แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านที่เป็นครูบาอาจารย์ทั้งหลาย อาตมาขอแสดงความยินดีในการมาของท่านทั้งหลาย ในฐานะที่ว่าเป็นครูและเป็นครูด้วยกัน ข้อนี้ขอให้นึกถึงพระพุทธเจ้าผู้เป็นบรมครูในทางศาสนาในทางภาษาไทยของเราก็เรียกพระพุทธเจ้าว่าเป็นพระบรมครู ภิกษุสงฆ์สาวกทั้งหลายก็ตั้งอยู่ในฐานะเป็นครู รับใช้สนองพระพุทธประสงค์ของพระพุทธเจ้า ท่านทั้งหลายก็เป็นครู แม้ว่าคนละสังกัด มันก็ยังเป็นครูด้วยกัน ครูสังกัดกระทรวงศึกษาธิการกับครูที่สังกัดต่อพระพุทธเจ้า แล้วก็อย่าลืมว่า ถ้าท่านทั้งหลายเหล่านี้เป็นพุทธมามกะ เป็นคนไทยนับถือพุทธศาสนา ก็ยังเป็นครูสังกัดในพระพุทธเจ้าได้ด้วยเหมือนกัน เลยกลายเป็นครู ๒ สังกัด อย่างนี้มันยิ่งมากไปกว่าภิกษุสงฆ์เสียอีกซึ่งเป็นครูสังกัดเดียว สังกัดต่อพระพุทธเจ้า เมื่อเราเป็นครูด้วยกัน ได้พบกันจึงเป็นที่ยินดี ขอแสดงความยินดีในการได้พบกัน แล้วก็ขออนุโมทนาในความขวนขวายพยายามของท่านทั้งหลายที่จะทำหน้าที่ของตนให้ถึงพร้อม นี่เรามีเหตุผลที่จะมีความยินดี อนุโมทนาต่อกันและกันอย่างนี้ ทีนี้ที่อยากจะให้ทำความรู้สึกหรือกำหนดจดจำไว้ในใจ ว่าเดี๋ยวนี้เรามานั่งกลางดินซึ่งมีความหมายมากสำหรับพระพุทธเจ้า เข้าใจว่าครูทั้งหลายย่อมรู้เรื่องนี้ดี ถ้าไม่รู้ก็คงจะแย่มาก ในข้อที่ว่าพระพุทธเจ้าท่านประสูติกลางดิน พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้กลางดิน ท่านสอนกลางดิน มีชีวิตอยู่กลางดิน ในที่สุดก็นิพพานคือตายกลางดิน ถ้าท่านทำในใจถึงข้อนี้อยู่เสมอ แล้วก็จะพอใจในการที่ได้นั่งกลางดินอย่างเดี๋ยวนี้ แผ่นดินซึ่งเป็นที่ประสูติ ตรัสรู้ สั่งสอน อาศัยอยู่และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ขอไปศึกษาดูเอาเองเถิด ข้อความที่ว่าพระพุทธเจ้าประสูติกลางดินนั่นเป็นอย่างไร เป็นพระราชามหากษัตริย์แต่ทำไมมาประสูติกลางดินที่สวนลุมพินี ตรัสรู้ริมตลิ่ง โคนต้นไม้ชนิดหนึ่งเมื่อนั่งกลางดิน การสอนโดยมากสอนกลางดินทั้งนั้นแหละ เพราะว่าที่วัดก็อยู่กันอย่างพื้นดิน ที่ไหนก็สอนกันได้แม้แต่เดินทางก็สอนกันได้ ควรจะรู้ไว้ว่าพระไตรปิฎกของเราทั้งหมดทั้งสิ้นนั้นมีกำเนิดกลางดิน กุฏิพระสงฆ์ในสมัยพุทธกาลนั้นพื้นดินทั้งนั้น เรียกว่าท่านอยู่กลางดิน มีชีวิตอยู่กันกลางดิน ในที่สุดท่านก็ปรินิพพานกลางดิน ใต้ต้นไม้ที่เขาเรียกว่าต้นสาละ ทางเบื้องพระเศียรต้นหนึ่ง ทางปลายพระบาทต้นหนึ่ง ก็เรียกสาละทั้งคู่ที่ในอุทยานของกษัตริย์พวกหนึ่งในอินเดีย ต้นสาละที่แท้จริงนั่นคือต้นไม้ต้นที่อยู่หน้าตึกใหญ่ หน้าตึกนี้ ตรงนี้ไปดูเถิด ที่มีป้ายเขียนว่าต้นสาละ เป็นต้นไม้ที่พระพุทธเจ้าประสูติที่โคนต้นสาละ แล้วก็นิพพานที่โคนต้นสาละ ควรจะไปทำความเข้าใจ ประทับจิตใจ ชนิดที่มีประโยชน์ เพิ่มศรัทธา เป็นต้น เก็บใบไปดูคนละใบก็ได้ เรื่องนี้ไอ้คนสมัยใหม่เขาก็เห็นว่า ไร้สาระ แต่คนสมัยเก่าเขาเห็นว่ามันช่วยได้มาก การที่มีวัตถุที่ระลึกอะไรโดยแท้จริงที่ทำให้นึกถึงพระพุทธเจ้าอยู่ตลอดเวลา แล้วก็ในลักษณะที่ไม่เป็นไสยศาสตร์ ระวังเอาพระเครื่องมาแขวนคอนี่ เป็นไสยศาสตร์เสียโดยมาก ไม่ได้เป็นพุทธานุสติเหมือนที่เขาตั้งใจ ถ้านับถืออย่างวัตถุศักดิ์สิทธิ์ ขลังศักดิ์สิทธิ์ ช่วยอย่างไม่มีเหตุผล มันก็เป็นไสยศาสตร์ แล้วยังไม่เว้นที่ว่าจะยกแก้วเหล้าข้ามหัว เอาพระแขวนไว้ที่คอ แต่กินเหล้ายกแก้วเหล้าข้ามหัวพระไปอย่างนั้นแหละดูเถิด นั่นแหละแบบไสยศาสตร์ สิ่งที่เป็นเครื่องระลึกโดยแท้จริง เช่น พระเครื่อง เป็นต้น มันก็มีประโยชน์เดี๋ยวนี้เราก็มีคล้าย ๆ กัน เช่น ใบต้นสาละนี่ เอาไปไว้เป็นที่ระลึก มันก็แปลกออกไป ก็ชวนให้ระลึกได้มากกว่ากว้าง กว้างขวางออกไป เอาไปรีดโดยใช้กระดาษทับข้างบนข้างล่าง แล้วรีดด้วยเตารีดร้อน ๆ แล้วมันก็เรียบสวย ใส่ไว้ในกระจกขนาบสองข้างอยู่ในกรอบ ถ้าฉลาดคิดนึกก็จะมีประโยชน์มาก เป็นวัตถุอนุสรณ์แห่งพระพุทธเจ้า นี่แนะนำต้นไม้ต้นที่อยู่หน้าตึกนั้น เอาละ, เป็นว่าพระพุทธเจ้าประสูติกลางดิน ตรัสรู้กลางดิน สอนกลางดิน อยู่กลางดิน ตาย นิพพานนั่นกลางดิน เราก็มานั่งในดิน แผ่นดินเป็นพุทธานุสติ ที่ยังมีประโยชน์อย่างอื่นอีกมากมาย ที่ว่าไอ้คนโง่มันคิดว่ามันต้องนั่งบนตึกมหาวิทยาลัยราคาเป็นล้าน ๆ นั่น มันจึงจะเรียนอะไรได้ ได้ปริญญา ส่วนพระพุทธเจ้านี้นั่งกลางดิน สอนกลางดิน แล้วก็ได้รับปริญญาเหมือนกัน ไม่ต้องเสียสักสตางค์หนึ่ง ค่าสร้างตึกเรียน ไม่ต้องเสียเป็นล้าน ๆ หรือเป็นสิบ ๆ ล้าน เรียนบนนั้นแล้วจึงรับปริญญา ข้อนี้อยากจะให้ทราบเลยไปถึงคำว่าปริญญา ในพระบาลีมีคำว่าปริญญา มีพระพุทธภาษิตว่า ภิกษุทั้งหลายปริญญา ๓ ปริญญา ๓ ปริญญา ๓ อย่าง ปริญญา ๓ อย่างคืออะไร คือความสิ้นไปแห่งราคะ ความสิ้นไปแห่งโทสะ ความสิ้นไปแห่งโมหะ ฉะนั้นปริญญาของพระพุทธเจ้า หมดปัญหา หมดกิเลส หมดความทุกข์โดยประการทั้งปวงเรียกว่าปริญญา เรียกว่านั่งเรียนนั่งสอนกันกลางดิน แล้วก็ได้ปริญญาอย่างพระพุทธเจ้า ไอ้พวกที่เรียนบนตึกเรียนราคาล้าน ๆ มันก็ได้ปริญญากระดาษชนิดหนึ่ง สำหรับไปทำมาหากินเป็น ๆ เป็นเครื่องอุปกรณ์ในการที่จะหางานง่าย ๆ เบา ๆ ไม่ ไม่สิ้นราคะ โทสะ โมหะ แต่ส่งเสริม ราคะ โทสะ โมหะ เห็นแก่ตัว เพราะว่าเป็นการศึกษาหมาหางด้วน ที่เรียนกันในโรงเรียน ในวิทยาลัย ในมหาวิทยาลัยนั้น เป็นการศึกษาหมาหางด้วน ไม่สอนเรื่องปราบปรามกิเลส แต่สอนชนิดที่ส่งเสริมกิเลสโดยไม่รู้สึกตัว ฉะนั้นคนที่เรียนจบจึงมีราคะ โทสะ โมหะ หรือว่ามีความเห็นแก่ตัว มีความคิดที่จะเอาเปรียบผู้อื่นมากขึ้นไปอีก เพราะว่าไม่ได้สอนในโรงเรียนในมหาวิทยาลัยเหล่านั้น ให้มีจิตใจถูกต้องตามทางธรรมะ เรียนจบ มันก็เห็นแก่ตัวกว่าเดิม มีลู่ทางที่จะไปแสวงหาเงินมาก ๆ มาซื้อเหยื่อ บำรุงกิเลส ส่งเสริมกิเลสให้ยิ่งไปกว่าเดิม นี่ปริญญาของโลกในสมัยปัจจุบันมาจากการศึกษาเหมือนสุนัขหางด้วน สอนไม่ครบ คือสอนแต่หนังสือกับสอนแต่วิชาชีพ สอนแต่หนังสืออักษรศาสตร์ และก็เทคโนโลยีทุก ๆ แขนงที่จะเป็นเรื่องอาชีพ มันก็ไม่มีธรรมะ ไม่รู้จักว่าจะเป็นมนุษย์กันอย่างไร ความทุกข์จะดับกันอย่างไร หรือเมื่อทำงานประกอบอาชีพ ความทุกข์เกิดขึ้นจะดับมันอย่างไร มันก็เป็นการศึกษาที่ไม่สมบูรณ์ เราเรียกว่าการศึกษาหมาหางด้วน เป็นกันทั่วโลก เมื่อฝรั่งเป็นก่อน ไทยเราก็ตามก้น เป็นสุนัขตามก้นทำเหมือนฝรั่ง การศึกษาก็เลยด้วน เป็นเรื่องหางด้วนไปตามกัน นี่ขอให้รู้ไว้ว่าพระพุทธเจ้าท่านประสาทปริญญากันอย่างไร เรียนที่ไหน เรียนกลางดิน ปริญญาคือความสิ้นราคะ โทสะ โมหะ ตรงกันข้ามกับปริญญาสมัยปัจจุบัน ไม่เรียนธรรมะเลย ยิ่งส่งเสริมราคะ โทสะ โมหะ เพราะมันมีโอกาส มันมีความสามารถที่จะหาเงินมาหล่อเลี้ยงกิเลสได้มาก ๆ ยิ่งหล่อเลี้ยงกิเลสก็ยิ่งเห็นแก่ตัว แล้วก็เอาเปรียบผู้อื่นมาก ฉะนั้นโลกนี้ไม่มีความสงบสุข เพราะผู้มีปัญญาวิชาความรู้เหล่านั้นล้วนแต่เห็นแก่ตัว ล้วนแต่คอยจ้องที่จะเอาประโยชน์ เอาความร่ำรวยของตัว นี่เปรียบเทียบให้เห็นกันเสียยทีก่อนว่า การศึกษาแบบของพระพุทธเจ้ากลางดินนั่นมันเป็นอย่างไร การศึกษาแบบยุคปัจจุบันอาคารเรียน ราคาเป็นล้าน ๆ นั่น อุปกรณ์ต่าง ๆ ก็มาก ใช้เงินก็มากใน เพื่อการเรียนเหล่านั้น แล้วมันได้ประโยชน์อะไร ได้ประโยชน์คนเก่งในทางหนังสือหนังหา วิชาความรู้ หาเลี้ยงชีพได้ดีมาก มีเงินใช้มากนั่นก็ดีถูกแล้ว แต่ว่าโลกนี่ยิ่งเลวร้ายเพราะความเห็นแก่ตัว คนเรายิ่งมีเงินมาก ยิ่งใช้เงินหล่อเลี้ยงกิเลสมาก ก็ยิ่งเต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว ดังนั้นทั้งโลกมันมีแต่คนเห็นแก่ตัวเพราะมัน มัน มันยุติสงครามไม่ได้ มันจะรบราฆ่าฟันกันเรื่อยไป