แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านอาคันตุกะทั้งหลาย มีท่านปลัดกระทรวงเป็นประธาน สิ่งแรกที่อาตมาจะกล่าว ก็คือ ขออนุโมทนา ในการทำงานอันสำคัญนี้ คือการเสริมสร้างจริยธรรม แต่ขออย่าได้หวังอะไรในอาตมามากนัก เพราะไม่เคยศึกษาโดยเฉพาะ โดยตรงมา เพียงแต่อาศัยข้อสังเกตตลอดเวลาอันยาวนาน ก็พอจะมีความคิดบางอย่าง บางประการ ซึ่งอาจจะใช้เป็นประโยชน์ได้ จึงขอให้ถอดความหมายไปจากถ้อยคำเหล่านั้นไปร้อยกรองให้เป็นรูปเป็นร่างเป็นกฎเป็นระเบียบตามความประสงค์
ในข้อที่จะให้กล่าวเรื่อง วิธีสอนจริยธรรม ในครั้งแรกนี้ อาตมาขอผลัดเป็นวันหลัง เพราะว่าไม่พร้อม และเพราะว่า เป็นสิ่งที่จะต้องพูดถึงตัวจริยธรรมกันเสียก่อน แล้วจึงจะพูดกันถึงข้อที่ว่า จะสอนอย่างไร เรื่องจริยธรรมก็ต้องพูดกันในความหมายทั่วๆ ไป และทุกๆ สิ่งที่ประกอบเนื่องกันอยู่ หรือสัมพันธ์กันอยู่กับเรื่องของจริยธรรม อาตมาคิดว่า พูดกันถึงเรื่อง นานาปัญหาเกี่ยวกับจริยธรรมเสียก่อน จะดีกว่า จะสะดวกกว่าทั้งผู้พูดและผู้ฟัง ที่พูดว่านานาปัญหา ก็หมายความว่า ปัญหาปลีกย่อย เบ็ดเตล็ด แต่ก็มีมาก มันมีมากจนถึงกับว่า เข้าใจเรื่องทั้งหมดได้ไม่ตรงจุดหรือไม่ถึงแก่นก็ได้
คำว่า จริยธรรม เนื่องกันอยู่กับสิ่งต่างๆ ที่จะให้จริยธรรมเป็นผลขึ้นมา นับตั้งแต่คุณครูทั้งหลาย แล้วก็เด็ก ยุวชนทั้งหลาย แล้วก็จริยธรรมในหลายขั้นตอน ผู้ที่จะร่วมมือด้วย คือผู้ปกครองของยุวชนเหล่านั้น ดังนั้น อาตมาขอพูดถึงเรื่องนี้เพื่อให้ทราบความประสงค์เสียก่อน
ในขั้นแรกก็น่าจะพูดถึง คำว่า ครู เพื่อเราจะได้จัดหรือกระทำให้มีครูตามที่ต้องการได้ โดยง่ายหรือโดยสะดวก คำว่า ครู มีความหมายต่างกันตามยุค ตามสมัย ตามถิ่นฐาน เพราะ คำว่า ครู อย่างน้อยก็เกิดขึ้นในโลก คำพูดคำนี้ได้เกิดขึ้นในโลก ตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์นมนานเป็นแน่ ก็มีเรื่องที่จะต้องพิจารณาว่าเจตนารมณ์ของความเป็นครูนั้นมีอยู่อย่างไร ในชั้นแรกจะพูดถึงยุคดึกดำบรรพ์ หมายความว่าก่อนประวัติศาสตร์ คำว่า ครู ไม่มีความหมายแห่งอาชีพ มันเป็นเรื่องของปูชนียบุคคล หรือมันมีน้อย จนทำหน้าที่แต่เฉพาะฝ่ายจิต ฝ่ายวิญญาณ คำๆ นี้ เคยพบความหมายว่า เป็นผู้นำทางวิญญาณ ต่อมาพบว่า คำว่า ครุ รากศัพท์แปลว่า เปิดประตู ก็เลยกลายเป็นผู้เปิดประตูในทางวิญญาณ ให้สัตว์ออกมาเสียจากคอกอันมืดมน แล้วก็มีสถานะทางจิต ทางวิญญาณสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือ พัฒนาจิตให้สูงกว่าระดับสัญชาตญาณ คนเราทุกคน ทุกประเภท ทุกชนิดมีสัญชาตญาณพอที่จะรู้อะไรได้ในขั้นต้นๆ มีสติปัญญา สมาธิ ขั้นต้นๆ แต่มันไม่พอ จึงต้องมีหลักการที่จะพัฒนาสิ่งเหล่านั้นซึ่งอยู่ในระดับสัญชาตญาณนั้นให้มันสูงขึ้น สูงขึ้น จนเป็นที่น่าพอใจ
นี่เป็นหน้าที่ของพวกที่เรียกว่า ครู จะต้องกระทำ และทำกันอย่างการกุศล เป็นอนาคาริก เป็นปูชนียบุคคล สูงอายุรู้เรื่องต่างๆ เกี่ยวกับชีวิต จิตใจดี เรียกว่ามีความเจนจัดแตกฉานในด้านวิญญาณ คำว่า วิญญาณ ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงเรื่อง ผีสาง เทวดา หรือเรื่องทรงเจ้า เข้าผี เป็นต้น แต่หมายถึงเรื่องจิตใจ คือ ระบบของสติปัญญา ในส่วนลึกหรือส่วนสุดท้าย เรามีระบบวัตถุร่างกายเป็นระบบแรก และมีระบบจิต เรื่องเกี่ยวกับจิต คุณภาพของจิตเป็นระบบที่สอง