แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
คณะครูอาจารย์ : กราบนมัสการพระเดชพระคุณท่านที่เคารพยิ่ง กระผมอยากจะมากราบเรียนชี้แจงความก้าวหน้าของการทำงาน แล้วก็อยากจะกราบเรียนพระเดชพระคุณท่านช่วยพิจารณาในส่วนงานที่ได้ทำตั้งแต่วันแรกจนมาถึงวันนี้เพื่อช่วยชี้แนวทางว่าคณะของเราได้ทำมาถูกหรือผิดประการใดด้วยครับ
คณะครูอาจารย์ : ขอให้ท่านที่เข้าประชุมทุกท่านนำตารางวิเคราะห์รายละเอียดเนื้อหาสาระ ซึ่งเป็นชุดสุดท้ายที่ผมได้แจกให้กับทางคณะขึ้นมาดูด้วยนะครับ ถ้าใครยังไม่ได้นะครับ มีอยู่ข้างหน้านะครับ
ตามที่กลุ่มได้เริ่มต้นทำงานเพื่อสร้างหลักสูตร ในการพัฒนากิจกรรมการเรียน การสอนจริยศึกษา ตั้งแต่วันแรกมาจนถึงวันนี้นั้น งานในส่วนของการสร้างหลักสูตร ที่ประชุมได้รับหลักการร่วมกันว่าในส่วนจุดประสงค์นั้นจะยึดอริยสัจ ๔ เป็นหลัก ส่วนในช่องเนื้อหาจะยึดอริยมรรคซึ่งแยกหัวข้อย่อยเป็น ๕๔ หัวข้อ ในช่องสื่อวิธีสอนนั้นจะยึดวิธีสอนต่างๆกัน โดยเฉพาะวิธีสอนที่พระเดชพระคุณท่านได้แนะนำแก่ที่ประชุม ส่วนการประเมินผลนั้นก็ยึดการประเมินผลตามจุดประสงค์
ทีนี้เมื่อคณะได้ดำเนินการมาจนถึงวันนี้นั้น แต่ละกลุ่มได้ทำตารางวิเคราะห์ ดังตัวอย่างตารางวิเคราะห์ที่ทางคณะได้รับอยู่ ในส่วนของอริยสัจ ทุกกลุ่มจะเริ่มดำเนินการด้วย
ข้อที่ ๑ ที่บอกว่า บอกความหมายของการมี ยกตัวอย่างการมีสัจจะและความจริงใจได้นะครับ เพราะฉะนั้นหัวข้ออื่นๆ ในส่วนนี้ก็จะเป็นการมีสัมมาวาจา หรือการมีหัวข้อคุณธรรมต่างๆ
ข้อ ๒ จุดประสงค์ข้อ ๒ บอกสาเหตุที่จะต้องมีคุณธรรมข้อนั้นๆได้ ตัวอย่างในตารางก็เช่น บอกสาเหตุที่จะต้องมีสัจจะและความจริงใจได้
จุดประสงค์ข้อ ๓ บอกผลดีที่เกิดจากการมีคุณธรรมข้อนั้นๆได้ ในตารางตัวอย่างบอกผลดีที่เกิดจากการมีสัจจะ และความจริงใจได้
จุดประสงค์ข้อ ๔ บอกวิธีการที่จะต้องปฏิบัติตน และปฏิบัติตนเพื่อให้เป็นผู้มีคุณธรรมตามหัวข้อนั้นๆได้ ในตารางตัวอย่าง จากตารางตัวอย่าง บอกวิธีที่จะต้องปฏิบัติตนและปฏิบัติตนเพื่อให้เป็นผู้มีสัจจะและความจริงใจได้
จากจุดประสงค์ของอริยมรรคทั้ง ๔ ข้อนั้น เมื่อนำมาวิเคราะห์เป็นตัวเนื้อหา ในช่องเนื้อหาจะได้ดังนี้
จุดประสงค์ข้อ ๑ บอกความหมายของการมีสัจจะ และ ความจริงใจได้ หัวข้อธรรมอื่นๆ ก็จะมีแนวเช่นเดียวกันนี้นะครับ การมีสัจจะและความจริงใจคือ
ทางกลุ่มคิดว่าเนื้อหาในส่วนที่ ๑ เป็นเนื้อหาที่ตรงแล้วตามจุดประสงค์ข้อที่ ๑
เนื้อหาข้อที่ ๒ สาเหตุที่จะต้องมีสัจจะและความจริงใจมาจากการเห็นโทษอันจะเกิดจากความไม่มีสัจจะและความจริงใจ เช่น
เนื้อหาในส่วนที่ ๒ นี้ เป็นเนื้อหาที่ยกมาเป็นตัวอย่าง ซึ่งถ้าเทียบในแต่ละระดับชั้น อาจจะยกมาให้เฉพาะเจาะจงกว่านี้ก็ย่อมจะทำได้
เนื้อหาของ จุดประสงค์ที่ ๓ ผลดีอันจะเกิดจากการมีสัจจะและความจริงใจ คือ
เนื้อหาของ จุดประสงค์ที่ ๔ วิธีการที่จะปฏิบัติตนเพื่อให้เป็นผู้มีสัจจะและความจริงใจ คือจะต้องมี สังกัปปะ อย่างต่อเนื่อง และมี สัมมาทิฏฐิ เป็นตัวนำ ขั้นตอนการปฏิบัติควรมีดังนี้
นำข้อธรรมจากอริยมรรคองค์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องมาเกื้อหนุนกัน เช่น
เนื้อหาข้อ ๒ ที่เป็นส่วนของขั้นตอนการปฏิบัติ คือ กำหนดคำปฏิญาณหรือสัจจะของตนและประกาศสัจจะ หรือ คำปฏิญาณนั้นต่อตนเองหรือผู้อื่น ตัวอย่างเช่น เราต้องพูดแต่ความจริง เราต้องรักษาสัจจะไว้ด้วยชีวิต เป็นต้น
ปวารณาตนให้ผู้อื่นตักเตือนหรือท้วงติงได้เมื่อตนได้ทำผิดไปจากคำปฏิญาณ
กำหนดแนวทางปฏิบัติตนเพื่อสารภาพผิดในกรณีที่ผิดคำปฏิญาณและเพื่อตรวจสอบตนเองโดย
มีหมายเหตุอยู่ ๒ ข้อ
ข้อ ๑ ในช่องสื่อและวิธีสอนนั้น ในช่องสื่อ วิธีสอน และการประเมินผลนั้น รายละเอียดต่างๆ จะปรากฎอยู่ในสื่อการเรียน
ข้อ ๒ เนื้อหาของจุดประสงค์ที่ ๔ ตั้งแต่ข้อ ๒ เป็นต้นไป อาจไม่ต้องเขียนไว้ในตารางวิเคราะห์นี้ก็ได้ เพราะจะปรากฎอยู่ในกิจกรรมการเรียนการสอนอยู่แล้ว แต่ที่ต้องเขียนไว้ในตารางนี้ก็เพื่อให้มองเห็นแนวทางในการจัดกิจกรรมได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
ขณะนี้แต่ละกลุ่มได้ดำเนินการทำตารางวิเคราะห์ตามแนวดังที่กระผมกราบเรียนพระเดชพระคุณท่านให้ได้ทราบ ขอความกรุณาพระเดชพระคุณท่านช่วยให้คำชี้แจง และคำแนะนำเพิ่มเติม เพื่อที่คณะปฏิบัติงานจะได้ทำงานได้อย่างถูกต้องด้วย ครับกระผม
ท่านพุทธทาส : รู้สึกว่าเป็นที่เข้าใจกันแล้วอย่างถูกต้อง ตามที่แสดงมานี้เห็นว่าครบบริบูรณ์ ส่วนข้อปลีกย่อยบางอย่างนั้น ปรับปรุงแก้ไขใหม่ได้ตามต้องการในที่ประชุมใหญ่ หรือประชุมอะไรก็แล้วแต่
ในที่นี้อยากจะแนะให้สังเกตอะไรสักนิดหนึ่ง
ข้อที่ ๑ จุดประสงค์ข้อที่ ๑ มีอยู่ว่า บอกความหมายของการมีสัจจะและความจริงใจได้ ข้อนี้อยากให้เติมสัก ๒ อย่างคือ บอกลักษณะและความหมาย เพราะว่าลักษณะนั้นมันไม่ได้เล็งถึงความหมาย ความหมายไม่ได้เล็งถึงลักษณะ บอกลักษณะและความหมาย
ทีนี้ข้อ ๔ ข้อสุดท้ายที่เรื่องปฏิบัติอย่างไรนั้น ข้อที่ว่ามีคำปฏิญาณนั้น น่าจะใส่แบบ รูปแบบของคำปฏิญาณไว้ด้วย โอ้..ไม่ใช่คำสารภาพผิด แต่คำเพื่อสารภาพผิดในกรณีที่ทำผิดคำปฏิญาณ คำสารภาพผิดว่าอย่างไรนั้นควรจะมีแบบไว้ด้วย เรียงคำพูดขึ้นให้เหมาะ ซึ่งเชื่อว่าครูบาอาจารย์ทั้งหลายคงจะช่ำชองในเรื่องนี้อยู่แล้ว เพราะว่าเรื่องลูกเสือมีคำปฏิญาณกันเยอะแยะไปหมด การสารภาพผิดนี่ ถ้าถือตามหลักของภิกษุที่ทำกันอยู่ ก็บอกว่าข้าพเจ้าทำผิดข้อนั้นเลย ข้าพเจ้าทำผิดข้อนั้นเลย ทำผิดข้อนั้นโดยอย่างนั้นอย่างนั้นอย่างนั้น ข้าพเจ้าเห็น บัดนี้ข้าพเจ้าเห็นแล้วว่าเป็นความผิดอย่างนั้น ข้าพเจ้าขอทำคืน ข้าพเจ้าขอทำคืน และถ้าเป็นการกระทำผิดที่เกี่ยวเนื่องกับบุคคล ก็ขอให้ขอโทษบุคคลนั้นๆ เสียก่อนด้วย ถ้าทำผิดเกี่ยวกับสิ่งของก็ขอให้จัดทำให้ถูกต้องเกี่ยวข้องสิ่งของนั้น เช่นไปลักขโมยเขามา เช่นไปลักขโมยเขามาเกี่ยวกับสิ่งของ จะต้องคืนสิ่งของหรือจะต้องทำอย่างใดอย่างหนึ่ง เกี่ยวกับบุคคลก็ต้องขอโทษบุคคล เรียงคำพูดว่า ข้าพเจ้าได้ทำผิดข้อนั้นๆๆๆ บัดนี้ข้าพเจ้าสำนึกแล้ว ขอปฏิญญาว่าจักไม่ทำเช่นนี้อีกต่อไป ถ้ามีการล่วงละเมิดใครเข้าก็ขอโทษคนนั้น ถ้ามีการทำผิดต่อสิ่งของก็ทำเสียให้ถูก สิ่งของที่ได้มาโดยไม่ชอบธรรมนั้น ตามหลักทั่วไปเขาให้เอาไปทิ้งเสีย อย่าเอาไปกินไปใช้
นี้ก็ถูกดีแล้วเหลือแต่ว่าไอ้แต้มเติมไอ้ที่ยังไม่สมบูรณ์ให้สมบูรณ์ ควรจะปรับให้ดีที่สุด คือ ให้กะทัดรัดที่สุดแต่ให้ครบถ้วนที่สุด กะทัดรัดแต่ไม่ครบถ้วนนั้นใช้ไม่ได้ สื่อการสอนนั้นจะมีอยู่ในอีก อีกเล่มหนึ่ง อีกต่างหาก ไม่ได้รวมอยู่ในอันนี้
ดังนั้นก็เป็นอันว่าเท่าที่ทำนี้เห็นด้วย เห็นด้วย นี่แบบสากลนะ อันนี้มันเป็น...มันต้องเป็นปฏิภาณ ปฏิภาณไหวพริบ ไหวพริบของครูอาจารย์ที่สอนนั่นเอง