เพราะว่าไม่มีธรรมะสำหรับที่จะควบคุมตนให้อยู่ในความถูกต้อง นี่คือความปรารภในระยะแรกของอาตมาที่ว่าเราได้พบกัน ในฐานะที่เป็นครูด้วยกัน และเราก็ได้มานั่งพูดจากันในที่สำคัญ มีเกียรติที่สุดคือพื้นดิน ซึ่งเป็นที่ประสูติ ตรัสรู้ สั่งสอน อยู่อาศัย และนิพพานของพระพุทธเจ้า ขอให้จำไว้ในใจ อย่างน้อยสักครั้งหนึ่งนี่ ถ้ากลับไปบ้านแล้วก็ขอให้นึกอยู่เสมอว่า เมื่อวันนี้ เวลาอย่างนี้ เรานั่งพูดกันกลางดินบนที่นั่ง ที่นอน ที่นิพพานของพระพุทธเจ้า คือกลางดิน มีอีกอย่างหนึ่งก็ควรจะเอามาควบกันด้วยก็ได้ คือต้นไม้ ต้นไม้นี่เป็นของโปรดปรานของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าประสูติใต้ต้นไม้ ตรัสรู้ใต้ต้นไม้ สอนก็ใต้ต้นไม้ โดยมากอยู่ใต้ต้นไม้ และก็นิพพานใต้ต้นไม้ แผ่นดินกับต้นไม้นี่เป็นของเกี่ยวข้องกันกับพระพุทธเจ้าอย่างน่าอัศจรรย์ น่าสนใจ มันบังเอิญหรืออย่างไรก็ไม่ต้องรู้ ไม่ต้องคิด แต่แล้วมันก็ได้เป็นมาแล้วอย่างนี้ แล้วก็ถือเอาอันนี้เป็นเครื่องส่งเสริมจิตใจ ส่งเสริมกำลังใจให้เป็นไปในทางที่เป็นประโยชน์ เอาละ, ทีนี้ก็จะพูดหัวข้อเรื่องที่จะพูดซึ่งท่านหัวหน้าเขาบอกว่าอยากจะให้พูดเรื่องครูกับธรรมะ หรือธรรมะกับครู เป็นอันว่าเราจะพูดกันในเรื่องธรรมะกับครู อยากจะพูดคำว่าธรรมะก่อน ข้อธรรมะในภาษาบาลี หรือมาเป็น รร ม ในภาษาไทย โดยถอดรูปมาจากสันสกฤตนั่น คำว่า ธรรมะ คำนี้เป็นคำพูดที่พิเศษ ที่ได้เกิดขึ้นในประเทศอินเดีย แล้วก็มีความหมายกว้างขวาง ครอบงำไปทั้งหมดทั้งสิ้น ไม่ยกเว้นอะไร คำว่าธรรมะ คือทุกสิ่งที่มนุษย์รู้จักและที่มนุษย์ไม่รู้จัก ก็เรียกว่าธรรมะหมด จึงแยกเป็น ๔ ความหมาย เป็นเรื่องของธรรมชาติ ไอ้ตัวธรรมชาติทั้งหลาย ตัวธรรมชาติทั้งหลาย ดินน้ำลมไฟ อะไรก็ตาม ตัวธรรมชาติทั้งหลาย ใน ในตัวเราหรือนอกตัวเรา หรือทั้งโลก ทั้งสากลจักรวาลนี้ ธรรมชาติทั้งหลาย ในภาษาบาลีก็เรียกว่าธรรม ธรรม หรือ ธรรมะ ในธรรมชาติทั้งหลายก็มีกฎของธรรมชาติที่บังคับให้ธรรมชาติเป็นไปอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นไป ไอ้กฎของธรรมชาตินั้น ในภาษาบาลีเขาเรียกว่าธรรมเหมือนกัน ธรรมะเหมือนกัน เมื่อมีกฎธรรมชาติแล้ว สิ่งที่มีชีวิตทั้งหลายก็มีหน้าที่ ที่จะต้องประพฤติให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ ถ้าไม่เช่นนั้นแล้วมันจะต้องตาย มันจะต้องตาย ไม่มีทางช่วย ไอ้หน้าที่ของสิ่งที่มีชีวิตจะต้องประพฤติให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาตินี้ ในภาษาบาลีเขาก็เรียกว่าธรรมะ คือธรรมเหมือนกัน ทีนี้การประพฤติหน้าที่ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติแล้ว ผลก็เกิดขึ้นโดยสมควรแก่หน้าที่ ถ้าประพฤติถูกต้องดีก็มีความสงบสุข ถ้าประพฤติผิดก็ตรงกันข้ามก็มีความทุกข์ แม้ผลที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่นี้ก็เรียกว่า ธรรมะเหมือนกัน ถ้าไม่เคยได้ฟังมาก่อนก็ลองคิดดู ว่าธรรมะ คำเดียวมันมีความหมายอย่างนี้ มันยิ่งกว่าที่พูดกัน ว่ารูปธรรม นามธรรม กุศลธรรม อกุศลธรรม นั่นมันยังแคบไป ยังน้อยไป นี่เขาพูดมากกว่านั้นมาก กว้างไกลกว่านั้นมากคือธรรมชาติทุกสิ่งก็คือธรรมะ กฎของธรรมชาติก็คือธรรมะ หน้าที่ตามกฎธรรมชาติก็คือธรรมะ ผลออกมาคือธรรมะ เรียกสั้น ๆ ก็ว่า ธรรมชาติหนึ่ง กฎของธรรมชาติหนึ่ง หน้าที่ตามกฎหนึ่ง ผลตามหน้าที่หนึ่ง ๔ อย่างนี้เรียกว่าธรรมะ ถ้าจำแนกแจกแจงออกไปแล้ว มันไม่รู้กี่ กี่ กี่หมื่น กี่แสน กี่ล้านหัวข้อเรื่องที่จะต้องพูด คำว่าธรรมะในภาษาบาลีเป็นอย่างนี้ แปลเป็นภาษาอะไรก็ไม่ได้ เพราะถ้าแปลออกไปแล้วมันเป็นความหมายที่แคบ แคบทันที ถ้าธรรมะแปลว่าคำสั่งสอนมันก็เหลือแคบนิดเดียว ไอ้ ๔ ความหมายมันใหญ่กว้างมหึมามาก ธรรมะ คืออะไรก็ตามที่แปล ๆ นิยมแปล ๆ กันนั่นมันแคบนิดเดียว ที่ถูกมันก็แปลไม่ได้ ไม่ต้องแปล ใช้คำว่าธรรมะตามเดิม พวกฝรั่งเมื่อเขาพบพุทธศาสนาใหม่ ๆ ก็มาเรียนพุทธศาสนากัน เขาก็มาเรียนถึงคำว่าธรรมะนี่ เขาก็ได้พยายามแปลคำว่าธรรมะ ออกเป็นภาษาของเขา โดยเฉพาะภาษาอังกฤษนั่น มันเลือกเอาความหมายเอามาแปลออกไปได้ตั้ง ๓๐ กว่าคำ ก็ยังไม่หมดความหมายของธรรมะ ก็ยอมแพ้ เป็นว่าไม่แปล ไม่แปลคำว่าธรรมะ แปลว่า doctrine แปลว่า norme แปลว่า โอ๊ย, เยอะแยะไปหมด ๓๐ กว่าคำ ไม่หมดความหมายของคำว่าธรรมะเลยไม่ต้องแปล เดี๋ยวนี้คำว่าธรรมะก็เข้าไปอยู่ในปทานุกรมต่างประเทศ ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน ก็ไปเปิดดูเถิด มันมีคำว่าธรรมะเข้าไปอยู่ในปทานุกรมเหล่านั้นแล้ว ก็หมายความว่าไม่ต้องแปล รวมทั้งคำที่เนื่องกัน ธรรมะคือตัวธรรมะ แล้วก็ธรรมมิกะ คือประกอบอยู่กับธรรมะด้วยธรรมะก็มี คำที่เกี่ยวกับธรรมะก็เข้าไปอยู่ในปทานุกรมของชาวต่างประเทศทั้งชุดเลย เอาละ, เป็นอันว่าธรรมะในความหมายตามตัวหนังสือนี่ มันแปลเป็นภาษาอะไรไม่ได้ แล้วมันกว้าง กว้างจน จนไม่มีอะไรเหลือแล้ว ไม่มีอะไรเหลือ นอกจากเหนือออกไปนอกขอบเขตของคำว่าธรรมะ ตั้งแต่ต่ำที่สุดถึงสูง ที่สุด ตั้งแต่มีรูปไม่มีรูป มีเหตุปัจจัย ไม่มีเหตุปัจจัย เกี่ยวกับมนุษย์ไม่เกี่ยวกับ มนุษย์ที่เราเห็นได้ ที่เราเห็นไม่ได้ ก็ล้วนแต่เรียกว่าธรรม ธรรมะ ที่จริงมันก็ ๆ ก็แปลเป็นภาษาธรรมดา ๆ ก็แปลว่าสิ่ง คำว่าสิ่ง ธรรมะคือสิ่ง ที่ภาษาอังกฤษเขาเรียกว่า Thing Thing Thing ก็แปลว่าสิ่งเหมือนกัน เป็นคำกลาง ๆ อย่างนั้น แล้วมันหมายทุกสิ่งเพราะไม่มีอะไรที่ไม่ใช่สิ่ง สิ่งหนึ่ง เอ้า, ทีนี้ก็ต้องดูกันต่อไปที่ว่าเมื่อธรรมะมันมีมากมาย และรวมได้ ๔ ความหมายดังนี้แล้ว ความหมายไหนสำคัญที่สุด ความหมายที่หนึ่งคือตัวธรรมชาติ ความหมายที่สองคือตัวกฎของธรรมชาติ ความหมายที่สามคือตัวหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ ความหมายที่สี่ก็คือผลที่เกิดมาจากหน้าที่ รวมเป็น ๔ ความหมายด้วยกันอย่างนี้แล้ว ดังนั้นก็พิจารณาดูเองสิว่าความหมายไหนมันสำคัญที่สุดสำหรับมนุษย์ ความหมายนั้นแหละ คำพูดคำนั้นจะมาอยู่เป็นคำหลักที่เป็นคำแปลของคำว่าธรรมะ ตามที่ตกลงกันทั่วไป ในถิ่นทั้งเจ้าของภาษาหรือว่าประเทศอินเดียนี่ เขาก็แปลว่าหน้าที่ คือความหมายที่สาม ธรรมชาติ กฎธรรมชาติ หน้าที่ตามกฎธรรมชาติ ผลจากหน้าที่นั้น ๆ ความหมายที่สามที่ว่า หน้าที่ หน้าที่ หน้าที่ นั่นแหละ เอาคำนี้มาเป็นความหมายทั่วไป หรือสามัญของคำว่าธรรมะ ดังนั้นในดิคชันนารี่ในประเทศอินเดีย คำว่าธรรมะ ก็แปลว่าหน้าที่ ในประเทศไทยเราในปทานุกรมคำว่า ธรรมะ ดูเหมือนจะแปลว่าคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ไม่ได้แปลว่าหน้าที่ นี่เพราะว่ามันเพ่งเล็งต่างกัน มันก็เลยบัญญัติความหมายต่างกัน แปลว่าคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้น ก็ถูก มันก็ถูกนิดเดียว ถูกเฉพาะที่พระพุทธเจ้าเอามาสั่งสอน แล้วที่ท่านไม่ได้เอามาสั่งสอน แต่มันยังมีอยู่เยอะแยะเล่า มากกว่ามาก พระพุทธเจ้าท่านตรัสเองว่าที่เอามาสั่งสอนนี่ ถ้าเปรียบก็เท่ากับใบไม้กำมือเดียว ที่ไม่สั่งสอนมากเท่ากับใบไม้หมดทั้งป่า คุณลองเทียบเคียงดูสิ พระพุทธเจ้าท่านตรัสเองว่าที่ไม่ได้เอามาสั่งสอนนั่น ปริมาณมากเท่ากับใบไม้ทั้งป่าเลย ที่เอามาสั่งสอนมันก็เท่ากับใบไม้กำมือเดียว แล้วแปลธรรมะว่าคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า มันก็ถูกเท่ากับกำมือเดียวเมื่อเทียบกับหมดทั้งป่า เลยใช้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นธรรมะแปลว่าหน้าที่ ในฐานะเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่มนุษย์จะต้องรู้ ว่ามีหน้าที่อย่างไรแล้วก็ต้องทำหน้าที่นั้น ๆ ถ้าไม่ทำหน้าที่ มันก็ตายยังไงเล่า เช่น ไม่แสวงหาอาหารกิน