แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ท่านที่เป็นครูบาอาจารย์ทั้งหลาย อาตมาได้รับคำขอร้องให้พูด แล้วก็พูดเรื่องที่เกี่ยวกับครู ข้อนี้ไม่รู้สึกหนักใจนัก เพราะว่าเรามันก็เป็นครูกันอยู่ทั้งนั้น พระพุทธเจ้าเป็นบรมครู เรียกสมัยใหม่ก็ต้องว่าเป็นบิดาแห่งครู เราพระสงฆ์ก็เป็นครู ทำหน้าที่ตามแบบของพระองค์ เมื่อเป็นครูด้วยกัน ก็ควรจะพูดกันได้ตามใจชอบ ไม่ต้องเกรงใจกัน หรือว่าไม่ต้องมีสิ่งที่ต้องระมัดระวังกันนัก ครูที่ขึ้นสังกัดอยู่กับกระทรวงศึกษาธิการก็ต้องรู้ว่า ส่วนหนึ่งขึ้นสังกัดอยู่กับพระพุทธเจ้า เอาบุญเป็นเงินเดือน ซึ่งก็ถือกันได้โดยพฤตินัยว่าเป็นครูด้วยกันทุกคน พูดกันในฐานะที่เป็นครูด้วยกันโดยไม่ต้องเกรงใจ เรื่องที่ต้องเกรงใจนั่นแหละทำให้เสียเวลา เพราะต้องพูดอ้อมค้อมบ้าง ต้องรักษาน้ำใจบ้าง อะไรบ้าง เมื่อพูดกันได้ตรงๆ ก็ประหยัดเวลาได้มาก ดังนั้นอาตมาก็จะพูดตรงๆ
หัวข้อที่จะพูดวันนี้ก็มีว่า สัตว์ชนิดหนึ่งซึ่งเหลืออยู่แต่ชื่อ สัตว์ชนิดหนึ่งซึ่งเหลืออยู่แต่ชื่อ แต่ว่าสัตว์ชนิดนี้มีหลายพวกด้วยกันนะ แต่ว่าไปตามลำดับดีกว่า พวกแรกที่สุดก็อยากจะยกตัวอย่าง สัตว์ที่เขาเรียกกันว่าไดโนเสาร์ มันก็เหลืออยู่แต่ชื่อ แม้จะมีโครงกระดูกเหลืออยู่บ้างมันก็ไม่มีความหมายอะไร จึงเรียกว่าเหลืออยู่แต่ชื่อกับซากของมัน นี่เป็นตัวอย่างที่จะต้องสังเกตกันดูให้ดีว่ามันเหลืออยู่แต่ชื่อ แล้วมันจะเป็นอย่างไร พวกที่ ๒ มันก็คือมนุษย์ เป็นสัตว์ที่เหลืออยู่แต่ชื่อ มนุษย์แปลว่ามีจิตใจสูง สูงอยู่เหนือกิเลส และเหนือความทุกข์ เดี๋ยวนี้มันไม่อยู่เหนือกิเลสและความทุกข์ มนุษย์มันก็สิ้นไป มันก็เหลืออยู่แต่ชื่อ นี่พวกที่ ๓ ที่เหลืออยู่แต่ชื่อคือพวกมนุษย์ พวกที่ ๒ ที่นี้พวกที่ ๓ ก็คือพวกครู เหลืออยู่แต่ชื่อ เพราะว่าไม่เปิดประตูทางวิญญาณ คำว่าครู ในการค้นคว้าทางภาษาศาสตร์ ค้นพบว่าตอนหลังนี้ คำว่าคุรุนี่แปลว่าเปิดประตู เปิดประตูทางวิญญาณ สัตว์ที่ถูกกักขังอยู่ในคอกในเล้ามันก็ออกมาได้ ก็เลยเรียกว่าครูผู้เปิดประตู นี่ครูผู้เปิดประตูหายไปไหนหมดแล้ว เรียกว่าเหลืออยู่แต่ชื่อ เหมือนกับไดโนเสาร์ ถ้าว่าไม่ทำหน้าที่เปิดประตูทางวิญญาณกันให้ได้แล้ว ก็เป็นอันว่าเหลือแต่ชื่อ คำว่าครูมีความสำคัญมาก จำเป็นมาก สำหรับในปัจจุบันนี้ เพราะว่าครูนั่นมันคือ ผู้ที่แก้ปัญหาของมนุษย์ สังเกตดูในภาษาจีน คำว่าครู กับคำว่าหมอ มันเป็นอย่างเดียวกัน ซินแสนั่นเป็นครูก็ได้ เป็นหมอก็ได้ มันทำหน้าที่เดียวกัน คือแก้ปัญหาของมนุษย์ เพราะปัญหาเกิดขึ้น แล้วคนจำพวกนี้แก้ปัญหาได้ มันก็ถูกเรียกว่าครูหรือซินแส อะไรก็แล้วแต่ ขอแต่ว่าให้มันแก้ปัญหาได้ก็แล้วกัน มันก็เท่ากับว่าเปิดประตูหาหนทางออกให้แก่มนุษย์ที่จะออกไปเสียจากปัญหา จากอุปสรรค หรือจากความทุกข์ ขอให้ย้อนระลึกนึกถึงสมัยดึกดำบรรพ์โบราณนานไกลที่มนุษย์มันแรกมีขึ้นมาในโลก มันอยู่กันคงจะไม่ดีกว่าสัตว์นัก แต่มันก็ค่อยๆ ดีขึ้น เพราะเผอิญมนุษย์มันมีมันสมองที่ดีมาก ดีกว่าสัตว์เดรัจฉาน มันสมองของสัตว์เดรัจฉานมันหยุดหรือตายตัว มันจึงไม่มีอะไรเกิดขึ้นอย่างที่เรียกว่ามันแปลก ปัญหามันก็ไม่มี มนุษย์มีมันสมองผิดกันมาก คือมันรู้อะไรได้มาก มันจึงทำอะไรได้มากหรือแปลกออกไป ปัญหามันก็เกิดขึ้น แต่มนุษย์มันก็มีมันสมองมาก มันก็ควรจะแก้ปัญหาของมันได้ จึงมีมนุษย์คนแรกที่เขาช่วยแก้ปัญหาให้มนุษย์ด้วยกัน ให้คนด้วยกัน เขาก็ได้นามใหม่ว่าเป็นซินแสหรือเป็นครู เพราะว่าเขาจะสามารถบอกให้ได้ว่าเราควรจะทำอย่างไรในเรื่องนี้ นับตั้งแต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ จนถึงเรื่องใหญ่ๆ เรื่องเจ็บเรื่องไข้ เรื่องทำมาหากิน เรื่องเป็นเรื่องอยู่ เรื่องนุ่งเรื่องห่ม มันก็มีคนที่รู้มากกว่าคนอื่น แล้วคอยตอบคำถาม มนุษย์ก็ดีขึ้น เพราะมีคนที่เปิดประตูให้ออกไป ออกไป แต่ดูเถิดว่ามันจะเป็นอย่างไร เมื่อมันสมองมันเฟื่องขึ้น มันก็ขยายตัวไม่สิ้นสุด แต่ปัญหามันก็เกิดขึ้น ผู้แก้ปัญหามันก็สูงขึ้น ตามขึ้นไป มันจึงมีเรื่องมาก จากเรื่องทางจิตใจ จากเรื่องทางไอ้ร่างกายไปสู่เรื่องทางจิตใจ เป็นโรคทางร่างกายรักษาได้ กระทั่งเป็นโรคทางจิตใจ ก็ค่อยๆ รู้ ค่อยๆ รักษาได้ จนเกิดบุคคลชั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แก้ปัญหาหรือเปิดประตูแห่งปัญหาได้ถึงที่สุด เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเราเรียกท่านว่าเป็นบรมครู เอาเป็นว่าผู้ที่เปิดประตู หรือแก้ปัญหาต่างๆ ของมนุษย์ได้นี้ก็จะเรียกกันว่าครู
เดี๋ยวนี้เราก็มาดูกันถึงข้อที่ว่า มนุษย์ไม่ได้มีจิตใจสูง ที่อยู่เหนือกิเลสและความทุกข์ตามแบบของพระอริยเจ้า ถ้าหาไม่พบ ก็ต้องว่าไม่มี อาตมาถึงว่าเป็นสัตว์ชนิดหนึ่งซึ่งเหลืออยู่แต่ชื่อเหมือนกัน เช่นเดียวกับไดโนเสาร์มีโครงกระดูกอยู่ในพิพิธภัณฑ์ เหลืออยู่แต่ซากกับชื่อ มนุษย์นี้ก็หายไป เหลืออยู่แต่ชื่อกับซากคือคน คนที่เป็นปัญหาเหลือประมาณนี่ เป็นตัวปัญหาเสียเองนี่คือซากของมนุษย์ เพราะความเป็นมนุษย์มันหมดไปเสียแล้ว มันก็เหลือแต่ซาก เราก็ไม่ได้รับประโยชน์จากการเป็นมนุษย์ ดังนั้นครูผู้มีหน้าที่ทำให้มนุษย์มีใจสูง ก็ไม่ได้ทำกันเสียแล้ว ดังนั้นก็ครูที่แท้จริงก็หายไปหมดแล้ว เหลือแต่ซากของครู สอนหนังสือ สอนอาชีพ รับจ้างหากิน อาตมาคิดว่านี้มันเป็นเพียงซากของครู ผู้เปิดประตูทางจิตทางวิญญาณ แต่โบราณกาลนั้นพวกครูเขาเป็นผู้นำทางวิญญาณให้เกิดมนุษย์ คือมีใจสูง อยู่เหนือปัญหา เหนือความทุกข์โดยประการทั้งปวง นี้เห็นไหมพูดตรงๆ อย่างไร พูดตรงๆ กับครูด้วยกันน่ะพูดอย่างไร สัตว์ที่มันเหลือแต่ชื่อคือไดโนเสาร์ คือมนุษย์ และคือครู ไดโนเสาร์เขากลับชาติมาเกิดเป็นจิ้งเหลนหางแดง เขาพูดกันมากเหมือนกันเดี๋ยวนี้ ไดโนเสาร์มันจะย้อนกลับมาเกิดอีกหรืออย่างไรก็ตาม มีพวกจิ้งเหลนหางแดง ที่ดูถูกคนเฒ่าคนแก่มากนัก มนุษย์นี่จะฟื้นตัวกันขึ้นใหม่หรือยัง จะเป็นจากมนุษย์อันธพาลมาเป็นมนุษย์อริยะกันหรือยัง ถ้าเราทำกันถูกต้อง มันก็คงจะกลับมา แต่เดี๋ยวนี้อยากจะเรียกว่าเหลืออยู่แต่ชื่อ สูญพันธุ์ไปเหลืออยู่แต่ชื่อกับซาก ไม่น่ายินดีอะไร ที่นี้ครู ก็ได้ยินว่ากำลังฟื้นฟูกันเป็นการใหญ่ ตั้งชมรมครู อบรมครู อะไรครูนี้ หวังว่ามันจะกลับมา ครูที่เหลืออยู่แต่ชื่อนั้นน่ะ จะได้กลับมามีครูจริงๆ เราควรจะปหรือกษากันแต่เฉพาะข้อสุดท้าย ก็จะพอสมควรแก่เวลา คือขอให้งานการงานกิจกรรมของครูกลับมาอีก เปิดประตูในทางวิญญาณ ให้คนมันได้เจริญก้าวหน้าขึ้นมาเป็นมนุษย์ อาตมาพูดว่าคนกับมนุษย์มันเป็นคนละอย่าง บางคนเขาฟังไม่ถูก เขาด่าด้วยก็มี แต่ที่จริงนั้น มันก็เป็นคนละอย่าง ไอ้คนนี้มันสักว่าเกิดมาก็เป็นคน แต่มนุษย์นั้นมันต้องมีจิตใจสูงด้วย ทีนี้มันสูงเองไม่ได้ มันก็ต้องมีระบบอันหนึ่งซึ่งจัดขึ้นเพื่อทำให้คนมันมีใจสูง ก็คือการสอนธรรมะ สอนให้มีธรรมะ เพราะมันสูงได้ด้วยธรรมะ นี่เราจะให้มนุษย์กลับมา ให้ซากของมนุษย์เกิดใหม่ขึ้นมาเป็นมนุษย์ ชุบใหม่ขึ้นมาเป็นมนุษย์ ชุบคนให้เป็นมนุษย์ แล้วพวกไหนล่ะ ก็พวกซินแสทั้งหลาย จะซินแสหมอยา หรือซินแสครูก็สุดแท้ มันจะช่วยชุบคนให้เป็นมนุษย์ อาตมาคิดว่าเป็นการถูกที่สุด สมควรที่สุด ที่จะช่วยกันทำให้กลับมีมนุษย์ พระพุทธเจ้าก็จะต้องทรงอนุโมทนาเป็นอย่างยิ่ง เพราะว่าธรรมะของพระองค์ก็เพื่อความเป็นอย่างนี้ เพื่อความที่ครูเขา เพื่อความที่มนุษย์ คนนี่ก็จะได้กลายเป็นสัตว์ที่สูงขึ้นไปจากปุถุชนเป็นพระอริยเจ้า จากอันธพาลขึ้นไปเป็นคนเป็นชั้นพระอริยเจ้า ที่จริงมันก็คือคนที่หมดปัญหานั่นเอง เป็นพระอริยะเจ้าจะเป็นทำไมถ้ามันยังมีปัญหาหรือมีความทุกข์ ดังนั้นมองดูที่ไอ้ตัวจริงของมัน ก็คือว่าหมดปัญหาหรือหมดความทุกข์เรียกว่าประเสริฐเป็นพระอริยะเจ้า หน้าที่นี้ตกเป็นของบรมครูหรือของครู ซึ่งเป็นบริวารของพระบรมครู ยุติในส่วนนี้ว่าเราจะต้องได้ทำหน้าที่ของครูกันอีก แล้วครูก็จะกลับมา แล้วมนุษย์ก็จะกลับมา โลกนี้ก็จะได้เปลี่ยนแปลงเป็นโลกของอริยะชน อริยะบุคคล ถึงไม่ทั้งหมดก็ให้มันมากเหมือนครั้งพุทธกาลก็ยังดี ดังนั้นจึงพูดกันในที่นี้ในบรรดาท่านที่เป็นครูทั้งหลาย ว่ามันเป็นโอกาสแล้วที่เราจะทำงานอันนั้น หรือทำหน้าที่อันนั้น หรือว่าเป็นโอกาสแล้วที่จะดึงให้ครูกลับมาสู่โลกนี้อีก ด้วยการช่วยกันเปิดประตูทางวิญญาณ