คณะครูอาจารย์ : กระผมขอกราบเรียนชี้แจงเพิ่มเติมสักเล็กน้อยครับ หลังจากเมื่อได้จุดประสงค์ซึ่งเขียนลงในตารางเมื่อกี้นี้แล้ว ก็จะนำตารางนั้นมาทำรายละเอียด เป็นสื่อนำไปให้ครูสอน สาเหตุที่ต้องทำสื่อก็เพราะว่า จริงๆแล้วผู้ที่จะสอนวิชาจริยศึกษาได้นั้น ส่วนหนึ่งจะต้องมีความรู้ที่เพียงพอพอสมควร แล้วก็คิดว่าขณะนี้ผู้ที่มีความรู้ที่เพียงพอ แล้วก็มีทรัพยากรต่างๆพร้อม ก็คือคณะที่เข้าประชุมปฏิบัติการในครั้งนี้ เพราะฉะนั้นจึงต้องทำในส่วนรายละเอียด ที่เมื่อครูเห็นแล้วสามารถกลับนำไปสอนได้อันนี้เป็นส่วนหนึ่ง แล้วอีกส่วนหนึ่งก็คือ ลักษณะสื่อนั้นอาจจะทำได้หลายๆ รูปแบบ อย่างสื่อทั้ง ๒ ชุดที่แจกให้กับคณะผู้เข้าประชุมแต่ละกลุ่มได้ดูนั้น จะมีอยู่ ๒ ลักษณะในจุดประสงค์เดียวกัน ซึ่งอาจจะทำได้มากกว่านี้ก็ได้นะครับ
ลักษณะที่ ๑ ก็คือ อันที่มีรูปนะครับ ใช้ให้ครูสอนนำ หมายถึงให้ครูเป็นผู้อ่านนำโดยให้นักเรียนดูรูปนะครับ อันนี้เป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้น ซึ่งยังไม่ได้เขียนรูปอย่างชัดเจน กับอีกชุดหนึ่งนั้น ทำเพื่อให้นักเรียนเรียนได้ด้วยตนเอง
ทีนี้อันไหนจะดีนั้นก็จะต้องนำไปทดลองดูก่อน ซึ่งจะมีขั้นตอนของการทดลองอีกครั้งหนึ่งประมาณวันที่ ๒๐ ถึง ๒๕
นอกเหนือจากสื่อ ๒ รูปแบบนี้แล้วอาจจะกำหนดลักษณะของการสอนเป็นการจัดกิจกรรมในรูปของเกมส์ หรือ การละเล่นต่างๆ แต่ทั้งนี้และทั้งนั้นเพื่อให้ได้ตามจุดประสงค์ที่กำหนดไว้ เพราะฉะนั้นสื่อทั้ง ๒ ชุดนี้จึงเป็นเพียงตัวอย่างที่เล็กน้อยเท่านั้นเองครับกระผม
ท่านพุทธทาส : น่าดู.... มีอะไรที่จะปรึกษาอีก....ชื่นใจ นับว่าเข้าใจถูกต้องแล้วก็ทำรวมตามนั้นได้สำเร็จประโยชน์
ในข้อ ๑ จุดประสงค์ พวกจุดประสงค์ข้อ ๑ ที่ว่า บอกลักษณะและความหมายของการมีสัจจะและความจริงใจได้ นี้ก็ข้อที่ว่า มันคืออะไร มันคืออะไร นี่จะแสดงออกไปเป็นลักษณะอาการ หรือความหมายแห่งลักษณะอาการ หรือ ประเภทจำแนกกี่อย่างๆ หรือ อุปมา มันอุปมาด้วยอะไร ความมีสัจจะอุปมาด้วยอะไร ความไม่มีสัจจะอุปมาด้วยอะไร นี้เป็นต้น
ทีนี้ข้อ ๒ บอกสาเหตุที่จะต้องมีสัจจะและความจริงใจได้ สาเหตุที่ทำให้ต้องมีสัจจะและความจริงใจ นี่ก็ตอบ นี้เป็นหลักกำปั้นทุบดิน หรือว่าพันอยู่ในตัวมันเอง คือโทษ สาเหตุที่ทำให้มนุษย์ต้องมีสัจจะความจริงใจนั้นมันก็คือโทษ อันตราย ความร้ายกาจอะไรต่างๆ ที่เกิดมาจากการที่คนเราไม่มีสัจจะและความจริงใจ เมื่อเขามองเห็นโทษนั้นแล้ว เขาก็อยาก เขาก็อยาก คือความอยาก อยากจะเป็นผู้มีสัจจะและความจริงใจ มันก็มาจากความอยากซึ่งเกิดมาจากการเห็นโทษของอันตราย ของไอ้สิ่งที่ทำผิด หรืออันตราย มันก็ไม่เสียหลักอริยสัจหรอก เพราะมันมาจากความอยาก แล้วก็อยากจะพ้นโทษและอันตรายเหล่านั้น ยึดหลักอย่างนี้ไว้ได้แล้วก็ไม่มีทางจะผิด
ข้อ ๓ บอกผลดีที่เกิดจากการมีสัจจะและความจริงใจ นี้ก็ได้ บอกผลดี ผลฝ่ายดีที่เกิดจากการมีสิ่งนั้น มันก็มีความหมายอย่างเดียวกับคำว่า นิโรธ นิโรธ คือ ดับทุกข์ได้
ทีนี้ก็จุดประสงค์ข้อ ๔ บอกวิธีการที่จะต้องปฏิบัติและปฏิบัติตนเพื่อเป็นผู้มีสัจจะและความจริงใจได้ ก็คือปฏิบัติข้อธรรมะเกี่ยวกับสัจจะ หรือสัมมากัมมันตะนี้อย่างต่อเนื่อง แล้วก็มีสัมมาทิฏฐิเป็นตัวนำ เพราะว่ามันจะมีปัญหาปลีกย่อยเกิดขึ้นอีกมากเกี่ยวกับเรื่องนั้น แล้วก็จะได้ใช้สัมมาทิฏฐินี้ขจัดปัญหาเหล่านั้นเสีย นี่เขียนไว้แยะ ดีเหมือนกันเผื่อเลือก ให้ครูได้เลือกโดยสะดวก
เมื่อตะกี้ได้ยินว่าเราจะต้องทำหลักสูตรและวิธีการสอนที่เหมาะสำหรับครูผู้จะสอนที่ยังไม่รู้เรื่องเหล่านี้เสียเลย อันนี้ดี ถูกแล้ว เพราะว่ามันเป็นเรื่องใหม่ เรื่องจริยธรรมที่มีหลักมีอะไรอย่างนี้มันเป็นเรื่องใหม่ ครูส่วนมากยังไม่เคยเรียน ก็ต้องทำชนิดที่ผู้ที่ยังไม่เคยเรียนนั้นเข้าใจได้และสอนได้ แต่เชื่อว่าต่อไปในอนาคต คงจะเป็นของที่ทำได้ง่ายขึ้น ง่ายขึ้น ต้องใช้ความอดทนรอคอยบ้าง
แล้วเป็นอันว่าถ้าทุกกลุ่มถือหลักอย่างนี้แล้วคงจะไม่มีปัญหาอะไร นี่หลักปฏิบัติในส่วนบุคคล ถือตามหลักอริยมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งทางพุทธศาสนาถือว่านั่นแหละตัวพรหมจรรย์ นั่นแหละตัวพุทธศาสนา อริยมรรคมีองค์ ๘ นี่คือตัวหลัก ที่เป็นเนื้อเป็นตัวของพระพุทธศาสนา เราจะต้องยึดถือหลักนี้ซึ่งเป็นหลักที่พระพุทธเจ้าท่านได้ทรงวางไว้เอง กี่เรื่อง กี่สิบเรื่อง กี่ร้อยเรื่อง หรือจะถึงพันเรื่อง ในพระไตรปิฎก นั้น เมื่อพูดถึงวิธีปฏิบัติเพื่อจะออกเสียจากปัญหาหรือจากความทุกข์นั้นๆแล้ว ท่านระบุอริยมรรคมีองค์ ๘ ทั้งนั้นเลย ทางให้ถึงความหมดทุกข์หมดปัญหานั้นทรงระบุหลักอริยมรรค มีน้อยที่สุดที่ระบุเพียงว่าใช้สมถะและวิปัสสนา ถ้าใช้แต่เพียง ๒ คำว่าใช้สมถะและวิปัสสนานั้นต้องหมายความว่ามีศีลรวมอยู่ในสมถะ และสมถะก็คือเรื่องสมาธิทั้งหมดในองค์มรรค วิปัสสนาก็คือเรื่องสัมมาทิฏฐิทั้งหมดในองค์มรรค แต่อันนี้ไม่ต้องสนใจ ไม่ต้องเอามาเรียนก่อนก็ได้ แต่ถ้าเรียนมากไป มากไป ก็จะพบในพระไตรปิฎกว่า ในบางกรณีซึ่งมีน้อยที่สุด พระองค์ตรัสคำว่าสมถะและวิปัสสนา เป็นทางให้ดำเนินถึงความดับแห่งทุกข์อย่างนี้ก็มี แต่ต้องเข้าใจว่าแม้จะตรัสสั้นๆ เพียง ๒ คำว่าสมถะและวิปัสสนานั้น มันก็ยังขยายออกไปเป็นอริยมรรคมีองค์ ๘ ศีลและสมาธิเป็นสมถะ ปัญญาเป็นวิปัสสนา ผลมันเท่ากัน และท่านตรัสให้มันย่อ
โดยเหตุที่พุทธศาสนาเป็นสัจธรรมของธรรมชาตินั้น เป็นความจริงของธรรมชาติ ไม่ใช่เป็นการบัญญัติแต่งตั้งของผู้ใด แม้ของพระพุทธเจ้าก็หามิได้ โดยที่พระองค์ตรัสยืนยันว่า ธรรมะหรือธรรมธาตุ ธรรมธาตุหรือสัจธรรมนั้น มันมีอยู่อย่างนั้น อย่างนั้น อย่างนั้นตามกฎของธรรมชาติ ตถาคตได้พบแล้วได้รู้แจ้งแล้วซึ่งกฎเกณฑ์อันนั้น แล้วก็นำมาบอก มากล่าว มาสั่งสอน มาแสดง บางทีก็ใช้คำว่าบัญญัติ แต่ไม่ใช่บัญญัติเอาเองตามพอพระทัย บัญญัติตามกฎธรรมชาติเหล่านั้นที่มีอยู่ตามเป็นจริง นี่เป็นหลักสำคัญเป็นลักษณะเฉพาะของพุทธศาสนา คือ ศาสนาตามธรรมชาติ ศาสนาคือใช้เหตุผลตามธรรมชาติ ไม่มี ไม่มีการบัญญัติโดยบุคคล มีบุคคลรู้ความจริงของธรรมชาติแล้วบัญญัติไปตามกฎของธรรมชาติ จึงถือว่าเป็นศาสนาแห่งเหตุผลตามกฎของธรรมชาติ เราจึงได้หลัก ๔ ประการนี้ขึ้นมาว่า
เป็นหลักใช้กับธรรมชาติทุกชนิด ทุกอย่างที่ยังมีอยู่ในสากลจักรวาล
ถ้าสมมุติว่าจะสอนอย่างศาสนาที่มีพระเจ้า เขาก็ไม่พูดอย่างนี้ เขาจะไม่สอนอย่างนี้ อะไรๆ จะไปรวมอยู่ที่พระเจ้า อะไรๆ จะไปรวมอยู่ที่การอ้อนวอนขอร้องพระเจ้า เขาจะไม่สอนอย่างนี้ แต่ถ้าเขาจะยอมในข้อที่ว่าพระเจ้านั้นแหละคือธรรมชาติ คำสั่ง คำระบุชี้ของพระเจ้า ก็คือเรื่องตามกฎของธรรมชาติ อย่างนี้มันก็ยังได้และถูกเหมือนกัน มันมีทางที่จะกลมกลืนกันได้ ถ้านักเรียนที่ถือศาสนาอื่น เรียนร่วมชั้นกัน จะยอมรับฟังว่า คำว่า พระเจ้า คือ ธรรมชาติ คือ กฎของธรรมชาติ แล้วก็พูดอะไรๆ ออกมาเป็นกฎของธรรมชาติ ตามกฎของธรรมชาติ มันก็จะเหมือนกันแหละ เหมือนกับเรื่องนี้ว่าสิ่งทั้งปวงมีเหตุมันจึงเกิดขึ้นมา ถ้าจะดับสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาเสียก็ต้องดับเหตุของสิ่งที่ไม่พึงปรารถนานั้นเสีย ถ้าต้องการผลดีอย่างไร ก็ต้องสร้างเหตุของผลที่ดีที่ปรารถนานั้นขึ้นมา มีใจความเท่านี้ ทีนี้เรื่องมันมีมาก เรื่องนั้น เรื่องนี้ เรื่องโน้นเป็นหลาย สิบเรื่องหรือหลายร้อยเรื่อง แล้วก็แจกแจงกันออกไป แต่เท่าที่เป็นหลักสำคัญเป็นที่รวบรวม มันก็มี ๘ ประการนี้ก็พอแล้ว ๘ ประการนี้ก็พอแล้ว เรียกว่า มีหลักใหญ่ ๔ ประการ แยกแต่ละประการออกให้ละเอียดเป็นย่อยๆๆๆ แล้วสำคัญที่สุด คือ หมวดที่ว่าทางถึงความหมดปัญหา หมดความทุกข์มี ๘ ประการ ที่จริงจะว่าให้เกินนั้นก็ได้แต่มันไม่จำเป็น มันทำให้มากเปล่าๆ มีคำตรัสว่าไม่ควรจะลดออกหรือเพิ่มเข้าแก่หลักที่ได้วางไว้แล้วอย่างนี้นั้นก็มี พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าอย่างนี้ ไม่ใช่วิสัยที่จะลดออกหรือจะเพิ่มเข้าให้แก่หลักอริยสัจ ๔ ซึ่งมีอริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นหัวใจ คือความดับทุกข์
พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า เราพูดแต่เรื่องความทุกข์กับความดับทุกข์ แต่ถ้าให้พูดเพียงอย่างเดียว แต่เรื่องความดับทุกข์ สักแต่เรื่องความดับทุกข์ แต่เนื่องจากถ้าไม่รู้จักทุกข์มันก็ดับทุกข์ไม่ได้ ดังนั้นทุกคนจะต้องมีปัญหาขึ้นมาก่อน แล้วจึงจะค่อยหาวิธีที่จะแก้ปัญหา ถ้าจะแก้ปัญหาโดยไม่มองเห็นปัญหามันก็เป็นสิ่งที่น่าหัว เราจึงพูดถึงเรื่องตัวความทุกข์คือสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา และตัวความดับแห่งทุกข์ในฐานะเป็นสิ่งที่พึงปรารถนา ในเรื่องอริยสัจ ๔ มีครบทั้ง ๒ เรื่อง คือ ทั้งเรื่องความทุกข์ และ เรื่องความดับทุกข์ คืออะไร/จากอะไร ในฝ่ายที่เป็นปัญหา เพื่ออะไร/โดยวิธีใด เป็นฝ่ายที่ดับปัญหา ตัดปัญหา
หลักนี้ขอได้ช่วยกันจำไว้เถิด ยังจะใช้ได้ในเรื่องต่างๆ อีกมากมายในกาลข้างหน้า นี้เป็นหลักพื้นฐานที่จะต้องมีอยู่ ผิดไม่ได้ โดยหลักพื้นฐานนั้น จะต้องมีอยู่อย่างนี้ จะผิดไม่ได้ ที่กล่าวว่าหัวใจของพุทธศาสนาคือคำที่กล่าวว่า ธรรมเหล่าใดมีเหตุเป็นแรงเกิดพระตถาคตดับเหตุแห่งธรรมนั้น นั่นแหละความดับแห่งธรรมนั้น ดับเหตุแห่งความเกิดแหละเหตุแห่งความดับของธรรมนั้น ก็คือเรื่องอย่างนี้ คือเรื่องอริยสัจ มันเป็นการดีมากที่ว่าเรามีระบบจริยธรรมโดยยึดเอาหัวใจของพุทธศาสนาเป็นหลัก แล้วมันก็จะเป็นหลักได้ต่อไป ต่อไป ต่อไปจนตลอดชีวิต หรือว่าเมื่อจะไปเผชิญหน้ากับลัทธิอื่นใดก็สามารถเผชิญได้เพราะว่ามันเป็นหลักของธรรมชาติ ขอแสดงความยินดีที่ทุกคนมีความเข้าใจเรื่องหลักเกณฑ์ของเรื่องอย่างถูกต้องแล้ว จึงได้วางรูปร่าง รูปโครงออกมาอย่างนี้ แล้วคงจะได้ปรับปรุงกันอีกทีหนึ่งเมื่อเข้าที่ประชุมใหญ่ ให้มีความกะทัดรัดแต่ครบถ้วนยิ่งๆ ขึ้นไป
ขอปวารณาไว้ว่า ถ้าจะถามอะไรหรือจะปรึกษาอะไรก็ได้ บอกได้ วันนี้ไม่ได้บรรยาย แต่จะบรรยายพรุ่งนี้หรือวันต่อไป สำหรับหัวข้อที่ยังค้างอยู่อีก ๓-๔ หัวข้อ ซึ่งมันไม่เกี่ยวกับการทำหลักสูตรนัก
คณะครูอาจารย์ : กราบนมัสการเรียนถามพระคุณเจ้าว่า ในขั้นการสอนที่ท่านได้ให้มา ๖ ขั้นนั้น ในตอนปฏิบัติตอนท้ายนั้นท่านได้ให้มีการอธิษฐาน แล้วก็ปฏิญาณ แล้วก็สารภาพผิด ทีนี้เมื่อเราจัดทำหลักสูตรแล้วนะคะ อย่างเช่นในระดับ ป.๖ นี่นะคะ เด็กจะต้องเรียนทั้ง ๕๔ หัวข้อ ในองค์มรรคที่เราแบ่งไว้ ๘ หมวดนั้น ในเด็ก ป.๖ จะเรียนทั้ง ๕๔ หัวข้อนั้นเลย ๕๔ ตัวบทนั้น เพราะฉะนั้น ถ้าให้เด็กเรียนแต่ละตัวบทนั้นจะต้องเรียนทั้ง ๖ ขั้น เวลาสอนจะสอนทั้ง ๖ ขั้นที่ท่านบอก เพราะฉะนั้นเด็กก็จะต้องอธิษฐานถึง ๕๔ หัวข้อ ปฏิญาณทั้ง ๕๔ หัวข้อ และสารภาพผิดในเรื่องที่เขาได้กระผิดใน ๕๔ หัวข้อนั้น ดิฉันมีความเห็นว่ามันมากเกินไป แล้วมันก็เกรงว่าจะไม่ได้ผล ถ้าเราจะลดลง ปฏิญาณในเพียงบางเรื่อง ในเรื่องที่จำเป็นๆ จะได้ไหมคะ เพราะว่าในระดับ ป.๑ ก็จะเรียนเพียงประมาณ ๒๐ หมวดแค่นั้น ๒๐ ตัวบทนะคะ แต่ใน ป.๖ นี่ถ้าเรียนแล้ว ถ้าเช็คดูตามหลักสูตรแล้วจะเรียนถึง ๕๔ ตัวบท เพราะฉะนั้นเขาก็จะต้องปฏิญาณถึง ๕๔ ครั้ง ในขณะที่เด็ก ป.๑ ปฏิญาณแค่ประมาณ ๒๐ เรื่องแค่นั้นก็คงไม่เป็นไร แต่พอมองมาดูถึง ป.๕ ป.๖ แล้ว เด็กจะต้องปฏิญาณเยอะ ก็คิดว่ามันจะเฟ้อเกินไป แล้วก็มันคล้ายๆ จะไม่ศักดิ์สิทธิ์อะไรอย่างนี้ค่ะ ปฏิญาณอาทิตย์ละเรื่อง อาทิตย์ละเรื่องอย่างนี้นะค่ะ จึงอยากจะนมัสการเรียนถามพระคุณเจ้าว่า เราจำเป็นไหมที่จะต้องปฏิญาณในทุกเรื่อง ถ้าเราจะเลือกเรื่องเฉพาะ ปฏิญาณเฉพาะเรื่องที่มันจำเป็นๆ สำคัญๆ เท่านั้นใน ๑ ปีนี้จะได้ไหม?
ท่านพุทธทาส : ไม่ได้ปฏิญาณคราวเดียวทุกข้อ ควรจะเป็นปฏิญาณตามโอกาสที่ว่าไอ้คาบนี้มันสอนข้อไหน ก็ปฏิญาณข้อนั้น ก็เป็นอันว่าปฏิญาณทั้งหมดอยู่ดีแต่ไม่ใช่คราวเดียวกัน แล้วเมื่อเขาทำผิดก็ระบุมาเฉพาะข้อที่เขาทำผิด ก็ปฏิญาณที่ละข้อหรือจัดให้ปฏิญาณที่ละข้อ ตามสมควรแก่เหตุการณ์หรือแก่โอกาส สอนข้อนี้จบลงไปแล้ว ก็ปฏิญาณเป็นคำสุดท้ายทีเดียวก็พอ ข้อเดียวก็พอ ถ้าสอน ๓-๔ ข้อ ก็ ๓-๔ ข้อ แล้วเป็นอันว่าปฏิญาณหมด ปฏิญาณทั้งหมด เมื่อสอนจบหมดก็เป็นการปฏิญาณทั้งหมด
คณะครูอาจารย์ : ขอนมัสการพระเดชพระคุณท่านอาจารย์ครับ ปัญหาที่มีอยู่จริง ยกตัวอย่างคำปฏิญาณของลูกเสือก็ดี ยุวกาชาดก็ดี เด็กปฏิญาณได้ เด็กว่าได้คล่อง แต่การปฏิบัติไม่เป็นไปเช่นนั้น กระผมเป็นห่วงว่า แม้เด็กจะปฏิญาณได้แล้วตามแบบของลูกเสือและยุวกาชาด ปัญหาจริงจะมีอยู่ว่าเด็กหาได้ทำไปเช่นนั้นไม่ แล้วการกระทำครั้งนี้ไม่สำเร็จประโยชน์ นั่นประเด็นหนึ่งที่กระผมจะถามเป็นประเด็นแรก
ท่านพุทธทาส : เอ่อ นี่มันคนละปัญหาแล้ว มันคนละปัญหาแล้ว เดี๋ยวนี้เรามีปัญหาว่าจะวางรูปแบบการอบรมอย่างไร? ที่ว่าลูกเสือปฏิญญาแล้วไม่ทำตามปฏิญญานั้น มันก็ผิดไปที่ลูกเสือ มันไม่ได้ผิดอยู่ที่หลักการที่วางไว้ เช่นเดียวกับพวกอุบาสก อุบาสิกาสมาทานศีล ๕ แล้วก็ไม่ได้ปฏิบัติกันกี่มากน้อย มีปัญหาอย่างเดียวกัน สมาทานศีลแล้วก็ไม่ได้ปฏิบัติเต็มที่ ดังนั้น จะแก้ไขอย่างไรนั้นมันอีกปัญหาหนึ่ง ก็หาวิธี แต่เดี๋ยวนี้เราต้องการจะกล่อมเกลาเด็กให้มีนิสัยเป็นผู้ดี คือ ซื่อตรงต่อตัวเองเคารพต่อตัวเอง เมื่อรู้สึกว่าได้ทำผิด หรือไม่ได้ปฏิบัติ คือทำผิดนั้น เขาจะต้องสารภาพผิด ลูกเสือไม่มีระเบียบสารภาพผิด มันต่างกัน ไม่ทำก็แล้วไป ไม่ทำก็แล้วไป อย่างรับศีลนี้ รับศีลที่วัด รับแล้วก็แล้วไป หาคนที่มีศีลได้โดยยาก แล้วก็ยังไม่มีระเบียบที่ให้ผู้ผิดศีลนั้นน่ะมาแสดงโทษ ไม่เหมือนกับพระ ถ้าพระสมาทานสิขาบทแล้ว พอทำผิดสิขาบทไหนก็ต้องแสดงอาบัติทันที ทันทีที่รู้ว่าได้ทำผิด คนละขั้นตอน เอ้า, มีอะไรอีก
คณะครูอาจารย์ : ถ้าอย่างนั้นหมายความว่าขั้นตอนนี้ ปัญหานี้ คณะนี้ยังไม่ต้องคิดที่จะทำจะแก้ใช่ไหมครับ เพราะว่าเรามาคิดกันอยู่ว่าทำอย่างนี้แล้วเด็กจะมีคุณธรรมตามนี้หรือไม่ นี่เป็นปัญหาที่ค้างอยู่ในใจที่กระผมได้คิดอยู่