ไม่บริหารร่างกายให้ถูกต้อง ไม่กระทำทุก ๆ อย่างที่เป็นปัจจัยแก่ชีวิต คือไม่ทำหน้าที่ มันก็ตายเท่านั้น ดังนั้นคำว่า ความหมายที่สามที่เรียกว่าหน้าที่ตามกฎของธรรมชาตินั้น เป็นความหมายที่สำคัญที่สุดของสี่ความหมาย แล้วจะเป็นความหมายแรกที่สุดด้วยก็ได้ ที่มนุษย์รู้จัก มนุษย์รู้จักคำว่าหน้าที่ รู้จักสิ่งที่เรียกว่าหน้าที่ แล้วพูดคำนี้ออกมาอยู่ตลอดเวลา ตลอดเวลาว่าหน้าที่ หน้าที่ หน้าที่ แต่ถ้าพูดเป็นภาษาอินเดียเขาพูดว่าธรรมะ ธรรมะ ธรรมะ ถ้าภาษาไทยเราก็ว่าหน้าที่ หน้าที่ พอมนุษย์เลื่อนขึ้นมาจากสัตว์ มีความวิวัฒนาการเลื่อนขึ้นมา พ้นจากความเป็นสัตว์ มนุษย์ก็เริ่มรู้จักหน้าที่ว่าจะต้องทำอะไรบ้างจึงจะอยู่รอดและสบายดี ดังนั้นคำว่าหน้าที่ หน้าที่ นี่โดยสรุปแล้วมันก็แบ่งได้เป็น ๒ ขั้นตอนเท่านั้น ๑ หน้าที่เพื่ออยู่รอด ๒ หน้าที่เพื่อดีถึงที่สุด เมื่ออยู่รอดแล้วมีหน้าที่จะต้องทำให้ดีถึงที่สุด หน้าที่มี ๒ ขั้นตอนเท่านั้น เดี๋ยวนี้โดย ๆ โดยพื้นฐานแล้วก็มีหน้าที่สำหรับให้อยู่รอด ดังนั้นเราจึงต้องทำมาหากิน ต้องบริหารร่างกาย ต้องรักษาโรคภัยไข้เจ็บ ต้องมีปัจจัยที่จะต้องใช้ชีวิตอาศัย อาหาร เครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้ไม้สอย ที่อยู่ที่อาศัย ยารักษาโรคเหล่านี้ ต้องขวนขวายมาเป็นหน้าที่ที่จะต้องทำให้ชีวิตมันอยู่รอด การบริหารร่างกายให้สบายดีมันก็รวมอยู่ในคำว่าหยูกยา เราจะต้องมีอาหารที่ถูกต้อง ไม่มี เราต้องหามา เราจึงต้องทำไร่ทำนา หรือทำทุกอย่างที่จะได้อาหารมา ให้ได้เครื่องนุ่งห่ม เพราะเดี๋ยวนี้มนุษย์มัน ๆ มันมีวิวัฒนาการขึ้นมาถึงขนาดที่ต้องนุ่งห่มแล้ว มันจะปราศจากเครื่องนุ่งห่มเหมือนสัตว์ดังแต่ก่อนนั้น มันไม่ได้แล้ว ดังนั้นจึงต้องมีเครื่องนุ่งห่ม ไม่มีเครื่องนุ่งห่มนี่มันถึงกับตายได้เหมือนกัน ในเมื่อมนุษย์มันได้เปลี่ยนมาเป็นมีเนื้อหนังอย่างนี้แล้ว มันก็มีความจำเป็นที่จะต้องมีเครื่องนุ่งห่ม สำหรับมนุษย์ที่มีอวัยวะร่างกายละเอียดอ่อน ทีนี้มันต้องมีบ้านเรือนเพราะมันจะอยู่รู อยู่ถ้ำเหมือนแต่ก่อนไม่ได้ แล้วในบ้านเรือน (เสียงท่านพุทธทาสพูดว่า นิมนต์ไปพูดที่อื่น) มันต้องอยู่บ้านเรือน มันไม่มีเนื้อหนังพอจะอยู่รูอยู่ถ้ำอยู่อะไร มันก็ต้องมีบ้านเรือน ในบ้านเรือนมันก็ต้องมีเครื่องใช้ไม้สอย มันต้องถูกต้องเหมือนกันเรื่องบ้านเรือนและเครื่องใช้ไม้สอยต้องถูกต้องสำหรับมนุษย์รอดชีวิตอยู่ได้ แล้วก็ต้องมีที่เรียกว่ารักษาโรค ระบบรักษาโรค ป้องกันโรคทุกอย่างทุกประการ นี่จำเป็น เป็นหน้าที่ที่เราต้องมี เห็นได้อยู่แล้ว ว่าทุกคนมัน ๆ กระทำก็ ความจำเป็นมันบังคับให้ทำในการแสวงหาปัจจัย ๔ หน้าที่ช่วยให้ชีวิตรอดอยู่ได้ในระดับแรก นี้ครั้นรอดอยู่ได้แล้ว รอดชีวิตอยู่ได้แล้ว มันมีหน้าที่ต่อไป คือทำให้มันดีขึ้น ๆ ๆ จนกระทั่งบรรลุมรรคผลนิพพานนั้นแหละ หน้าที่ ดังนั้นคำว่าหน้าที่จึงเป็นสิ่งที่คู่กันมากับมนุษย์ตั้งแต่แรกมีมนุษย์ จนมนุษย์มันเจริญขึ้น ๆ ฉะนั้นคู่ชีวิตของมนุษย์ก็คือธรรมะนั่นเอง ช่วยจำความหมายของคำ ๆ นี้ไว้ดี ๆ ว่าไอ้คู่ชีวิตที่คู่กันมากับมนุษย์ก็คือธรรมะ นั่นเอง คือหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ คู่กันมากับมนุษย์จนมนุษย์รอดอยู่ได้และเจริญถึงที่สุดบรรลุมรรคผลนิพพาน เอ้า, ในที่สุดก็คือ หน้าที่ถูกต้องตามกฎของธรรมชาตินั่นแหละ คือความหมายที่สำคัญที่สุด ในบรรดาความหมายของคำว่าธรรมะ ฉะนั้นช่วยจำไว้ให้ดีว่าธรรมะคือหน้าที่ที่สิ่งที่มีชีวิตจะต้องประพฤติกระทำ ชีวิตระดับมนุษย์ก็ต้องทำ ชีวิตระดับสัตว์เดรัจฉานก็ต้องทำ ชีวิตระดับต้นไม้ต้นไร่ก็ต้องทำ คือทำหน้าที่เพื่อรอดชีวิตและเจริญงอกงามยิ่ง ๆ ขึ้นไป ดังนั้นธรรมะคือหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ คือธรรมะในความหมายที่สาม อย่าลืมไอ้ความหมายทั้ง ๔ เสียสิ ตัวธรรมชาติ ตัวกฎของธรรมชาติ ตัวหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ ตัวผลที่เกิดจากหน้าที่นั้น ๆ ทีนี่เมื่อเราได้ความหมายสรุปเจาะจงไปยังสิ่งที่เรียกว่าหน้าที่ของสิ่งที่มีชีวิต เราก็หาคำนิยามใหม่ที่เหมาะสมกัน มีนักศึกษาธรรมะ เขาก็สร้างบทนิยามขึ้นมาเมื่อไม่นานนักนี่ว่า ธรรมะคือระบอบปฏิบัติที่ถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ทุกขั้นทุกตอนแห่งวิวัฒนาการของเขา ประโยคนี้ดีมาก ดีที่สุด แม้ว่าเราไม่ได้เป็นผู้บัญญัติ มีคนบางกลุ่มเขาบัญญัติ บอกได้เลยว่าพวกนักศึกษาฝรั่งหลายชาติที่เขามาตั้งกองศึกษาธรรมะอยู่ที่อินเดียภาคใต้เรียกว่าสมาคม theosophy (ไม่แน่ใจว่าถูกต้องหรือเปล่า 0:33:09:0) ศึกษาทุกศาสนาเอามารวมกันเพื่อหา เพื่อค้นหาไอ้สิ่งที่ดีที่สุด ความหมายที่ดีสุดของทุก ๆ ศาสนา ที่เกี่ยวกับคำว่าธรรมะ นี่เขาเอามาจากทุกศาสนา เพราะว่าในพุทธศาสนาก็มีคำนี้ ในศาสนาฮินดู ศาสนาพราหมณ์ ศาสนาทุกศาสนาก็ว่าได้ในอินเดีย มีคำ ๆ นี้ เขาก็บัญญัติคำว่าธรรมะ โดยบทนิยามว่าระบอบปฏิบัติ ฟังให้ดีเถอะ ปฏิบัตินะไม่ใช่เรียนเฉย ๆ ไม่ใช่ความรู้เฉย ๆ ไม่ใช่การเรียนเฉย ๆ ระบอบปฏิบัติที่ถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์หรือจำเป็นแก่ความเป็นมนุษย์ ทุกขั้นทุกตอนแห่งวิวัฒนาการของเขา นี่ครูทั้งหลายจำให้ดีเถิด นี่ใจความของไอ้ธรรมะที่ดีที่สุดที่เขา เขาได้บัญญัติขึ้นไว้เป็นบทนิยาม มนุษย์มีขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการมาตั้งแต่แรกสร้างโลก แรกมีมนุษย์ในโลกก็ได้ มันมีขั้นตอนจนกระทั่งมนุษย์เดี๋ยวนี้ที่เจริญแล้ว นี่ก็มีหลาย หลายขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการ หรือว่าเราจะดูในวงแคบว่า ตั้งแต่คลอดมาจากท้องแม่ค่อย ๆ โตเป็นเด็กทารก เป็นเด็กเล็ก ๆ เป็นเด็กวัยรุ่น เป็นหนุ่มสาว เป็นพ่อบ้านแม่เรือน คนแก่คนเฒ่า นี้ก็เรียกว่าขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการได้เหมือนกัน เขาใช้คำรวมเรียกว่าถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ทุกขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการของเขา หมายความว่ามนุษย์ต้องอยู่กับธรรมะอย่างถูกต้อง จึงจะไม่ตาย และจึงจะเจริญ เราต้องมีการประพฤติกระทำอยู่อย่างถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ของเรา ทุกขั้นทุกตอนแห่ง วิวัฒนาการของเขา ของตน นั่นคือความหมาย หรือบทนิยามสำหรับคำว่าธรรมะ ที่ดีที่สุดเท่าที่ค้นพบได้ในเวลานี้ ขอทบทวนอีกทีเผื่อ เผื่อจะจดผิด ระบบการปฏิบัติที่ถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ทุกขั้นทุกตอนแห่งวิวัฒนาการของตน ๆ แม้แต่อยู่ในครรภ์ก็ต้องมีความถูกต้อง ออกมานอกครรภ์แล้วก็ถูกต้อง โตขึ้นก็ถูกต้อง เป็นหนุ่มสาวก็ถูกต้อง เป็นพ่อบ้านแม่เรือนก็ถูกต้อง คนแก่คนเฒ่าก็ถูกต้อง ถูกต้องจนกระทั่งเข้าโลง การประพฤติกระทำให้ถูกต้องนั่นแหละคือตัวธรรมะที่จำเป็นจะต้องรู้หรือปฏิบัติ รู้เฉย ๆ ไม่สำเร็จประโยชน์ นี่ไอ้ธรรมะ ๔ ความหมายกว้างครอบงำหมดไม่ยกเว้นอะไร แต่เดี๋ยวนี้ เราเอามาพูดกันเฉพาะที่จำเป็นจะต้องรู้โดยเฉพาะก็ว่าคือการปฏิบัติ หรือหน้าที่ที่ถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ทุกขั้นทุกตอนแห่งวิวัฒนาการของเขา นี่คือธรรมะ ดังนั้นขอให้กำหนดไว้ให้ดีเพราะคุณขอร้องให้พูดว่าธรรมะกับครู หรือครูกับธรรมะ หน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ทุกขั้นทุกตอนแห่งวิวัฒนาการ ทีนี่เราจะมองให้เป็นเรื่องที่ว่าถูกต้องหรือจำเป็นแก่ ๆ เหตุการณ์ปัจจุบันที่เรียกว่า Apply นั่น เราต้องใช้ธรรมะทุกขั้นทุกตอนหรือทุกแขนงแห่งชีวิต ที่จำเป็นที่สุดที่จะต้องระลึกไว้เสมอก็คือว่า ไม่ให้เกิดความทุกข์ขึ้นมาในทุกขั้นทุกตอนแห่งวิวัฒนาการของเรา