดามารดา นี่เป็นข้อแรกคือบุตรที่ดี ๒. เป็นศิษย์ที่ดีของครูบาอาจารย์ มีความหมายว่า ผู้ที่ครูสามารถนำไปสู่จุดหมายปลายทางได้ ศิษย์ที่ดีคือ ศิษย์ที่ครูสามารถนำไปสู่จุดหมายปลายทางได้ จุดหมายปลายทางของการศึกษาก็ตาม จุดหมายปลายทางของส่วนบุคคลแต่ละคนที่ควรจะได้จะมีก็ตาม ถ้าเขาเป็นศิษย์ที่ดีคือ ผู้เชื่อฟังที่ดีมีองค์ประกอบของผู้เชื่อฟังแล้ว เขาก็เป็นผู้ที่รู้ สามารถนำไปสู่จุดหมายปลายทางได้ ในโลกนี้มีบุคคลประเภทที่ไม่สามารถจะนำไปได้อยู่เป็นอันมากเหมือนกัน ตามที่นิยมใช้พูดกันในทางศาสนาจึงเป็น ปทปรมะ คือจะทำอย่างไรเสียก็ไม่มีใครนำเขาไปได้ นี่ก็มีอยู่พวกหนึ่ง พวกที่ว่าค่อยยังชั่วคือ เมื่อได้รับคำอธิบายพอสมควรแล้วเขาก็ไปได้ อีกพวกหนึ่งก็คือ ผู้ที่นำไปได้ด้วยความพยายามตามปกติ อีกพวกหนึ่งก็เป็นชั้นดีเลิศคือ เพียงแต่ว่าพูดคำแรกเขาก็เข้าใจ นี่เราหวังเป็นศิษย์ที่ดีของครูบาอาจารย์ว่าเขาจะอยู่ในฐานะอะไร ดังที่กล่าวมาแล้วนั้นก็ตาม แต่เดี๋ยวนี้เขาเป็นผู้ที่พึงสามารถนำเขาไป นำจิตใจเขาไปสู่จุดหมายปลายทางได้ จะเป็นปลายทางของการศึกษา หรือปลายทางของการดำเนินชีวิต ปลายทางของความมุ่งหมายอะไรก็แล้วแต่ แล้วมุ่งหมายบุคคลพวกที่เรียกว่า ศิษย์ที่ดีของครูบาอาจารย์ ๓. เพื่อนที่ดีของเพื่อน มีความหมายว่า ผู้ที่สามารถอยู่ร่วมกันได้ด้วยความสุขสวัสดี คำว่าอยู่ร่วมกันได้นั้นย่อมมีความหมายมากขอให้เข้าใจเอาเองให้ครบถ้วน อยู่ร่วมกันได้นั้นมันต้องให้มีความประสงค์ หรือความต้องการที่มันร่วมกันได้ มีความพยายามกระทำการงานอาชีพที่มันร่วมกันได้ มีการเป็นอยู่ด้วยผลงาน หรือะไรก็ตามที่มันร่วมกันได้ด้วยดีคือ สงบ เรียบร้อย ราบรื่น อยู่กันด้วยความสุขสวัสดีมีเพื่อนที่ดี ในคำว่าเพื่อนนี้ นี่คือคำโบราณอินเดีย นิยมยกย่องมาก เน้นที่ความเป็นมิตรที่ดี เราอ่านหนังสือวรรณคดีเก่าแก่ของอินเดียก็พบว่า เขาเน้นที่ความเป็นมิตรนี้มาก เพราะความเป็นมิตรนั้น มันไม่มากไม่น้อย มันไม่ได้ใกล้ชิดเกินไป มันไม่ได้ไกลห่างกันเกินไป แต่ความเป็นมิตรนี้จะแก้ปัญหาในโลกทั้งโลกได้ ไปแสวงหาตัวอย่างอุทาหรณ์อ่านกันเอาเอง แล้วก็อบรมเด็กๆของเราให้เป็นเพื่อนที่ดีแก่กันและกัน ตามธรรมดาสามัญก็เป็นเพื่อนร่วมการร่วมงาน ที่สูงขึ้นไปกว่าก็เป็นเพื่อนผู้ชี้ ชักชวน สั่งสอน แม้แต่ครูนี่ก็เรียกว่า เพื่อนที่ดีของลูกศิษย์ พระพุทธเจ้าทรงประกาศด้วยพระองค์เองว่าเป็นกัลยาณมิตรของสัตว์ทั้งปวง พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระองค์เองว่าเป็นกัลยาณมิตรของสัตว์ทั้งปวงอยู่ในเรื่องราวนั้นๆ แล้วอ้างอานิสงส์มากมายว่า ถ้าได้พระองค์เป็นกัลยาณมิตรแล้ว สัตว์ทั้งหลายจะพ้นจากความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ดังนั้นเป็นต้น แต่ทีนี้ถ้าว่าจะพูดให้ไกลไปอีกทีเป็นตามนามธรรม ซึ่งมิใช่บุคคล มิตรที่ดีนี้คือ ธรรมะนั้นเองๆ ธรรมะนั้นแหละเป็นมิตรที่ดีของมนุษย์นั้น ถ้ามนุษย์มีมิตรที่ดีก็ขอให้มีธรรมะต่อกันและกัน ต่างฝ่ายต่างมีธรรมะต่อกันและกัน ในความเป็นมิตรที่ดีนั้นก็จะถึงที่สุด ๔. เป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติ ข้อนี้อาตมาไม่ต้องอธิบายอะไรมากก็เพราะว่าได้สั่งสอนกันอยู่เป็นประจำในโรงเรียน ในสถานศึกษาทุกหนทุกแห่ง พลเมืองที่ดีของประเทศชาติมีคววามหมายว่า ผู้ที่สามารถดำรงชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ไว้ได้ก็เป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติ ขอให้คำจำกัดความว่า สามารถดำรงชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ไว้ได้ องค์ประกอบขอประเทศชาติก็คือ ๓ องค์นี้อบรมลูกเด็กๆให้มีความเข้าใจในเรื่องนี้ เดี๋ยวนี้เขายังทำไม่ได้ ขอให้ดูดีๆเถอะว่าในบรรดา ๖ หัวข้อนี้เด็กๆยังจะทำได้เพียง ๓ หัวข้อตอนแรก หัวข้อตอนท้ายนั้นเป็นความรู้มุ่งหมายไว้ พยายามทำเท่าที่จะทำได้ แม้ยังเป็นเด็กๆก็ยังพยายามเป็นพลเมืองดีของประเทศชาติให้ได้ตามประสาเด็ก แต่หวังไว้ในอนาคตว่าจะทำเต็มเปี่ยม เต็มที่ เป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติได้ไว้แท้จริง ๕. เป็นสาวกที่ดีของพระศาสนา มีความหมายว่า สามารถเดินตามพระศาสดาไปได้ ทำไมถึงพูดไว้กว้างและกำกวมเช่นนี้ เพราะนี่มันเป็นหลักอุดมคติมันก็ต้องพูดไว้อย่างครบถ้วนอย่างสมบูรณ์ เด็กๆจะเดินตามพระศาสดาได้อย่างไร จะเดินไปถึงกับบรรลุมรรคผล นิพพานได้อย่างไร เป็นไปไม่ได้ มันยังเป็นไปไม่ได้ แต่เราก็มีหลักพื้นฐานอบรมให้เกิดความรู้สึกสำนึกว่า เราจะต้องเป็นสาวกที่ดีของพระศาสดา พระศาสดามุ่งหมายจะให้สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงไปถึงไหนแล้วก็จะไปถึงขีดนั้นให้จนได้ แต่ถ้าจะเอากันในปัจจุบันนี้ก็หมายความว่า เด็กทุกคนจะต้องประพฤติปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระศาสดาให้มากที่สุดเท่าที่เขาจะทำได้ นี่ก็เป็นความหมายที่เพียงพออยู่แล้ว โบราณเขาเปรียบด้วยคำอุปมาว่า เด็กปากเล็กๆ เขาก็รับประทานอาหารได้คำเล็กๆตามที่ปากของเขาจะอำนวย เดี๋ยวนี้ก็เหมือนกัน เด็กๆต้องมุ่งหมายเดินตามพระพระศาสดาให้ได้ตามที่จะทำได้สักเท่าไร หรือเพียงไรในขณะนี้ อย่ามองลวกๆ หรือเห็นว่าเป็นเรื่องสูงเกินไป แล้วก็ไม่ต้องพูดถึงสำหรับเด็ก ถ้าไม่มีแนวทางสำหรับเด็กๆ ไม่รู้ว่าจะถือศาสนาไปทำไม ให้เป็นที่แน่นอนว่า เราจะต้องถือศาสนากันทำไม แล้วไปถึงที่สุดที่พระพุทธศาสนาจะนำไปได้ จะเป็นสาวกที่ดีของพระศาสดา สรุปความให้สั้นที่สุดเพราะว่า เดี๋ยวนี้เด็กๆทุกคนจะพยายามประพฤติปฏิบัติตามคำสั่งสอนของศาสดาให้มากที่สุดๆเท่าที่จะทำได้ ถ้าได้แล้วก็ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นสาวกที่ดีของพระศาสดาแล้ว ๖. เป็นมนุษย์ที่เต็ม มีความหมายว่า เป็นมนุษย์ที่อยู่เหนือปัญหาทั้งปวงในคำนี้มันออกจะแปลกหรือใหม่สำหรับบางท่านก็ได้ นี่ก็ขออภัยไม่ใช่ว่าจะดูหมิ่นดูถูก คำว่าเต็มนี้ เป็นคนเต็มนี้ที่จริงก็เป็นคำพื้นบ้าน คำกลางบ้านที่ทุกคนไม่ยอมให้ใครมาดูหมิ่นดูถูกว่าเป็นคนที่ไม่เต็ม ที่ขยายออกไปว่าไม่เต็มบาท มันไม่เต็มบาท เป็นคนไม่ถึงสลึงไม่ถึงบาทเขาก็โกรธมาก ไม่รู้เป็นคนที่ไม่เต็ม เดี๋ยวนี้เขาใช้คำนี้แต่ในความหมายที่สูงไปกว่านั้นเป็นมนุษย์ที่เต็ม คำว่าเต็มนี้ก็เป็นคำที่ใช้อยู่ในประมวลจริยธรรมสากลของโลก ไปเปิดดูได้เช่นใน Adi Growth and Revita เรื่องศีลธรรม เรื่อง Reality นาทีที่ (21:45 - 21:50) จะมีพูดถึง Sumnum Bonum คือสิ่งที่ที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ ๔ อย่าง อย่างแรกเขาใช้ว่า Perfection ความเต็ม เต็มแห่งความเป็นมนุษย์ สองคือ Happiness สามคือ Duty for Duty’s sake สี่ universal up ๔อย่างนี้ยกขึ้นมาในฐานะเป็นคุณธรรมสูงสุดของมนุษย์ นี่เป็นภาษาสากล สากลอย่างละตินคือ สากลแก่ทุกภาษาอย่าง Sumnum Bonum อาตมาสังเกตุเห็นหลักธรรมนี้เข้าทีมาก คำว่าเต็มแห่งความเป็นมนุษย์นี้เข้าทีมาก มันมาเข้ากับภาษาพูดของปู่ย่าตายายของเรา นิยมความเต็ม ความไม่ขาด ไม่บกพร่องแห่งความเป็นมนุษย์ นี่ขอให้ถือเอาความหมายที่ว่าเต็มอยู่ในลักษณะอย่างนี้ แต่ถ้าเกินเต็ม เต็มเกินมันก็เป็นเรื่องบ้าๆบอๆเหมือนกัน หรือไม่ถึงบาทก็ใช้ได้ หรือเกินบาทก็ใช้ไม่ได้ เต็มในที่นี้ก็คือบาทพอดี จะต้องเป็นมนุษย์ที่เต็มตามความหมายแห่งความเป็นมนุษย์ ขยายความออกไปว่าเป็นผู้ที่เหนือปัญหาทั้งปวง ทว่าปัญหาคำนี้ก็เหมือนกันอีกแหละเป็นคำที่ตีความหมายต่างๆกัน บางคนจะตีแคบๆเพียงว่าเป็นปัญหายุ่งยากรบกวนอยู่ที่นี้ ทีจริงคำนี้มันใช้ได้หมด รวมทั้งเรื่องทางโลก ทางวัตถุ ทางธรรมะ หรือทางจิตใจ ถ้าอะไรเป็นอุปสรรคขัดขวางแก่การเป็นอยู่ หรือความก้าวหน้าก็เรียกว่า ปัญหาๆได้ทั้งนั้น ในทางโลก ปัญหาทางสุขภาพอนามัยสุขภาพทางกาย สุขภาพทางจิต ก็ไม่เป็นปัญหา เรื่องทางเศรษฐกิจ การเงินก็ไม่เป็นปัญหา เรื่องทางสังคมก็ไม่เป็นปัญหาทุกอย่างไม่เป็นปัญหา มนุษย์นี้อยู่เหนือปัญหาเพราะว่าเขาสามารถดำเนินชีวิตชนิดที่อยู่เหนือปัญหา ถ้าเป็นเรื่องทางธรรมทางพระศาสนาปัญหาก็คือ กิเลสและการละกิเลส เขาก็ละกิเลสได้เป็นอริยบุคคลตามลำดับๆ สูงสุดก็เป็นพระอรหันต์ นี่มันเลยเกิดเป็นสองชนิดขึ้นมาที่ว่า เต็มทางโลก ชาวโลกธรรมดาก็คือ เป็นมนุษย์ที่ดีอยู่ในโลก พูดอย่างธรรมะก็ว่าเป็นพระอรหันต์ไป หรือบางคนจะพูดว่ามันเกินไปสำหรับเด็ก เรื่องพระอรหันต์ มันก็ถูกแล้วมันเกินไปสำหรับเด็กในบัดนี้ แต่เด็กๆควรจะรู้ว่าจุดหมายปลายทางของมนุษย์มันอยู่นั้น อยู่ที่ความเป็นพระอรหันต์ อย่างที่เขาก็ยอมรับเป็นหลักกันทั่วๆไปแล้วว่า ถ้ามันไม่บรรลุชาตินี้ก็ขอให้บรรลุในชาติต่อไป ไปถึงความเต็มแห่งความเป็นมนุษย์ นี่แปลว่าโครงร่างจริยธรรมของเรานั้นเผื่อไว้หมดเลย เผื่อไว้หมดถึงที่สุดที่มนุษย์จะเป็นไปได้ ถ้ามองกันในแง่นี้ก็ไม่เกินไปสำหรับที่จะเอามาใช้ในหลักสูตรในถ้อยคำอย่างนี้ ในความหมายอย่างนี้ ใช้กับเด็กๆก็เต็มไว้ก่อน มันจะเต็มไปได้ขนาด ห้าขวบสิบขวบสิบห้าขวบให้มันเต็มที่ของเขาที่จะเป็นเด็กที่ดี ให้มีความเต็มๆๆๆออกไปในเรื่องของธรรมะที่ว่าเป็นพระอรหันต์ แล้วเขาก็ควรจะรู้จักโกรธรู้จักเสียใจที่ถูกด่าว่าเป็นคนไม่เต็ม ถึงเราจะแก้ปัญหาเหล่านี้ทั้งหมดโดยที่ว่าจะป็นมนุษย์ที่เต็ม นี่ผลมุ่งหมายที่จะสร้างบุคคล ๖ ชนิดโดยหวังว่า ถ้ามันมีบุคคล ๖ ชนิดนี้แล้วความเลวร้ายใดๆ จะไม่เกิดขึ้นในสังคมจะพูดให้มากกว่า ๖ ชนิดก็ได้ แต่อาตมาเห็นว่า ๖ ชนิดนี้พอแล้วเกินพอด้วยซ้ำไป ที่จะสร้างสันติภาพอันสมบูรณ์ขึ้นในสังคม นั้นเราจึงมุ่งหมายอบรมเด็กๆของเราให้เป็นบุตรที่ดี เป็นศิษย์ที่ดี เป็นเพื่อนที่ดี เป็นพลเมืองที่ดี เป็นสาวกที่ดีและเป็นมนุษย์ที่เต็ม ขอได้โปรดทำความเข้าใจของคำแต่ละคำให้กว้าง และถ้ายังสงสัยอะไรแง่ใหนก็วิจารณ์กันได้ถามกันได้ซักไซร้กันได้ในโอกาสต่อไป นี่ผลมุ่งหมายจะสร้างบุคคล ๖ ชนิดขึ้นมาสำหรับแก้ปัญหาในโลก หรือแม้แต่สังคมแคบๆ เพียงแต่ประเทศไทยของเราให้มีบุคคล ๖ ชนิดนี้แล้วปัญหาปัญหาของประเทศเราก็จะไม่เหลือ ไม่มีปัญหาเหลือ ทีนี้ก็มาถึงหัวข้อธรรมที่ใช้ประจำบุคคล ๖ จำพวกนั้น หัวข้อธรรมนี้ก็ได้กล่าวแล้วว่า แยกกระจายออกไปจากองค์ทั้ง ๘ แห่งอริยมรรค อริยมรรคมีเพียง ๘ องค์ หรือ ๘ หัวข้อ ทั้ง๘หัวข้อนั้นเราแยกออกไปตามที่เราประสงค์ กล้าท้าว่า คุณธรรมใดๆที่มนุษย์พึงประสงค์หรือมารวมอยู่ได้ในองค์ ๘ แห่งอริยมรรคนั้น อาตมากล้าท้าอย่างนี้ ลองเอ่ยชื่อหัวข้อธรรมหรือว่าหลักธรรมหรือความประสงค์ที่มนุษย์ควรจะรู้จะปฏิบัติออกมาเถอะ มันจะเข้าไปวิ่งอยู่ในมรรคองค์ใดองค์หนึ่งได้ ให้เราใช้อริยมรรคมีองค์ ๘ ๘ องค์นั้นแยกออกไปเป็นหัวข้อ ๕๔ หัวข้อ ที่อยู่ในหน้าถัดไป ๕๔ หัวข้อนี้จะลดมันบ้างก็ได้ จะเติมอีกก็ได้แล้วแต่ความเหมาะสม ถือว่าเป็นตัวอย่างก็ได้มี ๕๔ หัวข้อ เมื่อก่อนต้องการเพียง ๓๘ หัวข้อตามมงคลสูตร รู้สึกว่ายังมีอะไรขาดอยู่บ้างจึงแยกออกไปเต็มที่จากองค์ทั้ง ๘ กลายเป็น ๕๔ หัวข้อ ทีนี้บุตรที่ดีก็ใช้หัวข้อ ๑, ๗, ๑๔, ๒๐, ๒๑, ๒๒, ๒๘, ๓๒, ๓๕, ๓๙, ๔๐, ๔๒, ๔๓, ๔๕, ๔๙, ๕๔ นี่ดูมันมาก ถ้าว่าไม่คิด ไม่ทันจะคิดดูมันมากเดี๋ยวก็จะตกใจ เด็กๆจะประพฤติทั้งหมดนี้ได้อย่างไร แล้วนี่มุ่งหมายสำหรับเด็กชั้นป.๑ ด้วย ข้อนี้ขอโปรดได้เข้าใจว่า ถือเอาความหมายๆ ซึ่งเป็นความหมายหนึ่งๆ พอที่เด็กจะเข้าใจได้ พอที่จะทำให้เด็กเข้าใจได้ และพอที่จะใช้อบรมเด็กให้เกิดการประพฤติกระทำนั้นได้ นี้ไปพิจารณาดู แต่ก็มากนักจะลดลงมาบ้างก็ได้ แล้วแต่ที่ประชุมใหญ่เขาจะยุติกันอย่างไร กำหนดไว้ให้ทุกจำพวกบุคคล และศิษย์ที่ดีใช้หัวข้อธรรมที่ ๑, ๑๑, ๑๗, ๒๐, ๒๑, ๒๒ , ๒๘, ๒๙, ๓๗, ๓๘, ๔๑, ๔๒, ๔๓, ๔๕, ๔๗, ๔๙ นี่มุ่งหมายสำหรับนักเรียนชั้นป.๒ นี่เพื่อนที่ดีก็ใช้หัวข้อมากไปกว่านั้นอีก มุ่งหมายสำหรับชั้นป.๓ เป็นพลเมืองที่ดีก็มีตามหัวข้อที่มีอยู่ในชาร์ตนี้แล้วมุ่งหมายสำหรับชั้นป.๔ สาวกที่ดีใช้หัวข้อทั้งหมดนั้นมุ่งหมายสำหรับชั้นป.๕ มนุษย์ที่เต็มตามหัวข้อธรรมเหล่านั้นมุ่งหมายสำหรับชั้นป. ๖ ทีนี้จะต้องทำความใจว่าบุตรที่ดี ศิษย์ที่ดีกับเพื่อนที่ดี มันก็มีซ้ำกันเป็นธรรมดามีหัวข้อธรรมที่ซ้ำกันเป็นธรมดา ถ้าไม่ถึงกำหนดลงไปว่าป.๑ คือมุ่งหมายโดยส่วนใหญ่ๆ โดยหลักใหญ่นั้นมุ่งหมายสำหรับป.๑ มันจะประกอบอยู่ด้วยข้อธรรมอื่นที่เป็นของศิษย์ที่ดี ของเพื่อนที่ดีเข้ามาช่วยด้วยก็ได้ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ต้องระบุไว้ให้เป็นความรู้ความสามารถของครู ผู้ที่จะอบรมสั่งสอน ถ้าครูตั้งใจจริงก็ย่อมจะรู้เองว่าควรจะนำข้อใหนมาผนวกเอาไว้ด้วย เรื่องของป.๑ มันอาจมีเรื่องที่ระบุไว้ของป.๒ ป.๓รวมอยู่ด้วย หากเพราะว่าเด็กๆตัวเล็กๆนี้เขาจะต้องเป็นบุตรที่ดี เป็นศิษย์ที่ดี เป็นเพื่อนที่ดีไม่เฉพาะที่อยู่ป.๑ หรือป.๒ โดยเฉพาะป.