ท่านพุทธทาส : ในข้อนี้เป็นเรื่องการอบรม ไม่ใช่เรื่องสั่งสอนโดยหลักวิชา แต่เป็นเรื่องการอบรมให้ปฏิบัติตามคำสอน เรียกว่าส่วนที่เป็นการอบรม ให้เป็นหลักถือกันทั่วไปว่าเราจะต้องถืออย่างนั้นอย่างนั้น พอทำผิด ทำผิดแล้วก็จะต้องสารภาพผิด เป็นหลักการที่มีประโยชน์ แล้วก็ใช้กันอยู่ในหลายๆ ศาสนา แม้แต่พุทธศาสนา พระก็ต้องแสดงอาบัติทุกคราวที่ได้ประพฤติล่วงไปในข้อนั้นๆ แม้เพียงข้อเดียว แต่อุบาสกอุบาสิกานี้ไม่ได้ทำ ลูกเสือก็ไม่ได้ทำ สารภาพผิดไม่ได้ทำ ที่นี้เราอยากจะตั้งต้นกันใหม่ว่า มีระเบียบปฏิบัติ ให้ผู้ที่ทำผิดรู้ตัวว่าทำผิดแล้วจะต้องสารภาพ คือ เพื่อทำคืน ตั้งต้นใหม่หรือทำคืน โดยที่ไม่ต้องมีใครมาขู่เข็ญบังคับ ที่เรียกว่าเป็นผู้ดีนี้ ไม่ต้องมีใครมาคอยขู่เข็ญลงโทษอะไรให้ ให้ยุ่งยาก ตัวเองนั่นแหละรู้ความผิดของตัวเอง แล้วก็ทำคืน เรียกว่า ตนเองปกครองตนเอง รับผิดชอบตนเอง ซึ่งเป็นหลักของพุทธศาสนา เอ้า, มีอะไรอีก
คณะครูอาจารย์ : กลุ่มของกระผมจะทำหมวดที่ ๔ สัมมาสติ อยากจะขอกราบขอความกรุณาว่า ข้อ ๒ ความเป็นผู้มีสติรวดเร็วทันเวลาในทุกกรณี กับข้อ ๓ ความเป็นผู้มีสติยับยั้งชั่งใจทันต่อเหตุการณ์ ๒ ข้อนี้ทางกลุ่มคิดว่าจะรวมเข้าไว้ เพื่อที่จะสร้างสื่อและกิจกรรมการสอนเป็นข้อเดียวกัน พระเดชพระคุณท่าน
ท่านพุทธทาส : ก็ได้นะ นั้นแล้วแต่ที่ประชุมแต่ที่จริงไม่เหมือนกันนะ ยับยั้งชั่งใจ ยับยั้งชั่งใจนั่นหมายถึงกำลังใจ ความยับยั้งชั่งใจมีกำลังจิตของสมาธิจึงจะยับยั้งชั่งใจได้ คือ อำนาจฝ่ายธรรมะนั้นเหนือกว่าอำนาจฝ่ายกิเลส จึงใช้คำว่าสามารถยับยั้งได้ ทีนี้ข้อที่ว่าเร็ว เร็วทันนั้นเป็นเรื่องของสติ ข้อบนเป็นลักษณะของสมาธิ ข้อล่างเป็นลักษณะของสติ คือ ไวเป็นสายฟ้าแลบ มันคนละความมุ่งหมาย ยับยั้งนั้นด้วยกำลังจิตที่เข้มแข็ง นึกได้เร็วนี้ เป็นกำลังสมาธิที่คล่องแคล่วที่ฝึกไว้ดี จะรวมกันก็ได้แต่มันขาดอะไรไปบ้าง
คณะครูอาจารย์ : คิดว่าการสร้างสื่อหรือกิจกรรมการสอนนั้น จะให้ได้ทั้ง ๒ อย่างในกิจกรรมอันเดียวกัน
ท่านพุทธทาส : ดังนั้น จึงได้แยกไว้เป็นคนละข้อ โดยหลักธรรมะ ความยับยั้งเป็นเรื่องกำลังจิต ความระลึกได้เร็วเป็นเรื่องกำลังของสติ
คณะครูอาจารย์ : ขอประทานกราบเรียนเจ้าพระคุณท่านอาจารย์ที่เคารพ ดิฉันอยากจะขอประทานความแจ่มเจ้งในเรื่องของการทำปวารณา หรืออธิษฐาน เหมือนดังที่ได้มีผู้มาเรียนถามเมื่อสักครู่นี้นะเจ้าคะ ว่าถ้าหากว่าสำหรับชั้น ป.๕ และ ป.๖ เราจะต้องมีคำอธิษฐาน คำปฏิญาณทั้ง ๕๔ ข้อนั้น ที่ผู้ถามได้กราบเรียนว่า อาจจะเป็นการเฝือไปสำหรับเด็ก เพราะว่าในชั่วระยะเวลาคาบการเรียน และการปฏิบัติของเด็กชั้น ป.๕ และ ป.๖ นั้น มันอาจจะยังไม่ทันฝังลึกลงไปในใจทุกๆ ข้อ ถ้าหากเขาจะว่าทั้ง ๕๔ ข้อนะเจ้าคะ ทีนี้สมมุติว่าในการที่จะต้องมีคำปฏิญาณ อธิษฐานหรือสารภาพผิดหรือปวารณาก็ตาม แทนที่จะต้องเป็นทั้ง ๕๔ ข้อ จะให้เป็นว่า ประการแรกทีเดียวควรจะต้องมีทุกมรรค คือ หมายความว่าทั้ง ๘ มรรค จะต้องมีคำปฏิญาณเกี่ยวกับทั้ง ๘ อริยมรรค ไม่มีขาด แต่ในแต่ละมรรคนั้นอาจจะไม่ต้องครบ เช่น อย่างสมมุติว่า หมวดที่ ๑ สัมมาทิฏฐิมี ๑๓ ข้อ หมวดที่ ๔ สัมมากัมมันตะมี ๑๒ ข้อ เช่นนี้เป็นต้นนะเจ้าคะ ก็อาจจะดูว่าข้อใดที่เป็นข้อที่สำคัญอย่างยิ่ง แล้วก็ต้องการจะเน้นให้เป็นคุณธรรม และเป็นคุณสมบัติที่เด็กในวัยนี้จะพึงมี แล้วก็ปลูกฝังอบรมเอาไว้ ก็เน้นในข้อนั้น นอกจากนี้อีกประการหนึ่ง ธรรมะบางข้อ ในบางหมวด ก็มีความคล้ายคลึงกัน ยกตัวอย่างเช่น ความไม่เห็นแก่ตัวในหมวดสัมมาทิฏฐิ ก็จะมีความคล้ายคลึงกับข้อ ๖ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และเสียสละ ในสัมมาสังกัปปะเป็นต้น และยังจะมีข้ออื่นอีกหลายข้อใน ๕๔ ข้อนี้ ที่มีความคล้ายคลึงกันบ้าง เพราะฉะนั้นในกรณีนี้ ถ้าหากว่าครูผู้สอน หรือคณะอาจารย์ที่จะทำสื่อ ณ ที่นี้ ได้ช่วยกันพิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว ก็อาจจะเลือกได้ว่าข้อใดเป็นข้อที่สำคัญ ที่ควรจะนำมาเน้นให้แก่เด็ก เพื่อที่จะนำมาเป็นคำปฏิญาณ อธิษฐาน หรือปวารณา แต่ข้อสำคัญนั้นจะต้องมีครบทั้ง ๘ อริยมรรค อย่างนี้จะได้หรือเปล่าเจ้าคะ?
ท่านพุทธทาส : ถ้าตกลงกันอย่างนั้นก็ได้นะ มันก็ลดจำนวนข้อ จำนวนข้อของแต่ละหมวดลงไป แต่มีความเห็นว่าไม่ขัดข้องหรอกที่จะมีเฉพาะข้อ ความไม่เห็นแก่ตัวมีความหมายกว้างมากกว่าการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เป็นเพียงผลอย่างหนึ่งของความไม่เห็นแก่ตัวเท่านั้น ความไม่เห็นแก่ตัวนี้จะให้ผลอย่างอื่นอีกมาก ไม่เฉพาะความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่อย่างเดียว ดังนั้น จึงคงไว้เป็นคนละข้อ เพราะความไม่เห็นแก่ตัวนี้มันจะไปจนถึงกับว่าหมดกิเลส เป็นพระอรหันต์ถ้าไม่เห็นแก่ตัว ส่วนความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่นั้น มันก็อยู่แค่ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ อาตมาก็ยังไม่ทราบว่าจะมีวิธีสอนอย่างไร เข้าใจว่าคงจะสอนกันทีละข้อ ในคาบนี้จะสอนข้อหนึ่งหรือสองข้อ พอจบข้อก็มีการอธิษฐานกันเสียเลย มันไม่มากเกินไปที่เด็กจะจดจำไว้ในสมุด เพียง ๕๐ ข้อนี้มันไม่ใช่ต้องจำจนท่องได้ ถ้าจำจนท่องได้มันก็ดี พระต้องจำตั้ง ๒๒๗ ข้อ ก็ยังมีข้อที่ไม่ต้องจำอีกมากมาย ภิกษุณีต้องท่องจำถึง ๓๑๑ ข้อ แล้วยังมีข้อที่ไม่ต้องจำอีกมากมาย แต่นี้เราเป็นชั้นพื้นฐาน เป็นลูกเด็กๆ เรียนจบไปข้อหนึ่งก็มีบทท่องจำไว้ข้อหนึ่ง เรียนจบไปข้อหนึ่งก็มีบทท่องจำไว้ข้อหนึ่ง แต่ถ้าจะมีโอกาสวันพิเศษเป็นวันสุดสัปดาห์ วันสวดมนต์ วันอะไรนั่น ก็มาท่องพร้อมๆ กันทั้ง ๕๖ ข้อ มันก็คงจะได้เหมือนกัน เหมือนกับสวดมนต์ไปเลย แต่ที่จะต้องปฏิบัตินั้น ก็ต้องปฏิบัติระวังไปทีละข้อ ละข้อ เรื่องนี้ไม่สำคัญ เอาไปตกลงกันได้ แทนที่จะสวดมนต์อย่างอื่น มาสวดมนต์ไอ้ข้อปฏิญาณนี้กันเสียทีก็ดีเหมือนกัน ๒๐ นาทีก็จบ แล้วแต่ที่ประชุม ที่ประชุมครั้งสุดท้ายนั่นจะเห็นว่าอย่างไร
นี่เป็นเพียงการยกร่าง เสนอร่าง ยกร่าง เพราะว่าไอ้การที่จะรู้ว่าตัวทำผิดอะไรนั้น มันเฉพาะข้อ เฉพาะข้อ มันจะเหมาหมวดไม่ได้ มันจะต้องสารภาพเฉพาะข้อ เฉพาะข้อ รู้สึกตัวด้วยแล้วก็กลับใจด้วย แล้วก็แสดงอาบัติ คือปฏิญญาในการทำคืน ว่าข้าพเจ้าได้ผิดอย่างนี้ๆ แล้วก็ขอสมาทานว่าจะทำคืนต่อไป เพราะมันต้องสอนทีละข้อ เมื่อเข้าใจแล้วในข้อนั้นแล้วก็ชวนกันปฏิญญาข้อนั้น เด็กจดไว้ในสมุดก็ได้ข้อหนึ่ง แล้ววันหลังๆ อีกวันละข้อทีละข้อจนกว่ามันจะครบ แต่ถ้าเขาเรียนมาตั้งแต่ประถม ๑ โดยวิธีนี้ มันก็น้อยมากแหละ มันน้อยมาก แล้วที่มันเคยเรียนไปปฏิญญาแล้วมันก็เป็นอันแล้วกัน ไปนี้ก็มีเพิ่มๆๆๆ เข้ามาอีกก็ไม่กี่ข้อ อย่าง ป.๖ ต้องเรียนทั้ง ๕๖ ข้อ แต่เขาก็เรียนมาเมื่อ ป.๑ ป.๒ มาเยอะแยะแล้ว เหลือถึง ป.๖ นี่คงจะไม่เท่าไหร่ ก็เป็นอันว่าเรียนหมด เป็นเรื่องการอบรมตลอดเวลา
ไม่ต้องเกรงใจ มีปัญหาอะไรก็ถามได้ ถือเป็นการปรึกษาหารือ
คณะครูอาจารย์ : ขอนมัสการเรียนถามความคิดเห็นจากพระคุณเจ้าอีกสักเรื่องหนึ่งนะคะ คือว่าเมื่อกี้พระคุณเจ้าได้พูดถึงเรื่องของรูปแบบของการปฏิญาณ คำปวารณาและคำสารภาพ อยากจะเรียนถามความคิดเห็นของพระคุณเจ้าในแง่ที่ว่า เราควรจะมีรูปแบบที่เหมือนกันทุกตัวบทไหม? อย่างเช่นว่าในเรื่องของสัจจะก็ควรจะมีตัวบทของคำปฏิญาณอย่างนี้ ในเรื่องของความเพียรก็ควรจะเหมือนของสัจจะเช่นเดียว ควรจะมีรูปแบบที่เหมือนกันทุกตัวบทไหมคะ? ในแง่ของคำปฏิญาณ คำปวารณา และคำสารภาพ อะไรอย่างนี้ค่ะ?