และก็มีเรื่อง วิญญาณ ทางสติปัญญาเป็นเรื่องที่สาม เรื่องวิญญาณนี้มักจะถูกเยาะเย้ย หรือหวังจะเยาะเย้ยเพราะคำมันแปลก แต่ถ้ามานึกถึง พวกต่างประเทศเขาใช้คำนี้กันมาก มากยิ่งขึ้นทุกที เคยเห็นโฆษณาโรงแรมหรืออะไรอันหนึ่ง บอกว่าจะให้ได้รับความพอใจทางวิญญาณ Spiritual Entertainment คำว่า Spiritual ดูมันมากขึ้น ใช้กันมากขึ้น ซึ่งไม่ทราบว่าจะแปลว่าอะไรดี อาตมาก็ขอแปลว่า ทางวิญญาณไว้ก่อน ทางวิญญาณจะก้าวหน้าก็เพราะบุคคลที่เรียกว่า ครู นั่นเอง
สมัยดึกดำบรรพ์โน้น มีน้อยและบางทีก็ได้รับ ก็ถูกเอาตัวไปเป็นครู ประจำพระราชา มหากษัตริย์ โดยเฉพาะเสียอีก คำว่า ครู จึงหาดูยาก ผิดกับสมัยนี้ ซึ่งบุคคลที่เรียกกันว่า ครู ก็มีดื่น เต็มไปหมด มากกว่ามาก ที่จะเทียบกันได้ ทีนี้ก็มองดูไปยังคำว่า ทิศาปาโมกข์ พวกนี้ก็มิใช่ครู แต่เป็นผู้ให้การศึกษาวิชาชีพ นานาชนิด แม้ว่าจะจบการศึกษาจากทิศาปาโมกข์แล้ว จิตใจก็ยังต่ำอยู่ คือไม่ได้รื้อถอนกิเลสกันซักกี่มากน้อย เพราะสนใจแต่เรื่องอาชีพ รู้ได้ง่ายๆ จากคัมภีร์ชาดก เช่น องคุลีมาล ก็เคยไปเรียนที่สำนักทิศาปาโมกข์ ก็เลยมาทำอะไรยุ่งยาก ลูกพระเจ้าแผ่นดินอีกคนหนึ่งไปเรียนทิศาปาโมกข์พร้อมกับ สุตโสมะ สุตโสมะเป็นผู้ประกอบไปด้วยธรรม แต่ลูกเจ้าแผ่นดินคนนั้นกลายเป็นผู้กินเนื้อคน ที่เรียกว่า โปริสาท อย่างนี้ เป็นต้น คำว่า ทิศาปาโมกข์นั้น มุ่งเรียนกันแต่วิชาชีพ เช่นเดียวกับที่เราไปเรียนเมืองนอกเวลานี้ ซึ่งยังไม่พอ
ทีนี้ก็อยากจะให้ดูกันถึงคำเบ็ดเตล็ด เช่น คำว่า อุปัชฌาย์ นี่เป็นที่น่าหัวมาก ในสมัยโบราณ หมายถึงผู้สอนวิชาชีพทั่วๆ ไป ในบ้านเมือง เช่น วิชาดนตรี เป็นต้น ในหนังสือ ปียทัศสิกา (นาทีที่ 23:02) ก็เอ่ยถึงชื่อ ถึงคำว่า อุปัชฌาย์นี้ แต่เป็นภาษา ปะรากิต (นาทีที่ 23:10) ว่า วัชญาอี (นาทีที่ 23:15) เป็นภาษาพื้นบ้านชั้นต่ำสุด เป็นภาษาพูดของคนธรรมดา ถ้าจะออกเสียงเป็นภาษาสันสกฤต มันออกเสียงยาก อุปปาชะยายะ (นาทีที่ 23:32) ยาก ก็เรียกกันว่า วัชญาอี วัชญาอี (นาทีที่ 23:41) เป็นผู้สอนวิชาอาชีพอื่น เช่น ดนตรี เป็นต้น ในพุทธศาสนาเราก็หมายถึง ผู้รับประกัน ผู้ที่จะเข้ามาบวชว่า อุปัชฌาย์นั้น จะเป็นผู้ดูแลให้เรียบร้อย ไม่ให้เกิดเสียหายขึ้นในคณะสงฆ์ แต่ก็น่าคิดที่ว่า คำว่า อุปัชฌาย์ และครูผู้สอนดนตรี นี้ ดนตรี เป็นต้น ดูจะเป็นคำใช้ทั่วๆ ไป มีระเบียบการกล่าวให้ทุกคนมีอุปัชฌาย์ ชาวบ้าน ชาวนา ชาวสวน ทุกคนมีอุปัชฌาย์ แต่เดี๋ยวนี้เราพูดกันไม่ได้แล้ว เพราะเอาคำว่าอุปัชฌาย์ ไปไว้เฉพาะพระเถระ ผู้จะรับประกันการบวชของผู้เข้ามาบวชใหม่ ฉะนั้นคำว่า อุปัชฌาย์ มีความหมายไกลจากคำว่า ครู มากทีเดียว
ในที่สุดก็มาถึง คำว่า อาจารย์ เป็นผู้ดูแลอบรมทางมารยาท สำหรับยุวชน มีเกียรติต่ำกว่าคำว่า ครู อย่างที่จะเทียบกันไม่ได้ เพราะคำว่า ครู นั้นจะหาทำยาก็ยาก มีหน้าที่สูงเกินไป ในอาศรมต่างๆ อย่างจะมีก็ อาจารย์ สอนความรู้ทั่วๆ ไป คือเรื่องทางมารยาท คำว่าอาจารย์ก็มีความหมายต่างหากจากครู เราจะเห็นได้ทันทีว่า คำว่า ครูนั้นหายาก แม้ในครั้งโบราณ ส่วนคำว่าอาจารย์นั้นจะมีทั่วไป เดี๋ยวนี้เรามีครูมากกว่าอาจารย์ ความหมายเลยกลับกันอยู่ ผู้ทำหน้าที่สูงทางจิต ทางวิญญาณ อยู่ในอันดับรอง จากอาจารย์ ผู้มีการสั่งสอนตามธรรมดา