ใหนก็ได้ การวางหลักอย่างนี้ก็เพื่อสะดวกในเบื้องต้น ทีนี้ก็มาถึงหัวข้อธรรม ถ้าว่ากระจายไปจากอริยมรรคมีองค์ ๘ องค์ ๘ ของอริยมรรคกระจายออกเป็น ๕๔ หัวข้อซึ่งทุกท่านถืออยู่แล้วไม่ต้องอ่าน อยู่หน้ากลางมีรายชื่อหัวข้อธรรม ๕๔ หัวข้ออยู่ชัดแล้ว และยังทำเครื่องหมายให้เห็นได้ง่ายๆอีกว่าข้อใหนมาจากองค์มรรคใหน หรือว่าองค์มรรคใหนขยายออกๆไปเป็นหัวข้อได้เท่าไรเช่น สัมมาทิฐิ องค์แรกขยายได้เป็น ๑๓ หัวข้อ ๑ถึง๑๓ สัมมาสังกัปปะ ขยายออกไปได้ ๗ หัวข้อ ๑๔ถึง๒๐ สัมมาวาจาได้ ๒ หัวข้อ ๒๑ถึง๒๒ สัมมากัมมันตะได้ ๑๒ หัวข้อ ๒๓ถึง๓๔ สัมมาอาชีวะได้ ๕ หัวข้อคือ ๓๕ถึง๓๙ สัมมาวายามะได้ ๓ หัวข้อคือ ๔๐ถึง๔๒ สัมมาสติได้ ๔ หัวข้อ ๔๓ถึง๔๖ สัมมาสมาธิได้ ๘ หัวข้อคือ ๔๗ถึง๕๔ นี่ลองทบทวนดู ยืดหยุ่นได้ถ้าต้องการให้มากหรือพบอะไรที่จำเป็น หรือว่าจะควรนำมาสอน พยายามลองพยายามสังเกตุดู มันควรจะเข้ากันกับข้อใหนที่จะบรรจุลงไปหัวข้อใหน หรือขยายหัวข้อใหนออกไปเพื่อความหมายอย่างนั้น นี่เป็นสิ่งที่ทำได้โดยครูบาอาจารย์ทั่วไป ขอให้ดูรูปโครงของอริยมรรคมีองค์ ๘ ทั้ง ๘ องค์ ขยายออกเป็น ๕๔ หัวข้อเป็นข้อไป ๕๔ หัวข้อนี้ครบทั้ง ๘ องค์ หาก ๘ องค์นั้นก็คือ หัวใจของพระพุทธศาสนาด้วย ถือเป็นตัวเนื้อทั้งหมด ทั้งเนื้อทั้งตัวของพระพุทธศาสนาด้วย หรือจะเป็นประมวลแห่งศีลธรรมได้อย่างไรก็พิจารณาดูเองที่ประมวลแห่งศีลธรรม มี ๕๔ หัวข้อจะไปใช้แก่บุตรที่ดีกี่ข้อ จะไปใช้แก่ศิษย์ที่ดีกี่ข้อ เพื่อนที่ดีกี่ข้อ สาวกที่ดีกี่ข้อ พลเมืองที่ดีกี่ข้อตามที่มีอยู่ในหน้าที่ ๑ เรื่องเหล่านี้ควรจะเป็นเรื่องที่คล่อง คล่องใจคือเข้าใจดี คล่องปากคือพูดได้ดี คล่องกายคือประพฤติปฏิบัติอยู่อย่างคล่องเสมอ เรียกว่า คล่องกาย คล่องปาก คล่องใจ เพราะเข้าใจความหมายของแต่ละหัวข้อเป็นอย่างยิ่ง ทีนี้หัวข้อแต่ละข้อจะต้องสั่งสอน และอบรมให้มีความหมายครบทั้ง ๘ ประการ อันนี้เป็นเคล็ดที่ซ่อนอยู่ที่ไม่ต้องเขียนไว้ชัด แต่ว่ามันมีอยู่แล้วมันก็ซ่อนอยู่ เพราะว่าเราใช้หลัก ๘ ประการนี้ตั้งแต่สองครั้งสองหนเป็นอย่างน้อย คือเอามาเป็นหัวข้อใหญ่ ที่๑และหัวข้อแต่ละหัวข้อเอามาประพฤติปฏิบัติให้ครบ ๘ ความหมายตามจำนวน ๘ นั้นอีกทีหนึ่งเช่น ในที่นี้เรายกตัวอย่างด้วยหัวข้อธรรมที่๑ ว่ามีการศึกษามากพอแก่สถานะแห่งตน นี่ก็พูดไว้เป็นกว้างๆ กลางๆเหมือนภาษากฏหมาย ซึ่งมันจะต้องพูดไว้กว้างอย่างนั้นเป็นธรรมดามันถึงจะครอบงำทั้งหมด สถานะแห่งตนมันก็แล้วแต่ว่าตนขณะนั้นกำลังเป็นอะไร จะเป็นเด็กหรือเป็นผู้ใหญ่ หรือชาวนา หรือพ่อค้า หรือจะเป็นข้าราชการ หรือจะเป็นฆารวาส บรรพชิต เป็นอะไรก็ได้แล้วแต่มันเป็นชั้นๆมากมายนัก มีการศึกษามากพอแก่สถานะแห่งตนหรือถ้าเป็นเด็กมันก็มีทางกำหนดได้ว่า เด็กมีสถานะอย่างนี้ ควรจะรู้อะไรบ้าง ก็เลือกเอามากำหนดไว้ว่าจะทำให้เขามีความรู้พอแก่เขา จะต้องศึกษาเล่าเรียนอะไรบ้าง หรือจะให้ศึกษาเล่าเรียนอะไร ต้องทำให้เขาเข้าใจสิ่งนั้นๆโดยหลักแห่งอริยสัจ ๔ ตามหลักแห่งอริยสัจ ๔ ข้อนี้ได้โปรดทราบว่าในพระพุทธศาสนานี้มีหลักเกณฑ์เต็มไปหมด ในพระไตรปิฎกว่า ถ้าจะรู้อะไร รู้จักสิ่งใดให้ถึงที่สุดที่จะรู้ได้ แล้วก็ให้รู้โดยหลักอริยสัจ ๔เช่น จะรู้เรื่องคน โดยหลักอริยสัจ ๔ คนคืออะไร คนมาจากอะไร คนมาเพื่อประโยชน์อะไร และทำอย่างไรจึงจะได้ประโยชน์นั้นๆกล่าวได้ว่า เป็นในหลักตรรกะในพระพุทธศาสนาเอาเอง มีคำสั้นๆเพียง ๔ คำคือ อะไร จากอะไร เพื่ออะไร โดยวิธีใด เขาจะต้องรู้จักสิ่งนั้นโดยอริยสัจ ๔ หัวข้อธรรมที่จำเป็นแก่สถานะแห่งตนนั้นคืออะไร ต้องบอกไว้หมดว่าเกิดจากอะไร เกิดจากเหตุร้ายที่ว่า ถ้าไม่มีแล้วมันวินาศ ถ้ามีแล้วนั้นคือเหตุ เกิดจากเหตุอันนั้นจึงต้องมี ความรู้ชนิดนี้ๆขึ้นมาก็เพื่อเหตุที่จะป้องกันสิ่งเหล่านั้น เกิดจากเหตุอะไรนี้ ความหมายก็กว้างอยู่เหมืนกัน แต่รวมแล้วก็คือว่า มันไม่มีสิ่งนั้น แล้วผลร้ายอะไรจะเกิดขึ้น ก็ผลร้ายอันนั้นแหละน่ากลัว คนก็ป้องกัน นี่ก็เป็นเหตุ ความรู้จะทำอะไร ในความรู้ที่ควรแก่สถานะนั้น เพื่อประโยชน์อะไรก็เพื่อดับทุกข์ทั้งปวง และทำได้โดยวิธีใดก็คือต้องประพฤติปฏิบัติให้ครบถ้วนทั้ง ๕๔ หัวข้อต้องประพฤติให้ครบโดยความหมายทั้ง ๘ นี้ หนึ่งคือ รู้ความหมายแห่งหัวข้อนั้นๆ หลักอริยสัจ ๔ นี่ก็เรียกว่า รู้ตามความหมายของอริยมรรคองค์ที่ ๑ หรือหลักสิ่งนั้นโดยอริยสัจ ๔ ที่สอง ครั้นรู้เรื่องนั้นๆรู้ค่า รู้ความหมายรู้อะไรของเรื่องนั้นๆเสร็จแล้ว มันก็เกิดความต้องการที่จะได้ประโยชน์ อันนั้นก็เป็นหน้าที่ของครูบาอาจารย์ที่จะต้องรู้จักสอนเด็ก จนเด็กรู้จักสิ่งนั้น และต้องการจะได้รับประโยชน์จากสิ่งนั้น เขาก็เกิดอยากที่จะปฏิบัติในสิ่งนั้นขึ้นมา นี่คือความหมายสัมมาสังกัปปะ ซึ่งเป็นองค์มรรคที่ ๒ ครั้นเขาแน่ใจหรือต้องการปฏิบัติและเขาก็ปฏิบัติๆ โดยวาจาเรียกได้ว่าพูดจามีการพูดจามีถ้อยคำที่ใช้พูดจาชนิดที่เป็นไปได้มาซึ่งประโยชน์นั้นๆ นี่เป็นสัมมาวาจา เป็นความหมายของสัมมาวาจา เมื่อมีการกระทำทางกายๆเพื่อได้ประโยชน์อันนั้นอยู่เรียกว่า เป็นสัมมากัมมันตะเป็นองค์ที่ ๔ ทีนี้ก็ดำรงชีวิตอยู่ในทุกแง่ทุกมุมให้มันตรงความหมายของหัวข้อธรรมนั้นๆ เรียกว่ามีการดำรงชีวิตอยู่เพื่อประโยชน์การได้ซึ่งธรรมะนั้นๆ นี่ก็เป็นสัมมาอาชีโว อาชีวะ สัมมาอาชีวะ นี่ก็หมดพวกทางกาย ก็มาถึงพวกทางจิต เมื่อปฏิบัติอย่างนั้นอยู่ก็พยายามใช้ความพากเพียรสุดยอด ฝึกชีวิตจิตใจอย่างเนื่องต่อเนื่องไม่ขาดตอน ไม่ขาดสายในทุกแง่มุมให้สำเร็จประโยชน์ตามนั้นให้ได้ นี่ก็ควาหมายของสัมมาวายามะ ขององค์ที่ ๖ ซึ่งเป็นองค์ที่ ๖ และเมื่อปฏิบัติข้อธรรมนั้นๆอยู่ก็มีสติสัมปชัญญะรู้สึกตัวควบคุมอยู่ตลอดเวลา ให้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามนั้นและอย่างสม่ำเสมอไม่เผลอจิต หรือไม่ละทิ้งออกนอกลู่นอกทาง อาศัยสตินั้นเป็นเครื่องบังคับให้ก้าวหน้า นำไปสู่จุดหมายปลายทางความหมายนี้ก็ความหมายของสัมมาสติขึ้นเป็นองค์ที่ ๗ ในเมื่อประกอบการปฏิบัตินั้นอยู่มีจิตเป็นสมาธิในเรื่องนั้นเอง ถ้าจิตบริสุทธิสะอาดก็ว่องไวและแน่วแน่อยู่ในการกระทำนั้นสามคำนี้โปรดสังเกตุดูให้ดีว่า จิตบริสุทธิสะอาดแคล่วคล่องว่องไว และแน่วแน่อยู่ในการกระทำนั้นเป็นสามคำ ขอให้จำเป็นหลักว่านี่คือ สมาธิในพระพุทธศาสนา สมาธิที่ไม่ครบถ้าตามองค์สามนี้ยังไม่ใช่ อาจจะเป็นสมาธิเล่นๆของใครก็ได้ ถ้าเป็นสมาธิจริงตามหลักของพระพุทธศาสนาแล้ว ความเป็นสมาธินั้นคือมีจิตบริสุทธิสะอาดเพราะว่า กำลังไม่เกิดกิเลสรบกวนให้จิตชนิดนั้นแคล่วคล่องว่องไวในหน้าที่การงานของจิตนั้นเอง คำนี้เป็นบาลีเรียกว่า กัมมันนียะ กัมมันนียะ สมควรแก่การงาน หรือความหมายเท่ากับคำว่า (ภาษาอังกฤษ) สมาธินั้นมี (ภาษาอังกฤษ) (นาทีที่ 44:32 - 44:35) มากเป็นตอไม้นอนกลิ้งเป็นไม้ขอน มันมีความแคล่วคล่องว่องไวในหน้าที่การงาน ซึ่งจะต้องทำนั้นแล้วก็แน่วแน่ ตั้งมั่น มั่นคงที่สุดอย่างยิ่งอยู่ในภาวะอย่างนั้น สามคำนี้รวมกันแล้วเป็นองค์ประกอบของสิ่งที่เรียกว่า สมาธิในพระพุทธศาสนา มั่นคงอย่างนี้อยู่เรื่อยไปตลอดเวลาจนประสบความสำเร็จในที่สุด นี่คือความหมายของคำว่า สัมมาสมาธิมันเป็นองค์ที่ ๘ แห่งอริยมรรคทั้ง ๕๔ หัวข้อ แต่ละข้อๆจะต้องประพฤติกระทำให้มีความหมายครบทั้ง ๘ อย่างนี้ไม่ว่าข้อใหน ดังนั้นมันจึงเท่ากับว่า ๕๔คูณ๘ เอาแต่ความหมาย ซึ่งไม่ได้มีเนื้อมีตัวเป็นความเห็นนัก แต่ความหมายซึ่งเป็นนามธรรมต้องมีอยู่ ๕๔ หัวข้อคูณด้วย ๘ ถ้าจะย้อนระลึกไปตั้งต้น ๘ องค์ ๘ คูณด้วย ๘๔อีกที่หนึ่งเอา ๘ คูณ ๘ ก็ได้จำนวนตั้งแต่ ๖๔ แล้ว อริยมรรคแต่ละองค์ประพฤติให้ครบทั้ง ๘ ความหมาย ๘ คูณ ๘ ทีนี้แตกออกเป็น ๕๔ หัวข้อ แต่ละข้อมีความหมายครบทั้ง ๘ ความหมาย มันก็คือ ๘ คูณ ๕๔ อีกทีหนึ่ง นี่มันก็ล้นเหลือ มันไม่ขาดตกบกพร่องแล้ว มันเต็มปรี่ เต็มเปียมแล้ว กรุณาสังเกตุให้เข้าใจคำว่าความหมาย ๘ ความหมายไม่ใช่ตัวมรรคชื่อนั้น แต่เป็นความหมายของมรรค ชื่อนั้นมีอยู่ ๘ ความหมายคือ รู้ความหมายแห่งสิ่งนั้นนี่องค์แรก แล้วก็ต้องประพฤติประฏิบัติสิ่งนี้นี่ข้อสอง แล้วก็ปฏิบัติด้วยวาจาข้อสาม ปฏิบัติด้วยร่างกายสี่ ปฏิบัติอยู่ด้วยการดำรงชีวิตห้า มีความพากเพียรเต็มเปี่ยมอยู่ในเรื่องนั้นหก มีสติเต็มเปี่ยมอยู่ในเรื่องนั้นเจ็ด สมาธิเต็มเปี่ยมในเรื่องนั้นแปด รวมเป็น๘ ๘ ความหมายนี้ที่จะไปคูณใน ๕๔ ความสำเร็จมันก็พึงจะมี นี่ช่วยจำไว้ใช้สำหรับเป็นหลักทั่วไปไม่เฉพาะสอนนักเรียน ไม่เฉพาะสอนเรื่องจริยธรรมในโรงเรียน แม้แต่ที่เราที่จะประกอบการงานทั่วไปในโลกนี้ก็ควรจะประกอบไปด้วย ๘ ความหมาย ในทุกๆการงานที่หน้าที่จะต้องประพฤติปฏิบัติธรรม แม้ที่สุดแต่ว่าเขาจะเป็นบิดามารดาที่ดี เป็นครูบาอาจารย์ที่ดี เป็นเจ้าเป็นนายเป็นผู้บังคับบัญชาที่ดี เป็นลูกน้องที่ดี แม้แต่จะเป็นขอทานที่ดีต้องประกอบด้วย ๘ ความหมายก็จะพ้นจากปัญหานั้นๆ กระทั้งว่าคนขอทานจะพ้นจากเป็นขอทาน นี่เรียกว่าโครงทั้งหมดของอริยมรรคมีองค์ ๘ ทางนี้ทางเดียวเท่านั้น แตกออกเป็น ๘ ๘องค์ขอครูบาอาจารย์ทั้งหลายอย่าได้พูดผิดๆเหมือนคนบางคนที่พูดอยู่ผิดๆว่า มรรค๘ๆ พูดว่ามรรค๘นั้นมันผิด กลายเป็นมรรค ๘ทาง มันก็ผิด มรรคมันไม่ใช่ ๘ทาง จะเดินได้อย่างไร แนวทางเดียวเท่านั้นที่ประกอบไปด้วยองค์ ๘ และก็อย่าพูดว่ามรรค ๘ ขั้นตอนๆ อย่าพูดมันผิดเพราะมันไม่ได้เป็นขั้นตอน แต่เหมือนเชือก๘เกลียว ไปพร้อมกันทั้ง ๘ เกลียว ไม่ใช่ขั้นตอน นี่ขออย่าได้ใช้คำอื่นนอกไปจากคำที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ แล้วว่ามรรคมีองค์ ๘ ที่มีองค์ ๘ นี้คูณด้วย ๘ ถ้าองค์๘ ขยายออกไปเป็น๕๔ ก็ ๕๔ คูณด้วย ๘ หลับตาเห็นโครงร่าง หรือโครงเรื่องก็มันเป็นแบบนี้ ส่วนคำแต่ละคำนั้นโปรดระมัดระวังให้ดีอย่าพรวดพราดถือเอาความหมายที่ใช้กันอยู่ในตลาด หรือตามภาษาชาวบ้าน คำแต่ละคำเมื่อเป็นภาษาชาวบ้านมันก็มีความหมายอย่างหนึ่ง แต่พอคำนั้นแหละเป็นภาษาพระธรรม พระพุทธศาสนาความหมายมันกว้างไกลกว่าอันนั้น มันลึกลับมากไปกว่านั้น เพราะฉนั้นจะต้องระวังให้ดี ในการพูดจาถึงหลักธรรมะในพระพุทธศาสนาด้วย คำที่เผอิญเป็นคำที่ตรงกับชาวบ้านอย่างนี้มีมากอธิบายไม่หวาดไหว นี่เรียกว่าเค้าโครงที่แถมพกด้วยเรื่องพิธีกรรม แง่ของจริยธรรมสามหัวข้อไม่ต้องมานึกเอา แต่หัวข้อใหญ่ๆได้เป็นสามหัวข้อ ซึ่งเรียกว่าเป็นพิธีกรรม คำว่าพิธีนี้เป็นสิ่งที่มีความหมายใช้ได้อยู่ แต่รีตองนั้นใช้ไม่ได้ แต่ก็พิธีถูกพ่วงท้ายด้วยรีตองนั้น ใช้ไม่ได้ จะกลายเป็นเรื่องนอกลู่นองทาง เป็นไสยศาสตร์เป็นอะไรไป ใช้กันแต่คำว่าพิธี ถูกต้องตามพิธี พิธีกรรมยังพอใช้ได้อยู่ แต่ถ้าจะเอาคำเดิมแท้ๆแล้วละก็ ใช้คำว่าวิธีๆ ภาษาบาลีไม่มีพิธี มีแต่คำว่าวิธี วิธีมันเป็นเทคนิคของการปฏิบัติ มันจำเป็นทุกเรื่องไม่ว่าอะไรจะต้องมีวิธีการปฏิบัติ แต่เดี๋ยวนี้ภาษาไทยเราใช้แต่คำว่าพิธีๆเสียจนเป็นคำธรรมดาแล้วแทนคำว่า วิธี ไม่มีใครพูดว่าวิธีกรรม วิธีกรรมในพระพุทธศาสนาพูดแต่ว่าพิธีกรรม ที่จริงมันเป็นคำเดียวกัน พิธีก็คือหลักการที่เป็นเคล็ดลับเป็นความลับของการปฏิบัติที่ดีต้องปฏิบัติ เขาเรียกว่าเป็นเทคนิคก็ได้ในแง่ของจริยธรรม ของลูกเด็กๆที่กำลังเป็นปัญหาเฉพาะหน้าของเรานี้อยากจะให้มีขึ้นมาอย่างน้อย ๓พิธี อาตมาใช้คำว่าอย่างน้อยหรือครูบาอาจารย์จะขยายออกไปอีกอะไรก็ได้ หรือว่าในอย่างหนึ่งๆ ขยายเป็นความหมายย่อย ปลีกย่อยไปเท่าไรก็ได้ แต่ความมุ่งหมายใหญ่ก็คือ อบรมให้นักเรียนเขาเข้าใจหัวข้อธรรมนั้นๆ โดยหลักอริยสัจ ๔ คืออะไร จากอะไร เพื่ออะไร โดยวิธีใดแล้ว แม้เด็กเล็กๆมันก็รู้จักปรารถนาก็อยากจะได้ความดีนั้นๆ ก็คือโอกาสให้เข้าสมาทานว่าจะปฏิบัติหลักธรรมนั้นๆ อย่างนี้ถูกต้องและไม่งมงายและจับมาทำพิธีเลย มันก็เป็นเรื่องงมงาย มันจะเป็นเรื่องเหมือนหุ่นยนต์เดินได้ โดยไม่มีความหมายอะไร เดี๋ยวนี้มันเป็นอย่างนี้ มันเป็นเรื่องอย่างนี้เสียโดยมาก ประชาชนในบ้านในเมืองเราเขามาสมาทานศีลโดยไม่รู้ว่าอะไร การสมาทานนั้นก็เป็นพิธีรีตรอง แล้วก็ไม่รู้ความหมาย ไม่ได้รักษา การสมาทานศีลชนิดนั้นไม่ค่อยจะได้รักษา ทำพอเป็นพิธีเสร็จพิธีแล้วก็ได้บุญแล้วๆ อย่างนี้ใช้ไม่ได้จะต้องให้นักเรียน หรือผู้ป็นเจ้าทุกข์ รู้ความหมายของเรื่องนี้ดีจนอยากจะปฏิบัติแล้ว ออกปากปฏิญญารับสมาทาน แล้วก็ให้เด็กสมาทานการปฏบัติหัวข้อธรรมนั้นๆ ที่มีคำว่าสมาทาน คำว่าสมาทานนี้สำคัญมาก ชาวบ้านเขาสมาทานศีลเล่นๆเป็นเรื่องตลก เรียกว่าโกหกก็ได้ ไม่เป็นการสมาทานที่ว่ารับถือศีลสมาทานศีล ถ้าเป็นการสมาทานศีลตามตัวพยัญชนะ คำนี้ก็ถือเอาไว้เป็นอย่างดี สัง นี้แปลว่าดี อานะ แปลว่าถือเอา ถือเอาไว้เป็นอย่างดี ถือประพฤติปฏิบัติไม่ใช่ว่าสมาทานศีลแล้วลุกขึ้นสะบัดก้นกลับไปบ้านทิ้งศีลไว้ที่วัด อย่างนี้ไม่ใช่สมาทาน ทีนี้มันก็มีคำอีกคำหนึ่งซึ่งตรงกันข้ามและอันตรายคือคำว่า อุปาทาน นี่ถือว่ายึดมั่นถือมั่นด้วยความโง่ ถือศีลด้วยความโง่ก็ถือได้เพราะ ไม่รู้อะไรแล้วเผอิญได้รับคำบอกเล่า ถือศีลมีบุญมีปาฏิหาริย์อะไรต่างๆถ้าอย่างนี้ก็ถือด้วยอุปาทาน อันนี้ยึดหลักพระพุทธศาสนาอย่าถืออะไรไว้ด้วยอุปาทาน แต่ถืออะไรไว้ด้วยสมาทาน ถือเอาไว้อย่างดีๆ จะเป็นเรื่องศีลก็ได้ เป็นเรื่องธรรมะก็ได้ เป็นเรื่องวัตรปฏิบัติใดๆก็ได้ แม้ที่สุดจะถือระเบียบวินัยๆในบ้านในเรือน ในโรงเรียนถือระเบียบอย่างสมาทาน ถ้าถืออย่างอุปาทานนั้นเละเทะหมด ให้เด็กได้มีโอกาสสมาทาน จัดให้มีการสมาทาน สมาทานเฉพาะตัวหรือสมาทานกันเป็นหมู่ ตามแบบที่ประชาชนเขาสมาทานศีล ทำความเข้าใจกันให้ดีว่า คราวนี้เราจะสมาทานหัวข้อสักกี่หัวข้อ ใน ๕๔ หัวข้อนั้น คราวนี้สมาทานกันกี่หัวข้อ เมื่อทำความเข้าใจกันดีถึงเรื่องเนื้อความของหัวข้อ ก็ตั้งใจจะปฏิบัติ แล้วออกปากมาทางวาจาทั้งนี้เพื่อว่ามันจะได้มีความแน่นแฟ้นมั่นคงครบ ก็เรียกว่าครบทั้ง ๓ ทวาร คือทางใจ ใจของเราเข้าใจและก็อยากจะทำอย่างนี้มันก็การปฏิบัติทางใจ และปากของเขาก็สัญญาออกไปว่าจะทำเรื่องตามคำพูด และเขาก็กระทำอยู่ในร่างกายร่างกายเขาก็กระทำ เขาก็มีโอกาสจะทั้งกาย วาจา