ท่านพุทธทาส : ตัวแบบ รูปแบบคำปฏิญาณจะมีรูปแบบเหมือนกันทุกบท ก็ไม่จำเป็น อาจจะคำขึ้นต้น และคำลงท้ายเหมือนกัน ตรงกลางต่างกัน ให้มีคำปฏิญญายืนยันว่า ข้าพเจ้าเป็นคนอย่างนั้น หรือต้องเป็นคนอย่างนั้น ไม่ใช้คำว่าข้าพเจ้าจะเป็นคนอย่างนั้น เพราะคำว่าจะนั้นมันไม่มีกำหนด ยังไม่ทำก็ได้
คณะครูอาจารย์ : แล้วนั่นก็คือหมายความว่า เราจะเปลี่ยนที่ว่าไม่เหมือนกันเฉพาะตรงตัวบทแค่นั้น แต่หมายความว่าคำขึ้นต้นหรือว่าคำลงท้ายนี่เหมือนกันนะคะ ทีนี้อยากได้ตัวรูปแบบนะคะ อย่างเช่นว่าคำสารภาพผิดนี้ เราควรจะใช้คำที่เป็นตัวต้นแบบนี้ควรจะใช้คำว่าอย่างไรดี?
ท่านพุทธทาส : ก็ยังไม่ได้พูดกันนี่ คิด ลองคิดดูซิ ลองคิดร่างดู
คณะครูอาจารย์ : แต่ขอคำเสนอแนะรูปแบบจากพระคุณท่าน
ท่านพุทธทาส : ถ้าเอาตามแบบของพระนะ ก็ ข้าพเจ้าต้องอาบัติชื่อนี้ แล้วผู้รับแสดงอาบัติก็ว่า ท่านเห็นหรือว่าท่านต้องอาบัติชื่อนี้ แล้วพระองค์นั้นก็ยืนยันว่า เห็น แล้วก็ว่า ต่อไปนี้ข้าพเจ้าจะระวังสังวรเป็นอย่างดี ไม่ทำอีกต่อไป ร่างให้มันคล้ายๆ อย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าได้ทำผิดอะไร คือใช้คำว่าอะไร ว่ากฎของจริยธรรม หรือ ข้าพเจ้าได้ผิดบทบัญญัติข้อที่ว่า ข้อที่ว่า ข้าพเจ้าได้ผิดบทบัญญัติข้อที่ว่า คือ ก็หมายความว่าข้าพเจ้ารู้อยู่ว่าข้าพเจ้าต้อง จะทำอย่างพระทีเดียวก็ได้เหมือนกัน แต่มันจะชอบกล คือ ต้องมีอีกคนหนึ่งนะ หัวหน้าชั้นหรือว่าครูที่ประชุม หัวหน้าก็จะถามว่าเธอเห็น หรือเธอรู้สึกหรือ ว่าเธอได้ทำผิดอย่างนั้น ต้องให้ยืนยันว่าเห็น รู้สึกอยู่ ว่าทำผิดอย่างนั้น ถ้าบอกว่าเห็นที่นี้ก็บอกว่า ข้าพเจ้าจะระวังให้เป็นอย่างดีที่สุดที่จะไม่ทำอย่างนั้นอีกต่อไป กลัวจะว่าแต่ปากว่าข้าพเจ้าทำผิด นี่ต้องย้ำอีกทีว่า ท่านรู้สึกว่าทำผิดจริงไหม ได้เห็นจริงไหม นี่ถ้าไม่อย่างนั้นเขาไม่เห็น เขาก็ว่าแต่ปาก มันก็เป็นโมฆะไม่มีความหมายอะไร
คณะครูอาจารย์ : ที่พระคุณท่านได้กล่าวไปข้างต้นนี้ ก็คือเป็นคำสารภาพผิดนะคะ ทีนี้อยากจะขอตัวอย่างรูปแบบของคำปวารณาค่ะ
ท่านพุทธทาส : ปวารณานั้นต้องจัดให้มีการประชุมตามโอกาส จะเดือนละครั้งหรืออะไรก็สุดแท้ เป็นการประชุมใหญ่ เป็นการประชุมใหญ่ แล้วก็ทุกคนออกมาปวารณาทีละคน นี่เล่าตามแบบพระ แต่ละคน ละคนออกมาปวารณาแก่ที่ประชุม คนเดียวนะ ปวารณาว่า ข้าพเจ้าขอเปิดโอกาส ก็ใช้เป็นคำไทยๆ หน่อย ใช้คำปวารณา ดูจะแปลกหูไปนัก ข้าพเจ้าขอเปิดโอกาสบัดนี้ให้ท่าน... (หมายถึงแต่ละคนๆ นะ) ...ว่ากล่าว ทักท้วง ตักเตือนข้าพเจ้าได้ โดยได้สังเกตเห็นก็ดี ได้ยินได้ฟังก็ดี โดยได้พิจารณา มันมีอยู่ ๓ อย่างคือ
ใช้คำว่า ด้วยการได้เห็นก็ดี ด้วยการได้ฟังก็ดี ด้วยการตั้งข้อสังเกตก็ดี ว่าข้าพเจ้าทำผิด ก็ขอให้ว่ากล่าวตักเตือนข้าพเจ้า มีคำว่าด้วยความเมตตากรุณาด้วย ทุกข้อที่ขอร้องอย่างนี้ในระเบียบวิธีของพระสงฆ์ จะต้องมีคำว่า อาศัยความเมตตากรุณาแก่ข้าพเจ้า จงตักเตือนข้าพเจ้าด้วยอาศัยความเมตตากรุณาแก่ข้าพเจ้า นี่หมายความว่า ต่อไปนี้ ถ้าเด็กคนนั้นทำผิดแล้วคนอื่นเตือน ตักเตือนแล้วโกรธไม่ได้ จะเถียงไม่ได้ จะโกรธไม่ได้ นี่เรียกว่า ปวารณา แต่ แต่จะใช้คำอย่างอื่นที่เหมาะกว่าก็จะได้ เพราะว่าปวารณาเป็นคำใช้ในหมู่พระสงฆ์ คำว่า ปวารณา แปลว่า ห้ามปากตัวเอง ห้ามปากตัวเองไม่ให้เถียง
คณะครูอาจารย์ : ติดใจอยู่นิดนึงค่ะ ที่พระคุณท่านได้บอกว่าให้ทักท้วงเมื่อเห็น ฟัง ได้ยินได้ฟัง และก็ได้สังเกต ทีนี้คำว่า เห็น กับคำว่า สังเกต นี้มีความแตกต่างกันอย่างไรคะ?
ท่านพุทธทาส : หมายความว่า เห็นโดยตรง เห็นมันทำอย่างนั้นโดยตรง ทีนี้ได้ตั้งข้อสังเกตหลายๆ อย่าง หลายๆ เหตุผล ซึ่งต้องรวมกันแล้วถึงจะสันนิษฐานว่าคงจะทำผิด เลยเรียกว่าตั้งข้อรังเกียจ ถ้าเห็น เห็นโดยตรง เห็นทำเฉพาะเรื่องนั้น กรณีนั้นลงไปตรงๆ เลย ถ้าได้ฟังก็ว่าผู้ที่ควรจะเชื่อได้เขาบอก แล้วก็เห็นอยู่ทุกวัน ทุกวัน หลายๆ วัน หลายๆ วัน อะไรนั่นบ้าง นี่บ้าง โน่นบ้าง รวมความแล้วนี่คงจะทำผิดข้อนั้นแล้ว นี่เรียกว่า ตั้งข้อสังเกตสิ่งที่น่ารังเกียจในตัวท่าน
อันนี้นะ อาตมาก็สงสัยอยู่เหมือนกันว่ามันจะดีเกินไปก็ได้ แล้วแต่ผู้ใหญ่ ก็อาจจะเอาหรือไม่เอานะ นี่มาเสนอ ไม่ได้ว่าจะยืนยันบังคับอะไรอย่างนั้น ถ้าว่าเป็นระเบียบการอบรมที่ดี เพราะว่าเราจะต้องมีทั้งสั่งสอนและอบรม มีทั้ง Teaching มีทั้ง Training นี่มันพวก Training
คณะครูอาจารย์ : อีกประการนึงนะคะ ในแง่ของการปฏิบัตินี้ ที่ที่เรากำลังทำสื่ออยู่นี้ ลักษณะที่ว่าพอเรียนจบในตัวบทใดตัวบทหนึ่งแล้ว เราก็จะปฏิญาณ และปวารณา และสารภาพพอเรียนจบตัวบท...
ท่านพุทธทาส : ก็ปฏิญญาว่าจะถือสมาทาน สมาทาน ปฏิญญาอันนี้ ปฏิญญาสมาทานว่าจะถือ ถ้าทำผิดแล้วไปสารภาพบาปก็ปฏิญญาว่าทำผิด คนละปฏิญญา
คณะครูอาจารย์ : ทีนี้อยากเรียนถามพระคุณท่านว่าในแง่ของการปวารณานี้นะคะ ในเชิงปฏิบัติจริงในโรงเรียนนะคะ ถ้าการปวารณานี่ถ้าพูดพร้อมกันจะได้ไหมคะในห้องเรียน?