เรื่องที่จะพูดต่อไปก็คือเรื่องเปิดประตูทางวิญญาณ ที่แปลว่าหนัก เป็นผู้มีบุญคุณหนัก เป็นครูนั้นไม่สำคัญเท่ากับว่า เปิดประตูทางวิญญาณ แล้วเดินนำหน้า ให้สัตว์ทั้งหลายเดินตาม อย่างนี้มันเป็นสิ่งที่มีความหมาย หรือเรียกว่าเป็นเหตุ เป็นหน้าที่ที่ต้องทำ ส่วนที่ว่ามีบุญคุณหนักอยู่บนศีรษะคนทั้งโลก ให้คนทั้งโลกเขาเคารพบูชานั้น มันเป็นส่วนผลเสียแล้ว มันเป็นสิทธิ เป็นอะไรเสียแล้ว แต่ว่าหน้าที่โดยตรงที่เราจะต้องทำโดยส่วนเหตุนี้ ช่วยกันเปิดประตูทางวิญญาณ แล้วก็จะพูดกันถึงเรื่องเปิดประตูทางวิญญาณพอสมควรแก่เวลา ประตูทางวิญญาณนี่ ขอให้ถือว่ามันปิดมาแต่เดิม พอมันเกิดมนุษย์ขึ้นมาแล้ว เกิดสัตว์ เกิดคนขึ้นมาแล้ว ประตูมันปิดมา ดูว่าสิ่งต่างๆ ที่มันแรกเกิดมามันปิดทั้งนั้น เมล็ดพืชก็ดี ดอกไม้ก็ดี อะไรก็ดี มันออกมามันปิดกันทั้งนั้น มันค่อยเบิกบาน ค่อยขยายตัว เบิกบานทีหลัง จิตของคนเราเกิดมาจากท้องแม่ ประตูมันปิด เธอมันไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ทารกเกิดมาเดี๋ยวนี้จะไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ทีนี้พอไม่กี่วัน ทารกเขาก็สามารถที่จะสัมผัสทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย กระทั่งถึงทางใจของเขา ตาเขาสัมผัสสิ่งที่สวยและไม่สวย คือสิ่งที่เขาได้เห็น หูของเขาก็สัมผัสเสียงที่ไพเราะหรือไม่ไพเราะ ที่เขาคนเลี้ยงเขากล่อมเพลง กล่อมให้เคลิ้มไป บางทีแมวก็มากัดกันข้างเปล นี่ก็หูของเขาก็จะได้รับเสียงที่ไพเราะหรือไม่ไพเราะ จมูกของเขาก็จะได้รับกลิ่นที่หอมหรือเหม็น ลิ้นของเขาก็จะได้รับรสที่หวานอร่อยหรือขมขื่น ผิวหนังของเขาก็จะได้รับสัมผัสความนิ่มนวลหรือแข็งกระด้าง เมื่อจิตของเขาเริ่มคิดนึกได้ เขาก็จะรู้สึกในทางที่จะพอใจหรือไม่พอใจ อย่างนี้มันมีความสำคัญอยู่ตรงที่ว่าทารกนั้นไม่มีความรู้เลยว่าอะไรเป็นอะไร ปล่อยมาตามบุญตามกรรม ในพระบาลี พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสความข้อนี้ว่า ทารกนั้นไม่มีปัญญาเรื่องเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ ไม่มีความรู้เรื่องเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ ท่านใช้คำๆ เดียวกันกับที่คนโตๆ จะต้องรู้นะ คำว่าปัญญาวิมุตติ เจโตวิมุตตินี่ ท่านใช้ แม้แต่ทารกที่เพิ่งออกมาจากครรภ์ มันไม่มีความรู้เรื่องเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ ดังนั้นอย่าให้ความหมายให้มันสูงเกินไป ให้ความหมายแต่เพียงว่า เรื่องดับทุกข์ด้วยจิตเป็นอย่างไร ดับทุกข์ด้วยปัญญานั้นเป็นอย่างไร เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ ทารกมันไม่รู้ มันก็ทำผิดหมดน่ะ มันก็เป็นโอกาสของอวิชชา สำหรับคำว่าอวิชชานี้ถือตามหลักธรรมะในพุทธศาสนา ก็หมายถึงธาตุ ธาตุตามธรรมชาติ ธาตุตามธรรมชาติอันหนึ่ง มีอยู่ในที่ทั่วไปๆ ทั้งจักรวาล พร้อมที่จะเข้าไปสิงอยู่ในจิตใจ หรือในการประพฤติกระทำของมนุษย์ ทีนี้ทารกนั้นมันไม่มีความรู้เรื่องเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ พอมันสัมผัสทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น อะไรก็ตาม ก็เป็นโอกาสของอวิชชา เข้าไปครอบงำมัน มันก็ไม่รู้ว่านี่จะควรจะเป็นอย่างไร มันก็ต้องยินดีเมื่ออันนั้นมาให้ยินดี ยินร้ายเมื่ออันนั้นมาให้ยินร้าย รูปสวยมันก็รัก รูปไม่สวยมันก็ไม่รัก เสียงเพราะมันก็รัก เสียงไม่เพราะมันก็ไม่รัก นี่คืออวิชชาเข้าไปสิงแล้ว อวิชชาธาตุที่มีอยู่ทั่วไปในบรรยากาศนี่ เข้าไปสิงในจิตของมัน ของเด็กทารกแล้วประตูมันก็ปิดหนักขึ้น ขอให้ดูเถอะ ขอให้ดูให้ดีเถอะ ก็ทารกออกมาจากครรภ์ของมารดาแล้ว มันไม่มีอะไรที่เป็นเครื่องป้องกันอวิชชา มันสัมผัสทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันก็เกิดยินดียินร้ายไปตามนั้น อวิชชามันก็เจริญรุ่งเรือง ประตูมันก็ปิดหนักขึ้น เด็กทารกจึงเติบโตขึ้นมาด้วยประตูที่ปิด ก็ทำอะไรไม่ถูกตามที่ควรจะทำ มันได้แต่ยินดีเมื่อมายั่วยินดี ยินร้ายมายั่วยินร้าย มันก็เกิดกิเลสที่ออกมาจากอวิชชา อวิชชามันก็ปรุงแต่งกิเลสได้มากมายหลายอย่าง ประตูมันก็ปิดหนักขึ้น จนมันมีแต่เรื่องทุกข์มากขึ้น เป็นทุกข์มากขึ้น กระทั่งเป็นหนุ่มเป็นสาวแล้ว มันก็เป็นทุกข์มากขึ้น มันไม่เคยเปิดประตูออกไปได้ ไม่เคยโปร่งโล่งทางจิตใจ มีความสะอาด สว่าง สงบเลย เอ้า, ทีนี้มาดูถึงพ่อแม่ ครูบาอาจารย์ที่เลี้ยงดูเด็กทารกเหล่านั้นมา ได้เปิดประตูให้หรือยัง อาตมาคิดว่ามันยังจะปิดหนักขึ้นไปอีก มันเอาของสวยของหอมค่อยมาล่อให้หลงรัก เอาของน่าเกลียด น่าชัง น่ากลัวมาขู่ นี่แทนที่พ่อแม่ ครูบาอาจารย์พี่น้องจะช่วยเปิดประตู มันกลับลั่นดานให้หนักขึ้นไปอีก ก็น่าสงสารไอ้เด็กทารกของเรา เด็กๆ ที่เติบโตขึ้นมาด้วยประตูที่มันปิดหนักขึ้น จนกระทั่งเป็นหนุ่มเป็นสาวก็ไม่รู้ว่าอะไรเป็นทางให้เกิดทุกข์ อะไรเป็นทางให้ดับทุกข์ มันก็เลยทุกข์กันใหญ่ ทุกข์ไอ้เรื่องที่ทุกข์กันอยู่ เห็นๆ กันอยู่ เรื่องกินก็เป็นทุกข์ เรื่องกามก็เป็นทุกข์ เรื่องเกลียดก็เป็นทุกข์ นี่เรียกว่าประตูปิดสนิท หนักขึ้นไปอีก คล้ายกับประตูขึ้นสนิมเปิดไม่ออก ทีนี้พอว่ามีครอบครัว เป็นพ่อบ้าน แม่บ้าน ก็ยังไม่เปิด ประตูมันก็ยังไม่เปิด มันไปหลงรักทรัพย์สมบัติ ข้าวของเงินทอง บุตรภรรยาสามี จนมีความทุกข์เป็นโรคประสาท ล้วนแต่นอนไม่หลับ น่าละอายแมวกันอยู่ ทั่วๆ ไปทั้งนั้นน่ะ ใครยังต้องกินยานอนหลับ รู้จักละอายแมวเสียบ้าง เพราะว่าแมวเขาไม่ต้องกินยานอนหลับ ไม่ต้องกินยาแก้ปวดหัว ถ้าคนยังต้องกินยานอนหลับ กินยาแก้ปวดหัว ควรจะรู้สึกละอายแมวเสียบ้าง เพราะมันทำไม่ถูก เพราะประตูมันปิด ดังนั้นจะทำอย่างไรดีล่ะ แต่ว่าโดยธรรมชาติ มันก็ไม่มีอะไรคงที่นะ นี่เป็นหลักอันหนึ่งซึ่งอย่าลืมเสีย ที่พระพุทธเจ้าก็ตรัส แล้วเราก็มองเห็นว่าไม่มีอะไรคงที่ มีแต่การเปลี่ยนแปลง ดังนั้นประตูที่เคยปิดมันก็อาจจะถูกเขย่าให้สั่นให้คลอนให้หมุนมาทางที่จะเปิด ก็คือความทุกข์นั่นเอง เมื่อได้รับความทุกข์มากเข้า ไอ้คนมันก็ฉลาดขึ้นบ้าง แต่มันยังน้อยเกินไป เช่น เด็กเล็กๆ ที่มันไม่ประสีประสาไปจับเอาไฟเข้า มันร้อน มันก็รู้ อ้าว, ไฟร้อน มันก็ฉลาดขึ้น ทีนี้ไปทำผิดอะไร ถูกเฆี่ยนถูกตี มันก็ไม่ทำ แต่มันก็ฉลาดขึ้น แต่มันยังน้อย ยังไม่เคยเปิด มันไม่ถึงขนาดที่เรียกว่าเปิด เพราะมันยังไม่ดับทุกข์ แต่มันก็พร้อมที่จะได้รับการศึกษาฝึกฝนอบรมให้เปิด ดังนั้นเมื่อมนุษย์โตพอสมควร ได้รับทุกข์ทรมานในชีวิตนี้มาตามสมควร ก็จะต้องถึงระยะหนึ่งซึ่งมันจะได้เปิด หรือควรจะเปิด ดังนั้นเราพูดเรื่องทุกข์ เรื่องเหตุให้เกิดทุกข์ เรื่องความดับทุกข์ เรื่องหนทางให้ถึงความดับทุกข์นี่ พูดได้และพูดได้ง่ายแก่ผู้ใหญ่ที่ได้ผ่านชีวิตมาพอสมควรแล้ว จะพูดกับเด็กๆ นี่ยากมาก ได้ผลน้อยมาก หรือไม่ถึงกับจะเปิดประตูออกมาได้ ผู้ที่ได้ผ่านชีวิตมาขนาดเป็นบิดา มารดา เป็นอะไรแล้วนี่มันง่าย มันพร้อมที่จะรับฟังคำสอนของพระพุทธเจ้าชนิดที่เปิดประตูได้ ทีนี้มันก็โชคมันก็ยังไม่ดี คืออายุมากขนาดนี้แล้วก็ไม่อยากจะสนใจธรรมะเลย ขนาดเป็นพ่อบ้านแม่เรือนอย่างนี้แล้วก็ไม่อยากที่จะสนใจธรรมะของพระพุทธเจ้าเลย สำหรับคนพวกนี้ประตูก็ยังปิดอยู่ตามเดิม แต่ไม่ใช่คนจะเป็นกันอย่างนี้เสียทั้งหมด มันก็มีบางคน เขาเรียกว่ามีอุปนิสัยปัจจัยอะไรอยู่บ้าง มันก็เริ่มสนใจว่าไอ้ความทุกข์ทั้งหลายตั้งแต่เกิดมาจนบัดนี้มันเป็นอย่างนี้ มันจะขจัดออกไปได้อย่างไร คนเหล่านี้จึงสนใจจึงพยายามสุดความสามารถที่จะศึกษาธรรมะ ถ้าโชคดีศึกษาธรรมะได้เพียงพอ ประตูของเขาก็จะเปิดออกได้ก่อนแต่ที่จะตาย แต่ว่าก็มีคนเป็นอันมากที่ประตูปิดไปจนตาย เข้าโลงไปไม่เคยเปิด ไม่มีแสงสว่างแห่งธรรมะส่องเข้าไปในจิตใจของเขาเลย แต่ก็มีคนไม่น้อยเหมือนกันแหละที่ธรรมะส่องเข้าไปในจิตใจของเขาได้ เขาเปิดประตูได้ก่อนที่จะตาย ก่อนที่จะเข้าโลง ดังนั้นเขาจึงมีโอกาสหรือมีเวลาที่ได้อยู่กับชีวิต มีชีวิตชนิดที่เยือกเย็น เพราะประตูมันเปิดแล้วบ้างเหมือนกัน บางคนก็หลายปี บางคนก็ตั้ง ๓๐ ปี ๔๐ ปี ก็จะได้ ถ้าว่าถ้าเขาสามารถที่จะรู้ธรรมะเพียงพอเมื่ออายุ ๖๐ ปี เขาก็จะมีอายุอยู่อีกสัก ๓๐ ปี ตอนหลังนี่เพื่อเสวยผลของธรรมะ เป็นมนุษย์ที่ประตูเปิด คือจิตใจมันสูง ก็นับว่ามีบุญ ถ้าใครสามารถทำให้จิตใจถึงธรรมะ มีความสว่างไสว ประตูเปิดได้ ตั้งแต่อายุเพียง ๒๐ ปี ๓๐ ปี นี่ก็นับว่ามีบุญมาก เป็นมนุษย์พิเศษ เขาจะได้มีชีวิตที่สงบเย็นไปหลายสิบปีกว่าจะตาย จึงขอให้ทุกคนช่วยเอาไปคิดไปนึก ว่าทำอย่างไรเราจึงจะเข้าถึงชีวิตที่เยือกเย็นได้โดยเร็วที่สุด