เราต้องประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้อง ไม่ให้เกิดความทุกข์ขึ้นมา ไม่ต้องถึงกับว่าตายหรอก ตายนั่นมันมากเกินไป แต่ว่าไม่ตายแต่อยู่อย่างทนทุกข์ทรมาน อย่างนี้ก็ไม่ถูก ต้องมีชีวิตที่อยู่อย่างสดชื่น เยือกเย็น ไม่เป็นทุกข์ ดังนั้นทุกคนต้องไปศึกษาเอาเองแล้วทีนี้ คือดูให้รู้ว่าเราเป็นทุกข์อย่างไรและเมื่อไร ตามธรรมดาไอ้เรื่องเกิด เรื่องแก่ เรื่องเจ็บ เรื่องตาย เรื่องกระทบกระทั่งกับเหตุร้ายในโลกนี้ก็ นั้นก็เรียกว่าทั่วไปแหละ ก็ต้องรู้จักวิธีป้องกันอย่าให้เป็นทุกข์ด้วยเหมือนกัน แต่นั่นมันยังน้อย ยังไม่ค่อยมีมา ที่มันเป็นทุกข์อยู่ทุกวัน ทุก ๆ วัน ความขุ่นข้องหมองใจ ความเดือดร้อนใจ เป็นทุกข์กายทุกข์ใจ คือจิตใจไม่สบายก็แล้วกัน คำว่าความทุกข์นี่ คือความรู้สึกที่เราทนไม่ได้ หรือไม่ปรารถนา เรียกว่าความทุกข์ มันจะมีได้ตลอดเวลา ทั้งวันทั้งคืน ถ้าเราจะสังเกตดูให้ดี คือการที่เราต้องลำบากยากใจ ในเมื่อทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องกับเรา มันไม่เป็นไปตามที่เราปรารถนา ใครมีอะไรที่ได้ตามปรารถนาตลอดเวลาทั้งวันทั้งคืนบ้าง มันไม่มีนี่ ทีนี้เราต้องทำงานนี่ ต้องทำงาน จะเป็นชาวนาชาวสวน เป็นข้าราชการ เป็นครู เป็นชนิดไหนก็ตาม คนมันต้องทำงาน พอทำงานนี่มันจะเป็นทุกข์ เพราะทำงาน เพราะความเหนื่อย หรือเพราะว่างานมันไม่สำเร็จตามที่เราต้องการ แม้แต่ทำนา มันก็ต้องเหนื่อย ทำสวน มันก็ต้องเหนื่อย ไม่ว่างานอะไรมันก็ต้องออกแรง แล้วมันก็ต้องเหนื่อย มันก็มีไอ้ความทุกข์นั้นแทรกเข้ามา ให้รู้เถิดว่าไอ้ธรรมะนั่น มีหน้าที่ที่จะกำจัดความทุกข์ชนิดนี้ทุกประเภทให้ออกไป แม้ว่าเราจะทำงานหนักอย่างไร ถ้ามีธรรมะแล้ว จะไม่รู้สึกเป็นทุกข์ กลับจะพอใจยินดีเสียอีก ว่าเราได้มีธรรมะมาก ว่าเราทำหน้าที่ หน้าที่แห่งสิ่งที่มีชีวิตนั้นเรียกว่าธรรมะ เดี๋ยวนี้เราทำนาเป็นชาวนา ไถนาอยู่อย่างเหน็ดเหนื่อยกลางแดดกลางฝน แต่ถ้าเขารู้ธรรมะ เขามีธรรมะ เขารู้ อ้าว, นี่มันกำลังปฏิบัติธรรมะ มันไม่รู้สึกเหนื่อย ไม่รู้สึกเสียใจ ไม่รู้สึกว่าอับโชควาสนาอะไร ทำไปอย่างสนุกสนาน ถ้ามีธรรมะ ช่วยจำไว้ด้วยนะ ถ้ามีธรรมะ การงานเป็นสุข ถ้าไม่มีธรรมะ การงานเป็นทุกข์ นี่ ๆ มันเป็นคำกลางที่พูดไว้อย่างนี้ คนที่มีธรรมะเมื่อได้ทำการงานจะรู้สึกเป็นสุข เพราะว่าไอ้การงานนั้นมันเป็นธรรมะ เขารู้ว่าเขาได้ประพฤติกระทำสิ่งที่เป็นธรรมะ เขาก็พอใจและเป็นสุข ฉะนั้นเขาทำงานได้ตลอดเวลา ในทุ่งนา ในสวน ถีบสามล้อก็ได้ แจวเรือจ้างก็ได้ ล้างท่อถนนสกปรกก็ได้ เขามีจิตใจเยือกเย็น เขามีความเข้าใจถูกต้องว่านี่กำลังปฏิบัติธรรมะคือหน้าที่ของมนุษย์ ถ้าเรารู้สึกอย่างนี้แล้ว มันไม่มีงานสูงงานต่ำหรอก มันเป็นธรรมะเหมือนกันหมด ไอ้คนหนึ่งทำงานเป็นประธานาธิบดี เป็นอะไรก็ตามใจ ไอ้คนนี้มากวาดถนนล้างท่อถนน แต่ความหมายที่เหมือนกันก็คือหน้าที่ของมนุษย์ หน้าที่ที่จะหล่อเลี้ยงชีวิตของมนุษย์คือธรรมะ ดังนั้นคนแจวเรือจ้างหรือคนกวาดถนน คนถีบสามล้อที่เขามีธรรมะนั่น เขาก็จะรู้สึกไม่เป็นทุกข์และพอใจว่าได้ประพฤติธรรมะ ไอ้ความพอใจนั้นแหละเป็นความสุข นี่เป็นเรื่องของธรรมชาติอยู่ข้อหนึ่งที่ว่าถ้าพอใจแล้วจะต้องเป็นสุขเสมอ พอใจเลวก็สุขเลว พอใจ พอใจหลอกลวง ความสุขก็หลอกลวง ถ้าพอใจแท้จริงความสุขก็แท้จริง ดังนั้นขอให้สร้างความพอใจขึ้นมาให้ได้ ไอ้ความพอใจนั้นจะให้ความสุข ถ้าพอใจแท้จริงคือปฏิบัติธรรมะแท้จริง ไอ้ความสุขมันก็แท้จริง ดังนั้นเขามีความสุขอยู่เมื่อทำงานนั่นเอง เราจดเป็นคำสโลแกนไว้ก็ได้ว่า ทำงานให้สนุกเป็นสุขเมื่อทำงาน ทำงานให้สนุก แล้วก็เป็นสุขเมื่อทำงาน อย่างเป็นครูนี่ เป็นสุขอย่างยิ่งเมื่ออยู่หน้าชั้นเรียน ทำงานอยู่กับนักเรียนนี่ เป็นสุขเวลานั้นแหละ ทีนี้จะ จะเป็นได้ก็ต่อเมื่อจิตใจมีธรรมะ รู้ธรรมะจึงจะเป็นสุขอยู่ได้ ไอ้ครูที่ไม่รู้ธรรมะมันก็เบื่อทน ๆ สอนไป เมื่อไรจะถึงเวลาปิดโรงเรียน ไปอาบอบนวดดีกว่า แล้วเงินเดือนมันก็ไม่พอใช้ มันก็ต้องโกง มันต้องคอรัปชั่น เผลอเข้า มันก็ติดคุกติดตะราง หรือว่าต้องตายนั่น เพราะมันไม่เคารพธรรมะ ธรรมะคือหน้าที่ของมนุษย์ประพฤติกระทำอยู่ แล้วก็พอใจ พอใจแล้วก็เป็นสุข เป็นสุขเสียแล้ว มันก็ไม่ต้องไปซื้อหาความสุขหลอกลวงที่ไหนอีก เงินเดือนมันก็เหลือใช้เพราะมันไม่ได้ใช้ ทีนี้ครูที่โง่ ๆ เขาก็อยากปิด เลิกเรียนเร็ว ๆ ไปอาบอบนวด เงินเดือนไม่พอใช้ ก็ต้องคอรัปชั่น มันก็เป็นธรรมดาอย่างนี้ ที่ยกตัวอย่างครู มันรุนแรงไปหน่อย ข้าราชการอย่างอื่นก็เหมือนกันนั้นแหละ นับตั้งแต่ชาวนาชาวสวนขึ้นไปถึงกรรมกร ถึงไอ้ทุกคน ถ้าว่าเขาพอใจในหน้าที่ของเขาแล้ว จะมีความสุขอยู่ที่นั่น เป็นความสุขแท้จริง ไม่ต้องใช้เงินเลย ทำให้เงินมันเหลือ เพราะความสุขมันได้เสียแล้วเมื่อทำงานนั่นเอง มีธรรมะสูงสุดมันเป็นอย่างนี้ มันรู้ว่าหน้าที่นั่นแหละคือธรรมะ ทำแล้วมีธรรมะก็พอใจ นับถือตัวเอง เคารพตัวเอง ยกมือไหว้ตัวเองได้ว่า มันมีธรรมะแล้วมันมีความสุข มันก็ไม่ต้องไปแสวงหาความสุขหลอกลวงไปใช้เงินเรื่องกามารมณ์ เป็นต้น และมีข้อที่ควรสังเกตอีกอย่างหนึ่งว่า ไอ้ผู้ที่รู้ธรรมะ ถึงขนาดนี้มีความสุขเมื่อทำงานนั้นแหละ เหงื่อมันเย็น เหงื่อที่ออกมานั่นเย็นเป็นน้ำอมฤต ส่วนไอ้คนโง่ มันไม่เห็นว่าไอ้การทำงานเป็นธรรมะ มัน ๆ ฝืนใจทำมันตกนรกตลอดเวลาที่ทำงาน เหงื่อมันร้อน เหงื่อมันร้อน ต้องทิ้งงานไป ไม่ทำงาน ไปขโมยดีกว่า ไปเรียนลักปล้นจี้ขโมยดีกว่า เหงื่อนี่จะเย็นสบายสำหรับคนมีธรรมะ และเหงื่อนี่จะร้อนเผาผลาญสำหรับคนที่ไม่มีธรรมะ คนที่มีธรรมะนี่ สมมติว่าวันนี้อากาศร้อนเหงื่อแตกทั้งวันนี่ ถ้ามันมีธรรมะเป็นพระที่แท้จริง มันก็จะรู้สึกเย็น คือมันไอ้ความร้อนอากาศร้อน มันไม่ทำให้จิตใจร้อนได้ ไอ้ความร้อนนั่นมันถูกเห็นเป็นของธรรมดาเช่นนั้นเอง แล้วมันก็ไม่ร้อน ธรรมะช่วยระงับอากาศร้อนได้ ไม่ให้ร้อนแก่ แก่ร่างกายแก่จิตใจได้ ธรรมะมันระงับความร้อนอย่างนั้น ถ้ามีธรรมะแล้วเหงื่อจะเป็นของเย็นไม่มีธรรมะแล้ว เหงื่อจะเป็นของร้อน จะทิ้งการงานไปขโมยดีกว่าไม่ต้องออกเหงื่อ เพื่อว่าไม่ต้องออกเหงื่อ ไปปล้น ไปจี้ ไปโกง ไปอะไรต่าง ๆ ที่ไม่ต้องออกเหงื่อ จะมานั่งไถนา จะมานั่งถีบสามล้อ แจวเรือจ้าง ให้ ๆ เหงื่อออกอยู่ทำไม นี่ระวังให้ดีนะ คนที่ไม่ชอบเหงื่อนั่นระวังให้ดีนะ มันจะพลัดไปในไม่มีธรรมะเลย เหงื่อเป็นของร้อนแล้วก็จะต้องไปหาอาชีพลับ อาชีพไม่มีธรรมะ อาชีพคดโกง อาชีพคอรัปชั่น เพราะเกลียดเหงื่อ อันนี้เป็นสิ่งที่ต้องเข้าใจถูกต้อง เพราะว่าเป็นกำลัง กำลังเป็นปัญหาของประเทศชาติ คือเด็ก ๆ ทั้งหลาย เด็ก ๆ ทั้งหลาย บ้านนอกนี่ มันมุ่งหน้าที่จะไปเรียนที่กรุงเทพ ฯ ให้ได้เรียนดี ได้งานดี ไม่ต้องออกเหงื่อทั้งนั้น มันเกลียดเหงื่อทั้งนั้น ดังนั้นมันจึงไม่สมัครที่จะเป็นชาวนาอยู่กับพ่อแม่ ไม่สมัคร ไม่สมัครที่จะเป็นชาวสวนทำงานธรรมดาอยู่กับพ่อแม่ เพราะมันเกลียดเหงื่อ เพราะมันไม่รู้จักคุณค่าของเหงื่อ เกิดปัญหากี่มากน้อย คุณคิดดูสิ ครูบาอาจารย์ทั้งหลายจะรู้ดี ว่าเมื่อเด็ก ๆ ทั้งหมดมันไม่อยากจะอยู่กับบ้านทำงานอย่างคนธรรมดา จะไปเรียนเป็นเจ้าใหญ่นายโต ไม่ต้องออกเหงื่อกันทั้งนั้น แล้วทำได้ที่ไหน แล้วกำลังเป็นปัญหาอย่างยิ่งไอ้ที่เรื่องโรงเรียนไม่พอให้เรียน ไอ้วิชาไม่พอให้เรียน งานไม่พอให้ทำ นี่กำลังจะเป็นปัญหา แล้วมันจะฆ่ากันตายเพราะเหตุนี้ก็ได้ เพราะว่างานเบาที่ไม่มีเหงื่อนั้น มันไม่มีพอให้ทำ แต่ถ้าคนมันเข้าใจถูกต้องแล้ว มันก็เห็นว่าไอ้เหงื่อนั้นนั่นยิ่งเป็นธรรมะ ยิ่งแสดงความเป็นมนุษย์มาก ก็พอใจที่มีอาชีพอาบเหงื่ออย่างเย็น