อาตมาพูดถึงข้อนี้ก็เพื่อจะให้สังเกต การถ่ายทอดทางภาษา ว่าเราจะเอาคำอะไรเป็นหลัก จะยึดถืออุดมคติอะไร ให้เป็นอุดมคติของครู ถ้าจะถือตามอุดมคติเดิม ก็เป็นผู้เปิดประตูทางวิญญาณอย่างนี้ก็ต้องขยายความหมายให้ลดลงมาให้ได้มากว่า อะไรที่มันทำให้แม้สัตว์ก็ฉลาดขึ้นนิดหนึ่ง ก็ต้องเรียกว่าผู้เปิดประตูทางวิญญาณได้เหมือนกัน ถ้าครูผู้สอนสนใจ แม้จะสอนวิชาเลข วิชาวาดเขียน หรืออะไรทำนองนั้น ถ้าสอนถูกวิธีก็จะทำให้วิญญาณของยุวชนนั้นสูงขึ้นได้เหมือนกัน ไม่เฉพาะเรียนหนังสือ หรือเรียนธรรมะ นี่ถ้าเราจะคงยึดถือคำนี้ไว้เป็นหลัก ก็ต้องมีระบบเกี่ยวกับหน้าที่ของผู้ที่จะเป็นครู ให้มีความหมายอย่างเดียวกันกับที่เคยมีมาแล้ว เรื่องภาษานี่ มีหลายอย่างที่ทำพิษ ให้เกิดปัญหา และรับใช้กันอย่างไรแล้ว ก็ยากที่จะเปลี่ยน เมื่อมันเปลี่ยนไม่ได้ ก็ต้องปรับปรุงความหมาย ความประพฤติ การกระทำของผู้ที่มีชื่อเรียกนั้นๆ ให้สมกัน ให้ถูกต้องตามความหมายเดิม ที่จะพอถือเป็นหลักได้ เดี๋ยวนี้เราต้องการครูที่เหมาะกับสมัยปรมาณู สมัยคอมพิวเตอร์ และยังจะต้องเล่าเรียน ศึกษาชนิดที่รับใช้การเมือง รับใช้เศรษฐกิจ
เราจะสร้างครูชนิดไหนขึ้นมาดี จึงจะสำเร็จประโยชน์ตามที่ต้องการ ถ้าจะต้องใช้คำว่า ครู ครู ต่อไปก็จะต้องปรับหน้าที่หรืออุดมคติของครูให้เหมาะสมกัน เดี๋ยวนี้ปัญหาที่แท้จริงก็คือว่า ความไม่มีศีลธรรม ในบ้านเมือง เต็มไปด้วยอันธพาล อาชญากรหนักขึ้นทุกที จึงได้นึกถึงเรื่องจริยธรรมกันขึ้นมา ก็จะต้องมีการศึกษาชนิดที่จะตัดต้นเหตุอันเลวร้ายแห่งการไม่มีศีลธรรมหรืออาชญากรรมเหล่านั้นให้ได้มากกว่า นี้คือคำว่าครู หรือปัญหาเกี่ยวกับคำว่า ครูหรืออุดมคติของครูที่เราจะต้องสนใจ ต้องปรับปรุง ให้เข้ารูปเข้ารอย
ทีนี้สิ่งถัดมา อาตมาก็ระบุไปยัง สิ่งที่เรียกว่าจริยธรรม ซึ่งเป็นตัวเรื่องของเรื่องที่เรากำลังพยายาม ที่จะประดิษฐานขึ้นมา จะชำระสะสาง จะทำให้สำเร็จประโยชน์ เพื่อให้มีจริยธรรม ขึ้นมาในบ้านเมือง ขอชักจูงความสนใจ ไปยังคำที่ใช้เรียกกันอยู่ คำว่าจริยธรรม คำว่าจริยศาสตร์ คำว่า จริยศึกษา อันนี้ยังใช้ปนเปกันอยู่ จนอาตมาเองบางทีก็ไม่แน่ว่าจะใช้คำว่าอะไร ให้ตรงตามที่เขาใช้กันอยู่ เป็นทั่วๆ ไป ในที่สุดมานึกได้ว่า ควรจะมีการใช้คำประเภทนี้ให้เหมือนกับที่ระบบสากลเขาใช้ ที่ปรากฏอยู่ในเอกสารนั้นๆ
ซึ่งสรุปเอาแต่ใจความก็มีว่า มันมีตัวศีลธรรมหรือจริยธรรมก็ตาม เป็นตัวบทบัญญัติ เพื่อให้คนประพฤติ แล้วก็มีตัวปรัชญาของบทบัญญัติเหล่านั้นแต่ละบท ทั้งสองเรื่องนี้รวมกันเรียกว่า จริยศึกษา หรืออะไรก็แล้วแต่ซึ่งเรายังไม่ยุติ โดยหลักง่ายๆ ก็คือมีตัว มีระบบการสอนตัวศีลธรรม (morality) แล้วก็มีหมวดที่อธิบาย เหตุผลของศีลธรรมรอบด้าน เรียกว่า philosophy of morality หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า Ethic เมื่อเป็นอย่างนี้ พวกที่เป็น moralist กับพวก ethicist ไม่ใช่คนเดียวกัน และไม่ได้ทำหน้าที่อย่างเดียวกันเราจะให้ครูทำหน้าที่ อย่างไร นี่ก็คงจะเป็นปัญหาบ้าง ครูจะเป็น moralist หรือ ethicist แต่ว่าเรารู้จักตัวเรื่องกันให้ถูกต้องให้เป็นโครงที่ถูกต้อง ที่รัดกุม ที่มั่นคง ที่แน่นอน แล้วเราค่อยเรียกชื่อก็ได้ เราจะตั้งชื่อให้เหมาะสม