มันก็คือการศึกษาธรรมะนั่นเอง หาโอกาสศึกษาธรรมะ ธรรมะนั้นจะเปิดประตูแห่งอวิชชาให้มันสว่างไสวเป็นวิชชา และก็ได้พบพระนิพพาน คือความเยือกเย็นแห่งจิตใจ เมื่อกิเลสไม่เกิดขึ้น จิตใจมันก็เย็น ความเย็นนั้นเป็นนิพพาน ไอ้การที่สิ้นกิเลส อาการที่สิ้นกิเลสก็เรียกว่านิพพาน นั้นมันเป็นเหตุ ลักษณะนั้นเป็นลักษณะเหตุ เพราะกิเลสสิ้นไปแล้วมีแต่ความเย็น ไอ้ความเย็นนั้นก็เรียกว่านิพพาน นี้ในลักษณะผล แม้ว่าตัวพระนิพพานแท้ๆ จะไม่ใช่ตัวเหตุตัวผล แต่ชื่อที่เขาเอามาพูดก็พูดกันอย่างนี้แหละ การทำกิเลสให้สิ้น จนกิเลสมันสิ้น นี้เป็นพระนิพพานในส่วนที่เป็นเนื่องอยู่กับเหตุ กิเลสสิ้นแล้วก็เย็น นี่ก็เป็นพระนิพพานที่แสดงผล ดังนั้นเราพยายามให้ชีวิตนี้ได้ประสบกับความเย็นให้เร็วที่สุด พระนิพพานก็เป็นธาตุชนิดหนึ่งเหมือนกัน เช่นเดียวกับอวิชชาเป็นธาตุชนิดหนึ่งซึ่งพร้อมอยู่ที่จะเข้ามาสิงมาจับเอาจิตใจของมนุษย์ แต่พระนิพพานก็เช่นเดียวกันเป็นธาตุชนิดหนึ่งมีอยู่ในที่ทั่วไปพร้อมอยู่เสมอ เมื่อจิตนั้นมันเพิกถอนอวิชชาได้ หมดกิเลส หายไปหมดเกลี้ยง นิพพานก็สัมผัสกับจิตนั้นได้ จิตนั้นสัมผัสนิพพานได้ ดังนั้นพระนิพพานก็คืออายตนะชนิดหนึ่ง คำว่าอายตนะแปลว่าสิ่งที่สัมผัสได้ เมื่อจิตมันเกลี้ยงจากเครื่องหุ้มห่อคืออวิชชาและกิเลสทั้งหลาย นิพพานก็สัมผัสจิตนั้น เหมือนกับเราเปิดหน้าต่างแสงสว่างมันก็เข้าไปในห้อง ดังนั้นเราพยายามเปิดหน้าต่าง เปิดเครื่องหุ้มห่อ คืออวิชชาและกิเลสทั้งหลาย จิตนั้นก็เกลี้ยง ไม่มีอะไรหุ้มห่อ นิพพานก็สัมผัสกับจิตนั้น จิตนั้นก็เย็น ชีวิตนั้นก็เป็นชีวิตที่เยือกเย็น ซึ่งสมัยหนึ่งเขาบูชากันยิ่งกว่าสิ่งใด บูชาความเย็นแห่งจิตใจยิ่งกว่าสิ่งใด เดี๋ยวนี้คนเขาบูชาความเอร็ดอร่อยทางอายตนะยิ่งกว่าสิ่งใด โลกทั้งโลกกำลังบูชาสิ่งนี้ กำลังผลิตสิ่งนี้ กำลังสนับสนุนสิ่งนี้ คือเครื่องให้เอร็ดอร่อยทางอายตนะ คือทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ทุกคนเงินเดือนไม่พอใช้ เพราะว่ามันมีสิ่งนี้ได้ครอบงำ ในเมื่อไม่ได้อย่างใจก็ เงินก็ไม่มี ก็อันธพาล ก็ปล้น ก็แย่งชิง วิ่งราวอะไรๆ กัน เป็นอันธพาลกันเต็มไปทั้งบ้านทั้งเมือง ดังนั้นขอให้นึกดูให้ดีว่าจะเอาสุกร้อนอย่างนั้นหรือว่าจะเอาสุขเย็นอย่างของพระพุทธเจ้า สุขอย่างของพระพุทธเจ้าคือสุขเย็น เพราะกิเลสไม่มี กิเลสนั้นเป็นไฟ มันร้อน เมื่อมันไม่มี มันก็เย็น อย่างนี้เราเรียกว่าสุขเย็น ถ้าเขียนเป็นตัวหนังสือก็ ข สะกด ทีนี้สุขของคนปุถุชน รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ได้อบรมจิตใจให้เกิดกิเลส ให้เกิดความร้อน ให้เกิดความรัก ให้เกิดความเกลียด ให้เกิดความกลัว ให้เกิดความหึง ความหวง อิจฉา ริษยา หวาดระแวง จนกระทั่งเงินเดือนก็ยังไม่พอใช้อีก ยิ่งสุขอย่างนี้เงินเดือนยิ่งไม่พอใช้ ยิ่งสุขอย่างโน้นเงินเดือนยิ่งมีเหลือเพราะมันไม่ต้องใช้ นี่สุขอย่างนี้เราเรียกว่าสุกร้อน เมื่อเขียนเป็นตัวหนังสือตัว ก สะกด นี่มนุษย์กำลังพอใจในสุก ก สะกด แล้วก็ได้รบราฆ่าฟันกัน จนไม่มีความสงบสุข ดูในโลกนี้เวลานี้มันมีความสงบสุขที่ตรงไหนบ้าง เมื่ออาทิตย์ก่อนอาตมาพูดไปว่า พูดทางวิทยุว่า องค์การสหประชาชาตินั้นคือท้าวมาลีวราชที่งานล้นมือ ถ้าใครฟังคำว่าท้าวมาลีวราชได้ ก็คงจะเข้าใจ ท้าวมาลีวราชงานล้นมือ องค์การสหประชาชาติเป็นท้าวมาลีวราชที่งานล้นมือ คือนั่งไกล่เกลี่ยให้เขาดีกันน่ะ ไม่ไหว ไม่หวาดไม่ไหวงานล้นมือ ท้าวมาลีวราชไกล่เกลี่ยทศกัณฐ์กับพระรามให้ตกลงกันก็ยังไม่ได้ ทั้งที่ได้ยินว่าเป็นลูกเป็นหลานของท้าวมาลีวราช ทั้งทศกัณฐ์ และทั้งพระรามเป็นลูกหลานท้าวมาลีวราช คู่เดียวเท่านั้นแหละท้าวมาลีวราชก็ไกล่เกลี่ยไม่ได้ เดี๋ยวนี้ท้าวมาลีวราชมันจะไกล่เกลี่ยคนทั้งโลกนี่ ให้ยักษ์กับมารทั้งโลกมันดีกันได้มันทำไม่ได้ มันก็เป็นเรื่องงานล้นมือ ทำไม่ได้ผลอะไร เหมือนกับจับปูใส่กระด้ง จับปูใส่กระด้ง จับตัวนี้ใส่เข้ามา ตัวนั้นออก ตัวนั้นออก ตัวนั้นเข้า ตัวนั้นออก มันไม่มีทางที่จะเรียบร้อยได้ นี่มนุษย์มันเป็นอย่างนี้ เพราะว่ามันลุ่มหลงอยู่ในความสุก ก สะกด เขาอยากจะครองโลก เขาเอาทั้งหมดนี่มาเป็นสมบัติของเขา ไปหล่อเลี้ยงอายตนะของเขา เราเรียกสั้นๆ ว่า เป็นทาสของอายตนะ เป็นทาสของอายตนะ ไม่ใช่ธาตุนะ ทาส ส สะกดนะ เป็นทาสของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เขาเป็นทาสของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แสวงหาสิ่งต่างๆ มาบำรุงบำเรอ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เรียกอีกอย่างหนึ่งก็เรียกว่าเลี้ยงกิเลส บำรุงกิเลส บูชากิเลส มีกิเลสเป็นพระเจ้า คนชนิดที่เงินเดือนไม่พอใช้นี้ เพราะว่าเขาเลี้ยงกิเลส บูชากิเลสเป็นพระเจ้า เงินเดือนไม่พอใช้ ถ้าว่าเขาจะมีธรรมะ หล่อเลี้ยงธรรมะ ถือธรรมะเป็นหลัก มันก็เป็นตรงกันข้าม ไม่มีความร้อน มีแต่ความเย็น เงินเดือนก็เหลือใช้ รายได้มันเหลือใช้พอที่จะเอาไปจุนเจือผู้อื่นได้ แต่ถ้าเราเป็นทาสของอายตนะหล่อเลี้ยงกิเลสแล้ว ให้มีเงินเดือนมากอีก ๓ – ๔ เท่าก็ไม่พอใช้อีกนั่นแหละ ไม่มีเงินเหลือไปช่วยคนอื่นเลย นี่ดูเถอะ เปรียบเทียบดู จิตใจหรือดวงวิญญาณที่มันเปิดประตูได้แล้วนี่มันเป็นอย่างไร ที่มันเปิดประตูไม่ได้ มันจะต้องปิดตายอยู่เหมือนกับตาบอดหลับตาตายไปเลย มันจะเป็นอย่างไร ใครจะมาช่วยเปิดประตู ก็คือพวกครูทั้งหลาย เป็นผู้เปิดประตูทางวิญญาณ สอนให้เขารู้จักจัดการทุกอย่างที่ทำให้กิเลสไม่มีความหมาย เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ทำได้ การที่เราจะจัดจิตใจของเราให้ไม่มีกิเลส นี่เป็นสิ่งที่ทำได้โดยธรรมชาติ ตามธรรมชาติ พระพุทธเจ้าท่านก็ได้ตรัสไว้ มีพระบาลีว่า ปะภัสสะรามิทัง ภิกขะเว จิตตัง ภิกษุทั้งหลายจิตนี้มีธรรมชาติเป็นประภัสสร คือเรืองแสงสว่างไสวอยู่ อาคันตุเกหิ อุปักกิเลเสหิ อุปักกิลิฏฐัง แต่ว่าเศร้าหมองมืดมัวแล้วด้วยอุปกิเลสที่เข้ามา สังเกตดูให้ดีนะว่าธรรมชาติของจิตนี้บริสุทธิ์ผ่องใสนะ แต่นี่เศร้าหมองเพราะอุปกิเลสเข้ามา เป็นแขกมาเป็นคราวๆ เรียกว่าอาคันตุกะ เหมือนกับเพชรที่มันเป็นอิสระ มันแวววาว สุกใส แต่ถ้าเอาโคลนไปปะ มันก็ไม่เห็นแสงของเพชร แต่ถ้าล้างโคลนออกมันก็เห็นแสงของเพชรอีก นี่จิตมันเป็นอย่างนี้ ถ้าอย่าให้มีโคลนเข้าไปปะ มันก็จะเรืองแสงตลอดกาล ทีนี้พระพุทธเจ้าท่านสอนวิธีปฏิบัติระบบหนึ่งให้ ปฏิบัติแล้วจิตนั้นจะเปลี่ยนสภาพเป็นจิตที่โคลนจะเกิดจะเกาะอีกไม่ได้ คือกิเลสจะมาเกิดในจิตนั้นอีกไม่ได้ ที่ขาวบริสุทธิ์มาตามธรรมชาตินั้นมันอยู่ในสภาพที่กิเลสเกิดขึ้นได้ แต่เดี๋ยวนี้มาปรับปรุงมาพัฒนากันเสียใหม่ จนกลายเป็นจิตชนิดที่กิเลสเกิดไม่ได้ จิตนั้นก็ประภัสสรตลอดไป ในเรื่องจิตเป็นอย่างนี้ แล้วพระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสสรุปท้ายว่า ผู้ใดรู้เรื่องนี้ จิตตภาวนาจะมีแก่ผู้นั้น ผู้ใดไม่รู้เรื่องนี้ จิตตภาวนาไม่อาจจะมีแก่ผู้นั้น ถ้าผู้ใดรู้ว่าจิตมันเป็นอย่างนี้ สามารถเปลี่ยนได้อย่างนี้แล้ว ผู้นั้นก็จะสนใจที่จะเจริญภาวนา เพื่ออบรมจิตเสียใหม่ให้มันเป็นไปอย่างที่ประภัสสรตลอดกาล ส่วนผู้ที่ไม่รู้เรื่องนี้ และไม่ยอมเชื่อว่าจิตเป็นธรรมชาติอย่างนี้ เขาก็ไม่สนใจที่จะพัฒนาจิต ดังนั้นจิตตภาวนาจึงไม่มีแก่คนพวกนี้ นี่เราคือคนพวกไหนที่นั่งกันอยู่ที่นี่ เป็นคนพวกที่เห็นว่าจิตนี้เป็นสิ่งที่พัฒนาได้ หรือว่าจิตนี้ไม่มีทางพัฒนา ได้เห็นว่าจิตนี้เป็นเหตุเป็นสิ่งที่อยู่ใต้อำนาจเหตุปัจจัย ปรุงแต่งได้ แก้ไขได้ ปรับปรุงได้ ก็ปรับปรุงจิตนี้ให้กลายไปอยู่ในสภาพที่กิเลสเกิดไม่ได้อีก นั่นน่ะคือจิตตภาวนา การทำจิตให้เจริญจนกิเลสเกิดไม่ได้ ถ้าเราไม่เชื่อ เราไม่สนใจ อ้าว, ก็จบกัน ประตูก็ปิดตายต่อไปจนกว่าจะเข้าโลง ถ้าเราว่ามองเห็นก็ปฏิบัติตามนี้มันก็ พระพุทธเจ้าแม้ปรินิพพานนานไปแล้วสองพันกว่าปี ก็มาช่วยเปิดประตูให้จิตใจของเราได้ หรือว่าครูบาอาจารย์ที่รับทอดรับมรดกธรรมะนี้มา ก็มาช่วยเปิดให้แก่กันและกันตามลำดับ เขาเรียกว่าการเปิดประตูทางวิญญาณก็ยังมีอยู่แม้ในบัดนี้