ทางใจครบถ้วน มันก็เต็มที่มันก็มีหวังที่จะได้ผล การสมาทานนี้ดูจะเป็นเรื่องเก่าแก่ก่อนพุทธกาล ก่อนเรื่องในประวัติศาสตร์ รู้จักสัญญารู้จักสมาทาน เท่าพวกที่เขาถือพระเจ้า ถืออะไรบนสวรรค์เขาก็ต้องออกปากสมาทานตามแบบพระเจ้าบนสวรรค์ เดี๋ยวนี้เรามีความจริง มีหลักธรรมปรากฏอยู่ข้างหน้าต่อหน้าเพราะสมาทาน ครูจัดให้มีสมาทานตามความเหมาะสมตามโอกาสที่ควร ซึ่งจะเขียนไว้เป็นตัวหนังสือชัดๆไม่ได้ แต่เขียนไว้โดยหัวข้อว่าให้มีการสมาทานข้อธรรมนั้น ตามความเหมาะสมโอกาสที่ควรจะเป็น วันไหนจะว่าอย่างไร จะทำพิธอย่างไรให้มันขลัง จะให้มันศักสิทธิ์ขึ้นมาอย่างไร จะต้องมีพระพุทธรูปอะไรอย่างไรก็แล้วแต่ นี่เรียกว่ากิจกรรมที่จะประกอบการส่งเสริมจริยธรรมในโรงเรียน ข้อแรกก็มีการสมาทาน ข้อสองมีการปฏิญญาความผิดสารภาพ ปฏิญญาว่าจะไม่ทำต่อไป สารภาพๆ สารภาพความผิดที่ได้ทำผิดไป แล้วก็ปฏิญญาซ้ำไปอีกว่าเหมือนกับสมาทานซ้ำว่าจะไม่ทำ นี่แบบนี้แสดงอาบัติของพระภิกษุสงฆ์ก็คืออย่างนี้ ต้องเปิดเผยความผิดที่ทำไป แล้วก็สัญญาว่าจะไม่ทำอีกต่อไป ถ้าเป็นเรื่องเล็กๆก็เปิดเผยต่อเพื่อนกันสักคนหนึ่งก็ได้ ถ้าเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นไปไปเปิดเผยกับครูก็ได้ ถ้าเป็นเรื่องใหญ่มากก็เปิดเผยในที่ประชุมทั้งหมดก็ได้ เด็กคนนี้ต้องไม่ละอายในการทำอย่างนนี้ เพราะว่ามันเป็นการเสมือนหนึ่งล้างบาปล้างความผิดที่ทำไป แล้วให้มันหมดไปด้วยการเปิดเผย นี่ก็เป็นระเบียบเขียนไปตายตัวไม่ได้ ครูก็จัดเอาตามโอกาสตามความเหมาะสม ก็ให้เด็กรู้ว่า ถ้าเรื่องเล็กๆน้อยๆบอกเพื่อนฝูงสักคำหนึ่งก็พอจะได้ แต่ถ้าเรื่องมันใหญ่ก็บอกครู ถ้าเรื่องมันใหญ่มากก็บอกที่ประชุม เราต้องจัดให้มีการประชุมหรือให้มีโอกาสที่เด็กๆจะทำอย่างนั้นได้ หรือให้กระทำกันตามลำพังอย่างเช่นว่า วันนี้ที่ประชุมสารภาพบาปใครมีบาปเล็กน้อยจะบอกกับเพื่อนคนหนึ่งก็ได้ ใครมีมากกว่านั้นมาบอกครู ใครมีมากกว่านั้นประกาศท่ามกลางที่ประชุมให้มีนิสัยเกิดขึ้นว่าจะป็นผู้ไม่ปกปิดความชั่ว ไม่ปกปิดความลับ เป็นผู้เปิดเผย เป็นมนุษย์ที่เปิดเผยไม่ลึกลับ นี่ก็จัดได้ตามโอกาสที่ควร รูปแบบที่ควรนี่ข้อที่สาม เรียกว่าปวารณา ปวารณาคำนี้ห้ามตัวเอง ห้ามบาปตัวเองไม่เถียงเมื่อผู้มาตักเตือนด้วยเหตุผลที่สมควรๆ และก็อาศัยความเมตตาด้วย คนที่จะไปตักเตือนต้องมีเหตุผลประจักษ์หลักฐานพยานมีเหตุผล และก็มีความเมตตากรุณาด้วยจึงไปตักเตือน นี่เป็นระเบียบวิธีของพระสงฆ์ที่จะทำปวารณาปีหนึ่งครั้งหนึ่ง ได้สังเกตุได้เห็นเอาก็ดี ได้ฟังเขาบอกเล่าก็ดี ได้สังเกตุว่ามันคงจะทำได้ผิดแน่ก็ดี นี่ตั้งข้อสังเกตุแล้วก็ว่ากล่าวตักเตือนว่า คุณอย่าทำอย่างนั้นๆ ที่ทำไปแล้วให้ได้ไปทำคืนเสีย ผู้ที่ถูดตักเตือนนั้นก็ไม่เถียง ไม่ปริปากคำนี้อย่างนี้เรียกว่า ปวารณา แปลว่าห้ามปาก หรือปิดปากของตัวเองในเมื่อมีผู้อื่นมาว่ากล่าวตักเตือนด้วยคำหวังดี ถ้าเด็กๆของเรามีลักษณะอย่างนี้ละก็ โอกาสที่จะเลวจะชั่วนั้นมีได้น้อยมาก และที่สำคัญที่สุดก็คือว่า ระเบียบนี้ระเบียบที่เปิดให้ตักเตือนกันได้นี้ เป็นระเบียบที่ทำให้พระพุทธศาสนายั่งยืนมาได้จน ๒,๕๐๐ กว่าปี จึงมีสวดเตือนอยู่ทุกครั้งที่ลงปาฏิโมกข์ ภาษาบาลี (นาทีที่ 01:02:50 - 01:02:58 ) คือผู้สวดปาติโมกข์นั้นจะบอกทุกคนที่นั่งอยู่ว่า ศาสนาของพระผู้มีพระภาค ตั้งอยู่และเจริญอยู่ได้ด้วยการกระทำคือว่ากล่าวตักเตือนกันและกันได้ให้ออกจากอาบัติได้ ที่ตักเตือนว่าเป็นความผิดเช่นไรให้ทำคืน และออกอาบัติให้ทำคืนเสีย ให้สารภาพไปประพฤติทำคืนตามวินัยนั้นๆ วินัยเล็กน้อย วินัยขนาดกลางหรือวินัยขนาดใหญ่ ถ้าวินัยขนาดใหญ่ก็ฝึกออกไปเสีย นี่มันเป็นข้อที่น่าคิดว่า พระพุทธศาสนาไม่มีการใช้อาญา ไม่มีการเฆี่ยนตี ไม่มีการจับไปลงโทษอะไรที่ใหน แต่มีบทบัญญัติอันนี้ไว้ทุกคนปฏิบัติตาม บทบัญญัติอันนี้ศาสนาจึงอยู่มาได้โดยไม่มีการใช้อาญาที่ตั้งมา ๒,๐๐๐ กว่าปีเรียกว่าเป็นระเบียบสมบัติของผู้ดีของสุภาพบุรุษ สุภาพบุรุษไม่ต้องให้มีใครมาด่ามาตีมาลงโทษ แต่เขารู้จักโทษรู้จักความถูกต้อง เข้าก็ยินดีทำยินดีให้ใครมาตักเตือนทว่าพระสงฆ์นี้ยังยินดีในการกระทำอย่างนี้อยู่ พระพุทธศาสนาจะอยู่ได้อีกหมื่นปี อีกหลายหมื่นปีก็แล้วแต่ การที่ว่ากล่าวตักเตือนกันและกันได้ ออกจากอาบัติได้มันทำให้ยังอยู่ ยังคงมีอยู่โดยไม่ต้องมีการใช้อาญา นี่เรียกว่าเป็นระเบียบของผู้ดีทุกระเบียบนิ้ว ไม่มีคำด่า ไม่มีคำอะไรที่เป็นการหยาบคาย หรือต้องลงโทษเฆี่ยนตี นี่เห็นว่าเป็นเรื่องที่ดีถ้ามนุษย์จะเอามาใช้ปฏิบัติกันบ้างก็จะดีในสังคมนั้น ทีนี้พิธีกรรมอย่างอื่นก็นั้นเอง อาตมาก็เสนอทั้ง ๓ อย่างที่มันใหญ่ๆ รุ่นใหญ่ๆ มันเป็นเล็กน้อยเช่น ไหว้พระสวดมนต์ หรืออะไรอย่างนี้ก็ทำไปเถอะ มันไม่ได้เขียนไว้ในนี้ เพราะมันเป็นเรื่องเล็กที่ว่ากระทำกันอยู่แล้ว มีวันที่ไหว้พระสวดมนต์ อบรมสั่งสอน ก็เรียกว่ามีการกระทำชนิดที่เป็นการฝึกอบรมอย่างที่เคยพูดบ่อยๆว่า ให้มีทั้ง teaching ให้มีทั้ง training พวกเหล่านี้เป็น training เรามีทั้ง teaching ทั้ง training คู่กันมาตลอดเวลา ตลอดเวลาที่เด็กๆเขาอยู่กับเรา ทีนี้ข้อสุดท้ายที่อยากจะพูดด้วย ก็คือว่าทำไมไม่มีพูดถึงพุทธประวัติเลยในหัวข้อเหล่านี้ ทำไมไม่มีพูดถึงการศึกษา พุทธประวัติ หรือแม้ในเรื่องของพิธีกรรมนี้ นี่ก็ดูให้ดีเถอะ การศึกษาประวัติหรือเรื่องที่ควรศึกษา มันจะรวมอยู่ในหัวข้อใดหัวข้อหนึ่ง แต่เราไม่เอ่ยชื่อถึง แต่อาตมาอยากจะเสนอแนะว่าโดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการควรจะมีหนังสือสอนอ่านเป็นเรื่องพุทธประวัติอย่างดี เป็นหนังสือสอนอ่านอย่างดี และเป็นเรื่องพุทธประวัติใช้เป็นแบบเรียนภาษาไทย แล้วเด็กก็รู้พุทธประวัติให้มันเป็นเรื่องของการเรียนภาษาไทยไปเลยไม่ต้องทำหนังสือพุทธประวัติ ใช้แบบเรียนภาษาไทยก็ได้ เรียนประวัติศาสตร์ก็ได้ เรียนวัฒนธรรมก็ได้ กระทั้งเป็นเรื่องประกอบกาปฏิบัติจริยธรรมอย่างนี้ก็ได้ นี่ก็เข้าใจว่ากระทรวงศึกษาธิการคงจะทำขึ้นก็ครบเรื่องพุทธประวัติ ก็สอนกันอย่างความรู้ก็ได้ วัฒนธรรมก็ได้ ประวัติศาสตร์ก็ได้ แบบเรียนภาษาไทยก็ได้ ใช้เป็นหนังสือย่อความ เรียงความอะไรตามหลักภาษาไทยก็ได้ มันจะได้ผลพร้อมกันไป เป็นการศึกษาที่ว่ามันมีรูปแบบที่เนื่องกันหมดเต็มรูปแบบ นี่อาตมาขอแสดงความหวังพร้อมทั้งวิงวอนขอร้องว่าเราจงช่วยกันกระทำการงานนี้ในฐานะเป็นงานกุศลชั้นสูงสุด การกุศลชั้นสูงสุดคือ การยกสถานะทางจิตทางวิญญาณของมนุษย์ให้สูงขึ้น นี่ไม่ต้องเกี่ยวไม่ต้องพูดกับคำว่าเป็นครู เป็นคนทั่วไปก็ได้ ถ้าได้ทำหน้าที่ยกฐานนะทางวิญญาณของผู้อื่นให้สูงขึ้น ก็เรียกว่าเป็นการกุศลอันสูงสุด