ตามรูปศัพท์ คำว่าจริยธรรม แปลว่าสิ่งที่ควรประพฤติ ควรปฎิบัติ ควรไปสู่หรือควรเที่ยวไป ถ้าเราใช้คำว่าศีลธรรม ในภาษาบาลีมันหมายถึง ความสงบ ทุกรูปแบบกระทั่งถึงพระนิพพาน ถ้าใช้คำว่า ศีลธรรมขอบเขตมันกว้างพอที่จะ รวบไปถึงพระนิพพาน ซึ่งเป็นความปกติ หรือความสงบอันสุดท้าย การใช้คำว่าจริยธรรมยังมีความหมายที่จะวนกันอยู่ในโลกนี้ แล้วก็ขอให้สังเกตดูในข้อที่ว่า จริย หรือจริยธรรมนั้น เพ่งเล็งไปถึงอะไรเป็นส่วนใหญ่ จริย แปลว่าควรเที่ยวไป ควรเดินไป ก็คือควรปฎิบัติ ควรประพฤตินั่นเอง
ทีนี้มันก็ตรงกับความหมาย ของคำว่า มรรคะ มรรค ซึ่งเป็นหนทางสำหรับเที่ยวไป ฉะนั้นเมื่อจะเลือกเอาหัวข้อย่อยใดของธรรมะกลุ่มไหนมาใช้ ในการที่จะจำแนกแจกแจงจริยธรรม อาตมาจึงเสนอว่า เรื่องมรรค นั่นแหละ เหมาะสมที่สุดที่จะเอามาใช้เป็นหลักแจกแจงจริยธรรม ซึ่งประเดี๋ยวจะได้พูดถึงเรื่องนี้โดยเฉพาะ ทีนี้เรื่องจริยธรรมนี่ เป็นเรื่องทางจิตทางวิญญาณ แม้ว่าจะเกี่ยวเนื่องมาถึงร่างกายบ้างก็ยังเล็งถึงเรื่องทางจิต ทางวิญญาณเป็นส่วนใหญ่ เราน่าจะนึกถึงเรื่องทางจิต ทางวิญญาณให้มากกว่า แต่เดี๋ยวนี้กลับเป็นว่า เรื่องจริยธรรม มาสอนกันอย่างกับว่าเป็นเรื่องทางวัตถุหรือทางกาย อาศัยเรื่องทางวัตถุหรือทางกายมาก มากขึ้น มากขึ้น เพราะผู้สอนจริยธรรมก็กลายเป็นครู อย่างยุคปัจจุบัน ไม่ใช่ครูผู้เปิดประตูทางวิญญาณอย่างยุคโบราณ เรื่องมันก็เลย กระเดียดมาเป็นเรื่องทางวัตถุมากขึ้น มันก็กลายเป็นเครื่องจักรไปทั้งผู้สอนและผู้เรียน อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ควรจะ นึกถึงหรือปรับปรุง แม้ว่าเราจะถือตามหลักแห่งคำว่าครู ยุคโบราณไม่ได้เราก็จะต้องพยายามที่จะเดินตามรอยเดียวกันให้มันเข้ากันได้ อาตมาเห็นว่าน่าจะกำหนดคุณสมบัติของผู้สอนแห่งสมัยนี้ ซึ่งจะขอเรียกว่า ผู้สอนแทนที่จะเรียกว่า ครู หรือ อาจารย์
ข้อ 1. มีความรู้อย่างถูกต้องและเพียงพอ ในเรื่องที่จะสอน
ถ้าเราปรับปรุงครูให้มีคุณสมบัติอย่างนี้ได้ มันก็จะใกล้เคียงกับครูสมัยดึกดำบรรพ์ ซึ่งเป็นผู้เปิดประตูทางวิญญาณรอบด้าน เปิดทางวิญญาณแก่เด็กทุกคนในโรงเรียน และแก่ประชาชนทุกคนที่เกี่ยวข้องด้วย
ทีนี้ก็อยากจะพูดถึงคำว่า สอน สอน คำคำนี้มักจะถือกันตามความหมาย สอนหนังสือ หรือสอนวิชาชีพ แต่ถ้าเราจะดู ปทานุกรมธรรมดา ธรรมดาที่สุด ของพวกฝรั่ง ปทานุกรมชนิดเด็กนักเรียนใช้ ลองเปิดดูคำว่า Educate, Educate ให้คำอธิบายว่า to teach and train the character on mind of ใครก็ว่าไป Educate ก็คือทั้งสอน และทั้งฝึก teach and train แล้วก็ไม่พูดถึงวิชาเลย สิ่งที่ถูกสอนก็คือ character and mind อาตมารู้สึกว่า เพียงความหมายของ คำว่า Educate นี่ก็เหลือกำลังแล้ว มันเหลือกำลังที่เราจะเอามาใช้ให้เต็มความหมายได้ เราจะใช้คำอะไรดี ให้ตรงกับคำอะไรดี ในระบบจริยธรรม ถ้าเราใช้คำว่า สอนเฉยๆ มันก็ไม่มี train แล้วในดิกชันนารีนั้นก็ไม่ได้มีพูดถึงวิชาความรู้ กลายเป็น character and mind นี่เขาไปกันไกลถึงขนาดนี้ อาตมาเห็นว่าในระดับจริยธรรมนี้ จะต้องใช้คำคำนี้ คำว่า Educate นั่นแหละ ซึ่งก็ไม่ทราบว่าจะแปลเป็นภาษาไทยว่าอะไร ถ้าจะแปลว่า ศึกษา ก็ต้องให้ความหมายเต็มเหมือนกับความหมายในภาษาบาลี คำว่า ศึกษา ศึกษาในภาษาบาลีนั้น หมายถึงการปฏิบัติ ไม่ใช่การสอนด้วยปาก หรือไม่ใช่เพียงแต่ทำตัวอย่างให้ดู แต่เป็นตัวการปฏิบัติให้ปฏิบัติ มันตรงกับคำว่า train โดยมาก และก็มีหลักว่า เห็นเอง ด้วยตนเอง ก็เพื่อตนเอง สักกับคำว่า อิคะ (นาทีที่ 45:24) มันเปลี่ยนไปตามรูปสมาทที่จะถอดออกมาได้ สักอิคะ (นาทีที่ 45:30) แปลว่าเห็น ซึ่งตนเอง สักอิคะ แปลว่า เห็นด้วยตนเอง สักอิคะ แปลว่า เห็นเพื่อตนเองก็ได้ ถ้าทำได้อย่างนี้ คำว่า การศึกษานั้นมีความหมายมากทีเดียว อาจไปไกลกว่าคำที่เขาใช้กันอยู่ แม้แต่คำว่า education