นี่เรื่องความเป็นมนุษย์ ถ้าเป็นมนุษย์จริง จิตมันก็สูงอยู่เหนือกิเลส เหนืออำนาจของกิเลส มีความสะอาด สว่าง สงบแห่งจิต เรียกว่าชีวิตเย็น ชีวิตที่เยือกเย็น ถ้าไม่เป็นเช่นนั้นมันก็เป็นชีวิตร้อน ซึ่งมันจะกวนอยู่เสมอ จนกระทั่งได้เป็นโรคประสาท ได้เป็นโรคจิต ได้เป็นบ้า ได้ตายไปแล้วนี่ ไม่รับประโยชน์อะไรในการที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์และพบพระพุทธศาสนา ขอให้เราฉวยโอกาสนี้ไว้ได้ให้ดี อย่าให้เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์และพบพระพุทธศาสนา ศึกษาว่าจะพัฒนาจิตอย่างไร อบรมอย่างไร มันจะกลายเป็นจิตชนิดที่กิเลสเกิดไม่ได้อีกต่อไป โดยหลักใหญ่ๆ ก็ให้มันเกลียดชังไอ้ความทุกข์ให้มากๆ ให้เกลียดกลัวความทุกข์กันมากๆ หิริโอตัปปะ เกลียดกลัวความทุกข์กันให้มากๆ แล้วมันก็จะหันไปในทางที่จะป้องกันแก้ไขที่จะไม่ให้เกิดกิเลสและความทุกข์ได้ ถ้าไม่เกลียด ไม่กลัว ไม่เบื่อหน่ายต่อความทุกข์ก็ไม่มีหนทาง ดังนั้นขอให้ทุกคนดูที่ความทุกข์ รู้จักเกลียด รู้จักกลัว รู้จักขยะแขยง แล้วมันก็จะมีจิตใจที่เป็นไปในทางสูง เป็นมนุษย์จริง จิตใจของเขาก็จะเบิกบาน แล้วก็ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ได้ในที่สุด เดี๋ยวนี้เราก็ไม่ค่อยที่จะสนใจนี่ จะทำอย่างไร ฟัง ฟังก็ฟังกันอยู่ แต่ไม่ค่อยจะเข้าใจ ไม่ค่อยจะสนใจที่จะรู้ถึงความหมายอันลึกซึ้งของสิ่งที่ตนได้ยินได้ฟัง หรือได้เห็น ได้เห็น ได้ยิน ได้ฟัง ได้เห็น อะไรก็ตาม ไม่ค่อยจะมีความหมายที่เห็นลึกลงไป
ขอโอกาสและขออภัยเล่านิทาน ซึ่งมันค่อนข้างจะหยาบคายหรือโสกโดก เล่านิทานกันลืม เรื่องจันทโครพกินขี้ พอออกแต่ชื่อมันก็น่าเกลียดเสียแล้ว เป็นเรื่องที่น่าเกลียดเสียแล้ว เมื่ออาตมาเด็กๆ ก็เคยไปดูยี่เก เขาแสดงเรื่องจันทโครพ ตอนที่จันทโครพฝืนคำสั่งของอาจารย์ไปเปิดผอบกลางป่า มีนางนั้นออกมา แล้วเขาก็แสดงกันสนุกตอนนี้ ไอ้นางนั้นเขาเกี่ยงให้จันทโครพทำอย่างนั้นอย่างนี้ เขาจึงจะรัก มิฉะนั้นเขาก็ไม่รัก จันทโครพก็ทำทุกอย่าง จนกระทั่งสุดท้าย นางนั้นเขาเกี่ยงให้จันทโครพกินขี้ เด็กๆ ฮากันหมดทั้งโรง กระทั่งผู้ใหญ่ ผู้เฒ่า ผู้แก่ ร้องตะโกนว่าจันทโครพกินขี้ และไม่รู้ความหมายเลยว่าจันทโครพกินขี้นี่มันมีหมายความอะไร มันได้แต่เอ็ดตะโรกันไป ลั่นไปหมดว่าจันทโครพกินขี้ ไม่มีใครที่หน้าเศร้า ซีดเซียว สังเวช ว่าแหม, ไอ้นี่มันเป็นได้ถึงอย่างนี้เชียวนะ กิเลสหรือความรักมันเป็นได้ถึงอย่างนี้เชียวนะ น่ากลัว น่าอะไรเสียจริงๆ ไม่มีใคร มีแต่คนหัวเราะทั้งนั้น หัวเราะเรื่องจันทโครพกินขี้ นี่ไอ้ความโง่ของคนที่ได้เห็นสิ่งที่มันแสดงอย่างยิ่งว่าไอ้ความรัก ความบ้านั้นมันมีอำนาจถึงขนาดนี้ มันก็ไม่เข้าใจ มันก็จำได้แต่ว่าจันทโครพกินขี้ แล้วคืนนั้นเด็กๆ เดินตะโกนว่า จันทโครพกินขี้ไปตลอดย่านถนนเลย คนที่ไม่ได้ไปดูยี่เกมันก็รู้ว่าคืนนี้ยี่เกเขาแสดงเรื่องจันทโครพกินขี้ นี่ความโง่ของคนดู แม้ว่าสิ่งนั้นมันแสดงอยู่ว่าไอ้กิเลสน่ะมันมีฤทธิ์มีเดชถึงอย่างนี้ มันก็ไม่เห็น ทีนี้อีกเรื่องหนึ่ง คนลุงแก่ๆ คนหนึ่งเขาดูมโนราห์ ไอ้มโนราห์นี้มันแสดงศิลปะด้วยการรำ มันอยู่ที่การรำ ไม่ได้อยู่ที่การพูด มัน ทีแรกมันนั่งนะแล้วมันก็ค่อยลุกขึ้นนะ การรำของมันนั่งอยู่ นั่ง ตั้งต้นด้วยการนั่งแล้วก็ลุกขึ้นยืน แล้วมันก็ยืน แล้วมันก็ผลัดกันนั่งอีก เขาร้องว่า สวยขึ้นรื่นๆ สวยขึ้นรื่นๆ พี่เอย น้องเอย แล้วก็สวยลงรื่นๆ พี่เอย น้องเอย ตาแก่คนนั้นมาเล่าให้อาตมาฟังว่า แหม, โนราห์เขาพูดดีที่สุด เขาแสดงชีวิตของมนุษย์ที่ว่า โตขึ้นเป็นหนุ่มเป็นสาวขึ้นมันสวยขึ้นรื่นๆ แล้วเดี๋ยวนี้มันก็สวยลง สวยลงรื่นๆ เหมือนกับ เหมือนกับลุงนี่ เหมือนกับปู่นี่ ตาแก่คนนี้เขาดูออก เขาไปดูมโนราห์ เขาได้เห็นธรรมะ เรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในชั้นลึก เขาก็ได้ประโยชน์ ไม่เหมือนกับเด็กๆ ที่ดูลิเกเรื่องจันทโครพกินขี้แล้วก็ไม่ได้อะไรเลย นี่ขอให้เอามาศึกษากันหน่อยว่า ที่นั่งอยู่นี่ใครเป็นเด็กๆ กัน ไม่เข้าใจเรื่องจันทโครพกินขี้ แล้วใครมาเข้าใจเรื่องสวยขึ้นรื่นๆ สวยลงรื่นๆ นี่ก็เพื่อจะบอกให้รู้ว่า ในโลกนี้ทุกสิ่งมันแสดงอะไรอยู่เสมอ แต่เราไม่เห็น เราไม่เข้าใจ เราไม่สนใจจะเข้าใจ ไม่สนใจจะรู้ แม้แต่ที่มันแสดงอยู่ตามธรรมชาติมันก็แสดง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาทั้งนั้นแหละ อาตมาถึงบอกว่าที่นี่ก้อนหินก็พูดได้ ต้นไม้ก็พูดได้ ก้อนดินก็พูดได้ ก็ไม่ค่อยมีใครจะสนใจ ว่ามันพูดว่าอะไร ดังนั้นถ้าเราจะให้มันมีการเจริญก้าวหน้าทางจิตใจแล้วก็เตรียมตัวให้พร้อมเถอะ เพื่อจะฟังเสียงของธรรมะที่แสดงอยู่โดยธรรมชาติ โดยรูปภาพของธรรมชาติ แม้แต่โดยกลิ่น โดยรส มันแสดงอยู่ทั้งนั้น ถ้าเราสนใจที่จะเข้าใจมันก็จะเข้าใจ ถ้าไม่เช่นนั้นมันก็ไม่มีอะไร โห่ฮากันแต่เพียงว่าจันทโครพกินขี้ ไม่รู้เรื่องของกิเลสเลย
นี่ครูบาอาจารย์ทั้งหลายก็ยังจะอยากจะช่วยกันในข้อนี้ คือให้มีผู้เปิดประตูทางวิญญาณ มีอยู่ในโลกนี้ก็ช่วยกันสนใจในเรื่องนี้ คือช่วยทำให้เด็กๆ ของเรามองดูอะไรในด้านลึก มันก็ไม่รู้จะพูดอย่างไรดี ก็พูดได้แต่เพียงขอมองดูอะไรๆ ในด้านลึก มองดูสิ่งทั้งปวงในด้านลึก ให้มันทะลุม่านอวิชชา คือม่านที่ทำให้จิตมันมืด ถ้าเราจะดิ้นรนต่อสู้อยู่เสมอที่จะเปิดม่านของอวิชชา การศึกษาที่แท้จริงต้องเป็นไปเพื่อเปิดม่านของอวิชชาในชั้นลึก เดี๋ยวนี้มันเปิดแต่ชั้นผิวเผิน เช่น ไม่รู้หนังสือให้รู้หนังสือ ทำมาหากินไม่เป็นให้รู้จักทำมาหากิน เท่านี้มันไม่พอนี่ เปิดม่านเพียงเท่านี้ไม่พอ ต้องเปิดม่านชนิดที่ทำลายกิเลสได้ คือทำมนุษย์ให้มีจิตใจสูง เดี๋ยวนี้มีแต่มนุษย์จิตใจต่ำ เป็นอันธพาลเต็มไปทั้งบ้านทั้งเมือง แม้ไม่เป็นอันธพาลปล้นจี้อยู่ตามถนนหนทาง หากแต่ถ้าว่าเกิดอะไรหน่อยยังต้องไปกระโดดน้ำตาย ไปกินยาตาย หรือมานั่งร้องไห้อยู่นี่ก็ใช้ไม่ได้เหมือนกัน คือมันมีอวิชชาปิดบังมากเกินไป อาจจะเป็นถึงว่าถ้ามันนอนไม่หลับ กระสับกระส่ายอยู่ ต้องปวดหัวอยู่ ก็ยังใช้ไม่ได้เหมือนกัน เป็นคนทั้งทีนอนไม่หลับให้ละอายแมว นี่ก็เรียกว่ายังใช้ไม่ได้เหมือนกัน เพราะมันไม่ได้เปิดประตูในด้านลึกของจิตของวิญญาณที่จะปลดปล่อยตัวเองจากความเป็นทาสของกิเลสของอวิชชา ดังนั้นขอให้ถือว่าส่วนที่ขึ้นสังกัดอยู่กับพระพุทธเจ้านั้นจงทำหน้าที่อันนี้กันเถิด ส่วนที่สังกัดอยู่กับกระทรวงศึกษาธิการนั้นก็ทำไปตามหลักสูตร ไม่ใช่ว่าจะไม่สามารถเลย ถ้าเอาเวลาไปเล่นไปหัวอย่างอื่นเสียมาก ดังนั้นเวลาที่นอกหลักสูตรเอามาเป็นครูสังกัดพระพุทธเจ้าเปิดประตูทางวิญญาณให้แก่สัตว์ทั้งหลาย จะเด็กก็ได้ ผู้ใหญ่ก็ได้ ให้เขารู้จักศึกษาในส่วนลึก ในส่วนที่เป็นตัวทุกข์ เป็นตัวกิเลส เป็นตัววัฏสงสารโดยตรง ก็จะได้บุญเป็นเงินเดือน ไอ้บุญนี่ตีราคาไม่ได้นะ ไอ้บุญหรือความดีนี่เขาถือเป็นสิ่งที่อยู่เหนือการตีราคา เรียกโดยบาลีว่า อนัคคะ อนัตคะ แต่มันโชคร้าย ไม่รู้ใครมันเป็นแปลเป็นคนแรก แปลผิดว่าหาค่าบ่มิได้ แปลว่าหาค่าบ่มิได้ นี่มันมีค่ามากเลย กลายเป็นว่าหาค่าบ่มิได้ มันดีจนตีค่าไม่ได้ ที่จริงน่ะมันมีค่ามาก ภาษาอังกฤษก็ดูเหมือนกันแหละ มันใช้คำว่า Invaluable มันกลายเป็นมีค่าที่สุด เพราะมันตีค่าไม่ได้ ไม่อยู่ในวิสัยที่จะตีค่า ดังนั้นได้บุญเป็นเงินเดือนนั้นก็ให้รู้ว่ามันได้เงิน เอ้ย, ได้บุญชนิดที่ตีค่าเป็นเงินไม่ไหว มันสูงเกินไป ดังนั้นเราได้รับทั้งเงินเดือนชนิดที่ตีค่าได้ ได้รับเงินเดือนชนิดที่ตีค่าไม่ได้ มาทั้งสองอย่างก็ถือว่าสมบูรณ์ที่สุดแล้ว ในส่วนตัวก็มีความเย็น มีชีวิตที่เยือกเย็น แล้วก็ช่วยผู้อื่น ส่วนโลกให้เปิดประตูออกไปสู่ชีวิตที่เยือกเย็น ก็พอแล้ว อาตมาคิดว่าพอแล้ว คนๆ หนึ่งทำได้เท่านี้ก็พอแล้ว ใครมีสติปัญญาลองคิดสิว่าทำอะไรให้มันมากกว่านี้ ให้มันดีมากกว่านี้ ตัวเราก็มีความสุขสงบเย็น แล้วยังเป็นประโยชน์ทำผู้อื่นให้เป็นอย่างนั้นได้ด้วย มันยังมีอะไรดีกว่านี้ ยังมีอะไรที่จะสูงไปกว่านี้ คิดว่าเท่านี้มันควรจะพอแล้ว ถ้าเกินนี้มันจะบ้า มันจะบ้า ระวังให้ดี เพราะเท่านี้มันสูงเหลือประมาณแล้ว ถึงเกินไปมันก็จะบ้า เอาเพียงว่าให้ชีวิตของเราก็เยือกเย็น แสนจะเย็น ไม่มีร้อน แล้วความเป็นอยู่ของเราก็เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น รอบตัวเราพลอยได้รับความเยือกเย็นไปด้วย เอาเท่านี้ก็พอแล้ว จะเอามากกว่านี้ก็ไม่รู้จะไปทางไหนแล้ว มันก็จะวกไปหาเรื่องบ้าๆ บอๆ สนใจกันว่าทำอย่างไรมันจะเย็น เพราะตามที่พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้ ให้มีสติเป็นข้อแรก รู้จักป้องกัน รู้จักเท่าทัน ควบคุมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไว้ให้ดี อย่าให้อวิชชาเข้ามา ถ้าเรามีสติอยู่ อวิชชาไม่เข้ามา ถ้าเราเผลอไม่มีสติมันก็ อวิชชาก็เข้ามา ก็พาตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไปตามอำนาจของอวิชชา มันมีสติเพียงพออยู่ อย่าปล่อยให้ชีวิตนี้งัวเงียเป็นนิวรณ์
พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่านิวรณ์ทั้ง ๕ เป็นอาหารเป็นปัจจัยของอวิชชา เมื่อไรเรามีนิวรณ์ ๕ ให้ระวังเถอะ ตอนนั้นน่ะตอนที่อวิชชาจะเข้ามา งัวเงียอยู่ด้วยความรู้สึกทางกามารมณ์ งัวเงียอยู่ด้วยความรู้สึกโกรธแค้น พยาบาท งัวเงียอยู่ด้วยถีนมิทธะ ความมึนชา ซบเซา อยู่ด้วยความฟุ้งซ่าน อยู่ด้วยความลังเล นี่ ๕ อย่างนี้เรียกว่านิวรณ์ ชำระให้มันเกลี้ยง ให้มันเกลี้ยงจากนิวรณ์อยู่เสมอ จิตใจแจ่มใส สดชื่น เยือกเย็น เป็นจิตเกลี้ยงอยู่เสมอ เหมือนกับความว่า โมกขะ นี่มาสวนโมกข โมกขพลาราม คำว่าโมกข์ตัวนั้นมันแปลว่ามันเกลี้ยง มันไม่มีอะไรหุ้มห่อจิต พยายามดำรงชีวิตชนิดที่จิตใจโปร่ง สงบ เยือกเย็น เกลี้ยงจากนิวรณ์ ถ้าจิตเกลี้ยงจากนิวรณ์จะไม่ทำผิด เพราะอวิชชาจะไม่เข้ามาครอบงำได้ แล้วมันจะค่อยๆ รู้อะไรเอง จะค่อยๆ รู้เท่าทันทุกอย่างๆ ขึ้นมาเอง เพราะจิตมันเกลี้ยง จิตมันมีคุณสมบัติประภัสสร คือมีปัญญาจะส่องแสงของมันเอง มันส่องแสงไม่ได้เพราะมีกิเลสหุ้มเสีย ถ้าเราทำให้กิเลสมาหุ้มไม่ได้ มันก็ส่องแสงของมันเอง มันก็ค่อยๆ รู้ไปตามลำดับจนที่จะขจัดสิ่งเศร้าหมองนั้นได้ จนเป็นตายตัวไปเลย คือว่าจิตเปลี่ยนสภาพไปอยู่ในลักษณะที่กิเลสเกิดไม่ได้อีกต่อไปโดยเด็ดขาด เป็นอกุปปธรรม ดังนั้นขอให้ครูบาอาจารย์ศึกษาในเรื่องนี้กันให้มากว่า ทำอย่างไรจิตจะเปลี่ยนไปอยู่ในสภาพที่กิเลสเกิดไม่ได้ เราจะไปเล่นงานกิเลสโดยตรงนั้นมันยาก เราจัดการที่รากฐาน ไอ้พื้นฐานที่กิเลสมันจะเกิดนั่น ชำระไอ้พื้นฐานนั้นให้ดี ไม่ให้เป็นที่เกิดแก่กิเลสและกิเลสมันก็ไม่เกิดเอง ปรับปรุงพื้นฐานทางจิตใจนั้นให้ดี กิเลสก็เกิดไม่ได้ ก็ไม่มีกิเลส นี่เรียกว่าจิตใจสูงสมเป็นมนุษย์ มนุษย์ชนิดนี้เคยมีมากครั้งพุทธกาล เดี๋ยวนี้จะเหลืออยู่แต่ชื่อ พูดแรงไปไหม มันหมดมนุษย์แล้ว เหลืออยู่แต่ชื่อ ครูผู้เปิดประตูวิญญาณนี้ก็ไม่รู้ไปไหนหมดแล้ว เหลืออยู่แต่ชื่อ เช่นเดียวกับไดโนเสาร์ไม่รู้ไปอยู่ที่ไหนหมดแล้ว เหลืออยู่แต่ชื่อ เอาล่ะ การพูดวันนี้ก็พูดถึงตอนนี้ล่ะ สัตว์ชนิดหนึ่งเหลืออยู่แต่ชื่อ สำหรับจะได้วิพากษ์วิจารณ์กันต่อไป การพูดจาของอาตมาเห็นว่าสมควรแก่เวลาแล้ว ขอยุติการพูด เหลือไว้จะทำอะไรต่อไปก็เชิญ มีว่าอภิปรายกันไม่ทราบ เห็นในโปรแกรม รายการน่ะมีอะไรต่อไป
ถาม ท่านอาจารย์เที่เคารพอย่างสูง กระผมใคร่ขอทราบแนวปฏิบัติที่จะขจัดทุกข์หรือว่าดับทุกข์นี้ด้วยธรรมะขั้นสัมมาสติและสัมมาสมาธิ และก็อยากจะให้ท่านอาจารย์ได้นำฝึกจิตสักประมาณ 10 หรือ 15 นาที นะฮะ เพื่อที่จะให้จิตใจได้เข้าถึงธรรมะด้วยการนำของท่านอาจารย์ เพื่อเป็นแนวทางในการที่จะนำไปปฏิบัติต่อไป ทั้งในทางส่วนตัวของพวกครูบาอาจารย์ และในทางที่จะนำไปฝึกสอนลูกศิษย์ลูกหาต่อไปด้วยครับ
ท่านพุทธทาส คนถามถามอย่างไม่รู้จักการฝึกจิต ไม่สามารถจะพูดเรื่องการฝึกจิตได้ในเวลาสั้นอย่างนี้ ไปฝึกตามที่ได้ยินได้ฟังมา แบบไหนก็ได้ แบบที่มีพูดมีสอนกันอยู่ในเมืองไทย แบบไหนก็ได้ ถ้าจะให้เป็นเพียงสมาธิ เพียงได้สมาธิบ้าง แล้วก็เห็นอยู่แล้วว่าแบบไหนก็ได้ ไปลองฝึกดูเอง แบบไหนก็ได้ เมื่อมีจิตเป็นสมาธิแล้วมันจะง่าย ต่อไปมันก็จะใช้จิตชนิดนั้นสังเกตศึกษา จิตที่เป็นสมาธิเป็นจิตที่จะสอดส่องดูให้เห็นธรรมะ คือสภาพธรรมชาติที่ลึกซึ้งลึกลับ ไปทำให้เป็นสมาธิดู ทำแบบไหนก็ได้ ดังนั้นไม่อาจจะพูดหรือไม่อาจจะนำให้ทำได้โดยเวลาสั้นๆ อย่างนี้ มันได้แต่บอกว่าจงไปทำอย่างนั้นๆ ที่นี่เราชอบแบบอานาปานสติ ซึ่งมีเขียนไว้ชัดเจนพอ เอาไปทำดูๆ มันคงไม่ได้ในการกระทำครั้งแรก ครั้งแรกๆ จะต้องทำเรื่อยไป คือศึกษาให้เข้าใจเสียก่อน ให้ศึกษาไอ้แบบให้เข้าใจเสียก่อนแล้วก็ไปทำ ทำแล้วมันจะไม่ได้ แล้วก็ทำอีก ไม่ได้ ทำอีก ไม่ได้ ทำอีก มันก็ค่อยๆๆ ได้ เคยบอกให้ฟัง เปรียบให้ฟังว่า มันสอนกันไม่ได้ อย่าเข้าใจว่าอันนี้สอนกันได้ เพียงแต่บอกให้ไปทำเอง ทำอย่างนั้นๆ แล้วเขาก็ไปทำ แล้วมันก็สอนของมันเอง การกระทำมันจะสอนของมันเอง เปรียบได้เหมือนกับว่าหัดขี่รถจักรยาน เราแนะสอนกันได้แต่ว่าจับตรงนั้น ถีบตรงนั้น ซึ่งที่แท้ก็ไม่ต้องสอน ก็เห็นกันอยู่ เขาทำให้ดู เขาทำให้ดูจนเข้าใจ จับตรงนั้น ถีบตรงนั้น ตรงนี้ แต่มันก็ทำไม่ได้ พอขึ้นมันก็ล้มๆ แต่ทุกคราวที่ล้ม มันจะสอนให้นิดหนึ่งเสมอ แล้วมันก็จะไม่ค่อยล้ม หรือไม่ล้ม แต่มันไปปัดๆ เป๋ๆ ไป แล้วเราก็ฝึกอีกๆๆๆ จนกระทั่งว่า ไม่งอกแงก ไปเรียบไปเลย ไม่มีใครสอนได้ ตอนที่จะไม่ให้ล้ม และตอนที่จะให้เรียบไปเลย ไม่มีใครสอนได้ ไอ้การกระทำนั้นมันสอน พูดให้ถูกว่ารถจักรยานมันจะสอนของมันเอง ให้ชัดกว่านั้นก็ว่าการล้มมันจะสอนของมันเอง ไอ้ขี่รถจักรยานจิตนี้ก็เหมือนกัน ไอ้การกระทำนั้นจะสอน สอนดีที่สุด คนสอนไม่ได้ การไม่ได้นั้นมันจะสอน จนมันได้ ค่อยๆ ได้ ค่อยๆ ได้ ได้ในระยะน้อยๆ และได้ระยะยาว จนกระทั่งได้จริงๆ ไม่มีปัญญาที่จะมาสอนกัน ๑๕ นาที ๒๐ นาที ตรงนี้ว่าให้มันได้ มันทำไม่ได้ บอกว่าจงทำอย่างนี้แล้วก็จะค่อยๆ ได้ และยังมองเห็นว่า แบบไหนก็ได้ ถ้าเพียงเป็นสมาธิบ้าง ได้ทุกแบบ ดังนั้นควรต้องไปทำให้มันเป็นสมาธิดูบ้างก่อน ให้ชอบเสียก่อน แล้วค่อยปรับปรุงให้มันมากขึ้น ให้มันสูงขึ้น แล้วก็ยอมลงทุน ลงทุนเสียเวลาศึกษาเรื่องนี้ให้เข้าใจ แล้วก็ไปทำเรื่อย ต้องการแต่เพียงความสงบและความรู้แจ้ง ไม่มีอันตราย ถ้าต้องการฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์นั้นน่ะ ไม่ปลอดภัย ถามปัญหาอื่นเถอะ ปัญหานี้ตอบไม่ได้ สอนไม่ได้
ถาม นับเป็นโอกาสพิเศษเหลือเกินนะครับที่เราจะได้มากราบนมัสการเรียนถามท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นครูบาอาจารย์ทั้งหลายที่ได้มีโอกาสมาครั้งนี้ ขอเชิญนะครับ มีปัญหาอะไรในใจก็ถามเสียตอนนี้ให้หมดเลย ขอเรียนเชิญครับ
ถาม กราบเรียนพระคุณเจ้าที่เคารพนะคะ ดิฉันก็สนใจอยากจะหัดฝึกสมาธินะคะ แต่ก็เริ่มแรกก็ยังไม่ได้ ทีนี้อยากจะกราบเรียนถามท่านว่า ถ้าเราได้เราจะมีความรู้สึกอย่างไรบ้าง ขั้นแรกเราไปเรื่อยๆ ถึงจะรู้ว่าเราทำได้
ท่านพุทธทาส โอ้โห, อย่างนี้ไม่ได้หรอก ถ้ามันสงบน่ะมันคือได้ สำเร็จน่ะคือมันสงบตามที่เราต้องการ การทำสมาธิน่ะทำให้จิตหยุดอยู่ในอารมณ์เดียว สูงสุดก็มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ สมาธิคือเอกคตาจิตที่มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ คือจิตที่แน่ว มีความสงบสุขหยุดเป็นอารมณ์ จิตที่แน่วแน่มุ่งความสงบอย่างยิ่งเป็นอารมณ์ นั่นคือสมาธิ ถ้ามันสงบ แม้บ้าง สงบบ้างก็ถูกแล้วๆ ก็ทำต่อไปอย่างเดียว โดยวิธีเดียว ให้มันสงบยาวออกไปๆ อย่าให้คนอื่นมาบอกเลย ไม่ได้ รู้ได้เองในการกระทำว่า เมื่อมันสงบลงและก็นั่นคือถูก แล้วก็สงบมากออกไป จิตเป็นสมาธิ สงบ แล้วก็จะรู้สึกสบายอีกแบบหนึ่ง ซึ่งไม่เหมือนอย่างไหน ไม่เหมือนไอ้ที่เราเคยสบายอย่างอื่น แล้วก็จิตนี้ก็รู้สึกสนุก คล่องแคล่ว ว่องไว ฉลาดเฉลียว ที่จะวัดโดยคนอื่นนั้นทำไม่ได้ ผู้นั้นจะรู้สึกด้วยตนเองว่าเดี๋ยวนี้มันสงบลงแล้ว และให้สงบลึกลงไปอีก และให้นานยาวออกไปอีก ไอ้เรื่องจิตนี้ให้มันเป็นเรื่องของตัวเอง เกือบทั้งนั้นก็ว่าได้ อย่าต้องเนื่องด้วยผู้อื่น อย่าให้ผู้อื่นรับรองหรือออกประกาศนียบัตร ทำไม่ได้
ปัญหาหมด ปัญหาหมดแล้ว ที่นี่มันศักดิ์สิทธิ์นะ พอเข้ามาแล้วปัญหาหมดนะ ใจมันเกลี้ยง
ปัญหามันหมด
ถาม กระผมคิดว่าปัญหาคงไม่หมด แค่คงไม่กล้าจะลุกมาถาม ถ้าจะเขียนก็ได้นะครับ ได้แจกกระดาษให้คนละเล่มแล้ว มีกระดาษอยู่ในมือก็เขียนก็ได้ครับ เขียนแล้วเดี๋ยวชูให้ผมไปรับ คิดว่าคงยังมีบ้างปัญหา หมดไปเยอะแล้ว แต่คงมีบ้างนะครับ วันนี้ถามเสียให้หมดเลยครับ อย่าให้เสียโอกาสที่เดินทางมาไกลครับ
ท่านพุทธทาส เอานะ เอาปัญหาจริงๆ นะ
ถาม ปัญหาอีกปัญหาหนึ่งนะครับ การเวียนว่ายตายเกิดชนิดไหนครับ ผมอยากให้ท่านอาจารย์ได้ช่วยชี้แจงให้ละเอียดหน่อยครับ ผมยังสงสัยครับ