เดี๋ยวนี้ยิ่งเป็นครูก็ยิ่งต้องทำอย่างนั้น เพราะคำว่าครูนี้คือ ผู้ยกสถานะทางวิญญาณ คือผู้นำทางวิญญาณ เดี๋ยวนี้ที่มันไม่มีผลแก่สังคมเพราะว่า ครูไม่ค่อยมีครูที่แท้จริง ไม่ค่อยมี มีแต่ครูรับจ้างสอนหนังสือหากินไปวันหนึ่งๆ มันไม่ได้ยกสถานะทางวิญญาณของเด็กๆได้ เราอย่าทำด้วยความมุ่งหมายนั้น อย่าจัดเป็นอาชีพ ถ้าจะจัดเป็นอาชีพให้เป็นอาชีพของปูชนียบุคคล อาชีพของบุคคลที่มีพระเดชพระคุณหนักอยู่บนหัวของทุกคน บนศรีษะของทุกคน นั้นถึงจะเรียกว่าเราตั้งใจทำในฐานะเป็นงานกุศล นับตั้งแต่การร่างหลักสูตรนี่ก็ดี ในฐานะงานกุศลช่วยยกวิญญาณของคนให้สูงขึ้น แล้วเอาไปปฏิบัติสั่งสอนอบรมเด็กๆให้เด็กมีสถานะทางวิญญาณสูงขึ้น ก็เป็นการกุศล เงินเดือนเป็นขยะมูลฝอย ถ้าทำได้อย่างนั้นเงินเดือนจะกลายเป็นขยะมูลฝอยที่เรี่ยราดอยู่ตามพื้น เรามุ่งหมายการกุศลอันสูงสุดที่มนุษย์จะพึงกระทำได้ จึงขอร้องให้ครูบาอาจารย์ทั้งหลายเหล่านี้พิจารณาดูเนื้อหาโครงร่างของหลักสูตรเหล่านี้ให้ดีๆ จะพบว่าเรามีทางที่จะใช้ให้เป็นประโยชน์ในการยกสถานะทางวิญญาณของเด็กๆได้มากน้อยอย่างไรแล้วก็ทำไปด้วยความสนุกพอใจ เป็นสุขเมื่อทำหน้าที่เป็นสุข ทำหน้าที่เพราะมันเป็นหน้าที่สูงสุดยกวิญญาณเลยเป็นสุขอยู่ในหน้าที่ ไม่ต้องไปสถานเริงรมณ์ ครูผู้ชายก็ไม่ต้องไปอ่าง อบ นวด เพระมันสนุก ก็เป็นสุขอยู่ในหน้าที่ อย่างไม่มีอะไรจะกล่าวได้ ถ้าทำได้อย่างนี้ โครงการนี้มันก็บรรลุเป้าหมายถึงที่สุดคือมีครูที่แท้จริงเกิดขึ้นในโลกแล้วมีครูคนที่เป็นครูแท้จริงเกิดขึ้นในโลกแล้ว อย่ามีแต่กรรมกรรับจ้างสอนหนังสือหาเงินเลี้ยงชีวิตไปวันหนึ่งๆ นั้นเรียกว่าเป็นกรรมกร กรรมกรงานเบา อาตมาก็ขอแสดงความยินดีว่ามันเป็นบุญ เป็นกุศล เป็นโอกาสแห่งบุญกุศลที่ได้มาพบปะกัน ร่วมกันทำงานอันนี้ ซึ่งรู้สึกว่าเป็นงานสูงสุดของมุษย์คือ การยกวิญญาณของมนุษย์ให้สูงขึ้นและถ้ามีอะไรที่ยังสงสัย คล่องใจจะถามจะซักไซร้อย่างไรก็ได้ จะไม่ถือว่าเป็นการรบกวน ไม่ต้องเกรงใจ เพราะไม่ถือเป็นการรบกวนอะไร จะถามวันนี้ก็ได้วันอื่นก็ได้ ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็เป็นอันว่าเราได้พยายามดีที่สุดแล้ว พยายามดีที่สุดที่เราจะทำได้แล้วด้วยกันทุกๆฝ่ายไม่มีข้อที่น่าติเตียนอะไร จะเป็นคนที่เคารพตัวเองได้ ยกมือไหว้ตัวเองได้ เป็นด้วยกันทุกคนหรือว่าถ้ามีอะไรที่ต้องถามก็ถามได้เลย
บทสนทนาระหว่างท่านพุทธทาสกับคณกรรมการร่างหลักสูตรจริยศึกษา
ฆารวาสท่านที่ ๑ “ ขอกราบนมัสการพระเดชพระคุณ กระผมใคร่จะขอคำปรึกษาเกี่ยวกับหลักสูตรจริยะที่กำลังทำอยู่ขณะนี้ ” พระคุณเจ้า “ ปัญหามีอย่างไรก็ว่าไปเลย ” ฆารวาสท่านที่ ๑ “ กระผมพูดถึงธรรมะ ทันทีที่กระทั้งกระผมพูด ก็เชื่อว่าคงจะมีสิ่งผิดพลาดมาก แต่กระผมก็จะพยายามพูดครับ กระผมขอมาถึงเล่มสีเหลืองครับ สำหรับกระผมมองในลักษณะที่ว่าเป็นสิ่งที่ยาก และก็ควรจะหรือมีอะไรก็ควรจะไปให้ถึง และก็ทำให้ได้ ก็คงจะสรุปได้ว่าเป็นมนุษย์ที่เต็มในเล่มสีเหลือง และกระผมก็มองในลักษณะที่ว่า เป็นการศึกษาของในระดับอุดมศึกษา ทีนี้เรากำลังทำงานเกี่ยวกับประถมศึกษา ซึ่งกระผมมีความคิดว่า ถ้าหากว่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงจากเล่มสีเหลือง ซึ่งได้ให้แนวไว้มาเป็นเล่มสีอย่างอื่น โดยเฉพาะเป็นเล่มในชั้นประถมก็คงจะให้นักเรียนเกิดความคิดรวบยอดได้ว่าเป็นลักษณะของคนที่ดี หลังจากนั้นก็คงจะมีเล่มสีอื่นๆอีกในชั้นมัธยมก็คงจะเป็นลักษณะของมนุษย์ ไม่ทราบว่าทั้งสองเล่มคือประถมและมัธยมไปสู่อุดมศึกษานั้นจะเป็นมนุษย์ที่เต็มหรือเปล่าครับ ” พระคุณเจ้า “ ก็ขอพูดว่า เราต้องรู้จักตัวเองว่าเราเป็นผู้เตรียมเด็ก สำหรับจะเป็นอะไรๆไปตามลำดับ ถ้าสอนชั้นอนุบาลก็เตรียมเด็กสำหรับจะเป็นเด็กชั้นประถมที่ดี สอนเด็กชั้นประถมก็จะเป็นเด็กชั้นมัธยมที่ดี เรียกว่าเราเป็นผู้เตรียม นี่การเตรียมนั้นจะให้เป็นอะไรบ้างมันต้องรู้จุดมุ่งหมายปลายยทาง จุดหมายปลายทางของเราในที่นี้เอาก็เพียงว่า เป็นมนุษย์ที่เต็ม เราเตรียมเด็กสำหรับจะได้รับการศึกษาอบรมไปตามลำดับๆๆจนกว่าจะเป็นมนุษย์ที่เต็ม ไม่ได้มุ่งหมายว่าเด็กประถมนั้นจะเป็นเด็กที่เต็ม เด็กประถมนี้ก็เตรียมสำหรับที่จะเป็นเด็กที่เต็มต่อไปข้างหน้า หรือวาระสุดท้าย แต่เดี๋ยวนี้ก็ขอให้เต็มอย่างเด็กประถมก็แล้วกัน นั้นข้อความอะไรในเล่มเหลืองเล่มเขียวนั้นมันปรับปรุงได้ทั้งนั้นเพราะว่าเราทำๆ จะถามเรื่องคำพูดก็ได้ ความหมายก็ได้ ของข้อความก็ได้ของอะไรก็ได้ ” ฆารวาสท่านที่ ๒ “ ผมอยากขอกราบนมัสการกราบเรียนถามในเรื่องของหลักสูตรสักนิดหนึ่ง ในแง่ของหลักสูตรที่กำหนดไว้ว่า แต่ละชั้นนักเรียนแต่ละเรื่องๆไปโดยที่บางจุดมุ่งหมายว่าป.๑จะต้องเป็นลูกที่ดี ป.๒เป็นศิษย์ที่ดี ป.๓เป็นเพื่อนที่ดี ป.๔เป็นพลเมืองที่ดี ป.๕เป็นสาวกที่ดีอะไรอย่างนี้ ซึ่งผมคิดว่า ถ้าเป็นลักษณะอย่างนั้น ถ้าการสอนอย่างนั้นหมายถึงเป็นการสอนเพื่อจะตัด ไม่ใช่จุดมุ่งหมายเพื่อการตัด แต่ว่าเป็นการสอนในลักษณะที่เป็นการตัดตอนว่าในชั้นนี้ก็สอนในเรื่องของเพื่อนในชั้นนี้สอนแต่เรื่องของพลเมืองที่ดีอะไรต่างๆเหล่านี้ ซึ่งในความจริงแล้วลักษณะการสอนซึ่งเป็นลักษณะการสอนของเด็กชั้นเล็กๆนั้นครับ การสอนน่าจะสอนทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะในสภาพของเด็กจริงๆป.๑นั้น เด็กจะต้องมีกระทบกับทุกสิ่งทุกอย่างเช่น ทั้งเป็นเพื่อน หรือต้องกระทบกับครูหรือพ่อแม่ กับการเป็นพลเมืองและแม้ป.๑นั้นยังต้องเป็นสาวกอยู่ด้วย เพราะในโรงเรียนเกือบทุกโรงเรียนนั้นพอเข้าป.๑ เด็กต้องไปปฏิญาณตั้งตนเป็นพุทธมามกะ เพราะฉนั้นลักษณะอย่างนี้ดูเหมือนหลักสูตรที่กำหนดนั้น ผมเคยถามทางคณะทำงานท่านอาจารย์รันจวณ ก็ได้คำตอบบอกว่าความจริงแล้วเราอยากจะได้ตรงนั้น ถ้าไปสอดแทรกอยู่ในสื่อ หรือสื่ออะไรอย่างนี้ทุกตอนๆ แต่ที่ผ่านมารู้สึกว่าสื่อที่ผมลองดูๆนั้นจากถ้าป.ใหน ถ้าป.๓ ก็ต้องเรียนเกือบทั้งหมด ถ้าป.๔เรื่องพลเมืองเกือบทั้งหมด ถ้าป.๕ก็เรื่องสาวกเกือบทั้งหมด ซึ่งมันจะไม่มีส่วนประกอบอื่นๆเข้ามาเลย ถ้าอย่างนั้นคือเป็นไปได้ใหมถ้าจะให้เอาจุดประสงค์นี้เปลี่ยนเสียว่า ป.๑เราก็เรียนทั้งหมดแต่เรียนส่วนน้อย ป.๒เราก็เรียนทั้งหมดแล้วขยายไปอีก ป.๓ก็เรียนทั้งหมดแล้วก็ขยายไปเรื่อยๆ เรียนตามสภาพของแต่ละชั้น อย่างนั้นจะเป็นไปได้ใหมครับ ขอกราบเรียนถามครับ ” พระคุณเจ้า “ หมายความว่าจะให้เรียนครบทั้งหมด นี่ก็เพื่อจะตัดตอน ตัดถอนความยุ่ง ความยุ่งยากที่จะสอนครบทั้ง ๖ จึงได้ใช้คำว่าส่วนใหญ่มุ่งหมายสำหรับป.๑ คุณธรรมเหล่านี้ส่วนใหญ่มุ่งหมายสำหรับป.