นี่เราจะทำอย่างไรจึงจะให้เกิดการสอน และฝึกทั้งทางมารยาทและทางจิต แก่ลูกเด็กๆ ของเรา อย่างที่กำลังเป็นกันอยู่นี้มันมีอะไรบกพร่อง ถ้าเปรียบก็เสมือนว่าฝึกลิงโดยไม่ต้องล่าม ลองคิดดูซิ จับสัตว์ป่ามาฝึกให้เป็นสัตว์บ้าน โดยไม่มีการล่าม ไม่มีทางจะสำเร็จ ระเบียบต่างๆ ที่จะให้ควบคุมเด็กให้อยู่ในอำนาจนั้น สมัยใหม่ก็เห็นเป็นเรื่องป่าเถื่อนไปเสียอีก ครูน่าจะมีเหตุผลอย่างไร ก็ยังจะตีเด็กก็ไม่ได้ จะดุว่าก็ไม่ได้ เพราะมีอะไรคุ้มครองอยู่ นี่มันจึงเหมือนกับว่าฝึกลิงโดยไม่ต้องล่ามไว้ให้อยู่ในอำนาจเสียก่อน แล้วจะฝึกอะไรๆ อย่างจะฝึกช้างนี่ ก็ต้องมีการผูกมัดให้อยู่ในอำนาจเสียก่อนแล้วจึงฝึกอย่างนั้น ฝึกอย่างนี้
ในการสอนของเรานั้นมีอะไรที่เป็นเสมือนหนึ่งเชือกผูกล่ามไว้อยู่ในอำนาจเสียก่อน แล้วก็มีอะไรอีกที่จะเป็นการฝึก ฝึก ฝึก ฝึกไปตามความต้องการ ถ้าการผูกล่ามไม่มี หรือเป็นไปไม่ได้ มันก็สอนไม่ได้ มันก็มีลักษณะเหมือนกับจับปูใส่กระด้งอยู่เรื่อยไป พระ เณร บวชเข้ามามีวินัย มีวินัยจำนวนหนึ่งควบคุมไว้ก่อน เหมือนกับเตรียมตัว เตรียมตัวสำหรับรับการฝึกในขั้นที่สูงขึ้นไป วินัยส่วนนี้มันเหมือนกับเชือกที่ล่ามไว้ให้อยู่ในอำนาจ ดิ้น ดื้อไม่ได้ซะก่อน แล้วจึงฝึกสอนด้วยบทเรียนที่สูงขึ้นไป ทีนี้จึงไม่สู้ยาก ไม่สู้ยากที่เหมือนกับการสอนเด็ก ในโรงเรียน ซึ่งไม่มีอะไรสำหรับจะผูกพันให้อยู่ในอำนาจของครู เพื่อครูจะได้น้อมนำไปด้วยดี ด้วยดี คราวนี้ก็ต้องหมายความว่า ครูที่ถูกต้อง ไม่ใช่ครูขี้โมโห แต่เมื่อใช้ระบบเหมือนกันหมด ดุไม่ได้ เฆี่ยนไม่ได้ อะไรไม่ได้ มันก็ลำบาก ต้องมีอะไรมาทดแทน มีอะไรมาทดแทนให้เขายินดีที่จะทำตาม
เราไม่อาจจะทำอย่างระบบอาศรม อาศรมพรหมจารี อาศรมแรกของชีวิต คือเด็กจนถึงหนุ่มสาว ลองอ่านเรื่องนี้ดูแล้วจะเห็นว่ามีรายละเอียดถี่ยิบ มันไม่ใช่ ให้เรียนหนังสือ หรืออักษรศาสตร์ หรือศิลปะเป็นส่วนใหญ่ ในอาศรมพรหมจารีนั้น กวดขันมากในเรื่องทางเพศ จริยา จรรยาทางเพศ กวดขันมาก แล้วจึงมาถึงจริยา จรรยาทางสังคม ทางอะไร กว้างออก กว้างออก รวมทั้งการเรียน อักษรศาสตร์
อาตมาเคยคุยกับชาวอินเดีย ที่เป็นนักศึกษา แล้วเขาก็ยังเคยทันเห็น ว่าน่าเลื่อมใส ในอาศรมของพรหมจารี คือเด็กยุวชนทั้งหลาย มีความเคร่งครัด เฉียบขาดในระเบียบวินัย จนกว่าจะโตมันก็มีนิสัย ซื่อตรงต่อระเบียบ ต่อวินัย บังคับจิตได้มากพอตัว ที่จะออกจากอาศรมพรหมจารี มาสู่อาศรมคฤหัสถ์ คือผู้ครองเรือน
การจัดการศึกษา ให้สำเร็จประโยชน์โดยแท้จริงนั้นมันต้องควบคุมได้ ทั้งสองอย่าง คือทั้ง character และ mind อย่างที่ว่าเมื่อสักครู่ เดี๋ยวนี้ เราสนใจแต่เรื่องวิชา หนังสือ ส่วนนั้นก็บกพร่องไป ได้ยินเขาพูดถึงเรื่อง ปอเน๊าะ ของชาวอิสลามสมัยก่อน ก็รู้สึกว่าตรงกับเรื่องอาศรมพรหมจารีมาก เด็กจำนวนไม่มากนัก อยู่ในความดูแลของอิหม่ามหรืออาจารย์อะไรคนหนึ่ง ดูแลทุกอย่าง ฝึกทุกอย่าง ดูแลทุกอย่าง ไม่ใช่ว่าจะเรียนกันแต่เรื่องศาสนา แต่เรียนกันทุกอย่าง เรียนสำหรับจะเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ก็น่าสนใจ เป็นระบบการฝึกที่น่าสนใจ จะถ่ายทอดเอาอุดมคติไว้ได้เท่าไหร่ก็น่าจะลองคิดดู