ไม่ร้อนเหมือนคนโง่ที่มันเกลียดเหงื่ออยู่ในความรู้สึกคิดนึก นี่นักศึกษาทั้งหลายควรจะเข้าใจข้อนี้ไว้ด้วย ว่าเรากำลังโง่อย่างไรบ้าง หรือว่าทั้งโลกดีกว่า มันกำลังโง่ โง่ในเรื่องนี้กันอย่างไรบ้าง ไม่มีคนมองเห็นว่าไอ้ทำงานแม้มีเหงื่อนั้นแหละ มันเพื่อความมนุษย์ที่ถูกต้อง สรุปความว่าเมื่อมนุษย์ต้องทำงานและธรรมะจะช่วยให้เขาไม่เป็นทุกข์ มิฉะนั้นเขาจะต้องเป็นทุกข์ด้วยการงานที่เขาต้องทำนั่นเอง อาชีพการงานที่เขาต้องทำนั้น ถ้าเขาไม่มีธรรมะพอ มันจะมีอาการเป็นความทุกข์ขึ้นมาเพราะเขาไม่อยากทำ มันเหน็ดเหนื่อย มันมีความเหน็ดเหนื่อย เขาทนไม่ได้ เขาก็ต้องทิ้งไป ๆ ไปเป็นขโมยดีกว่า ที่อินเดียประชาชนชั้นต่ำเขามีคำพูดที่ประหลาดที่สุดสำหรับพวกเราคือ เขาว่าขอทานดีกว่าเป็นขโมย เป็นขอทานที่นั่งขอทานอยู่นั่นแหละ มันพูดอย่างนี้ ดังนั้นขอทานที่อินเดียนั้นยังไว้ใจได้ คือไม่ขโมย ไอ้ขอทานเมืองไทยนี่ไว้ใจไม่ได้ พอมีโอกาสขโมยวิ่ง วิ่งราวได้ทันที ที่ในอินเดียสมัยอาตมาไปไม่มีชนิดนี้ เพราะเขาถือหลักขอทานดีกว่าขโมยนี่อย่างแน่นแฟ้น มันก็เป็นธรรมะเหมือนกัน เป็นขอทานยังมีธรรมะ เป็นขโมยไม่มีธรรมะ ธรรมะที่ถูกต้อง ไอ้ธรรมะผิด ๆ ธรรมะของขโมย ธรรมะของโจร ธรรมะของไอ้คนพาลนั้นก็มีต่าง ต่างหากพวกหนึ่ง เราไม่เอามารวมไว้ในในคำว่าธรรมะนี้ เพราะว่ามันไม่ใช่หน้าที่ที่ถูกต้องของมนุษย์
นี่ธรรมะ เมื่อกล่าวโดยหลักภาษามีความหมาย ๔ ความหมายคลุมไปหมด ไม่มียกเว้นอะไร ตัวธรรมชาติก็ดี ตัวกฎของธรรมชาติก็ดี ตัวหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติก็ดี ผลเกิดจากหน้าที่นั้นก็ดี เรียกรวมแล้วทั้งหมดด้วยกัน เรียกสั้น ๆ ว่า ธรรมะ คำเดียว ที่ใน ๔ ความหมายนั้น ความหมายที่สามคือ หน้าที่ตามกฎของธรรมชาตินั้นแหละสำคัญ เอาธรรมะความหมายที่สามนี้มาประกอบเป็นบทนิยามว่า การปฏิบัติที่ถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ทุกขั้นทุกตอนแห่งวิวัฒนาการของเขานั่นคือ ธรรมะ ขอให้ถือหลักอันนี้เอาไว้ตลอดเวลา เราต้องมีการประพฤติกระทำที่ถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ของเราทุกขั้นทุกตอนแห่งวิวัฒนาการ ทีนี้ที่ว่าทุกขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการนั้นขอให้แยกออกไปว่าหลายรูปแบบก็ได้ เพราะวิวัฒนาการของเราไม่เหมือนกัน บางคนเป็นครู บางคนเป็นพ่อค้า บางคนเป็นชาวนา บางคนเป็นไอ้ข้าราชการอย่างอื่น เป็นทนายความ เป็นอะไรก็ตาม นี่ก็เรียกว่าความแตกต่างแห่งวิวัฒนาการด้วยเหมือนกัน จึงมีวิวัฒนาการมากอย่าง แต่ถึงอย่างไรก็ดี เราต้องมีการประพฤติที่ถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ของเราทุกขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการ เราเป็นมนุษย์อย่างครู ก็ต้องมีการปฏิบัติที่ถูกต้องแก่ความเป็นครูอย่างนี้ เป็นต้น หรือว่าเด็ก ๆ เขาเป็นลูกศิษย์ เขาก็ต้องมีการปฏิบัติที่ถูกต้องแก่ความเป็นลูกศิษย์ นี้คนเรานี่ เป็นอะไรในคราวเดียวกันนั้นมาก เป็นมนุษย์นี่ยืนโรงอยู่แล้ว เป็นมนุษย์ ทีนี้ก็เป็นมนุษย์พ่อ มนุษย์แม่ มนุษย์ลูก มนุษย์พี่ มนุษย์น้อง แล้วเป็นมนุษย์อาจารย์ มนุษย์ลูกศิษย์ มนุษย์ที่เป็นนาย มนุษย์ที่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชา มนุษย์ที่เป็นเพื่อน ทุกอย่างที่มนุษย์มันจะเป็นได้ บัญญัติได้ เขาต้องประพฤติให้ถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ทุกอย่างเหล่านั้น แล้วเขาก็ไม่ต้อง ไม่ ๆ ๆ ไม่มีปัญหา มัน มันจะดับทุกข์ได้ จะอยู่อย่างที่ไม่เป็นทุกข์ เป็นชีวิตเย็น ถ้าจะให้พูดเป็นคำธรรมดา ๆ ที่สุดแล้ว อยากจะพูดว่าเป็นชีวิตเย็น ถ้าเรามีธรรมะแล้วเราจะได้ชีวิตเย็น เย็นไปตลอดเวลา ถ้าเราไม่มี ไม่มีธรรมะแล้ว เราจะได้ชีวิตร้อนอยู่ตลอดเวลา คำว่านิพพานแปลว่าเย็น นั่นเป็นความหมายของชีวิตที่ถูกต้อง ใครมีชีวิตเย็นเพราะการประพฤติกระทำถูกต้อง สิ่งแวดล้อมถูกต้อง อะไรถูกต้อง แล้วชีวิตนี้ก็เย็น พอมันทำผิด มันก็ร้อนไปหมด หลายทิศทางจะมีความร้อนเข้ามา นั่นคือความทุกข์ จึงสรุปสั้น ๆ ว่าไอ้ธรรมะนั่น คือเครื่องดับทุกข์ที่จะเกิดขึ้นในทุก ๆ กรณีของมนุษย์ ธรรมะนั่นคือเครื่องดับทุกข์ในทุก ๆ กรณีที่จะเกิดขึ้นแก่มนุษย์ นี่คือธรรมะ เมื่อถามว่าธรรมะคืออะไร ไอ้คำตอบมันมีอยู่อย่างนี้ คำตอบมันมีอยู่อย่างนี้ เอาไปนั่นเอาเอง เอาไปจัดให้เป็นหมวดหมู่รูปโครงสำหรับศึกษาเข้าใจเอาเอง นับตั้งแต่ธรรมะ ๔ ความหมาย สำหรับธรรมะ ๔ ความหมายนี่จะขอพูดให้เข้าใจชัดอีกส่วนหนึ่งว่า มันมีทั้งข้างนอกและข้างใน ข้างในคือในตัวเรา เราคนหนึ่งนี่จะมีธรรมะครบทั้ง ๔ ความหมาย ไอ้เนื้อหนัง ร่างกาย อาการ ๓๒ สรุปเป็นดิน น้ำ ลม ไฟ อะไรที่มันเป็นตัวร่างกาย และจิตใจของเรานั้นแหละคือตัวธรรมชาติ นั้นเรียกว่าธรรมชาติ ธรรมชาติที่ปรับและโตขึ้นเป็นร่างกายเรา นี่ความหมายที่หนึ่ง คือตัวธรรมชาติ ทีนี้ความหมายที่สองคือกฎของธรรมชาติ เมื่อเนื้อตัวนี้ มันเป็นตัวธรรมชาติแล้วมันก็มีกฎของธรรมชาติควบคุมอยู่ ดังนั้นร่างกายนี้จึงเปลี่ยนแปลง ร่างกายนี้จึงเปลี่ยนแปลงไปตามกฎของธรรมชาติ เช่น มันเจริญงอกงามก็ได้ เป็นโรคภัยไข้เจ็บก็ได้ มันต้องเป็นไปตามกฎของธรรมชาติ มันจึงคลอดมาจากท้องแม่ได้ มันจึงเติบโตได้และมันจึงทำหน้าที่ต่าง ๆ ได้ตามกฎของธรรมชาติที่มันควบคุมไอ้ตัวธรรมชาตินี้อยู่ ทีนี้ความหมายที่สาม หน้าที่ตามกฎของธรรมชาติก็หมายความว่า ร่างกายนี้มันต้องทำหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ มันต้องกินอาหาร เป็นหน้าที่ว่ามันต้องกินอาหาร ถ้าไม่มีอาหารกิน มันมีหน้าที่ที่ต้องไปหาอาหารมา ดังนั้นร่างกายนี้จึงไปหาอาหารมาและกินอาหารอย่างนี้ เป็นต้น เรียกว่าหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ มันจะต้องบริหารร่างกายอย่าให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บโดยเจตนา หรือโดยไม่เจตนา เช่นว่ามันหายใจอยู่โดยไม่เจตนาอย่างนี้ มันก็เป็นหน้าที่ที่มันจะต้องหายใจอยู่ ทุกอย่างในร่างกายจะต้องปรับปรุงอยู่อย่างถูกต้อง มีการไหลเวียนแห่งโลหิตถูกต้อง อะไรถูกต้อง ทุกระบบมันต้องถูกต้องโดยกฎของธรรมชาติ ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ เราต้องนั่ง ต้องนอน ต้องยืน ต้องเดิน ต้องเปลี่ยนอิริยาบถ เราต้องทำทุกอย่างเพื่อให้ชีวิตนี้อยู่ได้ และชีวิตนี้เจริญ ๆ ขึ้นไป นี่หน้าที่ตามกฎของธรรมชาติความหมายที่สาม ก็มีอยู่ในร่างกายนี้ ทีนี้ผลของมันเป็นสุขบ้างเป็นทุกข์บ้าง อะไรก็ตาม มันก็เกิดอยู่ที่ชีวิตนี้ ที่ร่างกายนี้ เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง สบายดีบ้าง ไม่สบายบ้าง กระทั่งไอ้อาการภายนอกที่ว่าร่ำรวยบ้าง ยากจนบ้าง เป็นสุขบ้าง มันล้วนแต่เป็นผลที่เกิดมาจากการทำหน้าที่ ดังนั้นธรรมะที่ว่ามากมายมหาศาลครอบจักรวาลนั่น มาดูได้ในร่างกายนี้ของเราเพียงคนเดียว ครั้นเราเห็นแล้ว เราก็เข้าใจได้ง่าย ของคนอื่นก็เหมือนกัน ทั้งสากลจักรวาลก็เหมือนกัน เทวดาก็ได้ด้วย มีชีวิตที่จะต้องเป็นไปตามกฎของธรรมชาติทั้งนั้นแหละ ต้องขวนขวายเพื่ออยู่รอดทั้งนั้น นี่คือธรรมะ ๔ ความหมาย ดูได้จากภายในตัวเรามีอยู่ครบทั้ง ๔ ความหมาย ทุก ๆ ปรมาณูในตัวเรานี่มันเป็นธรรมชาติ กฎของธรรมชาติควบคุมอยู่ทุก ๆ ปรมาณูในตัวเรา ดังนั้นทุก ๆ ปรมาณูมันต้องดิ้นรนให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ ไม่อย่างนั้นมัน ชีวิตมันจะต้องตาย นี่ธรรมะที่ละเอียด ในความหมายที่ละเอียดดูจากข้างใน แล้วก็จะรู้ไว้ทั้งจักรวาล แล้วก็จะรู้ที่เป็นภายนอก ที่จะต้องประพฤติกระทำต่อกัน ช่วยเหลือกันและกันให้อยู่กันเป็นผาสุกในสากลจักรวาล ถ้าเราอยู่คนเดียว เราอยู่ไม่ได้นี่ ใครอวดดีลอง ๆ ลองคิดดูเถิดว่าอยู่ได้ไหม ถ้าเขาจะให้เราอยู่ในโลกนี้เพียงคนเดียว อะไร ๆ ยกให้คนนี้หมด ให้อยู่เพียงคนเดียว มันก็อยู่ไม่ได้ มันก็เป็นบ้าตาย ดังนั้นเราอยู่คนเดียวไม่ได้ ดังนั้นเราจึงมีหน้าที่ส่วนหนึ่งเพิ่มขึ้นมา คือจะต้องทำสิ่งที่ให้เราอยู่กันได้ ให้ได้รับประโยชน์ร่วมกัน ประโยชน์นั่นมันมีเพื่อตัวเองและเพื่อผู้อื่น หรือประโยชน์ที่สัมพันธ์กันระหว่างคน ๒ ฝ่าย นี้เป็นหน้าที่ เป็นหน้าที่ด้วยเหมือนกัน อย่าคิดว่าเรามีหน้าที่เพียงช่วยตัวเอง เรามีหน้าที่ต้องช่วยผู้อื่นด้วย เพราะว่าเราอยู่ในโลกคนเดียวไม่ได้ แล้วเราก็เกิดมาจากผู้อื่น จากบิดามารดาของเรา เพราะฉะนั้นเราต้องรับรู้ เราต้องรับผิดชอบประโยชน์ของผู้อื่น ดังนั้นคำว่าประโยชน์นี่แหละ เป็นกฎเกณฑ์สำหรับบัญญัติว่าถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง การศึกษาในโลกปัจจุบันเพ้อเจ้อ จนไม่รู้ว่าจะถูกต้องกันอย่างไร ยิ่งเอาเรื่องทางตรรกะวิทยา ทางปรัชญามาศึกษาหาความถูกต้องแล้ว พูดกันตั้งวันก็ไม่จบ แล้วไม่รู้ว่าอย่างไรคือความถูกต้อง นั่นแหละคือปรัชญาเฟ้อ ในทางพุทธศาสนาไม่ต้องพูดมาก ไม่ต้องพูดอะไรมาก ฉะนั้นถ้าสิ่งใดทำไปมีประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่นแล้วเรียกว่าถูกต้อง ความมีประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่นนั้นคือความถูกต้อง ไม่ต้องเสียเวลาศึกษาทางปรัชญา ทางตรรกะวิทยาอะไร ให้เสียสมอง ให้เปลืองเวลา อะไรดี อะไรคือความดี คือความมีประโยชน์แก่ทุกฝ่าย อะไรคือความถูกต้อง คือความมีประโยชน์แก่ทุกฝ่าย อะไรยุติธรรมก็คือความมีประโยชน์แก่ทุกฝ่าย อะไรเป็นความงดงามก็คือความมีประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ดังนั้นเราไม่มีปัญหามาก ความเป็นประโยชน์แก่เราและผู้อื่นนั่นแหละ คือสิ่งที่ดี ที่งาม ที่ถูกต้อง ที่ยุติธรรม หรือที่เรียกว่าฝ่ายดี นี่ธรรมะเป็นอย่างนี้ นี่เรื่อง เรื่องธรรมะได้พูดมาโดยเค้าโครงแล้ว โดยรายละเอียดแล้ว โดยวิธีปฏิบัติก็แล้ว เมื่อ ๆ ได้ทำหน้าที่ของมนุษย์ก็พอใจและเป็นสุข เป็นสุข ประโยคที่ว่า ทำงานให้สนุกเป็นสุขเมื่อทำงานนั่นแหละ กล้าท้า กล้าท้าว่าเป็นคำพูดที่มีความสำคัญที่สุด คุณเอาไปสอบ ทดสอบดูเอง ถ้าไม่เป็นสุขเมื่อทำการงานแล้วเงินเดือนจะไม่พอใช้ จะต้องคอรัปชั่น แต่ถ้ามันสุขเสียแล้ว เมื่อทำการงาน เมื่อทำหน้าที่ แล้วก็เงินเดือนไม่ต้องใช้ มันจะเหลือแยะ จะเอาไปช่วยผู้อื่นได้
นี่สรุปความว่าธรรมะ ที่จะต้องประพฤติปฏิบัติในฐานะที่เป็นศีลธรรมพื้นฐานทั่วไป ทำงานให้สนุก เป็นสุขเมื่อทำการงาน ถ้าถือหลักอย่างนี้แล้วไม่มีใครยากจน เศรษฐกิจของประเทศชาติจะรุ่งเรืองดีที่สุด ไม่มีโจร ไม่มีขโมยด้วย เพราะทุกคนเป็นสุขเมื่อทำการงาน
ก็ทีนี้ก็มาถึงไอ้เรื่องที่ ๒ คือครู ธรรมะกับครู ก็พูดถึงเรื่องครูกันบ้างตามสมควรแก่เวลา คำว่าครู โดยตัวหนังสือก่อน โดยตัวหนังสือนี่ มันเป็นปัญหามาก เรารู้ภาษาอินเดียน้อยไป รู้ภาษาบาลี สันสกฤตน้อยไป ไปเอาความหมายของคำว่าครูผิว ๆ ในภาษาผิว ๆ ทั่ว ๆ ไป คำว่าครู ครุ นี่แปลว่า หนัก เรียกว่าครูคือผู้ที่ต้องเคารพต้องให้ความหนัก อย่างนี้ก็มี คือครู คือผู้ที่หนักด้วยคุณธรรมจนใคร ๆ ต้องเคารพอย่างนี้ก็มี ก็ครูก็แปลว่าหนัก ทีนี่ในประเทศอินเดีย เขาที่เป็นเจ้าของภาษานั่น ที่เขาเป็นเจ้าของภาษาแท้ ๆ เขาค้นคว้าทางภาษาของเขา เขาพบว่า ครูคือผู้เปิดประตู ครุ ครุนี่มาจากรากศัพท์ที่แปลว่า เปิดประตู คำว่าเปิดประตูนั้นคือเปิดประตูคอก หรือสัตว์ทั้งหลายติดอยู่ในคอก คือความโง่เขลา ความไม่รู้ว่าจะทำอะไร แล้วก็ทำไม่ถูก แล้วก็เป็นทุกข์อยู่ในชีวิตนั้น นี่เรียกว่ามันอยู่ในคอก ในคอกที่มืด ในคอกที่เหม็น ในคอกที่สกปรก เหมือนสัตว์อยู่ในคอกที่มืด ที่เหม็น ที่สกปรก ดังนั้นคำว่าครู แปลว่าผู้เปิดประตู ให้สัตว์เหล่านั้นออกมาเสียจากคอกที่เหม็น ที่มืด ที่สกปรก จึงสันนิษฐานว่าคำ ๆ นี้ มันได้เกิดขึ้นเมื่อมนุษย์ยุคนั้น วิวัฒนาการมาจนรู้จักสั่งสอนซึ่งกันและกันให้เกิดความแจ่มแจ้งในทางจิตทางวิญญาณ ให้จิตใจออกมาเสียจากความทุกข์ ซึ่งเหมือนกับมืด ว่าสกปรก เหม็นเน่าอยู่ในคอก ให้ออกมาเสียจากคอกแห่งกิเลสและความทุกข์ ใครเริ่มทำอย่างนี้ได้ คนนั้นถูกเรียกว่าครู หรือเรียกตัวเองว่าครู คือผู้เปิดประตูในทางวิญญาณ เลยเป็นที่ยกย่องเคารพนับถือสูงสุดของสังคม มีหน้าที่เปิดประตูทางวิญญาณให้คนทุกคนทำ กระทำถูกต้องทางวิญญาณ ไม่เกิดความทุกข์ขึ้นแก่ชีวิตจิตใจ นี่คือคำว่าครู แล้วก็เป็นปูชนียบุคคล ไม่ใช่รับจ้างสอนหนังสือหากินเหมือนครูสมัยเรา ครูสมัยเรามันเป็นอาชีพชนิดหนึ่งรับจ้างสอนหนังสือหากิน แต่ทว่าครูชนิดนั่น มันไม่ใช่ลูกจ้างอย่างนั้น มันเป็นผู้เปิดประตูทางวิญญาณ มีอาชีพอย่างพระอริยเจ้า เหมือนกับเขาถวายอาหารบิณฑบาตแก่พระสงฆ์นั่น พระสงฆ์มีอาชีพชนิดนั้น มีอาชีพรับเครื่องตอบแทนต่อสิ่งที่เราได้ให้แก่สังคม ที่ครูสมัยนั้นก็เหมือนกันนั่น มีอาชีพคือได้รับสิ่งตอบแทนจากสังคมที่เขาได้รับประโยชน์จากบุคคลที่เป็นครู ฉะนั้นครูจึงเป็นปูชนียบุคคล ไม่ใช่อยู่ในระดับคนธรรมดา เพราะว่าเขาเป็นผู้เปิดประตูทางวิญญาณให้คนออกมาเสียจากกองทุกข์ จนกว่าจะเกิดพระบรมครูคือพระพุทธเจ้า ดังนั้นครูทั้งหลายมีความหมายหน้าที่อย่างนั้น ที่ว่าเปิดประตูทางวิญญาณ เดี๋ยวนี้ก็ยังใช้ได้ เช่น เด็ก ๆ มันโง่ มันไม่รู้หนังสือ ก็เรียกว่าประตูทางวิญญาณของมันยังปิดอยู่ เราก็ช่วยทำให้เขารู้หนังสือ ทีนี้เขาไม่รู้จักทำมาหากิน เหมือนกับว่าประตูทางวิญญาณเขาปิดอยู่ เราก็ช่วยเปิดให้เขารู้จักทำมาหากิน หรือว่าเขาไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรให้ชีวิตนี้เจริญงอกงามยิ่ง ๆ ขึ้นไป มันเหมือนประตูมันปิดอยู่ เราช่วยเปิดประตูให้เขารู้จักทำให้ชีวิตนี้เจริญงอกงามยิ่ง ๆ ขึ้นไป เขาไม่รู้หนทางที่จะไปสู่พระนิพพาน บรรลุมรรคผลนิพพาน เขาไม่รู้ เราช่วยเปิดให้เขารู้ แล้วเดินไปได้นี่ ก็เรียกว่าผู้เปิดประตู ทีนี้ในระดับแรกที่สุดมันก็เป็นเรื่องเปิดประตูให้รู้หนังสือ ให้รู้สิ่งที่ควรจะรู้ ที่จะรอดชีวิตอยู่ได้โดยพื้นฐาน นี่เรียกความรู้พื้นฐานที่มนุษย์จะต้องมี อย่างไร ครูก็ช่วยเปิดประตู ให้เด็กไม่รู้หนังสือ ได้รู้หนังสือทุกแขนงที่ควรจะรู้ และก็รู้วิชาชีพที่จะประกอบอาชีพให้รอดจนได้ อย่างแขนงเบ็ดเตล็ดอื่น ๆ เช่น ให้รู้จักอนามัย รู้จักป้องกันโรค รู้จักสังคมกันให้ดี ๆ อย่าฆ่าฟันกันอะไรอย่างนี้ มันเป็นเรื่องเปิดประตูทางวิญญาณทั้งนั้น เขาถือกันว่าไอ้สิ่งที่ครูให้แก่ศิษย์นั่น มันแพงเกินที่จะตีค่าได้ ฉะนั้นครูได้รับเงินเพียงเดือนละพันสองพันนี่ ไม่ใช่เป็นเรื่องหักกลบลบหนี้กันได้ เพราะว่าสิ่งที่ครูให้นั่น มันมากเกินกว่า ถ้าตีราคาก็เป็นแสนเป็นล้าน เป็นนั่น แล้วรับเงินเดือนมาเลี้ยงชีวิต เดือนละพันสองพันนี่มันคล้าย ๆ กับว่าที่เขาเอาข้าวมาใส่บาตรพระ เลี้ยงพระให้รอดอยู่ได้ด้วยข้าวปลาอาหารเพียงเล็กน้อยนั้น มันเทียบกันไม่ได้กับว่าไอ้แสงสว่างที่สาวกของพระพุทธเจ้าได้สอนให้แก่ประชาชน ดังนั้นสาวกของพระพุทธเจ้าจึงมีอาชีพ เขาเรียกว่าอาชีพเจ้าหนี้ เพราะว่าสาวกของพระพุทธเจ้าได้ให้สิ่งที่มีค่าแก่ประชาชนมากเหลือเกิน แล้วรับอาหารบิณฑบาตมากินวันหนึ่ง ๆ พอเลี้ยงชีวิตอยู่ได้นี่ มันนิดเดียว มันกลายเป็นเครื่องบูชาสักการะไป ไม่ใช่ค่าจ้าง ดังนั้นสาวกของพระพุทธเจ้าจึงไม่ใช่ลูกจ้าง ครูนี่ก็เหมือนกัน ถ้าทำหน้าที่ของครูอย่างถูกต้องแล้ว มันก็ได้ให้สิ่งที่มีค่ามากเหลือประมาณแก่สังคม ฉะนั้นสังคมจะจ่ายเงินเดือนให้พันสองพันพอเลี้ยงชีวิตนี่ มันก็กลายเป็นเครื่องบูชาครูไม่ใช่ค่าจ้าง นี่เรียกว่าอาชีพเจ้าหนี้ได้เหมือนกัน