ท่านพุทธทาส คำว่าเวียนว่ายตายเกิด มีอยู่สองความหมายหรือสองภาษา ภาษาเดิมๆ ภาษาศีลธรรม เป็นเรื่องทางศีลธรรม เพื่อความมีศีลธรรมของประชาชน เขาพูดกันอยู่ก่อนพระพุทธเจ้า เวียนว่ายตายเกิดนี่ ไม่ใช่ของพระพุทธเจ้าโดยเฉพาะ คือว่าตายลงชาตินี้ เข้าโลงแล้ว ไปเกิดใหม่ ท่องเที่ยวไปใหม่ ตายอีก แล้วก็เกิดอีก ตายแล้วเกิดอีก อย่างนั้นก็เรียกว่า เวียนว่ายตายเกิดตามแบบที่เขาพูดกันอยู่แต่ก่อน เป็นเรื่องศีลธรรม เป็นเรื่องอาศัยความเชื่อ เมื่อคนเชื่อแล้วเขาไม่กล้าทำบาป ก็มีประโยชน์แก่ศีลธรรมทางสังคม นี่ถ้าเราจะมาพูดใหม่ ตามไอ้ความหมายอีกอันหนึ่งซึ่งละเอียดกว่า ตามหลักพุทธศาสนา นี่หมายความว่า เวียนว่ายตายเกิดของความคิดนึก ความรู้สึก ความคิดประเภทกิเลสนี่มีขึ้นมาก็ให้ทำการ ทำกรรม ทำกรรมตามความต้องการของกิเลส ทำกรรมแล้วได้รับผลกรรม ก็เป็นความรู้สึกในผลกรรม แล้วก็เกิดกิเลสต่อไปอีก และทำกรรมอีก รับผลกรรมอีก เกิดกิเลสอีก ในชาตินี้ไม่ต้องตาย ยังไม่ต้องตาย วันหนึ่งๆ มีได้หลายๆ รอบ สังสารวัฏนี้มีได้หลายๆ รอบ นี่เราเรียกว่าแบบภาษาธรรมหรือปรมัตถธรรม น่ากลัวกว่า และอยู่ในวิสัยที่เราจะจัดการได้ เป็นสันทิฏฐิโก จัดการได้ แก้ไขได้โดยตรง นี่ก็เรียกว่าเวียนว่ายตายเกิดแบบภาษาธรรม จะเรียกแบบปรมัตถธรรมก็ได้ ถ้าว่าเอาร่างกาย ชีวิต จิตใจ เข้าโลงทีหนึ่ง เกิดใหม่ เข้าโลงอีก เกิดใหม่ เข้าโลงอีก แบบนั้นก็แบบภาษาคนพูดแต่ก่อน แต่กาลก่อนตามความเชื่อ ไม่รู้สึกได้ด้วยใจ ไม่เป็นสันทิฏฐิโก เป็นแต่ความเชื่อ แต่ก็มีประโยชน์ไม่ต้องเพิกถอนนะ ถ้าเชื่อแล้วจะไม่ทำบาป จะทำแต่ดี ก็อยู่กันเป็นผาสุกเหมือนกัน ดังนั้นเอาไว้ทั้งสองแบบ เวียนว่ายตายเกิดนี่เก็บไว้ทั้งสองแบบ เพื่อศีลธรรมดีก็แบบเดิม เพื่อปัญญาลึกซึ้งก็แบบปัจจุบันนี้ ว่าอะไรๆ มันอยู่ที่จิตในปัจจุบันที่รู้สึกได้ เห็นได้ เป็นสันทิฏฐิโก มีอยู่สองแบบ เท่าที่รู้จักมีอยู่สองแบบ จะมีอีกไหมก็ไม่ทราบ แต่ว่าเท่าที่อาตมารู้จักมีอยู่สองแบบเท่านี้ เรียกว่าสังสารวัฏ น่ากลัวด้วยกันทั้งนั้นแหละ ถ้าเชื่อก็กลัวแบบโน้น ถ้ามีปัญญาก็จะกลัวแบบนี้ แบบที่มันทำร้าย มันทำให้เป็นทุกข์อยู่เสมอ ความอยากและการกระทำ ได้ผลของการกระทำ แล้วอยากอีก แล้วกระทำอีก ได้ผลของการกระทำ แล้วอยากอีก แล้วทำอีก ได้ผลของการกระทำแล้วอยากอีก แล้วทำอีกนี่ ความอยาก กับการกระทำ และผลของการกระทำ ส่งกันเป็นรอบๆ รอบๆ อย่างนี้ ถ้ายึดถือเป็นของตน มันก็เป็นทุกข์ ถ้าอย่ายึดถือเป็นของตน ก็ไม่เป็นทุกข์ แต่ธรรมดาเราต้องยึดถือเป็นของตน ก็ต้องเป็นทุกข์ ถ้าจะแก้ปัญหาข้อนี้ ก็อยากแต่ในทางที่ถูกต้อง เป็นสัมมาทิฏฐิ แล้วกระทำแต่ที่ควรกระทำ จะดับทุกข์ได้ แล้วก็เอาแต่แค่ดับทุกข์ได้ แล้วก็ไม่ยึดถือ ไม่ยึดถือว่าวิเศษวิโสอะไร ไม่ยึดถือว่ามีตัวเรา ดับทุกข์ได้ ให้มันเป็นการกระทำ การเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยของนามและรูป แล้วมันอย่าเป็นทุกข์ มันไม่ต้องเป็นทุกข์ เพราะว่าชีวิตนี้ก็ไม่เป็นทุกข์ ชีวิตนี้ก็เยือกเย็น ไม่ตกอยู่ภายใต้วัฏสงสาร เพราะว่าเรามีสติปัญญา ไม่ยึดถือวัฏสงสารนั้น ก็ธรรมดาเราก็ต้องมีความต้องการ แล้วก็ต้องมีการกระทำ แล้วก็ต้องเสวยผลของการกระทำ ในทางที่ถูกที่ควร แต่อย่ายึดถือนะ พอยึดถือแล้วมันจะเป็นทุกข์ แล้วมันจะเข้มงวด จะเข้มข้นยิ่งขึ้นๆ มีร้อนเป็นไฟ เหมือนที่มันหมุนเร็วๆ มันจะลุกเป็นไฟ
สังสารวัฏ แปลว่าการหมุนของวงกลม การหมุนของวงกลม ความอยาก การกระทำ ผลของ
การกระทำ ความอยาก การกระทำ ผลของการกระทำ นั่นน่ะคือวงกลม แล้วก็หมุน ถ้าไม่มีสติปัญญาพอมันก็เป็นทุกข์ ถ้ามีสติปัญญาพอมันก็ไม่หมุนเร็ว แล้วมันก็ไม่เดือดร้อน มันเป็นการกระทำอย่างนี้ก็ไม่เรียกว่า สังสารวัฏนะ ต่อเมื่อทำด้วยความโง่ ด้วยอวิชชา ด้วยกิเลส นั่นจึงจะร้อนและเป็นทุกข์ ก็เรียกว่าสังสารวัฏ ทีนี้เรามีปัญญาทำ ไม่มีอวิชชาทำ ไม่ต้องมีตัวตนของบุคคลผู้กระทำ และเกิดอะไรขึ้นมาจิตก็ไม่ยึดถือ เป็นได้ เป็นเสีย เป็นดี เป็นร้าย เป็นอะไรก็ไม่ยึดถือ นี่เขาเรียกว่าสังสารวัฏนั้นไม่เป็นของร้อน ไม่เป็นทุกข์แก่บุคคลนั้น คือไม่เป็นสังสารวัฏนั่นเอง แต่ถ้าว่าทำด้วยความโง่ ความอยากอันรุนแรง นั้นจะเรียกว่าสังสารวัฏ แล้วก็เป็นทุกข์ ทำด้วยปัญญาและทำแต่พอดี หรือว่าถ้าทำด้วยปัญญา มันก็ทำแต่พอดี ถ้าทำด้วยความโง่เขลา มันก็สุดเหวี่ยงข้างใดข้างหนึ่ง ไอ้ความจริงนั่นมันก็เป็นสังสารวัฏอยู่แล้วโดยที่เราไม่รู้สึกตัว ทีนี้เราลดมันเสียคืออย่าทำด้วยอวิชชา ด้วยกิเลสตัณหา ทำด้วยสติสัมปชัญญะ ด้วยปัญญา เพื่อจะเอาประโยชน์ตามที่ควรจะเอา เช่น การทำมาหากินนี้ ชาวนาเขาต้องการจะมีข้าว ให้เขาต้องการ เขาก็ทำนา ทำนา แล้วก็เขาก็ได้ข้าว ได้ข้าวเสร็จแล้วรุ่งปีใหม่เขาก็ทำอีก เพราะว่ายังอยากจะได้ข้าวอยู่ ก็ดูชาวนาเขาก็อยากจะทำนา เขาทำนาได้ข้าว เขาอยากจะทำนา ทำนาได้ข้าว ถ้าเขาทำด้วยสติปัญญา อย่าทำด้วยกิเลสตัณหา ก็ไม่เป็นไร ถ้าบางปีไม่ได้ก็ไม่เป็นไร บางปีได้มากเขาก็ไม่ดีใจ ไม่ลิงโลดอะไร อย่างนี้เรียกว่าสังสารวัฏแห่งการทำนานั้นไม่ได้ทำอันตรายแก่ชาวนาผู้นั้น เพราะว่าเขามีธรรมะ เป็นชาวนาเขลาๆ ทำไม่ทันก็ไปขโมยของเพื่อน ทำนาแบบนี้อยู่ในสังสารวัฏที่ลุกเป็นไฟ
จิตอย่ามีตัวฉันเป็นผู้ทำ สิ่งต่างๆ ก็จะไม่มี จิตอย่าไปคิดว่าฉันเกิดมา มันก็ไม่มีความเกิด อย่า
คิดว่าฉันแก่และฉันตาย มันก็ไม่มีความแก่และความตาย มันเป็นของร่างกาย เป็นของธรรมชาติ ก็เป็นไปสิ ไม่เอามาเป็นของเรา จิตก็ไม่เป็นทุกข์ ไม่ต้องเป็นทุกข์ เห็นสักว่าเห็น ได้ฟังสักว่าได้ยิน ได้ชิม ได้ลิ้ม ได้รู้สึก ก็สักว่าได้รู้สึก อย่ามีตัวกูผู้เห็น ผู้ได้ยิน ผู้รู้สึก นี่เขาเรียกว่าไม่เกิดความทุกข์ ไม่เกิดผู้ทุกข์ ไม่เกิดที่ทุกข์ ไม่เกิดเหตุให้เกิดทุกข์ ไม่มีอะไรเลย ว่างไปหมด เป็นธรรมะลับที่สุด เป็นธรรมะสูงสุด และก็ลับที่สุด อยู่ที่ตรงนี้
ปัญหาหมดแล้ว ถ้าหมดแล้วจะได้ปิดประชุม
ถาม กระผมได้บอกว่าถ้าไม่ลุกมาถาม ให้เขียน ปรากฏว่าเขียนมาหลายท่าน คุณศิวพร ถามว่า คำว่าให้ครูเป็นผู้เปิดประตูทางวิญญาณนั้น วิชาที่ควรจะใช้เปิดประตูทางวิญญาณ ควรจะมีธรรมะใดบ้าง
ท่านพุทธทาส ธรรมะที่ดับทุกข์ทุกชนิดน่ะ ถ้าพูดแบบอะไรล่ะ แบบภาพพจน์ จิตใจของมนุษย์ถูกฝังอยู่ด้วยกรงหรือม่านของอวิชชา ซึ่งเรียกว่าปราศจากความรู้ ความฉลาด อวิชชาแปลว่าสภาพที่มันปราศจากความรู้ ปราศจากความฉลาด หรือปราศจากแสงสว่าง ซึ่งมันครอบงำจิตใจคนได้เมื่อมันได้โอกาส ก็เหมือนเมื่อสักครู่เล่ามาแล้วว่า เด็กตั้งแต่อยู่ในท้องออกมานี่มันถูกกังขังอยู่ด้วย ปิดบัง เครื่องปิดบังอวิชชานี้ทั้งนั้น เปิดประตูไม่ได้ จนกว่าจะได้สัมผัสโลก สัมผัสนั่น สัมผัสนี่ รู้ระแคะระคาย ทนไม่ไหวโว้ย มันไปหาวิถีทางที่จะเปิดประตูกันเร็วๆ ก็ไปศึกษาธรรมะ ไอ้ธรรมะนี่ไว้สรุปอยู่ที่ ไม่ยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดโดยความเป็นตัวตนหรือเป็นของของตน พูดเท่านี้ จบหมดเลย ไม่ยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดโดยความเป็นตัวตนของตน ไอ้เราพอเกิดมามันก็ไม่รู้เรื่องนี้เลย แล้วก็ยึดมั่นตัวตนของตนมากขึ้นๆๆ จนเกือบตาย จนทนไม่ไหว มันจะเป็นบ้าไปเสียแล้ว ถ้ามีโอกาสจะไปศึกษาเล่าเรียนที่ไหนได้อธิบายเรื่องไม่อยากไปยึดมั่นเป็นตัวตน เธอมันก็ค่อยๆ รู้เอง เพราะมันอย่างนั้นเอง จิตมันอย่างนั้นเอง จิตที่ปราศจากวิชชาเป็นจิตมืดมน มันอย่างนั้นเอง อะไรมาให้รักก็รัก อะไรมาให้โกรธก็โกรธ อะไรมาให้เกลียดก็เกลียด อะไรมาให้กลัวก็กลัว ทุกอย่างไปเลย นี้มันมีสภาพปราศจากแสงสว่าง ปราศจากปัญญา ปราศจากวิชชา มีอยู่แต่เครื่องหุ้มห่อให้มืด หรือกักขัง คืออวิชชา หรือโมหะ หรือกิเลส อะไรที่มันจะแกะอันนี้ออกได้ นั้นคือเรื่องที่จะทำให้เปิดประตูได้ ไอ้คำสั้นๆ สามพยางค์ว่า อย่างนั้นเองๆ นั่นคือหัวใจของพุทธศาสนาทั้งหมด คือเมื่อเห็นอย่างนั้นเอง มันก็ไม่รัก ไม่โกรธ ไม่เกลียด ไม่กลัว ไม่ยินดียินร้าย หรือไม่ชอบ หรือไม่รัก มันอย่างนั้นเองไปหมด มันก็ไม่มีปัญหาน่ะสิ ความเกิดก็อย่างนั้นเอง มันเป็นอย่างนั้นเอง ความแก่ก็เป็นอย่างนั้นเอง ความตายเป็นอย่างนั้นเอง ไม่มีความหมายอะไร ความได้มาก็อย่างนั้นเอง ความเสียไปก็อย่างนั้นเอง ไปยึดถือเข้าแล้วเป็นทุกข์ทั้งนั้น ได้มาก็อย่ายึดถือ เสียไปก็อย่ายึดถือ มันก็ไม่เป็นทุกข์ ได้กำไรก็อย่างนั้นเองแหละ กูไม่ยินดีกับมึง ขาดทุนก็อย่างนั้นเองแหละ กูไม่เสียใจกับมึง นี่คืออย่างนั้นเอง จะไม่เป็นทุกข์ แพ้ก็อย่างนั้นเอง ชนะก็อย่างนั้นเอง ไม่ต้องลิงโลดเพราะชนะ ไม่ต้องเศร้าใจเพราะพ่ายแพ้ มันอย่างนั้นเอง อย่าไปยึดถือมันเข้า ยึดถือแล้วมันจะกัดเอา
ทั้งชั่ว ทั้งดี ล้วนแต่อัปรีย์ เคยได้ยินไหม ทั้งชั่ว ทั้งดี ล้วนแต่อัปรีย์ ไปยึดถือมันเข้ามันจะกัด