คำว่าสอน สอนนี้ จะต้องพิจารณากันใหม่แล้ว ให้มันมีลักษณะเหมือนกับที่เรียกว่า educate อย่างเมื่อสักครู่นั่นแหละ แล้วจึงจะสู้กันได้ กับความเสื่อมเสีย ตกต่ำทางจริยธรรม teach and train ทั้ง teach ทั้ง train ทั้ง character and mind ทั้งแก่ character และแก่ mind คำว่าแก่จิต แก่ mind นี่มันกว้างมาก มันกว้างมากจนกลายเป็นหลักธรรมะในทางพุทธศาสนาไปก็ได้ เรื่องนี้ก็ปรับปรุงเอาให้พอดี เรื่อง character สมัยนี้ดูจะเสื่อมความหมาย หรือเสื่อมค่าลง ไม่มีคนสนใจมากเหมือนในยุคที่แล้วมา ดูจะเป็นเหมือนเหมือนกันไปทั้งโลก แต่นั่นแหละเป็นเหตุให้เกิดสภาพเสื่อมทรามทางศีลธรรม
ในที่สุดนี้อาตมาก็จะพูดถึงคำว่าเด็ก คำว่าเด็ก เด็กที่จะรับการฝึกฝน ซึ่งครูบาอาจารย์ทั้งหลายก็ทราบดี อยู่แล้วว่าเป็นอย่างไร มาจากครอบครัว บางครอบครัวแล้วเหมือนกับว่าจะไม่มีทางที่จะฝึกฝนอะไรได้ นี่ก็เลยไปถึงบิดามารดา เป็นต้นเหตุ แต่อาตมาคิดว่ามันเป็นเรื่องยุคด้วย เด็กๆ ยุคก่อน ราว100ปี 80ปี 100ปี นี้ เด็กๆ พอคลอดมาก็ได้รับการอบรม มีความเชื่อในพิธีไสยศาสตร์ให้กลัว ให้กลัวสิ่งที่เข้าใจไม่ได้ แล้วก็กลัว ให้สำรวมระวัง และให้มีความรู้สึกในทางที่ว่ากล้าต่อบุญ และเกลียดต่อบาป กล้าบุญ เกลียดบาปนั่นแหละ มันมีอยู่ในนิสัย เพราะวัฒนธรรมอันวิเศษของชนชาวไทย มีเป็นธรรมเนียมประจำบ้านเรือน จึงอบรมเด็ก เด็กเล็กๆรุ่นนั้น ให้มีนิสัยกล้าบุญ เกลียดบาป ก็เพราะมีนิสัยอย่างนี้ พอมาเรียนหนังสือที่โรงเรียนมันก็ง่าย เพราะมันคอยแต่จะหาไปในทางบุญ
ดังนั้นเด็กยุคนั้นจึงสอนง่าย นำไปง่ายกว่าเด็กยุคนี้ เด็กยุคนี้ ไม่มีคำว่าบุญ ว่าบาป ว่าดี ว่าชั่ว โดยถือว่าได้ แล้วก็แปลว่าดี ได้สุข สนุกสนาน ได้อร่อยตามที่ต้องการแล้วก็ว่าดี ชั่วก็คือไม่ได้ จิตใจมันต่างกันมากถึงอย่างนี้ คือไม่รู้จักบาป ไม่รู้จักบุญ ไม่รู้จักกลัวบาป ไม่รู้จักรักบุญ จิตใจชนิดนี้ จะสั่งสอนอบรมกันอย่างไร นี่มันเป็นปัญหาหนักกันขึ้นมาสำหรับการศึกษาแห่งยุคปัจจุบัน
สรุปสั้นๆ ก็ว่า การศึกษายุคเก่านั้นได้สอนลงไปในเด็ก ที่วัฒนธรรมประจำชาติ พื้นบ้าน ประเพณีอบรมมาให้ดี พอมาถึงสมัยนี้ เราไม่มีเด็กอย่างนั้น มีแต่เด็กที่กำลังเห่อ ทะเยอทะยานไปตามเรื่องของเขา จนพูดกันไม่รู้เรื่อง จนพูดกันไม่รู้เรื่อง นี่มันจึงมีปัญหาใหม่ๆ เกิดขึ้น เช่นเด็กเดินขบวน เด็กยกพวกตีกัน อันนี้มีไม่ได้เมื่อสมัยวัฒนธรรมยังดีอยู่ ขนบธรรมเนียมประเพณี หรือจริยธรรมก็เรียกได้ ยังดีอยู่ พอกพูนกันมาตั้งแต่แรกเกิดทีเดียว พ่อแม่มีนิสัยอย่างนั้น ลูกก็พลอยมีนิสัยอย่างนั้น เห็นอยู่ตำตาจนกว่าจะเติบโต มันก็รับธรรมะแต่โดยง่าย
เดี๋ยวนี้เด็กโดยความพลั้งเผลอของใครก็สุดแท้ เขาเลยหันไปนิยมวัตถุ หรือทางภาษาศาสนาเรียกว่า เนื้อหนัง บูชาเนื้อหนัง มากเกินไป แล้วเขามีความรู้สึกว่าที่จะอุตสาห์เรียน อุตสาห์เรียนดีสุดแล้ว ก็เพื่อความสุขทางเนื้อหนัง หาดูยากที่จะอุตสาห์เรียนอุตสาห์เรียนเพื่อประเทศชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มูลรากมันมาจากจิตใจที่ถูกปั้นขึ้นมาอย่างไร ตั้งแต่สมัยเป็นเด็ก เด็กยุวชนสมัยนี้จึงมีอารมณ์ร้อนแรง