ท่านพุทธทาส : ก็แล้วแต่ ใครปวารณาแก่ใคร ถ้าพูดพร้อมกัน
คณะครูอาจารย์ : ก็ต่อเพื่อนในห้อง
ท่านพุทธทาส : ก็ได้ นั้นแล้วแต่จะตกลงกัน เรียงคำพูดเสียใหม่ว่าข้าพเจ้าแต่ละคนขอปวารณาต่อท่านแต่ละคน ละคน
คณะครูอาจารย์ : แล้วข้าพเจ้าขอปวารณาต่อเพื่อนในห้องนี้ อะไรอย่างนี้จะได้ไหม เพราะว่าในแง่ของการปฏิบัติจริงถ้าให้เด็กออกมาปวารณาทีละคน ละคน มันจะไม่มีเวลาให้ค่ะท่าน
ท่านพุทธทาส : ก็ถ้ามันเป็นเรื่องสำคัญมีประโยชน์มันต้องมีเวลาให้ คงไม่เกินชั่วโมง อย่างนั้นก็ได้ ไปคิดดู ไปคิดดู ไปหาวิธีปวารณาพร้อมกัน แต่ต้องประกาศเสียก่อนว่าข้าพเจ้าปวารณา พร้อมกันก็จริง แต่ขอให้ถือว่าเหมือนปวารณาแต่ละคน และแก่ แก่แต่ละคน ประกาศอย่างนี้ไปก่อนแล้วว่าพร้อมๆ กันก็คงได้ แต่มันรวบรัดชอบกล ทำนอกหลักสูตรไม่ได้ ไม่มีในหลักสูตรแต่ทำนอกหลักสูตร
ปวารณา คือ เปิดโอกาสให้ผู้อื่นที่มีความรักใคร่เอ็นดูว่ากล่าวตักเตือนเราได้ โดยเราสัญญาว่าเห็นแล้ว คือ รู้ รู้สึกตัวแล้วจะจักทำคืน เป็นระเบียบทางจริยธรรมแต่ดึกดำบรรพ์นะ ไม่ใช่ของใหม่ ไม่ใช่ของใหม่ เคยอ่านในหนังสือชั้นเก่า ชั้นชาดก ชั้นอะไรก็มีเหมือนกัน การปวารณาให้ผู้อื่นว่ากล่าวตักเตือนตนเป็นระเบียบจริยธรรมยุคดึกดำบรรพ์ แต่ในพุทธศาสนาถือว่าสำคัญอย่างยิ่งจึงอนุญาตว่า วันปวารณานั้นไม่ต้องทำอุโบสถ ธรรมดาทำอุโบสถ ซักซ้อมสิกขาบทแต่ละข้อๆๆ ทุกเดือนเดือนละครั้ง พอถึงเดือนปวารณานั้นไม่ต้องทำอุโบสถ ใช้ทำปวารณา มันก็เป็นการย้อนหลังรวบหมดในบรรดาสิขาบทที่ได้มีๆๆ มาอย่างไรนั้น ให้ผู้นั้นปวารณาว่าถ้าข้าพเจ้าได้ทำผิดข้อใด ได้เห็น ได้ฟัง ได้รังเกียจแล้ว จงว่ากล่าวตักเตือนข้าพเจ้า ด้วยอาศัยเมตตากรุณา ข้าพเจ้าเห็นแล้วจักทำคืน
ไม่ใช่เฉพาะเรื่องนี้ เรื่องอื่นๆก็เหมือนกันจะมีคำว่าอาศัยความเมตตากรุณาและทำ คือเราไม่ให้สิทธิแก่ผู้ที่จะทักท้วงตักเตือนด้วยความหวังร้าย หวังจะจับผิด หรือหวังจะประจาน หรือหวังอะไร ไม่ให้ ไม่ให้สิทธิ ให้แต่ผู้ที่ตักเตือนด้วยความเมตตากรุณา
อันนั้นเป็นส่วนการอบรม ส่วนที่ให้สมาทาน ทำพิธีสมาทาน ส่วนที่ให้ทำการสารภาพบาป สารภาพความผิดนั้น ให้ปวารณา ให้ปวารณา มี ๓ พิธี
อันนี้เป็นสิ่งที่ทำให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาได้เป็นพันปี พันปี ไม่มีการลงโทษ ไม่มีการใช้อาญา ไม่ต้องพึ่งกฎหมาย ไม่ต้องพึ่งอำนาจอะไร แต่อาศัยอำนาจความสุจริตซื่อตรงต่อตัวเอง เป็นผู้ดีทุกกระเบียดนิ้ว ทำกันมาอย่างนี้ ศาสนาก็อยู่มาได้จนบัดนี้ มันอยู่ในหมวดที่ว่าเคารพตัวเอง นับถือตัวเอง ลงโทษตัวเอง อะไรตัวเอง โดยตัวเองไม่ต้องมีใครเข้ามาขู่เข็ญบังคับ
เอาละ คงจะต้องใช้ความคิดบ้างในการที่จะจำแนกวัตถุประสงค์ให้เป็น ๔ ข้อตามหลักของอริยสัจ บางข้อต้องใช้ความคิดหน่อย บางข้อเห็นชัดๆ อยู่แล้ว
เอาไปใช้ได้ทุกกรณี ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ ไอ้วิธีคิด ๔ อย่างนี้ เอาไปใช้ได้ในทุกกรณีของสิ่งที่มนุษย์จะต้องทำ ไม่เฉพาะในเรื่องศาสนา เรื่องจริยธรรมอย่างนี้ แม้ในเรื่องอื่นๆ ก็ใช้ได้ เพื่อนร่วมโลกก็ใช้ได้ ถ้าเรารู้ว่ามันคืออะไร มันเพราะเหตุอะไร มันเพื่อผลอย่างไร มันสำเร็จโดยวิธีใดแล้ว มันก็จะแก้ปัญหาได้ทุกปัญหา ตัวอย่างที่มันจะคิดยากก็เช่นว่า จะถามปัญหาขึ้นมาว่า ศาลาหลังนี้คืออะไร แล้วศาลาหลังนี้เกิดขึ้นจากอะไร แล้วศาลาหลังนี้เพื่อประโยชน์อะไร แล้วจะสำเร็จประโยชน์ตามนั้นโดยวิธีใด ถ้าไม่เคยคิดมันก็มืดตื้อนะ เพราะว่านี่มันเป็นวัตถุเท่านั้นนะ ศาลาหลังนี้มันคืออะไร ก็ตอบได้หลายอย่างหลายทาง คือ ที่จะให้สำเร็จประโยชน์ในการทำกิจการ เช่น การประชุม เป็นต้นนี้ คือสถานที่อย่างนี้ เพราะเหตุอะไร เพราะเหตุมันเคยลำบากที่สุดเพราะไม่มีศาลาอย่างนี้ มันเคยตากฝน มันเคยลำบาก ทีนี้เพื่อประโยชน์อะไร เพื่อไม่ให้มีปัญหาอย่างนั้นอีกต่อไป เพื่อสะดวกเพื่อสบาย แล้วก็โดยวิธีใดจะได้ผลอย่างนั้น ก็โดยวิธีใช้ศาลาหลังนี้ให้ตรงตามความมุ่งหมาย ใช้ศาลาหลังนี้ให้ตรงความมุ่งหมาย ปฏิบัติใช้ศาลาหลังนี้ให้ตรงตามความมุ่งหมาย มันก็ได้ผล จะไปสอนวิทยาศาสตร์ก็ได้ จะไปสอนธรรมชาติอะไรก็ได้ แม้จะถามว่าแมว แมว แมวที่เลี้ยงไว้คืออะไร เพราะเหตุใด เพื่ออะไร โดยวิธีใด นี่ก็ต้องตอบได้ แล้วก็ถูกต้องครบถ้วนที่สุด แมวคือสัตว์จับหนู เหตุเพราะว่าหนูมันรบกวนเรา เราต้องมีแมว เพื่อผลคือข้าวของไม่เสียหาย สำเร็จประโยชน์โดยวิธีใด ก็เลี้ยงแมวให้ดีๆ ให้มันทำหน้าที่ของมัน ไอ้ ๔ อย่างนี้ขอให้ช่วยจำไปคิดนึกเถิด มันเป็นตรรกะ ตรรกะหรือ Logic ที่จะใช้สารพัดอย่างสารพัดเรื่อง แล้วบางทีก็ไปใช้จับกับฝ่ายดี บางทีก็ใช้จับกับฝ่ายชั่ว เช่นว่า โรค โรคนี้คืออะไร โรคนี้เกิดเพราะเหตุอะไร ไอ้โรคนี้เพื่ออะไรคงจะตอบยากนะ ก็ไม่มีใครต้องการโรค โรคนี้ก็เพื่อความหายโรค เพื่อความไม่มีโรค โดยวิธีใด ก็จัดยาให้มันไป นี่ปัจจัยแห่งโรค แล้วความสบายล่ะ ทีนี้ถามว่าความสบายคืออะไร ตรงกันข้ามกับโรค ความสบายก็คือความไม่มีโรคหรือความปกติ แล้วเกิดมาจากอะไร ก็เพราะมันมีคุณค่าชนิดที่ว่าถ้าเราไม่มีความสบายแล้วเราทนอยู่ไม่ได้ เราจะตาย ถ้าเรามีความสบายแล้วก็สามารถจะดำเนินชีวิตให้เป็นประโยชน์ มีความสุข โดยวิธีใด ก็ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์แนะนำมาตั้งแต่ต้น ด้วยเหตุที่มันใช้ได้ทั้งฝ่ายผิดและฝ่ายถูก มันจึงยากบ้างเมื่อจะมองความหมายให้ครบเหมือนกัน แต่ขอบอกว่าจะใช้ได้ทุกอย่างทั้งฝ่ายดีและฝ่ายชั่ว จะไปวิจารณ์ของเน่าเหม็นสกปรกนั้นก็ได้ เพราะอะไร จากอะไร เพื่ออะไร โดยวิธีใด แต่มันมีปัญหาเพราะว่าไอ้ของบางอย่างมันมองในแง่ดีก็ได้ในแง่ร้ายก็ได้ เลยต้องแบ่งแยกกันพูด เป็นฝ่ายๆ ไป แต่ว่าเรื่องนี้พระพุทธเจ้าท่านตรัสมุ่งหมายเฉพาะเกี่ยวกับความทุกข์ และความดับทุกข์เท่านั้น
๒ คู่ เป็น ๔ อย่าง ถ้าลดให้เหลือ ๒ อย่าง คือทุกข์ กับ ดับทุกข์ ถ้าลดให้เหลือ ๑ อย่าง คือดับทุกข์ ก็พอแล้ว มันก็ดับทุกข์ มันก็เป็นเรื่องหมดแล้ว ถ้าจะพูดว่าดับทุกข์อย่างเดียวมันไม่สมบูรณ์ มันฟังยาก ก็ต้องแจกเป็นไอ้ความทุกข์ที่เป็นตัวปัญหาขึ้นมาก่อนว่ามาจากอะไร สิ่งตรงกันข้ามคือดับทุกข์หมายถึงอย่างไร แล้วทำอย่างไรจึงจะเกิดการดับทุกข์
พูดว่าการใช้โครงเรื่องอย่างนี้นั้น เป็นการเตรียมเด็กให้เข้าถึงหัวใจของพุทธศาสนาไปตั้งแต่เล็ก ตั้งแต่เป็นเด็กทารก จะเตรียมเด็กให้เข้าถึงหัวใจของพุทธศาสนาไปตั้งแต่ยังเป็นทารก แล้วก็จะเป็นอย่างนั้นมากขึ้น มากขึ้น จนเป็นผู้ใหญ่ ก็เข้าถึงพุทธศาสนาโดยสมบูรณ์ จึงได้แนะว่า ขอให้ใช้อริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นหลักเถิด และใช้เป็นหลักอริยสัจ ๔ เป็นเครื่องวินิจฉัย แม้เราจะเอาหลักอริยสัจ ๔ มาวินิจฉัยองค์มรรคแต่ละข้อ ละข้อ ก็ยิ่งดี เช่น ตั้งปัญหาขึ้นมาว่า สัมมาทิฏฐิคืออะไร สัมมาทิฏฐิเกิดจากอะไร สัมมาทิฏฐิเพื่อประโยชน์อันใด จะสำเร็จตามนั้นได้อย่างไร แล้วสัมมาสังกัปโปอีก เอามาใช้ สัมมาสังกัปปะคืออะไร เกิดจากอะไร เพื่ออะไร โดยวิธีใด สัมมาวาจาคืออะไร เกิดจากอะไร เพื่ออะไร โดยวิธีใด ได้ทั้ง ๘ ข้อ ถ้าอย่างนี้ก็ยิ่งละเอียด แล้วก็เห็นชัดประจักษ์ทั่วถึงเลย น่าจะถือว่าเราได้ดำเนินมาถูกต้องแล้ว ในการที่จะเตรียมเด็กสำหรับเป็นพุทธบริษัทที่ดีในอนาคต คือ คุ้นเคยกับหลักที่เป็นหัวใจของพุทธศาสนาไปตั้งแต่เล็ก
คณะครูอาจารย์ : นมัสการท่านอาจารย์ที่เคารพ จากจุดประสงค์การมีสัจจะและความจริงใจเมื่อกี้นะครับ ที่ท่านอาจารย์ได้แนะนำว่า ข้อที่ ๑ บอกลักษณะความหมายของการมีสัจจะและความจริงใจได้ สำหรับข้อนี้ ในเมื่อสอน สมมุติว่าสอนตั้งแต่ ป.๒ ถึง ป.๖ นะครับ พอถึง ป.๓ ก็ต้องใช้จุดประสงค์ข้อนี้ ป.๔ ก็ใช้จุดประสงค์ข้อนี้ ป.๕ ใช้จุดประสงค์ข้อนี้ จนถึง ป.๖ ก็เป็นการสอนที่จะต้องซ้ำในเรื่องนี้ทุกๆ ชั้นนะครับ แล้วต่อไปจากจุดประสงค์ข้อนี้เราก็จะไปบอกสาเหตุ บอกผลดี แล้วก็ถึงขั้นปฏิบัติได้ในทุกชั้น กระผมอยากจะขอคำแนะนำว่า ในเมื่อจะสอนถึง ป.๒ ถึง ป.๖ นั้น ถ้าสมมุติเรื่องนี้สอนถึง ป.๖ นะครับ กระผมจะทำอย่างนี้ได้ไหมว่า ในชั้น ป.๒ บอกความหมายของการมีสัจจะและความจริงใจได้ ในชั้นนี้สอนเฉพาะความหมาย และสอนในเรื่องของสาเหตุในข้อที่ ๒ และบอกผลดี และถึงการปฏิบัติ พอในชั้นประถมปีที่ ๓ ก็มาตั้งจุดประสงค์ว่า บอกลักษณะของผู้มีสัจจะและความจริงใจได้ อันนี้ก็จะบอกแต่เฉพาะลักษณะนะครับ แล้วก็ไปสอนถึงสาเหตุ สอนผลดี จนกระทั่งสอนถึงการปฏิบัติ พอในชั้นประถมปีที่ ๔ จะแยกจุดประสงค์ข้อนี้เป็นบอกว่า บอกพฤติกรรมของผู้ที่มีสัจจะและความจริงใจได้ ซึ่งอาจจะคิดว่าข้อนี้สูงขึ้นไปอีกหน่อยหนึ่ง แล้วก็สอนถึงสาเหตุ สอนถึงผลดี และสอนถึงการปฏิบัติ และในชั้น ป.๕ เมื่อเด็กรู้พฤติกรรม เนื่องจากรู้ความหมายแล้ว แล้วก็บอกลักษณะได้แล้ว พอในชั้น ป.๕ นี้ก็บอกว่าเด็กจะยกตัวอย่างของผู้ที่มีสัจจะ และความจริงใจได้ ในขั้นนี้ก็จะสูงขึ้นไปอีกหน่อยว่าสามารถยกตัวอย่างของบุคคลที่เคยเห็นในชั้นนี้ ในเรื่องของตัวบทนะครับ แล้วก็ไปเรียนถึงการบอกสาเหตุ บอกผลดี และถึงการปฏิบัติได้นะครับ อันนี้จะทำให้เด็กแยกแยะได้ดีขึ้น อันนี้ผมขอคำแนะนำจากท่านอาจารย์ว่า ถ้าจะเขียนอย่างนี้แล้วจะดำเนินกิจการ กิจกรรมในการเรียนการสอนเป็นขั้นๆ ไปอย่างนี้ จะเป็นยังไงไหมครับ?