เอานะ ทั้งชั่ว ทั้งดี คุณลองไปยึดถือกับมันจะกัดเอา น้ำตาตกเพราะไอ้เรื่องดีๆ นี่มาเท่าไหร่กันแล้ว คนโบราณเขารู้เรื่องนี้ เขาจึงพูดไว้น่ากลัวมาก ทั้งชั่ว ทั้งดี ล้วนแต่อัปรีย์ อย่าไปหลงกับมัน ดีก็อย่างนั้นเองแหละ ใช้ให้เป็นประโยชน์ก็แล้วกัน ชั่วก็มาสอนให้เราฉลาดขึ้น อย่าไปเกลียด อย่าไปเป็นทุกข์กับมัน หมายความว่าทั้งชั่วและทั้งดี ไปหลงยึดถือให้เป็นตัวกูของกู แล้วจะเป็นทุกข์ไปหมด ทั้งแพ้ ทั้งชนะ ล้วนแต่อัปรีย์ ทั้งกำไร ทั้งขาดทุน ล้วนแต่อัปรีย์ มันอัปรีย์ในภาษาบาลีเขาแปลว่า ไม่น่ารัก ปิยะแปลว่าน่ารัก อัปิยะแปลว่าไม่น่ารัก ก็เฉยๆ เฉยๆ แต่ภาษาไทย คำว่าอัปรีย์มีความหมายมากเกินไป ภาษาบาลีเขาไม่มากมายอะไร แปลว่าไม่น่ารัก ความชั่วก็ไม่น่ารัก ความดีก็ไม่น่ารัก อย่าไปรักกับมัน อยู่เฉยๆ เรียกว่าอย่างนั้นเอง เห็นอย่างนั้นเอง แล้วก็ไม่ยินดี ยินร้าย ความเจ็บไข้ก็อย่างนั้นเองแหละ ความตายก็อย่างนั้นเองแหละ ไม่มีน้ำหนักอะไรกับจิตใจชนิดนี้ มันอย่างนั้นเอง ก็ไม่เป็นทุกข์ มันจะตายก็ตาย จำไอ้คำว่าอย่างนั้นเองไว้ มีคำว่า ตถาตา อวิตถตา อนญฺญถตา อิทปฺปจฺจยตา สรุปความว่า เช่นนั้นเอง จำไว้ติดใจ จำไว้ติดปาก อะไรเกิดขึ้นเช่นนั้นเอง อย่าต้องเป็นทุกข์เลย ถ้ามันเจ็บปวดทนไม่ได้ ก็แก้ไขสิ แต่ถ้าว่ามันเจ็บปวด เจ็บอยู่ที่เนื้อที่หนังนี่ เช่นนั้นเองเข้าไว้ก่อนเถอะ มันจะเจ็บน้อย สักว่าความรู้สึกตามธรรมชาติเท่านั้นหนอ เช่นว่า เจ็บปวดที่แผล ที่เนื้อ ที่หนัง อะไรก็ เมื่อมันยังไม่มียาจะใส่ มันยังเจ็บอยู่อย่างนี้ หรือว่าแม้แต่ใส่ยาแล้วมันก็ยังเจ็บอยู่นี่ ก็ให้มองว่า โอ้, มันเป็นเพียงความรู้สึกแก่ระบบประสาทตามธรรมชาติเท่านั้นหนอ ไม่มีอะไร ไม่มีอะไรมากกว่านั้น ไม่ใช่ตัวกูจะตาย เป็นเจ็บของกู อย่าให้มันเลยไปถึงนั่น เป็นเช่นนั้นเองหนอ แล้วก็มันจะเจ็บน้อยนะ ถ้าไปว่าเจ็บของกู กูจะตาย นี่มันจะเจ็บมากขึ้นหลายเท่า มันจะเป็นบ้าเลยก็ได้ หรือว่าถ้าว่ามันเกิดวิบัติอะไรขึ้นมา เกิดวิบัติสูญเสียอะไรขึ้นมา รีบเช่นนั้นเองหนอ เช่นนั้นหนอ ไม่เช่นนั้นจะบ้า คนนั้นมันจะบ้า ถ้าไปให้ความหมายกับมันมากนัก มันจะบ้า ถ้าว่า โอ้, มันอย่างนั้นเอง ตามธรรมชาติในโลกนี้ ก็ไม่มีอะไร แล้วก็ไปทำมาใหม่สิ เมื่อเรายังไม่ตาย เราก็ทำเอาใหม่ ถึงแม้ว่าจะตายมันก็เช่นนั้นเองหนอ ไอ้ความตายก็เช่นนั้นเองหนอ ความอยู่ก็เช่นนั้นเองหนอ ก็เลยไม่มีปัญหา อยู่เหนือปัญหาทั้งสิ้น นี่สอนเด็กๆ ให้เขารู้จักเช่นนั้นเองเสียบ้าง ถ้าแกไม่ขยันเรียนแกจะสอบไล่ตกนะ นี่มันเช่นนั้นเองนะ ถ้าแกสอบไล่ตกมันก็เช่นนั้นเองก็แล้วเห็นไหม หรือว่าแกสอบไล่ได้นี่มันก็คือความเป็นเช่นนั้นเองที่แกทำมาดี ดังนั้นอะไรตกแตก ของรักตกแตก ตุ๊กตาตกแตก อะไรก็ อย่า อย่าร้องไห้นะ มันเช่นนั้นเองนะ
ธรรมะสูงสุดคือเช่นนั้นเอง ผู้ใดถึงเช่นนั้นเอง ผู้นั้นเป็นพระอรหันต์ หมายถึงถึงที่สุดนะ เช่น
นั้นเองในทุกอย่างทุกประการได้ แล้วก็เป็นพระอรหันต์ เป็นพระตถาคต คำนี้ก็มีก่อนพุทธศาสนา คำว่าตถาคต เขามีกันก่อนพุทธศาสนา คือถึงสิ่งสูงสุดที่เป็นเช่นนั้นเอง แต่ก็หมายถึงพรหม ถึงพระเจ้า ถึงอะไรไปทางโน้น ผู้ที่ถึงสิ่งสูงสุดเขาเรียกว่าตถาคต ครั้นมาถึงพุทธกาล ตถาคตเปลี่ยนเพียงถึงไอ้ตถาตา ถึงไอ้ความจริงสูงสุดหรือถึงนิพพาน ตถาคตแปลว่าผู้ที่ถึงสิ่งสูงสุด คือเช่นนั้นเอง เปิดประตูทางวิญญาณก็คือทำให้ฉลาดโดยวิธีที่มีอยู่ ให้ฉลาดยิ่งขึ้นๆ จนเห็นสิ่งทั้งปวงตามที่เป็นจริง ทีนี่ก็จะเห็นเช่นนั้นเอง เช่นนั้นเองจะแก้ปัญหาได้หมด แต่เขาเข้าใจผิดว่าเช่นนั้นเองก็ไม่ต้องทำอะไร ปล่อยไปตามบุญตามกรรม นั่นเป็นเรื่องเข้าใจผิด ถ้าสมมุตติว่าเขาเอาระเบิดปรมาณูมามากมายถล่มโลกกัน เราก็ต้อนรับด้วยเช่นนั้นเอง จนกว่ามันจะเงียบ ไม่มีความรู้สึก อย่ากลัว ขาดทุนเปล่าๆ ไอ้เรื่องกลัว นะเป็นเรื่องขาดทุนเปล่าๆ ไม่ได้อะไรเลย เอ้า, มีอะไรอีกก็ว่าไป
ถาม มีผู้เขียนมาอีก ๘ ท่าน ผมรับแล้วเรียงลำดับไว้นะครับ คิดว่าคงจะถึงท่านสุดท้าย เมื่อได้เข้ามาในที่ที่มีความสงบร่มรื่นไปด้วยต้นไม้ อย่างเช่นที่สวนโมกข์นี้ แล้วเกิดความสุขใจ ไม่ได้คิดฟุ้งซ่านไปถึงเรื่องยุ่งๆ อย่างที่อยู่ในเมืองหลวง อย่างนี้จะเรียกว่าจิตเป็นสมาธิหรือไม่ครับ
ท่านพุทธทาส เป็นเช่นนั้นเอง ต้องพูด มันเช่นนั้นเอง มันเป็นเช่นนั้นเอง เพราะว่าในที่นี้บรรยากาศมันไม่ยั่วยุให้ปรุงความคิดนึกอะไร มันก็สงบไปตามธรรมชาติ ในเมืองหลวงมันเต็มไปด้วยสิ่งยั่วยุให้เกิดความคิดนึกอย่างนั้นอย่างนี้ มันก็ต้องคิด เดี๋ยวนี้มันไม่มีเหตุปัจจัยให้ยั่วยุให้คิด มันก็หยุดคิด มันก็ว่าง มันก็เย็น มันก็สงบ นี่ก็คือความหมายของคำว่ามันเป็นอย่างนั้นเอง ตามกฎของธรรมชาติ เช่น เราไปเที่ยวทะเล ไปเที่ยวภูเขา ไอ้โล่งๆ ว่างๆ มันก็อีก กว้างเตี้ยน เพราะว่าบรรยากาศมันแวดล้อมอย่างนั้น มันอบรมอย่างนั้น ความคิดมันไม่เกิด ความคิดเรื่องตัวกูของกูมันไม่เกิด อยู่ที่บ้านมันเต็มไปด้วย นั่นก็กู นี่ก็กู ตัวกู ของกู มันเกิดเป็นฝูงๆ พอมาถึงที่นี่มันไม่เกิด มันก็ว่างไป นี่เราเรียกว่าสวนโมกข์ มีความหมายอย่างนี้ คือ มันเกลี้ยงไปพักหนึ่ง
ถาม อีกท่านหนึ่งถามว่า เมื่อจิตสงบ บอกว่าจะไม่มีความรู้สึกใดๆ ไม่ได้ยินเสียง เหมือนคนนอนหลับ ขอเรียนถามว่า ในภาวะนั้นมีจิตรู้อะไร ปัญญาเกิดในเรื่องใดหรือไม่ครับ
ท่านพุทธทาส อ๋อ, ถ้าหยุดเงียบกริบไม่ได้หมายถึงปัญญา เขาหมายถึง มันหยุด มันสงบ หรือมันหยุด มันไม่เกิดความทุกข์เหมือนกัน แปลว่าความทุกข์ถูกกีดกันออกไปเสียได้ด้วยความหยุด สงบ แห่งจิต นี้ก็เป็นประเภทหนึ่งพวกหนึ่งไปฝ่ายเจโตวิมุตติ อีกพวกหนึ่งเขาเอาปัญญามาคิด มาตี มาอะไรทำลาย ให้มันหยุดเป็นทุกข์ นี่ก็ไม่เป็นทุกข์อีกแบบหนึ่งเรียกว่าปัญญาวิมุตติ กีดกันความทุกข์ออกไปเสียได้ด้วยสมาธิ นี่เขาเรียกว่า เจโตวิมุตติ กีดกันความทุกข์ออกไปเสียได้ด้วยปัญญา นี่เขาเรียกว่าปัญญาวิมุตติ ถ้าว่าทำสมาธิหนักเข้าๆ ลึกลงไปๆ จนไม่มีความรู้สึกอะไร ก็ไม่เกิดปัญญา เว้นไว้แต่ว่าหลังจากนั้นแล้วมาใช้จิตชนิดนั้น จิตที่เป็นสมาธิแล้วมาดูอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ของสิ่งทั้งปวงกันอีก นี้มันก็จะเปลี่ยนไปเป็นรู้ด้วยปัญญา มันไม่ใช่ตัวเดียวกันนะกับความสงบเงียบ เป็นเนวะสัญญานาสัญญายตนะ นั้นน่ะอันนั้นมันไม่คิดนึกอะไร คล้ายๆ ว่าหลังจากนั้นแล้วเขามาใช้สภาพจิตที่ยังมีอิทธิพลของสมาธินี้ มาดู ดูรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อะไรก็ได้ เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วก็ดับทุกข์กับสิ้นกิเลสไปเลย จิตที่เป็นสมาธิแล้วนั้น เอามาใช้เป็นเครื่องรากฐานของปัญญาก็ทำได้ดี จิตฟุ้งซ่านไม่เป็นรากฐานของปัญญาได้ ดังนั้นเราหัดทำจิตให้ชนิดนั้นไว้เรื่อยๆ ก็ดี มันมีความสุขไปในตัว จิตที่เป็นสมาธิมีความสุขไปในตัว มาใช้เป็นรากฐาน พื้นฐานของปัญญา ซึ่งจะตัดกิเลสกันทีหลังอีกที ชื่อว่าสมาธิแล้วไม่เสียเปล่า ข้อแรกก็จะเป็นความสุขชนิดหนึ่งอยู่ในตัวมันเอง และข้อที่สองก็จะช่วยให้จิตเกิดปัญญาง่าย คำว่าสมาธินี่ไม่ได้หยุดนิ่งเงียบเหมือนกับคนตาย คือจิตจะโปร่งที่สุด ว่องไวที่สุด คล่องแคล่วที่สุด เยือกเย็นที่สุด บึกบึนที่สุด มีกำลังมากที่สุดนะ นั่นมันคือจิตที่เป็นสมาธิ
ผู้ถาม ท่านผู้นี้ถามมา ๓ ข้อ ข้อที่ ๒ บอกว่าการทำสมาธิวิปัสสนาเพื่อให้รู้แจ้งเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คือพระไตรลักษณ์นั้นทำอย่างไร
ท่านพุทธทาส โอ้, ต้องพูดกันหลายวัน ถ้าถามอย่างนี้มันเป็นคำถามที่กว้าง แต่โดยย่อๆ ก็อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านได้แนะไว้ ก็ให้ดูมันสิ มันคงที่อย่างนั้นหรือเปล่า ใจมาดูกันได้ แต่ท่านตรัสสอนให้ดูภายใน ร่างกายก็ได้ จิตใจก็ได้ มันคงที่หรือไม่ มันเที่ยงหรือไม่ ก็จะเห็นได้ทันทีว่า โอ้, มันเปลี่ยนเรื่อย แล้วมันจะเที่ยงอย่างไร แล้วอย่างนี้มันสนุกไหม มันสบายไหม มันก็ว่าเป็นปัญหา เป็นความทุกข์ เป็นความทรมาน แล้วควรจะถือว่าตัวเรา ของเราไหม อย่างนี้ก็ไม่ไหว ถ้าเล่นกันอย่างนี้ก็ไม่ไหว นี่อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันตั้งต้นอย่างนี้ และให้ทำแก่สิ่งที่เราหลงรัก หลงโกรธ เราหลงรักอะไรอยู่ก็ดี หลงเกลียดอะไรอยู่ก็ดี เอาไอ้นั่นนะมาดูว่า เอ๊ะ, ไอ้นี่มันคงที่ไหม เดี๋ยวก็เห็นมันเปลี่ยนแปลง ไอ้ความที่มันเปลี่ยนแปลงนี่ มันสบายไหม มันอะไรไหม มันจะเรียกว่าตัวตนได้ไหม ปัญหาเกิดแก่สิ่งที่เราหลงรักมากกว่าสิ่งที่เราหลงเกลียด ถ้าเราเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วจะไม่หลงรักสิ่งนั้น กระทั่งว่าไม่หลงเกลียดสิ่งนั้น เพราะมันเป็นอย่างนั้นเอง เห็นความที่มันเปลี่ยนเรื่อย เห็นความที่มันให้เกิดความทุกข์แก่ผู้ที่เข้าไปคิดว่าของเรา แล้วมันก็จะเป็นตัวตนกันที่ไหน มันเป็นตัวตนที่ไหนก็ไม่ได้ ก็เลยเรียกว่าสุญญตา คือว่างจากส่วนที่ควรจะถือเอาว่าตัวตน ไม่มีส่วนไหน ความหมายไหน อะไร ค่าอะไรที่ไหน ที่จะควรถือเอาว่าตัวตน มันว่างจากสิ่งเหล่านี้หมด มันจึงเรียกว่าสุญญตา เมื่อมันเป็นอย่างนั้นมันเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ก็เรียกมันว่าตถาตา มันเป็นอย่างนั้นเอง เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จนกระทั่งเห็นเป็นสุญญตา กระทั่งเห็นว่า อ้าว มันอย่างนั้นเอง เรียกว่าตถาตา ก็จะไม่เกิดความยินดีและยินร้าย คือจะไม่ชอบหรือว่าเกลียดอีกต่อไป ทั้งชั่ว ทั้งดี ล้วนแต่อัปรีย์ เอาไปพูดให้ถูกๆ นะ พูดผิดๆ ถูกด่านะ เรื่องนี้พูดผิดๆ น่ะถูกด่านะ ทั้งชั่ว ทั้งดี ล้วนแต่ไม่น่ารัก เพราะไปรักมันเข้าแล้วมันกัดเอานะ มันกัดเอาทั้งนั้นนะ อาตมาเคยถูกด่าเพราะเรื่องอย่างนี้มาเยอะแยะ เพราะเขาไม่ตีความเหมือนกับที่เราให้เขาเข้าใจ เขาไปตีความเอาเองใหม่