อารมณ์อ่อนไหว อยากเสรี อยากเด่น อยากดัง อยากลอง และมีความรู้สึกทางเพศเร็ว และรุนแรง เพราะสิ่งแวดล้อม สื่อมวลชนที่แวดล้อมให้เกิดความรู้สึกอย่างนั้นแก่ยุวชน โดยไม่มีใครรับผิดชอบ คงไม่มีใครรับผิดชอบ เพราะไม่มีใครมอง ไม่มีใครมองเห็นว่ามันเป็นสิ่งที่เลวร้าย เราไปใช้คำว่าจิตทราม สิ่งเหล่านั้นทำให้ ลูกเด็กๆ ของเรามีจิตทราม จะเป็นทีวี จะเป็นหนัง จะเป็นอะไร แม้แต่ภาพโฆษณาเท่านั้นแหละ ไม่ต้องไปดูตัวตนจริง ภาพโฆษณาเหล่านั้นแหละ ยังทำให้เด็กๆ ของเราจิตทรามได้มากมายทีเดียว
ปัญหาที่ประสพสำหรับผู้ที่จะดำเนินการทางศีลธรรม เป็นยุคสมัยด้วย เรียกว่าเป็นยุค คือเหมือนๆ กันไปหมด จนไม่มีใครที่จะถูกตำหนิ ผู้ปกครองก็ดี ยุวชนเองก็ดี ไม่มีใครถูกตำหนิ จนกลายเป็นที่ยอมรับว่ากันว่าต้องเป็นเช่นนี้เอง เช่นนั้นเอง เรื่องก็เลยเพิ่มปัญหา เพิ่มปัญหาให้แก่บุคคลผู้จัดการศึกษา หรือครู ที่เป็นเด็กเล็กๆ อบรมโดยวิธีให้กลัวสิ่งที่มองไม่เห็นตัว หรือไม่รู้จัก กลัวบาป กลัวอะไรนี้ แม้จะกลัวอย่างงมงายคล้ายๆ ไสยศาสตร์ ก็ไม่เป็นไร ยังดีกว่าเด็กสมัยนี้ ที่ไม่รู้จักกลัวซะเลย
นี่คือเรื่องที่อาตมาขอปรารภเป็นนานาปัญหาเบ็ดเตล็ดทั่วๆไปเกี่ยวกับคำว่าครู เกี่ยวกับคำว่าจริยธรรม เกี่ยวกับคำว่าทางวิญญาณ เกี่ยวกับคำว่าการสอนหรือวิธีสอน และเกี่ยวกับเด็ก ซึ่งเป็นผู้สร้างปัญหา ทีนี้ก็จะมาถึงคำที่กล่าวค้างไว้ว่า คำว่า จริยธรรม จริยธรรมนั้น มันมีความหมายตรงกับคำว่า มรรค พระพุทธศาสนามีสิ่งที่เรียกว่า อริยมรรคมีองค์แปด หรือ ทาง นั่นแหละเป็นตัวยืน หรือเป็นตัวศาสนา ทีนี้เมื่อเราจะมีโครงร่างทางจริยธรรม ก็ควรจะนึกถึงไอ้สิ่งที่เรียกว่า มรรค นี่แหละก่อน เพราะแม้แต่คำพูดต่างกัน แต่ความหมายอย่างเดียวกัน คำว่า จริยะ แปลว่า ควรเดิน หรือต้องเดิน แต่ละๆ จริยะ นี่แปลว่า เที่ยวไปก็ได้ จะแปลว่าประพฤติก็ได้ จะแปลปฏิบัติก็ได้ จะแปลว่าเดิน ก็ได้ จริย จริยธรรมนี่ก็เป็นสิ่งที่ควรประพฤติ ปฏิบัติหรือเดินไป มันก็เลยตรงกับคำว่า มรรค คือหนทางสำหรับเดินไป ดังนั้น อาตมาจึงแนะนำว่า ถือเอาหลักเกี่ยวกับอริยมรรค มีองค์แปดนั่นแหละ มาเป็นโครงสร้างของเรื่องจริยธรรม เป็นการถือเอาอย่างมีหลักฐาน อย่างมีหลักอิงอาศัย และโดยที่เป็นตัวพุทธศาสนาแท้ๆ ตัวอริยมรรคนั่น เอามาเป็นตัวจริยธรรม จึงจะใช้เป็นหลักสำหรับสอน สำหรับอบรม สำหรับพอกพูนให้มันมีขึ้นมา ในหมู่ยุวชน คำว่า มรรค ที่แปลว่าทางเดินมีความหมายกว้าง จนจะเอาอย่างต่ำ ก็ได้ อย่างกลางก็ได้ อย่างสูงสุด ก็ได้ ก็เรียกว่ามรรคทั้งนั้น ฉะนั้นเราจึงมีโอกาสเลือกเฟ้นข้อธรรมะ ต่างๆที่พึงประสงค์ ที่เลือกกันวันก่อนนั้นก็ยังอาจจะเพิ่มได้ หรือยังอยากจะลดก็ยังลดได้ แต่ดูจะมีทางที่จะเพิ่มได้ให้ครบถ้วน มากกว่า ขอให้พิจารณากันดูอีกทีหนึ่ง ก่อนที่จะยุติอย่างไร คำว่ามรรค มรรค เป็นหนทางสำหรับเดินไป คือเดินไปสู่จุดหมายปลายทางอย่างวิสัยโลก ก็ได้ แล้วก็อย่างเหนือโลกก็ได้ ก็คือบรรลุนิพพานก็ด้วยอริยมรรคนั่นเอง แต่เมื่อยังเดินอยู่ในโลก ยังไม่ออกนอกโลก มันก็ต้องเดินให้ถูกตามหลักเกณฑ์ของอริยมรรค อยู่นั่นเอง นี่ระบบการเดินด้วยอริยมรรค ในระดับที่เวียนอยู่ในโลกนี้ จะตรงกันพอดีกับความหมายของคำว่าจริยธรรม ถ้าเป็นการเดินออกนอกโลก เหนือโลก พ้นโลก ก็จะพ้นจากขอบเขตของความหมายคำว่าจริยธรรม