ท่านพุทธทาส : ก็ถูกแล้ว เรามุ่งหมายแต่ว่าให้ผู้เรียนนั้น เขาได้รับความรู้ครบถ้วน ถ้าได้เรียนเมื่อ ป.๑ แล้ว มันก็ยังคงอยู่ ชั้น ป.๒ ถ้าจะต้องซ้ำอีกก็เพียงแต่เตือนให้ระลึกก็พอ เมื่อเพิ่มขึ้นๆ ก็หมายความว่า ไอ้ที่เคยเรียนมาแล้วตั้งแต่ ป.ต้นๆ นั้นก็ยังอยู่ เช่นเดียวกับเราเรียนเรื่องอื่นๆ ทำไมชั้น ป.๒ ไม่ต้องย้อนไปเรียนเลขชั้น ป.๑ เรียนเลขชั้น ป.๒ ไม่ต้องย้อนไปเรียนเลขชั้น ป.๑ ป.๓ ไม่ต้องย้อนไปเรียนเลขของ ป.๑ ก็เรียน ป.๓ แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็ต้องใช้ ใช้วิธีการของเลข ป.๑ อยู่นั่นเอง เป็นวิธีการซึ่งอาศัยปฏิภาณของครูผู้สอน คือ สอนก้าวไปข้างหน้าโดยที่ข้างหลังก็ยังอยู่ เอามาใช้ให้เนื่องกันเมื่อมันถึงคราวที่มันจะต้องเนื่องกัน เรียนภาษาไทย ภาษาต่างประเทศ ก็เหมือนกัน ป.ที่สูงๆ ขึ้นมานี้มันก็ต้องอาศัย ป.ที่ต่ำๆ เป็นฐาน เป็นฐานรากอยู่เรื่อยไป นี่เราได้ทำให้มีการประพฤติปฏิบัติอยู่ที่เนื้อที่ตัว จนเป็นนิสัยและมันลืมไม่ได้ มันก็อยู่เป็นรากฐานสำหรับจะเรียนหัวข้อต่อๆ ไปในชั้นที่สูงขึ้นไป เข้าใจว่าคงจะไม่เกิดปัญหาอะไรมาก ถือว่าเป็นอย่างเดียวกันกับวิชาอื่นๆที่สอน คือ สอนไปตามลำดับ แต่ว่าในข้อหนึ่งต้องให้ครบถ้วน ครบถ้วนกระบวนความของข้อหนึ่งๆ เพื่อจะปฏิบัติได้ แล้วก็ปฏิบัติอยู่ ปฏิบัติอยู่ตลอดเวลา นี้เราเรียกว่าอบรมจริยธรรม ไม่ใช่นั่งสอนอยู่เฉพาะในห้องเรียน นอกห้องเรียน ที่บ้าน ที่ไหน ก็ต้องมีการปฏิบัติ ดังนั้นเด็กคนหนึ่งเขาทำผิดที่บ้าน แล้วเอามาเปิดเผยที่โรงเรียนตามวิธีนี้ก็ได้ พยายามแยกออกมาเป็นเรื่องการอบรมให้มีขึ้นในเนื้อในตัว การสั่งสอนนั้นมันมีแต่เพียงจำไว้ได้ในใจ บางทีมันไม่มีที่เนื้อที่ตัว ที่นี้อบรมจนให้มันมีที่เนื้อที่ตัว ถ้าเรียนอย่างท่องจำอย่างเดียวมันจะไม่ได้ผล ไม่ได้ผลคุ้มค่า ต้องให้เป็นการอบรมให้มันเกิดมีอยู่ที่เนื้อที่ตัว ที่กาย ที่วาจา ที่ใจ หมายความว่า เด็กมีจริยธรรมแท้จริงเพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้น มิใช่เพียงแต่มีความรู้เรื่องจริยธรรมเท่านั้น ควรจะเรียกว่า หลักสูตรการอบรมจริยธรรม มากกว่าการสั่งสอนจริยธรรม ใช้รวมกันว่า หลักสูตรการสั่งสอนและอบรมจริยธรรม แต่ถ้าเพียงสั่งสอนอย่างเดียวมันไม่สำเร็จประโยชน์ เขาจะต้องประพฤติด้วย ที่เรียกว่าอบรม เพียงแต่สั่งสอนมันจำได้แล้วมันก็ลืมได้ แต่ถ้าอบรมมันต้องประพฤติด้วย กระทำด้วย แล้วมันลืมไม่ได้ มันเกิดเป็นนิสัยขึ้นมา ไม่มีวันลืม ให้มันปรากฏอยู่ที่เนื้อ ที่ตัว ที่ใจนี้ คือทั้งภายนอกและภายในมันมีธรรมะเหล่านี้อยู่ที่เนื้อที่ตัว ก็จะได้ยุวชนที่มีศีลธรรม มีจริยธรรม ไม่เพียงแต่ตอบได้ ตอบสอบไล่ได้ ถ้าปัญหานี้ทำได้สำเร็จก็จะแก้ปัญหาทั้งหมดแหละ แก้ปัญหาในอนาคตของประเทศชาติทั้งหมด ไม่มีปัญหาเลวร้ายใดๆ เศรษฐกิจก็ดี การปกครองก็ดี การเมืองก็ดี อะไรก็จะดีหมด ถ้าคนทุกคนมีจริยธรรม เดี๋ยวนี้มีแต่ความรู้เรื่องจริยธรรม แล้วก็ไม่ได้มีตัวจริยธรรม ปัญหาเดี๋ยวนี้ยิ่งฉลาดยิ่งโกง ยิ่งรู้มากก็ยิ่งโกงเก่ง แต่ถ้ามีจริยธรรมแล้วมันโกงไม่ได้ เพราะจริยธรรมมันตรงกันข้าม
คณะครูอาจารย์ : ขอนมัสการท่านอาจารย์ที่เคารพ และขอกราบเรียนเพื่อนสมาชิกทุกท่าน เมื่อกี้สมาชิกท่านหนึ่งมาเรียนถามว่า การสอนข้อธรรมแต่ละข้อนั้น จะแยกจุดประสงค์เป็นชั้นๆไปจะได้ไหม? กระผมมีความคิดเห็นอย่างนี้ ว่าจุดประสงค์ที่เราตั้งนั้นเราเอาหลักธรรมอริยสัจ ๔ มาเป็นจุดประสงค์นำทางในการสอนอริยมรรคทั้ง ๘ ทีนี้จุดประสงค์ที่สำคัญที่สุดตามที่เราเขียนออกมานั้น คือ ข้อที่ ๔ ทำไมถึงผมจึงเรียนอย่างนั้น เพราะข้อที่ ๔ จุดประสงค์นั้นมีอยู่ว่า บอกวิธีการที่จะต้องปฏิบัติและปฏิบัติตน สำคัญตอนประโยคสุดท้าย และปฏิบัติตน อยู่ตรงนั้น เพราะฉะนั้นถ้าเราจะสอนแยก โดยแยกจุดประสงค์ไว้ เมื่อสอนแล้ว สมมตว่าจุดประสงค์ข้อที่ ๔ เราจะไม่เขียนไว้ ในการสอนเรื่องใดเรื่องหนึ่งนั้นขาดไป เด็กก็จะได้เพียงแต่บอกลักษณะความหมาย บอกสาเหตุ บอกผลดีผลเสีย แล้วไม่ได้ถึงการปฏิบัติ
อีกประการหนึ่งจุดประสงค์ทุกข้อเราเขียนไว้นั้นจะสัมพันธ์กับการประเมินผลเมื่อจบกระบวนการเสร็จแล้ว
อย่างข้อที่ ๑ บอกลักษณะความหมายเมื่อเราสอนแล้ว จัดกิจกรรมการเรียนการสอนแล้ว ให้สื่อไปเสร็จเรียบร้อยแล้ว เมื่อสอนจบเราจะต้องมีการประเมินผลว่า เด็กบอกความหมาย บอกลักษณะของเรื่องนั้นได้หรือไม่? เพียงแค่บอก
จุดประสงค์ข้อที่ ๒ บอกสาเหตุที่มาของเรื่องนั้น ถ้าเราสอนจบแล้ว เราก็จะถามว่าเด็กรู้ไหมสาเหตุเรื่องนั้นมาจากอะไร?
จุดประสงค์ข้อที่ ๓ ก็จะบอกผลดีเหมือนกัน คำว่าบอก ก็จะถามเพียงเด็กบอกได้ไหม ข้อที่สอบหรือประเมินผลนั้นเราก็จะเป็นถามเด็ก อาจเป็นถามผิดหรือถูก หรือว่า เป็นแบบเลือกตอบหรืออะไรก็แล้วแต่เท่านั้นเอง
แต่พอเรามาดูจุดประสงค์ข้อที่ ๔ บอก มันจะแบ่งออกเป็น ๒ ตอน
บอกวิธีการที่จะต้องปฏิบัติตามคุณธรรมอันนั้น ถ้าว่าจุดประสงค์ว่าบอก เวลาเราสอนเสร็จ จบแล้ว เราก็จะถามเด็กว่า เด็กบอกวิธีการปฏิบัติเรื่องนี้ได้ไหม?