ถาม ข้อ ๓ ถามว่า การนั่งสมาธิ แล้วเกิดฟุบลงไปตอนที่ยุบหนอ ตอนนี้เป็นสมาธิขั้นใด
ท่านพุทธทาส เอ้า, ฟังไม่ถนัด ว่าอย่างไร
ถาม การนั่งสมาธิแล้วเกิดฟุบลงไปตอนที่ยุบหนอ
ท่านพุทธทาส เกิดทุกข์ลงไป
ถาม เกิดฟุบฮะ ฟุบลงไป
ท่านพุทธทาส ฟุบ อ๋อ,
ถาม การนั่งสมาธิแล้วเกิดฟุบลงไปตอนที่ยุบหนอ
ท่านพุทธทาส ได้ยินว่าทุกข์ คือทำไม่สำเร็จ คือทำไม่เป็น ไปทำเสียใหม่
ถาม ปัญหาต่อไปของอีกท่านผู้หนึ่งว่า วิธีดับความโกรธที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงนั้นทำอย่างไรครับ
ท่านพุทธทาส ความโกรธอย่างรุนแรงด้วย จะพูดกันทีเดียวหมดได้หรือไม่ ความโกรธธรรมดา ความโกรธรุนแรง ความโกรธเป็นนิสัยสันดานอย่างลึกซึ้ง มันมีวิธีเขาเรียกว่ากว้างขวางๆ จะแบ่งเป็นข้อๆๆๆ มันก็ได้เหมือนกัน มันจะต้องมองกันในข้อแรกว่า มันเป็นสิ่งที่เลวร้ายและเกลียดชังมันเสียก่อน มองเห็นว่าอันนี้อันตราย เลวร้าย น่าเกลียด น่าชังและเกลียดๆๆ ความโกรธ เกลียดตัวเองผู้โกรธเสียก่อน ให้มันลดลงบ้าง แล้วค่อยแก้ไขอย่างอื่น มีคำบรรยายคำหนึ่งเขาพิมพ์แจกไปหาอ่านดู ชั่วโมงกว่า เรื่องมีวิธีหลายๆ วิธี มันมีหลายวิธี ถ้ามันแล้วแต่ว่าคนนั้นเขาอบรมมาอย่างไร บ้างทีมันก็ง่ายๆ เอ้ย, ไอ้นี่มันเลวเกินไปไม่สมควรกับกูนะโว้ย ก็หายไปได้ ที่จะไปนั่งทำสมาธิ แผ่เมตตา เวลานั้นมันก็ทำยาก ถ้าทำได้ก็ดีเหมือนกัน แต่กลัวจะทำไม่ได้ มันต้องดูให้เป็นอันตราย ดูว่ามันไฟไหม้บ้านได้ ถ้าเกิดกลัวขึ้นมามันก็โกรธ จะมัวแผ่เมตตา จะนั่งแผ่เมตตาตอนนั้นไม่ค่อยสำเร็จ ดูไปในทางที่น่าเกลียดน่าชังเป็นอันตราย เป็นของทำลายโลก แล้วมันต้องอาศัยการป้องกันก่อนแต่ที่มันจะเกิด เมื่อเข้าไปสู่ที่ที่มันจะให้เกิดความโกรธแล้วก็รู้ตัวไว้เสียก่อน หรือว่าเข้าไปเกี่ยวกับสิ่งที่ทำให้โกรธก็รู้ตัวไว้เสียก่อน เพราะความโกรธนี่จะเกิดเองขึ้นมาเฉยๆ ไม่ได้ มันต้องมีไอ้วัตถุ มีชนวน หรือมีอะไรทำให้โกรธ ถ้าเขาเป็นสุภาพบุรุษ เป็นพระอริยะเจ้า เขาก็มองดูทีเดียวก็ก็หยุด อ้าว, นี่มันเลวเกินไปนะเว้ย มันไม่เหมาะสำหรับกูเว้ย ก็หยุดได้ มันตอบรวมๆ กันไม่ได้หรอก มันหลายชั้น หลายแง่ หลายแบบ มีอะไรอีก
ถาม เรื่องที่ท่านอาจารย์แสดงไว้เรื่องการดับความโกรธ ผมจำได้ว่า ที่ว่าการเก็บความโกรธใส่ยุ้งฉางนะครับ หากว่าท่านใดต้องการจะศึกษาเรื่องนี้โดยละเอียดก็ไปหาอ่านนะครับ นี่ท่านผู้อื่น อีกท่านผู้หนึ่งถามว่า ท่านอาจารย์คิดว่าพวกเรามี จะมีวิธีการอย่างไรที่จะทำให้ศีลธรรมได้กลับมาในสังคม ดูเหมือนว่าการทำที่ตัวเราจะทำให้เรามีความสุข แต่สังคมยังคงวุ่นวาย และกิเลสครอบคลุมอย่างหนัก
ท่านพุทธทาส ไอ้เรื่องนี้คือเรื่องที่เรากำลังปลุกปล้ำกันอยู่ ให้ศีลธรรมกลับมา ก็พูดกันไม่ค่อยรู้เรื่อง หาความร่วมมือยาก หาความเข้าใจที่ตรงกันก็ยาก ผู้ที่มีอำนาจในโลกเขาไม่มองเห็นว่าไอ้ปัญหาต่างๆ เกิดมาจากความไม่มีศีลธรรม เขาคิดว่าเขาจะแก้ปัญหาได้ด้วยเศรษฐกิจ ด้วยการเมือง เขาเลยไม่สนใจที่จะทำ ไอ้เราชวนให้เขาสนใจที่จะทำ เขาก็ไม่สนใจเราอีก เพราะฉะนั้นเราแต่ละคนละคนน่ะไปมองให้เห็นความจริงข้อนี้เสียก่อนว่าอะไรๆ มันเป็นปัญหาขึ้นมาเพราะว่าสิ่งนั้นมันขาดศีลธรรม เศรษฐกิจมันขาดศีลธรรมนั่นแหละร้ายกาจที่สุด อำนาจวาสนาที่ขาดศีลธรรมเลวร้ายที่สุด การเมืองที่ขาดศีลธรรมเลวร้ายที่สุด คงจะไม่ฟังคำบรรยายวันอาทิตย์ที่แล้วมานี้ ถ้าฟังแล้วคงไม่ถามข้อนี้ วันอาทิตย์ที่แล้วมาพูดข้อนี้ ว่าให้เอาศีลธรรมนั่นแหละมาแก้ปัญหา ให้คนทุกคนชอบ รัก บูชาศีลธรรม แล้วมันก็ง่ายและ มันก็ง่ายเองแหละ เราพูดโดยอุปมาว่าให้ฝนตกมาเป็นทองคำ ให้ฝนตกมาเป็นเหรียญทองคำ เม็ดทองคำ พร้อมกันทั้งโลก ก็แก้ปัญหาของโลกไม่ได้ คือโลกไม่มีสันติภาพ มันก็ฆ่ากันเพราะแย่งกันเก็บทองคำ ถ้ามันไม่มีศีลธรรม เหมือนกับขอทานมันแย่งกัน แล้วพอใครเก็บมาไว้มากๆ มันก็ปล้นไม่มีหยุดนะ ถ้ามันไม่มีศีลธรรม ถ้ามันมีศีลธรรม มันก็ไม่มี มันก็ไม่แย่งกัน มันไม่ปล้นกัน ไม่อะไร แล้วไม่ต้องถึงกับว่าฝนตกลงมาเป็นทองคำ มันก็อยู่กันได้สบาย เดี๋ยวนี้ถ้าไม่มีศีลธรรม ให้ฝนตกลงมาเป็นทองคำเต็มไปทั้งโลก ก็ไม่ทำให้มีสันติภาพได้ บางทีจะไม่สันติภาพ จะยุ่งยิ่งกันไปอีก ไปกว่าที่ฝนจะไม่ตกลงมาเป็นทองคำเสียอีก ขอให้มองของจริงจากภายในว่ามันจะเป็นอย่างไร ถ้าคนมีศีลธรรมมันก็ทำงานสนุก มันก็ไม่จน มันก็ช่วยผู้อื่น มันก็อยู่กันสบาย ศีลธรรมรากฐานที่สุดคือรักผู้อื่นว่าเป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น นี่เราก็มีศีลธรรมก็สนุกในการทำงาน เพราะว่าการทำงานเป็นศีลธรรม การทำงานเป็นการปฏิบัติธรรม การทำหน้าที่ของมนุษย์ของตนๆ นั่นแหละคือการทำบุญ ใครไม่ทำหน้าที่ของตน นั่นแหละคือการทำบาป ทีนี้คนก็ทำหน้าที่ของตนสนุกไปเลย มีความสุขในการทำงาน ไม่ต้องไปทำอบายมุข มีความสุขในการทำงานแล้ว ผลมันก็เหลือมาก ไม่ต้องไปซื้อหาความสุขที่ไหนอีก ก็ไปช่วยผู้อื่นได้ ที่ควรจะช่วยนะ ไม่ใช่ไปช่วยชนิดที่ทำให้เขาไม่สนใจที่จะทำงาน การช่วยกันด้วยวัตถุช่วยกันแต่ในกรณีที่ควรช่วย ช่วยแล้วให้เขาช่วยตัวเองได้ แก้ปัญหาได้ ถึงจะควรช่วย ไม่ใช่เอาไปให้เขากินทุกวันๆ โดยที่เขาไม่ต้องทำงาน อย่างนั้นก็ไม่เรียกว่าช่วย ศีลธรรมนี้ก็ทำงานสนุก เป็นสุข มันก็ได้ผลมาก กินแต่พอดี มันก็เหลือมากสำหรับไปช่วยผู้อื่น นี่ศีลธรรมพื้นฐานครั้งพุทธกาล ทำงานให้สนุก ก็กินแต่พอดี มันก็เหลือ พอเหลือก็เอาไปช่วยผู้อื่นให้สนุกไปอีก นี่จะให้วาดรูปของศีลธรรมสำเร็จรูป จะพูดอย่างนี้ ให้มันรักผู้อื่น การทำงานคือการปฏิบัติธรรม มีความสุขอยู่ในการทำงาน ทำสนุก ทำได้มาก กินแต่พอดี มันก็เหลือสำหรับไปช่วยผู้อื่น มันก็อยู่สบายกันทั้งโลก ไม่ต้องมีฝนตกมาเป็นทองคำหรอก มันก็อยู่กันสบาย ลองดู ทำงานให้สนุกเลย อย่า อย่าแก้ตัวออกไป จะไปกินอาหารดีๆ จะไปรักกัน บำรุงบำเรอดีๆ จึงจะมีความสุข นั่นของเขาแบบนั้น ของเรามีความสุขอยู่ที่การทำงาน ถ้าเป็นครู ถือชอล์กอยู่หน้ากระดานดำนั้นเป็นเวลาที่เป็นสุขที่สุด ไม่อยากจะให้หยุด ก็ถ้าเรารักเด็ก ถ้าเรารับรู้จักรับผิดชอบ ถ้าเรารู้จักรักเพื่อนมนุษย์ รู้จักว่านี่เป็นการเปิดประตูทางวิญญาณ นี่เป็นการ (นาทีที่ 115.40) แล้วก็สนุก สบาย เป็นสุขในการทำงาน ปัญหาหมด เด็กๆ ของเรารู้เรื่องนี้เสียด้วย เด็กๆ มันก็มี มีพื้นฐานอย่างนี้มาแล้วนะ ดูให้ดีเถอะ ไอ้เด็กๆ เมื่อเราบอกเขาว่า แหม, ดีจริง ก็เป็นสุขที่สุดเลย ไอ้เด็กๆ นี่ ถ้าเขาได้ทำอะไรชนิดที่พอให้เราพูดได้ว่า แหม, ดีจริงเว้ย มันก็เป็นสุขที่สุด เพราะมันเป็นสุขเมื่อรู้สึกว่าตัวได้ทำความดี ไอ้เราโตๆ นี่ก็เหมือนกัน จงรู้สึกเป็นสุขเมื่อเรารู้สึกว่าเราได้ทำความดี สอนเด็กๆ ให้รู้สึกเป็นสุขเมื่อรู้สึกว่าได้ทำความดี แล้วก็ให้เขาได้ทำความดีจริงๆ ด้วย มันจะติดนิสัย โตขึ้นมาก็จะเป็นสุขในการงาน ให้กลัวบาป ให้เด็กๆ กลัวบาป นอนสายก็บาป ขี้เกียจทำงานก็บาป ไม่ช่วยแม่ทำอะไรก็บาปนี่ ไอ้เราได้รับการสั่งสอนมาอย่างนี้ เมื่ออาตมาเด็กๆได้รับการสั่งสอนอย่างนี้ เด็กเดี๋ยวนี้เขาจะไม่ถือว่านอนสายก็บาป ครั้งสมัยต่อมานอนสบายก็บาป กิริยาหยาบก็บาป อะไรก็บาป บาปเต็มไปหมดเลย นับไม่ไหวไอ้เรื่องบาป ก็เลยเป็นนิสัยที่ว่าต้องระมัดระวังที่สุด อย่าให้มันเกิดบาปขึ้นมา การอบรมให้อ่อนโยน ให้อ่อนโยน ไม่กระด้าง ก็มีมากเลยเกิน ยืนถ่ายปัสสาวะก็บาป อะไรก็บาป ที่มันกริยากระด้างทั้งหลายก็บาปหมด