ถ้าความรู้นี้มันไปไกลออกไปจนถึงพวกฝรั่งซึ่งเขารู้จักตัวพุทธศาสนากันแต่ในคำว่า middle way เขาก็จะชอบใจ ที่นี้สังเกตดูในประเทศอังกฤษ ใช้คำว่า middle way แทนคำว่าพุทธศาสนาไปแล้ว ซึ่งเราจะได้พิจารณาคำว่ามรรคมีองค์แปดโดยเฉพาะในการบรรยายครั้งต่อไป ครั้งนี้ขอสะกิดความสนใจในสิ่งที่เราได้คิดมาแล้ว ได้พูดมาแล้วหรือได้ยกร่างมาแล้วก็ตาม ให้ละเอียดลออ รอบคอบ ทั่วถึง อย่าได้มีอะไรบกพร่อง นี่อาตมาเรียกว่า นานาปัญหาเกี่ยวกับจริยธรรม ซึ่งเป็นปัญหาปลีกย่อยทั้งนั้น จนเราพบตัวปัญหาก่อน เราจึงจะสามารถพบสิ่งที่จะแก้ปัญหาได้ เราจะพบการแก้ปัญหา โดยที่ไม่พบตัวปัญหาเสียก่อนนั้นคงทำไม่ได้ นี่เรื่องเกี่ยวกับครู เกี่ยวกับเด็ก เกี่ยวกับวิธีสอน เกี่ยวกับสี่งแวดล้อม ผู้ปกครองมีอยู่อย่างไร เราต้องวางกฎ ระเบียบ หลักเกณฑ์อะไรลงไปให้มันเหมาะกับสิ่งเหล่านั้น แล้วผลงานก็จะไม่มีปัญหา คือจะใช้ได้
ในที่สุดนี้ขอให้ท่านที่เป็นเจ้าหน้าที่ทุกคน พิจารณาทบทวนดูให้ดีอีกครั้งหนึ่งในสิ่งเหล่านี้ แล้วก็จะได้ พิจารณากันถึงเรื่องที่อยู่ในลำดับถัดไป อาตมาขอแสดงความยินดี และอนุโมทนาอีกครั้งหนึ่ง ในการที่ได้เสียสละ ตั้งอกตั้งใจที่จะทำงานชิ้นนี้ จะใช้คำว่าเพื่อประเทศชาติก็ได้ แต่มันยังแคบไป มันควรจะเป็นเพื่อมนุษยชาติดีกว่า ปัญหานี้มันกำลังครอบงำโลกแล้ว ไม่ใช่ครอบงำเฉพาะประเทศไทย เผื่อเราคิดอะไรได้ดีๆ คงจะเป็นประโยชน์แก่คนเหล่านั้นด้วย แล้วก็ขอให้ทำงานอย่างที่เรียกว่าบูชาสิ่งสูงสุด ถืออะไรเป็นสิ่งสูงสุดแล้วก็ขอให้ทำงานเพื่อบูชาสิ่งสูงสุด เรื่อง เกียรติยศ ชื่อเสียง เงินเดือนมันไม่ไปไหนเสีย แต่ถ้าไปสนใจกับสิ่งเหล่านี้แล้ว มันทอนกำลังลงมาก แล้วมันเขวได้ง่าย มันจะทำอย่างลัดไปหมด ตั้งแต่ก่อนจะลงมือทำ แต่ละวัน ละวัน ควรนึกถึงสิ่งสูงสุดโดยเฉพาะคือธรรมะนั่นเอง สิ่งที่เรียกว่า ธรรมะ ธรรมะ นั่นเอง เป็นสิ่งสูงสุด จนถึงกับพระพุทธเจ้าก็เคารพธรรมะ เมื่อตรัสรู้ใหม่ๆ เกิดสงสัยขึ้นมาว่าเป็นพระพุทธเจ้า แล้วจะเคารพใคร ทรงทบทวนอยู่ระยะหนึ่งก็ โอ้ เคารพธรรมะ ที่ตรัสรู้นั่นเอง เพราะธรรมะที่ตรัสรู้ มันเป็นเรื่องหน้าที่ที่ทุกคนจะต้องทำและจะดับทุกข์ได้ พระพุทธเจ้าจึงเคารพพระธรรม ยกพระธรรมให้เป็นสิ่งสูงสุดกว่าพระพุทธเจ้า คำว่าพระธรรมจึงมีความหมายรวมถึงพระพุทธและพระสงฆ์ด้วย เรานึกถึงแต่ธรรม หรือพระธรรมสูงสุด เพียงคำเดียวก็พอ ถ้าเราถือศาสนา ที่มีพระเจ้า อย่างศาสนาอื่นก็เพื่อพระเจ้า ทำเพื่อพระเจ้า แต่ถ้าชาวพุทธก็ทำเพื่อพระธรรม เรียกว่าทำเพื่อสิ่งสูงสุด ด้วยกัน แล้วมันจะให้จิตใจที่เหมาะสมคือ จะทำอย่างกล้าหาญ อย่างแข็งขัน อย่างไม่อคติลำเอียง ผลงานนั้นก็จะน่าดู พอจะลงมือทำแต่ละวัน ก็ขอให้ตั้งจิตนิดนึงเสมอว่า เพื่อพระธรรม เสียสละเพื่อพระธรรม คือสิ่งที่จะคุ้มครองโลกให้ปลอดภัยคือพระธรรม ประเทศชาตินั้นก็ไม่ไปไหนเสีย เพราะว่าทำเพื่อมนุษยชาติ ประเทศชาติก็ไม่ไปไหนเสีย ขออภัย ต้องพูดว่า ไม่ทำเพื่อเลื่อนชั้น เพื่อเงินเดือนขึ้นหรือเพื่ออะไรนี่ อย่าทำเลย จิตไม่เป็นอิสระ จิตถูกกลุ้มรุมด้วยนิวรณ์ มากเกินไป ย่อมจะทำงานได้ไม่ดี ให้มันสลัดนิวรณ์ให้เกลี้ยง แล้วก็ลงมือทำ พนมมือให้แก่พระธรรมสักครั้ง แล้วก็ลงมือทำ ที่ง่ายขึ้น ง่ายขึ้น
การบรรยายในการเปิดประชุมนี้ก็พอสมควรแก่เวลาแล้ว อาตมาขอยุติการบรรยายครั้งนี้ไว้เพียงเท่านี้