ดังนั้นเราจะต้องทำไอ้หน้าที่ของเราให้มันมีค่ามากกว่าเงินเดือนที่เราได้รับ เราก็พ้นจากฐานะลูกจ้าง แล้วก็เป็นปูชนียบุคคล แต่ดูไม่เคยพูดกันอย่างนี้ไม่เคยสอนกันอย่างนี้ มันกลายเป็นอาชีพจำเป็น ไม่สามารถจะหาอาชีพอย่างอื่นก็มาสมัครครูกันทั้งนั้นเลย ครูจึงเต็มไปทั้งประเทศจนไม่มีงานทำแล้ว ดังนั้นเรียกว่ามันไม่ ๆ ยังไม่ถูกกับเรื่อง เราจะต้องทำให้สำเร็จในการเปิดประตูทางวิญญาณให้แก่นักเรียน ลูกศิษย์นักเรียนทั้งหลาย ครูเป็นผู้สร้างโลก ครูที่ ครูที่มีความคิดตรง ๆ ยุติธรรมอาจจะยอมรับว่าครูเป็นผู้สร้างโลก แต่ถ้าครูขี้เกียจ มากเกินไป กูไม่เอา เกียรติยศอันนี้ กูไม่เอา กูไม่รับหน้าที่ผู้สร้างโลก มันต้องทำงานมากเกินไป แต่ที่จริงครูมันเป็นผู้สร้างโลก เพราะสร้างเด็กให้ดี เมื่อเด็กดี โลกมันก็ดี เมื่อเด็กเลว โลกมันก็เลว เด็กมันจะดีหรือเลว มันก็อยู่ที่ครู ดังนั้นครูจึงเป็นผู้ที่สามารถสร้างโลกนี้ให้เลวก็ได้ ให้ดีก็ได้ ดังนั้นถ้าครูเรายอมรับหลักการที่ว่าครูเป็นผู้สร้างโลก แล้วก็จะวิเศษมาก จะช่วยกันอย่างยิ่ง ทำให้เด็ก ๆ มันมีความรู้ที่ถูกต้อง มีการประพฤติที่ถูกต้อง มีศีลธรรมสมกับความเป็นมนุษย์ โลกนี้ก็เป็นโลกที่สงบสุข โลกนี้มันสร้างได้โดยมนุษย์ ผู้สร้างคือครู คือสร้างเด็ก เด็กเป็นอย่างไรโลกนี้เป็นอย่างนั้น ถ้าเราสร้างให้โลกให้เด็ก ๆ ดี ไอ้โลกนี้ในอนาคตมันก็ดี มี มีสันติสุข นี้ก็ควรจะพูดกันบ้างเหมือนกันว่า ไอ้ศีลธรรมนั่นแหละคือรากฐานของสันติสุข คำว่าศีลธรรม เราถือสิทธิที่จะแปลว่า มูลเหตุแห่งสันติสุข โดยอาศัยภาษาบาลีเป็นหลัก ศีลธรรมไม่ใช่วิชามารยาทเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ประพฤติในสังคม นั้นมันหลับตาพูด ถ้าเอาภาษาบาลีเป็นหลัก คำว่าธรรม ธรรมะ ธรรม นี่มันแปลว่าเหตุว่าผล ว่าเหตุว่าผล ในที่นี้แปลว่าเหตุ ธรรมะแปลว่าเหตุ ศีละแปลว่าความปกติ คือปกติสุข ศีลธรรมจึงแปลว่าสิ่งที่เป็นเหตุแห่งความปกติสุข นั้นแหละคือศีลธรรม อะไร ๆ ที่เป็นเหตุให้โลกนี้มีปกติสุขเป็นศีลธรรมหมด คือได้แก่ ได้แก่การประพฤติดี ประพฤติชอบทุกชนิดเลย ประพฤติดีประพฤติชอบทุกชนิด ในทุกแง่ทุกมุมนั่นนั้นแหละ เป็นปัจจัยแห่งสันติสุข ทำการงานทำอาชีพให้ดีที่สุดนี้ก็คือศีลธรรม เป็นมูลเหตุแห่งสันติสุข ไม่มีขโมย ไม่มีขโจร ไม่มีการเบียดเบียน แม้ว่าเราจะเป็นนักเศรษฐกิจ ถ้าเราดำเนินเศรษฐกิจดี ไม่โกง เศรษฐกิจนี้ก็เป็นปัจจัยแห่งสันติสุขใน ๆ บ้านเมือง แม้เราเป็นนักการเมือง ถ้าเราเป็นนักการเมืองที่ดี ไม่ใช่นักการเมืองโกง มันก็เป็นไอ้ปัจจัยแห่งสันติสุขในบ้านในเมือง แม้เราเป็นพ่อค้าไม่ใช่พ่อคาสูบเลือด เป็นพ่อค้าที่ดีให้ความสะดวกแก่การเป็นอยู่แลกเปลี่ยน อันนี้ก็เป็นปัจจัยแห่งสันติสุข เป็นข้าราชการในหน้าที่ถูกต้อง มันก็เป็นปัจจัยแห่งสันติสุข ไม่ว่าอะไรถ้าทำถูกต้องตามความมุ่งหมายของวิชานั้น ๆ แล้วก็เป็นปัจจัยแห่งสันติสุขทั้งนั้น นี่เราก็สอนเด็ก ๆ ของเราให้รู้ว่า เรามีหน้าที่ที่จะต้องสร้างปัจจัยแห่งสันติสุข ที่พูดเป็นกลาง ๆ ใช้ได้ทุกความหมายก็คือว่าทำหน้าที่ของมนุษย์ หน้าที่ของมนุษย์นี่แหละคือศีลธรรม มนุษย์มีหน้าที่ทำให้มนุษย์อยู่กันอย่างสงบสุขอย่างไร นั้นแหละคือศีลธรรม ฉะนั้นหน้าที่แห่งแรกก็คือให้รอดชีวิตอยู่ได้ หน้าที่ที่สองก็คือดียิ่ง ๆ ขึ้นไปจนถึงที่สุดแห่งความดี ทีนี้เราจะต้องทำทั้งเพื่อตนเองและเพื่อผู้อื่น ดังนั้นเราสอนเด็ก ๆ ของเราให้เป็นสุข สนุกเป็นสุขในหน้าที่คือการศึกษาเล่าเรียน นักเรียนของเราจะต้องเป็นสุข สนุกในการเรียนและเป็นสุขเมื่อเรียน นักเรียนของเราจะต้องสนุกในการเรียนและเป็นสุขเมื่อเรียน ไม่ใช่เป็นสุขเมื่อไปเตะฟุตบอลเล่น เป็นต้น เมื่อกำลังเรียนอยู่นั่นให้มีจิตใจที่เข้าใจอย่างถูกต้องว่า นี่ได้ทำความดี ได้ทำสิ่งที่ดี ที่เป็นเกียรติยศสูงสุดของมนุษย์คือหน้าที่ของมนุษย์ สำหรับเหล่าเด็ก ๆ ก็คือการเรียน ดังนั้นเมื่อเรียนนั่นให้รู้สึกว่าเราได้ทำความดี มีความดียกมือไหว้ตัวเองได้ เราก็เป็นสุข เด็ก ๆ ของเราก็เป็นสุขเมื่อมีการเรียน สนุกเมื่อมีการเรียน มันก็เรียนได้ดีทั้งนั้นแหละ มันจะเรียนได้ดียิ่งกว่าเดี๋ยวนี้ ที่ว่ามันไม่รู้สึกว่า หน้าที่ คือสิ่งสูงสุด คือเกียรติ เกียรติยศของความเป็นมนุษย์ ไปช่วยกันทำให้เด็ก ๆ เขาสนุกในการเรียน เรียนอย่างสนุกและเป็นสุขในการเรียน นี่ข้อแรก มันจะช่วยได้หมดในส่วนตัวบุคคลนั้น มันจะเรียนศีลธรรมชนิดที่ว่ามันไม่ทำผิดทุกอย่างทุกประการ แล้วข้อที่สอง มันต้องรักผู้อื่น เด็ก ๆ ของเรายังชกต่อยกัน ยังไม่รักผู้อื่น สอนให้รักผู้อื่นกันแต่ปาก สอนให้รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ กันแต่ปาก เด็กมันไม่รู้จักรัก มันยังไม่พอ มันต้องสอนให้พอ ให้รู้จักและให้ประพฤติปฏิบัติอยู่ทุกวัน ในวันหนึ่งต้องพิสูจน์ให้ได้ วันนี้ได้ทำอะไรที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น เอาละ, แต่ว่าหลักสูตรของกระทรวงมันไม่มี ครูทำเกินหลักสูตรไปเดี๋ยวจะเดือดร้อน อาตมาบอกว่าไอ้การศึกษาที่สมบูรณ์นั้นมันจะต้องเป็นอย่างนี้ มันต้องอบรมเด็ก ๆ ให้รักผู้อื่น แสดงสิ่งที่เป็นความรักผู้อื่นอยู่อย่าง อย่างหนึ่ง ๆ ทุกวัน ๆ สามารถจะรายงานให้ครูทราบได้ว่าวันนี้ได้ช่วยเพื่อนของเราอย่างไรบ้าง วันนี้ได้ให้เงินช่วยเหลือเพื่อนบ้าง ได้ให้สิ่งของช่วยเหลือเพื่อนบ้าง ได้ช่วยทำงานของเพื่อนบ้าง ได้ช่วยทำงานของส่วนรวมแทนภารโรงบ้าง อะไรบ้าง ให้มันมาแสดงได้ทุกวันแต่ละอย่าง แต่ละวัน ๆ อย่างหนึ่งเสมอว่า เขาได้ทำสิ่งที่ช่วยเหลือผู้อื่นเพราะความรักผู้อื่น ยิ่งช่วยเหลือคนตกทุกข์ได้ยากด้วยแล้วก็ยิ่งดี จนกระทั่งว่าไม่คดไม่โกง พบของตกกลางถนนก็เอาไปประกาศหาเจ้าของ ไอ้คนอื่นจะว่าโง่ ก็ช่างหัวมัน ไอ้เด็กที่พบของตกกลางถนนเอาไปเรียกหาเจ้าของนั่น ไอ้เด็กทั้งหลายมันจะหาว่าไอ้เด็กโง่ ก็ช่างหัวมัน สอน ๆ ลูกศิษย์ของเราให้รู้ว่า มันจะว่าโง่อย่างนี้ ก็ช่างหัวมัน เราจะเอาไปประกาศหาเจ้าของอย่างนี้ เป็นต้น นี่คือทำให้ ให้เด็ก ๆ มันมีศีลธรรมในเรื่องรักผู้อื่น ในความรักผู้อื่นนั้นแหละคือใจความของศาสนาทุกศาสนาเลย คนโดยมากไม่ได้ศึกษาไม่ได้สังเกตว่าไอ้ใจความของทุกศาสนานี่เน้นที่ความรักผู้อื่น นี้หมายถึงศาสนาพื้นฐานทั่วไปรวมทั้งพุทธศาสนาด้วย ในชั้นพื้นฐานแล้วจะสอนเรื่องรักผู้อื่นทั้งนั้น ที่จะสอนให้ไปสูงขึ้นไป ไปนิพพานไปพระเจ้านั้นมันอีก ๆ ขั้น อีกขั้นตอนหนึ่ง แต่ขั้นพื้นฐานแล้วทุกศาสนาเขาจะสอนเรื่องรักผู้อื่นทั้งนั้น ให้รักผู้อื่นยิ่งกว่าตัวก็มี อย่างศาสนาอิสลามนี่ มี มีคำเขียนไว้ตรง ๆ ว่า ให้ถือว่าทุกคนเป็นร่างกายเดียวกัน มนุษย์ทุกคนเป็นร่างกายเดียวกัน หมายความว่ามันจะต้องรักผู้อื่น แต่เดี๋ยวนี้ผู้ถือศาสนาอิสลาม เขาจะทำอย่างไรกันก็ไม่ทราบ เขาฆ่ากันอย่างกับฆ่าเนื้อ ฆ่าปลา ประเทศอิรักกับประเทศอิหร่าน นี่กำลังฆ่ากัน อย่างฆ่าเนื้อฆ่าปลา ทั้งที่เป็นมุสลิมด้วยกันอย่างนี้ เป็นต้น หมายความว่าเขาไม่ได้ถือศาสนาตรงตามหัวใจของศาสนาที่ว่าให้รักผู้อื่น ยอมเสียประโยชน์ตนยอมเจ็บปวดเองโดยไม่ต้องทำอันตรายผู้อื่น ใน ในคำสอนพุทธเราก็มีศาสนาพระศรีอารยเมตไตรย ศาสนาแห่งความรักผู้อื่น เมตไตรย นั่นมันแปลว่าความรักผู้อื่น คือไปเกื้อกูลแก่มิตรภาพ เมตเตยยะ แปลว่าเกื้อกูลแก่มิตรภาพ ก็คือรักผู้อื่น ทุกคนรักผู้อื่นเท่านั้นแหละ มันมีเท่านั้นแหละ โลกพระศรีอารยเมตไตรย คือทุกคนรักผู้อื่น พอเราลงมาจากเรือน เราก็พบแต่ผู้ที่พร้อมที่จะช่วยเรา คุณลองหลับตา ทำมโนภาพดูสิว่า พอเราลงมาจากเรือนของเรา สู่ท้องถนน มันเต็มไปด้วยผู้ที่ยื่นมือมาจะช่วยเหลือเรารอบด้าน อย่างนี้ทุกหนทุกแห่งแล้วมันจะเป็นอย่างไร