แล้วอีกตอนหนึ่งสำคัญที่สุด ผมเห็นว่าสำคัญที่สุด และจะต้องดีทุกชั้น คือ ตอนสุดท้ายว่า และปฏิบัติตนเพื่อให้เกิดคุณธรรมข้อนั้น
จุดประสงค์ข้อนี้แหละ และตอนท้ายเพื่อปฏิบัติตน ถ้าเราตัดทิ้งไปแล้วเราจะสอนคุณธรรมเพียงแต่สอนให้เด็กรู้แล้วเข้าใจไม่ปฏิบัติ เพราะฉะนั้นในความคิดของผมว่า ข้อสำคัญที่สุดจุดประสงค์ข้อ ๔ นั้น ว่าเมื่อสอนแล้วจะต้องปฏิบัติ แล้วอีกอันหนึ่งครับ จะต้องสัมพันธ์กับการวัดผล อย่างข้อที่ ๔ นี้นะครับ จะต้องมีการประเมินผล ๒ ลักษณะ ลักษณะหนึ่งจะต้องมีการออกกำลังสืบสวนเป็นข้อทดสอบ ตอนแรกที่ว่าบอกวิธีการ และตอนที่สองนั้นจะต้องมีการสังเกตพฤติกรรมไปตลอด จะต้องมีแบบฟอร์ม หรือว่าการสังเกต เป็นแบบฟอร์มให้ครูสังเกตการกระทำของเด็กเมื่อสอนเด็กแล้ว สอนนักเรียนแล้ว เด็กได้ปฏิบัติตามคุณธรรมนั้นไหม? เช็คไปตลอดเลย อันนี้คือการปฏิบัติจะต้องสัมพันธ์กัน ผมกราบเรียนท่านอาจารย์ครับ
ท่านพุทธทาส : ในการวัดผลน่ะ ขอให้มันเป็นสัก ๒ ขั้นตอน วัดผลว่า เขารู้เขาเข้าใจแล้วหรือยัง? และวัดผลว่าเขาได้ปฏิบัติได้ผลแล้วหรือยัง? อย่ามีการวัดผลแต่เพียงว่าเขารู้แล้วตอบคำถามถูกแล้ว นั่นเป็นการวัดผลแต่ขั้นแรก วัดผลที่แท้จริงก็คือเขามีการปฏิบัติจนได้รับผลของการปฏิบัติในข้อนั้นๆ แล้ว นี่เป็นการวัดผลที่แท้จริง สำหรับ ๔ ข้อที่เป็นวัตถุประสงค์นั้น เป็นเรื่องทำให้เกิดความเข้าใจ เด็กจะต้องเข้าใจทั้ง ๔ ข้อ เป็นเรื่องสำหรับให้เข้าใจ ให้รู้ ให้จำ ให้เข้าใจไว้ทั้ง ๔ ข้อว่ามันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ดังนั้นต้องสอนครบทั้ง ๔ ข้อวัตถุประสงค์ จะย่อหรือจะพิสดารก็สุดแท้ แต่เขาต้องเข้าใจทั้ง ๔ ข้อ สำหรับจริยธรรมบทหนึ่งๆ เขาจะต้องเข้าใจมันทั้ง ๔ ข้อ โดยลักษณะแห่งอริยสัจ ๔
วัดผลจะวัดเพียงว่าเด็กรู้ หรือตอบคำถามถูกแล้วนี้ ทำเท่านี้ไม่พอ แต่ว่าจะต้องมีการปฏิบัติ ได้รับผลของการปฏิบัติเช่นนั้นด้วยจึงจะได้ วัดผลของการเรียน หรือวัดผลของการปฏิบัติ ต้องแยกออกเป็นอย่างนั้น
คณะครูอาจารย์ : ขอประทานกราบเรียนเจ้าพระคุณท่านอาจารย์นะคะ ดิฉันขอประทานอนุญาตเพิ่มเติมความคิดเห็นนิดเดียวว่า ในการสอนเพื่อความต่อเนื่องของแต่ละชั้นนั้น ก็คือการสอนให้ลึกเข้า เหมือนอย่างเช่น บอกความหมายของการมีสัจจะและความจริงใจได้ และลักษณะของการมีสัจจะและความจริงใจคือ ๔ ข้อเหมือนดั่งในนั้น ดิฉันคิดว่าเมื่อเราเริ่มตั้งแต่ประถม ๒ ประถม ๒ ก็คงจะได้ทราบทั้ง ๔ ข้อ แต่ทว่าเมื่อสอนในประถม ๒ นั้น ก็คงสอนอย่างเพียงตื้นๆ อย่างเช่น การคิดใคร่ครวญดีแล้วอย่างไรทำอย่างนั้น ก็หมายความว่าการคิดใคร่ครวญดี คิดใคร่ครวญในเรื่องอะไร? สิ่งที่เป็นความหมายของสัมมาสังกัปปะก็คือเนกขัมมะ อพยาบาท อวิหิงสา แต่เราไม่พูดคำเหล่านี้กับเด็กๆ เพราะเกรงว่าจะเป็นสิ่งที่ยากเกินไป แต่ในการสอนนั้นเราจะมีเอาไว้ในใจว่า คิดใคร่ครวญดีแล้ว คือ คิดใคร่ครวญเนกขัมมะ เนกขัมมะอย่างเด็กๆ ก็คือว่าไม่ติด ไม่หลง ไม่เพลินในสิ่งที่เป็นความสนุกสนานเพลิดเพลิน เช่นเป็นต้นว่า หลงการกิน หลงการเล่น หลงการเที่ยว หลงเพื่อนหลงฝูง จนมากเกินไป คือ ขาดความพอดี นี่ก็เรียกว่าเป็นการที่มิใช่เนกขัมมะ หรือว่า อพยาบาท อวิหิงสา ก็ไม่คิดเบียดเบียนรังแกเพื่อน อย่างนี้เป็นต้น ซึ่งในชั้นประถม ๒ เราก็อาจจะยกตัวอย่างเกี่ยวกับสิ่งที่เด็กชอบหลง หลงเล่น หลงสนุก หลงเพลิดเพลิน อะไรต่างๆ เหล่านี้ ตามที่ชีวิตประจำวันของเด็กประถม ๒ ชอบทำอย่างนั้น แต่พอถึงประถม ๓ ขึ้นไป ก็จะเป็นตัวอย่างหรือการสอนที่ลึกขึ้นไปอีกให้เหมาะแก่วัยของเด็ก พอถึงประถม ๔ ๕ ๖ ก็เป็นเช่นเดียวกัน ในความเห็นของดิฉันจึงคิดว่าเราจะมีทั้ง ๔ ข้อ และความต่อเนื่องนั้นอยู่ที่ความลึกซึ้งของเนื้อหา เพื่อให้เหมาะแก่วัยและประสบการณ์ของเด็ก เช่นเดียวกันกับที่เราพูดว่าพอถึงชั้น ป.๕ ป.๖ เราจะสอนหมดทั้ง ๕๔ ข้อ ซึ่งอันที่จริงแล้วก็ยากที่จะเป็นไปได้ เนื่องจากว่าเวลานั้นมีไม่เพียงพอ ก็จึงจะเป็นแต่เพียงว่า หัวข้อที่เราจะสอนละเอียดก็คือหัวข้อที่ใหม่จริงๆ หรือในชั้น ๑ ๒ ๓ ๔ นั้นไม่ได้สอนอย่างลึกซึ้ง เราจึงจะมาเน้นอย่างลึกซึ้งให้มากยิ่งขึ้น แต่ส่วนข้ออื่นนั้นบางข้อที่คิดว่าเด็กเข้าใจดีแล้ว ก็อาจจะเป็นแต่เพียงว่าทบทวน แต่เพียงดูว่าเข้าใจหรือไม่เล็กน้อยแล้วเราก็ต่อไป ดิฉันมีความเข้าใจว่าการที่จะสอนเพื่อความต่อเนื่อง ควรจะเน้นในเรื่องของเนื้อหาความลึกซึ้งให้เหมาะแต่ละวัยเจ้าค่ะ
ท่านพุทธทาส : มันก็เหมือนกับไอ้เรื่องอื่นๆ ที่เราปฏิบัติกันอยู่ เช่นว่า ความรู้ของ ป.๑ มันไปช่วยความรู้ของ ป.๒ โดยที่ไม่ต้องสอนความรู้ชั้น ป.๑ อีก ขอให้เข้ารูปอย่างนั้น ความรู้ของ ป.๒ ก็เหมือนกันเมื่อเรียนแล้ว เรียนแล้วพอถึงชั้น ป.๓ ก็กลายเป็นความรู้ที่เป็นรากฐานของ ป.ต่อไป ป.ต่อไป ไม่ได้หมายความว่าเราต้องสอนใหม่ทั้งหมดทุกข้อของ ป.หลังๆ ให้ถือไว้อย่างเดียว เรียนน่ะ เรียนเรื่องอะไร ในชั้น ป.๑ แล้วก็เหลืออยู่ช่วยเรื่อง ป.๒ ป.๒ ช่วยเรื่อง ป.๓ จนถึง ป.สุดท้าย ไอ้เรื่อง ๔ ข้อนั้นมันเป็นเรื่องแนวเท่านั้น คำว่าจุดประสงค์ก็หมายถึงแนว ให้เขาเข้าใจแนวรู้จักแนวที่จะทำให้ไปตามแนว นี้ต้องบอกครบหมดแหละว่าเรื่องนี้มันคืออะไร จากอะไร เพื่ออะไร โดยวิธีใด นี่ยังไม่เป็นการปฏิบัตินะ เป็นเพียงวัตถุประสงค์ เป็นเรื่องบอกให้เรียน ให้กำหนดตั้งใจไว้ แล้วก็ปฏิบัติ
เด็กที่เคยเรียน ป.๑ มาแล้ว ครั้นมาถึง ป.๒ ก็เรียน ป.๒ แต่ความรู้เรื่อง ป.๑ มันก็ยังอยู่ พูดๆ ถึงมันก็มา มันก็ลากมาได้ นี่คือข้อเท็จจริงทั่วๆ ไป ทุกๆ วิชา ทุกๆ วิชา เช่นเดียวกับเรียนภาษาอังกฤษอย่างนี้ มีเล่ม ๑ เล่ม ๒ เล่ม ๓ เล่ม ๔ มันก็ส่งต่อ เล่มแรกเล่มที่เรียนมาแล้ว ก็จะส่งต่อเล่มที่จะเรียนต่อไป ช่วยส่งเสริม ช่วยตั้ง ช่วยเป็นรากฐาน ถ้าจะทบทวนบ้างในชั้น ป.สุดท้ายให้ครบหมดมันก็เพียงแต่ทบทวนเท่านั้น ไม่ต้องตั้งหน้าสอนกันอย่างละเอียด เหมือนกับที่เรียนเฉพาะบท เฉพาะบท ที่กำหนดไว้สำหรับชั้นนั้น เอาไอ้ของที่มีอยู่แล้วเป็นหลักเปรียบเทียบ ความรู้ชั้น ๑ เรียนแล้วก็เป็นอันว่ารู้ พอเรียนชั้น ๒ ก็เรียนชั้น ๒ ความรู้ชั้น ๑ ก็พลอยถูกลากมาเอง ถูกลากมาเอง เพราะว่าเด็กเรียนแนวเดียวกันทุกชั้น เรียนเรื่องเดียวกันแนวเดียวกันทุกชั้น ตามระยะก่อนหลัง
ขอย้ำอีกทีหนึ่งว่า วิธีนี้มันมีค่ามาก คือ เตรียมเด็กยุวชนให้เป็นพุทธบริษัทที่ดีในอนาคตได้ ได้กว่าวิธีอื่น เพราะฉะนั้นถ้ามันจะลำบากบ้าง ยากบ้าง อะไรบ้าง ขอให้อดทน เพราะมันมีผลมากเหลือเกิน
๑๑ โมงแล้ว ขอปิดประชุม