๒ ก็มิเช่นนั้น ถ้าเอามาปนกันทั้งหมดมันก็จะยุ่งเกินไปทั้งผู้สอนและผู้เรียน แต่ที่นี้ธรรมชาติมันช่วยเพียงแต่หัวข้อที่ว่า เป็นบุตรที่ดีของบิดามารดากี่ข้อ คุณสังเกตุดูกี่ข้อ ถ้าทำได้ตามนั้นแล้วมันจะเป็นศิษย์ที่ดี เป็นเพื่อนที่ดีพร้อมไปในตัวเลย โดยไม่รู้สึกต้องเอ่ยอ้างถึงทุกข้อที่จะทำให้เป็นบุตรที่ดี มันจะช่วยเป็นศิษย์ที่ดี เป็นเพื่อนที่ดี เป็นพลเมืองที่ดีไปตามมากตามน้อยอยู่ในนั้น แล้วเด็กๆของเราก็คงไม่ไปในที่เสีย นี่เพื่อให้ง่ายในการสอนในการควบคุม จึงมุ่งหมายส่วนใหญ่ ป.๑มุ่งหมายสอนเป็นบุตรที่ดีของบิดามารดาเป็นหลัก ถ้าสอนเข้าจริงๆมันจะเป็นศิษย์ที่ดี เป็นเพื่อนที่ดีพร้อมกันไปในตัวโดยไม่แทรกอยู่บังอยู่ โดยไม่ได้เอามาพูดคงจะไม่เสียหาย คงจะไม่ขาด จนไม่เป็นอันตราย ใช้คำว่าส่วนใหญ่ ข้อธรรมหมวดนี้ส่วนใหญ่มุ่งหมายเฉพาะป.๑ เฉพาะผู้ที่จะเป็นบุตรที่ดีของบิดามารดา ถ้าสอนทีเดียวครบทั้ง ๖ ก็จะสอนครบได้ยากลำบาก จะทำสื่อการสอนก็จะยากไปกว่านี้หลายเท่า ขอให้เข้าใจตามนี้ว่า ที่ระบุอย่างนั้นก็ส่วนใหญ่แล้วธรรมชาติมันช่วย แล้วถ้าสอนอย่างนั้น เพื่อเป็นบุตรที่ดี มันจะมีการทำให้เป็นศิษย์ที่ดี เพื่อนที่ดีพร้อมกันไปตัวโดยไม่แฝงลับอยู่ในนั้น ” ฆารวาสท่านที่ ๓ “ กระผมขอกราบถามว่า หลักสูตรสมัยก่อนนั้นคือ เด็กที่เรียน ป.๕ ป.๖ ป.๗ ทางหลักสูตรสามารถจะให้เด็กได้กล่าวคำอาราธนาศีล อาราธนาธรรมอย่างนี้ในชั้นประถมปลาย แต่เดี๋ยวนี้รู้สึกว่าไม่มี ไม่ทราบว่าต่อไปจะมีความจำเป็นหรือเปล่าที่จะต้องให้เด็กได้กล่าวคำอาราธนาศีล อาราธนาธรรมได้ แล้วพระพุทธประวัติได้ทราบจากพระคุณเจ้าเมื่อสักครู่ว่าเป็นเรื่องของกระทรวงที่จะต้องรวบรวมให้เด็ก หรือเป็นแบบเรียนให้เด็กได้เป็นแบบอ่าน จะเป็นภาษาไทยก็ดี ส.ป.ชก็ดี ตามระดับชั้นจะยากง่ายหรือสลับซับซ้อนหรืออย่างไรก็แล้วแต่สำหรับชั้นกระผมเห็นด้วยครับ ครั้นนี้พูดถึงเรื่องอาราธนาศีล อาราธนาธรรม มีพระบางท่านก็บอกว่าเด็กสมัยนี้ทำไมอาราธนาศีล ก็ไม่ค่อยได้เหมือนกัน เพราะในแผนการสอนก็ไม่ได้ระบุชัดแม้แต่ใน ป.๐๒ ก็ไม่ได้มีจุดประสงค์อย่างนี้ไว้ กราบเรียนถามพระคุณเจ้า ” พระคุณเจ้า “ ในโครงร่างของเรามีว่าให้เด็กได้มีการสมาทานหัวข้อธรรม แล้วมันก็คือการอาราธนานั้นเอง แต่แทนที่จะอาราธนาศีล ๕ ก็เป็นการอาราธนาหัวข้อธรรมที่กำหนดขึ้นโดยเฉพาะ ถ้าอย่างนั้นมันจะต้องมีการอาราธนาศีลในหัวข้อที่ว่าให้สมาทาน ให้สมาทานบทที่ควรสมาทาน คำว่าสมาทานศีล ศีล๕ ก็จะร่วมไปในข้อ๑ ของ๓หัวข้อนั้น นะโมไม่ต้องพูดถึงมันต้องตั้งอยู่ทำอะไรตามแบบพิธีกรรม มันต้องตั้งนะโม ซึ่งเป็นการเรียกสติสัมปชัญญะมาช่วยเตือนให้เด็กๆได้รู้ว่า การตั้งนะโมนั้นไม่ใช่ทำร้อง เป็นการเรียกสติสัมปชัญญะมาสำหรับเตรียมพร้อมที่จะทำอะไรสักอย่างหนึ่ง นี่เรียกว่าตั้งนะโม ให้เด็กตั้งนะโมโดยมีเจตนาที่ถูกว่าเราจะเตรียมสติสัมปชัญญะจะทำอะไรสักอย่างหนึ่ง เรื่องตั้งนะโมก็ดี เรื่องสมาทานศีลก็ดีหรืออะไรก็ดี มันก็มาเป็นส่วนประกอบหัวข้อ ๓ หัวข้อนี้ ให้การเปิดเผยปฏิญาณก็ดี การปวารณาก็ดี มันต้องมีการพูด มีการตั้งนะโมมีการขอร้อง มีการสัญญา สมาทานอะไรต่างๆนี้ กล่าวไว้แต่ข้อใหญ่ที่เป็นใจความมี ไม่ต้องกลัว มีสมาทานศีล สมาทานอะไรรวมอยู่ใน๓หัวข้อนี้ ” ฆารวาสท่านที่ ๔ “ กราบนมัสการพระคุณท่าน จะเรียนถามต่อไปนี้คะ เพื่อความกระจ่างในการไปเขียนต่อให้เสร็จ เพราะว่าเท่าที่เขียนมา ๒ บทนั้น ไม่แน่ว่าจะเขียนถูกใหมในเรื่องของความสัมพันธ์ของอริยมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งที่ได้แบ่งให้ไว้เป็นชุดๆอย่างนี้เช่น ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ ชุดที่๒ ที่ตั้งต้นด้วยความเชื่อมั่นในตนเองนี้ แต่พอมาอ่านในแผ่นนี้หน้าสุดท้าย บอกว่าแต่ละหัวข้อธรรมนั้นมีความหมายที่ต้องสั่งสอน และอบรม ๘ ประการ เสร็จแล้วก็อธิบายไปว่าข้อ ๑ นี่ต้องรู้ความหมาย พอรู้แล้วก็อยากจำทำก็เป็นสังกัปปะ ทำเสร็จแล้วพูดออกมาเป็นใหมจนครบ ๘ พอครบ๘ ก็บอกว่าขอย้ำในวงเล็บช่วงท้ายว่า ขอย้ำว่าความหมายทั้งปวงทั้ง ๘ นี้ให้แก่หัวข้อธรรมทุกข้อทั้ง ๕๔ หัวข้อ ก็หมายความว่าตามความเข้าใจในแผ่นนี้ หมายความว่าเข้าใจว่า ถ้าเราสอนเรื่องความเชื่อมั่นในตนเองก็ให้เด็กรู้ว่าความเชื่อมั่นในตนเองนั้นคืออะไร เกิดจากอะไร ความเชื่อมั่นในตนเองเพื่อประโยชน์อะไร ความเชื่อมั่นในตนเองสำเร็จได้โดยวิธีใด พอทราบแล้วก็อยากปฏิบัติให้เกิดความเชื่อมั่น ถ้าเข้าใจอย่างนี้ถูกหรือเปล่าคะ อ่านไปแล้วมันก็ไม่มี ” พระคุณเจ้า “ ไม่เห็นเป็นปัญหาเลยๆๆ ” ฆารวาสท่านที่ ๔ “ แล้วที่ทำไปแล้วนั้นชุดที่ ๒ นี้อะไรค่ะ ” พระคุณเจ้า “ ชุดที่ ๒ ที่ ๑ อาตมาฟังไม่ถูก ” ฆารวาสท่านที่ ๔ “ ความเชื่อมั่นในตนเอง ” พระคุณเจ้า “ ไม่มีชุดที่ ๑ ชุดที่ ๒ แล้วทำไมต้องเป็นชุด๑ ชุด๒ มันก็เป็นชุดเดียวกันนั้นแหละ แล้วแต่จะแบ่ง แต่ว่าทุกข้อขอให้เกิดผลครบทั้ง ๘ ความหมาย มันสำเร็จ จะชุดอย่างไรก็ได้ ก็สุดแล้วแต่ ” ฆารวาสท่านที่ ๔ “ แล้วถ้าครบทั้ง ๘ นี้ล่ะค่ะ เมื่อครบทั้ง ๘แล้ว แต่ละชุดที่พูดถึง หมายถึงว่าในกระดาษ ครบทั้ง ๘ เราก็ขยายความได้ ๕๔ ครั้ง หมายความว่าให้เกิดตามขั้นตอน ๘ ประการ ” พระคุณเจ้า “ หมายความว่าจะสอนข้อใหน จะอบรมข้อใหน ขอให้มองเห็นมันครบทั้ง ๘ ความหมายในหน้าสุดท้าย จะสอนข้อใหนใน ๕๔ ข้อนั้น เสร็จแล้วจะต้องมองเห็นว่า โอ้…มันมีครบอยู่ทั้ง ๘ ความหมายในการสอน หรือการปฏิบัติในการกระทำนั้นๆร่วมกันระหว่างครูกับผู้เรียน ” ฆารวาสท่านที่ ๕ “ คือมีเพื่อนสมาชิกได้มีความรู้สึกว่า การใช้ถ้อยคำภาษาในเล่มสีเหลืองนั้นค่อนข้างจะเป็นภาษาธรรมะ แล้วก็ยากสำหรับการเข้าใจสำหรับบางท่าน ทีนี้ดิฉันก็ลองมาคิดดูว่า การที่ใช้ภาษาในทางธรรมเข้าไปบ้างโดยพยายามอย่างที่สุด แล้วนี่เป็นสิ่งที่สมควรแก่การกระทำหรือไม่ ก็ขอได้โปรดคิดดูว่าเมื่อท่านอ่านหนังสือวิชาการในสาขาอื่นเช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เกษตรศาตร์ แพทยศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์หรืออะไรก็ดี แต่ละวิชาการนั้น ก็มีศัพท์เฉพาะที่เรียกว่า technical term ของวิชานั้นๆ เมื่อเวลาผู้ใดก็ตามที่ไม่ได้อยู่ในสาขาวิชานั้น ไปอ่านเข้าจะมีความปวดหัวมีความลำบากมีความไม่เข้าใจ แต่ทำไมจึงยอมอ่านเพราะ ตั้งใจจะสอบให้ได้ใช่ใหมค่ะ ทีนี้เมื่อเราพูดถึงเรื่องของธรรมะจริยศึกษา ดิฉันก็มาคิดดูว่าทำไมเล่า เราจึงมาจำกัด จำกัดสิทธิในการใช้ถ้อยคำในภาษาธรรมะ เพราะนั้นก็จึงให้โอกาส แปลวิชาธรรมะหรือเรื่องจริยธรรมเช่นเดียวกับวิชาสาขาอื่นๆ และเพื่อประโยชน์ในการที่ว่าท่านผู้ที่จะได้เขียนสื่อ จะได้มีความเข้าใจและคุ้นเคยกับศัพท์ของธรรมะ แล้วก็สามารถเอาความหมายอันนี้สื่อออกถึงเด็กได้ ฉนั้นจึงขอได้โปรดใช้สัมมาวายามะค่ะ ” พระคุณเจ้า “ เกี่ยวกับคำบัญญัติเฉพาะ อันนี้ไม่ต้องกลัวในการที่ใช้คำเดิมไว้ มันเป็นการรักษาความหมายไว้ได้ดีมาก ถ้าเกิดไปแปลใหม่ มันจะเลือน เดินออกไปๆๆ คำทางวิทยาศาสร์หรือคำอะไรก็ตาม ถ้าลองไปแปลมันซิมันจะเดินออกไปๆๆ ทีหลังมันจะยุ่ง เรียกไปตามเดิม ตามคำบัญญัติเฉพาะของวิชานั้นๆ เดี๋ยวนี้ภาษาบาลีก็เหมือนกัน มันควรจะใช้คำเดิมคือคำบาลีในโอกาสตามโอกาสที่ควรจะใช้ และต่อไปมันก็ค่อยๆกลายเป็นคำธรรมดา รู้ได้อย่างง่ายๆ อย่างธรรมดา ถ้าขืนไปแปลเข้ามันจะเดินจะเลือนจนเสียควาหมาย พวกเถรวาท พวกในพระพุทธศาสนาเถรวาทไม่นิยมแปลคำเหล่านี้ เอาคำบาลีเดิมมาใช้จนเป็นคำธรรมดาไป พวกมหายานฝ่ายมหายานเขาแปล เขานิยมแปล มันยุ่ง มันเลือนๆๆ เรื่องคำสอนมหายานจะเป็นเรื่องที่เลือนมากกว่าคำสอนของเถรวาท ซึ่งพยายามรักษาคำเดิมไว้ แต่ถึงอย่างไรก็ดี คำบางคำมันแปลไม่ได้ พวกมหายานก็ต้องใช้คำเดิมเช่นคำว่า นิพพาน มันก็ไม่กล้าแปลๆ ซึ่งคำว่า อนัตตาอย่างนี้ แปลว่าไม่มีตัวตนอย่างนี้มันก็กำกวม มันยังสู้ความหมายของอนัตตาไม่ได้ แต่มันยังไม่รู้อีก พยายามทำให้รู้ พวกจีนเขาแปล อนัตตาว่า บ่อั๋วๆ มันก็ไม่ได้ผลอะไร แล้วมันก็ไม่รักษาความหมายอะไรไว้ได้นัก นี่คำว่าอนัตตาคำว่าอย่างนี้พยายามทำความเข้าใจเพิ่มขึ้นๆ ไม่เท่าไรมันก็เป็นคำธรรมดาเหมือนกับเรื่องทางวิชาแขนงอื่นๆที่เรียนมาจากพวกฝรั่ง ทำไมเรายังใช้คำเดิมเช่นคำว่า เทคนิค เทคโน ทำไม่แปล ถึงแปลไม่ก็ไม่รู้ว่าทิศใหนทางใหน มันก็เหมือนกัน พยายามใช้คำเดิมให้มากเท่าที่มากได้ ครั้งแรกแปลออกมาใช้เป็นคำแปล แล้วพยายามรีบวนกลับไปหาคำเดิม คำบาลีอย่างนี้จะปลอดภัย หรือยังจะต้องตั้งนะโมเป็นภาษาบาลีในการรับศีล เป็นภาษาบาลียังไม่แปล ” เหลืออีก ๒๐ นาทีมีอะไรนึกไม่ออก นึกออกแต่เพียงว่ามีอะไรให้ช่วยกันกระทำในฐานะเป็นการกุศลเพื่อประโยชน์แก่มนุษยชาติทุกคนในโลก ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย ต่างประเทศในแต่ละประเทศต่างพยายามทำหน้าที่ของตนให้หมดปัญหาทางความสงบสุขภายใน หรือด้วยทางจิตใจเราก็เลือกสรรค พยายามเลือกสรรควิธีสำหรับการอะไรก็ตามที่จะเป็นไปได้ ที่มันไม่ขัด มันไม่ฝืนที่จะเป็นอะไรที่ไม่เป็นการถ่วงความเจริญของประเทศ เรื่องนี้อาตมาก็คิดมากว่าหลักจริยธรรมทั้งหลาย ต้องออกไปในลักษณะที่ไม่ขัดกับวัตถุประสงค์ส่วนใหญ่ ส่วนรวมของประเทศที่เขาต้องการพัฒนาเรื่องจริยธรรมนี้ ต้องไม่ขัดกับการพัฒนาจึงสอดส่องหาหลัก หาเรื่องหาแม้แต่ถ้อยคำวิธีพูด นี่ให้มันเป็นไปได้โดยไม่ขัดกับหลักการพัฒนาของประเทศทางเศรษฐกิจ ทางการเมือง ทางสังคม ก็ต้องขอฝากไว้ให้ครูบาอาจารย์ทั้งหลายตั้งข้อสังเกตุเอาเองให้ดีที่สุดๆ ให้มีการสอนให้มีการกระทำออกไปในลักษณะที่ไม่ไปขัดกันเข้ากับการพัฒนา แต่เดี๋ยวนี้มันยังเป็นแค่เรื่องชั้นประถม ปัญหามันยังไม่มาก ถ้าเป็นเรื่องสูงขึ้นไปธรรมะชั้นสูง มันจะมีปัญหาเช่นจะสอนเรื่อง สุญญตาเรื่องความว่าง อนัตตา ความไม่มีตัวตน เรื่องสันโดดอย่างถูกต้องนี่มันก็ยังมีปัญหา แต่เดี๋ยวนี้ก็ยังเชื่อว่าไม่มีปัญหากัน แต่ระดับประถมระดับอย่างนี้มันก็เลยยังไม่พูด เอาเป็นว่าในระดับนี้ระดับชั้นประถมระดับนี้ เราพยายามให้ดี เตรียมพร้อมไว้สำหรับจะป็นฐานรับชั้นที่มันสูงขึ้นไป เตรียมเด็กชั้นประถมสำหรับจะเป็นเด็กมัธยมให้ดี ให้เด็กมัธยมจะเป็นนิสิตนักศึกษาที่ดี อย่าให้เสียทีที่ว่าประเทศไทยเป็นแหล่งเป็นหลัก เป็นที่มั่นของพระพุทธศาสนา คนต่างประเทศเขาพูดกันว่าประเทศไทยเป็นประเทศหลักทางพระพุทธศาสนา ถ้าเขามาดูก็เท่ากับสอนให้มันเป็นจริงตามนั้น ไม่ผิดหวัง การสอนจริยธรรมในโรงเรียนนี้ควรจะเป็นเรื่องที่อวดเขาได้ ถ้าเขาจะมาดูมาเป็น ก็เป็นเรื่องที่อวดเขาได้ พิสูจน์ได้ตามหลักทางจิตวิทยา หลักตรรกวิทยาอะไรต่างๆว่าถูกต้องสำหรับสิ่งนี้ ขอให้ทำงานให้สนุกมีใจภาวนาว่าทำเพื่อมนุษย์หรือเพื่อประเทศชาติก็ได้ แต่ถ้าตามหลักพระพุทธศาสนาแล้วต้องเพื่อมนุษยชาติคือ เพื่อนมนุษย์ทั้งหมด ถ้าว่ามันเป็นเรื่องในโลก หรือเพื่อประเทศชาติของเรา แต่ในที่สุดมันก็ไม่ขัดขวางกัน ถ้าทำถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนาที่เป็นส่วนรวมแล้ว มันจะไม่ขัดกับหลักที่ทำเพื่อประเทศใดโดยเฉพาะ ต้องตามความเจริญที่แท้จริง ไม่ใช่อคติลำเอียงอย่างนั้นอย่างนี้ ขอให้ทุกคนทำงานให้สนุก พระคุณเจ้า “ เอ้… เตรียมร้องกันไว้แต่เมื่อไร ในชาร์ตนี้ขอร้องให้ช่วยพิจารณาดูกันให้ดีให้ละเอียดละออที่สุดเกี่ยวกับชาร์ตที่แจก …ของอาจารย์สมทรงหรือของใครเพลงนี้ ” ฆารวาสท่านที่ ๖ “ เพลงนี้ท่านอาจารย์อุทัย สุจริตกุล ได้แต่งเอาไว้นะค่ะ เมื่อการอบรมของจริยธรรมที่วัดคีรีวงศ์ค่ะ ดิฉันว่าทุกๆท่านที่มีวิญาณครูอยู่แล้ว เมื่อเห็นเนื้อเพลงแล้วก็ทำนองเพลงก็ทราบว่าร้องได้อย่างไร ก็คิดว่าให้ร้องพร้อมๆกันเลยนะค่ะ เชิญเลยค่ะ ” เปิดดวงใจโอ้ใจดวงงาม เปี่ยมคุณธรรมคลายหมกมุ่นมัวหมอง สงบใจ สะอาดแจ่มศรี สว่างดีไม่มีเคืองข้อง เพื่อนพี่น้องแลเห็นแสงทองเรืองกระจ่าง ส่องสวรรค์ที่เราสรรค์สร้าง พระธรรมนำทางให้ใจเรา ส่องสวรรค์ที่เราสรรค์สร้าง พระธรรมนำทางให้ใจเรา (ซ้า**) พระคุณเจ้า “ ซึ่งเพลงนี้ถ้าใช้ถูกวิธี ดนตรีหรือเพลง ถ้าใช้ถูกวิธีก็มีประโยชน์ ถ้าใช้ผิดวิธีมันก็เป็นไปเพื่อบันเทิง กิเลสก็ได้ ถ้าใช้ถูกวิธีอันเป็นเรื่องที่ใช้มาแต่โบราณเป็นพันๆปี และเชื่อว่าเป็นการใช้ในเรื่องทางศาสนาในโบสถ์นั้น ก่อนที่จะออกมาเป็นเรื่องของชาวบ้าน เราก็พยายามระมัดระวังใช้ให้ถูกวิธีในเรื่อยไปต่อไป ก็ใช้มันได้ มันช่วยได้ง่ายในการจำ หรือในการคิด หรือเรื่องการสร้างกำลังใจขึ้นมา แต่ระวังอย่าเปิดโอกาสให้กิเลสก็แล้วกัน ควรจะช่วยกันแต่งให้มากขึ้น ที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา จะช่วยโลกได้ ธรรมะจะช่วยโลกได้ ช่วยๆกันแต่งให้มากขึ้นให้มันแพร่หลายไปทั่วโลก ธรรมะๆคำเดียว เป็นคำๆเดียว มันก็มีความหมายพอ เมื่อเราได้สอดส่องดูว่ามันหมายถึงอะไรบ้าง เป็นมาอย่างไรบ้าง แล้วในที่สุดมันสรุปใจความได้ว่า ธรรมะคือความถูกต้องของความเป็นมนุษย์ ทุกๆขั้นทุกๆตอนแห่งวิวัฒนาการของเขา ทั้งเพื่อประโชยน์ส่วนตน และประโยชน์ส่วนรวม คำนิยามยาวเฟื้อยแต่พอ ธรรมะคือความถูกต้องในการศึกษาหรือการกระทำ หรือการประพฤติหรืออะไรไป ธรรมะคือความถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ ทุกๆขั้นทุกๆตอนแห่งวิวัฒนาการของเขาทั้งเพื่อประโยชน์ส่วนตัว และเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ใครช่วยแต่งข้อความนี้เป็นเพลงให้สักบท ทีนี้อาตมาก็ขอปิดการประชุมในนามองค์การประถมศึกษาแห่งชาติ ขอให้ทุกคนประสบผลสำเร็จ ด้วยความยึดมั่นถือมั่นในพระธรรมเป็นลำดับๆไป…ปิดแล้ว ”