นั่นคือโลกของพระศรีอารยเมตไตรย ศาสนาแห่งความรักผู้อื่น เดี๋ยวนี้พอเราลงมาจากเรือน ไม่ระวังให้ดี ถูกแย่งชิง ถูกวิ่งราว ถูกฆ่าเลยก็มี ถ้ามันเป็นศาสนาพระศรีอารยเมตไตรยลงมาจากบ้านเรือน ก็มีหน้าสลอนยื่นหน้าเข้ามาช่วยเหลือ มันจะเป็นอย่างไรบ้าง คิดดู เขาพูดไว้เป็นอุปมาว่ามีต้นกัลป์ประพฤกษ์ทั่วไปหมด ใครต้องการอะไร ก็ไปเอาได้ที่ต้นกัลป์ประพฤกษ์นั้น ต้องการอะไรตามใจ ต้องการเงิน ต้องการทอง ต้องการอะไร ไปเอาได้ที่ต้นกัลป์ประพฤกษ์ในศาสนาพระศรีอารย์ เขาพูดไว้อย่างนั้น มันต้องตีความหมายสิ ไอ้อย่างนั้น มันเป็นไปไม่ได้มันต้องตีความหมาย ว่าเราต้องรักผู้อื่น ทุกคนรักซึ่งกันและกัน แล้วไปที่ไหน มันก็ได้ ตามที่ต้องการแหละ มันจะได้ทุกสิ่งที่เราต้องการ เพราะมันมีแต่คนรักผู้อื่น นี่ต้นกัลป์ประพฤกษ์ทั่วไปทั้งเมืองที่จะอำนวยสิ่งที่ใครต้องการก็ได้ สำเร็จมาแต่คำ ๆ เดียวว่าเมตตา คือรักผู้อื่นเป็นหัวใจของทุกศาสนา พุทธ คริสต์ อิสลาม พราหมณ์ อะไรก็ตาม ความรักผู้อื่น ซึ่งเดี๋ยวนี้มันหายไปหมดในโลกนี้ในการศึกษามันไม่มี มันเป็นการศึกษาหมาหางด้วนทั้งโลก มันไม่เน้นเรื่องสนุกในการทำงานและความรักผู้อื่นซึ่งเป็นหัวใจของศาสนา นี่เมื่อกระทรวงเขาไม่อำนวยหลักสูตร เราก็ทำยากเหมือนกัน อาตมาก็เห็นใจเหมือนกัน ครูบาอาจารย์ทั้งหลาย มันก็ มันต้องระวังตัว แต่ว่าส่วนใดที่เราทำได้แล้วขอให้ทำเถิด ไม่ต้องรอกระทรวงออกหลักสูตรหรือ ออกกฎอะไรมา ทำให้เป็นปูชนียบุคคล อยู่เหนือเกล้าเหนือเศียรของประชาชน โดยการทำหน้าที่เปิดประตูทางวิญญาณ ไม่ใช่ประตูธรรมดา ออดแอด ๆ ประตูคอกควาย ประตูบ้านนั้น มันประตูทางวัตถุ ประตูทางวิญญาณนั้นเป็นเรื่องของจิตใจ ที่มีความโง่ความหลง กิเลส โลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น เป็นประตู ช่วยเปิดออกมาเสีย ทำลายอวิชชาเสียให้เกิดความรู้ความสว่างไสว เป็นผู้เปิดประตู ดังนั้นครูคือผู้ทำหน้าที่เปิดประตู สร้างความสว่างไสว เฉลียวฉลาดให้แก่โลก ให้แก่ชาวโลก โดยเฉพาะแก่เด็ก ๆ และก็เป็นผู้สร้างโลกให้ดีได้ จึงมีบุญคุณอยู่เหนือประชาชนทั้งโลก เป็นปูชนียบุคคลของโลก ฉะนั้นขอให้ครูทุกคนเลื่อนตัวเองขึ้นมาอยู่ในฐานะอย่างนี้ อย่าให้หยุดอยู่เพียงแค่รู้มาแค่เล็ก ๆ ว่าเรียนครูแล้วได้เงินเดือน เป็นครู สอบครูได้ ได้งานได้เงินเดือนทำไม่สู้เหน็ดเหนื่อยนัก แค่นี้ไม่พอ มันจะเป็นลูกจ้างสอนหนังสือหากิน มันมีอยู่เท่านั้นแหละ ไม่ ไม่เป็นปูชนียบุคคลไปได้ ครูที่คิดเพียงเท่านั้น มันก็เป็นคนรับจ้างสอนหนังสือหากิน เป็นกรรมกรชนิดหนึ่ง แต่ถ้าครูคนไหนมันเลื่อนไปถึงว่า เราจะเปิดประตูทางวิญญาณโดยแท้จริง ให้ประโยชน์แก่เขามากกว่าเงินเดือนที่เราได้รับ เราก็เป็นปูชนียบุคคล เป็นอาชีพเจ้าหนี้ เพราะว่าให้เขามากกว่าที่รับเอามามากมายนัก เราให้เขามาก เหลือมาก หลายร้อยเท่าหลายพันเท่ากว่าที่เรารับเอามา คือเงินเดือนนิดหนึ่ง อย่างนี้ก็เรียกว่าอาชีพเจ้าหนี้ เป็นคำเรียกมาแต่โบราณใช้สำหรับภิกษุนักบวชอยู่ในอาชีพเจ้าหนี้ เพราะทำประโยชน์ให้มากกว่าที่เรารับของตอบแทนของเขา แล้วผู้ ให้เขาก็มองเป็นนัยว่าเป็นเครื่องสักการบูชา ไม่ใช่ค่าจ้าง เพราะเราให้เขามากเกินไปกว่าที่มันเป็นเรื่องจ้างออนอะไรกัน มันเลยกลายเป็นเครื่องสักการบูชา พอเราทำหน้าที่ถูกต้องอย่างนี้แล้ว เงินเดือนไม่กี่พันบาทนั้นมันกลายเป็นเครื่องสักการบูชา ถ้าเราไม่ทำอย่างนี้เงินเดือนมันกลายเป็นค่าจ้าง แล้วครูเหลวไหลนี่จะทำงานไม่คุ้มค่าจ้าง เป็นผู้คดโกง เอาแล้ว พูดถึงครูก็คืออย่างนี้ เอาไปจับกันเข้ากับคำว่าธรรมะ ธรรมะกับครู ครูก็คือผู้เผยแผ่ธรรมะ เปิดประตูทางวิญญาณด้วยการเผยแผ่ธรรมะให้เขารู้จักธรรมะ ทำจิตใจให้เปิดโล่งสู่แสงสว่างของธรรมะ ครูที่ทำหน้าที่ของตนอย่างดี ก็คือผู้ประกาศธรรมะเหมือนกัน จึงว่าเป็นครูสังกัดอยู่กับพระพุทธเจ้า ครูทุกคนนั่นสังกัดอยู่กับพระพุทธเจ้าโดยไม่รู้สึกตัว รู้ ๆ กันแต่ว่าสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ กินเงินเดือนของรัฐบาล รู้เพียงเท่านั้น ถ้ารู้มากกว่านั้นก็รู้ว่ามันทำงานอย่างเดียวกับพระพุทธประสงค์ คือเปิดประตูทางวิญญาณของสัตว์ในสากลโลก ขอแสดงความยินดีใน ๆ ในโอกาสวาระสุดท้ายนี้ ชั่วโมงครึ่งแล้ว ขอแสดงความยินดีในการมาของท่านทั้งหลาย เพื่อศึกษาหาความรู้ที่เกี่ยวกับครูหรือธรรมะที่เกี่ยวกับครู ขอแสดงความยินดีที่ท่านทั้งหลายตั้งใจฟัง ขอบคุณด้วย บรรดาผู้ฟังนี่ เราประสบพบเห็นมาว่า ครูเป็นผู้ฟังที่เลวที่สุด พูด ๆ กัน พูดกันเอ็ดอึงไม่ฟัง เพราะเขาเห็นว่าไม่ ๆ ๆ ไม่มีสาระที่จะฟัง แต่ถ้าเราไปเทศน์ในหมู่ทหารนั่น ฟังเงียบกริบ น่าเลื่อมใส อาตมาก็เคยประสบอย่างนี้ เพื่อนที่เขาเป็นนักเทศน์ เขาก็ประสบอย่างนี้ ไปพูดกับทหารแล้ว ฟังอย่างเงียบกริบที่สุด เป็นระเบียบที่สุด ถ้าพูดกับครูแล้วมีจอกแจก ๆ ๆ เขาคุยกันไปพลาง เขาสูบบุหรี่ไปพลาง เขา อย่างนี้มีมาก วันนี้ไม่มี ขอขอบพระคุณ ฟังอย่างดีเหมือนกับทหาร ทหารนั่งฟังตัวตรงดิกกันตลอดเวลาทุกแห่งที่ ๆ ๆ ไปมา ถ้าประชาชนก็ยังใช้ไม่ได้ แล้วที่เป็นครูนี่ น่าเสียใจที่ว่าเป็นครูแท้ ๆ ยังไม่เป็นครูที่ถูกต้องในการฟัง ครั้งหนึ่งเมื่อนานมาแล้วอย่า ๆ ไม่ ๆ ต้องบอกปี ไป ๆ เทศน์ที่เพชรบุรี วันนั้นเป็นวันที่ครูฟังเลวที่สุด เอ็ดอึงกัน เพื่อจะไล่ให้หยุดเทศน์เร็ว ๆ เพราะเขากำลังประชุมกันเรื่อง เรื่องผลของเงินสหกรณ์ เขากำลังทะเลาะกันเป็นการใหญ่กับเรื่องเงินผลของสหกรณ์ เขาอยากให้ไม่เทศน์ ไม่อยากให้เทศน์ แต่ผู้ว่าราชการ ฯ บังคับให้มีการเทศน์ แล้วผู้ว่าราชการ ฯ ก็ไปธุระอื่นเสียด้วย อยู่ข้างหลังครูเขาก็เถียงกันแข่งอาตมา เรื่องข้อตกลงกันไม่ได้เกี่ยวกับสหกรณ์ เกี่ยวกับเงินของสหกรณ์ อาตมาเทศน์ได้นิดหน่อยก็ต้องยอมแพ้ ก็ต้องเลิกที่เพชรบุรี ที่โรงเรียนอะไรหลังใหญ่ ๆ นี่ฝากชาวเพชรบุรีไปด้วย เอาละ, เป็นอันว่า วันนี้เราก็ได้พูดเรื่อง ธรรมะกับครู แยกเป็น ๒ เรื่องพอสมควรแล้ว ขอให้ครูทั้งหลายเป็นผู้เปิดประตูทางวิญญาณแก่สัตว์โลกและเป็นผู้สร้างโลก สอนให้เด็ก ๆ เขาเป็นสุข สนุกเมื่อทำหน้าที่ มีความสุขเมื่อทำหน้าที่คือเมื่อเรียน ท่านทั้งหลายประพฤติธรรมอย่างนี้แล้ว ย่อมเป็นพรอยู่ในตัว มีความสุขความเจริญก้าวหน้าในที่การงาน ในความหมายแห่งความเป็นมนุษย์อยู่ ทุกทิพาราตรีกาลเทอญ
มีปัญหาอะไรบ้าง ถามบ้างก็ได้ เดี๋ยวนี้ ๓ ทุ่มแล้ว ถามปัญหากันหรือเปล่า ถ้ามี ถ้าไม่มีก็ปิดประชุม ครูเขามักจะถือว่าเขารู้แล้ว เพราะฉะนั้นเขามักไม่สนใจจะฟัง เพราะว่าเขาเป็นครู เขารู้แล้ว เขาไม่สนใจจะฟัง พวกเซนเขาเรียกคนพวกนี้ว่าน้ำชาล้นถ้วย ใส่เติมลงไปอีกไม่ได้ เพราะดังนั้นครูจึงไม่ค่อยฟัง เพราะเป็นน้ำชาล้นถ้วย ใส่ไม่ลง ทำงานให้สนุกเป็นสุขเมื่อทำงาน ขอฝากประโยคสุดท้าย ทำงานให้สนุกแล้วเป็นสุขเมื่อทำการงาน เหงื่อจะเย็น ไม่ต้องคอรัปชั่น เงินเหลือใช้ อบายมุขทั้งหลายไม่ใช่สำหรับเรา สถานเริงรมย์ทั้งหลายไม่ใช่สำหรับเรา เพราะฉะนั้นเงินเดือนของเราก็เหลือใช้ เอ้า, ไม่มีปัญหาปิดประชุม หัวหน้าอยู่ไหน หัวหน้าจัดให้หัวรุ่งนี้มีอะไรบ้าง ไปขอแรงใครบรรยายหัวรุ่งหรือเปล่า ควรจะได้รับประโยชน์คุ้มค่ามา ค่ารถ ค่าเหนื่อย ถ้าคุณวรศักดิ์อยู่เขาจะบรรยายหัวรุ่ง เดี๋ยวนี้เขาไม่อยู่ แต่ก็มีอาจารย์องค์อื่น ๆ ก็ไปตกลงกันเถิด คงจะช่วยบรรยายได้ ท่านหัวหน้าไปตกลงกับอาจารย์อะไรบ้างไหม อาจารย์โพธิ์ อ้าว, ไม่ได้ตกลงก็ไม่ ๆ ไม่แล้ว มัน ๆ พ้นเวลาแล้ว ไม่เห็นนี่ ไม่เห็นเลย ถ้าอาจารย์โพธิ์บรรยายให้เอง ที่นี่ก็ได้ ที่โรงธรรมก็ได้ ให้มันมีการบรรยายอีกสักครั้งก็ยังดีนะ ท่านอาจารย์โพธิ์เขามักจะบรรยายเรื่องวิธีทำสมาธิอยู่เป็นประจำ